เสียงรถแข่งแล่นแหวกกระแสลม ผ่านด้านหลังผมไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับ
กลิ่นของอาหารไทย ทั้งผัดกระเพรา ไข่เจียว ไก่ต้มขิง ข้าวหอมมะลิ ฯลฯ ที่
ประดังประเด โชยเจ้าจมูกผมกับบรรดา ผู้คนมากมายทั้งที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเลย
รายล้อมไปด้วยรถแข่งจากสารพัดทีม ซึ่งกำลังซ่อมบำรุงกันอยู่ในพื้นที่ของตน
ยืนยันได้ว่า ผมไม่ได้อยู่ที่สนามแข่งบุรีรัมย์ พีระอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต หรือ
สนามแห่งใดในเมืองไทยทั้งสิ้น
หากแต่ผมกำลังนั่งอยู่ในเต๊นท์รับรอง นักแข่ง ทีมแข่ง และผู้สื่อข่าวชาวไทย ของ
Toyota Team Thailand กลางสนามแข่งรถระดับโลกอย่าง Nurburgring ท่ามกลาง
สายลมหนาวราวๆ 15 องศาเซลเซียส!!
ผมมาอยู่ที่นี่ได้ยังไงน่ะเหรอครับ?
เมื่อ 2 เดือนก่อน ในช่วงที่ Toyota แนะนำ Corolla Altis รุ่นตกแต่งพิเศษ ESport
“Nurburgring Edition” ก่อให้เกิดกระแสวิพากเษ์วิจารณ์กันในหมู่คนรักรถชาวไทย
และชาวต่างชาติ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและเมืองนอก พอสมควร
บ้างถึงขั้นถามว่า “เดี๋ยวนะ แค่ไปวิ่งจนครบรอบสนามนี่ ดีใจถึงขั้นเอาชื่อสนามแข่ง
อันศักดิ์สิทธิ์ของฉัน มาทำรุ่นพิเศษออกขายกันเลยเหรอ?”
ถ้าสำหรับฝรั่งมังค่า มันไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่หรอก แต่สำหรับคนไทย ที่ไม่เคย
ผ่านประสบการณ์ งานแข่งรถ 24 ชั่วโมง ทั้งวันทั้งคืน แบบนี้ มันก็ถือเป็นเรื่องใหญ่
อยู่เหมือนกันนะ เพราะงานระดับนี้ ต้องมีการเตรียมตัว ในทุกๆด้านมาอย่างดี
แต่ที่อาการหนักสุด..ไม่ใช่ใครหรอกครับ ไอ้คนที่คุณกำลังนั่งอ่านบทความของมัน
ชิ้นนี้อยู่นี่แหละ! ถึงขั้น พูดออกอากาศรายการ DR!VE By J!MMY ทาง FM 93.5
ไปเมื่อบ่ายวันเสาร์ วันหนึ่งว่า…
“เดี๋ยวนะ….Toyota เคยส่ง Altis ไปแข่งที่ Nurburgring ตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย???”
เอ้า! ก็ผมไม่รู้จริงๆนี่หว่า ว่าเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา Toyota Motor Thailand รวมทั้ง
Toyota Team Thailand เคยส่ง Corolla Altis จากบ้านเรา ไปวิ่งรอบสนามแข่งรถ
ในเยอรมัน อันแสนจะยาวอลังวังเวอร์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แห่งนี้ กับเขาด้วย!
J!MMY ตกข่าว และปล่อยไก่ไปหมดเล่าเลยครับ คุณผู้อ่าน!!
ได้ยินเช่นนั้น ทาง Toyota เขาก็เลย โทรมาชวนว่า..
