ถ้าตั้งคำถาม กับคนที่เกิด หลังปี 1980 เป็นต้นมา หลายๆคน คงไม่รู้จักชื่อ Lancer Celeste
กันหรอก แน่ละ ก็คนรุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียน จะมีสักกี่คน ที่รู้ว่า สมัยหนึ่ง
Mitsubishi Motors ก็เคยทำรถ Lancer ตัวถัง Coupe 2 ประตู ออกมาขายกับเขาด้วย

แต่ถ้าลองถาม คนรุ่นที่เกิดก่อนหน้านั้น สัก 10 ปี (เอาง่ายๆว่า อายุตอนนี้ แถวๆ
40 ปี ขึ้นไป และยังจดจำบรรยากาศ ตลาดรถยนต์ในเมืองไทย ได้สักหน่อย)
ก็คงจะรู้ดีว่า Celeste นั้น เป็นหนึ่งในรถ Coupe จากฝั่งญี่ปุ่น ที่สวย จนทำให้
หลายคนในยุคนั้น ละสายตาจาก Toyota Celica รถยนต์ 2 ประตู ร่วมยุค
สมัยเดียวกัน ไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

Celeste ถือเป็นรถยนต์รุ่นหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่มีความเกี่ยวพันร่วมเครือญาติ
กับตระกูล Lancer เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการใช้เครื่องยนต์กลไก ระบบส่งกำลัง
ไปจนถึงระบบกันสะเทือน ร่วมกันได้หลายชิ้นอีกต่างหาก

ทำไมจู่ๆ Mitsubishi ถึงต้องทำ Lancer รุ่น 2 ประตูออกมาขาย
แถมยังต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ แล้วเหตุใด ท้ายที่สุด ชื่อ Celeste
จึงหายไปจากสายการผลิตของ Mitsubishi Motors ตลอดกาล

คำตอบ อยู่ข้างล่างนี้แล้ว

LANCER Celeste
E-A144A E-A143A A73
ระยะเวลาทำตลาดในญี่ปุ่น 26 กุมภาพันธ์ 1975 – 1981
ระยะเวลาทำตลาดในไทย และทั่วโลก 1975 – 1982

ย้อนรอยกลับไป ช่วงก่อนหน้าการเปิดตัว Celeste สัก 4 ปี
Mitsubishi Motors เคยพยายามจะขยายรุ่นรถยนต์
ให้มากขึ้น เพื่อหวังจะจับกลุ่มลูกค้า ที่อยากได้รถยนต์
Sport Coupe 2 ประตู ที่มีรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยว ไม่แพ้
Colt Galant GTO รถยนต์แนว Sport Coupe GT อัน
โด่งดังมากในสมัยนั้น แต่ ไม่มีงบมากพอจะจ่ายเพื่อขับ
Galant GTO กลับบ้าน

Mitsubishi Motors ตอนนั้น มองแล้วว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ น่าจะมี
เยอะพอให้สร้างรถยนต์ Coupe 4 ที่นั่ง ขึ้นมาอีกรุ่น โดยต้องมี
ราคาถูก ใครๆก็ซื้อได้ แต่ใช้เครื่องยนต์กลไก ร่วมกันกับ
Colt Galant 16L ในยุคเดียวกันนั้น

ปี 1971 แนวคิดดังกล่าว ก็ออกมาเป็นรูปธรรม เมื่อ Mitsubishi Galant FTO
ออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ได้รับ ไม่เยอะเท่าที่คาดหวัง
อีกทั้ง ตัวรถ ก็ไม่ได้มีเส้นสายที่เร้าใจใครเขาเลย ยิ่งไม่ต้องเทียบกับ
คู่แข่งอย่าง Toyota Celica เพราะเทียบไป ก็คงตามดมฝุ่น จากบั้นท้าย
ของ Celica ไม่ทัน ทั้งยอดขาย และความนิยม อีกทั้ง ถ้าขืนยังทำ
รถยนต์ Coupe รุ่นเล็ก โดยใช้พื้นฐานของตระกูล Sedan ขนาดกลางรุ่น Galant
กันต่อไป ลูกค้า งงกันพอดี ว่า ตกลงแล้ว คันไหนคือ Galant GTO คันไหนคือ
Galant FTO 

Mitsubishi Motors เลยเริ่มคิดได้ว่า ถ้าเช่นนั้น ก็ทำรถรุ่นต่อไป ออกมาขาย
บนโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับ Lancer รถยนต์ Sedan ระดับ Compact
ที่จะต้องมีกำหนดคลอดในปี 1973 ด้วยกันเสียเลย ให้สิ้นเรื่อง

ส่วนชื่อรุ่นนั้น Celeste (อ่านว่า เซเลสเต้) เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส
ที่มีรากศัพท์ มาจากภาษา Latin ที่ว่า caelestis อันแปลว่า “สรวงสวรรค์” 

หน้าที่ของเซเลสเต คือต้องเข้าสวมทำตลาดแทน Galant FTO รถยนต์ Compact Coupe
บนพื้นฐานของ รุ่นพี่ตระกูล Galant ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายเท่าที่ควร
และแน่นอน Lancer Celeste กลายเป็นรถยนต์คูเป่รุ่นหนึ่งที่ผู้คนในยุคนั้น
ต่างพากันพูดถึง และพากันซื้อหามาเป็นเจ้าของ อย่างไม่ขาดสาย 

รูปลักษณ์ภายนอก บนตัวถัง ที่ยาว 4,115 มิลิเมตร กว้าง 1,610 มิลลิเมตร สูง 1,310 มิลลิเมตร ระะฐานล้อ 2,340 มิลลิเมตร
น้ำหนักรถเปล่า 925 – 995 กิโลกรัม มาในสไตล์โฉบเฉี่ยวร่วมยุคสมัย ไฟหน้าเป็นแบบกลม ดวงเดียว แนวเส้นกระจกหน้าต่าง
ด้านข้างเป็นแบบ J-LINE

แม้จะดูคล้ายคลึงว่าจะได้รับอิทธิพล มาจาก รถสปอร์ตอเมริกัน อย่าง Ford Mustang เช่นเดียวกับ ญาติผู้พี่
อย่าง Colt Galant GTO แต่ พอเอาเข้าจริง งานออกแบบ กลับไปคล้ายคลึงกับ Nissan SILVIA เจเนอเรชัน 2
ที่เปิดตัวออกมาในปี 1975 เช่นกัน ราวกับนัดกันไว้ไม่ผิดเพี้ยน!

แผงหน้าปัด มาในสไตล์สปอร์ต ชุดมาตรวัด แบบวงกลม สารพัดเกจ์วัดมากมาย
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน สไตล์สปอร์ต ยกชุดมาจาก Lancer GSR และ GSL 

ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยโทนสีที่ต่างกัน ตามแต่ละรุ่นย่อย ทั้งดำ ไปจนถึง สีแนวสว่าง
พร้อมกับผ้าลายสก็อต ที่ให้บรรยากาศโปร่งตา กว่ารถในยุคสมัยเดียวกัน ซึ่งมักใช้โทนสีดำ
ในห้องโดยสารเป็นหลัก

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับระดับสูง-ต่ำได้ เล็กน้อย ปรับเลื่อนถอยหลัง-ขึ้นหน้า และปรับเอนได้
อันเป็นคุณสมับัติ ที่ถือว่า เป็นลูกเล่นในรถชั้นดีของยุคนั้น มีไฟอ่านแผ่นที่ ในยามค่ำคืนมาให้
ติดตั้งบนเพดาน ใกล้กับกระจกมองหลัง  ฝากระโปรงด้านท้าย ออกแบบให้เปิดขึ้นง่าย ในสไตล์
รถยนต์แฮตช์แบ็ก-คูเป้

ในช่วงแรกทีเปิดตัว มีให้เลือก 3 ขุมพลังหลัก 4 ระดับความแรง

– รหัส 4G33 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,439 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว
  กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
   92 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
   วางในรุ่น 1400 GL เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และ 1400 GSL เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (A72)

– รหัส G32A 4 สูบ SOHC 1,597 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว พร้อมระบบจุดระเบิดแบบ MCA
  กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1 กำลังสูงสุด
  92 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
  มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ วางเฉพาะรุ่น 1600 GL MCA (A77)

– รหัส 4G32 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,597 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว
  กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1
  100 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
  วางในรุ่น 1600 GL เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และ 1600 XL เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ

– และ 4G32 เวอร์ชัน คาร์บิวเรเตอร์คู่ รายละเอียดเหมือนเวอร์ชันปกติ
  แรงขึ้นเป็น 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.2 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที
  วางเฉพาะรุ่น 1600 GSR เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (A73)

