หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุรถตู้ชนประสานงา กับรถกระบะจนทำให้ผู้มีเสียชีวิตถึง 25 ศพ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น กระทรวงคมนาคมของประเทศไทยได้ตั้งเป้าที่จะยกเลิกรถตู้
สาธารณะ และหันไปใช้รถไมโครบัส-มินิบัสขนาด 20 ที่นั่งแทน เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่
กลางปี 2560 เป็นต้นไป
ในวันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับ Toyota Coaster รถบัสขนาดเล็ก ที่เป็นที่นิยม
ในประเทศญี่ปุ่น และ พึ่งจะเปิดตัวรุ่น modelchange ไปเมื่อ 22 ธันวาคม 2016
ที่ผ่านมาหลังจากที่ลากขายตัวถังเดิมมาเป็นเวลานานถึง 24 ปี
Toyota Coaster ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 1963 ในชื่อ Light Bus สามารถบรรทุก
ผู้โดยสารได้ 25 คน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Coaster ในปี 1969 พร้อมกับเปลี่ยนงาน
ออกแบบเล็กน้อย และใช้ชื่อนั้นมาตลอด ส่วนรุ่นที่พึ่งตกรุ่นไปถือว่าเป็นรุ่นที่ 3 ในตระกูล
ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 1993 ในปัจจุบัน รถบัสรุ่นดังกล่าวมีจำหน่ายใน 110 ประเทศ
ทั่วโลก มียอดขายสะสมทั้งหมดมากกว่า 550,000 คัน
Toyota Coaster รุ่นปัจจุบันผ่านการออกแบบมาใหม่ มีเส้นสายที่แบ่งตัวถังออกเป็น
ส่วนบน และส่วนล่างอย่างเด่นชัด สำหรับสีตัวถังภายนอก มีให้เลือกด้วยกัน 6 สี รวม
ไปถึงสีเบจ และสีขาว
ภายในมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นเดิมในทุกมิติ โดยที่สูงขึ้น 60 มิลลิเมตร, ระยะห่างจากไหล่
ของผู้โดยสาร ถึงกระจกหน้าต่าง กว้างขึ้น 40 มิลลิเมตร และกระจกหน้าต่างสูงขึ้นกว่า
เดิม 50 มิลลิเมตร ทำให้ Toyota Coaster มีพื้นที่และทัศนวิสัยที่ดีกว่าเดิม นอกจากนี้
ขั้นบันไดยังยาวขึ้นมาอีก 65 มิลลิเมตร ช่วยให้การก้าวขึ้น-ลง สะดวกมากขึ้น
ขุมพลังของ Toyota Coaster มีเครื่องยนต์ดีเซลให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่น มีข้อมูลดังต่อไปนี้
– N04C-VJ ดีเซล 4.0 ลิตร 4,009 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 104.0 x 118.0
มิลลิเมตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 2,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 42.82 กก-ม.
(420 นิวตันเมตร) ที่ 1,400 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
– N04C-VK ดีเซล 4.0 ลิตร 4,009 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 104.0 x 118.0
มิลลิเมตร ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า (PS) ที่ 2,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 47.00 กก-ม.
(461 นิวตันเมตร) ที่ 1,600 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ความปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Toyota Coaster เพราะมีการปรับปรุงโครงสร้าง
ตัวถังมาใช้แบบ Ringed Body Frame ซึ่งใช้เหล็กแรงดึงสูงเป็นวงแหวนยาวตลอดแนว
ตัวถัง ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก ECE Regulation (ทดสอบการพลิกคว่ำ)
ทั้งยังมาพร้อมกับระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) เป็นรายแรก
ของญี่ปุ่นที่มีระบบดังกล่าวในรถ Minibus อีกด้วย
นอกจากนี้ Toyota Coaster ยังมาพร้อมกับถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ระบบช่วยออกตัวทางลาดชัน,
ระบบเบรก ABS และ EBD, เข็มขัดนิรภัย 3 จุดในเบาะหลัก, เข็มขัดนิรภัย 2 จุดในเบาะเสริม
และยังมีกลไกที่ป้องกันไม่ให้คนขับกดคันเร่งเพื่อออกรถ ในระหว่างที่เปิดประตูกลางอยู่ด้วย
Toyota Coaster มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบตัวถัง ทั้งรุ่นฐานล้อสั้น และรุ่นฐานล้อยาว
สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 24 – 29 คน ทั้งยังมีตัวถังรถโรงเรียน บรรทุกผู้โดยสาร
ผู้ใหญ่ได้ 3 คน และบรรทุกเด็กได้ 39 หรือ 49 คน นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่บรรทุกผู้โดยสารได้
9 คนพร้อมพื้นที่บรรทุกสัมภาระ รับน้ำหนักได้สูงสุด 1,250 กิโลกรัม
Toyota Coaster ออกจำหน่ายแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 5,940,000 ถึง
8,872,200 เยน (หรือ ราว 1,840,000 – 2,748,000 บาท)
ดูจากสเป็คและภาพประกอบต่างๆแล้ว Toyota Coaster ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย ที่จะนำมา
เป็นตัวเลือกสำหรับ มินิบัส-ไมโครบัส (MiniBus-MicroBus) วิ่งระหว่างจังหวัด
อย่างที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายเอาไว้ ว่าจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2560 นี้
ทั้งนี้ปัญหาอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสาร จะถูกแก้ไขได้หรือไม่? ก็ต้องรอติดตามกันต่อไป
เพราะอันที่จริงแล้ว ปัญหาหลักอยู่ที่คน ไม่ใช่อยู่ที่รถ หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
จะปรับทั้งคุณภาพรถ และ คุณภาพของคน(ขับรถ) ไปด้วย จึงจะสามารถแก้ปัญหา
จากต้นเหตุได้อย่างแท้จริง
ที่มา : newsroom.toyota, thaipost