ซูบารุ ถือกำเนิดขึ้นในวงการรถยนต์ครั้งแรกด้วยรุ่น 360 ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กรูปทรงเต่าทอง รุ่นยอดนิยม
อีกรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์รถยนต์ญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงเวลาที่ 360 ต้องถูกเปลี่ยนโฉมเพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ต่อไป
ซูบารุจึงพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉมของ 360 ขึ้นโดยใช้พื้นฐานร่วมกับรุ่นดั้งเดิม พอสมควร และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น อาร์ 2
อาร์ 2 เปิดตัวครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 1969 โดยใช้รูปแบบการวางเครื่องยนต์ด้านหลังรถ ขับเคลื่อนล้อหลัง (RR)
เหมือนกับซูบารุ 360 ทุกประการ ถือเป็นคู่ต่อกรสำคัญของ ฮอนด้า N360 ในยุคนั้นเลยทีเดียว มีให้เลือกเฉพาะ
ตัวถัง 3 ประตูแฮตช์แบ็กเท่านั้น
ภายในตกแต่งด้วยโทนสีดำ หรือน้ำตาล เน้นความเรียบง่าย ตามแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก ซูบารุ 360
เพื่อจะให้เป็นรถยนต์คันแรกในชีวิต ของคนญี่ปุ่น ที่ยังครองตัวเป็นโสด มีเข็มขัดนิรภัยติดตั้งแบบ 2 จุดมาให้จากโรงงาน
เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบ Reclining Seat หรือ ปรับเอนได้ ตามสมัยนิยม ในยุคนั้น
ขณะเดียวกัน ห้องโดยสารด้านหลัง มีขนาดเพียงพอสำหรับเด็ก 2 คน
แม้ว่าเครื่องยนต์จะติดตั้งอยู่ด้านหลังรถก็ตาม
นับเป็นการจัดวางตำแหน่งที่ชาญฉลาดทีเดียว ในยุคนั้น
พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้าน อย่างบาง มีแตรทั้งสองฝั่ง
สาเหตุที่พวงมาลัยของรถสมัยก่อน มีความบางเฉียบขนาดนี้
ส่วนหนึ่ง เกี่ยวเนื่องกับความพยายาม ในการลดน้ำหนักของตัวรถ
มิติตัวถังยาว 2,995 มิลลิเมตร กว้าง 1,295 มิลลิเมตร สูง 1,345 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวเพียง 1,920 มิลลิเมตร
โครงสร้างตัวถังแบบโมโนค็อก วางเครื่องยนต์ 2 สูบ 2 จังหวะ 356 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ระบายความร้อนด้วยอากาศ
30 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 3.7 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที ติดตั้งด้านหลังรถ ขับเคลื่อนล้อหลัง
ด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แบบ Floor Shift (บ้านเราในสมัยก่อนเรียกตำแหน่งเกียร์แบบนี้ว่า เกียร์กระปุก)
ทำความเร็วสูงสุดได้ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบกันสะเทือนเซมิเทรลลิงอาร์ม ทอร์ชันบาร์
ดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ พวงมาลัยแร็กแอนด์พีเนียน
หลังจากเปิดตัว ก็ทะยอยเพิ่มรุ่นกระตุ้นตลาดเป็นระยะๆดังนี้
– กุมภาพันธ์ 1970 เพิ่มรุ่นแวนส่งของ ดัดแปลงจากรุ่นมาตรฐาน ลดออพชันบางอย่างออกไป
– เมษายน 1970 เพิ่มรุ่น SPORTY-DX ตกแต่งในแนวสปอร์ตมากขึ้น ด้วยการคาดแถบสีดำ กรอบด้านบนสีโครเมียม รวมทั้งเพิ่มลาย Strip ด้านข้าง
