ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ทำเว็บไซต์ Headlightmag.com เรามักได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมชม หรือทำข่าว กิจการต่างๆของบรรดาผู้ผลิตยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น หรืออุปกรณ์ประดับยนต์ต่างๆ อยู่เนืองๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง เครื่องเสียงติดรถยนต์ ก็ยังเคยเชิญเราไปทำข่าวในต่างแดนมาแล้ว…

โดยปกติ ผมเลือกจะไม่เดินทางไปต่างประเทศ กับบริษัทห้างร้าน อื่นๆ ในกลุ่มประดับยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์เหล่านี้เลย เนื่องมาจากว่า ลำพังแค่การบินไปทดสอบรถยนต์รุ่นใหม่ ติดๆกันเฉลี่ย 1-2 เดือน /1 ทริป นั้น ก็ทำเอาผมแทบไม่ต้องทำงานทำการอื่นใดกันแล้ว เวลาว่างแทบไม่มีเหลือ ผมจึงขอเลือกที่จะเดินทางเฉพาะทริปที่ผมเห็นว่า มีเรื่องเยอะพอที่จะเก็บมาเล่าให้คุณผู้อ่าน ซึ่งสนใจอยากรู้ จะดีกว่า

แล้วทำไมคราวนี้ ผมถึงยอมมาร่วมทริปกับ Shell ละ?

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า Shell เขาจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย “เติมเต็มถัง ลุ้นเต็มแรง ลุ้นเติม Shell V-Power ฟรี ลุ้นสัมผัส Ferrari ไกลถึง Italy” ของ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา หนึ่งในรางวัลใหญ่ก็คือการจับรางวัลพาลูกค้าผู้โชคดี ได้รับรางวัลแพคเกจท่องเที่ยวประเทศอิตาลี รางวัลละ 2 ที่นั่ง มูลค่ารางวัลละ 200,000 บาท จำนวน 10 รางวัล ซึ่งในโปรแกรมทัวร์นั้น นอกจากจะพาไปเยือนสถานที่สำคัญๆ อันได้ชื่อว่าเป็น Top Tourist Spot ที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน Italy จะต้องไปถึงให้ได้แล้ว ยังจะได้พบประสบการณ์ พิเศษ เข้าชมพิพิธภัณฑ์และโรงงานผลิตรถยนต์ Ferrari ณ เมือง Maranello ด้วยเหตุผลที่ว่า Ferrari เป็นพันธมิตรระดับโลกของ Shell ในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและเชื้อเพลิงนั่นเอง

ในฐานะ ที่ ผมเองก็เป็นลูกค้าเหนียวแน่นของ Shell มาตลอด และเราเองก็เคยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของ Shell ในบทความรีวิวเรา จนกระทั่งพวกเขาเลิกขายน้ำมันเบนซิน 95 ล้วน V-Power ไปในเดือนพฤษภาคม 2010 (ทำให้เราต้องหันไปใช้น้ำมันของ Caltex แทน นับแต่นั้นเป็นต้นมา) กระนั้น ผมก็ยังคงอุดหนุน Shell V-Power ในรถยนต์ส่วนตัวอยู่ตลอด สม่ำเสมอ และมักใช้บริการปั๊มใดปั๊มหนึ่งระหว่างสองเจ้านี้ในรถส่วนตัวเสมอ

ฉะนั้น การไปร่วมทริปกับ Shell ในครั้งนี้ ก็คิดเล่นๆ ว่า เป็นการคืนกำไรให้ลูกค้าที่อุดหนุน Shell มาตั้งแต่สมัยยังเด็ก อย่างครอบครัวผม เพียงสักเล็กน้อย ก็แล้วกันนะครับ แหะๆ

อีกทั้ง ผมเอง ก็คิดฝันตามประสาคนบ้ารถทั่วๆไปว่า อยากจะเดินทางไปเยียมชมโรงงานผลิตรถยนต์ ทั่วโลกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไหนๆก็เคยไปเยือนโรงงานรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น ทั้งในไทยและเมืองนอก รวมถึงโรงงาน Rolls-Royce ที่ Goodwood โรงงาน Volvo ที่ Gothenburg หรือ แม้กระทั่ง สำนักงานใหญ่กับพิพิธภัณฑ์ของ Maserati ที่ เมือง Modena ญาติเพื่อนบ้านกับค่ายม้าลำพอง ก็เคยไปเยือนมาแล้ว ดังนั้น โรงงาน Ferrari ที่ Maranello ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่ผมคิดว่า ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!

ทริปนี้ เริ่มขึ้นเมื่อ วันที่ 4 มิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา เครื่องบินของ สายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 944 ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตอนเที่ยงคืน 20 นาที เดินทางมาถึงสนามบิน Leonardo Davinci Fiomichino จากนั้น ทางคณะของเราก็เดินทางเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ อันเรียกว่าเป็น จุดท่องเที่ยวหลัก (Tourist Spot) ของประเทศ Italy ได้ค่อนข้างจะครบ ไม่ว่าจะเป็น กรุง Rome (มหาวิหาร สำนัก Vatican , Colosseum ,น้ำพุ Trevi , บันไดสเปน) ไปชม หอเอนเมือง Pisa ตามด้วยเมือง Florence (Firenza) ในวันรุ่งขึ้น ไปชม มหาวิหาร Santa Maria รูปปั้น Poseidon รูปปั้น David รูปปั้น Medusa สะพาน Ponte Vecchio ก่อนจะเข้าสู่เมือง Milan (Milano) พาไปถึงมหาวิหารประจำเมือง ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 วิหารสำคัญของโลกในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันแคทอลิค ตามด้วย เมืองริมทะเลสาบ Como เป็นการปิดท้าย ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่เคยเดินทางมาเยือน Italy มาก่อน ได้สัมผัสในเบื้องต้น

แต่ Hi-Light สำคัญ ของทริปนี้ อยู่ที่การพาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของ Ferrari ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ Museo Ferrari Maranello ซึ่งตั้งอยู่ สำนักงานใหญ่ของ Ferrari และ Museo Enzo Ferrari ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง Modena ใกล้กับโบสถ์ใหญ่ของเมืองดังกล่าว เพื่อให้ทุกๆคน รู้จักประวัติความเป็นมาของ Ferrari และ ความสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถสปอร์ตระดับโลก กับบริษัทพลังงาน เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์หล่อลื่นระดับโลกอย่าง Shell

ใครที่เป็นแฟนบอย ของ Ferrari และอยากจะเดินทางมาเยี่ยมชม สำนักงานใหญ่ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ ควรศึกษาไว้สักนิดว่า Ferrari มีพิพิธภัณฑ์ รวม 2 แห่ง โดย Museo Ferrari นั้น ตั้งอยู่ที่ บริเวณใกล้กับโรงงานในเมือง Maranello ชนิดที่ว่า สามารถเดินถึงกันได้ ส่วนอีกแห่งหนึ่ง เป็นพิพิธภัณฑ์ Museo Casa Enzo Ferrari ซึ่งเป็นบ้านหลังที่ Enzo ยอมขายทิ้งตอนอายุ 20 ปี เพื่อซื้อรถแข่ง Alfa Romeo คันแรกในชีวิต ตั้งอยู่ในเมือง Modena ห่างจากพิพิธภัณฑ์แห่งแรก ไม่ไกลนัก นั่งรถเมล์แค่ไม่เกิน 20 นาที ก็มาถึง (หากการจราจรตรงวงเวียน สำนักงานใหญ่ Maserati ที่อยู่ใกล้กัน ไม่ติดขัดจนเกินไป)

ขอยืนยันว่า ควรจะเข้าเยี่ยมชมทั้ง 2 พิพิธภัณฑ์ ควบคู่กัน เพราะถ้าเข้าชมเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง อาจรู้สึกว่า “ไม่เต็มอิ่ม” ขาดอรรถรส ไม่ครบถ้วน เพราะทั้ง 2 แห่ง มีการจัดแสดงที่ไม่เหมือนกัน และต่างก็จะมี Theme การจัดแสดงที่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นของตนเอง ไม่ได้เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันเสมอไป เช่น ในคราวที่ผมเดินทางมาเยือนครั้งนี้ ที่ Maranello จัดแสดงภายใต้ Theme “Under the Skin” เป็นการนำโครงสร้างตัวรถ และผลงานออกแบบตัวรถบางส่วน อันเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของ Ferrari มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว

การจัดแสดง นิทรรศการภายใต้หัวข้อ “Under the Skin” มีขึ้นโดยความร่วมมือกับ London Design Museum เพื่อนำเสนอถึงอัจฉริยภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบและงานวิศวกรรมในการสร้างรถสปอร์ต Ferrari ผ่านทาง โครงสร้างของรถรุ่นแรก Ferrari 125 S ภาพวาดทางเทคนิคขณะกำลังพัฒนารถยนต์รุ่นดังในอดีต ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรถยนต์เหล่านั้น นิทรรศการทั้งหมดจะถูกโยกย้ายไปจัดแสดงที่ London Design Museum ประเทศอังกฤษ เดือนพฤศจิกายน 2018 นี้

ส่วน Museo Casa Enzo Ferrari ที่ Modena ในช่วงที่เราเดินทางไปเยือน ก็จัดแสดงภายใต้ Theme “il Rozzo & il Rosa : Woman & Ferrari, The untold story” เป็นการนำเรื่องราวของสตรี ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะวงการบันเทิง ที่เกี่ยวข้องกับ รถสปอร์ต Ferrari ที่เคยขับ มานำเสนอ ผูกโยงเข้าด้วยกัน

อันที่จริง เรื่องราวของ Ferrari มีหลากหลายแง่มุมน่าสนใจให้ได้สัมผัสกัน กระนั้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จักประวัติความเป็นมาของผู้ผลิตรถสปอร์ตระดับ Super Car รายนี้มาก่อนแล้ว การเริ่มต้นจากข้อมูลพื้นฐานของพวกเขา เป็นเรื่องสำคัญ…

Ferrari เป็นบริษัทรถยนต์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่เมือง Maranello (ซึ่งอยู่ติดกับเมือง Modena) ใน Italy เมื่อปี 1947 และเพิ่งมีอายุครบรอบ 70 ปี ไปเมื่อ ปี 2017 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 3,000 คน ผลิตรถยนต์ได้วันละ 24 – 30 คัน และนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มผลิตรถ ในปี 1947 จนถึงสิ้นปี 2018 ที่ผ่านมา Ferrari ผลิตรถสปอร์ต Super Car และ Hyper Car สมรรถนะสูงเหล่านี้ ออกจำหน่ายรวมแล้วมากถึง 190,000 คันโดยประมาณ แต่ดูเหมือนว่า งานหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของทุกๆคนใน Ferrari คือ การเข้าร่วมแข่งขันรถยนต์ Fomula 1 ในนามทีม Scuderia Ferrari

ประตูแรกเริ่มด้านบนที่คุณเห็น เป็นประตูดั้งเดิมตั้งแต่ปี 1947 แต่ตอนนี้ กลายเป็นประตูด้านหลังของโรงงานไปแล้ว 2 รูปถัดลงมา เป็นประตูโรงงานที่สร้างขึ้นใหม่จากการขยับขยายครั้งมโหฬาร เพื่อรองรับการผลิต วิจัย และพัฒนารถยนต์ ในจำนวนมาก หากเข้าโรงงานจากประตูใหญ่ด้านหน้า คุณจะอาคารทรงประหลาด หน้าตาคล้ายท่อไอเสีย อยู่ฝั่งซ้าย แท้จริงแล้ว นั่นคือ อาคารอุโมงค์ลม สำหรับทดสอบด้านอากาศพลศาสตร์ (Wind Tunnel) ออกแบบโดย Renzo Piano ในปี 1997  ถัดเข้าไปจากฝั่งซ้าย เป็นศูนย์ออกแบบ ซึ่งถูกสร้างขึ้นให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย เพื่อช่วยให้นักออกแบบ สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ถ่ายทอดลงไปบนรถสปอร์ตรุ่นต่อๆไปได้ดีขึ้น

ฝั่งขวา จะเป็นโรงงานขึ้นรูปตัวถัง และพ่นสี ถัดเข้าไปตรงกลาง จะเป็นอาคารสันทนาการ Gymnasium สำหรับให้พนักงานออกกำลังกาย และมีโรงอาหารชั้นดี เสิร์ฟอาหาร 2,500 ชุด/วัน ในพื้นที่โรงงานนี้ ส่วนด้านล่างสุดคือ ประตูทางเข้าของ ศูนย์พัฒนาวิจัย รถแข่ง Formula 1 ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ส่วนด้านหลัง จะเป็น โรงงานประกอบ รวมทั้งเป็นศูนย์สร้างรถต้นแบบ ก่อนการผลิตขายจริง ที่นี่ มีปั้มน้ำมัน Shell V-Power อยู่ข้างในพื้นที่โรงงาน บริเวณใกล้กับอาคารโรงประกอบรถ

ถึงจะเป็นผู้ผลิตรถสปอร์ตสมรรถนะสูง แต่ที่นี่ ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมเอาเรื่อง พวกเขาสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ได้เอง อีกทั้งยังมีหลากหลายกิจกรรมเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Reduce Carbon footprint) แม้กระทั่ง จัดให้มี เลนจักรยาน สำหรับพนักงานในโรงงานได้ขี่มาทำงาน และขี่ไปมาระหว่างอาคาร รวมทั้งยังประดับผนังและอาคารบางส่วนด้วยพุ่มไม้ขนาดใหญ่ในหลายๆจุด อีกด้วย! พูดกันตรงๆคือ คล้ายกับสนามทดสอบ Tochigi R&D ของ Honda เลยทีเดียว (ที่ญี่ปุ่นนั่น อีกนิด ก็จะเป็นป่าอยู่แล้ว)

นอกจากนี้ เรายังได้นั่งรถบัสเข้าไปเยี่ยมชม สนามทดสอบ Pista di Fiorano ซึ่งสร้างเสร็จตามความประสงค์ของ Enzo Ferrari มาตั้งแต่ปี 1972 เป็นสนามทดสอบทั้งรถสปอร์ต และรถแข่งของ Ferrari และยังเป็นสนามที่อนุญาตให้ลูกค้า สามารถนำรถมาลองขับได้อีกด้วย รวมทั้งเป็นสนามสำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมระหว่าง Ferrari และกลุ่มลูกค้าที่รวมตัวกันเป็นลุ่มก้อนสมาคมคนรักรถค่ายม้าลำพองจากทั่วทุกมุมโลก

เดิมที สนามแห่งนี้ มีความกว้างแทร็ค 8.4 เมตร และยาว 3 กิโลเมตร ในปี 1992 สนาม Fiorino ถูกปรับปรุง โดยเพิ่ม ทางซิกแซก (Chicane) ทำให้สนาม ยาวขึ้นอีกเป็น 3.021 กิโลเมตร ต่อมา ในปี 1996 Michael Schumacher นักขับชื่อดังของทีม เจ้าของสถิติแชมป์โลก 7 สมัย ในเวลาต่อมา ขอให้ทางทีม ช่วยเพิ่มความยาวของทางตรง ก่อนถึงทางโค้งหลักเล็กน้อย เพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษอีก 1 โค้ง (24 เมตร) เขาจึงทำความเร็วบนทางตรงสุดของสนามก่อนเข้าโค้ง ได้สูงถึงราวๆ 290 กิโลเมตร/ชั่วโมง!

