(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article.)
(วีดีโอคลิปทดลองขับของรถคันนี้ อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้)

———————————————–

ปี 2022 – 2024 วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็วมากๆ ชนิดที่เราไม่เคยได้ประสบพบพานกันมาก่อนเลย อะไรที่เราคิดว่า ไม่น่าจะได้เห็น กลับได้เห็น สถานการณ์ใดที่เราไม่เคยคิดว่าต้องเผชิญมาก่อน กลับได้เจอเสียอย่างนั้น

กระแสการไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ของบรรดารถยนต์สารพัดแบรนด์จากเมืองจีน คือเหตุผลหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

เรื่องของเรื่องโดยสรุปคร่าวๆ ก็คือ รัฐบาลจีน เขาอยากจะผลักดันให้ รถยนต์ไฟฟ้า BEV เป็นสินค้าหลักที่นำพาประเทศชาติของเขา ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก แซงหน่า และแทนที่ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เลยเถิดไปถึงเกาหลีใต้ด้วย นั่นแหละ

ในอดีต ช่วงตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนถึงได้เริ่มต้น ออกสารพัดมาตรการส่งเสริมภายในประเทศของตน ทั้งในมุมของผู้บริโภค เช่นถ้าใครซื้อรถยนต์ BEV หรือ Hybrid จะได้สิทธิพิเศษ ไม่ต้องประมูลและรอป้ายทะเบียนแบบสีเขียว นาน แถมยังสามารถแล่นได้ตามเมืองใหญ่ๆ โดยไม่จำกัดวันหรือช่วงเวลา อย่างที่รถยนต์ขุมพลังสันดาปป้ายทะเบียนน้ำเงิน เขาโดนควบคุมกัน ไปจนถึงการส่งเสริมนักลงทุนเอกชน และบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น ในการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า เหล่านี้ออกมาเยอะๆ ยิ่งเยอะเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเป็นรถเก๋งแท้ๆ 5 ที่นั่ง (ไม่ใช่รถ 4 ล้อเล็กนั่งได้ 2 คน) ยิ่งจะช่วยอุดหนุน เต็มที่

วันเวลาผ่านไป เศรษฐกิจจีน เริ่มเกิดปัญหา จากภาคอสังหาริมทรัพย์ บริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ 3 ราย ล้มละลายในเวลาใกล้ๆกัน ตามด้วยสถาบันการเงิน”แบบไม่เป็นทางการ”บางแห่ง ก็ล้มตามมาด้วย รัฐบาลจีนก็ต้องพยายามหาทาง ประคับประคองเศรษฐกิจ ในทุกวิธีการ ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เน้นการท่องเที่ยวในประเทศ (ถึงขั้นให้คนของรัฐโทรไปแนะนำประชาชนที่จะขอ VISA ไปเมืองนอก หรือบินมาเมืองไทย ว่าให้อยู่เที่ยวในจีนบ้านเราเถอะ)

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็เลยได้รับแรงผลักดันจากรัฐบาลจีน ให้ออกมาเติบโตในโลกเสรี นอกบ้านตนเองกันได้แล้ว แต่จะให้ไปไหนละ? ไปสหรัฐอเมริกา เจอ ประธานาธิปดี ไบเดน ขึ้นภาษีนำเข้า 100% ราคากระโดดพุ่ง ขายยาก จะไปยุโรป ก็เกิดยาก เพราะคนยุโรป ไม่เอา! ต่อให้ตัวรถจะปลอดภัยแข็งแรง ทำคะแนนดีสุดในการทดสอบชน EuroNCAP หรือต่อให้ไปดู Norway ประเทศที่คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าล้วนเยอะสุดในโลก ก็ยังเห็นยอดขาย รถไฟฟ้าจากจีน ตามหลักแบรนด์ยุโรป หรือ Tesla อยู่ดี ฝรั่งย่อมเชื่อใจฝรั่งด้วยกัน มากกว่า เอเซียผิวเหลืองอยู่แล้วเป็นปกติแต่ไหนแต่ไรมา ขนาดรถญี่ปุ่น กับรถเกาหลีใต้ พยายามเจาะตลาดมาตั้งแต่ยุค ทศวรรษ 1980’s ป่านนี้ ก็ยังขายได้ดีแค่ในบางประเทศของเขตยุโรป เท่านั้น นับประสาอะไรกับรถจีน?

มองไปมองมา ก็ดูเหมือนจะมีแต่ ภูมิภาค ASEAN นี่แหละ ที่น่าจะพอกระจายรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้นมาขายได้ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งดันมีข้าราชการการเมืองคนไหนก็ไม่รู้(วะ) จำเป็นต้องไปเซ็นลงนามข้อตกลงทางการค้า FTA (Free Trade Area) กับจีน เมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนเลยว่า อนาคต จะกลายเป็นว่า ภาษีนำเข้ารถยนต์พลังไฟฟ้า BEV จากจีน ถูกคิดในอัตราภาษีแค่ 0% ขณะที่รถ EV จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา โดนกันเข้าไป 40% (นี่คือเรื่องที่ผู้บริโภคคิดตื้นๆ บางกลุ่ม แม่งไม่สนใจจะรับรู้ สนใจแต่กูจะได้ซื้อรถยนต์ Option ล้นๆ แต่ราคาถูกๆ แล้ว ไชโย๊!)

นั่นละครับ เหตุผลที่ทำให้ ผู้ผลิตรถยนต์จากเมืองจีน กำลังพยายามแห่เข้ามากรีทาทัพ เปิดตัวและทำตลาดรถยนต์ของพวกเขาในบ้านเรา เป็นการใหญ่โตมโหฬาร หวังจะทำลายล้างแบรนด์ญี่ปุ่น ยุโรป และ ชาติอื่นๆ ให้สิ้นซาก เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็น “ที่หนึ่ง” ของตนเอง ด้วยวิธีการไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย ทั้งกับเพื่อนร่วมวงการ และกับผู้บริโภคคนไทย ซ้ำร้าย บางที คนจีนเขาใช้วิธีต่างๆเหล่านั้นมานาน โดยไม่เคยรู้เลยว่า ชนชาติอื่น เขาไม่โอเคกับวิธีการค้าขายแบบนี้ เพราะคนจีนเขามองว่า เป็นเรื่องปกติ! ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป กูจะมาอย่างใหญ่ ใครจะทำไม?

เฮ้อ…….!!! เขาคิด มอง และปฏิบัติ กันแบบนี้ “ทุกแบรนด์” ขอย้ำ “ทุกแบรนด์” จริงๆ

ไม่เว้นแม้กระทั่ง แบรนด์ที่เราจะมาพูดคุยกันในบทความนี้….

GAC AION……

ความเป็นมาของแบรนด์ GAC AION ในประเทศไทย นั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากบรรดาบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ค่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องหาตลาดใหม่ รองรับการเร่งผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าเพื่อการส่งออก กันนักหรอกครับ

ผมเริ่มได้ยินระแคะระคายจากบรรดาแหล่งข่าวรอบตัวหลายๆคน ว่า GAC Motor จากเมืองกวางโจว (กวางเจา) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน กำลังเริ่มศึกษาลู่ทางในการเตรียมเข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปี 2022 เพียงแต่ว่า ในตอนนั้น สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 กำลังลดทอนความร้อนแรง เข้าสู่ช่วง”ขาลง” ของการระบาด แต่ด้วยมาตรการปิดประเทศ ยังมีผลบังคับใช้ในหลายๆประเทศ รวมทั้งเมืองไทยของเรา ทำให้ ไม่ว่าผู้เตรียมการฝั่งไทย หรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของ GAC Motor ก็เดินทางไปมาหาสู่กันไม่ได้ ถึงทำได้ ก็ไม่สะดวกเสียเลย

ความเคลื่อนไหว ของ GAC AION ในสยามประเทศ เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อมีรายงานข่าวจากหลายสำนักว่า GAC AION
ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท โกลด์ อินทิเกรท (Gold Integrate) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อเข้าสู่ตลาดไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้นำรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน, เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่อีกหลายท่านร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2023

ตามแผนดังกล่าว GAC AION จะตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทยภายในปี 2023 เพื่อเตรียมการลงทุนในไทย 100% รวมทั้งก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ ขนาดเล็ก รองรับกำลังการผลิต 100,000 คัน/ปี ด้วยงบประมาณ 1,300 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 6,400 ล้านบาท โดย GAC AION จะถือครองสัดส่วนมากกว่า แน่นอนว่า GAC AION จะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

หลังจากนั้น GAC AION ก็เริ่มทะยอย ปล่อยความเคลื่อนไหวออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การก่อตั้ง บริษัท AION Automobile Sale (Thailand) จำกัด จนกระทั่ง การจัดงานแนะนำแบรนด์ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และพิธีลงนามความร่วมมือแต่งตั้งพันธมิตรทางธุรกิจระยะยาว กับ ผู้จำหน่ายรถยนต์ 7 ราย จาก 4 ประเทศ ในภูมิภาค ASEAN ณ ห้อง The Glass House บ้านปาร์คนายเลิศ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2023

การลงนามครั้งนั้น ประกอบไปด้วยตัวแทนจำหน่าย 7 บริษัท จาก 4 ประเทศ ในเขตอาเซียน (ASEAN) ได้แก่กลุ่ม จินหุย (Jinhui), ไอออนิก (AIONIC) วี กรุ๊ป (V Group) และฮาร์โมนี กรุ๊ป (Harmony Group) จากประเทศไทย พร้อมบริษัทในอาเซียนทั้ง 99 เมียนมาร์, Harmony Group จากเวียดนาม และ อีวี ฮับ (EV HUB) ในสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมแบรนด์อย่างเป็นทางการและเปิดตัวกลยุทธ์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสู่ตลาดอาเซียน ผ่านรุ่น AION Y Plus โดยใช้ไทยเป็นตลาดแรกในการเปิดตลาด

เรื่องน่าปวดหัวก็คือ การเตรียมงาน มีขึ้นค่อนข้างฉุกละหุก มีการว่าจ้าง PR Agency อย่าง Vivaldi ให้รับหน้าที่เชิญแขกเหรื่อ และสื่อมวลชน การเตรียม Script และกำหนดการของงาน ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แทบไม่มีการซักซ้อมที่ดีพอ โชคดีมากที่ ทีมงาน ว่าจ้าง คุณได๋ ไดอาน่า จงจินจนาการ ดารา นักแสดง ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน มารับหน้าที่เป็นพิธีกร ช่วยนำพางานนี้ให้ผ่านพ้นไปตลอดรอดฝั่งได้ ไม่เช่นนั้น คงชิบหายมากกว่านี้

ยังครับ นั่นยังแค่จุดเริ่มต้น เหตุการณ์ต่อมานี่น่าปวดกบาลยิ่งกว่า คืองานเปิดตัว AION Y Plus รถยนต์รุ่นแรกของแบรนด์ ที่จะทำตลาดในประเทศไทย ต่างหาก

งานเปิดตัวแบรนด์รถยนต์ AION และ เจ้า AION Y Plus ถูกจัดขึ้นที่ The ICONSIAM เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2023 นั้น ถูกพูดถึงในเชิง Negative อย่างมาก ทั้งจากผู้บริโภค ไปจนถึงสื่อมวลชนในบ้านเรา ด้วยสารพัดสาเหตุ

ข้อแรก เคยมีใครเตือนชาวจีนบ้างไหมว่า อย่าจัดงานเปิดตัวสินค้าในช่วงเย็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เพราะมันเป็นวันหยุดของผู้คนทั่วโลก อย่าเอาฤกษ์งามยามดี มาเป็นหลักในการจัดงานเพียงอย่างเดียว

ต่อมา การจัดงานเกิดขึ้นที่ The ICONSIAM ในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และผู้คนมากมายหลั่งไหลมาที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ แน่นอนว่า ด้วยปริมาณที่จอดรถอันจำกัด ไม่สอดคล้องกับประชากรที่หลั่งไหล่เข้ามา ทำให้การจราจรติดขัดหนักมาก จนผู้คนก่นด่า

หนำซ้ำ บรรยากาศในงาน ยังเกิดขึ้นแบบพิลึกพิลั่น ในหลายสิ่งอย่าง แต่ที่ถูกพูดถึงกันอึงคะนึงมากที่สุด คือการทำสไลด์ Presentation โดยใช้ Google Translate แปลมันทั้งดุ้น! และไม่ยอมจ้างคนไทย ในการทำข้อมูล หรือ ตรวจทานภาษาไทยเลยแม้แต่คนเดียว! เรียกว่า มั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป ผลลัพธ์ก็คือ ภาษาไทยที่ใช้กันในงาน มันไม่ใช่ภาษาไทยในรูปแบบที่คนไทยเราพูดสื่อสาร เขียนหรืออ่านสื่อความกันจริงๆ เป็นภาษาไทยที่ออกมาตลกมาก และแสดงให้เห็นถึงความไม่ Professional ขั้นรุนแรง

ตัวอย่างง่ายๆละกัน สีตัวรถ Liberty Grey ถูกแปลออกมาได้ว่า สีเทาอิสรภาพ!!!

มึงจะแปลทำม้ายยยยยยยยยยยยย! มึงพยายามจะเอาใจคนไทย แต่มันไม่ใช่ภาษาที่คนไทยใช้ว้อยยยยยยย มันดูเสร่อ ไร้รสนิยม และแสดงออกถึงความขลาดเขลาเบาปัญญา ไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนจะลงมือทำอะไรเลย แถมยังดื้อรั้น ไม่ยอมฟังใครขั้นหนักโคตรๆ

ช่วยไม่ได้ ในเมื่อคนจีน เขาอยากจะเปิดตัวให้มัน “ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร Aion!” 1 2 123 12 12 1!! มันก็ออกมาเป็นแบบนี้แหละ ทำอะไรไม่รู้จักยั้งคิด จะเอาแต่ใจตนเองเข้าว่า คิดง่ายๆตื้นเขินเพียงว่า “อะไรก็ตาม ที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จในจีน มันก็ต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทย เหมือนกันสิ!

ไอ้บ้าาาาาาาาาาาาาโว้ยยยยยยยยยยย This is Thailand! not มณฑล ไท่กั๋ว นะว้อย!!!!!!!

เท่านั้นยังไม่พอ อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่สร้างความไม่พอใจให้สื่อมวลชน และทีมงานคนไทย อย่างหนักอีกเรื่องก็คือ ช่วงเดือนมีนาคม 2023 เมื่อทาง AION ต้องการนำ รถยนต์สปอร์ต Hyptec SSR พวงมาลัยซ้าย ของตน ราคา 7,000,000 บาท มาจัดแสดง และออกจำหน่าย จึงต้องจัดกิจกรรมทดลองขับ กับสื่อมวลชน ที่สนาม Bhira International Circuit พัทยา

ทว่า การที่ฝ่ายการตลาดของ AION ไม่ฟังคนไทย นึกจะเปลี่ยนตัว Organizer ทีมจัดงานกันดื้อๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนงุนงง ทำให้เกิดความชะงักงันในการทำงานและประสานงาน หนำซ้ำ นอกจากตัวรถ ยังไม่พร้อม จากปัญหาระบบห้ามล้อ ที่ทนต่อสภาพอุณหภูมิของประเทศไทย ไม่ได้มากพอแล้ว ยังได้ยินมาว่า มีทีมงานจีน ใช้คำพูดดูถูก ทีม Instuctor ชาวไทย ในทำนองว่า ทีมคนไทย ไม่เคยได้สัมผัสรถ Super Car ระดับโลก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ทีม Instructor กลุ่มนี้ ใช้ชีวิตกับรถยนต์ Super Car และ Hi Performance Car เป็น “กิจวัตร” จึงมีความเชี่ยวชาญ กับรถ Super Car มามากกว่าทีมงานชาวจีนหลายเท่า ทำให้เกิดการพูดถึงในหมู่สื่อมวลชนชาวไทย ในทางที่ไม่ดี

ทั้งหมดข้างบนนี้ พูดกันตรงๆว่า GAC เปิดตัวแบรนด์ AION ในประเทศไทย มาได้ ไม่สวยเอาเสียเลย ในสายตาของผม สื่อมวลชน และผู้บริโภคชาวไทย ที่รับทราบเรื่องราวนี้

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมหนักใจ กับบทความนี้มากกว่าที่คุณจะได้เห็นหรือได้อ่านกัน

ผมพอจะรู้อยู่แล้วละว่า GAC AION Thailand เขามีความคาดหวังกับบทความนี้ไว้สูงเอาเรื่อง อย่างน้อย ก็ช่วยให้ผู้บริโภคชาวไทย ได้เห็นคุณงามความดี ของ รถยนต์รุ่นแรกที่พวกเขาสั่งนำเข้าสำเร็จรูปจากเมืองจีนทั้งคัน มาเปิดตลาดที่ มณฑล ไท่กั๋ว…เอ้ย! ประเทศไทย ของเรา ตอนนี้

ความหนักใจของผม ไม่ได้เกิดขึ้นในมุมที่ว่า ผมจะสื่อสารอย่างไร เพราะผมมั่นใจในความตรงไปตรงมา และการรักษาจรรยาบรรณ ในวิชาชีพสื่อสารมวลชน อย่างเคร่งครัดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง และผลประโยชน์มหาศาล ล่อตาล่อใจผู้คนกันเต็มไปหมดขนาดนี้

แต่ มันเกิดขึ้นว่า เมื่อเราเลือกจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในแบบที่ จะไม่มีใครกล้าพูดกับชาวจีนที่ AION อย่างที่ผมกำลังจะทำนี้แล้ว พวกเขาจะกล้ายอมรับในความผิดพลาดต่างๆ แล้วนำกลับไปเป็นบทเรียน ศึกษา ปรับปรุง แก้ไข เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นซ้ำรอยอีก หรือเปล่า?

หลังจากงาน Bangkok International Motor Show ผ่านพ้นไป Mayt ทีมงานของผม ก็ขยันมากระทุ้งถามบ่อยครั้งมาก ว่าทางทีม Agency (รายล่าสุด) ของ AION อยากจะส่งรถยนต์ของพวกเขามาให้ผมทดลองขับ และทำบทความรีวิว รวมทั้ง Video Clip ลง Youtube ด้วย

และเท่าที่ผมทราบ มันมาพร้อมความคาดหวังว่า ผมน่าจะช่วยเขียนให้ดี ให้รถเขาขายได้มากกว่านี้

พูดตรงๆ ว่า แอบรำคาญ เพราะกระทุ้งบ่อยเหลือเกิน มันจะอะไรกันนักกันหนา

ขอโทษเถอะนะ…ก่อนจะพูดกันถึงตัวรถ มีเรื่องต้องขอด่าก่อนละ….

ตอนรถเปิดตัว พวกคุณไม่เหลียวแลผมเลย จัดงานทดลองขับ ก็ไม่เชิญไปขับ ขนาด PR ของ AION เอง ที่ไม่ใช่คนจาก เอเจนซีที่คุณจ้างมาช่วยงาน ผมยังไม่รู้เลยว่า เป็นใคร การจัดการของพวกคุณ เละตุ้มเป๊ะ ไปหมด กลายเป็นว่า ทาง EVme ในเครือของ PTT เขาก็รีบเชิญสื่อมวลชนและ Influencer ทั้งหลายไปขับกันก่อน และเขาำไม่ได้เชิญเราไปด้วย ก็ไม่ว่าอะไร มันคือสิทธิ์ของเขาและสิทธิ์ของคุณ แต่พอรถเริ่มขายไม่ค่อยดี คุณถึงเพิ่งจะมาติดต่อ ว่าจะส่งรถให้ผมทดลองขับเนี่ยนะ?

