“ถ้าของมันไม่ดีจริง มันคงไม่ขายดีหรอก”

นี่คือคำพูดที่เรามักได้ยินกันเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการถกกันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ สิ่งของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร หรือแม้แต่รถยนต์..อะไรก็ตามที่มีคนนิยมซื้อมาก คนอื่นที่กำลังตัดสินใจจะซื้อบ้างก็ต้องมองว่า “คนอื่นเขาคิดมาแล้วว่าสิ่งนั้นดีจริงเขาถึงยอมลงเงินไปกับมัน”

ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อของโดยทำการบ้านอย่างหนักมาก่อนใช้เงิน บางคนซื้อเพราะคนรอบตัวเชียร์ บางคนซื้อเพราะแพ้ลูกอ้อนของคนขาย บางคนก็ซื้อเพราะที่บ้านปกครองด้วยระบอบภรรยาธิปไตยชนิดขวาตกขอบ เมียพูด ผัวฟัง เมียสั่ง ผัวทำตาม แต่ครั้นมนุษย์ผัวจะไปเที่ยวยอมรับกับชาวบ้านว่าซื้อตามบัญชาภรรยา ก็คงไม่ต่างอะไรกับการย้อมขนแผงคอราชสีห์เป็นสีชมพูหวานแหวว เลยต้องบอกเพื่อนว่า “อั๊วะคิดมาดีแล้วถึงซื้อ” เพื่อนๆก็เฮโลซื้อตามกันไป

พอคุณเห็นย่อหน้าเริ่มต้นของผม แล้วก็เห็นรูปหน้ารถ Chevrolet บางคนอาจจะคิดล่วงหน้าไปก่อนแล้วว่าผมกำลังเชียร์ให้คุณซื้อรถจากค่ายโบว์ไทคันนี้มากกว่าที่จะไปเล่นเจ้าตลาด หากเป็นเช่นนั้นจริงแสดงว่าเรารู้จักกันน้อยมาก และคุณคงไม่เคยอ่านบทความใดๆที่ผมเขียนเลย คุณครับ..ผมแทบไม่เคยเชียร์ใครให้ซื้อรถอะไรโดยไม่ถามก่อนว่าความต้องการหลักๆที่ใครสักคนต้องการจากรถ 1 คันคืออะไรบ้าง เมื่อถามจนได้คำตอบแล้ว ผมจึงจะพยายามเรียงลำดับทางเลือก A-B-C มาให้ว่ารถคันไหนมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร

สำหรับรถอย่าง Chevrolet Trailblazer นั้น ทุกคนทราบกันว่าเป็น PPV ที่ยอดขายไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ ตลาด PPV นั้นมียอดขายต่อเดือนเฉลี่ยประมาณเดือนละ 4,500 คัน การที่ Chevrolet เก็บสะเก็ดครีมเค้กส่วนแบ่งตลาดได้เพียงเดือนละประมาณ 57-138 คัน (ตาม Sales Report ของคุณ Moo Cnoe) ในขณะที่เจ้าตลาดล้วนโกยเกินเดือนละพัน และเพื่อนร่วมอุดมการณ์แบรนด์อินดี้อย่าง Ford ก็ยังขายได้มากกว่า 500 คันในแต่ละเดือน ถ้าหากคณเชื่อว่ายอดขายคือสิ่งที่สะท้อนความดี/เลวของรถคันนึง..แล้วมันแปลว่า Trailblazer เป็นรถที่ห่วยแตกมากจนขายไม่ได้เลยหรือ???

ผมตอบได้เลยว่าไม่ใช่หรอกครับ คุณประสิทธิภาพของตัวรถน่ะ บวก ลบ คูณ หาร แล้วมันก็ออกมากลางๆของกลุ่ม อย่างที่ J!MMY ตั้งฉายาให้ว่า “ชายกลางที่โดนหมางเมิน” เมื่อเขาเขียนรีวิวเจ้ารถรุ่นนี้ไปเมื่อหลายเดือนก่อน คำว่า “ชายกลาง” ก็หมายถึงคุณสมบัติของรถที่ออกมากลางๆไปเสียทุกด้าน ไม่มีด้านไหนที่เป็น The Best ของกลุ่ม แต่ก็ไม่มีด้านไหนที่เลวจนแทบจะสาปส่ง ส่วนคำว่า “หมางเมิน” ก็หมายถึงเหตุผลที่คนไม่ซื้อเชฟฯ เพราะกลัวเรื่องศูนย์บริการและความคงทนของรถในการใช้งานระยะยาวต่างหาก

แต่แม้ว่ายอดขายจะไม่สวย โลกของการขายและการตลาดก็ทำให้บริษัทรถยนต์ต้องมีการขยับตัวอยู่เสมอ เปรียบเสมือนสัญญาณบ่งบอกลูกค้าว่า “เรายังไม่ตาย และเรายังไม่ได้หนีไปไหน” ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ Chevrolet Trailblazer มีรุ่นท้อปอย่าง LTZ ขับเคลื่อน 4 ล้อขายในราคา 1,479,000 บาทมาสักพัก ก็ได้เวลาเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ อย่างเช่น Trailblazer LTZ Z71 (ซึ่งทางการตลาดและ PR พยายามเน้นเหลือเกินว่าให้ออกเสียง ซีห์ เซฝเฟ่นตี้วัน แบบอเมริกันแท้)

ทาง Chevrolet Thailand เชิญผมไปทดลองขับรถรุ่นย่อยใหม่นี้ที่เชียงราย ซึ่งถนนที่นี่ในยามหน้าฝนนั้น ทุกคนทราบดีว่าคาดเดาได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพความลื่นของพื้นผิว ถนนบนเขาบางช่วงก็มีทางขาด มีซากเศษใบไม้เปียกลื่นหลบอยู่ตามมุมโค้ง บางทีก็เป็นดินถล่ม และนอกจากการขับบนทางแบบหุบเขาหน้าฝนแล้ว เรายังได้ขับผ่านถนนหมู่บ้านบางช่วง ซึ่งบางท่านเรียกว่าออฟโรด..แต่ผมอยากเรียกว่าทางเข้าไร่มากกว่า เพราะไม่มีทางชัน ไม่ได้วิ่งลุยน้ำ แต่ก็เป็นปลักโคลนและหลุมลึกหลายช่วงซึ่งคุณไม่อยากเอารถเก๋งหรือครอสโอเวอร์แม่บ้านลงไปวิ่งแน่

แล้วเมื่อวิ่งบนสภาพถนนเหล่านั้นเสร็จ เราก็จะมีโอกาสได้วิ่งบนถนนหลวงตามปกติ การได้ทดสอบประสิทธิภาพของรถบนถนนหลากหลายแบบภายในเวลาห่างกันไม่เกิน 24 ชั่วโมงแบบนี้เป็นตัวบ่งชี้ได้ดีว่ารถสามารถตอบโจทย์ให้กับกลุ่มลูกค้าได้กว้างขนาดไหน นี่คือที่มาของการเขียน Special Report นี้ แม้ว่าเราจะมี Full review ของ Trailblazer อยู่แล้ว