ปัจจุบัน สนามแห่งนี้ มีความยาว 3 กิโลเมตร และทางโค้งรวมกัน 8 โค้ง แต่ละโค้งถูกออกแบบขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อทดสอบพลวัตรและอากัปกิริยาของตัวรถ (Dynamic behavior) รวมทั้งปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในรถแต่ละแบบ มีลาน Skid Pad สำหรับทดสอบยางในสภาพเปียกลื่น มี Telemetry Sensor รับแลกส่งข้อมูลจากระยะไกล ฯลฯ

ภายในสนามแห่งนี้ มีทั้งอาคารสำหรับแผนก Motor Sport ซึ่งก่อสร้างใหม่ รวมทั้งสำนักงานของทีมแข่ง Formula 1 ตั้งอยู่ที่ริมด้านข้างสนาม และ Pit ปฏิบัติการณ์ภาคสนามของ Shell และจุดจอด Helicopter ส่วนอาคารโบราณดั้งเดิมอีก 3 หลังในตัวสนามนั้น มีทั้ง อาคารทำงานดั้งเดิม ทาสีขาว บานพับและหน้าต่างสีแดง ชื่อว่า Casa Ferrari สร้างขึ้นเพราะ Enzo Ferrari ต้องการฟังเสียงเครื่องยนต์ ขณะง่วนอยู่กับงาน

นอกจากนี้ยังมี อาคารห้องพักของนักแข่ง Formula 1 ซึ่งมี Gym สำหรับออกกำลังกาย เพื่อเอาไว้ฝึกซ้อม และสร้างความเข้มแข็งของทั้งกล้ามเนื้อ ร่างกาย และจิตใจ เพราะนักแข่ง Formula 1 นั้น มักจะมีน้ำหนักตัวก่อนแข่งกับหลังแข่งเสร็จ หายไปราวๆ 3 กิโลกรัม ในแต่ละครั้งที่ลงแข่ง! ถนนทุกเส้นในอาณาบริเวณสนาม Fiorano ถูกตั้งชื่อตาม สมาชิกในครอบครัว Ferrari และนักแข่ง Formula 1 ชื่อดังที่สร้างชื่อเสียงให้กับทีม เช่น Via Nuvolari , Ascari , Gille Villenerve , Piazza Michael Schumacher

ไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ ยังมีเครื่องบินรบของกองทัพอากาศ Italy มอบให้ไว้เป็นที่ระลึกในโอกาสที่มีการท้าประลองความเร็ว ระหว่างเครื่องบินรบลำดังกล่าว กับรถแข่งของ Ferrari ในปี 1981 แน่นอนว่า รถแข่ง เป็นฝ่ายชนะ!!

เกร็ดเล็กน้อยที่ ไกด์ทัวร์ของพิพิธภัณฑ์บอกเล่าให้เราฟังก็คือ เดิมที สีของรถ Ferrari นั้น แรกเริ่ม เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นเสียงประจำเมือง Modena อันเป็นเมืองเกิด ของ Enzo Ferrari แต่ในเวลาต่อมา เมื่อกิจกรรม Motor Sport เริ่มได้รับความนิยม รัฐบาล Italy ในขณะนั้น ขอร้องผู้ผลิตทุกรายว่า ให้เปลี่ยนไปใช้สีตัวถังเป็สีแดง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ผู้คนในสนาม จดจำได้ว่า นี่คือรถแข่งที่มาจาก Italy ดังนั้น สีแดง จึงกลายเป็นสีที่ผู้คนจดจำรถยนต์ และรถแข่งของ Ferrari (รวมทั้ง Alfa Romeo ด้วย) นับแต่นั้นเป็นต้นมา

อาณาจักร Ferrari ก่อกำเนิดขึ้นมาจากความฝัน ของน้องชายคนเล็ก ในครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะภัยสงคราม น้องชายผู้น่ารัก ซึ่งโดนมรสุมชีวิต รุมเร้าอย่างหัก จนเปลี่ยนบุคลิกภาพ กลายเป็น ชายผู้ลำพองเหมือนสัญลักษณ์ม้าป่าบนรถที่เขาสร้าง เกรี้ยวกราดดุจเสียงเครื่องยนต์แผดคำราม และเปี่ยมด้วยพลังพลุ่งพล่าน เหมือนรถแข่งในสนาม

น้องชายคนเล็กของบ้าน…ที่ชื่อ…Enzo Ferrari…

Enzo Anselmo Ferrari เกิด เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1898 ที่เมือง Modena ประเทศอิตาลี (แต่สูจิบัตรดั้งเดิม ระบุวันเกิดไว้ว่า 20 กุมภาพันธ์ 1898 เนื่องจาก บิดาและมารดาของเขา ทั้ง Alfonso Ferrari ลูกชายร้านขายของชำจากเมือง Carpi และ Adalgisa Ferrari แจ้งเกิดกับทางราชการช้าไป 2 วัน เนื่องจากหิมะตกหนัก) เป็นลูกชายคนรอง ต่อจาก Alfonso Junior (Dino) Ferrari เดิมที ครอบครัวนี้ เปิดกิจการโรงเหล็ก ที่มีคนงาน 20 ชีวิต ในบ้านฟาร์มขนาดใหญ่ ของตนเอง ชีวิตวัยเด็กของ Enzo จึงสบายพอประมาณ ตอนเด็กๆ เขาฝันอยากจะเป็น นักหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่ง นักร้อง Opera ด้วยซ้ำ…

ปี 1908 ย่างเข้าอายุ 10 ขวบ ความคิดของเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพ่อพา Enzo กับพี่ชาย ไปชมการแข่งขันรถยนต์ Circuitto di Bologna และได้เห็น นักแข่งรถจากทีม FIAT ที่ชื่อ Felice Nazzaro ขึ้นไปยืนรับรางวัลแชมป์ของรายการดังกล่าว รวมทั้งนักแข่งร่วมยุคสมัยอย่าง Vincenzo Lancia (ต่อมา ทำรถยนต์ยี่ห้อ Lancia) จุดประกายให้ เด็กชาย Enzo เริ่มมีความคิด อยากจะเป็นนักขับรถแข่ง

ถึงแม้ว่า Alfredo จะส่ง Enzo และพี่ชายของเขา ไปศึกษา ณ โรงเรียนช่างกล เพื่อเตรียมให้ทั้งคู่สืบทอดกิจการของครอบครัว และพี่ชายคนโต (Dino) ก็ยอมตามความประสงค์ของบิดา แต่ Enzo กลับโดดเรียน ปี 1914 เมื่อ Enzo มีอายุ 16 ปี อิตาลี ก็เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 Dino ถูกเกณฑ์ให้เข้ารับราชการทหาร และถูกส่งไปขับรถพยาบาล ในสมรภูมิแนวหน้า ทว่า ปี 1916 Alfonso ผู้เป็นพ่อ ก็ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันด้วยโรคปอดบวม (Pneumonia) ทำให้กิจการโรงเหล็กของครอบครัว ต้องปิดฉากพังทลายลง จากนั้น Dino ผู้เป็นพี่ชาย ก็เสียชีวิตในสนามรบ ด้วยโรคไข้รากสาดน้อย หรือไทฟอยด์ (Typhoid) นั่นทำให้ชีวิตของ Enzo ต้องระหกระเหิน หางานทำ และเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ เป็นเวลากว่า 1 ปีเศษๆ

ปี 1917 Enzo ถูกเรียกเกณฑ์ให้เข้าไปเป็นทหาร เขาแจ้งกับกองทัพว่า มีความสามารถด้านงานซ่อมเครื่องจักรกล แต่กลับถูกส่งให้ไปทำงานที่ตนไม่ถนัด ต่อมา ก็ล้มป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์สเปน H1N1 ที่คร่าชีวิตผู้คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปเป็นจำนวนมากถึง 500 ล้านคนในช่วงปี 1918 เขาถูกส่งตัวไปที่ Bologna และถูกปล่อยให้นอนรอความตายร่วมกับผู้ป่วยคนอื่นๆ…แต่..Enzo ก็รอดชีวิตมาได้! และถูกปลดประจำการ ในปี 1918 ด้วยวัย 20 ปี เขากลายเป็นบุคคลที่หมดสิ้นความหวัง ครอบครัวแหลกสลาย เต็มไปด้วยบาดแผลทางกายและทางใจ แถมยังสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างสมบูรณ์แบบ!

ในปีต่อมา สงครามสิ้นสุดลง แต่เศรษฐกิจของ อิตาลี ก็ยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง มุสโสลินี ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศ Enzo ไม่สนใจเรื่องการเมือง และมองแต่ว่าจะกอบกู้ทุกสิ่งที่เขาต้องเสียไปในช่วงสงครามกลับคืนมา รวมทั้งจะเดินหน้าชีวิตต่อไปได้อย่างไร? หลังจากได้จดหมายรับรองตัว โดยทางการ Enzo ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองตูริน (Turin หรือ Torino) เพื่อสมัครเข้าทำงานกับบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่สุดของอิตาลีอย่าง FIAT แม้จะยื่นหนังสือรับรองประวัติอย่างภาคภูมิใจ แต่วิศวกรที่พูดคุยกับเขา กลับเมินเฉย Enzo ไม่ได้งานอย่างที่ตั้งใจ เขาไม่ใช่คนที่ยอมรับความล้มเหลวง่ายๆ การถูกปฏิเสธจาก FIAT ค่อยๆทำให้เขารู้สึกโกรธแค้นขึ้นมาก แต่ Enzo ก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาง่ายๆ และการได้แวะเวียนมายัง ภัตตาคารเล็กๆแห่งหนึ่งในใจกลางเมือง Turin ทำให้เขาได้รู้จักกับผู้คนในแวดวงรถยนต์และรถแข่งมากมาย หนึ่งในนั้นคือ นักทดสอบและวิศวกรอาวุโส ประจำโรงงาน Sotta Fraschini ที่ชื่อ Colugo Sivocci

Sivocci ได้แนะนำให้ Enzo เดินทางไปยัง Milan เพื่อเข้าทำงานที่ C.M.N. (Costruzioni Meccaniche Nazionali) บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งนำเอาตัวถังรถบรรทุกเก่า มาทำเป็นรถยนต์เล็กๆ ราคาประหยัด ในตำแหน่ง นักทดสอบรถยนต์ (Test driver) ต่อมา เขาถูกโปรโมทให้เป็น นักแข่งรถ และเข้าร่วมการแข่งขัน 1919 Parma-Poggio di Berceto hillclimb race โดยพารถยนต์ C.M.N. 15/20 เครื่องยนต์ 4 สูบ 2.3 ลิตร เข้าเส้นชัยลำดับที่ 4 ในกลุ่ม พิกัดไม่เกิน 3.0 ลิตร จากนั้น 23 พฤศจิกายน 1919 เขาลงแข่งขันในรายการ Targa Florio แต่ต้องออกจากการแข่งขันไปเนื่องจากถังน้ำมันรั่ว

ปี 1920 ความโดดเด่นของเขา ฉายแวว ผู้จัดการทีม Alfa Romeo ผู้ผลิตรถยนต์และรถแข่งในเมือง Milan (ต่อมาถูกซื้อกิจการโดย FIAT) เรียก Enzo Ferrari เข้ามาทำงานในฐานะ นักแข่งในสังกัดของทีม และนักพัฒนารถยนต์ ในตอนนั้น เขาตัดสินใจขายบ้านที่เมือง Modena (ปัจจุบันคือ Museo Casa Enzo Ferrari นั่นเอง) เพื่อนำเงินมาซื้อรถแข่ง Alfa Romeo (มือสอง) คันแรก ในชีวิต เพื่อเอามาใช้ทำรถแข่ง เพื่อลงสู้ศึกในรายการต่างๆ กับนักแข่งชื่อดังในยุคนั้น ทั้ง Giuseppe Campari ผู้เป็นทั้งนักแข่งรถและนักร้อง Opera และ Antonio Ascari

ช่วงแรก Enzo คว้าอันดับ 2 จากรายการ Targa Fiorano จากนั้น ปี 1924 Enzo คว้าแชมป์อันดับ 1 ในการแข่งขัน Coppa Acerbo ที่เมือง Pescara ความสำเร็จครั้งนี้ ยิ่งทำให้ทีม Alfa Romeo เปิดทางให้เขาได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการสำคัญๆมากยิ่งขึ้นไปอีก ปี 1927 เขานำทีม Alfa Romeo เข้าร่วมแข่งขันรายการ Mille Miglia (1,000 Miles) ครั้งแรก จากเมือง Brescia ไปถึงกรุง Rome แล้วย้อนกลับมายังจุดสตาร์ต

ช่วงนั้น Enzo ต้องการเงินสดหมุนเวียน เขาจึงเสนอกับ Alfa Romeo ว่า ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของค่ายงูกินเด็ก ให้กับลูกค้าทั่วไป และช่วงนี้เอง เขาพบรักกับภรรยาคนแรก Laura Dominica Garello (1900–1978) และแต่งงานกันเมื่อ 28 เมษายน 1923 (คงสถานะแต่งงานไว้จนต่างฝ่ายต่างเสียชีวิต) เธอกับแม่ของ Enzo ไม่ถูกกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นเปิดศึกกันในบ้าน Enzo จึงออกจากบ้านมา มุ่งเน้นทำงานที่ตนรักเท่านั้น

ระหว่างนั้น Alfa Romeo มีแผนจะเผยโฉมรถแข่ง P1 ในงาน European Grand Prix ที่สนาม Monza ดังนั้น Enzo จึงโน้มน้าววิศวกร FIAT อย่าง Luigi Bazzi ลาออกมาอยู่ทีม Alfa Romeo กับตน แต่ Enzo,Bazzi และ Sivocci เพื่อนเขา มาถึง Monza แค่วันเดียวก่อนงานเริ่ม Sivocci ลองขับ P1 แล้วก็แหกโค้ง ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต Enzo สูญเสียเพื่อนรัก และคนที่ชักนำตนเขาวงการรถแข่งอย่างไม่มีวันกลับ เขารู้ทันทีว่า รถ P1 มีปัญหา จึงชวน Vittorio Jano วิศวกร FIAT อีกคนหนึ่ง ออกมาช่วยกันกับเขาและ Bazzi ใช้เวลา 1 เดือน ปรับปรุงรถ P1 จนเสร็จสิ้นเป็น Alfa Romeo P2 เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ Cremona งานนี้ Antonio Ascari นักขับของทีม ทำสถิติความเร็วสูงสุด 121 ไมล์/ชั่วโมง (เร็วมากในยุคนั้น) และคว้าแชมป์รายการนี้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของ นักแข่งรถชื่อดังในยุคนั้นอย่าง Antonio Ascari เมื่อ 26 กรกฎาคม 1925 ระหว่างการขึ้นอันดับ 1 ด้วยรถ Alfa Romeo P2 ในการแข่งขันรายการ French Grand Prix ทำให้เขาเริ่มคิดว่า ควรจะเลิกเป็นนักแข่งรถ แล้วหันมาเป็นวิศวกรในการพัฒนารถแข่งของทีม Alfa Romeo เป็นหลัก

ต่อมา Ferrari ได้รู้จักกับนักลงทุนคนหนึ่ง ทำให้เขาขอเจรจา Take-over ทีมแข่ง Alfa Romeo มาทั้งหมด โดยใช้แนวคิดว่า Enzo มีนักแข่ง แค่ให้ Alfa ส่งรถและรายละเอียดพื้นฐานทางเทคนิคมาทั้งหมด แล้วเขาจะทำให้เกิดชัยชนะเองและนั่นคือจุดเริ่มต้นของทีมแข่ง Ferrari

1 ธันวาคม 1929 Enzo Ferrari ตัดสินใจก่อตั้งทีม Scuderia Ferrari ของตนขึ้นมาที่เมือง Modena เพื่อทำหน้าที่เป็นทีมแข่งของ Alfa Romeo โดยมี Giuseppe Campari กับนักแข่งอย่าง Tazio Nuvolari ร่วมทีม และนำเอา รถ Alfa Romeo มาดัดแปลงใหม่ตามแนวทางของตนเองให้เป็น “Ferrari Specification” โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม พวกเขาร่วมมือกันจนถึงปี 1933 Alfa Romeo ถอนการสนับสนุนออกไป แต่อู่ Scuderia Ferrari ยังคงทำรถแข่ง Alfa Romeo P3 Monopostos ออกมา และได้นักแข่งอย่าง Tazio Nuvolari กับ Achille Varzi

19 มกราคม 1932 Laura ภรรยาคนแรก ให้กำเนิด Dino Ferrari บุตรชายคนแรก แต่น่าเสียดายว่า เขาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (muscular dystrophy) ซึ่งค่อยๆทำลายประสาทส่วนกลาง Enzo ไม่ยอมแพ้ พยายามทุ่มเทการรักษาอย่างเต็มที่

ปี 1935 อู่ Scuderia Ferrari สร้างรถแข่งของตนเองขึ้นมาเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อ Alfa Romeo Bimotore ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ปูทางไปสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ตามด้วยรถแข่ง Alfetta 158 ในปี 1937

ปี 1938 Alfa Romeo ตัดสินใจซื้อทีมรถแข่ง จาก Enzo Ferrari กลับมาอยู่ในมืออีกครั้ง และว่าจ้างให้ Enzo รับตำแหน่งผู้จัดการทีมโรงงานภายใต้ชื่อใหม่ Alfa Corse อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้คือ ห้ามไม่ให้ Enzo ใช้ชื่อ Ferrari ในการแข่งขันรถยนต์นาน 4 ปี ซึ่งทำให้ Enzo ทนได้ไม่นานนัก ยิ่งเมื่อผนวกกับความขัดแย้งกับ Ugo Gobbato ผู้บริหารสูงสุดของทีมในตอนนั้น Enzo ตัดสินใจลาออกจาก Alfa Romeo เมื่อ 6 กันยายน 1939

ไม่กี่วันหลังจากการลาออก เขาตั้งบริษัท Auto Avio Costruzioni ขึ้นที่สำนักงานเก่าของ Scuderia Ferrari ที่เมือง Modena และสร้างรถแข่ง Auto Avio Costruzioni Type 815 (ใช้ชื่อนี้ เพราะ Alfa Romeo ไม่ยอมให้ใช้ชื่อของตนลงบนรถคันนี้ แม้จะสร้างขึ้นบนพืนฐานของ Fiat 508C ก็ตาม)

ปี 1940 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) แพร่ขยายไปทั่ว Europe ทำให้การแข่งรถยนต์ ต้องถูกพักไปชั่วคราว แน่นอนว่า อู่ Scuderia Ferrari เองก็ไม่มีรายได้ ทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ คือการผันตัวไปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาล Fascist ของ Mussoloni และเพื่อที่จะให้โรงงานของ Ferrari รอดพ้นจากการเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาล Italy จึงให้ Ferrari ย้ายไปอยู่ในเมืองใกล้กัน คือ Maranello ในปี 1943

ระหว่างนั้น Enzo ในวัย 46 ปี พบรักกลับ Lina Lardy เลขานุการบริษัทแห่งหนึ่ง และได้ให้กำเนิด Piero Ferrri บุตรชายคนที่ 2 คนละมารดา เมื่อ 22 พฤษภาคม 1945 ทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างสงบที่เมือง Castle Vetro ใกล้เมือง Maranello (ขณะที่ Enzo กับภรรยาคนแรก ฉลองวันเกิด Dino ครบ 13 ปี) Enzo ใช้ชีวิตแบบ “2 ครอบครัว” อย่างนี้ เรื่อยมา ซึ่งช่วยเยียวยาจิตใจของเขาได้ดีในภาวะที่เขาตึงเครียดจากปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะ…จาก Laura ภรรยาคนแรก

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ด้วยข้อกำหนดจากสนธิสัญญา Marshall Plan ทำให้เศรษฐกิจของ Italy มีเงินอัดฉีดเข้ามาในระบบ ผู้คนเริ่มมองหารถยนต์ และ Ferrari ก็ตัดสินใจ เดินหน้า สร้างรถแข่งคันแรกที่แปะตรานามสกุลของตนเอง จนสำเร็จ ในชื่อ Ferrari Tipo 125 S วางเครื่องยนต์ V12 สูบ 1.5 ลิตร Enzo ขับออกไปทดสอบบนถนนสาธารณเป็นครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 1947 ก่อนที่จะ เผยโฉมสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1947 ในงานแข่งรถที่ Pia Censa แม้เป็นสนามที่เล็ก แต่ก็เต็มไปด้วยนักข่าว ไปจนถึงสมาชิกของทีม Alfa Romeo บางคนด้วย

แต่การเปิดตัวครั้งแรก ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก เพราะหลังจากนักแข่งของทีม อย่าง Franco Cortese และ Nino Farina พารถแล่นออกนำเป็นจ่าฝูงมาตลอด และเหลืออีกเพียง 3 รอบสุดท้าย ปั้มน้ำมันเชื้อเพลิง ก็พังเสียก่อน รถค่อยๆแล่นมาจอดไม่ใกล้ไม่ไกลจากเส้นชัยมากนัก Enzo เซ็งมาก และเรียกมันว่า “คำสัญญาที่ล้มเหลว”

กระนั้น Tipo 125 S คือจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าดึงตัว นักขับมือดี และวิศวกรมือฉมังมาร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเดียว นั่นคือ สร้างรถยนต์ ที่เร็วที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยรู้จัก จากนั้น พวกเขาก็เริ่มกลับมาสร้างผลงานอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์รายการ Mille Miglia 1000 Miles Endurance ในปี 1948 คว้าแชมป์รายการ Le Mans 24 Hours Endurance ในปี 1949

ในปี 1950 Ferrari ส่งรถแข่งเข้าร่วมในรายการ Monaco Grand Prix ซึ่งเป็นรายการ World Championship ครั้งแรกในโลก อีก 1 ปีต่อมา José Froilán González คว้าแชมป์รายการ British Grand Prix ที่สนาม Silverstone ในอังกฤษ ได้ในปี 1951 ซึ่งถือเป็นแชมป์ Formula 1 รายการแรกของ Ferrari จากนั้น Alberto Ascari ก็คว้าแชมป์โลกให้ Ferrari ได้อีกครั้งในปี 1952 และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการสร้างชื่อเสียงโด่งดังจนกลายเป็นเจ้าสนามแข่งของค่ายม้าป่าลำพอง

ควบคู่มากับชัยชนะที่ท่วมท้น ก็คือเรื่องราวของการสูญเสีย ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ในวันที่ 26 พฤษภาคม 1955 นักแข่งรถชื่อดังแห่งยุค Alberto Ascari ไปดูเพื่อนของเขา Eugenio Castelotti ทดลองขับ รถแข่ง Ferrari 750 ที่สนาม Autodromo Nazionale Monza เขาเกิดอยากลองขับรถคันนี้ สัก 2-3 รอบสนาม จึงตัดสินใจขอลองขับดู ปรากฎว่า เมื่อถึงทางโค้ง Curva del Vialone ซึ่งเป็นทางโค้งที่ท้าทายให้นักขับเข้าโค้ง้วยความเร็วสูง รถเกิดอาการลื่น และเสียหลัก หมุนตีลังกา ตกลงมากระแทกกับพื้นสนาม Ascari เสียชีวิตทันที

(เรื่องน่าแปลกก็คือ พ่อของเขา Antonio Ascari ก็เสียชีวิตในวัย 36 ปี (เมื่อ 26 กรกฎาคม 1925) เช่นเดียวกับ Alberto ทั้งคู่จากไป 4 วัน หลังจากรอดชีวิตในอุบัติเหตุก่อนหน้านั้น รถที่ทั้งคู่ขับ ต่างก็เกิดอุบัติเหตุในช่วงออกจากโค้งซ้ายเหมือนกัน แถมทั้งคู่ก็ยังจากไปทั้งที่มีภรรยากับลูกสองคนเหมือนกัน นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังชนะการแข่งขัน Grand Prix รวม 13 ครั้งพอดีเช่นเดียวกัน)

30 มิถุนายน 1956 หลังจากต่อสู้กับโรคร้ายมานาน ในที่สุด Dino Ferrari บุตรชายคนแรก ก็จากโลกนี้ไป เมื่อ ด้วยวัย 24 ปี Enzo เศร้าโศกมาก และมักเดินทางไปดูหลุมฝังศพ Dino ก่อนไปทำงานทุกเช้า นับแต่นั้นเป็นต้นมา ว่ากันว่า Laura ภรรยาคนแรก เพิ่งมารู้เรื่อง “บ้านเล็ก” ของ Enzo ก็ในช่วงเวลานี้แหละ แน่นอนว่า มันเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับเธอมาก และนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้

ปี 1957 บริษัทถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Auto Costruzioni Ferrari และพวกเขาก็ส่ง Ferrari 335 S เครื่องยนต์ 4.1 ลิตร รวม 5 คัน เข้าร่วมการแข่งขัน Mille Miglia 1,000 Miles ที่โด่งดังแสนอันตราย ท่ามกลางคู่แข่งอีก 293 คัน เมื่อ 12 พฤษภาคม 1957 โดยหนึ่งในนั้น เป็นนักแข่งรถ ชื่อ Alfonso de Portago ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็น “two-car man” เพราะมักขับโหดจนชิ้นส่วนอะไหล่พังสึกหรอไวมาก และถึงขั้นต้องเปลี่ยนเป็นรถอึกคันหนึ่งเพื่อให้แข่งขันจนจบ เขาถูกเปลี่ยนตัวให้มาขับแทน ในนาทีสุดท้ายก่อนออกสตาร์ต

อันที่จริง de Portego บอกกับเพื่อนเขามาตลอดว่า เขาไม่อยากลงแข่งในรายการนี้เลย เพราะมันอันตรายเกินไปสำหรับนักแข่งที่จะคาดการณ์สภาพถนนในทุกโค้งข้างหน้า แต่แล้ว ในเวลา 5.31 น. เขาก็ถูกเรียกตัวให้เข้าลงแข่งในรายการนี้จนได้ และหายนะก็บังเกิดขึ้น

ขณะอยู่ในตำแหน่งที่ 3 ด้วยความเร็วถึง 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยางรถของ de Portego เกิดระเบิดขึ้น ทำให้รถแข่งที่เขาขับแหกโค้ง หมุนตีลังการอบแล้วรอบเล่า พุ่งเข้าไปชนกลุ่มผู้ชมข้างทาง และฟาดเข้ากับต้นไม้ de Portego และ co-driver ที่ชื่อ Edmund Nelson รวมทั้งผู้ชมข้างสนามอีก 9 คน เสียชีวิตทันที ในที่เกิดเหตุ โดยร่างของ de Portego นั้น ถึงกับขาดสองท่อน! และในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ มีเด็กรวมอยู่ด้วยถึง 2 คน จากหลักกิโลเมตรทำจากคอนกรีต ที่รถของ de Portego ฟาดเหวี่ยงไปงัดลอยขึ้นมา

อุบัติเหตุครั้งนี้ ไม่เพียงแต่คร่าชีวิตนักแข่ง และผู้เข้าชมการแข่งขันเท่านั้น หากแต่ยังทำให้การแข่งขันรายการ Mille Miglia ต้องถูกยกเลิกไปในที่สุด รวมทั้งยังทำให้ Enzo และ บริษัทยาง Englebert ถูกจับในข้อหา ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา เขาต้องเสียเงินเสียทองมากมาย และต่อสู้ในชั้นศาลถึง 4 ปี ก่อนจะได้รับการพิพากษายกฟ้อง เมื่อปี 1961

ถ้าคิดว่านั่นคือเรื่องหนักหนาสาหัสแล้ว ยังไม่จบครับ ในรอบที่ 2 ของการแข่งขัน Italian Grand Prix เมื่อ 10 กันยายน 1961 Ferrari ที่ขับโดย นักแข่งรถชาวเยอรมัน Wolfgang von Trips เสียการควบคุม และพุ่งเข้าชนผู้ชมข้างสนาม มีผู้เสียชีวิตทันที 15 คน รวมทั้งตัวเขาเองด้วย! สื่อมวลชน Italy ประโคมข่าวทำนองว่า “อีกแล้ว Ferrari ฆ่าคนตายอีกแล้ว” Enzo เองก็ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาในชั้นศาลต่อเนื่อง และทำให้ทุนทรัพย์ในการพัฒนารถแข่งของเขา ต้องถูกบั่นทอนลงจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีความ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 1961 นั่นเอง มีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็น “The Great Walkout” เรื่องของเรื่องก็คือ Laura ภรรยาคนแรกของ Ferrari เข้ามาก้าวก่ายเจ้ากี้เจ้าการ ในบริษัทมากเกินไป ทำให้พนักงานต่างรำคาญมาก เรื่องราวมาถึงจุดแตกหักในเดือนพฤศจิกายน 1961 เมื่อผู้จัดการฝ่ายขายที่อยู่ด้วยกันกับ Enzo มานานอย่าง Girolamo Gardini กับผู้จัดการทั่วไป Romolo Tavoni รวมทั้งหัวหน้าวิศวกร หรือ chief engineer ชื่อ Carlo Chiti และ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนารถสปอร์ตต้นแบบ Giotto Bizzarrini ทนไม่ไหว เรียกร้องให้ Enzo บอกภรรยาของเขา ให้เลิกก้าวก่ายกันเสียที พวกเขาไปหาทนายความ และทำจดหมายยื่นให้กับ Enzo แน่นอนว่า ความเจ้าอารมณ์ของ Enzo ทำให้เขาเดือดจัด เรียกทั้ง 4 คน และผู้สนับสนุน เข้าห้องประชุม ประกาศไล่ตะเพิดทุกคนที่เกี่ยวข้อง ออกไปให้พ้น ท่ามกลางการเฝ้าดูของพนักงานคนอื่นๆที่ต่างเกรงกลัวในอำนาจและความบ้าดีเดือดของ Enzo

ผู้ถูกไล่ออกทั้ง 4 คน ต่างรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ Automobili Turismo e Sport (ATS) เพื่อจะเป็นคู่แข่งทางตรงของ Ferrari ทั้งบนถนน และบนสนามแข่ง อีกทั้งยังจีบพันธมิตรอย่าง Scuderia Serenissima หนึ่งในลูกค้าชั้นดีของ Ferrari ตามมาร่วมงานกันด้วย แต่พวกเขาไปด้วยกันได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ATS มีอายุได้เพียง 2 ปี ก็ต้องยุติบทบาทไปในปี 1965

ทั้ง 4 คนถูกไล่ออกในช่วงที่ Ferrari กำลังพัฒนารถสปอร์ตตัวแข่งรุ่นใหม่ 250 GTO อยู่ ปัญหาก็คือ ไม่มีใครทำงานแทน Enzo จึงเรียกให้วิศวกรหนุ่ม Mauro Forghieri กับ ผู้พัฒนาตัวถังรถแข่งมาเป็นเวลานาน คู่บารมี Enzo อย่าง Sergio Scaglietti เข้ามารับช่วงงานพัฒนาต่อ Forghieri สามารถปรับปรุงสมรรถนะการเกาะถนน ขณะที่ Scaglietti ออกแบบตัวถังรถขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เมื่อเสร็จสิ้นเป็นรถแข่งคันจริง GTO ถูกส่งให้กับ นักขับชาวอเมริกันชื่อ Phill Hill ไปคว้าชัยชนะที่ 1 ของ Class ในการแข่งที่ Sebring ต่อเนื่องจนถึงปี 1962 แซงหน้า คู่แข่งอย่าง Jaguar E-Type ไปอย่างไม่เห็นฝุ่น และทำให้ 250 GTO กลายเป็นรถสปอร์ตที่โด่งดังมากสุดในประวัติศาสตร์

เดือนมกราคม 1963 Ferrari เผชิญการท้าทายครั้งใหม่ เมื่อ Ford Motor Company ภายใต้การนำของ Henry Ford ที่ 2 และ Lee Iacocca (อดีตผู้บริหารระดับลูกรักของ Henry ที่ 2 ซึ่งถูกเฉดหัวออก ในปี 1978 แล้วมาสร้างตำนานใหม่ในฐานะผู้นำ Chrysler จนปลดแอกจากก้อนหนี้ในยุค 1980 ได้สำเร็จ) มีแนวคิดสนใจจะเข้าซื้อกิจการของ Ferrari เพราะอยากเข้าสู่วงการ MotorSport ในระดับสากล วิธีง่ายสุดคือ ซื้อทีมดังที่เด่นและมี Know-how อยู่แล้ว ตอนนั้น Enzo เองก็อยากหาพันธมิตรด้านการเงินมาสนับสนุนการแข่งรถของตนเอง Enzo ให้เกียรติ Henry ที่ 2 และ บริษัท Ford อยู่ไม่น้อยในตอนนั้น

ปัญหาก็คือ เมื่อมาถึงขั้นตอนเจรจากันในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พอเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่าย Ferrari ไม่มีปัญหาอะไร แถมยังมองเห็นโอกาสในการเข้าแข่งขัน Indianapolis 500 ทางฝั่งอเมริกาเหนืออีกด้วย แต่พอเป็น ส่วนที่เกี่ยวช้องกับธุรกิจการแข่งรถยนต์ Enzo เป็นห่วงและกังวลกับสารพัดคำถามมากมาย  รวมทั้งปัญหาความแตกต่างของเวลาทำงาน ระหว่าง Italy กับ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งปัญหาอื่นๆอีกพอสมควร รวมทั้งตัวเลขที่ทาง Ferrari ยื่นข้อเสนอคือ 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ Ford เสนอซื้อแค่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ท้ายสุดหลังจาก 10 วันในการเจรจา Enzo ตัดสินใจให้ทนายของตน โทรบอกกับ Donald Frey ผู้จัดการทั่วไปแผนก Ford Division ของ Ford Motor Company ที่ลงทุนบินไปกินอยู่หลับนอนใน Maranello ว่าจะไม่ขอเจรจาอะไรกับ Ford อีก

