ห่างหายไปนานสำหรับข่าวถุงลมนิรภัยมรณะจาก Takata ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานมากกว่าให้คุณ จนนำไปสู่การ recall ครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก และยังมีคดีฟ้องร้องบริษัทที่ล้มละลายไปแล้ว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ล่าสุด ศาลในสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งให้จำเลยชดใช้เหยื่อก้อนแรก เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท

ศาล The United States District Court จาก Eastern District Of Michigan ได้มีคำพิพากษาให้ Takata ชดใช้เงินเยียวยาครั้งแรกแก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากถุงลมนิรภัยที่จำเลยผลิต จำนวน 102 ราย ซึ่งรวมตัวกันแยกฟ้องบริษัท คิดเป็นมูลค่าเกือบ 9,800,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 298,000,000 บาท)
จำนวนเงินที่แต่ละคนได้รับจะลดหลั่นกันไปตามความเสียหาย ไล่ตั้งแต่มูลค่า 643.40 ดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 19,000 บาท) ถึง 608,013 ดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 18,508,000 บาท) และนี่ไม่ใช่เงินก้อนแรกที่ Takata ต้องจ่ายเพราะก่อนหน้านี้ได้จ่ายค่าเสียหายในระดับ 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 30,000 ล้านบาท) ครอบคลุมค่าปรับ, ค่าดำเนินการ recall และ เงินเยียวยาผู้เสียหาย ที่ไม่ได้แยกออกมาฟ้องบริษัทเพิ่ม

สำหรับสถานการณ์การ recall ถุงลมนิรภัย Takata ในรถยนต์ที่ออกจำหน่ายในสหรัฐฯ พบว่ามีรถยนต์อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนเกือบ 70 ล้านคัน คิดเป็น 13% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ในสหรัฐฯ ทั้งหมด และข้อมูลในวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า มีรถยนต์เพียง 31.8 ล้านคันเท่านั้น ที่เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยแล้ว
ทางการจึงเกิดความวิตกว่า รถยนต์ที่เหลืออยู่ยิ่งนานไป ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะการระเบิดของถุงลมนิรภัย Takata มีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความชื้นในระบบ นอกจากนั้น ยังมีรถยนต์ใหม่อีกราว 20 ล้านคันในสหรัฐฯ ที่จะต้องใช้เวลาอีก 2 – 3 ปีถึงจะดำเนินการเปลี่ยนถุงลมได้หมด ทำให้เป็นไปได้ว่ายอดผู้เสียชีวิต 24 ราย และ ผู้บาดเจ็บมากกว่า 250 ราย จากถุงลมดังกล่าว ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้
ที่มา: carscoops, detrotinews