“เฮ้ย! J!MMY กูว่ากูชอบ Terra หวะ”

หนึ่ง เพื่อนสนิท ที่เป็นคนจุดประกายให้ผม เริ่มทำรีวิวรถยนต์ บน Internet มาตั้งแต่ปี 2001 พูดกับผมอย่างจริงจัง ระหว่างมื้อค่ำวันหนึ่ง ต้นเดือนสิงหาคม 2018 มันเป็นช่วงเวลาโค้งสุดท้าย ก่อนที่ Nissan จะจัดงานเปิดตัว SUV/PPV รุ่นสำคัญของตน เป็นครั้งแรกในตลาดบ้านเรา

ผมแทบสำลัก ให้ตายเถอะ จากบรรดาผู้คนรอบข้างในชีวิตผมทั้งหมด หนึ่งเป็นคนแรกที่บอกกับผมว่า Terra สวย!!

“เหตุผลที่ชอบ Terra เพราะ ทีมการตลาดของ Nissan ในเมืองนอก อ้างอิงแรงบันดาลใจในการพัฒนารถคันนี้ มาจาก Nissan Safari /Patrol ซึ่งมีภาพลักษณ์ เป็น Full Size SUV สายลุย ที่แข็งแกร่ง บึกบึน และจะว่าไปแล้ว Terra เปรียบเสมือนเป็น Patrol Junior นั่นเอง คล้ายๆ Toyota Land Cruiser VX80 ที่มีน้องร่วมตระกูล เป็น Land Cruiser Prado หรือ Mitsubishi Pajero ที่แตกหน่อออกมาเป็น Pajero Sport นั่นเลยทีเดียว!! ”

แม่เจ้าโว้ยยย…นี่มัน “The ‘เพ้อเจ้อ’rer” ชัดๆ!

“มึงลองดูดีๆนะจิม SUV/PPV แต่ละยี่ห้อในตอนนี้ มันจะมี Character ที่แตกต่างกันชัดเจน อย่าง Toyota Fortuner ก็จะมีภาพลักษณ์ เจ้าของกิจการที่บ้าพลัง ขณะที่ Mitsubishi Pajero Sport จะมาในแนว คนรักครอบครัว ที่อยากได้ความหรู ติดสปอร์ต หน่อยๆ ส่วน Ford Everest ก็จะเป็นรถของคนที่อยากได้ความเหนือชั้นกว่าชาวบ้านเขา และคิดว่า มันน่าจะปลอดภัยกว่า (เหรอวะ)​

ส่วน Isuzu MU-X สำหรับคนชอบความประหยัดในทุกด้าน และ Chevrolet Trailblazer จะมีภาพลักษณ์​หรูประมาณหนึ่ง แต่แข็งแกร่ง สไตล์อเมริกันลูกครึ่งญี่ปุ่น…

…แต่ Terra นี่ มาในแนวลุยล้วนๆ กูขอลุย สมบุกสมบันเป็นหลัก หรือพูดง่ายๆคือ ถึกกว่าชาวบ้าน แต่ยังปรับตัวไปตามยุคสมัย ยังพอใส่เทคโนโลยีมาให้บ้าง”

โห… ทีมการตลาด Nisssn น่าจะดีใจนะ ว่าในที่สุด อย่างน้อย SUV/PPV ที่มีชื่อรุ่นคล้ายกระเบื้องปูผนัง สักรุ่นภายใต้แบรนด์ Cotto จากเครือซีเมนต์ไทย หรือ SCG รุ่นนี้ มีว่าที่ลูกค้าแล้วแน่ๆ อย่างน้อยก็หนึ่งคน

แต่ทั้งหมดนั่น เป็นแค่ความรู้สึกของเจ้าหนึ่ง ในช่วงที่เห็นหนังโปรโมทจากเมืองนอก ในช่วงเปิดตัวที่ต่างประเทศ

เพราะเมื่อหนึ่งได้เห็นสโลแกนอันยาวเฟื้อยจากฝ่ายการตลาดของประเทศไทย ภาพในใจของเขา ก็เปลี่ยนไปทันที

“มันเหมือนกับความรู้สึกที่เราได้เห็น Super Hero จากต่างแดน ที่พอมาเมืองไทยแล้ว กูทำหน้าไม่ถูกเลยจริงๆ เขาไม่ได้ปูภาพลักษณ์​ผิดไปจากหนังที่เราเห็นจากเมืองนอกไปเลย”

หนึ่งไม่พูดอะไรมาก แต่ให้คำจำกัดความสั้นๆว่า

“ขอไม่รับรู้โฆษณาในบ้านเราเลยก็แล้วกัน”

ผ่างงงงงงง!!!

มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่เราจะรู้สึกเช่นนั้น กับงานโฆษณาของ Terra ในเวอร์ชันไทย (ซึ่งไปเอาหนังจาก Philipines มาฉาย) ว่าแต่ว่า คุณสงสัยกันไหมครับว่า ทำไม รถยนต์ที่เปิดตัวในบ้านเราแท้ๆ กลับต้องใช้หนังโฆษณาจากประเทศใน ASEAN ด้วยกัน?

อันที่จริงหนังโฆษณาของ Nissan ในบ้านเรา ในอดีต ก็มีหลายเรื่อง ที่ทำออกมาน่าชื่นชม บางเรื่อง ถือเป็นตำนานในวงการโฆษณาของเมืองไทย (เช่นภาพยนตร์โฆษณา Nissan Sentra RZ-1 ปี 1988 ที่คว้าได้รางวัล TacT Award มาแล้ว และทำให้ชื่อของผู้กำกับ อย่างคุณ นนทรีย์ นิมิบุตร โด่งดังขึ้นมา) แต่บางเรื่อง ก็เจอข้อจำกัดบ้าบอคอแตก กันจนถึงขั้นต้องถามเลยว่า “จะเอาแบบนี้จริงๆเหรอ?”

ตอนเปิดตัว Navara เมื่อกลางปี 2014 พวกฝรั่งมังค่า ก็ทำมันพังไปแล้วรอบนึง ด้วยการจับ แบงค์ วง Clash ขึ้นไปขับ Navara ตีลังการาวดอล์ฟลงมาจากน้ำตก กลายเป็นเรื่องตลกไร้รสนิยม ทีเรียกเสียงก่นด่าไปทั่วบ้านทั่วเมือง จนต้องรีบหั่นหนังท่อนนั้นออกให้สั้นโดยเร่งด่วน ออกฉายในอีกไม่กี่วันให้หลังกันมาแล้ว (ตอนนั้น เป็นแนวคิดของ “ฝรั่ง” ที่อยากให้หนังออกมาแบบนั้น) สุดท้าย ได้ “หญิงลี” นักร้องลูกทุ่ง ผู้เป็นลูกค้าตัวจริง มาเป็น Presenter หนังเรื่องต่อมา ช่วยกู้สถานการณ์ยอดขาย ทำให้ทุกวันนี้ Navara ยังพอมียอดขายจากรุ่นล่างๆ ประคับประคองไปได้อยู่ ครองใจกลุ่มลูกค้าคนสู้ชีวิต หาเช้ากินค่ำ ไปได้พอสมควร ลองไปถามลูกค้ากลุ่มชาวบ้านต่างจังหวัดดูสิ เขาจำ Navara ได้จาก “หญิงลี” กันไม่ใช่น้อยเลยนะ

ทว่า พักหลังมานี้ Nissan Motor ญี่ปุ่น กับ Nissan Asia & Oceania เข้ามามีส่วนในการกำหนดบทบาท และวิธีการทำงาน ของ Nissan Motor Thailand ในบ้านเราค่อนข้างเยอะพอสมควร ในหลายๆด้าน มันส่งผลไปถึงแม้กระทั่ง รูปแบบของแคมเปญโฆษณา ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ที่ล้วนแล้วแต่ถูกอนุมัติจากรสนิยมของชาวต่างชาติ ผู้ที่(แม่งงงง)ไม่เข้าใจวิธีจะสื่อสารอย่างไรให้โดนใจผู้บริโภคชาวไทยเอาเสียเลย…! (-_-‘)

ตัวอย่างก็คือ ถ้าเป็น รถกระบะ Navara ภาพยนตร์โฆษณา จะถูกถ่ายทำที่เมืองไทย เพื่อเอาไปใช้ร่วมกันทั้งภูมิภาค ดังนั้น กรณีของ Terra ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อ Philipines เขายืนกรานว่า เขาจะเป็นตลาดหลักของ SUV/PPV รุ่นนี้ ในภูมิภาค ASEAN เขาก็จะขอทำภาพยนตร์โฆษณาเอง เพื่อให้เอาไปเผยแพร่ในทุกประเทศ ละแวกย่าน ASEAN เหมือนกัน…

นั่นก็เลยทำให้เราต้องมาทนเห็นความพิลึกพิลั่นแบบแปลกๆ เชยๆเฉิ่มๆให้เห็นอยู่เต็มไปหมด ทั้งๆที่ แนวคิดหลักในการสื่อสาร และการสร้างรถคันนี้คือ Tough & Caring นั้น ก็เป็นไอเดียตั้งต้นที่เข้าท่าใช้ได้เสียด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็น สโลแกนอันเชยเฉิ่ม “ยนตรกรรมอัจฉริยะสำหรับครอบครัว” ที่เห็นเน้นตอกย้ำหัวตะปูกันอยู่ใน Caption บน Fanpage ของ Nissan Thailand ใน Facebook กันอยู่ได้ ทั้งที่คุณสามารถหาสโลแกนที่ดีกว่านี้มาใช้ ได้อีกเยอะมาก…ไม่ต้องย้ำกันอยู่ได้หรอกว่านี่คือรถครอบครัว เพราะมันคงจะมี เกย์ กะเทย หรือเลสเปี้ยน ไม่กี่คน ที่จะยอมจ่ายตังค์ซื้อ Terra ไปใช้เป็น รถสำหรับคนโสด แน่ๆ

หรือจะรวมไปถึงภาพยนตร์โฆษณาที่ผูกเรื่องกันอย่างหยาบๆ หลวมๆ ไม่มีอะไรให้น่าจดจำเลย อย่างนี้…

เด็กน้อยชาวปินอย นั่งอยู่บนเบาะหลังรถ จู่ๆก็พูดขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่า…”คุณพ่อครับ ขอ Tablet หน่อย ผมอยากเล่น Roller Coaster”

เดือนร้อนพ่อ ต้องเบี่ยงออกจากถนนราดยางมะตอย ไปขับลงเนิน กระดึ๊บๆ เลาะไปตามธารน้ำ เพื่อให้ลูกได้สัมผัสกับทาง Off-Road เสียบ้าง ทั้งที่ ในความเป็นจริง ถ้าจะเทียบการนั่ง Terra เหมือนกับการนั่ง Roller Coaster มันก็คงไม่เข้าท่านัก   ท้ายสุด พ่อบ้านระดับนายแบบ ก็พาภรรยาและเด็กเปรต กลับถึงบ้าน อย่างจืดชืด ลูกๆวิ่งเข้าสวมกอดผู้เป็นแม่ ทั้งที่พึ่งลงจากรถ? เฮ้ แทนที่จะจูงมือ 4 พ่อแม่ลูก เข้าบ้านกันไปเลยเนี่ยนะ? ในความจริง เด็กแทบทุกคน ถ้าลงจากรถมา แล้ววิ่งเข้ากอดแม่ ก็มักเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวคือ โดนพี่ชายมันแกล้งแหย่ตลอดทางมาแล้วเท่านั้น

แถมยังเน้นโชว์แต่กล้องรอบคัน เป็นหลัก ตาม Policy จากญี่ปุ่น ที่บังคับให้ Present ประโยคเฝือๆ อย่าง Nissan Intelligent Mobility กันอยู่ได้ ทั้งที่ตัวรถทั้งคัน มันไม่ได้ Intelligent มากขนาดนั้น ซ้ำร้าย จุดขายอื่นที่เป็น Unique Selling Point อย่างเครื่องยนต์ใหม่ YS23DDTT Twin Turbo ที่แรงชิบหายวายป่วง แถมประหยัดน้ำมันที่สุดในกลุ่ม กับช่วงล่างที่ดีโคตรๆ กลับไม่ถูกพูดถึงในหนังเรื่องนี้เลย แม้แต่ ข้อความระบุเรื่องเครื่องยนต์ หรือ ช่วงล่าง ใส่เป็น ซูเปอร์ เข้าไปด่านล่างหน้าจอ ก็ไม่มีให้เห็นเลย

Mood & Tone หนัง ก็พอได้ แต่ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น หรือเร้าใจ คลอไปด้วยเพลงประกอบแนว EDM อะไรก็ไม่รู้ ตืด ตืด ตือดือดืดดดด ตลอดเพลง ช่างไร้รสนิยม ไม่เข้ากับบุคลิกตัวรถ และไม่มีอะไรในตัวเพลงที่ช่วยเพิ่มให้ผู้คนจดจำหนังเรื่องนี้ได้เลย (ประเด็นนี้ ไม่ต้องโทษคนไทย ไปโทษฟิลิปปินส์โน่น เลือกเพลงอะไรมาก็ไม่รู้ มันอาจจะโอเคสำหรับบ้านเขา แต่ไม่เวิร์กสำหรับบ้านเรา)

ยังคิดเล่นๆเลยว่า เอาเพลง คนพิเศษ ของป้าตุ๊ก วิยะดา โกมารกุล ที่เคยอยูในโฆษณา Nissan Tiida Sedan เมื่อหลายปีก่อน หรืเอาเพลงใน Songbook ของ GMM Grammy กลับมาให้ ป๊อป ปองกุล ร้องอีกรอบ ในอีกเวอร์ชันที่ต่างออกไป มันน่าจะช่วยให้คนจดจำ และเกิดความอยากเดินออกจากบ้าน ไปดูรถคันจริงได้มากกว่านี้อีก! ถ้านึกไม่ออกว่าเรื่องไหน…นี่เลย ตัวอย่าง กดดูเลย!

เนี่ย หนังโฆษณา สำหรับ “รถยนต์เพื่อครอบครัว” ของ Nissan มันต้องออกมาเป็นโทนแบบนี้!! Smooth Bossanova หรือ Jazz เบาๆ คลอๆสบายๆ ให้มันเข้ากับโทน “Tough & Caring” นี่แหละ มันถึงจะช่วยดึงคนเข้าโชว์รูม ถ้าจำไม่ผิด ในช่วง 1 เดือน ที่ หนังเรื่องนี้ เริ่มออกอากาศ ผมได้ยินมาว่า มีลูกค้าเดินเข้าโชว์รูม Nissan เพื่อถามหา รถเก๋ง ซึ่งปกติ ขายไม่ออก เพราะหน้าตาเฉิ่มแฉะ อย่าง Tiida Latio รุ่นเนี้ย เยอะขึ้นอย่างชัดเจน!

เพลงแนวฟังสบายๆ นี้แหละ ที่ Siam Motors เคยเอามาใช้ในการโปรโมท Nissan ในช่วงยุคอดีต ให้รุ่งเรืองมาแล้ว ถึงขั้นเคยจับเอาบรรดานักร้องประกวดจากเวที สยามกลการ ในอดีต มาร่วมกันบันทึกเสียง ลงเป็นเทป Cassette แจกลูกค้ากันมาก็เคยมี ประวัติศาสตร์เก่าๆเหล่านี้ ทำไมไม่กลับไปค้นคว้าศึกษากันบ้างเลย?

ขอพูดตรงๆชนิดแทงใจดำกันหน่อยนะ เพราะผมรู้ดีว่า เอเจนซีโฆษณาที่ Nissan ใช้บริการอยู่ทุกวันนี้อย่าง TBWA และ OMD หนะ น่าจะมี ความ Creative มากพอที่จะสร้างสรรค์งานโฆษณาของ Nissan ให้ดีกว่านี้ได้อีกเยอะอยู่แล้ว

แต่ปัญหามันอยู่ที่ รสนิยมของกลุ่มคนอนุมัติ ซึ่งเป็น “คนสัญชาติอื่น” ที่ยืนกรานอย่างหน้ามืดตามัว ให้ต้องใช้ภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ เหมือนกันทั่วทั้ง ASEAN เพียงเพื่อจะประหยัดงบประมาณด้านการตลาด โดยไม่สนใจถึงความแตกต่างด้านรสนิยมของกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเทศเหล่านั้น หวังเพียงจะคุมงบจากส่วนกลาง เพื่อลดต้นทุน เสียจนกระทั่ง งานออกมาเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่?

ดู โฆษณา Ford Everest Minorchange นั่นสิ! นำเสนอมาในแนวทางเดียวกัน แต่ Mood & Tone คนละเรื่อง! ตัวรถมีของเล่น Hi-Tech ท่วมคันไม่แพ้ Terra แต่เขามีวิธีนำเสนอให้น่ารัก และทำให้หนัง เป็นที่จดจำได้ง่าย เพราะเขาใช้ “หมี” มาช่วยกด Like  แล้ว Mood & Tone ของตัวหนัง ก็สว่างสดใส สมกับการวางตำแหน่งให้เป็นรถยนต์ของครอบครัว มากเสียยิ่งกว่า Terra เสียอีก!

เอาเถอะ ต่อให้ด่ากันอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ในเมื่อทุกอย่างมันผ่านไปหมดแล้ว และตัวเลขยอดขายก็ฟ้องอยู่แล้วว่า แคมเปญระดับ ASEAN แบบนี้ เอามาใช้กับประเทศไทย ผลมันออกมาเป็นอย่างไร แค่เปิดตัวเดือนแรก Terra ทำยอดขายไปได้แค่ 521 คัน แต่พอ ย่างเข้าเดือนพฤศจิกายน ทั้งที่เป็นเดือนแห่งการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ระบายสต็อกช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี แถมยังมีงาน Motor Expo มาช่วยส่งเป็นแรงหนุน Terra ก็ทำตัวเลขยอดขายไปได้แค่เพียงไม่กี่ร้อยคัน

เฮ้อออออออ มันจะไปรอดตลอดอายุตลาด 7 – 10 ปี หลังจากนี้ไหมวะเนี่ยยยยยยย

เชื่อว่าหลายๆคน คงรู้สึกว่า ทำไม Terra มันดู ไม่ว้าว หรือชวนให้รู้สึกอยากเป็นเจ้าของเอาเสียเลย ทั้งที่ตัวรถ ก็มีคุณงามความดีซ่อนอยู่ หลายอย่างต่อให้เปิดราคาออกมาน่าสนใจขนาดไหน ก็ยังไม่ได้น่าซื้อขนาดนั้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลายๆรุ่น ยิ่งในจังหวะที่เปิดตัว เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ก็โดน Chevrolet ส่ง Trailblazer Phoenix Edition ออกมาล่อใจลูกค้าด้วยราคา 999,000 บาท ในจำนวนจำกัด นั่นก็ทำเอา Terra ถึงกับจุกนิดๆ ไปเหมือนกัน

อันที่จริง เรื่องราวในการพัฒนา Terra นี่ ผมได้ยินมานานมากกกกก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขียนถึงในบทความสรุปรถใหม่ ประจำปี ที่ปล่อยให้คุณๆได้อ่านกันทุกต้นเดือนมกราคม ของทุกปี เป็นประจำ เขียนกันแทบทุกปี นับตั้งแต่ ปี 2014 เป็นต้นมาว่า ยังไงๆ รถคันนี้ คงต้องเข้ามาผลิตและจำหน่ายในเมืองไทยแน่ๆ

แต่…กว่าที่ รถคันนี้ จะคลอดออกมาให้คุณได้เห็นและเป็นเจ้าของกันอย่างนี้ มันต้องผ่านสารพัดเรื่องราววิบากกรรมมากมายก่ายกอง บางช่วง ก็เกิดความขัดแย้งกันว่า ควรจะมาขายในบ้านเราหรือไม่ บางช่วงก็ถึงกับต้องพักโครงการไปหลายเดือน เพื่อหาทางปรับตัวรับมือกับคู่แข่ง

ผมอยากจะพาคุณไปทำความเข้าใจ เรื่องราวความเป็นมา ที่มาที่ไป “เท่าที่พอจะเปิดเผยได้” ว่าทำไม Nissan ถึงเพิ่งจะมาทำ SUV/PPV ขายแข่งกับชาวบ้านเขากันในเพลานี้ แล้วทำไมถึงปล่อยให้ชาวบ้านชาวช่องเขาทำขายไปก่อนล่วงหน้าตั้ง 20 ปี กว่าที่จะนึกขึ้นได้ แล้วส่ง Terra มาผลิตขายในบ้านเรา ในเวลาที่ เหมือนว่าจะสายเกินไป เช่นนี้?

คงต้องย้อนอดีตกลับไปสักหน่อย ไม่ไกลมาก เอาแค่ช่วง ปี 1998 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง ดีซิส” เกิดขึ้นมาได้ปีเศษๆ อันเป็นปีที่ผมเริ่มต้นเข้ามาทำงานในวงการสื่อสายรถยนต์นี่ ก็พอแล้ว!

