BYD ได้เจาะตลาดมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก และมียุโรปเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญ เพราะมีการวิเคราะห์ว่าผลกำไรจากการขายรถยนต์ที่นี่ มีมูลค่าสูงกว่าผลกำไรในจีนถึง 10 เท่า แต่ปัญหาคือยุโรปได้ตั้งกำแพงภาษีสกัดรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนไว้แล้ว และมีผลไปในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทางออกของ BYD จึงจบลงด้วยการจับมือกับภาครัฐของตุรกี ที่ตั้งกำแพงภาษีสกัด EV จีนเช่นกัน แต่ตุรกีมีสัญญาซื้อขายเสรีกับสหภาพยุโรปอยู่
นั่นทำให้การส่งออกรถยนต์แบรนด์จีนที่ผลิตขึ้นจากตุรกีเข้าไปยังยุโรป จะไม่ถูกสกัดด้วยกำแพงภาษีในระดับเดียวกับการนำเข้าจากจีน ส่วนการประกาศตั้งโรงงาน มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2024 โดย Wang Chuanfu ตำแหน่ง Chairman และ CEO ของ BYD ได้ลงนามกับ Tayyip Erdogan ประธานาธิบดีของตุรกี ว่าจะลงทุนมูลค่าสูงสุด 1,000 ล้าน USD (ราว 36,000 ล้านบาท) เพื่อก่อตั้งทั้งโรงงาน และศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่นั่น
เบื้องต้น โรงงานผลิตรถยนต์ BYD ในตุรกีจะมีขีดความสามารถในการผลิตรถยนต์สูงสุด 150,000 คันต่อปี และจะก่อให้เกิดอัตราการจ้างงานท้องถิ่นสูงสุด 5,000 คน มีกำหนดการเริ่มผลิตรถยนต์นั่งในช่วงปลายปี 2026 ทั้งนี้ ยังไม่มีการระบุสัดส่วนว่าจะเน้นไปที่ขุมพลัง PHEV หรือ EV มากกว่ากัน แต่คาดว่าจะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด
มีการวิเคราะห์ด้วยว่าสาเหตุที่ภาครัฐของตุรกี ประกาศตั้งกำแพงภาษีสกัดรถยนต์จีนในอัตรา 40% พร้อมกำหนดภาษีขั้นต่ำ ส่วนหนึ่งคือการเร่งให้ BYD ตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานขึ้นที่นี่ สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในตุรกีนั้น ในปี 2023 มียอดผลิตรถยนต์ไปมากกว่า 1.4 ล้านคัน จาก Honda, Hyundai, Toyota, Renault และ Ford ซึ่ง 70% จากยอดผลิตทั้งหมดเป็นรถยนต์นั่ง
ที่มา: carnewschina, carscoops
อ่านข่าว ยุโรปเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีน สูงสุด 38.1% ได้ที่
>> https://www.headlightmag.com/news-europe-will-raise-tax-on-chinese-ev/
อ่านข่าว ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีน 40% พร้อมขีดเพดานภาษีขั้นต่ำ ได้ที่
>> https://www.headlightmag.com/news-turkey-raised-import-tax-on-chinese-cars-to-40-pc/