“จิมมี่สนใจไปเยอรมนีไหมจ้ะ ไปดู Altis ทีมไทย ไปแข่ง
วิ่งรอบสนามแห่งนี้ 24 ชั่วโมง กัน ปีนี้ เราก็ส่งไปแข่งอีกครั้งนะจ้ะ”
สารภาพว่าไม่ค่อยอยากเดินทางไปไหนไกลๆเท่าไหร่หรอกครับ แต่นึกไปนึกมา
ทริปนี้ จะได้ไปเยือนสนามในฝัน ที่ผมเคยอยากไปลองขับรถดูสักครั้ง (แม้ว่าจะ
ไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นในครั้งนี้ก็ตาม) แถมยังได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศดินแดน
ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้นำความก้าวหน้าในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ และกีฬาแข่งรถ
ถ้าไม่มาเยือนคราวนี้ แล้วจะได้ไปอีกทีเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ เลยตัดสินใจรกระโดดขึ้น
เครื่องบินในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนกำหนดการมาถึง แม้ว่า เพิ่งจะไปถอนเล็บขบที่
นิ้วหัวแม่เท้าฝั่งซ้าย ในวันเดียวกับการไปยื่นขอ VISA เข้าเยอรมนีก็ตาม ลุ้น
ชนิดเยี่ยวเหนียวเลยว่า อาการเจ็บนิ้วเท้าจะหายทันหรือไม่…
แต่สิ่งที่ผมได้พบ จากการไปเยือนเยอรมนีครั้งแรกในชีวิตคราวนี้ มันเป็นผลลัพธ์
ที่ทำให้ต้องอึ้ง!
ใครอึ้งเหรอ?
กรูนี่แหละครับ ที่อึ้ง! ไม่ใช่เว็บ หลอกให้คลิกปั่นยอดเว็บ สารพัดซ่าบ้าบอคอแตก
ที่เพิ่งปิดตัวไปหมาดๆเมื่อวานนี้ แต่อย่างใดทั้งสิ้น!
แหงสิครับ! การนั่งเครื่องบิน A380 เที่ยวบิน TG 920 ของสายการบินไทย มาตั้ง
12 ชั่วโมง กว่าจะถึงสนามบิน Frankfurt นั่นละคือเรื่องแรกที่อึ้ง
อึ้งกับอาหารบนเครื่องบินของการบินไทย ว่ายังคงต้องทำใจกับรสชาติ เหมือนที่
สต๊าฟลูกเรือบางคน ก็รู้ดี (แต่ยังคงอึ้งกับการรักษามาตรฐานบริการของการบินไทย
ซึ่งยังคงดีเด่นยอดเยี่ยมในสายตาผมอยู่เช่นเดิม)
อึ้งกับช่วงพิธีการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง แม่เจ้าโว้ยยย เจ้าหน้าที่ ตม. ของ
เยอรมนี นี่เขาคัดคนมาจากพวกนักร้อง Boyband , Girlgroup กันหรือยังไง !?
ทำไมมึงหน้าตาดีกันขนาดนี้!!
อึ้งกับสภาพบ้านเมืองของ Frankfurt ยามเช้า ที่นอกจากจะเงียบสงบสวยงาม
ตามความคาดหมายแล้ว ยังอึ้งกับอุปนิสัยการขับรถของชาวเยอรมัน ที่นอกจาก
จะมีวินัยใช้การได้แล้ว พวกยังเล่นขับรถเร็วแบบไม่บันยะบันยังด้วย แถมยัง
มีคนเยอรมัน ที่เปลี่ยนเลนบนทางด่วนหรือแม้แต่ในเมือง โดยไม่เปิดไฟเลี้ยว
หลายคันอยู่นะ แม้แต่รถตู้ของเจ้าหน้าที่ประจำสนาม Nurburgring ที่นึกจะ
เหยียบเบรก ก็เบรกกันดื้อๆ มีให้เห็นคล้ายๆคนไทย แม้ภาพรวมชาวเยอรมัน
จะขับรถมีระเบียบวินัย และมีน้ำใจกว่าคนไทยก็ตาม
อึ้งที่เพิ่งรู้ว่า เยอรมนี มีขายน้ำมันเชื้อเพลิงแก็สโซฮอลล์ E10 ด้วย ในชื่อ
ARAL Super 95 E10 เหมือนเมืองไทยแล้ว รู้กันทันทีว่า มีเอธานอล หรือ
แอลกอฮอลล์ ผสมอยู่ราวๆ 10% จากเนื้อน้ำมันทั้งหมด
อึ้งที่ ทางด่วนปกติในเยอรมนี (ที่ไม่ใช่เส้น Autobahn) จะกำหนดความเร็ว
สูงสุดไว้ถึง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง สูงกว่าหลายๆประเทศในโลกด้วยซ้ำ!!
