ช่วงนี้ดูท่าจะเป็นคราวเคราะห์ของอุตสาหกรรมรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีข่าวไม่ค่อยสู้ดีปรากฎเป็นระยะๆ ล่าสุด Subaru ในประเทศญี่ปุ่นยอมรับว่า มีข้อบกพร่องในกระบวนการ QC ขั้นตอนสุดท้าย ทำให้บริษัทพิจารณาเรียกรถยนต์ที่ออกจำหน่ายในบ้านเกิดราว 255,000 คัน กลับมาตรวจสอบใหม่ จึงถือได้ว่าซ้ำรอยกับปัญหาของ Nissan ที่เราพึ่งรายงานไปในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

หลังจากที่ Nissan ได้ออกมายอมรับผิดในเรื่องนี้ ภาครัฐได้ออกคำสั่งให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นทำการสอบสวนภายในถึงกระบวนการ QC ของรถยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้อีก เป็นเหตุให้ Subaru พบว่ากระบวนการ QC ของบริษัทตนไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ภาครัฐกำหนด

Yasuyuki Yoshinaga ประธานของ Subaru ระบุว่าบริษัทมีพนักงาน QC อยู่ราว 245 คน ที่โรงงานประกอบรถยนต์ใน Gunma ประเทศญี่ปุ่น และจากการตรวจสอบถึงวันที่ 1 ตุลาคม พบว่ามีพนักงาน QC ที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ 4 คนเซ็นอนุมัติให้รถยนต์ออกจากโรงงาน และหากตรวจสอบย้อนหลังในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ทำหน้าที่ QC โดยเฉลี่ยเดือนละ 8 คน

Subaru จึงตัดสินใจเรียกรถยนต์กลับมาตรวจสอบเป็นจำนวนราว 255,000 คัน คาดว่ารุ่นที่ได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย Forester, Outback, Legacy, Impreza, XV, BRZ และอาจรวมไปถึง Toyota 86 ซึ่งเป็นแฝดคนละฝาของ BRZ ที่ผลิตโดย Subaru ด้วย คาดว่าการ recall ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายกับ Subaru มูลค่าราว 5,000 ล้านเยน (ราว 1,450 ล้านบาท)

ประธานของ Subaru ยอมรับว่า เสียใจที่ต้องออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในเสาหลักของอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น และเราได้ทำเรื่องเสื่อมเสียจนเป็นเหตุให้ความมั่นใจด้านนี้สั่นคลอน

สำหรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการ QC รถยนต์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นสำหรับตลาดในประเทศ กระทรวงขนส่งได้กำหนดไว้ว่า ผู้ผลิตรถยนต์ต้องให้ผู้ตรวจสอบ QC ผ่านการฝึกฝนและมีใบรับรองเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าต้องฝึกฝนมาในรูปแบบใด ซึ่งจุดนี้เองที่ Nissan และ Subaru ได้ตั้งมาตรฐานการตรวจสอบภายในขึ้นมาเอง จนนำไปสู่ข้อผิดพลาดในครั้งนี้

Subaru ยอมรับว่าหากยึดตามเกณฑ์นี้ บริษัทได้ทำการ QC รถยนต์อย่างไม่ถูกต้อง โดยไม่ได้ตั้งใจเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ส่วน Nissan เองมีสื่อท้องถิ่นคาดการณ์ว่า ได้ทำกระบวนการ QC อย่างไม่ถูกต้องมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การ QC รูปแบบนี้ไม่มีผลต่อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเพื่อการส่งออก เพราะบังคับใช้กับรถยนต์ที่ผลิตเพื่อสำหรับตลาดในประเทศเท่านั้น

Nikkei business paper ได้รายงานด้วยว่า Honda, Toyota, Suzuki, Mitsubishi, Mazda และ Daihatsu ได้รายงานกับภาครัฐแล้วว่า ไม่ตรวจพบข้อบกพร่องในกระบวนการ QC จึงนับว่ายังมีข่าวดีอยู่บ้างที่ข้อผิดพลาดนี้ได้ถูกจำกัดความเสียหายเอาไว้แล้ว แต่คงกล่าวได้ไม่เต็มปากเท่าใดนักว่า ความมั่นใจในคุณภาพของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น จากสายตาผู้บริโภคจะยังดีเท่าเดิม!?

 

ที่มา: autonews


อ่านข่าว Nissan ในญี่ปุ่น เตรียมเรียกรถยนต์กว่า 1,210,000 คัน ที่ออกมาภายใน 3 ปีนี้ กลับมาตรวจสอบ QC ใหม่ ย้อนหลัง ได้ที่

http://www.headlightmag.com/news-nissan-japan-recalls-1-21-million-cars/