ตลอดระยะเวลา 75 ปี ที่เริ่มผลิตรถยนต์ออกขายอย่างจริงจัง จนถึง
ปัจจุบันนี้ Toyota ในฐานะยักษ์ใหญ่วงการรถยนต์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น
ได้ผลิตรถยนต์ออกมาแล้ว จำนวนเกินกว่า 200 ล้านคัน ทั่วโลก (นับถึง
วันที่ 24 มิถุนายน 2012) เฉพาะตลาดใหญ่ในญี่ปุ่นเอง ก็เพิ่งทำสถิติ
ผลิตรถยนต์ในบ้านเกิดตัวเองรวมแล้ว มากถึง 150 ล้านคัน เมื่อวันที่
24 มกราคม 2014 ที่ผ่านมาหมาดๆ
เป็นธรรมดาของผู้ผลิตรถยนต์ทุกราย ที่มักจะมีวิศวกร ผู้คลั่งไคล้สัมผัส
จากการขับขี่รถสปอร์ต จนกระทั่งมีความฝันอยากจะสร้างรถสปอร์ตขึ้นมา
สักรุ่น ในอดีตที่ผ่านมา Toyota เอง ก็เคยทำ รถสปอร์ตออกขายอยู่
มากมายหลายรุ่น ในหลายรูปแบบระบบขับเคลื่อน หากเป็นแบบ FR
ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ก็มีให้เห็นกันครบ ทั้ง 2000GT ,Supra
หรือ 86 หากจะใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า FF ก็มี ตระกูล Celica
และถ้าอยากได้ความดิบจาก รถสปอร์ต ขุมพลังวางกลางลำตัว ใช้
ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง แบบ MR Toyota ก็เคยสนองให้ด้วยรุ่น
MR-2 กับ MR-S
แต่จุดเริ่มต้นของรถสปอร์ต Toyota ที่แท้จริงนั้น เราต้องย้อนกลับไป
ในปี 1965 ปีซึ่งรถสปอร์ตคันแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้คลอด
ออกจากสายการผลิตเป็นครั้งแรก…
ทศวรรษ 1960 เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่น เริ่มเข้าสู่ยุคประชายนต์เฟื่องฟู
ผู้คนเริ่มมีรายได้มากพอที่จะซื้อหารถยนต์มาใช้งานในครอบครัว และใน
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นเอง ก็เริ่มมองหารูปแบบของรถยนต์
รุ่นใหม่ๆ เพื่อจะผลิตออกมาขาย
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ของรัฐบาลญี่ปุ่น
(Ministry of International Trade and Industry หรือ MITI)
ประกาศให้มีโครงการ “รถยนต์แห่งชาติ” ขึ้นในปี 1955 โดยมีข้อกำหนด
ให้รถยนต์ ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องทำความเร็วสูงสุด ได้เกินกว่า 100
กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักตัวต้องน้อยกว่า 400 กิโลกรัม อัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง ต้องอยู่ที่ระดับไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ลิตร ณ ความเร็วคงที่ระดับ
60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะต้องมีความทนทาน ไม่ต้องซ่อมแซม หรือ
เปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญ ตลอดระยะการใช้งานอย่างน้อย 100,000 กิโลเมตร
Toyota Motor Corporation ในขณะนั้น ยังมีสถานะเป็นเพียงแค่
ยักษ์หมายเลข 2 ที่ไล่กวดผู้นำอันดับ 1 อย่าง Nissan Motor อยู่
พวกเขารู้ดีว่า รถยนต์ขนาดเล็ก ราคาประหยัด คือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่น กำลัง
มองหา แต่ครั้นจะไปผลิตรถยนต์ขนาดกระทัดรัด ในพิกัด Kei-Jidosha
หรือ K-Car ซึ่งในสมัยนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้มีเครื่องยนต์ขนาดจิ๋ว แค่
360 ซีซี ก็ไม่ถนัดเท่ากับ Daihatsu Suzuki Honda Mazda และ
Subaru
พวกเขาจึงเลือกจะสร้างรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นหนึ่งขึ้นมาโดยใช้เครื่องยนต์
2 สูบนอน Boxer 697 ซีซี ระบายความร้อนด้วยอากาศ จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 28 แรงม้า (PS) ติดตั้งเชื่อมกับระบบขับเคลื่อน
ล้อหลัง ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ซับซ้อนเกินกว่าวิศวกร
Toyota สมัยนั้น จะออกแบบให้สอดรับกับตัวถังขนาดเล็ก แบบ Sedan
2 ประตู ได้ มันถูกตั้งชื่อว่า Toyota Publica ออกขายในญี่ปุ่นครั้งแรก
เมื่อเดือน มิถุนายน 1961 แต่ในช่วงแรก ขายไม่ดีนัก เพราะแม้จะมีราคา
ถูกมาก เพียง 389,000 เยน ในสมัยนั้น แต่ว่าไม่มีอุปกรณ์พื้นฐานติดรถ
มาให้เลย แม้แต่วิทยุสักเครื่อง ทำให้ยอดขายในช่วงแรก ฝืดเคืองอยู่บ้าง
ก่อนจะเริ่มค่อยๆ ออกรุ่นย่อยที่หรูขึ้น กระตุ้นยอดขายให้กระเตื้องในภายหลัง
แต่ในขณะเดียวกัน Toyota เอง ก็วางแผนที่จะพัฒนา Publica อย่าง
ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวถัง เปิดประทุน 4 ที่นั่ง ตัวถัง Van 2 ประตู ไป
จนถึงตัวถัง กระบะขนาดเล็ก เพื่อการพาณิชย์ และหนึ่งในโครงการใหม่
เหล่านั้น ก็คือ ตัวถัง Sports 2 ประตู แบบ 2 ที่นั่ง
แนวคิดของเวอร์ชัน 2 ที่นั่ง เผยโฉมสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก ณ งาน
แสดงรถยนต์ Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1962 ในรูปลักษณ์ของ
รถสปอร์ตต้นแบบ ไม่มีบานประตู แต่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร อีก 1 คน รวม 2 คน
สามารถเข้าไปนั่งในห้องโดยสารได้ โดยใช้วิธีเลื่อนหลังคาแบบ Canopy
ถอยหลังทั้งชุด ใช้ชื่อว่า Toyota Publica Sports สร้างขึ้นบนพื้นฐาน
งานวิศวกรรมของ Publica รุ่นมาตรฐาน ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเครื่องยนต์
แบบ U 2 สูบนอน Boxer 697 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 28 แรงม้า (PS)
(ปัจจุบัน รถคันที่เห็นในภาพนี้ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในแบบ Repica จาก
พิมพ์เขียวของเก่า เพื่อทดแทนรถคันเดิม)
หลังจากเวอร์ชันต้นแบบ ปรากฎโฉมสู่สายตาสาธารณชน Toyota
ใช้เวลาในการพัฒนารถคันนี้ต่อเนื่องอีก 3 ปี ก่อนจะส่งรถสปอร์ตรุ่นนี้
ออกสู่ตลาด
รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้น ให้เน้นหลักอากาศพลศาสตร์
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มากสำหรับรถยนต์ญี่ปุ่นในขณะนั้น
โดยฝีมือของนักออกแบบชื่อ Shozo Sato ที่จ้างมาจาก Nissan
ในขณะเดียวกัน งานวิศวกรรมของ Sports 800 เป็นหน้าที่ของ
ทีมงานซึ่งนำโดย วิศวกร Toyota ชื่อ Tatsuo Hasegawa
อดีตวิศวกร ผู้ออกแบบอากาศยาน ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
และหนึ่งในผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักขับทดสอบ เพื่อปรับจูนรถให้มี
สมรรถนะดีสมตัว ก็คือ Hiromu Naruse อดีต หัวหน้านักทดสอบ
รถยนต์ของ Toyota ผู้ล่วงลับ เมื่อ 2 ปีก่อน นั่นเอง!
Toyota ส่ง Sports 800 ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1965
โดยทำตลาดในญี่ปุ่นผ่านโชว์รูมเครือข่ายจำหน่ายที่ชื่อ Publica Channel
เคียงคู่กับ Toyota Publica รุ่นอื่นๆ ต่อมา เครือข่ายจำหน่ายนี้ ถูกเปลี่ยนชื่อ
เป็น Toyota Corolla Channel มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยราคาหน้าโชว์รูมอยู่ที่
595,000 เยน ในสมัยนั้น
รถรุ่นนี้ มีชื่อเล่น เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “Yota-Hachi” (ヨタハチ)
โดยคำว่า Yota นั้น ย่อมาจาก Toyota ส่วน Hachi แปลว่า เลข 8 เมื่อ
รวมกันแล้ว จะหมายถึง Toyota-8 นั่นเอง
นอกจากนี้ Sports 800 ถือเป็น รถยนต์สำหรับผลิตออกขายจริง
รุ่นแรกๆ ในโลก ที่ติดตั้ง หลังคาแบบถอดยกออกได้ ที่เรียกว่า
Targa Top ก่อนหน้า Porsche 911 Targa จะออกสู่ตลาด
นานหลายปี!
หลังคาของ Sports 800 ถูกผลิตขึ้นจาก Aluminium มีขนาดเล็ก
น้ำหนักเบา ถ้าต้องการถอดออกเมื่อไหร่ ก็สามารถยกออกได้ด้วยมือ
แล้วนำไปใส่ไว้ในห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เมื่อไม่ใช้งาน
ไม่เพียงเท่านั้น วิศวกรยังพยายามลดน้ำหนักตัว ให้เบาขึ้นด้วย
การเลือกใช้ Aluminium ในบางจุดของชิ้นส่วนโครงสร้างตัวถัง
และใช้เหล็กรีดร้อนแบบบาง กับโครงสร้างตัวถังส่วนใหญ่
ในช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มผลิตออกจำหน่าย แม้แต่ โครงสร้างใน
ตัวเบาะ ก็ยังทำจาก Aluminium !!
ตลอดการทำตลาด มีการปรับปรุงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกเหนือจากการติดตั้งเฟือง Synchromesh ในเกียร์ 1 เมื่อปี 1967
และปรับปรุงกระจังหน้า กับกันชนหน้าใหม่ ในปี 1968 รวมทั้งการ
เพิ่มไฟเลี้ยวด้านข้างตัวถัง ในปี 1969 แล้ว ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อื่นใดอีกเลย
ตัวถังมีความยาว 3,610 มิลลิเมตร กว้าง 1,465 มิลลิเมตร สูงเพียง
แค่ 1,175 มิลลิเมตร ถือเป็นหนึ่งในรถยนต์ซึ่ง เตี้ยสุดที่ Toyota
เคยผลิตออกจำหน่าย ระยะฐานล้อ สั้นเพียง 2,000 มิลลิเมตร
ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า 1,203 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง
1,160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า เบามากๆ เพียงแค่ 580 กิโลกรัม
และเมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกทั้งหมด จะอยู่ที่ 690 กิโลกรัม!
วางเครื่องยนต์ รหัส 2U-B เป็นแบบ 2 สูบนอนยัน Boxer OHV
790 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83 x 73 มิลลิเมตร กำลังอัด
9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์คู่ กำลังสูงสุด 45 แรงม้า
(PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.8 กก.-ม.ที่ 3,800
รอบ/นาที
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
มีอัตราทดดังนี้
เกียร์ 1 4.200
เกียร์ 2 2.400
เกียร์ 3 1.550
เกียร์ 4 1.125
เกียร์ R 4.333
อัตราทดเฟืองท้าย 3.300 (3.556)
ในช่วงแรกที่ออกสู่ตลาด เกียร์ธรรมดาของ Sports 800 จะมีเฟือง
Synchromesh มาให้ เฉพาะเกียร์ 2 ถึง 4 แต่ในรุ่นปี 1967 มีการ
ปรับปรุงโดยติดตั้งเฟือง Synchromesh ให้เกียร์ 1 ด้วย กลายเป็น
เกียร์ธรรมดาแบบ Fully-Synchromesh โดยสมบูรณ์ ส่วนคลัชต์
เป็นแบบแห้ง แผ่นเดียว
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ เฟืองเกียร์ตัวหนอน พร้อม
Sectorroller อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 18.1 : 1 รัศมีวงเลี้ยว 4.3 เมตร
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ ปีกนกเดี่ยว Wishbone พร้อมคาน
Torsion Bar เป็นเหล็กกันโคลงหน้า ส่วนด้านหลัง เป็นตับแหนบ
ใช้ช็อกอัพน้ำมันไฮโดรลิค ทั้ง 4 ต้น ระบบห้ามล้อเป็นดรัมเบรก ทั้ง
4 ล้อ สวมทับด้วย ยางขนาด 6.00-12-4PR พร้อมล้อเหล็ก แบบ
มีฝาครอบล้อ ขนาด 12 นิ้ว
ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า Sports 800 ทำความเร็วสูงสุดได้ในระดับ
155 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่ง ควอเตอร์ไมล์ 0 – 402 เมตร ในเวลา
18.4 วินาที
ส่วนประวัติศาสตร์ ด้าน MotorSports นั้น เจ้าเปี๊ยก 2 ที่นั่ง คันนี้
เคยพิสูจน์ให้ชาวญี่ปุ่นได้ประจักษ์ถึงสมรรถนะของมันมาแล้ว
ในการแข่งขันรถยนต์ All Japan Car Club Race Meeting
(CCC race) ที่ Funabashi เมื่อปี 1966
การแข่งขันครั้งนั้น Tojiro Ukira พา Toyota Sports 800 พยาม
ไล่กวด Honda S600 ของ Tetsu Ikuzawa จนถึงช่วงรอบที่ 5
อย่างไรก็ตาม Sports 800 ของ Ukiya มีเหตุให้ต้องเข้า Pit ก่อน
แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงไล่กวดจนสามารถแซง S600 ได้ในช่วง
รอบที่ 24 และอยู่ในตำแหน่งผู้นำ จนจบการแข่งขัน คว้าแชมป์
เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในรายการนี้ไปครอง
นอกจากนี้ ยังสร้างชื่อในด้านความทนทาน และความประหยัดน้ำมัน
ด้วยการเข้าร่วมแข่งขัน ในรายการแข่งขันรถยนต์ Fuji 24-hours
ซึ่งต้องขับเคลี่ยวกัน ยาวนานต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง ที่สนามแข่ง
Fuji Speedway ในปี 1967 คว้าชัยชนะ อันดับ 3 เป็นรองจาก
Toyota 2000GT ซึ่งคว้าแชมป์อันดับ 1 ในรายการเดียวกัน
นับจากวันเริ่มผลิต ในเดือนมีนาคม 1965 จนถึง ปี 1969 อันเป็น
ปีสุดท้ายในอายุตลาด โรงงาน Kanto Auto Works ซึ่งเป็นบริษัท
ผลิตรถยนต์ในเครือของ Toyota ได้ผลิต Sports 800 ออกมา รวม
3,131 คัน แบ่งยอดผลิต ตามปีที่ผลิตได้ดังนี้
ปี 1965 รวม 1,235 คัน
ปี 1966 รวม 703 คัน
ปี 1967 รวม 558 คัน
ปี 1968 รวม 440 คัน
ปี 1969 รวม 215 คัน
จากยอดผลิตทั้งหมด ส่วนใหญ่ เป็นรถยนต์พวงมาลัยขวา แต่มี
จำนวนยอดผลิต ประมาณ 300 คัน ที่ติดตั้งพวงมาลัยทางฝั่งซ้าย
เพื่อจำหน่ายบนเกาะ Okinawa ซึ่งมีลูกค้าจากฐานทัพสหรัฐฯ
และจะขับรถชิดขวา ตรงกันข้ามกับพื้นที่ในญี่ปุ่นทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการผลิต รถพวงมาลัยซ้าย จำนวนไม่กี่คัน เพื่อ
การสำรวจตลาด และทดลองขับในสหรัฐอเมริกา แต่ท้ายที่สุด
Toyota ตัดสินใจ ไม่ส่ง Sports 800 เข้าไปขายในเมืองลุงแซม
เพราะขนาดตัวรถ เล็กเกินกว่าที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะยอมรับ
ที่แน่ๆ จากตัวเลขยอดผลิตทั้งหมด มีจำนวนประมาณแค่ 10%
เท่านั้น ที่ยังมีสภาพดี อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณยอดผลิตที่น้อยมากๆ ขนาดนี้ ทำให้
Toyota ตัดสินใจ ไม่พัฒนารถรุ่นนี้อีกต่อไป เพราะไม่คุ้มค่า
ต่อการทำตลาดอีก แน่ละครับ ต่อให้พยายามใช้ชิ้นส่วนอะไหล่
จาก Publica เพื่อลดต้นทุนให้ได้ต่ำที่สุดแล้วก็ตาม ทว่า ยอดขาย
เพียงแค่ 3,131 คัน มันก็ต่ำเกินไป จนแทบจะเรียกได้ว่าขาดทุน
กันเลย ดังนั้น การตัดสินใจ ไม่พัฒนารถสปอร์ตรุ่นนี้ต่อ จึง
เป็นเรื่องสมเหตุสมผลในทางธุรกิจ
กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Toyota Sports 800 คือรถสปอร์ตรุ่นแรก
ที่ Toyota ผลิตออกขายจริง และกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ
ให้กับ Toyota ได้นำเอาประสบการณ์ของตน มาใช้ในการพัฒนา
Toyota 86 และ Subaru BRZ ในอีก 40 ปีต่อมา….
—————————///————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย และภาพ Illustration ทั้งหมด
เป็นของ Toyota Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
26 กุมภาพันธ์ 2014
Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
Febuary 26th,2014
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLCK HERE!