เมื่อพูดถึง Mitsubishi Motors ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นซึ่งทำตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1961 และเป็นรถยนต์ที่ชื่อคุ้นหูมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง ก็มีรถหลากหลายรูปแบบที่ชวนให้คนไทยจะนึกถึงกัน

ตัวอย่างเช่น Mitsubishi Pajero Sport อันเป็นชื่อที่ที่ต่อยอดตำนานมาจาก Pajero ซึ่งเป็นรถ SUV ขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีความสมบุกสมบัน หรือ Mitsubishi Triton ที่เป็นรถกระบะ อันเป็นตลาดที่ Mitsubishi ให้ความสำคัญมาเป็นเวลานาน และ Mitsubishi Mirage และ Attrage ซึ่งเป็นรถ Eco Car ที่แม้จะอายุตลาดมาก แต่ก็ยังทำยอดขายได้ดีในปัจจุบัน

ในอดีตนั้น Mitsubishi มีรถยนต์อีกหลากหลายรูปแบบที่แม้ในปัจจุบันจะเลิกทำตลาดไปแล้ว แต่ก็ยังคงตราตรึงใจผู้คนอยู่ เช่น Mitsubishi Lancer ซึ่งเป็นรถ C-Segment ที่มีรุ่นพิเศษ Lancer Evolution อันเป็นรุ่นที่ถูกตกแต่งสำหรับการแข่งขันทางฝุ่นโดยเฉพาะ และ Mitsubishi Galant ซึ่งเป็นรถ D-Segment ที่แม้ว่าจะหายจากตลาดไปนานกว่า 20 ปี แต่ก็ยังมีแฟนคลับที่นิยมชมชอบประสิทธิภาพและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในตลาดที่ Mitsubishi Motors เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม และเจาะกลุ่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือตลาดรถยนต์  MPV รถครอบครัวซึ่งมีความอเนกประสงค์จากตัวถังที่มีลักษณะเหมือนกล่อง ติดตั้งอยู่บนล้อทั้ง 4 จึงทำให้ Footprint ของรถที่แม้จะมีจำกัด ก็ยังสามารถให้ประโยชน์ใช้สอยได้อย่างเต็มที่

ในประเทศไทยเอง รถ MPV จาก Mitsubishi นั้น ก็เคยถูกนำเข้ามาจำหน่ายอยู่ด้วยกัน รวมแล้วทั้งสิ้น 4 รุ่น ซึ่งวันนี้เราจะมานำเสนอข้อมูลกันให้อ่านแบบคร่าว ๆ ซึ่งรถทั้ง 4 รุ่นนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายทุกรุ่น แต่กลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบในความอเนกประสงค์ ซึ่งผสานความไว้วางใจได้ในเครื่องยนต์กลไกของรถ Mitsubishi ก็มีความเหนียวแน่นอยู่มาก จนทำให้แม้ว่าบางรุ่นอายุอานามจะเกิน 30 ปี เข้าไปแล้ว แต่ก็ยังคงพบเห็นตามท้องถนนทั้งในเมืองหลวง และจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย


Mitsubishi Chariot / Space Wagon

เปิดตัวในญี่ปุ่น 23 พฤษภาคม 1991

เปิดตัวในไทย 30 สิงหาคม 1992

Mitsubishi Chariot เป็นชื่อของรถ MPV 7 ที่นั่ง รุ่นแรกของ Mitsubishi ซึ่งถูกเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1983 โดยมันเป็นการผสานเอาพื้นฐานของรถ C-Segment รุ่น Colt เข้ากับตัวถังที่มีลักษณะทรงกล่อง จนทำให้พื้นที่ภายในห้องโดยสารนั้นกว้างขวางและปลอดโปร่ง แม้ว่ามิติตัวถังจะไม่ได้ใหญ่ไปกว่ารถ C-Segment ปกติ

Mitsubishi Chariot นับได้ว่าเป็นหนึ่งในรถ MPV รุ่นแรก ๆ ของโลกที่มีการทำตลาดอย่างจริงจัง เปิดตัวตามหลัง Nissan Prairie ที่อาจนับได้ว่าเป็นรุ่นแรกสุด และเปิดก่อนหน้า Renault Espace และรถ Minivan ของ Chrysler อยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ปี

