ยังจำได้ว่า 1 ปีที่แล้ว ณ วันที่ยังทำบทความรีวิว ลงในเว็บเก่าๆ แห่งหนึ่ง
รีวิวสุดท้าย ของปี 2008 ที่ผมทำ และถือว่าเป็น รีวิวสุดท้าย ที่ผมนำไปลงในเว็บแห่งนั้น
คือ Volvo S80 2.5F E85 Flexfuel (ชื่อจะยาวไปไหนเนี่ย?)

วันเวลาผ่านไป ใครเล่าจะไปรู้ว่า ปีนี้ รถคันสุดท้าย ที่เราจะนำเสนอต่อคุณผู้อ่าน
เพื่อส่งท้ายปี 2009 ก็ยังคงเป็นรถยนต์ จากเมือง Gothenburg ประเทส สวีเดน อยู่เช่นเดิม

เพียงแต่ว่า คราวนี้ จะเป็นรถยนต์รุ่นเล็กที่สุด ที่หลายๆคน รอคอย จนเลิกรอไปแล้ว
และถูกนำกลับมาพิจารณา สั่งนำเข้ามาเปิดตลาดกันอีกครั้ง โดยไม่มีใครคาดคิด…

รถยนต์ Volvo ร่นถูกสุด ที่มีราคาเริ่มต้น ต่ำกว่า 2 ล้านบาท หายหน้าหายตาไปจากเมืองไทย
นานมากแล้ว แม้ว่า ก่อนหน้านี้ 1 ปี จะมี C30 1.8F เข้ามาทำตลาด ด้วยอานิสงค์จากภาษี
E85 จนดัมพ์ราคาลงมาได้ถูกเป็นพิเศษ แค่ 1.89 ล้านบาท แต่ อย่าไปพูดถึงยอดขายเลย
เหตุผลก็เพราะ มันยังไม่ใช่รถยนต์แบบ Mainstream ที่คนทั่วไปจะซื้อหามาใช้กันเท่าใดนัก

ผมจำได้แม่นเลยว่า Volvo เปิดตัว S40 และ V50 ใหม่ ออกสู่ตลาดโลก มาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว
และนับแต่นั้น ผมได้แต่ ไต่ถาม กับทาง Volvo อยู่เรื่อยๆว่า เมื่อไหร่ 2 พี่น้องคู่นี้จะเข้ามา
ทำตลาดในบ้านเราซะที

เวลาผ่านไป น้องสาวคนสวยร่วมแพล็ตฟอร์มอย่าง C30 ก็ถูกสั่งนำเข้าจาก Netherland
มาขายนำหน้าไปก่อน พร้อมกับกระแสข่าวว่า Volvo Cars เมืองไทย ถอดใจ ล้มเลิกความคิด
ที่จะนำ S40 / V50 มาประกอบขายในเมืองไทยไปแล้ว ด้วยสาเหตุที่ ว่ากันว่า ถ้าเอามาลงทุน
ตั้งไลน์ประกอบในไทย เมื่อคำนวนดูแล้ว ราคาขาย จะพอกันกับค่าตัวของ S60 ซึ่งมีราคา
2.3-2.4 ล้านบาท ในตอนนั้นแน่ๆ แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ จะเอารถรุ่นนี้เข้ามาประกอบทำไมกันละ?

แต่แล้ว จู่ๆ โดยที่ผมเลิกคาดหวังไปแล้ว Volvo Cars Thailand ก็สั่งนำเข้า S40 / V50
รุ่นที่ 2 โฉม Minorchange กลับเข้ามาเปิดตลาดรถยนต์ Premium Compact อีกครั้ง
อย่างเป็นทางการ ในงาน Motor Expo ที่เมืองทองธานี เมื่อ 1 ธันวาคม 2009 ที่ผ่านมา
ด้วยราคาต่ำมาก เพียง 1.799 ล้านบาท อานิสงค์นี้ ได้มาเพราะการนำเข้าจากโรงงาน Volvo
ในมาเลเซีย ซึ่งมีรายการแลกเปลี่ยนรถกับทางโรงงาน ไทยสวีดิชฯ ที่บางนา-ตราด กันอยู่แล้ว

แม้จะมีรายการพากลุ่มสื่อมวลชน ไปทดลองขับ เช้าไป เย็นกลับ กันก่อนหน้านี้
และมีรถทดลองขับ ส่งให้สื่อรายอื่นกันไปบ้างแล้ว แต่เมื่อเราติดต่อขอยืมรถ
เราก็โชคร้ายนิดหน่อย ตรงที่ รถทดลองขับ ล็อตนั้น มีคนจับจองเป็นเจ้าของเรียบร้อยแล้ว
นี่ยังไม่นับ V50 ที่ขายดียิ่งกว่า ด้วยเลยนะครับ รายหลังนี่ Back Order เยอะอยู่เหมือนกัน
ถือว่า ความคึกคักของแบรนด์ Volvo เริ่มกลับมาอีกรอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม เที่ยงวันหนึ่ง จู่ๆ พี่ต่าย พีอาร์อารมณ์ดีของทาง Volvo ก็โทรมา  ล็อกคิว
รถทดลองขับ S40 กัน เพราะในที่สุด ก็หารถมาได้ 1 คัน และ รถคันนั้น เป็นสีขาว…

พักนี้ทำไม ในรีวิว ของเว็บเรา ถึงเต็มไปด้วยรถสีขาว ราวกับนัดกันไว้….
อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ดีซะอีก เพราะในรีวิวที่สื่อรายอื่นๆ เขาเอาไปลงนั้น เป็นรถสีเข้มๆ น่าจะเป็นสีดำ
ซึ่งบอกตรงๆว่า กับรถเล็กๆแบบนี้ สีตัวถังที่สว่างกว่า จะถ่ายรูปออกมาสวยกว่า
ถือเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า เพื่อแลกกับภาพประกอบรีวิว สวยๆ กับสายตาของผู้คน
ที่สัญจรบนท้องถนนร่วมกับเรา ที่หันมามอง Volvo คันสีขาวนี้ หลายครั้งกว่าที่เราคิดไว้นิดนึง

และที่สำคัญ เป็นการรับรถทดลองขับคิวสุดท้ายจากทาง Volvo ของปี 2009 กันเลย
รับรถกันมาในวันคริสต์มาสนั่นแหละ แถมยังถือเป็นรถคันสุดท้าย
ที่เราจะทดลองขับ ทำรีวิว ในปี 2009 ด้วยเช่นเดียวกัน

ว่าแต่ รถคันนี้ มันมีอะไรดีให้ผมต้องอดทนรอมานานขนาดนี้เลยหรือ?

นั่นสินะ ตอนก่อนรับรถ ผมรู้สึกเฉยๆ กับรถคันนี้มากๆๆๆ
แต่ทำไมพอขึ้นขับแล้ว มัน Delightful ได้อย่างน่าประหลาด?
จนวันที่ต้องลาจาก ก็ยังรู้สึกคิดถึงคำนึงอยู่

แม้จะยังไม่ถึงขั้น “ไม่อยากส่งคืน” เหมือนเช่นที่เคยเป็นมา
ใน Volvo หลายๆรุ่น แต่สัมผัสในห้วงจิตลึกๆ มันก็ช่างใกล้เคียงกันมากๆ

มาค้นหาคำตอบด้วยกันกับผมเถอะครับ….

ประวัติศาสตร์ รถยนต์ขนาดเล็กของ Volvo นั้น ถ้าให้ต้องพูดถังกัน ก็คงใช้เวลา นาน
หลายชั่วโมง รับประกันความยาวยืดเยื้อ จาก จิมมี่ แน่นอน! แต่คุณผู้อ่านไม่ต้องกลัวเกินไป
เพราะคราวนี้ คงจะขอสรุปโดยย่อ ขอยืมกรรไกรของช่างทำผม มาช่วยหั่น และตัดซอย
ให้สั้นลงไป จนเหลือเค้าโครงความคร่าว แต่เพียงว่า….

ย้อนกลับไปในปี 1972 ในยุคที่ Volvo Cars ยังคงอยู่ในกลุ่มธุรกิจหลักของ Volvo Group
พวกเขาได้ซื้อกิจการรถยนต์ DAF Car BV มาจาก ผู้ผลิตรถบรรทุก DAF แห่ง เนเธอร์แลนด์
ที่อยู่ในภาวะย้ำแย่อย่างยากเยียวยา มาเป็นของตน เพราะ Volvo อยากจะเริ่มสยายปีก
ทำรถยนต์ขนาดเล็กของตนเอง เสียที การเริ่มต้นด้วยการซื้อแผนกรถยนต์นั่งของ DAF
จะช่วยให้ Volvo เริ่มต้นใช้เทคโนโลยี และทรัพย์สินที่ได้มา ตั้งเป็นหน่วยงานใหม่
Volvo Cars BV ในเนเธอร์แลนด์ เป็นบริษัทในเครือของ Volvo สวีเดน มุ่งทำรถเล็กได้สมใจอยาก
ในทันที ขณะเดียวกัน ระหว่างที่รถเล็กรุ่นแรกของตนยังไม่เสร็จ เพื่อไม่ให้รอนานจนเกินไปนัก
ระหว่างนี้ Volvo ก็เอา รถ DAF 66 หน้าตาแบบ ซีดาน 2 ประตู และแวกอน 3 ประตู เครื่องยนต์
4 สูบเรียง OHV มีทั้งขนาด 1,109 ซีซี 47 แรงม้า (BHP) และ 1,289 ซีซี 57 แรงม้า (BHP)
ขับเคลื่อนล้อหลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ CVT (ถือเป็นรถยนต์นั่งผลิตขายจริง แบบแรกในโลก
ที่ใช้เกียร์ CVT) ออกขายตั้งแต่ปี 1975 – 1980 ขายไปได้ทั้งสิ้น 106,137 คัน

ฤดูหนาว ปี 1976 Volvo 343 รถยนต์คอมแพกต์ รุ่นแรกจาก Volvo Cars BV เนเธอร์แลนด์
ก็ออกสู่ตลาด ในรูปของ คอมแพกต์ แฮตช์แบ็ก 3 ประตู ในช่วงแรกที่เปิดตัว มีเฉพาะเครื่องยนต์
4 สูบ OHV 1,397 ซีซี ขัเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 หรือ 5 จังหวะ และอัตโนมัติ CVT
หลังจากนั้น จึงเริ่มขยายทางเลือกออกไป เป็นแบบ 4 สูบ OHC 1,986 ซีซี ตามด้วย 4 สูบ 1,721 ซีซี
และ Diesel 4 สูบ OHC 1,596 ซีซี ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ครั้งใหญ่ในปี 1981 ด้วยการเปลี่ยน
ชิ้นส่วนด้านหน้าของรถ รวมทั้งภายในห้องโดยสาร 343 ทำตลาดมาจนถึงปี 1990 ด้วยยอดขาย
รวมทั้งสิ้น 472,434 คัน

3 ปีหลังจากนั้น ในปี 1979 รุ่น Hatchback 5 ประตู ในชื่อ 345 ก็ออกสู่ตลาด ขายควบคู่กับ 343
และปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ขายมาเรื่อยๆ ก่อนจะยุติการผลิตไปในปี 1991
ด้วยยอดผลิตทั้งหมด 358,024 คัน

ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1982 รุ่น 360 ก็คลอดออกมา ถือเป็นเวอร์ชันหรูกว่า ของรุ่น 343 และ 345
วางเครื่องยนต์ 4 สูบ OHC 1,986 ซีซี เชื่อมด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ รวมทั้งยังมีรุ่น
360 GLT ที่ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกัน แต่จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด แทนคาร์บิวเรเตอร์
ทำตลาดถึงปี 1989 ด้วยยอดขายทั้งหมด เพียงแค่ 33,535 คัน ในรุ่น Hatchback 3 ประตู
และ 76,281 คัน ในรุ่น 5 ประตู

รุ่นซีดาน ของ 360 ตามออกมาในปี 1983 พร้อมกับรุ่น 340 ซีดาน วางเครื่องยนต์เดียวกัน
และทำตลาดจนถึงปี 1989 เช่นกัน ด้วยยอดขาย 79,964 เฉพาะ 340 ซีดาน และ 66,207 คัน
ในรุ่น 360 ซีดาน

ปี 1985 ตระกูล 400 Series ก็เริ่มต้นขึ้น จากการเปิดตัว Volvo 480 Sport Hatchback 2 ประตู
รถยนต์ขนาดเล็ก ขับเคลื่อนล้อหน้ารุ่นแรก ในประวัติศาสตร์ ของ Volvo รถรุ่นนี้เปิดตัว ในปี 1985
และเริ่มทำตลาดในปี 1986 วางเครื่องยนต์ 4 สูบ OHC 1,721 ซีซี ทั้งแบบมี และไม่มี Turbo
รวมทั้ง บล็อก 4 สูบ OHC 1,998 ซีซี ได้รับความนิยมพอประมาณจากตลาดโลก ผลิตออกมา
จนถึงปี 1995 ด้วยยอดขายทั้งหมด 76,375 คัน ปัจจุบัน รถรุ่นนี้ กลายเป็นต้นแบบให้กับ
การพัฒนา C30 ที่ทำตลาดอยู่ถึงทุกวันนี้

ปี 1988 Hatchback 5 ประตู รุ่น 440 ก็เปิดตัวสู่สู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก โดยมีรุ่น ซีดาน 4 ประตู
ในชื่อ 460 คลานตามออกมา ในปี 1989 ทั้งคู่ใช้พื้นตัวถัง และเครื่องยนต์กลไก ร่วมกับ 480 เยอะมาก
วางเครื่องยนต์ 4 สูบ OHC 1,596 ซีซี, 1,721 ซีซี ทั้งแบบมี หรือไม่มี Turbo จากใน 480 รวมทั้งขนาด
1,794 ซีซี แรงสุดกับรุ่น 1,998 ซีซี และประหยัดพอประมาณกับรุ่น 4 สูบ OHC 1,870 ซีซี Turbo Diesel
ทั้ง 2 รุ่น ปรับโฉม Minorchange ในปี 1994 และเป็นรุ่นที่ สวีเดน มอเตอร์ ผู้จำหน่าย Volvo ในบ้านเรา
ตอนนั้น สั่งนำเข้ามา จาก เนเธอร์แลนด์ ขายแข่งกับ ผู้ค้ารายย่อย รายหนึ่ง ซึ่งเปิดขึ้นมา เพื่อขาย
รถรุ่นนี้โดยเฉพาะ และท้ายที่สุด ก็ปิดกิจการหนีหายไปไหนก็ไม่รู้ รถรุ่นนี้ได้รับความนิยมในเมืองไทย
อย่างดีพอสมควร โดยใช้เกียร์อัตโนมัติ ZF ลูกเดียวกับ Peugeot 405 ในตอนนั้น แต่แล้ว ด้วยการซ่อมบำรุง
ที่แพง อีกทั้ง อะไหล่เริ่มหายาก ทำให้กระแสความนิยมในตลาดมือสอง ลดลงมาก ส่งผลให้ราคาขายต่อ
ตกต่ำ ทำให้ช่วงปลายอายุตลาด รถรุ่นนี้จัดว่าค่อนข้างน่าสงสารรุ่นหนึ่งของ Volvo ในเมืองไทย
ทั้งคู่ อยู่ในตลาดโลกจนถึง ปี 1996 ด้วยยอดจำหน่าย 460,822 คัน ในรุ่น 440 และ 238,401 คัน ในรุ่น 460

เมื่อหมดยุคของ 400 Series ทั้ง 440 460 และ 480 ก็ต้องมีการสร้างรถรุ่นใหม่ขึ้นมา
เพื่อทำตลาดแทนรถรุ่นเดิม และ นั่นคือ ภาระกิจสำคัญของ S40 รถยนต์ Premium Compact
ที่เกิดขึ้นมา อย่างแปลกประหลาดไปจาก Volvo รุ่นอื่นๆ อีกเช่นเคย เพราะคราวนี้
Volvo ตัดสินใจ ร่วมลงทุนกับ Mitsubishi Motor Corporation เพื่อผลิตรถยนต์นั่ง
ระดับ Compact ขึ้นมา ร่วมกัน ทั้งการแลกเปลี่ยนโครงสร้างวิศวกรรม Platform
ร่วมกัน (Mitsubishi นำพื้นตัวถังของ Lancer รุ่นปี 1991 ที่บ้านเราเรียกว่ารุ่น E-Car
มาดัดแปลงอีกหน่อย เพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันของ รถรุ่นใหม่ ทั้ง 2 ค่าย)

ผลลัพธ์ที่ออกมา ขณะที่ Mitsubishi ได้รถรุ่น Carisma (ซึ่งดูจะไม่มีอะไรสู้ ชาวบ้านในกลุ่ม
D-Segment เช่น Nissan Primera เขาได้เลยถ้าไม่มีเครื่องยนต์ GDI แล้วละก็) Volvo กลับได้
รถรุ่นใหม่ ที่แม้จะยังคงกลิ่นอายความเป็น Volvo ในยุค 1990 อย่างเต็มเปี่ยม
ทว่า มาในรูปลักษณ์ภายนอก ที่ฉีกโฉมออกไปจากพวกพ้องอย่างสิ้นเชิง! รถใหม่ทั้ง 2 รุ่น
มีชื่อว่า S40 และ V40 โดยรุ่น S40 เผยโฉมครั้งแรก ในงาน Frankfurt Motor Show
เดือนกันยายน 1995 ส่วน รุ่น V40 ไปเผยโฉมเอาในงาน Bologna Motor Show ไม่กี่เดือน
หลังจากนั้น

เดิมที Volvo ตั้งใจจะใช้ชื่อรุ่น S4 เฉยๆ แต่ปรากฎว่า Audi ถึงกับทนไม่ได้ ที่ Volvo
จะใช้ชื่อรุ่น ทับซ้อน เหมือนพ้องต้องกันกับ S4 เวอร์ชันสปอร์ตเครื่องแรงกว่าธรรมดา
นิดหน่อย ของ Audi A4 เพื่อเป็นการตัดปัญหา ไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง Volvo ก็เลย
ยอมความ ด้วยการ เติมเลข 0 ด้านหลังเข้าไป ให้กับรถทุกรุ่นแทน และนั่นทำให้นับตั้งแต่
ปี 1995 เป็นต้นมา Volvo ได้เปลี่ยนวิธีการเรียกรุ่นรถยนต์ของตนขึ้นใหม่ โดยให้ตัวอักษร
นำหน้า แสดงถึงรูปแบบตัวถัง S = Sedan V = Vesatility C = Coupe/Cabriolet  (จากนั้น
จึงเพิ่ม XC = Cross Country เข้ามา ในช่วงราวๆ ปี 2000-2001 เมื่อครั้งที่ XC70 คลอดออกมา)

S40 / V40 รุ่นแรก ในตลาดโลก มีเครื่องยนต์ให้เลือกแค่ 3 ขนาด คือ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1.800 ซีซี และ 1,948 ซีซี 136 แรงม้า กับเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ OHC 1,870 ซีซี Turbo มีทั้ง
เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 4 และ 5 จังหวะ จากนั้นจึงมีการเพิ่มเครื่องยนต์
1.587 ซีซี เสริมทัพ อีกระลอกหนึ่ง การปรับโฉม Minorchange มีขึ้นในเดือน กรกฎาคม 2000
แล้วก็ทำให้รถรุ่นนี้ ขายดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อีกพักใหญ่

S40 / V40 รุ่นแรก ถูกสั่งเข้ามาขึ้นสายการประกอบขายในไทย โดยโรงงาน ไทย สวิดิช แอสเซมบลี
ย่านบางนา-ตราด มาตั้งแต่ ปี 1996 ก่อนจะมาพบกับวิกฤติเศรษฐกิจ และค่อยๆประคองตัวอย่างหนัก
รุ่น Minorchange ถูกสั่งเข้ามาประกอบใน ช่วงปี 2001 และทำตลาดในบ้านเรา ถึงเพียงแค่ ปี 2003
ขณะที่ ในตลาดโลก S40 ยุติการผลิตในปี 2004 ด้วยยอดขายทั้งหมดทั่วโลก 352,910 คัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดยุโรปแล้ว S40 รุ่นแรก ไม่เพียงจะได้รับความนิยมจากลูกค้า
หากแต่ S40 ยังสร้างชื่อเสียงและชัยชนะอันดับ 1 ให้กับ Volvo ในการแข่งขัน BTCC
(British Touring Car Championship) จากฝีมือของนักขับชื่อ Richard Rydell ในปี 1988
นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการแข่งขันรายการ STCC (the Swedish Touring Car
Championship) อีกด้วย

ความสำเร็จของรถรุ่นเดิม นั้น ทำให้หลายคนอดกังวลไม่ได้ว่า รถรุ่นใหม่ จะยังรักษา
ความสำเร็จในระดับเดียวกันนี้ต่อไปได้หรือเปล่า?

เพื่อลดต้นทุนในการพัฒนา และช่วยย่นระยะเวลาในการจัดการด้านต่างๆ Volvo Cars ซึ่ง
ได้กลายเป็นบริษัทในเครือของ Ford Motor Company มาตั้งแต่ปี 1999 จึงได้รับอานิสงค์
ในการตัดสินใจจากบอร์ดผู้บริหาร ของทั้ง Ford และ ของตนเอง ให้นำพื้นตัวถังของรถรุ่นใหม่
C1 Platform ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทั้ง Ford Focus เจเนอเรชัน 2 และ Mazda 3 / Axela รุ่นแรก
มาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ของรถยนต์ Compact รุ่นต่อไป

และ Volvo ก็เรียกพื้นตัวถังใหม่นี้ว่า P1 Platform

พื้นตัวถังที่ว่านั้น ถูกพัฒนาขึ้นให้ใช้กับรถยนต์ทั้งหมดมากถึง 4 รุ่น คือรุ่นเปลี่ยนโฉมของ
S40 รวมทั้งตัวถัง Estate ในชื่อ V50 ที่มาทำตลาดแทน V40 ไปจนถึง Hatchback รุ่น C30 และ
รถ Coupe Cabriolet เปิดประทุนหลังคาแข็งพับได้ อย่าง C70 โดย Volvo จะสร้างรถของตนเอง
ในแนวทางของตน แต่ใช้เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบกันสะเทือน รวมทั้งโครงสร้างต่างๆ
ร่วมกันกับ Ford และ Mazda เพื่อให้ใช้งบลงทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในที่สุด ภาพถ่ายของ S40 รุ่นปัจจุบัน เจเนอเรชันที่ 2 ถูกเผยแพร่สู่สำนักข่าวทั่วโลกอย่างเป็นทางการ
ครั้งแรก เมื่อ 26 สิงหาคม 2003 ก่อนที่คันจริง จะถูกเปิดผ้าคลุม ในงาน Frankfurt Motor Show
วันที่ 8 กันยายน 2003  ส่วน V50 อันเป็นตัวถัง Estate หรือ Station Wagon รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่
ทั้งคันของ V40 เปิดผ้าคลุมครั้งแรก ตามมาไม่ห่างกันนัก ณ งาน Bologna Motor Show เมื่อ
3 ธันวาคม 2003 หรือเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น

ภาระกิจของ S40 ใหม่นั้น แปลกออกไปกว่าที่เคยเป็น เพราะงานนี้ Volvo ตั้งใจจะให้ S40
ใหม่ เป็นเหมือนรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล Volvo ระดับ Compact ที่ใช้พื้นตัวถังร่วมกับ
Ford Focus และ Mazda 3 ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นในการ จับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยกว่า
ลูกค้าปกติที่อุดหนุน Volvo มาตลอด (มักเป็นกลุ่มผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย แถมหลังๆมานี้
ชาวเกย์และเลสเปี้ยนในยุโรปและอเมริกาเหนือเยอะขึ้น คนกลุ่มนี้ มองหารถยนต์
เพื่อการใช้ชีวิตครอบครัว และใส่ใจอย่างมากในเรื่องความปลอดภัย ความผ่อนคลาย
ของห้องโดยสาร Volvo จึงพยายาม นำเอาจุดแกร่งทั้งหมดของตน อัดแน่นลงไปใน
รถเล็กรุ่นใหม่นี้ ให้ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ยังต้องเพิ่มสมรรถนะการขับขี่
ที่คล่องแคล่วอย่างที่ รถเล็กชั้นดีควรจะเป็น แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งความมั่นใจ ในแบบที่
Volvo รุ่นใหญ่ๆ คันอื่น เขาเคยเป็นกันมา

งานนี้ ถือได้ว่าหนักหนาเอาการ ไม่ใช่เล่น แต่เห็นอย่างนี้ก็เถอะ นับตั้งแต่วันเปิดตัว
จนถึงสิ้นปี 2003 โรงงาน Ghent ใน Belgium อันเป็นฐานผลิตหลักของรถยนต์ตระกูล
Compact ผลิต S40 ออกมาจำนวน 4,566 คัน (ส่่วน V50 ตอนเริ่มต้นนั้นคลอดออกมาแค่
311 คัน)

ต่อมา ปี 2004 S40 ใหม่ก็ทำยอดขายได้รวมทั่วโลก 53,085 คัน
ในปี 2006 เพียงปีเดียว ยอดขายรวมของ S40 รุ่นนี้ ปาเข้าไป 72,329 คัน เยอะที่สุด
นับตั้งแต่รุ่นที่ 2 เปิดตัวมาเลยทีเดียว

แล้ว Volvo รุ่นใหม่ สามารถดึงดูด ลูกค้าที่เยาว์วัยลงมาได้หรือเปล่า?
มาดูตัวเลขจากสถิติลูกค้า จากทั่วทุกมุมโลก ที่ Volvo สำรวจมา กันดีกว่า

ตัวเลขในสหรัฐอเมริกา ลูกค้าที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 45% !!
โดยคนโสดทั้งหลาย ซื้อรถรุ่นนี้ เพิ่มขึ้น 10% จาก 30% เป็น 40%
อายุเฉลี่ยของลูกค้าที่ซื้อรถ Volvo S40 ลดลงจาก 50 ปี เหลือ 40 ปี  

สิ่งที่่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ลูกค้าที่ซื้อ S40 ส่วนใหญ่ซื้อด้วย Emotion
หรือความรู้สึกของตนเอง มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างพากัน
พูดถึงงานออกแบบในแนวสปอร์ต และ อรรถรสในการขับขี่ อีกทั้งยัง
ทำให้ ภาพลักษณ์ของ Volvo ดีขึ้นเทียบชั้นได้กับคู่แข่งระดับ Premium ด้วยกัน

หลังการเปิดตัว ก็เริ่มมีการเพิ่มทางเลือกรุ่นย่อย และปรับปรุงอุปกรณ์กันมาโดยตลอด
เริ่มจาก การเพิ่ม 2 ขุมพลัง ใหม่ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2004 เป็นรุ่น S40 / V50 1.6i
เครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ 1.6 ลิตร 100 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร
และ S40 / V50 1.6 D ขุมพลัง Diesel 4 สูบ 1.6 ลิตร 110 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด
240 นิวตันเมตร กลายเป็น Volvo รุ่นแรกที่ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ต่ำกว่า
5 ลิตร / 100 กิโลเมตร

จากนั้น ตามด้วยรุ่น D5 เมื่อ 1 ธันวาคม 2005 เผยโฉมครั้งแรกในงาน Bologna
Motor Show โดยรถที่พร้อมจำหน่ายจริงคันแรก เริ่มออกจากสายการผลิต โรงงาน
Ghent ใน Belgium เมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 เป็นเครื่องยนต์ 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว
180 แรงม้า (ซึ่งคุณจะอ่านเจอรายละเอียดเครื่องยนต์บล็อกนี้ ได้ที่ด้านล่างสุด
ของบทความนี้)

และเพื่อเป็นการเปิดตลาดสู่เมืองจีน  ดินแดนมังกร ที่กำลังตื่นเต้นกับการขยายตัว
ของตลาดรถยนต์ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน Volvo จึงตั้งโรงงานผลิต S40 ในจีน
เมื่อ 27 มีนาคม 2006 และรถรุ่นนี้ ก็กลายเป็น Volvo ที่ขายดีที่สุดในจีน ณ ปีนั้น
ด้วยยอดขายรวม 6,500 กว่าคัน โดยประมาณ

เมื่อทำตาดผ่านไปนานแล้ว ถึง 3 ปี เศษ เกือบ 4 ปี ถึงเวลาที่ต้องแต่งหน้าทาปากกันใหม่
สักรอบ ลดจุดด้อยของแต่ละรุ่น ที่แตกต่างกัน เพื่อกระตุ้นยอดขายให้คงที่ในระดับที่เป็น

รุ่นปรับโฉม Minorchange ที่คุณเห็นอยู่นี้ เผยโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรก ในฐานะ
ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการ ในเว็บไซต์สื่อมวลชนของ Volvo Cars เมื่อ 10 เมษายน 2007

ถ้าถามถึงการตอบรับของตลาดโลก ของรุ่น Minorchange นั้น ยอดขายในปี 2007
สรุปตัวเลขของ S40 อยู่ที่ 63,062 คัน ส่วนในปี 2008 ตัวเลขลดลง ตามอายุตลาดที่เพิ่มขึ้น
อันเป็นวัฎจักรธรรมดา ตามวงจร Product Life Cycle เหลือ 48.950 คัน แต่ภาพรวม
ยังถือว่า รถรุ่นนี้ยังขายดีอยู่ได้อีก

แล้วทำไม เพิ่งจะเอามาขายเมืองไทย ในป่านฉะนี้?
คำถามที่หลายคนอาจสงสัย แต่ถ้าจะให้สรุปกันอย่างง่ายๆ
ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า…

1.ช่วงที่ผ่านมา ในเมืองนอกนั้น รถรุ่น 2.0 ลิตร มีแต่เกียร์ธรรมดา (คนไทยชอบรถเกียร์อัตโนมัติมากกว่า)

2.ถ้าในเมื่อ S40 / V50 จะต้องนำมาขึ้นสายการประกอบที่โรงงาน Volvo ในมาเลเซีย อยู่แล้ว
และทางไทย ก็ผลิตโครงรถรุ่นใหญ่ ส่งให้ทางมาเลเซียอยู่แล้ว แล้วมีเหตุอันใดที่ Volvo
จะไม่ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง AFTA (Asean Free Trade Area) ให้มันคุ้มกว่านี้เลยละ
โรงงาน ไทย สวีดิชฯ ก็ไม่ต้องตั้งไลน์ประกอบรถรุ่นนี้ ให้เสียเวลา แถมยังต้องขายแพงเท่า
S60 ด้วย สู้สั่งรถนำเข้ามาจากมาเลเซีย ก็สามารถทำราคาขายปลีกได้ถูกกว่า กันละ?

แถมคุณภาพการประกอบจากมาเลเซีย ก็ทำได้ดี ไม่เลวร้าย อาจมีเสียงเข็มขัดนิรภัยฝั่งคนขับ
ที่ดึงจิ๊ดๆๆ กวนใจผมบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเฉพาะคัน แต่นอกนั้นโดยรวม ก็แทบไม่ต่างจาก
รถประกอบในไทยเลยสักหน่อย

นั่นละครับ ที่มาที่ไป มีแค่นั้นละ…

แล้วตัวรถ S40 มีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง?

Steve Mattin ผู้เป็น Design Director ของ Volvo Cars ในขณะนั้น บอกในเอกสารสำหรับ
สื่อมวลชนว่า “การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เราต้องการสร้างความแตกต่าง จากภายนอก
ระหว่าง S40 และ V50 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่การปรับปรุงภายในห้องโดยสาร เรามุ่งเน้น
ไปที่การเพิ่มช่องเก็บสิ่งของต่างๆ ให้ใช้งานง่าย และอเนกประสงค์อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น”

งานออกแบบภายนอกดั้งเดิม มาในสไตล์ 6 Windows Saloon อันเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่ง
ของ Volvo ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีบ่าข้าง ที่ดูหนา และเพิ่มความรู้สึกหนักแน่น
มั่นคง และอุ่นใจ ให้กับผู้ที่พบเห็น หรือเป็นเจ้าของ ยังคงยึดแนวทาง Scandinavian Design
ที่ทั้ง ผสานรูปลักษณ์อันโดดเด่นสะดุดตา จนต้องถามว่า คิดได้ยังไง เข้ากับการใช้งานที่ง่ายสะดวก
ง่ายดาย เป็นมิตรกับผู้ใช้ (User Friendly) มีความปลอดภัย และไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา

การปรับปรุงงานออกแบบภายนอก มีทั้ง เพิ่มชุดไฟหน้าแบบ Bi-Xenon
ไฟท้ายลายใหม่ พร้อมหลอด LED (ที่ดูแข็งทื่อกว่า เมื่อเทียบกับรถรุ่นปี 2004
ในตอนแรกที่ออกมา) เปลือกกันชนหลัง มีแผงทับทิมสะท้อนแสง ออกแบบให้
เข้ารูปกับเปลือกกันชนในภาพรวมมากขึ้น ปลอกท่อไอเสียหลัง ก็ถูกปรับปรุงใหม่
เช่นเดียวกัน ล้ออัลลอยในเวอร์ชันไทย มีขนาด 16 นิ้ว

อย่างไรก็ตาม ขนาดมิติตัวรถยังคงเท่าเดิม ด้วยความยาว 4,476 มิลลิเมตร
กว้าง 1,770 มิลลิเมตร สูง 1,454 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ S40 รุ่นแรก ปี 1995 แล้ว ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่า
ระยะฐานล้อหนะ ยาวเท่ากับ Mazda 3 และ Ford Focus เลย และ
ยังยาวกว่ารถรุ่นเดิม 78 มิลลิเมตร อีกทั้งตัวรถ จะกว้างขึ้นกว่า S40 รุ่นแรก
ถึง 50 มิลลิเมตร แต่ตัวรถจะสั้นลง กว่ารถรุ่นเดิมนิดหน่อย

กุญแจของรถคันนี้ เป็นแบบ รีโมทคอนโทรล Immobilizer แบบ Smart Entry
แค่เดินเข้าใกล้รถ แล้วดึงมือเปิดประตู หรือกดปุ่มบนมือจับประตู ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง 
ก็สามารถ ล็อก-ปลดล็อก ประตูทุกบานได้ และสามารถปรับตั้งให้ ปลดล็อกได้
เฉพาะประตูฝั่งคนขับบานเดียว หรือ ปลดล็อกได้ทุกบานพร้อมกัน

การติดเครื่องยนต์ จะใช้กุญแจ เสียบบิดในสวิชต์หมุนติดเครื่องยนต์ตามปกติ
หรือ หมุนมือบิด ที่แถมมาให้ เสียบเข้ากับรูกุญแจ ได้ทันที สวิชต์มือบิดนั้น
สามารถถอดออกได้ ในยามที่ต้องการสัญญาณจากกุญแจ มาช่วยในการติดเครื่องยนต์
หากแบ็ตเตอรีของ กุญแจรีโมท ใกล้หมดลง ซึ่งดูแล้ว ก็น่าจะอีกนานพอสมควร

ถึงแม้ว่ารถคันนี้ จะสร้างขึ้นบนพื้นฐานร่วมกับ Mazda 3 และ Ford Focus รวมทั้ง Volvo C30
ที่เคยผ่านมือผมไป แต่เมื่อเปิดประตูอันหนักอึ้ง ขึ้นไปนั่งในห้องโดยสาร กลิ่นเบาะนั่ง อันเป็นแบบฉบับ
ของ Volvo ยุคใหม่ๆ บรรยากาศเดิมๆ อันคุ้นเคย และดูผ่อนคลายสำหรับผม ก็หวนคืนสู่ความทรงจำ
ได้อย่างรวดเร็ว

เพียงแต่ว่า บรรยากาศที่ผมชื่นชอบนั้น ถูกบีบอัดขนาดพื้นที่ ให้แน่นกว่าเดิม ด้วยข้อจำกัด
ของขนาดตัวถังรถ จึงอาจทำให้รู้สึกอึดอัดอยู่บ้างนิดหน่อย แต่ก็เป็นเฉพาะพื้นที่เบาะหลัง
ส่วนด้าหน้า ผมไม่พบปัญหาแต่อย่างใด

ตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้า ยังคงไม่แตกต่างอะไรจาก Volvo C30 เลย เบาะนั่งยังคงนั่งสบาย
ไม่ปวดหลัง ตลอดการเดินทางได้เหมือน Volvo รุ่นใหญ่ๆ ไม่มีผิด พนักหลัง และพนักศีรษะ
ยังคงนุ่มนวล แบบเดียวกับที่พบได้ใน S80 ใหม่ ปรับตำแหน่งได้อย่างละเอียดยิบ ด้วย
สวิชต์ไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง มีหน่วยความจำ 3 ตำแหน่งเฉพาะฝั่งคนขับ

และมีมือหมุนปรับตำแหน่งดันหลังมาให้ ซึ่งต้องออกแรงหมุนมากเป็นพิเศษ
กว่าจะได้ตำแหน่งที่ต้องการ อันนี้ ถ้าแก้ไขได้ ก็น่าจะดี เพราะเป็นมาหลายรุ่นเหมือนกัน

พื้นที่เหนือศีรษะ จัดอยู่ในเกณฑ์พอดีๆ ไม่น้อยเกินไป นั่งแล้ว หัวไม่ติดเพดานแน่ๆ

ประตูคู่หลัง เปิดกางออกได้น้อยไปหน่อย มันควรจะกางออกได้กว้างกว่านี้ อีกทั้งช่องทางเข้าออก
พื้นที่ผู้โดยสารตอนหลัง ควรจะยาวขึ้นกว่านี้อีกนิดหน่อย สักราวๆ 10-20 มิลลิเมตร  เพื่อช่วยลดปัญหา
ในการเข้าออกจากห้องโดยสาร ของผู้คนที่มีสรีระแตกต่างกันออกไป และ เพียงตัวเลขที่ผมระบุมานี้
มันจะอยู่ในระยะที่เหมาะสม ต่อการขยายความยาวระยะฐานล้อ (Wheelbase) โดยที่ความสมดุล
ในการขับขี่ ของรถ ก็ไม่น่าจะเสียไป (จากปัจจุบันยาว 2,640 มิลลิเมตร ก็อาจจะยาวขึ้นเป็น 2,650 มิลลิเมตร)

เบาะนั่งด้านหลัง นั่งได้เต็มช่วงขา และแผ่นหลัง แต่สำหรับคนที่ตัวสูงเกินกว่า 175 เซ็นติเมตร
ผมเกรงว่า ถ้านั่งหลังตรงเป๊ะพอดี ศีรษะของคุณ อาจจะติดเพดานหลังคาได้ คนตัวสูงบางคน
อาจจำเป็นต้อง นั่งไหลลงมานิดนึง จากเดิม เพราะพื้นที่เหนือศีรษะ ของผู้โดยสารตอนหลังนั้น
มันน้อยมาก

ที่น่าแปลกก็คือ Mazda 3 Sedan และ Fird Focus ก็มีปัญหาที่คล้ายกันนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน!
ราวกับว่า ใช้แผ่นหลังคา ร่วมกันเลยอย่างนั้นแหละ…แต่ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น
มีที่วางแขน พับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง และช่องเก็บของขนาดเล็กซ่อนอยู่
ตำแหน่งการวางแขน ของทั้งเบาะหน้า และเบาะหลัง ยังอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
และให้ความสบายในแบบเดียวกับที่วอลโวรุ่นอื่นๆ มีให้คุณ….เป๊ะ
เป็นการรักษาคุณงามความดี มาตั้งแต่รถตระกูล 740 760 ในสมัยก่อน
แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ เบาะหลังยังสามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 70 : 30 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง
โดยวิธีการพับนั้น คุณต้องยกเบาะรองนั่ง ให้หงายขึ้นในลักษณะนี้ก่อน แล้วจึงค่อย กดปุ่มปลดล็อก
สลักยึดพนักพิงเบาะหลัง ในฝั่งที่ต้องการ ให้พับลงมา (อย่าลืม ถอดพนักศีรษะ ออกก่อนด้วย
มิเช่นนั้น ยังไงก็พับเบาะหลังไม่ได้ครับ)

ฝากระโปรงหลัง เปิดออกด้วยรูปแบบ ของ บานพับ และช็อกอัพ ที่คล้ายกับใน Mazda 3 Sedan
อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ มีป้ายสามเหลี่ยมที่เห็นแปะอยู่บนฝากระโปรงหลัง มาให้ เหมือน Volvo ทุกรุ่น

ดูจากรูปบน อาจนึกว่า ช่องทางเข้าห้องเก็บของด้านหลัง ดูเล็กจังเลย
อันที่จรง ก็ถูกครึ่งหนึ่ง และผิดอีกครึ่งหนึ่ง ถ้าคุณหมายถึงช่องทางเข้ามันเล็กละก็
ใช้ครับ คุณคิดไม่ผิดหรอก แต่ถ้าคิดว่า พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง รถรุ่นนี้มันเล็กแล้วละก็
อันนี้ ผิดแน่ๆ

ความยาวจากขอบล่างสุด บริเณกลอนประตูห้องเก็บของ ไปจรดกับ ขอบล่างของเบาะหลัง ที่เห็นอยู่
ยาว 976 มิลลิเมตร และพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังนั้น ก็ใหญ่โตใช้การได้เลย ถ้าคุณพับเบาะหลัง
ฝั่งขวามือลงมา เท่ากับพื้นที่ห้องเก็บของ จะมีทั้งหมด 581 ลิตร แต่ถ้าพับเบาะหลังลงมาทั้งหมด
พื้นที่ห้องเก็บของก็จะเพิ่มเป็น 883 ลิตร และ ถ้าพับเบาะหน้าฝั่งซ้ายลงไปด้วย ก็จะจุได้ถึง 1,088 ลิตร
ตามมาตรฐาน VDA ของเยอรมัน 

พื้นห้องเก็บของ เป็นแผงไม้อัด เปิดขึ้นมาได้ และมีขอเกี่ยวสีแดง สำหรับเหนี่ยวไว้ที่
ยางขอบปากทางห้องเก็บของด้านหลัง ยกขึ้นมา จะพบ โฟม รีไซเคิล เป็นที่อยู่ของทั้ง
ยางอะไหล่ แบบที่เป็นยางอะไหล่ชั่วคราวจริงๆ และชุดเครื่องมือประจำรถ เสียบล็อกเอาไว้
ในตำแหน่งที่ออกแบบมาเรียบร้อย

ถ้ายังนึกไม่ออกว่า ห้องเก็บของด้านหลัง กว้างแค่ไหน?
ให้น้องเติ้ล แห่ง The Coup Team ของเรา สาธิตให้ดูอย่างที่เห็นนี่ละครับ

พอเติ้ล สาธิตไปแล้ว ผมก็ชักอยากจะลองดูแล้วว่า ขนาดเติ้ล ยังลงไปนอน
ด้านหลังรถได้สบายๆ แล้วถ้าตัวใหญ่แบบผมละ จะลงไปนอน ได้บ้างไหม…
ก็เลยตัดสินใจลองดู….

การลงไปนอนด้านหลังรถหลายๆรุ่น เป็นเรื่องที่ผมออกจะคุ้นชินอยู่แล้ว
แต่ไม่ใช่กับ S40 ใหม่นี่ เพราะว่าตอนปีนเข้าหนะ ง่ายดาย เรื่องง่ายๆ

แต่อีตอนปีนออกเนี่ยสิ..ต้องพยายามตะกุยตะกายออกด้วยท่า Limbo Rock
กันเลยทีเดียว เอาขาต้องยื่นออกมาก่อน แล้วค่อยๆ ยันตัวเองออกมา
ท่ามกลางสายตาของ ผู้การจอมเกิน Commander CHENG ที่ยืนยิ้มอย่างขบขัน
ในความทุเรศทุรังของผม คราวนี้

สรุปว่า ช่องทางเข้าห้องเก็บของด้านหลัง มันเล็กไปหน่อยนะ

ทันทีที่ก้าวขึ้นไปนั่งบนตำแหน่งขับ ผมพบว่า รถคันนี้ ไม่เป็นปัญหาสำหรับผมเลย
การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ บนแผงหน้าปัด ให้สะดวกต่อการใช้งานหนะ เป็นเหตผล
แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

แต่เหตุผลหลักก็คือ ผมเคยขับ Volvo C30 ที่ใช้แผงหน้าปัด หน้าตาแบบเดียวกันนี้เป๊ะมาแล้ว
และแผงหน้าปัดนี้ ถือเป็นแผงหน้าปัดสหกรณ์ของ Volvo ที่ใช้ร่วมกันได้ทั้ง C30 S40 V50
และ C70 รวมทั้งหมด 4 รุ่น นั่นเอง..

สวิชต์ควบคุมต่างๆ จัดวางเอาไว้ในตำแหน่งที่ง่าย และสะดวกต่อการใช้งาน
ก้านไฟเลี้ยวอยู่ฝั่งซ้าย ก้านระบบปัดน้ำฝนอยู่ฝั่งขวา แบบเดียวกับรถยุโรปทั่วไป
ที่โยกย้ายชุดคอพวงมาลัยกันมาทั้งดุ้น ตำแหน่งสวิชต์ไฟหน้า ไฟตัดหมอก หน้า-หลัง
และปุ่มเปิดฝาถังน้ำมัน รวมเอาไว้ด้วยกัน ที่ด้านขวาสุดของแผงหน้าปัด

กระจกมองข้าง ปรับและพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ถ้าจะพับเก็บ หรือ กางออก
ต้องกดปุ่ม L และ R พร้อมกัน เหมือน Volvo รุ่นหลังๆมานี้ กระจกหน้าต่าง
เปิดขปิดด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มาพร้อมระบบดีดกลับอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งกีดขวาง
Jam-protection ทุกบาน

ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร มีมาให้ทั้งที่แผงไฟด้านหน้าพร้อมไฟอ่านแผนที่ซ้าย-ขวา
ไฟแต่งหน้า ในแผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง และไฟอ่านหนังสือ เหนือเบาะหลัง 

ชุดมาตรวัดความเร็ว ก็ยกมาจาก เพื่อนพ้องร่วมตระกูล ทั้ง C30 V50 และ C70 นั่นละครับ
อ่านง่าย แยกส่วนชัดเจน ตำแหน่งไฟสัญญาณเตือน เป็นระเบียบ ไม่เละเทะ มาตรวัดที่จำเป็น
ทั้งมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง และมาตรวัดอุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำ มีมาให้ครบถ้วน
การใช้แสงสว่าง ยังคงเป็น สีเขยวอ่อน ที่อ่านแล้วสบายตา เช่นเดิม

ด้านบนสุด ตรงกลาง เป็นจอแสดงข้อมูล ทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบเฉลี่ย
และแบบ Real-Time หรือเรียกว่า Instantly คำนวนระยะทางที่น้ำมันในถัง
จะพารถแล่นไปต่อได้ รวมทั้งแจ้งเตือน อุปกรณ์ต่างๆภายในรถ แบบเดียวกับ
Volvo รุ่นอื่นๆ ทำงานร่วมกับระบบ ระบบ IDIS ซึ่งจะวิเคราะห์สถานการณ์
การขับขี่อยู่ตลอดเวลา ถ้าจำเป็น ระบบจะชะลอการส่งข้อมูลบางอย่าง
จากระบบสื่อสารภายในรถเป็นการชั่วคราว เช่น โทรศัพท์ในรถ
ทันทีที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สายเรียกเข้าหรือข้อความแจ้งเตือน
ที่เกี่ยวข้องจะปรากฏให้คนขับได้ทราบ หรืออาจตั้งให้ระบบ IDIS
แจ้งสายเรียกเข้าในทุกสถานการณ์ก็ได้ เทคโนโลยีนี้ Volvo บอกว่า
ได้มาจาก การพัฒนาเครื่องบินรบ…!?

S40 ถือเป็นรถยนต์สำหรับการผลิตขายจริง แบบแรกทั้งของ Volvo และของโลก ที่ใช้
แผงควบคุมตรงกลางแบบ ลอยตัว เรียกว่า Stand-alone free-floating Centre stack
แม้ว่าคนไทยจะเคยสัมผัสมาแล้ว ใน S80 C30 และ XC60 ใหม่ ก็ตาม
Guy Burgoyn ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบชิ้นนี้ เล่าว่า นับตั้งแต่เครื่องเสียงติดรถยนต์
ในยุคนี้ ให้มาแค่ เครื่องเล่น CD และไม่จำเป็นต้องติดตั้ง เครื่องเล่นเทป Cassette อีกต่อไป
นั่นหมายความว่า ขนาดของแผงควบคุมตรงกลาง สามารถย่อส่วนให้เล็กลงได้อีก
เพราะชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นหดหายไปเยอะ ผลลัพธ์ที่ได้คือ แผงควบคุมกลาง ที่บางเฉียบ
งานออกแบบชิ้นนี้ ถือเป็นชิ้นส่วนที่เด่นที่สุดในรถคันนี้ และเราต้องทำงานกันอย่างหนัก
เพื่อจะหาทางออกให้กับปัญหาทางเทคนิค ในการพัฒนา และผลิตมันออกมา เพราะแม้แต่
พื้นผิวอะลูมีเนียมที่ใช้อยู่ ก็เป็น อะลูมีเนียมแท้ๆ ไม่ใช่พลาสติกหล่อขึ้นรูปแต่อย่างใด!

จะว่าไป เหมือนเคยได้ยินจากใครสักคนใน Volvo นี่แหละที่พูดว่า
แผงควบคุมกลางชิ้นนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจาก ชุดเครื่องเสียง B&O (Bang & Olufsen)

แผงควบคุมที่เห็นอยู่นี้ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ Digital แบบ ECC (Electronics Climate Control)
แยกฝั่งปรับอุณหภูมิได้ทั้ง ซ้าย-ขวา พร้อมระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสาร IAQS
(Interior Air Quality System) ซึ่งจะตรวจสอบระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ของอากาศที่เข้ามาในรถ
ได้โดยอัตโนมัติ ช่องอากาศเข้าจะปิดก่อนที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทำความเย็นได้เร็วมากๆ ในเวลาไม่กี่นาที เล่นเอาหนาวสั่นไปเลย สวิชต์ควบคุมหลัก
อยู่ที่ ปุ่มหมุนด้านล่างทั้ง 2 ปุ่ม

ส่วนชุดเครื่องเสียง เป็นแบบ High Performance ประกอบด้วย วิทยุ RDS, เครื่องเล่น CD / MP3
และ WMA พร้อม CD-Changer  6 แผ่นในตัว แอมพลิไฟเออร์ High Performance กำลังขับ 4×40 วัตต์
ลำโพงแบบ High Performance 8 ตัว, ช่องต่อ AUX ที่กล่องเก็บของคอนโซลกาง ใต้ที่วางแขน
สำหรับเครื่องเล่น iPod® และ USB รวมทั้งซับวูฟเฟอร์กำลังขับ 140 วัตต์ รวมทั้งสวิชต์ควบคุม
บนพวงมาลัยฝั่งขวา

ที่ Volvo เคลมว่า เสียงจากลำโพงที่เที่ยงตรง บริสุทธิ์ และเป็นธรรมชาติที่สุดนั้น ผมไม่เถียงเลย
คุณไม่จำเป็นต้องอัพเกรดชุดเครื่องเสียงไปเป็น Premium Performance แต่อย่างใด เพียงแค่
ชุดที่ติดรถมาให้นี้ ก็ประเสริฐเลิศหล้าที่สุดในกลุ่มรถยนต์ระดับ Premium Compact ด้วยกันแล้ว
ผมไม่เคยผิดหวังกับชุดเครื่องเสียงของ Volvo รุ่นใหม่ๆ เลย ในแทบทุกคันที่เคยขับมา
เสียงเบส มีมิติ กลมกลืน และมีการกักเก็บเอาไว้อย่างดี เสียงใส ก็ไม่เสียดแทงแก้วหู เสียงกลางปรับมา
ในระดับกำลังดีแล้ว

อย่างไรก็ตาม เครื่องเสียง จะทำงานเหมือน Volvo รุ่นอื่นๆ ที่ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์กะระยะ
สำหรับถอยหลังเข้าจอด Park Assist (ซึ่งมีติดตั้งมาให้ใน S40 ใหม่ด้วย) คือเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง
ระบบจะลดระดับเสียงเพลงลง แต่เพิ่มระดับเสียงสัญญาณเตือน ว่าเข้าใกล้วัตถุมากเท่าไหร่แล้ว
เสียงดังมากจนอยากจะปิดมันทิ้งซะเหลือเกิน

การปรับปรุงที่สำคัญจากรถรุ่นปี 2004-2007 ก็คือ การเพิ่มพื้นที่เก็บของจุกจิกตามจุดต่างๆ
ในห้องโดยสารให้เยอะขึ้น และนั่นทำให้ ทีมออกแบบภายใน ถึงขั้นต้อง ทำแผงประตู
ทั้ง 4 บาน ขึ้นมาใหม่ ให้ใหญ่ขึ้นจนสามารถวางหนังสือ หรือนิตยสาร ขนาด A4
พร้อมกับวางขวดน้ำ ได้ในเวลาเดียวกัน

การปรับปรุง คันเบรกมือให้เล็กลง ช่วยให้พื้นที่วางของตรงคอนโซลกลาง เพิ่มมากขึ้น
(แต่ ไม่คิดจะย้าย เบรกมือ ให้เหมาะสมกับตำแหน่งของรถพวงมาลัยขวาบ้างเลยหรือไง?)

ช่องวางของ ในตำแหน่งต่างๆ ยังพอมีให้ใช้งานกันอยู่บ้าง ทั้งที่แผงประตูข้าง
ช่องวางของ ตรงคอนโซลกลาง มีทั้งช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ใช้งานได้จริง
และ กล่องเก็บของตรงคอนโซลกลาง ที่มีฝาปิดเป็นที่วางแขนในตัว ขนาดเล็ก
แต่ก็วางแขนได้จริง เปิดออกมา มีถาด 2 ชั้น

ลิ้นชักหน้ารถขนาดใหญ่เบ้อเริ่ม เหมือน Mazda 3 และ Ford Focus เป๊ะเลย
เพราะชุดระบบเครื่องปรับอากาศ ซ่อนตัวอยู่ตรงกลางของแผงหน้าปัด เหมือนรถสมัยใหม่
รุ่นอื่นๆ และ ทั้ง 2 รุ่นที่ผมเอ่ยชื่อออกมาบ่อยสุดๆในบทความนี้ (และยิ่งอ่านต่อ
คุณก็จะยิ่งเจอ 2 ชื่อนี้บ่อยขึ้นกว่านี้อีก)

อีกสิ่งหนึ่งที่ ผมเพิ่งจะเคยเห็นว่ามี และต้องเอามาพูดถึงก็คือ
การที่ Volvo ออกแบบ ช่องใส่ของเล็กๆ พร้อมตาข่ายกั้น เอาไว้
ตรงกลางระหว่างเบาะหลัง ออกแบบให้สะดวกต่อการที่ผู้ขับขี่
จะเอื้อมมือมาข้างหลัง แล้วหยิบฉวยสิ่งของขนาดเล็ก ไปได้โดยง่าย

(น้อง เต้ ผู้ดูแลเว็บไซต์ของเรา แสดงแบบ ในวันที่ ใบหน้า เต็มไปด้วย ไขมัน มากกกก)

ทัศนวิสัยของ S40 ใหม่นั้น เหมือนๆกับ ที่จะพบได้ใน C30 แต่จะต่างกันเพียงแค่ว่า
เบาะนั่งของ C30 สามารถปรับลงสู่ตำแหน่งต่ำที่สุด ได้ลึกกว่า S40 นิดนึง และ
ตำแหน่งเบาะต่ำสุดของ S40 นั้น ก็ยังเอื้ออำนวยต่อการเข้าออกจากรถที่สะดวกกว่านิดหน่อย
ทัศนวิสัยคู่หน้าหนะ โล่งดีอยู่ตามปกติของรถทั่วไป

ส่วนเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา นั้น ด้วยการที่ท่อนบนของเสา มีความหนาพอประมาณ
ดังนั้น จึงอาจบดบังรถที่แล่นสวนมาในโค้งขวา บนถนนแบบสวนกันสองเลนได้นิดนึง
แต่ไม่เยอะเท่ากับรถคันอื่นๆที่เจอมา เรียกว่าค่อนข้างน้อยด้วยซ้ำ

เสาหลังคาด้านหน้าฝั่งซ้าย ที่เคยเจอปัญหาแผงประตูบดบังขอบล่างของกระจกมองข้าง
ใน C30 แต่กลับไม่พบปัญหานี้ใน S40 ใหม่ ทั้งที่ เอาเข้าจริงแล้ว กระจกมองข้าง ของทั้ง S40
C30 และ S80 ก็เป็นกระจกมองข้างชุดเดียวกัน อะไหล่ ชิ้นเดียวกัน เหมือนกันเป๊ะ!

ผมพบว่า ขอบด้านนอกของกระจกมองข้างแต่ละฝั่ง ถ้าเราปรับกระจก ให้เห็นลำตัวรถที่เราขับ
แค่เพียงนิดเดียว เราจะมองเห็นการบดบังของตัวกรอบกระจกมองข้าง ที่กินพื้นที่กระจก
ไปนิดหน่อย

ส่วนเสาหลังคาแต่ละต้น ตั้งแต่กลางลำตัวรถไปนั้น ค่อนข้างจะหนา และคุณอาจต้อง
ระมัดระวัง พวก “แว๊นบอย แอนด์ สก๊อยเกิร์ล” ทั้งหลาย ที่จะฉวัดเฉวียน มาอยู่ฝั่งซ้ายมือ
รถที่คุณขับได้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มากกว่าเดิมสักหน่อย ผมเองก็เกือบสอยเข้าไปทีนึงเหมือนกัน

และที่สำคัญ ถ้ากลัวจะเปลี่ยนเลนผิดพลาด ไปเบียดเสียดสีรถคันอื่น งานนี้ Volvo ใจป้ำ ติดระบบกล้อง
และสัญญาณเตือนมุมอับของสายตา Blind Spot Information System (BLIS) ที่ผมชื่นชอบมากๆ 
มาตั้งแต่ที่เคยเล่นใน S80 C30 และ XC60 มาให้ใน S40 ใหม่ นี้ด้วย เป็นรายแรก และรายเดียวในโลก
ที่ติดตั้งระบบแบบนี้มาให้

หลักการทำงานก็คือ ทันที ที่มีรถแล่นมาจากด้านข้าง เข้าใกล้รถของคุณ กล้องที่จับความเคลื่อนไหวได้
จะส่งสัญญาณให้ระบบ ขึ้นไฟเตือน ผู้ขับขี่ ว่า มีรถมา อย่าเพิ่งเปลี่ยนเลน หรือเลี้ยวรถใดๆทั้งสิ้น
ไฟสัญญาณนี้จะทำงานขึ้นทันที ไม่ว่ากล้องจะตรวจจับแล้ว เจอแค่รถจักรยานยนต์ หรือจะเป็น
รถบรรทุก 18 ล้อ และจะทำงานเมื่อ รถกำลังแล่นอยู่ตั้งแต่ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ระบบ BLIS มีข้อจำกัดในตัวของมันเช่นกัน และวอลโวเองก็แจ้งเตือนมาในคู่มือผู้ใช้รถ
(ซึ่งผมก็เคยเจอเข้ากับตัวเองด้วยใน C30 และ S80) ว่า ในบางครั้ง ไฟเตือนของระบบ BLIS อาจจะสว่างวาบขึ้นมา
ในเวลาไม่เหมาะสม เช่นขณะขับอยู่ แล่นขนาบข้างกำแพงกั้นเสียงบนทางด่วนไฟอาจจะติดขึ้นมาเตือนเองก็ได้
(เพราะมันตรวจเจอวัตถุนี่นา หรือไม่จริง?) รวมทั้งตอนฝนตก กล้องจับสัญญาณไม่ดี เพราะมีคราบสกปรกที่กล้อง
ระบบอาจจะขึ้นไฟเตือนพักใหญ่ๆ กระพริบๆ (ถ้าอยากจะให้มันหายไป มี 2 ทางเลือก คือกดปุ่มปิดระบบที่
คอนโซลกลาง หรือไม่ ถ้ายังอยากให้ทำงาน ต้องจอดเข้าข้างทาง ดับเครื่อง และติดเครื่องยนต์ใหม่
เพื่อ Reset ระบบ!!

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในต่างประเทศ S40 มีเครื่องยนต์ให้เลือกกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ในเวอร์ชันไทย
ทันทีที่เปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นมา…หน้าตาฝาครอบเครื่องยนต์ กับตัวเครื่อง มันคุ้นๆ พิลึก
นึกขึ้นได้ว่า S40 V50 C30 C70 เป็นรถที่มีการใช้พื้นตัวถัง หรือแพล็ตฟอรฺ์ม ร่วมกับ
Mazda 3 และ Ford Focus ด้วย

ปิ๊ง แล้วก็ ผ่าง ต่อมาในฉับพลันว่า ใช่เลย!! นี่มันเครื่องยนต์ตัวเดียวกับที่วางอยู่
ใต้ฝากระโปรงของ Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร และ Ford Focus รุ่น 2.0 ลิตร นี่หว่า!!!

แม้ Volvo จะบอกว่า รหัสรุ่นของเครื่องยนต์ตัวนี้ คือ B4204S3
แต่ยิ่งพอเมื่อกางสเป็กอ่านดู ยิ่งมั่นใจ ว่าใช่แน่นอน ชัวร์ป้าด ไม่คลาดเคลื่อนแน่ๆ!

เป็นเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 87.5 x 83.1 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.8 : 1 เรียงลำดับสูบตามการจุดระเบิด 1-3-4-2
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด SFI (Sequential Fuel Injection)
รอบเดินเบา ตั้งเอาไว้ที่ 700 รอบ/นาที
145 แรงม้า (HP) หรือ 147 (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 185 นิวตันเมตร หรือ 18.85 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที
รอบเครื่องยนต์สูงสุด 6,450 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ผ่านเกียร์อัตโนมัติ Powershift Dual Clutch 6 จังหวะ
Volvo เรียกมันว่า เกียร์ รุ่น MPS6-2 ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันเป็นเกียร์ลูกเดียวกัน
กับใน Ford Focus TDCi ที่มีขายในบ้านเราเลยนั่นแหละ…

เพื่อให้เป็นการประหยัดเวลา ไม่ต้องเขียนซ้ำไปมาขึ้นใหม่หลายรอบ
ก็เลยขอยกเอาเนื้อหา ที่ผมเคยเขียนเอาไว้ ในบทความรีวิว Ford Focus TDCi
มาให้ได้อ่านกันอีกที…เล่นกันง่ายๆอย่างนี้เลย….ออกแนวมักง่ายนิดๆ

ระบบเกียร์ PowerShift ประกอบด้วยชุดส่งกำลังสองชุดที่ทำงานประสานกัน
โดยแต่ละชุดมีคลัตช์เปียกเป็นของตัวเอง การจัดวางเพลากลาง
โดยคลัชต์ชุด 1 ทำงานกับเกียร์ 1, 3, 5 และเกียร์ถอยหลัง
ส่วนคลัชต์ชุดที่ 2 ทำงานกับเกียร์ 2, 4 และ 6

เมื่อต้องการเปลี่ยนเกียร์ ระบบจะเลือกเกียร์ถัดไปไว้ล่วงหน้า ขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่
การเปลี่ยนเกียร์ จะเกิดขึ้นโดยการทำงานจากคลัตช์ทั้งสองชุดที่ทำงานประสานกัน
และไม่สูญเสียแรงบิด ประโยชน์ก็คือ ทำให้ขับขี่ได้นุ่มนวลขึ้น ลดการกระตุก
ในขณะเปลี่ยนเกียร์ อย่างชัดเจน

โครงสร้างของระบบเกียร์ PowerShift 6 จังหวะ Dual Clutch ของ GETRAG Ford
ยังมีข้อดีที่เหนือกว่า ระบบเกียร์อัตโนมัติทั่ว ๆ ไปอีกหลายข้อ นั่นคือ ไม่จำเป็นต้องใช้
Torque converter ,  planetary gear set, คลัตช์เปียกหลาย ๆ ตัว และผ้าคลัตช์หลายชิ้น
ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเกียร์ลดลงอย่างมาก
เนื่องจากความเฉื่อยที่เพิ่มขึ้นและผลสืบเนื่องจากการต้านแรงบิด และอาจส่งผลให้
สูญเสียกำลังฝนระบบขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ทีมวิศวกรยังได้ปรับตั้งการเปลี่ยนเกียร์ใหม่ให้สามารถเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์
ลงต่ำได้อย่างเหมาะสม เช่น จากเกียร์ 5 ลงมาเป็นเกียร์ 4 และจากเกียร์ 4 กลับมายังเกียร์ 3
ในช่วงเวลาที่ผู้ขับขี่ต้องการอัตราเร่ง

(มาถึงตรงนี้ ขอเขียนเพิ่มเติมเสริมเข้าไปว่า ดังนั้น จงอย่าแปลกใจ
ถ้าหากว่า คุณกำลังขับคลานๆ ในความเร็วไม่สูงนัก พอถอนเท้าออกจากคันเร่ง
จะสัมผัสได้ว่า รถมันหน่วงความเร็วลงมา จนคล้ายกับจะอยู่ในโหมด Engine Brake)

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดว่า ในเมื่อเป็นเกียร์ลูกเดียวกัน อัตราทดควรจะเหมือนกัน
ก็ต้องบอกกันตรงนี้เลยว่า คุณกำลังเข้าใจผิด!! เพราะต่อไปนี้คืออัตราทดเกียร์ของ
Focus TDCi

เกียร์ 1……………………..3.583
เกียร์ 2……………………..1.952
เกียร์ 3……………………..1.194
เกียร์ 4……………………..0.943
เกียร์ 5……………………..0.842
เกียร์ 6……………………..0.789
เกียร์ถอยหลัง………………4.843
อัตราทดเฟืองท้าย………….4.067 / 2.905

แต่ใน S40 ใหม่ Volvo ปรับอัตราทดเกียร์ ขึ้นมาให้เหมาะสมกับการถ่ายทอดกำลัง
จากเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ ธรรมดา ไม่มีระบบอัดอากาศ โดยเน้นความประหยัด
กับอัตราเร่ง ให้สมดุลกัน ดังนี้

เกียร์ 1……………………..3.583  <—- ทดเท่ากันกับ Focus TDCi
เกียร์ 2……………………..2.048
เกียร์ 3……………………..1.370
เกียร์ 4……………………..1.029
เกียร์ 5……………………..1.161
เกียร์ 6……………………..0.971
เกียร์ถอยหลัง………………4.843 <—- ทดเท่ากันกับ Focus TDCi
อัตราทดเฟืองท้าย………….4.533 ที่เกียร์ 1-4 / 3.238 ที่เกียร์ 5-6 และ R

