“ออกใหม่กันอีกละ! ออกอะไรกันใหม่บ่อยๆ ออกกันทุกปีเลย รถฉันก็เก่าเร็ว ตกรุ่นเร็วกันพอดี!”
ผมเชื่อว่า ใครก็ตาม ที่เพิ่งตัดสินใจซื้อ Toyota Hilux Revo โดยเฉพาะรุ่น Rocco อันเคยเป็นรุ่น Top of the Line ไปตลอดช่วง ตั้งแต่ ปี 2020 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ คงมีเสียงบ่นประมาณนี้กันบ้างแหละ
พอเข้าใจได้ครับ ว่าจะเก็บหอมรอมริบ เป็นเงินก้อน มาออกรถกระบะสักคัน มันก็เป็นเงินก้อนใหญ่ อุตส่าห์รอดูจังหวะอย่างดีแล้ว ว่า รถรุ่นที่คุณหมายปอง ไม่น่าจะมีการปรับโฉมใดๆอีก ที่ไหนได้ ถอยออกจากโชว์รูมไปได้ไม่กี่เดือน อ้าว! รุ่นปรับอุปกรณ์ “จุกจิก Change” ออกมาขายกันอีกแล้ว!
เหตุผลที่ผู้ผลิตรถยนต์ “ทุกค่าย” ต้องทำแบบนี้ ก็เพราะว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์บ้านเรา มันดุเดือดเลือดพล่านมาก! ในช่วง 1-2 ปีมานี้ มีหลายกลยุทธ์ หลายวิธีการ ถูกนำมาปรับใช้ ทำให้การซื้อขายรถยนต์ สะดวก รวดเร็ว ง่ายดาย ออกรถง่ายขึ้น (ถ้าเครดิตบูโร ของคุณ ดี ไฟแนนซ์อนุมัติไว) ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่บ้าคลั่งอย่างเช่น เดินเข้าโชว์รูมตัวเปล่า ไม่ต้องวางเงินดาวน์ (ซึ่งมาจากคำว่า Down Payment หรือเงินก้อนขั้นต่ำ) ก็ถอยรถป้ายแดงกลับบ้านได้ทันที (ถ้ารถรุ่นและสีที่คุณต้องการ มีอยู่ในสต็อกของโชว์รูมพอดี และคุณไม่ต้องการอุปกรณ์ตกแต่งของแถมใดๆ)
ไปจนถึงการเจรจาซื้อขายรถที่ง่ายดายโคตรๆ แค่เพียง ทัก LINE หาพนักงานขายในแต่ละโชว์รูม โอนเงินดาวน์ วางเงินจอง ซื้อขายรถกันในระหว่างที่ คุณและพนักงานขาย ต่างนอนดู ซีรีส์เกาหลี เรื่องเดียวกัน ใน Netflix ตอนเที่ยงคืน ณ บ้านใครบ้านมัน เป็นต้น!
ดังนั้น การปรับอุปกรณ์ ใส่ลูกเล่นเข้ามา ในทุกปี เพื่อให้รถยนต์รุ่นนั้นๆ ยังคง “สดใหม่” อยู่ในตลาดได้นานๆ ไปจนกว่าจะครบกำหนด หมดอายุตลาด จึงเป็นอีกวิธีการที่ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย มักนำมาใช้กัน เพื่อมิให้ต้องเสียยอดขาย เสียส่วนแบ่งการตลาด ให้คู่แข่ง นั่นเอง
เชื่อเถอะ คนที่ทำงานอยู่ในบริษัทรถยนต์เหล่านั้น เค้าไม่ได้อยากจะปรับปรุงรถกันบ่อยๆ ทุกปีแบบนี้หรอก มันเหนื่อยนะโว้ย! แต่ทำอย่างไรได้ละ เจ้านายทั้งในไทย และญี่ปุ่น ไล่บี้จะเอาตัวเลขยอดขาย จะเอาผลกำไรกัน ในฐานะมนุษย์เงินเดือน ทีม Product Planning ทีมการตลาด เขาก็ต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมายมานั่นแหละ ถ้าเป็นช่วงที่ยังไม่มีการระบาดของ Covid-19 นี่ บางคนกว่าจะได้กลับบ้าน มีดึกดื่นถึงเที่ยงคืนก็มี บางทีก็ต้องตื่นมาประชุมตอน ตี 5 เพราะว่า ฝั่งญี่ปุ่น เขานัดประชุม 7 โมงเช้า ตามเวลา Tokyo ซึ่งเร็วกว่าไทย 2 ชัวโมง ก็มีมาแล้วเยอะแยะถมถืดไป
ยิ่งตอนนี้ คู่แข่งของ Toyota ไม่ได้มีแค่คู่รักคู่แค้นที่จิกกัดกันมาตลอด 30 กว่าปี อย่าง Isuzu D-Max เพียงอย่างเดียว แต่ Ford Ranger ก็พยายามถีบตัวเองจากการเป็น “นักรบท้ายตาราง (ยอดขาย)” กลายมาเป็น เบอร์ 3 ที่หลายคนเกรงขาม ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงข้อเดียวนั่นคือ “ก็รถ Ford มันหล่ออ่ะ!” แถมพวกเขายังแตกหน่อรุ่นย่อยใหม่ ออกมาเอาใจลูกค้าหลากหลายรสนิยม โดยเฉพาะรุ่นขายดีที่สุดในกลุ่ม ขับเคลื่อน 4 ล้อ อย่าง Ford Ranger Wildtrack ที่ไปๆมาๆ ก็ต่อยอด แตก Segment ขึ้นไปเป็น Ford Ranger Raptor ตัวลุยช่วงล่างเทพแต่แพงสุดโต่งเพราะใช้ช่งล่างหลังเป็นคอยล์สปริง จนต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตในหมวดรถยนต์นั่ง ผู้บริโภคเลยยอมอุดหนุนกันเยอะขึ้นมาก และมองข้ามข้อด้อยเรื่องบริการหลังการขายในอดีต (ตอนนี้พวกเขาพยายามปรับปรุงอยู่) ไปเยอะมาก
นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Toyota จะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อรักษาความเป็นเจ้าตลาดกันต่อไป แต่ครั้นจะเล่นมุข เอารถกระบะ มาปรับอุปกรณ์กันเฉยๆ เพียงอย่างเดียว มันก็ไม่พอ หรือถ้าจะทำเวอร์ชัน High Performance ขึ้นไปประกบกับ Ranger Raptor เลย ก็ยังน่ากังขา ว่าจะคุ้มต่อการลงทุนพัฒนาหรือเปล่า? เพราะต้นทุนจะแพง แถมถ้าเปล่ยนช่วงล่างหลังเป็นคอยล์สปริงด้วย ราคาขายจะแพงโดด จนลูกค้าส่วนใหญ่ ไม่อาจเอื้อมถึงได้ง่ายๆ และกลายเป็นเพียง “ของเล่นคนรวย” เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ต้องยอมรับความจริงว่า จุดอ่อนในอดีตกาลที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีของ รถกระบะ Toyota คือ ช่วงล่างทนอยู่นะ บรรทุกหนักนะดีเลย แต่ขับเฉยๆตัวเปล่า ขับสบายและขับดีสู้คู่แข่งหลายๆค่ายไม่ได้! เพิ่งจะมาดีขึ้นพอใช้ได้ ก็ตอนออก Hilux Revo เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2015 มานี่แหละ แต่ก็ยังดีขึ้นได้ไม่สุด ยังดีขึ้นได้มากกว่านี้อีก แต่ก็ติดข้อจำกัดด้านต้นทุนในการพัฒนา Frame Chassis ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงมากสุด ของการทำรถกระบะ แพงไม่แพ้เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอื่นๆรวมกันเลยทีเดียว!
ทางออกของเรื่องนี้?
ก็ออกมาเป็น รถทั้ง 2 คันที่คุณเห็นอยู่ในรีวิวข้างล่างนี้ไง!
เพียงแต่ มันไม่ได้มาในชื่อ TRD Sportivo เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว คราวนี้ Toyota เลือกให้ เวอร์ชันปรับช่วงล่าง พร้อมุดแต่ง ของ Hilux Revo ใหม่ กลายเป็นรถกระบะรุ่นแรกในตระกูล Toyota ที่ผลิตในเมืองไทย โดยติดตรา “GR Sport”
GR ย่อมาจาก Gazoo Racing มันอาจฟังดูเป็นชื่อที่แปลกหู ไม่คุ้นเคยสำหรับคนบ้ารถทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย อันที่จริงแล้ว ชื่อนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Akio Toyoda ยังเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานคนใหม่ ขณะนั้น โลกกำลังตื่นตัวกับการมาถึงของ Internet สำหรับการค้นหาข้อมูล และเป็นแหล่งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆ Akio มองว่า Toyota ควรจะเข้าสู่ธุรกิจด้านข้อมูล รวมทั้ง มี Portal Website สำหรับผู้บริโภค ได้ค้นหารถยนต์ที่ตนถูกใจ ทั้งรถใหม่ และรถมือสอง ซึ่งเน้นการนำเสนอภาพถ่ายรถคันจริง เพื่อช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อขายกันได้
Toyota จึงได้ปรับโครงสร้างองค์กร และก่อตั้ง ตู้ให้บริการข้อมูล Gazoo Kiosk ในเดือนตุลาคม 1999 ตามด้วย Website ชื่อ Gazoo.com ในเดือนธันวาคม 1999 โดยชื่อ Gazoo นั้น เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “ภาพ” เป็นหนึ่งใน ธุรกิจการให้บริการข้อมูลของ Toyota (ซึ่งต่อยอดมาถึงการเปิดตัว Website “e-ToyotaClub” ในประเทศไทยเมื่อปี 2004 ในนามโครงการ e-CRB และแทบไม่น่าเชื่อว่า เว็บดังกล่าว ยังคงอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ด้วย Click Here)
ปัจจุบัน Website แห่งนี้ ยังคงให้บริการอยู่ที่ญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นทาง นิตยสารรถยนต์ On-Line มีเรื่องราวการทดสอบ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะแค่แบรนด์ Toyota หากแต่ยังรวมถึงแบรนด์คู่แข่ง ทุกค่าย ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกาเหนือ และเกาหลีใต้ พาไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เชิง Life Style ไปจนถึง เป็นแหล่งรวมข้อมูลรถยนต์จากทั่วทุกมุมโลก (Catalog) ย้อนหลังกลับไปได้ไกลถึงทศวรรษ 1950 เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด และแน่นอนว่า ยังคงเป็นแหล่งสำหรับการซื้อขายรถยนต์ใหม่ และรถยนต์มือสอง เช่นเดิม ผู้สนใจ คลิกเข้าไปเดินเล่นดูได้ที่ Gazoo.com
เรื่องราวของ Gazoo ผูกโยงเข้ากับโลก Motorsport ของ Toyota ได้อย่างไร?
Toyota เริ่มเข้าสู่วงการ Motorsport เป็นครั้งแรก ในปี 1957 ด้วยการนำ Toyopet Crown รุ่นแรกสุด ลงแข่งขันในรายการ Mobiligas Rally รอบ Australia ปี 1957 และคว้ารางวัลอันดับ 3 ทั้งที่เป็นรถญี่ปุ่นเพียงคันเดียว นับแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็เข้าร่วมกิจกรรม Motorsport ทั่วโลก อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางเรียบ หรือทางวิบาก การแข่งขัน Formula 1 หรือ การแข่ง Endurance Le Mans 24 ชั่วโมง ทั้งในรูปของผู้ผลิตเอง ภายใต้แบรนด์ TRD (Toyota Racing Development) หรือผู้ให้การสนับสนุนทีมแข่งต่างๆ
เพื่อให้ทุกกิจกรรม Motorsport ของ Toyota ไม่ถูกจดจำอย่างกระจัดกระจายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา Toyota จึงตัดสินใจควบรวมทุกกิจกรรมการตลาดอันเกี่ยวเนื่องกับกีฬา Motorsports , งานด้านการพัฒนารถยนต์ รวมทั้งการสนับสนุนด้านเทคนิค ซึ่งเดิมเคยกระจัดกระจายกันอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ให้มารวมอยู่ด้วยกันเป็น Motorsports Group เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2015 จากนั้น วันที่ 9 เมษายน 2015 Toyota จึงประกาศ กิจกรรม Motorsport ของตนทั้งหมด รวมเอาไว้ภายใต้ชื่อ Gazoo Racing (รายละเอียดต่างๆ คลิกเข้าไปดูได้ที่ Website Toyota Gazoo Racing Click Here)
นับจากนั้น Toyota ก็เลยตัดสินใจว่า จะทำรถยนต์ แนว Performance ออกมาจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ GR โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
– กลุ่ม Pure Sport หรือรถยนต์สปอร์ต สมรรถนะสูง ทั้ง GR Yaris , GR86 และ GR Supra (คือรุ่นไหนก็ตามที่มีชื่อ GR อยู่ข้างหน้า ถือว่าเป็นตัวแรงของจริง)
– กับกลุ่ม GR Sport อันเป็น การปรับปรุงสมรรถนะของรถยนต์ที่ทำตลาดอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้แรงขึ้น หรือมีช่วงล่างดีขึ้น ในราคาที่ลูกค้าทั่วไปพอจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น (คือรถรุ่นไหนก็ตาม ที่เอาชื่อ GR Sport ไปต่อไว้ท้ายชื่อรุ่น มักเป็นรุ่นใส่ชุดแต่ง และปรับจูนช่วงล่าง หรือเครื่องยนต์ในบางกรณี)
Hilux Revo GR Sport อยู่ในกลุ่มหลังนี้ครับ….
จริงๆแล้ว ประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศแรกที่มี Toyota Hilux Revo ใน Version แบบ GR เพราะก่อนหน้านี้ Toyota Brazil ก็เคยจับ Hilux Revo ไปแต่งหน้าทาปาก ออกขายในชื่อ Toyota Hilux GR Sport มาแล้ว เปิดตัวเป็นแห่งแรกที่นั่น มาตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2018 แต่จำกัดจำนวนการผลิตไว้แค่ 420 คัน รายละเอียดต่างๆ คลิกอ่านได้ ที่นี่ Click Here
แต่สำหรับประเทศไทย นีคือครั้งแรก ที่ Toyota Motor (Thailand) ตัดสินใจ นำเอาแบรนด์ GR มาติดตั้งให้กับรถกระบะ ตระกูล Hilux เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด และเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
งานปรับปรุง Hilux Revo รุ่นปี 2021 รวมทั้ง GR Sport นั้น รับหน้าที่โดย ดร.จุฬชาติ จงอยู่สุข (Dr. Jurachart Jongusuk) และ นางสาวอัญญารัตน์ สุทธิเบญจกุล (Ms. Anyarat Sutthibenjakul) หัวหน้าวิศวกรระดับภูมิภาค หรือ Regional Chief Engineer และทีมงานจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนา TDEM (Toyota Daihatsu Engineering and Manufacturing Company Limited) ซึ่งเคยรับหน้าที่ดูแลการปรับโฉม Hilux Revo Minorchange จนเสร็จสิ้น ในปี 2020 มาแล้ว
ดร. จุฬชาติ เล่าว่า “หลังจากที่ Toyota ได้เปิดตัว Hilux Revo Minorchange เมื่อช่วงกลางปี 2020 ที่ผ่านมา เราได้ทำการสำรวจถึงความคิดเห็นของผู้แทนจำหน่าย พนักงานขาย และลูกค้าผู้ใช้จริงทั่วประเทศกว่า 1,000 ตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจทั้งจุดเด่นและจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เราได้นำผลสำรวจดังกล่าวมาใช้สำหรับการพัฒนาสู่รุ่นปรับปรุงใหม่ปี 2021 นี้ โดยมีการปรับปรุงให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ในทุก ๆ รุ่น”
ทำไมต้องทำออกมาถึง 2 รุ่นย่อย แล้วทั้ง 2 รุ่น ใครเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย?
เพราะตลาดรถกระบะ ทุกวันนี้ แบ่ง Segmentation ย่อยออกจากกันได้เยอะมากกกกกกก ถ้าให้ สรุปกลุ่มตลาดและกลุ่มลูกค้า “ตามความเข้าใจของผม” ก็คงจะแบ่งได้ ดังต่อไปนี้
1. Single Cab : ส่วนใหญ่ คนซื้อไม่ได้ขับ คนขับไม่ได้ซื้อ เน้นขายลูกค้าที่อยากหารถกระบะไปใช้งาน ขนของ ดัดแปลงไว้ขนผัก หรือทำห้องเย็น ฯลฯ
2. Extended Cab (Smart Cab , Space Cab , King Cab ฯลฯ) ลูกค้ามักซื้อไป ใช้งานทั้งในกิจการค้าขายอิสระ (ทำรถพุ่มพวง เร่ขายของตามหมู่บ้าน) ส่งของ สัมภาระ ผสมกับการใช้งานเป็นรถส่วนตัว เป็นรถคันเดียวของครอบครัว หยาดเหงื่อแรงงานจากการเก็บหอมรอมริบมานานแรมปี หรือเอาไว้ทำธุรกิจ SME และมักเป็นรถกระบะที่ขายดีมากสุดในตลาดเมืองไทย แต่ข่าวร้ายสำหรับผู้ผลิตก็คือ ต้นทุนการพัฒนาตัวถัง Etended Cab รวมทั้งบานแค็บเปิดได้ ในทุกวันนี้ มันไม่คุ้มค่าต่อการงทุนเท่าไหร่ เพราะมันขายได้แค่ในเมืองไทยเพียงแห่งเดียวนี่แหละ ประเทศอื่น เขาข้ามไปเล่นรุ่น Double Cab 4 ประตูกันหมด
3. Extended Cab 4×2 ยกสูง หรือ 4×4 ลูกค้าที่ซื้อรถแบบนี้ เป็นคันเดียวในบ้าน มักประกอบอาชีพอิสระของตนเอง ซื้อไว้ขับใช้ในวันทำงาน และวันพักผ่อน ออกท่องเที่ยวส่วนตัว ตามต่างจังหวัด มักใช้ชีวิตสันโดษ หรือซื้อเป็นรถคันที่ 2 ของบ้าน
4. Double Cab 4×2 ตัวเตี้ย Low Floor กลุ่มนี้กำลังมาแรง เน้นขายตลาด “วัยรุ่นสร้างตัว” เอาไปแต่งซิ่งเข้ากลุ่มกับก๊วนเพื่อนฝูงร่วมสังคมเดียวกัน มักเป็นรถคันเดียวในบ้าน ของคนทำงาน ตามโรงงาน หรือ บริษัทห้างร้านต่างๆ กลุ่มนี้เพิ่งเริ่มได้รับความสนใจจากทั้งลูกค้าและบริษัทรถยนต์ ในช่วงราวๆปี 2015 เป็นต้นมานี่เอง
5. Double Cab 4×2 ยกสูง High-Floor เน้นเอาใจลูกค้าครอบครัว ที่มักเลือกเป็นรถคันเดียว หรือคันที่ 2 ในบ้าน เพื่อใช้งานอเนกประสงค์ แต่ไม่ได้เน้นบรรทุกหนัก และไม่ได้เน้นลุย แค่อยากหารถกระบะเอาไว้ขับใช้งานประจำวัน และพาครอบครัวเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ช่วงเสาร์ – อาทิตย์
6. Double Cab 4×4 High Floor เน้นกลุ่มลูกค้าเหมือนข้างบน แต่ พ่อบ้านมักอยากได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ไว้ลุยบนเส้นทางที่ปกติ ยากที่จะขับเข้าถึง ต้องการ Option เยอะพอสมควร ยอมจ่ายแพงขึ้น ในระดับพอรับได้ เพื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ในตัวรถ
7. Double Cab 4×4 High Floor + High Performance นึกถึงรถกระบะตัวแรง ตัวแพง Option ด้านวิศวกรรม จัดเต็ม เอาใจลูกค้าคนรวย อยากหากระบะไว้ซิ่ง ไว้ลุย ไว้เป็นของเล่นอีกคันในโรงรถที่บ้าน เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา ถ้าใจชอบซะอย่าง ซึ่งตอนนี้ก็มีแค่ Ford Ranger Raptor เพียงรุ่นเดียว
Hilux Revo GR Sport จะถูกแบ่งเป็น 2 รุ่น โดยรุ่น 4×4 จะเอาใจกลุ่มลูกค้า ที่คาบเกี่ยวระหว่าง กลุ่มที่ 6 หรือ 7 ซึ่งมองหาสมรรถนะการขับขี่ บนทางเรียบเป็นหลัก แต่ต้องมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เผื่อไว้ลุยสวนผลไม้ของครอบครัวในต่างจังหวัดได้ด้วย กลุ่มนี้ การเงินไม่ใช่ปัญหา
ส่วนรุ่น 4×2 Low Floor จะเอาใจกลุ่ม ลูกค้า ข้อ 4 ซึ่งในอดีต พวกเขามักต้องหาซื้อรถกระบะ 4 ประตู ตัวเตี้ย มาแต่งเองข้างนอก ในสไตล์ที่เรียกว่า “Thai Look Style” ซึ่งตอนนี้ เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูง ในหมู่วัยรุ่น ประเทศ ASEAN ทั้ง Indonesia , Malaysia และ Philipines ด้วย Toyota เริ่มมองว่า ถ้าทำรถออกมาให้แรง และมีช่วงล่างที่ดีขึ้น จากโรงงานไปเลย แม้จะต้องแลกกับการตัด Option บางอย่างไปบ้าง แต่ก็น่าจะเอาใจกลุ่มลูกค้าได้ดี และน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้อีกทางหนึ่ง
ภายนอก / Exterior
Toyota Hilux Revo GR Sport 4×4 มีขนาดตัวถังยาว 5,325 มิลลิเมตร กว้าง 1,900 มิลลิเมตร สูง 1,865 มิลลิเมตร ระยะฐนล้อ 3.085 มิลลิเมตร ควมกว้างช่วงล้อคู่หน้า / คู่หลัง อยู่ที่ 1,535 และ 1.550 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) สูงถึง 217 มิลลิเมตร
การปรับแต่งรถนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจาก รถแข่ง WRC (World Rally Cross) ซึ่งทำความเร็วสูงได้ดี แม้กระทั่งบนทางฝุ่น หรือพื้นผิวขรุขระ แต่ก็ต้องให้ความมั่นใจบนถนนทางเรียบด้วยในเวลาเดียวกัน
อุปกรณ์เพิ่มเติม จากรุ่นมาตรฐาน มีดังนี้
– กระจังหน้าดีไซน์เดียวกับ Rocco แต่ปรับการตกแต่งโทนสีใหม่ โดยให้สีกรอบกระจังหน้า เป็นสีเดียวกับตัวรถ มีตัวอักษร T O Y O T A และสัญลักษณ์ GR
– ชุดแต่งกันชนหน้า และกันชนหลัง สีดำเมทัลลิก
– ซุ้มล้อสีเดียวกับตัวรถ เสริมด้วยสีดำเมทัลลิก
– กระจกมองข้าง สีดำ Metallic Black ปรับและพับเก็บด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว และไฟ Welcome Light
– เสาอากาศแบบครีบฉลาม Shark Fin
– สัญลักษณ์ GR และ GR Sport บริเวณด้านข้างและฝาท้าย
– Sport Bar สีดำเมทัลลิก พร้อมไฟส่องสว่าง LED และพื้นปูกระบะ ดีไซน์เฉพาะของรุ่น GR Sport
– สติ๊กเกอร์ด้านข้างและท้ายกระบะ ดีไซน์เฉพาะรุ่น GR Sport ซึ่งมีลวดลาย สามเหลื่ยมทื่อๆซ้อนกัน เหมือนให้เด็กประถมมาตัดแปะมากๆ ไม่สวยเลย เอาออกเถอะ ทำแบบเวอร์ชันญี่ปุ่น ที่ไม่ต้องติดสติกเกอร์อะไรมาเลย หรือไม่ก็ ออกแบบใหม่ ให้เท่กว่านี้ จะดีมาก
– ล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว ลายใหม่ พ่นสีดำ
– ยางที่ติดมากับรถทดลองขับคันนี้ เป็น Bridgestone Dueler HT ขนาด 265/60 R18 สเป็กพิเศษ
– คาลิเปอร์เบรกสีแดง มีสัญลักษณ์ GR
ส่วนรุ่น Double Cab 4 ประตู 4×2 Low-Floor ตัวเตี้ย นั้น มีขนาดตัวถังยาว 5,285 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,085 มิลลิเมตร เท่ากันกับรุ่น 4×4 ส่วนความกว้างช่วงล้อทั้งคู่หน้า / คู่หลัง อยู่ที่ 1,510 มิลลิเมตร เท่ากัน ความสูงจากพื้นถนนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 164 มิลลิเมตร
รถกระบะรุ่นนี้ เป็นการนำ Hilux Revo Double Cab ตัวเตี้ย Z Edition รุ่น 2.4 Mid 6AT 4×2 มาใส่เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ปรับช่วงล่างนิดหน่อย โหลดเตี้ยลงอีกนิด แล้วก็เติม Option เข้าไปเล็กๆน้อย โดยการปรับแต่งรถนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจาก รถแข่งทางเรียบกลุ่ม Super GT (Super Grand Touring Car) ซึ่งได้รับความนิยมจากประเทศญี่ปุ่น มายังเมืองไทย เน้นทำความเร็วสูงได้ดี และให้ความมั่นใจบนทางเรียบ เป็นหลัก แต่ยังต้องเผื่อความสบายสำหรับคนในครอบครัวไว้ด้วย
อุปกรณ์เพิ่มเติม จาก รุ่นมาตรฐาน มีดังนี้
– กระจังหน้าดีไซน์ใหม่ พร้อมสัญลักษณ์ GR
– ชุดแต่งกันชนหน้า
– สเกิร์ตตกแต่งรอบคัน
– กระจกมองข้างสีดำเมทัลลิก
– เสาอากาศแบบครีบฉลาม Shark Fin บนหลังคารถ
– สัญลักษณ์ GR บริเวณบานประตูคู่หน้า
– สัญลักษณ์ GR Sport บริเวณ ฝากระบะท้าย
– สติ๊กเกอร์ด้านข้างกระบะ ออกแบบเฉพาะรุ่น GR Sport ซึ่งยังดูสวยเรียบ ลงตัวกว่ารุ่น GR Sport 4×4
– ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว ลายใหม่ สำหรับ Hilux แต่มันคือ ล้อของ Corolla Cross 1.8 เบนซิน ตอนถอดฝาครอบออก
– ยางติดรถ คันทดลองขับ เป็น Bridgestone Turanza T005a ซึ่งเป็นยางเทพสายนุ่ม ขนาด 215/55 R17
– คาลิเปอร์เบรกสีแดง พร้อมสัญลักษณ์ GR
ทั้ง 2 รุ่น มีสีตัวถังให้เลือกเพียง 3 สี เหมือนกัน กับ GR Yaris ไม่มีผิด ดังนี้
– สีขาว White Pearl Chrystal (สีโปรโมท และเป็นสีของรุ่น 4×4 ในบทความนี้)
– สีแดง Emotional Red (สีโปรโมท และเป็นสีของรุ่น 4×2 ในบทความนี้)
– สีดำ Attitude Black Mica
ภายในห้องโดยสาร / Interior
มือจับเปิดประตูจากด้านนอก ทั้ง 4 บาน ของรุ่น GR Sport ทั้งรุ่น 4×4 และ 4×2 เปลี่ยนจากวัสดุ สีดำด้านใน Rocco กลับมาเป็นสีเดียวกับตัวถัง เพื่อให้เกิดความสวยงามต่อเนื่องกันทั้งคัน
กลอนประตูของรุ่น GR Sport 4×4 เป็นกุญแจ Wave Key พร้อม Remote แบบ Smart Entry Keyless System เสริมด้วยระบบนิรภัย Immobilizer และระบบเตือนการโจรกรรม TDS (Theft Deterrent System) เมื่อพกรีโมทไว้กับตัวและเดินเข้าใกล้รถ สามารถสั่งล็อกหรือปลดล็อกประตูได้โดยการกดปุ่มที่อยู่ด้านข้างมือจับที่บานประตูคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง หรือจะสั่งล็อก – ปลดล็อกโดยการกดปุ่มที่รีโมทได้เช่นกัน การติดเครื่องยนต์ ทำได้ด้วยการกดปุ่ม Push Start ที่เพิ่มสัญลักษณ์ GR Sport เข้าไป
ลวดลายด้านหลังกุญแจรีโมท เปลี่ยนจากสัญลักษณ์ประจำรุ่น Hilux มาเป็นสัญลักษณ์ GR เหมือนกุญแจรีโมทของ รถตระกูล GR Pure Sport ทั้ง 3 รุ่น สร้างความแตกต่าง ระหว่าง Hilux Revo รุ่นมาตรฐาน กับ GR Sport อย่างชัดเจน แต่ถ้าคุณวางกุญแจนี้ไว้กับ GR Yaris ระวังหยิบผิดนะครับ! มันเหมือนกันเป๊ะ!
แต่สำหรับรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย ยังคงใช้กุญแจ Remote แบบ Jack Knife Key กดปุ่ม ดีดดอกกุญแจให้เด้งขึ้นมา เหมือนมีดพับ Swiss Army มีสวิตช์ล็อก – ปลดล็อก พร้อมระบบนิรภัย Immobilizer แต่จะไม่มีระบบเตือนการโจรกรรม TDS มาให้ ติดเครื่องยนต์ ด้วยการเสียบกุญแจเข้าไปที่ช่องด้านข้างคอพวงมาลัยฝั่งขวา แล้วบิดไปทางขวา เหมือนรถยนต์ทั่วๆไป
บานประตูคู่หน้า และคู่หลัง ยังคงมีขนาดเท่าเดิม แม้จะไม่ใหญ่โตนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเข้า – ออก ภายในห้องโดยสาร ยากลำบากแต่อย่างใด สำหรับรุ่น 4×4 นั้น เพียงแค่เอื้อมมือไปจับมือจับ ที่ติดตั้งมาให้บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้ง 2 ฝั่ง แล้วก้าวเท้าขึ้นไปเหยียบบันไดพลาสติกสีดำกัดลายที่มีพื้นที่ประมาณหนึ่ง ข้ามธรณีประตูที่เกือบจะเรียบไปกับพื้นห้องโดยสาร ก็สามารถหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะนั่งทุกตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย
ชุดบันไดด้านข้าง ยกมาจาก Revo Rocco รุ่นเดิมๆ มีความกว้างช่วงบันได เพิ่มขึ้น กระนั้น พื้นผิวบนบันได ยังคงเป็นพลาสติกกัดลายสากๆธรรมดา อาจก่อโอกาสให้คุณลื่นหกล้มได้ ในวันฝนตกหนัก หรือเหยียบโคลนเลนเพื่อก้าวขึ้นรถด้วยความจำเป็น ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นเดิม
ส่วนรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย แม้ว่าตำแหน่งความสูงของเบาะคู่หน้า จากพื้นถนน จะอยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว หากเป็นรุ่นปกติ ต้องถือว่า ลุกเข้า-ออก ได้สบาย ไม่มีปัญหาอะไร ทว่า รุ่น GR Sport นั้น มีสิ่งที่ควรปรับปรุงเกิดขึ้นมา นั่นคือ การออกแบบให้ สเกิร์ตข้าง มีความหนา และใหญ่โต เอาใจกลุ่มลูกค้า Target group ชาววัยรุ่นสร้างตัว มากจนเกินไป ทำให้ การก้าวขาขึ้นไปนั่ง หรือลุกออกมาตามปกติ ทำได้ไม่ดีเท่าเดิม ยังไงๆ ขากางเกง หรือ ชายกระโปรง จะต้องเปื้อนฝุ่นโคลนที่ติดอยู่กับตัวสเกิร์ต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าลดความหนาของตัวสเกิร์ต ลงไปอีกสัก 1 – 2 เซ็นติเมตร น่าจะแก้ปัญหานี้ได้
แผงประตูด้านข้าง ของทั้ง 2 รุ่น ขึ้นรูปจาก พลาสติก HDPE (High-Density Polyethlyne) ออกแบบมาเหมือน Hilux Revo รุ่นปกติ แต่เพิ่มการบุหนังสังเคราะห์สีดำ เปลี่ยนแถบประดับ Trim พลาสติกตกแต่ง มาเป็น สีดำ Metallic และ สีเทา Smoke Silver ขลิบด้วยด้ายสีแดง มือจับเปิดประตูด้านใน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม มีพนักวางแขนติดตั้งอยู่ในระดับเหมาะสมดีแล้ว แถมยังหุ้มหนังสังเคราะห์ สีดำ ในบริเวณดังกล่าว เพื่อความสบายในการวางท่อนแขนมากยิ่งขึ้น ด้านล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ และช่องใส่เอกสารมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ใช้งานได้อเนกประสงค์ ดีกว่าคู่แข่งหลายคันในตลาด
ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยโทนสี ดำ ตัดสลับกับ สีแดง เบาะนั่งคู่หน้า แม้จะมีรูปทรงแตกต่างกัน โดยสิ้นเชิง แต่ก็มีการประดับลูกเล่นและลวดลาย เพิ่มเติมจากรุ่นมาตรฐาน ในแนวทางเดียวกัน ดังนี้
– การประดับสัญลักษณ์ GR ไว้บนพนักศีรษะ
– การเย็บเข้ารูปเบาะ ด้วยตะเข็บด้ายสีแดง ในทุกจุดของเบาะ
– การใช้ผ้าสังเคราะห์ Suede แบบเจาะรู บริเวณกลางพนักพิงหลังและเบาะรองนั่ง ตัดสลับกับหนังสังเคราะห์สีดำ ช่วยเพิ่มความกระชับและความสบายขณะนั่งขับขี่ มากยิ่งขึ้น
เบาะนั่งคูหน้าของรุ่น GR Sport 4×4 นั้น ยกชุดมาจาก Hilux Revo Rocco และ Fortuner รุ่นปัจจุบัน โดยเบาะนั่งฝั่งคนขับ มาพร้อมสวิตช์ปรับตำแหน่งเบาะด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับพนักพิงหลัง ตั้ง – เอนนอน ปรับความสูง – ต่ำ ของเบาะรองนั่ง และปรับมุมเงยเบาะรองนั่ง แต่ยังคงไม่มีปรับดันหลัง (Lumbar Support) มาให้ ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า ยังคงต้องปรับเบาะด้วยกลไก ใช้ก้านคันโยกแบบธรรมดา กันอยู่ แต่สามารถปรับตั้ง – เอนพนักพิงหลัง และปรับชุดเบาะเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้
พนักพิงหลัง ยังคงออกแบบให้รองรับแผ่นหลังได้ดีประมาณหนึ่ง มีปีกข้างเสริมช่วงสีข้างลำตัวผู้ขับขี่มาให้รู้สึกนุ่มแน่นกำลังดี โดยเฉพาะช่วงหัวไหล่ ที่ออกแบบให้รองรับได้ดีมากกว่ารุ่นเดิมอย่าง Vigo แถมยังดีกว่าคู่แข่งหลายๆรุ่นในตลาด ทว่า บริเวณแผ่นหลังโดยเฉพาะช่วงกลางพนักพิงหลัง ยังคงจมลงไป จนอาจทำให้ปวดหลังได้ หากคุณมีน้ำหนักตัวเยอะกว่าชาวบ้าน หรือต้องทนนั่งนานๆ หลายชั่วโมง ต่อให้เสริมฟองน้ำบริเวณบั้นเอวมาให้แล้ว ก็ยังแอบนั่งไม่สบายตัวอย่ดี ถ้าขับขี่ในระยะทางใกล้ๆ ยังยอมรับได้ แต่ถ้าหากต้องเดินทางไกล ควรหาหมอนใบเล็กๆมาดันบริเวณกลางหลังสักหน่อย จะดีกว่า
พนักศีรษะนุ่มและพิงได้สบายกว่าที่คิด ถ้าปรับเบาะคนขับในตำแหน่งตั้งตรงอย่างถูกต้อง จะดันกบาลเพียงนิดเดียว ในระดับยอมรับได้ แต่ถ้าปรับพนักพิงให้เอนลงไปนิดเดียว ตัวพนักศีรษะ ซึ่งออกแบบมาให้มีองศาการเอียงเหมาะสมมาก ก็จะไม่ดันกบาล แต่น้ำหนักของพนักศีรษะ ยังคงหนักกว่ารถญี่ปุ่นทั่วไปอยู่ดี
ส่วนเบาะรองนั่ง ยังคงเหมือนเดิม มีความยาวไม่เกินช่วงขาพับ แต่ฟองน้ำที่เสริมมาให้ด้านใน “นุ่มแอบแน่น” กำลังดี ไม่นิ่มจนเกินไป นั่งนานๆ ถือว่า สบายพอใช้ได้ มีมุมเงยในตำแหน่งมาตรฐานที่เหมาะสม และสามารถปรับระดับได้
ส่วนเบาะนั่งคู่หน้าของรุ่น GR Sport 4×2 ตัวเตี้ยนั้น ถูกออกแบบให้ พนักศีรษะ ติดยึดเชื่อมกันกับพนักพิงหลังไปเลยไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำของ พนักศีรษะได้ทั้งสิ้น กระนั้น พนักศรีษะก็ถูกออกแบบมาให้มีตำแหน่งติดตั้ง และมุมองศาที่เหมาะสม ไม่ดันกบาล นั่งนานๆ ก็ไม่ได้ต้นคอแต่อย่างด ฟองน้ำที่เสริมข้างในตัวพนักศีรษะ เป็นแบบ “นุ่มนอกแน่นใน” รองรับศีรษะได้สบายอยู่ปรมาณหนึ่งเลยทีเดียว ปรับระดับการเอนและตั้งชันของนักพิงหลัง และเลื่อนเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลัง รวมทั้งปรับระดับเบาะนั่งสูง – ต่ำ ได้ด้วย คันโยกด้านข้างฐานรองเบาะ
ตัวพนักพิงหลัง เสริมด้วยฟองน้ำแบบ “แน่นแอบนุ่ม” เช่นเดียวกับพนักพิงหลังมีลักษณะเว้าเป็นแอ่งกระชับลำตัวผู้ขับขี่ ทั้งแต่ท่อนลำตัวลงไปจนถึงก้นกบ แม้จะโค้งเว้า ไม่ลึกเข้าไปมาก แต่ก็ให้การรองรับแผ่นหลังทั้งหมดได้ดีมาก เช่นเดียวกับการรองรับช่วงสะบักขึ้นไปถึงหัวไหล่ ซึ่งทำได้ดีเช่นกัน ยิ่งได้ผ้า Suede ยิ่งช่วยเพิ่มความกระชับและสบายแผ่นหลังมากยิ่งขึ้น
ส่วนเบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำ แบบ “นิ่มแอบแน่น” มีความยาวเท่ากับมาตรฐานรถญี่ปุ่นทั่วไป มีมุมเงยที่ดีมาก แทบไม่ต้องปรับอะไรเพิ่ม รองรับช่วงขาขณะขับขี่ทางไกล ได้ดีตามสมควร
พูดกันตรงๆ ผมมองว่า เบาะคู่หน้าของรุ่น GR Sport 4×2 นี่ ดีใช้ได้เกินคาด ไม่แย่ ผมไม่คิดว่า รถรุ่นรองลงมา จะได้เบาะนั่งที่ให้ความสบายกำลังดี ขณะขับขี่เดินทางไกลได้อย่างนี้ แม้จะมีหน้าตาไม่เหมือนรุ่นพี่ใหญ่ก็เถอะ
เบาะคู่หน้า ของทั้ง 2 รุ่น มาพร้อม เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ มีระบบดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ Pre-tensioner & Load Limiter มาให้
การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ทำได้สะดวกพอสมควร แม้ว่าช่องประตู จะยังมีช่วงกว้าง น้อยกว่าคู่แข่งนิดนึง แต่ถือว่ากว้างขึ้นกว่ารุ่นเดิมชัดเจนอยู่ บานประตูกางออกได้ในระดับ มาตรฐาน
สำหรับรุ่น 4×4 การลุกเข้า – ออกจากเบาะหลัง ยังคงทำได้ดีตามเดิม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การติดตั้งมือจับบริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการโหน ยกร่างกายคุณ ขึ้นไปนั่งบนรถ หรือประคองค้ำยันร่าง ตอนลงจากรถ จุดนี้ขอชมเชย และดีใจว่า ช่วงนี้ก็เริ่มเข้าใกล้ปลายอายุตลาดของ Hilux Revo แล้ว แต่ Toyota ยังคงติดตั้งมือจับคู่นี้มาให้อยู่ ไม่ถอดออกไปเพื่อลดต้นทุน
ส่วนรุ่น 4×2 แม้ว่า ความกว้างของช่องประตูจะเท่ากันกับ รุ่น 4×4 และ ถ้ามองภาพรวมแล้ว ถือว่าลุกเข้า – ออก ได้ดีตามปกติ ทว่า การติดตั้งสเกิร์ตด้านข้างที่มีความหนามากอย่างที่เห็น ทำให้ผู้โดยสารด้านหลัง ยังคงประสบพบเจอปัญหาขากางเกงหรือชายกระโปรง เปื้อนฝุ่นดินโคลน จากสเกิร์ตด้านข้าง ได้เหมือนกับผู้โดยสารด้านหน้าเช่นเดียวกัน
กระจกหน้าต่างด้านหลัง เลื่อนลงมาได้จนสุดขอบราง พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง ออกแบบสอดคล้องกับแผงประตูคู่หน้า ด้วยวัสดุแบบเดียวกัน พนักวางแขนด้านหลัง ก็สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอกเช่นเดียวกัน ด้านล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ มาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง
พื้นที่โดยสารด้านหลัง ยังคงเหมือนกับ Hilux Revo Double Cab รุ่นปกติ เพียงแต่ว่า ชุดเบาะหลัง ของทั้ง 2 รุ่น ถูกปรับปรุงจากรุ่นมาตรฐาน ด้วยการเปลี่ยนวัสดุบริเวณรองรับแผ่นหลังของผู้โดยสาร จากหนังสังเคราะห์ มาเป็น ผ้า Suede สีดำ และเย็บขึ้นรูปด้วยตะเข็บด้ายสีแดง เหมือนเบาะคู่หน้า Hilux Revo รุ่น GR Sport ทั้ง 4×4 และ 4×2 จะใช้เบาะหลัง ชุดนี้ เหมือนกัน
พนักพิงหลัง ตั้งชันประมาณหนึ่ง มีมุมเอนอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการออกแบบ จากลักษณะของหัวเก๋งด้านหลังสุด ทำให้ไม่สามารถปรับมุมเอนของพนักพิงหลังได้มากกว่าที่เห็นอยู่นี้แล้ว ถ้านั่งเดินทางไกล ถือว่า พอจะสบายอยู่บ้าง ด้านบนของพนักพิง ซัพพอร์ตช่วงหัวไหล่ผู้โดยสารได้ดี แม้ว่าช่วงกลางจะบุ๋มลงไปสักหน่อย ส่วนช่วงเอว ถือว่า ยังรองรับได้ดีอยู่ประมาณหนึ่ง และการได้ผ้า Suede มาใช้ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความสบาย ให้กับแผ่นหลังมากขึ้นอีกนิดหน่อย
พนักศีรษะ มีฟองน้ำเสริมข้างในเป็นแบบนิ่มกลางๆ แน่นนิดๆ ไม่ดันกบาล แต่มีขนาดใหญ่ อาจจะบดบังทัศนวิสัยขณะถอยหลังเข้าจอดได้บ้าง ส่วนพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง สามารถวางแขนได้เกือบพอดี ตั้งแต่ข้อศอกลงไป ยังเตี้ยไปเพียงเศษเสี้ยวมิลลิเมตรนิดเดียว
เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น ตามธรรมชาติของรถกระบะ 4 ประตูทั่วไป แต่ตัวเบาะ ออกแบบให้มีหลุมสำหรับหย่อนก้นลงไปได้สบายๆ ฟองน้ำเป็นแบบนุ่มแน่น นั่งแล้ว ไม่ถึงขั้นต้องชันขามากนัก ถือว่า เบาะรองนั่งด้านหลัง ดีงามมากเป็นอันดับต้นๆของบรรดารถกระบะ 4 ประตูในตลาดบ้านเรา
ไม่เพียงเท่านั้น เบาะรองนั่ง ยังคงสามารถแบ่งฝั่ง ซ้าย – ขวา แยกกัน ยกขึ้นมา โดยใช้ขอเกี่ยวดั้งไว้กับเสาพนักศีรษะ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางสิ่งของทรงสูง ในยามจำเป็น เช่นต้นไม้พร้อมกระถาง หรือข้าวของที่ต้องวางพาดในแนวทะแยงตั้ง ได้อีกด้วย เหมือนเบาะ Ultra Seat ของ Honda Jazz นั่นเอง อีกทั้งใต้เบาะ ยังมีช่องเก็บเครื่องมือประจำรถพร้อมฝาปิดพลาสติกบุทับด้วยพรมปูพื้นรถอีกชั้นหนึ่ง
พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูงไม่เกิน 180 เซ็นติเมตร ถือว่า สบายมากๆ แต่ถ้าสูงเกินกว่านี้ หากช่วงลำตัวคุณยาวกว่าท่อนขา ก็จะนั่งสบาย หัวไม่ติด อาจต้องชันขาเพิ่มนิดนึง แต่ถ้าช่วงลำตัวยาวกว่าท่อนขา ก็อาจเหลือพื้นที่ว่างเหนือศีรษะลดลง
เข็มขัดนิรภัยด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง ด้านบน มีขอเกี่ยวยึดสัมภาระ รวมทั้งมี จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ครบทั้งฝั่งซ้ายและขวา ส่วนมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) นั้น รุ่น 4×4 ให้มาครบ 4 ตำแหน่ง แต่รุ่น 4×2 จะมีเพียงแค่ 3 ตำแหน่ง ตัดมือจับบริเวณเหนือช่องประตูฝั่งคนขับออกไป
มิติกระบะท้าย / Cargo Dimension
กระบะหลังของทั้ง GR Sport 4×4 และ 4×2 มีขนาดและความจุเท่ากัน ด้วยความยาว 1,555 มิลลิเมตร กว้าง 1,540 มิลลิเมตร ลึก 480 มิลลิเมตร โดยรุ่น 4×4 จะมีพื้นปูกระบะ และโครง Sport Bar มาให้ แต่รุ่น 4×2 จะมาเป็นพื้นเปล่าๆแบบในรูปข้างบนนี้เลย
มิติกระบะท้าย (ยาว x กว้าง x ลึก) รุ่น Double Cab เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
– Toyota Hilux Revo Rocco : 1,555 x 1,540 x 480 มิลลิเมตร
– Isuzu D-Max : 1,495 x 1,530 x 490 มิลลิเมตร
– Ford Ranger : 1,549 x 1,560 x 511 มิลลิเมตร
– Mazda BT-50 Pro : 1,549 x 1,560 x 513 มิลลิเมตร
– Mitsubishi Triton : 1,520 x 1,470 x 475 มิลลิเมตร
– Nissan Navara : 1,560 x 1,503 x 474 มิลลิเมตร
– MG Extender : 1,485 x 1,510 x 530 มิลลิเมตร
บานฝาท้ายของรุ่น GR Sport 4×4 ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยผ่อนแรง Easy Lift แบบ Torsion Bar มาให้ เหมือน Ford Ranger ในการใช้งานจริงๆ ช่วยให้การยกปิดฝาท้ายเป็นไปอย่างง่ายดายมาก แต่รุ่น 4×2 จะไม่มีมาให้
ภายในห้องโดยสาร แผงหน้าปัดด้านหน้า และแผงประตู ทั้ง 4 บาน ยังคงมีดีไซน์เหมือนรุ่นเดิม คือมีความยาวจากขอบกระจกบังลมหน้าด้านล่าง มาจนสุดขอบแผงหน้าปัดค่อนข้างสั้น ด้วยเหตุผลของทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสาร ให้ยาวขึ้นโดยไม่เกิดความอึดอัด ภายใต้ข้อจำกัดของความยาว Cabin ห้องโดยสาร ที่ต้องไม่เกินข้อกำหนดด้านภาษีสรรพสามิต ของรัฐบาลไทย
แผงหน้าปัด แบ่งเป็น 2 Layer ใต้ช่องแอร์ (แบบเลื่อนเปิด-ปิดช่องลมได้) ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านซ้าย มีลิ้นชักพร้อมช่องล็อกกระป๋องเครื่องดื่ม แต่ถ้าคิดว่า นั่นยังเย็นไม่พอ ให้เปิดฝากล่องด้านข้างที่หุ้มด้วยหนัง และตกแต่งด้วยด้ายสีแดง ขึ้นมา จะพบช่องวางเครื่องดื่ม พร้อมช่องต่อท่อมาจากท่อแอร์ ทำเป็น Cool Box ส่วนลิ้นชักเก็บคู่มือประจำรถ ขนาดใหญ่ ถัดลงไปด้านล่างนั่น รุ่น GR Sport 4×4 จะมีตัวหน่วงให้เปิดแบบนุ่มนวล Soft opener แต่ไม่มีในรุ่น GR Sport 4×2
เครื่องปรับอากาศ ของรุ่น GR Sport 4×4 ถูก Upgrade เป็นแบบ อัตโนมัติ แยกอิสระ ฝั่งซ้าย – ขวา (Dual Zone Air-condition) จากรุ่น Rocco เดิมที่เป็นแบบอัตโนมัติ แยกฝั่งไม่ได้ มาตลอด ในขณะที่รุ่น GR Sport 4×2 เป็นเครื่องปรับอากาศแบบธรรมดา ใช้สวิตช์มือบิดหมุน บริเวณตรงกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลาง (เลื่อนเปิด-ปิดช่องลมได้) เป็นสวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light และนาฬิกา Digital สีฟ้า
ด้านบนเพดานและเสาหลังคาของทุกรุ่น จะเป็นพลาสติก และผ้าโทนสีดำ ติดตั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสงรบกวนด้วยการดึงสลักแบบธรรมดามาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารและไฟอ่านแผนที่สามารถแยกเปิด – ปิด ทั้งฝั่งซ้ายและขวาได้อย่างอิสระ หรือจะตั้งค่าให้ทำงานตามการเปิด – ปิดประตูก็ได้เช่นกัน ด้านข้างของไฟอ่านแผนที่จะเป็นม่านบังแดดสีดำ พร้อมที่เก็บนามบัตรฝั่งผู้ขับขี่ และกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด ซึ่งีเฉพาะฝั่งผู้โดยสาร และไม่มีไฟแต่งหน้ามาให้ ทั้งคู่ เหมือนเดิม!
รุ่น GR Sport จะมีการปรับวัสดุตกแต่งบางจุด รวมทั้งเพิ่มเติมอุปกรณ์และฟังก์ชันการใช้งานเข้ามาให้ ดังนี้
รุ่น GR Sport 4×4
– ห้องโดยสาร ใช้โทนสีภายใน สีดำ ตัดสลับกับ สีแดง
– เบาะนั่งหุ้มหนัง Suede เจาะรู ผสมหนังสังเคราะห์ เดินตะเข็บดายสีแดง พร้อมสัญลักษณ์ GR
– แผงหน้าปัดและช่องแอร์ด้านหน้า ตกแต่งด้วยแถบสี Smoke Silver และสีดำเมทัลลิก
– แผงด้านข้างประตู ตกแต่งด้วยหนังสีเคราะห์สีดำ พร้อมแถบสี Smoke Silver และสีดำเมทัลลิก
– พวงมาลัยดีไซน์สปอร์ตหุ้มด้วยหนัง พร้อมสัญลักษณ์ GR ที่ก้านพวงมาลัยโครเมียมด้านล่าง
– ชุดมาตรวัด เสริมด้วยสัญลักษณ์ GR
– ปุ่ม Push Start พร้อมสัญลักษณ์ GR
– แป้นคันเร่งและแป้นเบรกแบบสปอร์ต
ส่วนรุ่น GR Sport 4×2
– โทนสีภายในดำสลับแดง
– เบาะนั่ง หุ้มหนัง Suede เจาะรู ผสมหนังสังเคราะห์ เดินตะเข็บดายสีแดง พร้อมสัญลักษณ์ GR
– แผงหน้าปัดและช่องแอร์ด้านหน้า ตกแต่งด้วยแถบสี Smoke Silver และสีดำเมทัลลิก
– ด้านข้างประตู ตกแต่งด้วยหนังสีเคราะห์สีดำ พร้อมแถบสี Smoke Silver และสีดำเมทัลลิก
– – พวงมาลัยดีไซน์สปอร์ตหุ้มด้วยหนัง พร้อมสัญลักษณ์ GR ที่ก้านพวงมาลัยโครเมียมด้านล่าง
– ชุดมาตรวัด เสริมด้วยสัญลักษณ์ GR
– แป้นคันเร่งและแป้นเบรก Aluminium แบบสปอร์ต
ชุดมาตรวัด ของ GR Sport ทั้ง 2 รุ่น ยังคงยืนหยัดกับ Pattern เดิม เป็นแบบ Optitron เรืองแสง สีขาว แต่พื้นหลัง ปรับงานออกแบบใหม่ โดยมีกราฟฟิค ลายตาข่าย เพิ่มเข้ามาบริเวณพื้นหลังของมาตรวัดความเร็วฝั่งขวา พร้อมมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ฝั่งซ้าย พร้อมมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง ซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งเดิม
ตรงกลางมาตรวัด ยังคงเ็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display) แบบสี TFT ที่มีฟังก์ชันการแสดงผลเหมือนรุ่นเดิม แต่สำหรับรุ่น 4×4 จะเพิ่มสำหรับดูทิศทางการหักเลี้ยวของพวงมาลัย และมาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital มาให้ นอกจากนี้ ภาพ Graphic Animation เมื่อกดสตาร์ทเครื่องยนต์ยังถูกปรับปรุงใหม่ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่น GR อีกด้วย
ด้านความบันเทิง Hilux Revo GR Sport ทั้ง 2 รุ่น จะยังคงติดตั้ง เครื่องเสียง แบบ 2 DIN พร้อม จอ Monitor สี Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว ควบคุมการทำงานทั้ง วิทยุ AM/FM มีช่อง USB ระบบเชื่อมต่อ Bluetooth รองรับการใช้งานโทรศัพท์ และการเล่นไฟล์เพลงจากโทรศัพท์ รวมทั้งระบบ T-Connect นอกจากนี้ ยังรองรับการใช้งาน Apple Car Play และ Android Auto อีกด้วย ส่วนเสาอากาศ เป็นแบบ Shark Fin ทั้ง 2 รุ่น
แต่ความแตกต่างอยู่ที่ รุ่น GR Sport 4×4 ได้ Front เครื่อเสียง แบบ Capacitive เมือน Hilux Revo Rocco ซึ่งออกแบบมาให้ Integrated กับแผงหน้าปัด อย่างสวยงาม เป็นหน้าจอกระจก และมีสวิตช์กดเลือกการใช้งานทั้ง 2 ฝั่งขนาบหน้าจอ มีลำโพงมาให้ 6 ชิ้น ที่แผงประตูทั้ง 4 บาน และลำโพง Tweeter ที่สามเหลี่ยมด้านในของกระจกมองข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง
คุณภาพเสียง อยู่ในเกณฑ์ ค่อนข้างดีใช้ได้ แต่อาจต้องปรับจูนเสียง ดันให้ เสียงใส Trebal ขึ้นไปสูงสุด ส่วนเสียงทุ่ม Bass ไม่ต้องดันสุด เอาแค่เบอร์ 3 ก็น่าจะเพียงพอ และดันเสียงกลางขึ้น 1 ขีด จะช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้น
ในขณะที่รุ่น GR Sport 4×2 จะได้ Front เครื่องเสียง แบบ Resistive ไม่มีปุ่มให้กดใดๆ นอกเหนือไปจากสวิตช์มือหมุน เปิด / ปิด และเร่งระดับเสีย รวมทั้งปุ่ม Home ให้ย้อนกลับมาหน้าจอเมนูหลักได้เร็วขึ้น และมีช่องเสียบเชื่อมโทรศัพท์มือถือที่มุมขวาล่าง แค่นั้น
คุณภาพเสียง พอฟังได้ ไม่แย่ แต่ไม่ถึงกับดีมากนัก อาจต้องปรับจูนเสียง ดันให้ เสียงใส Trebal และเสียง Bass ขึ้นไปสูงสุด และดันเสียงกลางขึ้น 1 ขีด จะช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้น
ด้านข้างลำตัวคนขับ เป็นกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ด้านบนเป็นฝาปิดแบบบุนุ่ม หุ้มภายนอกด้วยหนังสีดำ ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนตรงกลาง สำหรับคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า เมื่อเปิดฝาด้านบนขึ้นมา ก็จะพบกับกล่องเก็บ CD หรือสิ่งของที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก รุ่น GR Sport 4×4 ยังเพิ่ม ช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสสลับ AC 220 โวลต์ 1 ตำแหน่ง มาให้
นอกจากนี้ ด้านหลังกล่องคอนโซลกลางของรุ่น GR Sport 4×4 มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 2 ชิ้น ตกแต่งด้วย Trim สี Smoke Silver เพิ่มมาให้ เช่นเดียวกับ รุ่น Double Cab 4 ประตู 4×4 รุ่นย่อยอื่น อย่างไรก็ตาม รุ่น GR Sport 4×2 จะไม่มีช่องสำหรับแอร์ผู้โดยสารด้านหลังมาให้
******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
******** Technical Information & Test Drive *********
Toyota Hilux Revo GR Sport จะมีขุมพลังให้เลือกเพียงแบบเดียว เหมือนกันทั้ง 2 รุ่นย่อย ยกชุดมาจาก Hilux Revo รุ่นปี 2020 เดิม โดยไม่ต้องปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม
นั่นคือ เครื่องยนต์ รหัส 1GD-FTV Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.8 ลิตร (2,755 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 92.0 x 103.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางแรงดันสูง Commonrail พร้อมเทคโนโลยี i-ART สามารถควบคุมแรงดันในแต่ละหัวฉีดได้อย่างเหมาะสมตามจังหวะการทำงานของแต่ละกระบอกสูบ
นอกจากนี้ยังติดตั้ง ระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ (VN-Turbo) พ่วงด้วยระบบลดความร้อนของไอดีก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Intercooler ซึ่งมีใบพัดเทอร์ไบน์ ทั้งด้านหน้า และหลัง ขนาดใหญ่ขึ้น ตัวครีบอากาศในโข่งหลัง ทนความร้อนได้ดีขึ้น เพิ่มการระบายความร้อนด้วยน้ำ จากเดิมที่ระบายความร้อนด้วยน้ำมันเครื่องเพียงอย่างเดียว และหันมาใช้แกนเทอร์โบแบบตลับลูกปืน (Ball Bearing) นอกจากนี้ ยังมีการเคลือบสาร Diamond Liked ที่แหวนลูกสูบเพื่อลดแรงเสียดทานในระบบอีกด้วย
กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที เท่าเดิม แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร (50.95 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,600 – 2,800 รอบ/นาที เติมน้ำมันเชื้อเพลิง ได้สูงสุด ถึงระดับ Diesel B10
ข้อมูลจาก Car.go.th อันเป็นเว็บไซต์ของภาครัฐบาล ระบุว่า ขุมพลังชุดนี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 195 กรัม / กิโลเมตร ปล่อย ไนโตรเจนออกไซด์ 0.189 กรัม / กิโลเมตร ปริมาณการปล่อยฝุ่นละออง / มลพิษอนุภาค (PM) 0.028 กรัม / กิโลเมตร
ระบบส่งกำลัง สำหรับรุ่น GR Sport จะมีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sequential Shift Manual Mode + / – จาก AISIN เพียงแบบเดียว เท่านั้น ไม่มีเกียร์ธรรมดาให้เลือกเลย เป็นเกียร์อัตโนมัติลูกเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน คู่แข่งอย่าง Isuzu D-Max และ Mitsubishi Triton รุ่นปัจจุบัน
แม้ว่า เกียร์ลูกนี้จะเคยถูกปรับปรุงด้วยการเพิ่มช่วง Lock-up ของเกียร์ 4 – 5 – 6 เพื่อทำให้การตอบสนองในช่วงเร่งแซงรวดเร็วและต่อเนื่องมากขึ้น มาตั้งแต่ การปรับโฉมใหญ่ เมื่อปี 2020 แต่สำหรับ ปี 2021 นั้น สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นพิเศษ สำหรับ Hilux Revo GR Sport ทั้งรุ่น 4×4 และ 4×2 เป็นครั้งแรก นั่นคือ แป้นเปลี่ยนเกียร์หลัง พวงมาลัย Paddle Shift เพื่อให้ผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้ ในขณะขับขี่ โดยไม่ต้องย้ายมือลงมาเลื่อนคันเกียร์แต่อย่างใด
อัตราทดเกียร์ ยังคงเหมือนเดิม ดังนี้
เกียร์ 1……………………….3.600
เกียร์ 2……………………….2.090
เกียร์ 3……………………….1.488
เกียร์ 4……………………….1.000
เกียร์ 5……………………….0.687
เกียร์ 6……………………….0.580
เกียร์ R…………………….…3.732
อัตราทดเฟืองท้าย…………3.909
นอกจากนี้ Hilux Revo GR Sport ทั้ง 2 รุ่น ยังมีโปรแกรมการขับขี่ 3 แบบ คือ Normal ECO และ Power โดยมีสวิตช์เลือกอยู่ที่ด้านข้างฐานคันเกียร์
– Normal Mode คือการขับขี่แบบปกติทั่วไป ไม่ต้องแปลกใจถ้าจะมีไฟ ECO ติดขึ้นมาบนมาตรวัด เพราะ สมองกลของเครื่องยนต์จะคำนวนว่า ถ้าใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำ และการฉีดจ่ายน้ำมันน้อยลง แม้จะรถจะแล่นด้วยความเร็วสูง ก็จะมีไฟ ECO ติดขึ้นมาบนมาตรวัดอยู่ดี
– ECO Mode คันเร่งจะหน่วงกว่าปกตินิดนึง (แต่ถ้ากดเต็มตีน แบบฉับพลัน ก็จะตอบสนองไวตามเดิม)
– Power Mode จะลากรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นเล็กน้อย คันเร่งและเครื่องยนต์ ตอบสนองไวขึ้นกว่าปกตินิดนึง
การบำรุงรักษาเบื้องต้น / Maintenance
– น้ำมันเครื่อง ใช้เกรด API ตั้งแต่ CF-4 หรือ ACEA B1 ค่าความหนืด ที่โรงงานแนะนำคือ SAE 5W-30
– ความจุน้ำมันเครื่อง ค่าอ้างอิง ถ้าไม่เปลี่ยนไส้กรองอยูที่ 7.0 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยน จะอยู่ที่ 7.5 ลิตร
– ระบบหล่อเย็น 9.3 ลิตร (1GD-FTV)
รุ่น GR Sport 4×2 จะมีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ตามปกติเท่านั้น ในทางกลับกัน รุ่น GR Sport 4×4 จะใช้ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part-time ควบคุมด้วยสวิตช์ไฟฟ้า Shift-On-The-Fly แบบหมุนบิด พร้อมระบบล็อกเฟืองท้าย Differential Lock โดยยังคงรักษารอบเดินเบาเอาไว้ที่ระดับ 650 รอบ/นาที เพื่อช่วยให้การเคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวที่เป็นอุปสรรค ทำได้ดีขึ้น Walking speed จะ Smooth ขึ้น
สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีจับเวลากันในช่วงกลางดึก เหมือนเช่นเคย แต่เนื่องจาก ช่วงเวลาที่เรานำรถมาทำการทดลองขับนั้น อยู่ในช่วงการประกาศเคอร์ฟิว ของรัฐบาล ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนเวลาการทดสอบต่างๆ จากช่วง 21.00 น. ถึง 2.00 น. ของวันถัดไป มาเป็น ช่วงเช้ามืด 4.00 – 6.00 น. แทน ส่วนอุณหภูมิภายนอกรถยังอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส โดยยังคงยึดมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com คือ เปิดแอร์นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ แลผู้ร่วมทดลองขับ ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับรถกระบะรุ่นอื่นที่เราเคยทำการทดลองไว้ มีดังนี้
ในที่สุด ผมก็ได้คำตอบแล้วละว่า ถ้าเอาขุมพลัง 1GD-FTV เวอร์ชัน 204 แรงม้า (PS) มาวางลงในรุ่นตัวเตี้ย ขับเคลื่อนล้อหลัง มันจะเป็นอย่างไร ตัวเลขจะไวขึ้นกว่า รุ่น 4×4 มากน้อยแค่ไหน เพราะผลลัพธ์ที่ออกมานั้น รุ่น GR Sport 4×2 กลายมาเป็นรถกระบะ Double Cab 4 ประตู ที่ทำอัตราเร่งได้ไวที่สุด เท่าที่มีจำหน่ายในเมืองไทยตอนนี้ ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีหมายเหตุว่า นั่นคือการจับรวมทั้งตัวเตี้ย ตัวสูง เข้ามาไว้ในกลุ่มเดียวกันทั้งหมดอย่างตารางข้างบนนี้หนะนะ
ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับญาติพี่น้องร่วมตระกูลแล้ว GR Sport รุ่นตัวเตี้ย 4×2 ทำตัวเลข จาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวกว่า รุ่น GR Sport 4×4 ถึง 1.2 วินาที ขณะที่ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร /ชั่วโมง ตัวเตี้ย ก็ไวกว่าพี่ใหญ่ GR Sport 4×4 ถึง 1.45 วินาที
แต่ถ้า แยกออกไปเป็นรุ่น 4×4 แล้ว อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ GR Sport 4×4 ยังแพ้ให้กับ Isuzu D-Max 3.0 และ Mazda BT50 3.0 ลิตร ใหม่ ประมาณ 0.4 วินาที อยู่ดี ในทางกลับกัน 2 ศรีพี่น้องร่วมงานวิศวกรรมนั่น ก็จะสู้ GR Sport 4×4 ในช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ได้ ด้วยตัวเลขที่ด้อยกว่าถึง 0.8 วินาที
อย่างไรก็ตาม สำหรับรุ่น GR Sport 4×4 แล้ว แม้ว่าเครื่องยนต์ จะไม่มีการปรับปรุงอะไร แต่การทำตัวเลขออกมาไวขึ้น 0.2 วินาที ก็แอบชวนให้งงเล็กน้อย ว่าเกิดจากอะไร แต่ไม่ต้องงงไปครับ ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะสภาพอากาศในวันที่เราทำการทดลองจับเวลากัน รวมทั้งน้ำหนักของอุปกรณ์มาตรฐานของตัวรถ ที่อาจจะต่างกันเล็กน้อย มากกว่า
ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น แม้ว่ารุ่น 4×4 จะล็อกไว้สูงที่ระดับ 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 2,900 รอบ/นาที ที่เกียร์ 6 ก็ตาม
แต่สำหรับรุ่น GR Sport 4×2 ตัวเตี้ย นั้น Toyota เลือกที่จะล็อกความเร็ว ด้วยวิธีการหรี่ลิ้นคันเร่งลงมา ทำให้ความเร็วสูงสุด ไปจบอยู่ที่ 172 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 2,900 รอบ/นาที ที่เกียร์ 6 ซึ่งผมมองว่า เป็นความเร็วสูงสุดที่เหมาะสมดีแล้ว สำหรับการขับขี่รถกระบะบนท้องถนนเมืองไทย
แต่เชื่อเถอะ หลังจากนี้ ก็น่าจะมีคนเอารุ่นตัวเตี้ย ไปปลดล็อก ความเร็วสูงสุด กันตามอัธยาศัยแหงๆ ผมคงไม่อาจไปห้ามได้ นอกจากเตือนด้วยความเป็นห่วงเป็นใยคุณผู้อ่าน เหมือนเช่นปกติ ว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี
ในการขับขี่จริง รุ่น GR Sport 4×4 นั้น การตอบสนองของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ไม่แตกต่างจาก รุ่น Rocco ปี 2020 ที่เรานำมาทดลองขับกันเมื่อปีที่แล้วเลย ขุมพลัง 1GD-FTV ยังคงรักษาจุดเด่นของมันเอาไว้ได้ ทั้งการที่มีแรงบิดสูง และเรียกใช้งานได้ตั้งแต่รอบต่ำๆ Turbo ติด Boost เร็ว แถมช่วงที่ต้องรอรอบเครื่องยนต์ ยังน้อยมากๆ พละกำลังแรงสะใจ แตะคันเร่งแผ่วเบา รถก็พร้อมจะพุ่งทะยานขึ้นไปข้างหน้า ถ้ากดคันเร่งให้ลึกลงไป เกียร์ก็เปลี่ยนตำแหน่งลงมาค่อนข้างไว เมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติของบรรดารถกระบะด้วยกัน เรียกได้ว่า ช่วงรอบต่ำ และรอบกลางนั้น หายห่วงครับ
เพียงแต่ว่า การที่แรงบิดสูงสุด มาถึงต่อเนื่อง ในลักษณะ Flat Torque แค่ช่วง 1,ุ600 – 2,800 รอบ/นาที ไม่ได้สูงสุดต่อเนื่องยาวๆ ตั้งแต่ 1,400 – 3,200 รอบ/นาที แบบ เครื่องยนต์ 1KD-FTV 3.0 ลิตร ของ Hilux Vigo รุ่นเดิม ทำให้เรี่ยวแรงในช่วงปลายรอบเครื่องยนต์ แก่ๆ เหี่ยวลงแบบ เหี่ยวหายต๋อมไปเลย ซึ่งผมแอบเสียดายบุคลิกแบบ Vigo นั้นอยู่เหมือนกัน
ถามว่า ช่วงปลาย ที่เหี่ยวนั้น ส่งผลอะไรบ้าง อันที่จริง ก็ไม่เยอะนักหรอกครับสำหรับคนที่ไม่ได้ขับรถเร็ว เป็นชีวิตจิตใจ เพราะการไต่ความเร็วจากจุดหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็ว Top Speed นั้น หากเป็นรุ่น 4×4 คุณจะสัมผัสได้ถึงพละกำลังที่ไหลมาเทมาอย่างต่อเนื่องขึ้นไปจนถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มแผ่วลงนิดหน่อย แต่ก็ยังไหลไปได้เรื่อยๆ จนเข็มความเร็วขึ้นไปแตะระดับ 178 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หลังจากนั้น มันก็เหมือนกับ Hilux Revo ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร แล้วยกสูง ทั้ง 4×4 หรือ Rocco นั่นละครับ เข็มความเร็วจะไต่ขึ้นไปอย่างเชื่องช้า ไปพร้อมๆกับเสียงกระแสลมแหวกผ่านตัวรถที่ดังสนั่น กว่าจะขึ้นไปถึงความเร็ว 195 กิโลเมตร/เมตร ก็ต้องลุ้นกันจนปัสสาวะเหนียว เมื่อถึงจุดนั้น กล่อง ECU จะสั่งหรี่ลิ้นคันเร่งลงเพื่อความล็อกความเร็ว ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย รถก็จะหน้าทิ่มเบาๆ ให้คุณรู้ว่า ต้องล็อกแล้วนะ
แต่สำหรับรุ่น GR Sport 4×2 การได้ขุมพลัง 2.8 ลิตร มาวางในรุ่น Low-Floow หรือตัวเตี้ย เป็นครั้งแรก ก็ทำผลงานออกมา เป็นไปตามความคาดหมาย ด้วยยางล้อจากรถเก๋งที่เล็กกว่า ยางรถกระบะปกติ ดังนั้น การเซ็ตอัตราทดเกียร์และเฟืองท้ายเอาไว้คงเดิม ก็ช่วยให้อัตราเร่งดีขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้นจากรุ่น 2.4 ลิตร ชัดเจนมากๆ เรียกได้ว่า ตอบสนองดี เรียกแรงบิดเมื่อไหร่ มาเมื่อนั้น ไม่ต่างจากรุ่นพี่ GR Sport 4×4 เลย
การตอบสนองและบุคลิกของเครื่องยนต์ที่เหมือนกัน กลายเป็นว่า เมื่อมาวางในรถตัวเตี้ย ที่เบาขึ้น ลู่ลม และแรงเสียดทานอากาศน้อยลง ทำให้สามารถดึงสมรรถนะของเครื่องยนต์กับเกียร์ ออกมาได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น คุณจึงรู้สึกได้เลยว่า มันแรงขึ้น และแอบแรงกว่ารุ่น 4×4 ลิตร อย่างไม่ต้องสงสัย
ถึงกระนั้นก็เถอะ ถ้าใครคิดว่า แรงบิดมากถึง 500 นิวตันเมตร แถมไม่มีระบบ Traction Control มาให้เลยเนี่ย สงสัยจะออกตัวล้อฟรีทิ้งแหงๆ…
บอกเลยครับ คุณคิดผิด!
เพราะในความเป็นจริง การออกตัวจากจุดหยุดนิ่งนั้น หากเป็นพื้นถนนแห้ง พื้นปูนซีเมนต์ หรือยางมะตอย ที่ไม่ลื่นนัก เมื่อคุณถอนเท้าขวาจากแป้นเบรก แล้วสวนคันเร่งลงไปจมมิดในทันที สมองกลเครื่องยนต์จะสั่งให้ “อม”แรงบิดไว้แป๊บนึง ในช่วงสั้นๆ เสี้ยววินาที ก่อนจะเริ่มปล่อยลงสู่ล้อคู่หลัง ค่อยๆหมุนแว๊ดดดออกไป เว้นเสียแต่ว่า พื้นถนนที่คุณออกตัว มันจะเปียกลื่นเท่านั้น ล้อคู่หลังถึงจะแอบมีโอกาสฟรีทิ้งได้อยู่
แต่เมื่อออกตัวได้แล้ว แรงบิดจะไหลมาเทมา อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผมสามารถเร่งขึ้นไปแตะถึง ความเร็วสูงสุดของรถ (172 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมาตรวัด) ได้บ่อยเท่าที่ต้องการเลยทีเดียว! และเมื่อถึงจุดนั้น กล่อง ECU ก็จะสั่งล็อกความเร็ว ด้วยการหรี่ลิ้นคันเร่ง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เช่นเดียวกันกับรุ่น 4×4
ผมมองว่า ดีแล้วละ ที่ล็อกความเร็วเอาไว้ในระดับนี้ เพราะมันเกินจะเพียงพอแล้วในการใช้ชีวิตประจำวัน รถกระบะแบบนี้ จะให้วิ่งเร็วๆ มันก็น่าหวาดเสียวสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่อาจไม่มีประสบการณ์มากพอในการควบคุมรถ ณ ความเร็วระดับนั้น ส่วนใครที่คิดว่าไม่พอ ยังไงๆ เขาก็หาทาง จับรถเข้าสำนักแต่ง จูน ปลดล็อกความเร็ว อุด EGR และ Re-map กล่องกันใหม่อยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของ เงินใครเงินมัน รสนิยมใคร รสนิยมมัน
เสริมนิดนึงครับ ปกติแล้ว Headlightmag ของเราไม่แนะนำการอุดระบบ EGR (Exuast Gas Resurculation) ซึ่งเป็นระบบที่ดึงเอาไอเสียบางส่วนกลับเข้าไปเผาไหม้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษให้น้อยลงในระหว่างเครื่องยนต์ทำงาน เพื่อให้ผ่านมาตรฐานมลพิษอันเข้มงวดในแต่ละประเทศ
เราไม่แนะนำให้คุณอุด EGR เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมันทำให้เกิดมลพิษไหลเข้าบ้านคุณ ในช่วงที่เพิ่งติดเครื่องยนต์ ถ้าคุณอยากให้ลูกหลานในบ้านคุณสูดดมควันพิษแรงๆเหล่านั้นเข้าไป ก็เชิญตามสบายครับ แต่โปรดเห็นใจผู้คนบนท้องถนนบ้าง รถกระบะพ่นไอเสียออกมาเป็นลูกๆ ราวกับ ปลาหมึกพ่นควัน แบบนั้น ไม่ได้ดูเท่ ในสายตาของผู้คนทั่วไปเลยครับ พวกเขามองคุณด้วยความรู้สึกไม่ดีอย่างรุนแรง เพราะคุณทำอากาศสกปรกมากกว่าคนอื่นขนาดคุณเห็นรถเมล์ ขสมก. ควันดำ คุณยังด่า ขสมก. เลยถูกไหมครับ?
ถ้าคุณมองว่า “ก็นี่มันเงินกูอ่ะ กูจะทำอะไรกับรถมันก็เรื่องของกูอ่ะ พวกมึงเสือกเหี้ยอะไร? อย่าปากดีให้มันมากนัก!”
ใช่ครับ นั่นคือเงินคุณ แต่เท่ากับว่า คุณก็ไม่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัวของคุณ รวมทั้งสังคมส่วนรวมที่คุณอาศัยอยู่ เช่นหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ หรือสถานที่ทำงานของคุณ ต่างหาก
ถ้าจะให้เจ๋งก็คือ ทำยังไงที่รถคุณจะยังแรงได้มากกว่าเดิม โดยที่ควันมลพิษ ออกมาน้อย หรือพอๆกับรถเดิมๆ ที่ยังไม่ได้จูนเลย นั่นสิ ที่ผมมองว่า เจ๋งของจริง และเชื่อว่าช่างไทยที่เก่งจริงๆ ก็ทำรถแบบนั้นให้คุณได้
กระนั้น สำหรับ Toyota แล้ว การอุด EGR ส่งผลต่อการรับประกันไหม?
คำตอบจากวิศวกรของ Toyota ก็คือ “เราไม่สนับสนุนให้อุด เนื่องจากมีผลต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ถ้าอุดแล้ว จริงๆ ตามหลัก ถือว่า ต้องหมดการรับประกันคุณภาพ แต่ในความเป็นจริง ต้องพิสูจน์ว่า ผลกระทบที่เกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนที่จะเคลมนั้น ข้อเท็จจริง เป็นอย่างไร? ถ้าลูกค้าคาใจ เราพิสูจน์ให้ได้”
การเก็บเสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน
*********** Noise Vibration & Harshness **********
ประเด็นนี้ หากเป็นรุ่น 4×4 แล้ว ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆจากรุ่นปี 2020 ในภาพรวมนั้น การเก็บเสียงจากห้องเครื่องยนต์ที่ดังเข้ามายังห้องโดยสาร ในช่วงความเร็วต่ำ ค่อนข้างน้อย อาจจะดังกว่า Isuzu D-Max รุ่นล่าสุด และ Ford Ranger อยู่นิดนึง แต่ไม่มากนัก
เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ รวมทั้งเสียงจากยาง Bridgestone Dueler ในช่วงความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ยิ่งถ้าเป็นรุ่น GR Sport 4×2 ที่ใช้ยาง Bridgestone Turanza T005a อันเป็นยางเทพสายนุ่มเงียบ ด้วยแล้ว เสียงรบกวนจากยางค่อนข้างน้อย ถึงขนาดว่า ต่อให้คุณใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังนั่งพูดคุยกันในห้องโดยสารได้ (ถ้าพื้นถนนเป็นยางมะตอยที่เรียบสนิทพอ)
แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลังจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถ จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วรถที่เพิ่มขึ้น และเสียงจากพื้นถนนจะดังขึ้น ถ้าคุณกำลังแล่นอยู่บนพื้นปูน ที่มีสภาพไม่ถึงกับเรียบไปเสียทีเดียว ซึ่งอันที่จริงแล้ว อาการสะท้าน จะพบได้เฉพาะในช่วงที่แล่นผ่านถนนปูนซีเมนต์อายุการใช้งานเก่าๆ ในความเร็วตั้งแต่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป
ระบบบังคับเลี้ยว / Steering
ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น ยืนหยัดใช้พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบ Hydraulic ตามเดิม ไม่ได้หันไปคบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า เหมือน Ford Ranger (Minorchange) และ Chevrolet Colorado (Minorchange) แต่อย่างใด ส่วนรัศมีวงเลี้ยวแคบสุดนั้น อยู่ที่ 6.4 เมตร เท่ารุ่นเดิม
เพียงแต่ว่า รุ่น GR Sport 4×4 จะเพิ่ม ระบบแปรผันวาล์วปรับอัตราการไหลของน้ำมัน VFC (Variable Flow Control) เข้ามาช่วยเสริมการทำงาน เพื่อเพิ่มการผ่อนแรงให้มากกว่าปกติ (พวงมาลัยเบาลง) ในยามขับขี่ช่วงความเร็วต่ำ และลดการผ่อนแรง (พวงมาลัยหนักขึ้น) เมื่อใช้ความเร็วสูง
ในการขับขี่จริง คงต้องเปรียบเทียบกันดังนี้
– ช่วงจอดหยุดนิ่ง หากลองหมุนพวงมาลัยดู ไม่ว่าจะเป็นรุ่นย่อยไหน ปีไหน พวงมาลัยของ Hilux Revo 4×4 ทั้ง Rocco หรือ GR Sport จะเหมือนกันหมด คือ หนัก ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยเยอะ แทบจะเรียกว่า สาวพวงมาลัยกันเลยจะตรงกว่า พวงมาลัยยังคงหนักที่สุดในบรรดารถกระบะ ทุกคันในตลาดเมืองไทยอยู่ดี
– เมื่อล้อรถเริ่มหมุน รถเริ่มเคลื่อนตัว ในความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัยของ GR Sport 4×4 (และรวมทั้ง Rocco รุ่นปี 2020 – 2021) จะมีน้ำหนักเบาขึ้นกว่า Rocco รุ่นปี 2018 – 2020 นิดเดียว ย้ำว่านิดเดียวจริงๆ ต้องสังเกต จึงจะสัมผัสได้ว่าแตกต่างกัน การบังคับเลี้ยวไปตามตรอกซอกซอย หรือหักพวงมาลัยเลี้ยวซ้าย – ขวา หลบหลีก มอเตอร์ไซค์ และรถเข็นป้าขายส้มตำ ก็ยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือ ไม่ได้ไว แต่แม่นยำประมาณหนึ่ง น้ำหนักกำลังดีแบบที่ลูกค้าผู้ชายส่วนใหญ่จะชื่นชอบ กระนั้น ผมมองว่า แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับคนที่ชอบพวงมาลัยหนักๆอย่างผม แต่อาจจะยังหนักไป สำหรับคนที่ชอบพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำให้เบากว่านี้
– ช่วงความเร็วเดินทาง ปกติ จนถึงช่วงความเร็วสูง ตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง – Top Speed พวงมาลัยยังคง ไม่ไว และไม่ช้าเกินไป ระยะฟรีกำลังดี On Center feeling ช่วงหน่วงตรงกลาง ขณะถือตรง กำลังดี และให้ความมั่นใจในการควบคุมรถย่านความเร็วสูง ทั้งการถือตรงๆ หรือการบังคับเลี้ยวเข้าโค้ง ไปมา ยังคงทำได้ดีมาก อยู่ในระดับหัวแถวของตลาด เพียงแต่ว่า ถ้าจะต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางคดเคี้ยวนั้น ขอแนะนำว่า อาจต้องชะลอความเร็วลงมาสักหน่อย แล้วค่อยเลี้ยว เพื่อให้พวงมาลัย สามารถเลี้ยวตามการสั่งงานของคุณได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ระบบ VFC นี้ จะไม่มีในรุ่น ตัวเตี้ย 4×2 ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ขณะหมุนพวงมาลัยตอนรถจอดหยุดนิ่ง พวงมาลัยของรุ่นตัวเตี้ย 4×2 จะยังคงหนืดและหนักเอาเรื่อง พอกันกับรุ่น 4×4 ในระดับที่อาจทำให้คุณนึกถึงพวงมาลัยของ Chevrolet Optra อายุ 10 ปี ได้ง่ายๆ ต่อให้รถเคลื่อนตัวช้าๆในความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัยของรุ่น 4×2 ก็จะตอบสนอง ไม่แตกต่างจากรุ่น 4×4 คือ หนัก หนืด แต่ระยะฟรี มีกำลังเหมาะ ลัดเลาะไปตามตรอกซอก ซอย อาจสัมผัสถึงความหนืดของพวงมาลัยขณะเริ่มเลี้ยวมากกว่าคู่แข่งอยู่สักหน่อย
ต่อให้ใช้ความเร็วเดินทาง จนถึงย่านความเร็วสูง พวงมาลัยของรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย ก็ยังให้ความมั่นใจพอกันกับรุ่น 4×4 แทบไม่ผิดเพี้ยน แม้ต้องถือตรงๆ ในช่วงความเร็ว 170 – 172 กิโลเมตร/ชัวโมง คุณยังคงมั่นใจได้อย่างดี อาจจะต่างกันเล็กน้อย ตรงที่ น้ำหนักในย่านความเร็ว หลัง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป จะเบากว่ารุ่น 4×4 นิดเดียวจริงๆ่ ต้องสังเกต ถึงจะรับรู้ได้
ระบบกันสะเทือน / Suspension
ไฮไลต์สำคัญ ของ Hilux Revo GR Sport คือ การปรับปรุงช่วงล่าง บนพื้นฐานเดิม ของระบบกันสะเทือนหน้าแบบ อิสระปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อมคอยล์สปริง ช็อกอัพ และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแนบแผ่นซ้อนวางเหนือเพลา และวางช็อกอัพไขว้ แต่มีการปรับจูนใหม่ ให้เหมาะสมกับบุคลิกของตัวรถที่ตั้งใจไว้
– รุ่น GR Sport 4×4 ทีมวิศวกรต้องการปรับปรุงให้เน้นการลุยได้แบบรถแข่ง WRC (World Rally Cross) จึงมีการเปลี่ยนมาใช้คอยล์สปริง คู่หน้า ของ NHK ที่เพิ่มค่า K (ค่าความแข็งของสปริง) ให้สูงขึ้น รวมทั้งปรับปรุงชุดแหนบ จาก NHK เช่นเดียวกัน โดยเพิ่มจำนวนแผ่นแหนบ จาก 3 ชิ้น กลับไปเป็น 5 ชิ้น เหมือน Revo รุ่นก่อนปี 2020 นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนมาใช้ช็อกอัพใหม่ แบบ Monotube Shock-Absorber ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เพิ่มจาก 30 เป็น 46 มิลลิเมตร จาก Kayaba Malaysia เพื่อช่วยเพิ่มการระบายความร้อนของน้ำมันในชุดช็อกอัพดีขึ้น เพิ่ม Damping Force ให้ดีขึ้น ภาพรวมแล้ว ทีมวิศวกรตั้งใจให้ ช่วงล่าง Firm ขึ้น Flat feeling ในช่วงความเร็วสูง นิ่งขึ้น และเน้นไปในทาง High Speed Driving ทั้งทางเรียบ และทางฝุ่นเป็นหลัก ไม่ได้เน้นเอาไปลุย Off-Road แบบบุกป่าฝ่าดง อย่างพวก Rocco (แต่ถ้าจะเอาไปลุยแบบนั้น ก็ลุยได้นั่นแหละ แค่ว่าจะแข็งกว่าหน่อย)
– รุ่น GR Sport 4×2 ตัวเตี้ย ทีมวิศวกรต้องการปรับปรุงให้เน้นการขับขี่แบบ รถแข่งทางเรียบกลุ่ม Super GT (Super Grand Touring Car) จึงถูก Upgrade ช็อกอัพ ทั้ง 4 ต้น หน้า – หลัง จาก Hitachi (ชื่อเดิมคือ Tokico) ขนาดเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 32 มิลลิเมตร สปริงคู่หน้า เปลี่ยนใหม่ ให้มีค่า K แข็งขึ้น เช่นเดียวกับตับแหนบ ที่ถูกปรับรุงให้แข็งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับลดความสูงของช่วงล่างลง มาจากเดิม 23 มิลลิเมตร เพื่อให้ตัวรถ หนึบขึ้นกว่าเดิม
สัมผัสที่ได้ จะแตกต่างไปตามย่านความเร็ว และรูปแบบสภาพพื้นผิวถนน หากคุณขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ ตั้งแต่ออกตัว จนถึงไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากแล่นบนถนนราดยางมะตอยเรียบๆ
แต่ถ้าเป็นถนนพื้นปูนซีเมนต์ ตั้งแต่ถนนสายลาดกระบัง ไปจนถึง ทางสายรอง พวก ถนน รพช. บอกเลยว่า อาการสะเทือนตามแบบของ Revo ตัวเตี้ย รุ่นก่อนปี 2020 จะกลับมาเยือนคุณชัดเจนมาก ตึงตังพอสมควรเลย เอาเป็นว่า ถ้ากำลังจะเปิดขวดน้ำดื่ม กรุณาระวังกระฉอก!
กระนั้น ถ้าคุณใช้ความเร็วสูง ช่วง 100 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลายเป็นว่า หกไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้างแรงๆ รุ่น GR Sport 4×2 จะพุ่งทะยานไปข้างหน้า ได้ นิ่งมากที่สุด เท่าที่ผมเคยเจอมาในบรรดา Hilux Revo ทุกคันที่เคยลองขับ และมันนิ่งในระดับที่ทำให้ผม ไม่รู้สึกกลัวเลยแม้แต่น้อย
อารมณ์เหมือน รถเก๋งใส่ช็อกอัพแต่งซิ่ง (แบบที่แข็งกว่าปกตินิดหน่อย แต่ไม่ได้แข็งเป๋ง) มากกว่าจะเป็นรถกระบะ!
คำถามเรื่องช่วงล่าง / Question about new Suspension tuning
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงมีข้อสงสัยมากมาย ดังนั้น พื้นที่ข้างล่างนี้ ผมถอดเทปจากช่วงถาม-ตอบ Q & A ในการประชุม Online ซึ่งทีมวิศวกรของ Toyota จัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ก่อนที่จะเริ่มปล่อยรถ GR Sport ให้สื่อมวลชนได้ยืมไปทดลองขับกัน รายละเอียด มีดังนี้
Q : ถ้าคุณมี Hilux Revo รุ่นเดิมอยู่แล้ว จะสั่งซื้อชุดช่วงล่างของ รุ่น GR Sport มาเปลี่ยนเองได้หรือไม่?
A : “ได้ เบิกอะไหล่มาใส่กันได้เลย แต่ขอแนะนำว่า ควรจะเบิกมาทั้งชุด ครบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทุกชิ้น เพื่อให้ได้สมรรถนะตรงกับที่ เราปรับจูนไว้”
Q : ระหว่างการพัฒนา มีการนำรถคู่แข่งมาเทียบด้วยหรือไม่?
A : มีครับ และเท่าที่ทดลองมา สมรรถนะของ GR Sport ไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่ง
Q : ไหนๆจะทำทั้งที ทำไมไม่ใส่ Sub-Tank มาให้แบบช็อกอัพ Fox ของ Ford Ranger Raptor ไปเลย?
A : เราพยายามเน้นทำรถที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย การใส่ Sub Tank ส่งผลให้ต้องมีการดัดแปลงช่วงล่างด้านหลัง รวมทั้ง Space ในการประกอบ หลังจากเราปรับปรุงหลายส่วน ทำให้ราคาเกินกว่าที่ลูกค้าจะรับได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคารถจะแพงขึ้น เราเลือกจะปรับปรุง ในระดับราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่แพงเกินไปน่าจะเหมาะสมกว่า แต่ในอนาคต ก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
Q : ช่วงล่างของรุ่น 4×4 เดิมเป็น แหนบ 3 แผ่น ทำไมถึงปรับมาเพิ่มกลับมาเป็น 5 แผ่น เหมือนรุ่นก่อน?
A : วัตถุประสงค์ของ GR Sport เราเน้น Handling เป็นหลัก ส่วนรุ่นปกติที่ใช้แหนบ 3 แผ่น เน้น การ Stroke มากขึ้น แปลว่า ตัวรถจะมีการโคลงตัวที่เยอะกว่า สำหรับรุ่นนี้ เราอยากให้มีการโคลงตัวน้อย ควบคุมรถบนทางโค้งช่วงความเร็วสูง เราจึงต้องเพิ่ม Rigidity ของช่วงล่างด้านหลังให้สูงขึ้น และปรับคอยล์สปริงหน้าให้แข็งขึ้น และปรับแหนบหลังให้มากขึ้น สำหรับการ Trade-off ระหว่าง Comfort กับ Handling เราปรับจูนช็อกอัพช่วย ในแต่ละระดับความเร็วทั้งหมด
Q : ถ้าลูกค้าซื้อไป เปลี่ยนยางใหญ่ขึ้น ผลเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร?
A : ใช้ได้ แต่สิ่งที่ต่างมา คือ ยางตัว Passenger Car เน้นความนุ่มนวล Grip สูงกว่า ถ้าเปลี่ยนยางหน้ากว้างขึ้น โดยเป็นยางรถเก๋ง เหมือนกัน แน่นอนว่า Grip Performance สูงขึ้น การกินน้ำมันจะมากขึ้น ส่วนความนุ่มนวล ขึ้นอยู่กับ ซีรีส์ยางด้วย เช่น 235/45 R18 Profile ยางเตี้ยลง รถก็จะกระด้างขึ้น ถามว่าแย่ไหม มันแล้วแต่ยางแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ
Q : ทำไมไม่ใส่ VSC กับ TRC ในรุ่น GR Sport 4×2 มาให้ด้วย ?
A : ผลจากการวิจัยการใช้งานของลูกค้าในกลุ่ม 4×2 และการดูคู่แข่ง เราพบว่า ณ ปัจจุบัน VSC ยังไม่ใช่ Top Priority ที่ลูกค้ามองหา แต่ถ้าในอนาคตลูกค้าต้องการให้มีการติดตั้ง เราก็สามารถพัฒนาและติดให้ลูกค้าได้
Q : Toyota มองเรื่องต้นทุนเป็นหลักเกินไปหรือเปล่า
A : มันไม่ได้ดูเรืองต้นทุนอย่างเดียว ต้องดูตลาดว่ารับหรือไม่รับ เราต้องทำวิจัยตลาดด้วย มันหลายๆอย่างรวมกัน เรามองลูกค้าเป็นหลัก ถ้าเรียกร้องอยากได้ ลักษณะการใช้งาน และสิ่งแวดล้อมในการใช้งานด้วย สเป็กที่นำเสนอมา meet condition ที่ลูกค้าต้องการ การที่เราทำมากไปหรือน้อยไป สุดท้าย มันจะเป็นต้นทุนของลูกค้าไม่ใช่ต้นทุนของบริษัท ฉะนั้น ทุกอย่างที่เราออกแบบมา เราค่อนข้างเชื่อมั่นว่า จะตอบโจทย์ ได้ดีที่สุด บน Budget ที่น้อยที่สุด ใหลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด ไม่อยากให้ เข้าใจว่า Toyota กั๊กสเป็ก เราพิจารณาหมด ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เรามีสเป็กทุกอย่าง แต่การนำเสนอสเป็กตัวไหน ไม่ได้อยู่ที่เงินในกระเป๋า Toyota แต่อยู่ที่เงินของลูกค้า ในวันหนึ่ง ถ้าตลาด มี Movement ขึ้น หรือ Taste เปลี่ยนไป เราสามารถติดตั้งได้ทันที เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าลูกค้าต้องการ
ระบบห้ามล้อ / Brake
ระบบห้ามล้อด้านหน้า เป็นดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก เสริมการทำงานด้วยสารพัดด้วยตัวช่วยพื้นฐานของรถยนต์สมัยนี้ ได้แก่ รวมทั้งยกชุด Brake Actuator หรือ ชุดวาล์วควบคุมแรงดันน้ำมันเบรก จากรุ่น Rocco ปี 2020 มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับหรือปล่อยเบรก ในการขับขี่แบบ Off-road และลดเสียงการทำงานของระบบ
– ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-lock Braking System)
– ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Distribution)
– ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)
– ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC (Vehicle Stability Control)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี A-TRC (Traction Control)
– ระบบควบคุมการส่ายของรถพ่วงด้านท้าย (ในกรณีลากจูง) TSC (Trail Sway Control)
– ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSC (Hill Start Control)
– ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC (Down hill Assist Control)
แป้นเบรก ถูกปรับจูนให้ Stiff ขึ้น (แข็งขึ้นนิดๆ) รวมทั้งปรับจูนขาเบรก ให้มี Feeling ของแป้นเบรกที่ ต่อเนื่อง (Linear) ยิ่งขึ้น ดังนั้น การตอบสนอง จึแอบดีขึ้นจากรุ่นเดิมนิดๆ น้ำหนักแป้นเบรกปานกลาง ค่อนไปทางเบา เอาใจผู้ขับขี่ทุกเพศทุกวัย เช่นเดิม ระยะเหยียบยาวปานกลาง ระยะฟรีแป้นเบรกน้อย เอื้อต่อการกะระยะเบรกให้รถจากช่วงความเร็วต่างๆ ให้หยุดลงอย่างนุ่มนวล ไม่หัวทิ่มหัวตำ ต่อให้ต้องแตะเบรกเบาๆ เพื่อลดความเร็วขณะอยู่ในโค้งลงเล็กน้อย ก็ยังพอทำได้ (อย่าเหยียบเบรกจมมิดในโค้งก็พอ เพราะรถอะไรก็เสียหลักได้ทั้งนั้น ถ้าคุณถ่ายน้ำหนักรถไม่เป็น) ให้ความต่อเนื่อง (Linear) ดีขึ้นเล็กน้อย
ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูงนั้น ถ้ามีเหตุให้คุณจำเป็นต้องเหยียบกระทืบเบรกกระทันหัน บนพื้นถนนแห้งๆ (ไม่ใช่พื้นราดยางมะตอย) ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงหยุดนิ่ง หากเป็นรุ่น 4×4 ตัวรถก็จะหน่วงความเร็วอย่างรวดเร็ว และพุ่งไปข้างหน้าตรงๆ แทบไม่มีอาการแฉลบ ส่วนอาการท้ายเป๋ ก็น้อยมากๆ (แต่อย่าเผลอไปทำบนพื้นลื่นเชียวละ เพราะรถอะไรก็ตาม ไถลได้ทั้งนั้น) หน้ารถก็จะทิ่มพอประมาณ
แต่ถ้าเป็นรุ่น 4×2 การเบรกกระทันหันบนพื้นแห้ง จากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดสนิทนั้น ตัวรถก็อาจยังมีอาการ ดิ้นซ้าย – ขวา ไปมา อยู่หน่อยๆ จนกระทั่งหยุดนิ่ง ดังนั้น แม้ว่าจะพอไว้วางใจได้อยู่ แต่โปรดใช้ความระมัดระวัง ขณะเบรกบนถนนลื่น ตามปกติของรถกระบะทั่วไป
อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย / Safety Features
Hilux Revo GR Sport 4×4 จะถูกติดตั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน Active Safety โดยเฉพาะ Package ระบบ ADAS (Adaptive Driver Assistant System) ภายใต้ชื่อ Toyota Safety Sense ดังนี้
– ระบบความปลอดภัยก่อนการชน PCS (Pre-Collision Warning)
– ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมหน่วงพวงมาลัยกลับ LDA (Lane Departure Alert with Steering Assist)
– ระบบควบคุมความเร็วแปรผันอัตโนมัติ DRCC (Dynamic Radar Cruise Control)
– กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา PVM (Panoramic View Monitor)
– ระบบแจ้งเตือนเมื่อมียานพาหนะอยู่ในมุมอับสายตา BSM (Blind Spot Monitoring)
– ระบบแจ้งเตือนเมื่อมียานพาหนะแล่นมาทางด้านหลังขณะถอย RCTA (Rear Cross Traffic Alert)
ส่วนอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเชิงปกป้อง Passive Safety ถูกรักษาไว้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับ Hilux Revo GR Sport ทั้ง 4×4 และ 4×2 มีดังนี้
– โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA (Global Outstanding Assesment Body) พร้อมคานเหล็กนิรภัย กันกระแทกด้านข้าง
– เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า มาพร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ และผ่อนแรงปะทะ Pre-tensioner & Load Limiter ปรับระดับสูง – ต่ำได้
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และถุงลมหัวเข่า รวม Airbag 3 ใบ
– เฉพาะ รุ่น GR Sport 4×4 เพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัยทั้ง 2 ฝั่ง รวมเป็น Airbag 7 ใบ
– จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ที่ด้านล่างของพนักพิงเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง
– ไฟเบรก LED บนฝากระบะท้าย
– ไล่ฝ้า ที่กระจกบังลมหลัง
******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*************Fuel Consumption Test *************
ข้อมูลจาก Car.go.th อันเป็นเว็บไซต์ของภาครัฐบาล ระบุว่า รุ่น 4×4 ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในเมือง (Urban) 8.8 ลิตร / 100 กิโลเมตร นอกเมือง (Extra-Urban) 6.5 ลิตร / 100 กิโลเมตร เฉลี่ย (Combined) 7.4 ลิตร / 100 กิโลเมตร
ส่วนรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย นั้น ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในเมือง (Urban) 8.8 ลิตร / 100 กิโลเมตร นอกเมือง (Extra-Urban) 6.5 ลิตร / 100 กิโลเมตร เฉลี่ย (Combined) 7.4 ลิตร / 100 กิโลเมตร
ทว่า ในการทดลองของเรา ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน โดยเติมเต็มถัง หัวจ่ายตัด
เมื่อเติมน้ำมันเสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter บริเวณมุมซ้ายล่างของชุดมาตรวัด แช่ค้างไว้ แล้วระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น ทั้งหมด
เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน รุ่น GR Sport 4×4 นั้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ให้ทำงานไปด้วย ส่วนรุ่น GR Sport 4×2 เราเลี้ยงคันเร่งให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ
มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า
เริ่มจากรุ่น GR Sport 4×4
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 93.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.80 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.70 กิโลเมตร/ลิตร
ส่วนรุ่น GR Sport 4×2
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.47 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.60 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าจะบอกว่านี่คือ Hilux Revo ที่ประหยัดน้ำมันมากสุดเท่าที่เราเคยทำรีวิวมา ก็คงจะพูดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะผมเคยเก็บตัวเลข ของ รุ่น Smart Cab 2.4 J เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ 4×2 ตัวเตี้ย เวอร์ชันโล้นๆ เพื่อการพาณิชย์ มาแล้ว และเจ้าหมอนั่น ดันทำตัวเลขดีกว่า Revo GR Sport 4×2 ไปเพียง 0.1 กิโลเมตร/ลิตร ตามตารางข้างล่างนี้
นั่นแปลว่า ถ้าเทียบกันตรงๆแล้ว ขุมพลัง 2.8 ลิตร ให้ความประหยัดน้ำมัน เท่าๆ รุ่น 2.4 ลิตร เกียร์ธรรมดา แต่ให้เรี่ยวแรงมากกว่าอย่างชัดเจนคนละเรื่อง ดังนั้น โจทย์ต่อไปของ Toyota ก็คือ ทำยังไง ให้เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ปลดล็อกออกพละกำลังออกมาให้แรงขึ้น และประหยัดน้ำมันมากขึ้น มากกว่านี้ เพื่อที่จะสามารถเข้ารับช่วงทำหน้าที่แทนรุ่นพี่อย่างเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร กันต่อไปได้ในอนาคต
คำถามต่อมา น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ไกลกี่กิโลเมตร
รุ่น GR Sport 4×2 ตัวเตี้ยนั้น เราแทบไม่ได้เติมน้ำมันกันเลย
********** สรุป / Conclusion **********
4×4 ช่วงล่างนิ่งขึ้น ขับเร็วมั่นใจขึ้น แต่ความนุ่มแบบ Rocco จะลดลงไป
4×2 เอาใจวัยรุ่นทางเรียบ แรงขึ้นทั้งจากเครื่องและขนาดล้อ นิ่งขึ้น
เต้นน้อยลง เหมือนรถเก๋งใส่ช็อกอัพแต่ง แต่ยังขาด VSC + TRC
ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก ในปี 2015 Toyota ก็พยายามปรับปรุง Hilux Revo ให้ดีขึ้นพอจะถูกใจลูกค้าชาวไทยมาตลอด และหนึ่งในปัญหาสำคัญก็คือ การปรับปรุงช่วงล่าง พวกเขาพยายามค้นหา Solution ต่างๆ มาอย่างหนัก เพราะมันเป็นเรื่องยาก ในมุมของคนทำงานองค์กรระดับ Corporate ที่จะต้อง หาจุดสมดุล ระหว่าง ความต้องการของลูกค้า กับต้นทุน และกำไรส่วนต่าง เพื่อให้บริษัทอยู่รอดได้ในระยะยาว
Hilux Revo GR Sport ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า ที่แตกต่างกันชัดเจน โดยรุ่น 4×4 จะเอาใจหัวหน้าครอบครัว หรือพ่อบ้าน ที่เน้นสมรรถนะทางเรียบ แต่อยากได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ยอมจ่ายแพง เพื่อ Option ที่แน่นจนคุ้มทั้งคันรถ ต่อให้งบประมาณไม่มีปัญหา แต่ก็ ไม่อยากจ่ายแพงจนเกินเหตุ
ขณะที่รุ่น 4×2 จะเอาใจลูกค้าสายวัยรุ่นสร้างตัว มีรถเพียงคันเดียวในครอบครัว ชอบแต่งรถในแบบ “Thai Look Style” ตามอย่างเพื่อนฝูงและสังคมรอบข้าง
ดังนั้น ถ้าถามว่า ตัวรถทำออกมาได้ตรงตามโจทย์ที่วางไว้หรือไม่ คำตอบก็คงต้องบอกว่า “ใช่”
เพราะ โจทย์สำคัญในการทำ Hilux Revo GR Sport ก็คือ จะทำอย่างไร ให้ช่วงล่างของรุ่น 4×4 ขับสนุก และนิ่งขึ้น บนทางเรียบ และพอเอาไปลุยทางฝุ่นได้ ในระดับทัดเทียม หรือใกล้เคียงคู่แข่ง ขณะที่รุ่น 4×2 Low Floor ก็ต้องมีช่วงล่าง ที่เอาใจวัยรุ่นสายกระบะทางเรียบ ที่เน้นเรื่องการเข้าโค้งและการเกาะถนน ให้ดีพอตัว
ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นไปตามความคาดหมาย นั่นคือ การวางเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 204 แรงม้า (PS) ทำให้ทั้งคู่ กลับเข้ามาสู่หัวแถวในด้านความแรงได้ดีขึ้น ขณะที่การปรับปรุงช่วงล่างนั้น ส่งผลให้รุ่น GR Sport 4×4 นิ่งขึ้นในย่านความเร็วสูงมากๆ มั่นใจขึ้น ในการเข้าโค้งยาวๆต่อเนื่อง และบังคับควบคุมได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องทำใจว่า ช่วงล่างที่ Firm ขึ้นนี้ อาจจะลดทอนความนุ่มนวลในขณะขับขี่ในเมือง่วงความเร็วต่ำลงลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับรุ่น Rocco
ขณะเดียวกัน รุ่น GR Sport 4×2 Low Floor ซึ่งเป็น Combination รุ่นย่อยใหม่ล่าสุด กลายมาเป็นหัวแถวของตลาดกลุ่ม Low Floor ทันที ด้วยเหตุที่ Toyota เล่นยกเอาเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 204 แรงม้า (PS) มาวางให้ เปึนครั้งแรกใน Line-up ตระกูล Hilux รุ่น 4 ประตู ตัวเตี้ย พอสวมเข้ากับยางเทพสายนุ่ม อย่าง Bridgestone Turanza T005a เลยกลายเป็นว่า บุคลิกรถกระบะในแบบเดิมๆ ที่อาจจะขับไม่สบายเท่าไหร่ ก็ลดน้อยลงไป จนใกล้เคียงกับบุคลิกของ รถเก๋ง ใส่ช็อกอัพแต่งซิ่ง มากขึ้น ซึ่งให้ความมั่นใจในการขับขี่ ในทุกย่านความเร็วเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเป็นผลพลอยได้
เมื่อพิจารณาเรื่อง Option ของแต่ละรุ่นย่อย ก็แน่นอนครับว่า GR Sport 4×4 ให้ข้าวของมาเต็มแน่นไปหมด แต่ก็แลกกับค่าตัวที่สูงเอาเรื่อง ขณะเดียวกัน รุ่น GR Sport 4×2 ซึ่ง มีราคาที่ลูกค้าทั่วไปพอจับต้องได้ Option ก็มีเพียงพอเท่าที่จำเป็นจริงๆ ทั้งที่น่าจะเพิ่มอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเข้ไปอีกสักหน่อย
จุดที่ควรปรับปรุง
1. Decoration รอบคัน โดยเฉพาะ สติกเกอร์ ของรุ่น 4×2 พอดูได้ แต่รุ่น 4×4 ไม่สวย เหมือนให้เด็กประถมมาหัดตัดแปะสติกเกอร์ลงบนบอร์ดโครงงานหลังห้องเรียนมากๆ
เข้าใจดีว่า ฝ่ายผู้บริหาร น่าจะมองว่า ตัวรถมันดูเรียบๆ ไปหน่อย ไม่มีอะไรเด่นสะดุดตา เลยอยากหาสติกเกอร์มาสร้างความแตกต่าง ให้ผู้คนเขารู้ว่า นี่คือรุ่น GR Sport นะ ขณะเดียวกัน ผมก็รู้แหละว่า รุ่น GR Sport ของ Brazil เขาก็คาดสติกเกอร์ลายประมาณนี้เหมือนกัน แต่มันไม่สวย
คราวต่อไป หากจะทำรุ่นพิเศษ Hi-Performance ตัวจริง เพื่อต่อกรกับ Ford Ranger Raptor คงต้องขอร้องไว้เลยว่า ถ้าอยากจะติดสติกเกอร์จริงๆ กรุณา แปะสัญลักษณ์ GR ขนาดไม่ต้องใหญ่มากนัก ไว้ที่ด้านหลังรถ เหนือไฟท้าย ตำแหน่งเดียวกับ สติกเกอร์ Rocco ในปัจจุบัน ก็พอแล้ว
หรือไม่เช่นนั้น ก็ทำแบบ Hilux GR Sport เวอร์ชันญี่ปุ่นก็ได้ เขาไม่เห็นต้องติดสติกเกอร์ใดๆกับตัวรถเลย มันก็ดูสวย ดูแพง ดู Premium ขึ้นมาทันตาเห็นเลย ทำไมทีเวอร์ชันญี่ปุ่น ยังทำได้ เวอร์ชันไทย กลับไม่ทำแบบนั้นเขาบ้าง?
2. อาการ “เตะหลัง” ขณะขึ้นเนินสะดุดลูกระนาด ในช่วงความเร็วต่ำ ยังคงมีหลงเหลืออยู่ ประเด็นนี้ ได้แต่ทำใจครับ เพราะงานนี้ คงต้องไปแก้ที่ Frame Chassis (เฟรม แชสซีส์) ด้านหลัง ซึ่งเราได้แต่รอพบความเปลี่ยนแปลง ใน TNGA-F (Frame) ซึ่งจะปรากฎใน Toyota Hilux Next Generation ที่น่าจะมาพร้อมกับ Sub name ใหม่ ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในเมืองไทย ช่วงปี 2023 โน่น! รออีกนานกันตั้งแต่ลูกคลอด จนตั้งไข่เดินได้กันเลยละ ดังนั้น ถ้ารีบใช้รถ ก็ต้องซื้อรุ่นปัจจุบันนี้กันไปก่อนเลยครับ ไม่ต้องรอ!
หรือถ้ายังคงหงุดหงิดมากนัก อาจต้องหันไปหาช็อกอัพกับสปริง After market ซึ่งพร้อมบริการคุณอยู่หลายเจ้า เช่นที่ผมเคยลองของ Profender มา พบว่า การจ่ายเพิ่มอีกราวๆ 5 หมื่นกว่าบาท ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้แทบจะจบสิ้น Jump คอสะพานลงมาอย่างนุ่มแน่นกำลังดีงามเลยละ หรือบางคนอาจจะไปหา Hotbit , Iron Man , Old Man Emu ฯลฯ ตามอัธยาศัย เลือกกันเอาเอง
3. โปรดติดตั้งระบบ VSC + TRC ให้กับรุ่นตัวเตี้ย ด้วยเถอะ!
ถ้าคุณเป็นแค่ชาวเน็ต เล่น Social Media ไว้ระบายความใคร่ในห้วงอารมณ์ไปวันๆ คุณอาจจะพิมพ์ด่าว่า
“Toyota ขี้งก ของแค่นี้ ทำไมไม่ใส่มาให้ เหมือนรุ่น 4×4 ลยละวะ กั๊กทำไม จะไปเป็นวินมอเตอร์ไซค์ หรือยังไง? ชอบสวมเสื้อกั๊ก (Option) ดีนัก”
แต่คุณรู้ความจริงไหมว่า มันมีเรื่องน่าเจ็บปวดหัวใจ ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้… และมันดันเป็นเหตุเป็นผลสอดรับกันเสียด้วยอย่างช่วยไม่ได้ นั่นคือ “ลูกค้าในผลวิจัยตลาด มองว่าไม่จำเป็น” และ “บริษัทรถมองว่า ถ้าใส่มา ตั้งราคาขายยาก ต้องแพงขึ้นไปอีก สู้ชาวบ้านไม่ได้แน่ๆ”
ผลวิจัยตลาดจะบอกว่า ลูกค้าไม่ได้มองว่ามันจำเป็นต้องมี เหตุผลในมุมของพวกเขา ก็คือ..”โอ้ย! ใส่มาทำไม แพง ไม่จำเป็น กูก็ขับระวังๆ ของกูอยู่แล้ว จะใส่มาให้เปลืองเงินทำส้นตีนอะไรกัน?” คือมันมีคนคิดอย่างนี้จริงๆนะ คุณผู้อ่าน ผมเคยเจอมากับตัวหลายคนแล้ว ซึ่งก็แน่ละ ลูกค้าบางคน ยังถามกับเซลส์อยู่เลยว่า
“ถ้าเอา ถุงลมนิรภัยออก ถอด ABS ออก น้องลดราคาให้พี่ได้เท่าไหร่”!!??…
โอ้โห! ฟังแล้ว ปรี๊ดดดดดขึ้นสมอง นี่ลูกค้าบางประเภท เขาไม่คิดจะห่วงความปลอดภัยตัวเองบ้างเลยหรือไงวะเนี่ย? อีกอย่าง ถุงลม กับระบบพวกนี้ มันใส่มาจากโรงงานแล้ว มันถอดออกก่อนขายให้คุณไม่ได้ว้อย! ผิดกฎหมายนะครับ เพราะกฎหมายไทยตอนนี้ บังคับให้รถที่ขายในบ้านเราทุกคัน ใส่ถุงลมนิรภัย ขั้นต่ำคือ 2 ลูก คู่หน้า มานานหลายปีแล้วนะเว้ยเฮ้ย! ไม่รู้มาก่อนใชไหม? นั่นแหละคือเหตุผลที่คุณถึงได้เห็นรถกระบะส่งของหัวเดี่ยว Single Cab ทุกยี่ห้อในบ้านเราตอนนี้ มีถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ตั้งแต่รุ่นถูกสุดแล้ว ยังไงละ!
อย่างไรก็ตาม พอมองในมุมของคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผมมองว่า เหตุผลที่แท้จริงในมุมของ Toyota คือ ถ้าใส่เข้ามา ราคาขายปลีก เมื่อรวมการคำนวนสูตรต่างๆ แล้ว ราคาหน้าโชว์รูม ต้องโดดขึ้นไปอยู่แถวๆ 925,000 บาท ซึ่งพอเป็นราคาระดับนั้น ความคุ้มค่าในการเล่นรุ่นตัวเตี้ยแต่งซิ่ง ก็จะหายหดหมดไปทันที ลูกค้าจะเริ่มมองว่า “รถกระบะ 4 ประตู ตัวเตี้ย รุ่น Option จัดเต็ม ราคาขายหน้าโชว์รูม มันควรไม่เกิน 900,000 บาท ถ้าแพงกว่านี้ ฉันหนีไปซื้อรุ่นยกสูง Pre Runner ไม่ดีกว่าเหรอ?” อย่าลืมนะครับ ลูกค้ากลุ่มรถกระบะ ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทลงมา เป็นกลุ่มที่ Price Sensitive หรือ ราคามีผลต่อการตัดสินใจอย่างใหญ่หลวง ยิ่งเป็นรถรุ่นล่าง ราคาต่ำลงไปมากเท่าไหร่ กลุ่มลูกค้าจะซีเรียสเรื่องราคามากขึ้นเป็นเงาตามตัว
เฮ้อ…มันคือเรื่องยากที่จะเอาทุกความต้องการและความแตกต่าง มาจัดวาง ผสมเขากันให้ลงตัว ก็ได้แต่หวังว่า ในรุ่นปีถัดไป Toyota จะเพิ่มระบบ VSC กับ TRC มาให้รถรุ่นตัวเตี้ย กันบ้างเถอะครับ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่า พวกเขา ซื้อรถจากคุณไปแล้ว จะไปเจอสถานการณ์คับขัน เมื่อไหร่?
คู่แข่งในตลาด / Competitors
แน่นอนว่า Hilux Revo มีคู่แข่งคือรถกระบะทุกคันในตลาด แต่ถ้าจะจำแนกออกเป็นรุ่นย่อย เพื่อจะจับประกบคู่มวยให้สมน้ำสมเนื้อกัน มันก็ต้องคัดเลือกออกมาเฉพาะ รถกระบะรุ่นที่ ชัดเจนว่า เกิดมาเพื่อเป็นคู่แข่งกันจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นรุ่น 4×4 ก็ยังจะพอหามวยมาปะทะกันได้บ้าง แต่ถ้าเป็นรุ่น 4×2 ด้วยเหตุที่เป็น มวยเบ่งพิกัด เล่นวางเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ใหญ่สุดในตลาดกลุ่มตัวเตี้ยสายแต่งเสร็จจากโรงงาน ทำให้หาคู่ประกบค่อนข้างยาก สุดท้ายแล้ว เท่าที่พอจะวัดฝีมือกันได้ แม้จะแฉลบๆเฉียดๆไปบ้าง ก็มีดังนี้
(ยี่ห้ออื่น ที่ไม่มีชื่อในนี้ ผมมองว่า ไม่ได้มีรถรุ่นที่ตรงกับการประกบกับ GR Sport เท่าใดนัก)
Ford Ranger
FX4 MAX 2.0 Bi-Turbo 10AT 4×4 : 1,189,000 บาท
จากรถกระบะที่คนไทยไม่เหลียวแล Ford ใช้เวลาแค่เพียงหลังการเปิดตัว Ranger T6 รุ่นปัจจุบัน ในช่วงปี 2011 เพียงไม่ถึง 3 ปี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับ 3 ในตลาดรถกระบะเมืองไทย ได้สำเร็จ แถมยังทำรถมาดีจนกลายมาเป็น Benchmark ให้กับคู่แข่งอีกด้วย ถึงขนาด Volkswagen ยังบอกว่า “กูเลิกคิดจะทำ Amarok รุ่นต่อไป มาแข่งกะมึงละ กูจับมือทำ Amarok รุ่นต่อไป กับ Ranger ใหม่ของมึงไปเลยดีกว่า ประหยัดกว่าเยอะ!”
เหตุผลหลักที่ทำให้ Ford Ranger รุ่นนี้ ประสบความสำเร็จ ก็คือ “รถมันสวย!” ลูกค้าเลยพากันยอมอุดหนุน ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า ศูนย์บริการในอดีตนั้น ห่วยแตกเอาเรื่อง กว่าจะเริ่มดีขึ้นได้ ก็ต้องรอกันมาจนถึงปัจจุบัน
ตัวรถเคยขับดีเป็นอันดับต้นๆในตลาด จนกระทั่ง พวกเขาเริ่มเอาพวงมาลัย Power ไฟฟ้า มาใส่ให้ ในรุ่นปี 2015 กลายเป็นว่า พวงมาลัยเบาไป ในรุ่นปกติ แต่พอใส่ล้อใหญ่อย่าง รุ่น Raptor กลับกลายเป็นว่า ลงตัวดีงามเลย เสียอย่างนั้น ขณะที่ช่วงล่าง ก็ยังหนักๆแน่นๆ ตามบุคลิกกระบะอเมริกัน
รุ่น FX-4 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2021 นั้น ดูจะเป็นคู่เปรียบมวยที่ตรงรุ่นมากสุด ของ GR Sport 4×4 เพราะช่วงล่าง ถือว่า ดีงามระดับน้องๆ ของ Ranger Raptor เลยทีเดียว แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นดีเท่า เพราะยังต้องอยู่บนพื้นฐานของช่วงล่างด้านหลังแบบแหนบ ไม่เช่นนั้น จะเจอภาษีสรรพสามิต จนราคาโดนไปไกลอย่างพี่ชาย Raptor
ส่วนรุ่น XL Step นั้น กลับกลายเป็นเพียงการนำรุ่น Extended Cab มาติดสติกเกอร์คาดเพิ่ม แต่ยังวางเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร อยู่ ดังนั้น สมรรถนะ จึงไม่ได้แตกต่างจากรุ่นเดิมมากนัก คือ แรงระดับไม่ขี้เหร่ แต่ก็ไม่ได้ปรู๊ดปร๊าดที่สุดในตลาด
อยากให้รอดูรุ่นปรับโฉมใหญ่ Big Minorchange ที่จะเผยโฉมกันในช่วงปลายปี 2021 นี้ และจะเริ่มขายจริง ในช่วงต้นปี 2021 เพราะคาดว่าการปรับโฉมครั้งนี้ น่าจะก้ไขข้อบกพร่องต่างๆไปได้เยอะมาก
Isuzu D-Max
V-Cross 3.0 Ddi 6AT 4×4 M : 1,157,000 บาท :
X-Series 4-Door Speed 1.9 Ddi ุ6MT : 826,000 บาท :
ต่อให้สภาพเศรษฐกิจ และสถนการณ์ต่างๆในเมืองไทยเป็นอย่างไร ก็ทำอะไร Isuzu ไม่ได้เลย DMax ยังคงกลายเป็นกระบะขายดีที่สุดในเมืองไทย มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เพิ่งการปรับปรุงอุปกรณ์ไปหมาดๆ เมื่อ 7 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา และกระแสตอบรับก็ยังดีเหมือนเดิม
ภาพรวมแล้ว DMax ใหม่ 3.0 ลิตร ออกตัวหนะแรงพุ่งกว่า แต่ช่วงเร่งแซง อาจด้อยกว่า GR Sport 4×4 สักหน่อย พวงมาลัยดีในระดับต้นๆของตลาด ช่วงล่าง ในความเร็วต่ำ แน่นและแข็งขึ้นกว่า D-Max ในอดีต แต่ยังคงนุ่มและแน่น ในย่านความเร็วสูง เพียงแต่ว่า การเข้าโค้ง แรงๆ ก็จะเจอระบบ ESC ที่ Panic ไปหน่อย มาสะกัดไว้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย จนแอบทำให้ต้องเบาเท้าขวาในโค้งไปเยอะเลย เสียดายว่า เรายังไม่เคยลองรุ่น X-Series เลยไม่อาจบอกได้ว่า รุ่นตัวเตี้ย ช่วงล่างจะหนึบมากน้อยแคไหน
DMax ยุคนี้ ขับดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ มากแล้ว เหลือแค่ว่า ถ้าจะทำรุ่นเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร วางในรุ่น ตัวเตี้ย X-Series และวางค่าตัวให้แพงขึ้นไปไม่เกิน 900,000 บาท เชื่อแน่ว่า ตลาดตัวเตี้ยไฮเปอร์ น่าจะสนุกขึ้นอีกมาโข
Mitsubishi Triton
Athlete 6AT 4WD 1,156,000 บาท
แม้ว่า Mitsubishi Motors จะพยายามเปิดตลาด รถกระบะตัวเตี้ยหน้าหล่อ มาโดยตลอด ทว่า การที่พวกเขายังไม่ยอมใส่เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร MIVEC เวอร์ชัน Hi-Power ลงไป และยังยืนพื้นอยู่กับขุมพลัง 2.4 ลิตร 128 แรงม้า (PS) ก็อาจจะพอให้ลูกค้า ออกรถแล้วเอาไป โมดิฟายเพิ่มเติมเองได้ง่ายหน่อย แต่ถ้าถามถึงความแรง บอกเลยว่า ยังไม่จบ
กลายเป็นว่า มีเพียงรุ่น Athlete 6AT 4WD เพียงรุ่นย่อยเดียว ที่ถือว่า มีสเป็กฟัดเหวี่ยงกับ Revo GR Sport 4×4 ถ้าเทียบกันแล้ว Triton ยังไงก็แรงสู้ Revo 2.8 ลิตร ไม่ได้แน่ๆ แต่ตัวเลขที่ออกมา ก็ไม่ได้อืดไปกว่ากันมากมายเท่าใดนัก พวงมาลัยเบากำลังดี แต่ช่วงล่างด้นหลังของรุ่นปรับโฉม Minorchange แข็งขึ้นกว่าเดิมชัดเจนมาก จนสูญเสียความสบายในย่านความเร็วต่ำไปไม่น้อย
ข้อดีที่เหนือกว่าก็คือ ถ้าคุณรู้สึกว่า การเจรจากับไฟแนนซ์ ตอนจะออกรถ กับ Toyota Isuzu หรือค่ายเจ้าตลาดอื่นๆ ดูยุ่งยาก การมาจบกับ Mtsubishi Triton จะกลายเป็นเรื่องง่ายกว่าในทันที เพราะแทบทุกโชว์รูม เขาพยายามดันเคส สู้สุดใจ หวังให้คุณได้ออกรถป้ายแดงกันง่ายๆ และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และนั่นคือ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ยอดขายของ Mitsubishi Motors ลดลงไปไม่เยอะ ทั้งที่สถานการณ์ต่างๆ ช่างไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย
Nissan Navara Minorchange
PRO4-X 1,149,000 บาท
PRO2-X 999,000 บาท
Nissan วางเดิมพันกับการปรับโฉมให้กับ Navara ครั้งนี้ไว้มากพอสมควร ถึงขั้นยอมให้ประเทศไทย มี Navara PRO4-X ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เซ็ตทั้ง Option และสมรรถนะ ออกมาได้ดีงามมากเกินคาดคิด และกลายเป็นมวยถูกคู่ เมื่อเทียบกับ GR Sport 4×4 ไปเลย
ส่วนรุ่น PRO2-X นั้น ในแง่ของ ระบบขับเคลื่อนแล้ว ถือว่าเปรียบมวยถูกคู่กับ GR Sport 4×2 Low Floor กระนั้น แม้ว่า PRO2-X จะมีความสูงจากพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clerarance) เยอะกว่า GR Sport 4×2 แต่ก็ไม่ได้มกอย่างที่คิด เป็นไปตามสิ่งที่ทุกคนรับรู้กันอยู่แล้วว่า “รุ่นยกสูงของกระบะ Nissan มันแทบดูไม่ต่างจากรุ่นตัวเตี้ยเลย สูงกว่ากันหน่อยเดียวเท่านั้น!”
แม้ว่าอัตราเร่ง จะมั่นใจได้ถึงความแรง เกินพิกัดไปฟัดกับชาวบ้านเขาได้พอสมน้ำสมเนื้อ ทั้งความแรงและความประหยัด แต่จุดเด่นของ Navara ใหม่ ไม่ได้มีแค่นั้น งานนี้ ผมกลับยอมรับว่า ทีมวิศวกร Nissan ปรับโฉม Navara ใหม่ มาได้จบลงตัวกว่า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทั้งพวงมาลัย ที่มีน้ำหนักเบาขึ้น คล่องขึ้น ตามสั่งมากขึ้น การตอบสนองดีงาม และช่วงล่าง ที่ปรับปรุงใหม่ เซ็ตมา ให้สมดุล ทั้งความสบาย และความถึกทรหด ที่เคยเป็นเหมือนคู่ขนานกัน ให้หลอมรวมมาอยู่ด้วยกัน ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดีจนเทียบเท่ากับ Navara เวอร์ชันยุโรปที่ใช้ช่วงล่างคอยล์สปริงกันเลยทีเดียว!!! กลายเป็นรถกระบะที่ “ขับดีในทุกด้านรวมกัน มากที่สุดในตลาดเมืองไทยตอนนี้”
แต่อย่างว่า รถดีๆ มักขายไม่ดี ทั้งจากประสบการณ์แย่ๆที่ลูกค้าเคยเจอจากสูนย์บริการ ไปจนถึงฝ่ายการตลาดในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ทำงานกันไม่ได้เรื่อง ติดสารพัดข้อจำกัดเต็มไปหมด แม้แต่ Nissan Leasing เอง บางทีก็ทำตัวเป็นอุปสรรคเสียเอง จนทำให้ยอดขายค่อยๆร่วงเอาร่วงเอา อย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง
ท้ายสุดนี้ มีเรื่องหนึ่งที่ผมเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วงมานานแล้ว
อยากฝากถึงผู้ผลิตรถกระบะ “ทุกยี่ห้อ ทุกค่าย” ถึงเรื่องการทำแคมเปญโฆษณา และกิจกรรมการตลาด
รู้กันอยู่ครับว่า สมรภูมิตลาดรถกระบะในเมืองไทยนั้น การแข่งขันมันดุเดือดเลือดพล่านเอามากๆ หลายค่ายต่างพยายามงัดสารพัดกลยุทธ์ เพื่อจะให้ค่ายของตน มีตัวเลขยอดขายเอาชนะคู่แข่งให้ได้ หวังให้ตัวเลขยอดขายช่วงสิ้นปี ออกมาสวยงามเพียงพอที่จะทำให้ต้นสังกัดในต่างแดน รู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้าง ท่ามกลางสถานการณ์ Covid-19 ต่อเนืองด้วยสภาพเศรษฐกิจ ที่ซบเซาลงอย่างนี้
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดกลุ่มกระบะตัวเตี้ย เริ่มเติบโตขึ้น จากกลุ่มลูกค้า ที่มีรสนิยมเดียวกัน พากันซื้อหาไปแต่งเป็นรถซิ่งประจำครัวเรือน กันเยอะไปหมด แน่นอนว่า แต่ละค่าย เริ่มมองหาหนทางในการเอาจลูกค้ากลุ่มนี้เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกทางเลือกรุ่นย่อยใหม่มาให้อุดหนุนกัน หรือจัดแคมเปญการตลาดกระตุ้นยอดขาย ไปจนถึงการจัดกิจกรรมร่วกับกลุ่มลูกค้า ทั้งในด้านการแข่งขันประลองความเร็ว ไปจนถึงกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
อยากจะขอฝากทีมการตลาดของทุกบริษัทรถยนต์ว่า การทำแคมเปญ หรือกิจกรรมใดๆ นั้น อยากให้คิดอย่างรอบคอบ และมองถึงผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าด้วย แคมเปญที่เราทำในวันนี้ มันจะเป็นที่จดจำโดยผู้บริโภค ทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มประสีประสา เอาสายตาคู่น้อยๆ ไปแปะอยู่กับทั้งจอโทรทัศน์ มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่บ้าน
คุณอาจจะบอกว่า “ก็ฉันทำแคมเปญขายรถกับผู้ใหญ่ ไม่ได้ขายกับเด็กสักหน่อย”
อยากบอกว่า ผมก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่เติบโตมากับแคมเปญโฆษณารถยนต์ในอดีต นั้นละครับ! ทุกวันนี้ คุณเห็นผมเป็นอย่างไรกันละ?
แล้วลองคิดต่อดูสิครับว่า ทุกวันนี้ แทบทุกบริษัท กำลังทำแคมเปญอะไรกับกลุ่มลูกค้าของพวกเขากันอยู่? แล้วในอนาคตละ? ถ้าผู้คนเติบโตขึ้นมาด้วยค่านิยม หรือรสนิยมในแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นละ? สังคมที่เราอยู่ มันจะน่ากลัวแค่ไหน?
การทำแคมเปญใดๆก็ตาม มันเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังรสนิยม และค่านิยม ให้กับสังคมที่เราร่วมอาศัยอยู่ เสมอ นะครับ ในฐานะนักการตลาด มันก็มี จรรยาบรรณ อยู่ด้วยเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างไปจากวิชาชีพสื่อมวลชนเลย การหวังแต่ตัวเลขยอดขายเพียงอย่างเดียว สุดท้าย จะนำมาซึ่งภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนั่นจะส่งผลเสียหายต่อแบรนด์ ตามมาด้วยในระยะยาว
ได้แต่ขอฝากวิงวอน ผู็บริหาร และฝ่ายการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์ ทุกค่าย ได้โปรดใส่ใจ ระมัดระวังเพิ่มเติมในการทำโฆษณา หรือทำแคมเปญใดๆ กันอีกสักนิด เพื่อสังคมของเรา ทั้งในวันนี้ และภายภาคหน้า
ด้วยความเป็นห่วงและหวังดีกับทุกคนอย่างยิ่ง
———————-///———————
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ
—————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ
“Toyota Motor Corporation.”
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
14 ตุลาคม 2021
Copyright (c) 2021 Text and Pictures
Except some CG from “Toyota Motor Corporation.”
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 14th,2021