“Prin Kreeratiratanalak (ปริญญ์)” เป็นเพื่อนสมัยเรียนคนหนึ่งของผม

ผมเห็นชายหนุ่มหน้าตาและรูปร่างคล้ายพี่หมี Polar bear จากขั่วโลกเหนือ ใส่แว่น ในชุดนักเรียน แบบปล่อยชายเสื้อไว้นอกกางเกง เตะฟุตบอลกับเพื่อน มาตั้งแต่เด็กแล้วละ วันเวลาผ่านไป เขาเริ่มสร้างชื่อจากการถ่าย Video บันทึกบรรยากาศงาน Fat Festival 4  ของคลื่นวิทยุ 104.5 Fat Radio ในสมัยนั้น ซึ่งจัดขึ้นที่สนามม้านางเลิ้ง (ใครอยากย้อนอดีตกลับไปดู Click Here) จนกระทั่งได้เป็นผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรง ถ่ายทำซีรีส์ ให้กับ GDH ฯลฯ อีกมากมาย

ตั้งแต่รู้จักกันที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนถึงวันนี้ เราคุยกันน้อยมากกกกกกกกกกก จริงๆก็อยากรู้จักมากกว่านี้แหละ แต่เวลา และสายงาน มันไม่ได้ตรงกันเท่าไหร่ เราต่างใช้ชีวิตกันบนเส้นทางคู่ขนาน

จนกระทั่งวันหนึ่ง ช่วงต้นเดือน มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา เจ้าตัวก็โพล่งออกมาให้ผมรับรู้ว่า กำลังสนใจ Xpander Cross คันสีส้มที่คุณเห็นอยู่นี่ ถึงขั้นว่า อยากได้มาเป็นเจ้าของ…

ผมออกจะประหลาดใจไม่น้อย ว่า ทำไม ปริญญ์ ถึงสนใจ รถคันนี้ ได้?

แต่ผมพอจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วแหละ…

“ความสวยและอเนกประสงค์ของมันยังไงละ!”

ตั้งแต่ Mitsubishi Motors เปิดตัว Xpander เป็นครั้งแรกใน Indonesia เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2017 ยอดสั่งจองจากลูกค้าแดนอิเหนา ก็พุ่งพรวดพราดมากถึง 23,000 คัน!!! ทะลุจากเป้าหมายยอดขาย 5,000 คัน/เดือน ไปถึง 4 เท่า!!! จนทำให้แผนการส่งออกไปเปิดตัวยังตลาดอื่นๆ รวมทั้งเมืองไทย ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างกระจุยกระจาย กว่าจะเปิดตัวเริ่มขายกันในบ้านเราได้ ต้องรอลากยาวมาจนถึง งาน Big Motor Sale 2018 : 17 – 26 สิงหาคม 2018 ที่ BITEC บางนา นั้น Xpander รุ่นปกติ ก็กวาดยอดขายในปี 2018 ไปได้ 5,509 คัน ตามหลังยอดขายตลอดทั้งปี 2018 ของ Toyota Sienta เพียงแค่ 24 คันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปี 2019 ถือเป็นปีที่ตอกย้ำความนิยมของ Mitsubishi Xpander อย่างแท้จริง ด้วยการกลายร่างเป็นม้ามืด พุ่งขึ้นสู่อันดับ 1 ของกลุ่ม Sub-Compact MPV ในเมืองไทย และเป็นรถยนต์รุ่นเดียวที่สามารถทำยอดขายได้เกิน 1,000 คัน/เดือน ได้ทุกเดือน จนมียอดขายรวมตลอดทั้งปี 2019 อยู่ที่ 16,196 คัน โกยส่วนแบ่งการตลาดไปได้สูงถึง 52.9% หรือเกินครึ่งของตลาดกลุ่มนี้ เลยทีเดียว ด้วยเหตุผลที่ง่ายดายในการอธิบาย นั่นคือ…

“ก็รถมันสวยถูกใจลูกค้าไง!”

ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า แม้ Suzuki Ertiga จะเปิดตัวด้วยราคาถูกกว่า แต่ ด้วยเส้นสายภายนอกที่สวยโฉบเฉี่ยว ดู Premium บรรยากาศในห้องโดยสารที่มีขนาดใหญ่สุดในตลาดกลุ่มเดียวกัน และช่วงล่างที่นั่งสบาย แน่นนุ่มกำลังดี คือ 3 เหตุผลสำคัญที่ลูกค้าส่วนใหญ่ ยอมกัดฟันจ่ายแพงเพิ่มขึ้น เพื่อปีนขึ้นมาอุดหนุน Xpander

งานนี้คงต้องยกความดีให้กับ Mr.Tsunehiro Kunimoto และทีมงานออกแบบ ของ Mitsubishi Motors ทุกคน ที่ สร้างงาน Design ซึ่งแตกต่าง และสร้างบุคลิก “Mitsubishi-ness” ในสายตาลูกค้า ได้สำเร็จ เกินความคาดหมาย (ล่าสุด ได้ยินว่า Mr.Kunimoto กำลังจะเกษียณ ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา ก็ได้แต่ส่งความปราถนาดีให้ และขอให้ผ่านพ้นจากภัย Covid-19 ไปด้วยดีครับ)

ดังนั้น เพื่อรักษาความนิยมที่มีอยู่อย่างล้นหลามให้คงอยู่ต่อไป ทั้งในประเทศไทย และตลาด ASEAN ทาง Mitsubishi Motors จึงตัดสินใจเสริมทัพด้วยรุ่น Xpander Cross ซึ่งเป็นรุ่นยกสูง มาพร้อมอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก รอบคัน ในสไตล์บึกบึน พร้อมลุย เพื่อเพิ่มสีสันให้กับตลาด และเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าที่กำลังเลือกซื้อรถยนต์ Mini MPV มาใช้งาน ด้วยเช่นกัน ขัดตาทัพไปก่อนที่รุ่นปรับโฉม Minorchange จะตามออกมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

Xpander Cross เปิดตัวครั้งแรก ที่ Indonesia เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 ในฐานะรุ่นย่อยใหม่ ในระดับ Top สุดของตระกูล และเพิ่งถูกนำเข้าในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน มาเปิดตัวในเมืองไทย อย่างรวดเร็ว เมื่อ 16 มีนาคม 2020 เปิดตัวแบบ ไม่ต้องจัดงานใดๆ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ท่ามกลางช่วงเวลาที่ ไวรัส Corona สายพันธ์ใหม่ หรือโรค Covid-19 ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกแบบนี้

Xpander รุ่นปกติ มีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 205 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถ 1,290 กิโลกรัม ถังน้ำมันมีความจุ 45 ลิตร

ในขณะที่รุ่น Cross มีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 225 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง Xpander รุ่นปกติ กับรุ่น Cross จะพบว่ารุ่น Cross ยาวขึ้น 25 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 50 มิลลิเมตร สูงขึ้น 50 มิลลิเมตร และมีระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) เพิ่มขึ้น 20 มิลลิเมตร ซึ่งมิติตัวถังภายนอกที่ใหญ่โตและสูงขึ้น มาจากชุดแต่งรอบคัน รวมถึงช็อกอัพและสปริงที่ถูกอัพเกรดให้สูงขึ้น 20 มิลลิเมตร

แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับ คู่แข่งที่อยู่ในพิกัดเดียวกัน ในเมืองไทย ก็คงจะมีแค่ 2 รุ่น เท่านั้น ที่เป็นคู่ชกตรงรุ่น เริ่มจาก Honda BR-V ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,455 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร Ground Clearance 201 มิลลิเมตร หนัก 1,241 กิโลกรัม เมื่อเทียบกันแล้วจะพบว่า Xpander ยาวกว่า 20 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่า 50 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่าถึง 115 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงกว่า แค่ 4 มิลลิเมตร แต่ก็หนักกว่า 49 กิโลกรัม

อีกรุ่นหนึ่งคือ Suzuki Ertiga XL7 ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร Ground Clearance 200 มิลลิเมตร ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่า Xpander Cross ยาวกว่า 50 มิลลิเมตร กว้างกว่า 25 มิลลิเมตร สูงกว่า 40 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวกว่า 35 มิลลิเมตร Ground Clearance สูงว่า 25 มิลลิเมตร

ภายนอก / Exterior

รูปลักษณ์ภายนอกของ Xpander Cross ยังคง อยู่บนพื้นฐานการนำเส้นสายของรถยนต์ต้นแบบ Mitsubishi XM Concept ที่เคยอวดโฉมครั้งแรกในงาน Gaikindo Indonesia International Motor Show เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2017 มาปรับปรุงใหม่ ให้เข้าสู่สายการผลิตจริงได้ โดยลดทอนเส้นสายจากเวอร์ชันต้นแบบ ลงไปน้อยมาก

แต่สำหรับรุ่น Cross แล้ว เพื่อเพิ่มความแตกต่าง และสร้างภาพลักษณ์ของตัวรถให้ดูทะมัดทะแมง กระฉับกระเฉงขึ้น ทีมออกแบบจึง เริ่มงาน Design ชิ้นส่วนต่างๆรอบตัวรถขึ้นมาใหม่ ได้รับการปรับปรุงใหม่ ให้มีความแตกต่างจากรุ่นปกติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • เปลี่ยน ไฟหน้า เป็นแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ LED
  • เปลี่ยน ไฟตัดหมอกคู่หน้า เป็นแบบ LED
  • เปลี่ยน กระจังหน้า เป็นแบบ Cross Design
  • เพิ่ม การ์ดกันชนล่าง ด้านหน้า สีดำ
  • เพิ่ม การ์ดกันชนล่าง ด้านหลัง สีดำ
  • เพิ่ม การ์ดกันกระแทกประตูด้านข้าง สีดำ
  • เพิ่ม คิ้วซุ้มล้อ สีดำ
  • เพิ่ม ราวหลังคา Rack Roof
  • เปลี่ยน คิ้วเหนือป้ายทะเบียน สีดำเงา Black Gloss
  • เปลี่ยน เสาอากาศ เป็นแบบครีบฉลาม Shark Fin
  • เปลี่ยน ล้ออัลลอย เป็นขนาด 17 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ สีทูโทน พร้อมยาง ขนาด 225/50 R17
  • เปลี่ยน ล้ออะไหล่ เป็น ล้ออัลลอย พร้อมยาง Full Size

Highlight สำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ การเปลี่ยน ช็อคอัพ และ สปริงใหม่ ให้ยกสูงอีก 20 มิลลิเมตร ซึ่งเหมาะกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ของทุกประเทศในเขต ASEAN มากขึ้น เพราะแต่ละชาติ ต่างล้วนประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ตามฤดูกาลพอกัน โดยเฉดพาะฤดูฝน ซึ่งอาจจะเยอะกว่าปกติสักหน่อย ดังนั้น Xpander Cross จึงเหมาะกับลูกค้าที่จำเป็นต้องขับรถเข้าบ้าน หรือที่ทำงาน ซึ่งต้องเจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างมาก!

ภายใน / Interior

ระบบกลอนประตู เป็นแบบเดียวกับรุ่น GT คือเป็น กุญแจ Remote Control แบบ KOS (Keyless Operation System) แค่พกรีโมทกุญแจนี้ไว้กับตัว ถ้าต้องการจะขึ้นรถ ก็ให้เดินเข้าใกล้บานประตูคนขับ หรือ ฝาประตูของห้องเก็บของด้านหลังรถ ในระยะรัศมี 70 เซนติเมตร แล้วกดปุ่มสีดำเพื่อสั่งปลดล็อก แล้วดึงมือจับเปิดประตูบานใดก็ตาม ขึ้นรถได้เลย หรือถ้าจะล็อกรถ เมื่อปิดประตูแล้ว ก็กดปุ่มล็อก ที่บานประตูทั้งคู่ บานใด บานหนึ่ง ได้เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่แบ็ตเตอรีของรีโมทหมด ยังสามารถ ถอดลูกกุญแจในตัวรีโมท ออกมาไขเปิดประตูฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ได้ หมุนซ้ายครั้งขวาครั้ง เป็นอันปลดล็อก เมื่อเข้าไปนั่งในรถได้แล้ว ก็ควรจะเอารีโมท KOS เสียบไว้ในช่องเสียบ ใต้แผงหน้าปัด เหนือช่องวางแก้วตรงกลาง และถ้าลืมกุญแจในรถ เมื่อปิดประตู รถจะส่งเสียงเตือนออกมาเอง

การยกพื้นรถให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 20 มิลลิเมตร ย่อมส่งผลให้ การก้าวเข้า – ออก จากตัวรถ สำหรับผู้โดยสารสาย สว.(สูงวัย) สะดวกสบายขึ้นเล็กน้อย ประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล เพราะคราวนี้ คุณไม่จำเป็นต้องหย่อนก้นลงนั่ง แต่สามารถก้าวขาเข้าไป แล้วค่อยเคลื่อนตัวเข้าไปนั่งได้เลย ถ้าต้องการลงจากรถ ก็หันตัว หมุนลงมา แล้วเอาขา วางไว้บนพื้นถนน ลุกขืนขึ้นง่ายดายกว่า Xpander รุ่นปกติ นิดนึง

ไม่เพียงเท่านั้น อีกข้อดีของการยกพื้นรถให้สูงขึ้น คือ โอกาสที่ศีรษะจะไปโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ที่ลาดเทแบบนั้น จะลดน้อยลงไปนิดหน่อย เมื่อเทียบกับ Xpander รุ่นปกติ นอกจากนี้ คิ้วประดับบริเวณชายล่าง ยังถูกออกแบบใหม่ ให้ลดการยื่นล้ำออกมา เพื่อช่วยลดปัญหาจากคราบฝุ่นโคลน ที่อาจจะเปื้อนขากางเกงหรือกระโปรง ขณะก้าวขึ้น-ลงจากตัวรถ อีกด้วย

แผงประตูคู่หน้า ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม เป็นพลาสติกสีดำ กัดขึ้นรูปด้วยลวดลายที่ดูคล้ายกับเบาะหนังในรถยนต์ราคาแพงกว่านี้ เดินตะเข็บปลอม แถมยังประดับด้วยลาย Graphic Aluminium มือจับเปิดประตูเป็นพลาสติกชุบโครเมียม มีพนักวางแขนด้านข้าง ด้านล่างของแผงประตู มีช่องใส่ของอเนกประสงค์ สามารถวางขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ 7 บาท ได้ถึง 2 ขวด และยังมีพื้นที่เหลือพอสำหรับเอกสารและข้าวของจุกจิกต่างๆ อีกนิดหน่อย

เพดานหลังคาบุด้วยวัสดุสีครีม สว่างๆ มีการติดตั้งมือจับ ศาสดา สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจมาให้ 5 ตำแหน่ง พร้อมขอเกี่ยวไม่แขวนเสื้อ เฉพาะมือจับ เหนือบานประตูบริเวณเบาะแถวกลาง หลังฝั่งซ้าย

เบาะนั่ง ยกชุดมาจาก Xpander รุ่นปกติ มาพร้อมก้านคันโยกสำหรับปรับเอน เลื่อนขึ้น – ถอยหลัง และปรับระดับสูง – ต่ำได้เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น พนักพิงศีรษะปรับระดับสูง – ต่ำและถอดออกได้ แต่จะแตกต่างจากเดิม ด้วยการเปลี่ยนมาหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ สีดำในบริเวณปีกข้าง และสีน้ำตาลเข้ม ในบริเวณที่เน้นรองรับสรีระ

ในเมื่อเบาะนั่งยกชุดกันมา ดังนั้น สัมผัสจากเบาะนั่งทุกตำแหน่ง จึงยังคงเหมือนเดิม และสามารถอ้างอิงได้จากรุ่นเดิมทุกประการ เบาะนั่งคู่หน้า มีพนักพิงหลังที่ ให้สัมผัสคล้ายกับเบาะนั่งของ รถกระบะรุ่น Triton ก็จริงอยู่ แต่ รูปทรงของเบาะนั้น ไม่เหมือนกันไปเสียทีเดียว โดยเฉพาะปีกด้านข้างที่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย (ปีกของเบาะ Triton ยื่นออกมานิดเดียว) แต่การรองรับแผ่นหลังทำได้ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะช่วงไหล่ที่ ตัวเบาะ ซัพพอร์ตได้ดี การออกแบบพื้นที่รองรับด้านหลัง ทำได้ดีพอสมควร กระนั้น ผมก็แอบรู้สึกเมื่อยขณะนั่งขับขี่ในระยะทางไกลๆ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงอยู่เล็กน้อย ถ้าได้ตัวดันหลังมาช่วยเพิ่มอีกนิดก็คงจะดี

พนักศีรษะ ออกแบบให้มีฟองน้ำเสริมข้างใน แบบ “แน่นเกือบแข็ง” แต่ไม่ดันกบาล ยังเป็นเรื่องดีที่รถยนต์ Mitsubishi เกือบทุกรุ่น ที่ยังจำหน่ายในเมืองไทย ไม่ค่อยมีปัญหาพนักศีรษะดันกบาลมากนัก ยกเว้น Pajero Sport ที่พอจะมีอยู่บ้างนิดๆ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ โปร่งสบายตามสไตล์ตัวรถ ที่มีหลังคาค่อนข้างสูง เหมือน Xpander รุ่นปกติ

เบาะรองนั่งค่อนข้างหนา ติดตั้งมาให้สูงจากพื้นตัวถังรถพอสมควร มีความยาว ปานกลาง รองรับท้องน่องพอใช้ได้ แต่ยาวไม่ถึงขาพับ ตัวฟองน้ำด้านใน ให้สัมผัส แน่นแต่นุ่ม Firm กำลังดี ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ขับขี่ทางไกลไม่ค่อยเมื่อยบั้นท้ายมากนัก ทว่า เบาะนั่งฝั่งคนขับนั้น แม้จะมีมือหมุนปรับระดับเบาะรองนั่งสูง – ต่ำ มาให้ แต่ระยะการปรับก็น้อยมากๆ และเป็นเพียงการเลื่อน + ยกเบาะรองนั่งขึ้นไปข้างหน้าเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้ยกเบาะทั้งตัวขึ้นไปแต่อย่างใด

ใต้เบาะนั่งด้านหน้าฝั่งซ้าย ยังคงมีถาดวางรองเท้า ซ่อนตัวอยู่ ซึ่งเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่ถูกออกแบบขึ้นตามความต้องการของลูกค้า ผ่านผลวิจัยตลาด เนื่องจาก สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสุภาพสตรี อยากได้พื้นที่สำหรับใส่รองเท้า เผื่อนำมาเปลี่ยนให้เข้ากับชุดและกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวัน

เข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด แบบดึงรั้งกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Force Limiter) ทั้งฝั่งคนขับและฝั่งคนนั่ง แต่ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้เลย น่าเสียดายมากว่า ราคาขายสูงขนาดนี้ ควรใส่อุปกรณ์ชิ้นนี้มาให้ได้แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ใครที่เรียกร้องมองหา พนักวางแขนตรงกลาง แบบพับเก็บได้ ติดตั้งไว้ด้านข้างพนักพิงหลังมาให้เลย มาถึงรุ่น Cross ก็แล้ว โรงงาน Indonesia เขาก็ยังคงไม่ได้ติดตั้งมาให้ อยู่ดี

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง สำหรับผู้โดยสารเบาะแถวกลาง (แถว 2) ยิ่งสะดวกสบายต่อการก้าวขึ้น – ลง จากรถ มากขึ้นกว่ารุ่นปกตินิดหน่อย เพราะไม่ต้องก้มหัวลงมาก แถมยังไม่ต้องก้มหัวมากเท่าการเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า อีกด้วย กลายเป็น Sub-Compact Minivan ที่สามารถก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 2 ได้สบายที่สุดในตลาดเมืองไทยเวลานี้ ไปโดยปริยาย

ด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า ยังคงไม่แตกต่างจากรุ่นปกติ คือนอกจากจะถูกออกแบบให้มีช่องใส่หนังสือ ทั้ง 2 ฝั่ง ตามปกติแล้ว เฉพาะเบาะหน้าฝั่งซ้าย ยังเพิ่มซองใส่โทรศัพท์มือถือ และซองใส่ของจุกจิกมาให้อีก รวม 2 ตำแหน่งด้วย!

แผงประตูด้านข้าง ของบานประตูคู่หลัง ตกแต่งในแนวทางเดียวกับ แผงประตูด้านข้างคู่หน้า คือใช้พลาสติกสีดำ ขึ้นรูปให้ดูคล้ายบุด้วยหนัง ขึ้นรูปตะเข็บปลอม ประดับด้วยแถบ Graphic สีเงิน และ มือจับเปิดประตู พลาสติกชุบโครเมียม พนักวางแขน สามารถวางท่อนแขนได้สบาย จนถึงข้อศอก ด้านล่าง มีช่องวางของจุกจิกขนาดใหญ่พอๆกับแผงประตูคู่หน้า ใส่ขวดนำดื่ม 7 บาท มาให้ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง เหมือนกัน แต่น่าเสียดายว่า กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ไม่สามารถเลื่อนลงมาได้สุดขอบราง

เบาะนั่งด้านหลัง ยังคงเป็นชุดเดียวกับ Xpander รุ่นปกติ แบ่งออกเป็น 2 ฝัง ซ้าย – ขวา สามารถแบ่งปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ 10 ตำแหน่งล็อก ปรับพนักพิงหลังเอนลงได้ไม่มากนัก เพียง 9 ตำแหน่งล็อก รวมทั้งแบ่งพับพนักพิงหลังได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของด้านหลัง

พนักศีรษะ มาในสไตล์ แน่นเกือบแข็ง เหมือนกับคู่หน้า แต่ เป็นรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงอย่างมหาศาลในการยกขึ้นใช้งาน ดุจยกเหล็กใน Fitness เลยทีเดียว แค่เพียงเพื่อไม่ให้ขอบด้านล่าง ทิ่มตำบริเวณช่วงต้นคอและกางแผ่นหลังเท่านั้นเลย แถมยังล็อกไว้ได้แค่ ตำแหน่งเดียวเท่านั้นอีกต่างหาก

พนักพิงหลัง ออกแบบให้มีฟองน้ำในลักษณะ “แน่นแต่แอบนุ่มนิดๆ” รองรับแผ่นหลังใช้ได้ แต่ตรงกลางจะบุ๋มลงไปนิดนึง ตัวพนักพิงหลัง ปรับเอนลงได้ประมาณหนึ่ง พอสบาย แต่ถ้าต้องการปรับให้เอนนอนได้ราบกว่านี้ คงต้องหันไปหา Honda BR-V ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่า ส่วน เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น แต่บุฟองน้ำมาให้ค่อนข้าง “แน่นแต่แอบนุ่มพอสมควร” เหมือนกับเบาะรองนั่งฝั่งคนขับ นั่งพอให้สบายได้อยู่

พนักวางแขน ซ่อนรูปกลืนไปกับพนักพิงเบาะหลังไปเลย ดึงเชือกเพื่อปลดลงมาใช้งาน พอวางแขนได้ แต่ไม่อาจวางข้อศอกได้

พื้นที่เหนือศีรษะในตำแหน่งนั่งหลังค่อนข้างชันสูงสุด สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผู้เขียน จะเหลือพื้นที่มากถึง 2 ฝ่ามือในแนวนอน พอดีๆ ส่วนพื้นที่วางขานั้น ถ้าปรับถอยหลังจนสุด คุณจะเหลือพื้นที่มากถึง 2 ฝ่ามือ กับอีก 3 นิ้วมือในแนวนอน และต่อให้คุณปรับเลื่อนเบาะขึ้นไปข้างหน้าจนสุด คุณก็จะยังเหลือพื้นที่ว่าง ระหว่างหัวเข่ากับด้านหลังของเบาะคนขับอีก 1 ฝ่ามือพอดีๆ

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่สำหรับผู้โดยสารตรงกลาง สายเข็มขัดจะถูกมัดเก็บซ่อนไว้ที่ช่องเก็บบริเวณเพดานข้างบน (ดูได้จากภาพข้างล่าง) หากผู้โดยสารเป็นเด็กน้อยตัวเล็ก หรือทารก สายเข็มขัดอาจต้องพาดผ่านบริเวณคอเล็กน้อย ขอแนะนำให้หาเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก Child Seat ติดตั้งร่วมไปกับจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ใต้ฐษนเบาะรองนั่งทั้ง 2 ฝั่งไปเลยจะปลอดภัยต่อการเดินทางของคุณหนูๆ มากกว่า

ส่วนการลุกเข้า – ออกจากเบาะแถวที่ 3 ใช้วิธีการเดียวกับบรรดา B-Segment Minivan หลายๆรุ่นในตลาด คือต้องดึงคันโยกด้านข้างเบาะแถว 2 (บริเวณใกล้ๆสะโพก) ชุดเบาะนั่ง จะพับพนักพิงให้แบนราบ และจะปลดล็อกขายึดเบาะกับพื้นรถ เพื่อให้ตัวเบาะดีดตัวโน้มขึ้นมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบ One Motion

การก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 3 แม้ว่าคุณจะตัวใหญ่ระดับเดียวกับผม แต่ก็ยังสามารถมุดตัวเข้าไปนั่ง และ ลุกออกมาจากเบาะแถว 3 ได้สบายๆ มากๆ  ทำได้ดีกว่า BR-V เล็กน้อย ทั้งที่บานประตูและช่องทางเข้า – ออกของ Xpander มีขนาดใกล้เคียงกันมากๆ

เบาะนั่งแถว 3 ยังคงเป็นชุดเดียวกับ Xpander รุ่นปกติ มาพร้อมพนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงยกขึ้นจนสุดเพื่อใช้งาน ด้วยตัวล็อกเพียงตำแหน่งเดียว พนักพิงเบาะแถว 3 สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 แถมยังปรับตั้ง-เอนลงไปได้ 10 ตำแหน่ง ตัวพนักศีรษะเองก็ค่อนข้างแข็ง เมื่อเจอกับพนักพิงหลังที่ไม่ได้หนามากนัก บุด้วยฟองน้ำค่อนข้างบาง  จึงทำให้รู้สึกเหมือนนั่งพิงแผ่นกระดาน ที่มีฟองน้ำค่อนข้างแน่นซัพพอร์ตแผ่นหลังเราไว้อย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

แถมยังต้องเจอกับ พนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงยกขึ้นจนสุดเพื่อใช้งาน ด้วยตัวล็อกเพียงตำแหน่งเดียว (เหมือนพนักศีรษะคู่กลางเปี๊ยบ) มิเช่นนั้น ขอบล่างของพนักศีรษะ จะทิ่มตำต้นคอด้านหลังจนไม่สบายเอาเสียเลย

ส่วนเบาะรองนั่งนั้น มีขนาดสั้น และนั่งไม่สบายเท่า Suzuki Ertiga แต่อย่างน้อย มุมองศาการเอียง ก็ทำได้เหมาะสมกับความตั้งใจที่จะทำให้เบาะแถว 3 รองรับเฉพาะผู้โดยสาร ซึ่งมีสรีระร่างสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร อยู่แล้ว ขณะที่พื้นที่วางขานั้น ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารแถวกลาง ว่าจะปรับเลื่อนขึ้นหน้าไปให้คุณมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเลื่อนเบาะแถว 2 ลงมาจนสุด คุณจะแทบไม่เหลือพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถว 3 เลย

เข็มขัดนิรภัยด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ผนังด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ตกแต่งด้วยแผงพลาสติก ตีขึ้นรูปเป็นพนักวางแขน (ซึ่งสามารถวางแขนได้สบายพอดีเป๊ะ) พร้อมช่องใส่ของจุกจิกเล็กๆน้อยๆ 2 ตำแหน่ง และกิ๊ปหนีบยึดสายเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารแถวกลาง แต่เฉพาะฝั่งขวาเท่านั้น ที่จะเพิ่มปลั๊กไฟ 12V มาให้เพียง 1 ตำแหน่ง

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิด – ปิดได้ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพ 2 ต้น กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้าไฟฟ้า และใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ แน่นอนว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติใดๆมาให้ในรถ Minivan ระดับราคานี้

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดเท่ากันกับ Xpander รุ่นปกติ มีความกว้าง 0.9 เมตร และยาว 1.7 เมตร เมื่อพับเบาะแถว 2 กับ 3 ลงให้ราบเป็นแนวเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างจาก Xpander รุ่นปกติ อย่างชัดเจนก็คือ ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นห้องเก็บของ จะเพิ่มขึ้นจาก Xpander รุ่นเดิม 20 มิลลิเมตร ดังนั้น ถ้าจะต้องแบกจักรยานละก็ คุณอาจต้องออกแรงยกเฟรมรถมากขึ้นอีกนิด จึงจะวางลงบนพื้นห้องเก็บของได้

พื้นห้องเก็บสัมภาระ เป็นแบบฝาปิด เมื่อยกขึ้นแล้ว จะเจอกล่องเก็บของแบบ 3 ช่องในตัว สำหรับเก็บซ่อนข้าวของไม่พึงประสงค์จากสายตาบุคคลภายนอกได้ ฝาผนังด้านข้างฝั่งขวา เป็นช่องพร้อมฝาปิดสำหรับเก็บเครื่องมือประจำรถ พร้อมแม่แรง สำหรับถอดล้อ ส่วนยางอะไหล่นั้น ยังคงติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ เหมือนเช่น Xpander รุ่นปกติ ในตำแหน่งเดียวกับรถกระบะนั่นแหละ

แผงหน้าปัด เหมือนกับ Xpander รุ่นปกติเปี๊ยบ สิ่งที่แตกต่างกัน ก็มีเพียงแค่ แผงหนังสังเคราะห์ ที่ใช้ประดับทั้งใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ และบริเวณโดยรอบของช่องแอร์คู่กลาง ยาวไปถึงฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด จากเดิมเป็นสีดำ ถูกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล นอกนั้น การตกแต่งอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง ประดับด้วยแผงพลาสติกลาย Graphic สีเงิน บริเวณผู้โดยสารด้านซ้าย ส่วนกรอบนอก บริเวณช่องติดตั้งชุดเครื่องเสียง และแผงคอนโซลกลาง ประดับด้วยพลาสติกสีดำเงา Piano Black ขลิบด้านข้างด้วย Trim พลาสติกสีเงินเงางาม เช่นเดียวกับช่องแอร์ ทั้ง 4 ตำแหน่ง

แผงหลังคา เป็นสีเบจอ่อน ทำจากวัสดุรีไซเคิลเหมือนรถยนต์รุ่นใหม่ๆทั่วไป แผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดมาให้ แต่ไม่มีรุ่นใดที่แถมไฟแต่งหน้ามาเลย ส่วนไฟส่องสว่างกลางเก๋ง มี 2 ตำแหน่ง คือ กลางเพดาน เหนือผู้โดยสารแถวกลาง และ ไฟอ่านแผ่นที่ เหนือกระจกมองหลัง ซึ่งยังคงไม่สามารถแยกฝั่งเปิด-ปิด ซ้าย-ขวาได้ ตามเดิม

หากเราลองไล่อุปกรณ์ต่างๆ จากเบาะนั่งคนขับ ฝั่งขวา ไปซ้าย จะพบว่า กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เลื่อนขึ้น – ลง ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า และเช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไป เฉพาะฝั่งคนขับ จะมาพร้อมกับระบบ One-Touch เลื่อนหน้าต่างขึ้น – ลง ได้ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว รวมทั้งระบบ Jam Protection ดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง และสวิตช์ล็อกไม่ให้ผู้โดยสาร กดเปิดกระจกหน้าต่างทั้ง 3 บาน รวมทั้งสวิตช์ระบบ Central Lock ติดตั้งอยู่ในแผงข้างประตูร่วมกัน

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวาของชุดมาตรวัด ติดตั้ง สวิตช์ปรับและพับกระจกหน้ามองข้างแบบไฟฟ้า รวมทั้งปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start ถัดลงไปข้างล่าง ยังมีสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC และ Traction Control และเมื่อมองลงไปข้างล่างสุด บริเวณซุ้มล้อหน้าฝั่งขวา จะพบคันโยก เพื่อเปิดฝากระโปรงหน้า

พวงมาลัย เป็นแบบ 3 ก้าน ยกมาจากพวงมาลัยของ Xpander รุ่นปกติ รวมทั้ง Mirage / Attrage แต่วงพวงมาลัยจะถูกหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ ที่มีพื้นผิวเนียน มี Trim พลาสติกเงาสีดำ Piano Black ประดับครึ่งท่อนล่าง ของก้านพวงมาลัยทั้ง 3 ด้วยคอพวงมาลัย สามารถ ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ได้ในระดับหนึ่ง สำหรับคนตัวสูง ขอแนะนำว่า ปรับพวงมาลัยไว้ในตำแหน่งสูงสด และดึงออกมามากที่สุด จะลดการเมื่อยล้าขณะขับขี่ทางไกลได้ระดับหนึ่ง

แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุมหน้าจอชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไร้สาย ส่วนแผงสวิตช์บนด้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นชุดสวิตช์ของระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุมใบปัดน้ำฝนคู่หน้า ละด้านหลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ใช้ควบคุมไฟเลี้ยว ไฟหน้า ไฟหรี่ ไฟสูง ไฟตัดหมอก ไฟกระพริบ (ซึ่งเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรถยนต์ Mitsubishi ทุกรุ่น นั่นคือ ไฟกระพริบและไฟสูง มีวิธีเปิดใช้เหมือนกัน คือจะต้องดึงก้านสวิตช์ฝั่งขวาเข้าหาตัว 1 ครั้ง เพื่อเปิด และเมื่อปล่อยก้านสวิตช์คืนกลับตำแหน่งเดิมแล้ว ไฟสูงมักจะค้าง หลายๆคน มักจะลืมปิดมัน ทำให้คนขับรถที่อยู่ข้างหน้า บรรดา รถยนต์ Mitsubishi ทุกคัน อาจเข้าใจผิดได้ว่า คุณกำลังเปิดไฟสูงด่าเขา ทั้งที่จริงๆแล้ว คุณลืมปิดไฟสูงนันเอง!)

ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 2 วงกลม เรืองแสง ด้วยตัวเลขสีขาว บนพื้นสีดำ มีลาย Carbonfiber ตรงกลาง ทั้งมาตรวัดความเร็วฝั่งขวา และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ฝั่งซ้าย หน้าจอตรงกลาง จะเป็นจอแสดงผล Color LCD แบบ Contrast ขนาด 4.2 นิ้ว พร้อมภาพ Animation 3 มิติ ขณะติดเครื่องยนต์ เป็นรูปรถแล่นออกมา หันด้านข้าง ตามเดิม แต่เปลี่ยนลาย Graphic ให้ตรงกับรุ่นรถ มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มาตรวัดน้ำมัน และแสดงข้อมูล อัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิง รวมทั้ง แสดงระยะทาง ในระดับที่ปริมาณน้ำมันในถังจะพาให้รถแล่นต่อไปได้ มี ODO Meter, Trip Meter ทั้ง A กับ B รวมทั้งใช้เป็นจอตั้งค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในตัวรถ และมีเมนูภาษาไทยให้เลือกด้วย

กล่องเก็บของ Glove Compartment มีขนาดใหญ่กำลังดี ช่องด้านซ้ายที่เว้าลงมา หากมองเข้าไป จะพบตำแหน่งของแผง Fuse ระบบไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ในตัวรถ ติดตั้งซ่อนอยู่ ลึกๆ แถมด้านบน ยังมีช่องวางของตามแนวยาว เหมาะสำหรับวางของจุกจิกชั่วคราวมากกว่า

ระบบความบันเทิงในรถ Infotainment System ของ Xpander Cross จะเหมือนกับ Xpander รุ่น GT เป็นชุดเครื่องเสียง OEM (Original Equipment Manufacturing) จาก SONY ประกอบไปด้วย วิทยุ AM/FM พร้อม เครื่องเล่น CD / DVD / MP3 มีช่องเสียบ USB เชื่อมการทำงานกับโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Bluetooth และระบบ NFC ควบคุมการทำงานผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ สี แบบ Touch Screen ขนาด 6.2 นิ้ว และ Remote Control พร้อมลำโพง 6 ชิ้น รวมทั้ง ทวิตเตอร์ ที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั่ง 2 ฝั่ง

คุณภาพเสียงนั้น…ก็ยังคงห่วยอยู่ดีครับ ขนาดพยายามปรับ Equalizer ให้ตายยังไง เสียงที่ออกมา ก็ยังค่อนข้างอู้อี้ ไม่กระจ่าง ไม่ใส ไม่เคลียร์ครับ พอจะฟังเพลงแบบ Easy Listening ประเภทเกากีตาร์ริมชายหาดในจินตนาการ ได้อยู่บ้าง นอกนั้น เก็บไว้ฟังข่าวต้นชั่วโมงจากวิทยุกองทัพบก และกรมประชาสัมพันธ์ก็พอ ผมยืนยันคำเดิมครับว่า ถ้าคุณซีเรียสกับการฟังเพลงในรถ ควรเปลี่ยนเครื่องเสียงยกชุด ไปเลยจะดีกว่า

ถัดจากสวิตช์แอร์ลงมา เป็นช่องเก็บของจุกจิกขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ชั้น ทั้งช่องเล็ก และช่องใหญ่ แบบมีฝาเลื่อนปิดได้ เอาไว้ใส่ยาดม ลูกอม ไฟแช็ก ปากกา รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ด้านข้างของแผงคอนโซลกลาง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ยังแอบมีช่อง สามเหลี่ยมเล็กๆ สำหรับซ่อนของจุกจิกเอาไว้ได้อีกด้วย

เครื่องปรับอากาศ เป็นสวิตช์แบบมือหมุนประดับรอบข้างด้วย Trim พลาสติกสีดำ Piano Black ตามสมัยนิยม เพียงแต่ว่าไม่มีระบบอัตโนมัติมาให้ กระนั้นก็เย็นเร็วทันใจ ส่วนผู้โดยสารแถว 2 และ 3 นั้น บนเพดานจะมีพัดลม Blower ช่วยกระจายความเย็นเพิ่มขึ้นไปอีก ทว่าสามารถเลือกได้แค่ระดับความแรงของพัดลม 1-4 ตำแหน่งเท่านั้น ส่วนสวิตช์ปรับน้ำยาแอร์ มีเฉพาะด้านหน้ารถเพียงอย่างเดียว

พื้นที่ตรงกลาง ระหว่างผู้ขับขี่ กับผู้โดยสารด้านหน้า ถูกคั่นกลาง ด้วยกล่องคอนโซล เก็บของ ขนาดใหญ่เบ้อเร่อ สามารถวางกล้องถ่ายรูป DSLR รุ่นเล็กๆ (แบบถอดเลนส์ออกแล้ว) ได้ 1 ตัว อย่างแน่นอน มาพร้อมถาดวางของจุกจิก ถอดยกออกไปเก็บได้ และฝาเลื่อนเปิด – ปิด และมีช่องวางแก้วมาให้ 2 ตำแหน่ง หากเป็นกระป๋องน้ำอัดลมหรือขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ก็สามารถใช้งานได้จริง ข้างๆกันนั้น คือเบรกมือ แบบมาตรฐาน ซึ่งมีขนาดค่อนข้างสูง ทำให้บางครั้ง ผมเผลอเข้าใจผิดคิดว่ายังไม่ปลดเบรกมือลง ทั้งที่จริงๆ ผมยังไม่ทันได้ยกเบรกมือขึ้นใช้งานเลยด้วยซ้ำ!

ด้านทัศนวิสัยรอบคันนั้น จะเหมือนกับ Xpander รุ่นปกติ แต่ยกสูงขึ้นจากเดิม อีก 20 มิลลิเมตร ดังนั้น คุณสามารถชมภาพถ่ายทัศนวิสัยจากตำแหน่งเบาะคนขับ ของ Xpander รุ่นเดิม ได้ ที่นี่ Click Here

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
********Technical Information & Test drive session *******

Xpander Cross ในทุกตลาดที่ถูกส่งเข้าไปจำหน่าย จะยังคงมาพร้อมกับขุมพลังบล็อกเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือ…เครื่องยนต์ รหัส 4A91 แบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร (1,499 ซีซี.) กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve Timing Electronic Control System)

กำลังสูงสุด ยังคงเหมือนเดิม คือ 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร (14.38 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุดได้ถึงระดับ Gasohol E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ที่ระดับ 162 กรัม/กิโลเมตร (เพิ่มขึ้นจากรุ่นปกติ 161 กรัม/กิโลเมตร เพียงนิดเดียว)

ข้อมูลการบำรุงรักษา
– น้ำมันเครื่อง ใช้ SAE 0W-20 , 0W-30 , 5W-30 ,5W-40 ตามมาตรฐาน ACEA A3/B3 , A4/B4 ,A5/B5 หรือ API SG หรือสูงกว่า
– ปริมาณ น้ำมันเครื่องที่ต้องใช้ 3.8 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่องด้วย บวกเพิ่มอีก 0.2 ลิตร
– น้ำหล่อเย็น 5 ลิตร (เพิ่มอีก 0.65 ลิตร ในถังพักสำรอง)
– หัวเทียน NGK LZFR5B1-11
– แบ็ตเตอรี 34B19L แรงดันไฟฟ้า 12 V ความจุกระแสไฟฟ้าสลับ 95 A

เครื่องยนต์ลูกเดิม ยังคงส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ แบบ Torque Converter ปกติ ลูกเดิม อีกทั้งจนป่านนี้ ก็ยังคงไม่มีโหมด +/- หรือแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้เลย แถมไม่มีโหมด +/- หรือแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ใช้น้ำมันเกียร์ “ATF-MA1 เท่านั้น” ปริมาณที่ใช้ 4.9 ลิตร

อัตราทดเกียร์ ก็ยังคงเหมือนเดิม ดังนี้

  • เกียร์ 1 …………………2.875
  • เกียร์ 2 …………………1.568
  • เกียร์ 3 …………………1.000
  • เกียร์ 4 …………………0.697
  • เกียร์ถอยหลัง …………..2.300
  • อัตราทดเฟืองท้าย ……..4.375

ตามปกติแล้ว หากรถยนต์รุ่นปรับโฉม Minorchange รุ่นใดก็ตาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านวิศวกรรมใดๆ เราก็จะไม่นำมาทำบทความรีวิวทดลองขับ ซ้ำให้เสียเวลา ทว่า กรณีของ Xpander Cross นั้น เนื่องจาก ช่วงล่าง ถูกยกให้สูงขึ้น แถมยังสวมล้ออัลลอย 17 นิ้ว พร้อมยางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แน่นอนว่า ตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ย่อมเปลี่ยนแปลงไป แต่จะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหนนั้น เราทำการทดลองจับอัตราเร่ง ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ใช้เวลากลางดึก เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผู้ร่วมทดลองคราวนี้ เป็น ของเราเหมือนเช่นเคย และผลลัพธ์ที่ได้…ซึ่งก็เป็นไปตามที่เราคาดคิด…มีดังนี้

ตัวเลขที่ออกมา ก็เป็นไปตามความคาดหมายครับ การเปลี่ยนมาใช้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ซึ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น พร้อมยางไซส์ใหญ่ขึ้นเป็น ขนาด 225/50 R17 ทำให้ตัวเลขอัตราเร่งของ Xpander Cross Drop ลงมาจาก Xpander ปกติ อย่างชัดเจน กลายเป็น Sub-Compact Minivan ที่ อืดสุดในตลาดจนได้ ตามความคาดหมาย (ถ้าเราไม่นับ Nissan Note 1.2 ลิตร และ MG ZS 1.5 ลิตร 4AT รุ่นก่อนปรับโฉม Minorchange)

ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปจากจุดหยุดนิ่ง ถึง Top Speed นั้น ในช่วงเกียร์ 1 มีความกระฉับกระเฉงมาให้คุณได้สัมผัสอย่างดีเลยทีเดียว จนกระทั่งเข้าสู่เกียร์ 2 ถึงจะเริ่มพบอาการเหี่ยว ในช่วงรอบปลาย ชัดเจนขึ้น พอล่วงเข้าเกียร์ 3 แทบไม่ต้องสืบเลยครับ รอกันเข้าไปเถอะ กว่าจะไต่ขึ้นไปถึง ความเร็วสูงสุดของเกียร์ 3 ได้ ต้องสะสมบุญบารมีมาทั้งชีวิต กว่าจะได้ขึ้นเกียร์ 4 ซึ่งพอหลังจากนั้น ลิ้นปีกผีเสื้อก็จะเริ่มหรี่ลงเล็กน้อย เข็มความเร็วก็จะค่อยๆลดลงมาจาก 172 เหลือแถวๆ 168 ตามเดิม ซึ่งถ้าคุณยังเหยียบคันเร่งจมมิดอยู่ต่อไปละก็ เกียร์ ก็จะเปลี่ยนกลับลงไปเป็นเกียร์ 3 ลากรอบเครื่องยนต์ให้กลับไปอยู่แถวๆ  6,000 รอบ/นาที ตามเดิม จนกว่าคุณจะถอนเท้าขวาออกจากคันเร่งนั่นแหละ

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง บุคลิกการตอบสนองของเครื่องยนต์ และเกียร์ แทบไม่แตกต่างจาก Xpander รุ่นปกติเลย นั่นหมายความว่า อัตราเร่งที่มีมาให้ ยังคงแย่งชิงตำแหน่ง “อืดที่สุดในกลุ่ม”  แต่ก็แอบดีกว่าที่คิดไว้นิดนึง ในช่วงการจราจรติดขัด ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนเลน เบี่ยงออกซ้าย หรือขวา ก็แค่เปิดไฟเลี้ยว ดูรถคันข้างหลังให้มั่นใจว่าปลอดภัย แล้วก็หมุนพวงมาลัยพร้อมกับแตะคันเร่งออกไปได้เลย ถ้าลงน้ำหนักคันเร่งพอประมาณ ไม่ต้องมากเกินไป ก็ตอบสนองทันต่อเท้าประมาณหนึ่ง

เพียงแต่ว่า อาการที่ทำให้คุณอาจเผลอเข้าใจผิดว่า รถมันแรงนั้น มีทั้งช่วงออกตัวเกียร์ 1 ที่คุณกดคันเร่งลงไป ครึ่งหนึ่งหรือเต็มตีน เครื่องยนต์จะแผดร้องออกมาดังลั่น เหมือนเด็กทารกหิวนม จนเกิดแรงดึงทำให้รถทะยานขึ้นไปข้างหน้า หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ หากคุณเหยียบคันเร่งลึกไปเพียงนิดเดียว สมองกลก็จะเข้าใจผิดว่า คุณอยากเร่งไวๆ มันก็จะสั่งเปลี่ยนลงมาเป็นเกียร์ 2 ให้เลย ซึ่งทำให้รอบเครื่องยนต์กวาดขึ้นไป และเครื่องยนต์ก็แผดร้องเรียกหาปั้มติ๊กว่า เอาน้ำมัน มาให้กรูดูดไวๆ นั่นแหละครับ คือ 2 อาการที่อาจทำให้บางคนเข้าใจผิดได้

อัตราเร่งในการใช้งานจริง มันไม่ได้อืดถึงขั้นปาเข้าไป 16 – 17 วินาที อย่างที่ผมเคยกังวลไว้ก่อนหน้านี้ เรี่ยวแรงเพียงพอให้ใช้งานในเมืองได้สบายๆอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ในช่วงที่ต้องขับขี่บนทางหลวงข้ามจังหวัด หากคิดจะเร่งแซง อาจต้องเผื่อจังหวะไว้มากหน่อย ต้องแน่ใจว่า ไม่มีรถพ่วง 18 ล้อ วิ่งสวนเลนเข้ามาในระยะอันใกล้ ถ้าตัดสินใจจะแซง ให้กระทืบคันเร่งลงไปเต็มตีนเลย ไม่ต้องถอน จนกว่าจะแซงพ้น จึงจะตบไฟเลี้ยวกลับเข้าเลนซ้าย แล้วถอนเท้าขวาจากคันเร่ง แค่นั้น เพราะถ้าคุณกดแค่ครึ่งคันเร่ง เกียร์จะลดลงมาแค่ เกียร์ 3 และความเร็วจาก 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเพิ่มขึ้นช้าๆ อย่างมากสุดก็ไปจบที่ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้คุณแซงรถบรรทุก 10 ล้อ ไม่พ้นได้ในบางกรณี

เกียร์อัตโนมัติ ทำงานได้ราบรื่นดี ในวันที่คุณขับรถแบบสบายๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ถึงบทบู๊ขึ้นมา คันเร่งก็ตอบสนองไวพอสมควร และพยายามจะทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะเค้นกำลังเครื่องยนต์ออกมาหมุนล้อคู่หน้าได้ อาการกระทุกกระชากในขณะขับขี่หนะ ไม่พบเลย แต่ในจังหวะเปลี่ยนจากเกียร์ P ลงมาเกียร์ถอยหลัง (R) อาจจะมีอยู่นิดๆ และเกิดขึ้นเฉพาะในบางจังหวะเท่านั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของเครื่องยนต์และเกียร์ ว่าร้อนขนาดไหน

ในภาพรวม ถ้าคุณยอมรับได้กับอัตราเร่งของ รถเก๋ง ECO Car เครื่องยนต์ เบนซิน 1.2 ลิตร ผมว่า คุณก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับ Xpander Cross ได้อย่างไม่มีปัญหาในเรื่องความอืดของรถ แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าอยากได้อัตราเร่งที่ฉับไวกว่านี้ เดินเข้าโชว์รูม Suzuki หรือ Honda เลยครับ Ertiga และ BR-V จอดส่งยิ้มโบกมือทักทาย รอคุณอยู่

การเก็บเสียง แรงสะเทือน อาการสะท้าน
Noise Vibration & Harshness

แม้ว่า Xpander รุ่นปกติ จะมีการเก็บเสียงที่ดีใช้ได้ และให้ความเงียบกว่าคู่แข่งทุกคันในตลาด ทว่า เนื่องจาก ทีมวิศวกร พยายามพอมาเป็น Xpander Cross กลับกลายเป็นว่า เสียงรบกวนจากท่อนล่างของรถ ยังคงน้อยเหมือนเดิม แต่เสียงของกระแสลมไหลผ่านตัวรถ ในบริเวณเดียวกับ Xpander รุ่นเดิม นั่นคือ ช่องว่าง ระหว่าง กระจกมองข้าง และหน้าต่าง Opera หูช้างคู่หน้าจะเริ่มดังขึ้น หลังจากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ซึ่งถ้าสามารถปรับปรุงจุดนี้ได้ Xpander Cross น่าจะเก็บเสียงได้ดีกว่านี้อีก

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel

พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุดเพียง 5.2 เมตร ช่วยให้การเลี้ยวกลับรถจริงๆ หรือเลี้ยวออกมาจากปากซอย ทำได้อย่างคล่องแคล่ว จนคุณจะแอบประหลาดใจว่า วงเลี้ยวมันแคบได้ขนาดนี้จริงๆเหรอ!?

ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนมาใช้ล้ออัลลอย 17 นิ้ว และยางหน้ากว้างขึ้น ส่งผลให้ สัมผัสจากพวงมาลัย เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย โดยในช่วงความเร็วต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับ Xpander รุ่นเดิม จะพบว่า การหมุนเลี้ยว มีความต่อเนื่อง และตอบสนองได้เป็นธรรมชาติขึ้นนิดนึง ขณะที่ น้ำหนักพวงมาลัย ช่วงความเร็วต่ำ จะเบาขึ้นกว่าเดิม นิดนึง และตอบสนองได้เป็นธรรมชาติขึ้นนิดหน่อย เมื่อหมุนจนสุด เพื่อเลี้ยวกลับรถ พวงมาลัยจะสามารถคืนกลับมาตั้งล้อตรงได้

อย่างไรก็ตาม บุคลิกของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า จากรถยนต์ในยุคปี 2010 ยังคงหลงเหลือให้สัมผัสอยู่อย่างจางๆ คือยังพอจะรับรู้อยู่ประมาณหนึ่งว่ามันเป็นการหมุนโดยใช้มอเตอร์

พอใช้ความเร็วเดินทาง พวงมาลัยก็จะหนืดหนักขึ้นนิดหน่อย ตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น ตั้งตรงใช้ได้ On-Center Feeling ดีขึ้นนิดๆ แต่ก็ไม่ต้องแต่งเพลงมาลัยซ้าย-ขวา เหมือน Toyota Vios 2008 หรือ Toyota Sienta รุ่นล่าสุด รักษาทิศทางในระดับใช้ได้ ผู้ขับขี่ไม่ค่อยเครียดมากนัก แถมยังปล่อยพวงมาลัยได้ ทั้งที่ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง นานราว 7 วินาที ก่อนที่รถจะเริ่มเบนหัวออกนอกเลนถนนไปอย่างช้าๆ

ถึงกระนั้นก็เถอะ พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Xpander ก็ยังเซ็ตมาดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ เมื่อเทียบกับ Xpander ล็อตแรกๆ แน่นอนว่า ดีกว่า พวงมาลัยไฟฟ้าแบบทื่อๆ ของ Mitsubishi Mirage กับ Attrage รุ่นก่อน Minorchange ,รวมทั้ง Nissan March K13 และ Suzuki Ciaz ก็แล้วกัน

ระบบกันสะเทือน / Suspension
ช่วงล่างของ Xpander Cross ยังคงยืนหยัดอยู่กับรูปแบบมาตรฐาน เช่นเดียวกับ รถรุ่นเดิม ด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต (MacPherson Strut) ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนชุดช็อกอัพ และสปริงใหม่ ให้มีความสูงจากพื้นใต้ท้องรถ ถึงพื้นถนน (Ground Clearance) เพิ่มขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แน่นอนว่า น่าจะเหมาะกับครอบครัวที่ตั้งบ้านเรือน อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำขังรอระบายลงท่อช้า เพราะจะช่วยให้คุณลุยน้ำท่วมได้ลึกขึ้นอีก 2 เซ็นติเมตร แต่แน่นอนว่า คุณสมบัติข้อดีที่เพิ่มเข้ามา ย่อมต้องแลกกับข้อจำกัดบางอย่างที่เพิ่มขึ้นแทน เพราะการยกช่วงล่างให้สูงขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร ย่อมมีผลต่อการตอบสนองของช่วงล่างในภาพรวมอยู่บ้างเหมือนกัน

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ไปตามลูกระนาด และหลุมบอต่างๆ ช่วงล่างที่ปรับปรุงยกสูงมาใหม่นี้ ให้ความนุ่มนวล เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านหลังรถ อาการเด้งสะเทือนลดน้อยลงไป แต่ ต้องบอกไว้ก่อนว่า ผู้ขับขี่ยังคงรู้สึกได้ถึงอาการ Rebound ของช็อกอัพคู่หลังอยู่บ้าง หากขับขี่และนั่งโดยสารตามลำพังหรือแค่ 2 คน แต่ถ้าคิดจะรูดผ่านลูกระนาดต่างๆ อาจจะเจออาการช็อกอัพคู่หลัง คืนตัวกลับค่อนข้างแรง จนเกิดอาการตึง! ซึ่งมักพบได้ในรถที่ใช้ช็อกอัพที่สั้น คล้ายๆกับ Honda Brio เพียงแต่ว่า ความหนึบแน่น ต่างกันคนละเรื่อง

ส่วนการขับขี่ในเมืองตามปกติ ช็อกอัพและสปริงชุดใหม่นี้ ทำหน้าที่ของมันได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น การซับแรงสะเทือนทำได้ดี ในกรณีที่เจอปากฝาท่อ หลุมบ่อ ที่ค่อนข้างคมกว่าปกติ ก็อาจจะหลงเหลือแรงสะเทือนไว้นิดๆให้พอรับรู้ว่า คุณขับผ่านพื้นผิวขรุขระอยู่นะ แต่ก็แค่นั้น แน่ใจได้ว่า ผู้โดยสารระดับ สว. (สูงวัย) น่าจะไม่มีปากเสียงบ่นก่นด่าพลขับอย่างคุณแน่ๆ แต่ถ้าคิดจะขับรูดด้วยความเร็วกว่าที่มนุษย์มนาปกติเขาขับกัน เพื่อแล่นผ่านเนินสะดุดที่สูงๆหน่อยละก็ ตัวรถจะมีอาการกระดกหน้า-หลัง เกิดขึ้นได้นิดหน่อย (ซึ่งเป็นปกติของรถที่มีฐานล้อยาว แถมยังสูงอีกต่างหาก)

ไม่เพียงเท่านั้น การทรงตัวในย่านความเร็วสูง หากขับขี่ ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในทางตรงๆ มันไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น รถยังคงแล่นตรงแหน่วไปได้อย่างราบเรียบ สบายๆ และรื่นรมณ์ แต่ถ้าเจอกระแสลมปะทะด้านข้าง รวมทั้งในขณะขับเข้าทางโค้งยาวๆ คุณอาจจะรู้สึกได้ว่า ต้องใช้ความพยายามในการควบคุมรถ เพิ่มจาก Xpander รุ่นปกติเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ

แม้ว่าจะเป็นรถที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูง และตำแหน่งเบาะนั่งก็สูง แถมระยะ Ground Clearance ก็ยังสูงที่สุดในกลุ่ม B-Segment Minivan 7 ที่นั่ง แต่การพา Xpander Cross เข้าโค้งนั้น แม้จะดูเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่ไม่น้อยในตอนแรก ทว่า เอาเข้าจริง ผมก็ยังพาพี่ส้มยกสูงคันนี้ สาดเข้าโค้งมาตรฐานทั้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ไปได้อย่างสบายๆ ทำได้ดีกว่าที่คาดไว้นิดนึง

บนโค้งขวารูปเคียว เหนือระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Xpander ทำได้ที่ 95กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ในระดับเดียวกันคือ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถยังคงมีอาการหน้าดื้อเป็นหลัก แต่ตัวรถจะเอียงกะเท่เร่มากกว่ารุ่นปกติ ขณะที่บั้นท้ายจะค่อยๆเริ่มออกด้านข้างเบาๆ แน่นอนว่า อากัปกิริยาจะคล้ายคลึงกับ Xpander รุ่นปกติ นั่นคือ หากท้ายปัดถึงขั้นกวาดออกข้างขึ้นมา ก็แทบไม่ต้องคิดไปแก้ไขอาการของตัวรถกันเลย คงต้องปล่อยให้หมุนไปตามยถากรรมเช่นเดียวกัน

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Xpander เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วลดลงเหลือ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ กว่า Xpander รุ่นปกติอย่างชัดเจน ตามปกติของรถที่มีระยะ Ground Clearance สูง ส่วนโค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางติดรถจะรับมือไหวแล้ว ก่อนจะปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Xpander Cross เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) เท่าๆกับ Xpander รุ่นปกติ

ส่วนทางโค้งซ้ายและขวารูปเคียวจาก Motorway เข้าสนามบินสุวรรณภูมิ Xpander พาเข้าโค้งซ้ายได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนที่ยางจะเริ่มไถลออก อันเป็นผลมาจาก สีทาถนนกันลื่น ได้เสื่อมสภาพไปหมดแล้ว พอเข้าโค้งขวา ก็สามารถจิกโค้งได้ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ถึง Limit ที่ยางจะรับได้แล้ว แม้ในความเป็นจริง ตัวรถยังสามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นได้จากนี้อีกราวๆ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ได้ ดังนั้น วิธีแก้ ก็ทำได้ด้วยการเปลี่ยนยางติดรถให้ดีกว่านี้

ภาพรวมแล้ว ช่วงล่างที่ถูกยกสูงขึ้นจากเดิม 20 มิลลิเมตร อาจมีผลอยู่บ้าง หากคุณขับขี่ด้วยความเร็วสูงเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนเส้นทางที่มีกระแสลมปะทะด้านข้างค่อนข้างแรง อย่างทางยกระดับบูรพาวิถี หรือ ดอนเมือง โทรลเวย์ หรือในขณะเข้าโค้ง ตัวรถอาจจะเอียงกะเท่เร่เพิ่มขึ้นจากรุ่นปกติพอสมควร แต่ถ้าไม่ใช่ข้อจำกัดดังกล่าวนี้แล้ว หากไม่มีกระแสลมมาวุ่นวายเลยเมื่อไหร่ ช่วงล่างของ Xpander Cross ยังคงรักษาสมดุลได้ดี นิ่งใช้ได้ และให้ความไว้วางใจได้ ในการขับขี่ทางไกล  ใกล้เคียงกับ Xpander รุ่นปกติ สมกับที่เกิดมาเป็นรถยนต์ Mitsubishi ซึ่งได้ชื่อว่า ช่วงล่างดีเป็นอันดับต้นๆในกลุ่มรถญี่ปุ่น

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบห้ามล้อ ก็ยังคงยกชุดมาจาก Xpander รุ่นเดิมนั่นแหละครับ ด้านหน้าเป็นแบบดิสก์เบรก ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก โดยน้ำมันเบรกนั้น สามารถเลือกใช้ได้ทั้งแบบ DOT3 หรือ DOT4 มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเสริมแรงเบรก หากเหยียบกระทืบลงไปเต็มแรง ยามภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)

นอกจากนี้ยังมี ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว ASC (Active Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCL (Traction Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) และระบบกระพริบไฟฉุกเฉินเมื่อผู้ขับขี่ เหยียบเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Stop Signal)

แป้นเบรกมีระยะเหยียบ ยาวปานกลาง แรงต้านเท้าน้อย ไม่เยอะ ค่อนข้างเบา เหมาะกับคุณสุภาพสตรี ในการบังคับควบคุมแรงเบรจากเท้าขวาได้ตามใจชอบ เบรกให้รถชะลอหยุดนุ่มๆในขณะขับคลานๆไปตามการจราจรติดขัดในเมืองได้ง่ายอยู่ ไม่ยากเย็น ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง มาในแนวนุ่มนวล ตามเดิม เพียงแต่เรายังไม่แน่ใจว่า มีการปรับปรุงให้ผ้าเบรก ทนต่อการเหยียบเบรกซ้ำในจังหวะถัดไป เพื่อลดอาการ Fade ลงแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า ในบางกรณี ถ้าคุณขับมานานๆ และแทบไม่ได้เหยียบเบรกเลย เมื่อมีเหตุให้ต้องเหยียบเบรกลงไปครั้งแรก คุณอาจจะสัมผัสได้ว่า แป้นเบรกมันเบาและต้องเหยียบลงไปจมลึกกว่าปกติ จนกว่าจะถอนเท้าแล้วเริ่มเบรกครั้งที่ 2 นั่นแหละ จึงจะพบว่า แป้นเบรก กลับมาหนืดขึ้นนิดๆ และมีบุคลิกในแบบที่มันควรเป็น ราวกับว่า แรงดันในหม้อลมเบรก มันหายไปได้ในบางขณะ

ความปลอดภัย / Safety

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ติดตั้งมาให้ Xpander Cross นั้น เทียบเท่ากับ Xpander รุ่นย่อย GT มีทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง พร้อมระบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Force Limiter) เข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งแถว 2 แบบ ELR 3 จุด 3 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งแถว 3 แบบ ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX 2 ตำแหน่ง

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งลงใน โครงสร้างตัวถัง ซึ่งถูกพัฒนาขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี RISE Body (Reinforced Impact Safety Evolution) ที่ถูกเสริมความแข็งแกร่งบริเวณคานหน้า ใกล้ผนังห้องเครื่องยนต์ และช่วงคานขวาง เหนือซุ้มล้อคู่หลัง โดยใช้เหล็กรีดร้อนแบบทนแรงอัดสูง High Tensile Steel ตามจุดต่างๆ เริ่มจากเหล็กแบบทนแรงอัด 440 Mpa (เมกกะปาสคาล) ที่บริเวณเฟรมห้องเครื่องยนต์ด้านหน้า เสากรอบประตูห้องเก็บของด้านหลัง และโครงสร้างแนวยาวบริเวณพื้นรถด้านข้างกับ แผ่นเหล็กบริเวณกรอบหน้าต่างคู่หลัง รวมทั้ง เหล็กรีดร้อนทนแรงอัด 590 Mpa บริเวณเสากรอบประตู เสาหลังคา คู่หน้า A-Pllar กับคู่กลาง B-Pillar โครงสร้างห้องเครื่องยนต์ครึ่งท่อนบน และโครงพื้นตัวถังด้านล่าง รวมทั้งใช้เหล็กรีดร้อน ทนแรงอัด 980 Mpa กับแผ่นเหล็กสำหรับด้านในของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และธรณีประตูทั้ง 4 ตำแหน่ง คานเหล็กนิรภัยกันกระแทกบริเวณแผงประตูทั้ง 4 บาน (Side Door Impact)

ไม่เพียงเท่านั้น โครงสร้างตัวถังด้านหน้า ยังถูกออกแบบมาให้ช่วย ลดความรุนแรงจากการกระแทกที่เกิดกับคนเดินถนน หากเกิดอุบัติเหตุ (Pedestrian Protection) ขณะเดียวกัน ยังเสริมคานเหล็กนิรภัยกันกระแทกบริเวณแผงประตูทั้ง 4 บาน (Side Door Impact)

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
*********** Fuel Consumption Test (High-way) ***********

แม้ว่าตัวเลขสมรรถนะจะออกมาอย่างที่เห็น แต่หลายๆคน คงอยากจะรู้ว่า Xpander จะให้ความประหยัดน้ำมันในระดับใด ดังนั้น เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ถังน้ำมันของ Xpander Cross ทั้งเวอร์ชันไทย และตลาดโลก มีขนาดเท่ากันกับ Xpander รุ่นปกติ คือ 45 ลิตร ส่วนผู้ร่วมทดลอง ในคราวนี้ เป็นน้อง Joke V10ThLnD จาก The Coup Team ของเว็บเรา น้ำหนักตัว 69 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมัน จนเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังเรียบร้อยแล้ว เราเริ่มต้นทดลองขับ ด้วยการกดปุ่ม Trip เลือกระหว่างมาตรวัดระยะทางจากแรกเริ่มใช้รถ Odo Meter กับ Trip Meter A และ B เพื่อ Set Trip Meter A ไว้ที่ 0.0 กิโลเมตร (โดยกดปุ่ม Trip แช่ไว้จนตัวเลขใต้จอ MID เปลี่ยนเป็น 0.0) และกดปุ่มบนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เพื่อเลื่อนหน้าจอ ไปตั่งค่ามาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ควบคู่กันไปด้วย จากนั้น ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25.0 องศาเซลเซียส พัดลมเบอร์ 1 หรือ 2

เราขับออกจากปั้มน้ำมัน เลี้ยวกลับที่ถนนพหลโยธิน เข้าซอยอารีย์ เลี้ยวขวาลัดเลาะไปออกซอยโรงเรียนเรวดี ถนนพระราม 6 ขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6 แล้วก็ ขับรถกันไปยาวๆ จนถึงปลายสุดของระบบทางด่วน สายอุดรรัถยา เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม

เมื่อเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ มาถึง ทางลง ของทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้งเพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง รวมทั้งยังต้องเขย่ารถเพื่ออัดกรอกน้ำมันขึ้นมาจนเอ่อถึงปากคอถัง เหมือนครั้งแรกที่เราเริ่มต้นทดลอง ณ ตู้หัวจ่ายเดียวกัน ทั้งหมด

มาดูตัวเลขที่ Xpander ทำได้กันเถอะ…

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 6.76 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.72 กิโลเมตร/ลิตร

ชัดเจนเลยครับ ความประหยัดน้ำมัน หดหายลดลงไปจาก 15.08 กิโลเมตร/ลิตร หล่นลงไปเหลือ 13.72 กิโลเมตร/ลิตร เท่ากับบรรดารถเก๋ง ในยุคปลายทศวรรษ 1990 เป็นเรื่องที่ต้องทำใจครับ เพราะมันเป็นผลพวงของการเพิ่มขนาดล้ออัลลอย 17 นิว ซึ่งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับล้อขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางหน้ากว้างถึง 225/50R17 ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ กับตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงครับ ทำได้ประมาณนี้ ก็ดีถมถืดแล้วหละ

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณแล่นไปได้ไกลแค่ไหน บอกได้เลยว่า ถ้าคุณเป็นคนเท้าหนัก ขับรถเร็ว ชอบเรียกอัตราเร่งออกมาใช้งานแทบไม่เว้นแต่ละนาที จนเครื่องยนต์กับเกียร์เริ่มออกอาการเพลียจิต น้ำมันถังเดียว จะพาคุณแล่นไปได้แค่ประมาณ 300 -310 กิโลเมตร ก่อนที่ไฟเตือนน้ำมันหมดจะสว่างขึ้น แต่ถ้าคุณเป็นคนขับรถทางไกล เน้นความประหยัด เท้าขวาเบาพอๆกับเส้นของขนมสายไหมอยุธยา เชื่อได้ว่า น้ำมันถังหนึ่ง จะพาคุณแล่นได้ไกลประมาณ 450 – 500 กิโลเมตร ได้ไม่ยาก

********** สรุป **********
ยกสูงให้เท่ขึ้น เข้า-ออกสะดวกขึ้น เน้นลุยน้ำท่วม
ช่วงล่างนุ่มขึ้นนิดๆ แต่ต้องทำใจกับอัตราเร่งและความประหยัดที่ดร็อปลง

27 มีนาคม 2020

เผลอเพียงแป๊บเดียว ระหว่างที่ง่วนอยู่กับการทำบทความสต็อกในช่วงที่เตรียมพักการทดสอบรถ เพื่ออยู่บ้าน หยุดเชื้อ Covid-19 เพื่อชาติ ในตอนนี้ จู่ๆ “คุณจิ” ทีมของ Mitsubishi Motors Thailand ก็ส่งรูป และข้อความมาบอกว่า “คุณปริญญ์” รับรถแล้วนะคะ

อ้าว….ซะงั้น มาเร็วเคลมเร็ว ยิ่งกว่าสินมั่นค.. ประกันภัย นะเมิ้งงงงง จองรถไปไม่ทันไร 7 วันได้รถแล้วเว้ยเฮ้ย แสดงว่ารีบใช้รถจริงๆ

ผมลองถาม ปริญญ์ ดู ถึงเหตุผลที่ตัดสินใจ ถอย Xpander Cross มา แล้วพบว่า ความคิดเห็นน่าสนใจเลยทีเดียว Copy มาวางให้อ่านเลยแล้วกัน

“อ่อ ชอบรถใหญ่ จะได้เข้ากับรูปร่าง 555

แล้วก็ชอบให้สูงหน่อย เพราะเมื่อก่อนเคยขับ Toyota Sportrider ขับทางหลุมๆ เนินๆ แล้วไม่ครูด กับติดใจทัศนวิสัยที่มันมองเห็นไกลดี (ถึงคันนี้จะสูงไม่เท่า แต่ก็โอเคอยู่)

แล้วก็มีบางโอกาสที่จะต้องพาแม่ไป รพ. บ้าง คันนี้ให้ผู้ใหญ่นั่งก็สบายดี

ส่วนตัว ด้วยอาชีพที่อาจจะต้องไปออกกอง ตจว. มีต้องขนของบ้าง และ เร็วๆนี้อาจจะต้องรีโนเวทบ้านด้วย การพับเบาะไว้ขนของก็เลยเป็นอีก benefit นึงที่เราว่าตอบโจทย์

สุดท้ายคือราคาไม่เกินล้าน แลกกับรูปลักษณ์ที่ดูไม่เป็นพ่อบ๊าน พ่อบ้านจนเกินไป ก็เลยมาลงเอยที่คันนี้แหละ ดีเลย ถูกจริต เราเป็นพวกขับต่อนยอนอยู่แล้ว 555″

ถ้ามองกันตามความเป็นจริง ไม่น่าแปลกใจเลยที่ปริญญ์ จะตกลงปลงใจกับ Xpander Cross เพราะเท่าที่นั่งอ่านความคิดเห็นของเจ้าตัว ก็พบว่า รถมันตอบโจทย์การใช้งานของเขาจริงๆ เนื่องจากเจ้าตัวเติบโตมากับรถที่มีความสูงเยอะกว่าปกติ เลยชอบขับรถที่มีตำแหน่งเบาะนั่งสูงๆหน่อย มาแต่ไหนแต่ไร

จุดเด่นของ Xpander Cross อยู่ที่ การนำ Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง คันเดิม ที่หลายคนชื่นชอบทั้งความอเนกประสงค์ จากห้องโดยสาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดกลุ่มนี้ ผนวกเข้ากับรูปลักษณ์ภายนอกที่โฉบเฉี่ยว (นานๆทีจะหารถที่ผมใช้คำนี้ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจเสียที) แถมด้วยช่วงล่างที่เซ็ตมาดี สมกับที่เกิดมาเป็นรถยนต์จากทีมวิศวกร Mitsubishi Motors มายกสูงเพิ่มขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร เพิ่มชุดตกแต่งรอบคัน เอาใจลูกค้าที่อยากได้รถยกสูงไว้ลุยหนีน้ำท่วม มีเครื่องปรับอากาศที่เย็นค่อนข้างเร็ว และมีการปรับแก้การตอบสนองของพวงมาลัยให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดๆ

ส่วนปัญหาประจำรุ่น อย่าง ปั้มติ๊ก ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เคยก่อเรื่องมาพักใหญ่นั้น ถูกแก้ไขจนจบเรียบร้อยแล้ว และทาง Mitsubishi Motors ก็เคยส่งจดหมาย แจ้งลูกค้าให้นำรถกลับเข้าไปเปลี่ยน ปั้มติ๊กลูกใหม่ (Part No.ใหม่) ไปแล้ว รวมทั้งความเข้มงวดของทางทีมงานเมืองไทย ในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต ของโรงงานที่ Bekasi ใน Indonesia กันอย่างเต็มที่ ก็น่าจะช่วลดความกังวลใจลงไปได้ประมาณหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม รถทุกรุ่นในโลกนี้ ย่อมมีข้อที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม และ Xpander Cross เองก็มีเช่นเดียวกัน และส่วนใหญ่ ก็ยังคงเป็นประเด็นเดิมๆ เหมือน Xpander รุ่นปกติ เพียงแต่อาจมีบางข้อเพิ่มเติมเข้ามาเล็กน้อยเท่านั้น ดังนี้

1.ขอเครื่องยนต์ที่แรงกว่านี้อีกหน่อย และควรเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะได้แล้ว

ผมยังยืนยันความเห็นเดิมครับ ผมคงจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร กับตัวเลขอัตราเร่ง ถ้าคู่แข่งรุ่นอื่น ทำตัวเลขออกมาได้ราวๆ 13 วินาทีปลายๆ หรือ 14 วินาที ต้นๆ เหมือนๆกัน แต่ความจริงก็คือ คู่แข่งทั้งหมดต่างทำตัวเลขได้ดีกว่า Xpander และ Xpander Cross ทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าคุณจะซื้อ รถรุ่นนี้ คุณควรจะยอมรับในข้อด้อยประเด็นนี้ให้ได้เสียก่อน ด้วยการไปทดลองขับที่โชว์รูม ว่ายอมรับได้ไหม? ถ้าคุณเป็นคนขับรถเรื่อยๆ สายชิล อย่างคุณปริญญ์ อัตราเร่งก็จะไม่เป็นปัญหาของคุณครับ

ส่วนเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ อยากให้เรียงอัตราทดดีๆ เพื่อช่วยลดรอบเครื่องยนต์ ขณะขับขี่ทางไกลด้วยเกียร์สูงสุด ให้มันต่ำลงกว่านี้สักหน่อย น่าจะช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมันได้มากกว่านี้อีกพอสมควร

2.การติดตั้งพนักวางแขนสำหรับคนขับ

ลูกค้า จำนวนไม่น้อย อยากเห็นพนักวางแขนแบบยกพับเก็บได้ ติดตั้งด้านข้างพนักพิงเบาะคนขับ เพื่อใช้วางแขน ระหว่างนั่งรอการจราจรที่ติดขัดไปเรื่อยๆ หวังว่าจะมีออกมาในรุ่นปรับอุปกรณ์ ภายใน 1 ปีข้างหน้านี้

3. การติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเพื่อเอาใจลูกค้าชาวไทยให้มากกว่านี้

เข้าใจดีว่า รถคันนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าชาว Indonesia เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาหรือยัง ที่มาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ทั้งชาวไทย และ Indonesia จะถูกยกระดับด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยบางอย่างซึ่งสมควรจะมี อย่างเช่น ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย ระบบ RMS ตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อคนขับเผลอเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) รวมทั้งระบบ FCM – LS เตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมช่วยชะลอความเร็ว ในช่วงไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้ ญาติผู้น้องอย่าง Mitsubishi Mirage Minorchange มีมาให้แล้ว แต่ Xpander กลับไม่ติดตั้งมาให้เลย อย่างน้อยๆ ถ้าติดตั้ง ระบบ Blind Spot Monitoring เตือนรถที่แล่นมาจากด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ที่กระจกมองข้าง หรือระบบเตือนเมื่อมียานพาหนะแล่นผ่านท้ายรถ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) มาให้เป็นรายแรกของกลุ่มตลาดนี้ได้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มจุดขาย และเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้าขึ้นไปได้อีก

4.เครื่องเสียงติดรถยนต์

บอกได้คำเดียวว่า ทำใจครับ เครื่องเสียงของ Xpander ทั้งรุ่น Cross และ GT จะเป็นผลงาน OEM (Original Equipment Manufacturing) โดย SONY เพราะคุณภาพเสียงที่ออกมา ห่วยแตกมาก อู้อี้ ใช้งานเหมือนจะง่าย แต่กว่าจะปรับเสียง Equalizer ตามต้องการ ต้องออกจากเพลงที่กำลังเล่นอยู่เสียก่อน ซึ่งมัน ไม่ Make Sense เอาเสียเลย หาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ หรือไม่เช่นนั้น ลูกค้าหูทองคำ ก็คงต้องนำไปเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงใหม่เองจะดีกว่า

5.ระบบห้ามล้อ

น้ำหนักแป้นเบรกที่นุ่ม การตอบสนองของเบรก และระยะเหยียบลึกปานกลาง ไม่ลึกไม่ตื่นเกินไป นั้นดีอยู่แล้ว เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของ Xpander ก็จริง แต่ดูเหมือนว่า ผ้าเบรกที่เลือกใช้ อาจจะทนต่อความร้อนได้ไมดีเท่าไหร่นัก เพราะอาการ Fade เกิดขึ้นได้ง่ายพอสมควร พอๆกันกับ Honda ทั้ง BR-V และ Mobilio ดังนั้น ถ้าได้ผ้าเบรกที่ดีกว่านี้สักชุด ก็น่าจะช่วยให้คนขับ มั่นใจได้มากกว่านี้

ไม่เพียงเท่านั้น ในรถคันที่เราทดลองขับ บางครั้ง หากเหยียบเบรกลงไปครั้งแรก แป้นเบรกจะเบา เหยียบลงไปได้ลึก ราวกับว่า มีลมในหม้อลมเบรกน้อยมาก แต่พอถอนเท้าขึ้นมาแล้วลองเหยียบเบรกลงไปอีกรอบ แป้นเบรกก็หนืดขึ้นมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น อยากให้ลองตรวจเช็คเรื่องนี้สักหน่อยก็ดีครับ

********** คู่แข่งในตลาดกลุ่มเดียวกัน? **********

ถึงแม้ว่า ตลาดกลุ่ม ASEAN Sub-Compact (B-Segment) Minivan 7 ที่นั่ง นั้น จะมีตัวเลือกใหม่ๆเข้ามาให้ลูกค้าปวดหัวเล่นขึ้นเยอะมากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับ กลุ่มย่อย อย่าง Sub-Compact Minivan ยกสูง นั้น กลับมีตัวเลือกในตลาดเพียงแค่ 2 รุ่น

– Honda BR-V

แม้ว่า ณ วันนี้ ค่าตัวของ BR-V ทั้ง 2 รุ่นย่อย (765,000 และ 835,000 บาท) จะถูกกว่า Xpander Cross ถึง 134,000 บาท และ 64,000 บาท แต่สิ่งที่ BR-V เหนือกว่า Xpander Cross มีเพียงพละกำลังจากเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ที่มีเรี่ยวแรงเยอะกว่า ประหยัดน้ำมันกว่ากันนิดหน่อย (14.46 กิโลเมตร/ลิตร) นอกนั้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวถัง และภายในห้องโดยสาร Xpander เหนือกว่า BR-V ไปหมดแล้ว กระนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่จัดอยู่ในพวก “Price Sensitive” หรือกลุ่มที่ “ราคามีผลต่อการตัดสินใจมากๆ” การเลือก BR-V ซึ่งมีแนวโน้มว่า ราคาขายต่ออาจจะดีกว่ากันนิดนึง ก็น่าจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้คุณได้อยู่ แต่ถ้าไม่ได้ต้องการรถยกสูงมากขนาดนั้นแล้ว มองหาแฝดผู้พี่อย่าง Mobilio จะดีกว่า

– Suzuki XL7 (Ertiga Cross)

ถึงแม้จะยังไม่เปิดตัวในเมืองไทย เวลานี้ แต่ Suzuki ก็เตรียมจะสั่งนำเข้า เวอร์ชันยกสูงของ Ertiga จาก Indonesia เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ภายในปี 2020 นี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรค Covid-19 ว่าจะลดความเลวร้ายลงไปเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ในเมื่อขุมพลังยังคงเหมือนเดิม จึงพอจะเดาได้ว่า อัตราเร่งและอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ XL7 มีแนวโน้มว่าน่าจะดีกว่า Xpander Cross นิดหน่อย ทีนี้ เหลือแต่การจัด Option ประจำรถ และราคาขายปลีก แล้วละ ที่จะเป็นตัวตัดสิน

********** คู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน แต่ต่างกลุ่มตลาด **********

ถ้าคุณยังมีคำถามว่า งบประมาณในระดับเดียวกันกับ Xpander Cross สามารถซื้อรถอะไรได้บ้าง ผมก็คงจำใจเสนอตัวเลือก ที่อยู่คนละกลุ่มตลาดไปเลย ไมว่าจะเป็นทางเลือกที่แสนจะ Play Safe ที่สุด อย่าง Toyota Corolla Altis 1.6 G ซึ่งมาพร้อมกับ Platform ใหม่อย่าง TNGA ซึ่งให้การบังคับควบคุมที่ดีงามขึ้นกว่าเดิมมาก แถมยังมาพร้อมค่าตัวที่ถูกกว่ากัน 10,000 บาท (879,000 บาท) และมีศูนย์บริการทั่วไทย แทบไม่ต้องกังวลเรื่องบริการหลังการขาย แต่มันอาจจะไม่ใช่รถที่คุณต้องการนัก เพราะภายในห้องโดยสาร อาจแคบไปหน่อยสำหรับสมาชิกครอบครัว เกิน 4 คนขึ้นไป

หรือจะข้ามไปหารถกระบะอย่าง Ford Ranger FX4 รุ่นย่อยใหม่ ซึ่งตั้งราคาเท่ากันกับ Xpander Cross เป๊ะ ราวกับนัดกันมา (899,000 บาท) แน่นอนว่า คุณได้รถกระบะที่ดูหล่อสุดในตลาด แถมตกแต่งในสไตล์ดุดันนิดๆ เสร็จสรรพ จากโรงงาน ทว่า ศูนย์บริการของ Ford ก็ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ ในแง่ความชำนาญของช่าง ในการซ่อมบำรุงตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆโตๆ

แต่ถ้าคุณใจกล้าบ้าบิ่นพอ Chevrolet Trailblazer รุ่นโละสต็อก (895,000 บาท) สั่งลาก่อนปิดฉากการทำตลาดแบรนด์ Chevy ในเมืองไทย ในช่วงสิ้นปี 2020 นี้ ก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะ GM ยืนยันว่า ยังจะมีศูนย์บริการและอะไหล่เตรียมพร้อมรองรับลูกค้าไปอีกราวๆ 10 ปี สบายๆ แถมตัวรถก็ยังมีคุณงามความดีในระดับ ชายกลางของตลาด ที่หลายๆคนอาจมองเมิน เพียงแต่ว่า อาจต้องทำใจเรื่องราคาขายต่อ ที่หล่นฮวบฮาบ เพราะผู้คนส่วนใหญ่ เขาคงจะไม่ใจกล้าแบบคุณแน่ๆ

*****แล้วถ้าคุณตกลงปลงใจกับ Xpander จะเลือกรุ่นย่อยไหนดี?*****

ขณะที่ตลาด Indonesia บ้านเกิดของ Xpander มีรุ่นย่อยให้ลูกค้าเลือกกันมากมาย แต่สำหรับประเทศไทย Mitsubishi Motors (Thailand) นำเข้า Xpander จากโรงงานแห่งใหม่ ใน Bekasi มาเปิดตลาดบ้านเราเพียง 3 รุ่นย่อยเท่านั้น

รุ่น GLS Ltd. 779,000 บาท
รุ่น GT            849,000 บาท
รุ่น CROSS    899,000 บาท

มาพร้อม Diamond Warranty

  • รับประกันตัวรถนาน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
  • ฟรี ค่าแรงเช็คระยะนาน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร
  • ฟรี ประกันภัยชั้น 1
  • ฟรี บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง

ผมยังขอยืนยันความเห็นเดิมครับ

ถ้าคุณเป็นคนไม่ได้บ้า Option มากนัก รุ่น GLS Ltd. ก็ให้อุปกรณ์มาตรฐานมาเพียงพอต่อการใช้งานอย่างคุ้มค่าแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินอีก 70,000 บาท ปีนขึ้นไปเล่นรุ่น GT แต่อย่างใด อีกทั้งเบาะนั่งก็ยังหุ้มด้วยผ้าเกรดเดียวกับ รถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ขายในประเทศญี่ปุ่น เลยด้วยซ้ำ! นั่งสบายเพิ่มขึ้นกว่ารุ่น GT ซึ่งให้เบาะหนัง กันเห็นๆ

แต่ถ้าคิดว่า เพิ่มค่าผ่อนส่งต่อเดือนขึ้นไปอีกนิดพอไหว ก็ควรยกระดับขึ้นมาเล่นรุ่น GT ไปเลย จะได้ การประดับตกแต่งที่ครบถ้วนกว่า ได้ล้ออัลลอย 16 นิ้ว ที่ดูเหมาะสมเข้ากับเส้นสายของตัวรถมากกว่า เพียงแต่ว่า ถ้าคุณเป็นนักฟังเพลงหูทองขั้นเทพ ก็ควรจะถอดเครื่องเสียง SONY ที่แถมมาให้จากโรงงาน ทิ้งไปซะ หาของใหม่ใส่แทนเข้าไป จะช่วยให้คุณมีความสุขมากกว่า แค่ต้องหาตัววิทยุ 2 DIN ที่มีหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen เหมือนกัน และต้องต่อเชื่อมกับกล้องมองหลังให้ได้ด้วย ก็พอ หรือถ้าไม่อยากไปยุ่งกับตัว Front เครื่องเสียง ก็อาจจะเปลี่ยนลำโพงพร้อมสายสัญญาณใหม่ ที่ดีกว่านี้ ก็ย่อมสะดวกกว่า และอาจได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า

และถ้าไม่รีบ Xpander Minorchange ก็กำลังขนส่งลงจากท่าเรือ Bekasi ที่ Indonesia มายังท่าเรือแหลมฉบังในประเทศไทย และมีกำหนดใกล้เปิดตัวในระยะเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ ดังนั้น อดใจรอดูอีกนิดก็ได้ แต่บอกใบ้ให้แค่ว่า เป็นการปรับโฉมแค่ Cosmetic ภายนอก นิดๆหน่อยๆ เท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าส่วนลดหน้าโชว์รูมของรุ่นปัจจุบัน เร้าใจคุณมากพอ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้ทันที โดยไม่ต้องรีรอให้เสียเวลา

ส่วนรุ่น Cross นั้น ผมมองว่า มันจะเหมาะกับการเป็นเจ้าของก็ต่อเมื่อ บ้านหรือที่ทำงานของคุณ มักประสบปัญหาน้ำท่วมสูง รอการระบายจากหน่วยงานราชการระดับโคตรพ่อโคตรแม่ล่าช้า หรืออาจจำเป็นต้องลุยเข้าไปบนเส้นทางก้อนกรวด ลูกรัง หรือขรุขระ เป็นประจำ มิเช่นนั้น ผมมองว่า มันไม่จำเป็นเลยที่คุณจะเพิ่มเงินอีก 40,000 บาท ขึ้นมาอุดหนุน Xpander ยกสูง ซึ่งอาจจะดูสวย เท่ ทะมัดทะแมง แต่การใส่ล้อยางใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 17 นิ้ว แถมยังยกสูงขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร แม้ว่า ยังคงพอจะไว้ใจได้ระดับหนึ่งในขณะเข้าโค้ง และให้การทรงตัวทางตรงดีใช้ได้ (ถ้าไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้างเลย) แต่คุณก็ต้องแลกมาด้วย อัตราเร่งที่อืดลงยิ่งกว่ารุ่นปกติ แถมยังลดทอนความประหยัดน้ำมันลงไปอีกพอสมควร

สำหรับใครที่กังวลในการดูแลลูกค้าของโชว์รูม และศูนย์บริการของ Mitsubishi Motors แล้วละก็ ผมมองว่า นับจากปี 2018 ขึ้นมา ก็พอจะมีโชว์รูมน้ำดี เพิ่มขึ้นมาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่ถอดด้าม หรือรายเก่าที่ปรับปรุงตัว จริงอยู่ว่า บริการหลังการขายของ Mitsubishi Motors ก็ยังคงอยู่ในระดับกลางๆ ของตลาด พอๆกับ Nissan แต่อย่างน้อย พวกเขาก็พยายามจะหาทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้กับลูกค้า ได้ดีในระดับหนึ่ง อาจไม่ถึงขั้นเจ้าตลาดอย่าง Isuzu Toyota Honda แต่ก็อยู่ในเกณฑ์กลางๆ เหมือน Nissan , Suzuki และไม่ได้น่าเป็นห่วง อย่าง Ford Mazda หรือ MG แน่ๆ

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผมพบเจอกับตัวเอง (ยอนกลับไปอ่านได้ ในช่วงท้ายของบทความ First Impression Click Here) ทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งที่ Mitsubishi Motors ต้องปรับปรุงกันอย่างเร่งด่วนก็คือ บริการของ Call Center ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ซึ่งพวกเขาว่าจ้างให้ บริษัท Outsource ภายนอก เป็นผู้รับผิดชอบ แม้ว่า การพูดจาจะสุภาพแค่ไหน แต่การแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ควรทำด้วยความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่แค่ ทำงานไปตาม Manual หรือ Protocol ที่ถูกสั่งมา เพียงเพื่อจะป้องกันตัวเองไม่ให้โดนเล่นงานหากทำอะไรผิดพลาด

นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายสิ่งอย่าง ที่ชาว FYI ,คลองหลวง และ แหลมฉบัง ยังจำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อให้ลูกค้าได้อุ่นใจ และประทับใจในแบรนด์ Mitsubishi Motors มากยิ่งกว่านี้ เอาน่า อย่างน้อย ผู้คนที่นี่ เขาพร้อมรับฟังสิ่งที่ผมและคุณๆ พูด และพวกเขายังมีความรักในแบรนด์นี้กันอยู่

ฝากช่วยกันแก้ไข ด้วยนะครับ 

——————–///———————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

– ฝ่ายประชาสัมพันธ์  / Public Relation Department)
Mitsubishi Motors (Thailand) Co.,ltd.
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

Yuthapichai Phantumas (Q)
เตรียมเนื้อหาประกอบบทความ

บทความที่ควรอานเพิ่มเติม / You may interesting at this article.
Full Review : 2018 Mitsubishi Xpander

————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
3 เมษายน 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 3rd, 2020

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!