นานมาแล้ว สมัยที่รัฐบาลไทยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงลิ่วเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ Subaru มีรถที่ประกอบในประเทศเราขายอยู่ รุ่นที่รู้จักกันดีก็คือ Leone ที่บางครั้งจะมีชื่อเรียกเป็นรุ่นย่อย เช่น Subaru GFT, Subaru DL, Subaru GL หรือ GLF-5 จนมาถึง Leone เจนเนอเรชั่นที่สาม (Subaru GR) หน้าปัดดิจิตอล ตัวรถเหลี่ยมทั้งคัน นั่นคือรุ่นสุดท้ายที่ประกอบในประเทศไทยเพื่อขายคนไทย
ปี 1980 Subaru ขายรถได้ 1,311 คันในไทย แต่จากนั้นก็เริ่มร่วงลงมาเหลือ 674 คันในปี 1983 และในปี 1987 ขายได้เพียง 44 คัน เนื่องจากคู่แข่งทั้งญี่ปุ่นและยุโรปมีการพัฒนารุดหน้าไปไกลในการขับขี่ คุณภาพการประกอบ และราคา ต่อมาเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 90s เมื่อรัฐบาล ดร. อานันท์ ปันยารชุน ปรับลดกำแพงภาษีรถนำเข้า ส่งผลให้ราคารถนำเข้าถูกลง 3-4 เท่าตัวจนสามารถแข่งขันกับรถประกอบในประเทศในเรื่องราคาได้ จึงไม่จำเป็นต้องประกอบรถในไทยอีกต่อไป
3 ทศวรรษผ่านไป คนไทยเราได้มีโอกาสเป็นผู้ประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อ Subaru อีกครั้ง โดยในวันที่ 23 เมษายน 2019 กลุ่ม Tan Chong International (TCIL) กลุ่มทุนใหญ่สิงคโปร์/ฮ่องกงที่ถือครองการจำหน่ายรถแบรนด์ Subaru ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำพิธีเปิดโรงงานประกอบ ในชื่อ “บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด” หรือเรียกย่อว่า TCSAT
ข้อมูลสำคัญของโรงงาน TCSAT
- ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร
- งบประมาณลงทุนในการสร้างโรงงานเท่ากับ 5,000 ล้านบาทหรือมากกว่า
- TCIL ถือหุ้น 74.9 % ในนามบริษัทในเครือ (TC Manufacturing and Assembly Thailand-TCMA)
- Subaru Corporation (บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น) ถือหุ้น 25.1 %
- TCIL จะดูแลด้านการบริหารและการจัดซื้อ/สนับสนุน ส่วน Subaru Corp. จะดูแลปฏิบัติการต่างๆในสายการผลิต
- จำนวนพนักงานในโรงงาน 400 คน รวมชาวญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่ประจำการอยู่ ณ ประเทศไทย
โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะทั้งกลุ่ม TCIL และ Subaru มองเห็นศักยภาพในการเจริญเติบโตของยอดขายในภูมิภาคอาเซียน และคิดว่าการนำรถมาประกอบในเขตอาเซียนจะช่วยให้ได้ประโยชน์หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการค้าระหว่างประเทศสมาชิกที่ทำให้สามารถนำเข้า/ส่งออกรถระหว่างประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษีมากเท่าการนำเข้าจากญี่ปุ่น ส่งผลให้สามารถตั้งราคาจำหน่ายที่ลูกค้ารับได้ หรือเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวของตลาดในอนาคต
ผู้บริหารระดับสูงของ TCIL เชื่อว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการประกอบรถยนต์ มีแรงงานทักษะสูง ในขณะเดียวกันก็มีต้นทุนในการผลิต (ทางด้านแรงงาน) ที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆซึ่งมีขีดความสามารถในการประกอบรถระดับมาตรฐานเดียวกัน
ข้อดีหลายประการ ประกอบกับที่ TCIL มีพื้นที่สำหรับการตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง (พื้นที่ส่วนหนึ่งเคยเป็นไลน์ประกอบของ FOTON มาก่อน) ทำให้ TCIL ยื่นข้อเสนอไปยังบริษัทแม่ในเดือนเมษายน 2016 และได้รับการอนุมัติภายใน 6 เดือน เริ่มก่อสร้างโรงงานในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2017 แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2018
เป็นโรงงานแห่งที่ 3 ของ Subaru นอกประเทศญี่ปุ่น
