ร้านหนังสือ Kinokuniya ย่าน Shinsaibashi ใจกลางกรุง Osaka ประเทศญี่ปุ่น
ตุลาคม 2010
นิตยสาร Motor Fan ฉบับ New Model ของสำนักพิมพ์ Sun-a Chobo ซึ่งเป็นนิตยสาร ที่สรุปข้อมูลรถยนต์
รุ่นใหม่ซึ่งเปิดตัวในญี่ปุ่น ช่วงเวลานั้นๆ แยกรุ่นละเล่ม แถมมีแค็ตตาล็อก ความเป็นมาด้านการออกแบบ และ
รายละเอียดทางเทคนิค ครบถ้วน มาตั้งแต่ปี 1982 ได้ออกฉบับ 445 รวมข้อมูล Honda Fit & Fit HYBRID
จังหวะเดียวกับที่ผมเดินทางไปทดลองขับ Toyota Prius ในตอนนั้น ผมเอะใจ ว่า สักวันหนึ่ง อาจจะต้องใช้
ข้อมูลจากนิตยสารเล่มนี้ ในวันข้างหน้า เลยตัดสินใจจ่ายเงิน 480 เยน คว้าหมับติดมือกลับมายังเมืองไทย
ในค่ำคืนนั้น
ผมไม่นึกว่าในที่สุด สิ่งที่ผมคาดการณ์ไว้จะเกิดขึ้นจริง….
แถมยังเร็วกว่าที่คาดไว้อีกต่างหากแหนะ!
ข่าวลือเรื่องการเตรียมนำ Honda Fit HYBIRD มาประกอบขายในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Jazz HYBRID
มีมานานมากแล้ว หลายฝ่าย ต่างก็คาดเดาไปตามข้อมูลที่มี ไปตามประสบการณ์ของตน ถึงความเป็นไปได้
ในการเข้ามา ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหน?
บ้างก็เชื่อว่า น่าจะมาพร้อมกับ เจเนอเรชันต่อไปของ Jazz ที่น่าจะเปิดตัวทำตลาดในบ้านเราช่วงปี 2014
บ้างก็บอกว่า จะมีการสั่งนำเข้ารุ่นปัจจุบัน จากโรงงานในญี่ปุ่น มาขายก่อนในปี 2012 – 2013 บ้างก็มอง
ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ Honda คงจะกั๊กของดีๆ ไว้ให้ลกค้าชาวญี่ปุ่น บ้านเกิดของตนเองมากกว่า
ย่างเข้าช่วงต้นปี 2012 หลังจาก Honda อยุ่ในระหว่าง เริ่มฟื้นตัวจากสถานภาพผู้ประสบเหตุรายใหญ่
เบ้อเร่อเบ้อร่า ในมหาอุทกภัยพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2011 เสียงลือเสียง
เล่าอ้างเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงความเป็นไปได้ ของการนำ Jazz HYBID เข้ามาประกอบในเมืองไทย กัน
ตั้งแต่รุ่นปัจจุบันนี้เลย
ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า Honda จนำรถยนต์รุ่นนี้ เข้ามาประกอบในเมืองไทยแน่ๆ เพียงแต่ ผมไม่คิดว่า
พวกเขา จะกล้าตัดสินใจ และเดินหน้าโครงการ กันเร็วได้มากถึงขนาดนี้!
ยิ่งพอ วันเปิดตัว Honda ประกาศราคาออกมา ว่าอยู่ที่ 768,000 บาท (สีขาว เพิ่ม 10,000 บาท) ยิ่งทำให้
คนดูอย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน แม้แต่บริษัทรถยนต์ร่วมวงการ จะเป็นคู่แข่งกันหรือไม่ก็ตาม
ไปจนถึงผู้บริโภคทั่วไป ต่าง พากัน “ช็อกโดยถ้วนหน้า!”
มันเป็นราคาที่ชวนให้ย้อนกลับไปนึกถึงบรรยากาศ เมื่อครั้งที่ Honda เปิดตัว Civic EG 3 Door ประกอบ
ในเมืองไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 1993 ไม่มีผิด! ครั้งนั้น ทั้งประเทศต่างก็ช็อกไปรอบหนึ่งแล้ว เพราะมัน
ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการรถยนต์เมืองไทย ว่า Honda จะกล้าตั้งราคารถยนต์ของตน ได้ถูก
ขนาดนั้น
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครคิดมาก่อนนี่ครับว่า Honda จะกล้า เปิดราคามาถูกอย่างแรงขนาดนี้! ถือได้ว่า
แพงขึ้นกว่า Jazz รุ่นนำเข้าจากญี่ปุ่น แค่เพียง 20,000 บาท แถมงานนี้ Honda ยังใช้วิธี ยกชิ้นส่วนจาก
ญี่ปุ่น ในจำนวนมาก เกือบจะทั้งคัน ส่งมาประกอบถึงโรงงาน โรจนะ อยุธยา ในแบบ SUPER CKD
จนทำราคาได้ขนาดนี้ กลายเป็นที่มาของการเลือกใช้สโลแกน ในช่วงส่งเสริมการขาย ว่า
“HYBRID สำหรับทุกๆคน!”
ประโยคนี้ ตี Toyota ชัดๆ! แรงมากๆ เพราะที่ผ่านมา หากพูดถึงรถยนต์ HYBRID ทุกคนจะมองว่ามัน
มีราคาแพง และเป็นของเล่นสำหรับผู้มีอันจะกิน พอ Honda นำระบบ HYBRID มาติดตั้งในรถยนต์
รุ่นมาตรฐาน ทำให้ Honda ได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตที่นำเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนแพงๆ มาขายในราคา
ที่ผู้คนทั่วไป (ซึ่งเก็บตังค์มาประมาณหนึ่ง มีฐานะปานกลาง) สามารถเอื้อมถึง และสัมผัสความประหยัด
อันเป็นข้อดีที่ระบบ HYBRID มีให้ ได้ง่ายดายขึ้น
แต่เบื้องหลังประโยคนี้ ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตน อิงและค่ำยันไว้ซึ่งกันและกันอยู่
ในสมรภูมิรถยนต์ Hybrid ขนาดเล็กนั้น ความแตกต่างระหว่าง Honda และ Toyota หลักๆแล้วอยู่ที่การ
วางแผนด้านการพัฒนารถยนต์ ซึ่งทัง 2 ฝ่ายมีวิธีคิดที่ต่างกันอยู่
ขณะที่นโยบาย ด้านการพัฒนารถยนต์ Hybrid ของ Toyota นั้น เลือกจะพัฒนา Prius ขึ้นมาใหม่ “ทั้งคัน”
มาตั้งแต่แรก ในฐานะรถยนต์รุ่นแรก สำหรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 รวมทั้งเลือกใช้เทคโนโลยี Hybrid
2 แบบ ทีมีอยู่ มาผสมผสานกัน รวมทั้งต้องออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้งบลงทุนสูงกว่ามาก
อีกทั้ง Toyota เอง ในฐานะคนทำธุรกิจ ก็ยังอยากจะดูแนวโน้ม ทิศทางในการยอมรับของผู้บริโภค จากการ
เปิดตัวรถยนต์ Hybrid ที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่าง Camry Hybrid เสียก่อน จึงจะค่อยๆเริ่ม ส่งรถยนต์ Hybrid
ที่มีขนาดเล็กลง มา
แต่ Honda นั้น หลังจากบาดเจ็บ จาก Insight ทั้ง 2 รุ่น รวมทั้ง Accord Hybrid ในตลาดโลก และทวีป
อเมริกาเหนือ ดูเหมือน Honda จะเริ่มคิดและเชื่อว่า ระบบ Pararell Hybrid ที่ตนเลือกใช้นั้น มันมีข้อจำกัด
ของมันอยู่จริง แต่มันก็ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นจากรถยนต์รุ่นปกติอยู่ ได้ไม่น้อยหน้าระบบ Hybrid ของ
Toyota เหมือนกัน
ดังนั้น Honda จึงทำในสิ่งที่ Toyota พยายามจะทำแต่ยังไม่สำเร็จ นั่นคือ การขยายทางเลือกของรุ่นรถยนต์
ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน Hybrid ให้มีจำนวนมากขึ้น และเน้นหนักไปที่รถยนต์ขนาดเล็กกว่า Prius การทำเช่นนี้
จะช่วยให้ต้นทุนวิจัยและพัฒนาลดลงได้ แถมยังสร้างรถยนต์ Hybrid ได้หลายรุ่น บนพื้นฐาน โครงสร้าง
งานวิศวกรรมร่วมกันได้ ด้วยต้นทุนที่ถูกลง
นั่นคือเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ การออกแบบ Jazz เจเนอเรชันที่ 2 รุ่นปัจจุบันนี้ ถูกวางแผนไว้แต่แรกเริ่มแล้วว่า
จะต้องมีรุ่น HYBRID มาตเสริมทัพด้วยในภายหลัง ทำให้ทีมวิศวกร นำโดย Kohei Hitomi ซึ่งรับหน้าที่เป็น
LPL (Large Project Leader) สามารถออกแบบ และพัฒนาตัวรถ Jazz เจเนอเรชันที่ 2 ให้รองรับกับการ
ติดตั้งระบบขับเคลื่อนแบบ HYBRID ได้ตั้งแต่แรก ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลา และต้นทุนการพัฒนาไปได้เยอะ
Honda เผยภาพถ่ายของ Jazz HYBRID เป็นครั้งแรกในโลก ผ่าน Internet เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2010 และ
ส่งไปอวดโฉมเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ บนแท่นหมุนในงาน Paris Auto Salon อีกราวๆ 1 เดือนถัดมา
(วันที่ 30 กันยายน 2010) เพื่อเตรียมเปิดตัวออกสู่ตลาดยุโรป
ส่วนตลาดญี่ปุ่น Honda เปิดตัว เวอร์ชัน HYBRID ของ Fit/Jazz เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2010 ตามติดต่อเนื่องจาก
เวอร์ชันยุโรป พร้อมกันกับบรรดารุ่นปรับโฉม MinorChange ของ Fit/Jazz เจเนอเรชันที่ 2 และมีเสียงตอบรับ
จากผู้บริโภค อย่างดีเกินคาด เพราะยอดขายของ Fit ในญี่ปุ่น ตอนนี้ ครึ่งแรกของปี 2012 ทำตัวเลขไปได้ถึง
133,345 คัน เฉพาะเดือนกรกฎาคมอย่างเดียว ขายได้กว่า 24,153 คัน ข้อเท็จจริงก็คือ กว่า 50 – 60% เป็น
ตัวเลขยอดขายของรุ่น HYBRID เพียงอย่างเดียว!!!
ส่วนในเมืองไทย Honda เปิดตัว Jazz HYBRID ไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2012 ที่ผ่านมา ทิ้งช่วงจากการ
เปิดตัวในญี่ปุ่นราวๆ 1 ปี กับอีก 9 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาปกติ ที่ใช้ในการเตรียมขึ้นสายการผลิตของ
รถยนต์ 1 รุ่นในประเทศไทย (เฉลี่ยตั้งแต่ 12 – 18 เดือน) นอกเหนือจากจะเป็นรถยนต์ Honda ขุมพลังแบบ
HYBRID รุ่นแรกที่ถูกผลิตขึ้นในเมืองไทยแล้ว ยังเป็นรถยนต์ Honda HYBRID รุ่นแรกในประวัติศาสตร์
ที่ Honda ส่งมาขึ้นสายการประกอบ นอกประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย!!
