เมื่อได้ยินชื่อ Subaru ดังเข้ามาในหู คนที่ไม่ได้เล่นรถเลยอาจจะบอกว่า
“พบได้แถวซอยเสนา” แต่ถ้าเป็นนักเลงรถตัวกลั่น หรือใช้ชีวิตอย่างเต็มที่บน
ท้องถนนตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา คุณย่อมต้องนึกถึงรถ C-Segment ที่มีจุดขาย
เรื่องระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบ และเป็นขวัญใจนักซิ่งสาวก
ดาวลูกไก่..เป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ที่โด่งดังด้วยขนาดตัวที่เล็ก น้ำหนักที่เบา การจูน
ช่วงล่างและระบบขับเคลื่อนของรุ่น WRX 2.0 Turbo กับ Legacy BC5 Turbo
ที่เอามาขายในช่วงทลายกำแพงภาษีรถนำเข้า ทำให้ภาพลักษณ์ของ Subaru
ในประเทศไทยถูกผูกเข้ากับความเป็นสปอร์ตซีดานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เมื่อ Subaru นำ Impreza ตัวถัง GH (หน้าแมว)
เข้ามาขาย เมื่อหลายคนได้ลองขับรถรุ่น 1.5R กับ 2.0R ที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์
แบบเทอร์โบชาร์จ ก็ไม่น่าแปลกเลยที่พวกเขาจะรู้สึกว่าต้มยำร้านเดิมที่เคยเผ็ด
ร้อนแรงจนขี้เป็นลูกไฟ วันนี้ทำไมคุณป้าอกหัก ลืมใส่พริกใส่มะนาวมาให้เสียนี่
แทนที่จะมีบุคลิกปราดเปรียว สปอร์ต อย่างที่หลายคนคิด Impreza เวอร์ชั่น
ครอบครัว กลับนุ่มนิ่ม ย้วย กระแทกคันเร่งแล้วหลังไม่ติดเบาะ
เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าภาพลักษณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น “ใจของพวกเรา”
นั่นล่ะครับที่พาไป เราไปตีภาพครอบรถ “Impreza” ด้วยคุณสมบัติของรถรุ่น
“WRX” ทั้งที่ความจริงในไทย Subaru ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็มีเวอร์ชั่นครอบครัว
ขายเป็นตัวหลัก ไม่ว่าจะเป็น Leone สองตา สี่ตา หรือโฉมถัดมาที่เปลี่ยนเป็นตา
เหลี่ยม (GF-T) หรือท้ายสุดก็เปลี่ยนมาเป็นเหลี่ยมทั้งคันอย่าง Leone 1.8GR
รถเหล่านี้ไม่ได้มีเครื่องยนต์ที่แรงจัด แม้กระทั่ง Impreza ตัวแรกที่เข้ามาขาย
ในบ้านเราก็มีรุ่นเครื่อง 1.6 ลิตรเป็นตัวล่าง และ 1.8 ลิตรม้าร้อยกว่าตัวเป็นรุ่นกลาง
รถเหล่านี้ไม่ใช่ Performance Car แต่มีระบบขับเคลื่อนกับการจูนช่วงล่างที่ดี
ในระยะหลัง Subaru หันมามุ่งเน้นระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออย่างจริงจัง เพราะว่า
เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลในการเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกัน แล้วก็ยัง
ได้ความสามารถในการลุยเป็นของแถม บนเกาะหิมะแห่งฮอกไกโด หล่มโคลน
ในออสเตรเลีย หรือชายหาดในนิวซีแลนด์ คุณจะเห็น Subaru รุ่นธรรมดาที่ใช้
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ทั่วไป
Subaru เล็งเห็นว่ายังมีตลาดหลายแห่งในโลกสำหรับรถเก๋ง C-Segment
ขับเคลื่อน 4 ล้อแต่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์แรงๆ หรือช่วงล่างแบบสปอร์ต
ด้วยเหตุนั้น ในปี 2011 พวกเขาก็ตัดสินใจแยกชื่อรุ่นและลักษณะการออกแบบ
ของ Impreza กับ WRX ออกจากกัน…คันแรก จับตลาดลูกค้าสายสันติสุข
ต้องการรถนุ่มๆ ขับง่ายๆ แต่มีความปลอดภัยสูงด้วย All-Wheel-Drive
ส่วนอีกคัน จับตลาดสายถนนนักซิ่ง แข็ง หนึบ ไว มันส์ และ AWD เหมือนกัน
รถทั้งสองคันมีโครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน ประตูหน้าและเสา A-pillar ร่วมกัน
ส่วนอื่นๆจะแตกต่างกันไป วิธีนี้ส่งผลให้ไม่ต้องดีไซน์รถแบบรอมชอมกันไปมา
รุ่นธรรมดา ก็ทำรถให้โดนใจผู้หญิงได้ ในขณะที่ WRX ก็ทำเส้นสายให้แมนๆไป
พอมาถึงเจอเนอเรชั่นที่ 5 Subaru ก็ยังเดินตามแนวคิดเดิม Impreza รุ่นใหม่
จึงดูออกจะเรียบร้อยแบบรถครอบครัวเช่นเดียวกับรถรุ่นก่อน แล้วก็เปิดตัว
โชว์โฉมไปที่งาน New York Internatinal Auto Show เมื่อเดือนมีนาคม 2016
และในปีแรกที่เปิดตัว Impreza ก็คว้ารางวัล Japan Car of The Year ไปครอง
แสดงให้เห็นว่าแม้มันจะไม่ใช่พระเอกหน้าหล่อที่ผู้คนกรี๊ดกร๊าด แต่มันก็ต้องมี
จุดที่ดีซ่อนอยู่บ้างล่ะ!
