ในอดีตลูกค้าชาวยุโรปเคยมองว่ารถกระบะคือรถที่มีขนาดใหญ่เกินไป, กินน้ำมันและมีการขับขี่ที่แข็งกระด้างถึงแม้ว่าตัวรถจะสามารถเดินทางไปได้ทุกแห่งก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลายเป็นว่าตลาดรถกระบะกลายเป็นตลาดน้องใหม่ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในยุโรปในตอนนี้

ปัจจุบัน ค่ายถ Renault, Mercedes-Benz และ Fiat ต่างก็เปิดตัวรถกระบะเป็นของตนเองแล้ว และในอนาคต PSA Group ก็เตรียมเข้าสู่สังเวียนตลาดรถกระบะกับเขาด้วยเช่นกัน คำถามที่น่าสงสัยคือ แล้วทำไมบริษัทรถยนต์จากยุโรปถึงพากันพัฒนารถกระบะอย่างเร่งด่วนทั้งที่ขนาดของตลาดยังไม่ได้ใหญ่มากขนาดนั้น

(Ford Ranger เจ้าตลาดกระบะในยุโรป)

JATO Dynamics เปิดเผยว่ายอดขายรถกระบะในยุโรปช่วงครึ่งปีแรก 2017 มียอดขายเพียงแค่ 80,300 คัน โดยตลาดอังกฤษจะมียอดขาย 1 ใน 3 ของยอดขายรถกระบะทั่วยุโรป รองลงมาคือประเทศเยอรมนีมียอดขาย 10,000 คันและฝรั่งเศส 9,450 คัน

หากดูเฉพาะแค่ตัวเลขก็ถือว่ายังน้อยมาก แต่เมื่อดูอัตราส่วนการเติบโตจะพบว่า ตลาดรถกระบะขนาด Mid-Size ในยุโรปช่วงครึ่งปีแรก 2017 เติบโตมากถึง 19% โดย LMC Automotive ยังคาดการณ์ว่ายอดขายรถกระบะในยูโรปช่วงปี 2018 จะมียอดขายถึง 200,000 คัน เติบโตมากกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2012

(ยอดขายรถกระบะในยุโรป ครึ่งปีแรก 2017)

อัตราเติบโตของยอดขายส่วนหนึ่งจะเกิดจากผลตอบรับของลูกค้าภายในประเทศของตามแต่ละถิ่นกำเนิดแบรนด์ อาทิ Renault Alaskan ก็จะสามารถขยายตลาดในฝรั่งเศสได้อย่างดี, Fiat Fullback ลูกค้าชาวอิตาเลียนก็ต้อนรับมันใช้การได้ และ Mercedes-Benz X-Class นั้นก็จะมีลูกค้าชาวเยอรมันช่วยกันอุดหนุน เป็นต้น

Anton Lysyy ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ Renault เผยว่าในอดีต ลูกค้าชาวยุโรปแทบจะไม่รู้จักเลยว่ารถกระบะมันเป็นยังไง จนกระทั่งบริษัทรถยนต์รายใหญ่ในยุโรปอย่าง Renault เริ่มเปิดตัว Alaskan (ฝาแฝด Nissan Navara) ก็เป็นตัวจุดประกายที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักกับรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้น

(แต่ถ้าคิดเป็น % Market Share จะพบว่าประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้กลับมีสัดส่วนรถกระบะที่สูงจนน่าตกใจ)

Lysyy เผยว่า ก่อนหน้านั้นผู้คนเคยใช้รถ SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง Body-On-Frame สำหรับลากจูง แต่ในวันนี้รถ SUV ส่วนใหญ่มักติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กลงและอาจมาพร้อมเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการใช้งานลากจูงยิ่งนัก นี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกค้าชาวยุโรปเริ่มหันมามองรถกระบะเพื่อการลากจูงหรือสำหรับสันทนาการมากยิ่งขึ้น