แถมป้ายจราจรของเขา มีทั้งป้ายบอกความเร็วตายตัว จะเพิ่ม หรือลดลง
ก็มีตั้งแต่ 30 50 70 80 100 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง หนักกว่านั้น ยังมีป้าย
แบบ Digital Real Time แจ้งให้ผู้ขับขี่ ทราบถึง Speed Limit ที่เปลี่ยนไป
ตามสภาพการจราจรได้อีกด้วย!
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าคุณขับอยู่บนถนนสายรอง ที่ตัดเชื่อมเข้ากับเมืองเล็กๆ
หากมีสะพานข้างน้า คุณจะพบป้ายจำกัดความเร็ว ในสะพาน ที่แตกต่างกัน
ในแต่ละเลน เช่น เลนขาเข้าเมือง แล่นได้แค่ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเป็น
ขาออกไปเข้าทางด่วน เพิ่มได้เป็น 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้น
ผมละอึ้งกับประเทศ ที่ให้ความสำคัญ ด้านวิศวกรรมจราจร อย่างนี้จริงๆ!
อึ้งกับโรงแรมที่พักของเรา Scholoss Burgbhohl ในเมืองเล็กๆ ที่อยู่ทางใต้ของ
สนาม Nurburgring ไปไม่ไกลเกิน 20 นาที (เมืองอยู่ติดกัน แต่ทางหลวงที่ผ่าน
ต้อใช้เวลาเดินทางนานประมาณนั้น)
โรงแรมแห่งนี้ เป็นปราสาทเก่า ที่มีประวัติด้านเอกสารเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี
1093 พอในปี 1689 ก็ถุกทำลายจากกองทัพฝรั่งเศส ปี 1709 – 1710 ปราสาท
แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และมีการเปลี่ยนมือเจ้าของเรื่อยๆ จนถึงปี 2009
เจ้าของปัจจุบันได้ตกแต่งใหม่เป็นโรงแรม ที่ดูภายนอกเก่าและน่ากลัวใน
ยามค่ำคืน แต่พอเดินเข้าไป ไฟต้อนรับจะติดขึ้นเองอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้า
และระบายอากาศ คิดและคำนึงเรืองสิ่งแวดล้อมมาอย่างดี เป็นโรงแรมที่
เงียบสงบ ถึงขั้นที่ เราได้พบกับทีมผู้บริหารชาวยุโรปของ Hyundai และ
พี่กีกี้ ศักดิ์ นานา ที่มาแข่งรถในคราวนี้ด้วย มาพักในโรงแรมเดียวกับเรา!
