(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอคลิปทดลองขับของรถคันนี้ อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้)
——————————————
ถึงคนของ Nissan
โปรดอ่านให้จบทั้งบทความ ก่อนจะโทรมาด่า
ขอบคุณ
——————————————
คุณคงลืมชื่อ Terra กันไปแล้วใช่ไหมครับ?
ตอนที่ผมรับคำถามจากคุณผู้ชม และคุณผู้อ่าน ไม่ว่าจะมาจากระหว่างจัดรายการวิทยุ DR!VE By J!MMY ช่วงบ่าย 2 โมง ทุกวันเสาร์ ในข้อความ Direct Message ของ Headlightmag Fan Page ทาง Facebook…ผมสังเกตว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานั้น
เมื่อใดที่มีคุณผู้ชม/คุณผู้อ่าน สอบถามเข้ามาว่า ควรจะซื้อ SUV/PPV รุ่นไหนดี เมื่อถามกลับไปว่า มองรถคันไหนไว้บ้าง แทบทุกคน ต่าง List รายชื่อ รถยนต์ที่ตนเองสนใจ ทั้ง Toyota Fortuner , Mitsubishi Pajero Sport , Isuzu MU-X และ Ford Everest โดย “แทบทุกคน” ขอย้ำว่า “แทบทุกคน” ต่าง ไม่ใส่ชื่อ ไม่นึกถึง และไม่มี Nissan Terra อยู่ในห้วงความคิดเลย…แม้แต่คนเดียว!
เรื่องที่บ้าไปกว่านั้นก็คือ Bas เรืองศักดิ์ บัวคำ เจ้าของรายการ Burn By Bas และเป็น วิทยากรร่วมดำเนินรายการวิทยุกับผม ซึ่ง…ก็ต้องพูดตรงๆว่า มีอาชีพหลัก อยู่ในฝ่ายฝึกอบรมพนักงานขาย ของ T.C.Subaru เคยลองให้ พนักงานขายของ Dealer ต่างๆ ที่มาฝึกอบรมด้านความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับคู่แข่งในตลาด นึกถึงรายชื่อ SUV/PPV ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ตนรู้จักมา คนละ 3 รุ่น
เชื่อไหมว่า แทบทุกคน ยกมือตอบออกมา ทั้ง Fortuner , Pajero Sport MU-X และ Everest ครบ แต่กลับไม่มีพนักงานขายของ Subaru คนใดในคอร์สการอบรมวันนั้น นึกถึงชื่อ Terra เลยแม้แต่คนเดียว!!!
สารภาพเถอะว่าลืมกันไปแล้วจริงๆนั่นแหละ…มันช่างน่าสงสารอะไรเช่นนี้!!?? รถดีที่โลกลืมไปไม่เหลียวแลเลย!! แถมไม่ใช่แค่ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะลืม นั่นยังไม่พอ ขนาดคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยกันแท้ๆ บางคน ยังลืม Terra กันไปเลย บางคนถึงกับถามว่า “ยังขายอยู่อีกเหรอ??”
มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจครับ เพราะนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา รถยนต์ Nissan ที่เปิดตัวออกสู่ตลาดในบ้านเรา หลังจาก March K13 ในเดือนมีนาคม 2010 และ Nissan Almera รุ่นแรก เดือนตุลาคม 2011 ต่างล้วนประสบชะตากรรมไม่แตกต่างกันนัก คือ มันเป็นรถยนต์ที่ มีคุณงามความดีซ่อนอยู่ในตัวเยอะมาก แต่สังคมก็ไม่สนใจ หรือไม่ได้รับรู้มากเพียงพอว่ามันดีอย่างไร น่าสนใจเพียงใด
สาเหตุมีหลายอย่าง แต่หลักๆ ก็มาจาก การที่สำนักงานใหญ่ใน Yokohama มองแต่ “กำไรเยอะๆ” โดยไม่ยอมเข้าใจว่าตลาดเมืองไทย แตกต่างจากประเทศอื่นๆ มากกว่าที่พวกเขาคิด ยิ่งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยลงทุน เรื่องการสร้างแบรนด์ (Branding) ให้แข็งแกร่งในบ้านเราเอาเสียเลย ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งในเรื่องภาพลักษณ์ มาตลอด ยิ่งถ้าจะมาทำ Branding ในสถานการณ์ตอนนี้ ก็แทบเรียกได้ว่า เกือบจะสายไปแล้ว
ขณะเดียวกัน พวกเขายังคงตั้งเป้ายอดขายสูงๆ แต่ไม่ยอมส่งอาวุธในรูปของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาให้ทีมงานฝั่งไทย ทำตลาดกันเลย รถยนต์รุ่นไหนที่สวย และมีกระแสดีในโลก Social Media ก็อย่าหวังว่าทางญี่ปุ่นจะยอมส่งมาทำตลาดในบ้านเราเลย เหมือนที่ Facebook Page “แต่งซิ่งวิ่งไม่พ้น” เคย ตั้งฉายาให้ว่า “สวยเหรอ?…ไม่ขายยย!!” ถ้าอยากได้รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทีมไทยต้องสร้างยอดขายรถรุ่นเก่าที่ลากขายกันจนจะปลายอายุตลาดแล้ว ให้เยอะกว่าเดิมเสียก่อน!!??
ต่อให้ได้รถยนต์รุ่นใหม่มาขาย ก็อาจจะถูกตัด Option จนแทบไม่เหลือจุดเด่นไว้ต่อกรกับคู่แข่ง บางครั้ง ก็เลือกสเป็กรถมาให้คนไทย โดยมองแค่อยากได้กำไรต่อคันรถ เยอะๆ แต่ไม่มองถึงสถานการณ์ที่แท้จริง เช่น นำเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร จาก March และ Almera เดิม มาวางใน Nissan Note แทนที่จะเป็นขุมพลัง 1.5 ลิตร พอเปิดตัวออกมาในปี 2018 ก็ตั้งราคาแพงพอกับ Honda Jazz เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ต่อให้ใส่ Option มาขนาดไหน แต่อัตราเร่งอืดจนลูกค้าเขาก็เมินกันหมด ยอดขายจึงต่ำเตี้ยเรี่ยพื้น
ยิ่งบางรุ่นในอดีต เช่น Navara NP300 (2014) หรือ Terra (2018) ทีมงานระดับภูมิภาค ซึ่งล้วนเป็นชาวต่างชาติ ที่ไม่รู้จักตลาดเมืองไทยดีพอ กลับได้มีบทบาทเข้ามากำกับการวางแผนการตลาด และไม่ยอมรับฟังเสียงของทีมไทย จนทำให้การเปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย ดับวูบ เงียบสนิท หรือกลายเป็นเรื่องตลกในสายตาลูกค้าบ้านเราไป (ใครยังจำ หนังโฆษณาเปิดตัว Navara ที่ทำ CG ให้รถตีลังกาลงมาจากน้ำตกได้ไหม? ฉายแค่วันเดียว โดนด่าเละเทะ จนต้องหั่นหนังท่อนนั้นยกทิ้ง หรือหนังโฆษณา Terra จาก Philipines ที่ลูกอยากนั่ง Roller Coaster แต่คนไทยไม่ Get!) ซ้ำร้าย ชาวต่างชาติพวกนี้ ไม่เคยคิดด้วยว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมันไม่เหมาะสมกับตลาดเมืองไทย! พอหมดวาระ ก็ถูกโยกย้ายขึ้นไป ทิ้งปัญหาไว้ให้คนไทยมานั่งรับเคราะห์กรรม ตามเคย
แม้กระทั่งการที่ ชาวต่างชาติบางคน สั่งให้ตั้งราคา Nissan LEAF รุ่นที่ 2 ในเมืองไทย ไว้สูงถึง 1,990,000 บาท เพียงเพราะ หวังจะให้มี “กำไรต่อคันสูงๆ” โดยไม่ดูสภาพตลาดที่แท้จริง ทำให้ LEAF ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ กลับต้องมาจอดนอนเฝ้าโชว์รูมเป็นเพื่อน รปภ. ไปเสียฉิบ ที่บ้ายิ่งกว่านั้นก็คือ พวกเขาเพิ่งทำ แคมเปญลดราคาลงมาเหลือ 1,499,000 บาท หวังระบายสต็อก แต่กลับไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพียงเพราะ ชาวต่างชาติบางคน กลัวเสียภาพลักษณ์ กลายเป็น”แบรนด์ลดราคา” จึงไม่น่าแปลกใจว่า กว่าที่ผมจะรู้ ก็ต้องเข้าไปเจอโดยบังเอิญ ในเว็บ www.Nissan.co.th เท่านั้น แถมกว่าจะเจอแคมเปญดังกล่าว ผมต้อง Click เข้าไปใน Menu ย่อย รวมถึง 5 ครั้ง!!!
อีกประการที่สำคัญคือ บริการหลังการขาย แม้ว่า Nissan จะยังมีศูนย์บริการดีๆ ไว้ใจได้ เยอะกว่า Mazda Ford MG ก็ตาม แต่ ต้องยอมรับว่า ลูกค้าในอดีตจำนวนมาก เคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับ Dealer ของ Nissan ในรูปแบบต่างๆมาแล้ว ลูกค้าเหล่านั้น ไม่สนใจหรอกครับว่า โชว์รูมแห่งนั้น จะถูกปิดไปแล้ว หรือยังเปิดดำเนินการอยู่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ พวกเขาเลือกจะใช้วิธีเล่าแบบปากต่อปาก หรือโพสต์ลง Social Media กระจายกันไปจนกระทั่ง หลายคนที่คิดจะซื้อรถใหม่ ก็ไม่มั่นใจว่าจะต้องมาเจออะไรแบบที่คนอื่นเขาเจอกันหรือเปล่า?
สิ่งที่ สำนักงานใหญ่ใน Yokohama เลือกแก้ปัญหาในฝ่ายต่างๆ คือ ให้ฝ่าย Human Resources ไปตามหามือดีจากบริษัทคู่แข่ง หรือจากธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับรถยนต์มาก่อน เข้ามาร่วมงานด้วย แทนที่จะผลักดันพนักงานในองค์กรก่อน เพียงเพื่อหวังจะใช้ความรู้ความสามารถของคนเหล่านี้เข้ามาเยียวยาปัญหา แต่พอคนเก่งๆเหล่านั้นเข้ามา เจอวัฒนธรรมการทำงานที่น่าปวดกบาล รวมทั้งลำดับขั้นในการตัดสินใจ ที่เยอะมากพอกับขั้นบันไดพระปรางค์วัดอรุณ และอีกสารพัดปัญหานานับประการ ก็ไม่สามารถแสดงศักยภาพแก้ปัญหาได้ บ้างทนไม่ไหว ก็ลาออก บ้างก็โดนอัปเปหิออกไปอย่างน่ากังขาในสาเหตุ เป็น Loop แบบนี้ มาตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
นี่ยังไม่นับการปรับลดขนาดองค์กร ในช่วง 1-2 ปีให้หลัง ยิ่งซ้ำเติมให้ ขวัญกำลังใจของพนักงานคนไทย จึงเหือดแห้งหาย หมด Passion หมดไฟหมดใจ มองไม่เห็นอนาคตของตนใน Nissan อีกต่อไป สู้ยอมลาออก รับ Package ไปนอนผึ่งพุงอยู่บ้านสบายใจ ดีกว่า มานั่งทนทำงานให้ชีวิตเครียด พังพินาศไปในแต่ละวัน ส่วนคนที่รับเข้ามาใหม่ หลายคนก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องรถยนต์มากพอ ไม่ “อิน” กับแบรนด์ Nissan ทำให้ขาด Motivation ในการต่อรองกับทั้งเจ้านาย หรือชาวต่างชาติ ขณะที่บางคน ซึ่งเก่งมาก เข้ามาพร้อมจะแก้ปัญหา แต่กลับอยู่ได้ไม่นาน ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน และไม่มีการวางแผนต่างๆในระยะยาว อย่างที่ควรเป็น
ฯ ล ฯ อี ก ม า ก ม า ย จ น ต้ อ ง ตั ด ท อ น ใ ห้ เ ห ลื อ แ ค่ นี้ ก่ อ น
เ ดี๋ ย ว บ ท ค ว า ม ท่ อ น นี้ จ ะ ย า ว เ กิ น จำ เ ป็ น ไ ป ก ว่ า นี้
ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ รถยนต์ Nissan หลายๆรุ่น มียอดขายค่อยๆหดตัวลง ก่อนจะทะยอยถูกปลดออกจากการผลิตและจำหน่ายในเมืองไทย ตามลำดับ ตั้งแต่ Nissan Livina ที่ยกเลิกการนำเข้าจาก Indonesia ในปี 2015 – 2016 ตามด้วย Nissan Juke ยกเลิกนำเข้าจาก Indonesia ในปี 2016 , Nissan Pulsar ในปี 2016 และล่าสุด กับการยุติบทบาทเลิกทำตลาด ของ Nissan Sylphy , Nissan Teana และ Nissan X-Trail พร้อมกันทั้ง 3 รุ่น เมื่อ 30 กันยายน 2020
พูดกันตรงๆก็คือ…มีแนวโน้มสูงมากว่า Terra อาจมีชะตากรรม ไม่ต่างจากญาติพี่น้องรุ่นต่างๆข้างต้นมากนัก…
Terra รุ่นเดิม เป็น SUV/PPV ที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของรถกระบะ Navara ซึ่งดันเปิดตัวออกมา ล่าช้าเกินกว่ากำหนดการเดิมอันควรเป็น แม้ว่ามีจุดขายหลัก ทั้งด้านสมรรถนะและความประหยัดน้ำมัน จากเครื่องยนต์ Diesel 2.3 ลิตร Turbo คู่ ไปจนถึงช่วงล่างที่ดีเกินหน้าเกินตาคู่แข่ง และอาจจะมีจุดด้อยบ้าง เรื่องการตอบสนองของพวงมาลัยที่หนักและช้าเกินไปในการเลี้ยวไปมาอย่างรวดเร็ว แต่ในภาพรวม Terra คือ SUV/PPV ที่เซ็ตบุคลิกการขับขี่ ให้ลงตัวมากสุดในตลาดเมืองไทย จนฟัดเหวี่ยงกับ Ford Everest ได้เต็มที่
แต่ในเมื่อ รูปร่างหน้าตา ของ Terra รุ่นเดิม ดูเชย และยังไม่หรูพอ ในสายตาของลูกค้า เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Toyota Fortuner , Isuzu MU-X , Mitsubihi Pajero Sport และ Ford Everest กอปรกับ การที่ สำนักงานประจำภูมิภาค เข้ามาแทรกแซงและกำหนดนโยบายการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ มากจนเกินไป ทั้งที่ฝรั่งมังค่าเหลานั้น ไม่เข้าใจตลาดรถยนต์เมืองไทยเอาเสียเลย แถมทีมการตลาด และฝ่ายขาย ในตอนนั้น ก็ทำงานกันแบบ พอให้มันผ่านพ้นไป ผนวกกับความทรงจำของผู้บริโภคจำนวนมาก ในเชิงลบ ต่อศูนย์บริการหลายๆแห่งของ Nissan ทั้งในเมืองหลวง และต่างจังหวัด
ทั้งหมดข้างต้น ทำให้ Terra เริ่มต้นเข้าสู่ตลาด ได้ค่อนข้างทั้งเงียบกริบ ยอดขายและการพูดถึงของผู้คน ก็น้อยมาก ไม่แตกต่างจาก Nissan รุ่นอื่นๆ ซึ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านั้น จนกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายทีมการตลาดในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องรับหน้าที่วางแผนเตรียมการเปิดตัว Terra Minorchange ในเดือนสิงหาคม 2020 ขึ้นมาว่า ทำอย่างไร ให้ รถยนต์ SUV/PPV ที่ขับดีแต่โลกลืม อย่าง Terra สามารถ ฟื้นกลับขึ้นมา อยู่ในการพูดถึงของสังคมผู้ใช้รถยนต์ในเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อหวังจะให้มีลูกค้ากลุ่มใหญ่ อุดหนุนไปขับใช้งานกันมากกว่านี้
ตอนแรกผมนึกว่า การปรับโฉม Minorchange ให้กับ Terra ครั้งนี้ เป็นเพียงแค่การแต่งหน้าทาปาก เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถัง ด้านหน้า เปลี่ยนไฟหน้า ไฟท้าย และเปลี่ยนแผงหน้าปัดใหม่ แค่นั้น ไม่ได้มีการปรับปรุงงานวิศวกรรมใดๆทั้งสิ้น เพราะเครื่องยนต์ ก็ยังคงเป็น รหัส M9T จาก Renault เหมือนเดิม ดังนั้น เดาได้เลยว่า สมรรถนะ อัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็น่าจะออกมาเหมือนเดิม
แต่ช่วงก่อนเปิดตัว ผมได้รับการยืนยันจากหลายๆคนใน Nissan ว่า การปรับโฉมคราวนี้ นอกจากปรับเปลี่ยนงานออกแบบข้างต้นแล้ว ยังมีการปรับเซ็ตพวงมาลัยใหม่ ให้ตอบสนองดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ดังนั้นบุคลิกการขับขี่ของ Terra จะคล่องตัวขึ้น จนลงตัวยิ่งขึ้น กลายเป็นรถที่น่าใช้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า Terra Minorchange จะดีขึ้นอย่างที่พวกเขาบอกกับผม จริงหรือไม่? มีทางเดียวก็คือ ยืมรถ Demo มาทดลองขับ ใช้ชีวิตด้วยกัน 1 สัปดาห์เต็มๆ และตอนนี้ ผมก็พร้อมแล้วที่จะบอกคุณว่า Terra Minorchange ใหม่ ดีขึ้นเพียงพอจนควรค่าให้คุณ จะเก็บเอาไว้ใตร่ตรอง ระหว่างมองหา SUV/PPV มาใช้ในครอบครัวสักคันหรือไม่?
แต่ก่อนอื่น ผมคงต้องท้าวความเก่าเล่าสรุปเรื่องราวของ Terra ในช่วงอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ กันอีกครา
โครงการพัฒนา Nissan Terra เริ่มถือกำเนิดขึ้น เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2010 ในฐานะ รุ่นเปลี่ยนโฉมตัวตายตัวแทน ใหม่ทั้งคัน ให้กับ Nissan Paladin ซึ่งมีขายเฉพาะในเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ เท่านั้น หมายความว่า ในช่วงเริ่มต้นพัฒนา พวกเขาไม่มีประเทศไทย อันเป็นตลาดใหญ่และฐานการผลิตหลักของรถยนต์ประเภท SUV / PPV อยู่ในสายตามาก่อนเลย
ทีมงานฝั่งไทยเพิ่งได้เริ่มถูกเชิญเข้าไปมีส่วนร่วม ในช่วงปี 2012 และมีการถกเถียงกันอย่างหนักว่า สมควรจะนำเข้ามาประกอบขายในเมืองไทยหรือไม่ ท้ายที่สุด Nissan Motor Thailand ก็ตัดสินใจ นำ Terra เข้ามาประกอบที่โรงงาน ย่านบางนา-ตราด
ทว่า ระหว่างการพัฒนา ให้เป็นไปตามกำหนดการเปิดตัวดั้งเดิม ในช่งปี 2016 เมื่อคู่แข่งทั้งตลาด อย่าง Toyota Fortuner , Mitsubishi Pajero Sport และ Ford Everest เปิดตัวตัดหน้า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือช่วงครึ่งหลังของปี 2015 ทั้ง 3 รุ่น ต่างถูกออกแบบไปในแนวทาง หรูขึ้น งามสง่าขึ้น (More Elegance , More Prestige) ทีม Nissan ถึงกับอึ้งไปเลยว่า ถ้าเป็นแบบนี้ มีหวัง Terra ไม่น่ารอดแน่ๆ
ซ้ำร้าย ในเดือนมกราคม 2016 รัฐบาลไทย ประกาศใช้ โครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต แบบใหม่ โดยในหมวดของ SUV/PPV นั้น ตัวรถ ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงมา ให้ต่ำกว่า 200 กรัม/กิโลเมตร จึงจะได้ลดหยอนภาษีลงมาอีก 5% ทำให้ส่งผลกระทบกับตลาด SUV/PPV โดยตรงในตอนนั้น นอกจากจะทำให้หลายค่าย (เช่น Ford Everest กับ Toyota Fortuner) ต้องปรับราคาขายปลีกขึ้นไปด้วยแล้ว หาก Nissan ยังดื้อใช้เครื่องยนต์ YD25DDTi ตามแผนเดิม ค่ามลพิษ จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 อาจสูงทะลุ เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร ทำให้ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แพงขึ้น และต้องตั้งราคาขายปลีก แพงจนไม่อาจต่อสู้กับคู่แข่งได้เลย สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่านี้
Nissan เมืองไทย จึงต้องเปลี่ยนแผน เจรจากับทางญี่ปุ่น ขอนำเครื่องยนต์ M9T (YS23DDTT Twin Turbo) ของ Renault มาเร่งปรับปรุงด้านมลพิษ และติดตั้งให้กับ Terra เวอร์ชันไทย เป็นพิเศษ เพียงตลาดแห่งเดียวเท่านั้น เพื่อให้ค่า CO2 ลดต่ำลงมาอยู่ที่ 200 กรัม/กิโลเมตร พอดี ในรุ่น VL 4×4 และ 196 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่น VL 4×2 ซึ่ง กว่าจะผ่านขั้นตอนการอนุมัติ ขอเปลี่ยนเครื่องยนต์สำหรับตลาดเมืองไทย การประสานงานกับฝ่ายเทคนิคที่ญี่ปุ่น การทดสอบ ปรับจูนต่างๆ ส่งเครื่องยนต์ต้นแบบมาทดสอบ ติดตั้งเข้ากับรถต้นแบบ แล้วทดสอบกับทั้งห้อง Lab ของ Nissan เอง รวมทั้ง Lab ของ สถาบันยานยนต์ การเตรียมงานผลิต การทดสอบความทนทานต่างๆ ฯลฯ กว่าจะทำเรื่องอนุมัติ ขอ ECO Sticker กับทางรัฐบาลไทย นั่นยิ่งทำให้ กำหนดเปิดตัว ของ Terra ในไทยและตลาดโลกต้องเลื่อนล่าช้าออกไปอีกถึง 2 ปี
ถ้าคุณอยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังที่ “ละเอียดกว่านี้” ผมขอแนะนำให้คุณคลิกเข้าไปอ่านในบทความ Full Review ของ Terra รุ่นปี 2018 – 2019 ซึ่งผมเคยสรุปไว้ให้ทั้งหมดแล้ว Click Here
Nissan Terra ซึ่งมีชื่อเป็นภาษา Italian แปลว่า “โลก” เปิดตัวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2018 ตั้งราคาจำหน่ายถูกกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน ประเดิมรุ่นเริ่มต้น 2.3 V 4×2 ราคา 1,316,000 บาท รุ่นกลาง 2.3 VL 4×2 ราคา 1,349,000 บาท และรุ่น Top 2.3 VL 4×4 ราคา 1,457,000 บาท โดย Nissan ประกาศว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาพิเศษช่วงเปิดตัว และจะมีการปรับขึ้นรุ่นย่อยละ 50,000 บาท ในช่วงต้นปี 2019
ทว่า หลังจากออกขายไปได้ไม่กี่สัปดาห์ ในเดือน กันยายน ปี 2018 General Motors Thailand (ซึ่งยังทำตลาดในประเทศไทย อยู่ ณ เวลานั้น) ก็ต้องออก Campaign ต้อนรับน้องใหม่ เพื่อปกป้องยอดขาย (อันน้อยนิด) ของตน ด้วยการอัด Promotion ส่งเสริมการขาย “Super Deal” ลดราคา Chevrolet Trailblazer 2.5 LT 4×2 รุ่นเริ่มต้นลงถึง 245,000 บาท เหลือเพียง 999,000 บาท ส่วนรุ่น Top 2.5 LTZ 4×4 ลด 190,000 บาท เหลือ 1,289,000 บาท ทำให้กลยุทธ์การตั้งราคายั่วใจลูกค้าของ Nissan ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น ตลอดช่วง 3 เดือนสุดท้าย ของปี 2018 ยอดขายของ Nissan Terra ทำได้ต่ำกว่าเป้ามากๆ คือเพียง 1,128 คัน ทำได้แค่มียอดขายสูสีกับ Trailblazer เท่านั้น
ช่วงต้นปี 2019 Nissan ตัดสินใจกลับลำ ปรับราคา Terra ขึ้นเฉพาะรุ่น Top 2.3 VL 4×4 อันเป็นรุ่นขายดีที่สุด เพียง 30,000 บาท เท่านั้น เป็น 1,487,000 บาท ส่วนรุ่นที่เหลือยังตรึงไว้เท่าเดิมไปก่อน จนะกระทั่ง วันที่ 30 กันยายน 2019 Nissan เริ่มกระตุ้นตลาดครั้งแรกหลังจากเปิดตัวครบ 1 ปี ด้วยการออกรุ่น Nissan Terra Energetic
Package ตกแต่งพิเศษด้วยชุดแต่งสเกิร์ตรอบคัน และประดับ Trim ลายไม้ภายในห้องโดยสาร เพิ่ม Option ฝาท้ายเปิด – ปิดด้วยระบบไฟฟ้า (แต่ยังไม่มีระบบเตะเปิด) แถมยังอัด Promotion เขย่ากระเป๋า ดอกเบี้ย 0% นาน 60 เดือน (รายละเอียดเพิ่มเติม Click Here)
กระนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายปี 2019 กระเตื้องขึ้นสักเท่าไหร่ Terra ยังคงรั้งอันดับสุดท้ายด้านยอดขายในกลุ่ม SUV/PPV ด้วยจำนวน 1,754 คัน มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงแค่ 2.9% เป็นรองแม้กระทั่ง ขุนศึกอายุมากอย่าง Chevy Trailblazer ที่มียอดขาย 3,091 คัน และไม่ต้องคิดจะไปทาบรัศมียอดขายอันดับ 1 ของกลุ่ม SUV/PPV ในบ้านเรา อย่าง Toyota Fortuner นะครับ รายนั้นเขากวาดยอดขายตลอดปีนั้นไปได้ทั้งสิ้นถึง 26,217 คัน
สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประชาชนต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจยานยนต์ได้รับผลกระทบ ยอดขายรถทุกประเภท (ยกเว้นรถยนต์ระดับ Ultra Luxury อย่าง Rolls-Royce) ลดลงจากปีก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด
Nissan จึงพยายามสู้ด้วยการนั่งคำนวนในโปรแกรม Excel แล้วเคาะตัวเลข จัดโปรโมชันสู้สถานการณ์โควิด สำหรับลูกค้ากลุ่มอาชีพพิเศษ อาทิ แพทย์ พยาบาล และหน่วยงานสาธารณสุข Covid-19 ที่ตัดสินใจออก Terra ในช่วงพฤษภาคม ปี 2020 มอบส่วนลดสูงถึง 228,000 – 317,000 บาท แตกต่างกันตามรุ่นย่อย
23 พฤศจิกายน 2020 Nissan ต้อนรับผู้มาใหม่อย่าง All New Isuzu MU-X ด้วยการส่ง Nissan Terra รุ่นปรับอุปกรณ์ MY 2020 ขึ้นโชว์รูม รอรับงาน Motor Expo 2020 คราวนั้น ถือว่าจัดหนักจัดเต็มกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งการเพิ่มชุดแต่งรอบคัน Energetic Package เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น VL เพิ่มสปอยเลอร์หลัง พร้อมฝาท้ายไฟฟ้าในรุ่น VL เปลี่ยนลายด้านในของกระจังหน้า V-Motion เป็นสีดำเงา เปลี่ยนกรอบไฟตัดหมอกเป็นสีดำเงา เปลี่ยนราวหลังคาเป็นสีดำเงา เปลี่ยนหน้าจอระบบสัมผัส Touchscreen เป็นแบบ Built-in ขนาด 8 นิ้ว เพิ่มระบบเชื่อมต่อ Nissan CONNECT เพิ่ม Apple CarPlay / Android Auto ย้ายการแสดงผลภาพจากกล้องรอบคัน 360 องศา มาไว้ที่หน้าจอกลาง เพิ่มฟังก์ชั่น Wi-Fi Receiver เพิ่มปุ่มสั่งงานด้วยเสียงบนพวงมาลัย เพิ่มช่องเชื่อมต่อ USB / HDMI ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 3 ก็เพิ่มช่องเชื่อมต่อ HDMI มาให้ หน้าจอเพดานสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง เปลี่ยนจอแสดงข้อมูล MID ขนาด 5 นิ้ว กราฟฟิกดีไซน์ใหม่ เปลี่ยนวัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสารเป็นสีเทาดำ ทั้งหมดนี้ มาในราคาที่ลดลง 17,000 บาท ในรุ่น V ส่วนรุ่น VL 4×2 ราคาเท่าเดิม ในขณะที่รุ่น Top VL 4×4 ปรับเพิ่มขึ้นแค่ 2,000 บาท ! (รายละเอียดเพิ่มเติม Click Here)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยุค Covid-19 ยังคงย่ำแย่ลง เริ่มตั้งแต่ ปลายเดือน ธันวาคม 2020 จนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม 2021 และล่าสุด ช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2021 แต่ละบริษัทรถยนต์ ทุกแห่ง รวมทั้ง Nissan ต่างพยายามหาวิธีเอาตัวรอดให้ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย แต่ทุกอย่างมันไม่ง่ายอย่างใจคิด…
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา เกือบทุกประเภท รวมทั้ง SUV/PPV ร่วงลงทั้งกระดาน ขนาดผู้นำหัวตารางอย่าง Toyota Fortuner ที่เคยทำตัวเลขยอดขาย ป้วนเปี้ยนประมาณ 26,000 คัน/ปี ยังหล่นฮวบลงมาเหลือแค่ 19,742 คัน นับประสาอะไรกับ SUV / PPV ผู้มาช้ากว่ากาล… ในปี 2020 ยอดขายของ Terra ทำไปได้ทั้งสิ้นแค่เพียง 1,338 คัน เท่านั้น แถมยังลดลงจากปี 2019 ถึง 23.7% แต่มองในแง่ดี อย่างน้อยส่วนแบ่งการตลาดในปี 2020 ก็เพิ่มขึ้นมากระจึ๋งนึง จาก 2.9% เป็น 3% ยิ่งสถานการณ์ในปี 2021 ยิ่งเลวร้ายลงไปกว่านั้นอีก ยอดขาย Terra ต่อเดือน เหลือเพียงไม่ถึง 100 คันเท่านั้น
หมายความว่า ถ้า Nissan ไม่ทำอะไรเลย Terra อาจถึงคราวดับสูญในเมืองไทย ตาม Sylphy Teana และ X-Trail ซึ่งเพิ่งยุติการทำตลาดในเมืองไทย ไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2020 แน่ๆ เพราะยอดผลิตและยอดขายเพียงแค่นี้ ไม่คุ้มต่อการนำมาขึ้นไลน์ประกอบในบ้านเราเลยแม้แต่น้อย และนั่นคือที่มา ของความพยายามฮึดสู้อีกรอบ ในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย…
งานปรับโฉม Terra Minorchange เริ่มต้นขึ้นราวๆ ปี 2019 แทบจะเรียกได้ว่า ตามหลังการเปิดตัวของ Terra รุ่นดั้งเดิมมาติดๆ ภายใต้การทำงานของทีมออกแบบ ซึ่งนำโดย Mr. Ken Lee ดำรงตำแหน่ง Senior Design Director ของ NIssan Global ดูแลงานออกแบบของรถยนต์ในกลุ่ม LCV (Light Commercial Vehicles) ทุกรุ่น ตั้งแต่ Frontier, Navara, Terra, Titan ไปจนถึง พี่ใหญ่สุดอย่าง Patrol / Armada ตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 จนถึงปัจจุบัน
Ken Lee เกิดในสหรัฐอเมริกา แต่เติบโตใน Singapore และ Hong Kong มาจนถึงอายุ 9 ขวบ ในวัยเด็ก เขาหลงใหลคลั่งไคล้ ในรถยนต์ อย่างมาก เขาโตมากับการวาดรูปรถ ต่อประกอบ รถ Lego และฝันอยากจะออกแบบรถยนต์ของตนเอง การพักอาศัยอยู่ในทวีป Asia ทำให้เขาคุ้นชินกับการเรียนรู้เรื่องราวของรถยนต์ Nissan และ Brand Asia อื่นๆ ส่วนหนึ่ง แรงบันดาลใจก็มาจากพ่อของเขา ซึ่งมีรถยนต์ครอบครัว เป็น Toyota Carina รุ่นปี 1979
เมื่ออายุ 10 ขวบ ครอบครัวของเขา ย้ายกลับไปอยู่ใน Los Angeles เขารบเร้าพ่อให้ซื้อรถญี่ปุ่น แต่สุดท้าย พ่อของเขาก็ตัดสินใจซื้อ Volvo ทำให้ Ken Lee ยิ่งมี Passion กับรถญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับ Nissan GT-R รถยนต์ที่คนอเมริกัน ไม่มีโอกาสเข้าถึงในสภาพเพิ่งออกจากโรงงาน เพราะ Nissan Motor USA ไม่เคยสั่งเข้าไปขายเองเลย
ในตอนนั้น Ken Lee ก็พบว่าการออกแบบรถเป็นอาชีพได้ จากการดูรายการทางโทรทัศน์ ตอนนั้นเขาจึงตัดสินจะยึดการออกแบบรถเป็นอาชีพในอนาคต และเขามุ่งมั่นที่จะเดินตามความฝันนี้ให้ได้ ดูเหมือนเส้นทางนี้จะถูกวางมาโดยฟ้าเบื้องบน เพราะบ้านของ Ken Lee ตั้งอยู่ใกล้กับ สถาบันสอนการออกแบบที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ในด้านยานยนต์ อย่าง Art Center College of Design ที่ซึ่งเคยเป็นสถานศึกษาของ อดีตนักออกแบบชื่อก้องโลก อย่าง Chris Bangle (BMW) ฯลฯ เขาจึงเลือกเข้าศึกษาต่อที่นั่น และสำเร็จออกมาในปี 1998
หลังจากเรียนจบ ก็เริ่มต้นฝึกงานที่ Mazda North America ในเมือง Irvine มลรัฐ California ช่วงปี 1998 ก่อนจะเริ่มเข้าทำงานใน Ford Motor Company ที่ Dearborn มลรัฐ Michigan ในปี 1999 ซึ่งเขาก็มีประสบการณ์ในการทำงานที่เมือง Melbourne ประเทศ Australia ช่วงสั้นๆ เป็นเวลา 6 เดือน และที่นั่น คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะย้ายมาทำงานใน Nissan
“ผมย้ายไป Michigan ทำงานให้กับ Ford อยู่ 3 ปี ผมจำได้เลยว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2003 ตอนนั้น Ford Design Studio ได้นำ Nissan Murano กับ Infiniti FX ใหม่ เข้ามาในห้องออกแบบ ให้ทุกๆคนได้ดูกัน ผมรู้จักรถทั้ง 2 รุ่นอยู่แล้ว แต่การได้เห็นตัวรถจริงๆ ทำให้ผมคิดว่า Nissan เป็นบริษัทรถยนต์ที่น่าอัศจรรย์ และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในตอนนั้น ผมตัดสินใจสมัครเข้าทำงานใน Nissan”
Ken Lee ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับ Nissan Design America ในเมือง Farmingtion Hills มลรัฐ Michigan ในญานะ นักออกแบบ เมื่อปี 2003 ก่อนจะเริ่มถูกโปรโมตขึ้นเป็น Senior Designer ที่ Nissan Design Center ในเมือง Atsugi ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2006 เริ่มเป็น Project Lead Designer ในปี 2009 พอถึงเดือนเมษายน 2012 เขาก็ถูกโปรโมท ให้ไปเป็น Design Manager อยู่ที่ Nissan Design Europe ก่อนจะกลับมายัง Nissan Design America อีกครั้ง เพื่อรับตำแหน่ง Senior Creative Manager ในเดือนเมษายน 2014 และ Design Director ในเดือน เมษายน 2016 และเลื่อนขั้นขึ้นเป็น Senior Design Director ที่ Nissan Design Global ในญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 จนถึงปัจจุบัน
ในฐานะผู้ดูแลงานออกแบบรถยนต์กลุ่ม LCV นั้น Ken Lee เล่าถึง Terra ว่า “เราตั้งใจออกแบบให้ Terra ใหม่ ดูทันสมัยขึ้น ดูมีพลวัตร (Dynamic) แต่ยังคงให้ความอบอุ่นใจ พร้อมให้การปกป้องทุกๆคนในครอบครัว ทุกสถานการณ์ เราต้องการให้ด้านหน้ามีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น ตามโจทย์ของการออกแบบ เราทำให้กระจังหน้าและกันชนเด่นมากขึ้นกว่าเดิม จากนั้นก็สร้างสมดุลระหว่างความแข็งแกร่งแบบ SUV กับไฟหน้ารวมถึงมีเส้นสายที่โฉบเฉี่ยว ทำให้เกิดความ Contrast ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การออกแบบสไตล์ Nissan”
“ชุดไฟหน้า และไฟท้าย เปรียบเสมือนเหมือนเครื่องประดับที่ดึงดูดสายตาผู้คนให้หันมามองที่ตัวรถ ลูกค้าของเราชอบการออกแบบชุดโคมไฟที่เป็นเสมือนลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ (Signature) ของตัวรถ ดังนั้นเราจึงให้เวลาอย่างเต็มที่กับการออกแบบ ชุดโคมไฟให้ดูโดดเด่น และใช้งานได้ดี โคมไฟแบบ LED ของ Terra ใช้กำลังไฟลดน้อยลง แต่สว่างขึ้นถึง 34% และเมื่อสังเกตในโคมไฟหน้าดี ๆ ก็จะเห็นรูปทรงลูกบาศก์ หรือ ice cube ที่สะดุดตา แบบเดียวกับ Nissan Navara Minorchange มาพร้อมกรอบนอกโคมไฟ ที่ออกแบบอย่างประณีต ราวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บวกกับเส้น Signature ของ Nissan ที่บาง และมาในแนวนอน ให้ความรู้สึกล้ำสมัย นักออกแบบภูมิใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มาก”
“การเพิ่มเส้นโครเมียม (Chromium) เพื่อให้ Terra ดู Premium มากขึ้น บวกกับรายละเอียดการออกแบบที่เล่นกับโครเมียม ช่วยเพิ่มความพิเศษให้กับรถคันนี้ เมื่อพิจารณาฝากระโปรงหน้าใกล้ ๆ คุณจะเห็นรอยพับอันเฉียบคมที่ลากผ่านจากโคมไฟไปยังกระจังหน้าซึ่งไม่เพียงแค่เป็นสองมิติ แต่ทุกชิ้นส่วนยังประสานเข้ากันอย่างไร้รอบต่อ ลงตัวและสวยงาม ด้านหลังมีแถบโครเมียมตรงกลางที่เชื่อมไฟท้ายเข้าด้วยกัน แนวโค้งของโครเมียมให้ความรู้สึกมั่นคงและแข็งแกร่งซึ่งทำให้เทอร์ร่าพิเศษ และแตกต่างเพราะส่วนใหญ่ตกแต่งในแนวนอน”
ส่วนภายในห้องโดยสาร Ken Lee มองว่า “สิ่งที่ลูกค้าต้องการเพิ่มขึ้น สำหรับ Terra คือ ‘ความพรีเมียมและหรูหรา’ ที่มากกว่าเดิม (More Premium & Luxury) การตกแต่งภายในจึงให้ความรู้สึกดึงดูดและทำให้รู้สึก ‘ว้าว’ และสำหรับคนที่ต้องการความโดดเด่นน่าสนใจ สีทูโทนคือคำตอบสำหรับคุณ คุณสามารถเลือกได้ระหว่างสีแดงเบอร์กันดีหรือสีเบจที่ตัดด้วยสีดำอย่างสวยงาม หรูหราอย่างสมดุล แผงคอนโซลที่หุ้มด้วยวัสดุ Soft Touch ทั้งแผง ให้ความรู้สึกแข็งแกร่งแต่ขณะเดียวกันมีความอ่อนนุ่มให้ทั้งความรู้สึกที่หรูหราและพรีเมียม ไม่น่าเบื่อเหมือนแผงคอนโซลสี่เหลี่ยมทั่ว ๆ ไป วัสดุ Finisher สีเงิน Satin Silver ช่วยเพิ่มความประณีต และที่ขาดไม่ได้คือ หน้าจอกลางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มความมีระดับและไฮเทค ทั้งหมดนี้ให้ความรู้สึก “ว้าว”
อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า Terra ใหม่ ได้แรงบันดาลใจมาจาก Nissan Patrol Minorchange ชัดเจน Ken Lee มองว่า “นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ Design Studio ของเราที่ญี่ปุ่น เป็นอาคารหลังใหญ่ พื้นที่กว้างขวาง ภายในถูกแบ่งเป็นหลายห้องและมีรถยนต์หลายรุ่น ได้รับการออกแบบและพัฒนาอยู่ที่นั่น พร้อมๆกัน และ Terra Minorchange ถูกออกแบบและขึ้นรูปแบบจำลองดินเหนียวขนาดเท่าตัวรถคันจริง 1 : 1 ในห้องที่มี Nissan Patrol Minorchange ซึ่งกำลังถูกขึ้นรูปแบบจำลองเท่าคันจริง ไปพร้อมๆกัน จอดอยู่ถัดไป แน่นอนทั้งสองต่างเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน!”
การเผยโฉม Terra Minorchange นั้น Nissan เลือกใช้วิธีการปล่อยให้เห็นภาพ Teaser เป็นครั้งแรก บน Video Clip ทีชื่อว่า “NISSAN NEXT : From A to Z” ผ่านช่อง Youtube Channel ของ Nissan Global เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2020 ซึ่งเป็นคลิปวีดีโอที่ Nissan จงใจเผยให้เห็น งานออกแบบคร่าวๆของ บรรดากองทัพรถยนต์รุ่นใหม่ของ Nissan ทั้งรุ่นใหม่ New Model และ ปรับโฉม Minorchange ที่มีกำหนดเปิดตัวในปี 2020 – 2021 ร่วมกับ
SUV ไฟฟ้าล้วนรุ่น Ariya, SUV รุ่นยักษ์ อย่าง Armada / Patrol Minorchange, ตามด้วยรถกระบะ Frontier (US Version), Nissan Kicks, Murano Minorchange , Navara Minorchange , Note Full Model change , SUV รุ่น Pathfinder, Qashqai, Roque (X-Trail) , และรถสปอร์ต Nissan Fairlady Z
หลังจากนั้น เวลาผ่านไปอีก ครึ่งปี Nissan Terra Minorchange เผยโฉมครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2020 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย Nissan เลือกเปิดตัวในตลาด กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งออกจะแปลกไปจากธรรมเนียมปกติที่พวกเขาเคยทำมา เพราะปกติแล้ว Nissan จะยอมเปิดตัวรถยนต์ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก่อนเป็นแห่งแรกในโลก ก็เห็นจะมีเพียงแค่ SUV รุ่นยักษ์ อย่าง Nissan Patrol ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่าที่นั่นเท่านั้น
จะว่าไป ก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะ ยอดขายของ Patrol ในตลาดทั่วโลก นั้น สะสมไว้สูงถึง 75,000 คัน แซงหน้าคู่แข่งสำคัญอย่าง Toyota Land Cruiser ไปไกลโข ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ Nissan จะคาดหวังยอดขายของ Terra จากประเทศในกลุ่ม GCC เพิ่มขึ้นมา
ไม่เพียงเท่านั้น Nissan ยังเลือกเปลี่ยนชื่อ Terra เป็น Nissan X-Terra ซึ่งเป็นการนำเอาชื่อของ SUV พันธุ์ลุยแบบดิบๆ ที่สร้างขึ้นจาก Frame Chassis ของรถกระบะ Frontier รุ่นปี 1997 มาดัดแปลงเป็นช่วงสั้น และออกขายในตลาดอเมริกาเหนือ ปี 1999 และยุติการทำตลาดไป ในปี 2015 กลับมา Recycle ใช้ใหม่
Terra Minorchange เวอร์ชัน GCC ในชื่อ X-Terra ถูกตกแต่งในรูปแบบ คล้ายกันกับบ้านเรา แต่อาจลดทอนความหรู และลดทอนอุปกรณ์ภายในรถไปบ้าง ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน QR25DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,488 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.1 : 1 พร้อมระยแปรผันวาล์ว Twin C-VTC กำลังสูงสุด 165 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 241 นิวตันเมตร (24.55 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ มีทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหลัง และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part Time
ประเทศไทย นับเป็นตลาดแห่งที่ 2 ในโลก และเป็นประเทศแรกใน ASEAN ที่ Nissan เลือกเปิดตัว Terra Minorchange โดยยังคงใช้ชื่อ Terra ตามเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อตามตลาดอื่นแต่อย่างใด
กระนั้น เนื่องจากสถานการณ์เชื้อ Covid-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2021 นั้นรุนแรงขึ้นมาก มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องออกข้อบังคับต่างๆ เป็นผลให้สารพัดกิจกรรม ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ประเภทต่างๆ รวมทั้งการเปิดตัวสินค้า ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการปกติ ดังนั้น Nissan จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการ ถ่ายทำ Video Clip สำหรับการเปิดตัว เตรียมไว้ก่อน แล้วค่อยยิงขึ้นระบบ Live Streaming ทั้งใน Youtube และ Facebook ของ Nissan Thailand ให้สาธารณชนรับชมกัน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 19 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา
ผลตอบรับ หลังการเปิดตัวนั้น เป็นจังหวะที่คู่แข่งอย่าง Toyota Fortuner เปิดตัวรุ่นปรับอุปกรณ์ ปี 2021 พร้อมกับรุ่น GR Sport ตกแต่งพิเศษ ที่มีราคาทะลุโดดไปแตะ 1,899,000 บาท ออกสู่ตลาดตามมาในอีก ไม่กี่สัปดาห์ให้หลัง ถึงแม้ว่า ยังพอจะมีกระแสการพูดถึง Terra อยู่บ้าง ในด้านความคุ้มค่า คุ้มราคา เมื่อเทียบกับ Fortuner แต่ตัวเลขยอดขายเดือนแรก ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 150 คัน ก็ยังถือว่า ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้นอยู่ ผิดปกติวิสัยของรถยนต์ที่เพิ่งเปิดตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ สดๆร้อนๆ
ถ้าให้วิเคราะห์กันตามสภาพความเป็นจริง ก็คงต้องยอมรับว่า ชื่อชั้นของแบรนด์ Nissan ในเมืองไทยเวลานี้ ตกต่ำลงมาเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน ตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา แทบทุกค่าย มียอดขายร่วงต่ำลงทุกแบรนด์ สืบเนื่องจาก ผู้บริโภคหวาดลัวการระบาด และพยายามลดการออกจากบ้าน ลดการติดต่อกับบุคคลแปลกหน้า ไปจนถึงการ Semi Lock Down ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้คนตัดสินใจ ไม่จับจ่ายใช้สอย จึงไม่แปลกที่ตลาดรถยนต์จะซบเซาลงทั้งหมด และทำให้ยอดขายของ Terra ในช่วงเปิดตัวยังไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร คงต้องรอหลังจากผ่านพ้นช่วงปีใหม่ 2022 ไปแล้ว สักประมาณ 3 เดือน สถานการณ์โรคระบาดน่าจะลดความรุนแรงลง และกำลังซื้อของผู้บริโภค น่าจะเริ่มกลับมา เราจึงค่อยกลับมาดูกันอีกทีว่า ยอดขายของ Terra จะดีขึ้นตามไปด้วยหรือไม่
***** ขนาด มิติตัวรถ และน้ำหนัก *****
******** Dimension & Weight ********
Terra Minorchange ทุกรุ่นย่อย มีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,890 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,865 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ (Wheelbase) 2,850 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,565 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track) 1,570 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถึงจุดต่ำสุดใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 225 มิลลิเมตร มุมไต่ (Approach Angle จากขอบยางล้อหน้า ถึงขอบล่างกันชนหน้า) อยู่ที่ 33 องศา ส่วนมุมจาก (Departure Angle จากขอบยางล้อหลัง ถึงขอบล่างกันชนหลัง) อยู่ที่ 26 องศา
การออกแบบเปลือกกันชนหน้าและกันชนหลังแบบใหม่ ส่งผลให้มิติตัวถังภายนอกของ Terra Minorchange
เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย เมื่อนำไปเทียบกับรุ่นก่อน Minorchange ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร จะพบว่ารุ่นปรับโฉม Minorchange ยาวขึ้นเพียงแค่ 5 มิลลิเมตร กว้างเท่าเดิม และสูงขึ้น 30 มิลลิเมตร จากการเปลี่ยนเสาอากาศมาเป็นแบบครีบฉลามตามสมัยนิยม ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงเท่ารุ่นเดิมก่อน คืออยู่ที่ 78 ลิตร
น้ำหนักตัวรถเปล่า (Kerb Weight) ของแต่ละรุ่นย่อย ที่ระบุไว้ในโบรชัวร์เวอร์ชันไทย มีดังนี้
– 2.3 E 4×2 น้ำหนัก 2,041 กิโลกรัม (เบากว่ารุ่น 2.3 V 4×2 ก่อน Minorchange 2 กิโลกรัม)
– 2.3 VL 4×2 น้ำหนัก 2,072 กิโลกรัม (หนักกว่ารุ่น 2.3 VL 4×2 ก่อน Minorchange 29 กิโลกรัม)
– 2.3 VL 4×4 น้ำหนัก 2,150 กิโลกรัม (หนักกว่ารุ่น 2.3 VL 4×4 ก่อน Minorchange 32 กิโลกรัม)
ถ้าเราลองเปรียบเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม SUV/PPV ดูบ้างล่ะ…?
เริ่มจาก Isuzu MU-X ที่เพิ่งเปลี่ยนโฉม Full Model Change ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลามคม 2020 มีขนาดตัวถังใหญ่โตขึ้นด้วยความยาว 4,850 มิลลิเมตร กว้าง 1,870 มิลลิเมตร สูง 1,875 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,855 มิลลิเมตร จะพบว่า Terra Minorchange ยาวกว่า 40 มิลลิเมตร แต่แคบกว่า 5 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า MU-X เพียง 5 มิลลิเมตร
หรือเปรียบเทียบกับเจ้าตลาดยืนหนึ่ง ทั้งด้านยอดขาย และความอัตคัตมารยาทบนท้องถนน อย่าง Toyota Fortuner ที่เพิ่งปรับโฉม Minorchange กันไป ด้วยความยาว 4,795 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Terra Minorchange ยาวใหญ่กว่า Fortuner โดยเฉพาะ รุ่น Legender ทุกมิติ ทั้งความยาวที่มากกว่าแค่ 95 มิลลิเมตร กว้างกว่า 10 มิลลิเมตร สูงกว่า 30 มิลลิเมตร ตลอดจนระยะฐานล้อที่ยาวกว่า 100 มิลลิเมตร
หากลองนำไปเทียบกับ Ford Everest รุ่น Minorchange รอบล่าสุด ที่เปลี่ยนกระจังหน้าของทุกรุ่นเป็นลายเดียวกับ Everest Sport ซึ่งมีความยาว 4,893 มิลลิเมตร กว้าง 1,862 มิลลิเมตร สูง 1,837 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร จะพบว่า Terra Minorchange สั้นกว่า Everest แค่ 3 มิลลิเมตร แต่ก็กว้างกว่าแค่ 3 มิลลิเมตร สูงกว่า 28 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อเท่ากันกับ Everest พอดีเป๊ะ!
สุดท้าย หากเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Pajero Sport Minorchange ซึ่งมีความยาว 4,825 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,800 มิลลิเมตร จะพบว่า Terra Minorchange นั้น ยาวกว่า Pajero Sport อยู่ 65 มิลลิเมตร กว้างกว่า 50 มิลลิเมตร สูงกว่า 30 มิลลิเมตร อีกทั้ง Terra Minorchange ยังมีระยะฐานล้อยาวกว่า 50 มิลลิเมตร
********** รูปลักษณ์ภายนอก **********
************** Exterior **************
จากวัตถุประสงค์ของทีมออกแบบฝั่งญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ Terra Minorchange มีงานออกแบบ ทั้งภายนอกและภายใน ที่ฉีกหนี และแตกต่างจาก รถกระบะ Navara Minorchange อย่างชัดเจน นั่นจึงทำให้ รูปลักษณ์ภายนอก ของ Terra รุ่น Minorchange ถูกปรับโฉม จนแตกต่างจาก Terra รุ่นเดิม แบบไม่มีข้อสงสัย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ความสดใหม่ เกิดขึ้นที่บริเวณหน้ารถเป็นหลัก งานนี้ ทีมออกแบบถึงขั้น ยอมเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าใหม่ ยกยวงเลยทีเดียว!
เริ่มต้นที่ด้านหน้าของรถ มีการเปลี่ยนมาใช้กระจังหน้า โครเมียม ที่ออกแบบขึ้นภายใต้แนวทาง V-Motion คราวนี้ ทีมออกแบบ จงใจจะใช้แรงบันดาลใจจาก เส้นสายด้านหน้า ของญาติผู้พี่ SUV รุ่นยักษ์ ที่ทำยอดขายทั่วโลกในปี 2020 ที่ผ่านมา มากถึง 75,000 คัน อย่าง Nissan Patrol เจ้าตลาด Off-Road แห่งตะวันออกกลาง หรือ Nissan Armada ในตลาดอเมริกาเหนือ ดังนั้น กระจังหน้าจึงมีพื้นที่ของโครเมียม เพิ่มขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบกับ Terra รุ่นเดิม
แต่…ดูไปดูมา มันก็แอบมีความคล้ายคลึงกับ ด้านหน้าของคู่แข่งจ่าฝูงเจ้าตลาด SUV/PPV อย่าง Toyota Fortuner อยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะ…!?
กระจังหน้าแบบใหม่ ทรง V-Shape ใหญ่โตกว่าเดิมชุดนี้ ติดตั้งตรงกลาง ขนาบข้างด้วยชุดโคมไฟหน้าดีไซน์ใหม่ ไฟหน้าต่ำและไฟสูงเป็น Projector Lens LED แบบ QUAD-EYE ช่วยให้ส่องสว่างขึ้น 34% ไฟ Daytime Running Light เป็นแบบ LED 2 เส้น ลากเชื่อมต่อกัน ส่วนไฟเลี้ยวที่อยู่มุมด้านในยังคงเป็นหลอดไส้ธรรมดา
เปลือกกันหน้าดีไซน์ใหม่ทั้งหมด เห็นได้ชัดเลยว่า แรงบันดาลใจจาก Nissan Patrol มาอยู่ใน Terra ใหม่ เต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นสายของ ช่องดักอากาศด้านหน้าออกแบบให้มีเส้นสายลากไปเชื่อมต่อกับกรอบไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ตกแต่งด้วยแถบโครเมียมบริเวณชายล่างเปลือกกันชน เสริมด้วยแผ่นกันกระแทกสีเงิน
ไม่เพียงเท่านั้น แผ่นตัวถังแก้มข้างบริเวณซุ้มล้อคู่หน้า (Fender) ฝั่งที่ติดกับประตูคู่หน้า มีการออกแบบให้มีช่องเว้าสำหรับติดชิ้นงานพลาสติกประดับสีดำ ล้อมรอบด้วยแถบโครเมียม ดูราวกับจงใจให้ คล้ายกับ Ford Everest อยู่เหมือนกัน ส่วน บริเวณลำตัวรถช่วงกลางของตัวรถ ก็ยังคงเหมือนรุ่นเดิมทุกประการ
บั้นท้ายรถเป็นอีกส่วนที่มีความเปลี่ยนแปลง โดยมีการออกแบบฝาประตูห้องเก็บสัมภาระขึ้นมาใหม่ ให้ดูหรูหรากว่าเดิม ชุดไฟท้ายมีการปรับรูปทรงและปรับรายละเอียดภายในโคมใหม่ทั้งหมด ไฟเบรก เปลี่ยนมาใช้หลอด LED แทรกตัวอยู่ตรงกลางระหว่างไฟหรี่แบบ LED Tube ทั้ง 2 เส้น รวมทั้งการเสริมด้วยแถบโครเมียม รูปทรงคล้ายมือจับประตูห้องน้ำวัด เชื่อมไฟท้ายฝั่งซ้ายและขวาเข้าด้วยกัน (สงสัยจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Mitsubishi Outlander PHEV กระมัง) พร้อม ตัวอักษร T E R R A เหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียนหลัง ไม่เพียงเท่านั้น เปลือกกันชนหลัง ก็มีการปรับดีไซน์และวางตำแหน่งแผงไฟทับทิมใหม่ ด้วยเช่นกัน
ทุกรุ่นย่อย มาพร้อมล้ออัลลอยลายดีไซน์ใหม่ ลายกังหัน 6 ก้าน ปัดเงา สี Two-tone ขนาด 18 x 7 นิ้ว ระยะ ET (Offset) +45 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างรูน็อต (Pitch Circle Diameter) 6 x 114.3 (6 x 4.5) สวมด้วยยาง Bridgestone DUELER HT 684II ขนาด 255/60 R18
สีตัวถังภายนอก มีให้เลือก 6 สี ได้แก่
– สีแดง Coulis Red อันเป็นสีโปรโมท (มีเฉพาะรุ่น VL 4×2 และ 4×4)
– สีทองแดง Forged Cooper (สีเดียวกับ Navara Minorchange VL มีเฉพาะรุ่น VL 4×2 และ 4×4)
– สีดำ Black Star
– สีขาวมุก White Pearl
– สีเงิน Brilliant Silver
– สีเทา Twilight Grey (สีที่อยู่ในรถคันที่เรานำมาทำรีวิวนี้)
นอกจากนี้ Nissan เพิ่งจะกระตุ้นตลาดอีกรอบ ด้วย การเปิดตัว Nissan Terra Midnight Package ซึ่งตกแต่งภายนอกเพิ่มเติม ด้วยชิ้นงาน Plastic สีดำ Piano Black ทั้งกระจังหน้า V-Shape คิ้วขอบกันชนหน้า กรอบไฟตัดหมอกหน้า คิ้วตกแต่ง Fender Garnish เหนือซุ้มล้อคู่หน้า สัญลักษณ์ T E R R A บนฝากระโปรงหน้า คิ้วเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนด้านหลัง (Back Door Garnish) เปิดตัวในงาน Motor Expo เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ โดยราคาพิเศษของชุดแต่งเหล่านี้ เริ่มต้นที่ 9,990 บาท
ห้องโดยสาร / Interior
ระบบกลอนประตูของ Terra Minorchange ทุกรุ่นย่อย ยังคงใช้กุญแจอัจฉริยะ Intelligent Key รูปทรงเมล็ดข้าวสารที่ลากใช้มายาวนานนับทศวรรษ ตั้งแต่ รถสปอร์ตอย่าง Nissan GT-R ไล่ลงมาแม้กระทั่ง ECO Car อย่าง Nissan March มา พร้อมระบบ Immobilizer และสัญญาณกันขโมยจากโรงงาน ส่วนมือจับประตู ทั้ง 4 ชิ้น เป็นพลาสติกชุบโครเมียมทั้งหมด
วิธีการใช้งานกุญแจ Intelligent Key ของ Nissan นั้น แม้คุณจะพกกุญแจรีโมทไว้กับตัว แล้วเดินเข้าใกล้ประตูรถในระยะห่างที่กำหนด แต่คุณยังคงต้อง กดปุ่มบนมือจับแบบโครเมียม ที่ประตูคู่หน้า เสียก่อน เพื่อทำการล็อก – ปลดล็อกประตู ได้ทันที หรือจะกดปุ่มที่กุญแจรีโมท เพื่อสั่งล็อก – ประตู ก็ได้เช่นกัน
อันที่จริง ก็ยังคงสะดวกเหมือนรุ่นเดิม แต่ยังไม่ถึงขั้นทัดเทียมเท่ากับคู่แข่งคันอื่น ที่ต่างพากัน Upgrade ไปใช้ระบบ Smart Keyless ซึ่งเพียงแค่แตะมือจับเบาๆ ระบบก็ปลดล็อกรถให้แล้ว โดยไม่ต้องกดปุ่มใดๆอีกต่อไป บางค่ายรถยนต์เขาก็ก้าวไปไกลถึงขั้น เชื่อม Application บนโทรศัพท์มือถือ แผลงร่างเป็นกุญแจรถได้แล้ว ก็ได้แต่หวังว่า Nissan จะยอมตามชาวบ้านเขาทันในสักวันหนึ่ง
การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า นั้น ยังคงเหมือนทั้ง Terra รุ่นเดิม และ Navara รุ่นปัจจุบัน เพราะเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และ เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar รวมทั้ง ช่องกรอบประตู ยกชุดมาใช้ร่วมกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น ส่วนการก้าวขึ้น – ลงจากรถนั้น ผมไม่ได้พบปัญหากับ Terra เลย เนื่องจาก บันไดข้าง มีขนาดเหมาะสม เหยียบได้เกือบเต็มเท้า ขณะเดียวกัน ระยะความสูงพื้นถนนจนถึงพื้นรถ (Ground Clearance) ก็ยังคงอยู่ในระดับเดิม ถือว่าไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
การก้าวขึ้น – ลงจากรถนั้น เพียงเปิดประตู เหยียบบันไดด้านข้าง ที่มีขนาดเหมาะสมแล้ว ถ้าเป็นผู้โดยสารฝั่งซ้าย ก็แค่เอื้อมมือไปที่มือจับบริเวณเสาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย แล้วยกตัวขึ้นไป สอดเท้าอีกข้าง เข้าไปบนยางปูพื้น Design พิเศษ แยกฝั่งชัดเจน ทั้งตัวพรมและยางกันเปื้อน ก่อนจะหย่อนบั้นท้ายลงบนเบาะนั่ง ทุกอย่าง สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีอะไรติดขัดเลย
อย่างไรก็ตาม แอบเสียดายอยู่ว่า Nissan ยังคงไม่ติดตั้ง มือจับบริเวณเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา มาให้ทั้งสิ้น ซึ่งประเด็นนี้ เหมือนกันทั้ง Terra และ Navara Minorchange เพราะมองว่า ผู้ขับขี่น่าจะเอื้อมไปจับพวงมาลัย แล้วดึงยกตัวขึ้นไปนั่งบนเบาะได้ ดังนั้น ผมมองว่า ใส่มาให้สักหน่อยเถอะ ของแค่นี้ มันเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้นนะ
แผงประตูคู่หน้า ยังคงเป็นชิ้นงานพลาสติกขึ้นรูป งานออกแบบเหมือนรุ่นก่อน Minorchange แผงประตูส่วนบนและพนักวางแขนของรุ่น E จะหุ้มด้วยผ้าสีดำ แต่สำหรับรุ่น VL จะเพิ่มความ Premium เข้าไป โดยพื้นที่ด้านบนจะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์สีดำ ส่วนตัวพนักวางแขนหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์สีเดียวกับเบาะนั่ง ซึ่งมีทั้งโทนสีดำ Black /แดง Burgandy หรือสี Beige ขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอก
พนักวางแขน บุด้วยหนังสังเคราะห์ ตามสีของเบาะนั่ง สามารถวางท่อนแขนได้สบายตั้งแต่ข้อศอกเลย มือจับเปิดประตูด้านในเป็นแบบพลาสติกชุบโครเมียม การวางแขน ยังคงทำได้ดี ตามเดิม ด้านล่างของแผงประตูเป็นลำโพงเสียงต่ำ 1 ตำแหน่ง ถัดมาด้านหลังเป็นช่องวางของขนาดใหญ่มาก รองรับได้ทั้งนังสือ หรือเอกสารขนาดใหญ่ รวมทั้ง ช่องวางขวดน้ำดื่ม ขนาดสูงสุด 1.25 ลิตร อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งถูกออกแบบให้วางในแนวเฉียง และไม่น่าหล่นลงมาบนพื้นที่วางขาง่ายๆ
เบาะนั่งฝั่งคนขับของรุ่น E เป็นแบบปรับด้วยคันโยก 6 ทิศทาง ส่วนรุ่น VL จะเป็นแบบปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง และเพิ่มระบบปรับตัวดันหลังด้วยสวิตช์ไฟฟ้า (Lumbar support) 2 ทิศทาง ส่วน เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า ทุกรุ่นย่อย เป็นแบบปรับด้วยคันโยก 4 ทิศทาง ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้
รูปทรงของเบาะรองนั่ง พนักพิงหลัง รวมถึงพนักพิงศีรษะ ใช้โครงสร้างมาจากรุ่นเดิม เมื่อมองจากภายนอก จึงดูมีลักษณะคล้ายกับทั้ง Terra รุ่น ก่อน Minorchange และ Navara PRO-4X แต่วัสดุหนังแท้ที่นำมาหุ้มเบาะนั่งคู่หน้าและเบาะนั่งแถวที่ 2 ในรุ่น VL มีการทำลวดลาย Diamond Cut เพื่อให้ดูหรูหราขึ้น เบาะแบบ Zero Gravity Front Seat ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับองค์การวิจัยอวกาศ NASA สหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับกับแนวกระดูกสันหลัง ตามหลักสรีระศาสตร์ แต่เมื่อลองนั่งกันยาวๆแล้ว กลับไม่รู้สึกว่ามันสบายเท่าไหร่เลย
ในเมื่อโครงสร้างเบาะ เหมือนกันกับ Navara Minorchange ดังนั้น ปัญหาด้านการออกแบบ จึงกลายเป็นมรดกตกทอดมายัง Terra ด้วยเช่นเดียวกัน เริ่มกันที่ พนักพิงหลัง แม้จะใช้ฟองน้ำเสริมแบบนุ่มก็จริงอยู่ การรองรับช่วงสบักไล่ลงมาถึงปีกข้างอยู่ในระดับพอใช้ได้ค้ลายกับเบาะของ Nissan Almera
ทว่าการรองรับแผนหลัง ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะบริเวณพื้นที่รองรับบริเวณครึ่งท่อนบนของเเผ่นหลัง ยุบตัวจมหายลงไปมาก หากเป็นรุ่น VL ซึ่งสามารถปรับตัวดันหลังด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ก็ยังพอจะปรับตัวดันหลังให้ชดเชยได้ตามสมควร แม้ไม่ถึงกับดีนักก็ตาม แต่ถ้าเป็นฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ก็ได้แต่บอกว่า “ทำใจ” ถ้านั่งเดินทางไกลๆนานๆ พนักพิงหลัง แอบจะทำให้เกิดความเมื่อยล้า และไม่สบายได้พอสมควรเลยทีเดียว
พนักศรีษะ ยังคงเป็นของเดิม ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ตั้งแต่การปรับโฉมให้กับ Navara เมื่อช่วงปี 2017 และถูกนำมาใส่ให้กับ Terra รุ่นเดิม ตั้งแต่ปี 2018 อยู่แล้ว ใช้ฟองน้ำแบบแน่นแอบนุ่มนิดๆ จึงยังคงรองรับศีรษะได้เท่ากับรุ่นเดิม คือ ไม่ดันกบาลมากนัก แค่แอบดันนิดนึง แต่ถ้าปรับตั้งชัน พนักศรีษะเป็นแบบฟองน้ำนุ่มธรรมดาปรับตำแหน่งได้ 4 จังหวะ
เบาะรองนั่ง ในตำแหน่งปกติ มีมุมเงยที่เหมาะสม มีความยาว พอกับรุ่นเดิม คือสั้นไปหน่อย ออกแบบให้เป็นแอ่ง มีปีกข้างที่คอยอุ้มช่วงบั้นท้ายไว้นิดๆ ใช้ฟองน้ำแบบนิ่มพอกับเบาะรถเก๋งของ Suzuki รองรับส่วนบั้นท้ายได้ดีพอสมควร
เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารบนเบาะนั่งคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioners & Load Limiters) พร้อมระบบแจ้งเตือนการรัดเข็มขัด ทั้ง 2 ตำแหน่ง จุดยึดเข็มขัดนิรภัยที่เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ให้เข้ากับสรีระของผู้ขับขี่และผู้โดยสารแต่ละคนได้
การเข้า – ออก บานประตูคู่หลัง เพื่อขึ้นไปนั่งบนเบาะแถว 2 ยังคงทำได้ดีมาก เหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Toyota Fortuner และ Ford Everest อย่างชัดเจน เนื่องมาจากช่องทางเข้า – ออก กว้างพอสมควร มีบันไดที่มีระยะพื้นที่เหยียบ เหมาะสม แต่ถ้าเทียบกับ Isuzu MU-X แล้ว ต้องยอมเขาไป เพราะความกว้างช่องประตูคู่หลังของเขากว้างกว่า
นอกจากนี้ บริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ยังมี มือจับสำหรับโหนตัวขึ้นรถ ทั้ง 2 ฝั่ง ช่วยให้การก้าวขึ้นลง สะดวกมากกว่าที่คิด ส่วนมือจับศาสดา สำหรับผู้โดยสารไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ขณะคนขับกำลังซิ่ง นั้น ติดตั้งมาให้บริเวณเพดานหลังคาทั้งหมด 5 ตำแหน่ง แต่ไม่มีตะขอเกี่ยวไม้แขวนเสื้อมาให้เลย ส่วนด้านหลังของเบาะคู่หน้า มีช่องใส่หนังสือมาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง
แผงประตูคู่หลัง มีการตกแต่งแผงประตูส่วนบนและพนักวางแขน ด้วยวัสดุผ้าหรือหนังสังเคราะห์ ตามแผงประตูคู่หน้า ส่วนล่างของแผงประตู ติดตั้งลำโพงมาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง และช่องวางขวดน้ำ 1 ตำแหน่ง กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เลื่อนลงมาได้ไม่สุดขอบรางเหมือนเดิม
พื้นที่โดยสารแถวกลาง ยังคงโอ่โถงโล่งสบายเช่นเดิม เบาะนั่งแถวกลาง หรือแถวที่ 2 ยังคงใช้โครงสร้างเบาะแบบเดิม หุ้มด้วยวัสดุผ้า (รุ่น E) หรือหนังผสมหนังสังเคราะห์ (รุ่น VL) แบบเดียวกันกับเบาะนั่งคู่หน้า สามารถแยกเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้เฉพาะฝั่งขวา หรือแยกพับพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่งได้ในอัตราส่วน ซ้าย 60 : ขวา 40
พนักพิงหลัง เสริมด้วยฟองน้ำด้านใน มาในสไตล์แน่น ติดนุ่มเพราะสปริงด้านหลังกำลังดี ไม่มากไป ให้ความนุ่มสบายมากๆ แอบแน่นนิดๆ เฟิร์มกำลังดี พิงหลังได้ผ่อนคลาย ตัวพนักพิงหลังสามารถปรับเอนได้ 12 ตำแหน่ง (ตามเดือยล็อก) แม้ว่าพนักพิงหลังจะดุนแผ่นหลังตอนล่างขึ้นมาชัดเจน และช่วงที่ต้องดันแผ่นหลังตอนกลาง จมบุ๋มลงไปหน่อย แต่นั่งนานๆ กลับสบาย กว่าเบาะหน้า ชนิดไม่ต้องสืบ!
