นอกเหนือจากกลุ่มเพื่อนที่สนิท ซึ่งเคยแวะเวียนมาบ้านผมอย่างจริงจังแล้ว น้อยคนจะทราบว่าผมมีพี่สาวแท้ๆอยู่หนึ่งคน ซึ่งอายุห่างกัน 7 ปี ผมมักไม่เรียกชื่อเธอแล้วนำหน้าด้วยคำว่า “พี่” หรือ “เจ๊” หรือแม้แต่เรียกชื่อของเขาสั้นๆห้วนๆมานาน 20 ปีแล้ว แต่ผมเรียกเธอว่า “หมอ” (ตัวลงท้ายคือสระ อ. นะครับ ไม่ใช่สระ า เดี๋ยวผมจะโดนถีบเอา) วันไหนหมั่นไส้หนักหน่อยก็เรียกว่า “ไอ้หมอ”
หมอเรียนจบแพทย์มาตั้งแต่ยุคแพ็คลิงค์ครองเมือง และปัจจุบันก็มีฐานะคล้ายๆจะเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ชีวิตประจำวันก็ออกจากบ้านไปตั้งแต่ตีห้า กลับบ้านสี่ทุ่ม ไม่มีแฟน ไม่มีสังคมสังสรรค์ที่ชัดเจน ไม่เคยเห็นเขาออกไปไหนนอกจากฟิตเนสแถวบ้าน แม้ว่ากิตติศัพท์ของหมอจะเป็นที่เลื่องลือในการชอบเล่นมุกใต้เข็มขัดจนนิสิตและลูกน้องเหวอ..แต่อยู่ที่บ้าน หมอเป็นคนที่เงียบ ไม่สุงสิง ไม่คุยกับใคร ขลุกอยู่แต่ในห้องตัวเองจนผมสงสัยว่าแกประดิษฐ์ระเบิดพลาสม่าอยู่ในห้องนั้นหรือเปล่า
หลายครั้งที่ J!MMY ขับรถทดสอบมาจอดขวางทางเข้าโรงรถของหมอ เขามักไม่ใส่ใจอะไรกับพวกเรานอกจากทักทายตามปกติ ก่อนเผ่นขึ้นห้องสร้างระเบิดของเขาไป แต่ในวันที่ Subaru ALL NEW XV 2017 คันนี้มาจอดหน้าบ้าน พี่หมอแกมองแล้วมองอีก ก่อนจะเดินเข้าบ้านมาถาม J!MMY ว่า
“สีสวยดี รถอะไรน่ะ ดูเหมาะเอาไปรับพระสงฆ์ออกบิณฑบาต”
หลังจากก่อเหตุให้วงการสงฆ์ปั่นป่วน หมอก็เดินยิ้มขึ้นชั้นสองของบ้านไป และแม้เราจะคืน XV คันนี้ให้ทาง Subaru ไปแล้ว เมื่อพี่ผมเจอ J!MMY ก็ยังพูดถึงรถคันนี้อยู่ “ตกลงได้รับพระท่านไปบิณฑบาตหรือเปล่า” กลายเป็นเรื่องขำเล็กๆ ที่เล่ากันในหมู่พวกเรา แม้แต่น้องต๊อบ อธิป ทีม The Coup ยังตั้งชื่อให้ว่าสีส้ม “Jeeworn Orange” (ช่วยไม่ได้ ก็มันคล้ายจริงๆนี่ครับ)
แต่ในขณะที่สีส้มบนจีวรพระสงฆ์นั้น แสดงให้เห็นถึงการเข้าสู่การเป็นพุทธสาวก เข้าสู่หนทางแห่งพระธรรม ดับกิเลศตัณหา มุ่งหน้าสู่สภาวะแห่งความสงบของจิต…สีส้มบนเรือนร่าง XV กลับกลายเป็นสิ่งที่ยุให้เกิดกิเลศครอบครอง เปลี่ยนความสงบเป็นความพลุ่งพล่าน มีความโดดเด่นเตะตาทั้งวัยรุ่นและวัยดึก วัยคึกและวัยเจียมสังขาร ต่อให้ไม่ใช่สีส้มแบบรถคันนี้ XV ก็เป็นรถที่มีเสน่ห์อย่างประหลาดในสายตาคนบางกลุ่ม ซึ่งหลายคนในจำนวนนั้น ไม่เคยสนใจรถจาก Subaru มาก่อน
ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะในปัจจุบัน ความนิยมในรถครอสโอเวอร์ขนาดตัวไม่โตกำลังพุ่งสูงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ Subaru XV เจนเนอเรชั่นที่แล้ว กลายเป็นรถขายดีชนิดพลิกชะตาค่าย จากเดิมที่ขายรถปีละร้อยคัน กลายเป็นเดือนละหลายร้อยคัน ด้วยราคาที่ถูกกว่า Impreza ซาลูนรุ่น 1.6 ตัวล่างในสมัยก่อน แต่คุณได้เครื่อง 2.0 ลิตร มีช่วงล่างที่ไม่แข็งกระด้างเกินไป ได้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาที่เกาะถนนดีและมีใต้ท้องสูง เหมาะกับการใช้งานในเมืองไทยที่มีทั้งน้ำท่วม ทางชัน ลูกระนาดขนาดทีเร็กซ์ยังสะดุด และยังมีภัยอันตรายจากสภาพถนนที่สุดจะคาดเดา
นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีอีกหลายแห่ง ซึ่งต้องเผชิญถนนในสภาพเดียวกัน หรือต่อให้เป็นประเทศที่ถนนหนทางพัฒนาดีแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนที่รักการผจญภัย แต่บังเอิญเกิดมาในดินแดนที่รถขนาดใหญ่เป็นที่รังเกียจของสังคม ลูกค้าเหล่านี้ก็จะมองหารถที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่สามารถลุยได้จริงจังมากกว่าครอสโอเวอร์เน้นสวยทั่วๆไป แต่ต้องขับในเมืองคล่อง เสียภาษีประจำปีไม่มาก ใช้เครื่องยนต์ขนาดพอตัว
ซึ่งเข้าทาง Subaru พอดี และมันพิสูจน์ได้จากยอดขายรวมทั่วโลกของ ผมนับแค่ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2017 ซึ่งทำยอดรวมจากมกราคมถึงกันยายนได้ 122,900 คัน คิดเป็น 17.3% ของรถทั้งหมดที่ขาย แพ้ Forester, Outback และ Impreza (รุ่นที่ไม่ใช่ WRX) เท่านั้น และอย่าลืมว่าปี 2017 ครึ่งปีแรกนั้นหลายที่ยังต้องลากขายโมเดลเก่าอยู่และเป็นยอดในขาลงเพราะคนรอรถรุ่นใหม่มากขึ้น
ในเมื่อเป็นรถขายดีในตลาดที่กำลังเจริญเติบโตหลายแห่ง Subaru จึงต้องจริงจังกับการพิจารณาแนวทางการสร้าง XV รุ่นใหม่ไปพร้อมๆโครงการพัฒนา Impreza และโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ (Subaru Global Platform) ซึ่งจะนำไปใช้กับ Subaru เกือบทุกรุ่นนับจาก Impreza และ XV ใหม่เป็นต้นไป และยังได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับรถแต่ละรุ่น
Forester จะเป็นรถที่เน้นประสิทธิภาพการลุยสูงสุด มีพื้นที่ภายในโปร่ง บรรทุกสัมภาระได้จำนวนมาก ปรับช่วงล่างให้เหมาะกับการวิ่งบนถนนทุรกันดาร นุ่มนวลแบบครอบครัว ส่วน Levorg จะเป็นรถสปอร์ตแวก้อนที่เน้นสมรรถนะการขับขี่โหดแบบ WRX แค่เพิ่มพื้นที่ความจุด้านท้ายให้มีความอเนกประสงค์มากขึ้น และ Outback จะเป็นรถที่เน้นความสง่างาม บุคลิกผู้ใหญ่ หรูหราและทำมาเพื่อเอาใจลูกค้าอเมริกันเป็นหลัก
ส่วน XV นั้น จะเป็นรถที่ลุยได้ดีเกือบเท่า Forester แต่ปรับขนาดตัวให้เล็กลงเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในเมืองโดยยอมเสียเนื้อที่บรรทุกสัมภาระไป และจูนช่วงล่างมาตอบรับกลุ่มผู้ซื้อที่มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่ารถทุกตัวที่กล่าวมาข้างต้น (แข็งกว่า Forester แต่ไม่มากเท่า Levorg)
นอกจากนี้ เพื่อให้ XV มีความแตกต่างจาก Impreza มากขึ้น จึงได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาไว้ว่าจะปรับเปลี่ยนในหลายจุด เช่น ใช้เกียร์ที่มีอัตราทดเฟืองท้ายจัดกว่า, มีระยะแทร็คล้อหน้าและหลังกว้างกว่าเพื่อให้รับกับความสูงใต้ท้องและยางที่โตกว่าและเพิ่มขนาดถังน้ำมันจาก 50 เป็น 63 ลิตรให้รถสามารถวิ่งได้ไกลขึ้น แต่ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการออกแบบ
เส้นสายต่างๆของ XV จะต้องถอดแบบมาจาก Impreza Hatchback โดยทาง Subaru คิดค้นชื่อเรียกปรัชญาทางการออกแบบของเขามาหลายอย่าง แต่ธีมที่สำคัญและน่ากล่าวถึงคือ “Dynamic x Solid”
คุณ Mamoru Ishii ซึ่งเป็น General Manager ฝ่ายออกแบบ รับผิดชอบโครงการ XV กล่าวว่ามันคือการผสาน 2 อารมณ์ของมนุษย์เข้าด้วยกันระหว่าง Enjoyment (ความสนุกสนาน เฮฮาปาจิงโกะ) กับ Peace of mind (ความรู้สึกผ่อนคลายที่เกิดจากความเชื่อใจ) เมื่อเอาพื้นฐานจากความรู้สึกของคนเราไปแปลงเป็นปรัชญาทางการออกแบบ ก็ได้เป็น Dynamic x Solid ซึ่ง Dynamic คือเส้นที่ทำให้เกิดความรู้สึก Active มีการเคลื่อนไหว เช่นสัดส่วนของรถที่ไม่ป้อมอ้วนเกินเหตุ ไฟหน้าที่เรียวเล็กลง ส่วน Solid ก็คือส่วนที่ทำให้เกิดความรู้สึก ว่านี่คือรถที่ตัวถังแข็งแรงปลอดภัย ซึ่งก็จะมาจากการยกสันข้างตัวถังให้ดูหนา การทำมุมกันชนของตัวรถให้หักเป็นเหลี่ยมตัดในบางมุม
อันที่จริง ผมคิดว่ามันคือวัฒนะธรรมการออกแบบที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัย WRX โฉม 2013-ปัจจุบันนั่นล่ะครับ สังเกตได้ว่าหลายคนเอาดีไซน์แบบนี้ของ Subaru ไปล้อเลียนว่าคล้าย Volvo จากอดีตบางรุ่น ก็คงไม่แปลกเพราะนั่นคือเส้นสายแบบที่ทำให้คนเห็นแล้วรู้สึกว่ารถมีความแข็งแรงปลอดภัยนั่นเอง
ส่วนภายในนั้น นอกจากจะคิดวิธีจัดวางอุปกรณ์ให้ใช้งานได้สะดวกและปลอดภัยขึ้นนั้น ทางทีมออกแบบยังได้คิดค้นเส้นสายต่างๆ ให้ดูมีความหรูหราขึ้น (Subaru ใช้คำว่าดูมีระดับเหนือคู่แข่ง แต่ผมว่ามันออกจะเวอร์เกินไปสักหน่อย) ในยุคที่จอกลางขนาดใหญ่กลางมาเป็นที่นิยมมากขึ้นนั้น การใช้ช่องแอร์แบบเดิมจะทำให้ตำแหน่งจอภาพอยู่ต่ำกว่าระดับแนวสายตา จึงเป็นที่มาของช่องแอร์แบบตั้ง เพื่อที่จะได้สอดจอนี้ไว้ตรงกลาง และยังสามารถติดตั้งจอ Multifunction ด้านบนให้อยู่ในระดับบนสุดของแดชบอร์ดได้เหมือนเดิม