ระบบกันสะเทือนทุกรุ่น ด้านหน้าแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต หลัง เป็นแหนบซ้อน (Leaf Rigid)
โดยเป็นแหนบแผ่นเดียว พวงมาลัยเป็นแบบลูกปืนหมุนวน ปรับระดับสูง-ต่ำได้ 1 จังหวะ
รัศมีวงเลี้ยว 4.5 เมตร

อุปกรณ์มาตรฐานในยุคนั้น มีมาให้ ทั้ง คอนโซลบนเพดานหลังคา คามสมัยนิยม
ชองรถยุคนั้น ที่มักทำคอนโซลด้านบน คล้ายกับแผงควบคุมของห้องนักบิน
ไฟเตือนระบบเบรกบนหน้าปัด มาตรวัดรอบ พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำได้ 30 มิลลิเมตร
สวิชต์ดึงเปิดแผงระบายอากาศ้านข้างตัวรถ ที่จุดบุหรี่ สวิชต์ล็อกแบบมือบิด คอนโซลกลาง
 ระบบเบรก แบบ Tandem ยางเรเดียลขนาด 175/70 HR13 ตกแต่ง เครื่องเล่นเทป 8 Track
ส่วนเครืองปรับอากาศ ในสมัยนั้น ยังถือเป็นอุปกรณ์ต้องสั่งติดตั้งพิเศษ เช่นเดียวกับ
แผงม่านแบบครีบขั้นบันได แปะติดกับกระจกบังลมหลัง สปอยเลอร์หน้า-หลัง แบบลิ้น
และไฟตัดหมอกหน้า

รุ่นย่อยในช่วงแรก มีทั้งหมด 6 รุ่น อย่างที่เห็นในภาพจากแค็ตตาล็อกเวอร์ชันญี่ปุ่น ปี 1975
ยกเว้นรุ่น 1600 MCA-GL ที่เริ่มทำตลาด 1 มีนาคม 1975 ตามหลังเพื่อนฝูงไม่กี่วัน
เป็นรุ่นเดียวที่ผ่านมาตรฐานมลพิษ ปีโชวะ 50 (ปี 1975) ของรัฐบาลญี่ปุ่น ในตอนนั้น

(รายละเอียดทางเทคนิค อัตราทดเกียร์ ขนาดตัวถัง มิติและน้ำหนักต่างๆ อาจจะต้องใช้สายตาเพ่งสักนิดนึง)

การปรับปรุงครั้งแรกๆ เริ่มขึ้นเมื่อ 17 ตุลาคม 1975 โดยมีการปรับปรุงรุ่น 1600 GL ให้ผ่านมาตรฐานมลพิษ
ของรัฐบาลญี่ปุ่น ปีโชวะที่ 51 จากนั้น ในวันที่ 30 ตุลาคม 1975 Lancer Celeste ทุกรุ่นก็ผ่านมาตรฐานมลพิษ
ปีโชวะที่ 51 (ปี 1976) ได้เรียบร้อย และเริ่มออกสู่ตลาด เมื่อ 15 พฤศจิกายน 1975 ในภาพรวม ยังไม่มีการ
ปรับปรุงรูปโฉมภายนอกและภายในแต่อย่างใด

ในระหว่างนั้น Mitsubishi ก็เริ่ม ส่งออก Lancer Celeste ไปทำตลาดนอกญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก ช่วงเดือน
กันยายน 1975 โดยทำตลาดในสหราชอาณาจักร ด้วยชื่อ Colt Celeste ส่วนในตลาดอื่นๆ บางแห่ง ก็เรียก
Mitsubishi Celeste ไปเฉยๆ ก็มี นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาด้วยชื่อ Plymouth Arrow
(ดูรายละเอียด ด้านล่างสุดของบทความนี้)

รายละเอียดการตกแต่งต่างๆ แทบไม่ค่อยแตกต่างไปจากเวอร์ชันญี่ปุ่นเท่าใดนัก ส่วนเครื่องยนต์ ในตลาดโลก
เป็นเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี 83 แรงม้า เป็นตัวยืนในการทำตลาด Lancer Celeste ถูกนำเข้ามาขายในบ้านเรา
ช่วงประมาณ ปี 1976 แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่อาจค้นหาหลักฐานยืนยันแน่ชัดได้ว่า เป็นการสั่งนำเข้ารถสำเร็จรูปทั้งคัน
หรือเป็นการสั่งชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในโรงงาน สหพัฒนายานยนต์ ย่านลาดกระบัง กันแน่ เพียงแต่พอจะทราบได้
ว่ามีการทำตลาดในเมืองไทย เรื่อยมาจนถึงประมาณ ปี 1979

ส่วนความเคลื่อนไหว ของการปรับปรุงเวอร์ชันญี่ปุ่นนั้น ยังคงเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ต่อเนื่องทุกปี
การปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 1976  มีทั้งการปรับปรุง
ให้มีสัญลักษณ์ มิตซูบิชิ ฝังอยู่ในกรอบพลาสติก แท่งยาวแนวตั้ง ติดไว้ กลางกระจังหน้า
ช่องระบายอากาศ บริเวณเสาหลังคาหลัง C-Pillar หรือเรียกว่า Quater Garnish เปลี่ยนจาก
แบบ 3 ช่อง เป็น 4 ช่อง พ่นสีดำ และที่สำคัญที่สุดคือ มีการปรับเปลี่ยนชุดไฟท้าย ให้เป็น
แบบแนวยาว เรียบง่าย ร่วมยุคสมัย ส่วนกรอบกระจกหน้าต่างในหลายรุ่น พ่นเป็นสีดำ

   

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเครื่องยนต์ SATURN 80 บล็อก 4 สูบ SOHC 1,597 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 : 1 ที่เพิ่มแกน
Silent Shaft เข้าไป ช่วยลดเสียงและการสั่นสะเทือน ขณะเครื่องยนต์ทำงาน
82 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที
วางลงในรุ่น 1600 GT อันเป็นรุ่นย่อยใหม่ ที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรก

ส่วนเวอร์ชันส่งออก ก็มีการปรับโฉมตามกันไปติดๆ แต่ ไม่มีการติดตั้งกระจกมองข้างแบบ
Fender Mirror มาให้ เฉกเช่นในเวอร์ชันญี่ปุ่น ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นเช่นนี้ มาตั้งแต่รถรุ่นก่อนหน้านี้

8 พฤศจิกายน 1977 เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ 1600 GT SYSTEM80 ซึ่งถือเป็นรุ่นตกแต่งพิเศษ ที่แพงที่สุด
ครบครันที่สุด และ ดูดีที่สุด ของ Lancer Celeste ในช่วงก่อนปี 1979

ภายนอกตกแต่งด้วยกันชนหน้า ขนาดใหญ่จากรุ่น 1600 GT ตัวรถพ่นด้วยสีดำคาดด้วย Strip
ครึ่งท่อนล่างของตัวรถ เป็นสีทอง แม้แต่กระทะล้อเหล็กขนาด 13 นิ้ว ยังถูกพ่นด้วยสีทอง อีกด้วย
มีสติกเกอร์ SYSTEM80 มาให้บริเวณ ถัดจากซุ้มล้อคู่หน้า ส่วนชุดไฟท้าย มาในสไตล์อเมริกัน
ยกป้ายทะเบียนขึ้นไปติดตั้งไว้ แทนตำแหน่งของแพงพลาสติก คั่นกลางระหว่างชุดไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง
กันชนหลัง ยังมีขนาดใหญ่ ไม่แพ้กันชนหน้า และมีทับทิมสะท้อนแสง มาให้เยอะกว่ารุ่นทั่วไปอีกด้วย

ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งในสไตล์ สปอร์ตร่วมสมัย นอกจากจะมีพวงมาลัยลายไม้ทั้งชิ้น มาตรวัด
อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มาตรวัดแรงดันน้ำมันเครื่อง มาตรวัดแรงดันกระแสไฟ ในระบบ แบบรถสปอร์ต
มาให้ครบครันแล้ว

ความพิเศษของรุ่น SYSTEM80 อยู่ที่การติดตั้งชุดเครื่องเสียงชั้นดี มาให้เป็นพิเศษ เอาใจคนรักเสียงดนตรี
โดยเฉพาะ ประกอบด้วย เครื่องรับวิทยุ ที่มาแปลกมาก แยกภาครับ AM ไว้ด้านล่าง ส่วนภาครับ FM แยก
ออกไปไว้ที่วงกลม ด้านบนฝั่งขวา แถมยังมีเครื่องเล่น Cassette Tape และเครื่องปรับอากาศ มาให้ ซึ่ง
รถยนต์ในยุคนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่ค่อยจะยอมติดตั้งมาให้เท่าใดนักเลย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการติดตั้งลำโพง 2 Way มาให้ 6 ชิ้น รอบคันรถ แถมลำโพงด้านหลัง ยังสามารถ
ปรับระดับเสียง ทุ้ม แหลม ได้ตามใจชอบอีกต่างหาก ถือเป็นรุ่นท็อป ที่อัดออพชันมาให้เต็มพิกัด
Mitsubishi Lancer Celeste 1600 GT SYSTEM 80 ถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 200 คัน
สำหรับตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น