ที่แน่ๆ แม้ว่าหลายคนจะหลงคิดไปว่านี่คือเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ของตัว 2011
(ซึ่งผมก็ไม่อยากว่าพวกคุณหรอก ดูประตูหน้ากับหลังมันคล้ายเดิมซะขนาดนั้น)
แต่อันที่จริง 95% ของตัวรถ เป็นสิ่งที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ แม้แต่โครงสร้าง (Platform)
ใหม่ที่เรียกว่า SGP – Subaru Global Platform นั้น ก็เป็นของใหม่ ดังนั้นจึง
สามารถใช้คำว่า “ALL-NEW” ได้จริงจัง ไม่ใช่แค่แต่งหน้าทาปากแล้วมาบอก
ว่าใหม่ถอดด้าม
ชักน่าสน…ต่อให้เราทราบดีว่าทาง Tan Chong ไม่มีแผนนำ Impreza รุ่นนี้
มาขายในประเทศไทย แต่ Subaru XV ซึ่งเป็นพี่น้องตัวโย่งในตระกูลเดียวกัน
จะมาแน่นอนในช่วงปลายปี ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ บวกกับที่ทาง Subaru บอกว่า
โครงสร้าง SGP ใหม่นี้ จะถูกนำไปใช้กับ “Subaru ทุกรุ่นที่จะตามมาในอนาคต”
ไม่ว่าจะเป็น Forester, XV, WRX และแม้กระทั่ง Legacy มันก็เพียงพอจะทำ
ให้ผมตัดสินใจเดินทางกับสื่อมวลชนอีก 20 ท่าน มายังดินแดนใต้สุดของ
ช่องแคบยะโฮร์ เพื่อมาสัมผัส Impreza 2017 ที่เพิ่งจะเปิดตัวขายในสิงคโปร์
แม้ว่าจะได้ขับสั้นๆในคอร์สปิดขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริง
ในการขับขี่บนท้องถนนครบถ้วนตามที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยก็พอคาดเดา
บุคลิกของรถได้ 25-30% ว่าเมื่อ XV เปิดตัวมันจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร
นอกจากนี้ ก็ยังมีภาพรถคันจริงจากงาน Singapore Motor Show มาฝากกัน
เชิญชมได้เลยครับ
Subaru New Impreza 2017 (Singaporean Spec)
กลุ่ม Tan Chong นำ Subaru Impreza ใหม่เข้ามาจากญี่ปุ่น และเริ่มขายใน
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน โดยได้
เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2017 ในงาน Singapore Motor Show ซึ่งจัด
ที่ศูนย์นิทรรศการ SUNTEC
Impreza ใหม่มีตัวถังให้เลือก 2 แบบคือซาลูน 4 ประตู และ Hatchback 5 ประตู
แม้ว่าเมื่อมองจากด้านข้างจะดูคล้ายกับรถรุ่นเดิมมาก แต่เส้นสายด้านหน้าและหลัง
ถูกเปลี่ยนใหม่ไม่เหลือเค้าของรุ่นเดิม สังเกตได้ว่าไฟหน้านั้นรับอิทธิพลมาจากไฟ
ทรงเม็ดข้าวสารของ WRX แต่ปรับให้ดูยาวและเรียวขึ้น เข้ากับกระจังหน้า
รุ่น 4 ประตู มีขนาดมิติตัวถัง ยาว x กว้าง x สูง เท่ากับ 4,625 x 1,775 x 1,455
มิลลิเมตร ส่วนรุ่น 5 ประตู ความยาวจะลดลงเหลือ 4,460 มิลลิเมตร แต่ความสูง
จะเพิ่มเป็น 1,480 มิลลิเมตร และมีความกว้างเท่ากัน ระยะฐานล้ออยู่ที่ 2,670
มิลลิเมตร ซึ่งยาวเท่ากับ Honda Civic FB และยาวกว่า Ford Focus 22 มิลลิเมตร
แต่สั้นกว่า Toyota Corolla Altis, Honda Civic FC และ Mazda 3 ซึ่งล้วนแต่
ใช้ฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร ส่วนถังน้ำมันของ Impreza มีความจุ 50 ลิตร
ระยะต่ำสุดของตัวรถจนถึงพื้น อยู่ที่ 130 มิลลิเมตร
รูปโฉมของรถคันจริงนั้น ผมคิดว่าดูสวยกว่าที่เห็นในกระดาษหรือบนจอคอมฯ
เพราะเราได้เห็นการเดินเส้นแนวด้านข้าง กระจังหน้ากับไฟหน้าที่ดูสวยขึ้น
ขออภัยที่พูดตรง แต่ถ้าให้เจาะจงก็คือเหมือนมีความเซ็กซี่ของ Mazda
เข้าไปปนอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แย่ เพราะหน้าแบบนี้แหละดึงดูดคนให้ซื้อได้
ในขณะที่ด้านท้ายนั้น เหมือนคนออกแบบไม่ได้คุยกับคนอื่นในทีม โดยเฉพาะ
ไฟท้ายที่เอาแนวมาจาก Legacy รุ่นล่าสุดกับ Outback นี่คือความเห็นส่วนตัว
ของผมล้วนๆครับ
คันสีขาวนี้เป็นรุ่นซาลูน 1.6i-S ซึ่งใช้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด
205/50 มีไฟหน้า LED ปรับองศาจานฉายอัตโนมัติ ซันรูฟ และไฟหน้าแบบ
หักเลี้ยวตามองศาพวงมาลัยมาให้
ส่วนคันสีแดงนี้เป็นรุ่น 2.0tS ซึ่งเอารุ่นท้อป 2.0i-S มาใส่ชุดแต่งพิเศษ ลิ้นหน้า
สเกิร์ตข้างและล้ออัลลอยของ STi เข้าไป ช่วยคืนมาดความเป็นรถวัยรุ่นกลับคืน
มาได้ประมาณ 4 ขีด (อย่างน้อยพอได้ชุดแต่ง แล้วเลือกสีรถให้แสบๆเข้าไว้
มันก็ดูเตะตามากขึ้นบ้างล่ะ)
เบาะหน้า มีทรวงทรงที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีซัพพอร์ทด้านข้างเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม
เล็กน้อย ไม่ถึงกับให้ความรู้สึกแบบสปอร์ต มันยังคงเน้นความสบายมากกว่าเอา
ไว้ขับซิ่ง เบาะด้านคนนั่งปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง แต่เบาะคนขับจะเป็นแบบปรับไฟฟ้า
ซึ่งสามารถเลื่อนตัวเบาะเงย-จม และปรับขึ้น/ลงแบบทั้งตัวได้ เมื่อบวกกับ
พวงมาลัยที่สามารถปรับสูง/ต่ำและเข้า/ออกเป็นระยะได้ค่อนข้างมากทำให้
ไม่ว่าใครขึ้นขับ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะหาตำแหน่งการขับที่เหมาะสมที่สุดได้ง่าย
การเข้าออกจากตัวรถ ง่ายแทบไม่ต่างจาก XV มนุษย์สูง 183 เซ็นติเมตร
หนัก 148 กิโลกรัมอย่างผมสามารถเข้าออกได้โดยง่าย แนวหลังคาไม่ได้
เบียดบังเนื้อที่ศีรษะมากนัก
เบาะหลัง..ถ้าดูเรื่องเนื้อที่อาจจะไม่ค่อยแตกต่างจากรถรุ่นเดิมเท่าไหร่นัก
แต่เบาะรองก้นและพนักพิงหลังนั้นดูเหมือนจะใช้ฟองน้ำที่หนาและแน่นขึ้น
ทำให้นั่งแล้วรู้สึกสบายกว่าเบาะของ XV แต่ก็น่าเสียดายที่พนักพิงหลังยัง
ค่อนข้างเตี้ย สัดส่วนเบาะดูเหมือนกับรุ่นเดิม และพนักพิงศีรษะรูปตัว L นั้นก็
ออกไปในแนวแข็ง (น่าจะแข็งเท่ารุ่นเดิม)
ส่วนภายในรถ ก็ได้รับการออกแบบใหม่หมดไม่เหลือเค้าเดิมเช่นกัน
ถ้าคุณเอามือบังสวิตช์เครื่องปรับอากาศกับพวงมาลัยเอาไว้ ก็แทบจะ
เดาไม่ถูกแล้วว่าเป็นรถค่ายไหน บางท่านอาจจะไม่ถูกใจช่องแอร์ทรง
แนวตั้งที่ทำให้ดูเหมือนพวกรถ MPV แต่ประโยชน์ของช่องแอร์แบบนี้ก็คือ
มันจะทำให้สามารถติดตั้งจอกลางขนาดใหญ่ไว้ใกล้ระดับสายตาได้มากกว่า
สวิตช์ไฟฉุกเฉินถูกย้ายไปอยู่ข้างล่าง ใกล้กับชุดสวิตช์คุมระบบปรับอากาศ
เพราะต้องการเคลียร์พื้นที่ส่วนบนของแดชบอร์ดให้ดูกลมกลืน (ผมว่า
ตำแหน่งสวิตช์ของรุ่นเดิมที่อยู่ส่วนบนของแดชบอร์ดนั้นใช้ง่ายกว่า)
เบรกมือจากแบบก้านดึงก็เปลี่ยนเป็นแบบไฟฟ้า
Subaru บอกว่าพวกเขาพยายามเลือกใช้วัสดุที่ดีขึ้นสำหรับภายในรถ
แต่เอาเข้าจริง หากไม่นับแดชบอร์ดที่มีตะเข็บ (ลืมดูว่าตะเข็บปั๊มหรือเปล่า)
และการเลือกใช้วัสดุพลาสติกและสีดำเงาในบางจุด..ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ดีขึ้น
กว่า XV Minorchange หรือ Levorg เท่าไหร่นัก สัมผัสของสวิตช์ต่างๆ
และการเก็บงาน ช่องห่างของส่วนประกอบต่างๆนั้นก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งถือว่า
ดีอยู่แล้วถ้าคุณไปเทียบกับ Honda หรือ Toyota ประกอบในประเทศไทย
แต่ยังห่างชั้นกับงานละเอียดของ Volkswagen
ภาพที่เห็นข้างบนนี้คือแดชบอร์ดของรุ่น 1.6i-S Hatchback ซึ่งถือว่า
เป็นรุ่นกลาง (ในตลาดสิงคโปร์จะประกอบด้วยรุ่น 1.6i, 1.6i-S และ
รุ่นท้อป 2.0i-S) ซึ่งจะมีจอกลางขนาด 8.0 นิ้ว (รุ่น 1.6i เป็นขนาด 6.5 นิ้ว)
เครื่องปรับอากาศเป็นแบบ Dual-zone Automatic Climate Control
ส่วนนี่คือแดชบอร์ดของรุ่น 2.0tS ซึ่งมีหน้าตาเกือบเหมือนกับ 1.6i-S ทุกอย่าง
ยกเว้นวัสดุคาร์บอนดำ/เหลืองแทนที่วัสดุสีเงิน (ของจริงดูเท่มาก) แถมบนเบาะ
ยังมีการกัดลายคาร์บอนลงไปที่ปีกข้างอีกด้วย
จอชุดบน ขยายขนาดจากเดิมออกในแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัดขนาดได้ 6.3 นิ้ว
จัดลวดลายตัวหนังสือและสีสันของกราฟฟิกต่างๆมาสวยกว่ารุ่นเดิมคนละเรื่อง
นอกจากสามารถกดโชว์ค่าอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น น้ำมันเครื่องและค่าความเร็ว
ต่างๆได้แล้ว ยังสามารถแสดงการทำงานของระบบอื่นๆได้อีก รวมถึงเซ็นเซอร์
ถอยเข้าจอดและฟังก์ชั่นต่างๆของรถที่กำลังใช้งาน เช่นในภาพด้านบน
ในรุ่นเดิม สวิตช์คุมจอบน จะอยู่ระหว่างช่องแอร์กลาง ในรุ่นใหม่นี้ ย้ายสวิตช์
ไปอยู่บนก้านพวงมาลัยด้านซ้ายแทน
แผงมาตรวัดต่างๆ มีดีไซน์คล้ายกับของรุ่นเดิม เรืองแสงตัวเลข และเข็ม
เป็นสีขาว ปรับ Font ตัวเลขเพรียวบางลงตามยุคนิยมความผอม สิ่งที่เปลี่ยน
ไปชัดเจนที่สุดก็คือจอ Multi-Information Display ตรงกลางซึ่งมีสีสัน
สวยงามขึ้น สามารถตั้งให้โชว์ค่าได้หลายแบบรวมถึงแสดงลมยางทั้ง 4 ล้อ
ถัดลงมาที่แผงด้านข้างบริเวณใกล้เข่าขวาคนขับ มีสวิตช์สำหรับควบคุมความสว่าง
ของไฟหน้าปัด, SRH OFF (ปิดระบบไฟหน้าส่องลำแสงตามทิศทางการหักเลี้ยว),
ปุ่ม Reset ตัววัดแรงดันลมยาง ปุ่มปิดระบบ Blind Spot Detection, ปุ่มปิดระบบ
Auto Start/Stop และปุ่มปิดระบบ Vehicle Dynamics Control (VDC)
รายละเอียดทางเทคนิค
Subaru Impreza ในตลาดสิงคโปร์จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 2 แบบ
แบบแรก คือเครื่องยนต์ FB16 หัวฉีดแบบปกติ 4 สูบนอน Boxer DOHC 16 วาล์ว
ความจุ 1,600 ซี.ซี. (เป๊ะ) ให้พลังแรงม้า 114 PS/6,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด
150 นิวตัน-เมตร/3,600 รอบต่อนาที ปล่อย CO2 145 กรัม/กิโลเมตร
ส่วนรุ่น 2.0i-S จะใช้เครื่องยนต์ FB20 ซึ่งพื้นฐานมันก็คือเครื่องยนต์ตัวเดิมที่
มีอยู่ใน XV และ Forester บ้านเรา แต่มาคราวนี้เพิ่มระบบหัวฉีดแบบตรงเข้า
ห้องเผาไหม้ (Direct Injection) เข้ามา ส่วนรูปแบบเครื่องยนต์ก็ยังเป็น
4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90
มิลลิเมตรพร้อมระบบแปรผันวาล์ว AVCS (Active Valve Control System)
แรงม้าสูงสุดเพิ่มจาก 150 เป็น 156 PS/6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด
196 นิวตันเมตร หรือ 20.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที (แรงบิดสูงสุดเท่าเดิม
แต่มาเร็วขึ้น 200 รอบต่อนาที) และปล่อย CO2 152 กรัม/กิโลเมตร
ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT ซึ่ง
ได้รับการปรับปรุงใหม่ ใช้โซ่ขับเคลื่อนเกียร์แบบที่ทำงานเงียบเสียงลงกว่าเดิม
อัตราทดเกียร์ D ปรับจากเดิม 3.581-0.570 เป็น 3.44-0.64 เกียร์ถอยหลัง
ปรับจาก 3.667: 1 เหลือ 3.52:1 ส่วนอัตราทดเฟืองท้ายอยู่ที่ 3.700:1 เท่าเดิม
จากคันเกียร์ D ผลักมาทางขวา เข้าสู่โหมด M จะทำงานเชื่อมกับแป้น Paddle Shift
หลังพวงมาลัยซึ่งคุณสามารถตบแป้นขวาเพื่อขึ้นเกียร์สูงหรือตบแป้นซ้ายเพื่อลงเกียร์ต่ำ
ในรุ่นเดิมล็อคอัตราทดได้ 6 จังหวะ ส่วนรุ่นใหม่นี้ เพิ่มมาอีกเป็น 7 จังหวะ
หมายเหตุ: ข้อมูลอัตราทดและสเป็คของเกียร์ไม่มีในเอกสารของ Subaru ผมจึง
ต้องค้นเพิ่มและอ้างอิงจากข้อมูลของ Car & Driver
Subaru Global Platform (SGP)
Subaru เองก็ In-trend ไปกับกระแสแชร์แพลทฟอร์มข้ามรุ่นข้ามพิกัด
คล้ายกันกับที่ Mercedes-Benz ใช้แพลทฟอร์ม MRA ตั้งแต่ C-Class ยัน S-Class
หรือแบบที่เราเรียกแบบฝรั่งว่า “Modular Platform” นั่นเอง เมื่อเราเห็นคำว่า
Modular ที่ไหน ให้ทราบไว้เลยว่ามันคืออวัยวะสหกรณ์ Modular Engine
ก็คือเครื่องยนต์ประเภทที่ใช้องค์ประกอบร่วมกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
แต่อาจจะมีขนาดความจุกระบอกสูบต่างกัน (เช่นเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ
ของ BMW ที่กระบอกสูบละ 500 ซี.ซี. แต่ใช้วิธีต่อความยาว ว่าจะเอา 3,4 หรือ
6 สูบ)
Modular Platform ของ Subaru เขาก็ตั้งชื่อเรียกให้ว่า SGP-Subaru Global
Platform ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับรถของ Subaru ในอนาคตทุกรุ่น ตั้งแต่ Impreza
ไปจนถึง Legacy แต่เขาก็ไม่ได้เอาโครงสร้างที่เหมือนกันทั้งชิ้นยกชุดไปนะครับ
ไม่อย่างนั้นนึกภาพ Legacy ฐานล้อยาว 2.67 เมตร ผู้โดยสารหลังคงด่าตายชัก
เขาใช้วิธีเพิ่ม/แปลงองค์ประกอบแค่บางส่วนของโครงสร้างที่จะทำให้มันเพิ่ม/ลด
ขนาดให้เหมาะกับรถรุ่นต่างๆได้ วิธีนี้ไม่ได้ให้ผลดีที่สุดในแง่สมรรถนะเสมอไป
แต่ให้ผลทางด้านต้นทุน เพราะชิ้นส่วนแต่ละชิ้นสามารถใช้กับรถได้หลายรุ่น
แนวคิดในการพัฒนาและปรับจูนช่วงล่างของ Impreza ใหม่ พูดเป็นวลีการตลาดได้ว่า
“Less Shake, Less Body Roll, and Way More Fun” แต่ถ้าให้อธิบายแบบคนบ้ารถ
ขึ้นมาหน่อย จะบอกเป็นจุดๆ ได้ดังนี้
1. ช่วงล่างของรถ ยังใช้ด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังเป็นแบบ
ปีกนกคู่ดับเบิลวิชโบน สปริงขดสั้น เหมือนกับรุ่นก่อน
2. วิธีการสร้างรถของ Subaru ยังเน้นการพัฒนาตัวถังที่แข็งแกร่งมากขึ้นทุกวี่ทุกวัน
ทีมวิศวกรกล่าวว่าพวกเขาพยายามทำให้ความสามารถในการทนต่อแรงกระทำของ
ตัวถัง (Body & Chassis Rigidity) เพิ่มขึ้นจากเดิม 100% โดยแบ่งเป็น
– ความสามารถในการทนแรงบิดงอตัวถังจากด้านข้าง (นึกภาพ เอารถโมเดลมาวาง
บนโต๊ะ เอามือคีบหน้าและหลังของรถ จากนั้นพยายามออกแรงหักเข้า/ออกจากตัว)
เพิ่มขึ้น 90%
– ความสามารถในการทนแรงบิดงอตัวถังตามยาว (ให้นึกถึงการบิดผ้าเช็ดตัว)
เพิ่มขึ้นจากเดิม 70%
– ความแข็งแกร่งของจุดยึดช่วงล่างด้านหน้าเพิ่มขึ้น 70% และความแข็งแรง
ของจุดยึดซับเฟรมหลังเพิ่มขึ้น 100%
จากการที่ตัวถังเหนียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวและแข็งแกร่งมาก Subaru จึงย้าย
จุดยึดเหล็กกันโคลงหลัง ให้ไปยึดที่ตัวบอดี้รถเสียเลย ซึ่งทีมวิศวกรเคลมว่า
วิธีนี้ ทำให้เวลาเลี้ยวรถแรงๆแล้วช่วงล่างหลังมีอาการยวบโคลงน้อยลงได้ถึง
50% เลยทีเดียว
3. Subaru มุ่งเน้นความแน่นเหนียวของตัวถัง และการปรับจูนช่วงล่างที่ให้
การตอบสนองอย่างมั่นใจ แต่ก็ได้มีความพยายามปรับปรุงนิสัยของรถให้
เรียบร้อยขึ้น เช่นการปรับจุดยึดและจุดขยับของช่วงล่างที่ทำให้แรงสะเทือน
จากหน้ายางผ่านเข้ามาถึงตัวถังได้น้อยลง (ไม่ได้ใช้วิธีปรับโช้คให้นุ่มมากๆ
แต่เป็นเรื่ององศาการเคลื่อนตัวของปีกนกและการกำกับจุดยึดส่วนต่างๆให้
แน่นจนอาการสะท้านน้อยลง) ส่งผลให้อาการดีดดิ้นไปตามพื้นถนนมีน้อยลง
กว่ารุ่นเดิม (ซึ่งก็ไม่ได้แย่อยู่แล้วถ้าดูจากผลงานของ XV และ Outback)
ระบบบังคับเลี้ยว ยังใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าแบบรุ่นเดิม (ซึ่งจะต่างจาก
XV สเป็คไทยที่ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก) มีการปรับอัตราทด
ให้ตอบสนองได้ไวกว่าเดิม แต่ทีมวิศวกรที่มาบรรยายไม่ได้ระบุว่าอัตราทด
เฟืองเปลี่ยนจาก 15.0: 1 เป็นเท่าไหร่ แต่ Car & Driver ของอเมริกาเขียน
ในบทความของพวกเขาว่าชุดแร็คพวงมาลัยนั้นยืมเอามาจาก Subaru BRZ
ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นการยืนยันว่ายกมาทั้งชุดโดยไม่ได้เปลี่ยนอัตราทดเฟืองหรือไม่
ถ้าหากว่าจริงขึ้นมา เท่ากับว่าแร็คของ Impreza ใหม่จะมีอัตราทดเฟืองอยู่ที่
13.1:1 ซึ่งไวกว่า WRX กับ Levorg (14.5:1) และตาม WRX STi (13:1) ไปติดๆ
นอกจากนี้วิศวกรยังมีการปรับปรุงเพื่อลดอาการสะท้านสะเทือนของพวงมาลัย
ในขณะเลี้ยวและบนสภาพถนนที่มีความสะเทือน เพื่อให้เหลือแต่ Feedback
ที่จำเป็นต่อการบังคับควบคุมและการอ่านความยึดเกาะของล้อหน้าเท่านั้น
การทดลองขับแบบ Short Course
หลังจากที่พาดูรถคันจริงในงาน Singapore Motor Show เสร็จ ทีมงานของ
Subaru ก็พาสื่อมวลชนไทย (และสื่อมวลชนชาติอื่นๆที่มีบริษัท Tan Chong
เป็นผู้แทนจำหน่ายอีก 8 ชาติ) นั่งรถตู้ไปยังสนามทดสอบขนาดเล็ก ซึ่งได้จัด
เตรียมไว้ให้ทดสอบสมรรถนะของ Impreza
อันที่จริง ไม่น่าจะเรียกว่าทดสอบสมรรถนะ…เพราะสนามทดสอบมีขนาดเล็ก
พื้นที่ค่อนข้างน้อย ไม่มีโอกาสให้ใช้ความเร็วสูง และยังขาดถนนลักษณะที่
จำเป็นต่อการทดสอบประสิทธิภาพช่วงล่างอย่างแท้จริง ไม่ได้ใช้ความเร็ว
เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ Subaru ยังไม่ปล่อยให้สื่อมวลชนขับรถไปบน
ถนนสาธารณะตามใจชอบ
สื่อมวลชนหลายท่านรู้สึกเสียดาย เพราะรู้กันอยู่ว่า Subaru เป็นรถที่ฉายแวว
ความดีงามเมื่อได้ขับแบบโหดๆ ผมเองก็รู้สึกเสียดายแต่ก็จะเขียนไปตามสิ่ง
ที่ได้พบ…นอกจากนี้อุปสรรคอีกประการคือเรื่องของการเปรียบเทียบ เพราะว่า
เราไม่เคยได้ลองขับ Impreza 4 ประตูรุ่นที่แล้วที่เป็นแบบบอดี้เตี้ย และถ้าให้
เทียบกับรถเก๋ง C-segment ในไทยรุ่นอื่น เราก็อาจพบว่าการเอารถขับเคลื่อน
4 ล้อตลอดเวลา ไปเทียบกับรถขับหน้าก็ย่อมมีความได้เปรียบเสียเปรียบ
ดังนั้นในการทดสอบ ผมจะลองพยายามเทียบการตอบสนองของรถกับ Subaru
XV ไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้เคียงที่สุดของ Impreza และ Mazda 3
ซึ่งเป็น Benchmark ในเรื่องความขับสนุกของกลุ่ม
สถานีแรกที่ผมได้ลองขับ คือการสลาลอม ตามด้วยการเข้าโค้งซ้ายก่อน
กระทืบเบรกในขณะที่พวงมาลัยยังหักเลี้ยวอยู่ จากนั้นตามด้วยการเร่งและ
เบรกก่อนที่จะเข้าด่านปีนลูกระนาด (ตามภาพข้างบน)
สถานีต่อมา เป็นการขับแบบวนเป็นวงกลม (Skidpad) ตามด้วยการหักเลี้ยว
หลบกรวยซ้าย-ขวา ก่อนกระทืบเบรกหยุดนิ่ง
และสถานีที่ 3 ถือเป็นการขับที่ยาวที่สุด เป็นการกระทืบคันเร่งออกตัว
หักเบี่ยงซ้ายขวาเบาๆ จากนั้นเพื่อความสนุก ทางทีมผู้จัดงานก็ไปหาแผ่น
เหล็กขนาดยักษ์ (แบบที่ผู้รับเหมาซ่อมถนนบ้านเราชอบเอามาปิดท่อใหญ่ๆ)
มาวางไว้ในโค้งซ้าย เท่านั้นยังไม่พอ ยังไปเอารถขนน้ำมาฉีดพรมบริเวณ
แผ่นเหล็กให้เปียกชุ่มอยู่ตลอด จากนั้นพอพ้นสภาพพื้นเปียกก็จะเจอ
โค้ง U-turn คล้ายกับโค้งปราบเซียนที่สนามแก่งกระจาน (แต่ไม่โหดเท่า)
ตามด้วยการหักเข้าโค้งซ้าย-ขวา สร้างความเร็วได้ครู่เดียวก่อนที่จะต้อง
หักหลบกะทันหันแบบ Emergency Lane Changing แล้วก็กระทืบเบรก
หยุดในบริเวณที่ตีเส้นไว้ให้
หลังจากที่ได้ทดสอบทั้ง 3 สถานี ผลที่ได้ก็ไม่ต่างจากที่คาดเอาไว้เท่าไหร่นัก
Subaru ก็ยังคงเป็น Subaru ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะบนสภาพถนนที่เปียก ตัวรถมีอาการไถลน้อยมาก และถึงจะมาด้วย
ความเร็วสูงในขณะหักเลี้ยวแล้วตัวรถเสียอาการ ก็สามารถกู้คืนได้โดยง่าย
ในการเข้าวิ่งแบบ Skidpad (วนเป็นวงกลม) ตัวรถบาลานซ์หน้า/หลังได้ดี
มีอาการหน้าดื้อน้อยถ้าไม่บ้าพลังกับคันเร่งมากเกินไป ในการหักเลี้ยวแรง
แบบนี้ Impreza ที่ใช้ยาง 205/50/17 มีอาการหน้าดื้อน้อยกว่า Mazda 3
อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งมาเร็ว หักเลี้ยวแรงๆ Impreza จะพยายามอย่างยิ่งที่จะ
“ไม่พยศ” เอาหน้าเอาท้ายของมันไว้ในที่ที่ควรอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่หาก
เป็น Mazda 3 ตัวรถจะแถออกนอกแนวการวิ่งมากกว่า หรือถ้าเข้าโค้งมาเร็ว
แล้วกระทืบเบรกทั้งที่พวงมาลัยหักเลี้ยวอยู่ ท้ายของ Mazda 3 จะกวาดออกมา
มากกว่า Impreza
ไม่ใช่ว่า Mazda แย่นะครับ แต่นิสัยของรถจะต่างกัน Subaru เป็นเหมือนผู้นำ
ครอบครัววัย 35-37 ที่พยายามจัดการให้ทุกคนปลอดภัยและมั่นใจที่สุด ในขณะ
ที่ Mazda จะมีนิสัยแบบวัยรุ่น ยอมพยศนอกลู่นอกทางบ้างเพื่อความสนุกของชีวิต
แต่ถ้าเป็นการหักเลี้ยวแบบสลาลอมซ้าย/ขวา และหักหลบแบบปกติที่ไม่ได้มี
การกระทืบเบรกประกอบ หรือถ้าไม่ใช่พื้นเปียก คุณจะพบว่า Impreza ก็ไม่ได้
ต่างจาก Mazda มากขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่า Mazda ก็เป็น Top Cat ในเรื่อง
การเซ็ตรถมาขับเอามันส์อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องความนุ่มนวลของช่วงล่าง จุดนี้ต้องขอเทียบกับทั้ง XV และ Mazda 3
เพราะในขณะที่ตัวถังของ Impreza สามารถควบคุมอาการโยนและยวบได้ดี
(บางจังหวะ ผมว่านิ่ง นิ้ง และเนี๊ยบกว่า Subaru Levorg ที่เคยลองในไต้หวัน
เสียอีก) แต่เมื่อทดลองขับไปบนลูกระนาดเทียมชันๆหลายอันติดกัน Impreza
ที่ใช้ยาง 205/50 กลับซับแรงกระแทกได้ดีกว่า XV ยาง 225/55 มันอาจจะ
ไม่ได้นุ่มแบบ S-Class แต่รู้สึกได้ว่าช่วงการยุบแรกๆของช่วงล่างนั้นมีความ
“เมตตาต่อทวาร” มากกว่า XV มากขึ้น
ผมคิดว่าถ้ามองจำคำโปรยบนโบรชัวร์ “Less Shake, Less Roll, and Way
More Fun” นั้น เรื่อง Less Shake ผมเชื่อว่าพวกเขาทำได้ และ XV รุ่นใหม่
ที่ใช้พื้นฐานตัวถังเดียวกันก็น่าจะเก็บแรงสะเทือนได้ดีขึ้นกว่ารุ่นปัจจุบัน
ส่วน Less Roll นั้น พูดยาก เพราะไม่เคยได้ขับรถรุ่นก่อน แต่ถ้าไปเทียบกับ
คู่แข่ง..สบายมากครับ ตัวรถคุมอาการยวบได้ดีกว่าหรือเท่ากับ Mazda 3
และไม่ต้องไปเทียบกับ Impreza GH โฉมปี 2008 ให้เสียเวลา