วัสดุภายในของ XV นั้น ก็เปลี่ยนไปตามมาตรฐานรถสมัยใหม่ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา Subaru ในตลาดโลกโดนครหาเรื่องใช้วัสดุไม่สมราคารถมาตลอด ในรถรุ่นใหม่นี้ จึงต้องพิถีพิถันมากขึ้น ใช้วัสดุนุ่มและสีดำเงาคล้ายเดิม แต่จัดหาตำแหน่งที่จะใส่วัสดุแบบต่างๆเข้าไปให้ดูลงตัวขึ้น แต่ในด้านการใช้งานจะต้องง่ายตามปรัชญา Form follows function ของ Subaru
รถอีกคันที่เป็นต้นแบบดีไซน์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อเส้นสายของ Subaru XV ใหม่ ก็คือ Subaru VIZIV2 Concept ซึ่งอวดโฉมครั้งแรกในงานแสดงรถยนต์ Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 2014 ซึ่งเป็นรถต้นแบบที่โชว์ว่า Subaru คิดยังไงกับครอสโอเวอร์ในอนาคต มันมีจุดเด่นที่ประตูหน้าเปิดขึ้นแบบ Butterfly wing ในขณะที่ประตูหลังจะเลื่อนไปตามแนวนอนตรงๆคล้ายรถตู้ ใช้เครื่องยนต์ 1.6 ลิตรเบนซินเทอร์โบ 170 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์ CVT Lineartronic และมอเตอร์ไฟฟ้า
ต่อมาเมื่ออิทธิพลดีไซน์ของ VIZIV 2 บวกกับแนวคิด Dynamic x Solid และแผนการออกแบบดำเนินไปด้วยดี Subaru ก็ลองหยั่งเสียงตอบรับ ด้วยการเผยโฉมเวอร์ชั่นต้นแบบของ XV ใหม่ครั้งแรกในงาน Geneva Motorshow วันที่ 1 มีนาคม 2016 ภายใต้ชื่อ XV Concept ซึ่งมาพร้อมเส้นสายที่หลายคนดูก็รู้ว่าพอมาเป็นรถจริงกรุณาลดทอนความตื่นเต้นลงไปสักครึ่ง ล้อ 19 นิ้วที่เห็นมีเฉพาะในรถโชว์เท่านั้น และเส้นสายของไฟหน้ากับไฟท้าย เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เหมือนกับรถเวอร์ชั่นผลิตจริงเลยแม้แต่น้อย
แม้แต่เส้นสายของประตู กรอบกระจก และสันข้างรถที่ทำให้รถน่ามองน่ากินเป็นที่สุด พอเอาเข้าจริงก็ถูกลบหายไปมากเช่นกัน เมื่อ Subaru ทำรถต้นแบบ พวกเขาทำรถต้นแบบจริงๆ ไม่ใช่เอาดีไซน์ที่พร้อมผลิตจริงมาแล้วค่อยใส่องค์ประกอบปลีกย่อยให้ดูล้ำแล้วเรียกว่าเป็น Concept Car แบบที่บางค่ายชอบทำ เรื่องนี้ถ้าหมั่นสังเกตแนวทางแต่ละค่ายก็จะจับทางได้ครับ
ต่อมา ก็เป็นคิวของเวอร์ชั่นผลิตจริง เผยโฉมอย่างเป็นทางการสู่สาธารณชนครั้งแรก ในงาน Geneva Motorshow วันที่ 7 มีนาคม 2017 เริ่มจากเวอร์ชั่นพวงมาลัยซ้ายก่อน ส่วนโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันที่ทางกลุ่ม T.C. Subaru ดูแลอยู่นั้น ได้ฤกษ์เปิดตัวแบบ Regional Launch ที่กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ก็ไต้หวันนั่นแหละ) ในวันที่ 8 มิถุนายน 2017
ส่วนประเทศไทยนั้น Subaru ประเทศไทย เปิดตัว XV ใหม่ที่งาน Motor Expo รอบสื่อมวลชนในวันที่ 29 พฤศจิกายน ท่ามกลางกระแสน่าหวั่นเกรงที่ลอยไปมาว่าบริษัทแม่ที่สิงคโปร์จะไม่มาร่วมจัดแสดงรถในงานจนกระทั่งดีลเลอร์พยายามจะช่วยลงขันกันเช่าบูธเองแล้ว แต่ในที่สุด T.C. ก็เปลี่ยนใจและใช้เวทีงานแห่งนี้ในการเปิดตัว XV แม้ว่าพื้นที่และความน่าตื่นตาตื่นใจของบูธจะลดลงจากปีก่อนๆอย่างเห็นได้ชัด
แต่นั่นไม่ได้ส่งผลกระทบกับจำนวนคนที่แวะเวียนเข้ามาในบูธเท่าไหร่เลย และที่เจ๋งคือ กล้าเอารถรุ่นเก่าที่ยังมีอยู่ในสต็อคมาจอดขายข้างๆกันแบบโคตรตรงไปตรงมา “เอ้า! เอาเด้ เลือกเด้คุณลูกค้า เห้ยนี่เอามาจอดเทียบกันให้เห็นๆแบบนี้เลย จะเอาคันไหนก็ว่ามา” กลยุทธ์แปลก แต่ดีกับผู้บริโภค คนที่ชอบรุ่นเก่า ก็ซื้อรุ่นเก่าได้ในราคาล้านกับเศษไม่กี่หมื่น
ส่วนรุ่นใหม่นั้น สเป็คบ้านเรามี 2 รุ่น ได้แก่รุ่นพื้นฐาน 2.0i ราคา 1,159,000 บาท และรุ่น 2.oi-P ราคา 1,259,000 บาท ที่ได้ไฟหน้า LED กระดิกซ้ายขวา SRH+Daytime Running Light, หน้าปัดและจอกลางบนแบบไฮโซสีสด ระบบปรับอากาศแบบ Dual Zone และพวงมาลัยกับคันเกียร์หุ้มหนังที่สวยกว่า แต่ทั้งสองรุ่นมีภายนอกเหมือนกัน และได้อุปกรณ์ความปลอดภัยเท่ากัน
รถทดสอบที่เราได้รับมอบมานั้น เป็นรุ่น 2.0i-P ตัวท้อป
NEW Subaru XV 2017 สเป็คไทย มีความยาวตัวถัง 4,465 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,615 มิลลิเมตร (รวมแร็คหลังคาแล้ว) ความยาวฐานล้อ 2,665 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) เท่ากับ 1,550 มิลลิเมตร ด้านหลัง (Rear Track) เท่ากับ 1,555 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 220 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 63 ลิตรน้ำหนักตัวรถรุ่น 2.0 i 1,435 กิโลกรัม รุ่น 2.0 iP 1,439 กิโลกรัม
หมายเหตุ : XV สเป็คญี่ปุ่น จะมีระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร Front/Rear Track เท่ากับ 1,555 กับ 1,565 มิลลิเมตร มี Ground Clearance 200 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 1,410-1,440 กิโลกรัม
เมื่อเทียบกับ XV โฉมปี 2015 จะพบว่ารถยาวขึ้น 15 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 20 มิลลิเมตร ความสูงตัวรถแบบไม่รวมแร็คหลังคาเพิ่มขึ้น 25 มิลลิเมตร ฐานล้อยาวขึ้น 30 มิลลิเมตร แต่ทั้งนี้ ความสูงของตัวรถเมื่อรวมแร็คหลังคา กับ Ground Clearance จะอยู่เท่าเดิม และความกว้างของตัวรถเมื่อรวมกระจกมองข้างก็อยู่ที่ 2,019 มิลลิเมตรเท่าเดิม
ด้านหน้าของรถ ดูปราดเปรียวกว่ารุ่นเดิมด้วยไฟหน้าที่เรียวเล็กทรงเมล็ดข้าว ยิ่งในยามโพล้เพล้นั้น ไฟ DRL ที่เป็นรูปตัว C จะทำให้รถดูมีเสน่ห์ขึ้นมาก มาพร้อมกับระบบฉีดน้ำล้างกระจกหน้าในรุ่น 2.0i-P กระจกมองข้างเป็นสีเดียวกับตัวถัง แอบลดต้นทุนจาก XV 2015 นิดหน่อยตรงที่ไม่ฝังไฟเลี้ยวให้สะท้อนเป็นเงาในกระจกมองข้าง แต่ทำเป็นติ่งยื่นออกมาจากปลายกระจกมองข้างนิดๆ แทน เสาอากาศเป็นแบบ Shark fin สีดำ
ด้านข้าง มีการตกแต่งด้วยแถบสีดำรอบซุ้มล้อ และชายสเกิร์ตล่างในสีเดียวกัน มีราวหลังคาสำหรับติดตั้งกล่องใส่สัมภาระ จักรยานหรือกระดานโต้คลื่นก็ได้ ส่วนด้านหลังนั้น มีการติดตั้งสปอยเลอร์หลังคาสีดำมาให้ รับกับชุดกันชนหลังที่ตกแต่งบางส่วนด้วยพลาสติกสีดำเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ XV ส่วนไฟท้ายเป็นแบบ LED ทั้งรุ่น 2.0i และ 2.0i-P
XV สเป็คไทยทั้ง 2 รุ่น จะได้ล้ออัลลาย 5 ก้านปลายแฉก (หรือบางคนจะมองเป็น 5 ก้านคู่ก็แล้วแต่) ขนาด 17 นิ้ว หน้าปัดเงา สลับกับสีดำเงา สวมด้วยยาง Continental MC5 ขนาด 225/60R17 (รุ่นเดิมใช้ขนาด 225/55R17) ไม่มีล้อขอบ 18 ให้เลือกแบบรุ่น 2.0i-S ของไต้หวัน
แม้ว่ารูปลักษณ์ของตัวถังภายนอกโดยรวม ก็หนีไม่พ้นการแชร์ชิ้นส่วนจาก Impreza Hatchback อยู่ดี และบางคนที่ได้เห็นรถคันนี้ จะนึกว่ามันคือเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ แต่ทีมออกแบบก็พยายามปรับองค์ประกอบต่างๆให้ดูเข้ากับมาดลุยของรถมากขึ้น เช่น กันชนหน้า/หลัง ซึ่งมีหน้าตาคนละอย่างกัน มีการเพิ่มพาร์ทตกแต่งสีดำที่สเกิร์ตข้างและซุ้มล้อ เปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ มันไม่ใช่รถที่สวยแบบล้ำอนาคต แต่ก็มีความหล่อบางมุมและถ้าไม่นับไฟท้ายที่ดูขัดตา ส่วนอื่นก็นับว่าดูดีพอสมควร
ระบบล็อครถจะเป็นรีโมตกุญแจ Smart Key (Keyless Entry) หน้าตาตัวรีโมตเป็นแบบเดิมที่เราคุ้นหน้าตากันดีจาก Forester และ Levorg และมีปุ่มเปิดฝาท้ายรถได้เช่นเดียวกัน คุณสามารถนำกุญแจใส่กระเป๋าหรือพกติดตัวไว้ แล้วเดินเข้าใกล้รถ เมื่อระบบตรวจพบสัญญาณจากกุญแจ ก็จะเตรียมเปิดไฟในรถให้สว่างขึ้น จากนั้นยื่นมือไปจับที่เปิดประตู ระบบจะปลดล็อคให้ประตูทั้ง 4 บาน
ส่วนการล็อครถนั้นก็สามารถทำได้ทั้งกดจากตัวรีโมต หรือไม่ก็เอานิ้วไปแตะแถบ 2 ขีดที่อยู่ส่วนหน้าของมือจับเปิดประตู รถก็จะล็อคให้
ต่อไป เป็นเรื่องการเข้า/ออกและความสบายภายในห้องโดยสาร ซึ่งผมเคยให้ความเห็นของตัวเองไว้ใน First Impression XV เวอร์ชั่นไต้หวัน แล้ว ครั้งนี้ผมจึงให้ J!MMY มาช่วยวิจารณ์ด้วยอีกแรง
การลุกเข้า - ออกจากบานประตูคู่หน้า ทำได้ดีมาก บานประตูคู่หน้า เปิดกางได้กว้าง ถ้าคุณปรับเบาะนั่งไว้ลงต่ำสุด คุณแทบไม่ต้องกังวลเรื่องศีรษะจะไปโขกกับเสากรอบหลังคาเลย เพราะ Subaru ออกแบบตำแหน่งเบาะนั่งในระดับต่ำสุด โดยคำนึงถึงจุด Hip point ที่เหมาะสม เพื่อให้ก้าวลงมานั่ง และลุกออกจากรถได้สบาย โดยไม่ต้องออกแรงเยอะ
แนวทางนี้ Subaru ริเริ่มใช้มาตั้งแต่ Forester รุ่นแรกในปี 1997 หรือ 20 ปีมาแล้ว!
