By Gigabright

ไม่เพียงแค่ Nissan เท่านั้นที่ใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ด้วยการปิดโรงงานและปลดพนักงาน ทางฝั่งเพื่อนร่วมเครือจากแดนน้ำหอมอย่าง Renault กำลังชั่งใจอยู่เหมือนกันว่า จะนำเอาวิธีการนี้มาใช้เพื่อช่วยพยุงสถานการณ์ทางการเงินของตนเองบ้างดีหรือไม่ เนื่องจากทาง Renault group มีแผนตัดค่าใช้จ่ายลงอย่างน้อย 2,000 ล้านยูโร (ราว 70,470 ล้านบาท) ภายในสามปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างพนักงานทั่วโลกของ Renault กว่า 15,000 ชีวิต ที่ต้องกลายเป็นคนว่างงานจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกส่งผลเป็นวงกว้างต่อทุกภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการลดทอนค่าใช้จ่าย ในส่วนที่ไม่จำเป็นลงควบคู่กับการดึงเอาประสิทธิภาพ ในการทำงานของแต่ละแผนกให้สูงที่สุด ในครั้งนี้ Renault จะให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเชิงรุก ในเขตพื้นที่ตามกลยุทธ์ร่วมของเครือข่ายพันธมิตร Nissan Renault Mitsubishi

พร้อมนำเสนอนวัตกรรมใหม่ผ่านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลให้พนักงานในฝรั่งเศสกว่า 4,600 และอีก 10,000 กว่าคนในต่างประเทศต้องตกงานในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลงให้ได้ 24% ภายในปี 2024

Jean-Dominique Senard ผู้บริหารของ Renault ได้ให้ข้อมูลกับสื่อว่า อันที่จริงแล้วแผนการปรับโครงสร้างนี้ได้ถูกเสนอขึ้นมา ตั้งแต่ก่อนจะเกิดการระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าเสียอีก เพียงแต่มันยังไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเพื่อปรับใช้อย่างจริงจัง จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ และกลายเป็นตัวเร่งให้บริษัทเดินทางมาถึงจุด ที่ต้องหยิบเอาแผนการนี้ขึ้นมาทบทวนอย่างจริงจังเสียที

โดยเขากล่าวไว้ว่า “เราทราบดีว่ามีพนักงานจำนวนไม่น้อย ที่จะได้รับผลกระทบจากการนำเอานโยบายนี้ขึ้นมาใช้ แต่เราจำเป็นที่จะต้องทำเพราะนั่นคือทางออกที่ดีที่สุด สำหรับองค์กรแล้วในขณะนี้” ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่แรกสำหรับ Luca de Meo ที่จะกลับมาบริหารงานให้กับ Renault อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ รวมไปถึงแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ Alpine แบรนด์คู่บุญร่วมชาติของ Renault อีกด้วย

แต่ก็เป็นจังหวะจะโคนที่พอดีกัน เมื่อมีการประกาศแผนกลยุทธ์ใหม่ของเครือข่ายพันธมิตร Nissan Renault Mitsubishi ในการดำเนินธุรกิจแบบเกื้อหนุนกับระหว่างแบรนด์ในเครือข่ายที่จะช่วยให้ Renault สามารถเติบโตและฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทาง Renault group มีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายถึง 800 ล้านยูโร (ราว 28,000 ล้านบาท)

โดยจะเน้นไปในส่วนของต้นทุนทางวิศวกรรม และพัฒนาคุณภาพการทำงานในไลน์ประกอบรถยนต์ให้มากยิ่งขึ้น ผ่านนโยบายผู้นำ-ผู้ตามในการพัฒนารถยนต์รุ่นต่างๆของแบรนด์ภายในเครือข่าย อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการใช้เครื่องยนต์หรือโครงสร้างทางวิศวกรรมเหมือนกันถึงขั้นฝาแฝดอย่างแน่นอน แต่ละค่ายยังคงต้องมีจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองอยู่เสมอ

แม้ว่ามาตรการรัดเข็มขัดของ Renault ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของเครือข่ายพันธมิตรนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะให้องค์กรพัฒนารถยนต์ที่เป็นรุ่นหลักของตนเอง ควบคู่ไปกับการแชร์การผลิตร่วมกันกับค่ายอื่นด้วย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด ถึงข่าวการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ SUV ของ Renault จากเดิมที่อยู่ในประเทศสเปนมาเป็นโรงงานที่ Sunderland ประเทศอังกฤษของ Nissan ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ในขณะเดียวกัน Renault group ต้องหันมาโฟกัสที่ผลกำไรเป็นสำคัญ โดยลดกำลังการผลิตรวมทั่วโลกเหลือเพียง 3.3 ล้านคันจากเดิม 4 ล้านคันภายในปี 2024 ให้ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วแผนการขยายฐานการผลิตใน Morocco และ Romania เห็นทีต้องพับเก็บไปและหันมาพิจารณาการใช้โรงงานของ Lada ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือของ Renault ในประเทศรัสเซียแทน

ไม่เพียงแค่นั้น ยังรวมถึงแผนการปรับเปลี่ยนโรงงานที่เมือง Douai, Maubeuge และ Brittany ในประเทศสเปนให้เป็นฐานการผลิตหลักสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ Renault ยังมีแผนที่จะใช้โรงงานอีกหลายแห่งในการประกอบและพัฒนารถยนต์ร่วมกัน

เช่นโรงงานของ Alpine ในเมือง Dieppe ที่เคยใช้ผลิตรถยนต์รุ่น A110 อันมีชิ้นส่วนและเทคโนโลยีจาก Renault อยู่เบื้องหลังมากมาย ซึ่งอนาคตของแบรนด์ Alpine ในอนาคตยังดูมีความมั่นคงปลอดภัยอยู่ แต่เรายังต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่า Renault จะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการปรับตัวในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

 

ที่มา: autocar