ในอดีตนั้น เครื่องยนต์ดีเซล คือเครื่องยนต์อัศวินขี่ม้าข้าวที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในสภาวะราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น และมันยังเคยเป็นเครื่องยนต์ที่ปล่อยมลภาวะต่ำในสายตาของผู้ผลิตรถยนต์ แต่เมื่อเหตุการณ์วิกฤต Dieselgate ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2015 ก็ทำให้ทุกคนทั่วโลกต่างก็พบความจริงว่า เครื่องยนต์ดีเซลอาจจะไม่ใช่เครื่องยนต์ที่สะอาดอย่างที่คิดอีกต่อไป
และนับจากปี 2015 เป็นต้นมา รัฐบาลจากประเทศชั้นนำทั่วโลกต่างรีบร่างนโยบายผลักดันรถยนต์ที่ติดตั้งขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้า หวังเร่งกำจัดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน-ดีเซลให้หายจากท้องถนนโดยเร็วที่สุด โดยใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 20 ปี
เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลกลายเป็นฆาตรกรเงียบที่ทุกคนเริ่มไม่สนใจมันอีกต่อไป ทำให้นโยบายการพัฒนารถยนต์ของหลายค่ายเริ่มเปลี่ยนไป
Toyota ก็เป็น 1 ในค่ายรถยนต์ที่หยุดให้ความสนใจเครื่องยนต์ดีเซลเหมือนกับค่ายรถอื่น ๆ ทั่วโลก ถึงขนาดต้องรีบยุติความสัมพันธ์กับ Isuzu ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญการพัฒนารถยนต์เพื่อการพาณิชย์และเครื่องยนต์ดีเซล ด้วยการเทขายหุ้นที่ Toyota เข้าไปซื้อหุ้นธุรกิจ Isuzu สัดส่วน 5.89% มูลค่า 720 ล้านดอลลาร์หรือ 24,000 ล้านบาท ถือเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์ 12 ปีอย่างแท้จริง
เมื่อย้อนกลับไปยังปี 2006 Toyota และ Isuzu ได้ร่วมทุกกันเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.6 ลิตรสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่จำหน่ายในยุโรป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า Isuzu เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลเป็นอย่างมาก Toyota จึงคาดหวังจะนำประสิทธิภาพของงานวิศวกรรม Isuzu มาปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซลของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
แต่เนื่องด้วยมาตรการบังคับอันเข้มงวดด้านไอเสียในหลายประเทศในยุโรป ทำให้ Toyota ยุติการทำตลาดรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ดีเซล อีกทั้ง Hino บริษัทรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ร่วมมือกับ Volkswagen Truck เพื่อร่วมกันพัฒนาขุมพลัง Hybrid และระบบขับขี่อัตโนมัติสำหรับรถบรรทุกและรถบัส เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ Toyota อาจได้รับเทคโนโลยีตกทอดที่นำไปสู่การพัฒนารถกระบะโฉมต่อไป
ถึงแม้ Isuzu เป็นค่ายรถเพื่อการพาณิชย์ที่โดดเดี่ยวไร้คนเหลียวมอง แต่ผู้คนระดับวงในเชื่อกันว่านี่คือโอกาสอันดีของ Isuzu ที่จะสามารถควานหาพันธมิตรบริษัทต่างชาติได้ เพราะ Isuzu มีความแข็งแกร่งในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อเป็นอย่างมากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Isuzu ก็ต้องรีบค้นหาพันธมิตรรายใหม่ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกให้ได้ เพราะด้วยสภาวะการแข่งขันรถเพื่อการพาณิชย์ที่รุนแรง และแต่ละแบรนด์คู่แข่งก็ถูกถือครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีฐานการเงินแน่นหนามาก
ที่มา : Nikkei