วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่โลกยานยนต์มีชีวิตชีวามากที่สุดช่วงหนึ่งในประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวรถใหม่อย่าง Nissan Kicks e-POWER ซึ่งมีความสำคัญตรงที่ เป็นการเปิดตัว Kicks ไมเนอร์เชนจ์พร้อมขุมพลัง e-POWER ครั้งแรกในโลกที่ทำให้สื่อมวลชนต่างชาติจับตามองกันอย่างมาก และประการที่สองก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นยอมให้มีการประกอบรถ e-POWER นอกบ้านเกิดเมืองนอน
ท่ามกลางความซบเซาแมวหาวในวงการ อันเป็นผลกระทบจากพิษ COVID-19 ที่ทำให้อารมณ์อยากซื้อรถของลูกค้าชาวไทยหดหายไปเสียหมด Nissan เลือกที่จะเดินหน้าต่อ และประกาศราคาในระดับที่รุ่นท้อปของ Kicks มีค่าตัวพอๆกับรุ่นรองของค่ายคู่แข่ง แต่ขนาดตัวรถใกล้เคียง Honda HR-V และเล็กกว่า C-HR กับ CX-30 เล็กน้อย แม้จะมาเปิดตัวช้าไป แต่ Kicks ก็มีกระแสตอบรับที่ดี และส่งผลให้มีจำนวนคนที่พูดถึงรถรุ่นนี้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงขุมพลัง e-POWER นั้น หลายคนยังมีความสงสัยว่า “ตกลงมันทำงานยังไง” หรือ “สรุปแล้วมันเป็นรถไฟฟ้าที่มีเครื่อง หรือนับเป็นรถไฮบริดกันแน่?” ซึ่งตรงนี้ จะไปว่าผู้บริโภคก็คงไม่ได้ เพราะแคมเปญ e-POWER ของ Nissan ในระดับนานาชาติมักพ่วงคำว่า “100% ELECTRICALLY DRIVEN” หรือ “ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 100%” ซึ่งมองในแง่การใช้คำ ก็เถียงไม่ได้ว่าถูกของเค้านะเว้ยเห้ย..แต่หากอ่านแบบผ่านๆเร็วๆเหมือนรถขายไอติมวอลล์ในซอยบ้านคุณ ก็ไม่แปลกที่จะมีคนเข้าใจว่ามันคือ “รถไฟฟ้า 100%”
นอกจากคำถามเรื่องการทำงานของระบบ e-POWER แล้ว เมื่อผมลองโพสท์ใน Facebook ส่วนตัวเพื่อลองรับคำถามจากเพื่อนๆว่ามีใครสงสัยอะไรในเจ้า e-POWER นี้บ้าง ผมก็ได้รับคำถามที่มีประโยชน์จากมุมมองคนทั่วไป บางเรื่อง..ผมก็ไม่มีวันคาดถึง ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญในการใช้งานด้วย ซึ่งแน่นอนว่าคำถามจำนวนมาก ผมตอบไม่ได้ขณะนั้น ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มทั้งจากเว็บไซต์ จากบทความเก่า ที่ตัวเองเขียนไว้แต่ดันลืมไปแล้ว และจากบุคคลที่มีความรู้ ครั้นจะตอบแต่ใน Facebook ตัวเอง ก็น่าเสียดาย เอามาเขียนเป็นบทความเลยดีกว่า
ขอเรียนให้ทราบไว้ก่อนว่า
- บทความนี้ไม่ใช่รีวิวนะครับ ถ้าคิดจะอ่านหารีวิว ปิดได้เลยครับ เพราะผู้เขียนเองยังไม่เคยแม้แต่เห็นตัวจริงของ Kicks e-POWER เลย แต่เคยขับ NOTE e-Power ซึ่งใช้ขุมพลังเกือบเหมือนกันมาก่อนแล้ว
- เนื่องจากถ้าเรียบเรียงในลักษณะบทความ “นักเรียน” ทั้งหลายจะเบื่อเสียก่อนเพราะดูยาวแล้วจะพาลเบื่อ ดังนั้นขอเปลี่ยนรูปแบบเป็นการตั้งคำถาม และตอบ อาจไม่เรียงลำดับอย่างที่ท่านพอใจนักต้องกราบขอประทานอภัย แต่ผมแค่เบื่อการเขียนในลักษณะบทความปกติ อยากเปลี่ยนรูปแบบมันซะใหม่ จะได้ไม่น่าเบื่อ
- การเขียนบทความ จะมีส่วนที่เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้ถูกต้องเสมอไป และอาจไม่เหมือนกับสิ่งที่ท่านต้องการได้ยินเสมอไป
พร้อมแล้วก็เชิญอ่านกันได้เลยครับ
1. ตกลง Nissan Kicks เป็นรถไฮบริด หรือเป็นรถไฟฟ้าแบบมีเครื่องปั่นไฟ (Range Extender)??
ถ้าเรายึดถือตามการจัดประเภทของหน่วยงานรัฐ Nissan Kicks ก็จะเป็นรถไฮบริด ตามวิธีการจัดประเภทสรรพสามิตของ Eco sticker กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่ Kicks มีอัตราเสียสรรพสามิตอยู่ที่ 4% เท่ากับ Toyota C-HR ซึ่งเป็นอัตราภาษีสำหรับรถยนต์นั่งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ประเภทเครื่องยนต์ไฮบริดที่มีความจุเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3.0 ลิตร และปล่อยค่า CO2 ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร
หากไม่นับจุดนี้ ยังมีวิธีมองได้สองแง่มุม ซึ่งไม่สามารถสรุปแบบชี้ขาดได้ครับ
บางท่านมองว่า ตราบใดที่มีการปล่อยไอเสีย คุณก็ไม่ใช่รถไฟฟ้า ฟังดูเหมือนง่าย แต่ถ้าเป็นรถอย่าง Fisker Karma ที่วิ่งได้ไกล 51 กิโลเมตรด้วยไฟฟ้าล้วนๆ แต่มีเครื่องยนต์ที่ทำหน้าที่ปั่นไฟล่ะ? แบบนั้นนับเป็นรถอะไร จะเป็นไฮบริดอนุกรม (Series Hybrid) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบมีเครื่องยนต์ช่วยยืดระยะทางวิ่ง (Range-extended EV)
บางท่านบอกว่า เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแน่นอน เพราะมองจากมุมของการขับเคลื่อน ซึ่ง รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยไฟฟ้า 100% จริง
ส่วนตัวผมน่ะหรือครับ มองว่าเป็น Series Hybrid ..ทำไม..เพราะอะไร? ผมดูจากความจุแบตเตอรี่ประกอบไปด้วยครับ ถ้าจะเรียกว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มปาก ผมมองว่ารถควรสามารถวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนได้ไกลกว่ารถที่ถูกจัดเป็น Plug-in Hybrid
หากพิจารณาจากความจุไฟของแบตเตอรี่ใหญ่ Nissan Kicks มีความจุ 1.57 kWh ซึ่งใกล้เคียงกับรถไฮบริดอย่าง Toyota C-HR (1.31 kWh) และ Honda Accord Hybrid (1.3 kWh) ส่วนรถแบบ Plug-in Hybrid ที่สามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนได้ 25-35 กิโลเมตรนั้น จะมีความจุแบตเตอรี่ 9-13 kWh โดยประมาณ และท้ายรถ รถยนต์ไฟฟ้าล้วนอย่าง Nissan LEAF ที่วิ่งทดสอบตามมาตรฐานใหม่ยุโรป WLTP ได้ 270 กิโลเมตรนั้น ต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุถึง 40 kWh
ทั้งนี้ ท่านใดจะมองว่าเป็น EV ผมคงไม่เถียงครับ ท่านก็พูดถูก เพราะมันมีเรื่องของการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% ที่สนับสนุนแนวคิดนี้อยู่ และเป็นข้อเท็จจริง
2. ถ้าไม่ได้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนๆ ก็เท่ากับไม่มีอะไรใหม่ แล้วทำมาขายทำไม??
เพราะไม่ใช่ทุกที่ในโลกที่มีสาธารณูปโภครองรับรถยนต์ไฟฟ้าดีพอ อย่างในประเทศไทยนั้น ลองนึกว่าถ้าคุณใช้รถยนต์ไฟฟ้า และต้องการขับจากกรุงเทพไปเชียงใหม่…ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ การเดินทางอาจต้องมีการแวะเติมไฟฟ้า 1-2 ครั้ง ครั้งละ 30-45 นาทีถ้าเป็น Quick charge.. แต่..ถ้าคุณต้องแย่งจุดชาร์จกันกับรถถ่านคันอื่นๆอีกเป็นร้อยคัน แต่ละคันชาร์จครึ่งชั่วโมง นึกภาพออกมั้ยครับว่าการรอคิวเพื่อชาร์จนี่แหละที่อาจจะนานให้บ้าตาย
ดังนั้น Nissan จึงคิดว่า ถ้าเช่นนั้น เราก็ทำรถไฟฟ้าที่มันเติมน้ำมันได้แทนสิ ชีวิตสะดวกดี ได้ Mobility และ Intelligence ประเทศไหน สาธารณูปโภคไฟฟ้าไม่พร้อม ก็ส่งรถ e-POWER นี่แหละไปขาย ประเทศไหนจุดชาร์จเยอะมาก คนชอบรถยนต์ไฟฟ้ามาก ก็ส่งรถอย่าง LEAF ที่เป็นไฟฟ้าล้วนไปขาย
แต่ไม่ว่าจะเป็น e-POWER หรือ LEAF สิ่งที่คนในสองประเทศจะได้รับเหมือนกันก็คือ ความรู้สึกและประสบการณ์ในการขับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ได้ทลายข้อสงสัยว่ารถไฟฟ้าจะเร่งดีมั้ย แรงพอหรือไม่ ช่วยปรับความชินให้ลูกค้าในการขับรถแบบใช้แป้นคันเร่งควบคุมรถโดยไม่ต้องใช้แป้นเบรก ทั้งยังเป็นการทดสอบความทนทานของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในระยะยาวโดยมีลูกค้านี่ล่ะช่วยกันลอง และถ้าบริษัทคิดจะทำรถไปขายทั่วโลก รวมถึงในประเทศกำลังพัฒนา คุณจะมานั่งรอให้สาธารณูปโภคไฟฟ้า/สถานีชาร์จในประเทศเหล่านั้นพัฒนาแล้วค่อยส่งรถ EV เข้าไปขายงั้นหรือ?
3. ถ้านับเป็นไฮบริด อะไรที่ทำให้ e-POWER แตกต่างจากรถไฮบริดของคู่แข่ง
การที่เครื่องยนต์ไม่มีการส่งกำลังไปถึงล้อไม่ว่ากรณีใดๆ คือจุดแตกต่างที่สำคัญที่สุด แล้วทำไม Nissan จึงคิดว่าหนทางแบบนี้นั้นถูกต้อง? ต้องขอเท้าความถึงปรัชญาในการปรับตัวเข้าสู่โลกรถไฟฟ้าของ Toyota เทียบกับ Nissan สักหน่อย
Toyota เชื่อมาตลอดว่ารถไฮบริดยังต้องอยู่บนโลกไปอีกนาน จึงมุ่งพัฒนารถไฮบริดอย่างจริงจัง เพิ่งมาประกาศเข้าสู่ประชาคมรถถ่านไร้เครื่องยนต์เมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง ดังนั้น ในรถไฮบริดอย่าง C-HR เครื่องยนต์จึงยังเป็นพระเอก คุณเอาเครื่องออก รถก็เป็นง่อย เพราะกำลังส่วนมากมาจากเครื่องยนต์
Nissan เชื่อในความคิดที่ว่า “เปิดก่อนได้เปรียบ” จึงมุ่งพัฒนารถไฟฟ้าอย่างจริงจังจนออกมาเป็น LEAF รุ่นแรก รถไฮบริดที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็มักมีประสิทธิภาพสู้ Toyota ไม่ได้ ในช่วงหลังมานี้จึงปรับความคิดใหม่ เอาองค์ประกอบของรถไฟฟ้าที่ตัวเองสร้างได้เก่ง มาใช้ให้มากที่สุด แล้วติดตั้งเครื่องยนต์เข้าไป ในรถของ Nissan ที่เป็น e-POWER จึงมีลักษณะใกล้เคียงรถไฟฟ้ามากกว่า ทั้งการที่มอเตอร์เป็นพระเอกในการขับเคลื่อน และการติดตั้งเครื่องยนต์เพื่อปั่นไฟอย่างเดียวโดยไม่ให้มีการส่งกำลังไปถึงล้อเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไฮบริดในรถอย่าง Honda Accord Hybrid นั้น จะว่าไปก็มีความคล้าย e-POWER อยู่มาก เพราะมีมอเตอร์เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเช่นกัน เมื่อกดคันเร่ง 100% มอเตอร์ของ Accord จะรับหน้าที่ในการฉุดกระชากรถทั้งหมด แต่เมื่อวิ่งด้วยความเร็วคงที่นิ่งๆไม่เกิน 110 เครื่องยนต์กลับจะทำงานส่งกำลังไปที่ล้อตลอด เพราะ Honda เชื่อว่าหากใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในการวิ่งทางไกลตลอด การที่เครื่องต้องส่งกำลังชาร์จ แล้วก็ติดๆดับๆไปตลอดทางนั้น จะทำให้กินน้ำมันมาก ในทางตรงข้าม เครื่องสันดาปภายในที่จูนเน้นประหยัด หากขับแบบคันเร่งคงที่ตลอด จะใช้น้ำมันได้คุ้มค่ากว่า
เมื่อมองจากการขับใช้งานจริง (โดยประสบการณ์ของผู้เขียนเมื่อครั้งขับ Note e-POWER) พบว่า ถ้าคุณทำเป็นไม่รู้ว่าอะไรขับเคลื่อนรถอยู่ คุณจะพบว่าชีวิตคล้ายกันมากเมื่อใช้ในเมือง รถเหล่านี้ จะวิ่งไปอย่างเงียบเชียบ แล้วสักพักก็จะมีเครื่องยนต์ติดขึ้นมาเหมือนกัน แถมเมื่อเข้าโหมดซิ่ง เครื่องยนต์ก็จะปั่นเร็วจี๋ขึ้นเพื่อทำไฟฟ้าให้ทันใช้ (ในกรณีของ e-POWER และ Accord Hybrid) หรือเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน (Toyota)
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ในการขับจริง e-POWER จะมีโหมด “One-Pedal” ซึ่งเมื่อคุณปล่อยคันเร่งหมด รถจะมีแรงหน่วงจนสามารถหยุด ความเร็วเหลือศูนย์ได้ และเป็นโหมดแบบที่สามารถเปิดและปิดการทำงานได้ตามแต่คนขับจะสั่ง อันเป็นผลมาจากการใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนเป็นหลัก นอกจากนี้การที่ไม่ต้องมีการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ ก็ทำให้ e-POWER ไม่ต้องมีชุดตัดต่อกำลังเพิ่มเข้ามา มีความซับซ้อนในการส่งกำลังน้อยกว่า
4. แล้ว e-POWER ในการไม่ให้เครื่องยนต์ช่วยส่งกำลังไปล้อ มีผลดีหรือเสียอย่างไรในแง่ความประหยัดและมลภาวะ?
หากจะว่ากันในแง่การขับใช้งานจริง ก็คงต้องรอผลการทดสอบจาก J!MMY และสื่อมวลชนท่านอื่นล่ะครับ
แต่ถ้าตอบอย่างนี้ห้วนๆ คนอ่านจะด่าถึงพ่อถึงแม่เอา ดังนั้น ก็ต้องอันเชิญดูตัวเลขการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจาก Eco Sticker ที่หน่วยงานรัฐเขาทำไว้ให้ ต้องบอกไว้ก่อนว่าตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองใน Eco Sticker นั้นมีข้อเสียตรงที่เราทำให้ได้ตัวเลขเท่ากันได้ยากในชีวิตจริง แต่มีข้อดีคือ รถทุกคัน ทดสอบด้วยเงื่อนไขเดียวกัน อาจใช้เทียบกับชีวิตจริงไม่ได้ แต่ใช้เทียบในกรณีให้รถสองคัน “ต้องเจออะไรเหมือนกัน”
ผมยก C-HR Hybrid เป็นตัวเทียบ
*หมายเหตุ อย่าตกใจกับราคาขายปลีกของ Kicks ที่ไม่เท่ากับราคาที่อยู่บนเว็บ..เพราะราคาบนเว็บ เป็นราคาลดพิเศษช่วงเปิดตัว จนถึง 31 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นแล้วจะเป็นไง ไว้ค่อยว่ากัน
จะเห็นได้ว่า อัตราการสิ้นเปลืองเมื่อทดสอบแบบวิ่งในเมือง C-HR ทำได้ 4.1 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร (24.39 กิโลเมตรต่อลิตร) ส่วน Kicks ทำได้ 3.7 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร (27.02 กิโลเมตรต่อลิตร) ส่วนการวิ่งแบบนอกเมือง C-HR ทำได้ 4.2 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร (23.8 กิโลเมตรต่อลิตร) และ Kicks จัดไป 4.5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร (22.22 กิโลเมตรต่อลิตร) แต่พอมานับแบบสภาวะรวม (Combined) Toyota ได้ 24.4 ส่วน Nissan ได้ 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร
ดังนั้น สรุปก็คือ ถ้าวิ่งในเมืองมากเท่าไหร่ Kicks ยิ่งทำตัวเลขได้ดีกว่า ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากระบบขับเคลื่อนเอง หรือเกิดจากการที่น้ำหนักตัวเบากว่า ล้อและยางเล็กกว่า ประกอบกันไป แต่เมื่อวิ่งนอกเมืองใช้ความเร็วคงที่ กลายเป็นว่า Toyota ทำตัวเลขได้ดีกว่า ทั้งๆที่ตัวเครื่องยนต์ของ Nissan นั้นไม่ได้ส่งกำลังขับเคลื่อน แค่ปั่นไฟอย่างเดียว
นอกจากนี้ ตัวเลขค่ามลภาวะ CO2 ของ C-HR กลับดีกว่า Kicks อยู่ 5 กรัม/กิโลเมตรด้วย
นี่เป็นผลจากการทดสอบเบื้องต้นของหน่วยงานรัฐนะครับ ของจริงอาจต้องลองดูกันอีกที
5. Nissan มี LEAF อยู่แล้ว ทำไมยังเอา e-POWER มาใส่ใน Kicks ไม่ทำ Kicks เป็นรถไฟฟ้าไปเลย
คำตอบข้อนี้จะคล้ายกับข้อ 2 แต่เราสามารถเสริมคำตอบได้ด้วยการมองข้อได้เปรียบ/เสียเปรียบที่มาจากขนาดของแบตเตอรี่
จากการสัมนาของทาง Toyota (รู้ว่าคนละค่าย แต่ขอใช้เพื่อการอ้างอิงหน่อยเหอะ) เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ผมได้ทราบว่า ต้นทุนของรถไฟฟ้านั้น ส่วนที่แพงมากคือแบตเตอรี่ ขนาดยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ยังพูดเองว่าแบตเตอรี่ที่จุพลังไฟมากพอสำหรับการวิ่งให้ได้เกิน 200 กิโลเมตรนั้น มีต้นทุนอยู่ที่ 1 ล้านเยน หรือประมาณ 280,000 บาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)
แต่ขณะเดียวกัน แบตเตอรี่สำหรับการวิ่งแบบไฟฟ้าระยะสั้นอย่างของรถไฮบริดทั่วไป เช่น C-HR หรือ Altis Hybrid นั้นมีราคาอะไหล่เบิกแค่ประมาณ 59,000 บาท และมีแนวโน้มที่จะทำให้ถูกลงได้อีกด้วยวิธีการ Reuse/Cell Recycling
เมื่อเรารู้กันว่าลูกค้าชาวไทยกลุ่มชนชั้นกลาง มีความกลัวเรื่องค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า แบตเตอรี่คือส่วนหนึ่งที่แพงที่สุด แค่ได้ยินว่าเปลี่ยนแบตเตอรี่หลักแสน กับหลักหมื่น ปฏิกริยาของลูกค้าก็ต่างกันแล้ว และไม่ต้องอื่นไกลหรอกครับ การทำ Kicks ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนนั้น ความแพงของแบตเตอรี่จะทำให้ราคาขายของรถกระโดดไปไกล คุณคงพอนึกภาพความต่างของค่าตัวใน MG ZS 1.5 กับ ZS EV ออก..ถ้าขาย Kicks EV 1.35-1.4 ล้านบาท จะขายให้ใคร
ส่วนที่เหลือ ซึ่งการทำเป็นรถไฮบริดได้เปรียบรถ Full Battery EV ก็คือ อิสระในการติดตั้งแบตเตอรี่ รถอย่าง LEAF นั้น แบตเตอรี่โต และต้องกินพื้นที่ใต้ห้องโดยสารมาก ทำให้ตัวรถมองจากข้างนอกดูสูง แต่เข้าไปนั่งจริงๆแล้วหลังคากลับดูเตี้ยกว่าที่คิด ส่วนแบตเตอรี่ของรถไฮบริดสามารถออกแบบให้เล็กและบางกว่า ใน Kicks วิศวกร ออกแบบให้ติดตั้งใต้เบาะคู่หน้า คล้ายกับ Honda Jazz ที่วางถังน้ำมันไว้ใต้เบาะหน้า ส่วน C-HR วางไว้ใต้เบาะหลัง
สรุป ถึงแบตเตอรี่รถไฮบริดจะเล็ก ทำให้วิ่งด้วยไฟฟ้าได้แค่ระยะสั้น แต่ราคาอะไหล่ต่อหน่วยถูกกว่าเมื่อนับทั้งลูก และสามารถปรับให้เข้ากับโครงสร้างของรถยนต์นั่งแบบปกติได้ง่ายกว่า
6. ความแตกต่างเวลาขับใช้งาน และ Drive Mode/EV Mode ของ Nissan Kicks เป็นอย่างไร?
Kicks มีคันเกียร์แบบรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจต้องทำความเข้าใจก่อนขับ ไม่เหมือนกับรถของคู่แข่งที่เลือก Pattern เกียร์ในแบบที่คนใช้รถเบนซินเข้าใจและขึ้นขับได้ทันที แต่ไม่มีอะไรยาก
การเข้าเกียร์ P ใช้วิธีกดปุ่ม การเข้าเกียร์อื่นๆ จะเริ่มต้นด้วยการผลักคันโยกเกียร์ไปทางขวาเสมอ ถ้าผลักขวาทีเดียวแล้วปล่อย จะเป็นการเข้าเกียร์ว่าง ผลักขวาแล้วดันขึ้น เป็นการเข้าเกียร์ถอยหลัง ผลักขวาแล้วดันลง เป็นการเข้าเกียร์ D แต่ถ้าสมมติเราขับรถอยู่ เกียร์อยู่ตำแหน่ง D แล้วเราผลักขวา-ลงอีกครั้ง จะเป็นการเข้าเกียร์ B ซึ่งเป็นการเรียก Engine Brake มาใช้ (จริงๆแล้วผมน่าจะเขียนว่า “เพิ่มแรงหน่วงมากกว่า” เพราะ Engine ไม่ได้ขับเคลื่อนรถคันนี้) เวลาลงเขา ใส่เกียร์ B ก็จะคล้ายกับการดึงเกียร์ต่ำในรถเบนซิน แรงหน่วงจะมากขึ้นยามที่เราปล่อยคันเร่งแล้วดูรถไหลลงเนิน
DRIVE MODES
เนื้อหาตรงนี้อาจไม่ตรงกับในเว็บไซต์ของ Nissan ซึ่งเขียนว่ารถมี 3 โหมดคือ EV Mode, S และ Eco ซึ่งผมมองว่ามันคนละปุ่ม ทำงานคนละเงื่อนไขกัน แถม EV Mode จะใช้ไม่ได้ด้วยถ้าไม่เลือก S หรือ Eco ผมจึงขออนุญาตจัดระเบียบข้อมูลซะใหม่
Drive Modes ของ Nissan Kicks ประกอบไปด้วย
- NORMAL MODE
- S (SMART MODE)
- ECO MODE
NORMAL MODE คือการตอบสนองแบบปกติ ระบบปรับอากาศทำงานปกติ และเมื่อปล่อยคันเร่ง รถจะไหลต่อได้ ทำให้ได้ความรู้สึกเหมือนกับการขับรถไฮบริดทั่วไป ซึ่งลูกค้าที่ไม่เคยขับรถกอล์ฟคาร์ทน่าจะชินได้ง่ายกว่า
SMART MODE ระบบสมองกลจะให้ความใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะการขับขี่ ดึงพลัง หรือเซฟพลังในจุดที่จำเป็นโดยไม่ได้ยุ่งกับความไวในการตอบสนองของคันเร่ง (NORMAL กับ SMART คันเร่งไวเท่ากัน) และไม่ยุ่งกับระบบปรับอากาศ แต่ในโหมด SMART นี้ One-Pedal จะทำงาน เมื่อปล่อยเท้าจากคันเร่ง รถจะมีแรงหน่วงมากกว่า NORMAL MODE ชัดเจน
ถ้าเทียบกับ NORMAL MODE ใส่เกียร์ B ก็จะมีความต่าง.. NORMAL+B จะมีความหน่วง แต่ปล่อยคันเร่งหมด รถจะไม่หยุดนิ่ง แต่ SMART MODE นั้น One-Pedal จะถูกเปิดใช้ และรถจะหยุดนิ่งได้เมื่อถอนคันเร่ง (แต่เป็นในลักษณะชะลอแล้วหยุด)
ECO MODE สมองกลจะปรับการทำงานของระบบไฟฟ้าในรถเพื่อให้ใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น คันเร่งจะตอบสนองนิ่มนวลมากขึ้น และจะมีการเปิด One-Pedal เช่นเดียวกับ SMART MODE
EV MODES
ยังไม่มีข้อมูลว่า Nissan เรียกสองโหมดนี้อย่างเป็นทางการว่าอย่างไร แต่อธิบายได้เบื้องต้นดังนี้
- โหมดย่องเงียบ – รถจะป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ทำงาน เว้นเสียแต่ว่าพลังไฟในแบตเตอรี่ลดลงต่ำมากจริงๆ
- โหมดชาร์จ – YES! คุณสามารถสั่งให้ Kicks ชาร์จแบตเตอรี่ตัวเองให้เต็มได้ครับ ซึ่งความสามารถแบบนี้ปกติจะมีแต่ในรถ Plug-in Hybrid เท่านั้น C-HR หรือ Accord Hybrid จะไม่มีฟังก์ชั่นนี้
หมายเหตุ:
1. คุณจะใช้ EV MODES สองโหมดนี้ได้ก็ต่อเมื่อเลือก Drive mode ไปที่ SMART หรือ ECO เท่านั้นครับ Normal จะใช้ไม่ได้
2. สวิตช์ EV MODES จะใช้การได้ก็ต่อเมื่อระบบขับเคลื่อน ถึงอุณหภูมิทำงานแล้ว ถ้าเช้ามืดสตาร์ทออกจากบ้านเลย จะยังใช้ไม่ได้
7. พูดถึง One-Pedal (การขับโดยใช้แป้นคันเร่งควบคุมรถอย่างเดียว) มันจะยากมั้ย แล้วสมมติถ้ารถหน่วงจนหยุดได้ แล้วไฟเบรกจะติดมั้ย คันหลังจะรู้มั้ยเมื่อเราถอนเท้าจากคันเร่งและรถหน่วงแล้ว?
ฟังดูเหมือนยาก แต่เมื่อได้ลองสักพักจะเริ่มชินได้อย่างรวดเร็ว จากที่ผู้เขียนลองมาใน Note e-POWER ที่ญี่ปุ่น ต้องลองหาที่ว่างๆในการค่อยๆถอนคันเร่งจนรถหยุด จากนั้นออกตัวและลองทำซ้ำอีกครั้ง จะเริ่มจับจุดได้ว่าถอนคันเร่งมากเท่าไหร่แล้วรถจะตื้นมากแค่ไหน ถ้าคุณรู้สึกประสาทกิน ก็แค่ใช้ NORMAL MODE ขับ อย่าไปฝืนธรรมชาติตัวเอง แต่ถ้าปรับตัวให้ชินได้ คุณจะพบความสบายจากการไม่ต้องสลับเท้าไปมาระหว่างสองแป้น
ไฟเบรกของ Kicks นอกจากจะทำงานโดยรับสัญญาณจากแป้นเบรกแล้ว ยังรับจากเซนเซอร์วัดแรง G อีกด้วย เมื่อเราถอนคันเร่งแล้วรถเกิดอาการหน่วงจนเกิดแรง G มากว่า 0.1G ไฟเบรกก็จะสว่างขึ้น
สิ่งที่ควรระวังก็คือ ระบบเบรกภายใต้การทำงานของ One-Pedal จะสร้างแรงหน่วงสูงสุดไม่เกิน 0.15G ซึ่งน้อยกว่าอาการเบรกหน้าทิ่มที่เราเจอเวลาย้ายจากรถที่เบรกต้านเท้า ไปขับพวกรถแป้นเบาๆไวๆเสียอีก ดังนั้น ในกรณีฉุกเฉิน หมาตัดหน้า หรือคนวิ่งตัดหน้าแบบหมาๆ ให้เหยียบแป้นเบรกตามปกติได้เลย
8. Nissan Kicks นี่..สามารถใส่เกียร์ว่างจอดแล้วล็อครถได้หรือไม่ เผื่อรีบ แล้วจำเป็นต้องจอดขวางคนอื่น?
ได้ แต่อาจต้องมีขั้นตอนบ้าง ซึ่งทาง Nissan บอกว่า เขาทำ Kicks ให้ใส่เกียร์ว่างจอดล็อครถได้ เพื่อตลาดไทยโดยเฉพาะ
เริ่มต้นจากตอนที่รถจอดและดับสวิตช์การทำงานรถไปแล้ว
- กดปุ่มสตาร์ท 1 ครั้ง (โดยไม่ต้องเหยียบเบรก) เพื่อเป็นการ “On” เปิดเฉพาะระบบไฟฟ้า
- เหยียบเบรกคาไว้
- กดปุ่ม P
- ตบเกียร์ไป N แล้วคาขวาไว้อย่างนั้น 2 วินาที
- ปล่อยคันเกียร์
- ตบเกียร์ไป N แล้วคาไว้ 2 วินาที อีกครั้ง
ถ้าทำสำเร็จ จะมีข้อความแจ้งบนหน้าปัดว่า “โหมดเกียร์ว่างทำงาน”
ก็ขอบคุณที่ยังอุตส่าห์ทำให้ใส่เกียร์ N ได้ แต่รู้สึกว่าคนทั่วไปคงไม่จำกันแน่ครับ ส่วน Toyota C-HR นั้น ก็จะมีวิธีการเข้า N เพื่อจอด ก่อนจะดับเครื่องเพื่อจอด ก็ต้องใส่เกียร์ P ก่อน กดปุ่มปลดเบรกมือเอาลง เอามือหนีบปุ่มหัวเกียร์คาไว้ กดปุ่มดับเครื่อง แล้วค่อยเลื่อนเกียร์มา N (นี่เป็นวิธีลัดในการไม่ต้องดึงดอกกุญแจออกมาเสียบช่อง Shift Lock)
9. มันจะมีโอกาสไหมที่เครื่องยนต์จะชาร์จแบตเตอรี่ไม่ทัน เช่นเวลาขึ้นเนินสูงต่อเนื่องยาวๆ
ขอเรียนอย่างสุภาพว่าไม่ทราบ ถึง Nissan ทดสอบแล้วเจอเคสนี้ ก็คงหาวิธีจูนระบบชาร์จไฟจนลบจุดอ่อนกันไปเกือบหมดแล้ว
และในชีวิตจริง ECU ของ Kicks จะคอยดูวิธีการขับรถของเรา รวมถึงความลาดชันของพื้นที่วิ่ง อุณหภูมิ โหลดของไฟฟ้า และพลังงานที่เหลืออยู่ในแบตเตอรี่ โดยปกติ เมื่อเครื่องติดเพื่อชาร์จไฟ รอบเครื่องของมันจะอยู่ที่ 1,300-1,400 รอบต่อนาที แต่ถ้าจำเป็นต้องรีบปั่นไฟจริงๆ มันจะยอมให้เร่งเครื่องไปจนถึง 6,000 รอบต่อนาทีได้ ซึ่งเมื่อรอบสูงขนาดนั้น โอกาสที่จะเจอเนินที่ยาวและชันมากจนรถปั่นไฟสู้ไม่ไหวขนาดนั้นในชีวิตจริงน่าจะน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเจอเงื่อนไขทดสอบแบบบ้าๆ (ที่ผมอาจจะพยายามหาเรื่องให้มันเกิด) ใครจะไปรู้..เพราะเท่าที่ทราบมา บนหน้าปัดของ Kicks ก็มีไฟเตือน “การจำกัดพลังไฟฟ้า” เตรียมไว้ให้อยู่ เป็นไฟรูปเต่า..รูปเต่าคลานจริงๆครับไม่ได้โม้ เพื่อนใครขับ LEAF ลองดูได้ครับมีดวงไฟสัญลักษณ์เดียวกัน
10. เครื่องยนต์ของ Kicks ที่ใช้ปั่นไฟ ก็คือเครื่องยนต์ของ Note/March ใช่หรือไม่?
ใช่ เพราะเกือบทั้งหมด คือเครื่องยนต์ HR12DE จาก Note Eco นั่นล่ะครับ แต่มีรายละเอียดบางจุดที่ถูกปรับให้เหมาะสม/ทันสมัยขึ้น เช่น
- เปลี่ยนระบบหัวฉีด จากหัวฉีดเดียว เป็นหัวฉีดคู่แล้วใช้ตัวหัวฉีดปลายเล็กลง ฉีดน้ำมันเป็นฝอยละเอียดกว่า เผาไหม้ได้หมดจดกว่า
- ปรับการทำงานของระบบวาล์วแปรผันให้เหมาะกับการทำงานในสถานะเครื่องปั่นไฟ
- อัตราส่วนกำลังอัดเพิ่มจาก 10.2 เป็น 12.0 : 1
ตรงนี้ ต้องบอกว่าผู้เขียนเข้าใจมาตลอดว่าเป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานแบบ Atkinson Cycle แต่พบในภายหลังว่า Nissan ไม่เรียกเครื่องยนต์นี้ว่าเป็น Atkinson Cycle แม้ว่าในบางเวลาระบบแคมชาฟท์แปรผันจะปรับองศาและส่งผลให้การทำงานของเครื่องยนต์เป็นไปในแบบ Atkinson Cycle ที่เยื้องจังหวะการปิดวาล์วไอดีให้ช้าลง จนลูกสูบสามารถเคลื่อนที่ขึ้นและดันไอดีกลับออกมาได้ในบางส่วน เป็นการลดแรงต้านที่เกิดจากการอัดในกระบอกสูบลง ลดอัตราสิ้นเปลืองลง
11. ถ้ามีเครื่องยนต์ ก็เท่ากับว่าต้องบำรุงรักษาเหมือนรถที่มีเครื่องยนต์ มีองค์ประกอบไหนบ้างในห้องเครื่องที่เหมือนรถสันดาปภายในทั่วไป และการบำรุงรักษาเป็นอย่างไร
Kicks มีอุปกรณ์ส่วนควบเหมือนรถสันดาปภายใน เช่น หม้อน้ำ พัดลมไฟฟ้า แต่คอมเพรสเซอร์แอร์จะเป็นแบบไฟฟ้าของรถยนต์ไฮบริดแทน เท่ากับว่าแม้ราคาค่าแบตเตอรี่ลูกใหญ่จะถูกกว่า LEAF มากแต่ก็จะมาเสียกับค่าบำรุงรักษาส่วนประกอบควบของเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม ค่าบำรุงรักษาตัวเครื่องยนต์และส่วนประกอบควบ จะใกล้เคียงกับ Note/March ซึ่งก็ไม่ได้แพงมากนัก ส่วนหนึ่งที่ Nissan ใช้เครื่องยนต์ HR12 เพื่อทำหน้าที่ปั่นไฟ แทนที่จะเอาเครื่องยนต์ K-Car ขนาดเล็กมาใช้ เพราะว่า HR12 นั้นมีการแชร์อะไหล่ใช้กับเครื่อง HR15 และ HR16 ในหลายส่วน มีวางจำหน่ายในรถยนต์หลายรุ่นทั่วโลก ดังนั้นการใช้ HR12 จึงไม่ใช่เรื่องความประหยัดน้ำมัน แต่เป็นบาลานซ์ระหว่างต้นทุนต่อเครื่อง และความง่ายในการจัดการเรื่องอะไหล่
สำหรับการบำรุงรักษาตัวเครื่องยนต์นั้น เป็นไปตามขั้นตอนปกติเหมือน Nissan Note/March คือเข้าเช็คระยะ/เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทุก 6 เดือนหรือ 10,000 กิโลเมตร น้ำมันเชื้อเพลิง สามารถรองรับได้ถึง E20
12. ระบบไฟฟ้าต่างๆ ใน Kicks รับพลังจากแบตเตอรี่ลูกเล็ก 12V ทั้งหมดหรือไม่?
ไม่ใช่
ระบบปรับอากาศ ใช้ไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าแรงสูงที่มาจาก Inverter (หม้อแปลงกระแสไฟ) คอมเพรสเซอร์แอร์ไฟฟ้า
ส่วนเครื่องเสียง ไฟหน้า และระบบไฟฟ้าอำนวยความสะดวกต่างๆในรถนั่นล่ะถึงจะมาจากแบตเตอรี่ 12V (ซึ่งก็ถูกชาร์จมาจากไฟฟ้าแบตเตอรี่แรงดันสูงอีกทอดหนึ่ง-เหมือนรถไฮบริดทั่วไป)
13. ระบบระบายความร้อนของมอเตอร์ และแบตเตอรี่ ใน Nissan Kicks เป็นอย่างไร
เครื่องยนต์ ระบายความร้อนด้วยหม้อน้ำ และพัดลมไฟฟ้า เหมือนรถสันดาปภายใน
มอเตอร์ขับเคลื่อน หม้อแปลง (Inverter) ตัวปั่นไฟ Generator ใช้น้ำในการระบายความร้อน แต่เป็นวงจรทางเดินน้ำแยกเป็นเอกเทศ ไม่ยุ่งกับระบบระบายความร้อนของตัวเครื่องยนต์เบนซิน
แบตเตอรี่ไฮบริด ใช้อากาศในการระบายความร้อน (เป็นพัดลมระบายความร้อน)
บทสรุปส่งท้าย
ไม่ว่าคุณจะมองมันเป็น Hero Product ที่ล้ำยุค หรือรถที่พยายามจะเป็น LEAF แต่ไปไม่ถึง สิ่งที่จะส่งผลต่อการใช้งานจริง ก็คือพฤติกรรมการตอบสนองของรถ ซึ่งในแง่ความรู้สึก หากไม่นับเรื่องการที่ “ใช้พลังขับเคลื่อนรถ 100% จากมอเตอร์ไฟฟ้า” และการที่มีโหมด One-Pedal กับลักษณะเกียร์และสวิตช์ที่เหมือนรถยนต์ไฟฟ้า Kicks ก็เกือบจะเหมือนรถไฮบริดแบบไม่มีปลั๊กเสียบส่วนใหญ่ วิ่งไปสักพัก ก็มีเสียงเครื่องติดบ้างดับบ้างเหมือนกัน รูปทรงของรถก็เหมือนรถครอสโอเวอร์ทั่วไป แม้แต่แดชบอร์ด การออกแบบส่วนใหญ่ก็เหมือนรถทั่วไป
การที่มันเหมือนรถไฮบริดมาก ก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ค่าแบตเตอรี่ถูกลง แบตเตอรี่กินที่ห้องโดยสารน้อยกว่ารถไฟฟ้าแบบเต็มขั้น ไม่ต้องวุ่นเรื่องที่ชาร์จ ขับไปไหน ตราบใดมีปั๊มก็ไปถึงได้ แต่ก็ยังมีไอเสียออกปลายท่อเหมือนกับรถไฮบริดทั่วไป และมีค่าเชื้อเพลิงปิโตรเลียมอยู่ ก็ให้มองเสียว่า หากคุณไม่กลัวที่จะใช้รถไฮบริด ทำไมคุณต้องกลัว e-POWER ในเมื่อ e-POWER ก็มีหลายอย่างคล้ายกัน มีคุณประโยชน์ หรือส่วนที่ต้องเผื่อค่าใช้จ่ายเหมือนๆกัน ต่างกันแค่ว่าเครื่องมันส่งกำลังไปถึงล้อหรือเปล่า แค่นั้น
และพูดตามตรงก็คือในเวลานี้ สาธารณูปโภค สถานีชาร์จในไทยยังมีแค่นี้ Kicks น่าจะเป็นคำตอบที่คนส่วนใหญ่รับได้มากกว่ารถไฟฟ้า 100% เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของรถจะแทบไม่ได้ขับเกินวันละร้อยโล ใน Kicks คุณได้เรียนรู้การตอบสนองของรถที่เหมือน LEAF มาก โดยที่ไม่ต้องกังวลจะหาสถานีชาร์จไม่ได้
เหนืออื่นใด สิ่งที่ e-POWER มีคุณค่าต่อรถของ Nissan จริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องการลดมลพิษเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเลือกขุมพลังขับเคลื่อนมาใส่ Kick ในแบบที่จะให้อัตราเร่งดีที่สุด และได้ประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตที่ถูกกว่า ทำให้ใส่อุปกรณ์ได้มากขึ้นในราคาที่ไม่แพงไป เป็นประโยชน์จากสรรพสามิต ในลักษณะเดียวกับที่ Toyota C-HR และ Altis Hybrid เป็น สังเกตดูได้ว่าพวกรถไฮบริดจะได้ของเล่นติดรถเยอะมากกว่าเบนซินด้วยกัน
Kicks ในเมืองนอก ก็ไม่ค่อยมีขุมพลังที่น่าสนใจนัก เครื่องยนต์แบบที่มีใช้ในเมืองนอกและมีในรถบางรุ่นของ Nissan ในไทยด้วยก็คือเครื่องยนต์ HR16 ขนาด 1.6 ลิตร 116 แรงม้า ซึ่งถ้าเอามาใส่ ก็จะไม่มีความเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งเลย และยังมีสิทธิ์โดนภาษีสรรพสามิตในอัตรา 20-25% ซึ่งสูงกว่า 4% ใน Kicks e-POWER ตอนนี้คนละเรื่อง นั่นอาจทำให้ Nissan ต้องลงเอยด้วยรถที่ราคาเท่าคู่แข่งแต่แรงน้อยกว่า อุปกรณ์น้อยกว่า หรือไม่ก็อุปกรณ์เยอะเท่าคู่แข่ง ราคาเท่าคู่แข่ง แต่แรงน้อยกว่า ถ้าจะต้องเกิดในลักษณะเสียเปรียบตั้งแต่มวยยังไม่ต่อย Nissan ก็มองว่าเอา e-POWER มันไปเลยดีกว่า มีโอกาสทำรถให้ปังได้มากกว่า
แต่จะแรงจริงแค่ไหน ขับใช้งานบนถนนแล้วประหยัดแค่ไหน นั่นเป็นคำตอบที่เรายังต้องรอให้จบการลองขับจริงเสียก่อน
—-//////—–