ในระยะหลังมานี้ อย่างที่เคยบอกไป ผมมักจะมีโอกาส ได้สัมผัส
และทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เกินกว่า 1 คัน อยู่หลายครั้ง
แม้บางคนจะสงสัย ว่าจะขับทำไมบ่อยๆ ผมก็คงได้แต่บอกว่า
การทดลองขับรถยนต์รุ่นเดียวกัน แต่ เกินกว่า 2 คันขึ้นไป
หากเป็นไปได้ ก็ควรจะทำ 

 

 

เพราะบางครั้ง สิ่งที่เราได้พบในรถคันแรก ทั้งเรื่องที่ประทับใจ
และเรื่องน่าตำหนินั้น เราอาจจะพบสิ่งเดียวกัน หรือไม่พบเจอเลย
ในรถคันถัดมา ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสิ่งที่เรียกกันว่า
“อาการเฉพาะคัน” อันเป็นข้อบกพร่องจากการประกอบบ้าง น็อตหลวมไปบ้าง
ลมยางแข็งเกินไปบ้าง  หรือล้อคนละขนาดไปบ้าง สภาพผ้าเบรกที่ต่างกัน
บางที ทำให้ประสบการณ์ที่ได้จากรถรุ่นเดียวกัน แต่ต่างคันกัน อาจทำให้คุณ
รู้สึกเหมือน เดินเข้าไปในห้องคอนโดมีเนียม ของเพื่อน 2 คน
ที่ตั้งอยู่ติดกัน แต่รสนิยม และนิสัยต่างกัน ก็เป็นไปได้

นอกเหนือจาก Honda รุ่นหลังๆมานี้ ที่ผมมีโอกาสทดลองขับไป
รุ่นละ 3 คันบ้าง จนถึงรุ่นละ 10 คันบ้าง รวมทั้ง Mazda 3
ที่ผมเพิ่งนำรีวิวฉบับ “Re-Make” ขึ้นโพสต์ให้อ่านกันใน Headlightmag.com
ซึ่งนับไปนับมา รวมแล้วมากถึง 8 คัน

ตอนนี้ยังมีรถยนต์อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่ง ดูท่า ผมจะทำสถิติเอาไว้ เยอะแยะไม่แพ้กัน

 

หลายๆคน คงยังจำได้ ว่า เมื่อช่วงเดียวกันนี้ ของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2008)
ผมมีโอกาส สัมผัสกับรถยนต์ซีดานรุ่นหนึ่ง ที่นอกจากจะตรึงร่างผม เอาไว้กับพนักพิงเบาะหลัง
ทุกครั้งที่กดคันเร่งแล้ว รถคันนี้ ยังตรึงใจผม ด้วยสมรรถนะรอบด้าน ที่สมค่าแก่การถูกยกย่อง
จากนักวิจารณ์รถยนต์ในต่างประเทศว่า เป็น “รถยนต์นั่งระดับคอมแพกต์ ที่ดีที่สุดในโลก”

 

 

แม้ในวันนั้น อาจมีเรื่องชวนเสียวเล็กๆน้อยๆ เช่นว่า ไฟ Check Engine โชว์ขึ้นมา
แต่ก็แก้ปัญหาได้ ด้วยการเหยียบเบิ้ลคันเร่งลงไปจนสุด 1 ครั้ง ไฟเตือนเจ้ากรรมก็หายไปในบัดดล
หลังจากที่ต้องกุมขมับ เป็นกังวล เกือบๆจะหัวเสีย ไปกว่าครึ่งชั่วโมง ไม่นึกว่าจะแก้ปัญหาง่ายขนาดนี้
และสิ่งที่หลงเหลือเข้าสู่ความทรงจำ หลังจากนั้น คือความสนุกสนาน เร้าใจ ในการขับขี่
รถดีเซล บ้าอะไรไม่รู้ ท็อปสปีด ปาเข้าไป 244 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมยังนิ่งสนิท
ขนาดที่ว่า ปล่อยมือจากพวงมาลัย ณ ความเร็วดังกล่าวยังได้!

แถมพกมาด้วยความประหยัดถึง 16.4 กิโลเมตร/ลิตร ทำได้เท่ากับที่โรงงานในเยอรมัน เคลมตัวเลขไว้
มันประหยัดในระดับที่ รถยนต์ญี่ปุ่น ระดับต่ำกว่า 2,000 ซีซีลงไป พากันค้อนขวับทุกคัน!

และแน่นอน มันกลายเป็น รถยุโรป หนึ่งในไม่กี่คัน ที่ผมชื่นชอบ โดยส่วนตัว
แถมยังประทับใจมากๆ จนแทบไม่อยากจะคืนรถเขาไปเลยจริงๆ

 

 

1 ปีผ่านไป

วันนี้ ความประทับใจดังกล่าว หวนกลับมาให้สัมผัสกันอีกครั้ง ถึงยังหน้าบ้านเลย

อย่างที่คุณๆคงทราบกันดี หลังจากมีเหตุ ให้ผม ออกมาเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง
อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับ การปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ของ ซีรีส์ 3 รุ่น E90 ในเมืองไทย
(ซึ่งถือเอาวันเปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรก ว่าเกิดขึ้นในรอบสื่อมวลชน ของงาน บางกอก
อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ 2009 ปลายเดือนมีนาคม)

ในเมื่อ รถรุ่นนี้ ติดอยู่กับ 1 ใน 51 รีวิว ที่ผมไม่สามารถจะนำมาโพสต์ใหม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เลยจะต้องทำรีวิวขึ้นมาใหม่ และในเมื่อ รถรุ่นเดิม คันสีเงินนั้น
ไม่มีให้ยืมอีกแล้ว ผมจึงต้องรอกันจนถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อที่ทาง BMW Thailand
จะส่งมอบรถคันสีดำ อันเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ มาให้ทำรีวิวกันใหม่อีกครั้งในคราวนี้
 
ดังนั้น เมื่อนับจากวันแรก ที่ได้ทดลองขับ รถรุ่น 320i 330i และ 320d ซาลูน
จนถึงวันนี้ วันที่ รถคันใหม่ สีดำ คืนกลับสู่ BMW Thailand เรียบร้อยแล้ว
ถ้านับรวมตังถังคูเป้ และเปิดประทุนด้วยทั้งหมด อีก 4 คัน
(รุ่นเปิดประทุน 325i และรุ่นคูเป้ ทั้ง 325i 320d กับ 330d)

เท่ากับว่า มี ซีรีส์ 3 ตระกูล E90 E92 E93 ผ่านมือผมไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 8 คัน!

โว้ว เยอะกว่าที่คิดไว้เลยนะเนี่ย! 

เอาละครับ ถึงเวลาแล้ว ที่คุณจะได้รู้กันเสียทีว่า 1 ปีผ๋านไป กับ 1 รุ่นปีที่สดใหม่ต่างกัน
มีสิ่งใดบ้างที่เปลี่ยนไป สิ่งใดบ้างที่ดีขึ้น สิ่งใดบ้างที่แย่ลง
และรถรุ่นนี้จะยังคงทำให้ผมประทับใจเหมือนเดิมได้หรือไม่

คำตอบรออยู่แล้ว ข้างล่างนี้

 

แม้ว่า 320d จะเปิดตัวพร้อมกันกับ ซีรีส์ 3 ตัวถัง E90 ซาลูน รุ่นอื่นๆ
มาตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2005 พร้อมๆ กันกับหลายๆประเทศทั่วโลก
(ส่วนเมืองไทย เปิดตัวในเดือนเดียวกัน และเริ่มออกแสดงในบางกอกมอเตอร์โชว์ 2005)

แต่ BMW Thailand ใช้เวลาหยั่งกระแสตลาดนานมากกกกกก กว่าจะนำ 320d
เข้ามาเปิดตัวทำตลาดในเมืองไทย ต้องหยั่งกระแสด้วย 520d ส่งเข้ามาปูทางก่อนล่วงหน้า
จนเห็นว่า ประสบความสำเร็จดี จึงได้ต่อยอดด้วย ก๊อก 2 อย่าง 320d ก๊อก 3 อย่าง X3 xDrive 2.0d
แล้วจึงต่อยอดด้วย 520d E60 ไมเนอร์เชนจ์ ตามด้วย X5 xDrive 3.0d เมื่องาน Motor Expo 2008
ก่อนจะถึงคิวของ 320d ไมเนอร์เชนจ์ เมื่องาน บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ปลายมีนาคม 2009

ทั้งที่ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ของซีรีส์ 3 ที่คุณเห็นอยู่นี้ ทาง BMW มิวนิค เยอรมัน
ปล่อยภาพแรก ออกมาแล้ว เมื่อ 11 กรกฎาคม 2008 กว่าที่เมืองไทยจะได้เป็นเจ้าของกัน
ก็ต้องรอไปพักใหญ่ๆ กระนั้น ก็ไม่ถือว่านานอย่างที่คิด

 

E90 ถือเป็น ซีรีส์ 3 ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานหลักๆร่วมกับ ซีรีส์ 3 E46 รุ่นเดิม
อยู่พอสมควร ดังนั้น โครงสร้างภายนอก อาจจะดูเหมือนไม่แตกต่างกันมากนัก
และ BMW ใช้วิธี วาดเส้นสายตัวรถตามแนวทางที่ Chris Bangle ผู้นำฝ่ายออกแบบคนเก่าของตน
เคยกำหนดไว้ จนทำให้ตัวรถดูแตกต่างไปจากรุ่นเดิม ชัดเจน แต่แค่นิดหน่อย

แน่ละ เพราะการจะเปลี่ยนโฉมใหม่ในแต่ละครั้ง จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอยู่ใช่เล่น
การปรับปรุง รถยนต์รุ่นขายดีที่สุด ของค่ายใดก็ตาม นั่นคือต้องรวบรวมทั้ง ความกล้าของผู้บริหาร
บวกกับความต้องการของผู้บริโภค กลั่นกรองให้ฝ่ายออกแบบ และฝ่ายวิศวกรรม ทำงานประสานเสียง
กับฝ่ายบัญชี ผู้กุมเงิน และฝ่ายการตลาด ผู้วางแผนงานขาย ไปจนถึงฝ่ายบริการ ที่จะต้องมารับหน้าที่
ดูแลซ่อมบำรุงผลงานที่ทุกๆฝ่าย ทำทิ้งเอาไว้ ในตอนที่รถตกไปอยู่ในมือของลูกค้าแล้ว

 

 

ความเปลี่ยนแปลงในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ของซีรีส์ 3 คราวนี้ เกิดขึ้นกับงานออกแบบ
ชิ้นส่วนด้านหน้าและด้านหลัง เป็นหลัก เน้นปรับความสดใหม่ ให้รถดูร่วมสมัยขึ้น
ฝากระโปรงหน้า เพิ่มแนวเส้นด้านบน แบบที่ BMW เรียกว่า “สันคมแบบหัวธนู”

กระจังหน้าแบบใหม่ โค้งมนกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน มีขอบนอก เป็นพื้นผิวแบบ 3 มิติ
เช่นเดียวกับ เปลือกกันชนหน้า แบบพลาสติค รีไซเคิล ที่ออกแบบขึ้นใหม่ ให้หน้ารถ
ดูเหมือนจะยิ้มกว้างขึ้น พร้อมไฟตัดหมอกหน้า ดีไซน์ใหม่

ชุดไฟหน้าออกแบบขึ้นใหม่ เป็นแบบ ไบ-ซีนอน และมีชุดไฟเลี้ยวแบบ LED
ออกแบบ ให้ดูคล้ายกับการประดับด้วย กากเพชร

ขณะเดียวกัน บั้นท้ายก็มีการปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนฝากระโปรงท้ายทั้งชิ้น
เพราะต้องรองรับกับ ชุดไฟท้าย ซึ่งมาพร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED ไฟถอยหลัง
และแผงทับทิมสะท้อนแสง ดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ออกแบบมาเพื่อเน้นให้ตัวรถดูกว้างขึ้น

รวมทั้งยังมีการออกแบบกันชนท้าย ให้ใหญ่โตขึ้น  และเปี่ยนสเกิร์ตด้านข้างลำตัว
ให้ดูเรียบร้อยขึ้น ช่วยในการลดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ลดลงจาก Cd 0.28 เหลือ Cd 0.26

การปรับเปลี่ยนเปลือกกันชนหน้าและหลัง ทำให้ ระยะ Overhang หน้า
หรือระยะห่างจากล้อจนถึงกันชนหน้า เพิ่มขึ้น 2 มิลลิเมตร
ขณะที่ ระยะ Overhang หลัง (จากล้อจนถึงกันชนหลัง เพิ่มขึ้นอีก 9 มิลลิเมตร)

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง ความกว้างช่วงล้อ ซ้าย-ขวา ให้เพิ่มขึ้นอีก โดยความกว้างช่วงล้อหน้า
เพิ่มขึ้น 6 มิลลิเมตร ขณะที่ความกว้างช่วงล้อหลัง ปรับปรุงให้เพิ่มขึ้นถึง 22 มิลลิเมตร!

 

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ส่งผลให้ ความยาวตัวถัง ของ E90 ซาลูนที่ยาว 4,520 มิลลิเมตร
เพิ่มขึ้นเป็น 4,531 มิลลิเมตร นอกนั้น ความกว้าง 1,817 มิลลิเมตร ความสูง 1,421 มิลลิเมตร
และระยะฐานล้อยาว 2,760 มิลลิเมตร ยังคงเหมือนเดิม

ในรุ่น 320d SE คันที่เรารับมาทำรีวิวในครั้งนี้
ใช้ระบบกุญแจเป็นแบบ Comfort Access หรืออันที่จริงแล้วมันก็คือ Keyless Entry ตามสมัยนิยม
หากพกรีโมทกุญแจอยู่กับตัว และต้องการจะเปิดประตูรถ หรือล็อกรถ ให้เอานิ้วไปแตะที่ ขีดเล็กๆ 4 ขีด
บนมือจับประตู เท่านั้น ระบบล็อกก็จะทำหน้าที่ ปลดหรือสั่งล็อกประตูทั้ง 4 บานให้
แต่ต้องทิ้งระยะการทำงานให้มันนิดนึง หลังจากสั่งล็อก หรือปลดล็อกไปแล้ว
ถ้าไม่ทันใจ? กดปุ่ม บนรีโมทกุญแจเองเลยจะดีกว่า

 

และในยามค่ำคืน เมื่อปลดล็อกประตูแล้ว คุณจะพบ หลอดไฟเล็กๆ
ฝังตัวอยู่ใต้มือจับเปิดประตูทั้ง 4 บาน ส่องสว่าง พื้นที่รอบคันรถ
ให้คุณได้เห็นสรรพสิ่งรอบตัว เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ได้ทำสิ่งของใดๆตกหล่นไว้
ก่อนจะขึ้นรถขับออกไป

จังหวะเดียวกัน ไฟในห้องโดยสาร ก็จะค่อยๆสว่างขึ้นมา ต้อนรับผู้โดยสาร
ตามมาตรฐานของรถยนต์นั่งทั่วไป สมัยใหม่ ที่เขาเป็นกันแล้ว

 

เมื่อเปิดประตูคู่หน้า แน่นอนละว่า ภายในห้องโดยสาร อาจจะดูไม่ต่างจาก
ซีรีส์ 3 รุ่น 320d รุ่นปี 2008 คันสีเงิน ภายในสีดำ ข้างบนนี้มากนัก
ในเมื่อมันอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานหลักร่วมกัน

 

แต่กับรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ในคราวนี้…

วินาทีแรก ที่เปิดประตูรถ
จริงอยู่ แม้จะยังเป็น ซีรีส์ 3 คันเดิมที่ผมคุ้นเคย
แต่ กลับไม่คิดว่า มันเหมือนเดิม

เพราะ สัมผัสได้เลยว่า มีบางสิ่ง เปลี่ยนไป…

แค่เพียงภาพที่เห็น ว่านำมาเปรียบเทียบโดยตั้งใจ ก็น่าจะชัดเจนในตัวของมัน

 

ผมเพิ่งสังเกตก็คราวนี้เองละว่า เบาะนั่งของรุ่นซีดานนั้น เอาเข้าจริง มันมีการโอบกระชับ
ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ดีกว่ารุ่น คูเป้ จริงอยู่ว่า เบาะรองนั่ง และชุดฐานสำหรับการติดตั้งเบาะ
ยึดกับพื้นตัวถังรถ ไปจนถึง ระบบสวิชต์เลื่อนขึ้นหน้า ถอยหลัง หรือปรับเอนพนักพิง ด้วยไฟฟ้า
ของเบาะคู่หน้าทั้ง ซ้าย-ขวา พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ และตำแหน่งกระจกมองข้างไปในตัว
รวม  2 ตำแหน่ง ที่พบในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ยังคงยกมาจากรุ่นเดิม รวมทั้งรุ่นคูเป้ (แตกต่างจากคูเป้
แค่ มือจับดึงโยกพนักพิงมาข้างหน้า ที่ทำงานร่วมกับระบบไฟฟ้า เพื่อการเข้าออกจากเบาะหลังแค่นั้น)

การใช้งาน ก็เช่นเคย ปรับตำแหน่งเบาะและกระจกมองข้างให้เรียบร้อยเสียก่อน
จากนั้น กดปุ่ม M จนไฟสีแดงขึ้น แล้วกดปุ่ม 1 หรือ 2 ตามแต่ตำแหน่งที่เราต้องการให้ระบบมันจำ

 

แต่ เมื่อพินิจดูให้ดี พนักพิงหลัง และพนักศีรษะของแต่ละรุ่นนั้น แตกต่างกันไปเลย
มีการออกแบบลวดลายที่แตกต่างกัน เล็กน้อย อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นแรก แล้ว
รุ่นไมเนอร์เชนจ์ คันสีดำข้างบนนี้ จะมีพนักศีรษะที่หนา มาเป็นก้อน มากกว่ารุ่นเดิม เสียอีก

เบาะนั่งยังคง ใช้หนังแท้ Dakota อันเป็นวัสดุแบบเดียวกันในซีรีส์ 3 ทั้งประกอบในไทย
และรุ่นคูเป้ กับเปิดประทุน ที่นำเข้าจากเยอรมัน เพียงแต่คราวนี้ เปลี่ยนมาใช้ สีกาแฟใส่นมแทน

 

ส่วนทางเข้าประตูคู่หลัง มีขนาดเท่าๆกันกับรถรุ่นเดิม E46 หากมองจากรูปนี้
คุณจะยังเห็นช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง และที่เขี่ยบุหรี่ แบบมีฝาพับเก็บได้

พื้นที่วางขาด้านหลังยังถือว่าสบายกว่า Audi A4 รุ่นเดิมที่เพิ่งจะตกรุ่นไป
ที่วางแขนบนประตูทั้ง 4 บาน ออกแบบให้ลาดลงเล็กน้อย และออกแบบในตำแหน่งที่เหมาะสม
เพื่อให้มีการไหลเวียนของกระแสเลือดบริเณช่วงแขนที่ดี ช่วยผ่อนคลายความเมื่อยได้จริง

 

อย่างไรก็ตาม เพดานหลังคา แทนที่จะบุด้วยผ้าโทนสว่างเหมือนเช่นที่เคยเป็น
คราวนี้ ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ แม้จะยังบุด้วยผ้าอันอ่อนนุ่ม ตามแบบปกติที่เคยเป็นมา
ทว่า มันเป็นสีดำ เหมือนที่พบได้ใน 320d Coupe E92 แม้จะทำให้รถยิ่งดูขรึมกว่าเดิม
แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้หลายคนคิดไปเองได้ว่า ห้องโดยสารแคบกว่าเดิม
ทั้งที่จริงๆแล้ว ขนาดของมันก็เท่าเดิมนั่นละ 

 

แต่เบาะนั่งด้านหลังก็ยังคงเหมือนเดิม ซุ้มล้อคู่หลังยังคงเบียดบังเข้ามายังพื้นที่นั่งเล็กน้อย
เช่นเดียวกับ Lexus IS 250 แม้จะไม่มากจนน่ารำคาญเท่ากับ BMW ซีรีส์ 1 แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้
ความเมื่อยล้าจากการโดยสารบนเบาะหลังเจือจางลงไป พื้นที่เหนือศีรษะ ยังพอมี ให้กับผู้ที่
มีความสูงไม่เกิน 180 เซ็นติเมตร

 

เบาะรุ่นใหม่ ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ พนักศีรษะตรงกลาง สามารถกดปุ่มด้านข้าง 
เพื่อยกขึ้นมาเป็นอย่างรูปข้างล่างนี้ได้ ที่วางแขนตรงกลางพับเก็บได้ ยังคงมีช่องใส่แก้ว 2 ตำแหน่ง 
ซึ่งดูเหมือนว่า ใช้งานจริงได้ไม่ค่อยจะดีนัก หากวางขวดน้ำ 7 บาท เข็มขัดนิรภัยบนเบาะหลัง
เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง

 

เนื่องจาก รถรุ่นนี้ เป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ดังนั้น แม้จะมีการเปลี่ยนฝากระโปรงท้ายทั้งชิ้น
แต่ ชุดกลไก และช็อกอัพในการค้ำฝากระโปรงหลังเอาไว้ รวมทั้งพื้นที่ด้านในห้องเก็บของด้านหลัง
ยังเหมือนเดิมอยู่ จึงนำรูปของรถรุ่นเก่า มาใช้แทนกันได้เลยในคราวเดียว

 

ฝั่งขวา เป็นที่วางชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ที่เรามักพบเห็นได้ในรถยุโรปชั้นดีอย่างนี้
รวมทั้งเป็นช่องวางคู่มือผู้ใช้รถและซองใส่เอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง

(ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เอาไปไว้ในลิ้นชักบนแผงหน้าปัด
เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาซะก็สิ้นเรื่อง
ในรถคันสีเงิน ผมก็หาซะตั้งนาน กว่าจะเจอ
ตอนแรกก็ยังสงสัยเหมือนกันว่า เขาไมได้ให้คู่มือมาจริงเหรอ
เพราะในใบตรวจปล่อยรถที่ตรวจเช็คกันก่อนส่งรถให้ผมก็ระบุว่า
มีคู่มือมาให้

พอเปิดฝากระโปรงท้าย ก็เลยถึงบางอ้อ….ว่ามาอยู่ตรงนี้หนะเอง)

พอเป็นรถคันสีดำ คราวนี้ ผมไม่หลงกลง่ายๆแล้วละ ขับมาตั้ง 8 คัน ยังจำตำแหน่งไม่ได้ นี่ไม่ไหวแล้วนะ

 

 

ฝั่งซ้าย ไว้เก็บอุปกรณ์ซ่อมรถยามฉุกเฉิน
และมีช่องสำหรับติดตั้ง CD-Changer แบบ 6 แผ่นด้วย 

คันสีดำก็มี แต่ว่ากล่องสำหรับใส่แผ่นซีดีมันไม่อยู่ 
เจ้ากล้วย BnN สันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่าอาจจะถูกถอดออกไป
สงสัยไปลาคลอด….!


ส่วนยางติดรถนั้น ยังคงเป็นยาง Run Flat Tyre
นั่นหมายความว่า จะไม่มียางอะไหล่แถมมาให้
แต่จะมีชุดปะยางทำหน้าที่แทน

 

แผงหน้าปัดในรุ่นดั้งเดิม กับรุ่นใหม่ แม้ดูผิวเผิน เหมือนจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
ยังคง มีที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง ที่วางในตำแหน่งแปลกๆ และเมื่อใช้งานจริง
วางแก้วน้ำขนาดที่เหมากับตัวของมันได้ แต่วางขวดน้ำขนาด 7 บาท อันเป็น
ขวดน้ำที่ผมดื่มเป็นประจำ ไม่ได้เรื่องเลย ตามเคย ขับๆอยู่ ขวดกระเด็นกระดอน
ตกไปอยู่บนพื้นพรมซะแทน ดีแต่ปิดฝาขวดแน่นนะ ไม่เช่นนั้น คงงานเข้า

ไฟส่องสว่างภายในรถ มีทั้งไฟในเก๋ง และไฟอ่านแผนที่
ส่วนแผงบังแดดภายใน ไม่มีไฟส่องสว่างสำหรับแต่งหน้ามาให้

 

แต่ความจริงแล้ว ในรุ่นใหม่ มีมีอุปกรณ์พื้นฐานทั้งหมดข้างต้นนี้ เหมือนเดิม
กระนั้น ยังมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกัน รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุที่ดีขึ้นกว่าเดิม นิดนึง

ยกตัวอย่าง ที่เห็นกันโต้งๆในภาพนี้เลย

กระจกมองหลัง ตัดแสดงได้โดยอัตโนมัติ คราวนี้ เพิ่มเข็มทิศ ดิจิตอล มาให้เป็นพิเศษ 

 

พวงมาลัยแบบ Multi Function มีก้านควบคุมระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control มาให้ ที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย
และ มีปุ่มควบคุมหลัก ของระบบ Voice Control ใช้สั่งการทำงานของชุดเครื่องเสียง และระบบ Bluetooth สำหรับโทรศัพท์ติดรถ

 

การติดเครื่องยนต์ ใช้ระบบกดปุ่มสวิชต์ Start Button
จะเสียบหรือไม่ต้องเสียบ รีโมทกุญแจไว้กับช่องเสียบที่ใต้ปุ่มติดเครื่องยนต์ก็ได้ทั้งสิ้น

 

เมื่อกด สวิชต์ ติดเครื่องยนต์แล้ว ชุดมาตรวัด พร้อมจอแสดงข้อมูลของตัวรถ ซึ่งเหมือนกับรถรุ่นเดิมเป๊ะ
จะติดสว่างขึ้นมา อย่างที่เห็น ไม่มีมาตรวัดความร้อนมาให้ เช่นเดียวกับรถสมัยใหม่
ในช่วงระยะหลังมานี้หลายรุ่น ทั้ง วีออส ยาริส เทียนารุ่นแรก แจ้ส ซิตี้ ฯลฯ

แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะมีสัญญาณแจ้งเตือนความดันลมยางต่ำ
(ระบบ Tyre Pressure Monitoring) แจ้งเตือนอยู่บนชุดมาตรวัดด้วย

 

 

(รถรุ่นปี 2008)

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่ง อยู่ที่ชุดแผงควบคุมกลางนี่ละครับ
ในรถรุ่นปี 2008 กับ 2009 นั้น หากดูจากภาพบนและล่างนี้ แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย
ซึ่ง อันที่จริง ก็เป็นไปตามนั้นครับ แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเท่าใดนัก

ระบบปรับอากาศเป็นแบบดิจิตอล แยกฝั่งซ้าย-ขวา ระบบหน้ากากเปิด-ปิดรับอากาศจากภายนอกรถ
จะทำงานโดยอัตโนมัติ เหมือนกับ BMW และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นอื่นๆ จนน่าปวดหัว ต้องคอยกดปุ่ม
ให้มันปิดตัวอยู่เรื่อยๆ แต่ทำงานเย็นเร็วดี และมีกลิ่นสะสมนิดนึง
ตามธรรมดาของรถที่ผ่านการใช้งานมาพอสมควร ก่อนถึงมือผม

มีสวิชต์เปิด-ปิดม่านบังแดดหลังไฟฟ้า และระบบเซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด Parktronic
ที่จะทำงานทันทีเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง และระยะสัญญาณ ค่อนข้างละเอียด ไว้ใจได้

ขณะที่ปุ่มปลดและสั่งล็อกประตู สวิชต์ไฟฉุกเฉิน และปุ่มสั่งเปิด-ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ DTC
Dynamic Traction Control ติดตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างช่องหน้ากากแอร์
ซึ่งถึงแม้ รถรุ่นนี้จะผ่านมือผมมากี่คัน ผมก็ยังต้องคลำหากันพักนึงแทบทุกครั้งที่จะเปิดประตูให้กับผู้โดยสาร

ชุดเครื่องเสียงที่ติดรถมาให้นั้น คุณภาพเสียงถือว่าดีกว่า BMW หลายๆคันที่เคยผ่านมือผมมา
แน่นอนว่า เป็นรองแค่ชุดเครื่องเสียงใน 530i E60 ที่มีระบบ Dolby Pro Logic 7

และในภาพบนนั้น คือหน้าจอของระบบ i-Drive แบบเก่า 

(รุ่นไมเนอร์เชนจ์ 2009)

แต่สิ่งที่ทำให้รถรุ่นปี 2008 และรุ่นปี 2009 ต่างกัน ก็คือ ช่องใส่แผ่น DVD
เห็นไหมครับว่า ในรถรุ่นก่อน ยังมีมาให้ แต่ในรถรุ่นใหม่ ถูกถอดออกไป

ที่ถอดออกไปหนะ เพราะว่ามันไม่จำเป็นเลยต่างหาก ช่องใส่แผ่น ที่คุณเห็นนั้น
เอาเข้าจริงแล้ว สามารถ เล่น แผ่น DVD ได้ เองแล้ว ต่างหาก! โดยจอมอนิเตอร์
จะยังคงทำงานให้คุณได้ดู บันทึกการแสดงคอนเสิร์ต หรือภาพยนตร์ที่อยากดูได้
ตราบเท่าที่รถยังไม่เคลื่อนออกไปด้วยความเร็วเกินกว่า 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จอมอนิเตอร์ จะตัดการทำงาน ทันที ให้คุณฟังแต่เสียง และใช้สมาธิในการขับรถ
เพื่อคยวามปลอดภัยของคุณเอง

รู้อยู่ว่า ปัจจุบันนี้ สามารถจะนำรถไปให้ร้านเครื่องเสียงข้างนอก
ปลดล็อกการทำงานนี้ได้ แต่ ถ้าผู้ผลิตเขาคิดมาให้ เพื่อความปลอดภัยของคุณละก็
ทางที่ดี ไม่ต้องไปปลดออกหรอกครับ

นอกจากนี้ ในรถรุ่นใหม่นี้ แผงสวิชต์ใต้ช่องใส่แผ่นดิสก์ หากคุณลองรูดนิ้ว
ลงไปบนนั้น จะเห็นแถบเมนูด้านบนจอมอนิเตอร์ ค่อยๆ โผล่แบบป๊อปอัพขึ้นมา
แสดงให้เห็นว่า ปุ่มนั้น ณ ฟังก์ชันหน้าจอนั้น จะทำหน้าที่อะไร เปลี่ยนคลื่นวิทยุเป็นช่องไหน
เพื่อลดการละสายตาลงต่ำมากเกินไป (อันที่จริงจะดีกว่านี้ ถ้าแสดงผลกันบนชุดมาตรวัด
หรือกระจกบังลมหน้ารถไปซะเลย)

 

อีกการเปลี่ยนแปลงสำคัญของ ซีรีส์ 3 ไมเนอร์เชนจ์ ในครั้งนี้ อยู่ที่การปรับปรุงระบบ
ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ อย่าง i-Drive ให้มีฟังก์ชันการทำงานที่สะดวก ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม

การเลือกเปลี่ยนและใช้งานเมนูต่างๆ นั้น มีทั้งการใช้วิธีดั้งเดิม คือเลื่อนปุ่มหมุน ไปทางขวา เป็นหลัก ต้องการใช้งานฟังก์ชันไหน
กดปุ่มหมุนลงไปอีกที เพื่อยืนยัน หมุนๆ ปรับๆ ตามต้องการ กดยืนยันอีกที เท่านี้เป็นอันเรียบร้อย โดยส่วนใหญ่

หรือ กดปุ่มเลือกโหมดตามต้องการ ว่าจะเข้าไปยัง โหมด วิทยุ เครื่องเล่น CD ฯลฯ
ซึ่งคราวนี้ ตัดระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศ อันวุ่นวายสับสนออกไป ช่วยให้ใช้งานง่ายขึ้นเยอะ
 
ถ้าจะแสดงการทำงานให้ชมกันครบทุกหมวด คาดว่า ต้องใช้เวลาโหลดภาพจากรีวิวนี้กันอีกนาน
ดังนั้น การเลือกมาให้ชม เฉพาะหน้าจอหลักๆ ที่สำคัญๆ นั่นคงจะเพียงพอแล้ว

นี่คือหน้าจอ เริ่มต้น เมื่อติดเครื่องยนต์ อันเป็นเมนูหลัก ซึ่งยังคงใช้หลักการเดิมได้
นั่นคือ ถ้าคิดไม่ออก บอกไม่ถูก ว่าจะไปทางไหน กดปุ่มใหญ่ MENU ก็จะกลับมาที่หน้าจอนี้
(เชื่อว่าหลังจากนี้ คุณจะกดปุ่มนี้น้อยลง เพราะเมนูต่างๆ ใช้งานง่ายขึ้น)

อยากเข้าไปใช้งานเมนูไหน หมุนๆ แล้วกดปุ่มหมุนนั่นละ

ในโหมดวิทยุ และ โทรศัพท์ บางครั้ง การป้อนข้อมูล หรือ ช่องสถานีคลื่นวิทยุ
หน้าจอสำหรับให้ผู้ขับขี่ป้อนข้อมูล จะเป็นแบบนี้
เราสามารถสั่งให้ระบบ แสดงหน้าจอ เดี่ยว หรือหน้าจอแยก อย่างที่เห็นนี้ก็ได้

 

นอกจากนี้ การแสดงข้อมูลสถานภาพระบบต่างๆของรถ ทั้ง ระบบตรวจสอบความดันลมยาง
Tyre Pressure Monitoring System ระบบตรวจสอบของเหลวต่างๆในรถ ไปจนถึงระดับน้ำมันเครื่อง ฯลฯ
คราวนี้ มีภาพกราฟฟิค ให้เห็นถึงตัวรถ เป็นชิ้นๆ ไป ช่วยทำให้ i-Drive เวอร์ชันใหม่ “ดู Hi-so” และ “แรด” ขึ้นไปอีกนิด

แรด ที่ว่านี้ ความหมาย เป็นในเชิงบวกนะครับ (^_^)

 

หน้าจอวิทยุ นี้ คือตัวอย่างให้เห็นว่า คุณสามารถใช้ ปุ่มหมุน เลื่อนซ้ายขวา เพื่อเลื่อนเปลี่ยนโปรแกมหลัก
ถ้าจะหมุนเปลี่ยนคลื่น ก็หมุน ที่ปุ่มหมุนได้เลย ขอบอกว่า การทำงานนั้น ไวมากๆ
เสี้ยววินาที ที่เจอคลื่นที่คุณต้องการ เสียงมาทันที ไม่มีดีเลย์

ในโหมดเครื่องเล่น CD นั้น รถทดลองขับคันนี้ ไม่ได้ติดตั้ง CD Changer มาให้ที่ด้านหลังรถอย่างที่ควรเป็น
ดังนั้น จึงเล่นแผ่น CD ได้ครั้งละ 1 แผ่น แต่ ไม่ใช่ปัญหาเลย ถ้าเช้านั้น คุณรีบ และลืมหยิบ CD ขึ้นมาบนรถ
เพราะ ทุกครั้ง ที่คุณใส่แผ่น CD เข้าไปในเครื่อง ระบบ จะบันทึกเสียง เข้าไปใน Harddrive ของระบบให้เลย
อันเป็นระบบเดียวกับที่มีอยู่ใน Honda Accord รุ่นปัจจุบัน คันที่มีระบบนำทาง Navigator ดังนั้น คุณสามารถ
เลือกไฟล์เพลง จากหน่วยความจำในเครื่องได้ทันที

 

ในเมื่อ มีโทรทัศน์ติดรถมาให้ ดูช่องฟรีทีวี ตามปกติ รวมทั้ง THAI PBS ได้
(แด่ดู เคเบิลทั้งหลาย โดยเฉพาะ เนชันแชนแนล ASTV DTV LIVE ฯลฯ ไม่ได้)

นั่นย่อมหมายความว่า สามรถเล่นแผ่น DVD ได้เช่นกัน
เลยหาแผ่นที่เข้ากับสถานการณ์โลกช่วงนี้ มาเปิดให้ชมกันแก้คิดถึง…

เมื่อใดที่รถเคลื่อนตัวออกไป เกิน 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หน้าจอก็จะตัดเข้าสู่ โหมด Safety อัตโนมัติ

 

แถมหน้าจอ แสดงระยะความใกล้ของสัญญาณ Park Sensor รอบคัน
ยังมีการเปลี่ยนภาพตัวรถ กราฟฟิค ใหม่ ให้ตัวรถในภาพ ดูสวยงามยิ่งขึ้น

เอากับเขาสิ!

เรื่องเดียวที่น่าเสียดายคือ จนป่านนี้ BMW ก็ยังสงวนระบบนำทาง Navigation System เอาไว้กับ ซีรีส์ 7 ใหม่เท่านั้น

ลูกค้าของรถรุ่นอื่นๆ ก็คงต้องรอกันต่อไป ถึงรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ ใน 2 ปีข้างหน้าเลยกระมัง?

แผ่นวางแขนบริเวณคอนโซลกลาง สามารถเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้
เปิดออกดูจะพบ ช่องเสียบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และช่อง AUX สำหรับเชื่อมต่อ
กับเครื่องเล่น MP3 นอกจากนี้ยังมี USB Connector  ซึ่งสามารถเล่นเพลงจาก
USB Memory Stick หรือ iPod ได้ และระบบ Bluetooth แฮนด์สฟรี
เพื่อใช้ร่วมกับฟังก์ชันโทรศัพท์ในขณะขับรถ

อุปกรณ์ความปลอดภัยที่มีมาให้นั้น นอกเหนือจากเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบลดแรงปะทะ
และดึงกลับอัตโมัติ แล้ว ยังมีถุงลมนิรภัย คู่หน้า ถุงลมด้านข้าง และม่านลมนิรภัยรวม 6 ใบ

รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ในห้องโดยสารนั้น ลองเข้าไปเดินเล่นใน www.bmw.co.th
ซึ่งจะมีแค็ตตาล็อกให้ดาวน์โหลด แต่รายละเอียดไม่ค่อยครบถ้วน
หรือแม้กระทั่ง มีคู่มือผู้ใช้รถ ให้ดาวน์โหลดเก็บมาใช้งานได้
(แต่คุณต้องใช้รถ BMW และมี user กับ password เข้าเว็บเสียก่อน)

สรุปว่า เดินเข้าโชว์รูมไปเลยจะเร็วกว่า และได้ข้อมูลน่าจะครบกว่าในเว็บของ BMW เอง อยู่ดี

ทัศนวิสัยรอบคันนั้น แม้เสากรอบโครงสร้างประตู และกระจกหน้าต่าง ยังเหมือนเดิม
แต่ ด้วยเหตุที่มีการเปลี่ยนกระจกมองข้างใหม่ ดังนั้น เราจึงอยากให้คุณลองเทียบความแตกต่าง
ระหว่าง กระจกมองข้างชุดเก่า และชุดใหม่ ของรถรุ่นปี 2009 ด้วยตาคุณเอง

รูปนี้ คือ รถรุ่นเดิม รุ่นปี 2008

 

 และนี่คือกระจกมองข้างในรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์ 2009

 ขนาดที่ใหญ่โตขึ้น และสูงขึ้น ช่วยให้เห็นรถคันที่ตามมาชัดเจนขึ้น

 นี่คือรถรุ่นปี 2008 จะเห็นว่าทัศนวิสัยแย่ การเปลี่ยนเลนลำบากหน่อย ต้องอาศัยความเคยชิน

 

 ขณะที่รถรุ่นไมเนอร์เชนจ์ 2009 กระจกมองข้างที่สูงขึ้นนิดหน่อย ช่วยเพิ่มการมองเห็นรถที่ตามมาดีขึ้นนิดหน่อย

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ยังคงเหมือนเดิม

แม้จะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อาจต้องใช้ความระมัดระวังกับจักรยานยนต์บ้าง ตามปกติ

และต่อให้เอาม่านไฟฟ้า ขึ้นมาบังแดด ทัศนวิสัย ก็ยังไม่ถึงกับโดนบดบังมากมายนัก
เพราะม่านเป็นแบบโปร่งแสง พอจะเห็นรถคันที่ตามมาได้

 

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ ที่วางอยู่ใน 320d ที่ทำตลาดอยู่ในเมืองไทย
นับตั้งแต่ ปี 2008 เป็นต้นมา ทั้งรุ่น แรก และรุ่นไมเนอร์เชนจ์ คันสีดำนี้

เป็นเครื่องยนต์ รหัส N47D20
ดีเซล บล็อก 4 สูบเรียง วางตามยาวไปทางด้านหลัง DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1
ใช้ระบบกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ DDE 7.1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วย
ระบบคอมมอนเรล เจเนอเรชันที่ 3 Direct Injection ด้วยหัวฉีด Piezo
พร้อมระบบอัดอากาศแบบ เทอร์โบ แปรผันครีบ

กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (HP) หรือ 130 กิโลวัตต์ ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 35.6 กก.-ม. หรือ 350 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,750 – 3,000 รอบ/นาที

เครื่องยนต์นี้ เพิ่งออกสู่ตลาดโลกเมื่อกลางปี 2007 ที่ผ่านมานี้เอง
เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับที่วางใน 520d ไมเนอร์เชนจ์ และ X3 2.0d ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัว
ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2008 ที่ผ่านมา รวมทั้ง ซีรีส์ 1 ไมเนอร์เชนจ์ รุ่น 120d ทุกตัวถัง

 

 

 

ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 
พร้อมโหมดบวกลบ Steptronic มาดูอัตราทดเกียร์กันสักหน่อยดีกว่าครับ

เกียร์ 1……………………..4.171
เกียร์ 2……………………..2.340
เกียร์ 3……………………..1.521
เกียร์ 4……………………..1.143
เกียร์ 5……………………..0.867
เกียร์ 6……………………..0.691
เกียร์ถอยหลัง………………3.403
อัตราทดเฟืองท้าย………….3.154

ฉุดลากตัวรถที่มีน้ำหนักตัว Unladen weight : ประมาณ 1,445 กิโลกรัม
(ซึ่ง BMW ถือว่า เป็นน้ำหนักตัวที่รวม น้ำมัน 90 เปอร์เซนต์ของความจุถัง
น้ำหนักตัวคนขับ 68 กิโลกรัม และ น้ำหนักสัมภาระอีก 7 กิโลกรัม)

เราทดลองขับด้วยมาตรฐานเดิม
คือ นั่งสองคน เปิดแอร์ และใช้เวลาช่วงกลางคืน จึงต้องเปิดไฟหน้า
ตัวเลขที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับซีรีส์ 3 รุ่นอื่นๆ รวมทั้งรถในระดับเดียวกันของคู่แข่ง มีดังนี้ครับ

 

 

 

หากดูจากตัวเลขแล้ว จะพบว่าตัวเลขอัตราเร่งของ 320d นั้น
ใกล้เคียงกับ 330i มาก ด้อยกว่ากันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แรงดึงจากเกียร์ 1 นั้น แรงขนาดดึงให้ร่างของคุณอัดติดกับเบาะได้
ใกล้เคียงและไม่แพ้ 330d Coupe E92 คันที่ผมเคยทดลองขับในระยะทางสั้นๆ
ก่อนหน้านี้มาแล้ว

จริงอยู่ว่า แรงดึงจากแรงบิด 51 กก.-ม. เศษๆ ของ 330d Coupe นั้น จะดึงกระชาก
หนักหนาสาหัสกว่า 320d แต่กับแรงบิดระดับ 36 กิโลกรัมเมตร ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันนักหรอก

การเร่งแซงในแทบทุกย่านความเร็วทำได้ดี ไม่มีอาการลุ้นให้หวาดเสียวหัวใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น
แค่กดันเร่งเท่าที่ใจต้องการ แล้วปล่อยให้ 320d พาคุณพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็วและปราดเปรียว
แซงขึ้นหน้า เป้าหมายที่คุณตั้งใจไว้ อย่างง่ายดาย

การทำความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ครั้งนี้ ตื่นเต้นในระดับ
1 ใน 5 ครั้งที่ดีที่สุด ตื่นเต้นที่สุด และน่าหวาดเสียวที่สุด
เท่าที่ผมเจอมาตลอด 5 ปีนี้เลยทีเดียว

ก็ใครจะไปรู้ละ…
ในเมื่อตัวเลขจากตารางสเป็ก ทางโรงงานเยอรมัน ระบุเอาไว้แค่ 228 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมก็เบาใจสิ ว่า เฮ้อ โล่งอก สงสัยว่า ทดลองความเร็วสูงสุดแต่ละเกียร์ครั้งนี้ ขึ้นเร็ว จบเร็วแน่นอน
ไม่น่าหวาดเสียวมากนัก ดีเหมือนกัน จะได้รีบกลับบ้านกันซะ เพราะเวลาก็เลยเที่ยงคืนมาจนดึกมากแล้ว

และนั่นคือความคิดของผม ก่อนที่เข็มความเร็วจะแตะถึงระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่พอปลายเข็ม ล่วงก้าวข้ามเขตแดน 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เสียงร้องอันน่าตื่นเต้นของน้องแพน ก็เริ่มทำให้ผมตระหนักแล้วว่า
ค่ำคืนนี้ มันไม่น่าจะจบลงรวดเร็วอย่างที่ผมคิดเสียแล้วละ!

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เราทุกคนในรถต่างพากันประหลาดใจกับสิ่งที่ได้เห็นต่อหน้าต่อตา

ว่านี่ขนาดเรานั่งกัน 4 คน แถมน้ำหนักตัวรวมกันแล้ว คิดซะว่า นั่ง 5 คนก็ยังได้เลย
(ผม 95 กิโลกรัม น้องแพน V.Putin ปาเข้าไป 145 กิโลกรัม น้อง Bombe Rhino Mango
80 กิโลกรัม และน้องกล้วย BnN อีก 48 กิโลกรัม รวมแล้ว 368 กิโลกรัม!!!)

320d ยังคงพุ่งไปข้างหน้า โดยที่เข็มความเร็วยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่งเสียที

และเมื่อเสียงของน้องแพนตะโกนบอกว่า 244 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมแช่คันเร่งจมมิดอย่างนั้นต่อไปอีกราวๆ ไม่กี่วินาที จนมั่นใจว่า เข็มมันนิ่งสนิทเสียที
ก็ถึงเวลาถอนเท้าออกจากคันเร่ง…

แต่เอาเข้าจริง ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ที่ทำได้
กับรถเกียร์อัตโนมัติแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้ว จะนั่งกันกี่คน
มันไม่มีผลเท่าไหร่หรอกครับ เพราะส่วนใหญ่ เกียร์จะถูกโปรแกรม
ให้ตัดเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ให้สูงขึ้น ณ รอบเครื่องยนต์ที่ค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว

(แต่จะมีผลแน่นอน หากคุณอยากรุ้ว่า การจะใช้เวลาลากขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุด
ในแต่ละเกียร์นั้น นานแค่ไหน น้ำหนักของผู้โดยสารจึงจะเริ่มมีผลทันที

แต่ในเมื่อ เราไม่ได้ทดลองประเด็นนั้น อีกทั้งการทดลองจับเวลาอัตราเร่ง
เราก็ใช้วิธีดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คนอยู่แล้ว ดังนั้น ตัวเลขความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์
ครั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะนั่งเพียง คนเดียว 2 คน หรือ เต็มคันรถ เกียร์มันก็จะตัดเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไป
ที่ความเร็วบนมาตรวัด ความเร็วรอบเครื่องยนต์ ตำแหน่งเท่ากันอยู่ดี)

และก็ยังยืนยันตามธรรมเนียมเก่าของเราอยู่ดีว่า
คุณหนูๆทางบ้าน โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมนะจ้ะ
รีวิวครั้งนี้ อยู่ในเรต กากบาท 13 อย่าได้เลียนแบบตามอย่างเน่อ
ชีวิตจริงผู้เขียนก็ไมได้ใช้ความเร็วสูงๆระดับนี้ทุกวี่วันแต่อย่างใด

นอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว ถ้าเป็นรถรุ่นอื่นๆทั่วๆไปแล้ว มันยังเปลืองน้ำมันด้วย
หากแต่ ไม่ใช่กับ 320d เพราะหลังจากเหยียบกันเต็มที่ เข็มน้ำมันนั้น
กระดิกเลื่อนลงมาแค่เพียง ขนาดความยาวสุดลำตัวของเชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลัส
ตอนยังไม่ได้ส่องกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น!

ขอย้ำว่า เท่านั้น!! และมันกระดิกตัวน้อยมากๆ เหมือนกับ 330d Coupe ไม่มีผิดเพี้ยน!

เมื่อ ช่วงเวลาที่ทำให้ผมหายใจไม่ค่อยทั่วท้องผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นด้วยดี
ไม่มีรถบ้าห้าร้อยจำพวกของใคร มาขับช้าวิ่งขวา ให้ปากตะไกรของผมทำงาน
พร้อมๆกับเท้าขวาที่ต้องเหยียบเบรกไปพร้อมๆกันแต่อย่างใด

ผมก็ปล่อยพวงมาลัยปรบมือแสดงความดีใจ ที่การหาความเร็วสูงสุดครั้งนี้เสร็จสิ้นเสียที
ทำเอาแพนร้องลั่นรถเลยว่า “เฮ้ย มึมปล่อยพวงมาลัยที่ความเร็ว 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลยเหรอ???”

ผมก็ตอบไปในทันที…

เสียงของผม พูดว่าอะไร ก็ลองไปเปิดฟังดูกันใน คลิป ที่นี่ เอาแล้วกันครับ

ยืนยันว่าไม่ได้เผลอตัว ไมได้ทำอย่างขาดสติ ตรงกันข้าม ที่ทำไปหนะ ทำอย่างมีสติที่สุด คิดไว้แล้วว่า
ถ้ามีปัญหาจะแก้ไขเฉพาะหน้ากันยังไง และเพียงแค่นี้ ก็น่าจะเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ของ 320d นั้น คม ระยะฟรีน้อยกำลังดี น้ำหนักมากในความเร็วต่ำ
แต่ยัง “นิ่ง และยังคงให้ความมั่นใจในย่านความเร็วสูงได้อยู่”
อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยมีน้ำหนักในการหมุนค่อนข้างมากไปหน่อย ในช่วงความเร็วต่ำ
คุณผู้หญิงอาจต้องออกแรงมากกว่าปกติ แต่ในการขับขี่ทั่วไป ผมว่าเซ็ตมาดีทีเดียว

และถ้าคุณพอจะมีวิจารณญาณ คุณก็ควรจะรับรู้ได้เองแล้วเมื่ออ่านมาถึงบรรทุดนี้ว่า
สิ่งที่ผมพูดมาในย่อหน้าข้างบนนี้ ไม่ควรเอาไปปฏิบัติในชีวิตจริงโดยเด็ดขาด!

นอกเหนือจาก การขับขี่อย่างรื่นรมณ์ โดยไม่มี ไฟ Check Engine โผล่ขึ้นมาให้ขวัญผวาเล่นอย่างคราวก่อนแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ว่าเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือ การตอบสนองของระบบกันสะเทือน

จริงอยู่ว่า ระบบกันสะเทือนหน้า ยังคงเป็นแบบ สตรัต ทำจากอะลูมีเนียม พร้อมซับเฟรม
เพื่อหวังช่วยให้น้ำหนักเบาขึ้น 30% โดยที่ด้านหลัง ยังคงเป็นแบบ Multi Link 5 Axle

แต่ ด้วยการเพิ่มความกว้างช่วงล้อหน้า 6 มิลลิเมตร และด้านหลัง อีก 22 มิลลิเมตร
ทำให้การตอบสนอง เปลี่ยนไป การเข้าโค้ง ทำได้มั่นใจยิ่งขึ้น

ในรถรุ่นเดิม ผมเขียนเอาไว้ว่า “ผมพาตัวรถเข้าโค้งรูปตัว S ทางลงทางด่วนพระราม 6
ที่ระดับความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะต้องเหยียบเบรกเต็มเท้าให้รถพุ่งไปจอดนิ่งๆ
อย่างสงบ รอสัญญาณไฟเขียวเป็นคันแรก ได้อย่างมั่นคง แม้จะมีอาการท้ายเริ่มออกนิดๆ
ในโค้งแต่ก็ไม่ได้ออกอาการอย่างชัดเจนนัก ซึ่งดูเหมือนเป็นความจงใจของวิศวกร BMW
เยอรมัน ที่จะเซ็ตให้บั้นท้ายของรถรุ่นนี้ เบากว่ารุ่น E46 เล็กน้อยอยู่แล้ว

และจะเขียนแถมให้สักนิดว่า สัมผัสจากระบบกันสะเทือนของรถรุ่นเดิมนั้น ติดอารมณ์สปอร์ต
แม้จะไม่แข็งกระด้างเกินเหตุ อย่าง 330i แต่ ก็ไม่ได้ถึงกับนุ่มนวลชวนฝัน เหมือนหลับอยู่บนที่นอนดาร์ลิง แน่ๆ

ทว่า ในรถรุ่นใหม่ การตอบสนองของระบบกันสะเทือนนั้น เล่นเอาหมู่เฮา แปลกใจเล็กๆ
ว่าทำไม มันถึงได้ เก็บแรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนนขึ้นมา ได้นุ่มนวลขึ้นขนาดนี้
แม้จะไม่นุ่มขนาด 325i Convertible E93 ซึ่งผมถือว่า นุ่มที่สุดในบรรดา ซีรีส์ 3  E90 ทั้งหมด
แต่ เรียกได้ว่า ลงตัว ยิ่งกว่าคันอื่นๆที่ขับมา สัมผัสจากล้อ เมื่อผ่านลูกระนาด ทำให้นึกถึง
เวลาที่กำลังเอานิ้ว กดลงไปบน ชีสเค้ก ที่มีอุณหภูมิกำลังเหมาะ และใช้วัตถุดิบชั้นดี
เนื้อชีสเค้กจะนุ่มนิดๆ แต่แน่น ไปหมด

มันเหมือนกับ คุณเอามือไปกดลงบน กล้ามท้อง six pack ของนักเพาะกาย
ในวันที่พวกเขาสวาปามจนพุงเริ่มออกนิดๆ มันแน่นและนุ่มขนาดนั้น นั่นละครับ!

ไม่ได้แข็ง ขนาด กดลงไปบนพุงของนักยกน้ำหนักทีมชาติ ที่กำลังเกร็งสุดชีวิต ขณะทำน้ำหนัก
ไล่ตามคู่แข่ง เหมือนอย่างที่ผมพบเจอใน 325i Coupe หรือ ไม่ได้แข็งขนาด
เอามืสันมือ สับลงไปวางบนไม้อัดที่โดนน้ำฝนจนชุ่ม อย่าง 330i แน่ๆ

และด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ที่ดีขึ้นเป็น Cd 0.26
ทำให้การจัดการกับกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถขณะใช้ความเร็วสูง
ยังคงทำได้ดีมาก หากเทียบกับขนาดตัวรถในพิกัดเดียวกัน หากกระแสลมนิ่ง
ตัวรถจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ราวกับถูกกดไว้ กับพื้นถนน

อีกทั้งการออกแบบให้มีการกระจายน้ำหนักตัว ในอัตราส่วน หน้า-หลัง 50:50
ซึ่งช่วย ลดแรงหมุนรอบจุดศูนย์ถ่วงของ ตัวรถเองในขณะเข้าโค้ง ทำให้คราวนี้
การเข้าโค้ง ทำได้ดีขึ้นเล็กน้อย และผมแทบไม่ต้องห่วงอาการท้ายออกเท่าใดเลย

และเช่นเดียวกัน การหน่วงความเร็วของระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS
ระบบกระจายแรงเบรก EBD และ ระบบระบบ CBC (Cornering Break Control) ช่วยกระจายแรงเบรก
สู่ล้อที่ต้องการในขณะเข้าโค้งอย่างเหมาะสม ก็ยังคงทำหน้าที่ได้ดี เหมือนเช่นที่ผมเคยประทับใจมาแล้ว
ใน ซีรีส์ 3 คันอื่นๆ  

นอกจากนี้ยังมีระบบ DTC (Dynamic Traction Control) ทำงานผสานกับ
ระบบ DSC (Dynamic Stability Control) เพื่อช่วยควบคุมเสถียรภาพรถ
ในขณะเข้าโค้ง หรืออยู่บนถนนลื่นระบบจะสั่งลดแรงบิดที่ล้อในยามจำเป็น
พร้อมกับเพิ่มแรงเบรกไปด้วยในตัวสำหรับล้อที่จำเป็น

ส่วนการเก็บเสียงนั้น หากนั่งอยู่ในห้องโดยสาร เสียงเครื่องยนต์ จะเข้ามารบกวนโสตประสาทน้อยมาก
คุณจะได้ยินอีกครั้ง ก็คงจะเป็นเสียงคำราม ที่ดังผ่านปลายท่อไอเสียออกมา นั่นละ ความสุนทรีย์ในการขับขี่
ยุคใหม่อย่างแท้จริง

แต่ ถ้าคุณลงมายืนนอกรถละก็ แน่นอน เครื่องยนต์ดีเซล ต่อให้พยายามพัฒนาให้เงียบลงยังไง ก็ยังคงเป็นดีเซล
วันยังค่ำ จะให้มันเงียบสนิท แบบเครื่องยนต์ เบนซิน มันเป็นไปไมได้หรอกครับ แต่ ถามหน่อยแล้วกัน
เสียงเครื่องที่ดังนั้น เมื่อเทียบกับสมรรถนะแล้ว เรื่องขี้ประติ๋วแค่นั้น จะไปแคร์ทำไมครับ? ในเมื่อ ออกตัวตีนต้นจัดกว่า
ท็อปสปีด ก็ไปไกลกว่า แถมยังประหยัดกว่า ขนาดนี้?

ยังจะแคร์อะไรขี้ปากพวกข้างบ้านอีกหรือ?

อย่างมากสุดพที่เขาจะด่าคุณก็คือ “อีนี่มันกลับมาบ้านดึกอีกละ
ชั้นจำเสียงเครื่อง รถมันได้เลย ดังแถ่ดๆๆๆๆ แบบเนี้ย รถมันแน่ๆ
สงสัยกลับดึก ไปหาอีหนูมาอีกละสิ บลา บลา บลา บลา บลา บลา”

แบบนี้ ต้องเจอพี่แอ๊ด….สถานเดียว

ไม่ๆๆ ไม่ต้องถึงมือพี่ แอ๊ด คาราบาว หรอก เปลืองงบ!

แค่ แอ๊ดด้า (ADDA)  ก็พอแล้ว!

 

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********

มีเรื่องอยากจะบอกครับ

ว่าผมทำอะไรบางอย่างพลาดไปแล้วละ

ว่าเนื่องจากรถคันสีดำ อันเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ใช้เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังเหมือนรถรุ่นปี 2008 คันสีเงินคันเดิม
ดังนั้น ในตอนแรก เราจึงตัดสินใจ ไม่ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงซ้ำ ให้หมดงบประมาณไปโดยไม่จำเป็น

แม้ว่าภายหลัง เราจะพบว่า ในช่วงที่ทำการทดลองนั้น ใช้น้ำมันดีเซล แบบมาตรฐาน
ซึ่งมีส่วนผสมของ BioDiesel 2% หรือ B2 ในขณะที่ รถยนต์ขุมพลังดีเซล ที่เราทดลองในระยะหลังๆ
ตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ Headlightmag.com เป็นต้นมา เราเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดี วี-เพาเวอร์ ดีเซล ของเชลล์ จนหมดแล้ว
จนเกิดความเสียดายว่า ทำไมเราไม่ทำการทดลองอัตราสิ้นเปลือง ของเครื่องยนต์ ตัวเดียวกันนี้ เมื่อเติม วี-เพาเวอร์ ดีเซล

แต่ พอมานั่งนึกขึ้นได้ว่า เราก็เคยทำ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ 320d คูเป้ ด้วยน้ำมัน วี-เพาเวอร์ ดีเซล ไปแล้วนี่นา
(ซึ่งคุณจะหาอ่านได้จากที่นี่)  อีกทั้ง เราเองก็กำลังทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ รุ่น 120d คูเป้ ที่ใช้เครื่องยนต์ และ
ระบบส่งกำลังเดียวกัน ด้วยน้ำมันชนิดเดียวกันนี้อยู่แล้ว

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในรถคันสีดำซ้ำอีกต่อไป
และเราก็จะใช้ผลตัวเลข จากรถคันสีเงิน รุ่นปีที่แล้ว มารายงานให้อ่านกันอีกครั้ง

ในเมื่อ BMW เคยแถลงในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ว่า
เครื่องยนต์ M47 ดีเซล เวอร์ชันใหม่นี้ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ถึง 16.4 กิโลเมตร/ลิตร

เอาละสิครับ มันจะทำได้จริงเหรอ?

ผมกับ น้องกล้วย BnN (The Coup Team) ก็จะพิสูจน์ให้เห็นกันเลยนั่นละ
ด้วยวิธีเดิมๆ คือ เติมน้ำมันที่ปั้มเชลล์ หน้าปากซอบอารีย์ พหลโยธิน ขับเปิดแอร์
นั่งกัน 2 คนขึ้นทางด่วน พระราม 6 มุ่งหน้าไปจนถึงปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก
แล้วเลี้ยวกลับ ขึ้นทางด่วนย้อนกลับเส้นทางเดิม คราวนี้ เราย้ายไปลงที่
ทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไกลออกไปกว่ากันเล็กน้อย
แต่ได้ระยะทางเพิ่มขึ้น และสภาพการจราจร ไม่ติดขัดยักแย่ยักหยั่น
เหมือนในซอยอารีสัมพันธ์แน่ๆ

น้ำมันที่เราเลือกเติมในตอนนั้นเป็น น้ำมันดีเซลมาตรฐาน B2 หรือ ไบโอดีเซล 2 เปอร์เซนต์จากเชลล์
เหตุผลที่ในตอนนั้น ยังไม่เติม V-Power เพราะเรามองว่าราคาแพง และในอดีต เราใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน
กับรถทดลองทุกคันที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล เพราะทุกวันนี้ น้ำมันดีเซลที่ขายกันใน กรุงเทพฯ เป็นสูตร B2
เป็นอย่างต่ำ กันหมดแล้ว

ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ควบคุมด้วยระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control
ที่จะต้องกดปุ่มเล็กๆ บนก้านที่ติดตั้งฝั่งซ้าย ด้านหลังพวงมาลัย ต่ำกว่าก้านไฟเลี้ยว เพื่อเปิดระบบ
จากนั้น ผลักหรือดันก้าสวิชต์ไปด้านหลัง เพื่อเพิ่มความเร็ว หรือดึงก้านเดิม ขึ้นมาข้างหน้า
เพื่อลดความเร็ว และตัวเลขความเร็วที่ต้องการ จะปรากฎขึ้นบนจอ Multi Information Display
ขนาดเล็ก บนชุดมาตรวัด

 

 

เมื่อกลับมาเติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิมกันแล้ว เรามาดูตัวเลขที่ทำได้กัน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 92.9 กิโลเมตร

 

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 250 บาทพอดี ได้ 5.65 ลิตร
และนี่คือตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ได้…

เมื่อเปรียบเทียบกับ ตัวเลขของ ซีรีส์ 3 ตัวถัง E90 คันอื่นๆ แล้ว
ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น…ว่า ตัวเลข 16.4 กิโลเมตร/ลิตร
ที่ BMW เคลมเอาไว้ว่าเครื่องยนตด์ดีเซลใหม่นี้ทำได้หนะ “ของจริง”…

จากตารางเปรียบเทียบที่เห็นอยู่นี้
คุณยังต้องการคำอธิบายใดๆเพิ่มเติมอีกไหมครับ?

(เสียงพึมพำจากผู้อ่าน ลอยมาให้ได้ยิน…)

อ่ะ ถ้าต้องการ ผมแถมประสบการณ์จากผู้ทดลองใช้จริงอย่างผมให้สัก 2 เรื่องแล้วกัน

ตลอด 4 วัน 3 คืน ที่ผมใช้ชีวิตกับ 320d คันสีเงิน รุ่นปี 2008
หลังจากทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเสร็จสิ้นไปแล้ว
ผมก็อยากจะรู้ว่า ถ้าผมใช้งานในแบบปกติของผม รวมทั้งการทดลองอัตราเร่ง
และความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ เข็มน้ำมันจกตกลงไปสักเท่าใด?

พอเอาเข้าจริง ผมก็ขับไปตามที่ผมคิดและวางแผนเอาไว้ตลอด
แถมยังเผลอทำความเร็วสูงเกินกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปถึง 4-5 ครั้ง

ในวันที่ผมนำรถไปคืนทาง BMW Thailand ที่ ตึก All Season บนถนนวิทยุ เมื่อ 1 ปีก่อน
ระยะทางเลขไมล์ใน Trip A ที่ขึ้นบนมาตรวัดนั้น ระบุว่า 499 กิโลเมตร
ระยะทางเลขไมล์ขึ้นไป 500 กิโลเมตร น้ำมันยังมีเหลืออีกถึง 1 ใน 4 ของถัง
นั่นหมายความว่า ต่อให้ขับแบบกระหน่ำๆ อย่างผม คุณก็ยังสามารถใช้
น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร แน่ๆ

แล้วลองคิดดูสิว่า ถ้าขับในเมืองแบบเนียนๆ มีออกนอกเมืองบ้างนิดหน่อย
ต่อให้ราคาน้ำมันดีเซล ลิตรละ 50 บาท
จากที่ลองไต่ถาม พี่หนุ่ย สมาชิกของ www.bmwccth.com
ตีคร่าวๆว่า ส่วนใหญ่ สมาชิกที่ใช้ ซีรีส์ 3 นั้น ขับรถกันวันละไม่ค่อยเกิน 100 กิโลเมตร
งั้น เราตีสมมติกันว่า วันหนึ่ง เราใช้รถวันละ 60 กิโลเมตร ไปกลับ จากบ้านชานเมือง ย่านบางนา
ขึ้นทางด่วนมาที่ทำงานย่านสีลม สาทร บวกแวะนั่นแวะนี่นิดหน่อย

ถังน้ำมันของ 320d มีความจุ 61 ลิตร ตีซะว่า เวลาคุณเติมเข้าไป มันควรจะมีเหลือสัก 3 ลิตร
นอนอยู่ก้นถัง เท่ากับตีเล่นๆว่า เติมครั้งละ 60 ลิตร

เติมน้ำมัน 1 ถัง คุณใช้เงิน 3,000 บาท (ค่าน้ำมันดีเซล สมมติลิตรละ 50 บาท)
โอเคนะ มันอาจจะดูแพงสักหน่อยก็ตาม

แต่ ถ้าคุณขับในเมือง ตัวเลขที่ขึ้นบน On-Board Monitor ที่ผมเจอตลอดทริป
อยู่ที่ 12-13 กิโลเมตร/ลิตร (ขอย้ำ วิ่งแบบเฉลี่ยรวม และรวมในเมืองด้วย)

เท่ากับว่า
– วันหนึ่ง คุณจะใช้น้ำมันเพียงแค่ประมาณ 5 ลิตร เท่านั้น!?

– การเติมน้ำมัน จะเกิดขึ้น ทุก 12 วัน เดือนหนึ่ง มี 31 วัน
เท่ากับว่า เดือนหนึ่ง คุณจะเติมน้ำมันเต็มถัง แค่ 2 ครั้งเท่านั้น
(รวมแล้วใช้น้ำมัน 24 วัน ส่วน 6-7 วัน ก่อนจะถึงสิ้นเดือนนั้น ก็ยกยอดไปยังเดือนถัดไป)

เท่ากับว่า คุณจะมีภาระค่าน้ำมัน ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท….!! (ขอย้ำ ค่าน้ำมัน ตีสมมติว่า ลิตรละ 50 บาท)

และต่อให้ราคาน้ำมัน ดีเซล ลิตรละ 45 บาท เป๊ะ การเติมน้ำมันเต็มถัง คุณก็ใช้เงิน 2,700 บาท
เท่ากับว่า ในแต่ละเดือน คุณจะเติมน้ำมัน 2 ครั้ง และค่าน้ำมันของคุณในแต่ละเดือนก็ตกราวๆ 5,400 บาท
ไม่น่าเกิน 5,500 บาท

และยิ่งในครั้งล่าสุด ที่เรานำรถรุ่นปี 2009 มาลองกัน
เมื่อราคาน้ำมันดีเซล ลดลงมาเหลือระดับ 26 – 28 บาท
ต่อให้เรา ตี ราคาน้ำมัน เป็นเลขกลมๆ ลิตรละ 30 บาท ถ้วนๆ เลยก็ตาม

ผมเองก็อยากจะลองว่า 4 วัน 3 คืน ของผม ในรถรุ่นปี 2009 คันสีดำนี้
จะทำระยะทางไปได้เท่าไหร่ ด้วยน้ำมันเพียง 1 ถัง ในวันที่ผมส่งคืนรถ ที่ซอยต้นสน

และต่อไปนี้คือตัวเลขระยะทางของคันสีดำครับ สังเกตด้วยเลข Trip Meter ฝั่งขวา
รวมกับ เข็มวัดปริมาณน้ำมันฝั่งซ้ายล่างด้วยนะครับ นั่นละ ตามนั้นเลย

รูปนี้ ถ่ายก่อนลงจากรถ และคืนกุญแจให้ทาง BMW Thailand

ลองคิดดูว่าคุณจะใช้เงินประมาณ 1,830 บาท ต่อการเติมน้ำมันเต็มถังขนาด 61 ลิตร 1 ครั้ง

และถ้าคุณยังใช้น้ำมันแค่วันละ 5 ลิตร ด้วยอัตราการขับ ประมาณ 12-13 กิโลเมตร/ลิตร
ตามที่ขึ้นบน On-Board Monitor เท่ากับว่า คุณก็จะยังคงเติมน้ำมัน แค่ 2 ครั้งเช่นกัน
คราวนี้ ตลอดทั้งเดือน เป็นไปได้ว่า คุณอาจจะเสียค่าน้ำมันเพียง 3,660 บาท…
หรือ เอาให้เต็มที่ ก็ไม่น่าจะเกิน 4,000 – 4,500 บาท ไปได้…

โว้ววววววววววววว

คนที่จะมีเงินซื้อรถระดับนี้ คุณก็ควรมีเงินเดือนเป็นหลักเกินกว่า 7-8 หมื่นบาทขึ้นไป
อยู่แล้ว ค่าน้ำมันเพียงเดือนละแค่นี้ ขนหน้าแข้งของคุณคงไม่ร่วงมากนักหรอกนะครับ!

ถ้าคิดคำนวนดูดีๆ ค่าน้ำมันที่คุณจะต้องจ่ายในแต่ละเดือน มันน่าจะพอๆกับที่คุณขับ Honda City และ Jazz เลยทีเดียว!! 

 

********** สรุป **********
********** BEST PICK IN A PREMIUM COMPACT SEGMENT!! ดีจนไม่อยากคืนรถ **********

 ท่านผู้เกิน Commander CHENG ของเราเคยถึงกับพูดไว้ ในรีวิวครั้งก่อนๆ ว่า…

“การได้ขับรถคันนี้สักครั้งหนึ่ง มันจะไม่ต่างอะไรกับการที่คุณมีเซ็กส์กับสาวรัสเซีย
ที่ตกหลุมรักคุณเข้าแล้วอย่างจัง ต่อให้คุณกลับถึงบ้าน โมโหโกรธา ปาข้าวของทิ้งไว้เต็มบ้าน
แม้เธอจะตอบโต้กับคุณบ้าง ให้คุณรู้สึกตัวว่ามันมากไปแล้วนะ แต่เธอก็จะยังรักคุณจนวันตาย

และแน่นอนว่า รสสัมผัสบนเตียงของเธอ ร้อนแรงระดับภูเขาไฟระเบิด…!”
 
ขณะที่ แพน เปรียบเทียบรถคันนี้เป็นสาวรัสเซีย

แต่ผมกลับมองว่า การได้มีโอกาสทดลองขับ 320d ในระยะสั้นๆ มันก็เหมือนกับ ได้ทำความรู้จัก กับ

“เจ้าหนุ่มเพลย์บอย ขาลุย ที่คิดดี คิดเป็น และเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักคิด
 และใช้เงินเป็น รู้จักค่าของเงิน มากกว่าที่ใครจะเห็นจากภายนอก”

 

6 ปีที่ผมทดลองรถมาให้คุณอ่านกันฟรีๆอย่างนี้
น้อยครั้งมาก ที่ผมจะเจอรถที่น่าประทับใจถึงขนาดที่
จะเขียนชมเชยกันได้มากมาย และ อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจขนาดนี้

แม้ในอดีตจะเคยบอกไปเมื่อครั้งทดลองขับ 330i ว่า เป็นรถที่ไม่รู้จะหาที่ติตรงไหน
ยกเว้นเรื่องของราคาค่าตัว กับคุณภาพของวัสดุภายในห้องโดยสารบางส่วน

แต่มาวันนี้ 320d ก็ได้แซงหน้าพี่ชายของมัน ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของ ซีรีส์ 3 รุ่น E90 ที่คุ้มต่อการเป็นเจ้าของมากที่สุด
ด้วยค่าตัวในระดับมาตรฐานของ รถยนต์ พรีเมียมคอมแพกต์ทั่วไปในตลาดกลุ่มเดียวกัน แต่ได้ครบอย่างคุ้มค่า
ไม่ว่าจะมองในแง่ของอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถ ไปจนถึงสมรรถนะจากเครื่องยนต์ การขับขี่ในภาพรวม
แถมพกด้วยความประหยัดไม่เกรงใจใคร จนรถยนต์คอมแพกต์ญี่ปุ่น อย่าง วีออส ยาริส แจ้ส ทีด้า ฯลฯ พากันค้อนขวับเข้าให้!

มันเจ๋งซะจนผมลิม Volvo S60 D5 ที่ผมเคยชื่นชอบ นั่นไปเลย

320d ได้สร้างผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ พรีเมียมคอมแพกต์ อย่างชัดเจน
กลายเป็นว่า สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ในหมู่ลูกค้าระดับบน ไปไม่ใช่เล่นเลยทีเดียว
เพราะยอดขายราวๆ กว่าครึ่งหนึ่ง ของ BMW ทุกรุ่นในไทย ทุกวันนี้ มาจากรุ่นดีเซล

หลังจากบทความรีวิว รถรุ่นปี 2008 ปล่อยออกสู่สาธารณชนแล้ว
เล่นเอาคนรอบข้างผม ถึงกับต้องเปลี่ยนความคิดเดิมๆ
ที่เคยมองรถเก๋งเครื่องยนต์ดีเซลกันเสียใหม่ไปหลายคนแล้ว

สิ่งที่เห็นกันตามมา ทั้งผม และผู้คนรอบข้างบางคน มาเล่าให้ฟังก็คือ
ยอดขายของ 320d ก็พุ่งพรวดขึ้นมา อย่างน่าแปลกใจ

ผมไม่เชื่อว่าจะเกี่ยวข้องกับรีวิวของผมหรอกครับ
เพราะถ้าเกี่ยวกันจริง มันจะต้องมีปรากฎการณ์ อะไรบางอย่าง
มากระทบถึงตัวผมโดยตรง แต่สิ่งเดียวที่ดูจะยืนยันว่า คำพูดดังกล่าว
ไม่น่าเกินเลย ไปจากความจริง ก็คือ ปริมาณของ 320d บนถนนในกรุงเทพฯ
หนาตาขึ้นเรื่อยๆ

 

และมาวันนี้ 320d SE รุ่นปี 2009 ถูกปรับปรุงรายละเอียดเล็กๆน้อย จนเข้าที่เข้าทาง
มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้บางสิ่ง จะยังไม่อาจแก้ไขได้ในรถรุ่นนี้ แต่ถือได้ว่า ถ้ามองถึง
สิ่งที่คุณจะได้มา เมื่อแลกกับค่าตัว 2,849,000 บาท รวมทั้ง โปรแกรมบำรุงรักษา BSI ฟรี 5 ปี
ที่แต่ละดีลเลอร์ควรจะแถมให้คุณนั้น ไม่แพงเลย ถ้าเทียบกับสิ่งที่คุณจะได้รับจากรถคันนี้
และตลอด 5 ปี มีปัญหาที่ชิ้นส่วนไหน ก็จับเคลมกันอย่างเดียว

แต่…รถยุโรปสมัยนี้ จะว่าไปแล้ว ใช้ครบ 5 ปี ขายทิ้งไป ผมว่าน่าจะกำลังดี

เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ค่าเลี้ยงดูของรถยุโรปสมัยนี้ เข้าขั้นว่าแพงเอาเรื่อง
แพงขนาดไหน ก็ระดับที่เศรษฐีหลายคนก็ยังบ่นอุบแล้วกัน

กระนั้น เอาเถิด มาถึงวันนี้แล้ว ผมก็ยังยืนยันว่า
320d ยังคงเป็น BMW รุ่นแรกที่ผม ไม่อยากจะคืนรถให้เค้าไปเลยจริงๆ

เพราะมันเป็น…

“หนึ่งใน 10 รถที่ดีที่สุด จนผมประทับใจที่สุดเท่าที่ผมเคยลองขับมาในรอบ 5 ปีนี้”

และมันจะเป็นเช่นนี้

ตลอดไป
————————-///————————-

 

 

 

ขอขอบคุณ
คุณพิสมัย เตียงพาณิชย์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ โดยผู้เขียน
ทั้งภาพ และบทความ

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.headlightmag.com
9 กรกฎาคม 2009

 

——————————————————————————–

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิก ที่นี่

——————————————————————————–