ในเมื่อทุกวันนี้ธุรกิจดนตรีทั่วโลกภาพรวมตกต่ำจนบาดเจ็บกันถ้วนหน้า
แล้วธุรกิจดนตรีในประเทศไทยมีหรือจะรอด..ไม่มีทาง ค่ายเพลงในบ้านเรา
ที่เคยเฟื่องฟูด้วยผลิตภัณฑ์ดนตรีเต็มชั้นวางแผ่นเสียง เทป ซีดี หรือแม้จะเปลี่ยน
ผ่านเข้าสู่ยุคดาวน์โหลด(ทั้งฟรี ทั้งเสียตังค์ และโหลดเถื่อน) สถานการณ์ภาพรวม
ธุรกิจดนตรีในประเทศไทยก็ไม่ได้ดีขึ้นแม้แต่น้อย ปัจจุบันCore Product ของ
สองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งGMM และRS ก็ไม่ใช่ธุรกิจดนตรีอีกต่อไป กลับกลาย
เป็นธุรกิจมีเดีย โดยเฉพาะทีวีดิจิตอล ที่มีสัดส่วนรายได้จุนเจือบริษัทมากที่สุด
ธุรกิจดนตรีในยุคนี้ต้องไปจับมือกับธุรกิจไอทีเพื่อความอยู่รอด การมาถึงของดิจิตอล
มิวสิค สตรีมมิ่ง(Digital Music Streaming) คือมิวสิค สโตร์ อย่างแท้จริง
มันอำนวยความสะดวกเพียงปลายนิ้ว เพียงคุณเลื่อนนิ้วและเรียนรู้การใช้งานไม่นาน
เพลงเป็นกุรุสมีให้ฟังจนเบื่อกันไปข้างหนึ่ง แถมยังจัดเพลย์ลิสต์ส่วนตัวได้อีกต่างหาก
ไม่ต้องเดินทางไปร้านขายซีดี-แผ่นเสียง เพื่อซื้ออัลบั้มต่างๆมาทำมิกซ์เทป
(Mix Tape-การเลือกเพลงที่ชอบจากแต่ละอัลบั้มลงเทป นิยมมากในยุค80-90’s)
เหมือนสมัยก่อน เพลงทั้งหมดบนดาวนพเคราะห์ดวงนี้ถูกนำมากองไว้ที่หน้าจอ
สมาร์ทโฟนของทุกท่าน ไม่ต้องฝากเพื่อนสจ๊วร์ตการบินไทยแวะซื้ออัลบั้มที่เมืองไทย
ไม่มีขายจากร้านHMV ,Virgin Mega Store ,Rough Trade ไม่ต้องสร้างห้องสมุดดนตรี
ส่วนตัวในบ้านให้เปลืองพื้นที่อีกต่อไป คุณก็ได้ฟังกันจุใจชนิดที่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งซึ่ง
เกษียณอายุการทำงานแล้ว เป็นมิวสิคเลิฟเวอร์ ไม่มีภาระอะไรให้รับผิดชอบ
ไม่ต้องสังคมสมาคมกับใครให้เปลืองค่ารถ ค่าอาหาร ค่าปาร์ตี้ มีเวลาว่างเหลือเฟือ
ทั้งชีวิตที่เหลือสามารถสโลว์ไลฟ์เอ้อระเหยได้ไม่ต้องแคร์อะไรทั้งสิ้นตราบจนวันที่
จากโลกนี้ไป ดิจิตอล มิวสิค สตรีมมิ่ง คือ สวรรค์ชัดชัด
นั่นหมายฟามว่าคุณคือคนที่รักเสียงเพลง และหลงใหลในการใช้เทคโนโลยีเพื่อ
อำนวยความสะดวกในชีวิตควบคู่กันไปนะครับ แต่หากว่าคุณคือคนที่ยังนิยม
แพลตฟอร์มย้อนยุคอย่างแผ่นเสียง ซีดี เทปคาสเส็ทท์ รู้สึกฟินทุกอณูขณะเมื่อได้
ลูบไล้ปกอัลบั้มในฐานะผลงานศิลปะ ดื่มด่ำกับการค่อยๆคลี่ปกอัลบั้มทีละหน้าเพื่อ
ศึกษาเครดิตข้อมูลรายละเอียดดนตรี ก็อาจจะเฉยๆกับสิ่งที่เรียกว่า ดิจิตอล มิวสิค
สตรีมมิ่ง แต่สำหรับหลายคน(รวมทั้งผมด้วยคนหนึ่ง)สามารถเสพความสุนทรีย์ของ
เสียงดนตรีได้จากทั้งสองรูปแบบ
ถึงแม้บริษัทที่เคยเรียกตัวเองว่าค่ายเพลง ได้แปลงสภาพมาเป็นบริษัทบันเทิง
เต็มรูปแบบ (บันเทิงเต็มรูปแบบจริงเหรอ ?…ผมไม่แคยเห็นพวกเขาจัดกายกรรม
เปียงยาง หรือ ลิเกโรงใหญ่) จนกระทั่งล่าสุดพวกเขาได้ปรับทัพธุรกิจในเครือให้
ทุ่มเทไปกับธุรกิจสื่อจนเป็นแหล่งรายได้หลักแทนที่ธุรกิจเพลงไปแล้ว แต่ใน
บทความนี้ผมขออนุญาตพาคุณผู้อ่านเดินทางกลับไปตะลุยดูยุคที่ธุรกิจเพลง
ของพวกเขายังเฟื่องฟู ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ค่ายเพลงที่ผมกำลังเขียนถึง เริ่มจากอาตี๋บ้านๆสองคนที่ฐานะทางบ้านไม่สู้จะดีนัก
กลายเป็นเศรษฐีที่มีกิน สบายไปตลอดทั้งชาติ
RS หรือ ชื่อเดิมคือ RS Promotion (1992) (สาเหตุที่ระบุปีคศ.นี้ เพราะเป็นปีที่
ย้ายจากห้องแถวย่านโคลีเซียม มาสร้างตึกเองที่ลาดพร้าว15) หรือ ถ้าย้อนเวลา
กลับไปอีกก็คือ ROSE SOUND เพราะสมัยก่อน เฮียฮ้อ กับเฮียจั๊ว แกแปะตราดอก
กุหลาบลงบนเทปที่อัดรวมเพลงขายสมัยก่อน ตอนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่คลอด
ต้องนับว่าแกนี่คือคน MIX TAPEรุ่นแรกๆของเมืองไทยเลยทีเดียว
เกรียงไกรและสุรชัย สองพี่น้องตระกูลเชษฐ์โชติศักดิ์ เริ่มต้นทำค่ายเพลง
โดยใช้ชื่อว่า ROSE Sound ศิลปินเบอร์แรกของทั้งสองเฮีย คือ วงอินทนิล
แหม่…ชื่อนี่ยังกะคณะกีฬาสีของโรงเรียนมัธยมที่ผมเคยสังกัด ที่ผมจำ”อินทนิล”
ในบริบทนี้ได้ก็เพราะมีเพื่อนต่างห้องที่อยู่คณะอินทนิล(สีม่วง-โรงเรียนผมใช้ชื่อ
ดอกไม้ แทนชื่อเรียกของสี,ผมอยู่สีชมพู สังกัดคณะจามจุรี) แล้วเพื่อนผมคน
ดังกล่าวดันมีรูปลักษณ์ที่หลายคนตอนนั้นชอบเรียกกันว่า”แมนจู” เพราะใน
วัยยังไม่15เต็มดี เส้นผมที่ควรดกดำกลับเถิกร่นกินพื้นที่ราว50% หากไว้รากไทร
ที่หลังศีรษะแล้วถักเปีย ก็แมนจูดีดีนี่เอง….เอ่านี่ผมนอกเรื่องเสียยาวเหยียด
รวมดาวปลดหนี้
ที่จริงพวกเราเกือบจะไม่ได้เห็นอาร์เอสยืนระยะรอดพ้นวิกฤติสถานะ
ล้มละลายจนกลายมาเป็นบริษัทมหาชนอย่างทุกวันนี้ก็ได้นะครับ
ถ้าไม่ใช่เพราะว่าวันหนึ่งในขณะที่สองพี่น้อง-เฮียจั๊วกับเฮียฮ้อ
กำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยวไก่หน้าปั๊มคาลเท็กซ์ (ผมงี้นึกถึงภาพปั๊มยี่ห้อนี้แถวซอยอารีย์
ทุกที ปั๊มที่พี่จิมมี่แวะเติมน้ำมันเพื่อทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในรถยนต์
รุ่นต่างๆอยู่บ่อยๆ ) ทั้งคู่ซดก๋วยเตี๋ยวไก่พลางครุ่นคิดถึงปัญหาที่ผู้คนสมัยนั้นยัง
ไม่ยอมรับภาพลักษณ์ศิลปินวัยรุ่นที่โรสซาวดน์พยายามปั้นออกมา ไม่ว่าจะเป็น
วงปุยฝ้าย,ซิกเซ้นท์ และอีกหลายวง เงินทองก็ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ วิ่งแลกเช็คขาขวิด
จนจะติดทีมชาติไทยไปแข่งซีเกมส์อยู่แล้ว ทันใดนั้นใครสักคนหนึ่งก็เงยหน้าขึ้นไปมอง
สัญลักษณ์ดาวห้าแฉกของคาลเท็กซ์ แล้วเกิดไอเดียว่าน่าจะทำอัลบั้มที่รวมศิลปิน
หลายๆคนไว้ในชุดเดียวกัน
งานเพลงชื่อ”รวมดาว”จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2527 “รวมดาว”คือ การนำเพลงลูกกรุง
ที่เคยได้รับความนิยมในอดีตมาทำใหม่ แล้วให้ศิลปินในสังกัดของอาร์เอสในยุคโน้น
นำมาขับร้องในรูปแบบของเพลงคู่ ชายหญิงร้องตอบโต้กัน ผลลัพท์ของไอเดียหน้าปั๊ม
คราวนั้นนอกจากจะประสบความสำเร็จในแง่ชื่อเสียงแล้ว เม็ดเงินที่ได้จากยอดขายชุด
”รวมดาว” ว่ากันว่าสามารถล้างหนี้ที่ขาดทุนสะสมมาตั้งแต่เริ่มต้นตั้งโรสซาวดน์เลยทีเดียว
เรื่องตลกที่วัยรุ่นในยุคนั้น(รุ่นใหญ่วันนี้)เล่าให้ผมฟังก็คือ มิวสิควีดีโอหลายเพลง
ของอัลบั้มรวมดาว ถ่ายทำกันที่สวนอาหารนาทอง ตรงปากซอยนาทอง
ถนนรัชดาภิเษก นั่นแหล่ะครับ เนื่องจากคอนเซ้ปท์คือร้องคู่กันชายหญิงตอบโต้กันไปมา
เกี้ยวกันบ้าง งอนกันบ้าง ตามแบบฉบับหนุ่มสาวสมัยนั้น มิวสิควีดีโอก็ไม่มีอะไร
มากไปกว่า เดินจีบกันรอบสวนอาหาร เบี่ยงไปตามเนินโน้นที เนินนี้ที ฝ่ายชาย
หลบไปตามพุ่มไม้แล้วโผล่มาเซอร์ไพร์สฝ่ายหญิงบ้าง เชยได้โล่ห์ ฮาฮาดีครับ
เคยดูมิวสิควีดีโอย้อนหลัง สมัยนั้นฝั่งไนท์สปอต ปานศักดิ์ รังสิพราห์มณกุล
เพิ่งจะออกอัลบั้ม”ไปทะเล” ถ่ายมิวสิควีดีโอด้วยโพรดั๊กชั่นมาตรฐานสากล
มีครีเอทีฟทำสคริปท์เล่าเรื่องราวออกมาเป็นสตอรี่บอร์ดแล้วนะครับ
โก้เก๋ยูเรก้ากว่ากันหลายโยชน์ แต่ยอดขายเมื่อเทียบกันแล้วโดน”รวมดาว”
ทิ้งห่างอย่างชัดเจน
ปฐมบทความเฮงของอาร์เอส เริ่มที่งานชุด”รวมดาว” และอาจพูดได้ว่า
”รวมดาว”เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จอันท่วมท้นอาร์เอสในยุคที่สำนักงาน
ยังตั้งอยู่ที่ตึกแถวย่านโคลีเซียม หลังจากนั้นทั้งสองเฮียยังคงวางตำแหน่ง
ทางการตลาดของศิลปินในสังกัดให้จับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นตอนต้นต่อไป
อย่างเหนียวแน่น ด้วยการส่งอัลบั้มในรูปแบบเดียวกับ”รวมดาว”ออกมา
ต่อยอดความสำเร็จเดิมในชื่อ”นพเก้า” ตามด้วยวงดนตรีชื่อ คีรีบูน,ฟรุ๊ตตี้
และอีกหลายวงออกมาหลังจาก”รวมดาว”อย่างต่อเนื่อง
ศิลปินในยุคแรกของอาร์เอสช่วงปลายยุค80’s อย่างคีรีบูน,ฟรุ๊ตตี้และอีกหลายวง
มักมีภาพพจน์เป็นเด็กผู้ชายเรียบร้อยสุภาพ แต่งตัวบูติก ใส่เสื้อผ้าจากร้าน
ชื่อดังย่านสยามสแควร์อย่างLay-Out ,Kurobo ,Tempopo, Paccino
เป็นแฟชั่นที่ดีไซน์เนอร์มักประชดประชันว่าแฟชั่นยุคเสื่อม อาจจะด้วย
มุมมองทางการตลาดของเฮียทั้งสองอีกครั้งที่อยากจะขยายฐานกลุ่มแฟน
เพลงออกไปอีกหรืออย่างไรไม่ทราบ
ราวปี2531 ผู้ชายที่สวมแว่นดำตลอดเวลา(วงเฉลียง-เคยทำมิวสิค
วีดีโอแล้วแต่งตัวล้อเลียนในเพลง”ใจเย็นน้องชาย”) เคยอยู่วงดนตรีชื่อ