ตลาดรถยนต์กลุ่ม SUV/PPV (Pick-up Passenger Vehicle) นั้น เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ผู้ผลิตหลายราย อยากนำรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นต่างๆ ที่สร้างขึ้นบนเฟรมรถกระบะ เข้ามาประกอบขายในประเทศไทย เพื่อขยายทางเลือกรุ่นรถยนต์ให้กับลูกค้า รวมทั้ง การแชร์ชิ้นส่วนรถกระบะ กระจายไปยังรถยนต์รุ่นอื่นๆ จะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น แต่ติดปัญหาด้านภาษีสรรพสามิต ที่แยกชัดเจนระหว่างรถกระบะ (คิดภาษีสรรพสามิต ถูก) กับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (คิดภาษีสรรพสามิต แพงกว่า)

ช่วง ปลายปี 1998 ผลจากความพยายาม Lobby ของบรรดาบริษัทรถยนต์บางแห่ง นำโดย Toyota ในตอนนั้น ทำให้รัฐบาลไทย ยุคนั้น ออกกำหนดพิกัดการเก็บภาษีสรรพสามิต ให้กับรถยนต์นั่งที่ดัดแปลงจากพื้นฐานรถกระบะ PPV เป็นผลสำเร็จ ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น Toyota ก็เปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์ที่ดัดแปลงจารถกระบะรุ่นแรกในเมืองไทย ในชื่อ Toyota Hilux Sport Rider (ผลิตโดย TAW – Thai Auto Works) และนั่นทำให้ค่ายอื่นๆ ก็ทะยอยเปิดตัวรถยนต์กลุ่มนี้ออกมาเรื่อยๆ ทั้ง Isuzu Vega (1998 นำ Cameo 1995 มาปรับโฉมขายใหม่), Mitsubishi Strada G-Wagon (2001) และ Ford Everest (2003)

ขณะนั้น Nissan ยังคงวุ่นวายกับการปัดกวาดบ้านเรือนของตน จากการเข้าซื้อสิทธิ์การทำตลาดรถยนต์ Nissan คืนจากกลุ่ม Siam Motors (สยามกลการ) ของตระกูล พรประภา กว่าจะลงตัวเสร็จสรรพ คู่แข่งเขาก็สับเกียร์แซงกันไปไหนต่อไหนหมดแล้ว

ย่างเข้าสู่ช่วงปี 2005 – 2006 Nissan เคยมีการวิจัยตลาด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ SUV/PPV อย่าง Nissan Pathfinder รุ่นที่ 3 ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรม และ Frame Chassis ของ Nissan Navara D40 รุ่นปี 2003 – 2014 เข้ามาประกอบเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย มาแล้วรอบหนึ่ง

ลูกค้าบ้านเราอาจไม่คุ้นเลยกับชื่อ Pathfinder แต่ถ้าเป็นชาวอเมริกัน จะรู้จักดีว่า นี่คือ SUV ดัดแปลงจาก Nissan Hardbody (BigM ในเมืองไทย) รุ่นปี 1986 ที่นอกจากจะโดดเด่นเรื่องงานออกแบบแล้ว สมรรถนะในการลุยยังถือว่า ดีพอตัวอีกด้วย (ส่วน Pathfinder รุ่นปัจจุบันที่ขายอยู่ในสหรัฐอเมริกา พลิกกลับกลายเป็น Crossover SUV บนพื้นตัวถังรถเก๋งไปเสียแล้ว คงเหลือไว้แค่เพียงชื่อรุ่นที่ยกมาสวมเข้ากับ SUV ขนาดกลาง เน้นเอาใจครอบครัว ที่พัฒนาขึ้นใหม่ และไม่มีรากเหง้าเกี่ยวข้องกับรถรุ่นเดิมเลย  แค่นั้น)

ทว่า โครงการนี้ ถูกทำแท้ง ในช่วงกลางปี 2007 ด้วยเหตุผลที่ว่า จังหวะเวลาในการเตรียมแผนผลิต การเปิดตัว ฯลฯ ไม่ลงตัว พูดให้ง่ายๆ คือ มันสายไปแล้ว เมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่าง Toyota Fortuner ใหม่ที่เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2004 และทำยอดขายถล่มทะลาย ด้วยรูปลักษณ์ที่โดนใจลูกค้ามากๆ ขณะเดียวกัน Mitsubishi Pajero Sport รุ่นแรก ซึ่งกำลังจะคลอดตามมาหลังจากนั้นไม่นานนัก ก็มีแนวโน้มว่าเส้นสายจะสวยหรู

ขณะเดียวกัน ผลวิจัยตลาดออกมาว่า รูปลักษณ์ของ Pathfinder รุ่นที่เห็นอยู่นี้ ไม่โดนใจผู้บริโภคชาวไทยเท่าใดเลย แถมเปิดตัวในตลาดโลกมาหลายปีแล้ว ความสดใหม่ มันหายไปหมดแล้ว ขืนเอามา ก็ไม่อาจสร้างยอดขายได้มากเท่าที่ควร แม้จะใช้ชิ้นส่วนร่วมกับ Navara D40 ได้ แต่มีแนวโน้มว่าอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนตั้งสายการผลิต ดังนั้น การเก็บโครงการนี้เข้าลิ้นชักไป จึงดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนั้น มากที่สุด

ระหว่างที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปในประเทศไทยนั้น เราบินข้ามไปดูตลาดเมืองจีน กันบ้าง พวกเขามองเห็นศักยภาพการขยายตัวของตลาดรถยนต์ในแดนมังกร ว่ามันช่างมีประชากรจำนวนมหาศาล กำลังซื้อหลั่งไหล ถึงระดับน่าตื่นตาตืนใจ จนผู้บริหารรถยนต์ทุกค่าย เริ่มไปบุกเมืองจีนกันมากขึ้น แม้จะต้องจับมือกับนักลงทุนท้องถิ่น และมีหุ้นในบริษัทก่อตั้งใหม่ ได้เพียงไม่เกิน 49% ก็ยอม

Zhengzhou Nissan Automobile Co., Ltd., หนึ่งใน 2 พันธมิตรหลักของ Nissan ที่เมืองจีน ต้องการ SUV สักรุ่น เพื่อมาขยายฐานลูกค้าในจีน ทาง Nissan ก็เลย จับเอา Nissan XTerra รุ่นปี 1999 ซึ่งเป็น SUV แนวลุยๆ ถึกๆ สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ ที่สร้างขึ้นจาก Frame Chassis และงานวิศวกรรม ร่วมกับ รถกระบะ Nissan Frontier D22 มาตั้งเป็นพื้นฐาน แล้วค่อยเอา งานออกแบบด้านหน้าของ Frontier D22 Minorchange ซึ่งเคยมีขายในบ้านเรา มาโปะเข้าไป เผยโฉมครังแรกในงาน Auto China 2002 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2002 ภายใต้ชื่อ “Nissan PALADIN” และเวอร์ชันฝาแฝดภายใต้ชื่อ Dongfeng Oting!!

ตัวถังยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,840 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ KA24DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,389 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 89 x 96 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.2 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECCS 149 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 208 นิวตัน-เมตร (21.19 กก.-ม.) ที่ 3,600 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง 4×2 และ 4 ล้อ Part Time 4×4 พวงมาลัยลูกปืนหมุนวน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือนหน้า ปีกนกคู่ Double Wishbone ด้านหลังเป็นแหนบ Leaf Spring ระบบห้ามล้อ ดิสก์เบรกหน้า/ดรัมเบรกหลัง น้ำหนักตัวเปล่า 1,615 และ 1,875 กิโลกรัม ถังน้ำมัน 73.5 ลิตร สวมล้ออัลลอย 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 245/70 R16

Paladin ทำยอดขายในจีนได้เรื่อยๆ เริ่มจากปีแรก 2003 ขายได้ 9,537 คัน และรักษายอดขายไว้ระดับ 8 – 9 พันคัน/ปีไว้ได้แบบนี้มาโดยตลอด ปีที่ขายดีสุดคือ 2007 ทำได้ถึง 9,905 คัน ก่อนที่ตัวเลขจะเริ่มลดลงมาเป็น 5,361 คัน ในปี 2012 และเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ 24 คันในปี 2017 เท่ากับยอดขายรวมตลอดอายุตลาดอยู่ที่ 96,203 คัน เยอะพอให้ Nissan ตัดสินใจถึงอนาคตของ Paladin ได้ง่ายขึ้น…แหงละ ก็มันขายได้ดีนี่หว่า ขายแค่จีนประเทศเดียว ก็คุ้มยิ่งกว่าแฟล็ตปลาทองแล้ว!

ล่วงเข้าปี 2011 Nissan เองก็เริ่มคิดได้ว่า ถึงเวลาที่พวกเขาควรจะทำ “รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change ของ Paladin” ได้แล้วเสียที จึงเริ่มวางแผนพัฒนา SUV บนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมของ Navara D23 และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “Terra”

นั่นเท่ากับว่า ตอนเริ่มต้นโครงการนี้ ดูเหมือนว่า Nissan Motor ที่ Yokohama ไม่ได้สนใจประเทศไทยมาตั้งแต่แรก ในช่วงแรกที่มีการวางแผนงานกัน พวกเขาวางเป้าหมายในการสร้าง Terra โดยตั้งโจทย์ให้คำนึงถึงความต้องการของลูกค้าชาวจีน และตลาดตะวันออกกลาง เป็นหลัก ด้วยเหตุที่ว่า ตลาดเมืองจีนหนะ ใหญ่โตมากๆ เมื่อมียอดขายสูงมาก ดังนั้น เสียงเรียกร้องจากเมืองจีน จึงมีความสำคัญในสายตาของชาวญี่ปุ่น มากกว่าตลาดอื่นๆ ขึ้นมาทันทีส่วนตะวันออกกลาง เป็นพื้นที่ ซึ่งรถยนต์ประเภท Body on Frame SUV ขายได้เยอะมากกว่าภูมิภาคอื่นๆในโลก (ไม่นับสหรัฐอเมริกา)

ดังนั้น ในช่วงแรกๆที่โครงการนี้ เริ่มต้นศึกษา วิจัย Nissan จึงแทบจะไม่เหลียวมอง บรรดาคู่แข่งในตลาด SUV/PPV ของเมืองไทย ทั้ง Toyota Fortuner , Isuzu MU-X ,Mitsubishi Pajero Sport , Ford Everest และ Chevrolet Trailblazer เลย แม้แต่น้อย!

ต้องรอให้ถึง ปี 2012 นั่นแหละ ทีมงานผู้เกี่ยวข้อง ฝั่งเมืองไทย ในขณะนั้น ถึงได้มีโอกาส เข้าร่วมไปพูดคุย และบอกถึงความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย และแถบ ASEAN หมายความว่า ชาวญี่ปุ่น เพิ่งจะเริ่มรับฟังเสียงจากตลาดเมืองไทย ก็ในตอนนั้นนั่นแหละ!

กระนั้น ตลอดช่วงปี 2014 – 2015 มันก็มีเสียงจากคนใน Nissan ด้วยกันเอง ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝั่งแรก อยากให้ Terra เข้ามาผลิตขายในบ้านเรา กับอีกผ่ายหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วย เพียงเพราะเหตุผลว่า ตัวรถจะมาทำตลาดซ้ำซ้อนกับ X-Trail รุ่นที่ 3 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวางแผนเตรียมเปิดตัวในไทย ช่วงนั้นพอดี ท้ายที่สุด คงไม่ต้องบอกนะครับ ว่าฝ่ายไหนชนะ….

หลังศึกษาและวิจัยตลาด ไปพักใหญ่ ทีมออกแบบ ก็กำหนดยุทธศาสตร์ ในการพัฒนา SUV รุ่นเปลี่ยนโฉม ของ Paladin นี้ว่า คราวนี้ นอกจากจะเน้นไปที่ประเทศจีนเป็นหลัก โดยในด้านงานออกแบบ ทีมงาน Nissan ญี่ปุ่น ได้กำหนด Design Theme เอาไว้ว่า “Tough & Caring” หรือ “ความแกร่งกล้าที่มาพร้อมกับความอบอุ่นเอาใจใส่”

Pedro Deanda : Chief Product Specialist ที่ดูแลโครงการ Terra เล่าว่า  “เราพยายามทำให้รถสามารถผสาน 2 บุคลิกที่น่าจะขัดแย้งกันเข้าไว้ได้ ลองมองให้รถเป็นคน จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเป็นคนที่แข็งแกร่ง ดุดัน จริงจัง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นคนที่ให้ความอบอุ่นกับความปลอดภัยแก่คนรอบข้าง? นั่นคือบุคลิกในแบบที่เราอยากให้ Terra เป็น”

Masato Takahashi : Design Director ผู้ควบคุมงานออกแบบของ Terra ให้สัมภาษณ์กับพี่ Pan Paitoonpong ไว้ เมื่อครั้งที่เดินทางไปร่วมเข้าชมศูนย์วิจัยและพัฒนา Nissan Global Technical Center ที่ Atsugi ว่า

“ถ้านับเฉพาะภายนอก ส่วนที่ Terra ใช้ร่วมกับ Navara ก็จะมีแค่ประตูคู่หน้า มือจับเปิดประตู และฝากระโปรงหน้า นอกนั้นเราต้องออกแบบใหม่ขึ้นหมด ส่วนในด้านวิศวกรรมนั้นก็ใช้เฟรมตัวถังที่มีพื้นฐานจาก Navara แต่ด้วยจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างทำให้เราต้องปรับใหม่หลายจุด เพื่อให้ได้รถที่นั่งสบายขึ้น ระยะฐานล้อก็สั้นลง”

“ส่วนเรื่องของการออกแบบภายนอก เราพยายามทำให้มันดูบึกบึน แต่ไม่แข็งกร้าวจนเกินไป เรารู้ว่านี่เป็นรถครอบครัว และในวัฒนธรรมเอเชียและตลาดของพวกคุณ (ASEAN) คนในครอบครัวมีผลต่อการซื้อรถ ดังนั้นมันจะต้องมีจุดที่ดูอ่อนช้อยและสุภาพอยู่บ้าง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิด Tough & Caring ”

เรื่องประหลาดก็คือ ในเมื่อ รถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อลูกค้าชาวจีน ตะวันออกกลาง และ ASEAN โดยเฉพาะ นั่นหมายความว่า มันจะถูกจำกัดการจำหน่าย เอาไว้แค่ในตลาดดังกล่าวเท่านั้น แต่มันดันมีงานออกแบบที่ไปโดนใจลูกค้าชาวอเมริกันบางส่วนเข้าอย่างจัง!

ระหว่างการตอบคำถามแบบ Q & A ของสื่อมวลชนจาก ASEAN พี่ Pan Paitoonpong เขาก็งงอยู่บ้างว่า ทำไมในวันนั้น ถึงมีนักข่าวชาวอเมริกัน จาก Automotive News สหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมวงด้วยได้อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่คำถามของเขา น่าสนใจเลยทีเดียว เพราะเขาสงสัยว่า Nissan จะมีโอกาสนำ Terra เข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ในฐานะ ตัวตายตัวแทนของ Nissan Xterra SUV ที่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงชื่นชอบในความถึกของมัน บ้างหรือไม่? เพราะไม่เพียงแค่นักข่าวคนนี้จะชื่นชอบ หากแต่บรรดาเพื่อนฝูงรอบตัวของเขา ก็ชอบและอยากเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน

Masato ดับฝันกลางวันของชาวอเมริกัน ด้วยคำตอบที่ตรงไปตรงมา ราวกับสาดน้ำเย็นใส่หน้าคนถาม ว่า “เรื่องนั้นบอกเลยว่าไม่อยู่ในแผน Terra เป็นรถที่สร้างมาเพื่อคนเอเชีย..ไม่ใช่อเมริกา สิ่งที่คุณเห็นแล้วรู้สึกชอบ อาจจะเป็นเรื่องดีไซน์ที่ดูบึกบึนแข็งแรงซึ่งชาวอเมริกันจะชอบแบบนั้น แต่ผมขอเรียนตามตรงว่าในขั้นตอนการออกแบบนั้น ระหว่างการวิจัย เราไม่เคยทำวิจัยเรื่องดีไซน์ของ Terra กับลูกค้าชาวอเมริกันแม้แต่คนเดียว”

ไม่เพียงแค่นั้น Hironori Awano : Chief Vehicle Engineer ของ Terra ก็ยังยืนยันอย่างแข็งขันอีกเสียงหนึ่งว่า “ในตอนนี้ เรายังไม่ได้มองถึงขั้นนั้น”

“จริงอยู่ว่า ขนาดของตัวรถ เหมาะสมมากกับลูกค้าชาวอเมริกัน แต่สหรัฐฯ นั้น เป็นหนึ่งในตลาดที่โหดหินมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการทดสอบชน Crash Test แต่ยังมีประเด็นเรื่องความคาดหวังของลูกค้า รวมอยูู่ด้วย”

พอคนญี่ปุ่น พูดอย่างนี้กันออกไป กลายเป็นว่า สื่อมวลชนฝั่งอเมริกาเหนือ เขาก็ประโคมข่าว ตีความไปกันใหญ่เลยว่า Terra จะไม่เข้าไปขายในสหรัฐฯ เนื่องจากติดปัญหาด้านไม่ผ่านทดสอบการชน (ทั้งที่จริงๆแล้ว มันก็สอบผ่านแหละ) ส่วนลูกค้าฝั่ง ASEAN ที่อ่านข่าวนี้ ก็หนาวๆร้อนๆ ว่า อ้าว เฮ้ย! Terra นี่ ยังไงกันเนี่ย

สรุป มันผ่านการ Crash Test นะครับ แม้ว่าจะเป็นแค่ของ ASEAN NCAP ก็ตาม รายละเอียดอยู่ด้านล่างของบทความนี้ แต่ มันเป็นรถยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นตามความต้องการของชาวเอเซีย เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงอะไรถึงชาวอเมริกันเลยแม้แต่น้อย ต่างหาก

หลังเตรียมการมายาวนาน ถกเถียงตบตีทะเลาะเบาะแว้งบ้าบอคอแตก แถมยังเจอโรคเลื่อนไปพักใหญ่ ในที่สุด Nissan ก็พร้อมจะส่ง Terra บุกตลาด กันอย่างเป็นทางการ เสียที

ประเทศจีน เป็นชาติแรกที่ Nissan เผยโฉม Terra ก่อนใคร พวกเขาเปิดผ้าคลุม โพสต์รูปส่งตามสื่อ Online ครั้งแรก เมื่อ 15 มีนาคม 2018 ก่อนจะส่งขึ้นไปอวดโฉมในงาน Auto China เมื่อ 25 เมษายน 2018

ปฏิกิริยาของลูกค้าชาวจีน นั้น Website Carsalesbase.com ได้รายงานตัวเลขยอดขายของ Terra ในจีนเอาไว้ เริ่มจากเดือนเมษายน 2018 มีจำนวนมากถึง 2,211 คัน พอถึงเดือนพฤษภาคม ยอดขายกลับหายไปเกือบครึ่ง เหลือ 1,365 คัน เดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1,426 คัน เดือนกรกฎาคม หล่นเหลือ 862 คัน เดือนสิงหาคม หล่นลงเหลือ 754 คัน เดือนกันยายน ถึงกระเตื้องกลับขึ้นมาเป็น 1,371 คัน ได้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าพูดกันตรงๆ ถือว่า อาการ น่าเป็นห่วง สำหรับตลาดที่มียอดขายรถยนต์ปีละหลายสิบล้านคันขนาดนี้

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ 2 ซึ่งได้สิทธิ์ ในการจัดเปิดตัว Terra ก่อนประเทศไทย โดยจัดงานยิ่งใหญ่ พร้อมให้ทดลองขับกันสั้นๆ ที่เมือง Clark จังหวัด Pampanga เมื่อ 28 พฤษภาคม 2018 ซึ่งพี่ Pan Paitoonpong ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมงานนี้ด้วย รายละเอียดต่างๆ คลิกอ่านได้ ที่นี่ CLICK HERE  ก่อนที่จะเริ่มเปิดให้ลูกค้าชาวปินอย ได้สั่งจองกันในวันที่ 1 มิถุนายน 2018 และจะเริ่มส่งมอบรถ ขึ้นโชว์รูม วันที่ 20 สิงหาคม 2018 เป็นต้นไป โดย Terra ทุกคัน ที่ทำตลาดในฟิลิปปินส์ และ ASEAN ทั้งหมด จะถูกผลิตขึ้น จากโรงงาน Nissan ที่ บางนา – ตราด กม. 22 ในประเทศไทย

เหตุผลที่ Terra เปิดตัวในฟิลิปปินส์ก่อนบ้านเรา ก็เพราะว่า ในช่วงก่อนการเปิดตัว ทีมงานฝ่ายการตลาดของ Nissan Motor Philipines ให้ข้อมูลคาดการณ์ตัวเลขยอดขายต่อเดือนและต่อปี ในประเทศของตน ไปกับทางสำนักงานใหญ่ของ Nissan ในญี่ปุ่น (NML) ไว้ สูงกว่าตัวเลขที่ประเทศอื่นๆ ใน ASEAN รวมทั้งไทย ได้คาดการณ์กันไว้ สำหรับตลาดในแต่ละประเทศของตนเอง

สำหรับตลาดเมืองไทย Nissan Motor Thailand จัดงานเปิดตัว Terra เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2018 ถือว่าตามหลังประเทศจีน และ Philipines เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ก่อนจะส่งขึ้นไปอวดโฉมครั้งแรก ในงาน Big Motor Sales ที่ Bitec บางนา แทบจะทันทีในวันรุ่งขึ้น แต่กระแสตอบรับ พูดกันตรงๆเลยว่า ค่อนข้างเงียบ มีเพียงกลุ่มลูกค้า แฟนพันธ์แท้ Nissan สายรถกระบะและ Off-Road ที่สนใจมองหารถครอบครัว เข้ามาเยี่ยมชมรถคันจริงที่งานดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ถึงจะเปิดตัวแล้ว แต่ Nissan ก็ยังไม่พร้อมจะส่งมอบรถให้ลูกค้าได้ทันที ต้องจัดกิจกรรม Road Show ไปตามจังหวัดสำคัญๆ ทั่วประเทศกันก่อน เพื่อรอทางโรงงาน บางนา – ตราด กม.22 (ที่ ใช้เวลาเตรียมการอย่างจริงจัง หามรุ่งหามค่ำ อดหลับอดนอนกัน เพียง 9 – 10 เดือนเท่านั้น!) พร้อมขึ้นสายการผลิต จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2018 จึงจะเริ่มจัดกิจกรรมเชิญลูกค้า ดูรถคันจริงที่โชว์รูม และเริ่มส่งมอบให้กับผู้ที่สั่งจองก่อนหน้านี้ได้เสียที

ทำไม Nissan บ้านเราถึงตัดสินใจนำ Terra มาผลิตขาย? ในเมื่อมี X-Trail ซึ่งเป็น SUV อยู่แล้ว? 

แน่นอนว่า Nissan จำเป็นต้องมีรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ขณะเดียวกัน Terra สามารถแชร์ชิ้นส่วนใช้ร่วมกันกับ Navara D23 ได้เยอะ จึงช่วยให้ต้นทุนชิ้นส่วนอะไหล่ ทั้งในแง่การพัฒนา และการผลิต รวมทั้งการสต็อกอะไหล่ ลดต่ำลงไปได้เยอะ

แล้ว Terra จะไม่แย่งตลาดกันเองกับ X-Trail เหรอ?

ส่วนคนที่กังวลว่าจะแย่งตลาดกันเองหรือไม่ นั้น ผลวิจัยตลาด ได้ข้อสรุปว่า ลูกค้าที่ซื้อ X-Trail มักเป็นกลุ่มที่อาศัยในเมืองใหญ่ ไม่ได้ลุยมากนัก ขณะที่ลูกค้า ของ Terra จะเป็นครอบครัว และมักอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก มากกว่าเมืองใหญ่ และต้องการรถยนต์ที่ใช้งานได้สมบุกสมบันกว่า ถือว่าเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน

แล้วทำไมเปิดตัวตามหลัง Navara ตั้ง 4 ปี?