Jazz HYBRID ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรมของ Honda Fit/Jazz เจเนอเรชันที่ 2 บนพื้นตัวถัง
GLOBAL SMALL PLATFORM อันเป็นพื้นฐานให้กับรถยนต์ขนาดกระทัดรัดรุ่นใหม่ๆในโครงการ
ที่ชื่อ SMALL MAX ตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ขนาดตัวถังของ Jazz HYBRID ยังคงไม่ได้แตกต่างไปจาก Jazz รุ่นมาตรฐานกันเลย คงความยาวไว้ที่
3,900 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,550 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,500 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า 1,492 มิลลิเมตร วามกว้างช่วงล้อคู่หลัง 1,475 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นรถถึงพื้นถนน
(Grund Clearance) 150 มิลลิเมตร น้ำหนักรถตัวเปล่า 1,166 กิโลกรัม หนักขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม 100 กิโลกรัม
แต่ห้องโดยสาร ยังคงมีความยาวเท่ากับรถรุ่นเดิม
ความแตกต่างจาก Jazz รุ่นมาตรฐานนั้น หากมองจากภายนอก จะมีเพียงแค่ กระจังหน้า ไฟหน้าแบบ
Multi-Refector และชุดไฟท้าย LED พื้นสีเวงิน กรอบใส รวมทั้ง คิ้วโครเมียม บริเวณมือจับฝาประตู
ห้องเก็บของด้านหลัง ทั้งหมดนี้ คืองานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่น HYBRID เท่านั้น
ล้ออัลลอยสวมติดรถมาให้ เป็นขนาด 15 นิ้ว x 5.5 J พร้อมยาง Michelin ENERGY ขนาด 175/65 R15
ออกแบบขึ้นใหม่ ลายเดียวกับ FIT HYBRID รุ่นท็อป Navi Premium Selection ที่ขายอยู่ในญี่ปุ่นตอนนี้
เวอร์ชันไทย ของ Jazz HYBRID มีให้เลือก 4 สีตัวถัง ได้แก่ ขาวมุก Brilliant White ฟ้า Cerelean สีเงิน
Alabaster และ สีที่เห็นอยู่นี้ คือ สีเขียว Fresh Lime อันเป็นสีเขียวเดียวกันกับที่ใช้ใน Fit HYBRID
เวอร์ชันญี่ปุ่น รวมทั้ง Honda Brio ในบ้านเราอีกด้วย
เสียดายตรงที่ว่า เวอร์ชันไทย ไม่มีหลังคากระจก Panoramic Glass Roof มาให้จากโรงงาน เหมือนอย่าง
เวอร์ชันญี่ปุ่น และยุโรป แต่อย่างว่าครับ เอาเข้ามา คนไทยก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ หลังคากระจกนั้น
มีก็ได้ไม่มีก็ได้ แต่ถ้าเลือกได้ ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม
การเปิด เข้า – ออกจากรถ ยังคงใช้ กุญแจพร้อมรีโมทคอนโทรลในตัว พร้อมระบบ Immobilizer หน้าตา
เหมือนกุญแจแบบเดียวกันที่พบได้ใน รถยนต์ Honda ประกอบในเมืองไทย แทบจะทุกรุ่นในตอนนี้
หมายความว่า รถรุ่นนี้ ยังไม่มีปุ่มสวิชต์ติดเครื่องยนต์ Push Start นั่นเอง ไม่ต้องตกใจไปครับ เพราะ
ต่อให้เป็นรุ่น Top ในญี่ปุ่น ที่ชื่อ Fit HYBRID Navi Premium Selection ถึงจะไม่ต้องใช้กุญแจเสียบ
ลงไปในรูกุญแจเพื่อติดเครื่องยนต์ แต่ก็ยังต้องใช้มือบิด แกนพลาสติก เพื่อติดเครื่องยนต์อยู่ดี ดังนั้น
ชาวไทย อย่าน้อยใจไปครับ สงสัยออพชันนี้ กว่าจะได้พบ คงต้องรอใน Jazz HYBRID รุ่นต่อไปแหงๆ
การเข้าออก ทั้งประตูคู่หน้า และประตูคู่หลัง ยังคงทำได้ดีเหมือนเช่น Jazz รุ่นมาตรฐาน บานประตูกว้าง
พอให้สามารถเข้าไปนั่งได้อย่างง่ายดาย ตำแหน่งเบาะนั่ง แม้จะปรับไว้เตี้ยสุด แต่ก็สูงกว่า ตำแหน่งเตี้ยสุด
ใน City อยู่นิดนึง
แผงประตูทั้งคู่หน้าและคู่หลัง พอจะวางแขนได้ในระดับเหมาะสม ไม่ต่างจาก City ทั้ง 4 แผง จะมีช่องใส่
ขวดน้ำขนาด 7 บาท มาให้ เหมือนกัน ส่วนแผงประตูคู่หน้า จะมีพื้นที่ใส่ของจุกจิก และหนังสือ เพิ่มมา
ให้อีกเล็กน้อย กระจกหน้าต่างคู่หลัง ไม่สามารถเลื่อนลงไปจนสุดขอบบานประตูได้
การตกแต่งภายใน ของเวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีทั้งโทนสีดำ ตัดกับน้ำเงินเข้มๆ หรือโทนสีเบจให้เลือกเพิ่มขึ้นมา
แต่ในเมื่อ ลูกค้าบ้านเรา เริ่มไม่ค่อยนิยมห้องโดยสารสีสว่างๆ เพราะกลัวสกปรกเลอะเทอะง่ายๆ บ้านเรา
เลยมีแต่ภายในสีดำ ตัดสลับสีน้ำเงินเข้ม ให้เลือกเพียงอย่างเดียว
เบาะนั่งคู่หน้า มีพนักพิงหลัง ที่ถือว่าออกแบบได้ดีพอสมควร พยายามจะกระชับสรีระผู้คนให้ได้หลากหลาย
มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เบาะรองนั่ง ยังสั้นไปหน่อย ถ้ายาวกว่านี้ได้อีกนิดก็จะดีกว่านี้ ลายผ้าหุ้มเบาะทั้ง
ด้านหน้าและด้านหลัง เป็นผ้าสีดำ ตัดสลับกับสีน้ำเงินเข้มๆ ลายเดียวกับ Fit HYBRID ในญี่ปุ่น! กระนั้น
ตำแหน่งของพื้นที่เหนือศีรษะ วางแขน และวางขา เหมือนกับ Jazz รุ่นมาตรฐาน ไม่แตกต่างกัน
การเข้า – ออก บานประตคู่หลัง ยังคงทำได้อย่างสะดวกโยธินเช่นเคย เพราะบานประตูเปิดกางออกได้มากถึง
80 องศา (เกือบตั้งฉาก 90 องศาอยู่แล้ว) เพียงแต่ว่า กระจกหน้าต่างยังไม่สามารถเปิดลงได้จนสุดขอบล่าง
ตามเดิม และแผงประตูนั้น ยังมีที่วางแขน ซึ่งวางระดับความสูงไว้ถูกต้อง แต่ส่วนโค้งเว้าบริเวณที่ต้องรองรับ
ข้อศอก ยังออกแบบมาไม่ดีพอ ทำให้ยังไม่ถึงกับวางแขนได้สบายนัก ในการใช้งานจริง
เบาะนั่งคู่หลัง เป็นแบบ Ultra Seat ยกชุดใช้ร่วมกันกับ Jazz รุ่นมาตรฐาน ปรับพนักพิงให้เอนลงไปได้ 1 ระดับ
ตัวพนักพิงหลังนั้น ค่อนข้างจะแบนราบ และต้องยกพนักศีรษะขึ้นใช้งาน เพื่อไม่ให้ขอบด้านล่างของพนักศีรษะ
ทิ่มตำแผ่นหลัง และต้นคอ แต่พื้นที่เหนือศีรษะ ก็ยังโปร่งสบาย ไม่มีปัญหาอะไรอยู่ดี
ส่วนเบาะรองนั่งนั้น มีมุมเงยในระดับที่ บางคนบอกว่า กำลังดี บางคนบอกว่า เงยไป และบางคนบอกว่า ราบไป
แต่ที่แน่ๆ ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า มันสั้นไปหน่อย กระนั้น ก็พอเข้าใจว่า ถ้าออกแบบให้เบาะรองนั่งยาวกว่านี้
คงทำได้ยาก เพราะไม่เช่นนั้น พื้นที่วางขาจะเหลือน้อยลง และการปาดเบาะบริเวณมุมทั้ง 2 ฝั่ง ก็เพื่อให้การ
ก้าวเข้า -ออกจากรถ ทำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
การวางขา อาจจะเมื่อยได้ในระยะยาว เพราะตำแหน่งของถังน้ำมันที่ต้องติดตั้งไว้ใต้เบาะคู่หน้า มีส่วนทำให้
ทีมวิศวกรต้องออกแบบพื้นที่วางขา ให้มีความลาดเอียงขึ้น เมื่อรวมกับตำแหน่งเบาะรองนั่งด้วยแล้ว ทำให้
หลายๆคน บ่นว่า นั่งเบาะหลังของ Jazz แล้ว ไม่สบาย เท่าที่ควร ยิ่งถ้านั่งนานๆ ก็จะเมื่อยบริเวณก้นกบ
จุดเด่นของ Jazz ที่ทำให้หลายคนกล่าวถึง และใช้งานจริง ได้อย่างอเนกประสงค์ ก็คือ การพับเบาะนั่งหลัง
Ultra Seat ลงมา จนพนักพิงหลัง ราบเป็นแนวเดียวกับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง หรือจะยกเบาะรองนั่งขึ้น
แล้วพับขาตั้งเบาะแบบเหล็ก ให้แนบสนิทแน่น จนสามารถวางต้นไม้ หรือข้าวของสูงๆ ได้อย่างสบายๆ ตามเคย
Kohei Hitomi เล่าว่า เบาะนั่ง Ultra Seat นั้น คือผลลัพธ์จากการที่ ทีมออกแบบ ใช้เวลาเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรม
ของผู้บริโภค ณ ลานจอดรถในซูเปอร์มาร์เก็ต ว่าผู้คนทั่วไป จะพยายามแบกข้าวของใส่ท้ายรถกันอย่างไร
ฝาประตูห้องเก็บของ เปิดยกขึ้นและค่ำยันด้วย ช็อกอัพ ไฮโดรลิก 2 ต้น มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝน พร้อม
ช่องฉีดน้ำ ทำความสะอาดกระจกบังลมด้านหลังมาให้ กลอนประตู ใช้กลอนไฟฟ้า เช่นเดียวกับชุดประตู
ทั้ง 4 บาน ขอบล่างของช่องทางเข้าห้องเก็บของ เตี้ยต่ำกว่าระดับเปลือกกันชนหลัง ทำให้สะดวกต่อการ
เคลื่อนย้ายข้าวของ ในรูปแบบต่างๆกัน โดยเฉพาะ จักรยานเสือภูเขา
Jazz HYBRID เวอร์ชันไทย จะมีเซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง 4 จุด ติดตั้งมาให้จากโรงงานอยู่แล้ว ทำงาน
เมื่อคุณเริ่มเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถ เซ็นเซอร์ ทำงานพอใช้ได้ แต่ควรใช้ความระมัดระวัง ขณะถอยหลัง
เพิ่มเติมนอกจากนี้ เปลือกกันชนหลัง ยังมีแผงทับทิมสีแดง 2 ชิ้น ติดตั้งมาให้ เพิ่มการมองเห็นของรถ
คันที่ขับตามมาห่างๆ ในยามค่ำคืนอีกด้วย
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังมีขนาด 341 ลิตร ตามการคำนวนของ Honda โดยใช้วิธีการคำนวนของ VDA
เยอรมัน ถือว่า ยังสามารถบรรทุกสัมภาระหลากหลายรูปแบบได้ โดยไม่เสียพื้นที่ให้กับแบ็ตเตอรีของระบบ
Hybrid โดยไม่จำเป็น เพราะชุดแบ็ตเตอรี IPU จะถูกซ่อนไว้ ใต้พื้นห้องเก็บของด้านหลัง ซึ่งเดิมจะเป็น
อ่างเก็บยางอะไหล่
หมายความว่า Jazz HYBRID จะไม่มียางอะไหล่มาให้จากโรงงาน แต่มีชุดปะยาง พร้อมแม่แรงยกรถ
และเครื่องมือประจำรถ ซ่อนมาให้บริเวณผนังก้องเก็บของฝั่งขวาแทน อย่างที่เห็นในภาพ ส่วนผนัง
ฝั่งซ้าย จะติดตั้ง ไฟส่องสว่างในห้องเก็บของ ดวงเล็กๆมาให้ ซึ่งก็แค่พอจะส่องให้เห็นข้าวของได้
ลางๆ ในความมืด
ใกล้กับขอบประตูห้องเก็บของ จะมีช่องพร้อมฝาปิด สามารถใส่ข้าวของเล็กๆ ที่มีความชื้นอยู่ เช่นใส่ร่ม
คันเล็ก หรือใส่ถุงปลา ปลาหมุก กุ้งสด แต่บอกก่อนว่า ขนาดของมัน แค่พอจะใส่ได้เท่านั้น ไม่ใหญ่มาก
แผงหน้าปัด โดยรวม ก็ยังคงมีงานออกแบบที่เหมือนกันกับ Honda Jazz เจเนอเรชัน 2 คันอื่นๆ นั่นแหละครับ
อาจมีความแตกต่างจากรุ่นมาตรฐานบ้าง ตรงที่ แผงควบคุมกลาง กับฝาปิดช่องเก็บของ บนแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย
จากเดิมที่เคยเป็นสีเงิน หรือสีเทาไปเลยในรุ่น SV ประกอบไทย พอเป็นรุ่น HYBRID จะเปลี่ยนมาใช้สีเงิน
ปนทองนิดๆ ที่เรียกในญี่ปุ่นว่า “แชมเปญ เมทัลลิค”
มองขึ้นไปด้านบน จะพบว่า มีแผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าในตัวมาให้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่ที่ผม
ไม่เข้าใจก็คือ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ไฟอ่านแผนที่ เหนือกระจกมองหลัง น่าจะติดมาให้ เพื่อเพิ่มความสว่าง
ในห้องโดยสารมากกว่านี้ และช่วยในการหาสิ่งของเล็กๆยามค่ำคืน คิดดูก็แปลกดี ในเมื่อ Honda City และ
Honda Jazz SV ประกอบไทย ตัวท็อป ติดมาให้ ทำไม Jazz HYBRID ถึงไม่ติดมาให้ละ?