The Bless ก็ถูกชักชวนให้มาออกผลงานกับอาร์เอส เขาคือ อิทธิ พลางกูร
ถ้าเราเชื่อมั่นในทฤษฎีการตลาดว่า สร้างความแตกต่างบนความโหลที่มี
อยู่เกลื่อนกลาด ภาพลักษณ์ที่ดูเคร่งขรึม สวมแจ็คเก็ตหนัง ใส่รองเท้า
ด็อกเตอร์ มาร์ติน หนังแก้วสีเชอรี่ ดูขบถนิดๆ มาดสุขุม เนื้อเพลงที่ใช้
คำพูดตรงไปตรงมา แต่ทว่าจริงใจ ไม่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน คือสิ่งนำพา
ให้ผลงานชุดแรกของอิทธิ “ให้-มัน-แล้ว-ไป” เดินไปสู่ความประสบความ
สำเร็จอย่างท่วมท้น รวมทั้งในอีกหลายอัลบั้มต่อมาจวบจนอิทธิเดินออก
จากอาร์เอสไปตั้งค่ายเพลงเอง และกลับมาอีกครั้งในวาระสุดท้ายของชีวิต
ก่อนจะลาโลกนี้ไปเมื่อราวสิบปีก่อนด้วยโรคมะเร็งลำไส้
เล่าถึงอิทธิ พลางกูร ก็อดที่จะเอ่ยถึงผู้ชายอีกคนหนึ่งไม่ได้ ราวกับเมื่อเรา
สั่งข้าวกะเพราไก่แล้วต้องสั่งไข่ดาวควบคู่ไปด้วย เขาคือ พี่เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์
เรื่องที่ฮาคือสมัยที่แกออกอัลบั้มชุดแรก ภาพปกที่ถ่ายแกเอียงคอ ผมยาวหยิก
ก็สวมแว่นดำราวกับยูนิฟอร์มที่ได้รับการสืบทอดมรดกมาอย่างเคร่งครัดจาก
อิทธิ พลางกูร พี่เสือตอนโน้น แกก็เป็นผู้ชายบ้านๆทำงานอยู่ฝ่ายศิลป์ของอาร์เอส
จู่ๆวันหนึ่ง รวบรวมความกล้าเข้าไปขอพี่อิทธิว่า “มีเพลงให้ผมแต่งสักเพลงไหมครับ”
พี่อิทธิตอบกลับมาว่า ” มี…เอาพรุ่งนี้ ” พี่เสือแกก็ดิ่งกลับบ้านหน้าตั้ง
-แต่งเพลงทั้งคืน จนได้”เก็บตะวัน”ออกมา กลายเป็นเพลงดังไปทั่วประเทศ
จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของ”อิทธิ พลางกูร”ไปแล้วอย่างเป็นเอกฉันท์
ความจริงที่หลายคนไม่เคยรู้ คือ พี่เสือแกเล่นดนตรีมาตั้งแต่อยู่บ้านเกิด
ที่กาฬสินธุ์ ร่วมกันกับเพื่อนๆญาติๆในชื่อวงเฉียงเหนือ รับจ้างเล่นทั่วไป
เล่นเปิดให้วงอื่นเวลามาทัวร์ที่กาฬสินธุ์ด้วย
ถ้าพี่เสือคือคนที่เดินเควานหาโอกาสแจ้งเกิดจากอิทธิ จนสามารถ
ดันตัวเองออกมาเป็นศิลปินได้สำเร็จ ในทางตรงกันข้ามในยุคไล่เลี่ยกัน
ก็มีศิลปินอีกคนหนึ่งที่โอกาสเดินเข้ามาชนต่อหน้าต่อตา เขาถูกอิทธิชักชวน
ให้มาออกอัลบั้ม ในขณะนั้นยังขายกางเกงยีนส์อยู่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้ชายคนนั้นคือ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ศิลปินผู้ใส่สูทถ่ายภาพขึ้นปกผลงาน
ทุกชุด แม้ว่าฉากหลังจะเป็นทุ่งดอกทานตะวันก็ตาม อย่างไรก็ดีด้วยลีลา
การร้องที่เหมือนอมอะไรอยู่ในปากตลอดเวลา จนได้ฉายานักร้องอมฮอล”
ประกอบกับเนื้อเพลงที่หนักไปทางอกหักรักคุด แม่ยายไม่สนับสนุน
ยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นบ่อเงินบ่อทองของอาร์เอสระยะใหญ่
ถ้าคุณคิดว่าการออกอัลบั้มของอริสมันต์นั้นช่างง่ายดายเหลือเกินแล้วล่ะก็
เราขอบอกว่ายังมีที่ง่ายกว่านั้นอีก เขาคือศิลปินอีกคนหนึ่งซึ่งทุกคนบนโลก
คงลืมไปหมดแล้ว “อาชาครินทร์ พงษ์เรืองรอง”น้องชายแท้ๆของอริสมันต์
ที่พี่ชายฝากฝังไหว้วานกับอิทธิให้ช่วยดันจนได้ออกอัลบั้มสำเร็จตั้ง1ชุด
แต่จัดว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างแท้จริง
นั่นแหล่ะห๊ะท่านผู้ชม(โปรดนึกถึงโพรไฟล์พิคเจอร์เพจ”จบข่าว”) หลังจาก
ที่พี่เสือ-ธนพล อิทฤทธิ์ เริ่มกระเถิบออกจากฝ่ายศิลป์มามีเครดิตในฐานะ
นักแต่งเพลงแทน ซึ่งเป็นเพลงฮิตเสียด้วยกับ”เก็บตะวัน” มีหรือที่เฮียจะปล่อย
ให้จับเจ่าอยู่กับการแต่งเพลงอย่างเดียว แกเปิดโอกาสให้พี่เสือเริ่มจับงาน
เบื้องหลังมากขึ้นสิครับ หนึ่งในศิลปินคู่ที่พี่เสือแกทำหน้าที่โปรดิวเซอร์
และได้รับเสียงตอบรับล้นหลามจากแฟนคลับชนิดที่ตอนแยกวง
ยังต้องจัดคอนเสิร์ตอำลาถึง2รอบ
RAPTOR ดูโอเด็กวัยเพิ่งจะพ้น10ขวบมาไม่นาน(ตอนนั้น) จอนนี่ อันวา
และหลุยซ์ สก็อต(คนเดียวกับที่เป็นพรีเซนเตอร์ SUZUKI SWIFT นั่นแหล่ะครับ)
พี่เสือแกบอกว่าชื่อRAPTORนี้ คิดออกตอนดูหนังเรื่อง “จูราสสิก พาร์ค”
ฉากที่มีไดโนเสาร์กำลังไล่กวดเด็กๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ”แร็พเตอร์”
หลุยส์กับจอนนี่เป็นเพื่อนกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน มาเทสต์หน้ากล้องเพื่อ
เล่นเอ็มวีเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็ได้จับคู่ออกอัลบั้มด้วยกัน สำหรับคนที่ติดตาม
เพลงสากลด้วยในยุคนั้น พอแร็พเตอร์ออกมา ทุกคนต่างอุทานออกมาพร้อมกันว่า
นี่มัน Kriss Kross ไอ้เด็กฮิปฮอปอเมริกันฟันไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมนี่หว่า องค์ประกอบ
ของผลงานแทบจะยกพิมพ์เขียวกันมาเลยทีเดียว เหมือนกันเด๊ะ ภาพลักษณ์เด็ก
ที่เพิ่งก้าวพ้นจากประถมขึ้นชั้นมัธยม เต้นส่ายไปส่ายมาโยกตัวแร๊พโย่วแบบ
โอลด์สคูลฮิปฮอป สวมเสื้อผ้าตัวหลวมโคร่ง ภาพพจน์เป็นเด็กหลังห้องที่
แลดูเกเรตามแบบฉบับวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยที่ยังไงก็”ดื้อ” ขอให้ได้แหก
กฎเกณฑ์ของสังคมจะดูเท่มาก ตะลุยแสดงออกทุกอย่างด้วยความคึก
คะนองเพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคม
สูตรสำเร็จของศิลปินที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจก็หนีไม่พ้นว่ามีโอกาส
ได้แสดงภาพยนตร์ด้วย หนังเรื่องแรกที่ทั้งคู่เล่นด้วยกันคือ “โตแล้วต้องโต๋”
และยังเคยปรากฎตัวพร้อมกันในฉากสุดท้ายของหนังในตำนานของ
อาร์เอสฟิล์มอีกด้วย คือ “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว”
จอนนี่กับหลุยซ์ในนามของ”แร็พเตอร์”ในช่วงท้ายก่อนจะแยกย้ายสลายตัว
กันไปตามวาระบอยแบนด์ เข้าร่วมโปรเจคท์ The Next ร่วมกับศิลปินใน
อาร์เอสอีก6คน มีเพลงฮิต คือ เกรงใจ ที่มาพร้อมท่าเต้นโหนรถเมล์
ที่ทุกวันนี้ใครต่อใครที่เป็นวัยรุ่นยุคนั้นกลับมางานเลี้ยงรุ่นเป็นต้องเอา
มาล้อเลียนกันอยู่สม่ำเสมอ
พอพูดถึงThe Next ก็ทำให้นึกถึงPepsiในยุคนั้นซึ่งกำลังทำแคมเปญ
The Next Generationเพื่อก้าวข้ามสหัสวรรษใหม่ยุค2000 สิ่งที่ไม่ต้อง
สงสัยเลยคือเสริมสุขเป็นสปอนเซอร์หลักของโปรเจคท์The Nextอย่างแน่นอน
อาร์เอสเองก็จัดการคลุมธีมเอาใจสปอนเซอร์สุดๆด้วยสีฟ้าเฉดเดียวกับ
C.I.(Corporate Identity)ของเป็ปซี่ ทั้งปกอัลบั้ม รวมทั้งสารพัดสิ่ง
เท่าที่จะทำให้เป็นสีฟ้าเฉดเป็ปซี่เท่าที่จะทำได้กับการเดินสายออกทัวร์
คอนเสิร์ตทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด งานนี้ถึงจอนนี่กับหลุยซ์จะร้องว่า
”ไม่เอานะเกรงจาย…ไม่ดีหรอกเกรงจาย..”อยู่บนเวทีคอนเสิร์ต แต่สำหรับ
เฮียฮ้อกับเฮียจั๊ว ที่ยืนอยู่ข้างเวทีคงพูดว่า อั๊วไม่เกรงใจล่ะนะ อะไรที่เป็ปซี่
อยากได้ อั๊วจัดให้ไม่อั้น เงื่อนไขมีแค่3ข้อเท่านั้น เงินถึง..เงินถึง..และเงินถึง
กรณีศึกษาของค่ายน้ำอัดลมบ้านเราถือว่าเป็นตำราเล่มใหญ่ที่นักศึกษา
ทางการตลาดทุกคนต่างต้องเรียนรู้ผ่านตากันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
ยุคที่ธุรกิจเพลงในบ้านเรายังเฟื่องฟู ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า
ไทยน้ำทิพย์ ผู้จำหน่ายโค้ก จะผูกปิ่นโตยาวนานกับแกรมมี่ อัลบั้มแรกๆของแกรมมี่
ที่มีโลโก้โค้กแปะอยู่มุมขวาล่างของปกอัลบั้มน่าจะเป็นชุด”นินจา”สตูดิโออัลบั้ม
ชุดแรกของ”คริสติน่า อากีล่าร์” ส่วนค่ายสีฟ้าอย่างเป็ปซี่ โดยเสริมสุข
หนีไม่พ้นต้องเลือกยืนเคียงข้างให้การสนับสนุนอาร์เอสอย่างต่อเนื่องยาวนาน
สื่อในมือเฮีย
ในขณะที่อาร์เอสประสบความสำเร็จกับธุรกิจเพลงช่วงปลายยุค80ต่อเนื่อง
ต้นยุค90 ผู้บริหารสองพี่น้องก็มองการณ์ไกลว่าทำไมเราไม่ลงทุนสร้างมีเดีย
ขึ้นมาเอง เพื่อโปรโมทผลงานในสังกัดได้เต็มที่ ในยุคเดียวกันนั้นเองฝั่งแกรมมี่
ที่ขณะนั้นสำนักงานใหญ่ยังตั้งอยู่กลางซอยสุขุมวิท39 ปั้นเอไทม์มีเดียขึ้นมา
มีรายการวิทยุเป็นของตัวเองอย่างHot Wave ,Green Wave ฝั่งอาร์เอสเอง
ก็ได้ริเริ่มฟอร์แมทรายการในชื่อของคลื่นแซด(Z)ทางสทร.FM 88.5 มี
พี่หนุ่ย-ชาติชาย คำดี ดีเจที่มีชื่อเสียงจากรายการ”ดึกๆหมึกสีม่วง”มาก่อนหน้านั้น
เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการทุกขั้นตอน แต่ที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นอาร์เอสเอง
มีรายการวิทยุเป็นของตัวเองอยู่แล้วเป็นบางช่วงเวลาในเครือสทร.
(สถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ) เช่น FM 106. ช่วงบ่ายๆจนถึงค่ำๆ,FM 93 ช่วงหัวค่ำ
กับรายการเพลงไทยคุณขอมา ที่กลายเป็นตำนานที่ใครโตทันยุคนั้นต้องเอา
มาล้อเลียนลีลาการฉีกจดหมายหน้าไมค์ ของผู้ดำเนินรายการชื่อ ศิริชัย
เลิศวิริยะชัย ไม่ใชแค่ฉีกจดหมายเท่านั้นที่เป็นเอกลักษณ์ แต่วิธีการตอบ
จดหมายซึ่งส่วนใหญ่เขียนมาจากเด็กนักเรียน เด็กพาณิชย์ อาชีวะ
ที่ขอเพลงให้เพื่อน พี่ศิริชัยแกอ่านทุกตัวอักษรไม่มีตกหล่นราวกับเห็น
คุณค่าข้าวทุกเม็ดในจานข้าวที่ชาวนาปลูก-ต้องกินให้หมดเกลี้ยง
ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างบทพูดรูปแบบตายตัวที่พี่ศิริชัยไม่เคยหลุดนอก
ท่าบังคับทรงนี้แม้แต่ครั้งเดียวในการออกอากาศ
(เสียงฉีกจดหมายออกอากาศ แคว่กกกกก ก๊อบแก่บๆๆๆๆ เสียงคลี่
จดหมายออกมาเพื่ออ่าน)
น้องไฉ่(ชื่อสมมุติ) “สวัสดีครับพี่ศิริชัย พี่สบายดีไหมครับ”
พี่ศิริชัย (เสียงโมโนโทน ราบเรียบ ไร้คีย์สูงต่ำใดๆทั้งสิ้น)”สบายดีครับ”
น้องไฉ่ ”ผมชื่อไฉ่ครับ ชื่อจริง นายสมไฉ่ ไข่ไก่สิบฟอง เรียนอยู่เทคนิค
ศรีวัฒนา ชั้นปวช.1 สาขาบัญชี ผมติดตามรายการพี่เป็นประจำทุกคืน
ก่อนนอนครับ ส่วนใหญ่ผมจะรีบทำการบ้านให้เสร็จแล้วอาบน้ำปะแป้ง
เปิดวิทยุรอฟังเพลงไพเราะจากพี่ ผมชื่นชอบทุกเพลงที่พี่เปิดมากๆครับ
ตอนนี้ผมใกล้จะสอบกลางเทอม อยากจะขอให้พี่ช่วยอวยพรให้ผม
สักหน่อยได้ไหมครับ”
พี่ศิริชัย(โมโนโมนเช่นเคย)” ก็ขอให้น้องไฉ่ตั้งใจอ่านหนังสือให้เต็มที่ครับ
จะได้ทำข้อสอบได้ตามที่ตั้งใจไว้”
น้องไฉ่ ”ผมขอมอบกลอนนี้ให้เพื่อนๆทุกคนที่กำลังฟังรายการอยู่ครับ”
พี่ศิริชัย(ร่ายกลอนออกอากาศด้วยน้ำเสียงโมโนโทน)” ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่
ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ผัดไทอยู่ในห่อ มิหลงใหลใครขอชิม”
น้องไฉ่ “สุดท้ายนี้ผมขออวยพรให้พี่ศิริชัยมีความสุข สุขภาพแข็งแรงครับ
ผมจะติดตามเพลงไทยคุณขอมาตลอดไปครับ ขอเพลง”หัวใจไม่เสริมใยเหล็ก”
ของพี่สรพงศ์ ชาตรี ด้วยครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง น้องไฉ่”
พี่ศิริชัย (พับจดหมายเก็บเข้าซองดังเดิม)“เพลงที่น้องไฉ่ขอไว้ เดี๋ยวจะกลับ
มาเปิดให้ฟังครับ ตอนนี้พักฟังสิ่งที่น่าสนใจสักครู่เดียวครับ ”
(เจ้าหน้าที่คอนโทรลเสียงตัดเข้าสปอตโฆษณาแป้งฝุ่นหอมฮอลลี่วู๊ด-
แป้งโรยศพที่สัปเหร่อไว้วางใจ(เอคโค่เยอะๆ)
สมัยก่อนตอนที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ วัยรุ่นไทยส่วน
ใหญ่ฟังเพลงจากรายการวิทยุกันทั้งนั้นครับ คลื่นแซด 88.5 ที่พี่หนุ่ย-ชาติชาย
คำดี ทำหน้าที่บริหารจัดการ รวมทั้งจัดรายการเองด้วยในช่วงหัวค่ำ เมื่อ
ดำเนินงานมาถึงราวปี1998 ก็ประมูลเพิ่มมาได้อีก1สถานี คือ FM 98
แต่หลังจากนั้นไม่นานพี่หนุ่ยก็มีอันต้องจากโลกนี้ไปด้วยโรคร้าย พี่โจ-มณฑานี
ตันติสุข อดีตดีเจจากSmile Radio เข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดในธุรกิจวิทยุ
ของอาร์เอสแทน แล้วทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Skyhigh Network อย่างไร
ก็ตามในขณะที่ธุรกิจวิทยุมีการแข่งขันที่รุนแรง ตัวเลขผลประกอบการอาจจะ
ไม่เข้าเป้าหรืออย่างไร พี่โจบริหารงานได้ไม่นาน ก็เป็นอันต้องลาออกไปในที่สุด
ยุคถัดมาของธุรกิจวิทยุของอาร์เอส ได้พี่เดียว-สุรชาติ ตั้งตระกูล ซึ่งในขณะนั้น
เป็นแค่ดีเจที่มีคิวจัดรายการช่วงเช้าวันธรรมดา ก้าวขึ้นมาบริหารงานเต็มตัว
และวางรากฐานการตลาดอันแข็งแกร่งให้ Cool 93 (ปัจจุบันคลื่นนี้เปลี่ยนชื่อ
เป็น Cool Farenheit ) กลายเป็นรายการเพลงอีซี่ลิสนิ่งที่มีเรตติ้งอันดับต้นๆ
ของตารางเนลเซ่นจวบจนปัจจุบัน ทิ้งห่างGreenwaveเจ้าตลาดขาดลอย
แม้ระหว่างนั้นมีหลายคลื่นที่เคยผลิต ล้มเหลวทางธุรกิจก็ตาม เช่น
90 Mix FM, 106 LIFE FM, 93 DNA
เรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ รายการวิทยุ 89 Pirate Radio
ในยุคเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ ดีเจบ๊อบบี้-นิมิตร ลักษมีพงษ์ ซึ่งทำหน้าที่
Programme Director เคยเสนอให้ล้างฟอร์แมทเก่าทิ้ง โยนชื่อ
Pirate Radioลงทะเลเสีย แล้วเตรียมตั้งชื่อรายการใหม่ว่า “Kool 89”
จ้างเบเกอรี่มิวสิคทำจิงเกิ้ลรายการแล้วด้วย แต่ก็เกิดจุดพลิกผันที่ไม่
อาจคาดเดาได้ โปรเจคท์มีอันต้องพังทลายลงไปไม่สามารถรักษา
ความเย็นไว้ได้ มิฉะนั้นคลื่นวิทยุของอาร์เอสอาจจะไม่ได้ชื่อCool
อย่างที่เราคุ้นหูจนทุกวันนี้ก็ได้
เมื่อธุรกิจเพลงและสื่อวิทยุในเครือดำเนินไปพร้อมกับความสำเร็จทางธุรกิจ
อย่างไม่หยุดหย่อน ความมั่งคั่งที่สะสมไว้จึงเป็นหลักประกันเพียงพอที่เฮียจั๊ว
กับเฮียฮ้อจะมีเครดิตระดับที่สถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้เม็ดเงินก้อนโตมา
ต่อยอดธุรกิจให้ก้าวเดินต่อไปอย่างแข็งแกร่งในอนาคต
ปี 1992 อาร์เอสย้ายสำนักงานห้องแถวย่านโคลีเซี่ยมมายังอาคารเชษฐ์โชติศักดิ์
ลาดพร้าว15(ซอยจอมพล)โดยเปลี่ยนชื่อเป็น RS Promotion(1992) ด้วยเงิน
ลงทุนกว่า 300ล้านบาท มีห้องบันทึกเสียง ระดับมาตรฐานเถึง 3 ห้อง พร้อมกับ
ประกาศจุดยืนจากบริษัทเพลงมาเป็นบริษัทบันเทิงครบวงจร นอกจากผลงาน
อัลบั้มเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว ยังได้รุกเข้าสู่ธุรกิจบันเทิงในสายงานอื่นๆ
อย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นรายการวิทยุ, รายการโทรทัศน์, ละครโทรทัศน์
รวมทั้งภาพยนตร์
และถือกำเนิด “ RS STAR CLUB” สำหรับแฟนๆ อาร์เอส นับเป็นธุรกิจแฟนคลับ
แห่งแรกของธุรกิจเพลงในเมืองไทย สมาชิกของอาร์.เอส.สตาร์คลับจะได้รับสิทธิ
พิเศษมากมาย รวมทั้งข่าวความเคลื่อนไหวของศิลปินในดวงใจและการ
มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆที่บริษัทจัดขึ้น
RS STAR CLUB :ศูนย์รวมติ่งอาร์เอสยุคอนาล็อก
คือ ศูนย์รวมติ่งอาร์เอสยุคโน้นให้เป็นกลุ่มก้อนได้อย่างเหนียวแน่น
บรรดาเด็กนักเรียนทั้งผู้หญิงที่ยังผูกคอซอง เด็กผู้ชาย(ที่ส่วนใหญ่เป็นเก้งกวาง
เพื่อนสาวเด็กนักเรียนผู้หญิง)ถ้าเรียนหนังสืออยู่ในกรุเทพฯ หลังเลิกเรียนมัก
จะมานั่งดักรอศิลปินคนโปรดอยู่ที่แนวต้นเข็มหน้าอาร์เอส(พวกครีเอทีฟปากจัด
ยุคนั้นเรียกเด็กพวกนี้ว่า ผีต้นเข็ม) ก็พวกเขารู้จักกันจากการเขียนจดหมาย
หาเพื่อนใหม่ต่างสถาบัน ต่างถิ่นที่อยู่อาศัย ส่งเข้ามาที่กองบรรณาธิการอาร์เอส
สตาร์คลับ ทำให้รู้จักมักจี่กันในที่สุด แล้วก็ลงเอยด้วยการนัดแนะกันมาที่อาร์เอส
อย่างน้อยถ้าไม่เจอพี่เต๋า พี่แซนด์แบงค์ กูก็ได้เจอเพื่อนใหม่ๆล่ะวะ คราวหน้า
จะได้มีเพื่อนช่วยถือป้ายไฟราฟฟี่แนนซี่แล้วเว่ย ฮูเร่ ช็อคกะดุ๊ก ช็อคกะดิ๊ก…
อยากเป็นแค่นี้ เป็นแค่บอดี้การ์ด เหนื่อยเท่าไร ยังทนได้…
อยากจะบอกว่า ถ้าคุณถอดอีโก้ตัวเองออก แล้วค่อยๆพลิกดูทีละหน้า
ของนิตยสารRS STAR CLUB สิ่งที่คุณจะได้สัมผัสคือโลกอีกใบของคน
ที่คลั่งไคล้หลงใหลผลงานของศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบสุดหัวใจ คอลัมน์
ต่างๆที่ถูกจัดวางขึ้นมา เหมือนถอดหัวใจของติ่งอาร์เอสออกมาชำแหละ
ดูว่าต้องการอะไรมากที่สุด แล้วก็ประเคนตอบสนองสิ่งเหล่านั้นเข้าไป
อย่างเต็มที่ไม่มีกั๊ก คุณจะได้เจอเป็นคอลัมน์ที่บรรดาติ่งเขียนจดหมายมาหา
เพื่อนใหม่ราวๆ2หน้ากระดาษ ซึ่งทีมงานยกมาทั้งลายมือมาย่อส่วนลงหน้า
กระดาษของนิตยสาร แน่นอนว่าติ่งทุกคนที่เขียนจดหมายเข้ามาที่กองบรรณาธิการ
เมื่อเห็นจดหมายที่ตัวเองได้ตีพิมพ์ ย่อมดีใจลิงโลดยิ่งกว่าอะไร เนื้อความใน
จดหมายส่วนใหญ่ก็หาเพื่อนใหม่กันทั้งนั้น เนื้อความก็ประมาณว่า
“สวัสดีเพื่อนๆทุกคน เราขอแนะนำตัวก่อนเลยละกัน เราชื่อ ต่าย เรียนอยู่
โรงเรียนแรบบิทศึกษา ม.2แล้วนะ ปีหน้าก็ม.3แล้วล่ะ(ก็ใช่น่ะสิ หรือเธอจะ
สอบตกซ้ำชั้นม.2ล่ะ ปัทโธ่) เราชอบเพลงของอาร์เอสเหมือนกับเพื่อนๆแหละ
ศิลปินที่เราชอบเป็นพิเศษก็มี พี่โดม พี่นุ๊ก ลิฟท์กะออย ไจแอนท์ เรามีเทป
ทุกชุดเลยนะ วางแผงปั๊บ ซื้อทันที อย่าลืมเขียนจดหมายมาคุยกันนะ รับรอง
ตอบทุกฉบับไม่ลืมแน่นอน ที่อยู่เรานะ 191 บ้านหนองอีแหนบ ตำบลไข่ย้อย
อำเภอมะยงชิต จังหวัดร้อยเป็ด50550 “
ถ้าคุณว่าคอลัมน์หาเพื่อนในอาร์เอส สตาร์คลับ คือที่สุดของที่สุดแล้ว
ขอบอกว่ายังไม่ใช่ คอลัมน์ที่สุดยอดกว่าคือ หน้าถัดไปที่ติ่งอาร์เอส
ทั้งหลายเขียนจดหมายถึงศิลปินคนโปรด แล้วศิลปินคนที่ถูกเขียนถึง
เขียนตอบด้วยลายมือตัวเอง แน่นอนว่าต้องสแกนลายมือนำมาตีพิมพ์ให้
เห็นเป็นหลักฐานว่าไม่ได้มีนอมินีแสร้งว่าเป็นพี่ดัง-พันกร มาเขียนแทนนะ
กระสอบใบโตที่อัดแน่นด้วยจดหมายมหาศาลที่ส่งเข้ามากองบรรณาธิการ
แต่ละงวด ฉบับไหนเล่าจะแจ็คพอต ถูกคัดเลือกให้ได้ตีพิมพ์ แล้วมีศิลปิน
คนโปรดมาเขียนตอบเองกับมือ ระบุชื่อน้องนั่นนู่นนี่ชัดเจน รับรองมีโชว์เพื่อน
โชว์สามบ้านเจ็ดบ้าน อาร์เอสสตาร์คลับฉบับนั้น ต้องมีห่อปกอย่างดีด้วย
พลาสติกใส ใส่ไว้ในลิ้นชักล็อคกุญแจแน่นหนากลัวหาย หรือไม่ก็เอา
ไปนอนกอดแล้วหลับไหลไปพร้อมรอยยิ้มที่ประทับบนใบหน้ายันเช้า
ขึ้นบ้านใหม่ในซอยลาดพร้าว 15
ยุค RS Promotion(1992) ศิลปินเบอร์แรกที่ประเดิมอาคารเชษฐ์โชติศักดิ์
หลังจากเพิ่งย้ายมาจากย่านโคลีเซียม คือ อนันต์ บุนนาค กับอัลบั้ม
”ขออภัยในความไม่สะดวก” ที่มียอดขายทะลุล้านชุด หลังจากนั้นก็ไม่เคย
เดินขึ้นถึงจุดสุดยอดอย่างที่เคยทำได้อีกเลย ไม่ว่าจะเป็นงานเพลงชุดถัดม
าที่ชื่อว่า”เสนอหน้า”และอีกหลายอัลบั้มที่อนันต์ค่อยๆจางหายไปจากวงการเพลง
แล้วหันไปเอาดีด้านการแสดงแทน
ด้วยความที่อาร์เอสประสบความสำเร็จกับศิลปินป๊อปวัยรุ่นหน้าใสเสียส่วนใหญ่
ทำให้หลายคนมักลืมไปว่า พวกเขาก็มีวงร๊อคที่เดินเข้าออกลาดพร้าว15
เป็นว่าเล่นเหมือนกัน มีตั้งแต่ร๊อคหน้าตึงยันร๊อคหน้าย่น เครดิตที่พกมาด้วย
ก็ไม่ธรรมดา เช่น ชัชัชัย สุขาวดี หรือ หรั่ง ร๊อคเคสตร้า , ไฮร๊อค ,
พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร ฯลฯ
แต่วงร๊อคที่มียอดขายเกินหลักล้านชุดวงแรกของค่าย คือ”หิน เหล็ก ไฟ”
วงร๊อคที่เกิดจากการรวมตัวของโป่ง-ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ อดีตนักร้องนำ
The Olarn Projectและเพื่อนนักดนตรีจากวงอื่นๆ เพียงแค่อัลบั้มแรกเท่านั้น
“หิน เหล็ก ไฟ”กลายเป็นบ่อเงินบ่อทองแห่งใหม่ของอาร์เอสทันที
เพลงฮิตจากงานชุดแรกมีกว่าค่อนอัลบั้ม เช่น ยอม-เพลงรัก ที่เฮียฮ้อ
ขอร้องให้พี่โป่งแต่งเพิ่ม เพราะเดิมพี่โป่ง แกตั้งใจให้ทำนองออกมาเป็น
เฮฟวี่เมทัล แต่เฮียฮ้อคงใช้สายตาแกมบังคับว่า มันต้องมีเพลงรักบัลลาด
บ้างสิวะ/ครับโป่ง ซึ่งเพลงยอม ที่แต่งมา ก็ไม่มีคำว่า “รัก” เลยสักคำ
กลายเป็นเพลงร๊อคอกหักที่ต่อกรกับอัสนี-วสันต์ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ,พลังรัก ,
เพื่อเธอ ,สู้-เพลงยอดเยี่ยมสีสัน อวอร์ด ช่วงนั้น ,และเพลง”นางแมว”ที่ร้อง
เอามันส์กันได้ทั้งเมือง “….ไอ้เธอมันคือนางแมวยั่วสวาท ไอ้เธอมันคือปีศาจ
หุ่นเป็ปซี่ เธอกินหนูตายเป็นอาหาร…ไปๆ..ไปลงนรกซะเธอที่รัก..ฉันจะลงโทษเธอ..”
สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของวงการเพลงยุค80ตอนปลายจวบจน90ตอนปลายเช่นกัน
(ทั้งโลก)ก็คือ แทบทุกศิลปินที่มีผลงานเพลง ต้องประเดิมด้วยเพลงเร็ว
เป็นเพลงเปิดตัว ตามด้วยซิงเกิ้ลที่2ค่อยเป็นเพลงช้า ชนิดที่ฟังเที่ยวเดียวติดหู
พร้อมจะเป็นเพลงฮิตขึ้นชาร์ตอันดับสูงๆได้ในในระยะเวลาอันรวดเร็ว
คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่า เฮียฮ้อมีวิธีการทดสอบว่า เพลงไหนจะฮิต
เพลงไหนจะดัง คำตอบคือ เฮียฮ้อจะให้ลูกๆ มานั่งฟัง แล้วถ้าลูกชอบแสดงว่า
เพลงนั้นมีโอกาสจะดัง เฮียก็จะสั่งลุยโปรโมทเลย…..อุตสาหกรรมในครัวเรือนครับท่าน
แน่นอนว่าส่วนใหญ่เพลงช้ามักจะได้รับความนิยมมากกว่าเพลงเร็ว
แต่บางศิลปินของอาร์เอสก็แจ้งเกิดจากเพลงเร็วได้เช่นกัน อาทิ ทัช ณ
ตะกั่วทุ่ง อัลบั้ม”ทัช ธันเดอร์”(ตอนหลังเทพ โพธิ์งาม หยิบมาล้อเลียนด้วยการ
ออกเทปตลก ชื่อชุดว่า เทพ ธันเดอร์) เพลงเท้าไฟ เป็นขวัญใจเด็กวัยรุ่นในยุคนั้น
พอๆกับที่ฝั่งแกรมมี่กำลังปล่อยงานชุดแรก”จอ-เอะ-บอ”ของเจตริน วรรธนสิน
ออกมากับท่าเต้นหมาเกาหูในเพลงฝากเลี้ยง ทุกสถานบันเทิงเมื่อถึงคิวเพลง
เต้นรำสองเพลงนี้ไม่มีพลาดเด็ดขาด จริงๆแล้ว”ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง”เคยออกอัลบั้ม
แรกมาแล้วก่อนหน้านี้ชื่อว่า”สัมผัสทัช”แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วตอนนั้น
แปะชื่อบนปกว่า”ขวัญทัช”ครีเอทีฟมองว่าแลดูเชย พอมาถึงชุดธันเดอร์
จึงตัดสินใจย่อชื่อให้เหลือ”ทัช”เฉยๆ จากนั้นมาไม่มีใครจำได้อีกเลยว่าผู้ชาย
หน้าง่วงนอนตลอดเวลา เต้นยับสลับร้องร้องเพลง ชื่อ”ขวัญทัช”อีกต่อไป
จนกระทั่งมีข่าวที่เขาไปพัวพันกับยาเสพติดช่วงปลายยุค90 ทำให้ฟังเพลง
ในอัลบั้ม”ทัช ไซโคลน”แฟนๆได้ฟังจากทางรายการวิทยุเท่านั้น
ไม่อนุญาตให้ออกทีวี เพราะต้นสังกัดแบน
ส่วนแดนเซอร์ที่ทำงานกับเขา ในยุคทองเพลงเต้นของทัช ตอนหลังถูก
เซ็นสัญญาเป็นกลุ่มนักร้องบอยแบนด์ใช้ชื่อว่า “ไฮแจ็ค”
นอกจากงานเพลงที่สร้างชื่อให้กับทัชแล้ว ในยุคที่อาร์เอสฟิล์มถือกำเนิดขึ้น
หนังเรื่องแรกของค่ายคือ “รองต๊ะ แล๊บแปล๊บ” ที่เขาแสดงคู่กับ”วาสนา พูนผล”
ยิ่งส่งเสริมให้ทัชยืนอยู่บนแถวหน้าของศิลปินที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง
ในเมืองไทยตอนนั้น
ยุคทองของอาร์เอสที่นอกเหนือจากศิลปินหลายเบอร์จะสร้างปรากฎการณ์
ยอดขายถล่มทลายแล้ว แต่ดูเหมือนจะมีสิ่งหนึ่งซึ่งออกจะขัดใจ
แฟนเพลงอยู่มากคือกล่องใส่เทปขนาดบางใส มันแตกง่าย
และด้วยความบางกว่าเจ้าอื่นในตลาดยุคนั้น(ทำยังกะอยู่ในตลาดแข่งขัน
ผ้าอนามัย ที่ต้องเพิ่มคุณสมบัติ ดราย แอนด์ สลิม ) ทำให้ลูกเล่นหรือรายละเอียด
ที่จะบรรจุลงปกเทปก็พลอยทำได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้นหากยุคหลังๆที่บรรดาผู้สะสม
เทปคาสเส็ทท์หรือมองปกเทปป็นงานศิลปะชนิดหนึ่งจะไม่มีรายชื่ออัลบั้ม
จากอาร์เอสยุคนี้เฉียดกรายเข้าไปในลำดับความชื่นชม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
.
ศิลปินหญิงคนแรกยุคอาร์เอส โปรโมชั่น 1992
แล้ววันหนึ่งในยุคโน้น เฮียฮ้อก็โดนคำถามจากใครต่อใครมากมายว่า
ทำไมอาร์เอสถึงไม่มีศิลปินหญิงออกมาบ้าง? เพราะตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็น
RS Promotion(1992) อาร์เอสยังไม่เคยมีผลงานจากศิลปินหญิงเลย
แม้แต่ชุดเดียว ครั้งสุดท้ายก็โน่นเลย ยุคที่ยังอยู่โคลีเซียม มีวงปุยฝ้าย
และสาวๆอีกหลายคนในอัลบั้ม”รวมดาว”
ด้วยความที่ห่างจากการปั้นนักร้องหญิงไปนาน อาร์เอสเลยไม่ค่อยมั่นใจ
กับการปั้นนักร้องหญิง แต่จังหวะนั้นในทีมงานเบื้องหลังได้พี่แหม่ม-พัชริดา
วัฒนา อดีตสมาชิกวงหญิงล้วน”สาว สาว สาว” มาร่วมงาน ร้องคอรัส
ร้องเพลงละคร เฮียฮ้อก็เลยทาบทามให้ทำอัลบั้ม และอาจเพราะเป็น
การนำเพลงเก่ามาร้องใหม่ เลยใช้เวลาไม่นาน ประกอบกับเคยเป็น
สมาชิกวงสาวสาวสาวมาก่อน มีฐานแฟนเพลงมาก่อนบ้าง ทำให้อัลบั้ม
”ผู้หญิงมีฝัน”ในปี 2536 เป็นงานเพลงศิลปินหญิงคนแรกของอาร์เอส
ในยุคที่ต่อด้วยคำว่า Promotion 1992 “ผู้หญิงมีฝัน”เป็นงานคัฟเวอร์
เพลงของศิลปินในสังกัดเดียวกันทุกแทร็ค เช่น ทิ้ง-The Outsider,
รอยร้าว-อิทธิ พลางกูร,ไม่มีที่ไป-ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ฯลฯ
จากตรงนั้นเป็นต้นมา พี่แหม่ม-พัชริดา วัฒนา ก็กลายมาเป็นบุคลากรสำคัญ
ของอาร์เอสในฐานะครูสอนร้องเพลงขั้นพื้นฐานและพัฒนาศิลปินมา
อย่างยาวนาน และในเวลาต่อมาน้องสาวต่างบิดาของพี่แหม่มก็เดิน
เข้าสู่วงการเพลงด้วยการออกอัลบั้มกับอาร์เอสด้วยเช่นกัน ก็คือ
โมเม-นภัสสร บูรณศิริ ลูกศิษย์คนแรกของ”ครูแหม่ม พัชริดา” คือ
โดม-ปรณ์ ลัม นั่นเอง ส่วนนักร้องพี่น้องคู่แรกของค่ายก็มีจุดเริ่มต้นจาก
คอร์สสอนร้องเพลงของครูแหม่มอีกเช่นกัน ปกติราฟฟี่จะมารับแนนซี่
ที่เรียนร้องเพลงกับครูแหม่มเป็นประจำ ครูแหม่มก็เห็นว่า ราฟฟี่หน้าตาดี
เลยลองชวนมาเทสต์เสียง แล้วดันผ่านเสียด้วยสิ จึงเลยเสนอโปรเจคท์
กับเฮียฮ้อว่า ลองทำนักร้องคู่พี่น้องมั๊ย เมื่อเฮียก็โอเค ราฟฟี่แนนซี่ ก็เลย
เป็นนักร้องคู่พี่น้อง คู่แรกของอาร์เอสในที่สุด
ถัดจากพี่แหม่ม-พัชริดา วัฒนา อาร์เอสก็มีผลงานจากศิลปินหญิง
ตามออกมาติดๆอีกหนึ่งคนในปี2537 คือ นุ๊ก-สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา
นุ๊กเริ่มต้นงานในวงการด้วยการเล่นละครจักรๆวงศ์ๆ แล้วก็ได้เล่นมิวสิค
วีดีโอของต้อม-เรนโบว์ จากนั้นเธอก็เลือกเพลง “รักกวนๆ” ของวงทู
เป็นเพลงออดิชั่นเมื่อคราวที่ถูกเรียกตัวมาทดสอบความสามารถด้าน
ร้องเพลง ผลก็คือ ยังต้องกลับไปฝึกฝนร้องเพลงอีกนาน ทั้งๆที่นุ๊กเซ็น
สัญญากับอาร์เอสก่อนพี่แหม่ม และน่าจะได้เป็นศิลปินหญิงเบอร์แรก
ของค่ายในยุค1992 แต่อย่างที่เล่าให้ฟังว่าช้าเพราะต้องเรียนร้องเพลง
กันใหม่ให้พื้นฐานดีพอในระดับหนึ่ง นุ๊กเคยให้สัมภาษณ์ว่าชอบเพลงเพื่อชีวิต
(อาร์เอสเคยทำ”เพลงเพื่อชีวิต ถ้ายุคหลังหลายคนอาจรู้จัก”หนุ่มบาวสาวปาน ”
แต่ในยุคที่ภาพพจน์เพลงพ๊อพวัยรุ่นครอบงำอาร์เอสอยู่นั้น ทางค่ายเคย
ออกผลงานของ”มงคล อุทก อัลบั้ม”สิงห์รายวัน” ในปี 2535 และวง อินโดจีน )
พอจะทำอัลบั้ม ทางค่ายเห็นว่า มันเป็นแนวเพลงที่ขัดกับบุคลิกอย่างแรง
เลยให้ทำเป็นแนวป๊อบใส ๆ แทน ไม่อย่างงั้นเราคงได้ฟังเพื่อชีวิตกับ
นักร้องหญิงคนแรกของค่าย เรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เคยทราบมา
ก่อนก็คือ ท่าเต้นถอนสายบัว ในเพลง”ถอนสายบัว” เป็นฝีมือการออกแบบ
ของพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก !!!!!!!!!!!
เมื่อโด่งดังคนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง หนีไม่พ้นกระโดดลงไปเล่นหนังตาม
สูตรสำเร็จ นุ๊กเล่นหนังเรื่องแรก “โลกทั้งใบ..ให้นายคนเดียว” ทำรายได้
กว่า 55 ล้าน แล้วก็ยังไปเล่นหนังและละครอีกหลายเรื่องตามสไตล์
นางเอกสุดฮ็อต แล้วเธอก็ออกอัลบั้มที่สอง ซึ่งห่างจากอัลบั้มแรก 3 ปี
จากนั้นเธอได้ย้ายไปอยู่อังกฤษ แต่เพลงในอัลบั้ม เช่น “แค่ไม่รัก” และ
“เป็นอันสลบ” ก็ยังดังอยู่ในเมืองไทย นอกจากนั้นยังเคยทำหน้าที่พิธีกร
รายการ Saturday Show On The Beach ซึ่งเป็นรายการเพลง
ที่ฉายในช่วงวันหยุด
เหล่าCelebrityออกเทป
ยุคสมัยนั้น คนดังในบ้านเราจากหลากหลายวงการ มักถูกชักชวนจาก
ค่ายเพลงให้มาออกเทปในจังหวะที่ชื่อเสียงกำลังสุกงอม นัยว่าคนดังทำ
อะไรก็ดูดีไปหมด แม้แต่ร้องเพลงออกอัลบั้ม ? ทฤษฎีที่ว่าน่าจะใช้ไม่ได้กับ
นักร้องอย่างน้อยสองคนทีเคยออกเทปกับอาร์เอส คือ ฉัตรชัย เปล่งพานิช
,และสรพงศ์ ชาตรี แม้จะมี”หัวใจไม่เสริมใยเหล็ก”เป็นเพลงดังในกระแสอยู่
ในช่วงสั้นๆ แต่ภาพรวมถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้แต่นักมวยบ้านเราก็ไม่เว้น
ที่จะให้เขาถอดนวมมาถือไมค์ร้องเพลง สามารถ พยัคฆ์อรุณ เคยออก
ผลงานกับแกรมมี่,เขาทราย กาแล็คซี่ ก็ไม่พ้นวงจรนี้ มีเพลง”ขอบคุณครับ”
ที่มีท่อนฮุคติดหู,ยิ่งค่ายคีตานี่ตัวดีเลย เยอะกว่าใครเพื่อน เช่น ชุติมา นัยนา
อดีตนางสาวไทย และอีกหลายคน ล้วนแล้วแต่เป็นนักร้องที่หายไปจาก
ความทรงจำของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไปแล้ว ในขณะที่บางคนนั้นช่าง
บุญพาวาสนาส่งเสียเหลือเกิน อย่างที่โบราณว่าไว้”แข่งอะไรแข่งได้
แข่งบุญวาสนานั้น ไม่มีทาง” ผู้ชายที่เพื่อนสนิทเท่านั้นที่จะเรียกเขาว่า
”เข่ง” ในตอนนั้นเริ่มจะมีชื่อเสียงเมื่อเข้าวงการโดยการชักชวนของ
”พจน์ อานนท์” เริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่อง”สะแด่วแห้ว” จากนั้นไม่นาน
ทางอาร์เอสก็กวักมือเรียกให้เข้าไปทดสอบเสียงร้อง
เต๋า-สมชาย เข็มกลัด เดินทางมาเทสต์เสียงล่าช้าไปกว่า 2 ชั่วโมง !!!!!!!
ใช้เพลง”มาเพื่อลา”ของทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ในการทดสอบเสียงร้องคราวโน้น
หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ได้รับการเซ็นสัญญาเข้าสังกัดทันที และตามขั้นตอน
ของนักร้องหน้าใหม่ที่ต้องเข้าคลาสเรียนร้องเพลงก่อนจะเปิดตัวต่อหน้า
สาธารณชน อัลบั้มแรก”เต๋า หัวโจก”ใช้เวลาบันทึกเสียงถึง 2ปี ผลลัพธ์หลังจาก
มีเพลงดังคือ”บอดี้การ์ด”กับ”คนเก่ง”งานชุดแรกของเต๋า ที่เปิดตัวพร้อมแฟชั่น
เสื้อลายสก๊อตกับผ้าโพกหัว ปิดยอดขายได้กว่า 780,000 ชุด
อัลบั้มชุดที่สอง”สมชายจดปลายเท้า” ทำลายอาถรรพ์งานชุด2ของนักร้อง
ส่วนใหญ่ที่มักจะตกต่ำตรงข้ามกับงานชุดแรก แต่พี่เข่งหรือพี่เต๋าของเฮียฮ้อ
ทุบสถิติด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากอัลบั้มแรกถึงเท่าตัว ด้วยยอดขายถล่มทลาย
1,600,000 เทปยุคนั้นเฉลี่ยราคาม้วนละประมาณ 55-60บาท แปลว่าเต๋าทำเงิน
ให้อาร์เอสเฉพาะอัลบั้ม”สมชายจดปลายเท้า”เกือบร้อยล้านบาท !!!!!!!!
บอยสเก๊าท์ สามหนุ่มที่มีความฝันว่าอยากเป็นเหมือนวง”อินคา”ก็มี
เส้นทางการก้าวเข้าสู่อาชีพนักร้องเหมือนเต๋า คือเริ่มมีผลงานภาพยนตร์
มาก่อนในเรื่อง”อนึ่ง..คิดถึงพอสังเขป” อาจเป็นเพราะทั้งสามคนสนิทกันมา
ตั้งแต่เล่นหนังด้วยกัน เมื่อได้”ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล”มาวางคอนเซ็ปท์ให้ในอัลบั้ม
”ไว้ลายไม่ใช่เล่น”ประกอบกับทีมเวิร์คที่ดีของทั้งสามคนในการร้อง
เต้น คอนเสริิต์แรกที่ MBK HALL คนแน่นจนต้องร่นพื้นที่เวทีให้เล็กลง
และปรับที่นั่งเกือบทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นที่ยืนแทน เพื่อที่จะรองรับคนดู
ให้เพียงพอ บอยสเก๊าท์จากงานชุดแรกสร้างยอดขายถล่มทลาย
ก่อนจะค่อยๆเสื่อมความนิยมลงในเวลาต่อมาตามเส้นทางของบอยแบนด์
เกือบทุกวงบนโลกนี้ และยิ่งกู่ไม่กลับเมื่อสมาชิกบางคนมีปัญหาพัวพันยาเสพติด
ทำให้ภาพลักษณ์ย่ำแย่ตกต่ำ
ถ้าบอยสเก๊าท์ คือ วิธีการใช้ความสนิทสนมของเพื่อนกัน ให้เกิด
ทีมเวิร์คที่ดีสำหรับการร้องการแสดง แน่นอนว่ามันส่งผลต่อความลื่นไหล
ในการรับส่งมุก เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนๆ แต่ถ้าคนที่ถูกเรียกตัวมาทดสอบ
เสียงร้องเพื่อคัดเลือกทำผลงานเพลง ต่างคนต่างที่มา แล้วโจทย์ก็คือว่า
ทำอย่างไรก็ได้ให้สนิทกันมากที่สุดในระยะเวลาอันรวดเร็ว!!!!!!!!
