สมัยที่ผมยังเป็นเด็กชายอายุ 10-11 ขวบ ในช่วงปี 1990 – 1991 ผมมักนั่งเฝ้าดู
รายการโทรทัศน์ในแทบทุกวันเสาร์
ตอนนั้น ผมอาจจะติดรายการประจำอย่าง “คู่หูคู่ฮา” (Shimura & Ken-chan)
ที่ช่อง 7 สี ซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น นำมาออกอากาศในบ้านเรา หรือไม่ก็
อาจเป็นรายการอะไรต่อมิอะไรบ้างนิดๆหน่อย แต่ความจริงก็คือ ผมชอบนั่งดู
ภาพยนตร์โฆษณา คั่นเวลาในแต่ละช่วงของรายการต่างๆ เหล่านั้นต่างหาก
การเป็นคนบ้ารถ ทำให้ผมได้เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์มาตั้งแต่
วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ ไปจนถึงเรื่องในแวดวงการตลาด
(ก็เริ่มอ่านหนังสือการตลาดเพราะการสนใจเรื่องรถนี่ละ) ต่อยอดถึงเรื่องดนตรี
(ซึ่งก็เริ่มมาจากการชอบดูโฆษณารถยนต์ ที่มีเพลงเพราะๆ จนต้องไปตามหา
มาฟังนั่นแหละ) จากจุดนี้ มันก็เริ่มเลยเถิดไปสนใจสิ่งอื่นๆรอบข้างที่นอกเหนือ
จากรถยนต์ด้วย เพราะในความคิดของเด็ก ป.6 คนหนึ่ง ณ ตอนนั้น ทุกสิ่ง มัน
สามารถเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันได้ทั้งหมด
ผมชอบดูโฆษณาทางโทรทัศน์มาแต่ไหนแต่ไร เห็นพัฒนาการและความเป็นไป
ในยุคทศวรรษ 1980 – 1990 ชัดเจนเรื่อยๆ วงการโฆษณาในยุคนั้น ถือเป็นยุคทอง
รุ่งเรืองสุดขีด หนุ่มสาวในสมัยนั้นต่างเฝ้าฝันอยากเข้าไปทำงานเบืองหลังวงการ
โฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ กลายเป็นสาขาที่เด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่
ต่างมุ่งหน้าแย่งชิงกันสอบ Entrance เข้าไปเรียนกันให้ได้ ถึงสอบเข้าไม่ได้ ยังมี
มหาวิทยาลัยเอกชน เปิดรับกันราวกับดอกเห็ดเบ่งบานยามฤดูฝน ผลิตคนจนเยอะ
เต็มล้นวงการ ในกาลต่อมา
ในปี 1990 – 1997 นั้น ประเทศไทย อุดมไปด้วยภาพยนตร์โฆษณาดีๆ เต็มไปหมด
ใครจะไปนึกเล่าว่า เราเคยมีโฆษณาเหล้า ชีวาส รีกัล ซึ่งมีความยาวมากๆๆๆ ที่สุด
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ 3 นาที ออกอากาศในช่วงเวลา Prime Time ของ
รายการข่าวโทรทัศน์ ทุกช่อง “พร้อมกันในวันเดียว” แทบไม่ต้องนึกถึงค่าซื้อเวลา
Air time ในการออกอากาศเลยว่า แพงสะบัดช่อหูฉี่ขนาดไหน
หนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาที่น่าจดจำมากสุด ณ ตอนนั้น…คงเป็นโฆษณาฟิล์มสี
Fuji Colour ที่นำ ป๋าเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย สุดยอด Super Star ค้างฟ้าใน
บ้านเรา บินไปถ่ายทำหนังเรื่องนี้ถึงประเทศญี่ปุ่น โดยประกบกับเด็กผู้หญิงน่ารัก
Shiyomi Takahashi ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญกันไปทั่วประเทศ
หนังเรื่องนี้เอง ที่มีฉากสำคัญ เพียง 2-3 วินาที แต่ติดตาตรึงใจคนไทยหลายคน
มาจนถึงวันนี้
ฉากที่ บานประตูปีกนกของรถคันหนึ่ง ถูกเปิดกางยกขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ฝั่ง ป๋าเบิร์ด
และน้อง Shiyomi ลุกออกมาจากรถสีฟ้าคันนั้น
นั่นละครับ วันที่โฆษณาเรื่องนี้ออกอากาศครั้งแรก คือวันที่คนไทยทั้งประเทศ ต่าง
พากันถามหาทันทีว่า “ไอ้รถสวยๆคันนี้ มันคือรถอะไร? มันมีขายอยู่จริงใช่ไหม? ”
ครับ เรากำลังพูดถึง รถคันที่จอดอยู่ข้างล่างนี่แหละ….
จริงอยูว่า ในอดีตกาล โลกเรา รู้จักรถยนต์ที่มีบานประตูเปิดยกขึ้นแบบปีกนก
มาตั้งแต่สมัยรถแข่ง Mercedes-Benz 300SL (W194) ในปี 1952 และรุ่น
จำหน่ายจริง (W198) ในปี 1954 แต่ถ้าย้อนไปสืบสาวราวเรื่องให้ดีๆจะพบว่า
เราแทบไม่เคยเห็นผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งโลกตะวันออกรายใด เคยทำรถประเภทนี้
ออกมาขายกันเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนเลย อย่างมากสุด ก็แค่ทำออกมาเป็น
รถยนต์ต้นแบบ ไว้อวดโฉมตามงาน Motor Show ทั่วโลก ก็แค่นั้น
การที่ Toyota ตัดสินใจทำ Sera ออกมาขาย จึงทำให้รถคันนี้ถูกจารึกไว้ใน
สถานะ “รถยนต์แบบประตูปีกนก Gullwing , Pivoting Swing-up Doors
แบบแรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น แถมยังเป็นรถยนต์
ประตูปีกนก เพื่อจำหน่ายจริง แบบแรก และแบบเดียวที่ Toyota เคยผลิตขาย”
ใช่ครับ แบบแรก และแบบเดียวจริงๆ เพราะหลังจากนั้นเพียง 5 ปี Toyota ก็
ตัดสินใจว่า “เข็ด” เลิกทำรถแบบนี้ขายอีก ตลอดกาล…
เช่นเดียวกันกับผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นอีกรายอย่าง Mazda ที่ตัดสินใจทำ รถสปอร์ต
ประตูปีกนก Autozam AZ-1 ออกมาในเดือนพฤษภาคม 1992 และลงท้ายด้วย
ยอดขายเจ๊งบ๊ง พังไม่เป็นท่าพอกัน ในอีก 4 ปีให้หลัง
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เกิดอะไรขึ้น? ทำไมรถสวยๆขนาดนี้ ถึงไปไม่รอดในญี่ปุ่น?
ทุกรายละเอียด ทุกคำตอบ รอให้คุณได้เลื่อนลงไปอ่านแล้ว…ข้างล่างนี้…
ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (กลุ่ม Compact
Class) ในญี่ปุ่น กำลังโตวันโตคืน จากการมาถึงของรถยนต์ระบบขับเคลื่อน
ล้อหน้า ตอนนั้น แม้ว่า Toyota จะยังครองอันดับ 1 จากยอดขายของบรรดา
รถเล็ก นำทัพโดย Corolla KE70 รวมทั้ง 3 ศรีพี่น้อง Tercel/Corsa และ
Corolla II และน้องเล็กสุดอย่าง Starlet 1300 ทว่า ส่วนแบ่งการตลาด
เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เริ่มลดลง ทั้งจากความร้อนแรงของ Mazda Familia
(323 ขับล้อหน้ารุ่นแรก ปี 1980) ที่ถึงขั้นทำยอดขายแซง Corolla ได้ใน
บางเดือนของปี 1980 รวมทั้งความพยายามบุกตลาดของ Nissan ด้วยวิธี
แตกหน่อก่อสายพันธ์รถยนต์รุ่นใหม่จากตระกูล Pulsar / Cherry ให้เพิ่ม
มากขึ้นอีกหลายรุ่น เช่น Langley กับ Liberta Villa ไปจนถึง ความนิยม
ที่เพิ่มขึ้นของ Mitsubishi Mirage กับ Lancer หรือ Honda Civic กับ
Daihatsu Charade ทำให้ Toyota คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไข
สถานการณ์ อย่างจริงจัง
จุดกำเนิดของ Sera ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1983 ตอนนั้น Toyota กำลังอยู่
ในระหว่าง วางยุทธศาสตร์แผนพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆในระยะยาว สำหรับ
ทศวรรษที่ 1990 นอกจากพวกเขาจะเริ่มโครงการพัฒนา Toyota Celsior
หรือ Lexus LS400 เป็นครั้งแรกในปีนั้นแล้ว Toyota ยังมองเห็นศักยภาพ
ของกลุ่มลูกค้าหนุ่มสาว ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสำคัญ ใน
ช่วงปี 1990 – 1995
ดังนั้น ในเดือนเมษายน 1983 สำนักงานของ Toyota ที่ Tokyo จึงตั้งทีม
พัฒนารถยนต์ขึ้นมา ชื่อ “Studio Arco” นำโดยหัวหน้าวิศวกรของบริษัท
ชื่อ Kaneko Mikio ผู้ซึ่งเข้าทำงานกับ Toyota ในปีโชวะ 39 (ปี 1964)
โดยมีอายุเฉลี่ยของสมาชิกในทีมงานอยู่ที่ 28.2 ปี เพื่อสร้างรถยนต์ขึ้นมา
เอาใจกลุ่มลูกค้าวัยหนุ่มสาว โดยใช้ชื่อโครงการว่า “Young Project”
หลังการออกวิจัยตลาดภาคสนามตามจุดสำคัญๆในกรุง Tokyo โดยมุ่งเน้น
ไปที่กลุ่มผู้หญิงวัยเพิ่งเริ่มทำงาน พวกเขาก็เริ่มค้นพบไอเดียใหม่ๆมากมาย
หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือการสร้างรถยนต์ที่ “่บ่งบอกบุคลิกเจ้าของ” ให้
เกิดความสำราญเพลิดเพลินในการขับขี่ และถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด
Do it Yourself หรือ สร้างรถที่คุณเลือกได้ด้วยตนเอง
พวกเขาจึงลองสร้างรถยนต์ต้นแบบ Toyota Y-1 Palette ออกมา อย่างที่
เห็นข้างบนนี้ มันเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก แต่มี 3 ประตู เบาะนั่งติดตั้งในระดับ
ค่อนข้างสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปในยุคนั้น มีไฟหน้าทรงกลม และมีพื้นที่กระจก
หน้าต่างรอบคัน
ทว่า ผลลัพธ์ที่ได้ ทีมงานชุดดังกล่าว กลับถูกผู้บริหารตีกลับ และมองใน
แง่ลบว่า “เป็นโครงการที่เสียเวลาโดยสูญเปล่า”
กลายเป็นเรื่องน่าเสียดายว่า โครงการนี้ถูกละเลยจนแทบจะเลือนหายไป
จนกระทั่ง มีการโอนย้ายโครงการนี้ ไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานใหญ่
Toyota Motor Corporation ที่จังหวัด Aichi
(กว่าที่ แนวคิดของ การสร้าง “รถยนต์ซึ่งบ่งบอกบุคลิกเจ้าของ” จะกลาย
เป็นความจริง ก็ต้องรอกันจนถึงการเปิดตัว Toyota MR-S ในเดือนตุลาคม
1999 เลยทีเดียว)
พูดกันตามตรง แนวคิดของตัวรถในลักษณะนี้ สำหรับปี 1983 ถือว่าล้ำยุค
ล้ำอนาคตไปถึง 20 ปี เพราะกว่าที่จะมีการผลิตรถยนต์นั่งแบบ เบาะนั่งสูง
ในสไตล์ Minivan-Like แบบนี้ ก็ต้องรอกันจนเข้าสู่ปี 2001 ล่วงมาแล้ว
แถมรูปลักษณ์ในภาพรวม มันยังไม่ดึงดูดใจผู้บริหารได้มากพอ จึงไม่น่า
แปลกใจหรอกครับ ถ้าผู้บริหาร Toyota ในยุคนั้น จะเปิดไฟแดงให้กับ
โครงการนี้ ว่า “ยังไม่ผ่าน”
เดือนมกราคม 1985 หลังโครงการถูกย้ายมาขึ้นตรงกับสำนักงานใหญ่ที่ Aichi
การเปลี่ยนแปลงในทีมงาน ทำให้เหลือสมาชิกในกลุ่ม เพียงแค่คนเดียว นั่นคือ
Kaneko Mikio นั่นเอง! (ซึ่งต่อมา กลายเป็น Chief Engineer หัวหน้าวิศวกร
โครงการพัฒนา Sera)
3 เดือน ต่อมา Yao Hiroyuki เด็กหนุ่มไฟแรง ที่เริ่มเข้าทำงานกับ Toyota ใน
ปีโชวะ 55 (ปี 1980) ในตำแหน่ง นักออกแบบจากแผนก Body Design ก็ถูก
เรียกเข้ามาช่วยงานกับ Kaneko-san และทั้ง 2 คนนี้ ก็กลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญ
ในการผลักดันโครงการนี้
มันคือการเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ คนในแผนกพัฒนารถยนต์ ต่างเรียกโครงการนี้
ว่าเป็น “โครงการพ่อกับลูก” (มีความหมายประมาณว่า “2 พ่อลูกช่วยกันทำรถ”)
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น สมาชิกในทีมก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 25 คน
งานวิจัยตลาดกับกลุ่มลูกค้าหนุ่มสาว เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการเลือก
ให้รถคันใหม่รุ่นนี้ ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งน่าจะได้รับความนิยมมากกว่า
รถขับเคลื่อนล้อหลัง อีกทั้งยังควบคุมต้นทุนให้ถูกลงได้อีกด้วย ทีมงานของ
Kaneko-san ตัดสินใจสร้างรถคันใหม่นี้ บนพื้นฐานโครงสร้างงานวิศวกรรม
ของ Toyota Starlet รุ่น EP-80 Series ที่มีกำหนดเปิดตัวในปี 1990 เช่นกัน
ผลวิจัยตลาด ทำให้เกิดแนวคิด “Live & Performer” ขึ้นมา และกลายเป็น
Keyword สำคัญในการออกแบบรถคันนี้
วลีที่ว่า “Live Performer” มีความหมายต่างไปจากสิ่งที่เราคิดในครั้งแรก
ซึ่งนั่นน่าจะแปลได้เพียงแค่ว่า “นักแสดงสดบนเวที”
แต่ วลี “Live Performance” ในความหมายของทีมออกแบบกลุ่มนี้ แปลได้
ว่า “Live” หมายถึง การนั่งอาบแดดอยู่บนเบาะนั่งอันแสนสบายในบรรยากาศ
แห่งศิลปะร่วมสมัย เพื่อชมทิวทัศน์อันสวยงาม เคลื่อนตัวผ่านไป ส่วนคำว่า
“Performer” นั้น หมายถึง ความรู้สึกพิเศษ ขณะก้าวเข้าไปนั่งใน พื้นที่ห้อง
โดยสารอันโปร่งโล่ง เพื่อแสดงออกถึงบุคลิกและรสนิยมส่วนตัว ในช่วงเวลา
สำคัญของชีวิต
เมื่อนำวลีดังกล่าวมาตั้งเป็นโจทย์ในการออกแบบ ทีม Designer ต่างพากัน
คิดถึง บรรยากาศของรถยนต์ ที่มีห้องโดยสารแบบหลังคาโดมใส ที่เหมือน
เครื่องบิน ในสไตล์ Glassy Cabin นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแนวทาง
การออกแบบรถยนต์รุ่นนี้ขึ้นมา
ทว่า อุปสรรคสำคัญ ก็คือ ถ้าทำรถแบบ Glassy Cabin ขึ้นมา งั้น ประตูก็เปิด
แบบปกติไม่ได้หนะสิ!
Kaneko-san ก็เลยบอกว่า ลองทำเป็นหลังคาโดม โดยบานประตู เปิด-ปิด
แบบกลมกลืนไปกับโดมนี้เลยก็แล้วกัน!
สารพัดความคิดถูกระดมเข้ามา ตอนแรกบางคนก็เสนอให้ทำบานประตูแบบ
เลื่อน Slide Door เหมือนรถต้นแบบ Toyota Sport 800 ในอดีต แต่ก็ยังมี
ความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย
Kaneko-san ก็เลยเสนอให้ ทดลองทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อนเลย
นั่นคือ การนำบานประตูเปิดกางแบบปีกนก Gullwing Door มาใช้กับรถยนต์
ขนาดเล็ก
เหตุผลก็เพราะ ในตอนนั้น หากไม่นับรถยนต์ต้นแบบแล้ว ไม่เคยมีบริษัทญี่ปุ่น
ค่ายใด เคยผลิตออกจำหน่ายเลย แม้แต่รายเดียว ดังนั้น ถ้าหากทำออกมาได้
จริง Toyota จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชาวญี่ปุ่นรายแรกที่ทำรถยนต์บาน-
ประตูปีกนกออกจำหน่ายในบ้านของตนเอง!
ทีมงานของ Kaneko-san จึงศึกษารูปแบบการเปิด-ปิดประตูของรถยนต์รุ่น
ต่างๆที่เคยใช้บานประตูในลักษณะนี้ เช่น Mercedes-Benz 300SL (1954)
รวมทั้ง DMC DeLorean (1980)
เดือนมกราคม 1986 Yao มีแนวคิดในการผสานบานประตูของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น
ดังกล่าว เข้าไว้ด้วยกัน ทีมออกแบบจึงทดลองสร้างรถยนต์ทีใช้บานประตูแบบ
ปีกนก ยกโน้มไปข้างหน้า Pivot Swing Door โดยนำหลังคา T-Bar Roof จาก
Toyota MR-2 รุ่นแรก (1984) มาประยุกต์ด้วย
พวกเขาทำรถยนต์ต้นแบบออกมา 3 แนวทาง คือ A B และ C แน่นอนว่าจริงๆ
แล้ว ทีมออกแบบ อยากให้ผู้บริหารเลือกแบบ A เป็นหลัก แต่ด้วยเหตุที่จะต้อง
มีการทำหุ่นจำลองดินเหนียวของจริงขนาด 1/1 ออกมาเพื่อเสริมเป็นทางเลือก
ในกรณีที่คณะผู้บริหารเกิดไม่ชอบใจขึ้นมา ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องทำให้โครงการ
เดินหน้าต่อไม่ได้ จึงมีการออกแบบรถ B กับ C เพิ่มเติมขึ้นมา ควบคู่ไปด้วยกัน
แน่นอนว่า เป็นไปตามความคาดหมาย คณะผู้บริหาร เลือกรถยนต์ต้นแบบ A
(หุ่นดินเหนียวแถวซ้ายสุดจากรูปข้างบน) เพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและ
ดัดแปลงงานออกแบบให้สอดคล้องกับการผลิตออกจำหน่าย โดยเฉพาะเรื่อง
ต้นทุน และการแชร์ชิ้นส่วนร่วมกับรถยนต์รุ่นอื่นๆในตระกูลให้ได้มากสุดเท่าที่
จะเป็นไปได้
ถึงแม้ว่า แนวคิดจะไปได้สวย แต่ยังไงก็ตาม หากจะต้องผลิตออกสู่ตลาดกัน
จริงๆ ย่อมต้องมีการวิจัยว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะ วัยรุ่น จะยอมรับกับ
แนวคิดของรถยนต์ประตูปีกนกได้หรือไม่
ทีมออกแบบจึงสร้างรถยนต์ต้นแบบในรหัส Y2 ออกมาในชื่อ Toyota AXV-II
เพื่อนำไปจัดแสดงในงาน Tokyo Motor Show ครั้งที่ 27 เมื่อ 29 ตุลาคม 1987
เพื่อสำรวจปฏิกิริยาของลูกค้า โดยมีการติดตั้งชุดบานประตูและกระจกหน้าต่าง
แบบปีกนกนางนวล (Pivot Swing Door) เบาะนั่งคู่หน้า และเบาะหลังพับได้
แบบใกล้เคียงกับรถรุ่นขายจริงไว้ด้วย
ตัวรถมีความยาว 3,780 มิลลิเมตร กว้าง 1,650 มิลลิเมตร สูง 1,260 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร วางขุมพลัง LASRE @ Experimental เบนซิน
4 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,300 ซีซี หัวฉีด EFI 82 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/
นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ขับเลื่อนล้อหน้า สวมยางขนาด 185/60R14
หลังเสียงตอบรับส่วนใหญ่ เป็นไปในเชิงบวก คณะผู้บริหารในปี 1988 จึงอนุมัติ
ไฟเขียวให้มีการพัฒนา โครงการ Y2 หรือ AXV-II ออกสู่ตลาดจริงให้ได้ภายใน
ปี 1990 โดยขั้นต่อไป Y2 ก็จะถูกนำไปปรับแต่งจนมีสภาพพร้อมออกจำหน่าย
ภายใต้รหัสเรียกกันภายในว่า Y3 ซึ่งก็คือ Sera นั่นเอง
เมื่อการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ Toyota ก็พร้อมที่จะนำ Y3 หรือ Sera ไปอวดโฉม
ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงาน Tokyo Motor Show ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่
26 ตุลาคม 1989 โดยนำไปจัดแสดงบนแท่นหมุน ร่วมกับ Toyota MR-2 รุ่นที่
2 และจอดแขวนไว้ในแนวตั้งเพื่อแสดงให้เห็นกลไกการเปิดประตู และภายใน
ห้องโดยสาร อีก 1 คัน
การจัดแสดงในงานดังกล่าว Toyota ต้องการเผยวิสัยทัศน์ ให้เห็นถึงบรรดา
รถยนต์รุ่นใหม่ ที่เตรียมการพัฒนามายาวนานตั้งแต่ปี 1983 อย่าง Celsior
หรือ Lexus LS400 รุ่นแรก รวมทั้ง Toyota MR-2 เจเนอเรชัน 2 เพื่อเตรียม
ออกจำหน่ายจริงในปี 1990 รวม 3 รุ่นรวด อวดโฉมเคียงคู่กับ รถยนต์ต้นแบบ
Toyota 45ooGT ซึ่งต่อมา ถูกปรับแปลงโฉมให้กลายเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของ
Toyota Supra ในปี 1993
Sera ทั้ง 2 คัน ยังถือเป็นรถยนต์ต้นแบบ ระดับ Prototype เตรียมการผลิตจริง
เพราะชิ้นส่วนภายใน ยังมีบางชิ้นที่ไม่เหมือนกับเวอร์ชันขายจริง เช่นมาตรวัด
ความเร็ว ซึ่งยังเป็นตัวเลขแบบธรรมดา มาตรฐานของ Toyota ยังไม่เป็นแบบ
ตัวเลขสีเหลือง
บริษัท Central Motor จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ในเครือของ Toyota
Motor Corporation (ในยุคก่อนถูกควบรวมเป็น Toyota Motor East Japan
เมื่อ 1 กรกฎาคม 2012) รับหน้าที่เป็นโรงงานผลิต Sera เพียงแห่งเดียวในโลก
โดยเริ่มเปิดสายการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1990
ในที่สุด เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ AXV II ก็ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในชื่อ
SERA รหัสรุ่น EXY10 ณ โรงแรม ANA Inter Continental Tokyo เมื่อวันที่
8 มีนาคม 1990 ถือเป็นรถยนต์รุ่นที่มีความแปลกใหม่มากจนกลายเป็นกระแส
วิพากษ์วิจารณ์ ในหมู่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว
ชื่อรุ่น SERA มาจากภาษาฝรั่งเศส เป็นคำที่มาจากการผัน verbe “etrê” ในรูป
ประโยคคาดการณ์ที่กำลังจะกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (future tense)
แปลว่า “Will be” หรือ “จะเป็น”
ในช่วงแรก Toyota ใช้กลยุทธ์การสื่อสารว่า รถคันนี้ เกิดจากแนวคิดการนำ
สิ่งของ 3 อย่าง มารวมไว้ด้วยกัน นั่นคือ ร่ม เครื่องบิน และรถยนต์
Sera มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย คือ รุ่นพื้นฐานเกียร์ธรรมดา 1,600,000 เยน รุ่นพื้นฐาน
เกียร์อัตโนมัติ 1,675,000 เยน กับรุ่น Super Live Sound System เกียร์ธรรมดา
1,806,000 เยน และ เกียร์อัตโนมัติ 1,881,000 เยน ตั้งเป้ายอดจำหน่ายในญี่ปุ่น
เท่านั้น ไว้เดือนละ 1,000 คัน ไม่มีการส่งออกไปขายนอกเกาะอาทิตย์อุทัยทั้งสิ้น
ทำตลาดผ่านโชว์รูม เครือข่ายจำหน่าย Toyota AUTO ทั้ง 67 แห่ง และ Toyota
VISTA 66 แห่ง รวม 133 โชว์รูม โดยผู้จำหน่ายทุกโชว์รูม จัดงานแนะนำรถให้กับ
ลูกค้าในท้องถิ่นวันแรก วันเสาร์ที่ 17 และวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 1990
หมายความว่า ผู้จำหน่าย Toyota ทั่วโลก ก็ไม่มีประเทศใด ได้รับสิทธิ์ให้สั่งซื้อ
Sera ไปขายในประเทศตนเอง เท่ากับว่า Sera ทุกคันที่คุณเห็นบนถนนนอกญี่ปุ่น
ถูกนำเข้าโดยพ่อค้ารถรายย่อยชาวต่างชาติในดินแดนนั้นๆ
(ภาพยนตร์โฆษณา ออกอากาศทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่น วันแรก 3 มีนาคม 1990
เพลงประกอบ โดยวง T-Square )
(Video Catalog ที่ Toyota ทำแจกให้กับลูกค้าชาวญี่ปุ่น เพลงประกอบก็ยังคง
เป็นของวง T-Square เช่นเดียวกัน มีทั้งภาพการทดสอบการเปิดประตูในช่วง
อากาศหนาวเย็นจัด แถมยังมีฉากผู้ชายโดนผู้หญิงเจ้าของรถตบหน้าอีกด้วย!)
