(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอคลิปทดลองขับของรถคันนี้ อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้)

———————————————–

ในอดีต เมื่อพูดถึงรถยนต์ Mercedes-Benz คนไทยส่วนใหญ่ จะนึกถึงกันแต่ บรรดารถยนต์ Sedan ระดับราคาแพงๆ จำพวก S-Class , หรือ ย่อมเยาลงมาหน่อยก็เป็นพวก E-Class ไปจนถึง C-Class ซึ่งรับบทบาทในฐานะ รถยนต์รุ่นขายดีที่สุดให้กับแบรนด์ตราดาว มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990

หลังจาก ปี 1996 ซึ่ง Mercedes-Benz ตัดสินใจขยายทางเลือกรูปแบบรุ่นรถยนต์ ให้แตกหน่อต่อยอดออกไป อย่างไม่หยุดหย่อน โลกก็เริ่มรู้จักกับ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ในรูปแบบตัวถัง และขนาดที่แตกต่างไปอย่างหลากหลายขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ยิ่งทุกวันนี้ รถยนต์ในตระกูล SUV กลายมาเป็นรถยนต์ที่ทำรายได้ให้กับ Mercedes-Benz ได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น

แน่นอนว่า มันเป็นผลมาจากความพยายามในการขยายทางเลือก เพื่อขยายตลาด ขยายฐานลูกค้า และโอกาสในการทำรายได้และผลกำไรเข้าบริษัท อันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ผลก็คือ ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็เห็นแต่ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ ป้ายแดง เต็มถนนบ้านเราไปหมด

เพียงแต่ว่า การขยายทางเลือก ในกลุ่มระดับราคาต่ำกว่า C-Class นั้น Mercedes-Benz มองว่า เกิดขึ้น เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาหลังจากยุค 1990 เพื่อหวังให้เป็น Mercedes-Benz คันแรก สำหรับหนุ่มสาวเหล่านั้น เป็นหลัก พวกเขา มองแค่ว่า เลือกทำรถยนต์ บนพื้นตัวถัง MFA Platform ทั้ง A-Class , CLA-Class รวมทั้ง GLA-Class และ GLB-Class ในขนาดตัวถังพอกันกับกลุ่ม C-Segment ในยุโรป ทั้ง เจ้าตลาด อย่าง Volkswagen ตระกูล Golf , Peugeot 308 , Renault Megane , Opel / Vauxhall Astra ฯลฯ แต่ ตั้งราคา Mark-up Price ขึ้นไปอีกนิดหน่อย เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ขยับงบ เพิ่มขึ้นมาอุดหนุนรถยนต์ตราดาว ได้แล้ว

สถานการณ์ดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากตลาดรถยนต์ในเมืองไทย อยู่นิดหน่อย

ต้องยอมรับว่า สำหรับลูกค้าในเมืองไทยแล้ว การมาถึงของรถยนต์ Premium ระดับราคาถูกลง แบบนี้ กลับเชื้อเชิญ เรียกแขก ให้ลูกค้าที่กำลังจะจ่ายเงินระดับ 1.8 ล้านบาท จนถึง 2 ล้านบาท กับรถยนต์ D-Segment จากญี่ปุ่น ให้เปลี่ยนใจ เพิ่มงบอีกนิด แล้วหันมาเล่นรถยนต์ Premium จาก ยุโรป เป็นคันแรกในชีวิต มากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

แนวโน้มดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของค่ายรถยนต์ระดับ Premium ที่เริ่มมองเห็นศักยภาพในการขยายตลาด ว่า ในเมื่อ ระดับราคาของ รถยนต์ Premium รุ่นเริ่มต้นเหล่านี้ ใกล้เคียงกับ ราคาของรถยนต์ D-Segment อย่าง Toyota Camry และ Honda Accord ดังนั้น ลูกค้าจำนวนไม่น้อย จึงเกิดความลังเลใจว่า จะอุดหนุน รถญี่ปุ่นคันใหญ่กว่า หรือรถยุโรป ระดับ Premium รุ่นเริ่มต้นจึงจะคุ้มค่ากว่ากัน ยิ่งลูกค้าชาวไทย ส่วนใหญ๋ ตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ โดยเอางบประมาณที่มี เป็นตัวตั้งต้น ก่อนจะมองไปที่ประเภทของรถยนต์ที่อยูในงบของตน (แทนที่จะเอาลักษณะการใช้งาน มาเป็นตัวกำหนด) ด้วยเหตุนี้ ลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งอยากจะ เสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดีในหมู่เพื่อนฝูง ก็เบนเข็มหันมาตัดสินใจเลือกรถยุโรป ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ เทรนด์ความนิยมรถยนต์ SUV ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยากที่จะชะลอตัวลง ความต้องการรถยนต์ประเภทนี้จึงยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่ได้อีกเรื่อยๆ

สำหรับ Mercedes-Benz แล้ว รถยนต์ ที่ทำให้ลูกค้าจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจ Upgrade จากรถญี่ปุ่น ขึ้นมาอุดหนุน Mercedes-Benz ในลักษณะ First time buyers ได้มากสุด กลับไม่ใช่ A-Class หากแต่เป็น GLA-Class รุ่น X156 เดิม ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า ช่วงปี 2016 – 2017 เราพบเห็น GLA ใหม่ แล่นกันเต็มถนนในเขตกรุงเทพมหานคร และตามเมืองใหญ่ๆ กันเลยทีเดียว

มาถึงวันนี้ GLA ใหม่ออกสู่ตลาดได้พักใหญ่ แต่กลับ ไม่ค่อยพบเห็นบนท้องถนนมากเท่ากับคู่แข่งโดยอ้อม อย่าง BMW X1 ซึ่งหลายคนมองเรื่อง Option กับราคา เป็นหลัก แต่ถ้าเราไม่ได้มองแค่ประเด็นนี้เพียงอย่างเดียว หลายคนคงอยากรู้ว่า GLA มีอะไรที่ทำให้น่าจะนำมาอยู่ในตัวเลือกระหว่างการตัดสินใจได้บ้าง?

ผมกับพี่จิม นำ GLA ใหม่ ทั้ง 2 รุ่น คือ GLA 200 และ Mercedes AMG GLA 35 มาทดลองขับกันในช่วงเวลาต่างกัน และทำให้เราพบว่า จริงๆแล้ว GLA ใหม่ ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม ในแทบทุกด้าน เพียงแต่ว่า มันจะดีพอในสายตาของลูกค้าที่คิดจะมองหา Premium SUV ขนาดเล็กคันแรกในชีวิตมากน้อยแค่ไหน ผมจะพาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบกัน

แต่ก่อนอื่น ตามธรรมเนียมของ Headlightmag เราคงต้องย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้น ของ GLA กันสักเล็กน้อย

Mercedes-Benz เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้าง Crossover SUV ขึ้นบนแพลตฟอร์ม MFA (Modular Front-wheel Architecture Platform) เจเนอเรชันแรก อันเป็นพื้นฐานของรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดเล็ก เพื่อเติมเต็มรถยนต์ตระกูล GL (Geländewagen) ให้ครบทุกขนาด และเพื่อตอบความต้องการของเหล่าบรรดาลูกค้าที่นิยมชมชอบรถใต้ท้องสูง หนีน้ำท่วม อันเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1995 และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ปล่อยให้คู่รักคู่แค้นแดนเทพนิยายอย่าง BMW สำราญเริงใจไปกับการกอบโกยผลกำไรจาก X1 โฉมแรก (E84) ที่รุดหน้าทำตลาดไปก่อน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2009

แนวคิดดังกล่าว เริ่มเผยให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อ Daimler AG ตัดสินใจยิงภาพ Teaser ชุดแรกของรถยนต์ต้นแบบ Mercedes-Benz Concept GLA ขึ้นบนสื่อ On-line เพื่อเป็นการหยั่งกระแสตอบรับ ก่อนจะนำไปโชว์ตัวครั้งแรกในโลก ตัดหน้าการมาถึงของ BMW X1 รุ่นปรับโฉม LCI ที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ภายในงาน Shanghai Auto Show 2013 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 29 เมษายน 2013

จากนั้น เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Mercedes-Benz GLA รุ่นแรก ที่มาพร้อมรหัสตัวถัง X156 ก็ถูกเปิดตัวสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในโลก ตามมาติดๆ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2013 ที่งาน Frankfurt Motor Show 2013 ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะเริ่มเปิดให้สั่งจองในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน แต่กว่าจะเริ่มส่งมอบรถคันแรกให้ลูกค้าได้ ก็ต้องรอจนถึงช่วงต้นปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ GLA เวอร์ชันอเมริกา และญี่ปุ่นเปิดตัวตามๆกันมา

GLA-Class รุ่นแรก (X156) มาพร้อมตัวถังภายนอกที่มีความยาว 4,443 มิลลิเมตร กว้าง 1,804 มิลลิเมตร สูง 1,483 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร

ฝั่งบ้านเรา Mercedes-Benz (Thailand) เริ่มนำเข้า GLA เข้ามาจำหน่าย พร้อมจัดงานเปิดตัว ในงาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2014 ประเดิมตลาดด้วยรุ่นนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน GLA 200 Urban วางเครื่องยนต์รหัส M270 เบนซิน 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.6 ลิตร 1,595 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.0 x 73.7 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.3 :1 กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.47 กก.-ม.) ที่ 1,250 – 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 7G-DCT ติดป้าย ราคา ไว้ที่ 2,440,000 บาท

จากนั้น GLA รุ่นประกอบในประเทศ (SKD : Semi-knocked down) ถูกเปิดตัวตามออกมา ยั่วน้ำลายลูกค้าที่กำลังมองหารถญี่ปุ่นระดับราคา 1 ล้านกลาง ถึง 2 ล้านต้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2015 หั่นราคา GLA 200 Urban ลงมาเหลือ 2,090,000 บาท ทำตลาดควบคู่ไปกับรุ่นย่อยใหม่ อย่าง GLA 250 AMG Dynamic เครื่องยนต์ รหัส M270 เบนซิน 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.8 :1 กำลังสูงสุด 211 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,200 – 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 7G-DCT ราคา 2,440,000 บาท เท่า GLA 200 Urban รุ่นนำเข้าเป๊ะ เล่นเอาลูกค้าที่ซื้อไปก่อนหน้านั้นเคืองไปตามๆ กัน (ปลายปี 2016 ปรับราคา GLA250 ลงเหลือ 2,390,000 บาท)

อีก 3 ปีต่อมา GLA รุ่นปรับโฉม Facelift ของ Global Version ก็ถูกส่งไปเปิดตัวที่งาน Detroit Motor Show ในเดือนมกราคม ปี 2017 มีการปรับดีไซน์เปลือกกันชนหน้า – หลัง ปรับรายละเอียดไฟหน้า – ไฟท้าย เพิ่มสีตัวถังภายนอก Canyon Beige และเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยเข้าไป อาทิ กล้องมองภาพรอบคัน ระบบเตือนการชนด้านหน้า Attention Assist และระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ Active Brake Assist เป็นต้น ส่วนเวอร์ชันไทยก็รีบปรับตามอย่างทันควัน เมื่อ 21 กรกฎาคม 2017 แต่ยังคงราคาจำหน่ายของ GLA ทั้ง 2 รุ่น เอาไว้เท่าเดิม เพื่อต่อกรกับ BMW X1 (F48) รุ่นใหม่ ในขณะนั้น โดยใช้เครื่องยนต์เดิม ทั้ง 2 แบบ

การมาถึงของ GLA เจเนอเรชันแรก ในคราวนั้น ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นแสลง เรียกว่า “ปัง” ทีเดียว การถอยห่างจากงานดีไซน์ภายนอกทรงกล่อง 4 เหลี่ยม ตลอดจนเส้นสายอันแข็งกร้าว แบบที่พบได้ใน SUV รุ่นพี่ ทั้ง GLK-Class, M-Class หรือแม้แต่ GL-Class หันมาเอาดีทางด้านความเฉี่ยว ความชิค เน้นสไตล์ รวมถึงการวางตำแหน่งให้เป็น Entry Level Model สำหรับคนที่มองหารถระดับ Premium คันแรกของชีวิต ล้วนแต่มีส่วนช่วยให้ GLA รุ่นแรก มียอดขายสะสมทั่วโลกแซงหน้า BMW X1 ไปอย่างขาวสะอาด

ถึงแม้ว่า GLA เจเนอเรชันแรก จะทำหน้าที่เรียกแขก (ที่แปลว่า ลูกค้า) ได้อย่างดี จนทำให้มียอดขายในภาพรวมทั่วทั้งโลก อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ทำให้ไปไม่สุด เสียงจากลูกค้าอีกหลายราย ทั้งผู้ที่ซื้อไปแล้ว รวมถึงคนที่กำลังตัดสินใจอยู่ ต่างมองว่าดีไซน์ของ GLA รุ่นแรก ยังขาดมาด SUV อยู่ มองแล้วยังเป็นได้แค่ A-Class ที่ยกสูงขึ้นมานิดเดียว ดูไม่ฉีกจาก A-Class ปกติ เท่าที่ควร หนำซ้ำยังมีภายในห้องโดยสารที่ห่างไกลจากคำว่าสบายอยู่หลายหมื่นหลี้

Mr.Axel Heiz หัวหน้าทีมพัฒนารถยนต์ Compact Car ตลอดจนทีมวิศวกรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้าง GLA รุ่นใหม่ ถึงกับต้องหยิบยกประเด็นเรื่องการออกแบบขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง จนเป็นเหตุผลที่ทำให้ GLA รุ่นปัจจุบัน เจเนอเรชันที่ 2 มีกลิ่นอายความเป็น SUV ทั่วไป ติดอยู่บนงานดีไซน์ภายนอกมากขึ้น

Mercedes-Benz GLA เจเนอเรชันที่ 2 รหัสตัวถัง W177 เป็นรถยนต์รุ่นที่ 8 และคาดว่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย ที่ถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม MFA2 (Modular Front-wheel Architecture Platform 2nd Generation) ตามแผนกลยุทธ์เพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ที่หลากหลายมากขึ้นให้ได้ครบที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดโดยเร็วต่อการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ในแต่ละเจเนอเรชัน

รูปลักษณ์ภายนอก รังสรรค์ขึ้นจากปลายปากกานักออกแบบที่นำทีมโดย Mr.Gorden Wagener เป็นการนำปรัชญา Sensual Purity มาผสมกับกลิ่นอายของรถแนว Off-road ทำให้ภาพรวมดูฉีกไปจากรุ่นเดิมพอสมควร เห็นได้จากความสูงของแนวหลังคาที่เพิ่มขึ้นราวๆ 104 มิลลิเมตร รวมถึงกระจกหน้าต่างด้านข้างที่เปลี่ยนมาเป็นแบบ 6 Windows ตามแบบฉบับรถ SUV ทั่วๆ ไป

นอกจากนี้ การขยายมิติตัวรถ ทั้งความกว้าง ความสูง ตลอดจนยืดระยะฐานล้อออกไปอีก ยังช่วยให้ GLA ใหม่ มีพื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้าง ปรอดโปร่ง มากขึ้นกว่ารุ่นเดิม แถมยังมีพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายใหญ่โตขึ้นอีกเป็นกอง

อย่างไรก็ตาม แม้มิติตัวรถโดยรวมจะใหญ่โตโออ่าขึ้น แต่ความยาวจากปลายกันชนหน้าถึงกันชนหลังกลับสั้นลงกว่ารุ่นที่แล้ว เนื่องจากระยะ Overhang ทั้งด้านหน้าและด้านหลังถูกบีบให้สั้นลง เพื่อเพิ่มมุมไต่ (Approach Angle) และมุมจาก (Departure Angle) ในกรณีที่ต้องลุยทางวิบาก และคงไว้ซึ่งความกะทัดรัด ใช้งานได้อย่างคล่องตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนซื้อรถไซส์เล็กคาดหวังด้วยเช่นกัน

ส่วนใครก็ตามที่หวังว่าจะได้เห็นเวอร์ชันท้ายลาดตามออกมาในช่วงเวลาหลังจากนี้ ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย ประเด็นนี้ Mr.Axel Heiz บอกกับนักข่าวสายยานยนต์ต่างประเทศ ว่าพวกเขาจะไม่ทำ GLA Coupe ออกมาอย่างแน่นอน เนื่องจากความต้องการรถประเภทนี้ไม่ได้เยอะนัก ที่สำคัญยอดขายของ BMW X2 (F39) ก็เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี อีกทั้งจะว่าไปแล้ว GLA รุ่นนี้ ก็เปรียบเสมือนเป็นตัวถัง Coupe ให้กับ Mercedes-Benz GLB-Class ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้โดยปริยาย อยู่แล้ว

