(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอ คลิป ทดลองขับ ของรถคันนี้ เลื่อนลงไป อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้)


ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินเรื่องราวเล่าขาน หรือพบพานเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเอง อันเกี่ยวเนื่องกับการที่สังคมไทย ยกย่อง เชิดชู นับหน้าถือตา บรรดาเศรษฐีผู้มีอันจะกิน และรถยนต์ตราดาว ของพวกเขา กันอยู่เนืองๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าสุดแสนจะ Classic เช่นว่า “ขับรถไปจอดตามห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ถ้าขับรถญี่ปุ่น หรือรถยุโรปยี่ห้ออื่น รปภ หรือบริกรโรงแรม จะเพิกเฉย ไม่สนใจให้บริการ แต่พอคุณขับ Mercedes-Benz เข้ามา เท่านั้นและ แต่ละคนนี่ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังตีนทันที รีบเข้ามากุลีกุจอ พินอบพิเทา เอาใจอย่างเอกเกริกเกินเหตุ

ไปจนถึงเรื่องราวที่ ผู้ใหญ่ในครอบครัวของเรา มักเล่าขานถึงความร่ำรวยของเพื่อนฝูงตนเอง ว่า รวยขนาดมีรถ Benz อยู่ในโรงจอดรถหลายคันเลยทีเดียว หรือแม้แต่เรื่องของคนจำนวนมาก ที่วัดความสำเร็จของคนที่ตนพูดถึง จากการมีรถ Benz ขับ ฯลฯ อีกมากมาย

คุณเคยสงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมคนไทยเราถึงยกย่องเชิดชู “Mercedes-Benz” ในฐานะรถยนต์ที่มีภาพลักษณ์ดูหรู ดูรวย ดูมันอันจะกิน ในสายตาคนไทยทั่วไป มากขนาดนั้น ?

ทั้งที่จริงๆ แล้ว เมื่อเทียบเฉพาะตัวรถกับแบรนด์ระดับ premium ที่จำหน่ายและทำตลาดอยู่ในบ้านเรา ณ เวลานี้ เช่น Audi , BMW, Lexus หรือ Volvo ซึ่งบางรุ่นอาจจะหรูหรา ราคาแพง เทียบเท่า หรือมากกว่า เสียด้วยซ้ำ…

แต่เมื่อลองค้นหาคำตอบดู คุณจะพบที่มาของภาพลักษณ์ ในมุมมอง และวิธีคิดของผู้คนเหล่านั้น

Mercedes-Benz คือ รถยนต์ยี่ห้อแรกของโลก
Mercedes-Benz คือ รถยนต์คันแรกที่ถูกนำเข้ามาวิ่งบนถนนเมืองไทย (รถยนต์พระที่นั่ง Mercedes-Benz รุ่น 28 HP)
Mercedes-Benz คือ รถยนต์ของเจ้าขุนมูลนาย ในสมัยก่อน ที่ผู้คนในพระนครและหัวเมืองใหญ่ในอดีต เห็นกันมานาน

จึงไม่แปลกที่ทำให้ภาพลักษณ์ทางสัมคมของรถยนต์ Mercedes-Benz ในสายคนไทย กลายเป็นสัญลักษณ์ของยานพาหนะติดล้อ สำหรับคนรวย คนใหญ่คนโต จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่ หรือ คนจีนที่อพยพเข้ามาในบ้านเรา ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มีความคิดฝังใจอย่างหนึงว่า ถ้ารวยเมื่อไหร่ ต้องครอบครองเป็นเจ้าของเบนซ์ให้ได้ !!

แม้ที่ผ่านมาจะมีรถยนต์หลายรุ่น หลายประเภท จากแต่ละแบรนด์ ที่ถูกสร้างขึ้น ตามความรู้ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ออกสู่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันเวลาที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ลดทอนคุณค่า และภาพลักษณ์ทางสังคม ของสัญลักษณ์ ดาวสามแฉก ที่เด่นเป็นสง่าอยู่บนกระจังหน้า หรือฝากระโปรงของรถยนต์ Mercedes-Benz ลงไปได้ เว้นเสียแต่ว่าอาจจะมีพวกนิสัยเสียบางคนที่ขับรถแย่ๆ จนทำให้ชาวบ้านชาวเมืองก่นด่าตามหลัง มองคนขับเบนซ์เป็นพวกคนรวยนิสัยเสียไปอย่างช่วยไม่ได้

เมื่อเป็เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งใช้รถญี่ปุ่นทั่วๆ ไป แต่อยากจะขยับขึ้นไปขับ Benz บางคนขับ Toyota Camry อยู่ แต่อยากกระโดดขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัย C-Class หรือนั่งเป็นซาโจ้ซัง อยู่เบาะหลังของ E-Class ทว่า Mercedes-Benz ทั้ง 2 รุ่น ที่ว่านั้น มีราคาค่าตัวที่สูงกว่ารถยนต์พิกัด D-Segment จากญี่ปุ่น อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างถูกๆ ก็ปาเข้าไปเกินกว่า 2 ล้านบาทแทบทั้งสิ้น

แล้วมันจะมีตัวเลือกไหนบ้างล่ะ ที่พอจะเอื้อมถึง ?

หากเป็นยุคที่รัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปัณยารชุณ เพิ่งทะลายกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้า เมื่อปี 1992 แน่นอนว่า ทางเลือกในยุคสมัยที่ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ยังคงเป็นตัวแทนนำเข้า ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ตราดาวอย่างเป็นทางการในบ้านเรา ก็คงเป็นรุ่น 190E รหัสรุ่น W201 ที่ถูกโละสต็อก โกยมากองไว้ที่เมืองไทย จนได้รับความนิยมสูงาก เกิดปรากฎการณ์ ยอดสั่งจองสูงถึง 5,000 คัน ถึงขั้นผู้บริหารของ Daimler Benz AG. ในยุคนั้น ต้องบินมาดูให้เห็นกับตาว่า เกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย “นี่คนไทยบ้า Benz ถึงเพียงนี้เชียวหรือนี่!?” และนั่นคือจุดที่ทำให้ ประเทศไทย กลายเป็นประเทศแรกๆนอกยุโรป ที่ได้สิทธิ์ เปิดตัว C-Class W202 ก่อนชาวบ้านเขาในปี 1993

หรือถ้าเป็นช่วงปลายยุค 90s ต้นยุค 2000 หวยคงไปออกที่ Mercedes-Benz A-Class ตัวถัง Hatchback 5 ประตู ทรงสูง ซึ่งอาจจะดูไม่หรูหราพอ สำหรับการเป็นรถยนต์ของผู้ใหญ่ หรือรถที่เอาไว้แสดงฐานะทางสังคม แม้ในช่วงปี 2014 Mercedes-Benz ประเทศไทย จะสั่งนำเข้า CLA Sedan 4 ประตู Frameess Door ท้ายลาด หลังคาเตี้ย ลงสู่ตลาดในบ้านเรา มาดหรูขึ้นนิดหน่อย แต่ก็ยังมีบุคลิกสปอร์ต เอาใจวัยรุ่นมากเกินไปหน่อยอยู่ดี

ในที่สุด เราต้องรอจนถึงปี 2018 – 2019 กว่าที่ Mercedes-Benz จะตัดสินใจทำรถยนต์ Sedan 4 ประตู ทรง 3 กล่อง แบบมาตรฐาน รุ่นเล็กสุด ราคาถูกที่สุด เข้าถึงได้ง่ายสุด ออกมาเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าชาวโลก และคนไทยที่อยากเป็นเจ้าของรถยนต์ตราดาว กันเสียที นั่นคือที่มาของ “Mercedes-Benz A-Class Sedan” ที่คุณเห็นอยู่นี้ นั่นเอง!

ถึงแม้ตัวรถจะดูเหมาะกับคนรุ่นใหม่ มากกว่าจะเป็น Benz คันแรก สำหรับกลุ่มลูกค้าวัยเพิ่งเกษียณ แต่การเข้ามาทำตลาดของน้องนุชสุดท้อง ในตระกูล Sedan ในครั้งนี้ จะมีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไรบ้าง ? มีดีพอที่จะเป็น Your First Mercedes-Benz หรือ Benz คันแรกของคนที่อยากขยับขึ้นไปเล่นรถยุโรปหรือไม่ ?  ลองอ่านดูครับ

แต่…ตามธรรมเนียมของบทความรีวิวจาก Headlightmag ผมคงต้องท้าวความถึงจุดเริ่มต้นของ A-Class Sedan กันเสียก่อน เป็นออร์เดิร์ฟ

การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ Mercedes-Benz A-Class Sedan รุ่นปัจจุบัน รหัสตัวถัง V177 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ของค่ายดาวสามแฉก ที่สร้างขึ้นบน Platform ใหม่ล่าสุดสำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการนำไปใช้กับรถยนต์แต่ละรุ่นที่มีความยาว ระยะฐานล้อ และความกว้างช่วงล้อ ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักที่เบาลง ที่มีชื่อว่า MFA2 หรือ Modular Front-wheel Architecture Platform เจเนอเรชันที่ 2 นั่นเอง

รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้ Platform ใหม่นี้เป็นรุ่นแรกก็คือ GLB ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แตกไลน์ออกมาขั้นกลางระหว่าง GLA ใหม่ และ GLC เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ที่มีงบไม่สูงนัก แต่อยากมี SUV ใต้ท้องสูงพอประมาณ พื้นที่ใช้สอยเยอะ แปะตราดาว ไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน (รายละเอียด อ่านได้ Click Here) และอีก 2 รุ่นต่อมา ก็คือ Mercedes-Benz A-Class รุ่นปกติ และ รุ่นฐานยาวพิเศษ (Exclusive เฉพาะตลาดจีนเท่านั้น) ซึ่งแตกหน่อออกมาจาก A-Class รุ่นดั้งเดิม มาดวัยรุ่นจ๋า ที่ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 1997 มีเพียงตัวถังแบบเดียวคือ Hatchback 5 ประตู

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจขยายกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กให้โตขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 5 รุ่น ได้แก่ A-Class / CLA-Class / CLA Shooting Break / GLA-Class และ B-Class เป็น 8 รุ่น เนื่องจากรถยนต์กลุ่มนี้มีสัดส่วนยอดขายสูงถึง 40% ของรถยนต์ Mercedes-Benz ทั้งหมด จึงเหมาะสำหรับการแตกไลน์การผลิต เพื่อเพิ่มทางเลือก หรือรูปแบบของรถยนต์ ให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการร่นระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนในการพัฒนา Platform ที่นำมาใช้ให้เร็วขึ้นด้วย

นอกจากนี้ แนวคิดของ Mercedes-Benz ที่พยายามจะดันตำแหน่งทางการตลาดของขุนศึกรุ่นเล็ก ตัวถัง 4 ประตู ท้ายลาดสไตล์ Coupe อย่าง CLA รุ่นปัจจุบัน รหัสตัวถัง C118 ที่เคยเป็นเจ้าของตำแหน่งรถยนต์ Sedan 4 ประตู ระดับ Entry Level ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงง่ายที่สุด ให้ดูพรีเมียมกว่าที่เคย ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ A-Class Sedan รุ่นปัจจุบัน ต้องรับตำแหน่งดังกล่าวไปแทนโดยปริยาย

งานดีไซน์ของ A-Class เป็นผลงานจากทีมงานนักออกแบบ ซึ่งนำโดย Mr.Gorden Wagener ผู้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงงานดีไซน์ของรถยนต์ Mercedes-Benz ตั้งแต่ปี 1997 เคยดูแลรับผิดชอบงานออกแบบทั้งภายนอก และภายในห้องโดยสาร ของ R-Class, ML-Class และ GL-Class ในปี 1999 ก่อนจะดูแลงานออกแบบของทั้ง A-Class, B-Class, C-Class, E-Class, CLK-Class หรือแม้กระทั่ง CLS-Class ในปี 2002 จนในที่สุดก็กลายมารับตำแหน่ง Chief Designer ผู้กุมบังเหียนด้านงานออกแบบของ Daimler AG และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกำหนดปรัชญา “Sensual Purity” ที่ถูกนำมาใช้ในรถยนต์ Mercedes แทบทุกรุ่น (ยกเว้น G-Class ซึ่งเป็น iconic car มีความเป็นตัวเองสูง) มีการพัฒนาต่อยอด และตกทอดมาจนถึง A-Class และ A-Class Sedan รุ่นปัจจุบันด้วยเช่นกัน

Gorden Wagener  กล่าวว่า “ผมเชื่อว่า A-Class เป็นรถยนต์รุ่นหนึ่งที่สำคัญมากต่อบริษัทฯ และมันจะเป็นรถยนต์ที่แสดงถึงการเปลี่ยนด้านดีไซน์การออกแบบ สไตล์หรูหราแบบอนุรักษ์นิยม ให้กลายเป็นความความหรูหรา ที่แฝงไปด้วยความทันยุค ทันสมัย มากขึ้น”

