เชื่อว่าหลายๆคนที่สนใจติดตามเรื่องราวของรถยนต์ ในบ้านเรา คงยังพอจะ
จำกันได้บ้างว่า กาลครั้งหนึ่ง ราวๆปี 1992 รัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปัณยารชุน
ได้ทะลายกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป จาก 617% เหลือเพียง 317 %
นั่นคือจุดกำเนิดที่ทำให้คนไทย เริ่มมีทางเลือกในการซื้อหารถยนต์นั่งจาก
ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องทนกับคุณภาพของรถยนต์ประกอบในบ้านเรา
ณ ยุคสมัยนั้น (ซึ่งยังไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้) อีกต่อไป
นอกจากบรรดาพ่อค้ารายย่อย (Grey Market) จะเริ่มเบ่งบานสะพรั่งเป็น
ดอกเห็ด กันตั้งแต่ยุคนี้แล้ว ค่ายรถยนต์ต้นสังกัด ผู้ถือสิทธิ์ทำตลาดอย่าง
เป็นทางการ “ทุกค่าย” ต่างพากัน สรรหารถยนต์รุ่นที่คาดว่ากระแสลูกค้า
จะได้รับความนิยมในบ้านเรา มาพาเหรดเปิดตัวกันอย่างเอิกเกริก
Toyota นำเข้า Celica Paseo และ Estima/Previa รุ่นแรก มาในปี 1993
ตามด้วย Compact SUV รุ่นยอดฮิต Toyota RAV4 2.0 ลิตร ในปี 1995
(ยังไม่รวม Celica GT-Four ตากลม Limited Order ที่บ้านเราได้โควต้า
มาจากญี่ปุ่น 40 คัน จาก 2,500 คันทั่วโลก แต่สุดท้าย ขายได้แค่ 17 คัน
แล้วต้องโอนโควต้าที่เหลือให้กับทาง Crown Motors ที่ฮ่องกงไป)
ตามด้วย Mitsubishi Motors ที่สั่ง Chariot มาขายในชื่อ SpaceWagon
ด้วยราคา 870,000 – 890,000 บาท ขายดิบขายดีถ้วนหน้า รวมทั้ง Sigma
(Diamante Sedan) แม้กระทั่ง GTO / 3000GT , Mirage Asti Coupe
หรือแม้แต่ Lancer Evolution IV ก็ยังมีสั่งนำเข้ามากันให้เห็น
Mazda ยุค กิจกมลสุโกศล ก็ถือโอกาส ไม่ผลิตรถรุ่นใหม่ ใช้สั่งนำเข้า
มาขายแทน (หากเป็นรุ่นที่คาดว่าขายได้แค่เรื่อยๆ) ทั้ง Cronos Lantis
กับ Astina รุ่นตาตี่ ขณะที่ Honda ก็ยังนำเข้า Integra รุ่นไฟกลมคู่ กับ
Vigor เข้ามาหยั่งเชิงตลาด แม้จะเงียบเหงายอดขายไม่เดิน แต่พอสั่ง
นำเข้า รถตู้ Odyssey ในเดือนตุลาคม 1994 กับรถสปอร์ตทรงสวยเสน่ห์
อย่าง Prelude 1993 รวมทั้งเริ่มหยั่งเชิงลองสั่ง CR-V รุ่นแรกเข้ามาขาย
ปลายปี 1995 เท่านั้นละ หัวกระไดโชว์รูม Honda ที่ไม่แห้งอยู่แล้ว ก็ยิ่ง
เปียกแฉะหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก
นี่ยังไม่นับ Hyundai ซึ่งเพิ่งมาเปิดตลาดรถเก๋งบ้านเรา ปลายปี 1992
หอบมาขายทั้ง Excel Elantra Sonata ขายดิบขายดีกันทั้ง 3 รุ่นเลย
หลายค่ายต่างพากันเก็บเกี่ยวยอดขายรถยนต์นำเข้าเหล่านี้ไปได้เยอะ
พอดู บางรุ่นขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บางรุ่นก็เงียบฉี่ ขายดีเป็นเป่าสาก
ในระหว่างนี้ ถ้าย้อนอดีตกลับไปดีๆ กาลครั้งหนึ่ง Nissan ในยุคสมัย
สยามกลการ เอง ก็เคยเกาะกระแสนี้ ด้วยการประกาศเปิดตัวรถยนต์
นำเข้าพร้อมกัน 4 รุ่นรวด ในคืนเดียว มีทั้งรุ่นประดับบารมี อย่างเช่น
President JG50 หรือ รถสปอร์ตทรงเฉี่ยว 300ZX Z32 ที่มาทั้งที
ก็ยังแบกเอารุ่น เกียร์อัตโนมัติ ไม่มี Turbo มาขายคนไทยกันอยู่ได้
รวมทั้ง Cedric Gran Turismo SV Y32 ที่มีให้เห็นบนถนนน้อยมากๆ
แต่รถยนต์นำเข้ารุ่นที่ทำรายได้ให้สยามกลการในช่วงนั้นอย่างจริงจัง
เห็นจะมีอยู่แค่ 2 รุ่น รายแรก คือ รถตู้ Serena ซึ่งถือว่าเป็นรถตู้ขนาด
เล็กประตูบานเลื่อนไฟฟ้า รุ่นแรกที่มีขายในบ้านเรา พร้อมเครื่องปรับ
อากาศอัตโนมัติ Digital ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และเบาะแถวกลาง
หมุนได้ วางเครื่องยนต์ SR20DE ขับล้อหลัง
ส่วนอีกรุ่นนั้น..คือ อัญมณีที่ดูเรียบหรู เจิศจรัส เลิอค่าเกินหน้าเกินตา
บรรดารถยนต์ขนาดเล็ก ในยุคสมัยเดียวกันไปไกลโข ที่คุณกำลังจะ
ได้อ่านประวัติของมันอยู่ข้างล่างนี้…
รถยนต์รุ่นหนึ่ง ที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์ของ Nissan เพราะคงไม่มีวัน
ที่พวกเขาจะนำมันกลับมาทำขายอีกแล้ว…
การกำเนิดของ Presea นั้น ผมจำเป็นต้องท้าวความย้อนกลับไปดูสภาพ
ตลาดรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นช่วง 1980 – 1990 กันก่อน
ทำไมหนะหรือ?
ก็เพราะว่าตอนแรก Nissan เขาตั้งใจว่าจะทำ Presea ขายเฉพาะในญี่ปุ่น
เท่านั้นไงละ!
ในช่วงทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 1990 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลัง
ขยายตัวอย่างมาก จนอยู่ในภาวะ ฟองสบู่ บวมโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนทั่วไป
เริ่มมีรายได้มาก เก็บออมมาก ไม่ค่อยมีเวลาใช้เงิน แต่เมื่อใช้จ่ายคราใด
พวกเขาก็ทุ่มสุดตัวสุดสะบั้นหั่นแหลก สินค้าที่พวกเขาซื้อจะต้องบ่งบอก
รสนิยม และฐานะทางการเงินของพวกเขาไปด้วย เคยได้ยินคำว่า คนญี่ปุ่น
บ้าสินค้า Brand Name จากเมืองนอกไหมครับ? นั่นละ ตามนั้นเลย!
ตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่นช่วงดังกล่าว เป็นยุคที่ถูกเรียกว่า “Hi-so Car Boom”
หมายความว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ต้องการรถยนต์ที่ตกแต่งอย่างหรูหรา
ไม่แพ้รถยนต์ราคาแพงเช่น Toyota Crown หรือ Nissan Cedric ยิ่งถ้ามี
เบาะกำมะหยี่สีแดง สวมผ้าลูกไม้สีขาว ที่พนักศีรษะ กับช่วงครึ่งท่อนของ
เบาะหน้า-หลัง หน้าปัด Digital กระจกหน้าต่างสีชามาพร้อมตัวรถสีขาว
ประดับโครเมียมกำลังดี พ่นสีทูโทน หรือสีขาว เพียงเท่านี้ บรรดาแม่บ้าน
ชาวญี่ปุ่น ที่เปิดดูใบปลิวโฆษณา ซึ่งมักแนบมาพร้อมหนังสือพิมพ์ ฉบับ
ประจำวันเสาร์ – อาทิตย์ ก็แทบจะกรีดร้อง ลากจูงสามีไปดูรถยนต์คันจริง
ที่โชว์รูมใกล้บ้านกันแล้ว!