ไล่จากฝั่งขวาเข้ามา กระจกหน้าต่าง Power Windows ทั้ง 4 บาน เฉพาะฝั่งคนขับเป็นแบบ One-Touch เลื่อน
ขึ้น-ลงได้ เพียงการกดหรือยกสวิชต์ เพียงครั้งเดียว กระจกมองข้าง มีระบบ เซ็นทรัลล็อก พร้อมสวิชต์สั่งเปิด
หรือปิดมาให้ด้วย กระจกมองข้างปรับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า “แต่พับเก็บได้ด้วยระบบอัตโนมือ!”
โธ่ถัง! 768,000 บาท ให้กระจกมองข้างพับไฟฟ้ามาได้แล้วครับพี่! ทีรุ่น SV พี่ยังติดมาให้ได้เลย
พวงมาลัยแบบยูรีเทน 3 ก้าน พร้อมสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง ที่ก้านฝั่งซ้าย และสวิชต์ควบคุม การแสดงข้อมูล
ของหน้าจอ MID (Multi Information Display) กลางชุดมาตรวัด อยู่ฝั่งขวา แน่นอนว่า ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์
Paddle Shift มาให้ เหมือนอย่างเวอร์ชันญี่ปุ่นเขามีในรุ่นท็อป แต่ปรับระดับสูง – ต่ำ ใกล้ – ไกล ได้แบบรุ่น SV
มีปุ่ม ECON สีเขียว แบบเดียวกับใน Honda Civic FB , CR-Z , StepWGN SPADA ฯลฯ ซึ่งเมื่อกดให้รูป
ใบกัญชา ติดสว่างขึ้นมาเป็นไฟสีเขียวบนมาตรวัด และบนหน้าจอ MID หมายความว่า สมองกลของรถจะ
สั่งให้การเปิดลิ้นปีกผีเสื้อ ช้าลง ควบคุมเครื่องปรับอากาศให้ทำงานแบบประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยให้การ
ขับขี่ ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น (นิดหน่อย) ติดตั้งที่ใช้ช่องวางแก้ว ฝั่งขวาของแผงหน้าปัด
ชุดมาตรวัด มีการปรับปรุงใหม่ ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่น HYBRID กล่าวคือ แสงไฟปกติจะเป็นสีน้ำเงิน
แต่ในบริเวณมาตรวัดความเร็วตรงกลางนั้น สีจะเปลี่ยนไปตาม “น้ำหนักการเหยียบคันเร่ง” ถ้าเหยียบ เบาๆ
เป็น Singular หน้าปัดจะสว่างเป็นสีเขียวใส แสดงว่า ขับประหยัดอยู่ ดีแล้ว ถ้าเพิ่มน้ำหนักเท้าลงบนคันเร่วง
อีกนิดหน่อย สีมาตรวัดจะเปลี่ยนเป็น ฟ้า เทอควอยซ์ แสดงว่า ก้ำกึ่ง ระหว่างประหยัดกับกินน้ำมัน และถ้า
เหยียบมิดตีนทะลุพื้นรถ มาตรวัดก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แสดงว่า ใช้อัตราเร่งเต็มที่
และเมื่อมองไปทางขวา จะเห็น เข็ม แสดงการทำงานของระบบ ชี้ไปยังฝั่งขวามือ ซึ่งแปลว่า มอเตอร์ไฟฟ้า
กำลัง ASSIST หรือ เข้ามาช่วยงานเต็มที่ แต่ถ้าถอนเท้า หรือเหยียบเบรก ระบบ Re-Generative Brake
แปลงพลังงานตอนเบรกเปลี่ยนเป็นกระแสไฟ ไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี เข็มก็จะชี้กลับมาที่ฝั่ง CHG หรือ
CHARGE มากน้อย ตามการหน่วงความเร็วของรถที่เกิดขึ้นจริง (เสียดาย ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น
มีแต่ไฟสัญญาณเตือน เหมือน City กับ Jazz รุ่นปกติ)
ตาแพน Commander CHENG! ของเรา บอกว่า “เป็นชุดมาตรวัดที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังดูรายการ สารคดี
“โลกสลับสี” ของ Pacific Intercommunication (ใครยังจำรายการนี้ได้บ้างเอ่ย) คือแสงสีที่เปลี่ยนไปมา อาจ
ถึงขั้นทำให้ อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ถึงกับมึนงงไปเลยก็เป็นได้ “รายการผม นี่ก็ชื่อโลกสลับสีแล้วนะ แต่
หน้าปัดของ Jazz HYBRID นี่ สลับสียิ่งกว่า!”
ส่วนหน้าจอ MID ตรงกลาง จะแสดงข้อมูลการขับขี่ ทั้ง มาตรวัดระยะทางที่แล่นมาตั้งแต่ซื้อรถ Trip Meter
วัดระยะทางที่เราตั้งเซ็ตได้เอง มีทั้ง Trip A และ B อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย แสดงสถานะการทำงานของระบบ
HYBRID แสดงประวัติอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในช่วงก่อนหน้านี้ และแสดงข้อความเตือนต่างๆนาๆ ทั้ง
ลืมปิดไฟหน้า ลือกุญแจคาไว้ ประตูรถเปิดทิ้งไว้ ฯลฯ เป็นหน้าจอตั้งค่า Cutomize Setting ระบบต่างๆ ในรถ
แถม ยังแสดงคะแนนการขับขี่ แบบ ECO Score เมื่อกับเครื่องยนต์เรียบร้อย ประการหลังนี่ สมกับเป็นรถ
จากแดนอาทิตย์อุทัย ที่ชอบความเก๋ไก๋สไลเดอร์แบบนี้กันทั้งประเทศเลยกระมัง!
ความแตกต่าง อีกประการหนึ่ง ในห้องโดยสาร ของ Jazz HYBRID ที่เหนือกว่า Jazz ประกอบในไทยรุ่นอื่นๆ
ก็คือ เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ Digital ยกชุดมาจากเวอร์ชันญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่า จำเป็นต้องใช้แบบ Digital
เนื่องจากต้องเชื่อมการทำงานกับ ECON Mode ในการปรับอุณหภูมิ เพื่อให้การใช้เชื้อเพลิงของรถเป็นไป
อย่างมีประสิทธิภาพสงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อีกด้วย
เพิ่งมาสังเกตว่า หน้าจอของเครื่องปรับอากาศ จะถูกบดบังด้วยมือซ้ายของผมเองขณะขับรถ แต่ตำแหน่ง
สวิชต์ใช้งาน วางไว้ เหมาะสมดีใช้ได้
เครื่องเสียง ยังคงเป็น วิทยุ AM/FM/CD 2 DIN 4 ลำโพง เล่นไฟล์ MP3 และ WMA ได้พร้อมช่องสาย USB
สำหรับเครื่องเล่น iPod ที่ช่องวางของอเนกประสงค์ ใต้แผงควบคุมกลาง และยังสามารถใช้งานได้จากสวิชต์
Multi Function บนพวงมาลัย คุณภาพเสียง ก็เหมือนเดิมครับ คือ ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ความ และเครื่องเสียงใน
City คันที่บ้านผม เสียงดีกว่ากันพะเรอเกวียน! แถมสวิชต์ Mode บนพวงมาลัย ก็ไม่สามารถสั่งเปิดเครื่องเสียง
อย่างที่ City ทำได้ ต้องมากดปุ่ม Power อันเล็กๆ ข้างช่องใส่ CD ตลอด
ใต้คอนโซลกลาง มีช่องใส่ กล่อง CD และใส่ของอเนกประสงค์ ซึ่งมีถาดเล็กๆ สามารถถอดออกได้ และมี
ช่องใส่เหรียญ สองช่องมาให้
ฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด ยังคงเหมือนรุ่นมาตรฐาน มีช่องเก็บของพร้อทฝาปิด มาให้ 2 ชั้น คือ ชั้นล่าง สำหรับ
ใส่คู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารประจำรถ จำพวก ทะเบียนรถ กรมธรรม์ประกันภัย ส่วนช่องเก็บของด้านบน จะ
มีขนาดใหญ่พอให้ใส่ขวดน้ำ 7 บาท ได้ 1 ขวด หรือ โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นเพลง iPod 1-2 เครื่อง
บริเวณช่องแอร์ ที่แผงหน้าปัด ทั้งฝั่งซ้ายและขวา มีช่องวางแก้วหรือขวดน้ำ สำหรับเอาไว้ให้ ไอเย็นจากแอร์
ช่วยเป่าให้เครื่องดื่มของคุณเย็นตลอด จนกว่าจะดับเครื่องยนต์ หรือปิดแอร์
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ จะเหมือนกับ Jazz รุ่น V อันเป็นรุ่นย่อยระดับกลาง ในเมืองไทย
คือมีช่องวางของ ที่เบรกมือ ใส่ของจุกจิกได้นิดหน่อย ใช้งานจริงยังไม่ค่อยดีนัก และทัศนวิสัย ต่างๆยังคง
มีมุมโปร่ง กับจุดบอด เหมือนกับ Jazz เจเนอเรชัน 2 รุ่นปกติ ทุกประการ
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
เมื่อพูดถึงรถยนต์ HYBRID หลายคนๆ เข้าใจว่า มันเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ควบคู่กับพลังงานจาก
น้ำมันเชื้อเพลิง แต่บางคนที่ไม่รู้เรื่องรถยนต์นัก ต่างถามผมด้วยคำถามเดียวกัน ที่ผมได้ยินมาเรื่อยๆ ตลอด
หลายปีที่ผ่านมา ตรงกันว่า…
“แล้วมันยังต้องเติมน้ำมันหรือเปล่า?”
“เอ๋า! ก็ยังต้องเติมสิครับพี่! ถ้าพี่ไม่เติม แล้วรถมันจะวิ่งได้หรือครับ?”
คนฟังก็งงเต๊ก “อ้าว อย่างนั้นมันจะต่างจากรถธรรมดาตรงไหนกันละ? ก็เห็นบอกว่าใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน อั๊วก็
เข้าใจว่า มันเป็นรถไฟฟ้าเลย อย่างนี้ อั๊วซื้อรถเก๋งธรรมดาดีกว่าไหม? “
อาเจ็กคร้าบ ความแตกต่างกัน มันมีดังต่อไปนี้
รถยนต์ HYBRID หนะ ต่างจากรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปทั่วๆไป ตรงที่ มีมอเตอร์ไฟฟ้า พ่วงเข้ามาช่วย
ขับเคลื่อน ในช่วงความเร็วต่ำ และไม่ได้เร่งความเร็วมากนัก ข้อดีคือ เครื่องยนต์ไม่ค้องทำงานตลอดเวลาในช่วง
ที่ขับรถไม่เร็วนัก อย่างต่อเนื่อง รถจะแล่นได้ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้น จึงช่วยให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นเพราะ
เครื่องยนต์ ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา นั่นเอง
ในเมื่อ รถยนต์ HYBRID ใช้ มอเตอร์ไฟฟ้า เข้ามาช่วยทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ ก็ต้องมีแบ็ตเตอรี สำหรับระบบ
ขับเคลื่อน เพิ่มเข้ามา ส่วนใหญ่แล้ว “จะแยกต่างหากออกจากแบ็ตเตอรีมาตรฐานสำหรับวิทยุ และอุปกรณ์ไฟฟ้า
ภายในรถ” หลักๆแล้ว จะใช้แบ็ตเตอรี Nickel Metal Hydride หรือไม่ก็ Lithium Ion เหมือนๆแบ็ตเตอรีที่ใช้ใน
โทรศัพท์มือถือนั่นแหละครับ
เจ้าแบ็ตเตอรี สำหรับระบบขับเคลื่อน ลูกใหญ่ เนี่ย อายุการใช้งาน มันยาวนานครับ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยทุก 2 ปี
เหมือนอย่างแบ็ตเตอรีรถยนต์ทั่วไป ดังนั้น มันสามารถลากใช้งานไปได้ตลอดอายุของรถ หรือจนกว่ามันจะเริ่ม
เก็บกระแสไฟได้น้อยลง ซึ่งก็อีกตั้งหลายปีกว่าจะเป็นเช่นนั้น หมายความว่า ต่อให้แบ็ตเตอรี แพงแค่ไหน คุณก็
ไม่ต้องหาเงินหลายหมื่นบาท มาเปลี่ยนแบ็ตใหม่กันทุก 1-2 ปี อย่างที่ต้องทำกับแบ็ตเตอรีติดรถยนต์ตามปกติ
ใช้งานได้ จนกว่าจะขายรถทิ้ง เป็นรถมือสองไปเลยนั่นแหละ!
สิ่งที่ทำให้ Jazz HYBRID โดดเด่นขึ้นมากว่าชาวบ้านชาวช่องเขาในเวลานี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียง การนำเทคโนโลยี
ระบบขับเคลื่อน HYBRID มาวางลงในรถยนต์ขนาดเล็ก เพื่อทำราคาขายให้ถูกลงเท่านั้น แต่อยู่ที่การติดตั้งระบบ
HYBRID ให้สอดรับกับโครงสร้างงานวิศวกรรมพื้นฐานของรถยนต์ที่มีขายอยู่แล้ว ได้ “เนียน” โดยไม่เสียพื้นที่
การใช้สอยในห้องโดยสาร อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้
ระบบขับเคลื่อนใน Jazz HYBRID จะประกอบไปด้วย เครื่องยนต์สันดาปภายใน รหัส LDA บล็อก 4 สูบ SOHC
8 วาล์ว 1,339 ซีซี เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกสูบ x ช่วงชัก 73 x 80 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.8 : 1 พร้อมระบบแปรผัน
วาล์ว i-VTEC หัวฉีด อีเล็กโทรนิกส์ Multi-Point Honda PGM-FI กำลังสูงสุด 88 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที
เหมือนกับเเครื่องยนต์ของรถยนต์ HYBRID อื่นๆ LDA-MF6 เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบมาให้มีวงจรการจุดระเบิด
แบบ Atkinson-Cycle ซึ่งต่างจาก การจุดระเบิดในแบบ Otto ที่ใช้ในเครื่องยนต์ของรถยนต์ทั่วๆไป ตรงที่ เครื่องยนต์
จะดูดไอดีเข้าห้องเผาไหม้ ไม่เต็ม 100 % แต่จะคายออกอีกนิดหน่อย เพื่อจะกั๊กเอาไว้นิดหน่อย ก่อนจะเปิดวาล์วไอดี
ปล่อยให้ไอดีล็อตที่กั๊กไว้ตอนแรกนั้น รวมกับไอดีระลอกถัดไป ไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ เพื่อจุดระเบิดในรอบต่อไป
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับการที่ คุณกำลังต่อแถวเข้าคิว เดินเข้าไปชมการแสดงในโรงละครหรือมหรสพ
อะไรก็ตาม ที่ต้องแบ่งจำนวนคนออกเป็นรอบๆ นั่นละครับ สมมติว่า รอบนึง จำกัดคนดูไว้ ครั้งละ 30 คน เท่ากับว่า
เด็กเดินตั๋ว ต้องปล่อยคนเข้าไปในโรง 30 คนพอดี นั่นคือระบบสันดาปแบบ Otto
แต่ในระบบ Atkinson Cycle ก็เหมือนกับว่า เจ้าเด็กเดินตั๋ว ปล่อยคุณให้เดินเข้าไป เพราะนับผิดว่า ครบ 30 คนแล้ว
แต่ดันปล่อยคนดูเข้าโรง เกินไป 6-7 คน สต๊าฟในโรง ก็ต้องดันคุณกลับออกมารอที่หน้าประตูทางเข้าโรงอีกครั้ง
รอจนกว่า การแสดงรอบที่คุณเดินหลุดเข้าไปแล้วถูกดันออกมา จบลง ประตูเปิดออกอีกครั้ง เด็กเดินตั๋วจึงจะส่งคุณ
เข้าไปในโรง เพื่อดูการแสดง ในรอบที่คุณควรจะได้ดูเสียที นั่นเอง!!
เข้าใจขึ้นบ้างไหมครับ?
เครื่องยนต์จะถูกติดตั้งเชื่อมกับ มอเตอร์ไฟฟ้า DC แบบไร้แปรงถ่าน (Brushless) ขนาดบางกระทัดรัด รุ่น MF6
ขนาด 100 Volt กำลังสูงสุด 14 แรงม้า (PS) ที่ 1,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 78 นิวตันเมตร (8 กก.-ม.)
ที่ 1,000 รอบ/นาที มอเตอร์ไฟฟ้า และชุดขดลวดทองแดง ถูกติดตั้งเอาไว้กับเพลาข้อเหวี่ยงของเครื่องยนต์
มอเตอร์ MF 6 ลูกนี้ เป็นลูกเดียวกันกับที่คุณจะพบได้ทั้งใน Honda INSGHT และ Honda CR-Z นั่นเองละ!
เชื่อมการทำงาน กับชุดควบคุมระบบไฟฟ้า ที่เรียกว่า IPU (Intelligent Power Control Unit) ประกอบไปด้วย
แบ็ตเตอรี Nickel Metal Hydrye 7/5.75 แอมป์ กล่องสมองกลควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า ECU (Electric Control
Unit) กล่อง PDU และอุปกรณ์เปลี่ยนกระแสไฟฟ้า จากกระแสสลับ เป็นกระแสตรง หรือกระแสตรง เป็น
กระแสสลับ AC-DC Converter ทั้งหมดจะถูกติดตั้งไว้ที่ช่องเก็บยางอะไหล่ ใต้พื้นห้องเก็บของด้านหลัง
เพื่อลดปัญหาด้านพื้นที่ในห้องโดยสาร และยังคงทำให้ Jazz สามารถรักษาอรรถประโยชน์ จากพื้นที่วางของ
ด้านหลัง ได้เทียบเท่า Jazz รุ่นปกติได้เลยอีกด้วย (เท่ากับว่า Jazz HYBRID ไม่มียางอะไหล่มาให้นะครับ
แต่มีชุดปะยางในกรณีฉุกเฉินแทน แก้ปัญหาไปก่อน)
คำถามก็คือ ทำไม Honda ไม่เลือกใช้ มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใหญ่กว่า และให้กำลังมากกว่านี้ รวมทั้งแบ็ตเตอรี
ที่ใหญ่กว่านี้ คุณ Kohei ตอบว่า “มอเตอร์และแบ็ตเตอรีที่ใหญ่ขึ้น จะไปเบียดบังพื้นที่โดยสาร และพื้นที่
ห้องเก็บของภายในรถด้วย ดังนั้น เราจึงเลือกใช้ เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเดียวกับที่ใช้อยู่แล้วใน
Honda INSIGHT รุ่นปัจจุบัน เพื่อให้ต้นทุนในการผลิต และการพัฒนา ถูกลง อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อได้
ทั้งเกียร์อัตโนมัติ CVT หรือ แม้แต่เกียร์ธรรมดา”
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT (Continuously Variable
Transmission) พร้อมสมองกล ของเกียร์ ที่ถูกโปรแกรมให้รองรับกับการใช้งานในระบบ HYBRID
โดยเฉพาะ
อัตราทดเกียร์ แปรผันตั้งแต่ 2.526 – 0.421 :1 เกียร์ถอยหลัง แปรผันได้ตั้งแต่ 4.510 – 1.692 : 1
ส่วนอัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 5.274 ถือว่าทดเอาไว้ค่อนข้างจัด เพื่อเน้นในการออกตัวไม่ให้อืดไปนัก
แล้วระบบขับเคลื่อน HYBIRD ใน Honda ต่างจากระบบ HYBRID ของ Toyota อย่างไร?
ต่างกันดังนี้….
ระบบขับเคลื่อน HYBRID ของ Honda แทบจะทุกรุ่นที่ผ่านมา รวมทั้ง Jazz HYBRID ใหม่นั้น จะใช้
ระบบ Pararell HYBRID โดยเครื่องยนต์จะทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อน รับบทเป็นพระเอก ส่วน
มอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยเสริมแรง ในช่วงออกรถ และเร่งแซง รับหน้าที่เป็น พระรอง เหมือนละครทีวี
เมื่อใช้ความเร็วต่ำ ในช่วง 20 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากมีไฟในแบ็ตเตอรี เหลือมากพอ คุณแค่ถอนเท้า
จากคันเร่ง แล้วแตะเลี้ยงคันเร่งอย่างแผ่วเบาไป มอเตอร์ไฟฟ้า ก็จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถไปข้างหน้า
เพียงอย่างเดียว ในแบบ EV Mode (EV : Electric Vehicle รถยนต์ไฟฟ้า นั่นเอง) โดยเครื่องยนต์จะ
หยุดทำงานชั่วคราว จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย
ช่วงลดความเร็วหรือเบรก เครื่องยนต์จะหยุดทำงาน ระบบจะนำพลังงานที่สูญเสียไป ในขณะเบรกมา
เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าส่งกลับคืนสู่แบตเตอรี่ ของระบบขับเคลื่อน IPU เพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้ต่อ
ในการขับขี่ช่วงต่อไปไป เรียกว่าระบบ Re-Generative Brake จนกระทั่ง เมื่อหยุดรถนิ่งสนิท และเข้า
เกียร์ D เหยียบเบรกค้างไว้ เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะหยุดทำงานอัตโนมัติ เข้าสู่โหมด Idling
Stop เพื่อช่วยประหยัดน้ำมัน และลดมลพิษ (แต่ถ้าเข้าเกียร์ N R หรือ P เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาเอง)
ส่วนระบบ HYBRID ของ Toyota นั้น มีหลักการทำงานในภาพรวม คล้ายกันกับระบบของ Honda
แต่จะต่างกันแค่ว่า เครื่องยนต์ กับ มอเตอร์ไฟฟ้า ต่างจะทำหน้าที่เป็น พระเอก 2 คน ในละครเรื่อง
เดียวกัน ช่วยกันทำมาหากินด้วยกันทั้งคู่
เมื่อติดเครื่องยนต์ หากไฟในแบ็ตเตอรี มีเหลือพอ เครื่องยนต์ของ Toyota จะไม่ติดขึ้นมา มอเตอร์
จะมีเรี่ยวแรงมากกว่าของ Honda และมากพอ ในการพารถเคลื่อนออกไป ตามลำพัง โดยไม่ต้องให้
เครื่องยนต์มายุ่งด้วย จนกว่า….
1. ผู้ขับเหยียบคันเร่งเพิ่มมากกว่าปกติ (เรียกเครื่องยนต์ มาช่วยงานเพิ่มขึ้น)
2. ใช้ความเร็วถึงระดับ 48 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือกดปุ่มยกเลิก EV Mode
3. ไฟในแบ็ตเตอรี เหลือไม่พอให้ขับใน EV Mode ต่อไป
เริ่มเห็นภาพขึ้นแล้วบ้างไหมครับ?
ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า ระบบ HYBRID ของตนนั้น ให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ และการประหยัดน้ำมันที่
ดีเด่นเด้งด้วยกันทั้งคู่ Toyota เคลมว่า ระบบ HYBRID ของตน เหนือกว่าทั้งในแง่ของอัตราเร่ง และ
ความประหยัดน้ำมันที่ได้ ส่วน Honda เอง ก็ไม่น้อยหน้ากัน บอกว่า ถึงจะมีอัตราเร่ง ไม่ดีเท่า แต่
ถ้าแข่งกันเรื่องความประหยัดน้ำมันละก็ Honda เอง ก็ประหยัดไม่แพ้ Toyota นั่นแหละ
ต่างฝ่าย ต่างบลัฟกันไปกันมา จนเราๆท่านๆ เวียนหัว ต้องพึ่งพา ยาหม่องน้ำ เซียงเพียวอิ๊ว กันไป
หลายขวด คำถามก็คือ แล้วสมรรถนะที่แท้จริงละ เป็นอย่างไร?
เรายังคงทดลองหาอัตราเร่งกันด้วยวิธีการเดิม คือ ใช้เวลากลางคืน ช่วงดึกๆ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน
(ผมกับคุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel) และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ในพิกัดกลุ่ม
B-Segment และ ECO Car ออกมาดังต่อไปนี้
จากตาราง ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า Jazz HYBRID ทำตัวเลขออกมาได้ เกาะกลุ่มผู้นำอันดับต้นๆของตาราง
ในกลุ่ม เกียร์อัตโนมัติ (โดยที่เรายังไม่ต้องไปนับรถยนต์ที่ใช้เกียร์ธรรมดาให้เสียเวลา เพราะยังไงๆ
กลุ่มนั้น เขาทำเวลาดีกว่ารถเกียร์ัตโนมัติ เป็นปกติอยู่แล้ว แต่ อัตราเร่ง จากจุดหยุดนิ่ง Jazz HYBRID
ทำตัวเลขได้เป็นอันดับ 3 รองจาก Toyota Soluna VIOS รุ่นแรก และ Honda Jazz รุ่นปัจจุบัน ขุมพลัง
เบนซิน L15A ซึ่งถือว่า ไม่ขี้เหร่อย่างที่คิด แน่นอนครับ ผมไม่ต้องลงตาราง ECO Car ให้ คุณก็คงพอรู้
ว่า ยังไงๆ Jazz HYBRID ให้อัตราเร่งดีกว่ารถยนต์ ECO Car ทุกรุ่นในตลาดแน่นอน
ส่วนตัวเลขอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น หากวัดกันทั้งกลุ่ม จะเป็นรองบรรดารถยนต์เกียร์
ธรรมดา ซึ่งก็มีการนำมาทดลองขับได้ไม่กี่รุ่น แตข่ถ้าในแง่การใช้งานทั่วไป มันเป็นรองแค่เพียง Vios
รุ่นแรก ปี 2002 เท่านั้น! อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า การมีมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาดบางมาเสริม ก็ช่วยเพิ่ม
อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรุ่น HYBRID จะทำตัวเลขได้เร็วขึ้นกว่ารุ่น SV ธรรมดา
ถึง 2 วินาที! และมากกว่า Honda City อยู่ 2 วินาที
เห็นตัวเลขใช้ได้อย่างนี้ คำถามคือ การใช้งานจริงละ จะเป็นอย่างไร?
บอกได้เลยครับว่า ไม่อืดอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ได้แรงรุ่งพุ่งปรู๊ด แบบติด Turbo แน่ๆละ ตอนออกตัว ถ้าเหยียบมิด
คันเร่ง รถจะมีอาการดีดหน้าเชิดตอนออกตัวเล็กน้อย พอให้รู้ว่า เค้าจะแรงแล้วนะ จากนั้น เครื่องยนต์ กับ
มอเตอร์ไฟฟ้า จะช่วยกันทำงานอย่างต่อเนื่อง พาให้รถไต่ขึ้นไปยังความเร็วระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้
อย่างกระฉับกระเฉง พอกันกับ Jazz 1.5 ลิตร นั่นละครับ
แต่หลังจาก รอบเครื่องยนต์ เริ่มผ่านพ้น 4,000 รอบ/นาที หรือ เมื่อผ่านพ้นช่วง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป
การไต่ความเร็วขึ้นไปให้ถึง Top Speed นั้น ใช้เวลา และระยะทาง นานพอดู เพราะขุมพลังของ Jazz HYBRID
ถูกออกแบบมาให้เน้นอัตราเร่งช่วงออกตัว และเน้นความประหยัดน้ำมัน มากกว่าจะเน้นสร้างกำลังในช่วงรอบ
ปลายๆ อย่างที่เครื่องยนต์สันดาป Honda ตามปกติ จะเป็นกัน ดังนั้น ต้องทำใจสำหรับพวกชอบแช่คันเร่งยาวๆ
นี่อาจไม่ใช่รถในแบบที่คุณต้องการ แต่ถ้าอยากได้อัตราเร่งแซงรถบรรทุกในภาวะคับขัน บางครั้่ง อาจไม่ต้อง
เหยียบคันเร่งจมมิดติดพื้นรถ อย่างที่ผมเคยต้องทำกับ Civic FD HYBRID เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ เหยียบเพียงแค่
60% ของระยะคันเร่งทั้งหมด แค่นี้ก็มากพอจะส่งให้รถ พุ่งทะยานขึ้นหน้ารถขับช้า แซงขึ้นไปได้ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีอะไรให้ตำหนิเลย ระบบขับเคลื่อน EV Mode ของ Jazz HYBRID นั้น มาแปลก
กว่ารถยนต์ Hybrid คันอื่นที่ผมเคยเจอมา นิดหน่อย
หากเป็นรถยนต์ยี่ห้ออื่น (ไม่ต้องบอกก็รู้ละว่าเป็น Toyota จะเป็นใครไปไม่ได้หรอกครับ) ถ้าแบ็ตเตอรีถูก
ชาร์จไฟจนเกือบเต็ม หรือมีไฟเหลือเกินกว่า 30 – 40% หากรุ่นใดไม่มีปุ่ม EV Mode แค่คุณแตะคันเร่ง แล้ว
เลี้ยงเบาๆ รถก็สามารถออกตัวในโหมดไฟฟ้าได้ โดยที่เครื่อยนต์ยังไม่ต้องทำงาน ค่อยๆขับต่อไปจนถึงราวๆ
40 กว่าๆ กิโลเมตร/ชั่วโมง เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาเพื่อช่วยทำงานต่อ หรือต่อให้มีปุ่ม EV Mode คุณก็สามารถ
กดปุ่มที่ว่า เพื่อสั่ให้เครื่องยนต์ ไม่ต้องมาจุ้นจ้านเลย ขณะขับขี่ในซอยหมู่บ้าน จนกว่าจะถึงความเร็ว ระดับ
48 กิโลเมตร/ชั่วโมง เครื่องยนต์จึงจะเริ่มเข้ามาช่วยงาน
แต่ Jazz HYBRID ใหม่ ทันทีที่บิดกุญแจสตาร์ต เครื่องยนต์ จะติดขึ้น เพื่อให้มีรอบเดินเบา..(อ้าว แล้วมันจะ
ช่วยประหยัดน้ำมันยังไงละเนี่ย?) จนกระทั่ง พอออกรถ เหยียบคันเร่งแค่ไหน เครื่องยนต์ก็ยังทำงานต่อไป
จนกว่าคุณจะเริ่มถอนคันเร่ง เพื่อให้มอเตอร์ เริ่มเปลี่ยนหน้าที่ ไปชาร์จไฟเก็บเข้าแบ็ตเตอรี ในจังหวะนี้
ถ้าคุณ ใช้ปลายนิ้วเท้า “แตะๆอย่างแผ่วเบา ลงบนคันเร่ง แล้วเลี้ยงไว้ ที่ระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง” ระบบจึงจะ
เข้าสู่ EV Mode คือขับเคลื่อนด้วยพลังไฟจากมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว
เรื่องแปลกๆ ก็คือ ถ้าความเร็วของรถ ต่ำลงกว่า 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ว่าสาเหตุใด (ยกเว้นตอนเหยียบเบรก
หรือชะลอรถลงมาจากช่วงความเร็วเดินทาง) เครื่องยนต์จะติดขึ้น แล้วปั่นกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าต่อจากมอเตอร์
ทันที และ ถ้าสมมติว่า คุณใช้ความเร็วแถวๆ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยน้ำมัน กับแบ็ตเตอรี แล้วนึกอยากจะ
ขับชิลๆ ก็ให้ถอนคันเร่งจนสุด แล้วใช้ปลายเล็บของนิ้วเท้าขวา แตะลงไปบนคันเร่งเบาๆ เหมือนลิ้นคุณกำลัง
บรรจง แตะลงไปบนไอศกรีม นั่นแหละครับ! ระบบก็จะขึ้น EV Mode ให้ แม้ว่าเข็มความเร็วจะอยู่สูงถึง 60
กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่จะอยู้่ในโหมดนี้ได้ไม่นาน จะมีอาการวืดเล็กๆ ก่อนที่เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาช่วยขับเคลื่อน
งงไหมละ!?
สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมเป็นเช่นนี้ หนะ ผมไม่รู้ แต่เป็นไปได้ว่า วิศวกรคงกังวลเรื่องของอัตราเร่งในจังหวะ
ออกรถ ซึ่งรถจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนขับ จะเปลี่ยนอารมณ์ไปหรือไม่ จากที่เคยขับช้าๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ
เป็นคุณนายหวานเย็นระดับช่องฟรีซยอมกราบไหว้ จู่ๆ จะเดือดพล่าน ไล่ฆาตกรรมรถตุ๊กๆ คันข้างๆ ที่มา
กวนบาทา จนต้องกระทืบคันเร่งเสียเต็มตีน เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ลำพังแค่มอเตอร์ขนาด 14 แรงม้า หนะ ไม่พอ
จะฉุดลากตัวรถที่หนัก 1,166 กิโลกรัม ให้พุ่งไปข้างหน้าอย่างทันควันทันทีทันใดได้เพียงลำพัง ไหวหรอก
ถ้าไม่มีเครื่องยนต์ เข้ามาช่วยรับหน้าที่นี้แทน เลยอาจทำให้วิศวกร ตัดสินใจ ให้รถ มีการเดินเบาขึ้นมา เพื่อ
ให้ตัวรถ พร้อมจะออกตัวได้ทุกเมื่อ ทุกรูปแบบ ก็อาจเป็นได้
อีกระบบหนึ่งที่อยากพูดถึงคือ ระบบ Idling Start Stop จะไม่ทำงาน หากเพิ่งติดเครื่องยนต์ หรือคลานไปตาม
สภาพการจราจร ด้วยความเร็ว 1 – 9 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเจ้าของรถ ยังไม่ได้เหยียบคันเร่ง ในช่วงก่อนนั้น
เพื่อให้ อัตราเร่ง พร้อมเรียกใช้ได้ตลอดเวลา ส่วน มอเตอร์ไฟฟ้า ก็จะทำหน้าที่ช่วยเสริมการทำงานไปด้วย
ในบางจังหวะ
ปัญหาก็คือ มันทำงานถี่ใช้ได้ แบบเดียวกับที่ผมเจอใน Nissan Almera เปี๊ยบเลย จนอยากจะควาญหาปุ่ม
ปิดระบบนี้ทิ้ง แต่ก็ไม่เจอ เพราะถ้าคุณจอดติดไฟแดงนิ่งๆนานๆ โดยรถไม่เขยื้อนเลยนั้น ระบบนี้จะ
เหมาะมาก เพราะช่วยให้คุณไม่ต้องผลาญน้ำมันไปเปล่าๆ กับรอบเดินเบา ในช่วงเวลาที่ยังไม่รู้ว่าจะได้
เคลื่อนตัวกันเมื่อไหร่
แต่ในจังหวะที่ต้องคลานๆ ขยับๆ ขับกันต่อเนื่องเป็นทอดๆ ต้องปล่อยรถไหลไปข้างหน้า ทุกๆ 10 วินาที
การทำงานของระบบ Idling Stop จะถี่ยิบ จนมากเกินไป และก่อความกังวลเล็กๆกับผู้ใช้ว่า ระบบติดเครื่อง
มันจะเสื่อมสภาพเร็วกว่ารถยนต์ทั่วไปหรือเปล่า? งานนี้ อยากฝาก Honda ให้ทำความเข้าใจกับลูกค้าด้วย
ว่า มันทำงานอย่างไร ส่งผลอะไรในระยะยาวหรือไม่ เพราะดูเหมือนไม่มีบริษัทรถยนต์ค่ายอื่นที่ใช้ระบบ
เดียวกันนี้ ออกมาอธิบายในเรื่องเหล่านี้ ให้ประชาชนรับทราบกันเลย
นอกเหนือจากอัตราเร่งแล้ว สมรรถนะการขับขี่ และการทรงตัวละ จะแตกต่างไปจาก Fit/Jazz รุ่นมาตรฐาน
แค่ไหน?
บอกได้เลยครับว่า คล้ายคลึงกัน เหมือนๆกัน พอๆกันนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ระบบบังคับเลี้ยว ยังคงเป็น พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS
(Electroics Power Steering) หมุนได้จากซ้ายสุด ไปขวาสุด 3.29 รอบ รัศมีวงเลี้ยว 5.1 เมตร มีบุคลิก
ที่เหมือนกับพวงมาลัยของ Jazz และ City มาก ระยะฟรี มีน้อย ไม่เยอะ เบามือกำลังดีตามแบบฉบับ
พวงมาลัยไฟฟ้า ในความเร็วต่ำ หมุนพวงมาลัยคล่องใช้ได้ เบาแรง แต่จะแอบตึงมือขึ้นนิดหน่อยใน
ช่วงที่เริ่มใช้ความเร็วสูง การควบคุมรถ เข้าโค้งยาวๆ บทความเร็ว แถวๆ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้
ได้ค้นพบว่า ยิ่งความเร็วเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ น้ำหนักของพวงมาลัยจะยิ่งหนืดและตึงมือขึ้นตามไปเท่านั้น
แต่ ฟีลลิงในภาพรวม เรียกว่า เกือบจะใกล้เคียงกับพวงมาลัยแบบไฮโดรลิก ตอบสนองเป็นธรรมชาติ
กว่าพวงมาลัยของ Toyota Vios และ Yaris แต่ยังไม่ถึงกับดีเทียบเคียงเท่า Chevrolet Sonic กับ Suzuki
Swift กระนั้น ก็สูสีและด้อยกว่าพวงมาลัยของ Ford Fiesta เพียงนิดเดียว ส่วนความเบามือในย่าน
ความเร็วต่ำนั้น แข่งขันได้กับ Mazda 2
ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม
รูป H-Shape มีการปรับปรุงความแข็งของสปริง และช็อกอัพ ให้รองรับกับระบบ HYBRID โดยเฉพาะ
และมีการเพิ่มขนาดเหล็กกันโคลงหน้า จากเดิมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 17 มิลลิเมตร เป็น 18 มิลลิเมตร
การตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำนั้น แม้จะยังเหลือความตึงตังไว้นิดหน่อย ตามสไตล์ช่วงล่าง Honda
แต่การได้ล้ออัลลอย 15 นิ้ว พร้อมยางแก้มหนาขึ้น Michelin ENERGY XM1 ก็ช่วยซับแรงสะเทือน
ไปได้นิดหน่อย การขับผ่านเนินลูกระนาดต่างๆ นุ่มขึ้นกว่า Jazz SV ล้อ 16 นิ้ว นิดนึง ไม่ต่างกัน
มากนัก
ทว่า พอใช้ความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูงๆ คุณจะรู้ได้ทันทีเลยว่า มันเป็นช่วงล่างที่นุ่มกว่า Jazz
รุ่นปกติ นิดนึง เวลาเจอคอสะพาน อาการ Rebound เกิดขึ้น ถึง 2 จังหวะ แล้วจึงจะหยุดไปเอง ยังมี
อาการเด้งหลงเหลือให้ผู้โดยสารบนเบาะหลังสัมผัสได้อยู่บ้าง
การเข้าโค้ง ยังคงทำได้ดีสมตัว และสมกับความเป็น Honda Jazz คือ จิกเข้าโค้งได้ กำลังดี แต่ถ้าจะ
หวังให้เข้าโค้งเนียนขนาด Swift โดยไม่ปรากฎอากาศไปตามพื้นผิวถนนในโค้ง ผมว่า คงยากนิดนึง
กระนั้น ถือว่า ยังสอบผ่านได้ในทุกโค้งหนักๆบนทางด่วน ด้วยความเร็ว 85 – 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง
กำลังสบายๆ
ภาพรวม ถือว่า ช่วงล่างของ Jazz HYBRID ยังทำได้ดี ติดนุ่มขึ้นนิดๆ ไม่เยอะนัก เซ็ตมาในแบบที่
คนทั่วไป ซึ่งมิได้นำรถไปอัด ไปซิ่งที่ไหน น่าจะชื่นชอบ ถ้าจำเป็น จะต้องมุด ก็ยังพอทำได้ ผมว่า
มันเหมือนกับการเอาช่วงล่างที่มีความหนืดแข็งของช็อกอัพ และความยืดหยุ่นของสปริง ในระดับ
เดียวกันกับ Honda City รุ่นปัจจุบัน มาใส่ให้มากกว่า
รุ่น HYBRID จะสวมล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว x 5.5 J พร้อมยาง Michelin ENERGY ขนาด 175/65 R15
ซึ่งพอจะเข้าโค้งได้ในระดับปานกลาง แต่อย่าไปหวังว่าจะรองรับบทโหดหนักๆได้ดี เพราะต้องไม่ลืมว่า นี่คือยาง
ที่ออกแบบมาให้แรงเสียดทานขณะหมุนต่ำ (Low Rolling Resistance) เพื่อคนรักโลกสวย ขับช้าๆ เรื่อยๆ
ชิลๆ เป็นหลัก กระนั้น ก็รองรับการเข้าโค้งบนทางด่วน ช่วงโค้งขวา จากอนุเสาวรีย์ชัย มุ่งหน้าเข้าโค้งซ้าย ที่
โรงแรม เมอเคียว ด้วยความเร็วระดับ 80 – 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อยู่ แต่อย่าเกินไปกว่านี้ เพราะนั่นคือ
Limit ที่แก้มยางน่าจะรับได้ ก่อนที่รถจะเริ่มออกอากาศไม่พึงประสงค์มากไปกว่านี้
ระบบห้ามล้อ คู่หน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก มีรูระบายความร้อน คู่หลังเป็นดรัมเบรก พร้อมระบบ ดึง
พลังงานจากการเบรก หรือชะลอรถ ชาร์จไฟกลับเข้า Battery หรือ Re-Generative Brake System
ช่วยให้การตอบสนองของระบบเบรกใน Jazz HYBRID แตกต่างจาก Jazz และ City รุ่นมาตรฐาน
เพราะในระยะเหยียบลงไปแป้นเบรก ราวๆ 10% แรก จะพบว่า แป้นเบรกหยุ่นเท้า กระนั้น เมื่อ
คุณแตะเบรกเบาๆ รถก็จะเริ่มหน่วง ชะลอความเร็วลงมาให้นิดๆแล้ว ถ้าเหยียบลงไปเพิ่มขึ้นอีก
จนถึงประมาณ 50% ของระยะเหยียบทั้งหมด รถก็แทบจะเบรกจนหัวเกือบทิ่ม แต่ถ้าเหยียบเพิ่ม
ลงไปเกินกว่านั้น รถเบรกหัวทิ่มแน่ๆ ด้วยการหน่วงความเร็ว เพื่อชาร์จไฟกลับเข้าไปเก็บแบบนี้
ทำให้ตัวรถห่วงความเร็วลงมามากกว่าปกติทั่วไป ดังนั้น อย่าแปลกใจว่า ถ้าคุณถอนคันเร่ง ปล่อย
ให้รถไหลเข้าด่านเก็บเงินทางด่วน รถจะถูกหน่วงลงมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนเหลือความเร็ว
แค่เพียง 5 – 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง และอาจทำให้คุณต้องเหยียบคันเร่ง เพื่อเติมความเร็วเข้าด่าน
อย่างที่ผม เจอมาแล้วกับตัว
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการปรับปรุงใน Jazz HYBRID ให้แตกต่างไปจาก Jazz รุ่นเดียวกัน คันอื่นๆ นั่นคือ การเสริม
ความแข็งแรงให้กับพื้นตัวถัง ทั้งบริเวณ มุมขอบซุ้มล้อคู่หลัง ทั้ง 2 ฝั่ง เสริมคานเหล็กตรงกลาง และแผ่นเหล็กยึด
ระหว่างคานคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง และการเปลี่ยนแผ่นเหล็ก บริเวณที่เคยเป็นอ่างใส่ล้ออะไหล่ ให้มีรูปร่างที่สอดรับกับ
การติดตั้งแบ็ตเตอรี และชุดควบคุม IPU เป็นชิ้นส่วนที่จะมีมาให้ใน Jazz HYBRID เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ในเรื่องของการเก็บเสียง ยังมีการติดตั้ง แผ่นปิดใต้ท้องรถ บริเวณใต้เครื่องยนต์ และกลางคันรถ
แถมยังมีการเสริมวัสดุซับเสียงให้มากขึ้นกว่าเดิม ตามจุดต่างๆมากมายถึงขนาดนี้
แต่เสียงรบกวนจากยางคู่หลัง ก็ยังดังเข้ามาพอให้ได้ยินกันอยู่ ยิ่งเวลารีดน้ำ ก็พอจะลอดเข้ามาให้ฉงนเล่น
อีกทั้ง เสียงของกระแสลมที่ไหลผ่านบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ก็จะเริ่มได้ยินชัดเจนขึ้นหลังจาก
ความเร็วตั้งแต่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่นอกนั้น ปัญหาเรื่องเสียงก็ถือว่าลดน้อยลงไปบ้าง
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
ประเด็นที่ลูกค้าคนไทย คาดหวังจาก Jazz HYBRID ก็คือ มันต้องประหยัดน้ำมัน ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
แต่คำถามก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว เจ้าเปี๊ยกคันสีเขียวนี่ จะทำตัวเลขความประหยัดน้ำมัน ออกมาได้ดีแค่ไหน เมื่อเทียบ
กับ Jazz แบบมาตรฐาน…และ…เมื่อเทียบกับรถยนต์ ECO Car 1.2 ลิตร
ดังนั้น เมื่อรับรถมาแล้ว เราก็เริ่มต้นภาระกิจการทดลองขับ ด้วยการพามาเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการ
น้ำมันของ Caltex ริมถนนพหลโยธิน เยื้องปากซอยอารีย์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา
เหตุผลก็คือ Caltex เป็น บริษัทน้ำมันรายเดียวในเมืองไทย ที่ยังเหลือ เบนซิน 95 ให้ผมเติมได้อยู่ เพื่อให้มาตรฐาน
การทดลอง ยังคงมีตัวเลขที่สามารถใช้อ้างอิงได้ เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ที่ผมเคยทำการทดลองไว้
จริงอยู่ว่า Jazz HYBRID ถือเป็นรถยนต์ในพิกัด Sub-Compact B-Segment เครื่องยนต์ไม่เกิน 1,600 ซีซี ซึ่ง
ปกติ เราจะต้องเติมน้ำมันด้วยวิธีการ เขย่ารถ แต่เนื่องจาก Jazz HYBRID ติดตั้งถังน้ำมันไว้ตรงกลางตัวรถ ใต้เบาะคู่หน้า
แบบเดียวกับทั้ง jazz รุ่นมาตรฐาน และ Honda City ทำให้ต้องมีคอถังน้ำมันยาวพิเศษ จากการทดลองในอดีตที่ผ่านมา
พบว่า หากเติมน้ำมันแบบเขย่า และกรอกจนเต็มล้นออกมา จะไม่มีทางได้ตัวเลขที่แท้จริง แถมกว่าจะทดลองเสร็จ คงจะ
ปาเข้าไป ตี 5 ของเช้าวันรุ่งขึ้น และในเมื่อ การเติมน้ำมันแบบหัวจ่ายตัด ก็จะให้ผลที่พออ้างอิงยอมรับกันได้ เราจึง
จึงตัดสินใจใช้วิธีการเติมน้ำมันแบบ เตมถัง หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว ในรถคันนี้ เช่นเดียวกับ Jazz และ City คันอื่นๆ
ที่เคยทำการทดลองมาก่อนหน้านี้
สักขีพยานของเราในวันนี้ นอกเหนือจาก น้อง โจ๊ก V10ThLnD แห่ง The Coup Team แล้ว ยังมีคุณ BestHuaFoo
คุณผู้อ่านของเว็บเรา ซึ่งบังเอิญมาเจอ พวกเรากำลังทำการทดลองที่ปั้ม Caltex แห่งนี้ พอดีเลย คุณ Best เอง ก็เป็น
ลูกค้า ที่อุดหนุน Honda Jazz เกียร์ธรรมดา รุ่นล่าสุด มาใช้งานอยู่ 1 คัน และเจ้าตัวก็แฮปปี้ดี
คุณ Best ไม่ได้นั่งไปกับเราด้วยหรอกครับ แต่เจ้าตัว นั่งเล่น รออยู่ที่ปั้ม จนถึงเวลาที่ผมเดินทางกลับมานั่นละ
เพราะเรายังคงต้องยึดมาตรฐานดั้งเดิมเอาไว้ นั่นคือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน คุณ Best เลย
ไปนั่งกับเราในคืนนั้นไม่ได้
เติมน้ำมันเสร็จแล้ว คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ที่อุณหภูมิ 25 องศา พัดลมเบอร์ 1 หรือ 2 ไม่เกินนี้
ออกรถ มุ่งหน้าไปยังถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับ ไปเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะ ไปออกหลังโรงเรียน เรวดี เพื่อไปขึ้น
ทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดสายทางด่วน อุดรรัถยา ที่บางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน
เส้นเดิม ใช้ความเร็ว ตามกำหนด คือ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน (ย้ำอีกที ให้ชัดๆ)
เมื่อมาลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธินอีกครั้ง เลี้ยวกลับรถที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า สถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron อีกครั้ง ณ หัวจ่าย
เบอร์ 5 เหมือนเดิม
ในเมื่อ ตอนออกรถ เราเติมน้ำมันแบบหัวจ่ายตัด ดังนั้น คราวนี้ ก็ต้องเติมกันแบบหัวจ่ายตัดอีกตามเคย เหมือนกัน
เพื่อให้การเติมน้ำมันทั้ง 2 ครั้ง เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ถ้าครั้งแรก คุณเติมน้ำมันแบบไหน ตอนจบ คุณต้องเติมน้ำมันด้วยวิธีการเดียวกัน เท่านั้น
มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Jazz HYBRID กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 93.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 4.84 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 19.33 กิโลเมตร/ลิตร
ประหยัดใช้ได้เลย เมื่อเทียบกับ Jazz รุ่นมาตรฐาน ที่เราเคยทำการทดลองด้วยมาตรฐานเดียวกันนี้แล้ว ถือว่า ประหยัด
เพิ่มขึ้นประมาณ 4 กิโลเมตร/ลิตร ประหยัดที่สุดในบรรดารถยนต์กลุ่ม B-Segment แลเะ ECO Car ทุกคัน
อย่างไรก็ตาม ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า หากขับขี่ในเมือง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ทำได้ ราวๆ 14 กิโลเมตร/ลิตร
นั่น เมื่อเทียบกับ City MY 2009 คันที่บ้านผม ซึ่งได้ตัวเลขราวๆ 13.5 กิโลเมตร/ลิตร บนมาตรวัดระยะยทาง
นั่นเท่ากับว่า ความแตกต่างมันไมได้เยอะนัก อย่างที่คิดไว้ และน้ำมัน 1 ถัง ถ้าแล่นในเมือง น่าจะทำได้ราวๆ
450 กิโลเมตร ก่อนจะหมดเกลี้ยงถัง ซึ่งนั่นก็เป็นตัวเลขปกติ ของทั้ง Jazz กับ City ใหม่อยู่แล้วนี่นา?
ดูเอาแล้วกันครับ 309 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไปมากถึง 2 ใน 3 ของความจุถังทั้งหมด ถือว่าเข็มน้ำมันลงเร็วใช้เล่น
กันเลยทีเดียว!
********** สรุป **********
ขอ EV Mode ที่ใช้งานได้จริง เห็นได้ชัดเจนกว่านี้ ก็ถือว่า จบข่าว!
ช่วงนี้กระแสการพูดถึง Honda Jazz HYBRID ยังคงแพร่หลายไปในวงกว้าง ทั้งในโลกออนไลน์ และในโลก
แห่งความเป็นจริง เวลามีใครมาสอบถามข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบรถกัน บรรดาชาว Internet ทั้งหลาย ก็จะตอบ
เชียร์ และให้น้ำหนักไปทาง Jazz HYBRID มากกว่า ทั้งด้วยเหตุผลของความสดใหม่กว่า ปล่อยมลพิษน้อยกว่า
ใครที่รอคิวจองรถนานๆ หลายคนทำท่าอยากจะถอนจองรถคันเดิมของตน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออื่นๆ หรือแม้แต่
พี่น้องร่วมค่าย Honda ด้วยกัน มาถอย Jazz HYBRID กันไม่น้อยเลย
แต่ก็ยังมีบางเสียง ซึ่งยังกลัวๆ กล้าๆ อยู่ ยังเกรงว่า ต้องเปลี่ยนแบ็ตเตอรีในราคาแพง กลัวโดนชนท้ายแล้ว
รถจะเกิดไฟไหม้ หรือกลัวว่า เพิ่มตังค์ แล้ว ไม่คุ้มจ่าย ได้ไม่คุ้มเสีย หรือเปล่า?
แน่นอนว่า หลายคนคงกำลังสับสน ว่าจะเลือก Jazz HYBRID ดีไหม?
หลังจากใช้ชีวิตด้วยกัน 6 วัน 5 คืน ผมพบว่า Jazz HYBRID เอง ก็มีคุณงามความดีในตัวของมันระดับหนึ่ง
การใช้เครื่องยนต์ 1,300 ซีซี แม้จะเป็นแค่ 8 วาล์ว (2 วาล์ว/สูบ) จุดระเบิดแบบ Atkinson Cycle แต่มี
มอเตอร์ ไฟฟ้า 14 แรงม้า ก็ช่วยให้อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งที่ออกมา ได้ตัวเลขเท่าๆกันกับ รุ่น เครืองยนต์
1,500 ซีซี แถมยังมีอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวกว่ารุ่นปกติ 2 วินาที โดยประมาณ ซึ่งถือว่า
เยอะอยู่ พอให้ขับทางไกล และเร่งแซงรถบรรทุกหัวลากได้สบายๆ โดยไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งจนจมมิดติด
พื้นรถ แค่เหยียบสัก 40 – 60 % ก็พอแล้ว
แถมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง สำหรับการขับขี่ทางไกล ที่ทำได้ ถึง 19.33 กิโลเมตร/ลิตร นับว่า สร้างความ
น่าสนใจได้ไม่น้อยเลย เพราะลองคิดดูว่า Toyota Prius ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า เครื่อง 1,500 ซีซี แต่ทำตัวเลข
อัตราสิ้นเปลอง ตามมาตรฐาน วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ของ Headlightmag.com เรา ได้
18.94 กิโลเมตร/ลิตร ดังนั้น ตัวเลขที่ Jazz HYBRID ทำได้ ถือว่า เป็นไปตามความคาดหมายอยู่แล้ว
การขับขี่ใช้งานในเมือง ก็เหมือน Jazz ปกติ ขับขี่เหมือนกัน การตอบสนองของช่วงล่าง นุ่มกว่านิดๆจาก
ยางแก้มหนาขึ้น และช็อกอัพกับสปริงที่ถูกปรับปรุงเล็กน้อย แถมยังมีระบบเบรกที่หน่วงความเร็วลงมา
ได้หนักหน่วง สะใจ การบังคับรถก็ยังคล่องตัว ในแบบของ Jazz ที่หลายๆคนคุ้นเคย รวมทั้งพื้นที่ห้อง
โดยสาร ที่แสนจะอเนกประสงค์ที่สุดในตลาด ชนิดหาใครทำเทียบเท่าไม่ได้เลย ก็ยังคงเป็นเสน่ห์อีก
อย่างนึงที่ Honda รักษาไว้ ให้คุณได้สัมผัสใน Jazz HYBRID ได้ครบถ้วน
เรื่องการเปลี่ยนแบ็ตเตอรี ในอนาคต ก็ไม่น่ากังวล เพราะ Honda ออกมารับประกันแบ็ตเตอรีของระบบ
HYBRID (ตัว IPU) นานถึง 5 ปี ถ้ามันพง ก็เคลมเปลี่ยนไปเลย สิ้นเรื่องสิ้นราว ดังนั้น ในช่วง 5 ปีแรก
ไม่มีปัญหา แต่หลังจากนั้น ราคาต้นทุนของแบ็ตเตอรี น่าจะค่อยๆลดลง ตามปริมาณการผลิตที่ออกสู่
ตลาดเยอะขึ้น ตอนนี้แบ็ต IPU ลูกละ 65,000 บาท และความจริง แบ็ตเตอรีพวกนี้ อายุการใช้งาน
มันก็เท่ากับอายุของรถละครับ คือ มี 10 ปีได้แน่ๆ หลังจากนั้น ก็แค่เก็บไฟได้น้อยลงไปบ้าง ว่ากันไป
ส่วนเรื่องการชนด้านหลัง แล้วกลัวเกิดไฟไหม้นั้น ระบบพวกนี้ เขาออกแบบมาให้มีการตัดวงจร
เมื่อเกิดอุบัติเหตุไปด้วยแล้วส่วนหนึ่ง ถ้าจะลัดวงจรขึ้นมา ก็คงเป็นคราวซวยจริงๆละครับ และ
ที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นเคส ของ Jazz HYBID โดนชนท้ายแล้วไฟไหม้ที่ญี่ปุ่น หรือยุโรปเลย
ที่สำคัญ การทำราคาขายต่ำกว่าความคาดหมายของผู้บริโภค มากขนาดนี้ ทำให้หลายๆคน สามารถเอื้อมมือ
เป็นเจ้าของ รถยนต์ประหยัดพลังงานยุคใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน HYBRID ได้ง่ายขึ้น และ
ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น
ผมอยากบอกว่า ขอชื่นชมในความพยายามของ Honda ในการนำเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน HYBRID
มาติดตั้งลงในรถยนต์ขนาดเล็ก ครั้งนี้ เพราะถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์
รายอื่นๆ เริ่มมองโอกาส ในการนำรถยนต์ประเภทนี้ เข้ามาขายให้กับคนไทยมากขึ้น ไปด้วยอีกทาง
แล้วสิ่งที่ควรปรับปรุงละ? ก็มีอยู่เหมือนเช่นรถยนต์คันอื่นๆอีกนั่นละครับ…
1. ในรถรุ่นต่อไป ได้โปรดติดตั้ง สวิชต์ เปิด – ปิด ระบบ Auto Start Stop มาเสียทีเถอะ! เวลาที่ต้องเคลื่อนรถ
ไปตามสภาพการจราจรติดขัด ไปแบบคลานๆ ตามติดต่อเนื่องกันไป เดี๋ยวเครื่องก็จะดับ เดี๋ยวเครื่องก็จะติด
บางทีมันก็น่ารำคาญอยู่บ้างเหมือนกัน ทั้งที่ระบบนี้จะช่วยให้คุณประหยัดน้ำมันขึ้นได้จริง ขณะจอดรอ
สัญญาณไฟเขียว ที่สี่แยก แต่การติดเครื่องและดับเครื่องต่อเนื่องกันถี่ๆ อย่างนี้ เชื่อว่า ยังมีผู้บริโภคอีกเยอะ
ที่ยังเป็นห่วงว่า เครื่องมันจะสึกหรอเร็วก่อนกาลอันควรหรือเปล่า? ผมว่า Honda และผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่าย
ที่เริ่มติดตั้งระบบนี้ กับรถยนต์ของตน ควรให้ความรู้ในเรื่องนี้กับผู้บริโภคให้กระจ่างจนเลิกกลัวเสียที
2. สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง อย่างเงียบๆ จากระบบ Hybrid คือ สามารถขับรถได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำมันในช่วง
ความเร็วต่ำ และหันไปใช้พลังงานไฟฟ้า จากแบ็ตเตอรี แทน หรือที่เรียกว่า ขับในแบบ EV Mode ปัญหา
ก็คือ Jazz HYBRID มี EV Mode ก็จริง แต่ด้วยเหตุที่ กำลังของมอเตอร์ขนาดเล็กนั้น ไม่พอที่จะฉุดลาก
รถซึ่งมีน้ำหนักตัว 1,166 กิโลกรัม (ไม่รวมของเหลว น้ำหนักบรรทุก) ให้ออกตัวได้ด้วยตัวของมันเอง
ทำให้ต้องพึ่งพาการติดเครื่องยนต์ ในรอบเดินเบา เพื่อออกตัว กว่าจะได้ใช้ EV Mode ก็ต้องรอกันจน
เข็มความเร็ว เกินกว่า 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง (แต่ไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง) กันเสียก่อน แล้วจึงค่อยๆ
ถอนเท้าจากคันเร่งจนสุด เพื่อบอกระบบว่า ตัดการทำงานเครื่องยนต์ได้แล้ว จากนั้น จึงค่อยๆเอานิ้วเท้า
แตะลงไปบนคันเร่ง อย่างแผ่วเบา เกร็งเท้าเลี้ยงน้ำหนักไว้ เพื่อให้ ได้สัมผัสกับ EV Mode
เราต้องใช้ความพยายามมากขนาดนี้ เพื่อที่จะสัมผัสประสบการณ์ การขับขี่ใน EV Mode กันเลยหรือ?
อาจต้องรอให้ Honda ตัดสินใจ ยกระดับเทคโนโลยี Pararell HYBRID IMA ของตนให้ดีขึ้นกว่านี้ ทั้ง
การใช้มอเตอร์ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านี้ หรือมีขนาดเท่าเดิม แต่มีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกสักหน่อย เมื่อ
ถึงตอนนั้น เราคงจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบขับเคลื่อนในแบบ EV Mode จากรถยนต์ Hybrid ของ Honda
ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่านี้
3. ออพชันจุกจิกเล็กๆน้อยๆ ที่ถูกตัดทอนออกไปจาก Jazz รุ่น SV ทั้งกระจกมองข้างแบบพับด้วยไฟฟ้า
และ ไฟอ่านแผนที่ ช่วยติดตั้งใส่กลับมาให้ด้วยเถอะ ขนาด City รุ่นท็อปยังมีมาให้ แถมเวอร์ชันญี่ปุ่น
ก็ยังติดตั้งมาให้จากโรงงาน แล้วเวอร์ชันไทย ถอดทิ้งไปไหนกันจ้ะ? รถคันละ 768,000 บาท แต่ยังใส่
กระจกมองข้างปรับอัตโนมัติด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แต่ยังคงต้องพับด้วยอัตโนมือ เนี่ยนะ? ใส่มาให้ลูกค้า
หน่อยเถอะ! จะงก จะกั๊ก อะไรนักหนาเนี่ย?
ขอแค่ 3 ประเด็นหลักๆ นี่แหละ
ถ้าเป็นเช่นนี้ Jazz HYBRID จะเหมาะกับใคร?
ก่อนอื่น เรามาดูราคาของ Jazz ที่ขายในเมืองไทยตอนนี้ กันก่อนดีกว่า
Jazz รุ่น S เกียร์ธรรมดา 590,000 บาท
Jazz รุ่น S เกียร์อัตโนมัติ 630,000 บาท
Jazz รุ่น V เกียร์อัตโนมัติ 660,000 บาท
Jazz รุ่น SV เกียร์อัตโนมัติ 715,000 บาท
Jazz Import CD Module 747,000 บาท
Jazz Import DVD Bluetooth 751,000 บาท
Jazz HYBRID ประกอบในไทย 768,000 บาท (สีขาวมุก เพิ่ม 10,000 บาท)
หากเปรียบเทียบราคาของ Jazz ในแต่ละรุ่นย่อยแล้ว จริงอยู่ว่า รุ่นที่น่าสนใจ คือ รุ่น S และ V เกียร์อัตโนมัติ
ซึ่งให้ออพชันความปลอดภัยมาครบถ้วน ทั้งถุงลมนิรภัย คู่หน้า ระบบเบรก ABS EBD และข้าวของที่จำเป็น
ต่อการใช้งาน มาพอแล้ว เพียงแค่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อาจจะไม่ได้โดดเด้งเหมือนรุ่น HYBRID เท่านั้น
แต่ถ้าคุณอยากได้ Jazz HYBRID จริงจังละก็ ก่อนอื่น ลองดูว่า ใน 4 ข้อข้างล่างนี้ มีข้อ ที่เป็นความต้องการ
ของคุณอย่างแท้จริงหรือเปล่า?
1. คุณอยากได้รถยนต์ HYBRID มานานแล้ว แต่ไม่ต้องการรถยนต์ซึ่งมีขนาดใหญ่อย่างเจ้า Toyota Prius
หรือ Toyota Camry Hybrid เพราะใช้งานแค่ในเมือง อาจมีเหตุให้ต้องขับออกต่างจังหวัดอยู่บ้าง แถมมี
งบประมาณในการซื้อรถ ไม่เกิน 780,000 บาท พอจะรองรับได้ แค่รถยนต์นั่งพิกัด C-Segment (Compact)
หรือ B-Segment (Sub-Compact) แต่ที่แน่ๆ มันต้องประหยัดน้ำมัน อัตราเร่ง มีไว้ก็ดี แต่ไม่ซีเรียสมากนัก
2. ไม่อยากได้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ขนาด 1.2 ลิตร ECO Car เพราะมองว่ามันน่าจะอืดไปหน่อย อยากได้
อัตราเร่งที่พอให้แซงรถสิบล้อได้ในยามคับขัน แต่ต้องประหยัดน้ำมันพอกัน กับ ECO Car ทั้งหลายในตลาด
รับได้กับค่าตัว 768,000 บาท และมองว่า มันไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ได้มา
3. คุณรู้ตัวอยู่แล้วละว่า City หรือใหม่ก็ Jazz รุ่น 1.5 ลิตร เพียงพอกับความต้องการแล้ว เลยลงชื่อสั่งจองไป
แต่การรอคอยรถจะส่งมาถึงโชว์รูม มันช่างยาวนาน ราวกับรอให้กำแพงเมืองจีนสร้างเสร็จ จนเริ่มรอไม่ไหว
ฉันซื้อรถใหม่ แต่ฉันยังไม่ได้รถมาใช้สักที รอมานานแล้วนะ ทนไม่ไหวแล้ว จะเปลี่ยนไปหา Suzuki Swift
ก็รอนานข้ามปีไม่แพ้กัน เอาละ Jazz HYBRID ก็แล้วกันวะ รอไม่น่าจะนานมากนัก
4. คุณเป็นพวกที่ชอบซื้อรถใหม่ แต่เฉพาะรุ่นท็อปสุด แพงสุด ขอให้ได้ชื่อว่า “ฉันขับรุ่นท็อปในตลาด ก็พอ
3-4 ปี ฉันก็เปลี่ยนรถใหม่แล้ว จะเป็น HYBRID HYBRAT อะไร ฉันไม่สนละ ขอแค่รถที่ฉันเอาไว้คุยโม้
โอ้อวดชาวบ้านได้ว่า ฉันขับ Jazz HYBRID ตัวท็อป แค่นั้นแหละ!”
ถ้าคุณ อยู่ในข่าย 4 ข้อนี้ การเลือกซื้อ Jazz HYBRID น่าจะทำให้คุณแฮปปี้ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพรามัน
เป็นทางเลือกที่ดี เพียงแต่ว่า การจ่ายเงินเพิ่มขึ้น จากรุ่น ท็อปญี่ปุ่น 1 หมื่นกว่าบาท เกือบ 2 หมื่นบาท เพื่อ
ความประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นจากการขับทางไกลอีก 4 กิโลเมตร/ลิตร และราวๆ 1-2 กิโลเมตร/ลิตร จากการ
ขับขี่ในเมือง พร้อมอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง พอกันกับรุ่น 1.5 ลิตร แต่ได้อัตราเร่งแซงที่ดีกว่าเดิม 2 วินาที
และมีออพชันที่ ผสมกันระหว่างรุ่น V กับ SV ประกอบในประเทศ กระจกมองข้างพับด้วยมือ และตัด
ไฟอ่านแผนที่ เหนือกระจกมองหลัง บนเพดานหลังคา กับแป้น Paddle Shift จากรุ่น SV ที่หายไป จะ
ทำให้คุณยอมรับได้หรือไม่
ถ้ายอมรับได้ เซ็นใบจอง Jazz HYBRID เลยครับ
แต่ถ้าไม่
Jazz 1.5 ลิตร ธรรมดา ทั้งรุ่น S V กับ SV ก็น่าจะเพียงพอแล้ว…
————————————-///————————————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks
คุณศศิวรรณ ทองดีเลิศ
และฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
บทความทดลองขับ Honda Jazz 1.5 ลิตร (รุ่นปี 2008 – 2011 แต่งานวิศวกรรมเหมือนกัน กับรุ่นปี 2012) คลิกที่นี่
บทความ ทดลองขับ รถยนต์ กลุ่ม B-Segment 1,300 – 1,600 ซีซี
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของทั้งผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย และ ภาพวาด Illustration จากต่างประเทศ เป็นของ Honda Motor Co.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
21 สิงหาคม 2012
Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 21th,2012
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!