คุณผู้อ่าน ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1990 น่าจะยังพอจดจำ ได้ว่า ครั้งหนึ่ง ช่วงปี 1996 – 1997 ก่อนที่ประเทศไทย จะเจอวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง Crisis อันเป็นผลมาจากการลดค่าเงินบาทกระทันหัน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 นั้น Volvo สมัยที่ยังทำตลาดในประเทศไทย โดย บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด พวกเขาเคยสั่งรถยนต์ขนาดเล็กเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย เพื่อต่อยอดปรากฎการณ์ความสำเร็จจาก Volvo 440 / 460 รถยนต์รุ่นนั้น คือ S40 และ V40 คู่หู 2 ศรีพี่น้อง ตัวถัง Sedan และ Station Wagon ที่มีรูปทรง สวยงาม ลงตัว และขายดิบขายดี ในหมู่ลูกค้าชาวไทยอย่างมาก

S40 / V40 รุ่นแรก มีอายุตลาดในสากลโลก ช่วงปี 1995 ถึง เดือนธันวาคม 2004 และกลายเป็นรถยนต์อีกตระกูล ที่สร้างชื่อให้กับ Volvo ในบ้านเรา ต่อเนื่องจาก 200 Series ในยุค 1975 – 1989 (240 , 244 และ 264) 700 Series (740 และ 760) ในปี 1984 รวมทั้ง ตระกูลรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดใหญ่รุ่นแรกที่พวกเขาพัฒนาขึ้นเอง อย่าง 850 ในปี 1994

เพียงแต่ว่า จะมีสักกี่คน ที่พอจะจำได้ว่า Volvo S40 / V40 รุ่นแรกนั้น มีฝาแฝด….แถมแฝดคันนี้ ยังเป็นรถญี่ปุ่นอีกด้วย!? รถคันนั้น ก็คือ Mitsubishi CARISMA ผลผลิตจากความสัมพันธ์ที่ดีในตอนต้น แต่เจออุปสรรคต่างๆมากมาย จนลงท้ายกลายเป็นรถยนต์ที่หมดอนาคตไปอีกรุ่นหนึ่ง

Volvo ไปเกี่ยวข้องกับ Mitsubishi Motors ได้อย่างไร โครงการนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และตอนจบของเรื่องนี้ เป็นอย่างไร เราจะพาคุณผู้อ่าน ย้อนเวลากลับไปยังช่วงปี 1991 กัน

ตลาดรถยนต์ในยุโรป ช่วงทศวรรษ 1970 – 2000 นั้น นอกเหนือจาก บรรดารถยนต์นั่งขนาดเล็ก ขับเคลื่อนล้อหน้า กลุ่ม B-Segment และ C-Segment จะเป็นตลาดหลักแล้ว ยังมีอีกกลุ่มตลาดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ รถยนต์นั่ง กลุ่ม C-D Segment

งงใช่ไหมละครับ ทำไมต้อง C-D Segment ? จะเป็น C-Segment หรือ D-Segment ไปเลยไม่ได้หรือยังไง?

อธิบายให้เข้าใจกันง่ายขึ้นก็คือ ช่วงทศวรรษ 1970 – 1980 นั้นตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลางในยุโรป ยังคงได้รับความนิยมอยู่ โดยมีผู้เล่นหลักๆ อย่าง Ford Cortina , Peugeot 504 , Opel Ascona B และ Vauxhall Cavalier (คนละตัวถังกันในตอนนั้น) Fiat 131 ฯลฯ เหตุผลเพราะขนาดตัวรถเหมาะสม กับขนาดสรีระของชาวยุโรปในยุคนั้น และราคายังพอเอื้อมถึงกันไหว ไม่ได้แพงโดดจนเทียบชั้นกับพวก Premium Compact อย่าง Mercedes-Benz 190 E และ BMW 3-Series E21 ในตอนนั้น

ขณะเดียวกัน รถยนต์นั่งขนาด Compact C-Segment จากผู้ผลิตฝั่งญี่ปุ่น อย่าง Toyota Corolla , Nissan Sunny , Nissan Cherry / Pulsar หรือ แม้แต่ Mitsubishi Lancer กับ Mitsubishi Colt ในขณะนั้น ยังมีขนาดเล็กไปหน่อย เมื่อเทียบกับ รถยนต์ C-Segment ในยุโรปยุคนั้น ทั้ง Volkswagen GOLF , Ford Escort , Opel Kadett (ต่อมาเป็น Astra) Fiat Ritmo (ต่อมาเป็น Tipo / Tempra) ขณะเดียวกัน รถยนต์กลุ่ม D-Segment ในตอนนั้น อย่าง Ford Granada , Opel Senator / Vauxhall Carlton ก็มีขนาดใหญ่ไปหน่อย สำหรับคนยุโรปทั่วไป ทำให้ กลุ่ม CD-Segment ค่อยๆถือกำเนิดขึ้นมาอย่างช้าๆ แต่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม ตลาดกลุ่ม CD-Segment และ D-Segment นี้ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในยุคทศวรรษ 1980 หลังจากที่ GM Europe เปิดตัว Opel Ascona C พ่วงเข้ากับ Vauxhall Cavalier รุ่นที่ 2 จนได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่ Ford เพลี่ยงพล้ำจากการฉีกแนวทางการออกแบบของ Ford Cortina เดิม มาเป็น Ford Sierra ในปี 1983 จนลูกค้าชาวยุโรป Shock ไม่ชอบ และส่งผลต่อยอดขายที่ลดลง ขณะเดียวกัน ในปี 1987 Peugeot 405 ก็ออกมาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถยนต์กลุ่มนี้ และคว้ารางวัล European Car of the Year ในปี 1988 ไปครอง สมรภูมินี้เริ่มเดือดยิ่งขึ้น เมื่อ GM Europe ตัดสินใจส่ง Opel Vectra / Vauxhall Cavalier ใหม่ ออกมารับมือในปี 1988

Ford ตัดสินใจแก้มือ ด้วยการซุ่มพัฒนา รถยนต์ขนาดกลางรุ่นใหม่ของพวกตน ในชื่อ Ford Mondeo เปิดตัวในปี 1993 ด้วยเหตุที่เน้นความปลอดภัย ด้วยการติดตั้งถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับให้ทุกรุ่นย่อย เป็นรายแรกในตลาดกลุ่มนี้ แถมยังมีขนาดตัวรถใหญ่กว่าชาวบ้านเขาทั้งหมดในตอนนั้น ทำให้ Mondeo รุ่นแรก ไม่เพียงประสบความสำเร็จด้านยอดขาย แต่ยังคว้ารางวัล European Car of the year ในปีนั้นไปครองได้สำเร็จ อีกด้วย แถมยังทำยอดขายแซงหน้า Cavalier / Vectra ได้สำเร็จอีกต่างหาก ไม่เพียงเท่านั้น Renault จากฝรั่งเศส ก็เปลี่ยนโฉมให้กับ รถยนต์ขนาดกลาง อย่าง Renault 21 มาเป็น Renault Laguna ซึ่งพลิกโฉมจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จนดูโค้งมน สวยงาม และร่วมสมัยมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ

ความหอมหวานของตลาดกลุ่ม CD Segment ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งญี่ปุ่นเอง ก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดกลุ่มนี้กับเขาบ้าง ในทศวรรษ 1970 – 1980 Toyota เคยนำ Toyota Corona รุ่นปี 1970 (RT80 Series) เข้าไปทำตลาด แล้วพบว่า ลูกค้าชาวยุโรป ต้องการความแตกต่างจากปกติ Toyota เลยตัดสินใจ พัฒนา Toyota Carina ขึ้นมา ให้มีรูปทรงทะมัดทะแมงขึ้น เอาใจชาวยุโรปมากกว่า Corona ส่งออกจากญี่ปุ่นไปขายในยุโรป แต่ยอดขาย ก็เป็นไปแบบเรื่อยๆ ไม่หวือหวา แม้จะเปลี่ยนแผน มาเป็นการนำ Corona ST-170 Series ปี 1987-1991 (16 วาล์ว รุ่นแรกในไทย) และ ST-190 Series ปี 1991-1996 (บ้านเรารู้จักในฉายา รุ่นท้ายโด่ง) ไปเปลี่ยนชื่อเป็น Toyota Carina E ทำตลาดในยุโรปมายาวๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก จนต้องยอมพัฒนา ตระกูล D-Segment ขึ้นมาใหม่ อย่าง Toyota Avensis ออกสู่ตลาด ในปี 1997 จนเริ่มขายดิบขายดีบ้าง มีอายุตลาดได้นานถึง 3 Generation ก็ค่อยๆเลิกทำตลาดไปในปี 2015

Nissan เอง ก็เคยส่ง Bluebird เข้าไปขายในยุโรป ในชื่อ 180B ต่อเนื่องมาจนถึง Datsun Bluebird 910 ทว่า ยอดขายไม่ค่อยดี จนต้องนำ Nissan Stanza / Auster เข้าไปสวมชื่อ Bluebird ทำตลาดแทน แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น กระทั่งต้องซุ่มพัฒนา Nissan Primera เปิดตัวในปี 1990 และกลายเป็นจุดสนใจของชาวยุโรปขึ้นมา ทำให้ตัวเลขยอดขาย เริ่มก้าวขึ้นมาเทียบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ผลิตชาวยุโรปได้ แถมยังคว้ารางวัลต่างๆมากมายเป็นผลพลอยได้ Primera มีอายุตลาดได้ 3 Generation ก่อนจะยุติบทบาทไปเช่นเดียวกับ Toyota Avensis ในช่วงปี 2010

Honda พยายามเอาชนะตลาดกลุ่มนี้ ด้วยการเริ่มทำ Accord เวอร์ชันสำหรับตลาดยุโรป เป็นครั้งแรกในปี 1992 โดยเอา Honda Ascot Innova ในญี่ปุ่น มาปรับปรุง เพิ่มทางเลือกขุมพลัง Diesel Turbo จาก Isuzu พอถึงเวลาเปลี่ยนโฉมในปี 1997 พวกเขาก็สร้าง Accord เวอร์ชันยุโรป ขึ้นมาเป็นพิเศษ แยกออกมาจากตัวถังอื่นๆ แถมยังมีเวอร์ชันแรงพิเศษ Accord Type-R ด้วย แต่สุดท้าย ก็ต้องจบลงที่การนำ เวอร์ชันยุโรป กับญี่ปุ่น มาพัฒนาพ่วงกัน ออกสู่ตลาดในปี 2002 พร้อมเวอร์ชันแรงพิเศษ Accord Euro R สำหรับตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น ตัวถังจะเล็กกว่าเวอร์ชันไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร Honda พา Accord ออกจากยุโรป ในช่วงราวๆปี 2010

Mazda ในฐานะ รถญี่ปุ่นที่ชาวยุโรป โดยเฉพาะคนเยอรมัน ยอมรับมากที่สุด ปักหลักสร้างยอดขายอยู่กับ Mazda Capella ในชื่อ Mazda 626 มาตั้งแต่ปี 1978 และทำยอดขายได้ดีมาตลอด ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2000 พวกเขาจึงตัดสินใจ ปรับ Positioning ออกตัวตายตัวแทนมาเป็น Mazda 6 และทำตลาดมายาวๆ จนถึงวันนี้

Mitsubishi Motors เอง เฝ้ามองตลาดกลุ่มนี้มานานแล้ว ในตอนนั้น พวกเขามี Mitsubishi Lancer E-Car ซึ่งมีขนาดเล็กไปในการบุกตลาด C-Segment ของยุโรป และ Mitsubishi Galant (โฉม Ultima ในบ้านเรา) ปี 1992 ซึ่งมีขนาดใหญ่โตขึ้นเพื่อไปฟาดฟันกับ Ford Mondeo และ Peugeot 406 ที่ตามออกมาหลังจากนั้น ทำให้เกิดช่องว่างในตลาด ระหว่าง Lancer และ Galant

ถึงแม้ว่าในอดีต พวกเขาเคยพัฒนารถยนต์ขนาด “คร่อมกลาง” แบบนี้มาแล้ว เพื่อให้เป็น “World Car” อย่างแท้จริง นั่นคือ Mitsubishi Tredia Sedan ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาร่วมกับ Mitsubishi Cordia Coupe ในเดือนกรกฎาคม 1979 โดยใช้เวลาในการทำงานสั้นมาก ระดับทีมออกแบบชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง ยังงง! ทัั้งคู่จูงมือกันเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1982 ก่อนจะทะยอยส่งไปเปิดตัวในตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกา จนครบทุกประเทศเป้าหมาย ช่วงเดือน ตุลาคม 1982

ทั้ง Tredia และ Cordia เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า รุ่นที่ 2 ต่อเนื่องจาก Mirage / Lancer Fiore / Colt / Colt F รุ่นแรกซึ่งเปิดตัวออกมาในปี 1978 วางเครื่องยนต์ ตั้งแต่ รหัส 4G12 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1.4 ลิตร (1,410 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 74 x 82 มิลลิเมตร กำลังอัด 9 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว 70 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที

ตามด้วย รหัส 4G32 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1.6 ลิตร (1,597 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76.9 x 86 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว มีทั้งเวอร์ชันปกติ 75 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.8 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที จนถึง 4G32 เวอร์ชันพ่วง Turbocharger 114 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.3 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที

ทุกรุ่น มีระบบส่งกำลังให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ แบบปกติ หรือ เกียร์ธรรมดา แบบ 4 จังหวะแบบ Super Shift (มีคันโยก Low กับ High แยกออกมาต่างหาก อัตราทดต่างกัน เลยถูกโฆษณาว่าเหมือนเป็นเกียร์ธรรมดา 8 จังหวะ เคยมีมาขายในบ้านเรา โดยติดตั้งอยู่ใน Mitsubishi Mirage / Colt F รุ่นแรก) และเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion ช่วงล่างด้านหน้าแบบ MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Trailing Arm ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม

แต่ด้วยเหตุที่ตัวรถ ทำออกมาแล้วยังไม่โดนใจลูกค้า จึงมีการเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ แทบทุกปี ทั้งรุ่น 4WD ไปจนถึงรุ่นแรงสุด ขุมพลัง 4G63 เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร พ่วง Turbocharger 135 แรงม้า (PS) แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เวอร์ชันญี่ปุ่น ยุติการทำตลาดไปในปี 1987 แต่เวอร์ชันส่งออก ยังคงลากจำหน่ายจนถึงปี 1990

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Cordia จะทำยอดขายรวมในญี่ปุ่นได้ต่ำกว่า 33,000 คัน และทำยอดขายทั่วโลกได้แค่ 122,705 คัน ตลอดอายุตลาด อีกทั้งยอดขาย ของ Tredia กลับไม่เป็นไปตามคาดหวังในทิศทางเดียวกัน แต่…จากบทเรียนดังกล่าว Mitsubishi Motors เริ่มมองว่า ตลาดกลุ่มนี้ การแข่งขันรุนแรง และ Tredia เอง ก็ไม่ใช่รถยนต์ที่แย่ แต่แค่ว่า งานออกแบบ สวย เรียบง่าย แบบรถยุโรป ทว่า ขาดเสน่ห์ และเส้นสายอันจะเป็นเอกลักษณ์ประจำรุ่น ที่ดูเท่ และทำให้ลูกค้าจดจำได้

เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา ตลาดกลุ่ม CD-Segment ในยุโรป เริ่มแข่งขันกันดุเดือนสาหัสกว่าเดิม  กระนั้น Mitsubishi Motors เอง ก็ได้แต่เฝ้าดูอยู่พักใหญ่ ว่าจะเอาอย่างไรกับตลาดกลุ่มนี้ดี จะถอยออกมาอยู่ห่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนั้น หรือเริ่มต้นเดินหน้าทำรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาเพื่อตลาดกลุ่มนี้ ถึงจะดีกว่ากัน?

พูดให้ง่ายๆคือ จากการวิจัยตลาด พวกเขาพบว่า มีลูกค้าในยุโรป มีมากพอให้เสี่ยงลงทุนทำรถขึ้นมาใหม่ 1 รุ่น แต่ถ้าต้องลงทุนสูงมากระดับนั้น เพื่อพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่นี้เองทั้งคัน โอกาสที่รถยนต์ขนาดกลางจากโครงการนี้ จะขายดี แต่ขาดทุน เป็นไปได้สูง มันอาจจะไม่คุ้ม เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดขายที่จะได้รับจากตลาดยุโรป

ทางที่ดีในแง่ธุรกิจ คือต้องหาพันธมิตร มาร่วมลงทุน หรือแชร์ Platform งานวิศวกรรม และ Partner รายนี้ ควรมีโรงงานกับระบบ Supply chain ในยุโรปเองอยู่แล้ว เพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงไปได้อีกเยอะ

ขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลกหนึ่ง ที่เมือง Gothenberg ประเทศ Sweden ทางฝั่ง Volvo เอง นั้น สถานการณ์ด้านการเงิน ยังค่อนข้างหมิ่นเหม่ต่อหายนะ แม้ว่า จะรอดปากเหวมาได้หวุดหวิด จากความสำเร็จของ Volvo 700 Series (760 และ 740) ซึ่งเปิดตัวในตลาดโลกเมื่อปี 1982 ซึ่งขายดิบขายดี จนทำให้มีทุนมาต่อยอด ขยายรุ่นรถยนต์เพิ่มเติม จนถึงตระกูล 850 ในปี 1993 ทว่า สำหรับน้องเล็ก 300 Series ทั้ง 340 และ 360 ซึ่งถูกเปลี่ยนโฉมใหม่เป็น 400 Series อย่าง 440 / 460 และอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 1989 นั้น ก็ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนโฉมใหม่ ในปี 1995 กันแล้ว

คุณผู้อ่าน อาจไม่รู้ว่า ความจริงแล้ว การพัฒนารถยนต์นั่งนั้น ต่อให้ขนาดรถจะเล็ก แบบ B-Segment หรือใหญ่ แบบ C-Segment ไปจนถึงพวกรถที่มีพิกัดตลาด “คร่อมตรงกลาง” อย่าง C-D Segment นั้น ต้นทุนแทบไม่ได้แตกต่างกันมาก ทว่า ยิ่งตัวรถมีขนาดเล็กเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องคำนึงถึงการตั้งราคา ให้แข่งขันกับตลาดได้ จนทำให้กำไรต่อคัน น้อย และไม่คุ้มกับความเสี่ยงทางธุรกิจ

สำหรับ Volvo พวกเขาต้องการ สร้างรถยนต์รุ่นเปลี่ยนโฉมให้กับ 440/460 ออกมาในชื่อ S4 และ V4 (ก่อนจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น S40 / V40 เพราะทาง Audi ท้วงติงมาว่าชื่อไปพ้องกับ Audi S4) เพื่อหวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเริ่มมีรถยนต์ Volvo หรือรถยุโรป คันแรกในชีวิต

ส่วน Mitsubishi Motors เอง ก็อยากจะพัฒนารถยนต์นั่งขนาดกลางรุ่นใหม่ เพื่อแทรกตัวอยู่ตรงกลาง ระหว่างตระกูล Mirage / Lancer และ พี่ชายกลาง D-Segment อย่างตระกูล Galant

ความต้องการของทั้ง 2 บริษัท จาก 2 ฝั่งซีกโลก นำพาให้ทั้งคู่เริ่มต้นมาเจรจากัน ช่วงปลายปี 1989 ถึง ต้นปี 1990 ท้ายที่สุด หลังจากการเจรจา และตกลงเป็นพันธมิตร ทำโครงการรถยนต์ขนาดกลางร่วมกัน จึงมีการจดทะเบียน บริษัท NedCar ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1991 ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง Volvo Car Corporation (VCC), Mitsubishi Motors Corporation (MMC) และรัฐบาล Netherlands

แรกเริ่มเดิมที โรงงาน NedCar ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1967 โดยบริษัท van Doorne’s Aanhangwagen Fabriek หรือ DAF ผู้ผลิตรถบรรทุกเก่าแก่ อายุกว่า 96 ปี ของ Netherland โดยโรงงานแห่งนี้ ตั้งขึ้นในเมือง Born เพื่อผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล DAF ทั้งรุ่น DAF 33, DAF 44 , DAF 55 , DAF 66 และ DAF 46 จนกระทั่ง สถานทางการเงินของ DAF มีปัญหาอย่างหนัก

เดือนกันยายน 1972 A.B.Volvo จาก Sweden จึงประกาศซื้อหุ้นบริษัทกิจการรถยนต์นั่ง DAF Car B.V.จำนวน 33% จาก DAF การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อปี 1973 ก่อนจะเพิ่มทุนเป็น 75% ในปี 1975 และทำให้ Volvo กลายเป็นเจ้าของกิจการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของ DAF ไปในที่สุด ส่วน DAF ก็ตัดสินใจว่าจะเลิกพัฒนาและจำหน่ายรถเก๋ง เพื่อมุ่งผลิตแต่รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ออกขายเพียงอย่างเดียว นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เท่ากับว่า ระหว่างปี 1972 – 1991 โรงงานแห่งนี้ จึงเป็นของ Volvo เป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ตระกูล 400 Series ทั้ง 440 Hatchback , 460 Saloon เป็นหลัก (แน่นอนว่า ช่วงที่มีการลดเพดานภาษีนำเข้ารถยนต์ในประเทศไทย ช่วงรัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปัณยารชุน ในปี 1992 มีผู้จำหน่ายรายย่อย ชื่อ Motor Way สั่งนำเข้า 460 ตัดหน้าผู้จำหน่าย Volvo ในไทย อย่าง สวีเดนมอเตอร์ส เข้ามาทำตลาดในช่วงสั้นๆ จน สวีเดนมอเตอร์ส ต้องแก้เกมด้วยการสั่งนำเข้า 460 จาก NedCar แห่งนี้ มาขายแข่งด้วยในเวลาต่อมา

ทว่า หลังจากการเจรจา และตกลงเป็นพันธมิตร ทำโครงการรถยนต์ขนาดกลางร่วมกัน ระหว่าง Volvo Car Corporation (VCC), Mitsubishi Motors Corporation (MMC) และรัฐบาล Netherlands เมื่อ 1 ธันวาคม 1991 ผลจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้โรงงาน NedCar กลายเป็นฐานการผลิตหลัก ของรถยนต์ 2 รุ่น อันเกิดจากความร่วมมือดังกล่าว นั่นคือ Volvo S40/V40 รุ่นแรก และ Mitsubishi Carisma นั่นเอง โดยมีเป้าหมายในการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัท Supplier หรือ Part Maker ในยุโรป สูงถึง 85%

การพัฒนา CD-Segment Sedan & Hatchback รุ่นนี้ ทีมวิศวกรของ Mitsubishi Motors เป็นผู้รับบทบาทหลัก เพราะทั้ง Mitsubishi Motors และ Volvo ตัดสินใจร่วมกันที่จะนำ Platform ของ Mitsubishi Lancer E-Car (1991-1995) มาเป็นพื้นฐาน ดัดแปลง และต่อยอด เพื่อให้ได้สมรรถนะ ที่เหมาะสมกับตัวรถ และต้นทุนที่มีอยู่ โดย Volvo นำ Platform ของ Lancer ไปปรับปรุงด้านความปลอดภัยให้สูงขึ้นจนได้มาตรฐานของพวกเขาเอง เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ใน S40/V40

ขณะเดียวกัน Mitsubishi Motors พัฒนา รถคันนี้ขึ้น ภายใต้รหัสโครงการ MX โดยรูปลักษณ์ภายนอก ของรถยนต์ทั้ง 2 ตัวถัง ถูกออกแบบขึ้นจากทีมงาน ซึ่งนำโดย Kiyoshi Honda นักออกแบบอาวุโสของ Mitsubishi Motors ผู้ซึ่งฝากผลงานไว้กับรถยนต์รุ่นต่างๆในอดีตไว้มากมาย