ความจริงแล้ว Terra นั้น ควรจะเปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แต่เหตุผลที่ ต้องออกสู่ตลาด ล่าช้าไปจากแผนเดิมถึง 2 ปี และล่าช้าหลังจากการเปิดตัว Navara ไปถึง 4 ปี นั่น แม้จะมีอยู่หลายประการ แต่ก็มี 2 สาเหตุสำคัญก็คือ

1. ระหว่างการพัฒนา Terra กำลังดำเนินไป พอล่วงเข้าสู่ปี 2015 เมื่อ Toyota Fortuner , Mitsubishi Pajero Sport และ Ford Everest รุ่นปัจจุบัน พร้อมใจกันทะยอยเปิดตัวออกมา ทีม Nissan เห็นคู่แข่งแล้ว ถึงกับตกใจ และต้องหยุดโครงการ ไปพักใหญ่ เพื่อหาทางปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของตัวรถในด้านต่างๆ ทั้ง งานออกแบบและงานวิศวกรรม รวมทั้งออพชัน เท่าที่พอจะทำได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

2. เดิมที Nissan ตั้งใจจะใช้เครื่องยนต์ YD25DDTi จาก Navara มาวางลงใน Terra เวอร์ชันไทย เหมือนเช่นใน Philipines ทว่า เมิ่อเดือนมกราคม 2016 รัฐบาลไทย ประกาศใช้ โครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต แบบใหม่ โดยในหมวดของ SUV/PPV นั้น ตัวรถ ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงมา ให้ต่ำกว่า 200 กรัม/กิโลเมตร จึงจะได้ลดหยอนภาษีลงมาอีก 5% ทำให้ส่งผลกระทบกับตลาด SUV/PPV โดยตรงในตอนนั้น นอกจากจะทำให้หลายค่าย (เช่น Ford Everest กับ Toyota Fortuner) ต้องปรับราคาขายปลีกขึ้นไปด้วยแล้ว หาก Nissan ยังดื้อใช้เครื่องยนต์ YD25DDTi เดิม ค่ามลพิษ CO2 อาจสูงทะลุ เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร ทำให้ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แพงขึ้น และต้องตั้งราคาขายปลีก แพงจนไม่อาจต่อสู้กับคู่แข่งได้เลย

Nissan จึงต้องเปลี่ยนแผน นำเครื่องยนต์ M9T (YS23DDTT Twin Turbo) ของ Renault มาเร่งปรับปรุงด้านมลพิษ และติดตั้งให้กับ Terra เวอร์ชันไทย เป็นพิเศษ เพียงตลาดแห่งเดียวเท่านั้น ในตอนนี้ เพื่อให้ค่า CO2 ลดต่ำลงมาอยู่ที่ 200 กรัม/กิโลเมตร พอดี ในรุ่น VL 4×4 และ 196 กรัม/กิโลเมตร ในรุ่น VL 4×2 ซึ่ง กว่าจะผ่านขั้นตอนการอนุมัติ ขอเปลี่ยนเครื่องยนต์สำหรับตลาดเมืองไทย การประสานงานกับฝ่ายเทคนิคที่ญี่ปุ่น การทดสอบ ปรับจูนต่างๆ ส่งเครื่องยนต์ต้นแบบมาทดสอบ ติดตั้งเข้ากับรถต้นแบบ แล้วทดสอบกับทั้งห้อง Lab ของ Nissan เอง รวมทั้ง Lab ของ สถาบันยานยนต์ กว่าจะทำเรื่องอนุมัติ ขอ ECO Sticker กับทางรัฐบาลไทย ทุกอย่าง ก็ล่าช้าเกินกำหนดเดิมไปมากโข ถึง 2 ปี นั่นเอง

สถานการณ์ หลังเปิดตัวในตลาดเมืองไทย ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะแม้ Nissan จะพยายามยิงภาพยนตร์โฆษณา กันอย่างเต็มที่ ใช้เม็ดเงินลงโฆษณาในสื่อทางเลือกมากมาย ทว่า ตัวเลขยอดขายในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกที่สามารถส่งมอบรถกันได้ แถมยังส่งได้แค่ครึ่งเดือนหลัง นั้น มีตัวเลขเพียงแค่ 521 คัน เท่านั้น…ไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับการเปิดตัวของคู่แข่งรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้

Terra ทุกคัน ทุกรุ่นย่อย มีขนาดตัวถังเท่ากันหมด ด้วยความยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างล้อคู่หน้า/หลัง (Front & Rear Track) อยู่ที่ 1,565 / 1,570 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 225 มิลลิเมตร มุมไต่ (จากขอบล้อหน้า จนถึงขอบกันชนหน้า) 32 องศา มุมจาก (ขอบล้อหลังจนถึงกันชนหลัง) 27 องศา น้ำหนักตัวรถเปล่า รุ่น 4×2 อยู่ที่ 2.043 กิโลกรัม ส่วนรุ่น VL 4×4 อยู่ที่ 2,118 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Chevrolet Trailblazer ที่มีความยาว 4,887 มิลลิเมตร กว้าง 1,902 มิลลิเมตร สูง 1,852 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,845 มิลลิเมตร จะพบว่า Chevy จะยาวกว่าแค่ 2 มิลลิเมตร กว้างกว่า Terra 37 มิลลิเมตร สูงกว่า Terra 17 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วน Ground Clearance (221 มิลลิเมตร) จะน้อยกว่า Terra 4 มิลลิเมตร

หรือจะเป็นฝาแฝดของ Chevy อย่าง Isuzu MU-X ที่มีความยาว 4,825 มิลลิเมตร กว้าง 1,860 มิลลิเมตร สูง 1,860 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,845 มิลลิเมตร จะพบว่า MU-X จะสั้นกว่า Terra 40 มิลลิเมตร แคบกว่า Terra 5 มิลลิเมตร สูงกว่า Terra 25 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 5 มิลลิเมตร เท่า Trailblazer แต่ Ground Clearance (220 มิลลิเมตร) จะน้อยกว่า Terra 5 มิลลิเมตร

ถ้าหากเปรียบเทียบกับ Ford Everest ที่มีความยาว 4,893 มิลลิเมตร กว้าง 1,862 มิลลิเมตร สูง 1,837 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร จะพบว่า Everest ยาวกว่า Terra แค่ 8 มิลลิเมตร กว้างกว่า Terra แค่ 3 มิลลิเมตร สูงกว่า Terra แค่ 2 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อเท่ากัน ส่วน Ground Clearance จะเท่ากันกับ Terra พอดี (225 มิลลิเมตร)

ส่วนคู่แข่งอย่าง Mitsubishi Pajero Sport ที่มีความยาว 4,785 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,805 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,800 มิลลิเมตร จะพบว่า Terra จะยาวกว่าถึง 100 มิลลิเมตร และกว้างกว่า 50 มิลลิเมตร สูงกว่า Terra 17 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า Terra 50 มิลลิเมตร ส่วน Ground Clearance จะน้อยกว่า Terra 4 มิลลิเมตร

ท้ายสุด เมื่อเทียบกับ Toyota Fortuner ซึ่งมีความยาว 4,795 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร จะพบว่า Terra ยาวกว่า ถึง 90 มิลลิเมตร แคบกว่า Terra 10 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ Terra ยาวกว่าถึง 100 มิลลิเมตร ส่วน Ground Clearance (193 มิลลิเมตร) น้อยกว่า Terra 32 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของ รถกระบะ Navara NP300 รุ่นปัจจุบัน โดยใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้เพียงแค่ ฝากระโปรงหน้า โครงสร้างห้องเครื่องยนต์ (Engine Cage) ทั้งหมด รวมทั้งซุ้มล้อคู่หน้าด้านใน เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar กระจกบังลมหน้า บานประตูคู่หน้า กระจกหน้าต่างคู่หน้า มือจับเปิดประตู เสาหลังคาคู่กลาง A-Pillar แผงหน้าปัด พวงมาลัย เครื่องปรับอากาศเฉพาะด้านหน้า ชิ้นส่วนอะไหล่และวัสดุภายในห้องโดยสารส่วนครึ่งคันหน้า และแค่นั้น

เส้นสายภายนอก ดูราวกับว่า ได้แรงบันดาลใจ จาก Nissan Safari / Patrol GR รุ่นปี 1996 ถึงปัจจุบัน (ในบางตลาด) มาเต็มๆ น่าเสียดายว่า ตลาดเมืองไทย สยามกลการ เคยนำ Patrol เข้ามาขายเล่นๆ เพียงไม่กี่คัน ช่วงปี 1998 ปริมาณรถเลยไม่แพร่หลาย คนทั่วไปเลยไม่รู้จัก อารมณ์ร่วมกับ Patrol จึงไม่ค่อยมี ดังนั้น การจะโยงตำนาน Patrol มาช่วยโปรโมทภาพลักษณ์ของ Terra ในไทย จึงทำไม่ได้เต็มที่นัก

ทุกรุ่นติดตั้ง ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Projector LED พร้อมไฟหรี่ LED ไฟส่องสว่างตอนกลางวัน Daytime Running Light LED ไฟตัดหมอกหน้าพร้อมแถบพลาสติกชุบโครเมียม ประดับโดยรอบ กระจังหน้าแบ V-Motion โครเมียม ตัดกับ ลวดลาย พ่นสีเงิน Silver (ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชันจีน ที่จะได้ใข้กระจังหน้า โครเมียม ตัดกับลวดลาย พ่นสีดำ) ทั้งหมดนี้ ออกแบบขึ้นใหม่ ให้แตกต่างจาก Navara ทว่า ยังต้องยึดแนวเส้นสายแบบ Navara เอาไว้อยู่ตามเดิม

ด้านข้างลำตัว นอกจากจะใช้สติกเกอร์สีดำด้าน เชื่อมหน้าต่างทุกบานไว้ด้วยกันแล้ว ยังมีโป่งซุ้มล้อคู่หน้าและหลัง ที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูโค้งมน และเสริมมัดกล้ามให้ตัวรถดูบึกบึนขึ้น กระจกหน้าต่างบานหลังสุด ออกแบบเป็น J-Line เพื่อช่วยเพิ่มลูกเล่นให้ตัวรถดูมีเอกลักษณ์พอให้ชวนจดจำและนึกถึงได้บ้าง ไม่ดูเรียบจนเกินไป

ทกรุ่นย่อย ติดตั้งมือจับประตูเป็นแบบ Grip Type พลาสติกชุบโครเมียม รวมทั้กระจกมองข้างเป็นแบบ ปรับและพับเก็บด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมกรอบนอกพ่นสีเดียวกับตัวถัง พร้อมไฟเลี้ยว LED ในตัว และบันไดข้าง ขนาดใหญ่ ก้าวขึ้นลงจากรถได้สะดวก

บั้นท้าย ออกแบบให้มีชิ้นสปอยเลอร์เหนือกระจกบังลมหลัง มีไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED มาให้ ส่วนชุดไฟท้าย เป็นแบบ LED Light Guide ออกแบบมาให้ดู ร่วมสมัย ไม่แปลกตาจนเกินไปอย่าง Pajero Sport เปลือกกันชนหลัง มีแผงทับทิมสะทอนแสงตอนกลางคืน ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา  และมีเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยจอด ติดตั้งมาให้ 4 จุด ครบทุกรุ่นย่อยเช่นเดียวกัน

ล้ออัลลอยของทุกรุ่น มีเพียงแบบเดียว ขนาดเดียว คือ 18 นิ้ว สวมด้วยยาง Toyo Open Country ขนาด 255/60 R18 พร้อมยางล้ออะไหล่ ขนาดและแบบเดียวกัน แขวนไว้ใต้ท้องรถ บริเวณด้านท้ายรถ เหมือนรถกระบะและ SUV/PPV ทั่วไปในบ้านเรา

ระบบกลอนประตู ของทุกรุ่น เป็นกุญแจ Remote Control แบบ Intelligent Key ทรงเมล็ดข้าวสาร เหมือนกับที่ใช้ในรถรุ่นอื่นๆของ Nissan ตั้งแต่ March ยัน 370Z แต่ มีสวิชต์ปลด และสั่งล็อกแยกจากกัน เพียง 2 ปุ่มเท่านั้น เหมือน Nissan Note แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ เพราะไม่มีปุ่มแตรร้องส่งเสียงขอความช่วยเหลือแถมมาให้แต่แรก และไม่มีสวิตช์เปิดฝาท้ายมาให้ใดๆทั้งสิ้น

ตัวรีโมทฝังกุญแจขนาดเล็กในตัว และมีสวิชต์สีดำบนมือจับประตู สำหรับกดสั่งปลดหรือล็อกรถได้พร้อมกันทั้ง 4 บาน (ระบบ Central Lock) นั่นเอง ส่วนมือจับประตู ของทั้ง 3 รุ่นย่อย เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ทั้งหมด

การเปิดประตูรถ  ยังต้องกดปุ่มสีดำ บนมือจับประตูก่อน ระบบจึงจะปลดล็อก เช่นเดียวกัน ถ้าจะล็อกรถ ต้องกดปุ่มสีดำปุ่มเดิมทุกครั้งไม่สะดวกเหมือนคู่แข่ง ที่ต่างพากันเปลี่ยนไปใช้ระบบ Smart Keyless ที่สามารถดึงมือเปิดประตูได้ทันที ระบบก็ปลดล็อกทันที กันหมดแล้ว

สำหรับรถยนต์สมัยใหม่ทุกคัน ไม่ใช่แค่ Nissan หากแต่ยังรวมถึงทุกยี่ห้อ…ถ้าคุณจอดรถไว้ที่บ้าน ขอแนะนำให้ล็อกรถทุกครั้ง เพื่อให้ระบบไฟฟ้า เลิกทำงาน คงเหลือไว้แค่ระบบ Immobilizer และสัญญาณกันขโมย ได้ทำงานตามลำพัง มิเช่นนั้น ไฟในแบ็ตเตอรีจะหมดเร็วมาก หรือถูกใช้ไปจนเกลี้ยง

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า นั้น แทบไม่แตกต่างจาก Nissan Navara แต่ประการใด เพราะเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และ เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar รวมทั้ง ช่องกรอบประตู ยกชุดมาจากรถกระบะแฝดผู้พี่รุ่นนี้ อีกทั้งระยะ Ground Clearance จากพื้นถนนจนถึงพื้นรถ ก็ไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม ผมจึงไม่มีปัญหากับการก้าวขึ้น – ลง จาก Terra ใหม่

แค่เพียงเปิดประตู เหยียบบันไดด้านข้าง ที่มีขนาดเหมาะสมแล้ว เอื้อมมือไปที่มือจับบริเวณเสาคู่หน้า A-Pillar แล้วยกตัวขึ้นไป สอดเท้าอีกข้าง เข้าไปบนยางปูพื้น Design พิเศษ แยกฝั่งชัดเจน ทั้งตัวพรมและยางกันเปื้อน ก่อนจะหย่อนบั้นท้ายลงบนเบาะนั่ง ทุกอย่าง สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีอะไรติดขัดเลย

แผงประตูด้านข้าง มีพนักวางแขน บุด้วยหนังสังเคราะห์ ตามสีของเบาะนั่ง สามารถวางท่อนแขนได้สบายตั้งแต่ข้อศอกเลย มือจับเปิดประตูด้านในเป็นแบบพาสติกชุบโครเมียม ด้านล่างของแผงประตู มีช่องวางของขนาดใหญ่มาก นอกจากรองรับหนังสือ หรือเอกสารขนาดใหญ่ได้แล้ว ยังสามารถวางขวดน้ำดื่มขนาด 1.25 ลิตร ได้สบายๆ 1 ขวด หรือจะวางขวดน้ำ 7 บาท ก็ย่อมได้ มันจะสิงสถิตอยู่ตรงนั้น โดยไม่หล่นลงมาบริเวณพื้นที่วางขาแน่ๆ

เบาะนั่งคู่หน้า Nissan เคลมว่า เป็นเบาะแบบ Zero Gravity Front Seat ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับองค์การวิจัยอวกาศ NASA สหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับกับแนวกระดูกสันหลัง ตามหลักสรีระศาสตร์

รุ่น VL 4×4 จะหุ้มด้วยหนังสีน้ำตาลเข้ม ส่วน VL 4×2 จะหุ้มด้วยหนังสีดำ นอกนั้น กลไกจะเหมือนกันหมด กล่าวคือ เบาะคนขับจะปรับตำแหน่งพนักพิงหลัง เอนลง-ตั้งขึ้น เลื่อนเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลัง ยกเบาะขึ้นสูง-ลงต่ำ (ปรับมุมเงยของเบาะรองนั่งไปด้วยในตัว) รวมทั้งตัวปรับดันหลัง โป่งหรือแฟ็บลง ด้วย สวิตช์ไฟฟ้า รวม 8 ทิศทาง ขณะที่เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย จะปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอน ด้วยคันโยกแบบกลไกตามปกติ

พนักศีรษะ ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ มาตั้งแต่อยู่ใน Navara รุ่นปี 2017 แม้จะยังแอบดันกบาลอยู่หน่อยๆ แต่ถือว่าน้อยลงไปมาก เมื่อเทียบกับพนักศีรษะของ Navara รุ่นปี 2014 – 2015 ที่ดันกบาลชิบหายวายป่วงจนผมต้องก่นด่าเลยทีเดียว ถือเป็นการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น

พนักพิงหลัง สัมผัสได้ว่า ตั้งใจจะออกแบบให้โอบกระชับกับลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า นั่งพิงลงไปในแอ่งเว้า แม้จะมีปีกข้างเสริมขึ้นมาเพื่อรองรับช่วงด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่ แต่พื้นที่กลางพนักพิงหลัง บุ๋มลงไป จึงไม่ได้สัมผัสกับช่วงกลางหลังมากเท่าที่ควร แถมตัวปรับดันหลังด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แม้จะดันได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีตำแหน่งต่ำไปนิดเดียวจริงๆ หากติดตั้งให้สูงขึ้นอีกนิด ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการเมื่อยหลัง เมื่อต้องขับขี่ทางไกลเป็นเวลานานๆ ลงได้กว่านี้

เบาะรองนั่ง มีความยาวเหมาะสม รองรับช่วงต้นขาจนเกือบถึงขาพับ บุฟองน้ำมาให้นุ่มสบาย คล้ายโซฟานวม ช่วยให้นั่งสบายตลอดการเดินทาง มุมเงย ของเบาะรองนั่ง อยู่ในระดับกำลังดี แถมยังสามารถเลือกปรับให้เงยมาก-น้อย ตามใจผู้ขับได้อีกด้วย

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ พร้อมสัญญาณไฟและเสียงร้อง แจ้งเตือนให้คาดเข็มขัด

การเข้า – ออก บานประตูคู่หลัง เพื่อขึ้นไปนั่งบนเบาะแถว 2 ทำได้ดีมาก เนื่องมาจากช่องทางเข้า – ออก กว้างพอสมควร มีบันไดที่มีระยะพื้นที่เหยียบ เหมาะสม และมีมือจับสำหรับโหนตัวขึ้นรถ ช่วยให้การก้าวขึ้นลง สะดวกมากกว่าที่คิด

บริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar แถมมาให้อีกต่างหาก ส่วนมือจับศาสดา สำหรับผู้โดยสารไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ขณะคนขับกำลังซิ่ง นั้น ติดตั้งมาให้บริเวณเพดานหลังคาทั้งหมด 5 ตำแหน่ง แต่ไม่มีตะขอเกี่ยวไม้แขวนเสื้อมาให้เลย

แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งเหมือนกับแผงประตูคู่หน้า แน่นอนว่า มีมือจับประตูโครเมียม กับพนักวางแขน บุหนังสังเคราะห์สีเดียวกับเบาะนั่ง ที่สามารถวางท่อนแขนได้สายตั้งแต่ข้อศอก เหมือนแผงประตูคู่หน้า มีตัวล็อกกันเด็กเปิดประตูจากในรถมาให้ด้านข้าง ส่วน ด้านล่าง มีช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 1.25 ลิตร ได้ 1 ขวด

ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า มีช่องใส่หนังสือมาให้ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา รวมทั้งมีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง บริเวณด้านหลังกล่องคอนโซลกลาง กระนั้น น่าเสียดายว่า กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เลื่อนลงมาได้แค่เพียง 2 ใน 3 ของพื้นที่บานกระจกทั้งหมด ไม่สามารถเลื่อนลงจนสุดขอบแผงประตูได้

เบาะนั่งแถวกลาง คือสิ่งที่ทีมออกแบบให้ความใส่ใจอย่างมาก พวกเขาตั้งเป้าเลยว่า ต้องนั่งได้สบายสุด และมีเนื้อที่สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มากที่สุดในบรรดา SUV/PPV ทุกรุ่น และพวกเขา็ทำได้ดีเลยละ!

พนักพิงหลัง เสริมด้วยฟองน้ำด้านใน มากำลังดี ไม่มากไป ให้ความนุ่มสบายมากๆ แอบแน่นนิดๆ เฟิร์มกำลังดี พิงหลังได้ผ่อนคลาย ดุจนั่งอยู่บนโซฟา ราคาราวๆ 1 หมื่นบาท นิดๆ ตัวพนักพิงหลังสามารถปรับเอนได้ 12 ตำแหน่ง (ตามเดือยล็อก) แม้ว่าพนักพิงหลังจะดุนแผ่นหลังตอนล่างขึ้นมาชัดเจน และช่วงที่ต้องดันแผ่นหลังตอนกลาง จมบุ๋มลงไปหน่อย แต่นั่งนานๆ กลับสบาย กว่าเบาะหน้า!

พนักศีรษะ ไม่ดันกบาล สามารถปรับยกขึ้นสูง – ต่ำได้ แต่บุด้วยฟองน้ำ ที่เหมือนจะนิ่มเมื่อเอานิ้วจิ้ม ทว่า พอสัมผัสกับศีรษะจริง จึงพบว่า ฟองน้ำแน่นมากจนแอบแข็งไปนิด ส่วนพนักวางแขน แบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ติดตั้งมาเตี้ยไปนิดนึง ดังนั้น จึงพอวางแขนได้ แต่ไม่อาจรองรับถึงข้อศอกได้ ทำให้ผู้โดยสารต้องวางแขนทั้ง 2 ฝั่ง ในระดับไม่เท่ากัน (แผงประตูหนะวางพอดี แต่พนักวางแขน เตี้ยไปนิด)

เบาะรองนั่ง นุ่มสบาย ดุจโซฟา แถมยังมีความยาวเหมาะสม ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป สามารถแยกฝั่ง ปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้ 80 มิลลิเมตร ได้ทั้งเบาะซ้ายและขวา เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้กับผู้โดยสารแถวกลาง หรือเลื่อนถอยหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถว 3 ได้ ส่วน เข็มขัดนิรภัย สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง เป็นแบบ ELR 3 จุด เช่นกัน

ข้อด้อย ก็คือ มุมเงยของเบาะรองนั่ง ยังน้อยไปหน่อย ทำให้คนตัวสูง หรือมีช่วงขายาว ต้องนั่งชันเข่าเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ถ้าแก้ตรงนี้ได้ น่าจะประเสริฐ แต่ก็เข้าใจดีว่า จำเป็น ต้องเผื่อเรื่องการพับเบาะลงมา ให้พื้นที่ราบมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับเบาะแถวกลาง ไม่ต้องพูดถึงครับ ยังไง ก็เหลือเฟือ อย่างน้อยๆ คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม มีเหลือราวๆ 1 ฝ่ามือ กับอีก 4 นิ้วมือในแนวนอน

ด้วยการออกแบบให้เบาะหลัง นั่งสบาย คล้ายโซฟานวมหนาๆ ผมยืนยันให้เลยว่า เบาะแถวกลางของ Terra ถือเป็นเบาะแถว 2 ที่ดีที่สุดในบรรดา SUV/PPV ที่มีจำหน่ายในเมืองไทยตอนนี้เลยทีเดียว!

การเข้า – ออก จากเบาะแถวหลังสุดนั้น เป็นจุดขายสำคัญอีกประการหนึ่งของ Terra เพราะมีระบบ 1-Touch Remote Fold and Tumble ด้วยการกดสวิตช์ บริเวณ แผงคอนโซลกลาง ใกล้กับคันเกียร์ เบาะรองนั่งแถวกลาง จะถูกปลดล็อกจากพื้นรถ พร้อมกับพนักพิงหลังที่จะพับเก็บลงทันที จากนั้น ชุดเบาะจะดีดตัวและพับโน้มมาข้างหน้า ด้วยความแรงและรวดเร็วมาก หรือถ้าอยากจะลงไปดึงคันโยกด้านข้างฐานเบาะรองนั่งเพียงครั้งเดียว ชุดเบาะก็จะพับให้คุณทันที แต่ลดความไวลงมาเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือ ถ้ามีใครสักคน เผลอกดปุ่มดังกล่าวนี้ ในขณะที่รถกำลังแล่น หรือ มีเด็กนั่งอยู่บนเบาะแถวกลาง ความรุนแรงของการพับเบาะ อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเด็กได้มากแน่ๆ หรืออาจทำให้ข้าวของที่วางอยู่บนเบาะ กระเด็นกระดอนไปอย่างรวดเร็วได้ง่ายดายเลยละ

ทางแก้ก็คือ ไม่ต้องติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อให้เบาะพับลงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เหมือน SUV Premium ราคาแพง ให้สิ้นเปลือง แต่แค่หาทางลดความเร็วและความรุนแรงจากการทำงานของชุดสปริงและกลไกตัวพับเบาะนี้ลงหน่อย น่าจะช่วยลดทอนปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ลงไปได้พอสมควร แต่การคำนวนแรงดีดให้เหมาะสม ก็แอบเป็นเรื่องยาก ถ้าแรงดีดน้อยไป เบาะก็มีแรงส่งไม่พอที่จะพับและโน้มตัวขึ้นมา และเมื่อใช้งานไปสักสิบปี แรงดีดอาจจะลดน้อยลงกว่านี้

พื้นที่ช่องทาง เข้า – ออก จากเบาะแถว 3 นั้น มีความกว้างประมาณหนึ่ง เพียงพอให้คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผู้เขียน เหยียบบันไดรถ แล้วก้มหัวปีนเข้าไปนั่งได้อย่างไม่ยากเย็น ทว่า ตอนลุกออกมานั้น จึงได้พบความจริงว่า ความกว้างของช่องประตูคู่หลังนั้น แอบแคบไปเล็กน้อย แต่ก็เข้าใจอยู่ว่า ระยะฐานล้อของ Terra ที่ 2,850 มิลลิเมตร นั้น เหมาะสมกับตัวรถแล้ว ไม่ควรจะขยายให้ยาวกว่านี้โดยไม่จำเป็น เพราะอาจส่งผลต่อบุคลิกการขับขี่ของตัวรถได้ ดังนั้น หากช่วงบริเวณโป่งซุ้มล้อ และพืนรอบข้าง ออกแบบให้ก้าวลงจากรถได้สะดวกกว่านี้ ด้วยวัสดุที่ ไม่ใช่พลาสติกลื่นๆ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกกว่านี้

หากเปรียบเทียบความสะดวกในการก้าว เข้า – ออก จากเบาะแถว 3 แล้ว Terra จะถูกจัดอยู่ในอันดับกลางๆ ค่อนข้างดี เป็นรอง Pajero Sport , MU-X และ Trailblazer แต่ดีกว่า Fortuner และ Everest ซึ่ง Ford ได้อันดับรั้งท้ายในประเด็นนี้

เบาะนั่งแถว 3 บุฟองน้ำไว้ในสไตล์ แน่นแต่แอบนุ่ม เหมือนเบาะแถวกลาง ตำแหน่งการนั่งโดยสารนั้น ยังไงๆ ก็ต้องนั่งชันขาไปตลอดทางอยู่ดี เพียงแต่ว่า ใต้เบาะแถว 2 ยังพอเหลือพื้นที่ให้สอดปลายเท้าเข้าไปซุกไว้ได้อยู่ พื้นที่เหลือสำหรับการชันเข่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับความกรุณา ของผู้โดยสารแถวกลาง ว่าจะปรับเบาะของตน ขึ้นหน้าให้ หรือแกล้งถอยหลังจนคุณนั่งไม่ได้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะนั้น สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร เส้นผมจะเฉียดเฉี่ยวกับเพดานหลังคา แต่นั่งแล้ว หัวไม่ติดเพดาน เสียทีเดียว ซึ่งยังดีกว่า Pajero Sport และ Everest

พนักศีรษะ สำหรับเบาะแถว 3 เป็นแบบแบน รูปตัว L ปรับยกขึ้นและล็อกได้เพียงตำแหน่งเดียว หากไม่ยกขึ้นมาใช้งาน ก็จะทิ่มตำแผ่นหลังผู้โดยสาร แต่เมื่อยกขึ้นมาใช้งาน ก็จะมีขอบด้านล่าง แอบสร้างความระคายเคืองเล็กๆให้กับต้นคอผู้โดยสารเล็กน้อย อันที่จริง ตัวพนักศีรษะมีความสูงมากไปหน่อย แต่เข้าใจว่า เผื่อรองรับการใข้งานของผู้ใหญ่ไปด้วยเลย

พนักพิงแบ่งฝั่งซ้าย – ขวา เพื่อแยกการปรับเอนได้ 14 ตำแหน่ง (วัดจากเดือยล็อก) และพับเก็บได้ ในอัตราส่วน 50 : 50 การพับและปรับเอนทำได้ด้วยเชือกดึงสลักปลดล็อก ที่ติดตั้งอยู่ริมสุดบริเวณข้อพับเบาะนั่ง ซึ่งคุณจำเป็นต้องเปิดประตูคู่กลาง และเอื้อมไปดึงเชือกปลดล็อกนี่อีกที ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ออกแบบให้สามารถดึงเชือกได้จากด้านหลังของตัวเบาะได้เลย? เพราะเชือกเส้นยาวด้านบนนั้น เอาไว้ให้เหนี่ยวและดึงพนักพิงเบาะหลังขึ้นมาตั้งชันได้ง่ายขึ้น เฉยๆ เท่านั้น ส่วนตัวเบาะรองนั่ง ยึดติดอยู่กับที่ เหมือน SUV/PPV ทั่วไป

เบาะรองนั่ง มาในสไตล์แน่น แอบนุ่มนิดๆ เหมือนพวกเบาะรองนั่งเก้าอี้ทำงานราคาถูกมากกว่า ติดตั้งอยู่กับพื้น ไม่สามารถปรับเลื่อนได้ มีมุมเอนไม่มาก ดังนั้น จึงไม่ได้ช่วยรองรับช่วงต้นขาใดๆทั้งสิ้น ค่อนข้างเมื่อยก้นประมาณหนึ่งเลยทีเดียว อันที่จริง ถ้าทำเบาะออกมาให้เตี้ยติดพื้น จนต้องนั่งชันขามากขนาดนี้ ขอแนะนำว่า ถอดชุดเบาะออกไปแล้วนั่งตั้งวงเล่นไพ่ข้างหลังรถเลย ก็น่าจะดีกว่า

ผนังพลาสติกบุด้านข้าง ไม่ได้ออกแบบมาเป็นพนักวางแขนใดๆทั้งสิ้น แต่มีช่องวางของและวางแก้วน้ำมาให้แทน ดังนั้น ถ้านั่งเดินทางไกลๆ ผู้โดยสารแถว 3 จะไม่มีพื้นที่วางแขนใดๆให้เลย ซึ่งน่าเสียดายมากๆ แต่ยังดีที่มีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ไฟอ่านหนังสือบริเวณปลายเพดานหลังคา รวมทั้งช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถะว 3 แบบวงกลมหมุน คล้ายช่องแอร์รถเมล์ ปอ. มาให้ผู้โดยสารแถว 3 ด้วย

ฝาท้าย เปิดยกได้ ด้วยสวิตช์ปลดล็อกไฟฟ้า ซ่อนอยู่ตรงกลาง ระหว่างไฟส่องใส่ป้ายทะเบียน ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น เก็บงานแผงฝาท้ายมาได้ดีตามสมควร แต่ไม่มีระบบฝาท้าย เปิด-ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า มาให้เลย ทั้งที่คู่แข่งเขาเริ่มมีมาให้กันเกือบหมดแล้ว

ห้องเก็บสัมภาระมีขนาดใหญ่โตเอาเรื่อง ด้วยความกว้าง 1,148 มิลลิเมตร ส่วนความลึกนั้น หากวัดจากฐานเบาะแถว 3 จนถึงฝาท้าย 443.4 มิลลิเมตร จะมีความยาว 1,030 มิลลิเมตร แต่ถ้าวัดถึงฐานเบาะคู่หน้า จะยาวถึง 1,913 มิลลิเมตร น่าเสียดายว่า Nissan ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลความจุห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ว่า จุได้กี่ลิตร

ที่แน่ๆ เมื่อพับพนักพิงเบาะแถว 2 และ 3 ลงจนหมดแล้ว จะพบว่า พื้นห้องเก็บของด้านหลัง จะลาดชันขึ้นเล็กน้อย ถ้าจะเพิ่มพื้นที่วางจักรยาน แบบถอดล้อ อาจต้องยกเบาะแถว 2 โน้มไปข้างหน้า แล้วเกี่ยวยึดไว้กับเบาคู่หน้าแทน

พื้นห้องเก็บของด้านหลัง สามารถยกขึ้นมา เป็นพื้นที่วางของอเนกประสงค์ได้ โดยพื้นที่ยกขึ้นมา ก็สามารถเปลี่ยนหน้าที่เป็นฝาปิดขนาดใหญ่ได้ในตัว ส่วนผนังด้านข้างนั้น มีทั้งขอยึดเชือกตรึงสัมภาระ และขอเกี่ยวแขวนถุง มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง ยกเว้นฝั่งซ้าย ที่จะเพิ่มปลั๊กไฟขนาด 12 V มาให้ ขณะที่ยางอะไหล่ ถูกโยกย้ายลงไปเก็บไว้ที่พื้นรถด้านล่าง เหมือนรถกระบะ และ SUV/PPV ทั่วๆไป

ถึงแม้ว่า Terra จะเป็น SUV/PPV รุ่นใหม่ ทว่า Nissan กลับยกแผงหน้าปัด Dashboard ของ Navara มาติดตั้งให้ทั้งยวง โดยไม่คิดจะออกแบบขึ้นมาใหม่ (-_-‘) ทั้งฐานคันเกียร์ สีดำ Piano Black หรือ Trim ประดับด้านข้าง แผงควบคุมกลาง สีเงิน ก็เหมือนกันหมด ไม่เว้นแม้กระทั่ง ช่องวางพระเครื่อง เหนือช่องแอร์คู่กลาง และปลั๊กไฟสำหรับชาร์จโทรศัพท์ (รายการหลังสุดนี้ ออกแบบดีแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขเชียวนะ)

เหตุผลง่ายมากครับ อันที่จริงฝ่ายออกแบบ ได้เสนอคณะกรรมการ เพื่อขออนุมัติการออกแบบแผงหน้าปัดใหม่ไปแล้ว แต่โดนปฏิเสธ เพราะผู้บริหาร Nissan ที่คุมโครงการ (บางคน) มองว่า มันทำให้ต้นทุนการพัฒนาสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ก็เลยให้เหตุผลลงมาแค่ว่า แผงหน้าปัดของ Navara มันก็ดูดีอยู่แล้ว

แน่นอนว่า นี่เป็นวิธีประหยัดต้นทุนทั้งการพัฒนาด้านวิศวกรรม ไปจนถึงกระบวนการผลิตและการจัดซื้อ ทว่า ในมุมของผู้บริโภคแล้ว มันไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างจาก รถกระบะ Navara เลยแม้แต่น้อย และมันกลับลดทอนความน่าซื้อของ Terra ลงไปพอสมควรเลยละ ผลลัพธ์ออกมา ก็เห็นๆกันอยู่ ลูกค้าไม่ได้รู้สึกว้าวกับ Interior ของ Terra เลย เพราะมันเหมือนกับ Navara ราวกับยกแผงหน้าปัด ไป Xerox มาวางแปะไว้ให้แค่นั้น!

ทางแก้ที่พอจะเป็นไปได้ ถ้าหากยังยืนกรานจะใช้แผงหน้าปัด Dashboard ชุดนี้อยู่ คือ เสริมกรอบโครเมียมให้ช่องแอร์ คู่กลาง แล้วเปลี่ยนแถบ Silver Trim บนแผงควบคุมกลาง ให้มีลูกเล่นที่สวยงามขึ้นกว่านี้ และสอดคล้องกับเส้นสายภายนอกของตัวรถมากกว่านี้ ลดความเชยแบบเรียบๆ และสร้างความแตกต่างจากแผงหน้าปัดเดิมของ Navara ให้มันดู “สมราคากว่านี้” สักหน่อย ก็น่าจะพอแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง

แต่ถ้างบประมาณไม่จำกัดละก็ ออกแบบแผง Dashboard ขึ้นมาใหม่เุถอะ! เพราะที่เป็นอยู่ตอนนี้เนี่ย..มันดูเป็นรถกระบะมากกว่าจะดูหรูแบบ SUV เลยนะ

ลองไปศึกษางานออกแบบแผงหน้าปัดของ Chevrolet Colorado และ Trailblazer ใหม่ หรือ Ford Ranger กับ Everest ใหม่ ดูครับ พวกเขาใช้แผงหน้าปัดแบบใหม่ร่วมกัน แต่ออกแบบมาให้สามารถติดตั้ง Trim ประดับ แตกต่างกันได้ ตามบุคลิกของตัวรถ ซึ่งนั่นน่าจะช่วยสร้างความแตกต่างในสายตาลูกค้าได้พอสมควร โดยที่ไม่เปลืองต้นทุนจนเกินไปนัก

มองขึ้นไปด้านบนเพดานหลังคาโทนสีสว่าง จะพบ แผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด และไฟส่องสว่างดวงเล็กๆในตัว ตรงกลาง มีช่องเก็บแว่นตากันแดด ไฟอ่านแผนที่ ด้วยหลอด LED ขนาดเล็ก ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา และปุ่มเปิด – ปิด ไฟส่องสว่างภายในรถทั้งระบบ

จากขวา มาทางซ้าย สวิตช์กระจกมองข้างแบบปรับและพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า รวมทั้งสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน พร้อมระบบ Auto One-Touch เฉพาะฝั่งคนขับ ยกชุดมาจาก Navara ทั้งยวง

ใต้ช่องแอร์ ฝั่งขวาสุด ถัดจาก ลิ้นชักวางแก้วน้ำ ดึงเปิด-เลื่อนปิด กลับเข้าไปได้แล้ว ยังเป็นที่อยู่ของแผงสวิตช์ควบคุมต่างๆ ทั้ง สวิตช์เปิดฝาถังน้ำมัน (ต้องกดแช่ทิ้งไว้ 2 วินาที ฝาถังจึงจะปลดล็อก) สวิตช์ เปิด – ปิดระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VDC และ Traction Control รวมทั้ง สวิตช์ ปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้า 4 ตำแหน่ง

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ควบคุม ไฟหน้า ไฟกระพริบ ไฟสูง ไฟเลี้ยว และไฟตัดหมอกหน้า / หลัง ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ควบคุม ใบปัดน้ำฝนคู่หน้า แบบ 2 จังหวะ พร้อมระบบหน่วงเวลา รวมทั้งใบปัดน้ำฝนด้านหลัง รวมทั้งหัวฉีดน้ำล้างกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

พวงมาลัยเป็นแบบหุ้มหนัง 3 ก้าน ปรับระดับสูง – ต่ำได้ นิดหน่อย แต่ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง จากตัว (Telescopic) ได้ ซักที ติดตั้ง Trim ประดับสีเงิน ทั้งหมดนี้ ยกชุดมาจาก Nissan Navara และ Nissan Teana กันทั้งวง แบบไม่ต้องคิดมาก ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า ตำแหน่งสวิตช์บนพวงมาลัย ก็เหมือนกับรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น เป๊ะทุกประการ แผงสวิตช์ บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ควบคุม หน้าจอ MID (Multi-Information Display) บนชุดมาตรวัด รวมทั้ง ควบคุมชุดเครื่องเสียง ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ติดตั้งระบบล็อกความเร็วคงที่ Cruise Control รวมทั้ง สวิตช์สำหรับพูดคุยโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth

ชุดมาตรวัด ยกมาจาก Navara ทั้งยวง ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว ฝั่งซ้าย เป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ล้อมกรอบด้วยวงแหวนสีเงิน Metallic ร่วมสมัย ยืนยันให้อีกเสียงหนึ่งว่า นี่คือชุดมาตรวัดแบบมาตรฐาน ที่อ่านง่าย ใช้งานง่าย แสดงข้อมูลที่ผู้ขับขี่ต้องการ ไม่มากไม่น้อยเกินไป แสดงสว่าง และ Font ตัวเลข ออกแบบมาได้ดี นี่คือ สิ่งที่อยากให้ Nissan ยังคงรักษาเอาไว้ อย่าเปลี่ยนแปลง

จอ MID (Multi-Information Display) ตรงกลาง แสดงข้อมูลทั้ง มาตรวัดระยะทาง Odometer กับ มาตรวัดระยะทางแบบปรับเซ็ตตั้งค่าได้ Trip Meter ทั้ง A และ B รวมทั้ง แสดงระยะทาง/เวลาที่ใช้ในทริปนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบเฉลี่ย และแบบ Real Time คำนวนระยะทางที่น้ำมันในถังจะเหลือพอให้แล่นต่อได้ แจ้งการทำงานของบรรดาระบบตัวช่วยการขับขี่ทั้งหลาย หน้าจอ แสดงเซ็นเซอร์ วัดแรงดันลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitoring System) รวมทั้งเป็นหน้าจอสำหรับการตั้งค่าอุปกรณ์ต่างๆภายในรถตามต้องการ สามารถเปลี่ยนการแสดงผลจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทยได้

ถ้าต้องการเปลี่ยนหน้าจอแสดงผลต่างๆ ให้กดปุ่มที่มีรูป 4 เหลี่ยมบนก้านพวงมาลัยทางซ้าย และถ้าจะ Reset ค่าของหน้าจอใดๆ แค่กดปุ่ม Enter ที่เป็นรูป “ลูกศร ย้อนกลับ” ค้างเอาไว้ ส่วนมาตรวัดระยะทาง (Trip Meter) นั้นจะแยกสวิตช์สำหรับ Reset เป็น 0 มาอยู่ตรงด้านขวาล่างของหน้าปัด ใกล้กับสวิตช์ปรับความสว่างไฟส่องหน้าปัดนั่นล่ะครับ

สิ่งที่จอ MID ของ Terra จะแตกต่างจาก Navara ก็คือ

1. ทุกรุ่นย่อย มีหน้าจอ Off Road Meter แสดงถึง องศาการเอียงของรถ และทิศทางการเอียงของรถมาให้
2. เฉพาะรุ่น VL 4×4 จะเพิ่มหน้าจอแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อน ไม่ว่าคุณจะปรับสวิตช์เป็นโหมดไหนก็ตาม
3. มีสัญลักษณ์ แสดงระบบขับเคลื่อน ที่มุมขวาล่างของจอ MID เพิ่มเข้ามา ทำให้ตำแหน่งตัวเลขมาตรวัดระยะทาง Odometer กับ Trip Meter ต้องขยับมาทางซ้ายอีกนิด เลื่อนมาอยู่ตรงกลาง ล่างสุดของ จอ MID

น่าเสียดายว่า การเข้าถึงเมนูบางอย่าง ค่อนข้างใช้เวลาเยอะไปหน่อย เช่นระบบ LDW (Lane Departure Warning) ซึ่งต้องเข้าเมนูจากจอ MID เพื่อเปิด-ปิดระบบเท่านั้น น่าจะทำสวิตช์แยกออกมาติดตั้งบริเวณข้างสวิตช์ฝาถังน้ำมัน ให้กดใช้งานต่างหากไปเลย จะสะดวกกว่าเยอะ

จากซ้ายมาขวา ใต้ช่องแอร์แบบวงกม หมุนได้รอบ 360 องศา ริมประตู ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านซ้าย มีช่องวางแก้วแบบลิ้นชัก ดึงออกมาใช้งานได้สะดวก ส่วนลิ้นชักเก็บของ (Glove Compartment) ยังคงมีขนาดที่เพียงพอให้ใส่ คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกันคุณภาพ และเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย เพียงเท่านี้ ก็แน่นพอจนไม่ต้องใส่อะไรเพิ่มเข้าไปอีกแล้ว

ช่องแอร์คู่กลาง น่าเสียดายว่า สวิตช์แจ้งเตือนการปิดถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร ถูกถอดออกไป จนเหลือพื้นที่โล้นๆ เหนือ สวิตช์ไฟฉุกเฉิน แถมยังไม่มีโครเมียมประดับขอบช่องแอร์ให้สวยงามเลยแม้แต่น้อย

ชุดเครื่องเสียง สำหรับรุ่น VL 4×2 และ 4×4 เป็นจอมอนิเตอร์สี Touch Screen ขนาด 7 นิ้ว พร้อม Remote Control สำหรับควบคุมทั้ง วิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD/DVD/MP3 พร้อม Remote Control, ช่องเสียบ HDMI , USB / AUX และ ลำโพง 6 ชิ้น จาก KENWOOD ซึ่งมีหน้าตา เป็นชุดเดียวกันกับที่อยู่ใน Navara ล็อตปี 2014 – 2015  ซึ่งนอกจากจะใช้งานยากเย็น เพราะ Interface ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ เลือกก็ยาก ปรับก็ยาก หน้าจอก็ Lag ด้วยแล้ว ยังให้คุณภาพเสียงที่ “ห่วยแตกหมาไม่แดก” เป็นอันมาก คือเหมาะเอาไว้แค่ฟังข่าวหรือรายการ Talk Show เป็นหลัก เท่านั้น ไม่ต้องคิดจะฟังเพลงเลย

ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่เอาเครื่องเสียงแบบ หน้าจอ มาตรฐาน จากใน Sylphy กับ Teana หรือ ชุดเครื่องเสียงแบบหน้าจอ Touch Screen ของ Blaupunkt จากเวอร์ชัน Philipines ซึ่งมีจอที่ลื่นกว่า ทำงานเร็วกว่า และมี Interface ใช้งานง่ายกว่า แถมให้เสียงที่ดีกว่า มาติดตั้งใน Terra เวอร์ชันไทยบ้าง? มันติดปัญหาอะไรกันภายในองค์กรหรืออย่างไร? เรื่องนี้ เคยพูดไปตั้งแต่รีวิว Navara เมื่อหลายปีก่อนแล้ว จนป่านนี้ก็ยังคงเป็นเครื่องรุ่นเดิม นี่มันอะไรกัน?

ถัดลงไป เป็น เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ หน้าจอ Digital แยกฝั่งปรับอุณหภูมิได้ ซ้าย – ขวา ออกแบบปุ่ม มาได้ดี ใช้งานไม่ยาก หากมองลงไปต่อ จะพบว่า สวิตช์เปิด – ปิด ระบบปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมือนกัน หากเป็นรุ่น VL 4×4 จะติดตั้งอยู่ฝั่งซ้าย ใกล้ปลั๊กไฟ 12 V เพราะต้องเผื่อพื้นที่ให้กับ สวิตช์ระบบควบคุมความเร็วขณะลงเนิน HDC (Hill Descent Control) สวิตช์ระบบ Rear Differential Lock และสวิตช์มือหมุน ของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ถ้าเป็นรุ่น VL 4×2 และ V 4×2 สวิตช์ระบบปรับอากาศด้านหลัง จะย้ายไปอยู่ฝั่งขวาสุด แทน เพราะสวิตช์อื่นๆที่กล่าวมาข้างบนนี้ทั้งหมดจะหายไป เปลี่ยนเป็นช่องวางของขนาดเล็กๆ แทน ด้านล่างสุด เป็น ถาดวางของขนาดเล็ก พร้อมพื้นยางแบบมีตะปุ่มตะป่ำ ช่องเสียบ USB และ HDMI ติดตั้งอยู่ทางขวามือ เหมือนกัน ทุกรุ่น

รุ่น VL ทั้ง 4×2 และ 4×4 จะเพิ่ม จอมอนิเตอร์สี ขนาด 11 นิ้ว สำหรับผู้โดยสารด้านหลังรถ ไว้ชมภาพยนตร์ DVD ได้จากเครื่องเล่นที่มีช่องเสียบสายเชื่อมต่อ HDMI บริเวณ ด้านล่างของแผงควบคุมกลาง พร้อม Remote Control แถมมาให้ บอกใบ้ให้เล็กน้อยก็ได้ว่า จอมอนิเตอร์ชุดนี้ เป็นแบบเดียวกันกับที่ ติดตั้งอยู่ในรถตู้ Nissan Serena รุ่นล่าสุด ซึ่งทำตลาดอยู่ในญี่ปุ่น!

นอกเหนือจากนี้ เพดานหลังคาด้านบน ยังถูกช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง และแถว 3 มาให้อีกด้วย โดยเป็นช่องแอร์แบบวงกลม 3 ช่อง หมุนได้รอบทิศทาง 360 องศา พร้อมบานเกล็ด 2 ชิ้น รวมทั้งยังมีสวิตช์พัดลม สำหรับ เร่งการทำงานของตัว Blower ได้ 4 จังหวะ อีกด้วย

ถ้าจะใช้งาน ต้องกดปุ่ม เปิดระบบทำความเย็นด้านหลัง (Rear Cooler Air) ใกล้กับคันเกียร์ ไปในตำแหน่ง On เสียก่อน จึงจะสามารถ เปิดพัดลมได้ ถ้าจะปิดการทำงาน ก็กดไปที่ตำแหน่ง Off หรือบิดสวิตช์พัดลมไปที่ 0 ให้แรงลมที่ถือว่า กำลังดี ตามต้องการ

จุดขายสำคัญที่ Nissan พยายาม ใส่มาให้ลูกค้าชาวไทย และเน้นโฆษณาอย่างหนักเหลือเกิน นั่นคือ กระจกมองหลัง Intelligent Rear View Mirror ที่แค่เพียงดึงคันโยกข้างใต้ ก็สามารถเปลี่ยนจากกระจกมองหลังปกติ เป็นจอแสดงภาพจากกล้องขนาดเล็กรอบคัน Around View Monitor ที่ติดตั้งไว้ทั้งที่ด้านหลังของกระจกบังลมหลัง กล้องใต้กระจกมองข้าง กล้องหน้ารถ กล้องจากท้ายรถ บริเวณเหนือช่องใส่กรอบป้ายทะเบียนหลัง สามารถเลือกให้แสดงผลทั้งแบบ 360 องศา และแยกเป็นกล้องๆไป แถมยังสามารถปรับความสว่าง หรือเลือก Menu ให้แสดงภาพจากเฉพาะด้านข้างรถ ได้ด้วย

เมื่อใช้งานจริง สิ่งที่พบก็คือ

1.การที่กล้องติดตั้งไว้ที่ด้านหลังของกระจกบังลมหลัง ทำให้มุมมองของรถยนต์ ที่แล่นมาจอดต่อท้ายข้างหลัง มันหลอกตา จนดูเหมือนว่า พุ่งเข้ามาชนท้ายเรา ทั้งที่จริงๆแล้ว เขายังไม่ชน

2.ต่อเนื่องจากข้อ 1 นั่นหมายความว่า เวลาถอยหลังเข้าจอด กรุณา อย่ามองที่ภาพจากจอใหญ่สุด แต่ให้มองจอเล็กฝั่งขวา ข้างๆกันทั้ง 2 จอทั้งจาก Around View Monitor และจากกล้องมองหลัง เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ควบคู่ไปกับกระจกมองข้างตามปกติด้วย ไม่เช่นนั้น โอกาสจะถอยรถพลาดพลั้งไปชนวัตถุข้างหลัง ก็ยังพอมีอยู่

3. ในรุ่นปรับโฉม หรือปรับอุปกรณ์ครั้งต่อไป ช่วยย้ายตำแหน่งจอแสดงภาพจากกล้องเหล่านี้ ไปแสดงผลรวมกันกับจอมอนิเตอร์สี ของชุดเครื่องเสียงไปเลยจะดีกว่า เพื่อให้มองภาพได้ใหญ่ขึ้น ชัดเจนขึ้น ดีกวาจะต้องมานั่งเพ่งกับกระจกมองหลังแบบนี้

อะไหล่อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่ง ยกมาจาก Navara ทั้งยวงเลย นั่นคือ กล่องเก็บของตรงกลาง ขนาดไม่ใหญ่นัก พอให้ใส่กล้องถ่ายรูปขนาด Compact ได้ 1 เครื่อง หรือกล่อง CD ราวๆ 5 กล่อง พร้อมฝาปิดด้านบน บุนุ่มและหุ้มหนังสังเคราะห์มาให้ หวังให้เป็นพนักวางแขน แต่เอาเข้าจริงแล้ว นอกจากจะสั้นเกินไปแล้ว ยังเตี้ยเกินไปด้วยซ้ำ ไม่สามารถใช้งานได้ตามหน้าที่อันควรจะเป็นเลย

ไม่เพียงเท่านั้น คันเบรกมือ ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ซึ่งมีพื้นยางมาให้ สามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้ ก็ยกมาจาก Navara ด้วยเช่นเดียวกัน

ทัศนวิสัยด้านหน้า และเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้าย และ ขวา เหมือนกับ Navara เป๊ะ ทุกประการ

การมองเห็นด้านหน้ารถ จากตำแหน่งเบาะคนขับ ซึ่งสูงพอๆกันกับ Navara และ SUV/PPV รุ่นอื่นๆ รวมทั้งรถกระบะทั่วไป จะพบว่า ทัศนวิสัยด้านหน้า โปร่งสบายตาพอสมควร ฝากระโปรงหน้า ถูกออกแบบขึ้นมาให้เป็นสันนูนขึ้น ด้วยเหตุผลคือ เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ กะระยะเข้าจอด ได้ง่ายขึ้น

เสาหลังคาคูหน้า A-Pillar ฝั่งขวา แอบบดบังรถคันที่แล่นสวนมา ขณะเลี้ยวเข้าโค้งขวา บนถนนแบสวนกันสองเลน อยู่เล็กน้อย ส่วนกระจกมองข้าง ฝั่งขวา มีขนาดใหญ่โต มองเห็นรถจากทางด้านขวา ได้ชัดเจนดีก็จริง แต่ถ้าปรับให้เห็นตัวถังน้อยที่สุด ขอบด้านในของตัวกรอบนอก จะเบียดบังพื้นที่ฝั่งขวาของบานกระจกมองข้างไปนิดๆ

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย แอบบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะคุณกำลังอยู่ที่จุดกลับรถ ใต้ตอม่อรถไฟฟ้า BTS อยู่นิดหน่อย ส่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้าย ทำหน้าที่ของตนได้ดีมาก กรอบด้านนอกเบียดบังพื้นที่บานกระจกมองข้างน้อยมากๆ แม้จะปรับตำแหน่งให้เห็นด้านข้างตัวรถ น้อยที่สุด ก็ตาม

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น มีการออกแบบให้สอดคล้องกันระหว่าง ตำแหน่งพนักศีรษะแถวกลาง กับพื้นที่เสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar ซึ่งมีความหนาเอาเรื่องก็จริง แต่ ตัวพนักศีรษะ ก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับเสา เมื่อหันไปมองจากตำแหน่งคนขับ ถือว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ดี และทัศนวิสัยภาพรวม ก็ถือว่า โปร่งตาในระดับหนึ่ง

********** รายละเอียดงานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ช่วงแรกที่เปิดตัวสู่ตลาดโลก Nissan Terra มีเครื่องยนต์ 3 แบบ สำหรับการทำตลาดในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ดังนี้

Chinese Version : เริ่มจากประเทศจีน ลูกค้าแดนมังกร จะได้ใช้ขุมพลังเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์รหัส QR25DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,488 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.1 : 1 พร้อมระยแปรผันวาล์ว Twin C-VTC กำลังสูงสุด 184 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด รุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง 236 นิวตัน-เมตร หรือ 24.04 กก.-ม. และรุ่น 4×4 อยู่ที่ 251 นิวตัน-เมตร หรือ 25.57 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์เท่ากันคือ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ จาก Jatco ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time 4×4

Philippino Version : ยังคงใช้ขุมพลังที่ยกมาจากรถกระบะ Navara รุ่นปัจจุบัน เครื่องยนต์ YD25DDTi Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,488 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดผ่านรางแรงดันสูง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ VGS พร้อม Intercooler กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.85 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time 4×4

Thai Version : สำหรับตลาดเมืองไทยนั้น ตอนแรก เราเกือบจะได้ใช้เครื่องยนต์ YD25DDTi จาก Navara เหมือนฟิลิปปินส์ แล้ว ทว่า เมื่อนำรถยนต์ต้นแบบในขั้นทดลองประกอบ เข้าทดสอบบนแท่น Dynamo Meter ในห้อง Lab กับทางสถาบันยานยนต์ เพื่อนำตัวเลขไปใช้กับหน่วยงานภาครัฐของไทย พบว่า มลพิษสูงขึ้นจาก Navara จนทำให้ถูกจัดขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในราคาแพง จนอาจจำเป็นต้องตั้งราคาขายแพงกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น Nissan บ้านเรา จึงแก้ปัญหาด้วยการ ยอมนำเครื่องยนต์ใหม่ 2.3 ลิตร Twin Turbo จาก Navara เวอร์ชันส่งออก มาวางให้แทน เพื่อให้ค่ามลพิษ ต่ำลงในระดับ 200 กรัม/กิโลเมตร (รุ่น VL 4×4) ทำให้เสียภาษี สรรพาสามิต ในอัตราถูกลง จึงทำให้สามารถตั้งราคาขายได้ในระดับปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่มีส่วนทำให้ Terra เปิดตัวในไทยล่าช่าไปกว่าที่ควรเป็น

เท่ากับว่า Terra เวอร์ชันไทย จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ เพียงแบบเดียวเท่านั้น…

เครื่องยนต์ใหม่นี้ มีรหัสว่า YS23DDTT Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,298 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 85.0 x 101.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.4 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแบบ ตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางแรงดันสูง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศแบบ Twin-Turbocharger (Turbo คู่) พร้อมระบบระบายความร้อนของไอดีก่อนเข้าห้องเผาไหม้ Intercooler

เครื่องยนต์รุ่นนี้ แท้จริงแล้ว เป็นฝีมือการพัฒนาโดยพันธมิตรหลักของ Nissan อย่าง Renault ฝรั่งเศส ดังนั้น จึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “M9T” ไม่เพียงเท่านั้น ในสารระบบเครื่องยนต์ของ Mercedes-Benz ยังปรากฎว่า ขุมพลังลูกที่คุณเห็นอยู่นี้ ใช้รหัสรุ่น OM699 ด้วย ซึ่งมันก็อยู่ในรถกระบะของค่ายดาวสามแฉกอย่าง X-Class ซึ่งก็คือ Navara นั่นล่ะครับ

กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.9 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 2,500 รอบ/นาที มีการโปรแกรมเครื่องยนต์ปรับจูนให้เข้ากับน้ำมันเชื้อเพลิงที่รองรับมาตรฐานการปล่อยมลพิษระดับ Euro 4

ถ้าดูจากกราฟแรงม้า แรงบิด จะเห็นได้ชัดเลยว่า แรงบิดของเครื่องยนต์ลูกนี้ เริ่มแตะระดับ 400 นิวตัน-เมตร กันตั้งแต่ 1,250 รอบ/นาที แล้วขึ้นไปแตะ 450 นิวตัน-เมตร อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ 1,500  จนถึง 2,500 รอบ/นาที เป็น Flat Torque ก่อนจะเริ่มแผ่วลงมา ถึงกระนั้น ก็ยังคงรักษาระดับเกินกว่า 400 นิวตัน-เมตร ต่อเนื่องได้จนถึง 3,200 รอบ/นาที จึงจะเริ่ม หมดพิษสง

ระบบส่งกำลัง มีให้เลือกเพียงแบบเดียว เป็นเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ พร้อม Manual Mode +/- ดันขึ้นไปเพื่อเพิ่มเกียร์ โยกลงมาเพื่อลดเกียร์ แต่ไม่มี Paddle shift มาให้ เกียร์รุ่นนี้ เป็นเกียร์ลูกเดียวกันกับทั้งในรถกระบะ Navara ไปจนถึงบรรดารถเก๋งและรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลังของ Nissan หลายๆรุ่น รวมทั้ง 370Z ผลิตโดย Jatco พันธมิตรด้านระบบส่งกำลังของ Nissan มาตั้งแต่ปีมะโว้ โดยมีอัตราทดเกียร์ เท่ากันหมดทุกรุ่นย่อย ทุกระบบขับเคลื่อน ดังนี้

  • เกียร์ 1…………………4.8867
  • เกียร์ 2…………………3.1697
  • เกียร์ 3……………..….2.0271
  • เกียร์ 4……………….…1.4118
  • เกียร์ 5……………….…1.0000
  • เกียร์ 6……………..….0.8642
  • เกียร์ 7………………….0.7745
  • เกียร์ถอยหลัง…………4.0410
  • อัตราทดเฟืองท้าย……3.3571

รุ่น VL 4×4 จะเพิ่มระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part Time 4WD พร้อมระบบล็อกเฟืองท้ายด้วยไฟฟ้า Electronic Locking Rear Differential มาให้ ผู้ขับขี่ สามารถเลือกเปลี่ยนรูปแบบระบบขับเคลื่อนได้เองตามต้องการ ตามความเหมาะสมของสภาพถนน มีให้เลือก 3 โหมด ดังนี้

– 2WD หรือ 2H เป็นโหมดปกติ ขับเลื่อนล้อหลัง ใช้ได้ทุกย่านความเร็ว
– 4H หรือ 4 Hi ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยความเร็วทั่วไป ใช้ได้ทุกย่านความเร็ว แต่มักใช้กับถนนลูกรัง ก้อนกรวด ไม่เหมาะกับการวิ่งถนนดำยางมะตอย
– 4L หรือ 4 Low ขับเคลื่อน 4 ล้อ ความเร็วต่ำ สำหรับการขับบนเส้นทางทุรกันดารมากๆ ตามโขดหินต่างๆ บนทราย

การเปลี่ยนระบขับเคลื่อน ใช้วิธีหมุนสวิตช์ โดยต้องตั้งล้อตรงเสมอ นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนได้ขณะขับขี่อยู่แบบ Shift on the fly ด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเปลี่ยนไปยังโหมด 4L จะต้องหยุดรถให้นิ่งสนิท เข้าเกียร์ N (เกียร์ว่าง) ตั้งล้อตรง แล้วค่อยกดสวิตช์แล้วหมุนไปทางขวาสุดของโปรแกรม เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการปลดระบบกลับมาที่ 2H หรือ 4H ต้องทำวิธีการเดิม คือ จอดรถ เข้าเกียร์ N ตั้งล้อตรง แล้วจึงค่อยหมุนสวิตช์กลับไปทางซ้ายตามต้องการ

นอกจากนี้ Terra ทุกรุ่นย่อย ยังติดตั้ง ระบบ B-LSD (Brake Limited Slip Differential) ซึ่งปกติจะมีเฉพาะใน Navara 4×4 เท่านั้น ระบบนี้ จะบริหารจัดการถ่ายแรงบิด ที่ส่งไปหมุนล้อซ้ายกับขวา โดยใช้เบรกจับทีละข้าง หากล้อข้างซ้ายหมุนฟรี ระบบจะสั่งให้เบรกทำงานที่ล้อซ้าย แล้วส่งแรงบิดกลับไปที่ล้อขวา เพื่อช่วยให้ Terra มีการกระจายแรงบิดได้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสภาพถนนเปียกลื่น จนยางไม่สามารถยึดเกาะได้ดีพอ

ตัวเลขสมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทดลองขับ ตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag นั่นคือการทดลองจับเวลาในตอนกลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับกับผู้โดยสาร รวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด มีดังนี้

 

เห็นตัวเลขในตารางแล้ว แอบตกใจ เพราะเป็นเรื่องไม่คาดคิดมาก่อนว่า การตัดสินใจ นำขุมพลัง YS23DDTT มาวางให้ Terra เวอร์ชันไทย จะส่งผลให้ Nissan Terra จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง แชมป์ด้านอัตราเร่ง แรงที่สุดในบรรดา SUV/PPV ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว (หากไม่นับ Chevrolet Trailblazer 2.8 ลิตร 200 แรงม้า (PS) ที่เลิกทำตลาดไปแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน)

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แรงจนแซงชาวบ้านเขามาได้นั้น มันก็ไม่ได้ถึงกับทิ้งห่างแบบขาดลอยนัก เพราะจากเกมจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง Terra 4×2 ลิตร เอาชนะ Pajero Sport 4×2 มาได้แค่ 0.29 วินาที หรือถ้าจะเปรียบมวยกันแบบไม่สนใจระบบขับเคลื่อนเลย Terra 4×4 ก็ชนะ Pajero Sport 4×2 กับ MU-X 4×2 มาแค่ 0.1 – 0.2 วินาที เท่านั้น

ส่วนอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น Terra 4×2 เอาชนะ Pajero Sport 4×2 มาได้  0.34 วินาที และดูเหมือนว่า ในเกมนี้ มีเพียง Terra กับ Pajero Sport เท่านั้น ที่สามารถทำเวลาได้ค่ำกว่า 8 วินาที นอกนั้น เกิน 8.4 วินาที ขึ้นไปทั้งหมด

ส่วนการไต่ความเร็วสูงสุดนั้น ทำได้ค่อนข้างง่ายดายกว่าที่คิด เนื่องจาก แรงบิดสูงสุด เริ่มโผล่พรวดมาถึง 300 นิวตันเมตร แค่ช่วงตั้งแต่ 1,200 รอบ/นาที และเมื่อถึง 1,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ทั้ง 450 นิวตันเมตร ก็โผล่มาทักทาย และช่วยกันฉุดลากรถขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เข็มความเร็ว จะเริ่มไต้ขึ้นช้าลง หลังจาก 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป แต่ยังพอไหลอยู่ จนกระทั่งถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงจะเริ่มไหลช้าลงไปอีกจังหวะหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้น ก็ใช้เวลาไม่นานนักที่เข็มความเร็วจะขึ้นไปแตะ Top Speed 189 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,800 รอบ/นาที ณ เกียร์ 6 และ 191 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,500 รอบ/นาที ณ เกียร์ 6 ตามแต่ละรุ่นย่อย

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง พละกำลังจากเครื่องยนต์ 2.3 ลิตร Twin Turbo ลูกนี้ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผมและผู้ร่วมโดยสารหลายๆคน ได้ไม่น้อย เพราะ เราไม่คิดว่า มันจะแรงขนาดนี้ แม้ว่าจะฉุดลากน้ำหนักตัวมากมายเพียงนี้ก็ตาม แรงบิดมีให้เรียกใช้ได้ตามต้องการ ยิ่งในช่วงตั้งแต่ 1,500 รอบ/นาที ขึ้นไป ต่อเนื่องจนถึง 3,000 รอบ/นาที แถมยังไหลต่อขึ้นไปได้อีกในช่วงตั้งแต่ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที อันเป็นช่วงรอบปลายด้วยซ้ำ พละกำลังนี่ไหลมาเทมา เลยทีเดียว

การมี Turbo 2 ลูก นั้น ช่วยแก้อาการรอรอบเครื่องยนต์ ในช่วงรอบต่ำ จนทำให้เรียกแรงมาใช้ได้เร็วกว่า YD25 ของ Navara เสียอีก และทำให้เกิดความต่อเนื่องในการเรียกอัตราเร่ง ตั้งแต่ช่วงรอบต่ำๆ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ Turbo ลูกเล็ก ช่วยบูสต์ให้ก่อน จากนั้น Turbo ลูกใหญ่จะรับหน้าที่ต่อเนื่องกันไป ในช่วงกลางๆ

แรงดึงที่เกิดขึ้น มันเหมือนจะไม่ได้กระชากมากมาย แต่คุณจะสัมผัสได้เลยว่า Terra มันพาคุณพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังติดเบาะนิดๆ แม้ว่าจะเติมคันเร่งลงไปเพียงประมาณ 20 – 30% เพื่อขึ้นแซงรถบรรทุกในเลนซ้าย แบบไม่รีบร้อน ยังสัมผัสได้เลยว่า มีแรงบิดมหาศาลกำลัง รออยู่ที่คันเร่ง พร้อมให้สั่งการได้ตลอดเวลา ไม่ต่างจากเครื่องยนต์ Diesel พิกัด 3.0 ลิตร Turbo เลย

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้าคุณคิดว่า Fortuner หรือ Pajero Sport กับ MU-X 3.0 ลิตร บ้าพลังแล้ว…Terra จะทำให้คุณทะลุขึ้นไปจากคำจำกัดความนั้น อีกประมาณหนึ่ง และถือเป็นเครื่องยนต์ Diesel Turbo พิกัดไม่เกิน 2.5 ลิตร ที่ให้สมรรถนะดีที่สุดเครื่องหนึ่ง เท่าที่ตลาดรถยนต์เมืองไทย เคยมีมา!

ยิ่งเมื่อผสานการทำงานเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะด้วยแล้ว ยิ่งทำได้ไม่เลวเลย เกียร์เปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและนุ่มนวล เมื่อเทียบกับ SUV / PPV รุ่นอื่นๆ แน่นอนว่า มันอาจไม่ได้ฉับไวเท่าเกียร์อัตโนมัติในรถเก๋ง เพราะชุดเกียร์ต้องรองรับแรงบิดที่มากมายมหาศาลกว่ากันมาก ขืนเปลี่ยนเร็วเกินเหตุ ชุดเกียร์อาจสึกหรอเร็วเกินควร ดังนั้น วิศวกรจึงต้องหาจุดลงตัว ที่จะทำให้เกียร์เปลี่ยนไวทันใจคนขับ แต่ต้องถนอมเกียร์ไปพร้อมๆกัน และวิศวกรของ Nissan ก็ไม่ทำให้คุณผิดหวังในประเด็นนี้

ไม่เพียงแค่มีอัตราทด รองรับได้ในทุกช่วงความเร็วแล้ว เกียร์ยังทำงานได้ฉลาด พอสมควร อาจจะเอ๋อๆบ้าง หากคนขับกดคันเร่งลงไปครึ่งหนึ่ง แล้วเกิดเหตุกระทันหัน เจอรถพ่วง 18 ล้อ ลงเนิน สวนทางมาแต่ไกลลิบลิ่ว ต้องเปลี่ยนใจมา กระทืบเต็มตีน อาจมีอาการ Lag บ้างในจังหวะนี้ แต่ก็พอรับได้ ส่วนการไต่ขึ้นเนินด้วยเกียร์ D นั้น สมองกลเกียร์ จะเลือกเกียร์ 3 หรือ 4 เป็นหลัก เว้นเสียแต่ว่า คันเร่งที่กดลงไป เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเหยียบ จึงจะยอมเปลี่ยนลงเป็นเกียร์ 2 ให้

ส่วน Mode +/- นั้น หากคุณผลักคันเกียร์ โยกเข้ามาเล่นในตำแหน่งนี้ ต่อให้คุณจะเหยียบคันเร่งจมมิดพื้น ลากรอบเครื่องยนต์จนสุด แตะ Red Line แล้ว เกียร์ก็จะยังคงคาไว้ในตำแหน่งเดิม ไม่เปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไป  เผื่อให้ผู้ขับขี่ ได้ตัดสินใจเอง ในสภาวะคับขันต่างๆอันอาจเกิดขึ้นได้ ส่วน การทำงานของ Mode +/- ค่อนข้างไวและนุ่มนวลกว่าคู่แข่งอยู่นิดหน่อย

ด้านการเก็บเสียง ทีมวิศวกร พยายามอย่างหนัก เท่าที่พอจะทำได้ เพื่อลดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร ทั้งการเปลี่ยนมาใช้กระจกบังลมหน้า แบบ Acoustic Windsheild Glass ที่มีฟิล์มซับเสียงเป็นไส้กลาง ในลักษณะคล้าย แผ่นหมูแฮมในขนมปัง Sandwich ของ FarmHouse ขณะเดียวกัน ยังเสริมวัสดุซับเสียง ที่ผนังห้องเครื่องยนต์ ถึง 3 ชั้น เพื่อลดเสียงเครื่องยนต์ที่ลอดเข้ามาในห้องโดยสาร ให้น้อยลง พื้นใต้ท้องรถ ก็ยังบุ วัสดุซับเสียงแบบ 3 ชั้น เรียงจากพื้นตัวถังขึ้นมาเป็น Absorption Layer (FELT) ตามด้วย Isolation Layer (EPDM) และ ชั้บนสุดเป็นพรมปกติ สีเทาดำ แถมยางขอบประตูก็ถูกออกแบบให้หนาขึ้น และนิ่มลง

ถ้าเปรียบเทียบกับ Navara แล้ว Terra เก็บเสียงดีกว่าอย่างชัดเจนมากๆ ตัวเครื่องยนต์ YS23DDTT เอง แม้จะยังดังสนั่นอยู่ แต่ก็เงียบลงกว่า YD25DDTi ใน Navara ประมาณหนึ่ง กระนั้น ถ้าลองขับเข้าจอดในหมู่บ้าน ชานเมือง เงียบสงบ ตอนเที่ยงคืน ยังไงๆ เพื่อนบ้านก็รู้อยู่ดีว่า คุณเพิ่งกลับถึงบ้าน ยามวิกาลชัวร์ๆ ผมว่า เสียงตอนรอบเดินเบา มันก็ยังดังไปหน่อย

แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันแล้ว Terra ยังมีเสียงลมไหลผ่านตัวรถ ที่ความเร็ว เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ดังกว่า Ford Everest และ Mitsubishi Pajero Sport อยู่นิดนึง โดยเฉพาะ เสียงจากใต้ท้องรถ ด้านหลัง และกระจกหน้าต่างด้านข้าง ในช่วงหลัง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ยังดังเท่าคู่แข่งอยู่ดี

ระบบบังคับเลี้ยวนั้น ในขณะที่ คู่แข่ง ฝั่งอเมริกัน ทั้ง Trailblazer กับ Everest หันไปใช้ระบบ Power ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้ากันหมดแล้ว แต่ Terra ยังคงยืนหยัดกับ พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง แบบไฮโดรลิค รัศมีวงเลี้ยว 5.7 เมตร ยกชุดมาจาก Navara ซึ่งคู่แข่งจากญี่ปุ่นทั้งหมดก็ยังใช้แบบไฮโดรลิคเช่นกัน แต่ทีมวิศวกร ปรับปรุงการตอบสนองของพวงมาลัยให้ไวขึ้นกว่า Navara เล็กน้อย รวมทั้งปรับน้ำหนักพวงมาลัยให้เบาขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบของตัวรถ

กระนั้น ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัย ก็ยังคงมีน้ำหนักค่อนข้างมากอยู่สำหรับคุณสุภาพสตรีทั่วไป มันหนืดและหนักในระดับพอๆกันกับ Toyota Fortuner แต่ในมุมมองของผม แม้จะต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยขณะถอยเข้าจอดเยอะอยู่ประมาณหนึ่ง แต่น้ำหนักแบบนี้ ผมถือว่าเหมาะสมกับ Terra แล้ว และมันยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่

เพราะสำหรับ Terra แล้ว ปัญหาที่หนักกว่านั้นก็คือ การตอบสนองของพวงมาลัย ในย่านความเร็วเดินทาง และความเร็วสูงต่างหาก! ปกติแล้ว พวงมาลัยรถยนต์เนี่ย ความเร็วต่ำ ควรจะเบา และ เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น ก็ควรจะหนืดขึ้น หนักขึ้น

ทว่า พวงมาลัยของ Terra ใหม่นั้น ยิ่งคุณขับเร็วขึ้น พวงมาลัยจะยิ่งเบาขึ้น! และคุณจะยิ่งพบเลยว่า ระยะฟรีของพวงมาลัย ค่อนข้างมาก พอกันกับ Navara มันมากจนกระทั่งชวนให้นึกถึงระยะฟรี ของพวงมาลัยลูกปืนหมุนวนแบบโบราณด้วยซ้ำ! สมัยนี้ค่ายรถเขามีแต่ทำพวงมาลัยให้ตอบสนองได้ไวขึ้น และสร้างน้ำหนักหน่วงกลางที่เหมาะสมเพื่อให้วิ่งทางไกลได้โดยไม่ต้องเกร็งมือ แต่กับ Terra มันเป็นพวงมาลัยที่หลวมโพรก หักขึ้นหักลงเล่นๆรถแทบไม่เขยื้อน บางคนชอบ แต่ผมไม่

หนำซ้ำ มันเป็นพวงมาลัยที่ ไม่แม่นยำในการตอบสนองเอาเสียเลย ตั้งใจจะเลี้ยวแค่ไหน อาจต้องเติมพวงมาลัยเพิ่มเข้าไปอีกนิด หรือคืนพวงมาลัยกลับหน่อยๆ อัตราทดค่อนข้างยานคาง เนือยเกินไปหน่อย ยิ่งถ้าเข้าโค้งตัว S ไปตามทางคดเคี้ยว คุณจะยิ่งเห็นถึงความเนือยในการตอบสนองมากขึ้นเท่านั้น ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยไปมา มากขึ้น เพื่อบังคับให้รถเข้าโค้งตามต้องการ จนเมื่อยกันไปข้างนึง และไม่เพียงเท่านั้น ถ้าคุณคิดว่า ช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยของรุ่น VL 4×4 ว่าเบาแล้ว รุ่น VL 4×2 ยิ่งเบากว่าเดิม!

ผมเดาว่า เหตุผลที่ Nissan ต้องเซ็ตพวงมาลัยแบบนี้ ก็เพราะมองว่า ขืนเซ็ตให้ ตอบสนองไว และอัตราทดไวเกินไป โอกาสที่ผู้ขับจะตกใจจนหักเลี้ยวแรงๆแล้วรถพลิกคว่ำ ก็เป็นไปได้สูง จึงเซ็ตพวงมาลัยไว้ให้เนือยๆ เฉื่อยๆ แบบนี้ไว้

พูดกันตรงๆก็คือ นี่เป็นพวงมาลัยของ SUV/PPV ยุคใหม่ ที่ให้การตอบสนองได้เหมือนกับ พวงมาลัยของรถกระบะเมื่อ 15 ปีที่แล้ว! ทั้งระยะฟรี ที่เยอะเสียจนชวนให้นึกถึงพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวนยุคโบราณ  ไม่ตรงกับใจผู้ขับขี่ พวงมาลัยแบบนี้ สมควรถูกปรับปรุงแก้ไข ด้วยการถอดยกออกไปทั้งยวง และถ้าไม่สามารถเซ็ตพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิคให้มันดีได้ละก็ เอาพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า มาใส่แทน แล้วปรับเซ็ตให้อัตราทดสมดุลกว่านี้ บังคับเลี้ยวแม่นยำกว่านี้ ระยะฟรีลดลงจากนี้นิดนึง และเพิ่มน้ำหนักในย่านความเร็วสูงให้มากกว่านี้ บอกตรงๆนะ พวงมาลัยของ Navara รุ่นปี 2007 ยังจะดีเสียกว่า!

หรือถ้านึกไม่ออกว่าควรเซ็ตอย่างไร ให้เอาพวงมาลัยของ Patrol และ Titan Full Size Truck เป็นตัวตั้ง ขอความแม่นยำเพิ่มขึ้น น้ำหนักเพิมขึ้น แต่ลดระยะฟรี และอัตราทดเฟือง ลงมา หาจุดสมดุลย์ให้ได้ แค่นั้ัน แล้วจะลงตัว! แต่ถ้าจะให้ดี หาพวงมาลัยของ Ford Everest ใหม่ มาเป็น Benchmark แล้วปรับน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นในช่วงความเร็วสูง โดยอัตราทดเท่าๆกันกับ Ford นั่นละ จบสุด!

Frame Chassis ของ Terra นั้น เป็นการนำ เฟรมเหล็กกล้า Full Boxed Ladder Frame ของ Navara มาหดให้สั้นลง ให้ได้ระยะฐานล้อยาวประมาณ 2,850 มิลลิเมตร ซึ่งเหมาะสมกับการทำรถยนต์ SUV/PPV มากกว่า เฟรมแบบยาวของรถกระบะ

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบอิสระปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ 5-Link ที่ถูกออกแบบให้ใช้ช็อกอัพกับสปริง ซึ่งมีระยะยุบตัวและยืดตัว ค่อนข้างยาว เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่ อีกทั้งช่วยให้ยางล้อ มีโอกาสยืดไปแตะพื้น ส่งแรงขับเคลื่อนตะกุยผ่านอุปสรรคได้ง่ายขึ้น เมื่อเจอพื้นที่หลุมบ่อ ลึกหรือสูงมากจนล้อเกือบลอย ในขณะลุย Off Road

การดูดซับแรงสะเทือนช่วงความเร็วต่ำ ทำได้ดีเกินคาด การขับผ่านหลุมบ่อและฝาท่อตามตรอกซอกซอยต่างๆ ยังสัมผัสถึงความนุ่มเล็กๆ แทบไม่ค่อยตึงตัง ยกเว้นฝาท่อที่ลึกจริงๆเท่านั้น จึงจะพบความแน่นของช่วงล่างชัดเจน จังหวะเวลาผ่านเนินสะดุด ลูกระนาดต่างๆนั้น ผ่านกันไปแบบเนียนๆ แทบไม่ Rebound เลย ขึ้นลงครั้งเดียว นิ่งสนิท Smooth และแน่นหนึบมากเกินคาดคิด

ขณะขับขี่ในย่านความเร็วสูงนั้น ช่วงล่าง นิ่ง บาลานซ์ด้านหน้าและด้านหลังได้ดี ให้มั่นใจได้มาก ต่อให้ใช้ความเร็วสูงถึงระดับ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วงล่างก็ยังหนักแน่น และมั่นคง แถมยังไม่เด้งหรือสะเทือนมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จัดว่าเป็นช่วงล่างที่ดีมากๆ

น่าเสียดายว่า เมื่อรวมเข้ากับการตอบสนองของพวงมาลัยซึ่งมีระยะฟรีเยอะไป แถมยังหนัก เนือย และตอบสนองไม่ดีเท่าที่ควรนั้น กลับบั่นทอนความมั่นใจในการควบคุมรถลงไปมากพอสมควร

ส่วนความเร็วบน 5 ทางโค้ง แห่งทางด่วนเฉลิมมหานคร อันเป็นทางโค้งที่ผมใช้ในการทดลองเป็นประจำยามดึกดื่น ราวๆ ตี 2 ขึ้นไป นั้น บนโค้งขวารูปเคียว เหนือระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในช่วง 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Terra ทำได้ถึง 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 105กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ว่าตัวรถจะโยนออกทางด้านข้างในระดับเดียวกับบรรดา SUV/PPV ยกสูงทั่วไป แต่สัมผัสได้เลยว่า บนทางโค้งที่มีพื้นผิวเรียบๆ ตัวรถจะรัษาอาการได้ดี ให้สัมผัสที่แน่นและนิ่งกว่ากันนิดหน่อย

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Terra ทั้ง 2 คัน เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ เมื่อตั้งลำได้ ก็เข้าสู่โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางและช่วงล่างจะเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว พอตั้งลำได้อีกครั้ง ก็เหยียบคันเร่งเพิ่ม ส่งรถเข้าโค้งขวายกระดับ ขึ้นไป ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด)

สำหรับการลุยไปตามสภาพเส้นทางหฤโหด เต็มไปด้วยโขดหิน ก้อนกรวด และดินทรายในรูปแบบต่างๆนั้น ผมค้นพบจากการได้ลองขับ Terra เวอร์ชัน Philipines ในทริป Nissan Go Anywhere ที่ Er-Rachidia ใน Morocco ซึ่งต้องขับผ่านทั้งทะเลทราย ทางฝุ่น ทางกรวด ทั้งเล็กใหญ่ ลุยลงไปบนพื้นดินฝุ่นสีแดง ชุ่มๆด้วยน้ำแฉะๆ ลื่นๆ แบบ Mud

ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่ต้องลุยทางลูกรัง ก้อนกรวดแข็งๆ พบว่า Terra ส่งแรงสะเทือนขึ้นมา แค่ในระดับหนึ่ง แต่ช่วยลดความเมื่อยล้าสะสมหลังขับขี่ลงได้มากกว่าที่คิด

ภาพรวมแล้ว ช่วงล่างของ Terra เอาชนะคู่แข่งฝั่งญี่ปุ่น ทุกคัน รวมทั้ง Chevy Trailblazer มาได้ทั้งหมด อาจเป็นรองแค่ Ford Everest (รุ่น 3.2 ตัวท้อปก่อนไมเนอร์เชนจ์) เพียงรุ่นเดียว และแค่นิดเดียวเท่านั้น ในประเด็นด้านการควบคุมอาการของตัวถัง ขณะเข้าโค้ง บนพื้นผิวแบบลอนคลื่น ซึ่งมักพบได้กับทางหลวงแผ่นดินจำนวนมากในประเทศไทย ต้องยอมรับว่า Terra ยังคุมอาการได้ดี แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ตัวรถค่อนข้างเสถียรดีแล้ว แต่ยังไม่นิ่งสนิทนักเมื่อล้อทั้ง 2 อยู่ในตำแหน่งสูง – ต่ำต่างกัน ระหว่างเข้าโค้ง แรงกระทำที่เกิดขึ้นจากอีกฝั่งของตัวรถ จะส่งผลต่อล้อที่อยู่ด้านนอกโค้งชัดเจน และยางแก้มหนา ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ลดทอนความมั่นใจลงมานิดนึง

อีกประเด็นที่น่าจะมีคนตั้งข้อสงสัยก็คือ เห็นว่าเป็นรถยกสูงขนาดนี้ Terra จะลุยน้ำได้ลึกสุดเท่าไหร่? คำตอบจากน้า Awano วิศวกรที่ศูนย์ Technical Center ที่ Atsugi นำเสนอให้ดู แล้วพี่ Pan มาเล่าให้ผมฟัง รู้สึก เหวอ อึ้ง ทึ่ง ฮา และประหลาดใจกันไม่น้อย

ลุงเค้า โชว์ Video Presentation บนหน้าจอให้ดูกัน ว่า ทีมงานของน้าเอง ก็ทดสอบลุยน้ำที่ความลึกหลายระดับอยู่ หากขับลงน้ำที่สูงระดับ 450 มิลลิเมตร (45 เซ็นติเมตร) ยังไงๆ ก็ไม่เป็นไร ลุยได้สบายๆ ต่อให้เพิ่มระดับน้ำสูงขึ้นเป็น 600 มิลลิเมตร (60 เซ็นติเมตร) ก็ยังลุยผ่านไปได้ โดยไม่มีปัญหา

ทว่า ถ้าเพิ่มระดับน้ำในบ่อทดสอบให้สูงขึ้นเป็น 700 มิลลิเมตร (70 เซ็นติเมตร) ละ? ลุงเค้าก็เปิด Video ให้ดูกันต่อไป ก็เห็นภาพ Terra ลุยน้ำแบบเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อลุยไปสักพัก น้ำจะเริ่มเข้ามาเจิ่งนองในพื้นห้องโดยสารได้ตามรูต่างๆ สื่อมวลชนเลยยิงคำถามว่า แล้วที่คู่แข่งอย่าง Ford เคลมว่าลุยได้ 700 มิลลิเมตรสบายๆล่ะ? น้าเขาก็ตอบว่า ไม่แน่ใจเรื่องลักษณะของบ่อทดสอบ และความเร็วที่ใช้ในการลุยน้ำ เพราะสองอย่างนี้ล้วนมีผล บ่อทดสอบของ Nissan นั้นแคบ

แม้ว่าโดยปกติขององค์กร การพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์ต้องพูดให้สินค้าของตัวเองดูเลิศเลอเวอร์วังมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผมและพี่ Pan กลับชอบ ลุง Awano-san มากๆๆๆๆๆๆ ที่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่วิศวกรสร้างรถยนต์ ได้เจอมากับตัวของเขาและทีมงาน บริษัทรถควรมีคนแบบนี้เยอะๆ อย่าไปคิดถึงภาพลักษณ์มาก เพราะอะไรที่มันดีเกินจริง สื่อมวลชนเขาดูออกทั้งนั้น แล้วมันจะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อครับ

ระบบห้ามล้อ ด้านหน้ายังคงเป็นแบบ ดิสก์เบรกพร้อมรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก มาพร้อมตัวช่วยต่างๆ ดังนี้

  • ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System)
  • ระบบกระจายแรงเบรกให้สมดุลกับน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
  • ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VDC (Vehicle Dynamic Control)
  • ระบบช่วยออกตัวบนพื้นลื่น Traction Control
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist)
  • และเฉพาะรุ่น VL 4×4 จะเพิ่มระบบช่วยลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) มาให้เป็นพิเศษ

การที่ Nissan ยังคงใช้ดรัมเบรกหลังอยู่ได้ ทั้งที่ชาวบ้านชาวช่อง เขาทะยอยเปลี่ยนเป็น ดิสก์เบรกคู่หลังกันไปเกือบหมดแล้วนั้น ต่อให้หลายคนไม่ชอบ แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อ พี่ Pan Paitoonpong เยือนสำนักงาน Nissan Technical Center ที่ญี่ปุ่น ก็มีสื่อมวลชนชาว Philippines ถามว่า “ทำไมยังไม่ใช้ดิสก์เบรกหลัง”

คำตอบจากปากวิศวกรก็คือ “เราสามารถเซ็ตระบบเบรกให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพตามที่เราคาดหวังได้ด้วยดรัมเบรกหลัง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้”

แหงสิ…ประหยัดต้นทุนไง หลายคนอาจคิดอย่างนั้น ซึ่งมันก็เป็นความจริงแหละ แต่ เมื่อพิจารณาการตอบสนองของระบบเบรก Terra ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีกว่าที่เราคาดคิดไว้…ถ้านึกในใจตลอดว่า เบรกด้านหลังเป็นดรัม

แป้นเบรก มีระยะเหยียบ เท่าๆกันกับ Navara คือ ระยะฟรีในช่วงแรกนิดหน่อย ระยะเหยียบยาวปานกลาง ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป ไม่ต้องเหยียบลงไปลึกแบบ Everest 3.2 กับ Trailblazer 2.5VGT ด้านน้ำหนักแป้นเบรกของ Terra เซ็ตมาเหมาะสม แรงต้านเท้า จะหนืดพอสมควร ตอบสนองได้ต่อเนื่อง (Linear) และค่อยเป็นค่อยไป ทำงานตามน้ำหนักเท้าที่เราเหยียบลงไปได้ดีมาก เหยียบแค่ไหน รถจะชะลอลงเท่านั้น เบรกแล้วหัวไม่ทิ่มมากนัก ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของแป้นเบรกสำหรับรถยนต์เพื่อครอบครัว

ขณะขับขี่ในเมือง คุณสามารถบังคับควบคุมแป้นเบรก เพื่อให้รถจอดนิ่งสนิทอย่างนุ่มนวล ได้ง่ายดายมาก และในขณะแป้นเบรก การหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง เช่นในช่วง 180 เหลือแค่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้นุ่มนวล และให้ความมั่นใจได้ดีพอสมควร เพียงแต่ว่า ในรุ่น 4×4 อาจต้องเผื่อระยะเบรกเพิมขึ้นจากรุ่น 4×2 อีกเล็กน้อย

ถ้าจะบอกว่า เบรกของ Terra ดีที่สุดในบรรดา SUV/PPV ที่ใช้ระบบเบรกแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม เท่าที่ผมเคยลองขับมา คุณจะเชื่อหรือไม่? เอาละ มันอาจจะไม่ถึงกับสามารถนำไปเปรียบเทียบกับ บรรดาเพื่อนพ้องที่ใช้ดิสก์เบรก 4 ล้อ ซึ่งให้ระยะหยุดที่สั้นกว่า นิดหน่อย ได้เต็มปาก แต่ก็ถือว่า เบรกของ Terra ไม่เป็นรองใครเขาเลยก็แล้วกัน

ด้านความปลอดภัย Nissan ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ มาให้ในระดับที่ ไม่ถึงกับเต็มพิกัด แต่ไม่ยิ่งหย่อนน้อยหน้าคู่แข่งแน่ๆ

  • ระบบเตือนจุดอับสายตา BSW (Blind Spot Warning) เตือนผู้ขับขี่ว่ามีพาหนะแล่นมาขนาบข้าง ทั้ฝั่งซ้ายและขวา ผ่านสัญญาณเสียงร้องเตือน และไฟกระพริบ ฝังในกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง
  • ระบบสัญญาณเตือนเมื่อตัวรถเบี่ยงออกนอกเลนถนน LDW (Lane Departure Warning)
  • ระบบตรวจจับ และส่งสัญญาณเตือนทั้งวัตถุและมนุษย์ที่เคลื่อนไหวจากก้องรอบคัน MOD (Moving Object Detection)
  • MOD จะทำงานร่วมกับทั้ง เซ็นเซอร์กะระยะรอบคัน และกล้องมองภาพ AVM (Around View Monitor)
  • ถุงลมนิรภัย คู่หน้า ด้านข้างเบาะคู่หน้า และม่านลมนิรภัย รวม 6 ใบ
  • เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง โดยคู่หน้าสุด ปรับระดับสูง – ต่ำ พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner & Load Limiter
  • สัญญาณเตือนแจ้งรัดเข็ขัดนิรภัย ทำงานจากการรับน้ำหนักมนุษย์ที่เซ็นเซอร์ใต้เบาะคู่หน้า
  • จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX
  • แกนพวงมาลัย ยุบตัวได้เมื่อเกิดการชนด้านหน้า
  • ระบบตัดวาล์วเชื้อเพลิงอัตโนมัติ เมื่อรถพลิกคว่ำ

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งลงใน โครงสร้างตัวถังพร้อมคานกันกระแทกที่บานประตูด้านข้างทั้ง 4 บาน ซึ่งพัฒนาขึ้นตามแนวทาง Zone Body Concept ที่ Nissan ใช้กันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 แล้ว

ด้วยอุปกรณ์ความปลอดภัยทั้งหมดข้างต้น ทำให้ Terra สอบผ่านมาตรฐานทดสอบการชนของ ASEAN NCAP ด้วยคะแนนระดับ 5 ดาว แบ่งเป็นคะแนนจากการปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่ 44.70 คะแนน การปกป้องเด็ก บนเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก 20.79 คะแนน ปกป้องคนเดินสัญจรบนถนน 17.69 คะแนน รายละเอียดอื่นๆ คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ CLICK HERE

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

หลังจากได้เห็นอิทธิฤทธิ์ด้านพละกำลังของ Terra กันไปแล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่า เครื่องยนต์ YS23DDTT ลูกใหม่นี้ จะให้ความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อต้องฉุดลากตัวรถที่มีน้ำหนักตัวเยอะพอประมาณ ขนาดนี้

เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา Terra ทั้ง 4×4 และ 4×2 ไปเติมน้ำมัน Diesel Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ โดยผู้ร่วมทดลองยังคงเป็น น้อง Joke V10ThLnD และ เติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ จาก The Coup Team ของเรา ตามเคย (น้ำหนักตัว 65 และ 48 กิโลกรัม รวมน้ำหนักผู้ขับอีก ประมาณ 110 กิโลกรัม จะอยู่ที่ 175 และ 158 กิโลกรัม)

เนื่องจาก Terra อยู่ในกลุ่ม SUV / PPV ซึ่งไม่ได้เข้าพวกกันกับ รถยนต์นั่งกลุ่ม 1.2 จนถึง 2.0 ลิตร ประกอบในประเทศไทย ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท รวมทั้งรถกระบะ เราจึงตัดสินใจที่จะไม่เขย่ารถ และเติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว เหมือนเช่นรถยนต์ทุกรุ่นในกลุ่ม SUV / PPV

พอเติมน้ำมันเสร็จ เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พัดลมเบอร์ 2 Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 และ Set หน้าจอวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้นใหม่ ทั้งหมด

ตามปกติแล้ว เส้นทางในการทดลองของเรา ก็คือ ออกจากปั้ม ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วนย้อนเส้นทางเดิม ด้วยมาตรฐานเดิม แล่น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ซึ่งเรายังคงรักษามาตรฐานนี้ได้ดีในการทดลองกับรุ่น 4×4 คันสีขาว

ทว่า ระหว่างการทดลองรุ่น 4×2 สีเทา เรากลับพบว่า จุดกลับรถปลายทางด่วน ด่านบางปะอิน ที่เราใช้มาตลอด 10 กว่าปี ถูกปิดลงชั่วคราว ทำให้เราจำเป็นต้องขับรถไปหาจุดกลับรถใหม่ ไกลขึ้นอีกประมาณ 2.5 กิโลเมตร ก่อนจะย้อนกลับมายังทางด่วนเส้นเดิมได้สำเร็จ ทำให้ระยะทางรวม บน Trim Meter A ต้องเพิ่มขึ้นจากปกติ ราวๆ 5 กิโลเมตร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron Diesel ณ หัวจ่ายเดิม ไม่เขย่ารถ เหมือนช่วง การเติมครั้งแรกทุกประการ

ตัวเลขที่ออกมา มันดีเกินความคาดหมาย!
เริ่มกันด้วย รุ่น VL 4×4 กันก่อน

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.38 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.45 กิโลเมตร/ลิตร

ตามด้วยรุ่น VL 4×2

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 97.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.69 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.49 กิโลเมตร/ลิตร

ถึงแม้ว่าระยะทางในการทดลอง ของรุ่น 4.2 ลิตร จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อหารเป็นตัวเลขกลับออกมาแล้ว แทบไม่ได้แตกต่างจากรุ่น VL 4×4 เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนแปลกใจนิดหน่อย เพราะคิดว่า รุ่น 4×2 น่าจะประหยัดน้ำมันขึ้นได้มากกว่านี้อีกนิด แต่เอาเถอะครับ ยังไงๆ Terra ก็ครองแชมป์ ทั้งด้านความแรง และความประหยัดมากสุดในกลุ่ม SUV/PPV ไปเรียบร้อย อยู่ดี

คำถามต่อมา น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?

จากการใช้ชีวิตกับ Terra ทั้ง 2 คัน เป็นเวลาค่อนข้างนานพอดู โดยเฉพาะรุ่น VL 4×2 จึงพอจะสรุปได้ว่า มันประหยัดกว่าที่คิด ต่อให้คุณจะขับแบบกดๆ ซิ่งๆ มุดๆ ยังไงก็ตาม น้ำมัน 1 ถัง ขั้นต่ำ ก็มี 500 กิโลเมตร ได้แน่ๆ ถ้าคุณใช้รถวันละไม่เกิน 100 กิโลเมตร คุณอาจจะเติมน้ำมันเฉลี่ย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง  แตถ้าคุณเป็นคนขับรถทางไกลค่อนข้างบ่อย หรือเป็นหลัก แทบไม่เจอการจราจรติดขัดเลย ใช้ความเร็วไม่สูงนัก ไม่เกิน 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจทำระยะทางได้ไกลถึง 750 กิโลเมตร ต่อน้ำมัน 1 ถังเลยก็เป็นไปได้

********** สรุป **********
แก้พวงมาลัย ปรับโฉมให้หรูขึ้นกว่านี้อีกนิด เปลี่ยนโฆษณาใหม่ น่าจะพอช่วยประคองยอดขายได้พักหนึ่ง

เวลากว่าครึ่งเดือน ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Terra ทั้ง 2 คัน มันนานมากเสียจนทำให้ผมเข้าใจดีเลยว่า SUV / PPV รุ่นนี้ มันก็มีสภาพไม่ต่างจาก Nissan รุ่นอื่นๆ ที่เปิดตัวในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คือ คุณจะไม่มีทางรู้สึกได้ ว่ามันดีอย่างไร น่าซื้อแค่ไหน จนกว่าจะได้ลองขับออกถนน และใช้เวลาอยู่กับมันสักพักใหญ่ๆ คุณถึงจะเห็นคุณค่าในงานวิศวกรรมเบื้องลึกที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวรถ ซึ่งต่อให้ถูกบีบด้วยการลดต้นทุนขนาดไหน ทีมวิศวกรของ Nissan มักจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับฝ่ายบัญชีและฝ่ายบริหาร ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรม และความปลอดภัย “จากโครงสร้างพื้นฐาน” แน่ๆ

ประเด็นนี้ ทำให้ Nissan แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ซึ่งมักมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนแอบแฝง ในจุดที่ผู้บริโภคมองไม่เห็น แล้วฉาบเคลือบด้วย อุปกรณ์ Gadget ยุคใหม่ ที่ลูกค้าจำนวนมากต่างอยากได้ เพราะ Nissan ลดต้นทุนไม่เก่งเท่าชาวบ้านเขา เลยดันไปเน้นลด Option ติดรถ แทนที่จะยอมทำตามชาวบ้านเขา ผลก็คือ Option ของ Nissan หลายๆรุ่นในอดีต กลับดูง่อยเปลี้ยกว่าคู่แข่ง

ทว่า กรณีของ Terra นั้น Nissan สามารถอัด Option เข้ามาได้เยอะพอสมควร เนื่องจากการแชร์ชิ้นส่วนอะไหล่ร่วมกับ รถกระบะ Navara ได้เยอะเอาเรื่อง ช่วยให้พอมีงบในการเสริมอุปกรณ์ที่ลูกค้าอยากได้ มาให้ในรถคันขายจริง

ข้อดีของ Terra

1. เครื่องยนต์ YS23DDTT นอกจากจะให้พละกำลัง แรงที่สุดในกลุ่ม เรียกอัตราเร่งมาใช้ได้ตามต้องการแล้ว ยังให้ความประหยัดน้ำมันมากสุดในกลุ่มอีกด้วย เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของผมไปพอสมควร

2. ช่วงล่าง ซับแรงสะเทือนได้ดีมาก และให้ความมั่นใจในย่านความเร็วสูงได้ดีกว่าที่คิด ติดแค่ว่า หากเจอทางโค้งที่มีพื้นผิวเป็นลอนคลื่นต่อเนื่อง การควบคุมอาการของตัวถัง หรือ Body Control ยังทำได้ไม่ถึงกับดีนัก

3. ระบบเบรก ถือว่าดีเป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม  SUV/PPV ที่ยังใช้ระบบเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม แป้นเบรกอาจจะสูงนิดๆ แต่ ต้องการชะลอรถแค่ไหน ก็เพิ่มน้ำหนักเท้าขวาลงไปบนแป้นเบรกได้ตามนั้นเลย

4. เบาะแถวกลาง นั่งสบายที่สุดในกลุ่ม แถมยังมีช่องแอร์ แถว 2 และ 3 รวมทั้ง จอมอนิเตอร์ สำหรับผู้โดยสารแถวหลังมาให้

5. การปีนเข้าไปนั่งในเบาะแถว 3 ง่ายเกือบที่สุดในกลุ่ม (แต่ตอนปีนออกมา ไม่ง่าย แต่ไม่ยากเท่าคู่แข่งอีกหลายคน)

6. การติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ที่จำเป็นมาให้ ทั้ง Blind Spot Warning , Lane Departure Warning , กล้อง Around View Monitor กระจกมองหลัง Intelligent Rear View Mirror ระบบตรวจจับและเตือนวัตถุรอบคัน MOD (Moving Object Detection) ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกที่นั่ง (คู่หน้า แบบ Pre-tensioner & Load Limiter) ระบบเตือนแรงดันลมยาง ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VDC พร้อม Traction Control แถมระบบ HSA (Hill Start Assist) ครบทุกรุ่นย่อย ส่วนรุ่น 4×4 เพิ่มระบบ HDC (Hill Decsent Control) ฯลฯ

ลองคิดดูว่า คุณได้ออพชันทั้งหมดนี้ ในราคาค่าตัว 1.3 – 1.427 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณอยากได้ข้าวของประมาณนี้ หรือดีกว่านี้ คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มให้คู่แข่ง อย่าง Ford Everest , Toyota Fortuner หรือ Mitsubishi Pajero Sport อีกมากโขเอาเรื่อง ดังนั้น หากมองภาพรวมแล้ว ผมถือว่า คุ้มค่าเพียงพอแล้วสำหรับเงินที่จ่ายไป

แน่นอนครับ  ทีม Nissan เอง ก็พยายามอย่างสุดความสามารถแล้วละ ที่จะปรับปรุงให้ เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Terra ออกมาขายได้ด้วยสเป็กระดับนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวรถเอง ก็ยังมีเรื่องให้แก้ไขกันต่อไป เหมือนเช่นรถยนต์ทั่วไปรุ่นอื่นๆ อยู่ดี

ข้อที่ควรปรับปรุง

1.ปรับปรุงการตอบสนองของพวงมาลัย ให้ดีกว่านี้ : ช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยค่อนข้างหนัก อันที่จริง ผมว่า พอรับได้ เพราะคู่แข่งหลายรายก็หนักพอๆกันนี่แหละ แต่ในช่วงความเร็วสูง มันควรจะหนักกว่านี้ ไม่ใช่เบาละล่องแบบที่เป็น ที่สำคัญ มันไม่ควรจะเนือยขนาดนี้ เพราะในจังหวะเข้าโค้งรูปตัว S แบบต่อเนื่อง ผู้ขับขี่ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยมากกว่าปกติ เพื่อบังคับรถให้เข้าโค้งไปตามทาง ทางแก้ไขสำหรับทีมวิศวกร บอกไปแล้ว ในหัวข้อข้างบน ย้อนกลับขึ้นไปอ่านได้

2. เบาะคู่หน้า ยังคงนั่งไม่สบายเท่าที่ควร : แน่ละ เล่นยกเบาะมาจาก Navara ท้ั้งยวง ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงพนักศีรษะ ให้ลดปัญหาดันกบาล ที่เคยเกิดขึ้นกับ Navara รุ่นปี 2014 – 2016 มาแล้ว แถมมีตัวดันหลังมาให้ แต่ก็ยังมีช่องว่างช่วงบ่าและหัวไหล่มากไปหน่อย แถมช่วงกลางแผ่นหลังก็ยังซัพพอร์ตไม่ดีพอ

3. เปลี่ยนแผงแดชบอร์ดใหม่ซะ! : นี่คือประเด็นที่หลายคน ตัดสินใจเบือนหน้าหนีจาก Terra เนื่องจากว่า Nissan ยังคงให้แผงแดชบอร์ดที่ยกชุดมาจาก Navara ทั้งยวง มันดูเก่า ดูล้าสมัย เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ดูแพรวพราวกว่า ยังดีว่า ได้เครื่องปรับอากาศแบบ Digital มาให้ ถ้าถอดออกนี่ แผงหน้าปัดจะถึงขั้นเตียนโล่งกันเลยทีเดียว

4. เปลี่ยนชุดเครื่องเสียงกันเสียที! : เราไม่รู้ว่าทำไม Nissan บ้านเรา ถึงยังคงเลือกใช้ Front Unit จาก KENWOOD รุ่นย่อยนี้กันอยู่ ทั้งที่ผมเคยตำหนิไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ว่า คุณภาพเสียงไม่ได้เริ่อง แถม User Interface ก็ยังดูเหมือนวิทยุราคาถูกๆที่ผลิตจากเมืองจีน และขายกันตามคลองถม ทำไมไม่ใช้ชุดเครื่องเสียง Blaupunkt จาก Philipines ซึ่งใช้งานง่าย ลื่น และคล่องกว่า แถมคุณภาพเสียงก็ดีกว่ากันนิดหน่อย มาติดตั้งใน Terra เวอร์ชันไทย? มันแพงต่างกันขนาดนั้นเลยเหรอ??

5. เปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกหลังได้แล้ว แม้ว่าทีมวิศวกรจะเซ็ตระบบเบรกแบบดรัม มาได้ค่อนข้างดีมาก นุ่มนวล และหน่วงความเร็วตามเท้าตามสั่ง แต่ถ้าจะสู้กับคู่แข่งในเวลานี้ คุณจำเป็นต้องมีอาวุธที่ทัดเทียมกับชาวบ้านเขาเป็นขั้นต่ำ ลูกค้าไม่ใช่วิศวกรที่จะเข้าใจว่าดรัมเบรกประสิทธิภาพข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร เขาแค่มองว่าPPV ในตลาดคันอื่นมีให้ แล้วทำไม Terra ไม่มี แค่นั้น

6. เบาะแถว 3 ติดตั้งในตำแหน่งที่สูงไปนิด ทำให้การลุกออกจากตัวเบาะค่อนข้างยาก แม้จะปีนเข้าไปนั่งได้ง่ายกว่าก็เถอะ แต่ประเด็นนี้คงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

7. ปรับปรุง งานออกแบบภายนอก เพิ่มความหรูให้ตัวรถมากกว่านี้ และควรปรับโทนสีภายในกับภายนอกรถ โดยใช้ แรงบันดาลใจจาก Infiniti รุ่นแพงๆ หรือ Nissan Patrol รุ่นปัจจุบัน มาลองปรับดู

คู่แข่งในตลาด?

Terra ถูกจัดอยู่ในกลุ่มตลาด Mid-Size Body on Frame SUV บนพื้นฐานรถกระบะ หรือ PPV (Pick-up-Based Passenger Vehicles) ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยหน่วยงานราชการไทย เพื่อการจำแนกพิกัดในการเก็บภาษีสรรพสามิต ในประเทศไทย เพียงแห่งเดียวในโลก (เพราะประเทศอื่น เขาจับเหมารวมเรียกเป็น SUV ไปทั้งหมด)

คู่แข่งของ Terra ซึ่งเรียงลำดับตามยอดขายในปี 2018 ได้แก่ Toyota Fortuner , Isuzu MU-Xม Mitsubishi Pajero Sport , Ford Everest และ Chevrolet Trailblazer ทุกรุ่น มีเฉพาะเครื่องยนต์ Diesel Turbo ยกเว้น Fortuner ที่มีขุมพลังเบนซิน 2.7 ลิตร ให้เลือก รายเดียวในตลาดตอนนี้ (แต่อย่าไปยุ่งเลย ถ้าคุณไม่คิดเอาไปติดก๋าซ LPG)

Chevrolet Trailblazer

ฝาแฝดร่วมงานวิศวกรรมกับ Isuzu MU-X แต่ยอดขายกลับไม่ดีเท่า กลายเป็น ชายกลาง ผู้โดนหมางเมิน นั่นคงเป็นเพราะ ศูนย์บริการในยุคเก่าๆ เคยก่อเรื่องไว้เละเทะ ทุกวันนี้ยังคงต้องให้ สำนักงานใหญ่ ตามล้างตามเช็ดกันอยู่ จนเริ่มดีขึ้นมาบ้างในภาพรวม ด้านตัวรถ พอปรับโฉม Minorchange และเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ ทั้ง Phoenix Edition และ Perfect Edition แล้ว ก็ยังพอเรียกลูกค้ากลับเข้าโชว์รูมได้อยู่ อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ Diesel 2.5 ลิตร Turbo ใหม่ ลดความเกรี้ยวกราดลงจาก รุ่น 2.8 เดิม (เลิกขายไปแล้ว) ลงมานิดหน่อย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า เบากว่าแบบไฮโดรลิคเดิม ความเร็วต่ำ โอเค แต่ความเร็วสูงด้อยลงนิดหน่อย ช่วงล่าง ซับแรงสะเทือนได้ดี ลดอาการกระเด้งพอสมควร แต่บุคลิกการขับขี่บางจุดยังมีความคล้าย MU-X อยู่

Isuzu MU-X

ฝาแฝดร่วมงานวิศวกรรมกับ Chevrolet Trailblazer ที่พอมาอยู่ในแบรนด์ Isuzu กลับขายดีกว่ามาก จากความไว้ใจด้านศูนย์บริการที่กลายเป็นอันดับ 1 ในบรรดาผู้ผลิตทุกรายที่ขายรถกันในบ้านเราตอนนี้ ถ้าอยากได้ความแรง ก็ต้องปีนขึ้นไปเล่นรุ่น 3.0 ลิตร VGS Turbo ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะเลิกขาย กระนั้น รุ่น 1.9 Ddi Blue Power ก็ไม่ได้น่าเกลียด พละกำลังอยู่ในระดับกลางๆของกลุ่ม แต่แรงกว่า Fortuner 2.4 ลิตร อยู่นิดเดียว พวงมาลัย ช่วงความเร็วสูง เบาไปหน่อย ระยะฟรีเยอะ เน้นแนวผู้ใหญ่ขับ ช่วงล่าง เซ็ตมานุ่มสบายกว่า Fortuner แต่ยังซับแรงสะเทือนไม่ดีเท่า Pajero Sport และ Terra

Ford Everest

รุ่น Minorchange เพิ่งคลอดในปี 2018 นี่เอง เปลี่ยนพวงมาลัยมาเป็นเพาเวอร์แบบไฟฟ้า เพื่อรองรับสารพัดของเล่นด้านความปลอดภัยสุด Hi-Tech ที่อัดแน่นประโคมเข้าไปเต็มคันรถ จนพวงมาลัย เบาไปหน่อย กระนั้น จุดเด่นที่ Everest เอาชนะคู่แข่งได้ทั้งหมด คือช่วงล่างดีสุดในกลุ่ม ที่สำคัญก็คือ บริการหลังการขาย เริ่มมีทิศทางดีขึ้นกว่าเดิมในภาพรวม แม้ว่า บางศูนย์บริการ จะยังทำตัวน่าปวดกบาลกันอยู่ก็ตาม

Mitsubishi Pajero Sport

เพิ่งออกรุ่นใหม่ Elite Edition ในงาน Motor Expo 2018 ที่ผ่านมา และยังคงรักษาจุดเด่นด้านรูปลักษณ์หน้าตา ครึ่งคันหน้าไว้ได้ ในขะที่บั้นท้าย น้อยคนชื่นชม ส่วนใหญ่ก่านด่า ว่าแปลกตาเกินไป ส่วนภายในสวยงามกำลังดี เบาะนั่งคู่หน้านั่งสบายมากสุดในกลุ่ม ขุมพลัง 2.4 ลิตร MIVEC VG-Turbo แรงสุดยึดหัวหาดบนตาราง แรงกว่าใครเพื่อน แพ้แค่ Terra พวงมาลัย เน้นเอาใจคนเคยขับรถเก๋งมาก่อน น้ำหนักเบา แต่เหมาะสมกับตัวรถ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD-II โดดเด่นกว่าใครเพื่อน แต่ก็มีกลไกซับซ้อนเอาเรื่องเช่นกัน การเซ็ตช่วงล่าง มาในสไตล์นุ่มและซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดีมาก แต่ความมั่นใจในย่านความเร็วสูง ด้อยลงจากรุ่นเดิม (2008 – 2015) ชัดเจน ส่วนบริการหลังการขายของ Mitsubishi นั้น พอกันกับ Nissan แต่บางแห่ง ก็ดูแลลูกค้าดีกว่า

Toyota Fortuner

เจ้าตลาดตัวจริง รู้ใจลูกค้า ทำวิจัยตลาดมาอย่างดี พอคลอดออกมา ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทว่า พอลองขับจริง สิ่งเดียวที่น่าชมเชย คือการเซ็ต “น้ำหนัก”พวงมาลัย ที่ผมยกให้เป็น Benchmark ของกลุ่ม SUV / PPV ไปเลย นอกนั้น เครื่องยนต์ ก็แรงและประหยัดน้ำมันระดับกลางๆค่อนบนๆของกลุ่ม ช่วงล่างก็แข็งไป ท้ายเด้งเอาเรื่อง ความนุ่มสบายหายไปไหนไม่รู้ ขนาดผมนั่งขับเอง ยังมึนหัวเองเลย ถ้าอยากได้ช่วงล่างแบบจบๆ เปลี่ยนเลนกระทันหันมั่นใจสุด ต้องเพิ่มเงินขึ้นไปเล่นรุ่น TRD Sportivo-II ที่เพิ่งเปิดตัวใน Motor Expo 2018 แต่ อีกประเด็นหนึ่งที่ Toyota จะฟัดเหวี่ยง Isuzu ได้มากสุด คือ บริการหลังการขายระดับตัวท็อป 1 ใน 5 ของตลาดรถยนต์บ้านเรา ที่แน่ๆ ระวังโดนเพื่อนร่วมทางก่นด่าเรื่องไฟหน้าแยงตา ต้องเช็คดูกันบ้างแม้ว่า Toyota จะออกมาบอกว่ามีการปรับตั้งใหม่แล้วก็ตาม

แล้วถ้าตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเลือก Terra รุ่นไหน น่าเล่นที่สุด?

ช่วงแรกที่เปิดตัว Nissan ประกาศราคาขายปลีกของ Terra ทั้ง 3 รุ่นย่อยไว้ พร้อมกับเครื่องหมายดอกจันกำกับเล็กๆว่า จะยืนราคาเปิดตัวไว้ถึงแค่ 31 ธันวาคม 2018 เท่านั้น หลังวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2019 จะปรับราคาขึ้นไปอีก คันละ 50,000 บาท ดังนั้น ราคาของ Terra จึงมีดังนี้

– 2.3 D Twin Turbo V 4×2 A/T……1,316,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 1,356,000 บาท
– 2.3 D Twin Turbo VL 4×2 A/T….1,349,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 1,399,000 บาท
– 2.3 D Twin Turbo VL 4×4 A/T….1,427,000 บาท ปรับขึ้นเป็น 1,477,000 บาท

ถึงจะปรับราคาขึ้นอย่างไร แต่เชื่อเถอะว่า ด้วยยอดขายในช่วงเปิดตัวส่งมอบรถเดือนตุลาคม 2018 อันเป็นเดือนแรก ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้น เหลือเพียง 521 คัน นั้น น่าจะทำให้ Nissan ต้องหาทางดันยอดขายของ Terra เพิ่ม ด้วยการอัด Margin และ Campaign ส่งเสริมการขาย เข้าไปให้บรรดาดีลเลอร์ ใช้เป็นอาวุธในการมัดใจคุณลูกค้ากันแน่ๆ ดังนั้น มาถึงตรงนี้ ถ้าคุณเลือก ดีลเลอร์ราใหญ่ สาขาเยอะ มียอดการตัดรถจากสำนักงานใหญ่เยอะ พร้อมส่งมองรถได้ทันที ก็อาจได้ส่วนลดเยอะหน่อย แต่บริการอาจจะไม่ดี และมีปัญหาตามมา ขณะเดียวกัน ถ้าเลือกดีลเลอร์รายเล็กลงหน่อย เจรจากันดีๆ อาจจะได้ส่วนลดมากตามที่คุณพอใจ และอาจได้บริการหลังการขายที่ดีกว่า ดีลเลอร์รายใหญ่สารพัดสาขา ก็เป็นไปได้

หากดูกันดีๆ รุ่น 2.3 V 4×2 อันเป็นรุ่นถูกสุดนั้น ลองเปรียบเทียบ Option กันให้ดีๆ ข้าวของที่หายไปจากรุ่น VL 4×2 ประมาณ 33,000 บาท นั้น ไม่ค่อยคุ้มเลย ขณะที่รุ่น 2.3 VL 4×2 คือรุ่นที่ผมมองว่า คุ้มค่าที่สุด เพราะคุณได้ Option เทียบเท่ากับรุ่น Top VL 4×4 แตกต่างกันแค่ว่า ถ้าอยากได้ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time 4WD รวมทั้งระบบ ล็อคเฟืองท้าย Rear Diff-lock ระบบช่วยลงทางลาดชัน Hill Descent Control (HDC) และเบาะหนังสีน้ำตาล คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 78,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากแปลงเงิน 78,000 บาท เป็นค่าผ่อนส่งแต่ละเดือน รวมเข้าไปด้วย แล้วเห็นว่า จ่ายเพิ่มต่อเดือนไหว หรือ จำเป็นต้องใช้ระบบ 4WD จริงๆ หรือ เป็นคนกลัวเรื่องการตอบสนองของพวงมาลัยที่เบาไป ไม่มั่นใจในย่านความเร็วสูง การยกระดับขึ้นไปเล่นรุ่น VL 4×4 คือทางออกที่ผมว่า ดีกว่า เพราะเมื่อมีการติดตั้งเพลาขับสำหรับล้อคู่หน้าเพิ่มเข้ามา ก็ช่วยให้น้ำหนักพวงมาลัยเพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นใจขณะใช้ความเร็วสูงกว่า 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อีกนิดหน่อย

สำหรับผมแล้ว ในมุมของคนที่เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ผมมองว่า Terra ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ Nissan …ในการใช้ตัวเลขยอดขาย และผลกำไร เป็นตัวชี้นำการวางแผนและทำงานมากจนเกินไป และแทบไม่ได้ใช้กึ๋นมากพอ วิศวกร ก็ทำงานกันแทบตาย ภายใต้งบประมาณที่ไม่มากนัก สารพัดข้อจำกัด และการเมืองภายในองค์กรที่มีอยู่เยอะเหลือเกิน จนออกมาได้เป็นรถคันจริงเช่นนี้ ก็นับว่าเก่งมากแล้ว

เหตุผลที่ทำให้ Terra เปิดตัวได้ไม่เปรี้ยงปร้างเอาเสียเลย มีกระแสลูกค้าพูดคุยถามไถ่ใน Internet & Social Media ระดับหนึ่ง ก่อนจะ Fade หายไป หลังงานเปิดตัว เพียงไม่กี่วันเท่านั้น จนตอนนี้ หลายๆคน ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า Nissan มีรถยนต์รุ่นนี้กับเขาด้วยเหรอ? มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย แต่ถ้าจะให้สรุป ก็คงมีด้วยกัน 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. เปิดตัวล่าช้าเกินไป ตอกย้ำคำว่า “เจ้าพ่อตลาดวาย” ในใจลูกค้าหนักเข้าไปอีก

คู่แข่งส่วนใหญ่ เริ่มเปิดตัว SUV / PPV ของพวกเขา กันมาตั้งแต่ปี 1998 ต่อเนื่องมาตลอดจนถึง 2008 พวกเขาอยู่ในตลาดมานานแล้ว และสร้างการจดจำรับรู้ในแต่ละรุ่นรถยนต์ กันมาตลอด กว่าที่ Nissan จะพร้อมเปิดตัว SUV/PPV สำหรับ ASEAN คันแรกอย่าง Terra ก็ล่าช้ากว่าชาวบ้านเขาไปถึง 20 ปี!! แถมในระหว่างกำลังพัฒนากันอยู่นั้น คู่แข่งก็เปลี่ยนโฉม Full Model Change ให้กับ SUV / PPV ของตนกันไปอีกขั้น แถมโชคยังไม่เข้าข้าง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนภาษีสรรพสามิต ทำให้ Nissan ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ สำหรับตลาดบ้านเราโดยเฉพาะ ทำให้ทั้งโครงการ ก็ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมไปอีกถึง 2 ปี

ลูกค้าเมืองไทยส่วนใหญ่ มีภาพจำกับ Nissan ในฐานะ ผู้ที่ตอบสนองต่อตลาด ล่าช้ามาโดยตลอด จนตั้งฉายาให้เป็น “เจ้าพ่อตลาดวาย” มานานแล้ว แถมบางรุ่น ที่มี Potential น่าจะนำเข้ามาประกอบขายได้ ก็ดันติดปัญหาจากวิธีตัดสินใจ และการเมืองภายในองค์กรระหว่างประเทศอันบ้าบอไร้สาระ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างยอดขายไปมาก

2. ทำการบ้านช่วงเริ่มโครงการ ไม่มากพอ

อันที่จริงแล้ว ไม่แปลกที่ Nissan คิดจะสร้าง Terra เพื่อตลาดในกลุ่ม จีน และ ASEAN เป็นหลัก เพราะ คู่แข่งส่วนใหญ่ ก็คิดและมองแบบเดียวกัน ทว่า กรณีของ Terra นั้น จุดตั้งต้นโครงการ มันเกิดจากการตั้งใจ และให้น้ำหนักกับการเจาะตลาดเมืองจีน เป็นหลัก ในช่วงแรก เพียงเพราะถือว่า เป็นตลาดใหญ่โตสุด ยอดขายเยอะสุด โดยมองแค่ว่า จะทำ SUV/PPV สำหรับตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เหล่านี้ ในต้นทุนที่ถูกสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้เจ็บตัวมากนัก หากขายไม่ดี ทำให้การคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าในตลาดอื่นๆ น้อยไป

สุดท้าย แทนที่ตัวรถจะมีศักยภาพ ส่งไปขายในตลาดอเมริกาเหนือ หรือตลาดอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย ให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ก็กลายเป็นว่า ตัวรถยังติดข้อจำกัดนานับประการ  ทำให้ไม่สามารถบุกตลาดไปได้ไกลมากกว่าประเทศเดิมๆที่เคยวางแผนไว้ แถมตัวเลขยอดขายในตลาดเหล่านั้น ก็เริ่มต้นได้ไม่สวยงามนักโดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดใหญ่ และไทย

3. Design ไม่หรูพอที่จะมัดใจลูกค้าชาว Asia

การนำรถกระบะ Navara มาต่อบั้นท้ายขยายออกไป ให้ดูเหมาะสมลงตัวกับด้านหน้าของรถคันเดิมนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมออกแบบดูเหมือนว่าจะพยายามนำแรงบันดาลใจจาก Nissan Patrol GR ปี 1998 เข้ามาผสมผสานไว้ โดยคิดไปว่า นั่นคือตัวแทนความภาคภูมิใจด้านความแกร่ง สมบุกสมบัน เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนา Tough & Caring ทว่า ผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ทีมออกแบบ จะพยายามทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว ในการผสมผสานทุกข้อจำกัดรวมไว้ด้วยกัน แต่ในมุมของลูกค้า ซึ่งเคยเห็นเส้นสายของคู่แข่งรุ่นอื่นๆมาก่อน เมื่อเปรียบเทียบกัน พวกเขากลับมองว่า Terra ดู “เชย” ,”Outdated”, “เก่า” ,”ไม่ร่วมสมัย” ไปอย่างน่าเสียดาย

ลืมนึกกันไปจริงๆหรือว่า คน Asia หนะ มองการซื้อรถยนต์สักคัน เป็นการบ่งบอกสถานภาพของตนเองและครอบครัวที่สูงขึ้น แน่นอนว่า มันต้องมีภาพลักษณ์ความหรู เสริมเข้ามาด้วยสักหน่อย ไม่ต้องมากนัก แต่ให้อยู่ในเกณฑ์กำลังดี เชื่อไหมว่า แค่เสริมโครเมียมรอบกรอบหน้าต่างทั้ง 2 ฝั่ง เสริมคิ้วกันกระแทกด้านข้างสีเดียวกับตัวถังพร้อมแถบโครเมียมขนาดเล็กมาให้  รวมทั้งปรับปรุงภายในห้องโดยสารด้วยแผงหน้าปัดใหม่ เบาะนั่งที่ดูหรูและนั่สบายกว่านี้ พนักศีรษะไม่ดันกบาลอย่างนี้ ฯลฯ ก็น่าจะช่วยเพิ่มความสนใจให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย วัย 40 ปีขึ้นไป ได้แล้ว

4. Option ที่คนใน Nissan คิดว่า Intelligent เหลือเกินนั้น คู่แข่งเขาให้กันมาหมดตั้งนานแล้ว

อุปกรณ์ Hi-Tech ที่ติดมากับรถนั้น มันอาจจะชวนให้ลูกค้ารู้สึกว้าว ไปกับความ Intelligent ได้…ถ้ามันมาตั้งแต่ปี 2014.. เพราะตอนนั้น ยังไม่มีค่ายไหน ติดตั้งมาให้กับ SUV/PPV ของตนสักราย แต่พอย่างเข้าปี 2015 – 2018 แต่ละค่ายก็เริ่มอัด Option ให้กับรถยนต์ของตน ชนิดจัดเต็ม ไม่ยอมน้อยหน้ากันเลย ทำให้ความ Intelligent ที่ Nissan กำลังพยายามนำเสนอในปี 2018 – 2019 นี้ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีความแปลกใหม่ในสายตาผู้บริโภคเลย ดังนั้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งในปี 2018 – 2019 ด้วยกันแล้ว Terra เองก็ไม่ได้ดู Intelligent เหนือกว่าชาวบ้านเขานัก จะเอากล้องรอบคันไว้เป็นจุดขายนั้น ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นต่อมอยากได้ของลูกค้าเท่าที่ควร

ซ้ำร้าย การที่ตัวรถไม่ได้ดู Intelligent ในสายตาผู้บริโภคมากขนาดนั้น แต่คนใน Nissan ประเทศไทยยังคงต้องทำตามคำสั่งจากบอสที่นั่งอยู่เมืองนอก และพวกผู้บริหารระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าต้องพยายามอัดโฆษณาคำว่า Nissan Intelligent Mobility ชนิดยัดเยียดเข้าไปเต็มพิกัด ทั้งในทุกสื่อโฆษณา ไปจนถึงโบรชัวร์ จนผู้บริโภค เขาจะอ้วกออกมาเป็นคำว่า Intelligent Mobility อยู่แบบนี้ มันไม่ส่งผลดีต่อแบรนด์ในระยะยาวแน่ๆ และยิ่งยัดก็เหมือนยิ่งผิดเป้าหมาย แทนที่ผู้คนจะมองว่ามันคือ Concept ของค่าย บางคนกลับเข้าใจผิดคิดว่ามันคือระบบอำนวยความสะดวกหรือระบบความปลอดภัยก็ยังมี

5. แคมเปญโฆษณา ที่ถูกกำหนดจาก Policy ของชาวต่างชาติ ว่าต้องใช้ร่วมกันทั้งภูมิภาค ซึ่งไม่เหมาะสมกับรสนิยมของลูกค้าในแต่ละประเทศเลย

แนวคิดนี้ มันอาจประสบผลสำเร็จ ถ้า คุณมีเงินมากพอ เหมือนเช่นสมัยที่ Toyota ในช่วงปี 2001 – 2003 ที่นำนักร้องระดับโลก อย่าง Ricky Martin และ Britney Spears มาเป็น Presenter ระดับภูมิภาคของทั้ง Corolla Altis และ Soluna Vios ภาพที่ออกมา จะน่าตื่นเต้น เร้าใจ และสร้างการจดจำในหมู่ผู้บริโภคได้ดี

ทว่า ด้วยงบประมาณอันจำกัด บวกกับ การยึดมั่นใน Policy บ้าบอมากเกินไป รวมทั้งความพยายามในการนำเสนอความแปลกใหม่ในงานโฆษณา ล้มเหลว ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากทีมเอเจนซีผู้เกี่ยวข้อง เลือกทำงาน Creative ออกมา เน้นเอาใจ ให้สอดรับกับรสนิยม (ซึ่งไม่แปลกใหม่มากพอ) ของผู้มีอำนาจตัดสินใจบางคนจากต่างประเทศ  ผลออกมาก็เห็นๆกันอยู่

สำหรับวงการโฆษณาแล้ว งบประมาณ ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เท่ากับ รสนิยมของผู้มีอำนาจในการตัดสินเลือกชิ้นงาน Creative และการมีคนเก่งๆในทีม ซึ่งเข้าใจ ในธรรมชาติอุตสาหกรรมรถยนต์ และรักในแบรนด์ Nissan มากพอ รวมทั้งมีขวัญกำลังใจดีในการต่อสู้ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีกว่า ให้กับแบรนด์ รวมทั้ง สร้างคนในทีมที่ดูแลงานโฆษณา ทั้งฝ่ายแบรนด์ Nissan และฝ่ายเอเจนซีโฆษณา เอง ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างดีกว่าที่เป็นอยู่ น่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว

นั่นคือ 5 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมนึกเสียดายว่า ถ้า Terra เปิดตัวออกมาได้เร็วกว่านี้ อย่างน้อยคือราวๆ ปี 2014 – 2015 ด้วยสเป็กทั้งหมดที่มีอยู่ Nissan ก็คงจะอิ่มเอมกับการเก็บกวาดยอดขายไปได้มากกว่านี้ นับเป็นเรื่องน่าเศร้ามากๆ ที่การทำงานภายใต้องค์กรขนาดใหญ่ อันเชื่องช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับรถยนต์ที่พวกเขาทำออกมาขาย ได้มากขนาดนี้

ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ Nissan เพิ่งจะพร้อมส่ง Terra ลงสู่ตลาด ขณะที่ชาวบ้านชาวช่อง เขาเก็บกวาดยอดขาย SUV/PPV กันไปมากแล้ว ถ้าพูดให้ตรงๆ ก็เหมือนกับว่า เป็น…

“นักเรียน ม.ปลาย หน้าตาถึกๆ ผลการเรียนพอใช้ได้ พยายามเตรียมตัวสอบ Entrance GAT-PAT เข้ามหาวิทยาลัย มานาน แต่ดันตื่นสาย แถมเจอรถติด ก็เลยมาเข้าห้องสอบ สายไปหน่อย”

ท้ายสุดนี้ คำแนะนำของผม ที่มีต่อ Nissan ก็คือ

รุ่นต่อไปของ Terra กรุณา “เปลี่ยน Mindset ในการทำรถกันเสียทีเถอะ” เลิกคิดแค่จะทำ SUV สำหรับตลาด ASEAN และ จีน ได้แล้ว ทำอะไร หัดคิดเป็น Global มากขึ้น และพยายาม แชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในองค์กรระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อการวางแผนพัฒนารถยนต์รุ่นอื่นๆ ร่วมกัน ให้ดี และทันต่อสถานการณ์ของตลาดทั่วโลกและคู่แข่ง ที่เปลี่ยนไป อย่าพยายามคิดแค่จะทำรถให้ตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อย่าลืมสิว่า ณ วันนี้ โลกมันเชื่อมถึงกันหมดแล้ว

ดู Toyota กับ Honda สิ จากเดิม ที่ยอมทำ Corolla , Camry และ Civic กับ Accord แยกตัวถังออกมาเพื่อเอาใจชาวยุโรปมาตลอด ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 สุดท้าย หลายปีผ่านไป ก็ต้องกลับมายุบรวมกันเป็นรุ่นเดียวตัวถังเดียวกันตามเดิมอยู่ดี แม้แต่ Nissan เอง ก็ยังยุบ Teana กับ Altima รวมกันเหลือเพียงตัวถังเดียวมาแล้วเลยนี่หว่า

จริงอยูว่า สำหรับรถเก๋ง ความต้องการลูกค้าในแต่ละทวีปของโลกหนะ แตกต่างกัน แต่พอเป็น SUV แล้ว ส่วนใหญ่ ผู้บริโภคทุกคน ทุกชาติในโลก มันมีแนวความคิดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ อยากได้ SUV/PPV ที่ต้อง ทน ทรหด ดูแลรักษาง่าย แรงแต่ประหยัดน้ำมัน ตามเหตุอันสมควร เส้นสายต้องสวย หรูหรา ภูมิฐาน สมราคา อุปกรณ์ไฮเทค ไม่จำเป็นต้องท่วมคัน แต่ต้องมีจุดขายบางอย่างที่โดดเด่น และมันต้องมาในราคาที่เหมาะสม พร้อมบริการหลังการขายดีที่ดี แค่นั้นก็พอแล้ว!

แม้แต่ พันธมิตร ในเครือของ Renault-Nissan อย่าง Mitsubishi Motors ก็ทำ Pajero Sport ออกมา เพื่อขายให้ได้ทั่วโลกมากสุดเท่าที่ทำได้ และพวกเขาก็ไปได้ดีเสียด้วย! บางที Nissan ควรเรียนรู้จาก Mitsubishi ในเรื่องนี้ ให้มากขึ้นกว่านี้

เหนือสิ่งอื่นใด ลูกค้าในเมืองไทย และ ASEAN พร้อมให้การต้อนรับ รถยนต์รุ่นใหม่ๆจาก Nissan ที่ เจ๋งพอจะงัดข้อกับคู่แข่งได้ ในราคาที่เหมาะสม ดังนั้น อย่าแค่เพียง ฟังเสียงจากตลาดที่มียอดขายมาก อย่างจีน สหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป ทว่า คุณควรมองถึง Asia ในฐานะ ตลาดที่แม้จะมียอดขายไม่มากนัก แต่ยังมีช่องทางเปิดกว้างให้สร้างยอดขายได้มากกว่านี้อยู่ อย่ามองเพียงแค่ เป็นฐานทำกำไรจากสินค้าราคาถูกๆ เลยจะเอาแต่รถยนต์รุ่นที่ขายไม่ดีจากเมืองนอก มาโละขาย เพราะด้วยวิธีการคิดแบบนี้นั่นแหละ ที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมา Nissan ถึงเริ่มเสื่อมความนิยม ในเขต ASEAN โดยเฉพาะในไทย และมาเลเซีย

ส่วนคำแนะนำที่มีต่อ ลูกค้า หรือผู้บริโภคก็คือ

อย่าเพิ่งมองข้าม Terra ไปเพียงเพราะหน้าตาอันแสนเชย ไม่โดนใจคุณ เท่า Fortuner , Pajero Sport , Everest , MU-X หรือ Trailblazer เพราะความจริงแล้ว แม้ว่า Terra จะเปรียบเสมือน “นักเรียน ม.ปลาย หน้าตาถึกๆ ผลการเรียนค่อนข้างดีพอใช้ได้ แต่เข้าห้องเรียน สายเกินไปหน่อย” แต่ถ้าให้โอกาสเขาเข้าห้องสอบ คุณจะพบความจริงว่า Terra มันเป็นรถที่มีดีกว่าที่คิด

แน่นอนละว่า มันอาจไม่โดนใจกลุ่มลูกค้าที่คำนึงถึงเรื่องภาพลักษณ์หน้าตาทางสังคม ทั้งในตัวเมืองตามจังหวัดใหญ่ๆ และในเขตภูธร ซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่ม SUV / PPV แต่ Terra เป็น รถยนต์ ที่ต้องลองขับ แล้วถึงจะรู้ ว่าทำไมคุณถึงไม่ควรตัดออกจากตัวเลือกในใจไปตั้งแต่แรก

เครื่องยนต์ที่แรงสุดในตลาด แถมประหยัดน้ำมันสุด ช่วงล่างดีงาม อุปกรณ์ความปลอดภัย ให้มาไม่น้อยหน้าใคร ในราคาที่สมเหตุสมผล คือจุดเด่น ของ Terra ที่คุณควรรู้ไว้

 

เพราะในหนังโฆษณา เขาไม่ยอมบอกคุณถึงข้อดีเหล่านี้ในรถของตัวเองเลย!

———————–///———————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ทีม ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดสอบ และอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย มีทั้งของ ผู้เขียน และทีมงาน Nissan Europe
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
25 ธันวาคม 2018
Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 25th,2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!