Mitsubishi Chariot เจเนอเรชั่นแรก ทำตลาดมาจนถึงการเปิดตัวรถเจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นในกลางปี 1991 โดยรถรุ่นนี้มีการขยับขยายตัวถังให้กว้าง ยาว และสูงมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีความกะทัดรัด ไม่ต่างจาก Mitsubishi Lancer ที่ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานเสียเท่าไหร่

ในประเทศไทย Chariot เจเนอเรชั่นที่ 2 ถูกนำเข้ามาเปิดตัวในวันที่ 30 สิงหาคม 1992 โดยได้รับอานิสงค์จากการลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นการนำเข้ามาทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น และจำหน่ายด้วยชื่อที่ใช้ตามตลาดนอกญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียและยุโรปว่า Mitsubishi Space Wagon

Space Wagon ในไทย มิติตัวถังอยู่ที่ ความยาว 4,585 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,585 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,720 มิลลิเมตร

Mitsubishi Space Wagon ในไทย มีเครื่องยนต์เพียงแบบเดียว ใช้เครื่องยนต์ชนิด 4G63 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,997 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 85.0 x 88.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด Multi-point Fuel Injection กำลังสูงสุด 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 181 นิวตันเมตร (18.5 กก.-ม) ที่ 4,750 รอบ/นาที โดยจับคู่กับระบบเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

Mitsubishi Space Wagon ทำตลาดมาจนถึงปี 1997 แต่เมื่อรถ Mitsubishi Chariot เจเนอเรชั่นที่ 3 เปิดตัวไปในตลาดญี่ปุ่น ทาง Mitsubishi Motors (Thailand) ก็ตัดสินใจไม่นำเข้ารถรุ่นนี้มาจำหน่ายต่อ เนื่องจากเป็นสภาวะหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย จึงทำให้บริษัทต้องมุ่งเน้นไปที่การจำหน่ายรถยนต์รุ่นอื่นที่มียอดขายดีกว่า

นอกเหนือจาก Mitsubishi “Chariot” Space Wagon ที่คนส่วนมากจะรู้จักกันดีแล้ว ทาง MMC สิทธิผล ยังเคยนำเข้ารุ่นเวอร์ชั่นหลังคาสูง ประตูสไลด์มาจำหน่ายด้วย โดยรถรุ่นนี้ในตลาดญี่ปุ่นใช้ชื่อว่า Mitsubishi RVR ส่วนในไทย ใช้ชื่อว่า Mitsubishi Space Runner เหมือนกับตลาดเอเชีย และยุโรปแห่งอื่น แต่รถรุ่นนี้หาได้ยากกว่า Space Wagon อยู่พอสมควร

นอกจากนี้ ในตลาดญี่ปุ่น ยังมีการผลิต Mitsubishi Chariot Resort Runner GT ซึ่งอธิบายได้สั้น ๆ ว่า เป็นการนำเอา Mitsubishi Chariot ไปติดตั้งเครื่องยนต์ 4G63T เวอร์ชั่น 230 แรงม้า และระบบส่งกำลังแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ All Wheel Drive ที่ประจำการอยู่ใน Mitsubishi Galant VR-4 และภายหลังถูกนำไปปรับปรุงต่อเป็นเครื่องยนต์ของ Mitsubishi Lancer Evolution I มาติดตั้งเขาไปให้กลายเป็นรถครอบครัวประสิทธิภาพสูง ซึ่งในประเทศไทย ก็มีคนที่นำขุมพลังนี้มาประกอบร่างเข้ากับ Space Wagon อยู่เช่นกันครับ


Mitsubishi Grandis / Space Wagon

เปิดตัวในญี่ปุ่น 14 พฤษภาคม 2003

เปิดตัวในไทย 22 ตุลาคม 2004

หลังจากที่ Mitsubishi Chariot เจเนอเรชั่นที่ 2 หรือ Space Wagon ที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในไทยครั้งแรก ถูกเลิกทำตลาดไปในปลายปี 1997 ก็ถูกแทนที่ด้วย Chariot Grandis อันนับได้ว่าเป็น Chariot เจเนอเรชั่นที่ 3 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า

