ณ มุมหนึ่งของ ชั้น 50 กว่าๆ ของอาคาร All Season ถนนวิทยุ

ท่ามกลางสายลมจากเครื่องปรับอากาศ ที่ (แม่ง) หนาวโคตรๆ ถึงขั้นต้องถามว่า เปิดแอร์ขนาดนี้ แม่บ้านประจำตึกเค้าคิดว่าเราเป็นอาหารแช่แข็งพรานทะเลกันใช่ม้ายยย?

สาว (เหลือ) น้อย คนหนึ่ง กำลังหนักใจ เพราะนี่ก็ใกล้จะได้เวลาส่งชื่อรุ่นใหม่ ที่จะใช้กับรถยนต์นั่ง Sedan พิกัด B-Segment (ECO Car) คันใหม่ ให้เจ้านายแล้ว แต่ คิด คิด เท่าไหร่ ก็คิดไม่ออกสักที  คิดมาจน…(จงเติมคำในสระอี ที่พ้องเสียงกับคำว่า “ที”)…จะระเบิดแล้ว  ก็ยังหาชื่อโดนๆไม่เจอเลย

ตื๊ดดดดดดดด!

เสียงนาฬิกาจากโทรศัพท์มือถือในโหมดสั่น ร้องเตือน หล่อนหยิบมันขึ้นมาดูเวลา…ใช่ ตอนนี้พักเที่ยงแล้ว ได้เวลาลงไปแก่งแย่งชิงที่นั่ง ใน Food Court ชั้น 2 ของตึก All Season โดยด่วน ไม่เช่นนั้น อาจต้องรอคิวกันนานจนเกือบจะหมดเวลาพักเที่ยงแหงๆ

เดี๋ยวนะ…เดี๋ยวก่อน…
นางพลิกไปดูด้านหลังมือถือตัวเอง…Samsung ATIV….

เฮ้ยยยยย! ชื่อ ATIV นี่ก็เข้าท่าดีเนาะ! ส่งให้เจ้านายเลยดีกว่า ฉันว่า รถคันใหม่ มันควรจะใช้ชื้อ ATIV!!!

นั่นละครับคุณผู้อ่าน ที่มาของชื่อ Yaris ATIV….รถเก๋งรุ่นใหม่ที่………

……ห้ะ! เดี๋ยวนะ? ไม่ใช่หรอกเหรอ? อ้าว แล้วที่มาของมันคืออะไร ยังไงกันละเนี่ย?

Michinobu Sugata ; President คนล่าสุดของ Toyota Motor (Thailand) แถลงไว้ในงานเปิดตัวของ Yaris ATIV ว่า “สำหรับในประเทศไทย เราตั้งชื่อ Yaris Sedan รุ่นใหม่ของเราว่า ATIV ที่มาจากคำว่า Smart (ฉลาด) และคำว่า Active (คล่องแคล่ว) และยังสะท้อนถึง Creative ความคิดสร้างสรรค์ และ Innovative นวัตกรรม”

อ้อ ที่มาของชื่อรุ่น เป็นเช่นนี้เอง…เอาคำว่า ATIV จาก คำว่า Active Creative และ Innovative มา แล้วเติมคำว่า Smart (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลย แถมยังเชยแหลกลาญ) เข้าไปให้มันดูเก๋โก้ ตามประสา วิชา Marketing ก็เท่านั้นเอง

Sugata-san กล่าวต่อไปว่า “ATIV จะเป็นรถที่เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าในสังคมยุคใหม่ และกลุ่มลูกค้าครอบครัว โดยจะสามารถเติมเต็มการใช้ชีวิตในทุกรูปแบบ พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ เรามั่นใจว่า ATIV จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game Changer) ทางการตลาดรถยนต์นั่ง ด้วยรูปลักษณ์ดีไซน์ที่โดดเด่น ความสะดวกสบายในการขับขี่ ภายในห้องโดยสารที่กว้างขวาง และไร้เสียงรบกวน ตลอดจนระบบความปลอดภัยเหนือรถระดับเดียวกัน ที่สำคัญ Yaris ATIV ยังเป็นรถที่คุ้มค่าและลงตัวอย่างไร้ที่ติ โดยมาพร้อมกับราคาที่ทุกคน สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก และ Yaris ATIV จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ตอบรับกับทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ และมีคุณสมบัติที่มากกว่าความเป็น Eco Car ทั่วไป”

เหรอ? ลงตัวอย่างไร้ที่ติ? ไม่หรอกม้างงง ไม่มีรถยนต์คันใดรุ่นใด ยี่ห้อใดในโลกนี้หรอก ที่ไม่มีสิ่งใดให้ต้องตำหนิ เพื่อนำไปปรับปรุงกันเลย ต่อให้เป็น Rolls-Royce ก็ยังมีเรื่องให้ติติงได้ตั้งหลายประการ นับประสาอะไรกับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก พิกัด B-Segment (ECO Car 1.2 ลิตร) สำหรับมวลหมู่ประชาชนคนไทย อย่าง Sedan รุ่นนี้กันละ?

เชื่อแน่ว่าหลายๆคน คงจะสงสัยว่า ทำไม Toyota ถึงต้องทำ Yaris ATIV ออกมาขาย ในเมื่อขนาดตัวรถมันเท่าๆกับ Vios เลย แต่วางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร แล้วมันจะซ้ำซ้อนกับ Vios ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร หรือไม่ พวกเขาจะจัดการกับ Vios ต่อไปอย่างไรในอนาคต ขณะเดียวกัน ATIV จะแตกต่าง และมีจุดเด่นจุดด้อย ต่างจาก Vios และคู่แข่งในกลุ่ม B-Segment/ECO Car 1.2 ลิตร ด้วยกัน อย่าง Honda Brio Amaze, Mazda 2 รุ่น 1.3 ลิตร , Mitsubishi Attrage , Nissan Almera และ Suzuki Ciaz อย่างไรบ้าง บทความ รีวิว ข้างล่างนี้ น่าจะตอบทุกข้อสงสัยของคุณได้จนครบ

คำถามแรกที่จะต้องตอบกันก่อนก็คือ…ที่มาที่ไปของ Yaris ATIV เหตุใด Toyota ถึงทำ ECO Car Sedan ออกมาขายช้ากว่าชาวบ้านเขา แถมยังใช้วิธีนำ Vios เดิม มาเปลี่ยนเปลอกตัวถัง แล้วจับวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร เข้าไป แทนที่จะทำรถออกมาให้มีขนาดตัวถังแตกต่างกันมากกว่านี้?

การกำเนิดของ Yaris ATIV นั้น ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น เมื่อ Toyota ประกาศตัวเข้าร่วม เป็นหนึ่งในผู้ยื่นขอรับสิทธิพิเศษด้านภาษีตามโครงการ ECO Car Phase 1 จาก BOI และรัฐบาลไทย ในปี 2007 เช่นเดียวกับ Honda , Mitsubishi Motors , Nissan , Suzuki (ไม่นับรวม Tata Motors และ Volkswagen Group ที่ยื่นความจำนงค์ และถอนตัวไปในภายหลัง) แม้ว่าจะมาช้าเป็นคนสุดท้าย ตามประสายักษ์ใหญ่ที่ต้องประชุม และพูดคุยกันภายในองค์กรในหลากหลายประเด็น แต่ท้ายที่สุด ยังไงๆ Toyota ไม่ยอมตกขบวนผู้รับสิทธิพิเศษทางภาษีแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีในครั้งนี้ เกี่ยวพันไปถึงแผนการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็ก B-Segment ระดับ Global ของพวกเขา แทบทั้งหมด เพราะในเวลานั้น การศึกษาวิจัยตลาดทำให้ Toyota ได้เรียนรู้ว่า ความต้องการรถยนต์ B-Segment ในตลาดทั่วโลกนั้น แตกต่างกัน ลูกค้าฝั่งญี่ปุ่นและยุโรป เริ่มไม่ต้องการรถยนต์ Hatchback 3 ประตูอีกต่อไป แต่หันไปมองหารถยนต์ Hatchback 5 ประตู คันเล็ก เพื่อขับขี่ไปทำงาน จ่ายตลาด และกลับบ้านเป็นหลัก ขณะที่ลูกค้าฝั่งจีน ไทย และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ต่างมองว่า อยากได้รถเก๋งขนาดใหญ่ขึ้น มีพื้นที่ภายใน เพียงพอกับผู้โดยสาร 2 – 5 คน เพื่อเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดได้ด้วย

Toyota ต้องใช้เวลาศึกษาอีกนานเอาเรื่อง กว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะแยกพัฒนา B-Segment Hatchback รุ่น Yaris ให้มีตัวถังแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละตลาด โดยลูกค้าชาวยุโรปกับญี่ปุ่น จะได้ตัวถังขนาดมาตรฐาน ไซส์เล็ก (ซึ่งรถคันจริง จะเล็กไปหน่อยสำหรับลูกค้าคนไทย) กับ Yaris Hatchback ขนาดใหญ่ สำหรับตลาดประเทศกำลังพัฒนา ควบคู่กับการทำ Vios Sedan 1.5 ลิตร ไปพร้อมๆกันเลย

ทว่า สำหรับเมืองไทย การเข้าร่วมรับสิทธิพิเศษ ECO Car Phase 1 ทำให้ Toyota เลือกจะปรับแผนการพัฒนา Yaris Hatchback สำหรับตลาดบ้านเรา จากเดิม ที่จะวางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เหมือนประเทศอื่น แล้วขายเป็นรุ่นคู่ขนานไปกับ Vios รุ่นที่ 3 ให้เปลี่ยนมาวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร แทน คราวนี้ก็ต้องพยายามปรับจูนรถกันในทุกวิถีทาง เพื่อทำให้สามารถผ่านข้อกำหนดของรถยนต์ที่จะจำหน่ายตามมาตรฐาน ECO Car Phase 1 ได้

6 ปีผ่านไป 25 มีนาคม 2013  เปิดตัว Vios รุ่นที่ 3 ในเมืองไทย ณ งาน ฺBangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2013 ทันทีที่เห็นรูปโฉมคันจริง หลายคนกลับรู้สึกไม่ชอบหน้าตา แถมพอยิ่งรู้ว่า Toyota ยังคง ใช้เครื่องยนต์เดิม 1NZ-FE ที่เริ่มวางใน Vios มาตั้งแต่ เดือนพฤศติกายน 2002 หลายคนก็เริ่มร้องยี้ รู้สึกเซ็ง ว่า Toyota ไม่ยอมยกระดับมาตรฐานด้านเทคโนโลยี ในรถยนต์ขนาดเล็กของตนเสียที ปล่อยให้คู่แข่งอย่าง Honda กับ Mazda เขานำลูกเล่นใหม่ๆ รวมทั้งเครื่องยนต์ใหม่ๆ มาใส่ให้ลูกค้า กันอยู่ได้ (ซึ่งที่จริง Honda ก็ใช้เครื่อง L15 มานานพอกันแหละ) ดังนั้น กระแสตอบรับจากลูกค้าในช่วงแรก จึงเงียบสนิท ไม่ดังระเบิด เหมือนอย่างที่เคยเป็น

ก็เลยต้องพึ่งพา ดาราช่อง 3 “เจมส์ จิรายุ” มาเป็น Presenter ใหพอช่วยดึงยอดขายขึ้นมากระเตื้องได้บ้าง แต่ท้ายสุด ก็โดนคู่รักคู่แค้น Honda City ออกรุ่นใหม่มาแซงคืนไปอยู่ดีในช่วงปลายปี 2013

ขณะเดียวกัน 22 ตุลาคม 2013 Toyota ก็ส่ง Yaris พร้อมเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ก็ออกสู่ตลาดเมืองไทย หลายคนตั้งคำถามกับรูปลักษณ์ ว่าจะถูกใจคนไทยแน่หรือ แต่ในที่สุด ยอดขายก็ชี้วัดว่า คนไทยจำนวนมาก อยากได้ Toyota ป้ายแดง คันละ 500,000 บาท มีอุปกรณ์มาให้แค่ระดับพอเพียง ไม่จำเป็นต้องมีถุงลมนิรภัย หรือ ABS ก็ได้ด้วยซ้ำ (แต่ถ้ามีมาให้ ก็เอา) ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สนใจเรื่องพละกำลังเครื่องยนต์ หรือรูปทรงของรถ มากนัก นั่นทำให้ตลอด 3 ปีที่เปิดตัว Toyota ขาย Yaris เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ไปได้มากถึง ประมาณ 150,000 คัน!

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ยอดขายมากกว่านี้ Toyota ก็รู้อยู่เต็มอกว่า สำหรับคนไทย ถ้าพูดถึงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว ยังไงๆ คนส่วนใหญ่ จะเลือกซื้อรถเก๋ง Sedan 4 ประตู เป็นหลักอยู่ดี ตามแนวคิดว่าท้ายยาวกว่าเวลาถูกชนย่อมได้เปรียบ

คุณวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ Toyota Motor (Thailand) กล่าวในงานแถลงข่าวว่า “กลุ่มลูกค้าปัจจุบันของ Yaris Hatchback นั้น เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 18-29 ปี เป็นพนักงานบริษัท หรือนักศึกษา ชอบความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร มีไลฟ์สไตล์สนุกสนาน และมักเป็นกลุ่มที่ซื้อรถยนต์เป็นคันแรก

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า ยังมีลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่คิดจะซื้อรถยนต์เป็นคันแรก อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังเริ่มบทบาทใหม่ในชีวิต เข้าสู่วัยทำงาน ต้องการรถยนต์ที่สวยและโดดเด่น มีฟังก์ชันการใช้งาน ที่ตอบรับกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา เป็นชาย – หญิง อายุ 22 – 29 ปี เป็นพนักงานบริษัท หรือทำอาชีพอิสระ มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย มุ่งมั่น ช่วงคิด และมีแบบแผน”

ดังนั้น เมื่อเห็นว่า ยอดขาย Yaris 1.2 ลิตร มันเดินไปได้ (แม้ว่าจะกินส่วนแบ่งยอดขาย Vios 1.5 ลิตร ไปเยอะมากก็ตาม) Toyota จึงตัดสินใจ วางกลยุทธ์แปลกๆ ด้วยการยอมลากอายุตลาดของ Vios 1.5 ลิตร และ Yaris Hatchback 1.2 ลิตร ออกไป โดยจะเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Model Change ในช่วงประมาณปี 2019 – 2020 เพื่อให้คุ้มทุนกำไรมากกว่านี้ แล้วทำ Yaris Sedan ใหม่ ขึ้นมาอีกคันหนึ่ง ขายควบคู่กันกับ Yaris Hatchback ที่ถึงคิวต้องปรับโฉม Minorchange กันพอดี

นั่นละครับ ที่มาของ Yaris Sedan รุ่นใหม่ ที่ใช้ชื่อในประเทศไทยว่า Yaris ATIV…

การสร้าง Yaris Sedan ขึ้นมาอีกคันนั้น Toyota ใช้วิธี นำ Vios รุ่นปัจจุบัน มาวิเคราะห์ดูว่า จุดเด่นจุดด้อย และจุดที่ควรปรับปรุง มีอะไรบ้าง สิ่งที่ลูกค้าของ Vios ให้ความเห็นไว้ ถูกนำมาคิดและต่อยอดออกมา ด้วยวิธีการ นำ Vios คันเดิม มาเปลี่ยนงานออกแบบภายนอกและภายใน ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะ จุดที่ลูกค้ามักจะสังเกตเห็นเป็นประเด็นแรกๆ จะถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ได้แก่รูปลักษณ์และเส้นสายภายนอกทั้งคัน รวมทั้งแผงหน้าปัด และแผงประตูด้านข้าง เพื่อให้ดูแตกแต่างจาก Vios เดิม มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ยังคงต้องใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ในจุดที่ลูกค้ามองไม่เห็น ร่วมกับ Vios รุ่นปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนมากสุด ไปพร้อมๆกัน

พูดง่ายๆ คือ เอา Vios เดิม มาเปลี่ยนเปลือกตัวถัง ปรับงานออกแบบภายในนิดหน่อย จับวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร แล้วออกขายในชื่อ Yaris ATIV นั่นเอง!