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Ford เลือกเดินเกมสู้ด้วยการพัฒนารถแข่ง Ford GT-40 เพื่อเข้าร่วมห้ำหั่นกับ Ferrari ในสังเวียนการแข่งรถทั่วยุโรป และในระดับสากล เปิดตัวในปี 1964 แม้จะเริ่มคว้าชัยชนะได้ครั้งแรกในปี 1965 แต่ในเดือนมิถุนายน 1966 Ford ทำให้ Ferrari ถึงกับช็อคด้วยการนำ GT-40 Mk.II เครื่องยนต์ 7.0 ลิตร คว้าแชมป์ในการแข่งขันที่ Daytona, Sebring และ กวาดรางวัลที่ 1-2-3 ในการแข่ง Le Mans 24 ชั่วโมง แต่ Ferrari ก็ทวงบรรลังก์คืน ด้วยการ ส่ง Ferrari 330 P4 เข้าร่วมการแข่งขันที่ Daytona ในเดือนกุมภาพันธ์ 1967 ขณะที่ ทีมของ Ford มีปัญหากับชุดเกียร์ในรถแข่งของตน Ferrari ก็คว้าแชมป์ที่ 1-2-3 แล้วก็จอดรถเรียงพร้อมกัน 3 คัน เช่นเดียวกับที่ Ford เพิ่งทำไปเมื่อเดือนมิถุนายน 1966 และหลังจากนั้น การสู้รบกันของทั้ง Ferrari กับ Ford ในสนามแข่ง ก็เกิดขึ้นอย่างดุเดือด ตลอดทศวรรษ 1960 จนกลายเป็นตำนานอันโด่งดัง แม้กระทั่งทุกวันนี้ พวกเขาก็ยังเชือดเฉือนกันในสนามแข่งฝั่งยุโรปอยู่บ้าง ในรายการแข่งรถประเภท Grand Touring หลายๆรายการ

อย่างไรก็ตาม ปี 1967 สมาพันธ์กีฬาแข่งรถนานาชาติ หรือ FIA ออกกฎห้ามไม่ให้รถแข่งต้นแบบ ที่มีเครื่องยนต์เกิน 3,000 ซีซี.ลงแข่งอีก การประกาศนี้ มีผลในปี 1968 และทำให้ Ferrari 330Ps ได้รับผลกระทบจนไม่อาจเข้าร่วมการแข่งขันได้อีก

แม้ว่า การเจรจากับ Ford จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ด้วยปัญหาทางการเงิน ในปี 1967 ต่อให้ Luigi Chinetti นักแข่งรถที่สร้างชื่อให้กับ Ferrari ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในการสร้างรถสปอร์ตที่แล่นได้บนถนนทั่วไป ส่งไปขายในอเมริกาเหนือ แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก

ในปีนั้นเอง Pier Ugo Gobbato  บุตรชายประธานใหญ่ Alfa Romeo ในอดีต เข้ามาเป็นผู้จัดการทั่วไป ใน Ferrari เขามีสายสัมพันธ์อันดี มากพอที่จะช่วยให้ Enzo ได้เจรจากับ กลุ่ม FIAT ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของ Italy ทำให้ Enzo ตัดสินใจ ขายหุ้นของตน 50% ให้กับ FIAT เมื่อ 21 มิถุนายน 1969 การซื้อขายครั้งนั้น FIAT ให้สิทธิ์ Enzo ในการควบคุมทีมแข่งรถได้เหมือนเดิมทุกประการ แต่ FIAT จะเข้ามามีบทบาทในการดูแลการผลิตรถยนต์ GT เพื่อออกขายมากขึ้น นั่นทำให้ Ferrari บรรลุเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ 1,000 คัน/ปี เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี 1971 ขณะเดียวกัน ช่วงปี 1975 – 1983 Ferrari คว้ารางวัลผู้ผลิตแห่งปีถึง 5 สมัยรวด

ระหว่างนั้น Ferrari เริ่มทำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกขายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Ferrari Modial รถสปอร์ตรุ่นเล็กที่มาแทน Dino  เปิดตัวใน ปี 1980 ทำตลาดถึงปี 1993 มียอดผลิตรวม 6,149 คัน กลายเป็นหนึ่งใน Ferrari ที่ทำยอดขายได้ดี รวมทั้ง Ferrari Testarossa เปิดตัวในงาน Paris Auto Salon ปี 1984

ปี 1986 Enzo Ferrari ว่าจ้าง วิศวกรชาวอังกฤษ John Barnard ออกแบบอุโมงค์ลม สำหรับใช้ทดสอบรถต้นแบบขนาด 1:3 ต่อมา 21 กรกฎาคม 1987 Ferrari เผยโฉม รถสปอร์ต ที่สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 40 ปีของบริษัท ใช้ชื่อว่า Ferrari F40

18 กุมภาพันธ์ 1988 Enzo ฉลองอายุครบ 90 ปี มีการจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เขาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1988 รัฐบาล Italy ให้เกียรติเขาด้วยการประกาศให้ วันที่ 14 สิงหาคม เป็นวันหยุดประจำชาติของชาว Italian

หลังการถึงแก่อนิจกรรมของ Enzo มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทใหม่ทั้งหมด Piero Fusaro ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานใหญ่ Chairman ส่วน Piero Lardi Ferrari บุตรชายคนที่ 2 ของ Enzo ดำรงตำแหน่งรองประธาน Vice President และในปีเดียวกันนี้เอง Ferrari สามารถทำยอดผลิตรถสปอร์ตสำหรับขายจริงได้ถึง 4,000 คัน/ปี เป็นผลสำเร็จ

หลังจากที่ Enzo Ferrari ได้เสียชีวิตลง โรงงานในเมือง Maranello ก็ยังคงสร้างสุดยอดรถสปอร์ตระดับ Super Car ออกมาให้โลกชื่นชมอีกเป็นจำนวนมาก พี่แพน (Pan Paitoonpong) ได้คัดเลือกและรวบรวม Ferrari รุ่นสำคัญๆ ที่ยังอยู่ในใจผู้คนทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นไปที่ รุ่นซึ่งถูกขายออกไปในจำนวนมาก และสามารถพบเห็นได้เรื่อยๆ บนถนนในประเทศไทย เป็นหลัก เพื่อให้ผู้ที่เริ่มศึกษา สามารถแยกแยะจำแนกแต่ละรุ่นได้ง่ายขึ้น

Ferrari 348
1989-1994
จำนวนผลิต : 8,884 คัน
เครื่องยนต์: Tipo F119

348 เป็น Ferrari เครื่องยนต์วางกลางลำตัว แบบ V8 รุ่นสุดท้ายที่ Enzo Ferrari เซ็นอนุมัติโครงการ ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำตลาดแทน รุ่น 308 กับ Mondial ซึ่งก็สืบทอดตระกูลรุ่นเล็กสุด มาจาก Dino อีกที เปิดตัวครั้งแรกในงาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 1989 และกลายเป็นดาวเด่นที่สุดในงานครั้งนั้นทันที

ตัวถังออกแบบโดย Leonardo Fioravanti ซึ่งสังกัดอยู่กับ Pininfarina ในสมัยนั้น 348 ได้รับอิทธิพลของดีไซน์มาจาก Testarossa เช่นจมูกแหลม ไฟหน้า Pop-up และช่องดักอากาศด้านข้างที่เป็นซี่ถี่ มันถูกเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Frankfurt Motorshow ปี 1989 โดยมีให้เลือก 2 รุ่นคือ 348 TB (Transversale Berlinetta – หลังคาแข็ง) และ 348 TS (Transversale Spider – หลังคาช่วงกลางเป็นสีดำ ถอดออกได้)

ตัวถังยาว 4,230 มิลลิเมตร กว้าง 1,894 มิลลิเมตร สูง 1,170 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร ทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์ V8 สูบ DOHC 32 วาล์ว 3,405 ซีซี (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น) ให้กำลัง 300 แรงม้า (PS) ที่ 7,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 33.01 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที ตัวเครื่องถูกวางตามยาว แต่เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ จะวางตามแนวขวางเหมือนรุ่น Mondial T มาพร้อมดิสก์เบรก 4 ล้อ และเริ่มติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Brake System) ให้เป็นครั้งแรกในกลุ่ม Ferrari รุ่นพื้นฐาน ก่อนที่จะติดตั้งให้กับทุกรุ่นเป็นอุปกรณ์มาตรฐานนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี 1993 มีการปรับปรุงสเป็คเพิ่มเติม โดยปรับเปลี่ยนกระจังหน้าและปรับจูนระบบควบคุมเครื่องยนต์ Bosch Motronic 2.7 และเปลี่ยนท่อไอเสียใหม่ ทำให้แรงขึ้นเป็น 320 แรงม้า (PS) ที่ 7,200 รอบ/นาที แต่แรงบิดเท่าเดิมเป๊ะ ฝาครอบเครื่องยนต์และสเกิร์ตชายล่างซึ่งแต่เดิมจะเป็นสีดำ ก็เปลี่ยนเป็นสีเดียวกับตัวรถ พร้อมกันนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น 348 GTB และ 348 GTS ทว่ามีการผลิตออกมาน้อยมาก (GTB 252 คัน และ GTS 137 คัน)

ส่วนรุ่น 348 Spider เปิดประทุน เป็นรถที่ Ferrari สร้างมาจับลูกค้าผู้นิยมอาบแดดแทนรุ่นเก่าอย่าง Mondial ตัวถังรถและเสา A-pillar รวมถึงคานที่เชื่อมติดกับบอดี้ถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อรองรับเรื่องความปลอดภัย ใช้ขุมพลังเดียวกับ GTB และ GTS นั้นขายได้ 1,090 คันโดยลูกค้าส่วนมากอยู่ในอเมริกา

นอกจากนี้ก็ยังมีรุ่นพิเศษอย่าง 348 Competizione ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นพร้อมแข่ง ใช้พื้นฐานจาก 348GTB เครื่องยนต์เดียวกัน 320 แรงม้า (PS) แต่ถอดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกจนทำให้น้ำหนักไม่รวมของเหลวเหลือเพียง 1,180 กิโลกรัม ยกเบรกจาก Ferrari F40 Evoluzione มาใส่ ขยายล้อเป็นขนาด 18 นิ้ว ผลิตออกมาเพียง 50 คัน และเป็นรถพวงมาลัยขวาเพียง 8 คันเท่านัน

Ferrari 512TR
1992-1994
จำนวนผลิต : 2,280 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F113D

บอดี้หลักของรถ นำมาจาก Testarossa ปี 1984 เนื่องจากในช่วงนั้น Ferrari ยังไม่มีรถรุ่นใหม่มาขายกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถ 12 สูบเครื่องวางกลางลำ ชื่อรุ่น 512TR ก็มาจาก 5 ลิตร 12 สูบ และ TR ก็คือ Testa กับ Rossa นั่นเอง (แต่อันที่จริงความจุเครื่องยนต์ต้องปัดตามทศนิยมเป็น 4.9 ลิตร) ภายนอกมีลักษณะเกือบเหมือน Testarossa แต่ Pininfarina ออกแบบส่วนหน้าของรถให้คล้ายกับ 348 ย้ายกระจกมองข้างจากกึ่งกลางเสา A-pillar มาติดที่โคนเสาเหมือนรถทั่วไป นอกจากนั้นกระจกหูช้างสามเหลี่ยมเล็กที่ประตูหน้าก็ถูกเอาออกไป และมีการเปลี่ยนล้อไปใช้ขนาด 18 นิ้ว

ตัวถังยาว 4,480 มิลลิเมตร กว้าง 1,976 มิลลิเมตร สูง 1,135 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร เครื่องยนต์ที่ใช้ก็ยังเป็นรหัส F113 เบนซิน 12 สูบ แนวนอน Boxer DOHC 48 วาล์ว 4,943 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 78 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 อ่างน้ำมันเครื่องแบบ Dry Sump แต่ระบบจ่ายเชื้อเพลิงถูกเปลี่ยนจาก Bosch K-Jetronic แบบกลไก เป็น Motronic 2.7 ขยายขนาดวาล์ว ปรับปรุงฝาสูบพร้อมระบบไอเสียใหม่ ทำให้แรงขึ้นจาก 390 เป็น 428 แรงม้า (HP) หรือ 434 แรงม้า (PS) ที่ 6,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 491 นิวตันเมตร (50.03 กก.-ม.) ที่ 5,500 รอบ/นาที

นอกจากนี้ทางวิศวกรยังนำความเห็นของลูกค้า Testaross มาใช้ในการปรับปรุงรถให้ขับสนุกขึ้น คันเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ แบบ H-Pattern แสนคลาสสิคยังอยู่ แต่ปรับให้มีน้ำหนักขืนมือน้อยลง มีการปรับพวงมาลัยให้ตอบสนองไวขึ้น ตำแหน่งการติดตั้งเครื่องยนต์กับเกียร์ถูกปรับให้เตี้ยลงเพื่อลดจุดศูนย์ถ่วงลงมา ช่วงล่างแม้จะเป็นรูปแบบเดิมแต่ปรับความแข็งของสปริงและโช้คอัพใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ขับได้สบายขึ้นในเวลาปกติและซัดได้มั่นใจขึ้นที่ความเร็วสูง

Ferrari 456GT/456M GT
1992-2003
จำนวนผลิต : 3,289 คัน
เครื่องยนต์ : F116B / F116C

456GT เป็นรถแบบ Grand Tourer 4 ที่นั่งขนาดใหญ่ มีตำแหน่งการตลาดเป็นรถรุ่นหรูที่สุดของ Ferrari สืบต่อจาก Ferrari 412 ที่เลิกผลิตไปตั้งแต่ปี 1989 รูปลักษณ์ภายนอก ออกแบบโดย Lorenzo Ramaciottia แห่งสำนักออกแบบ Pininfarina เปิดตัวครั้งแรก ในงานเลี้ยงฉลองตัวแทนจำหน่ายที่ Belgium ครบรอบ 40 ปี ในเดือนกันยายน 1992 ก่อนส่งขึ้นแท่นหมุนงาน Paris Auto Salon ในเดือนถัดมา

ตัวถังยาว 4,730 มิลลิเมตร กว้าง 1,920 มิลลิเมตร สูง สูง 1,300 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,690 กิโลกรัม ชื่อรุ่น 456 นั้นมาจากความจุของแต่ละกระบอกสูบ 456 ซี.ซี. เครื่องยนต์ Tipo F116 เบนซิน V12 สูบ ทำมุม 65 องศา DOHC 24 วาล์ว (2 วาล์ว/สูบ) 5,473.91 ซี.ซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 x 75 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและควบคุมการจุดระเบิดด้วย Bosch Motronic 2.7 ให้พลัง 436 แรงม้า (HP) หรือ 442 แรงม้า (PS) ที่ 6,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 550 นิวตันเมตร (56 กก.-ม.) ที่ 4,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

นอกจาก 456 GT จะเป็น Ferrari ที่มีแรงม้ามากที่สุด (ไม่นับพวกรุ่นพิเศษ) ในปี 1992 แล้ว ยังถือเป็นรถยนต์ Production car แบบ 4 ที่นั่งที่เร็วที่สุดในโลกด้วยความเร็ว 302 กิโลเมตร/ชั่วโมง 456GT เป็นรถที่เน้นการขับขี่ที่เร็ว แต่สบายและหรู Ferrari ให้ความสำคัญกับวัสดุและการประกอบภายในของรถรุ่นนี้มากกว่าที่เคยมีมาในอดีต ใช้หนัง Connolly ชั้นดีกับเบาะและแผงประตู

ต่อมาในปี 1996 Ferrari ได้เปิดตัวรุ่น 456GTA ซึ่งใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะของ FF Development นี่เป็นเรื่องไม่ค่อยปกตินักเพราะ Ferrari สมัยนั้นไม่ค่อยมีรถเกียร์อัตโนมัติให้เลือก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ชอบ เพราะรุ่น 456GTA นั้นขายได้เพียง 403 คันในขณะที่รุ่นเกียร์ธรรมดาขายได้ 1,548 คัน

ปี 1998 Ferrari ปรับโฉม Minorchange และเปลี่ยนชื่อเป็น 456M GT และ 456M GTA โดยอักษร M ย่อมาจาก Modificata ซึ่งแม้จะยังใช้เครื่องยนต์เดิม พลังเท่าเดิม แค่เปลี่ยนระบบควบคุมเครื่องยนต์เป็น Motronic 5.2 และปรับจูนให้เดินเบานิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงส่วนหน้าของรถที่ช่องรับลมและไฟเลี้ยวให้ดูโค้งมนขึ้น ถอดลิ้นหน้าแบบเลื่อนได้ (ที่ความเร็ว 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ออก แทนที่ด้วยลิ้นแบบธรรมดา ภายในจะมีเกจ์วัดบนแผงหน้าปัด Dashboard น้อยลง ย้ายชุดควบคุมเครื่องเสียงจากหลังคันเกียร์ไปหน้าคันเกียร์ ส่วนช่วงล่างนั้นมีการเพิ่มระบบปรับระดับชดเชยอัตโนมัติด้วยไฮดรอลิกที่ช่วงล่างหลัง และมีการใช้ช่วงล่างแบบ Active Suspension ที่ปรับความแข็งตามสภาพถนนและการขับขี่

