Introduction
สำหรับ Rewind ในครั้งนี้ผมจะขอบินข้ามทวีปจากฝั่งยุโรปมาที่เพื่อนบ้านในทวีปเอเชียอย่างญี่ปุ่นบ้างนะครับ
เราคงทราบกันดีว่ารถที่น่าสนใจในโลกนี้ไม่ได้มีแต่รถเยอรมันหรืออิตาลีเท่านั้น ญี่ปุ่นเองหลังจากที่ตั้งตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้สำเร็จ ก็เริ่มสร้างพยายามสร้างชื่อเสียงให้ติดระดับโลกด้วยรถหลายต่อหลายรุ่น ตั้งแต่ Nissan 240Z ที่ขึ้นทำเนียบรถศักดิ์สิทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว หรือจะเป็นการแหกคอกนอกกรอบอย่างไม่เหมือนใครแบบที่เราพบใน Mazda เครื่องโรตารี่ทั้งหลาย ก็เรียกได้ว่าถูกพัฒนาจนมีชีวิตอยู่ยาวนานกว่าต้นแบบของชาวเยอรมันซะอีก
ในทศวรรษที่ 1980 ในขณะที่รถญี่ปุ่นส่วนมากมักจะเน้นความทันสมัยด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย หน้าปัดดิจิตอลที่ดูราวกับยกมาจากเครื่องบิน ก็ยังมีรถส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่พยายามตอบสนองความบันเทิงในการขับขี่ด้วยความแรงของเครื่องยนต์ Z ของ Nissan มีเครื่องเทอร์โบ 6 สูบขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับ Supra และ Mazda ก็ทำโรตารี่ที่ตัวเองถนัดจนได้แรงม้าระดับ 200 ตัว แต่ทั้งหมดนี้ เป็นรถสไตล์สปอร์ตตี้ที่มีตัวถังแบบสองประตู ซึ่งแม้จะสวยและโฉบเฉี่ยว แต่ก็ไม่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันเท่าไหร่นัก
ในช่วงปลายของยุค 80 นั่นเอง เราก็ได้เห็นการเกิดของรถอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือรถสี่ประตู ขับเคลื่อนสี่ล้อ ใช้เครื่อง 4 สูบ แถมด้วยเทอร์โบชาร์จ ในเดือนตุลาคม ปี 1989 เราได้เห็น Mitsubishi Galant VR-4 โลดแล่นอยู่บนถนนด้วยพลัง 220 แรงม้า ในตัวถังที่เป็นรถบ้านธรรมดาๆที่พ่อบ้านสามารถขับไปทำงานได้ทุกวัน เวลาลูกร้องไห้งอแงก็กระแทกคันเร่งสักป้าบ เด็กๆจะหยุดงอแงและรื่นรมย์ไปกับแรงจีที่พวกเขาได้รับ
Subaru เองก็ตอบโจทย์รถบ้านขับสนุกด้วย Legacy ซึ่งนอกเหนือจากรุ่นธรรมดาแล้วก็ยังมีตัวท้อปเป็นรุ่น RS ที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ EJ20 เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์น้ำที่สร้างพละกำลังได้เท่าเทียมกันกับ VR-4 การนำรถทรงกล่องเหลี่ยมหน้าตาธรรมดามาครอบลงบนชุดระบบขับเคลื่อนที่เป็นเอกลักษณ์ของ Subaru ด้วยเครื่องยนต์สูบนอนจุดศูนย์ถ่วงต่ำ วางตามยาว เกียร์อยู่ท้ายเครื่องซึ่งก่อให้เกิดสมดุลย์ในการหักเลี้ยวและถ่ายทอดกำลังได้ดีจนน่าทึ่ง นี่ทำให้มันเป็นรถที่สามารถอัดได้อย่างปลอดภัยในสภาวะถนนที่หลากหลาย
จากนั้น Subaru นำรถรุ่นนี้ไปสร้างสถิติวิ่งวนรอบสนามปิด ด้วยความเร็วเฉลี่ย 223.345 ก.ม./ช.ม. เป็นระยะทาง 100,000 ก.ม. จนได้บันทึกเป็นสถิติโลก แล้วก็นำมันลงสนามแข่ง WRC โดยเล็งเห็นว่าด้วยรูปแบบการขับเคลื่อนและเครื่องยนต์จะสามารถเข็นให้มันเป็นแชมป์ได้ แต่ไม่นานต่อมา Subaru ก็นำ Impreza ซึ่งเป็นรถขนาดเล็กกว่าเข้ามาใช้ในการแข่งแรลลี่แทน
แล้ว Legacy หายไปไหน? คำตอบคือมันถูกเปลี่ยนบทบาทจากไล่ล่าแชมป์บนทางฝุ่นมาเป็นรถครอบครัวที่หรูหราขึ้น มีความสวยงามขึ้น ตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แต่ยังมีรุ่นเทอร์โบที่ซ่อนเขี้ยวเล็บวิญญาณแอบซิ่งเอาไว้ และเราจะเห็นมันได้จากรถโมเดลปี 1993 ของ Legacy นี่เอง
Personal Experience
ผมไม่เคยสนใจ Legacy มาก่อน ยิ่งเป็นเจ้าเจนเนอเรชั่นที่ 2 นี้จำได้เลยว่าเมื่อมันมาอวดโฉมที่งานมอเตอร์โชว์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ผมดูสเป็คแล้วเกากบาลถามตัวเองเลยว่า “นี่มันอะไรวะ” ไม่มีรุ่นเทอร์โบ! Legacy รุ่นแรกที่มาถึงประเทศไทย หยิบยื่นความมันส์ 200แรงม้าให้เราในราคาไม่ถึงล้าน ส่วนรุ่นใหม่ มีสเตชั่นแวก้อนมาให้เลือก แต่มาพร้อมกับพลังน้อยนิดแค่ 128 ม้า ผมในฐานะวัยคะนองจึงต้องชอบ Impreza มากกว่าเป็นธรรมดา
ครั้นพอโตพอเข้ามหาวิทยาลัยได้ ผมหันกลับมามอง Legacy รุ่นนี้อีกครั้ง นั่นก็เพราะรุ่นพี่ผมคนนึง ชื่อพี่ปิง เป็นพี่ปีสองที่หล่อ..อ..อ.มาก (อย่าเพิ่งคิดไปไกล) แต่รถที่เขาใช้คือ Legacy Wagon ที่วางเครื่องเทอร์โบเอง ใส่ล้อที่ถอดมาจาก Legacy โมเดลใหม่ เปลี่ยนท่อไอเสียให้เสียงดังขึ้น ไอ้ผมก็เริ่มสนใจว่ามันเป็นแนวคิดที่แปลกดีกับการเอารถที่ดูแสนจะครอบครั๊วววครอบครัว มาทำเป็นรถสไตล์ซิ่งที่เสียงเครื่องบางทีฟังๆไปก็นึกว่า V8
หลายปีต่อมา ผมเกือบจะขายเบนซ์ซื้อ Legacy เข้าจริงๆ เพราะไอ้เจ้าเบิ้ม..คนที่เขียนคอลัมน์ศูนย์มิตซูให้คุณๆอ่านเล่นกันนั่นแหละครับมันซื้อ Impreza มา แล้วก็พาผมเข้าไปรู้จักกับพี่ๆที่ siamsubaru.com ซึ่งเปิดโอกาสให้ผมได้พบกับพี่ๆหลายคนที่ใจดี และอธิบายเรื่องราวต่างๆให้ผมฟังอย่างละเอียด Legacy นี้แม้จะมีขนาดตัวที่ใหญ่ และน้ำหนักมากกว่า Impreza แต่มันแชร์ DNA ที่เหมือนๆกัน และสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ ความที่มันไม่ใช่รถฮอตฮิตอย่าง Impreza ทำให้ราคามือสองของมันไม่แพงเลย Legacy 2.2 ลิตรซีดานในขณะนั้นมีราคามือสองถูกกว่า Impreza 1.8 ลิตรซะอีก คือแค่ 300,000บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าผมเตรียมเงินจำนวนเท่าๆกับ Vios รุ่นที่ถูกที่สุด ก็จะได้เป็นเจ้าของรถซาลูนพลังเฉียด 300 แรงม้าที่ขับได้สนุก และสนุกได้ทุกสภาพถนน (แต่จะเอาม้าได้ขนาดนั้นต้องมาวางเครื่องเอง โมดิฟายต่อเองนะ)
ในที่สุด พี่ผู้ชายน้ำใจงาม (ขออนุญาตเอ่ยชื่อ log in ว่าพี่ SOM) ยื่นกุญแจรถของเขาให้ผมลองขับ การยื่นกุญแจรถให้ใครสักคนที่คุณไม่เคยคุยด้วยมาก่อนเลยขับนี่ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความไว้วางใจอย่างมากนะครับ เป็นผมเองผมยังไม่กล้าเลย อย่างไรก็ตาม พี่ SOM มอบกุญแจให้ผมแล้วก็บอกว่า ไปลองตามสบายเลยครับ คุณจะได้รู้เอง แล้วผมก็ได้ขับ Legacy BG แวก้อนคันนั้นเครื่องทวินเทอร์โบคันนั้น ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติ และใช้แก็สโซฮอล์เป็นเชื้อเพลิง แม้อัตราเร่งช่วงรอบเครื่องกลางๆจะหนืดๆพิกล แต่หลัง 5,000รอบไปก็ดึงดี มีซาวนด์แทร็คเป็นเสียงที่เกือบจะเหมือน V8 ดีๆสักเครื่อง
น่าเสียดายว่าจนท้ายสุด พิษราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงระดับลิตรละ 40 บาททำให้การครอบครองรถทวินเทอร์โบขับสี่ที่สูบน้ำมัน 5-6กิโลลิตร ถูกตัดออกไปจากการตัดสินใจซื้อ แม้กระนั้น เมื่อมีโอกาสได้ขับรถของเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก ผมจะวางยาสลบเจ้าของรถเหล่านั้นแล้วชิงรถพวกเขาไปขับเล่นเสมอ เพราะเสียงเครื่องทวินเทอร์โบของมันนั้น มีความไพเราะชนิดที่เสพครั้งเดียวก็ติด อีกทั้งยังขับยิงโค้งออกโค้งได้รวดเร็ว มุดดอกหมาๆ(ขออภัย) อย่างที่รถขนาดตัวเท่านี้ไม่น่าจะทำได้ แน่ล่ะผมไม่อาจสู้ A31 วางเครื่องเทอร์โบ 3-400ม้าได้บนทางตรง แต่คุณต้องลองสักครั้งถึงจะรู้ว่าความเร็วที่ควบคุมได้มันทำให้ขับได้อย่างสบายเพียงไร
ฉะนั้นในครั้งนี้ เราจะมาดู Legacy โมเดล 1993 กันนะครับ
The New Mature Legacy
เมื่อความคิดใหม่บรรจบกับแนวทางเดิมๆ