อึ้งกับความใหญ่โตของสนาม Nurburgring ที่เคยเห็นในหน้าหนังสือมาตั้งแต่
เมื่อครั้งยังเด็ก พอมาเจอของจริงนี่เล่นเอา อึ้ง ทึ่ง และหนาว กับความยาวของ
พื้นแทร็กฝั่งเหนือ (NordSchlife) ซึ่งยาวมากถึง 20.7 กิโลเมตร แต่ถ้ารวมกัน
ทุกสนามที่มีแล้ว สนามแห่งนี้ จะยาวถึง 25.9 กิโลเมตร
สนาม Nurburgring มีชื่อที่ออกจะเรียกยากสักหน่อยในภาษาไทย มันควรจะถูก
เรียกว่า “นูร์บวกริง” (อ่านว่า นู-บวก-ริง) แต่ด้วยรูปภาษาไทยที่มักมีปัญหากับ
กลุ่มภาษาจากฝั่งยุโรป ทำให้หลายๆคนมักเรียกชื่อว่า “นูร์เบอร์กริง” แต่บรรดา
ชาวเยอรมันทั้งหลาย จะเรียกกันสั้นๆว่า “The Ring” ซึ่งไม่มีคำว่า “Lord of ”
นำหน้าชื่อ The Ring แต่อย่างใด
มันจะถูกเรียกกันมาแต่ไหนอย่างไร ก็ช่างแม่มเหอะ! ความสำคัญของสนามนี้
มันอยู่ที่การเป็นสนามแข่งรถยนต์ระดับตำนานของสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งถูก
สร้างขึ้นมาตั้งแต่ ปี 1925 จากแนวคิดร่วมกันของ กลุ่มคนที่มองการณ์ไกลจาก
ความสำเร็จในกีฬาแข่งรถ เมื่อช่วงปี 1909โดย สมาชิก Eifel District Council
อย่าง Dr. Otto Creuz รวมทั้งการสนับสนุนจากทั้ง สมาพันธ์ยานยนต์แห่ง
ประเทศเยอรมนี ADAC (Allgemeiner Deutscher Automobil Club) รวมทั้ง
ผู้ว่าการเมือง Cologne และรวมทั้ง Konrad Adenauer ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น
นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ใช้เวลาก่อสร้างรวม 2 ปี ด้วยคนงานหญิง ชาย ทั้ง
3,000 คน สนามที่มีความยาวเริ่มต้น 172 โค้ง ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร แรก ก็
เสร็จสิ้นสมบูรณ์
เหตุการณ์สำคัญๆของสนามแห่งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 1927 เมื่อ
Rudolf Caracola เป็นนักแข่งรถที่คว้าชัยชนะในสนามนี้เป็นคนแรก จากนั้น
ยอดนักขับในตำนาน Jackie Stewart หลุดปากให้คำนิยามสนามนี้ ไปอย่าง
ไม่ได้ตั้งใจว่า Green Hell (นรกสีเขียว) ระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง
ในปี 1960
ต่อมาในปี 1976 Niki Lauda นักแข่งรถชื่อดัง ผู้ซึ่งเคยทำสถิติรอบสนามซึ่ง
ยาว 22.8 กิโลเมตร (ช่วงปี 1951 – 1976) ในปี 1975 และต่อมาได้ทำธุรกิจ
สายการบิน Lauda Air เกิดอุบัติเหตุจนเกิดไฟลุกท่วม แต่รอดมาได้ และนี่
จึงกลายเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการจัดแข่งรถ Formula 1 ก่อนจะถูกยกเลิกไป
หลังจากนั้น สนามแห่งนี้ ได้รองรับสารพัดการแข่งขันรถยนต์ จักรยานยนต์
ไปจนถึงการเปิดให้บริษัทต่างๆ นำรถยนต์ของตนมาทดสอบสมรรถนะก่อน
การออกสู่ตลาดจริงที่นี่ อย่างต่อเนื่อง หลายค่าย ทำเอาผมอึ้งอย่างต่อเนื่อง
เพราะพวกเขา เล่นสร้างศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนาของตน ไว้ริมถนน
