(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอคลิปทดลองขับของรถคันนี้ อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้)
———————————————–
13 กรกฎาคม 2004
ผมนั่ง Taxi จากรถไฟฟ้า BTS ลึกเข้ามาถึงช่วงกลางซอยเอกมัย เมื่อมาถึงผับเปิดใหม่ ขนาดใหญ่ ที่มีชื่อว่า “ซานติกา ผับ”
ใช่แล้วครับ ผับเดียวกับที่เคยเกิดเหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ รับวันปีใหม่ เมื่อหลายสิบปีก่อนนั่นละ คุณคงไม่นึกใช่ไหมว่า ณ วันเวลานั้น Toyota Motor (Thailand) เคยเลือกใช้ผับแห่งนั้น เป็นสถานที่จัดงานเปิดตัว Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง อย่าง Toyota Avanza เป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ตอนนั้น Avanza ยังเป็นเพียงแค่ Sub-Compact Minivan คันเล็กๆ แคบๆ เครื่องยนต์ก็แค่ เบนซิน 1.3 ลิตร แถมยังใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ที่หักปากกาคนทั้งวงการรถยนต์ในบ้านเรา ไปแทบทั้งบาง เพราะไม่มีใครคิดว่า Toyota จะยังนำระบบขับเคลื่อนล้อหลัง กลับมาใช้กับรถขนาดเล็กรุ่นใหม่ของตนในตอนนั้นได้อีก
ผมยังจำบรรยากาศ ในบ่ายวันนั้นได้อยู่ ราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ผมไม่คิดและไม่รู้มาก่อนว่า “จีน มหาสมุทร” เพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ถูกรับเลือกให้เป็น Presenter ในภาพยนตร์โฆษณา ที่ไปถ่ายทำกันถึง เซี่ยงไฮ้ เจอกันตอนนั้น ก็ดีใจไปกับเจ้าตัวด้วย และดูเหมือนว่า นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ผมได้เจอกับ จีน หลังจากนั้น ชีวิตก็ไม่ได้มีโอกาสมาวนเวียนพบกันอีกเลย
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ 18 ปี ผ่านไป ผมมายืนจ้องหน้า ทายาทของ Avanza คันนี้ ด้วยความรู้สึกที่ต่างออกไป
ผมคงต้องยอมรับความจริงว่า ปี 2022 นี้ เป็นปีที่ รถยนต์ Compact Minivan 7 ที่นั่ง จาก Indonesia รุ่นใหม่ๆ ต่างพากันกรีทาทัพ ลงเรือเข้ามาเปิดศึกกันในเมืองไทย เยอะและหนาตากว่ายุคสมัยก่อนหน้านี้มากๆ
ถามว่า ทำไม Minivan 7 ที่นั่งเหล่านี้ ถึงต้องมาจาก Indonesia?
Indonesia ได้ชื่อว่าเป็น นครเมกกะห์ แห่ง Minivan เพราะด้วยจำนวนประชากรมากถึง 279,194,636 คน! (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2022) มียอดขายรถยนต์ 887,202 คัน แม้จะลดลงจาก 1,079,308 คัน ในช่วงปี 2017 จากสารพัดปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การระบาดของ Covid-19 ฯลฯ
กระนั้น รสนิยมการใช้รถยนต์ของลูกค้าชาวอิเหนา แตกต่างจากชาวโลกทั่วไป ตรงที่ ในอดีต พวกเขา ต้องการแค่รถยนต์นั่งอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง สมรรถนะไม่เน้น ขอแค่ครอบครัวนั่งไปพร้อมกันได้ทั้ง 7 คน คุ้มแดดคุ้มฝนได้ ลุยน้ำท่วม และถนนหนทางซึ่งไม่ค่อยจะดีนักในภาพรวมได้ ที่สำคัญ ต้องมีราคาถูก ดังนั้น บริษัทรถยนต์หลายราย จึงทุ่มความพยายามในการพัฒนารถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าใน Indonesia และเพื่อจะต่อยอดการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค ASEAN ไปพร้อมๆกัน
ทว่า ในวันนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น รายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตเริ่มดีขึ้น รสนิยมของผู้คนเริ่มดีขึ้น การคมนาคมสัญจร และถนนหนทางเริ่มพัฒนาไปมากขึ้น ผู้คนจึงมองหารถยนต์ส่วนตัว ที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น เพื่อแสดงออกให้ผู้คนรอบข้างเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสถานภาพของครอบครัวตนที่ดีขึ้น
รสนิยมแบบนี้ ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ พยายามสร้างรถยนต์ ที่มุ่งเอาใจลูกค้าใน Indonesia โดยเน้นไปที่การลดต้นทุน ไม่ให้มีราคาขายปลีกแพงเกินไป ส่งผลให้คุณภาพของตัวรถยังไม่ถึงกับดีนักเมื่อเทียบกับ รถยนต์ที่จำหน่ายในอารยะประเทศที่เจริญแล้ว
อย่างไรก็ตาม การประชันศึกในสมรภูมินี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาด ยักษ์ใหญ่ General Motors (GM) ที่เคย ให้ทีมพัฒนารถยนต์ของตนใน Brazil สร้าง Chevrolet Spin ออกมาขาย ก็ยังล้มเหลวไม่เป็นท่า ถอนตัวออกจากตลาดภายในเวลาแค่ 3 ปี เท่านั้น ถึงขั้น ปิดโรงงานที่ Bekasi ชานกรุง Jarkata ไปเรียบร้อย!
ผู้เล่นที่เหลือ จึงมีแต่รถยนต์จากผู้ผลิตญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Honda Mobilio/BR-V , Mitsubishi Xpander & Xpander Cross ที่แท็คทีมกับฝาแฝด Nissan Livina รวมทั้ง Suzuki Ertiga / XL-7 รวมทั้ง รถยนต์ในเครือของ Toyota และ Daihatsu เอง อย่าง Toyota Calya / Daihatsu Sigra สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีงบไม่มากนัก เอื้อมไม่ถึง Avanza / Xenia แต่ต้องการ Minivan 7 ที่นั่ง และ Toyota Rush / Daihatsu Terios (Indo version) ที่แย่งชิงก้อนเค้กขนาดใหญ่ ก้อนนี้ ด้วยกันจนฝุ่นตลบอบอวล
แม้ว่าในอดีต Toyota จะครองแชมป์ยอดขาย และส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ในกลุ่มนี้ ที่ Indonesia มาได้ตลอด และตำแหน่งของ Toyota ในตลาดที่นั่น ถือว่าแข็งแกร่งมากๆ ต่อให้ไม่นับรวม Daihatsu ด้วยก็ตาม แข็งแกร่งถึงขนาดว่า แม้แต่ Honda เอง คิดจะทำ Mobilio และ BR-V ออกมาสู้ ก็ยังทำอะไร Toyota ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การมาถึงของผู้ท้าชิงร่วมชาติ อย่าง Mitsubishi Xpander ทำให้ Landscape ของตลาดกลุ่มนี้ เปลี่ยนแปลงไป Xpander และ Xpander Cross เอาชนะ Avanza ได้ในแทบทุกตลาดที่เข้าไปจำหน่าย เล่นเอา Toyota เอง ก็เริ่มนั่งไม่ติดเก้าอี้ และพวกเขาก็เริ่มคิดได้ว่า ถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างกันเสียที
วันนี้ Toyota ตัดสินใจ ทำในสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว นั่นคือ การเปลี่ยนโฉมให้กับ Avanza ชนิดที่เรียกว่า ใหม่ถอดด้ามทั้งคัน พวกเขาเลือกจะยอมเปลี่ยนรูปแบบของตัวรถ จากเดิม ที่เคยเป็น Minivan คันเล็ก ตัวถังแคบ สร้างขึ้นจาก Sub-Compact SUV รุ่นโบราณ อย่าง Daihatsu Terios แถมยังใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ให้กลายมาเป็น Minivan คันใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม เปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (เสียที) ซึ่งทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้ Platform ใหม่ DNGA (Daihatsu New Global Architecture) ซึ่งมันก็คือ Platform TNGA แบบของ Toyota นั่นแหละ แต่เป็นเวอร์ชันที่ปรับปรุงให้มีต้นทุนที่เหมาะสม ต่อการผลิตมากยิ่งขึ้น (เอาจริงๆ ก็คือเวอร์ชัน ลดต้นทุน นั่นแหละ แต่ก็ไม่ได้ลดแบบน่าเกลียดอย่างที่หลายคนคิด)
ไม่เพียงเท่านั้น ไหนๆ จะเปลี่ยนโฉม เปลี่ยนรูปแบบตัวรถกันทั้งที Toyota ในเมืองไทย เลยตัดสินใจเปลี่ยนชื่อรุ่น เปลี่ยน Position การตลาด ให้กับ Sub-Compact Minivan คันนี้ ให้กลายเป็น VELOZ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการตอกตะปู ปิดฝาโลงให้กับชื่อ Avanza ที่เคยอยู่ในตลาดเมืองไทย มาตั้งแต่ปี 2004 ให้จบสิ้นบทบาทกันไปเสียทีนับตั้งแต่ปีนี้
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างไร? ตัวรถจะให้การขับขี่ที่ดีขึ้นหรือไม่ มีความอเนกประสงค์เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าคุ้มกับค่าตัวที่จ่ายไปหรือไม่ และที่สำคัญมากสุดคือ ตัวรถดีขึ้นเพียงพอที่จะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับตลาด ในฐานะ Mitsubishi Xpander’s Killer ได้อย่างที่คนใน Toyota คาดหวังหรือไม่ ความคิดเห็นของผม และทีมเว็บ Headlightmag รอคุณเลื่อนลงไปอ่านแล้วข้างล่างนี้…
แต่ก่อนอื่น ตามธรรมเนียมของเรา ผมขอพาคุณผู้อ่าน ย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดดั้งเดิมของ Veloz กันเสียก่อน เพื่อให้ใครก็ตามที่ไม่เคยศึกษาเรื่องราวในอดีต ได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า รากฐานดั้งเดิมของ Veloz นั่นก็คือ Toyota Avanza นั่นเอง
Toyota Avanza รุ่นแรกนั้น เป็นรถยนต์นั่งแนวคิดใหม่ Sub-Compact Multi Purpose Vehicle 7 ที่นั่ง สำหรับตลาดประเทศกำลังพัฒนา สร้างขึ้นภายใต้ ชื่อโครงการ U-IMV (Under IMV) อันเป็นชื่อย่อของ โครงการพัฒนารถยนต์นั่งอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ซึ่งมีขนาดตัวรถทั้งคันเล็กกว่า รถยนต์ 7 ที่นั่งจากโครงการรถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ IMV 1 (Hilux) ซึ่งก็คือ KIJANG รุ่นใหม่ ที่ต้องถูกยกระดับขึ้นมาเป็น INNOVA ในปัจจุบันนั่นเอง)
จุดเริ่มต้นของ Avanza และ Veloz นั้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2000 – 2001 ตอนนั้น Toyota มีความคิดว่าจะยกระดับการพัฒนารถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ ตระกูล IMV (Hilux Vigo กับ Fortuner รุ่นแรก) ให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าทั่วโลกมากขึ้น สมรรถนะดีขึ้น แต่ต้นทุนต้องถูกลง Toyota ตัดสินใจ นำ รถยนต์อเนกประสงค์ราคาประหยัดรุ่น KIJANG ซึ่งขายดีมากใน Indonesia เข้ามาร่วมโครงการ IMV นี้ด้วย โดยยกระดับ ให้เป็น Toyota Kijang INNOVA หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ Toyota Innova นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ Kijang ทรงกล่องคันเดิมๆ ต้องถูก Upgrade ขึ้นไปเป็น Innova เท่ากับว่า ตัวรถจะใหญ่ขึ้น เพราะต้องใช้พื้นฐานงานวิศวกรรมร่วมกับ Hilux และ Fortuner ดังนั้น ค่าตัวจะต้องแพงกว่าเดิมไปพอสมควร ดังนั้น ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ราคาถูกใน อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดกลุ่มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด จะเกิดสูญญากาศ ดังนั้น Toyota จึงต้องหาทางผลิตรถยนต์ขึ้นมาสักรุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาว Indonesia กลุ่มใหญ่นี้
ดังนั้น Toyota จึงเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้ ในช่วงประมาณ ปี 2000 – 2001 โดยชวนให้ Daihatsu บริษัทลูกของตนซึ่งชำนาญการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก มารับหน้าที่ในฐานะ แม่งานหลัก ของโครงการ พวกเขา เลือกใช้พื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรมแบบรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง จาก Daihatsu Terios ซึ่งต้องถือว่าเป็นแนวทางแปลกๆ ที่ผู้ผลิตจอมลดต้นทุนอย่าง Toyota และ Daihatsu ตัดสินใจยอม พัฒนารถยนต์ขนาดเล็กกว่า Toyota Altezza / Lexus IS รุ่นนี้ ในรูปแบบเครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก่อนหน้านั้น
และในที่สุด พวกเขาได้เลือกใช้ชื่อรุ่นว่า Avanza ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Avanzato ในภาษาอิตาเลียน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Advance หรือความล้ำหน้า ล้ำไปข้างหน้า ล่วงไปข้างหน้า เป็นชื่อที Daihatsu เคยใช้มาแล้ว กับ รถยนต์ Hatchback 3 ประตู พิกัด K-Car 660 ซีซี Turbo 64 แรงม้า (PS) ตัวแรง Daihatsu Mira TR-XX Avanzato สำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ในช่วงรุ่นปี 1990 – 1997 แต่พวกเขาก็ดัดแปลงชื่อนี้ เพื่อนำมาใช้กับรถยนต์ U-IMV คันนั้น
Toyota ก็จัดการปล่อยภาพถ่ายชุดแรก ของ Avanza และเวอร์ชันฝาแฝด Daihatsu Xenia เป็นครั้งแรกใน Indonesia เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2003 โดยขึ้นสายการผลิต ที่โรงงาน P.T.Astra Toyota ใน Indonesia ก่อนจะส่งมาอวดโฉมในเมืองไทยครั้งแรก ที่งาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2004 ตามด้วยการ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2004
หลังจากนั้น Avanza เจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนโครงสร้างงานวิศวกรรมของรุ่นเดิม แต่เปลี่ยนดีไซน์เปลือกตัวถังภายนอก และภายในห้องโดยสาร ใหม่ทั้งหมด ถูกเปิดตัวใน Indonesia เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 และในตอนนี้เอง ที่ Toyota ตัดสินใจ เพิ่มรุ่นย่อย ตกแต่งพิเศษ ให้ดู Sport ขึ้น ในชื่อ Toyota Avanza Veloz เป็นครั้งแรก ณ ประเทศ Indonesia ส่วนเวอร์ชันไทยนั้น Toyota เลือกที่จะสั่งนำเข้า เฉพาะรุ่น Avanza มาอวดโฉมครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อช่วงเดือน ธันวาคม 2011 ณ งาน Thailand International Motor Expo และเปิดตัวแบบ Softๆ เมื่อ 10 มกราคม 2012 ก่อนจะมีการปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2019
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Toyota Avanza สามารถเรียกลูกค้าที่ต้องการรถยนต์อเนกประสงค์ ราคาประหยัด ได้มากมายมหาศาล หากนับแค่ถึงเดือนตุลาคม 2011 Toyota กอบโกยยอดขายใน Indonesia ด้วยยอดขายรวมทั่วโลก เกินกว่า 1 ล้านคัน ขณะที่ยอดส่งออกจากแดนอิเหนา ก็มากถึง 113,000 คัน และถ้านับมาจนถึง เดือนตุลาคม 2018 Toyota ทำยอดขายสะสมของ Avanza / Xenia ทั่วโลกได้มากถึง 2,750,576 คัน แบ่งเป็นตลาดแดนอิเหนา 1,714,196 คัน ตลาดส่งออก 393,380 คัน และ Daihatsu Xenia อีก ประมาณ 643,000 คัน ขณะเดียวกัน ในเมืองไทย ก็ยังมีลูกค้าที่สนใจอุดหนุนอยู่ประมาณหนึ่ง จนกระทั่งคู่แข่งหน้าใหม่เริ่มก้าวเท้าลงสู่ตลาด ความน่าสนใจของ Avanza ก็เริ่มลดน้อยลง แม้ว่า Toyota จะพยายามอัพเดทความสดใหม่อยู่เป็นระยะ ทั้งปรับหน้าตา เปลี่ยนเครื่องยนต์กลไกใหม่ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายของ Avanza กระเตื้องขึ้นเท่าไหร่นัก มีทางเดียวที่จะกลับไปอยู่บนตำแหน่งจ่าฝูงในตารางยอดขายกลุ่ม Mini-MPV ก็คือ คงต้องพึ่งรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change เท่านั้น
โครงการพัฒนา Avanza และ Veloz ใหม่ เริ่มต้นขึ้น ประมาณปี 2018 – 2019 โดย Mr. Eiji Fujibayashi, หัวหน้าโครงการพัฒนา หรือ Chief Engineer ของ Veloz เล่าว่า “เราได้นำเสนอ Toyota Veloz ครั้งแรกใน Indonesia เมื่อปี 2011 เพื่อให้ภาพลักษณของ SUV มีความความโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยยังคงมอบความเชื่อถือ ไว้ใจได้ ในราคาที่เหมาะสม และเพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลาย ของผู้ที่ชื่นชอบรถสไตล์ Premium Crossover และน่าดึงดูดกว่ารถยนต์ MPV”
“ดังนั้น Toyota Veloz ใหม่ จึงถูกออกแบบ ให้เป็น รถยนต์แบบ Premium Crossover โดยมีแนวคิดของตัวรถนั้น คำนึงถึงจุดขาย 3 ประการ ได้แก่ การออกแบบในสไตล์ Premium ที่เหนือระดับสำหรับชีวิตยุคใหม่ การตกแต่งภายในที่มีความอเนกประสงค์ และกว้างขวางเป็นพิเศษ มาพร้อมกับ Platform ขับเคลื่อนล้อหน้าแบบใหม่ ที่เกินความคาดหวังของลูกค้า เราจึงทั่นใจว่า Toyota Veloz ใหม่ นี้ จะให้คุณทั้งความตื่นเต้น และเพลิดเพลินไปในเวลาเดียวกัน”
โดยสรุปแล้ว แนวคิดหลักในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่นี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่มองหารถยนต์ที่มีการออกแบบ อันโดดเด่น อรรถประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งมาพร้อมการขับขี่ดีเยียม เหมาะสำหรับ ผู้ที่ชื่นชอบรถสไตล์ Premium Crossover และน่าดึงดูดกว่ารถยนต์ MPV ที่เคยมีมา นั่นเอง
Generation ที่ 3 ของ Toyota Avanza ใหม่ รวมทั้ง เวอร์ชัน Sport ในชื่อ Toyota Veloz ไปจนถึงเวอร์ชันฝาแฝด Daihatsu Xenia ถูกเปิดตัวใน Indonesia เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวใหญ่ สำหรับตลาดรถยนต์ Indonesia เพราะนี่คือการกลับมาทวงแชมป์รถยนต์กลุ่ม Compact Minivan ของ Toyota หลังจากที่โดนคู่แข่งอย่าง Mitsubishi Xpander และ Suzuki Ertiga / XL7 แย่งลูกค้าไปนานหลายปี
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความสำเร็จของ Toyota ในการกลับมาเป็นเจ้าตลาดกลุ่ม Sub-Compact Minivan ในแดนอิเหนา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดก็คือ ตัวเลขยอดขายรถยนต์ใน Indonesia ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา จริงอยู่ว่า Honda Brio ยังคงครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยตัวเลขสูงถึง 19,145 คัน อันดับ 2 เป็น Suzuki Carry Pickup รวม 18,435 คัน อันดับ 3 เป็น Toyota Kijang Innova รวม 18,097 คัน แต่ในที่สุด Toyota Avanza (เวอร์ชันมาตรฐานของ Veloz) ก็แซงกลับขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ได้สำเร็จ ด้วยตัวเลขยอดขายรวม 17,371 คัน กระนั้น อันดับ 5 อย่าง Mitsubishi Xpander ก็ตามมาติดๆด้วยตัวเลข 17,146 คัน ส่วนอันดับ 6 คือ Toyota Veloz 15,722 คัน และถ้านับรวม กันทั้ง Avanza กับ Veloz เท่ากับว่า ยอดขายรวม 2 รุ่น เอาชนะ Xpander ไปได้สำเร็จ ด้วยตัวเลข ถึง 33.093 คัน!! มากกว่ากันถึง 1 เท่าตัว!!!
