เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1993 เกิดเหตุการโจรกรรมรถยนต์จากบ้านหลังหนึ่งในมณฑล West Midlands ของประเทศอังกฤษ เจ้าของรถจึงเข้ามาแจ้งความกับทางตำรวจ
รถที่ถูกโจรกรรมคันนั้น มีชื่อว่า Lotus Carlton มันเป็นรถยนต์ซีดานคันใหญ่ สีเขียวเข้มเสียจนเวลากลางคืนดวงตาจะเห็นเป็นสีดำ และมันเป็นรถที่มีราคาสูงมาก ถ้าหากเทียบในปัจจุบันแล้ว ราคาของมันก็สามารถซื้อ Porsche Taycan GTS ในอังกฤษได้เลยทีเดียว หมายเลขทะเบียนของรถคันนั้นคือ 40 RA
หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายเดือน ทางตำรวจก็ต้องปวดหัวกับเหตุการปล้นบุหรี่และเหล้าจากร้านค้าต่าง ๆ ในเวลากลางดึก โดยกลุ่มอาชญากรนี้ ใช้รถยนต์ Lotus Carlton ทะเบียน 40 RA นี่เอง ทำการ Ram Raid หรือใช้รถยนต์พังหน้าร้านเพื่อบุกเข้าไปขโมยสิ่งของเหล่านี้
ปัญหาที่ทางตำรวจอังกฤษต้องเผชิญคือ Lotus Carlton แม้ว่าจะเป็นรถซีดาน 4 ประตู คันยักษ์ น้ำหนักมาก ที่มีความแข็งแรงเหมาะสำหรับการพุ่งชนสิ่งต่าง ๆ แต่รถรุ่นนี้ยังมีประสิทธิภาพที่สูง อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่โรงงานเคลมเอาไว้นั้นอยู่ที่ 5.2 วินาที และความเร็วสูงสุดนั้น การประเมินอย่างต่ำ อยู่ที่ 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถตำรวจความเร็วสูงในเวลานั้นอย่าง Vauxhall Senator 3.0 24v มีแรงม้าน้อยกว่าเกือบครึ่ง ไม่มีทางที่จะไล่ทันแม้ว่า Lotus Carlton คันนั้นจะบรรทุกโจร 4 คนและของที่ขโมยมาได้เลย
แม้ว่าตำรวจจะพยายามใช้เฮลิคอปเตอร์ติดตาม ก็ยังคงไม่สามารถตามรถคันนี้ทัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้สื่อหลายแห่งในขณะนั้น ซึ่งนำเสนอถึงความไม่เหมาะสมที่รถยนต์บ้าน ๆ คันหนึ่งจะทำความเร็วได้สูงถึง 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น เรียกร้องให้รัฐบาลของอังกฤษสั่งแบนรถรุ่นดังกล่าวไปจากท้องตลาด
ถึงกระนั้น สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ทำไม่สำเร็จ เพราะว่าทาง General Motors Europe หัวงานผู้ตัดสินใจผลิตรถ Lotus Carlton และเวอร์ชั่นสำหรับตลาดยุโรปแผ่นดินใหญ่ในนามว่า Lotus Omega นั้น ได้เลิกผลิตรถรุ่นนี้ไปตั้งแต่ปี 1992 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตำนานของ Lotus Carlton ทะเบียน 40 RA ก็ตราตรึงใจหมู่คนรักรถในอังกฤษมาเป็นระยะเวลายาวนาน และแม้ว่ารถคันจริงคันนั้น อดีตเจ้าของเคยออกมากล่าวว่า มันได้ถูกทำลายทิ้งไปนานแล้ว แต่ก็มีเจ้าของรถ Lotus Carlton คันอื่น สรรหาทะเบียนนี้มาใส่รถของเขา เพื่อเป็นรำลึกถึง รถสปอร์ตซีดานที่เร็วที่สุด ซึ่งไม่มีรถรุ่นอื่นใดมาทำลายสถิติเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี และเร็วเสียจนมีคนที่พยายามจะแบนรถรุ่นนี้ไปจากท้องถนน แม้ว่ามันจะเลิกทำตลาดไปแล้วก็ตาม
วันนี้ เราจะมานำเสนอเรื่องราวของ Lotus Carlton และ Lotus Omega ความร่วมมือระหว่าง Opel/Vauxhall และ Lotus Cars ในการสร้างสุดยอดสปอร์ตซีดาน ที่เร็วที่สุดของยุค!
ก่อนจะเข้าเรื่อง ย้อนดูประวัติ Lotus Cars กันสั้น ๆ
อย่างที่หลายท่านน่าจะทราบกันดีแล้ว Lotus Cars เป็นบริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ต ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Hethel เมือง Norfolk ประเทศอังกฤษ โดยมีผู้ก่อตั้งคือ Colin Chapman และในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Geely ประเทศจีน ที่เข้ามาถือหุ้นสูงสุด จาก Proton ของมาเลเซีย ที่ถือหุ้นสูงสุดอยู่นานหลายปี แต่ก่อนที่ Lotus จะกลายมาเป็นของ Proton ด้วยซ้ำ Lotus ตกอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นหลายราย
Colin Chapman เป็นนักออกแบบที่เริ่มต้นจากเครื่องบิน ก่อนที่จะหันมาออกแบบรถยนต์ครั้งแรกในปี 1948 เพื่อที่จะใช้แข่งขันในรายการต่าง ๆ ซึ่งผุดขึ้นมามากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Lotus Cars เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากการออกแบบรถยนต์ที่ใช้ในการแข่งรายการต่าง ๆ จนสามารถส่งรถเข้าแข่งขันในรายการ Formula 1 ได้ในปี 1958
นอกเหนือจากรถแข่งแล้วนั้น Lotus Cars ยังออกแบบรถสำหรับ “กลุ่มคนที่ชื่นชอบการขับขี่แบบเข้มข้น” เราต้องแบ่งแยกรถของ Lotus ในยุคแรกออกจากรถสปอร์ตสำเร็จรูปหลาย ๆ คัน เพราะรถอย่าง Lotus 6 และ Lotus 7 นั้น เป็นสิ่งที่ในภายหลังถูกเรียกว่า Kit Car รถเหล่านี้ถูกจำหน่ายในรูปแบบของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ลูกค้าสามารถนำเอาไปติดตั้งเครื่องยนต์หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ตรงกับกฎของการแข่งขัน หรือประสิทธิภาพที่ต้องการใช้ ซึ่งแม้แต่ทุกวันนี้ Lotus 7 ก็ยังคงถูกผลิตโดยบริษัท Caterham อยู่ โดยที่งานดีไซน์นั้นแทบจะไม่แตกต่างจากรถที่ Colin Chapman เคยออกแบบเอาไว้เลย
ต่อเนื่องมาจนถึงยุค 1960 และ 1970 Lotus ก็ยังคงผลิต Lotus 7 ออกมาเรื่อย ๆ แต่เพื่อเสริมตลาดสำหรับผู้ใช้งานกว้างขวางมากขึ้น Lotus Cars จึงออกแบบรถสำเร็จรูปมาเพิ่มเติม เช่น Lotus Elan, Lotus Europa รวมไปถึง Lotus Esprit รถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลาง ที่โด่งดังเป็นอย่างยิ่งเมื่อมันถูกนำไปใช้เป็นรถของพระเอกในภาพยนตร์ชุด James Bond ตอน The Spy Who Loved Me ในปี 1977
แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด งานเสริมของ Lotus Cars อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือการเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการออกแบบรถของบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาจ้าง ซึ่งความน่าสนใจคือ Porsche เอง ก็เป็นบริษัทที่เคยให้บริการเช่นนี้ในอดีต บริษัทที่ผลิตรถสปอร์ต ที่มีจำนวนน้อยนั้น มักจะมีทุนทรัพย์ต่ำ และไม่อาจออกแบบของที่ต้องใช้งบประมาณเยอะ ๆ อย่างเครื่องยนต์ หรือชิ้นส่วนที่ต้องใช้การผลิตจำนวนมากเพื่อเพิ่ม Economy of Scale ได้
Lotus Cars จึงรับจ้างบริษัทอื่น ๆ ในการช่วยพัฒนารถยนต์ หรือเครื่องยนต์ด้วย ในช่วงที่ Lotus เริ่มผลิตรถของตัวเองแบบสำเร็จรูป Lotus ได้ไปซื้อเครื่องของ Ford นำมาติดตั้งฝาสูบแบบ Double Overhead Camshaft ซึ่งความสัมพันธ์นี้ ต่อยอดมาจนเกิดรถยนต์ที่ Lotus จับมือกับบริษัทใหญ่ครั้งแรก
Ford และ Lotus จับมือกันสร้างรถ โดยใช้พื้นฐานจากรถครอบครัว Ford Cortina ติดตั้งเครื่องยนต์ของ Lotus-Ford ขนาด 1.6 ลิตร และมีเป้าหมายในการใช้แข่งขัน ทั้งทางเรียบ Touring Car และทางฝุ่น Rally Car ซึ่งรถรุ่นนี้สามารถสร้างชื่อให้กับทั้ง Ford และ Lotus เป็นอย่างมาก
Lotus ซึ่งขยับขยายเรื่อยมา กลับต้องประสบปัญหาทางการเงินในช่วงยุค 1980 เพราะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ทำให้รถสปอร์ตราคาแพงที่เป็นของฟุ่มเฟือย เกิดเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจในชั่วข้ามคืน ในตอนนี้เอง ที่ Lotus เริ่มหันไปพยายามจับมือกับบริษัทอื่น ๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับ Toyota ในปี 1982 เพื่อช่วยเหลือในการออกแบบรถสปอร์ตอย่าง Toyota Celica XX รวมไปถึงการให้แนวคิดในการสร้าง Toyota MR2 AW11 รุ่นแรกด้วย โดยที่ Lotus สามารถใช้ระบบเกียร์ และชื้นส่วนอื่น ๆ ของ Toyota ในการผลิตรถสปอร์ตของตัวเองทั้ง Lotus Excel และ Lotus Esprit อย่างเช่นสวิชต์ปุ่มต่าง ๆ ระบบเกียร์ ไฟท้าย ฯลฯ ชิ้นส่วนที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า มักจะต้องมี Economy of Scale ถึงจะทำราคาได้ต่ำพอ
นอกจากนี้ Colin Chapman ยังได้ไปร่วมมือกับ John Z. Delorean ซึ่งหลายท่านอาจจะนึกชื่อออกจากรถยนต์ DMC Delorean ซึ่งใช้แชสซีของ Lotus Esprit มาเป็นพื้นฐาน
สามารถอ่านเรื่องราวของ DMC Delorean ได้ที่
https://www.headlightmag.com/delorean-dmc-128707/
https://www.headlightmag.com/delorean-dmc-12-part2/
แต่สุดท้าย ความร่วมมือกับ Delorean นี้เอง เป็นตัวทำให้ Colin Chapman ต้องปิดฉากชีวิตในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งส่งมาสนับสนุนให้เกิดโรงงานในไอร์แลนด์เหนือไปเป็นจำนวนหลายสิบล้านปอนด์ Colin Chapman เสียชีวิตในวันที่ 16 ธันวาคม 1982 จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
แม้ว่า Colin Chapman ผู้ก่อตั้งบริษัทจะจากไปแล้ว แต่บริษัทยังคงต้องเดินหน้าต่อไป กลุ่มทุนอื่น ๆ ก็เข้ามาซื้อหุ้นเพื่อพยุงบริษัทให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
ในเดือน มกราคม 1986 Lotus Cars ได้ถูกขายกิจการไปให้กับทาง General Motors เพื่อที่จะดึงเอาเงินทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น ในการพัฒนารถรุ่นใหม่ ๆ ต่อไป เช่น Lotus Esprit รุ่นปรับปรุงโฉมที่ถูกออกแบบโดย Peter Stevens
Lotus เมื่อมาอยู่ภายใต้ GM แล้ว ก็ยังคงมีหน้าที่ในการตกแต่ง พัฒนา เสริมประสิทธิภาพให้กับรถในเครือหลากหลายรุ่น ตัวอย่างเช่น Isuzu Piazza ซึ่งได้รับการปรับปรุงโฉมครั้งใหญ่ในปี 1987 ปรับเปลี่ยนช่วงล่างโดยสิ้นเชิง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ลูกค้าบ่นมา จนทำให้รถรุ่นนี้มีตราติดเล็ก ๆ อยู่ว่า “Handling by Lotus”
Opel Omega/Vauxhall Carlton ตระกูลรถยนต์ครอบครัวคันใหญ่ของ GM Europe
ในการย้อนประวัติของรถยนต์ Opel Omega และ Vauxhall Carlton นั้นเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวอยู่นิดหน่อย แต่เราจะพยายามอธิบายให้ง่ายที่สุด
Opel และ Vauxhall เป็นสองส่วนที่แยกจากกันภายใต้ General Motors เช่นเดียวกับ Ford Europe และ Ford UK ทั้งสองบริษัทนี้อาจจะผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกัน บนพื้นฐานเดียวกันบ้าง แต่รถของทั้งสองบริษัทมักจะใช้ตัวถังที่แตกต่างกัน และมีออปชั่นที่ไม่เหมือนกัน และผลิตจากโรงงานคนละที่ แม้ว่าในบางตลาดจะมีรถของทั้งสองยี่ห้อมาขายร่วมกัน
ตัวอย่างเช่น ในอังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านหลักของ Vauxhall บริษัทรถยนต์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ก่อตั้งในปี 1857 เพื่อผลิตเครื่องจักรไอน้ำ บริษัทถูกซื้อกิจการโดย GM ในปี 1925
ในขณะเดียวกัน Opel ซึ่งถือกำเนิดในปี 1862 โดยทำการผลิตเครื่องเย็บผ้า ถูกซื้อกิจการโดย GM ผ่านการซื้อหุ้น 80% ในปี 1929
การจะบอกว่า Vauxhall และ Opel ถูกควบรวมเป็นหนึ่งเดียวเมื่อไหร่นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะรถของทั้งสองค่าย ต่างก็มีความเหมือนและแตกต่างกันในคนละช่วง และ Nameplate ของรถหลายรุ่นก็คาบเกี่ยวกันจนน่างงงวยเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากจะเจาะจงไปที่ยุคใดยุคหนึ่ง ก็คงหนีไม่พ้นการปรับเข้าสู่ยุคของรถขับเคลื่อนล้อหน้าในปี 1979 ที่ Opel Kadett D และ Vauxhall Astra รุ่นแรก ควบรวมเป็นรถที่มีตัวถังเหมือนกันอย่างแท้จริงครั้งแรก ตามกระแสการลดต้นทุนของบริษัทรถ ด้วยการผลิตรถแบบเดียวในจำนวนที่มากขึ้น โดยเฉพาะในเครือ GM เอง ก่อนที่ในปี 1992 Opel ก็เปลี่ยนชื่อรถเล็กไปเป็น Opel Astra ตาม Vauxhall
ในขณะเดียวกัน รถขนาดกลางอย่าง Vauxhall Cavalier และ Opel Ascona โดยต้นกำเนิดแล้วนั้น Opel Ascona ถือกำเนิดขึ้นมาก่อน โดยคั่นกลางระหว่าง Opel Kadett และ Opel Rekord ในขณะที่ Vauxhall Cavalier ถือกำเนิดขึ้นมาจากการนำเอา Opel Ascona มาปรับปรุงโฉม ก่อนที่ในปี 1988 Opel Ascona จะถูกเปลี่ยนเป็น Opel Vectra และ Vauxhall Cavalier เข้าสู่รถเจเนอเรชั่นที่ 3 ก่อนที่ Vauxhall ในเซกเมนต์นี้เจเนอเรชั่นถัดมาจะเปลี่ยนชื่อไปเป็น Vauxhall Vectra ตาม Opel
Vauxhall Carlton และ Opel Omega เอง ก็เป็นรถที่เกิดขึ้นจากหนึ่งในความสัมพันธ์เช่นนี้ โดยถ้าหากเราย้อนประวัติไปดูแล้ว Opel Omega A เป็นรถที่มาแทนที่ Opel Rekord E ซึ่งเป็นรถซีดานขนาดใหญ่ของค่าย แต่ก็ยังไม่ใหญ่เท่า Opel Senator อันเป็นรถรุ่นสูงสุด และเปิดตัวในปี 1986 โดยที่เวอร์ชั่น Vauxhall นั้นเปิดตัวพร้อมกัน ในชื่อ Vauxhall Carlton Mk.2 ซึ่งมาแทน Vauxhall Carlton Mk.1 อันเป็น Opel Rekord E เวอร์ชั่นของ Vauxhall นั่นเอง
Opel Omega A ถูกเปิดตัวในเดือนกันยายน ปี 1986 โดยเป็นรถ Opel ขนาดใหญ่รุ่นแรกที่มีดีไซน์โค้งมน เน้นความลู่ลมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน 0.28 เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำมากในยุคนั้น นอกจากนี้ Opel Omega A ยังเป็นรถที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ไฮเทคหลากหลายอย่างของยุค ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS รวมไปถึง Trip Computer ที่ใช้หน้าจอ LCD ตามยุคสมัย
ในด้านขุมพลังนั้น Opel Omega A และ Vauxhall Carlton Mk.2 ก็มีให้เลือกมากมายหลากหลายแบบ แบ่งออกเป็นหลัก ๆ ได้คือ 4 สูบ และ 6 สูบ โดยที่ 4 สูบ จะมีปริมาตรความจุตั้งแต่ 1.8 ลิตร ไปจนถึง 2.4 ลิตร ในขณะที่รุ่น 6 สูบ จะเริ่มตั้งแต่ 2.6 ลิตร และขยับขยายไปจนถึง 3.0 ลิตร และยกเว้นเพียงแค่เครื่องยนต์ 1.8 ลิตรของรุ่นต่ำสุด ทุกรุ่นใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิค EFi เป็นมาตรฐาน
นอกจากนี้ Opel Omega A ยังถูกนำไปขยับขยายตัวถัง เพิ่มความยาว และความหรูหราของการตกแต่งภายใน เพื่อที่จะมาแทนที่ Opel Senator รุ่นแรก กลายมาเป็น Opel Senator B
ความน่าสนใจเพิ่มเติมของ Opel Omega A คือ พื้นฐานของมันถูกนำไปใช้สร้าง Holden Commodore VN ซึ่งก็คือ Holden Calais ที่เคยถูกจำหน่ายในประเทศไทยนั่นเอง! โดยเป็นการนำเอาชิ้นส่วนของ Omega และ Senator มายำรวมกัน ติดตั้งเครื่องยนต์ V6 ของ Buick หรือ V8 ของ Holden ส่วนรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทยนั้น มีทั้งแบบ 3.8 ลิตร V6 และแบบที่ติดตั้งเครื่องยนต์ 2.6 ลิตร 6 สูบแถวเรียงของ Opel เพิ่มความสับสนของรถที่ใช้พื้นฐานนี้เข้าไปอีก!
Opel Omega A เป็นรถที่ได้รับคำชื่นชมจากบรรดาสื่อยานยนต์ในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยการใส่เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ากับตัวถังขนาดใหญ่ที่ลู่ลม ในราคาที่จับต้องได้ง่าย
ในประเทศไทยเอง รถรุ่นนี้ก็เคยถูกนำเข้ามาจำหน่ายอยู่พักหนึ่ง หลังจากการเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์ในปี 1991 โดยมาทั้งในรูปแบบเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 4 สูบ และ 3.0 ลิตร 6 สูบ ทั้งตัวถังแบบ Sedan และ Station Wagon โดยแม้ว่าจะเป็นพวงมาลัยขวา แต่ก็ถูกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Opel นับเป็นเพียงไม่กี่ตลาดที่ได้รับความพิเศษเช่นนี้
Lotus Carlton/Omega เมื่อรถซีดานคันใหญ่ กลายร่างมาเป็น Supercar Killer
โปรเจคของ Lotus Carlton/Omega ถือกำเนิดขึ้นมาได้เพราะการเข้ามาซื้อกิจการ Lotus Cars โดย General Motors ในต้นปี 1986 นั่นเอง โดยที่ผู้คิดริเริ่มโปรเจคนี้ขึ้นมาคือทาง Lotus Cars ในปี 1987 นำโดย Mike Kimberley ผู้ซึ่งทำงานให้กับ Lotus ตั้งแต่ปี 1969 ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ก่อนที่จะกลับมาทำหน้าที่ผู้บริหารบอร์ดในปี 2006 และเกษียณไปเมื่อปี 2009
ในตอนแรก ความคิดที่จะเปลี่ยนรถซีดานคันใหญ่ของ GM ให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อมาต่อกรกับรถ BMW M5 และในภายหลัง Mercedes-Benz 500E ก็เปิดตัวมาไล่เลี่ยกัน จะใช้พื้นฐานจากรถรุ่นใหญ่ Opel Senator B โดยที่ไอเดียได้มาจากหน้าประวัติศาสตร์ของบริษัท เมื่อครั้งที่ Lotus จับมือกับคู่แข่งของ GM อย่าง Ford เพื่อสร้าง Lotus Cortina ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
Mike Kimberley นำโปรเจคนี้ไปเสนอกับประธาน GM Europe ในขณะนั้น ชื่อว่า Jack Smith แต่โปรเจคนี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มตัวนัก เพราะบอร์ดบริหารก็ยังไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ แต่เมื่อ Jack Smith ถูกเลื่อนขั้น ตำแหน่งประธาน GM Europe จึงตกไปเป็นของ Bob Eaton ผู้ซึ่งเคยทำหน้าที่รองประธานฝ่ายงานวิศวกรรมของ GM มาก่อน และ Bob Eaton ก็ชื่นชอบโปรเจคนี้เป็นอย่างมาก เพราะ Bob Eaton เคยร่วมงานกับ Lotus มาก่อน ในฐานะลูกค้างานวิศวกรรมของรถ GM รุ่นอื่น ๆ การร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นความจริงขึ้นมาได้
ก่อนที่โปรเจคนี้จะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในปี 1988 มีการตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนพื้นฐานของรถมาใช้ Opel Omega แทนที่จะเป็น Senator
ในขณะนั้นเอง Opel Omega และ Opel Senator ยังคงใช้เครื่องยนต์แบบ 12 วาล์วอยู่ แต่ทาง Lotus ซึ่งถูกควบรวมมา เตรียมแผนที่จะใช้เครื่องยนต์ชนิด 24 วาล์วใหม่ ซึ่งจะถูกเปิดตัวในปี 1989 เป็นพื้นฐานในการสร้างขุมพลังประสิทธิภาพสูง
ในที่สุด โปรเจคนี้ก็เริ่มต้นได้ในช่วงฤดูในไม้ร่วงของปี 1988 โดยใช้ชื่อตามแบบฉบับของ Lotus ตั้งแต่คันแรกที่ Colin Chapman สร้างขึ้นว่า Type 104 จึงนับว่า รถซีดานรุ่นใหม่นี้ จะสามารถติดตราของ Lotus ได้อย่างภาคภูมิใจ และเหมือนเป็นรถของ Lotus จริง ๆ !
ในปี 1989 รถยนต์ Prototype จำนวน 3 คันแรก จะถูกสร้างขึ้นมาเสร็จสิ้น รถเหล่านี้ถูกสร้างด้วยการนำเอา Opel Omega 3000 24V สีเงินมาดัดแปลงทุกส่วน ก่อนที่จะมีการสร้างรถสำหรับจัดแสดงในงาน 1989 Geneva Motor Show อีกจำนวน 2 คัน ซึ่งเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวเข้มเกือบดำแบบรถที่จำหน่ายจริง
รถต้นแบบ 2 คันนี้ มีความแตกต่างกับรถจำหน่ายจริงอยู่พอสมควร ประกอบด้วย ล้ออัลลอยชนิด 2 ชิ้นซึ่งลายไม่เหมือนกับรถจริง ฝาท้ายซึ่งถูกดัดแปลงใหม่ให้แตกต่างกัน ฝากระโปรงหน้าไม่มีการเจาะรูระบายอากาศ และสปอยเลอร์หลังที่ตามแผนขั้นแรก ถูกออกแบบให้สามารถยกปรับระดับความสูงได้ แต่ถูกตัดออกไปในภายหลัง
หลังจากนั้น Lotus ได้สร้างรถ Pre-Production ขึ้นมาอีกจำนวน 17 คัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ล็อต จำนวน 9 คันซึ่งยังคงมีความแตกต่างกับรถจำหน่ายจริงพอสมควร และ 8 คันสุดท้ายที่เป็นรถ Pre-Production ซึ่งเหมือนกับรถจำหน่ายจริงเกือบทุกประการ
ในที่สุด Lotus Carlton และ Lotus Omega ก็ถูกส่งมอบถึงมือลูกค้าในปี 1990
รายละเอียดภายนอกและภายใน
Lotus Carlton และ Lotus Omega ทุกคัน เริ่มต้นชีวิตการเป็นรถในฐานะ Opel Omega 3000 หรือ Vauxhall Carlton GSi 24V ในรูปแบบ “Complete Car” หรือรถที่ผลิตเสร็จแล้วจากโรงงานในเมือง Rüsselsheim ของ Opel ในเยอรมนี ก่อนที่จะถูกส่งตรงไปยังโรงงานของ Lotus ใน Hethal, Norfolk สหราชอาณาจักร
ที่โรงงานของ Lotus ในอังกฤษ รถเหล่านี้จะถูกแยกชิ้นส่วนออกอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะนำชิ้นส่วนซึ่งไม่ได้ใช้ อันประกอบด้วยระบบเกียร์ เฟืองท้าย และชิ้นส่วนภายนอก/ภายในบางชิ้น ส่งกลับไปยังเยอรมนีเพื่อไปผลิตรถคันอื่น ๆ ต่อไป โดยที่ทาง General Motors คงจะคิดคำนวณมาแล้วว่าวิธีนี้ถูกกว่าการส่งรถซึ่งประกอบไปได้ครึ่งหนึ่งมาทำต่อ
หลังจากนั้น ตัวถังของรถบริเวณซุ้มล้อจะถูกตัด และเชื่อมชิ้นส่วนใหม่เข้าไปเพื่อติดตั้งโป่งขยายซุ้มล้อเพื่อรองรับล้อที่กว้างขึ้น ยางหลังกว้างถึง 265 ในขณะที่ Opel Omega ธรรมดาใช้ยางขนาดความกว้างแค่ 195 เท่านั้น และปิดท้ายด้วยการพ่นสีตัวถังด้วยสี Imperial Green อันเป็นสีเขียวที่มีความเข้มมาก เข้มขนาดที่ทางเดียวที่ดวงตาจะเห็นเป็นสีเขียวได้ ต้องจอดรถไว้กลางแดดเท่านั้น
ในส่วนของภายใน มีการส่งเบาะไปหุ้มหนังใหม่ โดยเลือกใช้หนัง Connolly สีดำ หุ้มทั้งส่วนเบาะนั่ง แผงหน้าปัด และวงพวงมาลัย ติดตั้งเรือนไมล์ที่ความเร็วสูงสุด 180 ไมล์ต่อชั่วโมงในรุ่น Lotus Carlton พวงมาลัยขวาสำหรับอังกฤษ และ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในรุ่น Lotus Omega พวงมาลัยซ้าย
และเพื่อเป็นการปิดท้าย รถทุกคันจะมีการติดตั้งแผ่นโลหะเล็ก ๆ ไว้ที่เกะเก็บของด้านหน้า ระบุ Serial Number ของรถคันนั้นเอาไว้
รายละเอียดทางวิศวกรรม
มิติตัวถังของ Lotus Carlton/Omega นั้น มีความยาว 4,763 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,930 มิลลิเมตร สูง 1,435 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,730 มิลลิเมตร
เมื่อเปรียบเทียบกับ Opel Omega A Sedan ทั่วไปแล้ว ความยาว 4,687 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,772 มิลลิเมตร สูง 1,445 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,730 มิลลิเมตร เราจะพบว่า ความยาวของตัวรถนั้นเพิ่มขึ้น 76 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากการขยายขนาดของกันชนหน้าและหลังล้วน ๆ และความกว้างนั้นมากขึ้นถึง 158 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากการตีโป่งรับซุ้มล้อเพิ่มเติม แต่ส่วนสูงนั้นเตี้ยลงเพียง 10 มิลลิเมตร ซึ่งอาจจะฟังดูน้อยกว่าที่คาด
เครื่องยนต์รหัส C36GET เบนซิน 6 สูบแถวเรียง DOHC 24 วาล์ว 3.6 ลิตร 3,615 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95 x 85 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.2 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิค EFi ตามลำดับสูบ 1-5-3-6-2-4 พ่วงระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์ Garrett T25 2 ตัว อินเตอร์คูลเลอร์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ water-to-air บูสต์สูงสุด 0.7 บาร์ กำลังสูงสุด 382 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 568 นิวตันเมตร (57.9 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ C36GET นี้ เป็นการนำเอาเครื่องยนต์ของ Opel Omega 3000 24V รหัส C30SE มาปรับปรุงในทุก ๆ จุด เพื่อรองรับพละกำลังที่มากขึ้นจากระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์ ประกอบไปด้วย ข้อเหวี่ยงแบบ Forged ลูกสูบจาก Mahle และมีการติดตั้งตัวเสริมความแข็งแรงของเสื้อสูบ ในส่วนของฝาสูบนั้นมีเพียงแค่การปรับส่วนห้องเผาไหม้เล็กน้อยเพื่อลดอัตราส่วนกำลังอัดเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนลูกสูบ
ส่งกำลังสู่ล้อหลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ของ ZF รุ่น S6-40 อัตราทดมีดังนี้
เกียร์ 1…………………………..2.68
เกียร์ 2…………………………..1.80
เกียร์ 3…………………………..1.29
เกียร์ 4…………………………..1.00
เกียร์ 5…………………………..0.75
เกียร์ 6…………………………..0.50
เกียร์ Reverse (R)………………2.50
อัตราทดเฟืองท้าย.………………3.45
ระบบเกียร์ ZF S6-40 นี้ เป็นเกียร์ที่ Lotus ได้มาจากการพัฒนา Chevrolet Corvette ZR1 ที่ Lotus ช่วยในการออกแบบฝาสูบแบบ Double Overhead Camshaft และเฟืองท้ายนั้นยกมาจาก Holden Commodore V8 เพื่อรองรับแรงบิดที่มากขึ้นของเครื่องยนต์
ระบบพวงมาลัยเป็นแบบลูกปืนหมุนวน Recirculating Ball พร้อมระบบปรับความหนืด Servotronic จาก Opel Senator รุ่นสูง หมุนจากซ้ายสุด / ขวาสุด ไปยังขวาสุด / ซ้ายสุด Lock to Lock ได้ 2.5 รอบ
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ส่วนช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบอิสระ Multi-link 5-Link เสริมด้วยระบบ Self-Leveling ของ Opel Senator เข้าไปเพื่อไม่ให้ท้ายห้อยขณะออกตัวด้วยความแรง
ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ถูกผลิตโดย Ronal Wheels ด้านหน้าใช้ความกว้าง 8.5 นิ้ว ด้านหลัง 9.5 นิ้ว สวมด้วยยาง Goodyear Eagle ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับ Lotus Carlton/Omega ขนาดด้านหน้า 235/45ZR17 ด้านหลังขนาด 265/40ZR17
ระบบดิสเบรก 4 ล้อ เป็นของ AP Racing ด้านหน้าแบบ 4 พอต จานเบรกมีครีบระบายความร้อนขนาด 330 มิลลิเมตร ด้านหลังแบบ 2 พอต จานเบรกขนาด 300 มิลลิเมตร มาพร้อมกับระบบป้องกันล้อล็อก ABS ของ Bosch
Lotus เคลมตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไว้ที่ 5.2 วินาที และความเร็วสูงสุดอยู่ที่ “ประมาณ” 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ เกียร์ 5 เหตุผลที่ต้องบอกว่าประมาณ ก็เพราะว่าตัวเลขในโบรชัวร์นั้น Lotus ระบุเอาไว้ที่ 283 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หลายคนก็เชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นการประมาณการที่ ต่ำกว่าความเป็นจริงพอสมควร
เปิดตัวมาได้อย่างผิดที่ผิดเวลา
ราคาจำหน่ายของ Lotus Carlton เมื่อครั้งเปิดตัว อยู่ที่ 48,000 ปอนด์ และราคาของ Lotus Omega ในเยอรมนี อยู่ที่ 125,000 ดอยช์มาร์ก ตัวอย่างราคาในตลาดทั้งสองนี้ เป็นตลาดที่ไม่ค่อยมีอัตราภาษีเพิ่มเติมนัก จึงเป็นราคาที่ค่อนข้างจะบ่งบอกมูลค่ารถอย่างแท้จริง
ถ้าหากคุณสงสัยว่ารถรุ่นนี้มันแพงขนาดไหน เราก็ต้องนำไปเปรียบเทียบกับ Mercedes-Benz 560SEL รุ่นสูงสุดของ Mercedes-Benz ในขนาดนั้น และเป็นรถที่ขึ้นชื่อว่าราคาแพงระยับที่สุดรุ่นหนึ่งของเยอรมนีในขณะนั้น มีราคาอยู่ที่ 141,000 ดอยช์มาร์ก
เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งโดยตรงอย่าง BMW M5 E34 ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 101,800 ดอยช์มาร์ก ในขณะที่ Mercedes-Benz 500E มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 134,520 ดอยช์มาร์ก
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นครับว่า Lotus Carlton/Omega มีราคาที่ก็ไม่ได้แพงกว่า หรือถูกกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่งทุกรุ่นแบบเห็นได้ชัด
ปัญหาคือ รถรุ่นนี้มันถูกติดตรา Opel และ Vauxhall ซึ่งเป็นโลโก้ที่บ่งบอกถึงความเป็นรถราคาประหยัดมากกว่า และการที่คนจะซื้อรถราคามหาศาล แลกมากับรถที่คนทั่วไปอาจจะไม่สังเกตด้วยซ้ำว่าเป็นรถรุ่นพิเศษ ก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายซึ่งสูงมาก
อย่างไรก็ตาม GM Europe ได้สั่งรถ Lotus Carlton/Omega ล็อตแรกเอาไว้ 1,100 คันจาก Lotus จำกัดจำนวนเพื่อเพิ่มความ Exclusive ให้รถน่าสนใจมากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นถัดมาคือ GM Europe เปิดตัว Lotus Carlton/Omega ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอย และนั่นทำให้รถยนต์ราคาแพงขายยากขึ้นในชั่วพริบตา สุดท้าย ยอดจอดของรถรวมกลับทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ต่ำเพียงแค่ 1,100 คันด้วยซ้ำ
เมื่อนับยอดรวมทั้งหมด Lotus Carlton และ Lotus Omega รุ่นผลิตจริง ก็ถูกผลิตขึ้นมาจำนวนเพียง 950 คัน และมีอีก 1 คันที่ถูกผลิตขึ้นจากการแปลง Vauxhall Carlton GSi เพื่อใช้เป็นรถสำหรับทดสอบสื่อโดยทาง Lotus โดยที่ไม่รวมรถ Pre-Production และ Prototype ที่กล่าวไปก่อนหน้า ซึ่งส่วนมากถูกทำลายทิ้ง ไม่ได้ส่งต่อมาถึงมือคนนอกแต่อย่างใด ยกเว้นจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้น
Lotus Carlton ถูกปรับอุปกรณ์เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น โดยมีการเพิ่มเครื่องเล่น CD เข้ามาในช่วงก่อนเลิกผลิต และ Lotus Omega ไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ เลยด้วยซ้ำตลอดระยะเวลาการผลิต
ในจำนวน 950 คันนี้ แบ่งออกเป็น Lotus Carlton และ Omega พวงมาลัยขวาจำนวน 286 คัน และ Lotus Omega พวงมาลัยซ้ายจำนวน 664 คัน
ในปี 1992 GM ก็ตัดสินใจยกเลิกการจำหน่าย Lotus Carlton และ Lotus Omega ไป ไม่สั่งรถล็อตที่ 2 เพิ่มเติมเพื่อจำหน่ายในปี 1993 และ 1994 และไม่มีการสร้างรถ Super Sedan จากพื้นฐานของ Opel Omega B ซึ่งเปิดตัวในปี 1994
ถึงตอนนี้ทุกท่านอาจจะเอ๊ะใจขึ้นมา เดี๋ยวก่อนนะ Lotus Omega พวงมาลัยขวา? ไม่ใช่ว่า Lotus Omega ถูกผลิตขึ้นจาก Opel Omega และมีแค่พวงมาลัยซ้ายสำหรับตลาดยุโรปหรอกหรือ?
Lotus Omega พวงมาลัยขวา
มีการค้นพบ Lotus Omega พวงมาลัยขวา ในที่แห่งหนึ่งของประเทศไทย จดทะเบียนด้วยหมายเลขทะเบียนตรงยุค และยังคงถูกจอดทิ้งอยู่บริเวณใกล้อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร!
บางคนอาจจะคิดว่า รถคันนี้อาจจะเป็นรถดัดแปลง โดยการสั่งเอาอะไหล่หัวตัดมาทำ แต่เนื่องด้วยความ “ครบ” ของอุปกรณ์ส่วนควบทุกอย่างจากภาพของรถคันนี้ที่ปรากฎตามกลุ่มรถหายากบ่อยครั้ง เราจึงคาดเดาว่า มันอาจจะไม่ใช่เช่นนั้น
มีการระบุว่า Lotus Carlton จำนวน 1 คัน ได้ถูกส่งมายังมาเลเซีย รถคันที่ส่งมานั้น เป็นรถพวงมาลัยขวา เนื่องจากถูกส่งมายังมาเลเซีย แต่รถคันนี้ถูกนำเข้ามาผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งในภูมิภาคนี้เป็นแบรนด์ Opel แต่เราไม่สามารถที่จะหาบันทึกได้ว่า รถคันนี้ถูกติดตราว่า Lotus Omega หรือ Lotus Carlton ถ้าหากมันเป็น Lotus Omega ก็เป็นไปได้สูงว่ารถคันนั้นคือคันที่จอดอยู่ในไทยตอนนี้
นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีรถอีก 2 คันที่ถูกส่งไปยังสิงคโปร์ แต่เป็นรถที่มีบันทึกชัดเจนว่าติดตรา Lotus Carlton เหมือนกับสเปคอังกฤษ ในปัจจุบันนี้ รถจากสิงคโปร์คันหนึ่งถูกส่งกลับไปอังกฤษ และอีกคันหนึ่งถูกส่งไปญี่ปุ่นแทน
สรุปส่งท้าย
อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนต้น ตำนานของ Lotus Carlton และ Lotus Omega เกิดขึ้นภายหลังจากที่รถรุ่นนี้เลิกจำหน่ายไปแล้ว ด้วยประสิทธิภาพที่สูงจนไม่มีรถซีดานรุ่นอื่นใดอาจเทียบได้ ประสิทธิภาพของมันนั้น แม้แต่ Ferrari ในยุคเดียวกันก็ไม่สามารถสู้ได้ นี่ทำให้ Lotus Carlton/Omega เป็น Supercar Killer อย่างแท้จริง
แม้ว่าเมื่อครั้งเปิดตัว รถรุ่นนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้สร้างตัวเลขยอดขาย หรือกำไรให้แก่ทาง GM Europe แต่สุดท้ายแล้ว ตำนานของรถรุ่นนี้ก็ยังตราตรึงใจของผู้คนทั่วโลก ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือชั้นนั่นเอง และช่วยไม่ได้ที่บริษัทรถเยอรมนีตั้งข้อตกลงที่จะจำกัดความเร็วของรถไว้ที่ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแบบไม่ได้บังคับในช่วงนั้น จึงไม่มีรถสปอร์ตซีดานรุ่นใดที่มาโค่น Lotus Carlton ได้เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี
น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่นับแต่นั้นมา Lotus Cars ก็ไม่ได้ทำรถ Complete Car ร่วมกับค่ายอื่นใดอีก ซึ่งเราจะไม่นับการที่ Proton ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นเจ้าของ Lotus ขอให้ช่วยปรับปรุงช่วงล่างรถ Proton หลาย ๆ รุ่นให้ รวมทั้งความร่วมมือในการปรับปรุงสมรรถนะของ Isuzu หลายๆรุ่น ดังนั้น รถคันนี้ถือได้ว่าเป็นรถ Lotus อย่างแท้จริง ไม่ใช่ในแบบที่ Lotus Carlton/Omega รถที่ Lotus ยอมให้เป็นหนึ่งใน Lotus อย่างแท้จริง ด้วยมอบรหัส Type 104 นี้ให้
BOBCAT
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นของ Stellantis N.V.
Lotus Cars UK
Isuzu Motors Limited
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
25 มิถุนายน 2022
Copyright (c) 2022 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First published in www.headlightmag.com
25 June 2022