เพราะคอนเซ็ปท์ที่วางไว้เป็นศิลปินคู่ นั่นจึงทำให้”ลิฟท์”(ชื่อเล่นเดิมจาก
บ้านที่ลำพูนชื่อ”โด่ง”) กับ”ออย”ชายหนุ่มจากราชบุรี ตัดสินใจเช่าบ้านอยู่
ด้วยกันกับเพื่อนๆอีก10คน(หนึ่งในนั้นมี”เจมส์-เรืองศักดิ์”) ทั้งสองเปิดตัว
ครั้งแรกในฐานะแขกรับเชิญงาน RS Meeting concert อัลบั้มแรก”ลิฟท์กะออย”
ทำยอดขายเกินล้านตลับ ทำให้ต้องเปลี่ยนปกใหม่เอาใจแฟนๆ ตามสไตล์อัลบั้ม
ขายดียุคนั้น ปกใหม่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า มีเพลงใหม่ 1 เพลง กับปกใหม่เท่านั้น
อัลบั้ม “Zoo-A-Ha” มีเพลงฮิตอย่าง”ดูมั๊ยดู”ท่าเต้นเพลงนี้ เป็นท่าที่ได้มาจาก
หนังเรื่อง Nutty Professor ที่แปลงมาจากท่าดีใจของEddy Murphy,”แอบมีเธอ”
ทั้งคู่ห่างหายจากการออกอัลบั้มไปสองปี เพราะออยถูกเกณฑ์ทหาร ส่วนอัลบั้ม
สุดท้ายของทั้งคู่ในปี2545 ชุด “เดอ-แต่-ทู” เป็นการออกอัลบั้มในขณะที่อาร์เอส
ไม่มีศิลปินต่อคิว เฮียฮ้อจึงเลยเรียกให้มาคั่นรายการ
เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ก่อนที่ทุกคนที่รู้จักผู้ชายคนนี้ที่เคย
พยายามเอาดีกับธุรกิจแฟรนไชส์ขายข้าวมันไก่(ตามชื่อเพลงฮิตของตัวเอง)
แล้วในที่สุดก็ปิดกิจการลง อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเคยเช่าบ้านรวมอยู่กับลิฟท์
กะออยและเพื่อนๆอีก10คน ก่อนหน้าที่จะดังเป็นพลุแตกจากการออกอัลบั้มเดี่ยว
เคยทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแดนเซอร์ให้คอนเสิร์ต”ลิฟท์กะออย” งานชุดแรกของ
เจมส์ประสบความสำเร็จแค่ระดับหนึ่ง ผลงานชุดที่สองต่างหากที่ทำให้เขาก้าวขึ้น
สู่ทำเนียบใกล้เคียงคำว่า”ซุปเปอร์สตาร์”ที่สุด เพลง”ไม่อาจเปลี่ยนใจ”กลายเป็น
เพลงยอดนิยมติดอันดับ1ทุกสถานีวิทยุทุกชาร์ตทั่วประเทศ แม้แต่พี่มนต์สิทธิ์
คำสร้อย ยังเคยนำไปร้องคัฟเวอร์เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนๆในงานวันเกิดคลื่นวิทยุ
รายการหนึ่งในยุคนั้น
ความจริงเพลงจากอัลบั้ม”ไซเรน เลิฟ”ที่ถูกเลือกไว้โปรโมท3เพลง คือ
ไซเรน เลิฟ,ด้วยไอรัก,และWelcome To The Underground เพลง
”ไม่อาจเปลี่ยนใจ”ไม่ได้อยู่ในโพยตั้งแต่แรก แต่จู่ๆก็เกิดกระแสที่จุดติด
ขึ้นมาตามรายการวิทยุที่ดีเจเล่นออกอากาศบ่อยๆ ทำให้อาร์เอสต้องลัด
คิวหยิบมาทำมิวสิควีดีโอแทนWelcome To The Underground แล้วทำ
มิวสิควีดีโอเพิ่มอีกหนึ่งเพลง คือ ข้าวมันไก่
ด้วยวัฒนธรรมแบ่งค่ายเล่นเพลงตามใบสั่ง คลื่นใครคลื่นมัน เอไทม์ไม่เล่น
เพลงจากอาร์เอสหรือเล่นก็น้อยจนแทบนับจำนวนได้ เช่นเดียวกับคลื่นวิทยุ
ในสังกัดอาร์เอสก็เล่นเพลงของแกรมมี่นิดเดียว แต่กระแส”ไม่อาจเปลี่ยนใจ”
แรงเสียจนมันข้ามห้วยไปจ่ออันดับสองในคลื่นHot Waveนานหลายสัปดาห์
ไม่ขึ้นอันดับ1เสียที จนเกิดข้อครหาจากสังคม ในที่สุดHot Waveก็ทนกระแส
ไม่ไหว ปล่อยให้”ไม่อาจเปลี่ยนใจ”ทะยานสู่อันดับ1
เป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์ !!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
เมื่อกระแสความดังของเจมส์จุดติด นอกจากรายได้จากการขายอัลบั้มที่มหาศาล
ปั๊มแผ่นซีดี อัดเสียงลงเทปกันแทบไม่ทัน คิวคอนเสิร์ตที่ได้รับการว่าจ้าง
ก็มีเข้ามาแน่นเอี้ยดดดดดเช่นกัน จนกระทั่งทุกอย่างต้องมาหยุดชะงักลง
ขณะกำลังเดินทางด้วยการบินไทยเที่ยวบินทีจี 261 เครื่องตกที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ระหว่างที่จะเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2541 นอกจากผู้คนจะตื่นเต้น
กับปาฎิหาริย์ที่ทำให้เจมส์รอดชีวิตครั้งนั้นแล้ว ยังชื่นชมกับวีรกรรมเล็กๆที่เขาพยายาม
ช่วยเหลือผู้โดยสารคนอื่นๆในขณะที่เครื่องบินลำนั้นเพิ่งเกิดอุบัติเหตุสดๆร้อนๆ
หลังจากเจมส์ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองในฐานะศิลปินเดี่ยว และผลงาน
ร่วมกับศิลปินร่วมค่ายในอัลบั้มพิเศษ ได้เล่นภาพยนตร์,ละคร เป็นพรีเซนเตอร์ฮานามิ
ตามสเต๊ปโอกาสที่ศิลปินมีชื่อเสียงจะได้รับในวงการบันเทิง เขายังเคยก้าวขึ้นมา
ทำหน้าที่ผู้บริหารค่ายเพลงชื่อ ID Record ในยุคที่RSผุดค่ายเพลงขึ้นมามากมาย
ราวดอกเห็ด Four-Mod(โฟร์มด)ในยุคแรกก็อยู่ในสังกัดย่อยแห่งนี้ ส่วนศิลปินอื่นๆ
ในช่วงที่ID Record ยังดำเนินกิจการอยู่ เช่น พดด้วง-สาวหมวยทรงผมหน้าม้า,
โจ-เดอะ เพียนิสต์ ศิลปินผู้พิการทางสายตา ที่เจมส์ดึงมาออกอัลบั้มเพลงบรรเลง
โดยนำเอางานเก่าๆในสังกัดอาร์เอสมาคัฟเวอร์ หลังจากที่ID Recordปิดตัวลง
เจมส์ย้ายไปอยู่แกรมมี่ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันดนตรีมีฟ้า
(ต่อจากมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร หรือนายสะอาด)
อัลบั้มเฉพาะกิจ
ในยุคที่แกรมมี่มีผลงานชุด”ซน”ซึ่งเป็นการหยิบงานในสังกัดตนเองมา
ให้ศิลปินในสังกัด(อีกนั่นแหล่ะ)ทำดนตรีและร้องใหม่ ชนิดที่ต่างคนต่างทำ
ภาพรวมดนตรีกระจัดกระจายไม่เป็นเอกภาพ อาร์เอสกลับทำได้ดีกว่าด้วย
คอนเซ็ปท์ที่คล้ายกัน แต่ทิศทางดนตรีที่เป็นเอกภาพมากกว่าด้วยอัลบั้ม
RS UNPLUGGED:ดนตรีนอกเวลา และนั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแตก
ไอเดียต่อยอดไปยังเพลงพิเศษที่ศิลปินในสังกัดทำเพลงคัฟเวอร์พิเศษบรรจุ
ไว้ในซีดีที่เฉพาะแฟนๆRS Star Clubเท่านั้นที่จะได้ครอบครอง
อัลบั้มเฉพาะกิจถัดจากRS UNPLUGGED ยังมีออกมาต่อเนื่องหลังจากนั้น
เช่น Super Teensเป็นอัลบั้มเฉพาะกิจซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของศิลปิน
วัยรุ่นชื่อดังในยุคนั้น ได้แก่ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, เต๋า สมชาย, หนุ่ม ศรราม,
เจมส์ เรืองศักดิ์, แซ้งค์ ปฏิวัติ, นุ๊ก สุทธิดา, ลิฟท์-ออย, แร็พเตอร์
และบอยสเก๊าท์ เป็นการนำเพลงเก่ามาคัฟเวอร์ และให้แต่ละศิลปินร้องร่วมกัน
มีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ 2 เพลงคือ ยิ้มไว้ (ไม่ต้องกั๊ก) และ กันและกัน
ออกจำหน่ายในปี 2539
The Next – การรวมตัวกันของ 2 ศิลปินเดี่ยว เจมส์ เรืองศักดิ์ และ
โดม ปกรณ์ ลัม กับ 3 ดูโอ แร็พเตอร์, ลิฟท์-ออย และเจอาร์ วอย
ออกจำหน่ายในช่วงปลายปี 2540 จุดเด่นของอัลบั้มนี้คอยู่ที่เป็นเพลงแต่ง
ใหม่ทั้งหมด และมีเพลงที่แต่ละศิลปินร่วมกันฟีเจอริ่งด้วย ถือว่าเป็นอัลบั้มที่
ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งด้านความนิยมและยอดขาย เพลง
Love of Generation Next ( ความพิเศษของเพลงนี้คือนำชื่อเพลงดังๆ
ของแต่ละศิลปินมาเรียงร้อยเป็นเพลงเดียวกัน)
The X-Venture -อัลบั้มภาคต่อคลุมโทนสีฟ้าเป็ปซี่ (ที่เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่)
ของ The Next เพราะมีรูปแบบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ศิลปินในอัลบั้มนี้
ได้แก่ เจมส์ เรืองศักดิ์, โดม ปกรณ์ ลัม, เจอาร์-วอย, โมเม นภัสสร,
เอิร์น-จิรววรรณ, ราฟฟี่-แนนซี่ ออกจำหน่ายในปี 2542
Mission 4 Project– การรวมตัวของศิลปินวัยรุ่น 4 คนที่ฮอตเป็นอันดับต้นๆ
ของ RS ในยุคนั้น เจมส์ เรืองศักดิ์, โดม ปกรณ์ ลัม, จอนนี่ อันวา และวอย
เกรียงไกร ความพิเศษสุดของอัลบั้มนี้ก็คือ ทั้ง 4 คนได้แสดงศักยภาพ
ในการเล่นดนตรีที่ถนัดด้วย ออกวางจำหน่ายในปี 2543 ว่ากันว่าช่วงนั้น
พี่เจมส์ต้องใส่ถุงมือทุกครั้งที่ตีกลองเพราะเกรงว่าเวลาแฟนเพลงขอจับ
มือแล้วมือจะสาก !!!!!!!!!!! แล้วตอนสับไก่ช่วงที่ทำแฟรนไชส์ขายข้าวมันไก่
แกใส่ถุงมือป่ะวะ อันนี้สงสัยส่วนตัว
Fire & Ice-ผลงานเฉพาะกิจของ 2 ศิลปิน : อู๋ ธรรพ์ณธร และโฟร์ท
นฤมล จิวังกูร เป็นคอนเซ็ปท์ที่จัดวางน้ำเสียงร้อนแรงของอู๋ วางคู่กับ
น้ำเสียงหวานๆของโฟร์ท คล้ายกับการรวมกันของไฟและน้ำแข็งอย่างชื่ออัลบั้ม)
ส่วนใหญ่เป็นเพลงคัฟเวอร์ เช่น ลืม-ต้นฉบับของเบิร์ดกะฮาร์ท, อีกนาน-ต้นฉบับ
ของพงษ์พัฒน์ ฯลฯ และยังมีเพลงน้ำตา ที่นำเอา”น้ำในตา”ของอิทธิ พลางกูร
มาเรียบเรียงเนื้อร้องรวมกับ”เปลืองน้ำตา”ของติ๊ก ชีโร่ อีกด้วย
ปี2544 อาร์เอสครบรอบ 20ปี มีอัลบั้มแซยิดฉลองความอยู่ยงคงกระพัน
อยู่หลายชุด ที่เด่นๆคือ
The Celebration – ศิลปินของค่ายรวมๆ แล้วก็น่าจะประมาณกว่า 30 คน
นำเพลงดังๆ ในรอบ 20 ปีตั้งแต่ยุคโรสซาวนด์อย่างคีรีบูน,บรั่นดี จนถึง
ปลายยุค90 มาคัฟเวอร์ใหม่ใน วางขายรูปแบบซีดีคู่ เพราะเพลงเยอะ 24 แทร็ค
ZODIAC– คล้ายๆกับอัลบั้ม12ราศีของวงตาวันเมื่อทศวรรษก่อนหน้านั้น
แต่ของวงตาวันอลังการงานสร้าง ภาษาที่ใช้ในเพลงมีความเป็นกวี อาร์เอส
ใช้ศิลปิน 12คน เป็นตัวแทนของแต่ละราศี ได้แก่ ดัง, เจอาร์, เด็บบี้และโจอี้ (บาซู)
, โกลดี้, , โฟร์ท, แหม่ม, วอย, เอิร์น, โมเม, ทัช และ หลุยส์ แต่ละคนจะขับร้องเพลง
ที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตน และมุมมองในเรื่องความรักของแต่ละราศี
ที่จริงยังมีศิลปินอีกมากมายที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงในบทความนี้
เพราะถ้าขืนหยิบยกมาเขียนถึงแล้วลงรายละเอียดเจาะลึกกันทุกเบอร์
มันจะไม่ใช่แค่บทความเท่านั้น จะกลายเป็นหนังสือรุ่นของอาร์เอสมากกว่า
ต้องออกตัวไว้ก่อนเพราะเกรงว่าคุณผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับนักร้องที่ไม่ได้เอ่ยถึง
จะคิดว่าผมทำตกหล่นหรือไม่ใส่ใจหยิบยกมาเขียน ผมยังจำอีกหลายศิลปินได้ เช่น
The Outsider (ดิ เอ๊าท์ไซเดอร์) หนุ่มนักเรียนนอกที่ออกผลงานเปิดตัวด้วยเพลง
”ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย”และต่อด้วย”ทิ้ง”ที่เดินเข้าชาร์ตเพลงอันดับสูงๆ
ตามสถานีวิทยุทั่วประเทศ
ดาราวัยรุ่นอีก2คนในยุคไล่เลี่ยกัน โชคชัย เจริญสุข ,แซงค์-ปฎิวัติ เรืองศรี
แซนด์แบงค์ (แบงค์คือพี่ชายของกอล์ฟ-ไมค์ ศิลปินแกรมมี่), ไจแอนท์ –
เจ้าของเพลงฮา”เจ็บนี้รสปูอัด” หนึ่งในสมาชิกก็คือฮาเวิร์ด ชายหนุ่มผู้อื้อฉาว
มีข่าวรักๆเลิกๆกับอดีตสาวแม็กซิมหน้าอกภูเขาไประเบิด,ดีทูบี-บอยแบนด์ที่มี
แฟนคลับล้นหลามจวบจนทุกวันนี้ แม้บิ๊กจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม คอนเสิร์ต
รียูเนี่ยนครั้งล่าสุดที่ใช้เทคโนโลยี4D เสกให้เหมือนมีบิ๊กมายืนร้องเพลงข้างๆ
แดนและบีมบนเวที ยังเป็นภาพประทับใจที่ทุกคนในคอนเสิร์ตวันนั้น
จำไม่รู้ลืม , ดัง-พันกร , ศรราม เทพพิทักษ์ ,เอิร์น จิรวรรณ ลูกสาวเจ้าของ
โรงแรมเอเซีย , บาซู ผู้ที่ทำให้วัยรุ่นไทยออกมาเต้นตับหลุด , อนัน อันวา
น้องชายจอนนี่แห่งวงRAPTOR ที่มาพร้อมเพลงตะลึง , กรพินธุ์ พ่วงโพธิ์
ปาน-ธนพร แวกประยูร ผู้หญิงที่แมนมาก เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวจะโดนค่ายใหญ่
คู่แข่งสำคัญของอาร์เอสมาทาบทามให้ย้ายค่าย แต่ปานยืดอกตอบคำถาม
นักข่าวตรงไปตรงมาว่าขอกตัญญูตอบแทนบุญคุณเฮียด้วยการอยู่ทำงาน
เพลงต่อไปกับอาร์เอส ปานเปิดตัวด้วยเพลง”ตบมือข้างเดียว”ช่วงต้นยุค2000
ก็สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้ทั่วทั้งเมือง เรื่องตลกหลังจากนั้นคือ เธอกลายเป็น
ภาพจำของผู้คนว่าเป็นกระบอกเสียงของบรรดาเมียหลวงผ่านเพลงที่ขับร้อง
ส่วนทางฝั่งแกรมมี่มีปนัดดา เรืองวุฒิ เป็นเจ้าของคาแรคเตอร์เมียน้อย
ที่คอยมีเพลงออกมาตอบโต้ประชันกัน ความสำเร็จของปานส่วนหนึ่งซึ่ง
ยกความดีความชอบให้ทีมงานที่กล้าแหวกทางโดยวิธีคิดต่าง
จับน้าแอ๊ด-คาราบาว มาทำอัลบั้มด้วยกัน ผลงานชุด”หนุ่มบาวสาวปาน”
กลายเป็นหลักไมล์เริ่มต้นที่ทำให้ปานขยายตลาดกลุ่มผู้ฟังเข้าสู่บรรดา
ผู้ชื่นชอบเพลงเพื่อชีวิต
ช่วงช้อปปิ้งศิลปินอินดี้เข้าสังกัด
ปลายยุค90วงการเพลงไทยเกิดปรากฎการณ์เพลงอัลเทอร์เนทีฟร๊อค
มากมายจากค่ายเพลงชื่อแปลกๆที่ผุดขึ้นมาราวกับเห็ดงอกงามหลังฝน
กระหน่ำห่าใหญ่ ศิลปินชื่อแปลกๆเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ส่วนใหญ่ทำงานกัน
แบบอิสระ หรือที่เรามักเรียกกันว่าเพลงอินดี้ อันที่จริงต้องทำความเข้าใจ
ก่อนว่า เพลงอินดี้บนโลกนี้มันไม่มี อินดี้เป็นสถานะ มิใช่แนวเพลง อินดี้
(Indie)ย่อมาจากIndependent แปลว่าอิสระ Independent Artist คือ
ศิลปินอิสระที่ผลิตผลงานเอง ดำเนินการจำหน่ายด้วยตนเอง ขนซีดีไป
โปรโมทแก่สื่อมวลชนต่างๆด้วยตนเอง สรุปก็คือเป็นค่ายเล็กๆที่ต้องทำ
เองทุกอย่าง เปรียบเสมือนธุรกิจSME แต่เนื่องด้วยความใหม่ของมันใน
ตอนนั้นคือค่ายก็ใหม่ ศิลปินก็หน้าใหม่ พรั่งพรูหลั่งไหลกันออกผลงานมา
ยึดแผงเทปราวกับทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ คนจำนวนมาก
จึงเรียกรวมๆว่าเพลงอินดี้
หลังจากที่พายุเพลงอินดี้ซัดสาดวงการเพลงไทยอยู่ระยะใหญ่ วัยรุ่นไทย
กระโดดกับเพลงอัลเตอร์จนตับไตไส้พุงเคลื่อนทิศผิดตำแหน่ง เมื่อผ่านเข้า
สู่วิกฤติเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัวปี2540 และถัดจากนั้นไม่นาน เหล่าศิลปิน
อินดี้จำนวนไม่น้อย พาเหรดกันเข้าสู่ค่ายใหญ่ แกรมมี่เองแม้จะมีโลโซ
ที่สร้างยอดขายจนทำให้เด็กโลโซกลายเป็นไฮโซ ,มีวงฟลาย ที่นอกจากจะดัง
จากตัวเพลงแล้ว บุคลิกนักร้องนำ”อี๊ด-วงฟลาย”ที่สามารถเป็นพรีเซนเตอร์ครีมนวด
ผมได้สบายๆ ก็กลายเป็นจุดขายที่หลายคนจดจำ ก็ดึงศิลปินหลายรายเข้าสังกัด
เช่น BLACKHEAD,K-9(อดีตวงJINX) ฯลฯ อาร์เอสเองก็เริ่มเซ็นสัญญากับศิลปิน
อินดี้หลายรายเช่นกัน เช่น อู๋-ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เริ่มต้นด้วยงานชุดแรก
คือ”คนธรรพ์ณธร”มีเพลงฮิต”หัวใจกระดาษ” ก่อนจะย้ายไปเซ็นสัญญาทำงานกับ
แกรมมี่ในอีกหลายปีถัดจากนั้น
ฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน ออกผลงานหลายชุดเช่นกันกับอาร์เอส มีเพลงฮิต
”หยุดตรงนี้ที่เธอ” ที่ถูกนำไปใช้ในงานแต่งงานบ่อยที่สุดเพลงหนึ่ง
จนล่าสุดเจ้าตัวเองถึงกับโดนเรียกตัวไปเป็นพยานในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่อาร์เอส
ฟ้องร้องเจ้าของงานแต่งที่จ้างฟอร์ดไปร้องเพลงนี้ เป็นเรื่องราวใหญ่โตที่สังคม
ตั้งคำถามว่า เจ้าของผลงานผู้ประพันธ์เพลง ทำไมไม่มีสิทธิ์นำมาใช้ ?
วงดนตรีละตินพ๊อพที่เคยสังกัดStone Entertainmentร่วมค่ายกับฟอร์ด
”ลำดวน”ก็ยังเคยโผล่มาออกอัลบั้มกับอาร์เอสเช่นกัน ,Nursery Sound ,
Student Ugly,บรรณ สุวรรณโณชิน (หนึ่งในสองคนที่เคยออกผลงานชื่อว่า มินท์กับแจ็ค)
ซึ่งตอนหลังออกมาทำค่ายเพลงเองชื่อ ใบชาซอง เน้นคุณภาพการบันทึกเสียงที่ดีที่สุด ฯลฯ
ยุคค่ายเยอะ
ช่วงกลางยุค2000 ก่อนอาร์เอสจะนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนไม่กี่ปี สภาวะค่ายเพลงยิบย่อยในชายคา
ที่เคยเกิดขึ้นกับแกรมมี่ก็มาเกิดกับอาร์เอสจนได้ บุคลากรดนตรีหลายคน
ที่แต่เดิมทำหน้าที่แค่ผลิตผลงานเพลงป้อนศิลปิน หลายคนเป็นผู้ที่ทำงาน
เบื้องหลังให้อาร์เอสมายาวนานตั้งแต่ยุคเสียงจากดอกกุหลาบ(Rose Sound),
บ้างก็เคยเป็นศิลปินในสังกัดมาก่อน ถูกชักชวนให้รับตำแหน่งผู้บริหารค่ายเพลง
เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำแหน่ง แน่นอนดั่งที่ในภาพยนตร์เรื่องSpiderManกล่าวไว้ว่า
“อำนาจย่อมมพร้อมความรับผิดชอบ” ปกติที่เคยชินแต่กับการทำงานของ
หัวสมองฝั่งขวา เมื่อต้องมารับบทใหม่เรื่องเงินๆทองๆเพิ่มขึ้น สมองฝั่งซ้าย
ที่ต้องบวกลบกำไรขาดทุนจึงถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักตามภาวะการแข่งขัน
ที่รุนแรงในยุคที่เทปผีซีดีเถื่อนกำลังระบาด แม้ว่าก่อนหน้านั้นรัฐบาลจะขอร้อง
แกมบังคับให้ลดราคาซีดีลงจากแผ่นละ299บาท เหลือ149บาทแล้วก็ตาม
การผลักดันตัวเลขยอดขายให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจยังเป็นงานที่หืด
ขึ้นคออย่างแท้จริง ประกอบกับสื่อที่มีอยู่ในมือของอาร์เอสก็มีอยู่อย่างจำกัด
กลับกลายเป็นว่าทุกค่ายเพลงในชายคาต้องแย่งชิงพื้นที่สื่อกันเอง
เพื่อนำเสนอผลงานให้ปรากฎแก่สาธารณชนมากที่สุด จากปกติที่อัลบั้มหนึ่ง
ชุดจะถูกนำเสนอบ่อยครั้ง และระยะเวลายาวนาน กลับกลายเป็นการปรากฎตัว
ทางสื่อที่นับได้น้อยครั้งและแต่ละครั้งก็ใช้เวลาไม่นาน ประกอบกับหลายค่ายมี
ความทับซ้อนในกลุ่มเป้าหมายกันเอง บุคลิกของศิลปินที่ไม่ชัดเจน ยิ่งทำให้
ยอดขายดิ่งต่ำลง ต่อไปนี้คือค่ายย่อยในเครืออาร์เอสก่อนพาบริษัทเข้า
ตลาดหลักทรัพย์ และบรรดาดีเจในยุคนั้นได้รับแผ่นโปรโมทจากอาร์เอส
กับแทบทุกวันเลยทีเดียว
- Monster Music บริหารโดย พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร (และตอนหลังเปลี่ยนเป็น
เจษฎา หันช่อ ก่อนจะปิดค่ายไป)มีผลงานของศิลปิน เช่น Hyper,
หวิว, ธรรพ์ณธร, โฟร์ท, Sound Walker, Signature, The Sis
(อัลบั้ม ไตร ปาก สมอง หัวใจ) , Pink, เก่ง จักรพงษ์, ณัฐ, มิ้น สวรรยา
แก้วมีชัย (อัลบั้มแรก), ฝน วิฬุรกานต์, วงพริกไทย ฯลฯ - Real & Sure ทำแต่เพลงร๊อคล้วนๆ บริหารค่ายเพลงนี้โดย
พี่โป่ง-ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ แห่งวงหิน เหล็ก ไฟ มีผลงานเช่น
วง Snail, SMF ,Motif ,Outro ,Quake ฯลฯ - SLY ได้อดีตสมาชิกวงปลื้มมาดูแล มีศิลปินไม่ค่อยมาก เช่น Boost
(คนนี้เคยออกอัลบั้มกับCrunch Recordในเครือเบเกอรี่ มิวสิค ), A nature - Bugtown Records บริหารโดย อุ๋น ธีระศักดิ์ วดีศิริศักดิ์
(อดีตสมาชิกวงเรนโบว์) ศิลปินที่ออกอัลบั้ม เช่น นิ้ง, แอน มาแนง,
แหม่ม พัชริดา (อัลบั้ม คนของความเหงา) The Sis (อัลบั้ม 1 และ 2),
วงปลื้ม, แจ็ค มงคล ธรรมดี, The City Chorus ฯลฯ และ
อัลบั้มพิเศษเช่นอัลบั้ม World - Genome Records ควบคุมโดย ปอนด์-ธนา ลวสุต ที่ตอนนั้นย้าย
มาจากแกรมมี่ ศิลปินที่ออกผลงานในนามของค่ายนี้ เช่น เม, ลีเดีย ,
Cinderella, นาธาน โอร์มาน(อัลบั้มแรก), โจ้ ธณรัฐ, ศร, Jiwa
- ID Records ที่มีเจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ นั่งทำหน้าที่ผู้บริหาร ศิลปินเช่น
โฟร์มด, พดด้วง, มะตูม, ไข่เดือน, โจ้ The Pianist, เจมส์(อัลบั้ม Alive และ
แซ่บ Story), เอ๊ะ ศศิกานต์ (อัลบั้มสอง), Balck Vanilla ฯลฯ - A-HA บริหารโดย ระวี กังสนารักษ์ ซึ่งเคยเป็นคนทำเพลงเบื้องหลัง
ให้คีตามาก่อน ก่อนจะย้ายมาอาร์เอส ศิลปินที่มีผลงาน เช่น
เอ๊ะ ศศิกานต์(อัลบั้มแรก), เอลีนเบส, อาร์ม - บ้านโรงบ่ม ทำหน้าที่ดูแลโดย ณธนา หลงบางพลี ม นายครรชิต
กับทิดแหลม , Zig Zag , Brothers - ARTE Music(อาร์เต้ มิวสิค) บริหารโดย โอ๋ ลำดวน ศิลปินเช่น
วงลำดวน, วงบาลามี, ปาท่องโก๋ - Melodiga บริหารโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือพี่ชมพู แห่งวงฟรุ๊ตตี้
ที่ตอนหลังย้ายออกไปอยู่กับโซนี่มิวสิค ล่าสุดแกก็ไม่ได้ทำงานกับ
โซนี่แล้ว ศิลปินเช่น ดัง พันกร, ไอน้ำ, Girly Berry, Subtention ,
I-Babie, All For Men Project, มิ้น สวรรยา (อัลบั้มสอง) - Aborigines บริหารโดย อนุชา อรรจนาวัฒน์ ศิลปินเช่น ดีทูบี, แดนบีม,
ปาน ธนพร, โฟร์ท (อัลบั้ม Real Me), ปุ้ย ผู้หญิงดินๆ, แนนซี่(ราฟฟี่แนนซี่),
เกียร์ไนท์, สกูบ้า, B-Mix, Dance Army, อั้ม อิราวัติ, แซนดร้า แมฟโร่ - Vamm บริหารโดย Vitamin A ศิลปินเช่น B-King ,
Amary (อัลบั้มแรก), ไวตามินเอ - Big Blue Records ศิลปินเช่น วงคิว, วงเล้าโลม (อัลบั้มสอง),
แอมมารี่ (อัลบั้มสอง), แหม่ม-พัชริดาวัฒนาและเธอผู้อื้อฉาวกับ
คิ้วมหัศจรรย์ที่เขียนให้โค้งยาวไปถึงท้ายทอย นาธาน โอมาน - R-tistic มีผลงานอัลบั้มเดียวคือ Centerpoint อัลบั้มรวมเพลง
จากบรรดาศิลปินอิสระมากมายที่ทำกันมาใส่ไว้ในอัลบั้มชุดนี้ เช่น LIPTA
ปัจจุบันธุรกิจเพลงของอาร์เอสในนามของ RS MUSIC มีทั้งเพลงไทยสากล
และเพลงไทยลูกทุ่ง มีค่ายเพลงทั้งสิ้น 5 ค่ายเพลง ได้แก่ Yes Music ,
KAMIKAZE ,Garden Music , Cho Music และ R-SIAM ค่ายเพลงลูกทุ่ง
ที่ทำรายได้มากที่สุดในกลุ่มRS MUSIC
หลังจากที่อาร์เอสจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรพย์เป็นบริษัทมหาชนเรียบร้อย
หน่วยธุรกิจเพลงประเภทที่จับต้องได้อย่างซีดีที่เคยเป็นส่วนสร้างรายได้หลัก
เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดแก่ธุรกิจเพลงดิจิตอลมากขึ้นเรื่อย
แผนธุรกิจของอาร์เอสจึงมีการปรับทัพครั้งใหญ่โดยมีธุรกิจอื่นๆตามมาอยู่ในพอร์ต
เช่น RS InStore Media-ผลิตรายการวิทยุออกอากาศเฉพาะในห้างค้าปลีก
เช่น เทสโก้-โลตัส , บิ๊กซี ฯลฯ ,RS SPORT-ธุรกิจกีฬา ที่มีสนามฟุตบอล
ให้เช่าย่านบางนา ซึ่งต่อมาโมเดลธุรกิจนี้ถูกนำมาต่อยอดด้วยการซื้อลิขสิทธิ์
ทัวร์นาเม้นท์การแข่งขันกีฬาต่างๆมาออกอากาศ เช่น ศึกฟุตบอลชิงแชมป์
แห่งชาติยุโรป ,RS Broadcast & Television ธุรกิจทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ฯลฯ
RS DIGITAL CONTENT
เมื่อธุรกิจดนตรีเดินทางมาถึงยุคที่ชาวโลกไร้พรหมแดนด้วยการ
เชื่อมต่อกันทางอินเตอร์เน็ตที่มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน
โทรศัพท์มือถือที่เคยใช้งานกันเฉพาะแวดวงนักธุรกิจ ก็ขยายความนิยมเข้าสู่ผู้คน
ทั่วไปในวงกว้าง โนเกีย3210,3310 คือตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนกับยอดขาย
ถล่มทลายในบ้านเรา อย่างไรก็ตามในยุคนั้นยังมีโทรศัพท์เคลื่อนที่
เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่สามารถดาวน์โหลดริงโทนได้ สัดส่วนความนิยมทางฝั่งซีดี
และเทปคาสเส็ทท์ยังคงเหนือกว่าการดาวน์โหลดด้วยส่วนแบ่งตลาด
ที่มากกว่าอย่างชัดเจน
ราวปลายยุค90 แกรมมี่เริ่มมีการทำเว็บไซต์พอร์ทัลที่ชื่อ eotoday.com
(อี-โอ-ทู-เด-ดอท-คอม)มีเนื้อหาที่ผู้แวะเข้าไปเยี่ยมชมเสพสื่อราวกับได้นั่งอ่าน
นิตยสารสักเล่ม มีเรื่องราวของเพลงในสังกัดบรรจุให้อ่านกันจุใจบนความเร็วของ
อินเตอร์เน็ตในยุคนั้นที่วิ่งมาถึงปลายทางแต่ละบ้านยังสโลว์ไลฟ์ จุดเริ่มต้นของ
อาร์เอสที่ขยับตัวเข้าสู่โหมดค้าขายเพลงในโลกดิจิตอลเริ่มต้นราวปี 2001 โดยมี
คุณวรพจน์ นิ่มวิจิตร อดีตผู้บริหารค่ายเพลง เช่น เบเกอรี่ มิวสิค,อีเอ็มไอ และ
ก่อนที่จะมาร่วมงานกับอาร์เอส ก็ริเริ่มธุรกิจดาวน์โหลดริงโทนอยู่แล้วกับ
บริษัทWarner Chappell บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์เครือวอร์เนอร์ ( และเคยทำ
หน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดจำหน่ายโปรเจคท์อัลบั้มชุด ECLEXTIC SUNTRAPORN
-อีเคล็กติก สุนทราภรณ์ นำเพลงสุนทราภรณ์มาใส่ดนตรีสมัยใหม่ โดย
ดีเจซี๊ด-นรเศรษฐ์ หมัดคง บรรณาธิการนิตยสารGENERATION
TERRORIST และ ไบรอัน ยมจินดา อดีตสมาชิกวงบี-ไซด์ )
คุณวรพจน์เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจเพลงดิจิตอลในนามแผนกอินเตอร์เน็ตกับ
อาร์เอสเมื่อปี2001 ด้วยทีมงานที่มากถึง 4 คน!!!!!! ในขณะที่ฝั่งแกรมมี่
ตอนนั้นกับการปลุกปั้นอี-โอ-ทู-เดย์-ดอท-คอม มีทีมทำงานกว่า 150 ชีวิต
กองบรรณาธิการนิตยสารรายปักษ์หนึ่งหัวเลยทีเดียว
RS DIGITAL MUSIC ในระยะแรกเริ่มต้นด้วยการจับมือกับพันธมิตรทาง
ธุรกิจที่เป็นเว็บไซต์ชื่อดัง เช่น Sanook , Siam2You หลังที่ลงสนามแข่งขัน
ในธุรกิจเพลงดิจิตอลได้ระยะใหญ่ ก็มีความสามารถในการทำริงโทนเอง
ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทผู้เชี่ยวชาญเช่นก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับเป็นช่วงเวลา
ที่ตลาดผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตจากจำนวนผู้ใช้ในหลัก5ล้านคน
เป็น10ล้านคน ธุรกิจดาวน์โหลดเพลงจึงโตตามไปด้วยในฐานะธุรกิจข้าง
เคียงที่ผู้บริโภคพึงพอใจกับบริการเสริม ทั้งริงโทน เสียงรอสาย ปัจจุบัน
ธุรกิจเพลงดิจิตอลของอาร์เอสไม่ได้ขายเฉพาะเพลงเท่านั้น แต่ได้ขยาย
ครอบคลุมไปเป็นคำจำกัดความที่เรียกว่า RS DIGITAL เป็นผู้ผลิตและ
ให้บริการดิจิตอลคอนเทนต์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- Mobile Content ให้บริการดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์
ภาพหน้าจอบนโทรศัพท์มือถือ ผ่านทางเว็บไซต์และบริการ
Mobile Subscriber รายเดือน ผ่านทาง “Super เหมา *339” - Online Content ธุรกิจเว็บไซต์ออนไลน์ และการดาวน์โหลด
ออนไลน์คอนเทนต์ ผ่านทางเว็บไซต์ rsonlinemusic.com
เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน ธุรกิจเพลงมีช่องทางใหม่
ที่เจาะเข้าไปเอาใจผู้ใช้งานด้วยบริการDigital Music Streaming เช่น
Deezer, KK Box ,Tidal, APPLE Music อาร์เอสจับมือกับLINE MUSIC
ส่งคอนเทนต์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทางเลือกที่หลากหลายบนช่องทาง
ของแอพลิเคชั่นแชทชื่อดังซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกบนโลกที่ประเทศไทย
การที่อาร์เอสหรือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ หรือแม้แต่ค่ายเพลงอื่นๆ ไม่สามารถ
สร้างบริการดิจิตอล มิวสิค สตรีมมิ่ง ขึ้นมาเองได้ ก็เพราะบริการดังกล่าว
ถ้าพูดให้เห็นภาพ เปรียบได้กับรายการวิทยุรายการหนึ่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้
เลยที่จะเล่นเฉพาะเพลงในสังกัดตนเอง ความซ้ำซากจำเจจะเกิด
ผู้บริโภคคงไม่ให้ความสนใจ ยุคนี้มีช่องทางล้านแปดสำหรับเสพดนตรี
ที่เลือกได้ วิธีผูกขาดราวกับถอยหลังลงคลองสู่สมัยที่ที่รายการวิทยุยุค
80-90ที่เล่นเพลงค่ายใครค่ายมัน เอไทม์เล่นแต่เพลงแกรมมี่ คลื่นแซด
เล่นเฉพาะเพลงอาร์เอส ล้าสมัยเชยตกยุค การหันไปจับมือเป็นพันธมิตร
ทางธุรกิจกับLINE MUSIC จึงเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด คือทำหน้าที่
เป็นเพียงผู้ป้อนคอนเท้นต์แก่ผู้ให้บริการที่แข็งแรง เชี่ยวชาญ มีความพร้อมกว่า
นั่นก็คือเรื่องราวทั้งหมดของอาร์เอสในแบบฉบับที่ผมอยากเขียน
เน้นหนักไปในช่วงเวลาที่เพลงยังเป็นธุรกิจหลัก ร่ายยาวมาให้อ่านกันตาแฉะ
มีเรื่องที่อยากจะถามคุณๆทุกคนหนึ่งข้อ และอยากจะขอให้ตอบตามจริงนะครับ
อย่าโกหกตัวเอง
คุณผู้อ่านหลายคน(รวมถึงผมด้วย) น่าจะเคยมองเพลงอาร์เอสด้วยสายตา
ดูถูกเหยียดหยามว่า เสี่ยวบ้าง ห่วยบ้าง เพลงบ้านนอกบ้าง เพลงเห่ยบ้าง
ใช่ไหมครับ? แต่เชื่อหรือไม่ ไอ้เพลงที่เรามักด่าว่าเสี่ยว ว่าห่วย
เราร้องกันได้ทุกเพลง!!! ไม่เชื่อลองร้องตามประโยคสั้นๆเหล่านี้ดู
“…..แค่แอบมีเธออยู่ในใจ…ก็พอ……”
“…..เจ็บนี้…รสปูอัด……เหมือนโดนอัด…..”
“….ยอม..ยอมเป็นข้าวมันไก่…….”
“….เธอทำให้ฉันตะลึง…..ตะลึง…ตึ๊ง ตึ๊ง ตึง ตึ่ง ตะดึง ตึง ตึง…….”
ลองทายสิครับว่าเพลงพวกนี้ คือ เพลงของใคร ชื่อเพลงอะไร ผมว่าคุณต้อง
ร้องตามได้และทายชื่อถูกทุกเพลง
MUSIC GETS THE BEST OF ME
ขอขอบคุณ :
-พี่กุ้ง ชาญยุทธ เกรียงไกร นักสะสมแผ่นเสียง เทป ซีดี อดีตฝ่ายมีเดีย-รีเลชั่นชิพ เบเกอรี่มิวสิค ปัจจุบัน-สไปซี่ ดิสก์
-พี่นักข์-เชษฐรัชต์ บุญญะสุต และทีมงาน พนักงานอาวุโสฝ่ายผลิต-ธุรกิจเพลง บจ.อาร์เอส(มหาชน)
-ดีเจกบ-วิศาล ลิ่มดิลกวณิช / City Radio Pattaya
-เพจ : คนก็เก่า เพลงก็แก่
-พี่พจน์ วรพจน์ นิ่มวิจิตร แห่งBandOnRadio อดีตผู้บริหารสายงานดิจิตอล บจ.อาร์เอส(มหาชน)
-นิตยสาร A Day :ฉบับ Super teen
Mayt Taechachaiwong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
26 กรกฏาคม 2558
Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
26th July ,2015