หลังการเผยโฉมที่ Indonesia ผ่านไปได้ไม่นานนัก Toyota Motors (Thailand) ก็ได้สั่งนำเข้า และจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Mini MPV รุ่นใหม่ เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เรียกได้ว่า ทิ้งช่วงจากตลาดหลักอย่าง Indonesia แค่ 3 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คราวนี้ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ Toyota Motor (Thailand) เลือกที่จะนำเข้า Avanza ใหม่ เข้ามาจำหน่ายเพียงเวอร์ชั่นเดียว นั่นคือเวอร์ชันดุดันกว่าอย่าง Veloz ซึ่งจะมีดีไซน์ภายนอกที่ดู Sport ขึ้นกว่า Avanza รุ่นปกติ ในตลาดต่างประเทศ ดังนั้น ในเมื่อเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งที ก็ควรจะลองเปลี่ยนชื่อรุ่นกันไปด้วย
เหตุผลสำคัญที่มีการเปลี่ยนชื่อจาก Avanza เป็น Veloz สำหรับตลาดเมืองไทย เป็นเพราะ ในอดีตที่ผ่านมา Avanza เอง แม้จะมียอดขายพอไปได้ในเมืองไทย แต่ภาพลักษณ์ของตัวรถรุ่นใหม่นั้น มันพลิกโฉม เปลี่ยนแนวคิดไปจากเดิมมาก จนกระทั่ง ทีมการตลาดมองว่า ไหนๆก็ไหน ควรจะเปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่ เพื่อที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวรถ ในตลาดเมืองไทยเสียใหม่ไปด้วยเลยก็น่าจะดีกว่า
***** ขนาดตัวรถ / Dimension *****
Veloz ใหม่ มีมิติตัวรถภายนอกยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ (Wheelbase) ยาว 2,750 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง ของรุ่น Smart จะอยู่ที่ 1,505 / 1,500 มิลลิเมตร แต่สำหรับรุ่น Premium ที่มีล้อกว้างขึ้น ก็จะมีขนาดเพิ่มเป็น 1,515 / 1,510 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 205 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 43 ลิตร
เมื่อเปรียบเทียบกับ Toyota Avanza รุ่นปี 2019 ที่มีความยาว 4,190 มิลลิเมตร กว้าง 1,660 มิลลิเมตร สูง 1,695 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,655 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance 200 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 45 ลิตร จะพบว่า จะพบว่า Veloz ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมในทุกมิติ ทั้งความยาวที่เพิ่มขึ้นมากถึง 285 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 90 มิลลิเมตร สูงขึ้น 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวขึ้น 95 มิลลิเมตร แต่มีถังน้ำมันเล็กลง 2 ลิตร
กระนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ Honda Mobilio RS Minorchange ที่มีความยาว 4,398 มิลลิเมตร กว้าง 1,683 มิลลิเมตร สูง 1,603 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,652 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance 189 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน : 48.5 ลิตร จะพบว่า Veloz ใหม่ ใหญ่กว่าในทุกมิติ ทั้งความยาวที่มากกว่า 77 มิลลิเมตร กว้างกว่าถึง 67 มิลลิเมตร สูงกว่า 97 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่าถึง 97 มิลลิเมตร และ Ground Clearance ก็สูงกว่า 16 มิลลิเมตร
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ Honda BR-V รุ่นเดิม 7 ที่นั่ง ซึ่งมีความยาว 4,456 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร ระยะห่างจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้นถนน (Ground Clearance) อยู่ที่ 201 มิลลิเมตร จะพบว่า Veloz ใหม่ ยาวกว่า 19 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร แต่สูงกว่า 50 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวกว่าถึง 90 มิลลิเมตร แต่ Ground Clearance สูงกว่าแค่ 4 มิลลิเมตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับ คู่แข่งที่เคยครองตำแหน่ง “ใหญ่สุดในกลุ่ม” อย่าง Mitsubishi Xpander ซึ่งมีความยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance สูงถึง 205 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถ 1,290 กิโลกรัม ถังน้ำมันมีความจุ 45 ลิตร จะพบว่า Veloz ใหม่นั้น Upsize ตัวเอง ขึ้นมา จนมีความยาว ความกว้าง และความสูง รวมทั้ง Ground Clearance เท่ากันกับ Xpander พอดีเป๊ะ!! ทว่า ระยะฐานล้อ ของ Veloz จะสั้นกว่า Xpander 25 มิลลิเมตร
หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Xpander Cross ที่มีความยาวเพิ่มเป็น 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นรถ Ground Clearance 225 มิลลิเมตร กลายเป็นว่า Veloz ใหม่ สั้นกว่า Xpander Cross 25 มิลลิเมตร แคบกว่า 50 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 50 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 25 มิลลิเมตร และมี Ground Clearance เตี้ยกว่า 20 มิลลิเมตร
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ Suzuki Ertiga รุ่นปกติ ซึ่งมีความยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 180 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า (Kerb Weight) มีตั้งแต่ 1,125 – 1,135 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 45 ลิตร จะพบว่า Veloz ยาวกว่า 80 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่า 10 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 10 มิลลิเมตร และมี Ground Clearance สูงกว่า 25 มิลลิเมตร
ขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับ Suzuki XL7 ซึ่งมีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร (ไม่รวมความสูงของราวหลังคา) ระยะฐานล้อยาว 2,740 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 200 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,175 กิโลกรัม จะพบว่า Veloz ยาวกว่า 25 มิลลิเมตร แคบกว่า 25 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวกว่า 10 มิลลิเมตร และ Ground Clearance สูงกว่า 5 มิลลิเมตร
รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior
Veloz ใหม่ ถูกออกแบบขึ้น ภายใต้แนวคิด “Proud Active” คือการผสมผสาน ความภาคภูมิใจในการได้เป็นเจ้าของ เข้ากับบุคลิกกระฉับกระเฉง ในแบบ Crossover SUV ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ต้องเป็นเช่นนี้ เนื่องจาก ความคิดเห็นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ในหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมองว่า Minivan 7 ที่นั่ง แบบเดิมๆ มันเริ่มเชย และผู้คนส่วนใหญ่ อยากได้ รถยนต์ 7 ที่นั่ง ซึ่งมีภาพลักษณ์ในสไตล์ SUV มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ในทุกรายละเอียดของ Veloz จึงถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ตัวรถดูเท่ โฉบเฉี่ยว ทะมัดทะแม่ง และดูสดใหม่ จนใกล้เคียงกับบุคลิกของ Crossover SUV มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระจังหน้าทรง 6 เหลี่ยมพร้อมลวดลายแบบ 3 เหลี่ยม ซ้อนกันเป็น มิติ อยู่ด้านใน มีแถบโครเมียมอยู่ด้านบน เพื่อจะเชื่อมชุดไฟหน้าทั้ง 2 ฝั่ง เข้าด้วยกัน และลาดยาวต่อเนื่องไปจนถึง เสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar โดยชุดไฟหน้า เป็นแบบ LED พร้อมกับ ไฟเลี้ยวแบบ LED Sequential คล้ายกับ Lexus NX และ RX รุ่นปัจจุบัน ส่วนไฟตัดหมอกหน้า จะมีวัสดุตกแต่งกรอบนอกด้วย โครเมียม
ด้านข้างตัวรถ มีฝากระโปรงหน้า ที่ตั้งชันมากขึ้นกว่า Avanza รุ่นเดิม อย่างเห็นได้ชัด ส่วนเส้นคาดข้างลำตัว แบบ 3 มิติ ลากจากชุดไฟหน้า เป็นแนวยาว ต่อเนื่องจรดชุดไฟท้าย รวมทั้งเส้นลวดลาย เหนือซุ้มล้อ ทั้ง 4 เพื่อช่วยเพิ่มมิติ ไม่ทำให้ เห็นระยะห่างจาก ฝาท้าย และเส้นสะเอวของรถ กับซุ้มล้อจริง มากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม แนวกระจกหน้าต่างคู่หลังสุด ที่จงใจลากเส้น ให้ดูลาดลงมาอย่างที่เห็นนั้น หากแยกพินิจดู อาจจะสวย และลงตัว แต่เมื่อจับมารวมกับเส้นขอบกระจกหน้าต่างของรถทั้งคัน กลับทำให้ภาพรวมของเส้นสายตัวรถ อาจจะดูเด่นกว่าคู่แข่ง แต่กลับมีความไม่ลงตัวแอบแฝงอยู่
รุ่น Premium จะเพิ่มอุปกรณ์ตกแต่งชายล่างรอบคัน แถบโครเมียมบริเวณกรอบกระจกหน้าต่าง เสาอากาศแบบครีบฉลาม ชุดไฟท้าย LED แนวยาว แบบ Light Guiding ส่วนที่เปลือกกันชนหลัง จะมีไฟทับทิม แยกออกมาให้ 2 ฝั่งซ้าย – ขวา ซ้อนทับอยู่บนช่องขนาดเล็กสีดำ ส่วนไฟเบรกดวงที่ 3 ซ่อนอยู่ในกระจกบังลมหลัง อยู่ใต้สปอยเลอร์ด้านหลัง
สำหรับล้อและยางนั้น รุ่น Smart จะสวมล้ออัลลอยปัดเงาสี Two-tone ขนาด 16 นิ้ว รัดด้วยยางขนาด 195/50 R16 ส่วนรุ่น Premium จะมาพร้อมล้ออัลลอยปัดเงา สี Two-tone เช่นกัน แต่มีขนาด 17 นิ้ว สวมด้วยยาง Bridgestone T005a Made in Indonesia ขนาด 205/50 R17
********** ภายในห้องโดยสาร / Interior **********
ระบบกุญแจ ของทุกรุ่นย่อย เหมือนกันหมด เป็นกุญแจ Remote Control ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ ดูผ่านๆ จะเข้าใจว่า มีแค่สวิตช์ปลดล็อกเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ความจริงแล้ว สวิตช์สั่งล็อกประตูนั้น อยู่ที่สัญลักษณ์ Toyota สามห่วง ด้านบน นั่นเอง มาพร้อมระบบป้องกันโจรกรรม Immobilizer และ TDS (Theft Deterrent System) จากโรงงาน
ตัวกุญแจรีโมท เป็นแบบ Keyless Smart Entry เพียงแค่พกกุญแจไว้กับตัว แล้วเดินเข้าไปใกล้รถ บริเวณบานประตูฝั่งคนขับ หรือผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย และฝาท้าย เพียงเท่านั้น ไฟ Welcome Light ภายในห้องโดยสาร และใต้กระจกมองข้างจะสว่างขึ้น คุณยังต้องใช้นิ้ว แตะไปยังแถบ 2 ขีด บนมือจับประตูเสียก่อน ระบบ Central Lock จึงจะสั่งปลดล็อกบานประตูทุกบานให้ พร้อมกัน เมื่อนั้น จึงจะเปิดประตูได้ และถ้าต้องการล็อกประตู ก็ใช้นิ้ว แตะไปที่แถบ 2 ขีดเดิม ระบบก็จะสั่งล็อกประตูทุกบานให้เช่นเดียวกัน
การเข้า – ออกจากบานประตู คู่หน้า ทำได้สะดวกขึ้นกว่า Avanza รุ่นเดิมชัดเจนมากๆ คราวนี้ ไม่มีปัญหาศีรษะโขกกับเสากรอบประตูด้านบนอีกต่อไปแล้ว เพราะ ทีมวิศวกร ออกแบบให้ท่อนบนของช่องทางเข้า – ออก นั้น ลดความโค้งมนลงจากรถรุ่นเดิมลงอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก ดังนั้น จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มพื้นที่ ให้คุณหย่อนก้นลงนั่ง แล้วให้ศีรษะลอดเข้าไปในตัวรถ ได้ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน ตอนเดินลงจากรถ เนื่องจากขอบบานประตูด้านล่าง ไม่ได้ปิดคลุมลงไปถึงชายล่างของตัวรถ อีกทั้ง ระยะห่างระหว่างฐานเบาะคู่หน้า กับชายล่างของรถ ค่อนข้างกว้างไปหน่อย นั่นทำให้ คุณอาจต้องทำใจว่า ขากางเกง หรือขากระโปรง อาจจะเปื้อนฝุ่น ดิน โคลน ที่ติดมากับ แผงพลาสติกสีดำ บริเวณชายล่างของรถได้
แผงประตู ทำจากพลาสติก ด้านบนเป็นสีดำ ถัดลงมาเป็นแถบตกแต่งสีเทา บุด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ เกรดเดียวกับที่คุณจะพบได้ในรถยนต์ B-Segment ECO Car ทั่วไป รวมทั้งคู่แข่งอย่าง Mitsubishi Xpander ด้วย คันโยกเปิดประตูเป็นพลาสติกชุบโครเมียม แถมด้วยก้านมือจับขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วย Trim ลาย Carbon Fibre เฉพาะด้านบนเท่านั้น
ส่วนด้านใต้แผง Trim สีเทา จะถูกประดับด้วยไฟ Ambient Light สีฟ้า ซ่อนไว้ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศในตอนกลางคืน ส่วนด้านข้างแผง Trim ถัดออกมา ถูกออกแบบให้มีลาย Graphic แบบ diamond Cut ร่วมยุคสมัย เป็นแนวตัว J
