[รูปในบทความนี้ คัดมาเฉพาะบางส่วน สำหรับท่านที่ต้องการโหลดรูปภาพ ขอเชิญลิงค์ที่ท้ายบทความได้เลยครับ]
HEADLIGHTMAG presents ” Subaru Forester Ultimate Test Drive “
ในยุคนี้ การเลือกซื้อรถหนึ่งคัน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาในการคิดและวางแผนนานกว่าแต่ก่อน เนื่องจากเงินที่ได้มาแต่ละเม็ดจากหยาดเหงื่อของเรานั้นกว่าจะได้มายากเย็น การจะซื้อรถแต่ละคันจึงไม่ควรง่ายเหมือนซื้อกางเกงยีนส์ นาฬิกาหรือรองเท้า คุณต้องทำการบ้านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านรีวิวของสำนักต่างๆ การไปเดินที่โชว์รูมหรือมอเตอร์โชว์ แต่ท้ายสุด ก่อนที่จะซื้อรถสักคัน คุณควรต้องได้ทดลองขับ เพื่อให้มั่นใจว่ารถคันนั้นจะตอบโจทย์คุณจริงๆ
ไม่ใช่ยังไม่ได้ขับแล้วจะให้จองเลย หรือเจอคำพูดประเภท “ถ้าผมให้พี่ลองแล้วพี่จองเลยหรือเปล่าล่ะ” ซึ่งมักพบได้ตามงานขายรถต่างๆทั่วไป เวลาผมเจอแบบนี้ก็มักจะตอบว่า “สมมติผมเป็นคนขายรองเท้า เวลาพี่ไปซื้อรองเท้าแล้วพี่ลองปุ๊บผมมัดมือชกให้พี่ซื้อเลยพี่เอาป่ะล่ะ”
ความคิดแบบนี้ เราจะปล่อยให้มันตกกระป๋องไปกับช่วงเวลาที่การทดลองขับก่อน Say Yes หรือ No กำลังเป็นวิธีปฏิบัติใหม่ที่ผู้ซื้อรถยุคใหม่เห็นความสำคัญมากขึ้น หมดเวลาสำหรับการเปิด ดู ดมภายใน เอามือเคาะตัวถัง แล้ววางเงินมัดจำ
เมื่อการทดลองขับคือหัวใจในการตัดสินว่ารถคันใดคันหนึ่งควรจะมาอยู่ในบ้านเราหรือไม่ ทาง Subaru จึงจัดงาน “Subaru Ultimate Test Drive” สำหรับลูกค้าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ประกอบกับวาระพิเศษที่เว็บ Headlightmag ของเรามีอายุครบรอบ 10 ปี ในปี 2019 นี้ ทางพี่ตวัน คำฤทธิ์ แห่ง ที.ซี. ซูบารุ เลยมีความคิดว่าหากเราได้นำ Subaru Forester ใหม่มาให้คนอ่านเว็บลองกัน ก็น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งแบรนด์ และให้โอกาสในการลองรถในสนามปทุมธานีสปีดเวย์ ลองพบในสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้บนถนนกับการทดลองขับทั่วไป
แรกเริ่มเดิมที เราจะจัดกันแค่วันเดียวคือ 3 สิงหาคม โดยเปิดรับสมัคร เฟ้นหาผู้โชคดีจำนวน 80 ท่าน แต่หลังจากภายใน 30 ชั่วโมงหลังรับสมัคร ยอดคนที่ส่งใบสมัครเข้ามาก็ทะลุ 200 คนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อแจ้งเรื่องนี้ไปทาง Subaru คุณตวันและทีมงานจึงเสนอว่า “งั้นเราเปิดอีกวันนึงเลยดีกว่าครับ”
ผู้โชคดีจากทาง Headlightmag 160 ท่านนี้ คือประชาชนทั่วไปกลุ่มแรก ที่จะได้ทดลองใช้ระบบช่วยเหลือการขับ EyeSight ซึ่งติดตั้งในรถ Subaru ที่จำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (ไม่นับสื่อมวลชนที่ได้ทดลองไปก่อนหน้า 1-2 วัน)
รถทดสอบ Subaru Forester 2.0 i-S EyeSight
สำหรับรถที่ทาง Subaru กำลังโปรโมทอยู่ตอนนี้ ก็คือ Forester ซึ่งเป็นรถ SUV ระดับ C-segment คู่แข่งตรงรุ่นของ Honda CR-V, Mazda CX-5 และ Nissan X-Trail ซึ่งแม้จะมีจุดอ่อนตรงที่มีแค่ขุมพลังระดับ 2.0 ลิตรเบนซินไร้เทอร์โบให้เลือกเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีจุดแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการให้ผู้มาร่วมกิจกรรมได้สัมผัส
- Subaru Forester ที่ใช้ในงาน เป็นรถที่ผลิตจากโรงงานลาดกระบัง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่ Subaru ขึ้นสายการผลิตประกอบรถอย่างจริงจังในประเทศไทย โดยโครงสร้างของรถ รวมถึงกรอบประตู ฝากระโปรงหน้า/หลัง จะผลิตที่ญี่ปุ่น และส่งมาเชื่อมประกอบในไทย ใช้เทคโนโลยีการประกอบที่เท่าเทียมกับโรงงานในญี่ปุ่น
- ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Symmetrical All-Wheel Drive อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ Subaru ที่มีส่วนช่วยในการยึดเกาะบนพื้นถนนเปียกลื่น
- ระบบควบคุมจัดการกำลังขับเคลื่อน X-Mode Special ที่สามารถจัดสรรปันกำลังไปยังล้อแต่ละข้างเพื่อสร้างแรงยึดเกาะ ซึ่งนับเป็น SUV พื้นฐานรถเก๋งราคาล้านกลางบวกลบเจ้าเดียวที่สามารถกระจายกำลังได้อย่างอิสระ
- ระบบ EyeSight ซึ่งรวมเอาระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางและสั่งหยุดรถ กับ Adaptive Cruise Control เข้าไว้ด้วยกัน
ผม คุณ J!MMY และพี่สุรมิส เจริญงามแห่ง ขับซ่า34 ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจัดงานในครั้งนี้ ทักทายกับทุกคนพอหอมปากหอมคอ จากนั้น เราก็ได้เริ่มต้นฟัง BRIEF เกี่ยวกับการทำงานของระบบ EyeSight จากคุณอั๋น หัวหน้าฝ่าย Training จาก T.C. Subaru ให้เกียรติมาบรรยาย ซึ่งขออนุญาตสรุปรายละเอียดมาให้ดังนี้
รายละเอียดเบื้องต้นของระบบ EyeSight
- Subaru เริ่มพัฒนากล้องสำหรับตรวจจับและแจ้งเตือนเหตุข้างหน้าตั้งแต่ปี 1989 และเริ่มใช้จริงครั้งแรกปี 1999 ใน Subaru Legacy โดยมีชื่อเรียกว่าระบบ ADA – Active Driving Assistance
- ปี 2003 มี ADA เวอร์ชั่นอัปเดต ใช้กล้อง 1 ตัวทำงานร่วมกับเรดาร์ ติดตั้งใน Subaru Legacy
- ปี 2006 เริ่มใช้ระบบเรดาร์แบบเลเซอร์พร้อมติดตั้งระบบ Adaptive Cruise Control ปรับความเร็วตามรถคันหน้าอัตโนมัติ
- ปี 2008 เปลี่ยนชื่อจากระบบ ADA เป็น EyeSight Version 1.0 ถอดระบบเรดาร์ทิ้ง เปลี่ยนเป็นกล้อง 2 ตัว และมีการอัปเดตอีกครั้งในปี 2010 ส่วน EyeSight ปัจจุบันนับเป็นเวอร์ชั่นที่ 3.0 ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2014
EyeSight แบ่งหมวดการทำงานออกเป็น 6 หน้าที่
- Pre-collision Braking = ระบบเบรกก่อนชน
- Adaptive Cruise Control = ระบบ Cruise Control ที่สามารถปรับความเร็วอัตโนมัติตามรถคันหน้า และสามารถชะลอความเร็วลงจนเหลือ 0 ได้ด้วยตัวเอง
- Pre-collision Throttle Management = ระบบตรวจพบสิ่งกีดขวางด้านหน้า ถ้ามีการกดคันเร่งระบบจะสั่งตัดการทำงานของคันเร่ง ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินหากคาคันเร่งเอาไว้ 4 วินาที รถจะยอมพุ่งออกตัวต่อไปได้
- Lead Vehicle Start Alert = ในกรณีที่รถไฟเขียว คันหน้าเคลื่อนตัวแล้วเรายังไม่ออกรถ ระบบจะส่งเสียงเตือนให้ผู้ขับรู้ตัวก่อนจะโดนคันหลังบีบแตรด่า
- Lane Departure Warning = เมื่อรถเบี่ยงออกและวิ่งทับเส้นแบ่งเลน ระบบจะส่งเสียงเตือน
- Lane Sway Warning = เมื่อรถมีอาการเบี่ยงในทิศทางซ้ายขวาเหมือนไร้การควบคุม (เช่นคนขับหลับใน) ก็จะส่งเสียงเตือนเช่นกัน
ข้อควรทราบของระบบ EyeSight
ส่วนนี้ขออนุญาตเสริม เนื่องจากรู้กันอยู่ว่าเราไม่อยากเชียร์หรือขายผลิตภัณฑ์อย่างหน้ามืดตามัว อะไรที่เป็นข้อจำกัดก็ต้องบอกให้ทราบ
- EyeSight ทำงานเหมือนตามนุษย์มอง สิ่งใดที่ตาเรามองไม่เห็น EyeSight ก็มองไม่เห็น ในกรณีแสงจ้ากระทันหัน หรือมืดสนิท มีหมอกหนา ระบบจะมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้า
- กล้องของ EyeSight มีเลนส์ที่ละเอียดอ่อนมาก และด้วยความที่ต้องแม่นในเรื่องการรับแสงทำให้ไม่สามารถใส่ฟิลเตอร์หนาๆไปบังไว้ได้ ห้าม เช็ด ล้าง หรือเอานิ้วไปโดน ถ้าจะทำความสะอาด ใช้ที่เป่าลมขนาดเล็กแบบช่างภาพ เท่านั้น
- EyeSight ไม่สามารถจำแนกเส้นแบ่งเลนบ้าๆบอๆ เลือนลาง หรือทับไปทับมาออก
- แนวเยื้องของวัตถุ หรือสีของวัตถุที่เหมือนกับฉากหลัง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการหยุดรถ ทำงานได้ไม่เต็มที่
- EyeSight เป็นระบบ Driver Assist ที่เน้นการเตือนเป็นหลัก ไม่มีการควบคุมพวงมาลัยหรือดึงพวงมาลัยชดเชยให้โดยอัตโนมัติ
- ระบบ Pre-collision Braking – จะไม่ทำงานถ้าคนขับ 1. สวนคันเร่งลงไป หรือ 2. เหยียบเบรก บางท่านตกใจเวลาระบบทำงาน ก็ลงเท้าเบรกเอง แต่เบรกไม่แรงพอ ก็จะยังสามารถเกิดอุบัติเหตุได้
Subaru ให้คำจำกัดความ EyeSight ว่าเป็นระบบช่วยเหลือในการขับ ไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ หรืออัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าปรัชญาแนวทางนี้ มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบอยู่แล้ว
จากนั้น เป็น Driver’s Brief โดย ในงานนี้ เรามีพี่เอส นราศักดิ์ อิทธิริทพงษ์ นักแข่งระดับแชมป์เจ้าของสถิติความเร็วการแข่งในประเทศไทยหลายรายการ และเป็นผู้ที่เติบโตมากับทางฝุ่น คุ้นเคยกับการขับแรลลี่ในระดับมืออาชีพ และเป็นนักแข่งให้กับทีม Subaru ด้วยเช่นกัน
Tips การปรับตำแหน่งการขับจากอาจารย์เอส
- ความสูงของเบาะที่เหมาะ คือเมื่อเรานั่งแล้วเอา 1 กำปั้นยัดได้พอดีที่ช่องระหว่างหัวถึงเพดาน หลายคนชอบปรับเบาะเตี้ยเหมือนรถแข่งทางเรียบ แต่วิธีของอาจารย์เอส จะเน้นทัศนะวิสัยหน้ารถ เมื่อสามารถมองเห็นได้ทั่ว ก็สามารถเฉียดโค้งหรือกรวยได้ใกล้ขึ้น
- เวลาวางเท้าขวา ให้ถามตัวเองว่าเวลาเหยียบเบรก กับเหยียบคันเร่ง อันไหนเท้าอยู่ในตำแหน่งที่ถนัดและสร้างแรงเหยียบได้เยอะกว่ากัน แบบที่ถูก ก็คือ ตำแหน่งเท้าเวลาเหยียบเบรก ควรเป็นตำแหน่งที่ถนัดและสร้างแรงได้มาก เพราะการเบรกคือสิ่งที่กั้นระหว่างอยู่ กับ ตาย ต้องมีความสำคัญมากกว่า
- การปรับพวงมาลัยและความสูงเบาะ ต้องคำนึงถึงการสามารถหมุนพวงมาลัยได้ไม่ติดขัด นอกจากจะต้องสามารถนั่งหลังชิดหัวพิงไหล่ชิดเบาะแล้วเอาข้อมือมาวางทาบส่วนบน 12 นาฬิกาของก้านพวงมาลัยได้แล้ว ยังควรจับในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกาแล้วทดลองหมุนว่าไม่ติดขัด สามารถหักเลี้ยวได้ไว
- อย่าใช้วิธีสาวพวงมาลัยแบบหงายมือแล้วจับด้านในของวงพวงมาลัย เพราะเมืื่อต้องหักหลบแบบฉุกเฉินจะเปลี่ยนทิศทางกระทันหันแทบไม่ได้เลย
- เมื่อได้ระยะที่คุมพวงมาลัยได้ถนัด ลองเหยียบเบรกกับคันเร่งให้สุดดู เมื่อเหยียบสุดแล้ว เข่ายังต้องอยู่ในลักษณะที่งอ จะช่วยให้สามารถลงแรงเท้าได้เต็ม และในกรณีการชนที่ด้านหน้ารถ เข่าที่งอจะบาดเจ็บน้อยกว่าเข่าที่เหยียดตรง
ลักษณะของคอร์ส
เราแบ่งการจัดออกเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่
- Track Test – เป็นการขับรอบสนามปทุมธานีสปีดเวย์ ซึ่งจะมีจุดให้ลองการเข้าโค้ง การวิ่งผ่านลูกระนาดต่อเนื่อง 15 ชุด (ลูกระนาดขนาดเล็ก) ทดลองเบรกเต็มจน ABS ทำงาน จากนั้นลองเข้าโค้งรูปตัว S เพื่อดูการทำงานของระบบ Torque Vectoring ลองเข้าลาน Skidpad ที่พ่นน้ำจนพื้นแฉะเพื่อดูการทำงานของระบบ VDC และ จากนั้นจึงมีด่าน Lane Change และ Slalom โดยเปลี่ยนจากกรวยเป็นลูกบอลขนาดใหญ่
- EyeSight Test Course – เป็นการขับตามรถนำ โดยสมมติสถานการณ์เหมือนการขับตามรถคันหน้าในเมือง ซึ่งมีการชะลอความเร็ว เบรกจนหยุด และเร่งออกตัว รวมถึงการที่เมื่อรถคันหน้าเปลี่ยนเลนกระทันหันเพื่อหลบรถที่จอดอยู่ แล้วดูว่าระบบยังสามารถเบรกให้ได้หรือไม่
ในช่วงแรก หลายท่านก็ดูเขินอาย บางท่านยังไม่กล้าใส่เต็มเพราะกลัวคุมรถไม่อยู่ แต่ผมสังเกตได้ว่าบางท่านพอเริ่มคุ้นกับสนามแล้วแอบกลับไปซ้ำก็มี โดยเฉพาะด่าน Skidpad เปียกน้ำ แหม..บางคนรอบแรกมานี่หน่อมแน้มเหมือนพาแม่นั่งมาด้วยเลย แต่พอรอบสอง เหาะเป็นสลาตันมายังกะปวดขี้จะรีบไปเข้าห้องน้ำ หรือบางท่านก็ชอบด่านโค้ง S เพราะจะได้เห็นลักษณะบาลานซ์ของ Forester ซึ่งอาจารย์เอสบอกว่า ถึงหน้าตามันจะธรรมดา และช่วงล่างจะนุ่ม แต่พอซัดโค้งแล้วไม่หลุด
เพราะระบบ VDC (Vehicle Dynamic Control) ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ และระบบ Torque Vectoring ที่เมื่อเรากดคันเร่งแล้ว รถจะสามารถถ่ายกำลังจากล้อวงในโค้งที่เสียแรงยึดเกาะ ไปยังล้อวงนอกโค้งที่มีแรงยึดเกาะมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายกำลัง Shuffle ระหว่างคู่หน้าและหลังได้ ทำให้คาแร็คเตอร์ของ Forester ในเรื่องการเกาะถนนผิดวิสัยกับหน้าตาและความนุ่มของช่วงล่าง
“รถขับสี่ปกติ ถ้ายางขนาดนี้ ตัวรถใหญ่และสูงเท่านี้..เรามาเข้าโค้งแรงๆ ยังไงก็ต้องมีอาการอันเดอร์สเตียร์ แต่ของ Forester ใหม่นี่จะเปลี่ยนจากอาการอันเดอร์ฯหน้าดื้อเป็นท้ายออกนิดๆ ทำให้เราเลี้ยวรถไปตามทางได้ง่ายกว่า” อาจารย์เอสเล่าในขณะที่ผมยืนดูคุณผู้อ่านวนลาน Skidpan ชุ่มน้ำเล่นกันสนุก สังเกตได้ว่า VDC จะเข้ามาทำงานเมื่อรถเริ่มเร็วหรือหน้าดื้อเกินไป แต่จะใช้วิธีถ่ายกำลังหรือแยกจับเบรกเพื่อพยายามทำให้หน้ารถตรงแนวที่สุด
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีการโชว์การทำงานของระบบ Pre-collision Braking โดยคุณเจ้าของเว็บลงทุนยืนล่อให้รถเข้ามาชน เราเชิญสักขีพยานขึ้นรถไปด้วยอีก 3 ท่าน เพื่อช่วยดูว่าทีมงานผู้ขับของเราไม่ได้กดเบรก แต่รถหยุดให้เองจริงๆ
มีคนถามว่า ถ้าคนขับเผลอปิดระบบก่อนพุ่งเข้าหาพี่ J!MMY จะเกิดอะไรขึ้น ผมเดาได้สองอย่างว่าถ้าไม่ใช่ J!MMY เจ็บหนักก็คนขับนั่นแหละครับจะเลือดกลบหูตาย
หลังจากนั้น เราสาธิตระบบ Adaptive Cruise Control ที่ความเร็วต่ำ โดยสมมติสถานการณ์ให้คนเดินถนน ซึ่งคือทีมงาน (คุณป๊อป) เดินอยู่กลางถนน แล้วให้ Forester ที่เปิดระบบ EyeSight เอาไว้ ขับเข้ามาด้วยความเร็วไม่มากนัก เมื่อระบบตรวจพบคุณป๊อปที่กำลังเดินอยู่ รถสามารถลดความเร็วลงย่องตามคุณป๊อปได้ พอคุณป๊อบหยุดเดิน รถก็หยุดตาม พอคุณป๊อปออกเดินอีกครั้ง คนขับก็กดปุ่ม “RES” บนพวงมาลัย รถก็กลับมาทำความเร็วได้ตามเดิม
คือจริงๆแล้วมันไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ Volvo ทำขายในไทยกับรถเกือบทุกรุ่นมาสักพักแล้ว แต่ทว่าถ้าคุณต้องการ SUV และคุณมีงบแค่ไม่เกินล้านห้า Forester มันเป็นตัวเดียวที่ทำได้
จากนั้น ก็มาทดสอบการทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยทดลองขึ้นที่ล้อซีกคนขับก่อน จากนั้นจึงลองล้อหน้าบนโรลเลอร์ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้รถขับสี่ส่วนมากจะผ่านได้หมดอยู่แล้ว แต่เมื่อขึ้นบนโรลเลอร์ 3 ล้อ โดยมีเฉพาะล้อหน้าฝั่งคนขับเท่านั้นที่เป็นพื้นแน่นๆล่ะ?
แน่นอนครับ ในช่วงแรกล้อฟรีทิ้งอยู่บ้าง แต่พอกดปุ่ม X-Mode ใช้งานปุ๊บแล้วกดคันเร่งส่งตามปกติ Forester ที่มีแรงยึดเกาะจากล้อหน้าขวาแค่ข้างเดียวก็สามารถดึงตัวหลุดจากโรลเลอร์ได้อย่างสบาย
มีบางท่านบอกว่าแบบนี้รถขับสี่ที่ไหนก็ทำได้ ผู้จัดงานเลยบอกว่า ถ้าผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านไหนเอารถขับสี่ยกสูงมา แล้วอยากจะลอง ก็เอามาขึ้นได้เลย ใครที่รอดจากโรลเลอร์นี้ได้เป็นคนแรก พี่อั๋นแจกเซตโมเดล WRX STi 6 คันให้กลับบ้านไปเลย ซึ่งในตอนแรก ผู้ชมส่งเสียงเชียร์ให้คนอ่านท่านหนึ่งเอา AMG C43 มาลองขึ้นดู แต่แห้ว เพราะใต้ท้องเตี้ยเกินไป ต่อจากนั้น เราก็มีรถขับสี่อีกสองสามคันที่มาขอลองของ (ขออนุญาตไม่เปิดเผยยี่ห้อเพราะไม่อยากใช้งาน Subaru ไว้ถล่มทับยี่ห้ออื่น) แน่นอนว่า “ไม่รอดแม้แต่คันเดียว”
ยกเว้น Ranger รุ่น อบต. 12 วาล์ว เก่าของไอ้เติ้ง ทีมงานของเรา ซึ่งมี Rear-diff lock สามารถผ่านไปได้ แต่ตอนมันลองนั้นทุกคนกลับบ้านไปกันหมดแล้ว เลยไม่ได้ของรางวัล
*****FEEDBACK จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม*****
เช่นเดียวกับงานที่จัดโดย Headlightmag ทุกครั้งที่ผ่านมา เราจะขอความร่วมมือ (บางครั้งก็ขู่เข็ญ) ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยออกความเห็น ทั้งในแง่ดี และส่วนที่รถคันนั้นๆ ยังไม่น่าพอใจในสายตาของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องไปอ้างอิงอะไรจากรีวิวของ Headlightmag
ผมชอบจุดนี้ ที่เราได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา (และไม่หยาบ เลี่ยนหรือเกรียนเกินเหตุ) เหมือนมีคนช่วยคิดวิธีให้กับการทำรีวิวของเราในอนาคต นอกจากจะมีการทำ Survey แล้ว เรายังมีการถามแบบออกไมค์ได้ยินกันทั้งงาน นั่งคุยกันเป็นการส่วนตัว ตลอดจนรีวิวตามที่คุณสามารถค้นจาก Hashtag #SUTD และ #Headlightmag ได้อีกเช่นกัน
จุดที่ผู้ร่วมกิจกรรมชอบ ใน Forester
- งานประกอบของรถจากประเทศไทย ทำได้ดีกว่าที่คาด
- การตั้งราคาของ Forester ใหม่ อยู่ในระดับที่คุ้มค่าขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นเก่า ขอแค่อย่าปรับราคาบ่อยๆมากเหมือนสมัยก่อน คนซื้อจะไม่ชอบ
- ระบบ EyeSight ใช้งานได้สะดวกดี และน่าจะช่วยให้ขับบนถนนแล้วผ่อนคลายขึ้น ชอบตรงที่เวลารถคันหน้าเคลื่อนตัวแล้วมีระบบส่งเสียงเตือนให้ เพราะบางทีระหว่างรถติดบางคนจะชอบก้มเล่นมือถือ
- ท้ายรถกว้างขวางกว่าที่คิด ทัศนะวิสัยรอบคันโปร่งสบายตากว่า Subaru XV
- การยึดเกาะถนนดีมาก และเวลารูดผ่านลูกระนาด รถนิ่ง พวงมาลัยนิ่งกว่าที่คิด รู้สึกได้ว่าตัวถังออกแบบมาดี รู้สึกแน่นแต่ก็นุ่มสบายเหมาะเป็นรถครอบครัว
จุดที่ผู้ร่วมกิจกรรมยังอยากเห็น ใน Forester รุ่นต่อๆไป
- รูปทรงของรถโดยรวมโอเคแล้ว แต่ขอเปลี่ยนไฟท้ายทรงใหม่ ติดอยู่จุดเดียวจริงๆ
- ไม่ชอบเกียร์ CVT เพราะขับไม่สนุก น่าจะใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 หรือ 7 จังหวะมากกว่า
- อัตราเร่งช่วงออกตัวช้าเกินไป
- อยากให้มีรุ่น 2.5 ลิตร หรือมีรุ่นเทอร์โบ
- อยากให้ระบบ Adaptive Cruise Control หยุดนิ่งแล้วออกตัวตามรถคันหน้าได้เลยโดยไม่ต้องกดปุ่ม Resume
- ไม่ชอบที่ระบบ EyeSight ใช้กล้องซึ่งมีเลนส์เปราะบางมาก เพราะมักเอารถไปล้างตามร้านนอกบ้าน กลัวเด็กที่ร้านมาเช็ดแล้วทำให้ต้องเสียเงินค่ากล้องซึ่งแพงมาก ควรพิจารณาหาวิธีปิดหน้าเลนส์ให้ปลอดภัยหรือใช้เรดาร์/เลเซอร์แทนมากกว่า
จะสังเกตได้ว่าไม่ค่อยมีคนที่ตำหนิรูปทรงรถแรงๆ แต่เข้าใจว่างานนี้ คนที่สมัครมาส่วนมาก มีความสนใจใน Forester และทำใจเรื่องรูปทรงมาแล้วระดับหนึ่ง..อันนี้ผมเดานะครับ แต่ที่น่าสังเกตคือ ผมเดินคุยกับคุณผู้อ่านหลายสิบคนตลอดงาน พบว่าหลายท่านที่บอกว่า “2.0 ลิตรก็พอแล้ว” มักจะมีรถอีกคันที่บ้านซึ่งมีสมรรถนะสูงอยู่แล้ว มองหารถที่ขับแล้วผ่อนคลาย ลุยได้ และปลอดภัยมากกว่า
และถ้าจะให้สมกับเป็นงานหนึ่งในซีรีส์ครบรอบ 10 ปี Headlightmag ก็ต้องมีของพิเศษกันหน่อย งานนี้ทางพี่เอส นราศักดิ์ เลยวาดลวดลายใน WRX STi รุ่นไร้หางหลัง ขับพาผู้โชคดีที่ทางเราจับสลากได้ เพียง 9 ท่านต่อ 1 รอบ ที่จะได้นั่งรถ Top of the line ของ Subaru วนรอบสนามปทุมธานีสปีดเวย์ ได้พบกับการเข้าโค้งสไตล์ Rally แบบที่พี่เอสถนัด หน้ารถเลี้ยว 90 องศาตั้งแต่ยังไม่พ้น Apex และรับโดนัทไปรับประทาน อิ่มอร่อยกันถ้วนหน้า ในประเทศนี้คงมีไม่กี่คนหรอกที่ดริฟท์รถขับสี่บนพื้นปูนเล่นแล้วดูเหมือนทำได้ง่ายแบบอาจารย์เอสเค้า
นอกจากนี้ในวันสุดท้าย รอบท้ายสุด มีน้องตัวเล็กที่ชอบรถแต่ยังเด็ก รู้สึกรักในความเร็ว พี่ J!MMY จึงไปปรึกษากับทีมงานว่าเราพอจะเปิดรอบพิเศษให้น้องได้มั้ย อาจารย์เอสรับในทันทีและยังดูแลเรื่องเซฟตี้ คาดเข็มขัดครบทั้งครอบครัวและจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่รับแรงเหวี่ยงได้ดีที่สุด สรุปคือได้นั่งทั้งครอบครัว เพราะน้องไม่กล้านั่งไปคนเดียวกับอาจารย์ คุณพ่อ แม่ และพี่สาวเลยต้องนั่งไปเป็นเพื่อน ลงมาจากรถ ยิ้มอิ่มทิพย์แบบบูรณาการทั้งครอบครัว
บทสรุปของกิจกรรม HEADLIGHTMAG presents Subaru Forester Ultimate Test Drive
สิ่งที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คือประสบการณ์การขับรถของหลายๆท่าน ที่บางท่านก็ใช้ Forester รุ่นเก่าอยู่ ก็ยังไม่เคยได้มีโอกาสลองว่าระบบขับสี่ของ Subaru ต่างจากระบบ Part-time ของคู่แข่งอย่างไร เพราะบนท้องถนน หากไปลองซัดเต็มเหนี่ยวแล้วพลาด ก็จะเดือดร้อนทั้งตัวเองและคนอื่น แน่นอนครับว่า ถึงแม้ Forester จะมีตำแหน่งทางการตลาดเป็นรถสไตล์ครอบครัวขับสบาย แต่ DNA ตีนตุ๊กแกของ Subaru มันฝังลึกถึงอณูรถไปเรียบร้อยแล้ว เราแค่มาพบว่ารถรุ่นใหม่ นอกจากจะรักษาแนวทางเดิมของ Subaru แล้ว ยังมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยพัฒนาให้การขับขี่ปลอดภัยขึ้น สนุกขึ้น
ประการที่สอง คือการได้เปิดโอกาสให้ทดลองระบบ Driver Assist ยุคใหม่ของ Subaru ซึ่งหลังจากที่วิจัยและทดสอบบนถนนเมืองไทยมานาน นานจนบางท่านรอจนออก Subaru มาขับ 2 คันแล้วก็ยังไม่มา..วันนี้มันมาแล้ว และถึงแม้ยังไม่ใช่ระบบ Autonomous Drive แบบที่บางท่านคาดหมาย แต่ก็มีส่วนช่วยในการเสริมความปลอดภัย และสิ่งสำคัญที่ใช้ได้ทุกวันคือความสะดวกสบายจาก Adaptive Cruise Control ที่สามารถขับตามคันหน้าด้วยความเร็วต่ำได้
ทั้งหมดนี้ รวมกับอรรถประโยชน์ใช้สอยจากพื้นที่ภายใน ซึ่งก็นับเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการที่มีทรง Boxy เป็นกล่องทัปเปอร์แวร์ จุดนี้ก็ทำให้หลายคนเข้าใจว่าบางครั้งแนวทางการออกแบบคือสิ่งที่ต้องเลือกแบบได้อย่างเสียอย่าง เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนำไปเลือกให้เหมาะกับการใช้งานของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ใครมองเหมือนกัน หรือมาเถียงกันว่าสวยหรือไม่สวย ในงานยังมีการนำ XV มาจอดข้างๆด้วยซ้ำ แล้วก็ทำให้เห็นชัดเลยว่า XV หล่อสาวหลงกว่า แต่พอจับพี่แพนยัดฝากระโปรงท้ายปุ๊บ XV ดูแคบ แต่ใน Forester นอกจากพี่แพนแล้ว ยังยัดพี่จิมมี่กับคุณผู้อ่านได้อีกท่านเลยถ้าพับเบาะหลัง
มันก็อาจจะเหมือนกิจกรรมอื่นๆที่เราทำมา ก็คือพาคุณผู้อ่านมารู้จักรถมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ถามตอบกันอย่างตรงไปตรงมา บางคำถามก็ตอบออกไมค์เลยด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่เรายึดมั่นจะทำ และเป็นเงื่อนไขหลักของเราในการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ “ถ้าให้จัดกิจกรรมแล้วพูดแต่ข้อดี มีคำถามไม่ได้ พูดความรู้สึกของเราไม่ได้ เราไม่จัด”
ซึ่งตลอดปี เราก็จะได้เห็นมาแล้วว่าใครรับได้ กับเงื่อนไขของเรา นี่คือความสนุกเล็กๆของเราในฐานะผู้ร่วมจัด ซึ่งแน่นอนว่าต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาร่วมงาน เป็นเพื่อนคุย เพื่อนขับ และแชร์ความคิดเห็นกับเรา และขอบคุณบริษัทรถ กับทางผู้บริหารแผนการจัดงาน (Organizer) ที่ยังเห็นค่าในสิ่งที่เราทำและให้การสนับสนุนตลอดมาครับ
—-////—-
***LINK ดาวน์โหลดรูปภาพกิจกรรม***
- รูปภาพสำหรับ กลุ่มที่ 1 และ 2 วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม ดาวน์โหลดได้ที่นี่
- รูปภาพสำหรับ กลุ่มที่ 3 และ 4 วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม ดาวน์โหลดได้ที่นี่
** รูปทั้งหมด สงวนสิทธิ์โดยทีมช่างภาพ T.C. Subaru/ Fine Day Creation อนุญาตให้โหลดไว้ดูเล่นได้ แต่ไม่ยินยอมให้มีการนำไปใช้ในเชิงการค้าขาย พาณิชย์ ธุรกิจอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สงวนสิทธิ์ทั้งสามฝ่าย หากไม่แน่ใจ หลังไมค์มาถามที่เพจ Facebook ของ Headlightmag ก่อนได้ **