ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นยุค90 ต้องเคยผ่านช่วงเวลาของตู้สติ๊กเกอร์ ตู้บันทึกภาพรูปลักษณ์ประมาณ
ตู้เอทีเอ็ม แต่มีผ้าบัง และมีสีสัน..ที่สำคัญ ต้องมีเสียงเด็กวี๊ดว้ายกระตู้วู้อยู่ข้างใน
ตู้ถ่ายภาพที่เราต้องยกโขยงไปกับเพื่อนเพื่อแย่งกันเอาหัวแทรกเข้าไปในคอกผ้าขนาดย่อม
ที่มีพนักงานประจำตู้ยืนรอถ่ายรูปด้วยความเบื่อหน่าย บางตู้มีอุปกรณ์เสริมที่เหนือกว่าเรียก
ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเช่น แป้งฝุ่น หวี เห็นทีไรพาลให้นึกถึงร้านถ่ายรูปยุคเก่าที่เคยใช้บริการ
ถ่ายรูป1นิ้วติดบัตรตอนเด็กๆร้านถ่ายรูปเก๋ากึ้กพวกนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ชั้นบนของตึกแถว
นอกเหนือจากพื้นที่สำหรับถ่ายรูปแล้ว ยังมีห้องแต่งตัวพร้อมสารพัดยูนิฟอร์มแขวนไว้ที่ราว
ตั้งแต่ชุดนักเรียน สูทสากล เพนกวินสูท(ชุดรับปริญญา) ยันชุด ซาฟารี มีแขวนไว้
ให้เลือกมากมาย
ตู้สติ๊กเกอร์ที่ว่าถ้าเปรียบกับปัจจุบันมันคือการเซลฟี่ในยุคโน้นดีดีนี่เอง แค่ว่าในยุคนั้นเราใช้
โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปตัวเองแบบยุคนี้ไม่ได้ ก็แหงล่ะครับ ลำพังแค่การห้อยเอาโทรศัพท์
ยุคโบราณอันใหญ่โตใช้แทนที่ยกน้ำหนัก ยกฟาดหัวควายควายก็ตายนั้น มันเป็นเรื่องที่ต้อง
ใช้ความสามารถพิเศษมากพออยู่แล้วควักออกมาประกบหูเมื่อไหร่ สายตาแทบทุกคู่ที่อยู่
ในรัศมีร้อยเมตรต้องเหลียวมามองพร้อมเพรียง เพราะหรูสุดแล้วในบรรดาอุปกรณ์ไฮเทคยุคนั้น
ใครมีโทรศัพท์มือถือในยุคโน้นต้องจัดว่าไม่ธรรมดา คิดดูสิครับผู้ที่คิดจะเป็นเจ้าของโทรศัพท์
มือถือสักเครื่องในยุคโน้นต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมเดือนละ500บาท ค่าโทรคิดต่างหากนาที
ละ6-9บาท วิวัฒนาการโทรศัพท์มือถือค่อยๆเล็กลงตามฤดูกาลของกลยุทธ์ใช้แข่งขัน
จากขนาดใหญ่เท่ากระติกน้ำย่อส่วนลงมาเหลือเพียงหนึ่งฝ่ามือ มีชนิดดีไซน์ฝาพับกระชับถนัดมือ
ฤดูกาลหมุนไปข้างหน้าย่องข้ามกาลเวลาสู่ยุค2000 ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์
จำเป็นที่แพร่หลายทุกหย่อมหญ้าแม้แต่ชาวนายังเหน็บไว้ที่เอวเผื่อลูกเมียจะโทรตามยามฉุกเฉิน
กลายเป็นอวัยวะลำดับที่33ในร่างกายไปแล้วโดยปริยาย
พลันที่ผมหวนคิดถึงเรื่องราวในยุค90 สายตากวาดไปมองบรรดาเทคโนโลยีล้าหลังบนชั้นวาง
ของเก่าแก่ฝุ่นจับโดยอัตโนมัติ เห็นซากกระติกน้ำมีเสาอากาศยี่ห้อโมโตโรล่า ซากกระดูกหมา
ในนามแดนคอล900 เครื่องนี้เสาอากาศชักเข้าชักออกได้ วางเรียงรายอยู่คู่กับเพจเจอร์เหน็บ
กระเป๋าหลังขวาอีกหลายอัน
และถัดไปอีกสามช่วงตัวแมวบิดขี้เกียจมีสมุดขนาดหนึ่งคืบบรรจุภาพถ่ายสีจืดจางจากตู้สติ๊กเกอร์
ยุค90 ที่ถ่ายกับไอ้แว่น อีอ้อม อีแบน อีโอ๊ตไอ้คิม ไอ้หวัง ไอ้ประวิทย์(ชื่อพ่อเพื่อน เรียกแต่ชื่อพ่อ
ของมัน จนปัจจุบันจำชื่อเพื่อนคนนี้ไม่ได้แล้ว) บางคนดูดำกว่าตัวจริง ไม่น่าเชื่อว่าเทคโนโลยีตู้
สติ๊กเกอร์จะมีแสงเงาที่ปรับได้ดำอันเดอร์อั๊กลี่เหลือเกิน ทำให้เด็กนักเรียนหน้าตาบ้านๆแปลง
สภาพกลายเป็นเด็กมัธยมไนจีเรียได้สมบูรณ์แบบ ใกล้ๆกับสมุดภาพถ่ายสติ๊กเกอร์ยังมี
โซนี่วอล์คแมนรุ่นเทปคาสเส็ทท์มีระบบออโต้รีเวิร์ส ตัวเครื่องกลับด้านเทปเองอัตโนมัติ เทปคาสเส็ทท์
ไม่มีกล่องน่าจะเป็นม้วนที่อัดรายการวิทยุที่ชื่นชอบเอาไว้ฟังย้อนหลัง ม้วนนี้น่าจะเป็นBobby’s Top40
อีกม้วนวางอยู่ข้างๆไม่มีกล่องเหมือนกันตัวอักษรซีดจางต้องค่อยๆปะติดปะต่อชุดตัวอักษรที่ยัง
พออ่านออก
พอหยิบมาดู…จึงรู้ว่ามันคือเทปคาสเส็ทท์ซิงเกิ้ลเพลง “Seasons Change(ฤดูที่แตกต่าง)”
ของบอยด์ โกสิยพงษ์
อ้าว กรรมละ..งั้นแสดงว่าไอ้กล่องที่ปาทิ้งไปก่อนหน้านั้นหลายปีเพราะคิดว่า เออ..ไหนๆเทปมันก็
หายไปแล้วก็ทิ้งกล่องไปซะเลยแล้วกัน..พอมาวันนี้ตัวเทปกลับมาปรากฏอยู่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าโชคดีหรือ
ซวยฟรีเพราะใจร้อนกันแน่
แต่จะยังไงก็เถอะ ถึงมีกล่อง มีเทป แล้วจะฟังยังไงฮะไอ้เมธี.. เอ็งก็ฟังไม่ได้อยู่ดี เพราะเครื่องเล่นเทปพัง
ไปนานแล้ว ถ้าอยากจะฟังก็ต้องรื้อหีบมหาสมบัติที่เก็บซีดียุค90เอาไว้(แหม พูดยังกะเก็บไว้เป็นหมวดหมู่
ที่จริงก็ปนกันมั่วไปหมด ทั้งเพลงไทย เพลงฝรั่ง เพลงจีน แผ่นแท้ แผ่นปลอม แผ่นแวมไพร์…คิดดูละกัน
คุณผู้อ่าน สมัยที่แผ่นเอ็มพีสามระบาดยิ่งกว่าไข้หวัดนก แวมไพร์เคยโฆษณาว่า ของแท้ต้องแวมไพร์
นี่มึงขโมยลิขสิทธิ์เขามาหน้าด้านๆ ลักลอบเอาผลงานทางปัญญาเขามา ยังมีหน้ากล้าใช้คำว่าของแท้)
คงต้องปัดฝุ่นปูพรมพานั่งไทม์แมชชีนเล่าย้อนให้คุณผู้อ่านวัยรุ่นยุคนี้รับรู้ก่อนว่า สมัยที่ค่ายเพลงชื่อ
Bakery Music(เบเกอรี่ มิวสิค)ก่อตั้งขึ้นมาช่วงกลางยุค90 โดยบุคคลที่เราอยากจะเรียกพวกเขาว่า
ศิลปินหัวก้าวหน้า 3 ชีวิต ประกอบด้วย สุกี้ กมลสุโกศล แคลปป์ หรือสุกี้ วงพรู นั่นแหล่ะ , สมเกียรติ
อริยะชัยพาณิชย์ หรือMr. Z ,และ ชีวิน โกสิยพงษ์ ชื่อจริงตามบัตรประชาชนของ”บอยด์ โกสิยพงษ์”
เบเกอรี่ มิวสิค ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากอัลบั้มแรกของวงดนตรีชื่อ Modern Dog ผลงาน
ชุดแรกในนามของค่ายที่ออกจำหน่าย ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ชื่นชมว่า เปิดศักราชใหม่แห่งการฟัง
เพลงของคนไทยด้วยแนวทางดนตรีที่ทันสมัยใหม่เปี๊ยบ สมกับวงดนตรีชื่อหมาทันสมัย(Modern Dog)
เพราะก่อนหน้านั้นทุกคนที่ฟังเพลงไทยล้วนตกอยู่ในการครอบงำของสำเนียงยานคางกับกีตาร์บัลลาด
ขาดใจจากอัสนี-วสันต์มาช้านาน ดีเจยุทธนา บุญอ้อม หรือป๋าเต็ด ถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ว่าอัลบั้มแรก
ของโมเดิร์น ด็อก เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการเพลงไทยเลยทีเดียว ตัวผมนั้นแน่นอนว่าอยู่ในวัย
ที่ตื่นเต้นไปกับซาวน์ใหม่ๆจากขนมปังดนตรีในตอนนั้น ไม่พลาดที่จะเจียดเงินค่าขนม ไถเงินผู้ใหญ่ใกล้
ตัวเท่าที่ทำได้ หาซื้อมาฟังทันทีเช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากได้ฟังโมเดิร์นด็อกไปให้สัมภาษณ์พร้อมแสดงสด
แบบอะคูสติกสั้นๆในรายการวิทยุSmile Radioช่วงดึกๆของดีเจโด๋ว-มรกต โกมลบุตร
ถัดจากงานของโมเดิร์นด็อก ผมก็คิดว่าเบเกอรี่มิวสิคคงจะมีผลงานเพลงร๊อคจากวงอื่นๆให้ฟังใน
ลำดับถัดไป เพราะช่วงนั้นเริ่มมีกระแสวงดนตรีประเภทอัลเทอร์เนทีฟร๊อคออกมาให้ฟังกันเพิ่มขึ้น
เรื่อยๆ ค่ายเพลงที่เราเคยนับได้แค่4สังกัด แกรมมี่ คีตา อาร์เอส นิธิทัศน์ ก็เริ่มมีค่ายเพลงชื่อใหม่ๆ
เข้ามาในสารบบมากขึ้น เช่น Stone , Eminor (ค่ายเพลงที่ทำเพลงไทยของEMI),BMGค่ายเพลง
สากลก็เริ่มทำเพลงไทยออกขาย,ร่องเสียงลำใย,Eastern Sky, Music X ฯลฯ แต่ที่ไหนได้
งานเพลงชุดถัดจากโมเดิร์นด็อกของเบเกอรี่ฯกลับเป็นดนตรีอาร์แอนด์บี และที่ทำให้ผมงงยิ่งไป
กว่านั้นคือ ชื่อศิลปินที่อยู่บนปกอัลบั้ม ไม่ได้เป็นคนร้องเอง น่าจะเรียกว่าเป็นยุคแรกๆของวงการ
เพลงไทยที่ใช้ชื่อโปรดิวเซอร์บนปกเทป แทนที่จะแปะชื่อนักร้องเหมือนอย่างที่เคยปฎิบัติกันมานมนาน
ชื่อโปรดิวเซอร์ที่แปะหราบนปกเทปชุด RHYTHM & BOYd คือ Boyd Kosiyabong
(บอยด์ โกสิยพงษ์) เพลงที่ทำให้สะดุดหูที่สุดในอัลบั้มตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินเป็นแทร็คกลางๆ
อัลบั้มที่ชื่อว่า Seasons Change (ฤดูที่แตกต่าง) เพลงให้กำลังใจผู้ที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังกับชีวิต
สลัดคราบเพลงให้กำลังใจจากหมวดเพลงเพื่อชีวิตที่มักมาพร้อมดนตรีโฟล์คเชยๆประเภทเกา
กีตาร์ท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าใหญ่ “Seasons Changes(ฤดูที่แตกต่าง)” จับเอาแก่นแท้ที่งดงามของ
การให้กำลังใจมาปรุงแต่งใส่ดนตรีโซลกระฉับกระเฉง ประณีต ชุ่มฉ่ำไปด้วยเมโลดี้ติดหูที่เราอยาก
ร้องตามไปจนจบเพลงทุกครั้งที่ได้ยิน
ว่ากันว่างานศิลปะใดใดในโลกหล้าใบนี้ที่เข้าขั้นผลงานอมตะนิรันดร์กาล มักมีความเป็นมาจากเรื่อง
จริงอันแสนเจ็บปวดหดหู่ที่เกิดขึ้นแล้วกระทบความรู้สึกอย่างแรงต่อเจ้าของผลงาน “Seasons Changes
(ฤดูที่แตกต่าง)”ถูกแต่งขึ้นจากความรวดร้าวดังกล่าวเช่นกัน
เรื่องมีอยู่ว่า ตอนที่คุณบอยด์แกเดินทางไปอเมริกาเพื่อทำเพลงอัลบั้มชุดแรก จู่ๆวันหนึ่งขณะที่กำลัง
เดินมาไขกุญแจรถเพื่อขับออกไปทำธุระ ภาพที่ปรากฎตรงหน้าถึงกับทำให้แกอ่อนแรงเข่าทรุด
รถยนต์คันนั้นโดนขโมยทุบงัดเอาสิ่งของข้างในไปสิ้นซาก ไม่เว้นแม้แต่เดโมเพลงที่เตรียมนำมาทำมา
บันทึกเสียงทำมาสเตอร์ในอเมริกา คุณบอยด์แกเคยให้สัมภาษณ์ว่านาทีนั้นเหมือนความฝันที่สร้างมาทั้ง
ชีวิตพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตา ความหดหู่สิ้นหวังเข้ามาเกาะกินหัวใจจนแทบอยากจะเลิกทำเพลง
พอตั้งสติได้แกโทรกลับมาหาคุณแม่ที่เมืองไทยเล่าความโชคร้ายที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ สายโทรศัพท์ปลาย
ทางรับฟังความทุกข์ใจของลูกชายทุกถ้อยคำ ก่อนจะเอ่ยส่งกำลังใจปลอบประโลมด้วยประโยคง่ายๆว่า
ฟ้าหลังฝน ย่อมสวยงาม พลิกจากความหดหู่ที่กัดกินความรู้สึกก่อนหน้าให้หันมายอมรับความจริงแล้วฮึดสู้ใหม่
จนในท้ายที่สุดก็กลายเป็นที่มาของเพลงให้กำลังใจที่ดีที่สุดเพลงหนึ่งจากยุค90 บอยด์เคยเขียนบันทึกสั้นๆ
ถึงความรู้สึกที่มีต่อเพลงนี้ในซีดีซิงเกิ้ล7เวอร์ชั่น ซึ่งออกมาขายหลังจากเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง
แกบันทึกไว้ว่า
“Seasons Changeเป็นเพลงที่ผมตั้งใจแต่งขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจตัวเอง
ในเวลาที่ผมท้อแท้ ผมจะคิดเสมอว่าอย่างน้อยเหตุการณ์ที่ทุกข์ที่สุดก็ทำ
ให้ผมเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเวลาที่สุขที่สุดกับเวลาที่ทุกข์ที่สุด
ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่คุณกำลังตกอยู่ในความทุกข์และกำลังท้อแท้ ผมหวังว่า
เพลงนี้จะทำให้คุณมองเห็นแง่มุมดีๆจากความทุกข์เหล่านั้นบ้าง”
ผู้สันทัดกรณีที่ไม่ประสงค์ออกนามและไม่ประสงค์ออกตังค์และคลุกคลีอยู่กับช่วงเวลาของการปลุกปั้น
อัลบั้มแรกของบอยด์ เคยให้ข้อมูลว่า เดโมอัลบั้มRHYTHM & BOYd ทุกเพลงก่อนนำไปทำแผ่นมาสเตอร์
เป็นเสียงร้องของ”ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์น ด็อก”!!!!!! ผู้สันทัดกรณีท่านนั้นมิได้พูดเฉยๆ แต่พูดไป
ด้วยพร้อมเอื้อมมือไปหยิบเทปเดโมม้วนดังกล่าวที่ตนเองมี1ก๊อปปี้ไว้ในครอบครองจากกล่องข้างตู้มาโชว์
สร้างความอิจฉาปนหมั่นไส้กับผมอย่างยิ่งยวด จนในที่สุดแต่ละเพลงในอัลบั้มก็ถูกคัดเลือกออกมาแล้ว
ควานหาศิลปินรับเชิญที่มีบุคลิกเสียง อารมณ์การร้อง ตรงกับเนื้อหาและความตั้งใจของคุณบอยด์ที่วาง
ไว้แต่แรก สำหรับเด็กทุนน้อยและบ้าฟังเพลงอย่างผม งานชุดRHYTHM & BOYd จัดว่ากำไรในการ
ลงทุนทางหูอย่างมาก เพราะได้ฟังเสียงร้องของศิลปินตั้งมากมายในม้วนเดียว ซึ่งยุคนั้นคงจะมีแต่อัลบั้ม
รวมฮิตเท่านั้นที่ทำได้อย่างรวมฮิตดาวแดงของอาร์เอส ซอฟท์แทร็ค หรือฮอตแทร็ค ของแกรมมี่
เฉพาะเพลง”Seasons Change(ฤดูที่แตกต่าง)” ความตั้งใจแต่แรกของบอยด์นั้น หมายมั่นปั้นมือ
วางตัวคนร้องเพลงนี้ไว้เป็น”ป็อด โมเดิร์นด็อก” แต่เมื่อบันทึกเสียงเสร็จแล้วนำมาฟังกลับให้ความ
รู้สึกว่าทำไมมันหดหู่ แลดูระทมทุกข์กว่าเดิม เฮ่ยนี่มันเพลงให้กำลังใจนี่หว่า ต้องถ่ายทอดออกมา
ให้ฟังแล้วมีความรู้สึกในเชิงบวกสิ เหมือนคนที่เดินจนหมดแรงกำลังจะเฉาตายกลางทะเลทรายแล้วจู่ๆ
มีสายฝนราดรดลงมาจากท้องฟ้าให้ชุ่มฉ่ำ มีเรี่ยวแรงเดินต่อไปสู่จุดหมาย หลังจากเจอทางตันไม่รู้ว่า
จะหาใครร้องแทนป็อดในเพลงนี้ ป็อดก็เสนอบอยด์ว่า เขามีเพื่อนที่เรียนสวนกุหลาบมาด้วยกันคนหนึ่ง
ร้องเพลงดี เคยใส่กางเกงทรงแบ็กกี้แบบเดียวกับMC HAMMERเต้นเพลง U Can’t Touch This
ตอนงานปีใหม่ จะให้ลองชวนมาออดิชั่นไหมล่ะ ผู้ชายที่เป็นเพื่อนป็อดคนนั้น ชื่อ นภ พรชำนิ !!!!!!!
นั่นล่ะครับจุดกำเนิดขนมปังหน้านภ (เป็นชื่อที่ผมเรียกแซวผลงานของเบเกอรี่ยุคกลางๆ ราวต้นยุค
2000 เพลงจากเบเกอรี่มิวสิคจำนวนมากที่ออกมาช่วงนั้น เป็นเสียงร้องของนภเกินครึ่ง ฮ่า ) Seasons
Change(ฤดูที่แตกต่าง) เป็นเพลงแรกในชีวิตของนภที่ได้รับการบันทึกเสียงในปลายปี 2537 ใช้เวลา
เกือบเดือนกว่าจะร้องออกมาได้เป็นที่พอใจ น่าพอใจขนาดที่บอยด์พูดว่า “ ผมเชื่อว่าว่านภเกิดมาเพื่อ
ร้องSeasons Change” ตัวนภเองนั้นตอนที่ถูกป็อดชวนมาอัดเสียงเพลงฤดูที่แตกต่าง กำลังศึกษาอยู่
ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สุดหล่อคงไม่คาดคิดมาก่อนว่าเส้นทางชีวิตจะหันเหต่าง
จากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงหลังจากเข้าห้องอัดกมลสุโกศลในเวลานั้นตามคำชักชวนของเพื่อนป็อด
หลักฐานที่ยืนยันว่านภรู้สึกอย่างนั้น คือ บุ๊คเลท(Booklet = ปกอัลบั้มที่ทำเหมือนสมุดบันทึกขนาดย่อม
ใส่เรื่องราวของเพลงของศิลปินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องไว้ค่อนข้างละเอียด)ในอัลบั้มชุด The Beginning
(From 1994-2001) ซึ่งเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของนภ บันทึกไว้ว่า “เพลงนี้เปลี่ยนชีวิตของใครหลายๆคน
รวมทั้งชีวิตของผมเองด้วย เป็นเพลงให้กำลังใจ ให้อะไรหลายๆอย่างกับผม ทำให้ผมได้พบกับทุกๆคนที่
เบเกอรี่มิวสิค และพบกับอัจฉริยะบุคคลที่เป็นทั้งอาจารย์ ทั้งพี่ชาย และเพื่อนที่ผมเคารพที่สุด
“บอยด์ โกสิยพงษ์” ขอบคุณพี่บอยด์มากๆครับ”
ช่วงระยะเวลาที่Seasons Change(ฤดูที่แตกต่าง)กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เบเกอรี่ มิวสิค
ผู้ที่ทำให้การฟังเพลงของวัยรุ่นไทยยุคนั้นแลดูเท่ทันสมัยเทียบเคียงการฟังเพลงสากล เรื่องผม
นี้ไม่ได้พูดเอง แต่พี่ๆน้องๆที่ใกล้ตัวซึ่งฟังแต่เพลงสากลล้วนๆ ไม่ลดตัวลงมาฟังเพลงไทยโดยเด็ดขาด
เมื่อเจอกับซาวน์แปลกหูในยุคโน้นจากฝั่งเพลงไทยที่ผลิตโดยเบเกอรี่ มิวสิค ถึงกับยอมควักเงินซื้อ
เข้ามาสะสมในคอลเลคชั่นส่วนตัว สิ่งหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งใหม่ในวงการเพลงไทยอีกอย่างหนึ่งในตอนนั้น
คือ Seasons Change(ฤดูที่แตกต่าง) มีการผลิตออกมาจำหน่ายในรูปแบบเทปและซีดีซิงเกิ้ล จริงๆก่อนหน้านี้
บอยด์ผลิตซิงเกิ้ลเพลง”รักคุณเข้าแล้ว”ออกขายก่อนSeasons Change(ฤดูที่แตกต่าง) ในช่วงเวลาที่ไม่ห่าง
กันมากนัก คงต้องอธิบายก่อนว่า ในต่างประเทศมักจะมีการจำหน่ายแผ่นซิงเกิ้ลกันอย่างแพร่หลาย แผ่นซิงเกิ้ล
มักมีเพลงดียวแต่หลายๆเวอร์ชั่น สำหรับใช้ในหลายๆโอกาส เช่น Radio Edit-สำหรับรายการวิทยุ บางเพลงยาว
เกิน5นาที ไม่เหมาะกับสถานีวิทยุที่ส่วนใหญ่มีมาตรฐานอยู่ที่4นาที,Extended Version-อันนี้ซัดกันเต็มที่มีเวลา