ภายในห้องโดยสาร ปรับปรุงการตกแต่งใหมเล็กน้อย ค่อนข้างน่าแปลกใจอยู่ว่า ให้เข็มขัดนิรภัย และพนักศีรษะมาเพียงเฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น
เปลี่ยนมาใช้พวงมาลัยแบบ 2 ก้าน ลายสปอร์ต ร่วมยุคสมัย อีกทั้งยังเพิ่ม มาตรวัดรอบเครื่องยนต์มาให้
อีกทั้งยังเพิ่มกำลังเครื่องยนต์เดิม ให้แรงขึ้นเป็น 32 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 3.8 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที
และรุ่น R2-SS ตกแต่งสไตล์สปอร์ตด้วยไฟตัดหมอกคู่หน้า ย้ายไฟเลี้ยว 2 ดวงไปไว้ใต้กันชนหน้า
ภายในตกแต่งด้วยสีดำตามยุคสมัย ชุดมาตรวัดเปลี่ยนมาเป็นแบบ 3 ช่องวงกลม พร้อมมาตรวัดรอบจากโรงงาน
มาพร้อมกับเครื่องยนต์บล็อกเดิม แต่ถูกยกระดับพละกำลังให้แรงขึ้นอีกเป็น 36 แรงม้า (PS) โดยมีแรงบิดสูงสุด และรอบเครื่องยนต์เท่าๆกัน
– ตุลาคม 1970 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ GL ปรับปรุงอุปกรณ์ตกแต่ง เิพิ่มขึ้นจากรุ่น SUPER DELUXE วางเครื่องยนต์แบบ 32 แรงม้า (PS) เหมือนรุ่นอื่นๆ
– กุมภาพันธ์ 1971 ไมเนอร์เชนจ์ใหญ่อีกครั้ง คราวนี้ เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด
ตั้งแต่ฝากระโปรงหน้า จนถึงเพิ่มกระจังหน้าลายแปลก ตกแต่งใน 2 แนวทาง คือ แบบ L-Series และแบบ Custom Series
และนอกจากนี้ ยังปรับปรุงแผงหน้าปัดใหม่ ให้ดูน่าใช้งานยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับงานตกแต่งภายในใหม่อีกเล็กน้อย อีกทั้งยังเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Hi DX
– ตุลาคม 1971 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งที่ 2 และเป็นการปรับปรุงครั้งสุดท้าย คราวนี้ปรับปรุงเครื่องยนต์
โดยนำระบบระบายความร้อนด้วยน้ำมาใช้ รวมทั้งเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ GSS
เปลี่ยนกระจังหน้าให้ดูสปอร์ตขึ้น เพิ่มสติ๊กเกอร์คาดข้างตัวถัง เป็นรุ่นส่งท้าย
อาร์-ทู เคยมีประวัติว่า ถูกนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยบริษัท สรรหิรัญ จำกัด เมื่อเกือบ 40 กว่าปีก่อน
แต่ ไม่ค่อยโด่งดังนัก เพราะในยุคสมัยนั้น คนไทยยังมองรถญี่ปุ่น แบบเดียวกันกับที่ มองรถยนต์จากเกาหลี เมื่อ 20 ปีก่อน
ทุกรุ่นยกเลิกการผลิตในเดือนมีนาคม 1973 ส่วนรุ่นแวน ถูกปลดจากสายการผลิตในเดือนเมษายน 1973 หรืออีก 1 เดือนต่อมา
สิริรวมอายุตลาดเพียง 3 ปีครึ่ง เท่านั้น เพื่อเปิดทางให้กับยุคเรืองรองของ เค-คาร์ สายพันธุ์ใหม่ของซูบารุ
เริ่มจาก เร็กซ์ (REX) ในปี 1971-1992 จนถึง วิวีโอ (ViViO) ในปี 1993 จนถึง พลีโอ (PLEO) ปลายปี 1998
ก่อนที่ซูบารุ จะนำ Nameplate R2 หวนคืนสู่ตลาดญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อ 6 ธันวาคม 2003 ในรูปของ รถยนต์ K-Car 660 ซีซี
แบบแฮตช์แบ็ก 5 ประตู ทรงสูง ซึ่ง ในเมืองไทย มอเตอร์ อิมเมจ เคยนำรถรุ่นนี้เข้ามาขายในราคา 1.5 ล้านบาท (รวมภาษีนำเข้ามหาโหด แล้ว)
——————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก ในนิตยสาร THAIDRiVER มกราคม 2004
ดัดแปลงปรับปรุง เพื่อเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
23 มีนาคม 2009