ข้างๆทางเข้าสนาม Nurburgring เลยนั่นแหละ! บริษัทที่ว่า ก็มีทั้ง Hyundai
Jaguar/LandRover , Aston Martin , GM , Bridgestone ฯลฯ อีกมากมาย
ถึงแม้ว่า Nuburgrung หรือ “Green Hell” (นรกสีเขียว) ชื่อเล่นที่นักขับรถแข่ง
จำนวนมากให้คำนิยามไว้ จะมีรูปแบบพื้นผิวถนน และแนวทางโค้ง ที่ขับยาก
และอันตรายมาก แต่นี่แหละ มันเป็นมนต์ขลังที่ทำให้บรรดานักแข่งรถ และ
ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย มักใช้สนามแห่งนี้ ในการทดสอบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ก่อนการเปิดตัวออกจำหน่ายจริง
ทุกวันนี้ สนามแห่งนี้ ยังคงถูกจัดเป็นสถานที่แข่งขันรถยนต์ จักรยานยนต์
รายการใหญ่ๆ มากมาย หนึ่งในรายการสำคัญประจำปี คือรายการ ADAC 24h
อันเป็นการแข่งขันรถยนต์ 24 ชั่วโมง ที่รวมการแข่งขันยิบย่อยต่างๆมากมาย
ทั้ง Classic Car Cup , Porsche Carrera Cup , รายการแข่งรถยนต์ทัวริง WTCC
(World Touring Car Championchip)
ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังอึ้งกับความสนใจของบรรดาฝรั่งมังค่า ที่มีให้กับการ
แข่งขันรถยนต์รายการนี้ ถึงขนาดขับรถบ้าน มากางเต๊นท์ ตั้งแคมป์ไฟ ย่าง
บาร์บีคิว ซดเบียร์ ฉลองกันในช่วงวันหยุด เสาร์ – อาทิตย์ 16 – 17 พฤษภาคม
2015 อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จนทำให้บรรยากาศของงาน ครึกครื้น คึกคัก และ
สนุกสนานกันเอาเรื่อง!!
งานนี้ เรียกได้ว่า เจอคนเยอรมันในหากหลายรูปแบบ ตั้งแต่คนที่มีนิสัยใจคอ
อัธยาศัยดีสุดๆ ไปจนถึงพวกที่เกรียนฮาๆ มาในสารพัดรูปแบบแตกต่างกัน แต่
ที่หนักสุด ก็คงต้องไปถาม น้องภาคย์ ช่อง NOW 26 ที่จู่ๆ ก็โดนฝรั่งเยอรมัน
ร่างอ้วน สันดานบ้าๆ เดินเข้ามาด่าทอน้องเขาด้วยภาษาเยอรมันอย่างรุนแรง
ทั้งที่น้องของเรากำลังเตรียมถ่ายทำรายการข่าว ยังไม่ได้ทำอะไรก่อน สุดท้าย
มันยื่นหน้าเข้ามาใกล้ๆ แล้วด่าว่า “Get out from my Country!”
(Speechless!)
เรียกได้ว่า มีครบทุกรูปแบบกันเลยละ!
แต่ที่สำคัญ ไปกว่านั้นก็คือ ผมอึ้ง กับความพยายามของทีมนักแข่งชาวไทย ที่
ตั้งใจจะพิชิตสังเวียนการแข่งขันรายการนี้ มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว อีกทั้งยังอึ้งกับ
การเตรียมความพร้อมของทีมไทย ถึงขนาด ยกครัวไทย มาทำกับข้าว เลี้ยงดู
นักแข่ง ทีมงานทุกชีวิต ทั้งไทยกับเทศ และผู้สื่อข่าวอีก 14 ชีวิตจากเมืองไทย
อย่างพวกเรา เรียกได้ว่า มีให้กินครบทุกอย่าง ตั้งแต่ ไข่เจียว ข้าวต้มหมูสับ
ไปจนถึง มัสมั่นหมู แกงเขียวหวาน และที่ไม่ลืมเพราะขาดไม่ได้ นั่นก็คือ
ผัดกระเพราหมู!! ขอย้ำว่า มีกินกันครบถ้วนทุกมื้อตลอดเวลาช่วงอยู่ในสนาม
ทำไมต้องมาแข่งรถกันไกลถึง เยอรมนี? สนามแห่งนี้ มันดียังไงหรือ ถึงต้อง
ดั้นด้นและเตรียมงานกันมากขนาดนี้?
มันมีเหตุผลครับ!