Ferrari F355
1994-1999
จำนวนผลิต : 11,273 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F129

F355 เปิดตัวก่อนด้วยรุ่น Berlinetta (หลังคาแข็ง) และ GTS (Targa) ในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 1994 ด้านการออกแบบนั้น แม้ว่ารูปทรงจะยังมีความคล้าย 348 อยู่มากโดยเฉพาะทรวดทรงแบบหน้าลิ่มและกระจกบานหลังกับเสา C-pillar แบบ Flying Buttress (ออกแบบให้ดูยกแยกออกมาจากตัวกระจก) แต่ Ferrari ใช้เวลาในอุโมงค์ลมมากกว่า 1,300 ชั่วโมงเพื่อปรับปรุงอากาศพลศาสตร์ของตัวรถให้ดียิ่งขึ้น สังเกตได้จากส่วนหน้าของรถที่มนขึ้น ช่องดักอากาศด้านข้างรถที่เคยเป็นซี่เล็กก็กลายเป็นช่องโต เก็บรายละเอียดรอบคัน รวมถึงมีแผ่นปิดเรียบใต้ท้องรถเพื่อให้อากาศไหลออกอย่างมีระเบียบ ไฟท้ายเปลี่ยนจากทรงเหลี่ยมเป็นไฟกลมคู่ ส่วนภายในนั้นก็ปรับปรุงให้มีวัสดุและคุณภาพการประกอบที่ดีขึ้นกว่า 348

ตัวถังมีความยาว 4,250 มิลลิเมตร กว้าง 1,900 มิลลิเมตร สูง 1,170 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,350 กิโลกรัม ชื่อ 355 นั้นมาจากขนาดความจุเครื่องยนต์ 3.5 ลิตร ส่วน 5 ตัวหลังนั้นหมายถึง 5 วาล์วต่อสูบ เครื่องยนต์โดยหลักนั้นเป็นเบนซิน V8 สูบ ทำมุม 90 องศา DOHC 40 วาล์ว (5 วาล์ว/สูบ) 3,495.50 ซีซี ก็เอาเสื้อสูบมาจาก 348 แต่ขยายช่วงชักไปอีก 2 มิลลิเมตร เป็น 85 x 77 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มความจุ เปลี่ยนก้านสูบเป็นไทเทเนียม ปรับปรุงฝาสูบ แคมชาฟท์ใหม่เพื่อให้ลากรอบสูงได้ลื่นขึ้น กำลังอัด 11.1 : 1 กำลังสูงสุด 375 แรงม้า (HP) หรือ 380 แรงม้า (PS) ที่ 8,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 363 นิวตันเมตร (37 กก.-ม.) ที่ 6,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 4.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 295 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Ferrari ให้ความสำคัญกับคุณภาพการขับขี่มากขึ้น หลังจากที่ Honda NSX พิสูจน์ให้เห็นว่าอันที่จริงกลุ่มลูกค้ารถสปอร์ตก็ชอบให้รถมีนิสัยเรียบร้อยเวลาขับใช้งานปกติ พวกเขาจึงปรับการทำงานของเครื่องยนต์ เกียร์ และคลัตช์ให้เบามือ ใช้คล่องขึ้น และเพิ่มพวงมาลัยเพาเวอร์ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ถ้าลูกค้าไม่ชอบก็สามารถสั่งเอาออกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วงล่างของ F355 นั้นยังใช้โช้คอัพไฟฟ้า สามารถปรับความแข็งได้ระหว่าง Comfort กับ Sport เพื่อให้สนองความต้องการได้ทั้งแบบบู๊และบุ๋น

ต่อมาในปี 1995 F355 ก็มีรุ่น Spider ตามออกมา เป็นครั้งแรกของ Ferrari ที่นำระบบหลังคาแบบกางและพับด้วยไฟฟ้า (แต่ล็อคด้วยมือ) มาใช้ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการเปลี่ยนระบบควบคุมเครื่องยนต์เป็น Bosch Motronic 5.2 ตามรุ่นอื่นๆในค่าย แต่สิ่งที่เป็นนวัตกรรมของวงการ มาในปี 1997 เมื่อ Ferrari ผนวกระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะของพวกเขา เข้ากับชุดควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ด้วยไฟฟ้าที่ประยุกต์มาจากของที่ใช้ในรถ F1 เมื่อปี 1989 ระบบนี้ไม่มีขาเหยียบคลัตช์ และเปลี่ยนเกียร์โดยใช้ Paddle shift นับเป็นครั้งแรกของรถ Production car ที่มีเกียร์แบบนี้ให้ใช้ จากจำนวนกว่า 11,000 คันที่ขาย จะมี F355 ที่ใช้เกียร์แบบนี้อยู่ประมาณ 2,600 คัน

รุ่นพิเศษที่มีมาในปี 1995 ก็คือ F355 Challenge ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นแต่งพร้อมสำหรับการแข่ง ใช้เครื่องยนต์เดียวกับรถรุ่นปกติ แต่ลดน้ำหนักตัวถังลง ติดตั้งโรลเคจ เครื่องดับเพลิง เกียร์และโช้คอัพถูกปรับใหม่ เปลี่ยนล้อเป็นล้ออัลลอยของ Speedline 5 ก้าน และใช้เบรกที่ยกชุดมาจาก Ferrari F40 Evoluzione

Ferrari F512M
1994-1996
จำนวนผลิต : 501 คัน

แม้ว่าจะเป็นผลิตผลเก่าแก่ที่ตกทอดมาจากปี 1984 และเปรียบเสมือนเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ของ 512TR แต่ F512M นี้คือ Ferrari รุ่นสุดท้ายในสายการผลิตปกติที่ใช้เครื่องยนต์แบบสูบนอน และเป็นรถเครื่องยนต์วางกลาง 12 สูบในไลน์ปกติ (ไม่นับรถพิเศษอย่าง F50 หรือ Enzo) ที่มีการผลิตจำหน่าย จุดต่างหลักๆที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ 512TR ก็คือไฟหน้าที่เลิกใช้แบบ Pop-up เนื่องจากข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในสหรัฐอเมริกา กันชนหน้าและช่องรับอากาศถูกออกแบบใหม่ให้มีลักษณะคล้าย F355 เช่นเดียวกับไฟท้ายที่เปลี่ยนจากทรงสี่เหลี่ยมเป็นไฟกลมข้างละ 2 ดวง

เครื่องยนต์ของ F512M แม้ดูผ่านๆจะเหมือนเดิม แต่เป็นรหัส F113G ซึ่งเปลี่ยนก้านสูบใหม่เป็นไทเทเนียมและใช้เพลาข้อเหวี่ยงน้ำหนักเบา เพียงสองอย่างนี้ก็ทำให้เครื่อง F113 เบาลงได้ 7.26 กิโลกรัม สร้างแรงม้าได้ 440 แรงม้า (PS) ที่ 6,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร (51 กก.-ม.) ที่ 5,500 รอบ/นาที และลากได้สุดเรดไลน์ที่ 7,500 รอบ/นาที

Ferrari F50
1995-1997
จำนวนผลิต : 349 คัน เท่านั้น
เครื่องยนต์ : Tipo F130B

เมื่อ Ferrari สร้าง F50 เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี โจทย์ของพวกเขาคือการ “นำเอาความเป็น Formula 1 มาใส่ในรถถนนให้ได้มากที่สุด” และต้องแทนที่ F40 รุ่นปี 1987 ให้ได้ ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจที่เทคโนโลยีต่างๆในรถคันนี้จะแหวกแนวมาก F50 เปิดตัวครั้งแรกในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 1995

ตัวถังยาว 4,480 มิลลิเมตร กว้าง 1,986 มิลลิเมตร สูง 1,120 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,580 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,230 กิโลกรัม ถือว่า เบามากเมื่อเทียบขนาดตัวรถทั้งคัน เครื่องยนต์เป็นรัส F130B เบนซิน V12 สูบ ทำมุม 65 องศา DOHC 60 วาล์ว (5 วาล์ว/สูบ) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 85 x 69 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.3 : 1 เร่งรอบได้สูง 8,600 รอบ/นาที ให้พลัง 520 แรงม้า (PS) ที่ 8,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 471 นิวตันเมตร (48 กก.-ม.) ที่ 6,500 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา นี่ก็เป็นเครื่องยนต์ที่ประยุกต์มาจากเครื่องของรถแข่ง F1 รุ่น 641 ปี 1990 นำมาขยายความจุเพิ่ม ก้านสูบทำจากไทเทเนียม ข้อเหวี่ยงฟอร์จ และลูกสูบฟอร์จทำโดย Mahle และแม้จะมีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่โตทว่ากลับเบาเพียง 198 กิโลกรัม (เบากว่าเครื่องยนต์ 4G63T เบนซิน 4 สูบ 280 แรงม้า (PS) ของ Mitsubishi Lancer Evolution) เมื่อประกบกับเกียร์ 6 จังหวะ สามารถเร่งควอเตอร์ไมล์ได้ภายในเวลา 12.1 วินาที

โครงสร้างของ F50 ทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ตามสไตล์ไฮเปอร์คาร์ชั้นสูง เครื่องยนต์กับเกียร์ยึดเข้ากับบอดี้ และชิ้นส่วนของช่วงล่างหลังก็ยึดเข้ากับเกียร์ พยายามจะเป็น F1 แต่ในชีวิตจริง F50 เป็นรถที่สั่นสะท้านเหมือนรถแข่งด้วยเช่นกัน F50 ยังสืบทอดนิสัยความดิบมาจาก F40 หลายประการ รวมถึงการที่คุณต้องหมุนพวงมาลัยไร้ระบบผ่อนแรงสู้กับยางหน้าขนาด 245 มิลลิเมตรด้วยตัวเอง ไม่มีระบบเบรก ABS และระบบช่วยเหลืออิเล็กทรอนิกส์ใดๆ มีแต่ชุดเบรกของ Brembo 4 Pot หน้าและหลังกับช่วงล่าง Pushrod วางแนวนอนและโช้คอัพแบบ Adaptive damping เท่านั้นที่คุณจะฝากชีวิตไว้ได้ F50 มีน้ำหนักรถเปล่าไม่รวมของเหลว 1,230 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเบากว่า F355 ถึง 120 กิโลกรัม แต่ก็หนักกว่า F40 130 กิโลกรัมเช่นกัน

ดีไซน์ภายนอก ทำโดยฝีมือของ Pininfarina เช่นเคย โดยนำเอาอิทธิพลด้านเส้นสายรถส่วนหนึ่งมาจากรถต้นแบบ Ferrari Mythos และเป็น Ferrari รุ่นสุดท้ายที่ออกแบบโดยพึ่งพาสปอยเลอร์หลังขนาดใหญ่ในการสร้างแรงกดของลมด้านท้าย ในขณะที่รถรุ่นหลังๆมานั้นจะติดสปอยเลอร์ให้กับเวอร์ชั่นรถแข่งเท่านั้น และนับเป็น Ferrari รุ่นสุดท้ายที่มีความดิบเถื่อนของรถแข่งสมัยเก่าประเภท “ขับไม่เก่งพอก็กลับบ้านไป” อยู่อย่างเต็มขั้น

Ferrari 550 Maranello
1996-2001
จำนวนผลิต : 3,083 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F133

เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1973 ที่รถตระกูล V12 2 ที่นั่งของ Ferrari หันกลับมาใช้ Layout แบบวางเครื่องด้านหน้าขับเคลื่อนล้อหลัง โดยหลังจากเลิกผลิตรุ่น 365GTB/4 Daytona ไป Ferrari ก็ไปทำรถ Berlinetta Boxer และ Testarossa ที่เป็นเครื่องวางกลางลำ 12 สูบนอน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ Lorenzo Ramaciotti แห่ง Pininfarina จะเลือกผนวกเอาสัดส่วนแบบหน้ายาวท้ายสั้นรวมถึงการออกแบบที่มีกลิ่นอายของ Daytona เข้าร่วมกับธีมการออกแบบของ Ferrari Mythos และ F50 จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีด้านอากาศพลศาสตร์ช่วยขัดเกลาจนคูเป้คันโตนี้มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd เพียง 0.33 โครงสร้างของ 550 Maranello นั้น ประยุกต์มาจาก 456GT ปี 1992 โดยเป็นสเปซเฟรมโลหะ เปลือกนอกตัวถังทำจากอะลูมิเนียม แต่ด้วยการที่เน้นสมรรถนะโดยการทำเป็นรถ 2 ที่นั่ง Ferrari จึงหดฐานล้อลง 100 มิลลิเมตรเหลือ 2,500 มิลลิเมตร เครื่องยนต์ของ Maranello ก็ใช้เสื้อสูบของ 456GT มีระยะช่วงชักและปากกระบอกสูบเท่ากัน แต่ถูกปรับปรุงให้มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 485 แรงม้า (PS) หรือ 478 แรงม้า (HP) มีระบบส่งกำลังเพียงแบบเดียวคือเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ

ต่อมาในปี 2000 Ferrari สร้างรถรุ่นพิเศษ 550 Barchetta Pininfarina ออกมา 448 คัน ซึ่งถ้าดูเผินๆมันก็คือ 550 Maranello ที่นำมาเปิดหลังคา ทว่าความที่เป็นรถแบบ Barchetta แท้ๆ ทำให้มันไม่มีกลไกหลังคาผ้าใบหรือเหล็ก พูดง่ายๆคือฝนตกก็ตัวใครตัวมัน แม้ว่าจะมีหลังคาแบบบางมาให้ แต่ก็ใช้เพื่อคลุมกันฝนเวลาจอดมากกว่าเพราะถ้าวิ่งเกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหลังคาก็อาจหลุดได้ Barchetta จะมีกระจกเสา A-pillar ที่ลาดลงมากกว่ารุ่นปกติ ได้ล้อ 19 นิ้วลายเฉพาะตัว รถทุกคันจะมีป้ายบอกลำดับการผลิตพร้อมลายเซ็นของ Sergio Pininfarina

Ferrari 360 Modena
1999-2004
จำนวนผลิต : 17,288 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F131

รถตระกูล V8 เครื่องวางกลางลำ เป็นรถที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับ Ferrari มาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อ F355 หมดวาระลง ทาง Ferrari และ Pininfarina ตัดสินใจสร้างรถรุ่นใหม่ที่ไม่เหลือเค้าเดิมเลยแม้แต่น้อย ดูจากการออกแบบทรวดทรงตัวถังซึ่งเข้าสู่ยุคอากาศพลศาสตร์เป็นใหญ่เหนือความสวยงาม กระจังหน้าและส่วนหน้าของรถที่เป็นลิ่มถูกแทนที่ด้วยดีไซน์ใหม่ที่ผสานระหว่าง Ferrari F50 กับแนวคิดการจัดกระแสลม ช่องอากาศตรงกลางถูกแทนที่ด้วยช่องแบบซ้าย/ขวา ซึ่งดักลมไปเป่าหม้อน้ำที่เดิมจะอยู่ด้านหลัง ก็ถูกย้ายมาด้านหน้า เสา C-pillar แบบยกตัวที่ใช้มาตั้งแต่รุ่น 328 ก็หายไป เหลือเอกลักษณ์สืบทอดแค่ไฟท้ายกลมคู่ แต่ส่วนท้ายรถก็ดูแตกต่างไปจากเดิมคนละเรื่อง ภายใต้เปลือกนอก ก็ยังมีโครงสร้างที่ถูกเปลี่ยนจากโลหะเป็นสเปซเฟรมทำจากอะลูมิเนียม ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักโครงสร้างลดลง 28% แต่ต้านทานแรงบิดเค้นได้มากกว่าเดิม 40% แม้ว่าท้ายสุดเมื่อประกอบเป็นรถทั้งคันน้ำหนักจะแทบไม่เบากว่าเดิมเลยก็ตาม

360 รุ่นแรกที่เปิดตัวคือ Modena เป็นรุ่นหลังคาแข็ง โดย Modena นั้นเป็นชื่อเมืองที่ Enzo Ferrari เกิด เครื่องยนต์ที่ใช้นั้นกลับไม่ได้พลิกโลกแบบตัวถัง เพราะขยับความจุขึ้นเพียง 0.1 ลิตร และแรงขึ้นจาก 380 เป็น 400 แรงม้า (PS) แค่นั้น มีระบบส่งกำลังสองแบบคือเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์กึ่งอัตโนมัติแบบ F1 6 จังหวะ ต่อมาในปี 2000 ก็มีการเปิดตัว 360 Spider ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Ferrari ให้ความใส่ใจกับการสร้างรถเปิดประทุนแบบเต็มขั้น นอกจากจะมีการปรับปรุงตัวถังด้านหน้า รอบเสา A-pillar และพื้นล่างให้แข็งแกร่งขึ้นแล้ว ในด้านความสะดวกสบายก็ดีขึ้นกว่า F355 Spider ด้วยการใช้หลังคาผ้าใบกางและพับเก็บด้วยไฟฟ้าพร้อมสลักล็อคหลังคาอัตโนมัติ ทำงานในเวลาแค่ 20 วินาที และเมื่อกางออกก็ซ่อนเอาไว้ระหว่างห้องโดยสารกับห้องเครื่องอย่างสวยงาม มีตัวถังส่วนบนที่โค้งมนและมีบาร์กันกระแทกตอนคว่ำโผล่ออกมาเหมือน Ferrari แบบ Barchetta ยุคคลาสสิค

ตัวแรงที่สุดของ 360 ก็คือรุ่น Challenge Stradale ซึ่งมีแนวทางเป็นรถสปอร์ตสำหรับถนน แต่พร้อมใช้แข่งได้ แบบเดียวกับ F355 Competizione แต่อย่างน้อยก็มีการปรับจูนเครื่องยนต์เพื่อให้มีกำลังเพิ่มเป็น 420 แรงม้า (PS) นอกจากนั้นก็เป็นการลดน้ำหนักโดยใช้กันชนหน้า/หลังที่เบาลง ถอดกระจกปกติออกเปลี่ยนเป็น Plexiglass ถอดวัสดุซับเสียงออกหมด เปลี่ยนเบาะ ถอดเครื่องเสียง เปลี่ยนชุดท่อไอเสียใหม่ รวมทั้งหมดแล้วทำให้น้ำหนักตัวถังเหลือเพียง 1,180 กิโลกรัม แล้วยังได้เบรก Brembo คาร์บอนเซรามิกที่นำมาจากไฮเปอร์คาร์อย่าง Enzo ทำให้ Challenge Stradale เป็นรถพร้อมแข่งที่ได้รับความนิยมมากจนขายได้ถึง 1,288 คัน

Ferrari “Enzo Ferrari”
2003-2005
จำนวนผลิต : 399 คัน (ล็อตแรก) + ล็อต 2 ผลิตเพิ่ม (50 คัน) เป็น 449 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F140B

เมื่อถามว่าใครออกแบบ Enzo หลายคนจะตอบได้ว่า Pininfarina แต่น้อยคนจะรู้ว่าลูกจ้างคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการออกแบบ เป็นชาวญี่ปุ่นอายุ 40 ที่ชื่อ Kiyoyuki (Ken) Okuyama ด้วยคำสั่งจากท่านประธาน Luca Cordero di Montezemolo ที่บอกไว้ว่า Enzo จะต้องเป็นรถที่ยิ่งใหญ่สมกับการนำชื่อของผู้ก่อตั้งมาใช้ และตัวมันเองจะต้องสะท้อนความสามารถในการสร้างรถแข่ง F1 ของ Ferrari ด้วย Okuyama เลยจัดทรวดทรงจมูกรถให้เหมือนกับรถแข่งของ Michael Schumacher ซึ่งเป็นซูเปอร์สตาร์ของทีม Ferrari ในขณะนั้น และแทนที่จะใช้ลิ้นหน้าโต หางหลังใหญ่แบบ F50 นักออกแบบของ Ferrari เลือกที่จะใช้รูปร่องช่องลมต่างๆในการจัดกระแสการไหลของอากาศ รวมถึงระบบ Active Aerodynamics ที่สามารถปรับแรงกดของลมที่จุดต่างๆของรถ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งคัน ภายในยังคงกลิ่นอายความดิบแบบ F50 เอาไว้ (กระจกมือหมุนด้วยเช่นกัน) Enzo เป็น Ferrari เวอร์ชั่นถนนรุ่นแรกที่เริ่มเอาปุ่มสำหรับควบคุมโหมดการทำงานของรถไปติดที่พวงมาลัย

เครื่องยนต์ F140B เป็นเครื่องที่ออกแบบใหม่มาทั้งบล็อก Ferrari เลิกใช้ฝาสูบแบบ 5 วาล์วต่อสูบ กลับไปเป็น 4 วาล์วต่อสูบ แต่ความจุเครื่องยนต์เพิ่มจาก 4.7 ลิตรใน F50 เป็น 6.0 ลิตร รอบการทำงานสูงสุดลดจาก 8,600 เหลือ 8,200 รอบต่อนาที แต่ก็ไม่ใช่ปัญหากับการสร้างพละกำลังถึง 660 แรงม้า (PS) ระบบส่งกำลังมีเพียงแบบเดียว โดยยกเลิกเกียร์ธรรมดา เพื่อเปลี่ยนไปใช้เกียร์กึ่งอัตโนมัติ F1 ที่เปลี่ยนเกียร์ได้เร็วเพียง 0.15 วินาที Enzo ใช้เวลาควอเตอร์ไมล์เพียง 11 วินาที เร็วกว่า F50 1 วินาทีเต็มๆ ส่วนเรื่องช่วงล่างนั้นมาแนว F1 ด้วยโช้คและสปริงแนวนอน Pushrod โช้คอัพแบบ Adaptive Suspension ควบคุมด้วยไฟฟ้าและปรับตามสภาพถนนและการขับขี่ เชื่อมต่อกับการทำงานของเกียร์ F1 และมีการติด Traction Control มาให้ ผู้ขับสามารถปรับระดับการทำงานได้

รถพิเศษอย่าง Enzo มีไว้สำหรับคนพิเศษเท่านั้นโดย Ferrari จะเป็นผู้คัดเลือกว่าใครควรได้เป็นเจ้าของรถคันนี้ โดยเลือกจากลูกค้าที่เคยมี F40 กับ F50 ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ส่งใบเชิญร่วมงาน Paris Motorshow พร้อมกับระบุสิทธิ์ในการจอง Enzo ซึ่งแน่นอนว่ารถรุ่นนี้ถูกจองจนหมดโควตา 399 คันตั้งแต่ก่อนเปิดตัว ทำให้มีเศรษฐีจำนวนมากเรียกร้อง Ferrari จึงยอมใจอ่อนผลิตเพิ่มอีก 50 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำไปต่อยอดในภายหลัง เป็น FXX และ FXX Evoluzione ซึ่งเป็นรถระดับเหนือพิเศษ พลัง 860 แรงม้า ห้ามใช้วิ่งบนถนน โดยเมื่อลูกค้าซื้อไปแล้วก็ห้ามเอาไปจอดบ้าน เพราะ Ferrari จะเก็บรักษา ดูแลบำรุงให้ทุกอย่าง และนำรถมาให้ขับเมื่อมีงานแข่งหรือเทศกาลพิเศษเท่านั้น

Ferrari 575M Maranello
2002-2006
จำนวนผลิต : 2,056 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F133E

ตัวอักษร M ย่อมาจาก Modificata ถ้าคุ้นๆชื่อนี้จากสมัย 456M GT ก็จะเข้าใจได้ว่า 575M ก็เปรียบเสมือนเวอร์ชั่น Minorchangeของ 550 Maranello นั่นเอง แต่การปรับปรุงของ 575M นั้นมีหลายจุด นอกจากการปรับแต่งภายในของรถ เปลี่ยนแดชบอร์ด และเปลี่ยนหน้าปัด เอาวัดรอบขนาดใหญ่มาอยู่ตรงกลางแล้ว สิ่งที่สำคัญเครื่องเครื่องยนต์ F133 ที่ถูกขยายความจุเพิ่มจาก 5.5 เป็น 5.75 ลิตร (นั่นคือที่มาของชื่อรุ่น) ทำให้ได้พลังเพิ่มเป็น 515 แรงม้า (PS) อีกทั้งยังมีการใช้ช่วงล่างโช้คอัพไฟฟ้าแบบ Adaptive Suspension ปรับความแข็งอ่อนตามสภาพถนนและลักษณะการขับขี่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาพร้อมๆกับช่วง
ล่างของ Enzo นั่นเอง

เกียร์กึ่งอัตโนมัติ F1 ทำโดย Magneti Marelli ที่ใช้ครั้งแรกใน F355 และ 360 ในที่สุดก็ถูกนำมาติดตั้งให้กับรถ V12 ของค่าย และพิสูจน์ได้ว่าลูกค้า Ferrari ยินดีใช้เกียร์แบบไม่มีขาคลัตช์มากกว่า เพราะจากยอดขายกว่าสองพันคันนั้น มีเพียง 177 คันที่เป็นเกียร์ธรรมดาแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังมีออพชั่น GTC Handling Package ที่มาพร้อมกับช่วงล่างปรับจูนใหม่ และเบรกคาร์บอนเซรามิกของ Brembo ให้เลือก ปิดท้ายด้วยรุ่นพิเศษ Superamerica ปี 2005 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นเปิดหลังคา แต่มีลักษณะดูคล้าย Targa มากกว่าจะเปิดโล่งแบบ Barchetta แถมยังดีกว่าตรงที่สามารถเลื่อนปิดได้ Superamerica ใช้เครื่องยนต์ F133E ที่ได้รับการปรับจูนเพิ่มเป็น 540PS ทำให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Ferrari จึงเคลมว่ามันคือรถประเภทเปิดหลังคาที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลกในปีนั้น

Ferrari 612 Scaglietti
2004-2011
จำนวนผลิต : 3,025 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F133

Sergio Scaglietti ก่อตั้ง Carozzeria Scaglietti ขึ้นมาในปี 1951 บนที่ตั้งตรงข้ามกับสำนักงานใหญ่ของ Ferrari ใน Maranello ชำนาญการด้านงานออกแบบและสร้างรถยนต์ Dino ลูกชายของ Enzo ชอบข้ามถนนมาคลุกคลีอยู่กับเขาเป็นประจำ อีกทั้งยังมีบทบาทในการช่วยสร้างรถและรถแข่งของ Ferrari หลายรุ่นรวมถึง 250GTO จน Enzo เชื่อใจทั้งที่เป็นคนไม่ไว้ใจใครง่ายๆ ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน Montezemolo ประธาน Ferrari ในขณะน้ัน จึงตั้งชื่อรถ Grand Tourer 4 ที่นั่งรุ่นใหม่ตามชายผู้นี้

612 Scaglietti เผยโฉมที่งาน Detroit Autoshow เดือนมกราคม 2004 คราวนี้ Ferrari เน้นความสะดวกสบายเป็นจุดขาย ห้องโดยสารกว้างขวางเพราะตัวรถสูงกว่า 456M GT ถึง 44 มิลลิเมตร ตัวรถก็ยาวถึง 4,902 มิลลิเมตร และฐานล้อก็ถูกขยายจาก 2,600 ไปเป็น 2,950 มิลลิเมตร โครงสร้างของรถเป็นสเปซเฟรมอะลูมิเนียม เทคนิคเดียวกับที่ใช้สร้าง Ferrari 360 โดยตัวถังจะถูกประกอบขึ้นที่ Carozzeria Scaglietti แล้วค่อยส่งไปโรงงาน Ferrari เพื่อวางเครื่องยนต์และเกียร์

แม้จะชื่อ 612 แต่รถรุ่นนี้ ใช้เครื่องยนต์รหัส F133 ที่ยกมาจาก F575M Superamerica จึงมีความจุกระบอกสูบจริงอยู่ที่ 5.75 ลิตร ปั่นกำลังออกมาได้ 540 แรงม้า (PS) น้ำหนักตัวถังเปล่า 1,840 กิโลกรัม เป็นผลพวงมาจากความใหญ่ของบอดี้ แต่หน้าตาดูปราดเปรียวด้วยดีไซน์ธีมโค้งมนกับไฟหน้าเล็ก ซึ่งเป็นฝีมือของ Kiyoyuki Okuyama เจ้าเก่า 612 Scaglietti มีระบบส่งกำลังแบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ซึ่งขายได้แค่เพียง 177 คัน ส่วนที่เหลือ เป็นเกียร์กึ่งอัตโนมัติแบบ F1A ซึ่งเอาระบบที่ใช้ใน Ferrari 360 มาพัฒนาต่อยอด และปรับจูนการทำงานโดยเน้นความสุภาพขับง่ายเวลาใช้งานในเมืองมากขึ้น Ferrari ขายรถรุ่นนี้อยู่นาน 7 ปีโดยที่ไม่มีการอัปเดตทางกลไกที่สำคัญ ในปี 2011 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรถรุ่นนี้ Sergio Scaglietti ก็สิ้นใจอย่างสงบในเดือนพฤศจิกายนด้วยวัย 91 ปี

Ferrari F430
2005-2009
จำนวนผลิต : ประมาณ 9,200 คัน
เครื่องยนต์ : Tipo F136E

F430 ใช้โครงสร้างหลักร่วมกับ 360 รวมถึงใช้กระจกแต่ละบานและชิ้นส่วนหลังคาแบบเดียวกัน แต่ Pininfarina มอบหมายให้ Frank Stephenson ดีไซน์ด้านหน้ารถใหม่โดยเอาอิทธิพลด้านหน้ามาจากรถแข่งยุค 60s ส่วนด้านหลัง มีการออกแบบไฟท้ายใหม่โดยทำให้ดูเหมือน Enzo มากขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดก็คือเครื่องยนต์ ซึ่งโยน V8 บล็อกเดิมที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากสมัย Dino ทิ้ง เปลี่ยนเป็น V8 ใหม่สดที่พัฒนาและใช้ร่วมกันกับ Maserati ในหลายส่วน ฝาสูบเป็นแบบ 4 วาล์วต่อสูบ ลูกสูบ ก้านสูบ และเพลาข้อเหวี่ยงเป็นของใหม่ทั้งหมด ควบคุมเครื่องยนต์ด้วยระบบ Bosch Motronic ME7 เวอร์ชั่นใหม่ ให้พลัง 490 แรงม้า มีระบบส่งกำลังทั้งแบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์ F1 เวอร์ชั่นปรับปรุงการทำงานใหม่ F430 เป็น Ferrari รุ่นแรกที่มีระบบปรับโหมดการตอบสนองของรถ, เครื่องยนต์, เกียร์และช่วงล่างเป็นปุ่มหมุนแบบ Manettino อยู่บนพวงมาลัย (ของ Enzo จะเป็นปุ่มกดแยกกัน) และมีระบบลิมิเต็ดสลิปแบบ E-Diff พร้อมระบบรักษาการทรงตัวและแทร็คชั่นคอนโทรลเวอร์ชั่นใหม่

รุ่นที่มีคนเสาะหามากที่สุดคือ F430 Scuderia ซึ่งเปรียบได้กับเวอร์ชั่นสืบทอดต่อจาก 360 Challenge Stradale โดยมาในฟอร์มของรถพร้อมแข่งที่ถอดวัสดุที่ไม่จำเป็นเพื่อลดน้ำหนักตัวถังลงอีก 100 กิโลกรัม มีการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่จนได้แรงม้า 510PS ที่สำคัญยังมีการปรับปรุงการทำงานของช่วงล่างและเกียร์กึ่งอัตโนมัติเวอร์ชั่น Superfast2 ที่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้เร็วพริบตาเพียง 0.06 วินาที (เกียร์ของ Enzo ใช้ 0.15 วินาที) ระบบเบรกเป็นวัสดุผสมคาร์บอนเซรามิก ซึ่งผ่านการทดสอบอัดรอบสนาม Fiorano มากกว่า 300 รอบสนามโดยไม่ปรากฏอาการเฟดให้เห็น แม้ว่าความเร็วสูงสุดของ Scuderia จะน้อยแค่ 319 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่ออยู่ในสนามแข่งที่มีโค้งด้วยอย่างสนามทดสอบ Fiorano ของ Ferrari เอง มันกลับทำเวลารอบสนามได้ 1 นาที 25 วินาทีซึ่งเร็วเท่ากับ Enzo