อันที่จริง ตอนนั้น Nissan เอง ก็มีรถยนต์นั่งไว้เอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่น
หลากรุ่นหลายสไตล์ มากมายจนจำชื่อกันแทบไม่หวาดไหว ยิ่งถ้าคุณ
เกิดอยากได้รถยนต์นั่ง ที่ตกแต่งแนวหรูหรา ทว่างบในกระเป๋ามีน้อย
ไม่อาจเอื้อมขึ้นไปถึง Sedan ขับเคลื่อนล้อหลังขนาดกลางรุ่น Laurel
Nissan ก็มีทางเลือกให้คุณ ด้วยการนำ Sunny FF B11 มาเพิ่มอุปกรณ์
ต่างๆ นาๆ เพิ่มเบาะผ้ากำมะหยี่อย่างดี ออกขายในชื่อที่แสนพิลึกพิลั่น
ว่า Nissan Laurel Spirit เมื่อปี 1983
นัยว่า ได้รับจิตวิญญาณ จากชายกลาง Laurel มาประทับร่าง Sunny B11
กันเลยทีเดียว!
ทำเป็นเล่นไปคุณผู้อ่าน สยามกลการบ้านเรา ก็เคยบ้าจี้ ทำ Sunny B11
แล้วเอาชิ้นส่วนกระจังหน้าโครเมียม กรอบไฟท้ายและไฟส่องป้าย
ทะเบียนหลังโครเมียมลายพิเศษ จากรถเก๋งรุ่นนี้ มาประกอบขายใน
เมืองไทย ด้วยชื่อ Nissan Sunny Laurel Spirit จำกัดจำนวน 300 คัน
มาแล้วเมื่อช่วงกลางปี 1985 ด้วยนะเออ!
กลับมาดูในญี่ปุ่น ยอดขายของ Laurel Spirit พอไปวัดไปวาได้ ทำให้
ผู้บริหาร Nissan สั่งไฟเขียว ทำ Laurel Spirit รุ่นที่ 2 ต่อเนื่องไปเลย
ด้วยวิธีการนำ Sunny / Sentra B12 มาประดับโครเมียมรอบคันให้ยิ่ง
ดูอลังการกว่ารุ่นปกติ เพิ่มเบาะผ้ากำมะหยี่สีแดงเถือกเหมือนเลือดใน
ปากนักเรียนช่างกลเพิ่งต่อยกันเสร็จหมาดๆ ออกขายกันต่อในปี 1986
พร้อมกับปรับโฉม Minorchange ในปี 1988 แต่ด้วยยอดขายที่ยังไม่ถึง
ขั้นประคับประคองตัวรอดได้ ทำให้ Nissan ต้องคิดหากลยุทธ์ใหม่เพื่อ
เอาใจลูกค้าในบ้านเกิดตัวเองอีกรอบ
ขณะเดียวกัน ตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่น ก็กำลังเกิด Trend หรือกระแสความ
นิยมใหม่ ขึ้นมา นับตั้งแต่การเปิดตัวเวอร์ชัน 4 ประตู Hardtop ของแฝด
ผู้น้องของ Toyota Corona ในชื่อ Toyota Carina ED (Exciting Dressy)
เมื่อเดือนสิงหาคม 1985 ทำให้ชาวญี่ปุ่น เริ่มถวิลหารถยนต์แนว Hardtop
มากขึ้น
อันที่จริง ตัวถังแบบหลังคาแข็ง Hardtop ซึ่งมักจะมาพร้อมบานประตู
แบบไร้เสากรอบหน้าต่าง (Frameless Door) นั้น เริ่มปรากฎสู่สายตา
ชาวญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี 1971 จากการปรากฎโฉมของ Nissan Cedric /
Gloria 2 ประตู Hardtop Coupe ตามด้วย Toyota Crown กะโห้ 1972
กระนั้น แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะคุ้นเคยกับรถยนต์ที่มีบานประตู Frameless
Door เป็นอย่างดี ทว่า มันยังคงเป็นของแพงในสายตาพวกเขา เพราะ
มันถูกจำกัดเอาไว้แค่ในตระกูลรถยนต์รุ่นแพงๆ ทั้ง Toyota Crown
กับ Nissan Cedric/Gloria เท่านั้น
ข้อดีของรถยนต์ประเภท Hardtop คือ “สวยครับ” หรือจะเถียง? หาก
มองจากด้านนอก คุณจะรู้สึกว่า โอ้ พระเจ้าจอร์จ มันสะดุดตา ดูสวย
โอ่อ่า ใหญ่โต ไฮโซ บ้านบึ้มมากๆ ยิ่งถ้าเด็กๆ ได้นั่งหลังรถด้วยแล้ว
การมองวิวทิวทัศน์จะปลอดโปร่ง โล่งสบายตาอย่างมาก เพราะไม่มี
เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar มาบดบัง เลิกร้องกระจองอแงกันไปเลย
แต่ข้อเสียของมันก็มีอยู่ ในยุคนั้น ต่อให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นจะเก่งกาจ
ขนาดไหน พวกเขายังคงแก้ปัญหาเรื่องเสียงลมที่เล็ดรอดเข้ามาจาก
หน้าต่างรถไม่ได้เสียที ใช้งานไปไม่กี่ปี ยางขอบประตูก็เสื่อมสภาพ
เสียงรบกวนจะยิ่งดังกระหึ่ม กราวสนาน หารมโหรี กันเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ความปลอดภัยของหลังคาจากการพลิกคว่ำ ก็ยังคง
เป็นอีกประเด็นสำคัญ การลดจำนวนเสาค้ำยันหลังคา จาก 6 ต้น ลง
เหลือแค่ 4 ต้น โดยคิดไปว่าจะเสริมความหนาให้หลังคารถแทน เป็น
แนวคิดที่หลายค่ายนิยมใช้กันในเวลานั้น และมันได้พิสูจน์ให้เห็นใน
กาลต่อมาแล้วว่า “ไม่ได้ผล”
สุดท้าย ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนแนว กลับมาทำรถยนต์เป็นแบบ
Sedan มีเสาหลังคากลาง B-Pillar ตามเดิม นั่นแหละ แต่ต้องสร้าง
บานประตูแบบ Frameless Door พร้อมกับเพิ่มความหนาของยาง
ขอบหน้าต่างที่ติดตั้งบริเวณกรอบประตู ให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหา
เสียงรบกวนลงไปให้ได้ ที่สำคัญคือ ทั้งหมดนี้ ต้องทำได้ในต้นทุน
ที่ถูกพอจะสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก ประเภทนี้ขึ้นมา แล้วได้กำไรคุ้ม
อีกต่างหากแหนะ!
