Toyota Motor (Thailand) รายงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2024 ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ครึ่งแรกของปี 2024 ทำตัวเลขยอดขายออกมาได้ 308,027 คัน ลดลงอย่างหนัก เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว 2024 ถึง 24.2% โดยตัวเลขของตลาดรถยนต์นั่ง มียอดขายรวมเพียง 119,326 คัน ลดลง 19.4% ส่วนยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งตลาดทุกประเภท อยู่ที่ 188,701 คัน ลดลง 26.9%

ทว่า ตัวเลขที่มีความเปลี่ยนแปลงในแง่ลบมากสุดคือ ตลาดรถกระบะซึ่งมีตัวเลขยอดขายสะสมรวม 108,437 คัน ลดลงมากถึง 40.7%!!เอาแค่ตัวเลขเดือนมิถุนายน 2024 เพียงเดือนเดียว มียอดสะสมแค่ 16,672 คัน ลดลงมากถึง 39%!

ถ้าแยกตัวเลขจะพบว่า Toyota ครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยยอดขายเดือนมิถุนายน 6,957 คัน ยอดสะสม 6 เดือน 42,708 คัน ตามมาด้วย Isuzu ในอันดับ 2 ด้วยตัวเลขเดือนมิถุนายน 5,329 คัน ยอดสะสม 6 เดือน 34,664 คัน  ส่วนอันดับ 3 กลายเป็น Ford ด้วยตัวเลขเดือนมิถุนายน 1,068 คัน ยอดสะสม 7,019 คัน

ตัวเลขทั้งหมด สะท้อนภาพให้เห็นอยย่างชัดเจนเต็มตายิ่งกว่า TV 8K ว่า ในประเทศไทย ช่วงปี 2023 ต่อเนื่องจนถึงปี 2024 นี้ เรียกได้ว่า อยู่ในช่วง “ขาลง” จนถึงขั้น “ซบเซา” เอาง่ายๆแค่ว่า ต้นปีมานี้ ตัวเลขยอดขายภาพรวม หดตัวลงมากขนาดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย นานหลายปีมาแล้ว

สาเหตุ มีหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สภาพเศรษฐกิจโลก ที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล จาก สงครามหลัก โดย 2 คู่ขัดแย้ง ทั้ง Ukraine – Russia กับ Israel – Palestine ไปจนถึง ความขัดแย้งระหว่าง จีน กับสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย เริ่มฝืดเคือง อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มผันผวน เงินตราที่หลั่งไหลออกจากระบบ เพราะการค้าขาย Online กับต่างชาติมากขึ้น ของกลุ่มผู้บริโภค

การค้าขายที่ฝืดเคือง ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนสูง ลูกค้าเริ่มผ่อนรถกันไม่ไหว จนต้องคืนรถ หรือให้ทางสถาบันการเงิน มายึดรถคืน เพื่อไปขายทอดตลาด เกิดปัญหาหนี้เสีย ในระบบสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สูงมาก ล่าสุด จำนวนยานพาหนะถูกยึดเพื่อขายทอดตลาด ในระดับ แตะ 4 แสน คัน เข้าไปแล้ว ปริมาณรถในตลาดที่เยอะขนาดนี้ ทำให้ราคารถมือสอง ตกต่ำลง ธุรกิจซื้อ-ขายรถมือสอง ก็เลยย่ำแย่ตามไปด้วย ขณะที่การเข้ามาของบริษัทรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน มีผลต่อตลาดรถกระบะในบ้านเรา ไม่มากนัก แต่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้รับผลกระทบเยอะกว่า

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ บรรดาเจ้าตลาด ทั้ง Toyota และ Isuzu ซึ่งเคยมียอดขายระดับ 9,000 – 12,000 คัน/เดือน กลับร่วงผล็อยลงไป แม้ว่าตัวเลขในแต่ละเดือน จะยังคงแข่งกันออกมาเป็นจ่าฝูงของตลาดกันอยู่ แต่ต้องพยายามประคับประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์ถดถอยช่วงนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า 2025 ไปให้ได้

สำหรับ Toyota ยักษ์อันดับ 1 จากญี่ปุ่น แล้ว สถานการณ์ยอดขายตกต่ำนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ตามความคาดหมาย เพราะ ณ วันนี้ Toyota Hilux Revo ซึ่งเปิดตัว และอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2015 ปัจจุบันนี้ ก็ปาเข้าไป 9 ปี แล้ว กวาดกอบโกยยอดขายและผลกำไรให้ Toyota มามากมาย และตัวรถ ก็เข้าสู่ช่วงปลายอายุตลาด (Product Life cycle) แล้วก็จริง

ทว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่แปรปรวน และอยู่ในช่วงขาลงแบบนี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคหดหายไปแบบนี้ การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยากขึ้น ทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะออกรถใหม่ ยิ่งยากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังส่งผลให้แผนการเปิดตัว Hilux และ Fortuner รุ่นต่อไป ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนากันอยู่ ต้องเลื่อนออกไป จากเดิม ในปี 2025 เป็นปี 2026

เมื่อเจอสถานการณ์ไม่เป็นใจ รายล้อมเต็มไปหมดขนาดนี้ ถ้าคุณเป็นฝ่ายการตลาด แผนก CV (Commercial Vehicles) ของ Toyota คุณจะทำอย่างไรดีละ?

คำตอบ? ก็คือการปรับโฉมครั้งล่าสุด นี่ไงละครับ!

กลุ่มลูกค้าที่จะซื้อรถกระบะมาใช้ในบ้านเรานั้น หลักๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม เริ่มจาก รถกระบะตอนเดียว / หัวเดี่ยว Single Cab / B-Cab ย่อมาจาก Basic Cab ซึ่งต้องการนำไปใช้ในกิจการขนส่งสิ่งของสินค้าต่างๆเป็นหลักอย่างเดียว ช่วงล่างแหนบด้านหลัง จะถูกเซ็ตมาเน้นการบรรทุกเป็นสำคัญ ความนุ่มสบายในการโดยสาร แทบไม่ต้องพูดถึง

กลุ่มถัดมา ก็คือ กลุ่ม Double Cab / Crew Cab  4 ประตู มักนำรถกระบะไปใช้ในฐานะ รถยนต์ส่วนตัว ทั้งวันทำงาน ไปดูแลกิจการ หรือ พาครอบครัวไปพักผ่อนตามต่างจังหวัดอันห่างไกล ซึ่งเลือกจะอุดหนุน รถกระบะ 4 ประตู ทั้งแบบ ตัวเตี้ย หรือยกสูง รวมกันมากถึง 90% ของยอดขายรถกลุ่มนี้ทั้งหมด แต่บางราย ที่ชอบชีวิตแนวกึ่งผจญภัย ลุยป่า ก็จะเลือกหารุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ 4×4 ไปตกแต่งเพิ่มเติมตามใจชอบ ไว้ลุยป่ากับผองเพื่อน หรือ ใช้งานในท้องถิ่นทุระกันดาร ช่วงล่าง ก็จะต้องถูกเซ็ตให้นุ่มนวลขึ้น ใกล้เคียงกับรถเก๋งให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

ทว่า กลุ่มที่ 3 อันเป็นกลุ่มที่มีปริมาณฐานลูกค้ามากที่สุดในประเทศ คือ ลูกค้าทั่วไป ซึ่งต้องการซื้อรถกระบะ ด้วยงบประมาณจำกัด ใช้เป็นรถคันเดียวในบ้าน สำหรับทั้ง ทำกิจการส่วนตัว ทำรถเร่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (รถพุ่มพวง) หรือบรรทุกสินค้าต่างๆ ตั้งแต่ อาหารสด อาหารแห้ง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อถึงวันหยุด รถกระบะคันนี้ก็จะต้องรับหน้าที่ พาภรรยา ลูก และแม่ยาย ไปซื้อของกินของใช้ ใน Discount Store อย่าง Lotus หรือ Big-C ไปจนถึงพากันไปพักผ่อนหย่อนใจ ในพื้นที่ไม่ห่างไกลจากบ้านพักอาศัยมากนัก เช่นอยู่ กรุงเทพฯ ก็พาครอบครัวไปเที่ยวบางแสน เป็นต้น ไม่ได้เอารถไปลุยโหดๆ มากนัก และต้องการแค่อุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เพียบพอแล้ว ช่วงล่างของรถกระบะ 4×2 กลุ่มนี้ ก็จะเซ็ตมา อยู่ตรงกลาง ระหว่าง Single Cab และ Double Cab คือ ไม่แข็งเกินไปจนขับขี่ไม่สบาย แต่ต้องไม่นุ่มนวลเกินไป จนบรรทุกข้าวของแล้วท้ายแอ่นเกิน

ตลาดกลุ่ม ที่ 3 อันเป็นตลาดใหญ่สุด คือกลุ่มที่ทำให้ ผู้ผลิตรถกระบะ ทุกราย ยังคงต้องเดินหน้า พัฒนารถกระบะประเภท Extended Cab แบบมี บานแค็บเปิดได้ แบบนี้ ขายอยู่ในบ้านเรา ซึ่งในบางแบรนด์นั้น เหลือแค่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น ที่ยังต้องทำรถกระบะประเภทนี้ออกมาขายอยู่ และ Toyota เอง ก็ย่อมไม่พลาดที่จะช่วงชิงลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วย Hilux Revo Smart Cab ทั้งรุ่น ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4×4 Rocco รุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง 4×2 ยกสูง อย่าง PreRunner และ รุ่น 4×2 Low Floor ในชื่อ Z-Edition

อันที่จริง แม้ว่า Toyota จะไม่ใช่ผู้ผลิตรายแรกที่นำตัวถังแบบ Extended Cab มาขายในเมืองไทย (เพราะผู้ผลิตรายแรกที่นำตัวถังแบบนี้มาประกอบขายในบ้านเรา คือ Isuzu ซึ่งเริ่มตั้งแต่ Isuzu Faster Z KB2200 ในปี 1985 โดยใช้ชื่อว่า Isuzu Faster-Z SpaceCab)

กระนั้น Toyota ก็นำตัวถังแบบ Extended Cab มาผลิตและเปิดตัวสู่ตลาดสยามประเทศเป็นครั้งแรก กับ Toyota Hilux Hero รุ่นปี 1989 (กระจังหน้าสี่เหลี่ยม 4 ช่อง) โดยดัดแปลงจาก Hilux เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ในตอนนั้น ใช้ชื่อว่า Toyota Hilux Hero Xtra Cab และได้รับความนิยมต่อเนื่อง มาจนถึง Hilux Mighty-X ในเดือนกุมภาพันธ์ 1990 Hilux Tiger ในปี 1998 Hilux Vigo ในเดือนสิงหาคม 2004

ต่อมา ในปี 2001 เกิดความเปลี่ยนแปลงในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ของบ้านเรา เมื่อ Ford ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งสหรัฐอเมริกา อยากนำเทคโนโลยี “บานแค็บเปิดได้” มาติดตั้งกับรถกระบะ Ranger และใช้ความพยายามเจรจากับหน่วยงานภาครัฐของไทย จนปวดประสาท มาตั้งแต่ปี 1998 กว่าจะได้รับการอนุมัติ ภาษีสรรพสามิต และสามารถผลิตรถกระบะในรูปแบบใหม่นี้ ออกขาย เป็น Ford Ranger Open Cab และ Mazda B-2500 Fighter Freestyle Cab เมื่อปี 2001

Toyota ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัว Hilux Vigo ไปเมื่อ 25 สิงหาคม 2004 ในตอนนั้น แต่ยังมีแค่ตัวถัง Xtra Cab ธรรมดา ก็เลยมอบหมายให้ TMAP-EM (Toyota Motor Asia-Pacific Engineering & Manufacturing ในตอนนั้น ซึ่ง ต่อมาเป็น TDEM : Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing ก่อนจะกลายเป็น Toyota Motor Asia เมื่อ 4 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา) ไปซุ่มระดมทีมวิศวกร ทั้งฝั่งไทย และญี่ปุ่น เพื่อพัฒนา “บานแค็บเปิดได้” ในเวอร์ชันของตนเองกับเขาบ้าง โดยประเทศไทย เป็นแม่งานหลัก ในการพัฒนา วิจัย ทดสอบความทนทานและความปลอดภัย

ตัวถังบานแค็บเปิดได้ จาก Toyota พร้อมออกสู่ตลาดจริง ครั้งแรกภายใต้ชื่อ Toyota Hilux Vigo Smart Cab ในเดือน สิงหาคม 2008 เท่ากับว่า ประเทศไทย เป็นแห่งแรกในโลก ที่ได้ใช้รถกระบะ ตระกูล Compact และ Mid-size Truck อย่าง Hilux ตัวถัง บานแค็บเปิดได้ (หากเราไม่นับ รถกระบะ เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ทั้ง Tacoma และ T100 กับ TUNDRA ซึ่งเขามีตัวถังแบบนี้ไปก่อนล่วงหน้าบ้านเราอยู่แล้วหลายปี )

ตอนนั้น Toyota เอง ก็หมดเงินในการพัฒนาบานแค็บเปิดได้นี้ ไปเยอะมาก จนถึงขั้นที่เรียกว่า “ขาดทุนกำไร” (ได้กำไรแหละ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายกำไรที่ตั้งไว้ ว่าจะช่วยให้อยู่รอดได้ในระยะยาว) จึงต้องยอมตัดสินใจ ลากอายุตลาด ของ Hilux Vigo จากเดิม ที่มีกำหนดเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ในปี 2011 ให้เลื่อนยาวออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2015 ระหว่างนั้น Toyota ก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นการนำ Hilux Vigo ไปปรับโฉม Minorchange เป็น Toyota Hilux Vigo Champ ออกขายเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 ประคองไปก่อน จนกระทั่ง การเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน จาก Vigo มาเป็น Revo เมื่อ 21 พฤษภาคม 2015 ตัวถัง Smart Cab ก็ยังคงตามมาให้เลือกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อันที่จริง Toyota ปรับโฉม Hilux Revo รอบนี้ ไปแล้วตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับปรุงอุปกรณ์ เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ และเสริมรายละเอียดต่างๆเข้าไป เพื่อให้ ตัวรถมีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม รุ่นย่อยหนึ่งที่ หลายคนเคยอยากรู้ ทั้งสมรรถนะ อัตราเร่ง ความประหยัดน้ำมัน และความคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของ นั่นคือ รุ่น SmartCab ซึ่งก็คือ รุ่น XTraCab เดิม เพิ่มเติมคือ “บานแค็บเปิดได้”

ภาพรวมแล้ว Hilux Revo Smart Cab และ Double Cab ตัวเตี้ย (Low-Floor) หรือที่เรียกรวมกันว่า ตระกูล Z-Edition รุ่นปี 2024 ถูกปรับปรุงเพิ่มเติม จากรุ่นเดิมในปี 2023 ด้วยกระจังหน้า แบบใหม่ ลายรังผึ้ง เล่นสีดำเป็นหลัก เปลี่ยนชุดไฟหน้าเป็นแบบ รมดำ เพิ่มไฟตัดหมอกที่เปลือกกันชนหน้า และใช้วัสดุตกแต่งภายนอก ด้วยสีดำเมทัลลิกในรุ่น MID เพื่อเพิ่มความดุดันมากขึ้น รองรับและเอาใจลูกค้าที่อยากนำรถกระบะไปตกแต่งต่อเพิ่มเติม ที่สำคัญก็คือ มาพร้อมกับระบบความปลอดภัย ทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพบนพื้นถนนลื่น VSC (Vehicle Stability Control) และระบบออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Start Assist) ครับทั้งสองรุ่นย่อย เสียที!

