(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอ คลิป ทดลองขับ ของรถคันนี้ เลื่อนลงไป อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้ )
“KICKS”…
ถ้าเขียนว่า KICK โดยไม่มี S จำเป็นคำกิริยา แปลว่า “เตะ”
แต่ถ้าเติม S เข้าไปข้างหลัง จะกลายเป็น KICKS อันเป็นคำนาม แปลว่า “รองเท้า”
“รองเท้า”…คำศัพท์โบราณ เรียกว่า “เกิบ”
คราวนี้ “เกิบ” ใช้ขุมพลัง e-Power
ดังนั้น ผมจึงเรียกมันว่า “อี-เกิบ!”
น้องคนหนึ่งใน Nissan อธิบายความให้ผมฟังว่าทำไมเขาถึงเรียก Kicks ว่า “อี-เกิบ” แม้ว่า ศัพท์นี้จะโคตรโบราณ แต่ผมก็เห็นด้วยนะ เพราะมันเป็นชื่อ ที่เข้ากับบุคลิกของรถยนต์ ซึ่งถูกสร้างมาให้เป็นเหมือน รองเท้าผ้าใบ ที่พร้อมจะลุยไปกับคุณ ในทุกๆวันของชีวิตคนโสด หรือคนมีคู่ ที่พำนักพักอาศัยอยู่ในเมืองเป็นหลัก
แน่นอนว่า คนของ Nissan ก็คาดหวัง และอยากเห็น รองเท้าติดล้อพลังไฟฟ้า (จากน้ำมัน) คันนี้ เปิดตลาดด้วยกระแสการพูดถึงในโลก Social media ให้เยอะมากสุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความนิยมอย่างสูง ตามมาด้วยยอดขายเปรี้ยงปร้าง ท่ามกลางสถานการณ์โลกและเมืองไทยอันไม่ปกตินี้
แต่…ในความเป็นจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น “อี เกิบ” คันนี้ ก็ยังคงทำให้ Nissan เมืองไทย สะดุดขาตัวเองหกล้มในช่วงเปิดตัว (อีกแล้ว…เหมือนเคย…ท้างงงงงปี)!!
เหมือนคนที่เพิ่งเจอรองเท้าคู่สวยถูกตา ราคาถูกใจ ใน Premium Outlet ลองใส่แล้วเริ่มเดินฉุยฉาย แต่ดันลืมผูกเชือกรองเท้าซะงั้น!
นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2020 ซึ่งเป็นวันแรกที่ Nissan Kicks e-POWER เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลก ที่ประเทศไทย โดยใช้วิธีการถ่ายทอดสด พร้อมเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ พร้อมทั้งเชิญเหล่าบรรดา influencer มาทำ Video Content เพื่อช่วยกระจายข่าว เนื่องจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
คำถามจากลูกค้าจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจ ว่าจะซื้อรถคันนี้ดีหรือไม่ และคนที่เซ็นต์ใบจองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พากันหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งจาก Facebook Fanpage ของ Headlightmag.com และรายการวิทยุ DR!VE by J!MMY ที่ออกอากาศทางคลื่น 98.0 EDS ว่า …
“เมื่อไหร่ Kicks จะมีรถให้ทดลองขับบ้าง ?”
“Nissan พร้อมส่งมอบรถให้ลูกค้าได้เมื่อไหร่ !?”
มันเป็นเรื่องแปลกประหลาดของบริษัทรถยนต์ จาก Yokohama แห่งนี้ ที่มักประสบปัญหาในการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของพวกเขา มาแต่ไหนแต่ไร ราวกับว่าต้องมี กรรมมาบดบังกันตลอด ย้อนกลับไปยังปี 2017 เมื่อครั้งทีจะเปิดตัว Note ก็มีปัญหามากมาย ทั้งการเร่งเปิดตัว ทั้งการเลือกเครื่องยนต์ที่ไม่เหมาะสมกับตลาดเมืองไทย หรือ Terra ที่มีความยุ่งเหยิง มาตลอดขั้นตอนการพัฒนา ทำให้ออกวางตลาดได้ล่าช้า ตลาดเขาวายวอดกันไปหมดแล้ว ถึงเพิ่งได้ฤกษ์เปิดตัว แถมเส้นสายยังดูเชยเมื่อเทียบกับคูแข่ง จนยอดขายแทบจะนิ่งสนิท
Kicks เองก็เป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่น ของ Nissan ที่ต้องมาประสบพบเจอกับปัญหาบ้าบอคอแตก อย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเปิดตัว มีตั้งแต่ความล่าช้าในขั้นตอนต่างๆ กว่าจะมาตั้งไลน์ผลิตที่เมืองไทยได้ ไปจนถึงปัญหา Part-Shortage หรือการส่งมอบชิ้นส่วนอะไหล่ จากซัพพลายเออร์ ในจีน และอินเดีย ที่ล่าช้า เพราะคำสั่ง Lockdown ของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงที่จะต้องผลิตชิ้นส่วนสำหรับ Kicks เวอร์ชันไทยพอดี กว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ต้องรอเวลาหลังการเปิดตัวกันนานถึง 2 เดือนครึ่ง!
ดีนะ ที่ก่อนหน้านี้ Nissan ตัดสินใจเลื่อนงานเปิดตัว Kicks ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020 ออกมา เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เท่ากับลูกค้าชาวไทย จะต้องรอการส่งมอบรถยนต์เวอร์ชันพร้อมจำหน่ายจริง กันยาวนานถึง 4 เดือนกับอีก 2 สัปดาห์ เลยทีเดียว
ซ้ำร้าย ยังโดน คู่รักคู่แค้นอย่าง Toyota ชิงกระแสความสนใจ เปิดตัว Corolla Cross ครั้งแรกในโลกที่เมืองไทย ชูจุดขายว่าเป็น C-SUV ขนาดใหญ่กว่า Kicks ซึ่งเป็น B-SUV แต่วางราคารุ่นล่างสุด กับรุ่นกลาง ชนกับ Kicks รุ่น V กับ VL อย่างจังเบ้อเร่อ ผนวกกับการที่ Toyota สามารถส่งมอบรถได้เลยทันทีหลังงานเปิดตัว แน่นอนว่า ลูกค้าที่สนใจ Kicks อยู่ ก็พากันลังเล บางรายถึงขั้นถอนจอง รองเท้าติดล้อพลังไฟฟ้า เพื่อไปคบหากับ Corolla Cross กันเยอะมาก
หนำซ้ำ ยังโดนบรรดาชาว Social Media กระหน่ำแซว เละเทะมาก ในทำนองว่า “Corolla Cross ก็เปิดตัว ส่งมอบรถกันแล้ว วิ่งกันจนจะเข้าศูนย์บริการ เช็คระยะ 10,000 กิโลเมตร แรกแล้ว Kicks เปิดตัวก่อนเขา ยังไม่ส่งมอบรถกันอีกเหรอ???”
พนักงานขายของทุกดีลเลอร์ ได้แต่อึดอัดหาวเรอ Kicks ก็ยังไม่พร้อมส่งมอบเสียที ต้องรอกันจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2020 นี่แหละ Nissan ถึงประกาศว่าพร้อมส่งมอบ Kicks ได้แล้ว นี่มันช่างเป็นการรอคอยที่ยาวนานเกินเหตุ ตั้ง 2 เดือนครึ่ง หลังการเปิดตัว ซึ่งนานเกินไปกว่าที่ลูกค้าคนไทยเขาจะรอไหว
แต่ถ้าคุณคิดว่า การรอคอย Kicks จะส่งมอบถึงมือคุณ มันนานจนแทบไม่อยากจะรอแล้ว ผมอยากบอกว่า นั่นยังไม่นานเท่าไหร่หรอกครับ เมื่อเทียบกับความจริงที่น้อยคนนักจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว Kicks ใช้เวลาเดินทาง มาถึงเมืองไทย ล่าช้าไปกว่าที่ควรจะเป็น ถึง 4 ปีเต็ม!!
และจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ เกิดขึ้นในประเทศที่มีการระบาดของ Covid-19 สูงเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของโลก…ประเทศที่คนไทยจำนวนมาก จะนึกถึงการเต้นจังหวะ Samba ในเทศกาล Carnival หรือนักกีฬาฟุตบอล ชื่อดังจำนวนมาก
ครับ…ผมหมายถึง…BRAZIL !!
ทศวรรษ 2000 – 2010 เป็นช่วงเวลาที่ตลาดรถยนต์ SUV กำลังเบ่งบานสะพรั่ง ผู้ผลิตทุกราย ต่างพากันพัฒนา รถยนต์ SUV รุ่นใหม่ๆ ในขนาดต่างๆ ออกจำหน่าย แข่งขันกันอย่างรุนแรงมากๆ จุดเริ่มต้นหลักอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ช่วงปี 1993 จนความนิยมเริ่มลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก
Nissan เอง ก็เป็นผู้ผลิตรายหนึ่ง ที่เริ่มมองเห็นแนวโน้มความต้องการ SUV ของผู้บริโภคฝั่งยุโรป จนทีมงานหัวก้าวหน้าชาวญี่ปุ่น ตัดสินใจยอมเสี่ยงครั้งสำคัญ เปิดตัว Nissan Qashqai ออกมา ในปี 2006 และประสบความสำเร็จอย่างสูง ก้าวต่อไปของพวกเขา ก็คือ การเปิดตัว Crossover SUV ขนาดเล็กกว่า เพื่อลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น อย่าง Nissan Juke ในปี 2010 ด้วยรูปลักษณ์ที่…ถ้าไม่รัก ก็เกลียดกันไปเลย ทำให้ Juke สร้างปรากฎการณ์ยอดขายถล่มทะลายในยุโรป และอีกหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม Nissan รู้ดีว่า Juke นั้น เป็น B-SUV ที่มีขนาดเล็ก ที่ถูกเซ็ตการขับขี่ทั้งหมด ออกมาเอาใจลูกค้าชาวยุโรปเป็นหลัก แต่มีพื้นที่ห้องโดยสาร รวมทั้งห้องเก็บสัมภาระคับแคบเกินไป แถมยังมีเส้นสายที่ฉีกแนวจนกลายเป็น Design Icon ของ Nissan ในยุคปี 2010 ไปเลย งานออกแบบของ Juke มีทั้งคนรัก และคนเกลียด ดังนั้น ถ้าไม่อยากจะสูญเสียยอดขาย Nissan ก็จำเป็นจะต้อง ทำ B-SUV “แยกออกมาจาก Juke อีก 1 รุ่น” เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าที่อยากได้เส้นสายที่โฉบเฉี่ยว แต่ต้องไม่แหวกแนวมากเท่า Juke แถมพกด้วยพื้นที่ด้านหลังซึ่งต้องอเนกประสงค์มากกว่า Juke
ขณะเดียวกัน อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ตลาดรถยนต์ประเภท B-SUV ราคาประหยัดในทวีป Latin America กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่มีตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้คือ BRAZIL ซึ่งมียอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรวม 2,262,069 คัน จากตัวเลขรถยนต์ทุกประเภท ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,787,850 คัน จากการประกาศอย่างเป็นทางการของ The Associacao Nacional dos Fabricantes de Veiculos Automotores (ANFAVEA)
สถานการณ์ของ Brazil ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ยอดขาย SUV พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับรถเก๋ง Sub-Compact Hatchback แบบเดิมๆ ซึ่งเคยเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมากสุดในตลาด Brazil จากตัวเลขในปี 2018 พบว่า ยอดขาย SUV คิดเป็น 30% ของตัวเลขยอดรวมทั้งหมด นั่นหมายความว่า รถใหม่ 1 ใน 4 คันของผู้คนใน Brazil เป็น SUV
จุดเริ่มต้นของตลาด SUV ใน Latin America เริ่มต้นเมื่อ Brazil เปิดพรมแดนของตน ในช่วงทศวรรษ 1990 Jeep Cherokee และ Ford Explorer คือรถยนต์ SUV รุ่นแรกๆ จากสหรัฐอเมริกา ที่เข้าไปเปิดตลาดใน Brazil อย่างไรก็ตาม ตลาด B-SUV ที่นั่น เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Ford พัฒนา SUV คันเล็กบนพื้นฐานจาก Ford Fiesta รุ่นที่ 4 เปิดตัวออกมาในชื่อ Ford EcoSport รุ่นแรก เมื่อปี 2003 และกลายเป็นผู้นำตลาดไปในบัดดล เพราะมันเป็นรถยนต์ในแบบที่ชาว Brazilian ซึ่งมีรสนิยมแตกต่างจากตลาดอื่นๆในโลก กำลังต้องการอยู่พอดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตั้งแตปี 2003 – 2014 Ford ผลิตและจำหน่าย EcoSport เฉพาะใน Brazil ไปมากถึงประมาณ 45,000 คัน!
ย้อนกลับไปในปี 2012 ยอดขาย SUV ใน Brazil อยู่ที่ประมาณ 270,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.9% จากยอดรวม 3,ุ634,421 คัน แต่ในตอนนั้น Nissan รวมทั้งผู้ผลิตอีกหลายราย เริ่มมองเห็นว่า ตัวเลขที่สูงมากขนาดนี้ ย่อมมีที่ว่างให้พวกเขาได้หา SUV รุ่นใหม่ มาเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าอย่างแน่นอน
ดังนั้น Nissan จึงเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ที่จะ B-SUV รุ่นใหม่ ในช่วงปี 2012 โดยรถยนต์รุ่นใหม่ จะถูกพัฒนาขึ้นบนโครงสร้างพื้นตัวถัง V-Platform สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดเล็ก ทั้ง March , Micra , Almera , Versa , Note ฯลฯ ด้วยเป้าหมายที่จะ ทุ่มสร้างแบรนด์ให้แตกต่างจากค่ายรถญี่ปุ่นด้วยกัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการใช้ Design Language ใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่อยากได้รถที่มีรูปโฉมฉีกออกจากกรอบเดิมๆ ของค่ายรถญี่ปุ่นในยุคนั้น
21 ตุลาคม 2012 Nissan สร้างความงุนงงให้กับวงการยานยนต์ทั่วโลก ด้วยการเปิดผ้าคลุม รถยนต์ต้นแบบ Nissan Extrem เป็นครั้งแรก ในงาน São Paulo Auto Show งานนี้ Nissan ยืนยันว่า นีคือรถยนต์ต้นแบบคันแรกที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อตลาด Brazil โดยเฉพาะ!
Shiro Nakamura Vice President และ Chief Creative Officer ของ Nissan ในขณะนั้น กล่าวว่า Brzail เป็นประเทศที่มีธรรมชาติที่สวยงาม, มีความร้อนแรง, มีวัฒนธรรมมากมาย แต่สิ่งดี ๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้สะท้อนออกมาให้เห็น บนยวดยานตามท้องถนนของ Brazil เลย เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ผู้คนในประเทศเลือกซื้อหามาใช้ ถูกจำกัดด้วยรูปลักษณ์ภายนอก สี และเครื่องยนต์กลไก ในสไตล์อนุรักษ์นิยม ไม่มีความโดดเด่น
ดังนั้น Nissan จึงตั้งใจจะพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อตลาด Brazil โดยเฉพาะ โดย ส่งรถต้นแบบ Extrem ที่มีงานออกแบบ อันปราดเปรียว, มีบุคลิคเฉพาะตัวสูงซึ่งห่างไกลจากความอนุรักษ์นิยมอย่าง มาก ตัวรถก็มาแนวรถสองประตูน้ำหนักเบามีจำนวนเบาะ 2+2 ที่นั่งที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาว ซึ่งหลงไหลในงานออกแบบและต้องการรถยนต์ที่มีบุคลิคเฉพาะตัว
ศูนย์ออกแบบ Nissan Design America (NDA) เมือง San Diago มลรัฐ California สหรัฐอเมริกา จะรับหน้าที่เป็นแม่งานหลัก ในการสร้างรถคันนี้ ร่วมกับ นักออกแบบ ชาว Brazillian รวมไปถึงการวางแผนที่จะผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องจากรถคันนี้ ที่ Brazil โดยกำหนดแนวคิดให้ Extrem เป็นรถยนต์สายพันธุ์ใหม่ Crossover SUV 2+2 ที่นั่ง 2 ประตู ที่ผสมผสานทั้งความอเนกประสงค์และความแข็งแกร่งภายใต้ตัวถังขนาดกระทัดรัด เหมาะสำหรับใช้งานในเมือง
ตัวรถมีความยาว 3,850 มิลลิเมตร กว้าง 1,765 มิลลิเมตร สูง 1,530 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร Nissan วางแผนไว้ว่า รถคันนี้ อาจติดตั้งเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.6 ลิตร DIG (Direct Injection Gasoline Engine) แต่ไม่มีการระบุตัวเลขสมรรถนะ เนื่องจากรถคันนี้ เป็นเพียง หุ่นจำลอง เพื่อการวิจัยตลาด ไม่สามารถขับเคลื่อน หรือแล่นได้จริง
ข้อมูลจากผลการวิจัยปฏิกิริยาผู้บริโภค ที่ Nissan ได้รับจากการนำ Extrem ออกอวดโฉมในครั้งนั้น มากพอที่จะยืนยันให้สำนักงานใหญ่ที่ Yokohama สั่งเปิดไฟเขียว เดินหน้าโครงการพัฒนา B-SUV รุ่นใหม่คันนี้ ต่อไป
2 ปีถัดมา หลังจากซุ่มออกแบบ และเตรียมการอยู่พักใหญ่ โครงการพัฒนา เวอร์ชันจำหน่ายจริง ของ Nissan Extrem เริ่มถูกปรับปรุง ขัดเกลา จนออกมากลายเป็น รถยนต์ต้นแบบ Nissan Kicks Concept ซึ่งถูกนำไปเปิดผ้าคลุมในงาน São Paulo International Motor Show เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2014 ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อจะสำรวจปฏิกริยาของชาว Brazil และลูกค้าทั่วโลก อีกครั้ง ก่อนเตรียมพัฒนาออกมาเป็นเวอร์ชันจำหน่ายจริง
Nissan Kicks Concept ถือเป็นรถยนต์ต้นแบบคันที่ 2 ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายหลัก อยู่ที่ชาว Brazillian และเป็นรถยนต์ต้นแบบ คันที่ 4 ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวทางการออกแบบใหม่ ต่อเนื่องจาก Nissan Resonance Concept (ที่กลายร่างมาเป็น Nissan Murano 2015), Nissan Sport Sedan Concept (กลายร่างมาเป็น Nissan Maxima 2016) และ Nissan Lannia Concept (กลายเป็น Nissan Lannia Sedan ขนาดเล็กสำหรับตลาดจีน ปี 2015)
ศูนย์ออกแบบ Nissan Design America (NDA) ณ เมือง San Diego มลรัฐ California สหรัฐอเมริกา และสำนักงานใหญ่ของ Nissan Global Design Center (NGDC) ในเมืองอัตสึงิ (Atsugi) จังหวัด Kanagawa ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดรถคันนี้ขึ้นมา
Mamoru Aoki ตำแหน่ง Executive Design Director แผนก Global Design Strategy Department กล่าวว่า “รถคันนี้ เป็นผลงานจากความร่วมมือกันระดับโลก แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากท้องถนนใน Brazil และถูกออกแบบมาเพื่อผู้คนที่นั่น”
Taro Ueda , Vice President ของ Nissan Design America กล่าวว่า “เมื่อผมมาที่ Brazil ผมได้เห็นวัฒนธรรมดนตรี อาหาร ภูมิทัศน์ และ การใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างมาก และให้แรงบันดาลใจที่ดีมากๆ แต่ รูปทรงของรถยนต์บนท้องถนนที่ผมได้พบเห็นที่นี่ มันไม่สอดคล้องกัน ไปทั้ง 100%” ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ตรงกับ Shiro Nakamura เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น
“แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ารถรุ่นนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจลูกค้าตลาด Brazil เป็นหลัก หากแต่เป็นการนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงงานออกแบบของรถยนต์ Nissan ในระดับโลก รุ่นใหม่ๆ ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น”
Robert Bauer , Chief Designer ของ Nissan Design Studio ที่ นคร Rio De Janero เล่าว่า “วัฒนธรรมด้านยานยนต์ของชาว Brazilian นั้น คุณจะพบเห็นแต่รถยนต์สีเงิน สีดำ หรือสีขาว แต่เรารู้ดีว่า วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาว Brazillian นั้น เต็มไปด้วยพลังอย่างมาก รถยนต์ที่มีบุคลิกเป็นของตนเอง จะดึงดูดใจลูกค้าได้อย่างมาก ดังนั้น ความท้าทายของทีมออกแบบก็คือ จะทำอย่างไร ที่จะผสมผสาน โทนสี Grey scale ในบรรยากาศของตัวเมือง เข้ากับ แสงอันเปล่งประกายในช่วงตะวันใกล้พลบ (Sunset Orange) ให้รวมไว้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว…
บนเรือนร่างตัวถังที่มีความยาว 4,300 มิลลิเมตร กว้าง 1,600 มิลลิเมตร สูง 1,800 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,620 มิลลิเมตร ความโดดเด่นของรถยนต์ต้นแบบ Nissan Kicks Concept อยู่ที่ ชุดไฟหน้า – ไฟท้าย ทรงบูมเมอแรง หลังคาแบบลอยตัว หรือ Floating Roof สีส้ม และกระจังหน้า V-Motion ทั้งหมดนี้ ได้แรงบันดาลใจจาก โทนสี Grey Scale ของเหล่าบรรดารถยนต์ทั้งหลายที่โลดแล่นอยู่บนถนนในเมือง São Paulo และแสงจากธรรมชาติอันสดใสตามแนวขอบฟ้า Horizon Line ในกรุง Rio De Janero”
หลังจากการเผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบ อีก 1 ปี กับ 8 เดือนให้หลัง Nissan Kicks เวอร์ชันผลิตขายจริง ก็พร้อมแล้วสำหรับการเผยโฉมสู่สายตาชาวโลก เริ่มต้นด้วยการเผยโฉมสู่สายตาชาวโลก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2016 ตามด้วยการนำไปโปรโมทเคียงบ่าเคียงไหล่กับ Nissan March Rio 2016 Edition ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน ประจำปี 2016 (RIO 2016) ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2016 ก่อนจะเริ่มออกขายจริง ในอีก 3 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2016 หลังจากนั้นจึงทยอยเปิดตัวในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาในช่วงปลายปี
Kicks รุ่นแรก ใช้รหัสรุ่น P15 มีขนาดตัวถังยาว 4,295 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,590 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตร เวอร์ชัน Latin America (Brazil , Mexico , Argentina ฯลฯ) จะวาง เครื่องยนต์รหัส HR16DE FFV เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.6 ลิตร 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 79 x 83.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.7 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-point ควบคุมด้วยกล่องอิเล็กทรอนิกส์ ECCS 32 Bit ระบบขับวาล์ว ใช้โซ่ตอนเดียว พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVTCS (Continuous Variable Valve Timing Control System)
กำลังสูงสุด 114 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตร (15.5 ก.ก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยทางเลือกทั้ง เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุดได้ถึงระดับ Gasohol E100 (Pure Ethanol)
พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า Electro-Hydraulic ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลงหน้า ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Torsion Beam และระบบห้ามล้อ คู่หน้าแบบ ดิสก์เบรก คู่หลังแบบดรัมเบรก พร้อมระบบตัวช่วยทั้ง ABS EBD และ Brake Assist และถุงลมนิรภัยสูงสุด 4 ตำแหน่ง
นอกเหนือจาก Brazil แล้ว Nissan ยังได้ประกาศเมื่อ 14 กันยายน 2016 ถึงการลงทุนเพิ่มเติมอีก 150,000,000 เหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งการเพิ่มคนงานอีก 50 ตำแหน่ง และร่วมงานกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่อีก 14 บริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบ Kicks ควบคู่ไปกับ Nissan อีก 4 รุ่นก่อนหน้านี้ ทั้ง Sentra , NOTE , March และ Versa บนสายการผลิตเดียวกันที่โรงงาน A1 manufacturing plant ในเมือง Aguascalientes เพื่อส่งขึ้นโชว์รูมผู้จำหน่าย 230 แห่ง ใน Mexico เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2016 เป็นลำดับถัดมา ก่อนจะตามด้วยประเทศในแถบ Latin America อื่นๆ ตามลำดับ
ความนิยมของ Kicks ในตลาด Brazil ในช่วงเปิดตัว สูงมากๆ ตลอดปี 2017 – 2018 นั้น ลูกค้าที่สั่งจองรถไป ต้องรอกันนาน 2 – 3 เดือนกว่าจะถึงคิวรับรถ ยอดขายเฉพาะ 3 เดือนแรกของปี 2018 ปาเข้าไป 12,320 คัน กลายเป็น SUV ที่ขายดีสุด อันดับ 3 ใน Brazil และเป็นรถยนต์ขายดีที่สุด อันดับ 8 ของประเทศ ไปเรียบร้อย ไม่เพียงเท่านั้น Kicks ยังคว้ารางวัลจกสื่อมวลชนในท้องถิ่นหลายสำนัก ดังนี้
- “Best SUV of 2017” by FIPA (Inter-American Federation of Automotive Journalists)
- Americar’s “Best Crossover of Latin America”
- L’Auto Preferita’s “Best Compact SUV” (Brazil)
- “Best Imported SUV” จากรายการ Top Car TV
- “Best SUV of the Year” และ “The Best” จากนิตยสาร Car and Driver magazine เวอร์ชัน Brazil
Chinese Version / North American Version
เวอร์ชันจีน เปิดตัวครั้งแรกในงาน Auto Shanghai เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2017 และเริ่มเปิดรับจองล่วงหน้า ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวจีน ที่เกิดหลังปี 1990 กันเป็นอย่างมาก กระนั้น ลูกค้าแดนมังกร ก็ยังต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2017 Dongfeng Nissan จึงพร้อมที่จะผลิต Kicks เวอร์ชันจีน จากโรงงานในเมือง Guangzhou ขึ้นโชว์รูมทั่วประเทศ
เวอร์ชันจีน จะมาพร้อม เครื่องยนต์รหัส HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 12.2 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-point ควบคุมด้วยกล่องอิเล็กทรอนิกส์ ECCS 32 Bit พร้อมระบบแปรผันวาล์ว E-VCT (Electronics Valve-Timing Control) ระบบขับวาล์ว ใช้โซ่ตอนเดียว กำลังสูงสุด 124 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 147 นิวตันเมตร (14.48 ก.ก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
เวอร์ชันจีน จะติดตั้งระบบ Intelligent Emergency Braking, Intelligent Lane Intervention, Intelligent Blind Spot Intervention and Cross Traffic Alert. รวมทั้งระบบ Intelligent Trace Control, Intelligent Ride Control, VDC (Vehicle Dynamics Control) และ IEB (Intelligent Engine Brake)
——————————-
ส่วนตลาดอเมริกาเหนือ Nissan Division U.S., หน่วยงานของ Nissan North America, Inc. เผยโฉม Kicks ครั้งแรก ในงาน L.A. Auto Show ที่ Los Angeles มลรัฐ California สหรัฐอเมริกา
Dan Mohnke, senior vice president, Sales & Marketing and Operations, Nissan Division U.S. กล่าวว่า “Kicks ถือเป็นรถยนต์รุ่นเริ่มต้นสำหรับ ตระกูล SUV ของ Nissan ในตลาดอเมริกาเหนือ โดยจะกลายเป็นน้องใหม่ในตระกูล ทำตลาดร่วมกับ Rogue Sport (Qashqai) , Rogue (X-Trail) , Murano, Pathfinder และ Armada (Patrol) โดย Kicks ถูกออกแบบให้สอดรับกับความต้องการของ คนโสด หรือคู่รักยุคใหม่ ที่มองหา B-SUV ขนาดเล็กที่มีเส้นสายโฉบเฉี่ยว เทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างชาญฉลาด และความปลอดภัยในระดับนำหน้า ในราคาเริ่มต้นที่ง่ายต่อการเป็นเจ้าของ คือต่ำกว่า $19,000”
เวอร์ชัน North America วาง เครื่องยนต์รหัส HR16DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.6 ลิตร 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.4 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVTCS (Continuous Variable Valve Timing Control System) จุดระเบิดด้วยหัวเทียนแบบ Platinum-tipped กำลังสูงสุด 122 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 154 นิวตันเมตร (14.9 ก.ก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
Kicks เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ออกสู่ตลาด ในเดือนมิถุนายน 2018 ด้วยรุ่นย่อยให้เลือก 3 แบบ คือ Kicks S, Kicks SV และ Kicks SR โดย ทุกรุ่นย่อยจะมี ระบบ ABS , EBD Brake Assist ถุงลมนิรภัย 7 ใบ ระบบ Rear View Monitor ระบบ Automatic Emergency Braking (AEB) Bluetooth® Hands-free Phone System, USB ports 3 ตำแหน่ง , ระบบกุญแจ Keyless entry พร้อมปุ่ม Push start ราวหลังคา roof rails และไฟหน้า Intelligent Auto Headlights (I-AH) เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ส่วนรุ่น SV เพิ่ม จอแสดงข้อมูลบนมาตรวัดขนาด 7 นิ้ว ชุดเครื่องเสียง พร้อมวิทยุดาวเทียม SiriusXM® รองรับ Apple CarPlay™ and Android Auto™ ระบบ Blind Spot Warning (BSW), Rear Cross Traffic Alert (RCTA), Nissan Intelligent Key™ พร้อมระบบ Remote Engine Start ล้ออัลลอย 17 นิ้ว กระจกมองข้างและมือจับเปิดประตูสีเดียวกับตัวถังพร้อมไล่ฝ้า เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ชุดปะยาง จอแสดงข้อมูลบนมาตรวัดขนาด 7 นิ้ว
และรุ่น SR จะมีทุกสิ่งในรุ่น SV แต่เพิ่ม เพิ่มกระจังหน้ารมดำ ไฟหน้า LED low beam แบบมี LED signature accents ไฟตัดหมอกหน้า กระจกมองข้างสีดำ พร้อมไฟเลี้ยวในตัว แบบมี heater ไล่ฝ้า พวงมาลัย กับหัวเกียร์หุ้มหนัง ผ้าหุ้มเบาะลายเฉพาะของรุ่น SR เปลือกกันชนหน้า-หลัง เติมโทนสีเดียวกับตัวถัง สปอยเลอร์ท้าย และเพิ่มกล้องมองรอบคัน Intelligent Around View® Monitor (I-AVM)
รุ่นปี 2019 ออกสู่ตลาด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2018 โดยที่ Option ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นปี 2018 ส่วนรุ่นปี 2020 ออกสู่ตลาด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2019 โดยเพิ่ม กลุ่มอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเชิงปกป้อง Nissan Safety Shield 360 technology ซึ่งเป็ส่วนหนึ่งของนโยบาย Nissan Intelligent Mobility strategy ประกอบไปด้วยระบบ AEB (Automatic Emergency Braking) with Pedestrian Detection ระบบ Rear Automatic Braking ระบบ LDW (Lane Departure Warning) ระบบ BSW (Blind Spot Warning) ใช้ Redar ทำงาน ระบบ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) และระบบเปิดไฟสูงอัตโนมัติ เมื่อถนนมืด High Beam Assist นอกจากนี้ ยังเพิ่มระบบ Rear Door Alert ให้กับรุ่น SV และ SR
ไม่เพียงเท่านั้น รุ่น SR ยังมี “SR Premium Package” มาพร้อมชุดเครื่องเสียง 8 ลำโพง (รวมลำโพงฝังในพนักศีรษะฝั่งคนขับ) และ Amplifier จาก Bose® เบาะนั่งหุ้มวัสดุ Prima-Tex™ พร้อม Heater อุ่นเบาะคู่หน้า และระบบกันขโมย ให้เลือกติดตั้งเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษอีกด้วย
Indian Version
สำหรับประเทศอินเดีย Nissan Motor India Pvt. Ltd. บริษัทที่ Nissan ญี่ปุ่นถือหุ้น 100% ตัดสินใจนำ Kicks เข้าไปทำตลาดแทนที่ Nissan Terrano (ซึ่งก็คือ Dacia Duster รุ่นปรับโฉม เปลี่ยนกระจังหน้า สำหรับตลาด ที่ไม่มี Dacia จำหน่าย นั่นเอง และไม่เกี่ยวข้องกับ Terrano รุ่นก่อนๆในอดีต) เผยโฉมครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2018 ก่อนจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมจำหน่ายในแดนภารตะอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2019
ทว่า ความพิเศษของ Nissan Kicks เวอร์ชันๆ India อยู่ที่การพัฒนาตัวรถขึ้นบนพื้นฐานตัวถัง Renault-Nissan B0 Platform ร่วมกับ Dacia Duster เพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต ส่งผลให้มีขนาดตัวถังใหญ่โตกว่า Kicks เวอร์ชันตลาดโลก ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานตัวถัง Nissan V-Platform ในทุกมิติ
ตัวรถมีความยาว 4,384 มิลลิเมตร กว้าง 1,813 มิลลิเมตร สูง 1,656 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,673 มิลลิเมตร ถูกปรับเปลี่ยนดีไซน์รอบคันเล็กน้อย โดยเฉพาะครึ่งคันหน้า ซึ่งมีความยาวเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความปลอดภัยจากโครงสร้างตัวถังเพื่อลดและกระจายแรงปะทะแบบ “GRAPHENE” (Gravity-philic Energy Absorption)
นอกจากนี้ ภายในห้องโดยสาร แผงหน้าปัด เบาะนั่งทั้งหน้า-หลัง ก็ยังถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความแตกต่างอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมี ปุ่ม Push Start ระบบ Cruise Control เซ็นเซอร์ถอยหลัง กล่องแช่เครื่องดื่ม พร้อมไฟส่องสว่าง แถมยังเชื่อมต่อระบบ เครื่องเสียง NissanConnect พร้อมเชื่อมต่อกับ Smart Watch และโทรศัพท์มือถือ ผ่านทาง Apple Car Play และ Andriod Auto บนหน้าจอ แบบ Floating ขนาด 8 นิ้ว ได้อีกด้วย
เวอร์ชัน Indian ของ Nissan Kicks ใช้รหัสรุ่น P16 มีทางเลือกขุมพลังหลากหลายกว่าใครเพื่อน ถึง 3 แบบ ดังนี้
เครื่องยนต์ รหัส HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-point 1 กำลังสูงสุด 106 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 142 นิวตันเมตร (14.48 ก.ก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
เครื่องยนต์ K9K Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,461 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 76.0 x 80.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.2 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแรงดันสูงผ่านรางร่วม แบบ dCi (Diesel Commonrail Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 3,850 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตร (24.47 ก.ก.-ม.) ที่ 1,750 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
ล่าสุด เมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา Nissan India เพิ่งเปิดตัว Kicks Turbo ไปสดๆร้อนๆ วางเครื่องยนต์ รหัส HR13DDT เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct-Injection Gasoline (DIG) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ทั้งฝั่งไอดี และฝั่งไอเสีย CVTC (Continuous Variable Valve Timing Control) พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged กำลังสูงสุด 156 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 – 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 254 นิวตันเมตร (25.9 ก.ก.-ม.) ที่ 1,500 – 1,700 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า
อย่างไรก็ตาม Kicks Indian version ทุกคัน ยังคงใช้พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า Electro-Hydraulic ระบบกันสะเทือนหน้า MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลงหน้า ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Torsion Beam และระบบห้ามล้อ คู่หน้าแบบ ดิสก์เบรก คู่หลังแบบดรัมเบรก พร้อมระบบตัวช่วยทั้ง ABS EBD และ Brake Assist และถุงลมนิรภัยสูงสุด 4 ตำแหน่ง เหมือนเวอร์ชันอื่นๆ
Taiwan Version
Yulon Nissan (ยู่หลง) ผู้ผลิตและจำหน่าย Nissan ใน Taiwan เผยโฉม Kicks ในงานแสดงรถยนต์ 2018 Taiwan Auto Show เมื่อ 29 ธันวาคม 2017 แต่กว่าจะพร้อมขึ้นโชว์รูมจริง ก็ต้องรอการประกาศความพร้อมเตรียมจำหน่ายจริงเมื่อ 12 ตุลาคม 2018 แล้วจึงมีงานแถลงข่าวเปิดตัวในไต้หวัน เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2018 หรือเกือบ 1 ปี ให้หลัง
เวอร์ชันไต้หวัน วางเครื่องยนต์รหัส HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 124 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 147 นิวตันเมตร (14.48 ก.ก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า เหมือนเวอร์ชันจีนทุกประการ
อย่างไรก็ตาม เวอร์ชันไต้หวัน จะติดตั้ง Option มาแน่นกว่า เวอร์ชันจีน อยู่บางรายการ ไม่ว่าจะเป็นระบบ AEB/ATC/ARC ระบบ MOD ระบบ FCW (Forward Collision Warning) ระบบ BSW (Blind-Spot Warning) ระบบ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบ LDW (Lande Departure Warning) กล้องมองภาพ Around View Monitor 360 องศา ระบบ IEB (Intelligent anti-collision emergency braking system) ระบบ P-IEB (Pedestrian anti-collision emergency braking system) ระบบ VDC (Vehicle Dynamic Control) ระบบ TCS (Traction Control) ระบบ HSA (Hill Start Assist) และ ถุงลมนิรภัย 6 ใบ
ทันทีที่เปิดตัว ลูกค้าต่างพากันสั่งจองอย่างล้นหลาม จนทำให้คิวจองยาวเหยียด จนถึงเดือนมกราคม 2011 Yulon Nissan มียอดสั่งจอง Back order มากถึง 6,000 คัน! ล่าสุด Kicks เวอร์ชันไต้หวัน รุ่นปี 2020 เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มโทนสีพิเศษ น้ำตาล Changshui และโทนสี Two-tone แบบพิเศษ เพิ่มเข้าไป
เมื่อ Kicks อยูในตลาดมานานกว่า 4 ปี Nissan เอง ตัดสินใจจะลากทำตลาดต่อเนื่องอีกสักพัก และเริ่มมองเห็นโอกาสที่จะทำตลาด ในประเทศอื่นๆ อย่างประเทศไทย รวมทั้ง ในญี่ปุ่น บ้านเกิดของตัวเอง ทั้งที่ Nissan ไม่เคยคิดจะนำ Kicks กลับไปขายในดินแดนอาทิตย์อุทัยมาก่อนด้วยซ้ำ
แต่ถ้าจะเอาโฉมเดิม ไปเปิดตัวในตลาดอื่น คงโดนลูกค้าก่นด่ากันพอดี ว่าเอารถยนต์ตกรุ่น มาเปิดตัวในประเทศของพวกเขา ดังนั้น วิธีการที่ดีสุด คือ การปรับโฉม Big Minorchange ให้กับ Kicks กันเสียก่อน
Mr. Shinichiro Irie, Program Design Director, Nissan Global Design Headquarters หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบ Kicks มาตั้งแต่รุ่นแรก รวมทั้งรุ่น Minorchange ในครั้งนี้ เล่าว่า ” แนวคิดในการออกแบบของ Kicks นั้น อยู่บนพื้นฐานของการเป็นรองเท้า Sneaker ซึ่งดูคล่องแคล่ว กระฉับระเฉง และไม่เป็นทางการนัก (Casual & Agile)”
“อย่างไรก็ตาม ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ไม่ได้ชื่นชอบแนวคิดดังกล่าวนี้ เพราะสิ่งที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นคาดหวังก็คือ พวกเขาอยากได้รถยนต์ SUV ขนาดเล็ก แต่มีบุคลิก และการตกแต่ง รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่ดูประณีต Premium ให้สัมผัส Touch & feel ที่ดี ดังนั้น ถ้าจะนำ Kicks เข้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่น จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบด้านหน้าและบั้นท้ายของตัวรถเสียใหม่ ให้ดูภูมิฐานขึ้น Premium ขึ้น และดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้นกว่าเดิม”
งานออกแบบ Kicks Minorchange เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมานี่เอง! ทุกสิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ เขาคิดว่า ถ้านำ Kicks รุ่นเดิม มาปรับเปลี่ยนหน้าตา และบั้นท้ายเสียใหม่ เพียงเท่านี้ Kicks ก็น่าจะมีรูปลักษณ์สวยงามเพียงพอที่จะส่งออกมาขายในญี่ปุ่นได้
กระจังหน้า V-Motion Grill อันเป็นเอกลักษณ์ของ Nissan ซึ่งมีขนาดเล็ก เมื่ออยู่บน Kicks รุ่นเดิม ถูกขยายความกว้างขึ้นอีก 200 มิลลิเมตร รวมทั้งยังถูกเติมรายละเอียดในการออกแบบเข้าไป Irie-san เล่าว่า ด้วยเหตุที่ Nissan เป็นบริษัทญี่ปุ่น และตัวเขาเอง ก็เคยศึกษาเรื่องลักษณะเดนในงานออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น (Japanesse Design Motif) เขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบกระจังหน้า จากโครงสร้างของต้นไม้ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม Irie-san ค้นพบในระหว่างงานพัฒนาว่า มันยังมีความไม่ลงรอยกันระหว่างรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น ถ้าลวดลายบนกระจังหน้า ดูแข็งเกินไป ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากลูกค้าชาวญี่ปุ่น นี่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจและพิถีพิถันอย่างมาก
แม้กระทั่งงานออกแบบ แนวเส้น V-Motion บนกระจังหน้า ของ Kicks รุ่นเดิม ซึ่งมีขนาดเล็ก หนา และถูกลากเส้นต่อเนื่องมาจากฝากระโปรงหน้า และเคยเป็น ชิ้นส่วนหลักของกระจังหน้า แต่เมื่อมาถึงรุ่น Minorchange Irie-san มองว่า ถ้านำเส้น V-Motion มาลดความหนาลง และแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระจังหน้า แทนที่จะเด่นออกมาอย่างรุ่นเดิม แต่เพิ่มเส้นที่ลากต่อเนื่องมาจากใต้โคมไฟหน้า มาขนาบข้างกันในลักษณะ Double V-Motion ก็จะช่วยเพิ่มความหรูหรา ถูกรสนิยมคนญี่ปุ่นมากขึ้น
Irie-san กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมันเป็นรถยนต์ Compact SUV ผมก็ยังอยากได้บุคลิกความ Sport เช่นเดียวกับความรู้สึกหรูหราภูมิฐาน (Premium feeling) และคุณภาพขั้นสูง เขาจึงนำเสนอผ่านเส้นสายตัวรถด้านข้าง ที่ดูโฉบเฉี่ยว และทะมัดทะแมงไปในตัว
นอกจากนี้ โคมไฟหน้า LED ยังถูกออกแบบให้ เพรียวบางลงครึ่งหนึ่งจาก Kicks รุ่นแรก Irie-san เล่าว่า เขาต้องการให้ ด้านหน้ารถดูหล่อ และดูกล้าหาญ (Handsome & fearless) มันอาจดูสิ้นเปลืองงบประมาณ สำหรับโครงการนี แต่เมื่อสำเร็จเป็นชิ้นงานจริงแล้ว มันดูดีมากๆ มีลายเส้นคิ้วด้านบน อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในการออกแบบของ Nissan รุ่นใหม่ๆ เขาอยากให้มันดูเด่นชัดในเวลากลางคืน เพื่อให้ผู้คนที่พบเห็นในยามวิกาล รู้ได้ทันทีว่า นี่คือรถยนต์ Nissan
ส่วนการออกแบบด้านหลังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย Irie-san เล่าว่า “ถ้าคุณมองไปยังรถยนต์ทั่วไป ไม่ใช่แค่ Nissan คุณจะพบว่า งานออกแบบด้านท้ายรถ มักให้ความรู้สึกที่ “เบา” เพราะด้านหน้ามีความสำคัญในการดึงดูดสายตาผู้คน แต่ด้านหลังนั้น ก็จะต้องออกแบบไปในทิศทางเดียวกับด้านหน้าด้วยเช่นกัน หนึ่งในชิ้นงานที่ออกแบบไม่ง่ายคือ กระจกบังลมด้านหลัง และฝาท้ายทรง Hexagonial (หกเหลี่ยม) ถ้าคุณเพียงแค่วางเส้นแบ่งให้ตรงมันจะไม่ช่วยให้ดูเป็นสามมิติ แต่มันจะดูเยื้องด้วยเส้นแบ่งตรงเส้นเดียว
ชุดไฟท้ายของรุ่นเดิมนั้น ดูเป็น 3 มิติ แต่สำหรับรุ่นใหม่ มันควรจะกลมกลืนไปกับพื้นผิวโดยรอบ เพราะเส้นสายกราฟิกของรถคันนี้มีค่อนข้างมาก ดังนั้น เขาตัดสินใจใช้ไฟ LED เพื่อทำให้ความลึก ดูบางลง นอกจากนี้ Irie-san ยังกล่าวว่า
ได้นำวิธีการออกแบบเลนส์ด้านใน ที่ทำจาก อะคริลิก เพื่อเน้นการเรืองแสงเป็นประกายแบบ Glitter เหมือนกับบรรดารถยนต์ Premium มาใช้กับชุดไฟท้ายของ รถคันนี้ด้วย
สำหรับเมืองไทยนั้น แรกเริ่มเดิมที Nissan เคยวางแผนไว้ว่าจะเปิดตัว Kicks ใหม่ ในบ้านเรา พร้อมๆกัน หรือไล่เลี่ยกับ การเปิดตัวที่ Brazil เมื่อปี 2016 โดยนำชิ้นส่วน CKD เข้ามาประกอบที่โรงงานในบ้านเรา จำหน่าย แทน Nissan Juke ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจาก เปิดตัวล่าช้ากว่าตลาดโลก หลายปี เพราะติดปัญหาด้านต่างๆมากมาย (เรื่องราวและเหตุผลในตอนนั้น ถูกสรุปไว้แล้ว ในบทความ Full Review Nissan Juke // Click here )
ตามแผนเดิมในตอนนั้น Kicks เวอร์ชันไทย จะวางเครื่องยนต์ เบนซิน 1.6 ลิตร จาก Juke หรือ TIIDA พ่วงกับเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ขับเคลื่อนล้อหน้า
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลกลใดไม่มีใครทราบแน่ชัด จู่ๆ แผนการเปิดตัว Kicks ในเมืองไทย กลับถูกสั่งเบรก และพักเอาไว้ก่อน ว่ากันว่า มีเหตุผลด้านการเมืองภายในองค์กรบางประการ…
สิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ มี ฝรั่งบางคน ซึ่งไม่เข้าใจในความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค Asia-Pacific มากพอ ใช้ความคิดและความเชื่อของตัวเอง กำหนดให้ รถยนต์นั่งรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวออกสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ ทุกประเทศ ในอนาคต จะต้องมีแต่รถยนต์นั่ง ที่ใช้ขุมพลัง e-Power เท่านั้น ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่
ขณะเดียวกัน ช่วงปี 2017 – 2018 ฝ่ายการตลาดสำหรับประเทศญี่ปุ่น ของ Nissan เอง ก็เริ่มคิดว่า พวกเขาควรจะนำ Kicks เข้าไปขายในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพราะตลาด SUV ขนาดเล็ก กำลังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นมากในญี่ปุ่น จากการมาถึงของ Honda Vezel (HR-V) และ Toyota C-HR
ทว่า นโยบายของ Nissan สำหรับตลาดบ้านตัวเอง ก็ตั้งใจจะดันขุมพลัง e-Power ต่อเนื่องจาก Note e-Power และ รถตู้ Serena e-Power เป็นหลัก พวกเขาจึงกำหนดให้ Kicks สำหรับตลาดญี่ปุ่น ต้องใช้ขุมพลัง e-Power ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า ความสำเร็จจากยอดขาย Note e-Power และ Serena e-Power ในญี่ปุ่น คือสิ่งที่ยืนยันแนวคิดดังกล่าวนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้นำ Kicks ไปขึ้นสายการผลิตในโรงงานของตนที่ญี่ปุ่น ก็อาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุนมากนัก เนื่องจาก ฝ่ายการตลาดสำหรับญี่ปุ่นของ Nissan ประเมินว่า ยอดขายของ Kicks ในแดนอาทิตย์อุทัย อาจจะไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับ Note e-Power ดังนั้น การใช้ฐานการประกอบ นอกญี่ปุ่น น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะค่าแรง ลงไปได้มากกว่า
ไหนๆก็ไหนๆ Nissan เองก็คิดจะนำ Kicks มาประกอบขายในเมืองไทย อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมการลงทุน กับทาง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย (B.O.I หรือ Board of Investment) ในหมวดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะ Nissan มองว่า เทคโนโลยี e-Power นั้น ใช้มอเตอร์ไฟฟา ดึงกำลังไฟจากแบ็ตเตอรีมาขับเคลื่อนรถ โดยเครื่องยนต์มีหน้าที่แค่ปั่นไฟส่งให้แบ็ตเตอรี เท่านั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโดยตรง
แต่ B.O.I มองว่า รถไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟจากแบ็ตเตอรีล้วนๆ จึงตัดสินใจอนุมัติให้โครงการนี้ เข้าไปอยู่ในหมวดส่งเสริมการลงทุน เพื่อขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,960 ล้านบาท ที่โรงงาน ริมถนนบางนา-ตราด กม.22 อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ โดย Nissan มีแผนที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 15,920 ล้านบาท/ปี
เท่ากับว่า นี่คือครั้งแรกในการนำเทคโนโลยี e-Power ซึ่งแต่เดิมมีฐานการผลิตแห่งเดียวที่ญี่ปุ่น มาผลิตในประเทศไทย โครงการดังกล่าว ผ่านการอนุมัติโดย B.O.I เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2018
ปลายปี 2018 เริ่มมีการยืนยันจากแหล่งข่าวรอบข้างผมในขณะนั้น ว่า Nissan เตรียมจะนำ Kicks เข้ามาประกอบขายในเมืองไทย เพียงแต่ว่า คราวนี้ มีการเปลี่ยนแผน ไปจากเดิมเยอะมาก เพราะนอกจากจะหันมาใช้ขุมพลัง e-Power แล้ว พวกเขาเลือกทำในแนวทางเดียวกับตอนเปิดตัว Nissan Note ในเมืองไทย เมื่อปี 2017 นั่นคือ รอให้มีการนำรุ่นปรับโฉม Minorchange มาเปิดตัวในเมืองไทย เป็นแห่งแรกในโลก ในปี 2020 ไปเลย ดีกว่าจะนำรถรุ่นเดิม ซึ่งยังไม่ปรับโฉม มาเปิดตัวให้คนไทยค่อนขอดกันว่า “ชอบเปิดตัวรถยนต์ที่ใกล้ตกรุ่นในเมืองนอก มาขายให้คนไทย” ซึ่งนั่นอาจก่อให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีกับแบรนด์ตามมา ในระยะยาว
ผลก็คือ แทนที่ Kicks Minorchange จะเปิดตัวในเมืองไทย โดยใช้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo ร่วมกับ Almera กลับต้องมาวางเครื่องยนต์ HR12DE พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า EM57 อย่างที่เห็นกันอยู่นี้ นั่นเอง และด้วยข้อกำหนดของทาง B.O.I จึงทำให้ไม่สามารถประกอบ Nissan Kicks เครื่องยนต์แบบเบนซินล้วนๆ เพื่อทำตลาดในประเทศไทยได้ ต้องผลิตขายเฉพาะรุ่น Hybrid e-Power เพียงอย่างเดียวเท่านั้น….
ย่างเข้าปี 2020 Nissan วางแผนจะเปิดตัว Kicks e-Power เป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย อย่างยิ่งใหญ่ ในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ก่อนงาน Bangkok International Motor Show จะเริ่มขึ้นไม่กี่วัน หลังจากนั้น จึงจะมีการส่งออก Kicks e-Power ไปเปิดตัวที่ญี่ปุ่น แผ่นดินเกิด ตามกำหนดการเดิมคือ 24 มิถุนายน 2020 (เป็นประเทศที่ 2 ในโลก)
ช่วงเวลานั้น ฝ่ายการตลาด เริ่มปูพรมให้ความรู้กับผู้บริโภค ถึงความแตกต่างระหว่าง ขุมพลัง e-Power กับเครื่องยนต์ Hybrid ของคู่แข่ง ผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ ตั้งแต่ ต้นเดือนมกราคม เป็นต้นมา
ไม่เพียงแค่นั้น ทีม ประชาสัมพันธ์ ยังจัดให้สื่อมวลชนชาวไทย ได้เข้าไปทดลองขับ รถยนต์คันต้นแบบ Kicks e-Power Prototype พรางตัวสีดำ 2 คัน ในสนามทดสอบ ของ Nissan Motor Asia-Pacific (NMAP) ที่โรงงาน Nissan ถนนบางนา – ตราด กม.22 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 อีกด้วย
ทว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ CoronaVirus หรือ Covid-19 อันมีต้นกำเนิดหลักจากเมือง Wuhan สาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก อย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วทั้งโลก ในประเทศไทยเอง รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข ต้องประชุมร่วมกัน และกำหนดสารพัดมาตรการ เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในรูปแบบต่างๆ ถึงขั้นมีการออก พระราชกำหนดฉุกเฉิน เพื่อการควบคุมโรคระบาด เมื่อ 24 มีนาคม 2020 รวมทั้ง ออกกฎ Curfew หรือ กำหนดห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล ช่วงเวลา 22.00 น. – 5.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
แน่นอนว่า สารพัดกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ก็ต้องถูกห้ามจัด ยกเลิกงาน หรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะทุกคนหวาดกลัวไม่อยากให้งาน Event ของตนเอง กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ Covid-19 ในหมู่มาก (Cluster) ถึงขนาดว่า งาน Bangkok International Motor Show เอง ก็ต้องเลื่อนไปอีกถึง 3 รอบ กว่าจะได้จัด ก็ปาเข้าไปถึงกลางเดือนกรกฎาคม ดังนั้น Nissan เอง ก็ตัดสินใจ เลื่อนการเปิดตัว Kicks e-Power ออกไป โดยไม่มีกำหนด ทั้งที่ตัวรถ และการเตรียมงานต่างๆ เสร็จสิ้นกันไปหมดแล้ว Nissan จึงต้องส่งออก Kicks e-Power ไปยังตลาดญี่ปุ่น เพื่อให้ทันกับการเปิดตัวหลังจากเมืองไทย
หลังจากเจอสารพัดปัญหามาตลอด ในที่สุด Nissan Kicks e-Power ก็ได้ฤกษ์ เปิดตัวในประเทศไทย เป็นครั้งแรกในโลก อย่างเป็นทางการกันเสียที เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยทาง Nissan จัดการถ่ายทอดสด ผ่านช่องทาง On-Line รวมทั้ง ยังว่าจ้าง Influencer ชื่อดังในวงการ Social Media ทั้ง 4 คน ได้แก่ คุณหนุ่ย พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ แห่ง Beartai (แบไต๋ไฮเทค) คุณอู๋ Spin9 คุณ เฟื่องลดา และ เจ้าของเพจ I Roam alone มาร่วมถ่ายทอดสด พูดคุย และทำ สารพัด Video Content เพื่อช่วยกระจายข่าวการเปิดตัว Kicks e-Power ให้แพร่กระจายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ระหว่างนั้น โรงงาน Nissan ที่ บางนา – ตราด กม.22 ยังคงเดินหน้าผลิต Kicks e-Power ตามแผนเดิม เพื่อส่งออกไปเปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน จำนวนเป็นพันๆคัน โดยเหตุผลที่ต้องผลิต Kicks ส่งออกไปให้ญี่ปุ่นก่อน เนื่องจาก ทางญี่ปุ่นต้องการสุ่มตรวจสอบอย่างละเอียดในระดับเข้มข้น เพื่อตรวจสอบคุณภาพการประกอบ และยืนยันความพร้อมของโรงงานในไทย ในการเป็นฐานประกอบ Kicks e-Power ให้ลูกค้าในอีกหลายประเทศ
แต่ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ระบาด ในเดือนมีนาคม 2020 จนทาง จีน และ India ต้องประกาศ Lock down ในหลายๆเมือง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วน (Suppliers) ต้องปิดโรงงานของตน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนล็อตสำหรับประเทศไทย (ซึ่งเป็นล็อตหลังจากญี่ปุ่น) ส่งมาได้ทันตามกำหนดเดิม ส่งผลกระทบให้โรงงาน ที่บางเสาธง เกิดปัญหา ชิ้นส่วนขาดมือ (Part Shortage) ไม่สามารถประกอบ Kicks เวอร์ชันไทย ได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม
อีกประเด็นที่รองลงไป แต่ผมขอบันทึกไว้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในอนาคต ก็คือ เมื่อรถเดินทางถึงญี่ปุ่น ทีม Inspector ที่ศูนย์ PDI (Pre-Delivery Inspection Center) ในญี่ปุ่น ตรวจพบว่า ตัวรถมีคุณภาพสมบูรณ์ดีมาก ระดับน่าพอใจ ยกเว้นแค่ว่า มีชิ้นส่วนเล็กๆ มากๆ ชิ้นหนึ่ง แถวๆใต้ท้องรถ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพใดๆของตัวรถเลย ไม่ได้ถูกติดตั้งมาให้ จากโรงงานในไทย ก็เลยมีการรอการส่งชิ้นส่วนดังกล่าวจากโรงงานในไทย ส่งไปที่ศูนย์ PDI ในญี่ปุ่น เพื่อติดเข้ากับตัวรถ และส่งขึ้นโชว์รูมในญี่ปุ่นได้เป็นลำดับต่อไป ก็เท่านั้นเอง!
กว่าจะเริ่มส่งมอบรถให้ลูกค้าได้ พนักงานขายในโชว์รูม Nissan ทั่วประเทศ และลูกค้าที่สั่งจองรถไว้ ก็ต้องรอกันนานจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม Nissan จึงมีเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ Press release ออกมาว่า พร้อมส่งมอบ Kicks ได้แล้ว เมื่อวันที่ เท่ากับว่า เสียโอกาสในการขายรถใหม่ไปถึง 2 เดือนครึ่ง!!
ซ้ำร้าย ในระหว่างที่ Nissan กำลังประสบปัญหา Part Shortage ยิ่งพอเจอ Toyota Corolla Cross เปิดตัวออกมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา กระแสของผู้บริโภค ต่างพากันเบนไปหา รถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่า Kicks แถมยังตั้งราคา อยู่ในช่วง Price Range เดียวกันอีกต่างหาก ไม่เว้นแม้กระทั่ง บรรดาสมาชิก Fanpage Nissan Kicks หลายคน ก็ยังปันใจ ทิ้งใบจอง แล้วไปออก Corolla Cross แทนกันหลายคัน
คนของ Nissan ไปจนถึง พนักงานขายหลายๆโชว์รูม ถึงกับ สะอึก พูดไม่ออก และได้แต่ยืนมองลูกค้าเดินจากไปด้วยสายตากระพริบๆปริบๆ จนกระทั่ง ในที่สุด Nissan ประกาศพร้อมส่งมอบรถได้แล้วเสียที เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2020 ในช่วงเวลาที่ ทุกอย่าง ดูเหมือนจะสายเกินไปแล้ว กลายเป็นตำนานความผิดพลาดอีกบทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับ Nissan ในประเทศไทย ซึ่งต้องขอบันทึกเอาไว้เพียงเท่านี้
สถานการณ์ในเมืองไทย ช่างแตกต่างกันคนละขั้วกับตลาดญี่ปุ่นเลยทีเดียว เพราะเพียง 3 สัปดาห์ที่ มีการเปิดตัว Nissan ได้รับยอดสั่งจอง Kicks e-Power จากลูกค้าในแดนอาทิตย์อุทัย มากถึง 9,000 คัน! โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีช่วงอายุ 20 – 30 ปี เป็นหลัก
แล้วเจ้า Kicks มันมีดีอะไรขนาดนั้นเลยเหรอ? ไปเปิดตัวในประเทศไหนๆ ก็มีแต่ยอดสั่งจองล้นหลาม ตรงกันข้ามกับเมืองไทยเหลือเกิน…
มีสิ มีของดีเยอะอยู่นะ เลื่อนลงไปอ่านได้เลย!
ขนาดตัวรถ / Dimension & Comparison
Nissan Kicks e-POWER มีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,290 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,615 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,615 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,520 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,535 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ Ground Clearance 175 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 41 ลิตร
น้ำหนักตัวรถเปล่า ตามที่ Nissan ระบุเอาไว้ในโบรชัวร์ นั้น รุ่น S และ E มีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1,340 กิโลกรัม ส่วนรุ่น V เพิ่มมาอีก 6 กิโลกรัม เป็น 1,346 กิโลกรัม และรุ่น VL เพิ่มอีก 4 กิโลกรัม เป็น 1,350 กิโลกรัม
เมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม SubCompact Crossover ที่เพิ่งเปิดตัวไป อย่าง Mazda CX-30 ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,396 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,540 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,655 มิลลิเมตร จะพบว่า Kicks e-POWER สั้นกว่า CX-30 ถึง 106 มิลลิเมตร แคบกว่า 35 มิลลิเมตร แต่สูงกว่า 75 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 40 มิลลิเมตร
หรือเมื่อเทียบกับ Toyota C-HR ทั้งรุ่นเบนซิน และ Hybrid ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,360 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,565 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,640 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Kicks e-POWER สั้นกว่า C-HR 70 มิลลิเมตร แคบกว่า 35 มิลลิเมตร สูงกว่า 50 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 25 มิลลิเมตร
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Toyota Corolla Cross ทั้งรุ่นเบนซิน และ Hybrid ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาวยาว 4,460 มิลลิเมตร กว้าง 1,825 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตรก็จะพบว่า Kicks e-POWER สั้นกว่า Corolla Cross ถึง 170 มิลลิเมตร แคบกว่า 65 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 25 มิลลิเมตร ชัดเจนว่า Kicks เล็กกว่า Corolla Cross ซึ่งเป็นรถคนละพิกัดกัน ในทุกด้าน
เมื่อเปรียบเทียบกับ Honda HR-V Minorchange ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,294 มิลลิเมตร กว้าง 1,772 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,610 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Kicks e-POWER สั้นกว่าเล็กน้อยเพียง 4 มิลลิเมตร แคบกว่า 12 มิลลิเมตร สูงกว่า 10 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า 5 มิลลิเมตร ภาพรวมถือว่ามีขนาดใกล้เคียงกัน
และเมื่อเปรียบเทียบกับ MG ZS Minorchange ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,323 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,653 ระยะฐานล้อยาว 2,585 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Kicks e-POWER สั้นกว่า 33 มิลลิเมตร แคบกว่า 49 มิลลิเมตร แถมยังเตี้ยกว่า 38 มิลลิเมตร แต่กลับมีระยะฐานล้อยาวกว่า ZS 30 มิลลิเมตร
ภายนอก / Exterior
ในเมื่อ Nissan Kicks e-POWER ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ ในประเทศไทย เป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange เพื่อให้มีหน้าตาที่ดูทันสมัยขึ้น ดังนั้น เส้นสายบนตัวถังภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเส้น Shoulder Line เส้น Character Line แนวหลังคา หรือขอบประตู ที่ดูโฉบเฉี่ยว แต่ ทะมัดทะแมง ซึ่งตกทอดมาจากเวอร์ชันตลาดโลกรุ่นเดิม ก็ยังคงอยู่เกือบทั้งหมด
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และเห็นได้ชัดเจนมากที่สุด นั่นคือ ด้านหน้าของตัวรถ ซึ่งมาพร้อมกับกระจังหน้า V-Motion อันเป็นเอกลักษณ์ของ Nissan ที่ถูกปรับให้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมมาก ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา เสริมด้วยแถบโครเมียม และชุดไฟหน้าแบบ LED ใหม่ ปรับเลื่อนมุมด้านในเข้ามาชิดกับกระจังหน้า ทำให้โคมดูยาวขึ้นกว่ารุ่นเดิม อีกทั้งยังเปลี่ยนเปลือกกันชนหน้าใหม่ ปรับกรอบไฟตัดหมอกคู่หน้าเป็นแนวตั้ง เพื่อให้รับกับกระจังหน้าใหม่ ด้วยเช่นกัน
ชุดโคมไฟหน้าของทุกรุ่นย่อย จะเป็นแบบ Full-LED ทั้งไฟต่ำ ไฟสูง ไฟเลี้ยว และไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน (Daytime Running Light) มีระบบหน่วงเวลาปิด หลังจากดับเครื่องยนต์ Follow-me-home มาให้ แต่ระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ สวิตช์ปรับระดับไฟหน้า และไฟตัดหมอกคู่หน้า สงวนไว้ให้เฉพาะรุ่น V และ VL เท่านั้น
ด้านข้างตัวรถ ไม่มีจุดเปลี่ยนแปลงมากนัก เสาหลังคาทุกตำแหน่งแปะทับด้วยสติ๊กเกอร์สีดำ ตามสไตล์รถยนต์ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะหลังคาแบบ Floating Roof หรือ หลังคาดูลอยขึ้นจากตัวถัง ติดตั้งคิ้วซุ้มล้อ ชายล่างกันกระแทกที่บานประตูเป็นพลาสติกสีดำ ตามแบบฉบับรถใต้ท้องสูงทั่วๆ ไป แต่เพิ่มการตกแต่งด้วยแถบสีเงิน สำหรับรุ่น V และ VL
ทุกรุ่นย่อยจะติดตั้งสัญลักษณ์ e-POWER ไว้บริเวณมุมด้านล่างของบานประตูคู่หน้า ฝาครอบกระจกมองข้าง พร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED ในรุ่นท็อป VL ที่เป็นหลังคาสีดำ จะพ่นด้วยสีดำเงา ในขณะที่รุ่นอื่น ฝาครอบจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ส่วนมือจับเปิดประตู จะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ทุกรุ่นย่อย
บานฝาท้าย และช่องติดแผ่นป้ายทะเบียนด้านหลัง ยังมีลักษณะคล้ายรุ่นเดิม ประดับด้วยสัญลักษณ์ e-POWER ไว้บนมุมขวาล่างของบานฝาท้าย อีก 1 จุด เปลือกกันชนหลังถูกออกแบบใหม่ คาดด้วยแถบสีดำ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ใน Nissan รุ่นใหม่ หลายรุ่น ทั้ง Almera ใหม่ X-Trail ใหม่ ฯลฯ นอกจากนี้ ชุดไฟท้าย ยังมีการปรับรายละเอียดภายในโคมใหม่ ไฟหรี่ ใช้หลอด LED แบบ Signature ทรง Boomerang ดูทันสมัยขึ้น เช่นเดียวกับ ไฟเบรก ไฟเลี้ยว และไฟถอย เป็นแบบ LED
ล้อของทุกรุ่นย่อย จะเป็นล้ออัลลอย ขนาด 17” x 6.5” J สีทูโทน ปัดเงา ก้านของล้ออัลลอยทั้ง 5 ออกแบบให้มีลักษณะกึ่งเรียบ เพื่อลดอากาศหมุนวนด้านข้าง สวมยางขนาด 205/55R17 โดยในล็อตแรกที่ออกสู่ตลาด จะมียางอยู่ 2 แบบ คือ Yokohama BlueEarth E70 หรือ Dunlop Enasave
สีตัวถังภายนอกมีให้เลือกทั้งหมด 6 สี ได้แก่
– สีดำ Black Star
– สีขาว Strom White
– สีแดง Radiant red
– สีเทา Gun Metallic
– สีเงิน Brilliant Silver
– สีส้ม Monarch Orange
ส่วนการตกแต่งหลังคาด้วยสีดำ Black Roof สงวนไว้ให้เฉพาะรุ่นท็อป VL เท่านั้น
ภายใน / Interior
ระบบกลอนประตู ของทุกรุ่นย่อย เป็นกุญแจรีโมทแบบ Intelligent Key System ซึ่งมีหน้าตาเหมือนรีโมทกุญแจสหกรณ์สำหรับ Nissan แทบทุกรุ่น ทั้งในเมืองไทย และเมืองนอก ตั้งแต่รถเล็กอย่าง March ยัน GT-R ลามไปถึง NV350 Caravan / Urvan ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา
เมื่อพกกุญแจรีโมท แล้วเดินเข้าใกล้รถ ยังคงต้องเอื้อมมือไปกดปุ่มสามเหลี่ยมสีดำบนมือจับเปิดประตู เพื่อให้ระบบปลดล็อกรถโดยอัตโนมัติ และเมื่อต้องการล็อกรถ ก็ต้องกดปุ่มสีดำบนมือจับเปิดประตูอีกครั้ง หรือถ้าต้องการกลับไปใช้วิธีพื้นฐานคือการกดสวิตช์บนรีโมท เพื่อสั่งล็อก – ปลดล็อกประตูรถ ก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งหลายรุ่น ทั้ง Honda HR-V, Mazda CX-30 และ Toyota C-HR หรือ Corolla Cross ใหม่ นั้น ใช้ระบบที่สะดวกสบายและทันสมัยกว่า คือคุณสามารถเอื้อมมือไปดึงมือจับแล้วเปิดประตูได้ทันที โดยไม่ต้องกดปุ่มที่มือจับ อย่างที่ Kicks เป็น
การก้าวเข้า – ออก จากพื้นที่เบาะคู่หน้า ทำได้สะดวกโยธินอย่างดี เนื่องจากช่องประตู มีขนาดกว้างเหมาะสม อีกทั้งตัวรถถูกออกแบบมาในสไตล์ Crossover ยกสูงนิดๆ เบาะนั่งจึงถูกยกให้อยู่สูงขึ้นมา ให้มีตำแหน่ง Hip point ในระดับที่เหมาะสม คุณสามารถหันหลัง หย่อนก้นลงไป แล้วค่อยหมุนตัว ยกเท้ากวาดเข้ามาในรถได้ง่ายดาย (แต่ถ้าทำไปนานๆหลายปี ผมละกลัวปีกข้างของเบาะรองนั่ง จะเสื่อมสภาพเร็วจริงๆ) ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ตำแหน่งเบาะนั่ง อยู่สูงกว่ารถเก๋งทั่วไป และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ SUV ขนาดใหญ่โตกว่านี้ ดังนั้น การมองเห็นทัศนวิสัยรอบคัน จึงค่อนข้างดี
ถ้าคุณปรับเบาะนั่งจนกดลงต่ำสุด การก้มหัวเข้าไปนั่งในรถก็จะทำได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายกเบาะไว้สูง โอกาสที่จะเจอปัญหา ศีรษะโขกกับเสากรอบหลังคาด้านบน ก็พอมีความเสี่ยงอยู่บ้างเหมือนกัน
ชายประตูด้านล่าง ไม่ได้ถูกออกแบบให้คลุมทับลงไปถึงพื้นตัวรถ แบบ SUV รุ่นใหม่ๆ ตามสมัยนิยม ดังนั้น แม้ว่า ตอนก้าวขาเข้าไปนั่งในรถ ไม่มีปัญหาอะไร กระนั้น ตอนลงจากรถ อาจต้องระวังสักหน่อย เพราะขากางเกง หรือชายกระโปรงจะเจอฝุ่นดินโคลนจากชุดพลาสติกสีดำประดับชายล่างของรถได้บ้างเหมือนกัน
แผงประตูคู่หน้าเป็นวัสดุพลาสติกขึ้นรูป พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หน้า ของรุ่น S และ E จะบุด้วยฟองน้ำ และหุ้มด้วยผ้าสีดำมาให้ แต่รุ่น V และ VL (สีปกติ และสีทูโทน ดำ – แดง) จะเปลี่ยนวัสดุหุ้มเป็นหนังสังเคราะห์สีดำแทน ส่วนรุ่น VL หลังคาดำ จะได้ภายในสีทูโทน ส้ม – ดำ พนักวางแขน ออกแบบมาให้ลาดเอียงลงมาจากแผงสวิตช์กระจกไฟฟ้า มีตำแหน่งวางท่อนแขนได้สบายพอดี แต่แอบเตี้ยไปนิดๆ เฉพาะบริเวณช่วงวางข้อศอก นอกจากนี้ ผมยังตั้งข้อสังเกตว่า Nissan ให้ความสำคัญกับความกว้างของพนักวางแขนมาก จนทำให้การล้วงมือลงไปที่คันโยกปรับระดับสูง – ต่ำ ของเบาะคนขับ ทำได้ยากลำบาก ในลักษณะเดียวกับ Nissan หลายๆรุ่น
มือจับเปิดประตูจากด้านใน ของรุ่น S และ E จะเป็นวัสดุสีดำ ส่วนรุ่น V และ VL จะเป็นวัสดุชุบโครเมียม แผงสวิตช์ควบคุมกระจกหน้าต่างและสวิตช์ล็อก – ปลดล็อกประตู ของ S และ E จะเป็นพลาสติกสีดำล้วน แต่รุ่น V และ VL จะคาดด้วยวัสดุสีเงินมาให้เป็นพิเศษ
ส่วนแผงประตูส่วนล่างเป็นช่องวางของ พร้อมช่องวางขวดน้ำ ขนาด 7 บาท ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง อันที่จริง ก็พอจะยัดได้ 2 ขวดเลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นตำแหน่งติดตั้งลำโพง Sub Bass ด้วย
เบาะนั่งคู่หน้าของทุกรุ่น ใช้โครงสร้างด้านใน แบบ Zero Gravity Seat ร่วมกับเบาะนั่งของ Almera 1.0 Turbo ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า เมื่อสังเกตดูดีๆ จะเห็นเค้าโครงของตัวเบาะ ฐานคันโยกของเบาะ รวมทั้งกลไกเลื่อนเบาะ ยกชุดมาจาก Almera Turbo ทั้งยวง เพียงแต่ว่า ฟองน้ำในบางจุด อาจจะมีความหนาบางต่างกันนิดเดียว
อธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อย….เรื่อง Zero Gravity Seat
Nissan ออกแบบเบาะนั่งแบบ Zero Gravity Seat โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ของนักบินอวกาศ NASA (แต่ ขอย้ำว่า NASA ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเบาะกับ Nissan) ทีมออกแบบ ของ Nissan ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการ Yamazaki Laboratory ที่มหาวิทยาลัย Keio ในกรุง Tokyo ในการใช้เครื่องจำลองที่นั่งและแบบจำลองโครงกระดูก มาช่วยในการพัฒนาเบาะนั่งคู่หน้า ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆของพวกเขา โดยติดตั้งเป็นครั้งแรกใน Nissan Altima / Teana L33 เมื่อปี 2012 (Teana รุ่นสุดท้ายในเมืองไทยนั่นเอง)
จุดเด่นของเบาะนั่ง Zero Gravity Seats คือ พื้นที่ตรงกลางพนักพิงหลัง ที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงตำแหน่งรองรับมากถึง 14 จุด ตั้งแต่ กระดูกสันหลังไปจนถึงกระดูกทรวงอก ด้านหลัง ต่อเนื่องไปยัง กระดูกเชิงกราน ช่วงสะโพก ให้อยู่ในสภาวะเป็นกลางมากที่สุด เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และลดภาระของกล้ามเนื้อโดยรวม ช่วยลดความเมื่อยล้า และเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ ทั้งในระยะสั้น หรือเดินทางไกลๆ รายละเอียดเพิ่มเติม เป็นภาคภาษาอังกฤษ เข้าไปอ่านได้ที่นี่ Nissan USA Click Here
เบาะนั่งคู่หน้า สามารถปรับพนักพิงหลังให้เอนนอน เลื่อนตัวเบาะทั้งชุดขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ ด้วยคันโยกที่ติดตั้งอยู่ด้านข้างและด้านหน้าของเบาะรองนั่ง ส่วนคันโยกปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ สงวนไว้สำหรับเบาะนั่งฝั่งคนขับเท่านั้น วัสดุหุ้มเบาะในรุ่น S และ E จะหุ้มด้วยวัสดุผ้าสีดำ แต่รุ่น V จะหุ้มด้วยวัสดุหนังสีดำ ใขณะที่รุ่นท็อป VL จะเป็นวัสดุหนังสีดำ และสีทูโทน ดำ – ส้ม ขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอก เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น เปี๊ยบ!
พนักพิงหลัง มาในแนวเดียวกับ Almera 1.0 Turbo ไม่ผิดเพี้ยน คือ ใช้ฟองน้ำแบบนุ่มเกือบแน่น ให้สัมผัสเหมือนนั่งอยู่บน เก้าอี้ม้านั่งเหล็ก สำหรับคนไข้ รอหน้าห้องตรวจ ในโรงพยาบาลของรัฐ โซนกรุงเทพฯ คือ ร่างกายจะจมลงไปกับเบาะ ออกแนวตั้งชันเสียด้วยซ้ำ หากปรับเบาะให้ถูกต้อง ปีกเบาะด้านข้าง ค่อนข้างสูง ช่วยโอบกระชับสรีระช่วงด้านข้างลำตัว ไว้ได้ดีพอสมควร ด้านบนของเบาะ รองรับช่วงหัวไหล่แค่เพียงครึ่งหนึ่งของสะบักเท่านั้น
หมอนพนักศีรษะ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ 3 ระดับ ขึ้นรูปด้วยวัสดุฟองน้ำ ที่นุ่ม ไม่ดันกบาล และถ้าสังเกตดีๆ มันถูกออกแบบให้ Support ช่วงท้ายทอย ลงไปจนถึงต้นคอทั้งหมดได้ดีเลยทีเดียว ถ้ายกขึ้นใช้งานในตำแหน่งสูงสุด ระดับ 3 มันจะนุ่มสบายหัวพอใช้ได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องห่วงครับ หลังคารถสูงขนาดนี้ รับประกันความโปร่งโล่งสบายแน่ๆ
เบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำสไตล์ นุ่มเกือบแน่น พอประมาณ มีมุมเงยเหมาะสม มีความยาวเกือบจะถึงขาพับของผมแล้วเชียว ขาดอีกนิดเดียวจริงๆ นั่งขับนานๆ ก็ยังรองรับได้ดี ไม่เมื่อยก้น
ภาพรวมของเบาะคู่หน้า ยังคงไม่แตกต่างจาก Almera 1.0 Turbo คือ เหมือนจะโอบกระชับสรีระ ทุกส่วน แต่พอนั่งขับขี่เป็นระยะเวลานานๆ แอบเกิดอาการเมื่อยล้าแผ่นหลัง ค่อนข้างมากอยู่ ดังนั้น จุดที่ควรปรับปรุง จึงอยู่ที่การออกแบบพนักพิงหลังเสียใหม่ ลดความโค้งเว้าลงนิดนึง และเสริมฟองน้ำ บริเวณกลางแผ่นหลัง และด้านหลังของตัวพนักพิงหลัง ให้มากขึ้นกว่านิด แต่เพิ่มแบบลดหลั่นกันไป ตามพื้นที่รองรับกระดูกสันหลัง รวมทั้งเสริมการรองรับช่วงสะบักให้ดีกว่านี้อีกนิด
เข็มขัดนิรภัยสำหรับคนขับเป็นแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ 2 ทิศทาง (Double Pretensioner & Load Limiter) ส่วนฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าเป็นแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติทิศทางเดียว (Pretensioner & Load Limiter) สายเข็มขัดสามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ ทั้ง 2 ฝั่ง (น่าจะยกชุดไปติดตั้งใน Almera 1.0 Turbo ด้วยเลย)
การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นกว่า Nissan Juke รุ่นเดิม อย่างเด่นชัดโคตรๆ เนื่องจากช่องประตูท่อนบน มีความกว้างกว่า Crossover SUV แทบทุกรุ่นในตลาด นี่คือจุดเด่นอีกประการหนึ่งของ Kicks เลยทีเดียว
กระนั้น ตั้งข้อสังเกตว่า ความกว้างของช่องประตู ช่วงตั้งแต่ซุ้มล้อคู่หลังลงไป แทบจะเท่าๆกันกับ Toyota Corolla Cross เลยด้วยซ้ำ ดังนั้น การก้าวขึ้นรถ จึงให้ความรู้สึกที่เหมือนกัน เพียงแต่ตอนก้าวลงจากรถ ก็ต้องระมัดระวังเล็กน้อย ไม่ให้ขอบรองเท้าไปเบียดเสียดกับแผงพลาสติกคลุมโคนเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar และขอบล่างของแผงประตูคู่หลัง
อีกประการหนึ่งก็คือ เนื่องจาก หลังคาถูกออกแบบให้เทลาดจากกระจกบังลมหน้า ยาวจรดบั้นท้ายรถ นั่นทำให้ ความสูงของช่องทางเข้า – ออกจากรถ ทางด้านหลัง จะน้อยกว่าด้านหน้า สูงไม่เท่ากัน นั่นหมายความว่า หากมีเหตุให้ต้องเข้าไปนั่งบนเบาะหลังของ KIcks กรุณา ก้มศีรษะลงด้วยเล็กน้อย มิเช่นนั้น หัวจะไปโขกโป๊ก กับโครงสร้างด้านบนของเสากรอบประตูได้ และเมื่อมองไปด้านบน จะพบว่า Nissan ติดตั้ง มือจับ “ศาสดา” ไว้ให้ทุกคนได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ มากถึง 4 ตำแหน่ง
แผงประตูคู่หลังของทุกรุ่นจะเป็นพลาสติกขึ้นรูปทั้งบาน กระจกหน้าต่างไฟฟ้าคู่หลัง สามารถเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบแผงประตู ส่วนพนักวางแขนบนแผงประตู จะถูกตกแต่งในรูปแบบเดียวกันกับแผงประตูคู่หน้า คือมีการบุนุ่มหุ้มหนังมาให้ เสริมความสบายในการวางท่อนแขนได้อย่างดี เพียงแต่ว่า ตำแหน่งวางข้อศอกจะแอบเตี้ยไปเพียงนิดเดียวจริงๆ เหมือนแผงประตูคู่หน้าไม่มีผิด นอกจากนี้ ยังมีช่องวางขวดน้ำ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง
เบาะนั่งด้านหลังของแต่ละรุ่นย่อย จะใช้วัสดุหุ้มแบบเดียวกันกับเบาะนั่งคู่หน้า แต่เป็นเบาะนั่งคนละชุดกับ Almera 1.0 Turbo ไม่สามารถถอดใส่แทนกันได้แน่ๆ อีกทั้ง ไม่มีการติดตั้ง พนักวางแขนแบบพับเก็บได้มาให้เลย เหมือนกับ
พนักพิงหลัง ติดตั้งมาให้มีมุมองศาการเอียงไปทางด้านหลังที่เหมาะสม เสริมด้วยฟองน้ำแบบ “นุ่มแน่น” ให้สัมผัสเหมือนกับการนั่งอยู่บน ม้านั่งแบนๆในสวนสาธารณะ ที่มีฟองน้ำ Support ด้านหลัง นิดหน่อย คือ แทบไม่สัมผัสถึงการมีสวนโค้งเว้าใดๆที่รองรับแผ่นหลังมากนัก ทั้งที่บริเวณกลางหลัง ก็ออกแบบมาให้พื้นผิวเบาะจมลงไปกระจึ๋งนึง กระนั้น ถ้าต้องนั่งโดยสารทางไกล หากคุณเป็นเด็ก หรือมีสรีระไม่สูงนัก เชื่อว่า ไม่น่ามีปัญหา กับพนักพิงหลังแบบนี้ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ อาจต้องลงมายืดเส้นยืดสายบ้าง
พนักพิงหลังแยกพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ด้วยการยกตัวล็อกบริเวณด้านบนช่วงไหล่ของพนักพิงเบาะหลังขึ้น แล้วพับเบาะลงมา เพียงแต่ว่า เมื่อพับแล้ว อาจจะยังไม่ถึงขั้นเรียบยาวต่อเนื่องกับพื้นห้องเก็บของด้านหลังเป็น Flat Floor แต่อย่างใดทั้งสิ้น กระนั้น พื้นที่ก็ยังใหญ่ พอให้ใส่จักรยานเสือภูเขาเข้ามาตั้งในรถได้สบายๆ แต่ยังต้องถอดล้อหน้าออกอยู่ดี
พนักพิงศีรษะทรงตัว L คว่ำ มีมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง และปรับระดับสูง – ต่ำได้ 1 จังหวะ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่ยกขึ้นใข้งานเลย ตัวพนักทั้ง 3 ก็จะทิ่มตำช่วงกลางแผ่นหลังของคุณ จนชวนให้รำคาญ สุดท้าย ก็ต้องยกขึ้นใช้งานอยู่ดี ซึ่งนั่นก็จะให้ความสบายมากขึ้น เพราะตัวพนักศีรษะ ใช้ฟองน้ำ แบบ “แน่น” และออกแบบมาให้อยูในจุดที่เหมาะสมกับการรับแรงกระแทกจากศีรษะ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
เบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำค่อนข้าง “นุ่มหนา” (ไม่ถึงกับแน่นมากนัก) แต่มีมุมเงยไม่มากนัก ถึงจะนั่งสบายก็จริงอยู่ แต่การติดตั้งในตำแหน่งที่แอบเตี้ยกว่า เบาะหลังของ Toyota C-HR และ Corolla Cross อยู่นิดหน่อย อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับคนตัวเล็ก หรือเด็กๆ อายุไม่เกิน 15 ปี แต่ สำหรับผู้ใหญ่แล้ว อาจต้องนั่งชันขาเล็กน้อย
หากคุณตัวสูง 170 เซ็นติเมตร คุณจะเหลือพื้นที่เหนือศีรษะ ประมาณ 4 นิ้วมือวางในแนวนอน เสียบกลางระหว่างศีรษะกับเพดานหลังคาได้พอดีๆ ส่วนพื้นที่วางขานั้น เท่าที่ผมลองปรับตำแหน่งเบาะคนขับในระดับที่ตนเองถนัด แล้วย้ายมานั่งด้านหลังดู พบว่า ยังมีพื้นที่วางข เหลือพอให้ผมสามารถนั่งไขว่ห้างได้สบายๆ
เข็มขัดนิรภัยเบาะหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมติดตั้งจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้ 2 ตำแหน่ง ส่วนมือจับศาสดาเหนือศีรษะ มีมาให้ครบทั้ง 4 ตำแหน่ง
ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮดรอลิก สามารถเปิดได้ด้วยการกดสวิตช์ไฟฟ้าที่ฝาท้าย เหนือช่องสวมป้ายทะเบียน เท่านั้น ไม่มีระบบเตะเปิดใดๆมาให้ตามยุคสมัยทั้งสิ้น
เมื่อเปิดฝากระโปรงท้ายขึ้น จะพบกับ ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังทีมีขนาดใหญ่โตกว่า คู่แข่งหลายๆรุ่น แม้กระทั่ง Nissan Juke ญาติผู้พี่ ด้วยความกว้าง 980 มิลลิเมตร (วัดจาก ผนังซุ้มล้อซ้าย – ขวา) สูง 890 มิลลิเมตร ความยาวจากขอบตัวถังด้านใน จนถึงขอบล่างของเบาะแถว 2 ปกติแล้ว ยาว 900 มิลลิเมตร เพียงเท่านี้ ห้องเก็บของด้านหลังของ Kicks ก็จะมีความจุมากถึง 400 ลิตร ใหญ่พอที่จะใส่ กระเป๋าเดินทาง ขนาดกลาง (Size M) เรียงกันได้ถึง 4 ใบ!! โดยไม่ต้องพับเบาะหลัง!!
แต่ถ้าพับเบาะแถว 2 ลง ความยาวพื้นที่เก็บสัมภาระจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,730 มิลลิเมตร คราวนี้ คุณก็สามารถนำจักรยานคันเก่ง ยัดใส่ท้ายรถได้อย่างง่ายดาย โดยต้องถอดล้อหน้าออกเสียก่อน
นอกจากนี้ ทุกรุ่นยังติดตั้ง ไฟส่องสว่าง บริเวณผนังด้านขวา แต่แผงบังสัมภาระด้านหลัง พร้อมเชือกเกี่ยวยึดกับบานฝาท้าย จะมีมาให้เฉพาะรุ่น VL เท่านั้น
เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา ก็จะพบว่ากับแบตเตอรี่ ขนาด 12V – L2 60Ah 510A (SAE) จาก Renault-Nissan สำหรับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในรถ ติดตั้งอยู่ด้านในสุด พร้อมชุดขอเกี่ยวลากจูง และอุปกรณ์ซ่อมยางฉุกเฉิน
น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายราย เลิกใส่ยางอะไหล่แถมให้ลูกค้ากันไปหมดแล้ว ทั้งที่สภาพถนนในเมืองไทยนั้น การมียางอะไหล่เอาไว้ น่าจะอุ่นใจกว่า อันที่จริงแล้ว ทางออกของปัญหานี้คือ ให้ดีลเลอร์ มียางอะไหล่ ขายให้กับลูกค้าที่สนใจจะซื้อติดรถไว้ เพิ่มเติมสักหน่อยก็ยังดี อย่าว่าแต่ Nissan เลย Toyota และผู้ผลิตอีกหลายรายก็เช่นเดียวกัน
Kicks e-POWER ถือเป็นรถยนต์ Nissan ในประเทศไทย รุ่นที่ 2 ถัดจาก Almera 1.0 Turbo ที่ใช้แนวทางการออกแบบภายในยุคใหม่ เรียกว่า “Gliding Wing” ซึ่งมีเส้นสายลากจากจุดกึ่งกลางเฉียงขึ้นไปด้านข้าง คล้ายปีกนกที่กำลังสยายออกเต็มที่ สังเกตจากแนวตะเข็บด้ายบนแผงหน้าปัด จากมุมชุดแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศลากยาวไปจรดกับช่องแอร์ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจครับว่า แผงหน้าปัดของ Kicks ช่างดูละม้ายคล้ายกับแผงหน้าปัดของ Almera 1.0 Turbo รวมทั้ง Micra เวอร์ชันยุโรป มากๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องแอร์ทรงกลม 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา หน้าจอกลาง แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ แผงหน้าปัดส่วนกลางที่เป็นวัสดุบุนุ่มหุ้มหนัง แผงหน้าปัดส่วนล่าง (ยกเว้นแผงใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา) รวมถึงคอนโซลกลางที่เชื่อมต่อจากแผงหน้าปัด
อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า แผงหน้าปัดส่วนบนที่เป็นพลาสติกขึ้นรูป ถูกออกแบบให้มีดีไซน์ต่างจาก Almera เล็กน้อย และเพื่อให้รับกับดีไซน์แผงประตูด้านข้างที่ไม่เหมือนกัน ช่องแอร์คู่กลาง จะเอียงลึกเข้าไป และยกตัวขึ้นมาเล่นระดับจากแผงควบคุมกลาง ต่อเนื่องไปถึงชุดมาตรวัด
นอกจากนี้ วัสดุหนังที่นำมาใช้หุ้มบริเวณแผงหน้าปัด ยังเลือกใช้โทนสี ไม่เหมือนกัน เพื่อสร้างความแตกต่าง โดยในรุ่น S, E และ V จะเป็นวัสดุหนังสังเคราะห์สีดำ เดินตะเข็บด้ายจริง แต่รุ่นท็อป VL จะเป็นวัสดุหนังสังเคราะห์ มีทั้งสีส้มแทน (ภายนอกสีทูโทน ส้ม – ดำ, แดง – ดำ และ ขาว – ดำ) และสีดำ (ภายนอกสีปกติ และสีทูโทน แดง – ดำ)
มองขึ้นไปด้านบน ทุกรุ่นให้เพดานหลังคาบุด้วยวัสดุโทนสีเบจ ไฟอ่านแผนที่สีเหลืองอำพันครอบด้วยโคมสีขาวขุ่น แยกเปิด – ปิด ได้ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมไฟส่องสว่างบริเวณกึ่งกลางห้องโดยสาร ผมมองว่า ตัวสวิตช์ เปิด-ปิดไฟ แม้จะถูกออกแบบใหม่ ให้ดีขึ้นกว่า March และ Almera รุ่นเดิม ก็จริง แต่ มันยังคงให้สัมผัส “ป๊อกแป๊ก” บอบบางไปหน่อยส่วนแผงบังแดด แบบพับเก็บได้ พร้อมกระจกแต่งหน้า และไฟแตงหน้า ติดตั้งมาให้ครบทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย
จากขวา มาทางซ้าย
ควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ ประกอบด้วยสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลง ของกระจกหน้าต่างแบบ One-touch พร้อมระบบป้องกันการหนีบ (Jam Protection) เฉพาะฝั่งคนขับ มีสวิตช์ล็อกกระจก สวิตช์ล็อก – ปลดล็อกประตู รวมทั้งสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้าง มาให้ครบ
บริเวณใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ จากด้านบนลงล่าง เป็นสวิตช์หมุนปรับระดับสูง – ต่ำของชุดไฟหน้า สำหรับรุ่น V และ VL ช่องเก็บของแบบไม่มีฝาปิด สลักดึงเปิดฝากระโปรงหน้า และสลักดึงเปิดฝาถังน้ำมัน
ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับควบคุมชุดไฟหน้า ทั้งไฟหรี่ ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟตัดหมอก และไฟเลี้ยว ส่วนฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมการทำงานของก้านปัดน้ำฝนกระจกบังลมหน้า พร้อมระบบหน่วงเวลา และระบบฉีดน้ำล้างทำความสะอาด
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ออกแบบให้ตัดขอบด้านล่าง (D-cut) ตกแต่งก้านพวงมาลัยทั้ง 3 ก้าน ด้วยวัสดุสีเงิน มือจับของรุ่น S จะเป็นวัสดุยูรีเทน ส่วนรุ่น E, V และ VL จะหุ้มด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้าย ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ทั้งสูง – ต่ำ และเข้า – ออก แบบ Telescopic ด้วยคันโยกใต้พวงมาลัย ยังคงจับกระชับในระดับเดียวกับ พวงมาลัยของ Note และ Almera Turbo (แหงละ พวงมาลัยหน้าตาเหมือนกันเป็ะเลยนี่หว่า)
สวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้ายของทุกรุ่น สำหรับควบชุดเครื่องเสียง และปรับหน้าจอแสดงผลข้อมูลการขับขี่แบบ TFT บนมาตรวัด ส่วนฝั่งขวาเป็นสวิตช์รับสายโทรศัพท์ ระบบสั่งการด้วยเสียง สวิตช์ควบคุมระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบธรรมดา สำหรับรุ่น S, E และ V และเพิ่มสวิตช์ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ICC (Intelligent Cruise Control) เฉพาะรุ่น VL
ชุดมาตรวัดของทุกรุ่นย่อย ยก Pattern มาจาก Nissan LEAF ฝั่งซ้ายจะเป็นหน้าจอแสดงผลแบบสี TFT ขนาด 7 นิ้ว คล้าย Almera Turbo สามารถเลือกแสดงผลได้ทั้ง มาตรวัดแสดงการทำงานแบบรถ Hybrid ทั่วไป (Charging / ECO / POWER) แผนผัง Energy Flow การทำงานของระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน ระบบ Forward Collision Warning และ Blind Spot Monitoring (เฉพาะรุ่น VL) มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลขดิจิตอล อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real Time และแบบ Average ประวัติอัตราสิ้นเปลือง ระบบช่วยเหลือการขับขี่ และมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น (ซึ่งควรจะแสดงบนทุกหน้าจอตลอดเวลา ไม่ใช่เอาไปซ่อนให้ต้องเรียกหาดูกัน เหมือนกับ Almera 1.0 Turbo เป๊ะแบบนี้)
แถบด้านบนแสดงเวลา และอุณหภูมิภายนอกตัวรถ ส่วนแถบด้านล่าง แสดงปริมาณน้ำมันคงเหลือในถัง ระยะทางที่เหลือที่สามารถวิ่งต่อไปได้ ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control หรือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ICC (Intelligent Cruise Control) ในรุ่น VL ส่วนมาตรวัดระยะทาง ODO Meter และ Trip Meter สามารถเรียกแสดง หรือ reset ข้อมูลได้ ด้วยการกดก้านสวิตช์ฝั่งขวา
ส่วนฝั่งขวา จะเป็นมาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อก สูงสุดที่ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ไม่ต้องห่วงครับ กดให้เต็มตีนยังไง ลงเนินช่วยแค่ไหน ก็ไปไม่ถึง 180 แน่ๆ) เรืองแสงตัวเลข และเข็มวัดสีขาว มีไฟบ่งบอกสถานะและความผิดปกติของตัวรถ ที่รถทั่วไปพึงมี และที่สำคัญ มีไฟสถานะเมื่อเข้าเกียร์ว่าง (N) เพื่อให้เข็นได้ ในยามที่จำเป็นต้องจอดแบบขนานช่องจอด ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทีมวิศวกรฝั่งไทย ร้องขอให้ทางญี่ปุ่นเขาจัดทำมาให้ (รายละเอียด อ่านได้ ข้างล่าง)
จากฝั่งซ้าย มาทางขวา
ช่องแอร์ด้านข้างเป็นทรงกลม ของรุ่น S และ E จะเป็นพลาสติกสีดำ ในขณะที่รุ่น V และ VL จะตกแต่งด้วยวงแหวนสีเงิน และวัสดุพลาสติกสีดำ Piano Black เพื่อเพิ่มความสวยงาม
มองถัดลงมาด้านล่าง จะพบช่องเก็บของสำหรับผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย ยกมาจาก Almera 1.0 Turbo เลยนั่นแหละ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า มันจะมีขนาดใหญ่โตเอาเรื่อง ถึงขั้นที่คุณสามารถวางสมุดคู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกันคุณภาพ เอกสารทะเบียน ประกันภัย พร้อมกับวางกล้องถ่ายรูปแบบพกพา ได้ถึง 2 ตัว อย่างสบายๆ แถมยังเหลือพื้นที่วางข้าวของจุกจิกอื่นๆได้อีกพอสมควรด้วยซ้ำ!
สวิตช์ไฟฉุกเฉิน (Hazard Light) ก็ยังคงติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับ Almera กึ่งกลางระหว่างช่องแอร์กลาง อันที่จริง ตำแหน่งติดตั้ง เหมาะสมกับการใช้งานในภาวะฉุกเฉิน ก็จริงอยู่ แต่การออกแบบช่องแอร์ให้มีฐานลึกเว้าเข้าไปแบบนี้ มีส่วนทำให้การกดเปิดไฟฉุกเฉิน ทำได้ไม่สะดวกขึ้นนิดหน่อย โดยเฉพาะคนที่ไว้เล็บยาว แทนที่จะกดปุ่มลงไปด้วยนิ้ว กลับกลายเป็นว่า ต้องใช้เล็บช่วย เสียอย่างนั้น ต่อให้ออกแบบสวิตช์ ให้ยื่นออกมาเล็กน้อยแล้ว ก็ยังมีขนาดเล็ก และกดไม่สะดวกอยู่ดี
แผงคอนโซลกลางที่เชื่อมต่อกับท่อนล่างของแผงหน้าปัด ออกแบบมาให้มีปีกด้านข้างยกสูง และเฉียงขึ้นไปรับกับแผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศ ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำ และ Piano Black ชิ้นนี้ ยกชุดมาจาก Almera 1.0 Turbo เพียงแต่ว่า รายละเอียดบริเวณฐานคันเกียร์ แตกต่างกัน เพราะด้านหน้าคันเกียร์ติดตั้งปุ่ม Push Start/Stop สีฟ้า ตกแต่งด้วยวงแหวนสีเงิน รวมทั้งเพิ่ม สวิตช์โหมดการขับขี่ Drive Mode (Normal / Smart / Eco Mode) และสวิตช์โหมดการขับขี่แบบ EV มาให้ทุกรุ่นย่อย ส่วนตัวคันเกียร์ไฟฟ้า (ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็น Shift Selector มากกว่า) ก็ถูกออกแบบใหม่ ให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้นเมื่อเทียบกับ Shift Selector ของ Nissan LEAF (รายละเอียด การใช้งาน เลื่อนลงไปอ่านข้างล่าง ในส่วนงานวิศวกรรม)
เครื่องปรับอากาศของทุกรุ่นย่อย เป็นแบบอัตโนมัติ (แต่ไม่สามารถแยกปรับอุณหภูมิอิสระซ้าย – ขวาได้) มาพร้อมสวิตช์หมุนปรับอุณหภูมิ และปุ่ม Auto ฝั่งขวา สวิตช์หมุนปรับความแรงลม และปุ่ม A/C On/Off ฝั่งซ้าย ส่วนตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล ขนาดเล็ก และสวิตช์ควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในรถ สวิตช์เปิด – ปิดการทำงานของระบบไล่ฝ้าที่กระจกบังลมด้านหน้า และด้านหลัง สวิตช์ปรับรูปแบบการเป่าลม และสวิตช์เปิด – ปิดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ตัวแผงสวิตช์ ยกชุดมาจาก Almera 1.0 Turbo จึงไม่น่าแปลกใจว่า สัมผัสในการหมุนสวิตช์ จึงดีงาม และดูผู้ดีมีชาติตระกูลใช้การได้
เหนือฐานคันเกียร์ มีช่องสำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า POWER Outlet 12 โวลต์ พร้อมฝาปิด มาให้ 1 ช่อง ช่องเสียบ USB Port สำหรับชาร์จไฟฟ้าและเชื่อมต่อกับระบบ Nissan Connect 1 ช่อง และช่อง AUX-In อีก 1 ช่อง
ชุดเครื่องเสียง ของรุ่น S และ E เป็นวิทยุ AM/FM แสดงผลบนหน้าจอดิจิตอลขนาดเล็ก มีช่องเสียบ USB Port สำหรับเล่นเพลง และ AUX-In รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย Bluetooth ติดตั้งลำโพงมาให้ 4 ตำแหน่ง
แต่ในรุ่น V และ VL จะถูกอัพเกรดเป็นเครื่องเสียง ชุดเดียวกับ Almera 1.0 Turbo รุ่น VL ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM ทำงานสั่งการผ่านหน้าจอสัมผัส Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว พร้อมช่องเสียบ USB Port สำหรับเชื่อมต่อกับระบบ Nissan Connect และช่อง AUX-In รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย Bluetooth และ Apple CarPlay (สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS) แต่ยังไม่รองรับ Android Auto มาพร้อมลำโพง พร้อม Tweeter 6 ตำแหน่ง คุณภาพเสียง จัดว่า ฟังได้ ดีพอประมาณเลยละ เสียงใสชัดเจน แต่เสียงเบสอาจบวมและคลุมเครือนิดๆ ยังไม่ถึงขั้นเทพสุด
นอกจากนี้ รุ่น V และ VL จะมีกล้องมองภาพรอบทิศทาง IAVM (Intelligent Around View Monitor) ทำงานร่วมกับระบบตรวจจับ และส่งสัญญาณเตือนวัตถุและบุคคลเคลื่อนที่ MOD (Moving Object Detection) ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แสดงผลบนหน้าจอกลาง ทำงานทั้งในขณะเข้าเกียร์ถอยหลัง หรือเมื่อกดปุ่ม Camera ที่อยู่เหนือสุดฝั่งขวาของหน้าจอแสดงผล สามารถเลือกการแสดงผลได้ ทั้งแบบ เห็นภาพจากมุมสูงเต็มคันรถ (Bird Eye View) หรือเลือกมองเฉพาะ กล้องใต้กระจกมองข้าง และเลือกมุมมองกล้องหลังบริเวณเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนได้อีกด้วย
บริเวณตรงกลาง ระหว่าง เบาะนั่งคู่หน้า คือช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ซึ่งสามารถนำโทรศัพท์มือถือมาวางไว้ในบริเวณนี้ด้วยก็ได้ ตัวล็อกยึด ก็สามารถยกถอดออกขึ้นได้ สามารถวางแก้ว หรือขวดน้ำดื่ม 7 บาท ได้อยู่
ข้างกันนั้น เป็นตำแหน่งติดตั้งของ สวิตช์เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold หรือ ระบบที่ช่วยขึ้นเบรกมือไว้ให้โดยอัตโนมัติขณะที่คุณใส่เกียร์ D ทิ้งไว้ แต่คุณยังสามารถเหยียบคันเร่ง เพื่อออกรถต่อไปได้ เพราะระบบจะปลดเบรกมือลงให้คุณชั่วคราวโดยอัตโนมัติเช่นกัน
ส่วนกล่องเก็บของ พร้อมฝาปิด เมื่อเปิดออกดู ผมถึงกับตะลึง! ต่อให้มีพรมสี่เหลี่ยมขนาดเล็กมาให้ แต่ถ้าพื้นที่ข้างในมันจะเล็กขนาดนี้ เล็กที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา ผมว่า เพิ่มความสูงของตัวกล่องขึ้นมาอีกนิดดีกว่าไหม อย่างน้อย จะได้ใส่ข้าวของจุกจิกได้เพิ่มจากนี้อีกนิดนึงก็ยังดี แถมยังจะช่วยให้ ฝาปิดกล่อง ที่บุนุ่มหุ้มหนังอยู่แล้ว สามารถทำหน้าที่เป็น พนักวางแขน ได้อย่างเต็มภาคภูมิมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งมันเตี้ยไป และใช้งานจริง แทบไม่ค่อยได้เลย
ส่วนด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง มีช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า USB Port สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 2 ช่อง
ถึงแม้ว่าตัวรถจะมีขนาดเล็กกว่าคู่แข่งหลายๆรุ่น แต่เมื่อขึ้นมานั่งในรถคันจริง ผมกลับสัมผัสได้ถึงความโปร่ง และกว้างสบายกว่าที่คิดไว้มาก ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจก การออกแบบให้ตัวถัง มีพื้นที่กระจกหน้าต่าง ค่อนข้างใหญ่กว่า SUV ในพิกัดเดียวกันพอสมควร โดยเฉพาะ ทัศนวิสัย ด้านหน้า ที่โปร่งตา โล่งสบาย มองเห็นถนนหนทางข้างหน้าได้ดี แถมยังมองเห็นฝากระโปรงหน้า อีกด้วย แม้ว่าผมจะปรับเบาะนั่งคนขับในระดับต่ำสุดก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเราะตำแหน่งเบาะนั่งจะสูงกว่ารถเก๋งทั่วไป และสูงในระดับกึ่งกลาง ระหว่าง รถเก๋ง และ เกือบเท่า SUV ปกติรุ่นอื่นๆ
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา อาจยังพอมีการบดบัง รถที่แล่นสวนทางมา ขณะที่คุณกำลังเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกัน 2 เลน อยู่บ้าง แต่สำหรับฝั่งซ้าย ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะกำลังเล้ยกลับรถใต้เสารถไฟฟ้า BTS เสา A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็ไม่บดบังรถที่แล่นสวนทางมาแต่ประการใดทั้งสิ้น ส่วนกระจกมองข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง ถูกออกแบบมาให้องเห็นการเคลื่อนไหวของยานพาหนะด้านข้างรถ ได้ดีในระดับที่ควรเป็น ขอบมุมต่างๆ ออกแบบมาดี ไม่มีการกินพื้นที่บดบังบริเวณขอบกระจกมองข้างใดๆให้รำคาญใจ
กระจกบังลมหลัง มีขนาดใหญ่ และมองเห็นการจราจรจากบรรดายานพาหนะที่แล่นตามมา ได้ดีกว่า Nissan Tiida Hatchback อยู่นิดนึง ทว่า เสาหลังคาคู่หล้ง C-Pillar นั้น แม้ว่าหน้าต่าง Opera บนบานประตูคู่หลัง จะมีขนาดใหญ่มาก แต่ด้วยการเล่นระดับกับแนวเส้นตัวถังด้านข้าง ซึ่งต้องเล่นระดับขึ้นมา เพื่อลากให้ลาดลงต่ำไปยังชุดไฟท้าย ทำให้ แอบมีพื้นที่จุดบอดเล็กๆ บริเวณด้นล่างของกระจกหน้าต่างนิดหน่อย กระนั้น พื้นที่ด้านบนของหน้าต่าง ที่กว้างพอสมควร ก็พอจะชดเชยจุบอดดังกล่าวกันได้ และในการใช้งานจริง ผมก็ยังคงมองเห็นจักรยานยนต์ ที่แล่นมาขนาบทางฝั่งซ้ายของตัวรถ ชัดเจน
กระจกมองหลังของรุ่น S, E และ V จะเป็นแบบตัดแสงด้วยการดึงสลักด้านหลังกระจก แต่รุ่น VL จะติดตั้งกระจกมองหลังแบบปรับลดแสงสะท้อนอัตโนมัติมาให้ แถมยังมีฟังก์ชันแสดงภาพมุมมองท้ายรถ IRVM (Intelligent Rear View Mirror) ซึ่งรับสัญญาณจากกล้องที่ติดตั้งอยู่กับกระจกบังลมหลัง ช่วยให้มองเห็นด้านหลังอย่างชัดเจน แม้บรรทุกสัมภาระเต็มคัน
ภาพจากกล้อง จะมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาได้ชัดเจนพอสมควร แต่อาจต้องใช้ความเคยชินสักนิด เพราะตำแหน่งของรถคันที่แล่นตามมา เหมือนจะอยู่ใกล้กว่าความจริง เล็กน้อย คุณสามารถเลือกเปิด – ปิด การใช้งานระบบ IRVM ได้ ด้วยการกดเลือกที่สวิตช์ ด้านใต้กระจกองหลัง
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
*********** Technical Information & Test Drive ************
Nissan Kicks เวอร์ชันไทย จะแตกต่างจาก Kicks ที่มีจำหน่ายในตลาดอื่นๆทั่วโลกในตอนนี้ เพราะในขณะที่บ้านอืนเมืองอื่น เขาคุ้นเคยกับ Kicks ที่วางเครื่องยนต์ HR15DE หรือ HR16DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 หรือ 1.6 ลิตร กันมาตั้งแต่ปี 2016
แต่ไทย กลับเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้รับสิทธิ์ให้เปิดตัว Kicks เวอร์ชันขุมพลัง e-POWER สำหรับตลาดในประเทศ รวมทั้งตลาดส่งออก ทั้ง ญี่ปุ่น และ สิงค์โปร์ ซึ่งจะใช้ขุมพลังชุดเดียวกันกับบ้านเรา
e-POWER ตกลงแล้ว เป็นขุมพลังแบบ ไฟฟ้า ล้วน หรือ Hybrid กันแน่?
ระบบ e-Power เป็น อีกรูปแบบหนึ่ง ของระบบขับเคลื่อน Hybrid เรียกว่า “Series Hybrid” มีชิ้นส่วนหลัก เหมือนระบบ Hybrid ทั่วไป คือ มี เครื่องยนต์เบนซิน เชื่อมตัวปั่นไฟ (Power Generator) ระบบ Inverter มอเตอร์ขับเคลื่อนรถ และ แบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน
จากภาพข้างบนนี้ จะเห็นข้อเปรียบเทียบระหว่าง รถยนต์ไฟฟ้าล้วนๆ EV (Electric Vehicles) รถยนต์ขุมพลัง e-Power (Series Hybrid) และรถยนต์ที่ใช้ขุมพลัง Series + Parallel Hybrid (Toyota กับ Honda ยุค i-MMD)
- EV คุณต้องชาร์จไฟไปเก็บในแบ็ตเตอรี มอเตอร์จะสั่งให้ Inverter ช่วยดึงไฟส่งมาหมุนล้อขับเคลื่อน
- ระบบ Series + Parallel Hybrid ของ Toyota กับ Honda นั้น ถ้ากดปุ่มติดเครื่อง ไฟในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน เหลือเยอะพอ เครื่องยนต์ยังไม่ต้องทำงาน แต่ถ้าไฟในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนเหลือน้อย เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาทำงาน / ขับคลานๆความเร็วต่ำ มอเตอร์หมุนล้อ เร่งเครื่อง เมื่อไหร่ เครื่องยนต์จะเข้ามาช่วยทั้งปั่นไฟและหมุนล้อ ตามความเหมาะสม / ถ้าเดินทางไกลนิ่งๆ เครื่องยนต์จะหมุนล้อเป็นหลัก มอเตอร์จะช่วยเสริมในยามจำเป็น / ถ้าเบรก มอเตอร์จะทำตัวเป็น Generator ปั่นไฟไปเก็บในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน
แต่การทำงานของระบบ e-POWER ซึ่งก็คือ ระบบ Series Hybrid มีดังนี้
- เครื่องยนต์ มีไว้เพื่อหมุนให้ Generator ปั่นกระแสไฟฟ้า เป็นหลัก ไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน ไม่เข้าไปหมุนล้อรถโดยตรงทั้งสิ้น รถจะเคลื่อนได้ เมื่อคุณเหยียบคันเร่ง ไฟในแบ็ตเตอรี จะถูกส่งไปยัง Inverter ส่งไปให้ มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อหมุนล้อ ขับเคลื่อนรถไปข้างหน้า (แตกต่างจาก ทั้ง 2 ระบบข้างต้น)
. - ถ้าไฟในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน เหลือแค่ 40% หรือน้อยกว่านั้น Inverter จะสั่งติดเครื่องยนต์ ให้มาช่วยปั่นไฟ ไปเก็บในแบ็ตเตอรี (หรือถ้าเหยียบคันเร่งเต็มตีน เรียกอัตราเรงอยู่ เครื่องยนต์ ก็จะปั่นไฟ ยิงตรงเข้ามอเตอร์ขับเคลื่อน ช่วยอีกแรงหนึ่ง) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน (แตกต่างจาก ทั้ง 2 ระบบข้างต้น)
. - ถ้าไฟในแบ็ตเตอรี เพิ่มมาจนถึง 90% อันเป็นค่ากำหนดของวิศวกรของ Nissan (เพื่อไม่ให้ มีการชาร์จไฟจนเต็ม 100% ซึ่งอาจทำให้แบ็ตเตอรี เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรเป็น) เครื่องยนต์จะดับลงเอง มอเตอร์ก็ขับเคลื่อนรถต่อไป (เหมือนกับระบบ Series + Parallel Hybrid ของ Toyota กับ Honda เฉพาะช่วงความเร็วต่ำ)
. - เหยียบเบรกชะลอรถเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะแค่ชะลอ หรือเบรกจนหยุดนิ่ง มอเตอร์ จะทำตัวเป็น Generator แปลงพลังงานจากการเบรก เป็นกระแสไฟ ผ่าน Inverter ส่งกลับไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี เอาไว้ใช้งานต่อไป (เหมือน ทั้ง 2 ระบบข้างต้น)
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ…
- รถยนต์ Hybrid ทั่วไป ทั้ง Toyota และ Honda : เครื่องยนต์ กับมอเตอร์ จะเป็นพระเอกคู่ รับบทตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ถ้าแล่นในเมือง มอเตอร์จะเป็นพระเอก แต่ถ้าแล่นทางไกล เครื่องยนต์ จะผลัดกันขึ้นมาเป็นพระเอกร่วมด้วย แต่ถ้า กดคันเร่งเต็มตีน พระเอก ทั้ง 2 ผนึกกำลังแท็คทีม แสดงบทคู่ พร้อมกัน
. - รถยนต์ Hybrid e-Power : มอเตอร์ไฟฟ้า จะเป็นพระเอก ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถ (และช่วยปั่นไฟกลับเข้าแบ็ตเตอรี ตอนเบรก) ส่วนเครื่องยนต์ จะทำหน้าที่เป็น พระรอง ทำหน้าที่ ปั่นไฟเข้าแบ็ตเตอรี หรือปั่นไฟช่วยมอเตอร์ อย่างเดียว จะไม่มาช่วยหมุนล้อรถ
. - เอาเข้าจริง ระบบนี้ ก็เหมือนกับที่อยู่ใน Chevrolet Volt ที่เคยมีการนำเข้ามายังเมืองไทย จัดแสดง 2 คัน เมื่อปี 2012 และทั้งคู่ เพิ่งถูกส่งไป Scrap ทำลายทิ้ง เมื่อ GM เลิกทำตลาดในไทย ช่วงเดือนที่แล้วนี่เอง! ต่างกันแค่ Volt เป็นแบบ PHEV หรือ Plug-in Hybrid Vehicle เสียบปลั๊กชาร์จได้ด้วย แต่ Kicks เติมน้ำมันอย่างเดียวพอ รายละเอียดเพิ่มเติม Click Here!
ขุมพลัง e-Power ของ Kicks นั้น วางเครื่องยนต์ รหัส HR12DE เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ใน Nissan March K13 (2010 – ปัจจุบัน) Nissan Almera N17 (2011 – 2019) และ Nissan Note (2017 – ปัจจุบัน)
ทว่า ความแตกต่างก็คือ มีการปรับรายละเอียดทางเทคนิคให้มีความเหมาะสมกับขุมพลัง e-POWER มากขึ้น ดังนี้
- เพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด จาก 10.2 : 1 เป็น 12.0 : 1
- ระบบหัวฉีด ควบคุมด้วยกล่องอีเล็กโทรนิคส์ ECCS 32 Bit มีการเปลี่ยนจากหัวฉีดเดี่ยว เป็นหัวฉีดคู่ ปลายหัวฉีดเล็กลง ฉีดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ละเอียดขึ้น การเผาไหม้สะอาดหมดจดกว่า
- ปรับการทำงานของระบบแปรผันวาล์ว CVTC (Continuously Variable Valve Timing Control) ให้เหมาะสม
- ถอดสายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ ออก เพราะใช้คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศแบบไฟฟ้า เป็นระบบ Inverter เหมือนเครื่องปรับอากาศตามบ้าน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สายพาน
- ปั้มน้ำ เปลี่ยนมาใช้แบบไฟฟ้า
- ปรับสมดุลย์ ล้อช่วยแรง (ฟลายวีล : Flywheel) ให้เหมาะสมกับการหมุนของตัวปั่นไฟ Generator ที่ติดตั้งแทนชุดเกียร์ ในรถยนต์ทั้ง 3 รุ่นก่อนหน้านั้น
- ถอด มอเตอร์สตาร์ท ออกไป เพราะวิธีติดเครื่องยนต์ จะใช้ตัวปั่นไฟ Generator หมุนเพลาข้อเหวี่ยงย้อน แล้วฉีดน้ำมันทันที ส่งผลให้ ไม่ต้อง Crank Start ทำให้แรงสั่นสะเทือนตอนติดเครื่องยนต์ลดลงด้วย
เวอร์ชันญี่ปุ่น กำลังสูงสุด 82 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 103 นิวตันเมตร (10.5 กก.-ม.) ที่ 3,600 – 5,200 รอบ/นาที
ส่วนเวอร์ชันไทย กำลังสูงสุด 79 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 103 นิวตันเมตร (10.5 กก.-ม.) ที่ 3,600 – 5,200 รอบ/นาที (น่าแปลกว่า ตัวเลขจาก Catalog ระบุว่า แรงบิดอยู่ที่ 11 กก.-ม. ที่ รอบเท่ากัน) เติมน้ำมันเบนซิน 95 , Gasohol 95 E10 และสูงสุด คือ Gasohol E20 เท่านั้น
เท่ากับว่า การบำรุงรักษา ก็จะยังคงเหมือนรถยนต์ทั่วไป คือ ยังคงต้องเข้ารับบริการเช็คตามระยะประกันคุณภาพ ทุกๆ 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร แล้วแต่ระยะใดจะถึงก่อนกัน เพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คน้ำในระบบหล่อเย็น ซึ่งแยกออกจากกันเป็นเอกเทศ ระหว่าง น้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ สำหรับเครื่องยนต์ และน้ำหล่อเย็น สำหรับ Motor ขับเคลื่อน ตัวปั่นไฟ Generator และ ตัว Inverter
ส่วนระบบขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อด้วยกันกับเครื่องยนต์ เป็น Motor ไฟฟ้า แบบไร้แปรงถ่าน AC3 Synchronous รุ่น EM57 อัตราทดเฟืองท้าย 7.333 : 1 กำลังสูงสุด 95 กิโลวัตต์ (kW) หรือ 129 แรงม้า (PS) ที่ รอบมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 4,000 – 8,992 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร (26.5 กก.-ม.) ที่รอบมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 500 – 3,008 รอบ/นาที
ส่วนแบตเตอรี่ของระบบขับเคลื่อน เป็นแบบ Lithium-ion จาก Panasonic ประกอบด้วย เซลล์แบตเตอรี่ 20 เซลล์ / 1 Module รวมทั้งสิ้น 80 เซลส์ หรือ 4 Module มีขนาดรวมกันแค่ 1.57 kWh แรงเคลื่อนไฟฟ้า 292 Volt ติดตั้งไว้บนพื้นรถ ใต้เบาะคนขับและเบาะผู้โดยสารด้านหน้า มีพัดลมระบายความร้อน ในยามปกติ เสียงของพัดลมก็ไม่ได้ดังมากนัก แต่ถ้าคุณเค้นสมรรถนะตลอดเวลา จนแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน ตัวร้อน พัดลมก็จะหมุนเร็วขึ้น เสียงก็เริ่มดังขึ้น จนคุณอาจเข้าใจผิดได้ ทั้งที่จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรให้น่ากังวล
Nissan จะรับประกันคุณภาพ สำหรับชิ้นส่วนในระบบ e-POWER ทั้ง Motor , Generator และชิ้นส่วนอื่นๆ ในระบบ เป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร แต่สำหรับแบ็ตเตอรี Lithium-ion นั้น จะถูกรับระกันไว้ที่ 10 ปี หรือ 200,000 กิโลเมตร แล้วแต่ระยะใดจะถึงก่อน
แต่ในกรณีที่ แบตเตอรี่ระบบขับเคลื่อน Lithium-ion เสื่อมสภาพ Nissan ยินยอมเคลมแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนให้ฟรี 1 ก้อนใหญ่ ตลอดระยะเวลาปรับประกันคุณภาพรถ แต่จะไม่สามารถแยกเปลี่ยนทีละ Module หรือทีละ เซลส์ แบบ Toyota ได้ ต้องเปลี่ยนทั้งลูก
ส่วนราคาของแบตเตอรี่ทั้งลูกนั้น ในเบื้องต้น ยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาลูกละประมาณ 1 แสนกว่าบาท กลางๆ แต่หลังจากนี้ Nissan กำลังเตรียมแผนจะนำแบ็ตเตอรี เข้ามาประกอบในเมืองไทยในลำดับต่อไป ตามแผนการลงทุนมูลค่า 10.96 พันล้านบาท ทียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับาง B.O.I. ไป ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลงไปอีก
นอกจากแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน Lithium-ion แล้ว Kicks e-POWER ยังมี แบ็ตเตอรีลูกเล็ก ขนาด 12 V ติดตั้งไว้ที่ ช่องว่าง ใต้พื้นห้องเก็บสัมภาระด้านหลังรถ เป็นแหล่งพลังงานให้กับ อุปกรณ์ไฟฟ้า ของรถทั้งคัน (ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ ซึ่งใช้ระบบไฟฟ้า จาก Inverter)
ถึงแม้ตามหลักการแล้ว Kicks e-Power จะไม่มี ระบบส่งกำลังแบบรถยนต์ทั่วไป เพราะเป็นระบบ Single Speed Gear Reduction หรือ Motor Direct Drive หมุนล้อโดยตรง แต่ เพื่อให้การใช้งานในชีวิตประจำวัน สะดวกกับคนทั่วไปมากสุด จึงมีการออกแบบ Shift Selector (หรือ ถ้าเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือ “คันเกียร์” นั่นแหละ) สำหรับ เปลี่ยนจากเดินหน้า – ถอยหลัง เกียร์ว่าง หรือ จอด ให้เหมือนกับคันเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ มากที่สุด
การใช้งาน Shift Selector ก็เหมือนเกียร์อัตโนมัติทั่วไปนั่นละครับ…
- เมื่อติดเครื่องยนต์มา รถจะอยู่ในตำแหน่ง P (Park = จอด)
- ถ้าจะออกตัว เหยียบเบรก แล้วเลื่อนคันเกียร์ไปทางขวา กดลงล่าง คือ D (Drive : ขับไปข้างหน้า)
- ดันซ้ำ D อีกครั้ง จะเปลี่ยนเป็น B สำหรับช่วยเพิ่มแรงหน่วง หลังถอนคันเร่ง เพื่อขึ้นลงทางลาดชัน
- ดันขึ้นข้างบน R (Reverse : ถอยหลัง)
- ส่วน N (Neutral : ว่าง) ทำหน้าที่เหมือนเกียร์ว่าง (แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่ง N และไฟในแบ็ตเตอรีเหลือน้อย ระบบ จะไม่ชาร์จไฟกลับเข้าไปแบ็ตเตอรีให้) และเมื่อถึงจุดหมายแล้ว ให้กดปุ่ม P เพื่อจอด
กรณีที่คุณจำเป็นต้อง จอดรถแบบ Parallel ตามลานจอดรถ และต้องการ “ปลดเกียร์ว่าง” ทีมวิศวกรญี่ปุ่น ออกแบบระบบนี้ให้กับตลาดเมืองไทยเป็นพิเศษ มีขั้นตอนดังนี้
- กดปุ่มสตาร์ท 1 ครั้ง (โดยไม่ต้องเหยียบเบรก) เพื่อเปิดโหมด “On” เฉพาะระบบไฟฟ้าของอุปกรณ์ในรถเท่านั้น
- เหยียบเบรกคาไว้
- กดปุ่ม P
- ตบเกียร์ไป N แล้วคาขวาไว้อย่างนั้น 2 วินาที เพื่อบอกให้ระบบรู้ว่าจะปลดเกียร์ว่างนะ
- ปล่อยคันเกียร์
- ตบเกียร์ไป N แล้วคาไว้ 2 วินาที อีกครั้ง เพื่อยืนยันคำสั่ง
- จากนั้น มีข้อความแจ้งบนหน้าปัดว่า “โหมดเกียร์ว่างทำงาน” ทุกขั้นตอนเหล่านี้ คุณอาจต้องใช้เวลาทำค่อนข้างจำกัด และต่อเนื่องกันค่อนข้างจะทันที มิเช่นนั้น ระบบอาจจะไม่ยอมใส่เกียร์ว่างให้
Kicks e-Power มีโปรแกรมการขับขี่ (กดปุ่ม Drive Modes ที่ฐานคันเกียร์) ให้เลือก 3 รูปแบบ ได้แก่ Normal Mode , S (Smart) Mode และ Eco Mode แต่เพื่ออธิบาย ให้คุณผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ จึงขอเรียงใหม่ เฉพาะในบทความนี้ ดังนี้
- Normal Mode : การขับขี่แบบปกติ เครื่องปรับอากาศทำงานปกติ คันเร่งเบาและไว แต่เมื่อถอนคันเร่ง รถจะหน่วงความเร็วแบบปกติ เหมือนรถยนต์ Hybrid ทั่วไป คือ หน่วงไม่มากนัก พอให้ไหลต่อไปได้ แต่ปล่อยไหลแล้ว ความเร็วจะหล่นลงมาเหลือ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่หยุดสนิท
. - Eco Mode : สมองกลจะสั่งให้ลดการใช้ไฟฟ้า เหลือเท่าที่จำเป็น คันเร่งจะหน่วง ต้องกดให้ลึก รถถึงจะพุ่งเท่าเดิม เปิดระบบ One Pedal ให้อัตโนมัติ
. - S Mode (Smart Mode) คือการผสมเอา 2 Mode แรก มาพบกันตรงกลาง ตามหลักมัชชิมาปฏิปทา คือ คันเร่ง ยังเบาและไวแบบ Normal Mode แต่ เปิดระบบ One Pedal ให้โดยอัตโนมัติ ด้วย เช่นเดียวกับ Eco Mode
แรกเริ่มเดิมที ทั้ง Note e-Power และ รถตู้ Serena e-Power ในตลาดญี่ปุ่นนั้น มี โหมดการขับขี่ (Drive Mode) เพียงแค่ 2 แบบ คือ Normal Mode กับ Eco Mode แต่ ผลจากการเก็บข้อมูลกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำให้ Nissan ค้นพบว่า มีลูกค้าจำนวนมาก ที่อยากได้การตอบสนองของคันเร่งแบบปกติ เหมือน Normal Mode แต่ อยากได้แรงหน่วงหลังถอนคันเร่ง แบบ One Pedal เหมือน Eco Mode ดังนั้น ใน Kicks e-Power ทีมวิศวกรเขาก็เลย เซ็ตโปรแกรม S (Smart Mode) ขึ้นมาให้ เป็นพิเศษ แทรกตัวอยู่ตรงกลาง ระหว่าง Normal กับ Eco Mode เสียเลย!
ถ้าเทียบกับ Normal Mode ใส่เกียร์ B ก็จะมีความต่าง.. Normal + B จะมีความหน่วง แต่ปล่อยคันเร่งหมด รถจะไม่หยุดนิ่ง แต่ S Mode นั้น One-Pedal จะถูกเปิดใช้ เมื่อถอนคันเร่ง รถจะชะลอความเร็วจนหยุดสนิท
ถัดจาก สวิตช์ Drive Mode ก็คือ สวิตช์ EV Mode เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมือง หรือย่านที่ต้องการความเงียบสงบ เช่นในหมู่บ้าน เขตโรงเรียน หรือเขตชุมชน เป็นต้น มีให้เลือก 2 Mode ดังนี้
- EV (Drive) Mode : มอเตอร์จะขับเคลื่อนรถไป แต่สั่งไม่ให้เครื่องยนต์ทำงานเลย ยกเว้นกรณีที่ไฟในแบ็ตเตอรี เหลือน้อยกว่า 40%
.
สงสัยใชไหมครับว่า แบ็ตเตอรี ที่ชาร์จไฟเต็มแล้ว จะแล่นได้ไกลแค่ไหน? เราจึงทดลองชาร์จไฟให้เต็ม แล้วลองขับจริงกันดู จนพบว่า ถ้าใช้ความเร็วคงที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในโหมด ECO (Mode EV ถูกบังคับให้ขับในโปรแกรม ECO เท่านั้น) ผมสามารถทำระยะทางได้ 3.7 กิโลเมตร ในจังหวะเดียวกับที่ เครื่องยนต์ถูกปลุกขึ้นมาปั่นไฟอีกครั้ง (แต่ถ้าใช้ความเร็วต่ำกว่านี้ มีโอกาสทำระยะทางได้ไกลกว่านี้อีกนิดหน่อย)
. - EV (Charge) Mode ผู้ขับขี่ สามารถกดปุ่ม สั่งให้เครื่องยนต์ทำงานเพื่อปั่นไฟเข้าแบ็ตเตอรีได้ทุกเมื่อ พอไฟในแบ็ตเตอรี ถึงระดับสูงสุดที่วิศวกรกำหนดไว้ คือประมาณ 90% จากความจุเต็มแบ็ตเตอรี ระบบจะสั่งดับเครื่องยนต์ทันที ปกติแล้ว รถยนต์ Hybrid ของ Toyota หรือ Honda จะไม่สามารถสั่งชาร์จไฟเองได้แบบนี้ ยกเว้นรถยนต์จำพวก PHEV (Plug-in Hybrid) ทั้งฝั่งญี่ปุ่นหรือยุโรป
ขั้นตอนการใช้งานโหมดชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ ด้วยตัวคุณเอง ในกรณีที่อยากชาร์จให้แบ็ตเตอรี เต็มเร็วๆ ระหว่างจอดติดไฟแดง (ปกติ เครื่องยนต์จะดับตอนจอดรถ)
- กดปุ่ม Drive Mode เลือก โหมดการขับขี่ไปที่ S Mode หรือ ECO Mode อย่างใดอย่างหนึ่ง
- ดันสวิตช์ EV Mode มาด้านหลัง 1 ครั้ง แล้วถอน
- ดันสวิตช์ EV Mode มาด้านหลังอีกครั้ง ค้างไว้ 2 วินาที จนสัญลักษณ์ EV บนมาตรวัด เปลี่ยนเป็น Charge เครื่องยนต์จะติดขึ้นมา ทำงาน ปั่นไฟเข้าแบ็ตเตอรี จนกว่า ระบบจะเห็นควรว่า เต็ม 90% แล้ว จึงสั่งหยุดเครื่องยนต์
หมายเหตุ :
1. EV Mode จะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อเลือก โปรแกรมการขับขี่ (Drive Mode) ไปที่ SMART หรือ ECO เท่านั้น (ถ้าเลือก Normal ระบบ EV ที่เปิดไว้อยู่แล้ว จะเด้งออก และมีการแจ้งเตือนบนมาตรวัด ว่า ใช้งาน Mode EV ไม่ได้)
2. EV Mode จะใช้การได้ก็ต่อเมื่อระบบขับเคลื่อน ถึงอุณหภูมิทำงานแล้ว ถ้าเพิ่งกดปุ่ม Power ใหม่ๆ และระบบ ยังไม่อุ่นพอ ระบบจะแจ้งเตือนบนมาตรวัด ว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องรอสักพักหนึ่งก่อน)
3. บนมาตรวัด จะมีไฟแสดงการจำกัดกำลังงานไฟฟ้า (Turtle Mode) ติดสว่างขึ้นมา ในกรณี เมื่อระดับไฟในแบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน อุณหภูมิของระบบ Hybrid ต่ำหรือสูงเกินไป หรือ ไฟถูกชาร์จ กลับเข้าไป ต่ำมาก หรือเมื่อเกิดปัญหาในระบบขับเคลื่อน (System false) เพื่อแจ้งเตือนคนขับ และปรับตัวเองให้เข้าสู่การขับขี่แบบ ประคับประคอง
ระบบ One Pedal คืออะไร?
One Pedal คือ โปรแกรมที่ เซ็ตให้ แป้นคันเร่ง จะเพิ่มแรงหน่วงมากกว่าปกติ เมื่อคุณถอนเท้าจากคันเร่ง เพื่อช่วยให้รถ หน่วงชะลอความเร็วลงมาให้เอง ช่วยให้ผู้ขับขี่ สามารถเร่ง และชะลอรถ ได้ด้วยการใช้แป้นคันเร่ง เพียงอย่างเดียว โดยแทบไม่ต้องเหยียบเบรก รถจะค่อยๆชะลอความเร็ว อย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงหน่วง 0.15 g จนหยุดนิ่งสนิท
ระบบ One Pedal ใน Kicks e-Power ต่างจาก ระบบ E-Pedal ใน Nissan LEAF Gen 2 อย่างไร?
ในแง่ของผู้ขับขี่ หลักการทำงานหนะเหมือนกันเป๊ะ แต่ในแง่วิธีการทำงาน จะแตกต่างกัน ตรงที่…
- ระบบเบรกของ Leaf ใช้แรงเบรกจาก หม้อลมเบรกแบบปั้มไฟฟ้า (Electric Booster) โดยมีแรงหน่วงหลังถอนคันเร่งจนถึงรถชะลอและหยุดนิ่ง ที่ 0.2 G ทำให้ ระบบ E-Pedal ของ Leaf ต้องใช้ระบบเบรกของตัวรถทำงาน
. - แต่ Kicks e-POWER เมื่อคุณถอนคันเร่ง รถจะใช้แรงเบรกจาก มอเตอร์ขับเคลื่อน ซึ่งจะหมุน เพื่อ Regenerative หรือทั้งหน่วงความเร็วรถ พร้อมกับปั่นกระแสไฟไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี ร่วมกันในคราวเดียวไปเลย โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับระบบหม้อลมเบรกแบบบ้านๆ ของตัวรถทั้งสิ้น
การใช้งานระบบ One Pedal
- กดปุ่ม Drive Mode เลือก โหมดการขับขี่ไปที่ S Mode หรือ ECO Mode ระบบ One Pedal จะเข้ามาทำงานทันที และ ถ้าอยู่ในโหมดนี้แล้ว คุณจะยังไม่สามารถยกเลิกหรือปิดระบบ One Pedal ได้ จนกว่าจะกลับเข้าไปกดเลือก Normal Mode
. - ถ้าคุณชะลอรถ จนระบบตรวจวัดได้ว่า แรงหน่วงความเร็วรถ เกินกว่า 0.1 G ไฟเบรกจะติดสว่างขึ้นให้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อเตือนยานพาหนะที่แล่นตามหลังคุณมา
. - แม้ว่ารถจะหน่วงความเร็วให้คุณ ทันทีที่ถอนเท้า แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า เช่น Grab food LINE Man พลีชีพ ตัดหน้า หรือ น้องหมาวิ่งทะเล่อทะล่า ตัดหน้ารถโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ คุณอาจยังต้องเหยียบเบรกช่วย ในบางกรณี เพื่อให้รถหยุดอย่างฉับไวตามต้องการ
. - ขอแนะนำให้ ลองฝึกการกะระยะน้ำหนักเท้าบนแป้นคันเร่ง ให้คุ้นชินเสียก่อน ถ้าขับผ่านเนินสะดุด ลูกระนาด ในหมู่บ้าน หรือตรอกซอกซอย อย่าถอนคันเร่งจนหมด ให้แตะๆเลี้ยงๆ ไปด้วย มิเช่นนั้น รถอาจจะหยุดสนิทนิ่งได้ และคุณจะโดนยานพาหนะที่แล่นตามหลังมา ก่นด่าบุพการีเอาดื้อๆ
. - และเช่นเดียวกับ EV Mode ถ้าคุณเปลี่ยนไปเลือกโปรแกรม Normal Mode ระบบ One Pedal จะถูกยกเลิกการทำงาน โดยคันเร่ง จะกลับไปตอบสนองแบบรถยนต์ปกติ คือพอถอนเท้าแล้ว รถจะไหลยาวๆ ความเร็วจะลดลงช้ากว่าตอนเปิดใช้ One Pedal
สิ่งที่คุณควรรู้เพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ Kicks มีเสียงที่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป ทั้งตอนเร่ง และตอนเข้าเกียร์ถอยหลัง นั่นคือเสียงที่เรียกว่า Vehicle Sound for Pedestrians (VSP) ซึ่ง เป็นเสียงที่ถูกออกแบบมา ตามข้อบังคับของกฎหมายในต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้ประชาชนที่มีปัญหาทางสายตา สามารถได้ยินเสียงของรถที่แล่นเข้ามาใกล้ตน ขณะจะข้ามถนนได้
พวกเขาให้บริษัทที่ชื่อว่า Man Made Music ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบเสียง VSP ให้กับรถยนต์พลังไฟฟ้าของ Nissan โดยเสียงสังเคราะห์ชุดดังกล่าว จาก Man Made Music เริ่มต้นใช้กับ Nissan Leaf รุ่นปี 2018 เป็นครั้งแรก และจะถูกนำไปใช้กับรถยนต์รุ่นอื่นๆ รวมทั้ง Ariya และ Kicks e-POWER ใหม่นี้ด้วย
เสียงของ Kicks ในตอนเร่ง ขณะใช้งานในเมือง หรือเข้าเกียร์ถอยหลัง รวมทั้ง เบรกเพื่อให้ระบบ Regenerative ทำงาน ก็จะมีเสียง เหมือนกับ Nissan Leaf รุ่นใหม่ล่าสุด ดังที่คุณจะสามารถลองฟังได้จากคลิปของ Autotrader.ca ข้างบนนี้
ส่วนรายละเอียดการทำงานของ VSP ใน Kicks e-POWER อ่านได้จาก คู่มือผู้ใช้รถ ข้างล่างนี้ สรุปไว้หมดแล้ว
ตัวเลขสมรรถนะบนถนนเมืองไทย จะเป็นอย่างไร เรายังคงใช้วิธีการจับเวลา หาอัตราเร่งกันเหมือนเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ และผู้โดยสาร รวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้
คุณอาจสงสัยว่า ทำไมเราถึงนำตัวเลขของ Nissan March , Nissan Almera N17 ที่ตกรุ่นไปแล้ว และ Nissan Note รุ่นปัจจุบัน มาใส่ไว้ในตารางนี้ เหตุผลที่แท้จริงก็คือ เราต้องการให้คุณได้เห็นว่า ด้วยเครื่องยนต์เดียวกัน ถ้าส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ลงสู่ล้อขับเคลื่อนโดยตรง อัตราเร่ง ก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ ออกแนวอืดอาดยืดยาดกระจุยกระจายอย่างที่เห็น แต่พอเชื่อมเครื่องยนต์ เข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้า ปุ๊บ ตัวเลขอัตราเร่งดีขึ้นพรวดพราด ถึงเกือบ 1 เท่าตัว และแน่นอนว่า ตัวเลขที่ดีขึ้นนั้น มาจาก การทำงานของ มอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ และเครื่องยนต์ทำหน้าที่แค่ปั่นไฟส่งให้แบ็ตเตอรี เพื่อให้มอเตอร์ดึงไปใช้หมุนล้อ แค่นั้นเลย!
(แต่อีกเหตุผลที่แท้จริงนั้น ขอแนะนำให้เลื่อนลงไปอ่านในตารางอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงข้างล่างครับ)
ตัวเลขทั้งหมด ยืนยันชัดเจนอย่างดี ชนิดไม่ต้องสืบ ณ วันนี้ Kicks e-Power กลายเป็น Sub-Compact Crossover SUV (ซึ่งยังมีเครื่องยนต์สันดาปติดตั้งอยู่ในตัวรถ) ที่มีอัตราเร่ง แรงสุดในตลาด ทั้งในโหมดออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เรื่องน่าตกใจคือ อัตราเร่ง ยังแรงกว่า Mazda CX-3 เบนซิน 2.0 ลิตร ที่เคยครองแชมป์ในตารางนี้มายาวนานเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ถ้านำตัวเลขของ Kicks e-Power ไปเปรียบเทียบกับ รถยนต์ไฟฟ้าแท้ๆ อย่าง MG ZS EV (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 8.74 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง 6.37 วินาที) ยังไงๆ ตอนออกตัว MG ก็ยังไวกว่า Kicks ถึง 0.59 วินาที แต่พอถึงโหมดเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Kicks จะเร็วกว่า เพียง 0.02 วินาที เท่านั้น ถือว่า ช่วงเร่งแซง ใกล้กันมาก
เชื่อแน่ว่า ถ้า Nissan ตัดสินใจ นำเครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร Turbo จาก Almera มาวางลงใน Kicks อัตราเร่ง นาจะออกมาอืดกว่านี้ จนตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจจะหล่นลงมาป้วนเปี้ยนแถวๆ 11 วินาทีปลายๆ ใกล้เคียงกับ Nissan Juke 1.6 CVT เดิม หรือ Skoda Yeti 1.2 Turbo (มีใครยังจำรถรุ่นนี้ได้อยู่ไหม?) และนั่นจะทำให้ จุดเด่นของ Kicks หดหายไปอีกประการหนึ่ง
ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น หากปริมาณไฟในแบ็ตเตอรี มีอยู่เต็ม 90% ตามที่เห็นจากหน้าจอมาตรวัดแล้ว คุณจะพบแรงดึงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องมาก ตั้งแต่ออกตัว จนถึงความเร็ว แถวๆ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามประสารถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ก่อนจะเริ่มเนือยลงไปบ้าง เพียงนิดหน่อยหลังจากนั้น
แต่ถ้าเกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อไหร่ อาจต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย เพื่อจะไต่ขึ้นไปถึง 164 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นจุด Top Speed แล้วละ อันที่จริง ถ้าลองปล่อยไหลลงเนินช่วย มาตรวัด Digital สามารถ ขยับขึ้นไปได้ถึง 167 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่หลังจากนั้น ความเร็วก็จะถดถอยลงมาอยูที่ 164 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามเดิม อยู่ดี เราจึงเลือกที่จะใช้ตัวเลขที่รถทำได้จริง บนพื้นราบจะดีกว่า
ตัวเลขความเร็วสูงสุด ทำได้เพียงแค่นี้ เหตุผลเป็นเพราะว่า มอเตอร์ขับเคลื่อน เป็นแบบ Direct Drive หมุนปั่นล้อได้สูงสุด เพียงแค่นี้
ย้ำกันเหมือนเช่นเคยว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี
ในการขับขี่จริง การตอบสนองทุกอย่าง เป็นไปตามความคาดหมาย แรงดึงที่เกิดขึ้น มันพอๆกันกับรถเก๋งเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร มันพาผมทะยานปรู๊ดดดดดไปข้างหน้า อย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง แทบจะเรียกว่าเป็น Instant acceleration สำหรับคนที่คุ้นเคยกับความแรงระดับรถสปอร์ตหรือ Super Car มาแล้ว ผมว่า ก็น่าจะยังรู้สึก Impress ได้อยู่บ้างเหมือนกันนั่นละ แต่สำหรับคนที่ ไม่เคยเจอรถแรงมาก่อน รับประกันความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ ในระดับที่ยังพอควบคุมได้แน่นอน เพราะตัวรถ ตอบสนองตามสั่งพอสมควร อาจจะไม่ถึงขั้นแรงแบบรถสปอร์ต เพราะมันเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ทำออกมาเพื่อรถบ้านๆ ไม่ได้เอาไปแข่งกับพวก Tesla หรือ Porshce Taycan ดังนั้น ได้ตัวเลขขนาดนี้ ก็ทำได้ดีมากโขแล้ว
คันเร่ง ใน Normal Mode ตอบสนองไว ไม่ Lack เป็นไปตามที่คุณคาดหวังได้ ไม่ว่าคุณจะออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง หรือ กำลังเดินทาง แล้วต้องเร่งแซงรถขับช้าแช่ขวา แค่เติมคันเร่งลงไปประมาณหนึ่ง ไม่ถึงับต้องกดลงไปจมมิด รถก็เพิ่มความเร็วขึ้นมาให้อย่างทันอกทันใจแล้ว แต่ถ้าเปิด Eco Mode แน่นอนว่า คันเร่งก็จะหน่วงยานลงมาให้ เพื่อเน้นความประหยัดน้ำมัน ขณะขับคลานๆ ไปตามถนนในเมือง
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ พลังงานในการขับเคลื่อนรถ มาจากไฟฟ้า ดังนั้น รถจะตอบสนองกับเท้าขวาของคุณได้ดีแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับว่า ปริมาณไฟของแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนในขณะนั้น มีมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าไฟในแบ็ตเตอรี ยังเยอะอยู่ กดคันเร่งแค่ไหน พละกำลังจากมอเตอร์ พร้อมหมุนล้อได้ตามสั่ง เท่าที่คุณต้องการ เหมือนกับคุณเพิ่งกินมื้อเช้ามาหมาดๆ ก่อนตอกบัตรเข้าทำงาน สมองก็แล่น ทำงานก็คล่องแคล่วต่อเนื่อง
แต่ถ้าในวันทีใครสักคนในบ้านเกิดล้มป่วย จนคุณต้องพาไปส่ง ห้อง I.C.U. โดยด่วน คุณรีบออกจากบ้าน ด้วยความเร่งด่วน และคุณก็เหยียบคันเร่งต่อเนื่อง เร่งๆ ถอนๆ เปิดแต่ Normal Mode โดยไม่ได้เปิด S หรือ Eco Mode จนระบบแทบไม่มีเวลาพอให้ปั่นไฟไปเก็บสำรองในแบ็ตเตอรีเลย ปั่นได้เท่าไร่ ก็ต้องถ่ายเทไปให้มอเตอร์แทบตลอดเวลา จนไฟในแบ็ตเตอรี เหลือน้อยมาก จนกระทั่ง เข้าสู่ ขีดสีเหลือง บนมาตรวัดการไหลเวียนพลังงาน
ถึงตอนนั้น ต่อให้คุณจะเหยียบคันเร่งจมมิด จนตีนนี่แทบจะทะลุกันชนหน้า การไต่ความเร็วขึ้นไป ก็จะเชื่องช้า ยิ่งกว่าสล็อตหัดเดิน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไฟเหลือน้อย รถก็เร่งได้อืด เป็นธรรมดา ก็เหมือนกับวันที่คุณยังไม่ได้กินข้าวตั้งแต่เช้า จรดเย็น แต่ถูกใช้ให้ยกอิฐ หิน ปูน ทราย แบกกระสอบข้าวทั้งวัน คุณก็ไม่มีเรี่ยวแรง จะทำงานไหว นั่นละครับ อาจจะต้องใจเย็น รอให้รถปั่นไฟไปเก็บไว้ในระดับขั้นต่ำของแบ็ตเตอรีขับเคลื่อนให้ได้ก่อน สมรรถนะจะกลับมาตามปกติ
การเก็บเสียงในห้องโดยสาร
Noise Vibration & Harshness
ประเด็นสำคัญที่ทีมวิศวกร Nissan ให้ความใส่ใจ นั่นคือเรื่องของเสียงรบกวน ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากพื้นถนน เสียงจาก กระแสลมไหลผ่านตัวรถ หรือแม้แต่เสียงจากห้องเครื่องยนต์
หลังจาก Note e-POWER ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นไปสักระยะ ลูกค้า ก็เริ่มส่ง Feedback ผ่านทางงานวิจัยลูกค้า ว่าอยากได้การเก็บเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งจากห้องเครื่องยนต์ ในช่วงจอดรถ และช่วงที่เครื่องยนต์ต้องติดขึ้นมาเพื่อปั่นไฟ ไปจนถึงเสียงจากพื้นถนน ดังเข้ามายังซุ้มล้อคู่หลัง
ดังนั้น ใน Kicks e-POWER ทีมวิศวกร จึงเพิ่มวัสดุซับเสียง (Insulator) ตามจุดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น บริเวณ ใต้ฝากระโปรงหน้า ผนังกั้นห้องเครื่องยนต์ กับห้องโดยสาร (Dashboard Insulator) พรมปูพื้นรถ แผง Insulator ซับเสียง ในบานประตูทั้ง 4 และเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้ง 2 ไปจนถึง Rear fender Liner หรือวัสดุซับเสียง ที่สวมเข้าไปในซุ้มล้อคู่หลัง
ผลลัพธ์ที่ได้คือ เสียงของเครื่องยนต์ ขณะติดเครื่องเดินเบาเพื่อปั่นไฟในขณะรถหยุดนิ่ง ลดลงจาก Nore e-POWER 4 dBA รวมทั้งเสียงรบกวนจากกระแสลม ก็ลดน้อยลงไปด้วยเช่นเดียวกัน
เราทำการวัดค่าความดังของเสียง จากเครื่องวัด โดยใช้พื้นถนน บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงทางราบบ่อนไก่ และ ทางราบสุขุมวิท 62 ซึงเป็นช่วงที่มีพื้นผิวยางมะตอยดีที่สุด ใหม่ที่สุด วัดในช่วงเที่ยงคืน ได้ตัวเลขออกมาดังนี้
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง วัดได้ 67.1 dBA
120 กิโลเมตร/ชั่วโมง วัดได้ 69.4 dBA
ข้อดีของ Kicks e-POWER ก็คอ หากเครื่องยนต์ ยังไม่ติดขึ้นมาทำงาน บรรยากาศความเงียบในห้องโดยสาร ก็เหมือนกับรถยนต์ EV แท้ๆ เปี๊ยบ แต่พอเครื่องยนต์ทำงานในรอบเดินเบา ตอนจอดนิ่ง เสียงเครื่องยนต์จะดังขึ้นมาในระดับน้อยกว่าบรรดา March , Note และ Almera N17 รุ่นเดิม นิดหน่อยเท่านั้น ยิ่งถ้าคุณยืนอยู่นอกรถ ในตอนกลางคืน จะพบว่า เสียงเครื่องยนต์ บวกกับการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ก็ยังดังเอาเรื่อง อยู่ดี
ส่วนเสียงของกระแสลม ไหลผ่านตัวถัง ในช่วงความเร็วดังกล่าว ยังพอมีให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่เสียงลม จะเล็ดรอดเข้ามาหลังจากความเร็วเกินกว่า 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ทั้งจากบริเวณขอบหน้าต่าง ช่วงแผงประตู ใกล้กับเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เป็นหลัก แต่ยังถือว่า เบากว่า เสียงของ Toyota Corolla Cross นิดเดียว แต่พอหลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เป็ธรรมดา ที่เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวถังจะดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้น
ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel
พวงมาลัยเป็นแบบ Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) หมุนจากซ้ายสุดไปถึงขวาสุด 2.96 รอบ รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด อยู่ที่ 5.1 เมตร ทีมวิศวกร พยายามเพิ่มความแข็งแรงให้กับชุดเพลาพวงมาลัย (Steering shaft) เพิ่มมากขึ้นจากรุ่นเดิม รวมทั้งเพิ่มปริมาณของยางที่ช่วยลดการสั่นสะเทือนในแกนแร็ค อีก 30% และปรับอัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาอยู่ที่ 16.8 : 1 เพื่อเพิ่มการตอบสนองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยน Motor ไฟฟ้า ของระบบ EPS มาเป็นแบบ Brushless Motor (ไร้แปรงถ่าน) เพื่อช่วยลดอาการ Back lash (ลดแรงต้านในการหมุนพวงมาลัย) ลงมา เพื่อช่วยให้หมุนพวงมาลัยได้ เบาและสบายมือยิ่งขึ้นในช่วงความเร็วต่ำ (นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากพวงมาลัยของ Note รุ่นปัจจุบัน)
ถ้าคุณเคยขับ Nissan Almera 1.0 Turbo มาแล้ว คุณคงจำได้ว่า พวงมาลัยของ ญาติผู้พี่ของ “อีเกิบ” คันนี้ นั้น หมุนได้คล่อง ให้ความต่อเนื่อง (Linear) ได้ดีขึ้นมาก เลียวได้ตามสั่งยิ่งกว่าเดิม แถมยังสนองตอบต่อการบังคับเลี้ยว ทั้งแบบปกติ และแบบหักซ้าย – ขวา ต่อเนื่องทันที ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่ารุ่นเดิมราวฟ้ากับเหว หมุนพวงมาลัยจนสุดแล้ว รถก็จะคืนพวงมาลัยกลับมา ทว่า น้ำหนักมันเบาโหวงไปหน่อย
ในขณะที่ชุดแร็คพวงมาลัยของ Note รุ่นปัจจุบัน นั้น ตอบสนองได้ Perfect มาก ทั้งความคล่องแคล่วในการหมุน หรือน้ำหนักที่เบากำลังดี ไม่เบาโหวงในความเร็วต่ำ แถมยังมีน้ำหนักหน่วงมือ และ On Center feeling ดีมากๆ ในย่านความเร็วสูง (หนักกว่า Almera Turbo ชัดเจน) ทำให้ Note ก้าวขึ้นมาท้าชิงตำแหน่ง B-Segment Eco Car ที่มีพวงมาลัยตอบสนองดีที่สุด หนืดกำลังดี เบากำลังเหมาะมือ และหมุนเลี้ยวได้เป็นธรรมชาติ ทัดเทียมกับทั้ง Suzuki Swift และ Mazda 2 รุ่นปัจจุบัน ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ทว่า สำหรับ พวงมาลัย Kicks นั้น ถ้าให้อธิบายสัมผัสที่ผมได้รับจากตัวรถกันแล้ว เปรียบเสมือน การนำชุดแร็คพวงมาลัยของ Almera 1.0 Turbo ล้อ 15 นิ้ว มาติดตั้งให้เลย (ทั้งที่ความเป็นจริง แร็คพวงมาลัยของ Kicks เป็นคนละตัวกับ Almera Turbo ใหม่)
เพียงแต่ว่า การถอดเปลี่ยนมาใช้ ล้อขนาด 17 นิ้ว ซึ่งมีน้ำหนักมากขึ้น พร้อมกับยางที่มีหน้ายางกว้างขึ้น เพื่อเพิ่มการแรงเสียดทานอีกนิด ให้การยึดเกาะถนนดีขึ้น ช่วยให้พวงมาลัยที่เคยเบาโหวง หนืดขึ้นมาอีกนิดนึง ดังนั้น น้ำหนัก และความหนืด รวมทั้งแรงต้านมือ ในช่วงความเร็วต่ำ จะอยู่ในเกณฑ์ “เบากำลังดี” อาจจะด้อยกว่าสิ่งที่ผมคาดหวังไปนิดนึง แต่ก็ยังถือว่ายอมรับได้ เพราะไม่ทิ้งบุคลิกอันคล่องแคล่วในการบังคับควบคุม ที่ผมเชื่อว่าคุณสุภาพสตรีทั้งหลายน่าจะชื่นชอบ
ไม่เพียงแค่นั้น ในย่านความเร็วสูง On Center Feeling จะเหมือนกับพวงมาลัยของ Note และ Almera 1.0 Turbo ไม่มีผิด คือตั้งตรงแหน่วดีมากๆ ไม่ต้องคัดซ้ายคัดขวา เหมือน Almera กับ March รุ่นเก่า ดีขึ้นมาก หน่วงมือนิดๆกำลังดีอีกต่
มองในภาพรวม แร็คพวงมาลัยของ Kicks จะมีความต่อเนื่องในการหมุนพวงมาลัย ในระดับใกล้เคียงกันมากขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่น้ำหนักและความหนืด อยู่ตรงกลาง ระหว่าง Note (หนืดกำลังดี) กับ Almera Turbo (เบาโหวงไปหน่อย) แต่แอบจะกระเดียดมาทาง Almera Turbo มากกว่า ชัดเจน
ระบบกันสะเทือน / Suspension
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบกึ่งอิสระ Torsion Beam เหมือนๆกับบรรดา รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้พื้นตัวถัง V Platform ของ Nissan ทุกรุ่น ทั้ง March Almera และ Note ก็จริงอยู่
ทว่า คราวนี้ ทีมวิศวกร ดูเหมือนจงใจ ปรับปรุงชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟรม Suspension member ด้านหน้ารถ ที่มีการเปลี่ยนจุดยึดชิ้นส่วน ให้เป็นรูปทรงแบบใหม่ ที่มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อลดเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือน (NVH : Noise Vibration & Harshness) ทั้งจากการทำงานของเครื่องยนต์ และแรงสะท้านจากพื้นถนน ควบคู่ไปกับการเพิ่มวัสดุซับเสียงอย่างหนักหน่วงที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมทั้งการปรับปรุงจุดยึดช่วงล่างด้านหลัง จากแบบ Bracket Type มาเป็นแบบ Direct Fix Type นอกจากนี้ยังมีการปรับมุม Caster ให้เพิ่มขึ้นจาก ช่วงล่างของ Nissan Note ถึง 30%
บุคลิกของช่วงล่าง มาในสไตล์คล้ายคลึงกับ Almera 1.0 Turbo อยู่บ้าง คือ ในช่วงความเร็วต่ำ จนถึงไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะขับขี่ผ่านตรอกซอกซอยต่างๆ ช็อกอัพและสปริง จะเคลื่อนตัวขึ้นลง ไปตาม เนินสะดุด ฝาท่อ ลูกระนาดต่างๆ ค่อนข้างน้อย ด้วยสัมผัสที่ “กระชับ”ยุบตัวไม่เยอะ และออกจะ “ตึงนิดๆ แต่ไม่ถึงขั้นแข็งตึงตัง” ยังพอหลงเหลือความนุ่ม จากความหนืดในจังหวะที่ล้อรถเข้าปะทะกับเนินสะดุด ลูกระนาด และดันช็อกอัพกับสปริงขึ้นไปนิดหน่อย
ส่วนความเร็วในช่วงเดินทาง ตั้งแต่ 50 จนถึง 164 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น รถจะยังคงนิ่ง ในระดับที่ให้ความ “ไว้ใจได้” แต่เมื่อมาเจอกับบุคลิกของพวงมาลัย ซึ่งค่อนข้างไวนิดๆ ด้วยแล้ว ภาพรวม จะทำให้คุณสัมผัสได้ถึงความเบาของตัวรถอยู่หน่อยๆ มันจะแตกต่างจากความ “เบาแต่แน่นหนา” ของ ทั้ง Corolla Cross และ C-HR อย่างชัดเจน
ส่วนการเข้าโค้งนั้น เราลองมาดูตัวเลขบนมาตรวัด ขณะแล่นผ่านทางโค้ง 5 แห่ง บนทางด่วนเฉลิมมหานคร ในกรุงเทพฯ อันเป็นทางโค้งที่ผมใช้ในการทดลองเป็นประจำยามดึกดื่น ราวๆ ตี 2 ขึ้นไป
เริ่มต้นด้วย โค้งขวารูปเคียว เหนือ ย่านมักกะสัน ตามปกติแล้ว มาตรฐานที่รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในโค้ง ช่วง 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Kicks ทำได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตัวรถนั้นเอียงกะเท่เร่พอสมควร และนั่นก็คือขีดจำกัดสูงสุดเท่าที่ตัวรถและยาง จะร่วมกันรับมือไหวแล้ว
ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Kicks เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะมากเมื่อตั้งลำได้ ก็เข้าสู่โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ตัวรถและช่วงล่างจะทนไหวแล้ว พอตั้งลำได้อีกครั้ง ก็เหยียบคันเร่งเพิ่ม ส่งรถเข้าโค้งขวา ยกระดับ ขึ้นไป ด้วยความเร็ว (บนมาตรวัด) 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง
สิ่งที่ต้องคำนึงเอาไว้สักหน่อยก็คือ เวลาเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงๆ ในขณะเลี้ยงคันเร่งไว้ให้นิ่งๆ ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมการขับขี่ Mode ไหนก็ตาม นั้น ด้านหน้ารถของ Kicks จะพยายามบานออกจากเลนในโค้งไปหน่อยๆ ถ้าไม่มีระบบ ITC มาช่วย ผมว่า หน้ารถอาจจะบานออกนอกโค้งมากกว่านี้แน่ๆ ดังนั้น ถ้าอยากจะให้ตัวรถเข้า-ออกจากโค้งได้ดี ขอแนะนำว่า ควรใช้ S (Smart) Mode เพื่อให้คันเร่งยังคงตอบสนองได้ดีเท่ากับ Normal Mode แต่เมื่อถึงหน้าทางโค้ง ด้วยความเร็วที่เหมาะสม ให้ถอนคันเร่งขึ้นมา จะแค่ 30% หรือ มากถึง ครึ่งหนึ่ง ก็ตาม (ขึ้นอยู่กับความเร็วที่คุณใช้มาเจอก่อนเข้าโค้ง) เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้ใช้ประโยชน์จาก ระบบ One Pedal ให้มอเตอร์ช่วยหน่วงรถลงมา เพื่อถ่ายน้ำหนักกดลงไปที่ล้อหน้าให้มากขึ้น สวนทางกับความเร็วรถที่จะลดลง เพียงเท่านี้ คุณก็จะพบว่า รถจะจิกหน้า เข้าโค้งได้ดีขึ้น และพาคุณออกจากโค้งได้อย่างสบายๆ
อีกประการหนึ่งที่จะต้องบอกกันไว้สักหน่อยก็คือ ถ้าหากคุณขับขี่อยู่บนทางหลวงข้ามจังหวัด แล้วจู่ๆ เจอสรรพสิงสาราสัตว์ ทั้งในรูปของ เดียรัจที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทั้งหมาทั้งแมว หรือมาในรูปยานพาหนะ ที่ไม่สนสี่สนแปดไดๆ แต่ตั้งใจจะตัดหน้าคุณ สำหรับ Kicks แล้ว การหักหลบด้วยพวงมาลัย ควรใช้ความระมัดระวัง และไม่ต้องหักเลี้ยวเยอะ เอาแค่กระดิกไปทางซ้าย หรือขวา เพียงนิดเดียว ก็พอแล้ว
เพราะจากการทดลองเปลี่ยนเลนกระทันหัน ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของเรานั้น อากัปกิริยาของรถ ที่เสียอาการ จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ Input พวงมาลัย ที่คุณเลี้ยวหักหลบ อย่าลืมว่า พวงมาลัยของ Kicks เอง ก็ค่อนข้างจะไว และเบา ในระดับใกล้เคียงกับ Almera แต่ด้วยเหตุที่ตัวรถสั้นกว่า แถมยังยกสูงกว่ากันนิดหน่อย และมีล้ออยู่ที่มุมรถทั้ง 4 แทบจะพอดี ดังนั้น ต่อให้มีระบบ VDC มาช่วย ในเวลาที่เหมาะสม และตอบสนองได้ทันท่วงทีก็ตาม แต่ถ้าใช้ความเร็ว มากจนเกินขอบเขตที่ระบบตัวช่วยจะทำงานได้ทัน เช่นซัดมาเต็มที่ เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป โอกาสที่รถอาจจะเสียการทรงตัว จนเอียงตะแคงหรือพลิกคว่ำ ก็พอมีความเป็นไปได้อยู่ แต่ถ้าแค่เปลี่ยนเลนไปมา อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามจังหวะจะโคน Kicks ก็ยังจะพร้อมเปลี่ยนเลนซ้าย – ขวา ได้อย่างคล่องแคล่ว และไว้ใจได้ประมาณหนึ่ง อย่างที่รถมันควรจะเป็น
ระบบห้ามล้อ / Brake
ถ้าคุณคิดว่า Kicks e-Power เป็นรถยนต์ Hybrid แบบนี้ แล้วต้องใช้ชุดแม่ปั้มเบรกไฟฟ้า เหมือนพวก Toyota Prius หรือ Nissan Leaf แน่ๆเลย…คุณคิดผิดครับ! เพราะความจริงแล้ว ระบบห้ามล้อของ Kicks นั้น มันก็เหมือนกับรถยนต์ธรรมดาทั่วๆไปเลยนั่นแหละ!
นั่นคือ เป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าเป็นแบบมีครีบระบายความร้อน จานเบรกทั้ง 4 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 280 มิลลิเมตร เท่ากันหมด ต่างกันแค่ว่า มีความหนาไม่เท่ากัน จานเบรกคู่หน้า หนา 24 มิลลิเมตร ส่วนด้านหลัง หนา 9.6 มิลลิเมตร ผ้าเบรก เป็นคนละขนาดกัน ระหว่างหน้า-หลัง ทำงานร่วมกับ หม้อลมเบรก ธรรมดาๆ บ้านๆ นี่แหละ!
จุดเด่นของ Kicks คือ ไม่ว่าคุณจะเลือกรุ่นไหนก็ตาม ทุกรุ่นย่อย จะมาพร้อมกับ 6 ระบบตัวช่วย ทั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Distribution) ระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)
เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง หรือบนพื้นลื่น VDC (Vehicle Dynamic Control) ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ ที่ล้อทั้ง 4 และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) ซึ่งจะทำงานในกรณีที่คุณ ขับขึ้นทางลาดชัน หรือทางขึ้นอาคารจอดรถ แล้วต้องจอดค้างอยู่บนเนินลาดชัน ทันทีที่ถอนเท้าจากแป้นเบรก ระบบจะสั่งให้ค้างแรงดันน้ำมันเบรกเอาไว้อีกราวๆ 2-3 วินาที เพื่อที่จะให้คุณเหยียบคันเร่ง ส่งรถขึ้นเนินต่อไปได้ทันที เพื่อไม่ให้รถไหลขณะออกตัว (แต่ถ้าเกินกว่า 2-3 วินาที ระบบจะยกเลิกการทำงาน รถจะไหลลงมาเอง) ทั้งหมดนี้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ติดตั้งมาให้ครบจากโรงงาน ทุกคัน! (เหมือนกับ Almera 1.0 Turbo)
นอกจากนี้ ทุกรุ่นย่อย ยังเพิ่มระบบ Intelligent Trace Control (ITC) ที่จะสั่งจับเบรกของล้อหน้าและหลังที่อยู่ด้านในโค้ง เพื่อช่วยรักษาทิศทางของตัวรถในโค้ง ควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ช่วยลดอาการหน้าดื้อ (Understeer) ติดตั้งเข้ามาให้อีกด้วย
แป้นเบรกมีระยะเหยียบในระดับปานกลาง ก็จริง แต่ในจังหวะแรกที่คุณเหยียบลงไป จะสัมผัสได้ว่าแป้นเบรกมีน้ำหนักเบา แรงต้านเท้าจะยังไม่เยอะนัก ในช่วง 20% แรกที่เริ่มเหยียบลงไป จนกระทั่ง เมื่อคุณเหยียบลึกลงไปเกินกว่านั้น จึงจะเริ่มพบแรงต้านเท้าที่มากขึ้น แป้นเบรกจะหนืดขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ยิ่งกดลึก ยิ่งต้านเท้า มาก และยิ่งต้องออกแรงเหยียบเพิ่มขึ้น จนสุดระยะเหยียบ ยังดีที่ สัมผัสจากแป้นเบรก ค่อนข้างนุ่ม และหนืดเอาเรื่อง ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมน้ำหนักเท้า เพื่อให้รถสามารถชะลอหรือหยุดได้ตามใจคุณต้องการ ในสภาวะการขับขี่ปกติทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าจู่ๆ มีเหตุให้ต้องเบรกกระทันหัน ถ้าคุณเหยียบลงไปเต็มๆสุดแป้นเบรก ตัวรถจะมีอาการหน้าทิ่มอย่าง นุ่มนวล แต่ ตัวรถจะเป๋ออกทางขวา ชัดเจนมากๆ ดังนั้น ควรใช้ความระมัดระวังสักหน่อย
เบรกมือ ของ Kicks เป็น เบรกจอด ควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้า การใช้งาน ก็เหมือนกับรถยนต์ ระดับ Premium ทั่วๆไป หลายๆรุ่น (รวมทั้ง คู่แข่งอย่าง Honda HR-V และ Mazda CX-30) เมื่อต้องการใช้เบรกจอด ให้เหยียบเบรกจมสุด แล้วใช้นิ้ว กระดิกยกสวิตช์ไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งบริเวณ ใกล้กับคันเกียร์ ขึ้นมาจนกว่าจะมีไฟสีแดง ติดสว่างขึ้นบนมาตรวัด ถ้าต้องการยกเลิก ให้เหยียบเบรกจมสุด แล้วค่อยกดสวิตช์ตัวเดิมลงไป 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีระบบ Auto Brake Hold หรือ ระบบค้างเบรกจอด ติดตั้งควบคู่กัน ขณะขับขี่ ถ้ากดเปิดระบบใช้งาน สวิตช์จะมีไฟสีเหลืองอำพันติดขึ้นมา หากคุณต้องละจอและจอดที่สัญญาณไฟจราจร คุณสามารถเบรกจนรถหยุดสนิท แล้วถอนเท้าออกจากแป้นเบรกได้เลย เบรกจอดจะทำงานเหมือนคุณขึ้นเบรกมือ และถ้าจะออกตัว ก็แค่เหยียบคันเร่งลงไป รถก็จะปลดเบรกจอดออกให้ทันทีโดยอัตโนมัติ การปลดระบบนี้ออก ให้กดปุ่มที่มีไฟสีเหลืองอำพัน ซ้ำอีก 1 ครั้ง
อุปกรณ์ ด้านความปลอดภัย / Safety
ระบบห้ามล้อ และตัวช่วยต่างๆ ข้างต้น จะทำงานร่วมกับระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ADAS (Adaptive Driver Assist System) ที่ Nissan เรียกว่า เทคโนโลยี Nissan Intelligent Mobility แม้ว่า เวอร์ชันไทย จะไม่ได้ติดตั้ง ระบบช่วยขับขี่กึ่งอัตโนมัติ Pro Pilot รวมทั้ง ระบบเตือนออกนอกเลนถนน Intelligent LI / LDW (Lane Departure Warning) และระบบตัดการทำงานของคันเร่ง เมื่อ ระบบตรวจจับว่า มีระยะห่างจากอาคารข้างหน้า ไม่เกิน 4 เมตร Misstep collision prevention assist หรือระบบป้องกันการพุ่งชน 7-11 แต่นอกนั้นแล้ว เวอร์ชันญี่ปุ่นมีอะไร เวอร์ชันไทย มีมาให้ครบ แถมมีอีก 2 ระบบ ที่แถมเกินมาให้ ทั้งที่เวอร์ชันญี่ปุ่นก็ไม่มี ดังรายการข้างล่างนี้
- ระบบเตือนการชนด้านหน้า IFCW (Intelligent Forward Collision Warning) (เฉพาะรุ่น E, V และ VL)
- ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน IEB (Intelligent Emergency Braking) (เฉพาะรุ่น E, V และ VL)
- ระบบเตือนเมื่อเหนื่อยล้า DAA (Driver Attention Alert) (เฉพาะรุ่น E, V และ VL)
- ระบบตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุและบุคคลที่เคลื่อนไหวจากกล้อง Around View Monitor 360 องศา รอบคัน MOD (Moving Object Detection) แสดงผลบนจอมอนิเตอร์เครื่องเสียง (เฉพาะรุ่น V และ VL)
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ICC (Intelligent Cruise Control) (เฉพาะรุ่น VL) ผู้ขับขี่ สามารถกดตั้งค่า เลือกระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ได้ 3 ระยะ ที่สวิตช์ด้านข้างบนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา
- ระบบเตือนจุดอับสายตาบนกระจกมองข้าง BSW (Blind Spot Warning) (เฉพาะรุ่น VL และไม่มีในญี่ปุ่น)
- ระบบเตือนขณะถอยรถ พร้อมเบรกเองอัตโนมัติ เมื่อมียานพาหนะ หรือคน เดินตัดท้ายรถ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) (เฉพาะรุ่น VL และไม่มีในญี่ปุ่น)
ระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องเมื่อเกิดเหตุ Passive Safety
- ถุงลมนิรภัยคู่หน้า Dual SRS (Supplemental Resistance System)
- ถุงลมนิรภัยด้านข้าง Dual Side SRS (เฉพาะรุ่น V และ VL)
- ม่านถุงลมนิรภัย Curtain SRS (เฉพาะรุ่น VL)
- เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด แต่ฝั่งคนขับแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ 2 ทิศทาง (Double Pretensioner & Load Limiter)
- ขณะที่ เข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารด้านหน้า จะเป็นแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติแบบทิศทางเดียว (Pretensioner & Load Limiter)
- เข็มขัดนิรภัยด้านหลังแบบ ELR 3 จุด 3 ตำแหน่ง
- จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก (Child Seat) มาตรฐาน ISOFIX ที่ด้านล่างของพนักพิงเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง
โครงสร้างตัวถัง
Kicks e-POWER ยังคงใช้โครงสร้างตัวถัง ซึ่งถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นตามแนวทาง Zone Body Concept อันเป็นมาตรฐานของ Nissan แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ Crushable Zone เป็นโครงสร้างความปลอดภัยด้านหน้า ทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกที่เกิดจากการชนด้านหน้า และ Safety Zone เป็นโครงสร้างห้องโดยสาร ที่มีความแข็งแรง ทนแรงอัดสูง รองรับ และกระจายแรงปะทะจากการชน ไปทั่วทั้งคัน
อย่างไรก็ตาม ทีมวิศวกร ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างตัวถังเดิมของ Kicks e-POWER ให้ดีขึ้นจาก Kicks รุ่นเดิม ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2016 โดยมีการเสริม เหล็กรีดร้อนอัดขึ้นรูป ที่ทนแรงอัดได้ถึง 980 เมกกะปาสคาล (MPa) บริเวณโครงกระดูกพื้นรถใต้เบาะคนขับ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับยึดแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน Lithium-ion เสริมความแข็งแรงของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar รวมทั้งโครงหลังคา ครึ่งท่อนหน้า ต่อเนื่องมาถึงเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ด้วยเหล็กรีดร้อน ทนแรงอัด 590 และ 1,180 MPa ตามตำแหน่งที่จำเป็น แถมยังเสริมความแข็งแรงให้กับพื้นตัวถังในภาพรวม ด้วยเหล็กรีดร้อนทนแรงอัดสูง 440 MPa นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบ Sub-Frame และชิ้นส่วนด้านในห้องเครื่องยนต์ คาน Suspension member ฯลฯ ขึ้นมาใหม่ ให้รองรับการทำงาน ของขุมพลัง e-POWER เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง แต่ลดการสั่นสะท้าน เพื่อช่วยให้เครื่องยนต์เดินเรียบขึ้นเมื่อยามที่ต้องติดขึ้นมาทำงานปั่นไฟ
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
***************** Fuel Consumption Test ******************
ในอดีต เครื่องยนต์ HR12DE ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ทำให้ March Almera รุ่นเดิม N17 และ Note ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ดีเกินคาด ด้วยผลการทดลองตั้งแต่ 17 – 19 กิโลเมตร/ลิตร ในรถยนต์ต่างรุ่น ต่างขนาดตัวถัง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า พ่วงด้วยแบ็ตเตอรี ในรูปแบบ Hybrid นั้น จะให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือแตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงที่หลายคนน่าจะคลางแคลงใจกันอยู่
ดังนั้น เราจึงไขข้อข้องใจ ด้วยการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา โดยการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน ตามมาตรฐานเดิม
ถังน้ำมันของ Kicks e-Power ทั้งเวอร์ชันไทย และตลาดโลก มีขนาดเท่ากันคือ 41 ลิตร ส่วนผู้ร่วมทดลอง ในคราวนี้ เป็นน้อง คิว (QCXLOFT) จาก Headlightmag Team ของเว็บเรา น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม
หลังจากเติมน้ำมันจนเต็มถัง หัวจ่ายตัด กันแล้ว เราคาดเข็มขัดนิรภัย กดปุ่ม Power ติดเครื่อง เปิดเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส พัดลมเบอร์ 1 เข้าเกียร์ D ตามปกติ ไม่เข้า Mode S หรือ Eco ทั้งสิ้น เราขับออกจากปั้มน้ำมัน เลี้ยวกลับที่ถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ เลี้ยวขวาลัดเลาะไปออกซอยโรงเรียนเรวดี ถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 แล้วก็ ขับรถกันไปยาวๆ จนถึงปลายสุดของระบบทางด่วน สายอุดรรัถยา เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม
เมื่อเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ มาถึง ทางลง ของทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้งเพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เหมือนครั้งแรกที่เราเริ่มต้นทดลอง ณ ตู้หัวจ่ายเดียวกัน ทั้งหมด
ตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดการทดลองของเรา จะมีเฉพาะช่วงออกจากปั้มน้ำมัน ไปจนถึงด่านเก็บเงินทางด่วน ที่พระราม 6 รวมทั้งช่วงขากลับ หลังจากลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรื่อยมาจนกลับถึงปั้มน้ำมัน เท่านั้น ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้า ได้อย่างเต็มที่ หลังจากเข็มความเร็วไต่ขึ้นพ้นจากระดับ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป หน้าจอของรถ ก็แสดงข้อมูลให้เห็นชัดเจนว่า เครื่องยนต์ ติดขึ้นมาทำงานตลอดทาง ต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดเลย
มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 91.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.19 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.57 กิโลเมตร/ลิตร
บางคนยอมรับกับตัวเลขนี้ได้ ก็ดีไป แต่สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า ทำไม Kicks e-Power วิ่งทางไกล แล้วทำตัวเลขออกมาได้แค่ พอกันกับ บรรดา ECO-Car 1.2 ลิตร ทั้งหลาย นั้น…
ลองเปิดฝากระโปรงหน้าดูนะครับ Kicks e-Power ยังคงใช้เครื่องยนต์ HR12DE มาช่วยในการปั่นไฟก็จริง แต่ถ้าย้อนไปดูตัวเลขผลการทดลองอัตราสิ้นเปลือง จากทั้ง Nissan March , Nissan Almera N17 รุ่นแรก และ Nissan Note คุณจะพบว่า ตัวเลขที่ออกมา มันก็ใกล้เคียงกับญาติพี่น้องทั้ง 3 คันนี้เลย เพราะเครื่องยนต์เอง ก็ทำงานแทบตลอดเวลา หลังพ้นความเร็ว 60 – 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นมา ดังนั้น จะไปหวังให้ตัวเลขจากการแล่นทางไกล ดีกว่านี้ เห็นจะยาก
ถ้าคุณอยากได้ความประหยัดจาก Kicks มีทางเดียวครับ คือเน้นการขับขี่ ใช้งานในเมือง เร่งๆ เบรกๆ บ่อยๆ เพราะในระหว่างที่คุณกำลังเคลื่อนตัวไปตามสภาพการจราจรติดขัดแบบไหลๆ ทุกครั้งที่เหยียบเบรก ระบบ Regenerative จะสั่งปั่นไฟกลับเข้าแบ็ตเตอรี จังหวะที่เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาทำงาน ก็ลดลงบ้าง (แต่ไม่เยอะ) ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณเห็นข้อดีของ ระบบ e-POWER Series Hybrid ได้ชัดเจนขึ้น
คำถามต่อมาก็คือ น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน? เท่าที่ผมลองใช้ชีวิตกับ Kicks e-Power เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม ลองขับขี่ทั้งแบบคลานๆ ในเมือง ขึ้นไปวิ่งเล่นบนทางด่วน หรือกดคันเร่งเต็มตีน เพื่อทำเวลาไปทำธุระ รวมทุกรูปแบบการใช้งาน รวมทุกโหมดการขับขี่ ครบทั้ง Normal , S และ ECO กว่าที่ไฟสัญญาณเตือนให้เติมน้ำมัน จะสว่างขึ้นมา มาตรวัด Trip Meter A และ B ก็หมุนไปจนถึง 429,9 กิโลเมตร โดย Trip Computer บอกกว่ายังสามารถแล่นไปได้ อีก 48 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปั้มน้ำมันที่ผมใช้บริการเป็นประจำ มาตรวัดขยับไปอยู่ที่ 451.5 กิโลเมตร โดย Trip Meter คำนวนว่า ยังแล่นต่อได้อีก 30 กิโลเมตร เท่ากับว่า ทริปนี้ น่าจะแล่นได้รวม 481.5 กิโลเมตร
ดังนั้น พอจะอนุมาน คร่าวๆได้ว่า ถ้าคุณขับแบบโหดๆ ตลอดเวลา น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาคุณแล่นไปได้ราวๆ 450 กิโลเมตร แต่ถ้าคุณขับแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ น้ำมันถังนึง อาจพาคุณแล่นได้ไกลถึง 550 กิโลเมตร ก็น่าจะทำได้ไม่ยากเย็น
เห็นตัวเลขทั้งหมดแล้ว แอบสงสัยขึ้นมาว่า ถ้า Nissan ตัดสินใจนำเครื่องยนต์ 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.0 ลิตร Turbo ใน Almera มาวางให้กับ Kicks แล้ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งในเมือง และนอกเมืองจะดีขึ้นกว่านี้มากน้อยแค่ไหนกันนะ? เพราะตัว Almera เอง ก็ทำสถิติ ด้านความประหยัดน้ำมัน ดีทีสุดในบรรดารถยนต์ Nissan ทุกรุ่นที่เราเคยทำรีวิวกันมาตลอด 20 ปีเลยทีเดียว
********** สรุป / Conclusion **********
Almera SUV ขับขี่เหมือนรถยนต์ EV เน้นที่จะใช้ในเมือง
อีกหนึ่งรถดี ที่มาช้าไปหน่อย จากเจ้าพ่อตลาดวาย
ย้อนกลับไปยังช่วง 1 ปีก่อนหน้านี้ ผมเคยพูดออกรายการวิทยุ DR!VE BY J!MMY ไว้ว่า อยากจะให้ Nissan Kicks ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้พวกฝรั่ง และญี่ปุ่น ในสำนักงานใหญ่ Yokohama รู้เสียบ้าง ว่าตลาด Asia – ASEAN นั้น ยังเพิ่งจะเปิดใจรับเทคโนโลยีขุมพลัง Hybrid หรือ PHEV หรือ EV ก็จริง แต่ถ้าจทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ต่ำกว่า 1.2 ล้านบาท แล้วละก็ ราคาจำหน่าย ค่าบำรุงรักษา และความคุ้มค่าในการใช้งานระยะยาวๆ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้า มองเป็นอันดับ ต้นๆเสมอ เนื่องจากพวกเขามักครอบครองรถไว้ใช้งาน นานเกินกว่า 7 ปี ดังนั้น คุณควรจะมี ขุมพลังเบนซิน แบบปกติ ไว้ให้ลูกค้าได้เลือกเปรียบเทียบ ควบคู่กับขุมพลัง Hybrid บนโชว์รูมด้วย
แม้ว่าในตอนแรก ผมออกจะแช่งชักหักกระดูก ให้ Kicks เจ๊งบ้ง แต่เมื่อได้ลองขับจริง ผมก็พอรู้ เข้าใจ และยอมรับว่าอันที่จริงแล้ว Kicks e-POWER มันไม่ได้เลวร้ายเลย ตรงกันข้าม มันก็มีคุณงามความดี สมตัว ของมันอยู่เยอะเหมือนกัน มันเป็นรถที่น่าใช้คันหนึ่ง ถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเป็นหลัก และเริ่มรู้สึกแอบเสียดาย หากมันจะเจ๊ง ในอนาคต
หลายคนที่มองว่า ราคาแพงไป แต่วัสดุ ให้มา พอๆกับ Almera เลย ผมเข้าใจในจุดนั้นครับ เพราะในความเป็นจริง Kicks มันคือ Nissan Almera 1,0 Turbo ในเวอร์ชัน SUV ดังนั้น มันจึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะพบว่า ลักษณะของวัสดุการตกแต่ง มันมาในแนวทางเดียวกับ Almera 1.0 Turbo ไม่มีผิด
ข้อดีที่ Kicks มีเหนือกว่าคู่แข่ง นั่นคือ ขุมพลัง e-Power Series Hybrid ที่ให้ประสิทธิภาพสูง ทั้งด้านอัตราเร่ง ที่ช่วยให้ Kicks ขึ้นมายืนเป็นจ่าฝูงในบรรดา B-SUV ที่ยังมีเครื่องยนต์สันดาปติดตั้งอยู่ (แม้ว่า ถ้านับรวม รถยนต์ EV เข้าไปด้วย MG ZS EV จะกลายเป็นตาอยู่ คว้าแชมป์หัวข้อนี้ไปกินในทันทีก็ตาม
สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นชินกับรถยนต์ EV การลองขับ Kicks e-POWER ในช่วงความเร็วต่ๆ จนถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง น่าจะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ ให้กับคุณได้ และผมก็ไม่แปลกใจแล้วละว่า ทำไม Nissan ถึงพยายามโฆษณาบอกว่า มันคือรถยนต์พลังไฟฟ้า แต่เติมน้ำมันได้ ก็เพราะว่า มันให้การขับขี่ ที่ใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้า EV แท้ๆ มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ในราคาที่ถูกสุดในตลาด ณ ตอนนี้ แม้จะยังต้องเติมน้ำมันอยู่ดี เพื่อใช้ปั่นไฟ ส่งให้มอเตอร์ขับเคลื่อนก็ตาม
ขณะเดียวกัน แม้ว่า ตัวถังมีขนาดเล็ก กว่าคู่แข่ง รุ่นใหม่ๆ แต่ความจริงแล้ว Kicks มีขนาดสมตัว เมื่อเทียบกับการขับขี่ใช้งานในเมือง แถมเมื่อคุณลองก้าวเข้าไปนั่งข้างใน จะพบความโปร่งโล่งสบาย มากกว่า คู่แข่งในตลาดแทบทุกรุ่น การบังคับควบคุมรถ ผ่าน พวงมาลัย ก็เน้นความคล่องแคล่วเป็นหลัก พอไว้ใจได้ในช่วงความเร็วเดินทาง ช่วงล่าง ยังเซ็ตมาให้เหมาะสมกับการใช้งานในเมือง และพอให้วิ่งทางไกลข้ามจังหวัดได้โดยไม่ขัดเขิน ส่วนระบบห้ามล้อ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เท่ากับระบบเบรกของรถยนต์ Hybrid ทั่วไป แถมด้วยระบบความปลอดภัยที่และความบันเทิง ในระดับที่ สูสีฟัดเหวี่ยงกับชาวบ้านเขาได้ ไม่น่าอายเหมือนในอดีตอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรปรับปรุง สำหรับ Kicks e-POWER นั้น ผมมองว่า มีอยู่ไม่กี่อย่าง ดังนี้
1. อยากให้มีเครื่องยนต์ เบนซิน 1.0 Turbo มาเป็นอีกทางเลือก ในราคาที่ถูกกว่านี้ มันเป็นสิ่งที่ผมคิดอยู่แล้วว่า คงเป็นไปไม่ได้ เพราะในเมื่อ Nissan ไปยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ Hybrid Electric Vehicles (HEV) จากทาง B.O.I. แล้ว นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะเพิ่มทางเลือกด้วยเครื่องยนต์ เบนซิน 1.0 ลิตร Turbo จาก Almera ใหม่ สำหรับตลาดใประเทศ น่าจะแทบไม่เหลือความหวังใดๆอีกแล้ว
2. เสียงเครื่องยนต์ ยังคงดังอยู่ดี ถ้าอยู่ในสภาพกลางวัน ที่ยังมีเสียงของบรรยากาศรอบด้านรายล้อมอยู่ เสียงเครื่องยนต์ของ Kicks ขณะติดขึ้นมาปั่นไฟ ยังไม่ถือว่าดัง แต่เมื่อใดก็ตาม ที่คุณนำรถไปจอดหน้าบ้าน ตอนกลางดึก ที่เงียบสงัด ชัดเจนเลยว่า เสียงเครื่องยนต์ ยังค่อนข้างดังไปหน่อย เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ในพิกัดเดียวกัน คันอื่นๆ
3. ถ้าคิดจะขายในราคานี้ วัสดุในห้องโดยสาร ควรปรับปรุงให้ดูหรูสมราคามากกว่านี้ มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ที่ คู่แข่ง อย่าง Toyota Corolla Cross มีราคาเท่ากันกับ Kicks e-POWER แต่ตัวรถมีขนาดใหญ่กว่า แถมยังตกแต่งด้วยวัสดุแบบเดียวกัน แต่แน่นหนา และดูสมราคา มากกว่า Nissan ชัดเจน
4. แบ็ตเตอรี ระบบขับเคลื่อน ควรมีความจุเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เพื่อช่วยเพิ่มระยะทางแล่นในโหมด EV ให้เพิ่มขึ้นกว่านี้ ช่วยเพิ่มประสบกรณ์ของผู้บริโภค ในการใช้รถยนต์ EV ให้ยาวนานขึ้นกว่านี้
5. ช่วงล่าง ภาพรวมหนะดี สมตัว แต่ ถ้าจำเป็นต้องหักหลบสิ่งกีดขวางกระทันหัน อาจต้องใช้ความระมัดระวัง และเลี้ยงพวงมาลัยแค่เพียงนิดเดียวพอ อย่าเผลอเลี้ยวเยอะ หรือหักซ้ายขวาไปมาเร็วๆ ในช่วงความเร็วเกิน 40 – 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เด็ดขาด ต่อให้ระบบ VDC จะพึ่งพาได้จริงก็ตาม
6. ปรับ Option ใหม่ ให้สมราคา คุ้มค่า สู้กับคู่แข่ง แน่นอนว่า Toyota Corolla Cross ยังพอมีช่องโหว่บางอย่างที่ Nissan ยังพอจะใช้เป็นจุดขายได้อยู่บ้าง ดังนั้น ถ้าปรับทัพ เสริม Option ใหม่ ให้ รุ่น S E และ V ดูคุ้มค่า คุ้มราคามากขึ้น ก็ยังพอจะมีทางเอาตัวรอดได้ต่อไปจนหมดอายุตลาด ในปี 4 ปีข้างหน้า
7. ขอถุงลมนิรภัยด้านข้าง ม่านลมนิรภัย ระบบ BSW และ RCTA เป็นอุปกรณ์มาตรฐานให้ทุกรุ่นเถิด มันจะกลายเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ Nissan แตกต่างจากแบรนด์อื่นในตลาด เพราะ 2 ระบบหลังนั้น ยังไม่มีใคร กล้าติดตั้งให้กับรถยนต์ของตนตั้งแต่รุ่นถูกสุดมาก่อน
8. ถ้าเป็นไปได้ ก็เพิ่มเวอร์ชันใหม่ ทำเป็น Kicks EV ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ พร้อมกับระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟไปในตัวเลยก็ย่อมได้ เพราะอันที่จริง Kicks เป็นรถยนต์ที่เหมาะกับการนำมาดัดแปลงให้เป็น รถยนต์ใช้ไฟฟ้าล้วนๆ โดยไม่ต้องมีเครื่องยนต์ปั่นไฟเสียด้วยซ้ำ แต่นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มขนาดแบ็ตเตอรี ให้ใหญ่กว่านี้ และเซ็ตช่วงล่างให้สมดุลกับน้ำหนักแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนมากกว่านี้ รวมทั้ง อาจต้องเปลี่ยนมาใช้ปั้มเบรกไฟฟ้าจาก Nissan Leaf
***** คู่แข่งในตลาด / Competitors *****
อันที่จริง Nissan Kicks e-POWER ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B-SUV โดยมีคู่ท้าชิงที่ตรงรุ่นมากสุด คือ Honda HR-V Mazda CX-3, MG ZS, ZS EV , Toyota C-HR แต่ก็คาบเกี่ยวกับกลุ่ม Sub Compact Hybrid SUV ซึ่งมี Toyota C-HR Hybrid ยึดหัวหาดอยู่ตามลำพัง (ก่อนที่ Honda HR-V Hybrid จะตามมาสมทบในปี 2021)
กระนั้น ด้วยค่าตัวที่สูงพอสมควร ทำให้ กลายเป็นว่า Nissan ต้องรับมือกับคู่แข่งที่ไม่ได้ตั้งใจจะพบเจอตั้งแต่แรก อย่าง Toyota Corolla Cross รวมทั้ง Mazda CX-30 ซึ่งต่างถูกออกแบบมาเอาใจลูกค้าที่มีรสนิยมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง งานนี้จึงเป็นภาระหนักสำหรับ Nissan ในการเปิดตัวรถยนต์ออกมา แข่งขันในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันดุเดือด (Red Ocean) แบบนี้
Honda HR-V : อดีตเจ้าตลาดกลุ่มนี้ ในเมืองไทย จากยอดขายเดือนละราวๆ 2,500 คัน แต่ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงปลายอายุตลาด ด้วยยอดขาย เฉลี่ย 300 คัน/เดือน ถ้าคุณชอบเส้นสายงานออกแบบภายนอก รวมทั้งต้องการพื้นที่ใช้สอยด้านหลังรถที่เยอะ และชื่นชอบความอเนกประสงค์จากการพับเบาะหลังอันเป็นจุดเด่น (เบาะหลังพับได้แบนราบแบบเดียวกับ Honda Jazz ) อีกทั้งยอมรับได้กับช่วงล่างที่นุ่มโยนไปหน่อย จนไม่ค่อยน่าไว้ใจนักในย่านความเร็วสูง เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมทั้งยอมรับได้ว่าอาจเจอปัญหา Defect ประจำรุ่น เช่น เสียงดังตามจุดต่างๆ หรือน้ำรั่วซึมตามขอบหลังคากระจก ที่เกิดจากการประกอบ และชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ต้นทาง ไปจนถึงปัญหาเรื่องสนิมในระยะยาว ซึ่งมีเรื่องราวเล่าลือมาหนาหูตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว คุณเดินเข้าโชว์รูม Honda ไปได้เลย แต่ถ้าไม่รีบร้อนนัก HR-V Full Modelchange จะเผยโฉมในตลาดโลก ภายในสิ้นปีนี้ และน่าจะพร้อมเปิดตัวในเมืองไทยได้ ทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน และ Hybrid i-MMD ช่วงกลางปี 2021
MG ZS / MG ZS EV : ทันทีที่เปิดตัวในเมืองไทย B-SUV จากเซี่ยงไฮ้รุ่นนี้ ก็เขย่าตลาด วายป่วง แย่งยอดขายจากบรรดาคู่ต่อสู้ชาวญี่ปุ่นไปได้เยอะมาก ยิ่งพอรุ่น EV เปิดราคาช็อกทั้งประเทศ ยิ่งได้กระแสตอบรับดีมาก จากเหตุผลที่ลูกค้า MG ส่วนใหญ่ มองว่า Option ติดรถ โดยเฉพาะระบบ i-Smart (ซึ่ง อาจจะรวนๆ งี่เง่าๆ ติงต๊อง เอ๋อๆ อยู่บ้าง แต่มันก็) สัมพันธ์กับราคา ที่พวกเขาต้องการ แม้ว่ารุ่น เครื่องยนต์ เบนซิน ทำอัตราเร่ง ได้โคตรอืด และอัตราสิ้นเปลือง แย่กว่าบรรดาคู่แข่งร่วมพิกัด ซึ่งตรงกันข้ามกับรุ่น EV ที่นอกจากจะแรงสุดแล้ว ยังประหยัดน้ำมันมากสุด (แหงละ ชาร์จแต่ไฟ ไม่ใช้น้ำมันแบบ Kicks เลยนี่หว่า) เพียงแต่ระยะทางแล่น อาจยังต้องรอการปรับปรุง แบ็ตเตอรี ให้แล่นได้ไกลเพิ่มจากนี้อีก สิ่งที่หลายคนลืมคิดก็คือ พวงมาลัยที่ปรับน้ำหนักได้ ตอบสนอง ดีกว่าที่คิด และช่วงล่างที่เซ็ตมาในแนวนุ่มแน่น แม้จะยังต้องแก้กันต่อไป แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เลว กระนั้น ความน่าเป็นห่วงคือ คุณภาพการประกอบ ความทนทานไว้วางใจได้ในระยะยาว (Relability) และการดูแลลูกค้าของศูนย์บริการซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ น่าเป็นห่วงมากที่สุดในบรรดาคู่แข่งทุกคันในพิกัดนี้
Mazda CX-3 : หลังการเปิดตัว CX-30 เราเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า Mazda วางตำแหน่ง CX-30 ให้ชนกับ C-SUV อย่าง Toyota C-HR และ Toyota Corolla Cross มากกว่า นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม CX-3 ถึงยังคงผลิตออกจำหน่ายในเมืองไทยกันต่อไป แน่นอนว่า นี่คือ B-SUV ที่ขับสนุกมากสุดในกลุ่ม จะเร่งจะเลี้ยวจะซัดเข้าโค้งหนักหนาแค่ไหน สั่งแล้วได้ดังใจปราถนา แต่แลกมาด้วยพื้นที่โดยสารด้านหลัง และห้องเก็บของ เล็กแคบเกือบจะที่สุดในกลุ่ม (เหนือกว่าแค่ Nissan Juke ซึ่งตกรุ่นไปแล้วเท่นั้น) อีกทั้งช่วงล่าง ยังออกแนวตึงตังในช่วงความเร็วต่ำ มากกว่าเพื่อนพ้องเขาอีกนิดนึง เครื่องยนต์ Diesel 1.5 ลิตร ถูกตัดออกไปแล้ว (ซึ่งดีแล้ว เพราะสมมรถนะไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่าย) เหลือแค่ขุมพลัง เบนซิน 2.0 ลิตร ซึ่งให้พละกำลัง และอัตราสิ้นเปลืองในระดับ ยอมรับได้ กระนั้น จำนวนศูนย์บริการที่เยอะพอ กลับสวนทางกับปริมาณของช่างเก่งๆ ที่จะวิเคราะห์และแก้ปัญหาให้ลูกค้าจนจบได้ในเคสโหดๆ แถมยังมีปัญหาไม่ยอมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ในระยะรับประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นคำสั่งจากญี่ปุ่นที่แปลกประหลาดมาก โชคดีที่ CX-3 เป็น Mazda ไม่กี่รุ่น ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาน่ากังวลใจมากนัก เลยยังพอมีลูกค้าอุดหนุนกันอยู่เรื่อยๆ แต่เรื่อง บริการหลังการขาย ยังคงน่าเป็นห่วงมาก สำหรับ Mazda ถ้าไม่แก้ไข ความดีและยอดขายที่สร้างสมกันมา เริ่มส่งผลกระทบกับพวกเขากันแล้ว
Mazda CX-30 : นี่คือการนำ CX-3 ที่เราคุ้นเคย มาปรับปรุงใหม่แทบทั้งคัน แก้ไขในจุดด้อยต่างๆ เพิ่มขนาดตัวรถให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดหน่อย จนกลายเป็น CX-3 ในแบบที่มันควรจะเป็นตั้งแต่แรก และกลายเป็นหนึ่งใน Crossover SUV ที่สวยสุด น่าใช้สุด น่าอุดหนุนมากสุด หากคุณเป็นคนโสด และไม่มีปัญหาเรื่องงบ อีกทั้งการเซ็ตรถ ยังกระเดียดไปทาง Mazda 3 มากจนเราควรจะเรียกมันว่า Mazda 3 เวอร์ชัน Crossover Coupe SUV มากกว่า แน่นอนว่า CX-30 ใหม่ ถูกจัดให้ขึ้นบรรลังก์อันดับ 1 ในด้านคุณภาพงานประกอบ การเลือกใช้วัสดุ และการตกแต่งภายในห้องโดยสาร ทว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงของ CX-30 ก็คือ…ประเด็นเรื่องศูนย์บริการ เหมือนที่เขียนไว้ในย่อหน้าของ CX-3 ข้างบนนี้นั่นแหละ! ไม่ต้องเขียนซ้ำละ เหนื่อยจะพูด!
Subaru XV : อันที่จริง XV จัดอยู่ในกลุ่ม “Compact Hatchback ยกสูง (C-Segment Hatchback Crossover)” เพราะตัวระใหญ่กว่า Kicks แต่ด้วยการตั้งราคาในเมืองไทย เพียง 970,000 – 1,015,000 บาท ทำให้ต้องถูกจับมาเป็นคู่แข่งกับ Kicks อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
XV เพิ่งเปลี่ยนโฉมใหม่ไปเมื่อ ปลายปี 2017 คราวนี้ เปลี่ยน Platform ใหม่ และโครงสร้างตัวถังใหม่ ช่วยให้ตัวรถเบาขึ้น คล่องขึ้น และมีพวงมาลัยกับช่วงล่าง ที่สูสีตีคู่กับ Toyota C-HR แถมในบางด้าน เผลอๆชนะ C-HR ด้วยซ้ำ แต่อัตราเร่งอืดกว่า Kicks เป็นผลมาจากเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบนอน Boxer 2.0 ลิตร ถูกเซ็ตมาให้เน้นประหยัดน้ำมันเป็นหลัก ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน เพียงรุ่นเดียวในตลาด แถมพนักศีรษะก็แข็ง ชนิดที่ว่าถ้าเขวี้ยงใส่หมา อาจชักกระแด่วตายได้ ตอนนี้ โชว์รูมและศูนย์บริการ เพิ่มขึ้นหลายจุดทั่วประเทศไทย แต่เอาเข้าจริง ศูนย์บริการ ที่พึ่งพิงได้ มีอยู่ไม่กี่แห่ง ส่วนรุ่นปรับโฉม Minorchange พร้อมระบบ Eyesight จะมาถึงเมืองไทย ปี 2021
Toyota C-HR : ด้วยเส้นสายที่โฉบเฉี่ยวเฟี้ยวฟ้าว หวือหวาจนสร้างกระแสก่อนการมาถึงเมืองไทยได้พักใหญ่ แต่พอ Crossover Coupe SUV รุ่นนี้ เปิดตัวแล้ว เราพบว่า เส้นสายอันสวยงามของมัน ก็เป็นดาบสองคม ที่ทำให้รถคันนี้ เหมาะสำหรับคนโสด ที่มักขับรถคนเดียว อาจมีแฟน หรือเพื่อน ติดสอยห้อยท้ายตามมาโดยสารด้วยเป็นบางครั้ง เนื่องจาก เส้นสายครึ่งคันหลัง ส่งผลต่อทัศนวิสัย และความอึดอัดทางสายตาสำหรับผู้โดยสารบนเบาะหลังอย่างมาก ทั้งที่ขนาดห้องโดยสาร ก็ใหญ่โต และนั่งสบายไม่แพ้ Kicks และเหนือกว่า HR-V ด้วยซ้ำ จุดเด่นสำคัญคือ การนำ Platform TNGA มาใช้ และการเซ็ตรถให้ติดสปอร์ตนิดๆ ทำให้ C-HR ถูกอกถูกใจลูกค้าที่ชื่นชอบการขับรถ อยู่ไม่น้อย แต่แน่นอนว่า งานออกแบบที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รู้สึกถึงความอเนกประสงค์ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Toyota ต้องเปิดตัวรถคันข้างล่างนี้ ตามออกมาประกบ…
Toyota Corolla Cross : ตามหลักแล้ว Corolla Cross เป็นรถยนต์อีกรุ่นที่ไม่ควรถูกจัดมาเป็นคู่แข่ง เนื่องจากพิกัดที่แท้จริงของน้องใหม่ล่าสุดคันนี้ คือ C-SUV ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า Kicks ชัดเจนในทุกด้าน แถมวัตถุประสงค์ในการออกแบบ ก็ยังเน้นเอาใจลูกค้ากลุ่มครอบครัวทีต้องการ C-HR ในเวอร์ชันที่นุ่มขึ้น สบายขึ้น โปร่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจาก Kicks คนละเรื่องไปเลย ทว่า ในเมื่อราคาค่าตัว ของ Kicks รุ่น V กับ VL ดันไปคาบเกี่ยวกับ Corolla Cross 1.8 เบนซิน Sport และ 1.8 Hybrid รุ่นเริ่มต้น จึงถูกลูกค้าและสื่อมวลชนจำนวนมาก จับไปเปรียบเทียบกับ Kicks อย่างช่วยไม่ได้ ซ้ำร้ายคือ หลายคน ยอมทิ้งใบจอง Kicks เพื่อหนีไปหา Corolla Cross ซะงั้น!
แน่นอนว่า ทุกสรรพสิ่งที่คุณคาดหวังจาก C-SUV 1 คัน ในราคา 1 ล้านบาทต้นๆ รวมอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ ใน Corolla Cross และนั่นก็ช่วยให้ ยอดสั่งจองสูงท่วม เกิน 5,400 คัน จนโรงงาน Toyota Gateway ต้องเปิดช่วงเวลาทำงาน 2 กะ เพื่อเร่งผลิตเคลียร์ยอดสั่งจองรถรุ่นนี้ แม้ว่าใช้ Platform TNGA เหมือนกัน แต่การขับขี่ ถูกเซ็ตไปในโทน นุ่มกว่า C-HR จนลูกค้าสายซิ่งอาจไม่ชอบ ตรงกันข้ามกับลูกค้าครอบครัวทั่วไป ซึ่งต่างพากันปลาบปลื้มกับพื้นที่ใช้สอยของรถทั้งคัน ที่ออกแบบมาได้ดี ในขนาดและราคาที่เหมาะสม เสียดายว่า Option บางอย่าง ควรกระจายลงมาอยู่ในตัวล่าง ให้มากกว่านี้ ด้านศูนย์บริการ ไม่ต้องห่วง แพร่หลายพอๆกับ แม่ค้าขายข้าวแกง ที่ผัดข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว ได้ นั่นแหละ
***** ถ้าตัดสินใจจะเลือก Kicks e-POWER ควรเลือกรุ่นย่อยไหนดี? *****
Nissan Kicks e-POWER เวอร์ชันไทย มีให้เลือกทั้งหมด 5 รุ่นย่อย ได้แก่
– รุ่น S ราคา 889,000 บาท *
– รุ่น E ราคา 949,000 บาท *
– รุ่น V ราคา 999,000 บาท *
– รุ่น VL ราคา 1,049,000 บาท *
– รุ่น PREMIERE EDITION ราคา 1,099,000 บาท **
* ราคาเฉพาะช่วงเปิดตัว ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2020 แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีข่าวการขึ้นราคาแต่อย่างใดทั้งสิ้น
** ชุดแต่ง PREMIERE EDITION ประกอบด้วย 1.กระจังหน้า V-Motion สีดำเงา 2.สเกิร์ตหน้าสีดำเงา 3.สเกิร์ตหลังสีดำเงา 4.สเกิร์ตข้างสีดำเงา 5.สปอยเลอร์หลังสีดำเงา 6.ล้ออัลลอยสีดำเงาขนาด 17 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ 7.สัญลักษณ์โลโก้ PREMIERE EDITION บริเวณเสากลางตัวรถ 8.คิ้วบันไดสแตนเลสโลโก้ PREMIERE EDITION 9.สัญลักษณ์โลโก้ PREMIERE EDITION บริเวณคอนโซลกลาง 10.แป้นวางเท้าทรงสปอร์ต
ส่วนรายละเอียดการรับประกันคุณภาพตัวรถ ระบบขับเคลื่อน และแบ็ตเตอรี รบกวนเลื่อนกลับขึ้นไปอ่าน ช่วงย่อหน้า “งานวิศวกรรม และการทดลองขับ” ข้างบนนี้
หากมองจากภายนอกแล้ว รุ่น S กับ E จะแตกต่างจาก V และ VL เพียงแค่ แผงกันกระแทกประตูด้านข้าง ไม่มีแถบสีเงิน ไม่มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และไม่มีไฟตัดหมอกคู่หน้า LED เท่านั้น
ทว่า สำหรับภายในห้องโดยสาร แล้ว ความแตกต่าง ในแต่ละรุ่นย่อย มีอยู่ประมาณหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้แคร์เรื่อง Option มากนัก รุ่น S ก็เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว และกลายเป็นรุ่นที่คุ้มค่ามากสุดในสายตาของผม เพราะ บรรดา อุปกรณ์ความปลอดภัย มีมาให้ในระดับเท่าที่จำเป็น ทั้ง ABS EBD BA VDC HSA ITC ก็ให้มาครบ ยกเว้นถุงลมนิรภัยที่มีมาให้แค่คู่หน้าเท่านั้น ส่วนความบันเทิงนั้น เครื่องเสียง ก็เป็นวิทยุ 2 DIN เชื่อมต่อ Bluetooth ได้ และมีช่อง USB กับ AUX พร้อมลำโพง 4 ตำแหน่ง
แต่ถ้าคิดจะเพิ่มเงินขึ้นมาเล่นรุ่น E ด้วยค่าตัว 949,000 บาท คุณได้ อุปกรณ์ เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย เพิ่ม พวงมาลัยหุ้มหนัง สัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้าและหลัง ระบบ IFCW , IEB และ DAA ซึ่งผมมองว่า ยังน้อยไปนิด
รุ่น V ติดตั้ง Option มาค่อนข้างเหมาะสม เมื่อเทียบกับเงินอีก 50,000 บาท ที่ต้องจ่ายเพิ่มจากรุ่น E ทั้ง เพิ่ม แผงกันกระแทกประตูด้านข้าง – สีดำ พร้อมแถบสีเงิน ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED เบาะหนังและวัสดุตกแต่งแผงประตู สีดำ มือจับเปิดประตูด้านในแบบโครเมียม เครื่องเสียง แบบ Monitor สี Touchscreen 8 นิ้ว พร้อมระบบ NISSAN CONNECT เชื่อมต่อโทรศัพท์สมาร์ทโฟน APPLE CARPLAY® ลำโพง 6 ตัว ถุงลมนิรภัยด้านข้าง (SIDE AIRBAGS) และกล้องมองภาพ 360 องศา IAVM อย่างไรก็ตาม ค่าตัว 999,000 บาท อาจค่อนข้างสูงไปนิด ความคุ้มค่าจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ มีการทำแคมเปญลดราคา ลงมาในระยะหลังจากนี้ เท่านั้น
แต่ถ้าคุณอยากได้ ภายในสี Two-tone ส้มตัดดำ หรือสีตัวถังใดก็ตาม แต่ต้องการหลังคาสีดำ หรือต้องการม่านลมนิรภัย 2 ฝั่ง แผงบังสัมภารด้านท้าย ระบบ Intelligent Cruise Control ระบบ Blind spot warning และระบบเตือนรถแล่ผ่านขณะถอยหลัง พร้อมเบรกให้ทันที RCTA คุณก็คงต้องยอมเพิ่มเงินขึ้นไปเล่นรุ่น Top VL น่าจะตรงกับความต้องการมากกว่า และได้ข้าวของมาครบ จบลงตัวสุด
ส่วนรุ่น PREMIERE EDITION ซึ่งต้องเพิ่มเงินอีก 50,000 บาท จากรุ่น VL นั้น เหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากได้ความพิเศษกว่าคนอื่น และเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เรื่องความคุ้มค่า ไม่อยู่ในความคิด สนใจแค่อยากได้ความเป็น Top beyond top of the line ขึ้นไปอีกขั้น หรือคิดจะซื้อ Kicks e-POWER ไปเก็บสะสม ในระยะยาว โดยทำใจได้ว่า ถ้าหากเป็นสายจอด ไม่ค่อยได้ขับ อาจต้องเปลี่ยนแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน บ่อยกว่าคนอื่นเขา
สำหรับผมแล้ว อันที่จริง Kicks e-POWER เป็นรถยนต์ที่ดี รุ่นหนึ่ง เท่าที่ Nissan เคยส่งมาทำตลาดในเมืองไทย ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า จากผลของการเมืองภายในองค์กรบางประการ ทำให้ Kicks ต้องเปิดตัวในบ้านเรา ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่ควารเป็นในปี 2016 ถึง 5 ปี เสียโอกาส ในการทำตลาด และการสร้างฐานลูกค้าในเมืองไทย และเสียโอกาสในการเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดกลุ่ม B-SUV ของสยามประเทศ Nissan ทำได้แค่เพียง แก้เกมด้วยการนำรุ่น Minorchage พร้อมกับขุมพลัง e-POWER มาวางให้ แล้วจัดเปิดตัวในบ้านเราเป็นแห่งแรกในโลก
ทว่า การเปิดตัวครั้งนี้ กลับไม่ราบรื่น (อีกแล้ว) Nissan ยังคงสะดุดขาตัวเองหกล้มอีกตามเคย ด้วยเหตุผลหลักถึง 3 ประการด้วยกัน
- การตั้งราคา ที่คนญี่ปุ่นบางคน มองว่า เอา e-POWER มาลงให้ ก็เลยหวังอยากได้กำไรต่อคันเยอะกว่าปกติ
- ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ จากปัญหา Part shortage โดย Supplier India กับ จีน ติดปัญหา Lock-down จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 จนผลิตรถส่งมอบให้ลูกค้าชาวไทย ล่าช้าไปถึง 2 เดือนครึ่ง
- แถมเจอ Toyota เกทับ เปิดตัว Corolla Cross SUV ที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่มีราคาเท่าๆกัน ออกมาประกบ แถมยังได้ชื่อชั้นจากแบรนด์ Toyota ที่คนไทยไว้วางใจกว่า เข้ามาช่วย ทำให้ Nissan โดน Toyota แย่ง ลูกค้าไปเยอะอยู่เหมือนกัน
ประวัติศาสตร์เดิมๆ ยังคงเกิดขึ้นซ้ำรอย และทำให้ Kicks e-POWER กลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางการตลาดที่สำคัญ ทั้งสำหรับ Nissan และวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองไทย ไปอย่างน่าเสียดาย
การวางแผนเปิดตัวรถยนต์ ผิดจังหวะเวลา คือเรื่องที่ยากจะกู้สถานการณ์ให้กลับมาได้ มันเหมือนกับคุณเอาผักปลามาวางขายในตลาด ถ้าลูกค้าเดินมาพลิกดูแล้วพบว่า ผักหรือปลาของคุณ ไม่สด แม้เพียงตัวเดียว ลูกค้าก็เดินหนีแล้ว
มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะท่ามกลางสถานการณ์มากมาย ที่ถาโถมขนาดนี้ ทีม Nissan Motor Thailand ทั้งคุณ Ramesh Narasimhan ประธานคนล่าสุด รวมทั้ง พี่เอ็ดดี้ (คุณ อดิศัย สิริสิงห) รองประธานสายงานการตลาด ประจำประเทศไทย รวมทั้งทีมงานคนไทยอีกหลายๆคน ก็พยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุดแล้ว มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอก สิ่งที่ผมทำได้ในตอนนี้ ก็มีเพียงแค่ การให้กำลังใจกับทุกๆคนใน Nissan เมืองไทยเท่านั้น
เพราะสิ่งที่ พวกเขาทุกคน กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ เต็มไปด้วยข่าวแย่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานประจำออก จำนวนหนึ่ง (ว่ากันว่า ในเดือนกันยายน – ตุลาคม นี้ จะมีอีกล็อตหนึ่ง) น่าเสียดาย ที่คนเก่าๆ เก่งๆ และเคยมีใจรักองค์กรเต็มเปี่ยม อยากช่วยแก้ปัญหาให้องค์กร ได้ถูกเลิกจ้างกระทันหันออกไปเป็นจำนวนไม่น้อย ได้ยินว่า บางคน ถึงขั้นโดนบอกเลิกจ้างในวันเกิดของตนเองก็มี!
รวมทั้งการประกาศเลิกผลิตและทำตลาด รถยนต์ ถึง 3 รุ่น ทั้ง X-Trail , Teana และ Sylphy รุ่นปัจจุบ้น ในวันที่ 1 กันยายน 2020 ที่ผ่านมา โดยจะไม่มีรุ่นใหม่เข้ามาผลิตขายต่อไป เนื่องจาก รูปแบบทางธุรกิจ ในการนำรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange เข้ามาตั้งไลน์ประกอบในบ้านเราอีกครั้งนั้น มันมีแนวโน้มว่าไม่น่าจะรอด และเสี่ยงต่อการขาดทุน
อยากบอกเหลือเกินว่า เมื่อไหร่ ที่บริษัทรถยนต์ จะต้องลดจำนวนรุ่นรถยนต์ที่ตนผลิตจำหน่ายลง หากแค่สัก 1-2 รุ่น มันยังพอเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ถ้า ต้องยกเลิกพร้อมกัน 3 รุ่นรวด ผมว่า มันต้องมีปัญหาอะไรมากกว่าที่เราคาดคิดไว้แน่ๆ
ถ้าคุณจะบอกว่า บริการหลังการขายของ Nissan คือปัญหาใหญ่ ผมกลับมองว่า ไม่ใช่ เพราะทุกวันนี้ ผมสามารถจิ้มนิ้วชี้ได้เลย อย่างน้อย 5-6 ดีลเลอร์ ที่มีบริการดี ดูแลลูกค้าดี แก้ไขปัญหารถของลูกค้าให้จบได้ แถมยังง่ายต่อการเคลมชิ้นส่วนอะไหล่ด้วย ซึ่งผมทำเช่นนี้กับแบรนด์อย่าง Honda Ford Mazda หรือแม้แต่ BMW และ MG ไม่ได้
แล้วปัญหาที่แท้จริงคืออะไรละ? ผมไม่รู้แน่ชัดหรอกครับ มันอาจเป็นเรื่องการบริหารงาน ที่เต็มไปด้วยลำดับขั้นบังคับบัญชา เต็มไปด้วยความยากลำบากในการขออนุมัติ ในการลงมือทำอะไรสักอย่าง ทำงานกัน โดยที่หลายแผนก ไม่ยอมคุยกัน หลายแผนก มองแต่ค่า KPI (Krajeaw or Penis Indicator) ของแผนกตน จนไม่ยอมช่วยกันแก้ปัญหา เล่นการเมืองในองค์กรกันจนเละเทะ ยิ่งไปกว่านั้น ชาวต่างชาติหลายคน ในฟากฝั่ง Yokohama ยังไม่เข้าใจตลาดรถยนต์เมืองไทยดีพอ แถมยังกลัวการขาดทุน เสียจนกระทั่ง ไม่กล้าทุ่มตัดสินใจทำในสิ่งที่เห็นกันอยู่แล้วว่า มันยังพอมีทางรอดจากวิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ นี่ยังไม่นับกับปัญหาการเมืองระดับผู้บริหารด้านบน ที่เป็นเรื่องเป็นราวในระดับโลกอยู่ตอนนี้
อยากส่งเสียงบอกชาวต่างชาติเหล่านั้นเหลือเกินว่า Nissan มันไม่ใช่บริษัทรถยนต์ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้พวกฝรั่งมั่งค่า และญี่ปุ่นเมื่อวานซืน อย่างพวกเขา ใช้เป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองในองค์กรกันไปมา โดยเอาความรักในแบรนด์ของลูกค้าทั่วโลก มาเป็นเดิมพัน อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ช่วยเลิกคิดถึงตัวเลขผลกำไร และส่วนแบ่งโบนัสต่างๆที่เคยพยายามหาทางเจียดข้ากระเป๋าตัวเองกันก่อน แล้วคิดถึงความอยู่รอดของพนักงานระดับล่างๆ ลูกน้องของพวกคุณ คู่ค้าของคุณ ดีลเลอร์ของคุณ รวมทั้งลูกค้าของคุณ กันก่อนจะได้ไหม???
สิ่งที่อยากให้ทุกคนควรทำโดยเร่งด่วนเลย คือ สร้างขวัญและกำลังใจในหมู่พนักงานของพวกคุณได้แล้ว ณ วันนี้ ความรู้สึกในใจพวกเขา ย่ำแย่ และเสื่อมโทรมลงไปมาก เขาอยากเห็น Nissan กลับมามีวันที่สดใสสวยงามอีกครั้ง วันที่ยอดขาย เป็นไปได้ตามเป้า แม้ในสภาพเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม แต่ก็ยังพอมีช่องทางอยู่รอดกันได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องปลดใครออกอีก ฟังลูกน้องของคุณให้เยอะ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรอก ที่จะทำตามสิ่งที่พวกเขาเสนอคุณ อีโก้ทั้งหลายของทุกๆคน ทุกแผนก ทุกระดับ ต้องลดลงกันเสียบ้าง ช่วยกันคนละไม้คนละมือ นำพาให้ทุกคนรอดพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันเสียที
ผมบอกได้แต่เพียงว่า ถ้าการเปิดตัว 3 รถยนต์รุ่นใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในช่วงปลายปี 2020 ถึง 2021 ไม่ว่าจะเป็น รถกระบะ Nissan Navara Minorchange ที่จะมาพร้อมรุ่นย่อยใหม่ PRO 4 X ไปจนถึง Nissan Terra Minorchange และ การเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ให้กับ Nissan NOTE ตามติดตลาดญี่ปุ่น ยังคงเจอเหตุการณ์แบบ Kicks อีก การฟื้นตัวของแบรนด์ Nissan ในเมืองไทย ทั้งในด้านยอดขาย และความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ จะยากขึ้นมาก และ มันอาจมีความเป็นไปได้ ที่เราจะเห็น สิ่งที่เรา ไม่อยากจะเห็น เกิดขึ้นจริงๆ
ขอให้ทุกคนใน Nissan… โชคดี
———————///——————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
– ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Public Relation Department)
Nissan Motor (Thailand) Co.ltd.
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ
– Yutthapichai Phantumas (QCXLOFT)
เตรียมข้อมูลตัวรถในภาพรวม
–ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม สำหรับความช่วยเหลือ
ด้านการแปลเอกสารภาษาญี่ปุ่น
———————————————–
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นลิขสิทธิ์ภาพถ่าย หรือ Computer graphic จากต่างประเทศ
เป็ของ Nissan Motor Co.,ltd , Nissan Motor USA.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
15 กันยายน 2020
Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 15th, 2020
แสดงความคิดเห็นเชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome CLICK HERE!