Mercedes-Benz GLA เจเนอเรชันที่ 2 ถูกเปิดตัวครั้งแรกให้ชาวโลกได้ยลโฉมพร้อมกันสดๆ ในรูปแบบ Digital World Premier โดยมีบอสใหญ่คนใหม่แห่งอาณาจักร Daimler AG นามว่า Mr.Ola Kallenius และ Mr.Gorden Wagener หัวหน้าฝ่ายออกแบบ มากล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและจุดเด่นของตัวรถสั้นๆ เพียง 15 นาที เท่านั้น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2019 ก่อนเวอร์ชันขายจริง ซึ่งออกจากสายการผลิต ณ โรงงานใน Rastatt ประเทศเยอรมนี จะถูกส่งขึ้นโชว์รูมในประเทศแถบยุโรป ในช่วงต้นปี 2020 แล้วค่อยเริ่มทำตลาดในสหรัฐอเมริกา และขึ้นสายการผลิตใน จีน ตามลำดับ

ฝั่งบ้านเรา Mercedes-Benz (Thailand) ตัดสินใจนำ GLA ใหม่ มาขึ้นสายการประกอบ ณ โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ (TAAP) ตั้งแต่ล็อตแรก ไม่ใช้วิธีการดั้งเดิมที่นำเข้ารุ่น CBU เข้ามาทำตลาดก่อนในช่วงแรก แบบรถยนต์รุ่นก่อนๆ พร้อมจัดอีเว้นท์เล็กๆ ให้นักข่าวสายยานยนต์ได้ยลโฉมรถคันจริงของ GLA ใหม่ แถมด้วย A-Class Sedan รุ่นประกอบในประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020  ณ โรงแรม Four Season โดยเบื้องต้นจะมีเพียงรุ่นย่อยเดียวให้เลือกคือรหัส GLA 200 มาพร้อมกับการตกแต่งแบบ AMG Optical หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ AMG Dynamic สนนราคาจำหน่ายอยู่ที่ 2,399,000 บาท

หลังจากที่ GLA 200 AMG Dynamic ทำตลาดไปได้ระยะหนึ่ง ความพยายามอย่างยิ่งยวดของ Mercedes-Benz (ประเทศไทย) ในขยับขยายแบรนด์ ​AMG ให้โตอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้เวอร์ชันตัวแรงอย่าง Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC ถูกส่งเข้ามาประกอบและทำตลาดในประเทศไทย เสริมทัพ Mercedes-AMG ในบ้านเราให้แข็งแกร่งขึ้น เอาใจลูกค้าผู้บูชาดวงดาวและรักความแรงแต่อยากเซฟเงินในกระเป๋า ครองตำแหน่งน้องนุชสุดท้องในตระกูล AMG ที่มีค่าเนื้อค่าตัวถูกที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถูกกว่าอดีต Baby AMG อย่าง AMG CLA 35 รุ่น CBU อยู่ราวๆ 809,000 บาท เลยทีเดียว

ต่อมา วันที่ 13 กรกฎาคม 2021 Mercedes-Benz (ประเทศไทย) เพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับตระกูล GLA ด้วยการส่ง GLA 200 Progressive รุ่นย่อยถูกสุด ถอดลูกเล่นแพรวพราวบางอย่างทิ้งไป แต่ยังไม่ถึงกับโล้นน่าเกลียด แล้วกดราคาต่ำลงอีก 200,000 บาท เหลือ 2,199,000 บาท ออกสู่ตลาด ทว่าดาวที่ขาดความแพรวพราวดูเหมือนจะไม่ต้องตาต้องใจสาวกเท่าไหร่นัก ล่าสุด วันที่ 3 ธันวาคม 2021 จึงมีการปรับอุปกรณ์ให้กับ GLA (MY 2022) เริ่มจากการอัพเกรดหน้าจอกลางเป็นแบบ All Digital Instrument Display เป็น ขนาด 10.25 นิ้ว 2 ตลอดจนเพิ่มไฟสร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร Ambient Light 64 สี ให้กับรุ่น Pr0gressive รวมถึงเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและระบบความปลอดภัยให้กับทั้งรุ่น Progressive และ AMG Dynamic อันประกอบด้วย

  • ระบบเปิด-ปิดฝาท้าย ด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชั่น Hand-free
  • ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา Blind Spot Assist
  • ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถแล่นเข้ามาด้านข้างขณะเปิดประตู Exit Warning
  • ระบบช่วยรักษารถให้อยู่ในช่องจราจร Active Lane Keeping Assist
  • ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive Highbeam Assist
  • แท่นชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย Wireless Charger

แม้ว่าราคาค่าตัวของ GLA (MY 2022) จะเพิ่มขึ้น 131,000 บาท ในรุ่น Progressive และเพิ่มขึ้น 81,000 บาท สำหรับรุ่น AMG Dynamic แต่เมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆ ที่ติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้นั้นควรค่าแก่การจ่ายเงินเพิ่มพอสมควรโดยเฉพาะระบบความปลอดภัย และคาดว่าน่าจะช่วยเรียกลูกค้า เดินเข้าโชว์รูม Mercedes-Benz ทั้ง 35 แห่ง ทั่วประเทศได้เพิ่มอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

***** มิติตัวถัง / Dimension *****

Mercedes-Benz GLA เวอร์ชันไทย (GLA 200 AMG Dynamic) มีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,410 มิลลิเมตร กว้าง 1,834 มิลลิเมตร สูง 1,611 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,729 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,605 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,606 มิลลิเมตร ระยะ Overhang ด้านหน้า 905 มิลลิเมตร และระยะ Overhang ด้านหลัง 776 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Mercedes-Benz GLA รุ่นเดิม (X156) ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,443 มิลลิเมตร กว้าง 1,804 มิลลิเมตร สูง 1,483 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร จะพบว่า GLA รุ่นใหม่ สั้นลง 33 มิลลิเมตร ก็จริง แต่กว้างขึ้น 30 มิลลิเมตร สูงขึ้นถึง 128 มิลลิเมตร แถมยังมีระยะฐานล้อยาวขึ้นอีก 29 มิลลิเมตร ด้วยเช่นกัน

หากลองนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง BMW X1 (F48) ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,447 มิลลิเมตร กว้าง 1,821 มิลลิเมตร สูง 1,598 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร จะพบว่า GLA สั้นกว่า 37 มิลลิเมตร แต่กว้างกว่า 13 มิลลิเมตร สูงกว่า 13 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า X1 อยู่ 59 มิลลิเมตร

เมื่อลองนำไปเทียบกับ Volvo XC40 ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,425 มิลลิเมตร กว้าง 1,863 มิลลิเมตร สูง 1,652 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,702 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า GLA เล็กกว่าทุกมิติ ทั้งความยาวที่น้อยกว่า 15 มิลลิเมตร แคบกว่า 29 มิลลิเมตร แถมยังเตี้ยกว่า 41 มิลลิเมตร แต่กลับมีระยะฐานล้อยาวกว่า XC40 อยู่ 27 มิลลิเมตร

หรือจะลองนำไปเทียบคู่แข่งฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Lexus UX ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,540 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,640 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า GLA สั้นกว่า UX ถึง 85 มิลลิเมตร แคบกว่า 6 มิลลิเมตร แต่สูงกว่า 71 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า 89 มิลลิเมตร

เมื่อดูจากตัวเลขมิติตัวถังภายนอกเทียบกับคู่แข่งหลายรุ่นจะพบว่า GLA ใหม่ มีขนาดใล่เลี่ยกันกับ Premium Compact Crossover รุ่นอื่นๆ ยกเว้นระดับของแนวหลังคาที่สูงอันดับต้นๆ เป็นรองแค่ XC40 ซึ่งมีลักษณะของตัวถังภายนอก เจียนจะเป็น Premium Compact REAL SUV อยู่รอมร่อแล้ว

***** รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior *****

ดีไซน์ภายนอกของ GLA 200 AMG Dynamic เป็นการตกแต่งแบบ AMG Bodystyling ด้านหน้าจะมาพร้อมกับกระจังหน้า Dimond Grille พร้อมสัญลักษณ์ดาวจม ซึ่งหลายคนคงจะคุ้นหูคุ้นตากันดีอยู่แล้วในรถยนต์ Mercedes-Benz ยุคใหม่ ด้านข้างขนาบด้วยชุดไฟหน้าแบบ LED High Performance พร้อมฟังก์ชั่นปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive Highbeam Assist

ดีไซน์ด้านข้างเป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงจาก GLA รุ่นเดิม อย่างเห็นได้ชัด เริ่มจากการเปลี่ยนงานออกแบบกระจกหน้าต่างมาเป็นแบบ 6-Windows ตลอดจนยกเส้นแนวหลังคา หรือ Roofline ให้สูงขึ้นกว่ารุ่นเดิม ทำให้มีบุคลิกความเป็น Crossover SUV แบบทั่วไปมากขึ้น แทนที่จะเป็นแค่ A-Class Hatchback ยกสูงขึ้นเล็กน้อยแบบรถรุ่นเดิม

บั้นท้ายมาพร้อมกับชุดไฟท้ายแบบ LED ทรง Freeform 2 ชิ้น ที่เริ่มนำมาใช้กับ GLC Facelift ชายล่างตกแต่งด้วยชุดแต่ง AMG พร้อมปลอกท่อไอเสียโครเมียม (ท่อหลอก) เหนือกระจกบังลมหลังเป็นสปอยเลอร์สีเดียวกับรถ พร้อมไฟเบรกด้วยที่ 3 แบบ LED

ล้ออัลลอยของรุ่น AMG Dynamic จะเป็นลาย 5 ก้านคู่ ขนาด 19 นิ้ว (48.3 เซนติเมตร) รัดด้วยยาง Continental ECO Contact ขนาด 235/50 R19 แบบธรรมดา ไม่ใช่ยาง Run-flat

ส่วนความแตกต่างภายนอกระหว่าง Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC และ Mercedes-Benz GLA 200 AMG Dynamic ได้แก่

  • กระจังหน้า AMG-Specific Radiator Grille หรือ Panamericana Grille พร้อมสัญลักษณ์ AMG
  • สัญลักษณ์ TURBO 4MATIC บริเวณแก้มข้างด้านหน้า
  • สัญลักษณ์ AMG ที่ฝากระโปรงท้าย
  • สปอยเลอร์หลัง AMG Spoiler Lip
  • ท่อไอเสีย AMG Exhaust System พร้อมปลายท่อไอเสียโครเมียมทรงกลม
  • ล้ออัลลอย AMG ลาย 5 ก้านคู่ ขนาด 19 นิ้ว รัดด้วยยาง Michelin Pilot Sport 4S ขนาด 235/50 R19
  • กุญแจรีโมทตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ AMG

ดูจากรายการอุปกรณ์ข้างต้นแล้ว บางคนจะเผลอคิดไปว่า การจ่ายเงินเพิ่มตั้งเกือบ 800,000 บาท เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวของกระหยุมกระหยิมแค่นี้ มันช่างดูไร้สาระสิ้นดี… คุณคิดผิดครับ

จุดต่างสำคัญของ AMG GLA 35 ไม่ได้อยู่รูปลักษณ์ภายนอก แต่อยู่รายละเอียดงานวิศวกรรมที่ทำบุคลิกการขับขี่ต่างออกไปเป็นรถคนละรุ่นกันเลย แถมยังมีลูกเล่นภายในห้องโดยสารอีกประมาณหนึ่งติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้เป็นของสมนาคุณให้กับคนที่กล้าจ่าย

แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดงานวิศวกรรม เราจะพาคุณมาดูภายในห้องโดยสารกันก่อน…

***** ภายในห้องโดยสาร  / Interior *****

เริ่มจาก ระบบกลอนประตู ทั้ง 2 รุ่น เป็นกุญแจรีโมท KEYLESS-GO พร้อมกุญแจลับ Wave Key ฝังตัวอยู่ด้านใน สำหรับใช้เป็นกุญแจสำรองในยามแบตเตอรี่หมด หรือใช้ล็อกกล่องเก็บของ (Glove Compartment) ตลอดจนปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า

กุญแจรีโมทของ GLA 200 มีหน้าตาคล้ายๆ กับ Mercedes-Benz ยุคปัจจุบันรุ่นอื่นๆ คือเป็นกรอบสีเงินตัดกับสีดำ ทว่ากุญแจรีโมทของ AMG GLA 35 จะพิเศษกว่าตรงที่ ด้านหลังของกุญแจจะเป็นกรอบสีดำเงา พร้อมสัญลักษณ์  AMG

เมื่อพกกุญแจไว้กับตัว แล้วเดินเข้าใกล้รถ คุณสามารถเอื้อมมือไปจับมือเปิดประตู เพื่อสั่งให้ระบบปลดล็อกประตูได้อัตโนมัติ ได้ทั้ง 4 บาน หากต้องการสั่งล็อก ก็แค่สัมผัสที่ช่อง 4 เหลี่ยมเล็กๆ ด้านข้างมือจับประตู หรือจะสั่งล็อก – ปลดล็อก โดยการกดปุ่มที่กุญแจรีโมทก็ได้เช่นกัน

ช่องทางเข้า – ออก กว้างกว่า GLA รุ่นที่แล้วพอสมควร ระยะห่างจากธรณีประตูจนถึงขอบประตูด้านบนสูงประมาณ 1 เมตร โอกาสที่หัวของคุณจะไปเฉี่ยวชนกับขอบประตูด้านบนขึ้นอยู่กับว่าความสูงของเบาะนั่งที่ปรับตั้งเอาไว้อยู่ที่ระดับใด หากปรับเบาะนั่งไว้ในตำแหน่งต่ำสุด การเข้าออกจากตัวรถนั้นจะง่ายดาย แถมสบาย Hair เอามากๆ ถึงกระนั้นก็ยังสะดวกไม่เท่า Volvo XC40 ที่มีเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ตั้งชันกว่าอยู่ดี

บานประตูส่วนบนเป็นวัสดุบุนุ่ม เดินตะเข็บด้ายสีแดง พนักวางแขนด้านข้างประตูมีการเสริมฟองน้ำมาให้เล็กน้อย แล้วหุ้มทับด้วยผ้า DYNAMICA Microfiber ตำแหน่งวางแขนอยู่ในระดับกำลังดี เมื่อคุณปรับเบาะนั่งลงไปในตำแหน่งต่ำสุด สามารถวางแขนได้สบายตั้งแต่ข้อศอกจรดปลายนิ้ว

รุ่น GLA 200 จะใช้ trim การตกแต่งเหนือมือจับเปิดประตูเป็นลายกราฟฟิกคาร์บอน Carbon-structure trim ทว่า AMG GLA 35 จะเป็นแบบ Light Longitudinal-grain Aluminum สีเงิน แบบเดียวกับ A200 Sedan AMG Dynamic แผงประตูส่วนล่าง เป็นพลาสติกขึ้นรูปกัดลาย มีช่องวางของมาให้ พร้อมกับลำโพง Sub-Bass 1 ตำแหน่ง

 

เบาะนั่งคู่หน้าของทั้ง 2 รุ่น มีรูปทรงเหมือนกัน หุ้มด้วยวัสดุหนังสีดำ แซมด้วย DYNAMICA Microfiber เดินตะเข็บด้ายสีแดง เหมือนกันทั้งคู่ ตัวเบาะสามารถปรับได้ด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ทั้งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับองศาการเอนพนักพิงหลัง ปรับระดับสูงต่ำเบาะรองนั่ง ทั้งแบบยกขึ้นทั้งตัว และยกขึ้นเฉพาะส่วนที่รองรับข้อพับหัวเข่า นอกจากนี้ยังมีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ Memory Seat มาให้ 3 ตำแหน่ง แต่เฉพาะเบาะนั่งฝั่งคนขับเท่านั้น ที่จะมีตัวปรับดันหลัง 4 ทิศทาง มาให้

พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแน่น เมื่อขึ้นไปนั่งแล้วให้ความรู้สึกว่าเบาะแข็ง แต่มีความนุ่มในระยะยุบช่วงแรกนิดเดียว ปีกเบาะด้านข้างสูงกำลังดี สามารถล็อกตัวผู้ขับขี่ไซส์กลางไม่ให้เหวี่ยงไปมาขณะเข้าโค้งได้ดีประมาณหนึ่ง และยังพอมีพื้นทึ่ซ้ายขวาพอให้ขยับตัวไปมาได้อีกเล็กน้อย ตัวปรับดันหลัง หรือ Lumbar Support สามารถปรับการดันเยอะเลยทีเดียว อีกทั้งยังเลือกปรับความสูงต่ำได้ จึงทำให้การรองรับแผ่นหลังทำได้เหมาะสมกับผู้ขับขี่ที่มีสรีระร่างกายแตกต่างกัน

พนักพิงศีรษะ ปรับระดับสูง ต่ำ ได้ และปรับองศาการดันหัวได้ ขึ้นรูปด้วยฟองน้ำที่แน่น แต่มีความนุ่มในช่วงยุบตัวช่วงแรกๆ ให้สัมผัสได้ จึงทำให้รู้สึกไม่ถึงกับแข็งมากเกินไป