เหลือเฟือ เล่นในไนท์คลับได้สบายมาก ดีเจในคลับจะชอบ,Album Version-แบบนี้อาจจะเหมาะกับแฟนพันธุ์แท้
ที่อยากฟังฉบับครบถ้วนทุกรายละเอียดดนตรีที่ศิลปินตั้งใจทำแต่แรก หรือบางครั้งมีการชักชวนรีมิกเซอร์
(Remixer)ที่มีชื่อเสียงมาทำดนตรีฉบับพิเศษที่เป็นกลิ่นอายแนวทางของรีมิกเซอร์คนนั้นๆ
CD Single “Seasons Change (ฤดูที่แตกต่าง)” ถูกผลิตขึ้นทั้งหมด 7 เวอร์ชั่น และในแผ่นซิงเกิ้ลมีเพลง
“เจ้าหญิง”(เพลงในชุดRHYTHM & BOYd ร้องโดย ป็อด โมเดิร์น ด็อก)แอบซ่อนไว้เป็นแทร็คที่8 โดย
ไม่ปรากฎชื่อแทร็คบนปก คนที่ออกแบบปกซิงเกิ้ลแผ่นนี้ก็คือ Tana Kosiyabong น้องชายของบอยด์นั่นเอง
อุตสาหกรรมในครัวเรือนหรืออย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ปกเทปซิงเกิ้ลเพลง”..ก่อน”ของโมเดิร์น ด็อก
ที่เป็นรูปหมาใส่แว่นกันแดด ก็เป็นฝีมือของคุณธนา
หลังจากเอกเขนกนอนฟังทุกเวอร์ชั่นตลอดทั้งแผ่นจบลง ผมก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างหนึ่งว่าแต่ละเวอร์ชั่น
มันเหมือนคนรอบๆตัวเราที่ต่างมีวิธีการให้คำปลอบโยนที่แตกต่างกันไปเวลาเราทุกข์ร้อน มีปัญหาสาหัสกับ
ชีวิต ฉบับดั้งเดิมที่เป็นเสียงร้องของนภ เป็นหมือนการให้กำลังใจที่โดยปกติแล้วกลุ่มคนที่จะซาบซึ้งกับมัน
มากๆจะเป็นสาวๆ ส่วนผู้ชายอย่างผมจะมองด้วยสายตาหมั่นไส้ในความหล่อของนภ แล้วก็ตั้งแง่ว่ากูฟังเพราะ
เนื้อเพลงมันดีกับทำนองมันเพราะหรอกว่ะ แต่ ณ วันที่กำลังเศร้าใจกับอะไรบางอย่างในชีวิตอยู่ จู่ๆเพลง
Seasons Change(ฤดูที่แตกต่าง)ฉบับเสียงของนภลอยเข้ามาจากวิทยุที่เปิดทิ้งไว้ แล้ววันนั้นเสียงร้องของ
นภไพเราะมากๆ ต้องเดินไปหยิบซีดีที่ชั้นวางมาฟังเองซ้ำอีกสามเที่ยว
ฉบับที่เรียกว่า Z Pop Mix แน่นอนว่านี่คือการทำงานของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ เวอร์ชั่นนี้เหมือน
พี่ชายวัยใกล้เคียงกัน อายุห่างกันไม่มาก เดินมาตบบ่า แล้วพูดว่า อย่าไปวิตกกังวลกับมันมากนักไอ้ปัญหาเนี่ย
….ป่ะ ไปหาเพลงเพราะๆ หาอะไรอร่อยๆกินกัน พี่เลี้ยงเอง
ฉบับSummer Mix ที่มีJoey Boyมาร่วมแร๊พ ถ้าคุณมีเพื่อนกวนตีนที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาวะใดในชีวิต
มันก็พร้อมจะกวนตีนคุณได้ทุกเมื่อ แม้ขณะที่คุณกำลังซีเรียส มันก็จะยังกวนตีน จนคุณต้องกระโดดสกาย
คิกมันสักที แต่ที่จริงแล้วมันเป็นคนที่โอเคมากๆ เพียงแต่พูดให้กำลังใจ ปลอบโยนไม่เป็นเท่านั้นเอง
การปลอบโยนหรือให้กำลังใจของมันคือ ซื้อแผ่นหนังโป๊ให้คุณดูแก้เครียด
ส่วนฉบับอะคูสติก ที่ตั้งชื่อว่า Natural Mix โดย ธีร์ ไชยเดช ดุจญาติผู้ใหญ่ใจดีที่คุณเดินทางไปหาเพื่อ
ขอคำปรึกษาปัญหาหนักอกหนักใจ แล้วพบว่าบ้านคุณลุงท่านนี้มีสวนร่มรื่นในบ้านขนาด200ตารางวา
อุดมไปด้วยต้นไม้นานาชนิด คุณอาจต้องช่วยลุงแกรดน้ำต้นไม้ไปด้วยขณะที่คุยกับแก แล้วลุงแกจะมี
คำพูดน้อยๆ ชุดถ้อยคำไม่มากมาย อาจพูดวนเวียนไปมาในไม่กี่ชุดคำพูด แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านลอง
ไตร่ตรองดูแล้ว จึงตระหนักว่าสิ่งที่แกพูดมันมีพลังว่ะ
แม้กระทั่งฉบับที่เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษก็ยังเคยถูกผลิตออกมาในช่วงปลายยุค90 โดยศิลปินอังกฤษชื่อ
NEWTON ซึ่งก็มีทั้งฉบับที่NEWTONร้องคนเดียวกับฉบับที่นร้องคู่กับนภ พรชำนิ สมัยนั้นเบเกอรี่ มิวสิค
มีสังกัดย่อยในเครือข่ายชื่อ BAKERY INTERNATIONAL ศิลปินที่เป็นเบอร์แรกของค่าย ถ้าให้เดาคุณคง
นึกไม่ออกจนกว่าจะตรุษจีนปีหน้าแน่ๆ เธอคือ กมลา สุโกศล ผู้ที่ร้องเพลง Live And Learn !!! ในอีกหลายปีถัดมา
พูดถึงฉบับNEWTONก็ขำพวกเกรียนคีย์บอร์ดที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงแต่กลับไปกล่าวหาว่า Seasons Change
(ฤดูที่แตกต่าง)ไปลอกทำนองเพลงฝรั่งมาทุกกระเบียดนิ้วโน๊ต บลา บลา บลา จนสุดท้ายมีคนที่รู้จริงเข้าไป
ตอบจนหน้าหงายหายเงียบไปจากกระทู้ว่า ไอ้เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่แกได้ฟังน่ะ มันก็ศิลปินในสังกัดของ
เจ้าของเพลงเค้านั่นแหล่ะ
ถัดจากนั้นมาก็มีเวอร์ชั่นพ๊อพร๊อคโดยวงดนตรีหญิงล้วน Venus Butterfly วงดนตรีที่โหน่ง-พิมพ์ลักษณ์
กมลเพ็ชร ซึ่งเคยออกอัลบั้มกับเบเกอรี่ฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อทำเพลงกับเพื่อนๆ ล่าสุดก็ยังมีRoom39วงดนตรี
ที่สร้างชื่อจากช่องท่านท่อ(YouTube)ด้วยการคัฟเวอร์เพลงคนอื่นรวมทั้งSeasons Change(ฤดูที่แตกต่าง)
ฝีมือจัดจ้านจนกระทั่งได้รับการติดต่อจากบอยด์ให้เข้าร่วมทำงานเพลงด้วยกันในสังกัดLove Is ส่วนคนที่เป็น
แฟนภาพยนตร์ของGTHแน่นอนต้องคุ้นชื่อหนังเรื่อง Seasons Change ที่นอกจากชื่อจะตรงกัน ยังนำเพลงนี้
ไปเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงธีมอลังการออเคสตร้าใส่ในภาพยนตร์
ฤดูที่แตกต่าง(Seasons Change) กลายเป็นเพลงประจำตัวของบอยด์ไปแล้วด้วยมติเอกฉันท์ของนักฟังเพลง
ทุกครั้งเวลาเรานึกถึงผู้ชายหน้ากลมๆ ท่าทางใจดี รักครอบครัว ชื่อ”บอยด์ โกสิยพงษ์”เพลงนี้จะลอยตามมาทันที
เหมือนซาวน์แทร็คประกอบฉากน่ารักๆในภาพยนตร์สักเรื่องที่เพลงถูกเล่นขึ้นมาในจังหวะลงตัวเหมาะเจาะ ส่วน
นภ พรชำนิ หลังจากที่เข้าสู่วงการเพลงด้วยการทำงานดนตรีกับเพื่อนๆในนามวงP.O.P.ก็มักหยิบเพลงนี้ขึ้นไป
แสดงสดบนเวทีอยู่เสมอๆ เมื่อครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า BAKERY THE CONCERT ราวปี2001
ฤดูที่แตกต่าง(Seasons Change) ก็ถูกวางให้เป็นเพลงไฮไลท์ช่วงท้ายของโชว์ที่ทุกศิลปินของเบเกอรี่ต่างเดิน
ออกมาจากหลังเวทีมาขับขานกันคนละท่อนสองท่อนเป็นการส่งท้ายโชว์ครั้งนั้นอย่างน่าประทับใจ