มีใครสอนเรื่องมารยาทในการทำธุรกิจกับคนไทยบ้างไหม?
ความจริงใจในการทำธุรกิจของคุณ ความจริงใจในการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนคนไทยหนะ มีบ้างไหม?
หรือจะเลือกเอาแต่ Youtuber Influencer ทั้งสายรถยนต์ และสาย iT ที่มียอดวิวเยอะๆ โดยไม่สนใจที่มาของยอดวิวเหล่านั้นเลยว่า มันของแท้ หรือ ได้มาด้วยวิธีการไม่ชอบมาพากลใดๆ หวังแต่จะให้คนพวกนี้ อวยรถของคุณเพียงอย่างเดียว กันเลยใช่ไหม? แบบนี้ แย่มากนะ!

คราวหลังอย่าให้เป็นอย่างนี้อีก!

เอาละ ในที่สุด รถคันนี้ก็มาอยู่ในมือของพวกเราจนได้ และด้วยเวลา 7 วัน 6 คืน เราก็ได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้จักทั้งข้อดีและข้อที่ควรปรับปรุงของตัวรถ มากพอจนคิดว่า คงต้องเล่าให้คุณผู้อ่าน ได้รับทราบกันไว้สักหน่อย ว่าตัวรถหนะ มันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด ตรงกันข้าม มันมีจุดเด่นดีพอเลยละ สำหรับการเป็นรถยนต์ครอบครัวที่เน้นการใช้งานในเมืองใหญ่ เพียงแต่ว่า มันย่อมมีจุดที่ยังสามารถนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมได้อีกพอสมควร ซึ่งก็จะเล่าให้ฟังกันอีกทีในตอนท้ายของบทความ ข้างล่างนี้

กระนั้น ก่อนอื่น ตามธรรมเนียมของ รีวิวเว็บเรา อันโคตรรจะยาวเฟื้อย ผมอยากจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ GAC บริษัทแม่ ของ AION กันเสียก่อน…ว่า ที่มาที่ไป ของพวกเขา เป็นอย่างไรกัน?

GAC เป็นใคร เป็นมาอย่างไร / GAC Brief History

Guangzhou Automobile Group Co., Ltd. หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า “GAC” เป็นรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตรถยนต์จากเมืองกว่างโจว หรือกวางเจา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน จีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันนี้ ถือว่ามีสถานะอยู่ในกลุ่ม ผู้ผลิตรถยนต์ระดับ Top 5 ของ จีน เช่นเดียวกับ BYD , SAIC , Geely Group

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ GAC เริ่มจากการเป็น โรงงานประกอบรถบัสจากเหล็กและไม้ด้วยมือในปี 1954 ต่อมา ด้วยความฝันของรัฐบาลท้องถิ่นกว่างโจว ที่อยากมีรถยนต์แบรนด์ของตัวเอง ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970s จึงมีการทดลองผลิตรถยนต์ที่โรงงานเล็ก ๆ ทว่า ในช่วงนั้นก็ยังไม่ได้มีผลผลิตอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก

จนกระทั่งปี 1985 GAC ได้เข้าเป็นคู่ค้ากับ PSA Peugeot Citroën Group และก่อตั้งบริษัทย่อยใหม่ ชื่อว่า Guangzhou Peugeot Automobile Company โดยที่ GAC ถือหุ้นส่วนใหญ่และ PSA Peugeot ถือหุ้นราว 22% มีวัตถุประสงค์ในการประกอบรถยนต์จาก Peugeot ในโรงงานของ GAC เพื่อร่วมแสวงหากำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งรถยนต์รุ่นแรกที่ถูกประกอบที่โรงงานของ GAC นั้น ก็ได้แก่ GP 7200 Truck (Peugeot 504 เวอร์ชั่นกระบะ 2 ตอน 4 ประตู) และ GP 7202/7203 (Peugeot 504 ซีดาน) การเกิดขึ้นของ Guangzhou Peugeot นับว่าเป็นก้าวแรกของ GAC ในการก้าวสู่วงการรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย ดำเนินมาได้ราวๆ 10 ปี จนเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่าง 2 บริษัท จากนโยบายการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ในเดือนเมษายน 1996 Peugeot จึงเลิกทำธุรกิจกับ GAC ทำให้ GAC ต้องตัดสินชะตากรรมตนเองว่า จะเอายังไงต่อไปกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่นกว่างโจว ก็ตัดสินใจ เปลี่ยนคู่ค้าเป็น Honda ตามแนวคิด “ลงทุนน้อย ผลตอบแทนดี พัฒนาได้เร็ว และมีเทคโนโลยีที่เท่าทันโลก ” บรรดาความรู้ Knowhow ต่าง ๆ ที่ GAC ได้เรียนรู้มาในระหว่างการทำรถกับ Peugeot ก็ถูกนำมาใช้กับการทำธุรกิจร่วมกับ Honda

ภายหลังจากนั้น GAC ก็ได้คู่ค้าเพิ่มเติมอีกหลากหลายเจ้า เช่น Fiat, Chrysler (ยุคก่อนควบรวมเป็น FCA และ Stellantis), Mitsubishi Motors (เพิ่งถอนตัวจากตลาดจีนไปเมื่อปี 2023) ตามด้วย GAC Toyota ในเดือนกันยายน 2004 และล่าสุดกับ GAC Hino ทำรถบรรทุก เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2017 เท่านั้นไม่พอ ยังจับมือกับ BYD ตั้งบริษัท Guangzhou GAC Group BYD New Energy Bus Co., Ltd. ดำเนินกิจการรถประจำทางไฟฟ้า EV ร่วมกันอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ AION / The Beginning of AION Brand

แม้ว่าจะสามารถทำกำไรจากการร่วมทุนกับผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศ แต่ GAC Group ก็เชื่อว่า สิ่งที่จะบ่งบอกว่า GAC จะสามารถเติบต่อได้ไกลเท่าใด และจะยั่งยืนหรือไม่ในอนาคต คือการมีรถแบรนด์ตัวเอง ในช่วงปลายปี 2005 GAC จึงเริ่มวางแผนเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านการจัดให้มีแบรนด์รถของตัวเอง รวมถึงการวิจัยและพัฒนารถด้วยตนเอง ในปี 2006 GAC Group จึงก่อตั้ง GAC R&D Center มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างรถยนต์นั่งยุคใหม่ ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นในตลาดได้ ในที่สุด GAC Group พวกเขาก็จดทะเบียนบริษัทลูกขึ้นมาในชื่อ GAC Motor เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2008 เพื่อทำแบรนด์รถยนต์ของตนเอง

วันที่ 20 ธันวาคม 2010 แบรนด์ดังกล่าวของ GAC Motor ก็ได้คลอดออกมา ในชื่อ “Trumpchi” ถูกแนะนำสู่สาธารณชนครั้งแรก ในงาน Auto Gaungzhou พร้อมกับรถยนต์ Sedan รุ่นแรก สร้างบนพื้นฐานของ Alfa Romeo 166 ใช้เครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร Twin Spark จาก Fiat / Alfa Romeo หลังจากนั้น พวกเขาก็ทะยอยออกรถยนต์ต้นแบบ ถึง 19 คัน และรถยนต์จำหน่ายจริง อีก 28 รุ่น ตลอดระยะเวลา 9 ปี ในการทำตลาด

อย่างไรก็ตาม Trumpchi ก็ยังถูกมองว่า เป็นแบรนด์รถยนต์ราคาถูก ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป คุณภาพไม่ค่อยดี แถมยังมีงาน Design ที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง บางกรณีก็ดูละม้ายคล้ายกับรถยนต์ของต่างชาติอยู่ไม่น้อย ทำให้แบรนด์นี้ ยังไม่สามารถต่อกรกับรถยนต์จากการร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกันได้ ดังนั้น GAC จึงเลือกทำตลาดแบรนด์ Trumpchi สำหรับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมืองใหญ่ ของมณฑลอันห่างไกลจากนครหลวง ซึ่งมีงบประมาณการซื้อรถยนต์สักคัน ไม่เยอะนัก และคาดหวังว่า รถยนต์คันใหม่ จะช่วยเชิดหน้าชูตาตนเองและครอบครัวเหนือกว่าเพื่อนบ้านละแวกเดียวกันที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก

ท้ายที่สุด GAC ตัดสินใจ ลดความสับสนวุ่นวาย ในการทำตลาด ทั้งในจีนเอง และตลาดส่งออก ด้วยการ ยกเลิกแบรนด์ Trumpchi แล้วจับเปลี่ยนแบรนด์ให้รถยนต์ทุกรุ่น เป็น GAC Motor แบรนด์เดียวไปเลย สิ้นเรื่อง เมื่อปี 2019

เออ! ควรทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว!!!!

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ช่วงปี 2015 รัฐบาลจีน เริ่มตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คือ ธุรกิจเรือธง (Flagship) ตัวใหม่ ที่จะใช้บุกตลาดทั่วทุกทวีป สร้างความเป็นหนึ่งในโลก เหนือสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้วยสารพัดวิธีการ โดยเฉพาะการ อุดหนุนช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ Hybrid , Plug-in Hybrid หรือ ไฟฟ้า ล้วน BEV ทั้งการจองป้ายทะเบียนที่ใช้เวลาสั้น และสามารถแล่นได้ในเมืองใหญ่ๆ โดยไม่ติดข้อจำกัดเวลาเข้า – ออกของเมือง หรือ แม้แต่ การสนับสนุนพิเศษ ส่วนลดภาษี กับผู้ซื้อรถยนต์ประเภทนี้ ไปจนถึงการส่งเสริม ผลักดันและอุดหนุนการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่น ในสารพัดรูปแบบ

เพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลาง และแนวทางของตลาดรถยนต์ในโลกยุคใหม่ GAC Group จึงก่อตั้งบริษัทลูก GAC New Energy Automobile Co., Ltd. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2017 เพื่อพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ต่อมาในปี 2018 แบรนด์ AION ก็ได้คลอดออกมาในฐานะแบรนด์ลูก ภายใต้การกำกับดูแลของ GAC New Energy Automobile Co., Ltd. พวกเขาเลือกเวทีงาน ในงาน 2018 Auto Guangzhou เปิดตัว รถยนต์ Sedan รุ่นแรก เป็นครั้งแรก ในชื่อ AION S จากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ก็ได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทอีกรอบหนึ่ง โดยมีการเปลี่ยนชื่อ GAC New Energy เป็น GAC Aion และถูกแยกให้เป็นเอกเทศจากการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น ๆ ของ GAC

ปัจจุบัน ในตลาดเมืองจีน แบรนด์ AION มีรถยนต์ให้เลือก รวม 6 รุ่นหลัก และอีก 2 รุ่นรอง เรียงลำดับการออกสู่ตลาด ก่อน-หลัง ดังนี้

  • AION S : C-Segment Sedan ขุมพลัง EV เปิดตัวครั้งแรกในงาน Auto Guangzhou ปี 2018 ตามด้วย AION S Plus ในปี 2021 และ AION S Max ในปี 2023 มอเตอร์ไฟฟ้า 100 , 150 และ 180 กิโลวัตต์ ตามแต่ละรุ่นย่อย
  • AION LX : C-Segment Crossover EV เปิดตัวครั้งแรกในงาน Auto Shanghai เดือนเมษายน 2019 เริ่มจำหน่ายล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2019 และเริ่มผลิตออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2019 จากนั้น AION LX Plus ตามออกมา ในเดือน พฤศจิกายน 2021 มอเตอร์ไฟฟ้า 135 , 150 และ 300 กิโลวัตต์
  • AION V : C-Segment Crossover EV เปิดตัวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2020 ใช้มอเตอร์ 135 กิโลวัตต์ (181 แรงม้า PS) จากนั้น AION V Plus ถูกเปิดตัวตามมา เมื่อเดือน กันยายน 2021 ใช้มอเตอร์ ตั้งแต่ 221 แรงม้า (PS) / 163 กิโลวัตต์ ในรุ่นพื้นฐาน จนถึง 271 แรงม้า (PS)/ 200 กิโลวัตต์  ในรุ่นสูงสุด
  • AION Y และ AION Y Plus
  • AION V – II : C-Segment Crossover SUV EV รุ่นเปลี่ยนโฉมของ AION V เปิดตัวครั้งแรกในงาน Beijing Auto Show ปี 2024 ก่อนออกสู่ตลาด เดือนกรกฎาคม 2024 มอเตอร์ 200 แรงม้า (PS) / 150 กิโลวัตต์ และ 221 แรงม้า (PS) / 165 กิโลวัตต์
  • AION RT : C-Segment Sedan EV รุ่นล่าสุด เพิ่งเผยโฉมเมื่อ 15 กันยายน 2024 ใช้มอเตอร์ 200 แรงม้า (PS) / 150 กิโลวัตต์ และ 221 แรงม้า (PS) / 165 กิโลวัตต์ จาก AION V-II

นอกจากนี้ ยังมี Sub-Brand ใหม่ อย่าง HYPTEC ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวสู่สายตาชาวโลก พร้อมกับรถสปอร์ต HYPER SSR เมื่อเดือน กันยายน 2022 แรกเริ่มเดิมที ใช้ชื่อว่า HYPER และเริ่มการผลิตออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2023 จากนั้น จึงเริ่มเปิดตัว HYPER GT Sedan โดยเริ่มปล่อยภาพถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และเริ่มผลิตออกสู่ตลาดจริงในเดือนกรกฎาคม 2023 ก่อนจะตามมาติดๆด้วย HYPER HT SUV ขุมพลัง EV ทรง Coupe 5 ประตู ขนาดกลาง ซึ่งถูกเปิดเผยภาพถ่าย ในเดือนตุลาคม 2023 และเริ่มจำหน่ายจริงในเดือนพฤศจิกายน 2023 และเพิ่งเปิดตัวสู่ตลาดเมืองไทย ไปในเดือนกันยายน 2024 นี่เอง อย่างไรก็ตาม เดือนสิงหาคม 2024 GAC AION ก็ประกาศเปลี่ยนชื่อแบรนด์ จาก HYPER เป็น HYPTEC สำหรับตลาดทั้งในจีน และทั่วโลก นับแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับรุ่นที่นำเข้ามาจากประเทศจีน เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ตอนนี้มี 4 รุ่น นั่นคือ

  • AION Y Plus : C-Segment Minivan 5 ประตู 5 ที่นั่ง ขุมพลัง EV
  • AION ES : C-Segment Sedan ขุมพลัง EV เน้นทำตลาดกลุ่มลูกค้า สหกรณ์ ผู้ประกอบการ TAXI เป็นหลัก
  • HYPTEC HT : รถยนต์อเนกประสงค์ 5 ประตู ท้ายลาด EV ประตูคู่หลังเปิดแบบปีกนก เหมือน Tesla Model Y
  • HYPTEC SSR : รถสปอร์ต EV ที่เคลมตัวเองว่า สมรรถนะสูงระดับ Super Car ราคา 7 ล้านบาท

AION Y/ AION Y PLUS

GAC AION Y (รุ่นตัวถังสั้น) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2021 ที่งาน Shanghai Auto Show ครั้งที่ 19 โดยมีตำแหน่งทางการตลาด เป็นรถยนต์อเนกประสงค์ยกสูง (Crossover/SUV) พลังงานไฟฟ้า ขนาดเล็ก ถูกสร้างขึ้นบนพื้ฐานงานวิศวกรรม the AEP 2.0 platform ที่ออกแบบให้มีการกระจายน้ำหนักของล้อหน้า และล้อหลัง อยู่ในอัตราส่วน 50 : 50 และพัฒนามาสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ มาพร้อมรุ่นย่อยทั้งหมด 5 รุ่นย่อย มีราคาตั้งแต่ 104,600-148,600 หยวน

เดี๋ยวนะ ตัวรถเนี่ย ทรงมันเป็น MPV พิกัด C-Segment (Compact Minivan 5 ที่นั่ง) แต่เรียกตัวเองว่า SUV เนี่ยนะ?

ต่อมา วันที่ 27 กันยายน 2022 AION ก็ได้ประกาศเปิดตัว AION Y PLUS ซึ่งก็คือ AION Y ที่ถูกนำมายืดขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มความอเนกประสงค์ โดยเมื่อเทียบกับ AION Y แล้ว AION Y Plus จะมีระยะ front overhang ที่ยาวขึ้น 23 มิลลิเมตร rear overhang ที่ยาวขึ้น 102 มิลลิเมตร ส่งผลให้ช่องเก็บสัมภาระท้ายมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีก 39 ลิตร ส่วนระยะฐานล้อ ความกว้างและความสูง นั้น เท่าเดิม มาพร้อมรุ่นย่อยทั้งหมด 6 รุ่นย่อย มีราคาตั้งแต่ 139,800-179,800 หยวน

นอกจากความยาวและราคาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีงานออกแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจาก AION Y รุ่นตัวถังสั้นอีกด้วย โดยสิ่งที่เห็นชัดคือชุดไฟหน้าแบบปีกนางฟ้า Angle wings ที่มีการขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และชุดไฟท้ายถูกทำให้เป็นเส้นเดียวกันพาดผ่านจากด้านซ้ายของท้ายรถมายังด้านขวาของท้ายรถ (เดิมเป็นไฟท้ายแบบแยก) และมีการเพิ่มตัวเลือกสีตัวถังและการตกแต่งภายในใหม่

สำหรับประเทศไทย หากสรุปจากบรรดาข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ที่มีการนำเสนอไปในช่วงก่อนหน้านี้ ได้ความว่า GAC AION เริ่มประกาศครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2023 ว่ามีแผนเข้ามา ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จังหวัดระยอง และสำนักงานใหญ่สำหรับดูแลตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวน 6,400 ล้านบาท โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและเป้าผลิตเพื่อส่งออกให้ได้ 100,000 คันต่อปี

จากนั้น GAC จึงก่อตั้งบริษัท ในประเทศไทย และสั่งนำเข้ารถยนต์ AION Y PLUS จากประเทศจีน เข้ามาจำหน่าย โดยเปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2023 (วันที่ 9 เดือน 9) ณ The ICONSIAM หลังจากที่ได้เดินสายโชว์ตัวไปทั่วราชอาณาจักรไทยนานหลายเดือน ช่วงแรก เปิดตัวเพียง 2 รุ่นย่อย ได้แก่

• Aion Y Plus 490 Elite 1,069,900 บาท
• Aion Y Plus 550 Ultra 1,299,900 บาท

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่มีการประกาศราคาผ่านการถ่ายทอดสด บน Social Media เนื่องด้วยราคาที่ออกมา แพงกว่าที่ เว็บเพจ และ Youtuber บางราย เขาประเมิน และพยายามปั่นกระแสไปนั้น ทำให้ ปฏิกิริยาของผู้บริโภค ต่างพากันถอดใจ วงแตก แยกย้ายกันเลยทีเดียว กระแสตอบรับจึง “ค่อนข้างเงียบสงัด” GAC AION จึงได้แก้เกมในแบบที่ไม่ควรทำเลย นั่นคือการปรับลดราคาจำหน่ายและรุ่นย่อย AION Y Plus หลายครั้งมาก ดังนี้

• 20 ตุลาคม 2023 ปรับลดราคา 490 Elite ลงอีก 100,000 บาท เหลือ 969,900 บาท
• 29 พฤศจิกายน 2023 ยกเลิกรุ่น 550 Ultra แทนที่ด้วย รุ่น 490 Premium ราคาลดลงอีก 2 แสนบาท เหลือ 1,099,900 บาท
• เดือนธันวาคม 2023 ปรับลดราคา รุ่น 490 Elite ลงอีก 30,000 บาท จาก 969,900 เหลือ 899,900 บาท และ ปรับราคา รุ่น 490 Premium ลงอีก 100,000 บาท จาก 1,099,900 เหลือ 999,900 บาท
• 2 มกราคม 2024 ปรับลดราคา รุ่น 490 Premium ลงอีก 4,000 บาท จาก 999,900 เหลือ 995,900 บาท
• 25 มีนาคม 2024 ปรับลดราคา รุ่น 490 Premium ลงอีก 50,000 บาท จาก 995,900 เหลือ 949,900 บาท และเพิ่มรุ่นย่อย 410 Premium ราคา 859,900 บาท

เท่ากับว่า เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปีนับจากวันเปิดตัว สรุปแล้วปัจจุบัน AION Y Plus ปรับลดราคาไปแล้วมากถึง 5 รอบ!! ทำให้มีราคาจำหน่ายที่ถูกลงกว่าเดิมราว 300,000 บาท!! ปัจจุบัน AION Y Plus มีราคาจำหน่ายดังนี้

• Aion Y Plus 410 Premium: 859,900 บาท
• Aion Y Plus 490 Elite: 899,900 บาท
• Aion Y Plus 490 Premium: 949,900 บาท

มิติตัวถัง / Dimension

AION Y PLUS มีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,535 มิลลิเมตร กว้าง 1,870 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,600 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,600 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 150 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าอยู่ที่ 1,695-1750 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับ BYD Atto 3 ที่ยาว 4,455 มิลลิเมตร กว้าง 1,875 มิลลิเมตร สูง1,615 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,720 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 175 มิลลิเมตร จะพบว่า AION Y Plus จะยาวกว่า Atto 3 อยู่ 80 มิลลิเมตร มีความกว้างน้อยกว่าอยู่ 5 มิลลิเมตร และสูงกว่าอยู่ 35 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่าอยู่ 30 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) เตี้ยกว่าอยู่ 25 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ MG ZS EV ที่ยาว 4,323 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง1,649 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,585 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 161 มิลลิเมตร จะพบว่า AION Y Plus จะยาวกว่า ZS EV อยู่ 212 มิลลิเมตร มีความกว้างมากกว่าอยู่ 61 มิลลิเมตร และสูงกว่าอยู่ 1 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่าอยู่ 165 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) เตี้ยกว่าอยู่ 11 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior

แม้ว่า AION Y PLUS จะถูก GAC วางตำแหน่งทางการตลาดเป็นเป็นรถ SUV/Compact Crossover แต่เมื่อมองจากด้านข้างตัวรถ จะพบว่า สัดส่วนในภาพรวมของ AION Y PLUS อาจคล้ายคลึงกับรถยนต์ Crossover MPV พอสมควร จากการที่มีช่วงฝากระโปรงหน้าที่สั้น และเสา A pillar อันลาดเอียง ที่ถูกวางอยู่ในตำแหน่งค่อนไปทางหน้ารถค่อนข้างมากจนผิดวิสัยของรถ SUV (ซึ่งตามปกติของรถ SUV แล้ว เสา A-Pillar มีความลาดเอียง และตำแหน่ง เสมือนว่าถูกลากขึ้นมาจากดุมล้อหน้า)

งานออกแบบภายนอกได้รับแรงบันดาลใจมาจากท้องฟ้าในเมืองใหญ่ ด้านหน้ารถมาพร้อมกระจังหน้าแบบปิดทึบและโลโก้ GAC ที่แปะไว้ ณ จุดกึ่งกลางของหน้ารถ ถัดมาเป็นไฟหน้ารูปทรง “ปีกนางฟ้า” โดยเป็นไฟหน้าแบบ Full LED มาพร้อมกับระบบเปิด-ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ ฟังก์ชั่น Follow me home และระบบเปิด-ปิด ไฟสูงอัตโนมัติ

ถัดลงมาเป็นช่องดักลมด้านล่างวางแนวนอนและอยู่ในตำแหน่งของล่างสุดของหน้ารถ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู เพื่อเพิ่มความรู้สึกมั่นคงให้กับด้านหน้ารถ ภายในช่องดักลมดังกล่าวมีเส้นสายเป็นซี่ สีดำเงาวางแนวเฉียงให้รับกับเส้นไฟหน้า ณ จุดกึ่งกลางเป็นที่ติดตั้งของชุดเรดาร์สำหรับระบบความปลอดภัย และที่ขอบล่างสุดตกแต่งด้วยแผงตกแต่งสีเงิน

ไล่จากด้านบนลงมาด้านล่าง ด้านบนสุดเป็นราวหลังคาสีเงิน กระจกหน้าต่างมาพร้อมงานออกแบบ แบบ Floating Roof ตกแต่งขอบกระจกหน้าต่าง และเสาหลังคาคู่หลังสุด ด้วยวัสดุสีดำ กระจกมองติดตั้งอยู่ที่ประตูคู่หน้า เป็นกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ ปรับและพับไฟฟ้า มีชุดทำความร้อนเพื่อไล่ฝ้า พร้อมไฟเลี้ยวในตัว

เส้นสายด้านข้างของ Y PLUS โดยรวมจะมีบุคลิก เหมือนจะเรียบง่าย แต่มีลูกเล่นเล็กๆน้อย ผสมผสานระหว่างความโค้ง และเส้นสายที่เป็นเหลี่ยมสัน

ถัดลงมาเป็นซุ้มล้อหน้าและซุ้มล้อหลังขนาดใหญ่มีความโค้ง ตกแต่งด้วยกาบซุ้มล้อสีเงินทรงเหลี่ยมที่รับกับเส้นสายที่โป่งล้อหน้าและโป่งล้อหลัง เชื่อมต่อติดกับชายล่างของประตูที่เป็นแบบดำด้าน

ด้านท้ายรถ มาพร้อมกับสปอยเลอร์สีเดียวกับตัวรถตกแต่งด้วยสีดำที่ขอบด้านใน นอกจากนี้สปอยเลอร์หลังยังมาพร้อมไฟเบรกดวงที่ แบบ LED ไฟท้ายแนวนอนได้รับแรงบัลดาลใจมาจากเส้นขอบฟ้า ส่องสว่างด้วยหลอดไฟ LED ถัดลงมาเป็นเปลือกกันชนหลังสีเดียวกับตัวรถ แผงตกแต่งสีเงิน

ล้อของ AION Y PLUS รุ่นย่อย Premium เป็นล้ออัลลอย 5 ก้าน สีเทาดำ ขนาด 18 นิ้ว รัดด้วยยางขนาด 215/50/ R18 ยี่ห้อ “CHAO YANG” (อ่านว่า “เจ้า-หยาง) ซึ่งคงได้แต่บอกคุณผู้อ่านว่า “เจ้า อย่า หวัง” อะไรกับยางติดรถมากนักเลย

สิ่งที่ต้องตำหนิกันอย่างแรกเลยก็คือ ช่วงแรกที่ออกจำหน่ายในบ้านเรา จนถึงวันที่ รถคันทดลองขับคันนี้มาอยู่ในมือเรา ผมพบว่า บานกระจกหน้าต่างบานหลังจะไม่มีใบปัดน้ำฝนหลังและไล่ฝ้ามาให้!!

เฮ้ย! คิดอะไรกันเนี่ย? รู้ใช่ไหมว่า กระแสลมหมุนวนด้านหลัง ของรถยนต์ที่มีรูปลักษณ์แบบท้ายตัดอย่างนี้ มันจะนำพาเอาเศษฝุ่น หรือดินทรายต่างๆ ขึ้นมาจากใต้ท้องรถ มาแปะอยู่บนฝาท้ายและกระจกบังลมหลังได้ โดยเฉพาะในวันที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก

ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Honda ยังเคยมีบทเรียนมาแล้ว กับการเปิดตัว Honda Brio ในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ทั้งที่ไม่มีใบปัดน้ำฝนด้านหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวญี่ปุ่นต้องยอมรับฟังเสียงก่นด่าจากลูกค้าเมื่อใช้งานจริง เป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุด ถึงยอมติดตั้งใบปัดน้ำฝนพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกหลังมาให้ในรุ่นปรับอุปกรณ์ แต่นั่นก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะผู้บริโภคต่างพากันหันไปหารถยนต์ที่ดีกว่านั้น ทำให้ Brio กลายเป็นความล้มเหลวครั้งหนึ่งของ Honda ในตลาดรถยนต์เมืองไทยเลยทีเดียว

บทเรียนก็มีอยู่แล้ว ชาวจีนที่ Aion ไม่ศึกษาเรื่องนี้ก่อนมาเมืองไทยเลยใช่ไหม?

ภายในห้องโดยสาร / Interior

ระบบล็อกประตูของ AION Y Plus เป็น Remote กุญแจ แบบ Keyless Entry ซึ่งออกแบบมาสวยงามดี และมีน้ำหนักกำลังดี ใช้งานไม่ยาก มีสวิตช์ ปลด และสั่งล็อกประตู สวิตช์ เปิดฝาชาร์จไฟ สวิตช์ เปิดฝาท้ายไฟฟ้า

มือจับเปิดประตู พ่นสีเดียวกับตัวรถ ออกแบบมาให้เรียบไปกับตัวถัง ดุจรถยนต์ต้นแบบ ตามความนิยมของผู้ผลิตชาวจีน โดยมือจับจะเด้งออกมาในเวลาที่คุณสั่งปลดล็อกรถ ในกรณีฉุกเฉิน คุณสามารถใช้กุญแจสำรอง ไขเข้าไปในรูกุญแจ แบบที่เห็นอยู่นี้ ได้โดยตรง

นอกจากนี้ คุณยังสามารถต่อเชื่อมกับ Application บนโทรศัพท์มือถือของคุณ เพื่อช่วยควบคุม อุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถ จากระยะไกล ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ การปลดล็อกรถ และเปิดเครื่องปรับอากาศ จากระยะไกล เพื่อสร้างความเย็นให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ที่เพิ่งเดินตากแดดมา ได้สัมผัสกับลมเย็นทันทีที่ขึ้นไปนั่งบนรถ

การก้าวเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดี ตามรูปแบบของตัวรถ ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ ร่างกายแข็งแรงหรือไม่ ก็แทบจะไม่มีปัญหาเลย คุณสามารถย่อเข่า แล้ว หย่อนก้นลงนั่ง จากนั้นก็ก้าวขา หมุนบั้นท้าย เคลื่อนร่างเข้าไปนั่งได้เลย ถ้าต้องการลงจากรถ ก็หันตัว หมุนลงมา แล้วเอาขา วางไว้บนพื้นถนน ลุกขืนขึ้นง่ายดาย

ถ้าจะมีรถยนต์ ที่วางตำแหน่งเบาะคู่หน้าเหมาะสม และสะดวกต่อการลุกเข้า – ออก แบบนี้ ในตลาดบ้านเรา เท่าที่ AION Y PLUS พอจะเทียบเคียงกันได้ ก็คงจะมีแค่ SUV ขนาดใหญ่กว่า อย่าง Subaru Forester และ Honda CR-V ตั้งแต่ 3rd Generation จนถึงรุ่นล่าสุด เท่านั้น

บานประตูคู่หน้า ค่อนข้างหนักพอกันกับรถยุโรปในสมัยก่อนเลยละ ดูเหมือนทีมวิศวกรชาวจีน จงใจสร้างบานประตูให้หนักแบบนี้ เพื่อสร้างความรู้สึกทางจิตวิทยา แก่ลูกค้าและผู้ที่ได้สัมผัส ว่า AION Y Plus เป็นรถยนต์ที่คุณภาพดี

สำหรับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว เรื่องน้ำหนักบานประตู และเสียงปิดประตูนั้น มีการวิจัยมายาวนานมาก ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของผู้บริโภคว่า ถ้ามีน้ำหนักกำลังดี แสดงว่าตัวรถน่าจะแข็งแรง และอาจจะปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเสียงปิดประตูที่ทุ้ม แน่น อันเป็นผลมาจากการออกแบบยางขอบประตูอย่างดี ยังสร้างประสบการณ์ระดับหรู เฉกเช่นรถยนต์จากยุโรป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันขึ้นอยู่กับความจงใจ ตั้งใจ ของวิศวกรในการที่จะนำพาให้ตัวรถ ออกมามีลักษณะแบบใด มากกว่า

แม้ว่าชายล่างของบานประตู จะไม่ได้คลุมลงมาจนถึงชื้นส่วนพลาสติกสีดำบริเวณกาบด้านข้างตัวรถ กระนั้น โอกาสที่ขากางเกง หรือชายกระโปรงของคุณจะเปื้อนคราบฝุ่น ดิน คราบน้ำฝน น้อยมากๆ เพราะระยะห่างจากตำแหน่งเบาะรองนั่งคู่หน้า จนถึงธรณีประตู ค่อนข้างสั้น ระยะการก้าวลงจากรถค่อนข้างสะดวกสบาย

แผงประตูหน้า ท่อนบนสุดขึ้นรูปด้วยวัสดุแบบเดียวกับที่ใช้ในรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรปรุ่นใหม่ๆ ถัดลงมาเป็นแผงบุนุ่มด้วยวัสดุสังเคราะห์ วางไว้ระดับเดียวกันกับแผงตกแต่งที่แดชบอร์ด และตกแต่งด้วยแถบประดับ Trim สีเงิน เชื่อมต่อเนื่องกับมือจับเปิดประตูสีเงิน มีการเล่นระดับให้มีความลึกเข้าไปนิดๆ (คล้ายภาพของสนามกีฬาแห่งชาติที่มองจากมุมด้านบนผ่าน Google Map 2 มิติ) และฝังไฟสร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร Ambient Light ปรับได้ 32 สี ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์กลาง และสามารถปรับให้กระพริบตามจังหวะเพลงได้ (แนว ติจู่เอี้๊ย ตามบ้านคนจีน) เอาไว้ด้านใน

ถัดลงมาที่ท่อนกลางของแผงประตูเป็นพนักท้าวแขนแบบบุนุ่มด้วยวัสดุสังเคราะห์ และตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา มาพร้อมช่องใส่ของ โดยที่พนักวางแขน ยังเป็นสถานที่ติดตั้งของแผงสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าแบบ Auto One Touch ขึ้น-ลงด้วยการกด หรือยกสวิตช์ขึ้นครั้งเดียว ครบทั้ง 4 บาน สวิตช์ระบบ Central Lock  พนักวางแขน ออกแบบมาให้มีความสูงเหมาะสม และสามารถวางท่อนแขนได้สบายกำลังดี

บริเวณท่อนล่างของแผงประตู เป็นแผงพลาสติก ออกแบบให้เป็นช่องใส่เอกสารและของจุกจิก สามารถวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้ถึง 2 ขวด

ภายในห้องโดยสาร ออกแบบขึ้นภายใต้ธีม “零蕉绿” (หลิง เซียง ลู่), ซึ่งคำว่า 蕉绿 (เซียง ลู่) แปลตรงตัวจะหมายความว่า กล้วยดิบสีเขียว แต่ทว่าคำว่า กล้วยดิบสีเขียว นั้น ถูกชาวเน็ตจีนใช้เป็นคำแสลง หมายความว่า “ความวิตกกังวล” เมื่อนำมารวมกันกับคำว่า 零 ที่แปลว่า 0 จึงน่าจะหมายความว่า ความวิตกกังวลเป็นศูนย์ หรือ “สบายใจ”นั่นเอง

สำหรับตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งเมืองไทย (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ AION ในประเทศไทย) แล้ว AION Y Plus มีห้องโดยสารตกแต่งให้เลือกถึง 5 โทนสีด้วยกัน เรียงลำดับตามรายชื่อและภาพข้างบน ดังนี้

  • Fairly Wonderland
  • Enchanted Forest
  • Azure Green
  • Rosy Coastline
  • Subtle Lavender

เบาะนั่งคู่หน้า หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ PVC เจาะรู เบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง (เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน หรือตั้งพนักพิงหลัง รวมทั้ง ปรับระดับเบาะนั่ง สูง – ต่ำ) มาพร้อม พัดลมระบายอากาศ ทำความเย็นให้ผู้ขับขี่ เลือกจากหน้าจอ Monitor ได้ 3 ระดับความแรง หรือ Smart Mode ที่จะปล่อยให้ตัวรถ เลือกระดับความแรงของพัดลมปั่นตดนี้ ให้เหมาะสมกับร่างกายของคุณในขณะนั้น

ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าฝั่งซ้าย ถ้าเป็นรุ่นย่อย 490 Premium คันที่เรานำมาทดลองกันอยู่นี้ จะสามารถปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้ 4 ทิศทาง (เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน หรือตั้งพนักพิงหลัง เท่านั้น) ถ้าเป็นรุ่นย่อย 490 Elite จะเป็นแบบปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง

จุดเด่นสำคัญของ AION Y PLUS อีกประเด็นหนึ่งก็คือ หากคุณเลื่อนเบาะหน้ามาจนติดกับ แผงหน้าปัด Dashboard ถอดพนักพิงศีรษะ และปรับพนักพิงหลังให้เอนนอนจนสุด ตัวเบาะหน้าก็จะเชื่อมต่อติดกับเบาะรองนั่งของเบาะหลัง เป็นพื้น(เกือบ)เรียบ สามารถใช้นอนบนรถระหว่างรอชาร์ตได้ และสามารถนำฟูกมาปูด้านบนเพื่อทำเป็นที่นอนในระหว่างการ Camping เล่น Games หรือแม้กระทั่งการร้องเพลง Karaoke อันเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีน ได้

พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบ “นุ่มแน่นนิดๆ” แม้จะออกแบบให้มีลักษณะโค้งเว้า แต่เมื่อรองรับแผ่นหลังจริงๆ จะให้สัมผัสค่อนข้างแบน รองรับแค่ช่วงสะบัก และไม่ได้รองรับช่วงหัวไหล่ ด้วยเหตุจากปีกเบาะด้านข้างถูกถ่างจนกว้าง เพื่อรองรับสรีระของคนร่างใหญ่ ทำให้ตัวเบาะใหญ่กว่ารถยนต์ระดับเดียวกัน

พนักศีรษะ มีขนาดใหญ่กว่าที่คิดนิดหน่อย ไซส์ยุโรป ใช้ฟองน้ำ หนา นุ่มแน่น แอบดันกบาลนิดๆ แต่ถ้าปรับพนักพิงหลังเอนลงจังหวะนึง จะลงตัว ปรับระดับสูง-ต่ำ ได้ 5 ตำแหน่ง ถ้าปรับตำแหน่งจนลงตัวกับความต้องการของคุณเมื่อไหร่ มันจะเป็นพนักศีรษะที่ให้ความสบายตลอดการเดินทางได้ดีกว่า BYD ATTO3 แน่ๆ

เบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำ หนา นุ่ม แน่น รองรับช่วงก้นสบายพอสมควร มีความยาวเหมาะสม เหลืออีกไม่กี่มิลลิเมตร จะรองรับช่วงชาพับของผมพอดี ข้อดีก็คือ ตลอดระยะเวลา ราวๆ 2 ชั่วโมง ที่ต้องนั่งขับรถคันนี้ต่อเนื่อง ผมไม่ได้สัมผัสถึงความเมื่อยล้าช่วงบั้นท้ายแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า อาจต้องปรับระยะห่างจากตัวเบาะจนถึงแป้นคันเร่ง – เบรก ให้สมดุลย์ กับสรีระของคุณจริงๆ จึงจะลดโอกาสการเมื่อยล้าสะสมบริเวณช่วงขาได้

สิ่งที่น่าตำหนิพอๆกับรถยนต์ญี่ปุ่น ก็คือ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบ ELR 3 จุด ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้!! น่าแปลกใจว่า ตั้งราคามาขนาดนี้ แต่กลับไม่มีอุปกรณ์พื้นฐานแบบนี้มาอำนยความสะดวกให้ลูกค้า ทำตัวเหมือนพวก B-Segment และ C-Segment Minivan ของญี่ปุ่น ที่นำเข้าจาก Indonesia แทบทุกรุ่น ไม่มีผิด!