เนื่องจากรถรุ่นนี้ได้รับการอัปเกรดบางส่วนโดยไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง ล้อและยาง ดังนั้น ถ้าหากคุณกำลังมองหาบทความทดลองขับในเชิงละเอียด ก็สามารถคลิกอ่านบทความ Full Review ของรุ่น 2.5VGT LTZ 4 x 4 ซึ่งทางคุณ J!MMY ได้ทำไว้ให้นานแล้ว คลิกที่นี่เพื่ออ่านได้เลย ส่วนในบทความนี้นั้น ผมเพียงแค่จะไฮไลท์จุดแตกต่างระหว่างรุ่น LTZ ธรรมดา กับ Z71 ให้ท่านดูว่ามันคุ้มค่าที่จะเพิ่มเงินไปซื้อหรือไม่

Chevrolet Trailblazer Z71 นี้ มีขนาดตัวถังเท่ากับรุ่น LTZ ปกติ ความยาวตัวถัง 4,887 มิลลิเมตร กว้าง 1,902 มิลลิเมตร สูง 1,852 มิลลิเมตร  ระยะฐานล้อยาว 2,845 มิลลิเมตร ส่วน ความกว้างช่วงล้อหน้า / หลัง (Front & Rear Track) หน้า 1,570 หลัง
1,588 มิลลิเมตร ระยะห่าง Ground Clearance ระหว่างพื้นใต้ท้องกับพื้นถนน 221 มิลลิเมตร ใช้ล้ออัลลอย 18 นิ้ว สวมยาง
ขนาด 265/60 R18 น้ำหนักตัวถังตามที่แจ้งกรมสรรพสามิต ระบุเอาไว้ 2,024-2,122 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 76 ลิตร

ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่า Trailblazer น่าจะมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่.. แม้ว่าการออกแบบที่มีความมนในส่วนท้ายอาจทำให้ Trailblazer ดูเหมือนคันไม่ใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Ford Everest จะยาวกว่า Trailblazer แค่ 5 มิลลิเมตร และแคบกว่ากันอยู่ 40 มิลลิเมตร ส่วน Fortuner และ Pajero Sport ก็ล้วนสั้นกว่า แคบกว่า มีระยะฐานล้อที่สั้นกว่า

ส่วนระยะ Ground Clearance ของ Chevrolet ก็น้อยกว่า Everest แค่ 4 มิลลิเมตร และมากกว่า Fortuner กับ Pajero Sport (ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 193 และ 218 มิลลิเมตรตามลำดับ) จึงถือได้ว่าความจริงอาจต่างกันไม่มาก และระยะดังกล่าว ไม่ใช่ระยะที่วัดจากขอบล่างของประตูรถ แต่วัดจากส่วนที่เตี้ยที่สุดของรถ ซึ่งอาจเป็นบางส่วนของช่วงล่างก็ได้ ที่บอกแบบนี้เพราะเวลาก้าวขึ้นไปนั่งจริง รถทั้งหมดนี้มีความยาก/ง่ายในการก้าวขึ้นไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

น้ำหนักตัวถังของแต่ละคันนั้น หากไปเทียบกับ Ford Everest 3.2 4 x 4 (2,370-2,393 กิโลกรัม) จะเห็นได้ว่าเชฟฯเบากว่ามาก แต่ถ้าเทียบกับรถยอดนิยมฝั่งญี่ปุ่นทั้งหลายจะไม่ต่างกันมาก MU-X 3.0 4 x 4 หนัก 2,110 กิโลกรัม Fortuner 2.8V 4WD หนัก 2,135 กิโลกรัม และ Pajero Sport 2.4GT-Premium 4WD หนัก 2,090 กิโลกรัม

Chevrolet ตั้งราคาของรุ่น Z71 เอาไว้ 1,499,000 บาท เท่ากับว่าเพิ่มจากรุ่น LTZ 4WD แค่ 20,000 บาทเท่านั้น โดยสิ่งที่คุณจะได้เพิ่มเติมจากเดิม ก็คือ ชุดแต่งดำเงาที่ภายนอก เริ่มจากเส้นกระจังหน้าสีดำเงา, คิ้วกันกระแทกข้างตัวรถสีดำ (รุ่น LTZ จะไม่มีคิ้วกันกระแทกเลย), คิ้วขอบหน้าต่างสีดำ, เสา B-Pillar พ่นสีดำเงา (จากเดิมสีดำด้าน), กระจกมองข้างสีดำเงา (เดิมเป็นโครเมียม), มือเปิดประตูภายนอกสีดำเงา

นอกจากนี้ ยังมีการติดสติกเกอร์ตกแต่งสีดำรอบคัน เพิ่มสติกเกอร์โลโก้ Z71 4×4 ที่ฝาท้าย จากนั้นก็เอาล้ออัลลอย 18 นิ้วของเดิมไปทำเป็นสีดำ สำหรับภายในนั้น สิ่งที่เปลี่ยนไปก็มีเบาะหุ้มด้วยหนังสีดำ ปักโลโก้ Z71 ที่พนักพิงศีรษะ และเปลี่ยนวัสดุตกแต่งห้องโดยสารจากสีดำตัดเงิน เป็นสีเงินเมทัลลิค

นี่ล่ะครับคือทั้งหมดที่คุณได้ ไม่ต้องหวังมากจนเกินงบ 20,000 บาท ไฟหน้าก็ยังมีไฟใหญ่ที่เป็นแบบฮาโลเจน ซึ่งใช้ได้ดีทั้งบนถนนปกติและเวลาหมอกลงจัด แต่อาจดูเสียเปรียบคู่แข่งที่เขาพัฒนาไปใช้ไฟหน้าแบบใหม่ ลูกค้าเห็นโบรชัวร์แล้วอาจเกิดคำถามตามมาตามประสาลูกค้าไทยที่ขอมีไว้ก่อน จะใช้ดีหรือไม่ดีค่อยว่ากันทีหลัง (ในกรณีที่ใครสงสัยว่าฮาโลเจนเหลืองๆของ Trailblazer แยงตารถคันข้างหน้ามั้ย ตอบได้เลยว่าอยากแยงหรือไม่แยงก็ปรับเอาครับ เพราะ Trailblazer มีสวิตช์ปรับองศาจานสะท้อนแสงมาให้ที่กลุ่มสวิตช์ใต้ช่องแอร์ขวา)

เหมือนกับ Chevrolet จะตระหนักดีว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่ได้ทำไปในรุ่น Z71 อาจจะน้อยไปสำหรับบางคนที่ต้องการจะแตกต่าง ก็เลยมีชุดแต่งกันชนหน้าและหลังแบบมีการ์ดกันชนสีเงินเมทัลลิค เพิ่มคิ้วโป่งซุ้มล้อสีดำ และปลายท่อไอเสียโครเมียม ดังที่คุณเห็นในรถคันสีแดงในภาพชุดที่ผมจัดมาในบทความนี้

อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้มาฟรีๆ..คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 33,000 บาทเพื่อแลกกับอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ ซึ่งบางท่านไปเห็น Z71 จากงานมหกรรมรถยนต์ BIG Motorsales หรือการสื่อสารข้อความต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็เห็นรูปรถรุ่นที่ใส่อุปกรณ์ตกแต่งเหล่านี้มาพร้อมกับแจ้งราคา 1,499,000 บาท ต้องไล่ตรวจกันอยู่สักพักถึงทราบว่าต้องเพิ่มเงินถึงจะได้กันชนทรงสปอร์ตแบบรูปรถคันที่โปรโมต

ในความเห็นส่วนตัวของผม ซึ่งอาจจะขัดใจบางคน..ผมคิดว่ารูปทรงของ Chevrolet Trailblazer ที่ได้รับการ Revamp (ปรับโฉมอย่างมีนัยสำคัญ) โดยศูนย์ออกแบบของ GM ที่ออสเตรเลียนั้น ทำมาได้ดีอยู่แล้วสำหรับรูปลักษณ์ด้านหน้าและหลัง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใส่ชุดแต่งอะไรเข้าไปเพิ่ม..ไม่ใช่ว่าใส่แล้วมันแย่ลง แต่สภาพก่อนใส่กับหลังใส่มันก็ดูพอๆกัน

Trailblazer Z71 มาพร้อมกับกุญแจ Remote Start แบบเดียวกับรุ่น LTZ ปกติและ Colorado ไมเนอร์เชนจ์ทั้งหลาย แม้ว่าจะยังเป็นกุญแจรีโมทพับดอกแบบธรรมดา (ไม่ใช่ Smart หรือ Intelligent Key) ซึ่งเวลาสตาร์ทก็ยังต้องใช้วิธีเสียบกุญแจแล้วบิดเหมือนรถจากยุคที่โลกยังไม่รู้จัก iPhone แต่ก็ชดเชยด้วยฟังก์ชั่น Remote Engine Start ซึ่งคุณสามารถกดปุ่ม สั่งให้รถสตาร์ท เปิดเครื่องปรับอากาศคลายร้อนรอคุณได้ในกรณีจอดกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ

เบาะนั่งตอนหน้าปรับไฟฟ้าที่ข้างคนขับ นั่งสบายพอประมาณ พนักพิงศีรษะไม่ดันหัวมากจนเกิดความรำคาญ ลักษณะของเบาะโดยรวมคล้ายกับรุ่นเดิมเครื่อง 2.8 ลิตร มันหนาและแข็งในระดับที่เหมาะกับรูปแบบรถ นั่งนานๆแล้วไม่เกิดอาการ Egg Tea (ลองแปลเป็นไทยดูเอาเอง) เพียงว่ามันยังไม่สบายสุดเท่าเบาะของ Fortuner เมื่อต้องมาเจอกับคนขับไซส์ XXXXXL แบบผม

เบาะนั่งตอนสองนั้น แม้ว่าเบาะรองนั่งจะสั้นไปนิดเดียวสำหรับผม และคงพอดีกับสริระของมนุษย์ Backseat ทั้งหลายเช่นบรรดาลูกๆ หรือคุณแม่ แต่พนักพิงศีรษะจะออกแนวแข็งอยู่สักหน่อย ยังดีที่ตำแหน่งที่วางแขนทั้งบนเบาะและบนแผงประตูจัดมาในระดับที่สูงเท่ากัน เท้าแขนแล้วไม่ต้องเอียงตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง พื้นที่วางขาด้านหลังมีให้ในระดับพอเพียง ผมได้มีโอกาสนั่งเบาะหลังโดยผมสูง 183 เซนติเมตร และคุณหนิงบนเบาะหน้าสูง 175 เซนติเมตร ก็ยังมีที่เหลือให้ผมวางขาได้แบบไม่อึดอัด แต่ถ้าสอดเท้าเข้าใต้เบาะได้อีกสัก 2-3 นิ้วมันจะนั่งสบายกว่านี้มาก

เบาะตอนสามผมไม่ได้ลองนั่ง เพราะไม่อยากเส้นเอ็นขาดตอนพยายามปีนเข้าไป แต่ในรถรุ่น LTZ ที่เราลองมาก่อนหน้านี้ มนุษย์เพศชายไซส์ปกติตัวผอมอย่างคุณเติ้ล The Coup สามารถเข้าไปนั่งคู่กับเจ้าเติ้ง Kantapong ได้สบายในระดับหนึ่งไม่ถึงกับอยากหลับ ตัวเบาะแถวสามนี้สามารถพับลงราบไปกับพื้นได้อย่างในภาพ

เรื่องพื้นที่การโดยสารนั้น ดูเหมือนจะไม่มีจุดที่เสียเปรียบคู่แข่งแบบชัดเจนในการใช้งานจริง แต่รายละเอียดบางส่วนอาจยังต้องปรับปรุง เช่นการวางแนวเบาะรองนั่งของตอนสอง ซึงเยื้องมาทางเสา B-Pillar มาก ทำให้เวลาจะขึ้นนั่งบนเบาะเราต้องเหวี่ยงตัวบิดขาหลบเสามากเกินไปนิด นอกจากนี้เบาะแถวสองยังไม่สามารถเลื่อนหน้า/หลังได้ ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในกรณีที่ต้องการแบ่งปันพื้นที่วางขาเผื่อให้กับมนุษย์บนเบาะแถวสาม

คนนั่งหลังไม่ต้องกลัวร้อน เพราะมีช่องเป่าลมเย็นมาให้บนเพดาน เป็นแบบช่องกลม ปรับความแรงลมหรือปิดไปเลยก็ได้ เวลาทำงานเสียงค่อนข้างดังอยู่เหมือนกัน อีกสิ่งหนึ่งที่อดสังเกตไม่ได้คือ Z71 คันที่เราทดสอบนั้นจะไม่มีชุดจอเพดานสำหรับคนนั่งหลัง แบบที่เราเคยพบในรถทดสอบ LTZ รุ่นปกติที่เราเคยนำมาทำรีวิว

ภายในของ Trailblazer LTZ Z71 มีลักษณะคล้ายกันกับรุ่น LTZ ปกติ ไม่ได้มีการเพิ่มอุปกรณ์ใดๆ แต่มีการเปลี่ยนวัสดุบางจุด เช่นวัสดุตกแต่งบนก้านพวงมาลัย กรอบแอร์ คอนโซลตอนล่าง ซึ่งเปลี่ยนจากวัสดุสีดำเงาหรือเทาเมทัลลิค มาเป็นวัสดุสีเงินอะลูมิเนียม บริเวณฐานคันเกียร์ เปลี่ยนจากวัสดุสีดำเงา เป็นสีดำด้าน พวงมาลัยปรับได้แค่ขึ้นและลงเหมือน Ford Everest กับ Isuzu MU-X ในขณะที่ Fortuner และ Pajero Sport นั้นจะสามารถปรับระยะเข้า/ออกได้ด้วย

กระจกหน้าต่างเป็นแบบ One-touch ทั้ง 4 บาน และถ้ากดสวิตช์จากประตูหลัง ก็จะเป็น One-touch เช่นเดียวกัน สวิตช์ไฟหน้าและชุดสวิตช์ปรับองศาจานฉายไฟ อยู่ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาสุด ก้านไฟเลี้ยวจะอยู่ฝั่งขวาแบบรถญี่ปุ่น สวิตช์ Cruise Control และสวิตช์ปรับตั้งระยะห่างรถคันหน้าก่อนเตือนของระบบ Forward Collision Warning จะอยู่บนก้านพวงมาลัย

ชุดเครื่องเสียงคราวเป็นหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว ติดตั้งระบบเชื่อมต่อการสื่อสาร และความบันเทิง Chevrolet MyLink  ซึ่งรองรับกับระบบ Apple CarPlay™ ได้ด้วย มี วิทยุ AM/FM กับเครื่องเล่นเพลงจากไฟล์ระบบคอมพิวเตอร์ มาให้เป็นพื้นฐาน พร้อมช่องเสียบ USB ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านสัญญาณบลูทูธ (Bluetooth) พร้อมทั้งมีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System มาให้ ซึ่งการทำงานของระบบนำทางแสดงผลได้ลื่นไหลต่อเนื่องดีเวลารถวิ่ง

คุณภาพของระบบเสียง ถือว่าอยู่ในขั้นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับชุดเครื่องเสียงติดรถ SUV/PPV ในงบประมาณที่เท่ากัน หากคุณไม่ใช่นักฟังหูทองที่ต้องการเก็บรายละเอียดเสียงระดับเข็มหล่นพื้น คุณอาจจะพอใจกับมัน และไม่ต้องไปเสียเงินเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงหรือลำโพงใหม่

นอกจากนี้ จอมอนิเตอร์สี ยังเชื่อมกับกล้องมองภาพด้านหลัง เพื่อถ่ายทอดสัญญาณภาพท้ายรถขณะเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถเข้า – ออกช่องจอด เป็นกล้องมุมกว้างที่มาพร้อมระบบ Rear Cross-Traffic Alert ซึ่งจะแสดงให้เห็นรถที่กำลังพุ่งตัดเข้ามาในเส้นทางการถอย

แผงสวิตช์บริเวณใต้ชุดควบคุมระบบปรับอากาศนั้น เหมือนกับรุ่น LTZ ปกติไม่ผิดเพี้ยน ประกอบด้วยสวิตช์เปิด/ปิดเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลัง, สวิตช์ของระบบ Hill Descent Control, Traction Control/ระบบเสถียรภาพการทรงตัว และระบบช่วยแจ้งเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ สวิตช์ไฟฉุกเฉินก็มาติดตั้งไว้ตรงนี้ ซึ่งแม้จะดูสวยงามเป็นระเบียบ แต่เวลาจะกดจะใช้ก็ต้องเล็งนิ้วกันพอสมควร

โดยภาพรวมนั้น แดชบอร์ดและแผงควบคุมต่างๆ ออกแบบมาได้ดูเป็นอเมริกันเหมือน Chevrolet รุ่นพี่ๆในอเมริกามากขึึ้นกว่ารุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ สวิตช์มีสัมผัสการกดและบิดที่ดีสำหรับรถราคาระดับนี้ วัสดุที่ใช้อาจจะไม่เตะตามากเท่า Fortuner หรือ Everest แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับกลางๆของกลุ่ม มีเพียงสิ่งเดียวที่ดูขัดตา (แต่แก้อะไรไม่ได้แล้ว) ก็คือที่วางแก้ว ซึ่งเป็นแบบเสียบใต้ช่องแอร์ ดูแล้วเหมือนเป็นของที่คิดได้หลังจากออกแบบเสร็จ

ชุดมาตรวัด เป็นแบบเดียวกันกับ LTZ รุ่นปกติ ซึ่งก็ยกมาจาก Colorado ไมเนอร์เชนจ์นั่นเอง ออกแบบมาดูสวย และที่สำคัญคืออ่านค่าได้ง่ายทั้งมาตรวัดความเร็วและมาตรวัดรอบ มีจอ Multi Information Display ตรงกลางซึ่งสามารถเลือกโชว์เป็นภาษาไทยได้ และเลือกฟังก์ชั่นต่างๆได้ด้วยปุ่มบนก้านไฟเลี้ยวด้านขวา ซึ่งนอกจากจะแสดงผลเรื่องระยะทางวิ่ง (Trip Meter) กับอัตราสิ้นเปลืองแล้ว ยังสามารถปรับแสดงค่าความเร็วเฉลี่ย, โชว์ค่าแรงดันลมยางในแต่ละล้อ รวมถึงอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และอุณหภูมิน้ำมันเกียร์ได้ด้วย

ปัญหาอย่างเดียวก็คือ ผม และคุณหนิงจาก Kapook.com นั่งแล้วลองปรับพวงมาลัยให้ขับถนัด..ผมว่าในตำแหน่งที่เราสาวพวงมาลัยได้ถนัดนั้น ส่วนกลางของพวงมาลัยจะบังส่วนล่างของจอ MID เสมอ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นบรรทัดล่างสุดกับตำแหน่งเกียร์ได้ถ้าไม่ชะโงกตัวมาข้างหน้านิดๆ

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม **********

Chevrolet Trailblazer LTZ Z71 ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกับรุ่นปกติ ซึ่งเป็นรหัส XLDE25 (LP2) ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch ใช้ระบบอัดอากาศด้วย Turbocharger แบบมีครีบแปรผัน VGT (Variable Geometry Turbocharger) พ่วงด้วยอินเตอร์คูลเลอร์ กำลังสูงสุด 180 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร (44.8 กก.-ม.) ที่ 2,200 รอบ/นาที

ระบบส่งกำลังสำหรับรุ่น LTZ Z71 มีเพียงแบบเดียวคือเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part-time พร้อมสวิตช์เลือกโหมดขับเคลื่อน 2H-4H-4L สามารถเลือกระบบขับเคลื่อนระหว่าง 2H กับ 4H ได้ในขณะที่รถกำลังแล่นอยู่ โดยมีอัตราทดเกียร์ดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.065
เกียร์ 2 ………………………..2.371
เกียร์ 3 ………………………..1.551
เกียร์ 4 ………………………..1.157
เกียร์ 5 ………………………..0.853
เกียร์ 6 ………………………..0.674
เกียร์ถอยหลัง ……………..…3.200
อัตราทดเฟืองท้าย ……….…3.420

อย่างไรก็ตาม ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของ Chevrolet ยังเป็นแบบที่ค่อนข้างธรรมดาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งถ้าจะเปรียบประสิทธิภาพ ก็คงพอๆกับ Isuzu และ Toyota ซึ่งล้วนเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part-time แบบหมุนปุ่มเลือกโหมดการขับ ในขณะที่ Mitsubishi จะใช้ระบบส่งกำลัง Super Select II ที่มีทุกอย่างเหมือนกับ 3 ค่ายที่กล่าวมา แต่มีเฟืองทดความต่างระหว่างล้อหน้ากับหลัง ทำให้สามารถใส่ 4H วิ่งบนถนนแห้งได้สบาย และรุ่นปี 2017 มีปุ่มกดสั่งล็อค Rear Differential ส่วน Ford Everest 3.2 จะใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (ไม่มีขับ 2) พร้อมระบบ Terrain Management System ที่สามารถเลือกรูปแบบการขับบนทราย บนโคลน บนหิน และสั่งล็อค Rear Differential ได้

ช่วงล่างด้านหน้า ของ Trailblazer เป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ด้านหลังเป็นแบบ Five-link คอยล์สปริง ใช้โช้คอัพแก๊สทั้งด้านหน้าและหลัง ระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ จานเบรกหน้าขนาด 300 มิลลิเมตร จานเบรกหลังขนาด 318 มิลลิเมตร (จานหลังโตกว่าเพราะตรงกลางจานต้องเผื่อที่สำหรับชุดจับของเบรกมือ..ไม่ได้แปลว่าเบรกหลังดีกว่าเบรกหน้า)  ส่วนระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า EPS เชนเดียวกันกับ Trailblazer กับ Colorado ที่เป็นโฉมไมเนอร์เชนจ์

********** การทดลองขับ**********

เส้นทางทดสอบของเรา เริ่มจากร้านกาแฟสวนกุหลาบ วิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มุ่งหน้าไปยังมณีเทวา รีสอร์ทแอนด์สปา โดยเป็นการวิ่งบนถนนหลวงส่วนใหญ่ แต่ในช่วง 1/3 สุดท้ายของเส้นทาง เราจะหักเลี้ยวเข้าวิ่งไปตามถนนในหมู่บ้าน ซึ่งบางช่วงจะเป็นหลุมโคลนแบบที่เราไม่อยากจะเอารถเก๋งเข้าไปวิ่งสักเท่าไหร่ จากนั้น ในเส้นทางช่วงที่ 2 เรามุ่งหน้าออกไปตามเส้นทางสู่ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ ซึ่งวิ่งผ่านเส้นทางดอยตุง (ถนนสาย 1338) เป็นถนนคดเคี้ยว บางช่วงหมอกลงจัดและมีดินถล่มกับทางขาดเป็นระยะ ก่อนจะวิ่งไปทางพระมหาเจดีย์ชัยชนะสุข และเข้าเส้น 1290 ไปสู่สามเหลี่ยมทองคำ

เราอยู่ในรถกัน 3 คน คือคุณหนิงจากเว็บ kapook.com คุณโอ๊ตจาก Sanook Auto และผม โดยไม้แรกที่ขับ โยนให้กับคุณโอ๊ต ส่วนผมขอไปนั่งเบาะหลัง เพราะต้องการทราบว่าช่วงล่างของ Trailblazer มีเมตตากับบุคคลบนเบาะหลังมาน้อยเพียงใด

ตัวรถเคลื่อนออกจากร้านกาแฟ แล้วมุ่งหน้าไปบนถนนพหลโยธิน ผ่านเขตตัวเมืองของเชียงราย สภาพถนนช่วงนี้ยังเรียบอยู่พอสมควร และสามารถใช้ความเร็วได้บ้างช่วง พอให้จับความรู้สึกได้ว่าช่วงล่างซับแรงกระแทกได้ดีอย่างสมเหตุผล ถ้าต้องถูกไล่ไปนั่งเบาะหลัง ผมคงยินดีนั่งใน Trailblazer มากกว่า Fortuner สเป็คโรงงานที่ไม่ใช่ TRD อาการดีดเด้งมีไม่เยอะนัก เวลาผ่านหลุมเร็วๆก็ไม่กระแทกจนร้องซี๊ด

จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงทางลุยแบบกึ่งออฟโรด บางช่วงจะเป็นหลุมที่ค่อนข้างลึก ต้องขับผ่านไปแบบเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคุณโอ๊ตก็ลองขับโดยใช้ความเร็วต่างๆ ตัวรถก็มีอาการสะเทือนขึ้นมาบ้างแต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ารำคาญ ผมรู้สึกได้ว่ามางวดนี้ วิศวกรช่วงล่างของ GM น่าจะได้ศึกษารถของคู่แข่งมาอย่างดี และตัดสินใจทำช่วงล่างให้มีความเป็นกลางมากๆเมื่อเทียบกับรถของคู่แข่งคันอื่น ถ้าคุณนั่ง Fortuner หรือ MU-X บนสภาพภูมิประเทศนี้ได้ คุณก็ไม่ควรมีปัญหาอะไรกับ Trailblazer

แม้ว่าสภาพถนนจะเป็นโคลนในบางช่วง เพราะเรามาในฤดูฝน คุณโอ๊ตผู้เป็นคนขับก็ลองใช้ทั้งระบบขับเคลื่อน 2 และ 4 ล้อสลับกันไป Trailblazer ก็สามารถวิ่งเข้าไปในถนนสภาพดังกล่าวได้ แต่พอเห็นรถชาวบ้านแถบนั้นขับเข้าขับออกกัน และเป็นรถกระบะขับเคลื่อน 2 ล้อเสียด้วย โอ๊ตจึงเริ่มกล้าใช้โหมดขับ 2 ลุยลงไปในโคลนและไต่เนินบางช่วง และผ่านไปได้ไม่ยากเย็น

สิ่งนี้ทำให้ผมคิดว่าคงไม่ขอเขียนถึงระบบขับสี่ของ Trailblazer มากนัก ในเมื่อโหมดขับสองยังพอให้รถลุยผ่านไปได้สบายๆทั้งๆที่สภาพพื้นทางวิ่งไม่ได้ดูเป็นมิตรขนาดนั้น..และยังทำให้ผมคิดต่อด้วยว่าบางทีเราอยากได้ระบบขับสี่เพื่อความอุ่นใจ แต่ที่จริงแล้วเราต้องการมันมากขนาดนั้นจริงๆหรือถ้าไม่ใช่ว่าจะเข้าป่าไปบนทางที่ “ไม่มีถนนเลย” จริงๆ?

จากมณีเทวารีสอร์ท ผมรับไม้ต่อจากคุณโอ๊ะเป็นมือขับในช่วงนี้ ซึ่งจะเป็นการวิ่งไปบนถนนสายรองมุ่งหน้าเข้าไป และผ่านไปในเขตหุบเขา จุดแวะพักของเราถูกปิดชั่วคราวเพราะทางขาด จึงจำเป็นต้องเบี่ยงเส้นทางนิดหน่อย ตลอดเส้นทางมีทั้งโค้งกว้าง โค้งแคบ ทางชันขึ้นและลาดลง..และในบางครั้งก็เจอแทบจะทุกอย่างพร้อมกันในช่วงเวลาแค่ 5-10 วินาที

สัมผัสเริ่มต้นกับพวงมาลัยไฟฟ้าค่อนข้างดี แม้ว่ามันจะไม่ใช่พวงมาลัยไฟฟ้าที่เซ็ตมาได้ลงตัวเกือบเป๊ะอย่างของ Ford Everest 3.2 แต่ก็ให้น้ำหนักหน่วงมือพอเหมาะ แรงตึงขืนมือแม้ไม่เยอะเท่าพวงมาลัยไฮดรอลิกและดีดคืนตัวช้ากว่าบ้าง แต่บนถนนที่มีโค้งเยอะๆแบบนี้ มันเป็นพวงมาลัยที่จับอาการได้ง่าย ซ้ายขวาเสถียร ความไวของพวงมาลัยใกล้เคียงกับชุดแร็คไฮดรอลิกของ Isuzu MU-X ซึ่งทำให้ไม่ต้องสาวพวงมาลัยจนเหนื่อยเวลาเจอโค้ง U-Turn หลายโค้งติดต่อกัน

เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร 180 แรงม้ากับแรงบิด 440 นิวตัน-เมตร มีพลังสำรองอย่างพอเพียง เทอร์โบส่งพลังได้ตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ต่ำ 1,600-1,700 รอบต่อนาที (ขึ้นอยู่กับเกียร์ด้วยส่วนหนึ่ง เกียร์สูงจะติดบูสท์และแรงบิดเดินมาเร็วกว่า) ถ้าคุณชอบรถที่แรงบิดดีกว่านี้ที่รอบต่ำ ก็คงต้องพึ่งพาเครื่องปอดโตอย่าง MU-X 3.0 ลิตร หรือไม่ก็ Fortuner รุ่นเก่า 3.0 ลิตร ส่วน Everest นั้นแรงบิดดี พุ่งเร็ว พลังมาเต็ม แต่โดนน้ำหนักรถหน่วงเอาไว้จึงไม่ทะยานแรงอย่างที่คิด

ผมใช้เกียร์ 3 เลี้ยงรอบไว้แถวๆ 1,600-1,800 รอบ แล้วกดคันเร่งให้แรงบิดพารถขึ้นไปได้อย่างสบาย คันเร่งของ Chevrolet มีอาการเป็นธรรมชาติคล้ายคันเร่งสายในการขับบนถนนลักษณะนี้ มันไม่ใช่คันเร่งที่เซ็ตมาให้กดนิดๆแล้วทำเป็นพุ่งหาเรื่อง และในขณะเดียวกันก็ไม่หน่วงจนเสียจังหวะแบบที่บางคนเคยเจอม้าในเครื่อง 1.9 ลิตรของ Isuzu ที่เป็นเกียร์ธรรมดา..มันตอบสนองแบบกลางๆ คาดเดาง่าย ขับแล้วรู้สึกสบายมากกว่าก้าวร้าว

ส่วนอัตราเร่งต่างๆ ผมไม่ได้ลองจับเวลามาเพราะเราเคยได้ยืมรถรุ่น LTZ มาทำตัวเลขกันไปเรียบร้อยแล้ว จึงเอาผลตารางทดสอบเปรียบเทียบกับรุ่นอื่นๆมาปะไว้ให้ดังนี้ครับ

การทำงานของเกียร์ ถือว่าอยู่ในระดับปกติของกลุ่ม ผมลองใช้เกียร์ D แล้วขับขึ้นลงเนินเขาเพื่อดูว่ารถจะอ่านวิธีการขับของเราออกและเลือกเกียร์ได้เหมาะสมหรือไม่ พบว่าถ้าวิ่งมาจากทางเรียบในเกียร์สูงแล้วพบทางชันมากๆ เกียร์จะเปลี่ยนลงต่ำให้เร็ว ไม่ต้องรอให้เกิดอาการหมดแรงและไม่ต้องตอกคันเร่งหนักๆเพื่อเรียกเกียร์ที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากทางขาขึ้นนั้นไม่ชันมาก บางครั้งรถก็จะขึ้นเกียร์สูงให้เร็วไปนิด

ส่วนทางขาลง ยังไม่ดีเท่าขาขึ้น เพราะในหลายโอกาสรถจะเปลี่ยนเกียร์ออกจาก 2 ไป 3 ทั้งๆที่จุดนั้นควรใช้เกียร์ 2 คาไว้ ดังนั้นผมก็ต้องใช้เกียร์ Manual Mode เข้ามาช่วย แล้วก็ต้องโยกคันเกียร์เองเพราะไม่มี Paddle shift มาให้ เรื่องความแสนรู้ของเกียร์นั้นผมยังให้คะแนนกลางๆเพราะไม่ได้เด่นออกจากฝูงรถระดับเดียวกัน และในบางโอกาส การอ่านคันเร่ง+สภาพทางชันยังตอบสนองได้ไม่ดีเท่าเกียร์ของ Isuzu ด้วยซ้ำ

ส่วนระบบ Hill descent นั้น ผมมีโอกาสได้ลองใช้น้อยมาก เพราะมันจะทำงานได้ที่ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น ผมได้ลองแค่ช่วงสั้นๆว่ามันทำงานได้จริง และมีเสียงเตือนเวลาระบบกำลัง Active อยู่ด้วย

ขบวนของเราเริ่มใช้ความเร็วสูงขึ้น ผมวิ่งตามรถนำแบบรักษาระยะเผื่อเบรกเสมอแต่ไม่ปล่อยให้รถนำยืดห่างออกไปไกล รถหมายเลข 0 ที่วิ่งนำเราอยู่นั้นก็ไม่ได้วิ่งเร็วแบบแรลลี่ปารีสดาการ์ แต่ก็วิ่งไปด้วยความเร็วที่สูงมากกว่าที่คนปกติจะขับกัน เอาง่ายๆครับ ขนาดผมซึ่งชอบขับรถเที่ยวเขาเป็นปกติยังเริ่มรู้สึกอึนๆคล้ายจะคายของเก่าเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าขับไปช้าๆชมวิวสวยๆ รถช่วงล่างห่วยแค่ไหนก็วิ่งรอบโลกได้

และนี่ก็ยังเป็นอีกจุดที่ Trailblazer ทำตัวเป็นชายกลางของกลุ่ม มันไม่ได้ให้ความรู้สึกหนึบแน่น ทิ้งโค้งนิ่งๆแบบ Everest และไม่ได้มีบุคลิกรถเบา ไว คล่อง ที่ช่วงล่างย้วยอย่าง Pajero Sport หลังจากลองขับผ่านหลายโค้ง แอบปีน Apex และเหยียบหลุมไปหลายดอก ผมพบว่าช่วงล่างของ Trailblazer สามารถรับมือกับโค้งเกียร์ 2-3 ได้ดี แต่อาการยวบของรถในจังหวะที่ตวัดพวงมาลัยจะเยอะกว่า Ford อาจเป็นเพราะวิศวกรจูนช่วงล่างไว้เผื่อถนนที่ไม่เรียบ ดูจากตอนที่ผ่านหลุม ตัวรถสามารถเก็บอาการได้ดีกว่า Fortuner (ที่ไม่ใช่รุ่น TRD)

ระบบช่วยเหลืออิเล็กทรอนิกส์ของ Chevrolet ทำงานได้มีประสิทธิภาพ แต่มีตรรกะและจุดมุ่งหมายในการทำงานที่แตกต่างจาก Ford ซึ่งใน Everest นั้น ดูเหมือนระบบจะถูกจูนมาสำหรับคนที่ขับรถเก่ง และชอบขับรถเร็ว เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ระบบจึงพยายามทำงานโดยพยายามไม่ยุ่งกับความเร็วของรถโดยไม่จำเป็น แต่รักษาแนวการวิ่งและหักหลบได้อย่างแม่นยำ ส่วนระบบของ Chevrolet นั้นจะเน้นการเซฟชีวิตไว้ก่อนโดยเมื่อรถเริ่มไถล ก็จะสั่งการให้ทำงาน และถ้าคุณเริ่มหักพวงมาลัยเยอะกว่าที่ควรสำหรับความเร็วช่วงนั้นๆ ระบบก็จะพยายามสั่งลดกำลังเครื่องและเบรกเพื่อลดความเร็วให้อยู่ในจุดที่ปลอดภัย

จุดเดียวที่ผมยังไม่ค่อยชอบคือวิธีการเซ็ตแป้นเบรก ซึ่งพวกรถตระกูลลุงแซมอย่าง Ford กับ Chevrolet จะมีนิสัยคล้ายกัน คือต้องเหยียบลงไปลึกกว่าผ้าเบรกจะจับหน่วงจริงจัง เรื่องการเซ็ตแป้นเบรกทั้งความลึกและน้ำหนักต้านเท้าที่เหมาะสม ผมว่า Fortuner เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด กดไม่ต้องลึก ไม่จับไวเกิน บริหารแรงเบรกได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ในช่วงวันที่ 2 ของการออกทริป ผมยังได้มีโอกาสลองขับบนถนนเรียบอีกครั้ง บนเส้นทางจากรีสอร์ทแถว 3 เหลี่ยมทองคำกลับไปยังสนามบินเชียงรายซึ่งเป็นทางที่ไม่ยาวนัก แต่มีโอกาสได้ลองวิ่งเข้าโค้งแบบความเร็วสูงดูบ้าง ก็ยังรู้สึกว่า “พี่คนกลางอีกแล้ว” กล่าวคือ ยังไม่ได้ฟีล หนัก แน่น นุ่ม หนึบแบบ Ford Everest ซึ่งถ้าจะให้เหมือนเป๊ะก็คงทำได้ยากเพราะบอดี้รถของ Ford มีน้ำหนักช่วยกดอยู่มากกว่า (Trailblazer ขับสี่ยังเบากว่า Everest ขับสองด้วยซ้ำ)

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ดีงามของช่วงล่าง Trailblazer ก็คือมันยังมีลักษณะคล้ายช่วงล่างรถกระบะน้อยกว่า Fortuner (ที่ไม่ใช่ TRD) และ MU-X ส่วนเรื่องความนุ่มนวล แม้จะยังสู้ Pajero Sport ไม่ได้แต่ก็ยังมีความรู้สึกหนักแน่น และมีจังหวะการยวบตัวของช่วงล่างที่ดูเหมือนจะหนึบกว่า ทำให้ขับด้วยความเร็วสูงได้มั่นใจกว่า

**** สรุป: ขับดีเท่ารุ่นปกติ ได้สีสันและความเท่เพิ่มตามงบ****

สำหรับราคา 1,499,000 บาทนั้น สามารถพูดได้ว่า ถ้าคุณต้องการรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีเครื่องยนต์แบบพลังสูง และมีอุปกรณ์ความปลอดภัยในเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ เช่นระบบแจ้งเตือนก่อนชนจริง ระบบเตือนรถเบี่ยงออกนอกเลน ระบบ Rear Cross-traffic Alert รถอย่าง Chevrolet Trailblazer LTZ Z71 ก็สามารถตอบโจทย์นั้นได้ดี ถ้าเรามองกันที่ตัวรถเพียวๆโดยไม่สนเรื่องอื่น

20,000 บาทที่จ่ายเพิ่มมาจากรุ่นปกตินั้น คุ้มหรือไม่ คุณตัดสินใจได้จากการมองภายนอกว่าสไตล์โดนใจหรือไม่ ล้ออัลลอยดำกับการตกแต่งโทนดำทำให้คุณรู้สึกอยากซื้อมันมากขึ้นหรือเปล่า เพราะเมื่อคุณหลุดจากโฉมภายนอก ก้าวเข้ามานั่งข้างในรถแล้วขับ..มันแทบจะไม่มีอะไรต่างจากรุ่น LTZ ตัวปกติเลยแม้แต่น้อย

พละกำลังเครื่องยนต์อาจไม่แรงสะใจแบบเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร Duramax II ในรุ่นเดิม แต่มันก็มีความยืดหยุ่น มีแรงบิดในรอบต่ำที่ดี ขับขึ้นและลงเขาแล้วรู้สึกว่ามีพลังสำรองเรียกใช้ได้โดยไม่ต้องตะบี้ตะบันกดคันเร่ง และไม่ต้องคารอบเกิน 2000 ไว้เยอะๆ ช่วงล่างนั้นซับแรงกระแทกได้ดี ลองสวมบทเป็นผู้โดยสารนั่งหลัง วิ่งบนทางหลายรูปแบบก็ไม่รู้สึกว่ามันดีดเด้งจนน่ารำคาญ อีกทั้งยังให้ความมั่นใจเวลาขับบนทางตรงได้ดีพอสมควร จะแพ้ก็แค่ Everest ที่เน้นการจูนช่วงล่าง หรือ Fortuner TRD Sportivo ที่ปรับเซ็ตโช้คอัพกับสปริงมาเป็นพิเศษเท่านั้น

ภายในของ Trailblazer  มีจุดเด่นที่ชุดเครื่องเสียงและมัลติมีเดีย MyLink ที่ทำงานได้ดี เล่นเพลงออกมาก็ให้เสียงที่มีคุณภาพดี มีระบบ Remote Engine Start มาให้ด้วย แต่ในภาพรวม ยังขาดอุปกรณ์ติดรถบางอย่างที่จะน้อยกว่าคู่แข่ง เช่นไฟหน้าที่ยังมีไฟส่องทางเป็นแบบฮาโลเจน ยังไม่มี Push Start/Smart Entry และที่สำคัญคือมีถุงลมนิรภัยแค่ 3 ใบ ซึ่งคู่แข่งอย่าง Fortuner มี 7 ใบในหลายรุ่นยกเว้นตัวล่างสุด Everest และ Pajero Sport GT Premium ก็มีมาให้ครบกว่า มีแต่ MU-X เท่านั้นที่ยังมีถุงลมนิรภัย 2 ใบอยู่

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลแล้วพบว่าในงบประมาณที่เท่าๆกัน Chevrolet Trailblazer ก็ไม่ใช่รถที่มีจุดอ่อนด้อยกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน แต่จะเป็นในลักษณะแลกกันคนละหมัดสองหมัดที่นำไปสู่ภาพรวมซึ่งดีกันไปคนละด้าน

ปัญหาก็คือนั่นจะเป็นมุมมองของคนที่จัดความดีงามของรถโดยไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ และไม่ได้นำเรื่องบริการหลังการขายเข้าไปคิดในการประมวลผลด้วย แต่เมื่อคิดถึงสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่น่าแปลกใจถ้าหากลูกค้าจะเลือกรถจากค่ายอื่นไปเสียก่อน เช่นถ้าหากเทียบกับ Isuzu ซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์และบริการหลังการขาย ก็สามารถพูดได้ว่า Chevrolet มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เหนือระดับกว่า แต่ในเมื่อคุณสามารถซื้อ MU-X 3.0 4WD ได้ในราคา 1,474,000 บาท หากมองจากมุมของคนทั่วไปที่ไม่ได้อ่านเว็บรถ ไม่รู้จักว่าระบบควบคุมการทรงตัว ระบบแจ้งเตือนนั่นนี่คืออะไร คุณคงเดาถูกว่าเขาจะเลือกคันไหนกัน

หรือแม้กระทั่งการปรากฏตัวของ Toyota Fortuner 2.4V 4WD ที่เปิดมาในราคาเท่ากับเจ้า Z71 เด๊ะ ก็คงทำให้ลูกค้าที่ต้องการระบบขับเคลื่อน 4 ล้อไขว้เขวบ้างไม่น้อย เพราะแม้พละกำลังเครื่องยนต์และอัตราเร่งจะด้อยกว่า Chevrolet มาก แต่ได้ชื่อเสียงจากความเป็น Toyota ได้บอดี้รถที่ใหม่สดกว่า และอุปกรณ์ความปลอดภัยไม่น่าเกลียด อุปกรณ์พื้นฐานเรื่องความหรูหราทันสมัยให้มาครบครัน

เราคงไม่ต้องพูดถึง Mitsubishi Pajero Sport GT Premium ซึ่งมีพละกำลังและอัตราเร่งสูสีกับ Z71 มาก แต่พกอุปกรณ์ทันสมัยมาพร้อมสรรพ มีระบบ Cruise Control ที่ปรับความเร็วตามรถคันหน้าได้ มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่สามารถปรับเป็นขับสี่ตลอดเวลาแล้วใช้วิ่งบนถนนแห้งได้ และมีภาพลักษณ์เรื่องบริการหลังการขายดีกว่า Chevrolet อยู่นิดๆ นี่ถ้าไม่ใช่ว่าเจอปัญหาเรื่องคอพวงมาลัยสั่นกับอาการกินน้ำมันเครื่องผิดปกติ ยอดขายน่าจะดีกว่านี้

ส่วน Ford Everest นั้น ถ้าหากคุณต้องการรถที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ต้องเล่นรุ่นท้อป 3.2 Titanium+ ซึ่งราคาแพงกว่า Trailblazer Z71 อยู่ 250,000 บาท คุณได้ช่วงล่างที่ดีที่สุดในหมู่รถ PPV พวงมาลัยที่ให้ความแม่นยำในการบังคับดีกว่า มีอุปกรณ์ต่างๆครบครันกว่า เรียกได้ว่าประสิทธิภาพตามราคา แต่การมี 200 ม้าไม่ได้ช่วยให้มันแรงกว่า Trailblazer ขนาดนั้นเพราะน้ำหนักมีส่วนเกี่ยว..แต่เอาตามความเป็นจริง คนที่กำเงินมาซื้อ Everest ก็มักจะเป็นคนที่มีความปราถณาในรถรุ่นนี้อยู่แล้ว ไม่ได้ดูเปรียบเทียบกับตัวอื่น

จะเห็นได้ว่า Chevrolet Trailblazer ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่มีจุดขายชัดเจน หากเทียบเป็นชีวิตเด็กมัธยม ก็คงเหมือนกับเด็กที่ได้คะแนนเกรดแต่ละวิชาเป็น C, C+ หรือมากที่สุดก็ B ในบางวิชา ในขณะที่เด็กบางคน อาจไม่เก่งคณิตศาสตร์ แต่ได้เรื่องการกีฬา ก็ยังมีคนมาปั้นให้เป็นนักกีฬาเขต บางคนก็อาจได้คะแนนภาษาดี และหน้าตาหล่อ ก็มีแมวมองสยามมาจับไปเดินแบบ เล่น MV ต่อยอดกลายเป็นดาราได้

เด็กสายกลางอย่าง Chevrolet Trailblazer นั้น อาจจะมีคนรัก เป็นลูกรัก และเป็นแรงงานสังคมที่ดีได้ถ้ามันเป็นคน และไม่ใช่รถ และในเคสนี้ สังคมที่เด็ก Trailblazer อาศัยอยู่นั้น เป็นสังคมที่ผู้คนจะมอบทรัพย์สินและความไว้ใจให้กับเด็กที่มีความเด่นโดนใจคนเหล่านั้นในด้านใดด้านหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องอ่านโบรชัวร์เกิน 20 วินาที คุณลองเองก็ได้ครับ นึกดูว่ารถค่ายอื่นเจ้าไหนมีจุดเด่นด้านใด ถ้าคุณได้อ่านบทความหรือโบรชัวร์ผ่านๆมาบ้าง รู้ราคาบ้าง คุณจะบอกจุดเด่นของแต่ละคันได้ภายใน 4-5 วินาที ใช่ไหมล่ะครับ

แต่รถอย่าง Trailblazer นั้น ถ้าไม่ใช่ว่าหน้าตาหล่อถูกใจลูกค้าบางคน ส่วนที่เหลือที่เป็นจุดเด่น มันต้องอาศัยการเปิดใจ ลองขับ ลองสัมผัสให้เห็นกับตัวเอง ถึงจะรู้ได้ว่า เห้ย ไม่เลวนี่หว่า! บางอย่างก็ดีด้วยเถอะ แม้จะมีข้อเสียปนๆอยู่บ้าง

ดังนั้น สิ่งที่ Chevrolet ประเทศไทยยังทำได้ตอนนี้ ก็คงจะเป็นการพยายามทำให้คนรู้จักข้อดีของ Chevrolet มากขึ้น ให้คนที่ได้สัมผัสมา เล่าเรื่องดีๆของ Chevrolet ต่อให้มากขึ้น เพราะตัวรถน่ะ ไม่ได้แย่! มันแค่ไม่มีจุดที่เด่นชัดเจนหลายๆด้าน มันเป็นรถที่ขับเดินทางด้วยแล้ว Happy มีเครื่องยนต์ที่ดี อัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองสมเหตุสมผล มีข้อเสียบ้างก็ไม่ใช่ข้อที่ด้อยแบบไม่น่าให้อภัย

เรื่องบอกต่อข้อดีของ Trailblazer นี่ผมคงช่วยอะไรไม่ได้นะครับ เพราะถ้าผมบอกว่ามันดีที่สุด ดีไปหมดทุกอย่าง ไม่มีข้อเสียเลย อีกไม่นานผู้คนก็เลิกอ่านเว็บนี้กันหมดและผมอาจจะต้องเลิกทำอาชีพรีวิวรถยนต์ไปเปิดร้านไก่ย่างเขาสวนทวารตามที่เคยฝันไว้

นอกจากนี้ ถ้ามองในแง่การเจริญเติบโตของแบรนด์อย่างยั่งยืน สิ่งที่สำคัญคือ Chevrolet ต้องหากลวิธีในการรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ไว้ให้ดีที่สุด มองผลประโยชน์จากระยะยาวโดยคิดเสียว่า คนกลุ่มนี้เขาเคยเปิดใจรับแบรนด์เราครั้งหนึ่งแล้ว หากในภายหน้ามีรถรุ่นใหม่ออกมาอีก การที่ลูกค้าจะเลือกหรือไม่เลือกผลิตภัณฑ์ของเราอีกครั้ง มันก็ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้ เรารักษาความพึงพอใจของเขาได้ดีขนาดไหน

ความพอใจที่คนเรามีต่อรถสักค่าย มันก็เหมือนเสาเข็มและคาน ส่วนตัวรถ ก็เปรียบเสมือนบ้าน ถ้าวันนี้คุณพบว่าเสาและคานมันอยู่ในสภาพที่ต้องแก้ไข ก็ต้องทำก่อนสิ่งอื่นใด

ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไรเลย ต่อให้ทาสีบ้านใหม่ หรือ Renovate ใหม่ทั้งหลัง สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นระเบิดเวลาที่ซ่อนลึกๆอยู่ข้างใน แต่ถ้าวันไหนเสากล้า คานแข็งแกร่ง คุณแค่เอาบ้านที่ดูน่าซื้อน่าอยู่มาครอบไว้ ยังไงมันก็ขายได้โดยที่เซลส์กับการตลาดแทบไม่ต้องพูดอะไรเลย

————————–///————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

—————————-

Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย
เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด
ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com

 30 กันยายน 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

30 September 2017

แสดงความเห็นบนเว็บบอร์ด คลิกได้ที่นี่