ในช่วงเย็นของวันหนึ่ง..เมื่อเวลาไม่นานมานี้
ผมอยู่ในรถสีส้มแสบตา..ในขณะที่ J!MMY อยู่ในรถสีเหลืองอีกคัน
คันเร่งถูกกดคาไว้ตลอด จะมีปล่อยบ้างก็เพื่อปรับความเร็วรถให้เข้ากับโค้งซ้าย
ที่กำลังมาถึง การคุมตัวรถที่ความเร็วสูงในโค้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะเมื่อ
มีรถอีกคันอยู่ตรงหน้าเยื้องไปทางขวา การปะทะกันของรถน้ำหนักตันหกตันเจ็ด
ที่ความเร็วระดับนี้มีแต่หายนะเท่านั้น
ผมอาศัยจังหวะที่ J!MMY เปิดช่องว่างทางซ้ายเพิ่ม อาจจะเป็นเพราะเขาเข้าโค้ง
ด้วยความเร็วที่สูงไป รถคันสีเหลืองจึงเริ่มไถลไปทางขวาออกนอกแนวการวิ่ง
ปกติไปทีละนิด ผมกดคันเร่งเพิ่มความเร็วแซงโดยเลือกไลน์วงในของโค้งซึ่ง
แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ที่เพิ่มเข้ามานั้นทำให้ผมต้องประคองพวงมาลัยอย่างตั้งใจ
เป็นพิเศษ มันเป็นความรู้สึกร้อน ที่เหงื่อไม่ออก เป็นความรู้สึกเย็น ที่ไม่สบายตัว
ระคนกันไปในโค้งยาวโค้งนั้น
แล้วผมก็เสียการควบคุม หน้ารถเริ่มปัดเข้าวงในโค้ง ทำให้ความเร็วลดลง
อย่างกะทันหัน หน้ารถปัดเข้า แต่รถทั้งคันกลับไถลออกไปทับซ้อนไลน์การวิ่ง
ของ J!MMY พอดี ผมพยายามแก้รถกลับจากการไถล โดยใช้พวงมาลัยกับ
จังหวะคันเร่งช่วย จนตัวรถกลับมาวิ่งตรงได้อีกครั้ง แต่เพื่อนผมหายไปจาก
กระจกมองหลังทุกบานแล้ว..
ผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก แค่กดคันเร่งต่อไปแล้วจบด้วยชัยชนะที่เป็นของผม
แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นผมก็วางโทรศัพท์ในมือลงเพื่อพักสายตา เพราะเกม
Real Racing 3 นั้น ถ้าใครเคยเล่นจะรู้ว่าหากคุณมีปัญญาซื้อเหรียญทองหาของ
แต่งรถได้แล้วล่ะก็ มันจะเล่นแล้วติดงอมแงมเลิกไม่ได้เลยทีเดียว ในเมื่อผมไม่ได้
แตะเกมนี้มาตั้งแต่จบ Lotus 360 Challenge ก็ขอเล่นเอาความบันเทิงใจเสียหน่อย
เลือกรถ Lexus LF-A มาขับ แล้วพอเข้าไปเล่นในสนาม Indianapolis Speedway
คอมพิวเตอร์ก็เลือกรถของ J!MMY มาให้เป็นคู่แข่งผม..มันช่วยไม่ได้ และผมไม่ได้
เป็นคนเลือก
ส่วน MG GS คันสีส้มในภาพ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวในเกมแต่อย่างใด คุณอาจจะ
ด่าผมอยู่ในใจว่าหลอกให้เสียเวลาอ่านทำไมตั้ง 3 ย่อหน้า (วะ) ผมจะลองเขียน
สิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกัน ให้มันสอดคล้องกันดูก็ได้ ผมคิดว่าคุณๆที่เคยมีอาการติดเกม
ประเภท Racing น่าจะเข้าใจอารมณ์ของความเร็ว และการเป็นผู้ชนะ ว่ามันสำคัญ
ต่อความรู้สึกของเราขนาดไหน
ยอมรับเถอะว่าพวกเราหลายคนมีดีกรีความเป็น “Racer” อยู่ในตัวจะมากหรือน้อย
ก็ตามแต่ เราอาจจะไม่ได้เอาความรู้สึกนี้ไปลงกับรถกันทุกคน มันอาจจะเป็น
มอเตอร์ไซค์ มันอาจจะเป็นการแข่งเรือยาว หรือรถกระแทะก็ตามแต่..อะไรก็ตาม
ที่มีแรงถีบตัวคุณไปข้างหน้าและไปได้เร็วกว่าคนอื่น สามารถทำให้คุณเกิดความ
รู้สึกอิ่มเอมไปพร้อมกับความตื่นเต้นได้ก็แล้วกัน นี่คือความรู้สึกของมนุษย์ที่ส่งผล
ให้เราไขว่คว้าที่จะเป็น “อันดับ 1” ในด้านนี้ ถ้าไม่มีความรู้สึกกระหายแบบนี้ใน
DNA ของเรา
อันที่จริง ถ้าเราไม่ได้ “ต้องการที่จะเร็ว” เราอาจจะไม่ได้มีรถบนถนนมากมายอย่าง
ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ มนุษย์อาจจะยังขี่ม้าอยู่โดยที่ไม่แคร์ว่ามันจะวิ่งได้เร็วหรือขาจะสั้น
ราวกับสุนัขคอร์กี้ แต่เรามีรถยนต์ใช้แพร่หลายเพราะเราขาดสิ่งที่เร็วพอ คุณทราบไหม
แรงบันดาลใจที่ทำให้ Henry Ford ต้องการสร้างยานพาหนะที่วิ่งได้เร็วกว่าม้า
และไม่ง้อรถไฟ ก็เพราะว่าไม่สามารถหายานพาหนะที่เร็วพอที่จะทันไปกล่าวคำ
อำลามารดาก่อนสิ้นใจได้
เมื่อไม่มีความรู้สึกพึงพอใจที่เกิดจากความเร็วและการชนะ เราจะไม่มี Land Speed
Record..ไม่มี Formula-1 หรือ NASCAR ไม่มีเอาโต้บาห์น ไม่มี DOHC VTEC
ไม่มีเทอร์โบชาร์จในรถเก๋ง รถอย่าง Ferrari และ McLaren จะไร้ความหมายและ
มนุษย์ก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกหารถครอบครัว SUV/Crossover ที่มีพลังม้า
มากเกินกว่า 150 ตัว
แต่ทุกคนรู้..ว่าเราต้องการความเร็ว สำหรับบางคนก็ต้องการที่จะเร็วกว่าปกติ ต่อให้
บริบทในชีวิตจะเปลี่ยนแปลงจนทำให้คุณต้องขายรถคูเป้ซิ่งคันเก่าแล้วหันมาจับ
SUV/Crossover สำหรับครอบครัว ความผูกพันธ์ที่มีต่อความเร็วยังอยู่ในหัวคุณอยู่
คุณคิดไหมว่า ทำไมเราถึงมีรถอย่าง X-Trail 2.5,CX-5 2.5, Forester XT Turbo ล่ะ
ในเมื่อคนส่วนใหญ่ของตลาดต้องการแค่เครื่อง 2.0 ลิตรแบบปกติ..เพราะโลกนี้มีคน
อย่างพวกเราไงล่ะครับ
ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่า MG ประเทศไทย จะเปิดตัวรถ SUV/Crossover ขนาดตัว
ไล่เลี่ยกับ Mazda CX-5 แต่พกพลัง 2.0 ลิตร เบนซิน เทอร์โบ ม้าทะลุ 200 ตัว
จับคู่กับเกียร์คลัตช์คู่ 6 จังหวะ และมีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อขาย ..คุณผู้อ่านย่อมรู้
ได้ในทันทีว่ากลุ่มลูกค้าแบบไหนที่ MG กำลังมองหา และตัวคุณองก็อยากรู้
(เช่นเดียวกับผม) ว่ามันจะมีสมรรถนะเป็นอย่างไร ต่อให้ผลงานที่ผ่านมาของ
MG6 และ MG5 จะไม่ได้แรงกว่าเพื่อนร่วมระดับชั้นมาก (ยกเว้นความเร็วปลาย)
แต่เมื่อรถรุ่นใหม่มีพลังม้ามากกว่าคู่แข่งอยู่โขทำให้เรายังแอบหวังอยู่ไม่น้อย
ต่อมา เมื่อ MG ประเทศไทยเปิดตัว GS ในวันที่ 17 มีนาคม 2016 พวกเราก็
ได้เห็น Final Spec สำหรับประเทศไทย ตัวเลข 218 แรงม้า/ 350 นิวตัน-เมตร
และน้ำหนักตัวที่ไม่ต่างกับ CX-5 2.2D 4WD มากนัก เรียกเสียงซู้ดปากจาก
คนชอบของแรงได้มาก ในขณะที่ออพชั่นติดรถมาครบตามสไตล์รถจาก MG
ไม่ว่าจะเป็นระบบ Infotainment+Navigator หลังคาซันรูฟ ระบบความปลอดภัย
สารพัด เรียกว่ารายการอุปกรณ์ยาวกว่าคู่แข่ง เติม E85 ได้ด้วยแล้วยังเปิดตัว
1,210,000 บาท – 1,310,000 บาท ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมมองว่าไม่แพง
เพราะตัวรถใหญ่กว่า HR-V มาก ราคาก็ไล่ๆกันกับ CX-5, X-Trail ที่ใช้เครื่องยนต์
แบบ 2.0 ลิตรที่ไม่ได้เน้นความแรง
ถึงแม้จะมีข้อครหาจากบางท่านว่าวัสดุภายในดู “พลาสติก” ไปนิด แต่ถ้าเรากำลัง
จะซื้อรถที่มีแรงม้าเป็นรองแค่ Forester XT Turbo (ในตลาดระดับเดียวกัน)
แต่ราคาถูกกว่ากันเกือบเท่าตัว ก็ดูเหมือนจะคุ้ม แต่ก็เหมือนรถทุกคัน เราจะพูด
ได้เต็มปากก็ต่อเมื่อได้ลองของจริงกันเสร็จแล้วเท่านั้น
ผมก็นั่งใจจดจ่อ รอวันที่จะได้ทดสอบรถว่ามันแรงจริงหรือไม่ รออยู่นานแรมเดือน
รถทดสอบรุ่น 2.0Turbo X 4WD สีส้มคันที่เราเล็งไว้ก็มีเหตุที่ต้องทำให้
เข้าซ่อมสีอยู่พักใหญ่ แล้วบังเอิ๊ญบังเอิญ รถทดสอบขับสี่สีส้มก็มีอยู่แค่คันเดียว
ก็เลยต้องรอต่ออีก พอทำสีเสร็จก็..ให้สื่อฯอีกท่านทดสอบตามคิว?ในช่วงต้นเดือน
มิถุนายน แล้วกว่ารถจะมาถึงมือพวกเราก็วันสุดท้ายของเดือนพอดี
ในที่สุด เราก็จะได้รู้กันว่า MG GS..ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแบตเตอรี่นั้น
จะกลายเป็นขวัญใจคนรัก Sport SUV ในงบล้านต้นได้หรือไม่ เกียร์จะดีขึ้น
หรือเปล่า และมีสิ่งอื่นที่ทำให้เรารักมันได้นอกเหนือจากที่เห็นในโบรชัวร์หรือไม่
และเช่นเคย บทความนี้ ผมเขียนโดยแท็คทีมกับ J!MMY ในส่วนของเรื่องราว
ตัวรถและอุปกรณ์ต่างๆในห้องโดยสาร ตลอดจนตัวเลขอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลือง
ก็ทดสอบโดย J!MMY เช่นกัน..คงใช้ผมไม่ได้ เพราะผมตัวหนักเท่า 2 คน
เดี๋ยวตัวเลขจะเสียเปรียบรถคันอื่น จะเป็นที่ครหาเอาได้
MG GS เป็นรถยนต์ C-Segment Crossover SUV แบบแรกในประวัติศาสตร์
ของแบรนด์ MG กว่า 100 ปี GS ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นรถยนต์รุ่นหลักในการ
บุกตลาดทั่วโลก ของ MG ในยุคที่ SAIC Motor (Shanghai Automobile
Industry Corporation) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน เป็น
เจ้าของกิจการรายล่าสุด มาตั้งแต่ปี 2006
แน่นอนว่า ตลาด Crossover SUV กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ
คู่แข่งในตลาดอย่าง Nissan Qashqai (X-Trail version 5 ที่นั่งในยุโรป)
Kia Sportage ฯลฯ ต่างก็พากันปรับปรุงตัวรถเพื่อเน้นเอาใจลูกค้าฝรั่งมังค่า
ไปมากแล้ว ถึงเวลาที่ แบรนด์ MG จำเป็นต้องมี Crossover SUV ของตน
เพื่อทำลาดกับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เคย และไม่เคยเป็นเจ้าของ
รถยนต์ MG มาก่อน ทั้งในอังกฤษ จีน และประเทศไทย กันเสียที
งานออกแบบเป็นฝีมือของทีมงาน ของ ศูนย์ออกแบบวิจัยและพัฒนา MG
ในเมือง Longbridge และที่ SAIC ในเซี่ยงไฮ้ ภายใต้การดูแลโดย หัวหน้า
ทีมออกแบบชาวอังกฤษ Anthony Williams-Kenny คนเดียวกับที่ดูแลการ
ออกแบบของ MG6 นั่นล่ะครับ
ความเคลื่อนไหวของ MG GS ถูกเผยโฉมครั้งแรก ในรูปของ รถยนต์ต้นแบบ
ชื่อ MG CS Concept ณ งาน Auto Shanghai เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2013
จากนั้น เราต้องรอกันนานอีกถึง 2 ปี กว่าที่ เวอร์ชันจำหน่ายจริง จะพร้อมถูก
เปิดผ้าคลุม อวดโฉม อย่างเป็นทางการ ในงาน Auto Shanghai เมื่อวันที่
20 เมษายน 2015
สำหรับตลาดเมืองไทย หลังจากปรากฎตัว อย่างไม่ตั้งใจ ในภาพถ่ายแบบ
Spyshot บนถนนบางนา-ตราด บ่อยครั้งมากๆ และได้รับความสนใจจาก
ผู้คนทั่วไปมากๆว่า นี่คือรถอะไร ถึงขั้นส่งภาพถ่ายพร้อมคำถามเข้ามาที่
Headlightmag.com กันแทบจะทุกวัน ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ชนิดที่
แทบจะเรียกกันว่าเป็น “MG รายวัน” กันไปแล้ว
เมื่อถึงเวลาสุกงอม MG จึงจัดงานเปิดตัว GS เป็นครั้งแรกในเมืองไทย
เมื่อ 17 มีนาคม 2016 ที่ Center Point Studio ปากซอยลาซาล ย่าน
บางนา ก่อนจะส่งเข้าไปขึ้นแท่นจัดแสดง เปิดรับจองในงาน Bangkok
International Motor Show 2016 ในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา
จากนั้น MG GS จึงถูกส่งเข้าไปเปิดตัวในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เมื่อ
14 มิถุนายน 2016 ที่ผ่านมา โดย Matthew Cheyne ; Director of Sales
and Marketing ของ MG UK เล่าว่า “กลุ่มเป้าหมายของ GS คือลูกค้า
ประเภทเพิ่งเริ่มมีครอบครัว คุณแม่ซึ่งต้องขับรถไปรับลูกที่โรงเรียน
หรือ คู่แต่งงานวัยเกษียณ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีรูปแบบการใช้ชีวิตต่างกัน”
MG UK ตั้งราคาขายของ GS โดยเริ่มต้นเพียง 14,995 ปอนด์ หรือเพียง
18,857 ยูโร ถูกกว่าคู่แข่งอย่าง Nissan Qashqai ถึง 3,550 ปอนด์ โดย
MG UK ตั้งเป้ายอดขาย GS ในอังกฤษไว้ที่ 1,000 คัน ภายในปี 2017
อย่างไรก็ตาม การไม่มีเครื่องยนต์ Diesel Turbo และ ระบบขับเคลื่อน
4 ล้อให้เลือกอย่างในเมืองไทย ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายใน
ระยะยาวได้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่จะซื้อรถยนต์ เบนซิน เพื่อใช้งาน
ส่วนตัว มีสัดส่วนเหลือเพียง 25% ลดลงกว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ใน
นามบริษัท หรือรถประจำตำแหน่ง ซึ่งมักเลือกใช้เครื่องยนต์ Diesel
Turbo ด้วยเหตุผลด้านภาษีที่ถูกกว่า กลุ่มหลังนี้มีสัดส่วนในยุโรป สูง
ถึง 75% (ตัวเลขในไตรมาสแรกของปี 2016)
MG GS มีขนาดตัวถังยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง
1,675 มิลลิเมตร (FWD) และ 1,699 มิลลิเมตร (AWD) ระยะฐานล้อ
2,650 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front / Rear Thread)
1,573 และ 1,584 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ
(Ground Clearance) 185 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,542 กิโลกรัม
(รุ่น FWD) และ 1,642 กิโลกรัม (รุ่น AWD) ความจุถังน้ำมัน 55 ลิตร
ถ้าเทียบกับคู่แข่งในตลาด ถือว่ายาวกว่า HR-V มาก และสั้นกว่า CX-5
อยู่เล็กน้อย แต่ก็ถูกจัดให้เป็นรถระดับเดียวกับกลุ่ม CX-5, X-Trail, และ
CR-V โดยมี Subaru XV เป็นรถที่ขนาดตัวใกล้เคียงกันมากอีกรุ่นแต่ติด
อยู่ตรงกลางระหว่างรถ B-Crossover และ C-Crossover คันอื่นๆ ในตาราง
สเป็คแบบนี้อาจจะดูเหมือนตัวไม่ใหญ่ แต่คันจริงเวลาจอดข้างๆ CR-V Gen 4
จะรู้สึกได้ทันทีครับว่า MG GS ไม่ใช่รถเล็กเลย
ล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว ลาย Diamond Cut สีเงินตัดสลับดำเงา สวมยาง
Michelin Premacy 3 ขนาด 235/50R18 ทั้ง 4 ล้อ
MG GS เวอร์ชันไทย มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย คือขับเคลื่อนล้อหน้า FWD
และขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ Real Time (แต่ถูกเรียกว่า AWD) โดย
ความแตกต่างจากภายนอก อยู่ที่การติดตั้งไฟหน้า Projector HID
พร้อมที่ฉีดน้ำล้างไฟหน้า Sunroof และ รางบรรทุกสัมภาระบนหลังคา
มาให้เฉพาะรุ่น AWD แค่นั้น
ระบบล็อกประตู เป็นกุญแจ พร้อมรีโมทคอนโทรลในตัว แบบรถยุโรป
รุ่นปี 1995 – 2009 มีดอกกุญแจแบบพับได้ แถมมาให้ด้วย เป็น Smart Key
แบบคล้ายๆของรถเล็กสมัยใหม่ ซึ่งทันสมัยกว่ากุญแจ MG6 แต่คุณต้องกด
ปุ่มสีดำ บนมือจับประตูฝั่งคนขับ เพื่อสั่งล็อก/ปลดล็อก บานประตูรถ
โดยที่เจ้าของรถ สามารถใช้เมนูบนจอ Infotainment เพื่อปรับตั้งค่าได้ว่า
เมื่อกดปุ่มดำนี้ 1 ครั้ง จะให้รถปลดล็อก แค่บานประตูฝั่งคนขับ หรือจะให้
ปลดล็อกประตูพร้อมกัน 4 บานเลย เลือกเอาตามใจชอบ
นอกจากนี้ยังมีสวิตช์ เปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ซึ่งทำได้แค่
การปลดล็อกให้เท่านั้น คุณยังจำเป็นต้องเดินไปยกฝาท้ายเปิดขึ้นเอง
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า แม้จะทำได้สะดวกดี เพราะระยะ
ความกว้างของช่องกรอบประตู มีขนาดพอๆกับ บรรดา C-Segment
Crossover SUV ทั่วๆไป แต่ผมแอบคิดเผื่อไว้สำหรับคนตัวเตี้ย หรือ
ช่วงขาสั้น ว่าเนื่องจาก พื้นรถค่อนข้างสูงเกินไป ทำให้อาจก้าวขา
ขึ้นไปนั่งบนรถ ลำบาก กว่าคนปกติอยู่บ้าง
เพื่อแก้ปัญหานี้ MG ได้ไปคุยกับบริษัทซัพพลายเออร์ ทำบันไดข้าง
แบบพิเศษ สามารถเลื่อนออกมาเมื่อเปิดประตู และเลื่อนเก็บได้เอง
ทันทีที่ปิดประตู ถ้าต้องการติดตั้ง ลูกค้าสามารถสั่งเพิ่มได้โดยเลือกจาก
ชุดอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก รหัสพาร์ท 10390890 ราคา 35,900 บาท
แผงประตูด้านข้าง ไม่ได้บุนุ่มในส่วนบน แต่บริเวณพนักวางแขน ซึ่งถูก
ออกแบบเชื่อมกับมือจับประตู จะหุ้มด้วยหนังสีดำแบบเดียวกับหนัง
หุ้มเบาะรถมาให้ สามารถวางแขนได้สบายพอดีๆ ด้านล่าง มีช่องใส่
ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้ 1 ขวด และใส่เอกสาร ได้อีกนิดหน่อย
ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยสีดำ เพดานใช้ผ้าสีครีม เพื่อเพิ่ม
ความสว่างภายในรถ มีมือจับสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจผู้โดยสาร
หรือ ศาสดา มาให้ 3 ตำแหน่ง บนเพดานหลังคา
เบาะนั่งฝั่งคนขับ ปรับระดับเอนนอน และเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง
ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เบาะคนขับของทุกรุ่น ปรับได้ 6 ทิศทาง แต่เฉพาะ
รุ่น AWD จะเพิ่มเบาะผู้โดยสารด้านซ้าย ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้
6 ทิศทางเช่นกัน แม้ว่าในเว็บไซต์และโบรชัวร์จะระบุว่าปรับได้ 4 ทิศทาง
แต่หลังจากทดลองปรับดูแล้ว ได้ 6 ทิศจริงๆครับ ส่วนรุ่น FWD เบาะ
ผู้โดยสารจะยังคงปรับด้วยกลไกอัตโนมือ ตามปกติ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดดี
เพราะคู่แข่งบางเจ้านั้นพอเป็นเบาะคนนั่งปุ๊บ จัดทรงได้แค่เลื่อนหน้า/หลัง
กับเอนเท่านั้นปรับความสูงของเบาะแบบฝั่งคนขับไม่ได้
เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบมาดีกว่าที่คิด พนักพิงหลัง เสริมฟองน้ำจน
แน่นแต่นุ่ม นั่งสบายใช้การได้ รองรับครบทั้งแผ่นหลังไปจนถึงช่วง
หัวไหล่ ส่วนปีกเบาะข้าง ช่วงบั้นเอว แน่นเกือบแข็ง เพื่อรั้งตัวผู้ขับขี่
ขณะเข้าโค้ง ในระดับพอใช้การได้
พนักศีรษะ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ปรับมุมองศาการดันหัวไม่ได้
ในตำแหน่งปกติ นอกจากจะไม่ดันหัวผมมากนักแล้ว ฟองน้ำด้านใน
ยังแน่นและนุ่มกำลังดีอีกด้วย
เบาะรองนั่ง ถอดแบบความสบายมาตามแนวทางเดียวกับ MG 6 คือ
แน่น แต่นุ่ม คล้ายโซฟา นั่งสบายตลอดการเดินทาง ตัวเบาะรองนั่ง
ยาวกำลังดี มีส่วนเสริมช่วงขาพับออกไปอีกเล็กน้อย ปรับสูง – ต่ำได้
ผมมองว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างดี
ตำแหน่งวางแขน บนฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง อยู่ในระดับกำลังดี
ส่วน เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้อย่างสะดวกสบายตามสมควร
บานประตู เปิดกางออกได้ในระดับกว้างพอประมาณ แต่คนตัวเตี้ย อาจ
ต้องก้าวขามากขึ้นกว่าปกติ เพือยันตัวเองขึ้นไปนั่งบนเบาะได้ อีกทั้ง
ระยะห่างจากเบาะ จนถึงขอบซุ้มล้อ ค่อนข้างเยอะ จึงต้องขยับตัว
กระเถิบเข้าไปหลังหย่อนก้นลงนั่งบนเบาะ ค่อนข้างมาก
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า สามารถเลื่อนลงได้จนสุดขอบรางกระจก ส่วน
แผงประตูด้านข้าง มีมือจับที่ถูก ออกแบบ ให้ลากยาวต่อเชื่อมกับพนัก
วางแขนบนแผงประตู สามารถวางแขนได้สบายพอดี เช่นเดียวกับแผง
ประตูคู่หน้า ด้านล่างเป็นช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้ 1 ขวด เป๊ะ!
พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่าง J!MMY จะเหลือ
พื้นที่ราวๆ 4 นิ้วบนฝ่ามือในแนวนอน ถือว่า ไม่มากไม่น้อย สำหรับ SUV
แบบนี้
พนักพิงหลัง ออกแบบมาให้รองรับกับช่วงหัวไหล่เล็กน้อย ส่วนแผ่นหลัง
ค่อนข้าง ในสไตล์คล้ายคลึงกับ เบาะแถวหลังของ Mazda CX-5 แค่ว่า
แน่นและนุ่มกว่ากันนิดเดียว ตัวเบาะปรับเอนได้ 10 ระดับ (14 องศา)ตาม
ตำแหน่งที่ล็อกไว้ ช่วยเพิ่มความสบายขณะเดินทางไกลได้มากยิ่งขึ้น
การปรับเอนเบาะ ไม่ยากครับ หันไปมองที่บริเวณบ่าข้าง ฝั่งใกล้ประตูรถ
จะพบคันโยกสำหรับพับหรือปรับเอนพนักพิงหลัง นั่นละครับ
พนักศีรษะ รองรับได้สบายพอดี ไม่สามารถกดลงต่ำกว่าตำแหน่งที่เห็นใน
รูปข้างบนนี้ได้แล้ว สัมผัสของหนังและฟองน้ำด้านใน แน่นจนเกือบแข็ง
เบาะรองนั่ง สั้น เสียดายว่า อีกนิดเดียวใกล้จะแตะถึงขาพับส่วนหัวเข่าแล้ว
ขาดไปอีกเสี้ยวเดียวจริงๆ แต่เสริมฟองน้ำจนแน่นและแอบนุ่มกำลังดี ใน
สไตล์รถยุโรป ไม่แข็งเท่ากับพนักพิงหลัง ส่วนพื้นที่วางขานั้น เหลือเฟือ
เพียงพอ ไม่ว่าช่วงขาของคุณจะยาวเท่าใดก็ตาม ผมสามารถนั่งไขว่ห้างได้
ถ้าผู้ขับขี่ด้านหน้า ปรับเบาะนั่งไม่ถอยหลังมาจนสุดรางเลื่อนของเขา
ภาพรวมถือว่า เบาะหลังของ MG GS นั่งสบายกว่าที่คิดนิดหน่อย นุ่มกว่า
เบาะแถวหลังของ CX-5 นิดนึงและชนะ Mazda ได้เพราะตัวพนักพิงหลังมัน
สามารถเอนได้ นอกจากนี้ยังนั่งแล้วนุ่มกว่าเบาะของ CR-V Gen 3 มากๆ แต่
แข็งกว่าเบาะหลังของ CR-V Gen 4 นิดหน่อย กระนั้น ในกลุ่มนี้ยังคงต้อง
ปล่อยให้ X-Trail รุ่นธรรมดา (ที่ไม่ใช่ Hybrid) ครองตำแหน่งเบาะแถว 2
ที่นั่งสบายมากสุดไปครองตามเคย (เพราะ X-Trail Hybrid ได้เบาะนั่งคนละชุด
และความสบายของมันสู้รุ่นธรรมดาไม่ได้ แถมยังเอนไม่ได้ด้วย)
เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง
พร้อมจุดยึดเบาะนิรภัยมาตรฐาน ISOFIX ซ่อนมาให้
นอกจากนี้ เบาะนั่งด้านหลังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่ม
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังให้ใหญ่ขึ้น การพับเบาะ ทำได้โดยการ ยก
มือจับปลดล็อกบริเวณบ่าของพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง แล้วโน้มพนักพิงหลังให้
ลงมาอยู่กับพื้นแบบในรูปข้างบน
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง สามารถสั่งปลดล็อกได้ทั้งจากสวิตช์บนกุญแจ
รีโมทคอนโทรล และสวิตช์เปิดฝาท้าย ติดกับกล้องมองหลัง เหนือกรอบช่อง
ใส่ป้ายทะเบียนหลัง ไม่สามารถเปิดจากภายในรถได้ ไม่มีระบบเปิดฝากระโปรง
ท้ายด้วยไฟฟ้าแบบ X-Trail หรือ Forester บานฝากระโปรงค้ำยันไว้ ด้วยช็อกอัพ
ไฮโดรลิก 2 ต้น (ในรถคันที่เราลองขับ ไม่มีแผ่นปิดบังสัมภาระมาให้)
ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาดใหญ่พอสมควร หากยังไม่พับเบาะ จะจุได้ถึง
483 ลิตร แต่ถ้าพับเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่งลงมา ความจุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,336 ลิตร
หากเทียบขนาดห้องเก็บสัมภาระกับรถของคู่แข่งดูบ้าง CX-5 จะจุมากกว่า
อยู่เล็กน้อย (490 ลิตร) และ Forester จุกว่าอยู่พอสมควร (505 ลิตร) ส่วน
Chevrolet Captiva ถ้าพับเบาะแถวสามลงจะจุ 465 ลิตร Nissan X-trail
(ไม่ไฮบริด) 549 ลิตร และ CR-V จุสุดในคลาสคือ 589 ลิตร ในขณะ
ที่ XV ซึ่งตัวรถสั้นที่สุดในบรรดา C-Crossover ทั้งหมด เวอร์ชั่นไทยจุแค่
310 ลิตร..นับว่า MG GS มีพื้นที่บรรทุกเกินคาดมากเมื่อเทียบกับที่ผมกะ
ไว้ในตอนแรก
พื้นห้องเก็บของ ถูกออกแบบมาให้อยู่ในระดับความสูง เท่ากับช่องกรอบ
ทางเข้าด้านหลัง พอดีๆ เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสารพัดสิ่งของต่างๆ
โดยเฉพาะ จักรยาน
เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบถาดอเนกประสงค์ สำหรับซ่อนสิ่งของ
หรือวางอาหารสด ผลไม้ที่มีกลิ่นจรุงใจกว่าคนทั่วไปจะทนไหว เช่น ทุเรียน
หรืออาหารทะเล และถ้า ยกถาดอเนกประสงค์ออก จะพบยางอะไหล่ไซส์เล็ก
แบบบาง แถมมาให้จากโรงงาน
แผงหน้าปัด ถูกออกแบบมาในสไตล์เดียวกับตัวถังภายนอก ภายใต้แนวทาง
Diamond Design เป็นแบบ หาเหลี่ยม และหกเหลี่ม ในหลายๆจุด ทั้งช่องแอร์
ด้านข้าง ช่องแอร์คู่กลางเชื่อมต่อกับจอมอนิเตอร์ (ล้อมกรอบช่องแอร์ด้วยวัสดุ
พลาสติก สีเงินด้าน เช่นเดียวกับมือจับเปิดประตูด้านใน) และแผงควบคุมกลาง
แผงหน้าปัดถูกตกแต่งด้วย Trim แบบ Piano Black ตามสมัยนิยม เรื่องวัสดุ
นั้นหลายจุดก็สมราคารถ มีแค่พลาสติกแข็งบางส่วนเช่นด้านบนสุดที่ดูแล้ว
เหมือนวัสดุราคาถูก แต่จริงๆแล้วน่าจะเป็นวิธีการกัดลายบนพลาสติกมากกว่า
เรื่องคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้
มองขึ้นไปด้านบนเพดานสีเทาอ่อน จะพบ แผงบังแดด แบบมีกระจกแต่งหน้า
พร้อมฝาเลื่อนเปิด-ปิด และไฟแต่งหน้า แถมมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ไฟอ่านหนังสือ
และไฟส่องสว่างภายในเก๋ง อยู่ตรงกลาง ติดตั้งร่วมกับ กระจกมองหลังตัดแสง
ไฟหน้าจากรถคันข้างหลัง อัตโนมัติ
จากขวา ไปซ้าย สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน โดยสวิตช์
แบบ One-Touch ขึ้นลงได้ด้วยการกดหรือยกสวิตช์ขึ้นจนสุดเพียงครั้งเดียว
มีมาให้เฉพาะหน้าต่างฝั่งคนขับเท่านั้น
ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีทั้งสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า (ในที่สุด
ก็ปรับปรุงเรื่องนี้เสียที ไม่ต้องใช้วิธีกด L+R พร้อมกันแบบ MG6 และไม่จับ
สวิตช์ไปอยู่ในที่แปลกๆอย่าง MG5แล้ว) นอกจากนี้ กระจกส่องข้างยังสามารถ
สั่งให้พับแบบอัตโนมัติได้เมื่อล็อกประตูรถ ตรงกลางเป็นสวิตช์ไฟหน้า ไฟหรี่
และไฟตัดหมอก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าตาคล้ายคลึงกับ Chevrolet
Colorado / Trailblazer รุ่นปี 2012 – 2016 ตัวสวิตช์นี้เวลาเปิดไฟใช้งาน
สีไฟส่องสว่างที่เรืองแสงหลังสวิตช์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย ส่วนฝั่งขวาเป็นสวิตช์
ปรับความสว่างของชุดมาตรวัด
ถัดลงมา เป็นช่องใส่บัตร อะไรสักอย่างก็ไม่รู้ ซึ่งใช้งานได้ไม่ค่อยมากนัก
คันโยกเปิดฝากระโปรงหน้ารถ และฝาถังน้ำมัน อยู่ในตำแหน่งติดกัน
คอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นตำแหน่งติดตั้งก้านสวิตช์ชุดใบปัดน้ำฝน และที่ฉีด
น้ำล้างกระจก ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง มีระบบปัดน้ำฝันอัตโนมัติมาให้
ส่วนฝั่งซ้าย เป็นก้านสวิตช์ไฟเลี้ยวกับไฟสูง
ใต้ก้านสวิตช์ไฟเลี้ยว ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย เป็นก้านสวิตช์ระบบควบคุม
ความเร็วคงที่ Cruise Control ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการใช้งานมากๆ
ต้องคลำหากันพักใหญ่ ถึงจะเจอ แถมยังมองเห็นยากในตอนกลางคืนด้วย
ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ยอมเอามาติดตั้งไว้ที่ก้านพวงมาลัยฝั่งขวาให้สิ้นเรื่อง
ในเมื่อ MG5 Hatchback เวอร์ชั่นจีนก็มี Cruise Control อยู่ตรงก้าน?
พวงมาลัยเป็นแบบ Sport 3 ก้าน ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง ได้
หน้าตาเหมือนยกมาจาก MG5 แต่คล้ายกับ พวงมาลัยของรถยนต์นั่งในเครือ
GM ทั้ง Chevrolet Cruze , Sonic ไปจนถึง Honda Civic รุ่นก่อน หุ้มด้วย
หนังสังเคราะห์ มีสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียงบนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ส่วน
ฝั่งขวา เปลือยเปล่าไว้โล่งๆ ประดับด้านข้างของแป้นแตร ด้วย Trim สีเงิน
ก้านพวงมาลัยด้านล่าง ประดับ Trim สีดำ Piano Black เพิ่มเติมมาให้
สวิตช์ติดเครื่องยนต์ ติดตั้งอยู่ฝั่งขวา ใต้ชุดมาตรวัด ใช้งานเหมือนรถยนต์
รุ่นใหม่ทั่วไป ไม่ยุ่งยากน่าปวดหัวเหมือนใน MG6 อีกแล้ว…เย้!
ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 2 วงกลม สไตล์ Sport เหมือนที่พบได้ใน MG รุ่นอื่นๆ
ล้อมกรอบวงกลมทั้ง 2 ฝั่ง ด้วยพลาสติกสีเงิน เป็นชุดมาตรวัดของ MG ที่
ออกแบบมาได้ดีกว่ารุ่นอื่นๆ โดยใช้วงมาตรวัดสองเบ้าหน้าตาคล้ายของ
MG5 (ซึ่งใหญ่และอ่านง่ายกว่า MG6) แต่ตรงกลางก็มีจอ MID ที่คล้าย
ของ MG6 แต่เป็นคนละชุดกันเอาไว้ให้ไม่น้อยหน้าราคารถล้านต้น
พวกเขายังคงออกแบบ Font ตัวเลข ให้ขนาบไปตามแนวโค้งของวงกลม
ซึ่งตามปกติแล้ว การเรียงตัวเลขลักษณะนี้ อ่านข้อมูลในตอนกลางคืน ยาก
แต่คราวนี้ MG เลือกเว้นระยะห่างของแต่ละตำแหน่งตัวเลข ไว้ไกลกันมาก
รวมทั้งใช้ไฟสีขาวนวล และ เข็มวัดสีแดง ทำให้สามารถแยกแยะตัวเลขใน
ยามค่ำคืนได้ง่ายขึ้น
หน้าจอตรงกลาง MID (Multi Information Display) แสดงข้อมูลต่างๆ
ของตัวรถ ทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real-Time แบบจอดนิ่ง
เฉยๆ และแบบเฉลี่ยในการเดินทาง แสดงความเร็วรถเป็นตัวเลข Digital
มีมาตรวัดระยะทาง Odometer และ Trip Meter A กับ B มาให้ (แต่การ
เลือกดู Trip Meter A กับ B ออกจะยุ่งยากไปสักนิด) พร้อมกันนี้ก็มี
ระบบเตือนเช็คระยะ เตือนอุปกรณ์ต่างๆในรถ เช่นไฟหน้า ยังเปิดสว่างอยู่
ทั้งที่ดับเครื่องยนต์แล้ว มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และมาตรวัดน้ำมัน
เชื้อเพลิงในถัง และไฟบอกตำแหน่งเกียร์ นาฬิกา พร้อมวันเดือนปี และ
อุณหภูมิภายนอก แจ้งให้ครบ ตามมาตรฐานของรถยนต์สมัยนี้
มีลูกเล่นที่เพิ่มเติมมาจาก MG6 Minorchange ตรงที่ ใน MG6 นั้น
เวลาเข้าเกียร์โหมด S ไฟหน้าปัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงกวนอู
แต่ใน GS นี้เจ้าของรถสามารถตั้งค่าบน MID ได้ว่าจะให้หน้าปัดไฟสีขาว
ตลอด, แดงตลอด หรือแดงเฉพาะเวลาเข้าโหมด S ได้ด้วย
จากซ้าย ไปขวา กล่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย Glove Comprtment
มีขนาดใหญ่พอให้ใส่ เอกสารประจำรถ รวมทั้งคู่มือผู้ใช้รถ ขนาดไล่เลี่ยกับ
หนังสือการ์ตูนค่ายวิบูลย์กิจ แล้วยังเหลือพื้นที่ใส่ของอย่างอื่นได้ด้วย
ใต้ช่องแอร์คู่กลาง เป็นชุดเครื่องเสียง ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM มีช่อง
เสียบ AUX / USB อย่างละ 1 ตำแหน่ง ที่กล่องเก็บของ ข้างลำตัวผู้ขับขี่
ไม่มีเครื่องเล่น CD มาให้แล้ว แต่มีหน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 16 GB
สามารถ เชื่อมต่อกับระบบ Bluetooth ของโทรศัพท์มือถือ เพื่อฟังเพลง
หรือติดต่อสื่อสารได้ ทำงานร่วมกับ จอมอนิเตอร์สี Touch Screen ขนาด
8 นิ้ว แสดงผลการทำงานได้ทั้ง เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นแบบอัตโนมัติ
แยกฝั่งซ้าย-ขวา ไม่ได้ รวมทั้งยังติดตั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS
Navigation System ซึ่งใช้งานได้ง่าย ค้นหาตำแหน่งสถานที่ต่างๆได้ไม่ยาก
ความรวดเร็วในการตอบสนองดีปานกลาง และที่ขาดไม่ได้คือระบบสื่อสาร
InkaNET ซึ่งก็มีมาให้ เช่นเดียวกับ MG6 อีกด้วย ดังนั้น รายละเอียดต่างๆ ใน
ระบบ InkaNET ของ MG GS จะเป็นเวอร์ชั่นเต็มเหมือนของ MG6 ที่สามารถ
เช็คสถานะของรถ ปริมาณน้ำมันในถัง เช็คว่ารถล็อคหรือไม่ และสั่งล็อครถ
ผ่านสมาร์ทโฟนได้ (แต่สั่งไปแล้วบางทีก็ Error และบางทีก็ขึ้น Error แต่
รถล็อคให้ ต้องรอประมาณ 1 นาทีหรือ Log off จากโปรแกรมแล้วเข้าใหม่)
เราคงไม่ต้องเสียเวลาสาธยายเรื่อง InkaNET มากเพราะเคยทำบทความ
สรุปฟังก์ชั่นพร้อมวิดิโอสาธิตจากทาง MG เอาไว้แล้ว
ส่วนเรื่องคุณภาพเสียงจากระบบบันเทิงตัวนี้ ยังไม่ถึงขั้นดีนักในความเห็น
ของ J!MMY ซึ่งเป็นนักฟังตัวยง แต่สำหรับพี่แพนซึ่งแคร์เรื่องเครื่องเสียง
แค่ปานกลางรู้สึกว่ามันโอเคกว่าชุดเครื่องเสียงของ MG5 ตรงที่รายละเอียด
เสียงท่อนบน พวกเสียง Percussion จะเก็บได้ครบกว่า แต่ด้วยลักษณะของ
ตัวรถที่เป็นรถ SUV โปร่ง ความแน่นของเสียงจะยังสู้รถเก๋งอย่าง MG6
ซาลูนไม่ได้
ถัดลงมา เป็นแผงควบคุมต่างๆ ครึ่งท่อนบนเป็นสวิตช์ชุดเครื่องเสียง ครึ่ง
ท่อนล่าง เป็นสวิตช์เครื่องปรับอากาศ เลื่อนลงมาจะเป็นไฟฉุกเฉิน ติดตั้ง
ในตำแหน่งเตี้ยเกินไป ไม่สะดวกเวลาจะรีบกดใช้งาน เช่นเดียวกับสวิตช์
ล็อก / ปลดล็อกประตู ทั้ง 4 บาน ที่ติดตั้งอยู่ใกล้กัน ในตำแหน่งซึ่งต้อง
คลำหากันอยู่พักใหญ่ กว่าจะเจอ
เคยมีคนวิจัยมานานแล้วว่า ลูกค้าชอบรถที่มีปุ่มเยอะๆ เพราะปุ่มเยอะ
หมายถึงออพชั่นเยอะ แต่ปุ่มของ GS นี้มีการวางตำแหน่งค่อนข้างลายตา
และพิศดารกว่าชาวบ้าน..ดีนะ ที่หลายฟังก์ชั่นสามารถคุมผ่านจอกลางอันบนได้
ไม่งั้นชีวิตคงลำบากกว่านี้
เบรกมือเป็นสวิตช์ไฟฟ้า EPB (Electronic Parking Brake) พร้อมระบบ
Auto Brake HOLD เหยียบเบรกจนจมมิดแป้น เมื่อระบบ Hold ทำงาน
ก็สามารถถอนเท้าจากแป้นเบรกได้ โดยรถจะไม่เคลื่อนไปข้างหน้า แม้ว่า
จะอยู่ในตำแห่งเกียร์ D จนกว่าคุณจะเหยียบคันเร่งออกรถเอง ระบบนี้มี
ใช้งานในรถยนต์ระดับหรูมานานแล้ว MG เอามาติดตั้งให้ใช้ใน GS ด้วย
ซึ่งก็ทำให้กลายเป็นจุดเด่นที่คู่แข่งรายอื่นเขาไม่มีกัน
ด้านข้างสวิตช์เบรกมือไฟฟ้า ฝั่งซ้ายเป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ Auto Brake
HOLD และสวิตช์เปิดปิด ระบบ Traction Control ส่วนฝั่งขวา เป็นสวิตช์
Lock การทำงานของระบบขับเลื่อน 4 ล้อ
กล่องเก็บของ ด้านข้าง มีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่ง พอให้ใส่กล่อง CD และ
ข้าวของจุกจิกได้บ้าง แต่ไม่มากนัก ช่องเสียบ AUX / USB ถูกติดตั้งมาให้
พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แบบเรียบๆ บ้านๆ ไม่มีฝาปิดหรือถาดรอง
ใดๆทั้งสิ้น
ฝาปิดกล่องคอนโซลบุด้วยหนังแบบเดียวกับ หนังหุ้มเบาะรถ แม้จะวางแขน
ได้ในระดับพอรับได้ แต่ขนาดของมันก็สั้นไปหน่อย ถ้าสามารถปรับเลื่อน
เข้า – ออก ได้ก็คงจะดี
รุ่น AWD จะเป็นเพียงรุ่นย่อยเดียว ที่จะมี Sunroof พร้อมราวหลังคา ติดตั้ง
มาให้ โดยสวิตช์ไฟฟ้า เปิด – ปิด Sunroof จะเป็นแบบมือหมุน สำหรับ เปิด
ยกขึ้นเพื่อถายเทอากาศ และเลื่อนเปิดถอยหลังไปจนสุด เพื่อรับอากาศจาก
ภายนอกรถ มีแผงบังแดดแบบเลื่อนเปิด – ปิดเองได้ทั้งด้วยมือ และลากเปิด
ไปพร้อมกับชุดบานกระจก Sunroof ได้เลย อีกด้วย ในวันแดดออก แผง
บังแดด อาจจะบังแสงอาทิตย์ ได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ทัศนวิสัย ด้านหน้า ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรถยนต์ในกลุ่ม
Compact SUV ทั่วไป เพียงแต่ว่า ด้วยโทนสีภายในที่ดำเข้ม อาจ
ทำให้เกิดความรูั้สึกอึดอัด ขณะนั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับได้บ้างใน
บางกรณี แต่ภาพรวมแล้ว ยังไม่มีปัญหาอื่นใด ต่อให้นั่งในตำแหน่ง
เบาะคนขับปรับจนเตี้ยสุดก็ยังเห็นฝากระโปรงหน้านิดนึงอยู่ดี
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ถึงจะมีขนาดใหญ่ หากดูจากรูป แต่
ของจริง ไม่ได้ใกญ่โตมากไปกว่ารถยนต์ทั่วไป บดบังการมองเห็นจาก
รถที่แล่นสวนทางมาบนทางโค้งฝั่งขวา ของถนนแบบสวนกันสองเลน
ค่อนข้างน้อยกว่าที่คิดนิดหน่อย
กระจกมองข้าง ฝั่งขวา มีขนาดใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจนดี แต่ เมื่อปรับให้
บานกระจกเห็นตัวถังรถน้อยลงเท่าไหร่ ขอบพลาสติกด้านในก็จะกินพื้นที่
บดบังมุมขอบขวาชของบานกระจกมากขึ้นเท่านั้น
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีขนาดไม่หนีไปจาก รถยนต์ Toyota
บางรุ่นเสียด้วยซ้ำ การบดบังทัศนวิสัยค่อนข้างน้อย สวนกระจกมองข้าง
ฝั่งซ้ายนั้น ปรับตำแหน่งให้เห็นตัวถังด้านข้างน้อยลง ก็ยังไม่มีปัญหาการ
เบียดบังพื้นที่ขอบกระจก ของขอบพลาสติกด้านใน แต่อย่างใด
เสาหลังคาคู่หลัง C – Pillar มีการบดบังรถที่แล่นตามมาจากทางฝั่งซ้าย
ค่อนข้างมาก กระจกหน้าต่าง Opera ที่ยื่นต่อเนื่องมาจากบานประตูคู่หลัง
แทบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการมองเห็นใดๆเลย แถมพื้นที่กระจกหลัง
ยังค่อนข้างน้อย จนทำให้นึกถึง Hyundai Tucson รุ่นปัจจุบัน ขอแนะนำ
ให้ใช้ความระมัดระวัง ขณะเปลี่ยนเลนมาทางซ้าย หรือเข้าช่องคู่ขนานด้วย
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
เครื่องยนต์ที่วางใน MG GS ทั้งในตลาดโลก และบ้านเรา ช่วงแรกที่เปิดตัว
เป็นขุมพลังรหัส 20L4E TGI-Tech บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี.
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88.0 x 82.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยระบบ GDI (GasolineDirect-Injection) ตรงสู่ห้องเผาไหม้ พร้อมระบบ
อัดอากาศแบบ Turbocharger ตัวเทอร์โบทำโดย Honeywell (Garrett)
ขนาดไม่จัดว่าเล็ก เฟรมของโข่งไอดีประมาณ 5.5 นิ้ว ใหญ่กว่าเทอร์โบเดิม
ของพวก Saab เทอร์โบเล็ก และน่าจะใกล้เคียงเทอร์โบ TD04 ใน Subaru
กับ T28 ในเครื่อง SR20DET
กำลังสูงสุด 218 แรงม้า (PS) ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 35.69 กก.-ม.
หรือ 350 นิวตันเมตร ที่ 2,500 – 4,000 รอบ/นาที มาเป็น Flat Torque ใน
ในช่วงรอบกลางๆ และสั้นๆ ไม่นานนัก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2
194 กรัม/กิโลเมตร เติมน้ำมันเบนซินได้ทั้ง เบนซิน 95 แก็สโซฮอลล์ 95
E10 E20 และรองรับสูงสุดได้ถึง E85
ทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า FWD และขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตโนมัติ On-demand (หรือ
ที่ MG ไปเรียกว่า AWD) จะถ่ายทอดกำลังผ่าน เกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ ในชื่อว่า
Twin Clutch Sportronic Transmission (TST) 6 จังหวะ (มันก็คือเกียร์แบบ
Dual Clutch นั่นแหละ) เฉพาะรุ่น 4WD จะติดตั้งแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย
Paddle Shift มาให้เป็นพิเศษ เพียงรุ่นเดียว อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
เกียร์ 1……………..3.250
เกียร์ 2……………..1.880
เกียร์ 3……………..1.206
เกียร์ 4……………..0.897
เกียร์ 5……………..1.029
เกียร์ 6……………..0.795
เกียร์ถอยหลัง……4.434
เฟืองท้าย
1 / 2 / 3 / 4………4.278
5 / 6 / R…………..2.852
ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ นั้น ระบบขับเคลื่อนจะทำโดยซัพพลายเออร์
Shanghai GKN Huayu Driveline System (SDS) ซึ่งเป็นบริษัทพาร์ทเนอร์
ระหว่างHuayu Automotive ของจีนกับบริษัท GKN จากอังกฤษ ผู้ผลิตระบบ
ขับเคลื่อนชื่อดังที่ทำส่งให้ Ford, GM, BMW และ Land Rover (GKN
มีโรงงานในไทย อยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยองด้วย) โดยระบบขับเคลื่อนแบบ
On-demand นี้จะทำงานโดยประมวลผลจากคันเร่ง, ความลาดชันของพื้นถนน
และสภาพการยึดเกาะของล้อแต่ละล้อ ส่วนระบบกล่องควบคุมและ Hypoid
gears นั้นจะเป็นของญี่ปุ่น
สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการทดลองในช่วงเวลากลางคืนเช่นเคย
ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวรวมแล้วไม่เกิน
170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้
จะเห็นได้ว่า เมื่อเราจับเวลาโดยกดคันเร่งเต็มเท้า อัตราเร่งค่อนข้างน่าผิดหวัง
โดยเฉพาะหลังจากที่เราคาดหวังเอาไว้ว่าพลัง 218 แรงม้ากับ 350 นิวตัน-เมตร
นั้นน่าจะแรงแบบที่เอาไว้ไล่กวดครอสโอเวอร์เทอร์โบอย่าง Forester XT หรือ
ข้ามไปเล่นรุ่นไฮโซเทอร์โบ 4 สูบอย่าง Lexus NX200t แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉลี่ยออกมาที่ 10.79 วินาที มันได้เท่านี้
และไม่ต้องพูดกันเรื่องคันเร่งดีเลย์ หรือให้ตัดเวลารอการตอบสนองของคันเร่ง
ออกนะครับ เดี๋ยวเราทำ The Clip ออกมาก็จะได้เห็นว่าทันทีที่สิ้นเสียงตอกคันเร่ง
รอบเครื่องยนต์ก็มา และกล้องก็ถูกดึงตามแรงจีแทบจะทันที ไม่ได้ถึงขนาดต้องรอ
2 วิแล้วรถถึงจะเกิดแรงดึง..แต่ท้ายสุดแล้ว เมื่อใช้นาฬิกาจับ มันก็ไม่ได้เร็วไปกว่า
Honda CR-V 2.4EL CVT 4WD แม้แต่น้อย
และถ้าคุณสงสัยว่า CR-V เข็มความเร็วโม้หรือเปล่า เราก็ลองจับ GPS มาแล้ว
รถทั้งสองคันมีค่าต่างกันแค่ 0.5 กิโลเมตร/ชั่วโมงที่ความเร็ว 110
และถ้าใช้ความเร็วอยู่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้นสวนคันเร่งลงไปทันที เกียร์ก็
จะคิกดาวน์ให้โดยมีการไล่รอบขึ้นก่อนแล้วค่อยพุ่ง (แบบที่ผมชอบเรียกว่า
อมก่อนแล้วค่อยบ้วน) คล้ายกับ MG6 แต่ไล่รอบและจับส่งกำลังไวขึ้น กระนั้น
ตัวเลขก็ออกมาอยู่ที่ 7.76 วินาที ซึ่งก็มีความไวใกล้เคียงกันกับ CR-V 2.4
และ X-Trail Hybrid/X-Trail 2.5
การเล่นเกียร์ในโหมด S จะพอช่วยได้บ้าง อย่างน้อยก็ลดเวลาช่วงที่ใช้ในการ
ไต่รอบได้ อัตราเร่งจะเร็วทันใจขึ้นแม้ว่าจะยังมีอาการหน่วงพลังในช่วงวินาที
แรกที่ตอกคันเร่ง..แต่ก็อย่าลืมว่าคู่แข่งทุกคันเขาก็สามารถเล่นเกียร์ดีดรอบ
เครื่องรอเอาไว้ได้ในลักษณะเดียวกันนั่นล่ะ
ที่ผ่านมารถของ MG จะมีปัญหาเดียวกับร่างกายผม (น้ำหนักตัว) แน่นอนว่า
มันมีส่วนทำให้อัตราเร่งช้าลง ในกรณีของ MG GS นั้น คงเอาเรื่องน้ำหนักมาอ้าง
กันไม่ได้แล้ว จริงอยู่ที่ว่า 1,642 กิโลกรัมนั้นถือว่าหนัก แต่ CX-5 2.2D 4WD
รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ก็หนัก 1,650 กิโลกรัม CR-V 2.4 หนัก 1,591 กิโลกรัม และ
X-Trail 2.5 หนัก 1,638 กิโลกรัม
บางคนอาจสงสัยว่าจริงเหรอ (วะ) 218 แรงม้าวิ่งได้แค่นั้นจริงๆหรือ? รถสภาพ
ดีหรือเปล่า? รถมีปัญหาอะไรหรือเปล่า? ผมคิดว่าต้องมีคนนึกแบบนั้นครับ
J!MMY ก็คงเข้าใจ..ทั้งเรื่องอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลือง เราเก็บค่าการทดสอบ
จากรถคันสีส้มเสร็จ ก็ลงความเห็นกันว่า..เอามาลองอีกคันเถอะ! แล้วก็เปลี่ยน
เอารถสีส้มคืนทาง MG เอารถคันสีน้ำตาลมาแทน
ผลหรือครับ? เรื่องอัตราเร่ง แต่ละย่านความเร็วบวกลบห่างกันไม่เกิน 0.2 วินาที
และคันสีน้ำตาลช้ากว่าด้วย ในเมื่อมันใกล้เคียงกัน เราก็ยึดเอาคันที่ได้เลขดีกว่า
คือคันสีส้ม แต่ในชีวิตจริงคุณจะพบความต่างน้อยมาก มันจะมีนิสัยต่างกันก็ตอน
ทำอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งในการคิกดาวน์นั้น คันสีส้มจะไล่รอบ
แล้วค่อยพุ่ง ในขณะที่คันสีน้ำตาล รอบจะตวัดขึ้นเร็วกว่า แล้วค้างอยู่สักเสี้ยววิ
ก่อนที่จะกระชากออกไปอย่างแรง ไม่ว่าจะอย่างไร ผลออกมาก็ไม่ได้หนีย่านเดิม
การตอบสนองของเทอร์โบนั้น เนื่องจากขนาดเทอร์โบอยู่ในระดับกลาง จึงไม่ได้
ติดบูสท์เร็วนัก ถ้ากดคันเร่งตั้งแต่ออกตัวเทอร์โบจะสร้างแรงดึงให้รู้สึกได้ในช่วง
2,800 รอบต่อนาที แต่ถ้าเป็นเกียร์ 3-4 เล่นโหมด S คารอบไว้ 2,000 แล้วกด
แบบนี้แรงดึงจะเริ่มชัดตอน 2,500 รอบต่อนาที บางคนอาจบอกว่ารถคันนี้มีอาการ
เทอร์โบแล็ก รอรอบ แต่ผมให้ลองเร่งคารอบไป 4,000 แล้วค่อยตอกคันเร่ง
คุณจะเห็นว่ามันมีอาการดีเลย์อยู่วินิดๆก่อนแรงจะมาเต็มที่ ซึ่งเทอร์โบไซส์แค่นี้
เครื่อง 2.0 ลิตร และรอบขนาดนี้ มันไม่ควรรอพลังนานแบบนั้น สิ่งที่เกิดก็คล้ายกับ
ที่เราพบใน MG5 Turbo ซึ่งน่าจะเกิดจากการจงใจอมพลังเพื่อเซฟเครื่องและเกียร์
ในระยะยาวมากกว่า
จะมีเรื่องที่พอกู้หน้าคืนได้บ้าง ก็คือความเร็วสูงสุด ซึ่งทำได้ 211 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมคงไม่มานั่งเถียงว่าความเร็วขนาดนี้ ใครจะได้ใช้ ใครจะไม่ได้ใช้ แต่พูดกัน
ด้วยตัวเลขว่า มันไล่เลี่ยกันกับ Mazda CX-5 2.2D 4WD (212) และเร็วกว่า
CX-5 2.5 เบนซินขับหน้าตัวจี๊ด (200) จะแพ้ก็แค่ CX-5 2.2D ขับหน้า (215)
และ Forester XT (221) เท่านั้น
เราพูดถึงความเร็วสูงสุด เพราะทำเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าแต่ละคันได้ไปได้สุดเท่าไหร่
แต่ไม่ได้ต้องการยุยงส่งเสริมให้พวกคุณไปลองอัดดวลเล่นกันบนถนนนะครับ
เพราะในทุกความเร็ว มีอันตรายทั้งนั้น พลาดพลั้งขึ้นมาจะโดนสองต่อก็คือเจ็บ
ตาย และอย่างเบาก็จ่ายค่าปรับหรือโดนยึดรถ เราเลือกทำท้อปสปีดตอนดึกมาก
และยกคันเร่งทันทีที่มีรถขวางในเลนแม้ว่าจะอยู่ในระยะไกลกลิบจนมองไม่ออก
ว่าเป็นรถอะไร
จบจากเรื่องการอัดรถแบบวิถีคนเท้าหนักกันมาแล้ว เราลองมาดูนิสัยของ GS
เวลาขับใช้งานทั่วไปแบบคนเท้าเบาและเท้าหนักปานกลางดูบ้างไหมครับ?
ในการใช้งานแบบรถติด และขับล่องไปในเมืองตามสายธารการจราจรนั้น
เราพบว่านิสัยของเกียร์ ก็ยังมีอาการกระยักกระเย่อที่ความเร็วต่ำระดับ
30 กิโลเมตร/ชั่วโมงลงมาอยู่ดี มีอาการแบบนี้ทั้งคันสีส้ม และสีน้ำตาล ซึ่งมัน
ก็คืออาการแบบเดียวกับที่เราพบใน MG6 นั่นล่ะครับ แต่ใน MG GS มีสิ่งหนึ่ง
ที่ทำให้ชีวิตยากขึ้น นั่นก็คือการเซ็ตคันเร่ง
อาจเป็นเพราะต้องการสร้างความรู้สึกถึงความแรง คันเร่งของ MG GS จึง
ค่อนข้างบ้าพลังในช่วงแรกที่แตะ กดเท้าลงไปแค่ราว 2 เซ็นติเมตร รถก็พุ่งจี๊ด
จนงงว่าไปโกรธใครมาหรือเปล่า ต้องค่อยๆแตะเหมือนเอาเท้าลูบกบาลแมว
รถถึงจะออกตัวได้นุ่มขึ้น แต่เวลาเราขับรถในเมือง มันต้องมีการเร่งและหยุด
สลับกันไป..การกดคันเร่งอย่างแผ่วเบาบ้าง ถอนบ้าง เหยียบซ้ำบ้าง ยังไงก็
พบอาการกระเย่อกระยักมานิดๆอยู่ดี แต่ถ้าเท้าคุณไม่ละเอียดละออจริง
เผลอเหยียบหนักบ้างเบาบ้าง รถก็จะทะยานบ้างชะงักบ้าง
พูดตามตรง ผมไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้ผมหงุดหงิดได้มากกว่ากันระหว่าง
คันเร่งและเกียร์ของ MG GS กับแป้นเบรกของ X-Trail Hybrid เวลา
เจอรถติดมากๆ ผมไม่แน่ใจว่า MG ประเทศไทยจะสามารถลองเซ็ตการ
ตอบสนองของรถดูใหม่ได้หรือไม่ในช่วงความเร็วต่ำ เพราะนี่คือรถ SUV
ต่อให้คุณจะให้มันเป็น Sporty SUV ก็ควรจะขับใช้งานในเมืองแบบมีความ
นุ่มนวลได้บ้าง การตอบสนองคันเร่งช่วงสัมผัสแรกกดอย่าให้มันไวสายฟ้า
แบบนี้ แต่เวลากดครึ่งนึงเร็วๆ กับเวลากดเต็มเท้า อันนี้ปล่อยไว้แบบเดิมก็ได้
หรือถ้าอยากได้การตอบสนองคันเร่งไวๆแบบที่ทำให้คนขับแล้วรู้สึกสะใจ
ก็ใช้โปรแกรม S ให้เป็นประโยชน์สิครับ เข้า S ปุ๊บ ปรับคันเร่งไวสะใจไปเลย
ส่วนโหมดปกติก็ให้ขับแบบผู้ดีๆได้บ้าง สมัยนี้คันเร่งก็ไฟฟ้า ทุกอย่าง Input
เข้ากล่อง ECU หมด แบบนี้คนขับปกติและคนขับเร็วก็เอ็นจอยกับรถได้
ส่วนการขับในช่วงความเร็วเกิน 60 ขึ้นไป กับการขับแบบลัดเลาะตามเส้นทาง
เลียบภูเขา ผมกลับรู้สึกไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนขับในเมือง การตอบสนองของ
คันเร่งที่ไวมากในเมือง เวลาเดินทางกลับไม่ประสาทกินเท่าไหร่ กดยังไงก็ได้
ตามนั้น การขับขึ้นเนินชันยังมีการเลือกเกียร์สูงแบบ MG6 อยู่ แต่กดคันเร่ง
เพิ่มลงไปเร็วๆแต่ไม่ต้องลึก รถก็เลือกเกียร์ที่ต่ำลงให้ และพลังแรงบิดของ
เครื่อง 2.0 ลิตรก็ช่วยพารถไปได้ดี
สิ่งที่ขอชื่นชมในความเปลี่ยนแปลง คือการทำงานของเกียร์ในโหมด S แบบ
เล่นเกียร์เองที่พวงมาลัย การทำงานไม่ได้ไวเป็นสายฟ้าแล่บแต่อยู่ในระดับที่
ไม่หงุดหงิด ที่สำคัญคือเวลาตบแป้น “-” ลดจังหวะเกียร์ติดๆกัน 2-3 ที ถ้าเป็น
ใน MG6 เกียร์จะลงให้แค่จังหวะเดียว แต่ใน GS มันจะเปลี่ยนเกียร์ตามต้องการ
อย่างว่าง่าย แม้ว่าในจังหวะตบ “+” 2 ทีติดๆกันยังขึ้นให้เกียร์เดียวเหมือนเดิม
แต่คงไม่จำเป็น เพราะคงไม่มีใครต้องรีบขี้นเกียร์ติดๆกันแบบนั้นในชีวิตจริง
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว
แคบสุดเท่ากับ 6 เมตร
เรื่องที่น่าประหลาดใจจนต้องแอบหมายเหตุไว้สักหน่อยก็คือ รถยนต์
ที่เรานำมาทดลองขับทั้ง 2 คัน กลับมีบุคลิกการตอบสนองที่ต่างกัน
โดยรถคันสีส้ม ที่ในภาพถายของรีวิวนี้ ซึ่งมีสภาพกรำศึกมาอย่างหนัก
กลับให้น้ำหนักพวงมาลัยในย่านความเร็วสูง ได้ดีกว่ารถคันสีน้ำตาล
ซึ่งถือเป็น Setting ค่าปกติจากโรงงาน ในความเห็นผม ถ้ารถคันที่ส่งลูกค้า
มีลักษณะเหมือนคันสีน้ำตาล ก็ถือว่าโอเค เพียงแต่ยังน่าจะเซ็ตน้ำหนัก
หน่วงมือในย่านความเร็วสูงเพิ่มอีกสักนิด แต่ถ้าเป็นแบบคันสีส้ม ผมคิดว่า
คงไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ปล่อยมันไว้แบบนั้นล่ะดีแล้ว
การขับที่ความเร็วต่ำ น้ำหนักไม่หน่วงมือมากนัก เพราะเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า
สามารถหมุนใช้งานได้คล่อง ถ้าคุณผู้หญิงขับ Subaru XV ได้ คันนี้ก็ถือว่า
สบายมือครับ
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบ
Multi-Link พร้อมเหล็กกันโคลง ทั้งหน้า – หลัง
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ คู่หน้ามีรูระบายความร้อน
พร้อมตัวช่วยต่างๆมากมาย ทั้ง ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเหยียบเบรก
กะทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก
ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distributor) กับ
ระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน EBA (Electronic Brake Assist)
นอกจากนี้ยังมี
– ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System) ซึ่งมันก็
ทำงานเหมือน VSC นั่นแหละ)- ระบบป้องกันการลื่นไถลเมื่อเกียร์ลดต่ำ
อย่างฉับพลัน MSR (Motor Control Slide Retainer)
– ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง CBC (Curve Brake Control)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลดการลื่นไถล TCS (Traction Control
System)
– ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System)
– ระบบตรวจสอบความดันลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitor System)
– ระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้างไว้ AVH (Auto
Vehicle Hold)
หลังจากที่ลองขับ พบว่าช่วงล่าง GS นั้น มีลักษณะคล้าย Mazda CX-5 มาก
ที่สุดถ้าเทียบกับรถคันอื่นในกลุ่ม หนึบมั่นเวลาวิ่งเร็วๆ มีชีวิตชีวาและสนุกเวลา
ใช้ความเร็ว 120 ขึ้นไป แต่ก็มีความแข็งกระด้างชนิดที่คนรถซิ่งแต่งช่วงล่างจะ
รู้สึกโอเค แต่คนชอบรถช่วงล่างหนุ่มหนึบอาจบ่นว่ากระด้างสะเทือนเวลาวิ่งที่
ความเร็วต่ำ ถนนขรุขระ (แต่ถ้านั่ง 4 คนเมื่อไหร่ ท้ายจะนิ่มขึ้นพอควร) สิ่งที่มันต่าง
จาก CX-5 ก็คือต่างกันเวลาเจอสะพานขาขึ้น การโยนตัวเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูง
และความกระด้างบางจุด ซึ่งไอ้ที่ต่าง..ก็ไม่ได้ต่างกันมาก บางคนต่อให้เป็น
คนเล่นรถอาจไม่รู้สึกว่าต่างด้วยซ้ำครับ
ในแง่ความมั่นใจที่่ความเร็วสูง 140 หักเปลี่ยนเลนแรงๆ มั่นคงกว่า Forester
เพราะโช้คของ MG มาในแนวแข็ง แต่ในจุดนี้ยังใกล้เคียง CX-5 อยู่ เช่นเดียวกับ
การเข้าโค้งความเร็ว 100-110 แบบโค้งยาวต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นถนนตามภูเขา
แล้วหักเข้าโค้งแรงๆ หรือเจอโค้งหักศอก กลายเป็นว่า Forester ที่ดูยวบๆ
กลับเข้าและออกได้อย่างมั่นใจ เพราะระบบขับสี่ตลอดเวลาช่วยอยู่ตลอด
CX-5 ก็ทำได้ดี แต่เวลาเจอพื้นไม่เรียบจะมีอาการล้อหลังเหินให้หวิวเบาๆ
อาการนี้ไม่พบใน MG แต่ในจุดที่แรงเหวี่ยงออกข้างสูงมากๆ GS จะต้องพึ่ง
ระบบรักษาการทรงตัวเพื่อคุมรถให้อยู่กับร่องกับรอยมากกว่า Mazda และ
Subaru
ส่วน CR-V เราคงไม่ต้องพูดถึง เพราะ Honda ไม่ได้เซ็ตรถรุ่นนี้เพื่อเน้นการขับขี่
แบบดุดันทารุณรถแบบนี้อยู่แล้ว
แป้นเบรก ค่อนข้างลึกมากที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งทุกคันในกลุ่ม การเลียเบรก
อาจไม่ช่วยให้รถชะลอความเร็วลง ถ้าต้องการให้รถหยุด คุณอาจต้องเหยียบ
ลงไปที่แป้นเบรกเต็มแรงไปเลยตั้งแต่แรก เบรกของคู่แข่งจาก Mazda กับ
Subaru จะมีลักษณะ เหยียบน้อยได้น้อย เหยียบมากได้มาก แต่ถ้าใครชอบ
เบรกแบบที่ระยะฟรีเยอะๆเหยียบลึกๆ MG GS มีเบรกแบบนั้นล่ะครับ
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่นับเรื่องความลึกของแป้น แต่มองเรื่องประสิทธิภาพใน
การชะลอความเร็วเวลากดเบรกย้ำๆบ่อยๆ ใช้งานแบบโหดๆ ผ้าเบรกผสม
เซรามิกของ MG ก็ถือว่ามีความทนต่อการทารุณกรรมได้ดี อาการสูญเสีย
ประสิทธิภาพจากความร้อนนั้นจะมาก็ต่อเมื่อเราโหดกับรถมากจริงๆ และ
รถทั้งสองคันของเราสามารถต้านอาการเฟดนี้ได้นานพอๆกัน ระบบเบรก
ของ GS เหมาะกับขาซิ่งมากกว่า Honda และทำงานได้ดีสูสี Mazda กับ
Subaru
โครงสร้างตัวถังของ MG GS นั้นทาง MG เรียกว่าเป็น SSA-Platform และใช้
แนวคิดในการออกแบบโครงสร้างแบบ FSF-Full Space Frame เช่นเดียวกับ
MG รุ่นอื่นๆ เสริมระบบความปลอดภัยหลังเกิดการชนด้วยถุงลมนิรภัย 4 ลูก
ได้แก่ถุงลมคู่หน้า และถุงลมนิรภัยด้านข้าง ซึ่งเท่ากับคู่แข่งอย่าง X-Trail 2.5V
ที่ให้มา 4 ลูกเท่ากัน และน้อยกว่า CX-5, CR-V และ Forester
ในปัจจุบัน ยังไม่มีผลการทดสอบชนของ MG GS จากหน่วยงานภาครัฐของ
ยุโรป แต่ในประเทศจีนนั้น MG GS ได้ผ่านการทดสอบชนมาตรฐานใหม่ของ
C-NCAP ที่บังคับใช้ในปี 2015 โดยมีกฏว่ารุ่นที่ทดสอบชน ต้องเลือกรุ่นที่
มียอดขายดีที่สุด ไม่ใช่รุ่นที่แพงหรือมีอุปกรณ์ความปลอดภัยมากที่สุดมา
รถทดสอบที่ MG ส่งให้ C-NCAP เป็นรุ่น 1.5 ลิตร ที่ไม่มีม่านถุงลม (เช่นเดียว
กับสเป็คไทย) ผลการทดสอบได้ 5 ดาวเต็ม
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
นอกจากการทดลองอัตราเร่งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คุณผู้อ่านหลายคนคงอยากรู้
คืออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ MG GS ว่า ขุมพลัง 2.0 ลิตร Turbo จะ
ทำตัวเลขออกมาอย่างไร
งานนี้ ยังคงต้องเป็นหน้าที่ของ J!MMY ในการทดลองตามเคย เพราะเจ้าตัว
อยากจะรักษามาตรฐาน ขับความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
ไว้เช่นเดิม
ดังนั้น J!MMY จึงนำ MG GS ไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ณ สถานี
บริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ช่วง
กลางคืน เหมือนปกติ
ในเมื่อ MG GS เป็นรถยนต์นั่งกลุ่ม Compact SUV แม้จะมีคนอยากรู้ถึงอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ลูกค้าในกลุ่มนี้ ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น
J!MMY จึงตัดสินใจเติมน้ำมัน ด้วยวิธีเติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด พอ ไม่ต้อง
เขย่ารถ อย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2,000 ซีซี และรถกระบะ
เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถังขนาด 55 ลิตร (ไม่รวมคอถัง) แล้ว คาดเข็มขัดนิรภัย
ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ จากนั้น ออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้าย
ลัดเลาะในซอยอารีย์ โผล่ปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย เข้าถนนพระราม 6
ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่ด่าน
บางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกัน
อีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ
นั่ง 2 คน คราวนี้ เพื่อรักษาความเร็วให้นิ่งยิ่งขึ้น J!MMY ยืนยันว่า เปิดระบบ
ควบคุมความเร็ว Cruise Control ยาวต่อเนื่อง
จนกระทั่ง มาลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน
Caltex พหลโยธินอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง แค่
ปล่อย ให้หัวจ่ายตัดพอ เหมือนตอนเริ่มต้นทดลอง
ผู้ช่วยทดลอง และสักขีพยานของเราคราวนี้ คือน้องเติ้ง
กันตพงษ์ สมชนะ สมาชิกใหม่ของ The Coup Team จากเว็บเรา
เอาละ มาดูตัวเลขที่ ออกมากันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 8.28 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.13 กิโลเมตร/ลิตร
ซดได้โหดมาก กินน้ำมันมากสุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน
ยิ่งพอมาใช้งานจริง ตัวเลขยิ่งออกไปทางน่ากลัวมากกว่าน่ารัก น้ำมันถังที่
J!MMY ใช้ทดสอบอัตราเร่งกับความเร็วสูงสุด และเหลือกลับมาวิ่งในเมือง
กับวิ่งทางด่วนกลับบ้านผม 1 รอบ ถังนั้นกดเครื่องคิดเลขออกมาได้ 5.07
กิโลเมตรต่อลิตร! ส่วนการใช้งานแบบวิ่งทางไกล ใช้ความเร็วสูง มีกดคันเร่ง
เล่นเป็นระยะ เน้นเอามันส์ จะดีขึ้นพอสมควร ผมขับไปสระบุรี ต่อด้วยลำตะคอง
ช่วง 90 กิโลเมตรแรกวิ่ง 90-110 แต่ช่วงหลังต้องขับเร็วเพราะต้องขับตามเจ้า
Moo Cnoe ซึ่งอยู่ใน Ford Focus EcoBoost แล้วพี่แกก็ขับเร็วมากชนิดที่จาก
สระบุรี ไป ลำตะคองผมต้องใช้โหมด S ซะครึ่งทาง
จากนั้นขากลับพอน้ำมันเหลือน้อย ผมเลยวิ่งจาก Vano Steakhouse ที่กลางดง
กลับมากรุงเทพโดยวิ่งไม่เร็ว กลับมาขึ้นทางด่วน กดเล่น 0-190 รอบนึง จากนั้น
ก็แทบจะขับ 90 ตลอด จนถึงงามวงศ์วาน ถังนี้ได้ 8.14 กิโลเมตรต่อลิตร
เราลองขับโหมดทางไกลอีกรอบ คราวนี้วิ่งทางด่วนและมอเตอร์เวย์ไปแปดริ้ว
แล้ววิ่งกลับ ใช้ความเร็ว 110 บ้าง มี 140 บางช่วง ไม่บ้าพลังบ่อยมากเกิน ขับแบบ
ผู้ใหญ่ขับเร็ว ไม่ใช่เด็กซิ่งหลังถนน ไม่เจอรถติดมากนักก็ยังมี 8.8 กิโลเมตร/ลิตร
ซึ่งในที่แบบนี้ หากเป็นรถคันอื่นในกลุ่มจะได้ 10 กิโลเมตรต่อลิตรขึ้นไปทั้งนั้น
หลังจากนั้นยังไม่พอ ผมจัดการลองไปขับแบบโหมดโหดอีกรอบ วิ่งใช้งานใน
เมืองและชานเมืองแต่ค่อนข้างหนักกับคันเร่ง และลองวิ่งทางด่วนลองสังเกต
การคิกดาวน์ ลองทำความเร็วเพิ่มดู คราวนี้เลข 5.7 กิโลเมตร/ลิตรกลับมา
หลอนอีกรอบ
แน่นอนว่าเรารู้สึกไม่ชอบมาพากล สำหรับการที่รถเครื่อง 2.0 ลิตรเทอร์โบ
ตัวหนักตันหก จะสวาปามน้ำมันราวกับ Forester 2.5 เทอร์โบ รุ่นเก่า สมัย
10 ปีก่อน ที่เครื่องยนต์ไม่ทันสมัยเท่า แถมยังขับสี่ตลอดเวลา แถมยังกินดุ
ไม่แพ้ Pajero Sport 3.0 V6 ตัวโตๆนั่นด้วย J!MMY จึงขอเอารถคันสีส้ม
ไปคืนแล้วเอารถคันสีน้ำตาลมาทดสอบอีกคัน
ตัวเลขจากการ RE-TEST
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 7.97 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.58 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่าดีขึ้นกว่าคันสีส้ม แต่ก็มีความใกล้เคียงกันไม่ได้หนีห่างไปไหน ไม่ได้
เห็นเลขระดับ 13-14 กิโลเมตรต่อลิตรแน่นอน รถในระดับเดียวกันที่กินน้ำมัน
ใกล้เคียงกันมากที่สุด ก็คงมีแค่ X-Trail 2.5V 4WD ซึ่งก็ยังทำตัวเลขได้
12.81 กิโลเมตรต่อลิตร
ส่วนการใช้งานแบบปกติ คราวนี้มีเลข 5.68 กิโลเมตรต่อลิตรโผล่มา
แค่ครั้งเดียว ซึ่งเป็นถังที่ใช้ทดสอบอัตราเร่ง ทำคลิป และวิ่งบนทางด่วน
ในชั่วโมงเร่งด่วน ไม่ค่อยได้มีช่วงที่วิ่งแบบทางไกลความเร็วนิ่งๆเท่าไหร่
ในถังอื่นๆที่ลองวิ่ง ก็จะได้ค่าเฉลี่ยการวิ่งแบบในเมือง/ชานเมืองอยู่ที่
7.5-7.7 กิโลเมตรต่อลิตร
บางทีผมก็สงสัยว่าทำไมอัตราการสิ้นเปลืองมันค่อนข้างดุ แต่ดูเหมือน
ตัวรถเองมันก็รู้ เพราะขนาดผมวิ่ง 120 นิ่งๆ ใช้ Cruise Control วิ่งบนพื้น
ราบ หน้าจอ Fuel Consumption ของรถยังโชว์ 10.4-10.6 กิโลเมตรต่อลิตร
เลยด้วยซ้ำไป
เราคงให้ท่านผู้อ่านพิจารณาจากตัวเลขกันเอาเอง และคิดว่าคงไม่จำเป็นต้อง
มีการทดสอบกับ MG GS คันที่ 3 อีก เราขอรถทดสอบ 2 คันเนื่องจากรู้สึกว่า
ตัวเลขจากคันสีส้มมันโหดจริงโหดจังแบบชวนน่าสงสัย จึงต้องลองทำซ้ำกับ
รถคนละคัน จะได้ไม่มีข้อกังขาหรือข้อโต้แย้งในภายหลังว่าเราทดสอบรถที่
สภาพไม่พร้อม
********** สรุป **********
ของเล่นเยอะ ขับมั่น วิ่งแบบ รถเก๋งเครื่อง 2.4/2.5 ลิตร
กินแบบ 3.0 ลิตร ในค่าตัวระดับ 2.0 ลิตร ไม่มีเทอร์โบ
เมื่อเทียบกับ MG รุ่นอื่นๆที่ผมได้สัมผัสมา GS เป็นรถที่เริ่มแสดงให้เห็นถึง
ความพยายามที่จะปรับปรุงตัวรถให้มีความน่าใช้และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับ
ทุกคน มีการใช้ Smart Key และระบบกดปุ่มสตาร์ทที่ใช้ง่ายเหมือนรถสมัยใหม่
ยี่ห้ออื่นๆ สวิตช์พับกระจกวางตัวอยู่ในตำแหน่งที่ควรอยู่ หน้าปัดที่ผสานความ
หรูแบบ MG6 เข้ากับความง่ายในการอ่านค่าของ MG5 ตัวเบาะที่รองรับบอดี้
ของคนหลายแบบมากขึ้น ปรับสูง/ต่ำจนได้ระยะที่ต้องการ แดชบอร์ดไม่ล้าสมัย
เหมือนผุดมาจากยุคที่โลกยังไม่รู้จัก iPhone และผู้ออกแบบก็พยายามอย่างดี
ในการสร้างภายนอกและภายในของรถไม่ให้ดูเหมือนกับยี่ห้ออื่น และใส่ DNA
เส้นสายของ MG เข้าไปจนสร้างความแตกต่าง
แตกต่างขนาดไหน..เอาเป็นว่าเมื่อดีไซน์หกเหลี่ยมมารวมกับสีส้มแสบๆแบบนี้
ทำให้มันเป็นที่สนใจจากสุภาพสตรีมาก ผมไปร่วมงานบวชคุณกิตติชัยจากเว็บ
Motonaked ที่สระบุรี ตอนขากลับจะถอยรถออก มีคุณผู้หญิงแต่งตัวดี หน้าตา
สวยกว่าดารา โบกรถถอยหลังให้และชื่นชมว่ารถสวยและแปลกตาดี เขารู้
ด้วยว่ามันคือ “MG GS” นอกจากนี้ตอนผมไปแวะที่ปั๊มทางด่วนด่าน 10 บาท
เพื่อกิน Burger King ก็มีน้องผู้หญิงถามว่ารถรุ่นไหน ยี่ห้ออะไร และขอถ่ายรูป
ไปให้คุณพ่อคุณแม่ดูเพราะทางบ้านกำลังจะซื้อรถใหม่ ผมถามว่าทำไมชอบ?
เธอบอกว่ามันแปลกดี ดูไม่เหมือนใครและดูดุ คันก็เล็กดี
นั่นแค่สองตัวอย่าง ถ้าผมยกตัวอย่างหมดคงไม่ต้องเขียนอะไรกันพอดี แต่ผม
ได้รับคำถาม หรือขอถ่ายรูป (ถ่ายรถแน่นอนไม่ใช่ถ่ายผม)ไปโดยคุณผู้หญิง
5-6 คน จนผมสงสัย ทำไมเวลาเอา XV, CX-5 หรือแม้กระทั่ง Lexus NX
มาขับผมถึงไม่ได้เจออะไรแบบนี้บ้าง อยากรู้มากว่าถ้าเอารถสีน้ำตาลมา
จะเป็นอย่างนี้ไหม?
แต่เมื่อคุณผู้หญิงบางท่าน (ที่ดูท่าทางสนใจรถมากจริงๆ) ถามผมว่ารถขับดีไหม
มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผมก็ตอบในลักษณะคล้ายกับที่จะสรุปให้ท่านฟังดังต่อไปนี้
ข้อดีของตัวรถ ถ้าผมพยายามเขียนโดยเปลี่ยนตัวเอง..ให้เป็นติ่ง สิ่งที่ผมจะ
ยกมาสนับสนุน MG GS ก็คือ
- ช่วงล่าง เวลาขับเร็วๆ เร่งรีบ สนุก มีชีวิตชีวาและมั่นใจ ถ้าเทียบว่าต่างจาก
CX-5 แค่ไหน คุณลองนึกความต่างระหว่างส้มตำพริก 2 เม็ดกับพริก 1.7เม็ด
ถ้าไม่ได้จับผิดจริงๆ จะแทบแยกไม่ออก - อุปกรณ์ที่ให้มา – ถ้าคันไหนให้มามากกว่า GS ราคาของรถก็จะสูงกว่า จ่าย
1.31 ล้าน คุณได้ซันรูฟ, ล้อ 18 นิ้ว, ระบบ Auto-Hold Brake ที่ช่วยออมแรง
เท้าขวาเวลารถติดหนัก ระบบนำทางก็มีมาให้เลยไม่ต้องเพิ่มเงิน เบาะไฟฟ้า
ก็ให้มาครบทั้ง 2 ฝั่ง แถมยังปรับได้ 6 ทิศทางทั้ง 2 ฝั่งด้วย (ไม่ใช่ 4 ทิศ อย่าง
ในโบรชัวร์หรือเว็บไซต์ MG บอก -ผมลองกับมือ ถ่ายคลิปไว้ด้วย) - บางคนจะบอกว่า HR-V ตัวท้อปก็มีซันรูฟกับ Auto-Hold..แต่ HR-V มันรถ
คลาสเล็กกว่า GS นะครับ คุณไม่ได้พื้นที่เบาะหลังมากขนาดนี้และไม่ได้
พื้นที่จุสัมภาระมากเท่า GS ที่ตัวใหญ่ไล่เลี่ยกับ CX-5 - เรื่องความสบายภายใน เบาะหลังของ MG GS น่านั่งกว่า CX-5 และ
X-Trail Hybrid ตรงที่สามารถเอนได้ ให้ความสบายในการเดินทางสูสี
Forester, CR-V และแพ้ก็แค่ X-Trail 2.0/2.5 เนื้อที่บรรทุกสัมภาระด้าน
หลัง..จุน้อยกว่า CX-5 แค่ 3 ลิตร - คุณได้ความแรงแบบที่ไล่กวด CR-V 2.4, X-Trail 2.5 ได้สบายและจ่าย
เงินในราคาที่ถูกกว่ารถ 2.0 ลิตร 4WD ของคู่แข่งด้วยซ้ำ
หันมามองจากอีกมุม ถ้าผมต้องแปลงร่างเป็นพวก Anti-MG แล้วพยายาม
หาข้อโจมตี GS แต่ต้องพูดโดยเอาความจริงกับตัวเลขมาว่ากัน ผมก็จะมี
ความเห็นดังนี้
- 218 แรงม้า..ม้าตัวไหนอู้หรือเปล่า มันไม่ได้ไวอย่างที่ 218 แรงม้ากับ
350 นิวตันเมตรควรเป็น ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกตัวหรือช่วงกดคันเร่งแซง
เอาเรื่องน้ำหนักมาอ้างไม่ได้แล้วเพราะไม่ได้หนักกว่าคู่แข่งมากๆแบบ
MG6 หรือ MG5 - อัตราการสิ้นเปลืองมันก็เท่ากับรถ 2.0 ลิตรเทอร์โบยี่ห้ออื่นที่เคยมีมา
อย่างเช่น Subaru Legacy เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบ..จาก 23 ปีก่อน..เลย
ชวนสงสัยว่ารถเทอร์โบยุคนี้เครื่องเคราทันสมัยกว่าเยอะ มันน่าจะ
ประหยัดกว่านี้ไม่ใช่หรือ..ถ้าขับกดหนักๆแล้วกินก็พอเข้าใจ แต่นี่ขับ
110 นิ่งๆ ไม่ได้ใช้พลังบูสท์ ทำไมถึงกินจุกว่า X-Trail 2.5V อีก - เกียร์คลัตช์คู่ ผสานความยึกยักแบบรถเกียร์ธรรมดาที่ความเร็วต่ำ
เข้ากับการตอบสนองที่ช้ากว่าเกียร์อัตโนมัติทอร์คคอนเวอร์เตอร์
ของ Mazda และ CVT ของ Nissan ถ้าจะบอกว่าอยากให้ไวก็เล่น
เกียร์เองดิ..คู่แข่งแต่ละคันเขาก็เล่นเกียร์ได้เหมือนกันล่ะ - ช่วงล่างมั่นจริงไม่เถียง แต่ก็เหมือนกับ CX-5 ตรงที่มันมาแนวแข็งกระด้าง
คนขับรถเร็วๆชอบอยู่แล้ว แต่กับคนอื่นที่ซื้อ GS เพราะราคา, รูปลักษณ์
หรืออุปกรณ์ เขาจะโอเคกับความกระด้างของมันหรือเปล่า - ถุงลม 4 ใบ มากกว่า X-Trail 2.0 จริง แต่เท่า X-Trail 2.5 และน้อยกว่า
CR-V กับ CX-5 ซึ่งให้ม่านถุงลมมาทั้งคู่ ไหนๆจะโฆษณาขายที่ความ
ปลอดภัย ทำไมไม่จัดให้มันสุดไปเลยล่ะ อย่าบอกนะว่าช่วงล่างดีมีกันไถล
กันลื่นแล้วไม่จำเป็นต้องมีถุงลมข้าง..รถคันอื่นฝ่าไฟแดงมาชนคุณจาก
ด้านข้างระบบกันไถลอะไรในโลกนี้ก็ช่วยคุณไม่ได้ มันเลี่ยงไม่ได้ซะหน่อย
ก็อย่างที่เห็นตามที่ผมเขียนมา ผมพยายามมอง GS ทั้งข้อเสียและข้อดีของมัน
อันที่จริง ว่ากันตามสเป็ค ม้าขนาดนี้ ช่วงล่างและอรรถประโยชน์ใช้สอยแบบนี้
ผมควรจะชวนพ่อผมขาย CR-V Gen 3 ชวนแม่ขาย Civic แล้วเอารถซิ่งของตัว
เองขายออก แล้วจัด GS มาจบๆเลยคันนึง เพราะมันดูเหมือนรถที่รวมทุกอย่างที่
ผมต้องการเอาไว้ในคันเดียวได้ แต่การลองขับจริง ก็พบว่ามันยังไม่เร็วอย่างที่หวัง
ใช่ครับ ผมหวังเรื่องความเร็ว ใครบอกว่าคนที่ไหนจะบ้าซื้อ SUV มาขับเร็ว ผมก็คง
บอกว่าคนที่เปิดบทความ SUV 218 แรงม้าอ่านนั่นแหละ ลึกๆแล้วบ้าพลังทั้งนั้น
แต่สิ่งที่ผมไม่ได้คาดไว้ อย่างเช่นความสบายของตัวเบาะเวลาโดยสาร เบาะหลัง
ที่สบายขึ้น การใช้งานระบบเกียร์ในโหมด S ที่สนุกและมันส์ขึ้นกว่าเกียร์คลัตช์คู่
ของ MG6 นี่ก็เป็นสิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้
ถ้าผมต้องพูดว่า MG GS เหมาะกับคนประเภทไหน ผมบอกได้เลยว่า
- คนที่ชอบขับรถทางไกลเร็วๆมากๆ ไม่แคร์ค่าน้ำมันเลย แต่มีงบซื้อรถแค่
1.3-1.35 ล้านซึ่งไม่พอจะไปเล่นรถ 2.2 ลิตร Diesel Turbo ,เบนซิน 2.4
หรือ 2.5 ลิตร ของคู่แข่ง - คนที่ชื่นชอบในสีสันแปลกๆ ดีไซน์ของตัวรถ และอุปกรณ์ที่จัดว่าให้มาคุ้ม
สำหรับราคาแค่นี้
แต่สำหรับคนทั้งสองแบบ ผมแนะนำว่าไปแวะ MG Driving Center แล้วขอลอง
ขับดูก่อน แล้วลองดูอาการของเกียร์ว่ารับได้หรือไม่ ในโลกนี้คนเรามีความอดทน
ต่อสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน สิ่งที่ผมบอกว่ามันน่ารำคาญ คุณอาจจะบอกว่ารับได้
ถ้าคุณรับได้ GS ก็เป็นรถที่น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของคุณ
ส่วนเรื่องศูนย์บริการ และการดูแลลูกค้าหลังการขายนั้น..
ถ้าเทียบรถเป็นคน MG ในประเทศไทยก็เปรียบได้กับพนักงานหน้าใหม่ใน
องค์กรที่มี Profile ใน Resume ดี เรียกเงินเดือนไม่สูง แต่คนในองค์กรยังไม่รู้จักหรือ
สนิทชิดเชื้อมากนัก พนักงานคนนี้ก็จะมีสิทธิ์พบกับผู้บริหารระดับสูงหลายแบบ
บางคน ก็ยังไม่รู้สึกไว้ใจมอบงานให้ และพยายามจะขุดคุ้ยหาข้อเสียของเด็กใหม่
ให้ได้มากที่สุด บางคน ก็กล้าที่จะมอบหมายงานสำคัญให้ทำ ชนิดที่ยอมเสี่ยง ถ้าดี
ก็รู้สึกภูมิใจ ถ้าพลาด ก็ต้องรับผลของความผิดนั้นไปโดยไม่โทษว่าลูกน้องไม่ดี
บางคน ก็กล้าที่จะเปิดใจรับเด็กใหม่ แต่พอมีอะไรพลาดก็โทษเด็กไว้ก่อน
การเริ่มงานในสมรภูมิห้องแอร์ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กใหม่ แต่ถ้าเขาสามารถ
พิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีความรับผิดชอบ ตรงไปตรงมา เมื่อมีอะไรผิดพลาดก็ไม่
โกยปัญหาเข้าใต้พรม แต่ส่งอีเมลแจ้งทุกคนให้ทราบ ว่ามีบางอย่างที่ผิดพลาด
และมาพร้อมกับแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม มีการรายงานเจ้านายอย่าง
ต่อเนื่องถึงการแก้ไขปัญหา และในที่สุดก็แก้สำเร็จ ผมว่าอนาคตของเด็กคนนี้จะ
มีแววรุ่งโรจน์ และไปได้ไกล อาจจะมีโอกาสไต่เต้าได้ตำแหน่งสูงกว่าบางคนที่
ทำงานในองค์กรนั้นมานาน แต่พอมีปัญหาบนหน้าตักตัวเองแท้ๆ กลับโยนให้
คนอื่นแก้ตามยถากรรม
ทั้งนี้ อนาคตของเด็กใหม่ไฟแรงคนนี้ จะเป็นอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับช่วงแรก
ในชีวิตทำงาน ว่าเขาจะเลือกเดินวิถีใด
หลังจากนี้ ผมคงไม่ได้เขียนบทความทดสอบ MG ไปอีกนาน จนกว่าจะมีรถ
โมเดลใหม่ออกมาซึ่งก็คงอีกนานปี แต่ก็ยังกระตือรือร้นที่จะได้ลองขับ MG
ไม่ว่าจะออกมาอีกกี่รุ่น ผมไม่ได้ยึดติดว่าแบรนด์ไหนดี ต้องดีทุกรุ่น แบรนด์ไหน
เจ๋งมานาน ย่อมเจ๋งต่อไป ผมเชื่อในการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มี
การเปรียบเทียบตัวเลือก และเลือกรถที่เหมาะสมกับพวกเขา
ในขณะที่หลายๆคนตั้งแง่ล้อเลียนความมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทจีนของแบรนด์
โดยมองข้ามความเป็นจริงและข้อดีข้อเสียของตัวรถ ผมอยากให้คนที่ทำงานกับ
MG ตั้งหน้าพัฒนารถของพวกเขาต่อไป เชื้อชาติไม่ได้เป็นตัวส่งผลความ
สามารถและความตั้งใจ..ถ้าคุณตั้งใจจะทำให้ใครสักคนประทับใจจริงๆ
คุณดูน้ำชาสิครับ น้ำชา (TEA..ไม่ใช่นักร้อง) ที่เป็นเครื่องดื่มที่เรารู้จักกันดี
ใบชาที่เราเก็บมา ขึ้นอยู่กับวิธีปรุงแต่งมัน เอาใบชาแห้งไปอบกับน้ำมันของ
ส้มเบอร์กาม็อท ก็หอมกลิ่นเปรี้ยวหวาน เป็นที่ชื่นชอบของคนอังกฤษจนเป็น
ที่มาของชา Earl Grey เอาไปอบกับน้ำมันกลิ่นมะลิ ก็กลายเป็น Jasmine Tea
ที่คนจีนรู้จักกันดี หรือไม่ต้องอบน้ำมันอะไร เอามาชงกิน หรือใส่น้ำตาล นม
ก็กลายเป็นชาชักหรือ Milk tea แบบที่คนในอาเซียนรู้จักกันดี นับว่าชานี่
มีความเป็นจีน อังกฤษ และอาเซียนอยู่ในตัว แต่ไม่ยักกะมีใครไปล้อเลียนชา
โดยโยงกับชาติกำเนิดของมัน
ความสามารถในการเข้าใจและการยินยอมผสมผสานสิ่งใหม่ๆโดยไม่ละทิ้ง
รสชาติดั้งเดิม เฉกเช่นเดียวกับศิลปะการชงชาอาจเป็นเคล็ดไม่ลับที่ทำให้
MG ประสบความสำเร็จได้..ไม่ใช่เพราะขายชาราคาถูก แต่เพราะเป็นชาที่
ลูกค้าดื่มแล้วรู้สึกติดใจในรสชาติ สำหรับ MG ในไทย..ผมว่าเขามีวัตถุดิบ
มากมาย มีใบชาเป็นโกดัง รอแค่หาวิธีชงให้ถูกลิ้นคนไทย จากนั้นรักษา
มาตรฐานไปอย่างต่อเนื่อง นั่นจะทำให้รถยี่ห้อนี้อยู่กับคนไทยไปได้อีกนาน
กว่าที่หลายๆคนเคยสบประมาทไว้
แต่จะทำตามนั้นหรือเปล่า…คงต้องแล้วแต่ถนนสายนี้จะพา MG ไป
——————————-///——————————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
Pan Paitoonpong // J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ MG
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
5 สิงหาคม 2016
Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without
permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
5 August, 2016
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!