การปรับโฉม Minorchange ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 1978 คราวนี้ มีการเปลี่ยนชุดไฟหน้า
มาเป็นแบบสี่เหลี่ม ตามสมัยนิยม เปลี่ยนลายกระจังหน้า ลายใหม่ เป็นลายตาราง ติดสัญลักษณ์
สามเหลี่ยม 2 ชิ้น หันปลายแหลมส่วนล่างเข้าหากัน อันเป็นโลโก้ของ Mitsubishi ในการทำตลาด
ที่ญี่ปุ่น ต่อเนื่องจนถึงปี 1983 มีการเปลี่ยนกันชนหน้าใหม่ ให้ดูเรียบง่าย แต่ภูมิฐานขึ้น รุ่น 1600 GT
ที่เห็นอยู่นี้ จะมี Strip คาดข้าง เป็นสีดำ แถมยังมีคิ้วกันกระแทกรอบคัน สีดำ คาดเหลือง และล้อแม็กนีเซียม มาให้

ส่วนบั้นท้าย จะมีการเปลี่ยนลายไฟท้ายใหม่ กลับมาใช้แผงพลาสติกสีเทาตรงกลาง เป็นกรอบครอบไฟถอยหลัง
แต่มีแถบเส้นโครเมียม ประดับอยู่บริเวณรอบพื้นที่ชุดไฟท้าย ตำแหน่งติดตั้งป้ายทะเบียนหลัง กลับไปไว้ที่ ชุด
กันชนหลัง และถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า กระจกบังลมหลัง บนฝากระโปรงหลัง มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่ารถรุ่นก่อนหน้านี้
รุ่นที่เห็นอยู่นี้คือ Mitsubishi Lancer Celeste 1400 GSL MCA JET

นอกจากนี้ ยังมี Mitsubishi Lancer Celeste 1400 SR มาในสไตล์ Basic กรอบประตูเป็นสีเดียวกับตัวถัง
ปกติแล้ว ล้อแม็ก กับ Strip คาดข้าง เป็นอุปกรณ์สั่งติดตั้งพิเศษ

ซึ่งนอกเหนือจากเบาะผ้าลายสก็อต ในรุ่น 1600 GT แล้ว รุ่น 1400 SR จะเป็นรุ่นเดียวที่ มีเบาะหนังวีนีล
สีดำ คาดด้วยแถบสีแดง ตามจุดต่างๆ เริ่มมีเครื่องปรับอากาศมาให้ ครบเกือบทุกรุ่น

นอกจากนี้ ยังมีการปรับทัพขุมพลังกันอีกด้วย โดยคราวนี้ มีให้เลือกทั้งรุ่น 1,200 1,400 และ 1,600 ซีซี
ยกชุดมาจาก Lancer Sedan รุ่นปีเดียวกัน ดังนี้

– ตระกูล ORION รหัส G11B บล็อก 4 สูบ SOHC 1,244 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 69.5 x 82.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET
70 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.7 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

– ตระกูล ORION รหัส G12B บล็อก 4 สูบ SOHC 1,410 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 74.0 x 82.0 มิลลิเมตร
กำลังอัด 9.0 : 1 คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET 80 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 12.1 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที วางในรุ่น 1400 GL 1400 GL-EXTRA และ 1400 GSL

– รุ่น 1600 ซีซี จะมี 2 เครื่องยนต์ โดยรุ่น 1600 XL และ 1600 GT จะวางเครื่องยนต์ รหัส G32B ตระกูล
SATURN 80 บล็อก 4 สูบ SOHC กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด
8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง พร้อมระบบ MCA-JET ลดความแรงลง
เหลือ 86 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาท แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

– และรุ่น 1600 GSR วางเครื่องยนต์ 4G32 เหมือนเดิม ตัวเลขสมรรถนะเหมือนเดิมเป๊ะ แต่ ลดอัตราส่วน
กำลังอัดลงเหลือ 8.5 :  1 ใช้ทวินคาร์บิวเรเตอร์ 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
13.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงอย่างเดียว

อีกทั้งคราวนี้ ยังมีการเอาใจลูกค้า ที่อยากได้ ชุดเครื่องเสียงแบบ รุ่น 1600 GT SYSTEM 80 มาวางลงใน
รถรุ่นถูกกว่านี้บ้าง Mitsubishi Motors เลยจัดให้ ชุดเครื่องเสียงดังกล่าว มาวางอยู่ในรุ่น 1400 GT รุ่นพิเศษ
ใช้ชื่อรุ่นว่า Mitsubishi Lancer Celeste 1400 GT SYSTEM 80 ตกแต่งเหมือนกับรุ่น 1600 GT SYSTEM 80
ก่อนหน้านี้เป๊ะ ต่างกันแค่เพียงชุดกระจังหน้า และไฟหน้า ของรุ่น 1400 GT ที่จะสดใหม่กว่า แค่นั้น

การปรับโฉมครั้งสุดท้าย ในตลาดญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อ 25 มิถุนายน 1979 ด้วยการเพิ่มรุ่น 2000GT
ซึ่งถือเป็นรุ่นที่มีสมรรถนะแรงที่สุด ในบรรดา Lancer Celeste แบบมาตรฐานเดิมๆ จากโรงงาน

ภายนอกตกแต่งคล้ายกับรุ่น 1600 GT เพียงแต่มี สติกเกอร์ ด้านข้างตัวรถ บริเวณซุ้มล้อคู่หน้าว่า
2000 GT ระบุชัดเจนให้เห็นเลยว่า รถคันนี้ แรงกว่า Lancer Celeste รุ่นปกติทั่วๆไป แถมยังมี
การล้อมกรอบกระจังหน้า และชุดไฟหน้า ด้วยแถบโครเมียม ครบถ้วน ยางขนาด 165SR13
พร้อมล้ออัลลอย แบบ 4 แฉก ลายสมัยนิยม กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถัง มีแถบ Strip คาดข้าง
ตามยาวบริเวณครึ่งล่างของตัวรถ

ภายในห้องโดยสารตกแต่งอย่างหรู ดูเหมือนเป็นรุ่นเดียวที่บุด้วยเบาะผ้ากำมะหยี่ อย่างดี
มีเครื่องรับอากาศมาให้ ชุดเครื่องเสียง ยกมาจากรุ่น SYSTEM 80 ทั้งยวง พวงมาลัย ลายไม้
แบบ 3 ก้านทรงสปอร์ต คันเกียร์ เป็นแบบลายไม้ด้วยเช่นกัน พื้น Background ของชุด
มาตรวัดทั้งหมด ตกแต่งด้วยสีเทา

Mitsubishi Lancer Celeste 2000 GT จะเป็นรุ่นเดียวที่ได้วางเครื่องยนต์ใหม่ตระกูล ASTRON 80
บล็อก 4 สูบ SOHC 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 : 1
พร้อมเทคโนโลยี MCA-JET และแกน Silent Shaft กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที อันเป็น เครื่องยนต์ตัวเดียวกับที่วางใน Galant Sigma
จับยกใส่ห้องเครื่องยนต์ของ Celeste กัน โดยเพิ่มดิสก์เบรก 4 ล้อ ติดป้ายราคาขาย 1,355,000 เยน

ส่วนรุ่น 1400 SR ก็ยังมีการปรับปรุงรายละเอียดการตกแต่งภายนอก โดยไม่มี Strip คาดข้างให้เลือกอีกต่อไป
แถบโครเมียม ก็มีประดับไว้เฉพาะ ด้านล่างของชุดกระจังหน้า และไฟหน้าเท่านั้น

ส่วนภายในห้องโดยสาร เปลี่ยนมาใช้หนังวีนีล สีครีม ตัดกับสีน้ำตาลอ่อน ช่วยให้ภายในรถ ดูสว่างขึ้น
Mitsubishi Motors ตั้งเป้ายอดจำหน่าย รุ่น 1400 กับ 1600 จำนวนรุ่นละ 600 คัน และ รุ่น 2000 จำนวน 300 คัน

ส่วนรุ่นส่งออกนั้น จะมีการปรับปรุงตามไปด้วย เพียงแต่จะไม่ดูหรูหราน่าใช้ เท่ากับเวอร์ชันญี่ปุ่น
การประดับโครเมียม ไม่มีให้เห็นบริเวณด้านหน้ารถ แต่จะมีตามกรอบกระจกหน้าต่างรอบคันทดแทน
ในบางรุ่น ตราสัญลักษณ์บนกระจังหน้าจะเปลี่ยนไปเป็นสัญลักษณ์ Three-Diamond ในระดับสากล

ไม่เพียงแต่จะทำตลาดในญี่ปุ่น หรือยุโรปเท่านั้น แต่ Mitsubishi ยังส่งออก รถคูเป้รุ่นนี้ ไปยังสหรัฐอเมริกา
ในยุคที่ Mitsubishi ยังไม่ได้เปิดสำนักงานประจำทวีปอเมริกาเหนือ เป็นของตนเอง โดยมอบหมายให้
พันธมิตรในยุคนั้นอย่าง CHRYSLER นำไปทำตลาดที่สหรัฐอเมริกาด้วยชื่อ PLYMOUTH ARROW
ส่งไปขายในแคนาดา ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Dodge Arrow และใน เปอร์โต ริโก ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Dodge Celeste

เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะเวลานั้น Mitsubishi Motors ยังไม่แข็งแรงพอที่จะเดินหน้าทำตลาดต่างประเทศ
ด้วยตัวเอง ยังต้องพึ่งพา บริษัทแม่ อย่าง Mitsubishi Corporation อันเป็น 1 ใน 5 บริษัท เทรดดิง คัมพานี
ที่ใหญ๋สุดของญี่ปุ่น ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทั่วโลกอย่างดี รับหน้าที่ช่วยเจรจา เปิดลู่ทางให้ จนได้มาเจอกับ
Chrysler ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสู้คู่แข่งไม่ได้ และอยากหารถยนต์ขนาดเล็ก มาทำตลาดเองบ้าง แถมในช่วงต่อมา
ยังต้องเผชิญกับปัยหาในการพัฒนารถอเมริกัน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการรถยนต์ขนาดเล็ก อันเกิดจาก
วิกฤติการณ์น้ำมันในตะวันออกกลาง ณ ช่วงเวลานั้น พอดี ดีลนี้ จึงจบลงด้วยการที่ Chrysler สั่งนำเข้ารถยนต์
ขนาดเล็กจาก Mitsubishi มาขายกันตั้งแต่ยุค 1970

Chrysler เปิดตัวรถรุ่นนี้ ในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อเดือนกันยายน 1975 ตามหลังการเปิดตัวในญี่ปุ่น 6 เดือน
มีการตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอก เอาใจตลาดอเมริกัน ทั้งการเปลี่ยนมาใช้ยางขอบขาว White Wall Tyres
มีสติกเกอร์ หรือ Stip คาดตัวรถตามจุดต่างๆ เต็มไปหมด วางเครื่องยนต์ 2 ขนาด ทั้งรหัส 4G32 1,400 ซีซี
ในรุ่น Arrow 140 และ เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี Silent Shaft ในรุ่น Arrow 160 มีเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
เป็นอุปกรณ์มตรฐาน ส่วนรุ่น GS ก็จะมีโลโก้ประจำรุ่น Strip คาดข้าง ลายพิเศษ เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
ขณะที่รุ่นท็อป GT จะมี กระจกมองข้างแบบ สปอร์ต เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เบาะนั่งแบบสปอร์ต มีแผง
คอนโซลกลางมาให้ และ Strip คาดข้าง แบบพิเศษ

ปี 1978 มีการปรับโฉม และรายละเอียดเล็กๆน้อย ทั้งการเพิ่มสีตัวถังพิเศษ ดำ คาดด้วยสีส้ม แบบ Two Tone
เรียกว่ารุ่น Arrow Jet paint package ใช้กระจังหน้า และรายละเอียดเล็กๆน้อย เหมือนรุ่น Mnorchange ของ
Celeste เวอร์ชันญี่ปุ่น