การมาถึงของ Carina ED ช่วยจุดประกายทะลายกำแพงความคิดของ
ชาวอาทิตย์อุทัยลงไปได้มาก ว่ารถยนต์บานประตูไร้เสากรอบนั้น คุณ
ก็สามารถเอื้อมถึงได้ในราคาไม่แพงเลย (แหงเสะ Toyota เล่นแชร์
ข้าวของวิศวกรรมรถคันนี้ ร่วมกับ 3 พี่น้องตระกูล Corona / Carina
และ Celica นี่หว่า ยิ่งแชร์หลายรุ่น ต้นทุนต่อชิ้นอะไหล่มันก็ยิ่งถูกลง
เพราะจำนวนผลิตมันเยอะขึ้นไง) Carina ED กลายเป็นรถยนต์ที่
ชาวญี่ปุ่น ต่างพากันกล่าวขวัญถึงเป็นอันมากตลอดปี 1985 – 1986
แน่นอนว่ายอดขายก็ยิ่งดีวันดีคืน จนทำให้ Nissan เริ่มทนไม่ไหว
ในช่วงปี 1986 รถยนต์รุ่นใหม่ของ Nissan แต่ละรุ่นที่เตรียมจะออก
สู่ตลาดในช่วงปี 1988 – 1991 ซึ่งยังเป็นหุ่นดินเหนียวอยู่ใน Studio
ออกแบบ ล้วนมีความน่าตื่นตาตื่นใจทั้งสิ้น แต่ละคัน มาในสไตล์
เรียบ หรู งามสง่า แต่ล้ำอนาคต และ Timeless Design ทั้งสิ้น
ตามแนวทางของ Yutaka Kume ประธาน Nissan ในขณะนั้น ที่
ตั้งใจให้ Nissan ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านการออกแบบรถยนต์
กระนั้น สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กค่อนข้างกลาง (Upper C-Segment)
ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังคงเป็นกลุ่มที่ Nissan บุกไม่สำเร็จสักที
คู่แข่งที่ทิ่มแทงใจมาก ก็คือ Toyota Carina ED ซึ่งยังคงขายดีและ
กลายเป็นผู้นำตลาดกลุ่มย่อยนี้ไปโดยปริยาย ขณะที่ ค่ายอื่นอย่าง
Honda ก็มี Integra ซึ่งประสบความสำเร็จจากรุ่นไฟหน้า Pop-up
และมีกำหนดเปลี่ยนโฉมใหม่ในเดือนเมษายน 1989 ซึ่งพวกเขา
ก็เลือกที่จะพัฒนา Integra รุ่นที่ 3 ให้เป็นรถยนต์แบบ Frameless
Door เช่นกันทั้งรุ่น Coupe หรือ Hardtop Sedan
ค่ายเล็กๆจาก Hiroshima อย่าง Mazda ก็ซุ่มเงียบ สร้างรถยนต์
Hardtop Frameless Door หน้าตาเรียบง่าย แต่ดูสง่างามอย่าง
Mazda Persona ออกมาสร้างกระแสในเดือนตุลาคม 1988 ก่อน
ตามด้วยฝาแฝดร่วมค่าย ต่างแบรนด์อย่าง Eunos 300
นี่เรายังไม่นับ Subaru ที่ยืนหยัดผลิตรถเก๋งรุ่น Leone ด้วยบาน
ประตูแบบ Frameless Door ต่อเนื่องมายาวนานจนถึง Legacy
สุดหล่อ ปี 2003 – 2010 อันเป็นรุ่นสุดท้ายที่ชาวดาวลูกไก่ยอม
ดื้อด้าน ทำรถยนต์ประเภทนี้ออกมาขายกัน
ในขณะที่ สื่อต่างชาติ เคยวิเคราะห์ความผิดพลาดในอดีตของ
Nissan ไว้ ก่อนที่จะโดน Renault มาจับมือเป็นพันธมิตรไปใน
ปี 1999 ว่า ช่วงทศวรรษ 1980 Nissan เห็น Toyota ทำอะไรก็
ทำตามไปเสียทั้งหมด…คำถามก็คือ…หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้
ถ้าคุณเป็น Yutaka Kume ผู้บริหารสูงสุดของ Nissan ช่วงนั้น
คุณจะทำอย่างไร ในสถานการณ์แบบนี้
แน่นอนละครับ…ก็คงต้องปรับทัพ ยุบ Laurel Spirit แล้วเริ่ม
ลงมือสร้าง รถยนต์ Frameless Door ขนาดเล็ก สักคัน บน
พื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมใหม่ ของ Sunny / Sentra และ
NX Coupe B13 กันเสียที ให้ทันเปิดตัวภายในปี 1990 ต้อง
ไม่ช้าไปกว่านี้
ผลลัพธ์ ก็ออกมาเป็นอย่างที่คุณเห็นข้างล่างนี้
รุ่นแรก รหัส R10
20 มิถุนายน 1990 – ธันวาคม 1994
Nissan เลือกใช้ชื่อรุ่นว่า Presea อันเป็นภาษาสเปน แปลว่า “อัญมณี”
“เพชรพลอย”หรือ “สิ่งล้ำค่า” ส่วนการเรียกรุ่นย่อยต่างๆนั้น ถ้าคุณเห็น
สัญลักษณ์ที่แปะอยู่บนฝากระโปรงท้ายรถ ว่า Ct. นั่นมาจากหน่วยวัด
มูลค่าของอัญมณี (Carat) นั่นเอง
ไม่ใช่ส้วมยี่ห้อ Karat นะ อันนั้นก็เก่าเกิ้นนนน
รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบมาในแนวทาง Stylish Sedan จุดเด่น
อยู่ที่เส้นสายเรียบง่าย แต่โค้งมันไปทั้งคัน ไร้ซึ่งเหลี่ยมมุมทื่อๆใดๆ
ได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากบรรดาพี่ใหญ่ในตระกูล อย่างเช่น
Nissan Laurel รวมทั้ง Nissan President หรือ Infiniti Q45 รุ่นแรก
ซึ่งไม่มีกระจังหน้ารถเหมือนกัน มีแค่สัญลักษณ์หรือโลโก้ประจำรุ่น แปะ
ไว้ด้านหน้าเฉยๆ การออกแบบลักษณะนี้ เหมาะกับรถยนต์สำหรับเขต
อากาศหนาว เพราะจะได้ช่วยอุ่นเครื่องยนต์ให้ร้อนเร็วขึ้น และยังคงมี
อุณหภูมิทำงานที่ร้อนอย่างเหมาะสม ตลอดการใช้งานอีกด้วย เหลือ
ให้รังผึ้งหม้อน้ำ รับอากาศตรงเปลือกกันชนด้านหน้านิดเดียวก็พอ
พูดกันตรงๆนะ ทุกวันนี้ ผมว่าเส้นสายของ Presea รุ่นแรก ยังดูสวย
อยู่เลย ไม่เชย และดูไร้กาลเวลาอย่างแท้จริง นี่แหละ สิ่งที่เรียกกันว่า
Timeless Design สิ่งที่ทีมออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จากหลายๆค่าย
ในปัจจุบันแม้แต่ทีม Design ของ Nissan ยุคปัจจุบัน จะไม่มีวันเข้าใจ
มัวแต่ไปออกแบบให้ตัวถังรถรุ่นใหม่ๆ มีเส้นสายฉวัดเฉวียนโฉบเฉี่ยว
เฟี้ยวฟ้าวไปมา น่าเวียนหัว ชิบหาย!
ไม่เพียงเท่านั้น Nissan ยังทำการบ้านเรื่องสีรถมาดีมาก เพื่อให้ดูคล้าย
สีของอัญมณีมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พวกเขาถึงขั้นต้องยอมใช้กรรมวิธี
การพ่นเคลือบ หนาถึง 5 ชั้น! แบบเดียวกับรถยนต์รุ่นหรู ในยุคนั้น
ภายในห้องโดยสาร มาในสไตล์ Elegance หรูแต่เรียบง่าย แยกช่องแอร์
คู่กลางออกจากกัน มาตรวัดเป็นแบบเรืองแสงสีฟ้า เครื่องปรับอากาศแบบ
อัตโนมัติ พร้อมสวิตช์กด แบบมีหน้าจอ Digital ด้านหลังมีพนักวางแขน
กลางเบาะหลัง พับเก็บได้
Presea รุ่นแรก มีขนาดตัวถังยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,690 มิลลิเมตร
สูงเพียงแค่ 1,320 มิลลิเมตร เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างเตี้ยเมื่อเทียบกับบรรดา
รถญี่ปุ่นทั่วๆไป ระยะฐานล้อยาว 2,500 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า
และหลัง (Front / Rear Thread) 1,445 / 1,425 มิลลิเมตร ระยะห่างจาก
พื้นถนน (Ground Clearance) 145 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่าอยู่ที่ 990 –
1,030 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกสูงสุดแล้วจะอยู่ที่
ระหว่าง 1,295 – 1,405 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย
งานวิศวกรรมของ Presea นั้น ถูกแชร์ร่วมกันกับตระกูล Sunny / Sentra
B13 รวมถึง Pulsar N13, NX-Coupe, AD Wagon (หรือ Nissan NV A
ในบ้านเรา)
ในญี่ปุ่น Presea R10 มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด เอาใจลูกค้าที่ต้องการ
ความแรงมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนี้
– GA15DS บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.6 x 88.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์
เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง ควบคุมด้วยกล่อง ECC กำลังสูงสุด 94 แรงม้า (PS)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.8 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที
– SR18Di บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,838 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
82.5 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดหัวฉีดไฟฟ้า
Nissan-Ei ควบคุมด้วยกล่อง ECCS 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 15.3 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที
– SR20DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI คุมด้วย
กล่องสมองกล ECCS 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
18.2 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที
ทั้ง 3 ขุมพลัง มีให้เลือกทั้ง เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ
พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ระบบ
กันสะเทือนหน้าแบบ McPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบ Pararel Link
Strut ในรุ่น 2.0 ลิตร จะมีสวิตช์ปรับความแข็งอ่อนของช็อกอัพ แบบเดียว
กับ Nissan Cefiro A31 ในบ้านเรา เลือกได้ทั้งแบบ Comfort หรือ Sport
ระบบห้ามล้อของรุ่น 1.5 และ 1.8 ลิตร เป็นแบบ หน้าดิสก์ – หลังดรัม
โดยรุ่น 1.8 ลิตร จะเปลี่ยนมาใช้จานเบรกคู่หน้าแบบมีรูระบายความร้อน
ส่วนรุ่น 2.0 ลิตร จะเป็นแบบ ดิสก์เบรก 4 ล้อ (คู่หน้ามีรูระบายความร้อน)
โดยมี เฟืองท้าย Viscous LSD สำหรับรุ่นท็อป ระบบป้องกันล้อล็อกขณะ
เบรกกระทันหัน ABS (Anti Lock Braking System) รวมทั้งถุงลมนิรภัย
ฝั่งคนขับ เป็นออพชันให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเลือกติดตั้งได้ต่างหาก
ในช่วงแรก ทุกรุ่นสวมกระทะเหล็กพร้อมฝาครอบเหลือ 13 นิ้ว สวมยางขนาด
185/70R13 85S และ 165/55 R13
ราคาจำหน่ายของ Presea R10 ในญี่ปุ่น ช่วงเปิดตัว มีดังนี้
1.5 Ct.I 5MT…..1,212,000 เยน
1.5 Ct.I 4AT…..1,295,000 เยน
1.5 Ct.II 5MT…1,532,000 เยน
1.5 Ct.II 4AT….1,615,000 เยน
1.8 Ct.I 5MT….1,482,000 เยน
1.8 Ct.I 4AT…..1,565,000 เยน
1.8 Ct.II 4AT….1,607,000 เยน
1.8 Ct.II 5MT….1,690,000 เยน
2.0 Ct.I 5MT…..1,697,000 เยน
2.0 Ct.I 4AT……1,780,000 เยน
2.0 Ct.II 5MT….1,812,000 เยน
2.0 Ct.II 4AT…..1,895,000 เยน
อยากรู้ว่า เป็นเงินไทย เท่าไหร่ คูณอัตราแลกเปลี่ยน 100 เยน = 25 บาท
(ในตอนนั้นเข้าไป) กันเอาเองนะครับ
สำหรับแคมเปญโฆษณาช่วงเปิดตัวในญี่ปุ่นนั้น ได้ Karen Kirishima นางแบบ
และศิลปินเพลง ผู้มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มาสวมชุดกิโมโน ที่ยกมา
จากงานภาพวาดของ Hishikawa Moronobu ศิลปินผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในยุค
ศตวรรษที่ 17 เพื่อจะสื่อถึงความงดงามแบบญี่ปุ่น (Japanesse Beauty) อันเป็น
เอกลักษณ์ เฉกเช่นชุดภาพวาดชิ้นดังกล่าวอันยากจะหาใครเทียบ
นั่นคือเหตุผลที่ Nissan เลือกใช้สโลแกนโฆษณาที่ว่า “Sedan ที่ไม่มีใครเทียบ”
ใช่ครับ มันออกจะฟังดูเกินจริงไปหน่อย แต่ถ้ามองในแง่ความสวยของตัวรถใน
พิกัด C-Segment ยุคเดียวกัน Presea R10 ก็สวยจนไม่อาจหาใครเทียบได้จริงๆ
การปรับทัพครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 1991 เพิ่มรุ่นย่อยสไตล์ Sport
ในชื่อ Presea Black Star 1.8 และ 2.0 ลิตร มีเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และแบบ
อัตโนมัติ 4 จังหวะ ให้เลือกครบทั้ง 2 แบบ อยู่บนพื้นฐานของการนำรุ่น Ct.II
มาตกแต่งเพิ่มเติมด้วยกระทะอัลลอย ลายปลาดาว 7 ก้าน 14 นิ้ว สวมยางขนาด
195/60R14 85H ส่วน BlackStar 1.8 ลิตร ใช้ล้อกระทะเหล็กพร้อมฝาครอบแบบ
14 นิ้ว พร้อมยางขนาด 185/65R14 85S ติดตั้งสปอยเลอร์หลัง สีเดียวกับตัวถัง
พร้อมไฟเบรก LED เพิ่มการตกแต่งภายในแบบ Sport Interior เบาะนั่งแบบ
กระชับตัว สีดำ ตัดสลับสีเทา แผงหน้าปัดสีเทาดำ
จากนั้น วันที่ 2 ธันวาคม 1991 เพิ่มรุ่นพิเศษ PolarStar 1.5 และ 1.8 ลิตร โดย
นำรุ่น Ct.II มาปรับปรุง เพิ่มเบาะนั่งคนขับปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า 2 ทิศทาง
เพิ่มเครื่องเล่น CD เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน และหัวเกียร์
หุ้มหนัง เพิ่มกระจกแต่งหน้ามาให้ ณ แผงบังแดดฝั่งคนขับ เพิ่มทางเลือกใหม่
เบาะผ้าสังเคราะห์ Ecsaine ให้เลือกสั่งติดตั้งได้ในบางรุ่น
การปรับโฉม Minorchange ครั้งใหญ่ มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1992 คราวนี้
มีการเปลี่ยนกันชนหน้าแบบใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้น 25 มิลลิเมตร เพิ่มไฟส่อง
สว่างมุมกันชน Cornering Light เปลี่ยนลายไฟท้ายใหม่เล็กน้อย ให้ดูใสขึ้น
ยิ่งกว่าเดิม
ไม่เพียงเท่านั้น Nissan ยังตัดสินใจ Upgrade ขุมพลังใหม่ ให้แรงขึ้น โดย
รุ่น 1.8 ลิตร จะได้ใช้เครื่องยนต์ ใหม่ SR18DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,838 ซีซี เปลี่ยนมาใช้หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Nissan-EGi ควบคุมด้วยสมองกล
ECCS 125 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กก.-ม. ที่ 4,800
รอบ/นาที
ส่วนรุ่น 2.0 ลิตร ก็มีการอัพเกรดขุมพลัง SR20DE เดิม ให้แรงขึ้นเป็น 145
แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.2 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที
นอกจากนี้ ยังเริ่มนำเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ Full Range E-AT มาติดตั้งให้
เป็นครั้งแรกอีกด้วยเช่นกัน ส่วนขุมพลัง 1.5 ลิตร ยังเป็น GA15DS ตามเดิม
ด้านการตกแต่ง รุ่น BlackStar ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Ct.S 1.8 และ 2.0 ลิตร
จะมี สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 LED ล้ออัลลอย 14 นิ้ว ลายเดิม
พวงมาลัย/หัวเกียร์/ก้านเบรกมือ หุ้มหนัง เบาะนั่งแบบ Sport Seat Trim
ตามเดิม
อีกทั้งยังมีรุ่น Ct.II D-Selection ที่เพิ่ม Option เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นกุญแจรีโมท
Multi-Mode Entry System เบาะผ้า Suede แบบพิเศษ พวงมาลัย/หัวเกียร์/ก้าน
เบรกมือ หุ้มหนัง กระจกแต่งหน้าครบทั้ง 2 ฝั่ง
การปรับโฉมครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อ 28 กันยายน 1993 เนื่องในโอกาสฉลอง
ครบรอบ 60 ปีของ Nissan Motor ญี่ปุ่น จึงเพิ่มรุ่นพิเศษ 1500 Ct.II Selection
V 60th Aniversary ตกแต่งด้วยลายผ้าเบาะกับ Trim แผงประตูใหม่ พ่นสีแบบ
Super Fine Coating แบบเดียวกับรุ่นพี่ที่แพงกว่าอย่าง Laurel Cefiro Cedric
Gloria เพิ่มดิสก์เบรกล้อหลัง และถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ในตลาดญี่ปุ่น หลังจากเปิดตัวไปได้ 6 เดือน Presea R10 ทำยอดขายได้เฉลี่ย
สูงถึง 5,500 คัน และบางเดือนก็พุ่งขึ้นไปสูงถึง 6,970 คัน ถือว่าสูงมาก เมื่อคิด
และเปรียบเทียบกับยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นแต่ะรุ่น
*** Export Version (& Thai Version) ***
จริงอยู่ว่าในตอนแรก Nissan ตั้งใจทำ Presea ออกมาเพื่อทำตลาดเฉพาะใน
ดินแดนบ้านเกิดของตนเองเพียงอย่างเดียว
แต่หลังจากรถยนต์รุ่นนี้ ถูกเปิดตัว บรรดาผู้จำหน่าย Nissan ในหลายๆประเทศ
โดยเฉพาะโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างพากันสนใจมาก เพราะตัวรถดูสวย
และตรงกับรสนิยมของกลุ่มลูกค้าในย่านนี้พอดี ตัวแทนจำหน่ายบางรายอย่าง
Honest Motors ในฮ่องกง ไม่รอช้า สั่งนำเข้า Presea รุ่น 1.8 ลิตร ไปขายช่วง
ปี 1991 กันอย่างรวดเร็ว เพราะที่ฮ่องกง ตอนนั้น Nissan เป็นรถญี่ปุ่นขายดีสุด
แซง Toyota มาตลอด
ในที่สุด Nissan ก็ยอมที่จะทำ Presea Export Spec. ออกมาให้โดย เป็นรุ่นปี
1992 – 1993 ซึ่งเป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange เปลี่ยนกันชนหน้า และเพิ่มไฟ
ส่องสว่างที่มุมกันชน Cornering Light แล้ว
เวอร์ชันไทย ถูกสั่งนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน CBU (Complete Built Unit) มาขาย
โดยสยามกลการ ในช่วงเดือนมกราคม 1993 พร้อมการเปิดตัว โชว์รูมและแผนก
ขายรถยนต์นำเข้า ในซอยชิดลม (ตอนนี้กลายร่างไปเป็นร้าน McDonald ไปแล้ว)
พร้อมกันกับ Nissan President JG50 ,Nissan 300zx Z32 (V6 3.0 L No Turbo
4AT) Nissan Cedric Gran Turismo SV Y32 และรถตู้ Nissan Serena
เหตุผลที่ สยามกลการ ตัดสินใจเลือกสั่งนำเข้า Presea มาขายในบ้านเรา ก็เพราะ
ต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์นั่งกลุ่ม 1,500 – 1,600 ซีซี เอาไว้
เพิ่มทางเลือกให้หลากหลาย เพื่อรักษากลุ่มลูกค้า Upper C-Segment และช่วย
เสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์ Nissan ในสายตาคนไทย
ในตอนนั้น สยามกลการ วางตำแหน่งการตลาด Presea เอาไว้เหมือนในญี่ปุ่น คือ
คั่นกลางระหว่าง Sunny และ Bluebird โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือเจ้าของ
กิจการ ขนาดเล็ก/กลาง หรือทำงานในองค์กรเป็นนักบริหาร เริ่มมีครอบครัวแล้ว
ให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่กับครอบครัวอย่างมาก มองหารถเก๋งสวยๆ ไว้ขับ
ใช้งานในชีวิตประจำวันและวันหยุด
ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองนั้น เป็นคู่แต่งงานที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตคู่ อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งเบื่อ
และหน่ายกับรูปลักษณ์เดิมๆของรถยนต์ในตลาดบ้านเราตอนนั้น ใส่ใจกับคุณภาพ
และความทันสมัย ไม่สนใจรถยนต์ธรรมดาทั่วไป
ภาพยนตร์โฆษณา ใช้หนังที่ Nissan ญี่ปุ่น ถ่ายทำมาให้แล้ว มาตัดต่อเอาเองอีกที
และใช้สโลแกน “ศิลปะชิ้นเอกแห่งยนตรกรรม”
อุปกรณ์แทบทั้งหมด ยกมาจากญี่ปุ่น ทั้งชุดมาตรวัดเรืองแสงสีฟ้า กระจกหน้าต่าง
ไฟฟ้า พร้อมสวิตช์ One-Touch ขึ้นลงด้วยการกดครั้งเดียว เฉพาะฝั่งคนขับ สวิตช์
ปรับและพับกระจกมองข้างไฟฟ้า ล้ออัลลอย 13 นิ้ว ลายที่เห็นในรูปข้างบนนี้ เป๊ะ
สวมยางขนาด 185/70 R13 85S
ความแตกต่างจากเวอร์ชันญี่ปุ่น อยู่ที่ขุมพลัง ในญี่ปุ่นมีเครื่องยนต์ให้เลือกถึง
3 ขนาด แต่เวอร์ชันส่งออก รวมทั้งเวอร์ชันไทย มีเครื่องยนต์เพียงแบบเดียว
แถมยังเป็นคนละพิกัดกับเวอร์ชันญี่ปุ่นอีกต่างหาก
Presea R10 เวอร์ชันส่งออก และเมืองไทย วางขุมพลังรหัส GA16DE บล็อก
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.0 x 88.0 มิลลิเมตร
กำลังอัด 9.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EGI คุมด้วยสมองกล ECCS ให้กำลัง
สูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 4,000
รอบ/นาที
ทั้งรุ่นส่งออก และเวอร์ชันไทยเลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ
4 จังหวะ โดยอัตราทดเกียร์ธรรมดา จะแตกต่างจากญี่ปุ่น ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
จะเหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น เป๊ะ สามารถซื้อเกียร์ลูกเก่าจาก เซียงกง แบบตรงรุ่นมา
ใส่เข้าไปเลยได้ทันที ไม่ต้องไปดัดแปลงอะไรเลย อัตราทดเกียร์มีดังนี้
เกียร์ธรรมดา
เกียร์ 1……………….3,063
เกียร์ 2……………….1,826
เกียร์ 3……………….1.286
เกียร์ 4……………….0.975
เกียร์ 5……………….0.810
เกียร์ R……………….3.417
เฟืองท้าย……………4.167
เกียร์อัตโนมัติ
เกียร์ 1……………….2.861
เกียร์ 2……………….1,562
เกียร์ 3……………….1.000
เกียร์ 4……………….0.697
เกียร์ R……………….2.310
เฟืองท้าย……………3.827
ด้านความปลอดภัย มีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 4 ตำแหน่ง ทั้งเบาะหน้าและหลัง
พร้อมไฟเตือนรัดเข็มขัดฯ โดยคู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำได้ เสริมคานเหล็กนิรภัย
ในประตูทุกบาน มีไฟเบรกดวงที่ 3 มาให้ ระบบห้ามล้อ หน้าดิสก์ – หลังดรัม แต่
สำหรับเวอร์ชันไทย ซึ่งมีการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS มาให้ด้วย จะเพิ่ม
ดิสก์เบรกคู่หลังมาให้
ที่น่าน้อยใจมากในยุคนั้นคือ ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ มีเป็น Option ให้ในบางตลาด
แต่กลับไม่มีมาให้ในเวอร์ชันไทย!
ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตอนนั้น ถุงลมนิรภัยยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวบ้าน
ร้านตลาด กระแสเรียกร้องให้ติดตั้งถุงลมนิรภัยในรถยนต์ประกอบขายบ้านเรา
ยังไม่ดังพอ จนต้องรอให้ Toyota Corolla AE-111 ติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
มาให้เป็นรายแรกของกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กก่อน เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1996 หลัง
จากนั้น ถุงลมนิรภัย ถึงเริ่มทะยอยติดตั้งในรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ตามกันมา
สยามกลการ ตั้งราคาจำหน่าย ของ Presea R10 ในบ้านเรา ไว้ดังนี้
เกียร์ธรรมดา 5MT 695,000 บาท
เกียร์อัตโนมัติ 4AT 735,000 บาท
ยอดขาย Presea R10 รุ่นแรก ถือว่าไปได้สวย ลูกค้าต่างพากันชื่นชอบเส้นสาย
งานออกแบบตัวถังอย่างมาก ยิ่งเจอกับสีตัวถังที่ดูมันวาว แตกต่างจากรถยนต์
ประกอบในประเทศ แทบทุกรุ่นที่ขายกันอยู่ในเวลานั้น ทำให้ตัวรถดูหรูหรามาก
และช่วยดึงดูดการตัดสินใจของลูกค้าได้มาก
ถ้าไม่เชื่อว่าขายดี งั้นมาดูตัวเลขสักหน่อยดีกว่า สยามกลการตั้งเป้ายอดขาย
Presea R10 ไว้ เดือนละแค่ 50 คัน/เดือน แบ่งเป็นเกียร์ธรรมดา 20 คัน และ
เกียร์อัตโนมัติ 30 คัน
พอออกสู่ตลาดจริง ยอดขาย Presea R10 ในเมืองไทย ถือว่าไม่ขี้เหร่นัก เมื่อ
เทียบกับคู่แข่งสายตรงทั้ง Mitsubishi Lancer E-Car 1.6 ลิตร และ Hyundai
Elantra 1.6 ลิตร รุ่นแรก โดยตลอดทั้งปี 1993 R10 ทำตัวเลขได้ 789 คัน และ
ในปี 1994 ตัวเลขยอดขายจะหล่นลงมาอยู่ที่ 322 คัน
สรุปว่า ตลอดอายุตลาดทั้ง 2 ปี Presea R10 มีปริมาณประชากรในบ้านเรารวมกัน
ทั้งสิ้น 1,111 คัน !! (เลขสวยมาก เอาไปแทงหวยงวดหน้า น่าจะโดน…เจ้ามือกิน!)
เพียงแต่ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของ Presea R10 คือ ห้องโดยสารค่อนข้างเล็กไป
Headroom มีพื้นที่น้อยไป บางคนนั่งแล้วหัวติด ไฟ Cornering Lamp บริเวณ
มุมกันชนหน้า มีตำแหน่งค่อนข้างเตี้ย ง่ายต่อการถูกเศษหินจากยางล้อของรถ
คันข้างหน้า ดีดเข้าใส่จนแตก อีกทั้ง พลาสติกในห้องโดยสาร ไม่ได้ทำออกมา
เผื่อรองรับสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาชิ้นส่วนบาง
รายการ เช่นช่องแอร์ และช่องระบายอากาศบนแผง Dashboard เกิดการกรอบ
และแตกหักได้ง่าย
สำหรับการขับขี่นั้น อัตราเร่ง ก็พอกันกับ Sunny / Sentra B13 นั่นละครับ รุ่น
เกียร์ธรรมดา จะกระฉับกระเฉงกว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติชัดเจนตามปกติ ช่วงล่าง
มาในสไตล์นุ่มๆ ตามประสารถยนต์ที่เน้นทำตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก พวงมาลัย
เบาตามยุคสมัยนิยม
รุ่นแรก ยุติการผลิตในเดือน ธันวาคม 1994 เพื่อเตรียมหลีกทางให้กับการ
เปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Model Change ที่กำลังจะตามมาในอีกราวๆ
1 เดือนหลังจากนั้น
นั่นจึงทำให้เวอร์ชันไทยของ Presea R10 มีอายุตลาดในบ้านเราเพียงแต่ 2 ปี
คือ 1993 – 1994 เท่านั้น
————————————-
รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น R11
31 มกราคม 1995 – ธันวาคม 2000
งานเปิดตัว Presea R 11 ครั้งแรกในญี่ปุ่น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1995
ณ อาคาร Park Tower กลางกรุง Tokyo เนรมิตโถง Lobby ของอาคารให้
เป็น Catwalk เดิน Fashion Show กันเต็มที่
Presea R11 มีขนาดตัวถังยาว 4,480 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง
1,325 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,580 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างล้อคู่หน้า
และหลัง (Front / Rear Thread) แปรผันกันไปตามขนาดล้อและยาง หาก
เป็นรุ่น 1.5 และ 1.8 ลิตร Ct.L จะอยู่ที่ 1,480 / 1,445 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็น
รุ่น 1.8 และ 2.0 Ct.S จะอยู่ที่ 1,470 / 1,435 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า มี
ตั้งแต่ 1,040 – 1,120 กิโลกรัม เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกพร้อมของเหลวจะ
อยู่ที่ระหว่าง 1,315 – 1,395 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย
เมื่อเปรียบเทียบกับ Presea R10 รุ่นก่อน จะพบว่า รุ่น R11 มีความยาว
เพิ่มขึ้น 60 มิลลิเมตร ความกว้างเท่าเดิม เพื่อให้คงไว้ซึ่งขนาดตัวถังรถ
กว้างไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร เพื่อให้ยังคงเสียภาษีในพิกัด 5 Number
(รถยนต์ขนาดเล็ก) ตามกฎหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ ความสูงเพิ่มขึ้น
แค่เพียง 5 มิลลิเมตร เท่านั้น แต่ระยะฐานล้อ เพิ่มขึ้นถึง 80 มิลลิเมตร
จุดเด่นในด้านการออกแบบของ Presea R11 ยังคงอยู่ที่การรักษาแนว
เส้นสาย เรียบง่ายแต่ดูดีมีสไตล์ในแบบ Stylish Medium Sedan พร้อม
บานประตูแบบ Frameless Door เอาไว้ แต่ขยายตัวรถให้ยาวขึ้น เพื่อให้
มีพื้นที่โดยสารด้านหลังเพิ่มมากขึ้น
ภายในห้องโดยสาร จับช่องแอร์คู่กลางมาควบรวมไว้ด้วยกันเสียที ประดับ
ด้วย Trim ลายไม้ ในรุ่น Ct.L คราวนี้ Nissan ทำตามนโยบายที่ตั้งใจให้
รถยนต์ทุกรุ่นของตน ซึ่งทำตลาดในญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นไป ต้อง
ติดตั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน Presea R11 จึงได้รับผล
บุญกุศลครั้งนี้ด้วย เพราะตั้งแต่รุ่นถูกสุด 1.5 Ct.I 5MT จนถึงรุ่นท็อป จะ
มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า Dual SRS มาประจำการให้ ทุกคัน
ชุดมาตรวัด เรืองแสงด้วยสีฟ้า Marine Blue เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ
พร้อมหน้าจอ Digital กุญแจพร้อมสวิตช์รีโมท สั่งล็อก/ปลดล็อกได้ทันที
Remote Control Entry System ชุดเครื่องเสียงมีให้เลือกได้ทั้งแบบ Super
Sound System เป็นวิทยุ ขนาด 2 DIN AM/FM/ เครื่องเล่น CD 1 แผ่น /
เทป Cassette 1 ช่อง ลำโพง 6 ชิ้น หรือจะสั่งติดตั้งชุดเครื่องเสียงแบบ
AV System เพิ่มระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System
ของ Xanavi และระบบเข็มทิศ แสดงภาพผ่านจอมอนิเตอร์สี และเพิ่ม
เครื่องรับ โทรทัศน์ เข้าไปให้อีกด้วย นอกจากนี้ ใครอยากได้ Sunroof
ก็ยังมีให้เลือกสั่งติดตั้งได้เป็นอุปกรณ์พิเศษ เช่นเดิม
เวอร์ชันญี่ปุ่น Presea R11 มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด ตามเดิม แต่มี
การปรับเปลี่ยนขุมพลัง 1.5 ลิตร มาเป็นแบบหัวฉีด EGI เหมือนพี่ๆเขา
กันเสียที ส่วนขุมพลัง 1.8 และ 2.0 ลิตร นั้น ยังคงยกมาจากรุ่นเก่า และ
ขายลากยาวต่อเนื่องกันไปจนหมดอายุตลาด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ใดๆเพิ่มเติมอีกเลย รายละเอียดมีดังนี้
– GA15DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.6 x 88.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.9 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI คุมด้วย
กล่องสมองกล ECCS 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
13.8 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที
– SR18DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,838 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
82.5 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI คุมด้วย
กล่องสมองกล ECCS 125 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
16.0 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที
– SR20DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI คุมด้วย
กล่องสมองกล ECCS 145 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
18.2 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที
ระบบบังคับเลี้ยว ยังคงเป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ผ่อนแรงช่วย แบบไฮโดรลิค รัศมีวงเลี้ยวเพิ่มขึ้นนิดนึง เป็น 4.9 เมตร ส่วน
ระบบกันสะเทือน เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น ด้านหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลังเป็นแบบ คานบิด Multi-Link Beam
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรกคู่หน้ามีรูระบายความร้อน ด้านหลังแบบ
ดิสก์เบรก พร้อมระบบปรับตั้งผ้าเบรกอัตโนมัติ ส่วนเบรกมือ ยังคงเป็นแบบ
คันโยก ข้างลำตัวผู้ขับขี่ตามปกติ ไม่มีแป้นเหยียบเบรกจอดมาให้เลือก และ
มีระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS
เบรกมือเป็นแบบก้านโยกตามปกติ แต่ที่พิเศษกว่าเพื่อน คือรุ่น Ct.L
และ 1.8 Ct.II เกียร์อัตโนมัติ ที่จะเปลี่ยนมาติดตั้ง เบรกจอดแบบใช้
เท้าซ้ายเหยียบแป้นจนสุด ปลดเบรกจอดออกด้วยการดึงคันโยกเล็กๆ
ใต้คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย แบบเดียวกับ Nissan Cefiro A31 นั่นเอง
(ดูความแตกต่างได้ จากรูปภาพตัวรถพร้อมห้องโดยสารด้านบน)
ราคาขายในญี่ปุ่น มีทั้งหมด 12 รุ่นย่อย ดังนี้
1.5 Ct.I 5MT…..1,336,000 เยน
1.5 Ct.I 4AT…..1,394,000 เยน
1.5 Ct.II 5MT…1,612,000 เยน
1.5 Ct.II 4AT….1,670,000 เยน
1.8 Ct.II 5MT…1,740,000 เยน
1.8 Ct.II 4AT….1,798,000 เยน
1.8 Ct.L 4AT…..1,916,000 เยน
1.8 Ct.S 5MT….1,889,000 เยน
1.8 Ct.S 4AT…..1,947,000 เยน
2.0 Ct.L 4AT….1,998,000 เยน
2.0 Ct.S 5MT…2,002,000 เยน
2.0 Ct.S 4AT….2,060,000 เยน
(อยากรู้ว่าเป็นเงินไทยเท่าไหร่ ให้คุณด้วย อัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น
ประมาณ 100 เยน / 30 บาท รุุ่นที่สเป็กใกล้เคียงบ้านเราที่สุดคือรุ่น 1.8
Ct.L 4AT คำนวนราคา แบบไม่รวมภาษีนำเข้าแล้วอยู่ที่ 574,800 บาท)
สำหรับแคมเปญโฆษณาของ Presea R11 นี้ ใช้สโลแกนที่เข้าท่าขึ้นว่า
“Design ที่ดี = ความรู้สึกที่ดี” โดยได้นักแสดงสาวชื่อดัง Atsuko Asano
มาเป็น Presenter หลัก ภาพยนตร์โฆษณา แบ่งออกมาเป็น 4 เวอร์ชัน
อย่างที่คุณสามารถคลิกดูได้ในคลิปข้างบนนี้
การปรับทัพเสริมรุ่นย่อย เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว เมื่อ 26 กันยายน 1995
เพิ่มรุ่น BlackStar 1.8 และ 2.0 ลิตร แนว Sport มาพร้อมสีตัวถังพิเศษชื่อ
Onyx Black พ่นด้วยกรรมวิธี Super Fine Coating เพิ่มปลอกท่อไอเสียคู่
ปรับจูนช่วงล่างใหม่ เอาใจคนชอบขับรถมากขึ้น ติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า
และระบบเบรก ABS เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
จากนั้น ตามด้วยการปรับโฉม Minorchange ซึ่งก็มีขึ้นเพียงครั้งเดียว อีก
เช่นเดียวกัน เมื่อ 21 สิงหาคม 1997 Presea R 11 ถูกปรับโฉมให้ดูสะดุดตา
ยิ่งขึ้นด้วยกระจังหน้าใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ล้อมกรอบด้วยแถบโครเมียม
ไม่มีเส้นแบ่งตรงกลางอีกต่อไป ชุดไฟหน้ายังเป็นแบบ Multi-Reflector
ตามสมัยนิยมในตอนนั้น
เปลือกกันชนหน้า ออกแบบขึ้นใหม่ให้สอดรับกับกระจังหน้า โดยยังคงยึด
ตำแหน่งไฟเลี้ยวและไฟตัดหมอกหน้าไว้ตามเดิม ส่วนสัญลักษณ์ประจำรุ่น
ที่แปะไว้บนฝากระโปรง คราวนี้ออกแบบใหม่ให้มีสีเดียวกับตัวถังรถไปเลย
เปลี่ยนกระจกหน้าต่าง เป็นแบบ UV Cut Green Glass แทบทุกรุ่นย่อย
ชุดไฟท้ายเปลี่ยนเป็นแบบ Multi-Reflector ลายใหม่ สลับไฟเลี้ยวและไฟ
ถอยหลัง ย้ายลงไปไว้ข้างล่าง ใต้ไฟเบรก รุ่นที่ใช้ล้อกระทะเหล็ก 13 นิ้ว
จะได้ฝาครอบล้อแบบเต็มวงลายใหม่ 6 แฉก ส่วนล้ออัลลอย 14 นิ้วสำหรับ
รุ่น 2.0 ลิตร ยังเป็นลายเดิม
นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนรุ่นย่อย ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าสตรีมากขึ้น
เริ่มจากรุ่น E 1.5 ลิตร เกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ รุ่น Refina F 1.5 ลิตร เกียร์
ธรรมดา และอัตโนมัติ รุ่น Refina มาตรฐาน 1.5 / 1.8 ลิตร มีทั้งเกียร์ธรรมดา
และอัตโนมัติ ส่วนรุ่น Top Refina L (1.5 / 1.8 / 2.0 ลิตร) จะมีเครื่องยนต์ให้
เลือกครบถ้วนทั้ง 3 ขนาด แต่มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ เพียงอย่างเดียว
*** Export Version (& Thai Version) ***
คล้อยหลังการเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น เพียง 3 เดือน เท่านั้น Nissan ก็ดูจะรู้ทัน
ว่าผู้แทนจำหน่ายในโซนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อยากจะรีบสั่ง Presea
รุ่นใหม่ ไปขายใจจะขาด คราวนี้ฝ่ายการตลาดต่างประเทศ และส่งออกของ
Nissan เลยทำงานกันอย่างว่องไว ในเดือน มีนาคม 1995 Presea Export
Version ก็พร้อมแล้วสำหรับตลาดนอกญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทย สยามกลการ สั่งนำเข้า Presea R11 สำเร็จรูปทั้งคัน มา
ต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นก่อน ค่อนข้างฉับไวเลยทีเดียว เริ่มทำตลาด เมื่อ
เดือนมิถุนายน 1995 และนั่นเป็นช่วงเวลาหลังจากการเคลียร์ปัญหาระหว่าง
คนในตระกูล พรประภา (ตระกูลผู้ก่อตั้ง สยามกลการ) ได้ยุติลงไม่นานนัก
ทว่า เนื่องจาก Presea รุ่นนี้ ยังคงเป็นรถนำเข้า CBU ทั้งคัน เป้าหมายตัวเลข
ยอดขายอาจจะไม่เยอะมากนัก สยามกลการ จึงตัดสินใจ เริ่มทำตลาดทันที
โดยไม่มีการจัดงานเปิดตัวเหมือนอย่างรุ่น R10
รูปลักษณ์ภายนอก และรายละเอียดการตกแต่งภายในห้องโดยสาร ยกชุดมา
จากเวอร์ชันญี่ปุ่นกันทั้งดุ้นแบบไม่ต้องคิดมาก ชุดมาตรวัด Marine Blue ก็มี
มาให้ เช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติพร้อมจอ Digital กระจก
มองข้างปรับและพับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน พร้อม
ระบบ One-Touch เฉพาะฝั่งคนขับ พนักวางแขนกลางเบาะหลัง เปิดทะลุไป
ถึงห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้ ส่วนเบาะคนขับ มีมือหมุน เพื่อปรับตำแหน่ง
สูง – ต่ำ และมุมเงยของเบาะมาให้ 2 ตำแหน่ง
ขุมพลังของ Presea R11 ทั้งเวอร์ชันส่งออก และเวอร์ชันไทย มีให้เลือก
เพียงแบบเดียว เหมือนเดิม เพียงแต่คราวนี้ อัพเกรดมาใช้เครื่องยนต์ใหม่
SR18DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,838 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
82.5 x 86.0 กำลังอัด 10.0:1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ คุมด้วย
กล่องสมองกล ECCS 125 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
16.0 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที
เวอร์ชันส่งออก เลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ
แต่สำหรับลูกค้าชาวไทย สยามกลการ สั่งมาให้เลือกแค่เพียงเกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ แบบเดียว เท่านั้น อัตราทดเกียร์ เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น เป๊ะ สามารถ
ซื้อเกียร์ลูกเก่าจาก เซียงกง แบบตรงรุ่นมาใส่เข้าไปเลยได้ทันที ไม่ต้องไป
ดัดแปลงอะไรเลย แถมยังเป็นเกียร์ลูกเดียวกับ Presea R10 รุ่นเก่า อีกด้วย
ดังนั้น อัตราทดเกียร์และเฟืองท้ายจึงเหมือนเดิมเป๊ะ ดังนี้
เกียร์ 1……………….2.861
เกียร์ 2……………….1,562
เกียร์ 3……………….1.000
เกียร์ 4……………….0.697
เกียร์ R……………….2.310
เฟืองท้าย……………3.827
ระบบบังคับเลี้ยว และระบบกันสะเทือน ยกมาจากเวอร์ชันญี่ปุ่น ทั้งดุ้น แต่
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรกคู่หน้ามีรูระบายความร้อน ด้านหลังแบบ
ดรัมเบรก พร้อมระบบปรับตั้งผ้าเบรกอัตโนมัติ ส่วนเบรกมือ ยังคงเป็นแบบ
คันโยก ข้างลำตัวผู้ขับขี่ตามปกติ ไม่มีแป้นเหยียบเบรกจอดมาให้เลือก และ
เวอร์ชันไทย “ไม่มีระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS มาให้
อย่างในญี่ปุ่น” (-_-‘) ทั้งที่เวอร์ชันส่งออก มี ABS ให้สั่งเป็น Option แถมยัง
จะเปลี่ยนระบบเบรกคู่หลัง มาเป็นดิสก์เบรกให้อีกต่างหาก! ล้อติดรถ เป็น
กระทะล้อเหล็กพร้อมฝาครอบแบบเต็มวง ขนาด 5 1/2 JJ x 14 นิ้ว สวมยาง
185/65 R14 แต่ถ้าอยากได้ล้ออัลลอย ก็เลือกสั่งซื้อเป็น Option ได้ต่างหาก
ขนาดยางและขนาดล้อ เท่ากันกับล้อเหล็ก
การไม่ติดตั้ง ABS มาให้ นั่นนับว่าแย่พอแล้ว แต่การไม่มีถุงลมนิรภัยมาให้เลย
แม้แต่ใบเดียว นั่นเป็นเรื่องแย่กว่า ทั้งที่ในปี 1995 ถุงลมนิรภัยก็เริมแพร่หลาย
ในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นรถยนต์นำเข้า ซึ่งมีราคาแพงกว่ารถยนต์ประกอบในไทย
ก็ควรติดตั้งมาให้ได้แล้ว แต่สยามกลการตอนนั้น มองเรื่องการทำราคาเป็นหลัก
เลยเลือกตัดออพชันด้านความปลอดภัยทั้ง 2 รายการนี้ทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
แน่ละครับ มิเช่นนั้น คงจะกดราคาลงมาในช่วงเปิดตัวเหลือเพียง 699,000 บาท
ไม่ได้หรอก!!
Presea R11 มีอายุตลาดในบ้านเราแค่ 2 ปีอีกเช่นกัน แต่ด้วยชื่อเสียงจากรุ่น
R10 ทำเอาไว้ดี มาคราวนี้ Presea ใหม่ ยิ่งขายดีเพิ่มขึ้นกว่ารุ่นก่อนด้วยซ้ำ
นับตั้งแต่เริ่มต้นส่งมอบรถในเดือนสิงหาคม 1995 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม
1995 Presea R11 กวาดยอดขายไปได้มากถึง 1,211 คัน พอถึงปี 1996 นับ
ตัวเลขยอดขายตั้งแต่ เดือนมกราคม จนถึงเดือนกรกฎาคม อันเป็นเดือนที่
มีรถในสต็อกเหลือขายจนหมดเกลี้ยง 3 คัน Presea R11 โกยยอดขายเพิ่ม
ได้อีก 1,339 คัน
เท่ากับว่า Presea R11 มีจำนวนประชากรในบ้านเรา 2,550 คัน และถ้านับ
รวมกับรุ่น R10 แล้ว ประเทศไทย จะมี Presea รวมกันทั้งหมด 3,661 คัน!
ครับ มีแค่เนี้ย! ไม่ขายต่อแล้วละ… เพราะในยุคนั้น การสั่งนำเข้ารถยนต์
มาขายสักรุ่น หากคุณทำงานอยู่ในบริษัทรถยนต์ ค่ายใดก็ตาม คุณก็คง
ต้องเจรจา ปิดดีลกับบริษัทแม่ในเมืองนอกให้ได้ ว่าคุณจะสั่งซื้อรถจาก
พวกเขา เพื่อมาทำตลาด จำนวนกี่คัน คุณต้องคำนวนบริหารจัดการให้ดี
เพราะนั่นเท่ากับคุณกำลังใช้งบบริษัท ก้อนใหญ่ สั่งซื้อรถยนต์เข้ามาขาย
หากขายไม่ได้ ความซวย ก็มาตกอยู่ที่คุณ เพราะต้องแบกภาระสต็อกกับ
ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรณีของ Presea ถือว่าค่อนข้างโชคดี เพราะว่า
สั่งมาขายเท่าไหร่ ก็ขายออกได้จนหมดเกลี้ยง ตามจำนวนที่มีการดีลกัน
แต่เมื่อลองย้อนกลับมามองในตลาดญี่ปุ่น ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อการ
อยู่รอด ในภาวะเศรษฐกิจช่วงผ่านพ้นฟองสบู่แตก หลังปี 1991 Nissan
เองก็พยายามจะหาทางเอาใจกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นสุภาพสตรีส่วนใหญ่เพื่อ
ดึงความสนใจจากบรรดาคู่แข่งที่ทะยอยเปิดตัวตามมา หลังจากนั้น
คู่แข่งที่ผมพูดถึง มีทั้งฝาแฝด 2 พี่น้อง จาก Toyota ทั้ง Corolla CERES
และ Sprinter MARINO เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 1993 เน้นเอาใจกลุ่ม
ลูกค้าครอบครัว ที่อยากได้รถยนต์ Frameless Door แต่งบไม่ถึงที่จะขึ้นไป
เล่นรุ่น Corona EXIV / Carina ED ตามด้วย Mazda LANTIS กับ Honda
Integra รุ่นที่ 4 ซึ่งเปิดตัวในปี 1993 ทั้ง 2 รุ่นนี้ เน้นเอาใจคนโสด ด้วยบุคลิก
การขับขี่ค่องแคล่วแบบ Sport ชัดเจน Presea เอง แม้มีจุดขายด้านความ
สวยสง่างาม แต่ก็มีเครื่องยนต์ซึ่งยังแรงไม่เท่าคู่แข่ง พื้นที่ห้องโดยสารยัง
ด้อยกว่าคู่แข่งบางรุ่น (แต่มีทัศนวิสัยดีกว่า Lantis) และอีกสารพัดปัจจัย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความต้องการรถยนต์ใหม่ในญี่ปุ่นที่เริ่มลดลงอย่าง
ต่อเนื่อง กอปรกับ ลูกค้าชาวปลาดิบส่วนใหญ่ เริ่มหันไปอุดหนุนรถยนต์ RV
(Recreation Vehicles) เช่นพวก SUV อย่าง Honda CR-V หรือ Station
Wagon ขนาดกลาง อย่าง Nissan Avenir Salut, Honda Accord Wagon,
Subaru Legacy , Toyota Caldina กันมากขึ้น อีกทั้ง กลุ่มลูกค้าครอบครัว
ที่มีรายได้ไม่สูงนัก ก็เริ่มหันไปซื้อรถยนต์ทรงกล่องขนาดเล็ก กันมากขึ้น
ดังนั้น ความนิยมในรถยนต์ Sedan 4 ประตู จึงถดถอยลงนับตั้งแต่ช่วงนั้น
มาจนถึงปัจจุบัน ยอดขายที่ลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง นั่นคือเหตุผลสำคัญ
ที่ทำให้ Presea มาถึงจุดจบ ในที่สุด…
Nissan ยังคงผลิต Presea ออกจำหน่ายเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นต่อเนื่องจนถึง
เดือนสิงหาคม 2000 จึงปลดออกจากสายการผลิต และพวกเขาก็ไม่คิดว่า
จะทำรถยนต์ Sedan ที่มีบานประตู Frameless Door อันเปี่ยมเสน่ห์แบบนี้
อีกต่อไป…
บางที อัญมณี เลอค่า ก็อาจสมควรแก่การถูกประดับไว้กับกาลเวลา…กระมัง?
Special Thanks to : / ขอขอบคุณ
แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ทั้ง 2 ท่าน
บริษัท Nissan Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบการเขียน
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย และภาพยนตร์โฆษณาทั้งหมด
เป็นของ บริษัท Nissan Motor Co.,Ltd จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
19 เมษายน 2016
Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com
April 19th, 2016
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE