“ทำไมเอามาคืนเร็วจัง เหมือนว่าเราเพิ่งเจอกัน เมื่อวันศุกร์ นี่หว่า”
“เพ่ อุทัย! นี่มันก็ตั้ง 4 วัน 3 คืน ครบแล้ว ไม่ใช่เหรอครับเพ่?”
“ขับแล้วเป็นไงบ้าง?”
เดี๋ยวก่อน…เรากดปุ่ม Pause เอาไว้ตรงนี้ดีกว่า…
แล้วจากนั้น ก็กดปุ่ม REWIND ย้อนถอยหลังไป
เป็นวันศุกร์ ที่ 27 สิงหาคม 2010 ตอนบ่าย 2 โมง
กว่าจะได้ลองขับ SUV ร่างใหญ่ คันนี้ ผมได้แต่รอคิว รอแล้ว รอเล่าเฝ้าแต่รอ จนเกือบลืมไปแล้ว
ว่ารถคันนี้ ยังอยู่ในคิว ที่ผมตั้งใจจะยืมมาทำรีวิว ให้คุณผู้อ่าน Headlightmag.com ของเราได้อ่านกัน
รอจนลืมไปเลย
ก่อนหน้านี้ ไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างที่เรา พูดคุยกันเรื่อง กรองแอร์ ของ Mazda 2 อันน่าเวียนหัวนั่น
ผมก็นึกขึ้นได้ว่า เออ นี่เรายังไมได้่ลองขับ CX-9 กันเลยนี่นา พระเอกของเรา ในคราวนี้ ซึ่งก็คือ
พี่ อุทัย เรืองศักดิ์ PR ใจดี ผู้ซึ่งยิ้มทีไร เห็นแต่ฟันขาว ทุกที แต่แอบมีความเจ๋งเป้ง ไม่ธรรมดา
ที่มาพร้อมกับความเบลอ อย่างร้ายกาจ ของ Mazda Sales (Thailand) ก็เลย จัดการล็อก
คิวรถให้ผม ได้ลงตัวกันเสียที
วันไปรับรถ ผมกับ กล้วย ไปพบพี่อุทัย ซึ่งกำลังนั่งกินข้าวเที่ยง กับนักข่าวคนหนี่ง ซึ่งเขารู้จักผม
เราเยเห็นหน้ากัน แต่ผมไม่รู้จักชื่อพี่เขา (เอ๋า แล้วกันสินั่น) พี่อุทัย ยื่นกุญแจ แล้วบอกว่า
“รถ จอดอยู่ที่ โรงแรม อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค นะ นั่งรถจากที่นี่ ขึ้นไปที่อาคารจอดรถ ชั้น (ขอสงวนชื่อ)
ก็ขับออกมาได้เลย…”
ได้ฟัง พี่อุทัย บอกทางไปสวรรค์ เสร็จ ผมกับกล้วย ทำหน้างง กันอยู่ 2 คน แล้วก็คิดกันว่า กรูจะไปที่นั่น
ยังไงดีวะ? จริงอยู่ ว่า ผมเคยไปรับ และคืนรถ ที่นั่น ทั้ง Ford ทั้ง Mazda นั่นแหละ แต่ ถ้าจะให้เดินไป
คาดว่า ผิวหนังคงไหม้เกรียม ด้วยรังสี UV เป็นแน่ ไม่เช่นนั้น ก็คงจะโดน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง สอยร่วง
กลางซอย (เพราะพวกพี่เขา ขี่รถเร็ว อย่างกับจะรีบไปหาสวรรค์วิมาน เหมือนเรา อย่างนั้นแหละ)
Taxi คันหนึ่ง โผล่พรวด ออกมาจากปากซอยที่เรายืนอยู่ ฝั่งตรงข้าม ด้านหลังอาคารเลครัชดา อันเป็น
อาคาร ที่สำนักงานใหญ่ของทั้ง Mazda และ Ford ตั้งอยู่นั่นแหละ เราเลยให้โชว์เฟอร์ ที่ยังทำหน้า
มึนไม่เลิก พาไปส่งถึงโรงแรม อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค นั่นละ
พอขึ้นลิฟต์ ไปถึง ชั้นจอดรถ ที่ระบุมา…เดินไปดู ซ้าย – ขวา เดินตามหาจนทั่วลานจอด แต่ไม่ยักเจอ
เจ้ายักษ์เผือก คันที่เรากำลังตามหาอยู่เลย
เอาวะ…โทรหาพี่อุทัย แล้วกัน….เสียงปลายสาย เขาก็งงเต็ก เลยต้องโทรเช็คไต่ถาม ถึงได้ความว่า
“แหะๆๆ โทษที จิมมี่ รถ มันก็จอดอยู่ที่ชั้น (ขอสงวนนาม) จริงๆ นั่นแหละ แต่เป็นที่ตึกเลครัชดานะ”
ไม่ต้องถามต่อเลยครับว่าผมจะรู้สึกอย่างไร เพราะทันทีที่สิ้นเสียงพี่อุทัย บอกกับผมมา สิ่งที่พี่เขา
จะได้ยินเต็มรูหูโทรศัพท์ จนต้องเอาเครื่อง ออกห่างจากหูโดยด่วน ก็คือ….
“อร๊ากส์ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
!@#$%^&*()_+!@#$%^&*()_+!@#$%^&*()_+!@#$%^&*()_+!!!!” (T_T’)”
(ฉันเสียค่า Taxi มา 40 บาท จากตึกเลครัชดา มาถึงโรงแรม อิมพีเรียลฯ เพื่อจะพบว่า
รถมันจอดนอนหลับอยู่ที่ ชั้นจอดรถเดียวกัน แต่เป็นที่ตึกเลครัชดาเนี่ยนะ!!!
ว๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!!)
“มารับเลยนะพี่ !!!! ฮึ่ม!!!! แฮ่..แง่งงงงงงงงง ย๊ากกกกกกกกกกกกกกกก”
“ได้เลยๆ โทษที รออยู่ตรงล็อบบี้แหละ เดี๋ยวรีบไปรับ…..”
วางสายปุ๊บ สายตาเหลือบไปเห็น Ford Fiesta จอดซุกไว้ เงียบๆ อยู่ข้างๆ Focus สีขาว
ผมับเจ้ากล้วย ก็เลยเดินสำรวจรอบรถกันนิดหน่อย ก่อนจะลงลิฟต์ มารอให้พี่อุทัย นำราชรถ
Lamborghini Le Mans สีส้ม ดำ ของพี่เขา มารับเราสองคน กลับไปยังอาคาร เลค รัชดา
ไปส่งถึงยังรถคันนี้ ถึงที่หมายกันเลยทีเดียว โดยไม่ต้องออกแรงเดินให้เมื่อยตุ้มอีกต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้ คงต้องบอกกับ พี่ซู สุรีย์ทิพย์ ละอองทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
สุดเลิฟ ของผม ที่ Mazda ว่า…ทั้งหมดที่เขียนมานี้ เป็นความจริงทุกประการ แต่…
ไม่ต้องไปว่าอะไร พี่อุทัยเขานะครับ พี่เขาแค่เบลอ (ตามปกติ) เท่านั้นเองแหละ
ได้โปรด อย่าเลยนะครับพี่
คือ โชคดีว่า เรื่องนี้ เกิดขึ้นกับผม ซึ่งมองเรื่องนี้ เป็นเรื่อง ฮาขี้แตก ไป แต่สมมติว่า
ให้เรื่องนี้ ลองไปเกิดกับนักข่าวคนอื่น โดยเฉพาะ ประเภทแบบว่า ขี้วีน เอาแต่ใจ
ข้าต้องเป็นเบอร์ 1 เมิงต้องทรีตกรูดีๆ นั่นเข้าสิ…สงสัยพี่อุทัยคงโดนด่าเละเทะ
ร้องไห้น้ำตาตกแหงๆ แต่ละท่านแต่ละนาย แต่ละนาง เหล่านั้น ปากแรงใช่เล่น
กันซะที่ไหน ด่าใครที พวกแน่ๆ ระดับสุดยอดแห่งอสูรร้าย ยังต้องร้องไห้ขี้มูกโป่ง
กลายเป็นเด็กอนุบาลร้องหาอมยิ้ม ไปเลย!!! รู้กันอยู่ สื่อมวลชนสายรถยนต์บ้านเรา
สรรพคุณ เรื่อง “ปาก” เนี่ย ธรรมดากันซะที่ไหน!
ส่วนผมเอง ไม่ซีเรียสครับ มองเรื่องนี้ เป็นเรื่อง ฮา และคงจะถูกรวมเข้ากับ ความทรงจำ
ของผม ซึ่ง แน่นอน..เก็บเอาไว้เล่าได้ยันแก่ กันไปข้างนึงแน่แท้ทีเดียวเชียว ว่าพี่อุทัย
คนนี้ละ วีรกรรม กระตุกต่อมฮา เยอะไม่แพ้ กับมุขในหนังเรื่อง “กวน มึน โฮ” ที่ Mazda
ไปเป็นสปอนเซอร์ให้เขาอยู่ในตอนนี้ กันเลยทีเดียว!
ยกมาสักเรื่องแล้วกัน ตอนนั้น ปี 2005 ยืนอยู่ที่อาคารจอดรถของตึกเลครัชดานี่แหละ
ผมถามพี่อุทัยว่า “พี่ เมื่อไหร่ Mazda 6 จะมาขาย?”
พี่อุทัย หันไปเห็น Mazda 3 ที่จอดอยู่ด้วยกัน 2 คัน พอดี ก็เลยบอกว่า…..
“เอาเข้ามาขายแล้ววว นี่ไง Mazda 3 จอดข้างกัน 2 คัน ก็เป็น Mazda 6 ไง”
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!! พรืดดดดดดดดดดดดดด แพร่ดดดดดดดดดดด พรวดดดดดดดดดด
เพ่อุทัยยยยยยยยยยยยยยยยย คิดได้ไงวะคร้าบบบบเนี่ยยยยยยยยยยย!!
นั่นละครับ คือเรื่องราว ของพระเอกในรีวิว คราวนี้ ที่เจอกันคราใด เป็นได้ต้องมีเรื่องฮา
เป็นบ้าเป็นหลัง กันได้ตลอดศก นั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม หลังจากค่อยๆ พาเจ้ายักษ์เผือกคันนี้ ค่อยๆย่อง ออกจากอาคารจอดรถตึกเลครัชดา
ผมก็พบว่า รถคันนี้ มีคุณงามความดี มากกว่าที่คิด ติดตัวมาให้ด้วย ชนิดที่ เมื่อได้ลองขับแล้ว
ขอแนะนำเลยว่า ไม่ควรตัดออกไปจากการเป็นตัวเลือกของคุณ เด็ดขาด หากคิดจะซื้อรถยนต์
ประเภท Crossover SUV ระดับ เกิน 3.5 ล้านบาท ขึ้นไป สักคันหนึ่ง
ซึ่งเรื่องนี้ น้อง JIRATH คุณผู้อ่านของเรา ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา น่าจะช่วยยืนยัน
ในเรื่องนี้ได้ ในฐานะที่ ครอบครัวของน้องเขา ก็ซื้อ CX-9 มาขับใช้งานได้พักใหญ่แล้ว
เพียงแต่ จนถึงตอนนี้ ผมยังคิดไม่ออกว่า ควรจะรวม CX-9 คันนี้ เอาไว้ในกลุ่ม รถที่ผมยืมมาแล้ว
ไม่อยากคืน ด้วยหรือไม่?
ถามว่าทำไม…ก็เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ไม่มีรถคันใดในโลกหรอก ที่มีแต่ข้อดี และไม่มีข้อด้อยเลย
ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่า 4 วัน 3 คืน ที่ผ่านมา ผมพบเจออะไรบ้าง กับรถคันนี้ ก็ลองเริ่มต้นอ่าน เนื้อหา
ของบทความบรรทัดข้างล่างกันดูครับ
Mazda CX-9 เป็น รถยนต์ประเภท Crossover SUV ขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่
ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง CD3 อันเป็นพื้นตัวถังสำหรับรถยนต์ขนาดกลาง
และใหญ่ ร่วมกันกับทั้ง Mazda 6 / Atenza , Ford Fusion / Mercury Milan
รวมทั้ง Ford Edge / Lincoln MKZ และ Mazda CX-7
Mazda เผยโฉม CX-9 ครั้งแรกในโลก เมื่อ 4 เมษายน 2006 ผ่านทาง เอกสารข่าว
ประชาสัมพันธ์ ว่าจะนำรถรุ่นนี้ ไปเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลก ณ
งาน New York Auto Show เมื่อ 13 มีนาคม 2006 โดยในช่วงแรกนั้น Mazda
ระบุว่า มีแผนจะทำตลาด CX-9 เฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ เท่านั้น
จนถึงป่านนี้ แม้แต่คนญี่ปุ่นเอง ก็ยังไม่มีโอกาส ซื้อ CX-9 มาขับกันง่ายๆ แต่อย่างใด..!
แต่ ในเมื่อ ทำรถออกมาสักรุ่นหนึ่ง หากขายอยู่แต่เพียงแค่ตลาดเดียว โอกาสจะคืนทุนได้ไว
ก็คงยาก ดังนั้น ถ้ามีประเทศอื่นๆ มาขอสั่งรถรุ่นดังกล่าวเข้าไปทำตลาดด้วย หากพิจารณาแล้ว
พบว่า บริษัทผู้จำหน่ายในประเทศนั้นๆ สามารถรับมือไหว กับตัวเลขยอดขาย การสต็อกอะไหล่
การฝึกอบรมช่าง ประจำศูนย์บริการของดีลเลอร์ การวางแผนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ได้
โดยที่ไม่ขาดทุน หรือ คุ้มค่าต่อการทำตลาด บริษัทแม่ ก็ควรจะปล่อยรถรุ่นนั้นๆ ไปขาย ใน
ตลาดที่เขาต้องการรถรุ่นที่ว่า เป็นหลักธรรมดา ของการทำตลาดรถยนต์
Mazda Sales (Thailand) เอง ก็เลยพยายาม ขอรถรุ่นนี้มาทำตลาด ถึงขั้น ยกเอามาอวดโฉมกันก่อน
ล่วงหน้าแล้ว ในงาน Bangkok International Motor Show มีนาคม 2008 แต่ ที่ล่าช้ากว่าตลาดโลก
ก็เพราะต้องรอให้มีการปรับโฉม Minorchange ของรถรุ่นนี้กันเสียก่อนเลยจะดีกว่า
ดังนั้น รุ่นที่คุณเห็นอยู่นี้ จึงเป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange แล้ว เปิดตัวครั้งแรก เมื่อ 22 มีนาคม 2009
และส่งขึ้นแท่นหมุนอวดโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ในงาน New York Auto Show 2009 นั่นเอง
และกว่าจะเปิดตัวขายกันจริงๆได้ในเมืองไทย ก็ต้องรอเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในงาน Motor Expo
เมื่อ 1 ธันวาคม 2009 ที่ผ่านมานี้เอง ในราคา เปิดตัว 3,690,000 บาท…เอง..!!
CX-9 มีรางวัล มาการันตี คุณงามความดี หลักๆ ก็ 2 รางวัลด้วยกัน ทั้งตำแหน่ง 2008 Motor Trend
Sport Utility of the Year จากนิตยสาร Motor Trend และ 2008 North American Truck of
the year และทั้ง 2 รางวัล มาจากสหรัฐอเมริกา อันที่จริง อย่างที่ทราบกันว่า ผมไม่ค่อยจะสนใจรางวัล
เหล่านี้มากมายนัก แต่ในเมื่อ เขาการันตี กันมาขนาดนี้ ก็ควรจะเอามาลองขับดูสักหน่อยดีกว่า ว่ามันเจ๋งจริง
สมคำร่ำลือ หรือไม่
ด้วยเหตุที่ Mazda ออกแบบ CX-9 ขึ้นมา ในฐานะ CX-7 เวอร์ชัน ขยายร่าง ให้ยาวขึ้น เป็น 7 ที่นั่ง
รองรับความต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งชอบใช้รถคันใหญ่โต เป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่ควร
แปลกใจ ที่ชิ้นส่วนโครงสร้างตัวถังจำนวนมากมาย สามารถ ถอดสลับสับกันใส่ กับ CX-7 อันเป็น
เวอร์ชัน 5 ที่นั่ง ของ พี่น้อง Crossover SUV รุ่นใหม่จาก Mazda ได้เลย เพียงแต่ว่า กระจังหน้า
กับชุดเปลือกกันชนหน้า รวมทั้งชุดไฟท้าย และฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง จะออกแบบมาให้
แตกต่างกัน ตามบุคลิกของแต่ะรุ่น CX-7 เน้นความโฉบเฉี่ยวมากกว่า ขณะที่ CX-9 จะมีบุคลิก
ดูเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวแล้ว แต่รสนิยมทันสมัย
เพราะในขณะที่เส้นสายตัวถังของคู่แข่ง จะมุ่งเน้นความอเนกประสงค์ เป็นหลัก แต่งานออกแบบ
ของ CX-9 นั้น Mazda เลือกจะผสมผสาน ความอเนกประสงค์ เข้ากับความโฉบเฉี่ยว อันมาจาก
Theme การออกแบบ ที่เรียกว่า Nagare (จุดศูนย์รวมของทุกขณะการเคลื่อนไหว) อันโดดเด่น
ของพวกเขา เส้นสายที่สวยงาม ลื่นไหลอย่างลงตัวนี่เอง ทำให้เวลาขับไปไหนต่อไหน บรรดา
เจ้าของ SUV รุ่นใหญ่ๆ หรือ แม้แต่กลุ่มคนที่ขับ Toyota Camry กับ Honda Accord หลายๆคน
จะมอง CX-9 ด้วยสายตาเคลิบเคลิ้ม ไปเลย ข้อนี้ สังเกตจากการมองไปยังรถคันข้างๆ ขณะจอด
ติดไฟแดงด้วยกัน
ด้วย มิติตัวถัง ยาว 5,085.9 มิลลิเมตร กว้าง 1,936 มิลลิเมตร สูง 1,728 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,875 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นรถถึงพื้นดิน 204 มิลลิเมตร นับว่า CX-9 มีขนาดใหญ่โต
จัดอยู่ในพิกัดเดียวกับ SUV คู่แข่ง ตั้งแต่ Volvo XC90, Mercedes-Benz ML-Class,BMW X5
Lexus RX ใหม่ ก็ว่าได้
แต่ล้ออัลลอย ที่ติดมาให้กับรถคัน Demo สีขาวนี้ เป็นล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว x 7.5J
สวมด้วยยางขนาด P245/50R20 เห็นขนาดยางแล้ว ตกใจ แอบหนาวนิดหน่อย
นี่ถ้ายางแตกขึ้นมา จะหายางไซส์นี้เปลี่ยน ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
การเข้าออกจากรถ แค่เพียง พกรีโมทกุญแจนิรภัย Immpbilizer แบบสหกรณ์ ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่
Mazda 2 ยัน RX-8 กันเลยทีเดียว เมื่อเดินเข้าใกล้รถ กดปุ่มสีดำ บนมือจับประตู ก็สั่งล็อก /
ปลดล็อก ประตูคนขับ ได้แล้ว แต่ถ้าจะปลดล็อกประตูบานอื่นๆ ต้อง กด รีโมท ที่ปุ่มปลดล็อก
หรือ กดสวิชต์ ปลดล็อกสีดำ ตรงมือเปิดประตู ณ แผงประตูด้านใน อีกครั้ง แถมยังมี สัญญาณ
กันขโมย ติดตั้งมาให้แล้วเสร็จสรรพ จากโรงงาน ในญี่ปุ่น
และถ้าต้องการปรับตั้งค่า ของอุปกรณ์ต่างๆในรถ เช่นว่า ให้ระบบ ปลดล็อก เฉพาะประตู
ฝั่งคนขับก่อน 1 จังหวะ หรือว่า กดรีโมท แล้วปลดล็อกหมดเลย พร้อมกันทั้ง 4 บาน เอาง่ายๆ
ว่า ถ้าอยากปรับตั้ง ฟังก์ชัน จุกจิก ตามใจคุณ จำพวกนี้ ให้พารถเข้าศูนย์บรการ Mazda ได้เลย
แจ้งกับพนักงานรับรถ เดี๋ยวเขาจะ พาไป เสียบเข้าเครื่อง OBD (On-Board Diagnosis) เพื่อจะ
ปรับตั้งค่าให้คุณเอง
อันที่จริง น่าจะ เปิดฟังก์ชัน ให้ผู้ขับขี่ สามารถเลือกเปลี่ยนการปรับตั้งต่างๆ ได้เอง ตามใจเราเลย
ดีกว่าไหม? สะดวกกว่าไหม? เพราะการที่จู่ๆ เมื่อลงจากรถ ขณะพกกุญแจไปด้วยแล้ว รถล็อกเอง
แทบจะในเวลา ไม่ถึง 10 วินาที ถ้าเวลา ดับเครื่องยนต์ แล้วต้องเอากุญแจพกไปด้วย ขณะที่ลูกน้อย
ยังหลับอยู่ในรถละ ต่อให้คุณแง้มกระจกหน้าต่างเอาไว้ แต่ บอกเลยว่า มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่เด็ก
จะพยายาม ปลดล็อกจากภายในรถ เพราะระบบกลอนประตู จะล็อกเอาไว้ท่าเดียว ผมว่า นี่ไม่ใช่
เรื่องที่ควรเกิดขึ้นเท่าไหร่แล้วละ!
เมื่อเปิดประตูคู่หน้า กางออก สิ่งที่ผมเห็นแล้วอยากจะชมเชย และเรียกทั้ง Mercedes-Benz กับ
BMW มาดูกันเลย ก็คือ ชายล่างของประตู ยาวไปจนถึง ขอบพื้นตัวถังกันเลยทีเดียว เปิดออกกว้าง
และดูใหญ่โต จนชวนให้นึกถึง บานประตู ของ รถตู้ Hyundai H-1 กันเลย การก้าวขึ้น – ลง จากรถ
ก็ไม่ยากเย็นอะไรนัก เกือบจะใช้วิธี หย่อนก้นลงเบาะ แล้วสบัดขาทั้ง 2 ขึ้นมาบนพื้นรถ ได้เลย
ด้วยซ้ำ เพราะความสูงจากพื้นถนน ค่อนข้างใกล้เคียงกับรถเก๋งยกสูง มากว่า จะเป็น SUV ดัดแปลง
จากรถกระบะทั่วไป
นี่คือ สิ่งที่ผม อยากเห็น Mercedes-Benz และ BMW เอาไปปรับประยุกต์ ใช้กับรถยนต์ ประเภท
Crossover SUV ของตน เหลือเกิน เพราะ SUV จากทั้ง 2 ค่ายนี้ มักจะก่อปัญหา ขากางเกงเลอะ
คราบฝุ่น โคลน ให้ผมเสมอ ทุกครั้งที่จะก้าวขึ้น หรือลงจากเบาะคนขับ ซึ่งปัญหานี้ จะไม่มีเลย
ใน CX-9 !!
เพราะนี่ละ คือวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบในเรื่องการออกแบบโครงสร้าง
ตัวถังด้านข้าง ให้รองรับการปะทะ ตามข้อกำหนดของ ทั้ง NHTSA และ Euro NCAP แต่อย่างใด
แผงประตูด้านข้าง ขนาดใหญ่ ออกแบบมาให้ วางแขนได้สบายพอดีๆ มีช่องใส่ของด้านข้าง
ขนาดใหญ่พอสมควร แต่วางขวดน้ำได้ ไม่ดีนัก ตกแต่งด้วยลายไม้ชั้นดี
เบาะนั่ง หุ้มด้วยหนังแท้ คู่หน้า ปรับตำแหน่งด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ที่ด้านข้างฐานเบาะ ฝั่งคนขับ จะมี
สวิชต์ หน่วยความจำตำแหน่งนั่งขับที่ปรับเอาไว้ 3 ตำแหน่ง วัสดุหนัง ที่หุ้มเบาะนั้น เมื่อผ่านการ
ใช้งานไปนานๆ ก็จะเสื่อมสภาพเร็วถ้าขาดการดูแลรักษาที่ดี จนดูเหมือน เบาะหนังจากโรงงาน
ของ Honda Accord ที่จอดตากแดด ไว้บ่อยๆ เป็นประจำ
ภาพรวมแล้ว เบาะนั่งคู่หน้า นั่งสบาย ไม่อึดอัดเลย ที่ปรับดันหลัง มีมาให้ แต่เป็นแบบอัตโนมือ
ไม่ใช่อัตโนมัติ ควรปรับดันหลังเพิ่มขึ้นนิดนึง เพื่อช่วยให้ สมดุลกับ พนักศีรษะ ที่เหมือนจะแข็ง
แต่มีฟองน้ำเสริมไว้อีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะคลุมทับด้วยหนังหุ้มเบาะ พื้นที่เหนือศีรษะค่อนข้างมาก
และไม่รู้สึกอึดอัดในการเดินทางแต่อย่างใด ยกเว้น ตอนก้าวขึ้นรถ กรุณา ระวังศีรษะ จะไปโขก
กับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar อย่างที่ตาแพน Commander CHENG ของเรา โดนมาแล้ว!
เมื่อเปิดประตูคู่หลังไปดู พบว่า การก้าวเข้าออก นั้น ทำได้สบายมาก เพราะช่องทางเข้า มีขนาด
ใหญ่โต สะใจ ซึ่งนั่นทำให้ กระจกหน้าต่าง ของประตูคู่หลัง มีขนาดใหญ่โต โปร่งตา ตามไปด้วย
เหมือนกับคุณหนูๆ ที่ชอบชะโงกดูวิวทิวทัศน์ โน่น นี่ นั่น จะได้ไม่ต้องมีเสาหูช้าง มากั้นกลาง
การมองเห็นใดๆ อย่างที่รถรุ่นอื่นๆ เขาเป็นกัน
เบาะแถว 2 นั้น ดูเหมือนว่าจะนั่งสบาย ใช่ครับ สบายจริงๆ นุ่มนวลชวนหลับ ชนิดที่ SUV ราคา
แพงกว่านี้อย่าง Range Rover Sport ยังให้คุณไม่ได้! แต่..ความสบายที่ว่าหนะ แค่ ตัวเบาะ เท่านั้นนะ
เพราะเบาะรองนั่ง ติดตั้งให้มีความสูงไม่มากนักจากพื้นห้องโดยสาร นั่นเท่ากับว่า ผู้โดยสารร่างสันทัด
น่าจะสบายกับเบาะนั่งแบบนี้ แต่ถ้าเป็นคนตัวสูง ขายาวๆ ละก็ นั่งชันขา แน่นอนครับ แม้ว่า จะยังสบาย
กว่า SUV ดัดแปลงจากพื้นฐานรถกระบะ ในบ้านเราอย่าง Fortuner , Pajero Sport Everest หรือ MU-7
ก็ตาม เท่าที่ดูจาก กล้วย และ บอม เขานั่งให้ชมกันแบบนี้ คุณคิดว่ารับได้ไหมครับ? ถ้ารับได้ ก็โอเค จบ!
อย่างไรก็ตาม เบาะแถว 2 คือ จุดขายของรถคันนี้ เลยก็ว่าได้ เพราะว่ามันอเนกประสงค์ ใช้การได้ดีเลย
ข้อแรก ถ้าคุณอยากจะปรับเอนลงสักนิด คุณก็ทำได้ เพียงแต่ เอนได้ไม่มากนัก ตำแหน่งในรูปข้างบนนี้
แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งพนักพิงหลัง ที่ตั้งสุด กับ เอนสุด ครับ ได้ระยะแค่เท่าที่เห็น ชวนให้นึกถึง
เบาะของ Chevrolet Zafira 2.2 Sport Minorchange เลย คือ ปรับเอนได้น้อยไปนิดนึง แต่ เอาน่า
ก็ยังดีที่มีให้ปรับเอนได้
ตรงกลางของพนักพิงเบาะหลัง พับลงมาเป็นที่วางแขน แบบมีฝาปิดช่องเก็บของขนาดเล็ก ไว้ใส่
สมุดจดงาน เครื่องเล่นเพลง MP3 และปากกา หรืออะไรก็ตามที่ เล็กๆ ไม่ใหญ่โตนัก ดูเหมือนว่า
ออกแบบมาใส่ได้แค่นั้น ส่วนช่องวางแก้ว สำหรับผู้โดยสาร ด้านหลัง มีมาให้ 2 ตำแหน่ง
ที่วางแขน ทั้งแบบพับได้ และบนแผงประตู จัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้ว
ข้อต่อมา ถ้าคุณ อยากเพิ่มพื้นที่วางขา ก็แค่ ดึงคันโยก ใต้ชุดเบาะ ปรับเลื่อนถอยหลังไปได้เลย
เบาะฝั่งซ้าย และฝั่งขวา แยกชิ้นอิสระ และแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อทั้งความสะดวกในการ เตรียมพื้นที่วางสิ่งของที่มีขนาดยาว หรือไม่ ก็พับพนักพิงหลังลงมา
เพื่อให้เข้าออกได้สะดวก ทันทีที่พับพนักพิงลง ในโหมดนี้ (ดึงคันโยก ที่กลางลำตัวพนักพิงหลัง
เบาะจะเลื่อนขึ้นหน้า และพนักพิงจะเอนมาอยู่ในตำแหน่งอย่างที่เห็นในรูปข้างบนนี้ เพื่อให้
สะดวกต่อการเดินเข้าออก เบาะ แถว 3
ส่วนเบาะแถว 3 นั้น ถือว่าทำได้ดีกว่า รถยนต์ 7 ที่นั่งคันอื่นๆ อาจจะต้องนั่งชันขาบ้าง แต่ต้อง
ถือว่านั่งได้จริงๆ ไม่ติดขัดแต่อย่างใด ทั้งสิ้น และ ในคราวนี้ เราก็มีเหยื่อ มาเป็นผู้สาธิต ให้ชมกัน
ตา อาร์ต Signifer และ ตาณัฐ Sulley เพื่อนซี้ คู่หูคู่ฮา และเป็นคุณผู้อ่านของเว็บเรานั่นเอง พอดีว่า
บ้านอยู่ใกล้กับ ตาแพน ก็เลยเจอกันได้บ่อยกว่าคนอื่นเขาสักนิดหนะครับ
ทั้ง 2 คน นั่งอยู่บนเบาะแถว 3 ของรถคันนี้ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เต็ม ที่เราถ่ายทำ คลิปวีดีโอ
และ นี่คือสภาพการวางขาของทั้งคู่ ซึ่งก็ไม่ถึงกับเลวร้าย แต่อย่างใด แถมยังมีพื้นที่เหนือศีรษะ
เหลืออีกหน่อยด้วยซ้ำ ทั้งคู่ มีความสูงอยู่ในระดับ ต่ำกว่า 175 เซ็นติเมตร ซึ่งนั่นต้องถือว่า เป็น
ความสูงในระดับผู้ใหญ่ สมัยนี้แล้ว ยังนั่งได้ สบายๆ ถือเป็น รถยนต์ 7 ที่นั่ง 1 ในไม่กี่รุ่น
ที่มีเบาะแถว 3 ใช้งาน โดยสารได้อย่างจริงจัง และดีเสียด้วยอีกต่างหาก!
ฝาประตูห้องเก็บของ ใน CX-9 ไฮโซ๊ ไฮโซ ใช้การได้ เพราะมีสวิชต์ ไฟฟ้า กดเพื่อให้ ประตูปิดลงมา
ได้เอง โดยอัตโนมัติ แถมยังมีระบบดีดกลับ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง แบบเดียวกับ Premium Crossover SUV
ของค่ายอื่นๆ ที่แพงกว่านี้ ในระดับคันละ 4 ล้านบาท ขึ้นไป เช่น Lexus RX ใหม่ เป็นต้น
พื้นห้องเก็บของด้านหลัง เมื่อยกขึ้นมา จะพบ ช่องวางของเล็กน้อย รวมทั้ง ยางอะไหล่ ส่วน
ฝั่งซ้ายมือนั้น คือที่อยู่อาศัยของ Sub-Woofer จาก Bose ซึ่งมีมาให้ด้วย ลองอ่านต่อไปข้างล่างดูครับ
เมื่อเปิดประตูรถฝั่งคนขับ จะพบทั้ง สวิชต์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้าแบบ One – Touch คู่หน้า
มีช่องเก็บของเล็กๆ ใต้สวิชต์ สั่งเปิด – ปิดการทำงานของระบบ TCS Traction Control System
มีสวิชต์ จำตำแหน่งเบาะ และกระจกมองข้าง ร่วมกัน 3 ตำแหน่ง ที่ฐานรองเบาะคนขับ
แผงหน้าปัด ออกแบบมาให้ดูเรียบง่าย แต่ ด้วยการออกแบบแผงควบคุมกลาง ให้ดูดีมีชาติตระกูลสุดๆ
ทำให้ ภาพรวมของแผงหน้าปัด ดูหรูหรา ขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด ตาแพน ของเรา มองว่า นอกจาก
จะมีแพทเทิร์น คล้ายๆกับ รถ Ford ในสหรัฐอเมริกา บางรุ่นแล้ว เจ้ากล้วยน้อย BnN แห่ง The Coup Team
ของเว็บเรา ก็ยังบอกว่า ฝั่งซ้ายมือ ที่ดูโล่งๆ นั้น ชวนให้นึกถึง แผงหน้าปัดของ Nissan TIIDA ขึ้นมาตะหงิดๆ
พวงมาลัย แบบ 3 ก้าน สีดำเปียโน หุ้มด้วยหนัง ปรับได้ทั้งระยะ สูง – ต่ำ และ
ระยะ ใกล้ – ไกล มีสวิชต์ Multi Function ควบคุม ระบบล้อกความเร็วอัตโนมัติ
Cruise Control ที่ฝั่งขวา และสวิชต์ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียง ที่ฝั่งซ้าย
เบรกมือ เป็นแบบ เบรกจอด อยู่ที่แป้นพักเท้าฝั่งซ้าย เหมือน Nissan Cefiro A31
เหยียบลงไปจมสุด เพื่อสั่งเบรก และย้ำลงไปอีกที เพื่อปลดการทำงาน
ชุดมาตรวัด ดูแพราวพราว แต่การใช้สีที่ตัดกันระหว่าง สีน้ำเงิน เพื่อความสบายตา กับสีแดง อันเป็นสีที่
เหมือนกับว่า จะใช้แนวคิด การอ่านข้อมูลยามค่ำคืนให้ชัดเจน จาก BMW เอามาใช้ใน CX-9 นั้น ชวนให้
นึกถึง ชุดมาตรวัดของ Mazda 3 รุ่นปัจจุบัน ขึ้นมาเล็กน้อย มีมาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็น และสัญญาณ
ไฟเตือน รวมทั้ง มาตรวัดน้ำมัน มาให้ตามปกติ
ที่พิเศษหน่อยก็คือ ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ จะยังคงทำหน้าที่แจ้งให้รู้ว่า กำลังขับขี่ อยู่ที่เกียร์อะไร แม้ว่าคนขับ
จะไม่ได้ผลักคันเกียร์ไปที่โหมด M หรือ โหมด Sport แต่อย่างใด อันนี้ น่าชมเชยครับ
แผงควบคุมกลาง ถูกออกแบบมาอย่างดี จนกลายเป็นชิ้นส่วนที่ดูหรูหราที่สุด ในห้องโดยสาร ของ CX-9
ใช้พลาสติก และวัสดุสังเคราะห์ ชั้นดี ให้พื้นผิวสัมผัสที่ดีมาก แบบรถยนต์ระดับ Premium บางคัน ยัง
ให้ไม่ได้ดีขนาดนี้
ด้านบนสุดเหนือช่องแอร์ เป็นจอ แสดงข้อมูลต่างๆ ทั้ง อุณหภูมิ สำหรับผู้โดยสาร ทั้งฝั่งซ้าย และขวา
รวมทั้งโปรแกรมการทำงานของเครื่องปรับอากาศ นาฬิกา และตรงกลางเป็นจอแสดงข้อมูล ด้านอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real-Time และแบบ เฉลี่ย มีหน่วยเป็น ลิตร / 100 กิโลเมตร
ถัดลงมาเป็น ชุดเครื่องเสียง ระดับ Premium จาก BOSE มีระบบ Surround มาให้ เล่นได้ทั้ง วิทยุ AM / FM
เครื่องเล่น CD / MP3 พร้อม CD-Changer แบบ Built-in 6 แผ่น ในตัวเครื่อง ลำโพงเท่าที่เห็นด้วยตา มีทั้งหมด
6 ชิ้น พร้อม Sub-Woofer มาให้ ยอมรับเลยว่า นอกจากจะมี คุณภาพเสียง ดีที่สุดในบรรดารถยนต์ Mazda
ทุกรุ่นที่ขายกันในเมืองไทยตอนนี้ แล้ว ยังถือเป็นชุดเครื่องเสียง ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของชุดเครืองเสียง ที่ดี
ที่สุด เท่าที่ผมเคยเจอมาในรถทดลองขับอีกด้วย (แน่ละ รถระดับราคานี้ ขืนให้เครื่องเสียงกระจอกๆ มาละก็
คงได้โดนลูกค้าด่าเปิง แหงๆ)
ข้อเสีย มีเพียงแค่ การจัดวางสวิชต์ กับหน้าจอมอนิเตอร์ขนาดเล็ก 4.3 นิ้ว นั้น ยังไม่เอื้ออำนวย ต่อการที่
ผู้ขับขี่ จะเปลี่ยนการทำงานเอง ในยามค่ำคืน เพราะบางที แค่สวิชต์ ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย อาจ
ยังไม่พอ ผู้ขับขี่ยังอาจอยากปรับระดับเสียงใส เสียงทุ้ม เอาเองก็มี ดังนั้น สวิชต์ ต่างๆ จึงควร ดูง่าย คลำง่าย
มีตำแหน่งให้จดจำได้ง่ายกว่านี้อีกนิด แต่โดยรวม ผมถือว่า Mazda ทำได้ดีแล้วในเรื่องนี้
นอกจากนี้ จอมอนิเตอร์ ขนาดเล็ก 4.3 นิ้วดังกล่าว ยังถูกเชื่อมต่อเข้ากับ กล้องขนาดเล็ก ตรงกรอบป้ายทะเบียน
ด้านหลังรถ เพื่อถ่ายทอดภาพจากบั้นท้ายรถ ช่วยให้ผู้ขับขี่ กะระยะ ขณะเข้าจอดได้สะดวกสบายขึ้น
เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ Digital แยกฝั่ง ซ้าย – ขวา และ ด้านหลัง (Tri-Zone) ทำความเย็นได้ค่อนข้างเร็ว
ตามสั่ง จะให้ระบบ ปรับอุณหภูมิให้เท่ากันทั้ง ซ้าย – ขวา หรือแยกกัน ทำความเย็น ตามต้องการได้ทั้งสิ้น
ด้านใต้ มีช่องใส่โทรศัพท์ พร้อมพื้นแบบกันลื่น และช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า ขนาด 12 V rพร้อมฝาปิด มาให้
นอกจากนี้ ผู้โดยสารด้านหลัง ยังสามารถ เลือกปรับอุณหภูมิ บริเวณ เบาะแถว 2 ได้เอง ด้วย
สวิชต์ เครื่องปรับอากาศ แบบ Digital ซึ่งออกแบบให้ฝังตัวอยู่ด้านหลังกล่องคอนโซลเก็บของ
ที่คั่นกลาง ผู้ขับขี่กับผู้โดยสารตอนหน้า
ส่วน กล่องเก็บของด้านข้างผู้โดยสารด้านหน้า เปิดแบบ บานประตู เหมือนกับใน
Mercedes-Benz C-Class เพียงแต่ ตำแหน่งของจุดล็อกฝา นั้น อยู่ในตำแหน่ง
ใกล้กับคันเกียร์ ใช้งานง่ายกว่าของ C-Class ส่วนที่วางแก้วน้ำ มีมาให้ 2 ตำแหน่ง
และ พอจะวางข้าวของอื่นใด ได้อยู่ อย่างสบายๆ แต่ถ้าใส่ขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท
อาจจะหลวมไปนิดนึง
ส่วน กล่องเก็บของด้านข้างผู้โดยสารด้านหน้า เปิดแบบ บานประตู เหมือนกับใน
Mercedes-Benz C-Class เพียงแต่ ตำแหน่งของจุดล็อกฝา นั้น อยู่ในตำแหน่ง
ใกล้กับคันเกียร์ ใช้งานง่ายกว่าของ C-Class ส่วนที่วางแก้วน้ำ มีมาให้ 2 ตำแหน่ง
และ พอจะวางข้าวของอื่นใด ได้อยู่ อย่างสบายๆ แต่ถ้าใส่ขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท
อาจจะหลวมไปนิดนึง
ด้านบน มีซันรูฟ เปิด-เลื่อน รับอากาศได้แบบ One-Touch แต่เวลาปิด ต้องกดสวิชต์
ที่อยู่ด้านบนร่วมกับชุดไฟในห้องโดยสารด้านหน้า เอาเอง เพื่อความปลอดภัย จะได้
ไม่ต้องมีใครโดนซันรูฟ หนีบมือ และยังมีฟังก์ชันการเปิดแบบ เผยอ เพื่อช่วยระบาย
อากาศอันไม่พึงประสงค์ (ตด) จากใครสักคนในรถ ได้เร็วขึ้น
แผงบังแดด มีไฟแต่งหน้ามาให้ ทั้ง ฝั่ง ซ้าย – ขวา แถมตัวแผงบังแดด เอง ยังมี
ติ่ง พลาสติก เล็กๆ ยืด เข้า – ออก ได้ เพื่อที่จะเพิ่มการบังแสงแดดขณะขับขี่ยามเช้า
หรือบ่าย วันที่แดดจ้า เหมือนเช่นในรถยุโรปรุ่นใหม่ๆ บางรุ่น ที่เริ่มมีแผงบังแดด
แบบนี้ มาให้กันแล้ว
แถมยังมีไฟอ่านแผนที่ ทำหน้าที่ รวมเป็นไฟในห้องโดยสารตอนหน้า และเชื่อมต่อกับ
ไฟในห้องโดยสาร ทั้ง แถวกลาง และแถวหลัง มีช่องใส่แว่นตาแบบพับเก็บได้ มาให้อีกด้วย
ทัศนวิสัยด้านหน้า แม้จะโปร่งตาดี มองเห็นฝากระโปรงหน้า ค่อนข้างเยอะ
แต่ก็มิได้หมายความว่า จะกะระยะง่ายเสมอไป ต้องเล็ง และอาจต้องให้คนที่
นั่งไปด้วยกันกับคุณ ช่วยชะโงกออกนอกรถ มองตำแหน่งให้ เวลาที่จะสวนทาง
กับรถคันอื่นใด ในซอยแคบๆ ที่รถสวนกันได้เพียง 2 คันเท่านั้น
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar นั้น พอจะมีการบดบังเล็กน้อยอยู่บ้าง เสาฝั่งขวามือ
บดบังทัศนวิสัย ตอนเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกันเลนเดียว นิดหน่อย พอรับได้
กระนั้น สิ่งที่ผมรับไม่ได้อย่างรุนแรง คือ กระจกมองข้าง ฝั่งขวามือใกล้คนขับ รู้อยู่ว่า ทีมวิศวกร
เจตนาดี จะได้ช่วยลดโอกาส การเกิดอุบัติเหตุ กับรถฝั่งขวาที่แล่นขนาบข้างขึ้นมา แต่ พอใช้งานจริง
บนถนนเมืองไทย ผมพบว่า มันแย่มาก หลอกตามาก เสียยิ่งกว่า Hyundai Sonata , Hyundai Coupe
และ Hyundai Sonata ที่ผมเคยขับเสียอีก แต่ก็ยังถือว่า มีขนาดใหญ๋ และหลอกตาน้อยกว่า Chevrolet
Lumina (ซึ่งก็คือ Holden Cmmordors / Calais รุ่นปี 2004) ก็แล้วกัน แถมนอกจากจะหลอกตาแล้ว
ผมยังมองไม่เห็น รถกระบะ Vigo ที่แล่นมาทางฝั่งขวา ขณะค่อยๆ เปลี่ยนเลน จนเกือบจะเบนหัวรถ
ออกไปชนกะบ Vigo คันที่ว่ามาแล้ว ด้วยซ้ำ ดังนั้น ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเปลี่ยนเลน
มากขึ้นจากปกติ เมื่อขับรถคันนี้ นะครับ
และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ รถคันละตั้ง 3.7 ล้าน ให้ข้าวของมาครบถ้วนสมบูรณ์ แต่พลาดอย่างเดียว
ไม่ได้ใส่กระจกมองข้าง แบบพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า มาให้!!! โห! นี่เราเพิ่งตำหนิ Lancer EX ไปหมาดๆ
แล้วเชียวนะ ไม่นึกเลยว่าจะมีรถที่ราคาแพงขนาดนี้ แต่ไม่ใส่กระจกมองข้างพับไฟฟ้ามาให้อีก
ส่วนทัศนวิสัย จากเสาหลังคาคู่หน้า ฝั่งซ้ายมือ แม้เสาหลังคา อาจมีการบดบังบ้าง
ในบางลักษณะ ณ จุดกลับรถ บางแห่ง แต่ภาพรวม ยังถือว่าพอรับได้ ส่วนกระจก
มองข้าง กลับไม่หลอกตา เท่ากับฝั่งขวามือแต่อย่างใด ให้มุมมองระยะใกล้ – ไกล
เหมือนเช่นกระจกมองข้างในรถยนต์ทั่วไปตามปกติ
ขณะเดียวกัน ทัศนวิสัยด้านหลัง แม้จะมีกระจกหน้าต่างขนาดใหญ่ มาช่วยลดปัญหา การบดบัง
จักรยานยนต์ ที่แล่นตามมาจากฝั่งซ้าย ไปได้เล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่า เสาหลังคา คู่หลังสุด D-Pillar
มีขนาดค่อนข้างหนา ผู้ขับขี่ ควรใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แม้จะถือว่า โปร่งสบายตา
และมองเห็นง่ายกว่า ทั้ง Mercedes-Benz ML ใหม่,BMW X5 ใหม่ และ Lexus RX ใหม่ ก็ตาม
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
จริงอยู่ว่า CX-9 ถูกสร้างขึ้นบนงานวิศวกรรมพื้นฐานร่วมกับ CX-7 และโดยหลักการแล้ว
ก็ควรจะใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้เยอะแยะอย่าง แต่สำหรับเครื่องยนต์แล้ว Mazda มองต่างออกไป
เพราะ ในเมื่อ CX-7 เป็นรถยนต์ แบบ 5 ที่นั่ง การฉุดลาก ยังอยู่ในพิสัย ที่เครื่องยนต์ MZR
2.3 ลิตร DISI Turbo รับมือไหว
ทว่า CX-9 เป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง แถมยังออกแบบมาเอาใจตลาดอเมริกาเหนือ ที่ชอบเครื่องยนต์
ใหญ่โตๆ เอาไว้ขับทางไกล ข้ามรัฐ เป็นหลัก ดังนั้น เครื่องยนต์ จึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่
มีพละกำลังเพียงพอจะฉุดลากตัวรถ ผู้โดยสาร และสัมภาระ เดินทางไปด้วยกันอย่างสบายๆ
โดยต้องมีอัตราเร่ง เหลือเฟือ พอประมาณ
แต่ถ้าจะต้องทำเครื่องยนต์ แยกรุ่นย่อย ออกมา เป็นพิกัดที่ต่ำกว่านี้อีกสัก 1 รุ่น ก็ดูจะไม่คุ้มต่อการ
ลงทุน แต่อย่างใด ดังนั้น CX-9 ทุกรุ่นที่ขายอยู่ทั่วโลก จึงมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว
ขุมพลังใต้ฝากระโปรงหน้าของ CX-9 เป็นเครื่องยนต์ ตระกูล MZI บล็อก V6 ทำมุม 60 องศา
DOHC 24 วาล์ว 3,726 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.5 x 86.7 มิลลิเมตร (เป็นเครื่องยนต์แบบ
ช่วงชักสั้น) กำลังอัดสูง 10.3 : 1 เสื้อสูบ และฝาสูบ ทำจากอะลูมีเนียมหล่อขึ้นรูป ขับเคลื่อนด้วย
โซ่ ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ด้วยหัวฉีด อีเล็กโทรนิคส์ ควบคุมด้วยคันเร่งไฟฟ้า และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว S-VT (แปรผันที่ หัวแคมชาฟต์)
มีการใช้ระบบวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ในการปรับแต่งเสื้อสูบ ออกแบบรูปทรงของช่องไอดี
และไอเสีย รวมถึงออกแบบระบบท่อไอเสียประสิทธิภาพสูงพร้อมอุปกรณ์เก็บเสียงสามตัว
การออกแบบที่ช่วยลดแรงดัน Back Pressire ได้ดีขึ้น ทำให้สามารถเรียกกำลังจากเครื่องยนต์
ขึ้นสูงถึงระดับ 6,500 รอบต่อนาที
กำลังสูงสุด 204 กิโลวัตต์ หรือ 273 แรงม้า (PS) ที่ 6,250 รอบ/นาที แรงบิดสูง สุด 367 นิวตันเมตร
( 37.39 กก.-ม.) ที่ 4,250 รอบ/นาที โดยแรงบิดกว่า 90% มาถึงตั้งแต่ช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ ในระดับ
2,800 จนถึง 5800 รอบ/นาที
ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะ ควบคุมด้วยสมองกล และมีโหมด บวก/ลบ ให้ผู้ขับขี่
เลือกเปลี่ยน เกียร์ได้เอง Manual Mode Activematic ซึ่งมีอัตราทดเกียร์ ดังนี้
เกียร์ 1 4.148
เกียร์ 2 2.370
เกียร์ 3 1.555
เกียร์ 4 1.154
เกียร์ 5 0.859
เกียร์ 6 0.685
เกียร์ถอยหลัง 3.393
อัตราทดเฟืองท้าย 3.464
ถ่ายทอดกำลังทั้งหมด สู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตโนมัติ Active Torgue Split All-Wheel Drive ซึ่งเป็น
ระบบเดียวกันกับที่ติดตั้งใน Mazda CX-7 โดยถูกออกแบบมาให้ ตอบสนองการปรับเปลี่ยนจังหวะ
ความเร็วได้ดีขึ้น ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ ตามจุดต่างๆของตัวรถ เพื่อตรวจจับการลื่นไถลของล้อ วงเลี้ยว
อัตราการโคลง อัตราเร่ง รวมถึงแรงบิดที่เหลืออยู่
ในการขับเคลื่อนปกติ เครื่องยนต์ส่งแรงไปยังล้อคู่หน้าทั้งหมดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในการเร่งความเร็ว
ให้สูงขึ้น หรือล้อหน้าข้างใดข้างหนึ่งอยู่ในอาการลื่นไถล แรงบิดจะถูกควบคุมเอาไว้ก่อนจะถ่ายลงสู่
เพลาขับเคลื่อนของล้อคู่หลัง
นอกจากนี้ ชุดเกียร์และเฟืองท้ายของ CX-9 ยังติดอุปกรณ์เสริมแรงช่วยในการออกตัว สำหรับเพลาส่งกำลัง
ไปยังเฟืองท้ายด้วยการออกคำสั่งผ่านโมดุลที่ควบคุมการทำงานของเพลา พร้อมเสริมแรงบิดด้วย multi-plate
coupling ควบคุมด้วยไฟฟ้าถ่ายทอดแรงจากศูนย์ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงส่งที่มีอยู่ลงสู่ล้อคู่หลัง
—————————————-
เราทำการจับเวลากันในช่วงค่ำคืนเหมือนเดิม มีผม ในฐานะคนขับ (น้ำหนักตัว 95 กิโลกรัม)
และน้องล้วย BnN แห่ง The Coup Team (น้ำหนัก 50 กิโลกรัม) เป็นคนจับเวลาและจดบันทึก
รวม 2 คน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับ SUV พิกัดเดียวกันคันอื่นๆ
ในตลาด เมืองไทย มีดังต่อไปนี้
พอจับเวลาเสร็จ เรามานั่งเทียบตัวเลข สิ่งที่เราเห็น คือ เรื่องเหลือเชื่อ!
ก็ใครจะไปเชื่อละครับว่า Mazda บริษัทรถยนต์ที่ทำเครื่องยนต์เบนซิน เชื่อมกับเกียร์อัตโนมัติ
ได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ตลอดร้อยวันพันปีที่ผ่านมา กลับจะมาสร้างความอัศจรรย์ อย่างน่าประหลาด
จากเครื่องยนต์ V6 3.7 ลิตร บล็อกนี้
เพราะถ้าดูตัวเลขให้ดี เอาละ มันอาจจะด้อยกว่า หมายเลข 1 ด้านความแรงของกลุ่ม SUV
ขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่ อย่าง Lexus RX350 รุ่นล่าสุด แลt Nissan Murano รุ่นแรก ซึ่ง
ตกรุ่นไปแล้ว
แต่ อัตราเร่งที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
CX-9 นอกจากจะทำตัวเลขได้เท่าๆกันกับ BMW X5 xDrive 30d แล้ว ยังทำตัวเลขได้ดี
เกินหน้าเกินตา Mercedes-Benz ML280 CDI อีกด้วย จัดว่า อัตราเร่งของ CX-9 นั้น
อยู่ในกลุ่ม ลำดับต้นๆ ของผู้นำในตลาด SUV ขนาดกลาง และใหญ่ ได้เลยทีเดียว
แต่ในทางกลับกัน นั่นเท่ากับว่า BMW ทำเครื่องยนต์ออกมา ได้ประสิทธิภาพดีกว่า Mazda
ซึ่งเรื่องนี้ ก็แน่อยู่แล้ว และยากจะปฏิเสธ เพราะ Mazda ต้องสร้างเครื่องยนต์ให้ใหญ่ถึง
3.7 ลิตร เพื่อจะได้มาซึ่งอัตราเร่ง เท่านกับ เครื่องยนต์ ดีเซล 3.0 ลิตร คอมมอนเรล ของ BMW
อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองขับจริง แรงดึงกระชากขณะออกตัวนั้น สูงกว่าที่เราคาดคิด หลังติดเบาะ
กันเลยทีเดียว CX-9 พาเราพุ่งไปข้างหน้า อย่างว่องไว ราวกับ โดนลงแซ่ และหวาย กลางหลัง
มาหมาดๆ การไต่ความเร็ว เป็นไปอย่างต่อเนื่องแม้ว่า แรงบิด จะไหลออกมาจนหมด ในช่วง
5,000 รอบ/นาที ขึ้นไปแล้วก็ตาม
การเร่งแซง หากเกิดขึ้นในช่วงความเร็ว ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ละก็ หายห่วง แค่
เหยียบคันเร่งจมมิด ให้เกียร์มันสั่ง Kick Down เอา ที่เหลือ ก็ถือพวงมาลัยให้มั่นเอาไว้
เป็นพอ คุมรถไปให้ตรงทาง แค่นั้น!
แต่ถ้าอยากเร่งแซง ทั้งที่คุณก็ใช้ความเร็วเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่แล้ว คงจะต้อง
ผลักคันเกียร์ บวก/ลบ ช่วยเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์เล่นเอง อีกแรง จะดีกว่า แต่ภาพรวมต้องถือว่า
เครื่องยนต์ เบนซิน บล็อกใหญ่ ของ CX-9 นั้น ให้ประสิทธิภาพที่ ดีกว่าที่คาดเอาไว้นิดหน่อย
คันเร่งไฟฟ้า ขอบอกเลยว่า ตอบสนองไวมาก น่าชื่นชม ในช่วงออกตัว แตะนิดเดียว รถก็พุ่งทันที
ไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน เหมือนคันเร่งไฟฟ้าของ Toyota เลย เพียงแต่ว่า หากคัณขับขี่แบบเรื่อยๆ
มาเรียงๆ แล้วเจอรถกระบะบ้าพลัง ขับมาจี้บั้นท้าย วางมาดเกรียนๆ ใส่ แบบไร้การศึกษา หากคุณ
ต้องการจะเหยียบคันเร่ง เพื่อพารถ พุ่งทะยานทิ้งห่าง หนีการติดตาม ก็ทำได้ทันที พละกำลังไหลมา
เทมา หายห่วง แต่ ต้องเข้าใจว่า คันเร่งอาจจะตอบสนอง Lack ไปประมาณ 0.5 วินาที แม้จะเร็วกว่า
รถคันอื่นๆ ทีใช้คันเร่งไฟฟ้าอยู่ก็ตาม ทว่าแรงบิดสูงสุด จะมีให้คุณได้ใช้ถึงเพียงแค่ ไม่เกิน 5,800
รอบ/นาที เท่านั้น เพราะเมื่อเลยจากจุดดังกล่าว จนถึงรอบเครื่องยนต์ ตัดที่ระดับ 6,100 – 6,200
รอบ/นาที เรี่ยวแรงก็ถูกเค้นออกมาใช้จนหมดแล้ว
พวงมาลัยเป็นแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์แบบ ไฮโดรลิก ช่วยผ่อนแรง
แถมยังแปรผันความหนืด หรือน้ำหนัก ได้ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์ การตอบสนอง
ในช่วงความเร็วต่ำนั้น ทำได้ดี น้ำหนักขนาดพอเหมาะ ไม่เบาเกินไป จนชวนโหวงเหวง
หรือหนักเกินไป จนต้องใช้นักเพาะกายมาช่วยหมุนพวงมาลัยให้ตอนถอยเข้าจอด
ขณะขับขี่ในเมือง น้ำหนักพวงมาลัยถือว่ากำลังดี ออกแนวเบา มีระยะฟรี พอประมาณ
ไม่ยอะ และไม่น้อยจนเกินไป ต้องกหารเลี้ยวแค่ไหน รถก็เลี้ยวให้ทันทีตามนั้น โดย
ไม่มีอิดเอื้อน ตามสั่ง แต่ไวกำลังดี ไม่ไวมากแบบรถสปอร์ต หรือ เชื่องช้าเกินเหตุ แบบ
Tata Xenon เอาเข้าจริงคือ น้ำหนัก ในช่วงความเร็วต่ำ ชวนให้นึกถึง พวงมาลัยของ
Nissan Teana รุ่นก่อน ขึ้นมานิดหน่อย
แต่ในช่วงความเร็วสูงนั้น แม้ว่า พวงมาลัยจะนิ่ง เที่ยงตรง ปล่อยมือได้ในช่วงความเร็วสูงๆ
แต่น้ำหนักก็ยังเบาไปนิด แม้จะหนืดกว่า Nissan Teana J31 รุ่นที่แล้ว แต่ก็ไม่มากมายนัก
ถ้าได้ความหนืดของพวงมาลัย เพิ่มขึ้นอีกนิดนึง ก็ถือว่า ลงตัว สมบูรณ์ โดยไม่ต้องไปแก้ไข
อะไรกับระบบพวงมาลัยอีกแล้ว แค่ประเด็นเดียว เท่านั้นจริงๆ
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ มาพร้อม
เหล็กกันโคลงหน้า เส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร ส่วนเหล็กกันโคลงหลัง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง
18 มิลลิเมตร ปรับแต่งมาให้มีความกระด้างในความเร็วต่ำ โดยเฉพาะการขับขี่ ผ่านเนินลูกระนาด
ในหมู่บ้านต่างๆ บางจังหวะ ถ้าไม่ชะลอรถ เพราะลืมตัวไปว่า กำลังขับ SUV อยู่ละก็ อาจจะพบ
แรงสะเทือนจากลูกระนาด ที่ส่งผ่านมาจากช่วงล่าง จนท้องไส้ แทบทะลักได้
แต่ เมื่อคุณ อยู่บนทางด่วน ช่วงล่าง กลับจะตอบสนองอย่างนุ่มนวลกำลังดีที่ความเร็วสูง ถ้าหาก
อยากจิกเข้าโค้งลึกๆ ก็ทำได้เลย โดยไม่หวาดเสียวมากมายนัก ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการติดตั้ง
ระบบควบคุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ เพื่อช่วยเหลือผู้ขับขี่ ทั้ง ระบบควมคุมการทรงตัวเมื่อเกิด
การโคลง (Roll Stability Control) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (Dynamic
Stability Control) และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ลดโอกาสไถลลื่น (Traction Control System)
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก มีรูระบายความร้อน ครบทั้ง 4 ล้อ! จานเบรกหน้า มีขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง 320 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกหลัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 325 มิลลิเมตร
มาพร้อมกับตัวช่วยมาตรฐาน ทั้ง ระบบป้องกันล้อล็อก 4W-ABS (Anti Lock Braking System)
4 เซ็นเซอร์ ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) และระบบ
เพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist
อันที่จริง การตอบสนองของเบรกนั้น นุ่มนวล และควบคุมระยะเบรก ได้ค่อนข้างดี ในช่วงความเร็ว
ต่ำ ถึงความเร็วระดับเดินทาง เพียงแต่ว่าในรถคันที่ทดลองขับนั้น สงสัยจะผ่านศึกมาโชกโชน ทำให้
ในช่วงการ ชะลอรถ ช่วงความเร็วต่ำ คลานตามกันไป ในสภาพการจราจร ยังคงถือว่า ทำได้ดี
แต่ ในช่วงที่จะต้องชะลอความเร็ว อย่างฉับพลัน จาก 100 – 0 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งต้องเหยียบเบรก
ลงไปลึกกว่าปกติ ได้เกิดอาการ เบรกสะท้าน ราวกับว่าจานเบรก มีพื้นผิวสัมผัสไม่เท่ากัน และจะ
เป็นเฉพาะเมื่อตอนเหยียบเบรก ลึกประมาณ ครึ่งหนึ่งของระยะแป้นเบรกทั้งหมดเท่านั้น
สิ่งที่ผู้ขับขี่ รับรู้จากเท้าขวาที่เหยียบแป้นเบรก ก็คือ แป้นเบรก จะมีแรงต้านไม่เท่ากัน ในแต่ละรอบ
ที่จานเบรกกับล้อ หมุนไป และอาการจะชัดเจนมาก เมื่อรถใกล้จะหยุดสนิท ซึ่งถือว่า เป็นอาการ
จานเบรกฝั่งขวา คด เพียงแต่ ตาแพน Commander CHENG ของเรา สันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็น
จานเบรกหลังฝั่งขวา ตรงนี้ละ ที่เรียกได้ว่า เป็นปัญหาเฉพาะรถ Demo คันนี้
ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยนั้น มีมาให้ สมกับระดับราคา คือมีทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้าง
แถมด้วย ม่านลมนิรภัย ติดตั้งซ่อนไว้ในราวหลังคาด้านบน รวม 6 ใบ เข็มขัดนิรภัย สำหรับ
ผู้โดยสารในรถ ทั้ง 7 ที่นั่ง เป็นแบบ ELR 3 จุด เฉพาะเบาะนั่งคู่หน้า จะเป็นแบบดึงรั้งกลับ
และผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Load Limiter)
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
สำหรับ CX-9 แล้ว เราต้องทำการทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันถึง 2 ครั้ง เนื่องจากว่า
ในวันศุกร์ ที่เรารับรถมานั้น ต่อให้พยายาม ทำเวลา เติมน้ำมันให้เสร็จ แล้วขึ้นทางด่วน ก่อน
บ่าย 3 โมง แล้ว ปริมาณรถ ที่ติดขัดชะลอตัว ตรงหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางด่วน ประชาชื่น ที่
เยอะแยะมากมาย ปาเข้าไปตั้ง 5 กิโลเมตร นั้น ทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ทำได้
ย้ำแน่ลงไปกว่าความเป็นจริง เหลือ 7.33 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่ง ไม่น่าจะใกล้เคียงกับความจริงที่
ควรเป็น เท่าใดนัก
หากเป็นคนอื่น เขาคงไม่สงสัยอะไรเพิ่มเติม แต่ บังเอิญว่า ผมสงสัย และอยากรู้ว่า ถ้าขับ
แบบประหยัดๆ เรื่อยๆ เปิด Cruise Control วิ่งไปเรื่อยๆ ตามมาตรฐานเดิมของเรา เปิดแอร์
นั่ง 2 คน ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร / ชั่วโมง CX-9 จะทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ได้ที่
ระดับไหนกันแน่?
เลยตัดสินใจ ทดลองซ้ำอีกครั้ง ในวันเสาร์ ซึ่งมีการจราจรโล่งกว่ากันเยอะมากกกกกกกก
โดยขับรถไปเติมน้ำมัน เบนซิน Techron 95 ที่ปั้ม Caltex ถนนพหลโยธิน ขาเข้า เยื้องๆ
ศูนย์ เบนซ์ ราชครู เช่นเคยครับ รถประเภทใหญ่โตขนาดนี้ ลูกค้าที่ซื้อรถประเภทนี้ไป
ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คือเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญในระดับรองๆลงมา
ดังนั้น เราจึงไม่ทำการเขย่ารถ เพื่อกรอกอัดน้ำมันจนเต็มแน่นถังไปให้ เหมือนอย่าง
ที่เคยทำกับรถยนต์ในพิกัดเล็กกว่านี้ และรถกระบะ ทั้งหลาย
เสร็จแล้ว Set Trip meter ที่ 0 กิโลเมตร ออกจากปั้ม Caltex มาได้ ก็ ลัดเลาะมาเรื่อยๆ
ขับขึ้นทางด่วนที่ด้าน พระราม 6 มุ่งหน้าไปยัง ปลายสุดสายทางด่วน อุดรรัถยา หรือ
เส้นเชียงราก ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับ มาขึ้นทางด่วน เช่นเดิม
มุ่งหน้ากลับมายัง ทางลงอนุเสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน และ
เลี้ยวกลับมายั่งปั้ม Caltex แห่งเดิม เพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่หัวจ่ายเดิม
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดิม ที่เราทำมาตลอด
ต่อจากนี้ คือ สิ่งที่ CX-9 ทำได้
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 92.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 8.74 ลิตร นั่นเท่ากับว่า….
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 10.52 กิโลเมตร/ลิตร ถือเป็นตัวเลขที่จัดอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้
และเท่ากับว่า CX-9 นั้น ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ ประหยัดกว่า Nissan Murano V5 3.5 ลิตร
CVT รุ่นปี 2005 – 2008 และ Subaru B9 Tribeca แถมด้วย Lexus RX350 ใหม่ล่าสุด กันเลยทีเดียว
และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันคันอื่นๆ จะพบว่า หากเราเปรียบเทียบ
เฉพาะรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ด้วยกันอย่างเดียว ยังไม่นับรวบ รถยนต์ Hybrid
งานนี้ CX-9 ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ออกมาได้ ดีกว่าคู่แข่ง ที่ใช้ขุมลังเบนซิน
ล้วนๆ ทุกคัน แต่แน่นอนละว่า เจอ RX450h เข้าไป ก็ ต้องทำใจ รายนั้น เขาประหยัดขึ้น
ได้จริง แม้ว่าจะเป็นแค่ 3 กิโลเมตร/ลิตรก็ตามเถอะ
ถ้าถามว่าน้ำมัน 1 ถังจะแล่นไปได้กี่กิโลเมตร จากเข็มน้ำมัน ในวันส่งคืนรถ ตกลงไป
อยู่แถวๆ 1 ขีดใหญ่ สุดท้าย (เหลืออีก 2 ขีด จะถึง ตำแหน่ง E ระยะทางบนมาตรวัด Trip A
หลังจาก ทำอัตราเร่งไปอีก 2 ครั้งรวด ที่เหลือ ขับในช่วงความเร็ว ไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จะอยู่ที่ 334 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง ถ้าขับแล่นให้เนียนๆ ยังไงก็ตาม น่าจะ
แล่นได้ในระยะทางราวๆ 400 – 420 กิโลเมตร เท่านั้น
ผมพบว่า วิธการที่จะขับ CX-9 ให้ประหยัดที่สุด ไม่ยากเลย นั่นคือ พยายามเว้นระยะห่าง
จากรถคันข้างหน้า พอประมาณ เหยียบคันเร่ง แล้ว ล็อก Cruise Control เอาไว้ ในระดับ
ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียงเท่านี้ คุณก็จะแล่นได้เร็ว และ ใช้น้ำมันอย่างสมเหตุสมผล
อีกทั้ง ความเร็วจากมาตรวัดของ Mazda ในรุ่นหลังๆมานี้ เชื่อถือได้ เพราะ ทั้ง Mazda 2
และ CX-9 เมื่อเราใช้ GPS วัดระยะทาง และความเร็ว เพื่อมาคำนวนกัน จะพบว่า มาตรวัด
ขึ้นไปเท่าไหร่ ความเร็วใน GPS ขึ้นไปเท่านั้น ถือได้ว่า มาตรวัดของ Mazda รุ่นใหม่ๆ
ไม่เพี้ยนแล้ว!!! ไชโย!!!
********** สรุป **********
***** ถ้าจะซื้อ Crossover SUV อย่าได้มองข้ามรถคันนี้่ เพียงเพราะมันเป็น Mazda *****
ทันทีที่ CX-9 คันสีขาว ถอยหลังเข้าช่องจอด บนชั้นลานจอดรถ 9B ของอาคารเลครัชดา เรียบร้อยแล้ว
ผมก็ยังหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ ว่าตกลงแล้ว ผมควรจัดรถคันนี้ อยู่ในกลุ่ม รถยนต์ที่ยืมมาแล้ว
ไม่อยากคืน ดีหรือไม่?
การที่ผมจะบอกกับคุณผู้อ่าน ว่า รถคันใดสักคัน ผมยืมมาแล้ว ไม่อยากคืน นั้น ถ้าเป็นคนอื่นพูด
ก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเมื่อใดที่ผมพูดคำนั้นออกไปกับรถคันใดแล้ว ขอให้รู้เอาไว้ได้เลยว่า
รถคันที่ผมกล่าวถึงแบบนั้นหนะ แม้จะมีข้อดี ข้อด้อย เหมือนรถทั่วไป แต่ มันมีความไม่ธรรมดา
ต่างจากชาวบ้านเขา
แต่ ผมก็ยังสองจิตสองใจ กับ CX-9 อยู่ดี…
ไม่ใช่เพราะรถรุ่นนี้ ไม่ดี ตรงกันข้าม คุณงามความดีของมัน หนะ เกินความคาดหมายไปด้วยซ้ำ
ข้อดี อันเป็นจุดเด่นของ CX-9 มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ทั้งเองรูปลักษณ์ภายนอก ที่สวยลงตัว
ชนิดที่ว่า ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรอีกโดยไม่จำเป็น การออกแบบห้องโดยสาร และการเลือกใช้
วัสดุ ที่ดูดีกว่า Mazda คันอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ตำแหน่งการนั่งขับขี่ และการเข้าออก จากรถ
ได้อย่างสะดวกสบาย การเดินทางบนเบาะหลัง ที่นั่งสบายกว่าใจคิด แม้จะต้องแอบนั่งชันขา
ชันเข่ากันบ้างนิดๆ ก็ตาม จะแถว 2 หรือ 3 ก็นั่งได้ดีพอสมควร แถมเครื่องเสียงจาก BOSE
ก็ยังได้ใจผมไปเต็มๆ
แถมสมรรถนะ ในภาพรวม ก็ต้องถือว่า ดี ในมาตรฐานของ Mazda กันเลยทีเดียว ทั้งการ
บังคับเลี้ยว ด้วยพวงมาลัยที่หนืดกำลังดีในช่วงความเร็วต่ำ และปานกลาง ช่วงล่างที่แม้จะ
ดูเหมือนย้วย แต่ความจริงแล้ว ใส่เข้าโค้งไปเถอะ จะความเร็วเท่าไหร่ก็ตาม CX-9 เอาอยู่
ระบบเบรก แม้ในรถคันทดลอง จะไม่สมบูรณ์นัก แต่ เห็นได้ชัดเลยว่า ถ้าระบบเบรก ทำงาน
เต็มที่ 100 เปอร์เซนต์ การตอบสนอง จะถือว่า ดีกว่า รถหลายคันในกลุ่มเดียวกันเสียอีก
ที่สำคัญ อัตราเร่งแซง ดีเกินคาด พละกำลังมหาศาล พาคุณพุ่งทะยาน เกินกว่าที่เราจะ
คาดคิดว่า Mazda จะให้ได้ เพราะปกติ ถ้าเป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เมื่อใด Mazda รุ่นนั้น
จะอืดลงอย่างชัดเจนทันที ทว่า คราวนี้ CX-9 ก็ได้ลบล้างภาพเดิมๆ ที่ว่า ไปหมดแล้ว
แล้วข้อที่ควรจะนำไปปรับปรุงต่อละ?
ประการแรก กระจกมองข้าง ฝั่งขวา ยิ่งหลอกตา ยิ่งกะระยะลำบาก ถ้าเปลี่ยนได้ เปลี่ยนออกเถอะ
ข้อต่อมา ขอน้ำหนักพวงมาลัยในความเร็วสูง ที่หนืดกว่านี้อีกนิดนึง แค่นั้น (แต่ความนิ่ง หนะ
ดีแล้ว อย่าไปปรับแก้)
แต่สิ่งที่อยากเห็น เป็นประเด็นสำคัญ ที่สุด คืออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แม้ว่า CX-9 จะทำตัวเลข
ออกมาได้ดีที่สุด ในบรรดา Crossover SUV ขนาดกลาง เครื่องยนต์ เบนซิน แล้วก็ตาม แต่ตัวเลข
ดังกล่าว ยังถือว่า ไม่ดีพอที่จะดึงดูดใจผู้บริโภคได้ ยิ่งถ้าวิ่งในเมือง CX-9 น่าจะมีแนวโน้ม
กินน้ำมันมากเอาเรื่องเลยทีเดียว และเข็มน้ำมัน ก็จะลดลงมา เร็วพอกันกับ Mid-size Crossover
SUV คันอื่นๆ ในตลาดนั่นแหละ กระนั้น ก็ยังเบาใจ และสบายกระเป๋นสตางค์ ได้มากกว่า เจ้า
Subaru B9 Tribeca รถหัวหน้าเผ่า จอมเขมือบ คันนั้นก็แล้วกัน
ดูเหมือนว่า ข้อด้อยที่นึกออก มีเพียงเท่านี้
พอมานั่งพิจารณาดูกัน ข้อดีและข้อเสียดังกล่าว มาในราคาที่ถูกกว่า Premium SUV ระดับคู่แข่ง
คือ เพียง 3,690,000 บาท งานนี้ ถือว่า ถูกกว่ากันเป็นล้านบาท เลยทีเดียว!!
แม้จะรู้ดีว่า หลายคนคันปาก ต้องถามว่า เงินพอกัน ทำไมอั้ว ถึงต้องมาซื้อ Mazda เงินเท่าๆกันนี้
อั้วเอาไปถอย Mercedes-Benz E-Class หรือ BMW 5- Series F1 ใหม่ ตัวล่างๆ ไม่ดีกว่าเรอะ?
ถูก ครับ แต่ถามหน่อย 2 คันที่กล่าวมาหนะ นั่งได้กี่คน? เครื่องแรงเท่านี้หรือเปล่า? ในราคาเท่ากันนะ
อีกอย่าง 2 คันนั้น เขาเป็นรถเก๋ง แต่ CX-9 เป็น SV คันใหญ่โตกว่า จะเอามาเปรียบเทียบกัน มันก็
คนละกลุ่มประเภทรถกันเลย ถูกไหม? ไม่ต้องอ้างคนไทยส่วนใหญ่ จะยึดมั่นถือมั่นอะไรมากมาย
ก่ายกองนั่นให้ผมฟังหรอกครับ เพราะผมฟังมาจนเบื่อแล้ว กับความจริงที่ยากจะฝืน
สิ่งที่ Mazda อาจจะด้อยกว่าในสายตาของหลายๆคน ก็คือ แบรนด์ Mazda นั้น ได้รับความไว้วางใจ
อย่างดี ในตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก จนถึงขนาดกลาง แต่ในตลาดรถยนต์ระดับหรู Mazda เคยพยายาม
มาแล้ว แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก
ถ้าตัดในเรื่องแบรนด์ ออกไป และมองกันที่คุณงามความดีของรถ ล้วนๆ CX-9 เอง จะกลายเป็น
รถรุ่นหนึ่ง ซึ่งผมอยากจะให้คุณผู้อ่าน ที่คิจะซื้อ Crossover SUV ระดับราคาเกิน 3 ล้านบาท
เก็บรถคันนี้เอาไว้ในตัวเลือกของคุณด้วย เพราะถ้าในเมื่อ การขับขี่ มันพอกันกับ Lexus RX
ใหม่ แถมยังดีกว่าในบางด้านอีกด้วยเนี่ย เหตุใดกันละ ที่คุณจะไม่รับมันเอาไว้พิจารณาด้วย?
งั้น ถ้าร่ายมาทั้งหมดข้างบนนี้ CX-9 เอง ก็มีคุณงามความดีบางด้าน เหนือกว่า Nissan Murano
ด้วยซ้ำ อีกทั้งผมเอง ก็ยังยอมรับได้กับ แบรนด์ Mazda แล้วเหตุไฉน เราจึงจะไม่อยากคืนรถคันนี้
กันละ?
เอาวะ ยอมจัด CX-9 เข้าไปอยู่ในกลุ่ม ไม่อยากคืน กับเขาด้วยก็แล้วกัน…เนาะ!
ขอขอบคุณ
คุณสุรีย์ทิพย์ ละอองทอง
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
และ คุณอุทัย เรืองศักดิ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
——————————————————–
บทความรีวิว รถยนต์ ประเภทเดียวกันที่ควรอ่าน
รวมบทความรีวิวรถยนต์ กลุ่ม Mid-Size SUV
รวมบทความรีวิวรถยนต์ กลุ่ม Luxury SUV
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด คอมพิวเตอร์กราฟฟิค เป็นของ
บริษัท Mazda Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
1 กันยายน 2010
Copyright (c) 2010 Text and Pictures
All of Computer Graphic pictures & illustration
is use by permission of Mazda Motor Corporation
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 1st,2010