Ferrari 599 GTB Fiorano
2006-2012
จำนวนผลิต : ไม่ระบุ
เครื่องยนต์ : Tipo F140C

ชื่อ 599 มาจากความจุเครื่องยนต์ 5,999 ซี.ซี. ส่วน Fiorano คือชื่อสนามทดสอบของ Ferrari ดีไซน์ตัวถังภายนอกโดย Okuyama คนเดียวกับที่ออกแบบให้ Scaglietti และ Enzo ทำให้ด้านหน้าของรถมีสันนูนออกมาคล้ายรถแข่ง F1 แต่จุดเด่นทางการออกแบบของ 599 อยู่ที่เสา C-pillar แบบยกตัว ซึ่งเป็นการประยุกต์ดีไซน์ของ 348 และ F355 มาใช้ แต่ด้วยความรู้ทางด้านอากาศพลศาสตร์ของ Ferrari ที่มีอยู่มาก ทำให้พวกเขาออกแบบช่องว่าระหว่างตัวถังกับเสานี้ให้อากาศไหลผ่านและสร้างแรงกดได้ถึง 160 กิโลกรัมที่ความเร็ว 300 กิโลเมตร/ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้สปอยเลอร์ใดๆเสริม 599 ใช้โครงสร้างตัวถังแบบอะลูมิเนียม ซึ่งมีพื้นฐานของ 612 อยู่ แต่ปรับขนาดให้เหมาะกับการเป็นรถ 2 ที่นั่ง ทำให้มีน้ำหนักตัวเปล่าเพียง 1,690 กิโลกรัม ซึ่งแทบไม่ต่างไปจาก 575M รุ่นเดิม

เครื่องยนต์ F140C ของ 599 มีพื้นฐานร่วมกันกับเครื่องยนต์ของ Enzo โดยถูกปรับความสูงของตัวเครื่องลงเพื่อให้สามารถวางด้านหน้าได้โดยไม่บดบังทัศนะวิสัย พละกำลังลดลงจาก 660 เหลือ 620PS แต่ก็สามารถลากรอบได้ถึง 8,500 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังหลักเป็นเกียร์แบบ F1 Superfast 6 จังหวะ ที่ปรับปรุงต่อมาจาก Enzo และ 612 เปลี่ยนเกียร์ได้ภายในเวลา 0.1 วินาที ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดาก็มีให้เลือก แต่ทั้งโลกนี้มีอยู่แค่ 30 คันเท่านั้น ทำให้ Ferrari ตัดสินใจเลิกทำรถ V12 เกียร์ธรรมดาไปในที่สุด จุดเด่นทางวิศวกรรมอีกอย่างของ 599 คือช่วงล่างแม่เหล็กไฟฟ้า MagneRide ซึ่งมีผงแม่เหล็กไหลอยู่กับของเหลวในโช้คอัพ และควบคุมเปลี่ยนแปลงความหนืดในเสี้ยววินาทีตามสภาพการขับขี่โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำให้แม่เหล็กเรียงตัวกันในรูปแบบที่ส่งผลต่อความหนืดของโช้คอัพ ถือว่าเป็น Ferrari รุ่นแรกที่มีช่วงล่างแบบนี้ให้ใช้ แล้วก็ยังมีระบบควบคุมการทรงตัวแบบ F1-TRAC ที่ปรับการทำงานได้หลายโหมด

ในปี 2010 Ferrari นำรถแข่งสนาม 599XX มาทำเป็นเวอร์ชั่นสำหรับวิ่งถนนในชื่อ 599GTO ซึ่งมีการปรับจูนช่วงล่าง เกียร์ และเครื่องยนต์ใหม่ พละกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 670PS โดยที่น้ำหนักตัวเบาลงกว่า 599GTB ถึง 85 กิโลกรัม วิ่งรอบสนามทดสอบ Fiorano ได้เร็วกว่า Enzo 1 วินาที กลายเป็น Ferrari เวอร์ชั่นถนนที่สามารถทำเวลารอบสนามนั้นได้เร็วที่สุด

Ferrari California/California T
2009-2017
จำนวนผลิต : California ประมาณ 13,500 คัน California T ไม่มีข้อมูล
เครื่องยนต์ : Tipo F136L ใน California และ Tipo 154BB ใน California T

แรกเริ่มนั้น Ferrari ตั้งใจจะให้ California เป็นรถโมเดลล่างสุดที่ช่วยกวักมือเรียกลูกค้าเพิ่มให้กับค่าย แต่ทำไปทำมาราคาของมันก็แพงไม่แพ้ F430 รุ่นล่าง California ออกแบบโดย Pininfarina (Okuyama) เป็นรถเปิดประทุนเครื่อง V8 วางด้านหน้า อาศัยตัวเครื่องยนต์ F136 ที่เอาของ F430 มาพัฒนาต่อเนื่องให้มลภาวะน้อยลงโดยใช้หัวฉีด Direct Injection เป็นครั้งแรกของค่าย และยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นครั้งแรก เช่น เป็นรถเปิดประทุน V8 รุ่นแรก เป็นรถเปิดประทุนพร้อมหลังคาแข็งพับด้วยไฟฟ้ารุ่นแรก เป็นรุ่นแรกของ Ferrari ที่ใช้ระบบ Auto Start/Stop แล้วก็ยังเป็นครั้งแรกที่ใช้เกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่อีกด้วย California มีตำแหน่งการตลาดต่ำกว่า F430 แรงม้าของมันจึงถูกลดเหลือ 453 แรงม้า แถมยังเป็น Ferrari รุ่นหนึ่งที่ใช้อ่างน้ำมันเครื่องแบบ Wet –sump เหมือนรถปกติ ไม่ได้เป็น Dry-sump แบบรุ่นอื่นๆที่แล้วมา

ในปี 2014 Ferrari อัปเดตให้ California โดยการปรับหน้าตาของรถ ซึ่งเป็นผลงานดีไซน์ของ Centro Stile Ferrari หรือสำนักออกแบบของ Ferrari เอง โดยมี Pininfarina คอยช่วย (หลังจากนั้นมาพวกเขาก็ออกแบบรถเอง และ Pininfarina ก็ถูก Mahindra Group ของอินเดียซื้อกิจการไป) รถรุ่นใหม่มีชื่อว่า California T และตัวอักษร T นั้นก็มาจาก Turbo เพราะใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ 3.9 ลิตร V8 ทวินเทอร์โบ นับเป็น Ferrari รุ่นแรกที่มีระบบอัดอากาศหลังจาก F40 เลิกผลิตไป ทำให้มันมีพลังถึง 560PS ระบบส่งกำลังเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะถูกตัดทิ้งอย่างถาวร ทั้งนี้เพราะขนาดสมัยเป็น California ผลิตขายไปกว่าหมื่นคัน แต่มีลูกค้าสั่งรถเกียร์ธรรมดาเพียงแค่ 3 (สาม) คันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บวกกับยอดขายของรถเกียร์ธรรมดาที่น้อยลงมาก ทำให้ Ferrari ยุติการสร้างรถเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะตลอดไป

Ferrari 458 Italia
2009-2015
เครื่องยนต์ : Tipo F136F

458 Italia คือรถสปอร์ตรุ่นเล็ก ที่สร้างขึ้นมา เพื่อทำตลาดแทน F430 ออกแบบโดย Pininfarina แต่คนที่คอยกุมบังเหียนทีมออกแบบ คือ Donato Coco ซึ่งเป็นบอสดีไซน์ฝั่ง Ferrari ด้วยเอกลักษณ์รูปทรงแบบใหม่ที่ออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ตามที่ Coco เคยกล่าวเอาไว้ว่า Ferrari ใช้กระแสอากาศในการออกแบบรถ ส่วนดีไซนเนอร์มีหน้าแต่แค่เพิ่มความสวยงามลงไปเท่านั้น 458 ยังเป็นรถรุ่นสุดท้ายที่ใช้เครื่องยนต์รหัส F136 บล็อก V8 Fourcam 32 วาล์ว ที่พัฒนาร่วมกับ Maserati โดยถูกปรับจูนให้มีพลังถึง 570 แรงม้า (PS) ระบบส่งกำลังมีเพียงแบบคลัตช์คู่ 7 จังหวะ ไม่มีเกียร์ธรรมดาให้เลือกอีกต่อไป ช่วงล่างดับเบิลวิชโบนด้านหน้า และมัลติลิงค์ด้านหลัง (เป็น Ferrari รุ่นที่สองที่ใช้ช่วงล่างหลังแบบนี้ ถัดจาก California) โช้คอัพแม่เหล็กไฟฟ้า พัฒนาร่วมกับ BWI Group ปรับความหนืดตามสภาพการขับขี่ หรือตามคำสั่งจากสวิตช์ควบคุม Manettino ที่พวงมาลัย การออกแบบภายในของ 458 ดูล้ำยุค และแตกต่างไปจาก Ferrari รุ่นอื่นๆที่เคยมีมา ว่ากันว่า Ferrari ให้ Michael Schumacher เข้ามาช่วยเลือกดีไซน์ภายในของรถด้วย

ในปี 2013 Ferrari เปิดตัวรุ่นพิเศษ 458 Spaciale ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นแรงพิเศษ เพราะปรับจูนเครื่องยนต์ ให้แรงขึ้นเป็น 605 แรงม้า (PS) แต่ใช้วัสดุน้ำหนักเบาในหลายจุดเพื่อลดน้ำหนักตัวถังไม่รวมของเหลวลงเหลือเพียง 1,290 กิโลกรัม ระบบ F1-TRAC ที่ควบคุมการทรงตัว ได้ระบบใหม่อย่าง SSC –Side Slip Control ที่คอยดูลักษณะการสไลด์ของตัวรถในโค้ง และปรับการตอบสนองของพละกำลังเครื่องยนต์ให้เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง Spaciale เลิกผลิตไปในปี 2015 และกลายเป็น Ferrari รุ่นสุดท้ายที่ใช้เครื่องยนต์ V8 แบบไร้เทอร์โบ

ปัจจุบัน ในปี 2018 Ferrari มีรถสปอร์ต ทั้งระดับ Super Car และ Hyper Car จำหน่าย 5 ตัวถัง รวม 8 รุ่น แต่ในทางปฏิบัติ จะเหลือให้ลูกค้าสั่งจองเพียง 4 ตัวถัง 7 รุ่น เท่านั้น

  • California T : รุ่นเริ่มต้นของตระกูลในยุคใหม่นี้ มีตัวถังแบบ Coupe หลังคาแข็ง เปิดประทุนได้ ตัวถังยาว 4,570 มิลลิเมตร กว้าง 1,910 มิลลิเมตร สูง 1,322 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,625 กิโลกรัม (รวมคนขับและของเหลวอยู่ที่ 1,730 กิโลกรัม) วางเครื่องยนต์เบนซิน V8 ทำมุม 90 องศา DOHC 3,855 ซีซี ช่วงชัก x กระบอกสูบ 86.5 x 82 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.4 : 1 กำลังสูงสุด 560 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 77 กก.-ม.ที่ 4,750 รอบ/นาที ถังน้ำมัน 78 ลิตร ทำตลาดปี 2018 เป็นปีสุดท้าย เท่าที่ยังพอเหลือยอดสั่งจองและในสต็อกคงค้างไว้ตามดีลเลอร์ทั่วโลกCalifornia T กำลังจะถูกแทนที่ด้วย Ferrari Portofino ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในตลาดโลก เมื่อ 23 สิงหาคม 2017 และเพิ่งเปิดตัวในเมืองไทย เมื่อ 6 มิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา ตัวถังยาว 4,586 มิลลิเมตร กว้าง 1,938 มิลลิเมตร สูง 1,318 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร เครื่องยนต์เบนซิน แบบ V8 ขนาด 3.9 ลิตร 3,855 ซีซี. เทอร์โบ ให้กำลังสูงสุด 600 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 760 นิวตันเมตร ที่ 3,000 – 5,250 รอบ/นาที ให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 3.5 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง
    รายละเอียดเพิ่มเติม Ferrari Portofino คลิกที่นี่
  • 488 : ถ้าจะเรียกว่าเป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange ของ 458 ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะโครงสร้างตัวถังหลักยังคงคล้ายคลึงกับ 458 Italia รุ่นก่อนหน้านี้ 488 เปิดตัวครั้งแรก เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015 ด้วยรุ่น GTB จากนั้น รุ่นเปิดประทุน 488 Spider ก็ตามออกมาเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 ส่วนรุ่นแรงที่สุดในตระกูล 488 Pista เพิ่งเผยโฉมเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมานี่เองทุกรุ่นมีตัวถังยาว 4,568 มิลลิเมตร กว้าง กว้าง 1,952 มิลลิเมตร สูง 1,213 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร รุ่น 488 GTB และ 488 Spider จะวางเครื่องยนต์ บล็อกใหม่ V8 สูบ ทำมุม 90 องศา DOHC 32 วาล์ว 3,902 ซี.ซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.5 x 83 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.4 : 1 Twin Turbocharger อ่างน้ำมันเครื่องแบบ Dry Sump ยกมาจากรถแข่ง กำลังสูงสุด 670 แรงม้า (PS) ที่ 8,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 760 Nm (77.44 กก.-ม.) ที่ 3,000 รอบ/นาทีส่วนรุ่น 488 Pista จะแรงขึ้นไปอีก ด้วย เครื่องยนต์เบนซิน V8 สูบ ขนาด 4.0 ลิตร 3,902 ซีซี. เทอร์โบคู่ ให้กำลังสูงสุด 720 แรงม้า (PS) ที่ 8,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 770 นิวตันเมตร ที่ 3,000 รอบ/นาที อัตราเร่ง 0-100กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 2.85 วินาที และ 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 7.6 วินาที ความเร็วสูงสุดทำได้มากกว่า 340 กิโลเมตร/ชั่วโมงรายละเอียดของ Ferrri 488GTB คลิกที่นี่
    รายละเอียดของ Ferrari 488 Pista คลิกที่นี่
  • GTC4 Lusso : ถือเป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange ของ Ferrari FF (2011) เผยโฉมครั้งแรก เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2016 ก่อนที่่รุ่นแรงขึ้นอย่าง GTC4 T จะตามออกมาเมื่อ 24 กันยายน 2016 ถือเป็น Ferrari ที่แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ ตรงที่ การติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4RM Evo Four Wheel Drive System มาให้ บนตัวถังที่มีรูปลักษณ์ คล้ายๆกับ รถยนต์ Wagon 2 ประตู แบบ Shooting Break 4 ที่นั่ง ซึ่งเน้นให้มีพื้นที่แบกจักรยานไว้ด้านหลังได้ด้วย การปรับโฉมครั้งนี้ ทำให้ GTC4 Lusso แตกต่างจาก FF รุ่นเดิม มากพอสมควร โดยเฉพาะด้านงานวิศวกรรมตัวถังยาว 4,922 มิลลิเมตร กว้าง 1,980 มิลลิเมตร สูง 1,383 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,990 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,720 กิโลกรัม รุ่น GTC4 Lusso วางเครื่องยนต์เบนซิน V12 สูบ ทำมุม 65 องศา DOHC 32 วาล์ว กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94 x 75.2 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.5 : 1 กำลังสูงสุด 690 แรงม้า (PS) ที่ 8,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 77.49 กก-ม. 697 นิวตันเมตร  ที่ 5,750 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านล้อหลัง อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 3.4 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 335กิโลเมตร/ชั่วโมงส่วนรุ่น GTC4 Lusso T ลดความแรง ลงไปใช้เครื่องยนต์ เบนซิน V8 สูบ ทำมุม 90 องศา DOHC 32 วาล์ว 3,855 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.5 x 82 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.4 : 1 พ่วงเทอร์โบ กำลังสูงสุด 610 แรงม้า (PS) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 760 นิวตันเมตร ที่ 3,000 – 5,250 รอบ/นาที ให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 3.5 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 320 กิโลเมตร/ชั่วโมงรายละเอียดของ Ferrari GTC4 คลิกที่นี่
    รายละเอียดของ Ferrari GTC4 T คลิกที่นี่
  • 812 Superfast : เปิดตัวเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2017 เพื่อมารับหน้าที่ทำตลาดแทน Ferrari F12 Berlinetta คราวนี้ ทีมวิศวกร ที่ Maranello ตั้งเป้าให้เป็น Ferrari ที่แรงสุดเท่าที่พวกเขาเคยทำมา แต่อยู่ในรูปแบบตัวถัง GT Coupe 2 ประตู เครื่องยนต์วางด้านหน้า เพื่อให้สามารถขับใช้งานได้ในชีวิตประจำวันง่ายขึ้น ตามแนวทางที่พวกเขาวางไว้ในระยะหลังๆมานี้ตัวถังยาว 4,657 มิลลิเมตร กว้าง 1,971 มิลลิเมตร สูง 1,276 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,720 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,525 กิโลกรัม รวมของเหลวและคนขับ อยู่ที่ 1,630 กิโลกรัม วางเครื่องยนต์ เบนซิน V12 สูบ ทำมุม 65 องศา DOHC 48 วาล์ว 6,498 ซีซี Direct Injection 800 แรงม้า (PS) ที่ 8,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 73.21 กก-ม. (718 นิวตันเมตร) ที่ 7,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ F1 DCT พร้อมระบบ E-Diff3 และ 4WS
    รายละเอียดของ Ferrari 812 Superfast คลิกที่นี่
  • La Ferrari ถือว่าเป็นรถสปอร์ตระดับ Hyper Car (คือแรงเกินกว่า Super Car ทั่วไปแล้ว) รุ่นแพงสุดในตระกูล เปิดตัวมาตั้งแต่ 6 มีนาคม 2013 เพื่อทำตลาดแทน Enzo Ferrari ปัจจุบันนี้ LaFerrari ถูกจับจองหมดไปแล้ว ทั้งรุ่นหลังคาแข็ง 499 คัน และรุ่นเปิดประทุน 209 คัน รวมทั้ง รุ่นหลังคาแข็งคันที่ 500 ที่สร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเข้าประมูล นำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวใน Italy ตอนจบของการประมูล ได้เงินบริจาคไปถึง 7 7,000,000 USD (ดอลล่าร์สหรัฐฯ) หรือประมาณ 249,399,000 บาท ถือว่าเป็น LaFerrari ที่แพงที่สุดในรุ่น ส่วนรุ่นต่อไป ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนารุ่นสุดท้ายที่ออกจำหน่าย เป็น รุ่น Aperta เผยโฉมครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2016 ตัวถังยาว 4,702 มิลลิเมตร กว้าง 1,992 มิลลิเมตร สูง 1,116 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร วาง เครื่องยนต์เบนซิน V12 สูบ ทำมุม 65 องศา DOHC 60 วาล์ว 6,262 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94 x 75.2 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.5 : 1 ให้กำลังสูงสุด 800 แรงม้า (PS) ที่ 9,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 71.38 กก-ม. (700 นิวตันเมตร) ที่ 6,750 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า HY-KERS ให้กำลัง 120 กิโลวัตต์ หรือ 163 แรงม้า (PS) ที่พัฒนาจากรถแข่ง Formula 1 จนให้กำลังสูงสุดทั้งหมด 963 แรงม้า (PS) ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ ให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในต่ำกว่า 3.0 วินาที ความเร็วสูงสุดของรุ่น Sperta เกินกว่า 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อย CO2 อยู่ที่ 340 กรัม/กิโลเมตรรายละเอียดเพิ่มเติมของ La Ferrari คลิกที่นี่
    รายละเอียดเพิ่มเติมของ La Ferrari Aperta คลิกที่นี่

