“เมื่อไหร่ Hyundai จะส่งรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่รถตู้ H-1 เข้ามาทำตลาดในบ้านเราสักที?”
ผมเชื่อว่า คำถามนี้ น่าจะอยู่ในห้วงความคิดของคุณผู้อ่านหลายๆคนมาเป็นเวลานานแล้ว ณ วันนี้ คนไทยจำนวนมาก รู้จัก Hyundai ก็จากรถตู้ H-1 , Starex หรือไม่ก็ Staria หลายคนน่าจะลืมหรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Hyundai เคยสั่งนำเข้ารถเก๋งมาจำหน่ายในบ้านเรา
อันที่จริง ในอดีต ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2007 เป็นต้นมา Sojitsu ผู้นำเข้าและจำหน่าย รถยนต์ Hyundai ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Hyundai Motor (Thailand) ก็เคยใช้ความพยายาม มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ที่จะสั่งนำเข้ารถยนต์นั่ง Passenger Cars หลากหลายรุ่น เข้ามาให้ลูกค้าชาวไทยได้สัมผัสและเป็นเจ้าของ
แต่ผลลัพธ์ มันก็เป็นอย่างที่ทุกคนเห็นนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็น Sonata, Santa Fe, Coupe มาจนถึง, Sonata Sport Elantra , Veloster หรือจะเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า ที่มาก่อนกาลอย่าง IONIC รุ่นดั้งเดิม และ Kona Electric แต่ละคันล้วนแล้วประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายเลยสักรุ่นเดียว ยอดขายเต็มที่สุด ต่อรุ่น ก็ ไม่เกิน 20 – 50 คัน
สาเหตุส่วนใหญ่ มาจากปัญหาสำคัญนั่นคือ ทุกบริษัทรู้ดีว่า ถ้าจะขายรถยนต์ในเมืองไทย ให้สามารถแข่งขันกับชาวบ้านชาวช่องเขาได้ ทางเดียวคือ คุณต้องยอมเสี่ยงลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศ เสี่ยงลงไปทั้งที่ไม่รู้ว่า ยอดขายที่ได้กลับมา มันจะคุ้มหรือเปล่า หาไม่แล้ว ราคาขายปลีกรถยนต์ของคุณ ซึ่งต้องนำเข้าสำเร็จรูปมาทั้งคัน จ่ายภาษีนำเข้าเต็มพิกัด ก็จะแพงกว่าคู่แข่ง สู้เขาไม่ได้ ก็ต้องออกจากตลาดไปในที่สุด
Hyundai เคยจ้างโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ให้ช่วยประกอบ Sonata รุ่นปี 2007 – 2008 ขายในบ้านเราอยู่พักหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ตอนนั้น คนไทยยังไม่ค่อยรู้ว่า Hyundai กลับมาแล้ว ความมั่นใจในแบรนด์ก็ยังไม่มีมากนัก รถใหม่เลยขายไม่ได้ ทำให้ยอดสั่งโรงงานผลิตออกมาน้อย
สุดท้าย พอหมดรุ่น ก็ต้องเปลี่ยนมานำเข้ารถใหม่จากเกาหลีใต้แทน ยิ่งไทยเราไม่ได้ทำข้อตกลงทางการค้า FTA กับเกาหลีใต้ ยิ่งทำให้ต้องคิดภาษีนำเข้าตามจริง ซึ่งแพงมาก จนทำราคาขายปลีกสู้ชาวบ้านเขาไม่ได้ นี่คือ Pain point ของ การทำตลาดรถยนต์ Hyundai ในบ้านเรา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
วันนี้ Hyundai หาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ พวกเขาเลือกไปเปิดโรงงานแห่งใหม่ใน Indonesia เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตและส่งออกรถยนต์ ให้กับตลาดในเขต ASEAN ทุกประเทศ พวกเขาเลือกรุ่นรถยนต์ สำหรับเข้ามาประกอบขาย อยู่ 2 รุ่น นั่นคือ Minivan รุ่น Stagazer ที่มีกำหนดเปิดตัวใน Indonesia อีกไม่เกิน 1 เดือน หลังจากนี้ ส่วนอีกรุ่น เป็น Compact SUV คันที่คุณเห็นอยู่นี่ละ
สารภาพกันตามตรงว่า เมื่อปี 2021 วินาทีแรกที่ผมได้รับรู้ ว่า Hyundai กำลังเตรียมจะส่ง Creta มาเปิดตัวที่เมืองไทย ผมนี่ร้องลั่นบ้าน เลยว่า “เอาจริงเหรอ? แน่ใจแล้วเหรอ? คิดดีแล้วเหรอ? ดีไซน์ออกจะเชยขนาดนี้ คนไทยไม่ค่อยชอบรถยนต์ที่มีเส้นสายแบบนี้นะพี่”
“๋J!MMY พี่ลองขับสั้นๆแล้ว รถมันดีกว่าที่คิดนะ!” พี่ตาเล็ก PR ของ Hyundai บอกกับผมแทบทันทีหลังจากที่ผมร้องลั่นบริษัท พร้อมกับร่ายย่อหน้าข้างบนให้ฟังจนเสร็จ ปกติแล้ว ผมก็รู้อยู่แหละว่า พี่ตาเล็ก เป็นหนึ่งในพี่สาวร่วมวงการที่ดีกับผมมากๆอีกคนหนึ่ง และเป็นคนที่ผม ไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องอื่นๆ จิปาถะทั่วไป แต่ถ้าเรื่องการขับรถแล้ว ผมพอจะเชื่อพี่ตาเล็กได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น
ทว่า พอได้มีโอกาส นำรถคันนี้ มาใช้ชีวิตด้วยกัน ตั้งแต่ ช่วงสั้นๆ 2 วัน 1 คืน หลังหายป่วยจาก Covid-19 รอบ 2 ก่อนงาน Bangkok International Motor Show จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา เพียง 1 วัน ก่อนจะเว้นว่างห่างหายมาจนถึง เดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา กับรถ 2 คัน ต่างสี ต่างระยะทางแล่น แต่เป็นรุ่นย่อย SEL ตัว Top เหมือนกัน ภายใต้เส้นสายที่ไม่น่าประทับใจ ผมกลับค้นพบคุณงามความดีของตัวรถ ว่ามันมากพอที่จะบอกให้คุณ ควรเก็บ Creta ไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ในการตัดสินใจซื้อ B-SUV ของคุณ
ถ้าคุณยังคาใจ ว่า มันดีขนาดนั้นเลยเหรอ?…ผมมีเรื่องเล่าให้อ่านกันเล็กน้อย
ผมเพิ่งได้พบกับ Enrico Gangemi คุณผู้อ่านของเว็บเรา หลังจากมื้อเย็นค่ำวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา หลังจัดรายการ DR!VE By J!MMY เสร็จสิ้นลงในสัปดาห์นั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากหาคนมานั่งรถเป็นเพื่อน
Enrico ผู้ซึ่งเคยมีประสบการณ์กับ Hyundai ก็แค่ขับรถตู้ H-1 มา เมื่อได้ลองนั่ง Creta ก็ถึงกับ อึ้ง และถ่ายทอดประสบการณ์ของเจ้าตัว ออกมาให้ผมฟัง ดังนี้
“ครั้งแรกที่ผมเห็น Creta จอดอยู่ในงาน Motor Show ผมไม่มองมันเลยนะพี่ ยังคิดอยู่เลยว่า ดีไซน์มันแปลกๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน ภายในดูโบราณ ภายนอกดูไม่มีเส้นสาย ต้องบอกเลยว่า รถคันนี้ ถ่ายรูปไม่ขึ้น ใครจะซื้อวะ แต่พอมาสัมผัสตัวจริงแล้ว เฮ้ย! มันดูน่าใช้นะพี่! มันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด ภายนอกดู Full Option ไฟ LED เต็มระบบ ส่วนภายใน Option ครบ เทคโนโลยีเต็มคัน หน้าปัด Digital แถมี Sunroof เพิ่มบรรยากาศภายในรถ ช่วงล่างค่อนข้างนิ่มและ Firm พอสมควร ถ้าคุณคิดจะซื้อรถ Segment นี้ มาดูคันนี้ก่อนดีกว่า รับรอง Option คุ้มสุดๆ”
ผมเชื่อว่า น่าจะมีผู้คนอีกมาก ที่คิดและมองในแบบเดียวกับที่ Enrico มอง คือ เมื่อยังไม่ได้สัมผัส รถคันนี้ มันแทบหาความดึงดูดใจให้คุณเดินเข้าไปดูแทบไม่ได้เลย แต่พอลองเปิดใจเท่านั้นแหละ ความคิดคุณก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ
มันน่าสนใจขนาดนั้นเลยเหรอ? สงสัยใช่ไหมครับ? ถ้าเช่นนั้น เรื่องราวทุกซอกมุมของรถคันนี้ รอคุณอยู่แล้วข้างล่างนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณจะได้รับรู้ทั้งคุณงามความดี และข้อที่ควรปรับปรุงของ Creta ใหม่ ผมอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับ B-Segment Crossover SUV คันใหญ่โตรุ่นนี้ (ที่ควรถูกเรียกว่า C-Segment Crossover SUV เสียมากกว่า) กันเสียก่อน ว่า มันมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไม เราถึงได้เห็น Creta มาขึ้นโชว์รูม Hyundai ในเมืองไทยได้ ในที่สุด
Hyunda Creta เป็นรถยนต์ Sub-Compact Crossover SUV 5 ที่นั่ง ของ Hyundai ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นทำตลาดให้กับลูกค้าในกลุ่มประเทศ Emerging Market และกลุ่ม BRICS อันได้แก่ Brazil Russia India China (สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนจีน) และ South Africa เป็นหลัก โดยถูกวางตำแหน่งการตลาด ในระดับต่ำกว่า C-SUV รุ่น Tucson ส่วนตลาดประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ จะไม่มี Creta ทำตลาด เพราะลูกค้าเหล่านั้น จะได้มีโอกาส อุดหนุน Hyundai Kona ที่มีขนาดเล็กกว่า แต่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่า เป็นการทดแทน
ชื่อรุ่น Creta นั้น มาจากชื่อ เกาะ Crete island ในประเทศ Greece ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในแถบทะเล Mediterranean (เมดิเตอเรเนียน) และใหญ่เป็นอันดับ 88 ของโลก โดย Hyundai ตั้งใจจะให้ชื่อนั้น สอดคล้องกับคำว่า Creative แปลว่า สร้างสรรค์
Creta รุ่นแรก รหัสรุ่น GS เปิดตัวครั้งแรก ในโลก ณ งาน Beijing International Motor Show เมื่อ 20 เมษายน 2014 ในฐานะรถยนต์ต้นแบบ Hyundai ix-25 ก่อนจะเปิดตัวเวอร์ชันจำหน่ายจริง ในงาน Chengdu Auto Show เมื่อ 29 สิงหาคม 2014 ก่อนส่งขึ้นสายการผลิต ที่โรงงาน Beijing Hyundai และออกจำหน่ายในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นแห่งแรก เมื่อ 9 ตุลาคม 2014 ในฐานะ Crossover SUV รุ่น IX-25 ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นหลัก
หลังจากนั้นจึงเริ่มทะยอยเปิดตัวในตลาดต่างๆ เช่นนำไปผลิตที่โรงงาน Chennai แล้วเปิดตัวใน India เมื่อ 21 กรกฎาคม 2015 ตามด้วยการนำไปขึ้นสายการผลิตที่โรงงานใน Russia เมื่อ 1 สิงหาคม 2016 ตามด้วย Brazil เมื่อ 5 ธันวาคม 2016 ฯลฯ ภายใต้ชื่อรุ่น CRETA ซึ่งมาจาก ชื่อเกาะ Crete Island ในประเทศ Greece ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 88 ในโลก แต่ในบางตลาด เช่น Dominican Republic จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Hyundai Cantan แทน
มิติตัวถังยาว 4,270 – 4,290 มิลลิเมตร กว้าง 1,780 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,622-1,646 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,590 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ 4 ขนาด 6 แบบ 7 ระดับความแรง ตามแต่ละตลาด ดังนี้
- 1.6 Gamma เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,591 ซีซี หัวฉีด MPI พ่วงได้ทั้ง เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD
- 121 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 148 นิวตันเมตร (15.1 กก.ม.) ที่ 4,850 รอบ/นาที
- 123 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 151 นิวตันเมตร (15.4 กก.ม.) ที่ 4,850 รอบ/นาที
- 130 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 162 นิวตันเมตร (16.5 กก.ม.) ที่ 4,850 รอบ/นาที (FLEX สำหรับตลาด Brazil)
- 2.0 Nu เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี หัวฉีด MPI มีเฉพาะ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พ่วงได้ทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD
- 149.6 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 192 นิวตันเมตร (19.6 กก.ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที
- 166 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 201 นิวตันเมตร (20.5 กก.ม.) ที่ 4,700 รอบ/นาที (FLEX สำหรับตลาด Brazil)
- 1.4 CRDi Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,396 ซีซี Common-Rail Turbo 90 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.ม. ที่ 1,500 – 2,750 รอบ/นาที
- 1.6 CRDi Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,582 ซีซี Common-Rail Turbo 128 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 26.5 กก.ม. ที่ 1,500 – 2,750 รอบ/นาที
พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Coupled Torsion Beam Axle Type ระบบห้ามล้อ หน้าดิสก์ หลังดรัม เสริมตัวช่วยทั้ง ระบบ Anti-Lock Braking System (ABS), ระบบ Electronic Stability Control (ESC), ระบบ Vehicle Stability Management (VSM), ระบบ Hill start Assist Control (HAC), ระบบ Rear Parking Assist System และถุงลมนิรภัย 6 ใบ
Creta รุ่นแรก ถูกปรับโฉม Minorchange เป็นรหัสรุ่น GC เริ่มจากในจีน ภายใต้ชื่อ ix-25 เมื่อ 28 สิงหาคม 2017 ตามด้วย India เมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 และ Brazil เมื่อ 31 กรกฎาคม 2019 ปรับเปลี่ยนกระจังหน้าทรง Hexagonal ให้ใหญ่และหรูขึ้น เปลี่ยนชุดไฟหน้า เปลือกกันชนหน้า ลายล้ออัลลอยใหม่ และไฟท้าย LED ส่วน Russia ปรับโฉมเพียงเล็กน้อย เมื่อ 18 เมษายน 2020 ด้วยกระจังหน้าลายพิเศษ 3 มิติ คล้าย Mercedes-Benz A-Class
Creta รุ่นแรก ประสบความสำเร็จในแทบทุกตลาดที่เข้าไปจำหน่าย โดยเฉพาะใน India ที่สามารถทำยอดขายสะสมทะลุเกิน 200,000 คัน ได้สำเร็จ ในเดือน สิงหาคม 2017 ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน ตลาดหลักหลายประเทศ จะยุติการทำตลาด ix-25 และ Creta รุ่นแรก ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2019 – 2021 ทว่า ยังมีบางประเทศ ที่ยังมีรถยนต์รุ่นนี้ จำหน่ายอยู่ จวบจนถึงปัจจุบัน! เช่น Brazil เป็นต้น
รุ่นปัจจุบัน เจเนอเรชั่นที่ 2 รหัสรุ่น SU เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศจีน ในชื่อ Hyundai iX25 (รหัสรุ่น SU2c) ตั้งแต่เดือน เมษายน 2019 ณ งาน Shanghai Auto Show ก่อนที่เวอร์ชั่น India (SU2i) จะเปิดตัวตามมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีให้เลือกทั้ง Creta 5 ที่นั่ง และ Alcarzar 7 ที่นั่ง (หรือ Grand Creta ในบางตลาด) จากนั้น
ตัวถังมีความยาว 4,300 – 4,315 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,620 – 1,635 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตร รายละเอียดด้านงานวิศวกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ๋ เหมือนรุ่นก่อนปรับโฉม MInorchange ส่วนขุมพลัง มีให้เลือกมากถึง 7 เครื่องยนต์ 15 ทางเลือก ดังนี้
- 1.0 Kappa-II G3LC เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 998 ซีซี Direct Injection (T-GDi) พ่วง Turbocharger 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.5 กก.ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
- 1.4 Kappa II G4LD เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,353 ซีซี Direct Injection (T-GDi) พ่วง Turbocharger 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.7 กก.ม. ที่ 1,500 – 3,200 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ DCT 7 จังหวะ
- SmartStream G4FL เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,497 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 75.6 x 83.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด MPI (Multi-point Injection) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว D-CVVT (Dual Continuous Variable Valve Timing) 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที 14.7 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ CVT
- 1.6 Gamma II G4FG เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,591 ซีซี หัวฉีด MPI พ่วงได้ทั้ง เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD
- 121 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.1 กก.ม. ที่ 4,850 รอบ/นาที
- 123 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.4 กก.ม. ที่ 4,850 รอบ/นาที
- 2.0 Nu เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี หัวฉีด MPI 149 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.5 กก.ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีทั้งรุ่นขับล้อหน้า และ ขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD
- 2.0 SmartStream G G4NJ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี หัวฉีด MPI มี 2 เวอร์ชัน เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ และขับเคลื่อนล้อหน้า เท่านั้น มี 2 เวอร์ชันตามแต่ละตลาด
- 159 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.2 กก.ม. ที่ 4,700 รอบ/นาที
- 169 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.6 กก.ม. ที่ 4,700 รอบ/นาที
- 1.5 U-II D4FA Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,493 ซีซี Direct Injection Common-Rail (CRDi) Turbo 115 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.5 หรือ 25.5 กก.ม. ที่ 1,500 – 2,750 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 6 จังหวะ
จากสถิติที่ผ่านมา Creta ทำยอดขายได้ดีในตลาด India (ต่ำสุด 40.952 คัน ในปี 2015 / สูงสุด 120,905 คัน ในปี 2018) ตามด้วย จีน (สูงสุด 113,468 คัน ในปี 2016 / ต่ำสุด 16,201 คัน ในปี 2021 ) Russia (ต่ำสุด 21,929 คันในปี 2016 / สูงสุด 73,537 คัน ในปี 2020) Brazil (ต่ำสุด 41,629 คัน ในปี 2017 / สูงสุด 64,764 คัน ในปี 2021) แต่ถ้าจะรวมตัวเลขยอดขายสะสมนับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงสิ้นปี 2021 Hyundai ส่งมอบ Creta ให้ลูกค้า ทั้งใน Brazil จีน India Russia Mexico และ South Africa ไปแล้ว มากถึง 1,806,594 คัน!!! นันคือเครื่องยืนยันความสำเร็จของ Creta ในตลาดกลุ่ BRICS ได้เป็นอย่างดี
เมื่อ Hyundai ตัดสินใจตั้งไลน์ผลิตที่โรงงานแห่งใหม่ PT Hyundai Motor Manufacturing Indonesia (HMMI) ในเมือง Cikarang ประเทศ Indonesia แล้ว อีกประมาณ 1 ปีให้หลัง พวกเขาจึงจะพร้อมประกอบ Creta รุ่นปรับโฉม Minorchange และเปิดตัวรถรุ่นนี้ เป็นครั้งแรกที่ประเทศ Indonesia เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา ใช้รหัสรุ่น “SU2id”
ในเมื่อ รุ่นปรับโฉม Minorchange คราวนี้ มีงานออกแบบภายนอกที่ดูสวยทันสมัยขึ้น หน้าตามีความละม้ายคล้าย SUV รุ่นพี่ อย่าง Tucson ใหม่ อยู่ไม่น้อย Hyundai Motor (ประเทศไทย) จึงตัดสินใจนำ Creta เข้ามาบุกตลาดรถยนต์ใต้ท้องสูงขนาดเล็กในประเทศไทย โดยใช้สิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA เพื่อทำราคาจำหน่ายให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป ต้องสู้กับคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็น Honda HR-V, Mazda CX-30 ,MG ZS, Nissan Kicks และ Toyota Corolla Cross, เป็นต้น
Hyundai Motor (Thailand) เปิดตัว Creta ในเมืองไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ณ Samyan Midtown และในอีก 2 วันให้หลัง Headlightmag ของเรา ก็ได้รับ Creta มาทดลองขับ จับอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก่อนสื่อใดในเมืองไทย ในวันเสาร์ ก่อนต้องส่งคืนรถภายในวันอาทิตย์ เพื่อส่งเข้าไปจอดแสดงในงาน The International Bangkok Motor Show ในวันจันทร์ ถัดมา
แน่นอนว่า กระแสเงียบกริบ ทั้งที่มีความพยายามโฆษณา ทั้งขึ้นป้าย Billboard หรือยิง Facebook ad. ต่างๆ นาๆ ทว่า ลูกค้าก็ไม่ได้สนใจเอาเสียเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะมันมีปัจจัยหลายประการซึ่งจะขอเก็บไว้เล่าในช่วงสรุป ข้างล่างของบทความนี้
ขนาดตัวรถ / Dimension
Hyundai Creta มีความยาว 4,315 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,630 มิลลิเมตร (รวมราวหลังคา) ระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตร ระยะใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 200 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 40 ลิตร น้ำหนักตัวรถ 1,150 กิโลกรัม
ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อย่าง Honda HR-V ซึ่งมีความยาว 4,385 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,590 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตร จะพบว่า Creta สั้นกว่า 70 มิลลิเมตร กว้างเท่ากัน สูงกว่า 40 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวเท่ากัน
หรือถ้าเปรียบเทียบกับ Haval Jolion ซึ่งมีความยาว 4,472 มิลลิเมตร กว้าง 1,841 มิลลิเมตร สูง 1,619 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร จะพบว่า Creta สั้นกว่า ถึง 157 มิลลิเมตร แคบกว่า 51 มิลลิเมตร สูงกว่า 11 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 90 มิลลิเมตร
ขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบกับ Mazda CX-30 ซึ่งมีความยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,540 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,655 มิลลิเมตร จะพบว่า Creta สั้นกว่า 80 มิลลิเมตร แคบกว่า 5 มิลลิเมตร สูงกว่า 90 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 45 มิลลิเมตร
หากเปรียบเทียบกับ MG ZS ซึ่งมีความยาว 4,323 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,653 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,585 มิลลิเมตร จะพบว่า จะพบว่า Creta สั้นกว่าแค่ 8 มิลลิเมตร แคบกว่า 19 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 23 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 25 มิลลิเมตร
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Nissan Kicks ซึ่งมีความยาว 4,290 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,615 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,615 มิลลิเมตร จะพบว่า จะพบว่า Creta ยาวกว่า 25 มิลลิเมตร แคบกว่า 30 มิลลิเมตร สูงกว่า 15 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 5 มิลลิเมตร
ท้ายสุด ถ้าเปรียบเทียบกับ Toyota Corolla Cross ซึ่งมีความยาว 4,460 มิลลิเมตร กว้าง 1,825 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร จะพบว่า Creta สั้นกว่า 145 มิลลิเมตร แคบกว่า 35 มิลลิเมตร สูงกว่า 10 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 30 มิลลิเมตร
ภายนอก / Exterior
งานออกแบบภายนอกยังคงยืนหยัดอยู่กับเส้นสายของ Creta รุ่นแรก ที่เปิดตัวออกมาตั้งแต่ ปี 2019 เพียงแต่ว่า มีการปรับโฉม Minorchange ให้ดูสดใหม่ขึ้น โดยเน้นไปที่ด้านหน้าของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็น กระจังหน้าโครเมียม รมดำ แบบ Parametric Jewel Radiator Grille ซึ่งเมื่อดูไปดูมา หน้าตา คล้ายกับ “เกล็ดปลาทู”!!
ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน Hidden-type LED (DRL : Daytime Running Light) ถูกออกแบบให้กลมกลืนไปกับกระจังหน้า โดยติดตั้งไว้ที่มุมด้านบนสุดของกระจังหน้า ทั้ง 2 ฝั่ง
ถัดลงมา เป็นชุดไฟหน้าแบบ LED Headlights ใช้โคมแบบ Multi-Reflector พร้อมไฟเลี้ยว ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งด้านข้างของเปลือกกันชนหน้า แบบเดียวกับ Hyundai Staria และ Nissan Juke ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ มีการย้ายชุดไฟหน้า ลงมาติดตั้งในตำแหน่งของ ไฟตัดหมอกหน้าแบบเดิม นั่นเอง
บริเวณกลางลำตัวรถ นอกเหนือจาก เสาอากาศแบบ ครีบฉลาม ด้านบนหลังคาแล้ว ยังมีรายละเอียดงานออกแบบที่สำคัญมากสุด นั่นคือ แนวเส้นสีเงิน ลากยาวตั้งแต่ ขอบด้านบนสุดของบานประตูคู่หน้า ต่อเนื่องยาวลงมาจรดกับเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar เพื่อ Highlight และแยก หลังคา กับตัวรถท่อนล่างออกจากกัน กระนั้น ด้วยแนวเส้นกรอบประตูคู่หลัง ที่ถูกออกแบบให้เน้นความสะดวกในการเข้า – ออกจากรถเป็นหลัก ทำให้ เส้นสายบริเวณเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ดูเชย เหมือนคนหลังค่อม และกลายเป็นจุดที่ทำให้หลายคน รู้สึกไม่ชอบรถคันนี้ขึ้นมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เท่านั้นยังไม่พอ ด้านท้ายรถ ยังแตกต่างจากชาวบ้านชาวช่อง ด้วยชุดไฟท้าย LED แบบ 2 Layer ซึ่งได้แรงบันดาลใจการออกแบบจากบูมเมอแรง แต่มีความพิลึกพิลั่น ด้วยการติดตั้ง แถบทัมทิมสี่เหลี่ยมอันเล็กๆ เพื่อเชื่อมต่อชุดไฟท้ายด้านบนและล่าง เข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นชุดไฟท้ายที่ดูแปลกตา ไม่สามารถตัดสินแบบฟันฉับ โชะๆ ไปว่า สวยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละปัจเจกชน ส่วนด้านบน ติดตั้งสปอยเลอร์สีเดียวกับตัวถัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3
ล้ออัลลอย ของทั้งรุ่น SE และ SEL เป็นแบบเดียวกัน มีขนาด 17 นิ้ว x 6.5 J ลาย Diamond Cut แบบ Two-tone สีเงิน ตัดกับสีดำเงา สวมยาง ขนาด 215/60R17 เหมือนกันทั้งคู่
ภายใน / Interior
กุญแจรีโมทของ Creta ทั้ง 2 รุ่นย่อย เป็นแบบ Keyless Entry พร้อมระบบ Immobilizer มีดอกกุญแจฝังอยู่ด้านในตัวรีโมท มีสวิตช์ ล็อก – ปลดล็อก สวิตช์ Hold และสวิตช์ปลดล็อกฝาท้าย หน้าตาเหมือนยกมาจากกุญแจรีโมทของ Hyundai หลายๆรุ่น เมื่อพกกุญแจรีโมทไว้กับตัว แล้วเดินเข้าใกล้ตัวรถ ก็สามารถสั่งล็อก หรือปลดล็อกได้ทันที ด้วยการกดปุ่มสีดำด้านข้างมือจับเปิดประตู ซึ่งมีมาให้เฉพาะบานประตูคู่หน้า ทั้ง 2 ฝั่ง
การเข้า-ออกจาก บานประตูคู่หน้า นั้น แม้ว่าช่องประตู จะมีความกว้างที่เหมาะสม และสะดวกต่อการก้าวขึ้น – ลง จากตัวรถ ทว่า ด้วยเหตุที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ลาดเอียงอย่างที่เห็น ทำให้โอกาสที่ศีรษะจะโขกกับเสากรอบช่องประตูด้านบน อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น คุณควรจะปรับเบาะนั่งฝั่งคนขับให้อยู่ในตำแหน่งต่ำที่สุด เท่าที่พอจะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน คุณควรเพิ่มความระมัดระวังขณะก้าวลงจากรถ เพราะระยะห่าง จากขอบธรณีประตู จนถึงเบาะคู่หน้า ค่อนข้างกว้าง อีกทั้ง ขอบล่างของบานประตู ไม่ได้ถูกออกแบบให้คลุมทับกาบข้างพลาสติกสีดำ ทำให้ ขากางเกงหรือชายกระโปรงมีโอกาสเลอะฝุ่นโคลนจากบริเวณขอบ Skirt ชายล่างสีดำ ด้านล่างของตัวรถ ได้บ้างเหมือนกัน
เสาขอบประตูด้านบน มีเหลี่ยมสันหักมุม ชวนให้นึกถึงรถยนต์ หรือรถกระบะรุ่นเก่าๆ ราวๆ 35 ปีที่แล้ว ส่วนแผงประตู คู่หน้า ขึ้นรูปด้วยพลาสติก Recycle ตามปกติของรถยนต์ Hyundai ทั่วๆไป น่าเสียดายมากว่า การบุนุ่มหุ้มหนัง มีขึ้นเฉพาะบริเวณพนักวางแขน บนแผงประตูคู่หน้าเท่านั้น ซึ่งก็รองรับกับการวางแขนได้สบาย แม้ว่า แผงสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า จะลาดเอียงขึ้นไปต่อเนื่องก็ตาม นอกนั้นแล้ว ตั้งแต่ด้านบนจรดล่าง ด้านล่าง เป็นช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้ถึง 2 ขวด พร้อมช่องวางข้าวของจุกจิกอยู่ด้านข้างติดกัน
ภายในห้องโดยสาร จะมีให้เลือก 2 โทนสี ขึ้นอยู่กับว่า คุณเลือกสีตัวถังภายนอกอย่างไร หากคุณเลือกรถสีแดง Dragon Red Pearl และ สีขาว Creamy White Pearl คุณจะได้ภายในห้องโดยสาร เป็นสีดำ อย่างที่เห็นในภาพถ่ายชุดนี้ แต่ถ้าคุณเลือกสีตัวถัง Titan Grey Metallic คุณจะได้ภายในห้องโดยสารเป็นแบบ 2 – tone โดยเบาะนั่งจะเป็นสีดำ ตัดกับสีน้ำตาล Cognac Brown (คอนยัค) โดยที่แผงหน้าปัด ก็จะเป็นสีดำ ตัดกับสี Cognac Brown ด้วยเช่นกัน
เบาะนั่งคู่หน้า ยังคงปรับเอนหรือตั้งชัน รวมทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ด้วยคันโยก ทั้งด้านข้างเบาะ และใต้เบาะรองนั่ง เมหือนเช่นรถยนต์ทั่วไป และเฉพาะเบาะคนขับ จะสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ด้วยคันโยกที่เพิ่มเข้ามาด้านข้างเบาะรองนั่ง น่าเสียดายว่ายังไม่ได้ติดตั้งระบบปรับตำแหน่งเบาะด้วยไฟฟ้ามาให้เลย
โครงสร้างเบาะโดยภาพรวม มีขนาดเหมาะสมกับตัวรถ หลายคนอาจบอกว่า ตัวเบาะนั่งคู่หน้า มีขนาดเล็กไปหน่อย แต่ผมกลับมองว่า ขนาดของตัวเบาะกำลังดีแล้ว เมื่อเทียบกับทั้งขนาดสรีระของชาว ASIA และเมื่อเทียบกับเบาะของ Nissan Kicks e-Power
ตัวพนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำนุ่มแน่น ปีกข้างหนานิดๆ รองรับแผ่นหลังได้ดี โดยเฉพาะช่วงนูนกลางหลัง ซึ่งพอจะช่วยให้การเดินทางในระยะไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง ยังพอให้ความสบายได้ แต่ถ้าหลังจากนั้น อาจมีอาการเมื่อยแผ่นหลังได้บ้างเหมือนกัน
พนักศีรษะ มีขนาดปานกลาง ตามมาตรฐาน เหมือนรถยนต์ทั่วไป ข้างในใช้ ฟองน้ำแบบ “นุ่ม แอบแน่น” ออกแบบให้มีแอ่งเว้าเล็กๆ ตัวพนักศีรษะ ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ – ระดับ ไม่ดันกบาล รองรับการใช้งานได้ดี
เบาะรองนั่ง ขนาดค่อนข้างสั้น แต่ยังดีที่ออกแบบมาให้มีมุมเงย (ในตำแหน่งปกติ ยังไม่ได้ปรับเบาะ) ที่เหมาะสม ใช้ฟองน้ำ “นิ่มแนน” ให้ความสบาย เหมือนนั่งบนโซฟา ส่วนปีกเบาะรองนั่ง มีขนาดเท่าๆกับเบาะรถยนต์ทั่วไป ไม่ได้ช่วย Support ใดๆ ขณะที่รถเข้าโค้ง มากนัก
ส่วนเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ยังคงเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ ตามมาตรฐานเดียวกับรถยนต์ทั่วไปในยุคนี้ พร้อมสัญญาณเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย ที่ร้องโวยวายใช้ได้เลยทีเดียว
การเข้า - ออกจากบานประตูคู่หลัง สะดวกสบายมาก นั่นเป็นเพราะ การออกแบบให้ช่องประตูมีความกว้างมาก ทั้งบริเวณท่อนบนและท่อนล่าง อีกทั้งบานประตูคู่หลัง สามารถเปิดกางออกได้กว้างมากถึง 80 องศา ช่วยให้คนตัวใหญ่ สามารถก้าวขึ้นไปนั่ง และลุกออกจากรถได้อย่างสะดวกโยธินมากๆ
เพียงแต่ว่า การยกและเหวี่ยงขาออกนอกรถ อาจต้องเจอกับแผงพลาสติกบุเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar และ ท่อนล่างของแผงประตู ซึ่งยื่นออกมาเยอะนิดนึง อีกทั้งขอบล่างของบานประตู มาในแนวเดียวกับบานประตูคู่หน้า นั่นคือไม่ได้คลุมทับกาบข้างพลาสติกสีดำ ทำให้ ขากางเกงเลอะเทอะฝุ่นโคลนได้ ต้องใช้ความระมัดระวังสักหน่อย
แผงประตูคู่หลัง ขึ้นรูปด้วยพลาสติก Recycle ทั้งแผง ยกเว้นบริเวณพนักวางแขน ซึ่งจะบุนุ่มหุ้มหนังมาให้เล็กน้อย และสามารถวางท่อนแขนได้ในตำแหน่งสบายพอดีตั้งแต่ข้อศอก ขณะเดียวกัน กระจกหน้าต่างสามารถเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบแผงประตู ส่วนด้านล่าง เป็นช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท และเครื่องดื่มกระป๋อง รวม 2 ตำแหน่ง
ถ้าคุณคิดว่า เบาะนั่งคู่หน้า นั่งสบายแล้ว ลองย้ายมานั่งบน เบาะนั่งด้านหลัง ดูครับ คุณจะพบกับว่า ยิ่งนั่งสบายเกินความคาดหมาย ราวกับโซฟาห้องรับแขก และผมมองว่า เบาะหลังนี่แหละ เป็นอีกจุดขายหนึ่งของ Creta ที่ถูกละเลยและมองข้ามไป
พนักพิงเบาะหลัง ปรับเอนไม่ได้ก็จริง แต่ถูกติดตั้งให้ทำมุมเอียงอย่างเหมาะสม ไม่ตั้งชันเลย ค่อนข้างจะเอนไปทางด้านหลังเยอะอยู่ ออกจะสบายสำหรับการเอนกายพักพิงด้วยซ้ำ แถมยังใช้ฟองน้ำนุ่มแอบแน่น ออกแบบให้โอบแผ่นหลังนิดๆ และดันช่วงกลางหลังหน่อยๆ กำลังดี ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนรถเก๋งซีดานราคาแพง
พนักวางแขน พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แบบพับเก็บได้ มีตำแหน่งวางแขนที่เหมาะสม รองรับได้สบายตั้งแต่ช่วงข้อศอก ขณะเดียวกัน พนักศีรษะ ยังคงใช้รูปแบบโครงสร้างตัว L คว่ำ ดังนั้น ต้องยกขึ้นใช้งาน ตัวขอบด้านล่างจึงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ ถึงแม้ว่าจะปรับระดับสูง ต่ำ ได้แค่ ตำแหน่งเดียว แต่การที่ตัวพนักมีฟองน้ำแบบแน่นนุ่ม จึงช่วยรองรับศีรษะได้สบายพอสมควร
ด้านเบาะรองนั่ง มีมุมเงยที่เหมาะสม ใช้ฟองน้ำแบบนิ่ม มีความยาวถึงขาพับพอดี นั่งได้สบายมากๆ ชวนให้สัมผัสในภาพรวม แทบไม่ต่างจาก โซฟาที่บ้านเลย
พื้นที่วางขา เยอะมากขนาดที่นั่งไขว่ห้างได้ สองห้าง ขณะเดียวกัน พื้นที่เหนือศีรษะสำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร มี เหลือ 4 นิ้วมือในแนวนอน ส่วนเข็มขัดนิรภัย สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ทั้ง 3 ตำแหน่ง ก็ยังคงเป็นแบบ ELR 3 จุด เช่นเดียวกันกับด้านหน้า และมีมือจับศาสดา สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ ไว้บนเพดานหลังคา รวม 3 ตำแหน่ง
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น ปลดล็อกได้ทั้งจาก รีโมทกุญแจ และสวิตช์ปลดล็อกที่บริเวณเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง แม้จะใช้กลอนไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีระบบเตะเปิดไฟฟ้าใดๆมาให้ทั้งสิ้น กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝนหลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความจุ 416 ลิตร เมื่อพับเบาะแถว 2 ลงไปจนหมด จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,384 ลิตร ผนังด้านข้าง ฝั่งซ้าย มีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของด้านหลังมาให้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว มันก็ไม่ได้สว่างอะไรมากมายนัก และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะไม่พบยางอะไหล่ มีเพียงแค่ ชุดเครื่องมีอช่างประจำรถติดตั้งมาให้ แค่นั้น
แผงหน้าปัด ถูกออกแบบในสไตล์ เรียบง่าย ดูไม่หวือหวา ยกชุดมาจากรุ่นก่อนปรับโฉม Minorchange ในเมืองนอก น่าเสียดายที่ ประดับด้วยแผงพลาสติก เป็นหลัก ทั้งที่ถ้าบุนุ่มหุ้มหนังได้บ้าง ก็จะช่วยเพิ่มความหรูหรามากขึ้นกว่านี้ อันที่จริง ถ้ามองตอนกลางคืน ยามที่ไฟ Ambient Light สีน้ำเงิน ส่องสว่างจากฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด นั้น จะดูสวยร่วมสมัยมากๆ
แผงควบคุมตรงกลาง มีงานออกแบบ ช่องแอร์ แผง Trim สีดำ Piano Black และตำแหน่งติดตั้งชุดเครื่องเสียง ที่ชวนให้นึกถึง แผงหน้าปัดของ Mitsubishi Mirage และ Attrage อย่างมาก!
มองไปด้านบน จะพบ ไฟอ่านแผนที่ สีขาว LED แบ่งฝั่งซ้าย-ขวา และกระจกมองหลัง แบบธรรมดา ขณะเดียวกัน แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาเลื่อนเปิด-ปิด คลิปเสียบบัตรจอดรถ ฝั่งคนขับ แต่น่าแปลกว่า ไม่มีไฟแต่งหน้า มาให้เลยทั้ง 2 ฝั่ง คงกะว่าจะให้ใช้ไฟอ่านแผนที่กันเป็นหลักมากกว่า
จากฝั่งขวา มาทางซ้าย แผง สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน แบบมี สวิชต์ Auto One-Touch กดเลื่อนลง หรือดึงเลื่อนขึ้น จนสุดเพียงจังหวะเดียว พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง (เฉพาะฝั่งคนขับ) มีสวิตช์ ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสารทั้ง 3 บาน และ Central Lock บนแผงประตูฝั่งคนขับ สวิตช์กระจกมองข้างปรับ และพับด้วยระบบไฟฟ้า
ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวา มีสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start มาให้ (เฉพาะรุ่น S และ G) ถัดลงไป เป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VSC และ Traction Control รวมทั้งสวิตช์ เปิด – ปิด เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยเข้าจอดที่ด้านหลังรถ
พวงมาลัย เป็นแบบ 4 ก้าน หุ้มหนังสังเคราะห์แบบธรรมดา ประดับด้วย Trim สีเงิน อะลูมีเนียม ปรับระดับได้ทั้งสูง – ต่ำได้ และใกล้ – ห่าง (Telescopic) จากตัวผู้ขับขี่ได้ ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ติดตั้งแผงสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์ ส่วนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ติดตั้งสวิตช์ควบคุมทั้ง ระบบ ควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control และหน้าจอ MID บนชุดมาตรวัด
ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นชุดควบคุม เปิด-ปิดไฟหน้า ทั้งแบบปกติ และแบบ Auto รวมทั้งควบคุมไฟเลี้ยว ไฟสูง และไฟตัดหมอก ส่วนก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ไว้ควบคุม ระบบใบปัดน้ำฝนพร้อมที่ฉีดน้ำด้านหน้า และใบปัดน้ำฝนด้านหลัง มีระบบหน่วงเวลา มาให้สามารถตั้งเวลาใบปัดคู่หน้า ให้หน่วง หรือปัดเร็ว – ช้าได้ตามต้องการ
ชุดมาตรวัด Full LCD Cluster ขนาด 10.25 นิ้ว หน้าจอหลัก ยกงาน Graphic มาจาก Hyundai Staria โดยวางตำแหน่งมาตรวัดความเร็ว กับมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง ไว้ทางฝั่งซ้าย ส่วนมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ กับมาตรวัดอุณหภูมิน้ำล่อเย็น วางไว้ทางฝั่งขวา แถบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง วางไว้ด้านล่างสุด นอกนั้น สัญญาณไฟเตือนต่างๆ ก็ถูกวางตำแหน่งเอาไว้รายล้อมโดยรอบ ส่วนตรงกลาง เป็นมาตรวัดแสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย Trip Computer และ หน้าจอแจ้งข้อมูลสถานะต่างๆของตัวรถ
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเบื่อหน้าจอแล้ว ก็สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้ 5 รูปแบบ ดังนี้
- Normal mode
- Eco Mode
- Sport Mode
- Smart Mode
- Cubic Mode
การปรับเปลี่ยน ทำได้ที่หน้าจอ MID ของชุดมาตรวัดโดยตรง ผ่านทางสวิตช์ควบคุมบนพวงมาลัย พูดกันตามตรงว่า หน้าจอแบบใหม่ของ Hyundai นี้ มี Graphic ที่สวย สะอาดตา มองง่าย อ่านค่าง่ายในยามค่ำคืน อีกทั้งบนน้าจอที่มีพื้นหลังเป็นสีขาว ยังพยายามจะเล่นมิติ ให้ดูคล้ายกับงานกระเบื้อง พอซเลน อย่างดี จึงทำให้ภายในรถดูสวยขึ้น ในยามค่ำคืน
จากฝั่งซ้าย มาทางขวา กล่องเก็บของ บนแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า Glove Compartment ดูเหมือนจะมีขนาดใหญ่โต พอกับลิ้นชักของรถกระบะหลายรุ่นในบ้านเราเลยทีเดียว ต่อให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกัน และเอกสารประกันภัย ก็ยังเหลือพื้นที่สำหรับเอกสารและข้าวของจิปาถะของคุณได้อีกเยอะ
ชุดเครื่องเสียง เป็นแบบ หน้าจอ Monitor สี พร้อมระบบสัมผัส Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ และ Gadget ต่างๆ รวมทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto ถูกออกแบบ User Interface ให้เหมือนกับ Hyundai รุ่นใหม่ๆ ทั้ง IONIC , Palisade และ Staria ซึ่งสะดวกต่อการใช้งาน ลดการละสายตาจากถนนได้ระดับหนึ่ง ให้คุณภาพเสียงที่ ดีกว่าคาดคิดพอสมควร เสียงใสคือ ใช้ได้ ส่วนเสียงทุ้ม ก็ขึ้นอยู่กับการปรับ Equalizer ของคุณ แต่แนะนำว่า เสียงกลาง ควรปรับขึ้นจากค่ากลาง นิดนึง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น
สวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazzard light ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เตี้ยไปหน่อย แต่ยังดีที่โดดเด่น พอจะคลำหาใช้งานได้ในภาวะคับขัน ยามที่ต้องแจ้งให้ยานพาหนะที่แล่นตามมาทราบว่า ข้างหน้าของรถเราเกิดชะลอตัวกระทันหัน ฯลฯเกีย
เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital แต่ไม่ได้แยกฝั่งซ้าย-ขวา มาให้ ค่อนข้างเย็นเร็วจนถึงขั้นหนาวสั่น ไม่แพ้ เครื่องปรับอากาศ ในรถยนต์ Toyota และ Suzuki เลยละ!
ถัดลงไป เป็นช่องชาร์จโทรศัพท์มือถือ Wireless Charger รวมทั้ง ช่อง USB Type A 2 ฝั่ง สำหรับทั้งชาร์จไฟ และเชื่อมต่อโทรศัพท์เข้ากับเครื่องเสียงของรถ
ช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง โดดเด่นด้วยการประดับแถบเรืองแสงสีฟ้า เชื่อมต่อกับไฟส่องสว่างภายในรถ ด้านข้าง เป็นเบรกมือไฟฟ้า พร้อมสวิตช์ Auto Brake Hold รวมทั้ง สวิตช์ เลือกโปรแกรมการขับขี่ Drive Mode และช่องขนาดเล็กสำหรับใส่กุญแจรีโมท ถัดลงมาเป็นกล่องคอนโซลกลาง ขนาดใหญ่พอให้ใส่กล้องถ่ายรูปแบบ Digital Compact ได้สบายๆ พร้อมฝาปิด บุนุ่ม หุ้มหนัง พอให้วางท่อนแขนได้สบายๆในระดับหนึ่ง
มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา บุด้วยผ้าสีครีมสว่าง จะมีมือจับศาสดาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้โดยสาร รวม 3 ตำแหน่ง นอกจากนี้ หากเป็นรุ่น SEL จะถูกติดตั้ง หลังคา Panoramic Sunroof เปิดปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เหนือกระจกมองหลัง เพิ่มเข้ามาให้อีกด้วย
ตัวบานกระจกมีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ห้องโดยสาร ทั้งด้านหน้าจรดด้านหลัง เพิ่มความสว่าง และความโปร่งสบายในยามค่ำคืน แต่สำหรับกลางวัน จะมีม่านสีครีม ซึ่งค่อนข้างทึบแสง ในระดับที่แสงลอดผ่านเข้ามายาก ให้คุณได้กดเลื่อนเลือกใช้ในเวลากลางวันอีกด้วย
กระนั้น ตัวสวิตช์ อาจต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจในการใชงานอยู่บ้าง ถ้าคุณต้องการเลื่อนม่านไฟฟ้า ก็แค่ดันสวิตช์เบาๆ อย่าดันจนสุด ม่านจะเลื่อนถอยหลังไปเอง แต่ถ้าคุณดันสวิตช์จนสุดคลิก นอกจากม่านจะเลื่อนเปิดแล้ว กระจก Sunroof ก็ยังจะกระดกยกเปิดเลื่อนขึ้นตามด้วย
ทัศนวิสัย ด้านหน้า ค่อนข้างโปร่ง ตามสไตล์ของรถยนต์ยกสูง ซึ่งมีตำแหน่งเบาะนั่งที่ค่อนข้างสูงกว่ารถเก๋งทั่วไป แต่ยังไม่สูงเท่ากับรถกระบะ 4×4 อีกทั้งต่อให้ปรับตำแหน่งเบาะนั่งขับลงต่ำสุด ผู้ขับขี่ก็ยังมองเห็นฝากระโปรงหน้าได้ชัดเจน ช่วยในการกะระยะได้ดี
ขณะเดียวกัน เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ก็ดูบาง ไม่หนาจนเกินไป ไม่บดบังรถที่แล่นสวนทางมาจากฝั่งขวา หรือ ขณะรอเลี้ยวกลับรถ เลย ไม่เพียงเท่านั้น กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่โต แต่เมื่อปรับตำแหน่งให้เอนออกไปด้านข้าง ชนิดที่ว่า เห็นตัวถังรถน้อยที่สุดแล้ว ขอบกระจกด้านนอก ถูกชิ้นฝาครอบกระจกที่ทำจากพลาสติก Recycle กลับไม่เบียดบังกินพื้นที่เข้ามาทางด้านข้าง เลย นี่คือเรื่องน่าชมเชย
ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง แม้ว่า พื้นที่กระจกหน้าต่าง ของบานประตูคู่หลัง และฝาท้าย โปร่งกว่าที่คาดไว้เยอะพอสมควร แต่ด้วยเหตุที่ เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar จะหนาไปหน่อย ทำให้พื้นที่การทองเห็น ถูกบดบังพอสมควร การเปลี่ยนเลนจากขวาไปซ้ายหรือขับเบี่ยงเข้าช่องทางคู่ขนาน อาจต้องใช้ความระมัดระวังด้วยการหันไปเหลือบมองด้วยตาคุณเองกันนิดนึง จะปลอดภัยยิ่งขึ้น
******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
******** Technical Information & Test Drive *********
ขุมพลัง ของ Creta เวอร์ชันไทย เหมือนกับเวอร์ชัน Indonesia ไม่ผิดเพี้ยน เป็นเครื่องยนต์แบบ Smart Stream รหัส G4FL เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,497 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 75.6 x 83.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด MPI (Multi-point Injection) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว D-CVVT (Dual Continuous Variable Valve Timing)
กำลังสูงสุด 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 144 นิวตันเมตร (14.67 กก.-ม.) ที่ 4,500 รอบ/นาที ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO4
เครื่องยนต์ จะส่งกำลัง สู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ผ่านเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน IVT (Intelligent Variable Transmission) ล็อกตำแหน่ง Pullay ได้ 8 ตำแหน่ง อัตราทดเกียร์ มีดังนี้
- เกียร์เดินหน้า………………. 2.680 – 0.385
- เกียร์ถอยหลัง……………… 2.822 – 1.822
- อัตราทดเฟืองท้าย……….. 6.483
สิ่งที่คุณควรจะรู้เกี่ยวกับเกียร์อัตโนมัติ iVT ก็คือ
- ความแตกต่างจากเกียร์ CVT ทั่วไป ก็คือ iVT ถูกเซ็ตให้มีการลากรอบ จนถึง 6,000 รอบ/นาที แล้วตัดเปลี่ยนเกียร์ขึ้นไปในตำแหน่งถัดไป พูดง่ายๆคือ เป็นเกียร์ CVT ที่ทำตัวลากรอบ และเชนจ์เกียร์ขึ้นเองได้เหมือน เกียร์อัตโนมัติ ธรรมดา นั่นเอง
- ถ้าคุณจะเร่งแซง หรือขึ้นทางลาดชัน การกดคันเร่งลงไปให้ลึกมากสุด จะช่วยให้เกียร์ เปลี่ยนสู่ตำแหน่งต่ำลง มากสุดเท่าที่สมองกลจะยินยอม เพื่อเรียกพละกำลังอย่างเต็มที่ ไม่ต้องสนใจเสียงครางจากเครื่องยนต์
- ควรออกรถจากจุดหยุดนิ่งอย่างนุ่มนวล เพราะมันคือเกียร์สายพาน CVT
Creta มีโหมดการขับขี่ Drive Mode 4 รูปแบบ เหมือนกับทั้ง Staria และ Palisade ดังนี้
- Normal : เป็นโปรแกรมหลัก สำหรับการขับขี่ในชีวิตประจำวัน ที่เน้นความสบาย
. - Eco : เน้นการขับขี่ เพื่อความประหยัดน้ำมัน ดังนั้น คันเร่ง จะตอบสนองต่อเท้าขวา ช้ากว่าปกตินิดเดียว และ เครื่องปรับอากาศ จะปรับอุณหภูมิล็อกไว้แค่ 25 องศาเซลเซียส เท่านั้น
. - Sport : เน้นการขับขี่แบบสปอร์ตเพิ่มขึ้นนิดๆ คันเร่งจะตอบสนองไวขึ้นเล็กน้อย ให้พอจับสังเกตได้ มาตรวัด จะถูกเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นมาตรวัดสีแดง
. - Smart : ระบบจะเรียนรู้จาก อัลกอริทึม (algorithm) ในการขับขี่ของคุณ แล้วจะนำมาปรับรูปแบบการเปลี่ยนเกียร์ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของคุณในขณะนั้น
แต่สิ่งที่ผมแอบงงนิดหน่อยก็คือ ยังมีโหมดปรับการทำงานของระบบ Traction Control อย่างกับพวกรถขับเคลื่อน 4 ล้อแท้ๆ อย่างไรอย่างนั้นกันเลยทีเดียว มีให้เลือก 3 Mode ดังนี้
- Snow ออกตัวบนทางหิมะลื่นๆ
- Mud ออกตัวบนทางโคลน อันนี้พอเข้าใจได้ และมีโอกาสที่จะได้ใช้งานในบ้านเรา
- Sand ออกตัวบนทางทราย หรือติดหล่ม
สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการทดลองจับอัตราเร่ง ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ใช้เวลากลางดึก เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผู้ขับขี่ 102 กิโลกรัม ส่วนผู้ร่วมทดลองคราวนี้ เป็น Mark Pongswang น้ำหนัก 60 กิโลกรัม จากทีมเว็บของเราเหมือนเช่นเคย ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้
ดูจากตัวเลขแล้ว หากมองกันผิวเผิน คุณอาจจะคิดว่า อัตราเร่งของ Creta ก็แค่อยู่ในกลุ่ม “กลางตาราง” นั่นแหละ ใชครับ เป็นความจริง แต่แค่ส่วนหนึ่ง เพราะหากลองลงลึกในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า การที่ รถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีตัวถังที่ดูน่าจะต้านลม แถมยกสูงอีกต่างหาก วางเครื่องยนต์ แค่ เบนซิน 1.5 ลิตร แรงม้าก็ไม่ได้มากมาย ทว่า กลับทำตัวเลขอัตราเร่ง ออกมา แซงหน้าคู่แข่งมากมายหลายคัน หากนับเฉพาะรถยนต์ที่ยังขายอยู่ในตลาดบ้านเรา ก็มีทั้ง Toyota C-HR 1.8 Hybrid , Toyota Corolla Cross 1.8 Hybrid และ Subaru XV 2.0 ลิตร (XV ชนะเฉพาะช่วงออกตัว 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ ความเร็ว Top Speed เท่านั้น) มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ถ้ามองอย่างเป็นธรรม การที่คู่แข่งอีกหลายคัน ทำตัวเลขได้ดีกว่า Creta นั้น ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจใดๆเลย แหงละครับ Toyota C-HR กับ Corolla Cross รุ่นธรรมดา ก็มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร ซึ่งแรงกว่ากันนิดเดียว ส่วน Mazda CX-3 และ CX-30 นั้น เขาวางขุมพลัง เบนซิน 2.0 ลิตร ที่แรงทะลุกลุ่มออกไป ยิ่งถ้าไปเจอกับ Honda H-RV e:HEV และ Nissan Kicks e-Power รุ่นดั้งเดิม ซึ่งพ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า เข้ามาช่วยตอนออกตัวด้วยแล้ว Creta ก็จะเสียเปรียบอยู่พอสมควร เป็นเรื่องปกติ กระนั้น ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเครื่องยนต์แค่ 1.5 ลิตร แล้วเรียกพละกำลังออกมา จนได้ตัวเลขอย่างที่เห็น ต้องถือว่า ทีมวิศวกรชาวเกาหลีใต้ พัฒนาองค์ความรู้ของตนเองมาได้ไกลมากๆแล้ว
ส่วนตัวเลข Top Speed ที่เห็นอยู่นี้ คงต้องขอย้ำกันอีกสักทีว่า เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี
ถ้ามองกันแต่เพียงตัวเลข คุณก็คงเข้าใจว่า อัตราเร่งของ Creta ก็ออกมาสมตัว พอๆกันกับ Honda City 1.5 ลิตร หรือ Toyota Vios 1.5 ลิตร รุ่นก่อนๆ นั่นแหละ ซึ่งก็จริงครับ ไม่เถียงเลย แต่ในการขับขี่จริง การตอบสนองคันเร่งที่ ไวกำลังดี ไม่ไวถวายชีวิตเกินไป มีส่วนช่วยให้ Creta ทะยานออกตัวไปได้ค่อนข้างรวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้นิดหน่อย
สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบก็คือ แม้จะใช้เครื่องยนต์ เบนซิน ขนาดแค่ 1.5 ลิตร แต่กลับมีความกระฉับกระเฉง อยู่ในเกณฑ์สมตัว ตั้งแต่ช่วงออกตัว จนถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง Creta เร่งขึ้นค่อนข้างไว มีแรงดึงพอให้แผ่นหลังของคุณติดเบาะ ได้พอประมาณ พละกำลังจะยังคงถูกส่งไปหมุนล้อคู่หน้าอย่างต่อเนื่อง
แต่พอเข้าสู่ ความเร็วระดับ 130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะเริ่มสัมผัสได้ว่า เรี่ยวแรงเริ่มค่อยๆหายไป จนกระทั่งพ้นช่วง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป การไต่ความเร็วหลังจากนี้ จะทำได้ช้าลงคนละเรื่อง เหมือนหมดฤทธิ์ยา เข็มความเร็วค่อยๆไหลขึ้นไปอย่างเชื่องช้า เหมือนกับถูกเค้นจนอ่อนล้าเต็มที ชวนให้สงสารเครื่องยนต์เป็นยิ่งนัก ยิ่งถ้าคิดจะไต่ความเร็วขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุด Top Speed นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และ อาจต้องแช่คันเร่งกันยาวๆ และใช้ระยะทางค่อนข้างไกลโพ้น แถมยังใช้เวลานานมาก เรียกได้ว่า ควรจะสะสมแต้มบุญบารมีมาตลอดชีวิต พอๆกับการเค้นเอาความเร็วช่วงปลาย จากขุมพลัง เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร จากทั้ง Mercedes-Benz และ Volkswagen Group กันเลยทีเดียว
ถ้าจะบอกว่า ความกระฉับกระเฉงของ Creta ในช่วงรอบต้นๆ และรอบกลางๆ นี่เปรียบได้กับการเป็น “Vios Britney แต่ยกสูง” ก็คงจะไม่ผิดไปจากความจริงนัก แต่พอหลังจากนั้น ช่วงรอบปลายๆ ก็เหี่ยว แบบที่ชวนให้นึกถึง ขุมพลัง Honda Hybrid ตระกูล e:HEV หรือ เครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตร Turbo จาก Mercedes-Benz ไม่มีผิด
คันเร่ง ตอบสนองไวพอสมควร ตามประสารถบ้าน ที่เปลี่ยนมาใช้สมองกลควบคุมและคันเร่งไฟฟ้า กันหมดแล้ว จะเลี้ยงให้นิ่ง ก็พอไหว ขณะที่เกียร์ จะฉลาดแค่ไหน ขึ้นอยู่กับบุคลิกการกดคันเร่งของคุณ ถ้ากดแบบไม่ไวนัก เกียร์ก็จะตัดเปลี่ยนลงมาไม่เยอะ แต่ถ้ากระแทกคันเร่งลงไปจมมิดติดเหล็กรถ เกียร์ก็จะรีบรับคำสั่งเหมือนกับพนักงานที่เจอเจ้านายมายืนดูอยู่ข้างหลังโต็ะทำงาน อย่างไรก็ตาม การลากรอบไปจนถึงการตัดรอบเครื่องยนต์ เพื่อไล่ตำแหน่งเกียร์ ขึ้นไป เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ วางโปรแกรมล็อกตำหน่งพูเลย์ ไว้ค่อนข้างดีพอสมควร
การเก็บเสียง แรงสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน
NVH : Noise , Vibration & Harshness
ต้องยอมรับว่า พักหลังมานี้ รถยนต์เกาหลีใต้ เริ่มมีพัฒนาการ แซงน้ารถญี่ปุ่น ไปในหลายๆด้าน และการเก็บเสียง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะถึงแม้จะเป็นรถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากโรงงานใน Indonesia ซึ่งเราคนไทย ก็มักไม่ค่อยคาดหวังจากฝีมือของพวกเขากันสักเท่าไหร่ แต่ Creta ใหม่ กลับให้บรรยากาศในการเดินทางที่ เงียบกว่าที่คาดคิด (เงียบพอๆกับยอดขายเลยแหละ) ไม่ว่าจะจอดสนิทนิ่ง ด้วยรอบเดินเบา ไปจนถึงความเร็วระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้กระทั่งในวันฝนตกเทกระหน่ำ เสียงฝนที่ตกกระทบลงบนหลังคากระจก ก็ยังอยู่ในจุดที่เหมาะสม ยอมรับได้ และไม่ดังอย่างที่คิด
ขณะเดียวกัน เสียงจากล้อยาง และซุ้มล้อ จะมีโผล่แหลมขึ้นมาบ้าง เฉพาะเวลาที่ยาง ไปเจอกับพื้นถนนซึ่งมียางมะตอยสภาพเก่าและมันลื่น แต่ถึงกระนั้น ต่อให้เจอพื้นผิวยางมะตอยขรุขระ ตะปุ่มตะป่ำ ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังแทบไม่ค่อยมีเสียงการทำงานของช่วงล่าง ดังโผล่ขึ้นมาให้ได้ยินถึงห้องโดยสารเลย
ภาพรวมแล้ว การเก็บเสียงของ Creta ให้ความสุนทรีย์ในการเดินทาง ได้ดีกว่าที่คิด มีเสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ ในช่วงความเร็วไม่เกิน 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ค่อนข้างน้อย (แต่หลังจากนั้น ก็จะดังขึ้นเรื่อยๆ ตามปกติ)
ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แบบติดตั้งที่คอพวงมาลัย C-MDPS (Column mounted Motor Driven Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.4 เมตร
พวงมาลัยมีระยะฟรี ปานกลาง ตามสไตล์ของ SUV ที่จำเป็นต้องเซ็ตพวงมาลัยให้ เนือยนิดๆ ไม่คมและไม่ไวจนเกินไป นอกจากนี้ พวงมาลัยยังมีน้ำหนักเบา แต่พอจะมีแรงต้านที่มือบ้างนิดหน่อย ให่ลองจินตนาการว่า น้ำหนักของพวงมาลัย ตอนหมุนไปมา ซ้ายขวา อยู่ตรงกลางระหว่าง พวงมาลัยของ Corolla Cross และกระเดียดมาทาง C-HR คือ Firm และ มั่นใจมากกว่ากันนิดนึง
การหมุนเลี้ยวคล่องมือในช่วงความเร็วต่ำ บังคับรถได้ดี แอบมีอาการเนือยหน่อยๆ ไม่เยอะ แต่ในความเร็วเดินทาง พวงมาลัยจะหนืดขึ้นเล็กน้อย On Center feeling จัดว่าดีงาม ไม่ต้องมานั่งคัดพวงมาลัยซ้ายๆขวาๆ ทำให้การถือพวงมาลัยในย่านความเร็วสูงๆ ค่อนข้างมั่นใจได้ดี
ตั้งข้อสังเกตว่า บุคลิกของพวงมาลัย Creta นั้น คล้ายคลึงกับ พวงมาลัยของ Audi Q3 อยู่ประมาณหนึ่ง ทั้งระยะฟรีที่ดูเหมือนเยอะในช่วงแรกๆ พวงมาลัยเนือยหน่อยๆ ความต่อเนื่องในการหมุน ไปจนถึงแรงขืนมือที่ค่อนข้างเบา อาจต่างกันตรงที่ว่า แรงขืนมือของพวงมาลัย Creta ในช่วงความเร็วต่ำ แอบมากกว่า Q3 อยู่กระจึ๋งนึง
ระบบกันสะเทือน / Suspension
ช่วงล่างด้านหน้า เป็นแบบอิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบคานบิดกึ่งอิสระ Torsion Beam Axle พร้อมเหล็กกันโคลง
ช่วงล่างของ Creta ถูกเซ็ตมาในแนว “นุ่ม แต่ไม่ถึงขั้นนุ่มย้วย” เพื่อเน้นความสบายขณะขับขี่ในเมืองเป็นหลัก นั่นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ขณะขับขี่ไปตามตรอกซอกซอยนั้น Creta ให้การซับแรงสะเทือน ที่ดีกว่ารถยนต์ระดับเดียวกันหลายคัน โดยเฉพาะขณะแล่นผ่านพื้นผิวยางมะตอยตะปุ่มตะป่ำเป็นลอนคลื่นถี่ๆ Creta จะให้ความเนียนนุ่มได้ดีกว่าที่หลายคนคาดคิด ต่อให้เจอหลุมบ่อ ฝาท่อ ที่ค่อนข้างแข็ง ในตำแหน่งที่ทำให้รถยนต์ทั่วไป มีอาการตึงตังรุนแรง ช่วงล่างของ Creta จะซับแรงสะเทือนลงมาเพื่อช่วยลดทอนอาการสะท้านขึ้นมาให้เบาลง เพิ่มความสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตม ตั้งข้อสังเกตว่า เบาะรองนั่ง ที่นุ่มสบาย ก็มีส่วนในการซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนนขึ้นมาถึงคนขับด้วยในอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกัน
ช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงย่านความเร็วสูง ตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึง Top Speed ยอมรับเลยว่า การเซ็ตช่วงล่างมาในสไตล์นุ่มนวล แต่แอบ Firm นิดๆ ช่วยให้ Creta แล่นไปข้างหน้าอย่างนิ่ง และให้เสถียรภาพที่ดี กระนั้น ถ้าเจอลมปะทะด้านข้าง ก็ต้องยอมรับว่า มีอาการหน้าแกว่งตามกระแสลมอยู่บ้าง เป็นเรื่องปกติ รวมทั้งอาการโยนเบาๆ ขึ้น-ลง นิดหน่อย เวลาเจอพื้นผิวถนนเป็นลอนคลื่นแบบห่างๆ แต่ในภาพรวม ช่วงล่างของ Creta ให้ความมั่นใจกับคนชอบขับรถเร็วอย่างผม ได้พอสมควร
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน การเซ็ตช่วงล่างในสไตล์นุ่มแบบนี้ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำความเร็ว ขณะอยู่ในทางโค้ง ให้ลดลง สำหรับ Creta แล้ว เรายังคงใช้ 5 ทางโค้ง ในระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ยามดึกหลังเที่ยงคืน เป็นสถานที่ทดลองสมรรถนะในทางโค้งยาวๆ เริ่มจากโค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำความเร็วในโค้งได้ราวๆ 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Creta ทำได้ที่ 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ในระดับเดียวกันคือ 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดที่ตัวรถพร้อมยางเดิมจากโรงงาน (Kumho) รับมือได้ถึงจุดนี้เท่านั้น ถ้าเกินกว่านี้ ตัวรถจะเริ่มมีอาการหน้าดื้อ Understeer เกิดขึ้น
ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี Creta เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วขึ้นไปแตะได้แค่ระดับ 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางด้านข้างพอสมควร ถัดมา โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 108 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางติดรถ และช่วงล่าง จะรับมือกับทางโค้งซึ่งมีลักษณะพื้นผิวเป็นลอนคลื่น (Wave) ได้ไหวแล้ว ก่อนจะปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Creta เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ที่ผมเลือกให้ใช้ตัวเลขนี้ เพราะเมื่อขึ้นไปถึงความเร็วระดับ 121 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาการ Understeer หรือหน้าดื้อ จะเกิดขึ้นชัดเจนมากในจังหวะนี้ทันที
พูดกันตามตรง บุคลิกของช่วงล่าง Creta มาในสไตล์ นุ่ม ซับแรงสะเทือนได้ดีเกินคาดในย่านความเร็วต่ำ ให้เสถียรภาพ และความนิ่งขณะขับขี่เดินทางไกล หรือใช้ความเร็วสูง ไม่เกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ แค่พอไว้ใจทางขณะเข้าโค้งได้ประมาณหนึ่ง พอให้คุณเล่นบทบู๊ได้บ้าง แต่ไม่มากนัก ถ้าเปลี่ยนยางติดรถให้ดีขึ้นกว่านี้ เชื่อว่า จะสามารถทำความเร็วในโค้งได้เพิ่มขึ้นอีกนิดนึง
กระนั้น ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว ผมยังมองว่า ช่วงล่างของ Creta ทำหน้าที่ได้ดีและลงตัวกว่า HR-V e:HEV ใหม่ ในบางกรณี เช่นขณะแล่นทางตรง แล้วเจอพื้นถนนแบบลอนคลื่น น้ำหนักของล้อ Creta ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการตอบสนองของช่วงล่าง มากเท่ากับ HR-V
ระบบห้ามล้อ / Brake
ระบบเบรก เป็น Disc Brake ทั้ง 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้า เป็นแบบมีครีบระบายความร้อน (Ventilated Disc) เส้นผ่านศูนย์กลาง 280 มิลลิเมตร ส่วน จานเบรกคู่หลัง เป็นแบบ Solid Disc เส้นผ่านศูนย์กลาง 262 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับ
- ระบบป้องกันล้อล็อก Anti-lock Braking System (ABS)
- ระบบเสริมแรงเบรก Brake Assist System (BAS)
- ระบบควบคุมเสถียรภาพ Electronic Stability Control (ESC)
- ระบบควบคุมการทรงตัว Vehicle Stability Management (VSM)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Assist Control (HAC)
แป้นเบรก มีระยะเหยียบอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ให้สัมผัสที่เบาในระยะ 30% แรกที่เหยียบลงไป ให้ความนุ่ม แอบหยุ่นและหนืดเท้าหน่อยๆ คล้ายแป้นเบรกรถยุโรป แต่เบากว่านิดนึง ถ้าจะเลี้ยงแป้นเบรกเพื่อควบคุมให้รถจอดสนิทนิ่ง อย่างนุ่มนวล ขณะคลานไปตามสภาพการจราจรติดขัด ก็ทำได้ไม่ยากเลย
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณลงน้ำหนักเท้าบนแป้นเบรก มากขึ้นเพียงนิดเดียว ตัวรถจะมีอาการ เบรกหน้าทิ่มจนหัวคะมำ ยิ่งกดลงไปลึก หน้ารถจะทิ่มแรงขึ้นอย่างหนัก ดังนั้น ในแง่ของความต่อเนื่อง ผมมองว่า เบรกของ Creta ตอบสนองไวเกินไปหน่อย ในช่วงความเร็วต่ำมากๆ และคุณจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง กับแป้นเบรก ขณะขับขี่ในสภาพการจราจรค่อยๆไหลไปเรื่อยๆ เคลื่อนตัวสลับหยุดนิ่ง
ขณะเดียวกัน การหน่วงชะลอรถลงมาจากย่านความเร็วสูงนั้น ถ้าไม่ได้เหยียบเบรกกระทันหันใดๆ ถือว่าให้การตอบสนองที่มั่นใจกว่ารถยนต์หลายๆรุ่นในตลาด แต่ในกรณีที่ต้องเบรกกระทันหันนั้น จากที่ได้ทดลองกดเบรกจาก 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมาจนเหลือ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถมีอาการเป๋ออกขวานิดๆ แม้จะยังไม่เยอะนักก็ตาม
ต้องถือว่า ระบบเบรกของ Creta พอให้ความไว้ใจได้อยู่ ในภาวะการเบรก แบบปกติธรรมดาทั่วๆไป การตอบสนองภาพรวมถือว่า ดีกว่าคู่แข่งร่วมพิกัดหลายรุ่นอยู่ แต่ถ้าต้องเบรกกระทันหันแล้ว ยังถือว่า อยู่ในระดับแค่ ไว้ใจได้ ในระดับรถยนต์บ้านๆทั่วไป
อุปกรณ์ความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่
Safety System & Driving Assistance
- ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ADAS (Advance Driver Assist System) ในชื่อ Hyundai SmartSense
- ระบบช่วยเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ Forward Collision-Avoidance Assist (FCA)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน Lane Keeping Assist (LKA)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน Lane Following Assist (LFA)
- ระบบเตือนและช่วยควบคุมพวงมาลัยเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา Blind-Spot Collision-Avoidance Assist (BCA)
- ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ Rear Cross-Traffic Collision-Avoidance Assist (RCCA)
- ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ High Beam Assist (HBA)
- ระบบเตือนการเปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งมาทางด้านหลัง Safe Exit Assist (SEA)
- ระบบเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ Driver Attention Alert (DAW)
- ระบบช่วยจำกัดความเร็ว Manual Speed Limit Assist (MSLA)
- ระบบเตือนให้ตรวจสอบผู้โดยสารด้านหลัง Rear Occupant Alert (ROA)
- สัญญานไฟกระพริบฉุกเฉินเมื่อเบรกกระทันหัน Emergency Signal System (ESS)
- ระบบกล้องมองหลังแสดงภาพขณะถอยจอด Rear View Monitoring (RVM)
- ระบบแจ้งเตือนความผิดปกติของแรงดันลมยาง Tire Pressure Monitoring System (TPMS)
- เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง
- ระบบกุญแจ Immobilizer
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง 6-Airbags
- ถุงลมคู่หน้า
- ถุงลมด้านข้าง
- ม่านถุงลมนิรภัย
- เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 5 ตำแหน่ง คู่หน้า ปรับะดับสูง – ต่ำได้
******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
***************Fuel Consumption Test ***************
นอกเหนือจากอัตราเร่งแล้ว สิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ ด้วยตัวรถที่ต้านลมพอสมควรแบบนี้ ขุมพลังเบนซิน 4 สูบ 1.5 ลิตร 115 แรงม้า (PS) จะพา Creta ขึ้นไปอยู่ ณ ตำแหน่งใด ในตารางอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ Headlightmag เรา มันจะประหยัดน้ำมันมากน้อยแค่ไหน
เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขับทดลองในเวลากลางคืน เริ่มต้นที่ปั้มน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เราจึงเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron จนเต็มถัง แบบหัวจ่ายตัด
เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถัง ขนาด 40 ลิตร เสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter (กรณีนี้ คือ เลื่อนหน้าจอ MID บนมาตรวัด มาที่ Drive Info แล้วกดปุ่ม OK บนพวงมาลัย แช่เอาไว้ เพื่อ Reset ตั้งค่า แบบเดียวกับรถตู้ Staria) ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะเปลี่ยนเป็นค่าเริ่มต้น ทั้งหมด
เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ แล่นด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เราเปิดระบบ Cruise Control เอาไว้ แต่เมื่อขึ้นเนินทางชัน เราต้องปลดระบบออก แล้วเลี้ยงคันเร่งเอง เพราะถ้าเปิดระบบทิ้งไว้ รอบเครื่องยนต์จะกวาดขึ้นไปอยู่แถวๆ 4,000 รอบ/นาที เพื่อเลี้ยงให้ความเร็วรถยังคงอยู่ในระดับที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งจะส่งผลให้กินน้ำมันมากขึ้นเกินความจำเป็น
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ
มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด Trip Meter 91.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.50 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.67 กิโลเมตร/ลิตร
ถือว่าประหยัดเอาเรื่องเลยทีเดียวครับ สำหรับ Crossover SUV คันขนาดนี้ ตัวรถก็ดูไม่ค่อยลู่ลมเท่าไหร่ แถมยังวางเครื่องยนต์ แค่ เบนซิน 1.5 ลิตร แบบนี้ ต้องยอมรับว่า วิศวกรชาวเกาหลีใต้ เริ่มสั่งสม Know-how และประสบการณ์ ในด้านงานพัฒนาเครื่องยนต์ และระบบส่งกลัง มาได้ไกล และก้าวขึ้นสู่หัวแถวในระดับสากลแล้วเสียที! เพราะตัวเลขความประหยัดขนาดนี้ มันไล่เลี่ยกันกับ Toyota Yaris ATIV ที่แล่นทดลองภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ของเราด้วยซ้ำ!
คำถามต่อมา แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?
จากเท่าที่ขับขี่ใช้งานในชีวิตจริง ทั้งคลานไปตามสภาพการจราจรติดขัด ไปจนถึงการขึ้นไปโลดแล่นบนทางด่วน ควบคู่กันไป พบว่า หากขับแบบไม่รีบร้อน ไม่ซิ่งมากนัก น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาคุณแล่นได้ไกลราวๆ 500 กิโลเมตร แต่ถ้าคุณขยันกระทืบคันเร่ง หรือ เร่งๆเบรกๆ ย้ำๆ บ่อยๆ น้ำมัน 1 ถัง อาจพาคุณแล่นไปได้ไกลแค่เพียง ราวๆ 400 – 450 กิโลเมตร เท่านั้น
********** สรุป / Conclusion **********
5 คุณงามความดี ที่ถูกเมิน เพียงเพราะหน้าตา และการโฆษณาที่ไม่เข้าเป้า!
ตลอดระยะเวลา หลายวัน ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Creta นั้น พบว่า ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ออกไป คุณจะได้พบกับคุณงามความดีของ B-Segment Crossover SUV คันนี้ ที่เหนือความคาดหมาย มีอยู่ 5 ประการด้วยกัน ดังนี้
1. คุณได้รถยนต์ Crossover SUV ที่ใช้เครื่องยนต์ เบนซิน แค่ 1.5 ลิตร แต่มีอัตราเร่ง เทียบเท่ากับ Honda City 1.5 ลิตร หรือ Toyota Vios Britney 1.5 ลิตร แต่ประหยัดน้ำมันในการแล่นทางไกล พอกันกับ Toyota Yaris ATIV ทั้งที่ัวรถก็สูง แถมยังดูน่าจะไม่ค่อยลู่ลมเสียด้วยซ้ำ ต้องยกคุณงามความดีให้กับการพัฒนาเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังของวิศวกราวเกาหลีใต้ ที่พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ในการลดแรงเสียดทานในระบบ รวมทั้ง รีดเค้นสมรรถนะจากขุมพลัง SmartStream ออกมาได้ขนาดนี้
2. คุณได้ห้องโดยสาร ที่มีขนาดใหญ่โตเป็นอันดับต้นๆของตลาด แต่ได้เบาะนั่ง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่นุ่มและนั่งสบายมากสุดในตลาด ไม่ใช่เพียงแค่ความสูงโปร่งของหลังคาเท่านั้น ที่ทำให้ห้องโดยสารโอ่โถง หากแต่ ระยะฐานล้อที่เหมาะสม และระยะห่างระหว่างเบาะคู่หน้าและเบาะหลังที่สมดุล ช่วยเพิ่มพื้นที่วางขา ให้กับผู้โดยสารด้านหลังได้เยอะมากกว่าที่คิด แถมมุมองศาของพนักพิงเบาะหลัง ก็ยังเอียงค่อนข้างเยอะ ช่วยเพิ่มความสบายในการเดินทางไกลอีกพอสมควรเลยทีเดียว
3.คุณได้รถยนต์ Crossover SUV ที่ให้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ADAS ครบถ้วนเพียงพอ ในราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้มาครบแทบจะยกทั้ง Package มาตรฐานของ ระบบ Hyundai SmartSense แล้ว แทบจะเทียบเท่ากับ Hyundai Staria เสียด้วยซ้ำ
4. ในรุ่น SEL คุณยังได้หลังคากระจก Panoramic Glass Sunroof มาให้ เพื่อเพิ่มความโปร่งสบาย ในการเดินทางช่วงเวลาค่ำคืน หรือเช้าวันที่แดดยังเพิ่งเริ่มทอแสง อีกด้วย
5. ช่วงล่างเน้นความนุ่มสบาย บวกกับน้ำหนักพวงมาลัย ที่เบาแต่มีระยะฟรี ที่เยอะ และมีแรงขืนที่มืออย่างเหมาะสม ช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการมุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรในเมือง รวมทั้งให้ความนิ่งและมั่นใจ ในการเดินทางไกลข้ามจังหวัดอีกด้วย
สิ่งที่คุณควรรู้คือ ทั้ง 5 ข้อดีดังกล่าว มาในราคาค่าตัว 9 แสนกว่าบาท เท่านั้น! นับว่าเป็น Hyundai ป้ายแดง ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท คันแรก ในตลาดเมืองไทย ช่วงรอบหลายปีเลยทีเดียว
ข้อที่ควรปรับปรุง
1. การตอบสนองของระบบเบรก ในช่วงความเร็วต่ำ ไม่ควรจะมีอาการหน้าทิ่มเป็นไก่จิกขนาดนี้ เพราะการคลานไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัดนั้น ถ้าผู้ขับขี่เผลอแตะเบรกเพิ่มขึ้นจากปกติเพียงนิดเดียว หัวรถจะทิ่มปักลงไปค่อนข้างแรง และอาจทำให้ยานพาหนะคันที่แล่นหรือคลานตามหลังมา อาจตกใจ และเสยบั้นท้ายเข้าให้ดื้อๆ ควรปรับปรุงให้การตอบสนองของแป้นเบรก และระบบโดยรวม ทำได้นุ่มวลกว่านี้ แต่หยุดชะลอรถได้สั้นลงอีกนิด
2. งานออกแบบ ภายนอก – ภายใน
ปกติแล้ว ถ้าคุณสังเกตดีๆ ผมมักจะปล่อยผ่าน ไม่ค่อยการวิพากย์วิจารณ์รูปลักษณ์งานออกแบบของรถยนต์ทุกคันที่นำมาทำบทความรีวิว เว้นเสียแต่ว่า รถคันนั้น จะมีเส้นสายที่มีความโดดเด่น ในด้านลบ เสียจนกระทั่ง อดไม่ได้ที่จะต้องขอพูดถึงกันสักหน่อย
แต่คราวนี้ สารภาพเลยว่า อดรนทนไม่ไหวจริงๆ กับการออกแบบภายนอก และภายในของ Creta เพราะอย่างที่คุณก็คงได้ทราบแล้วจากด้านบนของบทความนี้ว่า Creta สร้างมาเพื่อตลาดกลุ่มประเทศ เขต BRICS ซึ่งก็มองถึงความอเนกประสงค์ และความคุ้มค่ามาเป็นหลัก ความสวยงาม ในระดับสากล จึงถูกละเลยและมองข้ามไป
ถ้าย้อนอดีตไปไม่นานนัก แค่ลองเลื่อนขึ้นไปดูด้านบนของบทความนี้ดู คุณจะพบว่า Hyundai Creta รุ่นแรก ยังดูมีเส้นสายที่สวยเรียบๆ หาจุดสวยบนตัวถังรถได้เจอ ในขณะที่รุ่นใหม่นั้น รู้ว่า พยายามจะลากเส้นสายมาจากรถรุ่นเดิม แต่การออกแบบให้แถบสีเงิน ที่พาดผ่าน จากด้านบนสุดของบานประตูคู่หน้า จรดขอบหน้าต่างด้านล่างของเสา หลังคาคู่ท้ายสุด C-Pillar แม้จะยิ่งเป็นการ Hi-Light ให้ทุกคน ได้จดจำกับหลังคาแบบ “หลังค่อม” ไปด้วยแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า เส้นสีเงินดังกล่าว คือสิ่งที่ช่วยลดทอนความเชยบริเวณพื้นที่ด้านหลังรถได้อย่างดี
ทว่า ในอีกมุมหนึ่ง Creta ก็เป็น SUV ที่มีงานออกแบบชุดไฟท้าย ที่ชวนให้ดูงุนงงในยามค่ำคืนเอาเรื่อง นัยว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก บูมเมอแรง แต่แท้จริงแล้ว ลองดู หนวดของลุง บนสัญลักษณ์มันฝรั่งกระป๋อง Pringles ดูสิครับ คล้ายกันอยู่นะ คล้ายกันม๊ากกกก!
ไม่เพียงเท่านั้น งานออกแบบภายใน แม้จะดูเรียบร้อย การประกอบประณีตกว่ารถยนต์ Made in Indonesia ทั่วไป ทว่า การออกแบบแผงควบคุมกลาง ที่ดูเรียบง่าย และไม่มีเอกลักษณ์ใดๆชวนให้จดจำเป็นของตนเองเลยนั้น มันทำให้ผมนึกถึง Mitsubishi สองศรีพี่น้อง ทั้ง Mirage และ Atrage ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้จริงๆ
3. ปัญหา ปั้มติ๊ก ไม่แสดงข้อมูลบนมาตรวัด
อาการนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะรถคันที่เรานำมาทดลองขับ กล่าวคือ หลังจากที่ รับรถและขับขี่ใช้งานมาประมาณ 1 วัน จู่ๆ เมื่อต้องเติมน้ำมัน และติดเครื่องยนต์อีกครั้ง ไฟสัญญาณเตือนปริมาณน้ำมันหมด กระพริบไม่หยุด และไม่สามารถแสดงปริมาณน้ำมันคงเหลือในถังได้เลย คาดว่า ตัวปั้มติ๊ก หรือเซ็นเซอร์ แถวๆนั้น อาจบกพรองได้ อาการนี้ ณ ตอนนี้ ถือว่าเป็นอาการเฉพาะคัน ไม่ต้องตกใจครับ มันอาจเกิด หรือไม่เกิดขึ้นกับรถคันอื่นๆ ก็ได้ สิ่งที่เราดำเนินการไป ก็คือ นำรถส่งคืนทาง Hyundai ให้ไปวิเคราะห์หาสาเหตุและการแก้ปัญหาต่อไป
คู่แข่งในตลาด / Competitors
แน่นอนว่า Creta ถูกส่งเข้ามาฟาดฟัน ในตลาด B-SUV ที่คาบเกี่ยวกับ C-SUV ด้วยเรื่องของราคา ก็คงจะต้องเทียบกันเฉพาะตัวเลือกที่มีอยู่ ข้างล่างนี้
Honda HR-V e:HEV : นีคือ Crossover SUV ที่เปลี่ยนโฉมใหม่ เอาใจกลุ่ม LGBTQ กันอย่างหนัก แถมยังกล้าที่จะเปลี่ยนมาใช้ขุมพลัง Hybrid 1.5 ลิตร ล้วนๆ โดยไม่เหลือเครื่องยนต์เบนซินเพียวๆ ให้เลือกเลยแม้แต่น้อย ก็ต้องยอมรับว่า ลูกค้าจำนวนหนึ่งจะถอดใจจาก Honda ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ตัวรถ ก็ไม่ได้แย่ อัตราเร่ง ช่วงไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง คือเร่งขึ้น แต่หลังจากนั้น คือ “ขึ้นอืด” ช่วงล่าง แปลกๆ เหมือนน้ำหนักล้อมาถ่วงเยอะไปหน่อย จะนุ่มก็นุ่มไม่สุด จะแข็งก็ไม่แข็ง ครึ่งๆกลางๆ เบรก ทำหน้าที่ได้ในระดับพอไว้ใจได้ เบาะนั่ง ก็ยกเค้าโครงบางส่วนมาจาก City อาจจะนั่งไม่สบายนักเมื่อขับทางไกลยาวๆ แต่ยังได้ความอเนกประสงค์ จากเบาะหลังพับได้สไตล์เดียวกับ Honda Jazz รวมทั้ง หลังคากระจก Panoramic Glass Roof ที่เปิดไม่ได้ แต่แถบม่าน กระหัง มา 2 ชิ้น ให้ถอดแปะแกะใส่กันเอาเอง
แต่ถ้าคิดจะซื้อตอนนี้ ทำใจเลยนะครับ ปัญหา Chip หาย Shortage ส่งผลกระทบกับ Honda ค่อนข้างรุนแรงกว่าที่คิด ตอนนี้ลูกค้าหลายคนที่สั่งจองไว้ เริ่มถอนจองแล้ว เพราะแทบไม่รู้ชะตากรรมตนเองเลยว่า จะได้รับรถกันเมื่อไหร่ แถมตอนนี้ หลายโชว์รูม ก็ทำตัวหัวใส ถ้ามีค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เซลส์ คุณอาจได้รับรถเร็วขึ้น เรื่องตลกคือ Honda สำนักงานใหญ่เอง ก็ทำอะไรไม่ได้ด้วยเนี่ยสิ!
Haval Jolion : Crossover SUV จากแดนมังกร ที่ดูโหงวเฮ้งตอนแรกเหมือนจะดี แต่พอลูกค้าอุดหนุนไปแล้ว ก็เกิดปัญหาว่า เป็นรถยนต์ Hybrid ที่กินน้ำมันเหมือนไม่มีระบบ Hybrid อยู่ในรถ แถมอัตราเร่งก็ไม่ถึงกับดี Top Speed Lock แค่ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังดีว่า ได้ภายในห้องโดยสาร ที่ออกแบบให้ดูสวย ดึงดูดใจลูกค้ากลุ่มสุภาพสตรี และคนมีครอบครัวได้พอสมควร ถ้าใครคิดจะซื้อตอนนี้ ก็คงต้องขอบอกว่า คิดให้ดีๆ ถ้าทำใจยอมรับกับข้อด้อยที่เกิดขึ้น หลังจากเข้าไปอ่านประสบการณ์ลูกค้าตามคลับผู้ใช้รถรุ่นนี้ และมีรถคันอื่นอยู่ในบ้าน อยู่แล้ว และอยากให้ชีวิตมีสีสัน ทะเลาะกับชาวบ้านเขาบ้าง การซื้อรถรุ่นนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณ
Mazda CX-3 : ยังคงลากขายกันต่อไป ไม่มีกำหนดออกจากโชว์รูม สำหรับ B-Crossover SUV แท้ๆ ที่ออกแบบมาให้เอาใจวัยรุ่นชอบขับรถ แต่อยากได้รถยกสูงนิดๆ (ซึ่งจริงๆ ก็ยกสูงกว่ารถเก๋งไม่มากเลย) จุดพขายสำคัญอยู่ที่ความคุ้มค่า และบุคลิกการขับขี่ ที่ Solid มาก บุคลิกตัวรถทั้งคัน ดุจ เด็กนักศึกษาสาววัยแรกแย้ม ปี 1 ที่เพิ่งเข้ารั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ จะยังใหม่ต่อโลก เป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามใคร ปรู๊ดปร๊าดทันใจ และแน่นอน ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ก็แพงใช้ได้ CX-3 ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่รักการขับรถ ถ้ารับได้กับบรรยากาศห้องโดยสารที่เล็กประมาณ Mazda 2 และ พื้นที่เก็บสัมภาระน้อยโคตรๆ
Mazda CX-30 : ให้นึกถึง CX-3 ที่เติบโตขึ้น สุขุม คุภีระภาพมากขึ้น หรูขึ้น และผ่านการขัดเกลาต่างๆนาๆ มาจนถึงทุกวันนี้ CX-30 คือพัฒนาการที่เหนือชั้นขึ้นมาของ CX-3 คันเดิม ที่ให้ความนุ่มนวลขึ้น ผู้ดีขึ้น อเนกประสงค์เพิ่มขึ้น แต่ยังคล่องแคล่วในแบบของมัน และยังเป็นอีกทางเลือกที่ดีงาม ถ้าไม่ติดว่า ปัญหาเรื่องปั้มติ๊ก ระบบไฟรวนๆ ตอนออกรถจากโชว์รูม หรือปัญหาจิปาถะ ตามที่คุณจะค้นเจอในคลับผู้ใช้รถรุ่นนี้ อาจจะบั่นทอนความรู้สึกของคุณได้พอๆกับราคาค่าแรง และค่าเข้าสูนย์บริการ ที่ถือว่า แพงเมื่อเียบกับรถญี่ปุ่นด้วยกัน อีกนิดจะแพงเท่ารถยุโรประดับ Premium แล้ว แต่เชื่อเถอะครับ ถ้าคุณรับไหว นี่คือรถคันหนึ่งที่จะให้บรรยากาศการเดินทางที่น่าประทับใจจากห้องโดยสารที่มีวัสดุดีเป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม และชุดเครื่องเสียง BOSE ที่ให้คุณภาพเสียงดีงามตามท้องเรื่อง
MG ZS : ถ้าเป็นรุ่นเครื่องยนต์สันดาป ผมมองว่า อัตราเร่งอืดสุดในตลาด ออกตัวที่บางนา 105 (กิโลเมตร/ชั่วโมง) ที่บางปะกง แบบนั้น แถมยังไม่ประหยัดน้ำมันเท่าไหร่เมื่อเียบกับเพื่อนฝูงเหล่านั้น อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่อง Reliability จนกลายเป็นขวัญใจยานแม่ Slide-on ยุคใหม่ แบบนั้น ถ้าเลี่ยงได้ ก็เลี่ยงจะดีกว่า แตถ้าเป็นเวอร์ชันไฟฟ้า บอกเลยว่า น่าใช้ เพียงแต่ต้องรอรุ่นปรับโฉม Minorchange กันนานหน่อย ว่าจะพร้อมปล่อยรถให้ลูกค้าได้มากกว่านี้ เมื่อไหร่?
Nissan Kicks e-Power : รุ่นปี 2022 เพิ่งคลอดออกมา บอกเลยว่า คนของ Hyundai คงได้กุมขมับกันแน่ๆ เพราะการปรับอุปกรณ์ และ Upgrade Motor ลูกใหม่ กับ Battery ลูกใหญ่ขึ้น ช่วยให้ น้อง Kicks แรงขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น แถมเมื่อเจอกับพวงมาลัยที่เบา คม และช่วงล่างแนวนุ่มแต่กระชับ ด้วยราคาขายปลีกที่ถูกลง วัสดุในห้องโดยสารดีขึ้นนิดหน่อย ยิ่งเพิ่มความน่าซื้อมากขึ้น และกลายมาเป็นหอกข้างแคร่ของ Creta อย่างช่วยไม่ได้ แต่เอาเถอะ อย่างน้อยๆ Creta มี Ground Clearance สูงกว่า Kicks (และ สูงพอๆกับ Navara PRO4-X ด้วยนะ!! Hahaha) แถมยังมีเบาะนั่งที่นุ่ม และนั่งสบาย กว่า Kicks ชัดเจน และยังเป็นเครื่องยนต์สันดาปล้วน ซึ่งน่าจะถูกใจคนที่ยังกลัวระบบ Hybrid ที่ยังมีอยู่ไม่น้อยในบ้านเรา
Toyota Corolla Cross : ตามหลักแล้ว Creta ไม่ใช่คู่แข่งที่ตรงตัวกับ Corolla Cross มากนัก เพราะเขาวางตัวเองเป็น Compact C-SUV จริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ราคาค่าตัวที่ใกล้เคียงกัน ทำให้กลายเป็นคู่แข่งกันกลายๆอย่างหลีกเลียงไม่ได้
พูดกันตามตรง คนที่คิดจะซื้อ Hyundai ย่อมไม่มอง Toyota อยู่แล้ว และเช่นเดียวกัน คนจะซื้อ Corolla Cross ย่อมไม่มี Creta อยู่ในสายตา ยิ่งตัวรถถูกออกแบบมาตอบโจทย์ลูกค้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งเห็นภาพชัดเจน Creta มุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนที่ใช้รถคนเดียวเป็นหลัก ขณะที่ Corolla Cross เน้นเอาใจสมาชิกทุกคนในครอบครัวมากกว่า ถ้าในด้านอัตราเร่ง Creta จะเหนือกว่า Corolla Cross Hybrid แต่จะยังด้อยกว่ารุ่น เบนซิน 1.8 ลิตร เป็นปกติ แต่ถ้าถามความมั่นใจในการบังคับควบคุมแล้ว Creta ทำได้ดีกว่า Corolla Cross ในหลายประเด็นเลยทีเดียว รวมทั้งระบบคามปลอดภัยที่ทั้งคู่ให้ม ก็ถือว่า ไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเท่าไหร่ แต่ Creta มีราคาถูกกว่า Corolla Cross ตัวท็อปอย่างชัดเจน ไม่ต้องสืบ
ถ้าคุณตกลงใจว่าจะลองซื้อ Creta ควรเลือกรุ่นย่อยไหน?
Creta เวอร์ชันไทย นำเข้าจาก Indonesia ตั้งราคาขายปลีกทั้ง 2 รุ่นย่อย ไว้ดังนี้
- CRETA 1.5 SE : 949,000 บาท
- CRETA 1.5 SEL : 999,000 บาท
จากราคาค่าตัวที่มีมาให้ และความแตกต่างของอุปกรณ์นั้น ถ้าทำได้ ขอแนะนำว่า อุดหนุนรุ่น SEL ไปเลยจะดีกว่า เพราะส่วนต่าง 50,000 บาท นั้น หลังคา Panoramic Glass Sunroof ไฟเรืองแสง Ambient Light (ซึ่งของจริง ตอนกลางคืน สวยใช้ได้) และระบบเตือนให้ตรวจสอบผู้โดยสารด้านหลัง Rear Occupant Alert (ROA) เท่านั้นเลย เว้นเสียแต่ว่า คุณไม่อยากได้หลังคากระจกจริงๆ นั่นก็สุดแท้แต่ทางเลือกของคุณ
อันที่จริงแล้ว Creta เอง เป็นรถยนต์ที่มีคุณงามความดีอยู่มากมาย มีจุดขายพิเศษ USP (Unique Saling Point) ตั้ง 5 จุด ซึ่งดีพอที่จะจูงใจลูกค้าได้ ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ นับตั้งแต่วันเปิดตัว จนถึงวันนี้ ผมเห็น Creta อยู่บนป้ายโฆษณา Billboard ริมทางด่วนหลายที่ หรือแม้แต่อยู่ในหน้าโฆษณา บน Feed ของ Facebook หลายครั้ง แต่พอดูงาน Artwork แล้ว ผมเริ่มมองว่า แผนการตลาดของ Hyundai สำหรับเปิดตัวรถคันนี้ออกสู่ตลาด มันดูมีความพิลึกพิลั่น และผิดที่ผิดทางม ผิดแผกไปจากที่มันควรเป็น
ข้อแรก คุณต้องเข้าใจ Demographic กันก่อนว่า ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ B-SUV ที่มีขนาดตัวรถคาบเกี่ยวกับ C-SUV แบบนี้ ส่วนใหญ่ มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Teenage วัยรุ่น ที่มีบุพการีซื้อรถให้ไปขับจากบ้านหรือหอพักไปมหาวิทยาลัย และ Teemange at heart หรือกลุ่มใจยังวัยรุ่นอยู่ อายุ แถวๆ 40 ปีขึ้นไป มักเป็นสุภาพสตรี เป็นโสด อยู่ตัวคนเดียว หรือ อยู่กับคู่แฟน LGBTQ และมักไม่ค่อยเป็นกลุ่มผู้ชาย เท่าไหร่ (นี่เอา Demographic ลูกค้าของรถบางค่าย มาแชร์ให้ได้รับรู้กันเลยนะ!)
คนกลุ่มหลัง มีกำลังซื้อเยอะ และพร้อมจะจ่ายเงินทันที ถ้าเขาพร้อม และมั่นใจว่า นี่คือรถที่เขาเลือก ดังนั้น การโฆษณา จึงควรใช้ภาพกราฟฟิค หรือ Artwork ที่เน้นไปในแนวทางของคนรุ่นใหม่ กระฉับกระเฉง กล้าตัดสินใจ และชอบสนุกกับชีวิต ไม่ใช่การเอา ผู้ชายรุ่นพ่อ อายุ 60 นิดๆ ไปนั่งบนเบาะหลัง แล้วเปิด Sunroof ให้ ยิ้มฉ่า รับกับแสงอาทิตย์ที่สาดทอแสงลงมากลางกบาลหัวล้านเหงื่อแตก โดยมี ลูกสาวร่างสูงสคราญ และหนุ่มลูกครึ่งอายุ 20 ปลายๆ หน้าตาจิ๊กโก๋ยุคใหม่ นั่งยิ้มมีความสุขกันอยู่ 2 คน ที่เบาะคู่หน้า แบบนั้น ซึ่ง…มันไม่ใช่เลย!!
นี่ยังไม่นับ Mood and tone ของภาพ Key visual ที่ออกไป แทบทั้งหมด รวมทั้ง การเลือกรูป Creta ใช้บน Fanpage ของ Hyundai Thailand บน Facebook ยิ่งดูยิ่งรู้สึกได้ว่า ทีมงานน่าจะยังไม่เข้าใจในบุคลิกรถที่ตัวเองกำลังจะขาย
มาถึงตรงนี้ ผมอยากฝากเป็นการส่งท้าย ไปถึง ทีมที่ดูแลการตลาด และผู้เกี่ยวข้องใน Hyundai ว่า ถึงเวลา ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองใหม่ คุณจะขายรถคันนี้ ด้วยมุมมอง ตรงๆ ทำสื่อโฆษณาแบบตรงๆ ไม่ได้ คุณจะนำเอาวิธีคิด แบบเดียวกับที่เคยใช้ตอนทำการตลาด ขายรถตู้ มาใช้กับ Creta ไม่ได้! เพราะ กลุ่มลูกค้า เป็นคนละกลุ่มโดยสิ้นเชิง
อยากให้ลูกค้าอุดหนุนเยอะขึ้น อาจต้องถึงขั้น ทำ Re-Launch กันใหม่ ทำหนังโฆษณา หรือภาพที่ใช้ประกอบกับงานโฆษณาทั้งหมด ให้โดนใจวัยรุ่นมากขึ้น เดี๋ยวยอดขาย ก็จะเริ่มดีขึ้นเอง เพราะลูกค้ากลุ่ม Teenage at heart เค้าไม่อยากแก่ เขาอยากใช้สินค้า ที่ออกแบบมาเพื่อคนหนุ่มสาว!! ไม่ใช่สินค้าที่มีงานออกแบบเชย ทึ่ม ทึนทึก และพร้อมจะถูกฝังไปพร้อมกับร่างของพวกเขาเมื่อกาลเวลาเดินทางมาถึงแบบนั้น!
ที่สำคัญมากสุดคือ อย่าคิดดูถูกวัยรุ่น ว่า บ่อจี๊ ม่ายมีตังค์ คุณรู้ไหมว่า ทุกวันนี้ วัยรุ่นจำนวนไม่น้อย มีงานเสริมเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของทาง Online ได้เงินเยอะแยะมากพอจะกว้านซื้อ Creta ได้รวดเดียว 2-3 คันเลยละคุณเอ้ย! ฝากทางชาวญี่ปุ่น ที่ Hyundai เปลี่ยน Mindset อย่างด่วนที่สุดเลย!!
ณ ตอนนี้ ยังพอมีเวลาปรับปรุงและแก้ไข รวมทั้ง เตรียมตัวเตรียมใจ กับการวางแผนเปิดตัว รถ Minivan รุ่น Stargazer ในเมืองไทย ซึ่งใกล้งวดเข้ามาทุกทีแล้ว ถึงตอนนั้น อย่าให้พลาดแบบ Creta อีก เพราะมิเช่นนั้น โอกาสที่ Hyundai จะเหลือที่ยืนอยู่ในตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทย ก็จะน้อยลงเต็มที
ได้แต่นั่งอยู่แถวบางนา เอาใจช่วยชาววิภาวดีรังสิต กันตรงนี้แหละครับ!
—————————///————————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
บริษัท Hyundai Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆอย่างดียิ่ง
เตรียมข้อมูลตัวรถโดย Yutthapichai Pantumas (QCXLoft)
และ Navarat Panutat (KANVITZ)
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียนและ Hyundai Motors
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
30 มิถุนายน 2022
Copyright (c) 2022 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 30th, 2022
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!