ถัดมา Mitsubishi Chariot Grandis ก็ถูกแทนที่ด้วย Mitsubishi Grandis ในกลางปี 2003 ตัดชื่อ Chariot ออกไป เหลือไว้แค่ชื่อ Grandis ที่ถูกใช้กับเกือบทุกตลาดทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย Mitsubishi Grandis ถูกนำเข้ามาจำหน่ายด้วยการนำเข้ามาประกอบในประเทศ เปิดตัวไปในปลายปี 2004 และทำตลาดด้วยชื่อ Mitsubishi Space Wagon อันเป็นชื่อของรถ MPV รุ่นเดิมที่ติดหูคนไทยไปแล้ว อีกทั้งชื่อ Grandis ก็ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อรุ่นย่อยของกระบะ Mitsubishi L200 Strada ในไทยไปก่อนหน้านี้

Mitsubishi Space Wagon รุ่นใหม่นี้ มีการขยับขยายขนาดตัวถังจากรถรุ่นเดิม จนไปใกล้เคียงกับรถ D-Segment เสียมากกว่ารถรุ่นก่อนที่มีขนาดใกล้เคียงกับรถ C-Segment

นั่นทำให้ Mitsubishi Space Wagon แม้จะออกมาในเวลาไล่เลี่ยกับ Toyota Wish และ Honda Stream แต่ไม่อาจนับว่าเป็นคู่แข่งกันโดยตรงได้ เพราะขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่านั่นเอง

มิติตัวถังของ Mitsubishi Space Wagon รุ่นที่ 2 ความยาว 4,755 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,795 มิลลิเมตร ความสูง 1,655 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,830 มิลลิเมตร

Mitsubishi Grandis ในทุกตลาด มีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว นั่นรวมไปถึงเมื่อมันมาจำหน่ายในชื่อ Space Wagon ในประเทศไทยด้วย เป็นชนิด 4G69 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.4 ลิตร 2,387 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 87.0 x 100.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.5 : 1 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด Multi-point Fuel Injection พร้อมระบบวาล์วแปรผัน MIVEC กำลังสูงสุด 165 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 217 นิวตันเมตร (22.1 กก.-ม) ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า สำหรับเวอร์ชั่นญี่ปุ่น มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือกด้วย

ในช่วงปลายปี 2007 ในงาน Thailand International Motor Expo ได้มีการเปิดตัว Space Wagon รุ่นปรับปรุงโฉม Minorchange ปรับหน้าตาใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น

Mitsubishi Space Wagon รุ่นที่ 2 ทำตลาดในประเทศไทยจนถึงปลายปี 2011 พร้อม ๆ กับ Grandis ในตลาดยุโรป หลังจากที่ Grandis ถูกเลิกทำตลาดในญี่ปุ่นกันไปตั้งแต่ต้นปี 2009


Mitsubishi Delica D:5 / Delica Space Wagon

เปิดตัวในญี่ปุ่น 12 มกราคม 2007

เปิดตัวในไทย 24 มีนาคม 2015

เมื่อครั้ง Mitsubishi Delica Space Wagon ถูกนำเข้ามาจัดแสดง ณ งาน Bangkok International Motor Show ปี 2015 หลายคนก็ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปลักษณ์ตัวถังของมัน ซึ่งมีความโดดเด่นจากเหลี่ยมสันทั้งคัน ราวกับว่ามันถูกออกแบบโดยใช้เพียงแค่ไม้บรรทัด ซึ่งทำให้เส้นสายนั้นคมจนแทบจะบาดมือ และด้วยพื้นที่กระจกที่มีความกว้าง จึงทำให้มันคล้ายกับตู้ปลาอยู่พอสมควร

Mitsubishi Delica Space Wagon หรือชื่อในตลาดบ้านเกิดคือ Mitsubishi Delica D:5 แท้จริงแล้วถูกเปิดตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2007 และใช้พื้นฐาน GS Platform ร่วมกับทั้ง Mitsubishi Lancer EX และ Mitsubishi Outlander PHEV ซึ่งรวมไปถึงเครื่องยนต์เบนซินตระกูล 4B (DOHC) และ 4J (SOHC) สหกรณ์ประจำค่าย

นอกจากนั้น แท้จริงแล้วคนไทยก็เคยได้สัมผัสกับ Mitsubishi Delica กันมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว เพราะมันเป็นชื่อของรถตู้สไตล์ One Box Cabover (หน้ารถเรียบ เครื่องยนต์วางใต้คนขับ) ประจำค่ายที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1968 ถ้าหากบอกว่า มันคืออีกชื่อหนึ่งของรถตู้ Mitsubishi L300 หลายคนก็อาจจะร้องอ๋อขึ้นมาเลยทันที