การก้าวเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง บอกได้เลยว่า สบายมากๆ เพราะกรอบประตูคู่หลัง และเสาหลังคาคู่กลาง C-Pillar ออกแบบมาให้เกือบจะตั้งฉาก ดังนั้น แม้ว่า ช่วงครึ่งท่อนล่างของช่องทางเข้า – ออก จะแคบกว่า บรรดา Minivan จาก Indonesia ทุกรุ่น แต่ ผมไม่มีปัญหากับการเข้าไปนั่ง หรือลุกออกจากเบาะหลังของ AION Y PLUS เลยแม้แต่น้อย! โดยเฉพาะ การลุกเข้า – ออก ซึ่งต้องยกให้การออกแบบ ระยะห่างจากขอบเบาะรองนั่งด้านหลัง จนถึงธรณีประตู ที่สั้นกว่า เบาะคู่หน้า เล็กน้อย เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ผู้สูงอายุ จะเข้า – ออกจาก AION Y PLUS ได้สบายขึ้น

แผงประตูคู่หลัง ออกแบบและใช้วัสดุ แบบเดียวกับแผงประตูคู่หน้า ไม่ผิดเพี้ยน ออกแบบในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้กลมกลืนไปกับแผงประตูคู่หน้า และแผงหน้าปัด Dashboard ในภาพรวม แตกต่างกันแค่ แถบประดับ Trim เล่นระดับ สีเงิน ซึ่งเชื่อมต่อเนื่องกับมือจับเปิดประตูสีเงิน นั้น ไม่มีการติดตั้งไฟ Ambient Light มาให้ด้านใน เหมือนแผงประตูคู่หน้าเลย กระนั้น พนักวางแขน ก็ยังวางตัวอยู่ในตำแหน่งเหมาะสม สามารถวางแขนได้ดี เหมือนกันกับแผงประตูคู่หน้า

ท่อนล่าง ของแผงประตู มีช่องวางของอเนกประสงค์ และสามารถวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้ 1 ขวดพอดี ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ของบานประตูคู่หลัง สามารถเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบราง และสุดด้านบนของแผงประตูพอดี

เบาะนั่งแถวหลัง หุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ PVC เจาะรู สามารถดึงคันโยกบริเวณช่วงบ่า เพื่อปรับพับลงมาด้วยมือได้ แยกฝั่งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 60:40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มาพร้อมกับพนักพิงศีรษะทรง L คว่ำ 3 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่งนั่ง และจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับทารก มาตรฐาน ISOFIX

พนักพิงเบาะหลัง ถูกออกแบบให้เอนลง ในองศาที่เหมาะสมมากๆ ให้ความสบายในการเดินทางไกลในระดับที่ไม่น่าเชื่อมาก่อน ว่ารถยนต์ขนาดนี้จะทำได้ดีแบบนี้ ตัวพนักพิงหลัง ใช้วัสดุฟองน้ำแบบ “นุ่มแอบแน่น” รองรับแผ่นหลัง ในลักษณะเดียวกับพนักพิงเบาะนั่งคู่หน้า ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ หรือ Headroom นั้น มีมากถึง 4 นิ้วมือในแนวนอน ดังนั้น รองรับสรีระของใครก็ตามที่มีความสูงระดับ 180 เซ็นติเมตรได้สบายแน่ๆ

พนักศีรษะ สำหรับเบาะด้านหลัง มีมาให้ 3 ตำแหน่ง และเป็นรูปทรงตัว L คว่ำ ทั้งหมด เมื่อขึ้นไปนั่ง ขอบด้านล่างก็จะทิ่มตำแผ่นหลังในช่วงต้นคอแน่นอน ต้องยกขึ้นใช้งาน ตามความต้องการของคุณได้ 2 ระดับ ตัวหมอนหุ้มด้วยฟองน้ำแบบแน่นแอบนุ่ม ซึ่งมีความแน่นมากกว่าพนักศีรษะเบาะคู่หน้าเล็กน้อย ดังนั้น จึงพอจะรองรับศีรษะได้สบายพอใช้ได้

เบาะรองนั่ง มีความยาว เหมาะสม ลักษณะขอบเบาะ เหมือนจะนูนขึ้น ก่อนจะโค้งเว้าลงไปด้านล่าง ใช้ฟองน้ำ นุ่มแอบแน่น ทำให้การนั่งโดยสารในระยะทางยาวๆ ค่อนข้างสบายและคล้ายการนั่งบน Sofa ห้องรับแขกในบ้าน ระดับราคา 8,000 – 25,000 บาท และนี่คือจุดขายสำคัญของ AION Y Plus

ยิ่งมาผนวกกับการออกแบบให้พื้นที่วางขา ไม่มีอุโมงค์เพลากลางแบบรถยนต์ในอดีต จนกลายเป็นพื้นตัวถังแบบเรียบ ทำให้ สามารถเพิ่มความกว้างของ พื้นที่วางขา หรือ Legroom จนผมสามารถใช้คำว่า “โอ่โถง” ได้เต็มปากเต็มคำ และไม่ตะขิดตะขวงใจเลยแม้แต่น้อย เพราะระยะห่างจากตัวคุณจนถึงด้านหลังเบาะคู่หน้านั้น มันกว้างมากพอที่จะนั่งไขว่ห้างได้ถึง 4 ห้าง! จะ Central The Mall Emporium Emquartier Emsphere ได้หมด!!! ยิ่งทำให้การนั่งโดยสารบนเบาะหลังของ AION Y PLUS เอกเขนกใช้ได้ สบายกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ในระดับราคาเดียวกันแทบทุกคันอย่างชัดเจน!

ไม่ใช่แค่พื้นที่วางขาเท่านั้นที่โอ่โถงเหลือเฟือ หากแต่พื้นที่เหนือศีรษะก็เช่นกัน เมื่อคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม เข้าไปนั่งให้หลังชิดกับพนักพิงเบาะหลัง พบว่า พื้นที่เหนือศีรษะ มีความสูงเหลือเฟือ คือประมาณ 5 นิ้วมือในแนวนอน! ถือว่า ให้ความปลอดโปร่งโล่งสบาย ใช้การได้ดีเลยทีเดียว!

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลังของรุ่นย่อย 490 Premium ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น ใช้ระบบกลอนไฟฟ้า เปิดและปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้า ผ่านสวิตช์บนกุญแจ Smart Key Remote หรือกดสวิตช์เหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน ส่วนรุ่นย่อย 490 Elite จะเป็นฝานท้ายที่ค้ำยันด้วยโช็คอัพธรรมดา การเปิดปิดต้องใช้มือยกขึ้นหรือดึงลง

พื้นที่เก็บสัมภาระมีความจุ 405 ลิตร แต่เมื่อพับเบาะแถวหลังลงทั้งหมด จะมีขนาดใหญ่โตเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ลิตร เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบ ชุดยางอะไหล่ ขนาดเล็ก T125/80 R17 มาให้ พร้อมเครื่องมือประจำรถที่จำเป็น สำหรับการเปลี่ยนยาง เช่น แม่แรง ชุดเครื่องมือ ชุดสะท้อนแสง

ผนังห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายฝั่งขวา มีการติดตั้ง ไฟส่องสว่าง บนผนังฝั่งขวา สำหรับพื้นที่เก็บสัมภาระท้าย ให้แสงสีเหลือง และมีการปั๊มหูสำหรับยึดฝาปิดช่องเก็บสัมภาระด้านท้ายทั้งสองฝั่ง

แผงหน้าปัด หรือ Dashboard ของ AION Y แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ด้านบนสุดเป็นวัสดุ…สีดำ มีลักษณะเป็นสันขอบ เชื่อมต่อระหว่าง A-Pillar ด้านซ้ายและด้านขวา ชั้นล่างจะยื่นออกมาจากชั้นบนแบบขั้นบันใด พื้นผิวด้านบนบุนุ่มตกแต่งแบบแผงตกแต่งที่แผงประตู ถัดลงมาเป็นแถบตกแต่งสีเงิน ที่พาดยาวกินพื้นที่ตั้งแต่ฝั่งซ้ายจนถึงฝั่งขวาของแดชบอร์ด มีการเล่นระดับให้มีความลึกลงไป และเป็นที่อยู่ของช่องแอร์ รวมทั้งมีการฝังไฟ Ambient Light ปรับได้ 32 สี ที่สามารถปรับให้กระพริบตามจังหวะเพลงได้ การแสดงผลจริง เหมือนไฟของศาลเจ้าตามบ้านคนจีน (ตี่จู่เอี๊ยะ)!

ถัดลงมาจากชุดหน้าจอกลางเป็นช่องปรับอากาศกลาง ตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งสีดำเงา Piano Black และสวิตช์ไฟฉุกเฉินตรงกลาง ซึ่งถือว่า ติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่ยากต่อการใช้งานยามฉุกเฉิน

จากฝั่งขวา ไล่ไปทางซ้าย

สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า แบบ One Touch พร้อมระบบป้องกันการหนีบ ให้มาครบทั้ง 4 บาน พร้อมสวิตช์ ล็อก – ปลดล็อกประตู ขณะเดียวกัน ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา มีเพียงแค่สวิตช์ปรับระดับสูง – ต่ำ ของโคมไฟหน้า และถัดลงไปเป็น คันโยก เปิดฝากระโปรงหน้า เท่านั้น

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นคันเกียร์ Shift Lever การใช้งาน เหมือนบรรดาคันเกียร์ของ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ (รายละเอียดอยู่ด้านล่างของบทความ ช่วงงานวิศวกรรมและการทดลองขับ) ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย เป็น ไฟเลี้ยว ไฟหน้า และไฟสูง อัตโนมัติ (Auto) รวมทั้งสวิตช์ใบปัดน้ำฝนด้านหน้า และหัวฉีดน้ำล้างกระจกด้านหน้า รวมอยู่ในชุดเดียวกัน

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนังสีดำ เดินตะเข็บด้าย ปรับระดับได้ 2 ทิศทาง (สูง – ต่ำ) ด้วยคันโยกใต้คอพวงมาลัย โดย สวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้สำหรับปรับการแสดงผลของหน้าแสดงข้อมูลการขับขี่ และระบบล็อคความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control พร้อมฟังก์ชั่น Stop&Go (เฉพาะรุ่นย่อย Premium) ส่วนก้านบนพวงมาลัยฝั่งขวาใช้สำหรับ ปรับโหมดการทำงานของชุดเครื่องเสียง สวิตช์สั่งงานด้วยเสียง (Voice Command) สวิตช์ปรับระดับเสียง สวิตช์เลื่อน Track หรือ คลื่นวิทยุ รวมทั้งปุ่มรับสาย – วางสายโทรศัพท์

ชุดมาตรวัด เป็นหน้าจอ LCD TFT ขนาด 10.25 นิ้ว สามารถปรับตั้งการแสดงผลหน้าจอได้ 2 รูปแบบหลัก แต่เปลี่ยนรูปแบบการแสดงข้อมูลได้ อีก 3-4 แบบ เลือกการแสดงผลได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอของชุดเครื่องเสียง มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้า และ Trip Computer คำนวนระยะทาง แจ้งเตือนระยะทางที่ไฟในแบ็ตเตอรีเหลือพอให้ตัวรถแล่นต่อไปได้ มีมาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ โปรแกรมการขับขี่ การแจ้งเตือนของระบบต่างๆ ฯลฯ การเลือกปรับ ทำได้ด้วยสวิตช์ควบคุมบนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย

จากซ้าย มาทางขวา เหนือหัวเข่าผู้โดยสารด้านหน้า เป็นกล่องเก็บของ Glove Compartment ขนาดใหญ่ ซึ่งเพียงพอสำหรับการใส่ เอกสารประจำรถ แล้วยังพอมีเหลือพื้นที่ให้ วางปืนได้ 1 กระบอก

ระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในตัวรถ ถูกรวมเข้าไว้ใน จอ Monitor สี แบบ Touchscreen ขนาด 14.6 นิ้ว ติดตั้งแบบกึ่งลอยตัว Floating ใช้สำหรับการปรับตั้งค่าต่าง ๆ ของตัวรถ เช่น ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ โหมดการขับขี่ i-Pedal Eco Normal Sport ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ปรับสีของไฟ Ambient light รวมทั้งแสดงการทำงานของชุดเครื่องเสียง Bongiovi 6 ลำโพง สามารถเล่นวิทยุ AM / FM เล่นเพลงจาก USB เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth รวมทั้งรองรับระบบนำทาง GPS Navigation System พร้อมสัญลักษณ์ม้า Unicon ประจำแบรนด์ น่ารักเชียว

นอกจากนี้ ยังรองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay ซึ่งเพิ่งจะ Update ให้ลูกค้า ผ่านทางระบบ OTA (Over The Air) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา (เข้าใจว่ายังเชื่อมต่อ Android Auto ไม่ได้จนกว่าจะถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน 2024) พร้อมระบบสั่งการด้วยเสียง Voice Recognition (มีมาให้ทุกรุ่นย่อย ยกเว้นรุ่นล่างสุดเท่านั้น)

ความน่าปวดกบาลของรถยนต์ไฟฟ้าจากเมืองจีน “ทุกแบรนด์” คือ มักจะพยายาม ยัดสารพัดการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆในตัวรถ เข้าไปรวมไว้ในหน้าจอ Monitor เพียงอย่างเดียว ทำให้การเรียกใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในยามจำเป็น หรือคับขัน มันยากเย็นแสนเข็ญกว่าเดิมอย่างมาก ต่อให้จะมีการออกแบบ User Interface บนหน้าจอ ให้ใช้งานง่ายด้วยพื้นที่ในการกดของแต่ละ Function มีขนาดใหญ่พอสมควร แล้วก็ตาม

ตัวอย่างก็คือ เบรกมือไฟฟ้า กับระบบ Auto Break Hold ถูกยกไปรวมไว้บนหน้าจอ ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าคุณจะปรับกระจกมองข้าง ก็ต้องกดเข้าไปเลือกบนหน้าจอ แล้วจึงใช้สวิตช์ บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ปรับเลื่อนขึ้น-ลง ตามต้องการ จริงอยู่ว่า บางอุปกรณ์ มันอาจจะไม่ได้ใช้ง่ายบ่อยนัก ทว่า เมื่อลูกค้าต้องการเรียกใช้ ก็ต้องออกแบบให้คนขับ สามารถเลือก และเข้าถึงอุปกรณ์ที่ตนต้องการได้ง่าย อย่างรวดเร็ว และในทันที ไม่ใช่ต้องมานั่งล้วงลงไปใน Menu บนหน้าจอแบบนี้

การกดเรียกใช้งานอุปกรณ์บนหน้าจอ ยิ่งทำให้ผู้ขับขี่ต้องละสายตาออกจากถนน หันมามองหน้าจอเยอะขึ้น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ถึงแม้ว่าบาง Function ก็เปิดใช้งานระหว่างขับรถไม่ได้ ต้องนำรถจอดเข้าข้างทางก่อน จึงจะปรับอุปกรณ์ได้ตามต้องการ ก็ตามเถอะ แต่มันไม่สะดวกในการใช้งานเอาเสียเลย

เรื่องที่เลวร้ายกว่านั้นคือ การย้ายสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า ให้เป็นการเข้าถึงผ่านทาง Menu บนหน้าจอกลาง แล้วค่อยกดเลือก เพื่อให้ระบบเชื่อมการทำงานกับสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ในการเลือกปรับตำแหน่ง มันค่อนข้างวุ่นวาย และเสียเวลา คุณอาจบอกว่า Function นี้ ใช้งานไม่ค่อยบ่อนย แต่สำหรับการขับขี่ในเมืองไทยแล้ว โอกาสที่จะปรับกระจกมองข้าง ขณะถอยรถเข้าจอดนั้น มีค่อนข้างเยอะเลยละ ดังนั้น ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้งานของลูกค้า มากกว่าจะไปเลียนแบบตามอย่าง Tesla เพื่อหวังจะสร้างภาพความล้ำสมัย Hi-Tech ไร้สาระ แบบนี้

ไม่เพียงเท่านั้น การฟังเพลงบนรถคันนี้ เนื่องจาก AION ผูกระบบ ADIGO Media มาให้ กลายเป็นว่า แม้คุณจะฟังเพลงจาก Application ของ Joox ที่แถมมาให้ในรถ หรือ จะฟังเพลงจาก Bluetooth ของโทรศัพท์ ทว่า ทุกครั้งที่ขึ้นมาขับรถ คุณต้องกดเลือก Source หรือแหล่งกำเนิดเสียงเพลงใหม่ เพราะตัวรถ ไม่ยอมจำค่าสุดท้ายที่คุณเลือกเอาไว้ (-_-‘)

ทว่า เหนือสิ่งอื่นใด เครื่องปรับอากาศ ที่มีมาให้ มันหนาวม๊ากกกกกกกกกกก แค่ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศาเซลเซียส และเปิดพัดลมเบอร์ 1 ก็สามารถสร้างความเย็นในระดับหนาวสุดขั้ว ยิ่งกว่า เมืองหิมะ ที่สวนสนุก Dream World รังสิต ได้แล้วละ!! มันพอๆกับ พัดชมเบอร์ 3 ของเครื่ิองปรับอากาศตามบ้าน และตั้งอุณหภูมิไว้แถว 24 องศาเซลเซียส พูดกันตรงๆนะ อยากให้ DENSO ในฐานะ Supplier เครื่องปรับอากาศในรถยนต์ Toyota ควรหาซื้อรถคันนี้มาถอดออกศึกษา ว่าทำยังไง ถึงเย็นได้เวอร์วังอลังการขนาดนี้…และ อย่าเอาเยี่ยงอย่างเชียวนะ!! มันหนาวเกินไป๊!!!!!!