Toyota เขารู่ดีว่า รถยนต์ของเขานั้น มีจุดเด่นเรื่องความทนทาน มาช้านาน
ยิ่งสำหรับ ตระกูล Corolla แล้ว บรรดารถ Taxi ทั้งหลาย ต่างได้พิสูจน์ให้เรา
ได้เห็นกันมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างไม่ต้องสงสัยอะไรกันอีก
อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือ รถ Taxi นั้น ส่วนใหญ่ขับกันท่ามกลางสภาพ
การจราจรติดขัด เคลื่อนตัวได้ช้าๆ หรือถ้าจะซัดกันจริงๆ ก็มักไม่ค่อยเกิน
130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความกดดันของคนขับ มีเพียงแค่ ต้องรีบล้าง
และทำความสะอาดรถ เติมแก้ส ก่อนจะรีบขับไปส่งรถเปลี่ยนกะ (Shift)
ให้กับคู่บัดดี้ขับรถอีกคนหนึ่ง ไปขับ เมื่อครบ 12 ชั่วโมง เท่ากับว่าจะต้อง
ใช้รถกันตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้บางครั้ง เครื่องยนต์อาจจะไม่ได้พักเลย
แต่สภาพการใช้งานแบบ Taxi ก็ยังไม่ได้โหดร้ายเหมือนการแข่งรถตลอด
24 ชั่วโมง ถ้าเทียบกันเพียงแค่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง เท่ากัน
เพราะการแข่งรถในรายการ ADAC 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ใหญ่
เป็นอันดับต้นๆของโลก ใหญ่กว่างาน Le mans 24 ชั่วโมง ที่คนไทยคุ้นชื่อ
กันมากกว่า เสียอีก!
ลองคิดดูว่า คุณจะต้องเริ่มออกสตาร์ท ตั้งแต่บ่าย 4 โมง ของวันเสาร์ ขับกัน
ข้ามคืน ตามตารางเปลี่ยนคนขับทุกๆ 3 ชั่วโมง และต้องมีการพักผ่อนบ้าง
ก่อนจะวนมาขับต่ออีก 3 ชั่วโมง เมื่อถึงผลัดของตนเอง เครื่องยนต์จะแทบ
ไม่ได้หยุดพักเลย แถมยังต้องถูกเร่ง ทำความเร็วเกือบตลอดเวลา เพื่อกวด
ไล่แซงรถคันข้างหน้าให้ได้ อีกทั้งยังต้องระมัดระวังนักแข่งคนอื่น ที่อาจ
ก่ออุบัติเหตุจากพื้นสนามที่เพิ่งมีรถคันข้างหน้า ทำน้ำมันรั่วเปียกพื้นยาง
มะตอยที่สร้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต้องพยายามไล่ตามรถคันข้างหน้าให้
ทัน ขณะที่ต้องไม่ให้คู่แข่ง มาตามไล่แซงให้ได้แถมยังต้องขับอย่างฉลาด
วางแผนการขับมาดี ไม่ตะบี้ตะวันจนรถพังไปเสียก่อนอีกด้วย การแข่งรถ
แบบนี้ ตามปกติแล้ว รถแข่งที่สามารถแล่นได้ครบ 24 ชั่วโมงนั้น มักจะ
เหลือเพียงราวๆ 1 ใน 3 ของรถที่สมัครเข้าร่วมลงแข่งทั้งหมด
ทุกระบบของตัวรถ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง และเบรก จะถูกเค้นให้
ทำงานออกมาอย่างเต็มทะลุประสิทธิภาพที่มันจะทำได้ด้วยซ้ำ เข้า Pit
เพื่อแค่เติมน้ำมัน เปลี่ยนคนขับ หรือถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนที่พังไปขณะ
กำลังแข่งขันอยู่ แล้วต้องรีบออกจาก Pit ไป ไม่เช่นนั้น จะเสียเวลา
ซึ่งอาจทำให้อันดับในตาราง ถูกคู่แข่งแซงขึ้นไปได้
เห็นไหมครับ นี่ไม่ง่ายเลยนะ สำหรับการไปแข่งรถในต่างประเทศ
ท่ามกลางคู่แข่งโหดๆ รถแข่งแรงๆ ที่จะต้องแล่นร่วมเส้นทางกับเรา
มีมากมาย ทั้ง Mercedes-Benz SLS AMG GT , Audi R8 LMS Ultra
BMW Z4, Porsche 911 และอีกสารพัดรุ่น แม้กระทั่ง Toyota ด้วยกัน
อย่าง Lexus RC-F ยังถูกนำมาเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ด้วย
แถมคู่แข่งร่วมพิกัดเดียวกันกับนักแข่งไทยนั้น มีทั้ง BMW 3-Series
หลายรุ่นปี , Opel Astra GTC , MINI Cooper S, Seat Leon Cupra R,
ฯลฯ…เห็นไหมครับ คู่แข่งเขา สายโหด ทั้งนั้นเลย
ไม่เป็นไรครับ เรามาดูกันดีกว่า ว่า Toyota Team Thailand เตรียมพร้อม
ในเรื่องอะไรกันบ้าง
เริ่มจากตัวรถกันก่อนเลย ตามกติกาการแข่งขัน ADAC 24h ในคราวนี้
ได้แบ่งรุ่นรถออกเป็นประเภทของรถยนต์คือ
SP : รถยนต์ที่ตกแต่งมาสำหรับการแข่งขัน มีรุ่น Sp 1 Sp2 SP3 และ Sp4
V : รถยนต์ที่ผลิตจำหน่ายในโชว์รูมตามปกติ มีรุ่น V3 V2 V1 และใน
แต่ละประเภทยังแบ่งตามรุ่นความจุของเครื่องยนต์ คือ รุ่น 1,600 ซีซี
รุ่น 1,601-2,000 ซีซี และรุ่น 2,001-3,000 ซีซี โดยส่วนใหญ่ 90 % ของ
รถยนต์ที่ได้รับความนิยม ส่งเข้ามาเพื่อแข่งขันจะเป็นรถยนต์ยุโรป ทั้ง
Audi , Aston Martin , BMW , Mercedes-Benz , Opel , Peugeot ,Porsche
Renault, Seat, Volkswagen ฯลฯ ส่วนในกลุ่มเอเชียจะเป็นรถยนต์ญี่ปุ่น
ทั้ง Mazda , Nissan , Subaru ,Toyota และ เกาหลีใต้อย่าง Hyundai
ทีมไทยเรา ส่ง Toyota Corolla ALTIS รุ่นที่ขายกันอยู่ในบ้านเรานี่แหละ
มาร่วมรายการนี้ทั้งหมด 2 คัน รถคันแรก Corolla Altis Class SP3 ลงแข่ง
ในรุ่นเครื่องยนต์ 2.000 ซีซี รถหมายเลข 149
มีการดัดแปลง จากรถยนต์รุ่นปกติ โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 3S-GE
ที่มีการโมดิฟาย เพื่อให้ได้สมรรถนะที่ดี และทนทานตลอดการขับขี่
ในระยะทางยาวๆ อย่างต่อเนื่อง
ส่วนอีกคันหนึ่ง เป็น Toyota Coroola Altis หมายเลข 155 ซึ่งเป็นรุ่น
เครื่องยนต์ 1,800 ซีซี ทางทีมงาน ตัดสินใจ ปล่อยให้ใช้เครื่องยนต์
แบบดั้งเดิมจากโรงงาน โดยมีการปรับปรุงตัวรถ แค่เพียงในระดับที่
ถูกต้องตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ FIA หรือ ทางสมาพันธ์
แข่งรถนานาชาติ
Corolla Altis รุ่น 2,000 ซีซี หมายเลข 149 จะขับโดย
1. คุณสุทธิพงศ์ สมิตชาติ
2. คุณณัฐวุฒิ เจริญสุขะวัฒนะ (หรือพี่วัว Max TV ของพวกเรานั่นเอง)
3. ณัญวุฒิ ห่อทองคำ
4. กันตศักดิ์ กุสิริ
คันที่ 2 Corolla Altis Class SP3 เครื่องยนต์ 1.800 ซีซี รถหมายเลข 155
รถคันนี้ ขับโดย
1. คุณมานัต กุละปาลานนท์
2. คุณเฉิน เจี้ยน หงษ์
3. คุณอาทิตย์ เรืองสมบูรณ์
4. คุณกรัณฑ์ ศุภพงษ์
โดยปริมาณรถแข่งในรุ่น Sp3 นั้น มีผู้ร่วมเข้าแข่งขันทั้งหมด 18 คัน
หลังจากขับเคี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กดดันทั้งนักแข่งและทีมงาน
ในที่สุด Toyota Team Thailand ก็สามารถนำพา Corolla Altis ทั้ง 2 คัน
แล่นครบ 24 ชั่วโมง ได้ในที่สุด โดยรถหมายเลข 149 เข้าเส้นชัยได้ใน
อันดับ 6 ในกลุ่ม Sp3 (อันดับรวมที่ 82) ทำระยะทางทั้งสิ้น 111 รอบ รวม
เป็นระยะทางทั้งหมด 2,874 กิโลเมตร ส่วนรถหมายเลข 155 เข้าเส้นชัย
ได้ในอันดับ 7 ในกลุ่ม Sp3 (อันดับรวมที่ 87) แล่นไปรวม 109 รอบ หรือ
2,823 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม Altis ทั้ง 2 คัน เป็นรถแข่ง 2 คัน จากทั้งหมด 196 คัน ที่
สมัครลงแข่งในรุ่นนี้ เหลือ 151 คันที่ผ่านควอลิฟายลงแข่งได้จริง
คุณสุทธิพงษ์ สมิตชาติ บอกเล่าหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันว่า ปีนี้ถือว่า
ทำผลงานได้น่าพอใจ แม้ว่าจะเจอปัญหาเรื่องเกียร์ ในรถหมายเลข 149
ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ในการแข่งขันระดับนี้ ทำให้ต้อง
ใช้เวลาในการเปลี่ยนเกียร์ 6 จังหวะ เป็นลูกใหม่ ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่ง
ทำให้เสียเวลาไปราวๆ 18 รอบสนาม และถ้าเกียร์ไม่พัง ทีมไทยเราอาจ
เข้าเส้นชัยในอันดับ 2 ของกลุ่ม Sp3 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเข้าเส้นชัย เป็นอันดับที่ 6 และ 7 ถ้ามองในมุมของผม
ถือว่า Toyota Team Thailand ก็ได้ใช้ความพยายามต่างๆ อย่างดีที่สุดแล้ว
และผลงานที่ออกมา ถือได้ว่า น่าพอใจมาก สำหรับการแข่งขันในปีที่ 2
เพราะจากความพยายามของทั้งนักแข่ง และทีมงาน ที่ทุ่มเททั้งแรงกาย
แรงใจ บินมาฝึกซ้อมล่วงหน้าตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การเตรียม
ความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่ออุดช่องว่างเดิม จากการแข่งขันในปี 2014
อีกทั้งงานนี้ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นักขับชาวไทย ทำผลงานได้ดี
ไม่น้อยหน้าฝรั่งมังค่าแน่ๆ
ขอเพียงแค่ ยังไม่หมดหวัง และยังตั้งใจจะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าวันหนึ่ง
เราอาจได้เห็น Toyota Team Thailand ได้ยืนบน Podium มอบรางวัล
ของการแข่งขันรายการนี้
สมดังใจปอง…
——————-///——————
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
– ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / Public Relation Department
บริษัท Toyota Motor Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้
– คุณอาคม รวมสุวรรณ (พี่ฉ่าง)
Thairath Online (www.Thairath.co.th)
เอื้อเฟื้อภาพถ่ายของรถแข่งในสนาม ขณะทำการแข่งขัน
และภาพถ่ายอื่นๆ ที่สวมงามยิ่ง หลายๆภาพ ในบทความนี้
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นผลงานของผู้เขียน และคุณอาคม รวมสุวรรณ
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
30 มีนาคม 2015
Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 30th,2015
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comment are Welcome! CLICK HERE!