Ford Ranger คือเจ้าตลาดรถกระบะในยุโรปที่มีผลตอบรับดีด้วยระบบขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูง รองรับการขับขี่ Off-Road และมีตัวถัง 4 ประตูให้เลือกก็ทำให้ลูกค้าที่เคยครอบครอง Land Rover Defender ในอังกฤษเริ่มหันมาซื้อ Ford Ranger เพิ่มมากขึ้น

(Mercedes-Benz X-Class)

ความสำเร็จของ Ford Ranger ที่นอกเหนือจะครองยอดขายอันดับ 1 ในยุโรปแล้ว Ford ยังสามารถขาย Ranger Wildtrack รุ่นแพงสุด ตัวถัง Double Cab มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขาย Ranger ทั้งหมดตลอด 9 เดือนในปี 2017 ที่สำคัญราคา Ford Ranger Wildtrack ก็วางราคาในอังกฤษไว้เพียงแค่ 32,514 ปอนด์ (42,453 ยูโรในเยอรมนี) ถือว่าถูกกว่า Volkswagen Amarok รุ่นบนสุดที่มีราคาสูงถึง 39,427 ปอนด์ในอังกฤษ (55,399 ยูโรในเยอรมนี)

(อันดับยอดขายรถกระบะในยุโรป)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตลาดรถกระบะในยุโรปคือชุดอุปกรณ์ตกแต่งของรถกระบะมีให้เลือกหลายชิ้นตามความพอใจ อาทิ การตกแต่งหลังคา, การตกแต่งพื้นกระบะ, โรลบาร์และขอลากจูงเป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์มาตรฐานในรถกระบะก็ถือว่าล้ำสมัยกว่ารถกระบะ 10 กว่าปีที่แล้วมากอีกด้วย ยกตัวอย่าง กรณีของ Ford Ranger ที่มีทั้ง Radar Cruise Control และระบบ Sync 3 ที่เป็น infotainment

(Renault Alaskan)

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการรถกระบะคือ Mercedes-Benz ได้ส่งรถกระบะ X-Class เป็นครั้งแรกในกลุ่มตลาดรถยนต์พรีเมี่ยม โดยบริษัทคาดหวังลูกค้าที่ชื่นชอบ SUV หันมาซื้อรถกระบะเพื่อสันทนาการแทน เพราะรถกระบะคันนี้ถูกยกระดับความหรูหราสง่างามแตกต่างจากรถเพื่อการพาณิชย์ในสมัยก่อน

นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปจะต้องพัฒนารถกระบะสำหรับตลาดยุโรปเป็นหลักแล้ว ผู้ผลิตจากยุโรปก็ยังมองการณ์ไกลอีกด้วยว่าตลาดรถกระบะในระดับโลกจะค่อย ๆ เติบโตสูงขึ้น ซึ่ง Mercedes-Benz คาดว่าน่าจะมียอดขายรวมทั่วโลกทะลุ 3.5 ล้านคัน/ปี ภายใน 10 ปีข้างหน้า

(Fiat Fullback)

แต่ถึงแม้สถานการณ์โดยรวมของตลาดรถกระบะยังสดใสทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แต่เชื่อหรือไม่ว่าทั้ง Renault, Mercedes-Benz และ Fiat ต่างก็พยายามดำเนินกลยุทธ์การพัฒนารถกระบะบนพื้นฐานความระมัดระวัง เพราะผู้ผลิตรถจากยุโรปส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการผลิตรถกระบะมาอย่างยาวนานเหมือนผู้ผลิตจากญี่ปุ่นและอเมริกา

โดย Renault และ Mercedes-Benz ต่างก็หยิบยืมงานวิศวกรรมมาจาก Nissan Navara แทบจะทั้งคัน ส่วน Fiat Fullback มันก็คือ Mitsubishi Triton/L200 มาเปลี่ยนตราสินค้าใหม่ซึ่งนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์มองว่า มันเป็นการลดความเสี่ยง หากเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่แล้วไม่ประสบความดั่งคาดในฐานะผู้เล่นน้องใหม่

นับต่อจากนี้ไป เชื่อว่าสมรภูมิตลาดรถกระบะทั่วโลกจะต้องร้อนเป็นไฟ และน่าจะรวมถึงบ้านเราด้วย

ที่มา : Automotive News