ส่วนที่่ว่า “Way More Fun”.. อันนี้ยังมีข้อติดขัดอยู่บางประการครับ
ถูกล่ะครับ พวงมาลัยน่ะเซ็ตน้ำหนักมาได้กำลังดี เรื่องความไวนั้นยังตอบไม่ได้
ว่าตกลงไวขึ้นแค่ไหน แต่มีความรู้สึกว่ามันเริ่มจะไวใกล้เคียงกับ Mazda 3
มากขึ้น หักหลบซ้ายขวาไม่ต้องสาวกันเป็นลิง แป้นเบรกนั้นของเดิมก็ว่า
เซ็ตมาได้สั้นกระชับกะน้ำหนักง่ายแล้ว รุ่นใหม่ยิ่งสั้นกว่าเดิม
น้ำหนักของแป้นที่ไม่เบาไปหน่วงเท้าเกินทำให้สามารถกะแรงเบรกได้ง่าย
แต่ถ้าคุณกระโดดจาก Altis รุ่นปี 2014 มาขับ Impreza ทันทีรับรองว่า
ละมุดลางสาดบนเบาะหลังได้ลอยมาข้างหน้าหมดแน่
ส่วนที่จะทำให้คำว่า Way more Fun ยังไม่สมบูรณ์ก็คือวิธีการเซ็ตคันเร่ง
กับลักษณะการออกตัวนั่นล่ะครับ แม้ว่าเกียร์ CVT LinearTronic ของ
Impreza รุ่นนี้จะเป็นเวอร์ชั่นใหม่ แต่ลักษณะการตอบสนองยามกระทืบ
คันเร่งออกตัวก็ยังเหมือนเดิม คือไปแบบเนือยๆ ชวนให้นึกถึงภาพการดึง
พิซซ่าที่ชีสมอสซาเรลล่าย้อยเยิ้มในขณะที่คุณพยายามยกใส่จาน
นอกจากนี้ลักษณะการเซ็ตคันเร่งก็ดูเหมือนจะเน้นการขับที่นุ่มนวลเน้น
ประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า บางจุดที่ผมลองลงคันเร่งไวๆเกิน 60% รถ
ก็จะค่อยๆสั่งดีดรอบเครื่องขึ้นแล้วก็พุ่งไปอย่างช้าๆ ณ จุดเดียวกันถ้าคุณ
ไปทำใน Mazda 3 มันคงดีดตัวพุ่งไปไหนต่อไหนแล้ว
+++สรุป: นั่งนุ่มสบายขึ้น หรูขึ้นนิดๆ หนึบมั่นใจ แต่ไปเอื่อยๆเหมือนเดิม++
เท่าที่ได้สัมผัส ผมคิดว่ารถรุ่นใหม่ไม่ได้มีอะไรที่แหวกประเพณีจากรถรุ่นเก่า
ออกไปอย่างชัดเจน แต่เป็นการพยายามเอารถรุ่นเดิมมาปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม
แม้ว่าจะใช้โครงสร้างใหม่ แต่พื้นที่ภายในก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก
ตัวเบาะ ในภาพรวม ให้ความสบายขึ้นทั้งด้านหน้าและหลัง แต่ส่วนเบาะหลัง
ยังมีขนาดพนักพิงหลังที่เตี้ยแบบรุ่นเดิม คนตัวใหญ่นั่งพอได้ แต่ถ้าคนตัวเล็ก
หรือสูงไม่เกิน 165 เซ็นติเมตรน่าจะนั่งได้พอดี ภายในรถดูแตกต่างจากรุ่นเดิม
อย่างเห็นได้ชัด แม้จะดูแล้วขาดความเป็น Subaru ไปบ้าง แต่ก็ชดเชยด้วย
จอกลางขนาดโต แถมจอบนก็มีขนาดบานกว้างมากขึ้น สีสันกราฟฟิกต่างๆ
ทำมาสวยขึ้น มีฟังก์ชั่นต่างๆให้ใช้งานมากขึ้น
โครงสร้างตัวถังใหม่ Subaru Global Platform นั้นก็ถือว่าทำมาได้ค่อนข้างดี
แม้ว่าในสนามทดสอบจะบอกอะไรไม่ได้มาก ยังไม่ได้ลองวิ่งแบบทางด่วน
ไม่ได้ลองจัมพ์สะพาน แต่ความมั่นใจในการหักเลี้ยว และการหักโค้งบนถนน
เปียกนั้น จะถูกใจคนที่ชอบสไตล์รถขับสี่ของ Subaru อย่างแน่นอน เพราะ
ความสามารถในด้านนี้ “ถ้าไม่ใช่ว่าดีเท่าเดิม ก็ดีกว่าเดิมนิดหน่อย”
สิ่งที่น่าพอใจคือ แม้จะให้การตอบสนองบังคับควบคุมดีอย่างที่ Subaru ควรเป็น
แต่ความนุ่มนวลในการซับแรงกระแทกจากลูกระนาดกลับดีขึ้น ดีในระดับที่ทำให้
Impreza ยาง 205/50 รู้สึกนุ่มกว่า XV รุ่นเก่ายาง 225/55 ได้ ดังนั้นเท่ากับว่า
Subaru จะเป็นรถที่ทั้งผู้ใหญ่เท้าหนักและเท้าเบาสามารถรื่นรมย์ไปกับมันได้
อย่างเท่าเทียม และยังคงประสิทธิภาพในการวิ่งบนถนนที่คาดเดาสภาพยาก
ในทุกสภาพอากาศได้อย่างที่พวกเขาทำมาตลอด
สิ่งที่น่าเสียดายคือ เรายังไม่ได้เห็นพัฒนาการด้านสมรรถนะจากเครื่องยนต์
กับระบบส่งกำลังมากอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องความเงียบของระบบส่งกำลัง
เราก็ยังไม่ทราบ เพราะลักษณะการทดสอบไม่เหลือเวลาให้มากพอสังเกต
การออกตัวของรถ ยังไปแบบ CVT จ๋าเหมือนรุ่นเดิม กระทืบคันเร่งไปตั้งไกล
รถเพิ่งจะจับรอบแล้วลากเกียร์ 1 ให้
ซึ่งก็ไม่แปลก..เพราะแรงบิดของเครื่องยนต์ก็เท่าเดิม มาเร็วขึ้นแค่ 200 รอบ
ต่อนาที ไม่ได้ส่งผลอะไรมากอยู่แล้ว แรงม้าต่างจากเดิมแค่ 6 ตัว รอบเครื่อง
ลดเรดไลน์จาก 6500 เหลือ 6200 เราคงคาดหวังความต่างไม่ได้มาก ยกเว้น
แต่ว่าจะได้หาที่ลองเกียร์ CVT ใน Manual Mode 7 จังหวะ ซึ่งเรียงอัตราทด
ต่างจากเดิม เราอาจจะได้รู้เรื่องรู้ราวกันมากกว่านี้
แล้ว Impreza จะมาไทยไหม?
ในโลกของรถยนต์ อาจจะไม่มีอะไรที่มัน 100% แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ
คุณเกล็น ตัน แห่ง Tan Chong Group ในวันที่ 12 มกราคม ในงาน Singapore
Motor Show ที่ผ่านมานั้น ถ้าถอดความภาษาอังกฤษแปลเป็นไทย ก็จะจับความ
ได้ว่า
“ในปัจจุบันเรายังไม่มีแผนที่จะเอา Impreza ไปขายในไทย และตลาดรถระดับ
C-segment ในไทยไม่ถือว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโต..แต่ทั้งนี้ เราก็จะไม่บอกว่า
เราจะไม่มีวันเอามันไปขายที่นั่น..ยอมรับว่าในช่วงแรกไม่คิดขาย Impreza ในไทย
แต่ในเมื่อรถของเราได้รางวัล Japan Car of The Year มันก็อาจจะส่งผลในแง่ดี
กับตัวรถ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูก่อนว่ามี Demand จากลูกค้ามากพอหรือเปล่า
ถ้ามีลูกค้าสนใจรถมากพอ เราก็อาจจะนำมาประกอบที่โรงงานในมาเลเซียแล้วขาย”
งานนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะตีความว่าอย่างไร สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม
(ซึ่งอาจจะผิดก็ได้) ผมมองว่าถ้าหากใช้วิธีนำเข้าจากญี่ปุ่นมาขายทั้งคัน รถก็จะ
มีราคาอยู่ระหว่าง XV/Forester ประกอบมาเลย์ กับ Levorg ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น
ซึ่งนั่นก็แปลว่าคุณอาจต้องจ่ายเงิน 1.5-1.7 ล้านบาทสำหรับรถ C-Segment
เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ไร้เทอร์โบ คุณคิดว่ามันจะขายได้หรือเปล่า?
ย้อนกลับไปดูสมัยปี 2008-2009 สิครับ Subaru ประเทศไทยก็เคยนำ
Impreza GH เข้ามาขายจากญี่ปุ่น รุ่น 2.0 ราคาก็เท่าๆกับ Accord/Camry
ซึ่งก็สร้างยอดขายได้พอประมาณ..เพราะสมัยนั้นไม่มี XV..แต่ถ้าเป็นสมัยนี้
มี XV แล้วคุณได้รถที่เหมือนๆกันในราคาถูกกว่ากันหลายแสน ใครจะซื้อ
Impreza
ถ้าไม่งั้น ก็ต้องรอนำมาประกอบในมาเลเซีย ซึ่งมีโอกาสกลายมาเป็นจริงได้
แต่ Capacity ของโรงงานในเวลานี้ก็เจียดไปให้กับการเตรียมไลน์ XV ตัวใหม่
ดังนั้นถ้า Impreza จะมาจริง มันก็คงต้องรอไปอีก 8 เดือน – 1 ปีเป็นอย่างต่ำ
และถ้าไม่ประกอบมาเลย์ โอกาสที่จะตั้งราคาที่ดึงดูดใจลูกค้าได้นั้นน้อยมาก
ความเห็นส่วนตัว? ผมคิดว่าไม่คุ้ม ถ้าจะมา และถ้ามองจากตลาดประเทศไทย
อย่างเดียวแล้ว ยิ่งไม่น่ามา เพราะตลาด C-Segment นั้นคุณปรายตามอง
ก็รู้ว่าโลกใบนั้นเป็นของ Toyota, Honda กับ Mazda ซึ่ง Subaru เองอาจ
ไม่มีจุดเด่นมากพอท่ามกลางกลุ่มรถข้าศึกเหล่านั้น แต่พอมาเป็น XV กลายเป็น
รถที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีจุดขายที่ชัดเจน อีกทั้งยังเหมาะสมกับถนนใน
ประเทศไทยมากกว่า..ดังนั้นก็ต้องดู Demand จากตลาดมาเลเซียกับประเทศ
ในกลุ่มอาเซียนด้วย ถ้าประเทศอื่นๆมี Demand เยอะ เราก็อาจมีผลพลอยได้
ไปกับเขา
เดี๋ยวเราลองมาดูแล้วกันครับ ว่าภายใน 1 ปีนับจากนี้ หรือวันที่ XV เปิดตัว
ในไทยช่วงปลายปี จะมีข่าวสารใดๆอัปเดตเพิ่มเติมหรือไม่
ที่แน่ๆ เราพอคาดเดาได้ว่า หาก XV ใหม่ตั้งราคาให้เท่าเดิม โดยใช้
วิธีการจูนช่วงล่าง และใส่อุปกรณ์มาให้แบบที่เราพบใน Impreza ได้
มันจะเป็นรถที่คุ้มค่าคุ้มราคามากขึ้นอย่างแน่นอน
แต่หวังว่าลูกค้าเห็นรถแล้วจะกล้าซื้อโดยไม่ต้องกลัวราคาวิ่งขึ้นวิ่งลง
เป็นดัชนีหุ้นแบบที่เกิดกับรถรุ่นที่แล้วก็พอ
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
– คุณตวัน คำฤทธิ์ และคุณ Ivan Yap
บริษัท T.C. Subaru จำกัด
สำหรับทริปทดลองขับและการประสานงานดูแลอย่างดีทั้งหมด
และคุณยูถิกา เลิศลักษณา สำหรับการประสานงานเรื่องที่พัก
ตั๋วเครื่องบินและงานเอกสารต่างๆ และคุณเบียร์ วิไลรัตน์สำหรับ
การดูแลคณะสื่อมวลชนตลอดทริป
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นบางภาพจาก PRESS KIT ของ Subaru
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
16 มกราคม 2017
Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
16 January 2017