” มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา ”
เพลงเหลวไหล ของพี่มอส ปฎิภาณ ที่เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ Isuzu ดังก้อง
อยู่ในหัวของผมตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา อันที่จริงผมแค่เอาเนื้อเพลงนี้
มาเริ่มต้นเรื่องเพื่อแก้ตัวไปอย่างนั้น เองล่ะครับ จะไม่ให้แก้ตัวได้อย่างไร เพราะ
Full Review D-Max นี้เป็นสิ่งที่ผมควรทำเสร็จเมื่อ นานมาแล้ว นานจน พี่ J!MMY
กับพี่แพน ทวงไปหลายต่อหลายครั้ง จนท้ายสุด มีโอกาสสุดท้าย ก่อนรถ Isuzu D-max
ที่ใช้เครื่องยนต์ใหม่ จะมาถึงในอีกไม่นานนับจากนี้ ผมก็ชั่งน้ำหนักอยู่ว่าจะเขียนต่อหรือ
พับโครงการดี สุดท้ายก็ตัดสินใจทำมันออกมาเพราะอย่างที่หลายท่านทราบ การได้ทดสอบ
Isuzu นั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย รถสีดำ คันที่เห็นอยู่นี้ก็อาจจะเป็นคันเดียวที่เว็บ
headlightmag.com จะมีโอกาสได้ทำ Full Review ก็เป็นได้
แต่คราวนี้ ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่าเราไม่ได้ไปยืมรถมาจากทาง ตรีเพชรอีซูซูเซลล์จำกัด
และไม่ได้ไปขอรถจากทางดีลเลอร์ที่ไหนมาทดสอบหรอกครับ..เพราะมันคือรถของผมเอง
แต่ไม่ต้องห่วงครับถึงเป็นรถของตัวเอง ผมคิดว่าผมสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือดี หรืออะไร
ที่ยังต้องปรับปรุง หากผมมีนิสัยอวยรถที่ตัวเองใช้แบบสุดโต่ง ก็ไม่มีทางที่พี่ J!MMY จะยอม
ให้ผมเขียนบทความลงเว็บนี้หรอกจริงไหมครับ? ผมเองก็ผ่านศึกรถกระบะหลายหลายรุ่นมาแล้ว
คิดว่าสามารถเปรียบเทียบรถคันนี้ กับรถกระบะยี่ห้ออื่นเพื่อเป็นประโยชน์กับท่านได้แน่นอน
ดังนั้น ถึงแม้จะเป็น Review ที่มาช้า แต่อย่างน้อยก็มีประโยชน์ เพราะอย่างที่เราทราบกันว่า
รถกระบะของ Isuzu นั้น เคยขายได้เป็นอันดับ 1 ถึง 19 ปี ก่อนจะเสียแชมป์ให้กระบะตระกูล
Hilux จาก Toyota ส่วนตอนนี้เลิกเล่นสงครามด้านยอดขาย ขอยึดอันดับ 2 มาอย่างนิ่มๆ
ตลอดเกือบทุกเดือน หลายท่าน ก็คงอยากทราบว่านอกจากเหตุผลเรื่องพลังแบรนด์ และ
ความเชื่อมั่นที่ลูกค้าจำนวนมาก (แต่ไม่ใช่ทุกคน) มีต่อการบริการหลังการขาย และราคา
ขายต่อแล้ว Isuzu ยังมีจุดเด่นในเรื่องใดอีกบ้าง Isuzu ประหยัดน้ำมันที่สุดจริงหรือไม่
เครื่อง Isuzu 3.0 ลิตรสามารถต่อกรกับเครื่องยนต์เจนเนอเรชั่นใหม่ๆได้ดีแค่ไหน ช่วงล่าง
เป็นอย่างไร..มา เดี๋ยวผมตอบให้เองครับ
ตั้งแต่ Isuzu เปลี่ยนชื่อรุ่น Subname กระบะหนึ่งเดียวของค่ายมาเป็น D-max เมื่อ
31 พฤษภาคม 2002 หลังจากนั้นเวลาล่วงเลยผ่านมาแล้วกว่า 9 ปีเต็ม ISUZU ยังคง
จับมือกับ General Motors หรือ GM ในการพัฒนากระบะรุ่นใหม่เหมือนเช่นเคย แต่
คราวนี้ต่างออกไปจากครั้งก่อนเนื่องจาก เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังจะถูกพัฒนา
แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่า D-max รุ่นที่แล้ว จะทำยอดจำหน่ายเฉพาะใน
เมืองไทย ได้มากกว่า 1.2 ล้านคัน และถ้ารวมยอดส่งออกไปในประเทศต่างๆ จะมี
ยอดจำหน่ายมากกว่า 2 ล้านคัน ถือได้ว่า ตอบรับอย่างดีเยี่ยม จากลูกค้าทั่วโลกก็ตาม
แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้ Isuzu เริ่มมองเห็นว่า ถ้าจะลากยาวทำตลาด
รถรุ่นเดิมต่อเนื่องไปอีก เห็นทีจะก่อปัญหาให้บริษัทในระยะยาวแน่ๆ และนั่นคือสาเหตุ
ที่ทำให้ Isuzu ตัดสินใจทำรถกระบะ D-Max ใหม่ รุ่นนี้ออกมาในที่สุด
ค่ายนี้เก็บความลับได้สุดยอดที่สุดแล้ว ถึงแม้รุ่นใหม่จะเปิดตัวในวันรุ่งขึ้นแล้วก็ตาม แต่
สปอตโฆษณารุ่นเดิมนั้นยังฉายกันอยู่จนถึงวันสุดท้าย ! กระทั่งรูปหลุดต่างๆ ก็แทบจะ
ไม่มีมาให้เห็นกันเลย มีหลุด 2 วัน ก่อนงานเปิดตัวรุ่นใหม่อย่างเป็นทางการ ถ้าจำไม่ผิด
น่าจะมาจากรถที่ส่งไปยังดีลเลอร์เพื่อเตรียมเอาขึ้นโชว์รูมนั่นเอง
Isuzu D-max รุ่นใหม่ ในรหัส RT-50 หรือ All new D-max ในปัจจุบันถือฤกษ์เปิดตัว
ครั้งแรกในไทย และครั้งแรกของโลกในวันที่ 29 กันยายน 2011 ด้วยสโลแกน
“ Pickup for the Whole world ” หรือรถปิคอัพสำหรับคนทั้งโลก เปิดตัวอย่าง
ยิ่งใหญ่อลังการ บรรยากาศในการเปิดตัว Isuzu D-Max Modelchange รุ่นใหม่หมด
สำหรับคนทั้งโลก สลัดความจากความเชยเฉิ่มจิต ในแบบเดิมๆดังเช่นเมื่องานเปิดตัว
D-max รุ่นเก่าครั้งแรกปี 2002 หรือ 9 ปีที่แล้ว ทิ้งไปจนเกลี้ยง!
Mr. M Tamasawa กรรมการและหัวหน้าวิศวกร Isuzu Technical Center of Asia
เล่าถึงความเป็นมาในการพัฒนารถรุ่นนี้ว่า งานออกแบบเริ่มต้นขึ้นหลังจากย้ายฐานการพัฒนา
รถกระบะใหม่ มาอยู่ที่เมืองไทย เมื่อช่วงปี 2008-2009 การย้ายศูนย์พัฒนารถกระบะ มาอยู่
ใกล้ชิดตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างเมืองไทยทำให้ทีมวิศวกร และทีมออกแบบ สามารถ
ทำงานใกล้ชิด ฝ่ายวางแผนการตลาด ฝ่ายวิจัยและพัฒนาฝ่ายผลิต เพื่อให้ตอบโจทย์
ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน เพราะ ประสบการณ์ 30 กว่าปี ทำให้ Isuzu
ตระหนักว่า ถ้าทำรถออกมาให้คนไทย ชอบได้ ก็จะทำให้คนทั้งโลกชอบได้เช่นกัน นั่นคือ
ที่มาของประโยคในการโฆษณาครั้งนี้ว่า “ Pickup for the Whole world ”
หรือรถปิคอัพสำหรับคนทั้งโลก
การทำงานของพวกเขา เริ่มขึ้นจากการย้อนกลับไปศึกษาว่า สิ่งใดที่ทำให้รุ่นปัจจุบันขายดี
ผู้บริโภคชอบและไม่ชอบในประเด็นไหนบ้าง และดูความเคลื่อนไหวของคู่แข่งทุกค่าย แล้ว
รวบรวม นำข้อมูลมาแบ่งหมวดหมู่ ออกเป็น 120 ประเภท เพื่อใช้ในการพัฒนารถรุ่นนี้
เป้าหมายในการพัฒนา มี 4 หัวข้อสำคัญคือ เน้นความสะดวกสบาย ตัวรถต้องมีบุคลิกและ
อารมณ์สปอร์ตทันสมัย แต่ยังต้องมีรูปทรงมั่นคงหนักแน่น และยังคงความเป็น “มิตรร่วมทาง”
คำหลังนี่สำคัญนะครับ สำหรับผู้ใช้รถกระบะที่จะต้องขับรถ กิน นอน ใช้ชีวิตกับรถ ในภาคขนส่ง
หรือใช้งานในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ขาย นั้นเยอะมาก และคนกลุ่มนี้ก็อยากได้รถ
ที่มีความเป็นมิตรในการใช้งานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จนถึงปัจจุบันวันที่บทความนี้ถูกเผยแพร่ D-max รุ่นใหม่นี้มีการปรับเปลี่ยน Model Year
หรือปรับอุปกรณ์ เล็กๆน้อยๆ รวมถึงรุ่นพิเศษไปแล้วหลายครั้ง เรียกได้ว่าต้องนับกันเหนื่อย
เพราะฉะนั้นในบทความนี้ เราจะขอข้ามมาที่รุ่นใหม่ของโลก รุ่นปัจจุบันที่ขายกันอยู่ตอนนี้
ส่วนประวัติกระบะ จาก Isuzu ตั้งแต่รุ่นแรกในไทยจนถึงรุ่นล่าสุด ไว้เจอกันในบทความ
Automobile History แยกดีกว่า เพราะถือว่ามันเป็นตำนาน และต้องร่ายยาวกันเลยทีเดียว
หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ปีกว่าๆ 27 พฤศจิกายน 2012 Isuzu ก็ออกรุ่นตกแต่งพิเศษ
X-Series เสริมความสปอร์ตด้วยการติดตั้งชุดสเกิร์ตด้านหน้าและด้านหลังรวมไปถึงสปอร์ตบาร์
ที่กระบะท้าย กระจังหน้า บันไดข้างและล้อแม็กมีการใช้สีรมดำและคาดแถบสติ๊กเกอร์มาให้
เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มระบบกุญแจ Keyless Entry มาให้เป็นครั้งแรกในกลุ่มรถกระบะ
4 มกราคม 2013 มีการปรับ Model Year อุปกรณ์ใหม่เล็กน้อย Front เครื่องเสียงจากเดิม
Kenwood เปลี่ยนเป็นชุดเครื่องเสียงแบบ Built-in ปั้มตรา ISUZU แทน (OEM โดย Clarion)
เสาอากาศเปลี่ยนใหม่ เป็นแบบครีบฉลามหรือ Shark Fin และย้ายกล้องมองภาพขณะถอยจอด
จากเดิมแปะอยู่บนฝาท้ายดีไซน์เปลี่ยนตำแหน่งใหม่ รวมมาอยู่ในชุดมือเปิดฝากระบะท้ายแทน
21 พฤศจิกายน 2013 มีการเปิดตัว D-max Super daylight ออกมาในระยะไล่เลี่ยกัน
กับการเปิดตัว MU-X ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2013 ที่ผ่านมา ปรับปรุง Part เครื่องยนต์ใหม่
ให้รองรับ EURO4 และเปลี่ยนเอาชุด ไฟตัดหมอกคู่หน้าออก ใส่ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน
หรือ DRL Daytime Running Lights ลงไปแทน ไฟหน้าสีรมดำทั้งโคม ไฟท้ายเปลี่ยน
รายละเอียดในโคมใหม่ให้ไฟหรี่ของไฟเบรกเป็น LED แบบเส้นคู่
25 กันยายน 2014 มีการปรับอุปกรณ์อีกครั้ง โดยการใส่อุปกรณ์เพิ่มเข้ามาเพื่อให้ทัดเทียม
กับคู่แข่ง นั่นก็คือ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Button ทำงานควบคู่กับระบบกุญแจ
อัจฉริยะ Smart Keyless Entry ใส่มาให้ทั้งใน D-max รุ่น Z-Prestige และ รุ่นพี่อย่าง MU-X
รวมถึงการปรับ Option ให้กับ D-max ทุกรุ่นย่อยให้มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ใบ ทุกรุ่นย่อย
ตั้งแต่ตัว Spark (Single Cab) รุ่นถูกสุด และออกรุ่นพิเศษใหม่อีกครั้ง เป็น X-Series
เวอร์ชั่น 2 ออกมากระตุ้นตลาด ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า แค่ดีไซน์ชุดแต่งสเกิร์ตหน้าใหม่
ปรับโทนสีเบาะภายในห้องโดยสารเป็นสีดำล้วน เดินด้ายตะเข็บแดง ปั้มโลโก้ X-Series
ที่เบาะคู่หน้า และเปลี่ยน Trim ตกแต่งจากสีเงินเป็นสีดำ High Gloss แทน และอัพราคาเพิ่ม
ล่าสุด 17 มิถุนายน 2015 คล้อยหลังการเปิดตัว Toyota Hilux Revo ได้เพียง 1 เดือน
ก็ออกรุ่นพิเศษมาอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นตลาด ในรุ่น 99th Edition ฉลองครบรอบ 99 ปี ตั้งแต่ปี
ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) ของการดำเนินกิจการของอีซูซูในตลาดโลก ผลิตออกมาจำนวนจำกัด
999 คัน เฉพาะรุ่น Hi-lander เท่านั้น โดยมีทั้งรุ่นแค็บ และรุ่น 4 ประตู โดยมีอุปกรณ์ที่เสริม
เติมแต่งเข้ามาหลายรายการ เช่น ราวหลังคา สปอร์ตบาร์กระบะท้าย กระจังหน้า คิ้วฝากระโปรงหน้า
บันไดข้าง การ์ดกันกระแทกกันชนหน้า สี Gun Metalic เสาB หุ้มสติ๊กเกอร์สีดำ ล้อแม็กลายใหม่
แต่ขนาด 17 นิ้วเท่าเดิม ส่วนภายในปรับสีเบาะนั่งใหม่เป็นเบาะนั่งหุ้มหนังสีดำ เดินด้ายสีเงิน
และเปลี่ยนชุดลำโพงใหม่เป็นของ Kenwood และน่าจะเป็นรุ่นพิเศษสุดท้ายก่อนรุ่น Minorchange
ที่จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ใหม่ จัดคิวเปิดตัวไว้แล้วเรียบร้อย 2 พฤศจิกายนนี้
รถคันที่นำมาทดสอบจะเป็นตัวท๊อปสุดของรุ่น 4 ประตู Hi-lander หรือ ขับ 2 ยกสูง นั่นเอง
เป็นรุ่น 3.0VGS Cab4 Hi-lander Z-Prestige 5A/T สีดำ Black Australian Coal ถือเป็น
เจเนอเรชั่นแรกตั้งแต่เปิดตัว ก่อนมีการปรับนู่นนี่นั่น ขึ้นราคามาโดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
รุ่นย่อยนี้เปิดราคาครั้งแรกที่ 915,000 บาท จนมีการปรับเปลี่ยนประจำปีอย่างที่ไล่เรียง
ให้คุณผู้อ่านได้ดูกันก่อนหน้านี้ จนปัจจุบันนี้นั้นมาจบที่ราคา 967,000 บาท เข้าไปแล้ว !!!!!
(เพิ่มขึ้นถึง 52,000 บาทกันเลยทีเดียว)
D-max รุ่น Double Cab 4 ประตู มีขนาดตัวถังยาว 5,190 มิลลิเมตร ส่วนความกว้าง ถ้าเป็น
รุ่นยกสูงไม่ว่าจะเป็น Hi-lander ขับ 2 ยกสูง หรือ V-Cross (ซึ่งเป็นชื่อเรียกสำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ)
จะมีความกว้าง 1,860 มิลลิเมตร ขณะที่ความสูง จะอยู่ที่ 1,795 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อที่
3,095 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นหรือ Ground Clearance 235 มิลลิเมตร
จากตัวเลขทั้งหมดนั่นแสดงให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ D-max รุ่นเดิม จะมีขนาดตัวถังใหญ่ขึ้น
แทบจะทุกมิติทั้งภายในและภายนอก รุ่นเดิม มีความยาว 4,925 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร
และสูง 1,760 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,050 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกันแล้ว รุ่นใหม่ ยาวขึ้น 265 มิลลิเมตร
กว้างขึ้น 60 มิลลิเมตร สูงขึ้น 35 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อนั้นยาวขึ้น 35 มิลลิเมตร และ Ground
Clearance เพิ่มขึ้นอีก 10 มิลลิเมตร
และในส่วนกระบะท้ายในรุ่นใหม่ 4 ประตู มีขนาด ยาว 1,485 มิลลิเมตร กว้าง 1,530 มิลลิเมตร และ
สูง 465 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นเดิมยาว 1,385 มิลลิเมตร กว้าง 1,460 มิลลิเมตร เปรียบเทียบกันพบว่า
รุ่นใหม่ ยาวขึ้นถึง100 มิลลิเมตร และกว้างขึ้น 70 มิลลิเมตร
เมื่อดูตัวเลขมิติขนาดตัวแล้ว และเทียบสัดส่วนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จะเห็นว่า มิติตัวถังก็ไล่เลี่ยกัน
ไม่ต่างกันมากนักมีเพียงคู่แฝด T6 Ranger และ BT-50Pro ที่ระยะฐานล้อ และตัวถังที่ยาวกว่าใครเพื่อน
ไม่ใช่แค่เพียงขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพียงอย่างเดียว โครงสร้างต่างๆ เส้นสายตัวรถ ที่ถูกออกแบบ
ใหม่หมด รูปลักษณ์ภายนอก มาในแบบ Aggressive Form ใช้หลักการออกแบบ 3 มิติ
เห็นเส้นสายเหมือนเป็น มัดกล้าม Isuzu บอกว่า ได้แรงบันดาลใจ จากนักกีฬา
ที่มีมัดกล้ามกระชับได้รูป
กระจังหน้าออกแบบใหม่ แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็น Isuzu ไว้ ด้วยกระจังเขี้ยวคู่ แปะโลโก้
อันมหึมาอยู่ตรงกลางเด่นเป็นสง่า แปะอยู่บนชิ้นกระจังหน้าที่ชุบด้วยโครเมียมทั้งชิ้น
ซึ่งจะบอกว่าเยอะไปหน่อย
ในรุ่น Z และ Z-Prestige โคมไฟหน้าจะเป็นแบบโปรเจคเตอร์ ใส่หลอดฮาโลเจนมาให้ ถ้ามอง
เปรียบเป็นดวงตาของคน สายตาก็ดูดุดันอยู่ไม่น้อย ไฟเลี้ยวแยกอยู่ด้านบนทั้งโคมเหมือนกรีด
อายไลน์เนอร์ที่ขอบตา ถัดลงมาจะเป็นช่องดักลมตรงกลางกันชนหน้า ควบคู่ไปกับไฟตัดหมอก
ทรงวงกลมขนาบข้าง ในรุ่น MY2014 จะถูกเปลี่ยนเป็นไฟส่องสว่างเวลากลางวันหรือ Daytime
Running Light แทน ด้านล่างของกันชนหน้าจะมีแผ่นเหล็กกันกระแทกอ่างน้ำมันเครื่องติดตั้งให้อยู่
ในรุ่น Z-Prestige มีการตกแต่งภายนอกด้วยชิ้นโครเมียมรอบคัน ไล่ไปตั้งแต่ กระจังหน้า มือจับ
เปิดประตู กันชนหลัง และกระจกมองข้างปรับและพับไฟฟ้าพร้อมไฟเลี้ยวในตัว ส่วนในรุ่น Z
กระจกมองข้างจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ แต่ก็ให้ไฟเลี้ยวในตัวมาเช่นกัน บันไดข้างเป็นสีเงินเมทัลลิค
มีดีไซน์ตัวจบหัว-ท้าย ทุกรุ่นทั้ง Hi-lander และ V-Cross ขนาดความกว้างกำลังพอเหมาะพอดี
แต่ถ้ามีวัสดุกันลื่นติดมาให้สักหน่อยจะดีมาก เพราะเวลาฝนตกหรือพื้นเปียก การเหยียบขึ้น-ลง
มีโอกาสลื่นอยู่เหมือนกัน
ไฟท้ายแนวตั้งเป็นแบบ LED เป็นกระบะรายแรกในไทยที่ใช้ไฟ LED (ส่วนคันที่2 ก็คือ
Colorado ที่คลอดตามกันมาติดๆนั่นแหละครับ) ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีแค่ 2 ค่ายนี้ที่ไฟท้าย
เป็นแบบ LED ไฟเบรกจะเป็น หลอดLED เรียงกัน 3แถว แถวละ 6 หลอด รวมทั้งหมด
ข้างละ 18 หลอด โดยทุกรุ่นจะติดตั้งไฟเบรก ดวงที่ 3 เหนือกระจกบังลมหลัง ไม่ว่าจะเป็น
รุ่นเริ่มต้นหรือรุ่นท๊อปสุด
นอกจากนี้ในรุ่น Z-Prestige บริเวณกระจกบังลมหลัง จะแยกออกจากรุ่นอื่นได้ง่าย เพราะ
มีสติ๊กเกอร์ตัวอักษร ESC ( Electronic Stability Control ) หรือระบบควบคุมเสถียรภาพ
การทรงตัว ซึ่งจะทำงานควบคู่กับ TCS ( Traction Control System) ระบบป้องกันการลื่นไถล
ติดไว้อยู่
ซึ่ง ISUZU ใส่มาให้ในรุ่นย่อย Z-Prestige 4 ประตูทุกรุ่น ไม่ว่าจะเครื่อง 2.5VGS หรือ 3.0VGS
ก็ใส่มาให้ทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้ผลิตใส่ระบบความปลอดภัยที่เป็น Active Safty มาให้
อันที่จริงแล้ว ณ ตอนนี้ คิดว่ากระบะยกสูง ไม่ว่าจะเป็น 2 ประตู หรือ 4 ประตูควรจะใส่มาให้ได้แล้ว
ทุกยี่ห้อ อย่างน้อยรุ่นกลางๆก็น่าจะมีให้ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ ราคากระบะยกสูงก็ขยับขึ้นไป
พอสมควร
ในตลาดกระบะปัจจุบันนี้ในรุ่นขับ 2 ยกสูง รุ่นที่มีใส่ระบบเหล่านี้มาให้ ก็มีแค่ Isuzu D-max ,
Chevrolet Colorado, Ford Ranger และ Toyota Hilux Revo (เฉพาะรุ่นที่ค่าตัวเกิน 1 ล้านบาท)
ส่วน Mitsubishi Triton, Mazda BT-50Pro และ Nissan NP300 Navara ต้องข้ามไปเล่น
รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น
ฝากระบะท้ายในรุ่น Z DVD และรุ่น Z-Prestige จะมีติ่งเล็กๆงอกออกมา ซึ่งนั่นก็คือ กล้อง
มองภาพขณะถอยจอดนั่นเอง ปรับลดขนาดลงมาจาก D-max รุ่นก่อนแล้วแต่ก็ยังดูเกะกะ
สายตาอยู่ดี ดังนั้นตั้งแต่รุ่น ปี2013 เป็นต้นไปจะมีการปรับปรุงดีไซน์จุดนี้ ให้กล้องมองหลัง
ไปแอบอยู่ข้างๆกับชุดมือเปิดฝากระบะท้าย ดูลงตัวเรียบร้อยขึ้นมาก รวมถึงการเปลี่ยนตำแหน่ง
ของเสาอากาศวิทยุจากด้านหน้าหัวเก๋ง เป็นดีไซน์เสาอากาศแบบ Shark fin หรือครีบฉลาม
อยู่บนหัวเก๋งด้านหลังแทน
ในรุ่น V-Cross และ Hi-lander 4ประตู ทั้งรุ่น Z และ Z-Prestige ทั้ง 2 เครื่องยนต์ จะติดตั้ง
ล้ออัลลอยลาย 5 ก้านขนาด 17 นิ้ว รัดด้วยยาง Bridgestone Dueler 684II H/T ขนาด
255/65 R17 รับกับซุ้มล้อขนาดใหญ่หน้าและหลัง ส่วนในรุ่น 2 ประตู รุ่นย่อย Z และ 4 ประตู
รุ่นย่อย L จะเป็นล้ออัลลอยลาย 6 ก้านขนาด 16 นิ้ว รัดด้วยยาง Bridgestone รุ่นเดียวกัน
ขนาด 245/70 R16
จากการสังเกตและเปรียบเทียบ ชิ้นส่วนตัวถังด้านนอกทั้งหมดค่อนข้างจะมีจุดที่ต่างกับฝาแฝด
Chevrolet Colorado อยู่พอสมควร จากด้านหน้าไปท้าย เริ่มตั้งแต่เสา A เป็นต้นไปไปถึงกันชน
ด้านหน้าจะดีไซน์ต่างกันทั้งหมด และประตู 4 บานที่ถึงแม้จะเอามาใส่ด้วยกันได้ จะมีจุดที่แตกต่างกัน
ในส่วนเส้นสายของประตูทั้ง 4 บานด้วย ถ้าสังเกตดีๆ เส้นสายเว้าโค้งจะไม่เหมือนกัน จะมีก็เพียงแต่
กระจกบังลมหน้า กระจกบังลมหลัง แผ่นหลังคา กระจกมองข้าง ไฟเบรคดวงที่3 และกระจกหน้าต่าง
เท่านั้นที่น่าจะใช้ด้วยกันได้ ตัวถังที่เป็นชิ้นส่วนเหล็กที่เหลือไม่เหมือนกันกับ คู่แฝดอย่าง Colorado
การเปิดประตูเข้าไปในรถ ทำได้ด้วยกุญแจรีโมท แต่พับเก็บไม่ได้ พร้อมด้วยระบบ Immobilizer
มีปุ่มล็อคและปลดล็อค เพียงกดปุ่มปลดล็อค 1 ครั้งประตูทั้ง 4 บานก็จะถูกปลดล็อก ไฟเลี้ยวจะ
กระพริบ 2 ครั้ง และไฟในห้องโดยสารทั้งหมด จะสว่างขึ้น ในจุดนี้ถ้าอยากให้ไฟอ่านแผนที่ 2 ดวง
สว่างขึ้นด้วย ก็เพียงแต่กดปุ่มตรงกลางตรงไฟอ่านแผนที่ ให้สว่าง เวลาปลดล็อคด้วย ในขณะที่
เวลากดปุ่มล็อครถ ไฟเลี้ยวจะกระพริบ 1 ครั้ง พร้อมไฟในห้องโดยสารจะค่อยๆ ดับลงไป
ในรุ่น 4 ประตู เมื่อเปิดประตูคู่หน้า การเข้า-ออก มีมือจับติดตั้งที่เสา A ช่วยให้คุณยกตัวโหนขึ้นนั่ง
ได้อย่างสบาย ทั้งฝั่งคนนั่งและคนขับ ซึ่งผมมองว่ามันค่อนข้างจำเป็นสำหรับรถที่ยกสูงทุกประเภท
ทำให้การเข้าออกประตูคู่หน้าเป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น
การตกแต่งภายในในรุ่นยกสูงทุกรุ่นยกสูงทั้ง Hi-lander และ V-Cross ไม่ว่าจะเป็น
ทั้งรุ่นย่อย Z หรือ Z-Prestige ภายในจะใช้สีเทาดำโทนเข้ม ในรุ่น Z-Prestige เครื่องยนต์
3.0VGS ทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ จะได้เบาะหนังสีน้ำตาลเข้ม Charcoal Brown
จากโรงงาน ลวดลายของเบาะมองผ่านๆ คล้ายกับกระเป๋าหรูบางแบรนด์ การเย็บเบาะ
จะเป็นฝีเย็บแบบตะเข็บคู่ ตรงจุดนี้แม้ตัวเบาะจะทรงเดียวกันกับ Colorado แต่รูปแบบ
การตัดเย็บจะแตกต่างกัน จะไม่เหมือนกับเบาะหนังที่อยู่ใน Colorado ตัวท๊อป ผิวสัมผัส
รอยเย็บต่างๆ ใน D-max จะทำได้เนียน เรียบร้อยกว่าที่อยู่ใน Colorado พอสมควร
เบาะนั่งฝั่งคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง สิ่งที่อยากให้ปรับปรุงเล็กน้อยคือเพิ่มอีก
2 ทิศทาง รวมเป็น 8 ทิศทาง จะดีมาก คือปรับให้เบาะกระดกขึ้นลงได้ด้วย ปกติแล้ว
ผมชอบปรับเบาะให้กระดกลึกที่สุด เลยคิดว่าตรงนี้มันยังขาดไปอยู่นิดหน่อย
ส่วนฝั่งคนนั่งจะเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทาง
เบาะคู่หน้าทรง Bolster Seat ถูกออกแบบมาให้รองรับสรีระคนทั้งโลก (ตามโฆษณา
ของ Isuzu เค้าที่ว่าปิคอัพสำหรับคนทั้งโลก) คนที่มีสรีระใหญ่โตจะนั่งได้สบายมากกว่า
คนตัวเล็กๆหน่อย เพราะปีกเบาะค่อนข้างกว้าง ทำให้คนที่ตัวเล็กๆอาจจะรู้สึกไม่กระชับ
เหมือน เบาะสไตล์ Bucket Seat แต่นั่นเองจะทำให้การเดินทางทั้งระยะใกล้และระยะไกล
ค่อนข้างจะสบาย พอสมควร จากที่ผมได้ขับเจ้า D-max นี้เป็นประจำแล้วกลับไปขับรถ
C-Segment ความรู้สึกแรกก็คือใน C-Segment จะรู้สึกอึดอัดทันที ทั้งตัวเบาะ และขนาดรถ
ค่อนข้างต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของขนาดและความสบาย
ความเห็นของผม คือกระบะยุค I-Pad รุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2011-2012 ขึ้นมา ค่อนข้างมีพัฒนาการ
ที่ก้าวกระโดดพอสมควรเลยทีเดียว พนักพิงหลังออกแบบมาให้มีพื้นที่รองรับขึ้นมาถึงไหล่
แต่ก็ยังขาดการรองรับหัวไหล่อีกนิดหน่อย ส่วนเบาะรองนั่งนั้นความยาวอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้าง
โอเค คือรองรับต้นขาได้ดี ฟองน้ำของชุดเบาะ มีส่วนช่วยดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ไม่น้อย
ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ มีเหลือเฟือเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความสูงเกินกว่า 185 เซนติเมตร
ขึ้นไปก็ตาม พนักพิงศีรษะไม่ดันหัวแต่อย่างใด ไม่แข็ง และอยู่ในตำแหน่งที่กำลังพอดีๆเลย
แผงประตูด้านข้างออกแบบมาคล้ายคลึงกับทั้ง Toyota Yaris และ Nissan Navara รุ่นที่แล้ว
ตำแหน่งการวางแขนบนแผงประตูทั้ง 4 บานนั้นถือว่าทำได้ในระดับดี ไม่ว่าจะท้าวแขนไว้
บนขอบกระจกหน้าต่างหรือพื้นที่วางแขนที่ออกแบบมารองรับไว้ก็ตาม ในจุดนี้มีข้อแตกต่างกับ
Colorado นิดหน่อยคือ แผงบุนุ่มด้านข้างตรงที่ท้าวแขน D-max ไม่มีมาให้เหมือน Colorado
แต่กลับเป็นพลาสติกทั้งหมด ไม่ว่าจะด้านข้างหรือส่วนที่วางข้อศอกลงไป เอ้า ! บุนุ่มมาให้
หน่อยสิครับรออะไรอยู่ หรือจะรอให้ศอกด้านกันไปเสียก่อน โถ่ถัง !!