ส่วนชื่อรุ่น หลังจากเฟ้นหากันอยู่นาน Mitsubishi Motors ตัดสินใจเลือกตั้งชื่อ รถยนต์ CD-Segment รุ่นใหม่นี้ ว่า CARISMA โดยเป็นการเล่นกับคำพ้องเสียง จากคำว่า “kharisma” ในภาษา Greek ซึ่งแปลว่า “divine gift” หรือ”ของขวัญ ศักดิ์สิทธิ์”

ในเมื่อ Carisma ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบุกตลาดยุโรปเป็นหลัก ดังนั้น ฐานการผลิตของ Carisma จะต้องอยู่ในทวีปยุโรปเท่านั้น เพื่อให้ต้นทุนด้านการขนส่ง Logistic ต่างๆ ถูกลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่า Carisma จึงถูกนำไปขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน NedCar ร่วมกันกับ Volvo S40/V40 รุ่นแรกนั่นเอง

World Premier / Global Debut / European Launch
January 30th, 1995

Mitsubishi Carisma เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1995 ผ่านทาง ภาพถ่าย และข้อมูลเบื้องต้นของตัวรถ ในเอกสารข่าวแจก Press Release ที่ถูกส่งถึงมือของสื่อมวลชนทั่วโลกก่อนหน้านั้น ไม่กี่วัน และมีการขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่ได้รับภาพถ่าย ตีพิมพ์ในเวลาที่กำหนด (ระบบ Embargo)

จากนั้น Mitsubishi Motors ก็นำ Carisma ไปเปิดตัวครั้งแรกในโลก แบบ World Premier ที่งาน Geneva Auto Salon เดือนมีนาคม 1995 แน่นอนว่า ปฏิกิริยาของชาวยุโรป ค่อนข้างอยู่ในเชิงบวก ต้องยอมรับว่า ในห้วงเวลานั้น คู่แข่งท้องถิ่น อย่าง Peugeot 406 และ Opel/Vauxhall Vectra Generation 2 ก็เพิ่งจะเริ่มออกสู่ตลาดพร้อมๆกัน แต่ด้วยการที่ Carisma ถือเป็นรถยนต์นั่งรุ่นแรกของ Mitsubishi Motors ที่มีฐานการผลิตในยุโรป ก็ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้พอจะต่อกรกับเพื่อนฝูงร่วมพิกัดได้ประมาณหนึ่ง

หลังการเปิดตัวไปราวๆ 2 เดือน โรงงาน NedCar ก็เริ่มเปิดสายการผลิต Carisma ควบคู่ไปกับ Volvo S40/V40 ในเดือนพฤษภาคม 1995 ก่อนจะเริ่มส่งขึ้นโชว์รูม Netherlands / Holland เป็นแห่งแรก ในเดือนมิถุนายน 1995 จากนั้น ตามด้วย เยอรมนี อังกฤษ และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ตามมาเป็นลำดับ

Carisma Hatchback 5 ประตู มีความยาว 4,435 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,405 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,500 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า ตั้งแต่ 1,105 – 1,175 กิโลกรัม

พูดกันตามตรงแล้ว แม้ว่าตัวรถจะถูกออกแบบให้มีตำแหน่งการตลาดแทรกตัวตรงกลางระหว่าง Lancer และ Galant ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Ford Mondeo ซึ่งเป็นรถยนต์ Mid-size Saloon Hatchback และ Estate ที่ขายดีที่สุด และมีตัวถังขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดยุโรปแล้ว Carisma ก็ยังมีความยาวระยะฐานล้อ (Wheelbase) สั้นกว่า Mondeo ถึง 150 มิลลิเมตร เลยทีเดียว ยังไม่ต้องนับ Peugeot 406 ที่เปิดตัวออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน อีกต่างหาก

เส้นสายภายนอก เน้นความโค้งมน ดูร่วมสมัย เรียบง่าย แต่เรียบหรู ไม่ต้องมีเส้นสายรุงรัง หรือลูกเล่นใดๆมากนักในรุ่น Sedan แต่สำหรับรุ่น Hatchback แล้ว ชุดไฟท้าย ถูกออกแบบให้ล้อไปกับ Mitsubishi Lancer รุ่นปี 1995 ที่เปิดตัวในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่กี่เดือน คือขอบด้านบนสุด ขึ้นไปจรดกับขอบฝากระโปรงหลัง และมีแผงทับทิมยื่นออกมาด้นข้าง เพื่อเสริมความกว้างของตัวรถ ให้เหมาะสมกับตำแหน่งของช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ขณะที่ชุดไฟท้ายของรุ่น Sedan จะมาในแบบเรียบๆ เพื่อให้ง่ายต่อการแยกแยะความแตกต่างในสายตาของผู้คนทั่วไป ตัวรถเลยดูเรียบๆมากกว่ารุ่น Hatchback แต่ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ต่ำ Cd.0.29

ภายในห้องโดยสาร ออกแบบโดยใช้เส้นโค้ง เน้นไปที่ความโค้งมน ให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ภายนอก มีการจัดวาง Layout ของชุดมาตรวัด แผงควบคุม และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้สะดวกต่อการใช้งาน เห็นได้ง่าย ชิ้นส่วนที่ทำจากพลาสติกมีการเล่นลวดลายเล็กน้อย

เบาะนั่งคู่หน้า และด้านหลัง มีขนาดใหญ่ ถูกออกแบบโดยมีการคำนวนค่าความโค้งมนในแต่ละตำแหน่งมาเป็นอย่างดี รวมทั้งการเลือกใช้ ฟองน้ำมาเป็น Seat Cushion เพื่อให้โอบกระชับรับกับสรีระ เพิ่มความสบายให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร แถมยังสามรารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ 240 มิลลิเมตร และมีคันโยกปรับระดับเบาะรองนั่ง สูง – ต่ำมาให้ ผู้ขับขี่ได้ปรับตำแหน่งนั่งจนเหมาะสมกับร่างกายของตน

นอกจากนี้ วัสดุหุ้มเบาะและแผงประตู ยังถูกตกแต่งด้วยผ้า ซึ่งมีพื้นผิวที่ทำให้เกิดความนุ่มละมุนแบบรถยนต์นั่งระดับหรูกว่า ผนวกกับการจัดวาง Packaging ภายใน ได้อย่างละเอียดรอบคอบ ทำให้พื้นที่ทุกจุดของภายในห้องโดยสาร สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

การเลือกใช้โทนสีภายในห้องโดยสารนั้น หลักๆจะเป็นสีเทา แต่เบาะนั่งจะเป็นแบบ Half Lining แผงประตูเป็นสี Light grey พรมปูพื้นเป็นสี Dark grey ส่วนชิ้นงานพลาสติกช่วงตรงกลางนั้นจะเป็นสี เทาปกติ ซึ่งแต่ละส่วนนั้นจะมีการเล่นกับความสว่างที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกกว้างขวาง ผ่อนคลาย ตามแนวคิด Relax & calm
นอกจากนี้ แผงควบคุมกลาง ชุดมาตรวัด และมือจับเปิดประตู หรือคันโยกปรับเบาะนั่ง จะใช้พลาสติกสีดำเพื่อเป็นการแยกให้โดนเด่นว่าเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปรับระดับต่างๆ

เครื่องปรับอากาศมีทั้งแบบมาตรฐาน มือหมุน 3 วงกลม และแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital ด้านบนแผงหน้าปัด ฝั่งซ้าย เป็นถาดวางของจุกจิกชั่วคราว มีช่องเก็บแว่นกันแดด ช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ขนาด S และ L พับซ่อนเก็บไว้ใต้แผงคอนโซลกลาง สวิตช์เปิด-ปิดฝาท้าย อยู่ที่ด้านหลังรถ หรือ คันโยกที่พื้นรถฝั่งคนขับ และในบางรุ่นย่อย บางประเทศ สามารถเลือกสั่งติดตั้งระบบกุญแจแบบ Keyless Entry กดปุ่มล็อก – ปลดล็อกที่รีโมท ได้

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาด 430 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี สามารถเพิ่มพื้นที่ได้ด้วยการพับเบาะแถวหลัง ซึงสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40

ด้านอุปกรณ์ ความปลอดภัย ช่วงแรก ติดตั้ง ถุงลมนิรภัย SRS (Supplemental Restraint System) มาให้ เฉพาะคู่หน้า (ฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย) เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด คู่หน้า ปรับระดับสูง-ต่ำ ได้ ทั้งหมดนี้ ติดตั้งอยู่ใน โครงสร้างตัวถังนิรภัย RISE ซึ่งถูกออกแบบให้มีการกระจายแรงกระแทกจากการชนอย่างเหมาะสม

ช่วงแรกที่เปิดตัวในตลาดยุโรป Carisma มีขุมพลังให้เลือกทั้งหมด 3 แบบ บนพื้นฐานจากเครื่องยนต์ตระกูลใหม่ในเวลานั้น ในชื่อ 4G9 เบนซิน 4 สูบ พิกัด 1.8 ลิตร พร้อมหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi โดยทุกเวอร์ชัน ด้านบนของ แต่ละกระบอกสูบ จะมีวาล์วไอดี และวาล์วไอเสีย ฝั่งละ 2 รวมเป็น 16 วาล์ว จุดเด่นของเครื่องยนต์รหัส 4G9 คือการออกแบบห้องเผาไหม้ ให้เป็นแบบ Compact ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพในการดูดไอดี และคายไอเสีย รวมทั้งประสิทธิภาพในการสันดาป Thermal Efficiency ทำได้ดี

นอกจากนี้ การใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงเป็นหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI Multi ที่ฉีดเชื้อเพลิงเป็นฝอยละอองและควบคุมสัดส่วนอากาศต่อเชื้อเพลิงจึงทำให้มีความเสถียรไม่ว่าจะเป็นช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ หรือ รอบสูงๆ ก็ตาม

อีกทั้งเพื่อทำให้การเผาไหม้เสถียรสอดคล้องกับสถานการณ์การขับขี่ในรูปแบบต่างๆนั้น Mitsubishi Motors ได้ใช้เทคโนโลยีเฉพาะต่างๆทั้ง การควบคุมดูดลมไอดีในกระบอกสูบเป็นแบบกระหมุน Tumble, roller locker arm ที่ลดการเสียดสีต้านทานของระบบขับวาล์ว ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการอัดเทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับเครื่องยนต์รถเก๋ง อีกทั้งในส่วนของ air intake timing ยังมีการtuningในแต่ละส่วนและการใช้ long stroke ยังทำให้มีแรงบิดรอบในย่านตำถึงกลางที่ดีสมำเสมอทำให้สามารถเร่งความเร็วได้ไม่มีสะดุดอีกทั้งยังช่วยเรื่องประหยัดในยามวิ่งด้วยความเร็วสูงควบคู่กันไปได้ทั้งสองมิติ

นอกจากนี้ เครื่องยนต์ใหม่ ยังสามารถผ่านกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ทั้งในเรื่องมลพิษทางเสียง และการปล่อยก๊าซไอเสีย ดังนั้น Carisma ไม่เพียงให้ความสบายใจในการขับขี่ที่ประหยัด แต่ยังได้เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

– เครื่องยนต์ รหัส 4G92 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด 90 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร (14.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยทางเลือก เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ INVECS-II

– เครื่องยนต์ รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด 115 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 162 นิวตันเมตร (16.5 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยทางเลือก เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ INVECS-II

– เครื่องยนต์ รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 167 นิวตันเมตร (17.0 กก.-ม.) ที่ 5,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วย เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงแบบเดียว

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link ระบบห้ามล้อ คู่หน้าเป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรก พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Brake System) มาให้

ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากจะใช้น้ำยาแอร์ HFC134a แล้ว Carisma ยังเป็นรถยนต์รุ่นแรกในโลก ที่ใช้วัสดุ Plastic แบบ Green PVC ในการ under coating จึงทำให้ลดการเกิด dioxin ซึ่งเกิดขึ้นตอนที่เผาทิ้งหลังทำลายรถได้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน เปลือกกันชนหน้า-หลัง ทำจาก Thermo Plastic Polypropylene ที่มีความยืดหยุ่น คงทน และผ่านเข้ากระบวนการ Recycle ได้ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเพิ่มสัดส่วนจำนวนชิ้นส่วนที่สามารถนำไป Recycle กลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเลิกใช้ของเหลวที่ผสมในโลหะหนัก, การไม่ใช้สาร Freon (CFC), การใช้ปะเก็น non asbestos, การเพิ่มอายุขัยชิ้นส่วน และอีกสารพัดวิธีการอื่นๆที่สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกได้ในระยะยาว

สำหรับตลาดสหราชอาณาจักร และอังกฤษ เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค ในช่วงออกสู่ตลาด The Colt Car Company Ltd. ผู้จำหน่าย รถยนต์ Mitsubishi ในประเทศดังกล่าว มอบหมายให้ บริษัท TWR Design จำกัด (Tom Walkinshaw Racing) จากเมือง Leafield , Oxford-shire ออกแบบชุด Aero Part รอบคัน ให้กับ Carisma รวมทั้งติดตั้งเบาะนั่งคู่หน้า ทรง Sport จาก RECARO ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง GoodYear EAGLE F1 ตกแต่งภายในด้วย Carbon Fibre , Kevlar และวัสดุหนังสังเคราะห์ จัดทำขึ้นมาเป็นรถยนต์ต้นแบบ สีน้ำเงิน ในชื่อ Mitsubishi Carisma “Evolution” Model By TWR Design เพื่อจัดแสดงในงาน London Motor Show ระหว่างวันที่ 19 – 29 ตุลาคม 1995 อันเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ Mitsubishi Carisma ในอังกฤษ แต่หลังจากนั้น รถคันนี้ กลับไม่ได้ถูกนำมาต่อยอดเพื่อการผลิตขายจริงแต่อย่างใดทั้งสิ้น

New Variant added : Sedan & Diesel
October 1st, 1995

หลังการเปิดตัว Carisma ด้วยตัวถัง Hatchback 5 ประตูแล้ว แผนการลำดับถัดมาคือ การส่งตัวถัง Sedan 4 ประตู ออกอวดโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรก เริ่มจากภาพถ่ายอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 1995 จากนั้น ตามด้วยการเปิดผ้าคลุมบนแท่นหมุน ในงาน Paris Auto Salon เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1995 เพื่อเป็นการเสริมทัพ เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า

ช่วงเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากเครื่องยนต์ เบนซิน ซึ่งยังไม่มีการปรับปรุงใดๆแล้ว ยังมีเสียงเรียกร้องของลูกค้าชาวยุโรป ในตอนนั้น ที่เริ่มต้องการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์นั่ง ขุมพลัง Diesel กันมากขึ้น ทว่า Mitsubishi Motors ไม่ได้พัฒนาเครื่องยนต์ Diesel สำหรับรถยนต์นั่ง Passenger Cars เลย พวกเขาทำแต่เครื่องยนต์ 4D56 และ 4M40 สำหรับรถกระบะ L200 รถตู้ L300 และรถบรรทุกขนาดเล็กอย่าง Canter เท่านั้น

ทางออกที่ง่ายดายสุดคือ การใช้สายสัมพันธ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ระหว่างพันธมิตรของตน อย่าง Volvo เพื่อซื้อเครื่องยนต์ Diesel จากอดีตคู่ค้าเก่าของชาวสวีเดนอย่าง RENAULT จากฝรั่งเศส ดังนั้น Carisma จึงมีทางเลือกขุมพลัง Diesel เพื่อเอาใจลูกค้าชาวยุโรป เพิ่มเข้ามา

ขุมพลังดังกล่าว เป็นเครื่องยนต์ รหัส F8QT Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,870 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80 x 93 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีด ปั้มดีเซล 90 แรงม้า (PS) ที่ 4,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 176 นิวตันเมตร (17.93 กก.-ม.) ที่ 2,250 รอบ/นาที ขับเคลื่อนหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงแบบเดียว เป็นขุมพลังเดียวกับที่วางใน Volvo S40/V40 รุ่นแรก และขุมพลังนี้ มีจำหน่ายเฉพาะตลาดยุโรปบางประเทศ เท่านั้น

 Japanesse Version Launch
October 24th, 1996

ไหนๆ ก็ไหนๆ หากผลิตเพื่อทำตลาดในยุโรปเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่เข้าท่า แน่นอนว่า Mitsubishi Motors Europe B.V. ตัวแทนของ Mitsubishi Motors ในยุโรป ก็ต้องหาตลาดอื่น เสริมด้วย เพื่อช่วยสร้างตัวเลขยอดผลิตและยอดขาย มาหล่อเลี้ยงให้โรงงานเดินเครื่องต่อไปได้ พวกเขาจึงไปทามทาม ทีมการตลาดฝั่งญี่ปุ่น จนตัดสินใจ สั่งนำเข้า Mitsubishi Carisma จากโรงงาน NedCar ใน Netherlands กลับไปขายที่ญี่ปุ่น เพียงแบบเดียว คือ Sedan 4 ประตู

เหตุผลที่ตลาดญี่ปุ่น ไม่มีตัวถัง Hatchback เพราะสำหรับลูกค้าแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว รถยนต์ขนาดกลางแบบท้ายลาด ที่เคยมีให้เลือกหลายรุ่นตั้งแต่ปี 1978 ขึ้นมา นั้น ค่อยๆเสื่อมความนิยมลงไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษปี 1990 และรถยนต์ขนาดกลาง แบบท้ายลาดรุ่นสุดท้าย ที่ Mitsubishi Motors ทำขายในตลาดบ้านตัวเอง คือ Mitsubishi Galant Sports GTRV 5 Door ในปี 1995 – 1996 (ตัวถังนี้ ทำตลาดในยุโรป ร่วมกับ Galant Ultima 4 ประตู)

การเปิดตัว มีขึ้นเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 1996 โดยใช้สโลแกนว่า Real European Comfort เพื่อสื่อสารให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ได้รับรู้ว่า Carisma คือ รถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น แต่ถูกพัฒนาเพื่อชาวยุโรป โดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น จึงคาดหวังบุคลิกการขับขี่ และความสบายในการเดินทางได้ในแบบที่รถยนต์ยุโรปยุคนั้นพึงมี คู่แข่งในตลาดญี่ปุ่น ที่อยู่ในพิกัดเดียวกัน คือ Toyota Carina , Nissan Primera / Primera Camino และ Mazda Capella

Carisma Sedan 4 ประตู มีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,405 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,550 มิลลิเมตร พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระ เพิ่มขึ้นจาก 430 ลิตร ในรุ่น Hatchback มาเป็น 480 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบให้ใช้ชิ้นสวนตัวถังบริเวณครึ่งคันหน้า ตั้งแต่เปลือกกันชนหน้า จนถึงเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ร่วมกับตัวถัง Hatchback 5 ประตู ลู่ลมด้วยค่่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd.0.29 และมีความแตกต่างจากเวอร์ชันยุโรป ตรงที่ กระจังหน้า เป็นแบบซี่เฉียง พ่นรมดำ ไม่ได้เป็นสีเดียวกับตัวถังรถเกือบทั้งชิ้นแบบเวอร์ชันอื่น

เวอร์ชันญี่ปุ่น ให้เครื่องเสียงมาเป็น วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น Cassette Tape แบบ Full logic ขนาด 1 DIN รองรับการติดตั้งเครื่องเล่น CD Auto changer รุ่น LX มี High Power Amplifier 50W พร้อมลำโพง 4 ชิ้น ส่วนรุ่น LS มี High Power Amplifier เพิ่มเป็น 100W พร้อมลำโพง 6 ชิ้น รวมทั้งเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital และเบาะหลังแบบแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 พร้อมพนักวางแขนแบบพับเก็บได้

นอกจากนี้ Carisma เวอร์ชันญี่ปุ่นทุกคัน ยังถูกติดตั้งกระจกหน้าต่าง แบบ Green Glass ทั้งกระจกบังลมหน้า กระจกหน้าต่างไฟฟ้า 4 บาน และกระจกบังลมด้านหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติดูดรังสีความร้อนสูง (มากกว่า 10% เมื่อเทียบกับกระจกแบบ Blue Glass และมากกว่าถึง 18% เมื่อเทียบกับกระจกสีชา Bronze Glass)

Carisma เวอร์ชันญี่ปุ่น วางขุมพลังเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-MULTI กำลังสูงสุด 125 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ INVECS-II รุ่น F4A42

เกียร์อัตโนมัติ INVECS-II นั้น มีหลักการทำงานก็คือ กล่องคอมพิวเตอร์ หรือสมองกลส่วนกลาง (Transmission Control Unit : TCU) จะมี โปรแกรม Shift Data ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ ตามเงื่อนไขของการขับขี่แบบต่างๆ ขณะขับขี่ที่เกียร์ D Computer จะประเมินข้อมูลทั้งจากสภาพถนน ความลาดเอียง ขึ้น-ลง เขา ลักษณะการใช้ความเร็วรถจากการเหยียบคันเร่ง องศาการเปิดลิ้นปีกผีเสื้อ (ลิ้นคันเร่ง) ข้อมูลทั้งกำลังเครื่องยนต์, องศาการเปิดลิ้นปีกผีเสื้อ, ความถี่ในการเหยียบเบรก, มุมการเลี้ยวฯ เงื่อนไขต่างๆ มาใช้ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ขับขี่ แล้วควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ เมื่อขับขี่ใช้งานไปสักระยะ Computer จะเริ่มจดจำ Shift Data หรือพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถ และเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ที่เหมาะสมที่สุดให้ตามแต่ละสถานการณ์

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….2.842
เกียร์ 2……………………….1.529
เกียร์ 3……………………….1.488
เกียร์ 4……………………….1.000
เกียร์ R…………………….…2.480
อัตราทดเฟืองท้าย……..……4.042

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบ Hydraulic ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อม Coil Spring ด้านหลังเป็นแบบ Trailing-Arm Multi-Link พร้อม Coil Spring

ระบบห้ามล้อ คู่หน้าเป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของจานเบรก 211 มิลลเมตร ด้านหลังเป็นดรัมเบรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 203 มิลลิเมตร พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Brake System) มาให้ โดยรุ่นที่มี ABS นั้น ติดตั้ง Break Booster แบบ Single ขนาด 9 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางของ Master Cylinder 22.21 มิลลิเมตร ส่วนรุ่น ไม่มี ABS นั้น Break Booster แบบ Tandem ขนาด 7 + 8 นิ้ว นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางของ Master Cylinder 23.81 มิลลิเมตร

ทุกรุ่น ใช้ดุมล้อขนาดเท่ากันคือ P.C.D. 114.3 มิลลิเมตร สวมขนาด ยางขนาด 185/65R14 โดยรุ่น L และ LX จะเป็นกระทะล้อเหล็ก ขนาด 14″ x 5 – 12 J ค่า Offset 44 มิลลิเมตร พร้อมฝาครอบแบบเต็มล้อ Full Wheel Cover ส่วนรุ่น LS จะมาพร้อมล้ออัลลอย ลาย 5 ก้าน ขนาด 14″ x 5 – 12 JJ นิ้ว ค่า Offset 46 มิลลิเมตร

ด้านอุปกรณ์ ความปลอดภัย ช่วงแรก ติดตั้ง ถุงลมนิรภัย SRS (Supplemental Restraint System) มาให้ เฉพาะคู่หน้า (ฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย) เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด คู่หน้า ปรับระดับสูง-ต่ำ ได้ ทั้งหมดนี้ ติดตั้งอยู่ใน โครงสร้างตัวถังนิรภัย RISE ซึ่งถูกออกแบบให้มีการกระจายแรงกระแทกจากการชนอย่างเหมาะสม

Carisma Sedan 4 ประตู เวอร์ชันญี่ปุ่น มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย คือ L รุ่นพื้นฐาน สำหรับนำไปใช้งานเป็นรถยนต์ประจำบริษัท (Office Car) ราคา 1,548,000 Yen ตามด้วยรุ่นที่ติดตั้งอุปกรณ์มาให้มากขึ้น อย่าง LX ราคา 1,698,000 Yen และรุ่น Top อุปกรณ์ครบครัน อย่าง LS ราคา 1,898,000 Yen

สีตัวถัง ในรุ่น L อันเป็นรุ่นพื้นฐานจะมีให้เลือกแค่สีขาว Sunmolid White (WH) เพียงสีเดียวเท่านั้น ส่วนรุ่น LX และ LS จะไม่มีสีขาว แต่จะมีทางเลือกมาให้ทั้งหมด 4 สี ได้แก่  สีเงิน Silver Metallic (SI) สีดำ Mince Grey Pearl (WG) สีแดง Flame Red (FO) และสี เขียว Malaga Olive (CO)

ภาพยนตร์โฆษณาของ Mitsubishi Carisma ในญี่ปุ่น ช่วงเปิดตัว

หลังการเปิดตัวในตลาดหลักๆทั่วทวีปยุโรป รวมทั้งในญี่ปุ่น ตัวเลขยอดขายก็อยู่ในระดับพอไปได้ แต่ไม่หวือหวานัก ดังนั้น ผู้จำหน่ายในแต่ละประเทศ จึงต้องหาทางกระตุ้นตลาด ด้วยวิธีการออกรุ่นย่อยพิเศษ ปรับ Option ให้เหมาะสม และเน้นทำราคาขายให้ดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น

เดือนมกราคม 1997 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi Carisma Exclusiv 1800 GLS ทั้งแบบ Sedan 4 ประตู และ Hatchback 5 ประตู เพิ่มกระจังหน้าแบบ Chrome ทั้ง 2 ฝั่ง ล้ออัลลอย 15 นิ้ว ลาย 5 ก้านปลาดาว กระจกหน้าต่างไฟฟ้า พวงมาลัย Power Steering เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ และถุงลมนิรภัยคู่หน้า

เดือนพฤษภาคม 1997 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi Carisma FAMILY ซึ่งเน้นติดตั้ง Option ให้ดูคุ้มค่า แต่มีราคาที่ประหยัดพอให้ลูกค้าที่มีงบจำกัด เอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น

Carisma Family วางเครื่องยนต์เพียงแบบเดียว คือรหัส 4G92 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด 90 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร (14.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า และมีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น

Carisma Family มีให้เลือก 2 สีตัวถัง ได้แก่ สีเทาเข้ม Metallic และสีเงิน Metallic โดย ราคาจำหน่ายของรุ่น Sedan อยู่ที่ 32,390 Deutschmark ส่วนรุ่น Hatchback จะอยู่ที่ 32,990 Deutschmark

1st Minorchange with GDI Engine
Global & European Launch
August 29th, 1997

29 สิงหาคม 1997 Mitsubishi Motors Europe ประกาศเผยโฉม Carisma ขุมพลังใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี หัวฉีด จ่ายเชื้อเพลิงยิงตรงสู่ห้องเผาไหม้ GDI (Gasoline Direct Injection) โดยนำรถคันจริง ไปจัดแสดงในงาน Frankfurt Motor Show ระหว่างวันที่ 9 – 21 กันยายน 1997 และเริ่มส่งขึ้นโชว์รูม ในเยอรมนี เป็นแห่งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 1997 กลายเป็นประเทศแรกนอกญี่ปุ่น ที่ได้ทำตลาดขุมพลังใหม่นี้

อันที่จริง ขุมพลัง GDI ถูกเผยโฉมครั้งแรกในโลก ในฐานะ เครื่องยนต์ต้นแบบ มาตั้งแต่ งาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 1995 ตามด้วยงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1995 ก่อนจะพร้อมออกสู่ตลาดในปี 1997 กล่าวโดยสรุป คือ เป็นเทคโนโลยีการติดตั้งหัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ยิงตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั้งจากสื่อมวลชนสายยานยนต์ ผู้บริโภค และตัวแทนหน่วยงานของรัฐบาลในหลายประเทศของยุโรป ในด้านความพยายามที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซ Carbon dioxide (CO2) ซึ่งมีผลต่อสภาวะโลกร้อนโดยตรง

ขุมพลัง GDI ใหม่นี้ เป็นเครื่องยนต์ ลูกเดียวกับที่วางอยู่ใน GDI Galant และ GDI Legnum ซึ่งเปิดตัวในตลาดญี่ปุ่น เป็นแห่งแรกในโลก ช่วงเดือนสิงหาคม 1996 รายละเอียดการปรับปรุง อยู่ที่การเปลี่ยนมาใช้หม้อฟอกไอเสีย Catalytic Converter เวอร์ชันปรับปรุงไส้ใน ให้ผ่านกฎหมายมาตรฐานมลพิษของสหภาพยุโรป EU รวมทั้งยังปรับปรุงแรงบิดในช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำ และรอบกลาง ให้มีการตอบสนองด้านอัตราเร่งในแบบที่ตลาดยุโรปต้องการ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ขุมพลัง GDI ใหม่ ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 20% ไปพร้อมๆกับเพิ่มพละกำลังขึ้นอีก 10% แต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซ Carbon dioxide (CO2) ลงไปถึง 20% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ลูกเดิม

ช่วงแรกที่เปิดตัว เครื่องยนต์ GDI เวอร์ชันยุโรป เป็นรหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีด GDI กำลังสูงสุด 125 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 174 นิวตันเมตร (17.7 กก.-ม.) ที่ 3,750 รอบ/นาที

Mitsubishi Motors Europe ต้องการแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงความทนทานและความประหยัดน้ำมัน ของเครื่องยนต์ใหม่นี้ จึงมีการทดสอบเมื่อวันที่ 9-18 สิงหาคม 1999 โดยนำ GDI Carisma ออกเดินทางจากเมือง Jyvaskyla ใน Finland ไปยัง Cape of Roca ใน Portugal รวมระยะทางไกลถึง 6,400 กิโลเมตร โดยมี Carisma 1.8 ลิตร SOHC เดิม แล่นตามประกบควบคู่ไปด้วย และมี เจ้าหน้าที่จาก ADAC เยอรมนี จำนวน 3 คน เป็นสักขีพยาน

ผลลัพธ์ก็คือ Carisma 1.8 SOHC เดิม ใช้น้ำมันไป 383 ลิตร ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 5.9 ลิตร/100 กิโลเมตร ทว่า GDI Carisma ใหม่ กลับใช้น้ำมันน้อยกว่า เหลือเพียง 311 ลิตร ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ 4.83 ลิตร/100 กิโลเมตร

 

GDI CARISMA
The only Minorchange for Japanesse Version
October 29th, 1997

หลังการเปิดตัวในตลาดยุโรป Mitsubishi Motors ก็ส่ง GDI Carisma กลับมาเปิดตัวในตลาดบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1997 ซึ่งถ้าดูจากภายนอกแบบผ่านๆแล้ว คุณจะแทบมองไม่เห็นความแตกต่างจากรถรุ่นเดิมเลย ทั้งที่เมื่อพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว ก็พอจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แม้จะไม่มากนักก็ตาม

Hi-Light สำคัญในการปรับโฉมครั้งนี้ มีทั้งการปรับปรุงลวดลายกระจังหน้า ให้เป็นแถบซี่ตรงแนวนอน เพิ่มสัญลักษณ์ GDI ต่อท้ายโลโก้ Carisma บนฝากระโปรงท้ายฝั่งขวา รวมทั้งบริเวณไฟเลี้ยวเหนือซุ้มล้อคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ยังเปลี่ยนมาใช้ผ้าหุ้มเบาะนั่งลายใหม่ สีดำ ตัดกับลวดลาย Graphic เพื่อเพิ่มบุคลิก Sport เหมือนเวอร์ชันยุโรปมากยิ่งขึ้น และมีการตัดรุ่นย่อยล่างสุด L ออก เพราะนอกจากยอดขายจะน้อยมากแล้ว ก็แทบไม่เป็นประโยชน์ในการเรียกลูกค้าเข้าโชว์รูม อย่างที่ตั้งใจไว้เลย

ด้านขุมพลัง มีการถอดเครื่องยนต์ 4G93 เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว 1.8 ลิตร 125 แรงม้า (PS) ทิ้งไป แล้วแทนที่ด้วยขุมพลังใหม่ เครื่องยนต์ รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี พร้อม ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน GDI (Gasoline Direct Injection) กำลังสูงสุด 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.5 กก.-ม. ที่ 3,750 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ INVECS-II 4 จังหวะ ตามเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดทางเทคนิคอื่นๆ ทั้งพวงมาลัย ช่วงล่าง และระบบเบรกใดๆทั้งสิ้น

ด้านความปลอดภัย นอกจาก ถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า แล้ว Mitsubishi Motors ยังเพิ่มการติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า (Side Airbag) รวมแล้วมีถุงลมนิรภัย 4 ใบ ภายใต้โครงสร้างตัวถังนิรภัย RISE (Realized Impact Safety Evolution) พร้อมเสริมคานนิรภัยกันกระแทกที่ประตูทั้ง 4 บาน

การเปิดตัวครั้งนั้น คือการปรับปรุงอุปกรณ์กระตุ้นตลาด เพียง ครั้งเดียว เพราะหลังจากที่ ยอดขายในญี่ปุ่น ไม่ประสบความสำเร็จมากดังคาดหวัง เนื่องจาก สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ยังคงไม่ฟื้นตัว แถมผู้บริโภคชาวอาทิตย์อุทัย เริ่มเทใจไปอุดหนุน รถยนต์อเนกประสงค์ B-Segment Sub-Compact Minivan และรถยนต์อเนกประสงค์ RV (หรือ SUV ในเวลาต่อมา) กันมากขึ้น ยอดขายรถยนต์ Sedan 4 ประตู ของทุกค่าย เริ่มลดลง

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเทียบกันให้ดีๆ ลูกค้าชาวญี่ปุ่นมองว่า Carisma เปิดตัวด้วยราคาที่ค่อนข้างแพง คือแตะระดับ 2 ล้านเยน ทางแก้เท่าที่พอจะทำกันได้ คือ จำเป็นต้องหั่นอุปกรณ์ติดรถบางรายการออกไป และทำออกมาเป็นรุ่นย่อยพิเศษ LS Limited (1,598,000 Yen) และ LX Limited (1,498,000 Yen) เพื่อทำราคาให้ถูกลงมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ถูกตัดออกไป ผู้บริโภคก็ยังมองว่า ไม่คุ้มเท่าที่ควร ชาวญี่ปุ่นบางรายตัดสินใจเพิ่มเงินอีกหน่อย ขึ้นไปซื้อ Mitsubishi Galant GDI รุ่นสุดท้าย น่าจะคุ้มเงินมากกว่า

ทัังหมดนั่นทำให้ Mitsubishi Motors ตัดสินใจ พา Carisma Fade out ออกจากตลาดญี่ปุ่นไปอย่างเงียบๆ โดยยุติการนำเข้า และทำตลาด Carisma ในญี่ปุ่น เมื่อเดือนเมษายน 2000 แต่กว่าที่ รถคันสุดท้ายในสต็อกจะถูกขายออกไปจนหมด ก็ต้องรอเวลากันจนถึงเดือนมีนาคม 2001

———————————————————–

กระนั้น สำหรับตลาดยุโรป Carisma ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันยอดขายให้ Mitsubishi Motors Europe กันต่อไป เราจึงยังเห็น Carisma รุ่นพิเศษ ตามออกมากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

Special Model : Mitsubishi Carisma RTL
October 1997

เดือนกรกฎาคม 1997 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ จากความร่วมมือกับ บริษัทผลิตสื่อ และสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของเยอรมนี RTL Deutschland ใช้ชื่อ “Mitsubishi Carisma RTL” เพื่อร่วมโปรโมท ในสื่อของเครือ RTL ทั้งหมด

อุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามา มีทั้ง ล้ออัลลอย ลาย 5 ก้าน ขนาด 15 นิ้ว ปลอกท่อไอเสีย และ สติ๊กเกอร์ RTL แถมด้วยเครื่องปรับอากาศแบบ Manual ระบบเบรก ABS ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้าง รวม 4 ใบ ส่วนขุมพลัง เป็น เครื่องยนต์ รหัส 4G92 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด 90 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร (14.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วย เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 12.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 173 กรัม/กิโลเมตร

Carisma RTL มีให้เลือก 3 เฉดสี คือ สีแดง Tornado Red ราคา 35,990 Deutschmark ส่วน สีน้ำเงินเข้ม Scandinavian Blue Metallic และ สีเขียวเข้ม Luttich Green Metallic เพิ่มเงินอีก 1,000 Deutschmark เป็น 36,990 Deutschmark

Special Model : Mitsubishi Carisma Special
January 1998

เดือนมกราคม 1998 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi Carisma Special มีทั้งรุ่น Sedan และ Hatchback ตกแต่งด้วย ล้ออัลลอย 15 นิ้ว ลายใหม่ ตกแต่งภายในด้วย Trim ลาย Carbon-Decor และเสริมคำว่า “Special” ในบางจุด เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้างรวม 4 ใบ ระบบเบรก ABS

Carisma Special ทั้ง 2 ตัวถัง มีขุมพลังให้เลือกทั้งแบบ 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร GDI โดยรุ่น 1600 Special จะวางเครื่องยนต์ 4G92 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด 90 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร (14.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า และมีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น

ส่วนรุ่น GDI Carisma Special จะวางเครื่องยนต์ 4G93 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีด GDI กำลังสูงสุด 125 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 174 นิวตันเมตร (17.7 กก.-ม.) ที่ 3,750 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น เช่นกัน

Carisma Special 1600 Special ติดป้ายราคาไว้ที่ 33,990 Deutschmark ส่วนรุ่น GDI Carisma Special ราคา 36,190 Deutschmark ทุกรุ่น มีสีตัวถังให้เลือก รวม 3 สี ได้แก่ ดำ Metallic เงิน Metallic และ แดง Tornado Red

Special Model : Mitsubishi Carisma GDI EXE
October 1998

เดือน ตุลาคม 1998 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.ก็เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi Carisma GDI EXE เพิ่มการตกแต่งจากรุ่นปกติ ด้วย ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว แผงคอนโซลกลาง ลายไม้ แบบเงา เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ และชุดเครื่องเสียงจากโรงงาน

– เครื่องยนต์ รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi GDI กำลังสูงสุด 115 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 162 นิวตันเมตร (16.5 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยทางเลือก เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ INVECS-II

ราคาขาย รุ่นเกียร์ธรรมดา อยู่ที่ 39,990 Deutschmark ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ 42,490 Deutschmark สีตัวถังมีให้เลือก 3 สี ทั้ง น้ำเงิน Metallic ,  สีเขียว Derby Green และสีเงิน Metallic

Big Minorchange
August 1st, 1999

เดือนสิงหาคม 1999 มีการปรับโฉม Big Minorchange ครั้งใหญ่ โดยในตลาดสหราชอาณาจักร Carisma Minorchange เริ่มออกจำหน่าย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1999

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดขึ้นในหลายจุดทั่วทั้งคัน เริ่มด้วยการเปลี่ยนงานออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระจังหน้า แบบแยก 2 ชิ้น ฝากระโปรงหน้าใหม่ ชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ล้ออัลลอย และชิ้นเปลือกตัวถังเหนือซุ้มล้อคู่หน้า และลวดลายกราฟฟิค ภายในชุดไฟท้าย ของทั้ง 2 ตัวถัง ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูร่วมสมัยขึ้นกว่าเดิม มือจับเปิดประตตู และฝาครอบกระจกมองข้างมีทั้งแบบสีดำ และสีเดียวกับตัวถัง ตามแต่ละความต้องการของแต่ละประเทศที่รถคันนี้จะถูกส่งเข้าไปทำตลาด

การปรับโฉมครั้งนี้ ไม่เพียงแค่เปลี่ยนงานออกแบบด้านนอกตัวรถ หากแต่ ยังมีการเปลี่ยนงานออกแบบแผงหน้าปัด ใหม่ ให้มีรูปทรงที่ลดทอนความโค้งมนลง เพื่อช่วยให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง แต่ยังคงสะดวกสบายในการใช้งานตามเดิม เน้นหนักไปที่ การออกแบบแผงควบคุมตรงกลางใหม่ ให้มีความเรียบง่าย ใช้งานง่าย ตามแบบฉบับรถยนต์จากฝั่งยุโรป ในบางรุ่น อาจมีการตกแต่ง Trim ลายไม้แบบเงามาให้จากโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนลายผ้าเบาะมาเป็นแบบใหม่อีกด้วย

ด้านรายละเอียดของขุมพลัง ทีมวิศวกรมีการ Upgrade สมรรถนะของเครื่องยนต์ ทั้ง Lineup ให้เหมาะกับการทำตลาดในแต่ละประเทศมากขึ้น รายละเอียดมีดังนี้

– เครื่องยนต์ รหัส 4G92 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 77.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi กำลังสูงสุด เพิ่มเป็น 103 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร (14.36 กก.-ม.) ที่ 4,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยทางเลือก เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ

– เครื่องยนต์ รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 89.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.6 : 1 พร้อม ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน GDI (Gasoline Direct Injection) กำลังสูงสุด รุ่นเกียร์ธรรมดา 122 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที รุ่นเกียร์อัตโนมัติ INVECS-II 4 จังหวะ 125 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เท่ากันทั้งคู่ คือ 174 นิวตันเมตร (17.73 กก.-ม.) ที่ 3,750 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า

– เครื่องยนต์ รหัส F9QT Diesel 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,870 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80 x 93 มิลลิเมตร กำลังอัด 18.3 : 1 เปลี่ยนมาใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีด Common-Rail พ่วง Turbocharger กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 102 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 215 นิวตันเมตร (21.90 กก.-ม.) ที่ 1,800 รอบ/นาที ขับเคลื่อนหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงแบบเดียว

– อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ ขุมพลัง F9QT จะถูก Upgrade ให้มีพละกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 115 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 265 นิวตันเมตร (27.0 กก.-ม.) ที่ 1,800 รอบ/นาที ขับเคลื่อนหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เพียงแบบเดียว

Special Model : Mitsubishi GDI Carisma DYNAMICS
March 2000

เดือนมีนาคม 2000 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi GDI Carisma DYNAMICS ตกแต่งด้วยชุด Aero Part รอบคัน ทั้ง Skirt ใต้เปลือกกันชนหน้า Skirt ด้านข้างตัวรถทั้ง 2 ฝั่ง Skirt ใต้เปลือกกันชนหลัง Spoiler ด้านหลัง Upgrade ล้ออัลลอย เป็นขนาด 17 นิ้ว สวมด้วยยางขนาด 215/40R17 ภายในจัดเต็มด้วยเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD กับ 6 ลำโพง แผง Trim ตกแต่งล้อมกรอบแผงควบคุมกลางบนแผงหน้าปัด เป็นสีเงิน เสริมความปลอดภัยด้วยระบบเบรก ABS กับถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้าง รวม 4 ใบ

GDI Carisma DYNAMICS มีเครื่องยนต์ให้เลือก เฉพาะ รหัส 4G93 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,834 ซีซี หัวฉีด GDI กำลังสูงสุด 125 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 174 นิวตันเมตร (17.7 กก.-ม.) ที่ 3,750 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น ตัวเลขจากโรงงาน อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 10.4 วินาที ความเร็วสูงสุด  200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 167 กรัม/กิโลเมตร

GDI Carisma DYNAMICS ออกจำหน่าย ในเยอรมนี ด้วยจำนวนจำกัดแบบ Limited Edition มีสีตัวถังให้เลือก 2 สี ทั้ง สีเงิน Metallic และสีดำ Metallic ตั้งราคาขายไว้ 23,514.34 ยูโร หรือ 45,990 Deutch Mark

Special Model : Mitsubishi Carisma LIFE
September 2000

เดือนกันยายน 2000 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi Carisma LIFE เน้นทำราคาให้ถูก ด้วย อุปกรณ์มาตรฐานครบครัน เอาใจลูกค้าที่มีงบไม่มากแต่อยากได้รุ่นเกียร์ธรรมดาเป็นหลัก

ภายนอกตกแต่งด้วยคิ้วกันกระแทกกับชิ้นส่วนบริเวณชายล่างรอบคันรถ เป็นสีเดียวกับตัวถัง ซึ่งมีให้เลือก 2 เฉด คือ ดำ และ เงิน Metallic  ส่วนภายในตกแต่งด้วยผ้าสีดำ เปลี่ยนแผง Trim ตกแต่งล้อมกรอบแผงควบคุมกลางบนแผงหน้าปัด เป็นลายไม้สีน้ำตาลเข้ม มีเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา และวิทยุ มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับ ระบบเบรก ABS กับ ถุงลมนิรภัยคู่หน้าและด้านข้าง รวม 4 ใบ

มีให้เลือกครบทั้ง 3 ขุมพลัง คือ เบนซิน 1.6 ลิตร 103 แรงม้า (PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ รุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร GDI มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 122 แรงม้า (PS) กับรุ่น Diesel 1.9 ลิตร Di-D มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 102 แรงม้า (PS) ราคาจำหน่าย เริ่มต้นที่ 18,503.65 ยูโร หรือ 36,190 Deutch Mark

Product Improvement : Model Year 2001

ล่วงเข้าปี 2001 Mitsubishi Motors Europe ปรับอุปกรณ์ให้กับ Carisma เป็นครั้งสุดท้าย คราวนี้ มีการเพิ่มขุมพลังใหม่ สำหรับเอาใจลูกค้าซึ่งต้องการความประหยัดน้ำมันขั้นสุด และอาศัยอยู่ในบางประเทศซึ่งมีการคำนวนภาษีตามความจุกระบอกสูบในอัตราสูง ด้วยเครื่องยนต์รหัส 4G13 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,299 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Multi-Point กำลังสูงสุด 82 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 120 นิวตันเมตร (12.3 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น

Special Model :
Mitsubishi Carisma MIRAGE (For UK Market Only)

February 2001

ขณะเดียวกัน เดือนกุมภาพันธ์ 2001 Mitsubishi Cars UK เปิดตัวรุ่นย่อยพิเศษ กระตุ้นตลาด ในชื่อ Mitsubishi Carisma MIRAGE! ซึ่งก็คือ การวนนำชื่อรุ่น Mirage สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กของตนในญี่ปุ่น มาใช้ในตลาดอังกฤษ ซึ่งไม่เคยมีชื่อ Mirage ในการทำตลาดรถยนต์ Mitsubishi ที่นั่นมาก่อน ตกแตงภายนอกด้วยคิ้วกันกระแทกรอบคัน สีเดียวกับตัวถัง ล้ออัลลอย ลาย 9 รู และมีให้เลือกเฉพาะขุมพลัง 1.8 ลิตร GDI ที่ไม่มีการปรับปรุงใดๆเพิ่มเติม เท่านั้น

Last Minorchange / Sedan Discontinued
September 2002

การปรับโฉมเล็กๆน้อยๆ ครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นในปี 2002 โดยหลักแล้ว คือ ยกเลิกการทำตลาดตัวถัง Sedan เหลือเพียงแค่ตัวถัง Hatchback ซึ่งมีการปรับปรุงรายละเอียดภายนอกเล็กน้อย มีเพียงแค่การเปลี่ยนสัญลักษณ์ Three Diamonds บนฝากระโปรงหน้า และฝาท้าย จากสีแดง มาเป็นสีเงิน เปลี่ยนขอบกระจังหน้า ทั้ง 2 ฝั่ง ลากโครเมียม มาเป็นสีดำ ขณะเดียวกัน ชุดไฟหน้า เปลี่ยนมาเป็นแบบ รมดำ เพิ่มความเข้มให้กับด้านหน้ารถมากขึ้น

นอกจากนี้ มีการปรับรูปแบบ Trim การตกแต่ง เป็น 4 ระดับ ดังนี้

– รุ่นเริ่มต้น Classic (มีในรุ่นเครื่องยนต์ เบนซิน 1.6 ลิตร และ 1.9 ลิตร DI-D 102 แรงม้า)
– รุ่น Avance (มีในรุ่นเครื่องยนต์ เบนซิน 1.6 ลิตร และ 1.9 ลิตร DI-D 115 แรงม้า)
– รุ่น Comfort (มีในรุ่นเครื่องยนต์ เบนซิน 1.6 ลิตร , 1.8 ลิตร GDI และ 1.9 ลิตร DI-D 102 แรงม้า)
– รุ่น Elegance (มาพร้อมเบาะหนัง มีเฉพาะ รุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร GDI เท่านั้น)

Special Model :
Mitsubishi Carisma Jubilaumsmodell 25 Jahre
September 2002

เดือนกันยายน 2002 Mitsubishi Motors Dtl GmbH. ฉลองครบรอบ 25 ปี ของการทำตลาดรถยนต์ Mitsubishi ในเยอรมนี จึงเพิ่มรุ่นย่อยพิเศษออกมาในชื่อ “Mitsubishi Carisma Jubilaumsmodell 25 Jahre” (คำว่า Jahre ภาษาเยอรมัน แปลว่า ปี)

ภายนอกตกแต่งด้วยล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ลายพิเศษ แต่คิ้วกันกระแทกรอบคัน กลับมาเป็นสีดำ แทนที่จะเป็นสีเดียวกับตัวถัง มีสีภายนอกให้เลือก 5 สี ได้แก่ สีเงิน Hague Silver Metallic สีน้ำเงินเข้ม Atlantis Blue Metallic สีแดง Amazon Red สีเขียว Togo Green และ สีดำ Sapphire Black Metallic

ส่วนภายในตกแต่งด้วย วัสดุหุ้มเบาะ เป็นผ้าสีดำ ตัดกับสีเทาบริเวณตรงกลางของเบาะทั้ง 4 ตำแหน่งนั่ง ชุดมาตรวัด ล้อมกรอบด้วย Trim สีเงิน แบบ Dark Silver Look ฯลฯ

Carisma Jubilaumsmodell 25 Jahre มีให้เลือกครบทั้ง 3 ขุมพลัง คือ เบนซิน 1.6 ลิตร 103 แรงม้า (PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ รุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร GDI ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 122 แรงม้า (PS) และอัตโนมัติ 4 จังหวะ 125 แรงม้า (PS) กับรุ่น Diesel 1.9 ลิตร Di-D เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 102 และ 115 แรงม้า (PS)

ราคาจำหน่าย
1.6 ลิตร (76kW/103 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 17,990 ยูโร
1.8 ลิตร GDI (90kW/122 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 19,990 ยูโร
1.8 ลิตร GDI (92kW/125 แรงม้า) เกียร์อัตโนมัติ : 21,490 ยูโร
1.9 ลิตร DI-D (75kW/102 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 19,990 ยูโร
1.9 ลิตร DI-D (75kW/102 แรงม้า) เกียร์อัตโนมัติ : 20,490 ยูโร

Special Model : Mitsubishi Carisma Sport
October 24th, 2002

24 ตุลาคม 2002 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ “Mitsubishi Carisma Sport” จากพื้นฐาน  ของรุ่น Comfort ซึ่งมีพวงมาลัยเพาเวอร์ เซ็นทรัลล็อค ตัวยกระจกไฟฟ้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงเครื่องปรับอากาศเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน มาติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม ทั้งล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้วพร้อมยาง 195/60R15 สเกิร์ตข้างสีเดียวกับตัวรถ ระบบทำความสะอาดไฟหน้า และไฟตัดหมอก ภายในห้องโดยสาร หุ้มเบาะด้วยหนังสังเคราะห์ เบาะนั่งคู่หน้าติดตั้ง Heater แบบปรับอุณหภูมิได้ รวมถึงพวงมาลัยหุ้มหนัง และหัวเกียร์หุ้มหนัง (เฉพาะเกียร์ธรรมดา) และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control มีให้เลือกรวม 4 รุ่นย่อย ดังนี้

Carisma Sport มีให้เลือก ครบทั้ง 3 ขุมพลัง ได้แก่ เบนซิน 1.6 ลิตร 103 แรงม้า (PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ รุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร GDI ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 122 แรงม้า (PS) และอัตโนมัติ 4 จังหวะ 125 แรงม้า (PS) กับรุ่น Diesel 1.9 ลิตร Di-D เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 102 แรงม้า (PS) (ไม่มีเกียร์อัตโนมัติ)

สีตัวถัง มีทั้ง สีเงิน Hague Silver, สีน้ำเงินเข้ม Atlantis Blue, สีเงิน Cosmic Silver, สีเทา Steel Grey และ สีดำ Sapphire Black รวมอยู่ในราคารถ้แล้ว ความได้เปรียบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นที่มีอุปกรณ์ครบครันนั้นสูงถึงประมาณ 1,400 ยูโร

ราคาจำหน่าย
1.6 ลิตร (76kW/103 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 19,750 ยูโร
1.8 ลิตร GDI (90kW/122 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 21,490 ยูโร
1.8 ลิตร GDI (92kW/125 แรงม้า) เกียร์อัตโนมัติ : 22,900 ยูโร
1.9 ลิตร DI-D (75kW/102 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 21,490 ยูโร

Special Models : Mitsubishi Carisma MOTION / MOTION PLUS
March 13th, 2003

13 มีนาคม 2003 Mitsubishi Motors Dtl GmbH.เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ Mitsubishi Carisma Motion ติดตั้ง ล้ออลูมิเนียมขนาด 15 นิ้วพร้อมยางขนาด 195/60R15 กระจกมองข้าง มือจับเปิดประตู และสปอยเลอร์หลังพ่นเดียวกับตัวถัง เพิ่มไฟตัดหมอก แผ่นป้องกันธรณีประตู Sculp plate พวงมาลัยและคันเกียร์หุ้มหนัง รวมถึงระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ในรุ่นย่อยพิเศษ (แต่ไม่มีในรุ่น 1.6) ระบบควบคุมการยึดเกาะถนน Traction Control สำหรับรุ่น 1.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ และ 1.8 ลิตร GDI นอกจากนี้ยังมีชุดพรมปูพื้น ลายพิมพ์ “Motion” และชิ้นส่วนภายใน เช่น แผงหน้าปัด คอนโซลกลาง และที่เปิดประตูใน พ่นด้วยสี Dark Silver

นอกจากนี้ยังเพิ่มรุ่น Mitsubishi Carisma Motion Plus ซึ่งเพิ่ม Option จากรุ่น Motion ทั้งการเปลี่ยนมาใช้ล้ออัลลอยลายใหม่ เพิ่มเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ (Auto Aircon) ภายในตกแต่งด้วยหนังสังเคราะห์ เบาะนั่งแบบมี Heater และหลังคา Sunroof

Carisma Motion และ Motion Plus มีให้เลือกทั้ง เครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร และเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ทั้งแบบปกติ และ GDI รวมทั้งเครื่องยนต์ Diesel Di-D 1.9 ลิตร ทั้งแบบ 102 แรงม้า (PS) และ 115 แรงม้า (PS) อีกด้วย

ราคาเริ่มต้นสำหรับ Carisma Motion 1.6 อยู่ที่ 18,350 ยูโร เกือบ 200 ยูโร ซึ่งถูกกว่ารุ่นซีรีส์ที่มีเครื่องยนต์และมีอุปกรณ์ครบครันน้อยกว่าถึง 200 ยูโร ส่วน Carisma Motion Plus 1.8 GDI เกียร์อัตโนมัติ ราคา 23,740 ยูโร

Special Models : Mitsubishi Carisma COMFORT PLUS
December 27th, 2003

27 ธันวาคม 2003 Mitsubishi Motors Dtl GmbH. กระตุ้นตลาดให้กับ Carisma เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ ในชื่อ Mitsubishi Carisma Comfort PLUS  ตกแต่งด้วย อุปกรณ์มาตรฐาน ได้แก่ ล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ไฟตัดหมอก เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ และเบาะนั่งสีแอนทราไซต์

ราคาของรุ่น Comfort Plus มีดังนี้

1.6 ลิตร (76kW/103 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 17,990 ยูโร
1.8 ลิตร GDI (92kW/125 แรงม้า) เกียร์อัตโนมัติ : 20,990 ยูโร
1.9 ลิตร DI-D (75kW/102 แรงม้า) เกียร์ธรรมดา : 19,490 ยูโร

สถานการณ์ยอดผลิต และยอดขาย

หากเราจะมองตัวเลขยอดผลิตทั้งหมด คงต้องเริ่มต้นจากปี 1995 อันเป็นปีแรกที่เริ่มผลิต โรงงาน NedCar ประกอบ Carisma ออกขายในตอนนั้น 19,100 คัน ปี 1996 เพิ่มขึ้นเป็น 44,401 คัน ส่วนปี 1997 อันเป็นปีที่ Peak มากสุด ยอดผลิตสูงถึง 82,255 คัน

หลังจากนั้น ตัวเลขจะเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ ปี 1998 ยังลดลงมาไม่มากนัก เหลือ 78,239 คัน ปี 1999 ค่อยๆลดลงเหลือ 54,460 คัน แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา ตัวเลขป้วนเปี้ยนอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าคัน/ปี เท่านั้น โดยในปี 2000 ตัวเลขหล่นลงเหลือ 29,800 คัน ปี 2001 ลดลงเหลือ 22,203 คัน แต่ในปี 2002 ตัวเลขขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 28,776 คัน ส่งท้ายในปี 2003 ด้วยตัวเลขยอดผลิต เหลือ 26.074 คัน เท่ากับว่า โรงงาน NedCar ผลิต Carisma ออกมารวมทั้งหมดถึง 385,308 คัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ไม่มาก สำหรับรถยนต์ขนาดกลางที่ออกแบบมาเพื่อตลาดยุโรปซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงมากในตอนนั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาดูตัวเลขยอดขาย เท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้โดย Mtsubishi Motors Corporation ตลอดทั้ง 12 เดือนของปี 1996 Carisma มียอดขายในยุโรป รวมทั้งสิ้น 32,405 คัน และในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 1997 ก็มีตัวเลขยอดขายรวมมากขึ้น ถึง 33,284 คัน เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 1996

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถหาตัวเลขยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 1997 รวมทั้งปี 1998 และ 1999 ได้ ดังนั้น เท่าที่มีตัวเลขที่ยืนยันได้นั้น นับย้อนหลังไปได้แค่ปี 2000 อยู่ที่ 38,548 คัน ปี 2001 อยู่ที่ 28,647 คัน ปี 2002 เพิ่มเป็น 30,429 คัน ปี 2003 อยู่ที่ 28,123 คัน

สายการผลิตของ Carisma ที่โรงงาน NedCar ยุติลงในเดือนธันวาคม 2003 แต่ด้วยปริมาณยอดผลิตและส่งออกไปยังตลาดยุโรป ในช่วงก่อนหน้านั้น ทำให้ Carisma ยังคงมีอยู่ในสต็อก ให้จำหน่ายกันยาวนานจนถึงสิ้นปี 2004 ด้วยยอดขายรวม 9,875 คัน เป็นอันปิดฉากการทำตลาด Carisma โดยสมบูรณ์

สาเหตุที่ Carisma ไม่ได้ไปต่อ?

1. ตลาด D-Segment ในยุโรป หดตัว

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 นั้น สหภาพยุโรป เริ่มมีสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กิจการจำนวนมาก ต้องทะยอยปิดตัวลงไป ตลาดรถยนต์กลุ่ม D-Segment นั้น เป็นกลุ่มที่อยู่รอดได้มาตลอด จากการเป็นรถยนต์ที่บรรดา บริษัทห้างร้านส่วใหญ่ ซื้อให้พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป ในฐานะ รถประจำตำแหน่ง Company Car เพื่อช่วยลดหย่อนภาษี

อย่างไรก็ตาม หลังปี 2000 ตลาดกลุ่ม CD และ D-Segment เริ่มหดตัว ยอดขายของรถยนต์ทุกรุ่นลดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับรถยนต์กลุ่ม Compact Minivan 5 ที่นั่ง ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชาวยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสาเหตุหลัก ซึ่งมีส่วนทำให้ยอดขายของ Carisma ไม่ได้เติบโตดังฝันที่วาดไว้

2. ตัวรถ ไม่ได้มีจุดขายที่โดดเด่นมากพอเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

หากพิจารณาดูตามความเป็นจริง นอกเหนือจากเครื่องยนต์ GDI 1.8 ลิตร และความพยายามในการเซ็ตช่วงล่างให้เอาใจนักขับชาวยุโรปแล้ว Carisma ก็แทบไม่มีจุดเด่นอะไรที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง มากพอที่จะทำให้ชาวยุโรปส่วนใหญ่ ปันใจหันมาเหลียวมองได้เลย ยิ่งเมื่อเทียบกับ Nissan Primera และ Toyota Avensis แล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

3. คู่แข่งชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง งัดข้อสู้ ด้วยรถยนต์รุ่นใหม่ ที่น่าสนใจกว่า

Nissan Primera รุ่นแรก รหัสรุ่น P10 ที่เปิดตัวออกมาในปี 1990 ทำยอดขายและคว้ารางวัลต่างๆมามากมาย ทำให้ Nissan ตัดสินใจเดินหน้า พัฒนา Primera รุ่นที่ 2 รหัส P11 ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี 1995 ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะเปิดตัวในยุโรรป ช่วงต้นปี 1996 ด้วยเส้นสายที่ทันสมัยขึ้น ตัวรถใหญ่ขึ้น และปรรับเซ็ตการขับขี่ มาเพื่อเอาใจชาวยุโรปโดยเฉพาะ ทำให้ Primera เอาชนะใจลูกค้าได้ไม่ยากเย็นเลย ก่อนที่รุ่น P12 จะแหกคอก ล้ำยุคเกิน และงานออกแบบที่ สวยแค่ครึ่งคันหน้า แต่ครึ่งคันหลัง สั้นกุด แถมมีมาตรวัดความเร็วย้ายไปไว้ตรงกลาง จนลูกค้าชาวยุโรป ไม่ชอบใจ Primera จึงเริ่มเสื่เอมความนิยมหลังปี 2002 เป็๋นต้นมา และหายไปจากตลาดในช่วงก่อนปี 2010

ส่วน Toyota Avensis เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดยุโรป ของ Toyota พวกเขาเริ่มมองว่า ควรทำรถยนต์ออกมาเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ แทนที่จะนำ Corona Exsior ท้ายโด่งเข้าไปเปลี่ยนชื่อเป็น Carina E อย่างที่เคยเป็นมาช่วงก่อนหน้านี้ การเปิดตัวมีขึ้นในปี 1997 ด้วยงบประมาณการลงทุนที่เยอะกว่า และมีทางเลือกตัวถังถึง 3 แบบ ทั้ง Sedan Liftback และ Station Wagon แถมยังมีเส้นสายสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความทนทาน ไว้เนื้อเชื่อใจได้ตามสไตล์ Toyota ทำให้ Avensis ทำยอดขายจากลูกค้าชาวยุโรป โดยเฉพาะ อังกฤษ กับ เนเธอร์แลนด์ไปเยอะมาก ในตอนนั้น

Primera และ  Avensis คือ 2 คู่แข่งสำคัญจากเพื่อนร่วมชาติชาวอาทิตย์อุทัยด้วยกันเอง ที่ทำให้ Carisma เปิดตัวออกมาได้ไม่สวยนัก และอยู่ในสายตาของลูกค้าชาวยุโรป เฉพาะกลุ่มที่มองหาความคุ้มค่า คุ้มราคา จากราคาตั้งขายหน้าโชว์รูมเป็นหลัก มันยากที่จะปฏิเสธว่า การเข้ามาของทั้ง 2 คู่แข่ง ในจังหวะเวลาเดียวกันพอดี ทำให้ Carisma มีตัวเปรียบเทียบชัดเจน และแน่นอนว่า หากมองแค่ในสเป็ก หรือไปลองขับจริง ลูกค้าชาวยุโรปส่วนใหญ่ ยังเทใจให้กับ ทั้ง Primera และ Avensis มากกว่า Carisma อย่างชัดเจน จนทำให้ Mitsubishi Motors ต้องถอดใจจากตลาดกลุ่มนี้ไปในที่สุด

4. ความแข็งแกร่งของแบรนด์ยุโรป ในใจของผู้บริโภคท้องถิ่น

ต้องยอมรับว่า ชาวยุโรป ส่วนใหญ่ ในประเทศชั้นนำอย่าง เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี จะตัดสินใจเลือกรถยนต์จากค่ายยุโรปด้วยกันเป็นอันดับแรก และไม่ค่อยเปิดใจยอมรับรถยนต์จากชาติ Asia เท่าใดนัก ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มตลาดยุโรประดับกลาง เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ฮอนดูลัส ไซปรัส หรือฝั่งยุโรปตะวันออก อย่าง ฮังการี โรมาเนีย โปแลนด์ ซึ่งมีฐานะยากจนกว่า และมองหาความคุ้มค่า ให้สอดคล้องกับราคาที่ต้องจ่ายเป็นหลัก ทำให้ Mitsubishi Carisma สามารถทำยอดขาย จากประเทศเหล่านี้ ได้ดีกว่า

5. การจัดแคมเปญลดแลกแจกแถมรูปแบบต่างๆ เพื่อระบายสต็อก มีส่วนลดคุณค่าของตัวรถและแบรนด์ในสายตาผู้บริโภค

ข้อนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย หากตัวรถ ไม่อาจขายได้ด้วยคุณงามความดีของตัวมันเอง การพึ่งพาแคมเปญส่งเสริมการขาย เช่นส่วนลดพิเศษ ผลักดันรถให้ออกไปจากสต็อก จึงเกิดขึ้น และนั่นกลายเป็นหายนะของแบรนด์ Mitsubishi Motors ทั่วโลก ในเวลาต่อมา ที่ถูกมองว่า เป็นแบรนด์ที่มีเทคโนโลยีดีเยี่ยม ทำรถยนต์มาดี แต่ภาพลักษณ์เป็นได้แค่ Discount brand ที่ต้องใช้งบประมาณ หรือหั่นกำไร และ Incentive ต่างๆ มาเป็นส่วนลดในการจูงใจลูกค้า พอทำแบบนี้บ่อยครั้งเข้า แบรนด์ก็เริ่มหมดคุณค่าในตัวเอง และกลายเป็นแบรนด์ที่หลายคนเมินเฉยในท้ายที่สุด

6. การที่ Volvo ถูก Ford ซื้อหุ้นใหญ่ ทำให้นโยบายการทำรถรุ่นใหม่ เปลี่ยนไป และต้องยุติความร่วมมือกัน

หลังจากที่ Ford เข้าถือหุ้นใหญ่ ในกิจการของ Volvo Cars ช่วงปี 1998 เมื่อเวลาผ่านเข้าสู่ปี1999 การเจรจา ระหว่าง Mitsubishi Motors และ Volvo ถึงอนาคตของ Carisma และ S40/V40 จึงเกิดขึ้น และโฆษกของ Mitsubishi Motors ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1999 ถึงความคืบหน้าในการเจรจาดังกล่าว

ฝ่ายญี่ปุ่น ยังอยากให้ Volvo ร่วมกันลงทุนพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉมของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นต่อไป Volvo กลับต้องการให้ S40/V40 รุ่นต่อไป (เปลี่ยนชื่อเป็น V50) เปลี่ยนไปใช้ Platform C-Segment ของ Ford ร่วมกับ Ford Focus และ Mazda 3 มากกว่า ทำให้ Mitsubishi Motors ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยกเลิกการพัฒนา Carisma รุ่นต่อไป เพราะการทำรถยนต์รุ่นใหม่เพียงลำพัง เพื่อตลาดยุโรปเพียงแห่งเดียว มีต้นทุนสูงเกินกว่าที่ชาวญี่ปุ่นจะแบกรับเองได้ไหว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

ด้านโรงงาน NedCar นั้น ช่วงปี 2001 Mitsubishi Motors ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตร ในเครือ DaimlerChrysler กอปรกับตอนนั้น ในเมื่อ Volvo กับ Mitsubishi Motors ยุติความร่วมมือกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เหลือประโยชน์อะไรที่ Volvo จะยังต้องเหลือหุ้นส่วนในโรงงานแห่งนี้อีกต่อไป

ดังนั้น 30 มกราคม 2001 Volvo Cars Corporation จึงตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของโรงงาน NedCar ให้ Mitsubishi Motors การขายหุ้นทั้งหมด เสร็จสิ้นลงในปี 2004 และหลังจากนั้น Mitsubishi Motors ก็ได้โรงงาน สำหรับการผลิตรถยนต์ Compact Minivan รุ่น SpaceStar รถยนต์ B-Segment Sub-Compact Hatchback รุ่น Colt และ SUV รุ่น Outlander Generation 2 พร้อมกับฝาแฝดทั้งจาก Peugeot กับ Citroen ป้อนตลาดยุโรป สมดังใจ

ทว่า ในเมื่อยอดขายหดตัวลง และการมีโรงงานในยุโรป เริ่มไม่คุ้มต่อการทำธุรกิจอีกต่อไป เดือนกุมภาพันธ์ 2012 Mitsubishi Motors จึงประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในยุโรป ที่โรงงานของ NedCar ในช่วงสิ้นปี 2012 ตามด้วยการประกาศขายโรงงานและหุ้นทั้งหมดให้กลุ่ม VDL Groep ในราคาเพียง 1 Euro เพื่อให้พนักงานกว่า 1,500 คน ยังคงมีงานทำกันต่อไป

การขายกิจการทั้งหมด เสร็จสิ้นเมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม 2012 VDL Groep ก็เข้าซื้อหุ้นและกิจการของ NedCar จาก Mitsubishi Motors Corporation โดยสมบูรณ์ เป็นอันปิดฉากการมีโรงงานของ Mitsubishi Motors ในสหภาพยุโรปโดยปริยาย นับจากนั้นเป็นต้นมา โรงงานดังกล่าว ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น VDL NedCar เมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2013 และกลายเป็นโรงงานรับจ้างประกอบ รถยนต์ MINI หลากรุ่น ไปจนถึง BMW X1 ในปี 2017 ตราบจนถึงปัจจุบัน

Mitsubishi Carisma อาจไม่ใช่รถยนต์ที่คนไทยรู้จักมากนัก แม้จะมียอดขายในภาพรวมที่สูงพอสมควร ทว่า เมื่อข้อตกลงร่วมกันระหว่าง Volvo และ Mitsubishi Motors มาถึงจุดสิ้นสุด ต้องแยกทางกันแล้ว เมื่อรวมเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับยอดขายที่ทำได้แค่ระดับปานกลาง ในตลาดอันแข็งแกร่งอย่างยุโรป ดังนั้น คงเป็นเรื่องยากที่ Mitsubishi Motors จะยอมฮึดสู้อีกรอบ ทุ่มทรัพยากรอีกครั้ง เพื่อ บริษัทแม่ตัดสินใจไม่พัฒนารุ่นต่อไปของ Carisma และทำได้เพียงถอนตัวออกจากตลาดกลุ่ม CD-Segment ปล่อยให้ตระกูล Galant เดินหน้าทำยอดขายไปอีกสักพัก แล้วจึงยุติบทบาทในยุโรปตามกันไปในที่สุด

———————–///———————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
และ Mitsubishi Motors Corporation ประเทศญี่ปุ่น
เอื้อเฟื้อข้อมูลเก่า จากสารพัดไฟล์ PDF

คุณ The Viper Danny Adidat
สำหรับการแปลข้อมูลภาษาญี่ปุ่น

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย จากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
และ Mitsubishi Motors Corporation
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
15 กันยายน 2024

Copyright (c) 2024 Text
Pictures from Mitsubishi Motors Corporation

Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
September 15th,2024