ในการพัฒนา Legacy รุ่นใหม่นั้น Subaru ได้กำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้กับรูปแบบของ Legacy โดยปรับปรุงภาพลักษณ์ของตัวให้มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ใส่ใจในรายละเอียดโครงสร้างตัวถังและการเก็บรายละเอียดตามจุดต่างๆให้ดีกว่าเดิม เนื่องจากในช่วงเวลาที่ Legacy บอดี้นี้ถูกพัฒนาอยู่นั้น Subaru ได้เตรียมปั้นรุ่น Impreza เพื่อมารับหน้าที่รถครอบครัวขนาดเล็กน้ำหนักเบา และทำหน้าที่เป็นร่างจำแลงให้กับตัวแรงในการแข่งขัน Rally แทนที่ Legacy ตัวแรกเอาไว้แล้ว ดังนั้นจึงสามารถตั้งใจสร้างรถรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นเรือธงตัวใหญ่ของค่ายได้โดยไม่ต้องกังวลว่าตลาดรถระดับวัยรุ่นจะเสียไป
ที่ผ่านมา แม้ Legacy รุ่นแรกจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ได้รับคำแนะนำในเรื่องของรูปลักษณ์ว่าขาดความทันสมัย มีลักษณะการออกแบบที่ดูเป็นจริงเป็นจังเกินไป ดังนั้น ภายนอกของ Legacy รุ่นใหม่ จึงได้รับการออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Olivier Boulay ซึ่ง Fuji Heavy Industry จ้างมาทำงานเป็นการชั่วคราวโดยมีนักออกแบบชาวญี่ปุ่นร่วมงานด้วย Boulay ย้ายมาญี่ปุ่นในปี 1989 ก่อนหน้านี้เขาทำงานอยู่กับ Mercedes-Benz และมีส่วนร่วมในการออกแบบภายนอกให้กับ S-Class W140 และ C-Class W202
โจทย์ที่ทีมออกแบบได้รับจากหัวหน้าโครงการระดับสูง Takao Tsuchiya ก็คือ การสร้างรถรุ่นใหม่ให้เป็นไปตามแนวคิด “All- weather high speed cruiser” คือเป็นรถที่สามารถขับทางไกลแบบเร็วๆได้โดยไม่เหนื่อยล้า และไม่ยั่นต่อสภาพอากาศ รถรุ่นใหม่นี้จะมีทรวดทรงที่สวย ทันสมัยขึ้น แต่กระนั้นความสวยจะต้องไม่สำคัญจนเกินเลยคุณภาพในการขับขี่และพื้นฐานทางวิศวกรรมที่ดีเลิศ ตัวรถต้องมีบุคลิกที่เป็นสปอร์ตซีดาน และสปอร์ตแวก้อนชัดเจน ต้องมีเอกลักษณ์ของรูปทรงจากรุ่นเก่าปนอยู่มากพอ เอาชนิดที่ว่าจับถอดโลโก้ออก ผู้คนต้องรู้ได้ว่านี่คือผู้สืบทอดตำนานแห่ง Legacy
เมื่อทางทีมได้หาข้อสรุปเพื่อสร้างเป็นจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนา Legacy รุ่นใหม่ พวกเขาสามารถหาข้อกำหนดหลักในการพัฒนามาได้ 3 ประการ ซึ่งทั้งผู้ออกแบบและวิศวกรทุกคนต้องท่องจำให้ขึ้นใจได้ดังนี้
1. รถคันใหม่จะต้องมีสมรรถณะในขั้นพื้นฐาน และคุณภาพของตัวรถสูงที่สุดในบรรดารถยนต์นั่งขนาด 2.0ลิตรอีกทั้งยังสามารถตอบสนองต่อการใช้งานในระดับที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับคนทั้งโลก ในจุดนี้ ดีไซน์และการออกแบบจะต้องมีหลักการทางวิศวกรรมเป็นคตินำทางเสมอ ส่วนรูปร่างจะสวยหรือหรูอย่างไรนั้น ก็ไม่สำคัญถ้ามันขัดกับคติข้อแรก
2. รถคันใหม่ต้องให้ความรู้สึกในการขับขี่ที่มันคงเป็นเยี่ยม ตามเอกลักษณ์ของรถยนต์จากค่าย Subaru กล่าวคือตัวรถจะต้องสามารถหักเลี้ยวได้ตามสั่ง เสมือนกับเป็นแขนหรือขาของผู้ขับขี่เอง อันจะสร้างความรู้สึกมั่นใจ และเชื่อใจกันระหว่างผู้ขับขี่และรถ
3. นำสิ่งดีๆที่เคยมีอยู่แล้วใน Legacy รุ่นเก่ามาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม สร้างยานยนต์ที่ให้คุณภาพการใช้งานที่น่าพึงพอใจ มีเอกลักษณ์ของ Subaru ที่สัมผัสได้ทันทีที่ขับ สร้างแบบอย่างที่รถค่ายอื่นจะต้องทำตามไปอีกหลายปีข้างหน้า
ดีไซน์ภายนอกของรถ
Legacy รุ่นที่สอง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า Gen II Legacy เพื่อกันความสับสนกับรุ่นอื่น) มีตัวถังให้เลือกสองแบบคือ 4 ประตูซีดานสำหรับคนที่ใช้งานทั่วไป และคนที่รักการขับขี่ชนิดรุนแรงที่ต้องการบอดี้แข็งแกร่ง สาดโค้งมันส์ และน้ำหนักเบา
และ 5 ประตูสเตชั่นแวก้อน สำหรับคนที่คิดว่าอยากจะวิ่งรอบพีระเซอร์กิตโดยมีครอบครัวอยู่ในรถและัสัมภาระเต็มคัน 555ล้อเล่นน่ะครับ รุ่นนี้เหมาะเอาไว้สำหรับครอบครัวนักช้อปหรือคนบ้าหอบฟาง แต่ไม่จำเป็นว่ารถที่บรรทุกของได้เยอะจะต้องมีรูปทรงทึนทึกน่าเบื่อซะหน่อย
อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ในเรื่องหัวใจการดีไซน์ว่าการใช้งานเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงก่อนความสวยเสมอ หรือที่เขาเรียกว่า “Form follows Function” ซึ่งแนวคิดการออกแบบในลักษณะนี้ทาง Subaru เองบอกว่าเอาไอเดียมาจากการออกแบบรถของค่ายยุโรป ดังนั้นการออกแบบตัวรถจึงเริ่มจากพื้นฐานวิศวกรรมและชิ้นส่วนต่างๆที่ผสานกันได้อย่างลงตัวเพื่อเป้าหมายหลักในการเป็น All-weather cruiser ก่อน เมื่อกระดูกกับกล้ามเนื้อออกแบบเสร็จแล้ว หน้าตาจึงเป็นสิ่งที่มาปิดท้าย การออกแบบภายนอกจะต้องทำให้ดูดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว และจะต้องไม่เกิดผลกระทบไปยังกลจักรส่วนอื่น
หน้าตาที่ได้ออกมานั้น Subaru กับทีมออกแบบของ Boulay ตั้งใจให้มันแสดงออกถึงภาพลักษณ์ที่ดูมีพลัง ดูเหมือนนักวิ่งที่ผอมเรียวแต่เต็มไปด้วยมัดกล้าม ซึ่งเมื่อได้มองดูแล้วจะบังเกิดความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ และนอกจากนี้ยังต้องแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของรถ Subaru โดยที่ไม่ให้ถูกจับได้ว่าไปเที่ยวเลียนแบบชาวบ้านมา ฉะนั้นเราจึงไม่แปลกใจที่ด้านข้างของรถ จะดูเหมือนกับการเอา Legacy ตัวแรก มาขัดเกลาให้มนขึ้น ด้านหน้าของรถจะมีเค้าของ Impreza ที่ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และด้านท้ายของรถ ไม่ว่าจะเป็น4 หรือ 5 ประตู คุณก็จะเห็นได้ว่าไฟท้ายของมันนั้นมีลักษณะของไฟท้ายรถสปอร์ต SVX แฝงอยู่
การออกแบบภายใน
พัฒนาการในส่วนของการออกแบบภายในของ Gen II Legacy มีอยู่ 4 ประการ
1) ทัศนวิสัยที่โปร่งตา ให้ความรู้สึกสบาย และมีส่วนช่วยให้เกิดความผ่อนคลายเมื่อต้องขับขี่เป็นระยะเวลานาน แผ่นกระจกหน้าถูกเลื่อนไปติดตั้งไกลจากคนขับมากกว่าเดิมเพื่อที่จะสามารถออกแบบคอนโซลให้มีลักษณะกว้างดูไม่ขัดสายตา
ตัวอย่างแผงแดชบอร์ดและการตกแต่งด้านบนเป็นของรุ่น RS สไตล์สปอร์ต และด้านล่างเป็นของรุ่น TS-R ธรรมดา
2) ตำแหน่งการขับขี่ถูกปรับให้เน้นไปที่การขับขี่แบบสปอร์ต ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าจะบอกว่า Gen II Legacy ไม่เหมือนกับรถ “แอร์เย็นเพลงเพราะ” สมัยนี้ที่เลือกปรับตำแหน่งที่นั่งให้สูงเพื่อให้ได้วิวด้านหน้าประหนึ่ง SUV
วิศวกร Subaru เลือกที่จะปรับการวางตำแหน่งเบาะให้ต่ำลงกว่าเดิม ด้วยเหตุผลทางด้านความรู้สึกที่แนบชิดกับพื้นรถ และทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจกว่าเมื่อต้องขับขี่แบบรุนแรง
3) ฐานล้อที่ขยายยาวขึ้น 50 ม.ม.เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาในแนวยาวให้กับผู้โดยสารด้านหลัง พร้อมทั้งเพิ่มเนื้อที่เหนือศรีษะให้สามารถรองรับคนตัวสูงได้ดียิ่งขึ้น
4) เนื้อที่ภายใน จะต้องมีขนาด และความสบายเทียบได้กับรถญี่ปุ่นขนาดพิกัดโตกว่า (ในสมัยนั้น)
วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆก็ได้รับการปรับปรุงให้ดูมีความหรูหรายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบุวัสดุนุ่มที่ส่วนบนของแผงคอนโซล การใช้วัสดุซับเสียงที่หนากว่าเดิมเพื่อช่วยเก็บเสียงรบกวนจากภายนอก Subaru คิดมากขนาดที่ว่าจะทำยังไงให้เก๊ะเก็บของที่คอนโซลหน้าปิดได้สนิทโดยไม่มีเสียงดัง (ซีเรียสไปหรือเปล่า พี่ดาวลูกไก่)
ช่วงล่าง, โครงสร้างตัวถังและความปลอดภัย
Gen II Legacy มีเอกลักษณ์ 1 อย่างที่ Subaru ยุคใหม่ๆยึดถือเป็นประเพณี (ที่ได้ยินกันจนเบื่อ) นั่นก็คือการใช้เครื่องยนต์ BOXER ซึ่งมีจุดส่วนถ่วงต่ำทำให้ตัวรถมีการเอียงน้อยในยามเทเข้าโค้ง แต่ครั้นจะพึ่งพาเอากันแต่ตัวเครื่องยนต์โดยไม่เอาใจใส่ช่วงล่าง รถก็คงวิ่งดีๆไม่ได้อย่างที่มันควรเป็น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของช่วงล่างหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทที่ได้รับการปรับปรุงให้มีชิ้นส่วนน้ำหนักเบาลง แต่เพิ่มความแข็งแรงของจุดยึดคานต่างๆให้มากขึ้น ส่วนด้านหลังนั้นจะเป็นแบบ Dual-link
รถรุ่นพิเศษบางรุ่น จะมีช่วงล่างแบบ Air Suspension ที่สามารถปรับความสูงต่ำของช่วงล่างได้ด้วย
พูดถึงโครงสร้างของรถ เจ้า Gen II Legacy นี้ก็มีพื้นฐานมาจากรถ Legacy ตัวแรกนั่นเอง แต่ได้ถูกนำมาปรับปรุงให้จุดคานยึดต่างๆมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น การวิเคราะห์โครงสร้างตัวถังนอกจากจะคำนึงในเรื่องความสามารถในการต้านการบิดตัวแล้ว วิศวกรโครงสร้างของ Subaru ยังต้องมานั่งหาวิธีทำให้น้ำหนักโครงสร้างเบาลงกว่าเดิม และหาทางออกได้โดยการลดความหนาของเหล็กในส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเหนียวของโครงสร้างและความปลอดภัย แต่ไปเพิ่มความแข็งแกร่งให้จุดที่ต้องรับแรงกระทำเยอะ ขัดตรงโน้น โปะตรงนี้ และจบด้วยโครงสร้างที่น้ำหนักแทบไม่ต่างจากเดิม แต่ทนทานขึ้น
โครงสร้างตัวถังหลัก ฝากระโปรงหน้า เหล็กประตู แก้มข้าง แก้มท้าย ฝากระโปรงท้าย จะใช้เหล็กแบบ Galvanized ที่ทนทานต่อการผุกร่อนและสนิม ในขณะที่ส่วนที่เป็นพื้นรถ จะมีการเคลือบขี้ผึ้งกันสนิมจากโรงงานไปอีกชั้นหนึ่ง
คานยึดพวงมาลัยถูกเพิ่มเข้าไปเพื่อลดอาการสั่นสะเทือนในยามขับขี่ และตัวมันเองก็ทำหน้าที่ยึดฝั่งซ้าย-ขวาของตัวรถในลักษณะที่ช่วยให้โครงสร้างส่วนหน้ามีความมั่นคงยิ่งขึ้น
ส่วนทางด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม Legacy รุ่นที่สองนี้มีทั้งถุงลมนิรภัย เบรค ABS แต่ไม่ใช่กับทุกคัน ในบางประเทศที่เข้มงวดกับเรื่องความปลอดภัยสุดๆ ก็จะมีทั้งถุงลมและ ABS ติดให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานไปเลย แต่อย่างในญี่ปุ่นเองนั้นถุงลมนิรภัยยังเป็นออพชั่นที่ต้องเสียเงินเพิ่มอยู่ในบางรุ่น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Legacy ทุกคันเหมือนกันก็คือวัสดุที่นำมาใช้ประกอบภายในของรถนั้น ทาง Subaru จะเลือกใช้วัสดุประเภทที่ติดไฟได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นคอนโซล แผงบุต่างๆที่เป็นผ้าหรือหนังก็ตามแต่ นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งของการไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่หลายคนคงไม่ทราบ เพราะไม่ค่อยมีโบรชัวร์ที่ไหนบอก
ขุมพลังและการขับเคลื่อน
ในส่วนของเครื่องยนต์ จะแบ่งออกเป็นเครื่องยนต์แบบหายใจธรรมดาสำหรับคนทั่วไปใช้งานในชีวิตประจำวันที่ต้องการรถที่ไม่กินน้ำมันดุจัด และแบบเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จที่เอาไว้ตอบสนองนักเลงรถที่มีความสุขกับการเหยียบคันเร่งเป็นนิสัย
ในสเป็คญี่ปุ่น เริ่มต้นกันด้วยรุ่นพื้นฐานกับเครื่อง EJ20 OHC 2.0 ลิตร 16วาล์ว 125 แรงม้า วางในรุ่นพื้นฐาน TX และ Brighton ซึ่งสามารถจับคู่กับระบบส่งกำลังได้ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ และยังเลือกระบบขับเคลื่อนได้ว่าอยากได้ขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อนสี่ล้อ (ยกเว้น Brighton จะมีแต่เกียร์ออโต้)
และขยับแรงเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยกับ เครื่อง EJ20 DOHC ที่เปลี่ยนมาใช้ฝาสูบที่มีเพลาลูกเบี้ยวฝั่งละคู่ เพิ่มเรี่ยวแรงเป็น 150 แรงม้า และยังมีให้เลือกทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อนสี่ล้อเช่นกัน
สำหรับรุ่นสเตชั่นแวก้อน จะมีเครื่อง EJ22 OHC ที่มีความจุเพิ่มเป็น 2.2 ลิตร แต่มีแรงม้าแค่ 135 ตัวเพราะใช้ฝาสูบแค็มเดี่ยว นัยว่าเป็นเครื่องที่ทำมาเพื่อเน้นแรงบิดมาเร็วสำหรับการใช้งานและบรรทุกน้ำหนัก มากกว่าที่จะเอาไว้ขับเน้นอัตราเร่ง
รุ่นสูงสุดจะใช้เครื่องยนต์ “Boxer 2-Stage Twin Turbo” รหัส EJ20H ซึ่งเป็นเครื่องที่พัฒนาต่อมาจาก EJ20 ใน Legacy รุ่นเดิม แต่แม้รหัสจะเหมือนกัน เครื่องทั้งสองแบบกลับมีความแตกต่างกันอย่างมาก เริ่มจากเสื้อสูบที่เปลี่ยนจากแบบเสื้อสูบตัน (Closed-deck) มาเป็นแบบเสื้อสูบเปิด (Open-deck) กลไกขับเคลื่อนวาล์วในฝาสูบเปลี่ยนจากการใช้กระเดื่องตีวาล์วมาเป็นลูกถ้วยวาล์วที่ตัดกระเดื่องออก และให้แคมชาฟท์ตีกดวาล์วผ่านตัวกลางที่เป็นถ้วยไฮดรอลิกแทนเพื่อลดชิ้นส่วนที่ต้องขยับภายในเครื่อง การเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ง่ายที่สุด และเป็นที่มาของชื่อเครื่องที่พิมพ์ไว้บนฝาครอบวาล์วคือกลไกการทำงานของเทอร์โบและรูปแบบการติดตั้งที่ต่างกับรุ่นเดิมแบบคนละขั้ว
ในขณะที่รุ่นเดิมใช้เทอร์โบเดี่ยวที่ง่ายไม่ซับซ้อน EJ20H ใช้เทอร์โบคู่ที่ต่อไว้ในแบบทำงานตามลำดับขั้น (Sequential) ซึ่งประกอบด้วย Primary Turbo และ Secondary Turbo ชุดวาล์วเปิดปิดสำหรับช่องทางไอดีและไอเสียซึ่งควบคุมจากกล่อง ECU และท่อทางเดินอากาศ และท่อสุญญากาศจำนวนมาก
ไอเดียหลักที่ทำให้ Subaru เลือกใช้ระบบ Sequential Twin Turbo เช่นนี้ ก็เพื่อลบข้อด้อยเรื่องแรงบิดในรอบต่ำที่มักพบในเครื่องเทอร์โบอันมีสาเหตุมาจากการที่ไอเสียยังไม่มากพอที่จะปั่นกังหันเพื่อทำลมเข้าเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเปลี่ยนไปใช้เทอร์โบที่มีขนาดเล็กลง ก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้ แต่ที่รอบสูงเช่นช่วงเร่งแซงก็จะไม่มีแรงบิดสูงพอให้เกิดความสนุกในการขับ และถ้าหากเจ้าของเป็นประเภทเท้าหนักแช่คันเร่งมิดตลอด เทอร์โบขนาดเล็กนี่ล่ะจะเป็นตัวขวางไอเสียจนเกิดการอั้นและย้อนกลับเข้าห้องเผาไหม้ เป็นความร้อนสะสมที่จะฆ่าเครื่องได้ในทางอ้อมอีกต่างหาก Legacy ตัวที่แล้วเลือกใช้เทอร์โบขนาดกลางซึ่งตอบสนองการใช้งานได้เกือบทุกช่วงแต่ยังมีอาการห้อยรอบต่ำๆอยู่บ้าง
ต้องไม่ลืมด้วยว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงอดีตซึ่งยังไม่มีกลไกแปรผันแท่งแค็มชาฟท์เพื่อช่วยเรียกแรงบิดรอบต่ำ วิศวกร Subaru จึงเลือกที่ใช้จะเทอร์โบขนาดเล็ก 2 ตัว โดยที่รอบต่ำไอเสียจะถูกผันทิศทางให้รวบเข้าไปเป่ากังหันของเทอร์โบตัวขวาเท่านั้น และเจ้าเทอร์โบตัวขวานี้เองจะทำหน้าที่อัดอากาศเข้าเครื่องยนต์ให้ลูกสูบทั้งสี่ นี่คือวิธีการเรียกพลังในรอบต่ำ
เมื่อถึงรอบเครื่องที่เหมาะสม ECU จะสั่งการเปิดวาล์วกั้นไอเสีย และวาล์วกั้นทางไอดี ทำให้ไอเสียสามารถไหลไปปั่นเทอร์โบฝั่งซ้าย (ที่มีขนาดภายในโข่งไอเสียโตกว่าเล็กน้อย) และเมื่อระบบทำงานครบก็เท่ากับว่าเทอร์โบทั้งคู่ได้ทำหน้าที่ไปพร้อมๆกันในการอัดอากาศเข้าเครื่องยนต์ ลมที่ได้จากเทอร์โบขนาดเล็กสองตัวนี้ก็มีค่าเทียบได้กับเทอร์โบขนาดค่อนข้างใหญ่ 1 ตัว นี่ล่ะเป็นวิธีการเรียกพลังในรอบสูง
เมื่อรวมการทำงานทั้งสองเข้าด้วยกันจะเห็นดังว่าระบบเทอร์โบแบ่งการทำงานออกเป็นจังหวะรอบต่ำ และจังหวะรอบสูง เป็นที่มีของคำว่า 2-Stage Twin Turbo นั่นเอง
เมื่อผสานระบบอัดอากาศแบบใหม่ เข้ากับอินเตอร์คูลเลอร์ที่เปลี่ยนจากแบบระบายความร้อนด้วยน้ำ เป็นแบบระบายความร้อนด้วยอากาศ (แบบเดียวกับที่ใช้ใน Impreza เพียงแต่ว่ามีขนาดโตกว่า) ทำให้ EJ20H สามารถปั่นแรงม้าออกมาได้ 250 ตัว ซึ่งมากกว่าเครื่อง EJ20G ตัวเดิมอยู่ถึง 30 แรงม้าทั้งๆที่ความจุเครื่องยนต์ และอัตราส่วนกำลังอัดไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด
รุ่นเทอร์โบนี้จะมีให้เลือกแต่รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น แต่ยังสามารถเลือกได้ว่าจะจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด หรืออัตโนมัติ 4 สปีด
เกียร์อัตโนมัติของ Legacy รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นจะมีชื่อเรียกเต็มๆว่า E-4AT Active Torque Split Full-time 4WD ซึ่งเป็นเกียร์อัตโนมัติแท้ใช้ทอร์คคอนเวอร์ตเตอร์ธรรมดา มีกล่อง ECU ควบคุมเกียร์ซึ่งจะประมวลผลจากความเร็วของรถ, องศาลิ้นคันเร่ง, และอื่นๆ มาช่วยในการเลือกเกียร์ที่จะใช้ และยังควบคุมการจัดสรรพลังจากเครื่องว่าจะให้ไปลงล้อคู่หน้าหรือหลังในอัตราส่วนเท่าไหร่ โดยปกติแล้วการส่งกำลังจะไปยังล้อหน้า 60% และอีก 40% จะส่งไปที่ล้อหลัง และถ้าหากหิมะตกหรือน้ำแข็งจับผิวถนนจนออกตัวได้ยาก ผู้ขับสามารถเลือกกดปุ่ม HOLD AT และดึงคันเกียร์ลงมาที่ตำแหน่ง “3” เพื่อให้รถออกตัวด้วยเกียร์ 2 ได้
ส่วนเกียร์ธรรมดานั้นจะเป็นแบบ 5 สปีด มี Viscous Limited Slip Differential ซึ่งช่วยลดอาการปั่นฟรีทิ้งเมื่อแรงยึดเกาะของล้อฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน Centre Differential ช่วยให้ระบบเกียร์สามารถผันอัตราส่วนการส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า และหลังได้ตามความเหมาะสมและสภาพในการขับขี่ โดยปกติแล้วระบบจะส่งกำลังไปยังล้อหน้าและหลังในอัตราส่วน 50:50 ซึ่งไม่เหมือนกับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
สำหรับในการนอกประเทศญี่ปุ่น ขุมพลังของ Legacy จะมีให้เลือกแค่แบบไร้เทอร์โบ เพลาราวลิ้นเดี่ยว (SOHC) เท่านั้น สาเหตุหลักคือคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงของแต่ละที่ซึ่งไม่เท่ากัน และมาตรการทางด้านมลภาวะที่มีความเข้มงวดไม่เท่ากัน เครื่องบางแบบที่จำหน่ายในญี่ปุ่นได้ แต่พอไปถึงเมืองฝรั่งกลับสอบตกก็มีเหมือนกัน แรงม้าที่หล่นลงจากสเป็คญี่ปุ่น ก็เพราะตัวกรองไอเสียและลักษณะการจูนกล่อง ECU เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในประเทศอื่นๆมากขึ้น
ส่วนรุ่นทวินเทอร์โบนั้น ว่ากันว่าการที่มีเทอร์โบอยู่สองฝั่งทำให้รถที่เป็นเวอร์ชั่นพวงมาลัยซ้ายไม่สามารถวางเครื่องตัวนี้ได้ เพราะเทอร์โบจะถูกเบียดบังโดยชุดหม้อลมเบรคน่ะครับ
ปั้นให้ดังตั้งแต่ก่อนเกิด : การสร้างสถิติแวก้อนเร็วที่สุดในโลกที่ Bonneville
ก่อนที่จะอ่านเรื่องต่อไปนี้ ผมคิดว่าคนส่วนมากรู้จัก Impreza ดีในฐานะรถแชมป์แรลลี่ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ารถอย่าง Legacy ก็ถูก Subaru ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างตำนานเช่นกัน แต่มาในรูปแบบที่ต่างกันออกไปบ้าง
ในวันที่ 9 เดือนกันยายน 1993 ณ Legacy Stationwagon GT คันหนึ่งถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการทดสอบความเร็วสูงสุดที่ Bonneville Speedway ในเมือง Salt Lake City มลรัฐ Utah
การทดสอบเกิดขึ้นโดยมีผู้รับรองและพยานในเหตุการณ์คือ FIA (Federation Internationale de l’ Automobile) และ ACCUS (Automobile Competition Committee for the United States)
ในการทดสอบเพื่อสร้างสถิติครั้งนี้จะใช้รถยนต์ที่เป็นแบบมาตรฐานจากโรงงานรุ่น GT เกียร์ธรรมดา 5 สปีด ไม่ได้มีการตกแต่งโมดิฟายเพิ่มความแรงให้กับเครื่องยนต์ FIA พร้อมด้วย JAF (สมาพันธ์ยานยนต์แห่งญี่ปุ่น) ในฐานะสักขีพยาน เป็นผู้สุ่มเลือกรถจากสายการผลิตโดยที่ทางโรงงานไม่มีวันรู้ได้เลยว่ารถคันไหนที่จะถูกเลือกไปทำสถิติ หลังจากถูกเลือกแล้ว รถคันนั้นจะถูกผนึกเทปซีลพิเศษเพื่อกันไม่ให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามปรับแต่งอะไรได้ตามใจชอบ
ถึงแม้เครื่องและเกียร์จะเดิมสนิท แต่ส่วนอื่นๆของรถก็ต้องปรับแต่งเพื่อให้เหมาะกับการวิ่งแบบทำสถิติความเร็วกันบ้าง อย่างแรกเลยก็คือยางติดรถ ต้องเปลี่ยนมาใช้เรต ZR เพื่อให้รองรับกับความเร็วที่สูงกว่า 240 ก.ม./ช.ม. อย่างที่สองคือต้องมีการติดตั้งถังดับเพลิงขนาดเล็กเอาไว้ในห้องโดยสารเผื่อในกรณีฉุกเฉิน ตามมาด้วยถังน้ำมันแบบนิรภัย กับเบาะนั่งสเป็ครถแข่งพร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบห้าจุด
และที่จะขาดไม่ได้ก็คือโรลเคจที่เป็นโครงสร้างเหล็กท่อนเสริมความแข็งแรงให้กับห้องโดยสารภายใน เพราะถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมาที่ความเร็วระดับนั้นสิ่งที่เสียไปอาจจะไม่ใช่แค่รถ ดังนั้นถ้ามีสิ่งใดที่ทำเพื่อความปลอดภัยได้ก็ต้องประเคนใส่เข้าไปให้หมด
อ้อ..แล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะปลดล็อคความเร็ว 180 ก.ม./ช.ม. ซะด้วย ไม่งั้นออกไปวิ่งทีขายหน้าเขาตายฮ่า
การวิ่งบนทะเลเกลืออันเวิ้งว้าง คนที่ไม่เคยไปวิ่งเองมาก่อนอาจจะมองว่า “แล้วมันจะยากตรงไหนวะ?” ที่ทางก็ยาวตั้ง 11 ก.ม. เด็กแว๊นก็ไม่มี คนวิ่งตัดหน้าก็ไม่มี แต่ขอบอกว่าจริงๆแล้วยากบรรลัยนะครับเพราะคุณไม่ได้วิ่งบนพื้นลาดยางเรียบๆดีๆอย่างมอเตอร์เวย์ แต่มันเป็นพื้นผิวที่เต็มไปด้วยผลึกเกลือปกคลุมอยู่เต็มไปหมด เพราะสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นทางวิ่งเฉพาะช่วงหน้าร้อน ตอนที่ทะเลเกลือแห้งตัวลงเท่านั้น ดังนั้นตลอดเวลาที่วิ่งไปด้วยความเร็วสูงนั้นรถจะมีอาการแฉลบจากการขยับตัวของเกลือบนผิวทางตลอดเวลา แถม Bonneville Speedway นี้ก็อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1.3 ก.ม. ทำให้มวลของอากาศเบาบางและมีผลไปลดกำลังเครื่องยนต์ลงอีกต่างหาก ดังนั้นจึงพูดได้ว่า Subaru เลือกที่จะทำสถิติที่นี่เพราะต้องการพิสูจน์ศักยภาพของรถกันอย่างเต็มพิกัดทั้งด้านของตัวเครื่องยนต์ และความมั่นคงของตัวรถ
นักขับที่ Subaru เลือกมารับงานหินๆอย่างนี้ก็แน่นอนว่าไปเที่ยวจับใครมาขับเล่นไม่ได้ ดังนั้น John Andretti ซึ่งมีดีกรีเป็นนักแข่ง IMSA, NASCAR, และรายการแข่งทรหด 24 ชั่วโมงอีกหลายรายการ อีกทั้งยังเคยขับรถแข่ง Top –fuel dragster ที่เร็วกว่า 450ก.ม./ช.ม.มาแล้ว ดังนั้นจึงนับว่ามีฝีมือใช้ได้
ความเร็วสูงสุดเฉลี่ยที่ได้ในวันนั้นก็คือ 249.981ก.ม./ช.ม. ไม่เลวเลยใช่ไหมสำหรับรถแวก้อนเครื่องเดิมจากโรงงาน? และมันก็ได้บันทึกสถิติโลกเอาไว้ว่าเป็นรถยนต์สเตชั่นแวก้อนสภาพเดิมจากโรงงานที่ทำความเร็วได้สูงที่สุดในโลก (ในพิกัด 2,000 ซี.ซี.)
การเปิดตัวสู่สาธารณะชน
7 ตุลาคม 1993 ถือเป็น D-Day ที่ Subaru แนะนำ Legacy ลงขายในตลาดญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยมีรหัสตัวถังสำหรับไว้ใช้เรียกในหมู่นักเลงรถว่า BD และ BG โดยที่ BD จะหมายถึงรถที่เป็นรุ่น 4 ประตู และ BG ก็คือรถรุ่นสเตชั่นแวก้อน สำหรับในด้านการโฆษณา Subaru ญี่ปุ่นจัดแจงนำนักร้องชื่อดังอย่าง Rod Stewart มาเป็นพรีเซนเตอร์ภายใต้ประโยคว่า “Legacy. My First”
ถ้าอยากรู้ว่าตัวโฆษณาเป็นยังไง ลองดูที่นี่ได้ครับ
www.japander.com/japander/stewart.htm
ในญี่ปุ่น Legacy ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Galant, Honda Accord, Toyota Corona และ Caldina, และ Nissan Avenir ด้วยความที่มีขนาดตัวถังไม่ใหญ่เกินไป และมีขุมพลังและระบบขับเคลื่อนให้เลือกอย่างหลากหลาย Legacy จึงสามารถตีครอบตลาดได้หลายกลุ่ม ตั้งแต่คนที่ต้องการรถซีดานขับเคลื่อนล้อหน้า เกียร์อัตโนมัติสำหรับใช้งานทั่วไป จนถึงกลุ่มที่ต้องการรถสเตชั่นแวก้อนบ้าพลัง เครื่องทวินเทอร์โบของ Legacy ให้กำลัง 250 แรงม้า ซึ่งสูงกว่า Galant VR-4, Caldina Turbo, และ Avenir 2.0 เทอร์โบ ทำให้มีจุดเด่นในด้านสมรรถณะที่สามารถช่วยดันยอดขายได้
นอกจากนี้ การที่มีความกว้างของตัวถังแค่ 1,695 ม.ม. และเครื่องยนต์อยู่ภายในพิกัด 2.0ลิตร (ไม่นับรถแวก้อนรุ่น 2.2ลิตร) ทำให้มันได้รับอัตราภาษีที่ไม่สูง และเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ตั้งราคาขายได้ถูกกว่า Galant (ซึ่งใช้ตัวถังกว้างเกิน 1.7เมตร) ได้ถึง 400,000 เยน
นับตั้งแต่นั้นมาจนตลอดปี 1994 Legacy ก็ทยอยเปิดตัวในตลาดอื่นๆไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งในประเทศหลังนี้ชื่อรุ่น Legacy จะถูกเปลี่ยนเป็น Liberty เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่องค์กร Legacy Australia ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือทหารสงครามและทหารผ่านศึกทั้งหลายของออสเตรเลีย
Legacy ประสบความสำเร็จในการสื่อภาพลักษณ์ความเป็นรถที่เน้นความมั่นคงในการขับขี่ อย่างในอเมริกาเหนือซึ่งมีฤดูหนาวหิมะตกและน้ำแข็งเกาะเป็นชั้นบนผิวถนน ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อสร้างความได้เปรียบในการออกตัวและแล่นไปตามถนนที่ลื่นได้อย่างปลอดภัย ในภายหลัง Subaru จึงตั้งเป้าหมายเลยว่ารถที่จำหน่ายในอเมริกาทุกคัน จะมีแต่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น เนื่องจากมันกลายเป็นภาพติดตาของผู้บริโภคไปแล้วว่า “นึกถึงขับสี่ นึกถึง Legacy”
1994 กับทางเลือกเครื่องยนต์ที่มากขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม ปี 94 มีการเปิดตัวรุ่นพื้นฐานที่ใช้เครื่องยนต์ EJ18 SOHC 115 แรงม้า และถัดมาอีก 5 เดือนก็มีเครื่องรุ่นใหญ่ไร้เทอร์โบ EJ25 ขนาด 2.5 ลิตร 160 แรงม้ามาเสริมทัพ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เครื่องที่แรงที่สุดในสายการผลิตของ Legacy แต่การที่มีความจุมากทำให้สามารถเรียกใช้แรงบิดได้ตั้งแต่รอบต่ำ ขับง่ายสบายเท้า ในขณะที่ฝาสูบแบบ DOHC ช่วยให้มีแรงม้าสูงพอให้ขับสนุกได้มากกว่าเครื่อง 2.2 ลิตรแค็มเดี่ยวตัวเดิม ในญี่ปุ่น เครื่อง EJ25 ถูกนำมาใช้ทำตลาดแทนเครื่อง 2.2ลิตร
ดังนั้นถ้าจะสรุปสเป็คเครื่องของ Legacy ณ เดือน ตุลาคม ปี 1994 ก็จะมีรุ่นให้เลือกตามนี้
สเป็คญี่ปุ่น
สเป็คอเมริกาเหนือ/ออสเตรเลีย
The Outback Strikes back
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำขับสี่ออกมาแล้วทุกอย่างจะจบ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์คลั่ง SUV กำลังแผ่ขยายไปทั่วอเมริกา และผู้คนก็เริ่มหันเหความสนใจออกจากรถทรงแวก้อนธรรมดาไปหายักษ์โย่งขับสี่มากขึ้นจนยอดขายของ Legacy ถูกแย่งไปเป็นจำนวนมาก
Subaru เองก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่เนื่องจากยังไม่มีรถ SUV แท้ๆในค่ายตัวเองสักคัน ดังนั้นจึงมีการปรับปรุง Legacy เพิ่มเติมโดยนำรุ่นสเตชั่นแวก้อนมายกสูง เปลี่ยนยางแก้มโตขึ้น ทำให้ความสูงใต้ท้องรถเพิ่มขึ้นจาก 160ม.ม.เป็น 185 ม.ม. นอกจากนี้ยังตกแต่งรอบคันด้วยชุดแต่งสีทูโทน ปรับกันชนให้มีลักษณะใหญ่ บึกบึนคล้ายรถออฟโรด แล้วนำไปจัดแสดงในงาน New York Autoshow ในปี 1994 นั่นเอง และลงจำหน่ายในอเมริกาในเวลาต่อมา
รถ Outback ที่ขายในอเมริกานั้น ไม่ได้ถูกส่งมาจากโรงงานที่ญี่ปุ่นแต่อย่างใด มันถูกผลิตขึ้นในอเมริกาที่โรงงาน Subaru ในเมือง Lafayette รัฐ Indiana นี่เอง
ทางฟากญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้ากัน ในปีถัดมา เดือนสิงหาคม Subaru ก็นำแนวคิด Outback นี้กลับไปขายในญี่ปุ่นโดยเพิ่มความสูงใต้ท้องรถจากรถสเป็คอเมริกาเข้าไปอีก 15ม.ม. รวมเป็น 200 ม.ม. และจำหน่ายในชื่อ Legacy Grand Wagon โดยจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียวคือ EJ25 และส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ Active Torque Split 4 สปีดเท่านั้น
ชีวิตของรถ Outback นั้นแรกเริ่มมันเป็นแค่แนวคิดตลกๆของค่ายดาวลูกไก่ในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคคลั่ง SUV คงมีไม่กี่ค่ายที่คิดเอารถแวก้อนธรรมดาทรงแบนๆมายกสูงขายแข่งกับรถตรวจการณ์ขนานแท้..ให้ตายเหอะ ถ้าคุณอยากได้รถซีดานออฟโรด Subaru อเมริกาก็มีให้คุณเลือกครับ! พิมพ์ไม่ผิดแน่นอน มันคือรถสี่ประตู ยกสูงจริงๆ นักการตลาดของ Subaru อเมริกาเหนือตั้งชื่อให้มันว่า S.U.S. (Sport Utility Sedan) ด้วยซ้ำ ส่วนรุ่นแวก้อนก็..ไม่ต้องห่วง เขาขนานนามมันว่า “The World’s First Sport Utility Wagon (SUW)” แต่ไม่ว่าใครจะคิดยังไง ยอดขายของ Legacy กลับกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง ผู้คนให้การตอบรับ Outback อย่างน่าพอใจ ในปี 1995 Subaru ดึงเอาดาราออสซี่มาดลุยอย่าง Paul Hogan (ผู้เล่นหนังเรื่อง Crocodile Dundee) มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ Outback เพราะชื่อ Outback นี่ก็หมายถึงท้องถิ่นกันดารในใจกลางทวีปออสเตรเลียนั่นเอง
ภาพนี้เป็นตัวอย่างโฆษณาที่เอามาจาก cars101.com
Outback กลายเป็นรถที่โดดเด่นขึ้นมาในสายตาผู้ซื้อ เนื่องจากมีความสามารถในการลุยน้องๆ SUV แต่มีขนาดตัวถังไม่เทอะทะ มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ขับขี่ได้รวดเร็วคล่องตัวเหมือนรถเก๋ง และใช้เครื่อง 2.5 ลิตรที่มีแรงม้าระดับ 150ตัวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่อง V6 หรือ V8 ความจุเยอะๆที่ซดน้ำมันโฮก
ว่ากันว่า Outback คือรถที่ทำให้ Subaru ยืนหยัดอยู่ในอเมริกาได้ เพราะหากนับเอาโมเดล Legacy ที่ถูกจำหน่ายออกไปมารวมกันทั้งหมด ประมาณครึ่งหนึ่งของยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นเป็นของเจ้าตัวลุยพันธุ์ฉกาจนี่เอง
กระแสความนิยมใน Outback ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ปลุกเร้าให้ค่ายรถอื่นกล้าลองทำรถสไตล์แวก้อนใต้ท้องสูงในเวลาต่อมา เช่น Volvo XC70 Cross-Country และ Audi A6 All-road เป็นต้น
Minorchange เหมือนแค่ทาปาก แต่จริงๆไม่ใช่
ในเดือนมิถุนายน ปี 1996 ก็ถึงเวลาไมเนอร์เชนจ์ให้กับ Legacy เพราะ ณ วันนั้น มันได้ทำการจำหน่ายมาจนถึงครึ่งอายุตลาดแล้ว ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นกันที่หน้าตากันก่อนเลย ภายนอก สิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือกระจังหน้าลายใหม่ที่มีแถบแนวนอนขั้นกลางดูหรูหรายิ่งขึ้น (ยกเว้นในบางรุ่น) กันชนหน้าทรงใหม่ที่มีขนาดช่องรับลมโตกว่าเดิม และมีช่องไฟตัดหมอกที่ใหญ่กว่ารุ่นเดิมด้วยเช่นกัน
ลองเอามาวางเทียบกันจะจะว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้าง นี่เป็นรุ่น RS ปี 93 เทียบกับ RS ปี 96(คันล่าง) นะครับ
มองเผินๆแล้วน่าจะมีแค่นั้น แต่จริงๆแล้วมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหลายจุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
และสมรรถณะของตัวรถ
โครงสร้างตัวถังของรถไมเนอร์เชนจ์ มีการเน้นในเรื่องของความปลอดภัยจากการชนปะทะจากด้านข้างมากขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนของห้องโดยสาร เสากลางรถ และเฟรมล่างทั้งด้านหน้าและหลังมีการปรับปรุงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ที่ภายในประตูรถ ก็จะพบว่ามีการจัดวางรูปแบบของคานเหล็กนิรภัยด้านข้างใหม่ที่ประตูหลัง โดยแทนที่จะวางให้เป็นแนวระนาบพื้นเหมือนของเดิม รถไมเนอร์เชนจ์จะได้คานที่วางเป็นแนวแทยงเฉียงลงไปด้านหลังของตัวรถซึ่ง Subaru กล่าวว่าช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการชนด้านข้างมากขึ้น ที่ขอบล่างของประตูหลังนั้นเราก็จะพบหมุดขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ยึดประตู (Rear door catcher) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยกันไม่ให้ประตูถูกดันเข้ามาภายในห้องโดยสาร
นอกจากนี้ ถ้าเป็นรถสเป็คญี่ปุ่นล่ะก็ Subaru จะให้ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ไม่ว่ารุ่นไหน ราคาใด
สำหรับเครื่องยนต์ของรถไมเนอร์เชนจ์ ก็มีการปรับปรุงเพื่อให้มีช่วงแรงบิดกว้างกว่าเดิมเมื่อกดคันเร่ง และประหยัดน้ำมันขึ้นเมื่อขับแบบปกติ เครื่องยนต์ EJ18, EJ20 และ EJ25 ที่หายใจธรรมดา ได้รับการเปลี่ยนลักษณะของลูกสูบ เพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด ปรับปรุงกลไกในการเปิดปิดวาล์วให้ทนต่อรอบสูงได้ดีขึ้น และยังมีการปรับปรุงช่องทางการไหลเวียนของน้ำในฝาสูบให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้นอีกด้วย
รูปตัวอย่างของเครื่อง EJ25D ที่ปรับปรุงใหม่จนได้แรงม้า 175 ตัว ขับสนุกน้องๆเครื่องเทอร์โบ..จะรอรอบไปทำไมน้อง
เครื่องตัวนี้จะวางอยู่ในรุ่นย่อยที่ชื่อ Legacy 250T ซึ่งมีดีกรีเป็นรองแค่ตัวทวินเทอร์โบเท่านั้น นอกจากจะถูกตกแต่งให้เข้าสไตล์หรูด้วยล้อลายใหม่ขนาด 15 นิ้วแล้ว ภายในยังได้ของเล่นเพียบรวมไปถึงเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติและพวงมาลัย Momo รุ่นสปอร์ต 4 ก้าน
ส่วนตัวแรงทวินเทอร์โบนั้นก็ไม่น้อยหน้ากัน แถมคราวนี้มีเวอร์ชั่นอัพเกรดที่แรงมากเป็นพิเศษเข้าไปด้วย
เริ่มที่เครื่องในรุ่น EJ20H ได้รับการเพิ่มอัตราส่วนกำลังอัดให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถขับขี่ในรอบต่ำได้คล่องตัวกว่าเดิม กลไกขับวาล์วเปลี่ยนจากการใช้ลูกถ้วยไฮโดรลิคแบบปรับตั้งอัตโนมัติ มาเป็นแบบรองด้วยแผ่นชิมแทน ซึ่งกลไกแบบนี้ต้องการการปรับตั้งเมื่อรถวิ่งใช้งานไปสักพัก แต่มีข้อดีคือลดอาการวาล์วลอยในยามลากรอบสูงได้มากกว่าเดิม แรงม้าเพิ่มขึ้นอีก 10 ตัว เป็น 260 แรงม้า
ส่วนน้องใหม่หมัดหนัก คือเครื่องรุ่น EJ20R ที่ดูเผินๆภายนอกก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องทวินเทอร์โบตัวอื่นๆ แต่ข้างใต้ฝาครอบวาล์วลงไปนั้นคือแค็มชาฟท์ที่ยกมาจาก Impreza STi Version III รวมไปถึงฝาสูบที่ปรับปรุงให้อากาศไหลเข้าได้ดียิ่งขึ้น วาล์วไอดีเป็นแบบกลวงเพื่อลดน้ำหนัก ในขณะที่วาล์วไอเสียจะสอดใส่โซเดียมเข้าไปข้างในวาล์วเพื่อช่วยในการระบายความร้อน เทอร์โบที่ใช้ก็เป็น IHI RHF-42 ซึ่งจะมีขนาดโข่งเท่ากับเครื่อง EJ20H เวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์นั่นล่ะ แต่กังหันฝั่งอัดไอดีของเครื่อง EJ20R จะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ทั้งหมดนี้รวมกันและบูสท์เทอร์โบเพิ่มอีกนิด ก็ได้ม้ามาใช้ 280 ตัวสูงสุดตามมาตรฐานญี่ปุ่นเด๊ะ
ตัวเลขดังกล่าวในสมัยนั้นถือว่าไม่ธรรมดานัก เพราะ Legacy รุ่นที่วางเครื่องตัวนี้ ถือได้ว่าเป็นรถยนต์นั่งญี่ปุ่นจากสายการผลิตรุ่นแรกภายในพิกัด 2.0ลิตรที่มีแรงม้าสูงสุดแตะเพดานของญี่ปุ่นพอดี สมัยนั้นมีรถอีกเพียงรุ่นเดียวที่เก่งขนาดนี้คือ Mitsubishi Lancer Evolution IV ซึ่งเจ้าตัวนี้เขามาเปิดตัว 1 เดือนให้หลังจาก Legacy นะครับ
เครื่อง EJ20R นี้จะวางอยู่ในรุ่นท้อป GT-B และ RS เฉพาะรุ่นที่เป็นเกียร์ธรรมดาเท่านั้น และมีอุปกรณ์เสริมเป็นชุดโช้คอัพจาก Bilstein ที่ได้รับการปรับความหนืดให้มากขึ้น
ออพชั่นพิเศษที่มีในตัวท้อปเกียร์ธรรมดานี้ก็ยังรวมไปถึงล้ออัลลอยห้าก้านขอบ 17 นิ้ว และท่อไอเสียแบบพิเศษที่มีวาล์วเปิดปิดกำหนดอัตราการไหลของไอเสีย ซึ่งทำให้สามารถเก็บเสียงได้เงียบเวลาที่ขับแอบกลับเข้าบ้านไม่ให้ภรรยารู้ และแผดเสียงดุดันได้เต็มที่เวลาซัดเล่นกับเด็กซิ่งรถแถวๆบ้าน
ส่วนถ้าจะมองจากภายใน สิ่งที่จะทำให้คุณรู้ได้ว่ากำลังขับรุ่นพิเศษนี้อยู่แน่ๆก็ดูที่หน้าปัดครับ รถที่ใช้เครื่อง EJ20R นั้นจะมีเรดไลน์ที่รอบเครื่องอยู่ 7,500 รอบต่อนาที ในขณะที่รุ่นทั่วไปจะอยู่ที่ 7,000 รอบต่อนาทีเท่านั้น นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ลืมไม่ได้อีกอย่างก็คือความเท่ห์ ซึ่งตอบโจทย์ด้วยพวงมาลัยสปอร์ตจาก Momo ที่มีถุงลมนิรภัย นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางด้านดีไซน์ที่ดีกว่าเดิมมาก ถ้ามาคิดกันว่าพวงมาลัย4ก้านแบบมีถุงลมอันเก่ามันใหญ่จนเวลาขับแล้วหลงนึกว่าจ้องก้นฮิปโปน่ะนะ..
เกือบลืมสเป็คเครื่องสำหรับรถไมเนอร์เชนจ์ ลองสังเกตพัฒนาการทางด้านพลังของมันดูได้ครับ
ส่วนทางด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์นั้น ทางญี่ปุ่นเปลี่ยนพรีเซนเตอร์คนใหม่จาก Rod Stewart กับธีม Legacy. My First. มาเป็นดาราเชื้อสายออสซี่รูปหล่ออย่าง Mel Gibson และใช้ธีมในการสื่อการตลาดให้กับรุ่นไมเนอร์เชนจ์ว่า “Legacy. My reason” และ “4 Seasons Legacy” อันสื่อถึงความสามารถของรถในการใช้งานได้ไม่ยั่นต่อฤดูกาล
สำหรับตัวอย่างโฆษณา นอกจากค้นเอาจาก youtube แล้ว ยังสามารถคลิกเข้าชมได้ที่นี่ครับ
www.japander.com/japander/gibson.htm
ในปี 1997 เครื่องยนต์และรูปลักษณ์ใหม่ทยอยเปิดตัวในตลาดประเทศอื่นๆ โดยมีสเป็คเครื่องให้เลือกดังนี้
เช่นเดียวกับตัวที่แล้ว รถสเป็คฝรั่งแรงจะน้อยกว่าเพื่อให้รองรับกับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงที่แตกต่างกันไป อย่างรุ่น 2.5 ลิตรที่เห็นนี้ มีแรงม้าน้อยกว่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นถึง 25 ตัว เพราะอัตราส่วนกำลังอัดต่างกันมาก และระบบกรองไอเสียและท่อไอเสียไม่เหมือนกัน
ช่วงท้ายอายุตลาด
อัพเดทครั้งท้ายสุดใน GenII Legacy นี้เกิดขึ้นกับตัว Outback เวอร์ชั่นญี่ปุ่น ซึ่งในเดือนมิถุนายน ปี 1997 มันถูกเปลี่ยนชื่อจาก Legacy Grand Wagon มาเป็น Legacy Lancaster แทน
ส่วนในประเทศอื่น ก็ทยอยกันออกรุ่นพิเศษ Limited Edition ออกมาเตรียมทิ้งท้ายตลาด อย่างที่ออสเตรเลีย ก็มีรุ่น Liberty 2.5RX รุ่นพิเศษที่ได้ชุดแต่งสปอร์ต ล้ออัลลอย 16 นิ้ว และช่วงล่างโหลดเตี้ยของ Bilstein ในขณะที่ฝั่งอเมริกานั้นดึงขาย Gen II ต่อมาจนล่วงเข้าปี 1999 ด้วยการออกรุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 30 ปีของการทำตลาดของ Subaru ในอเมริกาเหนือ
ซึ่งในเวลานั้น โมเดลใหม่ของ Legacy ก็เปิดตัวและทำตลาดในญี่ปุ่นมาได้นานเป็นปีแล้ว…
In Thailand
ในปี 1994 บริษัท สยามซูบารุ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในขณะนั้น ได้สั่งนำเข้า Legacy มาขายในประเทศไทยเพียงแค่ 2 แบบคือ รุ่น 2.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ตัวถังซีดาน และ 2.2 ลิตรเกียร์อัตโนมัติตัวถัง สเตชั่นแวก้อน โดยตั้งราคาเอาไว้ที่ 1,270,000 บาทสำหรับตัวแรก และถ้าใครชอบขนของมากเป็นพิเศษก็เพิ่มเงินเป็น 1,340,000 บาทเพื่อเล่นตัวสเตชั่นแวก้อนได้
ลองเอาหน้าตาของแผ่นพับจากสยามซูบารุมาสแกนให้ดูครับ
รถสเป็คที่จำหน่ายในไทยจะใช้เครื่องยนต์ 2.2ลิตร EJ22 แบบธรรมดา ที่สร้างแรงม้าได้ 128 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้ชื่อแปะท้ายว่ารุ่น “GX” ไม่มีรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบให้เลือกเหมือนตัวถังที่แล้วเพราะถ้าหากลูกค้าต้องการเล่นรถที่เอาไว้ขับเน้นแรงจริงๆล่ะก็ Subaru ก็มี Impreza 2.0 เทอร์โบ 210 แรงม้าให้เลือกอยู่แล้ว ดังนั้นตำแหน่งทางการตลาดของ Legacy จึงถูกปรับเข้าหาวัยผู้ใหญ่ยิ่งขึ้นด้วยขนาดความยาวของรถที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของคนมีครอบครัวยิ่งขึ้น ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ติดตั้งมาให้ก็เอาไว้เพื่อเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ทุกสภาวะอากาศ
ในภายหลังมีการนำรุ่นประหยัด เครื่อง 2.0 ลิตร EJ20 SOHC เกียร์ธรรมดาขับเคลื่อนล้อหน้าออกมาจำหน่าย และมีเฉพาะตัวถังซีดานเท่านั้น แต่พบเห็นได้เป็นจำนวนน้อยมาก เนื่องจากคนที่อยากได้ Subaru มักจะมีเหตุผลเรื่องความอยากได้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นหลัก
ยอดขายของตัวรถก็ไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จนักถ้าเทียบกับรถซีดานขับหน้าที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เราควรต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรนัก เพราะ Subaru จะเน้นจับตลาดลูกค้ากลุ่มน้อยที่ภักดีในตราดาวลูกไก่ หรือไม่ก็ชอบตัวรถที่คุณสมบัติของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ น่าเสียดายที่เมื่อต้องพบอุปสรรคหินๆในเรื่องค่านิยมแบรนด์ รวมถึงด้านอัตราเร่งที่สู้ชาวบ้านเขาไม่ได้ ในยุคนั้น Toyota มี Corona ซึ่งราคาถูกไว้ และตีล้อมตลาดระดับสูงขึ้นมาไว้อีกด้วย Camry ทางด้าน Honda ก็มี Accord VTi-S ตัวประกอบนอกซึ่งชูจุดเด่นที่เครื่องยนต์ SOHC VTEC ที่ขับสนุกและหรูหราด้วยออพชั่นรถนอก ทางด้าน Mitsubishi มี Galant Ultima V6-24วาล์วที่วางบุคลิกให้มีความเป็นสปอร์ตชัดเจน และมีแรงม้าสูงสุดในตลาดระดับนั้นคือ 155 แรงม้า ทางด้าน Nissan ก็มี Bluebird SSS ที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ Cefiro A31 ซีดานขับหลังก็ยังสามารถทำตลาดได้ และครองใจคนได้มากอยู่ ปิดท้ายด้วย Mazda ซึ่งทำตลาดด้วยรถนำเข้าคุณภาพดีอย่าง Cronos ทั้งในแบบ 5 ประตูและ 4 ประตู
น่าเสียดายที่ในสมัยนั้น การเลือกซื้อรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ยังไม่อยู่ในแนวคิดของลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งในแต่ละวันพวกเขามักจะใช้รถในเมืองเป็นหลัก จึงมองไปที่ปัจจัยทางด้านรูปทรง ความหรูหรา ชื่อเสียงของแบรนด์ ศูนย์บริการ อะไหล่ และราคาขายต่อ สำหรับคนในสมัยนั้นระบบขับสี่ไม่ได้ถือเป็นจุดเด่น และถ้าตัดเรื่องนี้ออก Legacy ก็เป็นเหมือนกับรถญี่ปุ่นนำเข้าทั่วไปที่ฮิตในสมัยนั้น เว้นแต่ราคาซึ่งทะลุหลักล้านไปไกลกว่าเพื่อน
ข่าวดีก็คือแม้จะขายไปเป็นจำนวนไม่มาก ทุกวันนี้เรายังสามารถพบ Legacy บอดี้นี้บนท้องถนนได้ในแบบนานๆที ส่วนถ้าใครคิดจะซื้อหามาเป็นเจ้าของนั้นก็ไม่ใช่รถที่หาสภาพดีได้ยาก เพราะพื้นฐานของรถสเป็คไทย ไม่ใช่รถที่เน้นการขับขี่แบบดุดัน คนส่วนมากที่ขับมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่เท้าไม่ได้หนักอะไร แต่ถ้าเป็นคันไหนที่ตกแต่งและเปลี่ยนเครื่องยนต์เทอร์โบมาแล้ว ก็คงต้องขอดูสภาพตัวถังกันซะหน่อยเพราะคงมีน้อยคนนักที่เสกม้าเข้าเครื่องแล้วไม่เรียกออกมาใช้
คุณภาพวัสดุที่ใช้ภายในห้องโดยสารของ Legacy อยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับคู่แข่ง และจัดว่าดีกว่า Impreza ในรุ่นปีใกล้เคียงกัน ส่วนมากที่พบว่าต้องเปลี่ยนกันก็มักจะเป็นเบาะนั่งที่บุหนังมาในรถบางคัน ผ่านมา 10กว่าปีก็จะมีการแตกระแหงเหมือนดินแล้งเป็นเรื่องปกติ ส่วนเบาะผ้าคงไม่มีปัญหาอะไร พวกหน้าปัดและแผงประตูต่างๆ มีความทนทาน เรียกได้ว่าถ้าช่างไม่มักง่ายสักแต่ใช้กำลังล่ะก็ไม่พังกันง่ายๆแน่นอนครับ อย่างมากก็สีซีดลงไปตามกาลเวลาซึ่งจะพบได้ในรถที่จอดตากแดดทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนาน
หากจะจับมาทำต่อสักคันควรเลือกให้แน่ใจก่อนว่าอยากได้สไตล์ตัวถังแบบไหน เพราะรุ่น 4 ประตูมีราคาที่น่าคบหากว่ามาก 4 ประตูล็อตแรกๆในตลาดมือสองขึ้นลงกันอยู่ที่ 300,000บาทบวกลบ และผมเคยเห็นรถที่ประกาศขายในเว็บ www.taladrod.com ด้วยราคาแค่ 250,000 มาแล้ว ส่วนตัวถังสเตชั่นแวก้อนนั้นราคาจะถีบสูงขึ้นไปชนิดคนละเรื่อง สำหรับสเตชั่นแวก้อนสภาพเดิมๆ คุณต้องมีระดับ 400,000บาทถึงจะเริ่มมีโอกาสหารถมาใช้ได้ แต่ในยุคนี้บอกได้เลยว่า เตรียมไว้สัก 450,000 เถอะครับ เพราะเจ้าของส่วนมากใช้แล้วจะรักจนไม่ยอมปล่อยออกง่ายๆ
ทำไมรุ่นสเตชั่นแวก้อนถึงแพงกว่ามาก ทั้งๆที่ตอนป้ายแดงราคาก็ต่างกันอยู่ 70,000 บาท? อันนี้ไม่เคยมีใครทำวิจัยออกมาแต่ผมเดาว่าเป็นเพราะอรรถประโยชน์การใช้สอยที่สูงกว่า และเส้นสายที่ลงตัวสวยงาม ดูสปอร์ตและเอนกประสงค์ไปพร้อมๆกัน ลองดูอย่างคันในภาพข้างบนนี้สิครับ เจ้าของคันนี้ถ้าเอ่ยชื่อไปบางคนอาจจะรู้จัก พี่อั๋น หรืออาจารย์อั๋น พิธีกรที่เราคุ้นหน้าตากันดีจากรายการ Motor-track นั่นเอง เวลาลงสนาม พี่อั๋นใช้ Impreza แต่วันไหนที่ขับมาดูเขาแข่งกัน ก็จะมาในเจ้า BG คันเขียวนี่แหละครับ
Ways to go with your Legacy
การตกแต่งและโมดิฟายต่อเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับ Subaru ดังนั้นอย่าได้แปลกใจถ้าไปเดินช้อป Legacy มือสองมาแล้วพบว่าหลายคันถูกเปลี่ยนเครื่องมาเรียบร้อยแล้ว และรถส่วนมากที่วางเครื่องมามักจะมีอยู่สองแบบคือเครื่องทวินเทอร์โบ และอีกแบบคือเครื่องเทอร์โบเดี่ยวจาก Impreza
แล้วจะเลือกแบบไหนดี? ตอนที่ผมกำลังศึกษาข้อมูลเตรียมซื้อ Legacy นั้น ผมก็เคยตั้งกระทู้ถามในบอร์ดให้พี่ๆที่ siamsubaru.com ช่วยตอบให้ และก็ทำการค้นคว้าหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์เมืองนอกประกอบกันไปด้วย ผลที่ได้ฟังมาก็น่าแปลกใจอยู่ว่าไม่ค่อยมีคนส่งเสริมให้ใช้เครื่องทวินเทอร์โบนี้เท่าไหร่นักทั้งๆที่เรี่ยวแรงก็มีให้เลือกตั้งแต่ 250-260 แรงม้า (หรือ 280แรงม้า ถ้าโชคดีเจอเครื่อง EJ20R)
สาเหตุก็คือเครื่องทวินเทอร์โบมีระบบสั่งการทำงานที่ซับซ้อน ยุ่งยากต่อการโมดิฟายมากกว่า ภายใต้ฝากระโปรง จะมีจุดที่เป็นสายและท่ออากาศมากมาย ซึ่งถ้าหากรั่วแม้แต่จุดเดียว เครื่องจะทำงานชนิดจำพ่อจำแม่ไม่ได้ สร้างความปวดหัวในการบำรุงรักษามากกว่าเครื่องเทอร์โบเดี่ยว นอกจากนี้วิธีการทำงานของระบบ Sequential Turbo ยังทำให้เครื่องยนต์มีจุดอ่อนในช่วงแรงบิดรอบกลาง แม้ในกราฟแรงบิดตามโบรชัวร์จะเห็นได้ว่ากราฟแรงบิดเป็นเส้นตรงสวยตั้งแต่รอบต่ำไปจนถึงรอบสูง แต่ในชีวิตจริง เครื่องยนต์จริงที่ผมสังเกตมาจากตอนไปขึ้นแท่นวัดม้า พบว่ากราฟแรงบิดช่วงกลางตกเป็นท้องร่องชัดเจน พวกฝรั่งก็รู้ปัญหาบุคลิกประจำตัวของเครื่องบล็อคนี้ พวกเขาจึงมักเรียกแรงบิดที่ตกท้องลงแบบนี้ว่า Torque Valley หรือ Valley of Death
การโมดิฟายก็ไม่ถูกเงิน และสบายใจเท่ากับการเอาเครื่องเทอร์โบเดี่ยวมาทำ ซึ่งมีเทอร์โบให้เลือกมากมาย มีชุดแต่งให้เลือกมากกว่า และถ้าคุณคิดจะโมดิฟายเพื่อการขับที่ดุเดือด คุณก็คงไม่สนเรื่อง Turbo lag เล็กๆน้อยๆอยู่แล้ว ฉะนั้นก็วางเครื่องเทอร์โบเดี่ยวไปเลยดีกว่า โดยเฉพาะเครื่องตระกูลคอแดงจาก Impreza STi ทั้งหลายที่มีความทนทานสูงกว่าเครื่องสเป็คธรรมดา “คอขาว” อย่างมาก ทนบูสท์ได้สูงกว่าแถมปั่นรอบจี๋ได้ระดับ 8,000 รอบต่อนาที
เครื่อง EJ20 เทอร์โบทุกรุ่นสามารถยัดลงใต้ฝากระโปรงของ Legacy ได้ ไม่เว้นแม้แต่เครื่องคอแดงเทอร์โบเกียร์ 6 สปีดจาก Impreza ตาเหยี่ยวโฉมปี 2003 ดังนั้นคุณคงจะเริ่มเห็นภาพแล้วในสิ่งที่ผมบอกว่ารถซาลูนขับสนุก 300แรงม้า ราคาเท่ารถ Sub compact ป้ายแดงมันเป็นยังไง
แต่ถ้าเครื่องรุ่นนี้แพงเกินไป คุณเองก็สามารถเล่นแบบหอมปากหอมคอได้ด้วยการคบเครื่องคอขาวธรรมดา ซึ่งยกมาจาก Impreza WRX เกียร์ 5 สปีด เครื่องรุ่นปี 96 เดือนธันวาคมเป็นต้นมาจะมีอินเตอร์คูลเลอร์ขนาดใหญ่กว่ารุ่นเก่า มีคอยล์จุดระเบิด 2 คอยล์ (รุ่นเก่ามีคอยล์แยกอิสระตัวละสูบ) เครื่องคอขาวพวกนี้ออกมาจากโรงงานก็มี 280 แรงม้าเท่ากับ EJ20R (หรือ 218 แรงม้าถ้าเป็นเครื่องสเป็คไทย) และสามารถเปลี่ยนเทอร์โบมาใช้ตระกูล RHF-5 ที่มีหลายรุ่นหลายขนาดให้เลือก (แล้วแต่รสนิยมการขับและเงินในกระเป๋า) เอามาแทน TD-04L ของเดิม ติดตั้งตัวปรับบูสท์เพิ่มจาก 0.8 เป็น 1.1บาร์ (1.25 บาร์ก็ได้ถ้ากล้าพอ) เปลี่ยนปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงกับ เรกูเลเตอร์ และเพิ่มกล่อง piggyback จูนเพิ่มสักกล่อง อาจจะต้องมีรายการเปลี่ยนหัวฉีดให้รับกับม้าที่เพิ่มขึ้นหน่อย แต่ระหว่างจูนก็คงรู้ได้ว่าควรจะต้องเปลี่ยนหัวฉีดหรือไม่
สำหรับการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Legacy นี้สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์คนไทยด้วยกันเช่น siamsubaru.com หรือ subaruclub-thailand.com ซึ่งในเว็บไซต์หลังนี้มีคนที่ใช้ Legacy รวมตัวกันอยู่เยอะและหลายคันก็ตกแต่งเสริมสมรรถณะมาแล้วครบครัน
In conclusion
Legacy เป็นหนึ่งในรถที่แปลกที่สุดในโลกตรงที่ว่ามันเป็นจุดรวมทุกอย่างที่ขัดแย้งกันเอาไว้ได้อย่างพิลึกกึกกือ
ผมขอให้คุณลองนึกภาพว่าคุณมีเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่ดูเหมือนคุณน้าอายุ 50 ที่ทำอาชีพร้านขายของโชว์ห่วย และแม้อายุน้าจะไม่ใช่น้อยๆ คุณก็พอจะสังเกตได้ว่าคุณน้ายังมีรูปร่างที่สมส่วน ทะมัดทะแมง และแคล่วคล่องว่องไวเกินอายุ แต่ด้วยใบหน้ายิ้มๆกับเสียงนุ่มๆที่มาพร้อมกับเงินทอนยามคุณซื้อไวตามิลค์มาดูด ทำให้คุณคิดว่าแกก็เป็นแค่คนแก่ไม่มีพิษสงอะไร จนกระทั่งวันนึงคุณค่อยมาทราบภายหลังว่าคุณน้าเคยเป็นหน่วยสวาทมาก่อน ชำนาญการฆ่าคนด้วยมือเปล่า และสามารถใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดเป็นครบทุกชนิด เพียงแต่วันนี้คุณน้าเบื่อวิถีชีวิตแบบเก่า และหันหน้าเข้ามาหาความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายแทน
Legacy ตัวนี้ให้ความรู้สึกกับผมอย่างนั้น มันเป็นรถที่สืบทอดตัวแข่งแรลลี่ที่เป็นตำนานของ Subaru มาก่อน เพียงแต่เมื่อ Impreza มารับหน้าที่นั้นต่อ Legacy ก็ต้องกลายร่างเป็นรถผู้ใหญ่เต็มตัว แนวทางของรถเปลี่ยนไป สะอาด และสำอางขึ้น หน้าตาเกรี้ยวกราดน้อยลง แต่ลึกๆในจิตวิญญาณของมันยังคงมีความเป็นรถซิ่งแฝงอยู่ รอวันที่เจ้าของจะเรียกออกมาใช้
มันเป็นรถที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนัก คุณเคยเห็นเด็กๆฝันอยากขี่ Porsche หรือ Ferrari ถ้าเป็นเด็กยุคใหม่อาจจะมีบางคนอยากได้ Impreza STi แต่เคยเห็นเด็กอายุไม่เกิน 14 คนไหนที่ฝันอยากได้ Legacy บ้างหรือไม่
มันไม่ใช่รถคลาสสิค ด้วยความที่อายุยังไม่ครบ 25 ปีดีนัก และมีรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างคาบลูกคาบดอกแบบเดียวกับรถยุค 90 อื่นๆ มันไม่ใช่รถที่หนังสือรถต่างพากันสรรเสริญเทิดทูนให้เป็นฮีโร่ตลอดกาลแบบ BMW M3 Mitsubishi Evolution หรือ Porsche 911
แต่ถ้าคุณหลงใหลในค่ายดาวลูกไก่มากพอ คุณจะทราบว่ามีศักยภาพอะไรซ่อนอยู่ในรถคันนี้ และมันสามารถมอบอะไรให้กับคุณได้บ้าง มันคือรถที่เป็นที่รู้จักน้อยมากที่สุดคันนึงที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดซึ่งคุณสามารถเป็นเจ้าของได้ถ้าจะยอมจ่ายค่าน้ำมัน 5-6 กิโลเมตรต่อลิตร
Source
1994 TECHNICAL DESCRIPTION for Subaru Legacy
1994 Subaru Legacy Technical Illustration
1997 Subaru Legacy New Car Features
MotorFan Magazine #139,#188
www.autospeed.com
forums.nasioc.com/forums/archive/index.php/t-1208475.html
www.rallye-info.com/article.asp?stid=331
Turbo Legacy Homepage (homepages.ihug.co.nz)
Subaru Legacy International Website
www.siamsubaru.com
www.theautochannel.com
www.legacygt.com
www.cars101.com
ขอสงวนสิทธิ์เนื้อหาของบทความข้อเขียนมิให้นำไปใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากheadlightmag.com
ติดต่อเพื่อขออนุญาตได้ที่เว็บบอร์ดหรือ [email protected] ครับ