การเข้าออกจากประตูคู่หลัง มีการปรับเพิ่มความกว้างของช่องประตู ทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนมากๆ
แต่นั่นก็ยังไม่มากพอที่จะล้มแชมป์การเข้า-ออกเบาะหลัง ได้ง่ายดายที่สุดอย่าง Mitsubishi
Triton ด้วยช่องประตูที่กว้างที่สุดในตลาดลงได้ รองลงมาคงจะเป็น Ranger และ BT50 Pro
ซึ่งพอๆกับ D-max และ Colorado ไม่ต่างกันมากนัก
การเข้า-ออกถือว่าทำได้ดีกว่ารุ่นเดิมมากๆ ด้วยเหตุผลส่วนนึงคือมีการปาดมุมเบาะหลัง เพื่อ
เพิ่มพื้นที่การเหวี่ยงขาเข้าไปนั่งมากขึ้นนั่นเอง ส่วนกระจกหน้าต่างประตูคู่หลังเลื่อนลงมาได้ไม่สุด
เหลือพื้นที่ กระจกอีกนิดหน่อยไม่เยอะมาก แผงประตูมีช่องใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่มาให้ ด้านหลัง
พนักพิงเบาะคู่หน้ามีช่องใส่หนังสือมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง ในฝั่งคนนั่งจะมีขอเกี่ยวสัมภาระรับน้ำหนัก
ได้ถึง 4 กก. มาให้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีที่วางแก้วและขวดน้ำ เพิ่มอีก 2 ตำแหน่งพับเก็บได้
อยู่ตรงด้านหลังกล่องเก็บของตรงกลางอีกด้วย
เบาะหลังนั้นมีความสูงของพนักพิงที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับเบาะหน้า คือยัง
ขาดไปอีกนิดหน่อย เพื่อรองรับบริเวณแผ่นหลัง องศาการเอนเมื่อเทียบกับ Ranger
และ BT50 Pro พบว่า D-max จะมีความชันมากกว่า ทำให้เวลานั่งแล้วรู้สึกตั้งชัน
มากกว่า 2 รายนั้นอยู่ แต่ไม่แย่เหมือนอย่าง Nissan NP300 Navara ถือว่าความสบาย
เมื่อเทียบกันแล้วค่อนข้างใกล้เคียงกัน กับ Ranger และ BT-50Pro แต่การโดยสาร
ระยะทางไกลๆ อาจจะเริ่มเมื่อยหลังก่อนเล็กน้อยเพราะเบาะตั้งชันกว่า แต่ทุกคันที่
กล่าวมารวมถึง Hilux Revo ก็ยังพ่ายให้กับ เบาะหลังของ Mitsubishi Triton อยู่ดี
เบาะรองนั่งยาวกำลังพอดี รองรับต้นขาได้ดีฟองน้ำเบาะรองนั่งนุ่ม นั่งได้สบายพอๆกับ
เบาะหน้า แต่ยังขาดองศาการกระดกเล็กน้อย ทำให้คนบางกลุ่มบางสรีระอาจจะนั่งแล้ว
รู้สึกว่าขาตั้งชันไปหน่อย ส่วนพื้นที่วางขามีเพียงพอเหลือๆ แม้คนนั่งด้านหน้าจะปรับ
เลื่อนเบาะ มาด้านหลังค่อนข้างมากอย่างพี่แพน ก็มีพื้นที่เหลือแบบสบายๆ ให้ผมที่
Size น้องๆพี่แพน วางขากันได้อย่างสบายมาก มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ ซึ่งการ
วางแขนนั้น อยู่ในตำแหน่งที่พอใช้ได้ ไม่สูงและไม่เตี้ยเกินไป
ในภาพรวมการนั่งโดยสารที่เบาะหลัง ทั้ง Colorado และ D-max จะรู้สึกโปร่งสบาย
กว่าคู่แข่ง อย่าง Ranger และ BT50Pro แบบรู้สึกได้ ทั้งนี้เพราะพื้นที่กระจกรอบคัน
มีเยอะกว่า ทำให้เวลานั่งรู้สึกโปร่งกว่า สบายกว่า อีกทั้งความกว้างของห้องโดยสาร
จากซ้ายไปขวา กว้างกว่าเล็กน้อย แต่กลับกันในส่วนของเบาะนั่งด้านหลัง Ranger และ
BT50 Pro จะนั่งสบายกว่าเพราะพื้นที่ ตัวถังมากกว่าทำให้โอบกระชับกว่า แต่จะทำให้
ทัศนวิสัยและความรู้สึกเวลานั่งด้านหลังจะทึบตันมากกว่า
พูดสรุปแบบง่ายๆก็คือ Colorado และ D-max เบาะนั่งสบายน้อยกว่า แต่บรรยากาศ
จะรู้สึกโปร่งสบายกว่า Ranger และ BT50 Pro ซึ่งเบาะนั่งสบายมากกว่า แต่รู้สึกอึดอัด
มากกว่า นั่นเอง เมื่อเทียบกับเบาะหลังของ Hilux Revo ถือว่าให้ ความสบายใกล้เคียงกัน
แต่ Revo จะเสียเปรียบตรงพื้นที่ Headroom ที่น้อยกว่ากันค่อนข้างมาก ทำให้รู้สึกอึดอัด
ในเรื่องของเข็มขัดนิรภัยด้านหลังมีจุดที่แตกต่างกับ Colorado อยู่คือ D-max จะติดตั้ง
เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด มาให้แค่ 2 ที่นั่ง ส่วนที่นั่งตรงกลางเป็นแบบ 2 จุดคาดเอว
ในส่วนของด้านหลัง จะปรับความสูง-ต่ำ ไม่ได้ ส่วนของเบาะคู่หน้านั้นปรับระดับสูง-ต่ำได้
พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter ซึ่งเหตุผล
ของการให้ที่นั่งด้านหลังตรงกลาง มาแค่คาดเอว 2 จุด นั่นก็เพราะ เบาะหลังสามารถปรับ
พับพนักพิงหลังลงมาได้ทั้งหมด เพื่อเพิ่มพื้นที่การขนสัมภาระ เช่นการขน LED TV หรือ
กระเช้าของขวัญต่างๆ ที่ไม่อยากจะไว้ที่กระบะหลัง (ซึ่งผมได้ใช้ประโยชน์จากการพับเบาะ
นี้ค่อนข้างพอสมควรเลยครับ)
ถ้าให้เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดที่ตรงกลางเหมือน Colorado ก็จะทำให้การใส่สัมภาระ
เป็นไปได้ลำบากมากกว่า เพราะต้องมีสายเบลท์คั่นเฉียงอยู่ตรงกลางเบาะกันเลยทีเดียว
เรียกว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่างล่ะครับ
นอกจากนี้ในส่วนของเบาะรองนั่งยังสามารถยกพับขึ้นเก็บได้ โดยแยกเป็น 60 : 40 โดยที่
ต้องใช้สายคล้องเกี่ยวกับขาของหมอนรองศีรษะ ซึ่งเป็นอันเดียวกับสายที่ดึงเบาะเพื่อยกขึ้น
ทำให้เบาะไม่ตกลงมาขณะรถวิ่ง เบาะหลังนั้น ถ้านับความอเนกประสงค์แล้ว ถือว่าทำได้ดี
ที่สุดในกลุ่ม ไม่ว่าจะพับลง ยกขึ้นทำได้หมด คล้ายๆกับเบาะหลังที่อยู่ใน Honda Jazz
บนเพดาน ในทุกรุ่นย่อย ประกอบไปด้วย ไฟอ่านแผนที่ 2 ตำแหน่งซ้าย-ขวา ช่องสำหรับ
เก็บแว่นกันแดด (ซึ่ง Colorado ไม่มีมาให้) แผงบังแดดมาให้ทั้งสองฝั่ง พร้อมกระจกส่อง
แต่งหน้าด้านคนนั่ง ส่วนด้านคนขับนั้นไม่มีให้ไปมองกระจกมองหลังแทนเอา ซึ่งกระจก
มองหลังก็ปรับลดแสงสะท้อนได้ด้วยมือของท่านเอง ฮาๆ
ขอบกระจกบังลมหน้าออกแบบมาให้บังแสงแดดที่จะโดนมือขณะจับพวงมาลัย ระหว่างขับขี่
นั่นต้องแลกกับพื้นที่การมองเห็นด้านหน้าที่ถูกบีบลงมาเล็กน้อย อาจจะไม่ได้โปร่งโล่ง
แบบรถกระบะสมัยก่อน ต้องแลกกันล่ะครับ
แผงแดชบอร์ดออกแบบภายใต้แนวความคิดของ ISUZU โดยใช้แนวทาง Universal
Design คือการออกแบบสิ่งของ ในชีวิตประจำวัน คำนึงถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เพื่อ
เน้นให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ ทั่วโลก raku raku : สบายๆ , kantan : ง่ายๆ และ Anata Shidai :
สไตล์ใครสไตล์มัน แผงแดชบอร์ดหน้าประกอบด้วยช่องเก็บของมากมายหลายจุด
หลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ตรงกลางเหนือชุดเครื่องเสียง เป็นช่องเก็บของพร้อมฝาปิด
ที่เรียกกันว่า “ ช่องใส่พระเครื่อง “ เวลาใช้งานปกติอาจจะเปิดยากซักนิดนึง เพราะ
ต้องออกแบบให้ รับแรงสะเทือนค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นฝาแบบเปิดขึ้น ถ้าไม่ออกแบบ
ตัวล็อกตรงนี้ให้แข็งแรง มีหวังรถจัมพ์คอสะพานที ฝาเปิดก็เผงิบออกมาทุกครั้งไปกันพอดี
เลยต้องเปิดยากสักหน่อย ในการใช้งานเปิด-ปิดปกติ
ผมแอบเห็นประโยชน์เจ้าช่องนี้นิดหน่อยคือ ถ้ามี Tablet , Ipad Mini หรืออาจจะเป็น
เครื่องนำทาง Navigator สักเครื่องเปิดฝาออกแล้วมาตั้งไว้ รุ่นย่อยที่ไม่มีเครื่องเล่น DVD
ก็สามารถเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นมาเปิดดูแทนก็ได้ เพราะเครื่องเสียงในรุ่นกลางๆ
ก้จะมีช่อง AUX ให้มาอยู่แล้ว ก็นับว่าเป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยทีเดียว ไม่ต้องกลัวเครื่องหล่น
ลงมาด้วย เพราะเป็นช่องหลุมลึกลงไปอยู่แล้วนั่นเอง ถัดจากช่องเก็บพระเครื่อง ก็จะเป็นสวิตซ์
ไฟฉุกเฉิน (Hazard light) อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวกดี
นอกจากนี้ฝั่งคนนั่งยังมีช่องเก็บของ 2 ตำแหน่งด้วยกัน ด้านบนเปิดฝาเปิดขึ้น ด้านใน
เก็บของได้พอสมควร อาจจะเป็น โทรศัพท์มือถือ วางแว่นกันแดด หรือสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ
มีช่อง 12V สำหรับเสียบชาร์จมือถืออยู่ให้อีกช่องด้วย พร้อมฝายางปิดดูเรียบร้อย สวยงาม
(Colorado ไม่มีให้) ส่วนใต้ช่องแอร์ทั้งฝั่งคนนั่งและคนขับ จะมีช่องวางแก้วน้ำซ่อนรูปไว้อยู่
ดึงออกมาวางแก้วหรือขวดได้ เครื่องดื่มก็ยังเย็นอยู่ตลอดเพราะแอร์เป่านั่นเอง
ถัดลงมาด้านล่างเป็นเก๊ะ สำหรับใส่คู่มือ (เป็นกระเป๋าใส่ให้เล่มใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว)
กรมธรรม์ เอกสารเกี่ยวกับรถ อะไรต่างๆ เหลือที่ให้ใส่อย่างอื่นได้ประมาณนึง มีสาย USB และ
AUX ปล่อยมาให้ตรงนี้ ส่วนตัวผมว่าน่าจะปล่อยไว้ช่องบน น่าจะลงตัวมากกว่านะ ในรุ่น
MY2013 คุณจะไม่ต้องมางมหาสายต่อ USB และ AUX ในเก๊ะเก็บของอีกต่อไป เพราะ
Isuzuจัดแจงย้ายมาอยู่บริเวณใต้สวิตซ์ควบคุมเครื่องปรับอากาศเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
ส่วนแผงประตูข้างด้านล่าง จะมีช่องใส่ขวดน้ำได้ขนาดกลางๆ พร้อมช่องใส่ของแนวยาว
เก็บของได้อีกพอสมควร
มาดูฝั่งคนขับกันบ้าง กระจกมองข้างปรับและพับด้วยสวิตซ์ไฟฟ้าในรุ่น Z-Prestige
ตัวสวิตซ์ติดตั้งอยู่ ใต้ที่วางแก้วน้ำ ซ่อนรูปอยู่ตรงช่องแอร์ฝั่งขวามือคนขับ และการติดตั้ง
ที่วางแก้วน้ำ ในจุดนี้ค่อนข้างเป็นประโยชน์เพราะเครื่องดื่มของท่านจะเย็นตลอดการเดินทาง
เลยทีเดียว เนื่องจากอยู่ตรงหน้าช่องแอร์ตรงๆ
ถัดลงไปจะช่องมีฝาปิด สำหรับใส่เหรียญ หรือบัตรคีย์การ์ดต่างๆ ด้านล่างสุด จะเป็นที่เปิด-ปิด
ฝากระโปรงหน้าและฝาถังน้ำมันติดตั้งอยู่คู่กัน
กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เปิด-ปิดด้วยสวิตซ์ไฟฟ้า มาพร้อมกับสวิตซ์ฝั่งคนขับ แบบ Auto
ทั้งขึ้นและลงพร้อมระบบป้องกันการหนีบ Protection Jam ที่ฝั่งคนขับ รวมถึงยังมีสวิตซ์
Central lock สั่งปลดและล็อกบานประตูทั้ง 4 บาน เฉพาะรุ่น Z-Prestige จะมีระบบล็อก
รถอัตโนมัติเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มความปลอดภัยให้กับ
ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น เมื่อเสียบกุญแจ บิดสตาร์ท เข็มจะกวาดก่อนเริ่มการทำงาน และมี
ข้อความต้อนรับ WELCOME บนหน้าจอ MID ขนาดใหญ่ ตรงกลางชุดมาตรวัด สิ่งที่
อยากให้ปรับปรุงเพิ่มเติมแก้ไขเล็กๆน้อยคือ อยากให้มีวงแหวนไฟตรงวงที่เสียบกุญแจ
เผื่อกลางคืนจะได้มองเห็นหน่อยนึงนะ ISUZU แต่ทว่าตั้งแต่ต้นปี 2015 เป็นต้นมา
มีการเพิ่มปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Button มาให้ในรุ่น Z-Prestige พร้อมกับ
กุญแจ Smart Keyless Entry มาเป็นแพ็คเกจ
ชุดมาตรวัด แบบ Super Vision แตกต่างไปจาก Chevrolet Colorado ชัดเจน แบ่งมาตรวัด
ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ส่วนฝั่งขวา เป็นมาตรวัดความเร็ว ใช้ Font ตัวเลขที่อ่าน
ง่ายกว่า และสบายตาในยามค่ำคืนกว่า เจ้าคู่แฝด Colorado ใหม่แน่นอนอันนี้ยืนยันให้เลย
ก้านไฟเลี้ยว ไฟหน้า ติดตั้งไว้ด้านขวามือเหมือนรถปกติทั่วไป ที่ปลายก้านจะมีปุ่ม สำหรับ
เลือกโหมดการแสดงข้อมูลต่างๆ บนหน้าจอ MID บนหน้าปัด หน้าปัดจะประกอบด้วย
ชุดมาตรวัดสองวง แสดงรอบเครื่องยนต์ด้านซ้ายและความเร็วรถด้านขวา ใช้เข็มสีขาว
ตัวหนังสือสีขาว + ไฟรอบวง สีแดง แทรกด้วยหน้าจอตรงกลางจะเป็นแบบ Multi Information
Display พื้นหลังสีน้ำเงินเข้ม (ตอนกลางวันจะเห็นเป็นสีดำ) ตัวหนังสือสีขาว มองเห็นได้อย่าง
ชัดเจน ช่วยแสดงข้อมูลต่างๆ ทั้งระยะทาง ODO, Trip วัดระยะทาง ซึ่งมีให้แค่ Trip A อันเดียว
และวัดระยะได้มากสุดแค่ 999.9 กิโลเมตร เมื่อถึง 1,000 กิโลเมตรจะเริ่มต้นที่ 0 ใหม่ เฮ้ยย !
จะวัดได้น้อยไปมั้ยเนี่ย !!!! อยากให้ปรับปรุงเพิ่ม Function แบบ Trip A Trip B และวัดได้
แบบหลักพันกิโลเมตร หน่อยเถอะ พ่อคู้ณณณณ
แต่อย่างไรก็ตามไม่ต้องห่วงว่าจะวัดระยะทางมากกว่านั้นได้ยังไง เพราะเมื่อกดปุ่ม เปลี่ยน
การแสดงค่า ไปเรื่อยๆ ตรงความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางจะมีวัดระยะทาง อีกอันนึง วัดได้ถึง
9,999 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีโหมดแสดงข้อมูลอีกหลายอย่างเช่น อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย
แบบ real time ซึ่งปรับค่า การแสดงข้อมูลได้ทั้งแบบบาร์หรือตัวเลข อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย
ทั้งทริป ความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือให้ขับต่อ เวลาในการเดินทาง
เตือนการเช็คระยะบำรุงรักษา
นอกจากนี้ยังแสดงผลได้ทั้ง ภาษาอังกฤษและ “ ภาษาไทย “ อีกด้วย เป็นรายแรกของโลก
เลยก็ว่าได้ ที่ใส่ภาษาไทยมาให้ในจอแสดงผล เรียกว่าเอาใจผู้ใช้ชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งค่ายที่มีมาให้ตอนนี้แล้วเช่นกันคือ Hilux Revo และ Nissan NP300 Navara
นอกจากนี้หน้าจอ MID กลางยังทำหน้าที่แสดงความร้อนเครื่องยนต์ และระดับน้ำมันในถัง
ตำแหน่งเกียร์ อุณหภูมิภายนอกรถรวมถึงนาฬิกาอีกด้วย
ส่วนก้านสวิตซ์ด้านซ้ายมือจะเป็นก้านที่ปัดน้ำฝน ปรับจังหวะได้ และที่ฉีดน้ำล้างกระจกหน้า
มีปุ่มปรับความสว่างมาตรวัดแบบอัตโนมัติหรือปรับความสว่างเอง แยกปรับความสว่าง
ชุดเข็มมาตรวัด และหน้าจอ MID กลางได้ มีเซนเซอร์วัดค่าแสงบนชุดวงเข็มมาตรวัดรอบด้านซ้าย
พวงมาลัยหุ้มหนัง มีปุ่ม Multifunction ควบคุมเครื่องเสียง และรับโทรศัพท์ แต่กระนั้นไม่ว่าจะ
รุ่นท๊อปขนาดไหน D-max ก็ยังไม่มี Cruise Control มาให้ ต้องไปให้ลูกค้าติดตั้งกันเอาเอง
ข้างนอกนะขอรับ (ซึ่งมีรับติดเรียบร้อยแล้ว) ไม่เข้าใจว่าจะหวงไปทำไม ในเมื่อรุ่นส่งออก
ไปขายยังต่างประเทศก็มีมาให้ทั้งใน D-max และ MU-X
ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาในรุ่น Z-Prestige เป็นยี่ห้อ Kenwood หน้าจอ Touchscreen
ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1.15 ล้านพิกเซล ลูกเล่นมีให้เล่นเยอะมาก ทั้งปรับ Equalizer
ตำแหน่งลำโพงการออกเสียง เล่น DVD ได้ มีระบบนำทาง ของ Garmin มาให้ พร้อมมี
เสียงระบบนำทาง ที่เป็นเอกลักษณ์ของ ISUZU ที่เรียกว่า I-Genni (เสียงแบบเด็กๆ
อวกาศหน่อย น่าฟังกว่าเสียงปกติที่เป็นป้าแก่ๆของ Garmin เย๊อะ ฮ่าๆ) พร้อมระบบ
Bluetooth Hands-Free ที่ไมค์โครโฟนติดตั้งอยู่บนเสา A มีช่องเสียบ USB และ AUX
อยู่ในเก๊ะเก็บของฝั่งคนนั่ง และมีกล้องมองหลังที่เมื่อเข้ากียร์ถอยหลัง ภาพก็จะตัดขึ้น
แสดงบนหน้าจอ มีช่องรองรับสามารถต่อเป็น TV Tuner และกล้องมองภาพด้านหน้าได้
(สามารถติดตั้งเพิ่มได้ภายหลัง)
คุณภาพเสียงอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร แต่ถ้าจะให้ดีขึ้นเปลี่ยนเฉพาะลำโพงเท่านั้นน่าจะจบ
เพราะคุณภาพลำโพงอยู่ระดับกลางๆ และในรุ่น Z-Prestige พิเศษกว่าด้วยระบบ Live
Surround Sound ให้ลำโพงมามากถึง 8 ตัว !!!! ประกอบด้วยลำโพงประตูคู่หน้า 2 ตัว
ประตูคู่หลัง 2 ตัว Tweeter หน้าคอนโซลมุมกระจกบังลมหน้า 2 ตัวและ Exciter อีก 2 ตัว
ที่ติดตั้งอยู่บนเพดานหลังคา !! เรียกว่าครบทุกมิติเสียงเลยทีเดียว จัดเต็มมากๆสำหรับ
ระบบความบันเทิงในรุ่นท๊อป และปัจจุบันก็ยังไม่มีกระบะเจ้าไหนให้ลำโพงมามากเท่านี้
เครื่องปรับอากาศในรุ่น Z-Prestige จะเป็นสวิตซ์เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ หน้าตา
คล้ายกับที่อยู่ใน Nissan Cube และ March ซึ่งนั่นก็เหมือนกันกับที่อยู่ใน Colorado ตัว LTZ
นั่นแหละครับ เพียงแต่เป็นสีแดงเหมือนสีของมาตรวัด มองไปบางทีก็ให้อารมณ์คล้ายกับ
Toyota 86 อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เป็นทรงวงกลมโดนัท มีตัวเลข Digital แสดงอุณหภูมิ
อยู่ตรงกลาง ปรับอุณหภูมิโดยการบิดหมุนซ้ายขวา ปรับความแรงพัดลม รูปแบบช่องปล่อย
ลมแอร์ โดยปุ่มที่ล้อมอยู่รอบนอก การใช้งานก็ทำได้พอโอเค แรกๆอาจจะไม่ชิน แต่ใช้งาน
ไปสักพักก็คุ้นชิน แต่พื้นที่เหลือนั้นค่อนข้างเยอะ จากการที่ใช้วงกลม บางทีก็แอบดูโล่งๆไปนิด
ถัดลงมาด้านล่างจะเป็นชุดเกียร์อัตโนมัติแบบ 5 จังหวะ มีโหมด + – Revtronic มาให้เล่น
หัวเกียร์ตกแต่งด้วยวัสดุสีเงินเมทัลลิคและหุ้มหนัง ฐานเกียร์มีตัวหนังสือบอกตำแหน่ง
เกียร์มีไฟส่องสว่างในแต่ละตำแหน่งมาให้ เมื่อดับเครื่องยนต์ถ้าไม่อยู่ในตำแหน่งเกียร์ P
จะไม่สามารถ เอากุญแจออกได้ ถ้าอยากเข้าเกียร์ N เมื่อจอดรถ จะต้องกดปุ่ม Shift Lock
ที่อยู่บริเวณมุมบนขวาของฐานเกียร์ เพื่อให้เข็นรถได้
ลงมาจากชุดเกียร์ก็จะเห็น ฝาปิดเรียบๆสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงนั้น ไว้สำหรับรุ่น V-Cross ที่จะ
เป็นสวิตซ์บิดหมุน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นช่องหลุมเหมือนกับ Colorado
ไว้ให้ใส่เหรียญได้สักหน่อย แน่นอนเบิกอะไหล่ตัวนี้ จาก Chevrolet มาใส่ได้พอดีกัน
กล่องเก็บของตรงกลางขนาดใหญ่โต ใส่กล่อง CD DVD ต่างๆได้เยอะ และช่องค่อนข้างลึก
เป็นที่ท้าวแขนในตัวแต่มันก็สั้นเกินไป ทั้งนี้เพราะมีรุ่นเกียร์ธรรมดา ถ้าเขยิบมาใกล้เกินไป
ช่วงเปลี่ยนเกียร์ของรถกระบะซึ่งมีมากกว่ารถเก๋งทั่วไปก็จะทำได้ลำบาก ก็พอจะเข้าใจ
แต่ช่วยบุวัสดุที่นิ่มๆมาให้ด้วยเถอะตรงฝาปิดที่ไว้ท้าวแขน เหมือน BT50 Pro รายนั้น
วางแขนแล้วนุ่มสบายเลยทีเดียว ส่วนที่วาแก้ว ข้างเบรกมือมีมาให้ 2 ช่อง ขนาดก็มาตรฐาน
สามารถวางขวดน้ำขนาด 600 มล. ( 6-7 บาท) ได้ ไปถึงแก้ว Big Gulf ของ 7eleven
ก็วางได้เหมือนกัน
โดยภาพรวมของห้องโดยสารทำได้ดีกว่า Colorado เล็กน้อย D-max เก็บงานได้เรียบร้อยกว่า
ทั้งรอยต่อ หรือความคมของวัสดุ ถูกลบไปหมด รวมถึงวัสดุเบาะนั่งก็ใช้วัสดุที่ดีกว่า ตะเข็บ
รอยเย็บต่างๆ ก็ทำได้เนียนกว่า การใช้โทนสีในการตกแต่งห้องโดยสาร ก็ทำให้ดูหรูหรา
มีความ Premium มากขึ้นจากการใช้หนังสีน้ำตาล เข้ากับวัสดุภายในสีเทาดำ ตกแต่งขอบต่างๆ
และมือจับประตู ด้วยวัสดุสีเงินรอบคัน คุณภาพของพลาสติกก็พอๆกันกับค่ายอื่น แต่ลักษณะผิว
ที่ปั้มลายชิ้นพลาสติกใน D-max นั้นจะมีลักษณะ เหมือนเปื้อนผงแป้งตลอดเวลา บางทีเลยทำให้
ดูเก่าๆเกินกว่าอย่างที่ควรจะเป็น ตรงนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร
ทัศนวิสัย ไม่แตกต่างจาก Colorado คือ มีพื้นที่กระจกบังลมหน้า น้อยก็จริง แต่การมองเห็น
ทำได้สะดวกดี ไม่มีอะไรติดขัด ใครที่ชอบมองเห็นฝากระโปรงหน้าขณะขับรถ คงจะแฮปปี้
เพราะคุณจะได้เห็นฝากระโปรงหน้าตลอด ส่วนการกะระยะ ขณะเอาด้านหน้ารถทิ่มเข้าจอดนั้น
อาจต้องเล็งมุมกันให้ดีๆสักหน่อย กระบะทุกค่ายตอนนี้ฝากระโปรงยกสเต็ปเล่นระดับ ขึ้นมา
แต่ D-max ยังไม่เป็นแบบนั้น เมื่อมองจากด้านหน้าอาจจะดูบึกบึนน้อยกว่าเพื่อน อาจจะด้วย
เหตุผลทางด้านอากาศพลศาสตร์ที่อยากจะทำให้ลู่ลมมากที่สุด เพื่อต้องการให้มีผลต่ออัตรา
การสิ้นเปลืองด้วย ซึ่งตรงจุดนี้เอง Isuzu ค่อนข้าง ให้ความสำคัญมากถึงขนาดกับไปทดสอบ
ในอุโมงค์ลมทั่วโลก แต่ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นที่ Japan Railway Technical Research Institute
หรือ JR ที่ใช้ทดสอบรถไฟฟ้าความเร็วสูงของญี่ปุ่น
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ค่อนข้างหน้า และมีการบดบังรถที่แล่นสวน มาจากทางโค้ง
ฝั่งขวา บนถนนแบบสวนกันสองเลน (เช่น ทางโค้งช่วงสะพานข้ามแยกวัดศรีเอี่ยม ย่านบางนา)
ต้องระมัดระวังกันสักหน่อย กระจกมองข้างบานใหญ่สะใจ มองเห็นรถที่แล่นตามมาด้านข้างได้ดี
ไม่ต้องแก้ไข
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะเลี้ยวกลับอยู่บ้าง แต่ยัง
พอรับได้ กระจกมองข้างมองเห็นรถที่แล่นตามมาทางฝั่งซ้ายชัดเจนดี ที่บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า
ทั่ง 2 ฝั่ง ออกแบบให้มีมือจับ สำหรับโหนขึ้นรถช่วยในการเข้า – ออกจากรถได้ดีขึ้น เหมือนรถยนต์
Off Road ในยุค 1980
ทัศนวิสัย ด้านหลัง จากตำแหน่งคนขับ ในรุ่นกระบะ 2 ประตู มองได้โปร่งตา กะระยะถอยหลัง
เข้าจอดได้ง่ายและสะดวกขึ้น จากการออกแบบตำแหน่งหัวมุมกระบะ ให้เป็นเหมือน เสากะระยะ
ในตัว ดังนั้น ถ้าถอยหลัง แล้วยังชน แสดงว่า ประมาทสะเพร่ามากๆ เองแล้วละ
ส่วนรุ่น 4 ประตู แม้จะมี กระจกบังลมหลัง ขนาดเท่ากับรุ่น X-Cab และภาพรวมถือว่าโปร่งตาดี
แต่ถ้าเพิ่มความโปร่งตาจากขอบกระจกหน้าต่าง ลงมาได้อีกนิด จะลงตัว และช่วยให้เกิดความรู้สึก
โปร่ง มากขึ้นกว่านี้ได้อีก เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillarมีขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
ช่วงแรกของการเปิดตัวขุมพลังของ D-max มีให้เลือกด้วยกัน 2 ความจุเครื่องยนต์
3 ระดับความแรง เริ่มจากเครื่องเริ่มต้น ขนาด 2.5 ลิตร รหัส 4JK1-TC 2,499 ซีซี.
DOHC ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 4 สูบ 16 วาล์ว แถวเรียง ระบายความร้อนด้วยน้ำ
Commonrail Direct Injection พร้อมเทอร์โบ Intercooler กำลังสูงสุด 116 แรงม้า (PS)
ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร (28.55 กก.-ม.) ที่ 1,800-2,200 รอบ/นาที
จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
และอัพเกรดความแรงขึ้นมาอีกระดับด้วย เครื่อง 2.5VGS รหัส 4JK1-TCX 2,499 ซีซี.
DOHC ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 4 สูบ 16 วาล์ว แถวเรียง ระบายความร้อนด้วยน้ำ
Commonrail Direct Injection พร้อม Turbocharger VGS แบบครีบแปรผัน และ
Intercooler กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.4 x 87.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 18.1 : 1
กำลังสูงสุด 136 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (38.72 กก.-ม.)
ที่ 1,800-2,800 รอบ/นาที จับคู่กับทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 5 จังหวะ
และสุดท้ายบล๊อกที่แรงที่สุด นั่นก็คือรุ่นที่เรานำมาทดสอบนั่นเอง เครื่องยนต์ 3.0VGS
เป็นรหัส 4JJ1-TCX 2,999 ซีซี DOHC ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 4 สูบ 16 วาล์ว
แถวเรียง ระบายความร้อนด้วยน้ำ Commonrail Direct Injection พร้อม Turbocharger
VGS แบบครีบแปรผัน และ Intercooler กระบอกสูบ x ช่วงชัก 95.4 x 104.9 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 17.3 : 1 กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
380 นิวตันเมตร (38.72 กก.-ม.) ที่ 1,800-2,800 รอบ/นาที
เครื่องยนต์บล๊อกนี้ ถูกยกมาจากรุ่นเดิม แต่มีการปรับปรุงชิ้นส่วนต่างๆใหม่ เป็นเจเนอเรชั่น 3.5
มีการปรับปรุงชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ใหม่ ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่
แบบ 8 รู มีขนาดเล็กลง 10% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ เทอร์โบแปรผันใหม่
มาพร้อมห้องเผาไหม้แบบ Hi-swirl เพิ่มอัตราส่วน การหมุนวนของอากาศให้มากขึ้น
ระบบ EGR Valve ใหม่ ที่มี IC ประมวลผลทำงานด้วยไฟฟ้า และ อินเตอร์คูลเลอร์ใหม่
ขนาดใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิมที่อยู่ด้านบน ให้มาอยู่ด้านหน้ารถ เพื่อการระบาย
ความร้อนที่ดีขึ้น รวมถึงจูนอัพใหม่ เพิ่มทั้งแรงม้าและแรงบิด เพิ่มแรงม้า จากรุ่นเดิม 14 แรงม้า
แรงบิดเพิ่มขึ้น 20 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่จากเดิม 4 จังหวะ เป็น 5 จังหวะ
พร้อมเพิ่มระบบ Rev-Tronic เลือกเปลี่ยนโหมดบวก – ลบได้
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ มีอัตราทดดังต่อไปนี้
เกียร์ 1 3.520
เกียร์ 2 2.042
เกียร์ 3 1.400
เกียร์ 4 1.000
เกียร์ 5 0.716
เกียร์ถอยหลัง 3.224
อัตราทดเฟืองท้าย 3.727
อ๊ะๆ ตัวเลขคุ้นกันรึเปล่าครับ ใช่แล้วไม่ผิดเลย อัตราทดเกียร์เดินหน้าและถอยหลัง
เหมือนกันเป๊ะกับ Mitsubishi Triton สงสัยว่าจะเป็นเกียร์รุ่นเดียวกัน
ในการทดลองจับเวลา หาตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกัน ในตอนกลางคืน
จะเป็นมาตรฐานเดิม โดยมีพี่ J!MMY เป็นคนขับ และทีมงานของเว็บอีก 1 คน ภายใต้มาตรฐาน
ดั้งเดิม คือ เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักรวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม
ผลสรุปตัวเลขออกมามีดังต่อไปนี้
เป็นอย่างไรบ้างครับ เห็นตัวเลขในตารางแล้ว หลายคนที่ยังคงปักใจเชื่อว่า Isuzu นั้น
แสนจะอืดๆๆๆ เหลือเกิน ต่อจากนี้ไปก็ขอให้เปลี่ยนความคิดซะใหม่ กับเครื่องที่มีอายุ
ในตลาดมาแล้วหลายปีอย่าง 3.0VGS บล๊อกนี้ ซึ่งกลับให้อัตราเร่งที่อยู่หัวแถวของกลุ่มกระบะ
แม้ว่าตัวเลขทั้งแรงม้าและแรงบิดอยู่บนกระดาษสเป็คจะไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ ยิ่งเมื่อเทียบ
กับคู่แข่ง ยิ่งไปกันใหญ่ ดูด้อยกว่าใครเพื่อน แต่เมื่อวิ่งจริงไม่ว่าจะเป็นทั้งเครื่อง เกียร์ คันเร่ง
กลับทำงานได้สอดคล้อง ส่งผสานกำลังกันได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขออกมาน่าประทับใจ
เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ตัวเลขเป็นรองแค่ Chevrolet Colorado 2.8 ลิตร 200 แรงม้า แรงบิด 500
นิวตันเมตร รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ขับเคลื่อน 4 ล้อ และ Mitsubishi 2.4 ลิตร 181 แรงม้า 430 นิวตันเมตร
ขับ 2 ยกสูงเกียร์ธรรมดาเท่านั้น และพอๆกันกับ Mazda BT-50Pro 3.2 ลิตร 200 แรงม้า แรงบิด
470 นิวตันเมตร รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เห็นมั้ยครับว่า เดี๋ยวนี้เราจะดูเฉพาะตัวเลขสเป็คบนกระดาษ
อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมาลองขับจริง ถึงจะรู้บุคลิกอัตราเร่งที่แท้จริงของรถแต่ละคัน แล้วที่เร็วเนี่ย
เพราะมาตรวัดโม้รึเปล่า ? บางคนอาจจะสงสัย เพราะอย่างใน Hilux Revo จะเพี้ยนอยู่ที่ 7% แล้ว
ของ D-max ล่ะ ? เป็นอย่างไรบ้าง ความเร็วบนมาตรวัด 100 กม./ชม. เมื่อวัดด้วย GPS จะอยู่ที่
95.5 กม./ชม. ค่าความเพี้ยนตรงนี้ก็พอๆกัน กับรถส่วนใหญ่ในกลุ่มคันอื่นๆที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 %
ถ้านับกันเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์และเกียร์ เจ้า D-max 3.0VGS คันนี้ถือว่าขับสนุกใช้ได้
กดคันเร่ง เรียกกำลังมาใช้ได้ง่าย บูสต์ค่อนข้างมาไว ติดตั้งแต่ประมาณ 1,600-1,700 รอบ
เสียงหวีดของเทอร์โบ ก็เริ่มได้ยินกันแล้ว ในช่วงออกตัวอาจจะรู้สึกไม่ได้ไวนัก แต่เมื่อกดคันเร่ง
ลงไปเต็มที่ พละกำลังที่ส่งมา ก็เริ่มแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง และไต่ความเร็วไปได้ไว
ปลายไม่เหี่ยว เมื่อเทียบกับ Hilux Revo แล้วนั้น ใน D-max ช่วงออกตัวจะทำได้ช้ากว่า
สาเหตุหลักก็เนื่องจาก การเซ็ตคันเร่งที่มาในลักษณะค่อนข้างลึก ต้องเหยียบลึกลงไปสักหน่อย
ไม่เหมือนอย่าง Toyota ที่เช็ตคันเร่งมาในแนวตื้น แตะนิดเดียวพุ่ง ทำให้การขับขี่ในเมืองอาจจะ
ไม่สนุกเท่า แต่ถ้าใช้เวลาเรียนรู้สักนิดถึงบุคลิกของคันเร่ง รับรองว่าขับในเมืองได้สนุกไม่แพ้กัน
นี่แหละ อาจจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมหลายๆคนไปลองขับแล้ว รู้สึกว่ามันอืด ไม่พุ่ง
เหมือนอย่าง Toyota หลักๆก็คือการเช็ตคันเร่งมาในแนวนี้แหละครับ เพราะส่วนใหญ่
ไปลองขับกัน หลายคนคงขับขี่กันแบบปกติ ไม่ได้กดคันเร่งลงไปมากสักเท่าไหร่
อาจจะด้วยสภาพการจราจร ถนนที่ใช้ ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการขับทดสอบมากนัก
การขับขี่ในเมืองบุคลิกคันเร่งของ Toyota จะแสดงศักยภาพออกมาได้ดีกว่า
แรงดึงนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แอบดึงหลังติดเบาะอยู่พอสมควร แต่จะมีช่วงเกียร์ 3 ต่อเนื่อง
เกียร์ 4 จะมีอาการยื้อรอบอยู่ ด้วยเหตุผลอาจจะเซ็ตมาเน้นให้ประหยัดน้ำมันด้วย เกียร์เลย
พยายามที่จะเปลี่ยนตำแหน่งให้สูงขึ้นเพื่อให้รอบต่ำลง ทำให้เกิดการขาดความต่อเนื่อง
ของพละกำลังอยู่ครู่หนึ่ง ส่งผลให้ช่วง 80-120 กม./ชม. ที่วิ่งยืนพื้นอยู่ที่เกียร์ 5 เมื่อกดคันเร่ง
คิกดาวน์เกียร์ก็จะเปลี่ยนลงไปที่เกียร์ 3 เร่งต่อเนื่อง ไปเกียร์ 4 ก็จะมีอาการดังกล่าว ทำให้
เสียเวลาตรงนี้ไป เลยทำตัวเลขได้ระดับกลางๆ ไม่โดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็น
เครื่องยนต์ Top Power ตัวเลขทำได้อยู่ที่ 8.76 วินาที ซึ่งดูจากอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. แล้ว
เปรียบเทียบกับตัวเลขอัตราเร่งแซงช่วง 80-120 กม./ชม. น่าทำได้ดีกว่านี้หรือประมาณ 8 วินาทีต้นๆ
ถ้าได้เกียร์ที่ซอยจังหวะมากกว่านี้เป็น 6 จังหวะ เพื่อความต่อเนื่องในการเรียกกำลังมาใช้ได้
อย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้เอง ถ้าใครขับแบบมุดๆ หรืออัดๆในเมืองหน่อย อาจจะมีช่วงจังหวะรำคาญ
อยู่บ้างช่วงเปลี่ยนผ่านจากเกียร์ 3 ไปเกียร์ 4
แต่ถ้าคุณขับแบบปกติทั่วไป ขับในเมือง เร่งแซงบ้างบางจังหวะ จะไม่ค่อยเจอปัญหานี้เท่าไหร่
อาการนี้จะพบเจอได้ในช่วงกดคันเร่งลงไปเต็มเท้า ถึงจะเจอ เพราะฉะนั้นการขับขี่ในเมืองบุคลิก
อัตราเร่งก็ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ไม่มีอาการรอรอบแต่อย่างใด แต่คุณอาจจะเจอจังหวะหน่วง
ของคันเร่งบ้างประมาณ 0.3-0.5 วินาที อย่างที่บอกไปว่าเช็ตคันเร่งมาลึก ทำให้การตอบสนอง
ดูเหมือนจะช้า ให้ความสำคัญกับอัตราสิ้นเปลืองในการใช้งานแบบสภาพการจราจรแบบหยุดๆติดๆ
แบบในเมืองด้วยพอสมควร เลยเป็นเหตุผลของการเซ็ตคันเร่งแบบนี้
บุคลิกอัตราเร่งในช่วงเดินทางไกล เมื่อต้องการเร่งแซงทำได้อย่างไม่มีปัญหา การไต่
ความเร็วปลายทำได้น่าประทับใจ จาก 120 กม./ชม. ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง Top Speed
ที่ถูกล็อคเอาไว้ที่ 182 กม./ชม. กำลังไม่มีตก แรงไม่เหี่ยวปลาย และใช้เวลาไม่นานนัก
ในช่วงไต่ความเร็วขึ้นไป ไม่ต้องเค้นนานเท่า Hilux Revo 2.8 ความเร็ว Top Speed
ล็อคเอาไว้แบบนี้น่ะดีแล้วครับสำหรับรถแบบนี้
ย้ำกันเช่นเคยครับว่า เราไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้คุณไปทำการทดลอง ความเร็ว
สูงสุดแบบนี้กันเอาเอง ให้เสี่ยงอันตรายกับตัวคุณและผู้ร่วมสัญจรคนอื่นๆ เพราะเราใช้
เวลาช่วงดึกมากๆ ทดลองทำออกมาเพื่อเป็น ข้อมูลเชิงวิชาการ เพื่อการศึกษาของผู้สนใจ
ด้านวิศวกรรมยานยนต์เท่านั้น
บางช่วง บางจังหวะ ขับยืนพื้นความเร็วอยู่ช่วง 120 กม./ชม. กดคันเร่งไปประมาณ 50%
ไม่ถึงกับต้องกดเต็ม เครื่องก็พาฝูงม้า และปล่อยแรงบิดออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ครู่เดียว
เท่านั้นก็ไปแตะแถวๆ 170-180 กม./ชม. ได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องลุ้นให้เหงื่อตก
แต่…เสียงของเครื่องยนต์ก็ยังคงดังตามสไตล์ Isuzu แต่ก็ถือว่าเบาลงกว่ารุ่นเดิมแล้ว
เพียงแต่เมื่อเทียบกับ คู่แข่งในตลาดที่มีอยู่ทั้งหมดเห็นทีว่าค่อนข้างดัง มันดังใกล้เคียง
กันกับ Mitsubishi Triton 2.4MIVEC จะมีก็แต่เพียง Colorado 2.5 และ 2.8 Duramax
Version1 เท่านั้นที่เสียงจะดังกว่าเครื่องของ D-max
เกียร์นั้นตอบสนองได้ไว และเปลี่ยนเกียร์ได้นุ่มนวล ทดสอบการทำงานของเกียร์โดยการ
ลองเล่นที่โหมด Manual + – พอตบเกียร์ให้ต่ำลง หรือ สูงขึ้น พบว่าเปลี่ยนเกียร์ได้ไว
ไม่มีอาการแล็คหรือช้า เพียงแต่เมื่อคุณใช้เกียร์ไม่เหมาะสมกับความเร็วหรือรอบเครื่องยนต์
เมื่ออยู่ในโหมด Manual ระบบจะไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์ให้ และมีเสียง ตื้ดๆ ดัง 2 ครั้ง เพื่อเตือน
เช่น ใช้ความเร็วอยู่ 120 กม./ชม. คุณตบเกียร์ลงไป เกียร์ 4 เพื่อลดความเร็วลง ใช้ Engine Brake
เกียร์ก็เปลี่ยนให้ แต่ถ้าลดลงมาเหลือ เกียร์ 2 ระบบจะส่งเสียงเตือนทันที เพื่อปกป้องชุดเกียร์
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ถือว่าเป็นจุดที่ต้องปรับปรุงใหญ่เลยทีเดียว ถ้าคุณใช้
ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. ก็ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับ เพียงแต่ถ้าใช้ความเร็วสูงกว่านั้น
ลมที่เข้ามาทางขอบประตูค่อนข้างเยอะ ทำให้เสียงลมเล็ดรอดเข้ามาเยอะพอสมควร
บวกกับเสียงเครื่องที่ดังหากกดคันเร่งเต็มเพื่อเร่งแซงในบางจังหวะ ทำให้ช่วงใช้ความเร็วสูง
บรรยากาศในห้องโดยสารจะมีเสียงรบกวนเยอะเป็นพิเศษ ไม่น่ารื่นรมย์เท่าที่ควร
แต่ในส่วนของเสียงจากยางและช่วงล่างต่างๆเก็บเสียงได้ดี จะมีก็แต่เสียงลมตามขอบประตู
ต่างๆเนี่ยแหละ ที่ดังสนั่นพอสมควรในช่วงความเร็วสูง ตอนแรกก็นึกว่าอาจจะเป็นที่รถคันนี้
เฉพาะคันรึเปล่า แต่จากการไปเคลมยางขอบประตูทั้ง 4 บานมาแล้วก็พบว่าเสียยังดังอยู่เช่นเดิม
ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ฝากให้ไปพัฒนาปรับปรุงตรงจุดนี้ด้วยจะดีมากๆ
พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิกผ่อนแรงช่วย แกนพวงมาลัย
สามารถยุบตัวได้ อัตราทดเฟือง 41.1 : 1 รัศมีวงเลี้ยว 6.3 เมตร ไล่เลี่ยกันกับคู่แข่งในตลาด
น้ำหนักพวงมาลัยเซ็ตมาได้ดีทีเดียวมาในสไตล์หนักและหนืด ซึ่งโดยส่วนตัวผมชอบน้ำหนัก
ประมาณนี้ กับรถแบบนี้ถือว่าเหมาะสมดีแล้ว มีระยะฟรีค่อนข้างน้อย มีความแม่นยำสูง ค่อนข้างคม
กริปการจับกระชับ หน่วงมือกำลังดี On Center Feeling นั้นทำได้ดีกว่า Colorado อยู่นิดหน่อย
พวงมาลัยค่อนข้างนิ่ง ตึงมือ ช่วงความเร็วสูงสามารถไว้ใจได้ ปล่อยมือจากพวงมาลัยได้
สำหรับผู้ชายแล้วน้ำหนักพวงมาลัยกำลังดี แต่สำหรับผู้หญิงอาจจะรู้สึกหนักไป ความไวของ
พวงมาลัย ขณะความเร็วต่ำค่อนข้างออกไปทางหนักแน่น แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงน้ำหนักกำลัง
พอดีๆมือ ถ้าจะใช้พอดีกับทั้งผู้หญิงและผู้ชายอาจจะต้องเซ็ตให้ใกล้เคียงกับ Hilux Revo มากขึ้น
ถือว่ากำลังเหมาะ แต่อย่าให้ เหมือนกับ Ranger Minorchange ที่ใช้พวงมาลัยไฟฟ้า EPAS นะ
รายนั้นก็เบาเกินไปในช่วงความเร็วต่ำ
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบอิสระ ปีกนก 2 ชั้น พร้อมคอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง
ช็อกอัพแก็ส ส่วนด้านหลัง เป็นตับแหนบรูปวงรี ช็อกอัพแก็ส (แหนบ เหนือเพลา) ในการ
ซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำเมื่อเจอรอยต่อถนน เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี
ไม่สะเทือนหรือดีด ออกไปในแนวนุ่มเสียด้วยซ้ำ ถ้าวิ่งบนทางด่วนถนนเรียบๆ มีช่วง
รอยต่อถนนบ้างถือว่านุ่มที่สุดในบรรดากระบะ 4 ประตู ใกล้เคียงกับ Mitsubishi Triton
ในสภาวะถนนเรียบปกติ ความนุ่มนวลของช่วงล่าง การซับแรงสะเทือน จะทำให้การนั่ง
โดยสารรู้สึกสบายมาก ไม่สะเทือน นุ่มสบายมากกว่ารถกระบะทุกยี่ห้อในตลาด แต่ถ้า
เมื่อไหร่ที่เจอหลุมบ่อ หรือจั้มพ์คอสะพาน ถนนเป็นลอน ไม่เรียบ หรือมีหลุมติดๆกันเยอะๆ
จะรู้สึกเด้ง จนเวียนหัวได้ สำหรับคนที่เมารถง่าย เมื่อเทียบกับ D-max รุ่นก่อนแล้ว
ดีขึ้นมากๆ แต่ยังพอมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง
สาเหตุหลักๆที่ทำให้มันเด้งดึ๋งเหมือนลูกชิ้นปลาแบบนี้เมื่อเจอพื้นผิวแบบขรุขระ ก็เพราะ
ช่วงล่างด้านหน้าเช็ตจังหวะ Rebound ของโช็คให้ยาว ระยะยุบ-ยืดตัวของโช็คมากเกินไป
คือรู้ว่าจะเน้นเอาใจกลุ่มลูกค้า Isuzu เดิมและผู้ใหญ่ที่ขับรถไม่เร็วมากนัก ชอบความนุ่มสบาย
แต่มันมากเกินไปเสียหน่อย ก็รู้อยู่ว่าถนนเมืองไทยมันไม่ได้เรียบกริ๊บอย่างที่หวัง ทำให้เจอ
หลุมบ่อ รอยต่อมากมาย อีกทั้งคอสะพานต่างๆ ที่แทบจะถามว่านี่ในกรุงเทพฯ จำลองสนาม
ขับรถ Buggy วิบากกันอยู่หรือ ทำให้จังหวะการยุบตัวจากปกติ ที่เด้งแล้วจังหวะ Rebound
กระชับสั้นทีเดียวแล้วจบ แต่ใน D-max จะมีบุคลิกของจังหวะการเด้งรีบาวน์กลับ ขึ้นมาเล็กๆ
After Shock อีก 2-3 ครั้งก่อนจะหยุดนิ่ง
ต้องขออธิบายว่าการเด้งนั้นจะต่างจากการดีดนะครับ ใน D-max เองอาการดีดดิ้น มีน้อย
ไม่ค่อยเจอ ส่วนมากจะเป็นการเด้งที่ช่วงล่างด้านหน้าซะมากกว่า จากการยุบตัวหลายจังหวะ
ของโช็ค ถ้านึกภาพไม่ออกลองนึกถึงการโยนลูกชิ้นปลาลงพื้น มันจะมีการรีบาวน์กลับอีก
2-3 จังหวะก่อนจะหยุด
จนบางทีส่งผลไปถึงการเข้าโค้งลึกๆ ช่วงระยะยุบ-ยืดตัวของโช็คด้านหน้าที่มากไป ทำให้
คนขับและคนนั่ง รู้สึกไม่มั่นคงเพราะมีการเอียงตัวของตัวถังที่ออกอาการมา แต่จริงๆแล้ว
ด้วยพื้นฐานช่วงล่างที่เช็ตมานั้น ขอบอกว่าเอาอยู่แน่นอน ลองเข้าโค้งตัว U ที่ความเร็ว
80-90 กม./ชม. ก็ไม่หลุด แต่ความรู้สึกที่ส่งขึ้นมา ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจว่ามันจะเอาอยู่มั้ย
จากการให้ตัวของตัวถังอย่างที่บอกข้างต้น
ส่วนช่วงล่างด้านหลังถือว่าเซ็ตมาได้โอเคดีแล้ว อาการดีดดิ้นยังมีให้เห็นน้อยกว่า Nissan
NP300 Navara และ Hilux Revo รวมถึง Ford Ranger ด้วย แต่โดยรวมจากทั้งด้านหน้าและ
ด้านหลังยังถือว่าบาลานซ์ ได้ในระดับพอใช้ได้ ความนุ่มนวลดีแล้ว แต่ยังขาดความมั่นใจ
ในช่วงความเร็วสูงอยู่
ถ้าหากคุณใช้ความเร็วไม่เกิน 140 กม./ชม. จะสบายมาก น่าจะเป็นช่วงล่างที่เหมาะกับ
การเดินทางแบบนุ่มสบาย ไปเรื่อยๆ ไม่บู๊ ผู้ใหญ่น่าจะชอบ แต่เมื่อไหร่ที่ใช้ความเร็วเกิน
140 กม./ชม. ขึ้นไป ต้องใช้สมาธิในการบังคับควบคุมมากขึ้นกว่าเดิมอยู่พอสมควร
ระบบเบรกจะเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม หม้อลมเบรก ก็เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นเป็น 10.5 นิ้ว
มาพร้อมระบบช่วยเหลือการขับขี่ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS, ระบบกระจายแรงเบรก
EBD ระบบเสริมแรงเบรก Brake Asssit , ระบบควบคุมการทรงตัว ESC ระบบป้องกัน
ล้อหมุนฟรี TCS มีมาให้ครบเพียงพอต่อการใช้งาน
แป้นเบรกเซ็ตระยะและน้ำหนักมาดี กดลงไปสามารถหน่วงความเร็วได้ดี มั่นใจ ไม่ต้อง
กดลึกมากนัก เบรกก็เริ่มจับและหน่วงความเร็วลง แป้นเบรกมาในแนวนุ่มและไม่ตื้นจนเกินไป
กดลงไปแล้วหัวไม่ทิ่ม ในการใช้งานปกติ ความเร็วไม่สูงนัก ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี ไว้ใจได้
แต่สิ่งที่ควรปรับปรุงอย่างเดียว คือคุณภาพของผ้าเบรก เมื่อหน่วงจากความเร็วสูงช่วง
170-180 กม./ชม. แล้วกดเต็มเพื่อจะหยุดรถ พบว่า เมื่อเหยียบไปได้สักพัก ความเร็ว
ลดเหลือช่วงใกล้ๆ 70 กม./ชม. เบรกเริ่มจม และต้องยกเท้าและกดลงไปใหม่ เป็นลักษณะ
อาการเฟดของผ้าเบรก ยิ่งเปิดกระจกมาจะชัดเจนมาก ได้กลิ่นไหม้ของผ้าเบรก ปัญหาคือ
ผ้าเบรกนั้นทนความร้อนได้ไม่สูงนัก มันควรจะทนความร้อนได้สูงกว่านี้ อย่างน้อยการหน่วง
จากความเร็วสูงติดๆกัน ควรได้สัก 1 รอบครึ่ง หรือ 2 รอบก่อนจะเฟด แต่นี่เกิดอาการตั้งแต่
รอบแรกเลยทีเดียว
ถ้าขับแบบปกติๆ จะไม่ค่อยเจออาการนี้หรอกครับ ขับทั่วไป 110-120 กม./ชม. แล้วลด
ความเร็วมันอยู่ในเกรฑ์ที่ไว้วางใจได้ แต่เมื่อไหร่ที่คุณเข้าโหมดบู๊ มุดในเมือง หรือหน่วง
ความเร็วบ่อยๆมันจะออกอาการให้คุณเห็นทันที วิธีแก้ไข ง่ายมากครับ แค่เปลี่ยนผ้าเบรก
ให้เกรดสูงกว่านี้ จบ ! ระบบเบรกในส่วนอื่นไม่มีปัญหาหลายคนอ่านแล้ว ก็สงสัย เฮ้ย คนทั่วไป
ใครเค้าจะมาขับกันแบบนี้ มันก็จริงครับ แต่เมื่อทดสอบแล้วกับรุ่นอื่น ยี่ห้ออื่น มันทำได้ดีกว่านี้
ใครจะไปรู้ว่าคุณจะเจอกับสถานการณ์ อะไรข้างหน้า เพราะฉะนั้นมันควรจะต้องทำได้ดีกว่านี้
ในการหน่วงจากความเร็วสูง ฝากข้อนี้ให้ Isuzu นำไปปรับปรุงสำหรับรุ่นปรับอุปกรณ์
ในอนาคตต่อๆไปด้วย !
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ในการทำบทความรีวิวรถกระบะ และต้อง
ทำการทดลองจนกว่าจะกระจ่างแจ้ง นั่นคือ “ความประหยัดน้ำมัน” มันเป็นคำถามสุดคลาสสิก
ที่เราท่านถ้วนทั่ว มักได้ยินเสมอ เวลามีใครมาสอบถามว่าจะซื้อรถกระบะรุ่นไหนดี
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมักเป็นประเด็นแรกที่ร้อยละ 95 ของผู้คน มักให้ความสนใจ
โดยเฉพาะ Isuzu ที่เค้าเคลมกันนักหนาว่าประหยัด
เช่นเคยครับ ในเมื่อรถกระบะ เป็นหนึ่งในรถยนต์ประเภทที่คุณผู้อ่านส่วนใหญ่ ซีเรียส
กับตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง น้ำมันเชื้อเพลิง เราจึงทำการโยก ขย่ม และเขย่ารถกัน
เพื่อกรอกน้ำมันลงไปให้เต็มถังจนล้นเอ่อขึ้นมา ถึงปากคอถังอย่างนี้ ให้มั่นใจว่าจะ
ไม่เหลืออากาศอยู่ในถังเลยจริงๆ หรือเหลือให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปกติ ผู้ช่วยของพี่ J!MMY และสักขีพยานของเราในการทดลอง มักจะเป็นพี่โจ๊ก
V10ThlNd ตามปกติ แต่ในคราวนี้เนื่องจากรถทดสอบไม่ได้ยืมมาจากค่ายรถ
แต่เป็นรถส่วนตัวของผมเอง น้ำหนักรวมกัน 2 คนเลยอาจจะเกินไปสักเล็กน้อย
ประมาณ 40-50 กิโลกรัม แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ แต่ทำไงได้ล่ะ
ก็ในเมื่อ Isuzu ไม่มีนโยบาย เอารถให้สื่อมวลชนทดสอบกันแบบเดี่ยวๆ ก็ช่วยไม่ได้
เมื่อเสร็จแล้ว เราก็ขึ้นนั่งประจำที่ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ Set 0 บน Trip Meter
แล้วออกรถ ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะ
จนออกปากซอย โรงเรียนเรวดี เข้าสู่ถนนพระราม 6
จากนั้นเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน อุดรรัถยา ขับตรงไปยังปลายทาง ณ ด่านบางปะอิน เลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วนฝั่งตรงข้าม ขับกลับมาตามเส้นทางเดิม ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ พัดลมแอร์เบอร์ 1 และนั่ง 2 คนตามมาตรฐานดั้งเดิมในการทดลองของเรา ทุกประการ
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีบย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับ
ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติม น้ำมัน Techron
Diesel ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วงการเติมครั้งแรกของทุกคัน
แล้วเราก็ต้องมานั่งเขย่า โยก ขย่มรถ กันอีกจนกระทั่ง น้ำมันเต็มล้นเอ่อ แน่นขึ้น
มาถึงปากคอถังเช่นนี้ ตามมาตรฐานเดิม ใช้เวลาขย่มกันเป็นชั่วโมงจนกว่าจะเต็ม
แบบในภาพด้านล่างนี้
ได้เวลามาดูตัวเลขจากการเติมน้ำมันของ Isuzu D-max 3.0VGS Hi-lander
เกียร์อัตโนมัติกันแล้วล่ะครับ
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 93.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.49 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.44 กิโลเมตร/ลิตร
เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาแล้ว พบว่าในภาพรวม
D-max ถือว่าทำตัวเลข ความประหยัดได้ออกมาอยู่ในระดับหัวแถวของกลุ่ม
แต่เนื่องจากเครื่องยนต์บล๊อกนี้ถือว่าอายุอานาม ในการประจำการของมัน
นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ใส่มาในกระบะของ Isuzu ก็เกือบจะ 10 ปีแล้ว ก็อาจจะ
ต้องยอมพ่ายให้กับเครื่องยนต์บล๊อกใหม่ๆที่เดี๋ยวนี้เริ่มจะ Down Sizing
ลดความจุกระบอกสูบลงมา และอัดเทคโนโลยีเสริมเข้าไป ตัวเลขเลยแพ้ให้กับ
Mitsubishi Triton 2.4 MIVEC รุ่นเกียร์ธรรมดา ไปเรียบร้อย แต่ถ้ามองอย่าง
เป็นธรรมก็ต้องเปรียบเทียบกับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ขับ 2 ยกสูงด้วยกัน
ก็จะพบว่า D-max 3.0 VGS นั้นถือว่าทำตัวเลขได้ใกล้เคียงกับ Ford Ranger 2.2 ลิตร
เกียร์ A/T เหมือนกัน ต่างกันเพียงจุดทศนิยม แต่ดูแนวโน้มแล้วเมื่อเทียบกับคู่ปรับ
ตลอดกาลอย่าง Toyota Hilux Revo ที่ถึงแม้จะเป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่กลับทำ
ตัวเลขได้ใกล้เคียงกับ D-max Hi-lander ซึ่งถ้าเป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อของ Revo
น่าจะทำตัวเลขได้ดีกว่านี้ ไว้เรามาดูกันอีกครั้งครับ เมื่อ ถ้าเรามีโอกาสเอาเจ้า
Revo Prerunner มาเทสต์ในอนาคต ว่าจะเป็นไปตามความคาดหมายหรือไม่
แม้ว่าในการวิ่งทางไกลนิ่งๆ 110 กม./ชม. น้้นตัวเลขความประหยัดอาจจะทำได้ไม่ดีที่สุด
เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด แต่จุดเด่นของ Isuzu คือการวิ่งแบบผสมผสานใช้งานในสภาพจริง
กลับทำได้ประหยัดเกินคาด เหตุผลส่วนหนึ่งอย่างที่บอกไปในส่วนของการขับขี่คือ คันเร่ง
ที่เซ็ตมาลึกและไม่ Sensitive เกินไป ส่งผลให้การขับขี่ในเมือง เจอสภาพการจราจรติดขัด
เครื่องยนต์จึงไม่ต้องเร่งมาก รวมถึงแรงบิดที่มาตั้งแต่ในรอบต่ำ ทำให้ไม่ต้องเค้น หรือ
เหยียบคันเร่งมากนัก เพื่อลากตัวถังที่หนักเกือบ 2 ตัน ลัดเลาะไปในเมือง ความจุถังน้ำมัน
ของ D-max อยู่ที่ 76 ลิตร 1 ถังวิ่งได้ประมาณ 900 กิโลเมตร+ ไฟเตือนถึงจะขึ้น ถ้าวิ่ง
จนใกล้หมดน่าจะได้เกือบๆ 1,000 กิโลเมตร จากการกรอกจนน้ำมันเอ่อขึ้นมา ที่คอถัง
เหมือนรถกระบะที่เอามาทดสอบทุกๆคัน
สำหรับการใช้สลับทั้งในเมืองและนอกเมือง รถติดขนาดไหนก็ดูจากภาพเอาครับ
ช่วงที่ทำงานออฟฟิศ วิ่งทุกวันเส้นเดิม จากบางใหญ่ ลัดเลาะมาทางบางกรวย
ขึ้นสะพานพระราม 7 ผ่านวงศ์สว่าง แยกประชานุกูลที่แสนจะติดอยู่เป็นประจำ ระยะทาง
ราวๆ 20 กิโลเมตร บางวันใช้เวลา เกือบ 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น จากบ้านเพื่อมายังออฟฟิศ
คิดดูเอาแล้วกันครับ ติดขนาดไหน ขากลับก็วิ่งเส้นเดิม การจราจรก็ดีขึ้น แต่ก็ยังถือว่าติดอยู่
อย่าคิดว่าผมขับช้าหรือเปล่าเนี่ยถึงระยะทางต่อ 1 ถังได้เยอะแบบนี้ เปล่าเลยครับ ลองนึกดูว่า
ถ้าผมเป็นคนขับช้าๆ ผมจะซื้อรุ่น 3.0 ลิตรมาทำไม ? ซื้อรุ่น 2.5 ลิตร ไม่ดีกว่าหรือ ประหยัดเงิน
ไปหลายหมื่น รวมถึงการต่อภาษีประจำปีก็ถูกกว่ากันอีกหลายพันบาท แน่นอนครับ ผมค่อนข้าง
เป็นคนขับมุดอยู่เหมือนกัน มีจังหวะทำความเร็วก็เร่งแซงขึ้นไป ถ้าหากยังสงสัยอยู่ ผมได้เก็บ
ข้อมูลการเติมน้ำมัน เป็นเวลาเกือบ 2 ปี มาให้ชมกันครับ ว่าเฉลี่ยแล้วเนี่ย อัตราสิ้นเปลือง
ในการใช้งานจริง ชีวิตประจำวัน จะเป็นอย่างไร มาดูกันเลยครับ
Condition คือ ผมเติมเต็มถังแบบหัวจ่ายตัด ทุกครั้งนะครับ คงไม่มานั่งเขย่าเป็นชั่วโมงๆ
จนเอ่อคอถังเหมือนที่ทดสอบแบบนั้นตายพอดี วิ่งจนเกือบหมด ไฟเตือนขึ้นแล้วก็เติมกลับเต็มถัง
หัวจ่ายตัดเหมือนตอนแรก ผลออกมาที่ได้คือทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้เฉลี่ยเกือบ 2 ปี
11.82 km/l เป็นการขับแบบทั้งในเมืองและนอกเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในเมืองเสียมากกว่า
จะมีบางครั้งที่ขับระยะทางยาวๆนิ่งๆ ไปต่างจังหวัดบ้างประมาณ 6-7 ครั้ง เลยทำตัวเลขออกมา
ได้ค่อนข้างดีกว่าปกติ ไม่เคยได้ตัวเลขต่ำกว่า 10 km/l เลยแม้จะขับแบบไหนก็ตาม การเติมน้ำมัน
เต็ม 1 ถังแบบหัวจ่ายตัดเฉลี่ยก็จะวิ่งได้ระยะทาง ประมาณ 800 กิโลเมตร + – ตามสภาพเส้นทาง
ที่ใช้และการจราจร
จากข้อมูลทั้งหมดก็เห็นได้ว่า ในสภาพการใช้งานจริง ถือว่า Isuzu D-max ทำผลงานออกมาได้
ค่อนข้างเป็นที่น่าประทับใจในด้านอัตราสิ้นเปลือง ลองถามไถ่จากทั้งคนรอบตัว เพื่อน พี่ น้อง
หรือคนรู้จักที่มีกระบะ Isuzu ใช้งานควบคู่กับรุ่นอื่นๆอยู่ ต่างก็ให้ความเห็นไปในเชิงใกล้เคียงกันว่า
ค่อนข้างประหยัดกว่ากระบะรุ่นอื่นๆอยู่ประมาณนึง
อีกอย่างที่ลืมพูดถึงไปไม่ได้เลย ก็คือ ISUZU INSIGHT เทคโนโลยีช่วยประมวลผล
และวิเคราะห์ พฤติกรรมการขับขี่ ให้ผู้ขับขี่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพการขับขี่
ให้เต็มสมรรถนะ และประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้น ด้วยข้อมูลที่บันทึกได้จากการใช้งานจริง ทุกๆ
การเช็คระยะ 10,000 – 50,000 กิโลเมตร ( 5ครั้ง ) จะมีการประเมินผลการขับขี่ให้ฟรี
(หลังจากฟรี 5 ครั้งถ้าลูกค้าอยากได้ผลก็มีค่าใช้จ่าย 500 บาท/ครั้ง)
การประมวลผลแยกหมวดออกมาเป็น 5 ส่วนด้วยกัน
– ความเร็วและอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
ความเร็วรถโดยเฉลี่ย / อัตราสิ้นเปลือง / ช่วงความเร็วส่วนใหญ่ที่ใช้ มีอัตราส่วนอย่างไรบ้าง
– ช่วงรอบเดินเบา
มีการติดเครื่องยนต์ไว้นิ่งๆกี่นาที คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์
– รอบเครื่องยนต์
รอบเครื่องยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้ ประมาณไหน มีการแนะนำว่ารอบเครื่องยนต์ที่ใช้เท่าไหร่ที่จะประหยัดน้ำมัน
– การใช้เบรก
ในทุกๆระยะ 100 กม. มีการเหยียบเบรคกี่ครั้ง เบรคกะทันหันกี่ครั้ง
– การเหยียบคันเร่ง
เหยียบมาก เหยียบน้อยเป็นกี่% รุนแรงหรือไม่ คิกดาวน์ เหยียบเต็มเท้า บ่อยแค่ไหน
และรวมเป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนน ว่าเราได้เท่าไหร่ ผมว่าอันนี้เป็นข้อดีมากๆเลย
ทั้งต่อ ISUZU เองและลูกค้า ว่าลักษณะการขับเราเป็นอย่างไร จะให้ประหยัดกว่านี้ต้องปรับ
ตรงไหน ถือเป็นจุดแข็งของอีซูซุเลยก็ว่าได้ที่ไม่มียี่ห้อไหน มาสนใจและใส่ใจแบบนี้ แถมยัง
ได้ข้อมูลไปพัฒนารถรุ่นต่อไปอีกด้วย ว่าการขับขี่ของลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นแบบไหน
การเซ็ตคันเร่ง เบรค หรืออื่นๆควรเป็นอย่างไร มีกราฟแบบใยแมงมุมรวมผลให้ดูในแต่ละด้าน
ในบางสัดส่วนอาจจะคิดเป็น 0% ก็อย่าแปลกใจไปครับ เพราะในการวิ่งทุกๆ 10,000 กิโลเมตร
ย่อมมีตัวเลขที่ค่อนข้างหลากหลาย การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป บางคนวิ่งกันครึ่งปี ถึงจะครบ
เมื่อคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นแล้วอาจจะได้แค่ 0.5% เมื่อผลประมวลออกมาเลยคิดเป็น 0% ให้ดูเป็น
ภาพรวมคงไม่ได้เจาะลึกเป็นทศนิยมหลายตำแหน่งเมื่อปริ้นท์ผลออกมาแล้ว ไม่ใช่แค่ยื่นให้ลูกค้า
แต่มีเจ้าหน้าที่มาอธิบายว่า หัวข้อนี้คืออะไร ผลเป็นอย่างไร มีคำแนะนำว่าควรปรับปรุงอย่างไร
จุดขายสำคัญอีกอย่างของ Isuzu ที่นอกเหนือจากตัวรถนั่นก็คือ บริการหลังการขายและ
ศูนย์บริการที่ไว้ใจได้ รับผิดชอบต่อเคสต่างๆได้ดี แก้ปัญหาไว ความจริงที่พบเจอมาคือ
บางทีดีกว่าศูนย์บริการรถหรูบางค่ายเสียอีก Isuzu เค้ามีนโยบายเลยว่า ถ้าลูกค้ามีปัญหา
เข้ามาช่วงเช้า ไม่เกินเย็นวันนั้นต้องมีข้อสรุปให้ลูกค้าได้เลยว่า เป็นที่อะไร แล้วจะมีแนวทาง
แก้ไขอย่างไร ถึงแม้ว่าปัญหาจะแก้ไม่เสร็จหรือเรียบร้อยในวันนั้น แต่อย่างน้อยต้องมีคำตอบ
และแนวทางแก้ไขสรุปจบให้ลูกค้า หากเข้ามาช่วงบ่าย ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง ต้องมีข้อสรุปเช่นกัน
อาจจะนัดมาเคลมอะไหล่ หรือแก้ไขทีหลัง แต่อย่างน้อยต้องมีข้อสรุปให้ลูกค้าได้ในเวลาที่
เค้าวางเป้าหมายไว้ไม่ให้ลูกค้าต้องเกิดความกังวลหรือสงสัยว่ารถเค้าเป็นอะไรกันแน่ และผม
ก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าเค้าสามารถทำได้จริง
ไม่ใช่อะไรอื่นไกล ปัญหา Defect ต่างๆประจำรุ่นผมเจอมาหมดครับ ทั้งแหนบดัง จากการที่
ตัวรัดประคองแหนบไขมาแน่นเกินไป ปัญหาน้ำรั่วจากไฟเบรกดวงที่ 3 จริงๆปัญหา Defect
จากทุกค่ายก็มีเหมือนกันหมดนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะรุ่นไหน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การรับมือ
ของศูนย์บริการว่าจะทำได้ดีแค่ไหน หลายๆคน อาจจะเคยถาม หรือสงสัย โอ้โห Isuzu
ไม่มีปัญหาหรือ Defect บ้างเลยหรือ ตอบเลยว่ามีครับ แต่ไม่ค่อยได้เห็น ตามสื่อสาธารณะ
มากสักเท่าไหร่ เพราะศูนย์บริการสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ หรือมีการตอบสนองต่อปัญหา
ได้ไว และเร็ว ทำให้ลูกค้าไม่ต้องมานั่งด่า นั่งบ่น หรือร้องเรียนตามที่ต่างๆ นี่ถือเป็นจุดแข็ง
เลยของค่ายนี้ที่ค่ายอื่นยังทำได้ไม่ดีเท่า หรือยังต้องพัฒนาตามอีกหลายช่วงตัว
เค้าให้ความสำคัญถึงขนาดกับมีผลต่อการพิจารณาให้ดีลเลอร์เข้าไปประจำที่งาน Motorshow /
Motorexpo เลยนะครับ ถ้าคะแนนประเมินต่ำ หรือมีลูกค้าร้องเรียนมามากเกินมาตรฐานของเค้า
ตัดสิทธิ์การเข้าไปขายในงานทันที รวมถึงมีการแข่งขัน การทดสอบช่างอยู่เสมอ เพื่อยังคงรักษา
มาตรฐานเอาไว้ได้ บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าศูนย์บริการที่ดี หมายถึง ต้องหรู มีของกินเยอะ
มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาก นั่นก็มีส่วนบ้างที่จะทำให้ลูกค้าได้รับความพึ่งพอใจ ถ้านับเฉพาะ
แต่ความหรูหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเยอะบางค่ายยังทำได้ดีกว่าก็มีครับ แต่ประเด็นหลักสำคัญ
คือสิ่งที่ผมเล่ามาข้างบนมากกว่า
***** สรุป *****
ยังไงก็ตาม เจ้าตลาดก็ย่อมรู้จักลูกค้าตัวเองดีเหมือนเช่นเคยนั่นแหละ
ณ วันนี้ ผ่านการใช้งานมาแล้วกว่า 75,000 กิโลเมตร ครบ 3 ปีพอดิบพอดีเมื่อวันที่ 1 กันยายน
ที่ผ่านมา ได้สัมผัสตัวรถมาครบทุกด้าน ไม่ว่าจะทั้งข้อดี เช่น ความประหยัดน้ำมันเมื่อใช้งานจริง
ผมไม่เคยต้องมานั่งกังวลเลยว่าเดือนนี้จะจ่ายค่าน้ำมันเท่าไหร่ เหยียบเท่าไหร่ ก็เหยียบไปเถอะครับ
น้ำมันไม่ค่อยลด อัตราเร่งและการตอบสนองของเครื่องยนต์และเกียร์ ดีจนน่าประทับใจ เรียกมาใช้ได้
อย่างไม่ขัดข้อง แถมยังแรงพอตัวอีกด้วย พวงมาลัยให้น้ำหนักที่ดีอันดับต้นๆของกลุ่ม ระยะฟรีไม่เยอะ
แม้จะหนักไปหน่อยสำหรับผู้หญิง แต่ในรถประเภทนี้ถือว่าโอเค แต่จุดที่ควรปรับปรุงก็มีให้เห็นอยู่เช่นกัน
เรื่องการเก็บเสียงลม ตามขอบหน้าต่าง ขอบประตู เป็นปัญหาที่ต้องปรับ และ วัสดุภายในห้องโดยสาร
ที่ ณ วันเปิดตัว มันก็อยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่ง แต่มาถึงวันนี้ ค่ายอื่นปรับกันไปหมดแล้วทั้ง Minorchange
และ Modelchange ก้าวข้ามไปอีกขั้น มีการบุนุ่มที่แผงประตู ที่วางแขนหรือแม้กระทั่งแผงแดชบอร์ด
เดินตะเข็บเย็บด้ายจริงทำให้ D-max ดูขาดความปราณีตไปอย่างช่วยไม่ได้
รวมถึงการเซ็ตช่วงล่างมาเอาใจผู้ใหญ่ หรือเจ้าของรถที่ขับรถไม่เร็วเท่าไหร่ ใช้ความเร็วไม่เกิน
140 กม./ชม. เน้นความนุ่มสบาย ก็ถือว่าเอาใจกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของตลาด แต่ด้วยความจริงแล้ว
ถ้าเซ็ตให้หนึบแน่นกว่านี้ แต่ลดความนุ่มนวลไปอีกหน่อย ก็น่าจะเหมาะ เพราะตัวเครื่องยนต์เอง
ให้พละกำลังที่ดี ต่อเนื่อง ถือว่าอยู่อันดับต้นๆของกลุ่ม แต่ความมั่นใจในการขับขี่ในช่วงความเร็วสูง
ยังไม่ดีนัก เอาล่ะ รู้แล้ว !!! นี่เซ็ตช่วงล่างรองรับลูกค้าที่ซื้อรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 และ 2.5VGS อยู่ใช่มั้ยเนี่ย ?
ทั้งผ้าเบรก ทั้งเสียงลม ถ้าขับเรื่อยๆ ไม่เกิน 130-140 กม./ชม. ก็แทบจะไม่เป็นปัญหาสักเท่าไหร่
สงสัยผมคงเป็นลูกค้าผ่าเหล่าผ่ากอ ถึงได้เค้นสมรรถนะของเครื่องยนต์อย่างเต็มที่อยู่บ่อยๆ
เลยทำให้ เจอจุดที่้ต้องปรับปรุงอยู่ในภาวะที่ใช้ความเร็วค่อนข้างมากทั้งนั้น ตอนนี้เท่าที่ทราบ
Isuzu ต้องการขยายหาลูกค้ากลุ่มใหม่ วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ให้มาใช้ Isuzu มากขึ้น
เพื่อให้โดนใจ ลูกค้ากลุ่มนี้ ขอบอกเลยว่าต้องปรับปรุงสิ่งต่างๆอย่างที่บอกไปแล้วให้รองรับ
การใช้งานในช่วงความเร็วสูงให้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย
รวมถึงยกเอาคุณงามความดี ในช่วงที่รถเปิดตัวมาแรกๆ คืนกลับมา มันคืออะไรน่ะหรอครับ !
ผมจะสาธยายให้ฟัง ในช่วงเปิดตัว D-max รุ่นใหม่นี้ครั้งแรก ช่วง 1-2 ปีแรกของการทำตลาด การจัด
Option อุปกรณ์ต่างๆใส่เข้ามาค่อนข้างเยอะ ถือว่าเป็นอันดับต้นๆของกลุ่มเลยเสียด้วยซ้ำ ราคาก็
ตั้งมาอย่างเหมาะสม เป็นเจ้าแรกที่ใส่ Feature ต่างๆเข้ามาในรถกลุ่มนี้ รวมถึงระบบ Active Safety
อย่างระบบควบคุมการทรงตัว ESC ในรุ่น ขับ 2 ยกสูงตั้งแต่รุ่นราคา 8 แสนต้นๆ ซึ่งในตอนนั้น
ยังไม่มีใครให้มา รวมไปถึงกระบะนิรภัยอย่าง Ford Ranger ก็ยังไม่มี ไปแปะอยู่กับรุ่นท๊อปสุด
ราคาเกินล้านไปหมด เห็นจะมีก็แต่ Colorado ฝาแฝดที่ใส่มาให้เหมือนกัน ไหนจะเบาะหนังเอย
เบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า ระบบนำทาง เครื่องเสียง Touchscreen เล่น DVD ได้ มีกล้องมองภาพ
ขณะถอยจอด ที่ราคาเท่ากัน ณ ตอนนั้น ยังไม่มีใครให้ได้มากเท่านี้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก
ที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อรถคันนี้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปการปรับอุปกรณ์ต่างๆประจำปี หรือรุ่นพิเศษ ทำให้ราคาค่าตัวอัพขึ้นมาเรื่อยๆ
ทีละหมื่นสองหมื่น แต่อุปกรณ์ก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ระยะเวลาจากเปิดตัว
ถึงตอนนี้เป็นเวลา 4 ปี ราคาขยับขึ้นมาถึง 50,000 กว่าบาท แต่อุปกรณ์เพิ่มมาเพียงแค่ปุ่มสตาร์ท
เครื่องยนต์ Push Start Button กับกุญแจ Smart Keyless Entry เท่านั้น (ไฟ Daytime Running
Lights ไม่นับนะ เพราะถือว่าเอาไฟตัดหมอกออกไปแทน แลกกัน) จนคู่แข่งต่างๆเริ่มทยอยเปิดตัว
รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอัดประโคมอุปกรณ์เข้ามาสู้ บางค่าย ปรับ Minorchange ก็จัดอุปกรณ์มาให้ใหม่
จนถ้านับตอนนี้จากที่เคยเป็นตัวเลือกคุ้มค่าอันดับต้นๆ ก็หล่นมาอยู่อันดับกลางๆหรือท้ายตาราง
เป็นที่เรียบร้อย รีบกลับมาเถอะครับ ก่อนที่ลูกค้าจะหนีหายไป ซบค่ายอื่นกันหมด
ศูนย์บริการของ Isuzu คือแบบอย่างที่ค่ายอื่นต้องศึกษาและพัฒนาให้ได้แบบนี้ อย่างที่บอกครับ
ศูนย์ดี ไม่ได้หมายถึงต้องหรูหราอย่างเดียว จุดประสงค์หลักของการเข้าศูนย์บริการคืออะไร
ชื่อมันก็บอกอยู่ก็คือการบริการ ที่ Isuzu ค่อนข้างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มีการสำรวจ
จัดทดสอบ จัดแข่งขัน เช็คมาตรฐานกันอยู่ตลอดเวลา ถึงจะมาอยู่จุดนี้ได้ และเรื่องการบำรุงรักษา
ต่างๆที่ง่าย ค่าบำรุงรักษาต่ำ และขึ้นชื่อในเรื่องของความทนทาน นับเป็นปัจจัยสำคัญมีผลต่อ
การตัดสินใจของลูกค้า อยู่มากทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าบริษัท องค์กร และลูกค้าที่ต้องการ
ใช้รถยาวๆ ในภาพรวมค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เช็คตามระยะ เทียบกับรุ่นน้องที่ใช้ค่ายอเมริกัน
พบว่ายังถูกกว่าประมาณ 30-40% เมื่อเทียบที่ระยะกิโลเมตรเท่ากัน
(D-max 3.0 A/T ที่ 60,000 กม. เช็คระยะ ทุกๆ 10,000 กม. x 6 ครั้ง เทียบกับ
Ranger 2.2 A/T ที่ 60,000 กม. เช็คระยะ ทุกๆ 15,000 กม. x 4 ครั้ง)
ถามว่าถ้าสนใจ D-max ตอนนี้น่าซื้อมั้ย ? ด้วยจุดเด่นหลายๆอย่าง ก็ถือว่ายังน่าซื้ออยู่
แต่โดยส่วนตัวมองว่า เป็นบางรุ่นเท่านั้นที่ราคายังเหมาะสมคุ้มค่าที่จะซื้อหาได้อยู่ เมื่อเทียบ
กับคู่ปรับอย่าง Toyota Hilux Revo ที่เปิดราคามาค่อนข้างสูงเกินไปในรุ่นกลางๆ ซึ่งเป็น
รุ่นที่ทำยอดขายหลักๆ ทำให้ D-max กลับมามีความน่าซื้ออีกครั้ง สำหรับคนที่มองหารถกระบะ
ใช้งานยาวๆ ทนๆ อย่างแค่ 2 แบรนด์เจ้าตลาด ถึงแม้ Revo เองจะปรับปรุงพัฒนาจาก Vigo Champ
เรียกว่าแทบจะทุกๆด้าน บางด้านเหนือว่า D-max ไปหลายช่วงตัว แต่ก็มีบางด้านที่ยังด้อยกว่าอยู่
แต่ราคาก็เป็นอุปสรรคสำคัญฆ่าตัวมันเองอยู่ ช่วงนี้ได้ยินมาว่าส่วนลดของ Revo ที่ให้ แตะระดับ
60,000 – 100,000 บาทแล้วในหลายๆรุ่น ทั้งๆที่เปิดตัวมาได้เพียงแค่ 4-5 เดือน เท่านั้น
แล้วถ้าเทียบกับค่ายอื่นๆบ้างล่ะ
อย่าง Ford Ranger ถือว่าทำผลงานออกมาได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านสมรรถนะ และ
การใส่อุปกรณ์ Option มาให้ รวมถึงการขับขี่ที่อยู่หัวแถวของกลุ่ม ไหนจะดีไซน์ที่โดนใจ
สิงห์กระบะทั้งหลาย บึกบึนแกร่ง เท่ห์ ดูดี แต่ด้านความทนทานชิ้นส่วน และบริการ
หลังการขายก็ยังแอบน่าเป็นห่วงอยู่
Mazda BT-50Pro ฝาแฝดร่วมตัวถัง T6 ภาพรวมสำหรับผมถือว่าเป็นกระบะที่มีการ
ขับขี่ที่ดีที่สุด บาลานซ์ทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่การปรับ Minorchange ล่าสุด
ไม่ได้มากอย่างที่คิด อุปกรณ์ความบันเทิง และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายอย่าง
ยังตามไม่ทันเพื่อนๆเค้า
Nissan NP300 Navara ล่ะเป็นอย่างไรบ้าง ทุกอย่างภาพรวมอยู่ในระดับกลางๆ เป็น
กระบะที่เดินทางสายกลาง ถือว่าน่าใช้ น่าคบหา ความประหยัดในเครื่องตัวรองค่อนข้างเด่น
อัตราเร่งก็ไม่เป็นรอง อุปกรณ์ที่ให้มาก็ไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่งสักเท่าไหร่ ราคาก็ดีใช้ได้ แต่ดัน
มาตกม้าตายที่เบาะหลัง ซึ่งยังคงความนั่งไม่สบาย สืบทอดมาจากรุ่นเดิมอยู่ รวมถึงน็อตล้อ
ที่ประหลาดกว่าชาวบ้าน ทำให้ขาซิ่ง ขาโมดิฟาย หันหน้าหนีไปตามๆกัน
Mitsubishi Triton ล่ะ ยกถ้วยให้ไปเลยกับเบาะแถวหลังที่ทำได้ดีตั้งแต่ตัวที่แล้ว
ตัวใหม่นี้ก็ยังดีที่สุด ในกลุ่มกระบะ ช่วงล่างและความนุ่มสบายถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้
มันต่างจากคันอื่น เครื่องยนต์แรงพอตัว แต่ดันมีอาการรอรอบมากวนใจอยู่ ข้อกังขาสำคัญคือ
เรื่องดีไซน์ด้านหน้าของมัน ที่ทำให้หลายคนตัดมันออกไปจากตัวเลือกแรกๆเลยทันที
ถ้าเอาหน้า Pajero Sport ใหม่มาใส่นะ แล้วปรับภายในให้ดูมีลูกเล่นมากกว่านี้ ใส่ใจ
ในรายละเอียดงานออกแบบดีกว่านี้อีกหน่อย โอ้โห น่าจะขายดีขึ้นอีกเป็นกอง
Chevrolet Colorado ฝาแฝดเลยหนิ เครื่องยนต์ Duramax2 2.8 ลิตรบล๊อกนี้ ถือเป็น
ความประเสริฐยิ่งที่ได้ขับมัน แรงสะใจ ตอบสนองดีเยี่ยม ภาพรวมมันก็คล้ายๆกับ D-max
แต่รายละเอียดบางอย่างแตกต่างกันอยู่ในหลายๆส่วน แต่ความมั่นใจในแบรนด์เองทำให้
หลายคนหวั่นๆ และกับการตลาดก็สับสนงุนงง ว่าจะเอาอย่างไรกับอนาคตกันแน่ เดี๋ยวตัด
รุ่นนู้นออก รุ่นนี้ออก ลูกค้าบางทีก็ตามไม่ทันตัวรถน่ะดีนะ น่าใช้เลยทีเดียว แต่บริการ
หลังการขายกับทิศทางของแบรนด์ทำให้หลายคนไม่อยากเสี่ยง
เห็นมั้ยครับทุกท่าน ทุกรุ่นต่างก็มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป ไม่มีคันไหน Perfect 100%
เพราะฉะนั้น เราเป็นผู้ใช้งานของรถแต่ละรุ่น อย่ามาทะเลาะกันข้ามค่ายเลยครับ เห็นกลุ่มกระบะ
นี่แหละครับ ที่ดุเดือดเลือดพล่านกันมากที่สุดแล้ว ตามสื่อ ตามเว็บ ตามคลับต่างๆ ที่บลัฟด่ากันไป
ด่ากันมา ไม่รู้จะได้อะไรขึ้นมารถแต่ละคัน มีดี มีด้อยต่างกันไป อยู่ที่ว่าเราเนี่ย จะรับกับข้อเสียของมัน
ได้รึเปล่า หรือชอบพอใจกับข้อดีของแต่ละคัน อย่าไปคิดแทนคนอื่นเลยครับ ว่าเฮ้ยทำไมซื้อคันนี้
ไม่ซื้อคันนั้น คันนั้นดีกว่าคันนี้ คนเราน่ะมีความชอบไม่เหมือนกัน
สุดท้ายอยากจะฝากถึงตรีเพชรอีซูซุ ว่าเปิดใจเสียทีเถอะกับการเอารถให้สื่อมวลชนได้ทดสอบรถ
ของคุณ เพราะสินค้าของคุณทุกวันนี้ พัฒนาก้าวมาก็มากแล้ว จนข้อดีบางอย่างถือเป็นจุดเด่นนำหน้า
เหนือคู่แข่งไปแล้วด้วยซ้ำ แล้วยังจะกลัวอะไรกันอีก ? ดีเสียอีกได้เห็นหลายๆมุมมองที่อาจจะไม่เคย
ได้ฟัง ได้เห็นมาก่อนจากความคิดของคนหลายๆกลุ่ม บางอย่างที่ต้องแก้ไข จะได้ทำอย่างตรงจุด
ของแบบนี้ คนข้างในมองกันเอง บางทีก็อาจจะไม่เห็นนะครับ การเปิดใจอาจจะทำให้มองเห็นอะไรใหม่ๆ
ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยได้สัมผัส Isuzu ก็เป็นไปได้นะครับ
สำหรับความเคลื่อนไหวของ Isuzu D-max ในปีนี้ หลังจากที่เปิดตัวทำตลาดมาร่วม 4 ปี ก็ถึงเวลา
แล้วสำหรับเครื่องยนต์ใหม่ Down Sizing ตามเทรนด์ตลาดโลก รวมถึงตลาดในประเทศไทยด้วย
กับครั้งแรกของเครื่องยนต์ดีเซลที่ลดความจุลงมามากที่สุดในกระบะ กับความจุ 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่
เจอกันแน่นอนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 2 พฤศจิกายนนี้ พร้อมกับการปรับโฉม Minorchange
ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เมื่อถึงเวลานั้น เราจะมาดูกันว่า สมรรถนะเป็นอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ปรับปรุงไปบ้างมากน้อยแค่ไหน แล้วเจอกันครับ….
MoO Cnoe , J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด Illustration เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท Isuzu Motors Limited
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
17 ตุลาคม 2558
Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 17th, 2015
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! , CLICK HERE!