Mitsubishi Delica มีการผลิตขึ้นมาทั้งสิ้น 5 เจเนอเรชั่น โดยในเจเนอเรชั่นที่ 4 ได้มีการขยับไปใช้พื้นฐานแบบ Monocoque แทน และในเจเนอเรชั่นที่ 5 ได้ปรับไปใช้พื้นฐานเป็นแบบขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งก็คือรุ่นที่ถูกนำมาขายในประเทศไทยด้วยชื่อ Mitsubishi Delica Space Wagon

Mitsubishi Delica Space Wagon เป็นรถที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคัน เช่นเดียวกับ Mitsubishi Space Wagon ในยุค 1990

มิติตัวถังของ Mitsubishi Delica Space Wagon ความยาว 4,730 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,795 มิลลิเมตร ความสูง 1,850 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร

Mitsubishi Delica Space Wagon ใช้เครื่องยนต์ชนิด 4J11 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด Multi-point Fuel Injection พร้อมระบบวาล์วแปรผัน MIVEC กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 191 นิวตันเมตร (19.4 กก.-ม) ที่ 4,200 รอบ/นาที โดยจับคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT INVECS-II ขับเคลื่อนล้อหน้า

Mitsubishi Delica Space Wagon ถ้าหากเป็นเวอร์ชั่นตลาดญี่ปุ่นที่ชื่อ Delica D:5 จะมีเวอร์ชั่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นทางเลือก และเครื่องยนต์ 4B11 และ 4B12 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น Double Overhead Camshaft และตัวเลือกเครื่องยนต์ดีเซล 4N14 Clean Diesel ซึ่งก็คือเครื่องยนต์ตระกูลเดียวกับของกระบะ Mitsubishi Triton ที่หดช่วงชักลงมานิดหน่อย และหันขวางเพื่อติดตั้งกับพื้นฐานรถขับเคลื่อนล้อหน้า

Mitsubishi Delica Space Wagon ถูกสั่งเข้ามาจำหน่ายอยู่เพียงแค่ 1 ปี เลิกทำตลาดในประเทศไทยไปในกลางปี 2016

อย่างไรก็ตาม Delica D:5 ในตลาดญี่ปุ่นซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2007 ก็ยังคงทำตลาดอยู่จนถึงปัจจุบัน และในปี 2019 ก็ได้รับการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์โดยใช้แนวคิดการออกแบบด้านหน้า Dynamic Shield อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วย


Mitsubishi Xpander / Xpander Cross

เผยโฉมทางออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2017

เปิดตัวในไทย 17 สิงหาคม 2018

Mitsubishi Xpander เป็นหนึ่งในความสำเร็จครั้งล่าสุดของ Mitsubishi ซึ่งเรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายกันพอสมควร บอกว่าเหนือความคาดหมายกันเลยก็ได้ เพราะหลังจากที่มันถูกเปิดตัวและวางจำหน่ายไปในประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2017 ยอดสั่งจองรถรุ่นนี้ก็พุ่งสูงขึ้นเกินเป้าที่ตั้งเอาไว้ เสียจนเกิดปัญหาผลิตรถกันไม่ทันส่งมอบ

นั่นส่งผลทำให้จากแผนการเปิดตัวรถ Mitsubishi Xpander ในประเทศไทยจะต้องเกิดขึ้นในงาน Motor Show ต้นปี 2018 กลับกลายต้องเลื่อนไปเปิดตัวกันในงาน Big Motor Sale ในช่วงกลางปีเดียวกันนั้นแทน และเมื่อมันถูกนำมาเปิดตัวในไทย ยอดขายของมันก็ฮิตติดตลาด เกาะหัวตารางในเซกเมนต์ของรถ Mini MPV มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

Mitsubishi Xpander เป็นรถ Mini MPV เซกเมนต์ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าชาวอินโดนีเซียโดยเฉพาะ เนื่องจากความต้องการของรถครอบครัวที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป มีความประหยัดน้ำมัน และราคาจับต้องได้ แต่ต้องมีพื้นที่ภายในที่กว้างขวาง สะดวกสบาย บรรทุกผู้โดยสารได้ 7 คน ครบจำนวนคนในครอบครัว

Mitsubishi Xpander ตอบโจทย์ทุกอย่างตามที่ระบุไป จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะประสบความสำเร็จในตลาดอินโดนีเซีย และไทยก็ได้รับอานิสงค์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้ารถจากประเทศอาเซียนอื่น ๆ จึงได้รับรถรุ่นนี้มาทำตลาดด้วยเช่นกัน

มิติตัวถังของ Mitsubishi Xpander มีความยาว 4,475 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,750 มิลลิเมตร ความสูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร

ถัดมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2019 ก็ได้มีการเปิดตัว Mitsubishi Xpander Cross ซึ่งเป็นการนำเอา Xpander ไปปรับปรุงยกสูงขึ้นอีกเล็กน้อย เพิ่มกาบข้างสีดำที่ดูบึกบึน เพื่อให้ดีไซน์มีความคล้ายกับรถ SUV มากกว่ารถ MPV และผลตอบรับจากลูกค้าก็ทำได้ดีเยี่ยมเช่นกัน จนทำให้ในภายหลังคู่แข่งต่าง ๆ ก็ต้องออก Mini MPV เวอร์ชั่นยกสูง เพื่อตอบโต้กับเจ้า Xpander Cross นี้มา

Mitsubishi Xpander Cross มีมิติตัวถัง ความยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร

Mitsubishi Xpander และ Xpander Cross ใช้เครื่องยนต์ชนิด 4A91 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด Multi-point Fuel Injection พร้อมระบบวาล์วแปรผัน MIVEC กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร (14.36 กก.-ม) ที่ 4,000 รอบ/นาที โดยจับคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

ในเดือนมีนาคม 2022 เพื่อเป็นการตอบโต้กับคู่แข่งในตลาด Mini MPV หน้าใหม่หลากหลายรุ่น Mitsubishi ก็ได้ส่ง Xpander รุ่นปรับโฉม Minorchange มาจัดแสดงในงาน Bangkok International Motor Show 2022 ก่อนที่จะเปิดราคาและขายจริงในเดือนถัดมา โดยมีการปรับดีไซน์ภายนอกใหม่ และเปลี่ยนมาใช้ระบบส่งกำลังแบบ CVT กันเสียที

Mitsubishi Xpander Minorchange มีขนาดตัวถังยาว 4,595 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,730 และ 1,750 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร


ในวงการยานยนต์ แน่นอนครับว่าไม่มีใครตื่นเต้นกับรถครอบครัวสไตล์ MPV เหล่านี้หรอกครับ มันไม่ใช่รถที่ออกแบบโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการขับขี่ หรือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะมาเปลี่ยนโลก รถเหล่านี้มีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือการเคลื่อนย้ายผู้คนและสิ่งของ โดยเป้าประสงค์หลักก็มีเพียงความสะดวกสบาย ความโปร่งโล่งของห้องโดยสาร และความเชื่อถือได้ว่ามันจะพาครอบครัวของผู้ขับขี่ไปถึงจุดหมายได้โดยสวัสดิภาพ
ซึ่งนั่นทำให้เรามองว่า รถ MPV เหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าเหล่าบรรดารถตัวแรงที่เป็นที่พูดถึงกันมาก เพราะในขณะที่รถรุ่นพิเศษที่หลายคนตื่นเต้นกัน มีคนที่ได้สัมผัสมันจริง ๆ ก็จำนวนน้อย แต่รถ MPV เหล่านี้ ครอบครัวต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างก็มีประสบการณ์ร่วมอย่างแท้จริง ในการเดินทางออกทริปไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั่นเอง
เราอาจจะเสียดายที่ Mitsubishi Motors ไม่มีรถรุ่นพิเศษ รถสปอร์ตตัวแรงจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน แต่รถ MPV เหล่านี้ต่างหากที่จะมาขับเคลื่อนผู้คนในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตของเจ้าของนั้นสะดวกสบายขึ้น นั่นทำให้แม้มันจะไม่ได้มีความน่าตื่นเต้นเสียเท่าไหร่ แต่พวกเราก็อดที่จะชื่นชมม้างานเหล่านี้ไม่ได้ และในอนาคต Mitsubishi Motors จะมีรถครอบครัวสไตล์ MPV รุ่นใหม่แบบใดออกมา ก็ต้องติดตามกันต่อไป!