มือจับดึงประตูปิดเข้ามา ออกแบบให้เป็นก้านใหญ่ ยื่นออกมา ต่อเนื่องยาวจรดพนักวางแขน หุ้มหนังสังเคราะห์ ซึ่งสามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอก ส่วนท่อนล่างของแผงประตูคู่หน้า มีช่องวางขวดน้ำ ขนาด 7 บาท ถึง 2 ขวด รวมทั้งสามารถวางสมุดบันทึก หรือข้าวของจุกจิกได้อีกพอสมควร
เบาะนั่งคู่หน้า เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพการนั่งโดยสารให้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับ Avanza รุ่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ ในระดับต่ำสุดนั้น ต่ำกว่า Xpander ลงมานิดเดียวเท่านั้น ไปจนถึงวัสดุหุ้มเบาะ ซึ่งเป็นหนังสังเคราะห์ ตัดสลับกับผ้าคุณภาพดี ระดับเดียวกับที่ใช้ในรถยนต์ Toyota ซึ่งทำตลาดในญี่ปุ่น ให้สัมผัสคล้ายกับ หนังกลับสังเคราะห์ Alcantara อยู่บ้างเหมือนกัน
ตัวเบาะ สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับเอนพนักพิง – ตั้งชัน ได้ ด้วยระบบกลไกคันโยก แต่สำหรับฝั่งคนขับ จะเพิ่มก้านโยกปรับเบาะสูง – ต่ำ ทั้งตัวมาให้ด้วย โดยตัวก้านโยกปรับระดับสูงต่ำของชุดเบาะนั้น ถูกออกแบบให้บางและเบาขึ้น ทั้งด้วยสาเหตุของการลด้นทุน และเพื่อลดการบาดเจ็บของมือที่อาจจะไปกระแทกถูกแผงประตูด้านข้าง ขณะหย่อนมือลงไปปรับระดับเบาะ ระหว่างที่บานประตูคนขับ ปิดอยู่
พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบ “นุ่ม” คล้ายกับ Toyota Vios หรือ Corolla Altis อันที่จริง ก็ออกแบบได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม รองรับแผ่นหลังได้ถึงช่วงสะบัก แต่ด้วยเหตุที่บริเวณกลางหลัง แอบบุ๋มลงไปนิดนึง เมื่อนั่งพิงหลังลงไปเต็มๆ ดังนั้น ถ้านั่งขับขี่ทางไกลเป็นเวลานานๆ อาจมีอาการเมื่อยหลังขึ้นมาได้
ปีกข้างของพนักพิงเบาะคู่หน้า แม้จะออกแบบมาให้นูนออกมาค่อนข้างเยอะ เพื่อให้กระชับ กับสรีระผู้ขับขี่ ได้ประมาณหนึ่ง สำหรับคนตัวใหญ่แล้ว ปีกข้าง จะโอบกระชับลำตัวได้กำลังดี แต่ด้วยเหตุที่ฟองน้ำในปีกข้าง ค่อนข้างนิ่ม ดังนั้น เมื่อเวลารถเข้าโค้ง ปีกเบาะจะไม่สามารถล็อกตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้ายเอาไว้ได้ดีเท่าที่ควร ราวกับถูกออกแบบมาให้สร้างสัมผัสที่กระชับลำตัวขึ้นนิดนึงเสียมากกว่า
พนักศีรษะ ใช้ฟองน้ำแบบ “นุ่มแอบแน่น” ปรับระดับสูง – ต่ำได้ 3 ตำแหน่ง ดูจากรูปทรง และตำแหน่งมุมองศาแล้ว คล้ายว่าน่าจะดันกบาล แต่ถ้าคุณปรับพนักพิงเบาะให้ดีๆ มันแทบจะไม่ค่อยดันศีรษะของคุณเลย
เบาะรองนั่งคู่หน้า ใช้ฟองน้ำแบบ “นุ่มแอบแน่นนิดๆ” เช่นเดียวกับพนักพิงหลัง ความยาวของเบาะรองนั่ง เหมือนจะสั้น แต่อีกเพียงนิดเดียวก็เกือบถึงขาพับแล้ว มีมุมเงยในระดับปกติ การนั่งในภาพรวม นุ่มสบายบั้นท้าย ในแบบที่คล้ายๆกับบรรดา Suzuki รุ่นใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด น่าเสียดายว่า ยังคงไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ เหมือนกับ Avanza อยู่ดี ทั้งที่รถยนต์สมัยนี้ ควรจะมีเข็มขัดปรับระดับได้ มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานได้ตั้งนานแล้ว แต่ถ้าพูดให้ตรงไปตรงมา Minivan จาก Indonesia แทบจะทุกรุ่น ก็ไม่สามารถปรับระดับเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า สูง – ต่ำ ได้อยู่แล้วนี่หว่า
ภาพรวมแล้ว เบาะคูหน้า ดูเหมือนจะนั่งสบาย แต่ถ้าขับขี่ทางไกลในระยะเวลานานๆ ก็อาจจะเมื่อยหลังได้ และถ้าใช้งานกันไปยาวๆ มีแนวโน้มว่า ฟองน้ำของเบาะ ก็อาจจะเริ่มเกิดความนิ่ม เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว เบาะหน้าของ Xpander แอบนั่งสบายกว่า นิดหน่อย
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง สำหรับผู้โดยสารแถว 2 ทำได้สะดวกโยธินอย่างมาก เพราะการเพิ่มขนาดตัวถังให้ใหญ่โตขึ้น ส่งผลให้ ช่องประตู ถูกถ่างขยายออกให้กว้างขึ้นตามไปด้วย แต่บานประตู กางออกได้แค่ระดับประมาณ ไม่เกิน 80 องศา อาจจะไม่ถึงขั้นที่คู่แข่งทำได้ แต่เพียงเท่านี้ก็ถือว่าดีถมถืดแล้ว
กระจกหน้าต่างคู่หลัง เลื่อนลงด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ได้จนสุดรางขอบแผงประตูด้านข้าง ซึ่งออกแบบมาให้มีพนักวางแขน เป็น Bar ยาวๆ สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดี ตั้งแต่ข้อศอก จรดปลายนิ้ว ปลายสุดของพนักวางแขน เป็นช่องวางแก้วน้ำดื่ม ที่ถูกยกระดับขึ้นมาจากด้านล่าง มาอยู่ตรงกึ่งกลางของแผงประตู สไตล์เดียวกับ รถตู้ Hyundai Staria ยอมรับเลยว่า ตำแหน่งช่องวางแก้วที่ย้ายขึ้นมานี้ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากขึ้นจริงๆ ส่วนด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่เอกสาร และช่องใส่ขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท มาให้
เบาะนั่งแถวกลาง เคยเป็นจุดขายสำคัญของ Avanza รุ่นที่แล้ว ทว่า มาคราวนี้ Veloz ใหม่ ถูกปรับปรุงให้มีเบาะนั่งแถว 2 ที่ดีขึ้นกว่าเดิมในภาพรวม สามารถปรับคันโยกใต้เบาะ ทั้งฝั่งซ้ายและ ขวา แยกอิสระจากกัน เพื่อเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้มากถึง 240 มิลลิเมตร นอกจากนี้ ตัวพนักพิงหลัง ยังสามารถแยกปรับเอนหรือพับราบ รวมทั้งพับและยกหงาย (Flip) ขึ้นไปข้างหน้า เพื่อเปิดช่องทางเข้าออกสำหรับผู้โดยสารแถว 3 ได้ด้วยคันโยกข้างเบาะ เท่าที่ทดลองขยับดู พบว่า สามารถปรับเอนจนแทบจะนอนได้ รวมประมาณ 33 ระดับ! และแยกปรับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40
พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบนุ่มเกือบนิ่ม สไตล์เดียวกับ Suzuki ออกแบบให้เว้าลงไปเพียงเล็กน้อย แต่รองรับแผ่นหลัง ได้ดี ตั้งแต่ช่วงกลางหลังลงไป อาจจะรู้สึกเหมือนแบนราบ แต่จริงๆแล้ว ไม่แบนราบเท่ากับ Avanza รุ่นก่อนๆ ทำออกมาได้ไม่เลว เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ก็ใช้ฟองน้ำแบบนุ่ม แต่หนา มีความยาวเหมาะสมสำหรับเด็ก แต่อาจจะสั้นไปนิดสำหรับผู้ใหญ่ กระนั้น ยังมีมุมเงยที่พอดี ไม่ต้องนั่งชันขา เหมือน Avanza รุ่นก่อนๆ
พนักวางแขนตรงกลางนั้น ไม่มีมาให้ก็จริง แต่ทีมออกแบบก็ใช้วิธี ทำเบาะตรงกลาง ให้สามารถพับลงมาได้ เพื่อให้วางแขนได้ ในระดับพอดีๆ แต่วางบนด้านหลังตัวเบาะ ซึ่งหุ้มล้อมรอบด้วยผ้า
พนักศีรษะแถว 2 เป็นแบบตัว L คว่ำ ตามปกติของ Minivan ญี่ปุ่นทั่วไป หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ แน่นอนว่า ถ้าคุณไม่ได้ยกขึ้นใช้งาน ขอบด้านล่างจะทิ่มตำกลางแผ่นหลังของคุณไปตลอดการเดินทาง แต่คราวนี้ สิ่งที่แตกต่างไปก็คือ เมื่อคุณยกขึ้นใช้งาน (ซึ่งก็ล็อกได้เพียง 1 ตำแหน่ง เท่านั้น) คุณจะพบว่า นอกจากด้านบนแล้ว ขอบด้านล่าง มันแทบไม่มีแกนกลางใดๆอยู่ข้างในเลย คุณสามารถเอานิ้วจิ้มเข้าไป มันก็จะมีฟองน้ำยืดหยุ่น นิ่มๆ และคืนรูปได้ ข้อดีคือ มันให้ความสบายประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ผมแอบสงสัยว่า แกนกลางที่มีอยู่ข้างในของพนักศีรษะ จะรับมือกับแรงเหวี่ยงกระแทกของศีรษะผู้โดยสาร ขณะเกิดการปะทะได้มากน้อยแค่ไหน?
เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยที่ ตำแหน่งผู้โดยสารตรงกลางนั้น สายเข็มขัดจะถูกติดตั้งฝังไว้บนเพดานหลังคา เพื่อความปลอดภัย ดังนั้น โอกาสที่สายเข็มขัดจะพาดคอ ก็เป็นไปได้สูง อยากให้สำรวจดูสรีระของผู้โดยสาร ก่อนใช้งาน จะเป็นการดี
พื้นที่เหนือศีรษะนั้น ไม่ต้องห่วง สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร คุณจะเหลือพื้นที่ด้านบน มากถึง 10 นิ้วมือในแนวนอน (2 ฝ่ามือในแนวนอน) ส่วนพื้นที่วางขานั้น ในตำแหน่งปกติ จะเหลือพื้นที่โล่งพอให้นั่งไขว่ห้างได้ ถึง 2 ห้าง (ถ้าคุณทำได้) แต่ถ้าต้องปรับเบาะเผื่อพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถว 3 พื้นที่วางขาก็อาจจะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งถ้าเลื่อนเบาะแถวกลางขึ้นไปชนกับเบาะหน้า ก็จะไม่เหลือพื้นที่วางขาใดๆเลยทั้งสิ้น
ภาพรวมของเบาะหลังนั้น ไม่ค่อยต่างจากเบาะหน้าเท่าไหร่นัก ให้ความสบายพอสมควร แม้จะให้สัมผัสคล้ายกับนั่งบนไม้กระดานที่มีแอ่งเว้ารับนิดนึง แต่ภาพรวมถือว่า Ok กระนั้น ถ้าเทียบกับคู่แข่งร่วมพิกัดแล้ว เบาะหลังของ XL7 ก็แอบจะสบายกว่า Veloz นิดหน่อย
การก้าวขึ้น – ลง จากเบาะแถว 3 ได้อานิสงค์ จากการออกแบบช่องประตูให้มีความกว้างยาวขึ้นเยอะมาก เมื่อเทียบกับรถรุ่นก่อน ขนาดคนตัวอ้วนอย่างผม ยังก้าวเข้า – ออก จากเบาะแถว 3 ได้สะดวก โดยไม่มีอะไรให้ต้องบ่นเลย เมื่อคิดถึงขนาดของตัวรถ เพียงแต่อาจต้องก้มตัว และใช้ความระมัดระวังขณะลุกออกจากรถเยอะหน่อย ก็เท่านั้นเอง
เบาะแถวที่ 3 อันเป็นเบาะแถวหลังสุด มีความกว้าง 700 มิลลิเมตร แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 50 : 50 สามารถแยกปรับพนักพิงหลัง เอน – ตั้งชัน หรือพับลงมาให้แบนราบ ได้อิสระ ตัวพนักพิงหลัง ปรับเอนได้ 8 ตำแหน่ง ตัวพนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบนิ่ม ให้สัมผัสเหมือนนั่งอยู่บนไม้กระดานที่มีฟองน้ำนิ่มๆ หนุนอยู่ที่แผ่นหลังของคุณ อันที่จริง ก็ถือว่า นั่งพอสบาย ไม่เลวร้ายแต่อย่างใด ส่วนเบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำแบบนิ่ม เหมือน Suzuki ในแง่การนั่ง ก็ไม่แตกต่างจากเบาะแถว 3 ของ Minivan จาก Indonesia คันอื่นๆ คือ นั่งได้ พอสบายในระดับหนึ่ง
พนักศีรษะแถว 3 เป็นแบบตัว L คว่ำ เหมือนแถว 2 แต่มีขนาดเล็กกว่านิดเดียว และหุ้มด้วยผ้าแบบสาก ยกขึ้นใช้งาน ล็อกได้ 1 ตำแหน่ง เท่านั้น ถ้าไม่ได้ยกขึ้นใช้งาน ขอบด้านล่างจะทิ่มตำกลางแผ่นหลังของคุณเช่นเดียวกับ พนักศีรษะเบาะแถว 2 ไม่เพียงเท่านั้น ขอบด้านล่าง ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย คือ คุณสามารถเอานิ้วจิ้มเข้าไป ฟองน้ำนิ่มๆ ก็จะย่นถอยหลัง และคืนรูปได้ นอกจากนี้ ยังมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด มาให้ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา
พื้นที่เหนือศีรษะนั้น ต่อให้คุณจะมีสรีระสูง 170 เซ็นติเมตร แบบผม หรือสูงถึง 181 เซ็นติเมตร อย่าง น้อง Mark Pongswang สมาชิกในทีมเว็บเรา ถ้านั่งเอาก้นชิดกับเบาะ ก็จะยังนั่งได้สบายพอดี ศีรษะ จะพอดีเป๊ะกับแอ่งเว้าบนเพดานหลังคา ที่ออกแบบมาเผื่อเรื่อง Headroom ไว้ให้ระดับหนึ่ง แต่ต้องคอยเตือนผู้ขับขี่ว่า เมื่อเจอเนินสะดุด หลุมบ่อ ลูกระนาด อาจต้องขับช้าๆหน่อย มิเช่นนั้น ผู้โดยสารแถว 3 จะลอยขึ้นไป หัวโขกชนกับเพดานหลังคาอย่างแน่นอน แม้ใช้ความเร็วต่ำแค่ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ตาม
ส่วนตำแหน่งวางขานั้น ไม่ว่าคุณจะตัวสูง หรือเตี้ยแค่ไหน ยังไงๆ คุณก็ต้องนั่งชันขา อยู่ดี ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารแถว 2 ว่า จะปรับเบาะขึ้นไปข้างหน้าให้คุณ มากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาเห็นใจคุณ ปรับเลื่อนเบาะขึ้นไปข้างหน้าเยอะหน่อย ก็จะเหลือพื้นที่วางขาเยอะหน่อย พอให้สอดขา เข้าไปใต้เบาะรองนั่งแถว 2 ได้อยู่
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ฝั่ง ปลดล็อกด้วยกลอนไฟฟ้า ยกเปิดขึ้นสูง แต่ไม่มีระบบตัวช่วยทั้ง เตะเปิดด้วยไฟฟ้า หรือ เปิด-ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ใดๆทั้งสิ้น มีไล่ฝ้า ไฟฟ้า ไฟเบรกดวงที่ 3 และใบปัดน้ำฝนหลัง รวมทั้ง หัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง ตามปกติ ที่รถยนต์ท้ายตัดทั่วไป พึงต้องมี