แผงประตูด้านข้างถูกออกแบบให้มีเส้นสายต่อเนื่องจากแผงหน้าปัด ดูมีลูกเล่น และมี Layer ยกตัวขึ้นมาชัดเจน รอบมือจับเปิดประตู ประดับด้วย Trim ลายคาร์บอนไฟเบอร์ แบบเงา พร้อมแถบพลาสติกชุบสีเงินควันบุหรี่เชื่อมต่อแผงประตูกับแผงหน้าปัดเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
แผงประตู บริเวณตำแหน่งวางแขนด้านข้าง บุด้วยผ้า มีฟองน้ำแผ่นบางเสริมด้านใน ส่วนพนักวางแขน บุด้วยหนังสังเคราะห์ เสริมฟองน้ำนุ่มๆด้านล่างให้อีกเป็นพิเศษ จนแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป เดินตะเข็บสีส้ม วางแขนได้สบายพอดีมากๆ มือจับประตู ออกแบบให้เป็นช่องใส่ของจุกจิก เช่น Keycard เข้าหมู่บ้าน เป็นต้น ใช้งานได้สะดวกมาก
ด้านล่างของแผงประตู เป็นช่องวางขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท 2 ตำแหน่ง ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานได้จริงส่วนภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยสีดำ แต่เพดานหลังคาเป็นสีเทาสว่างอ่อนๆ
เบาะนั่งคู่หน้า สไตล์สปอร์ต เฉพาะฝั่งคนขับ สามารถปรับระดับสูง-ต่ำ เลื่อนขึ้นหน้า -ถอยหลังได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ที่ด้านข้างฐานเบาะ ส่วนฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายยังคงต้องออกกำลังแขน ปรับคันโยกตามเดิมต่อไป ด้วยเหตุที่จำเป็นต้องตั้งราคาขายให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ จึงต้องตัดเบาะหนังที่เคยมีในเวอร์ชั่น 2015 ทิ้งแล้วหุ้มด้วยผ้า Nylon ตัดสลับด้วยลายตาข่าย เม็ดวงกลม บริเวณกลางพนักพิงหลัง และบนเบาะรองนั่ง
พนักพิงหลังนั่งสบายขึ้นกว่ารุ่นเดิม รองรับได้เต็มแผ่นหลัง ปีกด้านข้าง รองรับสรีระคนตัวใหญ่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ก็มีความยาวกำลังดี คือยาวมาจนเกือบจะถึงข้อพับ ฟองน้ำนิ่ม เหมือนรถยนต์ยุคใหม่ทั่วไป เรียกได้ว่า เป็นเบาะ Subaru ที่แอบนำ Pattern ของเบาะนั่งจาก WRX Sti รุ่นเก่ามาปรับประยุกต์จนนั่งสบายได้ดี
แต่พนักศีรษะ นี่ ขอพูดตามตรงว่าทีมวิศวกรออกแบบมาให้แข็งชิบหายวายป่วงมาก แข็งระดับที่ว่า ถ้าลองปาใส่ใครก็ตาม เพื่อนอาจถึงขั้นเลิกคบแน่ๆ ยิ่งถ้าปาหัวหมาละก็ แอนตาซิน ไม่ต้องจ่าย สมองแตกตายลูกเดียว!!!
เรื่องน่าเศร้าไปกว่านั้นคือ จากที่ผมไปลองนั่ง XV ใหม่ ทั้งใน Frankfurt Motor Show หรือ Tokyo Motor Show พนักศีรษะของเวอร์ชันยุโรปหรือญี่ปุ่นก็แข็งเหมือนๆกับในไทยเรานี่แหละ! แต่ก็เอาเถอะ อย่างน้อยๆ พนักศีรษะ ก็ยังสามารถปรับองศาให้ดันกบาลมากน้อยแค่ไหนก็ได้ ตามใจเราต้องการได้ถึง 4 ตำแหน่ง
พื้นที่เหนือศีรษะของผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า สำหรับคนตัวสููง เพราะมีพื้นที่เหลือ 1 ฝ๋ามือกับอีก 4 นิ้วในแนวนอน ส่วนเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง-ต่ำได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติมา Pre tensioner and Load limiter ให้เลือกด้วย
การเข้าออกบานประตูคู่หลังทำได้ดีขึ้น เป็นผลจากการออกแบบให้บานประตูเปิดกางออกได้มากถึง 80 องศา ช่วยให้ก้าวเข้ามานั่ง และลุกออกจากเบาะหลังได้สบายมากๆ แทบอยากจะยกให้เป็น Benchmark สำหรับการออกแบบด้านการเข้า/ออกของรถยนต์ในกลุ่ม Small Crossover กันเลยทีเดียว
แผงประตูคู่หลัง ตกแต่งแบบเดียวกับคู่หน้า ไม่ผิดเพี้ยน ยกเว้นแผง Trim รอบมือปิดประตูด้านใน ที่จะใช้พลาสติกสีดำด้าน ลวดลายคาร์บอนไฟเบอร์มาประดับแทนพลาสติกแบบเงา (ไม่ทราบว่าเพื่อประหยัดต้นทุนหรือไง แต่เวอร์ชั่นไต้หวันตัวท้อปออพชั่นเต็มก็เป็นอย่างนี้) ตำแหน่งวางแขน ก็สามารถวางได้สบายทั้งท่อนแขนเช่นเดียวกัน และมีช่องวางขวดน้ำดื่ม 7 บาทมาให้ 2 ตำแหน่งเช่นกัน
ด้านหลังพนักพิงเบาะหน้าฝั่งซ้าย เท่านั้น ที่จะยังคงมีช่องใส่หนังสือ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังฝั่งซ้าย ส่วนกระจกหน้าต่าง ก็สามารถเลื่อนลงได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้าจนสุดขอบราง
เบาะนั่งด้านหลัง ออกแบบให้นั่งสบายขึ้นกว่ารุ่นเดิม พนักพิงหลัง เหมือนจะแบนราบ แต่จริงๆแล้ว ก็มีการออกแบบให้มีส่วนโค้งเว้า รับสรีระผู้โดยสารไว้นิดนึง พอไม่ให้โดนด่่า
ส่วนเบาะรองนั่ง ก็มีความยาวกำลังดี ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป ฟองน้ำด้านในทั้งพนักพิงและเบาะรองนั่ง นุ่มแน่นพอๆกัน ค่อนไปทางแข็งนิดๆ ทว่า ความรู้สึกดีๆกับเบาะหลัง ก็ถูกทำลายลงเพียงเพราะ พนักศีรษะด้านหลังทั้ง 3 ชิ้น ซึ่งต่อให้เสริมฟองน้ำแล้ว ก็ยังแข็งระดับปาหัวหมาแตก กะโหลกศีรษะร้าวได้อยู่ดี แถมยังต้องยกขึ้นใช้งาน ไม่เช่นนั้น มันก็จะทำตัวทิ่มตำต้นคอคุณไปเรื่อยจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
พูดกันแบบไม่อ้อมค้อม เบาะหลังของ XV อาจทำได้ดีกว่ารุ่นเดิม แต่ยังนั่งสบายสู้ MG ZS ไม่ได้!! เพราะ ZS นุ่มสบายและพนักศีรษะก็นิ่มสบายหัวกว่า ไม่เชื่อไปลองนั่งเทียบดูได้เลย
พื้นที่วางขา สำหรับผมแล้ว ถือว่าใหญ่พอสมควร มีเนื้อที่วางขายาวกว่ารุ่นเดิม 26 มิลลิเมตร โดยรวมแล้วอาจจะไม่เยอะเท่า Nissan Tiida หรือ Nissan Note แต่ก็ เพียงพอให้นั่งไขว่ห้างได้ แต่ก็จะเหลือพื้นที่ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารด้านหน้า
พื้นที่เหนือศีรษะสำหรับคนตัวสูง 170 เซนติเมตร อย่าง J!MMY เหลืออยู่ 4 นิ้วมือในแนวนอน
เอาละครับ หลังจากนี้ พี่แพน Solo ต่อเลยก็แล้วกัน!
พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังของรุ่นเดิมในสเป็คที่มียางอะไหล่ จะมีความจุเพียงแค่ 310 ลิตร ซึ่งลูกค้าเก่าหลายคนบ่นว่าขนอะไรจริงจังแทบไม่ได้ (ก็แน่ล่ะ บอดี้รถมันก็คือรุ่น Hatchback ท้ายสั้นนี่นา) พอมาเป็นรุ่นใหม่ ทีมจัดการออกแบบภายในเขาต้องการให้ลูกค้าสามารถใส่ถุงกอล์ฟหัวสั้น 3 ใบในท้ายรถได้โดยที่ไม่บดบังทัศนวิสัยด้านหลัง ก็เลยทำพื้นรถให้ลึกลงจากขอบฝากระโปรงประมาณ 2-3 นิ้ว และขยายพื้นที่ส่วนกว้างที่สุดออกไป 100 มิลลิเมตรจากรุ่นเดิม ในเมื่อรุ่นนั้นสามารถรองรับถุงกอล์ฟหัวอ่อนสูง 118 เซนติเมตรได้แล้ว รุ่นใหม่นี้ยิ่งน่าจะใส่ถุงหัวแข็งขนาดใหญ่ได้สบายกว่าเดิม ความจุรวม 350 ลิตร และถ้าพับเบาะหลังลง จะได้ความจุ 1,240 ลิตร
อ่ะ กลัวว่าเดี๋ยวไม่เชื่อว่าใหญ่จริง ผู้เขียนบทความยอมลงทุนเอารูปจากสมัยไปลองที่ไต้หวันมาพังหน้าร้านตัวเองให้ดูอีกรอบ! ผมไม่รู้หรอกครับว่าตัวเองน่ะมีความจุตามมาตรฐาน VDA กี่ลิตร แต่มันน่าจะแสดงให้เห็นได้ว่าเนื้อที่เก็บของกว้างประมาณไหน
ส่วนแผงแดชบอร์ด อุปกรณ์ และสวิตช์ต่างๆนั้น ก็ยกมาจาก Impreza แต่มีการปรับแต่งรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อให้รู้ว่านี่คือ XV ซึ่งก็หนีไม่พ้นการเย็บตะเข็บด้ายส้ม จากนั้นก็ตกแต่งคอนโซลกลางด้วยวัสดุสีดำเงา เช่นเดียวกับบริเวณคันเกียร์ Trim คาร์บอนไฟเบอร์ตกแต่งฝั่งผู้โดยสารถูกเอาออกเปลี่ยนเป็นสีเงินแทน
สวิตช์ไฟฉุกเฉินถูกย้ายไปอยู่ข้างล่าง ใกล้กับชุดสวิตช์คุมระบบปรับอากาศเพราะต้องการเคลียร์พื้นที่ส่วนบนของแดชบอร์ดให้ดูกลมกลืน (ผมว่าตำแหน่งสวิตช์ของรุ่นเดิมที่อยู่ส่วนบนของแดชบอร์ดนั้นใช้ง่ายกว่า) เบรกมือจากแบบก้านดึงก็เปลี่ยนเป็นแบบไฟฟ้า แต่ยังไม่มีระบบ Auto-brake hold มาให้แบบ Honda HR-V
วัสดุภายในรถดูดีขึ้น มีจุดที่เป็นวัสดุนุ่มมากขึ้น พลาสติกที่เลือกใช้บางจุดดูดีขึ้น แต่มันไม่ได้ถึงขนาดยกระดับมาตรฐานภายในแบบผิดหูผิดตา ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่ดูดีขึ้นนั้นไม่ใช่เพราะวัสดุเลิศ แต่เพราะเลือกตำแหน่งมาดีว่าอะไรควรจะไปอยู่ตรงไหน ประกอบกับการที่มีเครื่องเสียงจอขนาด 8 นิ้วที่ติดตั้งกลมกลืนไปกับคอนโซลโดยรอบ (มีให้ทั้งรุ่น 2.0i และ 2.0i-P) และจอกลางตอนบนที่มีขนาดโตกว่ารุ่นเดิม ทำให้บรรยากาศในให้โดยสารดีขึ้นชัดเจน แต่ยังไม่ถึงขนาดฉีกจากคู่แข่ง
ไล่จากขวา ไปซ้าย
สวิตช์กระจกหน้าต่างแบบไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน กระจกหน้าต่างสองบ้านหน้าจะเป็นแบบ One-Touch ทั้งขาขึ้น และขาลง ส่วนสวิตช์ ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า เป็นแบบปุ่มหมุน L-R อยากปรับกระจกมองข้างฝั่งไหนก็หมุนไปฝั่งนั้น แล้วโยกขึ้นๆ – ลงๆ ซ้ายๆ – ขวาๆ ตามต้องการ มีสวิตช์สำหรับพับกระจกมองข้างอยู่ในบริเวณใกล้กัน
ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีสวิตช์ปรับความสว่างของแผงมาตรวัด กับ สวิตช์เปิด – ปิด การทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (VDC/Traction Control) และมีปุ่ม SRH Off สำหรับปิดการทำงานของระบบไฟหน้ากระดิกซ้าย/ขวา ไม่มีปุ่มปรับองศาการส่องของไฟหน้า คาดว่าเป็นเพราะมีระบบปรับตั้งอัตโนมัติมาแล้ว (แต่เอาจริงๆระยะที่ส่องยังใกล้ไปสำหรับการขับทางไกล 100-110 กิโลเมตร/ชั่วโมงในยามค่ำคืน)
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ยกมาจาก Impreza แต่เย็บด้ายตะเข็บสีส้มเพิ่มเข้าไป มีปุ่ม Multi-Function บนก้านพวงมาลัย ฝั่งขวา ไว้สั่งการระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ขณะที่ฝั่งซ้ายนั้น ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียงและมีปุ่ม Info สำหรับเปลี่ยนการแสดงผลบนจอกลางตอนบน กับสวิตช์แบบดึงเข้าหาตัวที่อยู่ทางซ้ายหลังก้านพวงมาลัยลงมา ซึ่งเอาไว้เปลี่ยนการแสดงผลบนจอ MID บนหน้าปัด มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddleshift มาให้เหมือนเคย
ส่วนก้านสวิตช์นั้น..ไม่รู้จะพูดยังไง รุ่นที่แล้วไฟเลี้ยวอยู่ฝั่งขวา คราวนี้ย้ายไปฝั่งซ้ายอีกละ ผมว่าคราวนี้ถ้าจะซ้ายก็ซ้ายยาวไปเลยก็ได้ครับ ไหนๆก็อินดี้แล้วก็เอาให้สุดอย่าหยุดแค่ไฟเลี้ยว XV 2.0i-P มีฟังก์ชั่นไฟหน้าอัตโนมัติมาให้โดยหมุนหัวก้านไปที่ Auto มีไฟตัดหมอกมาให้ทั้งด้านหน้าและหลัง (หมุนที่ก้าน เขยิบมือมาทางคอพวงมาลัยมากกว่าเดิมหน่อย)
แผงมาตรวัดแตกต่างจากรถรุ่นเดิมเล็กน้อย เพราะยึดรูปแบบการจัดวางทุกสิ่งอย่างอยู่ที่เดิม แต่เพิ่มดีไซน์ใหม่เข้าไป รุ่น 2.0i จะได้หน้าปัดแบบธรรมดา ซึ่งมีรูปแบบ Font ตัวเลข และ ลักษณะการเรืองแสงจากข้างหลังที่ดูง่ายสบายตา แต่จอ Multi-Information Display ตรงกลางดูเหมือนมาจากยุคก่อนที่โลกจะรู้จัก ฺBlackberry
บางท่านอาจจะไม่สน ผมเองก็รับได้ แต่ต้องเข้าใจว่ารถคันนี้จะต้องทำตลาดไปอีก 4-5 ปี และ ในอีกไม่นาน คู่แข่งรุ่นล่างๆเขาก็อาจจะขยับไปใช้จอสีสันน่าดูกว่านี้แล้วก็ได้
ส่วนรุ่น 2.0i-P นั้น ได้ชุดมาตรวัดที่เหมือนของ Impreza 2.0 รุ่นท้อป เพียงแต่เปลี่ยนเส้นเล็กๆ วงในของมาตรวัดรอบและความเร็วจากสีขาว/น้ำเงิน เป็นสีส้มแดงอ่อนๆ และ แน่นอนว่าได้ชุดจอ Multi-Information Display แบบ TFT สีสันสวย โชว์ข้อมูลได้หลากหลายขึ้น แต่เวอร์ชั่นไทยจะไม่มีระบบตรวจสอบแรงดันลมอย่างแบบรุ่น 2.0i-S ของไต้หวัน ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำ (Water temp) บนหน้าปัดมาให้ แต่สำหรับรุ่น 2.0i-P จะมีแยกเอาไปอยู่ที่จอบนของแดชบอร์ด
กล่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย Glove Compartment มีขนาด ไม่เล็กไม่ใหญ่ ส่วนระบบปรับอากาศในรุ่น 2.0i เป็นแบบอัตโนมัติ และ 2.0i-P เป็นแบบอัตโนมัติ Dual-zone ซึ่งเวลาวิ่งกลางแดดตอนกลางวันนั้นจะต้องปรับความเย็นไว้ประมาณ 22-23 องศา ซึ่งแม้จะต้องปรับลงมากว่าพวก Toyota ประกอบในประเทศ แต่ก็ยังดีกว่า Levorg และในบางครั้งเมื่อสตาร์ทรถแล้วเปิดแอร์ ระบบจะเปลี่ยนโหมดไปนำอากาศภายนอกเข้ามา แต่ระหว่างการทดสอบหลายวัน ไม่พบว่ามีการตัดระบบอากาศหมุนเวียนในระหว่างการขับขี่
รุ่น 2.0i-P จะมีจอชุดบนแบบ High-grade ขยายขนาดจากเดิมออกในแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัดขนาดได้ 6.3 นิ้ว จัดลวดลายตัวหนังสือ และ สีสันของกราฟฟิกต่างๆมาสวยกว่ารุ่นเดิมคนละเรื่อง อย่างในภาพข้างบนนี้ภาพแรก เป็นจอแสดงการทำงานระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีประโยชน์กับพวกรถเมืองนอกที่มีระบบ Eyesight สำหรับเมืองไทยก็เห็นแค่ไฟหน้าเปิด ส่วนจอที่สอง น่าจะเรียกว่าจอ Off-road เพราะแสดงกราฟฟิคการทำงานของระบบขับเคลื่อน ล้อรถจะเลี้ยวตามจริง เวลาเปิดใช้ X-Mode จะแสดงการทำงานและการส่งปันกำลังของล้อแต่ละข้าง และเพิ่มการแสดงผลมุมก้ม/เงยของบอดี้รถมาให้ จอที่สาม คือมาตรวัด Triple Meter ซึ่งสามารถตั้งค่าการแสดงผลได้ 3 อย่าง (ผมเลือก อุณหภูมิน้ำ, อุณหภูมิน้ำมันเครื่องและ % การกดคันเร่ง) และภาพล่างสุดคือจอแสดงอัตราสิ้นเปลือง
ในรุ่นเดิม สวิตช์คุมจอบน จะอยู่ระหว่างช่องแอร์กลาง ในรุ่นใหม่นี้ ย้ายสวิตช์ไปอยู่บนก้านพวงมาลัยด้านซ้าย เป็นปุ่ม Info แทน ส่วนใครที่จองรุ่น 2.0i ธรรมดาไป คุณจะได้จอดิจิตอลหน้าตาโบราณคล้าย XV ปี 2012-2013 มาแทน
ชุดเครื่องเสียงทุกรุ่น เป็นจอทัชสกรีนขนาดใหญ่ 8 นิ้ว เป็นจอ Built-in หน้าตาไฮโซที่สุดในรอบทศวรรษของรถค่ายนี้ มีช่องให้ใส่แผ่น CD/MP3 แยกออกมาอยู่ด้านล่าง แต่ยังไม่รองรับการใช้งาน Apply CarPlay/Android Auto แต่อย่างใด มีช่องเสียบ USB สำหรับเล่นไฟล์ Media อยู่ที่ตอนล่างของคอนโซล ใกล้กับช่อง HDMI, AUX และ Power Outlet 12V มีระบบนำทางมาให้พร้อมสรรพทั้งรุ่น 2.0i และ 2.0i-P
หน้าจอดูทันสมัย แต่ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่าว่ามันมีความขุ่นแบบประหลาดๆเคลือบอยู่บนจอ เวลาใช้งานท่ามกลางแสงจ้าจากภายนอก บางครั้งมองเห็นจอไม่ชัด ซึ่งปัญหานี้ พวกจอ 2-DIN ใน XV รุ่นเก่ากับ Levorg จะไม่เป็น
คุณภาพของเสียงที่ได้จาก Front Unit ชุดนี้ ผมต้องขอชมว่า “ดีขึ้นกว่าของ XV รุ่นที่แล้ว” อย่างชัดเจน ทั้งในย่านความแน่นของเนื้อเบส และความละเอียดของเสียง ในรุ่นที่แล้วพยายามปรับ Equalizer กันให้ตายก็ยังได้เสียงที่ขาดมิติและความละเอียด แต่ในรุ่นนี้ แม้จะมีแค่ 6 ลำโพง แต่ก็ฟังแล้วรู้สึกพอใจ มันดีกว่าเครื่องเสียงของ Forester 2.0i-P และทัดเทียมกับ Levorg เพียงแต่ยังไม่ดีเท่า Harman Kardon ใน Subaru Outback (ซึ่งนั่นมันก็รถราคา 2 ล้านกลางน่ะนะ)
ด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นพื้นที่ของ กล่องคอนโซล แบบมีฝาปิด มองเผินๆ เหมือนจะมีเนื้อที่มากกว่ารุ่นเดิมเล็กน้้อย มีการย้ายปลั๊กจ่ายไฟ 12V และช่องเสียบ USB 2 ช่อง (ซึ่งจ่ายไฟเพียงอย่างเดียว เสียบเล่นไฟล์ไม่ได้) มาอยู่ด้านหน้าของกล่องเก็บของ (รุ่นเดิมอยู่ด้านหลัง) ตัวฝาปิด ทำหน้าที่เป็นพนักเท้าแขน ซึ่งนุ่ม และอยู่ในตำแหน่งที่เท้าแขนได้ถนัดกว่าเดิม แต่ไม่สามารถเลื่อนหน้าถอยหลังได้ (เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่รุ่นไมเนอร์เชนจ์แล้ว)
เบรกมือของ XV ใหม่ เปลี่ยนจากแบบก้านธรรมดา เป็นเบรกมือไฟฟ้า ทำให้สามารถจัดแนวที่วางแก้วตามขวางได้ ถัดจากปุ่มเบรกมือไปทางขวา จะมีสวิตช์สำหรับระบบ Hill Holder (กันรถไหลถอยหลังบนทางลาดชัน) และสวิตช์สำหรับเปิด/ปิดการทำงานของ X-Mode
สำหรับรายละเอียดอุปกรณ์ภายนอก/ภายในเพิ่มเติมและจุดที่ต่างระหว่างรุ่น 2.0i และ 2.0i-P นั้น ลองดูบทความ เจาะสเป็ค – Option – ราคา Subaru XV ที่คุณหมูทำไว้ให้ดีกว่าครับ
ทัศนวิสัยด้านหน้า เมื่อเทียบกับรุ่นเดิมแล้วก็คล้ายกัน ด้วยความที่ใช้กระจกหน้าบานใหญ่และมีส่วนล่างที่ยื่นไปข้างหน้าค่อนข้างมาก ลดความอึดอัดทางสายตาขณะขับขี่ และช่วยเพิ่มความรู้สึกให้ผู้โดยสารว่า ภายในรถ ดูกว้าง โปร่งกว่ารุ่นเดิม
ความสูงของตัวรถ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับ SUV แม้ตำแหน่งที่นั่งจะเตี้ยกว่ากันอยู่บ้าง (ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการปรับเบาะ) มันอาจจะไม่ได้ให้วิวข้างหน้าในมุมสูงแบบพวกรถกระบะยีราฟทั้งหลาย แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ให้ความปลอดโปร่งและคล่องตัวเวลาขับในเมืองได้ดีระดับหนึ่ง
แต่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวานั้น แม้จะถูกออกแบบเพื่อลดความหนาลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว แต่ในบางครั้ง ยังแอบหลอกสายตา และบดบังในขณะเลี้ยวเข้าโค้งบนถนน 2 เลนสวนกัน ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่า
Honda Civic FD โฉม 2005-2011 ที่ทำเสาหลังคาคู่หน้าล้ำมากจนเวลาเลี้ยวทีนึงต้องโยกหัวไปมาราวนกพิราบเพื่อให้มองเห็นว่ากำลังจะเลี้ยวไปทางไหน
กระจกมองข้าง ติดตั้งในตำแหน่งเดียวกับรถรุ่นเดิมเด๊ะ ถือว่าใกล้ตัวไปสักนิด แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าย้ายไปติดไกล ก็จะโดนเสาเล็กของหูช้างสามเหลี่ยมบดบัง
ส่วนการมองเห็น ถือว่าทำได้ดี แต่มุมมองอาจจะแตกต่างจากรุ่นเดิมไปบ้างเพราะกระจกมีลักษณะเรียวเล็กเพื่อความลู่ลมขึ้น ส่วนขอบด้านนอก อาจโดนส่วนด้านในของกรอบ กินพื้นที่บดบังตามขอบเพียงเล็กน้อย
ขณะที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย สัมผัสได้ชัดเจนเลยว่า เสาค่อนข้างบาง แต่ไว้ใจได้ กระจกมองข้าง ฝังซ้าย มีมุมมองในแนวนอนกว้างพอๆกับรุ่นเดิม แต่ในแนวตั้งลดลงจากขนาดกระจก การจะปรับให้ได้มุมที่คุณต้องการพอดี อาจต้องใช้เวลาปรับและกะเก็งกันสักนิด การมองลอดผ่านเสาหูช้าง ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด มองเห็นชัดเจน
ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น รุ่นเดิมก็ไม่ได้จัดว่าดีเท่าไหร่ รุ่นนี้ดูเหมือนจะยิ่งถูกบีบอัดเข้าไปอีกนิด มุมมองที่สามารถส่องผ่านกระจกโอเปร่าบานหลังสุดได้นั้นเหมือนจะเล็กและแคบลง และเสา C-Pillar ขนาดใหญ่ก็ยังโตพอจะบังคนหรือมอเตอร์ไซค์เกือบทั้งคันได้เช่นกัน ดังนั้นเวลาจะถอยรถ อย่าลืม มองทั้งกล้องและหันไปมองท้ายจริงๆ ด้วย ไม่ต้องรีบครับ
****รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ****
Subaru XV ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง หรือแพลทฟอร์มใหม่ ” SGP-Subaru Global Platform ” ร่วมกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เกือบทุกรุ่นในอนาคต โดยรุ่นแรกที่ได้ใช้ไปก็คือ Impreza 2016 มันถูกพัฒนาให้มีความแกร่ง สามารถในการทนต่อแรงกระทำของตัวถัง (Body & Chassis Rigidity) เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 100% สามารถทนแรงบิดงอตัวถังจากด้านข้าง เพิ่มขึ้น 90% (นึกภาพ เอารถโมเดลมาวางบนโต๊ะ เอามือกำหน้า และ หลังของรถ จากนั้นพยายามออกแรงหักเข้า/ออกจากตัว)
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการทนแรงบิดงอตัวถังตามยาว เพิ่มขึ้นจากเดิม 70% (ให้นึกถึงการบิดผ้าเช็ดตัว) มีการเพิ่มความแข็งแกร่งของจุดยึดช่วงล่างด้านหน้าอีก 70% และ ความแข็งแรงของจุดยึดซับเฟรมหลังเพิ่มขึ้น 100%
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าสักแต่แข็งๆๆ เวลาชนแล้วรถไม่เป็นไร แต่คนในรถบาดเจ็บหัวนมแตกเลือดตก ทางวิศวกร Subaru คิดคำนวณมาแล้วว่าจุดไหนต้องแข็ง จุดไหนต้องช่วยผ่อนแรงกระแทก ทำให้สามารถซับแรงปะทะได้ดีขึ้นกว่าโครงสร้างแบบก่อนถึง 40% และยังมีจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่ต่ำลงกว่ารถรุ่นเดิมอีก 5 มิลลิเมตร
ผมเคยถามเจ้าหน้าที่เทคนิคจาก Subaru เรื่องความนุ่มนวลของช่วงล่าง ที่เขาโฆษณาว่า “Less shake, Less roll, Way More fun” (กระเด้งกระดอนน้อยลง ยวบยาบน้อยลง และขับสนุกขึ้น) นั้น มันเป็นไปได้จริงๆเหรอ เพราะในเมื่อตัวถังมันแข็งมาก โอกาสที่มันจะส่งแรงปะทะมายังห้องโดยสารก็น่าจะเยอะสิ
ทางทีมเจ้าหน้าที่เขาก็ชี้แจงว่า “อันที่จริงเรื่องซึมซับแรงสะเทือนเป็นหน้าที่ของช่วงล่าง ไม่ใช่ตัวถัง ถ้าเราทำตัวถังให้แข็ง ส่วนที่ไม่ควรขยับก็อยู่กับที่ ให้ส่วนที่ขยับเขาทำหน้าที่ไป วิธีนี้จะเซ็ตรถให้วิ่งได้ดังใจกว่า เพราะไม่มีการเขยื้อนตัวถังในแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ตัวถังคือสิ่งที่ไม่ควรขยับ ช่วงล่างต่างหากที่ควร และช่วงล่างนี่คือส่วนที่เราสามารถควบคุมได้อย่างแม่นยำว่าจะให้ยุบแค่ไหน ยุบเท่าไหร่ ซึ่งเราทำแบบนั้นกับตัวถังรถไม่ได้”
ด้านขุมพลัง Subaru XV ใหม่ ยังใช้เครื่องยนต์ที่มีรหัสว่า FB20 เช่นเดียวกับรุ่นที่แล้ว รูปแบบเครื่องยนต์ก็ยังเป็น 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 12.5 : 1
ทีมวิศวกรเครื่องยนต์ของ Subaru เคลมว่า แม้พวกเขาจะใช้เสื้อสูบแบบเดิม บล็อคเดิม แต่ 80% ของชิ้นส่วนประกอบทั้งหลายนั้นไม่เหมือนเดิม โดยการปรับปรุงหลักๆที่เพิ่มไปก็เช่น เปลี่ยนระบบหัวฉีดแบบปกติ (Port Injection) เป็นหัวฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ (Direct Injection) และมีแคมชาฟท์แแบบแปรผันองศาได้ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย (Dual AVCS) ซึ่งใน XV รุ่นเดิมจะมีแค่ฝั่งไอดีเท่านั้น (ส่วน Forester มีครบทั้งสองฝั่งอยู่แล้ว)
ผลของการปรับเปลี่ยนวัสดุในจุดต่างๆ ทำให้น้ำหนักเครื่องยนต์โดยรวม เบาลงกว่าเดิมอีก 12 กิโลกรัม และทำให้กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นจาก 150 เป็น 156 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตัน-เมตร ( 20.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที (แรงบิดสูงสุด เท่าเดิม แต่มาเร็วขึ้น 200 รอบ/นาที) และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) 162 กรัม/กิโลเมตร (อ้างอิงจาก Eco Sticker ของรัฐบาลไทย)
ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT รหัส TR580GDJBA (รถไต้หวันจะเป็น TR580DDJBA ซึ่งอาจจะต่างกันแค่รายละเอียดปลีกย่อย) นี่คือเกียร์ลูกใหม่ที่ถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาลงกว่าเกียร์รุ่นเดิม 7.8 กิโลกรัม ใช้โซ่ขับเคลื่อนเกียร์แบบที่ทำงานเงียบเสียงลงกว่าเดิม และยังเปลี่ยนนิสัยการทำงานของเกียร์ใหม่ ให้มีการไล่รอบคล้ายเกียร์อัตโนมัติแบบปกติในจังหวะกดคันเร่งเดินหน้าลึกกว่าปกติ หรือกดคันเร่งเต็ม
เมื่อเลือกโหมดเล่นเกียร์เอง ในรุ่นเดิมล็อคอัตราทดได้ 6 จังหวะ ส่วนรุ่นใหม่นี้ เพิ่มมาอีกเป็น 7 จังหวะ ซึ่งปรับตั้งค่าอัตราทดไว้ดังนี้
เกียร์ 1 ……… 3.600
เกียร์ 2 ……… 2.155
เกียร์ 3 ……… 1.516
เกียร์ 4 ……… 1.092
เกียร์ 5 ……… 0.843
เกียร์ 6 ……… 0.667
เกียร์ 7 ……… 0.557
อัตราทดในโหมด CVT ปกติ = 3.600〜0.512
เกียร์ถอยหลัง 3.687 และเฟืองท้ายทด 3.900 (รุ่นเดิมอยู่ที่ 3.700)
XV มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เช่นเดียวกับรถรุ่นเดิม แต่คราวนี้ เอาใจคนที่อยากลุยโคลนลุยป่า โดยมีการติดตั้งปุ่ม X-Mode ที่บริเวณท้ายคันเกียร์มาให้ ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่มีใน Subaru Forester ซึ่งถ้าจะใช้งานก็ต้องพยายามคุมความเร็วรถอย่าให้เกิน 29 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้นก็กดปุ่ม กล่องสมองกลจะเข้าไปปรับการทำงาน หรือเปิดใช้ฟังก์ชั่น 5 อย่างต่อไปนี้
- ลิ้นคันเร่ง – โดยหน่วงไม่ให้ลิ้นเปิดปิดเร็ว อันเนื่องมาจากความไม่ประสีประสาของคนขับ ซึ่งจะทำให้รถเสียแรงยึดเกาะของล้อเพราะกดคันเร่งแรงหรือเร็วเกินไป แต่ถ้าคุณตั้งใจกดคันเร่งให้ลึกมากขึ้น แรงขับเคลื่อนก็จะมาตามปกติ
- เกียร์ – จะหน่วงไว้ที่เกียร์ต่ำ (หรือเลือกอัตราทดพูลเลย์ให้ต่ำ) เพื่อให้ใช้กำลังเครื่องได้เต็มที่
- ระบบขับสี่ – สั่งให้จับคลัตช์ถ่ายกำลังล้อหน้า/หลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พลังถูกแบ่งไปล้อทั้ง 4 อย่างเท่ากันมากขึ้น
- ระบบ VDC – ปกติล้อข้างใดข้างหนึ่งจะต้องหมุนฟรีในระดับหนึ่ง ระบบจึงจะสั่งจับเบรกล้อข้างที่ปั่นฟรีอยู่ แต่เมื่อใช้ X-Mode ระบบ VDC จะ alert มากเป็นพิเศษและจะสั่งจับเบรกล้อข้างที่หมุนฟรีแทบจะในทันที เพื่อปันกำลังขับเคลื่อนไปยังล้ออีกข้างที่ยึดเกาะได้ดีกว่า
- Hill Descent Control – ระบบช่วยคุมความเร็วในการไหลลงเนินชัน ใช้ได้ที่ความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อใช้ในขณะขาลงเนิน คุณสามารถถอนเท้าออกจากเบรกและคันเร่งได้โดยเอาสมาธิไปเพ่งกับการคุมพวงมาลัยอย่างเดียว รถจะพยายามใช้ทั้งเกียร์และเบรกในการหน่วงความเร็วไว้ในระดับที่ปลอดภัย ปรับเพิ่มหรือลดความเร็วได้โดยใช้ปุ่ม +/- ของ Cruise Control
จุดประสงค์ของ X-Mode ก็คือ เอาส่วนประกอบและฟังก์ชั่นต่างๆที่มีอยู่แล้วมาจัดให้มันทำงานประสานกันเพื่อการลุยแบบออฟโรด โดยมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัย ใช้ง่าย สำหรับนักขับมือใหม่ที่อาจไม่เคยเจอออฟโรดมาก่อน ก็สามารถผ่านอุปสรรคไปได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน กดปุ่มเดียว รักษาความเร็ว หมุนพวงมาลัยอย่าให้ลงเหว ที่เหลือรถจัดการให้
บางคนอาจจะบอกว่า XV มันครอสโอเวอร์ของคนเมือง จะไปเน้นอะไรนักหนา..ไม่รู้ครับ แต่ที่ผ่านมา 5 ปีผมได้เห็นเจ้าของ XV รุ่นเก่าเอารถไปทำอะไรบ้าๆมาหลายคันเหมือนกัน บางคันก็โผล่ไปแจมทริปพวกออฟโรด ลุยป่าลุยธารหน้าตาเฉยแถมรอดออกมาได้อย่างน่าประหลาด ดังนั้น ถ้า Subaru จะให้มา ก็ถือซะว่าเป็นโบนัสสำหรับคนเหล่านั้น ในขณะที่คนในประเทศเมืองหนาวที่หิมะตก โอกาสได้ใช้ฟังก์ชั่นนี้มีเยอะอยู่แล้ว
ต่อมา สำหรับสมรรถนะและอัตราเร่งที่หลายคนอยากรู้กัน
ผมให้ J!MMY รับหน้าที่ จับเวลาหาอัตราเร่งกันในเวลากลางคืนเช่นเคย โดยผู้ร่วมทดลองคือคุณโจ๊ก v10Thailand น้ำหนักรวมบนรถประมาณ 160-170 กิโลกรัม (จับเวลาตอนกลาคืน เปิดแอร์ นั่ง 2 คน) ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้
ในการทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น ตัวเลข 12.45 วินาทีของ XV ดูเป็นที่น่าผิดหวัง ทั้งนี้เครื่องแรงขึ้นนิดๆ น้ำหนักตัวแทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แล้วยังได้เกียร์ใหม่ ถึงแม้ล้อจะโตขึ้นก็ไม่ควรแย่ไปกว่าเวลาเดิมที่รถรุ่นเก่าทำไว้ 11.40 วินาที ..ให้ตายสิ! XV รถวัยรุ่นรักผจญภัยแต่ 0-100 กลับแพ้รถครอบครัวอย่าง Forester 2.0 ไม่มีเทอร์โบนี่ บอกตามตรงว่ารู้สึกแย่ และความหนืดมันมาจากช่วงออกตัว มีจังหวะหน่วงกำลังเหมือนพยายามจะเซฟเกียร์ ทำให้เวลาจอดรถติดๆ แล้วคิดจะเปลี่ยนเลนออกขวาพร้อมเร่งหนีคันหลังนั้น น่าหงุดหงิดชะมัด
ที่ผมคาดว่าเป็นเพราะการเซฟเกียร์ที่ทำให้อัตราเร่งช้า เพราะอะไรก็ตามที่เป็นช่วงออกตัวจากความเร็ว 0-5 กิโลเมตร/ชั่วโมง มันจะมีอาการแบบนี้ แต่ถ้าหากคุณวิ่งสัก 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป มันกลับตอบสนองได้ดีอย่างที่ควรเป็น กดคันเร่งแล้วมีแรงกระชากดีตามสั่ง ยิ่งเป็นอัตราเร่งช่วง 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นทำได้ 8.43 วินาที ซึ่งดีกว่ารุ่นเดิม เป็นผลมาจากการทำงานของเกียร์ที่พอคิกดาวน์แล้วดีดรอบรับกับส่งแรงไวขึ้น (ทำไมตอนออกตัวไม่เอาแบบนี้บ้างฟระ?) อย่างน้อยเวลาออกต่างจังหวัด การเร่งแซงก็สู้ CX-5 2.0 รุ่นเก่า และ X-Trail 2.0 กับ MG GS 1.5T ได้ในช่วงนี้ล่ะ
แต่กระนั้นก็เถอะ มันก็ไม่ใช่รถที่ไวอะไรขนาดนั้น 8.43 วินั้น อาจจะเร็วกว่า CX-3 ดีเซลแต่ก็ไม่ได้เผ็ดแซ่บมันส์สะใจแบบ CX-3 2.0 เบนซิน กับ Honda HR-V 1.8 ซึ่งเป็นรถขับหน้าที่น้ำหนักตัวเบากว่า ถ้าคุณมองหาครอสโอเวอร์เล็กที่กระแทกคันเร่งแล้วหลังติดเบาะ เกียร์ทำงานแบบ snap! สะใจ ต้นจัด ปลายแรง ยังไง CX-3 2.0 ก็เป็นรถวิ่งหัวของกลุ่ม
ในการวิ่งทางยาวแบบ 1.7 กิโลเมตร เราสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 173-174 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ช้ากว่า CX-3 2.0 ราว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนความเร็วสูงสุด ทำได้ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป๊ะๆตามภาพ
ตามธรรมเนียมของเรา ก็คงต้องขอเตือนกันเอาไว้ เหมือนเช่นเคยว่าเราจะไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็วสูงสุด เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร เราทำให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้เพื่อการศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์ เราไม่ทำในสิ่งที่เสี่ยงอันตรายต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เราระมัดระวังกับเรื่องนี้มากๆ และเราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิต เพื่อลองทำตัวเลขแบบนี้เอง
ส่วนการขับขี่ในชีวิตประจำวันนั้น เรี่ยวแรงของเครื่องน่ะ มันพอให้คุณขับลัดเลาะไปในตัวเมือง กดคันเร่งแซงจากช่วง 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้สบายอยู่ เครื่องยนต์มีแรงบิดดี แต่ต้องเข้าใจว่ามันจะไม่พุ่งตัวดีเหมือนพวก CX-3 หรือ HR-V ซึ่งเป็นรถครอสโอเวอร์เล็ก ในขณะที่ XV นั้นตัวโตอยู่ระหว่าง CX-3 กับ CX-5 และตัวถังหนัก มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา
เกียร์ CVT ลูกใหม่ ตอบสนองได้ดีตามสั่ง แต่คันเร่งจะมีนิสัยรักสันติมากกว่าพวก Mazda กดคันเร่งไป 50% ลิ้นคันเร่งของจริงจะเปิด 50-55% มันจึงไม่พุ่งจู๊ดจ๊าด ไม่ต้องเกร็งเท้ามาก แต่พอตั้งใจจะคิกดาวน์จริงๆ มันก็เลือกอัตราทดพูลเลย์มาให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ จะมีข้อเสียบ้างก็ตรงที่เราพบอาการยึกยักที่ความเร็วต่ำ ประมาณ 10-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงถอนและกดคันเร่ง แม้จะกดเพียงนิดๆ บางครั้งก็มีอาการเย่อเบาๆ ยิ่งถ้าไปเจอรถติดหนักๆ เอาแค่ชั่วโมงเดียวก็พอครับ อาการเย่อจะยิ่งหนักขึ้นจนนึกไปละว่านี่ตกลงผมขับ XV หรือ MG GS กันแน่
พวกรุ่นเก่าก็มีอาการนี้ เจ้าของหลายท่านแก้ไขโดยการติดออยล์คูลเลอร์ให้กับน้ำมันเกียร์เพื่อช่วยระบายความร้อนออก เท่าที่ทราบมาก็ได้ผลดีพอสมควร
ส่วนเรื่องการเก็บเสียงนั้น ผมรู้สึกว่ายังไม่ใช่จุดเด่น แม้ว่าเสียงลมกรีดด้านข้างบริเวณกระจกหูช้างจะเบาลงบ้าง แต่โดยรวมทั้งคันแล้วเหมือนกับรถรุ่นเดิม เสียงรบกวนจากพื้นล่างและยางบดถนนนั้น ใกล้เคียงกับรุ่นเก่ามากจนแยกไม่ออก เสียงลมจากขอบประตูก็เช่นกัน ถ้าถามว่ามันแย่ไหม ก็ไม่ได้แย่ครับ เพียงแต่เราคาดหวังเอาไว้ว่าเจนเนอเรชั่นใหม่ยกตัวถังทั้งที น่าจะทำได้ดีกว่านี้
ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า (XV สเป็คไทยรุ่นที่แล้ว เป็นไฮดรอลิก) มีการปรับอัตราทดให้ตอบสนองได้ไวกว่าเดิม จาก 15.0 : 1 เป็น 13.0 : 1 ซึ่งเป็นตัวเลขระดับเดียวกับพวก BRZ และ WRX STi สาเหตุที่ทีมวิศวกรเลือกพวงมาลัยอัตราทดไวขึ้น เพราะ หวังผลเรื่องความปลอดภัยจากการหักหลบสิ่งกีดขวาง สมัยก่อนเมื่อเทคโนโลยีช่วงล่างยังไม่พัฒนา การเซ็ตพวงมาลัยไวไปอาจส่งผลให้รถเสียหลักเวลาหักหลบ แต่ XV เป็นรถสมัยใหม่ที่มีพืื้นฐานช่วงล่างแน่น มีระบบขับสี่และอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเหลือมากมาย การเซ็ตพวงมาลัยไวจะช่วยให้หักหลบสิ่งต่างๆได้รวดเร็วขึ้นโดยรถไม่เสียหลัก
นอกจากนี้วิศวกรยังมีการปรับปรุงเพื่อลดอาการสะท้านสะเทือนของพวงมาลัยในขณะเลี้ยว และ บนสภาพถนนที่มีความสะเทือน เพื่อให้เหลือแต่ Feedback ที่จำเป็นต่อการบังคับควบคุมและการอ่านความยึดเกาะของล้อหน้าเท่านั้น
ในช่วงความเร็วเกิน 80 เป็นต้นไป น้ำหนักพวงมาลัยเซ็ตมากำลังดี เวลาขับทางตรงจะรู้สึกไม่เกร็ง แต่ผมแนะนำเจ้าของ XV รุ่นใหม่ว่าถ้ามีโอกาส ถนนว่าง ลองเปลี่ยนเลนเร็วๆดูการตอบสนองของพวงมาลัยสักนิด เพราะหักนิดเดียวก็เปลี่ยนเลนแล้ว ดีที่มีน้ำหนักตึงหน่วงกลางช่วยไว้ ไม่งั้นคงขับแล้วเครียดแบบ Accord
ส่วนที่ความเร็วต่ำนั้น ผมกับ J!MMY จะมองต่างกัน ผมซึ่งเคยชินกับพวงมาลัยไฮดรอลิก และพวงมาลัยไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก จะรู้สึกว่าแรงหน่วงถือตรงที่ความเร็ว 40-50 นั้นเบาโหวงเกินไป แต่ถ้าเป็นตอนหักเลี้ยว 90 องศาขึ้นไปนั้น โอเค หน่วงกำลังดี ผู้หญิงขับแล้วสะดวก ส่วน J!MMY มองว่าที่ Subaru เซ็ตมานั้นดีอยู่แล้ว แต่ที่แน่ๆคือเรามองตรงกันว่ามันไม่เบาโหวงจนขาดความรู้สึกแบบ Nissan Sylphy หรอกครับ
ช่วงล่างของ XV ยังใช้ด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท และ ด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ดับเบิลวิชโบน ซึ่งมีรูปแบบพื้นฐานเหมือนกับ Impreza แต่ในกรณีของ XV นั้น จะได้โช้คอัพกับสปริงที่มีระยะยุบ และ ยืดมากกว่า และ มีเหล็กกันโคลงหน้า/หลังขนาดโตกว่า ส่วนเหล็กกันโคลงหลังก็ยึดที่ที่บอดี้โดยตรงเหมือนกับ Impreza ซึ่งวิธียึดแบบนี้ทีมวิศวกรเคลมว่าทำให้เวลาเลี้ยวรถแรงๆแล้วช่วงล่างหลังมีอาการยวบโคลงน้อยลงได้ถึง 50% เลยทีเดียว
เท่าที่ได้ลองมา ผมชอบการเซ็ตช่วงล่างของ XV รุ่นใหม่มาก จนอยากจะบอกเลยว่าถ้าจะดูบาลานซ์ที่ดีระหว่างการหักเลี้ยวโค้ง การวิ่งบนทางตรงที่มั่นคง กับการซับแรงกระแทกที่แม่ยายไม่ด่า คุณต้องมาลองนั่ง XV รุ่นนี้! เอาแม่ยายมานั่ง เอาจอร์จ เอาซาราห์หรือใครก็ได้มาลองนั่งดู มันคือการผสานความมั่นใจแบบ XV รุ่นเดิม เข้ากับความสามารถในการซับแรงกระแทกพวกหลุมบ่อเล็กๆได้ดีขึ้น วิ่งผ่านลูกระนาดในหมู่บ้านแล้วสะเทือนทวารน้อยลง กระโดดขึ้นลงจากสะพานมอเตอร์เวย์ก็หนักแน่นมั่นคง และคุณได้รับทุกสิ่งอย่างเหล่านี้โดยที่ประสิทธิภาพและบาลานซ์ในการเข้าโค้งดีเยี่ยมแบบรุ่นเดิม
สิ่งที่จะทำให้แย่ลงกว่ารุ่นเดิม ก็มีแค่อาการย้วยนิดๆในจังหวะแรกของการหักเลี้ยว ซึ่งอาจเกิดจากการเซ็ตช่วงล่างให้รับแรงกระแทกได้มากขึ้น..หรือส่วนหนึ่ง อาจจะมาจากการใช้ยาง 225/60 ที่แก้มสูงขึ้นกว่ายาง 225/55 เดิม..หรืออาจจะเป็นทั้งสองอย่างรวมกัน ถ้าคุณก้าวลงจาก XV รุ่นเก่ามาขับรุ่นใหม่เลย อาจจะรู้สึกว่ามีจังหวะหยึยๆที่คุณไม่คุ้นโผล่มานิดๆ แต่พอลองเข้าโค้งสักดอก เอาแค่โค้งเดียวก็จะรู้แล้วครับว่าความหยึยตรงนั้นไม่มีอะไรให้ต้องกลัว เพราะเมื่อช่วงล่างยุบไปกว่านั้นนิดเดียว มันจะกลับไปแข็งหนึบมั่นใจแบบ XV รุ่นเดิมทันที
ถ้าเทียบกับรถคันอื่นๆในกลุ่ม B-Crossover ผมว่าช่วงล่างของ CX-3 มีบุคลิกที่สปอร์ตกว่าเวลาวิ่งทางตรงหรือมุดซ้ายขวา แต่พอคุณเริ่มจริงจังกับการเล่นโค้งหนักมากขึ้นเท่าไหร่ ช่วงล่างกับระบบขับสี่ของ Subaru จะยิ่งแสดงคุณค่าของมันออกมา ถ้าเทียบกับ HR-V ยิ่งต่างกันแบบไม่ต้องสืบเพราะสู้ไม่ได้ทั้งความเหนียวของบอดี้และช่วงล่างซึ่งเหมาะไว้ขับทางตรงหรือเล่นโค้งก็ได้แบบเบาะๆ
ระบบเบรกเป็นดิสก์ 4 ล้อ แบบมีครีบระบายความร้อนทั้งด้านหน้าและหลัง พร้อมระบบป้องกันล้อล็อคเวลาเบรก และระบบกระจายแรงเบรกอัตโนมัติ
แป้นเบรกถูกเซ็ตมาในลักษณะช่วงระยะเหยียบสั้นมาก แต่ใส่น้ำหนักต้านเท้ามาปานกลาง ตอนแรกนึกว่าจะขับยาก เบรกหัวทิ่มหัวตำ แต่เอาเข้าจริงก็สบายเท้าแบบไม่ต้องเกร็งมาก เพราะมีลักษณะการจับผ้าเบรกที่ค่อยเป็นค่อยไปตามระยะกด ส่วนประสิทธิภาพการเบรกจากความเร็วสูง ก็ถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของกลุ่ม ผ้าเบรกจะเฟดและลื่นก็ต่อเมื่อคุณขับมัน 170-190 แล้วเบรกบ่อยๆโดยไม่มีเวลาให้ผ้าคายความร้อนออกเท่านั้น
อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสำหรับ Subaru XV ทั้งรุ่น 2.0i และ 2.0 i-P ประกอบไปด้วย
- ถุงลมนิรภัยสำหรับคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า
- ถุงลมนิรภัยหัวเข่าสำหรับคนขับ
- ถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้า
- ม่านถุงลมนิรภัยระดับศีรษะสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า/หลัง
- ระบบควบคุมเสถียรภาพการขับขี่ (VDC) และระบบควบคุมการยึดเกาะถนน (TRC)
- ระบบป้องกันล้อล็อค ABS และระบบปรับแรงดันน้ำมันเบรกแบบแปรผัน
- ระบบป้องกันคันเร่งค้าง Brake Override System ถ้าคันเร่งค้าง ให้กดเบรกยาว รถจะตัดการทำงานของลิ้นคันเร่ง
XV ผ่านการทดสอบการชนของ EURO NCAP ในปี 2017 ด้วยคะแนน 5 ดาว และได้คะแนนสำหรับหมวดความสามารถในการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ 94% คะแนนปกป้องผู้โดยสารวัยเด็ก 89% และคะแนนการปกป้องคนเดินถนน 84% แต่เรื่องระบบ Safety Assist จะได้ 68% โดยรวมให้การปกป้องคนในรถได้ดี ผู้โดยสารมีอาการบาดเจ็บหลังการปะทะปานกลางในส่วนขา และในส่วนอกและลำตัวบนถือว่ามีอาการบาดเจ็บน้อยในระดับที่ดี
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
อีกประเด็นหนึ่งที่คุณผู้อ่านน่าจะอยากทราบ นั่นคือ ตัวเลขความประหยัดน้ำมันดังนั้น หน้าที่ตรงนี้ ก็ยังคงต้องยกให้ J!MMY เป็นคนทดลอง ร่วมกับน้องโจ๊ก v10Thailand คนเดียวกับที่จับอัตราเร่งให้นั่นเอง
เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน
ด้วยเหตุที่ XV เป็นรถยนต์นั่งครอสโอเวอร์ขับสี่ราคาล้านต้น ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้ มักไม่ค่อยซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดต้องเค้นทุกหยดชนิดบีบจนมะนาวแห้งตายยกต้น เราจึงตัดสินใจเติมน้ำมัน ด้วยวิธีเติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัดก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถ อย่างเช่นบรรดารถยนต์นั่งต่ำกว่า 2,000 ซีซี และรถกระบะ ประกอบในประเทศ
เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ โผล่ออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับย้อนกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน
เพื่อรักษาความเร็วให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control ซึ่งควบคุมรอบเครื่องยนต์ได้ยากมาก เกียร์มักจะเร่งตัดเปลี่ยนลงมา เพื่อชดเชยรอบเครื่องยนต์ที่ลดลงขณะไต่ขึ้นเนินหรือทางชัน เราจึงต้องตัดการทำงานของ Cruise Control เป็นระยะๆ แล้วเปิดใช้งานใหม่
เมื่อถึง ทางลง จากทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เอาแค่เพียงให้หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง
มาดูผลลัพธ์ที่ XV ใหม่ ทำได้กันดีกว่า
ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 93.3 กิโลเมตร
เติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron กลับ แบบไม่เขย่ารถ 5.98 ลิตร
คำนวนได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.60 กิโลเมตร/ลิตร
เห็นอัตราสิ้นเปลืองแล้วยกมือทาบอก ปกติผมก็เข้าใจว่า Subaru ยุคหลังมานี้เริ่มทำตัวประหยัดน้ำมันมากขึ้น อย่างที่เห็นได้ว่ารุ่นเดิมทำตัวเลขเอาไว้ 14.40 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งนั่นก็จัดว่าน่าพอใจแล้วสำหรับรถขับเคลื่อน 4 ล้อ “ตลอดเวลา” ที่มีภาระในการขับเคลื่อนมากกว่าพวกรถขับหน้า แต่นี่พี่แกเล่นตอกเลข 15.60 กิโลเมตรต่อลิตร อีกนิิดดดดเดียวก็จะเท่า HR-V 1.8 ที่เป็นรถขับหน้าแล้ว และยังประหยัดกว่า Mazda CX-3 2.0 ที่ทั้งเล็กและเบากว่าแบบมีนัยสำคัญ ระบบคำนวณอัตราสิ้นเปลืองของรถเองก็ถ่อมตัวพอสมควร เพราะเราได้เลขขนาดนี้ แต่หน้าปัดยังโชว์ 6.8L/100km (14.7 กิโลลิตร) อยู่เลย
ถ้าคุณอยากได้รถที่ประหยัดน้ำมันกว่านี้เหรอครับ? คงมีทางเลือกเหลือแค่พวกรถเครื่องยนต์ดีเซลหรือไฮบริดแล้วล่ะครับ ความประหยัดที่ได้มานี้ ก็คงมาจากการที่วิศวกรเปลี่ยนระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหัวฉีดตรง บวกกับการเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในเครื่องให้มีแรงเสียดทานน้อยลงนั่นเอง
ส่วนในการใช้งานแบบปกตินั้น ถ้าขับในเมืองเจอรถติดหนักมากๆ แถมพอหลุดจากรถติดก็ซัดจมเกจ์ ตัวเลขแย่ที่สุดที่ผมทำได้คือ 7.8-8.5 กิโลเมตรต่อลิตร แต่ในสภาพการใช้งานทั่วไปหากรถติดเฉยๆ ไม่ได้ติดหนักมาก ไม่ค่อยมีการซัดคันเร่งหนักๆ ตัวเลขจะดีขึ้นเป็น 9.0-9.5 กิโลเมตร/ต่อลิตร ส่วนการขับแบบปกติ มีการใช้งานในเมืองสลับกับออกต่างจังหวะบ้าง ก็จะดีขึ้นเป็น 10-11 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งแม้จะไม่ประหยัดเท่าตัวเลขเวลาวิ่งทางไกลนิ่งๆ แต่ถือว่าดีแล้วสำหรับรถขับสี่ตลอดเวลา
********** สรุป *********
ออกตัวไม่จี๊ดจ๊าดเท่าเดิม แต่นอกนั้น ดีขึ้นเกือบทั้งคัน
นับตั้งแต่ผมได้ไปลองขับ XV ใหม่เวอร์ชั่นไต้หวันนั้น ผมเฝ้าคอยมาตลอดที่จะได้ลองขับเวอร์ชั่นไทย และเมื่อได้ลองก็รู้สึกว่ามีหลายอย่างเป็นไปตามคาด แต่บางอย่างก็ไม่
เราพูดถึงจุดที่ดีกันก่อน คนที่ซื้อ XV ส่วนหนึ่งก็เพราะมั่นใจในคุณสมบัติการเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อสไตล์ Subaru และคาดหวังคุณภาพความรู้สึกที่ได้รับเมื่อรถแล่นไปบนท้องถนน นี่คือจุดที่ผมมองว่ามันทำได้ดีขึ้น เพราะเมื่อวิ่งบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง มันก็มั่นคงแบบรถรุ่นเดิม อาการยึกย้วยนิดๆที่มาจากยางแก้มสูงนั้นไม่ได้ถึงขั้นทำให้ประสาทกิน ส่วนบนถนนขรุขระ ช่วงล่างใหม่ก็สามารถซับแรงกระแทกได้ดีขึ้นมากจนคุณรู้สึกได้ แถมถ้าอยากจะลองไปเล่นออฟโรดดูบ้าง XV ใหม่ก็มี X-Mode ที่ยกมาจาก Forester ช่วยให้การลุยเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับมือใหม่
ประการต่อมาในเรื่องของสมรรถนะและความประหยัด แม้หลายอย่างจะดูเหมือนเดิม แต่อัตราเร่งในช่วงแซงที่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันนั้นรวดเร็วขึ้น เป็นกุศลบุญที่ได้จากเกียร์ Lineartronic CVT-7 ลูกใหม่ที่เวลากดคันเร่งแซง มีการจับส่งพลังไวขึ้น และมีความประหยัดเชื้อเพลิงเวลาวิ่งทางไกลมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการใช้งานแบบโหมดเท้าหนักกับใช้งานในเมืองจะต่างกันกับรุ่นเก่าไม่มากก็ตาม
สิ่งที่เป็นโบนัส สำหรับ XV รุ่นใหม่คือความหรูหราภายในที่ได้รับการ Update และ Upgrade ให้ดูดีขึ้น ถ้าไม่นับหน้าปัดกับคันเกียร์ หลายส่วนเปลี่ยนไปจากรุ่นเก่ามาก จอกลางขนาด 8 นิ้วดูสวยงาม เครื่องเสียงคุณภาพดีขึ้น ในรุ่น 2.0i-P ยังได้จอกลางตอนบนที่ขนาดโตอ่านค่าง่ายและสีสันสวยขึ้น
ส่วนการนั่งโดยสารและพื้นที่ภายในนั้น แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย ตัวเบาะใหญ่โอบรับคนหลายไซส์ได้มากขึ้น เบาะรองนั่งทำมาได้ดีขึ้น ผู้โดยสารเบาะหลังมีที่ให้เหยียดขาได้ยาวขึ้นเล็กน้อย ส่วนเนื้อที่บรรทุกสัมภาระด้านท้ายซึ่งเคยเป็นจุดอ่อนของ XV ก็ยังไม่ได้โตขึ้นมากนัก แต่ยังดีว่ามีความลึกวางสัมภาระที่สูงได้มากขึ้น และขยายพื้นที่แนวกว้างสุดออกไป สามารถใส่ถุงกอล์ฟได้หลายใบมากขึ้นโดยไม่บังทัศนวิสัยหลัง
แต่ส่วนที่ยังไม่โดนใจ..มันก็มีอยู่นะครับ แฮ่..คิดว่าผมเคยใช้ Subaru แล้วผมจะต้องเป็นติ่ง Subaru เหรอ..ไม่รอดหรอกครับ
ส่วนแรกที่รบกวนจิตใจมากที่สุด คือ หลังจากที่ทำรถทั้งคันมาซะดิบดี ปรับรายละเอียดของเครื่องยนต์ เกียร์ได้ใช้ลูกใหม่ แตทำไม๊ทำไมเวลาออกตัวมันหนืดเหลือเกิน
ผมรู้สึกตั้งแต่ตอนขับที่ไต้หวันแล้วเมื่อผู้บริหารบอกว่ารุ่นนี้จะออกตัวไวขึ้น พอมาลองจริงก็เป็นอย่างที่เห็น บางคนอาจจะบอกว่า 0-100 หรือ 0-60 นี่มันไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง ทำไมจะไม่ได้ใช้? คุณไม่เคยต้องเปลี่ยนเลนออกจากจุดหยุดนิ่งแล้วเร่งความเร็วเพื่อไม่ให้คันหลังเขาต้องเบรกเพราะคุณเหรอครับ? ถ้าคุณไม่ใช้ That is your story แต่ที่ Headlightmag เรามีวิธีวัดที่ใช้กับรถทุกคัน อืดก็คืออืด หนืดคือหนืด ช้ากว่ารุ่นเดิมก็คือช้ากว่ารุ่นเดิมครับไม่งั้นก็เอานาฬิกาจับเวลาไปเขวี้ยงลงทะเลบอลติกซะดีกว่า ขอเซ็ตให้จังหวะออกตัวมันจับและถีบตัวรถไปเร็วกว่านี้ได้ไหมอย่างน้อยอย่าให้อืดกว่ารุ่นเดิม นี่ขนาดผมลองใส่ M ออกตัวเกียร์ 1 แล้วค่อยตบเข้า D หลังรอบแตะ 6,000 ก็ยังได้เวลาแทบไม่ต่างจากเดิม (ถ้าเป็นรุ่นเดิมจะให้ผลต่างกันมาก)
นอกจากนี้ อาการยึกๆยักๆ ที่ปรากฏเวลาใช้ความเร็วต่ำๆ ก็ยังน่ารำคาญอยู่ดี ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมเลย และเวลาเจอรถติดต่อเนื่องกันสักชั่วโมง จะยิ่งยึกยักรุนแรงขึ้น (ภาษาหยาบๆผมเรียกว่าเกียร์เด้า) ไหนๆเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นใหม่ทั้งที่ ข้อนี้มันไม่ควรจะเกิด หรือถ้าเกิดก็ต้องน้อยกว่านี้มาก
ประการต่อมา พนักพิงศีรษะแบบแข็งนี่..เราปรับได้หรือไม่ เพราะรถอย่าง XV มันไม่ใช้รถสปอร์ต หรือมอเตอร์สปอร์ตกลายๆแบบพวก STi คนที่ใช้ก็ย่อมอยากได้ความสบายบ้าง ไหนๆทำเบาะมาดีเกือบทั้งตัวแล้ว ปรับพนักพิงให้มันสบายเท่าเกณฑ์เฉลี่ยของคลาสหน่อยผมว่าคงไม่เสียหายหรอกครับ ถ้าคิดว่าพนักพิงหัวแข็งๆนี่ช่วยเรื่องความปลอดภัยด้านไหนก็ตาม คุณไปลองพิงหัวในรถ Volvo สักรุ่นสองรุ่นดูครับ แข็งมั้ย? แล้วไม่ปลอดภัยเหรอ? ลองคิดดู
สามข้อหลักๆนี้คือส่วนที่ทำให้ผมยังไม่ให้คะแนน XV แบบเต็มร้อยได้ร้อย เพราะเป็นส่วนที่ผมคาดหวังไว้ว่า Subaru น่าจะทำให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่แค่ไม่ทำ หรือไม่มีเหตุผลดีๆให้ทำ
นอกจากนั้นไป เป็นเรื่องที่ยังคาใจอยู่บางเช่นว่าทำไมอุณหภูมิน้ำมันเครื่องถึงได้สูงเหลือเกิน ไม่ทราบว่ามี Range การทำงานเท่าไหร่กันแน่ เพราะลำพังแค่รถติด ขับในเมืองแบบรีบๆ (แต่รอบไม่เกิน 4,000) ยังส่ง Oil temp ขึ้นไปถึง 130 องศาได้ ถ้าเป็นรถผมเอง เห็น 130 นี่ผมจอดแล้วนะครับ ขนาดขับซัดในแก่งกระจานกลางวันแสกๆ ผมยังได้ค่าแทบไม่เกิน 120 ด้วยซ้ำ
ยิ่งตอนทำท้อปสปีดนั้น J!MMY ลำบากมากเพราะมันตีไป 135 อย่างรวดเร็ว และต้องวิ่งวอร์มดาวน์อยู่นานมากกว่าจะลองทำได้อีกครั้ง ไม่ทราบว่าเป็นนิสัยปกติของเครื่องยนต์ Subaru สมัยใหม่หรือเปล่า แต่เท่าที่เราลองกับ Levorg เมื่อตอนต้นปี พอถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง กลับไม่เห็นตัวเลขที่เกิน 120 องศาอีกเลย ถ้า Subaru บอกว่าแบบนี้ปกติ ก็ช่วยบอกให้ลูกค้าสบายใจสักหน่อยแล้วกัน แต่ถ้าไม่ปกติ ก็ควรโค้ชลูกค้าว่าเท้าหนักแบบไหน ควรใช้น้ำมันเครื่องแบบไหน ผมไม่ได้โทษว่าน้ำมันเครื่องไม่ดี เพราะมันอาจจะมีคุณสมบัติที่ต่างกัน อันนึงอาจจะทำความสะอาดดี ประหยัดเชื้อเพลิง อันนึงอาจจะหนืดหน่อยแต่ใช้ซิ่งแล้วคุมแรงดันได้ดี มันต้องช่วยลูกค้าเลือกให้เหมาะกับเขาครับ
ส่วนเรื่องอุปกรณ์ติดรถที่ยังขาด เช่น Eyesight ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมาสักที หรือเบาะหุ้มหนังที่หายไปจากรุ่นเดิมนั้น ผมว่าเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ ในเมื่อ Mazda เปิด CX-5 รุ่นล่างสุดมาในราคา 1,290,000 บาท แล้วถ้าเอา XV ใส่อุปกรณ์สองอย่างนี่ไป ราคาของมันน่าจะเกิน 1.3 ล้านบาทไปไกล มองในแง่การค้าขาย คุณคิดว่าจะมีกี่คนที่ยอมซื้อ XV ที่ตัวเล็กกว่า ถ้าไม่ใช่ว่ารัก Subaru จริงๆ? การที่ XV ขับเคลื่อนสี่ล้อ ก็ทำให้มีค่า CO2 สูงเกิน 150 และรับสรรพสามิตในอัตรา 35% ดังนั้นถ้าอุปกรณ์ติดรถที่มาจากต้นทางมันเยอะกว่านี้ ราคาจะยิ่งถูกคูณไปไกล ออพชั่นที่เราเห็นใน 2.0i-P นั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วที่ทีม Subaru ของไทยและ Tan Chong เลือกได้
สำหรับคนที่ยังไม่ได้ปักใจกับ XV และพยายามมองเทียบกับคู่แข่ง ทั้งพวกที่ระดับตัวรถเซกเมนต์เดียวกัน หรือพวกรถที่มาจากระดับสูงกว่าแต่ราคาใกล้เคียงกัน ผมพอจะมีตัวเลือกให้คุณพิจารณาประกอบดังนี้ แต่บอกไว้ก่อนว่าถ้าคุณต้องการระบบขับเคลื่อนสี่ล้อจริงๆ ในงบ 1.3 ล้านบาท ก็คงต้องจบกับ XV อยู่ดี
Mazda CX-3 – รถเล็ก ภายในคับแคบ แต่รุ่น 2.0 เบนซินนั้น เร่งดีทั้งต้นถึงปลาย เกียร์ฉลาดใจถึงแบบถวายชีวิต รุ่นท้อปมีอุปกรณ์เซฟตี้ขั้น Advance และบนถนนแห้ง แม้จะขับสองแต่ระบบ GVC กับช่วงล่าง Mazda ก็ช่วยให้ขับเร็วได้น้องๆ XV ในโค้ง เหมาะกับวัยรุ่น หรือพวกแอ๊บวัยรุ่นที่เท้าหนัก และนั่งสองคนหน้าเป็นหลัก ส่วนรุ่นดีเซลไม่แนะนำ เพราะราคาแพง ไม่ได้ประหยัดน้ำมันมากจนดีเด่น แถมยังต้องมานั่งลุ้นอีกว่าขับๆไปเครื่องจะสั่นพะเงิบพะงาบ หรือจู่ๆมีดีเซลลงไปปนในน้ำมันเครื่องแบบ Mazda 2 หรือเปล่า
Honda HR-V – หรูหรา มีลูกเล่นทางดีไซน์และอุปกรณ์ที่ดูทันสมัย พละกำลังเครื่องยนต์และการทำงานของเกียร์ (ตอนที่มันไม่ชำรุด) ถือว่าเร็วใช้ได้ เบาะนั่งสบายกว่าที่คิด ประหยัดน้ำมันในการใช้งานปกติ เหมาะสำหรับคนที่ชอบรถใช้งานได้หลากหลาย ยึดติดกับแบรนด์ตลาดแต่ไม่อยากขาดสไตล์ แต่ช่วงล่างจะออกแนวนุ่ม ไม่ทำมารองรับการขับขี่บ้าๆแบบ XV และในระยะหลัง HR-V มีปัญหาคุณภาพการประกอบมาก ช่วงล่างตึงตัง แร็คดัง เคลมเกียร์ ออกตัวรถมีเสียงกึก น้ำเข้ารถ มีเคสส่งเข้ามาหลังไมค์เหมือนกัน
MG GS – ช่วงล่างหนึบแข็ง ตัวโตเท่า CX-5 พื้นที่ภายในกว้างและเนื้อที่บรรทุกสัมภาระใหญ่พอควร คุณสามารถเลือกได้ว่าจะเอารุ่น 1.5 หรือ 2.0 ขับหน้า (2.0 ขับสี่ทะลุ 1.3 ล้านไปนิดเดียว) ซึ่งถ้ามองหารุ่นที่คุ้มที่สุด น่าจะเป็น 1.5 Turbo X ที่ดีดออกตัวสะใจกว่า XV มีพลังสูงกว่า จัดอุปกรณ์มาให้เรียกได้ว่าคุ้มสำหรับราคา 990,000 บาท แต่ยังต้องวัดดวงกับความน่าเชื่อถือด้านวัสดุ การประกอบ การใช้งานระยะยาว และศูนย์บริการ
Mazda CX-5 2.0 – รุ่นล่างสุดตั้งราคาไว้ 1,290,000 บาท เป็นรถใหม่สดที่น่าสนใจด้วยอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใกล้เคียงกับ XV แต่มีจุดแข็งที่เครื่องยนต์กับเกียร์ตอบสนองทันใจวัยรุ่นมากกว่า แล้วยังได้ตัวรถที่ขนาดใหญ่กว่า และออพชั่นไม่น่าเกลียด แต่มันเป็นรถประเภทที่เซ็ตช่วงล่างมาออกแข็ง ไม่นุ่มสบายเท่า XV และแม้จะเป็นรถเกาะถนนดีมาก แต่มันยังสู้ XV ไม่ได้บนสภาพถนนเปียกหรือทางโคลน ความสูงใต้ท้องรถก็เตี้ยกว่ารถรุ่นเดิม ทำให้อาจไม่เหมาะต่อการนำไปลุยทางทุรกันดารนัก แต่ใช้ในเมืองพอได้
ท้ายสุดนี้ อีกสิ่งที่จะช่วยให้ยอดขายของ XV ยังคงระดับที่ดีต่อไปได้ ก็คือความไว้ใจ
เรื่องการตั้งราคารถตามอุณหภูมิตลาดหุ้นน่ะ ผู้บริหารเขาเริ่มรับรู้แล้วว่ามันไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมในระยะยาว และมีการสัญญาว่าจะพยายามรักษาระดับราคาของรถ ไม่ใช่ขึ้นก็ขึ้น ลงก็ลงเยอะจนเจ้าของรถที่ซื้อไปคันแรกๆช้ำใจ นี่พอ XV ตัวใหม่ออกมา ไปดูใน comment และ feedback บนเว็บเราได้ว่าคนจำนวนมากก็อยากซื้อ แต่ก็มีความคิดว่า “ไม่ซื้อตอนนี้หรอก เดี๋ยวราคามันก็ลด” ก็ขึ้นอยู่กับใจแล้วว่า T.C. Subaru จะยืนราคานี้ได้นานแค่ไหน ทั้งๆที่ราคาที่ตั้งมา 1.159-1.259 ล้านนั้น แม้ไม่ดึงดูดใจ แต่ก็ไม่ได้แพงจนน่าถีบ
ประการต่อมา และยังรู้สึกได้ว่ามีปัญหาอยู่ คือเรื่องของการบริการและอะไหล่ บางครั้งรถได้รับอุบัติเหตุมา ก็เข้าใจว่าเบิกอะไหล่แล้วก็ต้องรอตามคิว อย่างน้อยก็มีการสื่อสารกับลูกค้าดีๆบ้างว่าตอนนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว ผมมีเพื่อนและคนรู้จัก (เป็น 2 คน) ที่ใช้ Forester เหมือนกัน และเบิกชิ้นส่วนกันชน แต่ต้องรอนานมากเพราะพาร์ทเบิกมาแล้ว แต่จู่ๆ เบิกมาแล้วไปไหน? ไปให้รถใครก่อน? หรือจัดคิวผิด? และส่วนที่เจ้าของรถจะเคืองมากก็คือ พอโทรถาม ก็บอกจะโทรกลับ รอให้โทรกลับ ชาตินึงก็ไม่มีใครโทรมา
การที่จะปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็คงต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่ทำเสียตั้งแต่วันนี้ หายนะก็จะรออยู่ข้างหน้า ลองคิดดูว่าตั้งแต่ 2011- ปัจจุบันมี XV ถูกขายออกไปกี่คัน และในวันนี้ รถที่อายุมากที่สุดในจำนวนนั้นก็น่าจะ 5-6 ปี มันจะเริ่มได้เวลาซ่อมแซมใหญ่กันแล้ว ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการงานซ่อมที่กำลังรอวันมาถึงได้ ความพึงพอใจของลูกค้าก็อาจจะลดลง
ถ้าเป้าหมายนี้สำเร็จ Subaru ก็จะไม่ใช่แค่เพียงแบรนด์ Performance ที่จำกัดเฉพาะลูกค้าบางกลุ่ม แต่ยังได้รับความนิยมในหมู่คนใช้รถทั่วไปที่ต้องการความมั่นใจ ความปลอดภัย ที่กำเนิดมาจากปรัชญาในการสร้างรถแบบของ Subaru นั่นเอง
ผมเองก็รู้สึกว่า ถ้าหากเป็นไปได้ ไอ้หมอ (พี่สาว) ของผม ที่อายุเลยหลักสี่ไปแล้วนั้น ก็ควรจะมีรถที่ขนาดตัวกำลังดี มีความปลอดภัย และมีศูนย์บริการที่ไว้ใจได้เอาไว้ขับ หมอเองก็บ่นว่าอยากจะเปลี่ยนไปขับรถที่ใต้ท้องสูงขึ้น ไว้ลุยน้ำได้บ้าง XV ดูจะเป็นรถคันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าผมอยากให้พี่สาวมีไว้ใช้ ผมรู้ได้ว่านี่คือรถที่ฝากชีวิตได้ มอบความสบาย และจะไม่พาใครไปตาย ยมทูต Final Destination หน้าไหนมาเจอคนขับ XV มันคงอยากไปหาคนอื่นมากกว่า
มันติดอยู่อย่างเดียวเองครับ ผมไม่มีเงินจะซื้อให้มัน
และไอ้หมอมันก็ไม่มีเหมือนกัน!
——/////——-
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
–คุณกมล วิบูลย์จันทร์/คุณวิไลรัตน์ สีเดือน บริษัท T.C. Subaru จำกัด สำหรับรถทดลองขับและการประสานงานดูแลอย่างดีทั้งหมด
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน/ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายโดย J!MMY และภาพเทคนิคจาก Subaru
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
21 ธันวาคม 2017
Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
December 21st,2017
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!
บทความที่น่าอ่านเพิ่ม
เจาะสเป็ค – Option – ราคา Subaru XV ใหม่ โดยคุณหมู ธีรพัฒน์แห่ง Headlightmag