Full Review รีวิว ทดลองขับ Chevrolet Colorado 2.5 VGT (C-Cab 2.5 High Country Z71 6A/T & X-Cab 2.5 LT Z71 6M/T) : ออเจ้าขับดีหนา ใยน้าๆเขาไม่มอง ?!
ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ผมพบว่าตัวเองก็เป็นโรคติดละครกับชาวบ้านเขาบ้างเหมือนกัน ทั้งที่ปกติจะติดตามแต่ซีรีส์บน Netflix เป็นหลัก แต่ “บุพเพสันนิวาส” กลายเป็นหนึ่งในละครที่ทำให้ผมต้องพยายามอยู่บ้านทำตัวให้ว่างในคืนวันพุธ-พฤหัสบดี..หรือถ้ามันไม่ว่างจริงๆ ผมก็จะมาติดตามดูย้อนหลังอย่างรวดเร็วเสมอ
ซึ่งอันที่จริง คนที่ใกล้ชิดกันจะทราบว่าผมไม่ใช่คนดูละครแต่อย่างใด เรื่องล่าสุดที่ดูจริงจังก็คือวิมานเมขลา ซึ่งนั่นมันก็นานมาแล้ว และที่ดูเพราะผมเอ็นจอยกับบทบาทตลกแบบเด๋อปนก๋ากั่น ซ้อนกับการต้องรับบทสองบุคลิกที่แตกต่างของคุณเบลล่า ราณี แคมเพ่น ซึ่งทำให้ผมอารมณ์ดีก่อนนอนเกือบทุกครั้งไป
แต่ในครั้งนี้ นักแสดงอีกท่านที่ผมให้ความสนใจใน “บุพเพสันนิวาส” ก็คือ คุณโป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ พระเอกของเรื่องที่รับบทเป็นหมื่นสุนทรเทวา (ในละคร ณ เวลาปัจจุบันได้รับการอวยยศเป็นท่านขุนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผมยังเรียกติดปากว่าพี่หมื่นอยู่)
สิ่งที่ทำให้ผมสนใจชายหนุ่มหน้าเด็กคนนี้ (ทั้งที่อายุจริงอ่อนวัยกว่าผมไม่กี่ปี!) คือชีวิตของเขากว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ใครหลายคนชอบคิดกันว่าเกิดเป็นคนหน้าตาหล่อเหลา จะทำอะไรก็ง่ายตลอด..มันไม่ใช่เลยครับ ผมได้ทราบเรื่องราวของเขา จากการที่คุณหมู ธีรพัฒน์ (ไอ้นี่แหละ..คือคนที่ชวนผมดูละครนี้คนแรก) ไปเสาะหาประวัติเพิ่มเติม และได้อ่านบทความที่น่าสนใจบนเว็บไซต์ Campus-star.com ซึ่งได้สัมภาษณ์และนำเรื่องราว เส้นทางบนโลกบันเทิงของคุณโป๊บมาเล่าให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ (คลิกอ่านบทความได้ที่นี่ครับ)
โป๊บ-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่ออายุประมาณ 24 ปี โดยการชนะงานประกวดที่ถูกจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกคนเข้ามารับบท “จะเด็ด” ในภาพยนตร์เรื่องผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งเมื่อได้สิ่งที่ปราถณามาแล้ว คุณโป๊ปก็มั่นใจในอนาคตของตนมากจนลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่
แต่แล้วภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ถูกยกเลิกการสร้างไป..
นั่นไม่ใช่ผลงานเดียวที่เขาต้องฝันสลาย เพราะในเวลาต่อมา ภาพยนตร์เรื่อง “รักละไมล์” รวมถึงละครเรื่อง “เขาชื่อกานต์” ของทางช่อง TPBS ต่างก็ประสบปัญหาติดขัด ทั้งสองเรื่องที่คุณโป๊ปแสดงจึงไม่ได้มีโอกาสออกสู่สายตาประชาชน…มันไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดจากตัวดาราเสมอไปหรอกครับในโลกจอเงินจอแก้ว
อย่างไรก็ตาม คุณโป๊ปก็มีโชคทางด้านการแสดงอยู่บ้าง จากการรับบทสำคัญในภาพยนตร์พระนเรศวร รวมถึงได้เล่นละครเรื่อง “รักนี้ที่รอคอย” โดยเป็นพระเอกคู่กับคุณก้อย-รัชวิน ทำให้ผู้ใหญ่ของช่อง 3 เริ่มเห็นแวว และชักชวนเขามารับบท “นัท” ในละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ในช่วงนั้น คุณโป๊ปเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ต้องรอจนกระทั่งปี พ.ศ. 2556 เมื่อมี “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ออกฉาย คุณโป๊ปในบทคุณชายปวรรุจ ถึงได้ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำในสาขานักแสดงนำชายดีเด่น กราฟชีวิตพุ่งทะยานจนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่เราได้รู้จากเรื่องของคุณโป๊ป นอกจากการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตานั้น ก็จะเห็นได้ว่าบางครั้ง องค์ประกอบหลักที่เป็นตัวคนแม้จะมีส่วนสำคัญมากที่สุด แต่ถ้าสิ่งต่างๆที่แวดล้อมอยู่ไม่เป็นใจ มันก็จะส่งผลต่อความสำเร็จในภาพรวมด้วยเช่นกัน เช่นเมื่อสมัยที่คุณโป๊ปเล่นเรื่อง “วิงค์เจ้าเสน่ห์” คู่กับคุณหนึ่งธิดา โสภณ..คุณโป๊ปก็คือคุณโป๊ป แสดงแบบคุณโป๊ป แต่พอละครไปฉายในช่วงเวลาที่คนดูน้อย โอกาสที่จะได้รับความนิยมก็น้อยลงไปด้วย
ในโลกของรถยนต์ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาเราจะพบรถหลายรุ่นต้องพบอุปสรรคอื่นนอกเหนือไปจากการพัฒนาตัวรถให้ดีเลิศ รถบางคันคุณสมบัติเพียบพร้อม หน้าตาหล่อเหลา สมรรถนะดี แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขายเท่าที่ควรเพราะปัจจัยประกอบนอกเหนือจากตัวรถ ไปส่งผลต่อกระแสการรับรู้ของประชาชน ทำให้คนไม่รู้จัก หรือไม่ก็ใครสักคน ในบางแผนก บางศูนย์บริการ ไปทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่อยากเสี่ยงด้วย ทำให้คนที่ตั้งใจสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาสุดฝีมือ รวมถึง PR และการตลาดต้องน้ำตาตกภายหลังเพราะรถขายไม่ได้มากเท่าที่ควร
แล้วคุณคิดว่า Chevrolet เป็นแบรนด์หนึ่งที่กำลังประสบปัญหาแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?
เพราะถ้าให้พูดตามตรง หลังจากที่ลองขับ Colorado ตัวถังปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 2012 จนกระทั่งรุ่นล่าสุด ผมพบว่าตัวผลิตภัณฑ์นั้นไม่น่าใช่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ยอดขายของรถรุ่นนี้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่น่าจะเกิดจากปัจจัยประกอบอื่นๆ รวมถึงการมองตามหลักความจริงว่าในตลาดรถกระบะนั้น ลูกค้ากระแสหลักก็จะเลือกใช้รถแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Isuzu กับ Toyota ด้วยความมั่นใจเรื่องทนทาน ซ่อมง่าย ขายสะดวก..หาได้ซื้อด้วยการวัดประสิทธิภาพจากตัวรถล้วนๆไม่
ดังนั้น รถกระบะสายอินดี้ที่คิดจะสร้างยอดขายมากๆ รถของคุณจะดีแค่เท่าเจ้าตลาดไม่ได้ แต่ต้องแตกต่างและมีจุดเด่นที่เหนือกว่าแบบชัดเจนมาก ถึงจะมีสิทธิ์เกิด!
ยอดขายสะสมของ Colorado ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 16,950 คัน ถ้าใครฟังแล้วรู้สึกเหมือนเยอะ ก็ต้องบอกว่า ตัวเลขของเจ้าตลาดอย่าง Hilux Revo ในเดือนธันวาคม 2017 เดือนเดียวก็ทะลุ 14,000 คันแล้ว หรือแม้แต่แบรนด์อินดี้อย่าง Ford ก็ยังขาย Ranger ได้ตั้ง 44,533 คันในปีที่แล้ว รถกระบะที่มียอดขายแพ้ Colorado ก็เห็นจะมีแต่ Mazda BT-50 Pro
ด้วยดีไซน์ของรถ อุปกรณ์ที่ให้ ราคาที่ตั้ง และสมรรถนะของเครื่องยนต์ ไม่ได้มีจุดไหนเลยที่ดูน่าเกลียดเมื่อได้ลองสัมผัสแบบระยะสั้นๆ ดังนั้นผมเชื่อว่าการทดสอบในระยะยาวอย่างละเอียด น่าจะช่วยให้เราไขข้อข้องใจได้ว่าสิ่งที่ผมคิดมันเป็นจริงหรือเปล่า เมื่อเราคิดได้ดังนั้น คุณหมู ธีรพัฒน์ ทีมของเราก็ประสานงานกับทาง Chevrolet เพื่อติดต่อขอยืมรถทดสอบมาสองคัน ทำการวัดตัวเลขอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลือง รวมถึงทดลองใช้ในชีวิตประจำวัน
ผมให้คุณหมูเป็นคนทดสอบหลัก เนื่องจากเจ้าตัวใช้ Isuzu D-Max 3.0 ยกสูงขับหลังในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และเป็นคนที่มีจริต Like ไปทางรถใหญ่และรถปิคอัพมากกว่ารถเก๋งหรือรถสปอร์ต น่าจะให้ความเห็นที่ยุติธรรมที่สุด ส่วนผมรับหน้าที่เป็นผู้ทดสอบรอง ช่วยคิด กลั่นกรองข้อมูล และเรียบเรียงออกมาเป็นรีวิวให้คุณได้อ่าน
การมาของ Colorado ในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ราว 14 ปีก่อน โดย Chevrolet Colorado รุ่นแรก (ผมเรียกว่ารุ่นสี่ตาเพราะไฟหน้ามันเป็นแบบเหลี่ยมข้างละสองดวง) เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ตั้งแต่ปี 2004 เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่เบื่อรถกระแสตลาด แต่ยังขลาดกับการซ่อมบำรุงรถอินดี้ ทั้งนี้ เพราะ Colorado ไทยรุ่นแรกนั้นแชร์พื้นฐานทางวิศวกรรม เครื่องยนต์ และเกียร์ กับ Isuzu D-Max จากยุคเดียวกัน เมื่อ Isuzu เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลแบบ Common-rail ทาง Chevrolet ก็เปลี่ยนตามเช่นกัน
สำหรับรถสี่ตารุ่นแรกนั้น บางท่านอาจจะมองว่ายอดขายยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ผมกลับมองในมุมที่แตกต่าง เพราะลองคิดดูนะครับว่าตลาดกระบะบ้านเราถูกปกครองโดย Isuzu, Toyota และ Nissan มาตั้งกี่ทศวรรษ การที่ Chevrolet ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับไทยในขณะนั้นและมีรถขายแค่เพียง Zafira กับ Optra สามารถเปิดตัวรถกระบะรุ่นหนึ่ง แล้วมีคนให้ความเชื่อถือ ซื้อหามาใช้จนสามารถหาพบได้ง่ายทุกวันบนท้องถนน วัยรุ่น วัยแรง เอาไปแต่งเล่น วิ่งกัน 14-15 วิที่สนามคลองห้า ผมถือว่า Chevrolet สร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคได้ดีระดับหนึ่งแล้ว
บอดี้แรก ขายตั้งแต่ปี 2004 ไมเนอร์เชนจ์ (ให้มีเสน่ห์น้อยลง..) ในปี 2008 และลากขายต่อมาจนถึงช่วงก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 2011 และในระหว่างนั้น GM กับ Isuzu ก็พัฒนารถปิกอัพเจนเนอเรชั่นใหม่ของพวกเขาไปเรื่อยๆ แต่ในระหว่างการพัฒนา เกิดมีความเห็นไม่ตรงกันในบางจุด ทำให้ D-Max กับ Colorado เป็นแฝดหน้าคล้าย นิสัยต่างกัน โครงรถหลัก ประตู แดชบอร์ดเหมือนกัน แต่ไฟหน้า ไฟท้าย เครื่องยนต์ เกียร์ และระบบไฟฟ้าในรถต่างกันแบบคนละเรื่อง