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังนั้น ไม่ได้มีการระบุความจุออกมาชัดเจน ที่แน่ๆ การพับเบาะที่ทำได้มากถึง 7 รูปแบบ ช่วยเพิ่มความอเนกประสงค์ ได้มาก ถึงขั้นที่ว่า สามารถปรับพับเบาะเพื่อให้เอนนอนราบได้ยาวๆ เหมาะแก่การไปตั้งแคมป์ กับคนที่คุณรักแน่ๆ
ผนังด้านข้าง ออกแบบขึ้นรูปเป็นพนักวางแขน สำหรับผู้โดยสารแถว 3 ทำจากพลาสติกแข็ง Recycle สามารถวางแขนได้ในระดับพอดี ทั้ง 2 ฝั่ง จะมีช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง และด้านบน จะมีช่องวางโทรศัพท์มือถือมาให้ แต่สำหรับฝั่งขวา จะมีปลั๊กชาร์จไฟ 12V แถมมาให้อีก 1 ตำแหน่ง ขณะที่ฝั่งซ้าย จะมีไฟส่องสว่างสำหรับพื้นที่เก็บสัมภาระในยามค่ำคืน
พื้นห้องเก็บสัมภาระ สามารถยกขึ้น เพื่อจะเห็นถาดโฟม Recycle ที่สามารถใส่ของ รวมทั้งเครื่องมือประจำรถ และแม่แรงสำหรับช่วยเปลี่ยนยางได้ ขณะที่พื้นฝั่งซ้าย จะเป็นถาดใส่ของพลาสติก ที่รองรับได้ตั้งแต่อาหารสด ไปจนถึงรองเท้า ขณะที่ยางอะไหล่ จะถูกซ่อนไว้ใต้ท้องรถ เหมือนเช่นรถกระบะ หรือ SUV/PPV
แผงหน้าปัด ถูกออกแบบ ภายใต้แนวคิด Proud Active เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ภายนอก ออกแบบให้ดูโฉบเฉี่ยว สอดคล้องไปกับแผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง ใช้โทนสี ดำ ตัดกับ เทา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตำแหน่งสวิตช์และอุปกรณ์ต่างๆ (User Interface) ถูกจัดวางไว้ให้อยู่ใกล้มือผู้ขับขี่ สามารถคลำหาและกดหรือหมุนใช้งานได้ทันที ช่วยลดการละสายตาจากถนน ขณะเดียวกัน มีการจัดวางแผงหน้าปัดให้สมดุลกับตำแหน่งนั่งขับของผู้ขับขี่ ได้ดีขึ้น
แผงหน้าปัดด้านบน มีการกัดขึ้นลายพลาสติก ให้ดูสวยงามร่วมสมัย แต่น่าเสียดายว่า แทบไม่มีการบุนุ่มหุ้มหนังใดๆมาให้เลย มีแค่บริเวณแผงประดับบริเวณฝั่งซ้าย ติดกับช่องแอร์ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายเท่านั้น ที่หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์มาให้ พร้อมประดับด้วยตราสัญลักษณ์ VELOZ
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องที่ผมแอบงุนงงก็คือ ช่องวางแก้ว บริเวณ ช่องแอร์ ออกแบบมาไม่เหมือนกัน โดยฝั่งขวาสำหรับผู้ขับขี่ ถูกออกแบบเป็นชิ้นงานพลาสติกขึ้นรูปตายตัว ขณะที่ฝั่งซ้าย สำหรับผู้โดยสาร กลับออกแบบให้เลื่อนเข้า-ออก ได้ อันที่จริงแล้ว ออกแบบมาทั้งที ก็น่าจะทำออกมาให้เหมือนหรือคล้ายกันทั้ง 2 ฝั่ง กันไปเลยมากกว่า
มองขึ้นไปด้านบน เพดานหลังคา ใช้โทนสีสว่าง เปลี่ยนมาใช้วัสดุ Recycle แบบเดียวกับรถยนต์ทั่วไปกันเสียที ส่วนกระจกมองหลังยังคงเป็นแบบมาตรฐาน ตัดแสงไฟหน้ารถคันข้างหลังในยามค่ำคืน ด้วยก้านโยกตรงกลาง ถัดเข้ามาเป็น แผงควบคุมไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ LED 2 ฝั่ง แบบกดลงไปที่ชุดไฟได้เลย ความสว่างนั้น ชวนให้นึกถึง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ตามตึกแถวในตัวเมือง
แผงบังแดด จะมีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาปิด และไฟแต่งหน้า มาให้เฉพาะฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายเท่านั้น ไม่เข้าใจว่าทำไม Toyota ถึงไม่ยอมติดตั้งมาให้กับฝั่งคนขับด้วย เขาไม่คิดว่า คนขับอยากจะใช้กระจกแต่งหน้าบ้างหรืออย่างไรกันหนอ?
จากขวา ไปซ้ายสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น ที่เป็นแบบ Auto One Touch เลื่อนขึ้น หรือลง ด้วยการกด หรือยกสวิตช์เพียงครั้งเดียว รวมทั้งสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า ติดตั้งบนแผงประตู
ใต้ช่องแอร์ และช่องวางแก้วฝั่งขวาสำหรับผู้ขับขี่ เป็นสถานที่พำนักของ สวิตช์ เปิด-ปิด ระบบเพิ่มความปลอดภัยก่อนการชน PCS (Pre-collision System) สวิตช์เปิด-ปิด ไฟหน้า สูง-ต่ำอัตโนมัติ AHB (Auto High-Beam) และ สวิตช์ เปิด-ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC และ TRC Traction Control ถัดลงไปเป็นช่องใส่เศษเหรียญ และคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า
พวงมาลัย เป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มด้วยหนัง ประดับ แผง Trim ที่ครึ่งท่อนล่างของวงพวงมาลัย มาเป็นวัสดุลายคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ รวมทั้ง ปรับระยะใกล้ – ห่าง จากลำตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ได้
แผงสวิตช์ควบคุม Multi-Function บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ไว้เลือก Mode ของชุดเครื่องเสียง เลือกเปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือเปลี่ยนเพลง รวมทั้งสวิตช์รับหรือวางโทรศัพท์ และ สวิตช์ DRIVE สำหรับเลือกโปรแกรมการขับขี่ ECO หรือ Sport ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย มีสวิตช์ เลือกควบคุมหน้าจอ Multi Information Display ส่วนด้านล่าง เป็นสวิตช์ควบคุมระดับเสียง (Volume) และกล้องมองหลัง ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวสวิตช์วงกลม กดขึ้นลงซ้ายขวา ได้นั้น หน้าตาคล้ายกับสวิตช์ของ Mitsubishi Motors อยู่เหมือนกัน
ก้านสวิตช์ บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ใช้สำหรับ เปิด-ปิด ไฟเลี้ยว ไฟหน้าแบบ Auto ไฟสูง แบบ AHB ไฟตัดหมอกหน้า ส่วนก้านสวิตช์ บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย มีไว้ควบคุม ใบปัดน้ำฝนพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลม ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง สามารถปรับระดับและหน่วงเวลาการปัดได้
ชุดมาตรวัด นั้น เปลี่ยนจากแบบเข็ม Analog มาเป็นแบบ Digital TFT ขนาด 7 นิ้ว โดยแบ่งพื้นที่ฝั่งขวา ไว้สำหรับ แสดงความเร็วเป็นตัวเลข Digital สีขาวนวล ตัวเลขใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่า พร้อมไฟสัญญาณเตือนต่างๆ และมีมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแถบ สีขาวนวล อยู่ด้านล่าง ขณะที่ฝั่งซ้าย จะเป็นจอ Monitor แสดงมาตรวัดรอบ และสถานะและการแจ้งเตือนของระบบต่างๆในรถยนต์ รวมทั้ง มาตรวัด อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง Trip Meter ,Trio Computer มาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถ โปรแกรมขับขี่ (Eco Power) จะอยู่ด้านล่างฝั่งซ้าย ส่วนไฟแจ้งระบบตัวช่วยต่างๆ อยู่ฝั่งซ้ายของหน้าจอ แถมเสียงไฟเลี้ยว ยังเลือกเปลี่ยนได้ถึง 3 แบบ อีกด้วย!!
หากคุณเป็นลูกค้าทั่วไป ก็คงจะเข้าใจว่า ชุดมาตรวัดถูกออกแบบขึ้นใหม่ จนดูล้ำเกินหน้าคู่แข่งไปไกล เห็นแล้ว ร้อง Wow! ทำไม ถึงสวย และมี Graphic ให้เลือก เปลี่ยน Theme Design หน้าจอ ได้มากถึง 4 แบบ ตามที่เห็นในภาพประกอบข้างบนนี้
แต่ถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกต และขยันเปิดดูความเคลื่อนไหว ของรถยนต์ ในตลาดญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ (ซึ่งก็คงมีไม่กี่คนนักหรอกที่ทำเช่นนี้) คุณจะพบว่า ชุดมาตรวัดของ Veloz นั้น ยกชุดมาจาก Toyota Raize / Daihatsu Rocky คู่แฝด Small SUV ที่มีจำหน่ายในญี่ปุ่น ทั้งยวง!
ด้านความบันเทิง Veloz ถูกติดตั้ง เครื่องเสียงพร้อมจอ Monitor สี Touchscreen โดยรุ่น Smart หน้าจอจะมีขนาด 8 นิ้ว ส่วนรุ่น Premium นั้น จะ Upgrade ขนาดจอ เป็นมาเป็น 9 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay กับ Android Auto และ การเชื่อมต่อ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ Gadget ต่างๆ ผ่านสัญญาณ Bluetooth พร้อมช่องเสียบ USB ติดตั้งไว้ที่ใต้แผงหน้าปัด และลำโพง 6 ตำแหน่ง รวมทั้งแสดงภาพจากกล้องมองรอบคัน 360 องศา ซึ่งติดตั้งที่ด้านหน้า ใต้กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง และบริเวณไฟอ่านป้ายทะเบียนด้านหลังรถ
หน้าจอ ลื่นใช้ได้ประมาณหนึ่ง ใช้งานได้ดีพอสมควร แต่คุณภาพเสียง ยังไม่ดีเท่าหน้าตาของหน้าจอ เสียงใสก็ใสไป ไม่มีมิติใดๆทั้งสิ้น เสียงทุ้ม ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ นอกจากนี้ ตำแหน่งของช่องเสียบ USB ติดตั้งอยู่ด้านข้าง ฝั่งซ้าย ของแผงควบคุมกลาง อาจให้ความสะดวกกับผู้โดยสารด้านหน้าหนะจริงอยู่ แต่สำหรับผู้ขับขี่แล้ว การจะต้องเอื้อมไปหาช่องเสียบ USB มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แถมยังต้องเดาให้ได้อีกว่า ช่องไหน เสียบ Car Play ได้ อีกต่างหาก ไม่สะดวกเลย อยากให้เปลี่ยนตำแหน่งติดตั้งช่อง USB ให้เพิ่มความสะดวกต่อการใช้งานของทุกคนมากกว่านี้
จากซ้าย ไป ขวา ด้านบนของแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย จะเป็นช่องติดตั้ง ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร ซึ่งมีขนาดเล็กลง ถัดลงมาจากแผงตกแต่งสีเทา หุ้มหนัง พร้อมสัญลักษณ์ VELOZ จะเป็น กล่องเก็บของ พร้อมฝาปิด Glove Compartment เมื่อเปิดลงมาแล้ว มีลักษณะคล้าย ช่องใส่เอกสาร จำพวกสมุดคู่มือประจำรถ และกรมธรรม์ประกันภัย เพียงเท่านั้น พื้นที่ข้างในกล่อง ไม่ได้เยอะอย่างที่คาดหวัง
ใต้หน้าจอชุดเครื่องเสียง เป็นช่องแอร์คู่กลาง ประดับด้วย Trim สีเงิน มีสวิตช์ไฟฉุกเฉินคั่นกลางตามมาตรฐาน ถัดลงมาเป็น แผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ไม่สามารถแยกฝั่งซ้าย – ขวาได้ แต่ มีสวิตช์ เปิด – ปิดการทำงาน ระหว่าง ด้านหน้า และ Blower ด้านหลัง
ถัดลงมาเป็น แผง Trim สีดำเงา Piano Black ไฟสัญญาณเตือนให้ผู้โดยสาร ด้านหลัง คาดเข็มขัดนิรภัย ติดตั้งไว้ฝั่งซ้ายของ ปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start ส่วนด้ามคันเกียร์ วางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งาน เอาใจคนชอบขับรถมากขึ้น
บริเวณคอนโซลกลาง คั่นระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ตกแต่งด้วย Trim สี Piano Black เป็นตำแหน่งติดตั้ง สวิตช์เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold ถัดลงมาเป็นแท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือ Wireless Charger และกล่องเก็บของด้านใน ที่มีขนาดใหญ่พอจะใส่กล้องถ่ายรูปได้ 1 ตัว โดยมีฝากล่องคอนโซลกลาง ออกแบบเป็นพนักวางแขน หุ้มหนังสังเคราะห์ สามารถวางแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอก
ด้านหลังกล่องคอนโซล เป็นช่องวางแก้ว แบบมีฝาพับปิด ถัดลงไปด้านล่าง เป็น ช่องเสียบ USB 2.1 A อีก 2 ตำแหน่ง สำหรับให้ผู้โดยสารแถวกลาง ชาร์จโทรศัพท์มือถือ ของตน ซึ่งใช้งานได้จริง
มองขึ้นไปด้านบนหลังคา คุณจะพบ มือจับศาสดา ยึดเหนี่ยวจิตใจ 3 ตำแหน่ง (ผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย และผู้โดยสารแถวกลางทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้ง พัดลม Blower 4 ระดับความแรง ที่รับความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ มากระจายต่อให้กับผู้โดยสารแถวกลาง และแถว 3 อย่างไรก็ตาม การออกแบบช่องลมนั้น มีความแปลกประหลาดกว่ารถยนต์ Minivan ทั่วไป นั่นคือ แทนที่จะมีแค่ช่องแอร์ ปรับสูง – ต่ำ ซ้าย – ขวา ตามปกติ ทว่า คราวนี้ มีแผงบังกระแสลมมาให้ ซึ่งในการใช้งานจริงนั้น ไม่ค่อยดีนัก เพราะมันบังทิศทางกระแสลม ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร ก็เป็นอีกสิ่งที่คงต้องขอพูดถึง เนื่องจากว่า แสงไฟนั้น สว่างจ้ามากๆในยามค่ำคืนก็จริง แต่ด้วยเหตุที่แสงเป็นแบบ สีขาว Cool White (เทียบกับหลอดไฟตามบ้าน) ทำให้แสงไม่ค่อยนวลละมุนตา แถมยังสว่างจ้าและแยงตาเอาเรื่องเลยทีเดียว จนต้องถามเลยว่า คนออกแบบ Lighting ของ Veloz เนี่ย ตั้งใจเผื่อไว้ ในวันที่บ้านลูกค้าไฟดับใช่ไหม?
ทัศนวิสัย ของ Veloz นั้น ถือว่าโปร่งตารอบคัน เพียงแต่ว่า สำหรับคนที่มีสรีระไม่สูงนัก หากคุณเป็นคนขับ และอยากจะเห็นฝากระโปรงหน้ารถ ขณะขับขี่ จำเป็นต้องยกเบาะนั่งฝั่งคนขับให้สูงขึ้นตามความเหมาะสม มิเช่นนั้น ถ้านั่งในตำแหน่งต่ำสุด คุณจะแทบมองไม่เห็นฝากระโปรงหน้ารถเลย แต่นอกนั้น การมองเ็นสภาพการจราจรข้างหน้า ก็จะสูงกว่ารถเก๋งทั่วไปนิดหน่อย
ทัศนวิสัยของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวาและซ้าย ต้องยอมรับว่า แม้จะมีกระจกหูช้างขึ้นมาขัดหูขัดตาอยู่บ้าง จากการย้ายตำแหน่งของกระจกมองข้าง เข้ามาให้ใกล้ผู้ขับขี่ขึ้นอีกนิดหน่อย แต่แน่นอนว่า การมองเห็นยานพาหนะขนาดเล็ก ที่เคยอยู่ในมุมอับสายตานั้น ถือว่าดีขึ้น และช่วยเพิ่มทัศนวิสัย ขณะเลี้ยวกลับได้ดีพอสมควร ส่วนขอบ กระจกมองข้างด้านนอก ของทั้ง 2 ฝั่ง นั้น ถูกบดบังพื้นที่โดยกรอบพลาสติก น้อยมาก เพียงแต่ว่า ครึ่งท่อนล่าง พื้นที่กระจกมองข้าง ถูกบีบให้เล็กไปหน่อย อาจมองเห็นพื้นที่ด้านข้าง ขณะถอย ไม่ครบเท่าที่ควร
ทัศนวิสัยของเสาหลังคาคู่หลัง C และ D-Pillar มองผ่านๆ จากในรูป เหมือนจะโปร่ง แต่เอาเข้าจริง ถ้าคุณต้องเปลี่ยนเลนเข้าช่องทางคู่ขนาน สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ แนวสอบลาดของกรอบหน้าต่างคู่หลังสุด อาจบดบังรถคันที่แล่นมาจากทางด้านหลังซ้ายของคุณได้ในบางจังหวะ จึงควรใช้ความระมัดระวัง ก่อนจะเปลี่ยนเลน หรือ เข้าช่องทางคู่ขนาน อีกด้วย
******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
*********** Technical Information & Test Drive ***********
เหตุผลสำคัญในการเปลี่ยนชื่อรุ่นจาก Avanza มาเป็น Veloz นั่นคือ ความจงใจของ Toyota ที่จะสื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบงานวิศวกรรม ของ Minivan ใหม่คันนี้ จากระบบขับเคลื่อนล้อหลัง บนพื้นตัวถังของ Daihatsu Terios รุ่นแรก ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1997 มาเป็น ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า วางลงบนพื้นตัวถังใหม่ DNGA (Daihatsu New Global Platform)
ในเมื่อ เปลี่ยนมาใช้ Platform ใหม่ ดังนั้น ขุมพลัง ก็ควรจะใหม่ตามไปด้วย Toyota จึงวางเครื่องยนต์ใหม่ ให้ Veloz เป็นรหัส 2NR-VE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.5 x 90.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-i ตามเดิม ก็จริง แต่เป็นเวอร์ชันขับเคลื่อนล้อหน้า อันที่จริง ขุมพลังรหัสนี้ ถูกติดตั้งอยู่ในรถยนต์หลายรุ่นของ Daihatsu อยู่แล้ว และมีหลายเวอร์ชัน ไม่เว้นแม้กระทั่ง เวอร์ชัน 97 แรงม้า (PS) ที่ประจำการอยู่ในรถตู้ขนาดเล็ก Gran Move หรือ รถกระบะเล็ก Gran Max
กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้น จาก 103 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที เป็น 106 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เพิ่มขึ้นจาก 134 นิวตันเมตร (13.6 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที เป็น 138 นิวตันเมตร (14.1 ก.ก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุดถึงระดับ Gasohol E20 และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพียง 132 กรัม/กิโลเมตร ตามมาตรฐาน ECo Sticker วัดโดยสถาบันยานยนต์ ของรัฐบาลไทย
นอกจากจะเปลี่ยนจากระบบขับเคลื่อนล้อหลัง มาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าแล้ว คราวนี้ Toyota ยังเปลี่ยนระบบส่งกำลัง จากเดิม เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ กลายมาเป็นเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อม Sequential Shift ที่คันเกียร์ ซึ่งถูกปรับปรุงให้มีช่วงอัตราทดเกียร์กว้างขึ้น และมีเสียงรบกวนลดลง
อัตราทดเกียร์ขับเคลื่อนอยู่ที่ 3.484 – 0.562
อัตราทดเกียร์ถอยหลังอยู่ที่ 3.733 – 1.906
อัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.941
จากการทดลองตามมาตรฐานของเรา ยังคงทำการทดลองด้วยวิธีจับเวลากันในช่วงกลางดึก เหมือนเช่นเคย อุณหภูมิอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส โดยยังคงยึดมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้ร่วมทดลอง รวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม เปิดไฟหน้า เพิ่ม Load ให้เครื่องยนต์นิดๆ ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทเดียวกันที่เราเคยทำการทดลองไว้ มีดังนี้
ความเร็วบนมาตรวัดเทียบความเร็วบน GPS
- ความเร็วบนมาตรวัด 100 km/h >> GPS 95.5 km/h
- ความเร็วบนมาตรวัด 110 km/h >> GPS 105.5 km/h
จากตัวเลขในกลุ่ม Mini MPV จะพบว่า อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Veloz อยู่ในช่วงกลางๆของตาราง เป็นรองเพียงแค่ Honda Mobilio , Honda BR-V และ Suzuki Ertiga 1.5 ลิตร รุ่นปัจจุบัน เท่านั้น ที่เหลือ Veloz เอาชนะ ทั้ง Suzuki XL7 , Mitsubishi Xpander ทั้งรุ่นปกติ และ Xpander Cross ได้อย่างง่ายดาย แน่นอนว่า อัตราเร่งของ Veloz ก็ยังดีกว่า Avanza รุ่นเดิม ที่เราเคยทำตัวเลขเอาไว้ เมื่อปี 2012 รวมทั้งญาติร่วมค่าย อย่าง Toyota Sienta อีกด้วย
แหงสิ ก็ตัวเลขที่ออกมา มันไวเท่ากับ Toyota Soluna Vios รุ่น Britney Spears (2002 – 2007) นี่หว่า! รุ่นนั้น ผมจับเวลาไว้ในปี 2003 ทำได้ 12.59 วินาที เอาละ อย่างน้อย Toyota ก็แก้ปัญหาเรื่องอัตราเร่งช่วงออกตัว อืดอาด ใน Avanza ได้แล้วละ
อย่างไรก็ตาม ในเกมจับเวลา ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องยอมรับว่า ตัวเลขของ Veloz ซึ่งก็ยังอยู่ในลำดับกลางๆ ของตารางเช่นเดียวกันนั้น กลับยังด้อยกว่า Sienta ราวๆ 0.3 วินาที และด้อยกว่า Ertiga 1.5 ลิตร รุ่นปัจจุบัน ถึง 0.6 วินาที นี่ยังไม่นับรวมตัวเลขของ Mobilio และ BR-V ซึ่งให้อัตราเร่งแซงได้ไวกว่าอย่างชัดเจนมากๆ แม้ว่าในบางช่วงของการจับเวลา Veloz จะทำตัวเลขได้ไวถึง 10.4 วินาที แต่มันก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 10.7 – 10.8 วินาที ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่ามาก เราจึงเลือกนำค่าที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด มาใช้ในการหาค่าเฉลี่ยกัน
ด้านความเร็วสูงสุดนั้น ต้องใช้เวลาในการไต่ขึ้นไป นานเอาเรื่องประมาณหนึ่ง แต่ก็ถือว่า อืดอาดแบบเดียวกัน และไม่เกินไปกว่า คู่แข่งร่วมพิกัดคันอื่นๆ การไต่ขึ้นไปบนพื้นราบธรรมดา ถ้าได้ 173 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ถือว่าเต็มที่แล้ว แต่หลังจากไต่ขึ้นและลงเนินลาดชัน เข็มความเร็วจะขึ้นไปสุดที่ 178 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังจากนั้น ลิ้นคันเร่งจะหรี่ลง ทำให้เข็มความเร็วค่อยๆถอยหลังกลับลงมา อยู่ที่ 176 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,500 รอบ/นาที อันเป็นความเร็วสูงสุด ที่เกิดขึ้นจริง
ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี
ในการขับขี่จริงนั้น ดูเหมือนว่า Toyota ตั้งใจเซ็ตให้อัตราเร่ง ช่วงออกตัว จนถึงความเร็ว ระดับ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ค่อนข้างเร็ว ทันทีที่เท้าขวาแตะคันเร่งอย่างแผ่วเบา หรือกระทืบคันเร่งจมมิดตีนปุ๊บ ตัวรถดีดออกได้ค่อนข้างดี ให้สัมผัสว่ากระฉับกระเฉงกว่า Mitsubishi Xpander ชัดเจน แบบไม่ต้องสืบ แต่ถ้าเทียบกับ Ertiga แล้ว ต้องยอมรับว่า Suzuki ทำผลงานได้ดีกว่าเล็กน้อย เพราะ เครื่องยนต์ Suzuki นั้น ส่วนใหญ่จะมีเรี่ยวแรงต่อเนื่อง ในช่วงรอบกลางๆ จนถึงช่วงปลายๆ
สิ่งที่ต้องทำใจก็คือ แม้ว่าอัตราเร่งตอนออกตัวนั้น ดีดออกดีจริง แต่ช่วงเร่งแซง กลับทำได้ค่อนข้างล่าช้า อืดอาด ไม่แตกต่างจาก บรรดา Minivan แดนอิเหนา รุ่นอื่นๆ สักเท่าไหร่ ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นนัก ยิ่งถ้าต้องการเร่งแซงแล้วละก็ หากคุณแค่ต้องการแซงผ่านรถคันข้างหน้าไปแบบเรื่อยๆ ตามความเร็ว เกาะกลุ่มกับการจราจรไป ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณต้องการเร่งแซงรถสิบล้อ บนถนนแบบสวนกันสองเลน คงต้องขอแนะนำว่า กะระยะเอาไว้แต่เนิ่นๆ ให้มั่นใจว่า ไม่มียานพาหนะแล่นสวนทางมาในระยะ สายตามองเห็น และควรกระทืบคันเร่งจมมิดเต็มตีน ในทันทีที่ต้องเร่งแซงทันที! หรือในบางกรณี ก็อาจต้องสะสมความเร็วมาประมาณครึ่งชีวิตคุณอยู่เหมือนกัน
เมื่อช่วงรอบกลางๆ ยังอืด ไม่ต่างจาก Minivan แดนอิเหนารุ่นอื่นๆ ดังนั้น รอบเครื่องยนต์ช่วงปลาย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง Viagra หมดโรงงาน ก็ยังไม่ทำให้ Veloz กระฉับกระเฉงในช่วงรอบสูงๆ ได้เลย การไต่ขึ้นไป ต้องใช้เวลา ระยะทาง และความอดทน ไม่ต่างจาก Minivan คู่แข่งจาก Indonesia คันอื่นๆ เลย
คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองค่อนข้างไวมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงขององศาเท้าขวา ในแบบที่คุณจะคาดหวังและคุ้นเคยจาก Toyota ดังนั้น คันเร่งจะเลี้ยงให้นิ่งค่อนข้างยากนิดหน่อย โดยเฉพาะในช่วงความเร็วเดินทางปกติ ส่วนการเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT นั้น ก็ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง ลดและ Smooth ขึ้น เพียงแต่ว่า เจออาการ แรงเย่อช่วงเปลี่ยนเกียร์ บางครั้งเจอ บางครั้งก็ไม่เจอ ที่แน่ๆ การเซ็ตโปรแกรมเกียร์ ให้มีการลากรอบ ไปที่ประมาณ 5,500 – 5,700 รอบ/นาที และตัดเปลี่ยนอัตราทดพูเลย์ คล้ายการเปลี่ยนเกียร์แบบอัตโนมัติ ตามปกติ ช่วยเพิ่มความรู้สึกในการขับขี่ให้กับผู้ที่ไม่ชอบ หรือไม่คุ้นชินกับการลากรอบแล้วค้างไว้แช่ยาวๆ แบบเกียร์ CVT เดิมๆ ได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนเกียร์ ในบางจังหวะ แอบมีอาการกระชากเล็กๆ แต่คิดว่าน่าจะเป็นเฉพาะรถคันที่เราทดลองขับ
ดังนั้น อัตราเร่งของ Veloz ในภาพรวม ถ้าเทียบกับ Avanza แน่นอนครับ Veloz แรงขึ้นกว่ากันชัดเจน ตอบสนองดีกว่ากันประมาณหนึ่ง คุณได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความคาดหวัง แต่ถ้าเทียบกับ Minivan จากแดนอิเหนาทั่วไป Veloz ก็ให้การตอบสนองที่ไม่ต่างคู่แข่งเหล่านั้นเลย คือ ดีดออกตัวหนะดีกว่านิดหน่อย แต่เร่งแซง อืด และเหนื่อยพอกัน อัตราเร่งช่วงกลาง หาย ช่วงปลายแทบไม่ต้องสืบ ราวกับว่าวิศวกรจงใจเซ็ตเครื่องยนต์และเกียร์ลูกนี้ ให้มีตีนต้นออกตัวดีประมาณนหนึ่ง แต่เน้นความประหยัดน้ำมันมากกว่า ดังนั้น อย่าคิดจะไปเค้นให้รถมันต้องเล่นบทบู๊เลย ขับใช้งานปกติ เรื่อยๆ สบายๆ สำหรับการเดินทางสมกับบุคลิกของตัวรถแบบ People Carrier น่าจะมีความสุขมากกว่า
การเก็บเสียง แรงสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน
NVH (Noise / Vibration & Harshness)
ด้านการเก็บเสียงนั้น ในช่วงความเร็วต่ำ จากจุดหยุดนิ่ง จนถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าเงียบดี แต่หลังจากนั้น เมื่อขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณอาจพบว่า เสียงกระแสลมที่เข้ามา จะเกิดขึ้นบริเวณ รางขอบหน้าต่างด้านล่าง รวมทั้งบริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar แต่นั่นยังไม่เท่ากับ เสียงกระแสลมหมุนวนที่มาจากซุ้มล้อคู่หลัง ถึงขั้นว่า มีอยูวันหนึ่ง ผมต้องถามตัวเองเลยว่า นี่เราปิดหน้าต่างไม่สนิทหรือเปล่าหว่า? ตราบใดที่คุณ ยังใช้ความเร็ว ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขึ้น ก็ยังถือว่า พอยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม เสียงรบกวนจากภายนอกนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นถนนที่เราแล่นผ่านไปในตอนนั้นด้วย หากสภาพยางมะตอย หรือปูนซีเมนต์ เก่าๆ เสียงจากพื้นถนน (Road Noise) ก็จะดังขึ้นมาให้ทุกคนในรถได้สัมผัสกันเต็มที่ แต่บนสภาพพื้นผิวยางมะตอยที่ดีเรียบ แบบ ทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงทางราบบ่อนไก่ พระราม 4 เสียงยาง Bridgestone Turanza T005a Made in Indonesia (ซึ่งปกติ ก็จะดังกว่า เวอร์ชัน Made in Thailand อยู่แล้ว) ก็จะเบาลงมา อยู่ในระดับที่พอรับได้
เสียงเครื่องยนต์นั้น ในช่วงเดินทางปกติ มันก็ไม่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป แต่ถ้าเมื่อใดที่คุณจำเป็นต้องกระทืบคันเร่ง เพื่อเร่งแซงรถคันข้างหน้าแล้ว น้องครางดังมากกกกกกก ดังจนสงสารน้องเลยว่า น้องจะยังสู้ไหวในรอบสูงๆ หรือเปล่า นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผม ใช้ชีวิตอยู่กับ Veloz ด้วยความเร็วป้วนเปี้ยนแค่เพียง 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น แทบไม่ได้อยากจะพาน้องขึ้นไปไต่ระดับความเร็วสูงกว่านี้เลย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ในรถคันที่เราทดลองขับกันนั้น เกียร์ CVT เริ่มส่งเสียงหอนมาให้ได้ยินกันแล้ว หอนเหมือนเสียงมอเตอร์อะไรสักอย่างหมุนๆๆ และมันไม่ได้หอนเฉพาะแค่ตอนที่เรากดคันเร่งลงไปเต็มตีนเพียงอย่างเดียว หากแต่อาการหอน ยังเกิดขึ้น ในช่วงความเร็วต่ำ หรือคลานไปตามสภาพการจราจรในเมือง ที่ติดขัดอย่างหนัก แต่อุณหภูมิน้ำมันเกียร์ ร้อนได้ที่ คุณก็อาจจะได้ยินเสียงหอนอยู่ดี
ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels
พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวของรุ่น SMART (ล้อ 16 นิ้ว) อยู่ที่ 4.9 เมตร ส่วนรุ่น PREMIUM (ล้อ 17 นิ้ว) อยู่ที่ 5.0 เมตร
ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักพวงมาลัยค่อนข้างเบา แต่ยังพอมีแรงขืนที่มือกระจึ๋งนึง ถือว่าหนืดกว่า Toyota Corolla Altis และ Corolla Cross รุ่นล่าสุด “นิดนึง” แต่ไม่ดีเท่า C-HR อีกทั้งยังมีระยะฟรีค่อนข้างเยอะอยู่
กระนั้น เมื่อเริ่มหักเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวาง ซ้าย-ขวา คุณจะพบว่า พวงมาลัยตอบสนองค่อนข้าง “เนือย” คล้ายกับ Corolla Altis รุ่นปี 2014 – 2018 ถ้าค่อยๆเลี้ยว จากตำแหน่งล้อตรง คือต้องหักเลี้ยวมากกว่าปกตินิดหน่อยรถถึงจะยอมเลี้ยวตาม แล้วหลังจากนั้น หมุนเลี้ยวแค่ไหน รถก็เลี้ยวไปตามสั่ง และถ้าคุณ Input พวงมาลัยให้ไว รถก็จะเลี้ยวไวขึ้นชัดเจน แต่อาจทำให้คนนั่งหลังหวาดเสียวได้เล็กน้อย ส่วนการซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนของชุดแร็คพวงมาลัยนั้น ทำได้ดีขึ้นกว่า Avanza เดิมชัดเจน แต่ก็ถือว่าอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับคู่แข่งร่วมพิกัดส่วนใหญ่แล้ว
ทว่า เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น น้ำหนักพวงมาลัยก็จะเพิ่มขึ้น กระนั้น สิ่งที่ยังแอบเสียดายคือ ยังให้สัมผัสแบบ พวงมาลัยไฟฟ้า ที่ยังไม่เป็นธรรมชาติ ยังแอบมีสิ่งที่ผมเรียกว่า Robotic feeling คือ ทื่อๆ หักเลี้ยวแล้ว ล้อไม่ค่อยยอมคืน และยังไม่ Linear เท่าใดนัก คล้ายๆกับ พวงมาลัยของ Sienta นั่นเอง แต่เบากว่าหน่อยๆ แค่นั้น เมื่อคุณลองแกว่งพวงมาลัย ซ้ายๆขวาๆ นิดๆ เบาๆ คุณจะพบแรงขืนมือที่ทำให้สัมผัสได้ถึงความเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า และไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากนัก แต่ก็ยังดีกว่า พวงมาลัยของ Xpander ชัดเจน
ถ้าคิดเสียว่า นี่คือพวงมาลัยไฟฟ้า ที่เซ็ตมาสำหรับรถยนต์ราคาประหยัด มันก็ไม่ได้แย่ครับ แม้จะรู้ว่า พวกเขาสามารถเซ็ตให้ดีกว่านี้ได้อีกก็ตาม ใช้งานในเมืองตามปกติ ได้สบาย น้ำหนักเข้ามือง่าย ใครๆก็ขับได้ เบาหน่อยๆ เนือยหน่อยๆ แต่พอจะมีแรงขืนที่มือกระจึ๋งนึง ถือว่า พอใช้ได้ บังคัเลี้ยวเข้าโค้ง Ok ประมาณหนึ่ง
ถ้าให้เรียงลำดับพวงมาลัยที่ตอบสนองได้ใกล้เคียงธรรมชาติมากสุด เบาสุด Linear สุด แต่บังคับเลี้ยว ในภาพรวม ได้แม่นยำพอประมาณ คงต้องยกให้พวงมาลัยของ Honda Mobilio และ BR-V รุ่นเดิม ซึ่งมีน้ำหนักเบาสุดในกลุ่ม แต่บังคับเลี้ยวได้อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติมากสุด รองลงมาคือ Suzuki Ertiga กับ XL7 ขณะที่ Toyota Veloz จะตามมาติดๆในอันดับ 3 โดยมี Mitsubishi Xpander และ Xpander Cross ตามรั้งท้ายอยู่ห่างๆ เพราะพวงมาลัยของ Xpander รุ่นเดิม จะตอบสนองได้ ทื่อๆ ไม่ยอมคืนกลับ และไม่เป็นธรรมชาติมากสุด
ระบบกันสะเทือน / Suspension
ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบคานบิดกึ่งอิสระ Torsion Beam พร้อมเหล็กกันโคลง
ช่วงล่าง ถูกเซ็ตมาให้เน้นความ นุ่ม โดยมีด้านหลังแข็งกว่าด้านหน้านิดหน่อย ไม่เยอะนัก เพื่อรองรับน้ำหนักบรรทุก จากการขับขี่ใช้งานจริง เราพบว่า ในช่วงความเร็วต่ำ จนถึงความเร็วเดินทางทั่วไป ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง วิ่งทางตรง บนถนนเรียบๆปกติ อาจมีลอนคลื่นนิดหน่อย ช่วงล่างของ Veloz ก็ให้ความสบายได้ดีพอสมควร การดูดซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ ทำได้ดีประมาณหนึ่ง ไม่ถึงขั้น นุ่มเนียนกริ๊ป แต่ก็เปลี่ยนบุคลิกจาก Avanza รุ่นเดิม ให้กลายเป็น Feeling ของรถที่ “เบาและคล่องขึ้นแต่เนือยหน่อยๆ” อาการโคลงเคลงตอนขับผ่านหลุมบ่อด้วยความเร็วต่ำ จาก Avanza รุ่นเดิม แม้จะยังพอหลงเหลืออยู่ แต่ถือว่าดีขึ้นมาก และแทบไม่ต้องกังวลในประเด็นนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ถ้าบรรทุกผู้โดยสารด้านหลัง 6-7 คน เมื่อเจอเนินสะดุด หรือลูกระนาด กรุณาขับช้าๆ ค่อยๆ คลานๆหยอดๆ ปีนป่ายกันไป มิเช่นนั้น ช่วงล่างด้านหลัง จะดีดเด้งขึ้นมา และทำให้ผู้โดยสาร แถว 3 กระดอนขึ้นไป จนศีรษะโขกเพดานหลังคาได้ แม้ตอน Rebound กลับ จะค่อนข้างนิ่มลงก็ตาม
ช่วงความเร็วเดินทาง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ชัดเจนว่า การที่ตัวรถมีความกว้างช่วงล้อเพิ่มขึ้น ช่วยให้ตัวรถนิ่งขึ้น เมื่อแล่นบนทางตรง นิ่งๆ พื้นผิวถนนเรียบปกติ การทรงตัวของ Veloz ใหม่ ทำได้ดีขึ้น Firm ขึ้นกว่า Avanza รุ่นเดิมชัดเจนมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องใช้ความเร็วสูง หรือพื้นผิวถนนเป็นลอนคลื่น หรือแม้แต่การเข้าโค้ง ช็อกอัพจะทำงานในแนวดิ่ง (ขึ้น-ลง) จนตัวรถเกิดอาการยวบยาบ เยอะมากจนเกินไป จนเสียอาการได้บ้างเหมือนกัน
เข้าใจแหละว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการเซ็ตระบบกันสะเทือนของรถยนต์ Minivan ให้ต้องรองรับน้ำหนักบรรทุกผู้โดยสาร ได้มาก แต่ยังต้องรักษาความนุ่มสบายในการเดินทาง ไปพร้อมๆกับการคำนึงถึงต้นทุนการผลิต ที่จะต้องไม่แพงเกินไป ไม่เช่นนั้น จะตั้งราคาขายให้ถูกในระดับที่เป็นอยู่นี้ ไม่ได้ แต่ผมก็คาดหวังให้อาการดังกล่าว ทุเลาลงได้อีก
เมื่อเทียบ XL7 การโยนตัว ยังทำได้ เวลาเจอพื้นขรุขระ มันจะมี Vibration ขึ้นมาจากตัวรถค่อนข้างเยอะ โชคดีว่า คราวนี้ Toyota เลือกใช้ยาง Bridgestone Turanza T005a Made in Indonesia ซึ่งเป็นยางที่เน้นความนุ่ม เงียบ และเกาะ ควบคู่กันไปค่อนข้างดี (แต่ไม่เท่าเวอร์ชัน Made in Thailand) มาช่วยลดทอนอาการสะเทือนลงมา จึงทำให้การตอบสนองในภาพรวมของช่วงล่าง อยู่ในระดับปานกลาง ไม่แย่จนเกินไปนัก อย่างไรก็ตาม ในบางล็อต คุณอาจจะได้ได้ยาง Dunlop Enesave EC350 ซึ่งเป็นยางรุ่นใหม่ ที่เขาว่าเน้นความนุ่มเงียบ (หรือเปล่า…ปกติเห็นปลูกมะนาวขึ้นงอกงามกว่ายางอื่น) น่าเสียดายว่า เรายังไม่ได้ลองยางรุ่นนี้ ใน Veloz จึงยังบอกไม่ได้ว่า ด้อยกว่า T005a มากน้อยแค่ไหน
ส่วนความเร็วบนทางโค้งมาตรฐานทั้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร นั้น Veloz ทำผลงานออกมาได้ แอบดีกว่าที่ผมคาดหมายไว้นิดหน่อย คือดีขึ้นกว่า Avanza แน่ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพของตัวรถ ซึ่งมีตำแหน่งเบาะสูง จุดศูนย์ถ่วงสูง และตัวรถก็ยังสูง แถมช่วงล่างยังเซ็ตมาแนวนุ่มด้วย ก็ทำให้มัน ไปได้เพียงแค่เท่าที่เห็น
บนโค้งขวารูปเคียว เหนือระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Veloz ทำได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ในระดับเดียวกันคือ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดที่ตัวรถพร้อมยางเดิมจากโรงงาน (Bridgestone Turanza T005a) จะรับมือไหว เพราะถ้าเกินกว่านี้ ตัวรถจะเริ่มมีอาการท้ายออกนิดๆ จนกระทั่งระบบ VSC จะเข้ามาทำงาน เพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวในโค้ง
ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Veloz เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางด้านข้างพอสมควร ถัดมา โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางติดรถจะรับมือไหวแล้ว ก่อนจะปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Veloz เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 121 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด)
ตัวรถขณะอยู่ในโค้ง ยังคงมีอาการเอียงกะเท่เร่ แบบเดียวกับ XL7 และ Xpander Cross เพียงแค่ว่า หน้าดื้อแค่ประมาณหนึ่ง ขณะที่บั้นท้ายจะค่อยๆเริ่มออกด้านข้างเบาๆ แน่นอนว่า อากัปกิริยาจะคล้ายคลึงกับ Xpander รุ่นปกติ นั่นคือ หากท้ายปัดถึงขั้นกวาดออกข้างขึ้นมา ก็แทบไม่ต้องคิดไปแก้ไขอาการของตัวรถกันเลย คงต้องปล่อยให้หมุนไปตามยถากรรมเช่นเดียวกัน แถมยังมีอาการ Body roll ค่อนข้างเยอะชัดเจน ยิ่งถ้าเจอโค้งที่ยาวต่อเนื่อง และมีพื้นผิวเป็นลอนคลื่น คุณจะเห็นอาการยวบยาบจนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการควบคุมรถมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ขอแนะนำว่า ถ้ามีเหตุให้ต้องเปลี่ยนเลนกระทันหัน ขอแนะนำว่า อย่าหักพวงมาลัยเยอะ และเมื่อเจอ ยานพาหนะหรือสิ่งมีชีวิตใดๆตัดหน้า ไม่ต้องคิดหักหลบนะครับ เพราะตัวรถจะมีอาการเหมือน ตุ๊กตาเป่าลมสู้ชีวิต หน้าปั้มน้ำมัน หรือสำนักงานขาย Condominium โครงการใหม่ๆ โอกาสที่การถ่ายน้ำหนัก อาจเกิดขึ้นไม่ทันต่อสถานการณ์ กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ เช่นเดียวกับ Minivan จาก Indonesia ทั่วไปนั่นแหละ
ถ้าดูจากแค่ตัวเลขความเร็วในโค้ง Veloz เอง ทำผลงานออกมาได้ ดีกว่า XL7 และพอๆกันกับ Xpander กระนั้น ตัวรถที่เอียงออกด้านข้างมากกว่า ก็แอบทำให้หวั่นใจ แลเะต้องใช้สมาธิในการควบคุมรถขณะอยู่ในโค้งมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็ต้องทำใจละครับ แต่ไหนแต่ไรมา Mitsubishi Motors เซ็ตช่วงรถออกมาได้ดีกว่า Toyota อยู่แล้ว หากเทียบกับรถยนต์ในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ถ้ามองกันในภาพรวม อย่างตรงไปตรงมา ต้องถือว่า ช่วงล่างของ Veloz เข้าใกล้คู่แข่งที่ดีที่สุดในกลุ่ม ชนิดที่ว่า ใกล้เคียงกันมากขึ้น ไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เหมือนยุค Avanza เดิมอีกต่อไป
ถ้าเทียบกับ คู่แข่งอย่าง Mitsubishi Xpander แล้ว ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า ในย่านความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ Xpander เก็บแรงสะเทือนได้ดีกว่า Veloz นิดนึง ทว่า เมื่อใช้ความเร็วเดินทาง หรือย่านความเร็วสูงๆ ช่วงล่างของ Veloz ยังแอบโคลงกว่า และนิ่งไม่เท่า Xpander ยิ่งพอเจอการเข้าโค้งด้วยแล้ว ช่วงล่าง Xpander ยังคงให้ความไว้ใจได้ ดีกว่า Veloz ชัดเจน
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ XL7 แล้ว คู่นี้จะก้ำกึ่ง เพราะในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างของ XL7 แอบจะซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า Veloz นิดนึง แต่พอเป็นการใช้ความเร็วเดินทางปกติ Veloz ทำได้ดีกว่า ทว่า ในย่านความเร็วสูงเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว แม้ Veloz ทำได้ดีกว่า XL7 แต่พอถึงประเด็นการเข้าโค้งแล้ว XL7 แอบนิ่งและเนียนกว่านิดนึง
ถ้าให้เรียงลำดับช่วงล่างที่ดีที่สุดของรถในกลุ่มนี้ ก็คงต้องยกให้ กลุ่มรถที่เตี้ย และมี Ground Clearance ต่ำกว่า 200 มิลลิเมตร ขึ้นนำมาก่อน แน่นอนว่า Mitsubishi Xpander รุ่นปกติ เป็นอันดับ 1 ตามด้วย Suzuki Ertiga ในอันดับ 2 และ Honda Mobilio เป็นอันดับ 3
ส่วน พวกที่มี Ground Clearance เกิน 200 มิลลิเมตร นั้น Mitsubishi Xpander Cross ยังคงเป็นอันดับ 1 ขณะที่ Toyota Veloz และ Suzuki XL7 ก็ตามมาในลำดับ 2 สูสีคู่คีกัน ขณะที่ Honda BR-V ที่ตามมาในอันดับ 3 แบบไม่ห่างกันมากนัก ก็ไม่ได้แย่ แต่แค่ว่า ตัวรถให้สัมผัสที่เบากว่า และความมั่นใจบนทางโค้งลดลงกว่าเพื่อนฝูงเท่านั้นเอง
ระบบห้ามล้อ / Brakes
Veloz ถูกติดตั้ง ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Distribution) ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) ระบบควบคุมสเถียรภาพการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control)
ไม่เพียงเท่านั้น Toyota ยังติดตั้ง ระบบ เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold มาให้ด้วย ทำเอาลูกค้าที่อุดหนุน Corolla Cross ไปแล้ว พากันค้อนขวับ ว่า ทำไม รถยนต์ที่มีราคาถูกกว่า อย่าง Veloz ถึงมีระบบดังกล่าว แต่รถยนต์ที่แพงกว่า อย่าง Corolla Cross กลับไม่มีมาให้?
พูดกันแบบตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ ทีมงาน Toyota เมืองไทย พยายาม ขอระบบเบรกมือไฟฟ้า มาให้ Corolla Cross แล้ว ตั้งแต่แรก ทว่า วิศวกรชาวญี่ปุ่น เขาไม่ยินยอม ซึ่งผิดกับทีมวิศวกรที่ดูแลโครงการ Avanza / Veloz ที่พยายามหาทางติดตั้งมาให้ ความจริงที่ต้องทำใจกันก็คือ ถึงแม้วิศวกรที่ทำรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น จะอยู่บริษัทเดียวกัน แต่ทีมพัฒนา เป็นคนละทีมกัน ความคิด วิสัยทัศน์ ความเข้าใจในตลาดแต่ละประเทศของคนญี่ปุ่นบางคนเหล่านั้น แตกต่างกัน
สิ่งที่น่ารำคาญของระบบเบรกมือไฟฟ้าใน Veloz คือ ทันทีที่ติดเครื่องยนต์ หรือ เข้าเกียร์ P ไว้แล้ว ถ้าต้องการจะเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ไป D (ขับเคลื่อนไปข้างหน้า) หรือ N (เกียร์ว่าง) หรือ R (ถอยหลัง) คุณต้องกดสวิตช์เบรกมือปลดออกเท่านั้น เพราะระบบ Safety จะทำการล็อกล้อคู่หลังให้ทันทีที่คุณเข้าเกียร์ P ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ดังนั้น ถ้าคุณมีธุระปะปัง ต้องไปแวะสถานที่ใกล้ๆกัน ในละแวกย่านเดียวกัน คุณจะมีโอกาสเผลอเรอ ลืมปลดเบรกมือไฟฟ้า ก่อนออกรถแน่นอน
ทว่า ถ้าคุณคิดว่านั่นน่ารำคาญ คุณอาจจะไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว แค่คุณเหยียบคันเร่ง เพื่อออกรถ ระบบเบรกมือไฟฟ้า ก็จะปลดออกให้คุณเอง ถ้าแค่ถอนเท้าจากแป้นเบรก รถจะไม่เคลื่อนตัวออกไปให้คุณ
สำหรับการตอบสนองของแป้นเบรกนั้น มีระยะเหยียบ ปานกลางค่อนข้างสั้น จังหวะแรกเหมือนว่าแป้นเบรกจะเบา และนุ่มเท้า แต่เมื่อเหยียบเพิ่มลงไป จะสัมผัสว่า มันจะหนืดและหนักขึ้น และ ต่อเนื่อง (Linear) มากขึ้น ถือว่าน้ำหนักแป้นเบรกภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลางเกือบเบา เหยียบเบรกแค่ไหน รถจะชะลอลงเท่านั้น ไม่ใช่แป้นเบรกเบาๆ แบบ Toyota ยุคก่อนๆ แต่ก็ไม่ได้สั้นกระชับแบบรถยุโรป ดังนั้น การควบคุมเบรก เพื่อชะลอรถในขณะคลานไปตามสภาพการจราจรต่างๆ จะทำได้อย่างนุ่มนวล ประมาณหนึ่ง แต่แอบมีอาการหน้าจิกเป็นไก่จิกเมล็ดข้าวนิดๆ ตอนที่ถอนเท้าจากแป้นเบรก
ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูงนั้น ต้องบอกตรงๆว่า ในภาพรวม ทำได้ดีกว่า Avanza รุ่นเดิมชัดเจนมากๆ คนละเรื่อง ก็จริงอยู่ เพียงแต่ว่า ถ้ากระทืบเบรกกระทันหัน จากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมา ระบบ ABS และ EBD จะช่วยกันทำงาน ทว่า ยังพอสังเกตเห็นอาการ เหมือนกับว่า ABS ทำงานในแต่ละล้อในจังหวะเดียวกันตอนนั้น ไม่ถึงกับพร้อมกันไปเสียทีเดียว ทำให้รถมีอาการหัวทิ่มลงชัดเจน เป็นธรรมชาติ แต่แรงหน่วงเยอะ ไฟฉุกเฉิน ESS ทำงาน แกว่งนิดๆ ซ้ายๆขวาๆ คือยังไม่ถึงขั้นที่ว่า ตัวรถเบรกตรงแหน่ว จนหยุดนิ่งสนิท แต่ก็ถือว่า ระยะเบรกปานกลาง พอไว้ใจได้
ภาพรวม ผมมองว่า ระบบห้ามล้อของ Veloz พัฒนาขึ้นจาก Toyota ราคาถูกรุ่นก่อนๆ ชัดเจน ตอบสนองดีขึ้น และให้ความไว้ใจได้ดีขึ้น ต่อให้ต้องชะลอรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ก็ยังให้ความมั่นใจได้ดีพอสมควร
ระบบความปลอดภัย / Safety
Veloz ทั้ง 2 รุ่นย่อย ติดตั้งระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน มาให้เหมือนกันหมด ได้แก่…
– ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า, ด้านข้าง, ม่านถุงลมนิรภัย)
– ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง BSM (Blind Spot Monitoring)
– ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถแล่นผ่านขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert)
อย่างไรก็ตาม รุ่น PREMIUM จะเป็นเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่จะถูก Upgrade ด้วยการติดตั้ง Package กลุ่มระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ADAS (Adaptive Driver Assistant System) ในชื่อ Toyota Safety Sense ประกอบด้วย
– ระบบเพิ่มความปลอดภัยก่อนการชน PCS (Pre-collision System)
– ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมดึงพวงมาลัยกลับ LDA with SA (Lane Departure Alert with Steering Assist)
– ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ AHB (Auto High Beam)
– ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว FDA (Front Departure Alert)
– ระบบป้องกันการเหยียบคันเร่งแบบผิดวิธี PMC (Pedal Mis-operation Control)
Veloz ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ระดับ 5 ดาว ในกาทดสอบการชน ASEAN New Car Assesment Program (ASEAN NCAP) โดยทำคะแนนในการปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ผู้ใหญ่ 34.88 คะแนน ผู้โดยสารเด็ก 17.17 คะแนน ระบบตัวช่วยความปลอดภัย 16.03 คะแนน และความปลอดภัยต่อจักรยานยนต์ 11.92 คะแนน รวม 79.99 คะแนน
รายละเอียด และผลการทดสอบต่าง Click อ่านต่อได้ ที่นี่ https://aseancap.org/v2/?p=5541
******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*************Fuel Consumption Test *************
สิ่งที่หลายคนน่าจะอยากรู้ก็คือ การเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และเปลี่ยนเครื่องยนต์ลูกใหม่ ในคราวนี้ จะช่วยให้ Veloz ประหยัดน้ำมันขึ้นมากกว่า Avanza รุ่นเดิมมากน้อยแค่ไหน และเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว อัตราสิ้นเปลืองของ Veloz จะเป็นอย่างไร
เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขับทดลองในเวลากลางคืน โดยนำ Veloz ไปที่ ปั้มน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron จนเต็มถัง แบบหัวจ่ายตัด
ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยานของเรา คราวนี้คือ น้อง Mark Pongswang ทีมงานของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมกับผู้เขียน/ผู้ขับขี่ 107 กิโลกรัม จะทำให้มีน้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวมกัน 167 กิโลกรัม
เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถัง ขนาด 43 ลิตร เสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter A และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะเปลี่ยนเป็นค่าเริ่มต้น ทั้งหมด
เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ แล่นด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Veloz ไม่มีระบบ Cruise Control มาให้ ดังนั้น เราจึงต้องเลี้ยงคันเร่ง กันด้วยเท้าขวาเอาเอง ซึ่งการจะรักษาความเร็วไว้ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น ค่อนข้างยาก เพราะคันเร่งไฟฟ้า ค่อนข้างเบา รอบเครื่องยนต์ไม่นิ่ง แตะคันเร่งลงไปทีไร รอบเครื่องยนต์ ที่ควรจะอยู่แถวๆ 2,000 รอบ/นาที จะขึ้นไปอยู่ที่ 2,500 รอบ/นาที ตลอดเวลา ดังนั้น การจะเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งได้ เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับรถคันนี้
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ
มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด Trip Meter 94.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.28 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.06 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่า ประหยัดขึ้นกว่า Avanza รุ่นเดิม ชัดเจน แม้ตัวเลขจะไม่มากนักก็ตาม แต่ลองคิดดูนะครับ รถคันใหญ่ขึ้น เครื่องยนต์พิกัดเดิม เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็น ล้อคู่หน้า ทำให้ลดการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนลงไปได้เยอะมาก ยิ่งเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT ก็ยิ่งทำให้ประหยัดน้ำมันได้ดี
คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าใช้งานจริง ตัวเลขความประหยัดจะอยู่ที่เท่าไหร่ เรานำ Veloz ไปขับขี่ แล่นใช้งานจริง ทั้งในเมือง และออกต่างจังหวัด พบว่า ถ้าคุณขับใช้งานในเมืองเป็นหลัก จะเร่ง ออกตัวแรงๆ หรือขับเนิบๆช้าๆ ตัวเลขบนมาตรวัดจะขึ้นมาป้วนเปี้ยนแถวๆ 12-13 กิโลเมตร/ลิตร แต่ถ้าขับกันโหดๆ ละก็ ตัวเลขต่ำกว่า 10 กิโลเมตร/ลิตร ก็อาจได้เห็นเหมือนกัน
แน่นอนว่า Veloz ใหม่ ประหยัดขึ้นกว่า Avanza รุ่นเดิม อย่างชัดเจน รวมทั้งประหยัดน้ำมันกว่าคู่แข่งในตลาดด้วย แต่จะมาเห็นผลกันจริงๆ ก็ตอนขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวันนั่นแหละ เจอครบทั้งการจราจรติดขัดในเมือง จนถึงการขับขี่บนทางด่วนในช่วงเวลากลางคืน เบื้องต้น น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ประมาณ 450 กิโลเมตร อาจจะได้ถึง 470 กิโลเมตร ถ้าขับแบบประหยัดๆหน่อย
********** สรุป / Conclusion **********
พลิกโฉมใหม่ทั้งคัน ดีขึ้นในทุกด้าน แต่ยังทำได้ดีกว่านี้อีก
ถ้าจะต้องให้คำจำกัดความกับ Veloz ใหม่ ผมคงยืนยันให้ได้ว่า มันคือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ และครั้งใหญ่ แบบก้าวกระโดด ถึงขั้นที่จะทำให้คุณลืม Toyota Avanza คันเก่าที่คุณเคยรู้จักไปได้เลย
การเปลี่ยนเอาเทคโนโลยีพื้นตัวถังสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหลังขนาดกระทัดรัดรุ่นเก่า ยกยวงทิ้งไป แล้วแทนที่ด้วย ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า วางอยู่บน DNGA Platform ซึ่งก็คือ เทคโนโลยีพื้นตัวถัง TNGA จาก Toyota ในเวอร์ชันปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับต้นทุน โดย Daihatsu นำมาซึ่งความคล่องแคล่ว น้ำหนักเบา ความยืดหยุ่นในการบังคับควบคุมต่างๆ
ยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เห็นได้ชัดเลยว่า อัตราเร่ง เฉพาะช่วงออกตัว ทำได้ดีขึ้นชัดเจนมากๆ แถมยังประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นทันตาเห็น ไม่ต้องมานั่งเสียกำลังจากระบบขับเคลื่อนอีกต่อไป ผนวกกับการเซ็ตพวงมาลัย ระบบกันสะเทือน รวมทั้งระบบเบรก ให้ดีขึ้นกว่าเดิมในระดับ ฟ้ากับเหว
ไม่เพียงเท่านั้น Veloz ใหม่ ยังมีลูกเล่นหลายด้านที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ Option ที่กินขาด เกินหน้าเกินตาคู่แข่งไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอมาตรวัดที่เปลี่ยนได้ 4 แบบ หน้าจอ Monitor Touch Screen พร้อมกล้องมองหลัง ควบคุมชุดเครื่องเสียง ระบบ Keyless Entry แท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือ Wireless Charger เบรกมือไฟฟ้า ไปจนถึงระบบความปลอดภัย ADAS ในชื่อ Toyota Safety Sense ที่ให้มาค่อนข้างครบครัน คุ้มราคา
เหนือไปกว่านั้น คือความอเนกประสงค์ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพับเบาะนั่งในห้องโดยสาร ความโปร่งสบายในการเดินทางไกล เหมาะกับการใช้งานของครอบครัวทั่วๆไป ที่ไม่ได้ขับรถเร็วนัก เน้นความรื่นรมณ์ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด
ทั้งหมดข้างต้น ช่วยยกระดับ Upgrade ให้ Veloz ใหม่ หลุดพ้นจากการเป็น Avanza และก้าวขึ้นมา ทาบชั้น เทียบรัศมี ไล่บี้กับคู่แข่งร่วมพิกัด ได้อย่างสูสีและสมน้ำสมเนื้อกันเสียที และแน่นอนว่า เมื่อเทียบกับราคาค่าตัวของมัน ณ วันนี้ ดูเหมือนว่า Veloz ก็เป็นทางเลือกที่ดูคุ้มค่าไม่เลวเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การพลิกโฉมในครั้งนี้ ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบลงตัวนัก ยังมีสิ่งละอันพันละน้อยอีกหลายประการ ที่ผมยังอยากเห็น Toyota และ Daihatsu นำไปปรับปรุงเพิ่มเติม อีกพอสมควรเลยละ
ข้อที่ควรปรับปรุง
– อัตราเร่ง ช่วงเร่งแซง ก็ยังอืดอาดไปหน่อยอยู่ดี ต้องยอมรับความจริงว่า Veloz ให้การตอบสนองช่วงออกตัว จนถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีขึ้น ทว่า การเร่งแซง ยังคงอืดอาดพอกันกับคู่แข่งรุ่นอื่นๆ อยู่ดี ถ้าปรับแก้ให้อัตราเร่ง ไวขึ้นกว่านี้ เป็นสัก 9.0 – 9.7 วินาที น่าจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะเร่งแซงรถพ่วง 18 ล้อ บนถนนสวนกัน 2 เลน ตามต่างจังหวัดมากกว่านี้ แต่น่าจะทำได้ยาก จากปัจจัยด้านต้นทุน
– พวงมาลัย แม้จะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ยังปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้อีก อันที่จริง พวงมาลัยของ Avanza เดิม ก็พอจะใช้งานทั่วไปได้ดีในระดับหนึ่ง ทว่า การใช้พวงมาลัย Power แบบไฟฟ้า EPS ของ Veloz นั้น ต่อให้พยายามเซ็ตพวงมาลัยมาดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ก็ยังหลงเหลือ ความเนือย ความไม่เป็นธรรมชาติ รวมทั้งน้ำหนักที่แอบเบาไปนิดนึง ผมหวังจะเห็นการตอบสนอง ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่านี้ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากนี้อีกนิดนึงในย่านความเร็ว หลัง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป
– เกียร์ ในรถคันทดลองขับ “หอน” แถมหอนน่าเกลียดด้วย ถึงขั้น น้องหมาจรจัดในซอยราชวินิตบางแก้ว วิ่งพุ่งเข้ามาเห่าไล่ข้างๆรถ ด้วยความรำคาญในเสียงหอนนั่น! ต้องทำใจยอมรับว่า เกียร์ CVT นั้น มีโอกาส “หอน” เร็วกว่าเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ พอสมควร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขับขี่ของคุณ ว่ากระแทกกระทั้น ลงฑัณฑ์กับเกียร์ มากน้อยแค่ไหน
– ไม่มี Cruise Control มาให้ จริงอยู่ว่า ลูกค้าที่ซื้อ Minivan ขนาดเล็ก กลุ่มนี้ หลายคน มองเรื่องนี้ เป็นประเด็นรอง ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ในเมื่อ Mitsubishi Xpander Minochange และ Xpander Cross Minorchange ยังอุตส่าห์ใส่มาให้เลย แล้วทำไม Toyota จะติตตั้งมาให้กับเขาบ้างไม่ได้กันละ? ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเป็นระบบ Adaptive หรอก เอาแค่ Cruise Control แบบพื้นฐาน ก็เพียงพอแล้ว
– ปุ่ม Eco กับ Power ใช้ยากกว่าเดิม เข้าใจได้ว่า ทีมวิศวกร อยากจะประหยัดสวิตช์ เลยติดตั้งปุ่ม Drive ไว้ที่ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา แต่กลายเป็นว่า ต้องลดสายตาลงมาปรับเปลี่ยนที่ปุ่ม อยู่นานพอสมควร
– ช่วงล่างด้านหลัง ยังหลงเหลืออาการ”กระเด้ง” นิดหน่อย อยู่ดี ในจังหวะที่รถต้องแล่นผ่านคอสะพาน ที่มีลักษณะ หักมุม และแข็ง ในช่วงความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผู้โดยสารบนเบาะแถวกลาง ยังพอจะสัมผัสได้ถึงอาการเด้งจากช่วงล่างด้านหลัง ที่เซ็ตมาให้แข็งกว่าด้านหน้า อยู่นิดหน่อย แม้ว่าอาการเด้ง จะน้อยกว่า คู่แข่ง อย่าง Xpander Cross แล้วก็ตาม ทว่า อาการดังกล่าว ก็ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ดี
เข้าใจแหละว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการเซ็ตระบบกันสะเทือนของรถยนต์ Minivan ให้ต้องรองรับน้ำหนักบรรทุกผู้โดยสาร ได้มาก แต่ยังต้องรักษาความนุ่มสบายในการเดินทาง ไปพร้อมๆกับการคำนึงถึงต้นทุนการผลิต ที่จะต้องไม่แพงเกินไป ไม่เช่นนั้น จะตั้งราคาขายให้ถูกในระดับที่เป็นอยู่นี้ ไม่ได้ แต่ผมก็คาดหวังว่า ถ้าสามารถเพิ่มขนาดของช็อกอัพ ให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้อีกนิด คาดว่า อาการดังกล่าว น่าจะทุเลาลงได้อีก
– เครื่องเสียงติดรถ ยังให้คุณภาพเสียง ไม่ดีเท่าที่ควร แทบไม่ได้รู้สึกว่ามีกำลังขับใดๆ เลย ต่อให้ปรับ Equalizer ช่วยแล้ว ก็ยังหาจุดลงตัว ไม่ได้ง่ายนัก ประเด็นนี้ เครื่องเสียงของ Ertiga และ XL7 ใหม่ ก็ยังกินขาดคู่แข่งร่วมพิกัดทุกคันอยู่ดี
– ตำแหน่งช่องเสียบ USB สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า คลำหาใช้งานยาก เอาใจคนนั่งเพียงอย่างเดียว ถ้าย้ายตำแหน่งให้สะดวกกับทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้าได้ทั้ง 2 คน น่าจะดีกว่านี้อีกมาก
– เข็มขัดนิรภัย คู่หน้า ควรจะสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้แล้วเสียที อย่าเห็นแก่การลดต้นทุน เพียงเล็กๆน้อย แบบนี้กันอีกเลย ในเมื่อ Toyota สามารถสร้างมาตรฐาน ในการติดตั้ง ถุงลมนิรภัย 6 ใบ ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (และ 3 ใบ ขึ้นไป ในรถกระบะเพื่อการพาณิชย์) เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในเมืองไทยได้แล้ว ดังนั้น เข็มขัดปรับสูง – ต่ำได้ ก็ควรจะเป็นอีก อุปกรณ์ ที่ถูกติดตั้งให้เป็นมาตรฐาน ของ Toyota ทุกคัน ในเมืองไทย ด้วยเลยจะดีกว่า
– การประกอบจาก Indonesia : รถคันที่เรานำมาทดลองขับกันนั้น ยางพลาสติกบนหลังคา เผยอออกมาน่าเกลียด แถมพยายามกดให้ลงล็อก ก็ยังทำไม่ได้อีกด้วย (เป็นปัญหาเฉพาะบางคัน) รวมทั้ง คราบกาว ที่วางแก้ว เก็บงานมาไม่เรียบร้อย
ผมไม่เข้าใจจริงๆว่า ถ้าในเมื่อรัฐบาล Indonesia พยายามจะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเขา ขึ้นมาแข่งขันกับประเทศไทยของเรา ทำไมพวกเขาไม่คิดที่จะยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานของตนให้มันทัดเทียมใกล้เคียงกับประเทศไทยมากกว่านี้ เพราะนี่ละคือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้รถยนต์ที่ผลิตจาก Indonesia ยังพอเหลือที่ยืนในตลาดโลกอยู่ได้ อย่างว่าละครับ อิเหนาก็ยังคงเป็นอิเหนา การประกอบรถออกมาให้ดี น่าจะเป็นเรื่องยากพอๆที่จะส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์
***** คู่แข่งในตลาด / Competitors *****
ถึงแม้ว่า ตลาดกลุ่ม ASEAN Sub-Compact (B-Segment) Minivan 7 ที่นั่ง นั้น จะมีตัวเลือกใหม่ๆเข้ามาให้ลูกค้าปวดหัวเล่นขึ้นเยอะมากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับ Veloz นั้น เนื่องจาก มีความสูงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) เกิน 200 มิลลิเมตร ดังนั้น เราจึงคิดว่า ควรจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มย่อย อย่าง Sub-Compact Minivan ยกสูง ซึ่งมีตัวเลือกในตลาดเพียงแค่ 2 รุ่น
– Mitsubishi Xpander Cross
จนถึงตอนนี้ Xpander Cross ก็ยังคงเป็น Sub-Compact Minivan ยกสูงที่สวยสุด ใหญ่สุด และแพงที่สุดในตลาด แน่นอนว่า การมีขนาดตัวถังใหญ่สุดในกลุ่ม ย่อมส่งผลให้ Xpander Cross ยังคงมีห้องโดยสารโอ่โถงมากสุดตามไปด้วย ซึ่งความสวยแบบโฉบเฉี่ยว Futuristic และความใหญ่โตของพื้นที่ภายในนี่แหละคือ 2 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Xpander Cross ยังคงขายได้ แม้ราคาจะแพงสุดถึง 939,000 บาท
ล่าสุด การปรับโฉม Minorchange มาใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์ลูกเดิม ก็พอจะมองได้ว่า ต้องการเพิ่มความประหยัดน้ำมันให้มากขึ้น โดยที่สมรรถนะและอัตราเร่ง และการตอบสนองของพวงมาลัยที่ยังไม่ถึงกับเป็นธรรมชาตินัก อีกทั้งยังไม่มีระบบ ADAS หรือระบบ Blind Spot ต่างๆมาให้ครบถ้วนเท่า Veloz ทั้งที่ขายในราคาสูงอยู่ ประเด็นเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นจุดด้อยของ Xpander Cross ตามเดิม กระนั้น ช่วงล่างของ Xpander Cross ยังคงให้การตอบสนองในภาวะปกติได้นุ่มนวลและพอไว้วางใจได้ แถมยังซับแรงสะเทือนได้ดีสุดในกลุ่ม
ด้านศูนย์บริการ ถึงจะมีโชว์รูมผู้จำหน่ายหน้าใหม่ เปิดตัวขึ้นมาเยอะมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การดูแลลูกค้าก็ยังแตกต่างกันไป บริการหลังการขายภาพรวม จัดอยู่ในเกณฑ์กลางๆ ถ้าเจอดีลเลอร์ไหน ดูแลลูกค้าดี ก็ถือว่าทำบุญมาดี แต่ดีลเลอร์ที่อยู่มานาน ก็มักจะเก๋าเกมเกินเหตุกับลูกค้าอยู่ไม่น้อยตามเดิม
– Suzuki XL-7
XL7 เหมาะกับคนที่มีงบประมาณ ในระดับที่พอจะเจียดเงินจ่ายเพิ่มจาก Ertiga รุ่นปกติ เพื่อแลกกับความทะมัดทะแมงจากภาพลักษณ์ภายนอกของตัวรถ ที่ถูกเสริมแต่งด้วยอุปกรณ์ประดับยนต์จากโรงงาน มารอบคัน ซึ่งจะช่วยเสริมบุคลิกของคุณ ให้ยังคงเป็น พ่อบ้าน ที่เน้นความเท่ ข้อดีก็คือ ช่วงล่าง ที่นอกจากจะยกสูงให้เสร็จสรรพมาจากโรงงานแล้ว ยังตอบสนองได้ดีขึ้น และลดอากาศท้ายเด้ง ให้น้อยลงกว่า Ertiga ตัวเตี้ยอีกเล็กน้อยด้วยซ้ำ แม้ว่าอาจยังคุมอาการบั้นท้าย ด้อยกว่า Xpander Cross อยู่สักหน่อยก็ตาม ต่อให้ตัวเลขอัตราเร่งและอัตราสิ้นเปลือง จะด้อยกว่า Veloz อยู่เล็กน้อย กระนั้น ในภาพรวม ตัวรถก็ทำมาจบ และลงตัวในทุกด้าน เพียงแต่ว่า จุดด้อยของ XL-7 ที่สำคัญนั่นคือ ไม่มีระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยกลุ่ม ADAS มาให้นอกเหนือจากอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเลย
ด้านศูนย์บริการ Suzuki ยังคงมีจุดเด่นเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาถูกกว่าเพื่อนฝูงนิดหน่อย แต่แน่นอนว่า คุณภาพงานบริการ ก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกันกับ Mitsubishi Motors นั่นคือ ถ้าเจอดีลเลอร์ที่ดี ก็ควรจะผูกมิตรกันไว้นานๆ แต่ถ้าเจอดีลเลอร์ไม่ดี ก็ควรถอยหนีห่างออกมา
ถ้ายืนยันแล้วว่าจะเลือก Veloz คำถามคือ รุ่นย่อยไหน ถึงจะคุ้มค่ากว่ากัน? / Choice to Choose?
Toyota Veloz เวอร์ชั่นไทย จะมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย ได้แก่ SMART และ PREMIUM มาพร้อมการรับประกันคุณภาพตัวรถ Warranty นาน 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร ฟรีค่าแรงเช็คระยะถึง 100,000 กิโลเมตร ด้วยราคาค่าตัวดังนี้
- 1.5 SMART CVT 795,000 บาท
- 1.5 PREMIUM CVT 875,000 บาท
ส่วนสีตัวถังภายนอก มีให้เลือก 4 สี ดังนี้
- สีขาวมุก Platinum White Pearl (เพิ่มเงิน 7,000 บาท)
- สีเทาเงิน Purplish Silver Mica Metallic
- สีแดง Dark Red Mica Metallic
- สีดำ Black Metallic
ถ้าถามกันตรงๆแล้ว ผมมองว่า รุ่น SMART มีอุปกรณ์มาให้ คุ้มค่ามาก ในราคาที่เหมาะสม และเป็นตัวเลือกที่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตั้ง ระบบ ABS EBD VSC TRC ระบบ Blind Spot Monitoring และระบบ RCTA มาให้ จากโรงงานตั้งแต่รุ่นถูกสุด ดังนั้น แม้จะได้ชุดเครื่องเสียง พร้อมจอมอนิเตอร์สี ขนาดเล็กลงมาเป็น 8 นิ้ว รองรับ Apple Car Play และ Android Auto ได้เหมือนกัน รวมทั้งไม่มีกล้องรอบคัน แต่ยังมีกล้องมองหลัง ซึ่งผมมองว่า ทั้งหมดนั้น ก็คุ้มค่าเพียงพอแล้ว แทบไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปอุดหนุนรุ่น PREMIUM เลย
แต่แน่นอนว่า ถ้าคุณยังต้องการอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เหนือชั้นขึ้นไปอีก ทั้งระบบความปลอดภัยก่อนการชน PCS (Pre-collision System) ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมดึงพวงมาลัยกลับ LDA with SA (Lane Departure Alert with Steering Assist) ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ AHB (Auto High Beam) ที่ทำงานได้นุ่มและเนียนขึ้นมาก รวมทั้ง
ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว FDA (Front Departure Alert) ระบบป้องกันการเหยียบคันเร่งแบบผิดวิธี (Pedal Mis-operation Control) และการตกแต่งภายนอก ด้วย Trim ทั้งบริเวณ ช่องไฟตัดหมอกคู่หน้า ประตูทั้ง 4 บาน และสปอยเลอร์ด้านหลัง คุณก็คงต้องยอมจ่ายแพงขึ้นไปอีกหน่อย เพื่อ Upgrade ขึ้นไปเล่นรุ่น PREMIUM ที่ให้ข้าวของมาครบครันขึ้นอีกระดับ
ท้ายที่สุดนี้ เราคงต้องยอมรับความจริงกันว่า การเปลี่ยนโฉม…ไม่สิ ควรเรียกว่า การพลิกโฉมใหม่หมดทั้งคัน จาก Avanza คันเดิมที่เราคุ้นเคย มาเป็น Veloz คันใหม่ ให้ทันสมัยขึ้นในคราวนี้ คือความพยายามครั้งใหญ่ของ Toyota ในการรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดรถยนต์ Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ใน Indonesia เป็นหลัก ถึงขั้นยอมเลิกใช้ โครงสร้างงานวิศวกรรม ระบบขับเคลื่อนล้อหลังเดิมๆ ที่ลากขายกันมาตั้งแต่ปี 1997 (ใน Daihatsu Terios) แล้วแทนที่ด้วย DNGA Platform ไม่เพียงเท่านั้น Toyota ยังทุ่มทุนสร้าง ด้วยการติดตั้งสารพัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้ง Package ระบบความปลอดภัย ADAS ภายใต้แบรนด์ Toyota Safety Sense มาให้แน่นคันรถ อย่างที่เราไม่เคยคิดว่าพวกเขาจะยอมทำถึงขนาดนี้มาก่อน
เท่ากับว่า วันนี้ Toyota ได้พา Veloz ใหม่ ได้พาตัวเองขึ้นมาเทียบชั้น แข่งขันกับคนอื่น ได้อย่างสมศักดิ์ศรีเสียที
ทว่า เมื่อนำมาทดลองขับขี่ใช้งานกันจริงจัง เราพบว่า Veloz ก็ยังทำผลงานออกมา ตามสไตล์ Toyota นั่นคือ คู่แข่งทำรถออกมาดีเด่นหรือด้อยกว่าในด้านใด พวกเขาจะพยายาม ปรับปรุงสมรรถนะ และคุณสมบัติด้านต่างๆ ในรถยนต์รุ่นใหม่ของตน ให้ออกมาอยู่ในระดับ “ตรงกลาง” ไล่เลี่ยกันระหว่างคู่แข่งในตลาดเหล่านั้น เหมือนเช่นเคย ตัวเลขอัตราเร่ง แะความประหยัดน้ำมัน อาจจะออกมาดีกว่าชาวบ้านเขาในทุกประเด็น แต่ก็ไม่ได้ดีกว่ากันมากนัก ส่วนบุคลิกการขับขี่ในภาพรวม ก็ยังมีบางด้านที่เด่นกว่า และบางด้านที่ด้อยกว่าคู่แข่ง เป็นปกติ
ดังนั้น ถ้าจะถามว่า Veloz ใหม่ จะพลิกโฉมถึงขั้นเป็น Xpander’s Killer อย่างที่คนของ Toyota เขาตั้งความหวังไว้หรือไม่? มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะมองจากมุมใด?
ถ้ามองจากมุมของคนที่ทำงานใน Toyota ไม่ว่าจำเป็นสำนักงานใหญ่ ดีลเลอร์ หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องก็ตาม แน่นอน ทุกคนมองว่า ด้วยชื่อชั้นของ แบรนด์ Toyota ที่แข็งแกร่งกว่า บวกกับคุณสมบัติของตัวรถในภาพรวม ความคุ้มค่า ราคาขายต่อ ฯลฯ คน Toyota ก็จะมองว่า Veloz เป็น Xpander’s Killer ได้อย่างแน่นอน
ถ้ามองจากมุมของลูกค้า ด้วยการวาง Option และราคาที่ทำได้ดีแบบนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ ก็น่าจะมองว่า Veloz เป็น Xpander’s Killer ได้อย่างแน่นอน
แต่…ถ้าถามผม ก็คงต้องขอตอบจากความคิดเห็นส่วนตัวว่า “ยัง”งานนี้ Toyota พยายามรุกฆาต แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็ทำได้เพียงแค่ เอามีดทิ่มแทงไปที่ Xpander & Xpander Cross ให้พอมีแผลบาดเจ็บที่ลึกสักหน่อยได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นนอนหงายตายสนิทอย่างที่คาดหวัง
เพราะเมื่อเทียบจุดดีจุดเด่นกันจริงๆแล้ว Xpander ทั้ง 2 พี่น้อง ก็ยังมีพื้นที่ห้องโดยสารใหญ่โต เบาะที่นั่งสบายกว่า ช่วงล่างที่ Firm นุ่ม และมั่นใจกว่า ในขณะที่ Suzuki XL-7 ก็จะได้เปรียบเล็กน้อยในเรื่อง สมรรถนะการขับขี่ในภาพรวม ที่ผสมกลมกลืนกันได้ลงตัว แต่ขาดระบบ ADAS ไป
แต่ถ้าจะถามหาสมรรถนะกับ Option ที่สมกับราคา ความคุ้มค่า จากเงินที่จ่าย ศูนย์บริการที่หาง่ายไม่แพ้ 7-11 คำตอบวันนี้ ก็คงจะมีแค่ Veloz เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณยังไม่รีบ ผมขอแนะนำว่า รออีกสักนิดครับ รอจนกว่าคู่แข่งอย่าง Honda BR-V จะส่งรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange จาก Indonesia มาถึงเมืองไทย ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ไม่เพียงเท่านั้น Hyundai ก็ยังเตรียมการจะส่ง Stagazer Minivan 1.5 ลิตร คันแรกของพวกเขา จาก Indonesia มายังเมืองไทย ภายในปีนี้อีกเช่นเดียวกัน เมื่อถึงตอนนั้น ตลาด Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่งในบ้านเรา ที่ร้อนระอุอยู่แล้ว จะยิ่งลุกโชนต่อเนื่องขึ้นไปอีก
เมื่อถึงเวลานั้น ค่อยตัดสินใจ ยังไม่สาย…
———————///———————-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ
—————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ และ CG เป็นลิขสิทธิ์ของ
“Toyota Motor Thailand” และ ASEAN NCAP
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
21 มิถุนายน 2022
Copyright (c) 2022 Text and Pictures
Except some CG from “Toyota Motor Thailand” & ASEAN NCAP
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 21 th,2022
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!