เบาะรองนั่งสามารถปรับยกขึ้นทั้งตัว จากตำแหน่งเตี้ยสุด ราวๆ 2 นิ้ว หรือจะปรับให้เงยขึ้นเฉพาะส่วนที่รองรับข้อพับหัวเข่าก็ได้เช่นกัน ตัวเบาะรองนั่งมีความยาวพอประมาณ สามารถรองรับต้นขาได้เกือบถึงข้อพับ แต่ถ้ายืดส่วนขยายออกมาอีกราวๆ 1.5 นิ้ว ก็จะชนกับข้อพับพอดี ปีกด้านข้างถูกยกขึ้นมาให้สูงกว่าเบาะรองนั่งนิดหน่อย แต่ระยะห่างซ้ายขวาค่อนข้างแคบ จึงทำให้นั่งแล้วรู้สึกบีบช่วงสะโพกด้านล้างและด้านข้างต้นขาเล็กน้อย นอกจากนี้ ระยะสูงสุด – ต่ำสุด ที่ตัวเบาะสามารถปรับได้ มีมากถึง 2 นิ้ว ตามสไตล์รถ Crossover ดังนั้น จึงตอบโจทย์ได้ดีสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกหลากหลายไซส์

ภาพรวมของเบาะนั่งคู่หน้า นั่งแล้วค่อนข้างแข็ง กระชับลำตัวพอประมาณ ด้วยความที่ตัวเบาะนั้นสามารถปรับได้หลากหลายทิศทาง การปรับอิริยาบถท่านั่งขับทางไกลจึงไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไหร่ ถ้าเทียบกันกับคู่แข่งแล้ว เบาะนั่งคู่หน้าของ GLA ทั้ง 2 รุ่น ถือว่าทำออกมาดีกว่า BMW X1 แต่ยังนั่งไม่สบายเท่ากับคู่แข่งอย่าง Volvo XC40 และ Lexus UX 250h

ช่องทางเข้า – ออก บานประตูคู่หลังเล็กกว่าและแคบกว่า GLA รุ่นเดิมชัดเจน แต่น่าแปลกว่า รูปทรงกรอบช่องประตูกลับเอื้ออำนวยต่อการเข้าไปนั่ง – ลุกออกมา จากตัวรถได้ไม่ยากเย็นนัก แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยช่วงกว้างของช่องประตูครึ่งท่อนล่าง ช่วงระยะห่างจากมุมเบาะรองนั่งถึงเสาหลังคาคู่กลาง ตีบแคบไปนิดนึง อาจจะทำให้การยกเท้าก้าวเข้าไปในรถลำบากสักหน่อย โดยเฉพาะสุภาพบุรุษผู้มีไซส์รองเท้าเกิน 42 ขึ้นไป

แผงประตูคู่หลังตกแต่งคล้ายแผงประตูคู่หน้า ส่วนบนเป็นวัสดบุนุ่ม หุ้มหนังสีดำ เดินตะเข็บด้ายแดง ส่วนพนักวางจะหุ้มด้วยผ้า DYNAMICA microfiber แต่ไม่มี trim ตกแต่ง Carbon-structure trim หรือ แบบ Light Longitudinal-grain Aluminum มาให้เหมือนด้านหน้า การวางแขนทำได้ไม่ถึงกับสบายนัก แม้ว่าแผงด้านข้างประตูจะมีพื้นที่กว้างพอสำหรับวางท่อนแขนได้ แต่ก็ต้องเลื่อนข้อศอกเยื้องไปทางด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ข้อศอกไปชนกับแผงพลาสติกที่ออกแบบเชื่อมกันระหว่างแผงประตูกับพนักพิงเบาะหลัง จะว่าไปแล้วปัญหานี้มันก็คล้ายกับ Honda Civic FC ที่เพิ่งตกรุ่นไปไม่มีผิด

ด้านล่างของแผงประตูคู่หลัง มีช่องติดตั้งลำโพง และมีช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท 1 ตำแหน่งส่วนกระจกหน้าต่างคู่หลัง แม้ว่าจะเป็นแบบ Auto One-touch เหมือนกันกับคู่หน้า แต่ด้วยการออกแบบโครงสร้างบานประตู ทำให้ไม่สามารถเลื่อนลงมาจนสุดขอบล่างได้

 

เบาะนั่งด้านหลังหุ้มด้วยวัสดุหนังสีดำ แซมด้วย DYNAMICA Microfiber เดินตะเข็บด้ายสีแดง เช่นเดียวกับเบาะคู่หน้า สามารถแยกพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 โดยกดปุ่มปลดล็อกที่บริเวณบ่าด้านบนของพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนพนักพิงศีรษะมีมาให้ครบทุกตำแหน่ง พร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด แต่ที่นั่งตรงกลางไม่มีพนักวางแขนพร้อมที่วางแก้วน้ำมาให้ ครั้นจะพับพนักพิงตรงกลางลงมาใช้งานก็ดันอยู่ในตำแหน่งเตี้ยเกินกว่าที่จะวางแขนได้สบายๆ

พนักพิงหลังมีมุมเอนกำลังดี บริเวณที่รองรับแผ่นหลังมีการปาดเว้าเป็นแอ่งลงไปเล็กน้อย แม้จะไม่ได้รู้สึกเหมือนโดนโอบกระชับลำตัวมากสักเท่าไหร่ แต่กระนั้นก็ไม่รู้สึกเหมือนนั่งอยู่แผ่นไม่กระดานอันแบบราบเฉกเช่นที่เบาะหลังของ BMW X1 เป็น

พนักพิงศีรษะใช้ฟองน้ำค่อนข้างนุ่ม ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ทำหน้าที่รองรับศีรษะและต้นคอได้ดี ทั้ง 3 ตำแหน่ง

เบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำสไตล์เดียวกันกับเบาะนั่งคู่หน้า คือมีความแน่น นั่งแล้วไม่ยวบ แต่มีระยะยุบตัวช่วงแรกให้พอสัมผัสได้ถึงความนุ่ม เบาะรองนั่งมีความยาวปานกลางค่อนไปทางยาว องศามุมเงยกำลังเหมาะสม ตำแหน่งตืดตั้งอยู่สูงจากพื้นห้องโดยสาร ทำให้ไม่ต้องนั่งชันเข่า

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูงราวๆ 173 ซม. อย่างผม เหลือพื้นที่ 5 นิ้วในแนวนอน ซึ่งถือว่าเยอะใช้ได้เลยทีเดียว แต่สำหรับคนตัวสูงเกิน 180 ซม. หัวอาจเฉี่ยวชนเพดานอยู่หน่อยๆ หากนั่งแบบไถลก้นไปข้างหน้าเล็กน้อย ก็จะไม่มีปัญหาอะไร

พื้นที่วางขา หากปรับเบาะนั่งด้านหน้าไว้ที่ตำแหน่งผมขับเอง จะมีพื้นที่วางขาเหลือๆ กันเลยทีเดียว ระยะห่างจากหัวเข่าจนถึงด้านหลังสุดของพนักพิงหลังเบาะหน้า สามารถสอดมือถือ iPhone 11 Promax ซึ่งมีความยาวประมาณ 16 เซ็นติเมตร ได้สบายๆ เลย นอกจากนี้ ช่องว่างใต้เบาะนั่งคู่หน้า ยังมีขนาดกว้างสะใจ ผู้โดยสารด้านหลังวางเท้าได้ แถมยังขยับไปมาได้สบายๆ

ฝาท้ายของ GLA นั้น ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ฝั่ง และมีแผงบังสัมภาระ แขวนด้วยเชือก เกี่ยวกับตะขอทั้ง 2 ฝั่ง หากเป็นรุ่น GLA 200 ช่วงแรก ยังไม่มี ระบบเปิด-ปิดฝาท้าย ด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชั่น Hand-free ซึ่งเป็นระบบที่จะพบได้เฉพาะในรุ่น AMG GLA 35 เท่านั้น ทว่า ตั้งแต่ วันที่ 3 ธันวาคม 2021 เป็นต้นมา จะเพิ่มระบบดังกล่าวมาให้ ใน GLA 200 ด้วยแล้ว (ในภาพ เป็นของรุ่น AMG GLA 35)

ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายมีความจุ 435 ลิตร และ 1,430 ลิตร เมื่อพับเบาะ (มาตรฐาน VDA เยอรมนี) แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงนึกภาพไม่ออกว่า ความจุ 435 ลิตร นั้น พอที่จะบรรทุกอะไรได้บ้าง งานนี้ผมเลยลองเอาเครื่องมือวัดมาวัดกันให้ดูกันไปเลย ผลปรากฎว่า…

ระยะจากขอบบานฝาท้ายถึงพนักพิงเบาะนั่งแถวหลัง 803 มิลลิเมตร ระยะจากผนักด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง 1,050 มิลลิเมตร แต่หากต้องการบรรทุกสัมภาะระที่มีขนาดใหญ่โตว่านี้ จำเป็นต้องพับพนักพิงเบาะแถวหลังลง ซึ่งก็ไม่ได้ราบไปกับพื้นเท่าที่ควร แต่ก็พอจะมีระยะให้วางของที่มีความยาว ระดับ 1,580 – 1,590 มิลลิเมตร ได้ โดยไม่ไปรบกวนการนั่งของผู้โดยสารด้านหน้า

แผ่นรองพื้นห้องเก็บสัมภาระสามารถปรับให้เตี้ยลง ช่วยเพิ่มระยะจากพื้นถึงเพดานหลังคาได้อีกราวๆ 70 มิลลิเมตร เมื่อเปิดแผ่นรองพื้นที่ห่อหุ้มด้วยพรมสากๆ ขึ้น จะพบกับอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งานมา อันได้แก่ ชุดปะยางฉุกเฉิน TIREFIT แม่แรงยกรถ ตะขอเกี่ยวลาก นอกจากนี้ ยังมีถาดสำหรับวางของที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่พอจะวางพวกของสด ของคาว หรือถุงทุเรียนที่แกะเรียบร้อยแล้ว เพื่อกันไม่ให้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์เล็ดลอดออกไปทำอันตรายต่อประสาทรับกลิ่นของคุณหรือคนอื่นๆ

แผงหน้าปัดยังคงเป็นความพยายามในการผสมผสานความเรียบง่ายเข้ากับความอลังการดาวล้านดวงของจอแสดงข้อมูล และช่องแอร์แบบ Jet Turbine ตามสไตล์ Mercedes-Benz ยุคร่วมสมัย เช่นเดียวพี่ๆ น้องๆ ของมัน หน้าจอแสดงผลตรงกลาง 10.25 นิ้ว และหน้าจอชุดมาตรวัด 10.25 นิ้ว ที่ถูกจับมัดรวมกัน ยังคงโผล่มาให้เห็น การเอาจอไปวางอยู่บนแผงหน้าปัดดูเหมือนง่าย แต่หากสิ่งที่อยู่รอบข้างมันไม่ไปด้วยกัน ของทันสมัยอาจกลายเป็นส่วนเกินที่หูรกหูตาเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน แต่กับ Mercedes-Benz หลายรุ่น รวมถึง GLA  มันไม่ได้ดูรกหูรกตาแบบนั้น

ดูเหมือนว่า GLA รุ่นปัจจุบัน จะเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้ใช้จอยาว รุ่นถัดจากนี้คาดว่าจะเปลี่ยนไปใช้หน้าจอกลางทรง 4 เหลี่ยมผืนผ้า แบบเดียวกับ S-Class (W223) และ C-Class (W206) ไม่นับรถไฟฟ้าตระกูล EQ รุ่นเรือธง ที่จะมาพร้อมหน้าจอ MBUX Hyperscreen 64 นิ้ว ซึ่งล้ำอนาคตขึ้นไปหลายขั้น

การจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่างจะเป็นหน้าจอ แผงสวิตช์ควบคุมเครื่องปรับอากาศ เป็นสิ่งที่คุ้นตากันดีในบรรดารถตระกูล A-Class และ B-Class แต่ถ้าลองสังเกตุดูดีๆ จะพบว่าแต่ละรุ่น มีจุดแต่งต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่ ไฟ Ambient Light 64 เฉดสี อันเป็นจุดเด่นสำคัญที่สร้างความวิลิศมาหราให้แก่ภายในห้องโดยสาร ยังคงมีมาให้ครบถ้วน แต่แนวเส้นและการจัดวางจะมีความต่างออกไปจาก A-Class อยู่ประมาณหนึ่ง ตามลักษณะการออกแบบแผงแดชบอร์ดและแผงประตู

ความแจ่มจันทร์ของไฟ Ambient Light บวกกับความ Premium ในระดับเริ่มต้นของคุณภาพวัสดุบุนุ่มที่ประเคนมาให้ตามจุดต่างๆ อาจทำให้คุณรู้สึกดี จนกระทั่งหันไปมองบนเพดานหลังคาแล้วพบว่า หลังคากระจก Panoramic Glassroof ที่เคยเป็นของเล่นใน GLA 250 รุ่นที่แล้ว มันหายไป เหลือเพียงแผงสวิตช์ควบคุมไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ (ซ่อนอยู่ใต้กระจกมองหลัง) แบบ LED สีเหลืองอำพัน พร้อมช่องเก็บแว่นตา รวมทั้งแผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด และไฟส่องแต่งหน้าในตัวทั้ง 2 ฝั่ง ตลอดจนสวิตช์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS ทั้งหมดนี้ มีมาให้ครบทั้ง 2 รุ่น

จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้าย

แผงควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ ประกอบด้วยสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลงของกระจกหน้าต่าง แบบ One-Touch ทั้ง 4 บาน พร้อมระบบป้องกันการหนีบ (Jam Protection) สวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้าง สามารถตั้งโปรแกรมให้กระจกมองข้างพับอัตโนมัติเมื่อล็อกรถ ด้านล้างของแผงควบคุม ในรุ่น AMG GLA 35 ซึ่งมาพร้อมกับฝาท้ายไฟฟ้า จะมีสวิตช์เปิด – ปิดฝาท้ายจากภายในรถมาให้

มือจับดึงเปิดประตูจากด้านในชุบด้วยสีเงิน มีสวิตช์ Central Lock ซ่อนอยู่ภายใน ถัดขึ้นไปด้านบน เป็นสวิตช์ปรับเบาะนั่งฝั่งคนขับ พร้อมระบบหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ Memory Seat 3 ตำแหน่ง ทำงามร่วมกับกระจกมองข้าง แต่ไม่ผูกเข้ากับคอพวงมาลัย ส่วนสวิตช์ปรับดันหลัง Lumbar Support 4 ทิศทาง แยกออกไปติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้างฐานรองเบาะ

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ เป็นสวิตช์เบรกมือไฟฟ้า EPB (Electronic Parking Brake) พร้อมฟังก์ชัน Auto Brake Hold และแผงสวิตช์ควบคุมระบบไฟส่องสว่าง ประกอบด้วย ไฟหน้าแบบเปิด – ปิดอัตโนมัติ ไฟตัดหมอกหลัง และสวิตช์ปรับความสว่างของหน้าจอชุดมาตรวัด

พวงมาลัยของทั้ง GLA 200 และ AMG GLA 35 เป็นแบบ 3 ก้าน ท้ายตัด ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ทั้งสูง – ต่ำ และระยะใกล้ –  ไกลจากลำตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) วงพวงมาลัยหุ้มด้วยหนัง Nappa เดินตะเข็บด้ายแดง ประดับด้วย trim สีเงิน มาพร้อมสวิตช์ Multi-function

สวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับควบคุมหน้าจอชุดมาตรวัด และระบบควบความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control แบบปกติ (Cruise Control จะทำงานเฉพาะในโหมด ESP ON ปกติเท่านั้น) ส่วนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย จะประกอบด้วยสวิตช์ควบคุมหน้าจอกลาง Center Screen สวิตช์รับสาย – วางสายโทรศัพท์ สวิตช์ปรับระดับและ Mute เสียง รวมถึงสวิตช์สังการด้วยเสียง

น่าเสียดายที่ AMG GLA 35 เวอร์ชันไทย ยังไม่ได้พวงมาลัยแบบ AMG Performance Steering Wheel ซึ่งจะหุ้มด้วยหนัง Nappa และ DINAMICA Microfibre มาให้ หน้าจอแสดงโหมดการขับขี่ 2 จอ พร้อมสวิตช์ปรับโหมดการขับขี่ AMG Steering Wheel Buttons และสัญลักษณ์ AMG แบบที่ติดตั้งมาใน AMG รุ่นอื่นๆ รวมถึง AMG CLA 35 รุ่น CBU

ก้านควบคุมที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมการทำงานของไฟเลี้ยว ควบคุมก้านปัดน้ำฝนที่กระจกบังลมหน้า พร้อมระบบฉีดน้ำล้างทำความสะอาด ส่วนก้านควบคุมที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นคันเกียร์ไฟฟ้า Shift-by-Wire ที่ Mercedes-Benz ติดตั้งมาในรถทุกรุ่น เริ่มตั้งแต่ E-Class W212 ยกเว้นบางรุ่น เช่น AMG A45 รุ่นที่แล้ว หรือ AMG GT ที่ยังแปะอยู่บนคอนโซลกลาง

หลังก้านพวงมาลัย มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Gearshift Paddles ติดตั้งมาให้ โดยก้านเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้น (+) จะอยู่ฝั่งขวา ส่วนก้านลดเกียร์ลง (-) จะอยู่ฝั่งซ้าย เมื่ออยู่ในโหมด M ระบบจะไม่ตัดการทำงานเข้าเกียร์ D ให้ จนกว่าจะกดก้าน Paddle Shift ฝั่งใดฝั่งหนึ่งค้างไว้

ปุ่ม Push Start / Stop Engine และปุ่มเปิด – ปิด ระบบ ECO Start/Stop จะอยู่ฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย ใกล้กับช่องแอร์ตรงกลาง

การจัดวางสวิตช์บนแผงประตูฝั่งคนขับ ไม่ว่าจะเป็นด้านบนสุดที่เป็นหน่วยความจำเบาะนั่ง Memory Seat 3 ตำแหน่ง หรือด้านสุดของพนักวางแขน ที่ประกอบด้วยสวิตช์ปรับมุมมอ สั่งพับ – กางกระจกมองข้าง รวมถึงสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลงของกระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน แบบ One-touch พร้อมระบบป้องกันการหนีบ (Jam Protection) ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ง่ายต่อการใช้งาน ทว่ามือจับดึงเปิดประตูจากด้านใน ซึ่งติดตั้งสวิตช์ Central Lock เอาไว้ด้วยนั้น ค่อนข้างเตี้ยและเยื้องมาทางด้านหลังมากไปเสียหน่อย

ชุดมาตรวัดของ GLA 200 เป็นหน้าจอ All-digital Instrument Display ขนาด 10.25 นิ้ว (26.03 เซนติเมตร) แบบเดียวกันกับ A 200 Sedan สามารถเลือกปรับ Theme การแสดงผลได้ 4 รูปแบบ ทั้ง Classic, Sport, Progressive และแบบเรียบง่าย ซึ่งแต่ละ Theme จะมีโทนสีแตกต่างกันออกไป ส่วนการจัดวาง Layout หน้าจอ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ วงกลมฝั่งขวา วงกลมฝั่งซ้าย และหน้าจอส่วนกลาง โดยแต่ละส่วนก็สามารถเลือกปรับค่าต่างๆ ได้หลากหลาย ผ่านสวิตช์ Touch pad บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา

เริ่มจากวงกลมฝั่งขวา ด้านล่างสุดจะเป็นมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้ ไม่ว่าจะเป็น มาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบเข็ม อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real-time และค่าเฉลี่ย หน้าจอแสดงผล ECO ระยะห่างจากรถคันข้างหน้า แผนที่ และหน้าจอ G-Force Meter

วงกลมฝั่งซ้าย ด้านล่างมีค่ามาตรฐานเป็น มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถเลือกให้แสดงได้ทั้ง มาตรวัดความเร็วแบบเข็ม นาฬิกาแบบอนาล็อกพร้อมวันที่ Trip Computer ข้อมูลการเดินทาง (ระยะเวลาและระยะทาง) ตลอดจนหน้าจอแสดงผลระบบความบันเทิง

ส่วนหน้าจอส่วนกลาง นอกจากจะมีตัวเลขอุณหภูมิภายนอก นาฬิกาติจิตอล และตำแหน่งเกียร์ แสดงเป็นค่ามาตรฐานแล้ว ยังสามารถเลือกปรับให้แสดงได้อีกหลายค่าเช่นกัน อาทิ Trip/ ODO Meter มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง หน้าจอ ECO และข้อมูลการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ชุดมาตรวัดของ AMG GLA 35 จะเพิ่มความแตกต่างอีกประการหนึ่งเข้ามา นั่นคือ มี Theme การแสดงผลแบบ Super Sport เพิ่มเข้ามาให้ โดยยังคงกดเลือกให้ หน้าจอทุก Pattern สามารถแสดงข้อมูล ทั้ง แรงม้า แรงบิด อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง อุณหภูมิน้ำมันเกียร์ ฯลฯ ให้เลือกเล่นได้ เหมือนกันทั้งหมด แม้ว่าหน้าจอจะดูล้ำขึ้นไปอีกขั้น แต่ถ้าให้พูดกันตามตรง ความง่ายต่อการอ่านค่า ยังสู้หน้าจอในโหมดปกติไม่ได้

จากฝั่งซ้าย เข้ามาฝั่งขวา

กล่องเก็บของใต้แผงหน้าปัดด้านหน้า ฝั่งผู้โดยสาร (Glove Compartment) มาพร้อมฝาปิดแบบหน่วงเปิด พร้อมไฟส่องสว่าง เมื่อเปิดออกมา จะพบกับช่องเก็บของที่ระยะกว้างราวๆ 1 ฟุต ส่วนความลึกนั้นไม่มากสักเท่าไหร่ มีการเพิ่มถาดยื่นออกมาสำหรับวางของชิ้นเล็ก ให้ง่ายต่อการมองเห็น

เครื่องปรับอากาศของทั้ง 2 รุ่น เป็นแบบอัตโนมัติ THERMATIC 1 โซน ปรับอุณหภูมิได้ต่ำสุดราวๆ 16 องศาเซลเซียส และปรับขึ้นไปสูงสุดได้ 28 องศาเซลเซียส หากเลื่อนสวิตช์ขึ้นไปอีกครั้งที่ตำแหน่ง HIGH จะเป็นการเปิด Heater

การไม่มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องผิดบาปสำหรับการเป็นรถ Crossover/SUV ในยุคนี้ แต่ช่องแอร์กลาง 3 ช่อง ที่วางเรียงกันเป็นด่านเจดีย์สามองค์นั้น สามารถกระจายความเย็นไปถึงผู้โดยสารด้านหลังได้ดีในระดับหนึ่ง

ทั้ง GLA 200 และ AMG GLA 35 จะมาพร้อมระบบมัลติมีเดีย MBUX (Mercedes-Benz User Experience) ซึ่งประกอบด้วย หน้าจอแสดงผลแบบ 3 มิติ ขนาด 10.25 นิ้ว การสั่งงานด้วยเสียง LINGUATRONIC หรือ และการอัพเดทระบบแบบ OTA (Over-The-Air) มีฟังก์ชันการทำงานหลักๆ ได้แก่ โทรศัพท์ ระบบนำทาง วิทยุ สื่อบันเทิง ไฟเรืองแสงภายในรถ ข้อมูลตัวรถ Mercedes Me และแอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งการตั้งค่าตัวรถ

ชุดเครื่องเสียงของ GLA 200 เป็นแบบมาตรฐาน ประกอบด้วย วิทยุ FM/AM การเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth และ USB รองรับการเชื่อมต่อ Android Auto และ Apple CarPlay แบบเสียบสาย USB และระบบนำทางผ่านดาวเทียม Navigation System 3 มิติ ติดตั้งลำโพงมาให้ 6 ตำแหน่ง ให้คุณภาพเสียงดีขึ้นกว่า A 200 Sedan อยู่นิดหน่อย จัดอยู่ในเกณฑ์ที่พอฟังได้

ขณะที่ชุดเครื่องเสียงของ AMG GLA 35 นั้น จะถูกอัพเกรดขึ้นไปใช้ระบบ Surround Sound ของ Burmester® Surround Sound System พร้อม Sub-Woofer ซึ่งแน่นอนว่ามีคุณภาพเสียงไฟเราะเสนาะหูกว่า และเก็บรายละเอียดของเสียงได้ดีกว่า GLA 200 อยู่หลายขุม ใกล้เคียงกับเครื่องเสียง Harman Kardon ที่ติดตั้งใน Volvo XC40 T5 Recharged

ทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมกล้องมองมองภาพด้านหลัง เมื่อเข้าเกียร์ถอย พร้อมเส้นกะระยะหมุนตามพวงมาลัย แต่ยังไม่มีกล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา มาให้ กระนั้น ยังมีระบบ ช่วยถอยหลังเข้าจอด PARKTRONIC มาให้ด้วย

ฟังก์ชันที่ผมชอบที่สุดบนหน้าจอ 10.25 นิ้ว นั่นคือการแสดงข้อมูลตัวรถและเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็น องศาการหักเลี้ยว เปอร์เซ็นต์การกดคันเร่ง/เบรก อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง อุณหภูมิน้ำมันเกียร์ กราฟแท่งแรงม้า แรงบิด แรงดันไฟแบตเตอรี่ รวมทั้งความดันในท่อร่วมไอดี (Turbo Boost นั่นแหละ) โชว์แบบ Realtime ครบๆ กันไปเลย มีมาให้ทั้ง GLA 200 และ AMG GLA 35

นอกจากนี้ AMG GLA 35 ยังมีหน้าจอ AMG Performance เพิ่มเข้ามาให้ ความพิเศษของมันก็คือ นอกจากจะมีฟังก์ชันหลักคล้ายๆ กันกับ GLA 200 แล้ว ยังมีหน้า G-Force Meter การถ่ายกำลังไปยังล้อทั้ง 4 การขยับตัวขึ้นลงของช่วงล่าง และหน้าจอระบบวัดแรงดันลมยางทั้ง 4 ล้อ Tyre Pressure/Temoerature Monitoring  มาให้ด้วย

หน้าจอทั้ง 2 ฝั่ง สามารถควบคุมได้จากสวิตช์บนพวงมาลัย และ Touch Pad บริเวณคอนโซลกลาง มีระบบ MBUX พร้อมฟังก์ชันสั่งงานด้วยเสียง LINGUATRONIC มาให้เช่นเคย

อีกลูกเล่นสำคัญ ที่น่าจะทำให้หลายๆคน ตกหลุมรัก GLA นั่นคือ ไฟสร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร Ambient Light ที่คุณสามารถเลือกได้มากถึง 64 สี และสามารถเลือกให้ตัวรถ เลือกสีและความสว่างของไฟ Ambient Light ให้กับคุณ ได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศการขับรถในยามค่ำคืน ไฟ Ambient Light นี้ จะมีมาให้ตั้งแต่รุ่นล่างสุด GLA 200 Pr0gressive กันเลยทีเดียว

คอนโซลกลางที่เชื่อมต่อจากส่วนล่างของแผงหน้าปัด 90% จะถูกปกคลุมด้วยวัสดุ Piano black เมื่อเลื่อนฝาปิดที่ด้านหน้าสุดไปข้างหน้า จะพบกับช่องเก็บของที่พอจะสามารถวางกุญแจ หรือโทรศัพท์มือถือได้ มี USB Port type C สำหรับเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือเข้ากับระบบความบันเทิงของตัวรถได้ และช่องชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า Power Outlet อย่างละ 1 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แบบมีสลักกันล็อก ป้องกันอเมริกาโนเย็น เพิ่มช็อต หกเลอะเต็มพรม

ถัดมาด้านหลังของช่องเก็บของ เป็นแผงควบคุมหน้าจอกลางแบบ Touch Pad ที่มีการตอบสนองต่อนิ้วค่อนข้างดี ซีกซ้ายของแผงควบคุม เป็นสวิตช์ปรับโหมดการขับขี่ Dynamic Select สวิตช์รูปกล้องและตัว P สำหรับเปิดใช้ระบบช่วยจอด สวิตช์รูปด้านหน้ารถสำหรับการเข้าถึงแบบรวดเร็ว หรือ shortcut ส่วนสวิตช์รูปดาว เป็นรายการโปรด ซึ่งสามารถปรับตั้งค่าได้ ส่วนซีกขวา เป็นสวิตช์หมุนปรับระดับเสียง หรือกด mute เสียง สวิตช์เข้าถึงระบบนำทาง เครื่องเสียง ตลอดจน โทรศัพท์

ถัดมาด้านอีกจะเป็นแท่นขึ้นขึ้นมาประมาณ 1 นิ้วครึ่ง สำหรับวางข้อมือขณะใช้งาน Touchpad ถึงจุดนี้ รุ่น AMG GLA 35 จะเพิ่ม สวิตช์ปรับการทำงานของเกียร์ (D/M) และ สวิตช์ปรับ ESP ทางด้านซ้ายของแป้นวางมือ และสวิตช์ปรับความหนืดของช็อกอัพ ที่ด้านขวา ของตัวแป้นวางมือ มาให้ (ไม่มีใน GLA 200)

พนักวางแขนที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง บุนุ่ม หุ้มด้วยหนังสีดำ พร้อมเดินตะเข็บด้ายสีแดง เมื่อกดปุ่มสีดำที่ล้อมกรอบด้วยวัสดุสีเงิน พนักวางแขนจะกางออกออกด้านข้าง เผยให้เห็นช่องเก็บของขนาดกำลังดีที่ด้านในหุ้มด้วยผ้าสักกะหลาดมาให้บางส่วน สามารถใส่กล่อง CD ได้ราวๆ 8 แผ่น และมีช่องชาร์จไฟแบบ USB type C มาให้ 1 ตำแหน่ง ช่องนี้ไม่สามารถเชื่อมข้อมูลจากมือถือเข้ากับตัวรถได้

ด้านหลังกล่องเก็บของคอนโซลกลาง ไม่มีช่องแอร์มาให้ มีแต่ ช่องเปล่าๆ และปลั๊ก USB มาให้ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง อีก 1 ตำแหน่ง

กระจกมองข้างที่ติดตั้งอยู่บริเวณมุมกระจกหน้าต่างคู่หน้า เป็นแบบ Wide Vision ส่วนปลายของกระจกทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะคล้ายเลนนูน ช่วยเพิ่มมุมมองด้านข้างให้กว้างขึ้น แต่ระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง Blind Spot Monitoring ซึ่งเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรจะมีให้ในรถทุกคันในยุคสมัยนี้ ก็ยังคงไม่มีมาให้ทั้งใน GLA 200 และ AMG GLA 35

ทัศนวิสัยรอบคันเมื่อมองจากตำแหน่งผู้ขับขี่ ด้านหน้ารถถือว่าโปร่งโล่ง เป็นผลมาจากกระจกบังลมหน้าที่มีขนาดใหญ่โต นอกจากนี้ ตำแหน่งเบาะนั่งที่ค่อนข้างสูงตามสไตล์รถ Crossover SUV แม้จะปรับอยู่ในตำแหน่งเตี้ยสุด ก็มีส่วนช่วยการกะระยะด้านหน้าค่อนข้างง่ายดาย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่เทอะทะ แต่การที่กรอบกระจกมองข้างอยู่ชิดกับมุมเสา A-Pillar มากเกินไปนั้น ก่อให้เกิดมุมอับสายตาด้านหน้าฝั่งขวาพอสมควร การเข้าโค้งขวา หรือวิ่งเลนสวน บางจังหวะอาจต้องชะโงกหัวเพื่อดูให้ชัวร์เสียก่อนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

เช่นเดียวกันกับฝั่งขวา มุมมองด้านซ้ายก็ได้รับผลกระทบจากตำแหน่งการติดตั้งกระจกมองข้างอีกเช่นกัน ทว่าระยะห่างจากตำแหน่งผู้ขับขี่ที่จนถึงกระจกมองข้างและเสา A-Pillar ฝั่งซ้ายที่มากกว่า ยังพอมีส่วนช่วยให้การบดบังสายตาลดลงได้เล็กน้อย

นอกจากนี้ Trim การตกแต่งลายกราฟฟิกคาร์บอน ใน GLA 200 หรือแม้แต่ Aluminum trim ใน AMG GLA 35 ดันอยู่ในระนาบเดียวกันกับกระจกมองข้างพอดี ทำให้เมื่อต้องวิ่งกลางแสงแดด โดยเฉพาะช่วงเวลากลางวัน เกิดเงาสะท้อนเข้ากระจกจนแอบน่ารำคาญอยู่บ้างเหมือนกัน

เสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar มีขนาดใหญ่ ตามการออกแบบโครงสร้างที่เน้นความ Rigidity และความปลอดภัย แต่กระนั้นแล้ว ทัศนวิสัยด้านหลังก็ยังถือว่าปลอดโปร่งใช้ได้ เมื่อเทียบกับ GLA รุ่นเดิม หรือคู่แข่งอย่าง XC40 ถือว่าทำได้ดีใกล้เคียง BMX X1

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ **********
********** Technical Information & Test Drive **********

ขุมพลังที่วางอยู่ใน GLA เวอร์ชันตลาดโลก จะใช้ร่วมกันกับพี่น้องร่วมแพลตฟอร์มขับหน้า MFA2 ซึ่งมีให้เลือกครบทั้ง ดีเซล เบนซิน และ Plug-in Hybrid โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

เบนซิน / Gasoline

GLA 180 (Singapore, Chinese, Japanese, UK, Taiwan, Switzerland, Germany, Italy, Spain, Nederland etc.)

เครื่องยนต์รหัส M282 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 136 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 200 นิวตันเมตร (20.39 ก.ก.-ม.) ที่ 1,460 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

GLA 200 (Singapore, Chinese, Hong Kong, India, Thailand, Indonesia, Philippines, Australia, UK, Brazil, Taiwan, Switzerland, South Africa, Germany, Mexico, Italy, Spain, Nederland, French etc.)

เครื่องยนต์รหัส M282 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) ที่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ มีให้เลือกทั้งขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

GLA 220 (South Korea)

เครื่องยนต์รหัส M260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 – 6,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร (30.6 ก.ก.-ม.) ที่ 1,600 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ มีให้เลือกทั้งขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

GLA 250 (Malaysia, Australia, UK, South Korea, Switzerland, Italy, Spain, USA, Nederland etc.)

เครื่องยนต์รหัส M260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 224 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.69 ก.ก.-ม.) ที่ 1,800 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ มีให้เลือกทั้งขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

AMG GLA 35 (Singapore, Chinese, Hong Kong, Thailand, Australia, Japanese, UK, Switzerland, Germany, Italy, Spain, USA, Nederland, French etc.)

เครื่องยนต์รหัส M260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Twin-scroll Turbocharger กำลังสูงสุด 306 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.78 ก.ก.-ม.) ที่ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ AMG SPEEDSHIFT DCT 8 G ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

AMG GLA 45 (South Korea, Switzerland, Germany, USA, Nederland etc.)

เครื่องยนต์รหัส M 139 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบผสม ทั้ง Port Fuel Injection และ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Twin-scroll Turbocharger กำลังสูงสุด 387 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 480 นิวตันเมตร (48.9 ก.ก.-ม.) ที่ 4,750 – 5,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ AMG SPEEDSHIFT DCT 8 G ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC+

AMG GLA 45 S (Singapore, Australia, Japanese, UK, Taiwan, Switzerland, Norway, Germany, Italy, Nederland, French etc.)

เครื่องยนต์รหัส M 139 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบผสม ทั้ง Port Fuel Injection และ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Twin-scroll Turbocharger กำลังสูงสุด 421 แรงม้า (PS) ที่ 6,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร (50.98 ก.ก.-ม.) ที่ 5,000 – 5,250 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ AMG SPEEDSHIFT DCT 8 G ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC+

ดีเซล / Diesel

GLA 180d (Germany, Italy, Nederland etc.)

เครื่องยนต์ รหัส OM654 Q DE 20 SCR ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 – 4,440 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (32.60 กก.-ม.) ที่ 1,400 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT ขับเคลื่อนล้อหน้า

GLA 200d (India, Japanese, UK, Norway, South Africa, Germany, Italy, Spain, Netherlands, French etc.)

เครื่องยนต์ รหัส OM654 ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 – 4,440 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (32.60 กก.-ม.) ที่ 1,400 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT ขับเคลื่อนล้อหน้า

– GLA 220d (UK, Germany, Italy, Spain, Nederland etc.)

เครื่องยนต์ รหัส OM654 ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,950 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 82.0 x 92.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 2,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ 8G-DCT  มีให้เลือกทั้ง ขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

EQ Power Plug-in Hybrid

– GLA 250e (UK, Switzerland, Norway, Germany, Italy, Spain, Nederland, French etc.)

เครื่องยนต์รหัส M282 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 160 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) ที่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า EQ Boost กำลังสูงสุด 102 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร ร่วมกำลังสูงสุดทั้งระบบ 218 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.88 ก.ก.-ม.) จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

Thai version

สำหรับขุมพลัง ของ GLA ใหม่ เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือก 2 ระดับความแรง

เริ่มต้นกันด้วย รุ่น GLA 200 AMG Dyanmic ซึ่งก็ยกขุมพลังบล็อกเดียวกันกับ A 200 Sedan AMG Dynamic ที่เราเคยทดลองขับไปแล้ว มาวางลงไปในห้องเครื่องยนต์กันทั้งยวง นั่นคือ ขุมพลัง ตระกูล M282 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง กลุ่ม Daimler AG. และกลุ่ม Renault-Nissan-Mitsubishi Alliance ปัจจุบันนี้ ขุมพลัง M282 นอกจากจะประจำการอยู่ใน A-Class, CLA-Class , GLA-Class และ GLB-Class แล้ว คุณยังสามารถพบเห็นเครื่องยนต์บล็อกนี้ วางอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้าของ Renault Clio และ Renault Captur (ภายใต้รหัส H5Ht) รวมทั้ง Nissan X-Trail กับ Nissan Qashqai เวอร์ชันยุโรป (ภายใต้รหัส HR13DDT)

สำหรับ GLA 200 เวอร์ชันไทย เป็นเครื่องยนต์ รหัส M282 DE 14 LA แบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged พร้อมระบบความร้อนของไอดีก่อนเข้าห้องเผาไหม้ หรือ Intercooler

เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร ใน Mercedes-Benz GLA 200 รุ่นที่แล้ว แม้รุ่นใหม่จะมีขนาดความจุกระบอกสูบลดลง ทว่าสัดส่วนพละกำลังต่อความจุเครื่องยนต์กลับเพิ่มขึ้นถึง 25% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ใช้ระบบอัดอากาศ Turbocharged ที่มีระบบควบคุม wastegate ด้วยไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมทั้งหมด ห้องเผ้าไหม้ได้รับการพัฒนาเพื่อลดแรงเสียดทานที่อาจก่อให้เกิด loss ในระบบ ด้วยการผนังเสื้อสูบด้วยเคลือบสารพิเศษที่มีชื่อเรียกว่า NANOSLIDE

นอกจากนี้ M282 ยังถือเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง บล็อกแรกของ Mercedes-Benz ที่ติดตั้งระบบ CDS (Cylinder Deactivation System) มาให้ ซึ่งจะหยุดการทำงานของวาล์วไอดี (Intake) และวาล์วไอเสีย (Exhaust) ที่กระบอกสูบ 2 และ 3 ชั่วคราวโดยอัตโนมัติ ในช่วง partial load รอบเครื่องยนต์ 1,250 – 3,800 รอบ/นาที ขึ้นอยู่กับการกดคันเร่ง และการเรียกใช้กำลังจากเครื่องยนต์ เพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น และลดการสึกหลอ ยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเทคโนโลยีนี้ มักจะพบได้ในเครื่องยนต์ V8 ที่ประจำการอยู่ในบรรดาตัวแรงจากตระกูล Mercedes-AMG

กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) มาเป็น Flat-torque ตั้งแต่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที เติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงแค่ระดับเบนซิน 95 และ Gasohol 95 E10 เท่านั้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ระดับ 140 กรัม/กิโลเมตร ตามที่ได้ผ่านการทดสอบและได้ระบุไว้ใน Eco Sticker ตามกฎหมายของรัฐบาลไทย มากกว่า A 200 Sedan ซึ่งอยู่ที่  130 กรัม/กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีระบบ Auto Stop & Go สั่งดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ เมื่อผู้ขับขี่มาจอดติดไฟแดง และติดเครื่องยนต์เองอัตโนมัติ ทันทีที่ผู้ขับขี่ถอนเท้าจากแป้นเบรก มีสวิตช์เปิด-ปิดการทำงานอยู่ใต้สวิตช์ติดเครื่องยนต์ ติดกับช่องแอร์กลาง

ส่วน Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC นั้น ติดตั้งเครื่องยนต์รหัส M 260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กำลังอัด 10.0 : 1 พ่วงระบบอัดอากาศแบบ Twin-scroll Turbocharged เช่นเดียวกับ AMG GLA 45 และ 45 S แต่ไม่มี Impeller & Turbine Wheel Mount ในแกนเทอร์โบ Roller Bearings

ระบบฉีดจ่ายน้ำมันเป็นแบบ Direct-injection ยิงเข้าสู่ห้องเผาไม้โดยตรง ด้วยหัวฉีด Piezo Electronic เวอร์ชันล่าสุด ทำงานผสานกับระบบแปรผันวาล์ว CAMTRONIC ซึ่งสามารถปรับได้ทั้งองศาการเปิด – ปิด วาล์วไอดี ไอเสีย รวมถึงปรับระยะยกวาล์วไอดีด้วย พร้อมเทคโนโลยี Intelligent Thermal Management ที่ช่วยเพิ่มความร้อนของเครื่องยนต์และน้ำมันให้ร้อนเร็วขึ้น ในช่วงที่เครื่องยนต์เริ่มทำงานในภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าค่าที่กำหนด

กำลังสูงสุด 306 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.78 ก.ก.-ม.) ที่ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที เติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงแค่ระดับเบนซิน 95 และ Gasohol 95 E10 เท่านั้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ระดับ 176 กรัม/กิโลเมตร

ท่อไอเสียเป็นแบบ AMG Exhaust Pipe มีวาล์วปรับอัตโนมัติตามโหมดการขับขี่ ในโหมด Sport และ Sport+ เสียงคำรามจากท่อไอเสียจะดังขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่สามารถเลือกปรับได้อิสระเหมือนรุ่นพี่ อย่าง AMG GT C Roadster หรือรุ่นอื่นๆ

GLA 200 จะติดตั้งระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ (7G-DCT) ลูกใหม่ ที่พัฒนาร่วมกันกับ GETRAG ใช้ระบบคลัทช์เปียก น้ำหนักเบาเพียง 67 กิโลกรัม (ไม่รวมของเหลวในระบบ) ถูกออกแบบให้ลดแรงเสียดทานในระบบมากขึ้น เพื่อช่วยลดการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนลง เพื่อเรียกกำลังเครื่องยนต์ออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น มาพร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Gearshift Paddles เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1…………………..18.63
เกียร์ 2…………………..11.06
เกียร์ 3……………………6.81
เกียร์ 4……………………4.62
เกียร์ 5……………………3.58
เกียร์ 6……………………2.86
เกียร์ 7……………………2.29
เกียร์ถอยหลัง….………17.17
อัตราทดเฟืองท้าย…….N/A

GLA 200 มาพร้อมโปรแกรมการขับขี่ DYNAMIC Select สามารถเลือกเปลี่ยนได้ที่สวิตช์คำว่า Dynamic อยู่ด้านบนสุดฝั่งซ้ายของแป้นควบคุม Touchpad หรือผ่านหน้าจอกลาง โดยมีให้เลือก 4 โปรแกรม ดังนี้

  • ECO – เกียร์เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงเร็วขึ้น ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำ คันเร่งไฟฟ้าหน่วงช้า
  • Comfort – สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป คันเร่งไฟฟ้าหน่วงช้า
  • Sport – พวงมาลัยหนักขึ้น คันเร่งไวขึ้น เน้นการใช้เกียร์ต่ำเพื่อรักษารอบเครื่องยนต์ให้สูง ใกล้ช่วง Max Power เสียงเครื่องยนต์กระฮึ่มเร้าใจขึ้นนิดหน่อย
  • Individual – แยกปรับการทำงานของ คันเร่ง เกียร์ พวงมาลัย และระบบ ESP อิสระจากกัน ผ่านเมนูบนหน้าจอกลาง

ส่วน AMG GLA 35 นั้น จะจับคู่กับเกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ AMG SPEEDSGIFT DCT 8G 8 จังหวะ ส่งกำลังลงสู่ล้อทั้ง 4 ด้วยระบบขับเคลื่อน AMG Performance 4MATIC ที่สามารถแปรผันการกระจายกำลังไปยังล้อคู่หน้าและคู่หน้า ตามโหมดการขับขี่ในอัตราส่วน 80 : 20 จนถึง 50 : 50

เกียร์อัตโนมัติ AMG Speedshift DCT 8 G มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้

เกียร์ 1…………………4.051
เกียร์ 2…………………2.842
เกียร์ 3…………………2.737
เกียร์ 4…………………1.920
เกียร์ 5…………………0.951
เกียร์ 6…………………0.854
เกียร์ 7…………………0.744
เกียร์ 8…………………0.674
เกียร์ถอยหลัง.……….3.404
Final Ratio………….3.930

AMG GLA 35 จะมาพร้อม AMG DYNAMIC SELECT สามารถปรับรูปแบบการขับขี่ได้ 5 โปรแกรม ได้แก่

  • Slippery – ลดความไวของคันเร่งไฟฟ้าลง เกียร์ตัดเปลี่ยนเร็วขึ้น สำหรับการขับขี่บนพื้นลื่น
  • Comfort – สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป คันเร่งไฟฟ้าปกติ เกียร์ตัดเปลี่ยนปกติ ไม่ช้าเท่า Slippery
  • Sport – รอบเดินเบาสูงขึ้น ซุ่มเสียงคำรามโหดขึ้น พวงมาลัยหนักขึ้น ช่วงล่างแข็งขึ้น (ความหนืด Damper ระดับ 2) เกียร์ตัดเปลี่ยนช้าลง คารอบไว้ในช่วงใกล้ Max Power
  • Sport+ – การตอบสนองของเครื่องยนต์ เกียร์ และพวงมาลัย รองรับโหมดโหดคล้าย Sport แต่ช่วงล่างแข็งขึ้นอีก (ความหนืด Damper ระดับ 3)
  • Individual – แยกปรับการทำงานของ โหมดการขับขี่ เกียร์ Dynamics และช่วงล่าง แยกอิสระจากกัน ผ่านเมนูบนหน้าจอกลาง

นอกจากนี้ หากสังเกตดีๆ จะพบว่า AMG GLA 35 มีปุ่มลัดมาให้อยู่บริเวณฐานรองข้อมือด้านหลัง Touchpad ปุ่มแรก (ด้านหน้าทางซ้าย) สำหรับปรับโหมดการทำงานของเกียร์เป็นแบบ D Mode ปกติ และ M Mode เปลี่ยนเกียร์เอง ปุ่มที่ 2 (ด้านหลังทางซ้าย) สำหรับปรับการทำงานของโปรแกรมช่วยเหลือการขับขี่ ESP 3 รูปแบบ ได้แก่ ESP ON, ESP SPORT และ ESP OFF ปุ่มสุดท้าย อยู่ทางด้านซ้าย ใช้สำหรับปรับความหนืดของช็อกอัพ ทั้ง 4 ต้น ได้ 3 ระดับ

ในเมื่อ A 200 Sedan ซึ่งใช้ขุมพลังเดียวกันกับ GLA 200 นั้นได้แสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราได้เห็นแล้วว่า เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร Turbo ก็มีดีพอตัวเหมือนกันนะ โหมด Sport ของเจ้านั่น สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้จบภายใน 9 วินาที  ใกล้เคียง D-Segment ญี่ปุ่น เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร NA

แล้ว GLA 200 ที่มีตัวถังต้านลมมากขึ้น ล้อโตขึ้น แถมยังหนักขึ้นอีกราวๆ 95 กิโลกรัม จะทำผลงานออกมาเป็นอย่างไร… แล้วถ้า Upgrade ความแรงขึ้นเป็น AMG GLA 35 จะเร้าใจขึ้นมากน้อยแค่ไหน ผมและพี่ J!MMY ได้ทดสอบความเที่ยงตรงของตัวเลขบนมาตรวัดและจับเวลาตามมาตรฐานของ Headlightmag เช่นเคย ผลลัพธ์ที่ออกมา มีดังนี้

ความเร็วบนมาตรวัดเทียบกับความเร็วบน GPS มีดังนี้

  • ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง > GPS ขึ้น 98.0 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • ความเร็วบนมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง > GPS ขึ้น 108.0 กิโลเมตร/ชั่วโมง

GLA 200

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในโหมด Comfort เฉลี่ยอยู่ที่ 10.03 วินาที แต่พอเป็น Sport Mode จะเร็วขึ้นอีกนิดหน่อย เป็น 9.85 วินาที ส่วนอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โหมด Comfort จะอยู่ที่ 7.23 วินาที และเร็วขึ้นเป็น 6.95 วินาที เมื่อใช้โหมด Sport

อัตราเร่งจากการทดสอบตามมาตรฐานของ Headlightmag ก็ถือว่าเป็นไปตามคาด คือ drop ลงจาก A 200 Sedan ซึ่งมีน้ำหนักตัวเบากว่า แถมยังต้านลมน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม พี่น้องคู่ก็ถือว่ามีคาแรคเตอร์เหมือนกันคือ เป็นรถที่ไม่ได้แรงสะใจเมื่อกดคันเร่งเต็ม แต่การใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน กดคันเร่งไม่เกิน 50% มันเป็นรถที่มีแรงบิดช่วงกลางให้ใช้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อมองว่าเป็นแค่เครื่องยนต์ 1,300 ซีซี พ่วง Turbo

เมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม Premium Compact Crossover ที่เราเคยมีตัวเลขเอาไว้ ก็ถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกับ BMW X1 sDrive18d แรงกว่า Mini Countryman Cooper SD แต่ก็ยังคงพ่ายแพ้ให้กับ XC40 ทั้งรุ่น T5 ปกติ ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ รวมถึงรุ่น T5 Recharge Plug-in Hybrid และเมื่อดูจากโหงวเฮ้งแล้วก็น่าจะแรงน้อยกว่า BMW X1 sDrive 20d อยู่เล็กน้อยเช่นเดียวกัน

AMG GLA 35

การออกตัวด้วย RACE START ใน Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC มีขั้นตอนดังนี้

  1. ใช้เกียร์ D
  2. ปรับโหมดการขับขี่ DYNAMIC Select ไปที่ SPORT+
  3. ปรับการทำงานของระบบช่วยการทรงตัวเป็น ESP-SPORT
  4. ใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรก เท้าขวากดคันเร่งเต็ม
  5. รอบเครื่องยนต์จะไปค้างอยู่แถวๆ 3,500 รอบ/นาที พร้อมขึ้นข้อความ RACE START Release brake to start และแถบไฟขาว เหลือ แดง บนชุดมาตรวัด
  6. จากนั้นก็ปล่อยเบรกแล้วพุ่งออกตัวได้ทันที

การออกตัวจากจุดหยุดนิ่งโดยใช้ RACE START ทันทีที่ปล่อยเบรกออกจากเบรก รถก็จะพุ่งทยานออกไปแบบไม่คิดชีวิต แรงดึงที่เกิดขึ้นที่แผ่นหลัง บวกกับแรงกระชาก ตึ้งงง! เป็นจังหวะเพลงหมอลำ ที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อเกียร์ เรียกได้ว่าสะใจ ชวนให้ฉีกยิ้มได้ไม่แพ้พละกำลังจากเครื่อง V8 5.0 ลิตร ไม่มีเทอร์โบ ในรถสปอร์ตตัวเขื่องๆ ไม่กี่คันที่ผมเคยเจอมาเลย

แม้ว่าแรงดึงเมื่อเข็มความเร็วพ้น 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้น ในโหมด Sport+ และ Comfort จะไม่ได้ต่างกันมากเท่าที่คิด แต่ความเชื่องช้าของคันเร่งในช่วงที่กระแทกคันเร่งลงไปตอนแรก บวกกับอาการรอรอบมากกว่าตอนที่ใช้ RACE START อยู่นิดหน่อย ก็ทำให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในโหมด Comfort ทำได้ 7.00 วินาที ไม่ขาด ไม่เกิน ซึ่งดูธรรมดาเหลือเกินเมื่อเทียบกับบรรดารถยุโรป เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร พ่วง Turbo ด้วยกัน แต่พอเป็น RACE START ปุ๊บ จังหวะถีบออกตัวเร็วกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับตัวเลขบนนาฬิกาจับเวลาที่จับออกมา เร็วขึ้นเกือบ 1 วินาทีเต็มๆ อยู่ที่ 6.02 วินาที เร็วกว่า A45 AMG รุ่นที่แล้ว ในโหมด Comfort เสียอีก

ด้านอัตราเร่งแซง 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น โคตะระแปรผัน! ขึ้นอยู่กับว่าสมองกลจะสั่งให้เกียร์ทำงานรับใช้เท้าขวาของเจ้านายแบบไหน ในโหมดปกติที่เราใช้ทดสอบคือ รักษาความเร็วไว้ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วกระแทกคันเร่ง Kickdown ลงไป วิธีนี้จะทำได้ 4.71 วินาที พอเปลี่ยนมาใช้โหมด Sport เกียร์ลดจาก 7 มา 6 พร้อมดีดรอบขึ้นไปรอ มันก็ขึ้นอยู่กับเกียร์อีกว่า จะตัดลง 4 แล้วทำตัวเลขออกมาได้ 4.46 วินาที หรือตัดลง 3 แล้วเร็วขึ้นอีกนิดเป็น 4.3 วินาทีเศษๆ อันนี้แล้วแต่ดวงและจังหวะกดคันเร่งจริงๆ

อัตราเร่งแซงจะเร็วขึ้นขึ้นได้อีก ถ้าหากใช้วิธีตบแป้น Paddle Shift ลงมาเกียร์ 3 แล้วเติมคันเร่งเต็มที่ พอรอบลากไปถึง 6,000 รอบ/นาที แล้วเปลี่ยนขึ้นเกียร์ 4 อย่างรวดเร็ว จนเวลาไปจบที่ 3.96 วินาที ไม่ธรรมดาใช่ไหมล่ะครับ! ตัวเลขนี้ถ้าให้เอาไปเทียบกับคันอื่นในตางรางตรงเลยก็คงจะไม่แฟร์ แต่ลองกันให้ดูแบบขำๆ ว่ามันไปได้ไวเท่านี้จริงๆ

จริงอยู่ว่าในปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่รถบ้านเน้นสบาย วางเครื่องยนต์พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำอัตราเร่งได้น่าประทับจิต แถมมาในราคาน่าประทับใจ จนทำให้รถยนต์เครื่องสันดาปล้วน กึ่ง performance car ระดับเริ่มต้น เหลือความน่าสนใจน้อยลง ทว่าความดิบ ชวนให้หลั่งอะดรีนาลีน ก็ยังเป็นมนต์เสน่ห์ที่คุ้มค่ากับจ่ายเพิ่ม โดยเฉพาะสายขับ

การไต่ความเร็วความเร็วสูงสุด Top Speed สำหรับ GLA 200 แม้จะไม่ยากเย็นแสนเข็ญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องขนม และอาศัยระยะทางพอสมควร เข็มความเร็วจะไหลขึ้นเนิบๆ แต่ต่อเนื่องจากจุดหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็ว 175 – 176 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกลเกียร์สั่งเปลี่ยนจากเกียร์ 4 ไปเกียร์ 5 จากช่วงนี้เป็นต้นไปความเร็วจะไหลขึ้นไปอย่างช้าๆ จนถึง 213 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,600 รอบ/นาที เกียร์ 6 แน่นอนว่ามันไต่ไปไม่ถึง 232 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างที่ A 200 Sedan เคยทำได้

แต่พอมา AMG GLA 35 ผมค่อนข้าง surprise นิดหน่อย ใครจะไปคิดว่ารถทรงท้ายตัดยกสูงจะไหลต่อเนื่องแบบไม่มีแผ่ว จนกระทั่งถึง Top Speed 251 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,000 รอบ/นาที เกียร์ 6 ได้อย่างรวดเร็ว สามารถไปถึงจุดสุดยอดได้ไวพอๆ กันกับ A45 AMG เมื่อ 4-5 ปีก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเพดานความเร็วที่ถูกล็อกเอาไว้ต่ำกว่า

ย้ำแล้ว ย้ำอีก ย้ำกันทุกบทความด้วยความหวังดีว่า ผมและทีมงานได้ทำการทดลองโดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นเป็นหลัก เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ จึงไม่สนับสนุนให้คุณผู้อ่านทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวเอง… เสียค่าปรับน่ะเรื่องเล็กน้อยครับ แต่เสียอย่างอื่น คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่

***** การเก็บเสียง การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน *****
*******
NVH Noise Vibration and Harshness *******

ด้านการเก็บเสียง ทั้ง GLA 200 และ AMG GLA 35 มีเสียงลมปะทะกระจกบังลมหน้าและกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถแล้วเล็ดลอดเข้ามาตามขอบประตูค่อนข้างน้อย ให้ความเงียบในระหว่างเดินทาง ด้วยความเร็วต่ำกว่า 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ค่อนข้างดี เสียงลมจะเริ่มดังชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านพ้นความเร็วช่วง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้นไป โดยเสียงลมจะเล็ดรอดเข้ามาตามขอบกระจกหน้าต่างด้านบน

อย่างไรก็ตาม การเก็บเสียงจากครึ่งท่อนล้างของตัวรถ โดยเฉพาะเสียงหน้ายางที่บดไปกับพื้นถนน ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นสมกับเป็นรถระดับ Premium กว่านี้สักหน่อย โดยเฉพาะบริเวณซุ้มล้อด้านหลัง ที่ค่อนข้างดังเกินกว่าความคาดหวังจากรถยนต์ Mercedes-Benz ทั่วไป และมันเริ่มดังตั้งแต่ช่วงความเร็วต่ำๆ ช่วงไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง แค่เจอพื้นผิวถนนราดยางมะตอย ที่มีสภาพทรุดโทรมสักหน่อย ก็เริ่มมีเสียงโหยหวนมาให้ได้ยินกันแล้ว

ผมคาดหวังแค่ว่า มันไม่ต้องเงียบดุจญาติผู้พี่ร่วมตระกูล SUV ทั้ง Mercedes-Benz GLE หรือ GLS หรอกครับ เอาแค่ดีขึ้นพองาม อย่างน้อยๆ เทียบเท่า Crossover ญี่ปุ่นอย่าง Mazda CX-30 ซึ่งเก็บเสียงรบกวนจากพื้นถนนได้ดีกว่า ในช่วงความเร็วต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้ได้ก็พอ

ฟังดูแล้วสาวกรถยุโรปอาจจะมีเครื่องหมายคำถามขึ้นมาในใจ ได้แต่บอกว่า ถ้ามีโอกาศขอให้ไปลองเทียบดู แล้วคุณจะรู้ความจริง

***** ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel *****

ระบบบังคับเลี้ยวของ GLA 200 เป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) น้ำหนักพวงมาลัยปรับได้ 2 ระดับ ตามโปรแกรมการขับขี่ DYNAMIC Select ที่ผู้ขับขี่เลือกเอาไว้ ได้แก่ ระดับปกติ คือ โหมด ECO, Comfort ซึ่งพวงมาลัยจะเบา ควบคุมง่าย และโหมด Sport ซึ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยสำหรับการขับขี่ในช่วงความเร็วสูง มุมล้อเมื่อหมุนพวงมาลัยไปทางซ้ายสุดหรือขวาสุด อยู่ที่ 37 องศา รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.92 เมตร

พวงมาลัยมาถูกเซ็ตมาในลักษณะเดียวกับ A 200 Sedan คือมีอัตราทดเฟืองพวงมาลัยในช่วงปกติค่อนข้างต่ำ ทำให้การตอบสนองนั้น ไวและคมในแทบจะทุกช่วงของการหักเลี้ยว ตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มขยับพวงมาลัยซ้ายขวา ไปจนถึงการหมุนหรือคืนพวงมาลัยขณะอยู่ในโค้ง ในภาพรวมของการตอบสนอง ถือว่าทำออกมาได้ต่อเนื่องดี ทว่าความไวระดับนี้ ผมกลับไม่ได้ชื่นชอบมากเท่าตอนที่มันอยู่ในรถเก๋งใต้ท้องเตี้ยและช่วงล่างแข็งกว่านิดๆ อย่าง A 200 Sedan

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพวงมาลัยจะมีการตอบสนองค่อนข้างไว และมีระยะฟรีตรงกลางน้อยมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้การบังคับควบคุมรถต้องใช้สมาธิมากเสียจนกระทั่งรู้สึกไม่มั่นใจแต่อย่างใด เนื่องจากน้ำหนักและความหนืดของพวงมาลัยในโหมดปกตินั้น ยังคงถูกเซ็ตมาได้อย่างเหมาะสม คือมีความเบาสบาย ไม่ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยเยอะเวลาถอยเข้าออกช่องจอดตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการลัดเลาะไปตามการจราจรหนาแน่นด้วยความเร็วปานกลาง แต่มีน้ำหนักหน่วงมือแปรผันเพิ่มมากขึ้นตามระดับความเร็วที่ใช้อย่างชัดเจน

หนักและความหนืดของพวงมาลัย ระหว่าง Comfort Mode ปกติ และ Sport Mode ต่างกันน้อยมากในช่วงความเร็วต่ำ ทว่าความต่างจะสัมผัสได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ก็ต่อเมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ความต่างของน้ำหนักและความหนืดที่มากขึ้นใน Sport Mode นั้น นอกจากจะทำให้รู้สึกมั่นใจ เมื่อต้องขับ cruising ทางไกล หรือเดินทางออกต่างจังหวัดแล้ว ยังทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าโหมดปกติพอสมควร นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เวลาผมกระโดดขึ้นมานั่งขับรถคันนี้ ทุกครั้งผมต้องปรับโหมดการขับขี่ไปที่ Individual ซึ่งมักจะเซ็ตทุกอย่างเอาไว้ในระดับปกติ ยกเว้นพวงมาลัยที่เป็น Sport Mode

ส่วนพวงมาลัยของ AMG GLA 35  จะเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) เช่นเดียวกัน อัตราทดเฟืองพวงมาลัยในตำแหน่งถือตรง อยู่ที่ 14.4 : 1 ภาพรวมของการคับเลี้ยวไม่ได้แตกต่างจาก GLA 200 เท่าไหร่นัก ยกเว้นในช่วงที่วิ่งด้วยความเร็วสูงๆ น้ำหนักกดที่ล้อที่มากกว่า จะทำให้พวงมาลัยหนักขึ้น และรู้สึกมั่นใจกว่า

***** ระบบกันสะเทือน / Suspension *****

GLA 200 AMG Dynamic จะใช้ช่วงล่างแบบ Lowered Comfort Suspension ที่เตี้ยลงจากรุ่น Progressive เล็กน้อย ด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบอิสระ Multi-link พร้อมเหล็กกันโคลง

GLA 200

ช่วงล่างของ GLA 200 ถูกเซ็ตมาในสไตล์เน้นนุ่มกว่า A200 Saloon แต่ไม่ถึงกับนิ่มย้วย มีความนุ่มกระชับอยู่พอประมาณ มีระยะยืดยุบของช็อกอัพน้อย ทำให้การดูดซับแรงสะเทือนจากรอยต่อถนน ฝาท่อระบายน้ำ หรือผิวถนนขรุขระ ทำผลงานออกมาดี อาการกระด้างค่อนข้างน้อย แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องใช้ความเร็วสูงเกินกว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมบุญพาวาสนาส่งให้ไปเจอถนนเป็นลอนคลื่นแล้วละก็… รอยยิ้มบนใบหน้าอาจจะเปลี่ยนเป็นคิ้วขมวดแทนก็ได้

อาการสะเทือนจากล้อหลังฝั่งซ้ายไปฝั่งขวา หรือฝั่งขวาไปฝั่งซ้าย เมื่อวิ่งรูดฝาท่อระบายน้ำ กทม. รวมทั้งอาการสะบัดด้านท้าย เมื่อวิ่งข้ามคอสะพานที่มีสันเป็นแนวเฉียงด้วยความเร็วที่มากกว่าปกติ แบบที่เคยสัมผัสได้ใน A 200 Sedan ที่ใช้ช่วงล่างด้านหลังกึ่งอิสระ Torsion Beam จะพบได้น้อยกว่ากันชัดเจน

ส่วนประสิทธิภาพการเกาะถนน GLA 200 ถือได้ว่าเป็น Mercedes-Benz ขับหน้ายุคใหม่ ที่ถูกเซ็ตให้มีอาการท้ายกวาดออกเวลาเลี้ยวโค้งแรงๆ แบบเดียวกับ A-Class Sedan เป็นการกวาดออกแค่พองาม พอให้รู้สึกสนุก และแอบบคาดเดาอาการล่วงหน้าได้ง่ายกว่า A-Class Sedan อยู่เล็กน้อย นั่นคือการวิ่งบนพื้นแห้ง… แต่พอเป็นพื้นเปียกปุ๊บ ความสนุกที่เคยรู้สึก จะแปรเปลี่ยนเป็นความน่าหวาดเสียวและค่อนข้างอันตรายในบัดดล เพราะยางติดรถที่ให้มานั้น ลื่นเอาเรื่องเลยทีเดียว

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งใน Segment เดียวกันและใกล้เคียง จะพบว่าช่วงล่างของ GLA 200 นุ่มสบาย ซับแรงสะเทือนได้ดีกว่าทั้ง BMW X1 และ Volvo XC40 T5 Recharge อยู่พอประมาณ แต่แลกมาด้วยความมั่นใจเมื่อต้องหักเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนกระทันหันที่น้อยกว่า กลายเป็นว่าความนุ่มกำลังดีของช่วงล่าง GLA 200 นั้นชวนให้ผมนึกถึง Premium Compact Hatchback กึ่ง Crossover จากฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Lexus UX 250h รุ่น Grand Luxury แทนที่จะเป็นความรู้สึกว่ารถเยอรมันขับหลังรุ่นอื่นๆ เสียอย่างนั้น

AMG GLA 35

ระบบกันสะเทือนของ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC ทาง Mercedes ใช้ชื่อเรียกเฉพาะว่า AMG Ride Control ซึ่งแม้ว่าจะมีรูปแบบช่วงล่างไม่ต่างจาก GLA 200 คือ ด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบ Multi-link แต่ช่วงล่วงด้านหน้าจะเสริมด้วยระบบ Brake Torque Anti-dive ที่ช่วยลดการยุบตัวของช็อกอัพหน้าในขณะที่เบรกฉุกเฉินหรือกดเบรกหนักๆ นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนมาใช้วัสดุปีกนกแบบ Aluminum ซึ่งช่วยลดน้ำหนัก Unsprung weight อีกทั้งยังเปลี่ยนมาใช้ช็อกอัพที่สามารถปรับความหนืด (Damping) ได้ 3 ระดับ ตั้งแต่ COMFORT, SPORT และ SPORT+

ช่วงล่างของ AMG GLA 35 เป็นสิ่งที่หลายผมคาดหวังว่ามันจะดีกว่า GLA 200 และมันก็ทำให้ผมผิดหวัง… ในโหมด COMFORT จะให้ความรู้สึก นุ่ม หนึบ เหมือนกำลังขับ GLA 200 ที่หนักแน่นขึ้น ช่วงล่างด้านหลังจะสัมผัสได้ถึงความแข็งของสปริงที่มากกว่าชัดเจน การซับแรงสะเทือนเมื่อวิ่งบนพื้นผิวถนนไม่เรียบ หรือเคลื่อนตัวผ่านฝาท่อระบายน้ำ แม้จะไม่ได้เนียนเท่า GLA 200 แต่ก็ไม่ถึงแย่นัก ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุที่นั่งไปด้วยไม่ปริปากบ่นแน่นอน

ในขณะที่โหมด SPORT ช่วงล่างจะหนืดขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงกับตึงตังไส้ทะลัก เหมาะกับการวิ่งทางไกลเรื่อยๆ ส่วนโหมด SPORT+ ก็จะแข็งในแบบรถซิ่งญี่ปุ่น ใส่สตรัทปรับเกลียว หากคุณเป็นคนที่ในชีวิตนี้ ไม่ได้เจอรถช่วงล่างแข็งๆ อยู่บ่อยนัก ความสะเทือน เมื่อวิ่งบนทางด่วนที่ความเร็วไม่เกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจก่อให้เกิดความน่ารำคาญ โดยเฉพาะหลังรับประทานมื้อเย็น แต่แน่นอนว่าการที่มันถูกกเซ็ตมาให้รองรับการขับขี่ในโหมดท้ามฤตยู คุณจะรู้สึกดีกับมัน เมื่อมีเหตุต้องให้ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ดีในแบบที่ SPORT ก็ทำไม่ได้…  COMFORT อย่าหวังเลย !

ส่วนประสิทธิภาพการยึดเกาะของ AMG GLA 35 ถือว่าสอบผ่าน การเปลี่ยนมาใช้ยางดี ช่วงล่างแข็ง ซึ่งส่งผลต่อมุมล้อที่เปลี่ยนไปเมื่อช่วงล่างยุบตัว ตลอดจนมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ล้วนมีส่วนทำให้รถพ่อบ้านอายุน้อยแอบซิ่งคันนี้เกาะหนึบเอาเรื่อง ทางโค้งเดียวกันที่ GLA 200 เข้าไปด้วยอาการท้ายย้วย จากนั้นค่อยๆ กวาดออกในแบบไม่น่ากลัว AMG GLA 35 จะไปแบบหน้ากับท้ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่า และไปด้วยความเร็วที่สูงกว่ากันพอสมควร

ในภาพรวมช่วงล่างของ GLA 35 หากว่ามันเป็น Crossover SUV สายซิ่ง พกม้าจากโรงงานมาฝูงใหญ่ แล้วเซ็ตช่วงล่างออกมาในลักษณะนี้ ผมถือว่าเหมาะสมแล้วล่ะ มันพอที่จะหาความสบายได้บ้าง สำหรับคนที่ไม่ชอบทรมานร่างกายตัวเอง แถมซิ่งได้ บู๊ได้ ในวันเร่งรีบ เปรียบเสมือนหนุ่มวัยรุ่นผู้ผ่านความรักมาประมาณหนึ่ง เขาพร้อมจะดูแฟนในวันที่เธอต้องการการประคบประหงม แถมยังรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของแฟนสาวในช่วงวันนั้นของเดือน

ทั้งนี้ คุณต้องไม่ลืมว่ามันยังคงใช้ระบบรองรับแบบสปริงขดธรรมดา และอย่าไปคาดหวังเอาไว้สูงมากว่ามันจะนุ่มและซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำด้วย Comfort Mode ได้ดีเทียบเท่ารถ  AMG บางคันที่ใช้ช่วงล่างถุงลม Multi-chamber หรือ Air Matic มิฉะนั้นแล้ว… คุณอาจจะผิดหวัง

***** ระบบห้ามล้อ / Brake *****

ระบบห้ามล้อของ GLA 200 AMG Dynamic เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วยตัวช่วยพื้นฐาน อันประกอบด้วย ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก Brake Assist ซึ่งเป็นตัวช่วยพื้นฐานของรถยนต์สมัยนี้

ทั้ง GLA 200 และ GLA 35 มาพร้อมระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program) ซึ่งสามารถปรับระดับการเข้ามาช่วยควบคุมอาการของตัวรถได้ 3 ระดับ ได้ ESP ON / ESP Sport และ ESP Off เป็นการปรับความเซ็นซิทีฟของเซ็นเซอร์ที่แต่ละล้อ เพื่ออนุญาตให้ตัวรถพยศได้ต่างกัน นอกจากนี้ เมื่อใช้ ESP Sport หรือ EPS Off จะไม่สามารถสั่งให้ระบบรักษาความเร็ว Cruise Control ทำงานได้

GLA 200

แป้นเบรกมีระยะเหยียบค่อนข้างสั้น และแทบจะไม่มีระยะฟรีให้สัมผัสเลย ความหน่วงจะเกิดขึ้นทันทีที่เท้าขวากดลงไปบนแป้น การกะน้ำหนักเบรกก็ทำได้ดี ค่อนข้าง Linear เหยียบเท่าไหร่ ได้เท่านั้น ไม่มีอาการเหยียบแล้วแข็งๆ ทื่อๆ ในช่วงแรก แต่พอกดลงไปอีกหน่อยแล้วหน้าดันทิ่ม เหมือนแป้นเบรกของ XC40 T5 Recharge

การกด Full Brake ลงมาจากความเร็วสูงๆ ไม่พบอาการปัดเป๋ แสดงให้เห็นถึงการกระจายแรงเบรกที่ดี ในขณะที่ประสิทธิภาพการหยุดยั้งอันเกิดจากผ้าเบรก ย้ำว่าผ้าเบรก ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ยังคงรักษามาตรฐานของระบบเบรกได้ดี ตามสไตล์ Mercedes-Benz แต่ขอแนะนำให้เผื่อระยะเบรกเอาไว้สักหน่อย เนื่องจากในสถาการณ์ที่ต้องเบรกฉุกเฉินบนพื้นแห้งนั้น ผมพบว่าตัวรถมีอาการไถลไปข้างหน้าอันเนื่องมาจากแรงเสียดทานของยางติดรถที่ค่อนข้างน้อย สำหรับสายบู๊ ผมว่าเปลี่ยนไปใช้ยางชุดใหม่ที่เกาะกว่านี้ น่าจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าขับแบบเรื่อยๆ ในโหมดปกติ รอยางชุดนี้หมด ค่อยเปลี่ยนก็ไม่เสียหลาย

AMG GLA 35

ขณะที่ระบบเบรกของ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC นั้น อัพเกรดขึ้นไปใช้แบบเดียวกันกับตระกูล AMG 45 และ 45S เพื่อรองรับการเบรกโหดๆ หนักๆ เป็นดิสก์เบรกแบบมีครีบและรูระบายความร้อน ทั้ง 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้าขยายขนาดให้ใหญ่โตขึ้นเป็น 350 x 32 มิลลิเมตร พร้อมคาลิเปอร์ 4 สูบ Monoblock สีเงิน เสริมด้วยสัญลักษณ์ AMG ส่วนจานเบรกคู่หลังก็ใหญ่ขึ้นเป็น 330 x 32 มิลลิเมตร เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก Brake Assist

ประสิทธิภาพการเบรกของ AMG GLA 35 เรียกได้ว่าประเสริฐมาก เบรกดี หายห่วง อาการของรถเมื่อเบรกหนักๆ ลงมาจากความเร็วสูง รถไม่มีอาการปัดเป๋เกิดขึ้น ประสิทธิภาพของผ้าเบรก ทั้งในแง่แรงเสียดทาน และการระบายความร้อนสะสม ทำได้ดีมาก ส่วนการตอบสนองของแป้นเบรกเหมอืนกันกับ GLA 200 คือมีระยะเหยียบค่อนข้างสั้น ระยะฟรีแทบไม่มีเลย และมีน้ำหนักต้านเท้าหนืดพอประมาณ การตอบต่อเนื่อง ไม่มีอาการเหยียบเบรกลงไปแล้วรถไม่ค่อยหน่วง แต่พอกดลงไปอีกนิดแล้วหน้าทิ่ม แบบที่พบใน Volvo  XC40 Recharge T5

เรื่องเบรกในภาพรวมของทั้ง 2 รุ่น แทบจะไม่มีเรืองให้ตำหนิเลย ระบบเบรกของ GLA 200 ว่าดีแล้ว และใน GLA 35 มันดียิ่งขึ้นไปอีก เป็นระบบห้ามล้อที่รักษามาตรฐานของรถ Mercedes-Benz  ยุคใหม่ ที่ทำผลงานออกมาได้ดีคงเส้นคงวาเอาไว้ได้อย่างดี

***** อุปกรณ์ความปลอดภัย  / Safety Features *****

ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน Active Safety ที่ติดตั้งมาให้ใน Mercedes-Benz GLA 200 AMG Dynamic และ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC มีดังนี้

  • ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System)
  • โปรแกรมควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP (Electronic Stability Program)
  • ระบบเบรก ADAPTIVE BRAKE
  • ระบบช่วยเบรกแบบแอคทีฟ ABA (Active Brake Assist System)
  • ไฟเบรกกระพริบฉุกเฉิน (Adaptive Brake Light)
  • ระบบจำกัดความเร็ว (SPEEDTRONIC)
  • ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (ATTENTION ASSIST)
  • ระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง (Tyre Pressure Loss Warning System)

หากเกิดขีดความสามารถของอุปกรณ์ Active Safety ไปแล้ว ระบบความปลอดภัยเชิงปกป้อง Passive Safety จะเข้าช่วยรักษาชีวิตคุณแทน ได้แก่

  • ถุงลมนิรภัยด้านหน้า 2 ตำแหน่ง
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ตำแหน่ง
  • ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ป้องกันศีรษะ 4 ตำแหน่ง
  • ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ 1 ตำแหน่ง
  • เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด 5 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ Driving Assistance ติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control)
  • เซ็นเซอร์ช่วยนำเข้าจอด (PARKTRONIC)
  • ระบบช่วยนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ (Active Parking Assist)
  • ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา Blind Spot Assist
  • ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถแล่นเข้ามาด้านข้างขณะเปิดประตู Exit Warning
  • ระบบช่วยรักษารถให้อยู่ในช่องจราจร Active Lane Keeping Assist
  • ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive Highbeam Assist

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********
*************** Fuel Consumption Test ***************

เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม พา Mercedes-Benz GLA 200 AMG Dynamic และ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC ไปเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธิน ที่เพิ่งจะปรับปรุงใหม่

ผู้ทดลองเป็นพี่ J!MMY และผม QCXLOFT น้ำหนักตัวรวมกันทั้ง 2 คน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ตามมาตรฐานการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Headlightmag

เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราต่างคาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เซ็ตอุณหภูมิภายในรถไว้ที่ 25 องศา เปิดไฟหน้า เซ็ต Trip Meter เป็น 0 แล้วขับออกจากปั๊ม เลี้ยวกลับรถบนถนนพหลโยธิน ขับตรงต่อไปอีกนิด เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ทะลุออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ถนนพระราม 6 จากนั้นเลี้ยวขวาขึ้นทางพิเศษศรีรีชที่คลองประปา 1 เพื่อวิ่งตรงต่อไปทางทิศเหนือ จนสุดปลายทางพิเศษอุดรรัถยาที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางเดิมกลับเข้ากรุงเทพฯ  โดยยึดมาตรฐานการทดลองดั้งเดิม ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control เพื่อรักษาความเร็วให้คงที่

เมื่อถึงทางลงจากทางด่วนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าปั๊ม Caltex พหลโยธิน อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน Techron 95 ให้เต็มถัง ให้หัวจ่ายตัด โดยใช้หัวจ่ายเดิมที่เติมในรอบแรก

ผลการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาดังนี้

เริ่มจาก Mercedes-Benz GLA 200 AMG Dynamic
ระยะทางที่วิ่งไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน Techron 95 เติมกลับ 5.87 ลิตร
คำนวณแล้วได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย 15.74 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วน Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC
ระยะทางที่วิ่งไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน Techron 95 เติมกลับ 6.75 ลิตร
คำนวณแล้วได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย 13.70 กิโลเมตร/ลิตร

จากตัวเลขที่คำนวณออกมาจะเห็นได้ว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ GLA 200 หล่นลงจาก A 200 Sedan ที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกัน ประมาณ 1.6 กิโลเมตร/ลิตร จากขนาดของตัวรถที่สูงใหญ่ต้านลมกว่า อากาศหมุนวนด้านท้ายมากกว่า น้ำหนักตัว รวมถึงน้ำหนักล้อก็มากกว่าเช่นกัน

การขับใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน หากเป็นการขับแบบทั่วไป กดคันเร่งแค่เพียง 20 – 30 % ไม่ได้เรียกใช้พละกำลังสูงสุดบ่อยครั้งนัก การบริโภคน้ำมันถือว่าอยู่ในจุดที่รับได้ น้ำมัน 1 ถัง สามารถได้เป็นระยะทางประมาณ 480 – 500 กิโลเมตร แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สวมวิญญาณนักแข่ง เล่นบทบู๊ เค้นกันมันส์หยด ความจุเครื่องยนต์แค่พันสาม ก็สามารถกินเท่าสามพันได้ไม่ยากเย็น แน่นอนว่ามันไม่ประหยัดเท่าเครื่องยนต์ดีเซลของ X1 แต่โดยรวมถือว่าซดน้อยกว่า XC40 T5 และไม่ด้อยไปกว่า XC40 T5 Recharge ตอนแบตเตอรี่เหลือน้อยเท่าไหร่เลย

นอกจากนี้ วันที่ผมและทีมงานพา GLA 200 ไปเก็บวีดีโอ ถ่ายคลิป กันบนเส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ – ระยอง โดยมีผู้สาร 4 คน รวมสัมภาระอีกพอสมควร น้ำหนักบรรทุกรวมกันแล้วอยู่ประมาณ 400 กิโลกรัม วิ่งกันไปเรื่อยๆ มีเร่งแซงขบวนรถขับช้าแช่ขวาบ้าง จอดติดเครื่องทิ้งไว้บ้าง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็ยังทำออกมาได้ 13.66 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ AMG GLA 35 ก็เป็นไปตามความคาดหมาย ตามสไตล์รถ Crossover ยกสูง เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร Turbo ที่จูนมาเน้นพละกำลังมากกว่าความประหยัด อีกทั้งยังพ่วงด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC แบบปกติ ที่ไม่สามารถถ่ายกำลังไปยังล้อคู่หน้าเวลาวิ่งกินลมชมป้ายโฆษณาบนทางด่วนได้ 100% เหมือนระบบเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC+ กระนั้นแล้ว มันก็ไม่ได้กินโหดราวกับว่าโกรธเครื่อง 8 สูบ และผมเชื่อว่าลูกค้าที่ควบม้าระดับ 305 ตัว ​ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมานั่งซีเรียสเรื่องพวกนี้ ทำได้เท่านี้ก็ถือว่าดีถมถืด

********** บทสรุป / Conclusion **********
More SUV ,More space, More performance

 Mercedes-Benz GLA รุ่นใหม่ ได้ผันตัวเองจาก Premium Hatchback ยกสูงนิดหน่อยพอเป็นพิธี เน้นสไตล์ ใช้อารมณ์เป็นหลัก กลายมาเป็น Premium Compact Crossover มีภาพรวมสมกับการเป็นรถอเนกประสงค์มากขึ้น เหมาะสำหรับคนที่กำลังหารถ Premium ระดับเริ่มต้นมาไว้ใช้งาน โดยมองเหตุผลเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อรถซักคัน มากกว่าจะใช้แค่ความโดดเด่นของตัวรถ หรือภาพลักษณ์ของแบรนด์มาเป็นตัวกำหนด

ความพยายามในการลบคำครหาต่างๆ นาๆ ไม่เพียงแค่ทำให้  GLA ใหม่ มีทรวดทรงองเอวเข้าใกล้คำว่า Crossover SUV มากขึ้น แต่ยังส่งผลถึงพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กว้างขวางขึ้นด้วย เมื่อมาอยู่รวมกับดีไซน์การออกแบบและการตกแต่งแผงหน้าปัดด้านหน้าที่หรูหรา ทันสมัย ตามแบบฉบับ Mercedes-Benz ยุคใหม่ รวมถึงเบาะนั่งคู่หน้า เบาะนั่งด้านหลัง ที่นั่งสบายเป็นอันดับต้นๆ ในรถระดับเดียวกัน ทำให้ภายในห้องโดยสารที่เคยเป็นจุดด้อย กลายมาเป็นจุดแข็งสำคัญเอาไว้งัดกับคู่แข่งไปเสียแล้ว

การขับขี่ไม่มีด้านที่โดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ไม่มีด้านที่แย่จนถึงขั้นรับไม่ได้ เครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร Turbo มีแรงบิดรอบกลางดึงดี แต่พอกดคันเร่งเต็มตีนไม่แรงสะใจเท่า เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร Turbo ใน GLA 250 รุ่นก่อนหน้านี้ พวงมาลัยอัตราทดไว ดีดกลับเป็นธรรมชาติ ที่ความเร็วต่ำน้ำหนักเบาสาวมือเดียวง่าย ความเร็วสูงหนืดหนักขึ้นกำลังดี ช่วงล่างไม่แข็งเท่ารุ่นเดิม และไม่เฟิร์มกระชับเท่าคู่แข่งอย่าง BMW X1 และ Volvo XC40 แต่ได้ความนุ่ม ติดเฟิร์มปลายนวม พอให้นึกถึง Mercedes-Benz อยู่บ้าง แป้นเบรกตอบสนองค่อยเป็นค่อยไปเท่ากันทุกช่วง ระยะแป้นเบรกสั้น แต่ระยะทางหยุดไม่สั้น ระเบรกทำได้ดี แต่ยางติดรถที่มีไม่เอาอ่าว

User Interface ของระบบ MBUX แม้จะมีความวุ่นวายซับซ้อน การค้นหาเมนูบางอย่างๆ มีความยากลำบากในช่วงแรก แต่พอเรียนรู้การใช้งานไปซักระยะก็จะเริ่มคุ้นชิ้น เท่าที่ผมลองใช้ชีวิตอยู่กับรถทั้ง 2 คัน เป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ ยังไม่พบว่าฟังก์ชันไหนที่ไร้ประโยชน์เลย นอกจากคู่มือรถของ AMG GLA 35 ที่ไม่สามารถกดเข้าไปอ่านได้ อันเนื่องมาจาก Error ของ Software

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดด้อยที่ควรปรับปรุงแก้ไข ในเรื่องการเสียงรบกวนจากครึ่งท่อนล่างของตัวที่เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารดังเกินงาม ทำให้การนั่งอยู่ภายในห้องโดยสารที่ทำออกมาดีขึ้นยังไม่สามารถฉายแววความสุนทรีย์ในแบบที่ลูกค้า Mercedes-Benz คาดหวัง อย่างที่ควรจะเป็น เบาะนั่งในภาพรวม มาในแนวสปอร์ต ดังนั้น ความนุ่มสบาย แบบที่ลูกค้าหลายคนคาดหวังจากแบรนด์ตราดาว จึงอาจมีไม่มากเท่าที่ควร

นอกจากนี้ Option หรือ อุปกรณ์ หลายรายการยังขาดตกบกพร่องอยู่ บางอย่างเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การใช้งานรถประเภทนี้สะดวกสะบายมากยิ่งขึ้น และบางอย่างก็เคยเป็นสิ่งที่เคยมีในรถรุ่นที่แล้ว แต่กลับหายไปในรถรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น…ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง หรือหลังคากระจก Panoramic Glass Roof เป็นต้น

คู่แข่งในตลาด / Competitors

หลังจากที่แบรนด์รถยุโรปเริ่มหา SUV ขนาดเล็กมาทำตลาดในประเทศไทย ด้วยวิธีการตั้งราคาให้แพงขึ้นจากรถเก๋ง D-Segment ไม่กี่แสนบาท ทำให้ลูกค้าที่คิดจะซื้อรถญี่ปุ่นต่างพากันคิดหนักว่าจะยอมทิ้งความสบาย แล้วหันมาหาความ Premium แทน จนทำให้ Premium Compact SUV เหล่านี้ขายดีขึ้นผิดหูผิดตา ถ้าสงสัยว่าคู่แข่งของ ​GLA-Class เป็นใครบ้าง ? ลองอ่านได้ที่ข้างล่างนี้

BMW X1 (LCI) ราคารุ่น sDrive 20d xLine ถูกว่า GLA 200 AMG Dynamic นิดหน่อย ได้เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร Turbo ได้เปรียบเรื่องแรงดึงและความประหยัดน้ำมัน  ช่วงล่างเซ็ตมาในแนวแข็งหนึบกว่า ซับแรงได้ไม่ดีเท่า แต่เวลาขับเร็วหรือหักหลบกะทันหัน เสียวสันหลังน้อยกว่า ขณะที่อุปกรณ์บางอย่างก็เหนือกว่า GLA 200 เช่น  หน้าจอ Head-up Display แต่บางอย่างก็ด้อยกว่า เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control หน่วยความจำตำแหน่งเบาะฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า

หากจะนำไปใช้เป็นรถอเนกประสงค์ประจำบ้าน มีผู้โดยสารนั่งด้วยบ่อยครั้ง อาจต้องหาเวลาพาครอบครัวไปลองนั่ง แล้วถามดูว่ารับได้หรือไม่กับเบาะนั่งที่แข็ง แถมยังลักษณะของขอบเบาะรองนั่งนูนขึ้นมาแปลกๆ ถ้าคำตอบคือไม่… ลองดูรุ่นอื่น หรือ รอรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ในอีก 1- 2  ปีข้างหน้า จะดีกว่า

Volvo XC40 หากไม่นับรุ่น EV 100% ตอนนี้ XC40 จะเหลือเพียงรุ่น T5 Recharge ขุมพลังเบนซิน Hybrid และรุ่น Pure Electric เสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถวิ่งด้วยไฟฟ้าเพียวๆ ได้ เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานในเมืองเป็นหลัง ขับไป-กลับ ระหว่างบ้านถึงที่ทำงานโดยไม่ต้องใช้น้ำมัน ภายในห้องโดยสารมาพร้อมเบาะคู่หน้าที่แม้จะดูบอบบางแต่นั่งสบายเอาเรื่อง มีข้าวของอ็อพชั่นมาครบครัน ในราคาที่ไม่แพงจนเกินเหตุ

แต่ก็ยังมีข้อด้อยอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเบาะนั่งด้านหลังที่เตี้ยและชัน พื้นที่ห้องโดยสารตอนหลังคับแคบ ส่วนด้านการขับขี่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วสูงในโหมดที่หนักที่สุดก็ยังรู้สึกว่าเบาไปอยู่ดี เป็นปกติของรถ Volvo หลายรุ่นในยุคนี้ นอกจากนี้ ยังมีการตอบสนองของแป้นเบรกห่างไกลจากคำว่าเป็นธรรมชาติมาก กดลงไปช่วงแรก เหมือนรถจะยังไม่ค่อยหน่วงดั่งใจคิด แต่พอเพิ่มหนักน้ำที่ปลายเท้าลงไปอีกนิด คราวนี้หน้าทิ่มจึ๊ก! (What!!!!!!???)

Lexus UX เทียบกันเฉพาะรุ่น 250h ขุมพลังเบนซิน Hybrid เบาะนั่งสบายทั้งคู่หน้าและคู่หลัง อัตราเร่งไม่แรง แต่ก็ไม่ถึงกับอืด และได้ความประหยัด ช่วงล่างนุ่นหนึบใกล้เคียง GLA 200 มากจนน่าฉงน แต่ยางติดรถของ UX มีส่วนช่วยให้ Premium Hatchback กึ่ง Crossover จากแดนาทิตย์อุทัยคันนี้ทำความเร็วโค้งได้มากกว่า GLA 200 เล็กน้อย ส่วนอ็อพชันที่จัดมาให้ในรุ่น F-Sport AWD ก็ครบ ไม่ได้น้อยหน้า Volvo เลย

ในภารรวมถือว่าทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว ทั้งตัวรถ การจัดอ็อพชัน และสมรรถนะการขับขี่ ทว่ากลยุทธ์การตั้งราคาที่น่าเซ็งจิตของ Lexus เอง ทำให้ราคาค่าตัวของรถยนต์หลายรุ่น รวมทั้ง UX กระโดดไปไกลกว่าคู่แข่งมาก จนต้องยอมตัดใจ

ถ้าคุณหรือสมาชิกในครอบครัวฟันธงแล้วว่าต้องเป็น GLA เท่านั้น รุ่นย่อยไหนจึงจะเหมาะกับคุณ ?

Mercedes-Benz (Thailand) วางราคาจำหน่าย GLA แต่ละรุ่นย่อยเอาไว้ ดังนี้

  • GLA 200 Progressive – 2,199,000 บาท
  • GLA 200 AMG Dynamic – 2,399,000 บาท
  • AMG GLA 35 4MATIC – 3,190,000 บาท 

GLA 200 Progressive เป็นรุ่นย่อยใหม่ที่ทาง Mercedes-Benz (Thailand) ตัดสินเพิ่มเข้ามาให้ภายหลัง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ไม่อยากจ่ายแพง โดยมีราคาค่าตัวที่ถูกกว่ารุ่น GLA 200 AMG Dynamic 200,000 บาท สิ่งที่คุณจะได้เหมือนกันๆ นั่นคือ งานวิศวกรรม ทั้งด้านโครงสร้างตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบบังคับเลี้ยว รวมถึงระบบห้ามล้อ แต่มีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • เปลี่ยนช่วงล่างเป็นแบบ Comfort Suspension (สูงขึ้นเล็กน้อย)
  • เปลี่ยนกันชนหน้า – หลังเป็นแบบ Progressive Bodystyling
  • เปลี่ยนล้ออัลลอยเป็นลาย 5 ก้านคู่ ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง 235/55 R18
  • เปลี่ยนพวงมาลัยเป็นแบบ Multi-function ธรรมดา หุ้มด้วยหนัง ARTICO
  • เปลี่ยนเบาะนั่งเป็นแบบธรรมดา หุ้มด้วยหนัง ARTICO สีดำ
  • เปลี่ยน Trim การตกแต่งภายในห้องโดยสารเป็นแบบ Spiral-look Trim Elements
  • เปลี่ยนแป้นคันเร่ง และแป้นเบรก เป็นแบบธรรมดา
  • ตัดระบบแผนที่นำทางแบบ Hard Disc Navigation พร้อมแผนที่แบบ 3 มิติ
  • ตัดพรมปูพื้นพร้อมตราสัญลักษณ์ AMG

หากคุณมองว่าสิ่งที่ติดตั้งมาให้ในรุ่น Progressive นั้น เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับตัวเองและคนในครอบครัวแล้ว และการตัด Option อุปกรณ์ทั้งหลายที่กล่าวไปข้างต้น ก็ไม่ได้ส่งผลต่อคุณค่าความเป็นยานพาหนะหนึ่งคันสำหรับคุณเลยแม้แต่น้อย รุ่นเริ่มต้นนี้ก็ดูจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อยู่พอสมควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าสายที่ชื่นรอบรถแนวแตนๆ (ย่อมาจาก Standard) เน้นซื้อมาใช้งานแบบเดิมๆ ไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก ไม่ต้องการความวิลิศมาหราใดๆ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ความคุ้มค่าโดยวัดกันเฉพาะ Option ต่างๆ ที่ติดตั้งมาให้เท่านั้น ดูเหมือนว่า GLA 200 AMG Dynamic จะยังเสียเปรียบคู่แข่งทั้งหมดในตลาดอยู่ แต่หันกลับไปมองในคุณค่าของความเป็นรถยนต์คันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะการขับขี่ การโดยสารใช้งานแบบครอบครัว Option ขั้นพื้นฐาน GLA 200 ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีพอสมควร และเหนือกว่าคู่แข่งในบางด้านเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้าใครที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ GLA 200 ก็ถือเป็น Premium Compact Crossover ที่วางจำหน่ายในบ้านเรา ณ เวลานี้ ที่ไม่ควรมองข้าม

แล้วถ้าถามว่า เพิ่มเงินอีก 710,000 บาท ขยับขึ้นไปหา Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC ซึ่งผมยกให้เป็น AMG ขับ 4 306 แรงม้า ในราคาแค่ 3 ล้านต้น ! สำหรับลูกค้าตราดาวที่อยาก (เริ่ม) ซิ่ง

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วง 4-5 ปีก่อน การจะได้ครอบครองรถแรงรุ่นเริ่มของตระกูล AMG นั้น คุณอาจจะต้องจ่ายราวๆ 4-5 ล้านบาท ถ้าไม่ใช้แฟนบอยผู้นับถือตราดาวเป็นสรณะจริงๆ น้อยคนนักที่จะตกลงปลงใจซื้อ แต่ปัจจุบันด้วยกลยุทธ์ของ Mercedes-Benz (Thailand) ที่เดินหน้าบุกตลาดกลุ่ม Dream Cars และ Performance Cars อย่างจริงจัง ตัวแรงระดับ Entry ที่เข้ามาตั้งไลน์ประกอบในประเทศ ทำให้สามารถจัดอ็อพชั่นและทำราคาให้อยู่ในระดับที่ลูกค้าทั้งหน้าเก่าและใหม่ยอมจ่าย และทำให้สื่ออย่างเราๆ ยอมที่จะแนะนำให้คนซื้อโดยไม่ติดขิดตะขวงใจเท่าไหร่นัก

Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC ผมถือได้ว่าเป็นน้องเล็กแห่งตระกูล AMG ที่บู๊ได้แถมความสบายติดปลายนวม ที่ติดป้ายราคาถูกที่สุด เอื้อมถึงได้ง่ายที่สุด ในบรรดารถ AMG คุณได้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังระดับเดียวกันกับ AMG CLA 35 AMG ที่อาจจะทำตัวเลขต่างๆ ออกมาดีกว่า ตามสไตล์บอดี้รถ อีกทั้งยังมีอุปกรณ์บางอย่าง อาทิ ระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง รวมถึงพวงมาลัย AMG Performance ตามแบบฉบับของรถ AMG จริงๆ แต่สุดท้ายแล้วการที่จิ้มไปที่ AMG GLA 35 แล้วสามารถประหยัดเงินในบัญชีไปได้ราวๆ 7 แสนบาท ก็พอจะช่วยให้ลืมสิ่งเหล่านั้นไปได้ชั่วคราว

คุณงามความดีของ AMG GLA 35 ประการแรกคือเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังที่ทำงานประสานกันได้ดี ทำตัวเลขอัตราเร่งออกมาน่าประทับใจ ทั้งแรง และสนุก แม้จะมีความไม่สมูทในการใช้งานในเมือง มีเดินหน้า สลับหยุด อยู่นิดหน่อยก็ตาม แม้จะไม่ได้เป็น AMG แท้ ในแบบที่ภาพในหัวของใครหลายคนเข้าใจกันมาโดยตลอดว่าต้องเป็น One Man, One Engine ทว่ามีภาพรวมการขับขี่ไปในทิศทางเดียวกับแบรนด์ ไม่มีด้านหนึ่งด้านในที่เป็นจุดติหนักๆ นอกจากนี้ การถูกสั่งชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศ ก็ช่วยให้ทาง Mercedes-Benz (Thailand) สามารถทำราคาได้น่าคบ

แต่ถึงจะดีอย่างไร ก็ยังมีจุดที่ผมมองว่ามันน่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น การทำงานของเกียร์ AMG Speedshift DCT 8 G ยังคงมีอาการชักขะเย่อในช่วงความเร็วต่ำให้สัสผัสอยู่  ช่วงล่างในโหมด Comfort ยังปรับให้นุ่มและซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำได้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังขาดอุปกรณ์บางอย่าง อาทิ พวงมาลัยแบบ AMG Performance และระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่ช่วยความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่น ระบบเตือนเมื่อมีรถยนต์ หรือจักรยานยนต์อยู่ในมุมอับสายตาด้านข้าง Blind Spot Monitoring ซึ่งควรจะมีในรถทุกรุ่นได้แล้ว

ถ้าหากถามผมว่า “คุ้มหรือไม่” กับการที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 710,000 บาท จาก GLA 200 กระโดดขึ้นไปเล่น AMG GLA 35 หากมองแค่หน้าตาภายนอกที่แตกต่างกันไม่ได้มากอย่างที่คิด และอ็อพชั่นบางประการที่เพิ่มเข้ามา หลายคนอาจเบือนหน้าหนี พร้อมกับตั้งคำถามในใจว่า ฉันจะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อข้าวข้องเหล่านั้นไปเพื่ออะไรกัน แต่หากคุณเป็นสายขับ และให้น้ำหนักกับงานวิศวกรรมที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกบอดี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น โปรดอย่าได้ลังเลครับ

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าคุณจะเลือกอะไร…

  1. มันคือเงินของคุณ
  2. บางที คนที่จะช่วยตัดสินใจได้ดีที่สุด… คือคนในครอบครัวของคุณ
  3. และในบางครอบครัว เชื่อภรรยา พ่อตา หรือแม่ยาย น่าจะปลอดภัยมากที่สุด

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อบ้าน แม่บ้านทั้งหลาย คงรู้อยู่แก่ใจกันแล้วใช่ไหมครับ ว่าควรจะเลือกอะไร?

—————————–//—————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

QCXLOFT (Yutthapichai Phantumas)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน และ
J!MMY
ลิขสิทธิ์ภาพถายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ Daimler AG.

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
9 มีนาคม 2022

Copyright (c) 2022 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
March 9th, 2022

แสดงความคิดเห็นได้ คลิกที่นี่! / Comments are Welcome CLICK HERE!


Headlightmag Clip รีวิว ทดลองขับ Mercedes-Benz GLA 200 AMG Dynamic


Headlightmag Clip รีวิว ทดลองขับ Mercedes-AMG GLA 35 4MATIC

———————————-