Takatomo Suzuki หัวหน้าวิศวกร (Chief Engineer) โครงการพัฒนา Yaris Sedan เล่าว่า “ในระหว่างการพัฒนา Yaris ATIV ผมได้เดินทางไปยังหลายประเทศ และผมรู้สึกว่า วิธีการที่คนในแต่ละประเทศได้สัมผัส และเพลิดเพลินไปกับการใช้รถยนต์ ก็ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมสังเกตเห็นว่า ลูกค้าทุกคน มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ในขณะที่พวกเขาเพลิดเพลินไปกับรถยนต์ของตนเอง แต่จริงๆแล้ว พวกเขาอยากจะให้ทุกๆคน ที่อยู่รอบข้าง มีความสุขไปกับรถยนต์ที่เขาเลือกด้วยเช่นเดียวกัน

นอกเหนือจากตอบสนองความต้องการนี้แล้ว ผมอยากให้รถยนต์คันนี้ สามารถเปลี่ยน “ปัจจุบัน” (ของลูกค้า) และเปิดกว้างสู่โอกาสต่างๆในอนาคตได้

ดังนั้น Yaris ATIV จึงถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “New Value Pioneer” หรือ “ผู้ริเริ่มคุณค่าใหม่” สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากรถยนต์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมเชื่อว่า นี่แหละ ที่จะสร้าง “กลุ่มผู้ชื่นชอบ Toyota กลุ่มใหม่”

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจะต้องทำรถยนต์ที่ดีที่สุด แต่ในราคาที่ไม่สูงมาก ความจริงแล้ว ลูกค้าไม่ต้องการรถยนต์ขนาดเล็ก โดยทั่วไปแล้ว หลายคนคิดว่า รถยนต์ขนาดเล็ก จะเป็นรถยนต์ที่ราคาถูก ซึ่งรถยนต์ระดับนี้ ก็จะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอยู่แค่ระดับหนึ่ง แต่จากการพัฒนาในหลากหลายขั้นตอน เราได้สร้างรถยนต์ที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของลูกค้า”

Toyota เริ่มยิง Campaign โปรโมทการเปิดตัว Yaris ATIV เป็นครั้งแรกในรูปแบบ Teaser Ad. โดยมีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ แบก Yaris ATIV สีน้ำเงิน จอดอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์กระจกใส ในช่วง 9 – 14 สิงหาคม 2017 พร้อมกับภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ จากนั้น จึงจัดงานเปิดตัว Yaris ATIV ใหม่ ในประเทศไทย เป็นแห่งแรกในโลก เมื่อ 15 สิงหาคม 2017 ณ ห้อง Bangkok Convention Centre โรงแรม Centara Grand Central World โดยมีแคมเปญพิเศษ แจก Drone ถ่ายภาพให้กับลูกค้าที่สั่งจอง

ล่าสุด หลังการเปิดตัว Toyota ระบุว่า ตัวเลขยอดสั่งจองจนถึง สิ้นเดือนกันยายน 2017 มีมากถึง 7,400 คัน  โดยส่งมอบได้วันละ 100 คัน ผมแอบแปลกใจเล็กน้อยว่า ปกติแล้ว ในอดีต ถ้ายอดจองสูงขนาดนี้ Toyota จะต้องออกข่าวประชาสัมพันธ์มาแล้ว ประมาณว่า “Yaris ATIV กระแสแรง ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก จนมียอดสั่งจองถึง 7,400 คัน” ทว่า คราวนี้ กลับเงียบสนิท ไร้วี่แววใดๆมาให้ได้ยิน ส่วนปริมาณรถใหม่ป้ายแดงบนถนนนั้น ผมพอจะเห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบหวือหวามากนัก แถมยังไม่ค่อยเห็น
รถคันจริง วิ่งบนถนนในเขตกรุงเทพมหานคร มากเท่าที่ควรจะเป็น

จากนั้น สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว เป็นประเทศที่ 2 ในโลก ที่ Toyota ส่งรถยนต์รุ่นนี้ไปเปิดตัวและออกจำหน่ายที่นั่น โดยทำตลาดในชื่อ Toyota Vios เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2017 ความแตกต่างจาก ATIV เวอร์ชันไทย อยู่ที่ การยกระดับมาใช้เครื่องยนต์ 1NR-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,329 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 80.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-i 99 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 123 นิวตัน-เมตร (12.5 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ CVT จุดเด่นอยู่ที่ อุปกรณ์ความปลอดภัย เทียบเท่าเวอร์ชันไทยทุกประการ! รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ ที่นี่ (CLICK HERE)

Yaris ATIV มีขนาดตัวถังยาว 4,425 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,470 / 1,460 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นดิน (Ground Clearance) 133 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 42 ลิตร

หากเปรียบเทียบกับ Vios รุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีตัวถังยาว 4,410 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า / หลัง (Front / Rear Track) อยู่ที่ 1,455 และ 1,445 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 145 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,075 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 42 ลิตร จะพบว่า ATIV มีความยาวเพิ่มขึ้น 15 มิลลิเมตร (จากความยาวของกันชนหน้าและหลัง) แถมยังกว้างกว่า Vios รุ่นปัจจุบันอีกถึง 30 มิลลิเมตร อย่างน่างุนงง ขณะที่ความสูง และระยะฐานล้อ เท่ากับ Vios เดิมเป๊ะๆ ความกว้างช่วงล้อต่างกัน เป็นผลมาจาก การลดขนาดล้อยาง จาก 16 นิ้ว ลงมาเหลือ 15 นิ้ว ส่วน Ground Clearance ลดลง 12 มิลลิเมตร

แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันอย่าง Suzuki Ciaz ที่ได้ชื่อว่า เป็น B-Segment ECO Car Sedan คันใหญ่สุดในตลาด ซึ่งมีตัวถังยาว 4,490 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,485 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,495 / 1,505 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 160 มิลลิเมตร จะพบว่า ATIV สั้นกว่า Ciaz 65 มิลลิเมตร กว้างเท่ากันพอดีเป๊ะ ATIV เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า Ciaz ถึง 100 มิลลิเมตร!

หรือถ้าเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Attrage ซึ่งมีขนาดตัวถังใกล้เคียงกับ Toyota Vios รุ่นปี 2007 – 2012 ด้วยความยาวตลอดคัน 4,245 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,510 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร จะพบว่า ATIV ยาวกว่าถึง 180 มิลลิเมตร กว้างกว่า 60 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 35 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อเท่ากันกับ ATIV พอดีเป๊ะ

ต่อให้เปรียบเทียบกับ Nissan Almera ซึ่งมีความยาว 4,426 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร จะพบว่า Almera ยาวกว่า ATIV เพียงแค่ 1 มิลลิเมตร เท่านั้น!! แถมแคบกว่ากันอยู่ 35 มิลลิเมตร แต่สูงกว่าอยู่ 25 มิลลิเมตร ทว่า ระยะฐานล้อสั้นกว่า Almera อยู่ 50 มิลลิเมตร

ยิ่งไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับ Honda Brio AMAZE เลย เพราะด้วยความยาวแค่ 3,990 มิลลิเมตร กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,485 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,405 มิลลิเมตร จะพบว่า ATIV ยาวกว่าถึง 435 มิลลิเมตร!! กว้างกว่า 50 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร แต่ ATIV มีระยะฐานล้อยาวกว่า AMAZE ถึง 145 มิลลิเมตร!

Takatomo-san กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราจะต้องสร้างให้รถยนต์มีตัวตนที่ชัดเจน และมีภาพลักษณ์ที่ล้ำสมัย เราจึงทุุ่มเทกำลังและเวลาในการพัฒนารูปลักษณ์ของรถยนต์คันนี้ เพราะว่าเราต้องการให้รูปร่างและหน้าตาของรถยนต์ มีงานออกแบบภายนอกที่ลูกค้าเกิดความภาคภูมิใจ”

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบขึ้นใหม่ตั้งแต่หัวจรดท้าย ก็จริง แต่ยังพอมีกลิ่นอายเค้าโครงของ Vios เดิมหลงเหลืออยู่ พอให้รับรู้ได้จากบริเวณกระจกหน้าต่างของรถ รอบคัน แม้ว่า บานประตูคู่หลัง จะไม่เหมือนกันเป๊ะก็ตาม บั้นท้ายถูกออกแบบขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับด้านหน้ารถ ที่ดูแล้วชนให้นึกถึง Saturn SC Coupe 2 และ 3 ประตู งานจาก General Motors ในปี 1998 ขึ้นมาตะหงิดๆ

กระจังหน้า โครเมียม รมดำ ดีไซน์ดูเหมือนแยกชิ้น ประดับด้วยพลาสติกรอบสัญลักษณ์ สามห่วง ของ Toyota สีเดียวกับตัวถ้ง ไฟหน้าของทุกรุ่นเ็นแบบ Projector ใช้หลอด Halogen รมดำ กระจกมองมองข้างในรุ่น G , E และ J พ่นสีเดียวกับตัวรถ เฉพาะ G กับ E มีไฟเลี้ยวมาให้ ชุดไฟท้ายของทุกรุ่น เป็นแบบ LED Guiding และมีแผ่นสะท้อนแสง Reflector ที่เปลือกกันชนท้าย ทั้ง 2 ฝั่ง

รุ่น S กับ G จะมี ไฟส่องสว่างขณะขับรถกลางวัน LED Daytime Running Light มาให้ พร้อมไฟตัดหมอกหน้า มือจับประตูพลาสติกชุบโครเมียม พร้อมระบบ Smart entry และเสาอากาศแบบ Shark Fin บนหลังคารถ และระบบเปิดไฟหน้าค้างไว้ 30 วินาที หลังดับเครื่องยนต์ ลงจากรถ Follow me Home

เฉพาะรุ่น S จะเพิ่มการตกแต่ง ประหลาดๆ นิดหน่อย ด้วยวงแหวนรอบไฟหน้า Projector สีแดง แถบสีแดงที่บริเวณด้านล่างของช่องรับอากาศที่เปลือกกันชนหน้า  และด้านล่างของฝาครอบกระจกมองข้างสีดำแบบเงา Piano Black (พร้อมไฟเลี้ยว) และไฟท้าย LED รมดำ

รุ่น S,G และ E จะสวมล้ออัลลอย ขนาด 15 นิ้ว พร้อมยางขนาด 185/60 R15 ส่วนรุ่น J จะมีฝาครอบกระทะล้อเหล็ก พร้อมยางขนาดเดียวกัน แต่ถ้าเป็นรุ่น J ECO จะให้มาแค่ล้อเหล็กสีดำ ขนาด 14 นิ้ว พร้อมยาง 175/65 R14

ระบบกลอนประตู ในรุ่น S , G และ E เป็นกุญแจ Remote Control แบบ Keyless Entry มีสวิตช์ล็อก ปลดล็อก บานประตู และปลดล็อกฝาท้าย เพียงแค่พกกุญแจไว้กับตัว เดินเข้าไปใกล้รถ กดปุ่มสีดำบนมือจับประตู ก็สามารถล็อค / ปลดล็อกประตูได้โดยไม่ต้องหยิบกุญแจรีโมทขึ้นมา มีระบบป้องกันโจรกรรม Immobilizer และระบบสัญญาณร้องเตือนภัย TDS (Theft Deterrent System) มาให้

ถึงแม้ว่าตัวรีโมทกุญแจ จะยกชุดมาจาก Vios แต่ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า มือจับประตูแบบพลาสติกชุบโครเมียมนั้น ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ ไม่เหมือนกับ Vios รุ่นปัจจุบัน

ส่วนรุ่น J และ J ECO จะได้ใช้กุญแจรถแบบดั้งเดิม พร้อมสวิตช์กดล็อกและปลดล็อก ฝังในตัวลูกกุญแจ จากโรงงาน

ในเมื่อตัวรถ เป็นการนำเอา Vios เดิม มา Re-engineering ใหม่ ดังนั้น ช่องทางเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า จึงมีหน้าตาเหมือน Vios และ Yaris Hatchback ทุกประการ และถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ก็มีตำแหน่งจุดยึดบานประตูคู่หลัง รวมทั้งรอยปูดโปนสี่เหลี่ยม ในตำหน่งที่เหมือนกันกับญาติผู้พี่ทั้ง 2 รุ่น เป๊ะ ชนิดถ่าย Xerox กันออกมาเลย

นั่นหมายความว่า คุณยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการหย่อนกันลงเข้าไปนั่ง หรือลุกออกจากเบาะคู่หน้าสักเล็กน้อย ตามเดิมเป๊ะ เนื่องจากเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ค่อนข้างลาดเอียง ถ้าเป็นไปได้ แนะนำว่า สำหรับคนตัวสูง หรือศีรษะใหญ่โตกว่ามนุษย์มนาทั่วไป ควรปรับตำแหน่งเบาะคนขับให้ต่ำที่สุดก่อน เพื่อช่วยลดโอกาสจากศีรษะไปโขกกับเสาหลังคารถคู่หน้า ส่วนเบาะฝั่งซ้าย ต้องทำใจ เพราะไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้

แผงประตูด้านข้าง ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีตำแหน่งของพนักวางแขน สูงขึ้นจาก Vios และ Yaris รุ่นที่แล้วเล็กน้อย ทำให้สามารถวางท่อนแขนได้ดีขึ้นกว่าทั้ง Vios และ Yaris เดิม โดยทุกรุ่นย่อย จะหุ้มพื้นที่วางแขนด้วยผ้า เสริมด้านในด้วยฟองน้ำ แต่เฉพาะรุ่น S จะหุ้มด้วยหนัง ตกแต่งด้วยด้ายสีแดง แผงควบคุมกระจกหน้าต่างไฟฟ้าของรุ่น J ECO , J และ E จะเป็นพลาสติกสีดำ แต่รุ่น G กับ S จะเป็นพลาสติกสีดำ Piano Black

มือจับเปิดประตูด้านใน ของรุ่น S เป็นสีเงิน รุ่น G จะเป็น พลาสติกเคลือบโครเมียม ส่วนรุ่น E จะเป็นพลาสติกสสีดำ หรือเบจ ขึ้นอยู่กับสีของห้องโดยสารที่คุณเลือก แต่ในรุ่น J และ J ECO จะเป็นพลาสติกสีดำด้านธรรมดา มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท และช่องวางเอกสารขนาดเล็ก มาให้ใช้งานกันด้วย

ภายในห้องโดยสาร คราวนี้ ATIV ใหม่ จะใช้มุขเดียวกับ Vios คือ มีให้เลือกทั้งภายในสีดำ ครบทุกรุ่นย่อย กับสีเบจ ซึ่งจะมีเฉพาะรุ่น E กับ G เท่านั้น ส่วนเพดานหลังคา และพลาสติกหุ้มเสาหลังคารอบคัน บุด้วยวัสดุ Recycle สีเทาอ่อน สว่างๆ เหมือน Vios รุ่นที่ 3 ชนิดถอดสลับยกใส่กันได้แทบทั้งยวง!

เบาะนั่งคู่หน้าก็เช่นเดียวกัน ยกชุดมาจาก Vios 1.5 ลิตร และ Yaris 1.2 ลิตร ทั้งยวง โดยรุ่นปกติ ทั้ง J ECO , J , E และ G จะได้ใช้เบาะนั่งแบบมาตรฐาน เหมือนกับ Vios 1.5 รุ่น ธรรมดา ทั้ง J , E และ G รวมทั้ง Yaris 1.2 ลิตร Hatchback รุ่นเดิม กับรุ่นใหม่ คือ J ECO, J , E และ G

ส่วนรุ่น S ก็จะเปลี่ยนมาใช้เบาะนั่งคู่หน้า ทรงสปอร์ต ยกมาจาก Vios 1.5 S พร้อมผ้าหุ้มเบาะลายใหม่สีดำ/แดง และใช้ด้ายสีแดงในการเย็บขึ้นรูปผ้าเบาะเข้าด้วยกัน ส่วนคันโยกปรับระดับเบาะคนขับ สูง – ต่ำ มีมาให้ครบทกรุ่นย่อย ยกเว้น J ECO

ความแตกต่างของเบาะนั่งทั้ง 2 แบบ ให้ดูที่พนักศีรษะ ซึ่งออกแบบมาให้มีรูปทรงแตกต่างกัน รุ่นเบาะปกติ จะเป็นแบบบาง ส่วนรุ่น S พนักศีรษะจะมีส่วนฐาน หนาขึ้นนิดนึง นอกจากนี้ ยังดูได้ที่ปีกข้างของพนักพิงหลัง และปีกเบาะรองนั่งด้านข้าง ที่มีตำแหน่งฝีเย็บตะเข็บไม่เหมือนกัน รวมทั้งลวดลายผ้าเบาะก็แตกต่างกัน

ภาพรวม การนั่งโดยสาร ก็เหมือนกับ Vios และ Yaris Hatchback เดิม นั่นแหละครับ กล่าวคือ พนักศีรษะของเบาะคู่หน้า ทั้ง 2 แบบ ไม่ดันกบาลเท่าใดเลยทั้งคู่ พนักพิงหลัง ของรุ่น S จะมีปีกข้างที่ช่วยเพิมการรองรับสรีระด้านข้างของผู้ขับขี่ อีก”นิดนึง” ส่วนตัวพนักพิงหลัง ออกแบบให้เว้าลึกเข้าไป โอบกระชับลำตัวผู้โดยสาร แถมยังรองรับช่วงหัวไหล่ และสะโพกดีเหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ยังคงมีขนาดปกติ ตามมาตรฐานของ Toyota คือ “สั้น” พวกเขายังไม่คิดจะปรับปรุงแก้ไขในประเด็นนี้เลย แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 4 ปี หลังจากที่เราเคยออกความคิดเห็นไปในบทความ Full Review Toyota Vios ก็ตาม มาวันนี้ ผมก็ยังคงยืนยันความเห็นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ผมอยากให้เพิ่มความยาวมากกว่านี้ อีกราวๆ 10 มิลลิเมตร น่าจะช่วยให้การรองรับต้นขา ขณะขับขี่ทางไกล สบายขึ้นกว่านี้อีกนิดนึง

พื้นที่เหนือศีรษะ ก็เหมือนกับ Vios และ Yaris Hatchback ทั้งรุ่นเดิมและรุ่นใหม่นั่นละครับ มีเหลือมากพอให้คนตัวสูงราวๆ 185 – 190 เซ็นติเมตร พอจะนั่งได้โดยที่หัวไม่ชนเพดาน ด้านหน้า

ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า ในรุ่น S กับ G จะเพิ่มช่องใส่หนังสือมาให้ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสาร ขณะที่รุ่น E กับ J จะมีมาให้เฉพาะฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ส่วนรุ่น J ECO จะไม่มีมาให้เลย

สิ่งที่น่าชมเชยคือ ผ้าหุ้มเบาะของ Toyota ยังคงคุณงามความดี ในด้านสัมผัสอันนุ่มสบาย ไม่แพ้บรรดารถเก๋ง Toyota ขนาดเล็กที่ขายกันอยู่ในญี่ปุ่นเลย!! นี่คือสิ่งที่ดีงามมากๆ

อีกประเด็นที่น่าชมเชยแทนลูกค้าใหม่ของ Toyota แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ลูกค้า Vios กับ Yaris รุ่นที่แล้ว คงจะก่นด่าอย่างช่วยไม่ได้ นั่นคือ หลังจากโดนวิพากษ์วิจารณ์มาเยอะ ในที่สุด พวกเขาก็ติดต้ังระบบกลไกปรับสูง – ต่ำ ให้กับชุดเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ ELR 3 จุด กลับคืนมาให้เสียที! ไชโย!!

ช่องทางเข้า-ออก บานประตู คู่หลัง ดูผ่านๆ เหมือนยกมาจาก Vios แต่ความจริงแล้ว จะพบว่า ความยาวของแนวเส้นกรอบหลังคาด้านบน มีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดย ATIV จะมีพื้นที่ตรงนี้ ยาวกว่า Vios นิดเดียวเท่านั้น อีกทั้งขอบเสากรอบประตู บริเวณใกล้กับแผ่นพลาสติก สามเหลี่ยมสีดำด้าน กรอบประตูของ Vios จะตั้งตรง ในขณะที่กรอบประตูของ ATIV จะเอียงโน้มมาทางด้านหน้ารถเล็กน้อย ราวๆ 10-20 องศา

กระนั้น การลุกเข้า – ออกจากเบาะน่งด้านหลัง ก็แทบไม่แตกต่างไปจาก Vios เท่าใดเลย คุณอาจต้องก้มศีรษะเพิ่มจากปกตินิดนึง เพื่ไม่ให้หัวไปโขกกับเสากรอบหลังคาด้านบน

กระจกหน้าต่างบนบานประตูคู่หลัง สามารถเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบแผงประตู ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ เหมือนกับแผงประตูคู่หน้า มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาทมาให้

พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลังของรุ่น S จะหุ้มด้วยหนัง ตกแต่งด้วยด้ายสีแดง เหมือนแผงประตูคู่หน้า ขณะที่ รุ่น G กับ E จะหุ้มด้วยผ้า ตามสีภายในห้องโดยสาร ดำ หรือ เบจ แต่รุ่น E , J และ J ECO จะไม่มีการหุ้มผ้าใดๆมาให้เลย ปล่อยเปลือยให้เห็นชิ้นงานพลาสติกกันอย่างนั้น ตัวพนักวางแขน อยู่ในระดับที่กำลังดี พอวางแขนได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นเต็มที่นัก

เมื่อเข้ามานั่งบนเบาะหลัง ก็พบว่า บรรยากาศมันคุ้นเคย เหมือนอยู่ใน Vios ไม่มีผิดเพี้ยน ไม่เว้นแม้แต่จำนวนของ มือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) ที่มีมาให้ครบ 4 ชิ้น เหนือประตูทุกบาน อาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็ตรงที่แผ่น พลาสติก แปะทับเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีหน้าตาคล้ายคลึง แต่ไม่เหมือนกับ Vios ไปเสียทีเดียว แค่นั้นเลยจริงๆ

เบาะนั่งด้านหลัง ก็ยกมาจาก Vios ทั้งยวง ไม่ต้องออกแบบใหม่ให้เสียเวลา พนักศีรษะด้านหลังที่เคยแข็งมาจาก Vios อย่างไร เมื่อมาอยู่ใน ATIV ก็ยังคงแข็งอยู่อย่างนั้น ส่วน พนักพิงหลัง ยังคง แบนเรียบ นั่งลงไปแล้ว ไม่ถึงกับจมนัก สัมผัสได้ว่ามีสปริงคอยรองรับอยู่นิดหน่อย สำหรับผม ถือว่า รับได้ สบายปานกลาง

เบาะรองนั่ง สั้น เท่ากับ Vios ถ้าปรับปรุงให้ยาวเพิ่มขึ้น อีกสัก 10 มิลลิเมตร จะช่วยเพิ่มความสบายมากกว่านี้ เป็นอันว่า จบ และสมบูรณ์ อีกทั้งควรเสริมความหนาของฟองน้ำ บริเวณด้านข้างเบาะรองนั่ง ให้มากกว่านี้อีกนิด เพราะมันนิ่มเกินไป

พื้นที่วางขา ไม่ต้องห่วงครับ เหมือน Vios เลยละ การออกแบบให้ด้านหลังของเบาะคู่หน้า เว้า ช่วย เสริมให้มีพื้นที่วางขาเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ดังนั้น การโดยสารบนเบาะหลังสำหรับ คนตัวใหญ่อย่างผม ไม่มีปัญหาในประเด็นนี้

ถ้าจะยังคงมีปัญหา ก็น่าจะยังเป็นเรื่องเดียว เหมือนกับ Vios ไม่มีผิด นั่นคือ พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม นั่งแบบก้นชิดเบาะแล้ว หัวติดเพดาน ไม่ใช่แค่ชนนะครับ ติดเลย! แต่เรื่องน่าแปลกก็คือ ตาบอม Rhino Mango มือตัดต่อของ The Coup Team เรา สูง 180 เซ็นติเมตร นั่งแบบ หลังตรง ก้นชิดกับเบาะ หัวของน้องบอม กลับไม่ติดชนเพดาน! ดังนั้น ไปลองนั่งกันเอาเองนะครับ เพราะคุณอาจจะพบ หรือไม่พบปัญหาเดียวกับผม ก็เป็นไปได้

เบาะหลังของ ATIV จะมีเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดมาให้ ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง แถมยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้ทั้งฝั่งซ้าย และขวาอีกด้วย ขอชมเชยตรงจุดนี้อย่างยิ่ง

การปลดล็อก ฝากระโปรงท้าย ให้เดินเข้าใกล้ตัวรถ แล้วกดปุ่มปลดล็อกฝาท้าย บนรีโมทกุญแจ Keyless Entry แช่ไว้ราวๆ 3 วินาที ฝากระโปรงหลังจะถูกปลดล็อก เพื่อให้คุณยกเปิดใช้งานได้ ฟังก์ชันนี้ อันที่จริงก็มีมาให้อยู่แล้วใน Vios  2016 กับ 2017 หรือถ้าไม่เช่นนั้น ก็ยังใช้สวิตช์ไฟฟ้า เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง และ คันโยก แถวๆใต้เบาะคนขับ ได้ตามเดิม

ฝากระโปรงท้าย ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ Toyota บุวัสดุซับเสียง มาให้เต็มพื้นที่ด้านหลังของฝาท้าย ต่างจาก Vios ที่จะบุมาให้แค่นิดหน่อยเท่านั้น ขณะที่ ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ยังคงมีขนาดเท่าๆกันกับ Vios เดิม เพียงแต่ว่า การออกแบบฝาท้าย ให้มีช่องทางเข้า – ออก กว้างขึ้น ย่อมช่วยให้การขนข้าวของสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ โหลดเข้าไปในพื้นที่ท้ายรถ ได้สะดวกง่ายดายขึ้นกว่า Vios รุ่นเดิม

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของด้านหลัง อาจเกิดคำถามว่า ยางอะไหล่หายไปไหน ทำไมมีมาให้แค่ แม่แรงยกรถ กับเครื่องมือประจำรถนิดหน่อย รวมทั้งถาดโฟมใส่ของ ขอแจ้งให้ทราบว่า Yaris ATIV จะไม่มียางอะไหล่มาให้ ด้วยเหตุผลเรื่อง การลดน้ำหนัก ลดต้นทุน แต่จะติดตั้งชุดซ่อมยางฉุกเฉิน พร้อมปั้มลมไฟฟ้า เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟในรถแทน มีน้ำยาอุดรอยรั่วมาให้ในตัว สามารถใช้งานได้เฉพาะกรณีที่เจอตะปูตำเท่านั้น ถ้าบาดแผลโหดขนาดเป็นรอยฉีก เพราะไปเบียดขอบทางเท้ามา บอกได้เลยว่า ชุดซ่อมยางนี้ เอาไม่อยู่ครับ!

ด้านการออกแบบภายใน Takatomo-san กล่าวว่า “เราต้องการให้มีพืนที่ภายในกว้างขวาง ล้ำสมัย ใช้วัสดุคุณภาพสูง เข้าถึงความรู้สึก และอารมณ์ เราเน้นการมอบประสบการณ์และความประทับใจที่ตีค่าเป็นตัวเลขไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเบาะหลังที่กว้างขวาง ความเงียบ ไร้เสียงรบกวนจากภายนอก รวมถึงการขับขี่ที่แสนสบาย”

แผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด เน้นให้เห็นถึงความกว้างของห้องโดยสารมากขึ้นกว่าเดิม ประดับตกแต่งด้วยแผงพลาสติก Trim สีดำ Piano Black ทั้งบริเวณแผงควบคุมเครื่องเสียงด้านบนตรงกลาง แผงประดับฐานคันเกียร์ และแผงสวิตช์กระจกหน้าต่างบนบานประตูทั้ง 4 เพื่อเพิ่มความหรูหรากึ่งสปอร์ต ให้เหนือกว่ารถยนต์ ECO Car Sedan ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังประดับแผง Trim สีเงิน Metallic บริเวณช่องแอร์ ทั้ง 2 ฝั่ง กับบริเวณด้านข้างของแผงควบคุมเครื่องเสียงตรงกลางอีกด้วย

รุ่น J ECO , J และ E จะมีหัวเกียร์ยูรีเทน พร้อมฐานเกียร์ พลาสติก สีดำ ขณะที่รุ่น G กับ S จะมีหัวเกียร์หุ้มหนัง ตกแต่งด้วยแถบ Metallic พร้อมฐานเกียร์ สีดำ Piano Black

มองขึ้นไปบนเพดาน จะพบว่า มีอะไหล่หลายชิ้น ถูกยกออกมาจาก Vios ย้ายมาติดตั้งให้กับ Yaris ATIV กันดื้อๆ อาทิ พลาสติกครอบเสาหลังคาคู่หน้า, ไฟอ่านแผนที่แยกฝั่งซ้าย – ขวา กดเปิด – ปิดการใช้งานได้เพียงจังหวะเดียว , และแผงบังแดดพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาพับปิด แต่ไม่ยักมีไฟส่องสว่างสำหรับแต่งหน้ามาให้

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย แผง สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน แบบมี สวิชต์ Auto One-Touch กดเลื่อนลง หรือดึงเลื่อนขึ้น จนสุดเพียงจังหวะเดียว พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง (เฉพาะฝั่งคนขับ) มีสวิตช์ ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสารทั้ง 3 บาน และ Central Lock บนแผงประตูฝั่งคนขับ สวิตช์กระจกมองข้างปรับ และพับด้วยระบบไฟฟ้า Upgrade เปลี่ยนมาเป็นแบบ หมุนเลือกฝั่ง แล้วปรับที่ก้านโยกได้เลย แบบ Hilux Revo ไม่ต้องทำสวิตช์แยกออกไปเหมือน Toyota รุ่นอื่นๆในอดีต รุ่น S กับ G จะตกแต่งแผงสวิตช์ดังกล่าว ด้วย พลาสติก Piano Black สีดำ ส่วนรุ่นอื่นๆ จะเป็นสีดำตามปกติ

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวา มีสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start มาให้ (เฉพาะรุ่น S และ G) ถัดลงไป เป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VSC และ Traction Control รวมทั้งสวิตช์ เปิด – ปิด เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยเข้าจอดที่ด้านหลังรถ

พวงมาลัย 3 ก้านทรงสปอร์ต ออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูดีขึ้นกว่า Vios และ Yaris เดิมอย่างเห็นได้ชัด ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของ Toyota Auris ในญี่ปุ่น/ยุโรป หรือ Tooyota Corolla iM ในอเมริกาเหนือ มี Grip ที่จับถนัดมือ ตกแต่งด้วยแถบ Metallic สีเงิน และมีระยะห่างจากขอบด้านบนสุดของมาตรวัด เพิ่มขึ้นจาก Vios / Yaris รุ่นเดิมนิดนึง เฉพาะรุ่น S กับ G พวงมาลัยจะหุ้มด้วยหนัง โดย รุ่น S จะเย็บเชื่อมติดด้วยด้ายสีแดง ส่วนรุ่น E , J และ J ECO จะหุ่มด้วย ยูรีเทน ตามปกติ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) จากตัวผู้ขับขี่ได้

ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ติดตั้งแผงสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์ ส่วนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ติดตั้งสวิตช์ควบคุมหน้าจอ MID (อ่านรายละเอียดของจอ ได้ ในย่อหน้า ข้างล่าง)

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ยังคงเป็นชุดควบคุม เปิด-ปิดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง (และเพิ่มไฟตัดหมอกในรุ่น S กับ G) ส่วนก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ไว้ควบคุม ระบบใบปัดน้ำฝนพร้อมที่ฉีดน้ำด้านหน้า มีระบบหน่วงเวลา มาให้ทุกรุ่น แต่ในรุ่น S , G และ E สามารถตั้งเวลาในการหน่วงให้ปัดเร็ว – ช้าได้ตามต้องการ

ชุดมาตรวัดออกแบบขึ้นใหม่ ในรุ่น S , G และ E เป็นแบบเรืองแสง Optitron 3 วงกลม ซ้อนด้วย 1 หน้าจอ ฝั่งมุมขวาล่าง คราวนี้ ดูดีขึ้น ไม่ใช้วิธี Print กระดาษมาแปะบนเรือนไมล์ อย่าง Vios และ Yaris รุ่นเดิมแล้ว Font ตัวเลข อ่านง่าย สะดวกต่อการรับรู้ข้อมูลขณะใช้ความเร็วสูง ส่วนรุ่น J และ J ECO จะเป็นมาตรวัด Analog ธรรมดา บ้านๆ

ชุดมาตรวัดของรุ่น S จะเพิ่มจอแสดงข้อมูลการขับขี่ TFT Multi Information Display เพิ่มเข้ามา มีทั้งการแจ้งเตือนเมื่อปิดประตูรถไม่สนิท แจ้งระยะทาง,เวลา,อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในแต่ละทริป (ทั้ง Trip A และ B) อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย , เวลาทั้งหมดที่ใช้ , ความเร็วเฉลี่ย , มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital , การให้คะแนนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้ พร้อมการคำนวน โดยคุณสามารถใส่ราคาน้ำมันเข้าไปได้ในตอนเติมน้ำมันเต็มถัง , ระยะทางที่น้ำมันในถัง จะแล่นต่อไปได้ ขณะที่รุ่น G และ E จะเป็นมาตรวัด MID แบบแสดงข้อมูลพื้นฐาน ธรรมดา ส่วนรุ่น J กับ J ECO ไม่มีหน้าจอดังกล่าวมาให้

จากฝั่งซ้าย มาทางขวา กล่องเก็บของ บนแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า Glove Compartment มีขนาดพอๆกันกับ Vios และ Yaris Hatchback รุ่นเดิม ดูจากฝาภายนอก เหมือนจะใหญ่ แต่เอาเข้าจริง แค่ใส่ คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกัน และเอกสารประกันภัย ก็ล่อเข้าไปครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดแล้ว

แผงควบคุมกลาง ในรุ่น S ประดับด้านข้างด้วยแผงพลาสติกสีเงิน Metallic พร้อมลวดลาย Graphic ขณะที่รุ่นย่อยอื่นๆที่เหลือทั้งหมด จะประดับด้วยแผงพลาสติกสีเงิน Metallic ธรรมดา

ด้านความบันเทิง รุ่น J ECO จะไมมีวิทยุใดๆมาให้เลย แต่มีลำโพง 2 ชิ้น แปะมาให้รองรับ ขณะที่รุ่น J,E และ G จะติดตั้งวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/ MP3 / WMA และมีช่องเชื่อมต่อ USB กับ AUX มาให้ในตัว คุณภาพเสียง ไม่แตกต่างไปจาก วิทยุของ Vios เท่าใดเลย รุ่น J ให้ลำโพง 2 ชิ้น คู่หน้า ส่วนรุ่น E และ G ให้ลำโพง 4 ชิ้น คู่หน้าและคู่หลัง

ส่วนรุ่น S ตัว Top จะติดตั้ง ชุดเครื่องเสียง วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 / WMA / DVD และจอมอนิเตอร์สี Touch Screen ขนาด 7 นิ้ว มีช่องเชื่อมต่อ USB / HDMI / และ Micro SD Card มาให้สำหรับเสียบการ์ดจากกล้องถ่ายรูป แล้วนั่งดูภาพจากจอในรถได้เลยแถมยังมีรีโมทคอนโทรล มาให้อีกต่างหาก นอกจากนี้ รุ่น S , G และ E จะมีระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือด้วย Bluetooth รองรับการพูดคุยและการเล่นเพลงจากโทรศัพท์ ไม่เพียงเท่านั้น รุ่น S จะพิเศษกว่าเพื่อน เพราะมีสวิตช์สั่งโทรออกด้วยเสียงพูด มาให้อีกด้วย! รวมทั้งติดตั้งลำโพง 6 ชิ้น และรองรับระบบสื่อสาร Telematics ที่ชื่อ T-Connect

ฟังดูเหมือนดี แต่ความจริงก็คือ เครื่องเสียง OEM รุ่นนี้ ยกชุดมาจาก Camry ESPORT และ Innova Crysta ดังนั้น อย่าไปหวังว่าคุณภาพเสียงจะดีมากนักเลย แค่พอฟัง วิทยุ กับ CD หรือไฟล์เพลงจากมือถือของคุณได้พอเพลินๆหู เท่านั้น

รุ่น S , G และ E จะมีเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมสวิตช์กดปุ่ม และหน้าจอ Digital สีฟ้า ที่ดูวิลิศมาหรา ดุจรถเก๋งราคาแพง ขณะที่รุ่น J และ J ECO ยังคงติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบมือหมุนธรรมดามาให้ตามปกติ แน่นอนว่า ทั้ง 2 แบบ ไม่มี Heater ทำความร้อนมาให้เลย ตามปกติของ DENSO ซัพพลายเออร์คู่บุญบารมีของ Toyota มาช้านาน

ใต้แผงควบคุมกลาง ด้านล่างสุด จากเดิมที่มีเพียงแค่ฐานรองโทรศัพท์มือถือธรรมดา ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย คราวนี้ ทีมออกแบบ แก้ไขตามเสียงเรียกร้องของลูกค้า และพวกเรา โดยออกแบบช่องวางแก้ว เพิ่มเติมมาให้ 2 ตำแหน่ง เสียที!

พื้นที่ตรงกลางระหว่างเบาะนั่งคู่หน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งของเบรกมือนั้น ถูกปรับปรุงใหม่ คราวนี้ มีการออกแบบแผงด้านข้างเบรกมือ ให้มีช่องสำหรับเสียบวางโทรศัพท์มือถือ หรือกล่อง CD ได้ มีปลั๊กไฟ 12V มาให้ 1 ตำแหน่ง และเพิ่มกล่องคอนโซลเก็บของขนาดเล็กแต่ลึกประมาณนึ่ง ใส่กล่อง CD ได้ราวๆ 6 กล่อง พร้อมฝาปิด หุ้มหนัง ที่ออกแบบมาให้เป็นพนักวางแขนในตัว (มีเฉพาะรุ่น S) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว สามารถวางได้แค่ข้อศอก มากก่าจะวางแขนได้จริงจังนัก

ทัศนวิสัย ด้านหน้า เหมือนกับ Vios รุ่นปัจจุบัน นั่นละครับ การมองเห็นสภาพจราจรและเส้นทางข้างหน้า ชัดเจนดี เพียงแต่ว่า ความสูงของกระจกบังลมหน้า น้อยไปหน่อย เป็นปัญหาเดียวกับ บรรดารถยนต์ยุคใหม่ ที่ต้องทำเสาหลังคาคู่หน้าให้ลาดมากๆ เพื่อเล่นกับอากาศพลศาสตร์ได้ดีขึ้น

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่า ด้านบนแผงหน้าปัดของ ATIV จะไม่ได้ลาดลงมาจากขอบกระจกบังลมด้านล่าง แบบ Vios ก็เท่านั้น

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา นั้น ก็เหมือนกับ Vios เป๊ะ ทั้งงานออกแบบแผงพลาสติกที่แปะครอบทับเสา และขนาดของเสาที่ยังคงมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาบนทางโค้งของถนนสวนกันเลนเดียว น้อยลงไปจากรุ่นเดิมนิดนึง

กระจกมองข้าง ก็ยกจาก Vios มาทั้งดุ้น แม้จะให้การมองเห็นรถ ที่แล่นมาจากด้านหลังได้ดี แต่พื้นที่กรอบพลาสติกด้านใน ยังแอบกินพื้นที่เข้ามายังขอบล่างฝั่งขวา ของบานกระจกมองข้างอยู่บ้างนิดนึง

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็เหมือนกับ Vios อีกนั่นแหละ คือยังแอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะเลี้ยวกลับรถอยู่บ้าง ในบางรูปแบบของจุดกลับรถ แต่จะพบปัญหานี้ได้ ถ้าเกาะกลางถนน หรือคูน้ำกลางถนน ค่อนข้างกว้าง นอกนั้น จะไม่มีปัญหามากนัก

กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็ยังมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาได้ดี เพียงแต่ ขอบกระจกด้านล่างฝั่งซ้าย อาจถูกกรอบด้านในกระจก บดบังพื้นที่เข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับ รถยนต์ประเภทเดียวกัน คันอื่นๆ

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เหมือนกับ Vios เป๊ะมาก ทั้งตัวเบาะ แผงพลาสติกบุเสาหลังคา C-Pillar คู่หลัง หรือตำแหน่งของหน้าต่างมีพื้นที่กระจกบังลมหลัง ให้มองเห็นได้ชดเจนขึ้น สิ่งเดียวที่ไม่เหมือนกันก็คือ ขอบล่างของกระจกหูช้าง Opera สามเหลี่ยม ที่โค้งและยกตัวเล่นระดับขึ้นมาจาก Vios เดิมเล็กน้อย แต่ไม่มีผลด้านการมองเห็น ขณะถอยเข้าจอด หรือจะเปลี่ยนเข้าเลนคู่ขนาน

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

การตัดสินใจให้ Yaris ATIV เข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่ม ECO Car Phase 1 ทำให้ Toyota จำเป็นต้องเอาชิ้นส่วนต่างๆในคลังอะไหล่เก่า (Parts Bin) มาปรับประยุกต์ใช้งานร่วมกันกับญาติพี่น้อง ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตันทุนยังคงอยู่ในระดับเดียวกับ Vios เดิม และสามารถตั้งราคาแข่งขันในตลาดได้

ดังนั้น Toyota จึงตัดสินใจ นำ เครื่องยนต์ 3NR-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,197 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 72.5 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square สี่เหลี่ยมจตุรัส) กำลังอัด 11.5 : 1 หัวฉีด EFI มาพร้อม ระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และไอเสีย Dual VVT-i มีระบบปรับตั้งระยะห่างของวาล์วอัตโนมัติ และมีระบบปรับความตึงของสายพานขับ อัตโนมัติ จาก Yaris Hatchback มาวางใน Yaris ATIV

กำลังสูงสุดยังคงเท่ากับ Yaris Hatchback นั่นคือ 86 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร (11.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) 116 กรัม/กิโลเมตร

เครื่องยนต์ รุ่นนี้ ผ่านการทดสอบ ตามข้อกำหนด ECO Car Phase 1 โดยรัฐบาลไทย ใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 0W20 แต่สามารถใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 5W-20 , 5W-30, 5W-40 และ 10W-30 หรือ เกรด API SL “Energy-Conserving” , SM “Energy-Conserving” , SN “Resource-Conserving” หรือ ILSAC 15W-40 และ 20W-50 โดยการเปลี่ยนถ่ายแต่ละครั้ง ถ้าเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องด้วย จะต้องใช้น้ำมัน 3.4 ลิตร แต่ถ้าไม่เปลี่ยนไส้กรอง ก็จะเหลือ 3.2 ลิตร

น้ำมันเชื้อเพลิง เติมได้ทั้งเบนซินไร้สารตะกั่ว ทั่วไป ออกเทน 91 กับ 95 หรือ แก็สโซฮอลล์ 91 กับ 95 (เฉพาะ E10 และ E20 เท่านั้น) หม้อน้ำ ใช้น้ำหล่อเย็น 4.2 ลิตร หัวเทียน เป็นของ DENSO รุ่น SC16HR11 ระยะห่างระหว่างเขี้ยวของหัวเทียน 1.1 มิลลิเมตร

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Super CVT-i พร้อมสวิตช์ปลดเกียร์ว่างตอนจอด Shift Lock  ที่มีให้เลือกเพียงแบบเดียว ยกมาจาก Yaris Hatchback รุ่นเดิม นั่นแหละครับ

อัตราทดเกียร์……………………….2.386 – 0.426 : 1
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง………………2.505 – 1.736 : 1
อัตราทดเฟืองท้าย…………………5.833

เกียร์รุ่นนี้ มีปุ่ม Shift Lock สำหรับกดล็อก เพื่อปลดเกียร์ P ให้เลื่อนลงมาอยู่ในเกียร์ว่าง (N) เพื่อเลื่อนเข็นรถได้ นอกจากนี้ยังเคลมว่า เกียร์ CVT ลูกนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้น้ำมันเกียร์ CVT ของ Toyota Genuine CVT Fluid FE เท่านั้น และเป็นคนละเกรดกับที่ใส่ให้ใน เกียร์ CVT ของ Corolla Altis MY 2010 ถึง 2013 ไม่สามารถใช้น้ำมันเกียร์ร่วมกันได้ ปริมาณการเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบอยู่ที่ 6.4 ลิตร อีกทั้ง เกียร์ CVT ลูกนี้จะมีท่อหายใจ ยกไว้สูง (จากเดิมที่เมื่อก่อน มักอยู่ด้านหลังของเกียร์) ก็เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น โอกาสที่เกียร์เกิดความเสียหายจากการลุยน้ำแบบไม่ตั้งใจ จะลดน้อยลงจากเดิม

เหตุผลที่ ไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดาให้เลือก ก็น่าจะไม่ต่างจาก ตอนเปิดตัว Yaris Hatchback กล่าวคือ ถ้านำเครื่องยนต์ลูกนี้ พ่วงเกียร์ธรรมดา อาจปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมามากกว่ารุ่น CVT ไป จนเกินกว่า ค่ากำหนดของรัฐบาลไทย ที่อ้างอิงมาตรฐานมลพิษจาก UNECE มาใช้กับรถยนต์ประเภท B-Segment ECO Car Phase 1 ว่าต้องปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร จึงทำให้ไม่อาจออกจำหน่ายในไทยได้

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ทุกวันนี้ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ใช้เกียร์ธรรมดา ลดลงจนหลายบริษัท แทบไม่เห็นความคุ้มค่าที่จะนำรถเก๋ง เกียร์ธรรมดา เข้ามาประกอบและจำหน่ายในบ้านเราอีกต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่ง มาจากพฤติกรรมของลูกค้า ในเมือง ที่เผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดทุกวัน จนไม่อยากจะเหยียบและยกแป้นคลัตช์ ถี่ๆ ในขณะคลานไปตามท้องถนน ให้เมื่อยเท้าซ้ายอีกต่อไป อีกสาเหตุหนึ่งก็มาจาก การที่ฝ่าย Product Planning แต่ละบริษัทรถยนต์ ไม่ให้ความสำคัญกับการติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน ในรถยนต์เกียร์ธรรมดามากเท่าที่ควร ทำให้ลูกค้ามองว่า หันไปซื้อเกียร์อัตโนมัติ ได้ Option เยอะกว่า คุ้มค่ากว่า นั่นเอง เทรนด์นี้ เกิดขึ้นมาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ตัวเลขสมรรถนะ จะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการจับเวลากันตามมาตรฐานเดิมคือ ทดลองในเวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักรวมผู้ขับขี่ และผู้จับเวลา ไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม ตัวเลขที่ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัด ECO Car  รวมทั้ง Toyota Vios 1.5 ลิตร รุ่นเดิม รุ่นเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ และ Toyota Yaris รุ่นก่อน มีดังนี้

จากตัวเลขที่เห็น บอกให้เราได้รู้กันอย่างชัดเจนว่า หากเทียบเฉพาะกลุ่ม “ECO-Car Sedan เกียร์อัตโนมัติ” ด้วยกันแล้ว หากวัดเฉพาะเกม 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แน่นอนครับ Suzuki Ciaz ยังคงครองแชมป์ในกลุ่มนี้ไว้ ได้ ตามมาด้วย Honda Brio Amaze กับ Mazda 2 รุ่น 1.3 ลิตร ดังนั้น อัตราเร่งของ ATIV จะอยู่ตรงกลางของกลุ่ม พอดี

แต่ถ้าเป็นอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกมส์จะเปลี่ยนไป กลายเป็นว่า ATIV จะแซงชาวบ้านพุ่งมาอยู่อันดับ 1 อย่างง่ายดาย

การไต่ความเร็วนั้น เกิดขึ้นอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป เรื่อยๆมาเรียงๆ” จนกระทั่งถึงช่วง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เข็มที่ค่อยๆไต่ขึ้นไปอย่างเชื่องช้า ก็จะยิ่งช้าลงหนักไปกว่าเดิม กว่าจะแตะความเร็วสูงสุดได้นั้น ก็เหมือนกับบรรดา ECo Car เกียร์อัตโนมัติ ทั้งหลายนั่นละครับ คือต้องรอให้ลูกโตจนบวชกันก่อน เข็มความเร็วถึงจะแตะระดับ Top Speed ยอมทนฟังเสียงครวญครางเครื่องยนต์อย่างทรมานจิตกันไปสักพักใหญ่ๆ

ในการขับขี่จริง ผมออกจะประหลาดใจเล็กน้อยกว่า ตั้งแต่ออกตัวจนถึงความเร็วเดินทาง การไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น ชัดเจนเลยครับว่า “อืด”…อืดกว่า Yaris 1.2 Hatchback MY 2014 ที่เราเคยทำรีวิวไป ชัดเจนมากจนเห็นความแตกต่างเลยละ ยิ่งพอเร่งแซง เสียงครางของเครื่องยนต์ แสดงออกให้เห็นถึงความน่าสงสารของระบบส่งกำลังในห้องเครื่องยนต์ ที่พยายามบอกให้ผมได้รู้ว่า

“นายจ๋า อีนี่ เร่งเต็มที่ เร่งจนขี้หด ตดหายแล้ว ก็ได้แค่นี้ละนายจ๋า …”

สงสัยใช่ไหมครับว่า ทำไมมันถึงอืดต่างกันมากขนาดนี้? ทั้งที่เป็นเครื่องยนต์แบบเดียวกัน ระบบส่งกำลังก็เหมือนกันหมด? คำตอบก็คือ ความแตกต่างที่แท้จริง มันอยู่ที่ โปรแกรมในกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์นั่นต่างหากครับ!

เหตุผลก็คือ ต้องไม่ลืมว่า ตัวรถที่ใหญ่ หรือยาวขึ้น จะส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในภาพรวม..คือถึงแม้น้ำหนักจะไม่ได้ต่างกันเป็นร้อยกิโล แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องเซ็ตรถคันนี้ ให้เข้าข้อกำหนดมาตรฐานรถยนต์ ECO Car Phase 1 เพื่อขายในประเทศไทย คุณจะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร คุณก็ต้องทำทุกวิถีทางละครับ ยกยางอะไหล่ออกก็แล้ว ลดน้ำหนักชิ้นส่วนก็แล้ว ออกแบบรถให้ลู่ลมมากขึ้นก็แล้ว อีกทางหนึ่งก็คือ ต้องยอมโดนลูกค้าสายตีนขวาโหด อย่างพวกเรา ด่าทอ ด้วยการจูนโปรแกรมสมองกลของเครื่องยนต์ (ECM : Engine Control Module) ให้คายไอเสียลดลง ซึ่งนั่นต้องแลกมาด้วยพละกำลังที่อาจจะหดหายลงไปบ้าง

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ในเมื่อ Toyota ตั้งใจ เอา Vios คันเดิม มาลดขนาดเครื่อง เปลี่ยนเปลือกตัวถัง หวังเจาะตลาด ECO-Car เหมือนชาวบ้านเขา ก็ต้องทำรถให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย ต่ำกว่า 120 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้ และการจูนสมองกลเครื่องยนต์ ให้มันอืดลง ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ นั่นเอง

แล้วมันอืดแค่ไหนกันละ?

เอาอย่างนี้ครับ มันอืดกว่า Yaris Hatchback รุ่นเดิมหนะ จริงอยู่ แต่ถ้าดูตัวเลขในตารางแล้ว มันก็ทำผลงานเกาะกลุ่มไปกับบรรดา B-Segment ECO Car Sedan ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ ได้อย่างไม่เคอะเขิน

นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเคยขับ Eco Car 1.2 ลิตรมาบ้าง แล้วยอมรับได้กับอัตราเร่งสไตล์ “หอยทากเพิ่งตื่นนอนคลานไปหาของกินในตู้เย็น” ตามประสารถเครื่องเล็กเกียร์ CVT ได้แล้วละก็ คุณใช้ชีวิตอยู่กับ ATIV ได้สบายๆแน่ๆครับ เพราะอัตราเร่งช่วงแซงรถสิบล้อ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แอบมีลุ้นเยี่ยวเหนียวเหมือนเจ้าอื่นนั่นแหละ  ที่แน่ๆ ยังไงๆ ATIV ก็ยังเร่งแซงได้ฉับไว และทันใจกว่า Nissan Almera/Note ชัวร์ๆละกัน!

การเก็บเสียง ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม เพราะ วิศวกร Toyota ติดตั้งวัสดุซับเสียงเอาไว้แทบจะทั่วทั้งคัน ทำให้เสียงรบกวนจากกระแสลม ลดลง ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เงียบมากๆๆๆๆๆ แต่ยังพอมีเสียงกระแสลมเข้ามาที่ซุ้มล้อหลัง ให้ได้ยินกันอยู่เนืองๆ ดังนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเอาประเด็นนี้ ไปเทียบกับใคร

ถ้าเทียบกับรถยนต์ Toyota ด้วยกันแล้ว เชื่อหรือไม่ว่า ในความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ห้องโดยสารของ ATIV เงียบสงบ มากกว่า ทั้ง Vios Yaris เดิม และ Corolla Altis แน่ๆ แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในตลาดแล้ว ยืนยันว่า Suzuki Ciaz ยังคงให้ความเงียบในช่วงความเร็ว 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีกว่า ATIV ขณะที่ในช่วงติดเครื่องยนต์รอบเดินเบา จนถึงความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ATIV เก็บเสียงรบกวนได้ดี เทียบเท่ากับ Ciaz

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงงเลี้ยว 5.1 เมตร ถอดยกชุดจาก Vios ปี 2016 – 2017 มาใส่ให้ทั้งยวง ดังนั้น การตอบสนอง และลักษณะนิสัย จึงเหมือนกันกับ Vios Minorchange เป๊ะ! ชนิดถ่ายเอกสารมาทั้งดุ้น

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Vios รุ่นปี 2013 แล้ว จะพบว่า การควบคุม เป็นธรรมชาติมากขึ้นนิดๆ ความรู้สึกขณะถือพวงมาลัยควบคุมรถไปตรงๆ หรือ On Center feeling นิ่งและดีขึ้น ลดปัญหาการที่คนขับต้องคอยแต่งพวงมาลัยซ้ายๆ ขวาๆ ขณะแล่นด้วยความเร็วเดินทางลงไป น้ำหนักพวงมาลัยหนืดขึ้นนิดเดียว และมีระยะฟรีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก นิดนึงด้วย กระนั้น อัตราทดเฟืองก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ยังต้องเติมพวงมาลัยเพิ่มขึ้น ในขณะหักเลี้ยวรถตามเดิม

ภาพรวมถือว่า ไม่ได้มีการแก้ไขอื่นใดเพิ่มเติมไปจาก Vios Minorchange แม้จะยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับ Vios รุ่น Britney Spears ปี 2002 แต่แนวทางการเซ็ตพวงมาลัยแบบนี้ ถือว่า ทีมวิศวกรของ Toyota เดินมาถูกทางแล้ว ถ้าเป็นไปได้ ขอแนะนำให้เอาพวงมาลัยของ Prius รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด เป็น Benchmark ในการปรับจูนพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็กของ Toyota นับจากนี้ไปเลยได้ก็จะยิ่งดี ไม่เช่นนั้น ก็หา Mazda 2 มาสักคัน แล้วพยายามเซ็ตพวงมาลัยให้ได้ตามนั้น ก็ยิ่งดี

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นคานบิด Torsion Beam ถึงแม้จะยกยวงมาจาก Vios เช่นเดียวกับชิ้นส่วนอื่นๆ ทว่า การปรับแต่งช่วงล่างใหม่ คือจุดขายสำคัญของ Yaris ATIV นั่นเพราะทาง วิศวกร Toyota ได้ปรับเซ็ต ช็อกอัพกับสปริง ให้เน้นความนุ่มสบายในการขับขี่มากขึ้น

ชักสงสัยว่า ทีมงาน TDEM (Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing) ที่บางเสาธง เนี่ย เขาอ่านเว็บ Headlightmag ของเรา กันพอสมควรเลยใช่ไหม ถึงได้รู้ใจผมเลยว่า ควรเซ็ตช่วงล่างอย่างไร ถึงจะให้ผมสรรเสริญ ไม่โดนผมด่า?

พอเข้าใจครับว่า ความยากของโจทย์การเซ็ตช่วงล่างในครั้งนี้ก็คือ จะทำอย่างไร ให้ช่วงล่าง นุ่มสบายแบบที่ทุกคนต้องการ แต่ยังต้อง หนึบพอที่จะรองรับการขับขี่ใน “วันมามาก” ให้ยังคงไว้ซึ่งความนิ่ง และมั่นใจได้ เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าผู้ชายไปในตัว

ขอยืนยันตรงนี้เลยว่า ช่วงล่างของ ATIV นั้น “ประเสริฐมาก!”ทำได้ดีในระดับที่อยากจะมอบถ้วยรางวัลให้ทีมพัฒนาระบบกันสะเทือนของ รถรุ่นนี้ เลยจริงๆ เพราะอาการอะไรก็ตามที่ลูกค้า Vios รุ่นเดิม เคยบ่นไว้ เช่นคนชอบขับรถจะบอกว่าแข็งดีแล้ว แต่ลูกค้าทั่วไปกลับบอกว่ามันแข็งไปหน่อย มาคราวนี้ อาการต่างๆ หายสาบสูญเป็นปลิดทิ้ง!

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับผ่านเนินสะดุด ลูกระนาด ฝาท่อ แล้วหลุมบ่อตามตรอกซอกซอย ต่างๆ ชัดเจนเลยว่า ช่วงล่างของ ATIV ถูกเซ็ตมาให้ “นุ่มกว่า Vios รุ่นปัจจุบัน” อย่างชัดเจน ซับแรงสะเทือนได้ดีงามมากๆ ขับสบายขึ้น ในระดับที่ผู้โดยสารประเภท สว. (สูงวัย) น่าจะถึงขั้นชื่นชอบเลยละ

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า ในรถคันที่ผมรับมาทดลองขับนั้น อาจเจอความชื้นช่วงฝนตกบ่อย จนทำให้มีเสียงช็อกอัพ หรือสปริง ดัง “งี๊ด งึด” ขณะขับผ่านเนินสะดุด ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ ในวันรุ่งขึ้น ขับผ่านเนินสะดุดลูกเดียวกัน ในเวลายามดึกเหมือนกัน เสียงดังกล่าว หายไปเป็นปลิดทิ้ง ราวกับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจนถึงวันส่งคืนรถ อาการดังกล่าว ก็ไม่เกิดขึ้นอีก เลยต้องหมายเหตุเอาไว้สักหน่อยว่า มันอาจมีเสียงแบบนี้เกิดขึ้นได้ เมื่อไหร่ก็ได้ อย่าตกใจ เดี๋ยวมันก็จะหายไปเอง! เอาไว้ถ้าไม่หาย ค่อยจับส่งเข้าศูนย์บริการ เคลมเปลี่ยนอะไหล่กันไปตามท้องเรื่อง

พอขึ้นทางด่วน เข้าสู่ช่วงที่ต้องใช้ความเร็วเดินทาง หรือความเร็วสูง ช่วงล่างของ ATIV ทำได้ดีเกินความคาดหมายไปมาก หากไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง ช่วงล่างของ ATIV ที่ถูกเซ็ตมาในสไตล์ “นุ่มนวลแต่หนึบ”  จะนิ่งเกือบสนิท ต่อให้ยิ่งใช้ความเร็วสูงไปกว่านี้ก็ตาม ก็ยังคง “มั่นใจได้” ถือว่า เซ็ตมาดีกว่า Vios 2007 ซึ่งแข็งกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เชื่อหรือไม่ ว่า ขณะใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลองเปลี่ยนเลนเร็วกว่าปกติดู ช่วงล่างของ ATIV ยังพยายามควบคุมอาการของตัวมันเอง และโครงสร้างตัวถัง จนกระทั่งบั้นท้ายเปลี่ยนเลนเสร็จสิ้น รถนิ่งมากกว่าที่เราคาดหวังไว้ด้วยซ้ำ! (กระนั่น ถ้าต้องเจอกระแสลมปะทะด้านข้างเมื่อไหร่ ATIV ก็ยังแอบมีอาการแกว่งข้างมาให้เห็นนิดๆ ตามปกติของรถยนต์นั่งขนาดเล็กน้ำหนกเบาทั่วไป เพียงแต่ว่า ผมเจออาการนี้ เพียงแค่ครั้งเดียว ในวันที่กระแสลม บนทางยกระดับบูรพาวิถี เกิดแรงจัด ก่อนพายุฝนเทกระหน่ำ)

มาดูความเร็ว จากโค้งบนทางด่วนเฉลิมมหานคร ทั้ง 5 ตำแหน่ง ที่ผมมักใช้เป็นมาตรฐานในการทดลองดูแล้วกันครับ ในโค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน อันเป็นโค้งที่สูงและแคบสุดในระบบทางด่วนของกรุงเทพฯ) ต่อเนื่องไปยังโค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin เพื่อเชื่อมเข้าระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ผมพา ATIV เข้าทั้ง 2 โค้ง ต่อเนื่องกันได้ โดยความเร็วบนมาตรวัดอยู่ที่ 100 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่าๆกัน เมื่อถึงจุดนี้ เสียงของยางติดรถ Enasave จะเริ่มแผดร้องดังนั่นราวกับว่าไปหิวนมผงมาจากไหน

ส่วนโค้งขวา ซ้าย ขวา รูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระบบูรพาวิถี ATIV พุ่งเข้าโค้งไปได้สบายๆ ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 100 , 110 และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยในโค้งสุดท้าย ณ ความเร็วดังกล่าว ระบบ VSC เข้ามาช่วยเสริมการทำงานด้วย 1 ครั้ง ขึ้นเตือนเป็นไฟกระพริบ และสัมผัสได้เลยว่า รถถูกหน่วงลงมาเบาๆ

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในเวลานี้ ช่วงล่างของ ATIV ถือว่าดีเยี่ยมในอันดับต้นๆของบรรดา B-Segment ECO Car Sedan ทั้งหมด
คืออยู่ในกลุ่มเดียวกับ Suzuki Ciaz และ Mazda 2 และถือว่า ตอนนี้ ช่วงล่างของ ATIV ดีเทียบเท่ากับ หรือแอบดีกว่า Vios Britney Spear รุ่นปี 2002 (1.5 E) ซึ่งนั่นคือ ต้นฉบับการเซ็ตช่วงล่างที่ดีที่สุดเท่าที่ Toyota เคยทำมาให้กับรถยนต์นั่งขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี ในเมืองไทย อยู่นิดหน่อยด้วยซ้ำ

ระบบห้ามล้อของทุกรุ่น เป็นแบบ ดิสก์เบรกคู่หน้า และดรัมเบรกคู่หลัง เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีระบบควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ VSC (Vehicle Stability Control) พร้อมกับระบบป้องกันล้อฟรีและระบบควบคุมการลื่นไถล TRC (Traction Control) รวมทั้งยังมีระบบ Brake Override ช่วยลดปัญหาจากอาการพรมปูพื้นไหลไปขัดใต้แป้นคันเร่งหรือเบรก หากคุณเหยียบเบรก ทั้งที่คันเร่งยังทำงานอยู่ สมองกล ECU จะสั่งตัดการจ่ายเชื้อเพลิง เพื่อให้คุณ นำรถยนต์ ประคองเข้าข้าทางได้อย่างปลอดภัย (ถ้าไม่ต้องการใช้งาน กดปุ่ม VSC On-Off 1 ครั้ง VSC จะปิด แต่ถ้ากดปุ่มเดิมแช่ยาวอีก 3 วินาที ระบบจะตัดการทำงานของ Traction Control ออกไป พร้อมกับแสดงคำเตือนบนหน้าจอว่า ระบบ VSC กับ TRC หยุดการทำงานแล้ว ถ้าต้องการเปิดใช้งานใหม่ มีทั้งกดปุ่มเดิมซ้ำลงไป หรือดับเครื่องยนต์ แล้วกดปุ่มติดเครื่องขึ้นมาอีกรอบ

รวมทั้งยังเพิ่มระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control) รักษาแรงดันน้ำมันเบรกไว่ในช่วง 3 วินาทีแรกที่ถอนเท้าจากแป้นเบรกบนทางลาดชัน เพื่อให้คุณเหยียบคันเร่ง ส่งให้รถพุ่งขึ้นไปได้ ช่วยลดปัญหารถไหล ขณะอยู่บนสะพาน หรือทางขึ้นอาคารจอดรถ

การตอบสนองของแป้นเบรก การหน่วงความเร็ว ระยะเหยียบของแป้นเบรก ไม่แตกต่างไปจาก Vios รุ่นปัจจุบันเลย กล่าวคือในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ในเมือง คุณยังคงสามารถควบคุมเท้าขวา เพื่อให้เบรกทำงานชะลอรถจนหยุดนิ่งได้ อย่างนุ่มนวลขณะเดียวกัน ในช่วงความเร็วสูง หากต้องเหยียบเบรกประมาณ 40% ของระยะเหยียบทั้งหมด ผ้าเบรกจะทำงาน จับจานเบรกไว เหมือนกับ Toyota รุ่นอื่นๆ ในอดีตก่อนหน้านี้

ระยะฟรีแป้นเบรกช่วงต้น ไม่เยอะเมื่อเทียบกับ Corolla Altis กระนั้น การเซ็ตแป้นเบรกที่เบาและไวเกินไป จึงทำให้การหน่วงรถลงมาจากช่วงความเร็วสูง ยังไม่ค่อยนุ่มนวลเท่าที่ควร และถ้ากดแป้นเบรกแรงไป อาจทำให้ผู้โดยสารหัวทิ่มได้อยู่เหมือนกัน

ด้านความปลอดภัย ครั้งนี้ Toyota ตั้งเป้าว่า Yaris ATIV จะต้องขึ้นผงาดเป็นแชมป์กลุ่มตลาด ECO-Car ทั้งหมดให้ได้ พวกเขาเลยทำในสิ่งที่หลายๆคน คาดไม่ถึง นั่นคือ ยอมติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้มากถึง 7 ลูก! ไม่ว่าจะเป็น ถุงลมคู่หน้า ด้านข้าง ม่านลมนิรภัย แถมยังมีถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า ติดตั้งอยู่ใต้คอพวงมาลัยเสริมมาให้ด้วยอีกต่างหาก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ (Pre-tensioner & Load Limiter) ซึ่งปรับระดับสูง – ต่ำได้! (ฟังก์ชันนี้ หายไปจากตระกูล B-Segment ของ Toyota ตั้งแต่ ปี 2013 มาแล้ว ผมปลาบปลื้มปิติเป็นยิ่งนัก ที่เข็มขัดกลับมาปรับระดับได้อย่างที่มันควรเป็นเสียที!) รวมทั้ง เบาะนั่งคู่หน้าแบบ WIL (Whilash Injury Lessensing) ลดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอเมื่อเกิดการชนจากด้านหลัง โดยพนักพิงจะซับแรงกระแทกของแผ่นหลังและศีรษะไว้ได้พอดี

นอกจากนี้ ยังมี กล้องมองหลัง (เฉพาะรุ่น S) ทำงานพร้อมกับ เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลัง (เฉพาะ รุ่น S,G และ E) และไฟหน้าส่องสว่างค้างต่อเนื่องหลังจากดับเครื่องยนต์ (Follow-me-Home) เพื่อให้เจ้าของรถ เดินไปเปิดไฟหน้าบ้านได้สะดวกและปลอดภัยจากบรรดาสัตว์เลื้อยคลาน (มีในรุ่น S และ G)

เจ้า Vios นี่ถึงขั้นตั้งคำถามเลยว่า เธอมาทีหลัง ราคาถูกกว่า แต่ไหงมี Option แซงหน้าฉันไปยะ?

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งลงในโครงสร้างตัวถังแบบกระจายแรงปะทะ GOA ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทกศีรษะด้านข้าง ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร มากยิ่งขึ้น

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

แม้ว่า Yaris ATIV จะวางเครื่องยนต์ 3NR-FE ซึ่งเราเคยทดลองกันไปแล้ว เมื่อไม่กี่ปีก่อน ทว่า การเปลี่ยนตัวถังใหม่ในคราวนี้ มีการปรับจูนสมรรถนะเครื่องยนต์ ให้เหมาะสมและรองรับการเติมน้ำมันแก็สโซฮอลล์ ได้ถึงระดับ E20 รวมทั้งยังต้องผ่านมาตรฐานไอเสียของภาครัฐ ให้ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 120 กรัม/กิโลเมตร เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีด้วย น่าสงสัยเหลือเกินว่า การปรับจูนเครื่องยนต์ลูกเดิมในครั่งนี้ จะให้ตัวเลขความประหยัด ด้อยกว่า หรือดีกว่า Yaris Hatchback คันเดิมที่เราเคยทำรีวิว มากน้อยแค่ไหน?

เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ตามมาตรฐานดั้งเดิม นั่นคือ จึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันด้วยวิธีการดั้งเดิม คือการพา ATIV ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ในเมื่อ รถรุ่นนี้ เป็นรถยนต์ ที่คุณผู้อ่านอยากรู้เรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และซีเรียสกับตัวเลขมากพอกันกับกลุ่มรถยนต์นั่งผลิตในปรเทศไทย เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี และค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท หรือพิกัด B กับ C-Segment ทุกคัน และรถกระบะทุกรุ่นทุกแบบ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันกันแบบเขย่ารถ จนกว่าน้ำมันจะเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังแบบนี้

สักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD สมาชิก กลุ่ม The Coup Team ของเรา

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter (ATIVให้มาครบทั้ง Trip A และ Trip B) เพื่อวัดระยะทาง คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ บน ถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม

เรายังคงยึดมาตรฐานเดิมที่เราใช้ในการทดลองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างเคร่งครัด คือใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และ นั่ง 2 คน เพื่อให้การทดลอง อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เหมือนเช่นทุกครั้งที่เรานำรถมาทดลองขับกันที่บ้าน

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกครั้งด้วยวิธีการเขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันได้ เอ่อล้นคอถังขึ้นมา ไม่ลงอีกต่อไป

เมื่อเติมน้ำมันกันจนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลามาคำนวน หาตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองกันละ!

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 91.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.40 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.92 กิโลเมตร/ลิตร

ดูจากตัวเลขในตารางแล้ว ATIV ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประหยัดกว่า รุ่น Hatchback แค่นิดเดียวเท่านั้น ราวๆ 0.2 กิโลเมตร/ลิตร จึงยังอยู่ในกลุ่ม ECO Car ที่ให้ความประหยัด น้อยหน่อย เมื่อเทียบกับชาวบ้านชาวช่องเขา ถ้าอยากได้ความประหยัดน้ำมันเป็นเรื่องหลัก อาจต้องยอมจ่ายแพงกว่า แล้วหันไปถอย Mazda 2 เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร แทน รายนั้น คือเทพเจ้าแห่งความประหยัดในกลุ่ม B-Segment และ ECO Car ในบ้านเราไปแล้ว ด้วยตัวเลขเท่าที่คุณเห็นในตารางนั่นละครับ

แล้วน้ำมัน 1 ถังจะแล่นได้ไกลกี่กิโลเมตร?

พูดกันตามตรง ว่าแทบไม่ได้แตกต่างไปจาก Yaris Hatchback คันเดิมที่หลายๆคนใช้อยู่ มันขึ้นกับว่า คุณตีนหนักขนาดไหน ถ้าขับแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ใช้รถวันละ 20 – 30 กิโลเมตร คุณอาจจะเติมน้ำมัน ทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ อาจจะอยู่ได้นานราวๆ 450 กิโลเมตร แต่ถ้าคุณเป็นคนขับรถเร็ว ต้องเรียกเค้นพละกำลังเครื่องยนต์ออกมาให้เป็นที่สงสารในสายตาของรถคันรอบข้างบนทางด่วนเป็นยิ่งนัก บอกเลยว่า เข็มน้ำมันจะลดลงเร็วเหมือนกัน และน้ำมัน 1 ถัง อาจพาคุณแล่นไปได้แค่ราวๆ 380 กิโลเมตร พอๆกับรถเก๋ง 1.5 ลิตร นั่นแหละ ไฟเตือนน้ำมันหมดจึงจะเริ่มติดสว่างขึ้น และคุณยังสามารถขับรถต่อไปได้อีกราวๆ 30 – 50 กิโลเมตร เพื่อหาปั้มน้ำมันที่ใกล้มากสุดได้

********** สรุป **********
Vios เปลี่ยนเปลือก ลดขนาดเครื่อง เพิ่มความปลอดภัย คุ้มหรือไม่ ตัดสินใจกันเอาเอง!

หากเราไม่นับ Yaris Hatchback 1.2 ลิตร รุ่นปัจจุบัน ไม่นับ Starlet 1.3 ลิตร ปี 1986 รวมทั้งไม่นับ Corolla 1.3 ลิตร ขับเคลื่อนล้อหน้า ปี 1983 – 1987  รุ่น EE-90 ปี 1987 – 1992 และ EE-101 ปี 1992 – 1996 ครั้งสุดท้ายที่ Toyota Motor (Thailand) ทำรถเก๋ง Sedan 4 ประตู เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ขายในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ Corolla KE30 อยู่ในตลาดเมื่อปี 1979 ก่อนที่ Corolla KE70 หรือรุ่น DX จะเข้ามาแทนที่ ในปี 1980

โห! 39 ปี เกือบ 40 ปี เลยนะนั่น!!!

การเปิดตัว Yaris ATIV เป็นแนวคิดของ ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นคนก่อน (Tanada-san) ที่อยากได้ Sub-Compact Sedan สักคัน เพื่อมาเติมช่องว่างในตลาด B-Segment ECO Car 1.2 ลิตร Sedan ที่ Toyota ไม่มีรถยนต์ในกลุ่มนี้มานานมากแล้ว ให้เต็มเสียที ตามนโยบายเดิมที่อยากให้ โชว์รูม Toyota มีรถยนต์ที่ตอบโจทย์ ทุกความต้องการของลูกค้าทั้งหมด ชนิดที่ว่า พนักงานขายสามารถดึงตัวลูกค้าไว้ได้เลย โดยไม่ต้องออกไปโชว์รูมคู่แข่ง เดินเข้าโชว์รูม Toyota แห่งเดียว หลับตาจิ้มโบรชัวร์ เดี๋ยวก็ได้รถยนต์ที่ต้องการ “ครบทุก Segment”

ครั้นจะให้สร้างรถยนต์รุ่นใหม่ ขึ้นมาเลย ทั้งคัน ก็ดูจะผิดวิสัย Toyota ไปสักหน่อย เพราะต้องลงทุนสูงมากจนมีความเสี่ยงทางธุรกิจเกินเหตุ ดังนั้น Toyota จึงต้องเอา Vios รุ่นปัจจุบัน มาเปลี่ยนเปลือกตัวถังใหม่ จับเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร จาก Yaris Hatchback มาวางลงไป แล้วพยายามแก้ไขในสิ่งที่ Vios เดิม เพลี่ยงพล้ำคู่แข่งในกลุ่มตลาดพิกัด B-Segment ทั้ง ECO Car 1.2 ลิตร และ รุ่นมาตรฐาน 1.5 ลิตร ทั้งหมด เท่าที่พอจะทำได้ เพื่อให้ยังสามารถทำราคาขายได้พอๆกับ Vios เดิม

ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ไม่เลวร้ายนะ ดีเลยด้วยซ้ำ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเคยเขียนไปว่า ควรปรับปรุง Vios ตรงไหนบ้าง ถูกนำมาแก้ไขในระดับที่พอทำได้ จนทำให้ ATIV มีความน่าใช้ขึ้นมา ในสายตาของกลุ่มลูกค้าประเภท “ไม่ต้องการเจอความเสี่ยงใดๆในชีวิตทั้งสิ้น!”  คนกลุ่มนี้ มักเป็นข้าราชการ ตามหน่วยงานภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ครู พนักงานบริษัท ตำแหน่งงานไม่สูงนัก อยากซื้อรถเก๋งไว้สักคัน ต้องเป็นแบบ Sedan 4 ประตู  เท่านั้น เอาไว้แค่ขับไปทำงาน ไปกินข้าว หรือจ่ายตลาด แล้วก็กลับบ้าน / หอพัก / อพาร์ทเมนท์ / คอนโดมีเนียม นานๆที ก็จะขับรถกลับไปเยี่ยมบุพการีที่ต่างจังหวัด บ้าง เป็นคนขับรถไม่เร็ว พอมีเพื่อนฝูงบ้าง แต่ไม่เยอะ ความคิดพื้นฐาน ทั่วๆไป ไม่ได้คิดเยอะซับซ้อนหลายตลบ ไม่ชอบการลงทุน แต่ชอบการออม ชอบความแน่นอนและมั่นคงในชีวิต

ที่สำคัญ พวกเขาเหล่านั้นเป็นคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องรถยนต์มาก่อน หรือไม่สนใจมากนัก แต่เกิดอยากได้ หรือจำเป็นต้องมีรถยนต์ไว้ใช้สักคันขึ้นมา และมองว่า อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ไม่จำเป็น คนกลุ่มนี้ อยากได้การบำรุงรักษาไม่แพง ประหยัดน้ำมัน อุ่นใจและปลอดภัยพอที่จะฝากผีฝากไข้ได้

จุดเด่นของ Yaris ATIV ในสายตาผม อยู่ที่การอัด Option ด้านความปลอดภัย มาให้จนเกินหน้าเกินตา บรรดา B-Segment ทั้งกลุ่ม ECO Car 1.2 ลิตร และกลุ่มดั้งเดิม 1.5 ลิตร แทบทุกคันในตลาด โดยเฉพาะถุงลมนิรภัย ที่ให้มามากถึง 7 ใบ (รวมถุงลมหัวเข่า) มีระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD แถมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้งหรือบนทางลื่น VSC + Traction Control ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง โดยคู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แถมมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้อีกด้วย

ภาพรวมของตัวรถ ก็ถือว่า ดีเลยละ สมราคา เซ็ตช่วงล่างมาให้นุ่มนวลขึ้น แต่ยังยึดเกาะถนนได้ดี สาดโค้งได้สบายๆอยู่หมัด พวงมาลัยก็ถือว่า ดีเป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม B-Segment ECO Car Sedan รองจาก Mazda 2 รุ่น 1.3 ลิตร เท่านั้น การเก็บเสียงรบกวนในความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ดีขึ้นกว่า Vios เดิม (แต่อาจด้อยกว่า Suzuki Ciaz นิดนึง)

ภาพรวม ผมว่า ATIV มันคุ้มค่าสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไปเลยละ เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายไป คุณงามความดี ก็มีพอตัว จนทำให้คุณแทบไม่จำเป็นต้องไปเหลียวมองคู่แข่งอย่าง Honda Brio AMAZE, Mitsubishi Attrage กับ Nissan Almera เลยด้วยซ้ำ!

แต่ถึงกระนั่น ขอแนะนำว่า ยังควรต้องเก็บ Mazda 2 รุ่น 1.3 ลิตร กับ Suzuki Ciaz เอาไว้อยู่ในลิสต์ที่ควรพิจารณาร่วมกัน เพราะ ทั้ง 2 รุ่น ดังกล่าว ยังมีบางสิ่งที่ ATIV ให้คุณไม่ได้

สิ่งที่ยังอยากจะเห็นการปรับปรุงในรุ่น Minorchange ของ ATIV ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2019 ขึ้นไป ก็คงจะยังมีหลงเหลือกันอีกเพียง 4 ประเด็น ดังนี้

1 การตอบสนองของเครื่องยนต์ และคันเร่ง ซึ่งอืดอาดไปหน่อย เมื่อเทียบกับ Yaris Hatchback แม้ว่าจะเกาะกลุ่มไปกับคู่แข่งในตลาดอย่างไม่ถึงกับน่าเกลียดมากนักก็ตาม แต่พอเข้าใจว่า ทีมวิศวกร Toyota คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เพราะถ้าไม่ปรับเซ็ตโปรแกรม ECU เครื่องยนต์ อย่างนี้ ให้เน้นปล่อยไอเสียน้อยลง และประหยัดน้ำมันขึ้นอีกนิด อย่างนี้ ก็คงจะไม่ผ่านข้อกำหนดของ ECO Car Phase 1 แน่ๆ

ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ช่วยอะไรไม่ได้ ยกเว้นพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ให้แรงขึ้น แต่กินน้ำมันและปล่อยไอเสียน้อยลง ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้ต้นทุนก็จะแพงขึ้น ส่งผลให้ต้องขายรถในราคาแพงขึ้นกว่านี้อีก เพื่อรักษาสัดส่วนของกำไรต่อคันเอาไว้ให้ได้ระดับเท่าเดิม

2. พื้นที่เหนือศีรษะของผู้โดยสารด้านหลัง น้อยไป ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับ Vios รุ่นปัจจุบัน คงจะแก้ไม่ได้ในรุ่นนี้ เนื่องจาก ใช้โครงรถร่วมกันกับ Vios ดังนั้น อาจต้องรอรุ่นต่อไป ในอนาคต (ถ้ามี…ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า Toyota จะมี ATIV รุ่นต่อไปหรือไม่ รถเขาเพิ่งเปิดตัวครับ พี่น้อง ใจเย็นนนนนน)

3. เปลือกกันชนหน้า พร้อมช่องรับอากาศด้านหน้า พยายามออกแบบให้ดูโดดเด่นบนท้องถนน แต่นั่นกลับทำให้ด้านหน้าของรถ ดูบีบแคบ จนต้องออกแบบช่องติดตั้งไฟตัดหมอกหน้าเอาไว้ ให้ เป็นติ่ง อย่างที่เห็น ส่วนตัวผม มองว่า ดูขัดสายตาไปหน่อย นึกถึง Saturn SC Coupe 2 และ 3 ประตู รุ่นปี 1998 ซึ่งทีม Designer ของ General Motors ออกแบบหน้าตารถในลักษณะนี้ได้ลงตัวกว่ามาก กระนั้น ชุดไฟหน้า และกระจังหน้า ถือว่า ทำมาลงตัวแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยน!

4. การตอบสนองของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า อยากให้ใช้ Toyota Prius รุ่นปัจจุบัน หรือ Toyota C-HR เป็นต้นแบบในด้านการเซ็ตทั้งความ Linear ในการหมุน จาก ซ้ายสุดไปขวาสุด Lock to Lock รวมทั้งอัตราทดเฟืองพวงมาลัย ที่ไม่ควรเนือยจนเกินไป ควรจะเซ็ตให้อยู่ตรงกลาง รวมทั้ง On Center Feeling ที่แม้ว่าในรุ่น ATIV ถือว่า ดีขึ้นแล้ว แต่ผมเชื่อว่า ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก

ส่วนเรื่องการติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้มากถึง 7 ใบ คือสิ่งที่ผมมองว่าเป็นข้อดี และเป็นเรื่องที่น่าชมเชย Toyota มากๆ ที่ตัดสินใจ เห็นแก่ความปลอดภัยของลูกค้าชาวไทย รวมทั้งชาวเอเซีย เสียที

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าบางกลุ่ม ซึ่งไม่สนใจความปลอดภัยเลย แต่มองเรื่องความมีหน้ามีตาในสังคมที่ตนอยู่ร่วมมากกว่านั้น การติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างมาให้ กลับกลายเป็นจุดด้อยสำคัญ ในการทำตลาด เนื่องจาก รสนิยมของลูกค้ากลุ่มนี้ มัก ชื่นชอบ และอยากได้ “เบาะหนัง” เหนือยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดเนื่องจาก มันทำให้รถยนต์ของตน ดูหรูหราขึ้น เหนือกว่าคนอื่น บางรายอ้างเรื่องการเป็นภูมิแพ้ ไม่สามารถนั่งบนเบาะผ้าได้ หรือไม่ก็กลัวว่า เมื่อนำอาหารมากินในรถแล้วหกเลอะเทอะ เบาะหนังจะทำความสะอาดง่ายกว่าเบาะผ้า ฯลฯ อีกสารพัดเหตุผล พวกเขายอมได้ ถ้าต้องจอดรถตากแดด แล้วเจอปัญหา เปิดประตูเข้ามานั่งในรถทันทีแทบไม่ได้ (เพราะไข่…ของคนนี่แหละ…จะสุก)

ปัญหาก็คือ พนักงานขายตามโชว์รูมรถยนต์ “ทุกยี่ห้อ” ก็รู้ดีว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ ชอบ “เบาะหนัง” จึงไปแอบทำข้อตกลงกับร้านทำเบาะไว้ เพื่อจะส่งรถยนต์ที่ลูกค้าสั่งจองและกำลังจะมารับ ไปหุ้มเบาะหนัง โดยทางร้านหุ้มเบาะ จะแบ่งเปอร์เซนต์ ให้กับพนักงานขายรถเหล่านั้นด้วย เรื่องน่าเศร้าคือ หนังที่แต่ละร้านใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเทียม ไม่ใช่หนังแท้ บางรายถึงขั้นเอาหนัง PVC ชั้นต่ำเกรดเดียวกับ เบาะรถ Taxi สหกรณ์ มาหุ้มให้ด้วยซ้ำ!

รถยนต์รุ่นใด ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างมาให้ มักพบปัญหาก็คือ ร้านรับหุ้มเบาะเหล่านี้ ไม่สามารถถลกผ้าออกมา เพื่อหุ้มหนังได้ เนื่องจากอาจไปขัดขวางการทำงานของถุงลมนิรภัยด้านข้าง ขณะเกิดการชน และอาจเป็นอันตรายต่อเจ้าของรถกับผู้โดยสารเอง อีกทั้ง การหุ้มเบาะหนังที่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้ตัวถังลมด้านข้าง ระเบิดออกขณะติดตั้งเบาะ จนอาจทำให้พนักงานร้านเบาะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้!

ATIV ในฐานะที่เป็น รถยนต์ซึ่งมีถุงลมนิรภัยด้านข้างมาให้จากโรงงาน “ทุกรุ่นย่อย” ก็อาจจะถูกลูกค้ากลุ่มดังกล่าว เมินหนีไปได้ง่ายๆ เนื่องจาก ไม่มีเบาะหนังมาให้ และไม่สามารถติดตั้งเบาะหนังเองข้างนอกโชว์รูมได้

ทางแก้? จัด Option เบาะหนังจากโรงงาน ให้ลูกค้าที่อยากได้ จ่ายเพิ่ม 5,000 – 10,000 บาท สำหรับทุกรุ่นย่อย คือคำตอบที่สวยงาม จริงอยู่ว่ามันอาจจะเพิ่มภาระต่างๆให้กับทางโรงงานขึ้นอีกนิดหน่อย แต่ด้วยระบบการผลิตแบบ Toyota ก็ไม่น่าเป็นปัญหามากนักหรอกครับ ความยากก็แค่ตอนเถียงกับชาวญี่ปุ่น เพื่อขออนุมัติ นั่นแหละ

ประเด็นเบาะหนังนี้ มีมานานมากแล้ว และมันคงยากที่จะหมดไป ตราบใดที่ลูกค้าคนไทยจำนวนไม่น้อย อยากได้เบาะหนังมากเสียจนไม่ดูอะไรเลย และผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ก็คงจะปวดขมับกับปัญหานี้ไปอีกนาน

 

*** คู่แข่งในตลาดกลุ่มเดียวกัน ? ***

ถ้าจะเปรียบเทียบกันอย่างตรงพิกัดมากที่สุด เราคงต้องเทียบ ATIV กับ บรรดา B-Segment (ECO Car) Sedan 1.2 ลิตร ทั้งหลาย ได้แก่ Honda Brio AMAZE , Mazda 2 Sedan , Mitsubishi Attrage , Nissan Almera และ Suzuki Ciaz

แน่นอนว่า Honda Brio AMAZE มีขนาดเล็กสุด เด่นที่ความคล่องแคล่วในการบังคับควบคุม ท่ามกลางสภาพการจราจรติดขัด พวงมาลัยเซ็ตมาในภาพรวมได้ดีเป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม นั่งเบาะหลังแล้ว หัวไม่ชนเพดานหลังคา รวมทั้งชื่อชั้นความเป็น “แบรนด์ Honda” ที่มีศูนย์บริการเยอะไล่เลี่ยกับ Toyota…และแค่นั้น…ที่เหลือ ไม่มีอะไรเด่น แถมยังล็อกความเร็วไว้ที่ 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีกต่างหาก นี่ยังไม่นับโครงสร้างตัวถังที่ให้สัมผัส “กะหล่งป๊ง” (บอบบางคล้ายสังกะสี ทั้งที่จริงๆก็คือเหล็กรีดร้อนตามปกติ) อีกต่างหาก

Mazda 2 เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร ได้ชื่อว่ามีเส้นสายโฉบเฉี่ยวโดนใจวัยรุ่นมากสุด พวงมาลัยเซ็ตมาดีที่สุดในภาพรวม ช่วงล่าง เอาใจคนชอบขับรถ แต่ด้วยเหตุที่มันถูกเซ็ตมาเพื่อรองรับเครื่องยนต์ Diesel 1.5 ลิตร ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า พอวางเครื่องยนต์เบนซินเข้าไป จึงกลายเป็นว่า ช่วงล่างให้สัมผัสเบากว่ารุ่น Diesel เสียอย่างนั้น อัตราเร่ง ก็ไม่ได้แรงอะไรมาก อีกทั้ง ห้องโดยสารยังมีขนาดเล็กและคับแคบกว่าเพื่อน และมีราคาค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่งอยู่พอสมควร แถมศูนย์บริการก็ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงให้ดีขึ้นในภาพรวม อย่างไรก็ตาม อีกจุดเด่นที่เหนือกว่าเพื่อน คือ ประหยัดน้ำมันมากที่สุด ถึง 24 กิโลเมตร/ลิตร!! (จากการทดลองของ Headlightmag ตามมาตรฐาน วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน) คือสิ่งที่คู่แข่งทุกคัน รวมทั้ง ATIV ทาบไม่ติด

Mitsubishi Attrage ยังคงขายได้เรื่อยๆ จากผลของการปรับโฉม Minorchange งวดล่าสุด ที่ติดตั้งระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยมาให้ ในระดับพอฟัดเหวี่ยงกับ ATIV ได้โดยเฉพาะ ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ซึ่งยังเป็นจุดขายสำคัญ นอกนั้น ตัวรถโดยลำพัง ค่อนข้าง “กะหล่งป๊ง” กว่าคันอื่นๆ อัตราเร่งพอใช้ได้ แต่เกียร์ CVT ก็พอมีอาการเย่อ ให้เห็นอยู่ ศูนย์บริการดีๆ มีครับ แต่อยู่ต่างจังหวัดเสียส่วนใหญ่ ในกรุงเทพฯ จะหาดีค่อนข้างยากแล้ว

Nissan Almera ECO Car Sedan คันแรก การมีตัวถังยาวกว่าชาวบ้าน ทำให้พื้นที่ภายใน ห้องโดยสาร ยาวจนมีพื้นที่วางขาเยอะมาก แถมยังมีห้องเก็บของด้านหลังใหญ่กว่า เป็น 490 ลิตร แต่อย่าหวังว่าการขับขี่จะดีนัก เพราะอัตราเร่ง ก็อืดพอกับ Attrage นั่นละ เกียร์ CVT มีอาการเย่อ เหมือน Attrage แถมการทรงตัว และการตอบสนองของพวงมาลัย ก็ไม่ได้ดีไปกว่า Attrage เลย เน้นโดยสาร และวิ่งทางตรงในเมืองเป็นหลัก ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจครับว่า มีเพียงรุ่น Sportec ซึ่งติดสปอยเลอร์มาให้รอบคัน เท่านั้นที่ยังคงขายได้ ศูนย์บริการ มีทั้งดี และไม่ดี ในอัตราส่วนที่มากกว่า Mitsubishi นิดหน่อย แต่ข้อดีคือ ถ้ามี Defect หากคุณใจร้อ โอกาสได้เคลมเปลี่ยนช้นส่วนจะเร็วมาก

Suzuki Ciaz คันใหญ่สุด ห้องโดยสารโอ่โถงมากสุด แถมยังแรงที่สุด..ไม่สิ อันที่จริง ควรใช้คำว่า อืดน้อยที่สุด และประหยัดน้้ำมันกว่า ATIV เพียงแต่ว่า เกียร์ CVT แอบมีอาการเย่อ เหมือน Attrage และ Almera การเซ็ตพวงมาลัย ยังไม่เป็นธรรมชาติมากพอ ทำได้เพียงแค่ดีกว่า Attrage กับ Almera เท่านั้น อีกทั้งบรรดา อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ก็ไม่เยอะเท่า ATIV มีเพียงแค่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า กับระบบเบรก ABS + EBD ตามมาตรฐานเท่านั้น ศูนย์บริการ ควรเลือกดีลเลอร์หน้าใหม่ๆ ที่เน้นดูแลลูกค้าดีๆ เพราะพวกรายเก่าๆ หรือกลุ่มที่เคยทำธุรกิจรถยนต์ค่ายอื่นมาก่อน มีเสียงก่นด่าเยอะเอาเรื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม มีลูกค้าบางส่วนจำนวนไม่น้อย เกิดความลังเลว่า จะเลือก ATIV หรือ Toyota Vios 1.5 ลิตร ดี เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ มักเป็นพนักงานขายสินค้า ซึ่งจำเป็นต้องวิ่งงานในเขตปริมณฑล หรือต่างจังหวัด พวกเขาอยากได้พละกำลังจากเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรของ Vios แต่ยังเสียดายในอุปกรณ์ความปลอดภัย และงานออกแบบของ ATIV ที่โดนใจพวกเขามากกว่า

แต่ในเมื่อ รถยนต์ระดับ B-Segment รวมทั้ง B-Segment ECO Car เป็นกลุ่มตลาดที่ ลูกค้าให้ความสำคัญกับราคาขาย และมีความอ่อนไหวต่อราคามากๆ ทั้งราคาขายปลีก หรือค่างวดในระบบผ่อนชำระ (Price Sensitive) มากๆ ช่วยไม่ได้ที่เราจะเห็น Yaris ATIV ออกมาแย่งยอดขายไปจาก Vios เอง

เรื่องนี้ Toyota ก็รู้ดี เข้าใจดี เพราะดูเหมือนว่า Toyota ก็จงใจให้มันเป็นเช่นนั้น แต่แน่นอนว่า พวกเขาจะยังไม่ทำอะไรกับ Vios จนกว่าจะถึงปี 2018 ซึ่งอาจจะมีการปรับอุปกรณ์กันอีกครั้ง ก่อนที่รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Model Change ผลงานจาก TDEM (Toyota – Daihatsu Engineering & Manufacturing) ในประเทศไทย  จะเปิดตัวในช่วงปี 2019 – 2020

ดังนั้น ต้องถามตัวคุณเองว่า ต้องการอะไรจากการซื้อรถยนต์ขนาดเล็ก จาก Toyota ถ้าคุณไม่ได้ขับรถเร็วนัก ไม่ได้ออกต่างจังหวัดบ่อยๆ ถ้าจะไปเที่ยว ก็มักต้องขับคลานๆไปตามสภาพการจราจรช่วงเทศกาลที่ผู้คนเขาแห่กันกลับบ้านเรือนในต่างจังหวัดจนรถติดเป็นตังเม และแทบไม่ได้ใช้อัตราเร่งนัก เน้น Option และอุปกรณ์ความปลอดภัย แน่นอนครับ หันไปหา ATIV ได้เลย

แต่ถ้า อัตราเร่ง คือสิ่งสำคัญ คุณจำเป็นต้องทำเวลา และมักต้องเร่งแซงรถพ่วง 18 ล้อตามต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง ผมยืนยันว่า เพิ่มเงินขึ้นไปเล่น Vios 1.5 ลิตร เถอะครับ หรือไม่เช่นนั้น ก็หันไปหา Honda City 1.5 ลิตร รุ่นล่างๆ หรือ กลางๆ ที่มีค่าตัวไล่เลี่ยกัน ดีกว่า เพราะถ้าจะแนะนำให้ดู Mazda 2 Diesel ซึ่งขับดีที่สุด และประหยัดน้ำมันที่สุด ในกลุ่ม B-Segment ทั้งหมด ก็เกรงว่า ราคาจะแพงไปหน่อย

***** ซื้อรุ่นย่อยไหน คุ้มกว่ากัน? *****

Yaris ATIV มีให้เลือกทั้งหมด 5 รุ่นย่อย โดยมีการปรับราคาขาย ขึ้นมาจากตอนเปิดตัว เรียบร้อยแล้ว เมื่อ 31 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา

  • 1.2 J Eco CVT  469,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 479,000 บาท
  • 1.2 J CVT  519,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 529,000 บาท
  • 1.2 E CVT  549,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 559,000 บาท
  • 1.2 G CVT  599,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 609,000 บาท
  • 1.2 S CVT  619,000 บาท เพิ่มขึ้น 16,000 บาท เป็น 635,000 บาท

น้อง Moo Cnoe ทีมงานของเราได้สรุป เจาะสเป็ก Yaris ATIV ในแต่ละรุ่นย่อย ว่าแตกต่างกันอย่างไร มีอุปกรณ์ไหนเพิ่มเข้ามาบ้างไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่ (CLICK HERE)

ในความเห็นของผม หากไม่ใช่คนที่เน้น Option และมองหาแค่รถยนต์คันหนึ่งไว้ขับใช้งานธรรมดา รุ่น 1.2 J คือรุ่นที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยมาให้ครบพอๆกับรุ่น Top 1.2 S เพียงแต่การตกแต่งอาจจะดูด้อยไปบ้าง ไม่มีล้ออัลลอยมาให้ หากไม่คิดมาก นี่คือรุ่นที่น่าอุดหนุนประมาณหนึ่ง

แต่รุ่นที่ผมดูแล้วคุ้มค่ามากที่สุด คือรุ่น 1.2 E แม้ว่าคุณจะไม่ได้กุญแจแบบ Smart Entry แต่คุณยังได้กุญแจ Immobilizer เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยจอด มาตรวัด Optitron พร้อมหน้าจอ MID เครื่องเสียง เชื่อม Bluetooth ได้ พร้อมลำโพง 4 ชิ้น ซึ่งนั่นก็เพียงพอในการใช้งานทั่วๆไปแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปเล่นรุ่น 1.2 G หรือ 1.2 S ให้เปลืองขึ้นไปเลย

อย่างไรก็ตาม ถ้าคำนวนเงินผ่อนแล้ว พบว่า ส่วนต่างในแต่ละเดือนที่คุณต้องจ่าย มันช่วยให้คุณปีนขึ้นไปเล่นรุ่นแพงกว่านี้ได้ การไต่ขึ้นไปเล่นรุ่น 1.2 G ก็น่าจะเพียงพอต่อการนำไปอวดเพื่อนฝูงและผู้คนรอบข้างได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไต่ขึ้นไปเล่นรุ่น 1.2 S เลย

Yaris ATIV เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด สไตล์ และวิธีการทำตลาดรถยนต์ Toyota ในเมืองไทย ชนิดที่เรียกได้ว่า “รวมทุกความเป็น Toyota เอาไว้ในคันเดียว” อย่างแท้จริง

ความเป็น Toyota คืออะไร? มันมี 2 ด้าน ครับ คือด้านที่ผู้บริโภค มอง กับด้านที่ ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ มอง

ด้านที่ผู้บริโภคมอง แน่นอนครับ Toyota มีจุดแกร่งมายาวนานในเรื่อง ซื้อง่าย เน้นสะดวกสบาย ขายต่อไว ได้ราคาดี ศูนย์บริการมีทั่วไทย ช่างที่ไหนๆก็ต้องซ่อมได้ อะไหล่มีให้เบิกกันยาวนาน เบิกบานใจไปถึงอู่นอก ตัวรถมีสมรรถนะกลางๆ เน้นทนถึก ทนทาน ใช้งานกันชั่วลูกชั่วหลานมันยังไม่ค่อยจะพัง

ถามว่า เป็นความจริงอยู่ไหม ในทุกวันนี้ หลายประเด็นยังคงจริงอยู่ ยกเว้นเรื่องราคาอะไหล่ ที่เริ่มจะแพงขึ้นเกินเหตุในหลายๆชิ้น โดยเฉพาะชิ้นที่ไม่ได้เปลี่ยนหรือหมุนเวียนกันบ่อยๆ นี่ก็แพงโหดเลยทีเดียว

ด้านความทนทานนั้น Akio Toyoda ก็ดำริว่า อยากให้รถยนต์ของ Toyota ทนถึกยิ่งขึ้นไปอีก เลยจัดการทดสอบ ใน 5 ทวีป เรียกว่า Toyota 5 Continents Drive เพื่อให้วิศวกรของ Toyota ได้เรียนรู้และเข้าใจรูปแบบถนนในโลกจริงๆ ที่แตกต่างไปจากสนามทดสอบของพวกเขา เพื่อสร้างประสบการณ์กับถนนอันหฤโหดในทุกสภาพพื้นผิวถนน และภูมิอากาศ รายละเอียดต่างๆ ใช้เวลา 5 ปี นับจาก 24 เมษายน 2015 ไปสิ้นสุดในปี 2020 ที่ญี่ปุ่น ดูได้จากคลิปข้างล่างนี้ หรือถ้าอยากดูเพิ่มเติม ก็คลิกเข้า Youtube ในช่อง Toyota Gazoo Racing

แล้วในมุมมองของ คนในอุตสาหกรรมยานยนต์ละ?

ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มาเป็นปีที่ 19 ผมเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ เมื่อนานประมาณชาติปางก่อนแล้วว่า สำหรับยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota นั้น…

1. ทำรถยนต์ออกมา ให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ โดยเซ็ตรถยนต์ของตนให้มีภาพรวม “คุณสมบัติด้านการขับขี่ ทั้งอัตราเร่ง เบรก การเข้าโค้ง การตอบสนองของพวงมาลัย การเก็บเสียงรบกวน และคุณสมบัติพื้นฐานในการเป็นรถยนต์ด้านอื่นๆ” อยู่ในลักษณะ “กลางๆ” หรือ “อยู่ตรงกลาง” ระหว่างคู่แข่งที่ตนตั้งธงไว้ให้เป็น Benchmark เสมอ

2. ถ้าตราบใดที่พวกเขายังคงได้เปรียบคู่แข่งในตลาด ทำรถยนต์รุ่นใดออกมาแล้ว ขายดี ก็จงทำใจได้เลย อย่าหวังจะเห็นรถยนต์รุ่นนั้นๆ มีพัฒนาการอะไรเกินไปกว่ารถคันเดิมที่เคยเป็น พวกเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือถ้าต้องเปลี่ยน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านการรับมือกับคู่แข่ง หรือการปรับเปลี่ยน เพราะต้องทำ CR (Cost Reduction) หลังเปิดตัวออกจำหน่ายไปแล้ว ทุกๆปี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็จะปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้น้อยที่สุด และทำอย่างไรก็ตาม ให้ได้กำไรต่อคันเพิ่มขึ้น แม้เพียงแค่ชิ้นส่วนละ 1 บาท ก็ต้องทำ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ของบริษัทรถยนต์แทบทุกรายด้วย)

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เมื่อใดที่คุณทำรถออกมาแล้วขายดี จงพยายามเปลี่ยนแปลงมันให้น้อยที่สุด ลากใช้เครื่องยนต์เดิม หรือชิ้นส่วนอะไหล่เดิม ให้ยาวนานที่สุด เพื่อให้เกิดกำไร และความคุ้มทุน สูงสุดเท่าที่จะลากขายได้ (การลากผลิตเครื่องยนต์ 4A-FE มายาวนาน ตั้งแต่ปี 1992 หรือการลากผลิตเครื่องยนต์ Vios รุ่น 1NZ-FE มาตั้งแต่ปี 2002 – 2016 หรือแม้แต่ Camry กับเครื่องยนต์ตระกูล AZ ที่ลากกันมายาวนานตั้งแต่ ปี 2003)

ถ้ามองในแง่การทำธุรกิจ นี่ก็เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะคุณลองดู สินค้าแบรนด์ไทย จำนวนมากในทุกวันนี้สิครับ ยังคงยืนหยัดอยู่ในตลาดมาได้ ทั้งที่แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย (เช่น โทนาฟ) เพียงแต่ว่า พอเป็นรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แข่งขันกันอย่างหนัก หากไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย โอกาสที่จะสูญเสียลูกค้าไปให้คู่แข่ง ย่อมมีสูง

3. แต่ถ้าเมื่อใดที่พวกเขาคิดว่า เพลี้ยงพล้ำ หรือสู้คู่แข่งไม่ได้ Toyota ก็จะหาทางระดมสรรพกำลัง หาทางทำอย่างไรก็ได้ ให้รถคันนั้น ดีพอขึ้นมางัดข้อกับคู่แข่งได้ โดยไม่สนใจว่ารถยนต์รุ่นเดิมก่อนหน้านี้ จะเป็นอย่างไร เช่นการอัด Option สารพัดมาให้กับลูกค้า ชนิดที่ว่า ใครซื้อรถยนต์รุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นสูงกว่าบางรุ่น ถึงขั้นมองค้อนจนตาเหลือตาปลิ้นกันเป็นแถว ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเปลี่ยนโฉมจาก Soluna รุ่นเดิม ปี 1997 – 2002 มาเป็น Soluna Vios 2002 – 2007 หรือ กรณี Hilux Tiger D-4D 2001 มาเป็น Hilux Vigo ในปี 2004 ที่ Toyota สามารถเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ คันใหญ่ขึ้น เทคโนโลยีดีขึ้น แต่สามารถลดต้นทุนลงได้จนทำราคาขายถูกลงกว่ารุ่นเดิม หลักหมื่นบาท! ด้วยเป้าหมายที่จะเอาชนะ Isuzu D-Max ในตอนนั้น ให้ได้

4. ทุ่มงบประมาณด้านการตลาดอย่างไม่อั้น ในรถยนต์ที่หมายมั่นปั้นมือไว้ กระจายโฆษณาในทุกสื่อเพื่อให้ผู้คนรับรู้การมาถึงของรถยนต์รุ่นใหม่อย่างเอิกเกริก โดยในอดีตที่ผ่านมา แทบไม่ได้ประเมินถึงความคุ้มค่าในเงินที่ตนได้ลงโฆษณาไปในสื่อต่างๆมากเท่าที่ควร บางที ก็มีรายการ “คุณขอมา” กันเยอะ แต่พอรุ่นไหนที่คิดว่าไม่น่าจะขายได้เยอะ ก็เล่นไม่สนใจ ปล่อยปละละเลยกันไปเสียอย่างนั้น

5. รูปแบบของการโฆษณา ยังคงรักษาแพทเทิร์นเดิมๆ เน้นอัดกรอกหู ด้วยจุดเด่น จนดูเหมือนว่า คนที่เคาะอนุมัติโฆษณาแต่ละชิ้นของ Toyota ให้ออกเผยแพร่ได้นั้น มองแค่ว่า จะขายรถยนต์เหล่านั้น ได้เท่าไหร่ มากแค่ไหน โดยไม่ได้มองว่า ทำอย่างไรให้โฆษณาเหล่านั้น สัมผัสใจของลูกค้าจนเกิดความประทับใจชวนให้เดินเข้าโชว์รูม และช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับแบรนด์ ในความทรงจำของผู้บริโภค ระยะยาว เลย

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา Toyota มักทำตลาดด้วยสไตล์ 5 ประการนี้ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างชัดเจน และพวกเขาไม่เคยคิดจะเปลี่ยน

จนกระทั่งวันนี้ วันที่สถานการณ์ของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อ Toyota ในอนาคต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลาด ECO Car เข้ามาแย่งลูกค้าจากกลุ่มรถกระบะไปพอสมควร ขณะเดียวกัน ลูกค้าวัยรุ่นหนุ่มสาว เริ่มมองว่า Toyota เป็นรถของคนแก่ จะทำอย่างไร ให้คนหนุ่มสาว หันกลับมาซื้อ Toyota?

(เดี๋ยวประเด็นนี้ จะเก็บไว้เขียนใน บทความรีวิว Yaris Hatchback Minorchange ที่จะตามมาหลังจากนี้)

แม้ว่า เกือบทุกคนใน Toyota จะรู้อยู่เต็มอก ว่าสถานการณ์ได้เริ่มเปลี่ยนไป เห็นได้จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต่อให้ลงลงการตลาดไปขนาดไหน ยอดขายกลับเริ่มไม่เปรี้ยงปร้าง เหมือนเคย แม้ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเหตุบ้านการเมืองต่างๆมากมาย แต่หลายๆคนใน Toyota ยังคงนิ่งเฉย ไม่คิดที่จะทำอะไร ด้วยเหตุผลที่ว่า “ก็ในอดีต ทำวิธีการต่างๆเหล่านี้ เราก็ยังขายรถได้มาก อยู่ดี แล้วจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร ให้วุ่นวาย เปลืองเวลา ทำไม ทุกวันนี้ก็งานยุ่งพออยู่แล้ว ไหนจะถูกเรียกประชุม บี้ตัวเลข กันอยู่ได้ จนแทบจะเป็น Toyota Meeting (Thailand) กันแล้ว ?”

จริงอยู่ว่า ตอนนี้ Toyota ในเมืองไทยเอง ก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ในระดับบริหารเองก็เริ่มมีวิธีการแก้ปัญหาต่างๆนาๆ แต่ จะทำอย่างไร ให้คนที่ทำงานอยู่ ต่างตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน

Toyota เองก็มีคนเก่งๆทำงานอยู่ด้วยเยอะมาก มีคนที่รักองค์กร และพร้อมจะทำให้บริษัทเกิดความเจริญเติบโตอีกมาก พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ด้วยความเต็มใจ แต่ที่ผ่านมา ระบบการบริหารงานแบบองค์กรขนาดใหญ่เอง ที่เต็มไปด้วยความกดดันบ้าบอคอแตก ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ท้อแท้ หมดใจ และลาออกจาก Toyota ไปอย่างน่าเสียดาย เราจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้ในระยะยาว?

ผมไม่รู้นะ ว่าจะมีสักกี่คน ที่เขียนถึง Toyota ในแบบที่ผมกำลังทำอยู่

“บริษัทรถยนต์เขาไม่โง่หรอก ไปเตือนเขาทำไม เขารู้อยู่แล้ว”

จริงครับ พวกเขาไม่โง่หรอก แต่บางที บางคนก็อาจทำแกล้งโง่ ด้วยเหตุผลบางอย่างที่แตกต่างกันไป โดยพวกเขาอาจลืมคิดไปว่า บางที การแกล้งโง่เหล่านั้น อาจเป็นภัยต่อหม้อข้าวหม้อใหญ่ของตนเองในระยะยาว

ได้แต่ฝากความหวังถึงประธาน คนใหม่ Michinobu Sugata ซึ่งมีคนในหลายๆคน เริ่มจะชื่นชมสไตล์การทำงานมาให้ผมได้ยินบ้างแล้ว ได้แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างจริงจังเสียที

เพราะถ้าแก้ไม่ทันการณ์ ความเป็นผู้นำของ Toyota อาจถูกสั่นคลอนไปมากกว่านี้

น่าหนักใจใช่เล่นเลยทีเดียว

————————-///————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค เป็นของ Toyota Motor Corporation)

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
14 พฤศจิกายน 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 14th,2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE !