15 พฤษภาคม 2015

ผมกำลังเดินทางไปเยอรมนีเป็นครั้งแรกในชีวิต

นั่งอยู่บนเบาะนั่งชั้น Business Class บนอากาศยานลำยักษ์รุ่นใหม่
Airbus A380 เที่ยวบิน TG 920 ของ การบินไทย

การบินข้ามทวีปเป็นระยะทางไกลราวๆ 12 ชั่วโมง คุณย่อมต้องการ
ความสบายจากเบาะนั่งมากกว่าปกติ ไม่เช่นนั้น อาการเมื่อยล้าจาก
เบาะนั่งที่คับแคบและเหลือพื้นที่ให้ขยับตัวน้อยมากๆ อาจทำให้คุณ
ถึงขั้น หมดแรง เสียงานเสียการ เพราะต้องรอฟื้นสภาพจากไฟลต์
ที่ยาวนานขนาดนั้น ยิ่งถ้าคุณโดยสารในชั้น Business Class หรือ
First Class ด้วยแลัว คุณสมควรได้รับเอกสิทธิ์ข้อนี้อย่างเต็มที่

เบาะนั่งในชั้น First Class เป็นอย่างไร ผมอาจตอบคุณไม่ได้ เพราะ
คนใกล้ตัวของผม ที่จะบอกคุณได้ เห็นจะมีแต่คุณอู๋ หนุ่ม IT แฟน
MINI แห่งบล็อก Spin9 รายนั้น ขึ้นเครื่องบินบ่อยพอๆกับที่คุณกับ
ผม จะต้องเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ในทุกวัน!

แต่ถ้าถามถึงเบาะนั่ง Business Class บน A380 ของการบินไทยแลัว
หากผมบอกว่า นอกจากมันจะยังมีข้อด้อยซึ่งควรปรับปรุงหลายจุด
มันยังทำให้ผมคิดถึงเบาะแถวสอง ของสองพี่น้องรถตู้รุ่นใหญ่ ที่เพิ่ง
เปลี่ยนโฉมใหม่ ทั้ง Alphard และ Vellfire

คุณจะเชื่อไหม?

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_01

ใช่ครับ เพราะเบาะนั่ง Business Class บน A380 ของการบินไทย นั้น
ไม่มีเบาะรองต้นขา ยกขึ้นด้วยสวิตช์ไฟฟ้า (ระบบ Ottoman) อย่างที่
Alphard และ Vellfire มี อีกทั้ง ตัวเบาะยังแคบ จะนอนทั้งที ก็แสนจะ
อึดอัด พลิกตัวแทบไม่ได้ แถมหน้าแข้งผมยังเผลอไปปะทะอารมณ์
กับ โต๊ะแบบพับเก็บได้ ซึ่งติดตั้งชุดขายึด ยื่นออกมาจากผนัง ทำให้
อาจเกิดโอกาสบาดเจ็บจากการกระแทกฐานโต๊ะแบบหมุนได้นี่อยู่
อีกทั้ง ตัวเบาะนั่ง ซึ่งดูเหมือนมีฟองน้ำนุ่มๆ แต่ด้วยความบาง ทำให้
นั่งไม่lบาย ต่อให้มีระบบนวดหลัง และดันหลังด้วยไฟฟ้ามาให้ ก็ยัง
ไม่สบายตัวผมอยู่ดี

ช่างตรงกันข้ามกับเบาะแถวกลางของ Alphard และ Vellfire ใหม่
ชนิดทาบไม่ติด!

เบาะนั่งแถวกลางอันแสนสบาย มันทำให้ผม พอจะให้อภัยได้บ้าง
กับการที่จะต้องทนเห็นกระจังหน้าที่ดูทรงภูมิ กร่าง เหมือนต้องการ
จะยึดครองโลก ของ Alphard ใหม่ รวมไปถึงดัานหน้าของ Vellfire
ที่ชวนให้นึกถึงหุ่นยนต์รับใช้ร่างยักษ์จากโลกอนาคต ติดล้อ

พวกมึงสองคัน จะดุไปหนายยยยย! จะไปดุแข่งกับ Auto Robot
ในหนัง SCI-FI หรือยังงายยยย!?

นี่ยังไม่นับรวมกับชุดไฟท้าย ที่มีกรอบนอกชวนขัดตา ขัดจิตเอาเรื่อง
ดูเหมือนว่าทีมออกแบบ น่าจะตั้งใจให้ชุดไฟท้าย มีแนวเส้นลากยาว
ต่อเนื่องขึ้นไปถึงแนวขอบหน้าต่างคู่หลัง คั่นกลางระหว่างฝาประตู
ห้องเก็บของด้านหลัง กับหน้าต่างคู่หลังสุด

แต่ด้วยเหตุผลบางประการ อาจจะเป็นเพราะการลดต้นทุน หรือ เพราะ
ด้านความสวยงาม ในมุมของนักออกแบบ และนักวิเคราะห์แบบก่อน
การผลิตขายจริง ไฟเบรกด้านบนที่ตั้งตรงแบบ Volvo 850 Wagon ถูก
ตัดออกไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

มันเป็นเพึยงสองสิ่งซึ่งรบกวนจิตใจของผมตลอดเวลา 10 วัน ที่ต้องใช้
ชีวิตด้วยกันกับรถตู้โดยสารขนาดใหญ่รุ่นใหม่ล่าสุด จากยักษ์อันดับหนึ่ง
ของญี่ปุ่น

เพราะนอกเหนือจากนั้น ฝาแฝดมหาประลัยคู่นี้ ถูกอัดแน่นอวบอิ่มอุดม
ไปดัวยความสะดวกสบาย ตลอดการเดินทาง พละกำลังที่เหลือเฟือ ต่อให้
คุณจะอุดหนุนแค่รุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ใน Vellfire ก็ตาม

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_02

การเปิดตัว Alphard และ Vellfire ในประเทศไทยคราวนี้ ถือเป็นการทำงาน
ร่วมกันในรูปแบบไม่ปกตินัก ระหว่าง สำนักงานใหญ่ของ Toyota ในญี่ปุ่น
กับทีมงานของ Toyota Motor Thailand ที่ต้องการสะกัดกั้นการทำตลาด
ของพ่อค้ารายย่อย Grey Market หลังจากปล่อยให้พวกเขา อิ่มหมีพีมัน
ไปกับการสั่งนำเข้ารถรุ่นก่อน มาขายกันเป็นล่ำเป็นสัน

กระนั้น ก็ยังมีพ่อค้ารายย่อยบางส่วน เลือกจะเดินหน้าท้าชน Toyota โดย
สั่งนำเข้า เวอร์ชันญี่ปุ่น ของทั้ง Alphard และ Vellfire มาให้เป็นทางเลือก
ของลูกค้า ที่บ้าออพชัน และไม่สนใจสิ่งอื่นใดทั้งนั้น เพราะคิดแค่ว่า เดี๋ยว
4 ปี ก็ขายทิ้ง เปลี่ยนคันใหม่แลัว (แถมลูกค้ากลุ่มนี้ ก็ดันมีเยอะซะด้วยสิ!)

ต่อให้ Headlightmag ของเรา มีนโยบาย ไม่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ
พ่อค้ารายย่อย เหล่านี้ แต่เราก็จะไม่ไปขวางการตัดสินใจของผู้บริโภค เพราะ
ไม่มีประโยชน์อันใดที่ทำให้เราต้องทำเช่นนั้น ถ้าใครจะยังคงยืนยันว่าจะลอง
อุดหนุนรถตู้จากพ่อค้าเหล่านั้น คุณผู้อ่านก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงของ
ชีวิตตัวเองมากขึ้น อย่างช่วยไม่ได้

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากจะทราบว่า แล้วถ้าจะต้องเลือก Alphard หรือ
Vellfire ซึ่ง Toyota Motor Thailand นำเข้ามาเองทั้งคันอย่างเป็นทางการ
คุณจะได้ออพชันอะไรเหนือกว่า สิ่งไหนด้อยกว่า ข้อดี กับข้อควรปรับปรุง
มีอะไรบ้าง

บทความนี้จะถอดทุกความข้องใจของคุณ ทิ้งไปจนหมดสิ้น

แต่ก่อนอื่น ในเมื่อคราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ผมจะเขียนถึงเรื่องราวของ
รถตู้จาก Toyota ดังนั้น ตามธรรมเนียม ผมคงต้องขอเล่าย้อนอดีต เพื่อ
ให้คุณผู้อ่าน ได้ทราบกันสักหน่อยว่า แท้จริงแล้ว รถตู้โดยสารรุ่นโด่งดัง
ในตอนนี้  ถูกแตกหน่อ กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ออกมาจากรถตู้ตระกูล HiAce

ฮั่นแน่! งงละสิ ว่า HiAce / Commuter มาเกี่ยวอะไรกับ Alphard/Vellfire?

ถ้าอยากรู้ ก็เลื่อนลงไปอ่านดูสิครับ จะรออะไรกันอีก?

1985_1999_Toyota_Hiace_Japan

Toyota HiAce เป็นรถตู้เพื่อการพาณิชย์ ที่ถูกเปิดตัวออกสู่ตลาดญี่ปุ่น
เป็นครั้งแรกในเดือน ตุลาคม 1967 และกลายเป็นรถตู้แบบหัวสั้น หรือ
Cab-Over Van (หัวเก๋งและเบาะคนขับ ครอบทับส่วนเครื่องยนต์และ
ล้อคู่หน้า) ที่ขายดีมากสุด ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และในประวัติศาสตร์
ของ Toyota มีทั้งรุ่น Van ส่งของ ตู้โปร่ง ตู้ทึบ ช่วงสั้น ช่วงยาว สารพัด
ขนาดตัวถังให้เลือกซื้อไปใช้งานกันสนุกสนาน ตั้งแต่ขนส่งสินค้า ไป
จนถึงขนส่งนักเรียน ไป-กลับสถานศึกษา

รุ่นที่ 2 ของ HiAce เปิดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 1977 ถือเป็นช่วงรอยต่อ
เข้าสู่ทศวรรษ 1980 เริ่มมีแนวคิดในการดัดแปลงรถตู้เพื่อรองรับกับการ
ใช้งานในแบบครอบครัวใหญ่มากขึ้น แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก และ
มักเป็นงานของบรรดาบริษัทรายย่อย ที่รับดัดแปลงรถตู้ ซึ่งมีปริมาณ
ไม่มากนัก

จนกระทั่ง รุ่นที่ 3 ของ HiAce เปิดตัวในเดือนธันวาคม 1982 และเริ่ม
เข้าสู่เมืองไทยในปี 1984 กระแสความต้องการรถตู้แบบหรูหรา เพื่อ
การพักผ่อนหย่อนใจของชาวญี่ปุ่น เริ่มกลายเป็นกระแสมากกว่าเดิม
ดังนั้น Toyota จึงนำ HiAce รุ่นปกติ มาปรับปรุงภายในให้หรูหราขึ้น
เพิ่มเบาะกำมะหยี่ มาตรวัด Digital เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ กระจก
หน้าต่างสีชา เครื่องเสียงชั้นดี แถมมี Moon Roof มาให้ วางเครื่องยนต์
Diesel Turbo พ่วงเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ แถมยังมีรุ่น 4WD ให้เลือกกัน
อีกด้วย ออกขายในชื่อ HiAce Wagon Super Custom ในช่วงปี 1984
เป็นต้นมา และได้รับความนิยมใช้ได้ โดยเฉพาะในหมู่ดาราญี่ปุ่น ที่
เริ่มใช้รถตู้แบบนี้ ในการเดินทางไปรับงานแสดงต่างๆ

ฐานลูกค้าที่ต้องการใช้รถตู้แบบหรูหรา เริ่มแพร่ขยายไปมากขึ้นหลังจาก
การเปิดตัวของ HiAce รุ่นที่ 4 ในเดือน สิงหาคม 1989 (หรือรุ่นที่คนไทย
รู้จักกันในชื่อรุ่น “หัวจรวด”) โดยเฉพาะรุ่น Super Custom ที่ถูกยกระดับ
ให้หรูมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ Digital เบาะผ้าแบบ
กำมะหยี่สีแดง เหมือน Toyota Crown และ Corolla ในยุคเดียวกัน แถม
มีช็อกอัพไฟฟ้า TEMS มาให้เลือกติดตั้งพิเศษ จนกลายเป็นต้นแบบของ
บรรดารถตู้สำหรับโดยสารจาก Toyota ในปัจจุบัน

ช่วงปี 1990 – 1995 แม้ว่า HiAce จะขายดีมาก ทั้งในญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศ
แถบเอเซียทั้งหมด เช่น ไทย ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ฯลฯ ทว่า Toyota เอง
กลับเจอโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม

ประการแรก สถานการณ์ตลาดรถตู้ Toyota ในยุโรป กลับยังไม่สู้ดีนัก ผู้คน
ที่นั่น ยังคงนิยมรถตู้จากผู้ผลิตท้องถิ่น ซึ่งมีขนาดตัวถังใหญ่โต และมีพื้นที่
ใช้สอย อเนกประสงค์ เหมาะกับสรีระของชาวยุโรปมากกว่า HiAce จึงเหลือ
พื้นที่ยืนในยุโรป เพียงแค่เป็น รถตู้ขนาดกลาง สำหรับขนส่งสิ่งของขนาด
ไม่ใหญ่โตมากนัก

ประการต่อมา การขยายตัวของตลาดรถตู้เพื่อการโดยสาร เริ่มเห็นชัดเจนเป็น
รูปธรรม ลูกค้าจำนวนมาก เริ่มอยากได้รถตู้แบบ Minivan ที่มีบุคลิกหรูโอโถง
นั่งสบายคล้ายรถเก๋งมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ หน้าตาจะต้องแตกต่างไปจากรถตู้
HiAce

จริงอยู่ว่าในตอนนั้น Toyota เพิ่งเปิดตัวรถตู้ทรงล้ำอนาคตอย่าง Estima /
Previa / Tarago ออกมาในเดือนพฤษภาคม 1990 แต่ด้วยตัวถังที่กว้าง
จนเกินไป ทำให้ลูกค้าญี่ปุ่นต้องเสียภาษีแพง จนต้องออกรุ่นตัวถังแคบอย่าง
Estima Lucida และ Estima Emina เพื่อมาช่วยกระตุ้นยอดขายให้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน คู่แข่งอย่าง Mitsubishi Motors ก็เริ่มออกรถตู้ แบบใหม่ล่าสุด
Delica Spacegear เปิดตัวเมื่อ 12 พษภาคม 1994 ด้วยรูปลักษณ์แบบ Semi
Bonnet Type หรือ Semi Cab-Over ซึ่งมีส่วนหน้าของรถ ยื่นออกไปจากเดิม
และย้ายเครื่องยนต์ กับล้อคู่หน้า ให้เลื่อนขึ้นไปนำหน้าหัวเก๋งเล็กน้อย วาง
บนเฟรมแชสซีส์ของ SUV รุ่น Pajero ทำให้ลูกค้าพากันให้การต้อนรับอย่าง
อุ่นหนาฝาคั่ง ยืนยันให้ Toyota รับรู้ว่า รถตู้แบบใหม่ กำลังจะขายดีแซงหน้า
บรรดารถตู้เดิมๆ ที่ Toyota เคยทำออกมาทั้งหมด

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตกกระแส Toyota จึงซุ่มพัฒนารถตู้แนวคิดใหม่ ในลักษณะ
คล้ายคลึงกัน แต่เน้นความหรูและสบายในการเดินทางของครอบครัวมากกว่า
Delica Space Gear ออกสู่ตลาดในชื่อ Granvia ขณะเดียวกัน ก็นำเวอร์ชัน
ตู้ทึบ/ตู้โปร่ง เพื่อการพาณิชย์ ส่งไปขายในยุโรป ออสเตรเลีย / โอเซียเนีย
เป็นพิเศษ ภายใต้ชื่อ HiAce SBV เพื่ออุดช่องว่างในตลาดดังกล่าวไปในตัว

1996_2002_Toyota_Granvia_Grand_Hiace_Regius

Granvia มีตัวถังยาว 4,715 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,965 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,910 มิลลิเมตร ช่วงแรก มี 2 ขุมพลังให้เลือก ทั้งแบบเบนซิน รหัส
3RZ-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,693 ซีซี หัวฉีด EFI 145 แรงม้า (PS)
ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.6 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่น
ขับเคลื่อนล้อหลังเท่านั้น

และรุ่น Diesel 1KZ-TE บล็อก 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 2,982 ซีซี พ่วง Turbo และ
Intercooler 130 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 29.5 กก.-ม. ที่
2,000 รอบ/นาที มีทั้งรุ่น ขับเคลื่อนล้อหลัง และ 4WD ทุกรุ่นจะใช้เกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะ Column Shift พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบ
ไฮโดรลิก ช่วงล่างด้านหน้า แบบปีกนกคู่ Double Wishbone ด้านหลังแบบ Semi-
Trailing arm ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัม พร้อม ABS

Granvia ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 1995 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่
Granvia เปิดตัว และได้รับความนิยมพอสมควร คู่รักคู่แค้นอย่าง Nissan ก็แอบซุ่ม
พัฒนารถตู้ระดับหรูของตน ออกสู่ตลาดชื่อ Nissan Elgrand เมื่อเดือนพฤษภาคม
1997 ชนกันกับ Granvia เต็มๆ ด้วยเส้นสายแนวเรียบๆง่าย แต่หรูและมีสไตล์ ทำให้
Elgrand ขายดีจน Toyota ถึงขั้นค้อนขวับ

ตอนนั้น Toyota ได้แต่ตั้งรับ และหาทางปรับปรุง Granvia ให้หรูขึ้น อีกทั้ง
ขยายรุ่นย่อยออกมามากมาย รองรับการทำตลาดในโชว์รูมเครือข่ายจำหน่าย
ทั้ง 5 ของตน (Toyota Toyopet Auto Vista และเครือข่าย Corolla) จนทำให้
ลูกค้าสับสนอลหม่านเอาเรื่อง

เริ่มจากการเพิ่มเวอร์ชันตัวถังแคบของ Granvia เพื่อทำตลาดแทนบรรดารถตู้
Estima ตัวถังแคบ (Lucida / Emina) ในชื่อ HiAce Regius เมื่อเดือนเมษายน
1997 เพิ่มความยาวตัวถังขึ้นเป็น 4,795 มิลลิเมตร แต่ลดความกว้างลงมาเหลือ
1,695 – 1,710 มิลลิเมตร ตามรุ่นย่อย สูง 1,960 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ
เท่ากับ Granvia วางเครื่องยนต์แบบเดียว คือ 3RZ-FE เบนซิน 145 แรงม้า
(PS) ยกมาจาก Granvia

เดือนสิงหาคม 1999 Toyota ตัดสินใจปรับทัพรถตู้ขนาดใหญ่ในบ้านตนเอง
ใหม่ครั้งใหญ่ มีทั้งการปรับโฉม Minorchange ให้ Granvia เปลี่ยนด้านหน้า
ของรถให้ดูอลังการกว่าเดิม พร้อมกับอัพเกรดขุมพลัง 1KZ-TE เปลี่ยนระบบ
ขับวาล์ว OHV เป็น SOHC 16 วาล์ว แรงขึ้นเป็น 140 แรงม้า (PS) ที่ 3,600
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35.0 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที เปลี่ยนดรัมเบรก
มาใช้ดิสก์เบรกคู่หลัง และเพิ่มเวอร์ชันฝาแฝด Grand Hiace ใช้ขุมพลังรุ่น
เดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน ต่างแค่ตรา Emblem สำหรับขายผ่านเครือข่าย
จำหน่าย Toyopet

รวมทั้งการปรับโฉม Minorchange ให้กับ HiAce Regius ที่ถูกเปลี่ยนมาใช้
ชื่อ Regius เพียงอย่างเดียว เปลี่ยนกระจังหน้าให้ละมุนขึ้น แต่รายละเอียด
ทางเทคนิค ยังเหมือนเดิมเป๊ะ นอกจากนี้ ยังมีการนำ Regius ไปตกแต่งใน
สไตล์สปอร์ต ออกขายในชื่อ Toyota Touring HiAce พร้อมขายอีกด้วย
วางเครื่องยนต์ 1KZ-TE และ 3RZ-FE ในตัวถังของ Regius ที่เพิ่ม Aero
Part รอบคัน และล้ออัลลอยลายสปอร์ต แค่นั้น

สุดท้าย แม้ยอดขายในภาพรวมจะนำคู่แข่งทุกค่ายแต่เมื่อแยกดูรายละเอียด
พบว่า ยอดขายของทุกรุ่นเมื่อวัดกันแบบรุ่นต่อรุ่น Granvia ก็ยังเอาชนะคู่แข่ง
อย่าง Nissan ที่ทำ Elgrand ออกมาแค่ตัวถังเดียว ยังไม่ได้เลย

2002_2014_Toyota_Alphard_Vellfire

ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 Toyota จึงปรับเปลี่ยนแนวทางการทำตลาดรถตู้ในญี่ปุ่น
บ้านเกิดตัวเองใหม่ทั้งหมด ยุบสารพัดรุ่นที่ขายไม่ดี โดยเฉพาะพวกตัวถังแคบๆ
ทั้ง Hiace Regius และ Touring Hiace ทิ้งไป และเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนารถตู้
โดยสารรุ่นใหญ่อย่างสิ้นเชิง คราวนี้ พวกเขาเลิกใช้เฟรมแชสซีส์ของรถตู้ HiAce
ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง เป็นพื้นฐาน แต่หันมาเลือกใช้ พื้นตัวถัง (Platform)
รถเก๋งขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดกลางและใหญ่ จากตระกูล Camry กับ Avalon แทน
แล้วดัดแปลงให้เหมาะสมกับรูปแบบของรถตู้ อีกทั้งยังเพิ่มความหรูเข้าไปให้แน่น
ทั่วทั้งห้องโดยสาร จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการถือกำเนิดของรถตู้รุ่นใหม่ที่ถูก
เปลี่ยนชื่อจาก Granvia มาเป็น Alphard (อ่านว่า “อัล-ฝาด” เขียนว่า “อัลฟาร์ด”)

ตัวถังถูกขยายใหญ่ขึ้นจาก Granvia เดิม ในทุกมิติ ยาว 4,800 – 4,865 มิลลิเมตร
กว้าง 1,805 มิลลิเมตร สูง 1,935 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,900 มิลลิเมตร ช่วงแรก
วางขุมพลังเบนซินล้วนๆ ทั้ง 2 แบบ (ก่อนที่รุ่น Hybrid จะตามออกมาในเดือน
กรกฎาคม 2003 หรือ 1 ปี หลังเปิดตัว) มีทั้งรหัส 1MZ-FE บล็อก V6 DOHC 24
วาล์ว 2,994 ซีซี 220 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 31.0 กก.-ม. ที่
4,400 รอบ/นาที และ 2AZ-FE ยกจาก Camry และ Estima บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 2,362 ซีซี EFI VVT-i 159 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
22.4 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที ทั้ง 2 แบบ มีให้เลือกทั้งรุ่น ขับเคลื่อนล้อหน้า และ
4 ล้อ จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ

ทุกรุ่นใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก
ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต หลัง-ทอร์ชันบีม ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมทั้ง
ABS EBD Brake Assist VSC TRC

Alphard รุ่นแรก เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2002 อย่างไรก็ตาม
คู่รักคู่แค้นอย่าง Nissan ก็ฉกชิงโอกาส เปิดตัวรถตู้ Elgrand รุ่นที่ 2 ตัดหน้า Toyota
ไปเพียง วันเดียวเท่านั้น!

แม้เหตุการณ์ที่ทั้งคู่ เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ชนกันอย่างจัง จะเป็นเรื่อง
ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น แต่ทั้งคู่ ก็ขับเคี่ยว
ในตลาดรถตู้โดยสารระดับหรูอย่างหนักหน่วง ผลัดกันขึ้นนำ ผลัดกันตาม ในช่วง
ขวบปีแรกๆ หลังออกจำหน่าย แต่ในเวลาต่อมา ยอดขายของ Alphard ก็เริ่มขึ้นนำ
Elgrand มาเรื่อยๆ ยิ่งหลังจากออกรุ่น Hybrid ในดือนกรกฎาคม 2003 กลายเป็น
รถตู้โดยสารแบบแรกในโลกที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อน Hybrid ยิ่งได้รับความนิยมใน
กลุ่มลูกค้าไฮโซชาวญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น

รุ่น Hybrid วางขุมพลัง THS-C ประกอบด้วยเครื่องยนต์ 2AZ-FXE บล็อก 4 สูบ
DOHC 16 วาล์ว 2,362 ซีซี EFI จุดระเบิด Atkinson cycle 131 แรงม้า (PS) ที่ 5,600
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.4 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ลูก
ด้านหน้าแบบ 1EM 13 กิโลวัตต์ 11.2 กก.-ม. ด้านหลังเป็นแบบ 1FM 18 กิโลวัตต์
11.0 กก.-ม. กลายเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า e-Four  เชื่อมด้วย
เกียร์อัตโนมัติ Super CVT

ความสำเร็จอย่างดียิ่งของ Alphard รุ่นแรก ทำให้ Toyota ตัดสินใจเดินหน้า
พัฒนา รุ่นที่ 2 ของ Alphard จนพร้อมเปิดตัวสู่ตลาดญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อวันที่
12 พฤษภาคม 2008

นอกเหนือจากจะเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน และขยายตัวถังให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเปิดตัวรุ่นตกแต่งในแนวเอาใจพ่อบ้านที่ชอบ
รถตู้ และส่วนใหญ่ขับรถเอง หรือกลุ่มลูกค้าที่อยากได้ Alphard ในสไตล์ดุดัน
ดิบๆ สปอร์ต หน่อยๆ ใช้ชื่อว่า Toyota Vellfire ทั้ง 2 รุ่นได้รับความนิยมจาก
ลูกค้าในญี่ปุ่นอย่างมาก แถมยังสามารถส่งออกไปขายในตลาดเอเซีย จีน และ
รัสเซีย ได้อีกด้วย

ก่อนที่ Toyota Motor Thailand จะนำ Alphard เข้ามาทำตลาดเองนั้น Alphard
รุ่นแรก 1st Generation ทุกคัน ทุกขุมพลังทั้ง เบนซิน หรือ Hybrid ล้วนแต่ถูก
สั่งนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากญี่ปุ่น โดยผู้ค้ารายย่อย Grey Market

Toyota เริ่มเล็งเห็นว่า จะปล่อยให้ลูกค้าไปซื้อรถจากพ่อค้า Grey กันอย่างเดียว
ก็ดูจะไม่เข้าท่า เพราะนอกจาก Toyota จะขาดรายได้แล้ว ลูกค้าก็อาจมีปัญหา
เวลาเอารถเข้ารับบริการ เนื่องจาก การรับประกันคุณภาพ ถือว่า ได้หมดสิ้นลง
ไปแล้ว ไม่ใช่ Worldwide Warranty แบบรถยุโรปบางยี่ห้อ แต่อย่างใด เพราะ
การรับประกันคุณภาพนั้น มีขึ้น สำหรับรถที่ขายอยู่ในประเทศนั้นๆ เท่านั้น

ดังนั้น ในเมื่อ ลูกค้า มีเสียงสอบถามมาเยอะว่า เมื่อไหร่ Toyota จะนำ Alphard
เข้ามาขายเองซะที พวกเขาจึงเลือกรอให้รถรุ่นที่ 2 เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม
2008 เสียก่อน จึงเลือกรุ่น V6 3.5 ลิตร เข้ามาเปิดตัวเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2008

แต่ปรากฎว่า ยอดขายไม่เดินเลย เพราะลูกค้าบ่นว่า ราคาแพงกว่าผู้ค้ารายย่อย
ทว่าออพชันที่ให้มา น้อยกว่า ซึ่งความจริงที่ลูกค้าไม่รู้คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ มอง
แต่ออพชัน ว่าแถมอะไรให้บ้าง ไม่ได้สนใจเลยว่า รุ่นที่ Toyota เอาเข้ามาขาย
เครื่องมันใหญ่กว่า รถที่ Grey เอาเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร
ทั้งสิ้น ดังนั้น Toyota จึงตัดสินใจ แก้เกม เพื่อเอาใจลูกค้า สั่งนำเข้า Alphard
2.4V ออกมาสู้อีกรอบ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2009 ติดป้ายราคารุ่น V6 3.5Q  ไว้
4,489,000 บาท รุ่น V6 3.5V ราคา 3,999,000 บาท รุ่น 2.4V 3,199,000 บาท
แล้วค่อยขายไปเรื่อยๆ จนถึงเวลานำรุ่นMinorchange ที่เปิดตัวในญี่ปุ่นเมื่อ
เดือนพฤศขิกายน 2011 เข้ามาจำหน่าย เปิดตัวเมื่อ 12 มกราคม 2012

แม้จะมาสายไปหน่อย เพราะโดนบรรดา พ่อค้า Grey Market ตัดหน้าแย่งลูกค้า
ไปเยอะมาก จากออพชันของรถนำเข้าจากโชว์รูมญี่ปุ่นที่อัดเต็มมาให้มากกว่า
เวอร์ชันประกอบในไทยพอสมควร แต่ก็ทำยอดขายไปได้เรื่อยๆ ติดป้ายราคา
รุ่น 2.4 V 3,239,000 บาท และรุ่น 3.5 V 4,059,000 บาท

Alphard รุ่นที่ 2 และ Vellfire รุ่นแรก มีตัวถังยาว 4,870 มิลลิเมตร กว้าง 1,830
มิลลิเมตร สูง 1,905 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อกว้าง 2,950 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า / คู่หลัง 1,580 / 1,585 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นใต้ท้องรถ ถึง
พื้นถนน (Ground Clearance) 160 มิลลิมเมตร ระยะวงเลี้ยวแคบสุด 5.7 เมตร
ความจุถังน้ำมัน 65 ลิตร

รุ่น V6 ถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ใหม่ 2GE-FE เวอร์ชันขับเคลื่อนล้อหน้า
บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว  EFI VVT-i  3,456 ซีซี VVT-i 280 แรงม้า (PS)
ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35.1 กก.-ม.ที่ 4,700 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่น
ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ

ส่วนรุ่น 2.4 ลิตร ยังคงยืนหยัดกับขุมพลังรหัสเดิม 2AZ-FE แต่ถูกปรับปรุง
ใหม่ ติดตั้ง ระบบ VVT-i แรงขึ้นเป็น 170 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 22.8 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และ
4WD ทั้งคู่ พ่วงด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT

เช่นเดียวกันกับรุ่น HYBRID ยังคงยืนหยัดกับรหัส 2AZ-FXE ตามเดิม แต่
เพิ่มกำลัง ให้แรงขึ้นเป็น 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
19.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ CVT พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ลูก
เชื่อมเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ e-Four เหมือนเดิม

รุ่นที่ 2 ของ Alphard และรุ่นแรกของ Vellfire ถือเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จ
สูงขึ้นไปอีก เพราะเมื่อสิ้นสุดปี 2012 ตัวเลขยอดผลิตสะสมของ Alphard นับ
ตั้งแต่เปิดตัวในปี 2002 ก็พุ่งสูงถึงกว่า 602,000 คัน ขณะที่ Vellfire ซึ่งเริ่มผลิต
เมื่อปี 2008 มียอดสะสมอยู่ที่ 237,000 คัน เฉพาะ ปี 2012 อย่างเดียว ยอดผลิต
Alphard สูงถึง 53,066 คัน ขณะที่ Vellfire อยู่ที่ 56,662 คัน

ทุกรุ่น ใช้พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงไฮโดรลิค
ช่วงล่างหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต หลังแบบทอร์ชันบีม ดิสก์เบรก 4 ล้อ
พร้อม ABS EBD Brake Assist VSC ฯลฯ

รุ่นที่ 2 ของ Alphard และรุ่นแรกของ Vellfire ถือเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จ
สูงขึ้นไปอีก เพราะเมื่อสิ้นสุดปี 2012 ตัวเลขยอดผลิตสะสมของ Alphard นับ
ตั้งแต่เปิดตัวในปี 2002 ก็พุ่งสูงถึงกว่า 602,000 คัน ขณะที่ Vellfire ซึ่งเริ่มผลิต
เมื่อปี 2008 มียอดสะสมอยู่ที่ 237,000 คัน เฉพาะ ปี 2012 อย่างเดียว ยอดผลิต
Alphard สูงถึง 53,066 คัน ขณะที่ Vellfire อยู่ที่ 56,662 คัน

เห็นได้ชัดเลยว่า ในอนาคต ยอดขายรถตู้หรูหรา จะเพิ่มจำนวนขึ้นมากเรื่อยๆ
ลูกค้าจำนวนไม่น้อย เริ่มเปลี่ยนจากการนั่งบนเบาะหลังของ รถเก๋ง Sedan ทรง
อนุรักษ์นิยม อย่าง Mercedes-Benz S-Class , BMW 7-Series , Audi A8 หรือ
แม้แต่ Toyota Crown กับ Lexus LS มาใช้รถตู้แบบนี้กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ถ้าทีมบริหารของ Toyota ไม่ยอมเปิดไฟเขียวให้ทำ Alphard รุ่นที่ 3
และ Vellfire รุ่นที่ 2 ก็คงต้องมีคำถามว่า พวกพี่คิดบ้าอะไรกันอยู่? แน่นอน

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Design_Sketch_1 2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Design_Sketch_2

งานพัฒนา Alphard / Vellfire ใหม่ เริ่มขึ้น เมื่อช่วงปี 2011 – 2012 โดยมี
Kenichi Yoshioka รับหน้าที่ Chief Engineer หรือหัวหน้าทีมวิศวกร
และ Naoya Ukaku เป็น Project Chief Designer ของรถตู้รุ่นใหม่นี้

นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของ Toyota เพราะนับจาก Alphard / Vellfire
รุ่นนี้เป็นต้นไป ในแต่ละโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของพวกเขา นอกจาก
จะมี หัวหน้าทีมวิศวกร Chief Engineer แล้ว Project Chief Designer จะถูก
ยกขึ้นมาให้มีความสำคัญในระดับทัดเทียมกับ Chief Engineer และทั้งสอง
ตำแหน่ง จะทำงาน”ร่วมกัน” ทั้งที่แต่ก่อน หัวหน้าทีมออกแบบจะต้องทำงาน
“ภายใต้”การดูแลของ Chief Engineer

Project Chief Designer (PCD) ของรถยนต์ 1 รุ่น จะต้องดูแลงานออกแบบ
ทั้งหมดของทีมงาน ตั้งแต่เริ่มต้นวางแนวคิด ร่างภาพสเก็ตช์ ไปจนถึงการ
ปรับงานออกแบบให้เหมาะกับการผลิตจำหน่ายจริง รวมไปถึงการเตรียม
วางแผนการขายควบคู่ไปด้วย!

เดิมที งานเหล่านี้ จะถูกดูแลโดย 3 แผนกที่ต่างหน้าที่กัน ถึงตอนนี้ แผนก
เหล่านั้น ยังคงเหมือนเดิม แต่ PCD จะต้องเข้าไปทำงานร่วมกับทั้ง 3 แผนก
ดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงวันที่รถยนต์รุ่นนั้น เปิดตัวสู่สายตาสาธารณชน

Kenichi Yoshioka , Chief Engineer กล่าวว่า  “Alphard และ Vellfire ใหม่
ถูกพัฒนาขึ้น ภายใต้แนวคิด GRANDELUXE สะท้อนให้เห็นถึงที่สุดของ
ความหรูหราอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เหมาะสม และตอบสนองความต้องการ
ของลูกค้าครบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Hybrid ที่ได้ถูกออกแบบ
และปรับปรุงใหม่ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และภูมิอากาศร้อนของ
ประเทศไทย”

“ด้านรูปลักษณ์ตัวรถ ทั้ง Alphard และ Vellfire ใหม่ ถูกออกแบบขึ้นภายใต้
แนวคิด Avant – Grand โดยผสมผสานความสง่างาม ลุ่มลึก ความสร้างสรรค์
และความคล่องตัวไว้ด้วยกัน เพื่อให้รถตู้รุ่นใหม่ มี 4 จุดเด่น หลัก ดังนี้

1). รูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยว โดดเด่น แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแกร่ง
2.) สมรรถนะการขับขี่ระดับมาตรฐานของรถยนต์ระดับหรู
3). ความกว้างขวางสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร
4). อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เลิศหรู เหนือระดับ”

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_03

ก่อนเปิดตัว ภาพและข้อมูลของ Alphard / Vellfire ใหม่ หลุดรั่วออกมา
ผ่านสื่อมวลชนสายรถยนต์ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2014 ต่อเนื่อง
นั่นช่วยให้ลูกค้าจำนวนมาก ทั้งในญี่ปุ่นและเมืองไทย ซึ่งกำลังคิดว่า
จะเปลี่ยนรถตู้ระดับหรูคันเดิมของตน หรือซื้อหารถตู้คันใหม่ ตัดสินใจ
ได้ง่ายดายขึ้นว่า พวกเขาควรรอ Alphard / Vellfire ใหม่หรือไม่

พอผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ มาได้สักพัก Toyota ก็จัดงานเปิดตัว Alphard
และ Vellfire ใหม่ ที่ญี่ปุ่น เมื่อ 26 มกราคม 2015 ที่ผ่านมา คราวนี้ ถือว่า
Toyota ทุ่มทุนสร้างพอสมควร เพราะสำหรับ Alphard แล้ว พวกเขาบิน
ไปถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา สำหรับฉายเฉพาะในญี่ปุ่นกันถึง Dubai
ส่วน Vellfire ภาพยนตร์โฆษณาจะใช้ กอลลิล่า เป็นตัวสื่อภาพลักษณ์
ของตัวรถแทน

ทันทีที่เปิดตัว ยอดสั่งจองก็หลั่งไหลเข้ามาจากทั่วทุกสารทิศบนเกาะญี่ปุ่น
เพียงระยะเวลาแค่ 1 เดือนเต็ม หลังออกจำหน่าย Toyota ประกาศออกมา
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2015 ว่า ลูกค้าชาวญี่ปุ่นแห่กันสั่งจองรถตู้ทั้ง 2 รุ่น
รวมแล้ว มากถึง 42,000 คัน หรือ 6 เท่าจากเป้ายอดขาย 3,000 คัน / เดือน
ของ Alphard และ 4,000 คัน/เดือน ของ Vellfire !!!!!

เมื่อแยกย่อยลงไปแล้วจะพบว่า Alphard เครื่องยนต์เบนซิน มียอดสั่งจอง
13,500 คัน ส่วนรุ่น Hybrid อยู่ที่ 6,500 คัน รวมแล้วมากถึง 20,000 คัน แต่
Vellfire จะมียอดสั่งจองเยอะกว่า อยู่ที่ 22,000 คัน แบ่งเป็นรุ่นเบนซินอยู่ที่
17,500 คัน และ 4,500 คัน สำหรับรุ่น Hybrid

หลังการเปิดตัวในญี่ปุ่นได้แป๊บเดียว Toyota Motor Thailand ซึ่งซุ่มเงียบ
ประสานงานกับทาง Toyota Motor Corporation ในญี่ปุ่น สั่งนำเข้ารถตู้
ทั้ง 2 รุ่นนี้ มาจำหน่ายในไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อ 23 มีนาคม 2015
ก่อนงาน Bangkok International Motor Show จะเริ่ม ไม่กี่วัน

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_04

มิติตัวถังของทั้งคู่ แตกต่างกันแค่ความยาวตัวถังเท่านั้น โดย Alphard
จะยาว 4,915 มิลลิเมตร ส่วน Vellfire ซึ่งมีใบหน้าที่ยื่นออกมามากกว่า
เล็กน้อย จะยาวขึ้นเป็น 4,930 มิลลิเมตร นอกนั้น เท่ากันเกือบทั้งหมด
ทั้งความกว้าง 1,890 มิลลิเมตร สูง 1,895 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ
3,000 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับรถรุ่นก่อนแล้ว จะพบว่า Alphard ใหม่ยาวขึ้นกว่า
รุ่นเดิม 45 มิลลิเมตร แต่ Vellfire จะยาวกว่ารุ่นก่อนถึง 60 มิลลิเมตร
ขณะเดียวกัน ทั้งคู่มีความกว้างเพิ่มขึ้น 20 มิลลิเมตร สูงขึ้นประมาณ
10 มิลลิเมตร (แต่ถ้าวัดกันที่สปอยเลอร์หลัง จะสูงขึ้นกว่าเดิมราวๆ
45 มิลลิเมตร) และมีระยะฐานล้อยาวขึ้นกว่าเดิม ถึง 50 มิลลิเมตร

แต่…สิ่งที่เพิ่มขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างมากคือน้ำหนักตัว เพราะในบรรดา
3 รุ่น ที่นำข้ามาขายในบ้านเรา Vellfire จะเบากว่าเพื่อน คือ 2,590
กิโลกรัม ขณะที่ Alphard V6 3.5 ลิตร จะหนักขึ้นเป็น 2,685 กิโลกรัม
และรุ่น Hybrid จะหนักสุด 2,735 กิโลกรัม  เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิม
Alphard V6 3.5 ลิตร หนักเพิ่มขึ้นถึง 670 กิโลกรัม ส่วนรุ่น Vellfire
2.5 ลิตร มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากรุ่น 2.4V เดิมถึง 665 กิโลกรัม

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_05

งานออกแบบเส้นสายภายนอกจะดูดุดันขึ้นจากรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด
เหมือนนักล่าพันธุ์โหด สุดกร่าง ที่พร้อมจะไล่ล่าตะครุบเหยื่อตลอดเวลา
โดยเฉพาะด้านหน้าของ Alphard ทุกรุ่น ใช้กระจังหน้าโครเมียมขนาด
ใหญ่มาก 6 ชั้น มองเห็นได้เด่นชัดจากระยะไกล มีโลโก้สัญลักษณ์ของ
Alphard อยู่ตรงกลาง ลากยาวกินพื้นที่ลงไป ถึงช่องดักลมที่กันชนหน้า
รูปทรงรวมเป็นชิ้นเดียวกัน มองไปก็คล้ายๆ แนวทางการออกแบบของ
Lexus รุ่นใหม่ๆ (Spindle Grill) อยู่ไม่น้อย

โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์ แบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวัน
Daytime Running Lights รวมอยู่ในโคมเดียวกัน ด้านล่างมีชุดไฟ
ตัดหมอก และสเกิร์ตหน้า ติดตั้งจากโรงงาน

ส่วน Vellfire จะมีด้านหน้ารถที่แตกต่างออกไป เพราะต้องเน้นเอาใจ
กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ (Young Executive) ทำให้ต้องออกแบบตัวรถ
ให้สื่อถึงบุคลิกสไตล์สปอร์ต มากกว่า Alphard  โดยยังรักษาไฟหน้า
แบบ 2 ชั้น  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำรุ่นของ Vellfire เอาไว้ ด้านบน
เป็นไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบ LED พร้อม Daytime Running Light
ด้านล่าง จะเป็นโคมไฟเลี้ยว รับกับกระจังหน้าโครเมียมแบบ 2 ชั้น
พร้อมโลโก้สามห่วงขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง กันชนหน้าพร้อมช่อง
ดักลมตรงกลาง ประกบซ้าย – ขวา ด้วยไฟตัดหมอก และชุดสเกิร์ต
หน้า เช่นเดียวกับ Alphard

มุมมองด้านข้างตัวรถ จะเหมือนกันทั้ง 2 รุ่น กระจกมองข้างถูกปรับ
เปลี่ยนมาเป็นแบบหูช้างฝังไฟเลี้ยวไว้ในตัว พร้อมกระจก Opera ที่
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เหมือนเช่นเคย

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_06

เส้นสายตัวถังโดยรวม เพิ่มความหวือหวาจาก Alphard / Vellfire ทั้ง
2 รุ่นก่อน ด้วยแนวเส้นกรอบบานประตูบริเวณเสาหลังคาคู่กลางหรือ
B-Pillar ที่เชื่อมต่อขอบหน้าต่างบานประตูคู่หน้า ไว้ด้วยกัน เพื่อความ
ต่อเนื่องของแนวหน้าต่างไปจรดท้ายรถ เพิ่มมากขึ้นจากรุ่นเดิม แนว
เส้นเฉียงบริเวณบานประตูสไลด์คู่กลาง ปรับมุมองศาให้เอียงมากขึ้น
ขอบหน้าต่างด้านบนสุด ประดับเส้นโครเมียม ลากยาวจากประตูไป
จรดท้ายรถ การเก็บงานร่องสำหรับประตูสไลด์ยังคงเรียบร้อยเช่นเดิม
เรียบเนียนไปกับชายล่างกรอบกระจก ไม่เหมือนใน Honda Odyssey
ที่แปะไว้ให้เห็นด้านข้างตัวถัง เหนือซุ้มล้อคู่หลังกันโต้งๆ

ด้านข้างลำตัว จะมีเส้นโค้ง ลากต่อเนื่องจากชุดไฟหน้า มาถึงประตู
สไลด์ คู่กลาง ก่อนจะตวัดขึ้นไปเหนืซุ้มล้อคู่หลังอีกครั้ง ช่วยเพิ่ม
มิติ ขณะสะท้อนกับแสงเงา และช่วยปรับสัดส่วนให้ได้ตามหลัก
สมดุลของการออกแบบ

มุมมองด้านหลัง ยิ่งดูดุดันกว่าด้านหน้าและสะดุดตามากขึ้น จากชุด
ไฟท้ายที่ตวัดปลายหางขึ้น เหมือนการไปเขียนคิ้วแบบ 4 มิติที่กำลัง
ได้รับความนิยมในหมู่สาวๆ ณ ขณะนี้ ทำให้บางมุมก็ดูประหลาด
อยู่ไม่น้อย

Alphard จะใช้ไฟท้ายแบบ LED โคมสีแดงแยกเป็นข้างละ 2 ก้อน
ส่วนที่ติดอยู่กับตัวถังจะเป็นชุดไฟเบรกแบบ LED พร้อมไฟเลี้ยว
ส่วนชุดที่ติดอยู่กับบานประตูหลัง จะเป็นไฟหรี่ LED แบบ Tube
และไฟถอยหลัง

ส่วนรุ่น Vellfire จะใช้กรอบชุดไฟทรงเดียวกัน แต่เป็นแบบโคมใส
ซึ่งถูกปรับรายละเอียดภายในโคม ให้ต่างกัน ตรงกลางบานประตู
จะเป็นช่องสำหรับใส่ป้ายทะเบียนคาดด้วยแถบโครเมียมขนาดใหญ่
และเน้นด้วยโลโก้สามห่วงอยู่ตรงกลาง

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_01

การเข้า – ออกจากรถ ทั้ง Alphard และ Vellfire ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล แบบ
Smart Keyless Entry หน้าตาเหมือนกันทั้งหมด แค่เพียงเดินเข้าใกล้รถ เอื้อม
มือจับโครเมียมฝั่งคนขับ หรือผู้โดยสารบานใดก็ตาม สามารถปลดล็อกและดึง
เพื่อเปิดประตูบานนั้นได้ทันที อีกทั้งเมื่อคุณพกรีโมทไว้ แล้วเดินเข้าใกล้..หรือ
แม้เพียงเฉียดกรายใกล้ตัวรถ ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ทั้งด้านหน้า และ
ด้านหลัง จะค่อยๆสว่างขึ้นพร้อมๆกันเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับคุณ แต่ถ้าคุณเดิน
ถอยห่างออกจากรถ ไฟส่องสว่างทั้งหมด จะค่อยๆหรี่ลงจนดับไปเอง มาพร้อม
ระบบเปลี่ยนรหัสเพื่อการป้องกันขโมย Immobilizer ตามปกติ

ตัวรีโมท ออกแบบขึ้นใหม่ หน้าตาเหมือนรีโมทกุญแจของ Toyota Camry
Minorchange ไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันที่ กุญแจรีโมท ของ Alphard และ Vellfire
จะมีสวิตช์ เปิด – ปิด ประตูบานเลื่อน คู่กลาง และฝาห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย
ด้วยไฟฟ้า เพิ่มมาให้เป็นพิเศษ

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_02

ช่องทางเข้า – ออก มีขนาดใหญ่กำลังเหมาะสม ทันทีที่เปิดประตูกางออกมา
เบาะนั่งฝั่งคนขับ จะมีระบบเลื่อนตัวถอยหลังเองโดยอัตโนมัติด้วยไฟฟ้า
หรือ Welcome Seat เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเข้าไปนั่งบนเบาะได้ง่ายขึ้น

การเข้า – ออก จากตำแหน่งคนขับ และเบาะหน้าฝั่งซ้าย ต้องเปลี่ยนมาใช้
คำว่า การ ขึ้น – ลง แทน เนื่องจาก ตำแหน่งพื้นรถค่อนข้างสูง ทำให้ต้องมี
ขั้นบันไดพลาสติก Recycle  สำหรับใช้เท้าขวา เหยียบขึ้นไป จากนั้น ต้อง
เอื้อมมือไปโหนมือจับที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสียก่อน ค่อยยกตัวแล้ว
ยื่นเท้าซ้ายเข้าไปวางไว้ในตำแหน่งพื้นรถ จากนั้น จึงหย่อนตัวลงนั่งบน
เบาะหน้า

กรรมวิธีคล้ายคลึงกับการก้าวขึ้นไปขับรถตู้ รถกระบะ 4×4 ยกสูง หรือ SUV
รุ่นใหญ่ๆ นั่นเอง แน่นอนว่า Nissan Elgrand หรือ Honda Odyssey คู่แข่ง
ทั้ง 2 รุ่น จะมีพื้นรถเตี้ยกว่า สะดวกต่อการเข้า – ออกจากรถ มากกว่า แต่การ
ยกพื้นให้สูงแบบนี้ ก็มีข้อดีเหมือนกัน ในกรณีที่ต้องลุยน้ำท่วม โอกาสที่
พรมปูพื้นจะโดนน้ำ น่าจะน้อยกว่าบรรดารถตู้พื้นเตี้ยทั้งหลาย

บานประตูมีน้ำหนักมากกว่า Toyota ทั่วๆไป และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ
บานประตูของ Lexus รุ่นใหญ่ๆ ทั้งตระกูล GS ไปจนถึง LS

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบให้ดูแน่นหนา ในระดับเดียวกับ Lexus มีช่อง
วางขวดน้ำ 7 บาท และช่องใส่เอกสารด้านข้าง ติดตั้งไว้ เตี้ยแทบจะเรี่ยพื้น
ถ้าจะหยิบของในขณะขับรถ แทบเป็นไปไม่ได้เลย ต้องจอดรถ แล้วเปิด
แง้มบานประตู เพื่อหยิบของขึ้นมาใช้งานสถานเดียว

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_03

เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบขึ้นใหม่ ชวนให้นึกถึงเบาะนั่งคู่หน้าของ Lexus
บางรุ่นเลยทีเดียว ปรับตำแหน่งได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า โดยฝั่งคนขับ ปรับได้
ถึง 8 ทิศทาง พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะคนขับ 3 ตำแหน่ง เลือก
กด SET เพื่อให้จำ และเลือกบันทึกลงบนปุ่ม 1 2 หรือ 3 ที่แผงประตูฝั่ง
คนขับ

ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ปรับตำแหน่งด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ได้แค่
4 ทิศทางก็จริง ทว่า เหนือกว่าด้วยพนักรองช่วงขา Ottomann ปรับระดับ
ยกขึ้น – ลง ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ติดตั้งมาให้เป็นพิเศษ!

เฉพาะรุ่น Alphard V6 3.6 ลิตร จะมีระบบ Seat Ventilator & Heater หรือ
ระบบอุ่นเบาะ พร้อมกับระบบ Comfort Driver Seat เบาะฝั่งคนขับเลื่อน
ถอยหลังเอง เพื่อเปิดต้อนรับคนขับ มาให้เพียงรุ่นเดียว

เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบมาให้นั่งสบายขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย พนักศีรษะ
แอบดันหัวนิดๆ แก้ไม่ยาก แค่ปรับองศาของเบาะเอนลงเพิ่มขึ้นอีกนิดเดียว
ก็บรรเทาปัญหานี้ได้ พนักพิงเบาะหลัง ถึงแม้จะพิงได้สบายกำลังดี ไม่นุ่ม
หรือแข็งจนเกินไป ทว่า กลับไม่มีระบบดันหลังมาให้เลย แน่ละ พลขับของ
รถตู้ประเภทนี้ส่วนใหญ่ มักไม่ใช่เจ้าของรถ หากแต่เป็นคนขับรถ ที่ถูกจ้าง
มารับหน้าที่นี้มากกว่า การติดตั้งตัวดันหลังปรับระดับด้วยไฟฟ้า จึงกลายเป็น
สิ่งไม่จำเป็น

เบาะรองนั่ง มีความยาวในระดับเหมาะสม และให้สัมผัสที่คล้ายคลึงกับ
ตำแหน่งเบาะหลังของ Lexus LS460 รุ่นปัจจุบันอยู่บ้างเหมือนกัน

ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตู และฝากล่องคอนโซลกลาง วางได้สบายๆ
พอดี เป็นไปตามมาตรฐานปกติของ Toyota รุ่นแพงๆ และ Lexus ทั่วไป
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ กับรถตู้สูงโปร่งขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาพูดถึง
กันอีกแล้ว หากนั่งแล้ว หัวยังชนเพดาน แสดงว่า คุณตัวสูงไปแล้วละ รีบ
ไปปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านโดยด่วน!

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_04

ด้านข้างพนักพิงเบาะโดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย จะมีสวิตช์ไฟฟ้าปรับเบาะ
เพิ่มความสะดวกให้คนขับ สามารถปรับเบาะหน้าฝั่งซ้ายได้โดยไม่ต้อง
เอื้อมมือ หรือลงจากรถไปปรับเบาะ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสาร
แถว 2 ได้อย่างง่ายดาย มีมาให้ครบทุกรุ่นย่อย

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_05

ประตูคู่หลัง เป็นแบบบานเลื่อน เปิด – ปิดได้ ด้วยระบบไฟฟ้า ดึงมือจับ
ทั้งภายนอก หรือภายในรถ หรือกดสวิตช์ไฟฟ้า บนแผงควบคุมบนเพดาน
ระหว่างไฟอ่านแผนที่ ด้านหน้า เพียงครั้งเดียว บานประตูจะเลื่อนถอยร่น
ไปทางด้านหลังอย่างนุ่มนวล ด้วยความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็วและไม่ช้า
จนเกินไป

เพื่อความปลอดภัย คุณต้องเข้าเกียร์ P ก่อนเปิดประตูบานเลื่อน และถ้า
คุณกำลังเติมน้ำมันอยู่ ประตูบานเลื่อนฝั่งซ้าย จะไม่ยอมเลื่อนเปิดให้
หากไม่ปิดฝาถังน้ำมัน

แผงประตูด้านข้าง ไม่มีพื้นที่วางแขนใดๆ แต่มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด
7 บาท ได้เหลือเฟือ 1 ช่อง คันโยกเปิด ประตู และตำแหน่งติดตั้งชุด
ลำโพง

กระจกหน้าต่าง สามารถเลื่อนเปิดลงได้ แต่ไม่สุด ยังเหลืออีกประมาณ
1 ใน 5 มีม่านบังแดดแบบตาข่ายม้วนสีดำ เลื่อนขึ้น – ลงด้วยมือ ทั้ง 2 ฝั่ง

ช่องทางเข้า – ออก มีขนาดใกล้เคียงกับรถรุ่นเดิม แอบกว้างขึ้นนิดหน่อย
อยู่ที่ 780 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม หากทำได้ บานประตูน่าจะถูกออกแบบ
ให้เลือนถอยหลังไปได้เพิ่มมากกว่านี้อีกนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความสะดวก
ในการขึ้น-ลงจากตัวรถของผู้โดยสารแถว 3 มากกว่านี้

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_06

เบาะนั่งแถว 2 ถือเป็นจุดขายสำคัญของ Alphard และ Vellfire ใหม่ งานนี้
Toyota ใหความมสำคัญ กับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างมาก ถึงขั้น
ออกแบบ เบาะนั่งมาให้เลือกกันมากถึง 4 แบบ ให้ลูกค้าได้เลือกตามแต่ละ
รุ่นย่อย

Alphard V6 3.5 ลิตร เวอร์ชันไทย จะได้ใช้เบาะนั่งแบบหรูสุด Executive
Lounge ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจ จากเบาะนั่ง Bussiness Class
บนเครื่องบินโดยสาร ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับ ถ้าคุณขึ้นไปลองนั่ง
แล้วพบว่า ฟังก์ชันการปรับเบาะนั่งด้วยไฟฟ้า ของเบาะชุดนี้ เหมือนกับเบาะ
ที่คุณเคยเจอจากที่นั่งชั้น Bussiness Class ของสายการบินชั้นนำ เป๊ะ! นี่คือ
เบาะนั่งที่ดีสุดในตระกูล Alphard / Vellfire เจเนอเรชันที่ 3 นี้ แถมยังเป็น
เบาะชุดเดียวกันกับรุ่นที่จำหน่ายในญี่ปุ่นอีกด้วย!

ตัวเบาะนั่งนั้น ไม่ปฏิเสธเลยครับว่า ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเบาะหลังที่นั่งสบาย
มากที่สุด 1 ใน 5 อันดับแรก เท่าที่ Toyota เคยผลิตออกมาตลอด 76 ปีที่ผ่านมา
(อันดับ 1 ถึง 4 ก็หนีไม่พ้น Lexus LS รุ่นล่าสุด Toyota Century รุ่นล่าสุด
Toyota Crown อีกหลายๆรุ่น) แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ อยู่ที่ลูกเล่นไฟฟ้าต่างๆ
ซึ่งถูกประเคนเข้ามาให้ จนเหนือกว่าเบาะของ Alphard และ Vellfire ทุกรุ่น
ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้

เบาะนั่งถูกออกแบบเป็นคอกกั้น Captain Seat หนังหุ้มเบาะ ที่ใช้เกรดเดียวกับ
หนังสำหรับเบาะนั่งของรถยนต์หรูตระกูล Lexus แบบไม่ผิดเพี้ยน ความกว้าง
ของตัวเบาะ จะเพิ่มจากเบาะ Captain Seat ของรุ่น Vellfire 100 มิลลิเมตร

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_07

พนักวางแขนทั้ง 2 ฝั่งนั้น พลิกขึ้นมาได้ ขึ้นอยู่กับว่า คุณนั่งอยู่บนเบาะฝั่งไหน
ฝั่งริมประตู ต้องกดปุ่มเปิด ก่อนพลิกฝาขึ้นมา จะพบแผงสวิตช์ปรับเบาะไฟฟ้า
รวมทั้ง ไฟอ่านหนังสือบนเพดาน และสวิตช์เลือกปรับทำความเย็นหรืออุ่นเบาะ

จริงอยู่ว่า พนักวางแขนแบบฝาพับฝั่งริมประตู ออกแบบมาได้ ไม่สะดวกต่อการ
ใช้งานนัก แต่ด้วยข้อจำกัดของการออกแบบประตูบานเลื่อน ทำให้จำเป็นต้อง
ออกแบบแผงควบคุมเบาะมาอย่างนี้ เพื่อให้สะดวกทั้งการใช้งานขณะนั่งหรือ
ขณะยืนอยู่นอกรถ ก็สามารถกดเลือกปรับเบาะได้ตั้งแต่ยังไม่ต้องขึ้นรถ

ส่วนพนักวางแขน ฝั่งด้านใน ของเบาะทั้ง 2 ตัว พลิกฝาขึ้นมา กดปุ่มสีเงิน
โต๊ะวางของขนาดกระทัดรัดจะดีดตัวขึ้นสูงเป็นท่อนลำ! ตบมันลงมาเบาๆ
ก็จะมีพื้นที่สำหรับเซ็นเช็คเงินสด ขีดคร่อม แต่อย่าหวังว่าจะใหญ่พอให้
วาง Notebook มันมีขนาดแค่พอวาง iPad Mini ได้เท่านั้น การพับเก็บ ให้
ทำย้อนขั้นตอนข้างบนนี้ คือ ใช้มือยกแขนโต๊ะกลับไปตั้งเป็นท่อนลำ
ตามเดิม แล้วกดชุดแขนลงไปซ่อนด้านข้างเบาะจนลงล็อก แล้วค่อยปิด
พนักวางแชนอีกที

ส่วนช่องวางแก้วน้ำสำหรับผู้โดยสารแถว 2 ถูกออกแบบเก็บซ่อนไว้บริเวณ
หัวพนักวางแขนฝั่งด้านใน ของทั้ง 2 ชุดเบาะ Captain Seat ตามภาพนี้ครับ

พนักพิงเบาะหลังสามารถปรับเอนนอนราบได้ ตัวหมอนพนักศีรษะก็ถอดยก
ออกได้ทันทีด้วยมือ ไม่ต้องพึ่งระบบไฟฟ้า (เหมือนกันหมดทั้งคัน ทุกรุ่น)
นอกจากนี้ พนักรองขา Ottomann ก็ยังถูกติดตั้งมาให้กับเบาะ Captain Seat
ทั้ง 2 ฝั่งด้วยเช่นกัน สามารถยกขึ้นจนสุด ได้แค่เกือบตั้งฉาก ในขณะที่คู่แข่ง
อย่าง Odyssey สามารถใช้คันโยก ดึงยกขึ้นมาปรับตั้งฉากได้พอดี กระนั้น สิ่ง
ที่ Odyssey ไม่มีให้คือ ตัวพนักรองขา สามารถเลื่อนยืด – หด ได้ด้วยสวิตช์
ไฟฟ้า แยกต่างหาก อีกด้วย อีกทั้ง ยังมาพร้อมกับสวิตช์จำตำแหน่งเบาะนั่ง
ที่ปรับเอาไว้ ได้ถึง 2 ตำแหน่ง ต่อ 1 เบาะ!

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_08

ส่วนเบาะนั่งแถว 2 ของ Vellfire 2.5 ลิตร เวอร์ชันไทย มาในสไตล์ Captain
Seat เหมือน Alphard V6 3.5 ลิตร ก็จริง แต่อาจไม่หรูเทียบเท่า

ความแตกต่าง หลักๆ อยู่ที่ คอกเบาะนั่ง มีขนาดเล็กลง เนื่องจากไม่มีโต๊ะเล็กๆ
แบบพับเก็บได้ จึงไม่จำเป็นต้องออกแบบคอกเบาะนั่งให้กว้างเท่ารุ่น Alphard
V6 3.5 ลิตร ทำให้ตำแหน่งวางแขนแคบ และกระชับเข้ามายังตัวผู้ขับขี่ มากกว่า
เบาะแถว 2 ของ Alphard V6 การวางแขนในภาพรวม แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่
เหมาะสม แต่วางแขนได้ไม่สบายเท่ารุ่น V6

ถ้ายังเรียกร้องถามหาโต๊ะวางของ ให้มองไปที่ฝั่งซ้ายของคอกเบาะนั่งด้านขวา
จะพบโต๊ะวางของเล้กๆแบบพับได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ใช้มือซ้าย
กดปุ่มตรงกลาง ปลดล็อก แล้วยกขึ้นมาตั้งฉาก ถ้าจะพับเก็บ ก็กดปุ่มปลดล็อก
ในตำแหน่งเดิม ก่อนจะพับเก็บลงไป

ส่วนเบาะรองต้นขา Ottomann นั้น ยังคงมีมาให้ และปรับยกขึ้น – ลง ได้ด้วย
สวิตช์ไฟฟ้า เหมือนกัน เพียงแต่ จะไม่สามารถปรับเลื่อนเพิ่ม – ลดความยาว
ได้เท่ารุ่น Alphard V6 กระนั้น มุมองศา การปรับยกขึ้นใช้งานสูงสุด ยังคง
เท่ากันกับรุ่น V6 (นั่นหมายความว่า ยังไม่ถึงขั้นตั้งฉากได้อย่างที่ Odyssey
มีมาให้)

กระนั้น ถือว่ารองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้สบายเพียงพอสำหรับ
ครอบครัวขนาดใหญ่ อีกทั้งตัวกลไกการปรับเบาะ ก็ไม่สลับซับซ้อนมาก
เมื่อเทียบกับ Alphard V6

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_09

การเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 ค่อนข้างลำบาก อันที่จริง ช่องทางประตูก็กว้าง
เพียงพออยู่ ถ้าติดตั้งเบาะนั่งแบบมาตรฐาน เหมือนรุ่นกลางๆของเวอร์ชัน
ญี่ปุ่น แต่ในเมื่อ เวอร์ชันไทย จัดเบาะนั่งชั้นดีมาให้กันขนาดนี้ สำหรับใคร
ที่ซื้อ Vellfire ปัญหานี้ยังพอทุเลาได้ เพราะมีช่องทางเดินทะลุเข้าไปจาก
ตรงกลางระหว่างเบาะแถว 2

แต่ถ้าใครอุดหนุน รุ่น V6 3.5 ลิตร แล้ว อาจต้องทำใจ และต้องใช้ความ
พยายามในการปีนเข้าไปนั่งบนเบาะแถว 3 สักหน่อยนะครับ

ถ้าคุณต้องการเลื่อนเบาะแถว 2 ขึ้นมาข้างหน้า เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้โดยสาร
เดินขึ้นไปนั่งบนเบาะแถว 3 ได้ มี 2 วิธีครับ

1. กดสวิตช์ไฟฟ้า ด้านข้างโครงสร้างพนักวางแขน เลื่อนขึ้นหน้า หรือถอยหลัง
ตัวพนักศีรษะจะโน้มขึ้นมาข้างหน้าพร้อมกับปรับเลื่อนตัวเบาะขึ้นมาให้คุณได้
อย่างช้าๆ

2. ถ้าข้อแรกไม่ทันใจ ใต้พนักวางแขน บริเวณหัวมุมติดกับเบาะรองนั่ง จะมี
คันโยกเล็กๆ ดึงขึ้นมา เพื่อปลดล็อกราง เลื่อนชุดเบาะไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ได้ทันที แต่ยังไงๆ ก็ต้องกดสวิตช์ไฟฟ้า ตำแหน่งเดียวกับข้อ 1 เพื่อช่วยโน้ม
พนักพิงหลังมาข้างหน้า อยู่ดี

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_10

การเพิ่มความสูงของหลังคารถ ทำให้พื้นที่เหนือศีรษะ ถูกปรับเพิ่มมากขึ้น
หลังจากโดนลูกค้าจำนวนไม่น้อย บ่นว่านั่งเบาะแถว 3 ในรถรุ่นเดิมแล้ว
หัวชนเพดาน

เบาะนั่งแถว 3 ถูกปรับปรุงใหม่ แต่ ยังคงนั่งไม่สบายเท่าที่ควร พนักพิงหลัง
แม้จะนุ่ม แต่ฟองน้ำยังแน่นไป อีกทั้งยังมีลักษณะค่อนข้างแบน ไม่รองรับ
ส่วนหลังของผู้โดยสารเท่าที่ควร

ส่วนพนักศีรษะ แม้จะนุ่มพอประมาณ แต่ถ้าหากไม่ยกขึ้นมาใช้งาน  ด้วยการ
ปรับระดับให้ลงล็อก ในตำแหน่งสูงสุด (ตามภาพข้างบนนี้) อาจเจอ ขอบล่าง
ของพนักศีรษะ ทิ่มตำต้นคอได้ ตามปกติของพนักศีรษะแบบตัว L คว่ำ

เบาะรองนั่ง ยังมีขนาดสั้นไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับ Odyssey ใหม่ แต่ด้วย
ความสูงที่พอเหมาะ ทำให้การนั่งโดยสาร ยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ นั่งชันขา
ไม่มากนัก

พนักวางแขน มีมาให้เฉพาะตรงกลาง แยกชิ้น ซ้าย – ขวา ติดยึดกับชุดเบาะซึ่ง
ถูกออกแบบให้แยกพับเก็บออกจากกันได้ในอัตราส่วน 50 : 50 ส่วนผนังทั้ง
2 ฝั่ง จะมีพื้นที่วางแขนมาให้ รวมทั้งช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง และกล่อง
เขี่ยบุหรี่ แบบวงกลมพร้อมฝาปิด ยกถอดออกไปทิ้งขี้บุหรี่ข้างนอกได้ แถม
ยังมี ม่านบังแดดแบบม้วนพับซ่อนมาให้ ที่ฐานของกระจกหน้าต่างทั้ง 2 ฝั่ง
วางแขนได้ในระดับสบายพอประมาณ

ส่วนพื้นที่วางขา ของผู้โดยสารแถว 3 นั้น จริงอยู่ว่า ปรับเบาะนั่งในตำแหน่ง
ปกติ แน่นอนครับ พื้นที่มันเพิ่มมากขึ้นจากรุ่นเดิมนิดหน่อย ก็จริงอยู่ กระนั้น
มันยังคงขึ้นอยู่กับความกรุณาของ คนที่นั่งบนเบาะแถว 2 ว่าเขาจะหมั่นไส้คุณ
มากน้อยแค่ไหน ถ้าน้อยหน่อย เขาก็คงจะเจียดพื้นที่ เลื่อนเบาะขึ้นไปให้คุณ
ได้วางขาสบายขึ้น แต่ถ้าคุณทำตัวน่าถีบ ก็อย่าแปลกใจว่าพื้นที่วางขาด้านหลัง
ของคุณจะหายไป เพราะการเลื่อนเบาะของเขา ถอยหลังมาทับเท้าคุณ นั่นเอง

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_11

บานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง สามารถเปิดได้ 3 วิธี ทั้งจากสวิตช์ไฟฟ้า
สีดำ บริเวณกรอบโครเมียม เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียน สวิตช์บนรีโมทกุญแจ
หรือสวิตช์ บนแผงควบคุมไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า เหนือกระจกมองหลัง

อย่างไรก็ตาม บานประตูสามารถสั่งเปิดด้วยไฟฟ้าได้ก็จริง แต่ถ้าคุณยืนอยู่
ด้านหลังของรถ กดปุ่มเปิดแล้ว ยังคงต้องออกแรงยกฝาท้ายขึ้นมาเอง แต่ถ้า
ต้องการจะปิดฝาท้ายลงมา กดสวิตช์ไฟฟ้า ด้านบน (ในรูป) ลงมาได้เลย และ
ถ้ามีใครไปยืนกีดขวางอยู่ เมื่อประตูค่อยๆปิดลงไป แล้วไปเจอศีรษะของคุณ
มันจะดีดกลับขึ้นไปเองอัตโนมัติ

การพับเบาะแถว 3 นั้น มีขั้นตอนไม่ยาก แต่ต้องออกแรงมากๆ ขั้นแรก ต้อง
ปรับเบาะเลื่อนให้ตรงกับตำแหนน่งลูกศรที่กำหนดไว้บนรางเลื่อน จากนั้น
ต้องออกแรงดึงคันโยก ใต้เบาะรองนั่ง เพื่อปลดล็อกฐานเบาะ แล้วยกเบาะ
ขึ้นไปในแนวเดียวกับเบาะแถว 3 ของ Toyota Fortuner จากนั้น ใช้สายล็อก
ซึ่งมีตัวล็อกแบบเดียวกับกระเป๋านักเรียนของเด็กอนุบาล ล็อกยึดไว้ กับจุด
ยึดล็อกบริเวณเสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar ซึ่งยืนยันได้ว่า มันล็อกแน่นหนา
เพียงพอ ไม่ต้องกังวลใจไป

ด้านหลัง มีไฟส่องห้องเก็บของด้านหลัง ทั้งฝั่งซ้าย และขวา เปิด-ปิดได้
และมีช่องตรงกลาง เปิดขึ้นมาใส่ข้าวของที่คุณอยากจะเก็บซ่อนไว้ได้ลึก
ทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งอุปกรณ์ประจำรถ เช่นแม่แรง และเครื่องมือต่างๆ แต่ถ้า
ถามหายางอะไหล่ เสียใจนะครับ ดูเหมือนว่าจะไม่มีมาให้

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_12

แผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้น เพื่อเน้นความสะดวกในการใช้งานอุปกรณ์
ที่ติดตั้งอยู่บนแผงควบคุมกลาง เหมือนเช่นรุ่นก่อนๆ เพียงแต่ ในรถรุ่น
ก่อนนี้ ด้านข้างคนขับและผู้โดยสารด้านซ้าย ถูกปล่อยเว้นไว้โล่งๆ ให้
เป็นช่องทางเดินทะลุจากเบาะหน้าไปยังเบาะแถวกลางได้ ในลักษณะ
Walk Through

แต่จากผลสำรวจวิจัยลูกค้า พบว่าเนื่องจาก เจ้าของรถตู้ระดับนี้ มักจะมี
พลขับส่วนตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการให้สามารถเดินก้าวเข้ามายังด้านหลัง
ได้ง่ายดายนัก ขณะเดียวกัน ในกลุ่มลูกค้าครอบครัว ผู้โดยสารด้านซ้าย ก็
แทบไม่ค่อยลุกย้ายไปนั่งด้านหลังผ่านช่องทางนี้ในรถรุ่นก่อนเท่าใดนัก

ดังนั้น ทีมออกแบบ เลยจัดการ ปิดทางเดินนี้ด้วยการติดตั้งกล่องเก็บของ
ขนาดยักษ์ตรงกลาง เชื่อมเข้ากับแผงคันเกียร์ และแผงควบคุมกลาง เพื่อ
ความสวยงาม และเพิ่มอรรถประโยชน์ใช้สอยไปเสียเลย

การตกแต่งภายในของ Alphard เวอร์ชันไทย จะใช้สีเบจโทนสว่าง ตัดกับ
วัสดุสีดำ และแผง Trim ลายไม้ Walnut ประดับบนแผงหน้าปัด และแผง
ประตูด้านข้าง รวมทั้งวัสดุชุบอะลุมีเนียม หรือสีเงิน แซมตามส่วนต่างๆ
ส่วน Vellfire จะใช้โทนสีดำ พร้อมกับลายลายหินอ่อนประดิษฐ์ และวัสดุ
ชุบอะลูมีเนียม กับสีเงิน ประดับไว้ ในตำแหน่งเดียวกัน

แผงบังแดดบนเพดานหลังคา ด้านหน้า หุ้มด้วยผ้าอย่างดี ใช้วัสดุบุนุ่ม
เสริมข้างในอีกชั้นหนึ่ง มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่าง ฝังอยู่
บนเพดาน มาให้ครบ ทั้ง 2 ฝั่ง ทุกรุ่น ส่วนกระจกมองหลัง เป็นแบบ
ตัดแสงอัตโนมัติในยามค่ำคืน ทุกรุ่นเช่นกัน

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_13

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย

บนแผงประตู ของทั้ง 2 รุ่น มีสวิตช์ไฟฟ้า จำตำแหน่งเบาะนั่งคนขับได้
ถึง 3 ตำแหน่ง ใช้งานเหมือนกับรถยนต์ทั่วไป คือ กดปุ่ม SET แช่ไว้สัก
1-2 วินาที แล้วกดปุ่มเลือกไปว่า ตำแหน่งเบาะที่เราปรับไว้ล่าสุด จะให้
ระบบจำเอาไว้บนสวิตช์หมายเลขเท่าไหร่

สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าของทุกรุ่น เป็นแบบ AUTO ขึ้น – ลง ได้ด้วย
การกด หรือยกสวิตช์ เพียงครั้งเดียว “ครบทั้ง 4 บาน” ขณะเดียวกัน สวิตช์
ปรับกระจกมองข้าง เริ่มใช้แบบนิ้วหมุน เหมือนรถยุโรปแล้ว แต่สวิตช์พับ
กระจกมองข้าง ยังคงต้องเป็นแบบกดเลือกว่า คุณจะสั่งพับเอง หรือจะให้
ระบบช่วยพับเก็บตอนดับเครื่องยนต์ แล้วกางออกอีกครั้งตอนติดเครื่องยนต์
หรือปล่อยทิ้งไว้ ไม่ต้องพับ ไม่ต้องกางทั้งสิ้น

ทุกรุ่นติดเครื่องยนต์ได้ด้วยสวิตช์แบบกดปุ่ม Push Start ติดตั้งบริเวณใต้ช่อง
วางแก้ว แบบมีฝาเลื่อนปิด ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ส่วนด้านข้างของสวิตช์กด
Push Start นั้น ทุกรุ่น มีสวิตช์ สั่งเปิด – ปิด การทำงานของระบบบานประตู
เลื่อนไฟฟ้าคู่กลาง แต่ถ้าเป็น Alphard V6 3.5 ลิตร จะเพิ่มสวิตช์เปิด – ปิด
ระบบ Heater อุ่นพวงมาลัยมาให้เป็นพิเศษ คนไทยอาจมองว่า ให้มาทำไม
แต่สำหรับชาวรัสเซีย ที่จะใช้รถรุ่นนี้ถัดจากเรา ถือว่า จำเป็นมากในฤดูหนาว

ถัดลงไป เป็นช่องก็บของขนาดเล็กแบบมีฝาปิด ข้างในบุด้วยวัสดุผ้ากึ่งนุ่ม
กึ่งแข็ง หากเป็นเวอร์ชันญี่ปุ่น ช่องนี้จะถูกติดตั้งระบบจ่ายค่าผ่านทางด่วน
อัตโนมัติ ETC แต่สำหรับคนไทย อาจเอาไว้ใส่ข้าวของจุกจิกขนาดเล็ก
ส่วนคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า และฝาถังน้ำมัน อยู่ถัดลงไปจากนั้นอีก
เล็กน้อย

เฉพาะ Alphard V6 3.5 ลิตร ใต้ชุดมาตรวัด ฝั่งซ้าย ตำแหน่งระนาบเดียวกับ
สวิตช์ อุ่นพวงมาลัย จะเป็นสวิตช์ไฟฟ้าสั่งปรับตั้งเบาะโดยสารแถว 2 ให้
คืนกลับมาอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเทียบกับเวอร์ชันญี่ปุ่น
ก็จะพบว่า สวิตช์นี้จะติดตั้งมาพร้อมกับเบาะแถว 2 แบบ Executive Lounge
เท่านั้น

พวงมาลัยของทุกรุ่น เป็นแบบ 4 ก้าน ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ -ห่าง
(Telescopic) ได้ครบ หุ้มหนัง และประดับด้วยลายไม้บริเวณด้านบน และล่าง
ของวงพวงมาลัย ประดับด้วยแถบโครเมียมเล็กๆข้างแป้นแตรมีสวิตช์ควบคุม
ระบบล็อคความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ยื่นออกมาบริเวณใต้ก้านพวงมาลัย
ฝั่งขวามือ หน้าตาคุ้นเคยกันดี การใช้งานก็เหมือน Toyota ทั่วไป เพราะเป็นชุด
สวิตช์แบบสหกรณ์ที่ใช้งานกันมาตั้งแต่ยุค 1990 ! คือ กดปุ่มบนหัวสวิตช์ เพื่อ
เปิดระบบ เหยียบคันเร่งให้ถึงความเร็วที่ต้องการ กดตัวสวิตช์ลงมา 1 ครั้งเพื่อ
ล็อกความเร็ว ถ้าจะเพิ่มความเร็ว โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่ง ให้ยกสวิตช์ขึ้น
ทีละนิด เพื่อให้เพิ่มครั้งละ ทีละ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือยกขึ้นจนเข้าล็อก
แล้วค่อยถอน เพื่อเพิ่มขึ้นทีละ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าต้องการยกเลิกให้ดึง
สวิตช์เข้าหาตัว หรือเหยียบเบรก ปิดการใช้งาน ให้กดปุ่มบนหัวสวิตช์อีกที

ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา มีแผงสวิตช์ควบคุมการทำงานของหน้าจอ MID บน
มาตรวัดความเร็ว ขณะเดียวกัน ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย มีแผงสวิตช์ควบคุม
ชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์

คันเกียร์ ของทุกรุ่น เป็นแบบ ขั้นบันได Gate Type ถูกติดตั้งในตำแหน่ง
เยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย หากเทียบกับ Toyota Camry รุ่นปัจจุบัน ด้านข้าง
แผงคันเกียยร์ มีแผงสวิตช์เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ HOLD รายละเอียด
การทำงานต่างๆ เลื่อนลงไปอ่านได้ข้างล่าง

ถัดลงมาจะมีสวิตช์เปิด – ปิดระบบควบคุมการทรงตัวและเสถียรภาพ พวก
Traction Control และสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ ECO Mode ที่จะช่วยเพิ่มความ
ประหยัดในการขับขี่ ด้วยการลดความไวในการตอบสนองของคันเร่ง และ
ลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศลงเหลือเท่าที่จำเป็น

แต่เฉพาะ Vellfire 2.5 ลิตร จะมีสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบติดและดับเครื่องยนต์
เองโดยอัตโนมัติ ขณะอยู่ในการจราจรติดขัด Auto Start Stop แถมมาให้ด้วย
เป็นพิเศษ (ไม่มีใน Alphard V6)

ฝั่งซ้ายของแผงคันเกียร์ เป็นช่องเก็บของพร้อมฝาเลื่อนเปิด – ปิด แบบ Smooth
เอาไว้เก็บบรรดารีโมทคอนโทรล ของเครื่องเล่น DVD ในรถ ถัดลงมาเป็นถาด
ขนาดเล็ก ไว้วางปากกา หรือคลิปหนีบกระดาษ แต่เฉพาะรุ่น Alphard V6 3.5
จะเพิ่ม สวิตช์เปิด – ปิด Heater อุ่นเบาะทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านซ้ายมาให้
เป็นพิเศษ

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_14

ชุดมาตรวัดเป็นแบบเรืองแวง Optitron 2 วงกลมใหญ่ ซ้อนด้วยวงกลมเล็ก
ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ พร้อมทั้งมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น
ส่วนฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว ซ้อนด้วย มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง

หากเป็น Alphard V6 3.5 ลิตร จะใช้ชุดมาตรวัดสำหรับตลาดส่งออก ซึ่งมี
ตัวเลข Top Speed สูงถึง 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเป็น Vellfire 2.5 ลิตร
จะใช้มาตรวัดยกมาจากเวอร์ชันญี่ปุ่น ซึ่งจำกัดตัวเลขไว้แค่ 180 กิโลเมตร/
ชั่วโมง

ภายในชุดมาตรวัดแต่ละวง จะรายล้อมไปด้วยสารพัดไฟเตือนต่างๆนาๆ
กระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เหมือนๆกัน มาตรวัดทั้ง 2 วงกลม คั่นกลาง
ด้วยจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi Information Display) ทั้งอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-Time และแบบเฉลี่ย ระยะทางที่เหลือพอ
ให้น้ำมันในถังขับเคลื่อนตัวรถต่อไปได้ มาตรวัดความเร็วแบบ Digital
มาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ มาตรวัดการขับขี่แบบ
ประหยัด ECO Driving Indicator รวมทั้งยังแสดงข้อมูลเข็มทิศ หรือบอก
ทิศทาง ร่วมกันกับระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS และแสดงข้อมูลจาก
ชุดเครื่องเสียง

เรียกได้ว่า หน้าจอ MID ตรงกลางนั้น แทบจะยกทั้งกราฟฟิคและฟังก์ชัน
การทำงานมาจาก Lexus รุ่นใหม่ๆ อย่างตระกูล NX กันเลยทีเดียว!

การเซ็น Trip Meter ทั้ง A และ B รวมทั้ง กดเลือกปรับความสว่างของชุด
มาตรวัด ทำได้ด้วยสวิตช์ใต้ชุดมาตรวัดฝั่งซ้าย กดแช่เพื่อ Reset ค่าต่างๆได้

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_15_JBL

ใต้ช่องแอร์ของผู้โดยสารฝั่งซ้าย และผู้ขับขี่ฝั่งขวาสุด มีช่องวางแก้วน้ำมาให้
โดยฝั่งผู้โดยสาร จะเป็นลิ้นชัก เลื่อนออกมา และดันกลับเก็บเข้าไป ส่วนฝั่ง
คนขับ จะเป็นแบบฝาเลื่อนเปิด-ปิดได้แบบ Smooth

กล่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย (Glove Compartment) มีขนาดใหญ่
สามารถเก็บคู่มือผู้ใช้รถ และระบบนำทาง ทั้งภาคภาษาไทย-อังกฤษ แยกเล่ม
กันได้สบายๆ แถมยังมีพื้นที่เหลือให้ใส่เอกสารประจำรถอื่นๆ ได้ด้วย

เครื่องปรับอากาศ ของทุกรุ่น เป็นแบบอัตโนมัติ แยกฝั่ง ซ้าย – ขวา สำหรับ
ผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ส่วนด้านหลัง มีแผงควบคุมติดตั้งบนเพดาน
พร้อมช่องแอร์ ขนาดเล็ก แต่เย็นเร็วทันใจ สำหรับผู้โดยสารทั้งแถว 2 กับ 3
มาพร้อมระบบฟอกอากาศ Nano-e ปล่อยปะจุลบออกมา เพื่อขจัดฝุ่นละออง

เครื่องเสียงและระบบ Entertainment ของ Alphard V6 3.5 ลิตร ประกอบด้วย
วิทยุ / CD / MP3 / WMA / DVD พร้อมจอ LED Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว
ช่องเชื่อมต่อ USB iPod และ Bluetooth พร้อม ระบบนำทางผ่านดาวเทียม
GPS Navigation System ยกหน้าจอ และ Interface จาก ทั้ง Camry 2.0 ลิตร
Minorchange และ Hilux Revo Double Cab 2.8 ลิตร 6AT 4×4 ตัวท็อปมาให้
ใช้งานกันเลย ตัวเครื่องเสียง แยกแผงควบคุมไปไว้ด้านล่างของจอ (ไม่มีใน
Vellfire 2.4 ลิตร) พร้อมลำโพง JBL มากถึง 17 ชิ้น รอบคันรถ! รองรับระบบ
สื่อสารผ่านศูนย์ควบคุม Smart G-Book พร้อมกล้องมองหลังและเซ็นเซอร์
กะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด

คุณภาพเสียง ก็มาในสไตล์เดียวกับ Camry 2.0 ลิตร ใหม่ Minorchange นั่นละ
เสียงส่วนใหญ่ที่ออกมา จะกองรวมกันอยู่ด้านหน้าของรถ ไม่ค่อยเผื่อแผ่มาถึง
ผู้โดยสารแถว 3 สักเท่าใดนัก ต้องปรับเสียงช่วยอย่างมาก เสียงเครื่องดนตรี มี
มิติเสียงดีใช้ได้ ภาพรวมแล้ว ผมถือว่า ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_16

แต่ชุดเครื่องเสียงและระบบ Entertainment ของ Vellfire 2.4 ลิตร จะแตกต่าง
ออกไป หน้าตาไม่เหมือนกัน ประกอบด้วย วิทยุ / CD / MP3 / WMA / DVD
พร้อมจอ LED Touchscreen ขนาด 7 นิ้ว ติดตั้งในเมืองไทย พร้อมช่องเชื่อม
ต่อสัญญาณ USB iPod และระบบ Bluetooth พ่วงระบบนำทางผ่านดาวเทียม
GPS Navigation System รองรับ Smart G-Book และมีลำโพงมาให้ 8 ชิ้น
พร้อมกล้องมองหลังและเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยเข้าจอด

คุณภาพเสียงโดยรวม กลับกระจ่างชัดเจนกว่า และกระจายเสียงไปทั่วทั้งคัน
ได้ลงตัวกว่า เครื่องเสียง JBL ใน Alphard เพียงแต่ว่า ถ้าอยากฟังเครื่องดนตรี
ให้ใกล้เคียงกับเสียงที่ออกมาจริงๆ อาจต้องทำใจว่า ไม่ได้ถึงกับดีเท่ากันกับ
ชุด JBL ของรุ่น Alphard V6 กระนั้น ถ้าให้ผมต้องเลือกฟังเพื่อความเพลินหู
โดยไม่เน้นรายละเอียดเสียง เน้นแต่ความชัดเจนอย่างเดียว ผมเดินขึ้นรถตู้
Vellfire คันนี้แบบไม่ต้องคิดมาก และจะปล่อยให้ Alphard V6 จอดตากแดด
อยู่ตรงที่เดิมนั่นแหละ

สิ่งที่หน้าจอของทั้ง 2 รุ่นเป็นเหมือนกันคือ การตอบสนอง ยังแอบช้านิดๆใน
บางจังหวะ เกือบจะเรียกว่า ไม่ใช่ Touch Screen และเกือบเข้าข่ายที่เราเรียก
กันเล่นๆว่า “จิก Screen” แล้ว ใช้งานจริง ยังไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_17

อีกจุดเด่นในงานออกแบบภายในของ Alphard และ Vellfire ใหม่ คืกล่อง
เก็บของ คั่นกลางระหว่างผู้โดยสารด้านหน้าและผู้ขับขี่ มีขนาดใหญ่มหึมา
สามารถยัดศพสุนัขชิวาว่า ได้อย่างน้อยๆ 4 ตัว หรือหมาน้อยพันปั๊ก 1 ตัว
สบายๆ แถมฝาเปิด ยังถูกออกแบบมาให้ เปิดได้ทั้งจากฝั่งคนขับ หรือฝั่ง
ผู้โดยสารด้านซ้าย ทั้งคู่ ติดตั้งช่องจ่ายไฟ 12V มาให้ แต่เฉพาะ Alphard
V6 3.5 ลิตร ที่จะมีช่องเสียบ USB มาให้ 2 ตำแหน่งเพิ่มเติม เพราะช่อง
USB ของ Vellfire ถูกติดตั้งมากับชุดเครื่องเสียงอยู่แล้ว

สงสัยทีมออกแบบ คงได้แรงบันดาลใจ จากประตูตู้เย็นที่บ้านของเขาแหงๆ!

ช่องวางแก้วตรงกลาง 2 ตำแหน่ง พร้อมฝาปิดแบบ Smooth ใช้งานได้จริง
แถมยังมีถาดวางของ พร้อมยางกันลื่นมาให้ ทั้งขนาดใหญ่ ด้านข้างช่อง
วางแก้ว และขนาดเล็กเรียว แนวยาว สำหรับวางปากกา อยู่ถัดจากแผงชุด
คันเกียร์

ในบริเวณเดียวกัน เฉพาะรุ่น Alphard V6 3.5 ลิตร เท่านั้น ที่จะมีสวิตช์
เปิด – ปิด Heater อุ่นเบาะ ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_18_DVD_V6

สำหรับความบันเทิงของผู้โดยสารด้านหลัง ทั้ง 2 รุ่น จะมีเครื่องเล่น DVD
พร้อมจอมินิเตอร์มาให้ ติดตั้งตรงกลางเพดานหลังคารถ แต่รายละเอียดของ
ทั้ง 2 รุ่นจะแตกต่างกันนิดหน่อย เป็นคนละชุดกัน

Alphard V6 3.5 ลิตร จะติดตั้งจอ LED ขนาด 9 นิ้ว พร้อมเครื่องเล่นแผ่นแบบ
Blue-ray สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง เมื่อเชื่อมเสียงมาออกทางลำโพง JBL ทั้ง
17 ชิ้น คุณจึงจะเริ่มเห็นคุณงามความดีของมันชัดเจน เสียงกระหึ่มใช้การได้
และมีมิติของเสียงที่ อยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ แค่รีโมทคอนโทรล หน้าตาไม่สมกับ
ราคาของ Alphard V6 เท่าไหร่เลย ขี้เหร่มาก

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_19_DVD_Vellfire

ส่วน Vellfire 2.4 ลิตร จะติดตั้ง จอ LED ขนาดใหญ่กว่า เป็น 10.2 นิ้ว เอาใจ
ผู้โดยสารตอนหลังกันสุดๆ พร้อม รีโมทคอนโทรล แยกออกมา 2 ชิ้น ซึ่งผม
ก็ไม่รู้ว่าจะจับแยกมาทำไมให้สับสนเล่นในขณะใช้งาน และอาจต้องค้นหา
กันตาเหลือกตอนที่มันหายไปซ่อนในซอกลืบใดก็ตามของตัวรถ

เมื่อเชื่อมสัญญาณกับ ลำโพง 8 ชิ้นแล้ว พบว่า ไม่ได้แย่เกินไป เหมาะให้
กุลบุตร กุลธิดา เพลิดเพลินมีความสุขกับการ์ตูนเรื่องโปรดอยู่บนเบาะหลัง
ไปตามปกตินั่นแหละดีแล้ว!

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Interior_20_Moon_Roof

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา Alphard และ Vellfire เวอร์ชันไทยทุกรุ่น ติดตั้ง
หลังคาแบบ Twin Moon Roof  พร้อมแผงบังแดดแบบแข็ง เลื่อนเปิด-ปิดได้
ทั้ง 2 ตำแหน่ง มาให้ โดย Moon Roof  สำหรับผู้โดยสารและผู้ขับขี่ด้านหน้า
จะเป็นแบบใช้กลไกมือ ยกให้เผยอขึ้น เพื่อระบายอากาศจากในห้องโดยสาร
เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถกดสวิตช์ไฟฟ้าเลื่อนเปิดได้เลย

ส่วน Moon Roof สำหรับผู้โดยสารแถว 2 สามารถ กดสวิตช์ไฟฟ้า สั่งเลื่อนเปิด
หรือปิดได้ จาก แผงควบคุมบนเพดาน ทั้งบริเวณไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า และ
สวิตช์ฝั่งขวาสุดของแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ บนเพดานตอนกลางรถ

ไฟส่องสว่าง เป็นอีกลูกเล่นที่ทำให้หลายๆคน ถึงกับร้องว้าว นอกเหนือจาก
ไฟอ่านแผนที่ (หลอด LED สีขาวนวล) ติดตั้งคั่นกลาง ระหว่าง แผงควบคุม
สวิตช์บานประตูไฟฟ้า และช่องเก็บแว่นกันแดด กับไฟแต่งหน้า เปิด – ปิด
ได้จากบานเลื่อนของกระจกแต่งหน้า ซึ่งติดตั้งฝังในแผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่งแล้ว

ยังมีหลอดไฟ LED ติดกับช่องแอร์ บนเพดานหลังคา ของผู้โดยสารแถว 2 กับ
แถว 3 ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง กดเพื่อเปิด 1 ครั้ง จากนั้น ด้วยการกดปุ่มเดิม เพื่อเลือก
ความสว่างได้ 3 ระดับ และกดครั้งที่ 3 คือ ปิดไฟ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแถบไฟ Illumination ที่สามารถเลือกปรับความสว่าง ได้ถึง
3 ระดับ และเลือกเปลี่ยนสีตามใจชอบได้มากถึง 16 สี สวิตช์ของทั้ง 2 รายการนี้
ติดตั้งที่ฝั่งซ้ายของแผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศ บนเพดานหลังคากลาง ทั้งหมด
ข้างบนนี้ ติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่น

แต่ในรุ่น Alphard V6 \3.5 ลิตร จะเพิ่มไฟอ่านหนังสือ สำหรับผู้โดยสารแถว 2
ปรับหมุนได้เหมือนไฟอ่านหนังสือบนเครื่องบินไม่มีผิด สวิตช์เปิด – ปิด อยู่ที่
ด้านบนสุดของแผงควบคุมบริเวณพนักวางแขนในชุดเบาะ Executive Lounge
เท่านั้น

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Visibility_1

ด้านทัศนวิสัย จากตำแหน่งคนขับ แน่นอนว่า การยกตำแหน่งเบาะนั่งให้สูง
ย่อมช่วยให้การมองเห็นสภาพจราจรข้างหน้า ทำได้ดีกว่า ทั้ง Odyssey และ
Elgrand ใหม่ เพียงแต่ว่า ต้อยอมแลกมาด้วยการก้าวขึ้นลงจากรถที่ต้องทำตัว
เป็นลิงบาบูน ห้อยโหนกันสักนิด

แผงหน้าปัดที่มีระยะจากขอบล่างของกระจกบังลมหน้า จนถึงมาตรวัด ยาว
แต่ฝากระโปรงหน้าค่อนข้างสั้น มีปัญหาต่อการกะระยะขณะเข้าจอดแบบ
เอาหน้ารถทิ่มเข้าช่องจอดอยู่บ้าง ต้องทำใจ และระมัดระวังในประเด็นนี้

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Visibility_2

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีกระจก Opera สามเหลี่ยม ขนาดใหญ่
อาจมีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา บนทางโค้งขวา แบบ 2 เลนสวนกัน
ได้บ้าง แต่ยังถือว่าน้อยกว่ารถเก๋งหลายๆรุ่น ที่ออกแบบเสาหลังคาคู่หน้า
ในลักษณะเดียวกันนี้ เพราะเสหลังคา ดูไม่ได้ใหญ่หรือหนาอย่างที่คิด

กระจกมองข้าง ฝั่งขวา มีขนาดใหญ่โตกำลังดี มีไฟเลี้ยวแถมมาให้ทุกรุ่น
แต่เมื่อปรับให้มองเห็นตัวถังรถนิดหน่อย กลับมีพื้นที่ขอบฝั่งนอก บดบัง
กินพื้นที่มุมล่างและฝั่งขวาของตัวกระจกพอประมาณ

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Visibility_3

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็ยังดูบาง ไม่หนาจนเกินไป การบดบัง
ยานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ในขณะเลี้ยวกลับรถ อาจเกิดขึ้นได้บ้างใน
กรณีที่ ต้องเลี้ยวกลับรถ ใต้เสารถไฟฟ้า BTS แต่นอกนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์
พอรับได้ ไม่ถึงกับดี แต่ไม่แย่

กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็เช่นเดียวกันกับฝั่งขวา มีขนาดใหญ่โตกำลังดี
และอาจมีขอบเปลือกกระจกมองข้างด้านใน แอบกินพื้นที่เข้ามานิดๆ
ถ้าปรับให้กระจกมองเห็นตัวถังรถน้อยๆ

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Visibility_4

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง การมีกระจกหน้าต่างใหญ่โต ก็พอจะช่วยให้คุณ
มองเห็นจักรยานยนต์ที่แล่นมาทางด้านข้าง แต่อย่าคาดหวังมากนัก เพราะ
พนักศีรษะของเบาะแถว 2 อาจรบกวนสายตาอยู่บ้าง ถ้าทำความคุ้นเคย ก็
จะคุ้นชินได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเข้าเลน ไปทางซ้าย หรือเข้าช่องทางคู่ขนาน
บนทางหลวงสายใหญ่ๆ อาจต้องใช้ความระมัดระวังในการมองหลัง
มากกว่ารถเก๋ง ให้นึกเสมอว่า คุณกำลังขับรถตู้ท้ายยาวๆ อยู่ จำเป็น
ที่จะต้องเผื่อช่วงชะลอรถ ให้กับรถคันที่ตามคุณมาด้วย

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_00_Cutaway

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

Alphard และ Vellfire ยังคงถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง (Platform) ของรถเก๋ง
แต่ในรถรุ่นใหม่นี้ มีการปรับปรุง Platform ใหม่ที่ดัดแปลงมาจาก Platform
ของ Toyota Camry และ Avalon อีกทั้งยังมีการปรับพื้นห้องโดยสารให้มี
ลักษณะลาดเอียง เพื่อให้เบาะนั่งสามารถติดตั้งในแบบ Theatre Seat หรือ
เบาะนั่งแบบไล่ระดับเหมือนในโรงภาพยนตร์ โดยต้องทำพื้นที่เผื่อไว้ให้
ถังน้ำมันขนาดความจุ 75 ลิตร (ลดเหลือ 65 ลิตร เฉพาะรุ่น Hybrid) ไว้ใต้
เบาะนั่งแถวกลาง

Alphard และ Vellfire ที่ทำตลาดในเมืองไทย มีเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง
มาให้เลือกครบถ้วน เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น ทั้ง 3 ขนาด เพียงแต่ว่า การจัดวาง
รุ่นย่อย อาจแตกต่างออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าในบ้านเรา

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_01

เวอร์ชันไทยของ Alphard จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก เพียงแค่ 2 ขนาด นั่นคือ
รหัส 2GR-FSE บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว 3,456 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
94.0 x 83.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.8 : 1 หัวฉีด EFI ซึ่งเป็นขุมพลังสหกรณ์
ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ใน Toyota และ Lexus หลายๆรุ่น ตั้งแต่รุ่น
Crown ไปจนถึง Lexus GS 350 เพียงแต่ว่า เวอร์ชันนี้ เป็นเวอร์ชันแบบ
ขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งถูกพัฒนาให้นำไปใช้ร่วมกันกับ Toyota Camry
สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย / นิวซีแลนด์

กำลังสูงสุด 271 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 340 นิวตันเมตร
(34.64 กก.-ม.) ที่ 4,700 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 และรองรับ
น้ำมันเบนซิน 95 กับ แก็สโซฮออล์ 95 E10

(เวอร์ชันญี่ปุ่น ที่นำเข้าโดยเกรย์ ไม่ได้ปรับปรุงให้รองรับกับน้ำมันเชื้อเพลิงและ
มาตรฐานไอเสียในบ้านเรา ทำให้แรงม้ายังคงอยู่ที่ 280 PS ที่ 6,200 รอบ/นาที
เท่ากัน แรงบิดสูงสุด 344 นิวตันเมตร / 35.1 กก.-ม. ที่ 4,700 รอบ/นาที เท่ากัน)

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_02_Hybrid

อีกรุ่น เป็นขุมพลัง 2.5 ลิตร Hybrid THS ประกอบด้วยเครื่องยนต์ 2AR-FXE
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,493 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 90.0 x 98.0 มิลลิเมตร
กำลังอัด 12.5 : 1 หัวฉีด EFI จุดระเบิดแบบ Atkinson Cycle ที่คนไทยคุ้นเคย
อยู่แล้ว ใน Camry Hybrid นั่นอง

กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 206 นิวตันเมตร
(21.00 กก.-ม.) ที่ 4,400 – 4,800 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 และ
รองรับน้ำมันเบนซิน 95 กับ แก็สโซฮออล์ 95 E10 เช่นเดียวกับขุมพลัง V6

(เวอร์ชันญี่ปุ่น ที่นำเข้าโดยเกรย์ ไม่ได้ปรับปรุงให้รองรับกับน้ำมันเชื้อเพลิง
และมาตรฐานไอเสีย บ้านเรา ทำให้แรงม้ายังคงอยู่ที่ 152 PS ที่รอบเครื่อง
เท่ากัน แรงบิดสูงสุด ก็เท่ากัน เหมือนกันเป๊ะ)

พ่วงเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้า 2JM แรงดันสูงสุด 650 Volt กำลังสูงสุด 105 กิโลวัตต์
(142 แรงม้า PS) แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร (27.5 กก.-ม.) และแบ็ตเตอรี
แบบ Mi-Mh (Nickle Metal Hydride) แรงดันไฟฟ้า 244.8 Volt ความจุไฟฟ้า
6.5 Amp/ชั่วโมง

เมื่อรวม 2 ระบบเข้าด้วยกัน จะให้กำลังสูงสุด 145 กิโลวัตต์ หรือ 197 แรงม้า
เชื่อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ E-Four ทำงานด้วยไฟฟ้า ผ่านทาง
เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน ECVT

(รุ่นนี้ เรายังไม่ได้ทำการทดลอง เพราะ เวอร์ชันไทย จะยังไม่พร้อม
ทำตลาดจนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายน 2015 เพราะต้องรอรถจากญี่ปุ่น)

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_03_2500

ส่วน Vellfire เวอร์ชันไทย จะมีขุมพลังให้เลือกเพียงแบบเดียว นั่นคือรหัส
2AR-FSE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,494 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
90.0 x 98.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.4 : 1 หัวฉีด EFI จาก Camry 2.5 ลิตร

กำลังสูงสุด 180 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 235 นิวตันเมตร
(23.9 กก.-ม.) ที่ 4,100 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 และรองรับกับ
น้ำมันได้มากถึง 3 ประเภท คือ เบนซิน 95 กับ แก็สโซฮออล์ 95 E10 และ E20!

(เวอร์ชันญี่ปุ่น ที่นำเข้าโดยเกรย์ ไม่ได้ปรับปรุงให้รองรับกับน้ำมันเชื้อเพลิง
และมาตรฐานไอเสีย ในบ้านเรา ทำให้แรงม้ายังคงอยู่ที่ 182 PS ที่รอบเครื่อ
งยนต์ เท่ากัน แรงบิด ก็เท่ากัน เหมือนกันเป๊ะ)

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_04_6AT

Alphard V6 3.5 ลิตร ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Super ECT
พร้อมโหมด บวก/ลบ บนคันเกียร์ เพื่อให้ผู้ขับขี่ เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เอง

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1    3.300
เกียร์ 2    1.900
เกียร์ 3    1.420
เกียร์ 4    1.000
เกียร์ 5    0.713
เกียร์ 6    0.608
เกียร์ถอยหลัง  4.148
อัตราทดเฟืองท้าย  3.935

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_05_CVT

ส่วน Vellfire 4 สูบ 2.5 ลิตร จะหันไปใช้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน
CVT ล็อกตำแหน่ง พูเลย์ ได้ 7 จังหวะ พร้อมโหมด บวก/ลบ บนคันเกียร์

อัตราทดเกียร์ CVT  0.390 – 2.517
เกียร์ถอยหลัง  1.752
อัตราทดเฟืองท้าย  5.791

ส่วนระบบเบรกมือ เปลี่ยนจากแบบกลไกแป้นเหยียบด้วยเท้าซ้าย มาเป็น
สวิตช์ไฟฟ้า เหมือนเช่นบรรดา Lexus รุ่นใหญ่ทั้งหลายนั่นละครับ

การใช้งาน เหมือนเบรกมือไฟฟ้าในรถยนต์ Premium ทั่วไป คือ ถ้าจะดึง
เบรกมือ เอานิ้วเกี่ยวสวิตช์ไฟฟ้า ที่บริเวณด้านข้างคันเกียร์ จนไฟแสดง
การทำงานสีแดง ติดขึ้นบนมาตรวัด ถ้าจะปลดเบรกมือออก ต้องเหยียบ
แป้นเบรก แล้วกดสวิตช์เดิมลงไป

นอกจากนี้ยังมี สวิตช์ Hold สำหรับการขับขี่ในเมือง ถ้าจอดติดไฟแดง
อยากเข้าเกียร์ค้างไว้ที่ D แต่ขี้เกียจเหยียบเบรก เมื่อติดเครื่องยนต์แล้ว
ให้เหยียบเบรก แล้วกดสวิตช์ Hold 1 ครั้ง จนไฟสัญญาณของระบบ
สีเขียวสว่างขึ้นบนมาตรวัด เมื่อจอดติดไฟแดง แค่เหยียบเบรกให้สุด
จนรถหยุดนิ่ง แล้วถอนเท้าจากแป้นเบรกได้เลย ระบบจะล็อกล้อหลัง
ไว้ให้ ถ้าไฟเขียว ก็เหยียบคันเร่ง ส่งรถพุ่งออกไปได้เลย แต่ ถ้าคุณมี
ลูกหลานใครสักคนเกิดซน ดึงสวิตช์เบรกมือขึ้นไป รถก็จะค่อยๆชะลอ
ความเร็วลงมาให้ แบบเบรกมือปกตินั่นละ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากรู้กันใช่ไหมครับว่า สมรรถนะจะเป็นอย่างไร?

เราจึงทำการทดลองขับเวลากันในตอนกลางคืนตาม มาตรฐานดั้งเดิม
นั่นคือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (น้ำหนักตัว ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสักขีพยาน
ไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม เปิดไฟหน้า ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับ
คู่แข่งคันอื่นๆ มีดังนี้

vellfire_alphard01

ผลการจับเวลา แสดงให้เห็นว่า อัตราเร่ง ของ Alphard V6 3.5 ลิตร จัดว่า
โหดสุดในบรรดารถตู้พิกัดเดียวกัน ต่อให้เอา Hyundai H-1 หรือบรรดา
รถตู้จากยุโรป พวก Mercedes-Benz Vito มาเทียบ ก็ไม่มีทางแรงเท่า
สำหรับบรรดารถกระบะบ้าพลังดันรางทั้งหลาย อย่าคิดจะไปดันท้าย
จี้ตูด แข่งกับ Alphard V6 เด็ดขาด ถ้าคุณเข้าไปใกล้ท้ายรถตู้รุ่นนี้แล้ว
เห็นรหัส V6 แปะอยู่บนฝาท้าย กรุณาถอยห่างออกมาได้เลย อย่าให้
พี่เค้ากดคันเร่งจมมิดเชียวละ!

ส่วนรุ่น Vellfire 2.4 ลิตร แม้ว่า อัตราเร่งจะด้อยกว่า Honda Odyssey ใหม่
อย่างชัดเจนในโหมด 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (โดน Honda ทิ้งห่างกันถึง
1.5 วินาที) แต่ในโหมด เร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวเลขที่โดน
ทิ้งห่างกันราวๆ 0.8 วินาที กลับไม่มากมายอย่างที่คิด

ช่วยไม่ได้ครับ งานนี้ นอกจากเครื่องยนต์แลัว อากาศพลศาสตร์ยังมีส่วน
อีกมาก รูปทรงของ Odyssey ลู่ลมกว่า Vellfire เห็นๆ แบบไม่ต้องสืบ
ดังนั้น ต้องยกประโยชน์ให้คู่แข่งเขาไป ในเกมส์จับเวลา

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น การไต่ขึ้นไป ใช้เวลาน้อยกว่าที่คาดไว้มาก แม้ว่า
Alphard V6 อาจต้องลุ้นกันนิดหน่อย หลังพ้น 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ
Vellfire 2.4 ลิตร เองก็อาจต้องใช้เวลาหลังจาก 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง กัน
พอประมาณ แต่การไต่ขึ้น Top Speed ของทั้งคู่ ก็ไม่ได้ยาวนานเกินคิด

ขอย้ำกันเหมือนเช่นเคยว่า เรายังคง มีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนให้ใครก็ตาม
ที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ไปทดลองหาความเร็วสูงสุดกันเอาเอง เพราะอาจ
ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตตนเอง และเพื่อนร่วมทาง ซึ่งการขับรถที่เร็วจน
เกินกฎหมายกำหนด ก็ถือเป็นความผิดทางกฎหมายจราจรอีกด้วย

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_06_Top_Speed

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งของขุมพลัง V6 3.5 ลิตร มีบุคลิกการตอบสนอง
ที่ไม่ต่างไปจาก เครื่องยนต์รหัสเดียวกัน แต่วางลงใน Toyota Camry V6
(ขับเคลื่อนล้อหน้า) รุ่นก่อน และ Lexus GS350 (ขับเคลื่อนล้อหลัง) เลย

ไม่ว่าจะดูแค่ตัวเลข หรือลองขับจริง ใครที่ติดว่ามันแรง ผมก็ไม่เถียงครับ
ว่ามันแรงจริง แรงที่สุดในบรรดารถตู้ ซึ่งทำตลาดในเมืองไทยตอนนี้ รับรู้
ได้ทั้งจากแรงดึงในจังหวะกดคันเร่งเต็มมิดตีนช่วงออกตัว

หากคุณใช้งานในเมืองเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งจมมิดหรอก
แค่แตะเบาๆ หรือเดินคันเร่งเพิ่มขึ้นนิดเดียว แรงบิดมหาศาล ก็พร้อมจะ
ทำงานรับใช้คุณอย่างเหลือเฟือ

แต่พอเหยียบคันเร่งเต็มมิดเท่านั้นแหละ เสียงอันหวานนุ่มจากขุมพลัง
V6 ก็จะแผดคำรามขึ้นมาจนสัมผัสได้ถึงความน่าเกรงขาม เปี่ยมพลัง
พาคุณพุ่งทะยานไปด้วยแรงดึงและความเร็วในระดับเดียวกันกับที่คุณ
จะสัมผัสได้จาก Camry Hybrid

แถมเสียงเครื่องยนต์ในช่วงรอบสูงๆ ยังหวานไพเราะ ชวนให้สงสัยว่า
ตกลงนี่กูขับรถตู้อยู่ใช่ไหมฟะ? เสียงนี่อย่างกับรถสปอร์ตขุมพลัง V6
เลยเว้ยเฮ้ย!

เอ๋า แหงสิ ก็เครื่องยนต์บล็อกนี้ วางกันตั้งแต่ รถเก๋ง ยันรถสปอร์ต แม้แต่
รถตู้อย่าง Alphard ยังได้ผลบุญ รับมาวางใต้ฝากระโปรงหน้ากับเขาด้วย!

เรี่ยวแรงที่มีมาให้ เกินพอ จะเร่งแซงใครต่อใคร ทำตัวเป็นรถตู้บ้าพลัง
ก็เร่งได้ทันอกทันใจ สนุกกับการเรียกอัตราเร่งได้ดี เพียงแต่ว่าในช่วง
รอบต่ำกว่า 2,000 รอบ/นาที ถ้าคุณแตะคันเร่งธรรมดาๆ ไม่ได้เหยียบ
ตะพืดตะพือ รถมันก็เคลื่อนตัวไปอย่างเรื่อยๆ กรีดกรายไปตามสภาพ
การจราจนติดขัดอย่างไม่กระโชกโฮกฮาก

แต่ถ้าใครบอกว่า แค่นี้หนะเหรอ แรง? ไม่เห็นมันจะแรงตรงไหน ผมคง
ต้องขอเรียนเชิญคุณพี่ท่านนั้น ลงจาก Alphard V6 แล้วขึ้นไปขับ Ferrari
หรือ Lamborghini เองเถอะ (วะ) ชีวิตคุณพี่คงไม่เหมาะจะใช้รถตู้แล้วละ

ส่วนการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ถือว่า ยังคงทำได้ดี ไม่มีอะไร
ให้ต้องปรับปรุงแก้ไข การเปลี่ยนแปลง ยังคงนุ่มนวล แต่ถ้ากระทืบคันเร่ง
เมื่อใด ก็จะยังพอสัมผัสได้นิดๆ จางๆ ว่า เกียร์กำลังเปลี่ยนตำแหน่งให้อยู่
อาการเกิดขึ้นน้อยมากๆ จนคุณต้องตั้งใจสังเกตอย่างจริงจัง ถ้าขับแบบ
คนทั่วไป คุณจะไม่รู้หรอกครับ มันเนียนใช้ได้ดีแล้วละ

เห็นอัตราเร่งของ Alphard V6 3.5 ลิตร แล้ว กังวลใช่ไหมครับว่า Vellfire
4 สูบ 2.5 ลิตร จะอืด…

ถ้าคิดเช่นนั้น บอกเลยว่า เลิกกลัวไปเลย อย่าลืมสิครับว่า เครืองยนต์รุ่นนี้
มันเคยประจำการมาก่อนแล้วใน Camry 2.5 ลิตร รุ่นล่าสุด ยิ่งมาจับคู่กับ
เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT ด้วยแล้ว บอกได้เลยว่า แรงขึ้นชัดเจน

ในการใช้งานจริง อัตราเร่งของ Vellfire 2.5 ลิตร ทำได้ดีกว่าที่คิด แรงใช้ได้
ในระดับเพียงพอ พละกำลังที่มีมาให้ สามารถลากตัวรถซึ่งมีน้ำหนักราวๆ
2.6 ตัน ไต่ความร็วขึ้นไปได้อย่างทันอกทันใจ เกินความคาดหมายของผม
ไปพอสมควร

ช่วงคลานไปตามถนนในกรุงเทพฯ หากไม่เกิน 2,500 รอบ/นาที นิสัย
ก็ไม่แตกต่างจากขุมพลังของ Camry 2.5 ลิตร รุ่นปกติเลย

ยิ่งในจังหวะเร่งแซง จาก 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยแล้ว เพียงแค่เหยียบ
คันเร่งเพิ่มขึ้นตามใจต้องการ รถก็พร้อมจะพุ่งขึ้นไปข้างหน้าตามสั่ง
และถ้าต้องการอัตราเร่งอย่างฉับพลัน ไม่ต้องไปสนใจเกียร์ บวก ลบ
นั่นหรอกครับ เหยียบคันเร่งไปเลย เหยียบให้จมมิดติดพื้นรถ เท่านั้น
จาก 80 จะไต่ขึ้นไปยัง 140 หรือ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อย่างรวดเร็ว
จนคุณแทบไม่อยากจะเชื่อ

สารภาพเลย ผมไม่เห็นความจำเป็นที่คุณจะต้องเพิ่มงิน เพื่อขึ้นไปเล่น
Alphard V6 3.5 ลิตร ในเมื่อ ขุมพลัง 4 สูบ 2.5 ลิตร กับเกียร์ CVT มัน
ทำหน้าที่ออกมาได้ ดีขนาดนี้ ต่อให้หนักกัน 6-7 คน อัตราเร่งก็ยังทันใจ
เร่งแซงรถบรรทุกสิบล้อ ได้แบบไม่ต้องรอลุ้นให้เหนื่อยจิต

คันเร่งไฟฟ้า เบา ไวพอประมาณ คือใกล้เคียงกับ Camry ใหม่ ตอบสนอง
ในสไตล์ที่คล้ายกันอยู่ ส่วนการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ CVT แน่นอน
ว่าราบรื่น แถมยังมีบุคลิก ลากและตัดรอบเครื่อง ไปที่ 5,000 รอบ/นาที
แล้วไต่ขึ้นไปที่ 6,200 รอบ/นาที อีก เหมือนเช่น Corolla Altis ไม่มีผิด!

ผมละชอบชะมัด CVT ที่รู้งาน รู้ใจคนชอบขับรถแบบนี้!

การเก็บเสียง ในช่วงความเร็วต่ำ เงียบและชวนให้เกิดบรรยากาศสุนทรีย์
โดยละม่อม ให้คุณดื่มด่ำบรรยากาศโลกส่วนตัวได้อย่างดี อาจมีเสียงของ
ช่วงล่าง หรือมีเสียงของระบบเบรก ดังแต๊ก ตอนถอยรถเข้าจอดอยู่บ้าง

แต่ในช่วง หลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ยังทำได้ไม่ดีพอ มีเสียง
กระแสลม ไหลผ่าน บริเวณขอบประตูด้านบน ทั้งบานหน้า และบานข้าง
แต่เสียงลมจะปรากฎเยอะสุด บริเวณผู้โดยสารด้านหลัง และอาจต้องเร่ง
ระดับเสียงของเครื่องเสียงให้ดังขึ้น เพื่อกลบเสียงดังกล่าว

ฉะนั้น ถ้าต้องการความสุนทรีย์และการเก็บเสียงที่ดี ขอแนะนำว่า ควร
ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง นอกจากจะรื่นรมย์แล้ว
ยังไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และไม่โดนส่องยิงเรดาห์
ดักจับความเร็วด้วย ในบางพื้นที่

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_07_Jimmy_Drive

ด้านการตอบสนองของ พวงมาลัย ช่วงล่าง และระบบเบรก ไม่ว่าจะเป็นรุ่น
Alphard V6 3.5 ลิตร หรือ Vellfire 2.5 ลิตร บอกได้เลยครับว่า เหมือนกัน
ยืนยันสำเนาถูกต้อง ชนิดไม่ต้องสืบพยานเพิ่มเติมกันอีกต่อไป

ระบบบังคับเลี้ยว ยังคงเป็น พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมระบบ
ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวของทั้งรุ่น
Alphard V6 3.5 ลิตร และ Vellfire 2.5 ลิตร อยู่ที่ 5.8 เมตร แต่รุ่น Hybrid
ของ Alphard จะอยู่ที่ 5.6 เมตร

การเซ็ตพวงมาลัย คล้ายคลึง และใกล้เคียงกับ พี่ใหญ่อย่าง Toyota Crown
คือมีอัตราทดอยู่ในระดับปกติ ไม่ไวและไม่เนือยจนเกินไป เซ็ตมากลางๆ
แต่เป็นพวงมาลัยที่เอาใจนักขับระดับ สว. (สูงวัย) ที่ไม่ได้คิดจะไปซิ่งแข่ง
กับลูกหลานบ้านไหนเขาทั้งสิ้น จัดว่าเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ที่เซ็ต
ทั้งอัตราทด และการตอบสนอง ได้ใกล้เคียงกับพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน
พร้อมเพาเวอร์แบบไฮโดรลิก ของ บรรดา Toyota รุ่นแพงๆ ในช่วง 10 ปี
ที่ผ่านมา

น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ ถึงจะอยู่ในเกณฑ์เบา ในภาพรวม
แต่เมื่อสัมผัสกันอย่างจริงจัง จะพบว่า ยังพอหลงเหลือความหนืดนิดๆ
ไม่ถึงกับเบาหวิว แบบรถเก๋งญี่ปุ่นระดับ C-Segment พวก Corolla Altis
รุ่นปี 2008 จึงยังพอสร้างความมั่นใจว่า คุณกำลังควบคุมรถตู้คันใหญ่ ได้
อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไป ในระหว่างเลี้ยวตามตรอกซอกซอย หรือการ
ถอยหลังเข้าจอด แม้จะใช้มือเดียวหมุนพวงมาลัยได้ก็ตาม น้ำหนักของ
พวงมาลัยช่วงความเร็วต่ำ คล้ายว่าจะหนืดกว่า Odyssey แค่นิดเดียวจริงๆ
เหมาะสมกับขนาดของตัวรถแล้ว ไม่ต้องปรับแก้

แต่ในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูง ถึงแม้ว่า On-Center Feeling
อยู่ในเกณฑ์ดี ตามมาตรฐานของ บรรดารถเก๋ง Toyota รุ่นใหญ่ๆ ทั้งหลาย
และอันที่จริง ดูเหมือนว่าแทบไม่ต้องแก้ไขอะไร กระนั้น ถ้าจะเพิ่มความ
หนืด หรือเพิ่มน้ำหนักของพวงมาลัย ในช่วงหลังจาก 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อีกสักนิดหน่อย น่าจะยิ่งเพิ่มความมั่นใจของคนขับได้ดีขึ้นยิ่งกว่านี้อีก
เพราะบางครั้ง การหักหลบบรรดา มอเตอร์ไซค์ ตัดหน้า หากเห็นแต่ไกล
และหักเลี้ยวพวงมาลัยลดลงจากเดิมเพียงนิดหน่อย ก็น่าจะช่วยลดปัญหา
เสียการทรงตัวอันนำไปสู่การพลิกคว่ำ ลงได้ เยอะ

ถ้ากลัวว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ชอบ ในรุ่นต่อไป ก็เพิ่มพวงมาลัยแบบเลือก
ปรับระดับน้ำหนักของพวงมาลัยมาให้สัก 2 หรือ 3 แบบ ก็เป็นอีกช่องทาง
ในการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าเสียเงินเพิ่มได้

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_08_Rear_Suspension

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการหนึ่งของ Alphard และ Vellfire อยู่ที่
ระบบกันสะเทือน ถึงแม้ว่าด้านหน้าจะยังคงเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต
พร้อมเหล็กกันโคลง แต่สำหรับด้านหลัง ถูกเปลี่ยนจากแบบคานบิด หรือ
Torsion Beam มาเป็นแบบ ปีกนกคู่ Double Wishbone

ในช่วงความเร็วต่ำ หากคุณถวิลหาความนุ่มนวลดุจแพรไหม ช่วงล่างของ
ทั้ง Alphard และ Velfire น่าจะโดนใจคุณอย่างมาก เพราะมีระยะยุบตัว
ของช็อกอัพค่อนข้างเยอะ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รับรู้ได้ถึงความ นิ่ม
สบาย สำหรับการเดินทาง ในเมือง รับประกันว่า ท่านเจ้าสัวไม่มีปริปากบ่น!

กระนั้น หากเจอหลมตื้นๆ หรือฝาท่อ ตามตรอกซอกซอย ต่างๆ ช่วงล่าง
ของทั้งคู่จะยังพอมีอาการตึงตัวเล็กๆโผล่ขึ้นมาใหได้รับรู้ ตามประสารถตู้
จากญี่ปุ่น ซึ่งไม่เน้นทำช่วงล่างให้หนึบแน่นแบบรถยุโรป จุดนี้ อาม่าของ
ท่านเจ้าสัว อาจบ่นพึมพำเป็นภาษาจีน ก็เป็นได้

แต่ในการขับขี่ช่วงความเร็วสูง บอกได้เลยว่า หากเกินกว่า 130 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ขึ้นไป หน้ารถจะลอยขึ้น และเริ่มไม่ค่อยให้ความมั่นใจในการบังคับ
ควบคุมแล้ว หากตัวรถยังคงพุ่งไปข้างหน้า โดยไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้าง
ตัวรถยังพอรับมือไหว แต่ถ้าต้องขึ้นทางยกระดับบูรพาวิถี ในยามบ่าย 3 โมง
วันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง และมีกระแสลมพอสมควร ผมว่า ลดความเร็วลงมา
เหลือแถวๆ 100 – 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะให้ความปลอดภัย สบายใจและ
เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ตัวรถถูกออกแบบมาให้ใช้งานมากกว่า

ถ้าคุณถือพวงมาลัยนิ่งๆ รถก็ยังคงวิ่งพุ่งตรงไปด้วยอาการนิ่งพอสังเขป
ยังไม่ถึงกับนิ่งแน่นอย่างมั่นใจ จนปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ถึงระดับที่
Hyundai H-1 เป็น แต่ ก็ถือว่า ทำได้ดีกว่าที่เราคาดหวังไว้

สำหรับการเข้าโค้งขวารูปเคียว บนทางด่วนเฉลิมมหานคร เหนือย่าน
มักกะสัน ต่อเนื่องไปยังโค้งซ้ายหนักๆ ที่เชื่อมเข้ากับทางด่วนขั้นที่ 1
ขอแนะนำว่า ด้วยช่วงล่างแนวนิ่มๆ ติดย้วยหน่อยๆ พร้อมยางเดิมๆ
จากโรงงาน ควรใช้ความเร็วในโค้ง ไม่เกิน 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เพราะ ณ ความเร็วระดับนั้น ตัวรถจะเริ่มออกอาการเอียงมากขึ้น
จนคุณอาจแอบหวาดเสียวนิดๆ ทั้งที่จริงๆแล้ว มันยังไปต่อได้อีก
แค่เพียงนิดหน่อย

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก พร้อมรูระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ
มาพร้อมตัวช่วย พื้นฐาน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock
Brake System) ระบบช่วยกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD
(Electronic Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะ
ฉุกเฉิน Brake Assist ทำงานร่วมกับ ระบบควบคุมการทรงตัวและ
ป้องกันการลื่นไถล VSC (Vehicle Stavbility Control) และ TRC
(Traction Control) รวมทั้งระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC
(Hill-Start Assist Control)

แป้นเบรก นุ่มนวลมากๆ ระยะเหยียบ ยาวกำลังดี ไม่สั้น ไม่ลึกจน
เกินไป Feeling ของแป้นเบรก ถือว่า ทำได้ดีกว่า Odyssey นิดหน่อย

ระยะทางในการหยุดรถ ตั้งแต่เริ่มเหยียบเบรก จนถึงหยุดสนิทนิ่ง
ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากเหยียบแบบละลอความเร็วรถ
ลงมาตามปกติทั่วๆไป หายห่วง และไว้ใจได้ แม้ระยะทางอาจเพิ่ม
มากขึ้นจากรถเก๋ง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของรถตู้แบบนี้อยู่แล้ว

แต่ถ้ามีเหตุให้ต้องเหยียบเบรกต่อเนื่อง แล้วถอน ก่อนจะเร่งความเร็ว
แล้วก็เบรกอีกครั้ง บอกเลยว่า ผ้าเบรกอาจเริ่มส่งกลิ่นเหม็นไหม้ขึ้นมา
ให้ฉุนจมูกเล่นได้บ้างเหมือนกัน ทั้งที่รถก็แล่นไปแล้ว 2,200 กิโลเมตร

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Engine_09_Body_Structure

ด้านโครงสร้างตัวถัง มีการปรับปรุงจากรถรุ่นเดิมในหลายๆจุด ทั้งการ
เพิ่มคานเชื่อมยึดตัวถังตามตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มักมีการ
บิดตัวสูง เสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างตัวถังรถ ด้วยเหล็กแบบ
Ultra High Tensile ที่รองรับแรงกระแทกได้ตั้งแต่ 440, 590 ไปจนถึง
980 เมกะปาสคาล ตามจุดต่างๆ อาทิ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสา
หลังคาคู่กลาง B-Pillar เฟรมหลักพื้นใต้ท้องรถ คานเชื่อมเฟรมหลักใต้
ท้องรถ ฯลฯ

ด้านความปลอดภัย Alphard และ Vellfire เวอร์ชั่นไทยทุกรุ่น ติดตั้งถุงลม
นิรภัยมาให้ รวมแล้วมากถึง 7 ใบ 9 ตำแหน่ง มีทั้งถุงลมนิรถัยคู่หน้า พร้อม
เซ็นเซอร์ตรวจจับคนนั่งบนเบาะหน้าฝั่งซ้าย ถุงลมนิรภัยหัวเข้าฝั่งคนขับ
ถุงลมนิรภัยด้านข้างเบาะคู่หน้า  และม่านถุงลมนิรภัยทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้
ทุกที่นั่งยังติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบ Pretentioner
and Load Limiter ดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติมาให้ ทั้งเบาะคู่หน้าและ
คู่กลาง

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Fuel_Consumption_01

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในอดีตที่ผ่านมา เวลาที่ใครมาถามถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถตู้ไฮโซ
แบบนี้ ผมมักไม่อาจหาคำตอบมาให้คุณผู้อ่านได้อย่างตรงเผง เพราะไม่เคย
มีโอกาสได้ทดลองรถตู้เหล่านี้เลย

แต่ในคราวนี้ การได้รับรถตู้ทั้ง 2 คัน 2 ขุมพลัง มาใช้ชีวิตด้วยกันนานกว่าปกติ
ทำให้เราได้ทดลองกันในทุกรูปแบบตามมาตรฐานของ Headlightmag.com
ไม่เว้นแม้กระทั่งการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อีกด้วย

เราจะได้รู้กันเสียทีว่า อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย ของรถตู้ประเภทนี้ ในยุคนี้ ควรจะ
อยู่ที่ช่วงใด

เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน
เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับ
สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ถึงแม้จะมีคนอยากรู้ถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ลูกค้าที่ซื้อรถตู้แบบนี้ มัก
ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจเติมน้ำมัน แค่ให้หัวจ่าย
ตัดการทำงาน ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถ อย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า
2,000 ซีซี และรถกระบะ ให้ปวดเมื่อยไปทั้งตัว

สักขีพยานและผู้ช่วยทดลอง ยังเป็นคนเดิม น้อง Joke V10ThLnD จากกลุ่ม
The Coup Team ของเรานั่นเอง น้ำหนักตัว 65 กิโลกรัม

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Fuel_Consumption_02

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถังขนาด 75 ลิตร (ส่วนรุ่น Alphard Hybrid จะอยู่ที่
65 ลิตร)  เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ เซ็ต Trip Meter : 0
ออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ โผล่
ออกปากซอย โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 เพื่อเลี้ยวขวาขึ้น
ทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน
ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง
ด้วยมาตรฐานเดิมคือใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
คราวนี้ เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control เพื่อรักษาความเร็ว ให้
นิ่งยิ่งขึ้น

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Fuel_Consumption_03

เมื่อถึง ทางลง จากทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เอาแค่เพียง
ให้หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Fuel_Consumption_04

มาดูผลลัพธ์กันดีกว่า เริ่มจาก Alphard V6 3.5 ลิตร

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 เติมกลับ 8.87 ลิตร
คำนวณแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 10.45 กิโลเมตร/ลิตร

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_Fuel_Consumption_05

ส่วน Vellfire 2.5 ลิตร CVT นั้น

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 เติมกลับ 7.57 ลิตร
คำนวณแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 12.27 กิโลเมตร/ลิตร

vellfire_alphard02

จากตารางดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอัตราสิ้นเปลืองของ Vellfire อาจจะด้อยกว่า
Odyssey ประมาณ 0.4 กินโลเมตร/ลิตร แต่ก็ไม่ถือว่าน่าเกลียด เพราะเราต้อง
ไม่ลืมว่าตัวถังของ Vellfire สูงและต้านลมกว่า Odyssey อย่างชัดเจน หากเป็น
เครื่องยนต์ลูกเดียวกัน แต่ใสใน Toyota Camry เชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6
จังหวะ ตัวเลขจากการทดลองด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่ากัน จะ
อยู่ที่ประมาณ 14 กิโลเมตร/ลิตร ปลายๆ

ขณะเดียวกัน Alphard V6 3.5 ลิตร ถือว่าทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่าที่คาดไว้
เล็กน้อย ทำใจหน่อยนะครับ เครื่องใหญ่โต บวกน้ำหนักตัว 2.6 ตัน ได้แค่นี้
ก็บุญแล้ว

เอาน่า! ประหยัดกว่า Mitsubishi Space Wagon ในการทดสอบมาตรฐานเดียว
กัน (9.7 กิโลเมตร/ลิตร) ก็แล้วกัน

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?

ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้ขุมพลังใดก็ตาม น้ำมัน 1 ถัง จะพาให้ทั้งคู่แล่นไปได้ไกล
ประมาณ 480 – 550 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับว่า สารถีของคุณจะตีนหนักหรือเบา
มากน้อยเพียงใด

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_07

********** สรุป **********
The next Generation of Limousine แค่ Vellfire ก็พอ
แต่ขอทางเลือกภายในสีเบจได้ไหม?

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา การเลือกใช้รถตู้เป็นรถโดยสารส่วนตัวสำหรับผู้บริหาร
หรือครอบครัวใหญ่ ซึ่งมองหารถคันที่ 2 ในบ้านมาใช้งาน เริ่มแพร่หลายมากขึ้น
ด้วยอรรถประโยชน์หลายอย่างของรถตู้ระดับหรูยุคใหม่ ซึ่งโดดเด่นกว่าแต่ก่อน

ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งแขกเหรื่อญาติผู้ใหญ่ หรือการดัดแปลงให้กลายเป็น Office
เคลื่อนที่ในยามจำเป็น แม้กระทั่งการเปลี่ยนเสื้อผ้าจากชุดทำงานเป็นชุดเล่นกีฬา
ช่วง 5 โมงเย็น และเปลี่ยนชุดกีฬามอมแมม ให้ทันไปเข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์
ตอน 1 ทุ่มตรง ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยขนาดและความจุของห้องโดยสารของรถตู้ประเภทนี้ ยัง
เอื้ออำนวยต่อการพาสมาชิกในครอบครัว ออกเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ยัง
สถานที่ห่างไกล ได้แทบจะครบทั้งบ้าน แถมยังมีพื้นที่มากพอจะบรรจุกระเป๋า
เดินทางของสมาชิกครบทุกคนเอาไว้ โดยไม่ต้องโยนกระเป๋าของใครทิ้งก่อน
ออกจากบ้าน

ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติเด่นของรถตู้ระดับหรูขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ว่ายังไงรถเก๋ง
Sedan หรือ Saloon ระดับหรูทั่วไป ตอบสนองได้ไม่ครบถ้วนเท่า และนั่นเป็น
สาเหตุที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ เริ่มหันมาใช้รถตู้ประเภท
นี้ แทนที่ Mercedes Benz S-Class, BMW 7-Series, Audi A8, Lexus LS,
หรือแม้แต่ Toyota Crown กันมากขึ้น

Trend ดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเริ่มแพร่หลาย
มาถึงประเทศทรงอิทธิพลทางเศรฐกิจในแถบเอเชีย ทั้งจีน ฮ่องกง สิงคโปร์
รวมทั้งเมืองไทยของเราด้วย

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_08

ในฐานะผู้ริเริ่มตลาดกลุ่มนี้มาตั้งแต่ยุดกลางทศวรรต 1980 ผมต้องยอมรับใน
วิสัยทัศน์ของ Toyota ที่เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพการเติบโตของตลาดรถตู้
โดยสารระดับหรูอย่างจริงจังมาโดยตลอด แม้จะมีบางช่วงที่พวกเขาจะดูสับสน
ไปบ้าง จากการขยายสายพันธุ์ตระกูล Hiace/ Granvia อย่างบ้าคลั่งมากเกิน
เหตุเมื่อช่วงปลายทศวรรต 1990 อย่างต่อเนื่อง แต่ Toyota ก็รู้ตัวและกลับลำ
เพื่อตั้งหลักใหม่ได้ทันในช่วงต้นทศวรรต 2000 ด้วยการเปิดตัว Alphard
ในปี 2002

นับแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงวันนี้ ผ่านไปแล้ว 3 เจนเนอเรชั่น ทั้ง Alphard และ
Vellfire ยังคงรักษาคุณค่าดั้งเดิมในการเป็นรถตู้ระดับหรูที่ให้ความสบายใน
ทุกการเดินทาง พร้อมความอเนกประสงค์จากพื้นที่ห้องโดยสารขนาดใหญ่
และช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่ผู้เป็นเจ้าของได้อย่างดี

วันนี้ Alphard และ Vellfire ใหม่ ถูกเพิ่มคุณค่าเข้าไปจากเดิม ให้น่าใช้ยิ่งขึ้น
ด้วยเบาะนั่งแถวกลางที่มีให้เลือกแตกต่างกัน ตามแต่ละรุ่นย่อย ซึ่งให้ความ
สบายใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบาะนั่งแบบ Executive Lounge ในรุ่น
Alphard V6 3.5 ลิตร ซึ่งผมถือว่านั่งสบายที่สุด เมื่อเทียบกับ รถตู้ทุกรุ่นที่ทำ
ตลาดในเมืองไทยตอนนี้  อีกทั้ง Option ที่ Toyota Motor Thailand จัดมา
ให้กับทุกรุ่น ก็ไม่ได้แย่จนน่าเกลียด หนำซ้ำยังถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ใครที่อ่านบทความนี้แล้วเกิดอาการคันคะเยอ อยากวิ่งไปซื้อ
Alphard หรือ Vellfire มานอนเล่นในโรงรถที่บ้าน ก็ควรจะทำความเข้าใจ
ไว้ก่อนว่า ถ้าคุณจะรับบทสารถีเสียเอง อาจต้องทำใจกับข้อด้อยบางประการ
อันเป็นบุคลิกพื้นฐานของรถตู้ตัวถังสูง ซึ่งเซ็ทมาเพื่อเน้นเอาใจผู้โดยสาร
มากกว่าจะเอาใจนักขับตีนผี

ถึงแม้อัตราเร่งของ Alphard V6 3.5 ลิตร จะดุเดือดพอกับ Camry V6 3.5
ลิตร รุ่นที่แล้วก็ตาม (ก็แหงละ ก็มันเครื่องเดียวกันแค่ต่างเวอร์ชั่นนี่หว่า)
แต่บุคลิกการขับขี่ก็ยังคงเป็นเหมือนยักษ์ตัวใหญ่ นิสัยนุ่มเงียบ แต่พร้อมจะ
โชว์ความบ้าพลัง เพื่อทิ้งแสงไฟหน้ารถทุกคันที่ตามหลัง ให้กลายเป็นเพียง
แสงหิ่งห้อยในกระจกมองหลัง

ขณะที่อัตราเร่งของ Vellfire ในการใช้งานจริงก็พุ่งปรู๊ด เกินกว่าตัวเลขที่
เห็นจากผลจับเวลาไปนิดหน่อย แม้จะด้อยกว่า Honda Odyssey แต่นั่นก็
ไม่ใช่ปัญหา พละกำลังที่มี เหลือเฟือเกินพอให้คุณรีบพาเจ้าตัวเล็ก ไปเข้า
ห้อง ICU ที่โรงพยาบาลตอนตี 2 ได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม คุณคงต้องทำใจกับช่วงล่างที่มาในแนวนุ่มแอบย้วย ตาม
สไตล์รถตู้ที่เน้นความสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก พวงมาลัยที่มีน้ำหนัก
กำลังดีในช่วงความเร็วต่ำ เหมาะกับรถประเภทนี้ แต่เบาไปนิดนึงในช่วง
ความเร็วสูง ส่วนระบบเบรค อยู่ในเกณฑ์ไว้ใจได้ ถ้าคุณไม่ไปเล่นบทบู๊
ไล่ฟัดชาวบ้านเขาจนต้องกระทืบเบรคบ่อยๆ

อีกสิ่งที่อยากจะเห็นการปรับปรุงคือ การปรับแต่งชุดเครื่องเสียง 17 ลำโพง
จาก JBL ให้สามารถเลือกปรับทิศทางของเสียงได้หลากหลายกว่าที่
เป็นอยู่ ซึ่งนั่นจะช่วยดึงศักยภาพของฝูงลำโพงทั้ง 17 ชิ้น ออกมาได้ดีกว่านี้

นอกนั้นเรื่องปลีกย่อยที่ควรปรับปรุง มีทั้งเบาะนั่งแถว 3 ที่ยังนั่งไม่สบาย
เท่า Honda Odyssey ตำแหน่งของฝาปิดแผงควบคุมของเบาะนั่งแถวกลาง
ที่หาทางออกแบบให้ใช้งานได้สะดวกสบายกว่านี้ หรือถ้าคิดไม่ออกจริงๆ
ผมลองแนะนำว่าให้ทำเป็นแบบฝาเลื่อนเปิด-ปิดดูไหมล่ะ? รวมทั้งโต๊ะเซ็น
เช็คแบบพับเก็บได้ ซึ่งมีขนาดเล็กไป แถมยังเลื่อนออกไปมากไม่ได้จนติด
พุงเจ้าสัว ทั้งพุงผมและพุงคุณแพนนั่นแหละ

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเห็นจากทีมออกแบบของ Toyota ก็คือ ช่วยเปลี่ยน
งานออกแบบลายกระจังหน้าเฉพาะของ Alphard และชุดไฟท้ายของทั้ง 2
รุ่น ให้ลดบุคลิกหน้าตาที่ดูเหมือนเป็นคนกร่างๆ และพร้อมจะเขมือบโลก
ได้ทุกเมื่อ ให้ดู”อลังการแบบสุขุม” กว่านี้อีกซักหน่อย

นอกนั้นขอสารภาพเลยว่า ไม่รู้จะขุดหาข้อปรับปรุงอื่นใดอีกแล้ว

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_09

แล้วถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดล่ะ?

ในญี่ปุ่น Alphard กับ Vellfire มีคู่แข่งหลักๆ 3 ราย คือ Nissan Elgrand
Honda Odyssey และ Mitsubishi Delica D:5 ทุกรุ่นล้วนมีข้อดี ข้อด้อย
แตกต่างกันไป

แต่พอมาถึงเมืองไทย ด้วยโครงสร้างภาษี และนโยบายการทำตลาดของ
ผู้ผลิตทั้ง 4 รายที่แตกต่างกันมาก ทำให้ตลาดกลุ่มรถตู้โดยสารขนาดกลาง
และใหญ่ ในบ้านเรา เหลือผู้เล่นไม่มากนัก แถมยังมีราคา และอุปกรณ์
ประจำรถ แตกต่างกันไปอีกมาก จนยากต่อการเปรียบเทียบกันตรงๆ

ทำให้คู่แข่งหลักๆของ Alphard และ Vellfire มีน้อยมากจนนับได้ด้วย
นิ้วมือเพียงข้างเดียว

ลูกค้าที่ซื้อรถตู้ประเภทนี้ จะมีบางคนที่มองหาความคุ้มค่า คุ้มราคาจาก
Hyundai H1/ Grand Starex ซึ่งมีขนาดตัวรถที่ใหญ่โตพอกันกับ Alphard
และ Vellfire แต่มีเบาะนั่งแถวกลางทำในบ้านเรา พอจะพึ่งพาได้ ขุมพลัง
Diesel 2.5 ลิตร CRDi 175 แรงม้า ด้วยค่าตัวเพียง 1,978,000 บาท เท่านั้น
แต่ก้มีบางคนที่มองข้าม Hyundai ไป เพราะกังวลเรื่องช่วงล่างหลัง ที่มัก
เข้าใจกันว่ามันเด้ง และขนาดตัวถังที่ใหญ่เกินความต้องการ

Honda Odyssey ใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่หลายคนมองข้าม ทั้งที่ในญี่ปุ่น
Odyssey ถูกวางตัวให้เป็นคู่แข่งกับ Vellfire 2.5 ลิตร อัตราเร่งก็ทำได้ดีกว่า
แต่การกินน้ำมันแทบไม่ต่างกัน บุคลิกการขับขี่ก็คล่องตัวใกล้เคียงรถเก๋ง
มากกว่า แถมภายในยังสามารถเดินทะลุถึงกันได้ อีกทั้งเบาะนั่งแถวกลาง
ก็ยังปรับเลื่อนใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ และนั่งสบายไม่แพ้กันเลย
แต่มีค่าตัวที่ถูกกว่า Vellfire 2.5 ลิตร เพียง 2,750,000 ในรุ่น E และ
2,950,000 ในรุ่น EL แต่น่าเสียดายที่หลายคนมองว่า มันไม่หรูเท่า
รถตู้ของ Toyota

Mercedes-Benz Vito 115 CDI Extra Long 11 ที่นั่ง (2,899,000 บาท)
และ Mercedes-Benz Viano 7 ที่นั่ง (4,119,000) ถึงแม้ค่ายรถยนต์ตรา
ดาว จะสร้างชื่อเสียงในด้านความสบายจากรถเก๋งของพวกเขา  แต่คุณ
อย่าได้คาดหวังความสบายแบบเดียวกันในรถตู้ทั้ง 2 รุ่นโดยเด็ดขาด
จากประสบการณ์ของผมบนรถตู้ Vito ที่ดัดแปลงเป็นรถผู้บริหาร จาก
กรุงเทพฯถึงบุรีรัมย์ บอกได้เลยว่า เด้งยิ่งกว่าลูกชิ้นปลาผสมบอแร็กซ์
และให้ความรู้สึก ที่ไม่ต่างจากการนั่งรถทัวร์ บขส.เลย (น้อง Pao
Dominic ผู้เคยนั่งรถตู้รุ่นเดียวกัน ไปยังสนามบุรีรัมย์มาแล้ว ยืนยัน
ให้อีกเสียง)

Volkswagen Caravelle 2.0 BiTDi Businessline (3,450,000 บาท)
ก็เป็นการนำเข้ารถตู้ส่งของ มาตกแต่งห้องโดยสารกันในเมืองไทย
อย่าแปลกใจที่ขายดีมาหลาย 10 ปี เพราะบรรดาลูกค้านักการเมือง
และ VIP ทั้งหลายต่างไว้ใจในสมรรถนะและภาพลักษณ์แบรนด์ยุโรป
ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มียอดขายรถรุ่นนี้มากที่สุด เป็นอันดับต้นๆ
ของโลก รองจากเยอรมนี ถึงกระนั้นถ้าคิดจะขับเองแก้เบื่อ ก็ต้องทำใจ
ว่าพนักพิงเบาะคนขับปรับเอนไม่ได้ เพราะมีคอกกั้น ไม่รู้ว่ารุ่นใหม่ๆ
เขาปรับแก้ตรงนี้ไปหรือยัง

ทีนี้ถ้ายืนยันว่าจะอุดหนุน Toyota รุ่นย่อยไหนที่คุ้มค่าน่าเล่น?

Toyota Vellfire 2.5 CVT………………………3,399,000 บาท
Toyota Alphard Hybrid………………………3,549,000 บาท (+ 150,000 บาท)
Toyota Alphard 3.5 Executive Lounge….4,649,000 บาท (+ 1,100,000 บาท)

กลุ่มลูกค้าของรถตู้ทั้ง 2 รุ่นนี้ แตกต่างกันชัดเจนตามหน้าตาและราคา
ของรถอยู่แล้ว

อันที่จริง ถ้ามองแค่ตัวรถเทียบกับราคา Vellfire 2.5 ลิตร ถือว่าเพียงพอ
กับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะ การตกแต่ง หรือแม้แต่ความสะสวก
สบายในการใช้งาน แทบจะไม่แพ้ Alphard เลย ครอบครัวใดที่ต้องการ
รถตู้เอาไว้ขนบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย หรือเสริมภาพลักษณ์ให้ดูภูมิฐาน
ขึ้น Vellfire 2.5 ลิตร เป็นคำตอบที่เหมาะสมและลงตัวมากๆ ถ้าคุณยอม
รับได้ กับภายในสีดำ เบาะแถวกลางที่ยังหรูไม่ถึงขั้น Executive Lounge
และชุดเครื่องเสียงมีหน้าตาดูบ้านๆไปหน่อย

อย่างไรก็ตามถ้าเจ้าสัวคนไหนรับไม่ได้จุดด้อยของ Vellfire และไม่สนใจ
เรื่องค่าน้ำมัน (เพราะกรูเบิกจากบริษัทตัวเองก็ได้) และยอมจ่ายส่วนต่าง
ที่มากถึง 1,250,000 บาท (ซึ่งนั่นก็เป็นงบซื้อรถประจำตำแหน่งของบริษัท
กรูอีกนั่นแหละ) ความสบายของเบาะ Executive Lounge ใน Alphard
V6 3.5 ลิตร ก็ดูจะสมฐานะกับคุณมากกว่า ยิ่งถ้าวันไหนเกิดรีบจัดและต้อง
ทำเวลาขึ้นมา ถึงขั้นกระโดดขึ้นขับเอง ผมเชื่อแน่ว่า Fortuner กับ Vigo
และ Revo บ้าพลังทั้งหลายไม่ได้แอ้มง่ายๆหรอก (ถ้ารถคันที่มาจี๊ตูดคุณ
ไม่ได้ดันรางมานะ)

ถ้าใช้ Alphard และ Vellfire รุ่นเก่าอยู่ ควรจะเปลี่ยนรุ่นใหม่เลยดีไหม?
แล้วถ้าจะเลือกซื้อระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ อย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน?

คำถามนี้ต้องแบ่งออกเป็น 3 กรณี

1. ถ้าคุณมีแผนจะเปลี่ยน Alphard หรือ Vellfire ของคุณ หลังจากใช้งานมา
แล้ว 3 – 4 ปี เพราะต้องการเอาไปลดหย่อนภาษี ด้วยการจดทะเบียนในนาม
บริษัทของคุณ โดยไม่สนใจว่าสภาพรถจะยังใหม่แค่ไหน หรือโทรมเพียงใด

ซื้อไปเลยครับ ไม่ต้องคิดมาก สั้นๆแค่นี้แหละ!

2. ถ้า Alphard หรือ Vellfire คันเก่าของคุณยังสภาพดีอยู่ เห็นรุ่นใหม่แล้ว
เกิดกิเลส แต่คุณจดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ในนามบริษัท

ขอแนะนำว่า อาจยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะความแตกต่างระหว่างรถรุ่น
ใหม่กับรถรุ่นเก่า ไม่ได้เยอะอย่างที่คิด ยิ่งถ้าใครที่ชอบเดินทะลุจากเบาะหน้า
ไปเบาะหลัง เพื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกระหว่างเดินทาง Alphard และ Vellfire
รุ่นเก่า ยังแอบตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีกว่า

3. ถ้าบ้านคุณไม่เคยมีรถตู้มาก่อน หรือมีก็เป็นยี่ห้ออื่น และคิดที่จะคบหา
Alphard หรือ Vellfire ซักคัน

ถ้าคุณสามารถหาซื้อรถรุ่นเก่าในสต๊อคได้ ก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่ดี
หากคุณต้องการประหยัดเงินในกระเป๋าและไม่คิดมากกับรถที่เพิ่งตกรุ่นไป
อย่างที่บอกแหละครับว่า ภายในห้องโดยสารของรถรุ่นเดิม ก็ไม่ได้แย่
เมื่อเทียบกับรุ่นล่าสุด

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_10

ท้ายสุด คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ จะซื้อจากใคร Toyota Thailand
หรือ Gray Market?

ผมไม่ปฎิเสธว่าพ่อค้ารายย่อยสามารถจัดหา Alphard และ Vellfire เวอร์ชั่น
ญี่ปุ่นแท้พร้อมสารพัด Option ที่แตกต่างกัน (ซึ่งนั้นก็รวมถึงระบบตัวช่วย
ด้านความปลอดภัยอย่าง Radar Cruise Control หรือระบบ Blind Spot
Monitoring ฯลฯ) ได้ในราคาตั้งแต่ 2,700,000 – 3,300,000 บาท และ
นั่นดูเหมือนจะเป็นทางเลือกสุดคุ้มของหลายๆคน

แต่มันคุ้มกันแน่จริงหรือ?

มันเป็นการยากที่คุณจะรู้แน่ชัดว่า รถที่พ่อค้ารายย่อยสั่งมาขายคุณนั้น
เขาหามาจากไหน ต่อให้รู้ว่ามาจากโชว์รูมใดในญี่ปุ่น คุณจะรู้ได้อย่างไร
ว่ามีการเสียภาษีนำเข้าถูกต้องทุกบาททุกสตางค์ ตามที่กรมศุลกากร
กำหนด ยิ่งถ้าเจอพ่อค้ารายเล็กๆที่อาจมีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่ยอม
ปล่อยชุดจดทะเบียนมาให้คุณ ก็อาจต้องทนใช้รถป้ายแดงกันไปไม่มี
กำหนด

ไม่เพียงเท่านั้น ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมากับรถเวอร์ชั่นญี่ปุ่น มีคลื่นวิทยุ
76 – 90 MHz ซึ่งรับฟังสถานีวิทยุในบ้านเราได้แค่คลื่น 87.5 – 90 MHz
เท่านั้น จะแก้ไขก็ลำบาก ถ้าถอดออกแล้วซื้อเครื่องเสียงชุดใหม่ เราก็ไม่รู้
ว่าร้านประดับยนต์จะต่อระบบไฟได้ครบเรียบร้อย และไม่เกิดปัญหากับ
การใช้งานของรถในระยะยาวหรือเปล่า

ยิ่งเรื่องบริการหลังการขาย ยิ่งน่าเป็นห่วง พ่อค้ารายย่อยหลายราย
พยายามสร้างความมั่นใจ ด้วยการตั้งศูนย์บริการ แต่เอาเข้าจริง ช่าง
ส่วนใหญ่ในนั้น อาจทำได้แค่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และเช็คตามระยะ
ให้เท่านั้น หากรถเกิดปัญหา Defect อะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ?
อย่าบอกนะว่าเป็นพ่อค้าเหล่านั้น?

ขณะเดียวกัน Alphard และ Vellfire เวอร์ชั่นไทย จะติดตั้งชุดเครื่องเสียง
และระบบนำทางของ Toyota Thailand มีแผนที่ประเทศไทยและรองรับ
ภาษาไทยมาให้ ขณะเดียวกันก็ยังมีโปรแกรม The Ultimate Experience
ซึ่งเป็นสารพัดสิทธิพิเศษและบริการต่างๆที่ Toyota จัดเตรียมเอาไว้ให้
ลูกค้าของทั้ง 2 รุ่นนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งตัวรถยังถูกปรับแต่งให้รองรับกับ
น้ำมันเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอลล์มาจากโรงงานที่ญี่ปุ่นโดยตรง ถ้ารถเกิด
ปัญหาก็จับส่งเข้าศูนย์บริการ Toyota กว่า 331 แห่งทั่วไทยได้เลย โดย
ไม่ต้องกังวงเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงรับประกันคุณภาพ 3 ปี/100,000
กิโลเมตร

โปรดระลึกไว้เสมอว่าถ้าคุณอยากได้ของถูก คุณก็ต้องแบกรับความเสี่ยง
ที่จะตามมา รถยนต์ไม่ใช่กล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์มือถือ ที่คุณจะซื้อที่ไหน
ก็เหมือนๆกัน เพราะหากมีปัญหา Defect เกิดขึ้น จำนวนเงินความเสี่ยงที่
คุณต้องแบกรับมันมากกว่าส่วนต่างที่คุณต้องจ่ายเพิ่มเพื่อแลกกับรถยนต์
ที่มีการประกันคุณภาพจากผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าผมและ Headlightmag.com ของเรา จะมี
นโยบายไม่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของพ่อค้า Gray Market ทุกรายใน
ประเทศนี้

แต่ผมและเว็บไซต์ของเราก็จะไม่ห้ามคุณ ไม่ให้ซื้อรถยนต์จาก Gray Market
เพราะเราเคารพในการตัดสินใจของคุณ แหงสิครับ เงินที่คุณจะซื้อรถ มันก็
เป็นเงินของคุณ ไม่ใช้เงินของผม ดังนั้นผมจึงไม่มีสิทธิ์ห้ามคุณเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมันเป็นเงินของคุณ ดังนั้นคุณก็ควรจะระลึกไว้เสมอว่า
การซื้อรถยนต์ก้เหมือนกับการลงทุน มันมีภาระความเสี่ยงซ่อนอยู่ ถ้าไม่
เจอปัญหาใดๆ ก็โชคดีไป แต่ถ้าโชคร้ายเจอแจ็คพอต ใครจะเป็นคนดูแล
ความเสี่ยงตรงนั้นให้คุณ? ระหว่าง Toyota Motor Thailand หรือพ่อค้า
Gray Market?

เลือกเอาตามที่สบายใจเลยก็แล้วกัน!

—————–///——————

2015_07_Toyota_Alphard_Vellfire_11

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์  
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง

Moo Cnoe และ Pao Dominic สำหรับการเตรียมข้อมูลของบทความนี้

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค เป็นของ Toyota Motor Corporation)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
25 มิถุนายน 2015

Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 25th,2015

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome CLICK HERE!