ดูเหมือนว่า อัตราทดเฟืองท้ายของ S40 นั้น ทดเอาไว้ค่อนข้างจัดกว่า Focus TDCi
ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะเครื่องดีเซล หมุนรอบสูงสุดน้อยกว่าเบนซินอยู่แล้ว 

น้ำหนักรถเปล่าหนะ 1,369 กิโลกรัม แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมด
รวมของเหลวต่างๆแล้ว จะทำให้น้ำหนักตัวสูงสุดของรถ พุ่งไปอยู่ที่ 1,850 กิโลกรัม

ตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น โรงงานในยุโรปเคลมเอาไว้ที่ 9.8 วินาที
ส่วนความเร็วสูงสุด ระบุเอาไว้ว่า 205 กิโลเมตร/ชั่วโมง การปล่อยไอเสีย ต่ำระดับ 194 กรัม/ 1 กิโลเมตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย 8.1 ลิตร/100 กิโลเมตร นอกเมือง 6.4 ลิตร ในเมือง 11.3 ลิตร/100 กิโลเมตร

งั้น มาดูกันดีกว่า ว่าตัวเลขหลังจากที่เราจับเวลากันตามมาตรฐานเดิมของเรานั้น ออกมาเป็นอย่างไร

มาตรฐานเดิมที่ว่า ก็คือ การจับเวลาในตอนกลางคืน เปิดแอร์ และนั่งกัน 2 คน ผมน้ำหนัก 95 กิโลกรัม
ส่วนคนจับเวลา คือน้องกล้วย BnN ใน The Coup Team ของเรา 48 กิโลกรัม

เมื่อผมต้องพิจารณาดูว่า จะต้องเทียบเคียงกับตัวเลขของใครนั้น ก็เล่นเอามึนงงไปเลย
เพราะในระดับราคานี้ รถกลุ่ม Premium Compact ส่วนใหญ่ ในบ้านเรา ระดับราคามันเลยเถิด
ขึ้นไปจาก 2.3 ล้านบาท กันหมดแล้ว ส่วน S40 มีราคาถูกกว่าชาวบ้านเขาเพื่อนเลย ดังนั้น
หาตัวเปรียบเทียบลำบากชะมัด ฉะนั้น ก็จับมาเปรียบเทียบกับกับ Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร และ
Ford Focus 2.0 ลิตร เบนซิน  อันเป็นฝาแฝดร่วมพื้นตัวถัง ไปเลยแล้วกัน ง่ายดายที่สุด
และเห็นภาพชัดสุด ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา มีดังนี้

ถ้าดูจากตัวเลขเปรียบเทียบกัน จะเห็นได้ว่า เครื่องยนต์เดียวกัน ถ้าวางอยู่ในรถ 3 คัน
ที่มีความแตกต่างทั้งด้านรูปทรง น้ำหนักตัว และระบบส่งกำลัง ผลลัพธ์ที่ออกมา
จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างเหมือนกัน

ผมตัดสินใจนำเอาตัวเลขผลการทดลองขับ ของ Focus TDCi มาลงประกอบให้ดูกันด้วย
เพื่อที่จะได้เห็นว่า เกียร์ลูกเดียวกัน ถ้าวางในเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องได้รับการ
ปรับปรุงอัตราทดเกียร์ ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์นั้นๆ และมันอาจจะส่งผลต่อตัวเลข
สมรรถนะที่ตามมาได้ อยู่เหมือนกัน

ถ้าจะให้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทดลองจับอัตราเร่งของ S40 กับผลตัวเลข
ของรถรุ่นที่ใกล้เคียงกันคันอื่นๆ ก็คงจะมีหัวข้อสรุปได้ดังนี้

1. อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ S40 2.0 ทำได้ด้อยกว่า Focus 2.0 เบนซิน ประมาณ 0.3 วินาที
เหตุผล เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสภาพอากาศ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ กระแสลมด้านข้าง ดังนั้น
ถือว่า ต่างกันจริง แต่อย่าถึงกับเอามาเป็นประเด็นใหญ่โต เพราะรถรุ่นเดียวกัน แต่ต่างคันกัน อาจทำตัวเข
เหมือน หรือด้อย หรือดีกว่านี้ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น ดังนั้น ตรงนี้ ผมมองว่า S40 ช้ากว่า แต่ก็ไม่ต่างกันมากนัก

2. หากดูดีๆ จะเห็นว่า ถ้าอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ รถในเครื่องยนต์ เบนซิน 2.0
ทั้ง 3 ยี่ห้อ ทำออกมาได้เท่าใด อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะต่างกันราวๆ 3.2 วินาที

3. เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ S40 เท่าไหร่ แต่เขียนเผื่อเอาไว้ สำหรับคนขี้สงสัย จริงอยู่ว่า อัตราเร่งของ
Mazda 3 รุ่นปี 2005 ลิ้นเร่งแบบกลไก ทำตัวเลข ได้ดีกว่า รุ่นปี 2008 ที่ใช้ลิ้นเร่งไฟฟ้า ส่วนหนึ่ง
เป็นเพราะระยะเวลาในการทำงานของสมองกลที่สั่งการเข้าไป ยังมี Lack ไปบ้างนิดนึง แต่ยังมี
ข้อสงสัยว่า ทำไม Focus กับ Mazda 3 รุ่นปี 2007-2008 ใช้เครื่องเดียวกัน เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
เหมือนกัน อัตราทดเกียร์เหมือนกัน ลิ้นเร่งไฟฟ้า ก็ยังเหมือนกัน แต่ทำไม ทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า
Mazda 3 ประมาณ 0.7 – 0.8 วินาที

ส่วนหนึ่ง อยู่ที่เรื่องน้ำหนักตัวของ Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร คันที่ทดลองขับกันนั้น น้ำหนักจะอยู่ที่
ประมาณ 1,205 – 1,290 กิโลกรัม แปรผันตามอุปกรณ์ที่ติดตั้งเข้าไป แต่ Focus และ S40 มีน้หนักตัว
อยู่ที่ระดับ 1,333 และ 1,369 กิโลกรัม ปกติแล้ว น้ำหนักที่แตกต่างกันนั้น ถ้าแค่ 10 กิโลกรัม ไม่ค่อยมีผล
เป็นนัยยะสำคัญ แต่ถ้าต่างกันมากขนาด 40-50 กิโลกรัม นี้ ก็น่าจะมีผลอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อยละครับ  

ที่เขียนมานี้ ก็คงสรุปได้คร่าวๆ ว่า Volvo S40 2.0 ลิตร นั้น แม้อัตราเร่งจะดูเหมือน พุ่งทะยานไป
อย่างเนิบๆ แต่พอสัมผัสได้ว่า มีแรงบิดหมุนฉุดลากรถให้พุ่งไปข้างหน้าอยู่ แต่ตัวเลขที่ออกมา
ก็อืดกว่า เพื่อนพ้องร่วมแพล็ตฟอร์มเดียวกัน ที่ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกันเป๊ะ แต่ใช้เกียร์ คนละลูกกัน
แม้ว่า อัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะออกมาอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้กว่าที่คาดคิดนิดนึง ก็ตาม

ส่วนหนึ่ง เพราะ วิศวกร พยายามทดเกียร์ ให้มีระยะห่างพอๆกัน พอดี ก็ดูความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์
ดูสิครับ มันพอจะบอกอะไรได้บ้างนิดหน่อยละว่า เกียร์ 1 หนะ มากำลังดี แต่หมดเร็ว ตัดเปลี่ยนเกียร์
ขึ้นจังหวะ 2 เร็วไป หน่อย

แต่ เมื่อมาพิจารณาดูดีๆ อัตราทดในลักษณะนี้ ก็คล้ายกับอัตราทดเกียร์ในรถแข่ง
และดูเหมือนว่าวิศวกรของ Volvo จะพยายามเรียกพละกำลังจากเครื่องยนต์
(ซึ่งมีอยู่ไม่ถึงกับมากนัก เครื่องเองก็เร่งรอบไม่ได้จัดเท่าไหร่เลย) จากช่วง
ออกตัว และเร่งแซง ในช่วงความเร็ว ระดับ ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นหลัก
สังเกตดีๆ เกียร์ 2 นั้น จะถูกเซ็ตมาให้ ทำงานในช่วง 40-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนมักใช้เร่งแซง ในเมือง หรือเร่งพุ่งออกไป ขณะรถกำลังขับแบบคลานๆ
เหมือนกับเพื่อเป็นการหลอกว่า ฉัน มีแรงนะ ทั้งที่เอาเข้าจริง เรี่ยวแรง ก็มีแค่ในระดับหนึ่ง

กระนั้น แม้จะต้องพูดกันตรงๆว่า อัตราเร่งที่ออกมา ช้ากว่า เพื่อนพ้องร่วมแพล็ตฟอร์มตัวถัง
แต่ ด้วยคุณงามความดีหลายอย่างของรถ มันทำให้ท่านผู้เกิน Commander CHENG ของเรา
กลับ Happy ในรถคันนี้ มากกว่าที่ผมจะคาดคิด เรียกได้ว่า มองปัญหาเครื่องยนต์ ที่พยายามเค้น
ได้จนที่สุดแล้ว กลายเป็นเรื่องไม่สำคัญในรถคันนี้ไปเลย

การเก็บเสียงของ S40 นั้น ผมเจอว่า แม้แต่ในช่วงความเร็วสูงๆ ก็ยังทำได้ดีกว่า S80
อยู่เรื่องหนึ่ง คือกระจกหน้าต่าง ปิดสนิท ดังนั้น เราจะไม่มีทางได้ยินเสียงหวีดร้องเล็กๆ
ที่เล็ดรอดมาจาก บานประตูฝั่งซ้าย อย่างที่เจอใน S80 นั่นเลย นอกนั้น ในช่วงความเร็ว
ไม่เกิน 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังไป อย่างเป็นธรรมชาติ
ถูกดูดซับและเก็บเสียงไว้ อย่างเรียบร้อย เท่าที่พึงสมควรจะเป็น

และสิ่งที่ทำให้ผมทึ่ง แต่ไม่เกินความคาดหมายก็คือ การตอบสนองของพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน
พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ที่ปรับแต่งมาได้ลงตัวมาก มีระยะฟรีนิดหน่อย ไม่เยอะนัก มาในสไตล์
เดียวกับ Volvo C30 บวกกับ ความคล่องแคล่ว น้ำหนักพวงมาลัยกำลังดี จนทำให้บุคลิกของรถนั้น
ชวนให้นึกถึง Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร อย่างแจ่มชัดในความทรงจำ

กลายเป็นว่า การตอบสนองของพวงมาลัย เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา และไม่ควรเลยที่วิศวกร Volvo
จะคิดไปปรับปรุงอะไรมันต่อจากนี้อีกเป็นอย่างยิ่งยวด!


ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แมคเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง
(รูปที่นำมาจาก เว็บไซต์สื่อมวลชนของ Volvo เขาทำภาพ Illustration
ให้มีรูปชุดเกียร์มาด้วย ซึ่งเกียร์ลูกนั้น ไม่ใช่แบบที่มีขายในบ้านเราตอนนี้หนะครับ)

ส่วนระบบกันสะเทือนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ คอยล์สปริง

นี่พูดตรงๆเถอะ ผมกำลังนึกอยู่ว่า กำลังขับ Mazda 3 Sedan ที่ใช้ช่วงล่างซึ่ง Set มาให้
อยู่ตรงกลางระหว่าง Mazda 3 Sedan และ Ford Focus ซับแรงสะเทือนได้ดี แม้ยังมีการ
เก็บเอาพื้นผิวขรุขระบนถนนเรียบ ใน กรุงเทพมหานคร บางแห่ง ขึ้นมาให้ได้สัมผัสกันถึง
เบาะรองนั่ง อยู่นิดหน่อย ที่ชอบสุดคือ เวลาเข้าโค้ง รถคล่องแคล่วมาก สั่งให้เลี้ยวไปทางไหน
รถก็ไปตามนั้นทันที ไม่อิดออด เกาะโค้งได้ดีมาก และยังมั่นคง ในย่านความเร็วสูงเกิน
170 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งหมดนี้ สร้างสัมผัสของรถที่ขับสนุก จากช่วงล่าง
ให้เกิดขึ้น จาก กับความแน่นหนึบประมาณ Ford Focus แต่ S40 ทำได้ดีกว่าอย่างชัดเจน
อย่างที่ผมเองก็ไม่นึกมาก่อนว่า S40 จะทำได้ดีถึงเพียงนี้

นี่แหละ Volvo ในแบบที่ควรจะเป็นมาตั้งนานแล้ว…อย่าง C30 อย่าง S40 เนี่ยแหละ
แต่ช่วยเซ็ตช่วงล่าง ประมาณนี้ ให้อยู่ในโหมด Advance ในระบบ Four C ของ S80 3.2
ด้วยเถิด หรือไม่ก็ เอาอย่าง XC60 ก็ได้ ส่วนรุ่นต่อไปของ S40 ไม่ต้องไปแก้นะ ขอแบบเดียวกันนี้เลย!

ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า ขนาด ตอนที่เราทำคลิปกันนั้น เบาะนั่งด้านหลังบรรทุกคน
มากถึง 4 คน แต่ละคน ก็หนักราวๆ 50-65 กิโลกรัมกันทั้งนั้น ยังไม่นับ 2 คนข้างหน้า
คือผมกับผู้เกิน Commander CHENG ที่รวมกัน ก็ปาเข้าไป ประมาณ 236 กิโลกรัม
ดูช่วงล่างด้านหลังสิครับ ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นทั่วไป ซึ่งออกแบบมาให้นั่งกันทั้งคัน 3 คน
ผมว่า ช็อกอัพ มันคงยุบตัวลงไปมากกว่านี่แน่ๆ แต่ S40 กลับออกแบบเผื่อรองรับ
การแบกน้ำหนักมากขนาดนี้เอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS และ
ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน EBA
(Electronic Brake Assistance) มาให้ จานเบรกคู่หน้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
320 มิลลิเมตร หนา 25 มิลลิเมตร มีรูระบายความร้อนมาให้ ด้านหลัง
เส้นผ่าศูนย์กลาง 280 มิลลิเมตร หนา 11 มิลลิเมตร

เสริมให้อีกนิดนึดนึงว่า S40 รุ่นใหม่ทุกคันในไทย จะติดตั้งระบบควบคุมเสถียรภาพ DSTC
Synamic Stability & Traction Control คือ ใช้ ไจโรสโคป ดูแลอากัปกิริยาของรถ หากเห็น
ว่ารถชักจะเป๋ๆ หรือล้อข้างใดหมุนฟรี ก็จะตัดกำลัง หรือสั่งเพิ่มแรงเบรก ตามความเหมาะสม

Volvo เคลมว่า ตัวเลขระยะเบรก จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 38 เมตร 
ซึ่งค่อนข้างสั้นใช้การได้อยู่ 

เพราะจากประสบการณ์ที่เราเจอกันมาสดๆร้อน บนทางด่วน
บริเวณทางราบบ่อนไก่ ก็ชวนให้เราเชื่อมั่นในระบบเบรกของ S40 ได้ดี

เรื่องของเรื่องก็คือ ในขณะที่เรากำลังออกจากบ้าน เดินทางไปยังปั้มเชลล์
ที่ปากซอยอารีย์ เพื่อจะทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในวันนั้น น้องกล้วย BnN
เป็นคนขับ โดยผมนั่งอยู่ข้างๆ

เราเดินทางกันด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และเว้นระยะห่าง จากรถคันข้างหน้า ไว้ ประมาณ 3-4 ช่วงคันรถ

จู่ๆ เราก็เห็น ภาพชัดเจนตั้งแต่ระยะไกล ใครจะไปนึกว่า Honda Civic รุ่นโบราณ คันหนึ่ง
พี่แกเล่นเบรกจอดกลางเลนขวาดื้อๆ! เล่นเอาทั้ง Honda City และ รถกระบะที่ขับตามหลัง
อีก 2-3 คัน เบรกกันตัวโก่ง ในจังหวะกระทันหัน…

กล้วยเห็นเข้า ก็เหยียบเบรกลงไป เต็มเท้า แต่ยังไม่สุด เจ้าตัวบอกว่า เหยียบลงไป
ประมาณ 2 ใน 3 เห็นจะได้ S40 ก็หน้าทิ่มชะลอตัวหน่วงความเร็วลงมาอย่างฉับพลัน
มีระยะห่างจากรถกระบะคันข้างหน้า เผื่อไว้ อย่างเหลือเฟือ

ช่วยไม่ได้ที่ Toyota Vios รุ่นปัจจุบัน สีดำ คันที่ขับตามหลังเรามา จะกระพริบไฟใส่เรา
เพราะถ้าเป็นเขา มาอยู่ในตำแหน่งเดียวกับเรา ก็คงต้องเบรกกันตัวโก่งขนาดนี้เป็นแน่
และก็ยังไม่แน่ใจด้วยว่า จะเบรกทันกันชนท้ายรถคันข้างหน้าหรือเปล่า?

ทั้งหมด เกิดขึ้นเป็นภาพต่อเนื่อง และถือว่า นอกจากโชคจะยังดี ที่กล้วยเบรกได้ทันแล้ว
ระบบเบรกของ S40 เอง ก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และไม่มีอะไรให้เราต้องตำหนิมันเลย

แต่ ถ้าสมมติเล่นๆว่า เราเบรกกันไม่ทันละ? กับรถอย่าง Volvo ผมไม่ค่อยห่วงอะไรเลย
เพราะอยากให้ลองดู จุดรับแรงกระแทก ถัดจากคานกันชนหน้าสิครับ Volvo ออกแบบไว้
ไม่เหมือนกับรถทั่วไป แต่ใช้รูปทรงที่เหมือนกับ ถ้วยกระดาษสามเหลี่ยม ยุบตัวได้ 3 จังหวะ
เพื่อรับแรงกระแทกจากการชนไว้ขั้นแรก ก่อนจะกระจายต่อไปให้โครงสร้างตัวถัง ซึ่งใช้
เหล็กที่แตกต่างกัน 4 ประเภท ในรถคันเดียว ทำหน้าที่ ซับแรงกระแทก กระจายต่อ
ไปให้ทั่วทั้งคันรถ

เพียงแต่ สังเกตว่า ส่วนที่ใช้เหล็กแบบ Ultra High Strength นั้น มีเฉพาะส่วนที่ต้อง
รับแรงปะทะตรงๆ เต็มๆ เน้นๆ เท่านั้น ในส่วนโครงสร้างที่ต้องรับและส่งต่อแรงกระแทก
กลับใช้เหล็ก เพียงแค่ Extra High Strength ซึ่ง Volvo เองมองว่า เพียงแค่นี้ ก็ช่วยปกป้อง
ผู้โดยสารได้ดีมากอยู่แล้ว

ชิ้นส่วนด้านหน้านั้น Ingrid Skogsmo ผู้ดูแลการออกแบบโครงสร้างตัวถัง ยอมรับว่า
มันเป็นเรื่องยากที่จะฝืนกฎทางฟิสิกส์ ในขณะที่โจทย์ กำหนดมาเลยว่า รถคันนี้
ต้องเป็นรถขนาด Compact ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

โครงสร้างตัวถังของ S40 แยกออกได้เป็น 4 โซน ตั้งแต่ พื้นที่รับแรงปะทะแบบเบาะๆ
Low-speed deformation zone ซึ่ง ต้องใช้เหล็กที่หนา กำลังดี ไม่มากน้อยเกินไป
ต้องเผื่อเหลือให้พอยุบตัวได้ แต่ต้องไม่มากจนก่อความเสียหายเยอะเกินเหตุ
เอาไว้รองรับการชนกับสิ่งของเล็กๆน้อย หรือคนเดินถนน

แต่ถ้าชนแรงขึ้น ส่วน High-speed deformation zone จะรับช่วงต่อ เพื่อต้องยุบตัว
อย่างเหมาะสม แรงปะทะทั้งหมด จะถูกส่งต่อให้ Back-up zone บริเวณ โครงสร้าง
สีเหลือง เสา A-Pillar และด้านบนของผนังห้องเครื่องยนต์

เมื่อเกิดการชน เครื่องยนต์ ที่ถูกติดตั้ง ล้ำมาข้างหน้า 200 มิลลิเมตร
จะยุบตัวลงสู่พื้นด้านล่าง และจะไม่ถอยร่นเข้ามาเกินกว่า 150 มิลลิเมตร
ซึ่งจะเป็นจุดที่ Crankshaft จะถูกอัดเข้ากับ คานโครงสร้าง Three-way attachment
ซึ่งเป็นการออกแบบคาน Cross-member ในรูปแบบที่แตกต่าง อันเป็นสิทธิบัตร
ของ Volvo และเบ้าช็อกอัพพอดี เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ ทะลุเข้าไปอัดติดกับขาของคนขับ
และผู้โดยสาร ลดการปะทะ ให้ห้องโดยสาร เสียรูปน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เข็มขัดนิรภัยทั้งเบาะหน้าและเบาะหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทุกที่นั่ง
โดยคู่หน้า และด้านหลังฝั่งซ้าย-ขวา จะมีระบบ Pretension & Load Limiter
ดึงกลับอัตโนมัติ ติดมาให้ ขณะที่ตรงกลาง ไม่มี จะทำงานในเสี้ยววินาที ร่วมกับ
ถุงลมนิรภัย มีมาให้มากถึง 6 ใบ โดยคู่หน้าเป็นแบบ Dual Stage ปรับระดับการพองตัว
ตามความรุนแรงของการชน หากชนไม่หนักมาก ความเร็วต่ำๆ จนถุงลมนิรภัยไม่มีความจำเป็น
ระบบจะใช้กลไกการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัยช่วยแทน เพียงอย่างเดียว (ดังนั้น อย่าตกใจ
ถ้าชนที่ความเร็วไม่มากนัก แล้ว ถุงลมฯ อาจจะไม่ทำงาน)

นอกจากนี้ ยังมีถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย IC ที่ยาวตั้งแต่ด้านหน้าจรดด้านหลัง
สำหรับป้องกันศีรษะจาก การชนด้านข้าง และการพลิกคว่ำ รวมทั้งพนักศีรษะและพนักพิงเบาะ WHIPS
(Whpilash Protection System) ที่จะประคองหลังและคอ ให้อยู่ในตำแแหน่งเหมาะสม เมื่อเกิดการชนอีกด้วย

ดูเขาคำนวนทุกอย่างเอาไว้เสร็จสรรพ โดยที่ยังไม่ได้พูดถึงโครงสร้างการกระจาย
แรงกระแทกด้านข้าง SIPS ที่มีใช้ใน Volvo ทุกคัน มาตั้งแต่ยุคกลางทศวรรษ 1990 แล้ว
คงจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ ที่ผมบอกว่า ผมไม่ห่วงเลยหนะ มันหมายความว่าอย่างไร

ถ้าจะห่วง ก็คงมีเรื่องเดียว คือถ้าชนขึ้นมาจริงๆ รถก็คงจะพัง ถึงตอนนั้นจริง ผมจะยังมองหน้า พี่ตุ้ม
กับพี่ต่าย แห่ง Volvo Cars Thailand ได้อยู่เหมือนเดิมหรือเปล่าเนี่ยสิ…

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

โดยปกติแล้ว ในวันที่เรารับรถทดลองขับ เรามักจะรีบนำมาทำการทดลอง
จับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันในทันที เพื่อจะควบคุม ต้นทุนในการทำรีวิว
ไม่ให้สูงจนเกินไป

หลายคนก็สงสัยว่า แล้วทำไมต้องทำออกมาเลยในทันที เหตุผลก็เพราะ
โดยปกติแล้ว บริษัทรถยนต์ จะเติมน้ำมันมาให้เต็มถังอยู่ก่อนแล้ว
และถ้ารีบทำการทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง กันได้เลยในทันที
ก็จะประหยัดต้นทุนลงไปเยอะ

ทว่าคราวนี้ ด้วยเหตุที่ การจราจรในวันศุกร์ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา ติดขัดสาหัส
เป็นอย่างมาก เราก็เลยตัดสินใจ ยกเลิกการทดลองกัน ดื้อๆ ขับลงทางด่วนที่
งามวงศ์วาน กันดื้อๆ ในคืนนั้น เราก็เลยจำเป็นต้องไปทดลองอัตราเร่งกันล่วงไปก่อน
เข็มน้ำมันก็ลดลงไป เกือบจะครึ่งหนึ่ง เพราะเหยียบกันเต็มที่

ดังนั้น บ่ายวันเสาร์ เราจึงเดินทางกลับไปยังสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ปากซอยอารีย์
ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 V-Power กลับเข้าไปใหม่
ให้เต็มถัง

ชั่งใจกันอยู่ว่า จะต้องเขย่ารถด้วยไหม เพราะโดยปกติ รถที่มีความจุกระบอกสูบต่ำกว่า
2,000 ซีซี และรถกระบะ ทุกรุ่น คือ รถที่เราจะต้องเขย่ารถ เพื่อให้น้ำมันไหลเข้าสู่ถัง
จนเข้าไปแทนที่ฟองอากาศภายในให้ได้ทั้งหมดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เอาผลให้แน่นอนกันไปเลย

แต่เมื่อมานั่งพิจารณาดู S40 ก็ไม่ใช่รถตลาด Volvo คันอื่นๆ เราก็ไม่เคยจับเขย่ารถ
อีกทั้ง ลูกค้าที่ซื้อรถกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ คำนึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในระดับหนึ่ง
แต่ไม่มากเท่ากับกลุ่มที่ซื้อรถยนต์ความจุต่ำกว่า 2,000 ซีซี และรถกระบะ ดังนั้น
เราจึงตัดสินใจว่า เติมลงไป แค่หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอแล้ว

จากนั้น Set 0 บนมาตรวัด Trip Meter ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกเดินทาง
ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย ราวๆ 2 กิโลเมตร ไปขึ้นทางด่วนพระราม 6
มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือสายเชียงราก
รักษาความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดระบบควบคุมความเร็วคงที่
Cruise Control ที่ควบคุมได้ ณ สวิชต์บนพวงมาลัยฝั่งซ้าย เปิดแอร์
นั่งกัน 2 คน คือผม กับน้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรานั้นละ

แล้วเลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม มุ่งหน้ากลับมายังทางลง
อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเขาถนพหลโยธิน ผ่านช่อง 5 สนามเป้า
กลับมาเติมน้ำมัน ที่ปั้มเดิม น้ำมันชนิดเดิม และหัวจ่ายเดิม เอาแค่หัวจ่ายตัด
ก็พอแล้ว ตามเดิมเป๊ะ

 มาดูผลลัพธ์ที่เราทำออกมากันดีกว่า ระยะทางแล่นไปทั้งหมด
บนมาตรวัด Trip Meter 1 อยู่ที่ 92.9 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.80 ลิตร พอดีเป๊ะ

หารออกมา ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.66 กิโลเมตร/ลิตร

กลับกลายเป็นว่า เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขในตารางแล้ว S40
ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมา ด้อยกว่า Mazda 3
ที่ใช้เครื่องยนต์ แบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้าเหมือนกัน ราวๆ 0.2 กว่าๆ กิโลเมตร/ลิตร
ซึ่งผมมองว่า ไม่ถือเป็นนัยยะสำคัญ แต่ที่น่าประหลาดใจนิดหน่อยก็คือ
ทำไม ประหยัดกว่า Ford Focus 2.0 เบนซิน?

ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะ Focus ถูกปรับแต่งให้เติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์ E20 ได้
ตั้งแต่ออกมาจากโรงงาน ส่วน Mazda 3 คันที่เราทดลองนั้น ปรับแต่งให้เติมได้
แค่ E10 และ เช่นเดียวกัน S40 ถูกปรับแต่งให้เติมได้แค่ แก็สโซฮอลล์ E10
การปรับแต่ง จูนกล่อง ECU ซึ่งรถที่เติม E20 จำเป็นต้องทำ นั้น อาจมีผลให้
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถแต่ละคัน ผิดเพี้ยนต่างกันไปได้บ้างนิดหน่อย

แล้วถ้าถามว่า จากน้ำมันเต็มถัง จะแล่นได้กี่กิโลเมตร ดูรูปข้างล่างนี้เอาแล้วกันครับ

ภาพนี้ ถ่ายตอนกำลังจะลงจากรถ ส่งกุญแจคืนทาง Volvo เขาไป
334 กิโลเมตร จาก Trip Meter และเข็มน้ำมันหล่นลงมามากเท่านี้
คงพอบอกคุณได้ว่า ถ้าขับแบบเรื่อยๆ ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
น้ำมัน 1 ถัง ความจุ 55 ลิตร น่าจะพาคุณแล่นไปได้ในระยะทาง
400-430 กิโลเมตร และถ้าเดินทางไกล อาจทำได้ 450 กิโลเมตร
แต่ ผมไม่เชื่อว่าจะทำได้ดีกว่านั้น 

********** สรุป **********
เฉยๆตอนแรกพบ แต่พอจบจากแล้วคิดถึง

ในแค็ตตาล็อก ของ S40 V50 ภาคภาษาไทย นั้น มีข้อความหนึ่ง ที่น่าสนใจพอ
จะดึงมาเป็นประเด็นปิดท้าย

“ในโลกที่ทุกคนทำอะไรตามกันจนน่าเบื่อนั้น ความแตกต่าง เป็นสิ่งที่น่ายินดี”

ใช่ มันน่ายินดีแน่ ถ้าคุณยอมรับ ความแตกต่างนั้น ได้ในทุกด้าน ทั้งด้านดี และด้านไม่ดี

ด้านดีของ S40 ใหม่ คือการแสดงออกถึงความพยายาม ในการสร้างรถยนต์รุ่นใหม่
บนพื้นฐานงานวิศวกรรม และโครงสร้างแพล็ตฟอร์ม ร่วมกับเพื่อนพ้องในเครือ
ทั้ง Mazda 3 และ Ford Focus ใหม่ ให้เหนือกว่าทั้ง 2 คันดังกล่าว ทั้งในด้าน
สมรรถนะการขับขี่ จากระบบกันสะเทือน และระบบบังคับเลี้ยว ที่ “ประเสริฐ”
การเข้าโค้งที่คล่องแคล่ว แม่นยำ และนิ่ง มั่นคง การหยุดรถ ที่มั่นใจได้ ไปจนถึง
การเสริมโครงสร้างความปลอดภัย และอัดแน่นด้วยสารพัดเทคโนโลยี กับ
ความสบายในการเดินทาง แบบที่ Volvo รุ่นใหญ่ๆ เคยสร้าง Benchmark เอาไว้  
แถมยังให้บุคลิกการขับขี่ ในภาพรวม ที่ชวนให้นึกถึง รถทั้ง 2 รุ่นนั้นอีกต่างหาก 

ซึ่งคุณจะได้ทั้งหมดนี้ไป ในราคา 1.799 ล้านบาท…ราคานี้ ถูกใช้ได้เลยทีเดียว!

มันดีเสียจน อยากให้ไม่เพียงแต่ Mazda กับ Ford เท่านั้น แต่กหากยังรวมถึงผู้ผลิตญี่ปุ่น
รายอื่นๆ สมควรอย่างยิ่ง ที่จะซื้อเอารถ S40 ไปถอดชำแหละ เพื่อศึกษาดูว่า ทำไม Volvo
ถึงทำรถออกมาได้อย่างนี้ แต่พวกคุณ ทำได้ไม่ดีเท่า Volvo?

แต่นั่นหมายความว่า คุณต้องรับได้กับอีกด้านหนึ่งของรถคันนี้ด้วยนะครับ ว่า…

– เครื่องยนต์ จะเป็นบล็อกเดียวกันกับ Mazda 3 และ Ford Focus 2.0 เบนซิน เป๊ะ
แม้ว่า Pedegree อาจจะแปลกๆ ชวนตะหงิดๆ สำหรับคนชอบความเป็นรถยุโรปแท้ๆ
แต่ ข้อดีก็คือ อีกหน่อย ถ้าใครมีปัญหาเรื่องอะไหล่เครื่องยนต์ เดินเข้าไปเบิกของ
ในศูนย์บริการ Mazda หรือว่า เดินหาของตามเซียงกง คุณจะได้ของดีในราคาถูก
กว่าชาวบ้าน ตอนซ่อมบำรุงเครื่องยนต์….แต่..ดูเหมือนว่า แค่เครื่องยนต์เป็นหลักนะครับ
ที่เหลือ ต้องว่ากันเป็นชิ้นส่วนๆไป

– สมรรถนะของเครื่องยนต์นั้น จัดว่า ปานกลาง แต่ออกจะช้าไปหน่อย เมื่อเทียบกับ
คู่แข่งในระดับ 2.0 ลิตรด้วยกัน การได้เกียร์ PowerShift Dual Clutch 6 จังหวะ
มาช่วย ก็ช่วยได้แค่เฉพาะช่วงเร่งแซงในบางขณะเท่านั้น ซึ่งจะว่าไป ก็น่าจะพอกับ
การใช้งานของคุณ ที่น่าจะมีให้กับรถประเภทนี้อยู่แล้ว

– การกินน้ำมัน จัดอยู่ในเกณฑ์ ดีปานกลาง คือ ตัวเลขที่ออกมา อยู่ในค่าเฉลี่ย ของรถยนต์
ระดับ คอมแพกต์ทั่วไป หมายความว่า อาจมีสิทธิ์กินน้ำมันมากกว่า ถ้าขับในเมือง
หรือตีนโหดนักละก็…

– เกียร์ลูกนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ค่าซ่อมจะเท่าไหร่ หรือในอนาคต จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง
ถ้าคุณคิดจะใช้รถคันนี้ไม่เกิน 5 ปี ผมว่าหายห่วง มันไม่น่ามีอะไรเสียขึ้นมาให้คุณหงุดหงิดใจ
แต่หลังจากนั้น ผมไม่แน่ใจครับ

– ราคาขายต่อ ในอนาคต น่าจะยังคงต่ำกว่า Mercedes-Benz และ BMW เป็นปกติ อันเนื่องมาจาก ความนิยมของรถ
ที่ไม่มากนัก อันเนื่องมากจาก เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เรื่อง ศูนย์บริการ ที่ค่อนข้างจะแพงอยู่
เพียงแต่ว่า ถ้าดูกันดีๆ ราคามันแพงพอกัน หรือมากกว่า รถยุโรปทั่วไป นิดนึง ในหลายๆรายการ
กัดฟันจ่ายครั้งเดียว แล้วทุกอย่างจะจบ ไม่จุกจิกต่อไป แต่บางราย ก็เจอปัญหา ก็ไม่จบง่ายๆ
อันนี้ ไม่มีใครบอกได้

ดังนั้น สำหรับ Volvo เมืองไทยแล้ว ปัญหาเรื่องบริการหลังการขาย ก็ยังคงต้องเร่งแก้ไขกันต่อไป
เพราะนั่นคือสิ่งเดียว ที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของ Volvo กลับคืนสู่หัวใจผู้ใช้รถชาวไทยได้

– อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมว่าต้องแก้ไขปรับปรุงกัน คือ พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง
ทางเข้า แคบไปหน่อย ประตูน่าจะเปิดกางออกได้มากกว่านี้อีก 1 จังหวะ เพื่อลดปัญหาลงไป
พื้นที่เหนือศีรษะน้อยไป ตอนนี้คงแก้ไขไม่ได้ และคงต้องรอการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันกันไปเลย

ดังนั้น สิ่งเดียวในเวลานี้ ที่สมควรทำอย่างยิ่ง ในระหว่างรอการปรับโฉม Minorchange
หรือไม่ก็รอการเปลี่ยนโฉม ตัวถังใหม่ทั้งคัน ในอีกราวๆ 3 ปีข้างหน้า นอกเหนือจาก
การเร่งปรับปรุง บริการหลังการขายของ Volvo ในประเทศไทยแล้ว ก็คือการ หาเครื่องยนต์
ที่เหมาะสม ต่อการสั่งเข้ามาทำตลาดบ้านเรา

เท่าที่นั่งกางสเป็กทางเลือกเครื่องยนต์ของ S40 ในเมืองนอกแล้ว ถ้าจะหวังเครื่องยนต์ Turbo กันจริงๆ
ก็คงจะมีแต่ รหัส B5254T7 บล็อก 5 สูบเรียง DOHC 20 วาล์ว 2,521 ซีซี พ่วง Turbo ที่จะมาพร้อมกับ
กำลังสูงถึง 230 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดพุ่งไปถึง 320 นิวตันเมตร ในรุ่น S40 T5
ซึ่ง…แน่นอน เกินพิกัดแรงม้า ที่ทางสรรพสามิต กำหนดไว้ ดังนั้น สำหรับเจ้านี่ เราบอกลา Bye Bye ไปได้เลย

ดังนั้น ทางออกที่สวยงามกว่า คือหันมาหา รุ่น D5 ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ Diesel Turbo อย่าง D5244T8
บล็อก 5 สูบเรียง DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี เป๊ะ และเป็นเวอร์ชันสำหรับเกียร์อัตโนมัติ โดยเฉพาะ
มีกำลังมาให้ 180 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที ซึ่งเดาได้เลยว่า นั่นละ รอบเครื่องยนต์่จะ
ทำได้สูงสุด หลังจากนั้นไป ไม่เกิน 4,500 รอบ/นาที นักหรอก แรงบิดสูงสุดปาเข้าไป 350 นิวตันเมตร

นี่แหละ เครื่องยนต์บล็อกนี้แหละ ที่เราอยากเห็น มาวางอยู่ใน S40 D5 เวอร์ชันไทย
และเชื่อเถอะว่า ถ้าทำราคาออกมาได้ ในระดับ 1.6 – 1.9 ล้านบาท งานนี้ Volvo บ้านเรา
อาจได้กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งหนึ่ง อีกรอบ แน่ๆ! และต้องทำควบคู่ไปกับการทำอย่างไรก็ได้
ให้ลูกค้าได้เห็นกันจะจะไปเลยว่า ราคาอะไหล่ของ Volvo มันก็พอกัน หรือแพงกว่า รถยุโรปทั่วไป
แค่นิดหน่อยเท่านั้น เพียงเท่านี้ ความเชื่อมั่น ก็จะกลับมาพร้อมกับยอดขายที่ดีกว่าทุกวันนี้

สรุปว่า S40 ที่ดีอยู่แล้ว ยังจะมีชีวิตชีวายิ่งกว่านี้ได้อีก ขอแค่ มีเครื่องยนต์ Diesel Turbo Commonrail
ในแบบของ Volvo ให้เลือก เพิ่มเติมอีกสักรุ่น ด้วยราคาประมาณ 1.6 -1.9 ล้านบาท  

อย่างไรก็ตาม S40 ก็ยังคงเป็น Premium Compact Sedan ที่แปลกในแบบที่มันเป็น
คือ เห็นครั้งแรก ก็ยังเฉยๆ แต่พอขับเสร็จ ตอนจะต้องคืนรถ กลับรู้สึกยินดี
และดีใจที่ได้ลองขับ เพราะรถรุ่นนี้ ให้ประสบการณ์ที่ดี กว่าที่คิดเอาไว้ตั้งแต่แรก
แถมยังชวนให้คิดถึงอยู่เรื่อยๆ แม้จะยังไม่ถึงขั้น ไม่อยากคืนรถ แบบที่เคยเป็นมา
กับ Volvo รุ่นอื่นๆก็ตาม

ทั้งหมดที่ร่ายซะยาวเฟื้อยมา ผมเชื่อเช่นนั้น จริงๆครับ พี่ตุ้ม…..

———————————–///—————————————

ขอขอบคุณ
คุณ ฉันทนา วัฒนารมย์ (พี่ตุ้ม)
และ คุณ ณัฎฐา จิตราคม (พี่ต่าย)
บริษัท วอลโว คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขวิทธิ์ภาพถ่ายต่างประเทศ ของ Volvo Cars Corporation
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน
www.headlightmag.com
29 ธันวาคม 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures (Some of Pictures from Volvo Cars Corporation)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish
in www.Headlightmag.com
December 29th,2009

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่