พนักศีรษะ ไม่ดันกบาล ไม่ดันต้นคอ สามารถปรับยกขึ้นสูง – ต่ำได้ แต่บุด้วยฟองน้ำ ที่เหมือนจะนิ่มเมื่อเอานิ้วจิ้ม ทว่า พอสัมผัสกับศีรษะจริง จึงพบว่า ฟองน้ำแน่นมากจนแอบแข็งไปนิด แต่น่าเสียดายที่พนักพิงศีรษะ ยังมีมาให้แค่เพียง 2 ฝั่ง เท่านั้น ตรงกลางยังว่างเปล่าเหมือนเดิม
ส่วนพนักวางแขน แบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ติดตั้งมาเตี้ยไปนิดนึง ดังนั้น จึงพอวางแขนได้ แต่ไม่อาจรองรับถึงข้อศอกได้ ทำให้ผู้โดยสารต้องวางแขนทั้ง 2 ฝั่ง ในระดับไม่เท่ากัน (แผงประตูหนะวางพอดี แต่พนักวางแขน เตี้ยไปนิด) แต่ถ้าปรับเบาะเอนแล้ว ตำแหน่งข้อศอกจะลงล็อกกำลังดี วางแขนได้สบายขึ้นหน่อย
เบาะรองนั่ง นุ่มสบาย ดุจโซฟา แถมยังมีความยาวเหมาะสม ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป สามารถแยกฝั่ง ปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้ 80 มิลลิเมตร ได้ทั้งเบาะซ้ายและขวา เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้กับผู้โดยสารแถวกลาง หรือเลื่อนถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถว 3 ได้ ดังนั้น พื้นที่วางขาของผู้โดยสารแถวกลาง จึงเหลือเยอะมาก และมันไม่ใช่ปัญหาสำหรับ Terra เลย
ข้อด้อย ก็คือ มุมเงยของเบาะรองนั่ง ยังน้อยไปหน่อย ทำให้คนตัวสูง หรือมีช่วงขายาว ต้องนั่งชันเข่าเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ถ้าแก้ตรงนี้ได้ น่าจะประเสริฐ แต่ก็เข้าใจดีว่า จำเป็น ต้องเผื่อเรื่องการพับเบาะลงมา ให้พื้นที่ราบมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับเบาะแถวกลาง ไม่ต้องพูดถึงครับ เยอะเหลือเฟือ คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม มีพื้นที่เหนือศีรษะราวๆ 1 ฝ่ามือ กับอีก 4 นิ้วมือในแนวนอน
ด้านหลังกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวที่ 2 และช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า แบบ Type C และ USB port ปกติ นอกจากนี้ ยังมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารเบาะนั่งแถวที่ 2 เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง ปรับระดับสูง – ต่ำไม่ได้ แต่มีจุดยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ISOFIX มาให้ 2 ตำแหน่ง
การเข้า – ออก จากเบาะแถวหลังสุดนั้น ยังคงเป็นจุดขายสำคัญอีกประการหนึ่งของ Terra เพราะมีระบบ 1-Touch Remote Fold and Tumble ด้วยการกดสวิตช์รูปเบาะมีลูกศรชี้ลง บริเวณ แผงคอนโซลกลาง ใกล้กับคันเกียร์ หรือ ดึงคันโยกด้านข้างฐานรองเบาะนั่งทั้ง 2 ฝั่ง เพียงครั้งเดียว เบาะรองนั่งแถวกลาง จะถูกปลดล็อกจากพื้นรถ พร้อมกับพนักพิงหลังที่จะพับเก็บลงทันที จากนั้น ชุดเบาะจะดีดตัวและพับโน้มมาข้างหน้า ด้วยความแรงและรวดเร็วมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมน่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าใครสักคน เผลอกดปุ่มดังกล่าวนี้ ในขณะที่รถกำลังแล่น หรือ มีเด็กนั่งอยู่บนเบาะแถวกลาง ความรุนแรงของการพับเบาะ อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเด็กได้มากแน่ๆ หรืออาจทำให้ข้าวของที่วางอยู่บนเบาะ กระเด็นลงไปอยู่บนพื้นรถอย่างรวดเร็วและง่ายดาย อาจต้องลดความเร็วและความรุนแรงจากการทำงานของชุดสปริงและกลไกตัวพับเบาะนี้ลงหน่อย น่าจะช่วยลดทอนปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ลงไปได้พอสมควร แต่การคำนวนแรงดีดให้เหมาะสม ก็แอบเป็นเรื่องยาก ถ้าแรงดีดน้อยไป เบาะก็มีแรงส่งไม่พอที่จะพับและโน้มตัวขึ้นมา และเมื่อใช้งานไปสักสิบปี แรงดีดอาจจะลดน้อยลงกว่าเดิมตามเวลาที่ผ่านไป
พื้นที่ช่องทาง เข้า – ออก จากเบาะแถว 3 นั้น มีความกว้างประมาณหนึ่ง เพียงพอให้คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผู้เขียน เหยียบบันไดรถ แล้วก้มหัวปีนเข้าไปนั่งได้อย่างไม่ยากเย็น ทว่า ตอนลุกออกมานั้น จึงได้พบความจริงว่า ความกว้างของช่องประตูคู่หลังนั้น แอบแคบไปเล็กน้อย แต่ก็เข้าใจอยู่ว่า ระยะฐานล้อของ Terra ที่ 2,850 มิลลิเมตร นั้น เหมาะสมกับตัวรถแล้ว ไม่ควรจะขยายให้ยาวกว่านี้โดยไม่จำเป็น เพราะอาจส่งผลต่อบุคลิกการขับขี่ของตัวรถได้ ดังนั้น หากช่วงบริเวณโป่งซุ้มล้อ และพืนรอบข้าง ออกแบบให้ก้าวลงจากรถได้สะดวกกว่านี้ ด้วยวัสดุที่ ไม่ใช่พลาสติกลื่นๆ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกกว่านี้
หากเปรียบเทียบความสะดวกในการก้าว เข้า – ออก จากเบาะแถว 3 แล้ว Terra ยังคงถูกจัดอยู่ในอันดับกลางๆ ค่อนข้างดี เป็นรอง Mitsubishi Pajero Sport , Isuzu MU-X แต่ดีกว่า Fortuner และ Everest ซึ่งรั้งท้ายในประเด็นนี้
เบาะนั่งแถวที่ 3 ประกอบด้วยเบาะรองนั่งแบบชิ้นเดียว และพนักพิงหลังแบบแยกพับหรือปรับได้ในอัตราส่วน 50 (ซ้าย) : 50 (ขวา) มีพนักพิงศีรษะรูปตัว L คว่ำ ครบทั้ง 2 ตำแหน่ง ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งซ้าย และ
ฝั่งขวา
เบาะนั่งแถว 3 บุฟองน้ำไว้ในสไตล์ แน่นแต่แอบนุ่ม เหมือนเบาะแถวกลาง ตำแหน่งการนั่งโดยสารนั้น ยังไงๆ ก็ต้องนั่งชันขาไปตลอดทางอยู่ดี เพียงแต่ว่า ใต้เบาะแถว 2 ยังพอเหลือพื้นที่ให้สอดปลายเท้าเข้าไปซุกไว้ได้อยู่ พื้นที่เหลือสำหรับการชันเข่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับความกรุณา ของผู้โดยสารแถวกลาง ว่าจะปรับเบาะของตน ขึ้นหน้าให้ หรือแกล้งถอยหลังจนคุณนั่งไม่ได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะนั้น สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร เส้นผมจะเฉียดเฉี่ยวกับเพดานหลังคา แต่นั่งแล้ว หัวไม่ติดเพดาน เสียทีเดียว ซึ่งยังดีกว่า Fortuner , Pajero Sport และ Everest
พนักศีรษะ สำหรับเบาะแถว 3 เป็นแบบแบน รูปตัว L ปรับยกขึ้นและล็อกได้เพียงตำแหน่งเดียว หากไม่ยกขึ้นมาใช้งาน ก็จะทิ่มตำแผ่นหลังผู้โดยสาร แต่เมื่อยกขึ้นมาใช้งาน ก็จะมีขอบด้านล่าง แอบสร้างความระคายเคืองเล็กๆให้กับต้นคอผู้โดยสารเล็กน้อย อันที่จริง ตัวพนักศีรษะมีความสูงมากไปหน่อย แต่เข้าใจว่า เผื่อรองรับการใข้งานของผู้ใหญ่ไปด้วยเลย
พนักพิงแบ่งฝั่งซ้าย – ขวา เพื่อแยกการปรับเอนได้ 14 ตำแหน่ง (วัดจากเดือยล็อก) และพับเก็บได้ ในอัตราส่วน 50 : 50 การพับและปรับเอน ยังคงต้องใช้ เชือกดึงสลักปลดล็อก ที่ติดตั้งอยู่ริมสุดบริเวณข้อพับเบาะนั่ง ซึ่งคุณจำเป็นต้องเปิดประตูคู่กลาง และเอื้อมไปดึงเชือกปลดล็อกนี่อีกที ใช้งานแอบลำบากหน่อยๆ แต่ยังพอรับได้ ส่วนตัวเบาะรองนั่ง ยึดติดอยู่กับที่ เหมือน SUV/PPV ทั่วไป
เบาะรองนั่ง มาในสไตล์แน่น แอบนุ่มนิดๆ เหมือนพวกเบาะรองนั่งเก้าอี้ทำงานราคาถูกมากกว่า ติดตั้งอยู่กับพื้น ไม่สามารถปรับเลื่อนได้ มีมุมเอนไม่มาก ดังนั้น จึงไม่ได้ช่วยรองรับช่วงต้นขาใดๆทั้งสิ้น ค่อนข้างเมื่อยก้นประมาณหนึ่งเลยทีเดียว อันที่จริง ถ้าทำเบาะออกมาให้เตี้ยติดพื้น จนต้องนั่งชันขามากขนาดนี้ ขอแนะนำว่า ถอดชุดเบาะออกไปแล้วนั่งตั้งวงเล่นไพ่ข้างหลังรถเลย ก็น่าจะดีกว่า แต่เอาเถอะ ให้ลองนั่งในระยะสั้นๆ ผมว่า พอยอมรับได้ แต่ถ้าให้นั่งไปเชียงใหม่ ก็คงต้องขอตบตีกับผู้โดยสารแถวกลางสักยกละกัน
ผนังพลาสติกบุด้านข้าง ไม่ได้ออกแบบมาเป็นพนักวางแขนใดๆทั้งสิ้น แต่มีช่องวางของและวางแก้วน้ำมาให้แทน ดังนั้น ถ้านั่งเดินทางไกลๆ ผู้โดยสารแถว 3 จะไม่มีพื้นที่วางแขนใดๆให้เลย ซึ่งน่าเสียดายมากๆ แต่ยังดีที่มีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ไฟอ่านหนังสือบริเวณปลายเพดานหลังคา รวมทั้งช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถะว 3 แบบวงกลมหมุน คล้ายช่องแอร์รถเมล์ ปอ. มาให้ผู้โดยสารแถว 3 ด้วย
ภาพรวมแล้ว เบาะแถวกลาง นั่งได้จริง แต่ต้องนั่งชันขา มีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่นิดๆ ยังดีกว่าคู่แข่งคันอื่น การขึ้นลง สบายและยากลำบากในระดับปานกลาง ยอมรับได้ ตอนขึ้นรถ ง่าย ตอนลงรถยากนิดๆ แต่ดีกว่าคู่แข่งหลายรุ่น
บานฝาท้าย มีกระจกไล่ฝ้า ใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง เปิด – ปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้า Auto Lift gate ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรุ่น VL สามารถเปิด – ปิด ได้ 4 วิธี
- จากการกดสวิตช์ภายในรถ บริเวณแผงหน้าปัดด้านล่าง
- กดสวิตช์บนกุญแจรีโมท (กดปุ่มปลดล็อก 3 ครั้ง)
- กดสวิตช์ที่บานฝาท้าย ซ่อนอยู่เหนือกรอบช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง
- ใช้ฟังก์ชันเตะ-เปิด Kick Activated โดยการสอดเท้าเข้าไปบริเวณตอนกลางใต้กันชนหลังแล้วชักกลับ เพื่อสั่งให้ฝาท้ายไฟฟ้าทำงาน ซึ่งเพิ่งจะถูกติดตั้งมาให้เสียที ก็คราวนี้แหละ
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายนั้น แม้ว่าทาง Nissan ไม่ได้ระบุตัวเลขความจุอย่างชัดเจน ทว่าเมื่องมองจากสายตา ก็พบว่าไม่ได้ต่างจากรุ่นก่อน Minorchange ยังคงไว้ซึ่งความกว้าง 1,148 มิลลิเมตร ยาว 443.4 มิลลิเมตร เมื่อพับพนักพิงเบาะแถวที่ 3 ลง จะมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 1,303 มิลลิเมตร ตามเดิม หากต้องการบรรทุกสัมภาระที่มีความยาวไม่เกิน 1,913 มิลลิเมตร จะต้องพับพนักพิงเบาะนั่งแถวที่ 2 ให้ราบไปกับพื้นเสียก่อน และเมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นจะพบกับพื้นที่เก็บของเอนกประสงค์ ซึ่งใหญ่พอจะวางรองเท้าผ้าใบได้ราวๆ 4 – 5 คู่
ผนังห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย มีขอยึดตรึงเชือกและขอเกี่ยวถุงมาให้ 2 ฝั่ง และมีปลั๊กไฟ 12V รวมทั้งช่องเสียบ HDMI และ USB สำหรับผู้โดยสารแถว 3 มาให้ที่ฝั่งซ้าย เหลือพื้นที่พอใหวางแก้วน้ำ 1 ตำแหน่ง แต่ควรเอาไว้วางรีโมทหรือโทรศัพท์มือถือมากกว่า ส่วนผนังฝั่งขวา เป็นแค่ช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ส่วนยางอะไหล่ที่ติดตั้งอยู่ใต้กันชนหลัง ให้มาเป็นล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 255/60 R18
อีกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ของ Terra Minorchange คือแผงหน้าปัด และแผงควบคุมกลาง ในเมื่อการตัดสินใจที่จะประหยัดต้นทุน ในการพัฒนา Terra รุ่นก่อน ส่งผลให้ลูกค้า เกิดความรู้สึกว่า แผงหน้าปัด เหมือนกับรถกระบะ Navara มากเกินไป คราวนี้ Nissan จึงแก้มืออีกรอบ อนุมัติให้มีการออกแบบแผงหน้าปัดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยวัสดุบุนุ่มต่างส่วนต่างๆ เพื่อให้ดูหรูหราขึ้น ตลอดจนสร้างความแตกต่างจากรถกระบะ Navara ให้สมกับเป็นเวอร์ชัน SUV/PPV มากขึ้น
ห้องโดยสารของรุ่น E จะมาพร้อมวัสดุหุ้มแผงประตู แผงหน้าปัด รวมทั้ง เบาะนั่ง เป็นผ้าสีดำ ในขณะที่รุ่น VL 4×2 และ VL 4×4 จะ Upgrade มาใช้วัสดุหนังสังเคราะห์สลับกับหนังแท้ ไม่เพียงเท่านั้น คราวนี้ Nissan ยังเปิดโอกาสให้คุณได้เลือกโทนสีภายในห้องโดยสาร ตามสีตัวถังภายนอกรถ ซึ่งจะมี 2 combination ให้เลือก แบบแรกคือสีดำสลับแดง (Black / Burgandy Red) สำหรับตัวถังภายนอกสีแดง สีน้ำตาลทองแดง และสีดำ แบบที่ 2 คือโทนสีดำสลับสีเบจ (Black / Beige) สำหรับตัวถังภายนอกสีขาวมุก สีเทาเข้ม และสีเงิน
กระนั้น ต้องยอมรับว่า ช่องแอร์คู่กลาง ได้แรงบันดาลใจมาจาก Nissan X-Trail รุ่นที่เพิ่งเลิกทำตลาดในบ้านเราไปหมาดๆ อีกทั้ง บริเวณแผงหน้าปัดฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย ซึ่งถูกบุนุ่มหุ้มหนังสังเคราะห์มาให้นั้น ของจริง อาจจะดูป้านๆ ธรรมดา ไม่ได้ดูมีมิติ เหมือนอย่างที่เห็นในภาพถ่าย
ช่องแอร์ที่อยู่ริมสุดฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เปลี่ยนจากทรงกลม เป็นทรง 4 เหลี่ยม เพื่อให้รับกับดีไซน์ส่วนอื่นบนแผงหน้าปัดด้านหน้า แต่น่าเสียดายที่ ช่องวางแก้วแบบเลื่อนเลื่อนเก็บได้ ซึ่งเคยติดตั้งมาให้ในรุ่นก่อน Minorchange ถูกตัดออกไปในรุ่นนี้ เสียอย่างนั้น!
เสาหลังคาและเพดานหลังคาของทุกรุ่น เป็นโทนสีสว่าง อุปกรณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กล่องเก็บแว่นตากันแดด พร้อมไฟอ่านแผนที่แบบ LED แผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด และไฟส่องสว่าง ยังคงใช้ชุดเดิมในรุ่นก่อน Minorchange ให้มาครบทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านซ้าย มีมือจับศาสดายึดเหนี่ยวจิตใจ 6 ตำแหน่ง เหนือช่องหน้าต่างรอบคัน และอีก 3 ตำแหน่ง บริเวณเสาหลังคาคู่หลัง A-Pillar ฝั่งซ้าย เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งหมดเป็น 9 ตำแหน่ง
กระจกมองหลังเป็นแบบ IRVM (Intelligent Rear View Monitor) สามารถเลือกปรับให้เป็นกระจกสะท้อนปกติ หรือแสดงภาพด้านหลังแบบเต็มจอ จากกล้องบริเวณฝาท้ายรถ เพื่อช่วยในกรณีที่คุณบรรทุกสัมภาระแน่น หรือมีผู้โดยสารนั่งกันเต็มคันรถ แล้วเกิดมองไม่เห็นรถคันที่แล่นตามมา ก็เปิดกล้องดูได้ในทันที โดยภาพ อาจใกล้กว่าระยะวัตถุจริงนิดๆในบางกรณี
จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้าย
แผงควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ ยังคงประกอบด้วยสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า สวิตช์ล็อกป้องกันผู้โดยสารเปิดหน้าต่าง สวิตช์ Central Lock รวมถึงสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลง ของกระจกหน้าต่าง Power Windows ทั้ง 4 บาน โดยจะมีสวิตช์แบบ One-touch เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น
ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวามือคนขับ เป็นสวิตช์เปิด – ปิด การทำงานของเซ็นเซอร์ช่วยจอด สวิตช์ปรับ Trip Computer สวิตช์เปิดฝาถังน้ำมัน และสวิตช์ปรับความสว่างของชุดมาตรวัด ถัดลงมาอีกนิด เป็นสวิตช์ปิด – เปิด Traction Control System ส่วนด้านล่างสุด เป็นคันโยก เปิดฝากระโปรงหน้า
พวงมาลัย เปลี่ยนจากแบบ 3 ก้าน ทรงกางเกงในที่หลายๆคนเบื่อหน้าเต็มที มาเป็นแบบ 3 ก้าน ทรง D-Cut ท้ายตัด ที่ทุกท่านต่างคุ้นเคยกันดี เราะมีประจำการอยู่แล้วใน Nissan Note, Nissan Almera รวมทั้ง Nissan Navara Minorchange วงพวงมาลัยของรุ่น E จะเป็นยูรีเทน ในขณะที่รุ่น VL จะหุ้มด้วยหนัง เดินตะเข็บด้าย
แม้จะยอมเปลี่ยนดีไซน์พวงมาลัยมาให้พร้อมกับแผงหน้าปัดแล้ว แต่สิ่งน่าตำหนิที่ยังคงอยู่ก็คือ จนป่านนี้ ล่วงเข้าปี 2021 แล้ว พวงมาลัยของ Terra ก็ยังคงปรับได้แค่ระดับสูง – ต่ำ เท่านั้น ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) จากลำตัวคนขับได้อยู่ดี ในขณะที่คู่แข่ง เขาปรับระยะใกล้ – ห่าง กันได้หมดแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า วิศวกรญี่ปุ่น จะหวงฟังก์ชันนี้ทำไมกันนักกันหนา ไม่เข้าใจเลยจริงๆให้ตายเถอะ! จะเก็บไว้ให้แต่ Nissan GT-R คันละ 10 ล้านเท่านั้นหรือยังไงไม่ทราบ หา??
แผงสวิตช์ Muti-Function บนก้านพวงมาลัย ฝั่งซ้าย ใช้สำหรับควบคุมการแสดงผลของหน้าจอ MID (Multi-information Display) เลื่อนเพลงหรือสถานีวิทยุ ปรับระดับเสียง ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา มีทั้งสวิตช์ เปิด – ปิด และปรับเพิ่ม – ลดความเร็ว ของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control แบบธรรมดา (มีเฉพาะรุ่น VL เท่านั้น) และมีสวิตช์รับสาย – วางสายโทรศัพท์ ที่เชื่อมเข้ากับระบบเครื่องเสียงในรถ และสวิตช์สั่งงานด้วยเสียง Voice Recognition มาให้ด้วย
ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัย เป็นแบบเดียวกับรถญี่ปุ่นทั่วไป ฝั่งซ้าย รวมทุกการควบคุมระบบก้านปัดน้ำฝน รวมทั้งหัวฉีดน้ำล้าง สำหรับทั้งกระจกบังลมหน้าและหลัง โดยระบบปัดฝนด้านหน้า ในรุ่น E ให้มาเป็นแบบธรรมดา 2 จังหวะ
พร้อมระบบหน่วงเวลา ส่วนรุ่น VL เป็นแบบอัตโนมัติ พร้อม Rain Sensor ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ซึ่งคุณสามารถเลือกปรับความ sensitive ในการทำงานได้
ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัย ฝั่งขวา แน่นอนว่า รวมการควบคุมสัญญาณไฟต่างๆ ทั้งสวิตช์ เปิด – ปิดระบบไฟ ได้แก่ ไฟเลี้ยว ไฟหน้า ไฟท้าย และไฟตัดหมอก โดยทุกรุ่นจะมาพร้อมระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ พร้อมระบบ Follow-Me-Home
ใต้ช่องแอร์ฝั่งซ้ายมือของผู้ขับขี่ ยังคงเป็นตำแหน่งที่อยู่ของสวิตช์ Push Start/Stop Engine ตกแต่งด้วยกรอบวงแหวนสีเงิน เรืองแสงสีส้มซึ่งเป็นสวิตช์ สหกรณ์ ที่ใช้กันใน Nissan หลายๆรุ่น ตั้งแต่ Navara Minorchange ยัน March และ Note
ชุดมาตรวัดเปลี่ยนมาใช้แบบเดียวกับ Navara Minorchange คือเป็นแบบ Analog วงกลม 2 วง ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ขณะที่ฝั่งขวา จะเป็นมาตรวัดความเร็ว และปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง ตัวเลขและเข็มวัดเรืองแสงสีขาว
ความเปลี่ยนแปลง ของชุดมาตรวัด อยู่ที่การ Upgrade พื้นที่ตรงกลางซึ่งเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display) แบบสี TFT มีการขยายใหญ่ขึ้น จาก 5 นิ้ว เป็น 7 นิ้ว แสดงข้อมูลต่างๆ ทั้ง มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลขดิจิตอล อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real Time และแบบค่าเฉลี่ย ประวัติอัตราสิ้นเปลือง ระบบช่วยเหลือการขับขี่ และอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น แถบด้านบนสุด แสดงนาฬิกาและอุณหภูมิภายนอกตัวรถ เข็มทิศ Digital จอแสดงข้อมูลชุดเครื่องเสียง นอกจากนี้ สำหรับรุ่น VL 4×4 จะเพิ่มหน้าจอ Off-road Meter แสดงโหมดการทำงานของระบบขับเคลื่อน รวมทั้งสามารถดูองศาการเอียงของตัวรถ องศาการหมุนของล้อคู่หน้า ขณะปีนป่ายเส้นทางทุระกันดาน มาให้อีกด้วย
จากฝั่งซ้าย มาทางฝั่งขวา
เหนือหัวเข่าผู้โดยสารด้านหน้า เป็นกล่องเก็บของ (Glove Compartment) ซึ่งมีขนาดเท่ารุ่นก่อน Minorchange
เพียงพอให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกันคุณภาพ และเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยต่างๆ
ใต้ชุดเครื่องเสียง เป็นเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ Dual Zone แยกปรับอุณหภูมิฝั่งซ้ายและฝั่งขวาได้อย่างอิสระ
มีสวิตช์หมุนปรับอุณหภูมิ สวิตช์ปรับโหมดการทำงาน พร้อมจอแสดงผลแบบ Digital หน้าตาโดยรวมมีความคล้ายแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศของ Nissan Altima และ Sentra รุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา (และยกเลิกแผนมาเมืองไทยไปหมดแล้วทั้งคู่)
ถัดลงมาจากแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ ไล่จากฝั่งขวาไปทางซ้าย จะเป็นสวิตช์หมุนเลือกระบบขับเคลื่อน สำหรับรุ่น VL 4×4 สวิตช์เปิด – ปิดการทำงานของช่องแอร์สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 2 และ 3 ช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าและเชื่อมต่อระบบความบันเทิง แบบ Type C และ USB port ปกติ และช่องจ่ายไฟ Power Outlet แบบมีฝาปิด
ด้านความบันเทิง Terra ใหม่ ติดตั้งชุดเครื่องเสียงแบบ หน้าจอกลางระบบสัมผัส Touchscreen มาให้ทุกรุ่นย่อย โดยรุ่น E จะใช้จอขนาด 8 นิ้ว ส่วนรุ่น VL ทั้ง 4×2 และ 4×4 จะถูก Upgrade เพิ่มขนาดจอกลาง ให้ใหญ่ขึ้นเป็น 9 นิ้ว และเพิ่มความละเอียด จาก WVGA 800 x 480 Pixel เป็น WXGA 1024 x 768 Pixel โดยหน้าจอ Menu ต่างๆ จะเหมือนกับ Nissan รุ่นใหม่คันอื่นๆ อย่าง Almera Kicks ไปจนถึง Navara Minorchange
ชุดเครื่องเสียง ของทุกรุ่น สามารถใช้งานวิทยุ AM/FM เล่นเพลงจาก USB และ iPod เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเพลงผ่าน Bluetooth ได้ โดยรุ่น E รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto แบบเสียบสาย USB ขณะที่รุ่น VL 4×2 และ 4×4 จะมีฟังก์ชันการเชื่อมต่อแบบไร้สาย Wireless Apple CarPlay / Android Auto เพิ่มเข้ามาให้
ชุดเครื่องเสียงของรุ่น E และ VL 4×2 เป็นแบบธรรมดา พร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง แต่สำหรับรุ่น VL 4×4 จะถูก Upgrade ขึ้นเป็นชุดเครื่องเสียง BOSE Premium Audio System พร้อมลำโพง 8 ตำแหน่ง และ Amplifier รวมทั้ง
กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา IAVM (Intelligent Around View Monitor) แบบย้ายการแสดงผลมาอยู่บนหน้าจอกลาง (ซึ่ง Nissan บ้านเรา เขาย้ายมาให้ตั้งแต่รุ่นปรับอุปกรณ์ MY 2020 แล้ว) โดยมีช่องเสียบ USB ทั้งแบบ Type A และ Type C รวมมากถึง 5 จุด นอกจากนี้ Terra ยังเป็น SUV/PPV คันเดียวในตลาด ที่มีช่อง USB ให้กับผู้โดยสารแถว 3
ปกติแล้ว เครื่องเสียง BOSE มักมีบุคลิกเสียงที่ เน้นการปรับแต่ง และสังเคราะห์เสียงมาจนใสกริ๊ง กระจ่างดุจแก้ว มีมิติ ก้องๆนิดๆ เน้นทุกอย่างให้ออกมากลางๆ ฟังแล้ว “ฉ่ำหู” ดี อย่างไรก็ตาม เครื่องเสียง BOSE ซึ่งถูกนำมาใส่ในรถยนต์ประกอบในประเทศไทย มักมีคุณภาพเสียงที่ ไปไม่ถึงความเป็น BOSE ในแบบทีนักฟังหูทองคุ้นเคยกัน แต่สำหรับ Terra ใหม่แล้ว คุณภาพเสียง จัดอยู่ในเกณฑ์ดีเลยละ เสียงใส กระจ่างชัดเคลียร์ และดูเหมือนว่า ผ่านการปรุงแต่งน้อยกว่า ระบบของ BOSE ทั่วไปเสียด้วยซ้ำ ซาวนด์ เน้น Front Stage ตามแบบรถยนต์สมัยนี้ทั่วไป แต่ ต่อให้ฟังแบบ Flat คือปรับค่าเสียงทุ้ม (Bass) เสียงใส (Trebal) และเสียงกลาง เอาไวที่ค่ากลาง (0) คุณภาพเสียง ก็ยังออกมาค่อนข้างดีมาก เมื่อเทียบกับบรรดา SUV/PPV ในพิกัดเดียวกัน
ความเห็นของผมคือ ตั้งแต่ มีการนำระบบเสียงของ BOSE มาติดตั้งให้กับรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ประกอบในบ้านเรา ผมให้ Terra มาเป็นอันดับ 2 และเป็นรองแค่ Mazda 3 รุ่นล่าสุด เท่านั้น! (ซึ่งให้ความกระจ่าง และกังวาลนิดๆ ในระดับเหมาะสม และสัมผัสได้ถึงบุคลิกเสียงแบบ BOSE เต็มอิ่มกว่า Terra นิดหน่อย)
นอกจากนี้ จอ Touch Screen ในรถ ยังรับภาพจาก กล้องรอบคันทั้ง 4 ตัวซึ่งจะทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อเซ็นเซอร์รอบคันตรวจจับได้ว่ามีวัตถุอยู่ใกล้ตัวรถ ในขณะที่ใช้ความเร็วไม่เกิน 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนรุ่น VL 4×4 นั้น เมื่อใช้งานโหมด 4LO ในช่วงความเร็วไม่เกิน 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะมีการฉายภาพขึ้นบนหน้าจอ ทำหน้าที่เป็น Off-road Monitor ด้วยเช่นกัน มาในสไตล์เดียวกับ SUV Premium จากเยอรมนี เลยทีเดียว
รุ่น VL ยังคงติดตั้งหน้าจอเพดานสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ขนาด 11 นิ้วมาให้ เสริมด้วยอุปกรณ์ Mi TV Sticker พร้อมรีโมทควบคุมสำหรับเสียบเชื่อมต่อเข้ากับ HDMI port บริเวณพนักวางแขนด้านข้าง เบาะนั่งแถวที่ 3 เพื่อเปลี่ยนหน้าจอธรรมดาเป็น Android TV สามารถดูภาพยนตร์ ซีรีย์ และรายการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม YouTube,
Disney+ Hotstar หรือ NETFLIX ได้
ช่องแอร์เพดาน ทรงกลม 4 ตำแหน่ง สำหรับผู้โดยสารแถวที่ 2 และแถวที่ 3 แบบปรับได้เฉพาะความแรงพัดลม 4 ระดับ ยังคงมีมาให้เช่นเคย หากต้องการใช้งานจะต้องให้คนที่นั่งอยู่ด้านหน้ากดเปิดสวิตช์ REAR COOLER ใต้แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศให้เสียก่อน
แผงคอนโซลกลาง ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดให้เข้ากับแผงหน้าปัดด้านหน้า ปีกด้านข้างบุนุ่มหุ้มหนังสีเดียวกับแผงหน้าปัด ด้านหน้าสุด ในรุ่น VL 4×2 และ 4×4 จะเป็นแท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือไร้สาย หรือ Wireless charger กำลังไฟ
15 วัตต์ ถัดมาด้านหลังเป็นคันเกียร์ดีไซน์ใหม่ โดยรุ่น E จะเป็นวัสดุยูรีเทน แต่รุ่น VL จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ ตกแต่งด้วยพลาสติกสีเงิน
Terra Minorchange รุ่น VL เปลี่ยนมาใช้สวิตช์เบรกมือไฟฟ้าแทนก้านคันโยกแบบปกติ ช่วยให้มีพื้นที่บริเวณคอนโซลกลางเยอะขึ้น ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ที่เคยวางในแนวขวางจนชิดกล่องเก็บของ เปลี่ยนมาวางในแนวขวาง ช่วยให้เนื้อที่เก็บของกว้างขึ้น และฝาปิดด้านบนแบบบุนุ่มที่ทำหน้าเป็นพนักวางแขนตรงกลางยาวขึ้นตามไปด้วย ส่วนรุ่น E ยังใช้เบรกมือก้านดึง หุ้มด้วยยูรีเทนเหมือนเดิม
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
*********** Technical Information & Test Drive ************
ขุมพลังของ Terra Minorchange ยังคงเหมือนเดิม ยังคงเป็นเครื่องยนต์ รหัส YS23DDTT Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.3 ลิตร (2,298 ซีซี.) กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 85.0 x 101.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.4 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแบบ ตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางแรงดันสูง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศแบบ Twin-Turbocharger (Turbo คู่) พร้อมระบบระบายความร้อนของไอดีก่อนเข้าห้องเผาไหม้ Intercooler
เครื่องยนต์รุ่นนี้ แท้จริงแล้ว เป็นฝีมือการพัฒนาโดยพันธมิตรหลักของ Nissan อย่าง Renault ฝรั่งเศส ดังนั้น จึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “M9T” ไม่เพียงเท่านั้น ในสารระบบเครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ยังปรากฎว่า ขุมพลังที่คุณเห็นอยู่นี้ ใช้รหัสรุ่น OM699 ด้วย ซึ่งมันก็อยู่ในรถกระบะของค่ายดาวสามแฉกอย่าง X-Class ซึ่งก็คือ Navara แปลงโฉม ที่เพิ่งเลิกขายไปแล้วในยุโรป นั่นล่ะครับ อันที่จริง ขุมพลังบล็อกนี้ ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 2010 โดยมีการปรับปรุงมาเป็นระยะๆ และเริ่มนำมาใชในประเทศไทยครั้งแรก กับ Terra รุ่นดั้งเดิม ที่เปิดตัวเมื่อปี 2018
จุดเด่นของขุมพลังบล็อกนี้คือ การติดตั้ง Turbocharger ถึง 2 ลูก ซึ่งมีขนาดเหมาะกับรอบเครื่องยนต์ ต่ำ และ สูง แตกต่างกัน เพื่อลดอาการ Turbo Lag ในช่วงรอบต่ำ และดึงแรงบิดออกมาให้ต่อเนื่องตั้งแต่รอบต่ำยันรอบสูง โดย Turbo ลูกแรก เอาไว้ดึงกำลังในช่วงรอบต่ำ เมื่อเร่งเครื่องยนต์ถึงจุดปานกลาง หรือกดคันเร่งเต็มมิด Turbo ลูกที่ 2 จะทำงานขึ้นมาร่วมกัน จากนั้น เมื่อยิ่งเร่งรอบเครื่องให้สูงขึ้นไปอีก Turbo ลูกแรกจะลดการทำงานลง ปล่อยให้ Turbo ลูกที่ 2 ซึ่งเน้นช่วงรอบสูงๆ ทำงานไปเพียงอย่างเดียว แต่แทนที่จะใช้ระบบครีบแปรผันกับ Turbo ลูกเล็กทั้ง 2 ลูก อย่าง Ford Ranger Bi-Turbo 2.0 ลิตร ทว่า Nissan กลับไม่ใช้ระบบแปรผันเลยสักลูก
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ขุมพลัง M9T ใน Terra Minorchange มีการปรับปรุงข้อด้อย 2 อย่าง ในรถรุ่นเดิม ทั้งการ ปรับจูนคันเร่งให้ตอบสนองไวขึ้นที่ช่วงรอบต่ำ ความเร็วต่ำ รวมทั้งการปรับปรุงให้รองรับ การเติมน้ำมันเชื้อเพลิง Bio-Diesel B20 ให้ได้ตามมาตรฐานของกระทรวงพลังงาน
กระนั้น ตัวเลขกำลังสูงสุด ยังคงเท่าเดิมคือ 190 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.9 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ 200 กรัม/กิโลเมตร ตามมาตรฐานมลพิษระดับ Euro 4
ถ้าดูจากกราฟแรงม้า แรงบิด จะเห็นได้ชัดเลยว่า แรงบิดของเครื่องยนต์ลูกนี้ เริ่มแตะระดับ 400 นิวตัน-เมตร กันตั้งแต่ 1,250 รอบ/นาที แล้วขึ้นไปแตะ 450 นิวตัน-เมตร อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ 1,500 จนถึง 2,500 รอบ/นาที เป็น Flat Torque ก่อนจะเริ่มแผ่วลงมา ถึงกระนั้น ก็ยังคงรักษาระดับเกินกว่า 400 นิวตัน-เมตร ต่อเนื่องได้จนถึง 3,200 รอบ/นาที จึงจะเริ่ม หมดพิษสง และเหี่ยวปลาย
ซึ่งลักษณะกราฟ มันก็คล้ายๆกับ ปริมาณภูมิคุ้มกัน ตอนที่คุณฉีด วัคซีน Covid-19 นั่นละครับ
การบำรุงรักษา ขุมพลังจาก Renault บล็อกนี้ ฝ่ายเทคนิคของ Nissan บอกว่า คุณสามารถลากไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ได้ถึงระดับทุก 20,000 กิโลเมตร! ยกเว้น ถ้าคุณใช้เชื้อเพลิงแบบ B20 “เป็นประจำ” ก็ควรกลับลงมาเปลี่ยนถ่ายที่ 10,000 กิโลเมตร ตามเดิมจะดีกว่า เพราะน้ำมัน B20 อาจส่งผลให้น้ำมันเครื่องเสื่อมประสิทธิภาพไวขึ้น
ระบบส่งกำลัง มีให้เลือกเพียงแบบเดียว เป็นเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ พร้อม Manual Mode +/- ดันขึ้นไปเพื่อเพิ่มเกียร์ โยกลงมาเพื่อลดเกียร์ แต่ไม่มี Paddle shift มาให้ เกียร์รุ่นนี้ เป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับทั้งในรถกระบะ Navara ไปจนถึงบรรดารถเก๋งและรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลังของ Nissan หลายๆรุ่น รวมทั้ง 370Z ผลิตโดย Jatco พันธมิตรด้านระบบส่งกำลังของ Nissan มาตั้งแต่ปีมะโว้ เพียงแต่ว่า วัสดุไส้ในของชุดเกียร์ อาจจะต่างกันเล็กน้อย ส่วนอัตราทดเกียร์ ยังคงเท่ากันหมดทุกรุ่นย่อย ทุกระบบขับเคลื่อน ไม่แตกต่างจาก Terra รุ่นเดิม ดังนี้
- เกียร์ 1…………………4.8867
- เกียร์ 2…………………3.1697
- เกียร์ 3……………..….2.0271
- เกียร์ 4……………….…1.4118
- เกียร์ 5……………….…1.0000
- เกียร์ 6……………..….0.8642
- เกียร์ 7………………….0.7745
- เกียร์ถอยหลัง…………4.0410
- อัตราทดเฟืองท้าย……3.3571
รุ่น E กับ VL 4×2 ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ตามปกติ ส่วนรุ่น VL 4×4 จะใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part Time 4WD พร้อมระบบล็อกเฟืองท้ายด้วยไฟฟ้า Electronic Locking Rear Differential ตามเดิม ผู้ขับขี่ สามารถเลือกเปลี่ยนรูปแบบระบบขับเคลื่อนได้เองตามต้องการ ตามความเหมาะสมของสภาพถนน มีให้เลือก 3 โหมด ดังนี้
– 2WD ก็คือ 2Hi เป็นโหมดปกติ ขับเลื่อนล้อหลัง ใช้ได้ทุกย่านความเร็ว
– 4H ก็คือ 4 Hi ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยความเร็วทั่วไป ใช้ได้ทุกย่านความเร็ว แต่มักใช้กับถนนลูกรัง ก้อนกรวด ไม่เหมาะกับการวิ่งถนนดำยางมะตอย
– 4L ก็คือ 4 Low ขับเคลื่อน 4 ล้อ ความเร็วต่ำ สำหรับการขับขี่บนเส้นทางทุรกันดารมากๆ โขดหินต่างๆ เนินทราย
การเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน ใช้วิธีหมุนสวิตช์ โดยต้องตั้งล้อตรงเสมอ นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนได้ขณะขับขี่อยู่แบบ Shift on the fly ด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเปลี่ยนไปยังโหมด 4L จะต้องหยุดรถให้นิ่งสนิท เข้าเกียร์ N (เกียร์ว่าง) ตั้งล้อตรง แล้วค่อยกดสวิตช์แล้วหมุนไปทางขวาสุดของโปรแกรม เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการปลดระบบกลับมาที่ 2H หรือ 4H ต้องทำวิธีการเดิม คือ จอดรถ เข้าเกียร์ N ตั้งล้อตรง แล้วจึงค่อยหมุนสวิตช์กลับไปทางซ้ายตามต้องการ
นอกจากนี้ Terra ทุกรุ่นย่อย ยังติดตั้ง ระบบ B-LSD (Brake Limited Slip Differential) ซึ่งปกติจะมีเฉพาะใน Navara 4×4 เท่านั้น ระบบนี้ จะบริหารจัดการถ่ายแรงบิด ที่ส่งไปหมุนล้อซ้ายกับขวา โดยใช้เบรกจับทีละข้าง หากล้อข้างซ้ายหมุนฟรี ระบบจะสั่งให้เบรกทำงานที่ล้อซ้าย แล้วส่งแรงบิดกลับไปที่ล้อขวา เพื่อช่วยให้ Terra มีการกระจายแรงบิดได้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสภาพถนนเปียกลื่น จนยางไม่สามารถยึดเกาะได้ดีพอ
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือ Off Road Mode ในกรณึเข้าเกียร์ 4L กล้องมองภาพรอบคันจะทำงาน แสดงภาพรอบคันให้ดูบนจอมอนิเตอร์กลาง แบบรถยุโรป เพื่อให้คุณมองเห็นพื้นผิวเส้นทางรอบข้าง ช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกค่อยๆย่อง ไปตามพื้นที่โดยรอบได้ดีขึ้น แต่ถ้าใช้ความเร็วเกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง กล้องจะตัดการทำงาน ไปเอง
อย่างไรก็ตาม Terra Minorchange รุ่น 4×4 VL ยังเพิ่ม ลูกเล่นพิเศษ นั่นคือ การเพิ่มหน้าจอ Off-Road Meter แสดงมุมองศาการเอียงของตัวรถ และการทำงานของระบขับเคลื่อน 4 ล้อ บนจอแสดงข้อมูล MID ตรงกลางชุดมาตรวัด
นอกจากนี้ ยังเพิ่มหน้าจอ iAVM with Off Road Monitor มาให้ เมื่อคุณเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็น 4 Lo กล้องรอบคัน จะทำงานร่วมกัน และแสดงผลขึ้นหน้าจอ Monitor สีของ ชุดเครื่องเสียง เพื่อให้คุณเห็นสภาพพื้นผิวเส้นทางรอบคันรถ ช่วยให้สามารถขับผ่านอุปสรรคโขดหิน เนินหลุมบ่อดินทรายโคลนเลนต่างๆ ได้ง่ายดายขึ้น มีข้อแม้ว่า ต้องใช้ความเร็ว ไม่เกิน 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ตัวเลขสมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทดลองขับ ตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag นั่นคือการทดลองจับเวลาในตอนกลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับกับผู้โดยสาร รวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด มีดังนี้
ถ้าเราไม่นับ Chevrolet Trailblazer 2.8 ลิตร 200 แรงม้า (PS) ที่เลิกทำตลาดไปแล้ว เมื่อ 5 ปีก่อน รวมทัง Isuzu MU-X 3.0 ลิตร และ Toyota Fortuner 2.8 ลิตร 204 แรงม้า (PS) ซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่โตเกิน 2.5 ลิตร ขึ้นไปล้วนๆ แล้ว ผมยืนยันเลยครับว่า ณ วันนี้ Terra ก็ยังคงครองตำแหน่ง SUV/PPV พิกัดไม่เกิน 2.5 ลิตร ที่มีอัตราเร่ง ดีที่สุดในตลาดเมืองไทยตอนนี้…ย้ำว่า กลุ่มไม่เกิน 2.5 ลิตร นะ
แต่ถ้าเทียบกับบรรดา SUV/PPV ทั้งตลาดแล้ว แน่นอนว่า อัตราเร่ง ของ Terra ก็ยังเป็นรองแค่เพียง 2 เจ้าตลาด ทั้ง Isuzu MU-X Ultimate 3.0 ลิตร 4×4 (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 10.25 วินาที) และ Toyota Fortuner GR Sport 2.8 ลิตร 204 แรงม้า (PS) (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 10.86 วินาที)
อย่างไรก็ตาม พอเป็นช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตั้งข้อสังเกตว่า Terra ทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า Fortuner GR Sport 2.8 ลิตร ซึ่งทำตัวเลขรายการนี้ ได้ไวสุดในกลุ่ม (7.63 วินาที) แค่เพียง 0.04 วินาที เท่านั้น ขณะเดียวกัน Terra ก็ยังให้การตอบสนองช่วงเร่งแซง ไวกว่า MU-X Ultimate 3.0 ลิตร ซึ่งหล่นลงไปเป็น 8.06 วินาที
ย้ำเหมือนเช่นเคยว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี
ในการขับขี่จริง ถึงแม้ว่า พละกำลังจากเครื่องยนต์ M9T 2.3 ลิตร Twin Turbo ลูกนี้ ยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผมและผู้ร่วมโดยสารหลายๆคน ได้เหมือนรุ่นเดิม การมี Turbo 2 ลูก นั้น ช่วยแก้อาการรอรอบเครื่องยนต์ ในช่วงรอบต่ำ จนทำให้เรียกแรงบิดมาใช้ได้เร็ว และต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วง 1,500 รอบ/นาที รอบต่ำๆ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ Turbo ลูกเล็ก ช่วยบูสต์ให้ก่อน จากนั้น Turbo ลูกใหญ่จะรับหน้าที่ต่อเนื่องกันไป ในช่วงกลางๆ 3,000 รอบ/นาที ขึ้นไป แถมยังไหลต่อขึ้นไปได้อีกในช่วงตั้งแต่ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที อันเป็นช่วงรอบปลายด้วยซ้ำ พละกำลังนี่ไหลมาเทมา เหมือน Terra 2018 ไม่ผิดเพี้ยน
แรงดึงที่เกิดขึ้น มันอาจไม่กระชากมากนัก แต่คุณจะสัมผัสถึงอาการหลังติดเบาะนิดๆ แม้ว่าจะเหยียบคันเร่งลงไปเพียงประมาณ 20 – 30% เพื่อขึ้นแซงรถบรรทุกในเลนซ้าย แบบไม่รีบร้อน ยังสัมผัสได้เลยว่า Terra มันพาคุณพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงบิดมหาศาลกำลัง รออยู่ที่คันเร่ง พร้อมให้สั่งการได้ตลอดเวลา ไม่ต่างจากเครื่องยนต์ Diesel พิกัด 3.0 ลิตร Turbo เลย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ การปรับจูนคันเร่งให้ไวขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว แม้จะส่งผลให้การตอบสนองของคันเร่ง ไวขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดๆ ก็จริงอยู่ แต่ไม่มากนัก และยังคิดว่า ไวไม่พอต่อบางสถานการณ์ โดยเฉพาะ ช่วงออกตัว ถ้าค่อยๆกดคันเร่งลงไป รถก็จะทะยานขึ้นไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ากระทืบคันเร่งลงไปจมมิดทันทีที่ออกตัว รถจะออกอาการตื้อ และต้องรอกันสักเสี้ยววินาที กว่าที่เครื่องยนต์ M9T จะเริ่มพาคุณพุ่งทะยานไปข้างหน้า อย่างไหลลื่นและต่อเนื่อง เหมือนกับรุ่นเดิม
การทำงานของเกียร์ ถือว่ายังคงฉลาดใช้ได้ หากคุณทิ้งมันไว้ในเกียร์ D ตามปกติ เมื่อต้องการเร่งแซง ก็แค่ กดคันเร่งให้ Kick Down ไม่ว่าจะเหยียบลงไปแค่ครึ่งคันเร่ง หรือแค่ 30-40 % เกียร์จะเปลี่ยนลงให้ 1 หรือ 2 จังวะ ขึ้นอยู่กับว่า คุณกดคันเร่งลงไป ไวแค่ไหน และลึกแค่ไหน ถ้าเปลี่ยนลงแค่เกียร์เดียว มันก็แค่พาคุณค่อยๆแซงรถขับช้าในเลนซ้ายไปเรื่อยๆ สบายๆ แต่ถ้าเกียร์ยอมเปลี่ยนลงมาให้ 2 เกียร์รวด จะสัมผัสได้ว่า รถพร้อมจะส่งแรงบิด พาคุณทะยานขึ้นไปพร้อมกับสัมผัสได้ถึงแรงบิดที่ทำงานต่อเนื่อง ที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนเกียร์ นุ่มนวลในแบบที่ผมคาดหวังให้ SUV / PPV บนพื้นฐษนรถกระบะอย่างนี้ ควรเป็น มัน Smooth ใช้ได้ และก็พร้อมรบด้วยในเวลาเดียวกัน
เพียงแต่ว่า สิ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม คือ การตอบสนองของโหมด บวก/ลบ ที่ควรจะไวกว่านี้ พอผลักคันเกียร์ ไปลองเล่นเกียร์เอง กลับพบว่า การเปลี่ยนเกียร์ ลดทอนความไวลงมา ในจังหวะแรกที่เริ่มใช้งาน ถ้าเปลี่ยนเกียร์ขึ้น จะไวพอใช้ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ อาจต้องรอสักพักเหมือนกันกว่าเกียร์จะยอมเปลี่ยนให้ ซึ่งผมว่า ตรงนี้ ควรปรับปรุงเรื่อง Software แต่ก็อย่างว่าละครับ เป็นไปได้ว่า เขาอาจจะเขียนโปรแกรมไว้เผื่อรองรับการใช้งานแบบกระโชกโฮกฮาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกียร์พังเร็วก่อนวัยอันควรก็เป็นได้
การเก็บเสียง แรงสะเทือน และการสั่นสะท้าน
NVH (Noise Vibration & Harshness)
เมื่อครั้งที่ผมลองขับ Terra เมื่อปี 2018 ผมพบว่า ถ้าเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันแล้ว Terra ยังมีเสียงลมไหลผ่านตัวรถ ที่ความเร็ว เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ดังกว่า Ford Everest และ Mitsubishi Pajero Sport อยู่นิดนึง โดยเฉพาะ เสียงจากใต้ท้องรถ ด้านหลัง และกระจกหน้าต่างด้านข้าง ในช่วงหลัง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ยังดังเท่าคู่แข่งอยู่ดี
ทว่า คราวนี้ ทีมวิศวกร ตัดสินใจ ปรับปรุง วัสดุซับเสียง Insulator แบบ 3 Layers เสียใหม่ ณ บริเวณผนังกั้นห้องเครื่องยนต์ กับ ห้องโดยสาร (Dashboard Insulator) เพื่อลดเสียงเครื่องยนต์ที่ลอดเข้ามาในห้องโดยสาร ให้น้อยลง รวมทั้งเพิ่มวัสดุซับเสียงไว้ด้านหลังแผงหน้าปัด และแผงคอนโซลกลาง บริเวณคันเกียร์ เพื่อหวังจะช่วยลดเสียงรบกวนให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้
ส่วนตำแหน่ง Insulator ตัวอื่นๆ ยังคงเอาไว้ตามเดิม ทั้ง พื้นใต้ท้องรถ และซุ้มล้อทั้ง 4 ซึ่งยังคงบุ วัสดุซับเสียงแบบ 3 ชั้น เรียงจากพื้นตัวถังขึ้นมาเป็น Absorption Layer (FELT) ตามด้วย Isolation Layer (EPDM) และ ชั้นบนสุดเป็นพรมปกติ สีเทาดำ แถมยางขอบประตูก็ถูกออกแบบให้หนาขึ้น และนิ่มลง
ไม่เพียงเท่านั้น จากเดิมที่ Terra มี กระจกบังลมหน้าแบบลดเสียงรบกวน แบบ Acoustic Windsheild Glass ที่มีฟิล์มซับเสียงเป็นไส้กลาง ในลักษณะคล้าย แผ่นหมูแฮมในขนมปัง Sandwich ของ FarmHouse เพียงตำแหน่งเดียว ทว่า คราวนี้ ยังมีการเพิ่มกระจกหน้าต่างแบบลดเสียงรบกวน (Acoustic glass) มาให้กับหน้าต่างคู่หน้า แบบเดียวกับ Navara Minorchange อีกด้วย
ผลจากการปรับปรุงก็คือ Terra Minochange มีห้องโดยสารที่เงียบขึ้นชัดเจน เสียงเครื่องยนต์ ขณะจอดรถหยุดนิ่ง ในโหมด “เดินเบา” เมื่อนั่งฟังจากตำแหน่งคนขับ ลดลงชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น คุณจะยังสัมผัสกับความเงียบสงบ ในลักษณะเดียวกันนี้ ได้จนถึงช่วงความเร็วระดับ 10-20 ไปจนถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันคือรถที่เหมาะกับการเดินทางไกลมากยิ่งขึ้น ถ้าตราบใดยังไม่เกิน 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จากการทดลองวัดด้วยเครื่องมือวัดเสียง แม้ว่า คราวนี้ เราอาจไม่สามารถวัดจากช่วงความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ เนื่องจากวันที่เราทำการทดลอง และถ่ายทำคลิปวีดีโอ ไปด้วยนั้น การจราจรหนาแน่น แถมมีฝนปรอยๆจากมวลหมู่เมฆลอยครึ้มๆ เต็มไปหมด ต่อให้มีเสียงน้ำฝนเปาะแปะอย่างไรก็ตาม Terra Minorchange ก็ยังสามารถวัดค่าความเงียบออกมาได้ 62 dbA (เดซิเบล เอ) ถือว่าพอๆกันกับ SUV บ้านๆ ขนาดเล็กคันอื่นๆเลยด้วยซ้ำ
สิ่งที่ผมมองว่าดีงาม นั่นคือ การเก็บเสียงจากพื้นถนน ต่อให้เป็นพื้นผิวปูนซีเมนต์ ก็ไม่สะทกสะท้าน ยังทำผลงานได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม จนถึงช่วงความเร็วหลังจาก 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เรายังแอบได้ยินเสียงกระแสลมไหลผ่าน รอยต่อระหว่าง หน้าต่าง กับเสาขอบประตูด้านบน พอมีหลงเหลือเล็ดรอดเข้ามาให้ได้ยินกันอยู่ ในระดับเบาๆ
ในภาพรวมแล้ว ถ้าจะบอกว่า Terra Minorchange ถูกปรับปรุงให้มีการเก็บเสียง ทั้งจากห้องเครื่องยนต์ และจากพื้นผิวถนน ที่ทำได้ดีขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นเงียบระดับ Premium Brand แต่ก็ถือว่า ทำได้ใกล้เคียงขึ้นเยอะ
ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel
Highlight สำคัญของการปรับปรุง Terra Minorchange คือ การปรับปรุง ระบบพวงมาลัย Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงด้วย ระบบ Hydraulic มีการเปลี่ยนชุดแร็คเดิม ที่ตอบสนองได้เฉื่อชา และหนืดหนัก ถอดทิ้งไปทั้งยวง แล้วยกแร็คชุดใหม่ Part No. ใหม่ แตกต่างจากเดิม และคนละชุดกับ Navara PRO4-X มาติดตั้งให้แทน
จุดเด่นของ แร็คพวงมาลัยชุดนี้ นอกจากจะมีการเปลี่ยนชุดปั้มพวงมาลัยเพาเวอร์ใหม่แล้ว ยังมีการปรับปรุง อัตราทดให้ไวขึ้น 12% (หมุนซ้ายไปขวาสุด จาก 3.8 เหลือ 3.4 รอบ) ปรับจูนแรงดันน้ำมันในระบบใหม่ รวมทั้งยังปรับน้ำหนักพวงมาลัยในย่านความเร็วต่ำให้เบาขึ้น อีกด้วย
หากรถจอดอยู่นิ่งๆ คุณลองหมุนพวงมาลัยดู อาจรู้สึกว่า น้ำหนักมันก็ยังหนักๆหนืดๆ คล้ายเดิม เบาขึ้นกว่าเดิมกระจึ๋งเดียว แต่ลองค่อยๆเคลื่อนรถออกจากจุดหยุดนิ่งดูครับ จะพบเลยว่า พวงมาลัย เซ็ตมาในสไตล์เดียวกับ Navara PRO4-X ที่ผมชื่นชอบเลย! มันเบาขึ้น ไวขึ้น และคล่องขึ้นชัดเจนมาก ช่วยให้การบังคับเลี้ยว ขณะขับขี่ย่านความเร็วต่ำ เลี้ยวไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ได้ตามสั่งมากขึ้น แม่นยำขึ้น ลดความเฉื่อยชาและเนือยลงไปเอาเรื่อง ความต่อเนื่องในการหมุนพวงมาลัย ทำได้ดีขึ้นมาก ไม่ต้องออกแรงเลี้ยวมากเหมือนรุ่นก่อน
หากใช้ความเร็วเดินทาง ช่วง 40 – 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง แร็คพวงมาลัยชุดใหม่ ให้การบังคับควบคุมที่เบาขึ้น มันช่วยเปลี่ยนบุคลิกของ Terra จาก SUV / PPV ช่วงล่างดี แต่เหมือนจะอุ้ยอ้าย ให้กลายเป็น รถคันเดิม แต่เพิ่มเติมความคล่องแคล่ว เสียจนน่าประทับใจ ผมชอบพวงมาลัยในลักษณะนี้ และเชื่อว่า หลายๆคนน่าจะชอบด้วยเช่นเดียวกัน ผมลองพา Terra มุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรบนทางด่วนช่วงบ่ายๆ และพบว่า รถเปลี่ยนเลนได้คล่องตัวขึ้นมาก แถมยังไม่ต้องหมุนเลี้ยวเยอะ แค่ขยับซ้าย หรือขวา เพียงนิดเดียว รถก็เปลี่ยนเลนได้ง่ายดาย
เพียงแต่ว่า การเซ็ตให้พวงมาลัยเบาขึ้นนั้น ก็อาจต้องแลกมาด้วยความมั่นใจในการถือบังคับพวงมาลัยที่ลดลงเล็กน้อย จนคุณต้องใช้สมาธิเพิ่มขึ้น เพราะน้ำหนักหน่วงกลาง ยังมีไม่มากพอ คุณจึงอาจคิดไปว่า เมื่อใช้ความเร็วสูงๆแล้ว หน้ารถ เหมือนจะเบาขึ้น ดังนั้น ถ้าคุณเหยียบไม่เร็วเกิน 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภาพรวม คุณจะ Happy กับการควบคุม Terra ใหม่ แต่ถ้าเกินกว่านั้น หรือขณะเลี้ยวเข้าโค้ง อาจต้องมีสติ ในการประคองพวงมาลัยเพิ่มนิดนึง
ไม่เพียงเท่านั้น ระยะฟรี ที่ยังใกล้เคียงกับรถรุ่นเดิม ผมว่า มากไปหน่อย น่าจะลดลงมาอีกนิดนึง แค่เพียงนิดเดียว ก็จะช่วยให้การตอบสนอง ดีขึ้นไปกว่านี้ได้อีก
รู้แหละว่า ทีมวิศวกร พยายามนำ Feeling พวงมาลัยของ Navara PRO4-X ซึ่งถือว่าเซ็ตมาดีที่สุดในบรรดารถกระบะที่ขายในเมืองไทยทุกรุ่นตอนนี้ มาใส่ใน Terra และพวกเขาก็ทำได้ดีมากๆแหละ เพียงแต่ ผมอยากเห็นความใกล้เคียงกับ PRO4-X มากยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ทั้งเรื่องระยะฟรี ที่อาจต้องลดลงอีกนิดนึง และน้ำหนักหน่วงกลาง รวมทั้งความหนืดในย่านความเร็วสูง เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ควรหนักขึ้นกว่านี้อีกหน่อย ถ้าทำได้ตามนี้ เชื่อได้เลยว่า มันจะทำให้ Terra กลายเป็น SUV/PPV ที่มีพวงมาลัยตอบสนองดีสุด ดียิ่งขึ้นไปอีกจากที่เป็นอยู่ในตอนนี้
ระบบกันสะเทือน / Suspension
ระบบกันสะเทือนยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ด้านหน้า เป็นแบบอิสระปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ 5-Link ที่ถูกออกแบบให้ใช้ช็อกอัพกับสปริง ซึ่งมีระยะยุบตัวและยืดตัว ค่อนข้างยาว เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่ อีกทั้งช่วยให้ยางล้อ มีโอกาสยืดไปแตะพื้น ส่งแรงขับเคลื่อนตะกุยผ่านอุปสรรคได้ง่ายขึ้น เมื่อเจอพื้นที่หลุมบ่อ ลึกหรือสูงมากจนล้อเกือบลอย ในขณะลุย Off Road
ช่วงล่าง ทั้ง 4 ล้อ ถูกติดตั้งเข้ากับ Frame Chassis ซึ่งเป็นการนำ เฟรมเหล็กกล้า Full Boxed Ladder Frame ของ Navara มาหดให้สั้นลง ให้ได้ระยะฐานล้อยาวประมาณ 2,850 มิลลิเมตร ซึ่งเหมาะสมกับการทำรถยนต์ SUV/PPV มากกว่า เฟรมแบบยาวของรถกระบะ
ทีมวิศวกร Nissan พยายามอย่างหนักในการ Balance ความต้องการ ระหว่าง ความนุ่มสบายในการเดินทาง กับความมั่นใจในการขับขี่ ในทุกสภาพเส้นทาง ผลที่ได้ออกมา ก็คือ ช่วงล่างที่ยังคงให้การดูดซับแรงสะเทือนช่วงความเร็วต่ำ ช่วงตั้งแต่ 0 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีเกินคาด นิ่งสนิท Smooth และแน่นหนึบมากเหมือนเดิม การขับผ่านหลุมบ่อและฝาท่อตามตรอกซอกซอยต่างๆ ยังสัมผัสถึงความนุ่มนวลเล็กๆ แทบไม่ค่อยตึงตัง ขึ้น – ลง ลูกระนาด จังหวะเดียวอยู่หมัด ไม่แข็งจนเด้ง ไม่นิ่มจนหยึย แทบไม่มี Rebound ผ่านกันไปแบบเนียนๆก้น ยกเว้นฝาท่อที่ลึกจริงๆเท่านั้น จึงจะพบความแน่นของช่วงล่างชัดเจน
ส่วนการขับขี่ในย่านความเร็วสูงนั้น ช่วงล่าง นิ่ง บาลานซ์ด้านหน้าและด้านหลังได้ดี ให้มั่นใจได้มาก ผมลองรูดเลนซ้าย บนถนนบางนา-ตราด ซึ่งพื้นผิวถนนส่วนใหญ่ ถูกทำลายด้วยบรรดารถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด จนเป็นหลุมบ่อ แอ่ง ลอนคลื่น และพื้นผิวขรุขระจากยางมะตอยเสื่อมสภาพ เชื่อหรือไม่ว่า แม้จะใช้ความเร็ว 80 หรือ 100 กิโลเมตร/ ชั่วโมง ช่วงล่างของ Terra Minorchange ก็ยังทำให้คุณ แล่นรูดผ่านพื้นผิวเหล่านั้นได้ โดยแทบไม่ระคายเคืองใดๆทั้งสิ้น ให้ความนุ่มนวล ซับแรงสะเทือนได้ดีเยี่ยมมากเกินความคาดหมาย ขณะเดียวกัน หากต้องใช้ความเร็วช่วงเกินกฎหมายกำหนด สูงถึงระดับ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนพื้นผิวทางเรียบปกติ ช่วงล่างก็ยังหนักแน่น และมั่นคง แถมยังไม่เด้งหรือสะเทือนมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จัดว่าเป็นช่วงล่างที่ดีมากๆ สำหรับรถยนต์ประเภท SUV/PPV แบบ Body on Frame
พอมาเจอกับพวงมาลัยที่ปรับเซ็ตมาใหม่ กลายเป็นว่า บุคลิกของ Terra เปลี่ยนไปจากคุณชายอุ้ยอ้ายที่เนือยและไม่กระฉับกระเฉง กลายเป็น คุณชายคนเดิม ที่เพิ่งไปเข้าคอร์สออกกำลังกาย จนกระชับขึ้น คล่องแคล่วขึ้น ผมสามารถพา Terra ใหม่ มุดลัดเลาะ ไปตามสภาพการจราจร บนทางด่วนได้อย่างคล่องตัวขึ้นมาก
หนึ่งในผู้คนรอบข้างผมที่ต้องผันตัวเองมาเป็นผู้โดยสารบนเบาะแถวกลาง อย่าง คุณ Champ ช่างภาพและ Producer ของทีมเว็บเราถึงกับออกปากเลยว่า “เมื่อเทียบกับ SUV/PPV รุ่นอื่นๆในตลาดแล้ว ตลอดเวลาที่นั่งโดยสารอยู่ใน Terra ต่อให้บางจังหวะ ที่พี่จิมมี่จำเป็นจะต้องเบี่ยงเปลี่ยนเลน หรือเร่งและชะลอความเร็วกระทันหัน ผมไม่มีอาการเมารถเลย แม้แต่นิดเดียว”!!
ระบบห้ามล้อ / Brake
หลังจากโดนเสียงบ่นก่นด่าจากลูกค้า และผู้บริโภคทั่วไป ในรุ่นเดิมว่า ทำไมถึงยังไม่ให้ ดิสก์เบรก 4 ล้อ เหมือนคู่แข่งเขาเสียที ทำให้ Nissan ตัดสินใจปรับปรุงระบบห้ามล้อของ Terra เสียใหม่ โดยด้านหน้า ยังคงเป็นแบบ ดิสก์เบรกพร้อมรูระบายความร้อน แต่เพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางให้ใหญ่ขึ้นจาก 296 เป็น 350 มิลลิเมตร
ส่วนด้านหลัง คราวนี้ จะแตกต่างจากเดิม โดยรุ่น E จะยังคงใช้ดรัมเบรก ตามเดิม แต่สำหรับรุ่น VL ทั้ง 4×2 และ 4×4 จะเปลี่ยนจากดรัมเบรก มาเป็น ดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อนเช่นเดียวกัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลงมานิดนึง เหลือ 330 มิลลิเมตร เท่ากับว่า ตอนนี้ Terra Minorchange เปลี่ยนมาใช้ ดิสก์เบรก ครบ ทั้ง 4 ล้อ เฉพาะรุ่น VL เท่านั้น
Terra Minorchange ทั้ง 3 รุ่นย่อย ยังคงมีตัวช่วยต่างๆ ติดตั้งมาให้พร้อมเพรียง ดังนี้
- ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System)
- ระบบกระจายแรงเบรกให้สมดุลกับน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
- ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VDC (Vehicle Dynamic Control)
- ระบบช่วยออกตัวบนพื้นลื่น TCS (Traction Control System)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist)
- เฉพาะรุ่น VL 4×4 จะเพิ่มระบบช่วยลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) มาให้เป็นพิเศษ
ส่วนเบรกมือ เป็นเบรกมือไฟฟ้า แต่ไม่มีระบบ Auto Brake Hold มาให้ กระนั้น ถ้าผู้ขับขี่ ยังคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ หากแตะคันเร่งเพื่อออกตัว ระบบเบรกมือไฟฟ้า ก็จะปลดออกเองโดยอัตโนมัติ ได้เช่นเดียวกัน (อันที่จริง รถยนต์ส่วนใหญ่ในตลาดก็เป็นแบบนี้ ยกเว้น Mitsubishi Pajero Sport ที่จะไม่ยอมปลดออกให้) เพียงแต่ว่า เมื่อคุณหยุดรถจนสนิท ก็อาจต้องเอานิ้วชี้ฝั่งซ้าย ยกสวิตช์เบรกมือขึ้นเองทุกครั้งที่จอดสนิทติดไฟแดง
ผมเคยพูดไว้ในบทความ Full Review ของ Terra รุ่นปี 2018 ว่า จะบอกว่า เบรกของ Terra ดีที่สุดในบรรดา กลุ่ม SUV/PPV ที่ใช้ระบบเบรกแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม เท่าที่ผมเคยลองขับมา แม้ว่า มันอาจจะไม่ถึงกับสามารถนำไปเปรียบเทียบกับ บรรดาเพื่อนพ้องที่ใช้ดิสก์เบรก 4 ล้อ ซึ่งให้ระยะหยุดที่สั้นกว่า นิดหน่อย ได้เต็มปาก แต่ก็ถือว่า เบรกของ Terra ไม่เป็นรองใครเขาเลยก็แล้วกัน
คราวนี้ การเปลี่ยนมาใช้ ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ ก็ยิ่งช่วยทำให้ Terra มีจุดขายเพิ่มขึ้น และทัดเทียมกับนานาอารยะคู่แข่งเขาเสียที แถมการทำงานในภาพรวม ดีขึ้นชัดเจน เพียงแต่ ถ้าคุณคาดหวังว่า เบรกปุ๊บ รถหยุดฉับไวหน้าทิ่มพรวดปั๊บ Terra Minorchange อาจจะไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น
แป้นเบรก เซ็ตมาให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ที่ต้องการให้แป้นเบาขึ้นกว่าเดิมนิดๆ แต่ยังคงให้ความต่อเนื่อง (Linear) หรือ สั่งเบรกแค่ไหน ก็ชะลอแค่ตามนั้น ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ระยะเหยียบ มีความยาวระดับปานกลาง พอๆกับ Navara Minorchange ด้วยนั่นแหละ แต่แอบสั้นลงกว่า Terra รุ่นเดิม นิดเดียว ไม่เยอะนัก
ขณะเดียวกัน น้ำหนักแป้นเบรก เซ็ตมาเหมาะสม แรงต้านเท้า ช่วงเริ่มต้นจะน้อย พอแตะแป้นเบรกเบาๆ เหมือนจะเจอระยะฟรี ทำให้อาจเข้าใจได้ว่าแป้นเบรกน่าจะเบา แต่เอาเข้าจริง ลองเลียเบรกเบาๆ ในรูปแบบต่างๆ 3-4 รอบ ก็รับรู้ได้ว่า ทันทีที่เท้าขวาเริ่มแตะลงไปบนแป้นเหยียบ ระบบเบรกก็เริ่มทำงานแล้วตั้งแต่แรก
เมื่อเหยียบลงไปเพิ่มถึงช่วงกลาง แป้นเบรกจะเริ่มหนืดขึ้นพอสมควร ตอบสนองได้ต่อเนื่องนิดหน่อยขึ้น (Linear) จากช่วงแรกเริ่มเหยียบเบรกได้ดี ทำงานตามน้ำหนักเท้าที่เราเหยียบลงไปได้ดีมาก เหยียบแค่ไหน รถจะชะลอลงเท่านั้น เบรกแล้วหัวไม่ทิ่มมากนัก ยังคงรักษาคุณสมบัติการเป็นแป้นเบรกที่ดี สำหรับ SUV/PPV เพื่อครอบครัวได้ดีอยู่
ขณะขับขี่ในเมือง คุณสามารถบังคับควบคุมแป้นเบรก เพื่อให้รถจอดนิ่งสนิทอย่างนุ่มนวล ได้ง่ายดายมาก และในขณะแป้นเบรก การหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง เช่นในช่วง 180 เหลือแค่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ทำได้นุ่มนวล และให้ความมั่นใจได้ดีพอสมควร ไม่ถึงขั้นต้องเผื่อระยะเบรกเยอะเท่า Terra 4×4 รุ่นเดิม แต่จะเผื่อไว้สักหน่อยก็ดี
ด้านระบบช่วยเหลือการขับขี่ กลุ่ม ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) ที่ Nissan เรียกรวมกันว่า “NISSAN Intelligent Mobility” ซึ่งเน้นช่วยเหลือผู้ขับขี่ ในสภาวะที่อาจเผลอเรอ หรือยามคับขันต่างๆ อันเป็นกลุ่มระบบพื้นฐานที่จะนำผู้บริโภคพาไปสู่เทคโนโลยีขับขี่เองอัตโนมัติ Autonomous Drive ในอนาคตข้างหน้านั้น Nissan เริ่มติดตั้งอัดแน่นมาให้กับ Terra มากถึงขั้นว่า Terra Minorchange เวอร์ชันไทย จะได้อุปกรณ์ต่างๆ ดีที่สุดในบรรดา ทุกประเทศที่ Nissan จะส่ง SUV/PPV รุ่นนี้เข้าไปทำตลาดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น…
– ระบบเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนด้านหน้า IFCW (Intelligent Forward Collision Warning)
– ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินจนหยุดนิ่ง IEB (Intelligent Emergency Braking)
– ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทางจราจร LDW (Lane Departure Warning)
– ระบบเตือนให้หยุดพักเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ IDA (Intelligent Driver Alert)
– กระจกมองหลังอัจฉริยะ รับภาพจากกล้องมองหลัง IRVM (Intelligent Rear View Monitor)
ส่วนรุ่น VL 4×2 และ 4×4 จะเพิ่มระบบตัวช่วยเข้ามาอีก 4 รายการ ดังนี้
– ระบบเตือนจุดอับสายตา BSW (Blind Spot Warning) มีเฉพาะรุ่น VL 4×2 & 4×4
– ระบบเตือนเมื่อมีวัตถุตัดผ่านขณะถอยรถ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) เฉพาะรุ่น VL 4×2 & 4×4
– กล้องมองภาพรอบทิศทาง IAVM (Intelligent Around View Monitor) เฉพาะรุ่น VL 4×2 & 4×4
– ระบบตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุรอบคัน MOD (Motion Object Detection) เฉพาะรุ่น VL 4×2 & 4×4
อย่างไรก็ตาม หลายคนสงสัยว่า ไหนๆ ก็ให้ระบบ ADAS มาแน่นขนาดนี้แล้ว ทำไม Nissan ถึงไม่ยอมติดตั้งระบบ Adaptive Cruise Control มาให้ เหมือนอย่างคู่แข่งเขาเสียที ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว มันก็น่าจะติดตั้งได้ เหตุผลเท่าที่เราทราบมาก็คือ ทีมวิศวกรฝั่งญี่ปุ่น อ้างว่า Logic ในสมองกลของ เครื่องยนต์ M9T จาก Renault ไม่สามารถเข้ากันได้กับ Logic สมองกลของระบบ ADAS ที่ Nissan ทำขึ้น หากพยายามกันจริงๆ ก็อาจต้องรื้อโปรแกรม และ Logic ของสมองกลใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะวุ่นวายและเสียเวลามากๆ
งั้นผมก็คงจะรอดูว่า Dealer ของ Nissan บางราย จะสามารถแก้ไขปัญหาและดัดแปลงให้รถสามารถใช้ระบบนี้ได้หรือเปล่า?
******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*****************Fuel Consumption Test *****************
ปกติแล้ว ทีมเว็บของเรา จะทดลองอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง กันในช่วงเวลาตั้งแต่ 3 ทุ่ม (21.00 น.) หากรวมการจับเวลาหาอัตราเร่งต่างๆ ด้วย ปกติ เราควรจะเสร็จสิ้น Loop การทำงานของเราทั้งหมด ในช่วงประมาณ ไม่เกิน 1.30 น.
ทว่า เนื่องจาก Terra เปิดตัว ในประเทศไทย ช่วงที่มีการประกาศ เคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหะสถาน หลังเวลา 21.00 น. จนถึง 4.00 น. ทำให้ ผมประสบปัญหาในการทำงานทันที เพราะไมสามารถออกมาทดลองรถ ทำตัวเลข ในเวลาปกติได้อีกต่อไป
เพื่อรักษามาตรฐานการทดลองในตอนกลางคืนเอาไว้ ลดปัญหาด้านอุบัติเหตุ หรือผลกระทบกับผู้ร่วมใช้เส้นทางอื่นๆ รวมทั้งเพื่อให้ถนนโล่งมากที่สุด ทางแก้เท่าที่เราทำได้คือ การทดลองเปลี่ยนเวลาการทำงานของเรา มาเป็นการตื่นนอนตอนตี 3 (3.00 น.) ออกจากบ้าน 3.40 น. ไปรอขึ้นทางด่วน ตอนช่วง 3.50 น. (ซึ่งเอาเข้าจริง ทางด่วนยังเปิดให้ใช้ทางได้ แต่ปิดระบบ Easy Pass และ บังคับให้รถทุกคัน เข้าด่าน เพียงช่องเดียว โดยอาจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประจำด่าน แต่ในเวลา 3.50 น. นั้น เจ้าหน้าที่ เก็บด่านกันไปหมดแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมเปิดระบบให้กลับมาใช้งานตามปกติในเช้าแต่ละวัน
ผมจึงนัดกับ น้องในทีมของเรา มาเจอกันที่ สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ตอน ตี 4.15 น. พา Terra Minorchange ไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D แบบหัวจ่ายตัด เพื่อเริ่มทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในช่วงนั้น โดยผู้ร่วมทดลอง เปลี่ยนมาเป็น น้อง Q หรือ QCX Loft (Yutthapichai Phantumas) ทีมเว็บของของเรา น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม รวมน้ำหนักผู้ขับอีก ประมาณ 104 กิโลกรัม จะอยู่ที่ 174กิโลกรัม)
พอเติมน้ำมันเสร็จ เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พัดลมเบอร์ 2 Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 และ Set หน้าจอวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้นใหม่ ทั้งหมด
เราขับออกจากสถานีบริการน้ำมัน Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทางเดิม ด้วยมาตรฐานเดิม แล่น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron Diesel Power D ณ หัวจ่ายเดิม ไม่เขย่ารถ เหมือนช่วง การเติมครั้งแรกทุกประการ เรากลับมาถึง ในเวลา ตี 5.28 น.
มาดูตัวเลขกันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.40 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.43 กิโลเมตร/ลิตร
OK แม้ว่าตัวเลข จะลดลงแค่ 0.02 กิโลเมตร/ลิตร แต่ผมถือว่า ยังทำผลงานออกมาได้ เท่าๆ กันกับรุ่นเดิม แม้ว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นราวๆ 30 กิโลกรัม ก็ตาม แต่นั่นยังไม่ถือว่ามีผลมากนัก
เพราะฉะนั้น ในด้านความประหยัดน้ำมัน ถ้าเปรียบเทียบแล้ว Terra Minorchange ยังคงรักษาอันดับ ที่ 1 ในกลุ่ม SUV/PPV เครื่องยนต์ เกิน 2.0 ลิตร เอาไว้ได้อยู่ดี แต่ถ้าจะมองหาผู้ที่ประหยัดน้ำมันที่สุดทั้งกลุ่มตลาด ก็คงต้องยอมเสียแชมป์ให้กับ Isuzu MU-X ใหม่ 1.9 ลิตร ไป รายนั้น ทำได้ 14.76 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ประหยัดกว่า Terra แค่ 0.2 กิโลเมตร/ลิตร แต่ Terra ให้พละกำลังและอัตราเร่งที่แรงกว่า MU-X 1.9 ลิตร มาก!
คำถามต่อมา น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?
เนื่องจากขุมพลังยังคงเป็นแบบเดิม แค่ปรับปรุงการตอบสนองคันเร่งให้ไวขึ้นนิดนึงแค่นั้น เท่ากับว่า มันแทบไม่มีอะไรแตกต่างจาก รถรุ่นก่อนปรับโฉม ยืนยันให้เลยครับว่า Terra ประหยัดน้ำมันในการใช้งานจริงมากกว่าที่คิดไว้นิดหน่อย ถ้าเลือกรุ่น VL 4×2 น่าจะประหยัดได้มากกว่ารุ่น VL 4×4 เหมือนเช่นรุ่นเดิมนั่นแหละ พอจะสรุปได้ว่า ต่อให้คุณจะขับแบบตีนผี นรกส่งมาเกิด มุดแหลก แหกกระจาย ยังไงก็ตาม น้ำมัน 1 ถัง ขั้นต่ำ ก็มี 500 กิโลเมตร ได้แน่ๆ ยิ่งถ้าคุณใช้รถวันละไม่เกิน 100 กิโลเมตร คุณอาจจะเติมน้ำมันเฉลี่ย แค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แตถ้าคุณเป็นคนขับรถทางไกลค่อนข้างบ่อย หรือเป็นหลัก แทบไม่เจอการจราจรติดขัดเลย ใช้ความเร็วไม่สูงนัก ไม่เกิน 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจทำระยะทางได้ไกลถึง 700 กิโลเมตร ต่อน้ำมัน 1 ถังเลยก็เป็นไปได้
********** สรุป / Conclusion **********
แก้ทุกอย่างที่เคยตำหนิไป ให้ดีขึ้นเกือบหมดแล้ว
ถ้าขายไม่ดีอีก คราวนี้ ไม่ได้เป็นที่ตัวรถแล้วละ!
แฟนๆ Nissan จำนวนไม่น้อย คงมองว่าผมนี่ ชอบด่ารถยี่ห้อนี้เหลือเกิน เขาไปทำอะไร ทำไมถึงต้องด่ากันขนาดนี้?
ผมเองก็ชี้แจงจนปากจะฉีกถึงรูทวารแล้วว่า ที่ด่า นี่รักมากนะ บ้านผมเองก็เป็นเจ้าของรถยนต์ Nissan อยู่ 5 คัน (รวมรถกระบะส่งของ) แน่นอนละ เราทุกคนก็คงเห็นกันอยู่ว่า Nissan เอง เริ่มมียอดขายร่วงลงทุกทีๆ สู้กระแสรถยนต์จากเมืองจีนแทบไม่ได้ ผมก็ย่อมอยากเห็นแบรนด์ที่ผมรัก ดีขึ้นกว่าปัจจุบันเสียที
คนใน Nissan หลายๆคน ก็พยายามอย่างเต็มที่ เท่าที่จะมีกำลังไหว ในการยกระดับตัวรถออกมา ให้สามารถแข่งขันกับชาวบ้านชาวช่องเขาได้ ภายใต้สารพัดข้อจำกัดมากมายที่รายล้อมเต็มไปหมด และ Terra ใหม่ ก็คือ อีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ณ วันนี้ แม้ว่า Nissan จะโดนสารพัดหมัดฮุค และแข้งขา จากบรรดาคู่แข่งร่วมสังเวียน จนเลือดสาดกระเซ็นกระเด็นไปทั่ว แต่ พวกเขา กำลังพยายามลุกขึ้นสู้ เท่าที่พอมีเรี่ยวแรงไหว
จนถึงวันนี้ ความคิดของผมที่มีต่อ Terra ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก Terra ยังคงเป็น SUV/PPV ที่ไม่เพียงแค่ให้ความคุ้มค่า คุ้มราคามากที่สุดในตลาด หากแต่ยังมีอัตราเร่งที่ดีสุดในกลุ่มเครื่องยนต์ ไม่เกิน 2.5 ลิตร แถมยังให้ความประหยัดน้ำมัน ไม่น้อยหน้าเจ้าตลาดอย่าง Isuzu MU-X 1.9 ลิตร เลยด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น จุดเด่นสำคัญที่ ดูเหมือนว่า แม้แต่คนของ Nissan หรือ เอเจนซีโฆษณา ก็ยังไม่เคยพูดถึงเลยเวลาประชาสัมพันธ์รถรุ่นนี้ นั่นคือ คุณภาพการขับขี่ดีงาม ให้ความสบายในการเดินทางไกล ยิ่งพอรุ่นใหม่ มีการปรับปรุงพวงมาลัยเข้าไป ให้ตอบสนองดีขึ้น ยิ่งช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วให้กับตัวรถมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเพิ่ม Option ต่างๆ โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยกลุ่ม ADAS รอบคัน จนไม่น้อยหน้าคู่แข่งอีกต่อไป ยิ่งเพิ่มความน่าใช้มากขึ้นไปอีก
Terra ยังคงเป็น Nissan อีกรุ่น ซึ่งยากต่อการที่ใครจะเดินมาดูรถคันจริง ในโชว์รูม หรือตามการออกบูธโชว์ตัว ในห้างสรรพสินค้า แล้วจะถูกชะตาต้องใจกันตั้งแต่แรกเห็น คุณจะไม่มีทางรู้สึกได้ ว่ารถมันดีอย่างไร น่าซื้อแค่ไหน จนกว่าจะได้ลองขับออกถนน และใช้เวลาอยู่กับมันสักพักใหญ่ๆ คุณถึงจะเห็นคุณค่าในงานวิศวกรรมเบื้องลึกที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวรถ ผมยังยืนยันว่า ต่อให้พวกเขาจะถูกบีบด้วยการลดต้นทุนขนาดไหน ทีมวิศวกรของ Nissan ยังคงจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับฝ่ายบัญชีและฝ่ายบริหาร ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรม ความปลอดภัย และหัวข้อพื้นฐานในการเป็นรถยนต์ทีดี แน่ๆ
พูดกันแบบไม่อ้อมค้อม ผมขอยืนยันไว้ตรงนี้เลยว่า Terra คือ SUV/PPV ที่ให้การขับขี่ “ในองค์รวม” ลงตัวสุด ขับดีที่สุดในตลาด แต่ขาดการสนับสนุนจากทุกองคาพยพ และถ้าผมจะต้องซื้อ SUV/PPV มาใช้ในบ้านสักคัน หลังจากลองขับมาหมดทุกรุ่นแล้ว ผมจะเลือก Terra ในทันที โดยไม่ลังเลย! (เพียงแต่ ชีวิตผมไม่ได้จำเป็นต้องใช้รถประเภทนี้ไงครับ)
สิ่งที่ควรปรับปรุง / What should improve more?
อันที่จริง การแก้ไขปรับปรุง Terra ในรอบนี้ ทีมวิศวกรพยายามเก็บรายละเอียด และแก้ไขจุดต่างๆ ให้ดีขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้บนโครงสร้างวิศวกรรมพื้นฐานเดิมของตัวรถแล้ว แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 7 วัน ผมพบว่า มันยังมีรายละเอียดบางอย่าง ที่ยังพอจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้อีก เพื่อให้ Terra รุ่นนี้ สมบูรณ์แบบขึ้น ดังนี้
– ควรลดระยะฟรีพวงมาลัย ลงจากนี้ อีกสักนิดนึง นิดเดียวจริงๆนะ แล้วเพิ่มน้ำหนักหน่วงมือขณะถือพวงมาลัยตรงๆ ช่วงความเร็วสูงหลัง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มอีกนิด เพื่อเพิ่ม On-center feeling ที่ดีใช้ได้อยู่แล้ว ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก ต่อให้ทีมวิศวกรพยายามจะปรับเซ็ตพวงมาลัยให้มีบุคลิกใกล้เคียงกับ Navara PRO4-X มากขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าได้พวงมาลัยที่มีระยะฟรีลดลงอีกนิดนึง ก็จะเพิ่มความสนุกในการมุดลัดเลาะขณะเดินทางด้วยความเร็วปกติ 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง มากขึ้นไปอีก
– พวงมาลัย นอกจากปรับสูง – ต่ำได้แล้ว ควรจะปรับระยะ ใกล้ – ห่าง แบบ Telescopic มาให้ได้แล้วเสียที!! ไม่รู้ว่า Nissan จะงก Function นี้ ทำไมนักหนา? เท่าที่จำได้ มี Nissan GT-R , 370Z , Elgrand , Fuga / Infiniti Q และรถยนต์อีกไม่กี่รุ่นเท่านั้น ที่ Nissan ยอมติดตั้งระบบปรับระยะพวงมาลัย ใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ เพิ่มเข้ามาให้ พอเป็นรถยนต์รุ่นล่างลงมากว่านั้น อย่าง Teana หรือ X-Trail กลับไม่มีมาให้ แม้กระทั่ง Terra ใหม่ นี่ก็เช่นเดียวกัน ไม่เข้าใจตรรกะของวิศวกรญี่ปุ่นในประเด็นนี้เลย ว่าจะงกอะไรกันนักกันหนา?
– ควรเพิ่มมือจับโหนขึ้นรถ บริเวณเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งคนขับ เสียที รุ่นเดิมก็ไม่ได้ใส่มา รุ่นใหม่ ก็ยังไม่โผล่ให้เห็น บอกเลยว่า การปล่อยให้ผู้ขับขี่ จับพวงมาลัย โหนตัวขึ้นไปนั่งบนรถนั้น ถ้าดับเครื่องยนต์อยู่ มันคงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าจำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ไว้ เช่นระหว่าง จอดรถลงไปดู สภาพเส้นทางก่อนจะลุย เนี่ยสิ โอกาสที่ผู้ขับขี่จะพลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุขณะปีนขึ้นรถ มีสูงอยู่เหมือนกันนะ!
– เพิ่มระบบ Adaptive Cruise Control มาให้ทัดเทียมกับชาวบ้านชาวช่องเขาได้แล้ว แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า Logic ของ สมองกล ECM ในเคริ่องยนต์ M9T จาก Renault นั้น อาจจะไม่ตรงกับ Logic ของระบบ Adaptive Cruise Control ที่ Nissan มีอยู่แล้วในคลังอะไหล่เก่า (Part Bin) ของตน แต่ ถ้าสามารถหาทางปรับปรุงได้ ก็น่าจะพอดึงดูดใจลูกค้ากลุ่ม Nerd สายบ้า Option ได้ประมาณหนึ่ง
– เพิ่มระบบ Auto Brake Hold โดยส่วนตัวแล้ว ผมเฉยๆกับระบบนี้ ไม่จำเป็นต้องใส่มาให้ก็ได้ แต่ก็มีลูกค้าจำนวนหนึ่ง อยากให้ Nissan ใส่มาให้หน่อย ก็คงต้องฝากให้ไปลองทำการบ้านดูถึงความเป็นไปได้ว่ามากน้อยแค่ไหน
คู่แข่งในตลาด / Competitors
ตลาดรถยนต์กลุ่ม Mid-Size Body on Frame SUV บนพื้นฐาน Frame Chassis รถกระบะ หรือที่ รัฐบาลไทย บัญญัติตัวย่อขึ้นมาเรียกใช้ เพียงประเทศเดียวในโลก ว่า PPV (Pick-up based Passenger Vehicles) โดยหลังจาก GM ยกเลิกการทำตลาด แบรนด์ Chevrolet ในเมืองไทย เมื่อช่วงสิ้นปี 2020 ทำให้ Chevrolet Trailblazer ต้องยุติบทบาทไป เท่ากับว่า ตอนนี้ เหลือ คู่แข่งได้แก่ Toyota Fortuner , Isuzu MU-X, Mitsubishi Pajero Sport , Ford Everest ซึ่งในปี 2021 – 2022 นี้ ทุกรุ่น จะมีเฉพาะเครื่องยนต์ Diesel Turbo เท่านั้น ส่วน Fortuner เครื่องยนต์เบนซิน 2.7 ลิตร ถูกถอดออกจากตลาดไปในช่วงปี 2019
Isuzu MU-X
การเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ไปเมื่อกลางปี 2020 ถือเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญ เพราะคราวนี้ Isuzu ไม่เพียงแต่จะลงมือพัฒนารถรุ่นใหม่ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปแชร์งานวิศวกรรมร่วมกับ GM/Chevrolet อีกต่อไปแล้ว พวกเขายังทุ่มจัดเต็ม อัดระบบความปลอดภัย ADAS มาให้เต็มคันรถ แถมยังมีระบบใหม่ๆ ที่คิดไกลไปเหนือคู่แข่งด้วย (เช่นระบบหยุดรถอัตโนมัติ หลังเกิดการชน) ทำให้ MU-X กลับขึ้นมาอยู่บนหัวแถวของกลุ่ม SUV/PPV ได้สำเร็จ แถมยิ่งน่าแปลกใจเมื่อรู้ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มแฟนพันธ์แท้ “Isuzu Super Fan” อุดหนุนกันแต่รุ่น Top อย่าง 3.0 Ultimate 4×4 เป็นหลัก ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ซื้อทั้งที เอารุ่นที่อัด Option มาเต็มสุดๆ ไปเลยจะคุ้มกว่า”
ภาพรวมแล้ว MU-X ใหม่ มีโครงสร้างตัวถัง พวงมาลัย ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ชัดเจนมาก ช่วงล่าง รักษาความนุ่มแต่แน่นและเนียนขึ้น ขับสบายขึ้นบนทางตรงยาวๆ พละกำลังแรงสุดในกลุ่ม เฉพาะตอนออกตัว แต่ยังคงความประหยัดไว้ได้ตามที่คุณคาดหวังจาก Isuzu แต่ การเข้าโค้ง ก็ยังเอียงกะเท่เร่มากพอสมควร แถมระบบ ESC ยังทำงานแปลกๆ และอาจชวนให้ผู้ขับขี่ตกใจได้ตอนเข้าโค้งแรงๆ อีกทั้งจนถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ใจว่า แก้ปัญหาระบบแอร์มีน้ำรั่วซึมที่ด้านท้ายรถ จบแล้วหรือยัง ถึงกระนั้นก็เถอะ บริการหลังการขายของ Isuzu ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของตลาดรถยนต์เมืองไทยตามเดิมอยู่ดี
Ford Everest
เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2014 และทำตลาดมานาน ปรับโฉมมาเรื่อยๆ แต่หลังการปรับโฉมรุ่น Minorchange เมื่อปี 2018 รวมทั้ง ปรับหน้าตาเล็กน้อย เมื่อ ปลายปี 2020 พร้อมเพิ่มรุ่นย่อย Everest Sport กลายเป็นว่า พอเปลี่ยนพวงมาลัยมาใช้ระบบผ่อนแรง Power แบบไฟฟ้า EPS เพื่อรองรับสารพัดของเล่นด้านความปลอดภัยสุด Hi-Tech ที่อัดแน่นประโคมเข้าไปเต็มคันรถแล้ว ทำให้พวงมาลัย เบาไปหน่อย ส่วนขุมพลังล่าสุด Diesel 2.0 ลิตร ทั้ง Turbo เดี่ยว และ Bi-Turbo นั้น ให้อัตราเร่งและความประหยัดน้ำมันดีขึ้น แต่ตัวเลขจะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง กระนั้น จุดเด่นที่ Everest เคยอยู่เหนือคู่แข่ง อย่างช่วงล่าง และระบบความปลอดภัยที่เคยดีสุดในกลุ่ม เริ่มถูกเพื่อนฝูงเขาแซงหน้ากันไปบ้างแล้ว ยังดีที่ว่า การบริการหลังการขายของ Ford เริ่มมีทิศทางดีขึ้นกว่าเดิมในภาพรวมแล้ว
อย่างไรก็ตาม Ford เพิ่งปล่อยภาพ Teaser ของรุ่นปรับโฉม Big Minorchange บนพื้นฐานงานวิศวกรรมที่ปรับปรุงจากรุ่นเดิมหลายประการ แต่ยังคงจะวาง ขุมพลัง Diesel 2.0 ลิตร Bi-Turbo ตามเดิม โดยคาดว่าจะมีการเผยโฉมในช่วง เดือนมีนาคม 2022 พร้อมกับ Ford Ranger Big Minorchange และน่าจะเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าได้ ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 (ภาพ Teaser และ Video Clip สามารถเข้าไปดูได้ ที่นี่ Click Here)
Mitsubishi Pajero Sport
นักกีฬาในร่ม(ผ้า) จากแหลมฉบัง เพิ่งเพิ่มรุ่นพิเศษ ฉลองครบ 60 ปี Mitsubishi Motors ในประเทศไทย ช่วงงาน Motor Show เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ก่อนจะเว้นช่วงมาเผยโฉมรุ่น RalliArt Edition ใน งาน Motor Expo 2021 ที่ผ่านมาหมาดๆ และยังคงรักษาจุดเด่นด้านรูปลักษณ์หน้าตา ครึ่งคันหน้าไว้ได้ ในขณะที่บั้นท้าย ที่แปลกตา หลายคนเริ่มชินชา ภายในห้องโดยสารนั้น เบาะนั่งคู่หน้านั่งสบายมากสุดในกลุ่ม ด้านขุมพลัง 2.4 ลิตร MIVEC VG-Turbo ก็ยังแพ้แค่ Terra ขณะที่พวงมาลัย น้ำหนักเบา แต่เหมาะสมกับตัวรถ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD-II โดดเด่นกว่าใครเพื่อน แต่ก็มีกลไกซับซ้อนเอาเรื่องเช่นกัน การเซ็ตช่วงล่าง มาในสไตล์นุ่มและซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดีมาก แต่ความมั่นใจในย่านความเร็วสูง ด้อยลงจากรุ่นเดิม (2008 – 2015) ชัดเจน ส่วนบริการหลังการขายของ Mitsubishi นั้น พอกันกับ Nissan แต่บางแห่ง ก็ดูแลลูกค้าดีกว่า ส่วนใครที่รอรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ คงต้องรอกันจนถึงปี 2023 – 2024
Toyota Fortuner
ยังคงยืนหนึ่งครองความเป็นเจ้าตลาดตัวจริง ทั้งในด้านยอดขาย และในด้านการขาดแคลนมารยาท แต่อุดมด้วยความ”กร่าง” จากกลุ่มลูกค้าผู้ใช้รถรุ่นนี้ส่วนใหญ่ บนท้องถนนทุกที่ทั่วประเทศไทย ล่าสุด หลังจากเพิ่งปรับโฉม Minorchange รวมทั้งเพิ่มรุ่น Top อย่าง Legender ไปเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2020 ตามด้วยการเพิ่มรุ่นย่อยใหม GR-Sport เมื่อเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา
เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร 204 แรงม้า (PS) ก็แรงสุด และเพิ่มความประหยัดขึ้นมานิดหน่อย น้ำหนักพวงมาลัย หนืดและหนัก ในตำแหน่งหัวแถวของกลุ่ม SUV / PPV ส่วน ช่วงล่าง ต่อให้เป็นรุ่น Legender ที่เน้นนุ่มแล้ว ภาพรวมก็ยังแข็งไปอยู่ดี ท้ายเด้งเอาเรื่อง ความนุ่มสบายหายไปไหนไม่รู้ ขนาดผมนั่งขับเอง ยังมึนหัวเองเลย ถ้าอยากได้ช่วงล่างแบบจบๆ เปลี่ยนเลนกระทันหันมั่นใจขึ้น ต้องเพิ่มเงินขึ้นไปเล่นรุ่น GR-Sport แต่ อีกประเด็นหนึ่งที่ Toyota จะฟัดเหวี่ยง Isuzu ได้มากสุด คือ บริการหลังการขายระดับตัวท็อป 1 ใน 5 ของตลาดรถยนต์บ้านเรา ที่แน่ๆ ยังคงต้องระวังโดนเพื่อนร่วมทางก่นด่าเรื่องไฟหน้าแยงตา ต้องเช็คดูกันบ้างแม้ว่า Toyota จะออกมาบอกว่ามีการปรับตั้งใหม่แล้วก็ตาม
กระนั้น ใครที่ไม่รีบร้อน และอยากรอรุ่นใหม่ ของ Fortuner คงต้องจับตารอดู รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน Full ModelChange รวมทั้งรุ่นพิเศษ ฉลอง 60 ปี ของ Toyota ในประเทศไทย ที่คาดว่าน่าจะออกสู่ตลาดช่วง ครึ่งหลังของปี 2022 นี้!
แล้วถ้าตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเลือก Terra รุ่นไหน น่าเล่นที่สุด?
What is the Best buy models?
Terra ใหม่ มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ดังนี้
- 2.3 Twin Turbo E 2WD 7AT 1,199,000 บาท
- 2.3 Twin Turbo VL 2WD 7AT 1,449,000 บาท
- 2.3 Twin Turbo VL 4WD 7AT 1,499,000 บาท
มาพร้อมการรับประกันคุณภาพตัวรถนาน 5 ปี หรือ 100,000 km. และ ฟรี ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี ดอกเบี้ย 1.49%
ถ้าคุณไม่ได้ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นประจำ แน่นอนว่า รุ่น VL 2WD เป็นรุ่นย่อยที่ลงตัวมากสุด เพราะได้ข้าวของมาจนแทบจะเรียกว่าเกือบครบเท่ากับรุ่น VL 4WD และที่สำคัญคือ ราคาค่อนข้างเหมาะสม กับสิ่งที่คุณต้องจ่าย แต่ถ้าคุณต้องจำเป็นต้องใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อยู่เนืองๆแล้ว รุ่น VL 4WD ตัว Top คือทางเลือกเดียวที่มีอยู่ และเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ราคาที่จ่าย เมื่อแลกกับข้าวของที่ให้มา ก็คุ้มค่าพอสมควร นี่ยังไม่นับส่วนลดหน้าโชว์รูมที่น่าจะทำให้ราคาหล่นลงมาได้มากกว่านี้อีกเอาเรื่องอยู่นะ
ส่วนรุ่น E นั้น ผมมองว่า เหมาะกับคนซึ่ง ต้องการแค่รถใช้งาน หรือซื้อเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่ง (Fleet) ล็อตใหญ่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการ Lock Spec ใดๆ จากฝั่งลูกค้า ถ้ารวมกับส่วนลดแล้ว ถือว่า ได้ของดีราคาถูก แต่อาจจะต้องทำใจว่า ระบบห้ามล้อด้านหลังยังคงเป็นดรัมเบรก ไม่ใช่ ดิสก์เบรก 4 ล้อ เหมือนชาวบ้านเขา รวมทั้ง Option ต่างๆ ก็จะหายไปประมาณหนึ่งเหมือนกัน
ก่อนจากกัน มีเรื่องส่วนตัวเรื่องหนึ่ง ซึ่งอยากเล่าให้อ่านกัน…เวลามันผ่านไปนานพอที่จะยกมาเล่าได้แล้วละ
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2004 หลังจากที่ Toyota Fortuner รุ่นแรก เปิดตัว ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายต่างพากันทึ่งในปรากฎการณ์ที่ Toyota ตัดสินใจ ยกระดับ Sport Rider คันเดิม ให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของรถกระบะดัดแปลง SUV/PPV จนได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นแทบจะในทันทีที่ออกสู่ตลาดเมืองไทย
“พี่ฮูก” อดีต..ฝ่าย Product Planning ของ Mitsubishi Motors Thailand (ซึ่งเคยทำงานกับ Nissan สมัย สยามกลการ ในตำแหน่ง Product Planning ยุค Cefiro A33 ปี 2001) โทรศัพท์มาพูดคุยกับผม ในบ่ายวันหนึ่ง ช่วงต้นปี 2005 ขณะที่ผมยังช่วยงานอยู่ใน Office ของ นิตยสาร THAIDRiVER (ซึ่งปัจจุบันนี้ ได้ปิดตัวลงไปนานหลายปีแล้ว)
ตอนนั้น พี่ฮูก อึดอัดใจ เพราะดูเหมือนว่า Mitsubishi Motors ทำท่าจะถอดใจจากการพัฒนา SUV/PPV รุ่นใหม่ที่จะเข้าทำตลาดแทน Mitsubishi Strada G-Wagon หลังจากเห็น Toyota Fortuner มียอดขายพุ่งแรง จนถึงกับตั้งคำถามมาว่า “J!MMY คิดว่า Mitsubishi Motors ควรทำ G-Wagon รุ่นต่อไปหรือไม่?”
พี่ฮูก น่าจะอยากได้ความมั่นใจ เหมือนเช่นที่โทรคุยกับคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ผมจึงยืนยันไปว่า “Mitsubshi Motors ควรเดินหน้าทำ SUV/PPV ต่อไป อย่าเพิ่งถอดใจกันง่ายๆแบบนี้ เพราะถ้าทำรถออกมาสวย และโดนใจลูกค้า ก็มีโอกาสขายได้ และถ้าวางแผนดีๆ โอกาสที่จะเอาชนะ Fortuner ก็เป็นไปได้สูง หรือต่อให้ขายไม่ดี อย่างน้อย ก็ยังเป็น 1 ใน Product Portfolio ที่ใช้หล่อเลี้ยงโรงงานแหลมฉบัง ให้ยังมีงานทำกันต่อไป”
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นหนะเหรอ? ก็คือประวัติศาสตร์ไงละ! Pajero Sport รุ่นแรก เปิดตัวในช่วงปลายปี 2007 และกลายเป็น SUV / PPV ที่ขายดีจนถึงขั้นเคยแซง Toyota Fortuner มาแล้วในหลายๆครั้ง และทำรายได้ให้กับ Mitsubishi Motors เป็นกอบเป็นกำกระบุงโกย มาจนถึงรุ่นปัจจุบัน…กลายเป็นรถรุ่นที่ คนของ Nissan ที่ญี่ปุ่นเอง ก็ยังต้องเรียนรู้จากพันธมิตรของตนด้วยซ้ำ
หันกลับมาดู Nissan กันบ้าง
ผมได้ยินมานานแล้วละว่า Terra Minorchange ที่คุณเห็นอยู่นี้ น่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะมีแนวโน้มว่า ผู้บริหารที่ Yokohama อาจจะสั่งยกเลิกทำตลาดในเมืองไทย ราวๆ ปี 2023 ถ้าตัวเลขยอดขายยังเป็นแบบนี้อยู่
อยากรู้ไหมว่า สาเหตุที่ทำให้ Terra รุ่นแรก ขายไม่ดีหนะ เป็นเพราะอะไร?
ขอพูดกันตรงๆ เลยละกันว่า ตัวรถหนะมันดี สู้ชาวบ้านเขาได้ แต่งานออกแบบภายนอก ของ Terra รุ่นเดิม มันไปในแนวทาง “Tough & Care” อย่างที่ทีมงานฝั่งญี่ปุ่น ตั้งเป้าไว้ มากเกินไป จนขาดความหรูหรางามสง่า (Elegance) ไปมาก ขณะเดียวกัน การใช้แผงหน้าปัดแบบเดียวกับ รถกระบะ Navara ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ รู้สึกว่า ตนเองกำลังขับรถกระบะอยู่ แทนที่จะนั่งอยู่ใน SUV/PPV หรูๆ อย่างคนอื่นเขา นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ลูกค้าชาวไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก พากันหมางเมินจาก Terra ไปอย่างน่าเสียดาย
ทว่า ในวันนี้ Terra ถูกปรับปรุงแก้ไขข้อด้อยต่างๆ เยอะมากกว่าที่คุณเห็น เท่าที่มันพอจะเป็นไปได้ และกลายเป็น SUV/PPV ที่คุ้มค่า คุ้มราคา แถมขับดีสุดใสนตลาดอีกด้วย แต่ยอดขายก็ยังไม่กระเตื้อง ดูเหมือนว่า Nissan ยังไม่สามารถสร้างการรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆของ Terra ให้เกิดขึ้นในใจลูกค้าได้เลย
ถ้าก่อนหน้านี้ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา หาก Nissan มีทีมการตลาดที่ดี เจ๋ง มีกึ๋นเยอะ อีโก้น้อยๆ ทำงานเป็น รวมทั้ง เอเจนซี่โฆษณา มี Passion รักในความเป็นรถยนต์มากกว่านี้ ตั้งใจทำงาน กว่านี้ เจ๋งกว่านี้ และกล้าที่จะ “ชนกับความไม่ถูกต้อง หรือ ไม่ Make Sense” มากกว่านี้ รวมทั้ง ทำงานเป็นทีมกับ Dealer ที่เขาพร้อมจะช่วยพวกคุณมากกว่านี้ มองอนาคตข้างหน้าร่วมกัน มากกว่าที่จะหวังแค่ความอยู่รอดทางธุรกิจตัวเอง รวมทั้ง Attitude ของบริษัทแม่ใน Yokohama ที่ควรจะช่วยบริษัทลูกในเมืองไทย ให้ดีกว่านี้ ผมมั่นใจเลยว่า ถ้ามันเป็นไปตามนี้ Terra จะขายดีกว่าที่เคยเป็นมาแน่ๆ
ขอแค่คนของ Nissan ไปจนถึง Nissan Leasing และบริษัทที่เกี่ยวข้อง เลิกทำตัวแบบที่ทำกันอยู่ทั้งหมด แล้วเปิดใจ กับโลกที่เปลี่ยนไป กันเสียที และมันต้องแก้ไขกันทั้ง “องคาพยพ”!!
ผมสงสาร Sekiguchi-san และ Tsusumi-san 2 ผู้บริหารใหม่ ของ Nissan ในเมืองไทย ที่พยายามเรียนรู้ตลาดเมืองไทย และพยายามทำงานอย่างหนัก ภายใต้อำนาจในมือที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่เต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาล จากทาง Yokohama และผมยังเชื่อว่า Terra รวมทั้ง Navara และ Almera ยังพอมีอนาคต และมีทางรอด มีทางที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ รวมทั้ง จะมียอดขายที่สูงกว่าปัจจุบันได้อีก เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ Pajero Sport มาแล้ว
อยากขายดีในเมืองไทย อยากได้กำไรเยอะๆ มี 2 อย่างที่ Nissan ควรทำ คือ ชาวต่างชาติ “ทุกสัญชาติ” ที่ Yokohama ต้องใจป้ำ เปิดใจรับฟังคนไทยเสียบ้าง คิดว่าถ้าตัวเราเป็นลูกค้าเอง จะรู้สึกอย่างไร? และพยายาม แปลงแนวคิดดีๆต่างๆ ที่หลายๆคนในองค์กรก็คิดกันได้ ให้มันสามารถเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ เสียที ขณะเดียวกัน ขอเถอะ ทีมไทย หนะ “อย่าป๊อด!” หัดลุกขึ้นมาพิสูจน์ให้คนญี่ปุ่น ฝรั่ง และอินเดีย ใน Yokohama เขาตระหนักมากกว่านี้ ว่า ถ้าจะปล่อยให้ออกรบ แต่กลับสงวนอาวุธไว้ เพียงเพราะความเขียมงกไม่เข้าเรื่อง แถมไม่ยอมเข้าใจ และไม่ใส่ใจในตลาดเมืองไทย หวังแต่กำไรก้อนใหญ่ โดยยอมทิ้งกำไรก้อนเล็กๆน้อยๆ และดีแต่ตั้งเป้ายอดขายให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่แทบไม่มีสิ่งใดที่พอจะเป็นทั้งอาวุธและขวัญกำลังใจ ให้คนทำงานกันบ้างเลย แบบนี้ก็ไม่ไหวนะ
เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าทำให้ลูกค้าเป้าหมาย มีประสบการณ์กับตัวรถ (Test drive Experience) เยอะขึ้นกว่านี้ ก็จะเรียกคะแนนในใจลูกค้าได้ นำมาสู่การตัดสินใจอุดหนุนได้ในที่สุด ดูอย่าง Subaru สิครับ ปริมาณรถยนต์ตราดาวลูกไก่ที่เพิ่มมากขึ้นบนถนนเมืองไทยหนะ ส่วนใหญ่ เกิดจากการปล่อยให้ลูกค้า Test Drive บนถนนจริงในแบบที่ ไม่ค่อยมีใครเขาทำกันนักหรอก ดังนั้น รถทดลองขับหนะ ต้องพยายามสื่อสารให้ Dealer อย่างก อย่ากั๊ก อย่าเอารถไปใช้งานส่วนตัว จนลูกค้าไม่มีโอกาสได้ทดลองขับ นี่คืออีกหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ลูกค้าซึ่งคิดจะลองคุยกับ Nissan เปลี่ยนใจ เดินออกจากโชว์รูมไปคบหาแบรนด์อื่นกันดื้อๆ
ทั้งหมดที่เตือนมานี้ ก็ยังคงยืนยันคำเดิมว่า มันมาจากความรักในแบรนด์นี้ ที่น่าจะมากกว่าคนที่ทำงานข้างใน Nissan ทุกวันนี้ เสียด้วยซ้ำ มันคงมีไม่กี่คนนักหรอก ที่กำลังทำในสิ่งที่ผมทำอยู่
ผมไม่ได้มีหุ้นส่วนใดๆใน Nissan เลย ผลประโยชน์ใดๆ ก็ไม่เคยมี โฆษณา ที่เขาเอามาลงแบนเนอร์เว็บผมให้ทุกวันนี้ พูดกันตรงๆ ผมก็เคยถอดใจ พร้อมจะถอนออกจากเว็บผมมาแล้ว!! พูดเลยนะ ไม่ได้ต้องการเงิน ไม่ได้ต้องการอะไรเพิ่ม เพียงแต่ต้องการเห็น Nissan มันดีขึ้นกว่านี้ มีที่ยืนเหลืออยู่ในตลาดเมืองไทย ท่ามกลางการแข่งขันอันเชี่ยวกรากขนาดนี้!!
ครับ บางที ผมก็คงจะ Too much emotional ไปหน่อย จนถูกคนบางคนเขามองว่าเป็นแค่หมา ซึ่งก็เอาแต่เห่าด่าไปวันๆ โดยไอ้คนที่มองแบบนั้น มันไม่เฉลียวใจคิดเสียบ้างเลยว่า ถ้ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีควันไฟ หมาไม่เห่าหรอก! ตราบใดที่หมาตัวเดิม ยังคงคอยเห่าเรียกคุณ เตือนคุณตลอดเวลา ก็ควรจะฟังกันเสียบ้าง ส่วนจะเอากลับไปคิดตาม หรือไม่ มันก็สุดแท้แล้วแต่พวกคุณ!
ถ้าวันนึง ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง จนไม่เหลือบ้านอยู่ ผมไม่รู้ด้วยนะ!
———————///———————
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
– ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Public Relation Department)
Nissan Motor (Thailand) Co.ltd.
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
– Yutthapichai Phantumas (QCXLOFT)
เตรียมข้อมูลตัวรถในภาพรวม
———————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นลิขสิทธิ์ภาพถ่าย หรือ Computer graphic จากต่างประเทศ
เป็นของ Nissan Motor Co.,ltd
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
5 มกราคม 2022
Copyright (c) 2022 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 5th, 2022
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome CLICK HERE!