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ เราจะเน้นเจาะรายละเอียดไปที่ รุ่น Smart Cab Low-Floor “Z-Edition” เท่านั้น

ขนาดตัวรถ / Dimension

Hilux Revo Smart Cab 4×2 Z-Edition มีความยาวตัวรถ 5,285 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,695 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 3,085 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,510 มิลลิเมตร เท่ากัน ระยะต่ำสุดจากพื้น วัดจากจุดต่ำสุดของตัวรถ (Ground Clearance) รุ่นเกียร์ธรรมดา ทั้ง Entry และ Mid อยู่ที่ 154 มิลลิเมตร แต่รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ทั้ง Entry และ Mid อยู่ที่ 165 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด ณ ปี 2024 อาจไม่สามารถทำได้ครบทุกรุ่น เนื่องจาก ผู้ผลิตหลายค่าย ถอดใจเก็บตัวถัง Extended Cab เอาไว้ให้เหลือเพียงรุ่น 4×2 ยกสูง เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Ford Ranger ที่เก็บรุ่น Open Cab เอาไว้ให้มีแค่ทางเลือกของรุ่นยกสูง Hi-Rider เท่านั้น เช่นเดียวกับ Mazda BT-50 ซึ่งมีตัวถัง Free Style Cab ในรุ่นยกสูง Hi-Racer เท่านั้น ทำให้ทั้ง 2 แบรนด์ดังกล่าว ไม่มีตัวเปรียบเทียบกับรุ่นตัวเตี้ย Z-Edition ได้เลย

แต่ถ้าคุณยังอยากจะเปรียบเทียบตัวถังกันให้ได้ อ่ะ ผมจัดให้! เรียงตามตัวอักษรแรกของชื่อแต่ละแบรนด์ก็แล้วกัน

เริ่มจาก Isuzu D-Max Space Cab ซึ่งเป็นคู่ชกที่ตรงพิกัดมากที่สุด ความยาว 5,230  มิลลิเมตร กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 3,125 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน Ground Clearance 190 – 200 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Hilux Revo Smart Cab Z-Edition จะมีตัวถังยาวกว่า 55 มิลลิเมตร แต่กว้างกว่า 45 มิลลิเมตร สูงกว่าแค่ 5 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ สั้นกว่า 40 มิลลิเมตร Ground Clearance เตี้ยกว่า 25 – 35 มิลลิเมตร

ขณะที่ Ford Ranger Open Cab (ณ วันนี้ เหลือแต่รุ่น 4 x 2 ยกสูง Hi-Rider เท่านั้น) มีความยาว 5,370 มิลลิเมตร กว้าง 1,918 มิลลิเมตร สูง 1,874 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,270 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน Ground Clearance 235 มิลลิเมตร แน่นอนว่า เมื่อเปรียบเทียบกัน Revo Smart Cab Z-Edition มีขนาดเล็กกว่า Ranger Open Cab ในทุกมิติ แบบไม่ต้องสืบ ด้วยตัวถังที่ Z-Edition สั้นกว่า ถึง 85 มิลลิเมตร แคบกว่า 63 มิลลิเมตร เตี้ยกว่าถึง 179 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ สั้นกว่าถึง 185 มิลลิเมตร ระยะ Ground Clearance ก็เตี้ยกว่าถึง 70 มิลลิเมตร

หากจะให้เทียบกับ Mazda BT-50 Free Style Cab ที่มีแค่รุ่น 4×2 ยกสูง Hi-Racer เท่านั้น มีความยาว 5,230  มิลลิเมตร กว้าง 1,870 มิลลิเมตร สูง 1,785 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 3,125 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน Ground Clearance 235 มิลลิเมตร แล้ว Revo Smart Cab Z-Edition Revo Smart Cab Z-Edition จะมีตัวถังยาวกว่า 55 มิลลิเมตร แต่แคบกว่า 15 มิลลิเมตร เตี้ยกว่าถึง 90 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ สั้นกว่า 40 มิลลิเมตร ระยะ Ground Clearance ก็เตี้ยกว่าถึง 70 มิลลิเมตร

ต่อให้เปรียบเทียบกับ MG Extender Giant Cab 4×2 ตัวเตี้ย ซึ่งมีความยาว 5,365 มิลลิเมตร กว้าง 1,900 มิลลิเมตร สูง 1,720 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,155 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน Ground Clearance 145 มิลลิเมตร (เตี้ยสุดในตลาด) จะพบว่า Revo Smart Cab Z-Edition เล็กกว่า Extender Giant Cab ในเกือบทุกมิติ เริ่มจากตัวรถสั้นกว่า MG 80 มิลลิเมตร แคบกว่า 45 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 25 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ สั้นกว่า 70 มิลลิเมตร แต่ระยะ Ground Clearance กลับสูงกว่า 20 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Tritom Mega Cab 4×2 ตัวเตี้ย ซึ่งมีให้เลือกแค่ 2 รุ่น คือ Active และ Pro ความยาว 5,320 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,705 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,130 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน Ground Clearance 179 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Smart Cab Z-Edition สั้นกว่า Triton Mega Cab 35 มิลลิเมตร กว้างกว่า 20 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร ฐานล้อสั้นกว่า 45 มิลลิเมตร Ground Clearance เตี้ยกว่า 14 มิลลิเมตร

ส่วน Nissan Navara King Cab ซึ่งมีความยาว 5,220 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,775 – 1,785 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,150 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนน Ground Clearance รุ่น SL 6MT 205 มิลลิเมตร และ รุ่น E 6MT 215 มิลลิเมตร เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Revo Smart Cab Z-Edition ยาวกว่า Navara King Cab 65 มิลลิเมตร กว้างกว่าแค่ 5 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 80 – 90 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ สั้นกว่า 65 มิลลิเมตร และแน่นอนว่า Ground Clearance ของ Navara King Cab สูงกว่า Revo SmartCab Z Edition ถึง 40 – 50 มิลลิเมตร!

รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior

การปรับโฉม Minorchange รอบนี้ Hilux Revo Smart Cab 4×2 Low Floor Z-Edition จะมีให้เลือก เพียง 4 รุ่นย่อย จาก 2 ระดับการตกแต่ง เท่านั้น คือ คือ Entry เกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ และ Mid เกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ

รุ่นที่เราได้รับมาทดลองขับกัน เป็นรุ่นย่อย Smart Cab 2.4 ลิตร 4×2 Z-Edition Mid อันเป็นรุ่นที่มีการตกแต่งในระดับปานกลาง แต่ถือว่า หรูสุดแล้ว ในตระกูล Low-Floor ตัวเตี้ย Z-Edition บนตัวถัง Smart Cab เพราะถ้าจะให้หรูขึ้นไปอีก ก็คงต้องเลือกรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งมี อุปกรณ์มาตรฐานมาให้ เหมือนกันหมด ต่างกันแค่เกียร์อัตโนมัติ เท่านั้น

เมื่อเราแยกออกมาดู ความแตกต่างระหว่างรุ่นย่อย Entry อันเป็นรุ่นพื้นฐาน และรุ่น Mid อันเป็นรุ่นตกแต่งหรูสุด สำหรับกลุ่ม Low-Floor “Z-Edition” แล้ว จะพบว่า เห็นได้ชัดพอสมควร แต่คุณอาจต้องเป็นคนช่างสังเกตสักนิด

เริ่มจากกระจังหน้าลายใหม่ รังผึ้ง หากเป็นรุ่น Entry จะพ่นสีเดียวกับตัวถัง แต่ถ้าเป็นรุ่น Mid จะพ่นสีดำ Metallic สอดรับกับเปลือกกันชนหน้าลายใหม่ พ่นสีเดียวกับตัวรถ ซึ่งมีมาให้ครบทุกรุ่นย่อย

ชุดไฟหน้า ของ รุ่น Emtry เป็นแบบ Halogen Multi Reflector แต่รุ่น Mid จะถูก Upgrade เป็นไฟหน้าชุดใหม่ รมดำ Bi-Beam LED นั่นคือ ไฟส่องทางยามปกติ เป็นไฟ LED ส่วนไฟสูง จะเป็นแบบปกติ มีไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ตอนกลางวัน LED Daytime Running Light และระบบไฟหน้าอัตโนมัติ (Auto) พร้อม ระบบ Follow me home ส่องสว่างหลังดับเครื่องยนต์อีกเล็กน้อย รวมทั้งไฟตัดหมอกที่เปลือกกันชนหน้า มาให้ด้วย ครบเซ็ต

ชุดไฟท้าย รุ่น Entry เป็นแบบธรรมดา แต่รุ่น Mid จะเปลี่ยนเป็นแบบ LED Light Guiding ขณะเดียวกัน มือจับเปิดประตูทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้ง กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวในตัวนั้น รุ่น Entry จะใช้สีดำด้าน ส่วนรุ่น Mid พ่นสีดำเงา เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ Emblem รอบคัน จะเป็นสีดำเงา ยกเว้นสัญลักษณ์ Toyota ที่กระบะฝาท้าย จะยังเป็นสีโครเมียม

ทั้ง 4 รุ่นย่อย ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว สวมยาง Bridgestone Duravis ขนาด 215/65 R16C ส่วนยางอะไหล่ติดตั้งไว้ใต้กระบะหลังในตำแหน่งเดิม เป็นขนาดเดียวกันกับยางติดรถ แต่เปลี่ยนมาเป็นกระทะล้อเหล็กธรรมดา

อย่างรก็ตาม แอบเสียดายที่ ไม่มีการคาดสติกเกอร์สีดำ เชื่อมต่อกระจกหน้าต่างรถให้ดูต่อเนื่องกัน แบบรุ่น Smart Cab Pre Runner 4×2 ยกสูง ด้วยเหตุผลด้านต้นทุน ผมมองว่า อย่างน้อยๆ ควรมีมาให้ในรุ่น Mid ก็ยังดี ไหนๆก็อุตส่าห์ ให้ข้าวของมาจัดเต็มขนาดนี้ เพิ่มสติกเกอร์สีดำ สักหน่อย มันเพิ่มความแกรนด์ของรถ ให้แตกต่างจากรุ่น Entry ได้ชัดเจนขึ้น เรียกลูกค้าให้เพิ่มเงิน ปีนขึ้นมาเล่นรุ่น Mid ได้มากขึ้น

ภายในห้องโดยสาร / Interior

สำหรับรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย Z-Edition ทุกตัวถัง ทุกคัน ยังคงใช้กุญแจ Remote แบบ Jack Knife Key กดปุ่ม ดีดดอกกุญแจให้เด้งขึ้นมา เหมือนมีดพับ Swiss Army มีสวิตช์ล็อก – ปลดล็อก พร้อมระบบนิรภัย Immobilizer แต่จะไม่มีระบบเตือนการโจรกรรม TDS มาให้ ติดเครื่องยนต์ ด้วยการเสียบกุญแจเข้าไปที่ช่องด้านข้างคอพวงมาลัยฝั่งขวา แล้วบิดไปทางขวา เหมือนรถยนต์รุ่นเก่าๆ ทั่วๆไป

ส่วนตัวผม มองว่า เฉยๆ รถกระบะรุ่นกลางๆ ให้กุญแจรีโมท ในตัว ก็ถือว่าดีถมถืดแล้ว แต่ในมุมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ก็มองว่า อยากได้ ระบบ รีโมทกุญแจแบบ Keyless Entry อย่างน้อย ติดตั้งในรุ่น Mid ขึ้นไป ก็ยังดี รุ่น Entry ยังไม่ต้องมี ก็ยอมรับได้

รุ่น 4×2 ตัวเตี้ย Z-Edition ถูกออกแบบให้มี ตำแหน่งความสูงของเบาะคู่หน้า จากพื้นถนน อยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว ดังนั้น การก้าวเข้า – ออก จากตำแหน่งคนขับ หรือเบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย จึงค่อนข้างสะดวกสบาย และไม่ค่อยเป็นปัญหา สำหรับคนที่มีช่วงขาปกติ ตามมาตรฐานสรีระ ของคนไทย คนเอเซีย ออสเตรเลีย หรือยุโรป อีกทั้งไม่ต้องระวังเรื่องศีรษะจะไปโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เพราะผมไม่เคยเจอปัญหานี้ ในรถกระบะตระกูล Hilux Revo มาก่อนเลย ส่วนตอนลงจากรถ ก็แค่หันบั้นท้ายหมุนตัวออกมา หย้อนขาสองข้างลงบนพื้นถนน แล้วลุกขึ้นยืน ก็เรียบร้อย

แผงประตูด้านข้าง ขึ้นรูปจาก พลาสติก HDPE (High-Density Polyethylene) ออกแบบมาเหมือน Hilux Revo รุ่นปกติ แต่จะตกแต่งครึ่งท่อนบน ด้วย Trim Plastic สีเงิน เชื่อมต่อกับมือเปิดประตูและตัวล็อกประตู เท่านั้น ถัดลงมา บริเวณ พนักวางแขน ด้านข้าง พร้อมมือจับดึงปิดประตู จะหุ้มด้วยวัสดุ ผ้าสาก ทับฟองน้ำแบบบางเฉียบ ตัวพนักวางแขน ติดตั้งอยู่ในระดับเหมาะสมดีแล้ว สามารถวางท่อนแขนได้สบายถึงข้อศอกตามเดิม  มือจับเปิดกลอนประตูด้านใน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ และช่องใส่เอกสารมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ใช้งานได้อเนกประสงค์ ดีกว่าคู่แข่งหลายคันในตลาด

เบาะนั่งคู่หน้าของรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย Z-Edition นั้น เป็นเบาะนั่งแบบมาตรฐานของตระกูล Hilux / Fortuner ช่วงปี 2015 – 2025 โดยหุ้มด้วยผ้าสีเทา ลวดลายมาตรฐาน ปรับระดับการเอนและตั้งชันของพนักพิงหลัง และเลื่อนเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้ ด้วยคันโยกด้านข้างฐานรองเบาะ ตามมาตรฐานของรถกระบะทั่วไป โดยฝั่งคนขับ จะเพิ่ม คันโยกปรับระดับ สูง-ต่ำ ของเบาะคนขับเพิ่มมาอีกด้วย

พนักศรีษะถูกออกแบบให้ แยกชิ้นกับ พนักพิงหลังไปเลยชัดเจน ไม่เหมือนรุ่น GR Sport มีตำแหน่งติดตั้ง และมุมองศาที่เหมาะสม ไม่ดันกบาล นั่งนานๆ ก็ไม่ได้ต้นคอเลย ฟองน้ำที่เสริมข้างในตัวพนักศีรษะ เป็นแบบ “แน่นมากเกือบแข็ง” รองรับศีรษะได้ดีพอสมควร

ตัวพนักพิงหลัง เสริมด้วยฟองน้ำแบบ “แน่นแอบนุ่ม” มีลักษณะเว้าเป็นแอ่งกระชับลำตัวผู้ขับขี่ รองรับสรีระบริเวณสะบัก และหัวไหล่ ได้ดีพอประมาณ ปีกข้างมีความหนาไม่มากไม่น้อยจนเกินไป อยู่ในระดับปกติของรถยนต์ทั่วไป ตามมาตรฐาน Toyota การรองรับแผ่นหลัง ลงไปจนถึงก้นกบ แม้จะมีส่วนโค้งเว้า ไม่ลึกเข้าไปมาก แต่ก็ให้การรองรับแผ่นหลังทั้งหมดได้ดีมาก แม้จะนั่งนานปรระมาณ 1 ชั่วโมง เต็ม ก็ยังไม่รู้สึกเมื่อยแผ่นหลังมากนัก

ส่วนเบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำ แบบ “แน่นแอบนุ่ม” มีความยาวเท่ากับมาตรฐานรถญี่ปุ่นทั่วไป มีมุมเงยที่ดีมาก แทบไม่ต้องปรับอะไรเพิ่ม รองรับช่วงขาขณะขับขี่ทางไกล ได้ดีตามสมควร

เบาะคู่หน้า ของร่น Smart Cab ทุกรุ่น ทุกคัน มาพร้อม เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ ELR 3 จุด มีระบบดึงกลับอัตโนมัติ และผ่อนแรงปะทะ Pre-tensioner & Load Limiter มาให้ แต่ ไม่สามารถปรับระดับ สูง – ต่ำ ได้ สายเข็มขัดอาจรั้งคอ ผู้ที่มีสรรีระ ต่ำกว่า 170 เซ็นติเมตร ได้ในบางกรณี ควรทดลองนั่งดูก่อน

มือจับศาสดาสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ มีมาให้เฉพาะเหนือช่องประตูฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย เพียง 1 ตำแหน่ง เท่านั้น ส่วนด้านหลังของพนักพิง ยังมีช่องใส่หนังสือมาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง

แผงตกแต่งของบานแค็บเปิดได้นั้น มีมือจับสำหรับปิดบานพับเข้ามา ช่องใส่ข้าวของจุกจิกขนาดเล็กพอประมาณ รวมทั้งมีช่องใส่ลำโพงขนาดใหญ่โตเอาเรื่อง เน้นเอาใจลูกค้าสายฟังเพลง ที่อยากจะเอาไปตกแต่งชุดเครื่องเสียงเองต่อ พื้นที่ด้านหลังเบาะคู่หน้า มีความยาวเหมือนกับ รถรุ่นก่อน บริเวณพื้นที่ยกขึ้นมา เป็นช่องวางของพร้อมฝาปิด ส่วนฝั่งขวา เป็นสถานที่เก็บแม่แรง และเครื่องมือประจำรถ สำหรับกรณีที่ต้องเปลี่ยนยางฉุกเฉิน หน้าต่างด้านข้าง เป็นแบบบานกระทุ้ง กางออกได้สำหรับการระบายอากาศเป็นหลักเท่านั้น

ขอย้ำไว้ตรงนี้ว่า หากมองในแง่ระเบียบบ้านเมือง และความปลอดภัยแล้ว การนั่งโดยสารบนพื้นที่ Cab ด้านหลัง ถือว่าผิดกฎหมาย และอันตรายมาก เวลาเกิดอุบัติเหตุ เพราะนอกจากจะไม่มีเบาะนั่งอย่างเหมาะสมแล้ว ยังไม่มีเข็มขัดนิรภัย ติดตั้งมาให้ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เนื่องจากตามข้อกฎหมายแล้ว พื้นที่ Cab ที่ยื่นออกมา มีไว้เพื่อการบรรทุกข้าวของที่ไม่สามารถตากแดดตากฝนได้ เท่านั้น

มิติกระบะท้าย / Cargo Box Dimension

กระบะหลัง รุ่น Smart Cab ไม่ว่าจะเป็น 4×4 หรือ 4×2 ทั้งตัวเตี้ย Z-Edition หรือยกสูง PreRunner จะมีขนาดและความจุเท่ากัน ด้วยความยาว 1,840 มิลลิเมตร กว้าง 1,540 มิลลิเมตร ลึก 480 มิลลิเมตร ไม่มีพื้นปูกระบะมาให้จากโรงงาน ต้องสั่งซื้อเป็น อุปกรณ์ตกแต่งพิเศษจาก โชว์รูมผู้จำหน่ายทั่วประเทศ กันเอาเอง อีกทั้งฝากระบะท้าย ไม่มีเหล็กช่วยผ่อนแรงเวลา เปิด-ปิด มาให้เลย

ขนาดของกระบะท้าย (ยาว x กว้าง x สูง) รุ่น Smart Cab เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในกลุ่ม Extended Cab ด้วยกัน เรียงตามตัวอักษรนำหน้าแบรนด์ มีดังนี้

– Isuzu D-Max Space Cab : 1,805 x 1,530 x 490 มิลลิเมตร

– Ford Ranger Extended Cab : 1,862 x 1,420 x 540 มิลลิเมตร (มีเฉพาะรุ่นยกสูงเท่านั้น / Hi Rider Only)

– Mazda BT-50 Extended Cab : 1,805 x 1,530 x 490 มิลลิเมตร (มีเฉพาะรุ่นยกสูงเท่านั้น / Hi Racer Only)

– MG Extender Extended Cab : 1,900 x 1,510 x 530 มิลลิเมตร

– Mitsubishi Triton Mega Cab : 1,860 x 1,535 x 515 มิลลิเมตร

– Nissan Navara King Cab : 1,755 x 1,490 x 485 มิลลิเมตร

Toyota Hilux Revo Smart Cab : 1,840 x 1,540 x 480 มิลลิเมตร

แผงหน้าปัดด้านหน้า และแผงประตู คู่หน้า ยังคงเหมือนรุ่นเดิม คือมีความยาวจากขอบกระจกบังลมหน้าด้านล่าง มาจนสุดขอบแผงหน้าปัดค่อนข้างสั้น ด้วยเหตุผลของทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสาร ให้ยาวขึ้นโดยไม่เกิดความอึดอัด ภายใต้ข้อจำกัดของความยาว Cabin ห้องโดยสาร ที่ต้องไม่เกินข้อกำหนดด้านภาษีสรรพสามิต ของรัฐบาลไทย

ด้านบนเพดานและเสาหลังคาของทุกรุ่น จะเป็นพลาสติก และผ้าโทนสีเทาสว่าง ติดตั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสงรบกวนด้วยการดึงสลักแบบธรรมดามาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารและไฟอ่านแผนที่สามารถแยกเปิด – ปิด ทั้งฝั่งซ้ายและขวาได้อย่างอิสระ หรือจะตั้งค่าให้ทำงานตามการเปิด – ปิดประตูก็ได้เช่นกัน รวมทั้งยังมี ช่องเก็บแว่นตาพร้อมฝาพับมาให้ ส่วน ด้านข้างของไฟอ่านแผนที่จะเป็นม่านบังแดดสีดำ พร้อมที่เก็บนามบัตรฝั่งผู้ขับขี่ และกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด ซึ่งมีเฉพาะฝั่งผู้โดยสาร และไม่มีไฟแต่งหน้ามาให้ ทั้งคู่ เหมือนเดิม!


พวงมาลัย แบบ 3 ก้าน (ก้านล่าง เป็นรูปตัว U สีเงิน) ยังคงเหมือนกันกับรุ่นพี่ในตระกูล คือ มีขนาดใหญ่ปานกลาง มือจับมีขนาดกำลังดี จับกระชับมือในระดับหนึ่ง แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ยังคงมีไว้เพื่อควบคุมชุดเครื่องเสียง ส่วนแผงสวิตช์ฝั่งขวา มีไว้ควบคุมการทำงานของหน้าจอ Multi Information บนมาตรวัด

ก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ควบคุมชุดใบปัดน้ำฝน พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า โดยรุ่น Entry จะเป็นแบบ 3 จังหวะ ปกติ แต่รุ่น Mid จะเพิ่มระบบ หน่วงเวลา และปรับตั้งเวลาได้ มาให้ด้วย

ก้านสวิตช์ฝั่งขวา ควบคุมชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง ทั้งแบบแช่ยาว และแบบกระพริบ โดยรุ่น Mid จะเพิ่มไฟตัดหมอกมาให้อีกตำแหน่งหนึ่ง

สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง โดยบานคนขับ จะเป็นแบบ One Touch กด หรือยกสวิตช์ครั้งเดียว หน้าต่างจะเลื่อนขึ้นหรือลงเองจนสุด มีสวิตช์ ปรับกระจกมองข้างแบบไฟฟ้ามาให้ พร้อมกับระบบ Central Lock

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ นอกจากจะเป็นลิ้นชักสำหรับใส่แก้วน้ำ เลื่อนเปิด-ปิดได้ แล้ว ยังมีแผงสำหรับติดตั้งสวิตช์ต่างๆคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า และคันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน โดยรุ่น Mid นั้น จะเพิ่มสวิตช์ปรับระดับสูง – ต่ำของชุดไฟหน้ามาให้

ทว่า สิ่งที่ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามาในทุกรุ่นย่อย นับตั้งแต่ปี 2024 นี้เป็นต้นไป นั่นคือ สวิตช์ เปิดการทำงานระบบ DPF

มันมายังไง มีไว้ทำไม?

อธิบายง่ายๆ ว่า ในเมื่อประเทศไทยเรากำลังจะประกาศใช้ มาตรฐานไอเสีย Euro V หรือ Euro 5 ในวันที่ 1 มกราคม 2025 ซึ่งทำให้รถยนต์ที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ต้องปรับปรุงการปล่อยมลพิษให้ผ่านมาตรฐานนี้ เพื่อที่จะได้เสียภาษีสรรพสามิต ถูกลงหรือเท่าเดิม หากปล่อยไว้ ต้องเสียภาษีแพงขึ้น จนทำราคาแข่งกับคนอื่นเขาไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องถอนตัวจากตลาดไป ผู้ผลิตรถยนต์จึงเหลือทางเลือกไม่มากนักในการแก้ปัญหา คือ ต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษจากไอเสียให้ผ่านเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด

มาตรฐาน Euro 5 นั้น โดยสรุปก็คือ ไอเสียที่ออกมา ต้องลดลงจนมีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 ค่อนข้างเยอะมาก ทำให้ต้องติดตั้งระบบ DPF (Diesel Particular Filter) เข้ามาช่วยทำงาน ซึ่งเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดเขม่าสะสมในระบบเผาไหม้มากขึ้น จำเป็นต้องเผาเขม่า ที่สะสมอยู่ในระบบออกไปบ้าง

ขณะที่คู่แข่งอย่าง Ford จะให้ลูกค้า เติมสาร AdBlue ที่ถังน้ำมัน แต่ Mitsubishi Triton ยังไม่ต้องทำอะไร ทำตัวตามปกติ ส่วน Isuzu (รวมทั้ง Mazda BT-50 Minorchange ที่ใกล้จะเปิดตัวในปลายปีนี้) และ Nissan Navara MY2024 เลือกใช้วิธี ติดตั้งสวิตช์ เปิดการทำงานของระบบ เผาเขม่า…เรียกง่ายๆคือ “สวิตช์ปล่อยตด”!

Toyota จึงเลือกใช้วิธีการเดียวกับ Isuzu และ Nissan Navara MY2024 คือ ทำสวิตช์ปล่อยตด ไว้ให้ลูกค้ากด ในกรณีที่ระบบขึ้นสัญญาณเตือนบนหน้าจอมาตรวัด

ตามปกติ เมื่อคุณขับรถไปเรื่อยๆ ตามประสาคนทั่วไป ที่ใช้ความเร็วเดินทาง เร่งแซงบ้าง เจอการจราจรติดขัดบ้าง เมื่อเขม่าสะสมในระบบมากเกินไป ระบบ DPF จะทำงานขึ้นมาเอง และคุณไม่ต้องไปยุ่งอะุไรกับมัน ขับใช้งานไปตามปกติได้เลย แต่สำหรับคนที่ชอบขับช้าๆ เรื่อยๆ เอื่ยๆ จนจะเปื่อย แทบไม่ได้เร่งเครื่องยนต์มากนัก เมื่อเขม่าสะสมมากๆ ระบบอาจจะส่งสัญญาณให้คุณช่วยกดสวิตช์ ปล่อยตด ให้ระบบ ทำการเผาเขม่ามากกว่าปกติ

จากที่ผมเจอมาในการใช้งานจริงตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากระบบ DPF จะเริ่ม เผาเขม่าเมื่อไหร่ ก็จะแสดงภาพแจ้งบนหน้าจอเองอยู่แล้ว รอบเครื่องยนต์จะสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะระบบต้องสั่งฉีดน้ำมันไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นนิดๆ คุณสามารถขับใช้งานรถได้ตามปกติ และไม่ต้องไปยุ่งกับมัน

สิ่งที่ต้องแจ้งให้คุณผู้อ่านทราบก็คือ ในอนาคตหลังจากนี้ หากประเทศไทย มีการยกระดับมาตรฐานไอเสียขึ้นไปเป็นระดับ Euro 6 เหมือนเช่นนานาอารยะที่เจริญแล้ว อย่างสหภาพยุโรป และนานาอารยะ ที่กำลังจะเจริญ อย่าง อินเดีย คราวนี้ละ ทุกเจ้าคงต้องจำใจให้ลูกค้า เติม AdBlue กันโดยถ้วนหน้า ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นพอสมควร

ชุดมาตรวัด ของ Z-Edition ทั้ง 2 ตัวถัง ยังคงยืนหยัดกับ Pattern เดิม เป็นแบบ Optitron เรืองแสง สีขาว แต่พื้นหลัง เป็นลายกราฟฟิค แบบเรียบๆ มาตรวัดความเร็วอยู่ทางฝั่งขวา พร้อมมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ อยู่ทางฝั่งซ้าย พร้อมมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง ซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งเดิม

ตรงกลางมาตรวัด ยังคงเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display) แบบสี TFT ที่มีฟังก์ชันการแสดงผลเหมือนรุ่นเดิม ทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบเฉลี่ย และแบบ Real Time มาตรวัดระยะทางทั้งหมด Odo Meter มาตรวัด Trip Meter A กับ B มาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ คำนวนระยะทางที่น้ำมันในภังเหลือพอจะแล่นต่อไปจนหมด แต่เพิ่มหน้าจอสำหรับดูทิศทางการหักเลี้ยวของพวงมาลัย และมาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital มาให้ แต่ไม่มีภาพกราฟฟิคใดๆ ตอนติดเครื่องยนต์ การ Reset ค่าตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง และ Trip Meter ต่างๆ ให้กดปุ่ม ตรงกลาง บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา

จากซ้าย มาทางขวา

แผงหน้าปัด แบ่งเป็น 2 Layer ใต้ช่องแอร์ (แบบเลื่อนเปิด-ปิดช่องลมได้) ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านซ้าย มีลิ้นชักพร้อมช่องล็อกกระป๋องเครื่องดื่ม แต่ถ้าคิดว่า นั่นยังเย็นไม่พอ คงต้องเลือกรุ่น Mid ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ เพราะเมื่อเปิดฝากล่องด้านข้างที่หุ้มด้วยหนัง และตกแต่งด้วยด้ายสีแดง ขึ้นมา จะพบช่องวางของ พร้อมช่องต่อท่อมาจากท่อแอร์ ทำเป็น Cool Box มาให้เสร็จสรรพ เพราะอุปกรณ์นี้ จะไม่มีในรุ่น Entry

ส่วนลิ้นชักเก็บคู่มือประจำรถ ขนาดใหญ่ ไม่มีตัวหน่วงให้เปิดแบบนุ่มนวล Soft opener มาให้ มีขนาดใหญ่พอประมาณ แต่ถ้าจะยัดซองเอกสาร แบบมาตรฐาน สำหรับกระดาษจดหมายขนาด A4 คงต้องแบ่งพับครึ่ง หรือไม่ก็ต้องยัดเข้าไปอย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้ มันอาจจะไม่เรียบร้อยนัก

ชุดเครื่องเสียง เป็นจอ Monitor สี Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อกับ Bluetooth ของโทรศัพท์มือถือ สำหรับการใช้งานทั้งโทรศัพท์ และเล่นเพลง รวมทั้งรองรับการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการณ์ Apple Car Play และ Andriod Auto แต่ยังต้องเสียบสายชาร์จเข้ากับโทรศัพท์ของคุณอยู่ดี ไม่มีเครื่องเล่น Tape หรือ CD มาให้ นานมากแล้ว

หน้าจอใช้งานไม่ยาก ไม่ง่าย แต่แอบงงเล็กน้อย ถ้าปิดเครื่องเสียงอยู่ แล้วจะหาทางเปิดวิทยุ ต้องใช้เวลาคลำหาวิธีกันพักหนึ่งเลยทีเดียว รุุ่น Entry ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ จะให้ลำโพงมาแค่ 2 ชิ้น ที่แผงประตูคู่หน้า แต่สำหรับรุ่น Mid ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ จะติดตั้งลำโพงมาให้ 4 ชิ้น (บานประตูคู่หน้า 2 ชิ้น บานแค็บเปิดได้ 2 ชิ้น)

คุณภาพเสียง ถ้าคิดว่านี่คือลำโพงสำหรับรถกระบะ ติดตั้งจากโรงงาน ถือว่า ดีเกินคาด ไม่ว่าจะฟังเพลงประเภทไหน รายละเอียดเสียง ที่ซ่อนอยู่ ก็โผล่ออกมาให้เห็นได้ เยอะ แม้จะไม่ครบบ้างในบางเพลงก็ตาม

ความลับข้อหนึ่งที่ ทีมพัฒนา Hilux Revo เคยบอกกับผมเอาไว้ ตั้งแต่เมื่อปี 2015 วันได้เข้าไปเยือน ศูนย์วิจัยและพัฒนา TMAP-EM หรือ TDEM ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Toyota Asia แล้ว นั้น คือ ในอดีต พวกเขาใช้แผ่น CD เพลงจากต่างประเทศ ในการ ปรับจูนเสียง ซึ่งแน่นอนว่า พอฟังเพลงดีๆ พวกเพลง Classic Pop หรือ Jazz บรรดาเพลงสากลทั้งหลาย จะไพเราะ แต่พอฟังเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เสียงจะออกมาไม่ดีอย่างที่คิด

ทีมวิศวกรเขาเลยคิดใหม่ทำใหม่ ในตอนนั้น ด้วยการ ไปหาแผ่นผี CD เถื่อน MP3 ตามตลาดนัดในสมัยก่อนนั่นละครับ มาเปิดใช้ในการปรับจูนเสียง ผลที่ได้ก็คือ คราวนี้ ไม่ว่าคุณจะฟังเพลงจากแหล่งกำเนิดแบบไหน คุณภาพไฟล์เพลงเป็นอย่างไร มันจะออกมาไพเราะเพราะพริ้งกว่า เครื่องเสียงในรถกระบะทั่วไปอยู่พอสมควร และคุณงามความดีด้านคุณภาพเสียงในวันนั้น ก็ยังคงถ่ายทอดมาถึง รถรุ่นปัจจุบัน ในวันนี้

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบธรรมดา ใช้สวิตช์มือบิดหมุน แน่นอนว่า พะยี่ห้อ Supplier เจ้าประจำอย่าง DENSO เป็นตราประทับรับประกันความหนาวเย็น จนฝ้าขึ้น เพียงเปิดพัดลมแอร์เบอร์ต่ำสุด และเร่งน้ำยาแอร์ไม่เยอะ บริเวณตรงกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลาง (เลื่อนเปิด-ปิดช่องลมได้) เป็นสวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light และนาฬิกา Digital สีฟ้า

ใต้แผงควบคุมสวิตช์เครื่องปรับอากาศ มีช่องวางของขนาดเล็ก ลึกพอให้วางโทรศัพท์มือถือได้ โดยไม่หล่นออกไปขณะขับขี่บนทางเรียบ ส่วนด้านข้างลำตัวคนขับ ยังคงเป็นกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ด้านบนเป็นฝาปิด ออกแบบมาให้เป็นพนักวางแขน สำหรับคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า ตัวฝาดังกล่าว บุนุ่มด้วยฟองน้ำแบบบางๆ หุ้มภายนอกด้วยผ้าสากแบบเดียวกับพนักวางแขนบนแผงประตู  เมื่อเปิดฝาด้านบนขึ้นมา ก็จะพบกับกล่องเก็บ CD หรือสิ่งของที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ได้เยอะพอสมควร มีช่องวางแก้ว 1 ตำแหน่ง แต่ไม่สามารถล็อกขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาทได้ดีนัก ติดตั้งอยู่ข้างเบรกมือพอดี

ทัศนวิสัยด้านหน้า ของรุ่น 4×2 Z-Edition จะเตี้ยลงจากรุ่นยกสูง ทั้ง PreRunner Rocco และ GR Sport 4×4 ชัดเจน กระนั้น การมองสภาพการจราจรข้างหน้ารถ ก็ยังคงทำได้ดีพอสมควร ต่อให้ปรับตำแหน่งเบาะไว้เตี้ยสุด หากคุณมีสรีระสูง 170 เซ็นติเมตรขึ้นไป ยังไงๆ คุณก็จะยังมองเห็นฝากระโปรงหน้าอยู่ดี แต่ถ้าคุณมีสรีระไม่สูงเกิน 170 เซ็นติเมตร แน่นอนว่า ขอบด้านบนของแผงหน้าปัด อาจบดบังสายตาอยู่บ้าง การหาเบาะมารองบั้นท้ายสักหน่อย ก็น่าจะช่วยเพิ่มการมองเห็นได้ดีขึ้น

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar หากมองจากฝั่งซ้าย และขวา อาจดูเหมือนจะมีความหนาเหมาะสมแล้ว ยิ่งเมื่อไม่ต้องมีการติดตั้งมือจับโหนขึ้นรถมาให้ ยิ่งลดการบดบังสายตาผู้ขับขี่ไปมากโข อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้งานจริง คุณยังต้องระมัดระวัง รถที่แล่นสวนทางออกมาจากโค้งขวาบนถนนแบบ 2 เลน สักหน่อย เหมือนเช่นพี่ๆรุ่นยกสูงในตระกูล Revo ก็จะดี ส่วนกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง แม้จะมองเห็นภาพด้านข้างรถได้ชัดเจน แต่ขอบด้านนอก ของกรอบกระจกมองข้าง ยังแอบเบียดบังพื้นที่ของบานกระจกมองข้าง เข้ามาบริเวณริมด้านนอกเล็กน้อยอยู่ดี

ขณะเดียวกัน ทัศนวิสัยด้านหลังของรุ่น Smart Cab นั้น การออกแบบขอบกระบะให้อยู่สูงโด่งพอ กลายเป็นว่า มุมกระบะหลัง ทำหน้าที่เป็นจุดกะระยะให้ผู้ขับขี่ไปในตัว ช่วยลดทอนความยากลำบากในการกะระยะขณะถอยหลังลงไปได้บ้าง

******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
******** Technical Information & Test Drive *********

แม้ว่า ขุมพลัง ของตระกูล Hilux Revo ในเมืองไทย จะมีให้เลือกทั้งแบบ 1GD-FTV Diesel 2.8 ลิตร และ 2GD-FTV 2.4 ลิตร แต่สำหรับรุ่นตัวเตี้ย Z-Editionทั้งตัวถัง Smart Cab และ Double Cab จะมีให้เลือก เพียงแบบเดียว โดยระดับความแรง ขึ้นอยู่กับระบบส่งกำลังที่คุณจะเลือกซื้อ รวมทั้งมีการปรับปรุงชิ้นส่วนภายในบางอย่าง และุการติดตั้งระบบ DPF (Diesel Particular Filter) ให้รองรับกับมาตรฐานมลพิษ Euro 5 อันเป็นมาตรฐานการปล่อยไอเสีย ที่หน่วยงานภาครัฐของไทย นำรูปแบบจากสหภาพยุโรป มาใช้อ้างอิง ตามอย่างเขากันเสียเลย เพื่อหวังจะช่วยลดการปล่อยมลพิษในอากาศ จากรถยนต์รุ่นใหม่ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้จริง 1 มกราคม 2025 นี้ เป็นต้นไป ดังนั้น เครื่องยนต์เดิมๆ ที่มีวางจำหน่ายอยู่ หากต้องการทำตลาดต่อไป ก็ต้องปรับปรุงการปล่อยไอเสีย ให้ผ่านมาตรฐานนี้ด้วย เพื่อที่ผู้ผลิต จะเสียภาษีสรรพสามิต ให้ภาครัฐ ถูกลง นั่นเอง

ขุมพลังยังคงเป็น เครื่องยนต์เดิม รหัส 2GD-FTV Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.4 ลิตร (2,393 ซีซี.)  กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 92.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด i-ART ผ่านราง Commonrail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged พร้อม Intercooler

กำลังสูงสุด เท่ากัน แต่แรงบิดสูงสุด แตกต่างกันไปตามระบบส่งกำลังที่คุณเลือก

รุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กำลังสูงสุด อยู่ที่ 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 343 นิวตันเมตร (34.95 กก.-ม.) ที่ 1,400 – 2,800 รอบ/นาที

รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ กำลังสูงสุดอยู่ที่ 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที เท่ากัน แต่แรงบิดสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น  400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 2,000 รอบ/นาที

Hilux Revo Low-Floor Z-Edition จะมีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหลัง แต่มีให้เลือก ทั้ง เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sequential Shift Manual Mode + / – จาก AISIN และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ แบบเดิม เพียงแต่ว่า รุ่นที่เรานำมาทดลองขับกันนี้ เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เท่านั้น พร้อมสวิตช์เลือกรูปแบบการขับขี่ ECO กับ Power

อัตราทดเกียร์ ยังคงเหมือนเดิม ดังนี้

………………………เกียร์อัตโนมัติ 6AT………..เกียร์ธรรมดา 6MT

เกียร์ 1……………………….3.600……………………….4.784
เกียร์ 2……………………….2.090……………………….2.243
เกียร์ 3……………………….1.488……………………….1.443
เกียร์ 4……………………….1.000……………………….1.000
เกียร์ 5……………………….0.687……………………….0.777
เกียร์ 6……………………….0.580……………………….0.643
เกียร์ R…………………….…3.732…………………….…4.066
อัตราทดเฟืองท้าย…………3.583…………………….…3.583

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีจับเวลากันในช่วงกลางดึก เหมือนเช่นเคย อุณหภูมิภายนอกรถยังอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส โดยยังคงยึดมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com คือ เปิดแอร์นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ 80 กิโลกรัม แลผู้ร่วมทดลองขับ 60 กิโลกรัม รวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม (ล่าสุด 140 กิโลกรัม) ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับรถกระบะรุ่นอื่นที่เราเคยทำการทดลองไว้ มีดังนี้

อันที่จริง ผมเคยทำตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองของ Revo Smart Cab 4×2 ตัวเตี้ย เอาไว้ตั้งแต่ปี 2020 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ในตอนนั้น เป็นช่วง Covid-19 อีกทั้ง เป็นรถกระบะของลูกค้า ซึ่งมีเวลาจำกัดสุดๆ เราจึงทำได้แค่เพียงแค่จับตัวเลข เท่าที่พอจะทำได้ โดยไม่สามารถทำบทความรีวิวได้ ดังนั้น ไม่ต้องไปย้อนค้นหาให้เสียเวลา ตัวเลขเก็บไว้เพื่อการอ้างอิง เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกับ รถรุ่นก่อน 2.4 J Smart Cab เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ปี 2020 จะพบว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวขึ้น 0.5 วินาที ส่วนอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ไวขึ้นราวๆ 0.3 วินาที แน่นอนว่า ตัวเลขของรถรุ่นใหม่ ไวขึ้นกว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ แบบไม่ต้องสืบ เห็นกันชัดเจนอยู่แล้ว

ต่อให้เปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ตรงพิกัดมากสุด เท่าที่เราเคยทำตัวเลขกันมา นั่นคือ Isuzu D-Max Space Cab X-Series 1.9 Ddi เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 4×2 ตัวเลขก็ออกมาชัดเจนว่า ยังไงๆ เครื่องยนต์ ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่า ย่อมให้อัตราเร่งที่ดีกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า Isuzu เองก็ทำเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร ออกมาฟัดเหวี่ยงกับคู่แข่งได้ประมาณนึงอยู่

สมรรถนะในภาพรวม ยังคงเหมือนเดิม แต่สังเกตได้ว่า แอบลื่นขึ้นนิดๆ ในช่วงแรกที่ออกตัว เกียร์ 1 ยังไม่เท่าไหร่ แต่พอเกียร์ 2 เรี่ยวแรงก็เริ่มปรากฎให้เห็น พละกำลังของเครื่องยนต์รุ่นนี้ เป็นไปตามความคาดหมาย คือ ในช่วง 1,800 – 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลากตัวรถให้พุ่งทะยานไป ด้วยความรู้สึกว่า รถมีกำลังที่ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม พอพ้น 3,000 รอบ/นาที ไปแล้ว เรี่ยวแรงจะลดลง กดคันเร่งจนจมมิด แรงบิดก็จะบอกกับคนขับว่า ฉันมีเรี่ยวแรงมากเท่าที่เห็น แต่มาในระยะสั้นๆ แค่นี้แหละนาย แน่นอนว่า เป็นธรรมดาของเครื่องยนต์ Diesel ที่จะมีอาการ “เหี่ยวปลาย” แต่ก็ไม่ได้เหี่ยวห้อยจนน่าเกลียดแบบขุมพลัง Diesel ยุคเก่า

พูดกันตามตรง ผมชอบ บุคลิก Flat Torque (รอบเครื่องยนต์สูงสุด มาถึงตั้งแต่รอบต่ำ ลากยันไปรอบสูงๆ) อย่างใน ขุมพลังตระกูล KD ของ Hilux Vigo ตอนนั้น มากกว่านิดหน่อย เพราะไม่ว่าจะเลือกเครื่องยนต์ 2.4ิ หรือ 3.0 ลิตร  แรงบิดสูงสุด มันไหลมาเทมาต่อเนื่องดีมากๆ ตั้งแต่ 1,600 – 4,000 รอบ/นาที แต่แน่นอนละว่า ขุมพลังตระกูล GD ให้เรี่ยวแรงเยอะกว่าชัดเจน แต่มาในระยะรอบเครื่องยนต์ที่สั้นลง จาก 4,000 รอบ/นาที เหลือ 2,800 รอบ/นาที นั่นคือ เน้นช่วงรอบกลาง เป็นหลัก

การเซ็ตอัตราทดเกียร์ ในภาพรวม สำหรับการใช้งานทั่วไป ถือว่าทำมาได้ดี การออกตัวที่เกียร์ 2 ทำได้ Smooth แต่ถ้าเกียร์ 3 จะมีอาการกระตุกสั่นเป็นธรรมดา เพราะรอบเครื่องยนต์ ในจังหวะ เปลี่ยนจาก เกียร์ 2 ไป 3 นั้น ต่ำกว่ารอบเดินเบา แต่เนื่องจากคันเกียร์ ยาว

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น หากไต่ขึ้นไปถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าทำได้ค่อนข้างไว แต่หลังจาก 170 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นต้นไป ตัวเลขจะเริ่มไต่ขึ้นไปช้า และกว่าจะได้ตัวเลข Top Speed ต้องใช้ระยะทางยาวประมาณหนึ่ง แม้จะไม่ไกลนัก แต่ก็ต้องรอกันสักหน่อยละ

การเก็บเสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน
*********** Noise Vibration & Harshness **********

ช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ในเมือง แทบไม่มีเสียงรบกวนอื่นใด ดังเกินหน้าเกินตาไปกว่า เสียงการทำงานของเครื่องยนต์แล้วละครับ มันอาจจะดังเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับน้อยมาก เมื่อเทียบกับรถกระบะในยุคก่อนๆ จัดว่า ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงไป การเก็บเสียง ทำได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับรถกระบะทั่วไป อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

กระนั้น หลังจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วรถที่เพิ่มขึ้น และเสียงจากพื้นถนนจะดังขึ้น หากเป็นพิื้นผิวถนนราดยางมะตอยใหม่ๆ ไม่นานนัก เสียงรบกวนจากยาง Bridgestone Duravis ถือว่า ไม่ดังมากจนเกินไป แต่ถ้าคุณกำลังแล่นอยู่บนพื้นปูน ที่มีสภาพไม่ถึงกับเรียบไปเสียทีเดียว แน่นอนว่า มีเสียงยางขึ้นมาให้ได้ยินพอสมควรตามธรรมเนียมเลยละ

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering

ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น ยืนหยัดใช้พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบ Hydraulic ตามเดิม ไม่ได้หันไปคบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า แต่อย่างใด ส่วนรัศมีวงเลี้ยวแคบสุดนั้น อยู่ที่ 6.4 เมตร เท่ารุ่นเดิม 

ในการขับขี่จริง หากจอดหยุดนิ่ง ลองหมุนพวงมาลัยดู พวงมาลัยของ Hilux Revo 4×2 Z-Edition จะเหมือนกันหมด คือ เบาขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดเดียว แต่ยังคงต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยพอสมควร ทว่า ยังเบากว่า พวงมาลัยของรุ่น 4×2 GR Sport ที่เราเคยลองขับมาเมื่อปี 2021

การบังคับเลี้ยวไปตามตรอกซอกซอย หรือหักพวงมาลัยเลี้ยวซ้าย – ขวา หลบหลีก สารพัดสรรพชีวิต ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงพ่อค้ารถถีบ 3 ล้อ บะหมี่เกี๊ยว ก็ยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือ ระยะฟรี มีพอประมาณ ไม่ได้ไว แต่แม่นยำประมาณหนึ่ง น้ำหนัก ไม่มากเท่ากับพวกรุ่นพี่ 4×4 แอบเบาขึ้นนิดนึง ความหนืดกำลังดีแบบที่ลูกค้าผู้ชายส่วนใหญ่จะชื่นชอบ กระนั้น ผมมองว่า แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับคนที่ชอบพวงมาลัยหนักๆอย่างผม แต่อาจจะยังหนักไป สำหรับคนที่ชอบพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำให้เบากว่านี้

ช่วงความเร็วเดินทาง ปกติ จนถึงช่วงความเร็วสูง ตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง – Top Speed พวงมาลัย จะเบาขึ้นจากการยกตัวของด้านหน้ารถตามกระแสลมที่ช้อนขึ้นใต้ท้อง อันเป็นเรื่องปกติของรถกระบะแทบทุกแบรนด์ ค่อนข้างไวขึ้น ระยะฟรี มีในระดับยอมรับได้ On Center feeling ช่วงหน่วงตรงกลาง ขณะถือตรง แอบเบาขึ้นกว่ารุ่น 4×4 ชัดเจนนิดนึง ต้องใช้สมาธิในการควบคุมรถย่านความเร็วสูง ทว่า การบังคับเลี้ยวเข้าโค้ง ไปมา ยังคงทำได้ดี อยู่ในระดับหัวแถวของตลาด เพียงแต่ว่า ยังมีความเนือยแอบโผล่ให้สัมผัสได้อยู่ ถ้าจะต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางคดเคี้ยวนั้น ขอแนะนำว่า อาจต้องชะลอความเร็วลงมาสักหน่อย แล้วค่อยเลี้ยว เพื่อให้พวงมาลัย สามารถเลี้ยวตามการสั่งงานของคุณได้ทัน

หากใช้ความเร็วเดินทาง จนถึงย่านความเร็วสูง ช่วง 80 – 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัยของรุ่น 4×2 Z-Edition ก็ยังคงตอบสนอง เหมือนกับ รุ่น 4×2 GR Sport คือ มีระยะฟรีพอสมควร เบาขึ้นกว่าตอนหยุดนิ่งชัดเจน แต่ยังนิ่งพอที่คุณสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย ในย่านความเร็วสูงสุด ได้นานถึง 7 วินาที ก่อนที่รถจะเริ่มเบี่ยงไปยังเลนซ้ายเอง

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่าง ยังคงอยู่บนพื้นฐานเดิม ด้านหน้าเป็นแบบ อิสระปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อมคอยล์สปริง ช็อกอัพ และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแนบแผ่นซ้อนวางเหนือเพลา และวางช็อกอัพไขว้

เมื่อหลายปีก่อน ผมมีโอกาสลองขับ Hilux Revo Smart Cab รุ่นส่งของ 2.4 J และพบว่า ช่วงล่าง ค่อนข้างแข็ง ดีด กระเด้ง และสะเทือนเอาเรื่อง จนแทบไม่ต้องนึกถึงความสบายในการขับขี่ อีกทั้ง การพารถไปถึงจุดหมาย ทำให้พบเจอการสะเทือนของทั้งช่วงล่าง ซึ่งเป็นปกติของรถกระบะแบบส่งของ การใช้สมาธิเพื่อประคองพวงมาลัย ซึ่งดูเหมือนหนัก แต่กลับเบาขึ้นในความเร็วสูง ทั้งหมดนี้ล้วนก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสมกับร่างกายเยอะเอาเรื่อง

ทว่า ความน่าแปลกใจในคราวนี้ก็คือ ทำไมคราวนี้ รุ่นปี 2024 มันนิ่งขึ้น Smooth ขึ้น ในย่านความเร็วต่ำ ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ต่อให้เป็นพื้นปูนแบบไม่เรียบ หรือยางมะตอยเสื่อมสภาพ ตัวรถค่อนข้างนิ่ง และซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นเยอะ แม้ว่าจะยังหลงเหลืออาการ “ดีดเด้งจากด้านหลัง” เวลาเจอลูกระนาด แข็งๆ Slope ไม่ดี รวมทั้งหลุมบ่อ หรือฝาท่อขอบคมจัดๆ ก็ยังมีอาการสะเทือนแรงๆ ตามนิสัยของช่วงล่างและเฟรมแชสซีส์ Hilux Revo เช่นเดิมอยู่ดีก็ตาม แต่อาการเหนื่อยล้าสะสมจากการขับขี่ หลังลงจากรถ เกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับทั้งรถรุ่นปีก่อนๆ และคู่แข่งด้วยกัน

ไม่เพียงเท่านั้น การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ระดับ 100 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับนิ่งขึ้นกว่ารุ่น Smart Cab เดิมนิดหน่อย ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ขับขี่ขึ้นอีกพอสมควร นิ่งจนเรียกได้ว่า ใกล้เคียงมากๆ กับ Hilux Revo GR Sport 4×2 ตัวเตี้ย ที่ผมเคยลองขับเมื่อ 2 ปีก่อน แม้จะยังไม่ถึงกับนิ่งเท่ากันก็ตาม สารภาพเลยว่า ผมพารถคันสีเทาเข้มนี้ ไต่ขึ้นไป และใช้ความเร็วอยู่ในระดับ 120 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้บ่อยครั้ง สบายๆ และไม่น่ากลัวเหมือนในอดีต ซึ่งถือว่า เป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นแบบงงๆ

วิศวกรของ Toyota บอกว่า ชิ้นส่วนอะไหล่ช่วงล่างต่างๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ละชิ้น ยังคงเป็นเลข Part Number เดิมๆ เพียงแต่ว่า มีการปรับระยะ ความห่าง ของแต่ละชิ้นส่วน หรือในตัวของชิ้นส่วนอะไหล่นั้นๆเอง (ค่า Tolerance) หลายๆจุดรวมกัน ให้มันออกมาเป็นไปตาม ค่าจริงที่วิศวกรตั้งใจให้มันเป็นแต่แรก แน่นอนว่า เมื่อทำให้รถแน่นขึ้น ตัวเลขระยะห่างในชิ้นส่วนในแต่ละชิ้น ดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ รถนิ่งขึ้น เสถียรขึ้น ขับดี และลดความเหนื่อยล้าสะสมจากการขับขี่ทางไกล ได้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นปีก่อนๆ ชัดเจน!

กระนั้น ความเร็วบนมาตรวัด ขณะเข้าโค้งมาตรฐานทั้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ขั้นที่ 1 ต่อเนื่องไปยังทางยกระดับบูรพาวิถี ฝั่งบางนา แม้ Toyota จะเคยโฆษณาว่าช่วงล่างดีขึ้นเข้าโค้งมั่นใจ ฯลฯ แต่!!! ก็ยังต้องทำใจว่า นี่คือรถกระบะแบบบ้านๆ ล้อแคบๆ ไม่พ้นซุ้มล้อ และบั้นท้ายไม่มีน้ำหนักใดๆกดเอาไว้เลย จะไปสาดโค้งมากๆ ก็คงจะลงทางด่วนด้วยวิธีพิเศษกันพอดี

เริ่มต้นจาก โค้งขวารูปเคียว ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ควรเข้าโค้งนี้ได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Z-Edition ทำได้ที่ 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ในระดับเดียวกันคือ 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดที่ตัวรถพร้อมยางเดิมจากโรงงาน (Bridgestone Duravis) เริ่มจะรับมือไม่ไหวแล้ว เพราะถ้าเกินกว่านี้ จากอาการหน้าดื้อที่แก้มยางล้อหน้าต้องรับสารพัดแรงกระทำ ก็จะกลายเป็นล้อคู่หลังที่จะเหวี่ยงออกด้านข้างแทนแหงๆ

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี Z-Edition ข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วขึ้นไปแตะที่ระดับ 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางด้านข้าง แต่ไม่ถึงกับมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถัดมา โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Z-Edition เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) และทำได้แค่นั้น

ถ้าอยากให้เข้าโค้งดีกว่านี้ ต้องจับเปลี่ยนล้ออัลลอย และยางให้มีขนาดหน้ากว้างกว่า ยาง Bridgestone Duravis จากโรงงาน ซึ่งเน้นความทนทานเพื่อรองรับการบรรทุกเป็นหลัก ไม่เช่นนั้น ก็คงต้อง Upgrade ไปเล่น รุ่น Z-Edition GR Sport ซึ่งมีการเปลี่ยนสปริงและช็อกอัพให้รองรับการขับขี่ในย่านความเร็วสูงได้ดีขึ้นกว่านี้ และแน่นอนว่า ค่าตัวก็จะแพงกว่านี้เอาเรื่อง

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบห้ามล้อด้านหน้า เป็นดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก เสริมการทำงานด้วยสารพัดด้วยตัวช่วยพื้นฐานของรถยนต์สมัยนี้ ได้แก่

– ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Distribution)
ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)

อย่างไรก็ตาม Hi-Light สำคัญของการปรับโฉมครั้งนี้อีกประการหนึ่ง คือ การเพิ่มอุปกรณ์ตัวช่วยด้านความปลอดภัยเชิงปกป้องเหล่านี้มาให้ จากโรงงานกันเสียที

ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวบนพื้นลื่นหรือขณะเข้าโค้ง VSC (Vehicle Stability Control)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีบนพื้นลื่น A-TRC (Traction Control)
– ระบบควบคุมการส่ายของรถพ่วงด้านท้าย (ในกรณีลากจูง) TSC (Trail Sway Control)
– ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSC (Hill Start Control)
– ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC (Down hill Assist Control)

แป้นเบรก ของ รุ่น Smart Cab 4×2 Z-Edition ยังคงมีระยะเหยียบ ปานกลาง ไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป ช่วงแรกจะเบานิดๆ แต่จะเริ่มหนืดขึ้นเมื่อผ่านช่วงกลางของระยะเหยียบลงไปจนจมสุดเท้า เหยียบลงไปแค่ไหน รถจะชะลอความเร็วให้คุณตามน้ำหนักเท้าขวาที่กดลงไป ในช่วงความเร็วต่ำ คุณยังสามารถกะระยะน้ำหนักแป้นเบรก เพื่อชะลอรถให้หยุดลงอย่างนุ่มนวลได้ โดยไม่มีอาการหัวทิ่มหัวตำ จะเบรกให้นุ่ม ก็ทำได้ไม่ยากเย็น

ส่วนในย่านความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูง รุ่น 4×2 นั้น การเบรกกระทันหันบนพื้นแห้ง จากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดสนิทนั้น ตัวรถยังคงมีอาการ ดิ้นซ้าย – ขวา ไปมา อยู่หน่อยๆ จนกระทั่งหยุดนิ่ง ดังนั้น แม้ว่าจะพอไว้วางใจได้อยู่ แต่โปรดใช้ความระมัดระวัง ขณะเบรกบนถนนลื่น ตามปกติของรถกระบะทั่วไป

แม้ว่า การเพิ่มระบบ VSC เข้ามา จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คนขับมากขึ้นอีกนิดนึง และมีระบบ Traction Control ลดการหมุนฟรีขณะออกตัวบนพื้นลื่น แต่ ธรรมชาติของรถกระบะ นั้น น้ำหนักส่วนใหญ่แทบทั้งหมด เทมาที่ด้านหน้ารถ และในกรณีรถเปล่าๆ ไม่มีการบรรทุกใดๆ ก็แทบจะไม่มีน้ำหนักถ่วงท้ายเลย ดังนั้น โอกาสจะหมุน หรือหลุดลงข้างทาง อาจเกิดขึ้นได้ เหมือนรถกระบะทุกยี่ห้อ ฉะนั้น ควรใช้ความระมัดระวัง บนพื้นถนนลื่นให้มาก

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย / Safety Features

เชิงปกป้อง Passive Safety ถูกรักษาไว้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับ Hilux Revo 4×2 Z-Edition ดังนี้

– โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA (Global Outstanding Assesment Body) พร้อมคานเหล็กนิรภัย กันกระแทกด้านข้าง
– เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด พร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ และผ่อนแรงปะทะ Pre-tensioner & Load Limiter ทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่ปรับระดับสูง – ต่ำ ไม่ได้
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และถุงลมหัวเข่า รวม Airbag 3 ใบ
– ไฟเบรก LED บนฝากระบะท้าย
– ไล่ฝ้า ที่กระจกบังลมหลัง

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*************Fuel Consumption Test *************

ข้อมูลจาก Car.go.th อันเป็นเว็บไซต์ของภาครัฐบาล ระบุว่า Hilux Revo รุ่น Smart Cab 4×2 Z-Edition นั้น เกียร์ธรรมดา ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในเมือง (Urban)  8.1 ลิตร / 100 กิโลเมตร นอกเมือง (Extra-Urban) 5.7 ลิตร / 100 กิโลเมตร เฉลี่ย (Combined) 6.6 ลิตร / 100 กิโลเมตร

ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในเมือง (Urban)  7.9 ลิตร / 100 กิโลเมตร นอกเมือง (Extra-Urban) 6.0 ลิตร / 100 กิโลเมตร เฉลี่ย (Combined) 6.7 ลิตร / 100 กิโลเมตร

ทว่า ในการทดลองของเรา ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน โดยเติมเต็มถัง หัวจ่ายตัด

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยานของเรา คราวนี้คือ น้อง Mark Pongswang ทีมงานของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมกับผู้เขียน/ผู้ขับขี่ 80 กิโลกรัม จะทำให้มีน้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวมกัน 140 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย บิดกุญแจติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter บริเวณมุมซ้ายล่างของชุดมาตรวัด แช่ค้างไว้ แล้วระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น ทั้งหมด

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน โดยพยายามเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.96 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.43 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขที่ออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น 2.4 J เดิมที่ผมลองขับ ก็เห็นความแตกต่างอยู่นิดหน่อย ระยะทางบน Trip Meter A ต่างกันเยอะ เพราะล้อของรุ่น J ในตอนนั้น มีขนาดเล็กกว่่า รุ่น Mid ในปัจจุบันนิดนึง ส่วนปริมาณน้ำมันที่เติมกับงวดนี้ ถือว่า ลดลงจากรุ่นเดิม ราวๆ 0.7 กิโลเมตร/ลิตร

แน่นอนว่า เมื่อเทียบกับผลงานของญาติพี่น้องร่วมตระกูล Hilux ที่เราทำตัวเลขทดสอบเก็บไว้ มาตลอดตั้งแตต่ปี 2006 ก่อนที่ Headlightmag.com จะถือกำเนิดขึ้น ก็คงต้องบอกว่า Revo Smart Cab 2.4 ลิตร เกียร์ธรรมดา Z-Edition ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาได้ประหยัดมากสุดในตระกูลแล้ว แถมตัวเลขที่ออกมา ยังบังเอิญ พอๆกันกับ Isuzu D-Max Space Cab X-Series 1.9 Ddi เกียร์ธรรมดา (15.46 กิโลเมตร/ลิตร) เสียด้วยซ้ำ ด้อยกว่ากันแค่ 0.03 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งนั่นเป็นความแตกต่างในระดับที่ไม่ถือว่ามีนัยยะสำคัญ ในมุมของผู้บริโภค

คำถามต่อมา น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ไกลกี่กิโลเมตร?

จากการทดลองใช้งานในชีวิตประจำวัน หลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ความเร็วสูงๆ ไปจนถึงหยุดสนิทนิ่งกลางแยกราชประสงค์ช่วงหัวค่ำวันฝนตกหนัก ฯลฯ ผมมองว่า น้ำมัน 1 ถังนั้น ต่อให้คุณเป็นพวกบ้าระห่ำ หัวใจร้อนแรงและไวพอๆกับเท้าขวา น้ำมัน 1 ถัง ก็ยังทำให้ Revo Smart Cab Z Edition แล่นได้ถึงระยะทาง 500 กิโลเมตร ได้สบายๆ แต่ถ้าคุณเป็นพวกขับรถนิ่งๆ เรื่อยๆ เอื่อยๆ ตามสภาพการจราจร ไม่เร่งไม่ร้อน จนรถคันข้างหลังทนไม่ไหว บีบแตรด่าบุพการีใส่คุณทุกวัน เชื่อมั่นว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณแล่นไปได้ระดับ 650 – 700 กิโลเมตร ไม่ยากเลย

********** สรุป / Conclusion **********
แปลกใจที่ช่วงล่างนิ่งขึ้น ขับสบายขึ้นอย่างงุนงงๆ
แม้จะยังเหลืออาการเด้งอยู่ ให้ข้าวของมาสมราคา
มากขึ้น แถมมี
VSC + TRC มาเสียที แต่ราคานี้
ลองเทียบคู่แข่งไปด้วยก็ดีนะ

สารภาพตามตรง เมื่อผมรู้ว่าจะต้องมี Hilux Revo Smart Cab Z-Edition มาทดลองขับกัน ภาพเมื่อครั้งลองขับ Smart Cab 2.4J รุ่นเก่า กระทะล้อเหล็ก เมื่อหลายปีก่อน ยังแอบตามมาชวนให้เกิดอาการ “เอ๊ะ” กันอยู่  ว่า ร่างกายผมที่เพิ่งจะออกจาก โรงพยาบาลมาได้ไม่ทันถึง 1 เดือน จะรับมือกับการสั่นสะเทือน และความเหนื่อยล้าสะสมแบบที่เคยเจอจากบรรดารถกระบะหลากรุ่นหลายแบรนด์ กันได้ไหมหนอ?

พอเอาเข้าจริง 7 วันผ่านไป ในการใช้ชีวิตกับ Hilux Revo Smart Cab Z-Edition คันนี้ ผมออกจะแปลกใจพอสมควร ตัวรถถูกปรับปรุง จนดีขึ้นชัดเจน และทำให้ผม ใช้งานรถคันนี้ตลอด 7 วันเต็ม ได้สบายๆ โดยไม่ต้องกังวลอะไร ไม่ต้องสลับสับเปลี่ยนรถเก๋งในบ้านออกมาวิ่งทดแทน

มันไม่เหมือนกับประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมาในสมัย Toyota Innova Crysta เบนซิน 2.0 ลิตร ซึ่งตอนนั้น ถือเป็นความทรงจำอันเลวร้ายในชีวิตการทดลองรถยนต์ของผมเลย ใช่ มันเป็น Minivan แต่อย่าลืมนะ รถรุ่นที่ 3 ในตอนนั้น แม้ช่วงล่างด้านหลังเป็น Coil Spring แต่มันถูกสร้างบน Frame Chassis ของ Hilux Vigo อยู่เลย ไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นพื้นตัวถังรถเก๋ง TNGA อย่าง Innova Zenix ในตอนนี้

ผมยังจำได้เลยว่า ตอนนั้น ด้วยความสะเทือนอย่างไม่บันยะบันยัง ขับไม่สบาย ปรับที่นั่งให้ตายยังไง ก็ปวดหลัง แถมยังมีความเหนื่อยล้าสะสมเข้ามายังร่างกายมากพอๆกับรถกระบะยุค 20 ปีก่อนหน้านั้น ทำให้ผมถึงกับ เก็บรถคันนั้นเข้าไปยังพื้นที่จอดรถในบ้าน ทันทีที่ทำตัวเลขต่างๆเสร็จ โดยไม่เอาออกมาขับอีกเลยจนกระทั่งวันส่งคืนรถ

แต่ Hilux Revo Smart Cab Z-Edition ในคราวนี้ ไม่มีอะไรให้ผมร้องยี้ แบบนั้นเลยแม้แต่น้อย! แปลกมาก! ทั้งที่รถกระบะแบบนี้ มันควรจะมีช่วงล่างที่แข็งสะเทือนกว่า Innova รุ่นเก่า Gen 3 คันนั้นเสียด้วยซ้ำ

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็น มันไม่ใช่แค่การเพิ่มลูกเล่นทางการตลาด อย่างพวก ชุดไฟหน้า ไฟท้าย LED กระจังหน้า กันชนหน้าใหม่ หรือเครื่องเสียง จอ Touch Screen 8 นิ้ว พร้อม Andriod Auto และ Apple Car Play อะไรพวกนั้น ผมยังเฉยๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังอยู่แล้วว่า ควรจะมีในรถรุ่นปรับโฉมนี่เสียที

หากแต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจเล็กๆ ให้กับผมได้จริงๆ กลับเป็นเรื่องความสบายในการขับขี่ การเซ็ตช่วงล่างให้มีค่า Tolerance ที่ถูกต้อง เป๊ะมากขึ้น ช่วยให้การขับขี่ นิ่งขึ้น Smooth ขึ้น ท่ามกลางข้อจำกัดด้านต้นทุน และการยืนหยัดต้องใช้เฟรมแชสซีส์เดิมที่ยังส่งผลให้อาการ ดีดเด้งจากช่วงล่างด้านหลัง ยังคงมีอยู่ต่อไป หากแต่ การขับขี่ทั้งในเมือง ทางไกล หรือบนทางด่วน กลับ “เนียนขึ้น” ลดความเหนื่อยล้าสะสม หลังลงจากรถ ได้ดีขึ้น อย่างน่างุนงง

ไม่เพียงเท่านั้น ผมอยากจะขอบคุณจริงๆ ที่ยอมใส่ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC และระบบป้องกันล้อหมุนฟรีตอนออกตัว Traction Control มาให้ในรุรน Z-Edition ตามเสียงเรียกร้องของผม และผู้บริโภคส่วนใหญ่กันเสียที อุปกรณ์ เชิง Active Safety เหล่านี้ คือสิ่งที่ควรจะมีอยู่ในรถกระบะทุกแบรนด์ ทุกคัน ที่ผลิตขายให้กับผู้บริโภคชาวไทยกันได้แล้ว ไม่รู้ที่ผ่านมา วิศวกรญี่ปุ่นจะ กั๊ก ไว้ทำไม แต่ตอนนี้ ดีใจที่เลิกสวมเสื้อกั๊ก ใส่มาให้เสียที หวังว่านับจากนี้ ระบบเหล่านี้ จะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ Toyota ต่อเนื่องไปนานๆ แม้ Revo จะต้องเปลี่ยนโฉมเป็นรุ่นถัดไปหลังปี 2026 ไปแล้วก็เถอะ! อย่าถอดออกเชียวนะ ถอดออกเมื่อไหร่ จะกลับมาด่าตามเดิม!

เมื่อรวมเข้ากับ การตอบสนองของเครื่องยนต์ 2GD-FTV ซึ่งถึงจะต้องเน้นความประหยัดน้ำมัน แต่ยังมีเรี่ยวแรงเหมาะสมกับการใช้งานตามอัตภาพ การเซ็ตอัตราทดเกียร์ที่ถือว่า  ยอมรับได้สำหรับการใช้งานทั่วๆไปของลูกค้าส่วนใหญ่ ทุกสิ่งที่ตัวรถมีมาให้ในปีนี้ ก็ดีและคุ้มเพียงพอให้คุณตกลงปลงใจเป็นเจ้าของได้เสียที

หากมองในภาพรวมแล้ว การปรับปรุงคราวนี้ ทำให้ผม เริ่มยอมรับว่า Hilux Revo Smart Cab Z-Edition เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผมสามารถเก็บไว้แนะนำกลุ่มลูกค้า ที่อยากจะหาซื้อรถกระบะคันแรกในชีวิต แต่ใช้งานทั้งเป็นรถประจำบ้าน หรือจะเป็นรถสำหรับช่วยในกิจการค้าขายเล็กๆน้อยๆ ของครอบครัว ได้อย่างไม่ขัดเขินเท่ารถรุ่นปีก่อนๆอีกต่อไป

จุดที่ควรปรับปรุง

มองในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับความจริงว่า Hilux Revo Smart Cab Z-Edition รุ่นนี้ ก็เข้าสู่ช่วงปลายอายุขัยแล้ว และน่าจะเหลือเวลาในการทำตลาดอีก ประมาณ 1 ปีครึ่ง ดังนั้น สิ่งที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เท่าที่ทีมวิศวกรของ Toyota Asia พอจะทำได้ ให้กับรถรุ่นนี้ ก็เหลือน้อยลงไปทุกที

เมื่อสำรวจดูรอบคัน ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ผมอยากเห็นเพิ่มเติม มักเป็นสิ่งละอันพันละน้อย ที่ไม่ค่อยสำคัญนักในสายตาของลูกค้าส่วนใหญ่ แต่ผมกลับมองเห็นว่า ถ้าติดตั้งมาให้ได้ก็ดี เช่นกระจกแต่งหน้า บนแผงบังแดดฝั่งคนขับ ควรจะมีมาให้ได้หรือยัง? เข็มขัดนิรภัยแบบปรับระดับสูง – ต่ำได้ สำหรับรุ่น Smart Cab ก็ควรมีมาให้เสียที

หรือถ้าเพิ่มกล้องมองหลัง และระบบ Blind Spot พร้อมระบบ Rear Cross Traffic Alert มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเสียที หรือไม่ก็มีให้เลือกเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษจากโรงงานเองเลย ไม่ต้องพึ่งพา บรรดา After Market ทั้งหลาย ก็น่าจะช่วยให้ Hilux Revo Smart Cab Z-Edition หนีจากคู่แข่งไปได้ไกลกว่านี้ แต่แน่ละครับ ราคาขายก็ย่อมต้องแพงกว่านี้ไปอีกพอประมาณเช่นเดียวกัน ถ้าลูกค้ายินดีจ่าย Toyota เขาก็พร้อมจะทำให้คุณนะ แต่ถ้าคุณไม่เรียกร้อง ชาวญี่ปุ่นเขาไม่ปล่อยอุปกรณ์เหล่านี้มาให้ ก็อย่าไปด่าว่า เขากั๊กออพชัน กันอีกหละ!

คนของ Toyota เอง ก็อย่าบอกเชียวละว่า “คุณจิมมี่ รถกระบะ พื้นๆ ไว้ส่งของ จะเอาอุปกรณ์อะไรมากมายนักหนา แค่ยอดขายทุกวันนี้ ก็เป็นที่ 1 แล้ว”….อย่าคิดเช่นนั้น ถัาอยากจะรักษาความเป็นผู้นำต่อไป จงเริ่มต้นให้ในสิ่งที่ลูกค้าปราถนา แต่ไม่เคยคาดหวัง ว่าจะได้จาก รถกระบะรุ่นที่มีราคาระดับกลางๆ หรือต่ำสุดในกลุ่มกันเสียบ้าง อย่ารอให้คู่แข่งเอามาเปิดฉากประเดิมก่อน เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านๆมา อย่าลืมสิ สมัยก่อน Toyota คือผู้ผลิตรายแรกที่นำ เทคโนโลยีระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตามรางแบบ Common-Rail มาลงในรถกระบะ เป็นรายแรกในตลาดบ้านเรา มาแล้ว ดังนั้น เลิกรอตามหลังให้คนอื่นใส่ข้าวของดีๆ ไปก่อน กันเสียทีเถอะ!

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเห็นการปรับปรุง คือ คันเกียร์ธรรมดา ตั้งแต่รุ่นปี 2015 มาจนถึงปัจจุบัน มันยังคงมีการตอบสนองที่เหมือนเดิมเป๊ะ คือ ยังเข้าเกียร์ให้ลงตำแหน่งที่ต้องการได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงเกียร์ 2 ไป 3 และยังมีจังหวะติดขัด ที่อาจทำให้เข้าเกียร์พลาดได้อยู่บ้าง ความแม่นยำยังทำได้ดีกว่านี้

ถ้านึกไม่ออกว่า จะเอาใครเป็น Benchmark ในประเด็นนี้ ผมอยากให้ดูตัวอย่างจากคันเกียร์ของ Ford Ranger เอาไว้ เพราะนั่นคือคันเกียร์ธรรมดาสำหรับรถกระบะ ที่ออกแบบมาให้มีน้ำหนักดีสุด ระยะเข้าเกียร์ดีสุด และเข้าเกียร์ได้แม่นยำมากที่สุดเมื่อเทียจบกับรถกระบะเกียร์ธรรมดาทุกรุ่นในตลาดบ้านเรา มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2011 และจนป่านนี้ ปี 2024 เข้าไปแล้ว ก็น่าแปลกใจว่า ยังไม่มีใครปรับปรุงประเด็นนี้ได้ดีเท่า Ford เสียที ทำไมกันนะ?

ส่วนอาการดีดเด้งจากด้านหลังรถ อันเป็นนิสัยประจำตัวของ Hilux Revo นั้น ผมคงไม่คาดหวังแล้วละ ถ้าทีมวิศวกร Toyota ยืนยันกับผมว่า Next Generation ของ Hilux น่าจะยังยืนหยัดอยู่บนโครงสร้าง Frame Chassis แบบเดิม (ไม่ใช่ TNGA-F จาก Land Cruiser) แต่เอามาปรับปรุงใหม่ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ให้ลดลงเท่าที่เป็นไปได้ แม้จะมีคำยืนยันเล็กๆว่า “เรามีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวหลายรูปแบบ” ก็ตาม ผมได้แต่รอดูว่า ช่วงล่างของ Hilux รุ่นต่อไป จะดียิ่งขึ้นกว่านี้ไปได้มากแค่ไหนกัน?

***** คู่แข่งในตลาด / Competitors *****

ปี 2024 นี้ ต้องยอมรับว่า รถกระบะ Extended Cab ตัวเตี้ย เหลือทางเลือกน้อยลงกว่าที่คิดไว้ ซึ่งผู้ผลิตทุกราย เขาก็มองว่า รุ่นย่อยไหน ขายดี ก็จะยังเก็บเอาไว้ หรือปรับปรุงเพิ่มเติม แต่รุ่นย่อยไหน ขายไม่ค่อยดี ก็คงต้องถูกตัดออกไปจาก โบรชัวร์ ตามครรลอง ถ้าใครอยากได้เกียร์อัตโนมัติ หลายค่ายก็จะผลักดันให้ลูกค้า ขึ้นไปเล่นรุ่น ขับ 2 ยกสูง

นอกเหนือจาก Hilux Revo Smart Cab Z-Edition แล้ว ตัวเลือกอื่นๆจากคู่แข่งที่พอจะเทียบเคียงกันได้ตรงๆ เปรียบมวยกันได้เต็มๆหมัด ก็จะเหลืออยู่แค่ 4 ราย

เริ่มจาก Isuzu D-Max Space Cab ซึ่งเป็นคู่ชกที่ตรงพิกัดมากที่สุด มีให้เลือก แค่ 1.9 Ddi S เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 665,000 บาท เกียร์อัตโนมัติ 705,000 บาท ส่วนรุ่น 1.9 Ddi L นั้น เกียร์ธรรมดา 728,000 บาท เกียร์อัตโนมัติ 768,000 บาท ทั้งคู่ เป็นรุ่น Euro 5 แล้ว และถ้ายังมองรุ่น Euro 4 อยู่ ค่าตัวก็จะถูกลงกว่านี้อีกนิดหน่อย ตามสต็อกของแต่ละดีลเลอร์

ถ้ามองเรื่อง Option แล้ว หากเทียบกับ Toyota รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ของทั้งคู่ใส่ข้าวของมาพอกัน แต่ Isuzu ให้ลำโพงมา 6 ชิ้น ขณะที่ Toyota ให้มาแค่ 4 ชิ้น กระนั้น รุ่นเกียร์ธรรมดา Toyota ให้อุปกรณ์ตัวช่วยด้านความปลอดภัย เท่ากับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ขณะที่ Isuzu คุณต้องอุดหนุนรุ่นเกียร์อัตโนมัติเท่านั้น จึงจะได้ข้าวของมาครบๆ

กระนั้น เหนือสิ่งอื่นใด จุดเด่นของ Isuzu ด้านความประหยัดน้ำมัน ราคาขายต่อสูงกว่าชาวบ้าน และบริการหลังการขายที่ ไว้ใจได้ แถมอะุไหล่ถูกเหลือเชื่อ ก็ยังคงเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ ยอมปักใจกับ Isuzu

Ford Ranger Open Cab มีแต่แบบยกสูง Hi-Rider เท่านั้น ราคาของรุ่น XL+ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 719,000 บาท และ XLS เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 799,000 บาท

ราคานี้ เมื่อเทียบกันแล้ว ในราคารุ่น Top ขอบ Revo Smart Cab Z-Edition คุณจะได้ Ranger Open Cab XLS ยกสูงหล่อๆ มาจากโรงงาน สมรรถนะดี พวงมาลัยเบากว่าใครเพื่อน พร้อมหน้าจอ 10 นิ้ว อันเป็นจุดขายที่ล่อตาล่อใจคุณ แต่อาจสร้างความปวดหัวได้ ถ้าไปจอดอยู่ในบ้านที่มี มด เยอะหน่อย เพราะหน้าจอ มันมีสารเคมีที่ใช้ในการประกอบรถ มันมีรสหวานจนมดขึ้นหน้าจอมาแล้ว

ตัวเครื่องยนต์ กับเกียร์ แม้ปรับปรุงมาใหม่ แต่ก็ยังมีลูกค้าประสบเหตุ Defect อยู่บ้างเหมือนกัน อีกทั้ง บริการหลังการขายของ Ford นั้น แม้ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่เสียงบ่นจากผู้บริโภคก็ยังมีอยู่ หากเป็นโชว์รูมต่างจังหวัด หลายแห่ง ดูแลลูกค้าดี แต่โชว์รูมในกรุงเทพฯ กลับหาศูนย์ฯดีๆ ได้ยากเย็นมากกกกกก ยิ่งกว่าการ งมลงไป หาชิ้นส่วนเรือ Titanic

MG Extender Giant Cab รุ่นตัวเตี้ย มีเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เท่านั้น และให้เลือก 2 รุ่นย่อย คือ เกรด C ราคา 589,000 บาท และ เกรด D ราคา 629,000 บาท

อย่าคาดหวังกับสมรรถนะ เพราะไม่ได้โดดเด่นนัก การขับขี่เหมือนรถกระบะเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ยิ่งถ้ามองแค่ Option เทียบกับรุ่นและพิกัดเท่ากัน บอกเลยว่า แทบไม่มีอะไรมาให้เลย เหมือนจะเน้นขายตัวยกสูงเป็นหลักมากกว่า ยิ่งชื่อชั้นของแบรนด์ และการบริการหลังการขาย ยิ่งไม่ต้องมาคุยกัน ห่างชั้นจาก Toyota แบบไม่ต้องสืบ

Mitsubishi Triton Mega Cab 4×2 ตัวเตี้ย จะมีให้เลือกทั้งรุ่นพื้นฐาน Active 622,000 บาท และ รุ่น Pro 682,000 บาท ทั้งคู่ มีแต่เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เท่านั้น ถ้าอยากได้เกียร์อัตโนมัติ ต้องปีนขึ้นไปเล่นรุ่น Mega Cab Plus ยกสูง ซึ่งค่าตัวก็แพงกว่ากันไม่มากนัก

จุดที่ทำให้ว้าวกว่าเพื่อนคือความสดใหม่กว่าคู่แข่ง แต่ที่เตะตาจริงๆ คงมีแค่หน้าจอ เครื่องเสียงขนาด 10 นิ้ว ใกล้เคียงกับ Ford Ranger (10.1 นิ้ว)  นอกนั้น อุปกรณ์ที่ให้มา ก็ถือว่า คุ้มค่าคุ้มราคา ตามสมควร ตัวช่วยด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน มีมาครบ แต่บางระบบ Toyota จะเพิ่มให้มากกว่า ในราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มจาก Mitsubishi เช่นกัน

ด้านบริการหลังการขาย จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ศูนย์บริการดีๆส่วนใหญ่ อยู่ในต่างจังหวัด ขณะที่ ในกรุงเทพมหานคร แนะนำว่า หาดีลเลอร์รายใหม่ๆ ไว้หน่อย น่าจะดูแลลูกค้าได้ดีกว่า

Nissan Navara King Cab มี 2 รุ่นย่อย ที่ใกล้เคียงกับ Revo Smart Cab Z-Edition มากสุด นั้นคือ รุ่น SL เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 649,000 บาท และ รุ่น E เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 689,000 บาท

พูดกันตามตรง ถ้าจะซื้อรถไปใช้ โดยไม่ตกแต่งแนววัยรุ่นสร้างตัว King Cab รุ่น E ถือว่า ราคาคุ้มค่า ถูกกว่าชาวบ้าน แต่ให้ข้าวของติดรถมาพอกันกับคู่แข่ง แถมสมรรถนะในภาพรวม ก็ยังอยู่ในระดับแถวหน้าของตลาด ขับขี่สบาย ไม่เหนื่อยล้าสะสมมากนัก เพียงแต่ว่า ถ้าต้องการรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ คุณอาจต้องยกระดับขึ้นไปเล่นรุ่น Calibre E 765,000 บาท ซึ่งก็ยังถูกกว่า Revo Smart Cab Z-Edition 2.4 Mid 6AT อยู่ดี

ส่วนศูนย์บริการ นั้น ภาพรวมแล้ว จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ดีลเลอร์ไหนจะดูแลดี หรือะไม่ดี ขึ้นอยู่กับโชคชะตาของคุณอยู่เหมือนกัน หมั่นตรวจเช็คตามคลับผู้ใช้รถทั่วไปดู ศูนย์ฯไหน เสียงด่าน้อยๆ ก็ไปอุดหนุน ดีลเลอร์แห่งนั้นได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหนก็ตาม

แล้วถ้าตัดสินใจ เลือก Toyota ละ? ควรเลือกรุ่นย่อยไหน ถึงจะคุ้มกว่ากัน?

Hilux Revo Smart Cab 4×2 Z-Edition รุ่นปี 2024 มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย วาง Line up แบบรุ่น Double Cab 4 ประตู เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน ราคาของแต่ละรุ่นย่อย มีดังนี้

รุ่น Entry….เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 669,000 บาท
รุ่น Entry….เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 719,000 บาท
รุ่น Mid…….เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 740,000 บาท
รุ่น Entry….เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 790,000 บาท

หากนั่งมองตารางสเป็กแล้ว ถ้าคุณมองหารถกระบะ สำหรับใช้งานในครอบครัว คุณขับรถเกียร์ธรรมดาได้ แน่นอนว่า คุณจะประหยัดเงินไปเยอะ เพราะ รุ่น เกียร์ธรรมดา ของทั้ง 2 Grade ให้ข้าวของที่จำเป็น มาเพียงพอ ต่อการใช้งานแล้ว แถมยังให้อุปกรณ์ความปลอดภัย ครบถ้วนมาตั้งแต่รุ่นถูกสุด เพียงแต่ว่า รุ่น Mid ก็จะมีช่องว่างราคาที่เพิ่มขึ้นจากรุ่น Entry ค่อนข้างเยอะถึงประมาณ 70,000 บาท ทั้งที่ Option ซึ่งเพิ่มเข้ามา ก็ไม่ได้เยอะอย่างที่ควรเป็น

หากซื้อรถด้วยเงินสด นั่นไม่ใช่ปัญหา ทางเลือก แล้วแต่งบประมาณของคุณ แต่ถ้าต้องออกรถด้วยเงินผ่อน หากคำนวนค่าผ่อนส่งต่อเดือนแล้ว ส่วนต่างระหว่างรุ่น Entry กับ รุ่น Mid ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ในสายตาคุณ ขอแนะนำว่า ยกระดับขึ้นไปเล่นรุ่น Mid เลยจะดีกว่า เพราะได้อุปกรณ์ครบถ้วนขึ้นมาอีกระดับ โดยไม่ต้องไปตกแต่งใดๆเพิ่ม เว้นเสียแต่ว่า คุณจะซื้อรถไปตกแต่งต่อเพิ่มเติม รุ่น Entry ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

แต่สำหรับลูกค้าที่ต้องการเกียร์อัตโนมัติ หากคุณมองว่า Option ต่างกันไม่มากเลย ด้วยแล้ว รุ่น Entry อาจจะเพียงพอสำหรับลูกค้าทั่วๆไป แต่สำหรับลูกค้าที่ซื้อรถด้วยเงินสด และอยากได้ Option เพิ่มขึ้น กัดฟันขึ้นไปรุ่น Mid น่าจะเหมาะสมกว่า

————————————————

สิ่งที่อยากฝากไว้ ให้กับผู้บริโภค และผู้ผลิตรถยนต์ ทุกราย ซึ่งแอบเข้ามาอ่านบทความนี้

ในอดีต กลุ่มลูกค้าของรถกระบะ Extended Cab 4×2 ตัวเตี้ย ของทุกค่าย มักเป็นกลุ่มพ่อบ้าน หรือแม่บ้าน ที่ใช้งานรถคันแรกและอาจเป็นคันเดียวของครอบครัว ไว้ขับไปทำงาน หรือใช้ทำกิจการค้าขายเล็กๆน้อยๆในครัวเรือน ทว่า พักหลังมานี้  ผู้ผลิตรถกระบะ หลายๆราย เริ่มหันไปเอาใจกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ผมขอเรียกรวมๆว่า “วัยรุ่นสร้างตัว” มากขึ้น

ลูกค้ากลุ่มนี้ อายุตั้งแต่ 20-30 ปี จบการศึกษาตั้งแต่ระดับ ม.6 จนถึง ปริญญาตรี ฐานะทางบ้าน ต้องดิ้นรนมาเยอะ  จนมีเงินสดสักก้อน เพื่อจ่าย ดาวน์ (มาจากคำว่า Down payment) ออกรถกระบะสักคัน มาใช้เป็นรถส่วนตัว ต่อยอดในการทำมาหากิน บางคัน ไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก เน้นเป็นรถขนของ ไปรับงานขนส่งพัสดุ Delivery อย่าง Kerry Express (8 สิงหาคม 2024 เปลี่ยนมือกิจการ และเปลี่ยนชื่อเป็น KEX) หรือ La La Move เป็นต้น แต่บางคัน ลูกค้าก็นำไปตกแต่งซะดุดัน จนดุเดือดต่อเงินในกระเป๋าสตางค์ของครอบครัว ระดับไปกู้หนี้ยืมสินกันเพื่อมาแต่งรถแต่งเครื่องเสียง ดันราง วางเทอร์โบใหม่ ตัด Catalytic Converter (หม้อฟอกไอเสียด้วยความร้อน) จูน ECU สมองกลของเครื่องยนต์ ฯลฯ ก็มีเพียบ

สำหรับผู้ผลิตรถกระบะแล้ว ผมอยากจะฝากทิ้งท้ายเอาไว้เหมือนเช่นที่เคยเตือนกันมาตลอด ว่า การทำตลาดรถกระบะกลุ่มนี้ ต้องใช้ความระมัดระวัง และพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ และภาพจำของผู้บริโภคในสังคมด้วย อย่าคิดแต่จะเอาตัวเลขยอดขาย เอาใจบรรดาเจ้านายชาวต่างชาติ ในระยะสั้นๆ กันเพียงอย่างเดียว เหมือนที่เป็นมาเสียที

โปรดอย่าลืมว่า โฆษณาที่ทำออกมา แล้วออกอากาศ ตามสื่อต่างๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา Billboard ขนาดใหญ่ รวมทั้งสื่อ Social Media ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีคนอ่าน คนรับรู้ เป็นจำนวนมาก และงานของพวกคุณทุกคน ทุกแบรนด์ มีส่วนในการปลูกฝัง การรับรู้ สร้างภาพจำ ให้กับประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ผู้ใหญ่ จนถึงเด็กตัวเล็กๆ ที่จะต้องเติบโตขึ้นมาในอนาคต เราควรช่วยกันสร้างค่านิยมที่ดีงาม ที่ถูกต้อง เหมาะสมกับการอยู่ร่วมกัน เพื่อความผาสุกของสังคมไทยในระยะยาว

สำหรับผู้บริโภค ในฐานะลูกค้า ก็อยากจะเตือนสติไว้เช่นกันว่า อย่าก่อหนี้สินจนเกินตัว ไม่ใช่ว่าเห็นเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง เขาถอยรถใหม่ป้ายแดง ก็อยากได้อยากมีเหมือนเขา ต้องไปเดือดร้อนเงินเก็บบุพการี ไปเป็นหนี้ไฟแแนซ์ และสถาบันการเงินต่างๆ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง แบบนั้นก็ไม่ถูก

เมื่อได้รถมาแล้ว ก็ต้องขยันทำมาหากินอย่างสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เพื่อผ่อนค่ารถให้หมด ปิดจบให้เร็ว จะได้ไม่เป็นหนี้เป็นสิน ไม่ติด Blacklist Credit Bureau  ไม่ใช่คิดแต่จะโมดิฟายรถ ลงเครื่องเสียง จูนเครื่อง เปลี่ยนล้อกับยางใหม่ ถ้าทำด้วยเงินตัวเอง และไม่เดือดร้อนต่อบัญชีออมทรัพย์ ก็นับว่าดี แต่ถ้าอยาก โมดิฟายรถตัวเอง ด้วยทุนทรัพย์จากการไปกู้ยืมคนรอบตัวกันอีกที แบบนี้ ก็ไม่อาวววววว!

ขับขี่บนทางสาธารณะ ปกติ แล้ว ผมอาจโชคดี ที่เห็นรถกระบะแต่งซิ่ง ขับกันดีๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ มีน้ำใจมากกว่าพวก ขับวินรถตู้ และ แท็กซี่ เสียด้วยซ้ำ แต่อาจจะมีบ้าง เป็นบางคัน ที่เห็นทางหลวง เป็นทางแข่ง วัดใจกันตั้งแต่การออกตัวที่สี่แยกไฟแดง ไปจนถึงการเลี้ยวกลับแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ กะระยะไม่เป็น ก่อความเสียหาย และความชิบหายให้เพื่อนผู้ร่วมใช้เส้นทาง ออกมาเป็น Video Clip ใน Tiktok ก็เยอะอยู่ ดังนั้น อย่าแข่งรถ อย่าคิดว่ารถตัวเองแรงแล้ว จะไปท้าดวลชาวบ้านด้วยการไปดันตูด จี้ตูดใครเขา ถือว่า เป็นการกระทำที่ไร้มารยาท ในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การปฏิบัติตามกฎจราจรก็ควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานของเราทุกคน เพื่อความปลอดภัย ในทุกเส้นทาง

ไม่เพียงเท่านั้น อย่าทำให้คนในครอบครัวกับสังคมรอบข้างเดือดร้อน จากพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม เช่น การดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ ทั้งที่ต้องขับรถ จนเกิดอุบัติเหตุจากการ “เมาแล้วขับ” (อันนี้โคตรเลวมาก) หรือการไปจอดรถในสถานที่สาธารณะ แล้วเปิดเครื่องเสียงดังสนั่นจนคนเขานึกว่า มีงานวัด งานบวช งานแห่นาค ตอน 6 โมงเย็น ริมสวนสาธารณะประจำจังหวัด มันไม่ได้ดูเท่ เลย แต่มันน่าอนาถเกินจะพูด ไร้ซึ่งความเกรงใจผู้อื่น อันเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมควรมีให้แก่กัน

เหตุที่ต้องตัดสินใจ เขียนเตือนสติกัน ทุกฝ่ายแบบนี้ เพราะดูเหมือนว่า ที่ผ่านมา ไม่มีใครคิดจะเตือนสติสังคมกันอย่างจริงจัง และต้องยอมรับความจริงว่า ประชากรรถกระบะตัวเตี้ยแต่งซิ่งนั้น มีค่อนข้างเยอะ และถูกเพ่งเล็งโดยสังคมส่วนใหญ่มาโดยตลอด ฉะนั้น ถ้าเราทุกฝ่าย ช่วยกัน ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งไม่สมควรทำ เพียงเท่านี้ สังคมในอนาคตของเรา ก็จะดีขึ้นได้ โดยตัวตนของคุณ ก็ไม่หายไปไหน มันใช้เวลานานสักหน่อย แต่มันจะดีขึ้นจริงๆ

เอาน่า! ถ้าประเทศไทย เคยมีโครงการรณรงค์ ลดการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง อย่าง ตาวิเศษ จนทำให้ถนนหนทางส่วนใหญ่ในประเทศ สะอาดสะอ้านขึ้นได้ ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงของทุกคนหรอกครับ

ถือว่า ช่วยกันละกันนะ
คนไทย ทำทุกอย่างสำเร็จได้อยู่แล้ว แค่เริ่มลงมือทำวันนี้ โดยเริ่มจากตัวเราเองนี่แหละ!

—————————–///—————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ

—————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ
“Toyota Motor Corporation.”
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
8 สิงหาคม 2024

Copyright (c) 2024 Text and Pictures
Except some CG from “Toyota Motor Corporation.”

Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
August 8th,2024

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!

————————————————