กลยุทธ์การสานสัมพันธ์ระหว่างบริษัทรถยนต์ 2 บริษัทขึ้นไป นับว่าเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความแข็งแกร่งและเอาตัวรอดในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ดีที่สุดในเวลานี้และในอนาคตข้างหน้า (ที่อาจจะต้องมีการควบรวมบริษัทรถยนต์จนเหลือเพียงแค่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น) เพราะต้นทุนการพัฒนาให้ก้าวล้ำเคียงคู่กับเทคโนโลยีและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้บริษัทรถต้องเจ็บตัวอย่างแน่นอน
(Suzuki Vitara Brezza)
หากใครที่ติดตามข่าวจากเว็บเราเป็นประจำ คงจะพอจำกันได้ว่า Toyota และ Suzuki เคยประกาศจับมือเป็นพันธมิตรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อเดือนตุลาคม 2017 เพื่อเปิดโอกาสค้นหาสิ่งใหม่ แต่ใครจะไปเชื่อว่าทั้งคู่ต่างมีแผนแลกเปลี่ยนรถยนต์ซึ่งกันและกันเพื่อปิดจุดอ่อนของตนเองอีกด้วย
Toyota และ Suzuki ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะมีการแลกเปลี่ยนรถยนต์กันทำตลาดซึ่งกันและกัน โดย Suzuki จะส่ง Baleno : B-Segment Hatchback ที่เน้นความกว้างขวางห้องโดยสารและ Vitara Brezza : A-SUV ไปยังให้ Toyota ทำตลาด ส่วน Toyota จะผลิต Corolla : Compact Sedan ส่งให้ Suzuki ทำตลาด โดยรถยนต์คันแรกของโครงการนี้จะเริ่มเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019
เว็บไซต์ Autocar india รายงานเพิ่มว่า ความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำรถแต่ละโมเดลมาเปลี่ยนตราโลโก้เท่านั้น แต่ทั้งสองบริษัทยังลงทุนปรับปรุงรายละเอียดตัวรถในบริเวณที่เปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย เพื่อสร้างความแตกต่างกัน อาทิ เช่น กันชน, กระจังหน้าหรือดีไซน์โคมไฟ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ งานออกแบบโครงสร้างตัวถังจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง
และแน่นอนว่างานวิศวกรรมของรถยนต์แลกเปลี่ยนทั้งเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังก็จะยังคงเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับขุมพลัง Hybrid ที่จะติดตั้งในบางรุ่นก็อาจจะเป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Toyota และ Suzuki
ปัจจุบัน Toyota ในตลาดอินเดียยังขาดแคลนรถยนต์ SUV ขนาดเล็กและ Premium Sub-Compact Hatchback ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก Toyota จึงจำเป็นต้องนำ Suzuki Vitara Brezza และ Baleno มาจำหน่ายก่อน ส่วน Maruti Suzuki ก็ขาดแคลนรถยนต์ Compact ซึ่งเป็นคลาสที่ถูกจัดว่าเป็น Premium Class ของที่นั่น จึงจำเป็นต้องนำ Toyota Corolla Sedan มาขายส่งขึ้นโชว์รูม NEXA ในประเทศอินเดีย
ที่มา : Autocar india