คู่แข่งที่ดูจะสู่สีที่สุดในตลาดของ Mazda MX-5 หรือ Miata เห็นจะเป็น Toyota GR86 และ Subaru BRZ ที่มาพร้อมกับขุมพลัง 4 สูบ วางด้านหน้า, ไร้ระบบอัดอากาศ และขับเคลื่อนล้อหลัง แต่สิ่งที่ต่างกันคือพละกำลังที่สองแฝดสูบนอนพกพามา 224 แรงม้า แตกต่างจาก Mazda MX-5 ที่มีอยู่ 181 แรงม้า นำไปสู่คำถามที่ว่า Mazda สนใจที่จะรีดพละกำลังเพิ่ม ให้กับรถสปอร์ตของตนหรือไม่

 

Dave Coleman วิศวกรด้านการพัฒนารถยนต์ซึ่งรับผิดชอบโครงการ Mazda MX-5 ให้สัมภาษณ์ว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่ต่างจากระบบที่ทุกอย่างผ่านการออกแบบมา ให้รองรับพละกำลังในปัจจุบัน การที่จะเพิ่มกำลังเข้าไปจะนำไปสู่การปรับวางวิศวกรรมรวมถึงระบบเบรก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบทั้งระบบและความรู้สึกในการขับขี่จะไม่เหมือน Mazda MX-5 อีกต่อไป ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับสมดุลนั่นเอง

Coleman กล่าวเสริมว่า เขาไม่ได้มองว่าการมีพละกำลังสูงขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพียงแต่มันต้องแลกอะไรมาด้วยอะไรบางอย่าง แล้วสิ่งนั้นกลับเป็นเรื่องน้ำหนักเบาที่ Mazda MX-5 ขึ้นชื่อ นอกจากนั้น เขายังกล่าวถึงการที่ Mazda MX-5 รุ่นปี 2019 ขุมพลัง 2.0 Skyactiv มีพละกำลังสูงสุด 181 แรงม้า เพิ่มขึ้นจาก 155 แรงม้าในรุ่นปี 2015 ด้วยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้คิดกันมาก่อน

 

เขาอธิบายว่าเดิมที่ทีมงานต้องการขยายช่วง power band ของเครื่องยนต์ให้ผู้ขับขี่สนุกไปกับการลากรอบเครื่องยนต์จนถึง red line ที่ 7,500 รอบ/นาที แต่ผลที่ตามมาคือพละกำลังเพิ่มขึ้นมาอีก 26 แรงม้า จึงไม่เคยปรากฎอยู่ในเอกสารภายใน ทั้งในขั้นตอนของการวางแผนและพัฒนาเลยว่า ต้องการให้ Mazda MX-5 รุ่นปี 2019 แรงกว่ารุ่นปี 2015

เมื่อถามเรื่องการผูกเทอร์โบใน Mazda MX-5 วิศวกรรายเดิมอธิบายว่า แม้เทคโนโลยีของเทอร์โบจะพัฒนาไปไกลมากแล้วในปัจจุบัน แต่ยังไม่ตอบโจทย์ลักษณะของ Mazda MX-5 ที่ต้องการลากรอบได้ยาวๆ เพราะเทอร์โบลูกเล็กนั้นต้นดีแต่ปลายหาย ส่วนเทอร์โบลูกใหญ่ปลายมาแต่ต้นไม่มี ก่อนจะทิ้งท้ายว่าถ้ามีเทคโนโลยีใดที่ตรงกับรากฐานของ MX-5 ซึ่งประกอบด้วย น้ำหนักเบา, เรียบง่าย และตอบสนองดี พวกเขาจะใส่ไปให้แน่นอน

 

ที่มา: carbuzz, carscoops