TCIL เคลมว่า โรงงาน TCSAT แห่งนี้ นับเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ของ Subaru ที่ไม่ได้อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนตนเอง โดยก่อนหน้านี้ Subaru ได้ตั้งโรงงานที่มลรัฐ Indiana สหรัฐอเมริกามาก่อนแล้ว และทาง TCIL เองก็มีโรงงาน Segambut ที่มาเลย์เซีย ผลิต XV และ Forester ป้อนตลาดบ้านเรามาสักพักแล้ว
แต่แอบงง ว่าทำไมระหว่างพรีเซนต์ในพิธี มีการนำเสนอว่าโรงงานที่ไทย นับเป็น “แห่งที่ 2” ที่อยู่นอกญี่ปุ่น ซึ่งสื่อมวลชนอาเซียนรายอื่นก็ตีพิมพ์ไปเช่นนั้น ผู้เขียนคาดว่าเพราะโรงงาน Segambut เป็นของ TCIL และประกอบรถอยู่หลายยี่ห้อ รวมถึงประกอบรถให้ Subaru ในลักษณะ Contract อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียน เรามองตามความจริงว่าเป็นแห่งที่ 3 มากกว่า 2 โดยพิจารณาจากแค่ว่ามีการประกอบรถยนต์ของ Subaru ปีละหมื่นคัน แค่นั้นก็พอ โดยไม่ต้องไปสนว่าโครงสร้างการบริหารเป็นอย่างไร
โรงงาน TCSAT ผลิตรถอะไร และส่งไปประเทศไหนบ้าง?
ในช่วงเริ่มต้น โรงงานจะทำการผลิตเฉพาะรุ่น Forester 2.0 ลิตร โดยมีอัตราการผลิตเฉลี่ย 6,000 คันต่อปี แต่หากบรรจุกำลังคน เครื่องมือ และเดินสายการผลิตแบบเต็มกำลัง 100% จะสามารถผลิตรถได้มากที่สุด 100,000 คันต่อปี สำหรับเวลาที่ใช้ในการผลิตนั้น แม้จะไม่มีการเปิดเผยว่าจากชิ้นโครงสร้างประกอบกันจนเป็นรถที่สมบูรณ์ 1 คันใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ Subaru เผยว่า “เมื่อรถคันหนึ่งออกมาจากสายการผลิตแล้ว คันต่อไปจะตามมาในอีกประมาณ 10 นาที หรือพูดง่ายๆคือชั่วโมงนึงจะมีรถออกมาจากโรงงาน 5-6 คันถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง”
โดยในปัจจุบันโรงงานเปิดการทำงานของคนและเครื่องจักรแบบกะเดียวต่อวัน ใช้ขีดความสามารถของโรงงานแค่ไม่เกิน 10% ของที่มีอยู่ แต่ที่ยังไม่โหมผลิตหนักเพราะต้องการคุมจำนวนรถให้สมดุลย์กับความสามารถในการขายจริงและรอดูการตอบรับของตลาด
รถ Forester ที่ผลิตจากประเทศไทย จะถูกส่งไปขายยังประเทศมาเลย์เซีย (เขาส่ง XV มาขายเรา เราส่ง Forester กลับไปขายเขา) และไปที่เวียดนามเป็นหลัก มีส่วนน้อยที่ถูกส่งไปกับกัมพูชา ดังนั้นเท่ากับว่าโรงงานสามารถผลิตได้ทั้งรถพวงมาลัยซ้ายและขวา โดยอัตราส่วนการแบ่งจำหน่าย จะส่งให้ขายในประเทศไทย 45% และส่งไปอีกสองประเทศที่เหลือ 55%
ชิ้นส่วนของ Forester ที่ประกอบในไทย มาจากไหน
ในเบื้องต้น สิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่ามาจากไทยแน่ๆคือเบาะ ส่วนชิ้นอื่นๆนั้น ทางผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องไม่ขอระบุ บอกแต่ว่า “เรามีความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นอยู่หลายแห่ง และบริษัทเหล่านั้นบางบริษัทก็มีโรงงานในไทย เราจึงเลือกให้พวกเขาผลิตส่งให้”
นักข่าวไทยเลยใช้วิธีเลี่ยงไปถามแทนว่า “แล้วชิ้นส่วนไหนบ้าง ที่ส่งมาจากญี่ปุ่น” ซึ่งก็ได้คำตอบดังนี้
- เครื่องยนต์ เกียร์ และชิ้นส่วนช่วงล่าง
- โครงสร้างหลักของรถส่วนพื้น – นำเข้ามาแบบแยกชิ้นหน้า/หลัง และทำการเชื่อมต่อแบบสปอตที่โรงงานไทย
- ชิ้นส่วนเปลือกนอกของรถ เช่น ฝากระโปรงหน้า/หลัง แก้มหน้า/หลัง ประตู โครงประตู และหลังคา แยกแพ็คใส่กล่องมาจากญี่ปุ่น
พูดง่ายๆคือชิ้นส่วนของรถที่เป็นโลหะ เหล็ก หรืออะลูมิเนียมเกือบจะทั้งหมด ส่งมาจากญี่ปุ่นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนของ Forester ที่มาจากในประเทศไทย ต้องมีมากกว่าเบาะอย่างแน่นอน เพราะ Forester ใหม่ ใช้ส่วนประกอบรถที่มาจากผู้ผลิตในไทย 43% ทำให้สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นรถ CKD (Complete-Knock Down) ได้ตามเกณฑ์กำหนดของทางรัฐบาล
การควบคุมคุณภาพการผลิต ทำอย่างไรบ้าง?