(ภาพยนตร์โฆษณาอีก 1 เรื่อง ถูกผลิตและนำไปออกอากาศในเวลาต่อมา เพื่อ
กระตุ้นการรับรู้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่เป็นสาวออฟฟิศ ทั้งหลาย และถือเป็น
ภพยนตร์โฆษณา เรื่องสุดท้าย ตลอดอายุตลาดที่เหลืออยู่ในญีุ่่ปุ่นของ Sera)
Sera มีตัวถังยาว 3,860 มิลลิเมตร กว้าง 1,650 มิลลิเมตร สูง 1,265 มิลลิเมตร
เมื่อปิดประตู แต่ถ้าเปิดประตูยกขึ้น จะมีความสูง 1,875 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,300 มิลลิเมตร ระยะความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง (Front & Rear Thread)
เท่ากันที่ 1,405 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า แค่ 930 กิโลกรัม เท่านั้น
ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ชัดว่า Sera มีตัวถังเท่าๆกันกับ รถยนต์ต้นแบบ
AXV II แทบไม่มีผิดเพี้ยน ต่างกันแค่ความยาวตัวรถที่เพิ่มขึ้นอีก 90 มิลลิเมตร
จากการปรับปรุงงานออกแบบให้เหมาะสมกับการผลิตออกจำหน่ายจริง เท่านั้น
รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Techno Art Fashion ให้มี
ลักษณะโค้งมนทั่วทั้งคันในแบบ Capsule พร้อมพื้นที่กระจกหน้าต่างรอบคัน
มากเป็นพิเศษแบบ Big Glassy Cabin ตามสไตล์ของรถญี่ปุ่นในยุคทศวรรษ
1980 – 1990
ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Projector Headlight กินพื้นที่ไปถึงมุมตัวถังด้านข้างนิดๆ
เป็นชิ้นเดียวกัน ไฟเลี้ยว ติดตั้งขนาบข้างช่องรับอากาศจากด้านหน้ารถ บริเวณ
แก้มด้านข้างเหนือและเยื้องกับล้อคู่หน้าเล็กน้อย ติดตั้งไฟเลี้ยวทั้งฝั่งซ้าย-ขวา
กรอบกระจกมองข้าง และมือจับประตูแบบ Grip Type พ่นสีเดียวกับตัวรถ
เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ออกแบบให้เป็นสีดำ ในลักษณะคล้ายกับรถสปอร์ต
ที่มีหลังคาแบบ T-Bar Roof คือมีเสาค้ำยันตรงกลาง เชื่อมต่อระหว่างชุดกรอบ
กระจกบังลมหน้า กับเสาหลังคา B-Pillar แบบครอบกลางถึงหลังคาด้านบน
Sera ไม่มีฝากระโปรงหลัง แต่มีกระจกบังลมด้านหลังขนาดใหญ่ เปิดยกขึ้นเพื่อ
ความสะดวกในการใส่ข้าวของสัมภาระบริเวณห้องเก็บของด้านหลังรถแทน
ชุดไฟท้าย วาง Pattern ในสไตล์มาตรฐานของ Toyota ยุคปี 1970 – 2000 คือ
ไฟเลี้ยวอยู่ด้านนอก ไฟเบรกและไฟสีแดงอยู่ตรงกลาง แต่จะมีไฟถอยหลังมาให้
ทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างไฟเบรก กับแผงประดับพลาสติกสีดำเงา
นอกจากนี้ Toyota ยังติดตั้งสปอยเลอร์แบบลิ้นหนา สีดำเงา บริเวณขอบด้านล่าง
ของฝากระจกบังลมหลัง แถมยังมีสปอยเลอร์แบบลิ้นครึ่งวงกลม ให้เลือกติดตั้ง
บริเวณขอบด้านบนสุดของฝากระจกบังลมหลัง ถูกออกแบบให้ต่อเนื่องมาจาก
หลังคาอีกด้วย
ช่วงแรกที่ออกสู่ตลาด Sera มีสีตัวถังให้เลือก 6 สี ไล่ตามภาพข้างบนนี้ก็มีทั้ง
สีเหลือง Greenish Yellow Mica (569)
สีฟ้า Medium Blue Mica (8H7)
สีแดง Wine Red Mica (3J8)
สีเทาฟ้า Light Turquoise Mica (743)
สีเทาดำ Dark Grey Mica (188)
สีเงิน Silver O.P.M. (189)
จุดเด่นของ Sera อยู่ที่บานประตูเปิดยกขึ้นได้ เรียกว่า “บานประตูแบบปีกนก”
ซึ่งถูกพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่รถยนต์ต้นแบบ AXV-II ในปี 1987 โดยกลไก
ไม่มีความซับซ้อนอย่างที่คิด เพราะมีแค่บานพับแบบหมุน อยู่บนหลังคารถ
ส่วนด้านล่าง ก็ยึดและค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค ฝั่งละ 2 ชุด แบบพับเก็บ
เข้าหากัน ส่วนกลอนล็อกประตู อยู่ที่ชายขอบด้านล่างของมุมโค้ง
กระจกหน้าต่างที่บานประตูทั้ง 2 ฝั่ง มีขนาดเล็กกว่ารถยนต์ทั่วไปเล็กน้อย
เรียกว่า Access Windows เลื่อนขึ้นลงด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้งซ้าย-ขวา โดย
ตัวเสากรอบนั้น จะต้องยึดติดกับกระจกชุดหลัก ซึ่งต้องรองรับแรงกระแทก
หากเกิดการพลิกคว่ำไปด้วย
ถ้านั่งอยู่ในรถ แล้วรู้สึกร้อน Sera มีแผงบังแดดแบบพับเก็บไว้รวมกันตรง
กลาง ณ ตำแหน่งเสาคานบนหลังคา T-Bar Roof หากจะใช้งาน แค่หมุน
เลื่นตั้งฉากในแนวนอน 90 องศา แล้วดึงแผงบังแดดลงมากางใช้งาน แต่
ถ้ารู้สึกว่าร้อนเกินไป Sera ยังมีแผงบังแดด ปิดทึบบริเวณกระจกบานประตู
ด้านบน ทั้ง 2 ฝั่ง มาให้ครบครัน โดยสามารถยกถอดเก็บออกได้ง่ายดาย
หลายคนที่กังวลว่า ความสูงและระยะกางออกของบานประตู จะมีปัญหา
ขณะเปิดใช้งาน ตอนจอดรถหรือเปล่า ประเด็นดังกล่าว นิตยสารรถยนต์
อันดับต้นๆ ของ ญี่ปุ่น อย่าง Motor Fan เคยทดลองใช้งานจริง กับทั้ง
ช่องจอดรถอัตโนมัติ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (แบบเดียวกับที่ใช้อยู่ใน
ห้างสรรพสินค้า EmQuatier หรือ ศูนย์การค้า “ยอดพิมาน River Walk”
ย่านปากคลองตลาด) พบว่าไม่มีปัญหา
แต่ถ้าจอดรถ ในช่องจอดตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป อาจมีปัญหาได้ถ้าหาก
ช่องจอด ตีเส้นแบ่งไว้ค่อนข้างแคบ
บานประตูปีกนก ของ Sera กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับ Gordon Murray
นักออกแบบรถยนต์ชื่อก้องโลก เอาไปทำเป็นบานประตูของ McLaren F1!!
Murray เล่าว่า เขาเห็น Toyota Sera จอดอยู่ใกล้บ้านเขา “ผมขับผ่านมัน
ทุกวันเลย!” เขาจึง ตัดสินใจติดต่อขอยืม Sera มาศึกษา และงานออกแบบ
บานประตูปีกนก ของรถสปอร์ตเบาะนั่งตรงกลาง F1 ก็เริ่มต้นขึ้นจากจุดนั้น!”
ภายในห้องโดยสาร ถูกออกแบบขึ้นโดยเน้นความสะดวกสบายในการบังคับ
ควบคุมและใช้งานอุปกรณ์ต่างๆของผู้ขับขี่เป็นหลัก แต่ยังมีพื้นที่เปิดกว้าง
พอให้ผู้โดยสารด้านหน้า สามารถควบคุมใช้งานได้ด้วย ถือเป็นงานออกแบบ
ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก รถต้นแบบ AXV-II
เบาะนั่งคู่หน้าแบบ Viola Form มีพนักศีรษะแบบขึ้นรูปตายตัว ไม่สามารถ
ถอดออกได้ ในรุ่นแรก ใช้ผ้าหุ้มเบาะเป็นผ้าสักกะหลาด สีเบจ และตกแต่ง
ภายในห้องโดยสารด้วยสีแทน และมีผ้าสีเทา กับภายในสีเทาให้เลือกด้วย
เบาะคนขับสามารถปรับมุมองศาของเบาะรองนั่งได้ด้วยมือหมุนกลไกบริเวณ
ด้านข้างเบาะรองนั่ง ส่วนเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า
ติดตั้งที่เสาหลังคากลาง B-Pillar
พื้นที่ด้านหลัง ถึงแม้จะเล็ก แต่ก็ถูกออกแบบให้ใช้งานได้อเนกประสงค์มากสุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ เบาะหลังเป็นแบบ แยกชิ้นพับพนักพิงลงมาแบนราบได้ ทั้ง
ฝั่งซ้ายและขวา มีเข็มขัดนิรภัย LR 2 จุด คาดเอวมาให้ แต่ไม่มีพนักศีรษะเลย
เมื่อพับเบาะหลังลงมาแล้ว จะเป็นพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีฝาปิดทั้งจาก
ด้านบน และแผงพลาสติกปิดทึบบริเวณพนักพิงหลังที่พับลงมาแล้ว เพื่อใช้
เป็นพื้นที่วางสัมภาระต่างๆได้อีกต่างหาก
Sera ทุกคันติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ Auto-Aircondition ของ
DENSO มาให้จากโรงงาน ช่องแอร์ เป็นแบบวงกลม เฉพาะ ตำแหน่งขนาบ
ด้านข้างชุดมาตรวัด ทั้ง 2 ฝั่ง ที่เหลือ เป็นช่องแอร์สี่เหลี่ยมแบบมาตรฐาน
เหนือสวิตช์เครื่องปรับอากาศ มีสวิตช์ไฟฉุกเฉิน และสวิตช์เปิด – ปิด ไล่ฝ้า
สำหรับกระจกบังลมหลังมาให้
นอกจากนี้ ยังมี อุปกรณ์สั่งพิเศษ ที่แปลกประหลาดกว่าใครในยุคนั้น มันคือ
ระบบปรับอากาศในรถ “CleanAce” หรือที่เรียกว่า “AirFantasy” ติดตั้งอยู่
ตรงกลาง เหนือชุดเครื่องเสียง เชื่อมต่อกับเรื่องปรับอากาศอัตโนมัติของรถ
ได้ทันที โดยมีกลิ่นให้เลือกได้ทั้ง Deodorizer (White), Morning Green
(Orange ), Peppermint (Blue), White Herb (Green) and Sazan Floral
(Yellow)
ด้านความบันเทิง Sera มีชุดเครื่องเสียงแบบ Super Live Sound System ซึ่ง
ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM เครื่องเล่นแผ่น CD 1 แผ่น (ยุคนั้นยังไม่มี MP3)
และเครื่องเล่นเทป Casette 1 ตลับ พร้อมระบบปรับระดับเสียง DSP (Digital
Sound Processing) เลือกได้ทั้งแบบ Funky , Casual หรือ Hi-Fi รวมแล้ว
3 โหมด พร้อมเสาอากาศฝังที่ฝากระจกบังลมด้านหลัง
ลำโพงมีมาให้ทั้งหมด 5 ชิ้น ประกอบด้วย ลำโพงสำหรับบานประตูคู่หน้าขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง 120 เซ็นติเมตร 2 ชิ้น กับทวีตเตอร์ที่เสาหลังคาคู่หน้า มีขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เซ็นติเมตร ชุดลำโพง แบบ 2 Way Box Speaker ติดตั้งบน
แผงบังสัมภาระด้านหลัง รวมทั้ง Acoustic Resonance Woofer 1 ชิ้น ติดตั้งอยู่
ที่ด้านข้างห้องเก็บสัมภาระฝั่งขวา มาให้ครบถ้วน เลือกติดตั้งเพิ่มขึ้นได้ โดยจะ
ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากรุ่นปกติ 206,000 เยน (หรือ 51,500 บาท เมื่อเทียบค่าเงิน
100 เยน = 25 บาท เมื่อช่วงปี 1990)
ถ้าใครคิดว่าเครื่องเสียงชุดนี้ ไม่จำเป็นกับชีวิต ขอแค่วิทยุติดรถมาให้พอฟังได้
ก็ดีถมถืดแล้ว Toyota ยังมีทางเลือกมาให้ ทั้งวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD 1 แผ่น กับเครื่องเล่นเทป Cassette 1 ตลับ แบบ 2 DIN มีทั้งแบบชิ้นเดียว
ฝังรวมกันมาเลย กับวิทยุ AM/FM แบบแยกชิ้น 1 DIN พร้อมเครื่องเล่นเทป
Cassette 1 ตลับ แยกติดตั้งมากับ เครื่องเล่น CD 1 แผ่น พร้อมกับเครื่องเล่น
CD Changer 6 แผ่น ติดตั้งไว้ด้านท้ายรถ และ Remote Control มาให้ด้วย
ขุมพลัง มีให้เลือกเพียงแบบเดียว ยกมาจากน้องเล็กสุด Toyota Starlet และ
3 ฝาแฝด Tercel / Corsa / Corolla II เป็นเครื่องยนต์ ตระกูล LASRE @ II
รหัส 5E-FHE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
74.0 x 87.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.8 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์
EFI-S ควบคุมด้วยกล่องสมองกล TCCS
กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่
5,200 รอบ/นาที เติมน้ำมันเบนซินธรรมดา และ Hi-Octane ถังน้ำมันความจุ
40 ลิตร
ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ พร้อมระบบเพลาท้าย Viscous Cuppling LSD ที่มีอัตราทดเกียร์ดังนี้
เกียร์ Manual Transmission Automatic Transmission
1………………………………3.186…………………………3.643…………….
2………………………………1.904………………………..2.008…………….
3………………………………1.310…………………………1.296…………….
4………………………………0.969………………………..0.892……………
5………………………………3.186…………………………( — )…………….
R………………………………3.250………………………..2.977…………….
เฟืองท้าย…………………..4.312………………………….2.962……………
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แบบไฮโดรลิค
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม
พร้อมเหล็กกันโคลงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 19 และ 25
มิลลิเมตร ตามลำดับ
ข้อมูลการเซ็ตระบบกันสะเทือนนั้น มุม Toe-in ล้อหน้า 1 มิลลิเมตร ล้อหลัง 3
มิลลิเมตร มุม Camber ล้อหน้า -0ํ 20′ ล้อหลัง -0ํ 30′ ส่วนมุม Caster ล้อหน้า
อยู่ที่ 1ํ 45′ มุม King Pin ล้อหน้า 12ํ 10′ สปริงคู่หน้า 2.2 กิโลกรัม/มิลลิเมตร
คู่หลัง 1.9 กิโลกรัม/มิลลิเมตร
ระบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก คู่หน้าแบบมีรูระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรก
แต่ถ้าคุณสั่งติดตั้งระบบห้องกัน ล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
เป็นอุปกรณ์ “สั่งติดตั้งพิเศษ” ระบบเบรกจะถูก Upgrade เป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ
(เปลี่ยนดรัมเบรกหลังเป็น ดิสก์เบรกแทน)
ยางติดรถเป็นของ DUNLOP รุ่น NAGI ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากความร่วมมือกันของ
Toyota กับ DUNLOP Japan เพื่อ Sera เป็นพิเศษ โดยมีดอกยางลายใหม่แบบ
“อสมมาตร” (asymmetric) หรือลายทั้งฝั่งด้านนอกและด้านใน ไม่เหมือนกัน ที่
ช่วยเน้นความนุ่มนวลในการขับขี่ และการเข้าโค้งที่ดีขึ้นเมื่อเที่ยบกับรถยนต์ใน
ระดับเดียวกันของยุคสมัย 1990 ถือเป็นครั้งแรกสำหรับบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ให้
ผู้ผลิตยาง พัฒนายางติดรถขึ้นเป็นพิเศษสำหรับรถยนต์รุ่นใดรุนหนึ่งโดยเฉพาะ
ยางรุ่นดังกล่าวจะถูกสวมเข้ากับกระทะล้ออัลลอย ที่มี รูน็อตแบบ 4 รู ค่า P.C.D.
100 พอดี ทั้ง 2 แบบ รุ่นมาตรฐานจะติดตั้ง กระทะล้อเหล็ก 14 นิ้ว พร้อมยางขนาด
175/65R14 82H ส่วนล้ออัลลอย 14 นิ้ว พร้อมฝาครอบดุมล้อ จะมีให้สั่งติดตั้งเป็น
อุปกรณ์พิเศษ สวมยางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนิดนึง เป็น 185/60R14 82H ขณะที่ล้อ
อะไหล่ จะเป็นล้อเหล็กสีเหลือง พร้อมยางแบบแคบ ตามธรรมเนียมของรถยนต์ที่
ขายในญี่ปุ่น
ด้านโครงสร้างตัวถังและความปลอดภัย มีการออกแบบเสริมการรับแรงบิดตัวถัง
ตามจุดต่างๆ เช่น จุดยึดเบ้าช็อกอัพคู่หน้า เสริมคานเหล็กใต้พื้นตัวถังรถ บริเวณ
ใต้บานประตูทั้ง 2 ฝั่ง เสาหลังคากลาง B-Pillar ที่มีขนาดใหญ่และหนาพิเศษ
ออกแบบคล้ายมือจับตะกร้า เชื่อมยึดกับตัวถังทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งเสาหลังคาคู่หน้า
A-Pillar แบบแยก 2 ท่อน รวมทั้งแนวคานหลังคา T Bar Roof ด้านบน
แน่นอนว่า โครงสร้างบานประตูและกระจกหน้าต่างเองก็ต้องมีส่วนในการเสริม
ความปลอดภัยด้วย จากการทดสอบพลิกคว่ำ พบว่า โครงสร้างหลังคาและชุด
บานประตูของ Sera มีความปลอดภัยเพียงพอตามมาตรฐานของรถยนต์ในยุคนั้น
ตลอดอายุตลาด 5 ปี ในญี่ปุ่น Toyota ไม่เคยปรับโฉม Minorchange ใหญ่ให้กับ
Sera เลย มีเพียงแค่การปรับอุปกรณ์ และเพิ่มรุ่นพิเศษเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น โดย
ไม่มีการปรับปรุงงานวิศวกรรมทั้งโครงสร้างตัวถัง และเครื่องยนต์กลไกใดๆทั้งสิ้น
เริ่มจาก 13 พฤษภาคม 1991 ปรับอุปกรณ์เล็กน้อย เช่นเปลี่ยนฝาถังน้ำมันมาเป็น
แบบมือหมุน เปลี่ยนลายผ้าเบาะใหม่ ให้มีสีสันแนว Pastel มากขึ้น รวมทั้งเปลี่ยน
วัสดุผ้าหุ้มเบาะใหม่ ให้ทนทานยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนทางเลือกสีตัวถังใหม่ โดยยังคง 3 สีหลักขายดี ทั้ง
สีเหลือง Greenish Yellow Mica (569) , สีฟ้า Medium Blue Mica (8H7) กับ
สีเงิน Silver O.P.M. (189) เอาไว้ ส่วนสีเทาดำ ถูกแทนที่ด้วยสีดำ Black (202)
สีแดงเลือดหมู ถูกแทนที่ด้วยสีแดงเบอร์ใหม่ที่สวยสดขึ้น Orange Mica (3K6)
และสีเทาฟ้า ถูกแทนที่ด้วยสีฟ้าอ่อน Light Blue Metallic (8G6)
1 ปีต่อมา วันที่ 1 มิถุนายน 1992 มีการปรับปรุงอุปกรณ์ อีกครั้ง คราวนี้ สปอยเลอร์
ด้านหลัง ถูกเปลี่ยนงานออกแบบใหม่ ให้โค้งมนขึ้น และพ่นสีเดียวกับตัวถังไปเลย
เพิ่มไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED เพิ่มคานนิรภัยเสริมในประตูทั้ง 2 บาน และเปลี่ยน
หัวเข็มขัดนิรภัย จากแบบกดปลดหัวเข็มขัดจากปุ่มด้านข้าง มาเป็นแบบใหม่ ที่กด
ปลดล็อกจากด้านบนหัวเข็มขัด
รายการสำคัญที่สุด นั่นคือ เพิ่มถุงลมนิรภัยสำหรับคนขับ มาให้เป็นอุปกรณ์เลือก
ติดตั้งพิเศษ (ซึ่งจะมาพร้อมกับระบบป้องกันล้อล็อก ABS เป็น Package เดียวกัน)
ไม่เพียงเท่านั้น สีตัวถังยังถูกปรับทัพใหม่ โดยลดทอนลงเหลือเพียง 4 สี เท่านั้น
แน่นอนว่า สีเงิน และสีดำ ยังคงถูกเลือกให้ได้ขายต่อ แต่บรรดาสีฟ้าทั้งหลายถูก
ยกเลิก แล้วแทนที่ด้วยสีฟ้าเบอร์ใหม่ Turquoise Mica Metallic (746) แถมยัง
เปลี่ยนสีแดง มาเป็นเบอร์ใหม่ที่สดขึ้นกว่าเดิม ใกล้เคียงกับ Toyota MR-2 ใน
รหัสสี 3E6 อีกด้วย
วันที่ 3 กันยายน 1992 โชว์รูม Toyota Auto Salon amlux ซึ่งเป็นโชว์รูมรถยนต์
ที่เคยได้ชื่อว่า มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ชั้น ของอาคารสูง ย่าน
Ikebukuro กลางกรุง Tokyo (ก่อนที่โชว์รูม Mega Web จะเปิดตัวที่ห้าง Palette
Town ย่าน Odaiba ริมอ่าว Tokyo Bay เมื่อปี 1999 จนทำให้ amlux ต้องปิดตัว
ลงไปเมื่อ 23 ธันวาคม 2013) ได้จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ด้วยการทำ Sera
รุ่นตกแต่งพิเศษมาขายในจำนวนจำกัด ในชื่อ Toyota Sera amlux
รุ่นตกแต่งพิเศษ Sera amlux จะมีสีตัวถัง เขียวเข้มเกือบดำ ดำDark Green Mica
(6M1) ตัดสลับกับชายล่าง พร้อมขอบเหนือซุ้มล้อ Genteel Green two toning
(22W) และฝาครอบล้อสีเทาดำ Nimbus Grey (182)
นอกจากนี้ ยังเพิ่มอุปกรณ์พิเศษเข้าไป เช่นพรมปูพื้น ลายเฉพาะของ amlux กับ
กระจกรอบคันเป็นสีฟ้า โดยเฉพาะบริเวณเหนือศีรษะผู้ขับขี่และผู้โดยสารจะเป็น
แบบสีชา Coating Glass แผงพลาสติกคลุมทับเบาะหลัง อเนกประสงค์ สำหรับ
การใช้งานแบบ รถยนต์ 2 ที่นั่ง สัญลักษณ์ amlux ที่บานประตู กับ Scraf Plate
ลายผ้าหุ้มเบาะสีเทาเข้ม ตัดสลับกับสีฟ้าพร้อมลายกราฟฟิค ฯลฯ
Sera amlux มีจำหน่ายในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 1992 โดยขายไปได้รวม
21 คัน ปัจจุบันนี้ มีรายงานว่า Sera amlux 1 คัน ถูกส่งออกไปอยู่กับเจ้าของใหม่
ที่ประเทศอังกฤษ และอีก 1 คัน อยู่ในประเทศไอร์แลนด์
ท้ายสุด 1 ธันวาคม 1993 มีการปรับอุปกรณ์ เป็นครั้งสุดท้าย เพิ่ม เข็มขัดนิรภัย ELR
แบบ 3 จุด สำหรับเบาะนั่งด้านหลัง เพิ่มเข้ามาให้เลือกสั่งติดตั้งเป็นอุปกรณ์พิเศษได้
สายการผลิตของ Sera ยุติลงในวันที่ 14 ธันวาคม 1995 ด้วยยอดผลิตที่น้อยมากๆ
อย่างแทบไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับบรรดารถยนต์ขนาดเล็กรุ่นอื่นๆ ที่ทำตลาดอยู่ใน
ญี่ปุ่น ช่วงเวลาเดียวกัน
ยอดผลิตอยู่ที่เท่าไหร่นั้น เลื่อนลงไปอ่านได้ข้างล่างครับ….
***** SERA in THAILAND *****
หลังจากรัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปัณยารชุน ประกาศเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีนำเข้า
รถยนต์มายังราชอาณาจักรประเทศไทย เมื่อปี 1991 (สมัยเข้ามารับหน้าที่ในปีแรก) นั่น
ทำให้ ผู้ประกอบการทั้ง บริษัทรถยนต์ และพ่อค้ารายย่อย ต่างพากันสั่งนำเข้ารถยนต์
รุ่นใหม่ๆจากต่างประเทศ มาทำตลาดกันอย่างุ่นหนาฝาคั่ง ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนใน
ประวัติศาสตร์ชาติไทย
สำหรับ Toyota Motor Thailand ในฐานะผู้แทนจำหน่าย Toyota อย่างเป็นทางการ
เลือกสั่งนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายแค่ 3 รุ่น คือ รถสปอร์ตขนาดกลาง Celica รถสปอร์ต
ขนาดเล็ก B-Segment Sport อย่าง Paseo และรถตู้ทรงล้ำอนาคตอย่าง Previa (หรือ
Estima ในญี่ปุ่น) แต่กลับไม่สามารถนำ Sera เข้ามาขายได้ เนื่องจาก บริษัทแม่มอง
ว่า Sera เป็นรถยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ได้รองรับสภาพอากาศ
ร้อนชื้นแบบประเทศไทย
งานนี้ บรรดาพ่อค้าอิสระ หรือ Grey Market ก็เลย พากันมองว่า “ลาภปาก” พวกเขา
พากันสั่งนำเข้า Sera มาขายในช่วงปี 1991 โดยมีบริษัทชื่อ Auto Image ซึ่งเคยเปิด
เต๊นท์ขายรถนำเข้า อยู่ที่หัวมุมถนนสาทร ตรงสี่แยกสุรศักดิ์ (ปัจจุบันกลายเป็นโชว์รูม
Honda สาทร ไปแล้ว) เป็นรายแรกที่ประกาศประเดิมสั่งเข้ามาขาย ตั้งราคาประมาณ
คันละ 1.5 ล้านบาท (ต่อรองได้นิดหน่อย)
ราคานี้ แพงแค่ไหน ลองนึกย้อนกลับไปว่า Toyota Corolla AE-92 Minorchage
Sedan 4 ประตู รุ่น Top 1.6 GTi ขุมพลัง 4A-GE บล็อกตัวแรงในยุค 130.5 แรงม้า
(PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ยังตั้งราคาไว้ที่ 650,000 บาท ส่วน Toyota Corona
ST170 รุ่น Top 2.0 GLi Limited 128 แรงม้า (PS) เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ราคา
อยู่ที่ 710,000 บาท และ Nissan Cefiro A31 ขุมพลัง RB20E 6 สูบ 2.0 ลิตร ที่
มาพร้อมสารพัดของเล่นสุด Hi-Tech ในตอนนั้น ยังตั้งราคาไว้ที่ 1,090,000 บาท
(ก่อนจะปรับลดราคาลงมาจากการคำนวนภาษีอัตราใหม่ ในปีถัดๆมา)
อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้น มีเพียง กลุ่มคนที่สนใจและศึกษาเรื่องรถยนต์ที่จะตื่นเต้น
ฮือฮาไปว่า มีคนสั่งนำเข้า Toyot Sera มาขายในบ้านเราแล้ว ถ้าลองไปถามบรรดา
ลุงป้าน้าอา หรือชาวบ้านทั่วไป ไม่มีใครเขารู้จักหรอกว่า Sera คืออะไร
จนกระทั่ง…ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ เริ่มออกอากาศ ในปี 1991 นั้นเอง…
ภาพยนตร์โฆษณาฟิล์มสี Fuji Colour ชุดนี้ บินไปถ่ายทำกันถึงประเทศญี่ปุ่น โดยมี
นักร้องชื่อดังระดับประเทศอย่าง “เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย” ร่วมแสดงกับ เด็กผู้หญิง
ชาวญี่ปุ่นชื่อ Shiyomi Takahashi และใช้เพลงประกอบชื่อ “Forbidden Colour ”
หรืออีกชื่อหนึ่งนั่นคือ Merry X Mas Mr.Lawrence ผลงานของ Ryuichi Sakamoto
ศิลปินชาวญี่ปุ่นระดับโลก ผู้ซึ่งเคยประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์รางวัล Oscar อย่าง
“The Last Emperor”นั่นเอง
เกร็ดความรู้เสริมเล็กน้อย
1. นักแสดงเด็กผู้หญิงชาวญี่ปุ่นคนนี้ ชื่อ เคยเดินทางมาโชว์ตัวที่ประเทศไทย รวมทั้ง
เคยมาออกรายการโทรทัศน์ “4 ทุ่ม สแควร์” ทางช่อง 7 สี ในบ้านเราด้วย น่าเสียดาย
ว่าเมื่อกลับไปถึงประเทศญี่ปุ่นอีกเพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เธอได้ล้มป่วยลงด้วยโรค
ไข้เลือดออก และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
2. หลังจาก ภาพยนตร์โฆษณาชุดดังกล่าวนี้ ออกอากาศไป ฟิล์มสี Fuji ก็ทำกิจกรรม
ส่งเสริมการขาย ด้วยการนำ Toyota Sera สีแดงเลือดหมู มาเป็นของรางวัลใหญ่สุด
ในรายการชิงโชคปรากฎว่า ผู้โชคดีได้รางวัลที่ 1 กลับนำรถ Sera คันสีแดงเลือดหมู
คันนั้น ขายเข้าเต๊นท์รถมือสอง เพื่อเอาเงินสดแทน!!
Sera ในเมืองไทย ถูกนำเข้ามาในจำนวนไม่มากนัก และเห็นตามท้องถนนในบ้านเรา
ค่อนข้างยากมาก ในอดีต ผู้มีชื่อเสียงที่เคยเป็นเจ้าของรถรุ่นนี้ เท่าที่พอจะสืบทราบ
มาได้ ก็มีทั้ง ดาราหญิง สุนิตย์ นภาศรี และ นักร้องดังอย่าง เอกชัย ศรีวิชัย เป็นต้น
นอกเหนือจากปรากฎตัวทางโทรทัศน์ ในเมืองไทยแล้ว Sera ยังเคยรับบทเป็นรถยนต์
ประกอบฉาก ใน ภาพยนตร์ซีรีส์ทางโทรทัศน์ แนว Metal Hero (คล้าย Gundum แบบ
ที่มีคนจริงๆร่วมแสดงจริง) เรื่อง 特救指令ソルブレイン (Tokkyū Shirei Soruburein)
หรือแปลเป็นไทยว่า “คำสั่งฉุกเฉินพิเศษ โซลเบรน” ซึ่งออกอากาศครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ
4 กุมภาพันธ์ 1991 ถึง 27 มกราคม 1992 ทุกวันอาทิตย์เวลา 8.00 ถึง 8.30 น.ทางสถานี
โทรทัศน์ TV Asahi รวมทั้งสิ้น 53 ตอน (ในเมืองไทย ไทยทีวีสีช่อง 3 เคย ซื้อลิขสิทธิ์
มาออกอากาศช่วงเช้าวันเสาร์และอาทิตย์ 6.00 น. ก่อนถูกนำมาจำหน่ายในรูปแบบเทป
Video โดยบริษัท Video Square จำกัด ในภายหลัง)
สวยขนาดนี้ กระแสดีขนาดนี้ คนชอบกันมากทั้งในญี่ปุ่นและเมืองไทย ถ้าเช่นนั้นแล้ว
ทำไม Sera ถึงไม่ได้ไปต่อ?
คำตอบง่ายๆ ครับ ดูยอดขายก็แล้วกัน
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1990 จนถึง เดือนธันวาคม 1995 บริษัท Central Auto Works
ผลิต Sera ออกมา เพียงแค่ 15,941 คัน เท่านั้น!
ยอดผลิตของ Sera รุ่นแรก (กุมภาพันธ์ 1990 – พฤษภาคม 1991) อยู่ที่ 11,934 คัน
ยอดผลิตของ Sera รุ่นสอง (พฤษภาคม 1991 – มิถุนายน 1992) อยู่ที่ 2,309 คัน และ
ยอดผลิตของ Sera รุ่นสาม (มิถุนายน 1992 – ธันวาคม 1995) อยู่ที่เพียง 1,696 คัน
ยอดขายของ Sera ในตลาดญี่ปุ่น มีดังนี้
ปี 1990 ขายได้ 9,665 คัน เป็นตัวเลขที่ดีที่สุดแล้ว เพราะหลังจากนั้นตัวเลขก็ลดฮวบ
ปี 1991 ขายได้ 3,727 คัน หายไปจากผลของสภาพเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น แต่
ปี 1992 ขายได้ 1,238 คัน ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก คือหายไปถึง 2 ใน 3 จากตัวเลขปี 1991
ปี 1993 ขายได้ 578 คัน หล่นหายไปอีกครึ่งหนึ่งจากตัวเลขในปี 1992 ชนิดต้องทำใจ
ปี 1994 ขายได้ 345 คัน แทบจะเรียกว่า กู่ไม่กลับแล้ว เข็นอย่างไรก็เข็นไม่ขึ้นเสียที
ปี 1995 ขายได้ 272 คัน เป็นปีสุดท้ายที่มีการผลิต ทำตัวเลขได้พอกับ Toyota Wish
ในบ้านเรา ชวงปีสุดท้ายก่อนเลิกจำหน่าย และสุดท้าย ปี 1996 ขายได้ 8 คัน!! เป็นการ
ยุติบทบาทของ Sera ในตลาดญี่ปุ่น ที่ไม่สวยเอาเสียเลย รวมตัวเลขยอดขายในญี่ปุ่น
ทั้งหมด 15,852 คัน ส่วนตัวเลขที่หายไปอีก 89 คัน คาดว่า อาจมีการส่งออกไปถึงยัง
บางประเทศ โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนในญี่ปุ่น หรืออาจรวมถึงรถต้นแบบ Prototype
ถ้าถามว่า ทำไม Sera ถึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร? นั่นคงเป็นเพราะหลายปัจจัย
ประกอบเข้าด้วยกัน
1. สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ช่วงตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา เข้าสู่ยุคฟองสบู่แตก เกิดภาวะ
ถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากความผันผวนของค่าเงินเยน กับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
ต่างประเทศ ราคาน้ำมันอันสืบเนื่องมาจากภาวะสงครามอ่าวเปอร์เซีย ระหว่างสหรัฐฯ กับ
อีรัก ฯลฯ
2. รูปแบบตัวรถ แม้จะมีเส้นสายที่เรียบง่าย แต่การเปิดประตูปีกนกเพื่อก้มลงไปนั่งหรือ
ลุกออกมาจากตัวรถ ยังเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับคนญี่ปุ่นที่มีช่องจอดรถ เพราะต่อให้
สามารถเปิดยกขึ้นได้ในอาคารจอดรถอัตโนมัติ แต่ถ้าต้องจอดในช่วงจอดแบบปกติ
ซึ่งมีขนาดเล็กและแคบ ยังไงๆ เปิดประตูแล้ว ชายล่างก็ต้องไปโดนบานประตูรถคันที่
จอดข้างๆ อยู่ดี
3. ราคาของ Sera ในตอนนั้น ค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับรถยนต์ในกลุ่ม B-Segment รุ่น
และพิกัดเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเลือก Sera รุ่นถูกสุด เกียร์ธรรมดา ไม่มีเครื่องเสียง Super Live
Sound System มาให้เลย แต่มีเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ Auto Air-Condition มาให้
ราคารถเปล่า 1,600,000 เยน รวมค่าค่าพรมปูพื้น (แยกซื้อต่างหาก) 33,000 เยน กับ
อุปกรณ์ประจำรถ 12,000 เยน เป็น 1,645,000 เยน เมื่อรวมค่าภาษี ค่าเอกสารประกอบ
การจดทะเบียน (รวมทั้งเอกสารแสดงยืนยันว่ามีที่จอดรถของตนเอง) ฯลฯ ทั้งหมดแล้ว
คุณต้องจ่ายเงินถึง 1,883,820 เยน (470,955 บาท เมื่อเทียบค่าเงิน 100 เยน เท่ากับ
25 บาท ในปี 1990)
เงินจำนวนเท่ากันนี้ คุณสามารถเป็นเจ้าของ Toyota Tercel หรือ Toyota Corsa รุ่นปี
1990 เช่นเดียวกัน ตัวถัง Sedan 4 ประตู เครื่องยนต์ 5E-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16
วาล์ว 1.5 ลิตร 105 แรงม้า (PS) พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
Flex 4WD รุ่นย่อย Tercel VX 4WD หรือ Corsa VIT-X ซึ่งถือเป็นรุ่นแพงสุดในตระกูล
3 พี่น้อง Tercel / Corsa / Corolla II ในปีเดียวกันได้ทันที
เพราะทั้ง 2 รุ่นย่อยดังกล่าว ตั้งราคา 1,388,000 เยน บวกเครื่องปรับอากาศ Auto Air-
Condition 168,000 เยน พรมปูพื้นกับอุปกรณ์ประจำรถ 33,000 เยน เป็น 1,589,000
เยน เมื่อรวมค่าภาษี ค่าเอกสารประกอบการจดทะเบียน (และเอกสารแสดงยืนยันพื้นที่
จอดรถของตนเอง) ฯลฯ ทั้งหมดแล้ว คุณจ่ายแค่ 1,833,600 เยน (หรือ 458,400 บาท
เมื่อเทียบค่าเงิน 100 เยน เท่ากับ 25 บาท ในปี 1990)
ชัดเจนว่า เงินเท่ากัน ถ้าคุณซื้อ Tercel / Corsa Sedan ตัวท็อป ย่อมถูกกว่าการซื้อ Sera
ถึง 50,220 เยน หรือ 12,555 บาท เอาส่วนต่างนี้ไปซื้อกล้องถ่ายรูป SLR ได้ 1 เครื่อง หรือ
ซื้อ เครื่องเล่นเพลง Sony CD-Walkman ได้อีก 1 เครื่อง พร้อม CD เพลง อีก 1-2 แผ่น
เสียด้วยซ้ำ!
***** บทสรุป *****
เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว ที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย พยายามค้นหา
ความต้องการของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น หนุ่มสาว เพื่อนำมาพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ของตน
ไม่แปลกหรอกครับ คนรุ่นหนุ่มสาว วัย 20 – 35 ปี มักมีความคิดและความต้องการ
แสดงออกถึงความเป็นปัจเจกชน เพียงแต่ว่า แนวคิดของคนกลุ่มนี้ในแต่ละยุคสมัย
ย่อมแตกต่างกัน
เช่น วัยรุ่นในยุค 1970 อาจมีอุดมการณ์แรงกล้าในการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม
วัยรุ่นในยุค 1980 เป็นกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่ช่วงรอยต่อของยุคเทคโนโลยี และดนตรี
จากเสียงสังเคราะห์ในคอมพิวเตอร์ ส่วนวัยรุ่นยุค 1990 ก็เริ่มมองหาภาพลักษณ์
อันแสดงถึงความเท่ ดูดี มีสไตล์ จากวัฒนธรรมฝั่งอเมริกาเหนือ ไปพร้อมกับการ
เริ่มต้นเข้าถึง Internet เป็นต้น
Toyota Sera ถือเป็นหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นที่สุดรุ่นหนึ่งเท่าที่ผู้ผลิตรถยนต์
อันดับ 1 จากญี่ปุ่นรายนี้ เคยสร้างมา มันเป็นรถยนต์ที่แสดงออกถึง ความกล้า
ในการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่แม้แต่ชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง ก็ยังไม่กล้าลองทำกัน
มาก่อน เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น หนุ่มสาว ในทศวรรษ 1990
แน่นอนว่า Sera กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมภาพลักษณ์ให้กับ Toyota
ในฐานะ ผู้ผลิตรถยนต์ระดับ Mass Production ที่มีเทคโนโลยีดีๆ อยู่ในมือเยอะ
มากๆ ส่งผลให้เกิดการรับรู้และจดจำในหมู่ผู้บริโภคทั่วไปได้มากโข จนตีค่าเป็น
ตัวเงินไม่ได้
กระนั้น น่าเสียดาย ที่ตัวเลขยอดขายของ Sera ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
มันกลายเป็นตัวอย่างที่น่าเศร้าอีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้บรรดาโครงการพัฒนารถยนต์
รุ่นแปลกใหม่ ต้องถูกพับเก็บลงไปเข้าลิ้นชัก
แน่นอนครับ บริษัทรถยนต์ ไม่ใช่องค์กรการกุศล พวกเขาก็ต้องทำมาหากิน เลี้ยง
ปากท้องพนักงานนับหมื่นนับแสนคนทั่วโลก ถ้าจะต้องมาทนขาดทุน เพียงเพราะ
อยากทำรถยนต์ที่โลกต้องจารึกกันเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่า มีโอกาสจะ
สร้างยอดขายและผลกำไรได้บ้างหรือไม่ พวกเขาก็อาจจะถึงกาลเจ๊งบ๊ง ได้ง่ายๆ
ไม่ต้องอื่นไกล แค่ Toyota คิดจะสร้างรถสปอร์ต รุ่น 86 ก็ต้องใช้เวลาเกลี้ยกล่อม
และโน้มน้าวใจผู้บริหารกันจนต่อมน้ำลายแทบระเบิด ปากจะฉีกจนถึงรูหู จนกว่า
บรรดา คณะผู้บริหาร หัวนักบัญชีในบริษัท จะโอนอ่อนผ่อนตาม ยอมเปิดไฟเขียว
ให้ทำออกมาขายได้ ดังนั้น รถยนต์แบบประตูปีกนก อย่าง Sera รุ่นต่อไป ก็คงจะ
หมดหวัง
อนาคตของรถยนต์แบบประตูปีกนก อาจถูกสงวนไว้ใช้กับบรรดารถสปอร์ต ระดับ
Super หรือ Hyper Car รวมทั้งรถยนต์ราคาแพง หรือล่าสุดก็พบได้ในรถไฟฟ้า
Tesla Model X Crossover SUV แต่มันคงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เห็นการนำ
ประตูปีกนกแบบนี้ มาขึ้นสายการผลิตเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก ระดับราคาต่ำกว่า
1-2 ล้านบาท แน่ๆ เพราะต้นทุนมันแพงมาก และไม่คุ้มกับการขายในราคาถูกๆ
อีกทั้งข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในหลายประเทศ เข้มงวดมากจนแทบไม่มี
พื้นที่เหลือให้กับการพัฒนา รถยนต์ประตูปีกนกราคาย่อมเยาว์อีกต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Toyota ที่ดูท่าแล้ว
น่าจะ “เข็ด” ไปอีกนาน…
—————————///————————–
Special Thanks to :
คุณ “Tonaka”
สำหรับความช่วยเหลือในการแปลบทความจากเว็บไซต์ข้างล่างนี้ บางส่วน
นิตยสาร Motor Fan ฉบับ New Model ลำดับที่ 82 : Toyota Sera
เว็บไซต์ รวมข้อมูล Toyota Sera ดังต่อไปนี้
http://clearblue3.sakura.ne.jp/sera/index.htm
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/22928843/
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/23043114/
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/23123901/
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/23248024/
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/23337294/
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/23391895/
http://minkara.carview.co.jp/userid/509662/blog/23437944/
ภาพ Catalog ของ Sera
http://kyuusyamania.blog73.fc2.com/blog-entry-341.html
รูป Toyota AXV-II
http://oldconceptcars.com/1930-2004/toyota-axv-ii-1987/
ภาพถ่าย Sera ในงาน Tokyo Motor Show 1989
http://minkara.carview.co.jp/userid/1569569/blog/31046796/
http://eye-love.jp/gg/pt/ms/89ms/10.jpg
บทความ Twelve things you may not known about McLaren F1
โดย Tim Pollard เว็บไซต์/นิตยสาร Car Magazine ประเทศอังกฤษ
————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ บทความภาคภาษาไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ภาพถ่ายรถยนต์จากต่างประเทศ ภาพวาด หรือ ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค
Illustration เป็นของ Toyota Motor Corporation
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
19 เมษายน 2017
Copyright (c) 2017 Text by J!MMY
Pictures is own by Toyota Motor Corporation
Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited.First publish in www.Headlightmag.com
April 19th,2017
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!