และในปี 1979 ถือเป็นปีที่มีการปรับโฉมมากที่สุด ตามติดเวอร์ชันญี่ปุ่น กัน้วยไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยม ตามสมัยนิยม
ซ่อนไฟเลี้ยวเอาไว้ มีลายโครเมียม คาดอยู่เหนือไฟท้าย และกระจกบังลมด้านหลังขนาดใหญ่ขึ้น พวงมาลัยจากเดิม
ที่พบได้เฉพาะรุ่น Arrow GT ตอนนี้ก็กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของทุกรุ่นไป ความกว้างช่วงล้อหลัง ขยายขึ้นอีก
2.5 นิ้ว เพื่อการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้น และรุ่นย่อยใหม่ อันเป็นตัวท็อป ที่ดีที่สุด ก็คลอดออกมาในปีนั้นเอง ใช้ชื่อว่า
Plymouth Fire Arrow ซึ่งดูไปดูมา คล้ายกับจะลอกเลียน Pontiac Firebird / Chevrolet Camaro อยู่ในที ในหลายๆจุด
ของรูปลักษณ์ภายนอก วางเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,600 ซีซี  108 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.36 กก.-ม.
ที่ 2,500 รอบ/นาที และมีดิสก์เบรก 4 ล้อมาให้ด้วย ถือเป็นรถยนต์รุ่นหนึ่ง ซึ่งมี อัตราส่วนแรงม้า ต่อน้ำหนัก ดีที่สุด
ในบรรดารถยนต์ค่ายอเมริกันทุกรุ่น ณ ขณะนั้น จนทำให้ Plymouth ตัดสินใจยกเลิกการขายรุ่นเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี ไปเลย
 
และในปี 1980 อันเป็นปีสุดท้ายในอายุตลาด มีการเพิ่มโทนสีตัวถังใหม่เข้าไป ทั้งสีแทน ซึ่งมี ฝากระโปรงหน้า สีคาราเมลเข้ม
และ สีฟ้า ซึ่งมีผากระโปรงหน้า เป็นสีน้ำเงินเข้ม ทั้งคู่วางเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี  ขณะที่ Fire Arrow มีการปรับรายละเอียดอีก
เล็กน้อย ตามจุดต่างๆ และมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียวคือ 4 สูบ 2,600 ซีซี บล็อกเดิม

หลังจากทำตลาดมานานพอสมควร Lancer Celeste ก็ถึงเวลา ยุติการผลิตไป ในปี 1981
ก่อนปลดออกจากสายการผลิตในที่สุด โดยใสตลาดญี่ปุ่น Celeste ถูกแทนที่ด้วย รถยนต์คูเป้
รุ่น คอร์เดีย (CORDIA) ขณะที่ ตลาดสหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆ จะถูกแทนที่ด้วย ตัวถังคูเป้
2 ประตู ของ Mitsubishi Galant Sigma ขับล้อหลังรุ่นสุดท้าย ในชื่อ Mitsubishi Sapporo
ในตลาดโลก Plymouth Sapporo/Dodge Challenger ในตลาดอเมริกาเหนือ

และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็น Lancer 2 ประตู Coupe เพราะทุกวันนี้ เราแทบจะ
ไม่มีโอกาสได้เห็น Lancer ตัวถัง Sport Coupe 2 ประตู กันอีกเลย

——————————————————————–

TO BE CONTINUE : โปรดติดตาม ตอนต่อไป

——————————————————————–

ขอขอบคุณ
– คุณผกามาศ ผดุงศิลป์ และ คุณธิราภร ย้อยแสง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท MITSUBISHI MOTORS (THAILAND) จำกัด
สำหรับความช่วยเหลือ การประสานงาน และการเปิดกรุ
โกดังคลังเอกสารเก่า ของสำนักงานใหญ่ที่รังสิต ให้ผู้เขียนเข้าไป “รื้อค้นและขุดคุ้ย”
 
– คุณ Russel ฝ่ายประชาสัมพันธ์
MITSUBISHI MOTORS CORPORATION ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับการนั่งหลังขดหลังแข็ง ตามหา และช่วยสแกน
แค็ตตาล็อกเวอร์ชันญี่ปุ่นแท้ๆ ส่งมายังเมืองไทย ทาง E-Mail
รวมทั้งการประสานงานต่างๆ

——————————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ภาพถ่าย และวาดกราฟฟิกทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของ Mitsubishi Motors Corporation
ประเทศญี่ปุ่น และ Chrysler Corporation ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
11 กรกฎาคม 2010

Copyright (c) 2010 Text (All Pictures & Illustration is own by Mitsubishi Motors Corporation
& Chrysler Corporation) Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

July 11th,2010

Video provides a powerful way to help you prove your point. When you click Online Video, you can paste in the embed code for the video you want to add. You can also type a keyword to search online for the video that best fits your document.