ส่วนการออกแบบภายในห้องโดยสารนั้น ดูแลรับผิดชอบโดย Mr. Perter Balko (Manager Creative Interior Mercedes-Benz Design) ผู้หลงใหลในงานศิลปะ และดนตรี เขาเล่าว่า “การเป็นนักออกแบบภายใน กับ นักดนตรี มีหลายองค์ประกอบที่คล้ายกัน อาทิ การพยายามสร้างบุคลิกที่โดดเด่น เป็นที่น่าจดจำ” ดังนั้น ในการออกแบบภายในของ A-Class และ A-Class Sedan เขาจึงให้ความสำคัญกับ Value กับ Quality เล่นกับผิวสัมผัสขององค์ประกอบต่างๆ ภายในห้องโดยสาร หรือ touch-optimized interface

หลังจากขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาและทดสอบเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ภาพ Teaser แรกของ Mercedes-Benz A-Class Hatchback ถูกปล่อยออกมา เผยให้เห็นดีไซน์ด้านหน้าตรงของรถยนต์รุ่นใหม่ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับรุ่นพี่ CLS อย่างชัดเจน ก่อนงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลก (World Premiere) จะถูกจัดขึ้นที่กรุง Amsterdam ประเทศเนเธอแลนด์ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2018

จากนั้น รถยนต์ต้นแบบ Mercedes Concept A Sedan ซึ่งเป็นร่างจำแลงของ Mercedes-Benz A-Class Sedan ถูกนำไปเผยโฉมเป็นครั้งแรก เคียงคู่กับเรือธงรุ่นใหญ่ Mercedes-Benz S-Class รุ่นปรับโฉม Facelift ที่งาน Shanghai Auto Show ในกรุงเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2017 เพื่อแสดงถึงแนวทางการออกแบบ A-Class Sedan ตลอดจนเป็นการหยั่งเชิงกระแสตอบรับจากลูกค้า ที่มีต่อกลยุทธ์การทำตลาดในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กของ Mercedes-Benz

เวอร์ชันผลิตขายจริงของ Mercedes-Benz A-Class Sedan เริ่มต้นเผยโฉมครั้งแรก ด้วยรุ่นฐานล้อยาว (Z177) ที่สร้างขึ้นสำหรับผลิตและทำตลาดเฉพาะประเทศจีนเท่านั้น เป็นอันดับแรก เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2018 จากนั้น A-Class Sedan รุ่นฐานล้อปกติ ก็เปิดตัวตามมาในภายหลัง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2018 ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะนอกจากระยฐานล้อ รวมถึงความยาวของบานประตูคู่หลังที่สั้นลง ดีไซน์รอบคัน แทบไม่ต่างจากรุ่นฐานล้อยาวเวอร์ชันจีนเลยแม้แต่นิดเดียว

ส่วนบ้านเรานั้น Mercedes-Benz (Thailand) ได้จัดงานแถลงข่าวเปิด A-Class Sedan อย่างเป็นทางการ ที่โรงแรม The Okura Prestige Bangkok ย่านปทุมวัน ในช่วงค่ำของวันที่ 22 สิงหาคม 2019 เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคันแบบ CBU จากโรงงานในประเทศ Mexico มีเพียงรุ่นย่อยเดียวให้เลือก นั่นคือ A 200 AMG Dynamic (AMG Optical) ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร Turbocharger 163 แรงม้า (PS) 250 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 7G-DCT ขับเคลื่อนล้อหน้า ราคาจำหน่าย 2,490,000 บาท

หลังจากทำตลาดในบ้านเราไปได้ซักพักหนึ่ง ตามธรรมเนียมของรถยนต์ Mercedes-Benz ในบ้านเราที่ต้องมีรุ่น CKD เข้ามาทำตลาด ทำให้ภาษีถูกลง สามารถทำราคาจำหน่ายให้ถูกตามไปด้วย หรือ สามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากรุ่น CBU ในราคาใกล้เคียงกัน ซึ่งในกรณีของ A200 Sedan AMG Dynamic ครั้งนี้ เป็นการนำชิ้นส่วนจากโรงงานในประเทศ Mexico เข้ามาประกอบที่โรงงาน Thonburi Automotive Assembly Plant (TAAP) จังหวัดสมุทรปราการ เปิดตัวในประเทศไทยไปสดๆ ร้อนๆ พร้อมกันกับรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ของ GLA (เจเนอเรชันที่ 2) รุ่นประกอบในประเทศ เวอร์ชันไทย ณ โรงแรม Four Season ย่านเจริญกรุง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา

ความแตกต่างของ Mercedes-Benz A200 Sedan AMG Dynamic รุ่นนำเข้าทั้งคัน (CBU) และ รุ่นประกอบในประเทศ (CKD) มีดังนี้

– เพิ่มระบบกุญแจรีโมท KEYLESS-GO
– เปลี่ยนจากยาง Runflat มาใช้ยางแบบปกติ และติดตั้งชุดปะยางฉุกเฉิน Tirefit มาให้แทน
– เปลี่ยนระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ Dual Zone ลดทอนลงมาเป็นแบบ Single Zone
– ตัดช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังออก
– ตัดระบบไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive High-beam Assist ออก
– ยกเลิกสีตัวถังภายนอก สีขาวเซรามิก Digital White และสีแดง Jupiter Red

ส่งผลให้ราคาจำหน่ายถูกลง 340,000 บาท จาก 2,490,000 บาท เหลือ 2,150,000 บาท

นอกจากนี้ ยังเพิ่มทางเลือกรุ่นเริ่มต้น A200 Sedan Progressive ที่มาพร้อมเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังแบบเดียวกับรุ่น AMG Dynamic ทว่าภายนอก และภายในห้องโดยสาร ถูกตกแต่งแบบธรรมดา เน้นความเรียบหรู และตัดอุปกรณ์บางรายการออกไป อาทิ หน้าจอชุดมาตรวัดแบบ Digital ขนาด 10.25 นิ้ว จนสามารถตั้งราคาจำหน่าย 1,990,000 บาท ครองตำแหน่งรถยนต์ Mercedes-Benz ที่ออกจำหน่ายในบ้านเรา ที่มีราคาค่าตัวต่ำกว่า 2,000,000 บาท แทนที่ A180 Style รุ่นที่แล้ว (W176) ที่เปิดตัวเมื่อปี 2015

มิติตัวถัง / Dimension

Mercedes-Benz A 200 Sedan AMG Dynamic มีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,556 มิลลิเมตร กว้าง 1,796 มิลลิเมตร สูง 1,425 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว (Wheelbase) 2,729 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Track) 1,567 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track) 1,547 มิลลิเมตร พื้นที่หน้าตัดด้านหน้า (Frontal Area) 2.19 ตารางเมตร ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ Cd อยู่ที่ 0.22

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่หูร่วมชายคาตราดาว ที่ใช้ Platform ร่วมกันอย่าง Mercedes-AMG CLA 35 4MATIC ซึ่งมีมิติตัวถังภายนอก ยาว 4,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,834 มิลลิเมตร สูง 1,404 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,729 มิลลิเมตร จะพบว่า A 200 Sedan AMG Dynamic สั้นกว่า 139 มิลลิเมตร แคบกว่า 38 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า 21 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวเท่ากัน

รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior

รูปลักษณ์ภายนอกด้านหน้าของรุ่น AMG Dynamic มาพร้อมกระจังหน้า Diamond Grille พร้อมโลโก้ดาวสามแฉกขนาดใหญ่ แต่ไร้ดาวลอย ชุดไฟหน้าเป็นแบบ LED High-performance ที่โดนถอดระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Adaptive High-beam Assist ออกไป เปลือกกันชนหน้านอกจากจะมาพร้อมมาดสปอร์ต ตามสไตล์ AMG Dynamic แล้ว ยังมีช่องรีดอากาศจากด้านหน้าไปยังซุ้มล้อคู่หน้า ซึ่งจะแตกต่างจากรุ่น Progressive ที่เน้นไปทางเรียบหรู นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยแถบโครมเมียมบริเวณชายขอบด้านล่างมาให้ด้วย

ด้านข้างตัวรถมีการออกแบบแนวหลังคาให้มีความเป็น 3-box Design มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้บุคลิกด้านข้างของตัวรถนั้น แม้จะยังคงมีความเป็นวัยรุ่นอยู่ แต่เป็นวัยรุ่นที่ผ่านโลกมาประมาณหนึ่งแล้ว กรอบกระจกหน้าต่างตกแต่งด้วยแถบโครมเมียม มือจับเปิดประตูเป็นสีเดียวกับตัวรถ เส้น Shoulder line และเส้น Character line ที่ไม่ได้มีเหลี่ยมสันชัดเจนนัก แต่ก็พอจะช่วยให้ด้านข้างตัวรถมีมิติเมื่อมีแสงจากภายนอกมาตกกระทบ ช่วยเสริมให้มีความพริ้วไหว ไม่หนักแน่นจนเกินไป

บั้นท้ายรถ ติดตั้งชุดไฟท้ายแบบ Full-LED ซึ่งโดดเด่นด้วยไฟหรี่แบบ Y-Shaped แนวนอน ช่วยทำให้รถยนต์ไซส์ Compact อย่าง A-Class Sedan นั้น ดูกว้างและแบนขึ้นมาอีกเล็กน้อย เปลือกกันชนท้ายมาพร้อมแผงไฟทับทิมเรืองแสงสีแดงแนวนอน ชายด้านล้างเป็นพลาสติกสีดำ แบบมีครีบดิฟฟิวเซอร์ในตัว เสริมด้วยแถบโครเมียม พร้อมปลายท่อไอเสียปลอม (ส่วนปลายท่อจริง ให้ก้มดูที่ ใต้เปลือกกันชนหลัง ฝั่งขวา)

ล้ออัลลอยเป็นลายดาว 5 ก้านคู่ สีทูโทน ปัดเงา ขนาด 18 นิ้ว เฉพาะรุ่น AMG Dynamic กึ่งกลางเป็นสัญลักษณ์ดาว 3 แฉก พร้อมลายช่อมะกอก รัดด้วยยาง Continental EcoContact6 ขนาด 225/45 R18 แบบธรรมดา จากเดิมที่รุ่นนำเข้าทั้งคัน (CBU) ใช้ยาง Continental ContiSportContact5 ขนาด 225/45 R18 แบบ Run-flat หรือยาง Hankook Ventus S1 Evo2 ขนาด 225/45 R18 แบบ Run-flat

สัดส่วนของตัวรถโดยรวมทำให้รถยนต์รุ่นนี้ก้าวเข้ามาเป็นน้องเล็กของตระกูล Sedan ค่ายดาวสามแฉก ที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการนำเอางานออกแบบที่ดูงามสง่า (Elegance) แต่แฝงความอ่อนเยาว์ เอาใจวัยรุ่น สืบเนื่องจาก Sedan ท้ายลาดรุ่นใหญ่ อย่าง CLS ย่นย่อลงมาอยู่ใน A-Class Sedan ก็พอจะเสริมความชิค ความเฉี่ยว ในแบบที่ลูกค้าทุกวัยน่าจะชื่นชอบได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ระบบกลอนประตูเป็นรีโมท KEYLESS-GO พร้อมกุญแจ Wave key แบบฝั่งไว้ด้านในตัวรีโมท เมื่อพกกุญแจเดินเข้าใกล้รถ แล้วเอื้อมไปจับมือเปิดประตู ระบบจะปลดล็อกให้อัตโนมัติ และหากต้องการสั่งล็อกประตู ก็สามารถทำได้โดยใช้นิ้วแตะที่ช่องสี่เหลี่ยมด้านข้างมือจับประตูทั้ง 4 บาน หรือจะกดปุ่มล็อก – ปลดล็อก จากกุญแจรีโมทก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบสวิตช์ปลดล็อกฝาท้าย และระบบ Immobilizer ฝังมาให้ด้วยเสร็จสรรพ

ภายในห้องโดยสาร / Interior

การเข้า – ออกจากช่องประตูคู่หน้า อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักหน่อย ขอแนะนำว่าควรปรับเบาะนั่งลงไปก่อน อาจจะไม่ต้องปรับลงไปในตำแหน่งต่ำที่สุด แต่ควรกดเบาะลงต่ำเท่าที่จะเหมาะสมกับระดับความสูงของคุณ เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาศีรษะชนขอบเสากรอบช่องประตูด้านบน และตอนลุกออกจากรถนั้น อาจต้องใช้แรงในการยกร่างของคุณขึ้นมายืนตรง มากสักหน่อย มากพอกันกับรถสปอร์ตขนาดเล็กบางรุ่นเสียด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้นก็เถอะ ช่องทางเข้า-ออก ของ A200 ยังกว้าง และมีมุมโค้งเว้าที่ยังพอจะเอื้ออำนวยให้คุณหย่อนก้นลงนั่ง หรือลุกออกมาจากตำแหน่งคนขับ ได้สะดวกกว่า CLA รุ่นเดิม CLA รุ่นล่าสุด ไปจนถึง BMW 220i Gran Coupe อย่างชัดเจน

แผงประตูคู่หน้าเป็นวัสดุบุนุ่มสีดำ ในรุ่น AMG Dynamic จะเป็น trim การตกแต่งสไตล์สปอร์ต ใช้วัสดุอะลูมิเนียมผิวด้าน (Light Longitudinal-grain Aluminum) บริเวณพนักวางแขนบุฟองน้ำ หุ้มด้วยผ้า DYNAMICA microfibre ตัดเย็บด้วยด้ายสีแดง สามารถวางท่อนแขนได้ในระดับพอดี จนถึงข้อศอก

มือจับประตูด้านในเป็นวัสดุชุบโครเมียม แผงประตูส่วนล่างเป็นพลาสติกขึ้นรูป มีช่องเก็บของและช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท มาให้ นอกจากนี้ยังติดตั้งไฟสัญลักษณ์สีแดง และไฟส่องสว่างสีเหลืองอำพัน ซึ่งจะติดขึ้นทันทีเมื่อเปิดประตูรถ มาให้ด้วย

เบาะนั่งคู่หน้า ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุหนัง ARTICO สีดำ สลับกับผ้า DYNAMICA Microfibre เดินตะเข็บด้ายสีแดง เบาะนั่งฝั่งคนขับสามารถปรับได้ด้วยไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมระบบปรับดันหลัง (Lumbar Support) แบบไฟฟ้า และมีระบบบันทึกตำแหน่งเบาะนั่ง 3 ตำแหน่ง ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า เป็นแบบปรับด้วยมือได้ 8 ทิศทาง ด้วยก้านคันโยก และสวิตช์มือหมุน พนักพิงศีรษะของเบาะนั่งคู่หน้าทั้ง 2 ฝัง สามารถปรับระดับการดันศีรษะได้ตามความต้องการ ด้านหลังพนักพิงหลังเบาะคู่หน้ามีช่องตาข่ายเก็บนิตยสารมาให้

เบาะนั่งมีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก พนักพิงหลังรองรับแผ่นหลังได้ดีตามสมควร ด้านบนของพนักพิงหลัง รองรับช่วงสะบักหัวไหล่ได้ในระดับหนึ่ง ส่วนเบาะรองนั่ง ทั้ง 2 ฝั่ง สามารถดึงส่วนต่อขยาย เพิ่มความยาวออกมาให้รองรับช่วงต้นขาได้ถึงขาพับเลยทีเดียว ดังนั้น ใครชอบเบาะรองนั่ง สั้นหรือยาว ก็สามารถเลือกปรับระยะได้เองตามใจชอบ

ปีกด้านข้างของพนักพิง และปีกข้างของเบาะรองนั่ง มีความสูงพอประมาณ แต่ไม่ถึงกับโอบกระชับลำตัว การปรับท่านั่งให้เหมาะสมกับสรีระคนขับ ทำได้ง่าย พนักพิงศีรษะเป็นแบบปรับระดับสูง – ต่ำ และปรับระดับความดันกบาลได้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ Mercedes-Benz ตัดสินใจไม่เอาเบาะนั่งทรง Bucket Seat และพนักพิงศีรษะ Built-in แบบเดียวกันกับ CLA รุ่นที่แล้ว ที่ดันกบาลชิบหายวายป่วง มาติดตั้งให้ใน A200 Sedan รุ่นนี้ ตัวพนักศีรษะเองเสริมฟองน้ำให้แน่นหนาพอสมควร เกือบๆจะแข็งหน่อยๆ

ทว่าตำแหน่งการติดตั้งพวงมาลัยที่เยื้องไปทางซ้ายเพียงนิดเดียว ก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับ Mercedes-Benz หลายๆ รุ่น รวมถึง A-Class Sedan คันนี้ด้วยเช่นกัน ปัญหานี้ทำให้ผมรู้สึกปวดลำตัวฝั่งขวาตั้งแต่ใต้รักแร้ลงมาถึงสะโพก ในขณะนั่งขับขี่ทางไกล เป็นเวลานาน ราวๆ 3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

เข็มขัดนิรภัยเบาะคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ตำแหน่ง พร้อมระบบดึงรั้งกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Load  Limiter) มีระบบเตือนรัดเข็มขัดนิรภัยมาให้ แต่ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ให้เข้ากับสรีระร่างกายของผู้ขับขี่แต่ละคนได้ ทั้ง 2 ฝั่ง เพราะวิธีคิดของวิศวกร Mercedes-Benz มองว่า ผู้ขับขี่ต่างหากที่จะต้องปรับตำแหน่งของเบาะให้สูง – ต่ำ สมดุล กับตำแหน่งเข็มขัดนิรภัย

ช่องทางเข้า – ออก มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ตามปกติของรถยนต์นั่งขนาดเล็กเช่นนี้ แต่ถึงกระนั้น การลุกเข้า – ออก ภายในห้องโดยสารตอนหลัง ทำให้ง่ายดายกว่า และมีโอกาสเสี่ยงที่ศีรษะจะไปกระแทกเข้ากับขอบช่องประตูด้านบน น้อยกว่า CLA รุ่นเดิม CLA รุ่นปัจจุบัน รวมทั้ง BMW 220i Gran Coupe ใหม่ อยู่พอสมควร

แผงประตูคู่หลังเป็นวัสดุบุนุ่มสีดำ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า สามารถกดเลื่อนลงมาจนสุดขอบรางด้านล่างได้ บริเวณพนักวางแขนบุฟองน้ำ หุ้มด้วยผ้า DYNAMICA microfibre ตัดเย็บด้วยด้ายสีแดง มือจับประตูด้านในเป็นวัสดุชุบโครเมียมเช่นเดียวกันกับด้านหน้า แต่ไม่มีการตกแต่งด้วยวัสดุอะลูมิเนียมผิวด้าน (Light Longitudinal-grain Aluminum) มาให้

ด้านหลังช่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง จากเดิมที่เคยเป็นตำแหน่งติดตั้งช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง บัดนี้กลายมาเป็น slot ช่องเก็บของขนาดเล็กแทน แต่ด้านล่างยังมี USB Port type C สำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า 5 โวลต์ แบบพับเก็บได้เมื่อไม่ใช้งาน มาให้เหมือนเดิม

เหนือช่องทางเข้าบานประตูคู่หลังทั้ง 2 ฝั่ง มีมือจับ ศาสดา ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อภัย (จากความบ้าระห่ำของคนขับ) กำลังจะมาถึง ติดตั้งมาให้

เบาะนั่งด้านหลังเป็นวัสดุหนัง ARTICO สีดำ สลับกับผ้า DYNAMICA Microfibre เดินตะเข็บด้ายสีแดง เช่นเดียวกับเบาะนั่งคู่หน้า พนักพิงหลังสามารถแยกพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เมื่อต้องการบรรทุกสัมภาระที่มีความยาวเกิน 1 เมตร ด้วยคันโยกที่ติดตั้งมาให้เหนือห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง พนักพิงศีรษะแบบปรับระดับสูง – ต่ำได้ ก็ถูกติดตั้งมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง

เบาะรองนั่งเมื่อดูจากสายตาจะพบว่ามันมีความยาวกำลังเหมาะสม จนกระทั่งหย่นก้นลงไปนั่ง จะรู้สึกได้ว่าเบาะรองนั่งส่วนปลายที่ถูกยืดยาวออกมานั้น ค่อนข้างเตี้ยและแบน มุมเงยน้อยมากๆ ซึ่งเป็นผลจากความพยายามในการออกแบบให้พื้นที่เหนือศีรษะยังคงพอมีเหลือ หวังให้ศีรษะของผู้โดยสารด้านหลังไม่ชนกับเพดานหลังคา แต่ผลที่ตามมาก็คือ ผมต้องนั่งชันเข่าอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีส่วนที่เข้ามารองรับต้นขา ทั้งในขณะนั่งโดยสารใกล้ หรือไกล เลยแม้แต่นิดเดียว

สิ่งที่พอจะทำให้ผมยอมนั่งเบาะหลังของรถคันนี้ จนลืมเบาะรองนั่งอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินไปสักพักใหญ่ๆ ก็ถือ พนักพิงหลังที่มีระดับองศาเอนกำลังเหมาะสม ไม่ชันเป็นหน้าผาให้อิดหนาระอาใจ แต่ก็ไม่ลาดสะใจเท่า S-Class (ก็แหงสิ) รองรับแผ่นหลัง ไปจนถึงช่วงหัวไหล่หรือสะบัก ได้ค่อนข้างดี ไม่มีส่วนไหนที่นูนขึ้นมา หรือเว้าหายไป ส่วนพนักศีรษะเอง ก็มาในสไตล์เดียวกับเบาะคู่หน้า คือเสริมด้วยฟองน้ำแบบแน่นหนา เกือบแข็ง อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

ที่สำคัญ เมื่อปรับเบาะนั่งคู่หน้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ผมนั่งขับ ซึ่งใกล้เคียงกับท่านั่งของพี่ J!MMY ทว่าอาจมีความสูงต่างกันนิดหน่อย จะมีพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารเบาะนั่งเหลืออยู่ราวๆ 10 เซนติเมตร เลยทีเดียว มากกว่า A-Class และ CLA รุ่นที่แล้ว รวมถึงคู่แข่งอย่าง BMW 220i Gran Coupé เช่นกัน สำหรับผมถือว่าทำได้ดีกวาที่คิดเอาไว้ในตอนแรกพอสมควร สำหรับ Compact car คันเล็กอย่างนี้

พนักวางแขนตรงกลางมีมาให้ ระดับความสูงของการติดตั้งกำลังพอดี ไม่สูงและไม่เตี้ยจนเกินไป เมื่อกดส่วนปลายออกมาจะพบกับช่องวางแก้วแบบพับได้ 2 ตำแหน่ง

เข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมติดตั้งจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก   ISOFIX มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา

ฝาท้ายเป็นแบบธรรมดา ใช้สวิตช์เปิด – ปิดด้วยไฟฟ้า จากทั้งบริเวณรีโมทกุญแจ สวิตช์บริเวณเหนือช่องติดป้ายทะเบียนหลัง และสวิตช์ไฟฟ้า บริเวณแผงประตูฝั่งคนขับ ใกล้กับมือจับประตูด้านใน แต่ไม่มีระบบปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้า รวมทั้งระบบเตะเปิด Kick Sensor มาให้แต่อย่างใด

กระนั้น สปริงที่ติดตั้งมาให้บริเวณขายึดฝาท้ายเข้ากับตัวถัง ก็พอจะช่วยให้ฝาท้ายลอยตัวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอย่างนุ่มนวล ทันทีที่กดสวิตช์ปลดล็อก ปัญหาฝากระโปรงหลังดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เสี่ยงเสยปลายคาง ที่พบใน Mercedes-Benz รุ่นก่อนๆ ได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พื้นที่ของห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ความจุ 420 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี น้อยกว่า CLA ที่มีความจุ 460 ลิตร จากบั้นท้ายที่ยาวกว่า ด้านบนมีไฟส่องสว่างมาให้ ใต้แผ่นปิดพื้นห้องเก็บสัมภาระ เป็นที่อยู่ของช่องซ่อมยางฉุกเฉิน ซึ่งก็พอที่จะช่วยให้รถวิ่งต่อไปได้ ในกรณีที่ยางเกิดความเสียหายไม่มาก หากยางเสียกายหนัก คงต้องเรียกใช้บริการรถยนต์สไลด์ เพื่อพาคุณไปยังศูนย์บริการ หรือร้านยางในระแวกใกล้เคียง อยู่ดี

แผงหน้าปัด มองจากดาวอังคาร ก็รู้ทันทีว่าเป็น Mercedes-Benz ! ทั้งชุดมาตรวัดแบบดิจิตอล ขนาด 10.25 นิ้ว หน้าจอแสดงผลตรงกลาง ขนาด 10.25 นิ้ว ซึ่งถูกรวมเป็นชุดเดียวกัน ราวกับเป็น iPhone 20 ในโลกอนาคต รวมไปถึงช่องแอร์วงกลมแบบ Jet Turbine 5 ช่อง และแผงสวิตช์ควบคุมแบบ Piano Touch ซึ่งเป็นธีมการออกแบบภายในห้องโดยสารของ Mercedes-Benz หลายรุ่น ก็มาโผล่ใน A200 Sedan คันนี้ด้วยเช่นกัน

จุดเด่นของแผงหน้าปัดของ A200 Sedan คือ มันมีความ simplify แม้จะหาปุ่มกดที่ต้องการยากไปสักหน่อยในการใช้งานครั้งแรก แต่เมื่อหาเจอ หรือคุ้นชินกับมันแล้ว การใช้งานก็ถือว่า easy to operate กว่าแผงหน้าปัดของ Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ

นอกเหนือจากดีไซน์การออกแบบ และการจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ของ Mercedes-Benz คันนี้ก็คือ การเลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร อาทิ ช่องแอร์ทั้ง 5 ตำแหน่ง และวัสดุบนแผงหน้าปัด แบบสีเงินด้าน Hairline Aluminum ซึ่งช่วยให้การสะท้อนแสงของไฟบรรยากาศภายในห้องโดยสารของรถคันนี้ ที่มีให้เลือกมากมายถึง 64 เฉดสี มีความอลังการดาวล้านดวง ในแบบที่สาวกดาวสามแฉกที่นิยมความหรูหรา ไฮโซ น่าจะชื่นชอบ และที่สำคัญไม่สว่างจะสะท้อนเข้าตา รบกวนการมองเห็นทัศนวิสัยในยามค่ำคืนด้วย

เมื่อมองขึ้นไปด้านบน จะพบกับไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ (ซ่อนอยู่ใต้กระจกมองหลัง) แบบ LED สีเหลืองอำพัน พร้อมช่องเก็บแว่นตา อีกทั้งยังมีสวิตช์ SOS ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ติดตั้งมาให้ด้วย ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้งม่านบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาเปิด – ปิด และไฟส่องสว่างมาให้

จากฝั่งขวา มาทางฝั่งซ้าย

บานประตูฝั่งคนขับ มีสวิตช์ปรับเบาะนั่งฝั่งคนขับ พร้อมหน่วยความจำเบาะนั่งฝั่งคนขับ และกระจกมองข้าง 3 ตำแหน่ง เหนือมือจับดึงเปิดประตูจากด้านในเป็นสวิตช์ล็อก – ปลดล็อก ถัดลงมาด้านล่างเป็นสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลง ของกระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน แบบ One-touch พร้อมสวิตช์ปรับมุมมองกระจกมองข้าง พร้อมสวิตช์พับกระจกมองข้าง สามารถตั้งโปรแกรมให้กระจกมองข้างพับอัตโนมัติเมื่อล็อกรถ หรือจะใช้วิธีกดพับเองก็ได้เช่นกัน ถัดลงมาจากพนักวางแขน เป็นสวิตช์ปลดล็อกฝากระโปรงท้าย

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ เป็นที่อยู่ของเบรกมือไฟฟ้า แต่ไม่มีฟังก์ชัน Auto Brake Hold สวิตช์หมุนควบคุมการทำงานของชุดไฟหน้า ปุ่มเปิด – ปิดการทำงานของไฟตัดหมอกหลัง และสวิตช์ปรับระดับความสว่างหน้าจอชุดมาตรวัด

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ทั้ง เข้า – ออก และ สูง – ต่ำ Telescopic ด้วยก้านคันโยกด้านล่างคอพวงมาลัย วงพวงมาลัยมีขนาดอวบอูมกำลังเหมาะสม จับกระชับมือ ด้านนอกหุ้มด้วยหนังสีดำ ฉลุลายจุด ตัดเย็บเข้ารูปด้วยด้ายสีแดง ก้านพวงมาลัยตกแต่งด้วยโครเมียม สวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับปรับเปลี่ยนการแสดงผลหน้าจอชุดมาตรวัด และควบคุมการทำงานของระบบควบคุมความเร็วแปรผัน Cruise Control แบบธรรมดา ส่วนฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมหน้าจอแสดงผลตรงกลาง ชุดเครื่องเสียง และการรับสาย – วางสาย โทรศัพท์

ก้านควบคุมที่คอพวงมาลัยฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมการทำงานของไฟเลี้ยว ควบคุมก้านปัดน้ำฝนที่กระจกบังลมหน้า พร้อมระบบฉีดน้ำล้างทำความสะอาด ส่วนก้านควบคุมที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นคันเกียร์ไฟฟ้าที่ Mercedes-Benz ใช้ในรถทุกรุ่น

ด้านหลังพวงมาลัย มีก้านเปลี่ยนเกียร์ Steering Shift Paddle ติดตั้งมาให้ โดยก้านเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้น (+) จะอยู่ฝั่งขวา ส่วนก้านลดเกียร์ลง (-) จะอยู่ฝั่งซ้าย เมื่ออยู่ในโหมด M ระบบจะไม่ตัดการทำงานเข้าเกียร์ D ให้ จนกว่าจะกดก้าน Paddle Shift ฝั่งใดฝั่งหนึ่งค้างไว้

ใต้ช่องแอร์ฝั่งซ้ายคนขับ ใกล้กับแผงควบคุมชุดเครื่องเสียงและเครื่องปรับอากาศ เป็นปุ่มสตาร์ทและดับเครื่องยนต์ (Push Start/Stop Engine)

ชุดมาตรวัด เป็นหน้าจอแบบ Full Digital ขนาด 10.25 นิ้ว สามารถแสดงผลเป็นภาษาไทยได้ และปรับ Theme การแสดงผลได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ Classic, Sport, Progressive และ แบบเรียบง่าย การวางตำแหน่งของหน้าจอพื้นฐาน มี 3 ส่วนหลัก คือ วงกลมฝั่งซ้าย วงกลมฝั่งขวา และบริเวณกึ่งกลางหน้าจอ

วงกลมฝั่งขวา สามารถเลือกแสดงการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็น มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จอแสดงผล ECO แผนที่ 3 มิติ  G-Force Meter ระยะห่างจากรถคันข้างหน้า และมีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ด้านล่าง

วงกลมฝั่งซ้าย ด้านล่างมีมาตรวัดปริมาณนำมันคงเหลือในถัง สามารถเลือกแสดงการทำงานให้เป็น มาตรวัดความเร็ว นาฬิกาแบบอนาล็อก ทริปคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการเดินทาง หรือ การทำงานของชุดเครื่องเสียง ได้

ในขณะที่หน้าจอส่วนกลางนั้น ก็ยังเลือกให้แสดงได้หลากหลายฟังก์ชัน อาทิ โทรศัพท์ การนำทาง การเดินทาง วิทยุ สื่อบันเทิง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละฟังก์ชัน จะมีฟังก์ชันย่อยให้แสดงรายละเอียดปลีกย่อยได้อีกขั้น

จากฝั่งซ้าย มาทางฝั่งขวา

เหนือหัวเข่าผู้โดยสารด้านหน้าเป็นกล่องเก็บของ Glove Compartment ขนาดใหญ่พอสมควร หากเอาคู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารประจำรถออกทั้งหมด คุณสามารถยัดกล้อง Canon Powershot เข้าไปพร้อมๆ กัน 2 ตัว ได้สบายมากๆ แถมด้านในมีไฟส่องสว่างมาให้

แผงพลาสติก Trim รอบช่องแอร์ ยาวมาจนถึงแผงสวิตช์ Piano Touch ด้านล่าง และปุ่มควบคุมหน้าจอกลางแบบสัมผัส Touchpad รวมทั้ง ช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง เป็นสีดำเงา Piano Black ซึ่งอาจต้องดูแลรักษาให้ดีนิดนึง เพราะมันพร้อมเกิดรอยนิ้วมือและรอยขนแมวอันเกิดจากฝุ่นได้ง่ายมาก

หน้าจอตรงกลางที่เชื่อมต่อจากชุดมาตรวัด ก็เป็นหน้าจอ Monitor Touch Screen ขนาด 10.25 นิ้ว ควบคุมได้ทั้งการสัมผัสที่หน้าจอ และควบคุมผ่าน Touchpad บริเวณคอนโซลกลาง มีฟังก์ชันการทำงานหลักๆ ได้แก่ โทรศัพท์ ระบบนำทาง วิทยุ สื่อบันเทิง ไฟเรืองแสงภายในรถ ข้อมูลตัวรถ Mercedes me และแอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งการตั้งค่าของระบบต่างๆในตัวรถ

ชุดเครื่องเสียงเป็นแบบมาตรฐาน ประกอบด้วยวิทยุ AM/FM มีช่อง USB และรองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือไร้สาย Bluetooth รองรับระบบ Apple CarPlay และ Android Auto พร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียง “Hey Mercedes” และระบบแผนที่นำทางผ่านดาวเทียม Hard-disk Navigation System แบบ 3 มิติ

คุณภาพเครื่องเสียงเมื่อปรับเป็นค่ามาตรฐาน ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง การเก็บรายละเอียดของเสียงยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก วิธีที่พอจะทำให้เสียงที่ออกมาจากชุดเครื่องเสียงตัวนี้มีคุณภาพที่ดีสุดคือ ปรับอีควอไลเซอร์เสียงกลาง และเสียงเบส ให้เต็มปรอทไปเลย แล้วปรับเสียงแหลมให้อยู่ในระดับต่ำเข้าไว้ อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด หากไม่อยากโมดิฟายชุดลำโพงเพิ่มเติมให้สูญเงินในกระเป๋า

นอกจากนี้ ยังมีระบบเชื่อมต่อรถยนต์กับมือถือสมาร์ทโฟน Mercedes me connect ซึ่งมาพร้อมกับแอปพลิเคชันบนมือถือ มีทั้งฟังก์ชันโทรช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Call System) วิเคราะห์สภาพรถยนต์ Telediagonostics การตั้งค่ารถยนต์ รวมถึงฟังก์ชันสั่งสตาร์ทเครื่องยนต์ พร้อมเปิดระบบปรับอากาศ ด้วยเช่นกัน

เครื่องปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติ Single Zone ไม่สามารถแยกปรับอุณหภูมิซ้าย – ขวาได้ เหมือนอย่าง เวอร์ชันนำเข้า CBU ที่เพิ่งเลิกจำหน่ายไป แต่ก็มาพร้อมหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล เหมือนกัน ภาพรวมแล้วยังให้ความเย็นเร็วในระดับปานกลาง อาจจะเย็นไม่เร็วและไม่ถึงกับฉ่ำนักเมื่อเทียบกับรถญี่ปุ่นเจ้าตลาด แต่ก็พอจะช่วยให้คุณเย็นสบายตามสั่ง ในสภาพอากาศร้อนแทบตลอดปีอย่างประเทศไทย

สำหรับใครที่สงสัยว่า การตัดช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังออกไปแล้วนั้น ลมเย็นจะกระจายมาถึงผู้โดยสารบนเบาะหลังด้วยหรือไม่ คำตอบก็คือ เหมือนกับรถเก๋งทั่วๆไปนั่นละครับ ปรับช่องลมตรงกลาง 3 ช่อง ก็มีลมเย็นส่งไปถึงผู้โดยสารด้านหลังได้แล้ว แต่อาจจะไม่สบายเท่าการมีช่องแอร์ด้านหลัง แค่นั้นเอง

ฝั่งซ้ายของลำตัวคนขับ จะเป็นกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ด้านบนเป็นฝาปิดแบบบุฟองน้ำ หุ้มหนังสีดำ ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนตรงกลางสำหรับเบาะนั่งคู่หน้า เมื่อเปิดฝาปิดแบบกางออก 2 ฝั่งขึ้น จะพบกับพื้นที่เก็บของ ขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็พอจะวางโทรศัพท์ และกระเป๋าสตางค์ได้อยู่ แถมด้วยช่องเสียบ USB Port แบบ Type C อีก 1 ตำแหน่ง เสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ หรือจะเสียบ FlashDrive ดึงข้อมูลเพลงมาฟังในรถก็ได้

ส่วนทัศนวิสัยรอบคัน เราไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ แต่ในภาพรวมแล้ว ถือว่า มองทางข้างหน้าได้โปร่งกว่า CLA รุ่นเดิม อย่างชัดเจน ขณะที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ก็ยังหนา และแอบบดบังการมองเห็นอยู่บ้าง ในขณะเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกัน 2 เลน ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น คล้ายกับ CLA แต่มีพื้นที่กระจกหน้าต่าง สูงกว่า กว้างกว่า จึงมองเห็นสภาพรอบคันรถได้โปร่งกว่าชัดเจน

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
*********** Technical Information & Test Drive ************

Mercedes-Benz A-Class Sedan จะแชร์เครื่องยนต์กลไกร่วมกันกับพี่น้องร่วมแพลตฟอร์มขับหน้า MFA2  โดยเวอร์ชันตลาดโลกนั้น มีเครื่องยนต์ให้เลือก 5 รูปแบบ ทั้ง เบนซิน และ Diesel ดังนี้

– A 180d เครื่องยนต์รหัส OM608 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,461 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 76.0 x 80.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.1 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection ผ่านราง Commonrail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger พร้อม Intercooler กำลังสูงสุด 116 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร (26.51 ก.ก.-ม.) ที่ 1,750 – 2,750 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

– A 200 เครื่องยนต์รหัส M282 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) ที่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

– A 220 เครื่องยนต์รหัส M260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 191 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร (30.59 ก.ก.-ม.) ที่ 1,600 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

– A 250 เครื่องยนต์รหัส M260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 224 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.69 ก.ก.-ม.) ที่ 1,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ มีให้เลือกทั้งขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

– A 250e (EQ Power Plug-in Hybrid) เครื่องยนต์รหัส M282 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 160 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) ที่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า EQ Boost กำลังสูงสุด 102 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร ร่วมกำลังสูงสุดทั้งระบบ 218 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.88 ก.ก.-ม.) จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 8 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

– AMG A 35 เครื่องยนต์รหัส M260 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,991 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83.0 x 92.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.1 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผ้าไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 306 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.78 ก.ก.-ม.) ที่ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ 7G-DCT SPEEDSHIFT ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC

แต่สำหรับเวอร์ชันไทยจะมีขุมพลังให้เลือกเพียงแบบเดียว นั่นคือรุ่น A 200 ซึ่งมาพร้อมกับ เครื่องยนต์รหัส M282 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ควมร่วมมือกันระหว่าง กลุ่ม Daimler AG. และกลุ่ม Renault-Nissan-Mitsubishi Alliance ปัจจุบันนี้ ขุมพลัง M282 นอกจากจะประจำการอยู่ใน A-Class, CLA-Class , GLA-Class และ GLB-Class แล้ว คุณยังสามารถพบเห็นเครื่องยนต์บล็อกนี้ วางอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้าของ Renault Clio และ Renault Captur (ภายใต้รหัส H5Ht) รวมทั้ง Nissan X-Trail กับ Nissan Qashqai เวอร์ชันยุโรป (ภายใต้รหัส HR13DDT)

สำหรับ A200 เวอร์ชันไทย M282 DE 14 LA แบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.3 ลิตร 1,332 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharged พร้อม Intercooler

เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร ใน Mercedes-Benz A 200 รุ่นที่แล้ว แม้รุ่นใหม่จะมีขนาดความจุกระบอกสูบลดลง ทว่าสัดส่วนพละกำลังต่อความจุเครื่องยนต์กลับเพิ่มขึ้นถึง 25% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ใช้ระบบอัดอากาศ Turbocharged ที่มีระบบควบคุม wastegate ด้วยไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมทั้งหมด ห้องเผ้าไหม้ได้รับการพัฒนาเพื่อลดแรงเสียดทานที่อาจก่อให้เกิด loss ในระบบ ด้วยการผนังเสื้อสูบด้วยเคลือบสารพิเศษที่มีชื่อเรียกว่า NANOSLIDE

นอกจากนี้ M282 ยังถือเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบแถวเรียง บล็อกแรกของ Mercedes-Benz ที่ติดตั้งระบบ CDS (Cylinder Deactivation System) มาให้ ซึ่งจะหยุดการทำงานของวาล์วไอดดี (Intake) และวาล์วไอเสีย (Exhaust) ที่กระบอกสูบ 2 และ 3 ชั่วคราวโดยอัตโนมัติ ในช่วง partial load รอบเครื่องยนต์ 1,250 – 3,800 รอบ/นาที ขึ้นอยู่กับการกดคันเร่ง และการเรียกใช้กำลังจากเครื่องยนต์ เพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น และลดการสึกหลอ ยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเทคโนโลยีนี้ มักจะพบได้ในเครื่องยนต์ V8 ที่ประจำการอยู่ในบรรดาตัวแรงจากตระกูล Mercedes-AMG

กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.49 ก.ก.-ม.) มาเป็น Flat-torque ตั้งแต่ 1,620 – 4,000 รอบ/นาที เติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้แค่ เบนซิน 95 และ Gasohol 95 E10 เท่านั้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  (CO2) ที่ระดับ 130 กรัม/กิโลเมตร ตามที่ได้ผ่านการทดสอบและได้ระบุไว้ใน Eco Sticker ตามกฎหมายของรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ ยังมีระบบ Auto Stop & Go สั่งดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ เมื่อผู้ขับขี่มาจอดติดไฟแดง และติดเครื่องยนต์เองอัตโนมัติ ทันทีที่ผู้ขับขี่ถอนเท้าจากแป้นเบรก มีสวิตช์เปิด-ปิดการทำงานอยู่ใต้สวิตช์ติดเครื่องยนต์ ติดกับช่องแอร์กลาง

A200 และ A180 (เวอร์ชันต่างประเทศ) จะติดตั้งระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ (7G-DCT) ลูกใหม่ ที่พัฒนาร่วมกันกับ GETRAG ใช้ระบบคลัทช์เปียก น้ำหนักเบาเพียง 67 กิโลกรัม (ไม่รวมของเหลวในระบบ) ถูกออกแบบให้ลดแรงเสียดทานในระบบมากขึ้น เพื่อช่วยลดการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนลง เพื่อเรียกกำลังเครื่องยนต์ออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น มาพร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Gearshift Paddles เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1…………………………..18.63
เกียร์ 2…………………………..11.06
เกียร์ 3……………………….…..6.81
เกียร์ 4……………………….…..4.62
เกียร์ 5……………………….…..3.58
เกียร์ 6……………………….…..2.86
เกียร์ 7……………………….…..2.29
เกียร์ถอยหลัง….………………17.17
อัตราทดเฟืองท้าย……..……..N/A

A200 Sedan มาพร้อมโปรแกรมการขับขี่ DYNAMIC Select สามารถเลือกเปลี่ยนได้ที่สวิตช์คำว่า Dynamic อยู่ด้านบนสุดฝั่งซ้ายของแป้นควบคุม Touchpad หรือผ่านหน้าจอ MBUx โดยมีให้เลือก 4 โปรแกรม ดังนี้

  • ECO – เกียร์เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงเร็วขึ้น ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำ คันเร่งไฟฟ้าหน่วงช้า
  • Comfort – สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป คันเร่งไฟฟ้าหน่วงช้า
  • Sport – พวงมาลัยหนักขึ้น คันเร่งไวขึ้น เน้นการใช้เกียร์ต่ำเพื่อรักษารอบเครื่องยนต์ให้สูง ใกล้ช่วง Max Power เสียงเครื่องยนต์กระฮึ่มเร้าใจขึ้นนิดหน่อย
  • Individual – แยกปรับการทำงานของ คันเร่ง เกียร์ พวงมาลัย และระบบ ESP อิสระจากกัน ตามใจชอบ ผ่านเมนูบนหน้าจอ MBUx

สมรรถนะจากเครื่องยนต์รหัส M282 บล็อกนี้ จะเป็นอย่างไร เรายังคงทำการทดลองจับเวลาหาอัตราเร่งตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag โดยมีผู้ทดสอบเป็นพี่ J!MMY และตัวผมเอง (QCXLOFT) น้ำหนักตัวรวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ทดลองในช่วงกลางดึก ซึ่งมีปริมาณรถที่แล่นบนถนนน้อยมาก อุณหภูมิภายนอก อยู่ที่ 25.0 องศาเซลเซียส ตามปกติเวลากลางคืนของหน้าหนาวช่วงปลายปี

เมื่อเทียบกับ A180, A250 AMG, CLA250 AMG และคู่แข่งในกลุ่ม Compact Sedan / Hatchback / Sport Hatchback ที่เราเคยทำตัวเลขผลทดสอบกันไว้ มีดังนี้

อัตราเร่ง 0-100 km/h จากการทดสอบตามมาตรฐาน Headlightmag เกียร์ D Comfort โหมด อยู่ที่ 9.16 วินาที แต่หากเป็น Sport Mode จะเร็วขึ้นเป็น 8.93 วินาที ส่วนอัตราเร่ง 80-120 km/h เกียร์ D Comfort Mode อยู่ที่ 7.23 วินาที แต่พอเป็น Sport Mode ที่มีการดีดรอบไปรอไว้แล้ว จะทำให้อัตราเร่งเร็วขึ้นเป็น 6.76 วินาที

ส่วนตัวเลขความเร็วบนมาตรวัด เทียบกับดาวเทียม GPS (Global Positioning Satellite) ได้ดังนี้

  • ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง > GPS ขึ้น 98.0 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • ความเร็วบนมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง > GPS ขึ้น 108.0 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปตามความคาดหมายเอาไว้ในตอนแรก การเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร Turbo ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ สามารถรีดพละกำลังออกมาได้มากกว่า เครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร Turbo ที่เคยประจำการอยู่ใน A180 รุ่นที่แล้ว อัตราเร่ง 0-100 km/h และอัตราเร่งแซง 80-120 km/h เร็วขึ้น 1 วินาทีกว่าๆ

แต่หากนำไปเทียบกับ A250 หรือ CLA250 รุ่นเดิม ที่มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร Turbo พกแรงม้า 211 ตัว จากโรงงาน ยังไงๆ อัตราเร่งของ A200 ก็ยังตามหลังพี่น้องร่วมตระกูลอยู่ห่างๆ อยู่ดี

อัตราเร่งเวลากดคันเร่งจมตั้งแต่ออกตัวแล้วใช้นาฬิกาจับเวลาออกดู ดูเหมือนไม่น่าตื่นเต้น หรือสร้างหวือหวา ได้เท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ทำให้ผมฉีกยิ้มได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับรถคันนี้คือ แรงบิดช่วงต้นถึงกลาง เมื่อกดคันเร่งราวๆ 30-40% ที่มีแรงดึงใช้ได้เลยทีเดียว หมดกังวลสำหรับคนที่ว่าเครื่องยนต์แค่ 1.3 ลิตร จะอืดอาด ไร้เรี่ยวแรง

ในภาพรวมของอัตราเร่ง หากมองว่าเป็นเครื่องเล็ก แค่ 1.3 ลิตร Turbo แต่มีเรี่ยวแรงใกล้เคียง พอให้ฟัดเหวี่ยงกับรถยนต์นั่งพิกัด D-Segment เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ จากค่ายญี่ปุ่น ก็ถือว่าทำผลงานได้ดีสมตัว

ตามปกติแล้ว คันเร่งไฟฟ้าในโหมด ECO และ Comfort มักจะถูกเซ็ตมาให้หน่วงการตอบสนองช้าลง ไม่ไวเท่ากับ โหมด Sport ซึ่งทำงานทันทีในเสี้ยววินาทีแรกที่กดคันเร่งลงไป แต่คราวนี้ คันเร่งในโหมด Comfort ของ A200 ก็ไม่ได้เนือยหนักจนน่าเบื่อเท่ากับคันเร่งไฟฟ้าของ Mercedes-Benz รุ่นก่อนๆ ในอดีต

การทำงานของเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ 7G-DCT ลูกใหม่นั้น ประสานงานร่วมกับคันเร่งไฟฟ้า ได้ค่อนข้างดี นุ่มนวล สมองกลเกียร์ค่อนข้างฉลาด ทันทีที่กดคันเร่งลงไป เกียร์จะทำงานร่วมกับ Level Sensor เพื่อวัดระดับองศาของตัวรถ ความลาดเอียงของตัวรถ เพื่อนำไปรีบคำนวน ว่า จะเปลี่ยนเกียร์ลงไปตำแหน่งไหนให้ผู้ขับขี่ ไม่มีเรื่องให้น่าปวดหัวเหมือนกับบรรดาเกียร์ Dual Clutch ที่ผมเจอมาในรถยุโรป (และรถที่เรียกตัวเองว่า เป็นรถยุโรป) บางค่าย ขณะขับขี่ไปตามเส้นทางลาดชัน ของเขาใหญ่ ผมเหยียบคันเร่งลงไปเพียงแค่ 30-40% เท่านั้น ตลอดการเดินทาง เกียร์ก็เปลี่ยนตำแหน่งให้อย่างราบเรียบมากที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้

การไต่ความเร็วจากหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็วสูงสุด Top Speed ไหลขึ้นไปอย่างสุภาพ และต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มเนือยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเริ่มเข้าใกล้ความเร็ว 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ยังคงไต่ขึ้นไปอย่างช้าๆ จนกระทั่ง ผ่านระยะทาง 1.7 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 204 – 205 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้อยกว่า CLA 250 ซึ่งแล่นผ่านจุดนั้นที่ความเร็ว 209 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่น้ำหนักบรรทุกเยอะกว่าราวๆ 100 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ด้วยสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ ตลอดจน Aerodynamic ที่ดี ทำให้ A200 Sedan AMG Dynamic สามารถทำความเร็วสูงสุด Top Speed ได้ถึง 232 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 5,250 รอบ/นาที ณ เกียร์ 6

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น

เสริมให้อีกสักนิดว่า ขากลับจากเอารถไปถ่ายวีดีโอกันที่เขาใหญ่ เราวิ่งมาตามขบวนกันมา ซึ่งมีทั้ง A200 Sedan คันนี้ Honda City 1.0 Turbo และ Subaru BRZ เกียร์ธรรมดา เดิมสนิทจากโรงงาน ของพี่เต้ บดินทร์ (พิธีกร รายการ Kurumabaka ของเว็บเรา) พอถึงทางด่วนก่อนเข้าเขตกรุงเทพฯ ช่วงที่มีรถน้อย ลองกดกันเล่นๆ  แน่นอนครับว่าในช่วงแร่งแซง A200 ไม่ได้แสดงแสนยานุภาพ ทำความเร็วได้ดีกว่ารถสปอร์ต 2 ประตู เครื่อง Boxer 2.0 ไร้เทอร์โบ 200 แรงม้า นักเลย แต่พอเป็นช่วงความเร็วปลาย หลัง 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง BRZ ก็หนีเจ้าเล็กพริกขี้หนูคันนี้ไม่ออก มิหนำซ้ำยังจะโดน A200 ขึ้นนำได้ ทั้งๆ ที่แรงม้าของ A200 ก็น้อยกว่า บรรทุกน้ำหนักผู้โดยสารน้อยกว่าราวๆ 60 กิโลกรัม

เล่นเอาพี่เต้ของเราถึงกับต้องกลับไปนั่งคิดนอนคิดเรื่องการพา BRZ ของเขาไปเซ็ต Turbo หรือ Supercharged อยู่เหมือนกัน (ฮ่าาาาา!)

การเก็บเสียงรบกวน และอาการสะท้าน NVH (Noise , Vibration & Harshness)

หากคุณขับขี่ใช้งานในช่วงความเร็วปกติ ตั้งแต่ จุดหยุดนิ่ง ไปจนถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บรรยากาศในห้องโดยสาร ก็ถือว่า ไม่ค่อยแตกต่างจาก A-Class และ CLA รุ่นก่อน มากนัก นั่นคือเงียบพอประมาณ ไม่ได้เงียบกริป แบบ S-Class แต่ก็ถือว่า เสียงการทำงานของเครื่องยนต์ เสียงลมปะทะที่กระจกบังลมหน้า และเสียงลมที่เล็ดลอดเข้ามาตามขอบประตู ถือว่าค่อนข้างน้อย อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถจะเริ่มดังแทรกเข้ามานิดหน่อย บริเวณด้านบนของยางขอบประตูคู่หน้า แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับ เสียงยางติดรถขณะบดพื้นถนนที่เล็ดรอดเข้ามาทางซุ้มล้อทั้ง 4 และพื้นห้องโดยสาร ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดัง และหากนั่งโดยสารเบาะหลัง จะได้ยินเสียงลมที่ผ่านเข้ามาบริเวณกระจกโอเปร่า 3 เหลี่ยม ที่บานประตูคู่หลัง อย่างชัดเจนมาก

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.5 เมตร สามารถปรับน้ำหนัก/ความหนืด ได้ 2 ระดับ ผ่านโปรแกรมการขับขี่ DYNAMIC Select คือ โหมดปกติ ECO กับ Comfort และ โหมด Sport ซึ่งจะมีน้ำหนักกับความหนืดเพิ่มขึ้นนิดๆ

ในแง่ของการตอบสนองนั้น อัตราทดพวงมาลัยค่อนข้างไว มีระยะฟรีช่วงกลางน้อย และให้ความต่อเนื่องในการหมุนพวงมาลัยได้ดี รวมทั้งให้การบังคับเลี้ยวที่แม่นยำขึ้น เมื่อเทียบกับ Mercedes-Benz รุ่นเก่าๆ ในอดีต น้ำหนักพวงมาลัยในโหมด Comfort และ ECO เบา เบาพอๆกันกับ Toyota Corolla Cross หากใช้งานในเมือง หรือวิ่งความเร็วไม่สูง มีความคล่องตัวพอสมควร ลูกค้ากลุ่มสตรีน่าจะชื่นชอบ แต่ถ้าเป็นการวิ่งด้วยความเร็วสูง หรือวิ่ง cruising ทางไกล แม้จะมีล็อกตรงกลาง ถือตรง พวงมาลัยในโหมด Comfort ก็ยังไม่ถึงขั้นให้ความมั่นใจได้ดีนัก แค่พอไว้ใจได้มากกว่า

กระนั้น พอปรับพวงมาลัยเป็นโหมด Sport จะรับรู้ได้ถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาทันที แม้ความหนืดจะเพิ่มขึ้นมาเพียงนิดเดียวก็ตาม แต่ก็อยู่ในระดับที่มอบความรู้สึกมั่นคงเพิ่มขึ้นเวลาวิ่งทางไกลด้วยความเร็วสูง หรือการเล่นบทบู๊ในวันเร่งรีบ หรือวันท้องเสีย ได้อย่างดี

ภาพรวม ถือว่า พวงมาลัยถูกเซ็ต มาให้มีน้ำหนักหนักเบากำลังดีงาม พอที่จะทำให้คุณสามารถหมุนพวงมาลัยลัดเลาะตามตรอกซอกซอย หรือถอยเข้าจอดรถตามห้างสรรพสินค้า โดยไม่ต้องออกแรงแขนมากนัก ที่แน่ๆ แม้ว่าในโหมด ECO กับ Comfort พวงมาลัยของ A200 จะเบาในระดับใกล้เคียงกับ Volvo รุ่นใหม่ๆ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโหมด Sport พวงมาลัยจะหนืดขึ้น กระชับขึ้น และมั่นใจได้มากกว่า Volvo รุ่นใหม่ๆ อย่างชัดเจน

ระบบกันสะเทือน / Suspension

A-Class Sedan เวอร์ชันตลาดโลก รุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบกันสะเทือนด้านหลังจะเป็นแบบกึ่งอิสระ Torsion Beam พร้อมเหล็กกันโคลง แต่ถ้าหากเป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ 4MATIC ด้านหน้าจะเป็นแบบอิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังจะเป็นแบบอิสระ Multi-link พร้อมเหล็กกันโคลง

แน่นอนว่า A200 Sedan เวอร์ชันไทย ซึ่งเป็นระบบเคลื่อนล้อหน้า จะได้ช่วงล่างด้านหน้าแบบ อิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง และช่วงล่างด้านหลังแบบกึ่งอิสระ Torsion Beam พร้อมเหล็กกันโคลง โดยรุ่น AMG Dynamic จะได้เซ็ตติ้งช่วงล่างแบบ Lowered Comfort Suspension ซึ่งนอกจากจะเตี้ยลงกว่ารุ่น Progressive ราวๆ 15 มิลลิเมตร ทั้งด้านหน้าและด้านหลังแล้ว ช็อกอัพและสปริง ยังถูกปรับให้แข็งและหนืดขึ้นกว่ารุ่น Progressive อีกด้วย

ช่วงล่างเซ็ตมากลางๆ ในแนวเฟิร์ม แบบเอาใจวัยรุ่น แม้จะยังคงสัมผัสได้ถึงความแข็งของช่วงล่าง ในช่วงความเร็วต่ำ แต่การยุบ คืน และให้ตัวของช่วงล่าง แอบมีความนุ่มขึ้นกว่า CLA200 และ CLA 250 รุ่นก่อนหน้านี้ นิดนึง อีกทั้งการเปลี่ยนจากยางรันแฟลต มาสวมยาง Radial แบบปกติ ก็พอจะทำให้การวิ่งใช้งานในเมือง โดยเฉพาะถนนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า อันอุดมไปด้วยพื้นผิวขรุขระ ระดับต้องให้องค์การ NASA มาออกใบรับรองว่านีคือถนน ไม่ใช่พื้นผิวดาวอังคาร ยังไม่ถึงขั้นสะเทือนถึงตับไตไส้พุง หรือ ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นั่งไปด้วยบ่นอุบ เท่าใดนัก

ช่วงความเร็วเดินทาง การซับแรงสะเทือนถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แต่สังเกตได้ว่ามีอาการดิ้น ดุ้กๆๆๆ เล็กน้อย คาดว่าน่าจะมาจากแก้มยางติดรถ แต่ในย่านความเร็วสูงนั้น ตัวรถคุมอาการได้ดี ค่อนข้างนิ่ง และมั่นใจได้พอสมควร หน้ารถเบาขึ้น แต่ก็ไม่มากเท่าสมัย C-Class รุ่นก่อนๆ และไม่แย่จนเสียชื่อ Mercedes-Benz อย่างแน่นอน

ส่วนการเข้าโค้งนั้น เราลองมาดูตัวเลขบนมาตรวัด ขณะแล่นผ่านทางโค้ง 5 แห่ง บนทางด่วนเฉลิมมหานคร ในกรุงเทพฯ อันเป็นทางโค้งที่เราใช้ในการทดลองเป็นประจำยามดึกดื่น ราวๆ ตี 2 ขึ้นไป

เริ่มต้นด้วย โค้งขวารูปเคียว เหนือ ย่านมักกะสัน ตามปกติแล้ว มาตรฐานที่รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในโค้ง ช่วง 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ A200 ทำได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตัวรถนั้นเอียงกะเท่เร่พอสมควร และนั่นก็คือขีดจำกัดสูงสุดเท่าที่ยางติดรถ จะร่วมกันรับมือไหวแล้ว

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี A200 เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 102 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะมากเมื่อตั้งลำได้ ก็เข้าสู่โค้งซ้ายยาวๆ ขึ้นไปได้ถึง 116 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) พอตั้งลำได้อีกครั้ง ก็เหยียบคันเร่งเพิ่ม ส่งรถเข้าโค้งขวา ยกระดับ ขึ้นไป ด้วยความเร็ว (บนมาตรวัด) 127 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเปลี่ยนยางให้ดีกว่านี้ เชื่อแน่ว่า ตัวรถสามารถรองรับความเร็วในโค้งที่สูงกว่านี้ได้แน่นอน

อากัปกิริยาของรถในขณะเข้าโค้ง ยังคงมาในสไตล์เดียวกับ A-Class ตัวถัง Hatchback รุ่นเดิม เพียงแต่ว่า อาการท้ายออก เกิดขึ้นยากกว่าเดิมนิดหน่อย Body Control ทำได้ดี และควบคุมอาการของตัวรถในขณะเล่นบทบู๊ หรือเปลี่ยนเลนกระทันหัน ได้ดีกว่า CLA รุ่นเดิมพอสมควร พูดง่ายๆก็คือ อาการท้ายเหวี่ยงออกด้านข้างเมื่อหักพวงมาลัยเปลี่ยนเลนเร็วๆ ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ทันทีที่ท้ายรถเริ่มเหวี่ยงออก ระบบควบคุมการทรงตัว ESP ก็เข้ามาทำหน้าที่เบรกตัดกำลังที่ล้อหน้า และเบรกความเร็วที่ล้อหลัง อย่างทันท่วงที ในเวลาที่เหมาะสม คือไม่เร็วและไม่ช้าจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ช่วงล่างด้านหลังของ A200 Sedan ยังคงมีอาการสะเทือนจากล้อหลังฝั่งซ้ายไปยังล้อฝั่งขวา หรือจากล้อหลังฝั่งขวาไปฝั่งซ้าย เมื่อวิ่งผ่านพื้นผิวถนนที่มีหลุมบ่อ เมื่อจัมพ์คอสะพานที่มีสันเป็นแนวเฉียง  จะสัมผัสได้ถึงอาการสะบัดด้านท้ายรถไปทิศทางของล้อฝั่งที่เจอกับสันคอสะพานก่อน โดยเฉพาะในช่วงความเร็วสูงๆ ซึ่งเป็นอาการปกติของรถยนต์ที่มีช่วงล่างด้านหลังแบบคานบิด Torsion Beam ที่เซ็ตคานมาในลักษณะให้ตัวได้น้อย

ระบบห้ามล้อ/ Brake

ระบบเบรกคู่หน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีครีบระบายความร้อน จานเบรกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 305 มิลลิเมตร ส่วนด้านหลังเป็นดิสก์เบรกแบบธรรมดา จานเบรกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 276 มิลลิเมตร เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake-force Distribution) ระบบ ADAPTIVE BRAKE พร้อมระบบ Hold ระบบ ช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist อีกทั้งยังมีระบบไฟฉุกเฉินกระพริบส่งขณะเบรกกระทันหันในสภาวะคับขัน Adaptive Brake Light เพื่อเป็นสัญญาณแก่รถที่วิ่งตามมาด้านหลังให้ชะลอความเร็ว ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุชนท้าย

แป้นเบรกมีระยะเหยียบค่อนข้างสั้น ระยะฟรีน้อยมาก พรมน้ำหนักเท้าลงบนแป้นเบรกแค่ราวๆ 3-5% (ค่าที่แสดงบนหน้าจอกลาง) ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงแรงหน่วงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน การตอบสนองของแป้นมีความต่อเนื่องดี กดเท่าไหร่ ได้เท่านั้น น้ำหนักต้านเท้ามีพอประมาณ หนืดแต่ไม่รู้สึกว่าหยุ่นจนเกินไป หรือต้องออกแรงเหยียบเยอะ เป็นบุคลิกเดียวกับแป้นเบรกของ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ หลายๆรุ่น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เลย

ประสิทธิภาพของจานเบรก และผ้าเบรก จากการลอง Full Brake จากช่วงความเร็วสูงราวๆ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมาเหลือซักประมาณ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ในแง่ของการหน่วงความเร็ว ไม่มีพบอาการ fade ของผ้าเบรกแต่อย่างใด ยังคงรักษาชื่อชั้นของ Mercedes-Benz ในด้านระบบเบรกเอาไว้อย่างดี

แต่สิ่งที่ควรระวังคือ รถคันนี้หน้าค่อนข้างไว ควรถือพวงมาลัยให้ตรง และนิ่งเข้าไว้ !! หาก Full Brake แล้วเจอผิวถนนเป็นลอนคลื่น ไม่เรียบ เสี่ยงเป๋ลงไปรับประทานหญ้าข้างทางได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ Safety & Driving Assistance ที่ติดตั้งมาให้ใน Mercedes-Benz A200 Sedan AMG Dynamic มีดังนี้

ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน Active Safety
– ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System)
– โปรแกรมควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP (Electronic Stability Program)
– ระบบเบรก ADAPTIVE BRAKE
– ระบบช่วยเบรกแบบแอคทีฟ ABA (Active Brake Assist System)
– ไฟเบรกกระพริบฉุกเฉิน (Adaptive Brake Light)
– ระบบจำกัดความเร็ว (SPEEDTRONIC)
– ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (ATTENTION ASSIST)
– ระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง (Tyre Pressure Loss Warning System)

ระบบความปลอดภัยเชิงปกป้อง Passive Safety
– ถุงลมนิรภัยด้านหน้า 2 ตำแหน่ง
– ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ตำแหน่ง
– ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ป้องกันศีรษะ 4 ตำแหน่ง
– ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ 1 ตำแหน่ง
– เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด 5 ตำแหน่ง

ระบบช่วยเหลือการขับขี่ Driving Assistance
– ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control)
– เซ็นเซอร์ช่วยนำเข้าจอด (PARKTRONIC)
– ระบบช่วยนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ (Active Parking Assist)

ส่วนใครที่ต้องการอุปกรณ์ความปลอดภัย จำพวก ระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง Blind Spot Monitoring ระบบเตือนเมื่อเบี่ยงออกนอกเลน Lane Keeping Aid ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Radar Cruise Control ระบบไฟสูงอัตโนมัติ High-beam Assist ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยครับ…

นอกจากนี้ ทั้ง A-Class Hatchback และ Sedan เป็นรถยนต์ Mercedes-Benz 2 รุ่นแรก ที่ถูกพัฒนาขึ้น ณ ศูนย์ความปลอดภัยด้านยานยนต์ หรือ TFS (Technology for Vehicle Safety) แห่งใหม่ ข้อมูลจากงานวิจัยอุบัติเหตุขึ้นจริง ถูกนำมาใช้สำหรับการออกแบบโครงสร้างตังถัง รูปทรง ความหนา รวมถึงคุณภาพของวัสดุต่างๆ ถูกคำนวณมาเป็นอย่างดี ก่อนจะนำมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ โครงสร้างตัวถังส่วนที่ทำจากวัสดุเหล็กกล้ากำลังสูง (High-strength steel) และเหล็กกล้ากำลังสูงพิเศษ (Ultra High-tensile) ยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมด้วย

ทั้งหมดนี้ ทำให้ Mercedes-Benz A-Class ที่ใช้โครงสร้างตัวถังครึ่งคันหน้าร่วมกันกับ A-Class Sedan ผ่านมาตรฐานการทดสอบการชน ของรถยนต์ที่ออกจำหน่ายในยุโรป EURO NCAP ระดับ 5 ดาว ปี 2018 โดยได้คะแนน ด้านการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ (Adult Occupant Protection : AOP) 36.5 คะแนน ​(96%) ด้านการปกป้องผู้โดยสารเด็ก (Child Occupant Protection : COP) 45.0 คะแนน (91%) และด้านการปกป้องคนเดินเท้า (Vulnerable Road Users) 44.2 คะแนน (92%) และด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย (Safety Assist Technologies : SATs) 9.8 คะแนน (75%)

คะแนนภาพรวม (Overall Rating) สูงที่สุดในกลุ่ม Small Family Car มากกว่า Lexus ES, Audi Q3 หรือแม้กระทั่ง Volvo XC40 โดยรุ่นที่ถูกนำไปทดสอบ คือ Mercedes-Benz A 180d

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ : https://www.euroncap.com/en/results/mercedes-benz/a-class/33728

**********การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง**********

เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม พา Mercedes-Benz A200 Sedan AMG Dynamic คันนี้ ไปเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับ สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ผู้ทดลอง ยังคงเป็นพี่ J!MMY และ ตัวผมเอง (QCXLOFT) ที่แม้ว่าในช่วงนี้ จะบริโภคหมูกรอบอย่างหนักหน่วง แต่ก็พยายามหมั่นออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวรวมกันทั้ง 2 คน เกินกว่า 170 กิโลกรัม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่เรารักษามาโดยตลอด

เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถัง ขนาด 43 ลิตร เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา เปิดไฟหน้า เซ็ต Trip Meter เป็น 0 จากนั้นจึงออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ทะลุออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ถนนพระราม 6 เพื่อเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายอุดรรัถยาที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิมกลับเข้ากรุงเทพฯ กันอีกครั้ง โดยยึดมาตรฐานการทดลองดั้งเดิม ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control เพื่อรักษาความเร็ว

เมื่อถึงทางลงจากทางด่วนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน Techron 95 ให้เต็มถัง แค่เพียงให้หัวจ่ายตัด เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

ผลการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาดังนี้

ระยะทางที่วิ่งไป บนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 93.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมัน เบนซิน Techron 95 เติมกลับ 5.36 ลิตร
คำนวณแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.36 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่าทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ในเรื่องความประหยัดน้ำมัน ตัวเลข 17.36 กิโลเมตร/ลิตร นั้น ดีเกินหน้าเกินหน้าพี่น้องร่วมตระกูลทุกรุ่น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกัน ก็ถือว่า A200 Sedan AMG Dynamic ประหยัดน้ำมันอยู่ในระดับหัวแถวของกลุ่ม หากไม่นับบรรดารุ่นเครื่องยนต์ดีเซล หรือ Plug-in Hybrid

และไม่ใช้แค่เพียงประหยัดน้ำมัน เมื่อทดสอบตามมาตรฐานของเว็บเราเท่านั้น การวิ่งใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป ที่เจอทั้ง รถติดแหง่กในเมือง วิ่งด้วยความเร็วนิ่งๆ แถวชานเมือง หรือมีจังหวะต้องแร่งแซงพวกขับช้าแช่ขวา น้ำมัน 1 ถัง จำนวน 43 ลิตร สามารถพาคุณแล่นไปได้เกินกว่า 550 – 600 กิโลเมตร

********** สรุป / Conclusion **********
เหมาะเป็น Benz คันแรกในชีวิต หรูนิดๆ วัยรุ่นหน่อยๆ
แรงพอได้ ประหยัดเท่า ECO Car
แต่สายบ้า Option อาจเมิน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลูกค้าชาวไทยที่ต้องการปีนป่ายจ่ายเงินเพิ่มจากบรรดารถยนต์นั่งญี่ปุ่นกลุ่ม D-Segment อย่าง Toyota Camry , Honda Accord และ Nissan Teana (ที่เลิกขายไปแล้วเมื่อ 1 กันยายน 2020) เพื่อตะกายดาวขึ้นมาอุดหนุนรถยนต์ Mercedes-Benz เป็นคันแรกในชีวิต นั้น มีจำนวนมาก แต่พวกเขามีทางเลือกที่จำกัดจำเขี่ยมากๆ

นั่นเพราะ ในช่วงแรก ค่ายรถยนต์ตราดาว เขาสั่งนำเข้า A-Class ตัวถัง Hatchback รวมทั้ง ญาติผู้น้อง ยกสูงในชื่อ GLA มาขาย ปัญหาคือ ตัวรถนั้นถูกออกแบบให้เน้นเอาใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นกันจริงจัง นั่นหมายความว่า ถ้าคุณตั้งโจทย์ไว้ให้ Benz คันแรกของคุณ จะต้องเป็นตัวถัง Sedan คุณก็จำต้องปีนขึ้นไปอุดหนุน C-Class ซึ่งก็มีค่าตัวในรุ่นเริ่มต้น เกินกว่า 2 ล้านบาท ไปไกลโข

Mercedes-Benz Thailand เขาก็พยายามหาทางออก ด้วยการนำเข้า CLA มาเปิดตลาด ก่อนจะเริ่มสั่งชิ้นส่วนมาประกอบขายในประเทศไทย แม้จะขายดี แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ ของ CLA ก็แห่กันอุดหนุนเพียงเพราะมองแค่ว่า มันเป็น Mercedes-Benz ตัวถัง 4 ประตู ราคาถูกที่สุดเท่าที่พวกเขาพอจะมีปัญญาผ่อนส่งกันไหว โดยมิได้ทำการบ้านมากนัก พอซื้อมาแล้ว ก็ต้องทนมานั่งอึดอัดยัดทะนานอยู่ในห้องโดยสารที่ตีบและคับแคบ หาความสบายในการเดินทางได้ยากยิ่ง แถมยังค่อนข้างเสียงจะลงข้างทางได้ง่าย ถ้าเผลอหักหลบสุนัขตัดหน้า หรือบรรดา Food Panda พลีชีพ เพราะท้ายรถเหวี่ยงออกง่ายมาก (ยืนยันว่า ตั้งแต่ CLA200 ยัน CLA 45 AMG ท้ายออกง่ายโดยไม่เตือนล่วงหน้าเหมือนกันหมด)

ดังนั้น การที่ Mercedes-Benz Thailand ตัดสินใจนำเข้า CLA รุ่นที่ 2 เฉพาะตัวแรงจาก AMG ทั้งรหัส 35 และ 45 เพื่อยกตำแหน่งการตลาดให้เหนือขึ้นไปเลย แล้วนำ A-Class Sedan รุ่นที่เห็นอยู่นี้ เข้ามาทำตลาดทดแทนในฐานะ Basic Mercedes-Benz  จึงกลายเป็นคำตอบใหม่ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม

จุดเด่นของ A-Class Sedan นั้น นอกจากจะยังคงเอาใจลูกค้าวัย 20 ปลายๆ – 30 ต้นๆ ที่อยากหา Benz คันแรกในชีวิต ด้วยบุคลิกจากเส้นสายของตัวรถทั้งภายในและภายนอก ที่โฉบเฉี่ยวคล้ายคลึง ใกล้เคียงกับ CLA แต่ลู่ลมด้วยค่า Cd.0.22 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในบรรดารถยนต์ Mass Production Vehicles ที่ผลิตขายกันทั่วโลกในเวลานี้ แล้ว บรรดากลุ่มลูกค้า สว.(สูงวัย) ที่เก็บเงินหลังเกษียณ มาออกรถ Benz สักครั้งในชีวิต ก็ยังได้ รถ Benz ยุคใหม่ ขับเคลื่อนล้อหน้า ที่ให้การขับขี่ กระชับคล่องแคล่ว แต่นิ่ง และมั่นใจขึ้นกว่า CLA รุ่นเดิม แถมยังพอมีความนุ่มสบายของช่วงล่าง หลงเหลือไว้ให้ยังรู้สึกว่าเป็น Mercedes-Benz อยู่บ้าง อีกทั้งทัศนวิสัยรอบคัน ก็โปร่งตาขึ้นเมื่อเทียบกับ CLA ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นล่าสุด ดังนั้น เมื่อมองในภาพรวม A-Class Seden จึงตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั่วไป ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ ควบคู่ไปกับกลุ่มวัยรุ่นแรกเข้ามหาวิทยาลัย ที่พึงใจกับความนุ่มสบาย มากกว่าจะเป็นความดิบ แข็ง สไตล์ Go-kart ในแบบที่ A-Class รุ่นที่แล้วเคยเป็น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ A200 Sedan AMG Dynamic ถูกสร้างขึ้น เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้ารุ่นเยาว์ ไปพร้อมกับการวางตัวให้เป็น Mercedes-Benz รุ่นเริ่มต้น ดังนั้น การเซ็ตรถ ในภาพรวม จึงออกมา “กลางๆ”  ไม่ดีเด่น แต่ไม่แย่อย่างที่คิด คือจะนุ่มแบบ Benz รุ่นเดิม อย่างที่กลุ่มลูกค้า สูงวัยชื่นชอบ ก็ไม่นุ่มขนาดนั้น จะออกแนวแข็งดิบเอาใจวัยรุ่น ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น เช่นเดียวกัน ดังนั้น A200 ก็อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไป และยังคงมีจุดด้อยที่ควรได้รับการแก้ไข หรือปรับปรุง ได้แก่

– Option น้อยไปหน่อย  อันที่จริง จอ MBUx ที่ให้มานั่นก็มีลูกเล่นที่เยอะระดับหนึ่งแล้วก็จริง แต่บรรดาอุปกรณ์ต่างๆที่ถูกตัดออกไป รวมทั้ง อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในกลุ่ม ADAS ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ ระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง ระบบเตือนเมื่อเบี่ยงออกนอกเลน ยังขาดหายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับรถยนต์ราคา 2 ล้านกว่า ยุคนี้ เพราะแม้แต่ Ecocar รุ่นกลางๆ ก็มีมาให้ครบแล้ว

– ตำแหน่งคันเกียร์ หากคุณเคยขับรถญี่ปุ่นมาก่อน แล้วจู่ๆ กระโดดขึ้นมาขับ Mercedes-Benz คุณอาจต้องคอยจดจำไว้ให้ดีว่า ก้านสวิตช์ฝั่งขวาที่คอพวงมาลัย นั่นไม่ใช่ไฟเลี้ยว แต่นั่นคือคันเกียร์ เชื่อว่า มีหลายคนที่เผลอไผลไปเปลี่ยนเกียร์ ขณะกำลังจะเปลี่ยนเลนกันบ้างในช่วงแรกๆ แน่ๆ เสียใจด้วยนะครับ วิศวกรชาวเยอรมัน เขาไม่คิดว่า นี่คือปัญหา เพราะลูกค้าในประเทศของเขา ก็ไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาแต่ประการใด ดังนั้น ได้แต่ทำใจและฝึกปรับพฤติกรรมของตัวคุณเองให้คุ้นชิน เท่านั้น

– คุณภาพของชุดเครื่องเสียง แม้จะอยู่ในระดับที่พอฟังได้ แต่ในเมื่อมีชุดเครื่องเสียงที่รองรับการเล่นเพลงได้จากหลายแหล่ง มีฟังก์ชันการปรับจูน Equalizer รวมถึง Sound Quality มาให้ครบแล้ว น่าจะอัพเกรดชุดลำโพงให้มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่านี้สักหน่อย

– เสียงรบกวนจากพื้นถนน เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารอยู่พอสมควร ผ่านทาง ซุ้มล้อ และบริเวณด้านหลังของตัวรถ ซึ่งลดทอนความอภิรมณ์ในการขับขี่ลงไปประมาณหนึ่ง

***** คู่แข่งในตลาด / Competitors *****

ปัญหาสำหรับ การเปรียบมวยกับคู่แข่งในคราวนี้คือ ทั้ง Mercedes-Benz และ คู่รักคู่แค้นอย่าง BMW ต่างส่งรถยนต์มาเทียบกัน ในกลุ่ม Entry Level Premium Compact ก็จริง แต่มันไม่ตรงพิกัดกันเสียทีเดียว

อันที่จริงแล้ว A-Class Sedan ควรจะถูกเปรียบเทียบกับ BMW 1-Series Sedan จึงจะนับว่าเป็นมวยถูกคู่ ทว่า ในความเป็นจริง BMW เลือกที่จะเก็บ 1-Series Sedan ไว้ผลิตและจำหน่าย ในตลาดเมืองจีน เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แปลว่า ไม่ใช่แค่ชาวเยอรมัน หากแต่ชาวไทย ก็จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับ 1-Series Sedan ด้วยเช่นกัน

ส่วน โชว์รูมของ BMW ในเมืองไทยตอนนี้ ก็จะมีแต่ BMW 2-Series Gran Coupé ที่เพิ่งเปิดตัวรุ่นประกอบในประเทศไปสดๆ ร้อนๆ พร้อมอัพเกรดขุมพลังเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร Turbo รหัสใหม่ 220i  ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน ทั้งที่ในความเป็นจริง 2-Series Gran Coupé ต้องเปรียบเทียบกับ Mercedes-Benz CLA ถึงจะถูกคู่

กระนั้น CLA Generation ที่ 2 ซึ่ง Mercedes-Benz Thailand สั่งนำเข้าสำเร็จรูปมาขายในบ้านเราตอนนี้ มีแต่รุ่น Mercedes AMG CLA 35 และ 45 ซึ่งเป็นรุ่น Top of the line ทั้งแรงกว่า และแพงกว่า 220i Gran Coupé ไปไกลโข จึงไม่อาจเทียบกันได้อย่างสะดวกใจนัก

กลายเป็นว่า เราจำใจต้องเอา ราคาค่าตัว มาเป็นจุดตั้งต้น ในการเปรียบเทียบ อย่างช่วยไม่ได้ และไม่ควรจะเป็น แต่นั่นก็คือวิธีที่คนไทยส่วนใหญ่ นิยมใช้กันเวลาจะซื้อรถ คือเอาเงินที่ตนมี มาเป็นตัวตั้งคำถามว่า “มีเงินอยู่เท่าเนี้ย ฉันควรซื้อรถคันไหนดี?

เมื่อดูตัวเลขบน Spec Sheet แน่นอนครับว่า เครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตร Turbo 192 แรงม้า 280 นิวตันเมตร (28.53 กก.-ม.) ของ BMW 220i Gran Coupé ดูจะได้เปรียบเป็นต่ออยู่พอสมควร แต่เรายังไม่มีโอกาสนำมาทดลองขับ ดังนั้น สมรรถนะที่แท้จริง ยังเป็นสิ่งที่เราต้องใส่เครื่องหมาย “?” เอาไว้ก่อน ณ เวลานี้

นอกจากนี้ อุปกรณ์หลายอย่าง อาทิ หลังคา Panoramic Sunroof เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า ที่ชาร์จโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศแบบ Dual Zone ชุดเครื่องเสียงพร้อมลำโพง Hi-Fi Loudspeaker หรือแม้กระทั่งระบบเบรก Auto Hold ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะสายบ้า Option ยอมทิ้งภายในห้องโดยสารแสนวิลิศมาหรา ไปหา BMW 220i Gran Coupé ซึ่งแพงกว่า A200 Sedan AMG Dynamic เพียงแค่ 19,000 บาท ได้ง่ายๆ เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ A200 Sedan ทำได้ดีเกินหน้าเกินตา BMW 220i Gran Coupé ไปมาก นั่นคือ พื้นที่ภายในห้องโดยสาร รวมทั้งช่องทางเข้าออกจากประตู ทั้ง 4 ตำแหน่ง ที่ใหญ่โตกว่าชัดเจน อาจไม่กว้างถึงขั้นเล่นกายกรรมเปียงยางบนรถได้ แต่ก็พอมีพื้นที่แหกแข้งแหกขาไปมา ในยามนั่งโดยสารทางไกลอยู่พอสมควรเลยทีเดียว และเด็กวัยรุ่นระดับมหาวิยาลัย 5 คน นั่งไปด้วยกันแล้ว ไม่อึดอัดเท่า 220i Gran Coupé รวมถึงบรรยากาศ ภายในห้องโดยสารยามค่ำคืน ที่จำลองแสงสีจาก Music Lounge ดีๆมาทั้งยวง ดูวิจิตรงดงามและผ่อนคลายสายตากว่าอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการขับขี่ในภาพรวม ก็ไม่ได้แย่ ถือว่ายังยอมรับได้ในระดับค่าตัว 2 ล้านบาทต้นๆ

แล้วถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือก A-Class Sedan รุ่นย่อยไหนจึงจะเหมาะกับคุณ ?

รุ่นย่อยของ A200 Sedan รุ่นประกอบในประเทศ ที่ Mercedes-Benz Thailand วางราคาเอาไว้ มีดังนี้

  • A200 Sedan Progressive – 1,990,000 บาท
  • A200 Sedan AMG Dynamic – 2,150,000 บาท

ทั้ง 2 รุ่น มีรายละเอียดทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ระบบบังคับเลี้ยว ระบบห้ามล้อ ระบบกันสะเทือน (รูปแบบช่วงล่างเหมือนกัน ต่างกันที่การเซ็ตติ้ง) เหมือนๆ กัน ส่วนต่างราคา 160,000 บาท นั้น มาจากการตกแต่งภายนอก และภายในห้องโดยสาร รวมถึงอุปกรณ์มาตรฐานบางอย่าง อาทิ ชุดหน้าจอมาตรวัด เป็นต้น

หากคุณอยากสลัดคราบ หนุ่มจืด เปลี่ยนลุคให้ดูสมกับการมีสัญลักษณ์ตราดาวขนาดใหญ่ แปะอยู่บนกระจังหน้ารถ การจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากรุ่น Progressive อีกราวๆ 160,000 บาท มาเป็นรุ่น AMG Dynamic ก็ดูสมเหตุสมเหตุผล และไม่แพงเกินเหตุ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้เพิ่มเติมเข้ามา ทั้ง กระจังหน้า Diamond Grille พร้อมลวดลายสีเงิน เปลือกกันชนหน้า – หลัง ดีไซน์สปอร์ต รวมถึงล้ออัลลอย 5 ก้าน เฉพาะรุ่น AMG ขนาด 18 นิ้ว หรือ วัสดุบุประตูและแผงหน้าปัดแบบ อะลูมิเนียมผิวด้าน Light Longitudinal-grain Aluminum ฯลฯ นอกจากจะช่วยให้รถดู “เต็มสเป็ก” ขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มว่า ราคาขายต่อ ก็จะสูงกว่ารุ่น Progressive แน่ๆในอนาคต

แต่ถ้าคุณคิดว่าการตกแต่งสไตล์ AMG  ไม่มีความจำเป็นสำหรับคุณ หรือการมีหน้าจอชุดมาตรวัดแบบ Digital ขนาดเล็กลงเล็กมานิดหน่อย วัสดุตกแต่งข้างประตูเป็นลายกราฟฟิกคาร์บอนธรรมดาๆ ก็เพียงพอต่อความต้องการของคุณแล้ว การจ่ายเงินในระดับต่ำกว่า 1,990,000 บาท แล้วอุดหนุนรุ่น Progressive แทนก็ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ท้ายที่สุดแล้ว Mercedes-Benz A200 Sedan นั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในกลุ่ม Premium Compact ระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ที่เอื้อมถึงง่ายสุด เซ็ตรถในภาพรวมออกมา “กลางๆ” มีความกลมกล่อมพอประมาณ เมื่อนำคุณสมบัติในทุกๆ ด้านมารวมกัน มันมีดีพอที่สำหรับการเป็นรถยุโรป ไซส์เล็ก เอาไว้ขับใช้งานในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นรถยนต์ Mercedes-Benz ที่มาพร้อมเครื่องยนต์สันดาปภายในเพียวๆ ไร้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในไม่กี่รุ่นที่ยังทำตลาดอยู่ในเมืองไทย ซึ่งน่าจะส่งผลดีในการซ่อมบำรุงรักษาในระยะยาว ทั้งราคาอะไหล่และค่าซ่อมที่น่าจะย่อมเยากว่าบรรดาพี่ๆร่วมตระกูล

ถ้าจะถามว่า รถคันนี้เหมาะกับใคร ภาพที่ผมและพี่ J!MMY เห็นตรงกันก็คือ กลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ ที่อยากจะซื้อรถใหม่ป้ายแดง เป็นของขวัญลูกหลาน ที่เพิ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หมาดๆ โดยมีข้อแม้ว่า กุลบุตรกุลธิดา เหล่านั้น อาจไม่ได้เป็นคนสนใจใคร่รู้ในเรื่องรถยนต์มากมายนัก แค่ผู้ปกครองซื้อรถให้ขับ ก็ดีใจกระโดดโลดเต้นไปรอบบ้านแล้ว แน่นอนว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ จะยอมรับได้ในทุกสิ่งที่รถคันนี้เป็น เพียงเพราะว่า มันมีสัญลักษณ์ตราดาวขนาดใหญ่ แปะอยู่บนกระจังหน้าของรถ แค่นั้น ก็เพียงพอที่จะสร้างความอุ่นใจเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของบุตรหลาน ไปพร้อมๆกับเป็นเกียรติเป็นศรี เชิดหน้าชูตาให้กับบุพการี ท่ามกลางญาติโกโหติกาและเพื่อนฝูงวงศาคณาญาติได้แล้ว

อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีจำนวนลูกค้าเยอะกว่า นั่นคือ กลุ่มผู้ที่คุ้นเคยกับรถญี่ปุ่นมาตลอด จนวันหนึ่ง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือกิจการที่สร้างมากับมือ อยากให้รางวัลกับชีวิตตัวเองสักหน่อย และกำลังตัดสินใจไม่ถูกว่า ควรจะเลือกซื้อรถเก๋ง D-Segment หรือ SUV คันโตๆ ได้สบายๆ หรือควรจะขยับขึ้นมาครอบครอง เป็นเจ้าของรถยนต์ตราดาวสักครั้งในชีวิตกันแน่?

หากคุณเป็นหนึ่งในลูกค้ากลุ่มหลังนี้ อาจจะต้องเผื่อใจไว้สักหน่อย เพราะ A200 ไม่ใช่ Mercedes-Benz สไตล์นุ่มๆล้วนๆ แบบที่คุณคาดหวัง หากแต่มันมีบุคลิกความเป็นวัยรุ่น กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว อยู่พอสมควร ถ้าหากคาดหวังว่ามันจะ นุ่มละมุน เข้า ออกสนุก ลุกนั่งสบาย เหมือนกับ Mercedes-Benz ในยุคที่คนรุ่นก่อนเขาแซ่ซ้องสรรเสริญกันละก็. . . คุณอาจจะผิดหวังเอาได้ และการหันไปเลือกรถยนต์ญี่ปุ่น D-Segment หรือ SUV ที่ให้ความสบาย ความทนทานในระดับ “ทนมือทนตีน” และลดทอนความกังวลใจเรื่องค่าซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งาน อาจจะตอบโจทย์ของคุณมากกว่า เสียด้วยซ้ำ

ลองตัดสินใจกันดูครับ!

————————///———————–

—————————————–//——————————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

Yuthapichai Phantumas (QCXLOFT)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน และ J!MMY
ลิขสิทธิ์ภาพถายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ
Daimler AG.

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
29 ธันวาคม 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 29th,2020

แสดงความคิดเห็นเชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!