ตัดถ้อยตัดคำเชิง PR ที่คุณผู้อ่านคงได้ยินมาเยอะออกไป สิ่งที่ทางโรงงานพยายามทำเพื่อมาตรฐานการประกอบที่ดี ได้แก่
- ให้ทีมญี่ปุ่น เป็นผู้ควบคุมมาตรฐานและกระบวนการผลิต
- ในทุกๆวัน ที่อัตราการผลิตระดับปัจจุบัน ทีมตรวจสอบ จะสุ่มเลือกรถ 2 คันจากไลน์การผลิต นำมาเข้าห้องสอบ
- ห้องสอบที่ว่านี้ จะมีรถ Forester 2.0i-L ที่เป็นรถประกอบจากโรงงานญี่ปุ่นจอดอยู่ (ในภาพคือคันขวา) จากนั้นทีมตรวจสอบนำโดยอาจารย์ชาวญี่ปุ่น 1 ท่านและทีมไทย 2 คนที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว จะตรวจสอบยกคัน ไม่ว่าจะเป็นสี การสะท้อนเงา ความแน่นเวลาปิดประตู การประกอบส่วนต่างๆภายนอกและภายใน และช่อง/ร่องต่างๆบนตัวถัง โดยรถที่ประกอบจากไทย จะต้องทำได้ดีเท่ากัน หรือดีกว่า (ในหลายคัน อาจารย์ญี่ปุ่นก็บอกว่าประกอบได้เนี๊ยบกว่าโรงงานบ้านเกิดด้วยซ้ำ)
- Subaru Corporation ส่งคนมาอยู่ประเทศไทย และได้เจอสภาพอากาศ ฟ้า ฝน และถนนที่น้ำท่วมแบบไทยๆ จึงสั่งให้เพิ่มมาตรฐานการทดสอบน้ำรั่วโหดกว่าที่ญี่ปุ่น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เวลา น่าจะเป็นตัวพิสูจน์ที่ดีที่สุดว่าคุณภาพต่างๆที่กล่าวมานี้ จะรักษามาตรฐานที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้หรือไม่ ผู้เขียนได้มีโอกาสลองดูรถจากญี่ปุ่น เทียบกับรถไทย มีความใกล้เคียงกัน ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นลักษณะการสะท้อนสีตัวถังที่ต่างกันบ้าง ส่วนเรื่องตัวถัง คอนโซล และภายใน แทบไม่ต่างกันในเรื่องความพิถีพิถัน หากเทียบกับ XV เจนเนอเรชั่นที่แล้วจากมาเลย์เซีย งานประกอบของ Forester ไทย ถือว่าดีขึ้นชัดเจน
อนาคตของ Subaru ในไทย – จากคำตอบของผู้บริหารไทย/ญี่ปุ่น/สิงคโปร์
มีแผนอย่างไรต่อไปสำหรับการทำตลาดในประเทศไทย?
สำหรับแผนในอนาคต ยังตอบอะไรไม่ได้จนกว่าจะสังเกตยอดขายของ Forester จากไทย ว่าทำได้ดีแค่ไหนในภูมิภาคนี้ แต่โดยศักยภาพโรงงาน ทำไว้เผื่อให้รองรับการประกอบรถ Subaru ได้อีก 4 รุ่น แต่จะเป็นรุ่นไหน ขออุบไว้ก่อน
คนไทยมีสิทธิ์ได้ใช้ Impreza 4 ประตูประกอบในประเทศหรือไม่?