อ่านมาถึงตรงนี้…เริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่า Shell มาเกี่ยวข้องกับ Ferrari ได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ และ…ทำไม?

อันที่จริงแล้ว Shell เข้ามามีส่วนร่วมในวงการ Motorsport เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1900 อันเป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันรถยนต์และจักรยานยนต์ เริ่มเกิดขึ้นตามมุมต่างๆ ทั่วโลก เมื่อ John Napier คว้าแชมป์ ในรายการ RAC Tourist Trophy เมื่อปี 1905 โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจาก Shell

จากน้ำมันเชื้อเพลิง ICA สู่ Super Shell ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ตามด้วย Formula Shell ทั้งสูตรแรกเริ่ม ราวปี 1987 และสูตรปรับปรุงล็อตหลัง 9404 ในปี 1988 มาจนถึง V-Power ช่วงปี 1998 Shell มีพัฒนาการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงมาอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจาก ริมขอบสนามแข่งนี่แหละ!

ปัจจุบัน Shell จัดสรรงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้ได้มาซึ่งสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีที่สุด สำหรับเครื่องยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งของรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เครื่องจักรหนัก รวมถึงการคิดค้นเชื้อเพลิง และพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนสำหรับรถยนต์ในอนาคต

ไม่เพียงเท่านั้น Shell ยังส่งทีมวิศวกร 50 คน ไปร่วมงานกับทีมแข่ง Scuderia Ferrari ทั้งในศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เมือง Maranello รวมทั้งในห้อง Pit ริมขอบสนาม บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ในการแข่งขันรถ Formula 1 นั้น นักแข่งทุกคน จากทุกทีม ต้องการอัตราเร่งให้เร็วที่สุด ทั้งในช่วงปล่อยตัวจากจุดสตาร์ท หรือจะเป็นช่วงเร่งแซงในทันทีที่รถยังไม่ทันจะออกจากโค้ง ทุกเสี้่ยววินาที มีความหมายมาก ดังนั้น เครื่องยนต์จึงต้องทำงานได้ดี ไม่พังง่าย ไม่มีข้อผิดพลาดหรือข้อแก้ตัวใดๆทั้งสิ้น ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัด อีกทังเชื้อเพลิงเองก็ต้องมีประสิทธิภาพในการหล่อลื่นที่เหนือกว่าทุกมาตรฐานใดๆ ภายใต้สภาพกดดันตึงเค้นต่างๆ

ลองคิดเล่นๆดูว่า นักแข่งรถ Formula 1 มักจะมีน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 3 กิโลกรัม ในการแข่งขัน 1 สนาม  ถ้าร่างกายไม่เข้มแข็งพอ ไม่อึดพอ ก็คงจะทนต้อแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นสูงมากตลอดการแข่งขันไม่ไหว…น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเชื้อเพลิง ก็เช่นกัน

Shell ไม่ได้เป็นเพียงแค่พัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่องให้กับทีม Scuderia Ferrari เท่านั้น แต่ยังต้องให้การสนับสนุน ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ทีมนักแข่งในภาคสนามด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ของ Shell อย่างน้อยสองคน ต้องเข้าร่วมการแข่งขันรถยนต์ Grand Prix ทุกสนามแข่ง รวมทั้งสนามทดสอบตลอดทั้งปี โดยปฎิบัติงานในห้องปฏิบัติการวิจัยภาคสนาม บริเวณโรงเก็บรถสำหรับการแข่งขันภายในสนามแข่ง นั่นเท่ากับว่า ห้องทดลองวิจัยที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของ Shell คือการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมแข่งรถของ Ferrari  นั่นเอง

ในห้องปฏิบัติการวิจัยภาคสนามของ Shell นักวิทยาศาสตร์ ต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อน ในขณะแข่ง ไปจนกระทั่งหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน เพื่อทดสอบคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่องที่ใช้กับรถแข่งของทีม Ferrari เพื่อให้มั่นใจว่านักแข่งของทีมจะสามารถใช้สมรรถนะสูงสุดบนสนามแข่งได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่คุณควรรู้ไว้ก็คือ ปัจจุบันนี้ ข้อกำหนดและกติกาด้านเทคนิคของรถยนต์ที่จะเข้าร่วมแข่งขัน Formula 1 ทาง สมาพันธ์แข่งรถยนต์นานาชาติ FIA ได้กำหนดให้ ทุกทีมแข่ง ต้องใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมหลักเหมือนกับ น้ำมันเชื้อเพลิง ที่วางจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันทั่วไปบนท้องถนน แต่อาจมีสารเติมแต่งบางอย่างซึ่งทำให้น้ำมันมีคุณสมบัติเหมาะสมมากขึ้นสำหรับเครื่องยนต์รถแข่ง

ข้อกำหนดนี้หละ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการเป็นพันธมิตรทางเทคนิคกับทีม Scuderia Ferrari เพราะ Shell ใช้การแข่งขัน Formula 1 เป็นสนามทดสอบน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่อง เพราะเป็นการทดสอบในสภาวะการใช้งานด้วยความเร็วรถที่สูง ความเร็วรอบเครื่องยนต์ที่สูง ไปจนถึงอุณหภูมิสูง การสั่นสะเทือนสูง และทุกปัจจัยองค์ประกอบต่างๆ สามารถแปรผันได้ภายในระยะเวลาเพี้ยงเสี่ยววินาที เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการแข่งขัน มาวิจัยต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทดสอบทางวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูง เพื่อให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าผู้บริโภคทั่วไป นำมาใช้กับรถยนต์ของตนทั่วโลก

ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ Ferrari กับ Shell เข้าแข่งขันในรายการ Formula 1 ร่วมกันถึง 607 ครั้ง คว้าชัยชนะ 172 ครั้ง นักขับของ Ferrari ในช่วงที่ Shell ใ้การสนับสนุนอยู่ คว้าแชมป์ถึง 12 ครั้ง และ ทั้ง 2 บริษัท ร่วมกันคว้ารางวัลผู้ผลิตยอดเยี่ยม ถึง 10 ครั้ง

PARTNERSHIP MILESTONES

  • 1924: ความสัมพันธ์ของ Shell และ Enzo Ferrari เริ่มขึ้น เมื่อ Enzo ได้รับการยืนยันให้เข้าเป็นนักแข่งในสังกัดของ Alfa Romeo Shell จึงเป็นพันธมิตรด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นสำหรับ ทีม Alfa Corse
  • 1929: Enzo Ferrari ตัดสินใจก่อตั้งทีมแข่งรถของตนเอง และ Shell ก็ยังตามมาซัพพอร์ต ต่อเนื่อง
  • 1933: Enzo Ferrari เข้าควบคุมงานบริหารทีมแข่งรถ ของ Alfa Romeo น้ำมันหล่อลื่นของ Shell และน้ำมันเชื้อเพลิง Shell Dynamin เป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะในการแข่งรถรายการสำคัญทั้งใน Europe กับ Africa รวมทั้งรายการ Vanderbilt Cup ในสหรัฐอเมริกา
  • 1947: Ferrari 125S รถสปอร์ตคันแรกที่ใช้ชื่อ Ferrari ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในโรงงาน Maranello โดยใช้น้ำมันเครื่องและน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Shell
  • 1949: ทีม Scuderia Ferrari ชนะการแข่งขัน Le Mans 24H เป็นครั้งแรกในฐานะของผู้ผลิตรถยนต์
  • 1950: ทีม Scuderia Ferrari เข้าร่วมการแข่งขัน FIA Formula 1 World Championship
  • 1951: ทีม Scuderia Ferrari คว้าชัยชนะการแข่งขัน Formula 1 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในรายการ British Grand Prix
  • 1952: Ferrari โดยนักขับชื่อ Alberto Ascari สร้างสถิติ คว้าชัยชนะ 10 ครั้งรวด ต่อเนื่องในช่วงปี 1952 – 1953
  • 1964: John Surtees เป็นนักแข่งเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่คว้าแชมป์โลกทั้งประเภทจักรยานยนต์ และรถยนต์ ส่วน Ferrari ในฐานะผู้ผลิตรถแข่งให้กับ Surtees ได้รางวัลแชมป์ผู้ผลิตอันดับ 1)
  • 1998: Shell เปิดตัวน้ำมันเชื้อเพลิง Shell V-Power ในฐานะน้ำมันเกรด Premium gasoline สำหรับตลาดทั่วดลก โดยใช้ประสบการณ์จากความสำเร็จในการพัฒนาร่วมกันกับทีม Scuderia Ferrari
  • 2000: Michael Schumacher กลายเป็นแชมป์ Formula 1 ของทีม Ferrari คนแรกในรอบ 21 ปี และของ Shell ครั้งแรกในรอบ 36 ปี
  • 2004: Schumacher คว้าแชมป์โลก Formula 1 ถึง 5 ปีติดต่อกัน ขณะที่ทีม Scuderia Ferrari คว้าแชมป์ผู้ผลิตยอดเยี่ยมเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
  • 2007: Kimi Räikkönen กลายเป็นนักแข่งทีม Ferrari คนที่ 15 และเป็นคนที่ 12 ที่ Shell ให้การสนับสนุน
  • 2008: ทีม Scuderia Ferrari คว้ารางวัลผู้ผลิตยอดเยี่ยม Formula 1 เป็นปีที่ 16 และสำหรับ Shell แล้ว นี่ถือเป็นครั้งที่ 10 สำหรับรางวัลทรงเกียรตินี้
  • 2014: Shell เปิดตัวน้ำมันเครื่อง Shell Helix Ultra ที่ใช้ PurePlus Technology ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี gas-to-liquid technology จากการพัฒนาร่วมกับทีม Scuderia Ferrari มาใช้เป็นครั้งแรก
  • 2015: Shell และ Ferrari ทำข้อตกลงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันนาน 5 ปี ซึ่งจะทำให้มีวิศวกรของ Shell ต้องเข้าร่วมงานกับ Ferrari ในสนามแข่ง ถึง 21,000 ชั่วโมง ต่อ 1 ฤดูกาลแข่งขัน ของ Formula 1 นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงการ Support ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับรถยนต์ที่จำหน่ายให้ลูกค้า การแข่งขัน Ferrari Challenge และลูกค้าของ Ferrari ที่นำรถเข้าแข่งในรายการ FIA World Endurance Championship
  • 2016: Ferrari คว้าชัยชนะ การแข่งขัน FIA World Endurance Championship Cup ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์กลุ่ม GT โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิง Shell V-Power LM24 fuel และน้ำมันเครื่อง Shell Helix Ultra with PurePlus Technology
  • 2017: Shell ประกาศว่า Shell V-Power race fuel และน้ำนเครื่อง Shell Helix Ultra race lubricant ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ Ferrari ที่เข้าร่วมการแข่งขันในช่วง 3 ฤดูกาลที่ผ่านมา ได้ดีขึ้นถึง 23.3%

********** สรุป **********

การเดินทางมาเยี่ยมชมถิ่นกำเนิดของ Ferrari ในเมือง Modena และ Maranello ในครั้งนี้ ทำให้ผมได้นึกถึงคุณค่าในการเกิดมาเป็นมนุษย์ สักคนหนึ่ง

ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากในยุคสมัยของเรา ที่เกิดมาแล้ว อาจไม่เพียบพร้อม เหมือนเด็กคนอื่น แต่การที่จะทำให้เราสามารถ ยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของเราและครอบครัวให้ดีขึ้นได้นั้น มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่างคือ…

  1. ความฝัน ที่เป็นไปได้
  2. ความตั้งใจที่จะทำตามฝันให้เป็นความจริง
  3. ความมานะ บากบั่น ไม่ย่อท้อต่อสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า

ชีวิตคนเราทุกคน มันจะมีจุดเปลี่ยน ซึ่งเราทุกคนจะต้องเดินทางมาถึงจุดนั้น แต่ละจุดเปลี่ยน จะนำพาชีวิตเราให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น ทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับตัวเราเองจริงๆและชีวิตของ Enzo Ferrari ก็แสดงให้เราได้เห็น (ในเบื้องต้น) แล้วว่า เขาเลือกที่จะเดินหน้ามากกว่าจะเสียเวลาคิดถึงอดีต

Enzo Ferrari มีสิ่งหนึ่งที่เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป คือ เขา รักการแข่งขันในทุกสิ่ง เป็นคนไม่ยอมแพ้ ต้องเอาชนะทุกอุปสรรคให้ได้ เขามี Passion กับรถยนต์ และทุกสิ่งที่เขาทำ แม้ว่า สงคราม จะทำให้เขาสูญเสียพ่อแลพี่ชาย จนกลายเป็นคนที่มีบุคลิกค่อนข้างน่ากลัว แต่ในอีกด้านหนึ่ง Enzo Ferrari ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้คนอีกมากมาย ที่กำลังประสบปัญหาชีวิต ขาดผู้นำครอบครัว ขาดที่พึ่งทางใจ ได้เรียนรู้ไว้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่มีให้เห็น เกิดขึ้นจริง และกลายเป็นตำนาน…

ตำนานที่พาให้ Ferrari กลายเป็นชื่อแรกๆที่ผู้คนมักจะนึกถึงเวลาพูดถึง รถสปอร์ต หรือรถแข่งตลอด 70 ปี เช่นทุกวันนี้…


Special Thanks to :
บริษัท Shell แห่งประเทศไทย จำกัด
และ บริษัท Hill and Knowlton จำกัด
เอื้อเฟื่อการเดินทางในครั้งนี้

คุณ Pan Paitoonpong สำหรับข้อมูลรถยนต์ Ferrari รุ่นต่างๆ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในสนาม Fiorano และ

ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ใน Studio เป็นของ Ferrari SpA.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
4 กรกฎาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
The pictures of all vehicles in Studio and Fiorano circuit
is own by Ferrari SpA.

Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
4 July 2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE