คุณรู้จักรายการโทรทัศน์ที่ชื่อ “ฝันที่เป็นจริง” ซึ่งเคยออกอากาศทางไทยทีวีสี ช่อง 3 อสมท.อยู่ในช่วงปี 1988-1995 มั้ยครับ?
ถ้าคุณไม่รู้จัก ผมจะเล่าให้ฟังว่า มันคือรายการทอล์คโชว์ กึ่งดราม่าชีวิตมนุษย์ที่โด่งดังพอสมควร เพราะแทนที่จะจับดารามานั่งตอบคำถามหรือกระโดดแหลกกระแทกปุ่ม ฝันที่เป็นจริง นำเสนอเรื่องราวความยากลำบากของคนสู้ชีวิต ดำเนินรายการโดย คุณต๋อย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรที่ Hot ที่สุดในยุคนั้น ผลิตโดย บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอท และมีสปอนเซอร์รายหลักเป็นผงซักฟอกบรีส (90s ของแท้ ภาพข้างกล่องต้องมีแม่บ้านสูดดมผ้า อารมณ์ราวกับเด็กดมกาว)
วิธีการนำเสนอของทางรายการ ก็คือ รับจดหมายเล่าเรื่องราวจากทางบ้าน จากนั้นก็คัดเลือกเรื่องที่โดนใจ เชิญเจ้าของเรื่องมาสัมภาษณ์ ว่าชีวิตมีความเป็นมาอย่างไร ประสบชะตากรรมอันเลวร้ายอย่างไร และมีวิธีใดที่ใช้เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากนั้น โดยทางรายการจะนำเสนอในรูปแบบละครสั้น ใช้นักแสดงแทน เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพ จากนั้นค่อยตามด้วยการสัมภาษณ์ที่เต็มไปด้วยน้ำตา ก่อนที่จะปิดท้ายรายการด้วยอาต๋อย ไตรภพ มอบรถเข็นขายอาหารที่มีโลโก้บรีสตราแม่บ้านนักดม ให้กับผู้ร่วมรายการเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสู้ชีวิตต่อไป
รายการได้รับความนิยมสูงมากจนต้องขยายความยาวของรายการ เพิ่มวันออกอากาศจากวันอาทิตย์ กลายเป็นเสาร์-อาทิตย์ เรตติ้งพุ่งสูงอยู่สักพักก่อนถึงขาลง ถูกย้ายเวลาออกอากาศ และกลายเป็นตำนานในที่สุด
ผมเองก็อยากมีฝันที่เป็นจริงอย่างนั้นในช่วงวัยรุ่น แต่แทนที่จะเป็นความใฝ่ฝันของคนสู้ชีิวิต มันกลับเป็น…การได้ขับรถเปิดประทุนไปไหนสักแห่งกับผู้หญิงที่สวยที่สุด (อาจจะไม่ใช่ในโลก แต่เอาสายตาเรามองแล้วรู้สึกเคลิ้มฟุ้งๆได้บ้างก็พอ)
ความฝันนี้มันเกิดขึ้น เพราะในสมัยที่ผมยังเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสาธิตฯสถาบันราชภัฎสวนสุนันทา มีรุ่นพี่ขับ Mercedes-Benz SLK230 R170 สีเขียวน้ำทะเล ผมนั่งมองเขาขับรถผ่านไปพร้อมกับรุ่นพี่สาวสวยคนหนึ่ง..เมื่อเห็นดังนั้น ผมเลยตั้งใจว่าสักวัน ผมจะมีรถเปิดประทุนโก้ๆ มีคนนั่งไปเคียงข้างแบบนั้น จะด้วยวิธีการกำมะลอแค่ไหนก็ช่าง
20 ปีผ่านไป ผมก็มีรายการ..ซึ่งไม่น่าเรียกว่า “ฝันที่เป็นจริง” แต่น่าจะเป็น “ฝัน 1 วันที่เป็นจริง” มากกว่า และแทนที่จะเป็น คุณต๋อย ไตรภพ ไสรถเข็นส้มตำออกมามอบให้ผม มันกลับกลายเป็นพี่ดอม กับพี่ฝน แห่ง Mercedes-Benz Thailand ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสแตะ Mercedes-AMG SLC 43 สีดำคันละเกือบ 5 ล้านบาท
แล้วสุภาพสตรีที่นั่งข้างๆจะเป็นใครดีล่ะ? เนื่องจากผมไม่ได้มีคู่รักให้นึกถึงเหมือนใครเขา ทางออกก็คงจะมีเพื่อนหญิงที่อายุรุ่นน้องผม 2-3 ปีคนหนึ่งซึ่งสนิทกันพอควร ทั้งผมและเขาโสดทั้งคู่ (ฝ่ายเขามีคนมาจีบอยู่ ส่วนผมนั่งเฝ้าไร่แห้วมาตลอด) ผมส่งรูปรถให้เธอดูแล้วถามอย่างสุภาพบุรุษสุดใจดีว่า “วันนี้มึงว่างมั้ย?”
สรุปว่าคุณเธอว่าง และแม้ปกติเธอจะไม่ใช่ผู้หญิงบ้ารถ แต่เธอก็ดูสนใจใน SLC43 ด้วยรูปลักษณ์ของมัน ผมจึงมอบหมายให้เธอคิดว่าเราต้องการจะไปไหน ผมยินดีจะวิ่งไปที่ไหนก็ได้ที่ยังมีเชื้อเพลิงให้เติม เธอบอกว่าเราน่าจะไปหาร้านกาแฟนั่งสักที่แถวทองหล่อ
“Perfect” ผมคิด..โรดสเตอร์เยอรมันไฮโซ..สาวสวยวัย 30 up..ร้านกาแฟทองหล่อ..กับผู้ชายไม่หล่อ แถมอ้วนอีกด้วย นี่มันคือ combination ในฝันของผม และน่าจะเป็นวิถีชีวิตแบบที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของรถอย่าง SLC หลายคนเลยนี่หว่า! เรามาลองใช้ชีวิตแบบที่เราไม่เคยมีดูสักวันน่าจะไม่เลว
หนึ่งในความฝันที่อยากจะทำ..ก็ต้องเปิดหลังคา ผมขับรถไปจอดรอคุณเธอที่คอนโดไกลนอกชานเมืองแห่งหนึ่ง แล้วก็เปิดหลังคาไฟฟ้าของ SLC43 รอไว้เสร็จสรรพ เธอเดินยิ้มหัวเหม่งมาแต่ไกล ก่อนจะถามผมว่า “นี่จะเปิดหลังคาขับไปจริงๆน่ะเหรอ”
ณ จุดนี้ คุณคงนึกภาพหนังวัยรุ่นอเมริกัน มีผมขับรถเปิดหลังคากับเธอไปถึงร้านกาแฟ ดื่มด่ำกับสายลม และบรรยากาศด้านบนที่เปิดโล่ง..แต่ในความเป็นจริง เราแค่ขับไปที่เซเว่นฯ ในหมู่บ้าน 500 เมตรจากจุดเกิดเหตุ คุณเธอก็บอกให้ผมจัดการปิดหลังคานั่นซะเพราะทนความร้อนของแดดตอนกลางวันไม่ไหว
และแม้ว่าเธอจะดูตื่นเต้นตื่นตาไปกับบุคลิกและลักษณะของรถ แต่ในความเป็นจริงเธอแทบไม่เคยขับรถเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นเมื่อผมแย๊บคันเร่ง SLC43 แค่เพียง 1/3 รถก็พุ่งไปอย่างน่ากลัว ตามมาด้วยเสียงจาก Humanoid Speed Limiter (HSL) ว่า “ช้าๆ แก ชั้นกลัว ชั้นไม่เคยนั่งรถเร็วๆ” พอผมแกล้งกดคันเร่งอีกดอกสองดอก ระบบก็เตือนว่า “แก ชั้นซีเรียสว่ะ”
นับจากนาทีนั้น ม้า 367 ตัวใต้ฝากระโปรงโดนลูกดอกยาสลบยิงไป 330 ตัว อีก 37 ตัวที่เหลือก็เดินอย่างเจียมตัวภายใต้ความเร็วและอัตราเร่งที่ Nissan March บรรทุกเต็มคันยังฮา SLC43 ที่ปิดหลังคาแล้วโดนจำกัดพลัง ก็เหลือค่าแค่รถแคบๆ เสียงหลังคาลั่นๆ ช่วงล่างแข็งแถมดิ้นชวนอึ้กอั้กไปตลอดทาง ทริปไปกลับ 70 กิโลเมตรของเราส่วนมากอยู่ในบรรยากาศนี้ ถ้าไม่นับบทสนทนา เมาท์ชาวบ้านตามประสาหญิงเจอกับชายที่พูดจาภาษาเหมือนเกย์…แค่ว่ามันไม่ใช่เกย์
อย่างไรก็ตาม “ฝัน 1 วัน” ของผมจบลงด้วยดี บางทีอาจจะเป็นเพราะกาแฟอร่อย และกลิ่นน้ำหอมล็องแว็งปะครี (Lanvin Paris) ที่เธอประพรมราวกับน้ำมนต์มานั้นทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลายอย่างประหลาดท่ามกลางเสียงรบกวนจากชุดหลังคาและความดีดเด้งของช่วงล่าง มีบางช่วงที่เธอเปิดโอกาสให้ผมลองกดคันเร่งได้บ้างแต่นั่นก็คืออีก 3 กิโลเมตรจะกลับถึงคอนโดฯเธอแล้ว
มาถึงวรรคนี้ คุณอาจจะจับใจความได้แล้วว่าถ้าเราไม่คิดจะใช้ประโยชน์จากการเปิดหลังคากินลม รถอย่าง SLC43 ก็ดูจะไม่มีประโยชน์อะไรเหลือให้รักอีก..แต่ยัง..ยังก่อน เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณควรเรียนรู้เกี่ยวกับรถคันนี้ก่อนที่จะจ่ายเงินเกือบ 5 ล้านเพื่อซื้อมัน
รถ 1 คันมีเรื่องให้คุณตัดสินมากกว่าแค่คำว่า แรงหรือไม่ นุ่มนวลหรือเปล่า เกาะถนนหรือเปล่า ในลักษณะเดียวกับที่จะมีแต่ผู้ชายบ้าๆแต่งงานกับผู้หญิงแค่เพราะหน้าตา สัดส่วน หรือหน้าอก โดยไม่ได้ค้นหาเสน่ห์นับร้อยที่ซ่อนไว้ ดังนั้นถ้าอยากรู้ มันก็ต้องลองกันให้สุด
และเพื่อเป็นการสมนาคุณผู้อ่าน ไหนๆจะทดสอบ SLC กันทั้งที อย่ากระนั้นเลย พี่หมูกับพี่ J!MMY คุยกับทาง Mercedes-Benz Thailand แล้วขอ SLC300 AMG Dynamic มาทดสอบด้วยอีกคัน จะได้รู้กันไปเลยว่ามันคุ้มหรือไม่ที่จะจ่ายเงินอีก 1 ล้านบาทแลกกับสายพันธุ์ AMG แท้ 6 สูบเทอร์โบขับหลัง!
หากโดยปกติ รีวิวของ Headlightmag จะต้องมีประวัติการพัฒนารถประกอบบทความยาวประมาณน้องๆ แม่น้ำฮวงโห แต่เนื่องจาก SLC รุ่นใหม่นั้น ก็คือ SLK R172 ที่ผ่านการไมเนอร์เชนจ์มานั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณต้องการอ่านประวัติการพัฒนาของรถ SLK บอดี้ R172 ล่ะก็ J!MMY เคยเขียนไว้อย่างละเอียดในบทความทดลองขับ SLK200 ตั้งแต่ปี 2013 แล้วล่ะครับ สามารถคลิกที่ลิงค์นี้ เพื่อเปิดอ่านดูได้เลย
ส่วน SLC นั้น Mercedes-Benz เผยข้อมูลเป็นครั้งแรกในวันที่ 15 ธันวาคม 2015 ว่าตระกูล SLK จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น SLC พร้อมทั้งมีการปรับโฉมภายนอก ภายใน รวมถึงเปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2016 ซึ่งเป็นวาระฉลองครบรอบ 20 ปีที่ SLK รุ่นแรก (R170) เปิดตัวสู่ตลาดโลก
ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อ? เหตุผลสั้นๆครับ..เพราะเบนซ์ต้องการให้ชื่อสื่อถึงตัวรถอย่างที่มันเป็น และมีความสอดคล้องกันกับวิธีการเรียกรถในอนุกรมอื่นๆ (เหรอ?) อย่างเช่น ML เขาก็เปลี่ยนเป็น GLE เพื่อที่จะได้สอดคล้องกับตัว E ซึ่งทำให้คนนึกถึง E-Class ซึ่งเป็นรถขนาดกลางๆของค่าย ส่วน GL ก็คือ Gelanden บ่งบอกว่าเป็นรถประเภทใต้ท้องสูงกว่ารถเก๋งปกติ ดังนั้น GLC ก็คือรถใต้ท้องสูงที่มีระดับเท่ากับ C-Class และ GLA ก็คือ A-Class ยกสูง
ดังนั้น SLK (Sport-Licht-Kompakt) จึงกลายเป็น SLC โดยความหมายของ C ตัวหลังก็คือทั้งขนาดตัว Compact และแสดงถึงระดับของรถว่าใกล้เคียงกับ C-Class ในหลายด้าน แต่ตัวอักษรดังกล่าวกลับทำให้หลายคนนึกถึง Mercedes-Benz ตัวถัง SLC C107 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นคูเป้ ฐานล้อยาว หลังคาแข็งของ SL ตัวถัง R107 ทั้งๆที่รูปแบบและขนาดของรถไม่ได้เหมือนกันเลย
ส่วนความเปลี่ยนแปลงอื่นๆนอกเหนือจากชื่อรถ ก็คือฝากระโปรงหน้าแบบ Arrow-shape ใหม่ มาพร้อมกระจังหน้าแบบ Diamond radiator grill และไฟหน้ากับกันชนทรงใหม่ ส่วนด้านหลังนั้น มีไฟท้ายใหม่ซึ่งเป็นแบบ LED ย้ายชุดไฟเลี้ยวกับไฟถอยหลังจากด้านบนไปอยู่ด้านล่าง กับกันชนท้ายทรงใหม่
จากนั้นทาง Mercedes-Benz ก็ปรับภายในเพิ่มเติมด้วยพวงมาลัยสปอร์ต 3 ก้านแบบใหม่ มาตรฐานที่ดูเกือบจะเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนจอ MID ตรงกลางเป็นจอสีแบบเบนซ์รุ่นใหม่ๆ จอกลางที่แดชบอร์ดมีขนาดโตขึ้น เปลี่ยนสวิตช์ควบคุมกับระบบมัลติมีเดียต่างๆและปรับวัสดุตกแต่งอีกเล็กน้อย
สำหรับบ้านเรา Mercedes-Benz Thailand นำร่องด้วย SLC300 ก่อน โดยเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2016 แล้วตามมาด้วย SLC43 ในเดือนสิงหาคม 2016 โดยทำตลาดบอดี้ SLC ด้วยเครื่องยนต์เพียง 2 แบบนี้เท่านั้น
SLC300 (รหัสตัวถัง WDD172438) มีขนาดตัวถังยาว 4,143 มิลลิเมตร กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,301 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,430 มิลลิเมตร ความกว้างระยะแทร็คล้อหน้า/หลัง อยู่ที่ 1,551 และ 1,568 มิลลิเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd=0.33 ถังน้ำมันมีความจุ 60 ลิตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตามที่แจ้งสรรพสามิต อยู่ที่ 1,505 กิโลกรัม
SLC300 AMG Dynamic แบบที่เห็นอยู่นี้มีราคา 3,990,000 บาท โดยการที่เป็นรุ่น AMG Dynamic ทำให้ได้อุปกรณ์เพิ่มเติมมา เช่นกันชนแบบ AMG Dynamic (ส่งผลให้รถยาวกว่าสเป็คมาตรฐาน 10 มิลลิเมตร) ล้ออัลลอย AMG Sport ปัดเงารหัสออพชั่น 91R ขอบ 18 นิ้ว ซึ่งปกติจะเป็นล้อมาตรฐานของ SLC43 แต่พอมาอยู่กับ SLC300 ก็จะได้ยางที่ขนาดหน้าแคบกว่า นอกจากนี้ Mercedes-Benz Thailand ยังเลือกชุดสปริงและโช้คอัพแบบ Sports (เตี้ยลงประมาณ 10 มิลลิเมตร) มาให้
ส่วน SLC43 (รหัสตัวถัง WDD172466) มีขนาดตัวถังยาว 4,143 มิลลิเมตร กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,304 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,430 มิลลิเมตร ความกว้างระยะแทร็คล้อหน้า/หลัง อยู่ที่ 1,551 และ 1,568 มิลลิเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd=0.36 ถังน้ำมันเพิ่มความจุจากรุ่น SLC300 อีก 10 ลิตร เป็น 70 ลิตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตามที่แจ้งสรรพสามิตอยู่ที่ 1,595 กิโลกรัม
รถทดสอบของเรา มีราคาตั้งเอาไว้ที่ 4,990,000 บาท อุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งจะเป็นแบบมาตรฐานของ Mercedes-AMG อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นชุดกันชนหน้า/หลัง ช่วงล่างที่ใช้สปริงกับโช้คอัพ AMG Sports ลดความสูงจากแบบมาตรฐาน 10 มิลลิเมตร หรือท่อไอเสียแบบ Sports Exhaust แต่สิ่งที่เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษในเมืองนอกแล้วทางเมืองไทยจัดมาให้เลยก็คือล้ออัลลอย AMG 10 ก้านปัดหน้าเงา ขนาด 18 นิ้ว รหัสออพชั่น 607
สำหรับรายละเอียดอุปกรณ์อื่นๆของ SLC ทั้ง 2 รุ่น สามารถดูได้จากกระทู้ที่พี่หมูแกสรุปรวมเอาไว้ให้ คลิกที่นี่ได้ครับ
ถ้าคุณมองจากรูปรถที่ 2 รุ่น จะเห็นได้ว่ามันเหมือนกันราวกับแฝด โดยหากมองจากภายนอก วิธีที่คุณจะสามารถบอกความแตกต่างระหว่าง “Real AMG car” อย่าง SLC43 กับ “AMG Dress-up” อย่าง SLC300 ก็มีเพียงแค่จุดที่ Real AMG แตกต่างจาก AMG Dress-up (SLC300) ก็คือล้ออัลลอย, สปอยเลอร์ท้ายขนาดเล็กจิ๊ดริด (จะเรียกตูดเป็ดยังขืนปากเลย), สัญลักษณ์ “BITURBO” ที่แก้มหน้ารถ, เบรกหลัง (ของ SLC43 มีการเจาะรู) และท่อไอเสีย ซึ่ง SLC300 ออกข้างละ 1 ท่อ แต่ SLC43 ออกข้างละ 2 ท่อ และแค่นั้น กันชนหน้ามีความคล้ายกันมากจนอาจแยกไม่ออกถ้ามองรถวิ่งเข้าหาเราจากด้านหน้า
ส่วนความแตกต่างภายใน รายละเอียดอื่นๆ รวมถึงการขับขี่ และบุคลิกของรถ อ่านต่อได้นับจากวรรคนี้เป็นต้นไป
ระบบล็อคประตู ยังคงเป็น กุญแจแบบ KEYLESS-GO พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer หน้าตาเหมือนกับกุญแจของ Mercedes-Benz รุ่นเก่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่กุญแจทรงมนทันสมัยแบบของ E-Class W213 ยังดีหน่อยที่คราวนี้ มีปุ่ม Push Start สีเงินสวยงามมาให้เสร็จสรรพ ไม่ต้องเสียบกุญแจแล้วบิดสตาร์ทรถกันอีกต่อไป
ถ้าคุณพกกุญแจมากับตัว ทันทีที่เดินเข้าใกล้รถ ดึงมือจับประตูเข้าหาตัวได้ทันที ไฟเลี้ยวทั้ง 2 ฝั่ง จะกระพริบ เปิดบานประตูกางออกได้เลย และเช่นเดียวกัน เมื่อปิดประตูแล้ว เอานิ้วแตะที่ร่องสี่เหลี่ยม บนมือจับประตูระบบจะสั่งล็อกประตูทั้ง 2 บาน กับฝาห้องเก็บของด้านหลัง
ทั้ง 2 รุ่น ยังคงมีไฟส่องสว่างพื้นที่รอบข้างบานประตู ติดตั้งที่ใต้กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อ ช่วยให้คุณเห็น พื้นที่รอบๆตัวรถ เศษหมากฝรั่ง และกองขี้หมาในยามค่ำคืนได้ ก่อนก้าวขึ้นรถ แต่รุ่น SLC 43 จะพิเศษกว่าใครเพื่อน เพราะเมื่อปลดล็อครถ จะพบไฟส่องสว่างเป็นสัญลักษณ์ Mercedes Benz พร้อมโลโก้ ดาวสามแฉก บนพื้นถนน ดูเก๋ไก๋ไม่น้อยในสายตาของบางคน ซึ่งไม่ใช่ผมแน่นอน..ทำเป็นโลโก้ AMG ขนานไปกับตัวรถสิน่าจะดูดีกว่ากันเยอะ
การลุกเข้า – ออกจากตัวรถนั้น ยังคงเหมือนกับ SLK 200 คันเดิม แม้ว่า SLC จะเป็นรถที่มีตำแหน่งเบาะนั่งเตี้ย แต่ผมกลับพบว่า การหย่อน บั้นท้ายลงไปนั่งบนเบาะคนขับนั้น แค่เล็งตำแหน่งขาให้ดีๆ ก็สามารถเข้าไปนั่ง และลุกออกจากรถได้สะดวกกว่า Toyota 86 / Subaru BRZ ชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นเบาะรองนั่ง (Hip Point) ของ SLC สูงกว่า 86 / BRZเล็กน้อย ส่วนการลุกออกจากรถ (โดยเฉพาะสำหรับคนอ้วนมากๆ) ก็ไม่ยาก เอามือขวายันตรงกลอนยึดประตูแล้วดันตัวขึ้นก็ได้แล้ว
บานประตูยังคงเป็นแบบไร้เสากรอบ (Frameless Door) ตามธรรมเนียมของรถยนต์ Coupe และ Roadster ขนาดเล็กในยุคสมัยเดียวกันนี้ แผงประตูด้านข้าง มีพนักวางแขนพร้อมมือจับประตูในตัว แบบยาว ที่สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดี (ถ้าคุณปรับเบาะนั่งลงเตี้ยสุด) ด้านบนทั้ง 2 ฝั่ง เป็นตำแหน่งติดตั้งแผงสวิตช์ปรับเบาะนั่งด้วยไฟฟ้า มือจับเปิดประตูตามปกติ บริเวณนี้ จะตกแต่งด้วยแผงอะลูมิเนียม ตัดกับพลาสติกชุบโครเมียมในบางจุด และใน SLC43 จะมีลำโพงขนาดเล็ก ปะโลโก้ Harman Kardon มาให้ด้วย
น่าเสียดายว่า ด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่ข้วของจุกจิกมาให้ก็จริง แต่มันเป็นเพียงหนังสังเคราะห์ ที่ทำออกมาให้ดูละม้ายคล้ายกับรถสปอร์ตปิดประทุนของ Mercedes-Benz ในอดีตหลายๆรุ่น หากแต่ใช้งานจริงไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะถ้าต้องการวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ไว้ที่ช่องใส่ของดังกล่าวละก็ เลิกคิดไปได้เลย ขวดน้ำจะต้องวางนอนลงไปตลอดเวลา ไม่สามารถจับตั้งขึ้นมาได้
เบาะนั่ง คู่หน้า ปรับตำแหน่งได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ 3 ตำแหน่ง ครบทั้ง 2 ฝั่ง ทำงานเชื่อมกับพวงมาลัยปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง มีระบบ Easy Entry ถอยเบาะและยก/ถอยพวงมาลัยหลบเพื่อให้เข้าออกรถได้ง่ายๆทั้งในรุ่น SLC300 และ SLC 43 ตัวเบาะนั้นแม้ไม่อาจปรับเอนนอนได้มากนัก เพราะขนาดห้องโดยสารไม่เอื้ออำนวย แต่ก็พอจะปรับพนักพิงเอนลงได้นิดหน่อย เลื่อนเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ และปรับพนักศีรษะได้นิดนึง
โครงสร้างตัวเบาะ และรูปร่างหน้าตา ยังคงเกือบเหมือน SLK รุ่นเดิม คือ ถูกออกแบบให้พนักศีรษะ รวมเข้ากับพนักพิงเป็นชุดเดียวกัน อาจจะแตกต่างเล็กน้อย ตรงบริเวณ ลวดลายและตำแหน่งของการเย็บตะเข็บเข้ารูป ของเบาะรองนั่ง เท่านั้น ในช่วงแรกของการนั่งโดยสาร จึงยังไม่มีปัญหาอะไรมากนัก พนักพิงหลังซัพพอร์ทดีประมาณหนึ่ง พนักศีรษะ ไม่ดันกบาล เบาะรองนั่งมีความยาวกำลังดี ปีกพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง ซัพพอร์ต สรีระผู้ขับขี่และผู้โดยสารขณะเข้าโค้งไว้ได้ กำลังดี สำหรับรถยนต์ประเภทนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป สัก 1 ชั่วโมง หากคุณยังไม่ยอมจอดรถแวะพักข้างทาง อาการปวดบั้นเอวฝั่งซ้าย ใกล้กับกระดูกสันหลัง จะเริ่มเกิดขึ้น ทางเดียวที่พอจะบรรเทาได้ คือ ปรับยกเบาะรองนั่งให้สูงขึ้นอีกนิดๆ เพื่อลดการลาดชันของเบาะรองนั่ง
คุณอาจจะมองว่ามันเป็นปัญหาส่วนตัวของผู้ขับขนาดใหญ่แบบผม แต่ข่าวดีคือ J!MMY ก็เจออาการที่ว่า เมื่อต้องขับรถต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ แต่สำหรับ J!MMY นั้น เจ้าตัวบอกว่า พอรับมือได้ แต่กับ เจ้าเติ้ง Kantapong Somchana น้องใน The Coup Team ของเรา ถึงขั้นต้องไปพบแพทย์ จากอาการปวดหลังอย่างเฉียบพลัน กันเลยทีเดียว ทั้งๆที่ตัวมันเองก็อายุเพิ่ง 20 ต้นๆ แถมยังผอมราวตั๊กแตนกิ่งไม้
นอกจากนี้เวลานั่งแล้วแผงประตูซึ่งจะบีบดันไหล่ขวา (เป็นเรื่องปกติของโรดสเตอร์ตัวเล็กแบบนี้ล่ะครับ) ทำให้เวลานั่ง ต้องเอียงตัวไปทางซ้ายมากกว่าปกติถึงจะขยับแขนหมุนพวงมาลัยได้ถนัด ผมกลับรู้สึกว่าแม้ 86/BRZ จะเข้าออกยากกว่านิดหน่อย แต่พอลงไปนั่งแล้วมีเนื้อที่ให้ขยับตัวมากกว่า แม้แต่ Porsche 718 Boxster ก็ยังมีพื้นที่ตรงไหล่ขวามากกว่าเบนซ์นิดๆ ส่วน MX-5 นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะมีพื้นที่น้อยกว่า SLC ไปอีก จึงเป็นรถที่คู่ควรกับคนผอมเท่านั้น
เข็มขัดนิรภัยของทั้ง 2 รุ่น เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบ ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter เฉพาะรุ่น SLC 43 สายเข็มขัดทั้ง 2 ฝั่ง จะเป็นสีแดง เช่นเดียวกับ Mercedes-AMG A45 และ CLA 45
ส่วนตัวเบาะนั่งนั้น ทาง Mercedes-Benz Thailand มีเบาะให้เลือก 4 สี คือ สีดำล้วน, ดำตัดขาว, น้ำตาล และสีดำตัดแดง ซึ่งรถที่นำเข้ามาก็จะจัดสีเบาะให้เข้ากับตัวรถ เช่นรถสีเข้มอาจได้เบาะดำ รถสีอ่อนอาจได้เบาะสีดำตัดแดง แต่ถ้าลูกค้าต้องการสั่ง Combination สีรถกับเบาะที่ไม่ตรงกับรถที่นำเข้า ก็อาจจะใช้เวลารอรถนานหน่อย (ส่วนตัวผมชอบเบาะสีน้ำตาล ไม่ก็ดำตัดแดง)
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ยังคงมีขนาดเท่าเดิม คือ 225 หรือ 335 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเปิด หรือ ปิดหลังคาพับเก็บลงมาในห้องเก็บสัมภาระด้านหลังด้วย หรือไม่ ถ้าต้องการพับหลังคาลงมา ต้องดึงถาดพลาสติกแบบคว่ำ ให้เลื่อนมา ลงล็อกอย่างที่เห็นในภาพแรกด้านบนนี้ มิเช่นนั้น หลังคาจะเปิดพับไม่ได้ เพราะไม่มีที่เก็บ (ในความเป็นจริง ถาดที่ว่า อาจจะเด้งกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมของมันได้ ถ้ารถตกหลุม หรือตัวล็อกเริ่มเสื่อมสภาพ)
รุ่น SLC43 จะมียางอะไหล่ใส่ห่อ วางเอียงเอาไว้แบบนั้น ทำให้สงสัยว่าพื้นที่จุสัมภาระจะได้ตัวเลขตามมาตรฐาน VDA จริงหรือไม่ และยังทำให้พื้นห้องเก็บสัมภาระไม่เรียบ จากเดิมที่ไม่ได้โตอยู่แล้ว
แต่พอเป็น SLC300 ก็จะได้พื้นฝากระโปรงท้ายแบบเรียบกลับมาเหมือนสมัยเป็น SLK200 โดยเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ขนาดเล็ก หน้าตาเหมือนกับที่พบใน SLK รุ่นเดิม และมีเครื่องมือประจำรถแถมมาให้ ตามมาตรฐานของรถเยอรมัน และมีชุดปฐมพยาบาล (Made in Thailand) แถมมาให้ด้วยแม้ว่าเมื่อเอา VIN ของรถไปเช็คตามเว็บไซต์แล้วจะเจอคำว่า First Aid Kit Deletion ก็ตาม (E-Class CKD ก็เจอแบบเดียวกัน)
สำหรับคนที่คิดจะบรรทุกสัมภาระเดินทางไกลๆกับแฟน ผมแนะนำว่าอย่าหาเรื่องนอนเกิน 2 คืน ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะไม่รู้ว่าควรจะเอากระเป๋าใบใหญ่ของแฟนไว้ตรงไหน ส่วนใครก็ตามที่เป็นนักกอล์ฟ..คุณพ่อของผม ผู้ซึ่งถือคติว่ารถที่ใส่ถุงกอล์ฟด้านท้ายไม่ได้คือรถที่ไร้ประโยชน์ ก็ลงทุนเอาตลับเมตรมาวัดความกว้างห้องสัมภาระให้ แล้วก็พบว่ามันไม่สามารถยัดถุงกอล์ฟใบโปรดของท่านได้
ทางเดียวที่จะทำได้ ก็คือต้องใช้ถุงกอล์ฟแบบหัวนุ่ม สูงไม่เกิน 130 เซนติเมตร และอาจจะต้องเอาหัวไม้ 1 ที่ยาวมากๆออกไปด้วย ดังนั้น Golfer ทั้งหลายที่เตรียมจะจอง SLC..คุณอาจจะอยากลองเอาถุงกอล์ฟใบโปรดไปลองวัดดูก่อนนะครับ
แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก SLK รุ่นเดิม ช่องแอร์ ทุกตำแหน่ง ยังคงเป็นพลาสติกชุบโครเมียม แบบวงกลม สี่แฉก หมุนแฉกตรงกลางเพื่อปิด-เปิดช่องรับอากาศ หรือขยับเลื่อนขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา เพื่อปรับทิศทางแอร์ ตามใจชอบ มีการเปลี่ยนวัสดุแค่ในบางจุดเพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น และมีนาฬิกาอนาล็อกเพิ่มขึ้นมาด้านบนตอนกลางของแดชบอร์ด
ในยามค่ำคืน จะมีแสงไฟ Ambient Light สีแดง หรือ “ไฟไดหมึก” บริเวณขอบทั้ง 2 ฝั่งของแผงประตู ใต้พื้นที่วางแขน และขอบทั้ง 2 ฝั่งของแผงควบคุมกลาง รวมทั้ง ไฟส่องพื้นที่วางขา จะสว่างขึ้นมา เพื่อสร้างบรรยากาศภายในห้องโดยสาร ให้ดู “วาบหวาม” ขึ้น
เหมือนอยู่ใน Lounge นิดนึง สามารถปรับเลือกได้ 3 สีคือแดง, ขาว และน้ำเงิน
แถบโค้ง ที่โผล่ขึ้นมาทางกลางแผงหน้าปัด และอยู่ตรงกลางระหว่าง เสาค่ำยันเหนือเบาะนั่งทั้ง 2 ฝั่ง เป็น สัญญาณไฟแจ้งเตือนของระบบเซ็นเซอร์ช่วยการจอด Parktronic ว่า เข้าใกล้วัตถุแค่ไหนแล้ว เหมือนเช่น Mercedes-Benz คันอื่นๆ
บรรยากาศในห้องโดยสารโดยรวม ถ้าไม่คิดว่ามันคือชุดภายในที่ยกมาจาก SLK มันก็มีดีไซน์ที่สวยงาม เหมาะสมกับรูปแบบของรถประเภท Roadster โดยจุดที่ทำให้สังเกตได้ถึงความเก่า ก็คงเป็นเรื่องขนาดของจอกลาง (เพราะแดชบอร์ดถูกออกแบบในยุคที่จอยังไม่ใช่ส่วนสำคัญของรถมากขนาดนั้น) และปุ่มควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะปุ่มคุมจอกลางที่ยังไม่เป็น Touchpad แบบ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ในความเห็นส่วนตัวผม..มันก็ยังดูดีอยู่โดยเฉพาะตอนกลางคืน แสงไฟและการตกแต่งทำให้ห้องโดยสารดูมีเสน่ห์แบบผับหรูๆอย่างที่เบนซ์ส่วนมากเป็นกัน
ด้านหลังพนักพิงศีรษะ จะเป็นคานกันกระแทก (Roll-over bar) ซึ่งทั้ง SLC300 และ SLC43 สเป็คไทยจะได้ Airguide Package (Code 283) ที่มี Roll-over bar สีเงิน กับแผ่นกันลมตีกลับเข้าห้องโดยสารแบบโปร่งใสสามารถหมุนมาปิดพื้นที่ระหว่างศีรษะคนนั่งและคนขับได้บางส่วน
ด้านขวาสุดของแดชบอร์ด (ซ่อนอยู่หลังพวงมาลัย) จะมีชุดสวิตช์ไฟหน้าแบบหมุน สำหรับปรับไว้ตำแหน่ง A (Auto) เพื่อให้ไฟทำงานเองโดยอัตโนมัติได้ ถัดมาทางซ้าย จะเป็นชุดสวิตช์ไฟตัดหมอกหลัง และเยื้องขึ้นไปหน่อย ก็จะมีปุ่มสตาร์ทสีเงินสวยงามอยู่แทนที่ช่องเสียบกุญแจของเดิมใน SLK ส่วนสวิตช์เบรกมือไฟฟ้าจะอยู่ข้างล่าง ต้องเอื้อมเล็กน้อย ไม่มีสวิตช์สำหรับ Auto Brake Hold เพราะระบบของเบนซ์ใช้วิธีเหยียบเบรกย้ำลึกๆตอนจอด ระบบจะทำงานเลย
พวงมาลัยแบบ 3 ก้านแบบใหม่ ท้ายตัดยิ่งกว่าพวงมาลัยของ SLK200 เดิม มีส่วนกระชับมือ พร้อมลายจุดที่ทำให้สากมือกว่าปกตินิดๆ บริเวณตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา เป็นพวงมาลัยที่ออกแบบมาได้ดี จับถนัดมือไม่ว่าจะเป็นยามเดินทางไปเรื่อยๆ ภายใต้สปีดลิมิตของแฟนคุณ หรือโลดแล่นไปบนทางโค้ง โดยเฉพาะเวลาเลี้ยวครบวงแล้วต้องปล่อยมือมาจับไขว้ (Cross-hand) ในโค้ง U-Turn บอกได้เลยว่าถนัดมือนักซิ่งจนนึกว่ากำลังจับพวงมาลัย WRX STi อยู่ มี Paddle shift มาให้ทั้งรุ่น SLC300 และ SLC43
คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ยังคงเป็นตำแหน่งที่อยู่อาศัยของทั้ง ก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว ไฟสูง และระบบบังคับใบปัดน้ำฝน (หมุนที่หัวก้านสวิตช์) ใบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ พร้อมยังมี Rain Sensor วัดปริมาณน้ำฝน เพื่อเพิ่มหรือลดการปัดให้เหมาะสมจากโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีก้านของทั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control กระดกก้านเข้าหาตัวล็อคความเร็วได้ในทันที พอกระดกสวิตช์เบาๆซ้ำก็เป็นการเพิ่ม/ลดความเร็วครั้งละ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้ากระดกแรงหน่อยจะเพิ่ม/ลดทีละ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมี Speed Limit Assist ในตัว เช่นเดียวกันกับ Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ การใช้งานก็คือ ถ้าต้องการขับด้วยความเร็ว บนทางด่วน ไม่ให้เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็กดก้านสวิชต์ลงไปให้ไฟสีเหลืองอำพันติดสว่างขึ้นมา แล้วยกก้านสวิชต์ กระดกขึ้นไปจนสุด 1 ครั้ง เพียงเท่านี้ ต่อให้เหยียบคันเร่งจมมิดความเร็วของรถ ก็จะอยู่ที่แค่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือที่เราตั้งค่าไว้เท่านั้น
ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 2 Pod แยกซ้ายขวา มีจอ Multi-Information Display อยู่ตรงกลาง ซึ่งถ้าสังเกตเทียบกับ SLK200 ที่เราเคยขับหลายปีก่อน ก็จะเห็นได้ว่าจอกลางเปลี่ยนมาเป็นแบบสีตามยุคสมัย (ถ้ายังให้มาขาวดำแบบเดิมพ่อจะชกจอให้แตก)
รูปแบบของมาตรวัด เรียบง่ายและสวยงามพอประมาณ พื้นมาตรวัดบางส่วนทำเป็นลายตารางหมากรุก ส่วนกลางคืน ตัวเลขบนมาตรวัดจะเรืองแสงจากข้างหลังเป็นสีขาว ตัดกับเข็มสีแดง ซึ่งช่วยให้อ่านค่าได้ไม่ยาก ถึงไม่ตระการตาแบบพวกมาตรวัดจอ TFT ยุคใหม่แต่ก็ดูลงตัวกับรูปแบบของรถที่เป็นสายซิ่งกินลมดีแล้ว
หากมองเผินๆ คุณอาจจะนึกว่า SLC300 กับ SLC43 ใช้มาตรวัดชุดเดียวกัน แต่จริงๆแล้วมันต่างกันครับ อย่างแรกเลย มาตรวัดความเร็วของ SLC43 จะไปสุดที่ 280 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้นสังเกตแถบแดงบนมาตรวัดโดยเฉพาะที่วัดรอบ จะมีลวดลายต่างกัน
ส่วนจอ MID ขนาด 4 นิ้วตรงกลางนั่น สามารถแสดงค่าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Trip Meter, อัตราการสิ้นเปลือง, ความเร็วเป็นตัวเลขดิจิตอล นอกจากนี้ การที่ SLC ยังใช้ Software Interface จอกลางที่ค่อนข้างเก่า ทำให้การปรับตั้งค่าต่างๆของตัวรถต้องมาทำบนจอหน้าปัดนี้แทนที่จะเป็นจอกลาง คุณสามารถเซ็ตค่าต่างๆ เช่น ให้กระจกพับเวลาล็อครถ, ให้มีเสียงแตรเวลาล็อครถ, ตั้งระบบล็อครถอัตโนมัติ, ปิด/เปิดไฟ Daytime Running Light, ปรับความสว่างและสีสันของ Ambient Light, ปรับการทำงานของระบบ Active Braking และระบบความปลอดภัยต่างๆ ทุกอย่างต้องกระทำผ่านจอนี้ โดยใช้สวิตช์เลือกและกด OK ที่ก้านซ้ายของพวงมาลัย
สิ่งที่ผมชอบมากและมีในเฉพาะ SLC43 ก็คือชุด AMG Meter ซึ่งแสดงค่าความเร็วไปพร้อมๆกับ อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง อุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำ และอุณหภูมิน้ำมันเกียร์ นี่คือสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการขับในสนามแข่ง และ SLC43 ก็มีมาให้ ถึงแม้เวลาอ่านค่าจริงๆจะยากสักหน่อยเพราะตัวเลขมันเล็ก และยังขาดวัดบูสท์อยู่ก็ตาม (พูดตามตรงว่าอยากลองออกแบบจอนี้ให้ใหม่ ผมคิดว่ามันน่าจะจัดเรียงให้อ่านค่าได้ง่ายและครบกว่าที่เป็นอยู่)
ชุดเครื่องเสียง ในรุ่น SLC 300 ยังคงเป็นแบบ Audio 20 ที่ให้คุณภาพเสียงแค่พอฟังข่าวได้ดี และฟังเพลงแค่พอให้รู้ว่า นี่คือเพลงอะไร โดยไม่ต้องไปสนใจเรื่องคุณภาพเสียงมากนัก ทว่า รุ่น SLC 43 จะให้ชุดเครื่องเสียง Harman Kardon Logic7 มา ซึ่งก็ขยับคุณภาพเสียงจนดีเพิ่มขึ้นอีกนิด มิติเสียงและความใสเพิ่มขึ้นพอสมควร
จอกลางมีขนาดไม่โตนัก สามารถใช้ดูฟังก์ชั่นได้หลายอย่าง เช่น Media, ระบบนำทาง, อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง, เชื่อมต่อโทรศัพท์ และใช้ปรับ Individual Mode ของฟังก์ชั่น Dynamic Select การตอบสนองของเครื่องยนต์และคันเร่งมี 3 ระดับ ส่วนน้ำหนักพวงมาลัยปรับได้ 2 ระดับ และปรับการทำงานของระบบ Auto Start/Stop ได้ เจ้าของรถสามารถเลือกเซ็ตแบบที่ต้องการ เช่นจะให้พวงมาลัยหนัก แต่เครื่องยนต์กับคันเร่งตอบสนองแบบ Comfort ก็ได้ (เพราะโดยปกติโหมด Comfort จะมาคู่กับการเซ็ตพวงมาลัยแบบเบา)
มันอาจจะเป็นจอที่ดูอลังการงานสร้างมากถ้านี่คือปี 2011 แต่สำหรับปี 2017 ผมคิดว่ากราฟฟิกต่างๆจะสวย แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานยังจำกัด หลายอย่างที่ควรใช้จอกลางขนาดใหญ่เพื่อการเซ็ตได้ง่ายๆ กลับต้องไปทำบนจอ MID บนหน้าปัด และสวิตช์ควบคุมก็ยังเป็นปุ่มหมุนเหมือน SLK ไม่มี Touchpad แบบเบนซ์รุ่นใหม่ๆ
ถัดลงมาจากชุดสวิตช์คุมเครื่องเสียงและช่องสอด CD ก็จะเป็นที่อยู่ของชุดสวิตช์แถบสีเงินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฮีทเตอร์เป่าลมร้อน, สวิตช์เปิดปิดระบบ ESP, สวิตช์ปิด Auto Start/Stop, ไฟฉุกเฉิน, และสวิตช์ Dynamic Select ซึ่งมีปุ่มอยู่แค่ปุ่มเดียว กดซ้ำๆหลายๆครั้งก็จะเป็นการเปลี่ยนโหมด Eco>Comfort>Sport>Sport Plus>Individual (ถ้ากดเลยป้ายก็ต้องกดๆวนซ้ำอีกรอบ น่าจะลงทุนทำสวิตช์กดขึ้นได้ลงได้แบบเบนซ์รุ่นใหม่ๆสักนิด)
จากนั้น ก็จะเป็นสวิตช์ของระบบปรับอากาศ ซึ่งน่าแปลกใจมากที่รถราคาระดับ 4-5 ล้าน ยังใช้ระบบปรับอากาศแบบธรรมดา ไม่มีฟังก์ชั่น Auto และไม่แยกโซน ผมเคยถามบางคนใน Mercedes-Benz ก็ได้คำตอบว่าสำหรับรถประเภทนี้ ถ้าต้องจำกัดราคาไม่ให้เกินเป้า ก็ต้องเลือกตัดบางตัวทิ้งเพื่อเอาบางอย่างเข้า ในเคสนี้ ฝรั่งเยอรมันอาจจะมองว่าเมืองไทยเมืองร้อน และห้องโดยสารรถก็แคบแค่นั้นคงไม่จำเป็นต้องใช้แอร์ Auto หรอก ตัดตัวนี้ทิ้งแล้วไปใส่ล้อ 18 สวยๆหรือช่วงล่างสปอร์ตดีกว่า
แน่นอนว่าระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถก็ยังกวนส้นโดยการเปิดให้อากาศและควันพิษภายนอกเข้ามาในห้องโดยสารได้เป็นพักๆ เข้าใจว่าหวังดี อยากให้มีการหมุนเวียนอากาศและออกซิเจนเข้ามาบ้าง แต่อากาศเมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพนี่..น่ารักยังกะผี ส่วนปุ่ม REST ที่มาแทนปุ่ม OFF (ใน SLK200 เดิม) นั้น ตอนแรกก็งงอยู่ว่ามีไว้ทำไม…มันมีไว้กดตอนดับเครื่องแล้ว ซึ่งเมื่อกดปุ่มฮีทเตอร์จะทำงานต่อแม้เครื่องยนต์จะดับ มีประโยชน์กับเมืองหนาวเวลาต้องการให้รถอุ่นอย่างต่อเนื่อง
มันตลกนิดหน่อยตรงที่ SLC มีฟังก์ชั่นนี้ แต่ไม่มีแอร์ออโต้นี่ล่ะครับ
คันเกียร์เปลี่ยนทรงใหม่ มีขนาดเล็กเพราะเป็นคันเกียร์ไฟฟ้าแล้ว มีปุ่ม M ขนาดเล็ก ซึ่งถ้าอยากเล่น Paddle shift โดยไม่ให้สมองกลสั่งกลับไปโหมด D ระหว่างกำลังสนุก ก็ต้องกดปุ่มนี้ อันที่จริงเวลาจะรีบใช้งานก็ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่นักเพราะปุ่มมีขนาดเล็ก ไม่สะดวกเท่ารถเยอรมันค่ายอื่นที่ใช้วิธีผลักคันเกียร์เข้าโหมด M ได้
ถัดมาจากคันเกียร์ ก็เป็นสวิตช์คุมจอกลาง ส่วนสวิตช์สำหรับเปิด/ปิดหลังคามีฝาปิดซ่อนไว้ เวลาจะกางหรือเก็บหลังคาต้องกด/ดึงสวิตช์ค้างเอาไว้จนกว่าการทำงานจะเสร็จ และสามารถกดใช้งานได้ที่ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับรายละเอียดด้านการทำงานของหลังคา ลักษณะการทำงานของหลังคา และทัศนวิสัยในการขับขี่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจาก SLK200 รุ่นเดิม ถ้าคุณต้องการดูรายละเอียดจุดนี้เพิ่ม สามารถอ่านได้ที่บทความทดลองขับ SLK200 เลยครับ
***รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ****
ในตลาดต่างประเทศ SLC จะมีขุมพลังให้เลือก 5 แบบ จากเดิมที่สมัย SLK จะมี 8 ระดับความแรง โดยยกขุมพลัง 200 และ 300 กับ 250d มาจากรถรุ่นปี 2015 จากนั้นก็เพิ่ม Entry-level model อย่าง SLC180 เข้าไป ตัดรุ่น SLK350 กับ SLK55 เครื่องยนต์ V8 M152 ทิ้งแล้วใส่ SLC43 เข้าไปแทน
– SLC180 เครื่องยนต์ M274 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,595 ซีซี Turbocharger 156 แรงม้า (HP) ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิด 250 นิวตันเมตร (25.45 กก.-ม.) ที่ 1,200-4,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ แบบ 9 จังหวะ 9G-TRONIC
– SLC200 เครื่องยนต์ M274 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี Turbocharger 184 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด 300 นิวตันเมตร (30.57 กก.-ม.) ที่ 1,200 – 4,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 9G-TRONIC
– SLC300 เครื่องยนต์ M274 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี Turbocharger 245 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด 370 นิวตันเมตร (37.70 กก.-ม.) ที่ 1,300 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 9G-TRONIC เพียงแบบเดียว
– SLC250d เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี หัวฉีด Common Rail Turbocharger 204 แรงม้า (HP) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิด 500 นิวตันเมตร (50.95 กก.-ม.) ที่ 1,600-1,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 9G-TRONIC เพียงแบบเดียว
– SLC43 เครื่องยนต์ V6 สูบ DOHC 24 วาล์ว 2,996 ซีซี Twin-Turbocharger 367 แรงม้า (HP) ที่ 5,500-6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 520 นิวตันเมตร (52.98 กก.-ม.) ที่ 2,000-4,200 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 9G-TRONIC เพียงแบบเดียว
สำหรับตลาดเมืองไทย Mercedes-Benz (Thailand) สั่งนำเข้า SLC มาเพียง 2 ระดับความแรงให้เลือก เท่านั้น คือรุ่นมาตรฐาน SLC 300 และรุ่นแรงพิเศษ ภายใต้แบรนด์ Mercedes-AMG อย่าง SLC 43
SLC300 วางเครื่องยนต์เบนซิน รหัส M274.920 บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.8 : 1 หัวฉีด Direct Injection แบบฉีดหลายจังหวะ แรงดันเชื้อเพลิง 200 บาร์ พ่วง Turbocharger กำลังสูงสุด 245 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 370 นิวตันเมตร ที่ 1,300 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ 9G-Tronic พร้อม Paddle Shift อัตราการปล่อย CO2 ตามตัวเลขที่แจ้งกรมสรรพสามิตอยู่ที่ 155 กรัม/กิโลเมตร
SLC43 วางเครื่องยนต์เบนซิน รหัส M276.822 V6 DOHC 24 วาล์ว 2,996 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 88.0 x 82.1 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.7 : 1 หัวฉีด Direct Injection แบบฉีดหลายจังหวะ แรงดันเชื้อเพลิง 200 บาร์ เทอร์โบคู่ติดตั้งไว้ข้างฝาสูบรอบนอก แรงดันบูสท์ 1.1 บาร์ กำลังสูงสุด 367 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 520 นิวตันเมตร (52.98 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 4,200 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ 9G-TRONIC อัตราการปล่อย CO2 ตามตัวเลขที่แจ้งกรมสรรพสามิตอยู่ที่ 191 กรัม/กิโลเมตร
เครื่องยนต์ของ SLC43 นั้น อาจจะมีความพิเศษลดน้อยลงกว่าสมัยเป็น SLK55 อยู่บ้าง ไม่ใช่แค่เพราะแรงม้าลดลงจาก 421 เหลือ 367 ตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคาแร็คเตอร์พิเศษของเสียง V8 NA ที่มีเอกลักษณ์ และนอกจากนี้ ตัวเครื่องก็ไม่ได้ประกอบโดยวิศวกรของ AMG แต่ทำขึ้นที่โรงงานของ Mercedes-Benz เอง น่าเสียดาย แต่ด้วยแนวโน้มการคุมเข้มเรื่องมลภาวะในหลายที่ทำให้เบนซ์ต้องยอมปลดระวาง SLK55 และทำให้มันเป็น AMG เครื่องยนต์ไร้เทอร์โบรุ่นสุดท้ายที่พวกเขาผลิต
แล้วตรงไหนที่คุณควรจะดีใจ? นอกจากเรื่องที่น้ำหนักตัวเบาลงกว่ารุ่น V8 (แค่ประมาณ 20-30 กิโลกรัม..อย่าเพิ่งดีใจมากนัก) เจ้าของ SLC43 บางท่านได้ลองปรับจูนกล่องแบบ Remap พบว่ามันสามารถทำแรงม้าเพิ่มจากเดิมได้ 40 ตัว..ผมไม่ได้สนับสนุนให้แหกการรับประกันคุณภาพนะครับ แต่ในกรณีที่คุณอยากจะดวลกับ SLK55 ในสนาม มันก็มีทางกวักมือเรียกม้าเพิ่มอยู่
สำหรับเรื่องระบบส่งกำลังนั้น ทั้ง SLC300 และ SLC43 ต่างก็ใช้เกียร์อัตโนมัติ ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ 9 จังหวะแบบ 9G-Tronic (เกียร์ Code 725) ซึ่งเป็นเกียร์ลูกใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาทดแทนเกียร์ 7 จังหวะลูกเดิม อัตราทดเกียร์ของทั้ง 2 รุ่นตั้งแต่เกียร์ 1 – 9 จะเท่ากันเด๊ะ รวมถึงเกียร์ถอยหลัง แต่รหัสย่อยเกียร์ต่างกัน (SLC300=725.008 และ SLC43=725.018) แล้วก็มาต่างกันที่อัตราทดเฟืองท้าย โดยมีตัวเลขสเป็คดังนี้
เกียร์ 1 ……………….5.354
เกียร์ 2 ……………….3.243
เกียร์ 3 ……………….2.252
เกียร์ 4 ……………….1.636
เกียร์ 5 ……………….1.211
เกียร์ 6 ……………….1.000
เกียร์ 7 ……………….0.865
เกียร์ 8 ………………0.717
เกียร์ 9 ………………0.601
เกียร์ถอยหลัง 4.93 อัตราทดเฟืองท้าย 3.07 สำหรับ SLC300 และ 2.82 สำหรับ SLC43
ทั้งนี้ เกียร์ของ SLC43 จะถูกปรับจูนโดยวิศวกร AMG ให้มีลักษณะเหมือนรถซิ่งมากขึ้น รถพุ่งแรงขึ้นเวลากดคันเร่ง ในโหมด Sport กับ Sport + จะมีโหมด Double De-clutching และถ้าเข้า Sport + จะมีการตัดองศาจุดระเบิดช่วยในขณะเปลี่ยนเกียร์ และปรับการเปลี่ยนเกียร์ให้ไวกว่าในรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้เวลาใส่โหมด M เกียร์จะไม่ยอมเปลี่ยนแม้จะลากรอบจนถึงจุดที่เครื่องยนต์ตัดการทำงานก็ตามในขณะท่ถ้าเป็น SLC300 มันจะตัดขึ้นสู่เกียร์ถัดไปให้เอง
ต่อไป ก็คงเป็นหัวข้อโปรดของหลายๆคนที่มักจะ Scroll ข้ามมาดู Section นี้โดยอาตมาไม่สนหอยสนปลาใดๆทั้งสิ้น นั่นก็คือเรื่องของอัตราเร่ง
ตัวเลขที่เคลมไว้โดยทางเยอรมนี แจ้งว่า SLC300 สามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายใน 5.8 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน SLC43 นั้นจะใช้เวลาแค่ 4.7 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุด แจ้งว่าล็อคเอาไว้ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเช่นกัน แต่พอมาเจอสภาพอากาศไทยๆ กับน้ำมันไทยๆ และน้ำหนักผู้ทดสอบประมาณ 160 กิโลกรัมจะเป็นอย่างไร
ผมยกให้ J!MMY กับน้องเติ้ง Kantapong ทำหน้าที่ทดสอบอัตราเร่งจับเวลา (รวมถึงตอนทำอัตราสิ้นเปลือง) เช่นเคย เพื่อลดความเบี่ยงเบนในมาตรฐานการทดสอบไม่ให้แหวกออกจากแนวปกติ ซึ่งต้องใช้ผู้ร่วมทดสอบ 2 ท่าน (เพราะน้ำหนักตัวผมคนเดียวยังไม่มากเท่า 2 ท่านนี้รวมกัน แม้จะใกล้เคียงก็เถอะ) ขับกลางคืน เปิดไฟหน้า เปิดเครื่องปรับอากาศ ตามวิธีการทดสอบแบบที่เราทำมาตลอด…มาดูผลอัตราเร่งกันครับ
บางคนอาจจะงงว่าทำไมผมถึงทำตารางแบบละเอียดโดยมีรถหลังคาแข็งคูเป้ปนอยู่แถมมี WRX STi นี่ไอ้แพนเมาสาวแว่นจนเบลอขนาดนี้เลยรึ? เปล่าหรอกครับ ผมมองกลุ่มคนที่คิดซื้อ SLC ว่ามี 2 ประเภท คือลูกค้าประเภทที่ซื้อเพราะต้องการรถเปิดหลังคาได้อย่างแท้จริง และอีกประเภทคือกลุ่มที่ชอบรถแรงขับสนุก เน้นสมรรถนะ แต่เอา SLC เป็นตัวเลือกด้วยโดยมองการเปิดหลังคาได้เป็นของแถม
SLC300
พละกำลังจากเครื่องยนต์นั้นรุนแรง ต่อเนื่อง หากกระแทกคันเร่งจากจุดออกตัวจะทำอัตราเร่งได้เร็วกว่า SLK200 ตัวเดิมอย่างชัดเจน ใน SLK200 นั้นแรงดึงแค่แรงกว่ารถบ้าน แต่ SLC300 นั้นรู้สึกสะใจกว่าตามจำนวนม้าที่ต่างกัน การเปลี่ยนเกียร์ในยามที่กดคันเร่งแบบไม่มียกเลยนั้นจะเร็วสู้ชาวบ้านชาวช่องได้สบาย ส่วนความเร็วช่วงหลังจาก 170 ขึ้นไป เข็มจะเริ่มไต่ช้าลง แต่ก็สามารถไปถึงหลัก 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้เร็วพอๆกับรถ 2.0 ลิตรเทอร์โบม้าเยอะอย่าง RC200t แถมยังผ่านหลัก 1.7 กิโลเมตร (มีผมกับ J!MMY นั่งสองคน ตอนทำคลิป) ได้ 219 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอๆกันเสียด้วย
ถ้าเทียบกันกับ Roadster รุ่นอื่นๆ SLC300 ย่อมกินชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดบนทางตรงแบบนี้ ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้ลอง Z4 sDrive20i แต่ด้วยการที่มันเป็นเครื่องยนต์เดียวกันกับ 320i ทำให้เราคิดว่า SLC น่าจะเอาแรงม้ามาชิงชัยได้อยู่ดี ส่วน MX-5 นั้นคงไม่ต้องสืบเพราะพละกำลังกับคลาสของรถนั้นจริงๆแล้วก็เป็นไปตามที่ลูกชายพี่เจ เจตรินเขาร้องเพลงไว้ (ตอนที่ SLC ได้ 219 MX-5 ยังไต่อยู่ 197)
แต่ถ้าเทียบกับรถจากสาย Compact Performance Car ที่เป็นหลังคาแข็งอย่าง Audi TT SLC300 ก็สู้ไม่ได้ อย่างมากก็ตามได้ 3 เกียร์ เพราะ 0-100 ใกล้เคียงกันมาก แต่ 0-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง TT ใช้เวลาแค่ 26.8 วินาทีในขณะที่ SLC300 ใช้เวลา 31.35 วินาที (เป็นผมกับ J!MMY นั่งทั้งคู่)
ดังนั้นผมจึงไม่มองว่าพละกำลังเป็นจุดอ่อน เพราะมันเหลือพอจะทำให้คุณยิ้มสะใจได้ แต่พอมาเป็นอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่มีการทำงานของเกียร์มาเกี่ยวข้อง มันกลับทำตัวเลขได้ค่อนข้างน่าผิดหวังสำหรับรถที่มี 245 แรงม้า ตัวการสำคัญก็คือการเซ็ตวิธีการตอบสนองของคันเร่งกับเกียร์ เพราะเมื่อผมลองเอานาฬิกามาจับเวลา จากช่วงที่คันเร่งแตะพื้นรถไปจนถึงช่วงที่รถเริ่มมีแรงดึงจากการคิกดาวน์นั้น SLC300 ใช้เวลาถึง 2.8 วินาที ถ้าการคิกดาวน์นั้นเริ่มต้นขณะรถอยู่เกียร์สูง ซึ่งช้าพอๆกับ Lexus RC200t
และมันจะมีหลายช่วงที่เจออาการช้าน่าเหนื่อยหน่ายแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็น 80 หรือ 110 แล้วกดคิกดาวน์ ผมลองกดโหมด Sport Plus แล้วคิกดาวน์ดู ก็พบว่าช่วยลดเวลาตอบสนองลงได้ 0.3-0.4 วินาที แต่เป็นเพราะในโหมดนี้รถมักคาเกียร์ต่ำรอเอาไว้ ถ้าคุณเผลอขับนิ้งหน่องไปยาวๆจนรถเข้าเกียร์ 8 หรือ 9 แล้วคุณกระแทกคันเร่ง มันก็จะใช้เวลาประมาณ 2 วินาทีอยู่ดี ดังนั้นถ้าอยู่ในโหมดออกรบ กรุณาหัดเล่น Paddle Shift ด้วยตัวเองจะทำให้รถเร่งได้เร็วขึ้นโดยตัดระยะเวลาในการตอบสนองลงไปเกือบ 1 วินาที
การตอบสนองของเกียร์ในโหมด Comfort จะมีนิสัยคล้ายเบนซ์ยุคก่อนๆหลงเหลืออยู่บ้าง เช่นออกตัวเกียร์ 2 และต้องกดคันเร่งลึกเกียร์ถึงจะยอมคิกดาวน์ให้ นี่ถ้าเป็นเครื่องยนต์แรงบิดน้อยๆคงน่ารำคาญ แต่โชคดีมีพลังเทอร์โบช่วยจึงไม่น่ารำคาญเท่าไหร่ เครื่องยนต์ติดบูสท์และเริ่มดึงตั้งแต่ 2,400 รอบต่อนาทีในเกียร์ต้นๆ และ 1,900 รอบต่อนาทีในเกียร์ 5 ขึ้นไป ถือว่าปกติสำหรับเครื่อง 2.0 ลิตรเทอร์โบยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม เกียร์ของ SLC300 ยังไม่ฉลาดแสนรู้เท่าเกียร์ของ BMW หรือ Audi และอันที่จริง เกียร์ 9 จังหวะแบบเดียวกันที่อยู่ใน C300 Cabriolet กลับทำงานดีกว่านิดๆด้วยซ้ำ (ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม) บางจังหวะ ขนาดอยู่โหมด Sport และกำลังเล่นโค้งบนทางลาดลง โดยไม่ได้กดเบรกหรือถอนคันเร่งออก กำลังสาดอยู่ดีๆเกียร์กลับเปลี่ยนขึ้นสูงเสียดื้อๆ
แต่การใช้งานแบบทั่วไปในตัวเมือง ไม่มีปัญหา มันดีอย่างที่เกียร์อัตโนมัติควรจะเป็น และถ้าต้องขับในเมืองแบบรีบเร่ง กดโหมด Sport แล้วชีิวิตจะดีแบบกำลังพอเหมาะ
SLC43
เงิน 1 ล้านบาทที่คุณยอมจ่ายเพิ่มจาก SLC300 ดูคุ้มค่าที่สุดก็ตอนนี้ เพราะในขณะที่ SLC300 ให้แรงดึงออกตัวแบบที่ทำให้คุณยิ้ม SLC43 จะทำให้คุณฉีกยิ้มกว้างจน Joker ต้องกราบร้องขอชีวิต พลังแรงบิด 520 นิวตัน-เมตรกับเทอร์โบที่ติดบูสท์เร็วน้องๆดีเซลดึงหลังติดเบาะยาวไปพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์และเสียงท่อ (ในโหมด Sport กับ Sport Plus) เร้าใจสุดขีด มันคือรถที่ทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ดีเป็นอันดับ 3 ตั้งแต่เราเป็นเว็บไซต์นี้มา ตามหลังก็แค่ซูเปอร์คาร์อย่าง AMG GT-S และ BMW M2 แม้แต่น้องตัวแสบของมันอย่าง AMG A45 (รุ่น 2015 360 แรงม้า) ยังตามหลังมันอยู่ 0.7 วินาทีด้วยซ้ำ
ทางเดียวที่น้องแสบ A45 จะชนะ SLC43 ได้ คือต้องใช้ RACE START ดีดออกตัว (ซึ่งนี่คือออพชั่นที่ SLC43 ไม่มีให้) แต่ RACE START ก็ใช้บ่อยๆติดๆกันไม่ได้ ส่วน SLC43 นั้นคุณแค่ใส่เกียร์ D แล้วกดคันเร่งจม ชีวิตก็งามแล้ว แรงดึงของมันแทบจะกระชากรอยเหี่ยวย่นและตีนกาบนหน้าคุณไปแปะกับกระจกหลังเสียด้วยซ้ำ
พลัง 367 แรงม้า สามารถถีบส่งยาว จาก 0-200 ภายใน 21.4 วินาทีทั้งๆที่มีผมกับ J!MMY นั่งบนรถ และลากต่อจนผ่านหลัก 1.7 กิโลเมตรที่ความเร็ว 244 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นี่คือระดับความเร็วที่ห่างจาก BMW M2 แค่ไม่ถึงวินาทีและ 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในขณะที่ SLC300 ดูเหมือนจะเริ่มเหนื่อยหลัง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง SLC43 จะเดินหน้าต่ออย่างโหด แม้แต่ตอนที่ตัวล็อคความเร็วตัดที่ 261 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราเร่งยังไหลดีอยู่เลยด้วยซ้ำ
อัตราเร่งแซง 80-120 นั้น ตัวเลขดูเหมือนไม่ต่างจาก Audi TT มากเพราะการทำงานของเกียร์ยังไวสู้พวกคลัตช์คู่อย่าง TT กับ M2 ไม่ได้ และแน่นอนว่าถ้าเจอกับ WRX STi ซึ่งเป็นเกียร์ธรรมดาเข้าคารอไว้อยู่แล้วก็ยิ่งสู้ไม่ได้ แต่พอเกียร์เปลี่ยนเสร็จแล้วแรงดึงเริ่มมา STi ก็จะกลายเป็นอดีตไปในไม่กี่วินาที มีแต่รถ 6 สูบพลังสูงขับหลังด้วยกันอย่าง M2 เท่านั้นที่จะปราบ SLC43 ได้
การทำงานของเกียร์เวลาขับแบบโหดๆ ดีกว่า SLC300 อย่างชัดเจน สมกับที่คุยว่าส่งเกียร์ไปให้วิศวกร AMG จูนมา การเปลี่ยนเกียร์ขณะกดคันเร่งเต็ม กระชากและไวกว่า SLC300 เวลาคิกดาวน์ก็มีอาการหน่วงน้อยกว่า เวลาเร่งๆมาแล้วเข้าโค้งหนักๆโดยเลี้ยงความเร็วเอาไว้ ใช้ความเร็วเท่ากัน ที่โค้งเดียวกัน SLC43 จะฉลาดพอที่จะคาเกียร์เดิมไว้ให้รอกดคันเร่งออกจากโค้งได้ ไม่เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงให้เสียอารมณ์แบบ SLC300 เวลาถอนคันเร่งก็มีอาการหน่วงคล้ายเกียร์ธรรมดามากกว่า ดีจนสงสัยว่าทำไมไม่เซ็ตเกียร์ SLC300 ในโหมด Sport/Sport Plus ให้ดีแบบนี้บ้าง
ส่วนการขับแบบโหมดสันติ หรือโหมดที่โดนแฟนจำกัดความเร็ว พลังเครื่องยนต์ก็มีความยืดหยุ่นมาก ในเกียร์ 3-4 เทอร์โบเริ่มติดบูสท์มีแรงดึงตั้งแต่ 2,100 รอบต่อนาที แรงบิดเยอะจนรถดีเซลมองค้อน ทำให้ไม่ต้องคิกดาวน์ก็ไปได้ไว ขนาดโหมด Comfort ออกตัวเกียร์ 2 ยังรู้สึกเร็วพอ แต่การทำงานของเกียร์ SLC43 จะมีแรงหน่วงขณะถอนคันเร่งมากกว่า SLC300 ถ้าคุณอยู่ในโหมด Comfort มันจะยังพอขับในเมืองได้สบาย แต่ถ้าเป็น Sport หรือ Sport Plus คุณอาจเจออาการเย่อเวลาถอนคันเร่งแล้วเหยียบที่เย่อแรงกว่า SLC300 ในโหมดเดียวกัน
โครงสร้างตัวถังของ SLC ส่วนหลัก จะทำมาจากเหล็ก โดยในจุดที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษจะใช้เหล็กกล้าแบบ High-tensile steel ส่วนโครงหลังคาทำมาจากแม็กนีเซียม และฝากระโปรงหน้ากับแก้มหน้าใช้วัสดุอะลูมิเนียม
ช่วงล่างของ SLC300 และ 43 มีลักษณะคล้ายกันตรงที่ด้านหน้าเป็นแบบ 3-Link Strut (บางที่จะเขียนว่ามัลติลิงค์ในโบรชัวร์เลย แต่บางประเทศจะเขียนว่า Strut Type แต่มันมีจุดยึดเพิ่มมา 1 จุด บางที่เลยถือโอกาสใช้คำว่า “มัลติ” ซะ ก็แค่นั้น) ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ สปริงแยกออกจากชุดโช้คอัพ
SLC300 สเป็คประเทศไทย เป็นรุ่น AMG Dynamic ดังนั้นจึงได้ช่วงล่างแบบ Sport ซึ่งแข็งกว่าช่วงล่างแบบมาตรฐานขึ้นมา 1 ระดับ ใช้สปริงแบบที่ลดความสูงลงจากปกติ 10 มิลลิเมตร ส่วนยางที่ใช้ ด้านหน้าเป็นขนาด 225/40R18 จับคู่กับล้อขนาด 18 นิ้ว กระทะล้อกว้าง 7.5 นิ้ว ในขณะที่ด้านหลังใช้ยางขนาด 245/35R18 สวมลงบนล้อขนาด 18 นิ้ว กระทะล้อกว้าง 8.5 นิ้ว
อาการของช่วงล่าง เวลาขับในเมืองและถนนไม่เรียบจะแข็งตึงตังแบบรถซิ่งจริงๆ เหลือที่ไว้ให้ความสบายอยู่แค่พอให้แฟนนั่งได้ แต่ถ้าแม่แฟนนั่งก็คงไม่พ้นโดนด่า ความนุ่มในภาพรวมคล้ายกับ Audi TT สเป็คเพชรบุรีล้อ 17 แต่ต่างตรงที่ TT ช่วงล่างแข็งแต่ยางนุ่ม ส่วน SLC300 ช่วงล่างนุ่มกว่านิดๆแต่ยางบางเฉียบเลยแข็ง พอลองขับออกทางมอเตอร์เวย์ ก็ยังรู้สึกสะเทือนอยู่ดีเวลากระโดดคอสะพาน เพราะฐานล้อรถก็สั้น และตัวคุณก็นั่งเกือบจะอยู่ถึงล้อหลัง เวลารถหน้าเชิดขึ้นหรือทิ่มลง ตัวเราก็จะถูกยกขึ้นและลงเยอะ
ยางแก้มเตี้ย โช้คและสปริงแข็ง ฐานล้อสั้น คนขับนั่งอยู่เกือบถึงล้อหลัง แถมระยะยุบยืดของช่วงล่างก็สั้น..คุณคงไม่ถามหาความสบายจากรถแบบนี้นักหรอกครับ
ส่วนการขับในโหมดบู๊ ที่ความเร็วสูง มั่นใจได้ และเปลี่ยนทิศทางกระทันหันได้คล่อง มั่นใจกว่า SLK200 ตัวเดิม ต่อให้ลากถึง 190 ก็เพิ่งจะเริ่มหวิวนิดๆ แต่ยังไม่ถึงกับทำให้สูญเสียความมั่นใจ ส่วนการเข้าโค้งแรงๆก็เอาอยู่ ยางดังก่อน และรถไถลแบบหน้าหลังไปเท่ากัน ไม่ได้มีอาการหน้าดื้อแบบชัดเจน และท้ายจะออกก็ต่อเมื่อคุณสั่งด้วยคุณเร่ง
แม้ว่าการที่ตัวคุณนั่งอยู่เกือบจะบนล้อหลังจะทำให้คุณเสียวเล็กๆ แต่นั่นก็เป็นตำแหน่งที่ทำให้คุณสามารถรับรู้อาการเสียแรงยึดเกาะของยางหลังได้ดีที่สุด มันจะทำให้คุณขนลุกนิดๆถ้าเล่นแรงๆ และสามารถสไลด์ท้ายเล่นได้พอประมาณ ไม่ถึงกับดริฟท์ แต่ถ้าให้พูดถึงความสนุกในภาพรวม…รถเบาๆที่บาลานซ์ดีอย่าง Mazda MX-5 ดูมีชีวิตชีวากว่า คล่องแคล่วกว่า และออกอาการดีดดิ้นหรือเสียหลักบนพื้นไม่เรียบน้อยกว่า และแม้แต่รถรุ่นเก่าอย่าง Z4 sDrive23i ก็มีอาการท้ายดิ้นหรือโหวงน้อยกว่า
หันมาดู SLC43 กันบ้าง วิศวกร AMG ไม่ได้เพียงแค่จับ SLC มายัดโช้คอัพกับสปริง “AMG Sport” เท่านั้น พวกเขาปรับมุมแคมเบอร์เป็นลบ (ให้ล้อแบะออกมาขึ้น) เพื่อให้เหมาะกับรูปแบบของรถที่มีโอกาสถูกเอาไปเฆี่ยนในสนามแข่งมากกว่า SLC300 นอกจากนี้ ยางแท่นเครื่อง ยางหิ้วเฟืองท้ายก็เป็นแบบ Heavy duty ที่แข็งแกร่ง ทนการทรมานมากกว่าสเป็คปกติ ส่วนยางติดรถทดสอบของเรานั้น เป็นยาง Continental Conti SportContact 5P (แบบเดียวกับยางติดรถ BMW M4 สเป็คไทย) ด้านหน้าขนาด 235/45ZR18 สวมบนล้อขนาด 18 นิ้ว กระทะล้อกว้าง 8.0 นิ้ว ส่วนด้านหลังเป็นขนาด 255/35ZR18 ล้อ 18 นิ้ว กระทะกว้าง 9.0 นิ้ว
ลักษณะนิสัยช่วงล่าง ..พูดง่ายๆว่าคุณอ่าน SLC300 ในย่อหน้าบนๆให้ครบ แล้วผมจะเสริมให้ว่า SLC43 นี่รังเกียจแม่ยายยิ่งกว่า SLC300 เสียอีก จากเดิมก็รู้สึกแข็งแล้ว คราวนี้พอลองมาวิ่งในเมืองถนนไม่เรียบนี่แข็งและดีดหนักกว่าเดิม ด้านหน้าน่ะโอเค มันมีน้ำหนักเครื่องยนต์กดทับไว้ ทำให้ทุกอย่างออกมาพอดี แต่ช่วงล่างหลังนี่สิครับ ต่อให้มีชุดมอเตอร์หลังคาอยู่ แต่มันสะเทือนจนขนาดผมเด็กมิดไนท์เก่ายุค 90s ยังแอบรำคาญเลย
ถ้าคุณคิดว่ารถมันแรง มันก็ต้องแบบนี้แหละ..หึหึ..BMW M2 แรงเท่ากัน แต่ช่วงล่างเก็บอาการดีกว่า SLC43 แบบรู้สึกได้ครับ เจ้า SLC นี่โช้คแข็งจนพาลนึกถึง WRX STi แต่ความสั้นของรถทำให้คุณรู้สึกว่ามันดีดดิ้นกว่า STi เสียอีก บอกแล้วว่าถ้าแฟนใครไม่มีภูมิต้านทานสตรัทปรับเกลียวสเป็คซิ่งในรถแต่งจากญี่ปุ่นมาก่อน ระวังจะทำสาวหน้าบูดแบบที่ผมโดนล่ะครับ
ทั้งนี้..สิ่งที่แลกกับความสะเทือนอย่างที่ว่า ก็คือการตอบสนองที่ดีเวลาอัดแบบหนักๆ SLC43 นิสัยเหมือนนักมวยปล้ำที่ยิ่งโดนต่อยโดนเตะ พลังกลับยิ่งเพิ่มพูน บนทางตรงความเร็วสูงสัก 160-170 ขึ้นไป เหมือนช่วงล่างจะปรับมาพอดีกับความเร็วแบบนี้ อาการดีดเปลี่ยนเป็นความมั่นคง โยกเปลี่ยนเลนแรงๆก็เอาอยู่ ณ จุดที่ SLC300 เริ่มหวิว SLC43 ยังนิ่งสบาย 230-240 ก็ยังไม่หวั่น
ส่วนการเข้าโค้งนั้น ถ้าคุณเล่นโค้งแบบ J!MMY Mode โดยการหาโค้งยาว ความเร็ว 100-120 แล้วเทน้ำหนักรถไปทางเดียวตลอด มันจะเกาะกว่า SLC300 ไม่มาก เพราะหน้ารถหนักกว่า และยางกว้างกว่ากันแค่ 10 มิลลิเมตร แต่วิศวกร AMG ก็เจ๋งใช้ได้ เพราะแม้จะต้องแบกน้ำหนักเครื่อง V6 ทวินเทอร์โบไว้ข้างหน้า แต่อาการหน้าดื้อกลับน้อยกว่า SLC43 แถมเวลาเข้าโค้งอยู่ แล้วสมมติต้องหักหลบอะไรสักอย่างที่ตัดหน้าระหว่างกำลังเข้าโค้ง อาการยวบตัวของช่วงล่างและการคืนกลับไลน์เดิม มั่นคงและกระชับกว่า SLC300 ชัดเจน
ถูกล่ะ ถ้าพูดถึงรถ 6 สูบเทอร์โบสายซิ่งจากยุโรป..M2 ซัดมันส์กว่า คุมตัวถังได้ดีกว่าเยอะ แต่นั่นมันคือรถหลังคาแข็ง และยังเป็นรถที่มีอายุโมเดลใหม่กว่า SLC ซึ่งมีรากฐานมาจากบอดี้ R172 ที่อายุปาเข้าไป 6 ปีแล้ว ยังไงมันก็คงสู้กันตรงตัวได้ยาก
ถ้าอยากได้ช่วงล่างที่ขับปกติแล้วนุ่มกว่านี้ ขับแบบซัดจัดหนักแล้วมั่นคงได้แบบนี้ ผมไม่แน่ใจว่าระบบช่วงล่างโช้คอัพแปรผันความหนืด AMG Ride Control จะช่วยได้หรือไม่ และถึงช่วยได้ รถสเป็คไทยก็ไม่มีออพชั่นนี้ให้สั่ง และถึงสั่ง ราคาของชุดโช้คอัพไฟฟ้านี้คือ 995 ปอนด์ ซึ่งเมื่อติดตั้งรวมไปกับตัวรถจากโรงงาน แล้วมาโดนภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีอะไรต่อมิอะไรเพิ่มทับถมเข้าไป ราคาของ SLC43 ก็คงไม่สวยอย่างที่มันเป็นแน่ๆ
ส่วนเรื่องของระบบเบรกนั้น SLC300 ใช้ระบบดิสก์เบรก 4 ล้อ ด้านหน้าเป็นจานเบรก 344 มิลลิเมตร เจาะรูระบายความร้อน คาลิเปอร์ 4 Pot พิมพ์คำว่า Mercedes-Benz ซึ่งเป็นเบรกพิเศษสำหรับพวกรถ AMG Line (AMG Dynamic) จัดว่ามีขนาดโตพอสมควร เพราะใหญ่พอๆกับเบรกของเบนซ์เครื่อง V8 ตัวโตบางรุ่น ส่วนด้านหลังเป็นจานแบบธรรมดา ไม่เจาะรู ขนาด 300 มิลลิเมตร
ประสิทธิภาพการเบรก มั่นใจได้ตามเคย ถ้าให้พูดกันตรงๆ เบรกไม่ดีก็คงไม่ใช่เบนซ์ เพราะค่ายนี้เท่าที่ลองมาแต่ละตัว จะให้เบรกดีในระดับที่เหมาะสมกับรูปแบบและพลังของรถเสมอมาถ้าเรามองกันในแบบรถใช้งานที่เจ้าของอาจจะขับเร็ว ไม่ใช่การขับแบบสนามบุรีรัมย์เซอร์กิต น้ำหนักแป้นเบรกจะหนึบเท้าสไตล์รถยุโรป ระยะเหยียบแป้นเบรกค่อนข้างสั้น กระชับ แต่ขับในเมืองได้ง่าย เวลาเบรกแล้วหน้าแฟนไม่คะมำ ครั้นใช้ความเร็วสูงแล้วต้าบเบรกรวดเดียวจาก 200 ลงมาเหลือ 100 ก็สามารถทำติดต่อกันได้หลายครั้งกว่าจะออกอาการเฟดแบบเบรกไหลจริงๆ
ในรุ่น SLC43 จะได้ระบบเบรก AMG High Performance System ซึ่งจะมีจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อนและเจาะรูทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จานเบรกหน้าขนาด 360 มิลลิเมตร คาลิเปอร์เบรกอะลูมิเนียม 4 Pot ส่วนด้านหลังใช้จานขนาด 330 มิลลิเมตร กับคาลิเปอร์แบบ 1 Pot เป็นอะลูมิเนียมเช่นเดียวกับด้านหน้า
ถ้าคิดว่า SLC300 เบรกดีพอแล้ว ระบบของ SLC43 ยิ่งดีกว่าอย่างชัดเจน แม้ลักษณะการตอบสนองของแป้นเบรกจะเหมือนกันมาก แต่หากซัดด้วยความเร็วเท่ากัน เบรกของ SLC43 สามารถหน่วงความเร็วของรถได้ดีกว่า และที่สำคัญคือทนต่อการเฟดมากกว่า น่าจะพอให้เอาไปซัดเล่นในสนามแข่งได้หลายรอบกว่าจะต้องวกกลับเข้าพิท ในตอนแรกผมคิดไปเองว่าประสิทธิภาพการเบรกไม่ต่างกัน แต่ผมนึกขึ้นได้ว่าตอนลองเบรก SLC43 ผมลองกดหน่วงจากความเร็วที่สูงกว่า SLC300 มาก ชนิดว่าวิ่งอยู่ 250 แล้วต้าบเหลือ 80 แล้วเร่งไป 250 แล้วทำซ้ำ แป้นเพิ่งออกอาการสั่นนิดหน่อย ในชีวิตจริงที่คุณแทบไม่ได้วิ่งเกิน 200 ในสนามแข่งส่วนมากของประเทศไทย เบรกตัวนี้เอาอยู่สบายครับ
ทุกรุ่นมีระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนัก บรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) และระบบเพิ่มแรงดันเบรกกระทันหัน BAS (Break Assist) ทำงานร่วมกับระบบ ADAPTIVE BRAKE เสริมมาให้
สำหรับ ระบบบังคับเลี้ยว SLC300 และ SLC43 ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้าอัตราทด 15.5 : 1 สามารถปรับน้ำหนักได้ 2 ระดับโดยผ่านสวิตช์ Dynamic Select (Comfort และ Sport) แล้วยังแปรผันตามความเร็วของรถที่แล่น
เวลาขับในเมือง เลี้ยวเข้าซอย หรือกลับรถ พบว่าพวงมาลัยทดชุดเฟืองมาไวมาก เวลาหักพวงมาลัย 360 องศาแล้วลองเขยื้อนรถ พบว่าตัวรถเลี้ยวเป็นองศามากพอๆกับ Suzuki Swift แต่ยังไม่เท่า WRX STi ทำให้มันมีความคล่องตัวมาก มุดสนุก น้ำหนักพวงมาลัยไม่เบาโหวงแบบรถญี่ปุ่น อยู่ในระดับที่กำลังเหมาะกับประเภทรถ และ SLC43 ก็จะมีน้ำหนักหน่วงกว่า SLC300 อยู่เพียงเล็กน้อย
แต่พอนำไปวิ่งบนทางด่วน พบว่าระยะฟรีช่วงกลางค่อนข้างเยอะ ลองนึกดูครับว่าเวลาหักพวงมาลัยไป/มาสัก 1.5 นิ้ว มันเฉื่อยเหมือน Corolla Altis แต่พอพ้นจากนั้น มันไวเท่า Suzuki Swift กับ Mazda 3 ทำให้ขาดความต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไป แต่ผมเข้าใจว่าวิศวกรต้องเซ็ตแบบนี้ เพราะช่วงล่างของรถแข็งมากอยู่แล้ว ถ้าขืนใส่พวงมาลัยที่ไวมากๆ ระยะฟรีน้อยมากๆ มันจะเป็นรถที่ขับทางไกลได้ “นรก” มาก เลยต้องจูนเผื่อให้วิ่งทางไกลแล้วไม่ต้องเกร็งมือเมื่อวิ่งเร็วๆแล้วเจอถนนไม่เรียบ
โดยส่วนตัว ผมชอบพวงมาลัยของ MX-5, Z4, M2, หรือ TT มากกว่า SLC300/SLC43 ให้ตายเหอะ แม้แต่คาบริโอเล่สายเที่ยวอย่าง C300 เปิดประทุนยังมีความต่อเนื่อง สมดุลย์มากกว่าเลย
การเก็บเสียง ถือว่ากันเสียงจากลมได้ดีมากสำหรับโรดสเตอร์หลังคาแข็ง และกันเสียงจากรถวิ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ดีกว่า C300 Cabriolet ที่เป็นหลังคาผ้าใบอย่างเห็นได้ชัด แต่การเก็บเสียงจากซีกล่างของตัวถัง ยังทำได้แค่ดีพอประมาณ และอันที่จริง เสียงรบกวนที่น่ารำคาญเป็นที่สุดใน SLC ทั้งสองคัน ก็คงจะเป็นเสียงการขยับเหมือนเหล็กขบหรือเสียดสีกันเวลาวิ่งบนถนนไม่เรียบ ซึ่งเสียงดังกล่าวมาจากชุดหลังคานั่นเอง บางครั้งก็ดังมากจนผมทนไม่ไหว ลองจอดรถ กดเปิดหลังคา แล้วก็ปิดหลังคา บางครั้งเสียงก็เบาลง บางครั้งก็ไม่หาย เหมือนเล่นล็อตเตอรี่กับซาตานว่าโชคจะเข้าข้างหรือไม่
ในเรื่องของระบบความปลอดภัย เราคงไม่ต้องพูดถึงของพื้นฐานอย่าง ABS และระบบช่วยเสริมแรง/กระจายแรงเบรกต่างๆ กันแล้วสำหรับรถราคาระดับนี้ (เพราะต้องมีมาให้อยู่แล้วล่ะ) ส่วนถุงลมนิรภัยของ SLC จะมี 6 ใบ ได้แก่คู่หน้า, ด้านข้าง และศีรษะสำหรับผู้โดยสารแต่ละข้าง และมีระบบ ESP (Electronic Stability Program) เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยในรุ่น SLC43 จะเป็น ESP แบบ 3-Stage
นอกจากนี้ ยังมีระบบช่วยป้องกันอุบัติเหตุเชิง Active Safety เพิ่มเติม เช่น
- Active Braking System – ระบบเบรกอัตโนมัติเมื่อเข้าใกล้รถคันหน้ามากเกินไป
- Adaptive Braking System – ตรวจจับพฤติกรรมในการขับรวมถึงความไวในการถอนเท้าจากแป้นคันเร่งเพื่อเตรียมดึงผ้าเบรกมาเลียจานรอไว้ เพื่อให้เบรกตอบสนองได้ไวขึ้นในกรณีฉุกเฉิน
- ระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ PRE-SAFE System ปรับเบาะ ดึงเข็มขัดตึงก่อนเกิดแรงกระแทก
- Attention Assist – ระบบตรวจจับความเมื่อยล้าของคนขับ โดยดูจากพฤติกรรมการคุมพวงมาลัย ถ้าหากลักษณะการเคลื่อนไหวพวงมาลัยตรงกับ Pattern ที่ระบบมองว่าเหมือนอาการคนขับเริ่มง่วง ก็จะส่งสัญญาณเตือน
- Parktronic – พร้อมระบบกล้องมองหลังและเซ็นเซอร์ตรวจจับด้านหน้าและหลัง ส่งเสียงเตือนก่อนการปะทะ มีระบบช่วยจอดรถกึ่งอัตโนมัติ Active Parking Assist ที่สามารถนำรถเข้าจอดแบบเลียบทางเท้า และถอยหลังเข้าซองได้ โดยที่คนขับมีหน้าที่ควบคุมแค่เบรก กับเปลี่ยนเกียร์ รถหมุนพวงมาลัยให้เอง
- Active Light System – ปรับการส่องของไฟหน้าตามการเลี้ยวของพวงมาลัย + Cornering Light สำหรับส่องทางโค้ง
- Adaptive Highbeam Assist – ระบบไฟสูงที่ปรับลงต่ำอัตโนมัติเมื่อมีรถสวน
ทั้งนี้ ยังขาดระบบความปลอดภัยอย่าง Blind Spot Monitoring System และระบบกล้อง 360 องศา แต่ Roadster กับ Performance Car ส่วนมากก็ยังขาดออพชั่นนี้อยู่ การที่ SLC ไม่มี จึงไม่ได้ทำให้มันแย่กว่าเพื่อนฝูงมากนัก
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
เมื่อเราได้รู้ถึงสมรรถนะด้านอัตราเร่งแล้ว หลายคนคงอยากทราบว่า แล้วด้านความประหยัดน้ำมันล่ะจะเป็นอย่างไร ระหว่าง SLC300 4 สูบเทอร์โบ (ที่น่าจะประหยัดพอสมควร) กับ SLC43 367 แรงม้า (ที่ไม่น่าจะเซฟน้ำมันนัก)
เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา SLC ทั้ง 2 คัน ไปยัง สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการริมถนนพหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ที่ประจำในการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองของพวกเรา และเนื่องจาก SLC ทั้งสองรุ่น เป็นรถกลุ่มที่ ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ซีเรียสกับความประหยัดน้ำมันมากเท่ากับรถยนต์ขนาดเล็กกว่า หรือรถกระบะ เราจึงเติมน้ำมันให้เต็มถัง แค่เพียง หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอแล้ว
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเท่าเทียมกันกับรถรุ่นอื่น ผมจึงให้ J!MMY และเจ้าเติ้ง เป็นผู้ทำการทดสอบอัตราสิ้นเปลือง เช่นเดียวกันกับอัตราเร่ง
หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถัง เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ ออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ เพื่อมุ่งหน้ากลับเข้าเมืองหลวง
วิธีการทดสอบ ก็เป็นแบบเดิม คือรักษาความเร็ว 110กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดระบบ Cruise Control เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วง การเติมครั้งแรกทุกประการ
และเพื่อให้เหมือนกันกับการเติมครั้งแรก เราก็เติมน้ำมันกันแค่ระดับ หัวจ่ายตัด เช่นเดียวกับช่วงเริ่มต้นทดลอง
เรามาดูตัวเลขของ SLC300 กันก่อนดีกว่า
ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter 92.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.38 ลิตร
หารออกมาแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.54 กิโลเมตร/ลิตร
จากนั้นก็ตามด้วย SLC 43
ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter 93.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.28 ลิตร
หารออกมาแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.78 กิโลเมตร/ลิตร
โดยสรุปแล้วต่อให้หลายคนจะบอกว่าไม่เด่น ใน SLC300 นั้น การทดสอบของเราทำให้ได้ค่า 14.54 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับ SLK200 รุ่นปี 2012 ..ในความรู้สึกของผม เทคโนโลยีที่มากับระยะเวลาที่ผ่านไป 4 ปี น่าจะช่วยให้มันทำอัตราสิ้นเปลืองดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียดหรอกครับ เพราะขนาด Subaru BRZ เกียร์อัตโนมัติ ไม่มีเทอร์โบก็ได้ตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่มันซวยตรงที่ Audi TT และ Lexus RC200t ซึ่งใช้เครื่องยนต์ความจุเท่ากัน มีเทอร์โบเหมือนกัน กลับทำเลขได้สวยกว่า
ในการใช้งานจริง ถ้าขับแบบขยันตอกคันเร่งบ่อยๆ อัตราการสิ้นเปลืองจะโหดขึ้นตามประสาเครื่องยนต์เทอร์โบ คือลงไปแตะ 8.5-8.8 กิโลเมตรต่อลิตร แต่ถ้าใช้งานแบบหารเฉลี่ย วิ่งในเมือง 50% ออกต่างจังหวัด 50% และขับแบบตามใจฉัน ช้าบ้างเร็วบ้าง ตัวเลขจะออกมา 10.5-10.8 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งก็ใกล้เคียงกับรถญี่ปุ่น 2.0 ลิตรเทอร์โบ และดีกว่ารถ 6 สูบเครื่องโตไร้เทอร์โบจากยุคก่อนๆ
ส่วน SLC43 นั้น ทำตัวเลขได้ 12.78 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับ BMW M2 ซึ่งเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ความจุเท่าๆกัน แรงเท่าๆกัน และน้ำหนักแทบไม่ต่างกัน ถ้าใครหวังจะเห็น 14-15 กิโลเมตรต่อลิตรจากรถเครื่องโตขนาดนี้ ผมว่าเขาอาจจะหวังมากไปหน่อย ก็ดูเอาครับ ขนาดน้องแสบของมันอย่าง A45AMG ที่เป็นรถเครื่อง 2.0 ลิตร ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่เวลาขับประคองความเร็วนิ่งๆจะตัดเป็นขับสอง..ก็ได้ตัวเลขพอๆกัน ถ้าใครบอกว่า SLC43 กินจุ ผมคงต้องถามแล้วล่ะว่าคุณเอามันไปเทียบกับอะไร
เมื่อนำมาลองขับแบบใช้งานจริง แบบที่เจ้าของ SLC43 จะขับรถของพวกเขา ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองจะค่อนไปทาง 8.0-8.5 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนที่ยังดีคือ ถ้าคุณพยายามคุมสปีดและเร่งให้เร็วเท่า SLC300 คุณจะจ่ายค่าน้ำมันแทบไม่ต่างกัน แต่แน่นอน..คุณซื้อ SLC43 เพราะ 300 มันยังไม่พอ และมันก็ไม่น่าแปลกถ้าคุณขับเดินทางไกลแล้วได้ตัวเลขน้อยลงไปถึง 7.5-7.8 กิโลเมตรต่อลิตร เพราะรถมีพลังก็ต้องใช้น้ำมัน กับรถที่เรียกพลังมาได้ง่ายแสนง่ายแบบนี้ ก็ผลาญน้ำมันเยอะเป็นเรื่องปกติ
********** สรุป **********
SLC300-การขับขี่และช่วงล่างยังไม่เป๊ะแบบ BMW แต่ราคาและสิ่งที่ให้มาดูคุ้มค่าขึ้นเยอะ
SLC43- ช่วงล่างกับพวงมาลัยก็ยังไม่เป๊ะ..แต่มันแรงสะใจ ถ้ามีเงินเหลือใช้ล้านนึง..ข้าม SLC300 มาเอารุ่นนี้เลย!
ต้องปรบมือให้กับความพยายามของ Mercedes-Benz ในการนำต้มยำค้างคืนจากในตู้เย็นอย่าง SLK ตัวเก่า มาปรุงแต่ง ต้ม ใส่มะนาวและน้ำปลาเพิ่ม จนกลายเป็นต้มยำมื้อกลางวันของวันใหม่ที่รสชาติเข้มข้น อร่อยหอมน่ากินกว่าเดิมอย่างที่ SLC เป็น
SLK200 ตัวเก่า..หรือ SLK เครื่องยนต์แบบ 4 สูบรุ่นไหนๆที่ประเทศไทยเคยได้รับมาขาย มันมักจะเป็นรถที่รูปทรง 3 ผ่าน เด็กขับได้ ผู้ใหญ่ขับก็ดูเปรี้ยว ขนาดเลือกสีรถพื้นๆอย่างสีขาวหรือสีเงิน รถก็ยังสวย เรี่ยวแรงเครื่องยนต์ก็ไม่น่าเกลียด แต่เป็นรถที่ยิ่งขับแบบอัดหนักๆแล้วยิ่งรู้สึกว่ามันคล้ายสิบล้อมากกว่ารถเก๋ง..อันนี้ผมอาจจะเวอร์ไป มันไม่สนุกและคมเหมือนรูปร่างภายนอกของมัน แต่ SLC300 AMG Dynamic มีบุคลิกที่ชัดเจนเหมือนผู้ชายที่คบหญิงมานาน 3 เดือนแล้วกำลังจะไปขอเขาเป็นแฟน มันแน่วแน่ เห็นแนวทางของตัวเองแบบเคลียร์ ต่อไปนี้ SLC จะมีบุคลิกเป็นรถซิ่งเปิดหลังคาชัดเจน ไม่ใช่แค่รถของคนที่อยากมีรถเปิดประทุนแล้วมีดาวบนกระจังหน้า
การเซ็ตช่วงล่าง ทำได้ดีขึ้น สาดโค้งสนุกกว่าแต่ก่อน เป็นเบนซ์ประเภทที่พร้อมจะสนุกไปกับคุณแม้ว่ามันจะทำแบบขาดๆเกินๆไปในบางจุด มันอาจจะให้ความรู้สึกหวิวและขนลุกบ้าง แต่ท้ายสุดมันจะไม่ฆ่าคุณ เครื่องยนต์และเกียร์ ถ้าเซ็ต Dynamic Select เป็น Sport มันจะตอบสนองได้ดี กดคันเร่งแล้วพลังไหลมาทันใจ เสียงเครื่องยนต์กับท่อฟังจากในรถแล้วให้อารมณ์สะใจได้เหมือนกัน (แม้ว่าเวลาสตาร์ทตอนเช้าเสียงจะดังเหมือน Lancer Evolution เก่าๆ ท่อตรง)
แต่มันก็ไม่ใช่รถที่ดีไปหมดทุกอย่าง ความที่โครงสร้างรถเก่าหลายปี และเทคโนโลยีหลายส่วนก็ยกมาจาก SLK ทำให้รถตอบสนองเหมือนรถเอา SLK รุ่นเดิมไปใส่ช่วงล่างแข็งๆ มันเกาะพอ มันมั่นพอ แต่สำหรับความเกาะถนนและมั่นใจที่มันมีให้ ช่วงล่างนั้นนับว่าแข็งและดีดไปนิด
ถ้าเรามองด้วยปรัชญาของรถสปอร์ต SLC300 เร่งดี เบรกดี แต่ยังขาดความรู้สึกที่ประสานกันระหว่างองค์ประกอบแห่งการขับขี่ ซึ่งได้แก่ พวงมาลัย เกียร์ ช่วงล่าง เครื่องยนต์ เบรก และคันเร่ง สิ่งที่ขาดไปคือเกียร์ ซึ่งยังไม่ฉลาดเท่าพวก BMW, Audi และไม่ดีเท่า SLC43 ส่วนพวงมาลัยนั้น มีน้ำหนักโอเค แต่ยังขาดความค่อยเป็นค่อยไป ระยะฟรีเยอะ แต่หมุนต่ออีกนิดรถก็เปลี่ยนเลนลากทั้งคัน ซึ่งถ้าพูดถึงคำว่าบาลานซ์ในองค์ประกอบการขับขี่แบบรวมๆ รถที่ราคาถูกกว่า และทำได้ดีที่สุด ยังเป็น Mazda MX-5 อยู่ แต่ SLC300 มีพลังสำรองมากกว่า และมีพื้นที่ในการขยับตัวเวลาขับมากกว่า
สำหรับ SLC43 นั้น ผมพบว่าเสน่ห์ของมันอยู่ที่ความชัดเจนในเรื่องของความแรง โหด ดิบ โดยมีการเปิดหลังคาได้เป็นโบนัสแถม ถ้า SLC300 เหมือนสาวออฟฟิศเก่งๆในวันท่องเที่ยวที่ใส่ชุดเดรส แจ็คเก็ตหนังเรียบเงา ทาปากสีพาสเทล และรองเท้าส้นสูง SLC43 เปรียบเสมือนสาวที่เป็นไบค์เกอร์ตัวจริง ใส่กางเกงยืด มี Protection wear พร้อม ใส่เสื้อแจ็คเก็ตหนังแบบมีหมุดเหล็ก มี Pad กันกระแทก บนตัวเธออาจมีรอยสักที่ผู้ชายเห็นแล้วผวา และอาจจะเคยเอาประแจฟาดหัวคนที่มากวนส้นเธอไปหลายคนแล้ว..มันต่างกันขนาดนั้นเลย
มันมีพลังอัตราเร่งที่รุนแรง ร้ายกาจสำหรับรถอะไรก็ตามที่จ่ายราคาไม่เกิน 5 ล้านแล้วถอยออกจากโชว์รูมมาโดยไม่ได้โมดิฟายเพิ่ม เสียงเครื่องยนต์ เสียงท่อ ดุและโหด ชวนให้กระทืบคันเร่งซ้ำแล้วซ้ำอีก การตอบสนองของเกียร์ ดุ และเหมาะกับคนชอบซิ่งมากกว่า SLC300 ลองคิดดูสิครับว่ารถคันนี้มีแรงบิดมากกว่า Supra JZA80 Twin Turbo 60 นิวตัน และ 80%ของช่วงรอบการทำงานมันจะมีแรงบิดสูงสุดเหนือกว่าพลัง 100% ของ 2JZ-GTE VVTi ตลอด แถมยังมีเกียร์ 9 จังหวะ มันควรจะได้อย่างไร มันก็แรงจริงอย่างนั้น
แต่ข้อเสียของมันก็ยังอยู่ คุณอย่าหวังแม้แต่นิดเดียวว่ามันจะปราณีคุณ สาวไบคเกอร์เสื้อหนังอาจจะยังสละความโหดแล้วยกมือไหว้คุณพ่อคุณแม่ของคุณเวลาเจอกันที่ K-Village โดยบังเอิญได้ พูดจาไพเราะอ่อนหวานได้ แต่ SLC43 จะมีแนวทาง “ชั้นจะเป็นของชั้นอย่างนี้ ใครจะทำไมวะ มีปัญหาเหรอ” ต่อให้คุณเอาใครมานั่ง มันก็จะเป็นรถที่แข็งกระด้าง ดีด ผสมเด้ง แบบรถแต่งซิ่งขนานแท้ มันไม่แคร์ว่าพ่อหรือแม่ของคุณจะมีปัญหาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนไหน รถซิ่งก็คือรถซิ่ง ถ้าอยากได้รถเปิดหลังคาแล้วนั่งนิ่มก็บอกพ่อให้ไปซื้อ C300 Cabriolet โน่น
ความไม่เห็นอกเห็นใจใครของช่วงล่าง SLC43 นั้น แลกมาด้วยความสนุกเวลาที่คุณอัดมันหนักๆ ตัวรถจะมีความพยศนิดๆ ท้าทายให้คุณขนลุก แต่เติมความเร็วเข้าไป..ไปให้เร็วกว่า SLC300 แล้วรถก็จะบอกให้คุณเล่นกับมันหนักขึ้น หนักขึ้น และพอหนักเกินไป มันก็ขึ้นอยู่กับเท้าขวาของคุณว่าจะดันให้สไลด์ไปเลย หรือตั้งล้อตรง เบรกหนักๆ แล้วกลับบ้านแบบรถไม่มีรอย
ในฐานะที่เล่นรถซิ่งมาตั้งแต่เด็ก และทนกับช่วงล่างแต่งที่กระแทกแรงๆมานานพอสมควร ผมอาจไม่อยากขับ SLC43 ไปเชียงใหม่หรือเชียงราย แต่ถ้าเป็นการไปเที่ยวสนามแก่งกระจานกับเพื่อน หรือขับเล่นปลดปล่อยอารมณ์ยามดึกไปคนเดียว SLC43 เป็นรถแบบที่ผมอยากได้ และด้วยราคาขนาดนี้กับความแรงที่มันมอบให้ ก็ไม่แปลกที่ผมจะได้ยินผู้ใหญ่สาย AMG ที่เล่นมาแล้วหลายรุ่น กล่าวชมว่า “นี่มันไม่เหมือน AMG แบบที่เคยเป็นมาในอดีต มันสนุก มันเล่นกับเรา และมันคุ้มค่าเงิน animal animal”
ถ้าหันไปมองคู่แข่งแบบที่ใกล้เคียงกันที่สุด…ก็คงจะยากหน่อยเพราะมันไม่มีรถที่เปรียบเทียบกันได้แบบตรงเป๊ะเลยสักนิด ผมจึงต้องแบ่งตามพฤติกรรมและความชอบของผู้ซื้อ ในขั้นแรก ถามตัวเองก่อนว่า คุณซื้อรถเพราะมันเปิดหลังคาได้ หรือคุณมอง SLC เพราะอยากได้แรงม้า 245 หรือ 367 ตัว แล้วมองเรื่องหลังคาเปิดประทุนเป็นของแถม?
ถ้าคุณชอบรถเปิดหลังคา เพราะอยากเอาไว้ขับกินลมชมวิวจริงๆ SLC300 ก็พอครับ ไม่ต้องทุ่มเงินล้านไปแตะ SLC43 หรอก สาย Roadster แบบนี้นอกจาก SLC300 แล้ว ก็ยังมี Mazda MX-5 ซึ่งราคาถูกลงอีกล้านเศษ ภายในแคบลงหน่อย อุปกรณ์น้อยลงหน่อย พลังแรงม้าหายไปเยอะ แต่นี่คือรถแบบขับกินลมที่พร้อมจะมอบความสนุกสนานให้คุณวิ่งพีระ หรือไทยแลนด์เซอร์กิตเล่นกับเพื่อนๆได้ ด้วยบาลานซ์ขององค์ประกอบความสนุกในการขับที่ลงตัว รถเบา คม ตอบสนองตามสั่ง มันแค่ไม่ใช่จอมพลังไฮเวย์ และไม่มีโลโก้ดาวหรือใบพัดบนฝากระโปรง
แต่ถ้าคุณมีปัญหากับพื้นที่ภายในรถ ต้องการรถที่เปิดหลังคาได้ และขับทางไกลได้ดี โดยยอมเสียเรื่องความสนุกในการขับบนสนามหรือการเล่นโค้งไปบ้าง รถพวก Cabriolet ที่มีพื้นฐานจากการเอารถบอดี้ 2 ประตูหลังคาแข็งมาทำมันน่าจะเหมาะกว่า เพราะรถพวกนี้ ขึ้นลงก็ง่าย เอนเบาะนอนก็ได้ โยนของไปวางเบาะหลังก็ได้ (แม้ขนาดเบาะจะเล็กมาก) ตัวอย่างเช่น C300 Cabriolet AMG Dynamic ราคา 4,290,000 บาท ซึ่งแม้จะมีอุปกรณ์ขาดๆเกินๆ แต่ดีไซน์ภายในทำให้คนที่นั่งรู้สึกเหมือนอยู่ในเลานจ์ บรรยากาศฮิปบวกสง่า มันอาจจะไม่แรงแบบ SLC300 แต่พวงมาลัยตอบสนองแบบตรงไปตรงมา และเกียร์ทำงานดีกว่า ช่วงล่างก็นุ่มพอรับผู้ใหญ่ได้ และมั่นใจพอให้ซิ่งได้นิดๆ
หรือจะไปอุดหนุนฝั่งมิวนิค..คุณก็มี BMW 430i Convertible ซึ่งมีคุณสมบัติหลายอย่างเหมือน C300 แต่มีอุปกรณ์ที่ Make sense ตามราคารถมากกว่า ถ้าชอบขับเน้นนุ่มแต่ยอมย้วย ก็เลือกรุ่น Luxury ราคา 3,999,000 บาท ถ้าชอบสปอร์ต และอยากได้ช่วงล่างที่ขับแล้วดีกว่า C300 ก็ไปเลือกตัว M Sport ราคา 4,299,000 บาท
สำหรับลูกค้าอีกพวกที่เป็นสาย Performance เน้นความแรงล่ะ?
แน่นอนครับ เอาราคาหารด้วยแรงม้า SLC43 ราคา 4,990,000 บาทนั้นคุ้มมาก คุ้มจนไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรแล้วนอกจาก “ถ้าคุณไม่ได้แคร์เรื่องเปิดหลังคา และอยู่กับเครื่อง 4 สูบได้ ยอมแรงน้อยลงหน่อย Audi TT ราคา 3,199,000 บาท ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะ ลงทุนน้อย แต่ได้กลับมาเยอะแบบสมเหตุผล แค่โยนล้ออัลลอยลายเหมือน Navara D40 นั่นทิ้งแล้วเปลี่ยนล้อใหม่สวยๆก็จบ”
ไม่มีใครเถียงด้วยเช่นกัน ว่าถ้ามองในมุมของ Driver’s Car แบบเต็มขั้น BMW M2 เป็นรถที่ชนะ SLC43 ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่างที่ทำมาจบ ไม่ดีดดิ้นจนเกินเหตุ ขับในสนามได้มันส์แบบจบๆ พวงมาลัยที่ไวแบบพอดี มีน้ำหนักเสถียร มีความไวแบบค่อยเป็นค่อยไป เกียร์ M-DCT ที่ทำงานไว ใจกล้า สับเองสนุก โหมดออโต้ก็ไวและแสนรู้ เสียงเครื่องยนต์แบบ 6 สูบเรียงที่หวานกว่าเครื่อง V6 ของ SLC43 นิดๆ..ดีกว่าเขาไปหมด แต่มาตายตรงที่ราคา ถ้าซื้อพร้อม BSI และประกัน 5 ปีตามสิทธิประโยชน์เดิมของ BMW ก่อนเดือนกันยายน 2017 คุณจะต้องจ่าย 6,029,000 บาท ราคานี้ทำให้ตัวรถของ SLC43 กับโบนัสหลังคาเปิดได้ ดูเหมือนโปรเจคท์การกุศลไปในทันที
น้อยคนคงจะซื้อ SLC43 โดยมองเทียบกับรถ Compact สายโหดขับสี่อย่าง AMG A45 หรือ WRX STi แต่รถทั้งสองคันนี้สามารถเร่งในทางตรงได้ดี และมอบการขับขี่ที่สนุกในรูปแบบที่แตกต่างจาก SLC ซึ่งเป็นรถขับหลัง พวกรถขับสี่นี้ยิงออกโค้งได้ไว แต่เล่นลีลาแบบขับหลังไม่ได้นอกจากคุณจะเซียนจริงเท่านั้น A45 เป็นรถวัยรุ่นที่สลัดความเป็นผู้ใหญ่ออกไปจากตัวหมด มันห้าว มันกร้าว และมุดสนุกกว่า SLC43 แต่มันดูมีความเป็นเด็กซิ่งสูงมาก บางคนอาจจะไม่ชอบ ส่วน WRX STi จะเป็นรถที่ปรับคาแร็คเตอร์ของตัวเองได้ ปรับลักษณะการถ่ายกำลังของรถได้ ใช้พวงมาลัยไฮดรอลิก ใช้เกียร์ธรรมดา ทำตัวเป็นรถแรงแบบ Old School ที่ราคาไม่แรง
รถสาย Performance มีให้คุณเลือกเยอะครับ แต่ถ้าคุณบังคับว่าต้องเอา Performance ด้วย และบังคับว่าต้องเปิดหลังคาด้วย ก็คงต้องไปดู Porsche 718 Boxster S กับ Jaguar F-Type V6S ซึ่งราคาของมันก็จะไม่ปราณีกระเป๋าแบบ SLC43 แน่นอน
เมื่อจบเรื่องราวของการทดสอบรถทั้งหมดลง ผมนั่งย้อนกลับไปนึกถึงวันที่ผมพาเพื่อนสาวนั่ง SLC43 ไปหากาแฟทานเล่นแถวทองหล่อ มันก็ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าสิ่งที่ผมฝันไว้ครั้งสมัยมัธยมปลายมันดูปลุกเร้าอารมณ์ ฟุ้งไปด้วยม่านหมอกแห่งความหวังมากเพียงใด พอฝันมันกลายเป็นเรื่องจริงมันก็มาแบบตลก มีตัวเอกและตัวประกอบที่ถูกจกมาแสดงร่วมแบบตลก และจากเป็นเร็วอย่างน่าขัน..ฝันมา 20 ปี บรรลุแล้ววุ้ย..เย่…แล้วก็จบ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง ตลอดช่วงเวลาแห่งความฝันที่ผ่านมา ไม่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยสร้างให้ผมเป็นอย่างที่ผมเป็นทุกวันนี้..ผมอาจจะฝันถึงรถแรงแฟนสวย แต่ผมมาตระหนักดีในวัยที่อีกไม่กี่ปีก็จะแตะหลักสี่สิบ…ว่าผมไม่ได้สร้างอะไรที่มันเป็นเนินทรายบันไดอิฐที่จะพาผมไปสู่ฝันนั้นได้เลย
อยากมีรถดีๆขับ..แต่ไม่ได้คิดวางแผนว่าตัวเองจะใช้ชีวิตอย่างไร จะหาเงินอย่างไร ถ้าจะซื้อรถ 5 ล้านบาทได้ ก็ต้องมีเงินในธนาคารอย่างน้อย 30-40 ล้าน..แล้วเราคิดหรือยังว่าจะสร้างเงินก้อนนั้นได้ด้วยวิธีไหน แล้วจะทำได้เร็วก่อนที่รถเครื่องแรงๆดีๆจะถูกแทนที่ด้วยแบตเตอรี่กับมอเตอร์ไฟฟ้าหรือเปล่า
อยากมีแฟนสวย..แต่ไม่ได้คิดจะทำตัวเองให้หล่อ และถึงไม่ได้สนเรื่องหล่อ ก็ไม่ได้คิดที่จะทำตัวเองให้ดู Dependable เชื่อถือได้ เชื่อมั่นได้ ผู้หญิงในโลกนี้มีทั้งคนที่เลือกผู้ชายบนพื้นฐานของความขาวตี๋ บนความคมเข้ม บนฐานะ หรือเลือกเพราะเขาคือผู้ชายที่ดูแล้วสามารถฝากผีฝากไข้ได้ ผมไม่มีทุกอย่างที่กล่าวมา ถ้ามันมีดาวเคราะห์ดวงไหนที่ผู้หญิงบนดาวบูชาไขมัน ผมคงได้ขึ้นปกนิตยสารผู้ชายของดาวดวงนั้น
ประเด็นสำคัญที่ผมนั่งบ่นให้คุณฟัง มันไม่ใช่อะไรนอกจากความรู้สึกเสียดายที่ผมไม่ได้สร้างบันไดอะไรไว้สำหรับวันนี้เลยแม้แต่น้อย ถ้ามีโอกาสย้อนกลับไปบอกตัวเองว่าควรจะคิดอะไร ทำอย่างไร ควรเหนื่อยกับเรื่องไหน ควรทุ่มแรงให้อะไร และควรจะใจดีกับใคร…วันนี้ผมอาจจะมี SLC43 ขับแล้วก็ได้ สำหรับคนที่มีปัญญาซื้อ ก็นับว่าโชคดี ผมอิจฉาคุณนะบอกตรงๆ เพราะมันคือหนึ่งในรถที่ผมไม่อยากคืนกุญแจจริงๆ
แต่กับคนที่อยู่ในฐานะเดียวกับผม หรือว่าคุณเป็นผู้อ่านที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน ผมอยากบอกว่า มันไม่ผิดหรอกถ้าคุณจะใฝ่ฝันที่จะครอบครองรถดีๆสักคัน อย่าให้ใครมาบอกว่าน้ำหน้าอย่างคุณไม่มีทางได้ขี่เบนซ์ บีเอ็ม ปอร์เช่ เพราะความฝันไม่ใช่เรื่องทุจริตของจิต มันเป็นเรื่องของการให้ความหวัง ให้เป้าหมายกับตัวเอง คุณคิดว่าคุณต๊อบเจ้าของกิจการสาหร่ายเถ้าแก่น้อยที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์หมื่นเก้าพันล้านจะโตขึ้นมาโดยไม่ได้มีอะไรเป็นความฝันจุดประกายในใจเขาเลยงั้นหรือ
พอมีเป้าหมายแล้วก็อย่าลืมคิดตั้งแต่วันนี้ ว่าคุณจะสร้างศักยภาพของตัวเองได้อย่างไร คุณจะมีฝีมือที่โดดเด่นจนสามารถใช้ความสามารถนั้นสร้างสินทรัพย์ให้แก่ตัวเอง โดยอยู่บนความถูกต้องและยุติธรรมต่อบุคคลรอบข้างตัวเองหรือเปล่า คุณทำตัวเองให้ดูพึ่งพาได้มากแค่ไหน คุณสามารถรักษาศรัทธาที่ผู้คนฝากชีวิตไว้กับคุณได้หรือเปล่า? คิดสิ คิดมันเข้าไปตอนที่ร่างกายและสมองยังมีไฟ แล้วก็วางแผน ทำมันเสียตั้งแต่วันนี้!
ถ้าคุณทำได้ แล้วมันสำเร็จ อีก 10-15 ปีข้างหน้า คุณอาจจะเป็นคนที่มีพรั่งพร้อมทุกอย่าง มีแฟนสวยกว่าน้องเฌอปรางตอนใส่แว่น มีเงินมากพอจะซื้อบ้านหลังใหญ่กับ M cars, AMG cars หรืออะไรก็ได้ที่คุณใฝ่ฝัน
แต่ถ้าคุณพยายามแล้วมันทำไม่ได้จริงๆ ผมจะบอกอะไรให้.. คุณอ่านและฝึกภาษาอังกฤษให้เจ๋ง ทำความเข้าใจกับวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และรถยนต์ให้ดีเข้าไว้ ไปหัดขับรถในสนามให้คล่อง รู้หลักการและวิธีการควบคุมรถให้ดี
แล้วคุณก็มาตั้งเว็บไซต์ รีวิวรถแบบผม แล้วก็มีรายการ ฝันที่เป็นจริง 1 วัน..แบบผม
——————————————–///————————————————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
————————————————————-
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในประเทศ เป็นของ J!MMY
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายต่างประเทศ และภาพ Illustration ทั้งหมด
ในบทความนี้ เป็นของ Daimler AG.
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
21 กันยายน 2017
Pan Paitoonpong
Copyright (c) 2017
Pictures by J!MMY
All Illustration is Copyright of Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
21 September 2017
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! CLICK HERE!