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมคิดว่า คงต้องเตือนสติกันสักหน่อย นั่นคือ AION Y Plus ก็เหมือนรถยนต์พลังไฟฟ้ายุคใหม่ จากจีน หลายแบรนด์ หลายรุ่น ที่ไม่ได้ออกแบบให้มีปุ่มติดเครื่องยนต์ / เปิดระบบ หรือ Power มาให้ แต่ไปซ่อนเอาไว้ในหน้าจอ Menu และมีเฉพาะ การกดปุ่มเพื่อดับเครื่องรถเท่านั้น

จริงอยู่ว่า สิ่งที่ผู้ขับขี่ต้องทำก็คือ เพียงแค่เหยียบเบรก ระบบไฟฟ้าก็จะพร้อมทำงาน คุณสามารถโยกคันเกียร์ Shift Lever ไปที่ตำแหน่ง D ถอนเท้าออกจากแป้นเบรก ถ้าไฟระบบขับเคลื่อน บนจอมาตรวัดความเร็ว ติดสว่างขึ้นมาเป็นสีเขียว คำว่า READY เมื่อไหร่ คุณก็สามารถเหยียบคันเร่ง เคลื่อนรถออกไปได้ทันที

ทว่า ในทางกลับกัน นี่คือระบบที่ผมเคยเน้นย้ำเสมอว่า ค่อนข้าง “อันตราย” โดยเฉพาะ บ้านที่ครอบครัวมีสมาชิกเป็นเด็กวัยกำลังซุกซน อยากเลียนแบบท่าทางการขับรถของคุณพ่อคุณแม่ วันใดที่บุตรหลานของคุณ นึกสนุก อยากจะขึ้นไปนั่งเล่นในรถคันใหม่ แล้วเหยียบเบรกเข้าไป เผลอกดคันเร่ง ความหายนะแก่ครอบครัวในรูปแบบอันยากจะคาดเดาก็จะเกิดขึ้นกับบ้านของครอบครัวคุณ และข้าวของ สิ่งมีชีวิต ไปจนถึงผู้คนรอบข้าง จนเกินจะจินตนาการ

กระนั้น บริษัทรถยนต์จากจีนทั้งหลาย ที่ทำรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น BYD Geely GAC Changan MG หรือแม้แต่ บริษัทที่ตั้งฐานในจีน อย่าง Volvo และ Lotus ก็พากันหันมาใช้วิธีการนี้กัน เพื่อการลดต้นทุน โดยคิดเพียงแต่ว่า ลูกค้าต้องการความสะดวกสบาย ก็ต้องทำให้ลูกค้าพึงพอใจสิ

ไม่คิดกันสักหน่อยเลยเหรอว่า เราเอาใจลูกค้าจากทั่วโลก ที่ไร้ความรู้ ไร้จิตสำนึก ไร้สามัญสำนึก ต่อความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในชีวิตตนเองและผู้คนรอบข้าง กันมากเกินไปแล้ว!!!

ดังนั้น อยากขอร้อง บริษัทรถยนต์จากจีน ทั้งหลาย ทุกค่าย ช่วยคิดถึงความปลอดภัยของลูกค้ากันด้วย อย่างน้อยๆ ติดตั้งปุ่ม Power มาให้ผู้ขับขี่กด แบบรถยนต์ปกติ เพื่อยืนยันให้มั่นใจ ว่าคุณกำลังอยู่ในสภาพพร้อมขับรถออกไปจริงๆ และตำแหน่งของปุ่ม ควรจะเข้าถึงได้ง่าย ไม่ใช่ไปซ่อนเอาไว้ในหน้าจอ Menu ลึกๆแบบนี้!!

พื้นที่ตรงกลางระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นคอนโซลกลางเป็นแบบ 2 ชั้น ด้านหน้าสุดของคอนโซลกลางเป็นช่องใส่ของขนาดเล็ก สามารถวางโทรศัพท์มือถือได้ ถัดมาฝั่งซ้ายเป็นเป็นช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง และฝั่งขวาเป็นแท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย Wireless Charger (สำหรับ Smart Phone ที่รองรับการชาร์จแบบไร้สายด้วยมาตรฐาน Qi) ถัดมาเป็นช่องใส่ของแบบมีฝาปิดแบบพับได้

ส่วนถาดวางของชั้นล่าง มีขนาดใหญ่พอจะวางกล้องถ่ายรูป DSLR ได้ 1 ตัว พร้อมเลนส์ 18-55 แบบปกติ หรือกระเป๋าสะพาย ใบเล็ก ก็ย่อมได้ มีปลั๊กไฟ 12V /120W และ ช่องเสียบ USB Type C มาให้

กล่องเก็บของตรงคอนโซลกลาง พร้อมฝาปิด ซึ่งออกแบบให้วางแขนได้สบายพอดีนั้น มีความจุเยอะพอที่จะใส่กล้องถ่ายรูปขนาดเล็กได้ 1 ตัวด้านหลังกล่องคอนโซลกลาง เป็นช่องแอร์ 2 ฝั่าง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง

มองขึ้นปบนเพดานหลังคา จะพบ แผงบังแดด ติดตั้งกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่าง และฝาปิดพับมาให้ ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย ไฟส่องสว่างกลางเก๋ง และไฟอ่านแผนที่ในตัวแยกฝั่งซ้าย – ขวา เป็นหลอด LED สีขาวนวล ส่องสว่าง สวยงามยามค่ำคืน

ทุกรุ่นย่อย มาพร้อมหลังคากระจกแบบ Panorama Sunroof พร้อมม่านเลื่อนแบบทึบแสงมาให้ ควบคุมด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ขณะที่ มือจับศาสดา สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ มีมาให้เฉพาะ บริเวณเหนือช่องประตูคู่หลัง รวม 2 ตำแหน่ง เท่านั้น

ทัศนวิสัย ด้านหน้า แทบไม่แตกต่างจาก รถยนต์ Minivan อย่าง Hyundai Stargazer ที่มีด้านหน้ารถ ยื่นออกไปอีกนิด แค่นั้นเอง ใครที่เคยขับ Honda Hazz อยู่ ก็คงพอจะนึกภาพของเสาหลังคาคู่หน้า ที่มีช่องกระจก Opera 3 เหลี่ยม ขวางหูขวางตาอยู่ด้านหน้ารถกันได้ ใช่ครับ นึกภาพแบบนั้นแหละ ถูกแล้ว แต่คุณนั่งอยู่ในรถที่กว้างขึ้น และมีตำแหน่งเบาะนั่งสูงขึ้นกว่า Honda Jazz นิดนึง คุณอาจมองไม่เห็นฝากระโปรงหน้า ขณะขับขี่ แต่ยังพอกะระยะห่างจากวัตถุ หรือยานพาหนะข้างหน้ารถได้ไม่ยากนัก

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ถูกออกแบบให้บางลงมากที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ จากข้อจำกัดของรูปแบบเสาอย่างที่เห็น มันอาจบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะที่คุณเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกัน 2 เลน นิดหน่อย แต่ไม่เยอะ เท่ากับรถญี่ปุ่นยุคก่อนๆ อย่าง Honda Civic FD ปี 2005 ก็แล้วกัน ขณะเดียวกัน เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย ดูบาง และลดการบดบังยานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ขณะรอเลี้ยวกลับรถ ได้ค่อนข้างดีกว่าที่คิด

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เสาหลังคาคู่หลังสุด C-Pillar เจาะช่อง หน้าต่าง Opera ไว้เล็กมาก เมื่อมองจากเบาะคนขับ ดังนั้น ตัวเสาหลังคาจะบดบัง จักรยานยนต์ ที่แล่นตามหลังมาทางฝั่งซ้ายของตัวรถ เกือบจะมิดคัน โชคดีว่า พื้นที่กระจกหน้าต่างด้านข้าง และด้านหลังรถ ค่อนข้างสูง ช่วยทำให้ภายในรถดูโปร่งตาขึ้นพอสมควร

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
************* Technical Information & Test Drive ************

AION Y Plus ใช้ AEP Platform (AION Electric Platform) ซึ่งเป็นพื้นตัวถังและโครงสร้างวิศวกรรม ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากทีมนักวิจัย และวิศวกร 200 คน ในเวลา 30 เดือน (2 ปี ครึ่ง) ด้วยงบประมาณในการลงทุนมากกว่า 15,000 ล้านบาท

ข้อดีของ AEP Platform ก็คือ มันถูกออกแบบขึ้น เพื่อขุมพลังไฟฟ้า EV ล้วนๆ เพราะตามปกติแล้ว รถยนต์ไฟฟ้า BEV ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังหรือ “Platform ของรถยนต์สันดาปปกติ แต่นำมาดัดแปลงให้รองรับขุมพลัง EV” แน่นอนว่า การปรับปรุงพื้นตัวถังและโครงสร้างวิศวกรรมแบบนี้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในการทำรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน้่ายให้รวดเร็ว แต่ความสมดุลในการขับขี่ที่ควรเป็นจะเสียไป

ดังนั้น การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าบนแ Platform EV สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะนั้น จะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง การปรับเซ็ตช่วงล่าง ให้เหมาะสมกับน้ำหนักรถ ได้ดีกว่า การคำนวนค่าต่างๆ เพื่อสร้างความสมดุลในการขับขี่ ที่เหมาะสมกับขุมพลัง EV ได้ดีกว่า ปัจจุบันนี้ GAC AION เคลมว่า นอกจากพวกเขาแล้ว ก็มีเพียงแค่ Tesla เท่านั้น ที่สร้างรถยนต์ EV ด้วย Platform ที่ถูกออกแบบมาสำหรับ BEV โดยเฉพาะ

สำหรับตลาดเมืองไทย AION Y Plus มีทางเลือกขุมพลัง เพียงแบบเดียว นั่นคือ มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ Permanent-magnet Synchronous Motor รุ่น TZ184XYA2001 กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 225 นิวตันเมตร (22.92 กก.-ม.) ความเร็วรอบสูงสุด 14,000 รอบ/นาที ติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าของตัวรถ ในรูปแบบระบบขับเคลื่อนล้อหน้า FWD (Front Wheel Drive)

แบตเตอรี่ของ AION Y Plus เป็นแบบ Lithium-ion phosphate (ลิเธี่ยมฟอสเฟต LFP) ซึ่งมีจุดเด่น อยู่ที่ อายุการใช้งานที่นานหลายพัน cycles สามารถรักษาแรงดันไฟฟ้าได้คงที่ ตลอดวงจรการคายประจุ กำลังไฟฟ้าที่ส่งออกมาจะสม่ำเสมอ มีอัตราการคายประจุเองต่ำ ทำให้แบตเตอรี่สามารถเก็บประจุไฟไว้ได้นานขึ้นเมื่อไม่ได้ใช้งาน ทนต่ออุณหภูมิได้สูง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงอุณหภูมิที่หลากหลาย และปลอดภัย

แบตเตอรี่ลิเธี่ยมฟอสเฟต LFP วางไว้ที่พื้นรถ ในรูปแบบ Magazine Battery โดย “Cell Module” ติดตั้งอยู่ในชุดแพ็กแบตเตอรี่ที่มีความแข็งแรงสูง Case ด้านบน ผลิตจากฉนวน ซึ่งทนความร้อน สูงสุดถึง 1,400 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ Battery Cell ยังมีคุณสมบัติทนความร้อนได้มากกว่าปกติ 30% แถมยังมี ระบบการจัดการแบตเตอรี่ Battery Management System (BMS) รุ่นที่ 4 มาพร้อมระบบจัดการความร้อนด้วยน้ำ ช่วยลดความร้อนในระบบได้ดี

GAC AION เคลมว่ายังไม่เคยเกิดเหตุไฟลุกไหม้เลยแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่เปิดตัว Magazine Battery ออกสู่ตลาด

AION Y Plus ติดตั้ง แบตเตอรี่ระบบขับเคลื่อนหลัก แบบ Lithium-ion phosphate (ลิเธี่ยมฟอสเฟต LFP) ในรูปแบบ Magazine Battery มีให้เลือก รวมทั้งหมด 3 แบบ ตามรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันของแต่ละครอบครัว แต่เหลือทำตลาด ณ ปัจจุบันนี้ เพียงแค่ 2 พิกัด ดังนี้

– รุ่น 410 Premium

ติดตั้ง แบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate (LFP) ระบายความร้อนด้วยของเหลว ความจุ 50.66 kWh พิกัดแรงดันไฟฟ้า 374.4 Volt พิกัดความจุแบ็ตเตอรี 169 A/h (แอมป์/ชั่วโมง) รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับด้วยหัวชาร์จ Type 2 และรองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรงด้วยหัวชาร์จ CCS2 อุณหภูมิการชาร์จไฟที่เหมาะสมคือ – 20 ถึง 55 องศาเซลเซียส อุณหภูมิการคายประจุ -40 ถึง 60 องศาเซลเซียส

ตัวเลขสมรรถนะเคลมจากโรงงาน มีเพียงแค่ ระยะทางวิ่งสูงสุดต่อการชาร์จ 410 กิโลเมตร (มาตรฐาน NEDC) ผ่านมาตรฐานการป้องกันระดับ IP67

– รุ่น 490 Elite และ 490 Premium

ติดตั้ง แบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate (LFP) ระบายความร้อนด้วยของเหลว ความจุ 63.2 kWh พิกัดแรงดันไฟฟ้า 294.4 Volt พิกัดความจุแบ็ตเตอรี 172.1 A/h (แอมป์/ชั่วโมง) รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับด้วยหัวชาร์จ Type 2 และรองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรงด้วยหัวชาร์จ CCS2 อุณหภูมิการชาร์จไฟที่เหมาะสมคือ – 20 ถึง 55 องศาเซลเซียส อุณหภูมิการคายประจุ -40 ถึง 60 องศาเซลเซียส

ตัวเลขสมรรถนะเคลมจากโรงงาน มีเพียงแค่ ระยะทางวิ่งสูงสุดต่อการชาร์จ 490 กิโลเมตร (มาตรฐาน NEDC) ผ่านมาตรฐานการป้องกันระดับ IP67

– รุ่น 550 Ultra (ยกเลิกการจำหน่ายไปแล้ว)

ติดตั้งแบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate (LFP) ระบายความร้อนด้วยของเหลว ความจุ 68.3 kWh รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับด้วยหัวชาร์จ Type 2 และรองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรงด้วยหัวชาร์จ CCS2 อุณหภูมิการชาร์จไฟที่เหมาะสมคือ – 20 ถึง 55 องศาเซลเซียส อุณหภูมิการคายประจุ -40 ถึง 60 องศาเซลเซียส

ตัวเลขสมรรถนะเคลมจากโรงงาน ระยะทางวิ่งสูงสุดต่อการชาร์จ 550 กิโลเมตร (มาตรฐาน NEDC) ผ่านมาตรฐานการป้องกันระดับ IP67

ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้ง คันเกียร์…ไม่สิ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เราควรเรียกว่า ก้านเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน (Shift Lever) ติดตั้งที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา เหมือนการเปลี่ยนเกียร์ ในรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ของ Mercedes-Benz หรือ BMW 7-Series E65 / E66 เมื่อเหยียบเบรก เท่ากับเปิดระบบทำงาน คุณสามารถออกรถได้ด้วยการ กดก้านสวิตช์ ลงมายังตำแหน่ง D (Drive) ยกก้านสวิตช์ 1 ครั้ง เป็นตำแหน่บ N (Neutral) หรือเกียร์ว่าง แต่ถ้ายกก้านสวิตช์จนสุด จะเป็นเกียร์ ถอยหลัง R (Reverse) และถ้าจอดรถเมื่อไหร่ กดปุ่ม P (Parking) ที่ก้านสวิตช์

สิ่งที่น่าชมเชยคือ ทีมออกแบบของ Aion ไม่ได้ ซื้อสวิตช์ Shift Lever สำเร็จรูปหน้าตาเหมือน Mercedes-Benz รุ่นเก่าๆ พวก W204 มาใช้เหมือนรถยนต์แบรนด์จีนยี่ห้ออื่น แต่พวกเขาเลือกจะออกแบบ Shift Lever ขึ้นมาใหม่เอง นี่คือเรื่องน่าชมเชย

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมการขับขี่ ให้เลือกทั้งหมด 4 Mode เลือกได้บนหน้าจอ Monitor ใหญ่ ดังนี้

  • ECO เน้นการประหยัดไฟฟ้า คันเร่งจะตอบสนองลดความไวนิดหน่อย
  • Normal โปรแกรมการขับขี่แบบปกติทั่วๆไป
  • Sport คันเร่งตอบสนองไวขึ้น เล็กน้อย ในช่วงลอยตัวไปแล้ว แต่ถ้ากดคันเร่งจมมิด รถจะเร่งแบบ Sport อยู่แล้ว
  • i-Pedal ลักษณะคล้ายกับ Nissan Kicks คือ รถจะหน่วงทันทีที่ถอนคันเร่ง ลงมาถึง 9 กิโลเมตร/ชั่วโมง แทบไม่จำเป็นต้องใช้แป้นเบรก หากไม่ได้เจอสถานการณ์ รถติดหนักๆ

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองจับเวลา หาอัตราเร่งกันเหมือนเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ (65 กิโลกรัม) และผู้โดยสาร สักขีพยาน (Mark Pongswang น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม) รวมกัน ได้ 125 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

หากดูจากตัวเลขที่ออกมา เมื่อเปรียบเทียบกับ บรรดารถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนจากจีนทั่วๆไป ที่มีระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท อัตราเร่งของ AION Y PLUS อาจดูเหมือนว่า หล่นลงไปอยู่ค่อนข้างท้ายตาราง แน่ละ ถ้าเรามองแค่ประเด็นอัตราเร่งอย่างเดียว โดยไม่เอาประเด็นอื่นมาคิดรวมกัน AION Y PLUS ยังทำผลงานด้อยกว่า เพื่อนร่วมสัญชาติ ทั้ง BYD ATTO3 หรือ MG ZS EV อยู่พอสมควร

กระนั้น ถ้าจะพูดกันตามความเป็นจริง หากเอาความคิดที่ว่า รถคันนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อลูกค้ากลุ่มครอบครัวเป็นหลัก แล้ว ผมมองว่า อัตราเร่งของ AION Y PLUS ไม่น่าเกลียดเลย และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสม ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คุณจะพบว่า ตัวเลขที่ออกมา ก็พอๆกัน ไม่หนีกัน และไม่ต่างกันกับรถยนต์ที่ใช้ขุมพลังสันดาปปกติ พิกัด เบนซิน 4 สูบ 1.8 – 2.0 ลิตร และผมมองว่า มันเพียงพอแล้ว กับการใช้งานในฐานะรถยนต์ครอบครัว ไม่เน้นซิ่ง ไม่เน้นสมรรถนะ แต่ต้องการความอเนกประสงค์ Practical Utility เป็นหลัก

ความเร็วสูงสุดบนมาตรวัด Top Speed

บนมาตรวัด 161 กิโลเมตร/ชั่วโมง (Normal และ Sport Mode)

บนมาตรวัด 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ECO และ i-Pedal Mode)

ด้านความเร็วสูงสุดนั้น ตัวเลขจากโรงงานเคลมว่า ล็อกเอาไว้ที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง มาตรวัดดูเหมือนจะถูกออกแบบมา ให้ไปได้มากกว่านี้อีกเล็กน้อย อันที่จริงผมมองว่า ถ้า Top Speed ขึ้นไปอยู่ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง น่าจะเหมาะสม กับการขับขี่ของลูกค้าเท้าหนักในวันเร่งด่วนพอสมควร แต่อย่าเกินไปจากนี้

จากการขับขี่จริง อัตราเร่งที่ออกมา ไม่น่าเกลียดเลย แรงดึงมีในระดับสมตัว ทะยานไปข้างหน้าได้ดี ถ้านึกภาพให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ แรงดึงมันจะพอกับ BYD Dolphin รุ่นปกติ แต่น้อยกว่า Dolphin Extended Range ชัดเจน กระนั้น กดคันเร่งเต็มตีนแต่ละที ข้าวของที่อยู่หน้ารถ ก็ยังกระเด็นไปอยู่ด้านหลังรถได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเทียบกับ ATTO 3 ดูเหมือน BYD จะได้เปรียบกว่านิดหน่อย ส่วนช่วงเร่งแซงนั้น แรงดึงที่เกิดขึ้่น และการทะยานไปข้างหน้าตามคำสั่งจากเท้าขวานั้น ให้สัมผัสที่ไม่ได้ต่างจากเครื่องยนต์เบนซิน สันดาป หรือ Hybrid ในช่วงย่านความเร็วเดียวกันสักเท่าไหร่ เรี่ยวแรงมีให้เรียกใช้ได้ตามสมควร

แน่นอนครับ มองในภาพรวม อัตราเร่งของ AION Y PLUS ไม่แย่เลย ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีด้วยซ้ำ เสียแค่ว่า ทำตัวเลขออกมาแล้วยังด้อยกว่าคู่แข่ง แค่นั้นเอง ผมมองว่า ประเด็นนี้ AION ไม่ต้องไปแก้ไขหรือทำอะไรหรอก อัตราเร่งประมาณนี้ เพียงพอและเหมาะสมกับรูปแบบตัวรถยนต์ ที่ออกแบบมาเอาใจลูกค้าแนวครอบครัวแบบนี้ ดีอยู่แล้ว

การเก็บเสียงรบกวน อาการสะเทือน และอาการสั่นสะท้าน
NVH (Noise , Vibration & Harshness)

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะเดินทางในเมือง การเก็บเสียง ก็ไม่แตกต่างอะไรจากบรรดารถยนต์ไฟฟ้าทั่วๆไป คือ เงียบ รื่นรมรณ์ และไม่ค่อยมีเสียงดังอะไรเข้ามาให้รำคาญใจ จนกระทั่งต้องผ่านพ้นช่วง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป คุณจึงจะพบว่า เสียงของกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถด้านข้าง บริเวณ ระยะห่างระหว่างกระจกหน้าต่างสามเหลี่ยมบริเวณ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และ กระจกมองข้าง อาจมีดังเข้ามาบ้างนิดๆ แต่ก็ยังไม่ถือว่าน่ารำคาญเหมือน Honda Civic FD ปี 2005 – 2011 เรียกได้ว่า การเก็บเสียง ในย่านความเร็วสูง ของบริเวณครึ่งท่อนบนตัวรถ Upper Body ทำได้ดีเลยละ เงียบใช้ได้ ในช่วงไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะดังในย่านความเร็วที่สูงขึ้นตามสมควร

ทว่า เสียงรบกวนที่ดังเข้ามาจริงๆนั้น มันมาจากยางติดรถครับ ไอ้ยาง “เจ้า อย่า หวัง” เนี่ยแหละ มันดังใช้ได้ทีเดียวในบางรูปแบบพื้นถนน พวกหลุม บ่อ เนินสะดุด ฝาท่อ ลูกระนาด หนะไม่เท่าไหร่ แต่พอใช้ความเร็วบนทางด่วน หรือพื้นถนนราดยางมะตอยเก่า ไปจนถึงพื้นปูนซีเมนต์ เสียงดังจากการหมุนของยาง เล็ดรอดเข้ามาจาก Under Body พอสมควรเลยละ แม้จะเกาะถนนในโค้งดีกว่า และเสียงรบกวนจะไม่น่าเกลียด เท่ายาง Giti ใน Ora Good Cat ก็ตาม แต่ถ้าลองเปลี่ยนยางให้ดีขึ้นกว่านี้ ตัวรถจะขับขี่ดีขึ้นไปอีก แถมยังจะช่วยลดเสียงจากยางในการใช้ความเร็วเดินทางได้เยอะกว่านี้แน่ๆ

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels

ระบบบังคับเลี้ยว Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.5 เมตร ปรับน้ำหนักความหนืด บนหน้าจอ Monitor ตรงกลาง ได้ 3 ระดับ คือ Eco Comfort และ Sport

  • Lightweight เบาเกือบจะโหวงละ อีกนิดเดียว สำหรับใครที่ชอบพวงมาลัยเบาสุดชีวิต ก็คงต้องเลือกโหมดนี้
  • Comfort น้ำหนักจะหนืดเพิ่มขึ้นอีกนิด การตอบสนองภาพรวม คล้ายพวงมาลัยของ Toyota Corolla Cross
  • Sport พวงมาลัยจะหนืดและหนักขึ้นชัดเจน ในย่านความเร็วสูง เพิ่มความมั่นใจในการควบคุมรถมากขึ้น

อันที่จริง วิศวกรของ AION เซ็ตพวงมาลัยของ AION Y PLUS ไว้ค่อนข้างดีใช้ได้ ให้ความต่อเนื่องในการหมุนจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย (Linear) ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และความเร็วสูง ที่ดีเหมือนๆกัน ให้ความมั่นใจในการถือประคองพวงมาลัยไปตรงๆ ในย่านความเร็วสูง (On Center feeling) ที่นิ่งสนิท กว่าที่คิด มั่นใจได้ดี รวมทั้งยังให้ความแม่นยำในการหมุนพวงมาลัยบังคับทิศทาง ในทุกย่านความเร็ว จนรู้สึกว่า มันแม่นเกินกว่าที่ควรเป็น ออกแนวรถสปอร์ตมากไปหน่อยเสียด้วยซ้ำ

ทว่า เมื่อมาทำงานร่วมกับช่วงล่างแบบนุ่มๆ ตามสไตล์ รถยนต์จากเมืองจีน ผมมองว่า การระยะฟรีของพวงมาลัยนั้น ผลลัพธ์ออกมา ทำให้การตอบสนองค่อนข้างไวไปหน่อย การเปลี่ยนเลน เกิดขึ้น ไวพอๆกับรถยนต์แนวสปอร์ต ซึ่งในความเป็นจริง พวงมาลัยของรถยนต์ทรงสูงหรือ Minivan SUV อะไรก็ตาม ระยะฟรี และความเนือยของพวงมาลัย ควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ขับขี่ตกใจ จากสถานการณ์ที่มี ยานพาหนะ หรือคน สัตว์ ตัดหน้า แล้วหักเลี้ยวพวงมาลัยฉับพลัน จนรถอาจพลิกคว่ำได้

หากทำได้ อยากให้ปรับปรุงตรงนี้อีกนิด เพราะพวงมาลัยของ AION Y PLUS แอบไวไปหน่อย ขณะที่อัตราทดเฟืองผมว่าเหมาะสมดีแล้ว ดังนั้น อาจจะเพิ่มระยะฟรีอีกนิดนึง ในช่วงหักเลี้ยวไปมาเบาๆ นิดๆ น่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวได้

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ McPherson Strut ส่วน ด้านหลังเป็นแบบกึ่งอิสระ Torsion Beam ให้การตอบสนองที่ทำเอาผมนึกถึง Honda Freed รุ่นแรก ไม่มีผิด!

ทำไมเป็นเช่นนั้น?

Honda Freed รุ่นแรก ที่เข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา ช่วงปี 2011 นั้น มีบุคลิกการขับขี่ ที่เหมือนกับการนำเอาบุคลิกของรถยนต์ที่มีด้านหน้า สั้น ระยะ Front Overhang สั้น อย่าง Honda Fit/Jazz มารวมร่างกับตำแหน่งคนขับที่สูงกว่ารถเก๋งทั่วไป ในระดับเท่าๆกับ Minivan ไปจนถึงรถกระป๊อ จำพวก Kei-Truck 660 ซีซี ตามกฎหมายญี่ปุ่น อย่าง Honda Acty ,Suzuki Carry เวอร์ชันญี่ปุ่น และ Daihatsu Hijet

ดังนั้น บุคลิกการขับขี่ของ AION Y PLUS จึงมีความคล้ายคลึง กับการนำ Honda Freed รุ่นแรก มาโหลดเตี้ย และขยายความกว้างช่วงล้อ เพื่อให้สมกับสัดส่วนมากขึ้น แต่ตำแหน่งการติดตั้งชุดแร็คพวงมาลัย การเซ็ตอัตราทด และความไวของพวงมาลัย เมื่อรวมกับการทำช่วงล่างด้านหน้า และ การเชื่อมต่อโครงสร้างตัวถังที่ต้องไม่แน่นมาก ไม่หลวมมาก ด้วยกังวลว่าจะไปลดทอนความสบายในการขับขี่ กลับทำให้ การเลี้ยวไปมา แอบน่ากลัวนิดๆ

การขับขี่ในย่านความเร็วต่ำ ตามตรอก ซอกซอย ต่างๆ แน่นอนว่า AION Y PLUS ให้ความนุ่มสบายใช้การได้ อาจมีแรงสะเทือนจากยางติดรถขึ้นมาบ้าง แต่ช่วงล่าง และเบาะนั่ง ช่วยกันซับแรงสะเทือนไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่เวลาเจอหลุมบ่อ หรือฝาท่อและลูกระนาดแบบคมๆ ก็คงต้องทำใจว่า จะรูดพรวดพราดไม่ได้เชียวละ ช่วงล่างสัมผัสได้ว่า ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนทานมากขนาดนั้น

ทว่า พอถึงช่วงที่ใช้ความเร็วเดินทาง ถ้าตราบใดที่ตัวเลขบนมาตรวัด ยังไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเป็นทางตรง เช่นทางด่วน หรือ ทางไกลๆยาวๆ ไม่มีทางโค้งเลย ช่วงล่าง ของ AION Y PLUS ถือว่า สบายใช้ได้อยู่นะ นุ่มนวลตามประสารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่ยังสร้างขึ้นโดยมีน้ำหนักแบ็ตเตอรีลูกเบ้อเร่อ วางไว้บนพื้นตัวถัง ซึ่งน้ำหนักของตัวแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนนี่แหละ ทำให้กลายเป็นเรื่องยากสำหรับวิศวกรที่จะเซ็ตช่วงล่าง ให้เหมาะสมกับการขับขี่ของคนไทย อีกทั้งดูเหมือนว่า AION เอง ก็ยังไม่เคยวิจัยความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยมาก่อน จึงเซ็ตรถออกมาแบบที่ขายในจีนแผ่นดินใหญ่ คือเน้นนุ่มเข้าไว้ นั่งสบายเป็นหลัก แต่ไม่รองรับวันเร่งด่วนที่จะต้องมุดซ้ายป่ายขวา หรือทำเวลาพาอากงอาม่าไปส่งโรงพยาบาลเอาเสียเลย

กระนั้น หากใช้ความเร็วเกินกว่า 120 จนถึง Top Speed 161 กิโลเมตร/ชั่วโมง เอาเข้าจริง ช่วงล่างก็ให้ความนิ่ง ใช้ได้มันไปเร็วนะ แต่ ให้ความมั่นใจกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายๆรุ่น อีกทั้งความเครียดในการควบคุมรถในย่านความเร็วสูงๆ ยังน้อยกว่าช่วงล่างของ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหญ่กว่า ของคู่แข่ง อย่าง Changan Deepal S07 แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกันมากๆกับ BYD Dolphin (ซึ่งเซ็ตช่วงล่างทั้งทางตรง ทางโค้ง และทางขรุขระ มาได้สมดุลกว่า แม้จะติดนุ่มๆพอกันก็เถอะ)

เมื่อมานั่งเมียงมองคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว เรื่องที่ผมสงสัยก็คือ ทำไม Hyundai Stargazer ซึ่งมีลักษณะการวางล้อหน้า และเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ยื่นล้ำกว่า AION Y PLUS แต่เวลาเลี้ยวเปลี่ยนเลน สัมผัสที่ได้จากพวงมาลัยและพื้นถนน กลับมั่นใจได้ดี และยังไม่น่ากลัวเท่า AION Y PLUS แหะ อันนี้ก็น่าแปลกใจนะ

เพราะสำหรับ AION Y Plus แล้ว  เวลาหักเลี้ยว ไป-มา คุณจะพบว่า เสาหลังคาคู่หน้า มีอิทธิพลต่อการควบคุมรถชัดเจนเหมือนกัน สัมผัสได้ว่า การบิดตัวของโครงสร้างตัวถัง ช่วงห้องเครื่องยนต์ และแพด้านหน้าของตัวรถ ส่งต่อการรับรู้มายังผู้ขับขี่ ค่อนข้างเยอะ

ส้วนการเข้าโค้งนั้น ต้องทำใจว่า เมื่อใช้ความเร็วปานกลาง ตัวรถจะเอียงกะเท่เร่ค่อนข้างเยอะ แถมมีอาการหน้าดื้อ Understeer ปรากฎชัดเจน แต่ ถ้าเปลี่ยนยางติดรถจากโรงงานทิ้ง แล้วสวมยางใหม่ที่ดีกว่าเข้าไปแทน คุณยังจะสามารถควบคุมรถให้เลี้ยวโค้งนิ่งๆ ได้อย่างมั่นใจขึ้น

ความเร็วบนมาตรวัด ขณะเข้าโค้งมาตรฐานทั้ง 5 จุด บนพื้นแห้งๆ บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ขั้นที่ 1 ต่อเนื่องไปยังทางยกระดับบูรพาวิถี ฝั่งบางนา เริ่มต้นจาก โค้งขวารูปเคียว ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ควรเข้าโค้งนี้ได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Z-Edition ทำได้ที่ 102 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ในระดับเดียวกันคือ 102 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดที่ยางเดิมจากโรงงาน (Chao Yang) เต็มฝืนจะรับมือต่อไปไม่ไหวแล้ว  ถ้าเกินกว่านี้ จากอาการหน้าดื้อที่แก้มยางล้อหน้าต้องรับสารพัดแรงกระทำ น่าจะไม่ดีต่อการควบคุมรถแน่ๆ

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี AION Y Plus เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 102 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางด้านข้าง แต่ไม่ถึงกับมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถัดมา โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 113 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) เจอพื้นผิวเป็นลอนยคลื่นเข้าไป ตัวรถมีอาการแกว่งหน่อยๆ ปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ AION Y Plus เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 126 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) และทำได้แค่นั้น เพราะ ESP เข้ามาตัดการทำงานของคันเร่งไปในทันที

พูดกันตามตรง ช่วงล่างของ AION Y PLUS ไม่แย่ พอใช้ได้ ดีกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจีนหลายๆรุ่น เพียงแต่คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มันเป็นช่วงล่างสาย Comfort การโยนตัวออกด้านข้างค่อนข้างเยอะ มันจึงเหมาะกับพ่อบ้าน หรือแม่บ้าน สายนุ่ม ที่ขับรถไม่เร็วนัก เป็นคนกลัวการเข้าโค้ง และชอบขับรถทางตรง เบาๆ ช้าๆ เรื่อยๆ สบายๆ เป็นหลัก มากกว่าพ่อบ้านเท้าหนัก อย่างชัดเจน ถ้าอยากเพิ่มความมั่นใจในการเข้าโค้งมากขึ้น ขอแนะนำว่า ถอดยาง “เจ้าหยาง” ติดรถ ออกไปทิ้งให้ไกลๆ แล้วหายางที่ดีกว่านี้มาสวมแทน จะช่วยดึงศักยภาพของตัวรถที่ซ่อนอยู่ออกมาได้เพิ่มเติมอีกนิดหน่อย

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบเบรกนั้น เป็น Disc Brake 4 ล้อ ทำงานด้วยวงจร Hydraulic โดยด้านหน้า เป็นจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อน หนา 25 มิลลิเมตร ความหนาของผ้าเบรก 12 มิลลิเมตร ระดับความสึกหรอ ที่”ผ้าเบรกหน้า” รองรับได้ คือ 10 มิลลิเมตร ส่วนระดับความสึกหรอ ที่”จานเบรกหน้า” รองรับได้ คือ 2 มิลลิเมตร

ส่วนด้านหลัง เป็นจานเบรกแบบปกติ หนา 10 มิลลิเมตร ความหนาของผ้าเบรก 10 มิลลิเมตร ระดับความสึกหรอ ที่”ผ้าเบรกหลัง” รองรับได้ คือ 8 มิลลิเมตร ส่วนระดับความสึกหรอ ที่”จานเบรกหลัง” รองรับได้ คือ 1 มิลลิเมตร

แป้นเบรก มีระยะฟรี 5.6 มิลลิเมตร และมีระยะเหยียบ 106.4 มิลลิเมตร ส่วนระบบ Parking Brake หรือ เบรกจอด ซึ่งปกติคนไทยเรียกกันว่า “เบรกมือ” นั้น AION Y PLUS ใช้ระบบเบรกจอดแบบไฟฟ้า EPB (Electronics Parking Brake) พร้อมระบบ Auto Brake Hold ซึ่งสามารถเลือกสั่งให้ทำงานหรือปิดทิ้งได้ จาก Icon แถวล่างสุด ลำดับ 2 จากฝั่งซ้ายล่างสุดของหน้าจอกลาง

นอกจากนี้ AION Y PLUS ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน ยังถูกติดตั้งระบบตัวช่วย แบบมาตรฐานเสริมมาให้ ดังนี้

• ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค Anti-lock Braking System : ABS
• ระบบกระจายแรงเบรก Electronic Brake Force Distribution : EBD
• ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Electronic Stability Program : ESP
• ระบบป้องกันการลื่นไถล Traction Control System : TCS

แป้นเบรก มีระยะฟรี 5.6 มิลลิเมตร และมีระยะเหยียบ 106.4 มิลลิเมตร ดูจากตัวเลขเหมือนจะยาวกำลังดี แต่ความจริง สัมผัสจากการตอบสนอง อาจทำให้คุณเข้าใจไปว่า ระยะเหยียบสั้น เพราะในจังหวะแรกที่เริ่มเหยียบลงไป ไม่เกินประมาณ 10% ของระยะเหยียบทั้งหมด คุณจะเริ่มพบว่า ระบบเบรกเริ่มทำงาน บ้างแล้ว แต่แค่ลองเพิ่มน้ำหนักเท้าขึ้นไปเป็น 30% เท่านั้นและ ระบบจะเริ่มเบรกอย่างหนักหน่วง จนตัวรถ หัวทิ่มเพิ่มขึ้นชัดเจน เรียกได้ว่า หัวทิ่มเยอะ กะระยะให้มันพอดีๆ หลายรอบแล้ว ่

หากคุณจำเป็นต้องเบรกกระทันหัน จากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดนิ่ง ระบบเบรกของ AION Y PLUS ถือว่า ไว้ใจได้ ด้วยระยะเบรก ที่ไม่ยาวอย่างที่คาด สั้นกว่าที่คิด เสียงของผ้าเบรก จับและปล่อยกับจานเบรก ค่อนข้างดัง จานเบรก และ ตัวรถค่อนข้างตั้งตรงแหน่ว หน้ารถหัวทิ่มค่อนข้างเยอะ มีอาการเบี่ยงออกไปทางเลนซ้ายนิดเดียวจริงๆ แต่ถ้าเบรกกระทันหันจากดวามเร็ว Top Speed 161 กิโลเมตร/ชั่วโมงลงมา ตัวรถจะแกว่งซ้ายๆขวาๆนิดๆ และเป๋ออกนอกเลนไปทางด้านซ้ายเยอะพอสมควร

ส่วนการ Set ให้ระบบ Re-generative Brake มันหน่วงแค่แบบปกติ (Low) จากทั้งหมดที่มีให้เลือก 2 แบบ (Low กับ High) แล้วด้วยซ้ำ โดยในโหมด High มันหน่วงความเร็วลงมาหนักพอๆกับระบบ One Pedal ของ Nissan Leaf ด้วยซ้ำ แต่การหน่วงจะลดความเร็วลงมาเหลือที่ระดับ 9 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น ไม่หยุดจนนิ่งสนิท

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณจะต้องเบรกกระทันหันจากความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะพบว่า AION Y PLUS พยายามใช้ศักยภาพของระบบเบรก มาช่วยคุณหยุดรถได้มากที่สุด พยายามฝืนข้อจำกัดทางกายภาพของตัวรถซึ่งมีน้ำหนักแบ็ตเตอรีขับเคลื่อน รวมอยู่ด้วย กระนั้น แน่นอนว่า ตัวรถแม้จะหน่วงความเร็วลงมาอย่างฉับไว หัวทิ่มเหมือนคุณเหยียบเบรกในช่วงความเร็วต่ำกว่านี้ ทว่า ระยะหยุด ย่อมยาวขึ้น อีกทั้งตัวรถยังเป๋ออกไปทางเลนซ้ายชัดเจน เต็มๆ ดังนั้น ไม่ควรขับเร็ว และควรเผื่อระยะเบรกไว้ไกลสักหน่อยก็ดี

ภาพรวมของระบบห้ามล้อใน AION Y PLUS ก็คือ มันเป็นระบบเบรกที่ดีเพียงพอใช้ได้ สำหรับการใช้งานของผู้บริโภคชาวไทยทั่วไป ที่ขับรถใช้งาน ใช้ชีวิตประจำวันในเมืองเป็นหลัก ไม่ระห่ำมากนัก แต่ไม่เหมาะกับพวกตีนผี ที่สนุกกับการกระทืบเท้าขวา ทะลุเข้าไปห้องเครื่องหน้ารถ และไม่คิดจะเหยียบเบรกเลย ถ้าเป็นแบบนี้ ขอแนะนำว่า ไป Upgrade จานเบรก และคาลิปเปอร์ ดีที่สุด

ระบบความปลอดภัยและช่วยเหลือการขับขี่
Safety Features & Driving Assistance

โครงสร้างตัวถังของ AION Y Plus ทำจากเหล็กรีดร้อนขึ้นรูป ที่ทนแรงดึงและแรงอัดได้มากถึง 1,500 MPa (เมกกะปาสคาล) เป็นจำนวนมากถึง 20% ของโครงสร้างตัวรถทั้งคัน (ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมยานยนต์ อยู่ที่ 15% ตลอดทั้งคัน) โครงสร้างดังกล่าว ถูกออกแบบให้ ดูดซับแรงปะทะ ได้มากถึง 60% เพื่อช่วยปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นตัวถัง ใต้ท้องรถ ยังใช้โครงสร้างแบบ Thermoform Full Frame เพื่อ ช่วยปกป้องแบ็ตเตอรี จากแรงกระแทก ได้อย่างมีประสิทธืภาพ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัย หลังเกิดการชน

ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย รวมทั้งระบบช่วยควบคุมรถอัจฉริยะ ADAS มีมาให้ดังนี้

• ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า 2 ตำแหน่ง / ด้านข้าง 2 ตำแหน่ง / ม่านลมนิรภัย 2 ตำแหน่ง)
• Redar สําหรับการถอยรถ
• ระบบแจ้งเตือนก่อนการชนด้านหน้า FCW : Forward Collision Warning
• ระบบเบรกอัตโนมัติ AEB : Automatic Emergency Braking
• ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW : Lane Departure Warning
• ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA : Lane Keeping Assist
• ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control with Stop & Go
• ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ ICA
• ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA
• ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย เบาะนั่งตอนหน้าตอนหลัง
• จุดยึดเบาะนั่งเด็ก มาตรฐาน ISOFIX บริเวณฐานพนักพิงเบาะหลัง ทั้งฝั่งซ้าย และ ขวา
• ระบบเบรกมือแบบสวิตช์ไฟฟ้า EPB พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติชั่วคราว AUTO BRAKE HOLD
• กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา
• ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง TPMS (Tyre Pressures Monitoring System)

********** การชาร์จไฟ และ การวัดอัตราใช้ไฟโดยประมาณ **********
********** How to charge & Electricity Consumption ***********

การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น แตกต่างจากการหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เนื่องจาก รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ มีแบ็ตเตอรี ขนาดแตกต่างกัน ทำให้มีระยะทางวิ่งสูงสุด ไม่เท่ากัน และมักแล่นได้ไม่ไกลเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

ประเด็นนี้ ไม่เพียงเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นข้อจำกัดในการทดสอบของเราอีกด้วย เพราะจากเดิม เมื่อเราต้องทดสอบรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เราก็แค่หาปั้มน้ำมันตั้งต้น เติมน้ำมันให้เต็มถัง (หรือจะเขย่าอัดกรอกด้วยในบางกรณี) จากนั้น ก็ขับไปตามเส้นทางที่กำหนด แล้วกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม เพื่อดูว่า แล่นไปกี่กิโลเมตร เติมน้ำมันกลับเข้าไปใหม่กี่ลิตร เอา มาหารกัน ก็ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อย่างง่ายๆแล้ว

ทว่า พอมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หากใช้เส้นทางปกติที่เราทดลองกัน แค่ขับไป-กลับ ทางด่วนเชียงราก นั่นก็ 93 กิโลเมตร เข้าไปแล้ว ไหนจะขับไป – กลับ จากบ้านย่านบางนา มายังจุดเริ่มต้น ก็เสียปริมาณไฟฟ้าลงไปอีกเท่าไหร่ แล้วถ้าจะให้ตั้งต้น ก็ไม่รู้ว่าจะหาจุดเริ่มต้นใหม่ตรงไหน เพราะถ้าเริ่มปั้มน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน เหมือนเช่นปกติ ที่เราเคยทำมาละก็ เลิกคิดได้เลยครับ เพราะปั้มแห่งนั้น ระบบไฟ ไม่มีสายดิน ไม่ได้รองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเลย แล้วถ้าไฟมันหมดระหว่างที่ผมกำลังขับรถกลับบ้านละ? รอเรียก “ยานแม่” (รถยก Slide-on) สถานเดียว!!!

ดังนั้น ผมจึงติดตั้งแท่นชาร์จ แบบ Wall Box หรือ Wall Charge ไว้ที่บ้านตัวเองมันซะเลย เพื่อให้สามารถเริ่มต้นทริปทดลองอัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้า ได้จากบ้านผมเอง เป็นแท่นชาร์จ Wall Box ขนาด 7.0 kWh พร้อม Meter วัดปริมาณกระแสไฟ (หน่วยเป็น kWh) ขอ ABB มาให้เสร็จสรรพ ซึ่งตอนนี้ ก็ผ่านไปแล้ว 4 ปีเศษ ยังไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้นเลย

ใครที่ซื้อหรือคิดจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผมขอยืนยันว่า คุณควรมี Wall Charge ติดบ้านไว้ เพื่อช่วยให้การชาร์จไฟ ทำได้เร็วขึ้น ลดเวลาชาร์จให้น้อยลง ประหยัดเวลา ที่สำคัญคือ กินไฟแค่ราวๆ เครื่องปรับอากาศ 1 ตำแหน่งในบ้าน

ผมตัดสินใจ ใช้เส้นทางการทดสอบ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ แยกเส้นทางจากการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบเดิม เป็นเส้นทางที่เราใช้มาตั้งแต่บทความรีวิวรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อปี 2018 โดยเปลี่ยน เส้นทางการวิ่ง จากเดิม ที่เราเคยใช้ “ทางด่วน พระราม 6 – บางปะอิน” มาเป็นเส้น “ทางด่วนบูรพาวิถี” ย่านบางนา แทน

  • เรายังใช้มาตรฐานการทดลองขับ ดั้งเดิม คือ ทดลองตอนกลางคืน เปิดแอร์ อุณหภูมิ 24 – 25 องศาเซลเซียส พัดลมแอร์ เบอร์ 1 กับ 2 ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมนั่ง 2 คน (ผู้ขับขี่ 70 กิโลกรัม กับ น้อง Mark Pongswang ทีมงานของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม)
  • เราจะเปลี่ยนจุดเริ่มต้น มาเป็นบ้านผม ในซอยราชวินิตบางแก้ว หลัง Mega Bangna นี่แหละ เราจะเสียบปลั๊กชาร์จไฟกันจากในบ้านจนเต็มตามที่ตัวรถแจ้งไว้ คือ 100% ซึ่งระบบในตัวรถคำนวนได้ว่า เราจะแล่นได้ในระยะทางไกลจริงๆราวๆ 490 กิโลเมตร
  • จากนั้น เริ่มต้นจากบ้านผม ขับช้าๆ ลัดเลาะออกไปถึงริมถนนบางนา – ตราด ราวๆ 3 กิโลเมตร แล้ว เราออกสู่ถนนบางนา-ตราด กม.7 ไป U-Turn ขึ้นสะพานกลับรถ ที่ บางนา-ตราด กม.3 หน้าสำนักงานใหญ่ สุกี้ MK แล้วขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี หน้า Central Bangna ขับไปยาวๆ ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงปลายทางด่วนบูรพาวิถี ขึ้นสะพานกลับรถ ก่อนถึงนิคมอุตสาหกรรม อมตะ แล้วย้อนขึ้นทางด่วนเส้นเดิมกันอีกครั้ง แต่คราวนี้ เราจะลงทางด่วนที่กิ่งแก้ว แล้ววิ่งทางข้างล่าง เลาะเข้าคู่ขนาน เลี้ยวเข้า Mega Bangna เพื่อทะลุด้านหลังห้างฯ กลับเข้าซอยราชวินิตบางแก้ว อีกครั้ง แล้วมุ่งหน้ากลับเข้าบ้าน

เมื่อนำรถเข้าจอดเรียบร้อยแล้ว เราก็เสียบหัวชาร์จที่แถมมากับตัวรถเข้ากับปลั๊กไฟบ้านตัวเองอีกรอบ ปล่อยให้กระแสไฟไหลเข้าไปจนเต็ม 1 คืน พอเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ตื่นนอน ลงมาจดตัวเลขที่ มิเตอร์วัดไฟ

ตัวรถแล่นมาทั้งหมด 111 กิโลเมตร น่าเสียดายที่ Trip Computer บนมาตรวัดของ AION Y Plus ไม่แสดงค่าระยะทางเป็นจุดทศนิยมออกมา ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องยึดตามตัวเลขที่เราเห็นบนจอมาตรวัดเท่านั้น

เมื่อเสียบปลั๊กชาร์จ AC ไปแล้ว ระบบแจ้งว่า แบ็ตเตอรี เราใช้ไปจนเหลือ 69% แล่นได้อีก 337 กิโลเมตร การชาร์จไฟกลับครั้งนี้ จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง 15 นาที

ตัวเลขที่เราจดบันทึกได้ และคำนวนออกมาได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไป ตาม Trip Meter บนมาตรวัด อยู่ที่ 111 กิโลเมตร

ตัวรถแจ้งว่า แบตเตอรี่ลดจาก 100 เหลือ 69%

เมื่อเสียบชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ด้วย Wall Box ระบบแจ้งว่าต้องใช้เวลาในการชาร์จ 3 ชั่วโมง 15 นาที

มาตรวัดไฟก่อนชาร์จ 2307.28 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
มาตรวัดไฟหลังชาร์จ 2330.81 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
เท่ากับ ชาร์จไฟไป 23.53 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

เมื่อคำนวนแล้ว เท่ากับว่า ไฟฟ้า 1 kWh เฉลี่ยแล้ว รถแล่นได้ 4.717 Km. (กิโลเมตร)

อัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า ทำได้เฉลี่ย 4.717 Km/kWh

เทียบกับตัวเลขบนจอแสดงข้อมูลบนมาตรวัดตัวรถแล้ว พบว่า มาตรวัดขึ้นไว้ 18.3 kWh. / 100 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณควรรู้ไว้หน่อยก็คือ จากการทดลองชาร์จไฟแบบ DC Fast Charge สาธารณะ ถ้าชาร์จไฟเต็ม จากไฟแบ็ตเตอรี 0 ถึง 80% แรก ไฟจะเข้ารถด้วยความเร็ว 80-90 kWh พอ 80% ปุ๊บ จะหล่นลงมาเหลือ 40 – 50 kWh และเมื่อไฟเข้าแบ็ตเตอรี ถึงระดับ 90 – 100% ความเร็วของกระแสไฟที่ไหลเข้ารถ จะลดลงเหลือ 10kWh ภาพรวม ถือว่า ไฟเข้ารถเร็วใช้ได้

********** สรุป / Conclusion **********
ตัวรถไม่แย่อย่างที่คิด เซ็ตช่วงล่างสายนุ่ม แต่ไว้ใจได้ แอร์หนาวเกิน
ช่วงล่างนุ่มแต่ไว้ใจได้กว่ารถ EV จีนคันอื่นๆ ปัญหาทั้งหมด อยู่ที่
Mindset และ Attitude ของทีมบริหารชาวจีน ที่ต้องปรับปรุงอย่างด่วน!

การออกมาเปิดตลาดนอกประเทศจีน เป็นครั้งแรกของ AION นั้น ออกจะเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อยทีเดียว สำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อยู่แต่ในประเทศของตนมาช้านาน ครองความนิยมเป็นอันดับ 2 ในบรรดาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ชาวจีนด้วยกัน และแทบไม่ได้สนใจเลยว่า ต่างชาติเขาใช้ชีวิต และดำเนินธุรกิจกันอย่างไร การทำอะไรฉับไว แต่ขาดความรอบคอบ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดการไตร่ตรองที่ดี ทำให้ AION ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

แน่นอนว่า การถูกผลักดันให้ออกมาเติบโตในตลาดนอกบ้านตัวเองแบบนี้ ทำให้จำเป็นต้องนำรถยนต์รุ่นที่ผลิตออกขายอยู่แล้ว ทำส่งขายตลาดต่างประเทศไปด้วยเลย โดยแทบไม่ได้ปรับปรุงสิ่งละอันพันละน้อย ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดังนั้น ตัวรถจึงออกมา ครึ่งๆกลางๆ คือ บทจะดีก็ดีไม่สุด มีข้อดีแบบพอรับได้ กับข้อเสียที่ต้องปรับปรุง เยอะอยู่

หากมองว่า รถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นมา โดยมีผู้บริโภคชาวจีน เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำขายชาวต่างประเทศนอกเมืองจีนมาก่อน แต่ถูกผลักดันโดยรัฐบาลกลางของจีน ส่งเสริมให้ออกมาสยายปีกโบยบินในต่างประเทศ การเซ็ตรถ จึงเน้นเอาใจลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก ทั้งการออกแบบตัวรถให้ดูมีกลิ่นอายแบบ Futuristic นิดๆ  ภายในห้องโดยสาร เน้นความสบายของเบาะนั่ง และพื้นที่ขนาดใหญ่โต รวมทุกระบบ แม่งทุกอย่าง ไปไว้ควบคุมบนหน้าจอกลาง แบบ Tesla ตามสไตล์ “รถจีนพิมพ์นิยม” เน้นทำช่วงล่างให้นุ่มๆสบายๆ ในความเร็วต่ำ โดยไม่ได้คำนึงถึงการเดินทางในความเร็วที่เกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปเลย และแน่นอนว่า ต้องใช้ขุมพลังไฟฟ้าล้วน เอาแบบไม่ต้องเร่งแรงแซงชาวบ้าน ถึงขั้นไปขิงกับ BYD Seal เขา แต่เอาแค่พอใช้งานทั่วไปในแบบรถยนต์บ้านๆ อัตราเร่งพอกันกับรถยนต์ขุมพลังสันดาป ก็พอ

หากมองตามโจทย์เบื้องต้นต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องยอมรับว่า AION Y PLUS ถูกสร้างขึ้นมา ให้สามารถตอบโจทย์ สมดังวัตถุประสงค์ในการสร้างรถคันนี้ อย่างไม่มีข้อคาใจใดๆทั้งสิ้น มันเป็น Minivan ขนาดกลาง พิกัด C-Segment ขุมพลังไฟฟ้า ที่ออกแบบมาให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เกิดความสบายสูงสุด ในทุกรูปแบบการใช้งาน โดยเฉพาะห้องโดยสารที่สามารถจะปรับเอนนอน เป็นเตียง ดูหนังฟังเพลง หรือนอนค้างอ้างแรมในต่างจังหวัด ไปจนถึงการมีพื้นที่โดยสารด้านหลัง สบายที่สุด เท่าที่เคยมีมาในรถยนต์กลุ่ม C-Segment Minivan ที่มีอยู่ หรือเคยมีจำหน่ายในประเทศไทย ขึ้นรถมาแล้ว ปรับตัวในการขับขี่ ไม่เยอะนัก นั่นคือจุดขายที่เรียกให้ผู้บริโภค ที่เดินผ่านไปผ่านมาในห้างสรรพสินค้า หันมาสนใจ AION Y Plus เวลาที่ดีลเลอร์ไปออกบูธรับยอดสั่งจอง เรียกง่ายๆว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ โดน AION “ตก” ด้วยห้องโดยสารของรถ นี่แหละ

นอกจากนี้ อัตราเร่งจากขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้า ก็ไม่ได้แย่จนน่าเกลียด แม้ตัวเลขจะอยู่ในลำดับท้ายๆตารางก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป แน่นอนว่า ลูกค้าก็จะไม่ถือสา แถมยังยอมรับได้กับพละกำลังที่ตัวรถมีมาให้ ขณะเดียวกัน ช่วงล่าง สายนุ่ม ก็น่าจะถูกใจบรรดาคุณแม่บ้าน ที่ต้องการพาหนะสำหรับการเดินทางในเมืองเป็นหลัก ใช้งานด้วยความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียงแต่ว่า พ่อบ้านสายโหด อาจจะไม่เหมาะกับรถคันนี้ เพราะไม่เอื้ออำนวยต่อการขับขี่สไตล์ Hardcore ทั้งสิ้น โดยเฉพาะระบบห้ามล้อ ซึ่งทำหน้าที่ออกมาในระดับ พอใช้ได้

ภาพรวมแล้ว หากมองในแง่มาตรฐานการทำรถยนต์ออกสู่ตลาด สักรุ่น วัดกันที่ตัวรถเพียวๆ งานนี้ AION Y Plus ถือว่า สอบผ่าน ใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้สบายๆ แน่ๆ แม้จะมองมาที่คุณภาพการประกอบ พ่วงเข้าไปด้วย ก็ต้องบอกเหมือนเดิมว่า “ไม่แย่อย่างที่คิด” เหมาะจะเป็นรถยนต์ครอบครัว พลังไฟฟ้า สำหรับพา อากง อาม่า เข้าโรงพยาบาล ได้เลย เชื่อว่า ไม่มีบ่น

ข้อที่ควรปรับปรุง / Suggestion

จริงอยู่ว่า ต่อให้เป็น Rolls Royce Callinan ก็ไม่มีรถยนต์รุ่นใหนในโลกนี้ ที่ Prefect สมบูรณ์แบบเพียบพร้อมไปเสียหมด โดยไม่มีข้อด้อย ข้อเสีย ใดๆ ทั้งสิ้น กระนั้น AION Y PLUS เอง ก็ยังมีเรื่องที่ผมคิดว่า สมควรจะต้องนำไปปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น ดังนี้

– อย่านำทุกอุปกรณ์ ไปรวมศูนย์ไว้ในจอ Monitor ตรงกลาง เพียงอย่างเดียว ควรทำสวิตช์แยกด้วย

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า เคยมีใครบอกกับทีมวิศวกรของ AION ไหมว่า Simply is the best! การทำอุปกรณ์ให้เข้าถึงการใช้งานได้ง่าย สะดวกต่อการควบคุม และลดการละสายตาจากถนน คือหนึ่งในเรื่องพื้นฐานของการทำรถยนต์ที่ดี (Fundamental of Automobiles) Function การใช้งานในบางอุปกรณ์ กว่าจะเข้าถึงได้ ยากเย็นเหลือเกิน ไม่สะดวกเท่าที่ควร โดยเฉพาะเวลาขับรถอยู่ แล้วจำเป็นต้องเลือกใช้งานบางอุปกรณ์ ต้องละสายตาจากพื้นถนนมากเกินไป อาจก่ออันตรายในการขับขี่ได้

– พวงมาลัย มีระยะฟรีน้อยไปหน่อย

พวงมาลัยของ AION Y Plus นั้น เริ่มเลี้ยวเพียงนิดเดียว รถก็ออกข้ามเลนถนนไปแล้ว ซึ่งมันไวไปหน่อย นิสัยจะกระเดียดไปทาง พวงมาลัยของ Tesla ทั้งที่ความจริงแล้ว รถยนต์ที่มีรูปทรงสูง หรือตำแหน่งเบาะนั่งสูง ควรมีระยะฟรีของพวงมาลัยเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกสักนิด เพื่อเป็น Gap เผื่อไว้ให้ผู้ขับขี่ ในกรณีที่ตกใจหักหลบ สุนัข มอเตอร์ไซค์ หรือยานพาหนะอื่นใดบนท้องถนนอย่างกระทันหัน จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุลงได้

– ไม่มีใบปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้ ทัศนวิสัย คืนวันฝนตก ย่ำแย่มากๆ!

ขอร้องละ AION บทเรียนในอดีต ก็มีให้เห็นอยู่ทนโท่ ดังนั้น อย่าเจริญรอยตาม Honda Brio ตอนเปิดตัวใหม่ๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2011 สิ! ตอนนั้น เขาไม่มีใบปัดน้ำฝนด้านหลังให้ลูกค้าเหมือนกัน ผลก็คือ ผู้บริโภคสวดยับ ผลลัพธ์ ออกมาเป็นอย่างไร ก็เห็นๆกันอยู่ Brio ดับสูญสิ้น และต้องออกไปจากตลาดอย่างช่วยไม่ได้

– ไม่มีระบบ ติดเครื่องด้วยปุ่ม Power แต่ ตอนจะดับเครื่อง เมนู Power Off ดันซ่อนไว้

มามุขเดียวกับ MG Volvo ฯลฯ ไม่มีผิด อันที่จริง ในตลาดต่างประเทศ AION Y รุ่นเดิม ยังมีสวิตช์ Power สำหรับกดติดเครื่อง ให้ระบบทำงาน แต่พอมารุ่นนี้ ดันตัดออกทิ้ง เพื่อจะสร้างจุดขายว่า สามารถขึ้นรถและขับออกไปได้ทันที ทั้งที่ความจริงแล้ว ค่อนข้างอันตรายมากที่ทำแบบนี้ อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่านี้

– เบาะหลัง ควรออกแบบให้ปรับองศาพนักพิงหลังได้มากกว่านี้

ไม่ใช่ทุกคนหรอกครับ ที่อยากจะเอกเขนกบนพนักพิงหลังที่ทำมุมเอียงแบบนี้เสมอไป ถ้าสามารถออกแบบให้ปรับระดับตั้งชัน ได้อีกสัก 2 จังหวะ อาจจะไม่ต้องลงจนต่ำสุด เอาแค่พอกันกับตำแหน่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็จะช่วยเพิ่มความสบายให้กับผู้โดยสารที่อาจต้องการความแตกต่างกันได้มากกว่านี้

– เครื่องปรับอากาศ มันหนาวจนเกินไป

เข้าใจว่า คนจีน อยากจะเอาใจลูกค้าชาวไทย ที่ชอบความเย็น แต่การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ระดับ 28 องศาเซลเซียส ทว่า ยังคงมีอุณหภูมิในห้องโดยสารจริงอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส มันคืออะไร!!? มันหนาวเกินไป โดยเฉพาะถ้าคุณต้องเจอฤดูหนาว ทางภาคเหนือ บอกเลยว่า อาจถึงขั้นต้องปิดเครื่องปรับอากาศขณะขับรถกัน ทั้งที่อากาศภายนอกรถยังอยู่แถวๆ 30 องศาเซลเซียส ผมก็เจอมาแล้ว!

–  การปรับกระจกมองข้าง ทำไมต้องย้ายฟังก์ชันไปไว้ในหน้าจอ ซึ่งใช้งานยากมากกว่าเดิม

เข้าใจว่า อยากจะทำตัวแบบ Tesla แต่ในความเป็นจริง ยิ่งใช้งานยาก ถึงขั้น ผู้ขับขี่ ต้องคลำหาสวิตช์ และอุปกรณ์ต่างๆ จนทำให้เสียเวลา รวมทั้ง ก่อความอันตราย ในยามที่ต้องปรับกระจกมองข้างขณะขับขี่ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง กลายเป็นว่า ถ้าจะปรับกระจกมองข้าง คุณต้องขับรถไปจอดแอบข้างทางก่อน อย่างนั้นเหรอ? ในประเทศจีน อาจทำได้ แต่ถ้าลองมาทำแบบนั้นที่ประเทศไทย อาจเกิดอุบัติเหตุจากเพื่อนร่วมทางก็เป็นได้ ดังนั้น อยากให้พิจารณาแก้ไขเรื่องพวกนี้ในรถยนต์รุ่นต่อไปด้วย

– เข็มขัดนิรภัย ปรับระดับสูง – ต่ำ ไม่ได้

ปัญหาสุด Classic ของผู้ผลิตรถยนตฺ์ยุคใหม่ คือ มองว่า ถ้า ผู้ขับขี่ ปรับเบาะนั่งให้ถูกต้อง ตัวเข็มขัดนิรภัย ก็ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้ปรับระดับได้ แต่ในความเป็นจริง สรีระของลูกค้าแต่ละคน ไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายทั้งหลายจ๋า อย่า งก อย่าเขียม กับอุปกรณ์ชิ้นนี้กันอีกเลย

คู่แข่งในตลาด / Competitors

หากต้องเปรียบเทียบ AION Y Plus กับ C-Segment MPV ในระดับราคา ใกล้เคียงกันนั้น ก็แทบไม่ค่อยมีคู่แข่งเท่าไหร่ อาจจะมีแค่ BYD M6 กระนั้น ถ้ามาลองดูรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่มีราคาระดับใกล้เคียงกัน ตัวเลือกที่ยังน่าสนใจอยู่ ก็เหลือกันแค่นี้

BYD ATTO 3

เปิดตัวออกมาเป็นทัพแรกของ BYD ในเมืองไทย มียอดขายฮิตติดลมบน ด้วยงานออกแบบภายนอกที่สวยงาม แต่ภายในรถเนี่ย “อะไรของมันวะ?” ภาพรวมตัวรถ ก็ดีอยู่ ทั้งการขับขี่ สมรรถนะภาพรวม แตต่ข้อด้อยของ ATTO 3 คือ เบาะนั่งคู่หน้า มีพนักศีรษะที่ดันกบาลมาก ส่งผลให้นั่งขับขี่ไม่สบายเอาเสียเลย ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ๆ กว่าจะหาตำแหน่งปรับเบาะให้ลงตัว ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงล่างในย่านความเร็วสูงก็ยังนุ่มเกินไป ไม่เพียงเท่านั้น ATTO3 ยังเป็นรถไฟฟ้าที่ลูกค้าชาวไทย น่าจะซื้อกันไปเกือบหมดประเทศแล้ว คำถามคือ บรรดารถล็อตใหม่ที่ต้องประกอบในประเทศไทย ตามข้อตกลง EV 3.0 เนี่ย จะเอาไปขายใครกัน?

BYD M6

อันที่จริง M6 (ซึ่งไม่ใช่ BMW M6) คันนี้ มันก็คือ Minivan รุ่นที่เคยถูกสั่งนำเข้ามาทำตลาด Taxi ในบ้านเรามาแล้วนั่นเอง เพียงแต่ว่า คราวนี้ มีการเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้า และปรับปรุงตัวรถ ที่ดูสวยงาม โค้งมน ลงตัว กลมกลืน ให้มีความอเนกประสงค์มากขึ้น เพื่อรองรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร 7 คน แบบพอไปด้วยกันได้ จึงอาจจะเหนือกว่า AION Y Plus ซึ่งมีแค่ 5 ที่นั่ง

กระนั้น  ข้อดีของ M6 ไม่ได้มีลูกเล่นแพรวพราวมากนัก และวัสดุในห้องโดยสาร ก็ไม่ได้หรูหรา แม้มีความพยายามจะออกแบบให้ไปในแนวทางนั้นก็ตาม M6 จึงเหมาะกับลูกค้าที่ยังคุ้นเคยกับรถยนต์ที่ใช้ขุมพลังสันดาปตามปกติ แต่อยากลองเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า สำหรับครอบครัว คันแรก จึงมีความ วุ่นวายน่าปวดกบาลทางเทคโนโลยีให้ต้องปรับตัว น้อยกว่า ATTO 3 และ AION Y Plus นิดหน่อย ในทางกลับกัน มันคือข้อด้อยที่ทำให้คนรักความก้าวหน้าทางสาย iT อาจจะไม่ชอบมาตรวัดแบบเข็ม Analog ซึ่งดูโบราณ แต่อ่านง่าย ใช้งานไม่ยากนักกระนั้น จอ Monitor ตรงกลางขนาดใหญ่ ก็ยก Function การใช้งานมาจาก ญาติพี่น้อง ทั้ง Dolphin และ ATTO3 จึงต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้การเข้าถึงอุปกรณ์ที่คุณใช้งานตามปกติ อยู่พอสมควรเลยละ

ด้านสมรรถนะนั้น ไม่มีอะไรโดดเด่นเกินคาด อัตราเร่ง อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ใกล้เคียงกันกับ AION Y Plus แต่การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ก็แอบน่าหวั่นใจ ทั้งจากช่วงล่าง สายนุ่มแต่พยายามจะเพิ่มความ Firm มาให้ เมื่อมาเจอกับพวงมาลัย Power ไฟฟ้า EPS ซึ่งตอบสนองคล้ายกับ พวงมาลัยของ Honda City รุ่นปี 2009 (ตอนลมยางแข็ง) ดังนั้น ความมั่นใจในการเดินทาง ที่ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น กลายเป็นว่า AION Y Plus นิ่งกว่า M6 ชัดเจน แต่ถ้าหลังจาก 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปแล้ว ก็น่าเป็นห่วงด้วยกันทั้งคู่

บอกตามตรงว่า ถ้าต้องเปรียบเทียบกับ M6 ผมยังให้ AION Y Plus น่าคบหามากกว่ากันนิดหน่อย เว้นเสียแต่ว่า คุณแม่บ้านเขาต้องการ รถยนต์ 7 ที่นั่งกันจริงๆ M6 ถึงจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับครอบครัวคุณในแบบ “จำใจ”

ORA Good Cat

เหมียวไฟฟ้าติดล้อ ทรงสวย ตกแต่งภายนอกและภายในมาเหมือนจะดี โดนใจสาวๆ แต่ตำแหน่งนั่ง มีปัญหาด้านสรีรศาสตร์ ไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป แป้นคันเร่งในบาง Mode ก็เบา แต่แป้นเบรกหนืดหนัก ขณะที่บาง Mode ก็สลับกัน แป้นคันเร่งหนืดหนัก แต่แป้นเบรก เบาไป ต้องเกร็งจนสลักเพชรตรงแก้มก้นขวา ปวดร้าว จนผมต้องไปทำกายภาพบำบัด นานถึง 1 เดือนเต็ม ยิ่งตอนนี้ ต้องผลิตในประเทศให้ได้ตามโครงการ EV 3.0 ยิ่งเหนื่อยกว่าเดิม เพราะลูกค้าที่อยากได้ ต่างซื้อหากันไปเกือบหมดแล้ว คราวนี้จะเอาไปขายใครได้บ้างละ?

MG ZS EV

ถ้าวัดกันด้วยเทคโนโลยี และรายละเอียดต่างๆภายในรถ ผมยืนยันเลยว่า AION Y Plus ชนะ MG ZS EV ขาดลอยในทุกๆด้าน แน่ละ เทคโนโลยี Platform ใหม่กว่า ห้องโดยสารโอ่โถง กว้างขวาง นั่งสบายกว่า แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ MG ZS EV มีพวงมาลัย ซึ่งให้การตอบสนองภาพรวม ดีกว่า AION Y Plus อยู่เล็กน้อย เฉพาะประเด็นเรื่อง ระยะฟรี ของพวงมาลัย และการเซ็ตอัตราทดมาได้ลงตัวกับรูปแบบของตัวรถมากกว่ากันนิดหน่อย เท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใด บริการหลังการขายก็ยังเป็น Pain point สำคัญ ที่ลูกค้าซึ่งอยากอุดหนุน MG ต้องเสี่ยงวัดดวงเอา

ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่า ตัวรถจะอยู่ในเกณฑ์ที่ ยอมรับได้ มีทั้งข้อดีและข้อด้อยตามปกติวิสัย ทว่า ประเด็นสำคัญอันก่อให้เกิดสารพัดเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ AION ในประเทศไทยนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ตัวรถ เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังรวมถึง Mindset และ Attitude ของชาวจีน ต่างหาก ที่เราโคตรเป็นห่วง จนถึงขั้นต้องขอเตือนสติกันตรงนี้เลยว่า

ชาวจีนเอ๋ย พวกคุณ กำลังขายรถให้ลูกค้าชาวไทย ดังนั้น จงท่องเอาไว้ว่า สิ่งใดที่เคยประสบความสำเร็จในประเทศจีน หนะ ไม่ได้แปลว่ามันจะ Guaranty ประสบความสำเร็จในไทยด้วย เพราะความจริงแล้ว วัฒนธรรม รากเหง้าจารีตธรรมเนียมประเพณี และการสื่อสาร กับคนไทย มันจะแตกต่างจากประชากรในประเทศของพวกคุณ คนละเรื่องเลยนะ ดังนั้น วิธีการทำตลาด และการทำงานกับคนไทย ย่อมแตกต่างจากตลาดเมืองจีนคนละเรื่อง หลายอย่าง ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้

ถ้าอยาก ชนะใจคนไทยในระยะยาว ทำ 7 ข้อข้างล่างนี้ให้ได้เสียก่อน

1. หัด “ใจเขาใจเรา” กันเสียบ้าง อย่าเอาแต่กอบโกยอย่างเดียว อย่า Take อย่างเดียว แต่ควรจะ Give ด้วย

2. ใส่ใจกับการปรับปรุง งาน Service บริการหลังการขาย ให้ดีกว่านี้ ช่างต้องชำนาญกว่านี้ วิเคราะห์แก้ปัญหาให้จบ

3. ถ้าอยากทำธุรกิจในประเทศไทย ให้ประสบความสำเร็จ จงเปิดใจรับฟัง และเชื่อมั่นในคนไทยมากกว่านี้! คนไทยที่เขาทำธุรกิจกับคุณ พวกเขาพร้อมช่วยคุณนะ เขาเตือนอะไร ก็ให้ทำตามกันด้วย เพราะเขามีประสบการณ์กันมาแล้วทั้งนั้น แต่ที่ผ่านมา พวกคุณเล่นไม่ฟังคนไทยเตือนเลย

4. เตรียม Stock อะไหล่ ให้เยอะกว่านี้ โดยราคาอะไหล่ ต้องถูกกว่าคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าอื่นๆ

5. เลิกใช้งบการตลาดแบบสุรุ่ยสุร่าย เช่นป้าย Billboard บริเวณทางโค้งเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อ เอาใจผู้บริหารที่บินมาจากเมืองจีน เพื่อไป “ขิง” ใส่เพื่อนร่วมชาติ ทั้ง BYD และ GWM ใช้งบให้มันตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จะดีกว่า

6. ช้อนี้สำคัญที่สุด จงเติบโต แบบค่อยเป็นค่อยไป อย่ารีบเร่งจนเกินไป นี่ตลาดรถเมืองไทยนะ ไม่ใช่อาหารปลา Sakura จะได้เร่งสีเร่งโตไวๆ เหมือนในโฆษณาทางโทรทัศน์ สมัยก่อน

7. เหนือสิ่งอื่นใด พวกคุณได้เรียนรู้แล้วใช่ไหมว่า สงครามราคา มีแต่ทำให้พวกคุณเจ็บตัว ดังนั้น อย่าทำลายตลาดรถยนต์เมืองไทย กันด้วยวิธีการของพ่อค้าหน้ามืดโง่ๆ เอาตัวรอดเฉพาะหน้า สุดท้าย ตัวเองก็เจ็บด้วย แบบนี้กันอีกเลย!

ถ้าพวกคุณ เปิดใจรับฟัง และนำไปปรับปรุง ไปจนถึง Mindset และ Attitude เชื่อได้เลยว่า โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ มันอยู่ไม่ไกล อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นสักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่า คุณจะได้ใจลูกค้าชาวไทยมากกว่านี้ ท่องเอาไว้ว่า กรุงโรม ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ทุกอย่าง ต้องใช้เวลา! อย่ารีบเร่ง!

แต่…ถ้ายังคิดและทำกันแบบ 1 ปีที่ผ่านมา คงต้องพูดตรงๆว่า ต่อให้จะพยายามเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่าง Aion Hyptec ที่เพิ่งเผยโฉมไป และต่อให้จะมีโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยแล้ว แต่ AiON อาจไม่รอดในตลาดเมืองไทย ในระยะยาว

เตือนมาด้วยความเป็นห่วงและหวังดี ในแบบที่ คุณผู้อ่านแฟนประจำของเรา คงเข้าใจดี
แต่ผู้ผลิตรถชาวจีน ทุกค่าย น่าจะยังไม่ยอมเข้าใจ ตามเคย

————————–///—————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท AION (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

เตรียมข้อมูลตัวรถ ทั้งหมด โดย Navarat Panutat (KANVITZ)

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม ประกอบไปด้วย
รวมบทความทดลองขับ รถยนต์กลุ่ม B-Segment Sub-Compact SUV

———————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
10 ตุลาคม 2024

Copyright (c) 2024 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 10th, 2024

————————————-