Chevrolet Colorado เจนเนอเรชั่นที่สองนี้ เปิดตัวครั้งแรกในไทยเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 ก่อนน้ำท่วม โดยมีขุมพลังดีเซล Duramax 2.5 ลิตรเทอร์โบ 150 แรงม้า และ 2.8 ลิตรเทอร์โบ 180 แรงม้า ชูจุดขายในการเป็นรถกระบะที่ “วิจัยมาเพื่อคนไทย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทย วิ่งไปไหนก็ได้ ลากหรือบรรทุกอะไรก็ได้ แต่มาพร้อมรูปลักษณ์ที่แตกต่าง เพรียวคล้ายรถเก๋ง และมีภายในที่ให้ความรู้สึกเวลาขับคล้ายรถเก๋ง..เพราะเจ้าพี่วิจัยมาแล้วว่าคนไทยชอบรถกระบะที่หรูและมีลักษณะคล้ายรถเก๋ง”
จากนั้น ก็มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2013 เป็น Duramax II บล็อคใหม่ ซึ่งในรุ่น 2.5 ลิตร ได้รับพลังเพิ่มเป็น 163 แรงม้า ส่วนรุ่น 2.8 ได้รับการปรับปรุงเครื่องยนต์ตั้งแต่บนยันล่างด้วยชุดเพลาถ่วงสมดุลย์ เทอร์โบ ระบบจ่ายเชื้อเพลิงคอมมอนเรลแบบใหม่ ฝาสูบใหม่ และอื่นๆอีกมากมาย ทำให้มีพละกำลังมากถึง 200 แรงม้า และแรงบิดสูงสุดถึง 500 นิวตันเมตรในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เมื่อเรานำมาทดสอบอัตราเร่ง ก็กลายเป็นรถกระบะบ้าพลังตัวจริงที่แรงและเร็วที่สุดในคลาสและยังครองสถิตินั้นจนถึงทุกวันนี้
สองปีหลังจากนั้น คู่แข่งเริ่มมีการปรับตัวโดยมีการไมเนอร์เชนจ์ ปรับรายละเอียดต่างๆให้ลงตัวขึ้น Ford Ranger ไมเนอร์เชนจ์ที่ออกมาดูลงตัว และทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม Toyota ก็นำ Hilux Revo มาชนกับคู่แข่ง Isuzu ดังนั้น Chevrolet จึงต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งเริ่มเริ่มมีภาพข่าว Spyshot หลุดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2015 จากนั้นจึงมีการเชิญสื่อมวลชนรวมถึง Headlightmag ไปเยี่ยมชม Design Studio ของ GM (Holden) ที่ออสเตรเลียพร้อมกับเผยหน้าตาของเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์แบบหมดเปลือกเมื่อเดือนมีนาคม 2016
รถโมเดลปี 2016 มาถึงไทยและประกาศราคาอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2016 และมีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดีในโลกโซเชียล เพราะการปรับหน้าตาจากเดิมยึดปรัชญาเพรียวกว่าได้เปรียบ มาเป็นบึกกว่าได้ใจ ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเป็นการปรับในธีมเดียวกับรถกระบะขนาดใหญ่ที่ฝั่งอเมริกา ที่สำคัญ Ford Ranger ที่เป็นคู่แข่งจากชาติเดียวกันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนไทยใจปิกอัพ ชื่นชอบรถที่ขับแล้วดูใหญ่โตน่าเกรงขาม
ทีมวิศวกร Chevrolet ลงทุนเปลี่ยนรายละเอียดภายนอกทุกจุดตั้งแต่ริมฝีปากของรถไปจนถึงเสา A-Pillar เปลี่ยนไฟหน้าทรงใหม่เป็นสี่เหลี่ยมเอียงคม (แต่ยังเป็นไฟหน้า Multi-reflector ฮาโลเจนเหลืองนวล..ซึ่งผมชอบ แต่คนจ่ายเงินซื้อรถกระบะล้านบาทไม่น่าชอบ) กระจังหน้าทรงเหลี่ยมคาดสัญลักษณ์ Bow Tie อันเป็นเอกลักษณ์ของทางค่าย ยกสันฝากระโปรงให้สูงขึ้น ภายในเปลี่ยนแดชบอร์ดใหม่ ส่วนซีกหลังของรถยังคงเหมือนเดิม เปลี่ยนแค่มือจับเปิดฝาท้าย นับเป็น Big-minorchange ที่ล่อซะเกือบเหมือนเป็นรถคันใหม่
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเครื่องยนต์ใหม่ในรุ่นท้อป ตัดรุ่น 2.8 ลิตรตัวบ้าพลังในตำนานทิ้ง เหลือเพียงแค่ความจุระดับ 2.5 ลิตรเพียงอย่างเดียว แต่ปรับจูนให้มีความแรงใน 2 ระดับ ช่วงล่างก็มีการปรับเซ็ตใหม่ และเปลี่ยนรายละเอียดอีกไม่น้อย แต่มันจะดีขึ้นแค่ไหน…ลองอ่านต่อไปเลยครับ
รถทดสอบของเราจริงๆ มีด้วยกัน 2 คันที่ได้นำมาจับตัวเลข
ในรุ่น 4 ประตูนั้น เราเลือกรุ่น C-Cab 2.5 High Country Z71 เกียร์อัตโนมัติ ขับเคลื่อนล้อหลัง ราคา 998,000 บาทมาทดสอบ บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมเราไม่เอาตัวขับสี่มาล่ะ? อันที่จริงน้าหมู ธีรพัฒน์ แกขับไปแล้วในบทความ First Impression ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 (คลิกอ่านได้ที่นี่) ดังนั้นเราก็เลยอยากเอาตัวขับหลังมาทดสอบดูบ้าง ที่สำคัญคือความคุ้มค่าตามสภาพการใช้งานจริง ผมว่ารุ่นขับหลังน่าจะกินขาด เพราะราคาถูกกว่าตัวขับสี่ 70,000 บาทแต่ได้อุปกรณ์ต่างๆเท่ากันหมด
นั่นหมายความว่าคุณได้ กระจังหน้าแถบแนวนอนสีดำ, การ์ดกันชนหน้าสีดำ, ราวหลังคา, สปอร์ตบาร์, คิ้วขอบหน้าต่างโครเมียม, เสา B-Pillar สีดำเงา High Gloss และเบาะหนังสีน้ำตาลเข้ม ด้านคนขับปรับด้วยไฟฟ้า และระบบนำทางที่รองรับ Apple CarPlay/Android Auto มาด้วย ในราคาต่ำกว่าล้าน อีกทั้งยังได้เครื่องยนต์พลังสูง พร้อมระบบความปลอดภัย กันเซ กันไถล เตือนรถเบี่ยงออกนอกเลน เตือนรถคันหน้าเบรก ไม่กั๊กไว้ให้เฉพาะรุ่นขับสี่แบบบางค่าย ส่วนล้อ 18 นิ้วพร้อมยาง 265/60R18 นั้นมีมาตั้งแต่รุ่น LTZ แล้ว
ซึ่งถ้าคุณคิดว่าชุดแต่งเท่ห์กับเบาะไฟฟ้าไม่จำเป็น ก็สามารถเลือกรุ่น LTZ ปกติได้ในราคา 968,000 บาท (แต่เรามองว่าเซฟเงินไปแค่ 30,000 บาท..เอาครบๆไปเลยดีกว่ามั้ย) ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา LTZ ก็มี..และมี Safety Feature ขั้น Advance ครบเท่ารุ่นท้อปราคาล้านเศษเลยด้วยในราคา 928,000 บาท
มิติตัวถังของ Colorado C-Cab High Country ยาว 5,408 มิลลิเมตร กว้าง 1,874 มิลลิเมตร สูง 1,858 มิลลิเมตร (รวมราวหลังคา) ระยะฐานล้อ 3,096 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง (Front/Rear Track) เท่ากับ 1,570 มิลลิเมตรทั้งหน้าและหลัง น้ำหนักตัวรถ ระบุไว้ 1,904-2,062 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 76 ลิตร ปล่อย CO2 218 กรัมต่อกิโลเมตร ตามที่แจ้งไว้บน Eco Sticker ของไทย
สำหรับรุ่น X-Cab สองประตูนั้น น้าหมูเขาเลือกรุ่น 2.5 LT Z71 เกียร์ธรรมดามาทดสอบ ด้วยความที่ลูกค้าชาวไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถกระบะเหมือนรถส่วนบุคคล มีความนิยมรถขับหลังยกสูงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้นการเลือกรถบอดี้แบบเตี้ยเลยดูไม่น่าจะเหมาะ รุ่น LT Z71 นี้มีราคาอยู่ที่ 699,000 บาท ดังนั้นแน่นอนว่าถ้าจะหวังอุปกรณ์อู้ฟู่แบบพวกรุ่นสี่ประตูท้อปๆคงจะเหมาะกว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้รถรุ่นย่อยนี้ยังน่าสนใจอยู่ก็คือ คุณได้เครื่องยนต์สเป็ค High-power ที่แรงเท่าตัวท้อป ได้หน้าปัดตัวเดียวกัน (ต่างกันที่การตกแต่ง) และเครื่องเสียงที่สามารถรองรับ Apple CarPlay ได้ มีเบรก AฺBS และถุงลมนิรภัย 3 ใบ เรียกได้ว่าอุปกรณ์เด่นกว่าชาวบ้านนิดๆ แต่ได้เครื่องสเป็คแรง ในราคาที่ไม่แรง คนหาเช้ากินค่ำในทุกภาคส่วนสามารถเอื้อมถึงได้โดยไม่ต้องกินมาม่าแทนข้าวเดือนละ 30 ครั้ง
ภายนอกของรุ่น LT จะมาแบบเรียบๆ ไม่มีชุดแต่งอะไร ซึ่งก็ไม่จำเป็นเพราะบอดี้พื้นฐานทำมาดีระดับหนึ่งแล้ว มีไฟตัดหมอกมาให้ ส่วนล้ออัลลอย ก็เป็นขนาดมาตรฐาน 245/70R16 ซึ่งถ้าคุณอยากได้ล้อ 18 นิ้วกับของเล่นไฮโซและ Safety Feature ขั้นสูง ก็ต้องข้ามไปเล่นตัว X-Cab LTZ ซึ่งจะแพงขึ้นอีกแสนบาท อยู่ในจุดที่คนใช้กระบะแค็บหลายคนเริ่มเหงื่อตกกีบ เราจึงไม่เลือกทดสอบรุ่นนั้น
มิติตัวถังของ Colorado X-Cab 2.5LT Z71 ยาว 5,361 มิลลิเมตร กว้าง 1,872 มิลลิเมตร สูง 1,782 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,096 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง (Front/Rear Track) เท่ากับ 1,570 มิลลิเมตรทั้งหน้าและหลัง น้ำหนักตัวรถระบุไว้ 1,872-1,950 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 76 ลิตร ปล่อย CO2 186 กรัมต่อกิโลเมตรตาม Eco Sticker ของประเทศไทย
นอกเหนือจาก 2 รุ่นนี้แล้ว ทาง Chevrolet ก็ยังมีรุ่นพิเศษอีก 2 รุ่น ได้แก่รุ่น High Country Storm ซึ่งตกแต่งมาเป็นพิเศษ มีเฉพาะตัวถัง 4 ประตูยกสูงเกียร์อัตโนมัติ แต่มีให้เลือกกับรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง 1,028,000 บาท และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ 1,098,000 บาท ซึ่งในราคาที่แพงกว่ารุ่นปกติ 30,000 บาทนั้น คุณจะได้ สติ๊กเกอร์บนฝากระโปรงหน้า พร้อมโลโก้ High Country, สติ๊กเกอร์ STORM ตกแต่งด้านข้างตัวรถลายสปอร์ต, กระจกมองข้าง สปอร์ตบาร์ ล้ออัลลอย มือเปิดประตู มือเปิดฝาท้าย เส้นขอบหน้าต่าง กันชนท้าย ทำเป็นสีดำ และมีแผ่นกันกระแทกใต้ห้องเครื่องเพิ่มขึ้นมา
รุ่น Storm นี้มีจำหน่ายมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017
รุ่นพิเศษต่อมาก็คือ Colorado Centennial Edition ซึ่งทำมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่ Chevrolet ผลิตรถกระบะมาครบ 100 ปี (ไม่ใช่ 100 ปี Chevy นะจ๊ะ รถกระบะจ้ะคุณพี่) ซึ่งจะมีราคาแพงขึ้นกว่ารุ่นปกติอยู่ 15,000-35,000 บาท ประกอบด้วยรุ่นต่างๆให้เลือกดังนี้
X-Cab แค็บเปิดได้
- 2.5 VGT LTZ MT Z71 (ขับ 2 ยกสูง) Centennial Edition 814,000 บาท
C-Cab 4 ประตู
- 2.5 VGT LTZ MT Z71 (ขับ 2 ยกสูง) Centennial Edition 943,000 บาท
- 2.5 VGT High Country AT Z71 (ขับ 2 ยกสูง) Centennial Edition 1,033,000 บาท
- 2.5 VGT High Country AT 4WD (ขับเคลื่อน 4 ล้อ) Centennial Edition 1,103,000 บาท
สิ่งที่รุ่นพิเศษ Centennial Edition ฉลองครบรอบ 100 ปี กระบะ Chevrolet ที่แตกต่างจากรุ่นปกติ คือ
- Logo โบว์ไท ด้านหน้า และ ด้านหลังรถ แบบพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปี
- สัญลักษณ์ฉลองครบรอบ 100 ปี ที่ประตูคู่หน้า
- โรลบาร์สีดำเงา และ พื้นปูกระบะไลน์เนอร์ (เพิ่มมาใน รุ่น LTZ)
- คิ้วซุ้มล้อภายนอก 4 ล้อ สีดำ
- ล้ออัลลอย สีดำ ขนาด 18 นิ้ว
- สติ๊กเกอร์สีดำ ตกแต่งฝากระโปรงหน้า
- แผงประตูด้านหน้า ประทับหมายเลขพิเศษ Serial Number เฉพาะคัน
รุ่น Centennial Edition นี้ จะผลิตออกมาทั้งหมด 100 คันเท่านั้น หมดแล้วหมดเลย (แต่น่าจะอีกนานกว่าจะหมด)
การเข้าออกตัวรถ ทำได้โดยปลดล็อคที่กุญแจรีโมท แบบพับเก็บได้ Knife Key ยังไม่มีระบบ Smart Keyless Entry รวมถึง ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์มาให้ แต่ใน Colorado ที่ตกแต่งในระดับ LTZ กับ High Country และเป็นเกียร์อัตโนมัติ จะมีระบบ Engine Remote Start มาให้ ซึ่งช่วยให้คุณสามารถกดสตาร์ทเครื่องยนต์และ เปิดแอร์ได้จากรีโมทเหมือนๆกับของ Honda Civic ซึ่งตรงนี้อาจทำให้คุณยอมให้อภัยกับการไร้ระบบ Smart Key ได้ (มั้ง)
การใช้งานก็เพียง กดล็อคก่อน 1 ครั้ง จากนั้น Start โดยกดค้างที่ปุ่มลูกศรวกกลับ เท่านี้เครื่องยนต์ และ แอร์ก็ทำงาน โดยสามารถสั่งการได้จากระยะไกล 30 – 100 เมตร แล้วแต่สภาพบริบทแถวนั้น ว่ามีการบังสัญญาณเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อกดสตาร์ทแล้ว ระบบจะติดเครื่องยนต์ให้เป็นเวลา 10 นาที และสามารถยืดเวลาเพิ่มไปได้อีก 10 นาที รวมเป็น 20 นาที ก่อนที่เครื่องยนต์จะดับลงอัตโนมัติ
การขึ้นรถหลังจากใช้รีโมทสตาร์ท ต้องกดปลดล็อคก่อน 1 ครั้ง และ นำกุญแจไปเสียบที่ช่อง และ บิดสตาร์ทเหมือนปกติ จึงจะสามารถเคลื่อนรถได้
การเข้า/ออกจากรถ ก็ไม่มีอะไรยากหรือง่ายกว่ารถกระบะยกสูงทั่วไป ตำแหน่งของพื้นรถจะอยู่สูงกว่า Navara แต่เทียบเท่ารถยี่ห้ออื่นๆ มีบันไดไว้ให้ปีนขึ้นในกรณีที่คุณไม่สามารถก้าวขึ้นไปนั่งพรวดเดียวแบบ Michael Jordan ได้
แผงประตูด้านข้างก็ถูกปรับใหม่ มีแถบตกแต่ง สีดำเงา Piano Black พร้อมป้าย High Country บริเวณที่แผงข้าง และ ที่วางแขนจะมีการบุชิ้นฟองน้ำบางๆุ หุ้มด้วยหนังมาให้ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาเป็นจุดที่ใครหลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตคือ ช่องเก็บของส่วนด้านล่างจะมีการบุผ้าสักหลาดด้านในเพิ่มเข้ามาให้ด้วย (เฉพาะที่ประตูบานหน้า)
เบาะนั่งคู่หน้าหุ้มด้วยหนัง สีน้ำตาล ตัดด้วยสีเทาเข้ม เบาะคนขับปรับระดับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง ซึ่งสามารถปรับสูงต่ำได้ แต่ยังไม่สามารถปรับความเทหน้า/หลังเพื่อรองรับต้นขาได้ ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับได้ 6 ทิศทางเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มีระบบไฟฟ้าช่วยเหมือนฝั่งคนขับ แต่ก็ยังดีกว่ารุ่นคู่แข่งหลายรุ่นที่ปรับได้แค่เลื่อนหน้า/หลังและเอน
ตัวเบาะทั้งคู่หน้ายังคงเหมือนกันกับรุ่นเดิมก่อนหน้านี้ ด้วยโครงเบาะที่ดูเหมือนกับ Isuzu D-Max แต่มีวิธีการเย็บหนัง รวมถึงการหนุนฟองน้ำบางจุดที่แตกต่างกัน เบาะของ D-Max จะมีเบาะรองนั่งที่มีความนิ่ม ทำให้นั่งเดินทางใกล้ๆ หรือเจอคนนั่งประเภทตัวเบาร่างบาง ก็จะรู้สึกสบายกว่า ส่วน Colorado จะมีปีกข้างที่แข็งเฟิร์มขึ้นอีกระดับหนึ่ง ทำให้ยันตัวได้อยู่หมัดเวลาเทโค้ง รวมถึงคนตัวหนักเช่นผมกับน้าหมู ก็จะรู้สึกว่าเบาะมีความนุ่มกำลังพอดี พนักพิงศีรษะไม่เน้นการดันหัว จึงเหมาะกับคนขับที่ชอบพิงศีรษะไว้เวลาขับเดินทางไกลๆ
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ 3 จุด ELR พร้อมระบบตึงสายอัตโนมัติก่อนการชนและระบบ Load-Limiter อีกทั้งยังสามารถปรับระดับสูงต่ำได้ ซึ่งในรถรุ่นก่อนๆ เมื่อเราลองปรับ ก็จะพบปัญหาปรับติดๆขัดๆได้บ้างไม่ได้บ้างในรถทดสอบเกือบทุกคัน มาคราวนี้ถูกปรับปรุงจนปรับใช้งานได้ง่ายแล้ว
การเข้า/ออก จากประตูคู่หลังนั้น ยังคงเหมือนรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งแม้จะมีขนาดประตูค่อนข้างใหญ่ แต่ก็เท่ากับ D-Max ซึ่งก็ยังแพ้ความง่ายในการขึ้น/ลงของ Mitsubishi Triton และ Ford Ranger อยู่ ตัวเบาะนั่งมีการปาดมุมเพื่อช่วยให้ขึ้นรถสะดวกขึ้นตำแหน่งพื้นที่วางแขนนั้น เตี้ยไปนิดนึง ส่วนกระจกหน้าต่างนั้น เปิดเลื่อนลงมาได้ ไม่สุดขอบกระจกด้านล่าง น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน กระนั้น ยังมีช่องใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่แถมมาให้
เบาะหลังนั้น มีความต่างจากรุ่นเดิมตรงที่เพิ่มพนักพิงศีรษะสำหรับคนที่นั่งตรงกลางมา ตัวเบาะมีฟองน้ำที่ค่อนไปทางนิ่ม ให้ความสบายในการนั่งพอสมควร ส่วนพนักพิงหลังจะไม่สูงมาก คนตัวเตี้ยจะนั่งได้สบาย ส่วนคนตัวสูงจะพบว่าเบาะยังไม่รองรับช่วงไหล่เท่าที่ควร แม้ว่าจะยังไม่ใช่รถที่เบาะหลังนั่งสบายที่สุดในตลาด (ความเห็นส่วนตัวผม มันยังแพ้ Triton อยู่) แต่ก็ยังดีกว่าเบาะหลังของ Navara ซึ่งแข็ง ชัน และมีพื้นที่วางขาน้อย รุ่น High Country ที่เป็นรถทดสอบของเรานี้จะมีพนักเท้าแขนตรงกลางมาให้ ช่วยเพิ่มความสบายเวลาเดินทางได้อีกพอสมควร
เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุดมาให้ ครบทุกที่นั่ง ไม่เว้นแม้แต่คนนั่งตรงกลาง เรื่องนี้ถือว่าดี เพราะสมัยก่อน คนนั่งกลางมีแค่เข็มขัดแบบสองจุดเหมือนเครื่องบินโดยสารนั้นก็บุญโขแล้ว
ต่อมา ในรุ่น X-Cab จะมีประตูบานแค็บเปิดกางออกได้ 90 องศา เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสิ่งของ ซึ่งไม่อาจนำไปเก็บไว้ที่กระบะหลังได้ โดยการจะเปิดบานแค็บนั้นจะต้องเปิดประตูบานหน้าก่อนตามวิสัยปกติของรถแบบนี้ การขึ้นลงเบาะคู่หน้ามีความยาก/ง่ายไม่ต่างจากรุ่น 4 ประตูมากนัก และแม้จะเป็นรุ่นราคาปานกลาง เจ้า 2.5 LT Z71 ก็มีบันไดข้างมาให้เพื่อให้แม่จำปาก้าวขึ้นรถได้แบบไม่ต้องแหกโกยผ้าถุง
แผงประตูคู่หน้า มีลักษณะคล้ายกับรุ่น High Country 4 ประตู แต่เพื่อให้เหมาะกับระดับราคาก็เลยมีการเปลี่ยนวัสดุในบางจุด ทำให้ดูราคาถูกลงบ้างแต่ไม่ถึงกับน่าเกลียด อย่างน้อยก็ยังมีแถบสีเงินคาดให้ดูไม่น่าเบื่อเกินไป
เบาะนั่งคู่หน้ามีลักษณะคล้ายกับรุ่น High Country เช่นกัน แต่เปลี่ยนวัสดุจากหนังเป็นผ้าลาย Rational ซึ่งให้สัมผัสดีพอประมาณ เนื้อผ้าช่วยยึดตัวคนนั่งไว้กับเบาะได้ดีกว่าหนังเวลาขับเข้าโค้ง หากแต่ความที่เนื้อผ้ามีสีอ่อน ก็ยังห่วงอยู่ว่าเมื่อต้องมาใช้งานแบบรถกระบะจริงจังมันจะเลอะง่ายไปหรือเปล่า ถ้าเป็นผ้าสีเข้มน่าจะเหมาะกว่านี้ ตัวเบาะปรับด้วยมือ (699,000 ให้เบาะไฟฟ้าก็บ้าแล้ว) ด้านคนขับปรับได้ 6 ทิศทาง ส่วนฝั่งคนนั่งปรับได้ 4 ทิศทางเหมือนรถกระบะแค็บทั่วไป
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า สามารถปรับระดับสูง/ต่ำได้เช่นเดียวกัน ตัวขั้วยึดเข็มขัดทั้งหมดจะติดอยู่กับประตูแค็บบานหลัง ส่วนพื้นที่แค็บข้างหลังนั้นมีขนาดโตกว่าของ Navara เล็กน้อยเพราะเนื้อที่ส่วนบนไม่เบียดเข้ามาในห้องโดยสารมากเท่า ด้านล่างพรมเป็นช่องมีฝาปิดสองฝั่งสำหรับเอาไว้ใส่ของกระจุกกระจิกเช่นกล้องหรือ Laptop ให้พ้นสายตาโจร (แต่ถ้ามันขโมยไปทั้งคันอันนี้ก็ซวยยกกำลังสอง)
ส่วนพื้นที่บรรทุกกระบะด้านท้ายนั้น ของรุ่น C-Cab สี่ประตู จะมีความยาว 1,484 มิลลิเมตร กว้าง 1,534 มิลลิเมตร สูง 466 มิลลิเมตร ในขณะที่รุ่น X-Cab จะได้พื้นที่เยอะกว่า คือยาว 1,790 มิลลิเมตร กว้าง 1,534 มิลลิเมตร สูง 466 มิลลิเมตร
มือจับเปิดฝากระบะ ออกแบบใหม่มาต่างจากรุ่นเดิมในรุ่นย่อยระดับสูง ซึ่งจะมีการติดตั้งกล้องมองหลังผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมือจับเปิดด้วย
สำหรับบรรยากาศภายในห้องโดยสารนั้น แดชบอร์ดทรงใหม่หน้าตั้ง ถูกนำมาใช้แทนที่แดชบอร์ดของรุ่นเดิมก่อนไมเนอร์เชนจ์ เพื่อสลัดความรู้สึกแบบ Isuzu ออกไปให้สิ้น ส่วนการตกแต่งนั้นก็จะมีลูกเล่นเพิ่มความหรูหราแตกต่างกันไปตามระดับราคา แต่ส่วนที่ไม่ค่อยชอบคือที่วางแก้ว ซึ่งหน้าตาเหมือนสินค้าซื้อข้างทางแล้วเอามาเสียบช่องแอร์ (ผมให้น้าหมูเอาออกเพราะถ้าใส่แล้วฮาแน่นอน) ซึ่งทาง Holden ไม่ได้ออกแบบมาเผื่อประชาชาติชาว Starbucks ไว้แต่แรก ก็เลยต้องสร้างและเอามาเสียบภายหลังโดยเสียบเข้าไปที่รูใต้ช่องแอร์ฝั่งซ้ายสุดและขวาสุดนั่นแหละ
รุ่น High Country 4 ประตู จะได้ภายในเหมือนรุ่นขับสี่ตัวท้อป มีวัสดุสีเงิน สลับกับวัสดุดำเงาแก้เลี่ยน แดชบอร์ดฝั่งคนนั่งมีเย็บลายตะเข็บให้ดูหรูขึ้น ส่วนรุ่น X-Cab LT จะมีแค่พลาสติกสีเงินที่พยายามทำให้ดูเหมือนรุ่นท้อป แต่ก็ตัดวัสดุดำเงาและงานเย็บตะเข็บออกไป
พวงมาลัยของรุ่น High Country จะเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่นหุ้มหนังที่ให้สัมผัสดีพอประมาณ พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงด้านซ้าย และ Cruise Control ที่ด้านขวา ส่วนรุ่น X-Cab LT จะเป็นพวงมาลัยแบบ Twin Function คือเอาไว้หมุนกับเอาไว้บีบแตร (นี่ช่วยพูดให้ดูดีแล้วนะ) ทั้งสองรุ่นสามารถปรับพวงมาลัยสูง/ต่ำได้ แต่ไม่สามารถปรับระยะใกล้/ไกลได้อย่าง Hilux Revo หรือ Mitsubishi Triton แม้จะไม่ใช่เรื่องที่น่าชมนักแต่ทำไงได้ในเมื่อ Ranger, BT-50Pro, D-Max และ Navara เขาก็ยังปรับไม่ได้เหมือนกันนี่สิ!
กระจกหน้าต่างเป็นแบบ One-Touch ทั้ง 4 บานในรุ่น High Country และ 2 บานในรุ่น X-Cab LT (แอบซึ้งเหมือนกันที่อุตส่าห์ให้มาในรุ่นราคาถูก) แต่กระจกมองข้างพับไฟฟ้านั้นจะมีเฉพาะในรุ่นสูงๆ ส่วน LT จะเป็นแบบพับด้วยมือ
ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัย ก็ยังคงเหมือนเดิม ฝั่งขวา ควบคุมชุดไฟกระพริบ ไฟสูง และไฟเลี้ยว รวมทั้งหน้าจอ MID บนมาตรวัด ก้านสวิตช์ฝังซ้าย ไว้คุมระบบใบปัดน้ำฝน ซึ่งในรุ่น High Country จะเป็นแบบอัตโนมัติ (Auto Rain Sensor) ซึ่งมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน
ใช้ช่องแอร์ฝั่งขวามือคนขับ ยังคงเป็นสวิตช์เปิด-ปิดไฟหน้า (ไฟหน้า Auto ในรุ่น High Country) และไฟตัดหมอกแต่เพิ่ม สวิตช์ปรับระดับสูง/ต่ำของไฟหน้า และสวิตช์ปรับเพิ่ม-ลดแสงสว่างของชุดมาตรวัดมาให้
ใต้คอพวงมาลัย เป็นคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า และคันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน ส่วนแผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาพับปิด และไฟส่องสว่างมาให้เฉพาะฝั่งคนนั่งทั้ง 2 รุ่น ตรงกลางเพดาน มีไฟอ่านแผนที่มาให้ 2 ฝั่ง แบบกดเปิด-ปิดได้ทันที ส่วนกระจกมองหลัง รุ่น High Country จะเป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติ
แผงมาตรวัด ปรับดีไซน์จากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ จากเดิมที่สวยแต่อ่านค่ายากเพราะตัวเลขที่เรียงแบบขนานขอบแบบนาฬิกาแฟชั่นบางแบบ มาเป็นตัวเลขขนานพื้นโลกแบบธรรมดา ดูง่ายสบายตาขึ้น แล้วก็มีความเก๋ไก๋ไม่ได้น้อยลง อ่านค่าความเร็วและวัดรอบได้ง่าย ไม่ใช่มาตรวัดที่ดูทันสมัยแบบ Ranger ไมเนอร์เชนจ์ที่ดูล้ำแต่วัดรอบอันเท่านาฬิกาข้อมือ เล็กจนรู้สึกเหมือนถูกประชด ผมให้คะแนนความสวยงามและความง่ายในการอ่านใกล้เคียงกับหน้าปัดของ Navara ถ้าไม่ใช่เพราะตำแหน่งการวางที่ต่ำ จนบางครั้งเวลาปรับคอพวงมาลัยขึ้นสูง คนขับจะมองไม่เห็นแถวล่างๆของจอ MID ตรงกลาง
มาตรวัดใหญ่ด้านซ้าย จะเป็นวัดรอบเครื่องยนต์ ส่วนด้านขวาจะเป็นวัดความเร็ว เวลากลางคืนแสงไฟเป็นสีฟ้า สลับขาวส่วนเข็มจะเป็นสีแดง ส่วนมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง และ อุณหภูมิเครื่องยนต์เข็มอาจจะดูเล็ก-สั้น ไปเสียหน่อย
ตรงกลางเป็นที่อยู่ของหน้าจอ แสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-Information Display) สามารถแสดงข้อมูลได้เยอะมาก เช่นระยะทางรวม, Trip A, Trip B, ความเร็วเดินทางเฉลี่ย, อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย ทั้งแบบกราฟ และ ตัวเลข, อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น, อุณหภูมิน้ำมันเกียร์, อุณหภูมิภายนอกรถ, แรงดันลมยาง ทั้ง 4 ล้อ, ความเร็วขณะเดินทาง (แบบตัวเลข), และ Volt Meter
รุ่น High Country ขับหลัง 4 ประตู กับ X-Cab 2.5LT ได้หน้าปัดที่เกือบเหมือนกันเด๊ะ ต่างกันแค่การตกแต่งโครเมียมรอบกรอบเข็มอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นและน้ำมันในถัง กับฟังก์ชั่นบางอย่างในจอ MID เช่นระบบตรวจสอบแรงดันลมยางเท่านั้น
ชุดเครื่องเสียงคราวนี้ เปลี่ยนมาเป็นแบบมีหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen โดยทั้งสองคันมีระบบบันเทิง Chevrolet MyLink และรองรับกับระบบ Apple CarPlay มาให้มีระบบสั่งงานด้วยเสียง SIRI Eyes free สามารถต่อกับ App. Android Auto ได้เมื่อเปิดใช้แอพกับทาง Google มีวิทยุ และเครื่องเล่นเพลงจากไฟล์ระบบคอมพิวเตอร์มาให้เป็นมาตรฐาน พร้อมช่องเสียบ USB และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth รุ่น LT จะได้จอขนาด 7 นิ้ว ส่วน High Country ได้จอขนาด 8 นิ้วพร้อมกับระบบนำทางมา นอกจากนี้ จอมอนิเตอร์สี ยังเชื่อมกับกล้องมองภาพด้านหลัง เพื่อถ่ายทอดสัญญาณภาพท้ายรถขณะเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถเข้า – ออกช่องจอด อีกด้วย
ในฟังก์ชั่นด้านการฟังเพลง คุณภาพเสียงที่ได้นั้น ถ้าเป็นของรุ่น High Country ซึ่งได้ลำโพง Premium 7 ตำแหน่ง ถือว่าดีเกินความคาดหมาย ให้ความกลมกลืนกันดีระหว่างเสียงใสและเสียงเบส ส่วนรุ่น LT ที่มี 4 ลำโพงนั้นจะให้เสียงตามอัตภาพของรถกระบะสายพอเพียง ซึ่งดีพอสำหรับคนที่หูไม่ได้เข้าขั้นเทพ ฟังเพลงแก้เหงาได้ แต่ถ้าจะมาเค้นเรื่องรายละเอียดกับมิติของเสียง ก็คงเอาอะไรไม่ได้มาก
ส่วนฟังก์ชั่นการนำทางในรุ่น High Country นั้น เท่าที่ลองใช้ดู (โดยไม่เชื่อมต่อกับ iPhone) ยังไม่ประทับใจในเรื่องการค้นหาสถานที่ คีย์ไปสถานที่ง่ายๆ เช่นพวกห้างหรือสถานที่สำคัญที่โลกรู้จัก แต่ระบบของ Chevrolet จะมึนๆ หรือกว่าจะหาทางจากปลวกแดงไปสนามบินสุวรรภูมิง่ายๆ ก็ต้องคีย์ ค้น และเลือกกันนานสองนาน แถมถ้าดูผิดเลือกผิดนิดเดียวได้หลงกันยาว
เครื่องปรับอากาศในรุ่น High Country เป็นแบบมือหมุนก็จริง แตมีจอแสดงอุณหภูมิ Digital ฝังมาให้ ที่สวิตช์หมุนฝั่งขวา สำหรับเร่งหรือลดอุณหภูมิ ส่วนฝั่งซ้าย เป็นสวิตช์หมุนเปิด-ปิดพัดลมแอร์ พร้อมจอเล็กๆ แสดงแรงลมที่เปิดใช้งานเป็นแถบแสงสว่างเล็กๆ น้ำหนักของสวิตช์ที่กดลงไปนั้น ถือว่าทำได้ดีมากๆ สำหรับรถยนต์ประเภทนี้ ระดับราคานี้ ส่วนรุ่น LT จะเป็นเครื่องปรับอากาศธรรมดา ทำให้หน้าตาของแผงควบคุมดูโล่งๆเหมือนมีบางสิ่งขาดหายไปจากชีวิต ไม่เหมือนอย่าง Navara King Cab Calibre ซึ่งถึงเป็นแอร์แบบธรรมดา แต่ก็มีฮีตเตอร์และดีไซน์หน้าตาปุ่มกดมาจนเกือบพาลนึกว่าเป็นแอร์ออโต้
ถัดลงไปเป็นแผงควบคุม สวิตช์เปิด/ปิด เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด สวิตช์ เปิด-ปิด ระบบควบคุมการออกตัวบนทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) ตรงกลางเป็นสวิตช์เปิด/ปิดไฟฉุกเฉินที่ย้ายตำแหน่งลงไปอยู่ใต้แผงควบคุมแอร์ จนทำให้ใช้งานในยามจำเป็นยากขึ้น ต้องจำตำแหน่ง และคลำหา ยามค่ำคืนถัดไปเป็นสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESC) และระบบช่วยเตือนเมื่อ รถออกนอกช่องจราจร (Lane Departure Warning) ถัดลงมาเป็นปลั๊กไฟ 12V รวม 2 ตำแหน่ง
ส่วนรุ่น LT มีสวิตช์ไฟฉุกเฉินเพียงปุ่มเดียว
ด้านข้างผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า มีกล่องคอนโซล พร้อมฝาปิด เป็นพนักวางแขนในตัว ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่ต่างจากรถรุ่นเดิม คือวางได้แค่ช่วงข้อศอก เท่านั้น ในรุ่นสูงๆที่มีเบาะหนัง ก็จะมีการหุ้มหนังสีเดียวกันมาให้ ขนาดความจุของกล่องด้านใน เพียงพอ
สำหรับใส่ CD เพลง 5-6 กล่อง มีช่องเสียบ USB และ AUX มาให้
ส่วนด้านข้างเบรกมือ มีช่องวางแก้วน้ำด้านนอก วางได้ 2 ตำแหน่ง แต่ขอแนะนำว่า ควรใช้วางเครื่องดื่มกระป๋อง ขนาดมาตรฐานเพราะไม่มีตัวล็อคสำหรับยึดตรึงเครื่องดื่มบรรจุภาชนะใดก็ตาม ที่มีขนาดเล็กกว่าตัวของช่องวางแก้วที่เห็นนี้
ทัศนวิสัยด้านหน้า มีพื้นที่กระจกบังลมหน้า น้อยก็จริง แต่การมองเห็น ทำได้สะดวกดี ไม่มีอะไรติดขัด ใครที่ชอบมองเห็นฝากระโปรงหน้าขณะขับรถ คงจะแฮปปี้ เพราะคุณจะได้เห็นฝากระโปรงหน้าตลอดส่วนการกะระยะ ขณะเอาด้านหน้ารถทิ่มเข้าจอดนั้น อาจต้องเล็งมุมกันให้ดีๆสักหน่อย เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ค่อนข้างหน้า และมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาจากทางโค้งฝั่งขวา บนถนนแบบสวนกันสองเลน (เช่น ทางโค้งช่วง สะพานข้ามแยกวัดศรีเอี่ยม ย่านบางนา) ต้องระมัดระวังกันสักหน่อย กระจกมองข้าง บานใหญ่สะใจ มองเห็นรถที่แล่นตามมาด้านข้างได้ดี ไม่ต้องแก้ไข
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะเลี้ยวกลับอยู่บ้าง แต่ยังพอรับได้ กระจกมองข้าง มองเห็นรถที่แล่นตามมาทางฝั่งซ้ายชัดเจนดี ที่บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า ทั่ง 2 ฝั่ง ออกแบบให้มีมือจับ สำหรับโหนขึ้นรถ ช่วยในการเข้า – ออกจากรถได้ดีขึ้น
ทัศนวิสัย ด้านหลัง จากตำแหน่งคนขับ ในรุ่นกระบะ C-Cab มองได้โปร่งตา กะระยะถอยหลังเข้าจอดได้ง่ายและสะดวกขึ้น จากการออกแบบตำแหน่งหัวมุมกระบะ ให้เป็นเหมือน เสากะระยะในตัว เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *********
ขุมพลังของ Colorado ไมเนอร์เชนจ์นั้น มีเหลือเพียงพิกัดความจุระดับ 2.5 ลิตรเพียงอย่างเดียว น่าเสียดายที่เครื่อง Duramax II 2.8 ลิตร 200 แรงม้าต้องมาตายห่าตั้งแต่อายุแค่ไม่กี่ปี..แต่ทำไงได้ล่ะครับ มันคือกระแสโลกที่ต้องปรับเครื่องยนต์ให้ประหยัดน้ำมัน ปล่อยมลพิษน้อยลง แล้วยังต้องควบคุมต้นทุน อีกหน่อยเราจะเห็นการนำเสนอเครื่องยนต์ในลักษณะความจุเดียวและหลายหลายความแรงมากขึ้น เพราะถ้าทำบล็อคหลักให้เหมือนกันหมดได้ ก็สามารถใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้มาก มีอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์มากขึ้น การสต็อคอะไหล่ก็สบายขึ้น
อย่างไรก็ตามวิศวกรเครื่องยนต์ของ Chevrolet เขาก็ยังพยายามใส่ความแรงมาให้ในระดับที่เรียกว่าเป็นกระบะดีเซล High-power แล้วไม่เคอะเขิน
รุ่นที่เป็นบอดี้แบบเตี้ยขับเคลื่อนล้อหลัง จะใช้เครื่องยนต์ Duramax รหัส XLDE25 LKH Commonrail Direct Injection เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว ขนาด 2.5 ลิตร 2,499 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 92.0 x 94.0 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 พละกำลังสูงสุด 163 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 380 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
ส่วนรุ่นที่เป็นบอดี้ยกสูง Z71 กับ High Country ได้เครื่องยนต์ Duramax รหัส XLDE25 LP2 Commonrail Direct Injection เทอร์โบ พร้อมครีบแปรผัน VGT และอินเตอร์คูลเลอร์ 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว ขนาด 2.5 ลิตร 2,499 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 92.0 x 94.0 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 เทอร์โบบูสต์สูงสุด 1.6 บาร์ (หรือ 23.20 ปอนด์) ควบคุมโดยกล่อง ECU ที่พัฒนาขึ้นใหม่โดย GM พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ซึ่งเครื่องยนต์ตัวหลังนี่มีตัวเลขแรงม้าแรงบิดรวมถึงรอบแรงม้าสูงสุด กับรอบแรงบิดสูงสุด เท่ากับเครื่อง XLD28 Duramax I 2.8 ลิตรที่อยู่ใน Colorado เวอร์ชั่นเปิดตัวปี 2011 ไม่มีผิด
ด้านระบบส่งกำลัง รุ่น High Country 4 ประตูขับหลังของเรา ใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เหมือนเช่นเคย แต่มีการปรับปรุงชุดส่งกำลัง Torque Converter ใหม่ มี CPA (Centrifugal Pendulum Absorber) ที่ช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากการหมุนของเพลากลางได้ดีขึ้น
อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีดังต่อไปนี้
เกียร์ 1 ………………………..4.065
เกียร์ 2 ………………………..2.371
เกียร์ 3 ………………………..1.551
เกียร์ 4 ………………………..1.157
เกียร์ 5 ………………………..0.853
เกียร์ 6 ………………………..0.674
เกียร์ถอยหลัง 3.200 อัตราทดเฟืองท้าย -3.420
อัตราทดเกียร์ และอัตราทดเฟืองท้ายที่ใช้กับ เครื่องยนต์ 2.5 VGT ใหม่นี้ จะเท่ากันกับเครื่อง 2.8 ลิตรเดิม
สำหรับรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะนั้น อัตราทดเกียร์มีดังนี้
เกียร์ 1 ………………………..4.02
เกียร์ 2 ………………………..2.21
เกียร์ 3 ………………………..1.46
เกียร์ 4 ………………………..1.00
เกียร์ 5 ………………………..0.76
เกียร์ 6 ………………………..0.59
เกียร์ถอยหลัง 3.63 อัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.727 : 1 เท่ากับรุ่น 2.8 ลิตร Duramax II
เราลองมาดูอัตราเร่งกันดีกว่าครับว่าเมื่อ Chevrolet พยายามทำเครื่อง 2.5 ให้แรงเท่า 2.8 Duramax I แล้ว ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรบ้าง
พิกัด 4 ประตู
พิกัด 2 ประตูยกสูง
นับว่าพละกำลังจากเครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร 180 แรงม้าเทอร์โบแปรผันตัวใหม่ ให้การตอบสนองในสภาวะกดคันเร่งเต็ม 100% ได้ดีทีเดียว มีนิสัยเป็นเครื่องที่ให้กำลังดีตั้งแต่รอบต่ำ ออกตัวไปได้ไว แรงดึงช่วงกลางมาแบบเนื้อๆเน้นๆตามสไตล์ดีเซล แต่ช่วงรอบปลายจะยังไม่ไหลลื่นมากเท่า Triton
อัตราเร่ง 0-100 สำหรับรุ่น 4 ประตูยกสูงขับหลังนั้น ตามหลัง D-Max 3.0 ที่เป็นรถยกสูงขับหลังเหมือนกัน และยังสู้ Triton 2.4 MIVEC ตัวขับสี่เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะไม่ได้ แต่ก็ใกล้เคียงมาก (แต่ถ้ามิตซูเป็นขับหลังเหมือนกันก็คงหาเรื่องฉีกได้อีก) จุดที่น่าประหลาดคือเมื่อนำไปเทียบกับ Revo 2.8 ที่มีความจุเครื่องโตกว่า น้ำหนักเบากว่า และเข็มไมล์บอกเกินจริงมากกว่า Colorado อยู่ 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง Colorado ก็ยังซัดไปถึงหลัก 100 ได้เร็วกว่า ทั้งในแง่ของตัวเลขบนนาฬิกา และความรู้สึกที่จับได้
เมื่อเทียบกับ Colorado เครื่อง 2.8 จะพบว่ายังไง๊ยังไง เจ้า Duramax II 200 ม้าก็ยังคงเป็นแชมป์ความบ้าพลังต่อไป แต่เครื่อง 2.5 ลิตร VGT ตัวใหม่ ก็ทำตัวเลขได้ใกล้เคียงกับ Duramax I 180 แรงม้ารุ่นแรก ที่เร็วกว่านิดๆก็น่าจะเป็นเพราะการที่ไม่ต้องมีชุดเพลาขับหน้ามาวุ่นวาย แต่ถ้ามา ผมคาดคะเนว่า Duramax I กับ VGT 2.5 ตัวใหม่น่าจะวิ่งขนานไปด้วยกัน ใครกดก่อนคนนั้นไปก่อน
สำหรับการเร่งแซงแบบตอกคันเร่งเต็ม 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น Colorado ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการทำเวลาดีกว่า D-Max 3.0 และชนะพวกรถ 3.2 ลิตรที่เราเคยทดสอบกันในอดีตด้วยซ้ำ แต่ยังไม่อาจชนะพวกขับสี่ม้าเยอะหรือรอบจัดอย่าง Triton หรือ Navara ได้ ส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เวลาไม่ดีเท่าที่ควรคือนิสัยการตอบสนองของคันเร่งกับเกียร์ ซึงบางครั้งเวลาตอกคันเร่ง จะมีอาการลังเลชั่วขณะก่อนเปลี่ยนเกียร์ลงให้
ส่วนรุ่น 2.5 X-Cab LT ที่เป็นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะนั้น ก็แผลงฤทธิ์ได้สมศักดิ์ศรี แถมยังทำอัตราเร่งแซงช่วง 80-120 กินขาด Duramax II 200 แรงม้าขับสี่ที่เป็นบอดี้ X-Cab เหมือนกันด้วยซ้ำ อัตราเร่งของมันนั้น ดูบนตารางจะเหมือนวิ่งออกตัวแลเร่งแซงได้ใกล้เคียงกับ Hilux Revo Smartcab 2.8 เกียร์ธรรมดาขับหลัง แต่ถ้าชดเรื่องความต่างของเข็มไมล์ (ที่ Toyota ชี้เกินจริงมากกว่า Chev อยู่ 3-4%) ก็น่าจะพูดได้ล่ะว่าไอ้เจ้า Chev นี่ ถึงจะมีความจุแค่ 2.5 ลิตร แต่วิ่งสู้พวก 2.8 ลิตรได้แน่นอนแล้วกัน
สำหรับการขับขี่โดยทั่วไป ที่ไม่ใช่โหมดตอกคันเร่งลากรอบ เครื่องยนต์ LP2 ตัวใหม่นี้จะเริ่มปั่นบูสท์จนคนขับสามารถรู้สึกถึงแรงดึงได้ตั้งแต่รอบต่ำเพียง 1,500-1,600 รอบต่อนาที และจะดึงดีแบบต่อเนื่องตั้งแต่ 2,000 ไปจนถึง 3,600 รอบต่อนาทีแบบกว้างๆ คาแร็คเตอร์ของรถเหมาะกับการขับที่เอนกประสงค์ มันติดรอบและส่งพลังในรอบต้นเร็วเหมือน Navara รุ่น 163 แรงม้า แต่ลากรอบสนุกน้องๆ Triton คันเร่งตอบสนองแบบตรงไปตรงมา ไม่เหมือนพวก Ford Ranger ไมเนอร์เชนจ์ ที่แตะหน่อยๆรถพุ่งดีเป็นบ้า แต่พอเหยียบลึกจริงๆกลับไม่ได้น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่
ในรุ่น High Country ที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ การขับขี่ในเมืองที่ความเร็วต่ำไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะได้เกียร์มาช่วย ค้างอยู่ในตำแหน่งเกียร์ 4 หรือ 5 รอบจะรออยู่ที่ประมาณ 1,500 รอบ/นาที ซึ่งเป็นช่วงที่แรงบิดมีให้ใช้อย่างเพียงพอ ไม่ต้องรอรอบให้รู้สึกหงุดหงิดเหมือนอย่าง Triton ยิ่งเป็นทางขึ้นเขาแล้วไม่เล่นเกียร์ช่วย Chevrolet จะเป็นรถที่ขับสบายมาก
ส่วนรุ่น LT เกียร์ธรรมดา พอเราเป็นคนเลือกจังหวะเกียร์เอง ทุกอย่างก็ยิ่งดูง่าย ขับสนุก ตอกคันเร่งมากหรือกดเลียๆก็ได้ตามสั่ง มีจังหวะหน่วงรอการพุ่งบ้างแต่ไม่มากเท่า Navara King Cab Calibre คลัตช์มีน้ำหนักมากกว่า Isuzu แต่ไม่หนักเท่า Nissan ออกตัวเกียร์ 2 แล้วไม่ดับง่ายแบบ Nissan (แต่ในความเป็นจริงผมใช้เกียร์ 1 ออกตัวเสมอ ที่ลองให้นี่เพราะเห็นมีน้าๆชอบถามกันว่าออกได้มั้ย)
ส่วนความเร็วสูงสุดนั้นอยู่ที่ 184 กิโลเมตร/ชั่วโมง ล็อคเอาไว้เท่ากันกับ เครื่องยนต์ 2.8 ลิตรเดิม ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดาหรืออัตโนมัติ ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะรถประเภทนี้อย่าใช้ความเร็วสูงกันมากนักเลยครับ พวกผมทำการทดสอบมาให้คุณดูแล้วว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปแช่แข่งกับพวกรถเก๋งม้าเยอะๆ ก็ไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิตลองกันเอง (ยกเว้นว่าออเจ้าจะไม่เชื่อในสิ่งที่ข้าทำให้เห็น)
เรื่องการเก็บเสียงรบกวนนั้น เป็นประเด็นหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึง แต่ Chevrolet ได้ลงมือลงแรงไปมากเพื่อปรับปรุงข้อด้อยในรุ่นที่แล้ว โดยได้ปรับปรุงดังนี้
- เพิ่มความหนากระจกบังลมหน้า
- เพิ่มความหนาของกระจกบานข้างๆ
- ปรับปรุงยางขอบประตูทั้ง 4 บาน
- ปรับปรุงยางขอบกระจกหน้า
- ปรับปรุงรอยต่อระหว่างกระจกหน้ากับตัวถัง
- ตั้งประตูใหม่ให้แนบสนิท ลดช่องว่างระหว่างบานประตูกับตัวถัง
- เพิ่มซีลยางที่กระจกมองข้างเพื่อลดช่องทางเข้าของเสียงลม
ทั้งหมดนี้ Chevrolet เคลมว่าสามรถช่วยลดเสียงรบกวนในห้องโดยสารลงได้ 8% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งจากการลองขับก็พบว่าพวกเขาน่าจะทำได้ตามที่เคลม เพราะแต่เดิมการเก็บเสียงของ Colorado จะเทียบเท่า D-Max ซึ่งก็คือห่วย แต่ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้เงียบลงจนอยู่ในระดับที่เหนือกว่าเฉลี่ยของรถกระบะในตลาดประเทศไทย จะแพ้ก็แค่เพียง Hilux Revo ซึ่งเก็บเสียงได้ดีกว่ากันเพียงนิดเดียว เสียงยางบดถนน เสียงเครื่องยนต์ก็ไม่ได้ดังรบกวนมากเกินไป เครื่อง LP2 ตัวใหม่เองก็ทำงานเงียบลงกว่าแต่ก่อนด้วย ต้องขับสัก 130 ขึ้นไปนั่นล่ะ เสียงลมจึงจะเริ่มดังน่ารำคาญ
ระบบบังคับเลี้ยว ยังคงเป็น พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ตามเดิม ในรุ่น 2.5 ลิตร 163 แรงม้า (รุ่นตัวเตี้ยที่ไม่ใช่ Z71) จะผ่อนแรงด้วยระบบเพาเวอร์แบบไฮดรอลิก แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ 180 แรงม้า จะเปลี่ยนมาเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าแบบ EPS (Electronic Power Steering)
ความแม่นยำในการเลี้ยว ถือว่าดีกว่ารุ่นเดิมที่ใช้แร็คไฮดรอลิก ไม่ว่าจะเป็นช่วงความเร็วต่ำหรือสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นคุณผู้หญิงสายกระบะ ลองมาขับคันนี้จะพบว่ามันเบามือใช้ได้ แต่สำหรับสายซิ่งความเร็วสูงๆ อาจจะพบว่าตั้งแต่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป น้ำหนักพวงมาลัยจะเบาไปนิด ดีที่พวงมาลัยไม่ได้ไวมากทำให้ขับแล้วไม่ต้องเกร็งมือเอ็นขึ้น ในรุ่น X-Cab LT ที่ใช้ยางหน้า 245 มิลลิเมตร (รุ่น High Country ใช้ 265) ความแคบของยางจะทำให้รู้สึกเบาโหวงขึ้นอีกเล็กน้อย แต่อุปนิสัยหลักของพวงมาลัยยังเหมือนเดิม
ในหัวข้อนี้ ผมยังรู้สึกชอบพวงมาลัยไฟฟ้าของ Ford เวลาขับเร็วๆ มันนิ่งแน่นได้ใจ แต่พวงมาลัยของ Ford เองเวลาวิ่งถนนขรุขระในเมืองกลับมีอาการดิ้นในมือแบบประหลาดๆที่ลดทอนคะแนนของมันลง ส่วนพวงมาลัยไฮดรอลิกของ Hilux Revo นั้น มีน้ำหนักตึงมือกว่า แบบที่ชายชาตรีจะชื่นชอบ มีความไวเหมาะสมกับรูปแบบของรถ ในขณะที่ Triton นั้นจะเบาและไว ขับในเมืองมุดคล่องเหมือนรถเก๋ง แต่ออกทางไกลต้องรู้จังหวะการหักพวงมาลัยให้พอเหมาะ ไม่งั้นเลยป้ายครับ
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น มีการเพิ่มขนาดของเหล็กกันโคลงใหญ่ขึ้น ปรับค่า K สปริงใหม่ เซ็ตช็อคอัพใหม่ ด้านหลังเป็นแหนบแผ่นซ้อน ลดจำนวนแหนบจาก 5 แผ่น เหลือ 4 แผ่น โดยเพิ่มความหนา-ความยาวของแผ่นล่างสุด ยางรองตัวถังมีการปรับปรุงใหม่ด้วยเช่นกัน
ช่วงล่างใหม่เปลี่ยนบุคลิกของตัวรถ ให้มีความนุ่มนวลมากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรุ่น High Country หรือ X-Cab LT อาการดีดดิ้นของช่วงล่างด้านหน้าและหลังลดลงมาก เวลาขับในเมืองเจอถนนขรุขระก็สบายหลังสบายตัวกว่า Ranger, D-Max และ Revo โดยเหลือแค่ Triton ที่เซ็ตช่วงล่างมาได้นุ่มคล้ายรถเก๋งมากที่สุด ชนะไปนิดหน่อย ส่วนการเดินทางด้วยความเร็วสูง ก็ให้ความมั่นใจได้ดี ชนะเจ้าอื่นเขาเกือบทั้งหมด แต่ก็จะยังแพ้ Ford Ranger ซึ่งขานั้นเขาทำมาเพื่อชาวกระบะนักซิ่งจริงจัง
สำหรับการเล่นแบบโหดๆนั้น ผมโชคดีที่เมื่อนานมาแล้ว ทีมงานขับซ่า 34 ของพี่สุรมิส เจริญงาม มาชวนผมไปลองขับกระบะยอดนิยมหลายยี่ห้อในสนามนครชัยศรี ทำให้ได้สัมผัสนิสัยของรถกระบะแต่ละรุ่นรวมถึง Colorado ใหม่แบบคันต่อคันกับรุ่นอื่น ผมพบว่า Chevrolet นั้นสามารถควบคุมการยวบของตัวถังได้ดีกว่าเจ้าอื่นทั้งหมด ยกเว้น Mazda และ Ford ในขณะที่ Isuzu กับ Mitsubishi จะเป็นประเภท “ยวบนะ แต่ล้อไม่ยก” และ Revo เป็นรถที่ขับห่ามๆแล้วรู้สึกน่าขนลุกแม้ว่าเวลาสลาลอมตัวรถจะเหมือนไม่ได้ยวบมากก็ตาม ล้อหลังดูจะดีดไปดีดมา และล้อหน้าก็เกาะสลับกับไถลจนระบบการทรงตัวทำงานตลอด
สิ่งที่ฆ่าความสนุกใน Colorado นิดหน่อยก็คือ ในรุ่นที่มีระบบ ESC (ช่วยควบคุมการทรงตัว) ระบบจะทำหน้าที่เหมือนพ่อแม่นอยด์รับประทานที่กลัวยุงกัดลูก พอเริ่มหักพวงมาลัยมากหน่อย ป้อนคันเร่งสวนหน่อย ระบบจะสั่งตัดกำลังเครื่องและเบรก ลดความเร็วจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย เมื่อผมพยายามเหวี่ยงสลาลอมแล้วเพิ่มความเร็วเข้าไปอีก รถก็ทำหน้าที่พ่อจ๋าแม่จ๋าดุด่าว่ากล่าว สั่งเบรกๆๆเหมือนเดิม
ผมทำแบบเดียวกันนี้ใน Ford Ranger Wildtrak แล้วรู้สึกว่ามันต่างกันเหลือเกิน ระบบของ Ford ทำตัวเหมือนพ่อแม่วัยรุ่นที่ทำตัวกับลูกเหมือนเพื่อน ยอมให้นอกลู่นอกทางได้บ้างแต่ไม่คลาดสายตา เวลาผมสาด Ranger เข้าโค้งหรือสลาลอมแรงๆ ระบบการทรงตัวเหมือนจะช่วยคิดและทำในระดับที่พอเหมาะโดยพยายามที่จะให้รถไปได้เร็วที่สุดโดยที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ
สิ่งนี้ บวกกับการจูนพวงมาลัยที่กระชับกว่าเมื่อขับแบบบู๊ล้างผลาญ ทำให้ผมรู้สึกว่ายังไงๆ Ranger ก็เป็นรถที่เหมาะกับน้าๆขาซิ่งมากกว่า
เบรกหน้าเป็นแบบดิสก์ขนาด 300 มิลลิเมตรพร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรกขนาด 295 มิลลิเมตร ติดตั้ง ระบบป้องกันล้อล็อค ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) และ ระบบเสริมแรงเบรกรองรับการเบรกกะทันหัน PBA (Panic Brake Assist) มาให้ทั้งรุ่น High Country และ X-Cab LT ที่เรานำมาทดสอบ
แม้ว่าประสิทธิภาพการยับยั้งความเร็วจะทำได้ดี และผ้าเบรกไม่เฟดเร็วเท่ารถกระบะจากญี่ปุ่น แต่คุณต้องทำความคุ้นเคยกับระยะการเหยียบแป้นเบรกเอาไว้บ้าง เพราะในช่วงแรกที่เหยียบลงไป จะมีระยะฟรีค่อนข้างเยอะ ต้องกดลงไปลึกจนกว่าผ้าเบรกจะเริ่มหนีบจานและหน่วงความเร็วอย่างจริงจัง หลังจากจุดนั้นลงไป ทุกอย่างคือปกติ มันไม่ใช่ว่าดีหรือเลว เพราะบางท่านอาจชอบเบรกลึก บางท่านชอบเบรกแบบฝุ่นหล่นใส่แป้นแล้วรถเบรกคนนั่งพุ่งทะลุกระจกหน้ามากองหน้ารถ ผมแค่บอกว่านี่คือลักษณะของมันที่คุณควรจะทราบไว้
สำหรับเรื่องอุปกรณ์-ระบบความปลอดภัย Safety นั้น ทั้งรุ่น High Country และ X-Cab LT ต่างก็มีระบบเบรก ABS, ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) และระบบรองรับการเบรกกะทันหัน (PBA-Panic Brake Assist) พร้อมทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า และหัวเข่าคนขับ รวมเป็น 3 ตำแหน่ง
ในรุ่น High Country จะเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้น Advance เข้ามา ได้แก่ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS, ระบบป้องการการไหลเมื่อขึ้นทางชัน, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน, ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ และระบบควบคุมเสถียรภาพขณะลากจูง และยังมี Feature อื่นๆ อีกดังนี้
- ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning)
- เซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้า 4 ตำแหน่ง และหลัง 4 ตำแหน่ง
- ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถออกนอกช่องจราจร (Lane Departure Warning)
- กล้องมองภาพถอยจอดพร้อมเส้นกะระยะปรับทิศทางตามการเลี้ยวของพวงมาลัย
- ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง
อย่างในภาพข้างบนนี้ คุณหมูกำลังทดสอบระบบแจ้งเตือนการชนด้านหน้าอยู่ เมื่อมันทำงาน จะมีสัญลักษณ์เตือนบนหน้าปัด และมีไฟ LED 6 เม็ดเรียงแถวสว่างวาบขึ้นบนกระจกหน้าพร้อมด้วยเสียงเตือนให้ท่านเหยียบเบรก..คือ รถน่ะมีระบบเตือน แต่มันไม่ได้เบรกให้คุณโดยอัตโนมัตินะครับ
ในภาพรวมด้านความปลอดภัย รุ่น X-Cab LT นั้นไม่ถือว่ามีอะไรโดดเด่นกว่าคู่แข่งมากนัก แต่รุ่น High Country มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในเชิงป้องกันเหตุมาให้ในระดับที่น่าพอใจ นี่ถ้ามีม่านถุงลมกับถุงลมด้านข้างเพิ่มมาให้ก็ไม่รู้จะติอะไรแล้วเหมือนกัน
********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
การปรับปรุงขุมพลัง 2.5 ลิตร LP2 ตัวใหม่ ทำให้เราต้องนำรถมาทดสอบหาตัวเลขกันใหม่ นอกจากเรื่องอัตราเร่งแล้ว ก็ยังรวมถึงอัตราสิ้นเปลืองด้วย เราจะได้ทราบกันว่า แรงม้าที่หายไปจาก Duramax II กับความจุที่ลดลง จะส่งผลเรื่องความประหยัดได้มากเพียงใด
เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกัน ด้วยวิธีการปกติ โดยนำรถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power-D ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เหมือนเช่นเคย
พอเติมน้ำมันเสร็จ เราก็ขึ้นรถ คาเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้นใหม่ ทั้งหมด ออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ เลาะไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม ด้วยมาตรฐานเดิม แล่น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ผู้ร่วมทดลองยังคงเป็น น้องโจ๊ก V10Thlnd/น้องเติ้ง กันตพงศ์ โสมชนะ (นั่งคนละคัน คนละรอบ) จาก The Coup Team ของเราตามเคย น้ำหนักรวมผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร 1 คน อยู่ที่ประมาณ 160 กิโลกรัม
เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธินเราเลี้ยวกลับรถ เข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เติมน้ำมัน Diesel Techron Power-D กันจนเต็มถัง หัวจ่ายตัด เหมือนเคย ณ ตู้เดิม หัวจ่ายเดิม ทั้งรุ่น High Country และ X-Cab Lt
เริ่มจากรุ่น High Country 4 ประตูกันก่อนเลยก็แล้วกันครับ
ตัวเลขที่ได้มีดังนี้
ระยะทางบน Trip Meter 1 (A) อยู่ที่ 94.4 กิโลเมตร
เติมน้ำมันเชื้อเพลิง Diesel Techron Power D แบบไม่เขย่ารถ 7.59 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.43 กิโลเมตร/ลิตร
ตัวเลขของรุ่น 2.5 High Country ออกมาใกล้เคียงกับรถกระบะญี่ปุ่นตัวเบาแต่เครื่องโตอย่าง Isuzu D-Max และ Hilux Revo โดยห่างกันในระดับทศนิยมเล็กๆเท่านั้น ถือว่าเครื่องบล็อคใหม่ ประหยัดแบบสมตัว แม้จะดูแปลกๆที่ Isuzu บอดี้หลักเดียวกัน เครื่องความจุ 3.0 ลิตร ขับหลังเหมือนกัน เกียร์ก็มีแค่ 5 สปีด แต่กลับวิ่งทางไกลได้อัตราสิ้นเปลืองพอกัน
จากนั้น เรามาดูตัวเลขของรุ่น X-Cab กันบ้างว่าล้อ 16 บอดี้เบาๆ อุปกรณ์น้อยๆ และเกียร์ธรรมดาจะทำได้เท่าไหร่
ระยะทางบน Trip Meter 1 (A) อยู่ที่ 94.6 กิโลเมตร
เติมน้ำมันเชื้อเพลิง Diesel Techron Power D แบบไม่เขย่ารถ 7.17 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.19 กิโลเมตร/ลิตร
พอมาเป็นรุ่น X-Cab 2 ประตูเกียร์ธรรมดา สถานการณ์ก็คงเดิม คือตัวเลขสวยเมื่อเทียบกับพวก Chevy 2.8 ลิตรรุ่นเก่า แต่เมื่อเจอ Hilux Revo 2.8 เข้าไป ก็ยังทำให้เห็นว่าค่ายเจ้าตลาดอย่าง Toyota กับ Isuzu ดูจะเก่งกว่าในเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิงจริงๆ จะมีก็แต่ Triton ที่ตัวเลขดูไม่สวย ซึ่งอาจเป็นเพราะมันคือคันเดียวในกลุ่มที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ
แล้ว น้ำมัน 1 ถัง แล่นจะพา Colorado ขุมพลังใหม่ แล่นไปได้กี่กิโลเมตร คำตอบที่ได้จากมาตรวัด Trip Meter A ในวันคืนรถ บางคันนั้น น้ำมันหล่นลงมาแค่ครึ่งถัง แล่นไป 400 กว่าๆ กิโลเมตร ดังนั้น ถังน้ำมันขนาด 76 ลิตร น่าจะพาคุณเดินทางได้ไกลพอกัน
กับรุ่นเดิม คือราวๆ 700 กิโลเมตร บวกได้อีกไม่เกิน 50 – 70 กิโลเมตร ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร สภาพแวดล้อม และนิสัยการขับขี่ของคุณด้วย ถ้าเป็นรุ่น High Country เกียร์อัตโนมัติ ขับในเมือง ทางด่วน และบี้คันเร่งหนักๆ คุณอาจจะวิ่งได้ 550-650 กิโลเมตรก่อนที่จะต้องแวะปั๊ม แต่ถ้าขับชิลใจเย็นลงหน่อยตัวเลขก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
ในกรณีของรุ่น X-Cab LT ที่ตัวเบา ล้อแคบ เกียร์ธรรมดา ถ้าขับทางไกลแล้วลดสปีดลงจาก 110 มาเหลือ 100 แล้วก็เร่งแซงตามปกติโดยไม่ต้องบี้คันเร่งมาก และไม่ต้องปิดแอร์ ผมเชื่อว่ามันน่าจะสามารถ cover ระยะทาง 900 กิโลเมตรได้ด้วยซ้ำโดยไม่ต้องทำตัวเหมือนกำลังแข่งประหยัดเชื้อเพลิงอยู่
********** สรุป **********
ปรับปรุงมาเยอะ แรงใช้ได้ ของเล่นคุ้มราคา แต่ถ้าจะขายได้ต้องซื้อใจระยะยาว
หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับ Chevrolet ทั้งสองคันนี้แล้ว ผมสามารถบอกหลายต่อหลายท่านที่ถามเข้ามาหลังไมค์ในเพจ Headlightmag หรือเพจ Pansawat Paitoonpong (เพจส่วนตัวผม) เมื่อพวกเขาถามถึง Chevrolet Colorado ได้ว่า “ถ้าคุณพูดถึงตัวรถล้วนๆ ว่ามันมีข้อไหนด้อยมากๆจนไม่น่าซื้อหรือเปล่า..ผมตอบได้เลยว่าไม่มีครับ..แต่ต้องพูดถึงเฉพาะตัวรถล้วนๆนะครับ”
เราไม่ต้องพูดกันเรื่องความสวยเก๋ของรถ ซึ่งมันเป็นเรื่องแล้วแต่คนมอง..Colorado ทั้ง 2 รุ่นที่เรานำมาทดสอบมีอุปนิสัยหรือคุณลักษณะร่วมกันก็คือ การเป็นรถที่มีพละกำลังดีในช่วงกว้าง ไม่ต้องเล่นรอบสูงๆเพื่อเรียกกำลัง คุณจะขับแบบเบื่อๆแช่รอบไว้ 1,500-1,600 แล้วกดคันเร่งน้อยๆ มันก็ยังมีแรงบิดพร้อมให้ใช้ หรืออย่างจะตอกคันเร่งเอามันส์ เครื่อง 2.5 ลิตร LP2 ตัวใหม่ แม้จะสู้ Duramax 200 ม้าตัวเก่าไม่ได้ แต่ก็สามารถวิ่งทาบรัศมีกับคู่แข่งในตลาด ณ ปัจจุบันได้แน่นอน
จุดดีข้อที่สองที่รถทั้ง 2 รุ่นมีร่วมกันก็คือวิธีการเซ็ตพวงมาลัยและช่วงล่าง ซึ่งให้ความรู้สึกสบายเวลาขับ พวงมาลัยเบา แต่ไม่ไวจนเกินไป ผู้หญิงขับได้แน่นอน ช่วงล่างนั้น ถ้าเราเอา 4 ประตู ไปเทียบกับคู่แข่ง 4 ประตู และเอารุ่น X-Cab 2 ประตู ไปเทียบกับคู่แข่ง 2 ประตูให้มันตรงรุ่น Chevrolet ก็ทำช่วงล่างมาให้รู้สึกบาลานซ์ดีระหว่างความสะเทือนกับความสะใจ คุณจะใช้งานมันบนถนนสภาพน่าเกลียดๆ ช่วงล่างของมันก็ไม่ดีดดิ้น ขนาดรุ่น X-Cab 2 ประตู ยังให้ความรู้สึกกระชับกำลังดีสำหรับโลกของรถกระบะเลยครับ
ส่วนรุ่น 4 ประตู High Country ก็มีนิสัยกลางๆ มั่นใจ 70% ปลอดภัย 80% นุ่มได้ 70% ในขณะที่ Triton จะเป็น 60/80/90 และ Ranger จะเป็น 100/100/60 ทำให้มันเป็นรถที่รองรับความต้องการของคนได้หลายกลุ่ม แต่อาจจะไม่ได้เด่นสุดๆในด้านใดด้านหนึ่ง จะเรียกว่าชายกลางก็คงไม่ใช่เพราะมันให้ความมั่นใจได้ดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ยกระบะไทยไปพอสมควร
ทั้งสองรุ่น มีเบาะที่นั่งสบาย แม้ว่าอาจจะยังไม่ชนะ Triton เรื่องตัวเบาะและพื้นที่ แต่ก็ถือว่าใช้ขนาดตัวรถได้คุ้ม ในรุ่น 4 ประตู เบาะหลังยังน่านั่งกว่า Hilux Revo และชนะ Navara อย่างไม่เห็นฝุ่น อุ้มแมวขึ้นรถ พอเปิดประตูหลังแมวยังเลือก Chev มากกว่า Nissan
ข้อเสียชนิดเลวร้ายจนต้องสั่งยายปริกโบยหลัง คงหามีไม่…แต่จะว่าไป อัตราสิ้นเปลืองของตัวรถทั้งคู่ ไม่ได้โดดเด่น ที่มันดูเด่นอาจจะเพราะเราเอาไปเทียบกับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งต่อให้เลือกโหมด 2WD ก็ยังต้องรับภาระน้ำหนักชุดขับเคลื่อนอยู่ดี อัตราสิ้นเปลืองของ LP2 ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่กับเกียร์ 6 จังหวะ ก็เพิ่งจะได้ตัวเลขดีเท่า Isuzu ที่ใช้เครื่องโตกว่าและมีเกียร์ 5 สปีด
ในรุ่นสูงๆราคาแพงๆ การใช้กุญแจบิดสตาร์ทอาจทำให้เจ้าของรถบางท่านตกใจตายได้ ถ้าไม่อยากให้ตายก็คงต้องยอมหาปุ่มสตาร์ทกับ Smart Key มาติดตั้งให้ (ส่วนตัวผมเฉยๆ ไม่ต้องต่อยคอนโซลเอาสายไฟมาช็อตเองก็บุญแล้ว) ไฟหน้าฮาโลเจน อาจจะทำให้ลูกค้าบางกลุ่มมองว่าราคาก็ระดับนี้แล้วทำไมยังให้ของไม่ครบอยู่อีก
จุดที่ผมมองว่าสำคัญกว่าคือเรื่องการขับขี่ พวงมาลัยนั้นน่าจะปรับเพิ่มความหน่วงมือที่ความเร็วสูงเข้าไปอีกสักนิดเพื่อให้ขับได้มั่นใจ และในเจนเนอเรชั่นต่อไป ถ้าทำได้ ก็ช่วยให้พวงมาลัยแบบที่ปรับได้ 4 ทิศทาง มันจะช่วยให้ผู้โดยสารทุกไซส์สามารถปรับจนได้ท่านั่งที่เหมาะสม เป็นพื้นฐานสำคัญของความปลอดภัยในการบังคับควบคุมและความผ่อนคลายในการเดินทาง
และสำหรับ Colorado High Country Z71 นี้ ถ้าคุณจะมองหาตัวเลือกอื่นที่มีคุณสมบัติกับราคาใกล้กัน จะมีอะไรให้คุณบ้างล่ะ?
Isuzu D-Max Hi-lander 3.0 ก็เป็นรถที่เหมาะสำหรับคนใช้งานส่วนตัว แต่วิ่งปีละหลายหมื่นกิโลเมตร คนเหล่านี้จะต้องพารถไปเข้าศูนย์บ่อย ดังนั้นเรื่องบริการหลังการขายต้องดี เครื่องยนต์ต้องซ่อมง่าย โมง่าย ของแต่งเยอะ ซึ่ง Isuzu เป็นรถที่ตอบโจทย์เกือบครบ แต่ขาดอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยไปบ้าง ส่วนช่วงล่างจะมาสไตล์ย้วยแต่อยู่ จ่าย 1,016,000 บาทก็พร้อมเป็นของคุณได้เลย
Toyota Hilux Revo Prerunner 2.8 G A/T เป็นรถสไตล์เจ้าตลาด ศูนย์เยอะ ขายต่อง่ายในลักษณะคล้าย Isuzu แต่รุ่น 2.8 G นี้จะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบครัน มีถุงลมนิรภัยรอบคัน แต่จะไม่มีระบบเตือนก่อนชนหรือเบี่ยงออกนอกเลนแบบ Chevrolet พละกำลัง อัตราเร่งและความประหยัดอยู่ในระดับที่ดี แต่คุณต้องจ่าย 1,079,000 บาท และ ทำใจหน่อยว่าช่วงล่างจะเด้งเพราะเป็นรถที่ทำมาเผื่อเรื่องการบรรทุกมากที่สุดในกลุ่ม ส่วนรุ่น 2.4G ราคา 985,000 บาท ใกล้เคียง Chev High Country แต่คุณได้เครื่อง Low power ที่แรงม้าแรงบิดน้อยกว่า และ ไม่มีระบบความปลอดภัยมากเท่า
ถ้าคุณเป็นนักขับสายซิ่ง ชอบรถที่คล่องเหมือนรถเก๋ง บางที Mitsubishi Triton Plus 2.4 MIVEC AT ราคา 866,000 บาท น่าจะตอบโจทย์คุณได้ดีด้วยพวงมาลัยที่ไว เครื่องยนต์ที่ยิ่งลากรอบยิ่งแรง แล้วยังได้โบนัสเป็นเบาะหน้า/หลังที่นั่งสบาย พื้นที่การโดยสารดีกว่าที่คุณคิด มาในราคาที่ถูก แต่มันไม่ได้เป็นการกุศลแน่นอนเพราะไม่มีระบบความปลอดภัยขั้น Advance ซึ่งถ้าอยากได้ คุณต้องซื้อตัวขับสี่ราคา 1,061,000 บาทเท่านั้น
ส่วน Ford Ranger นั้น ถ้าคุณไม่ยอมปล่อยงบให้ทะลุล้าน ก็จะได้ลงเอยกับรุ่น 2.2 Wildtrak Hi-rider ซึ่งมาเพียบทั้งความบึกบึน อุปกรณ์ภายในที่ตกแต่งมาได้สวย ล้ำสมัยและดูดี มีลูกเล่นต่างๆแพรวพราวๆ มี Diff-lock หลังมาให้ มีอุปกรณ์ความปลอดภัยเชิงป้องกันเป็นรอง Chevrolet นิดเดียว แต่ไปชนะตรงที่ได้ถุงลมเยอะใบกว่า ในราคา 985,000 คุณจะได้สเป็ค 2.2 ลิตร 160 แรงม้า ถ้าอยากได้แรงแบบ 3.2 และครบแบบ Wildtrak ก็ต้องจ่าย 1,189,000 บาท เพราะรุ่น 3.2 จะไม่มีรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ
ในขณะที่ Nissan Navara นั้น ก็มาในทำนองคล้ายกัน ถ้าอยากเล่น 190 ม้าแล้วเกียร์อัตโนมัติ คุณจะต้องเล่นรุ่นขับสี่ตัวท้อปราคา 1,043,500 บาท ซึ่งมีถุงลมมากใบแบบ Revo มีระบบความปลอดภัยขั้น Advance เท่า Revo ตัวท้อป แต่แรง เร็ว เกาะถนนกว่า ช่วงล่างสะเทือนไส้ (แต่ขับดุๆจะมั่นกว่า Revo) เบาะหลังแคบชัน รุ่น 163 แรงม้า Calibre V 7AT จะมีราคาถูกลงมาเหลือ 914,000 บาท แต่แรงเครื่องจะเหลือ 163 ม้า และอุปกรณ์ความปลอดภัยเชิงป้องกันจะหายไป
ส่วนรุ่น X-Cab LT Z71 นั้น ความที่ราคา 699,000 บาทแล้วได้เครื่องยนต์ 180 แรงม้าทำให้มีคู่เปรียบตรงรุ่น คือ Mitsubishi Triton Megacab Plus 2.4 ซึ่งได้เครื่องยนต์ 181 แรงม้า มีราคาระหว่าง 687,000-727,000 บาท ซึ่งก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน Mitsubishi จะเป็นรถที่ขับคล่องเวลาวิ่งตัวเปล่า แต่ถ้าคุณไม่ได้เน้นบรรทุกหนักจริง ช่วงล่างของ Chev จะนุ่มนวลนั่งสบายกว่าเวลาวิ่งทางไกล ในการขับบรรทุกหนักขึ้นเขา กำลังเครื่องยนต์ของ Triton จะเสียเปรียบตรงที่ต้องพยายามเล่นรอบให้อยู่แถว 2,000 เสมอ ในขณะที่ Colorado ไม่ต้อง แต่พวงมาลัยที่ไวกว่าของ Triton ก็ทำให้การเลี้ยวโค้งแคบทำได้อย่างคล่องแคล่วกว่า
Isuzu D-Max นั้น ถ้าคุณต้องการพลังสูง ต้องจ่ายเงินซื้อรุ่น 3.0 ลิตรที่มีราคา 850,000 บาท แล้วจะแรงสมใจตั้งแต่รอบต้นไปถึงปลาย แต่ถ้างบไม่พอ ก็ต้องเล่นรุ่น 1.9 ลิตร ซึ่งจะมีราคาเริ่มต้น 700,000 บาทในรุ่นถูกสุด อุปกรณ์น้อยสุด ไล่มารุ่น Z ราคา 756,000 และ Z DVD ราคา 771,000 บาท พวกรถ 1.9 ลิตรนั้นเวลาวิ่งทางราบจะประหยัดน้ำมันดีมาก แต่เวลาขับแบบรีบๆหรือขับบนเขาจะต้องเจออาการหน่วงน่ารำคาญของคันเร่ง กับแรงบิดรอบต่ำที่น้อยพอๆกับ Triton ทำให้ไม่เหมาะสำหรับงานบรรทุกขึ้นเขา
สำหรับ Hilux Revo Smart Cab Prerunner นั้น มีรุ่นราคา 699,000 บาทเท่ากับ Chevrolet แต่มันคือรุ่น 2.4 J Plus ที่ตัดอุปกรณ์ไม่จำเป็นออกไปหลายรายการรวมถึงล้ออัลลอย รุ่น E จะมีอุปกรณ์มากขึ้น แต่ก็ต้องจ่าย 749,000 บาท รถ Revo 2.4 ลิตร แม้จะลากรอบไม่มันส์ แต่เป็นเครื่องที่เรียกกำลังได้เร็ว เหมาะสำหรับงานบรรทุก และยังประหยัดน้ำมัน เพียงแค่ไม่เท่ากับ Isuzu 1.9 ช่วงล่างเวลาวิ่งตัวเปล่าจะดิ้นฟ้าสะเทือน แต่ถ้าใส่น้ำหนักสัก 500 กิโลจะวิ่งดีขึ้นมาก
ส่วน Nissan ก็มี Navara Calibre E 6MT ซึ่งแม้จะแพงระดับ 752,000 บาท แถมยังได้เครื่อง 163 แรงม้า แต่มันให้หลายอย่างที่ Colorado ไม่ได้ให้ในรุ่น LT เช่น ไฟหน้า Projector LED, Push Start/Smart Key แล้วยังมี Cruise Control มาให้อีกด้วย ที่สำคัญคือช่วงล่างของรุ่น King Cab 2 ประตู พอเวลาไปขับจริง กลับดีดดิ้นน้อยกว่ารุ่น 4 ประตูอย่างน่าประหลาด มันไม่ใช่รถที่นุ่มนวลต่อการนั่ง แถมเบาะก็ชวนเมื่อย แต่เวลาซัดตัวเปล่าก็มั่นใจได้มากกว่า Toyota กับ Isuzu
หลังจากบทความที่ยาวประหนึ่งนวนิยายนี้จบลง ถ้าคุณผู้อ่านสามารถจับประเด็นได้ ก็คงทราบกันแล้วว่า รถกระบะของ Chevrolet มีจุดด้อยที่ไม่ได้แย่มาก มีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่ และเป็นรถที่คุณสามารถฝากผีฝากไข้ได้ แต่สาเหตุที่มันขายไม่ออก น่าจะเกิดจากความเชื่อมั่นที่ผู้คนมีต่อบริการหลังการขาย และการใช้รถในระยะยาว
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาทางเทคนิค กับไลน์รถเก๋งอย่าง Sonic, Cruze และ SUV อย่าง Captiva ซึ่งเมื่อปัญหาลุกลามจนผู้บริโภคต้องขยายผลไปสู่โลก Social ทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก..และถ้าให้พูดตามตรงวิธีการ “ดับไฟป่า” ที่ Chevrolet เลือกตั้งแต่ในอดีต ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
นอกจากปัญหาในเชิงเทคนิคแล้ว ยังรวมถึงการตรวจสอบคุณภาพการบริการของบุคลากรที่ศูนย์บริการด้วย เพราะในขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่อาจจะไม่มีปัญหา แต่ในหลายครั้ง พบว่าเมื่อมีกรณีต้องติดต่อขอเคลมอะไหล่ หรือแม้แต่การพบปัญหากับตัวรถ ทางศูนย์บริการกลับไม่ได้มีบทบาทในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เช่นบางอย่างของรถมีความผิดปกติ แต่ไปบอกลูกค้าว่าปกติ แล้วปฏิเสธไม่ยอมเคลม ไม่ยอมซ่อม ทำให้ลูกค้าต้องขับรถข้ามจังหวัดไปเข้าบริการที่อื่น ซึ่งเจอช่างที่ดีกว่า วิเคราะห์อาการและแก้ปัญหาได้ทัน
คุณลองคิดดูแล้วกันว่า ตลาดกระบะในไทย ตัวเลือกมันเยอะขนาดไหน ลูกค้าส่วนใหญ่ของประเทศ ยินดีที่จะไปคบแบรนด์ Toyota กับ Isuzu อยู่แล้ว ทำให้เหลือลูกค้าอีกแค่จำนวนเล็กๆ ให้รถกระบะค่ายอินดี้ไปแย่งชิงกัน..ในวินาทีนั้น Chevrolet ก็ต้องถามตัวเองว่าคุณมีอะไรที่จะน็อคคู่ต่อสู้ให้จบคาตาลูกค้าได้บ้าง..ถ้ามุมมองของลูกค้าคิดว่าศูนย์และบริการหลังการขายของ Chevrolet กับคู่แข่งแย่พอกัน..เขาก็จะมองที่ตัวรถ ถ้าประสิทธิภาพของ Colorado ไม่ได้ “ชนะ Ranger อย่างไร้ข้อกังขา” แล้วทำไมเขาต้องมาเลือก Chevrolet
ดังนั้น คุณก็มีทางเลือก คือกลับไปสร้าง Colorado เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่จะชนะ Ranger อย่างขาวสะอาด..หรือ..ไม่ก็ไปทำบริการกับงานเคลมและการบำรุงรักษาให้ชนะใจผู้บริโภคได้มากกว่านี้ ถ้าทำไม่ได้อีก ก็เหลือแค่กลยุทธ์ตั้งราคา..คนไทยชอบของราคาถูกครับ บางทีแค่ราคามันได้ เขาก็ซื้อโดยไม่ต้องคิดอะไรนาน..แต่ถ้าไม่ได้ทำอะไรกับสามอย่างนี้เลย นั่งเฉยๆมันจะชนะไหม?
คุณดูอย่างคุณโป๊ป พระเอก “บุพเพสันนิวาส” กับเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังตอนต้นบทความแล้วกันครับ ถามว่าชีวิตเขาในวันที่แย่ที่สุด เขามานั่งถามหาคนเพื่อการันตีอนาคตของเขาหรือเปล่า หรือว่าอยู่เฉยๆแล้วรอให้มีคนเดินมาสะดุดความหล่อของเขาแล้วจ้างไปเป็นดารานำหรือเปล่า..? มันต้องเดินหน้าสู้ รู้จุดอ่อน กลบจุดนั้นซะแล้วก็ยิ่งเดินหน้ารับงานแสดงเพิ่ม
และที่สำคัญกว่าการพยายามเป็นคนที่ดีขึ้น คือคุณต้องให้โอกาสต่อแนวคิดดีๆที่คุณได้นำมาปรับปรุงตัวเอง ไม่ใช่ว่าทำไป 2-3 ครั้งแล้วคนทั้งโลกจะเห็นทั่วถึงกัน ถ้าคุณยอมแพ้ไปก่อน สิ่งที่ผ่านมาก็สูญเปล่า ถ้าคุณโป๊ปยอมแพ้หลังจากที่ละคร/ภาพยนตร์ที่เขาเล่นถูกงดฉายไปวันนั้น..มันจะมีท่านพี่หมื่นสุนทรที่โด่งดังในวันนี้หรือ
โลกของธุรกิจรถยนต์ มันก็คล้ายกับชีวิตมนุษย์ตรงนี้ล่ะครับ เมื่อคุณสู้ คุณไม่รู้หรอกว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่า แต่การรู้ปัญหาแล้วสู้เพื่อแก้ปัญหานั้นด้วยความหวังที่จะผงาดในวันหน้า นั่นแหละครับ คือความงามของคนเราที่ทำให้มาตรฐานชีวิตและทางเลือกของเราจะมีความดีงามมากขึ้นในอนาคต
ไม่ลองก็ไม่รู้ แต่ไม่สู้ ก็ไม่มีวันชนะ..อย่าเพิ่งยอมแพ้นะครับ ชาว Chevrolet!
————————–///————————–
ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
—————————-
Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย โดย J!MMY และ MoO Cnoe ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com 20 มีนาคม 2018
Copyright (c) 2018 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com. 20 March 2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!