เราต้องดูความคุ้ม ว่าทำราคาให้ขายได้สู้คู่แข่งได้ เพราะถ้าราคาเราสูง ลูกค้าไม่ซื้อ ขายไม่ได้ เท่ากับว่าเราเสียไลน์การผลิตไปเพื่อรถที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ เทรนด์ในโลกรถยนต์ขณะนี้คือ ตลาดรถเก๋งนั้นหดตัวทั่วโลก คนซื้อรถพวกนี้น้อยลง แต่รถครอสโอเวอร์อย่าง XV กับ SUV แบบ Forester ขายดีขึ้นเรื่อยๆในเชิงธุรกิจ ถ้าเราจะอยู่รอดได้ เราก็ต้องขายของที่คนจะซื้อให้ได้ก่อน
แล้ว WRX กับ WRX STi ล่ะ?
รถพวกนั้นเราคงไม่ได้เอามาประกอบที่ไทย แต่ในตลาดโลกนั้น Performance car ที่ใช้ได้ทุกวันอย่าง Subaru นั้นยังมีลูกค้าที่ต้องการซื้ออยู่ คือตัวเลขยอดขายไม่ได้บูม แต่ก็ยังมีอยู่ เราก็พยายามที่จะขายรถเหล่านี้ต่อไปโดยผลิตจากญี่ปุ่น
อยากได้เครื่องยนต์ที่แรงกว่านี้ใน Forester กับ XV พอจะมีทางเป็นไปได้หรือไม่?
ยังไม่สามารถตอบ Yes หรือ No แบบชัวร์ได้ เรากำลังพยายามศึกษาอยู่ว่ามีทางที่จะเอามาขายในราคาที่ลูกค้าโอเค แต่สำหรับ XV นั้นจะไม่มีเครื่องที่แรงไปกว่าขุมพลังที่เรามีจำหน่ายในอาเซียนกับญี่ปุ่นในปัจจุบัน ส่วนรุ่นไฮบริด e-Boxer นั้น ต้องดูก่อนว่าเราเอามาขายในภูมิภาคนี้ได้จริงหรือไม่ ลูกค้าเปิดใจรับรถไฮบริดและมีความต้องการรถไฮบริดแบรนด์ Subaru จริงหรือไม่ ถ้าเราพบว่ามีศักยภาพที่จะทำตลาดได้ มันก็จะมา
(หมายเหตุจากผู้เขียน: Forester เมืองนอก มีรุ่น 2.5 ลิตร 182 แรงม้า และ e-Boxer ไฮบริดถ่านก้อนเล็ก 150 แรงม้า)
ศูนย์บริการในประเทศไทย ปัจจุบันมีกี่แห่ง และตั้งใจจะเปิดเพิ่มหรือไม่?
เดิมเรามีศูนย์บริการ 26 แห่งทั่วประเทศ ความตั้งใจของเราคือ เปิดเพิ่มให้มีครบ 45 แห่ง ภายในปีนี้ถ้าทำได้
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเบื้องต้น สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์นั่งแห่งใหม่ของ Subaru ที่เมืองไทยของเรา
แม้ว่ายังต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ บวกกับการสังเกตและตอบกลับของลูกค้าที่ซื้อ Forester ในไทย น่าจะเป็นเครื่องช่วยยืนยันได้ว่าคุณภาพการประกอบฝีมือคนไทยนั้น จะสามารถทนทานการใช้งานแบบไทยๆได้ดีขนาดไหน ในปัจจุบัน มีลูกค้าชาวไทยที่รับรถไปแล้วประมาณ 100 คัน ส่วนที่เหลือก็กำลังทยอยส่งมอบรถ ซึ่งมี Back-order ยาวไปถึงเดือนมิถุนายนแล้ว (แปลว่าจองวันนี้ รอรถสองเดือน)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ายินดีในขณะนี้ สำหรับมุมมองของสื่อมวลชน และมุมมองของคนไทย การที่กลุ่มทุนต่างชาติให้ความมั่นใจในคุณภาพการประกอบของโรงงานไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเหมือนมีคานและเสาที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับอนาคต ยิ่งไทยมีโรงงานประกอบของตัวเอง ผลดีที่จะออกมานอกเหนือจากการทำราคารถให้ผู้บริโภคเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น ยังมาในรูปของอำนาจต่อรองในฐานะประเทศที่เป็นฐานการผลิต Subaru ซึ่งหากมีผลประกอบการที่ดี ในอนาคต เราอาจได้มีบทบาทในการประกอบ Subaru มากขึ้นและทำให้มีโอกาสได้ลองใช้ Subaru รุ่นอื่นๆมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน