By Gigabright
(ภาพ Michael และ Peter)
มีความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับมหากาพย์คดีการปกปิดข้อมูล การจ่ายเงินผู้บริหารในบริษัท Nissan หลังรายงานจากทางการของประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐ Massachusetts เปิดเผยข้อมูลว่าสามารถจับกุมสองพ่อลูก Michael Taylor อายุ 59 ปี และ Peter Taylor อายุ 27 ปี อดีตทหารในหน่วยกองกำลังพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาข้ามชาติจากประเทศญี่ปุ่น ในข้อหาให้การช่วยเหลือผู้ต้องหาในการหลบหนีของ Carlos Ghosn อดีต CEO ของ Nissan จากญี่ปุ่นไปยังเลบานอนเมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา
การจับกุมสองพ่อลูก Taylor เกิดขึ้นที่ Harvard รัฐ Massachusetts เมื่อหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ สืบทราบมาว่า Peter ได้จองตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางจาก Boston ไปยัง Beirut เมืองหลวงของประเทศเลบานอนเมื่อวันพุธ โดยมีแผนว่าจะไปหยุดพักที่ London ก่อน การจับกุมครั้งนี้เป็นตามหมายจับผู้ต้องหาข้ามชาติ จากทางการญี่ปุ่นที่มีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
ฐานให้การช่วยพาผู้ต้องหาหลบหนีการจับกุม ในวันที่ 29 ธันวาคม 2019 ร่วมกันกับอีกบุคคลหนึ่ง คือ George-Antoine Zayek ซึ่งยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ และดูเหมือนว่าทางการจะไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับ Zayek สักเท่าไหร่ และภายในเดือนนี้เจ้าหน้าที่อัยการของตุรกีเตรียมเอกสารสำนวนส่งฟ้อง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวของกับการหลบหนีของ Ghosn อีก 7 คน โดยรวมนักบินที่ทำการบินจาก Istanbul ไปยังเมือง Beirut ทั้ง 4 คนด้วย
ภายหลังการจับกุม Michael และ Peter ได้เข้าพบศาลผ่านการวีดีโอคอลเพื่อรับทราบข้อหาเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความปลอดภัยในช่วงการระบาดชองเชื้อไวรัส Covid-19 จากภาพในวีดีโอพบว่าทั้งสองคน อยู่ในชุดนักโทษสีส้มและมีหน้ากากอนามัยสวมอยู่ ทั้งสองถูกฝ่ายอัยการคัดค้านการประกันตัวในเบื้องต้น
ส่วนทางด้าน Paul Kelly ทนายของพวกเขาก็ยืนยันว่าจะหาทางประกันตัว สองพ่อลูกออกมาให้ได้โดยเร็วที่สุด และยังกล่าวอีกว่าสองพ่อลูก Taylor นั้นเป็นทหารผ่านศึกที่มีชื่อเสียง และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ พวกเขาจึงสมควรได้รับการรับฟังความอย่างเป็นธรรม เกี่ยวกับคดีความจากศาลด้วย
จากการที่ฝ่ายอัยการยื่นคำร้องขอให้คัดค้านการประกันตัวต่อศาลนั้น อัยการได้ให้เหตุผลว่า Peter Taylor เป็นผู้ที่มีความสามารถในการหลบหนีเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการให้ความช่วยเหลือ Ghosn ในการหลบหนีจากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงแรม, บนรถไฟความเร็วสูง, การปลอมแปลงอัตลักษณ์บุคคล ไปจนถึงการเดินทางออกไปด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว
จนกลายเป็นที่ฮือฮาเกี่ยวกับเรื่องราวการหลบหนีของ Ghosn ว่าเขาเข้าไปซ่อนตัวในกระเป๋าเครื่องดนตรี เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากและน้อยคนจะสามารถทำทุกอย่างได้เช่นนี้ โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินการประสานงาน เพื่อขอให้ส่งตัวสองพ่อลูกตระกูล Taylor ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนโดยเร็วที่สุด ตามถ้อยแถลงของนาย Yoshihide Suga หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น
ส่วนทางด้านทนายความชาวญี่ปุ่นของ Ghosn ที่คอยแก้ต่างให้กับ Ghosn มาตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งลี้ภัยไปเลบานอนคือนาย Junichiro Hironaka ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า สิ่งสำคัญที่น่าจับตาดูนั้นคือทางการมีหลักฐานสนับสนุน การขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเขาจะคอยติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน ล่าสุดทาง Nissan เองก็ได้แถลงการณ์ผ่านทางอีเมลว่ากำลังศึกษาเรียบเรียงข้อมูล และขั้นตอนทางกฎหมายในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่จะนำมาใช้กับ Ghosn ในลำดับถัดไป
จากการสืบทราบข้อมูลของอดีตทหารพลร่มนายนี้ พบว่า Michael Taylor เคยปฏิบัติเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบให้กับหน่วยงานทางด้านกฎหมาย ก่อนจะผันตัวมาเป็นทหารพลร่มให้กับกองกำลังพิเศษในเวลาต่อมา และหลังจากนั้นเขาได้ก่อตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ Boston ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม American International Security Corp. และได้รับความไว้วางใจและมีผู้ว่าจ้างงานมากมายทั่วโลก
(ภาพ Michael)
ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มกันนักข่าว ระหว่างการทำงานในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งว่าจ้างโดยหนังสือพิมพ์ New York Times อีกด้วย ส่วนการไปเยือนเมืองเบียรุตครั้งแรกของ Michael Taylor เกิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีก่อนที่เขาเดินทางไปฝึกสอน ให้กับกองกำลังทหารชาวเลบานอนที่นั่นในช่วงปีค.ศ. 1980 ในสิบปีให้หลัง Michael ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในการปราบปรามยาเสพติดและการฟอกเงิน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่า Zayek เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาข้ามแดนที่ยังไม่สามารถจับกุมได้นั้น เคยร่วมงานกับ Taylor ในบริษัทรักษาความปลอดภัยของเขา แต่ไม่ค่อยมีใครทราบอะไรเกี่ยวกับเขาเท่าไหร่นัก นอกจากเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของโบสถ์แห่งหนึ่งในเลบานอนซึ่งมีกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ Taylor อยู่ด้วย
ที่มา: europe.autonews
ย้อนรอยความเป็นมาของ Carlos Ghosn จากผู้บริหารสู่ผู้ลี้ภัย
นับว่าเป็นมรสุมชีวิตอันยาวนานของ Ghosn ที่นับตั้งแต่ปี 2018 หลังการประกาศวางมือจากตำแหน่ง CEO ของ Nissan ได้ไม่นานก็เกิดเรื่องขึ้น เมื่อทางการตรวจพบว่าบริษัทไม่ได้รายงานการจ่ายเงินจำนวนมหาศาล ให้กลุ่มผู้บริหารและปกปิดเรื่องรายได้ ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลบเลี่ยงภาษี เป็นเหตุให้บริษัทต้องโทษปรับหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของสหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commision หรือ SEC) สืบทราบและนำมาเปิดเผย โดยออกแถลงการณ์ว่า Nissan ไม่ได้ชี้แจ้งจำนวนเงินที่บริษัทจ่ายชดเชยให้กับผู้บริหาร ในรายงานทางการเงินกับผู้ลงทุน ระหว่างปีงบประมาณ 2009 – 2018
คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 90 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 2,700 ล้านบาท) และยังมียอดเงินอีกส่วนที่จะถูกสั่งจ่ายให้กับ Ghosn ในช่วงเกษียณอายุ รวมมูลค่ากว่า 140 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 4,200 ล้านบาท) จากเหตุการณ์นี้ Ghosn ต้องถูกจำคุกอยู่ในญี่ปุ่นอยู่นานกว่า 5 เดือน ก่อนจะได้รับการอนุมัติให้ประกันตัวด้วยวงเงินสูงถึง 1,000 ล้านเยน (ราว 284 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคดีที่มีวงเงินประกันตัวสูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
สำหรับคำตัดสินด้านความเสียหายนั้น SEC ได้ตัดสินให้บริษัท Nissan ชดใช้ค่าเสียหายจากการไม่ได้ชี้แจ้งจำนวนเงินที่บริษัทจ่ายชดเชยให้กับผู้บริหาร ในรายงานทางการเงินกับผู้ลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 90 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 2,700 ล้านบาท) ซึ่งในส่วนนี้ทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้ Ghosn รับผิดชอบเงินส่วนดังกล่าว รวมถึงยอดเงินที่เดิมที่บริษัทจะจ่ายให้กับเขาในช่วงเกษียณก็ถูกระงับไปด้วย โดยบริษัท Nissan และผู้เกี่ยวข้องต้องจ่ายค่าปรับที่ต้องโทษในคดีนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วย
- ส่วนของบริษัท Nissan ต้องโทษปรับมีมูลค่า 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 450 ล้านบาท)
- ส่วนของ Ghosn ต้องโทษปรับมูลค่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท) พร้อมทั้งยินยอมให้ถูกแบนจากการดำรงตำแหน่งใดๆ ในบริษัทมหาชนในสหรัฐอเมริกา
- ส่วนของ Greg Kelly บุคคลสนิทของ Ghosn ต้องโทษปรับมูลค่า 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านบาท)
จำเลยทั้ง 3 ฝ่าย ยินยอมชำระค่าปรับโดยดีแต่ก็ไม่ได้ยอมรับ หรือโต้แย้งต่อหลักฐานที่ SEC ค้นพบ โดยทนายความของ Carlos Ghosn ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางทีมยินดีที่สามารถยุติข้อขัดแย้งกับทางการของสหรัฐฯ ได้ โดยที่ไม่มีการค้นพบหลักฐานการกระทำความผิด และในช่วงต้นปี 2020 มีการแถลงว่า Carlos Ghosn ได้ลี้ภัยจากญี่ปุ่นไปที่เลบานอนเป็นที่เรียบร้อย
เหตุการณ์นี้ได้สร้างความมึนงงให้กับหลายคนว่า เป็นไปได้อย่างไรกัน ซึ่งคดีดังกล่าวได้รับความสนใจและเป็นที่จับตาดูจากทั่วโลก เพราะคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรม ที่ก่อเหตุโดยอาชญากรอันเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน (White Collar Crime) ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร